ประชาไท | Prachatai3.info |
- 250 ปีปัจฉิมกาลอยุธยา: ดุลยภาค ปรีชารัชช ทำความเข้าใจกรอบคิดสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา
- เหตุระเบิดที่ 'เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก' กับการปลุกผีก่อการร้ายยุค 'ปูติน'
- 'ทัพเรือ' ยันจำเป็นช็อปเรือดำน้ำจีน 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน ชี้ใช้งานในน้ำตื้นได้ รบ.นี้ให้ความสำคัญ
- ผบ.ตร. ลงพื้นที่ตรวจเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า ถ.ราชดำเนิน เจ็บ 2 ราย
- 8 ทหารก้มกราบเท้าแม่พลทหารยุทธกินันท์เหยื่อรุมซ้อมตาย
- สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราว
- สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉ.แก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มโอกาสจ้างผู้สูงอายุ-คนพิการ
- วิษณุ นั่งหัวโต๊ะ ถกหน่วยงานภาครัฐเตรียมออก กม.ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ รธน.ฉบับใหม่
- สมัชชาแม่น้ำแถลงต้านโครงการทางเลียบแม่น้ำ ทำลายเจ้าพระยาทุกมิติอย่างถาวร
- ถอยก่อน! นายกฯ ไฟเขียว ขยายเวลาจับปรับ นั่งแคป-ท้ายกระบะไปหลังสงกรานต์
- ม้งช่วยรบ (2) ชีวิตหลังสงครามเย็น การต่อสู้เพื่อสถานะบุคคลและสัญชาติ
- ยูนิเซฟยินดีไทยผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก
- ฝ่ายซ้ายเอกวาดอร์ชนะเลือกตั้งอีกสมัย-ชะตา 'จูเลียน อัสซานจ์' ยังปลอดภัย
- ความคืบหน้าคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว “คาร์บอม” 9 จำเลยยังอยู่คุก
- งานเข้า! สั่งสารวัตรชุมพรโพสต์วิจารณ์ปมห้ามนั่งกระบะหลัง ทำหนังสือชี้แจง-เตรียมตั้ง กก.สอบ
250 ปีปัจฉิมกาลอยุธยา: ดุลยภาค ปรีชารัชช ทำความเข้าใจกรอบคิดสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา Posted: 05 Apr 2017 03:06 PM PDT ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอ "กรอบคิดสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา" ศึกษาปัจจัยนำเข้า-กระบวนการ-ผลลัพธ์ ของการศึกเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พิจารณาเหตุปัจจัยที่ทำให้พม่าดีดตัวออกมารบนอกบ้าน ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี และพิชัยสงครามการจัดกระบวนทัพพยุหะรับศึกพม่า-สยาม ขณะที่ในยุคปัจจุบันแนวคิด 'เสนา-ราชาชาตินิยม' ยังคงตกค้างอยู่ในผู้นำกองทัพไทย-พม่า เฉกเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมซึ่งทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเกิดปมร้าวฉาน ในงานเสวนา "250 ปี ปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา: ปริวรรตบทเรียน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต" จัดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยานั้น ในช่วงเช้ามีการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ "250 ปี ปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา reset to mindset" วิทยากรโดยมิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ชาวพม่า สมฤทธิ์ ลือชัย พิธีกรรายการโทรทัศน์และผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอุษาคเนย์ และ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยประชาไทนำเสนอส่วนของอาจารย์มิกกี้ ฮาร์ทไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงต่อมา ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอหัวข้อ "กรอบคิดปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา" โดยเริ่มต้นนำเสนอว่า จะทำอย่างไรในเมื่อปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยาผ่านมา 250 ปีแล้ว และเรายังมีปมในใจหลายอย่างที่เป็นหน่อพื้นฐานของทั้งความสัมพันธ์และความร้าวฉานไทยพม่าด้วย ทางออกเดียวก็คือทำกรอบความคิดการศึกษา หรือทำในสิ่งที่โทมัส คุน (Thomas Kuhn) เรียกว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เพื่อร้อยเรียงเหตุปัจจัย กระบวนการ และผลของการศึกสงครามโดยเฉพาะการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเลือกนำเสนอ "กรอบคิดสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา" ศึกษาผ่านปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ในการทำความเข้าใจสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา มีความจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยนำเข้า ซึ่งมีหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยจำเป็น และปัจจัยพอเพียงในการหักโค่นรัฐบาลกรุงศรีอยุธยา โดยในที่นี้รวบรวมมาโดยสังเขปของปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้พม่าสามารถดีดตัวออกมารบนอกบ้านได้ อย่างมีกำลังวังชา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งแนวคิดพระจักรพรรดิราช หรือนโยบายขยายปริมณฑลแห่งอำนาจของพระราชาในพม่า ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ตองอูยุคต้น หรือราชวงศ์คองบอง การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยการที่ทุกครั้งที่พม่ารุกขึ้นมา จะต้องผ่านกระบวนการที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ในขณะที่อยุธยามักประสบกับเหตุรัฐประหาร การชิงราชสมบัติ ซึ่งนับเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่อธิบายเสถียรภาพและความระส่ำระสายของราชสำนักอยุธยา ขณะเดียวกันเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองก็เป็นตัวที่ทำให้เราเห็นว่าทุกครั้งที่พม่ายกมา มักจะยกพลมาแบบมืดฟ้ามัวดิน พสุธากระหน่ำระส่ำระสาย เพราะพม่าเกณฑ์คนได้เยอะมาก ตัวแปรหนึ่งคือเราต้องต้องทำความรู้จักย่านภูมิศาสตร์สำคัญ เขตชลประทาน ส่งผลต่อการบ่มเพาะกำลังไพร่พลที่ทำให้ดีดตัวออกมารบนอกบ้านได้อย่างไร แต่ที่กล่าวมานี้ก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น ยังต้องอาศัยปัจจัยที่พอเพียงจึงจะหักโค่นอยุธยาได้ ซึ่งจะต้องมีปัจจัยเชิงกระบวนการ ซึ่งอาจจะมีทั้งกระบวนการทางการเมืองในลักษณะที่เป็นกระบวนการตัดสินใจ หรือการกำหนดนโยบายของกษัตริย์อยุธยากับราชสำนักพม่าทำอย่างไร และมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร โดยในที่นี้จะขอนำเสนอกรอบกระบวนการทางการทหารในการทำสงครามไทย-พม่า ก็จะแบ่งออกเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เราจะได้เห็น Operation หรือปฏิบัติการต่างๆ ยุทธศาสตร์ พูดง่ายๆ ก็คือ ขั้นเตรียมการ พม่าเตรียมกำลังพล การข่าว วางแผน มียุทธปัจจัยอย่างไร ฝ่ายอยุธยาเตรียมการอย่างไร ส่วนยุทธวิธี ก็คือในขั้นปฏิบัติการ ก็จะมีการตั้งกระบวนทัพพยุหะ หรือกลศึกต่างๆ และจะมีจุดแตกหัก (Breaking point) ที่ทำให้ทัพพม่าหักโค่นกำแพงพระนครศรีอยุธยา ก็คือกลศึกที่เรียกว่า "tunnel warfare" หรือสงครามอุโมงค์แบบฉบับของ "มโหสถชาดก" ในการขุดอุโมงค์เข้าไปในกรุง เมื่อนำปัจจัยนำเข้าและกระบวนการมาประมวลแล้ว ก็ออกมาเป็น Output หรือผลผลิต ก็คือการล่มสลายของอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2310 เมื่อผลผลิตนั้นออกมาได้สักพัก วันเวลาผ่านไปหลายสิบปีก็จะเกิด Outcome ตามมา ซึ่งเราเห็นได้ชัดจากนโยบายขยายพระราชอาณาเขตของพระเจ้ากรุงธนบุรี และรัชกาลที่ 1 ในการรับศึกพม่า โดยนำบทเรียนจากกรุงศรีอยุธยามาใช้ แต่เมื่อวันเวลาผ่านมาเป็นร้อยปี เราจะเห็นผลกระทบ หรือ Impact มากกว่า เราจะเห็นวาทกรรมชาตินิยม ราชาชาตินิยม หรือลัทธิเสนา-ราชาชาตินิยม ที่ยังตกค้างและไม่ตกตะกอนด้วยซ้ำในปัจจุบันที่อยู่ในความสัมพันธ์ หรือมุมมองที่ไทยมีต่อพม่า แม้ผลที่เกิดขึ้นหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาคือทำให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลาย แต่ผลลัพธ์หลังจากนั้นคือรัฐบาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รับบทเรียน ด้วยการขยายแกนของรัฐอยุธยาเก่า ให้พุ่งเข้าไปในหัวเมืองประเทศราชมากขึ้น มีการแก้ยุทธศาสตร์การทหาร ไม่ใช้พระนครเป็นฐานรับศึก แต่จะเป็นการรับเชิงรุก ดังจะเห็นได้จากสงคราม 9 ทัพ หรือศึกอะแซหวุ่นกี้ ในส่วนของผลกระทบปัจจุบัน สำหรับรัฐอยุธยาที่คลายสัณฐานเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ บางยุคสมัยประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์บาดแผลถูกหยิบยกขึ้นมา ทำให้เกิดความร้าวฉานกับพม่าและเกิดปมในใจ นี่คือผลที่ทางฝ่ายไทยที่ได้รับ ส่วนพม่าก็ได้รับความเจ็บปวดคล้ายๆ กัน ทั้งนี้แม้ว่าพม่าจะไม่ถึงกับล่มสลายเมื่อเจอกองทัพอยุธยา แต่ในสมัย ค.ศ. 1752 ที่อาณาจักรมอญฟื้นฟูขึ้นมาก็ทำให้ราชวงศ์ตองอูล่มสลาย แต่พม่าก็เรียนรู้บทเรียนรวดเร็ว นำไปสู่การเกิดขึ้นของผู้นำคนใหม่ที่มีพื้นเพจากพรานป่าอย่าง "อลองพญา" ที่ต่อต้านมอญและสามารถตั้งราชวงศ์ใหม่อย่างรวดเร็ว สำหรับบทเรียนที่ได้รับจากสงครามล้อมอยุธยา เมื่อพม่าเป็นฝ่ายมีชัย ก็ทำให้มีหน่อความคิดฝังอยู่ในชนชั้นนำพม่าว่าอย่างไรเสียต้องมีการขยายปริมณฑลแห่งอำนาจเพื่อครอบอยุธยาให้ได้ กษัตริย์พม่าในยุคหลังๆ ทั้งพระเจ้ามังระ พระเจ้าปดุง ก็รับพระจักรพรรดิราชแบบนี้มาใช้ในการสู้กับกองทัพสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้ในช่วงที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ต่อมามีการจุดเชื้อขบวนการชาตินิยมในช่วงเรียกร้องเอกราช ซึ่งในช่วงที่กองทัพพม่า BDA แยกตัวออกจากญี่ปุ่นและสู้กับญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการนำหนังสือเสนาทัพพยุหะ ที่เคยพิมพ์ในสมัยพระเจ้าปดุง กลับมาพิมพ์อีกครั้ง เพื่อปลุกเร้าขวัญในการรบกับญี่ปุ่นและสร้างชาตินิยม และได้นายพลอองซาน เขียนอารัมภบทให้กับหนังสือที่พิมพ์ใหม่ ในช่วงท้ายดุลยภาคนำเสนอภาพอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ของพม่าที่กรุงเนปิดอว์ เปรียบเทียบกับอนุสาวรีย์บูรพมหากษัตริย์ไทยที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าในอดีตครองอำนาจโดยไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าในอดีตทำ คือย้อนกลับไปหาราชาชาตินิยม หรือประเพณีของบูรพกษัตริย์ ในสมัย พล.อ.อาวุโสตานฉ่วยครองอำนาจ ก็มีการจับช้างเผือก และมีการสร้างโรงช้างเผือกทั้งที่เนปิดอว์และย่างกุ้ง และตอนย้ายเมืองหลวงใหม่ก็มีการสร้างอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ประกอบด้วยพระเจ้าอโนรธามังช่อ พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ผนวกอาณาจักรมอญ ขณะที่พระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้าอลองพญาทำศึกมาถึงอยุธยาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และทุกๆ วันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นวันกองทัพพม่าก็จะมีการสวนสนามของทหารต่อหน้าอนุสาวรีย์ด้วย แสดงให้เห็นว่าพม่าไม่ว่าจะเปลี่ยนรูปแปลงสัณฐานไปเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ระบบคิดของทหารพม่านั้นพื้นฐานยังมีสิ่งเหลานี้อยู่ ไม่แตกต่างจากระบบการเรียนของทหารไทย หรือ รด. ที่ยังมีตำราเรื่องสงครามไทย-พม่า และในส่วนของอุทยานราชภักดิ์ที่มีอนุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ 7 พระองค์ และในที่นี้มีกษัตริย์ถึง 4 พระองค์ที่เกี่ยวข้องหรือร่วมสมัยอยู่ยุคของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพไทยก็ยังให้ความนิยมกับสิ่งที่เรียกว่าเสนาราชาชาตินิยมไม่ต่างจากกองทัพพม่า และหากมีช่วงที่ไทย-พม่าเกิดขัดแย้ง ทั้ง 2 ฝ่ายก็คงมีการหยิบยกประวัติศาสตร์ยุคจารีตขึ้นมา แต่ตอนที่ปกติสุข ก็เชื่อว่าน่าจะเข้าใจสถานการณ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เคยมีข้อมูลที่ระบุว่า พล.ท.โซวิน ผู้บัญชาการทหารบกกองทัพพม่า ซึ่งเป็นรองแต่ ผบ.สส.กองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ก็เคยชื่นชมการสร้างอุทยานราชภักดิ์ของไทย เพราะสร้างที่หัวหินทำให้ประชาชนมาเที่ยวได้ ในขณะที่พม่าสร้างอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ไว้ในค่ายทหารที่อยู่ไกลถึงเนปิดอว์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เหตุระเบิดที่ 'เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก' กับการปลุกผีก่อการร้ายยุค 'ปูติน' Posted: 05 Apr 2017 12:35 PM PDT บทวิเคราะห์ของผู้สื่อข่าวรัสเซียที่เผยแพร่ในอัลจาซีรา มองเหตุก่อการร้ายที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเทียบกับเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา โดยประเมินว่าถึงแม้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะพยายามแสดงออกในเชิงเป็นผู้นำที่ 'เข้มแข็ง' ลดการก่อการร้ายได้แม้ว่าต้องแลกด้วยเศรษฐกิจที่แย่และเสรีภาพประชาชนที่ลดลง ทว่าเหตุร้ายล่าสุดก็กำลังฉีกกระชากภาพลวงตาด้านความมั่นคงของปูตินอยู่หรือไม่ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน วางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตเหตุระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย (ที่มา: kremlin.ru) 5 เม.ย. 2560 จากการสืบสวนของทางการรัสเซียเมื่อช่วงวันอังคารที่ผ่านมา (4 เม.ย.) ทำให้มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าเหตุระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดินเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้นอาจจะเป็นการระเบิดพลีชีพของชาวเชื้อสายคีร์กีซสถานอายุ 22 ปี ชื่อ อัคบาร์ซอน ยาลิลอฟ โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีแรงจูงใจอะไร โดยอาศัยหลักฐานได้มาจากการเก็บดีเอ็นเอจากอุปกรณ์ระเบิดชิ้นที่สองที่ยังไม่ทำงาน เลโอนิด ราโกซิน นักข่าวอิสระในกรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาล 49 ราย โดยระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในรัสเซียเมื่อเทียบกับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ราโกซินระบุว่าในขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียเน้นเรื่องความมั่นคงมากจนต้องให้ประชาชนยอมจ่ายด้วยเสรีภาพทางการเมืองที่น้อยลงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น้อยลง แต่ในปัจจุบันที่รัสเซียมีปัญหาเศรษฐกิจและการโจมตีที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็ชวนให้ประชาชนรัสเซียตั้งคำถามว่าปูตินจะทำตามสัญญาที่เขาให้ไว้ได้จริงหรือไม่ บทความของราโกซินในอัลจาซีราระบุว่าในช่วงที่มีความวุ่นวายต้นทศวรรษที่ 1990 ก่อนปูตินขึ้นมามีอำนาจ รัสเซียประสบปัญหาความยากจนอย่างหนัก มีอาชญากรรมเกิดขึ้นไปทั่วและมีความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธในเขตสหพันธ์คอเคซัสเหนือ พอถึงปลายยุคทศวรรษนั้นกลุ่มกบฏก็เริ่มเปลี่ยนยุทธวิธีมาเป็นการก่อการร้าย ชามิล บาซาเยฟ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธเชเชน (ที่มา: วิกิพีเดีย) ในยุคสมัยดังกล่าวคนที่เริ่มเปลี่ยนวิธีการเป็นการก่อการร้ายคือชามิล บาซาเยฟ จากกลุ่มติดอาวุธเชเชน ผู้ซึ่งเคยทำการจี้เครื่องบินโดยสารรัสเซีย ต่อมาเขายอมปล่อยตัวประกันและยอมมอบตัวกับทางการตุรกี น่าประหลาดที่ต่อมาเขาได้รับอนุญาตให้กลับไปเชชเนียและต่อสู้กับรัฐบาลจอร์เจียในกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอับคาเซียที่สนับสนุนรัสเซีย เขาอยู่ข้างรัสเซียได้ไม่นานก็ก่อเหตุจับตัวประกันในโรงพยาบาลในเมืองบัดดิยอนนอฟสก์ เมื่อปี 2538 บีบให้ทางการรัสเซียต้องเริ่มหารือกับผู้นำเชเชนจนกระทั่งออกข้อตกลงสันติภาพได้เป็นการจบสงครามเชเชนในครั้งแรก แต่ในปีถัดจากนั้นก็มีเหตุระเบิดรถไฟใต้ดินกรุงมอสโกวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ราโกซินระบุว่าในทศวรรษที่ 1990 มีตัวเลขไม่ชัดเจนระหว่างปฏิบัติการของกลุ่มกบฏแบบกองโจรกับเหตุก่อการร้ายในเขตคอเคซัสเหนือแต่โดยรวมแล้วมักจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนน้อยและมักจะมีการจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ ในช่วงสงบศึกระหว่างสงครามเชเชนครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 นี้เองที่บาซาเยฟและสายสุดโต่งของกองกำลังปลดปล่อยเชชเนียได้รับอิทธิพลจากกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางจนมีการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ กลุ่มที่ส่งอิทธิพลต่อพวกเขาคือกลุ่มเดียวกันที่ต่อมาเรียกตนเองว่าอัลกออิดะฮ์ บาซาเยฟก็เปลี่ยนอุดมการณ์ของตัวเองจากความต้องการเรียกร้องอิสรภาพให้เชชเนียกลายมาเป็นต้องการสร้างรัฐอิสลามในพื้นที่นั้นเขาได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองกำลังเชเชน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลต่อความขัดแย้งกับทางการรัสเซียในช่วง ค.ศ. 1999 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจภายในที่ผู้นำรัสเซียในยุคนั้นอย่างบอริส เยลซิน แต่งตั้งให้ปูตินเป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงที่จัดการกับเรื่องความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธในเขตสหพันธ์คอเคซัสเหนือ ในเวลาต่อมากองกำลังเชเชนก็บุกโจมตีดาเกสถานสองวันหลังจากนั้นเยลซินก็แต่งตั้งให้ปูตินเป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาก็ได้เป็นรักษาการประธานาธิบดีหลังเยลซินลาออกจากตำแหน่ง จนกระทั่งปูตินชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีหลังจากนั้น ในช่วงนั้นเองการก่อการร้ายในรัสเซียก็หนักข้อขึ้นถึงขั้นโจมตีในเขตอพาร์ทเมนต์ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้เสียชีวิตรวมเกือบ 300 ราย เป็นการส่งสัญญาณว่าไม่มีใครในรัสเซียที่ปลอดภัย ราโกซินมองว่าการโจมตีในช่วงนั้นส่งผลทางจิตวิทยาต่อทั้งปูตินและสังคมรัสเซียเอง ทำให้ปูตินใช้โอกาสสร้างภาพเป็นผู้นำที่แข็งกร้าวที่ต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธในเชชเนียและไม่ยอมหารือกับบาซาเยฟ แต่ทว่าในหลายปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกลับส่งผลให้เกิดการนองเลือดแบบที่ประชาชนทั่วไปได้รับผลไปด้วยไม่ว่าจะเป็นเหตุจับตัวประกันในโรงละครกรุงมอสโกวเมื่อปี ค.ศ. 2002 หรือในกรณีโรงเรียนเบสลานในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งกองกำลังรัสเซียมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีนี้ว่าปฏิบัติการอย่างไม่เป็นมืออาชีพ แต่ปูตินกลับยิ่งอ้างการสูญเสียเหล่านี้เพื่อยึดกุมอำนาจไว้ในมือตัวเองและสร้างภาพแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนรัสเซียส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาบาซาเยฟจะถูกสังหาร กบฏเชชเนียถูกปราบปรามเป็นจำนวนมาก แต่การก่อการร้ายก็ยังคงเกิดขึ้นในมอสโควปี ค.ศ. 2000-2001 หลังจากนั้นการก่อการร้ายในรัสเซียก็เริ่มลดน้อยลงและเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ถ้าหากปูตินรักษาสภาพเช่นนี้ต่อไได้เขาอาจจะถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่สุดในช่วง 20 ปี ทีผ่านมาก็เป็นได้ แต่ปูตินกลับพยายามเลือกจะรักษาอำนาจเอาไว้แม้ในช่วงยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างช่วงราคาน้ำมันตกต่ำในปี 2014 และการยึดแคว้นไครเมียของยูเครนก็ทำให้ประเทศถูกหมางเมินจากประชาคมโลก ราโกซินตั้งข้อสังเกตอีกว่าเหตุโจมตีในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของปูตินเกิดขึ้นวันเดียวกับที่ปูตินเดินทางเยือน ซึ่งเหตุการณ์นี้ปูตินคงอาศัยทริกเก่าๆ มาใช้อ้างยึดกุมอำนาจแบบเดิมไว้ไม่ได้แล้ว สิ่งที่เขาทำได้คงมีเพียงการจัดการกับภาพลักษณ์ทางลบและภาวนาว่าจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นอีก จากข้อมูลที่มีจนถึงวันที่ 5 เม.ย. พบว่ายังไม่มีกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใดอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุคือยาลิลอฟเป็นคนเชื้อสายคีร์กีซสถานที่ปัจจุบันเป็นพลเมืองของรัสเซีย เขาอาศัยอยู่ในรัสเซียมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว เดอะการ์เดียนรายงานว่ามีชาวเอเชียกลางนับแสนคนอาศัยอยู่ในรัสเซียเช่นเดียวกับยาลิลอฟ พวกเขามักจะเป็นแรงงานที่ถูกใช้งานหนักมีสภาพการจ้างงานย่ำแย่ มีบางคนถกทำให้กลายเป็นพวกสุดโต่งหลังจากที่เดินทางเข้ารัสเซียแล้ว สาเหตุน่าจะมาจากการที่ชีวิตอยู่ในสภาพย่ำแย่และถูกเหยียดเชื้อชาติในชีวิตประจำวัน
เรียบเรียงจาก St Petersburg bomb suspect identified as 22-year-old born in Kyrgyzstan, The Guardian, 04-04-2017 Russia: The ghost of a terrorised past, Leonid Ragozin, Aljazeera, 05-04-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ทัพเรือ' ยันจำเป็นช็อปเรือดำน้ำจีน 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน ชี้ใช้งานในน้ำตื้นได้ รบ.นี้ให้ความสำคัญ Posted: 05 Apr 2017 09:38 AM PDT โฆษกกองทัพเรือ ยันจำเป็นจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้าน ระบุรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ชี้สามารถพัฒนาให้ใช้งานในน้ำตื้นได้ แนะมอง 2 เหตุต้องมี เพราะมิติความมั่นคง-มิติพิทักษ์ผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล 'รมช.พาณิชย์' หนุนซื้อ ชี้พัฒนาทางเศรษฐกิจ เรือดำน้ำชั้นหยวน (Yuan Class S 26 T) จากจีน 5 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ (ทร.) กล่าวยืนยันความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน จำนวน 3 ลำ รวมมูลค่า 36,000 ล้านบาท ว่า เพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมานับแต่เรือดำน้ำชุดแรกของกองทัพเรือปลดประจำการ ทำให้มีรูโหว่การดูแลพื้นที่ใต้น้ำ ที่ผ่านมาก็เคยเสนอให้หลายๆ รัฐบาลจัดซื้อ แต่เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด ทำให้ไม่คืบหน้า เพิ่งมาสามารถผลักดันได้มากที่สุดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน "เราจำเป็นต้องให้มีเรือดำน้ำในช่วงเวลานี้ เพราะรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ" พล.ร.อ.จุมพล กล่าว โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงขั้นตอนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่า ขณะนี้จบในกรอบงบประมาณประจำปีของกองทัพแล้ว และส่งให้กระทรวงกลาโหมพิจารณา ส่วนจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันใด เมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้ ยืนยัน กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ต้องการไปรุกรานใคร แต่เพื่อต้องการสำรวจทรัพยากรใต้น้ำ การป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับกองทัพอากาศที่มีเครื่องบินหลายรูปแบบ โฆษกกองทัพเรือ ย้ำถึงสองเหตุผล ที่ไทยจำเป็นจะต้องมีเรือดำน้ำว่า เพื่อการป้องกันและปราบปราบมิติด้านความมั่นคง และมิติของการพิทักษ์ผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท ส่วนข้อกังวลว่าเรือดำน้ำจะสามารถใช้งานในน้ำตื้นได้หรือไม่ ยืนยันว่าสามารถใช้การได้ ไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องเหตุผลที่ซื้อเรือดำน้ำจากจีนนั้น ได้ทำการศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน และส่งบุคลากรไปเรียนรู้แล้ว พบว่าประเทศจีนมีข้อเสนอที่ดีที่สุดในงบประมาณจำกัด ทั้งนี้ โฆษกกองทัพเรือ ยังกล่าวอีกว่า ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อจากจีน ได้ตั้งคณะกรรมการ 17 คน ขึ้นมาศึกษาและเปรียบเทียบ 7 ประเทศ ซึ่งจีนมีข้อเสนอที่ดีที่สุด ในวงเงิน 3 หมื่น 6 พันล้านบาท และไทยจะได้เรือดำน้ำ 3 ลำพร้อมออฟชั่น ระบบขับเคลื่อนแบบ AIP ระบบอาวุธแบบยิงใต้น้ำ ผิวน้ำและยิงชายฝั่ง ที่สามารถหมุนเวียนการใช้งานได้ คือ 1 ลำ สำหรับใช้,1ลำ สำหรับสแตนบาย และ 1 ลำสำหรับการฝึกซ้อม ส่วนข้อกังวลในเรื่องของความลึกของทะเลไทย ยืนยัน ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถพัฒนาให้ใช้งานในน้ำตื้นได้ และที่ผ่านมาในหลายประเทศก็ใช้งานโจมตีข้าศึกในน้ำตื้น ตลอดจนยินดีให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้ 'รมช.พาณิชย์' หนุนซื้อ ชี้พัฒนาทางเศรษฐกิจวันเดียวกัน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการของกองทัพเรือ ในหัวข้อ"สมุทราภิบาลและเศรษฐกิจทางทะเลของไทยกับบทบาทองกองทัพเรือ "ระบุว่า กองทัพเรือจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะบุคลากรของกองทัพเรือที่จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่ไทยยังประสบปัญหาในหลายด้าน และเห็นว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำเพราะไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเลเป็นจำนวนมาก และอยากขอให้ผู้ที่คัดค้านหรือวิจารณ์รัฐบาลในการซื้อเรือดำน้ำอย่ามองเพียงมติเรื่องของความมั่นคงหรือวิจารณ์เพียงว่าไม่มีเงินแล้วซื้อทำไม แต่ขอให้มองการพัฒนาทางเศรษฐกิจการสำรวจขุมทรัพย์ในใต้ทะเลที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่จะช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้
ที่มา : บีบีซีไทย Voice TV สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และ โลกวันนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผบ.ตร. ลงพื้นที่ตรวจเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า ถ.ราชดำเนิน เจ็บ 2 ราย Posted: 05 Apr 2017 09:21 AM PDT ที่มาภาพ สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเวลาที่ผ่านามา 20.08 น. ห้องวิทยุ จส.100 รับแจ้งมีเหตุระเบิดที่หน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร โดยเป็นระเบิดปิงปอง ซุกในถังขยะ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย เป็นเจ้าหน้าที่เก็บขยะของ กทม. หูอื้อจากเสียงระเบิด โดย พ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล ผกก.สน.ชนะสงคราม บอกว่า เวลาประมาณ 20.00 น. เกิดเสียงดังคล้ายระเบิด หรือประทัด ขึ้นบริเวณถังขยะทางเดินเท้า ซึ่งเป็นที่จอดรถของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถนนราชดำเนิน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ต่อมา เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์และเก็บกู้วัตถุระเบิดหรืออีโอดีเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุระเบิดภายในถังขยะวางอยู่บริเวณริมรั้วทางเท้า เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ ระบุว่า ขณะกำลังกวาดทำความสะอาด บริเวณตู้ไปรษณีย์บนทางเท้า เกิดเหตุระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ทันที เนื่องจากอยูใกล้กับจุดเกิดเหตุ โดยผู้บาดเจ็บทราบชื่อ คือ สุริยาพร พูลสมบัติ มีอาการหูอื้อ ลูกจ้างชั่วคราว สำนักงานเขตห้วยขวาง และ พิมพ์วรา รวีนพสิทธิ์ บาดเจ็บเล็กน้อยมีรอยแดงที่แขน ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลแล้ว ขณะที่สาเหตุและชนิดของระเบิด ยังคงอยู่ระหว่างตรวจสอบ โดย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบจุดเกิดเหตุดังกล่าวด้วย โดยเมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางไปดูจุดเกิดเหตุด้วยตนเอง ที่มา : สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้จัดการออนไลน์ และมติชนออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
8 ทหารก้มกราบเท้าแม่พลทหารยุทธกินันท์เหยื่อรุมซ้อมตาย Posted: 05 Apr 2017 08:07 AM PDT 8 ทหารในเรือนจำ ก้มกราบเท้าขอโทษ แม่พลทหารยุทธกินันท์ เผยเตรียมเผาร่างลูกชายส่งสู่สุขคติ 10 เม.ย.นี้ ภาพพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ก่อนและหลังถูกทำร้ายร่างกาย จนเสียชีวิตในวันที่ 1 เม.ย. 2560 5 เม.ย. 2560 ความคืบหน้ากรณี พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ทหารเกณฑ์ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎธานี เสียชีวิตระหว่างถูกสั่งขังคุกทหารเพื่อเป็นการทำโทษ เนื่องจากทำผิดวินัย เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งญาติติดใจสาเหตุการเสียชีวิต โดย เรณู หมดราคี อายุ 40 ปี แม่ของ พลทหารยุทธกินันท์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ จนนำไปสู่การออกหมายจับทหาร ที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา ล่าสุดวันนี้ (6 เม.ย.60) ข่าวสดออนไลน์และเดลินิวส์ รายงานตรงกันว่า พ.ต.อ.วิชอบ เกิดเกลี้ยง รอง ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พร้อมด้วย พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ร่มไทร สว.(สอบสวน) กก.สส.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี นำสำนวนการสอบสวน ยื่นขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา 10 ราย ในคดีทำร้ายร่างกาย พลทหารยุทธกินันท์ ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต ทั้งนี้ตุลากรได้ใช้เวลาพิจารณาสำนวน ร่วม 4 ชั่วโมง ก่อนอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา 9 ราย ในข้อหา ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นนายทหารประจำการชั้นประทวน 4 นาย ทหารกองประจำการ 5 นาย ประกอบด้วย จ่าสิบเอกยรรยง สำลีเมือง, จ่าเอกสนอง คำสีทา, จ่าเอกเฉลิมพงษ์ นิลสุวรรณ, จ่าเอกปรเมศร์ เต็มยอด, พลทหารศักราวุฒิ พลรัตน์, พลทหารจักรพันธ์ เขียวสวัสดิ์, พลทหารภาคภูมิ สืบมาศ, พลทหารสิทธิชัย พบยอด ทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำทหาร มทบ.45 และพลทหารภูวเดช ธรายุทธภูมิ ผู้ช่วยสิบเวร และให้ยกคำร้องสิบเอกสุรเชษฐ์ พรหมมาศ สิบเวร โดยศาลพิเคราะห์ว่ามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติกรรมสร้างความยุ่งเหยิงให้กับพยานหลักฐาน โดย ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกมายังมณฑลทหารบกที่ 45 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่อไป ต่อมาเวลาพล.ต.วิชัย ทัศนมณเฑียร ผบ.มทบ.45 พร้อมด้วย นายศุภวัชร ศักดา รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี พล.ต.ต.อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี และพ.ต.อ.วิชอบ เกิดเกลี้ยง รอง ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดย พล.ต.วิชัย กล่าวว่า ผู้ต้องหา 9 ราย ที่ศาลอนุมัตออกหมายจับ มี 8 คน ยังต้องโทษกักขังอยู่ในเรือนจำ มทบ.45 ส่วนอีก 1 คน เป็นทหารกองประจำการทำหน้าที่ผู้ช่วยสิบเวร ซึ่งขั้นตอนต่อไปคณะพนักงาน จะเข้าดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และสอบสวนปากคำต่อไป ส่วน ส.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งขณะนี้ ตนได้ออกคำสั่งให้มาช่วยราชการที่ บก.มทบ.45 หากพนักงานสอบสวนส่งหมายเรียกมา ก็จะเร่งส่งตัวให้ทันที พล.ต.วิชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับนายทหารประจำการ จำนวน 5 นายที่ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งศาลได้อนุมัติหมายจับไว้แล้ว ตนจะได้ มีคำสั่งให้พักราชการ จนกว่ากระบวนการทางกฎหมายจะเสร็จสิ้น ส่วนจะมีบุคคลใดเกี่ยวข้องเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน และ มทบ.45 พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ในทางการสืบสวนของข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่ มทบ.45 แต่งตั้งขึ้นพบว่าผู้ที่ก่อเหตุมี 5 คน ส่วนที่เหลือมีส่วนรู้เห็น ไม่มีการห้ามปราม ซึ่งคณะกรรมการจะสรุปสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงรายงานต่อกองทัพบก ภายในวันที่ 7 เม.ย.นี้ โดยการสืบสวนข้อเท็จจริงนั่น จะเป็นการรายงานข้อเท็จจริงถึงระดับความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นด้วย ซึ่งตนในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ มทบ.45 ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย" ผบ.มทบ.45 กล่าว พล.ต.วิชัย กล่าวและว่า เมื่อผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นภายในเรือนจำ มทบ.45 จึงถือว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ประจำเรือนจำ จึงจะมีการสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดแม้ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ทางด้าน พล.ต.ต.อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หลังนี้คณะพนักงานสอบ จะได้เข้าแจ้งข้อหากับผู้ต้องหา และเริ่มกระบวนการสอบสวนปากคำ ผู้ที่ศาลออกหมายจับทั้งหมด โดยจะขออำนาจศาลฝากขังที่เรือนจำ มทบ.45 นอกจากนี้จากการสอบสวนปากคำพยานยังพบว่ามีบุคคลอื่นนอกเหนือจากผู้ที่ศาลออกหมายจับเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทางคณะพนักงานสอบสวนจะเร่งรวบวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติออกหมายจับต่อไปภายหลังศาล มทบ.45 อนุมัติหมายจับผู้ก่อเหตุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาพ 8 ทหารได้เข้ามาพบ เรณู ก่อนที่ทั้งหมดจะนั่งคุกเข่าพนมมือ แล้วก้มลงกราบเท้าเพื่อขอโทษกับสิ่งที่ทำลงไป รายงานข่าวระบุด้วยว่า จากนั้น เรณูได้เข้าพบ พล.ต.วิชัย เพื่อขอพบหน้าผู้ก่อเหตุที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ หลังจากนั้นผู้ต้องหา 8 คน ได้เข้ามาพบ เรณู ก่อนที่ทั้งหมดจะนั่งคุกเข่าพนมมือ แล้วก้มลงกราบเท้าเพื่อขอโทษกับสิ่งที่ทำลงไป ทำให้ เรณู ถึงกับสะอื้น พร้อมกับพูดว่า "แม่ขออโหสิกรรมให้" พร้อมทั้งเตรียมเผาร่างลูกชายในวันที่ 10 เม.ย.ที่วัดกัลปนาราม ต.เวียงสระ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราว Posted: 05 Apr 2017 07:24 AM PDT วิษณุ แจงวางระบบการติดตามผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว พร้อมกำหนดให้มีผู้กำกับดูแลผู้ได้รับปล่อยตัวชั่วคราวให้เป็นไปตามเงื่อนไข โดยได้รับค่าตอบแทน แฟ้มภาพ 5 เม.ย.2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)มาตรการกำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราว ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ด้วยเสียง 173 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย จากผู้เข้าร่วมประชุม 176 คน โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ว่าจากเดิมเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลแล้ว มักมีผู้หลบหนีและติดตามตัวได้ยาก เป็นจำนวนสูงถึง 5 พันรายต่อปี ดังนั้น สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเห็นว่า เมื่อมีระบบการติดตามผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว Electronic Monitoring : EM) แล้ว ควรจะมีผู้ติดตามระบบดังกล่าวโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งอาจเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเอกชน โดยได้รับค่าตอบแทนซึ่งมาจากเงินค่าปรับตามคำพิพากษาในคดีอาญาที่ศาลมีอยู่แล้ว เพื่อติดตามดูว่าผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทำตามเงื่อนไข และหากมีการหลบหนีสามารถให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมตัวได้ โดยผู้แจ้งความนำจับมีสิทธิได้รับเงินสินบน และเจ้าหน้าที่ผู้จับมีสิทธิได้รับเงินรางวัล อย่างไรก็ตาม สนช.ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในการให้ประชาชนผู้ชี้เบาะแสได้รับเงินรางวัล รวมถึงมาตรการติดตามตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีในชั้นอื่น เช่น ชั้นการสอบสวน เป็นต้น ซึ่งจากนี้ สนช. กำหนดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเปิดให้มีการแปรญัติได้ภายใน 15 วัน และมีกรอบการดำเนินงาน 60 วัน
ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉ.แก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มโอกาสจ้างผู้สูงอายุ-คนพิการ Posted: 05 Apr 2017 07:17 AM PDT สนช. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดนายจ้างจ่ายค่าชดเชยเกษียณอายุ ใน 30 วันหลังลูกจ้างใช้สิทธิ ขณะอธิบดีกรมสวัสดิการฯ ยัน ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้ แฟ้มภาพ 5 เม.ย. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ .. )พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 175 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 15 คน ภายใต้กรอบดำเนินงาน 60 วัน แปรญัตติ 15 วัน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงเหตุผลที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงต้องเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทดังกล่าว ซึ่งอาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป รวมถึงต้องปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับดังกล่าว ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องกันและเหมาะสมยิ่งขึ้น และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ ด้าน สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากครอบคลุมการการจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ และลูกจ้างบางประเภท พร้อมมีข้อเสนอแนะ ให้ทุกสถานประกอบการ กำหนดระยะเวลาเกษียณให้ตรงกัน เพื่อป้องกันการลักลั่นในการถือปฏิบัติ ขณะที่ สุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิให้กับลูกจ้างกลุ่มพิเศษดังกล่าว ขณะที่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างกลุ่มพิเศษไว้ ชั่วโมงละ 40 บาทนั้น ไม่ขัดกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อคำนวณตามชั่วโมง และยังช่วยให้เกิดการทำงานภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม และเป็นการช่วยโน้มน้าวให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น ซึ่งขอย้ำว่า คณะกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างฯ จะไม่กำหนดสิทธิของลูกจ้างกลุ่มพิเศษต่ำกว่าสิทธิโดยปกติอย่างแน่นอน พร้อมระบุว่า ข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม เพราะในร่างกฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่าย ภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิ และยืนยันว่า ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้
ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วิษณุ นั่งหัวโต๊ะ ถกหน่วยงานภาครัฐเตรียมออก กม.ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ รธน.ฉบับใหม่ Posted: 05 Apr 2017 06:27 AM PDT วิษณุ เป็นประธานการประชุมร่วมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เตรียมการดำเนินการออกกฎหมายให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รธน. ฉบับใหม่ ขณะที่ กต. เชิญคณะทูตต่างประเทศเข้าร่วมพระราชพิธี ประกาศใช้ รธน. หวั่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ แฟ้มภาพ 5 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (5 เม.ย.60) เวลา 13.30 น ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเตรียมการหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการออกกฎหมายให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ครั้งที่ 1/2560 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือตัวแทนปลัดกระทรวง และตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่ง เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ประธานได้ชี้แจงต่อที่ประชุมให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวทางของการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำขึ้น เพื่อให้หน่วยงานของภาครัฐนำไปถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป โดยหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงขึ้นนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2559 เรื่องนโยบายการปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติท้ายทะเบียนว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และให้หน่วยงานของภาครัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้การตรากฎหมายภายหลังรัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้บังคับแล้ว ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้ ซึ่งได้สรุปเป็นมาตราในการตรากฎหมายไว้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการทั่วไป รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ณ หน่วยงานของภาครัฐโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการตรากฎหมายและต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการทบทวนตามความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 2. มาตรการก่อนการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้ง เปิดเผยการรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยผ่านระบบเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือการประชุมชี้แจงของหน่วยงาน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ต่อไป 3. มาตรการหลังการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมโดยหน่วยงานของภาครัฐ ต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 4. มาตรการควบคุมเนื้อหาของกฎหมาย ต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญโดยไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งกับแนวนโยบายแห่งร่างยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งมีระบบคณะกรรมการให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการ และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ด้วย จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้ให้โอกาสผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการตอบข้อซักถามเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเองให้สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นไปด้วยความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อไปภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 กต.แจงเชิญคณะทูตเข้าร่วมพระราชพิธีประกาศใช้ รธน.สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะทูตต่างประเทศ ที่ประจำการในประเทศไทยเข้าร่วมพระราชพิธีด้วย ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจะนำข้อมูลความคืบหน้า พัฒนาการของประเทศไทย แจ้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยสถานกงสุลใหญ่ไทย ทั่วโลก และทีมไทยแลนด์ของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ตอบคำถามชี้แจงกับต่างประเทศและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของประเทศไทยไปในทิศทางเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พระราชพิธีที่จัดขึ้นจะมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากขึ้น เพราะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำไปสู่การกระบวนการอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกกฏหมายลูก และการเตรียมการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ตามความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ตั้งใจเดินหน้าตามแผนโรดแมปที่วางไว้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมัชชาแม่น้ำแถลงต้านโครงการทางเลียบแม่น้ำ ทำลายเจ้าพระยาทุกมิติอย่างถาวร Posted: 05 Apr 2017 06:17 AM PDT สมัชชาแม่น้ำแถลงข่าวค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่โปร่งใสและจะทำลายเจ้าพระยาอย่างไม่สามารถฟื้นคืน เตรียมเดินหน้าตรวจสอบถึงที่สุด ด้านสมาคมสถาปนิกสยามฯ และสมาคมวิศวกรฯ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ศศิน หวั่นทำชุมชนริมน้ำอยู่ไม่ได้ สุดท้ายเข้าทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าครองพื้นที่ 19 มีนาคม 2560 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า จะทำการเปิดประมูลโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 4 สัญญาในเดือนเมษายนนี้ งบประมาณ 8,400 ล้าน ทั้งที่ผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนยังแทบไม่ได้รับข้อมูลจากภาครัฐแต่อย่างใด โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ริเริ่มขึ้นเองเมื่อปี 2557 ท่ามกลางความคลางแคลงจากหลายภาคส่วนว่า อยู่ๆ เหตุใด คสช. จึงต้องการผลักดันโครงการนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งที่ขณะนี้โครงการยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่าย ยังเผยให้เห็นผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภูมินิเวศ ทัศนียภาพ และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยชะลอความเร็วของโครงการนี้ 5 เมษายน 2560 สมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายจึงได้ออกแถลงการณ์ 12 ข้อ ดังนี้ 1.โครงการไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการต่อสาธารณชนอย่างรอบด้านเพียงพอ ทั้งๆ ที่โครงการส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิต แต่โครงการกลับเดินหน้าประมูลการก่อสร้าง เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ในข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่คุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราที่ 4 2.การดำเนินโครงการที่ผ่านมากลับไม่พบว่าได้มีการให้ข้อมูลโครงการที่เพียงพอ และไม่ได้มีการปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อท้วงติงจากสมาคมวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง และวิศวกรรม ซึ่งเป็นวิชาชีพหลักที่มีส่วนช่วยตรวจสอบโครงการให้เป็นไปตามหลักวิชา 3.TOR มีปัญหาในการกำหนดรูปแบบของการพัฒนาที่ชี้ชัดว่าเป็นทางเลียบแม่น้ำ อีกทั้งยังให้ทำการศึกษาและการทำแบบก่อสร้างในสัญญาฉบับเดียว จึงขาดการศึกษาทางเลือกของการพัฒนาที่หลากหลายและเหมาะสมกับพื้นที่ อีกทั้งเป็น TOR ที่ให้เวลาทำการศึกษาที่รวบรัดเพียง 7 เดือน 4.ไม่พบการจัดทำ 'แผนแม่บท' ของการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในระยะ 57 กม. ที่ครบถ้วนรอบด้านตามที่กำหนดไว้ใน TOR 'แผนแม่บท' ที่ปรากฏ ขาดการบูรณาการนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแม่น้ำและขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 5.ไม่พบผลการศึกษาที่ครบถ้วนด้านต่างๆ อันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ใน TOR เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study), การศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการศึกษาด้านชลศาสตร์ อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กลับพบว่าใช้เวลาการศึกษาที่รวบรัดในเวลาไม่กี่เดือน ผิดหลักการที่ต้องศึกษาการไหลของน้ำอย่างน้อย 1 ปี 6.ผลการศึกษาที่ด่วนสรุป เห็นชอบให้การทำ 'ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา' เป็นคำตอบหลักของการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขาดการศึกษาและการรับฟังความเห็นที่รอบด้านเพียงพอ โดยมีลักษณะเป็นทางคอนกรีตขนาดใหญ่ กว้าง 10 เมตร สร้างคร่อมไปในแม่น้ำ 2 ฝั่ง ยาวข้างละ 7 กม. รวมเป็น 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในระยะที่ 1 และจะดำเนินการจนครบ 57 กม. ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางเลียบดังกล่าวเป็นการทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาในทุกมิติ ที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ ทำลายคุณค่าทางภูมิทัศน์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต การเดินเรือน การท่องเที่ยว และระบบนิเวศ 7.โครงการยังไม่ผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า คณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) กรมศิลปากร และกรมเจ้าท่า แต่กรุงเทพมหานครกลับเดินหน้าประกาศประมูลโครงการ 8.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีความรวบรัดเพียง 3 ครั้ง ในระยะเวลา 7 เดือน เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่โครงการตลอดลำน้ำ 57 กม. อีกทั้งไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ที่สำคัญ ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ข้อ 11 และข้อ 12 ที่กำหนดให้รัฐต้องให้ข้อมูลก่อนและหลังกระบวนการรับฟังอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 9.รัฐกำลังจะสร้างโครงสร้างทางเดินขนาดใหญ่ลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขัดกับมตีคณะรัฐมนตรี 1 สิงหาคม 2543 ที่กำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และขัดกับกฎหมายผังเมือง อันส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำร่วมกันของประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการและการขนส่งทางน้ำ 10.การรับจ้างออกแบบโครงการนี้โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขาดความชอบธรรม เนื่องจากเป็นการกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 เพราะมหาวิทยาลัยรับจ้างทำงานที่เข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพควบคุม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม/วิศวกรรมควบคุมจากสภาวิชาชีพทั้งสอง 11.หากรัฐเดินหน้าประมูลการก่อสร้างโดยใช้ผลการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ ไม่รอบด้าน และสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับกฎหมายดังที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อสร้างที่ทำไม่ได้จริง มีผลกระทบจากการก่อสร้างที่สร้างความเสียหายในพื้นที่และเกิดการต่อต้านในสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่การยุติโครงการ ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภาครัฐ ทั้งจากผู้รับเหมา ชุมชน ผู้ประกอบการเดินเรือและธุรกิจในท้ายที่สุด 12.โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่เปิดเผยข้อมูลของการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็น 14,000 ล้าน หรือ 8,000 ล้านบาท ก็เป็นเงินภาษีของประชาชนที่จำเป็นจะต้องถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศชาติ ไม่สมควรนำมาใช้กับโครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาดังที่เป็นอยู่ ภายในงานแถลงข่าว อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และไกร ตั้งสง่า สมาชิกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ยังได้กล่าวในทิศทางเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้และต้องการให้รัฐบาลทบทวน ขณะที่จุลจักร จักรพงษ์ หรือฮิวโก้ ตั้งคำถามจากวงแถลงข่าว 3 ข้อไปยังรัฐบาลว่า หนึ่ง-ทำไมโครงการนี้จึงต้องรีบเร่งผลักดัน ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน สอง-ทำไมรายละเอียดของโครงการจึงต้องเป็นความลับ ต้องปิดบัง และสาม-ข้อเสียของการไม่สร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาคืออะไร ด้านศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแลนด์มาร์คโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างทางเลียบแม่น้ำ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างทางเลียบแม่น้ำขนาดใหญ่ตลอดสองฝั่งจะทำให้ชุมชนริมน้ำได้รับผลกระทบ เข้าไม่ถึงแม่น้ำ อยู่ในสภาพแวดล้อมปิด ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นชุมชนแออัดในอนาคต และหากในที่สุดเมื่อชุมชนอยู่ไม่ได้ก็จะเข้าทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพื้นที่ริมน้ำสำหรับก่อสร้างอาคารสูง ทั้งนี้ทางสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายจะยื่นเรื่องให้สภาสถาปนิก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และศาลปกครอง ตรวจสอบโครงการนี้ต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ถอยก่อน! นายกฯ ไฟเขียว ขยายเวลาจับปรับ นั่งแคป-ท้ายกระบะไปหลังสงกรานต์ Posted: 05 Apr 2017 05:46 AM PDT ผู้ช่วย ผบ.ตร. เผย นายกฯ ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน ขยายมาตรการการห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และห้ามนั่งแคปรถกระบะ ไปหลังสงกรานต์ก่อน ที่มาภาพ writtenepisodes.com 5 เม.ย.2560 จากกรณีมาตรการห้ามนั่งท้ายกระบะรถ และ ห้ามนั่งแคปรถกระบะ อันสืบเนื่องมาจากคำสั่งตามมาตรา 44 ในการแก้ พ.ร.บ.จราจร จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้นั้น ล่าสุดวันนี้ (5 เม.ย.60) รายงานข่าวระบุว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษา (สบ.10) พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ประชุมร่วมกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค (บช.ภ.)1-9 ศชต. และหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อวางมาตรการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 และการบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง พล.ต.ท.วิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการห้ามใช้รถผิดประเภท หรือ การบรรทุกคนบริเวณท้ายกระบะ รวมแคปหลังของรถกระบะแบบ 2 ประตู นั้น ไม่สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่จะมีการผ่อนปรนการบรรทุกผู้โดยสารภายในแคปของรถเป็นกรณี โดยหากพิจารณาว่ามีความจำเป็นและเดินทางไม่ไกลจะใช้การตักเตือน แต่หากพบการบรรทุกในเชิงรับจ้างขนส่ง เช่นรถที่ดัดแปลงให้คนนั่ง 2 ชั้นตรงกระบะท้าย เช่นนี้เจตนาขนคนชัดเจน ก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนใช้รถขนส่งสาธารณะในการเดินทางกลับภูมิลำเนาแทนการเดินทางไปภายในแคปของกระบะ หรือกระบะท้ายเพื่อความปลอดภัย ซึ่งข้อกฎหมายทั้งหมดเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้หมดแล้ว "เรื่องรถกระบะจริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตอนนี้พี่น้องประชาชนสับสนว่ามันไม่ผิด หรือผิด ขนส่งทางบกชี้แจงชัดเจนว่าไม่ใช่ที่นั่ง ในแคปไม่ใช่ที่นั่ง กระบะหลักไม่ใช่ที่นั่ง ผิด ก็ขอให้ทราบว่าผิดเท่านั้นเอง เวลาเจ้าหน้าที่เขาจับก็รับความผิดไป รับใบสั่งไป ก็แค่นั้นเอง ไม่มีปัญหานะครับ แต่ถ้าต้องการจะไม่ผิดนะครับ ก็อย่าบรรทุกคนโดยสาร ไปใช้รถที่ไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ หรือท่านไปยื่นแก้ไขประเภทรถได้ อันนี้ขนส่งทางบกเขาก็จะมีมาตรการสำหรับรถที่จะใช้บรรทุกผู้โดยสาร มีมาตรการที่จะเปลี่ยนประเภทรถให้ได้นะครับ จากป้ายขาวตัวอักษรเขียวเป็นขาวตัวอักษรสีฟ้า อันนี้จะเป็นรถที่ใช้บรรทุกผู้โดยสารได้ เป็นรถนั่งเกิน 7 คน" "จริงๆ แล้ว ต้องแยกว่ารถเราจะใช้อะไร แบบไหน เราใช้รถประเภทนี้เพื่อการอะไร ต้องแยกให้ชัดเจนก่อน พี่น้องประชาชนต้องทราบในส่วนนี้ว่า ท่านยื่นขอรถคันนี้ไปช้อะไร แต่ปัญหาก็คือว่าไม่ใช้ใจประเภทที่ยื่นขอไว้ เอาไปเปลี่ยนแปลงเป็นรถอีกประเภทหนึ่ง" ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว กรณีที่เจ้าของรถไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่แคปหลังนั้น ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว ระบุว่า ก็ต้องผ่านการตรวจรับรองประเภทรถจากกรมขนส่งทางบกก่อน ถ้าได้รับการรับรองว่าสามารถให้คนโดยสารได้ตามกฎหมายก็นั่งได้ แต่ถ้าไม่มีการรับรองหากเจ้าหน้าที่พบก็ต้องจับกุม ถือว่าผิดกฎหมายต้องปรับคนขับ ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์นี้ จะกวดขันการไม่อนุญาตให้คนนั่งท้ายกระบะตั้งแต่ต้นทาง จุดแรกก็จะตักเตือนก่อนว่าผิดและต้องนำคนออกให้โดยสารวิธีอื่นที่ถูกกฎหมาย มีทางเลือกอื่นที่ทำได้ เช่นรถสาธารณะ โดยไม่ทำการเปรียบเทียบปรับ แต่หากผ่านต้นทางไปสู่จุด 2 จุด 3 แบบนี้ถือว่าเจตนาละเมิดกฎหมายแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ขนคน จึงขอย้ำว่าให้ทำตามกฎหมายตั้งแต่ต้นดีกว่า เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้แม้กระแสสังคมระบุว่ากฎหมายห้ามนั่งกระบะหลังและแคปไม่เอื้อกับคนรายได้น้อยนั้น ก็ต้องบอกว่าต้องไปแก้กฎหมาย ในเมื่อกฎหมายออกมาเช่นนี้ ตำรวจต้องทำตาม บังคับใช้กฎหมายนี้ ตนจะบอกให้ตำรวจทั่วประเทศละเว้นกฎหมายคงไม่ได้หรอก พล.ต.ท.วิทยา ยังได้ เปิดเผยกับ "คมชัดลึกออนไลน์" ด้วยว่า ล่าสุดทาง สตช.ได้หารือกับทางกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวกับแล้ว เห็นว่าเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะยังเตรียมตัวไม่ทัน จึงเห็นร่วมกันว่าควรขยายเวลาในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนเพิ่มขึ้นอีก จากเดิม 15 วัน ซึ่งจะเริ่มจับปรับในวันนี้ (5เม.ย.)ออกไปเป็นหลังสงกรานต์ "ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาชัดเจนว่าจะเริ่มจับปรับผู้ทำผิดอย่างจริงจังเมื่อไร แต่เบื้องต้นคือขยายไปหลังสงกรานต์ก่อน" ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว พร้อมเปิดเผยด้วยว่า ได้มีการนำเรียนเรื่องนี้ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯทราบแล้ว โดยนำเรียนผ่านเลขาธิการนายกฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เห็นด้วย "ท่านนายกฯก็ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน ท่านสั่งให้ไปดูช่องทางช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเราก็จะไปเข้มงวดในเรื่องการใช้ความเร็ว เรื่องเมา และเรื่องการฝ่าฝืนกฎจราจร" ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว
ที่มา คมชัดลึกออนไลน์ matichon tv และข่าวสดออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ม้งช่วยรบ (2) ชีวิตหลังสงครามเย็น การต่อสู้เพื่อสถานะบุคคลและสัญชาติ Posted: 05 Apr 2017 05:13 AM PDT สนทนาภาคต่อกับอดีตสมาชิกชุมชนถ้ำกระบอก หลังผ่านยุค "ม้งช่วยรบ" ช่วยราชการช่วงสงครามเย็น และถูกกดดันให้ย้ายออกจากถ้ำกระบอก พวกเขาบางส่วนย้ายไปอยู่บ้านญาติพี่น้องที่เชียงราย แต่การตั้งถิ่นฐานใหม่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ตั้งใจไว้ เลวร้ายที่สุดคือถึงกับถูกจำหน่ายชื่อออกจากระบบทะเบียนราษฎร์ ทำให้พวกเขาขอฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง อ่านย้อนหลัง: ม้งช่วยรบ (1) สงครามลับชายแดนกับการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ ตัวตน ความเป็นคนไทย แต่แล้ว ชีวิตครอบครัวของเขาก็เจออุปสรรคปัญหาระลอกใหม่การที่ชาวม้งไปรวมตัวกันอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลมีความพยายามกระทำการกดดันให้มีการสลายชุมชนม้งดังกล่าวตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540 ทางกรมการปกครองและสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ทำการสำรวจและทำทะเบียนประวัติชั่วคราวให้ชาวม้งที่นั่น เพื่อเตรียมดำเนินการพิสูจน์ตัวบุคคลและให้สัญชาติไทยต่อไปอย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การถูกกดดันจากฝ่ายนโยบายดังกล่าว จึงทำให้ชาวม้งที่นั่นเริ่มทยอยย้ายออกไปอาศัยอยู่ตามชุมชนม้งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2540-2545 โดยนายอนุชา โมกขะเวส รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง ในขณะนั้น ได้ลงนามในหนังสือที่มท. 0310.1/ว 2506 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2542 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนลำปาง ลำพูนพะเยา ตาก สุโขทัย น่าน กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ให้อำนวยความสะดวกและรับเรื่องการแจ้งย้ายเข้าของชาวม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกเมื่อทุกคนได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว จึงถือหนังสือนั้นพากันอพยพออกไปหาที่อยู่อาศัยกับญาติพี่น้องในเขตภาคเหนือของไทย000 บ้านธารทอง ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย บ้านใหม่ที่พวกเขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ ลี แซ่ซ่ง สมัยฝึกทำเครื่องเงินในชุมชนถ้ำกระบอก จ.สระบุรี ชุมชนชาวม้งทำเรื่องไปถึงหน่วยราชการหลายแห่งเรื่องสัญชาติ แต่หลายครั้งก็ไม่เป็นอย่างที่พวกเขาคาดหวัง เอกสารประจำตัวตอนอยู่ที่ชุมชนถ้ำกระบอก ทุกคนเก็บไว้ติดตัว ไว้เป็นหลักฐานเพื่อขอสัญชาติกับทางราชการ เอกสารประจำตัวตอนอยู่ที่ชุมชนถ้ำกระบอก ทุกคนเก็บไว้ติดตัว ไว้เป็นหลักฐานเพื่อขอสัญชาติกับทางราชการ (จากซ้ายไปขวา) ลี แซ่ซ่ง เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และ ไซ แซ่ซง อดีตสมาชิกชุมชนชาวม้งถ้ำกระบอก ปัจจุบันพวกเขามาอยู่ที่หมู่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และญาติพี่น้องม้งกลุ่มหนึ่ง จึงตัดสินใจอพยพย้ายมาอยู่อาศัยกับญาติในหมู่บ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 "โดยก่อนมาพวกเราได้ส่งตัวแทนมาดูพื้นที่ พร้อมคุยกับผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ เมื่อเห็นด้วยแล้ว พวกเราจึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านธารทอง พวกเราได้อพยพครอบครัวมาอยู่อาศัยครั้งแรก 32 ครอบครัว และหลังจากนั้นมีชาวม้งจากสำนักสงฆ์ฯ ตามมาอีกจำนวนหนึ่ง" เยี่ยปาว บอกเล่า แต่การได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านธารทองนั้น ไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนตั้งใจเอาไว้ สามเดือนต่อมา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมที่นั่น ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนไทยและคนม้งได้ทำการประท้วงเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ทางฝ่ายปกครองของอำเภอเชียงแสนปล่อยให้ม้งจากถ้ำกระบอกทะลักเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงแสนเป็นจำนวนมากอย่างนี้ โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ชาวบ้านในตำบลแม่เงิน ได้ออกมาคัดค้าน พากันตั้งด่านสกัดกั้นไม่ให้ม้งจากถ้ำกระบอก เข้ามาในหมู่บ้านธารทอง โดยอ้างเหตุผลว่าม้งกลุ่มนี้จะมาทำลายป่า และแย่งพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ "ตอนนั้น พวกผมที่เข้ามาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก็ซื้อพื้นที่เพื่อสร้างบ้าน และหาพื้นที่ทำกิน และนำเอกสารไปแจ้งเข้าทะเบียนบ้านของญาติในหมู่บ้าน โดยกำหนดให้ 1 บ้านเลขที่ สามารถรับได้ 2 ครอบครัว และมี 16 ครอบครัวในบ้านธารทองได้ให้พวกตน 32 ครอบครัว ย้ายเข้าอยู่อาศัยด้วย หลังจากมาอาศัยอยู่ก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าพวกตนตัดไม้ทำลายป่า แต่หลังจากจับกุมพบว่าเป็นม้งดั้งเดิมในหมู่บ้าน และหลังจากนายอำเภอคนใหม่เข้ามาพวกตนก็ถูกเพ่งเล็งอีก โดยทางอำเภอแจ้งมายังผู้ใหญ่บ้านว่าให้พวกตนแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้าน ขณะที่กำลังประชุมปรึกษาถึงปัญหาย้ายออกจากทะเบียนอำเภอเชียงแสน ก็มีบาทหลวงท่านหนึ่งเข้ามาให้ความเห็นว่าไม่ควรย้ายออก ทำให้พวกตนตกลงไม่ไปย้ายออก หลังจากนั้น แต่เรื่องยังไม่จบ ผู้ใหญ่บ้านตอนนั้นได้เรียกชาวม้งที่รับพวกตนมาอาศัยไปลงชื่อเพื่อผลักดันพวกตนให้ย้ายออกแต่การต่อต้านก็ไม่เกิดผลใดๆ กับพวกตน" เยี่ยปาว บอกเล่าให้ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม การต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ก็ทำให้ชาวม้งส่วนหนึ่งนั้นไม่มั่นใจ หวั่นกลัวจะเกิดความขัดแย้งอีก จึงเดินทางกลับสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก บางส่วนก็อพยพไปอยู่ที่จังหวัดตาก และบางส่วนไปอยู่อาศัยที่อื่น "การมาอาศัยอยู่ที่บ้านธารทอง เราได้แจ้งชื่อเข้าทะเบียนในหมู่บ้าน ทำให้พวกตนที่ยังไม่มีสัญชาติไทยก็ได้รับบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองตามนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น ทำให้การเข้ารักษาพยาบาลที่สถานีอนามัยใกล้หมู่บ้าน และที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ มีค่าใช้จ่ายเพียง 30 บาทเหมือนประชาชนไทยทั่วไป" เยี่ยปาว บอกเล่าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่บ้านธารทอง แต่การออกจากสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก ย้ายมาอยู่ที่บ้านธารทองนี้ ก็ทำให้เยี่ยปาวและอีกหลายชีวิต พลาดโอกาส เดินทางไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่สาม อย่างน่าเสียดาย วันที่ 18 ธันวาคม 2546 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเปิดโครงการรับผู้อพยพชาวลาวม้งที่อาศัยอยู่ที่วัดถ้ำกระบอกในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ตกค้างจากสงครามเวียดนาม จำนวนประมาณ 16,000 คน เพื่อไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่องค์กรของสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลไทยได้จำกัดการเข้า-ออกของคนม้ง ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เพื่อทำการขึ้นทะเบียนแล้วสัมภาษณ์ คัดกรองไปอยู่ในอเมริกา "ตอนนั้น สหรัฐอเมริกามีนโยบายรับม้งในสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอกไปอยู่ โดยพิจารณาจากแบบสำรวจที่ทางสำนักสงฆ์ฯ เคยสำรวจไว้ หรือที่เรียกว่า บัตรทีเคบี หากใครมีบัตรนั้นแล้วจะได้รับการพิจารณาไปทั้งหมด ไม่ว่าคนนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ เมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐเมริกา จะได้รับบัตรเขียว อยู่อาศัยชั่วคราว 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้วจะต้องสอบเพื่อขอสัญชาติสหรัฐอเมริกา" จึงทำให้กลุ่มที่อยู่ในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และตัดสินใจจะเดินทางไปอเมริกา ได้ผ่านกระบวนการลงทะเบียน สัมภาษณ์ ตรวจโรค จากนั้น ม้งกลุ่มนี้ จึงถูกทยอยส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกา ทำให้เยี่ยปาว และเพื่อนๆ ที่เคยไปช่วยรบ มีความหวังลึกๆ ว่าพวกตนน่าจะมีสิทธิที่จะได้ไปอเมริกากับเขาเหมือนกัน เยี่ยปาวกับเพื่อนๆ จึงพากันเดินทางไปสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เจรจากับเจ้าหน้าที่ UNHCR และเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกา เพื่อขอสิทธินั้น แต่การเจรจาก็ไร้ผลโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า เยี่ยปาวกับพวกออกไปจากวัดถ้ำกระบอกก่อนหน้านั้นแล้ว และไม่มีบัตรทีเคบี จึงไม่มีสิทธิเดินทางไปอเมริกา "ตอนนั้น เราก็พยายามบอกว่า เมื่อก่อนเราก็เคยอยู่ในถ้ำกระบอก และเคยไปช่วยสู้รับกับคอมมิวนิสต์ ทำไมไม่ให้สิทธิเรา แต่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า เพราะคุณไม่มีบัตรทีเคบี จึงไม่มีสิทธิเดินทางไปอเมริกา พร้อมกับไล่เราออกจากห้องเลย ตอนนั้นเรายังพูดต่อว่าเขาเลยว่า ทำไมคนอเมริกาถึงใจดำแบบนี้" เยี่ยปาว บอกเล่าด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ในที่สุด ชุมชนม้งที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ถูกปิดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 ทำให้เยี่ยปาว อดนึกน้อยใจไม่ได้ว่า ทำไมชีวิตของเขาและอีกหลายๆ คน ต้องอาภัพ ต้องเผชิญกับความไร้สิทธิที่พึงมีพึงได้เหมือนกับคนอื่นๆ เขา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ชีวิตนั้นยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อาสาเป็นทหารช่วยรบต่อต้านคอมมิวนิสต์แต่กลับถูกปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกา แล้วยังถูกปฏิเสธความช่วยเหลือในเรื่องสัญชาติไทย จากรัฐบาลไทยอีก "ทำไม ตอนที่ประเทศมีปัญหา พวกเขามองเราเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับเรา แต่มาตอนนี้กลับทิ้งเรา ไม่สนใจไยดีเราเลย" เยี่ยปาว บอกเล่าด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ ทั้งๆ ที่ เยี่ยปาวและพี่น้องม้งกลุ่มนี้ นั้นอยู่ในข่ายหลักเกณฑ์ที่สมควรได้รับการพิจารณาในกลุ่มแรก คือกลุ่มชาวม้งที่ฝ่ายทหารเคยใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง ซึ่งหากเราย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เมื่อมีการสำรวจ ลงทะเบียน และสถานะทางทะเบียนของม้งถ้ำกระบอกก็จะเห็นประเด็นเรื่องนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากการที่มีกลุ่มชาวม้งทยอยเข้าไปอาศัยอยู่ในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกมากขึ้น ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 กับทั้งชุมชนม้งดังกล่าวเริ่มกลายเป็นประเด็นในการเจรจาทางการทูตและการค้าระหว่างประเทศลาวกับไทยมากขึ้น ตามนโยบาย "เปิดสนามรบเป็นสนามการค้า" ของรัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจึงดำเนินการสำรวจประชากรชาวม้งที่ถ้ำกระบอกถึงสามครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ. 2536 มีจำนวน 6,096 คน ครั้งที่สอง ปลายปี พ.ศ. 2537 มีจำนวน 13,725 คน และครั้งที่สาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2541 พบว่ามีจำนวน 20,370 คน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาชุมชนม้งที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก การดำเนินการสำรวจในระยะหลังจึงมีการจำแนก ม้งในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ 1) กลุ่มชาวม้งที่ฝ่ายทหารเคยใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง 2) กลุ่มชาวม้งซึ่งเป็นคนไทยบนพื้นที่สูง 3) กลุ่มชาวม้งสัญชาติลาว และ 4) กลุ่มบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งหลังจากมีการจำแนกแยกม้งในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ออกเป็น 4 กลุ่มแล้ว ต่อมา กระทรวงกลาโหมได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี พ.ศ. 2545 ให้ 1) กำหนดสถานะบุคคลให้ม้งกลุ่มที่ 1 เป็นกรณีพิเศษ โดยจะขอให้ม้งกลุ่มที่ 1 ได้รับสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่เกิดในประเทศไทยให้ได้รับสัญชาติไทย 2) กำหนดสถานะให้ม้งกลุ่มที่สาม โดยขออนุมัติให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับ" ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ สำนักทะเบียนอำเภอพระพุทธบาท ร่วมกับสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร ได้มีการสำรวจและทำทะเบียนชั่วคราวแก่ชาวม้งกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 ส่วนกลุ่มที่ 2 กับกลุ่มที่ 4 ได้ทำการผลักดันให้กลับไปอยู่ถิ่นฐานหรือชุมชนต้นทางในภาคเหนือ ปี พ.ศ. 2539 กรมการปกครองได้ทำทะเบียนประวัติแก่ชาวม้งที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก โดยกำหนดรหัสที่ขึ้นต้นให้เป็นรหัส 68 เพื่อเตรียมการสำหรับการดำเนินการให้สัญชาติในขั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการกดดันจากทั้งระดับต่างประเทศและระดับรัฐบาล กับการมีชีวิตอยู่อย่างไร้อนาคตในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2545 ม้งส่วนหนึ่งจึงได้ย้ายออกจากถ้ำกระบอกไปอยู่ในชุมชนม้งต่างๆ ทางจังหวัดภาคเหนือ ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 กรมการปกครองจึงได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดใน 20 จังหวัดทางภาคเหนือที่มีชุมชนชาวเขาตั้งอยู่ ให้ดำเนินการรับแจ้งการย้ายเข้าของม้งกลุ่มดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าจังหวัดสระบุรีไม่ใช่จังหวัดที่มีชาวเขาอาศัยอยู่ กับทั้งการเกิดชุมชนม้งขนาดใหญ่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เป็นการสร้างปัญหาแก่พื้นที่ จึงต้องการให้คนเหล่านั้นกลับยังภูมิลำเนาเดิมใน 20 จังหวัดที่มีชาวเขาอาศัยอยู่ กล่าวโดยสรุป กลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ม้งถ้ำกระบอก" เป็นกลุ่มชาวม้งที่ปัจจุบันกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดทางภาคเหนือ คือเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก เพชรบูรณ์และจังหวัดอื่นๆ ครั้งหนึ่ง คือช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 2520 ถึงกลางทศวรรษ 2540 อาศัยอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยในระหว่างทศวรรษ 2520-2530 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยเผเชิญกับการแทรกซึมของค่ายคอมมิวนิสต์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ชายฉกรรจ์ชาวม้งส่วนหนึ่งได้รับการฝึกให้ช่วยทหารไทยลาดตระเวนตามชายแดนไทย-ลาว และรบกับข้าศึก แต่เมื่อรัฐบาลหันมาใช้นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา กองกำลังของชาวม้งที่เป็นผู้ช่วยรบดังกล่าวถูกปลดอาวุธและสลายโดยหน่วยงานของทหารไทย ทั้งนี้ ระหว่างที่อยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก พวกเขาได้รับการสำรวจและจำแนกเป็น "ม้งกลุ่มที่ 1" ซึ่งเคยทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย แต่กระบวนการดำเนินการให้สัญชาติแก่ม้งกลุ่มที่ 1 ดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด ภายใต้การถูกกดดันทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ทำให้พวกเขาต้องแยกย้ายกันไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ แต่ละกลุ่มแต่ละที่ต้องดิ้นรนในดำเนินการขอสัญชาติกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอในท้องที่ตามลำพัง เช่นเดียวกับ กลุ่มของเยี่ยปาว แซ่ซ่งและคนอื่นๆ จำนวน 32 ครอบครัว จำนวน 176 คน เมื่อได้ตัดสินใจปักหลักอาศัยอยู่ที่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่ก็เจอกับปัญหาเรื่องสิทธิและสถานภาพจนได้ เมื่อก่อนหน้านั้น พวกเขาเคยได้รับการสำรวจและมีชื่อในทะเบียนราษฎร (ทร.13) ตอนอยู่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และได้ดำเนินการแจ้งย้ายเข้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนไว้แล้ว แต่แล้ว ทุกคนมารู้ทีหลังว่า ได้มีการจำหน่ายชื่อทั้งหมดออกจากฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎรของสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน โดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีการแจ้งให้ทราบใดๆ เลย "คือเราแปลกใจว่า ทำไม รายชื่อพวกเราถึงไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนของอำเภอเชียงแสน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ทางอำเภอพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ก็มีหนังสือแจ้งมาแล้วว่าได้ย้ายเข้าฐานทะเบียนไปอำเภอเชียงแสนเรียบร้อยแล้ว" "ใช่ๆ รายชื่อเรา ย้ายมาจากถ้ำกระบอกมา มีหนังสือย้าย ทร.17 ตามกฎหมาย มาเข้าแจ้งกับฐานทะเบียนอำเภอเชียงแสน แต่พอไปตรวจสอบดูกลับพบว่าไม่มีรายชื่อของเราเลย" จากจุดนี้เอง ทำให้เยี่ยปาวและญาติพี่น้อง ได้หันมานั่งคุยกัน แล้วฮึดสู้ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องความไม่เป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย ด้วยตัวของเขาเอง!
ข้อมูลประกอบ 1. มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง. (2559) สรุปบทเรียนการดำเนินงานกลุ่มม้งถ้ำกระบอก บ้านธารทอง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 2. ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2559) บุคคลไร้รัฐพลัดถิ่น ม้งถ้ำกระบอก โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ระยะที่ 2, 2559 3. เยี่ยปาว แซ่ซ่ง,ลี แซ่ซ่ง,ไซ แซ่ซ่ง,บทสัมภาษณ์ กลุ่มม้งช่วยรบ บ้านธารทอง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สัมภาษณ์ปี 2559 4. พัชยานี ศรีนวล,รายงานพิเศษ: ม้งถ้ำกระบอก แสงดาวกลางป่า กับความหวังที่ยังรอคอย, ประชาไท, 4 ตุลาคม 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยูนิเซฟยินดีไทยผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก Posted: 05 Apr 2017 03:44 AM PDT ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ แสดงความยินดีที่ผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ชี้เป็นก้าวสำคัญในการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการส่งเสริมตลาดอาหารทดแทนนมแม่ 5 เม.ย. 2560 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ของ โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เกี่ยวกับการผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก โดยระบุว่า ยูนิเซฟ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อการผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ บุคลากรทางสาธารณสุขและสังคมโดยรวมที่ได้ต่อสู้มายาวนานหลายสิบปีเพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยแม่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงและเติบโตอย่างเต็มศักยภาพจวบจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในปีที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์นานาชาติ เดอะแลนเซ็ท ได้รวบรวมหลักฐานล่าสุดจากทั่วโลกและพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมสามารถป้องกันการเสียชีวิตของทารกมากกว่า 800,000 คนต่อปี และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาระดับเชาวน์ปัญญา หรือไอคิวโดยเฉลี่ย 3 จุด ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในแม่อีกด้วย แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า การผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการส่งเสริมตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการจัดการกับผลกระทบด้านลบจากการส่งเสริมการตลาดนมผงที่มีต่อพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และทำให้ประเทศไทยมีความทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเนปาล ในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนต่ำที่สุดและเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับทารกและเด็กอายุไม่เกินสองปีไม่ใช่บรรทัดฐานของสังคม ส่งผลให้ทารกและเด็กเล็กจำนวนมากไม่ได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดต่อการพัฒนาสมองและสุขภาพ ทั้งๆ ที่ไม่มีอาหารใดที่จะมาเทียบเคียงนมแม่ได้ ดังนั้น พวกเราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นทางเลือกที่ถูกต้องและสามารถทำได้โดยง่าย แต่เมื่ออาหารทดแทนนมแม่ถูกโฆษณาว่ามีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าหรือมากกว่านมแม่ ครอบครัวก็ย่อมได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและทำให้ไขว้เขว และเมื่อบริษัทนมผงเข้ามาใช้สถานพยาบาลเป็นพื้นที่ในการส่งเสริมการตลาด ก็ย่อมขัดขวางบทบาทของผู้ให้บริการสาธารณสุขที่สนับสนุนแม่ด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ฉะนั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเข้ามาช่วยกำกับดูแลการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายและนำไปสู่การเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ ยูนิเซฟมีความภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุขและพันธมิตรอื่นๆ ในการร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา และขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จในวันนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมสุขภาพสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ภารกิจของเรายังไม่เสร็จสิ้น หลังจากนี้เราต้องเร่งส่งเสริมให้แม่และชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เราต้องเร่งทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อให้แม่ที่ต้องไปทำงานได้มีห้องที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับการให้นมลูกหรือปั๊มนมและกักเก็บนมในที่ทำงานได้ โดยที่ไม่ต้องไปปั๊มนมในห้องน้ำ เราต้องทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มวันลาคลอดเพื่อให้แม่ได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้นในช่วงเดือนแรกๆ ของชีวิต และเราต้องทำงานร่วมกับบุคลากรทางสาธารณสุขเพื่อที่ว่า การให้นมผงแก่เด็กภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นอกเสียจากว่ามีเหตุผลทางการแพทย์ที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกเองได้ แม้ยังคงมีภารกิจอีกมากที่ต้องทำเพื่อสร้างหลักประกันว่าเด็กทารกทุกคนในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก แต่การผ่านกฎหมายฉบับนี้ถือเรื่องน่ายินดีและเป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฝ่ายซ้ายเอกวาดอร์ชนะเลือกตั้งอีกสมัย-ชะตา 'จูเลียน อัสซานจ์' ยังปลอดภัย Posted: 05 Apr 2017 02:37 AM PDT ผลการเลือกตั้งเอกวาดอร์ที่ผู้นำฝ่ายซ้ายชนะอย่างฉิวเฉียด ทำให้เอกวาดอร์ยังคงรักษาที่นั่งของรัฐบาลฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาไว้ได้อีกแห่ง ในขณะที่ 'อาร์เจนตินา' เริ่มขวาหัน หรือผู้นำ 'บราซิล' ถูกวุฒิสภาถอดถอน โดยผลการเลือกตั้งยังดับฝันผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคฝ่ายค้านที่เคยลั่นวาจาว่าจะส่งตัวผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ 'จูเลียน อัสซานจ์' ให้กับสวีเดนหากเขาชนะเลือกตั้งอีกด้วย เลนิน โมเรโน ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค PAIS Alliance ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเอกวาดอร์ (ที่มา: Wikipedia) 4 เม.ย. 2560 พรรค "PAIS Alliance" ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย และเป็นพรรครัฐบาลของเอกวาดอร์มีท่าทีว่าจะยังคงรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้หลังจากที่สภาการเลือกตั้งแห่งเอกวาดอร์ประกาศว่า "เลนิน โมเรโน" หัวหน้าพรรคและผู้แทนจากพรรครัฐบาล ได้รับคะแนนเสียงข้างเกินครึ่งหนึ่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้เอาชนะผู้แทนจากพรรคฝ่ายขวาอย่างกุยเลอร์โม ลาสโซ ได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเอกวาดอร์เป็นการเลือกตั้งสองรอบ โดยผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งได้ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 50 หรือมากกว่าร้อยละ 40 แต่มีคะแนนสูงกว่าคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดร้อยละ 10 โดยการเลือกตั้งรอบแรกชนะกันไม่ขาด จนกระทั่งในรอบที่สองเมื่อ 2 เมษายนที่ผ่านมา โมเรโนก็เอาชนะลาสโซด้วยคะแนนที่ห่างกันไม่มากคือร้อยละ 51.16 ต่อ ร้อยละ 48.84 โมเรโนเป็นผู้สืบทอดทางการเมืองของ ราฟาเอล คอร์เรอา ประธานาธิบดีที่กำลังจะหมดวาระของเอกวาดอร์ โดยที่โมเรโนยังเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยคอร์เรอาด้วย ส่วนคู่แข่งคือ ลาสโซนั้น ทนายความและนักวิชาการที่ชื่อวิลเลียม เค แบล็ก เคยเขียนบทความกล่าวถึงตัวเขาว่าเป็นพวกคณาธิปไตยที่หลีกเลี่ยงจ่ายภาษีโดยมีแหล่งหลบเลี่ยงภาษีอยู่นอกประเทศซึ่งเป็นวิธีการที่ฝ่ายขวาทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน ทางฝ่ายโมเรโนเองก็ใช้การวิพากษ์วิจารณ์การเลี่ยงภาษีของกลุ่มพรรคฝายขวาเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเองเช่นกัน โดยกล่าวหาว่าลาสโซทำให้เกิดวิกฤตการธนาคารของเอกวาดอร์ในปี 2542 อย่างไรก็ตามฝ่ายลาสโซเองไม่พอใจผลการเลือกตั้งและกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ขณะที่เหล่าผู้สนับสนุนลาสโซออกมาประท้วงคัดค้านผลการเลือกตั้ง โดยในช่วงคืนวันที่ 2 เม.ย. ผู้ประท้วงหลานพันคนแสดงความโกรธเกรี้ยวและพังแผงกั้นเหล็กของเจ้าหน้าที่พร้อมตะโกนว่ามีการโกงการเลือกตั้ง มีบางหน่วยเลือกตั้งที่ผู้ประท้วงปะทะกับเจ้าหน้าที่จนมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่เพื่อสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตามในคืนต่อมาการประท้วงก็ดำเนินไปอย่างสงบ ลาสโซอ้างว่ามีผลเอ็กซิทโพลล์ที่แสดงให้เห็นว่าเขาควรจะเป็นผู้ชนะ สื่อเอบีซีระบุว่าส่วนหนึ่งของปัญหาคือการที่พรรคฝ่ายค้านของลาสโซไม่เชื่อใจสภาการเลือกตั้งแห่งชาติที่เขามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารที่อาจจะเอื้อประโยชน์ต่อพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตามฝ่ายลาสโซยังไม่สามารถหาหลักฐานว่ามีการโกงการเลือกตั้งได้เว้นแต่มีการนับคะแนนใหม่ในเขตพื้นที่ชนบทแห่งหนึ่งทีมีการเปลี่ยนแปลงผลการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง 248 ใบ ให้ฝ่ายโมเรโนได้คะแนน ทางด้านประธานาธิบดีคอร์เรียตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าฝ่ายผู้สนับสนุนลาสโซพยายามปฏิเสธผลการเลือกตั้งและยุยงให้เกิดความรุนแรง อีกทั้งยังกล่าวหาว่าลาสโซเป็นผู้จ้างเซดาตอสให้ทำผลเอ็กซิทโพลล์ อย่างไรก็ตามคอร์เรียเองก็เป็นรัฐบาลที่มีปัญหาจากกรณีที่มีการถูกกล่าวเรื่องทุจริตโดยการรับสินบนบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของบราซิลโอเดเบรชต์ และเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการจ้างเหมา 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยวิสาหกิจน้ำมันเปโตรเอกวาดอร์ แต่เอบีซีวิเคราะห์ว่าถึงแม้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเอกวาดอร์จะต้องการความเปลี่ยนแปลงแต่พวกเขาก็กังขาในอดีตนักการธนาคารฝ่ายอนุรักษ์นิยมผู้ร่ำรวยว่าจะลอยอยู่เหนือประชาชนและจะมาตัดโครงการสวัสดิการของประชาชนที่เป็นจุดแข็งของคอร์เรียหรือไม่ คอมมอนดรีมส์ระบุว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ยังเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิว่าลาตินอเมริกาเริ่มถูกกระแสเปลี่ยนแปลงไปในทางฝ่ายขวาหรือไม่หลังจากที่อดีตผู้นำฝ่ายซ้ายของบราซิลถูกถอดถอนจากเหล่าชนชั้นนำทางการเมืองและเมื่อปีที่แล้วอาร์เจนตินาก็เลือกนักธุรกิจเสรีนิยมใหม่อย่างเมาริซิโอ มาครี เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ส่วนเปรูก็มีรัฐบาลใหม่เป็นสายเอียงขวาในปีเดียวกัน นอกจากท่าทีเรื่องในประเทศแล้วยังมีประเด็นเรื่องการให้ที่พักพิงแก่จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ที่ลี้ภัยอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอน ขณะที่ลาสโซเคยประกาศว่าจะส่งตัวอัสซานจ์ให้ทางการสวีเดนที่ต้องการตัวเขาถ้าหากได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีโดยจะดำเนินการภายใน 30 วัน ขณะที่โมเรโนบอกว่าจะอนุญาตให้อัสซานจ์อาศัยอยู่ในสถานทูตต่อไป หลังมีการประกาผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการอัสซานจ์ก็เขียนทวิตเตอร์ในเชิงประชดประชันลาสโซว่า เขาขอเชิญให้ลาสโซออกจากเอกวาดอร์ภายในเวลา 30 วัน รวมถึงเหน็บแนมเรื่องการเลี่ยงภาษีของลาสโซ
เรียบเรียงจาก Likely Leftist Victory in Ecuador Election Rejects "Oligarch's Candidate", Common Dreams, 03-04-2017 Protests rattle Ecuador following election fraud claims, ABC News, 03-04-2017 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความคืบหน้าคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว “คาร์บอม” 9 จำเลยยังอยู่คุก Posted: 05 Apr 2017 02:12 AM PDT เดือน ต.ค. ปีที่แล้วมีการกวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม.รามฯ ไป 40 กว่าคนท่ามกลางข่าวที่รัฐบอกว่าอาจมี "คาร์บอม" ตอนนี้ยังมี 9 คนที่โดนคุมขังในเรือนจำ หลายคนถูกจับแล้วปล่อยแล้วจับ บางส่วนจับเพิ่มใน 3 จังหวัด ยึดของกลางได้แค่ลังใส่น้ำบูดู จำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลนัดพร้อม 8 พ.ค.นี้ หากใครจำได้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2559) มีการปูพรมกวาดจับนักศึกษา นักกิจกรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมถึงเยาวชนประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านหน้ารามฯ จำนวน 40 กว่าคน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.2559 เป็นต้นมา จนนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยในปริมณฑลด้วย ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างเหตุสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์ในช่วงที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.2559 (อ่านต่อ) และพอดีว่าช่วงเวลานั้นตรงกับโอกาสครบรอบ 1 ปี การสลายการชุมนุมที่ตากใบด้วย ผู้ที่ถูกจับกุมถูกทยอยปล่อยตัวจนเกือบหมด บางคนถูกแจ้งข้อหามีกระท่อมไว้ในครอบครองและถูกลงโทษปรับ ขณะที่ข่าวคราวเงียบหายไปนานแล้ว แต่ความเป็นจริง ยังมีคนอีก 9 คนที่ถูกแจ้งข้อหาหนักและถูกจำคุกอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจนปัจจุบัน ข้อมูลล่าสุดจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งญาติผู้ถูกควบคุมตัว ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2560 อัยการยื่นคำฟ้องนายตาลมีซี โต๊ะตาหยง และพวกรวม 9 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในฐานความผิด ร่วมกันอั้งยี่ ซ่องโจร มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่ปรากฏยังไม่พบของกลางเป็นวัตถุระเบิดตามคำฟ้อง มีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดได้จากห้องพัก ประชาไทสัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ รวมทั้งความคืบหน้าของคดี อัยการโจทก์ฟ้องข้อหาอั้งยี่ พ.ร.บ. วัตถุระเบิดฯ - นัดพร้อม 8 พ.ค.กิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2560 อัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายตาลมีซี หรือซี โตะตาหยง กับพวกรวม 9 คน เป็นจำเลยฐานความผิด "ร่วมกันอั้งยี่ ร่วมกันซ่องโจร มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 209, 210 และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 55, 78 และวันที่ 8 พ.ค.2560 เวลา 09.00 น.ที่ศาลอาญา จะมีการนัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐาน จำเลยป่วย ญาติประกัน 1.4 ล้านศาลไม่อนุญาตก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2560 แม่ของนายอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยยื่นหลักทรัพย์จำนวน 1,452,000 บาท เนื่องจากจำเลยมีโรคเกี่ยวกับสมอง ต้องพบแพทย์เป็นประจำ แต่ศาลไม่อนุญาต ระบุในคำร้องว่า "พิเคราะห์แล้ว ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง หากปล่อยชั่วคราวอาจเกิดความเสียหายแก่รูปคดี อีกทั้งจำเลยที่ 4 อาจหลบหนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างที่พิจารณา ให้ยกคำร้องคืนหลักประกัน" คำฟ้องกล่าวหาจำเลยเป็นสมาชิก "ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี"ในสำนวนคำฟ้อง ระบุว่า จำเลยทั้ง 9 กับพวกอีก 8 คนที่อยู่ระหว่างหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวัน เดือน และเวลาใดไม่ปรากฏชัดประมาณกลางปี พ.ศ.2553 ถึงวันที่ 10 ต.ค.2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้ง 9 กับพวก ได้บังอาจร่วมเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า "ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี" อันเป็นคณะบุคคลในรูปแบบของการวางแผนร่วมกันจะแบ่งแยกดินแดน และก่อการร้ายในพื้นที่กทม.และสมุทรปราการ ทนายโต้รัฐสร้างเรื่องเพื่อเบี่ยงประเด็นกิจจา กล่าวว่า ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมให้ความสำคัญกับคดีนี้พอสมควร เพราะชัดเจนว่าเป็นการกลั่นแกล้งจำเลย เป็นการเบี่ยงประเด็นหลักที่ถูกโจมตีทางการเมืองอย่างหนัก เพราะเวลานั้นข่าวร้อนที่สุดอันหนึ่งคือ คณะรองนายกฯ 38 คน เช่าเครื่องลำใหญ่ที่มีความจุของผู้โดยสารได้ 416 คน เดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน - รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ วันที่ 29 ก.ย. - 1 ต.ค. 2559 ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา (อ่านต่อ) ขณะเดียวกันก็มีการกระพือข่าวการก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯ และกวาดจับเยาวชนเหล่านี้แทน ตาลมีซี จำเลยลูก 1 เป็นเสาหลักครอบครัว – โต้บูดูไม่ใช่สารทำระเบิดญาตินายตาลมีซี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นายตาลมีซีเป็นคนขยันทำงาน อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะมีภาระต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เขามีครอบครัวและมีลูก 1 คน อายุประมาณ 5-6 ปี พ่อแม่เขาเสียชีวิตนานแล้ว ส่วนแม่ยายของเขาก็พึ่งเสียชีวิตตอนที่เขาอยู่ในเรือนจำ พูดได้เลยว่าเขาเป็นเสาหลักของครอบครัว และเขาไม่เคยมีประวัติในคดีความมั่นคงด้วย ก่อนหน้าที่เขาจะขึ้นมาหางานที่ จ.สมุทรปราการ เขาทำอาชีพกรีดยางกับภรรยา พักอาศัยอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย แต่เพราะหลังๆ มานี้ราคายางถูกลงมากเลยขึ้นมาหางานทำ แต่ทำงานได้ 3-4 วัน ก็ถูกควบคุมตัวไป ตัวของตาลมีซีถูกจำคุกจนปัจจุบัน บางวันที่มีนัดขึ้นศาลเขาใส่ชุดนักโทษมาศาล ตาลมีซีเคยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า วันเกิดเหตุหลังเลิกงานเขามาเที่ยวห้องเพื่อนหน้า ม.รามฯ พอรุ่งเช้าเวลาประมาณ 5.00-6.00 น. เจ้าหน้าที่บุกยิงทำลายประตูและโยนระเบิดควันเข้าไป ญาติแสดงความเห็นใจภรรยาของตาลมีซีที่สภาพตอนนี้ประสบภาวะยากลำบากมาก จะทำงานก็ไม่มีสมาธิ แม่ก็พึ่งเสียชีวิต ส่วนสามีก็ถูกจับ จะขึ้นมาเยี่ยมก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงิน อย่างไรก็ตามญาติของตาลมีซียังติดใจเรื่องหลักฐานว่า มีหลักฐานอื่นอีกหรือไม่นอกจากกล่องน้ำบูดู มะนาว และมาม่า
คำฟ้องระบุจำเลยที่ 3 (มูบารีห์) มีสารระเบิด PETNในสำนวนคำฟ้องนอกจากจะกล่าวถึงขบวนการกู้ชาติปาตานีแล้ว คำฟ้องยังระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 11 ต.ค.2559 เวลากลางคืนหลังเที่ยงคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 3 ได้บังอาจมีสารระเบิดชนิด PETN (Pentaerythritol Tetranitrate) มีน้ำหนัก ปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งเป็นสารระเบิดชนิดแรงสูง มีลักษณะสีขาวจนถึงสีเทาอ่อน และสีเหลือง ไม่ละลายน้ำ ซึ่งใช้ทำวัตถุระเบิดแบบผสมดินขยายการระเบิด ใช้ในฝักแคระเบิด หรือเชื้อปะทุ หรือใช้เป็นดินแดนระเบิดหลัก สามารถทำให้เกิดการส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน วันที่ 29 พ.ย.2559 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับตัวจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ได้ และต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับตัวจำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 9 ได้ นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว แต่ชั้นสอบสวน จำเลยทั้ง 9 ให้การปฏิเสธ นักสิทธิฯ งง !! สารระเบิด PETN โผล่มาได้อย่างไรเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า ไม่แน่ใจว่าสารระเบิดชนิด PETN โผล่ในคำฟ้องได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีในข้อมูลข่าวสารเลย มีแต่ข่าวที่ยึดข้าวของเครื่องใช้ กล่องน้ำบูดูและเครื่องเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตามในตัวคำฟ้องก็ไม่ได้เขียนระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 ถูกจับกุมที่ไหน วันเวลาใด และพร้อมของกลางสารระเบิดชนิด PETN ไว้ในครอบครองหรือไม่
ด้านกิจจา เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารระเบิด PETN ว่า เจ้าหน้าที่ไปพบและเอามาจากไหนนั้นตนเองไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 ถูกจับกุมที่บ้าน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
ภาพโดย อิศเรศ เทวาหุดี (ดูภาพขนาดใหญ่) จับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับ นักสิทธิฯ สับสนกระบวนการเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ซึ่งติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้นอธิบายว่า คดีนี้แรกเริ่มมีผู้ถูกจับกุม 5 คน คือ นายตาลมีซี นายอุสมาน นายอัมรี หะ นายนูรมาน อาบู และนายมุฟตาดีน สาและ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.2559 พวกเขาเป็นคนจังหวัดนราธิวาส กำลังศึกษาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขณะเดียวกันก็ต้องการหางานทำใน กทม.เพื่อหารายได้ ก่อนหน้านี้มีนายอุสมาน ทำงานใน กทม. อยู่ก่อนแล้ว ส่วนคนที่เหลือตามมา กทม. และได้งานที่ จ.สมุทรปราการ พักอยู่ในห้องพักที่เจ้าหน้าที่ยึดของกลางเป็นกล่องลังใส่น้ำบูดู คืนวันที่ 9 ต.ค.2559 พวกเขามาเที่ยวห้องพักนายอุสมานอยู่ใน ซ.รามคำแหง 53/1 เพื่อหาซื้อชุดทำงานจนดึกและนอนค้างคืนที่ห้องพักดังกล่าว จนถึงวันที่ 10 ต.ค.2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ปฏิบัติการเข้าจับกุมนักศึกษาและผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ ม.รามคำแหง ไปที่ สน.หัวหมาก ทั้งหมด 40 กว่าคนรวมกับพวกเขาด้วย ทั้งหมดได้รับการทยอยปล่อยตัว ยกเว้นพวกเขาทั้ง 5 คน ที่ยังคงถูกควบคุมตัว ในวันที่ 11 ต.ค.2559 ถูกนำตัวไปศาลอาญา และถูกลงโทษปรับเนื่องจากมีใบกระท่อมเอาไว้ในครอบครอง หลังจากนั้นพวกเขาถูกนำตัวมาควบคุมตัวที่ สน.หัวหมาก อีกครั้งจนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ว่าค่ายใดเพราะพวกเขาถูกปิดตา ญาติของพวกเขาได้พยายามติดตามหาตัว ในวันที่ 16 ต.ค.2559 บรรดาญาติได้เดินทางจากจังหวัดนราธิวาส มายัง กทม. และทราบในวันนั้นว่า ทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) จึงได้เดินทางเข้าเยี่ยมตอนเย็นของวันที่ 17 ต.ค.2559 อย่างไรก็ตามในวันที่เข้าไปเยี่ยมไม่มีใครทราบอีกว่าพวกเขาทั้งหมดจะถูกส่งตัวต่อไปยังค่ายทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งมีการประกาศใช้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายตาลมีซี นายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ส่วนนายอุสมาน ถูกควบคุมตัวที่กรมทหารพรานที่ 46 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 2 คน คือ นายมูบาห์รี กะนา และนายอับดุลบาซิร สือกะจิ ต่อมาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 28 ต.ค.2559 พร้อมนายตาลมีซี และนายอุสมาน ส่วนนายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ยังคงถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธฯ ระหว่างที่มีการปล่อยตัวนั้นนายอุสมานเข้าไปสมัครเป็นทหารพรานที่กรมทหารพรานที่ 49 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ส่วนนายตาลมีซี นายมูบาห์รี และนายอับดุลบาซิร ถูกเรียกให้มารายงานตัวอีกครั้งที่ค่ายอิงคยุทธฯ อีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย.2559 และถูกควบคุมต่อจนถึงวันที่ 29 พ.ย.2559 พวกเขาทั้งสามถูกส่งตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม กทม. ตามหมายศาลคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2497/2559 พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร ปรึกษาตกลงวางแผนเพื่อจะกระทำการก่อการร้ายในเขตพื้นที่ กทม. และจังหวัดสมุทรปราการ ถัดอีกวันหนึ่ง (13 พ.ย.2559) นายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากค่ายอิงคยุทธฯ วันที่ 7 ธ.ค.2559 มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพิ่มอีก 1 คน คือ นายนิเฮง มะยี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) โครงการอพาร์ทเมนต์ เขตมีนบุรี กทม. และถูกส่งมาที่กองบังคับการปราบปรามฯ ตามหมายขังของศาลคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2572/2559 เช่นเดียวกัน วันที่ 13 ธ.ค.2559 นายอุสมานที่เป็นทหารพรานอยู่ถูกควบคุมตัวตามหมายจับอีกครั้งที่กรมทหารพรานที่ 49 และถูกส่งตัวมาที่ สภ.หนองจิก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก่อนจะส่งต่อไปยังกองบังคับการปราบปรามฯ กทม. พร้อมกับนายมีซี เจ๊ะหะ นายปฐมพร มิหิแอ นายอัมรัน มะยี และนายวิรัติ หะมิ ที่ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ก่อนหน้านี้ ตามหมายศาลคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2572/2559 ปัจจุบันทั้ง 9 คน เป็นจำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาหมายเลขที่ อ.561/2560 และมีการสอบคำให้การไปแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามในเชิงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้ง 9 คน นั้นนายตาลมีซี นายอุสมาน นายนิเฮง นายมูบารีห์ และนายอับดุลบาซิร เป็นคนบ้านเดียวกัน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ส่วนจำเลยที่เหลือมาจากต่างที่กัน ปล่อย 2 วัน ส่งร่วมโครงการศูนย์สันติฯ เหตุกังวลใจอยู่บ้านจะโดนจับกุมอีกรอบนายเปาซี อาบู บิดาของนายนูรมาน หนึ่งในคนที่ถูกจับกุมคุมขังแต่สุดท้ายถูกปล่อยตัวและไม่ถูกดำเนินคดีเปิดเผยว่า ลูกของตนจบประถมศึกษาในพื้นที่ ต่อมัธยมต้นที่ ร.ร.ดังแห่งหนึ่งใน อ.ตันหยงมัส จ.นราธิวาส ต่อมัธยมปลายที่ ร.ร.ดังอีกแห่งใน อ.เมือง จ.ยะลา และย้ายมาเรียนที่ กศน.จนจบ ต่อมาขึ้นมาหางานทำที่ จ.สมุทรปราการ จนได้งานทำเป็นพนักงานแพ็คสินค้าที่ร้านแห่งหนึ่ง ทำได้เพียงแค่ 3 วันก็ถูกควบคุมตัวไปหลังจากไปเที่ยวห้องเพื่อนหน้า ม.รามฯ ลูกของตนได้รับการปล่อยตัวแล้วและไม่ได้อยู่ในกลุ่มจำเลยทั้ง 9 คนด้วย แต่อยู่บ้านเพียง 2 วัน ลูกรู้สึกกังวลใจ ไม่กล้าอยู่บ้าน เพราะกลัวจะถูกควบคุมตัวอีก ตนเลยปรึกษาผู้ใหญ่บ้านจนได้รับคำแนะนำให้เข้าร่วมโครงการดะวะห์ ของศูนย์สันติสุขที่ค่ายอิงคยุทธฯ จนตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นั่น ตนเองก็รู้สึกหมดกังวลเพราะอยู่นั่นก็ไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายอะไร แต่หากอยู่บ้านไม่แน่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะมาคุมตัวอีก ถึงปล่อยตัว อายุความยังอยู่ –โครงการดะวะห์ ฝึกวิชาชีพ ผู้ต้องสงสัยต้องร่วมทนายกิจจา เปิดเผยว่า กรณีของนายนูรมาน นายมุฟตาดีน และนายอัมรี ถึงแม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวออกมาอยู่ข้างนอกแล้วก็ตาม แต่เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนแล้ว อายุความก็ยังอยู่ เพียงแค่ยังไม่ถูกฟ้องและยังไม่ได้เป็นจำเลย ส่วนโครงการอบรมจริยธรรมดะวะห์สัญจรที่นายนูรมานเข้าร่วมนั้น ตามความเข้าใจส่วนตัว เป็นโครงการในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ส่วนใหญ่ระยะเวลาร่วมโครงการประมาณ 2-3 เดือน แต่หากเป็นโครงการฝึกวิชาชีพ ระยะเวลาร่วมโครงการประมาณ 6 เดือน ซึ่งตามความผิดอาญาคดีความมั่นคง ผู้ต้องสงสัยทุกคนจะต้องร่วมโครงการของเจ้าหน้าที่เสียก่อน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
งานเข้า! สั่งสารวัตรชุมพรโพสต์วิจารณ์ปมห้ามนั่งกระบะหลัง ทำหนังสือชี้แจง-เตรียมตั้ง กก.สอบ Posted: 05 Apr 2017 01:10 AM PDT ผู้การชุมพรสั่ง 'พ.ต.ท.เอกราช' ทำหนังสือชี้แจง-เตรียมตั้ง กก.สอบวินัย หลังวิจารณ์เรื่องห้ามนั่งท้ายกระบะ สนั่นโซเชียล ระบุเป็นการไม่เหมาะไม่ควร เนื่องจากข้าราชการตำรวจมีหน้าที่ในการรักษากฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ออกมาต่อต้านกฎหมายเสียเอง 5 เม.ย. 2560 จากกรณี เฟซบุ๊กชื่อ 'Aggarach Hoonngaum (สารวัตรเอก หุ่น)' ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม สภ.สลุย จ.ชุมพร โดยระบุถึงนโยบายห้ามคนนั่งกระบะหลังว่าการออกกฎหมายไม่ควรก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนและควรฟังเหตุผลของคนทุกระดับ ซึ่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลก์มากกว่าแสนและกดแชร์มากกว่า หลายหมื่นครั้งนั้น โพสต์ของ พ.ต.ท.เอกราช ซึ่งขณะนี้ลบจากเฟซบุ๊กไปแล้ว บันทึกไว้โดย มติชนออนไลน์ ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.อ.วิมล พิทักษ์บูรพา รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการไม่เหมาะไม่ควร เนื่องจากข้าราชการตำรวจมีหน้าที่ในการรักษากฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ออกมาต่อต้านกฎหมายเสียเอง หลังกรณีดังกล่าวปรากฏว่าเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ และทางสังคมออนไลน์ พล.ต.ต.สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ ผบก.ภ.จว.ชุมพร จึงได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.เอกราช ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายัง ภ.จว.ชุมพรทันที หาก ภ.จว.ชุมพรพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดจริงตามที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก็คงต้องมีการตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนทางวินัย เพราะข้าราชการตำรวจมีวินัยในการควบคุมดูแลอยู่ ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.เอกราชระบุว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แต่มาโพสต์ในเฟซบุ๊กที่เป็นสาธารณะทั้งที่ตนเองยังเป็นตำรวจอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ได้มีการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในเรื่องนี้ เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติทุกนายมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยกำชับว่าในเบื้องต้นที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้คือตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 หากพบว่าประชาชนยังไม่ปฏิบัติกฎหมายก็จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก นั่นคือ 1.อะลุ่มอล่วยไปก่อนหากเห็นว่าไม่เป็นอันตรายจนเกินไป 2.ใช้วิธีกล่าวตักเตือน ขอให้ผู้ทำความผิดไปแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เพื่อมิให้มีการกระทำผิดอีก และ 3.พยายามรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้แก่ประชาชน" พ.ต.อ.วิมล กล่าว ด้าน พ.ต.ท.เอกราช โพสต์เมื่อ 12.55 น. ที่ผ่านมา ว่า เกิดเป็นคนมันก็มีแค่นี้เอง ขณะที่มีผู้ช้เฟซบุ๊กเข้าแสดงความเห็นให้กำลังใจจำนวนมาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น