โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทีดีอาร์ไอระบุดัชนีคอร์รัปชั่นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ซื้อเรือดำน้ำอาจมีปัญหาความโปร่งใส

Posted: 27 Apr 2017 09:48 AM PDT

ทีดีอาร์ไอ ระบุ ดัชนีคอร์รัปชั่นไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ถ้าบวกปัจจัยเสรีภาพสื่อ-ประชาธิปไตย ทำให้ได้คะแนนน้อยมาก เผย ปชช.ตระหนักเรื่องคอร์รัปชั่นมากขึ้น ชี้การซื้อเรือดำน้ำจีนไม่เปิดเผยเรื่องเหตุผลและความจำเป็นต่อ ปชช. น่าจะมีปัญหาความโปร่งใส 

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเสวนา "ติดตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งจัดโดย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นั้น  เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า ได้ทบทวนดัชนีคอร์รัปชั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยข้อสรุปมี 3 ข้อหลักๆ ด้วยกัน หนึ่งคือดัชนีโดยทั่วไปไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง  แต่ CPI (Corruption Perceptions Index) ที่แย่ลงในปีนี้ เราตกลงไปเยอะเกิดมาจากมันมีการเอาดัชนีใหม่เข้ามาวัด คือ ดัชนีที่เกี่ยวกับเรื่องระบบการปกครอง ซึ่งเราจะได้คะแนนน้อยมาก เรายังไม่มีการเลือกตั้ง และอีกตัวคือเรื่องเสรีภาพสื่อ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องของประชาธิปไตยด้วย  เมื่อนำดัชนี 2 ตัวนี้มาคำนวนกับดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาพรวมคะแนนเราก็เลยตกลง แต่ดัชนีตัวอื่นที่ไม่มี 2 ตัวนี้ ก็จะเท่าเดิม เราไม่ได้ดีขึ้น เราไม่ได้แย่ลง
 
เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า ส่วนดัชนีของประเทศไทยที่ทำเอง คือ CSI หรือ Corruption Situation Index ของหอการค้าไทย ซึ่งทำมาทุก 6 เดือน ทำมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว เห็นแนวโน้มค่อนข้างชัด โดยสรุปได้หลักๆ ว่า หนึ่ง คนไทยมองว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยดีขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงปีสุดท้าย 59 นี้ ค่อนข้างนิ่ง ดีขึ้นนิดเดียว
 
เดือนเด่น กล่าวว่า สิ่งที่ชัดเจนเมื่อย้อนดู 7 ปี ของดัชนีตัวนี้ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ดีขึ้นอย่างชัด คือ เรื่องของความตระหนักรู้ของประชาชนไทยเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น มีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น รวมทั้งมีความคิดว่าพร้อมร่วมต่อต้านการคอร์รัปชั่นมากขึ้นด้วย แต่ข้อจำกัดก็คือเมื่อถามถึงความมั่นใจในหน่วยงานต่างๆ ในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ประกอบด้วย หนึ่ง องค์กรอิสระต่างๆ ของภาครัฐ เช่น ป.ป.ช. สตง. ภาคสื่อ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ปรากฎว่าคำตอบจากการสำรวจได้คะแนนเพียง 5-6 กันทุกคน และไม่ได้ดีขึ้น ซึ่งความเป็นจริงอาจต่างกัน แต่ในภาพลักษณ์ที่ฉายต่อประชาชนคนไทยโดยทั่วไปแล้ว ยังไม่มีภาคส่วนไหนที่จะสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ 
 
สำหรับคำถามที่ว่าการจัดซื้อเรือดดำน้ำจากจีนที่ไม่เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการคอร์รัปชั่นหรือไม่นั้น เดือนเด่น กล่าวว่า เขาคงไม่ได้มองเป็นเรื่องๆ แต่ก็จะมองว่า หนึ่ง สื่อมีสิทธิตั้งคำถามหรือไม่ คนทั่วไปสามารถตั้งคำถามได้ไหม สามารถวิจารณ์ได้ไหมว่าไม่เห็นด้วย ออกมาแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ได้อย่างเสรีไหม หรือมีความพยายามจะปิดกั้น สอง ถ้าหากมีการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยแล้ว ภาครัฐมีกระบวนการอะไรไหมที่จะทบทวนหรือที่โปร่งใส ที่จะแสดงให้เห็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีความจำเป็น การคัดเลือกคู่ค้าไม่ว่าจะจีน มีผู้เสนอขายหลายเจ้าทำไมต้องเลือกจีน อันนี้เป็นตัวอย่าง
แฟ้มภาพ ประชาไท
 
"ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด หรือความจำเป็นในการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้สังคมยอมรับได้ การซื้อเรือดำน้ำก็จะไม่เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าเผื่อไม่ได้รับการชี้แจงและมีการปกปิดอันนั้นก็น่าเป็นห่วง" เดือนเด่น กล่าว
 
ต่อกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีออกมาอธิบายว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำมีความจำเป็นแต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดนั้น เดือนเด่น กล่าวว่า หากเป็นมุมมองในเรื่องความโปร่งใส น่าจะมีปัญหา ที่เราต้องเปิดเผยเรื่องเหตุผลและความจำเป็น
 
สำหรับข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้นั้น เดือนเด่น กล่าวว่า ความมั่นคงของประเทศ เราใช้กันเยอะ ตนก็เชื่อว่าบางเรื่องเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ก็ต้องบอกว่าส่วนไหนเป็นเรื่องของความมั่นคง และมันเกี่ยวกับความมั่นคงตรงไหน แต่ถ้าบอกว่าไม่เปิดหมดเลย ทั้งในเรื่องของรายละเอียด ความจำเป็นทั้งหลาย ตนคิดว่าไม่น่าจะใช่ น่าจะเปิดได้บางส่วน
 
เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า สำหรับในต่างประเทศงบประมาณในด้านกลาโหมส่วนมากจะเป็นเรื่องลับอยู่แล้ว มีการปฏิบัติที่พิเศษ แต่ก็ไม่ได้มายความว่าจะไม่มีการตรวจสอบเลย ในกระบวนการทางการเมืองของเขามันก็ต้องมีการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการในรัฐสภา ก็จะตั้งคำถามมาตลอดว่ามีความจำเป็นในการซื้อแค่ไหน มีความคุ้มค่าแค่ไหน ผลประโยชน์ที่จะได้คืออะไร เอาไปใช้อะไร เป็นกระบวนการในการตรวจสอบซึ่งคงมีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการซื้ออะไร
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวนสัตว์มนุษย์ในโรงเรียนจีน-ติดกล้องไลฟ์สดๆ ให้คนแปลกหน้าดูพฤติกรรมนักเรียน

Posted: 27 Apr 2017 08:21 AM PDT

โรงเรียนในจีนกำลังละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างหนักด้วยการติดกล้องในโรงเรียนแล้วไลฟ์สดให้ผู้คนนอกห้องเรียนดูจนนักเรียนรู้สึกว่าตัวเองเหมือนเป็นสัตว์ในสวนสัตว์ ด้านผู้อำนวยการโรงเรียนรายหนึ่งบอกช่วยให้เด็กทำตัวดีขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่ากดดันเด็กมากเกินไปและเรื่องความปลอดภัยเพราะการให้คนแปลกหน้าคอยดูเด็กนักเรียนอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลให้เกิดการข่มเหงรังแกหรือการทำร้ายร่างกายได้

ภาพส่วนหนึ่งจากกล้องที่ใช้สอดแนมพฤติกรรมของนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มณฑลซานตง ประเทศจีน

นิวยอร์กไทม์ รายงานข่าวโรงเรียนหยูโจว ซึ่งเป็นโรงเรียนไฮสคูลอันดับหนึ่งของจีน และกำลังเป็นที่กล่าวขานในหมู่นักเรียนเกี่ยวกับเรื่องกล้องที่คอยสอดส่องพวกเขา กล้องที่ว่านี้จะทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า เผยให้เห็นภาพเด็กนักเรียนในห้อง ไม่ว่าจะงีบหลับช่วงพัก หรือแอบส่งข้อความกระดาษถึงกัน โดยมีคนดูเป็นคนทั่วไปกว่าหลายพันคนไม่เพียงพ่อแม่หรือครูเท่านั้น พวกเขาดูชีวิตเด็กพวกนี้ราวเรียลลิตีโชว์ผ่านออนไลน์แล้วก็แสดงความคิดเห็นกันเรื่อยเปื่อยโดยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จริง

ตัวอย่างของความคิดเห็นเหล่านี้ บ้างก็วิจารณ์ว่าเด็กคนนั้นดูไม่ทำอะไรเลย หรือเด็กคนนั้นกำลังเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่ ไม่เว้นแม้แต่การแคปภาพต่างๆ ไว้

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการไลฟ์สดเป็นประวัติการณ์ในจีน ทำให้ความบันเทิงต่างๆ เปลี่ยนไป แต่การที่ถึงขั้นเอากล้องส่องไลฟ์สดเด็กเรียนหนังสืออยู่เช่นนี้ก็ทำให้มีบางคนไม่พอใจ

ไม่เพียงแค่โรงเรียนหยูโจวเท่านั้น นิวยอร์กไทม์ระบุว่ามีโรงเรียนหลายพันแห่งทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ตั้งแต่ระะดับอนุบาลไปจนถึงวิทยาลัยต่างก็มีการติดกล้องถ่ายทอดสดจากห้องเรียนสู่สาธารณะ โดยอ้างว่าการที่มีคนจ้องมองจะช่วย "เสริมแรงจูงใจ" ให้นักเรียนได้ แม้ว่าจะมาจากสายตาของคนที่ไม่รู้จักด้วย ขณะเดียวกันการฉายภาพออกไปสู่สาธารณะพวกเจ้าหน้าที่โรงเรียนก็บอกว่าเป็นการเอาภาระการตรวจตราไปให้คนทั่วไปเป็นผู้ช่วยกระทำการ นั่นหมายความว่าพ่อแม่ก็ใช้มันสอดส่องการคบเพื่อนได้ด้วย

แต่ไต้ต้องสงสัยเลยว่านักเรียนจะเกลียดการถูกล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวเช่นนี้ ซึ่งชวนให้เกิดข้อถกเถียงในเรื่องจริยศาสตร์การศึกษาและการเลี้ยงลูกแบบตามติดเกินไปไม่ทำให้รู้จักโต หนึ่งในนักเรียนอายุ 17 ปี ของหยูโจวบอกว่าเขาเกลียดการติดกล้องนี้มันทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็น "สัตว์ในสวนสัตว์"

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญก้มองว่าการสอดส่องในโรงเรียนจะทำให้วัยรุ่นชาวจีนกลายเป็นเเคยชินกับการถูกสอดแนมหรือเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา เช่นรองประธานสถาบันวิจัยการศึกษาศตวรรษที่ 21 วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของนักเรียนและเสรีภาพทางวิชาการ

หลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์เบจิงนิวส์ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชื่อดังในจีน โรงเรียนหลายแห่งกประกาศว่าพวกเขาจะเลิกการแพร่ภาพ แต่ก็ยังมีจำนวนมากที่ยังคงเผยแพร่วิดีโอนักเรียนตัวเองผ่านทางออนไลน์อยู่ โดยในจีนมีช่องทางเผยแพร่เรื่องเหล่านี้หลายแห่งที่ๆ น่าจะได้รับความนิยมท่สุดคือเว็บ Shuidi ที่มีเจ้าของคือบริษัทเทคโนโลยี Qihoo 360

ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในมณฑลเจียงซูเชื่อว่าการสอดแนมนักเรียนเช่นนี้จะทำให้พวกเขา "ทำตัวดี" มากขึ้น เพราะการที่มีพ่อแม่คอยดูอยู่ทำให้พวกนักเรียนรู้สึก "เหมือนมีมีดดาบแขวนอยู่เหนือหัวพวกเขา"

นักวิทยาการคอมพิวเตอร์จากศูนย์ดีพบลูชิลเดรนโรบอตบอกว่า "คนที่มีคุณธรรมไม่มีอะไรจะต้องซ่อน" เขามีความเชื่อว่าคนทุกคนจะต้องถูกเปิดปรากฎให้คนทั่วโลกได้เห็น แล้วศูนย์ดีพบลูฯ นี้เองก็เป็นพวกที่ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่การเรียนของนักเรียนแบบไลฟ์สด

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าระบบการศึกษาของจีนมีการกดดันเด็กอย่างหนักจากพ่อแม่ที่บูชาเกรดเฉลี่ย แล้วก็มองว่าการตั้งกล้องส่องเด็กจะทำให้เด็กมีการเรียนที่ดีขึ้น การตั้งกล้องแบบนี้เป็นที่นิยมแม้แต่กับโรงเรียนในชนบทที่พ่อแม่ซึ่งมักจะต้องไปทำงานต่างเมืองจะใช้ดูลูกของตัวเองได้

แต่การตั้งกล้องส่องเด็กในห้องเรียนก็ไม่ได้ถือกำเนิดในจีนเสียทีเดียว ในความเป็นจริงแล้วมันเริ่มมากจากโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนในกำกับของรัฐในประเทศสหรัฐฯ ในอังกฤษเองก็กำลังทดสอบการตั้งกล้องสำหรับครูเพื่อบันทึกหลักฐานการทำผิดวินัย

อย่างไรก็ตามมีพ่อแม่บางคนที่เห็นต่างออกไปบ้าง เช่นแม่ของเด็กคนหนึ่งที่เรียนในโรงเรียนคนชั้นสูงในกรุงปักกิ่งบอกว่าเธอเข้าใจเรื่องความต้องการสอดส่องดูแลลูกตัวเองและครูแต่คิดว่าพอถึงจุดหนึ่งก็ควรปล่อยให้ลูกไปเอง

ทนายความคนหนึ่งในกรุงปักกิ่งที่คัดค้านเรื่องการสอดส่องนักเรียนในชั้นเรียนเสมอมาบอกว่าหลายโรงเรียนก็ใช้กล้องสอดส่องนักเรียนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนักเรียนหรือผู้ปกครองแต่อย่างใด แล้วการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะยยังเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียนเองด้วย รวมถึงกิจกรรมใน้องเรียนควรจะเป็นพื้นที่ปิดมีความเป็นส่วนตัว การคอยถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลาส่งผลเสียต่อการเติบโตของนักเรียน

Qihoo 360 เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้พวกเขาเคยโฆษณาขายกล้องในฐานะเครื่องมือป้องกันโจรกรรมแต่ขายไม่ค่อยได้ในโรงเรียนและอ้างว่าพวกเขาไม่ได้รับการแจ้งร้องเรียนเรื่องความเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด ขณะเดียวกันรายงานของเครดิตสวิสก็ระบุว่าการไลฟ์สดก็กำลังเติบโตมากขึ้นเป็นสองเท่าในจีนปี 2559 ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่รัฐบาลจีนจะกำกับจัดการ

นักเรียนที่โรงเรียนหยูโจวต่างก็บอกว่าโรงเรียนหมายเลขหนึ่งของพวกเขาควรจะเรียกว่า "คุกหมายเลขหนึ่ง" มากกว่า ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง เช่นว่า "จะมีอันธพาลคอยจับจ้องพวกเขาอยู่ไหม" รวมถึงการไลฟ์สดเช่นนี้อาจจะส่งผลทำให้เกิดการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียนได้ โดยที่นัดเรียนไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะต่อกรกับมัน

 

เรียบเรียงจาก

In China, Daydreaming Students Are Caught on Camera, New York Times, 25-04-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ ระบุฟังความเห็นจากปชช.ก่อน

Posted: 27 Apr 2017 04:59 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลสื่อฯ ระบุฟังความเห็นจากประชาชนก่อน แต่เคยมอบสมาคมสื่อฯ ดู ก็ไม่สามารถหาคนที่รับผิดชอบได้ จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้ 'มีชัย' แนะสื่อแจงเหตุผล หากไม่เห็นด้วย

แฟ้มภาพ

27 เม.ย. 2560 กรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ยืนยันหลักการ การตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และการออกใบอนุญาตวิชาชีพสื่อสารมวลชน ตามรายงานการปฏิรูปสื่อสารมวลชน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยเฉพาะจากสื่อมวลชน

วันนี้ (27 เม.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลสื่อฯ ซึ่งส่วนตัวยังไม่เห็นด้วย และจะต้องฟังความเห็นจากประชาชนก่อน 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ การที่มอบความรับผิดชอบให้กับสมาคมสื่อฯ แต่ก็มีการยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด เพราะเมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถหาคนที่รับผิดชอบได้ จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการยอมรับในตัวขององค์กร

"ขออย่ากังวลว่า รัฐบาลจะมาปิดกั้นสื่อฯ เพราะรัฐบาลก็ต้องทำงานร่วมกับสื่อฯ ในการขยายความเข้าใจของรัฐบาลไปสู่ประชาชน  สิ่งใดที่ไม่ดีและสื่อฯได้ตักเตือนขึ้นมา ก็มีการติดตามและตรวจสอบให้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมระบุว่า  การพิจารณาจะใช้หลักการพื้นฐานที่ต่างประเทศให้การยอมรับ และรับรองหลักการเหล่านี้ เพื่อมาดำเนินการ  ทุกคนต้องช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไร ให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างที่ทุกคนต้องการ ให้สื่อทุกสื่อเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ไปเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่ดี

"หากไม่มีความจำเป็น ก็คงไม่มีการตั้งเรื่องดังกล่าวขึ้นมา แต่จะทำอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องหาทางออกร่วมกัน หากค้านทุกอย่าง ก็จะเดินหน้าไม่ได้ และเกิดความวุ่นวายในวันหน้าขึ้นอีก จึงฝากให้ทุกคนช่วยคิด ย้ำว่า วันนี้ทำเพื่อคนไทยทุกคน สื่อฯ ก็คือคนไทย และคนไทยก็บริโภคสื่อฯ  วันนี้มีหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องบนโซเชียลมีเดีย ทำให้ประเทศเกิดปัญหา เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ จึงต้องดูแลเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

มีชัยแนะสื่อแจงเหตุผล หากไม่เห็นด้วย

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผลักดันกฎหมายจะต้องอธิบายเหตุผลที่ต้องมีการออกใบอนุญาต ทั้งนี้ เห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่เป็นการครอบงำสื่อ เพราะว่าอาชีพอื่นๆ ในประเทศไทยก็มีใบอนุญาตจำนวนมาก เพื่อติดตามการปฏิบัติหน้าที่ว่าถูกต้องตามหลักวิชาชีพหรือไม่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงเขียนว่าหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรมีระบบใบอนุญาต แต่ความเห็นส่วนตัวยังไม่สามารถตอบได้ว่าอาชีพสื่อสารมวลชนควรมีใบอนุญาตหรือไม่ เพียงแต่พูดตามหลักการเท่านั้น ดังนั้น สมาคมสื่อมวลชน ควรรวมตัวกันเพื่อชี้แจงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรมีใบอนุญาต

มีชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์ประกอบของกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มีสัดส่วนกรรมการจากภาครัฐ 2 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 15คนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะตัวแทนของภาครัฐ ถือเป็นเสียงข้างน้อยในสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ทั้งนี้การที่เพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาเป็นกรรมการด้วย ก็เพื่อไม่ให้คนในวิชาชีพกีดกันกันเองจนเปิดปัญหา อย่างไรก็ตาม หากสื่อมวลชนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ต้องร่วมกันคิดหาเหตุผลโต้แย้งพร้อมเสนอแนวทางการกำกับดูแลกันเองของสื่อโดยที่คนนอกไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จัดอันดับเสรีภาพสื่อ-ไทยร่วงมาอยู่อันดับ 142 ผลพวงรัฐควบคุม-คุกคามหนัก

Posted: 27 Apr 2017 04:10 AM PDT

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลก ไทยยู่อันดับ 142 ร่วงลงมา 6 อันดับจากปีก่อน เหตุเพราะรัฐควบคุม คุกคามหนัก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกติดอันดับโลกด้านคุกคามสื่อหลายประเด็น นับเป็น "หลุมดำของข้อมูลและข่าวสาร" เลขาธิการสื่อไร้พรมแดนชี้ ประชาธิปไตยถดถอย เผด็จการผงาด ทำสื่อทั่วโลกอยู่ยาก

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporter Without Borders: RSF) ประกาศดัชนีเสรีภาพของสื่อทั่วโลกประจำปี 2017 ในรายงานระบุว่า เสรีภาพสื่อของไทยได้คะแนน 44. 69 อยู่อันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ ต่ำกว่าพม่าซึ่งอยู่อันดับที่ 131 และกัมพูชาอันดับที่ 132 โดยไทยหล่นจากอันดับที่ 136 จากปีที่แล้ว

RSF ระบุว่าสื่อไทยนั้น "ถูกปิดปากด้วยความสงบและระเบียบ" ภายใต้รัฐบาล คสช. และหัวหน้าคณะ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ RSF ระบุว่าเป็น "นักล่าเสรีภาพสื่อ (Press freedom predator) สื่อและประชาชนถูกควบคุมอย่างถาวร มีการเรียกไปสอบสวนและกักขังตามอำเภอใจบ่อยครั้ง การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. มักจะถูกตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการที่รุนแรงผ่านกลไกนิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมจากคำสั่งของ คสช. นอกจากนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขล่าสุดยังให้อำนาจรัฐในการเซ็นเซอร์และตรวจสอบสื่อมากขึ้น นอกจากนั้น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือในการป้องปรามสื่อและนักกิจกรรมบนพื้นที่ออนไลน์

กระแสโลกเลี้ยวขวาทำสื่ออยู่ยาก

RSF ระบุว่า กระแสเลี้ยวขวา หรือภาวะประชาธิปไตยถดถอยในหลายปีที่ผ่านมาได้คุกคามเสรีภาพสื่อ เพราะรัฐเข้ามาตรวจสอบและละเมิดสิทธิการสงวนตัวตนของแหล่งข่าวมากขึ้น เสรีภาพสื่อลดลงในทุกประเทศที่มีผู้นำประเภทเผด็จการ เช่นโปแลนด์ที่ใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์สาธารณะเป็นเครื่องมือดำเนินโฆษณาชวนเชื่อจากทางรัฐ และใช้มาตรการทางการเงินบีบสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และตุรกีภายใต้ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ที่ปีนี้ได้อันดับที่ 155 ที่มีมาตรการจับกุมสื่อจนได้ชื่อว่าเป็นคุกสำหรับสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

คริสตอฟ เดโลอาร์ เลขาธิการ RSF กล่าวว่า "กระแสที่ประชาธิปไตยกำลังอยู่บนจุดพลิกผันเป็นสัญญาณเตือนให้คนที่มีความเข้าใจอยู่แล้วว่า ถ้าเสรีภาพสื่อไม่ถูกคุ้มครองแล้ว ก็ไม่สามารถการันตีว่าเสรีภาพอื่นๆ จะปลอดภัย"

สื่อถูกคุกคามหนักที่สุด เอเชีย-แปซิฟิกแย่เป็นที่สาม แต่โหดทะลุสถิติโลกหลายรายการ

รายงานระบุว่า อัตราของสื่อที่ถูกควบคุมและล่วงละเมิดทั่วโลกสูงขึ้น 14 เปอร์เซนต์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปีที่แล้วมีจำนวนประเทศที่เข้าเกณฑ์เสรีภาพสื่อย่ำแย่ลงถึง 2 ใน 3 ในขณะที่จำนวนประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในระดับดี หรือดีพอใช้ ตกลงมา 2.3 เปอร์เซนต์

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีการล่วงละเมิดสื่อมากที่สุดเป็นอันดับ 3 แต่มีตัวเลขที่เป็นสถิติโลกหลายรายการ ดังนี้

จีนและเวียดนาม(อันดับที่ 176 และ 175 ตามลำดับ) คุมขังนักข่าวและบล็อกเกอร์ (blogger) มากที่สุดในโลก

ปากีสถาน ฟิลิปปินส์และบังกลาเทศ (อันดับที่ 139 127 และ 146 ตามลำดับ)เป็นประเทศที่สื่อตกอยู่ในสภาวะอันตรายมากที่สุดในโลก

ภูมิภาคเอเชียมีจำนวนผู้นำเป็นนักล่าเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลก หมายรวมถึงจีน เกาหลีเหนือและลาวด้วย (อันดับที่ 176 180 และ 170 ตามลำดับ) โดย RSF ระบุว่า ภูมิภาคนี้เป็น "หลุมดำของข้อมูลและข่าวสาร"

ดัชนีชี้วัดของ RSF ในระดับภูมิภาคและโลกนับจากคะแนนที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประเมินจากแบบสอบถาม บวกกับการนำเอาการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมาสนับสนุน โดยคะแนนบ่งบอกถึงระดับความตึงเครียดและการล่วงละเมิดเสรีภาพสื่อ ยิ่งมีคะแนนสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแย่เท่านั้น โดยประเทศที่สื่ออยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดได้แก่นอร์เวย์ โดยมีคะแนนเพียง 7.60 ในขณะที่ลำดับสุดท้าย ได้แก่ เกาหลีเหนือ มีคะแนนสูงถึง 84.98

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Reporter Without Border, 2017 World Press Freedom Index, https://rsf.org/en/ranking#

Reporter Without Border, Thailand: Gagged by "Peace and Order", https://rsf.org/en/thailand

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์ ชี้ 'จำนำข้าว' เงินถึงมือชาวนา อัดซื้อเรือดำน้ำใช้วาระลับ ปิดกั้นสาธารณชนร่วมตรวจสอบ

Posted: 27 Apr 2017 03:41 AM PDT

หวัง สตง. และ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบให้เข้มข้น เหมือนกับที่เคยทำกับรัฐบาลพลเรือนในอดีตโดยไม่เลือกปฏิบัติ ระบุใช้วาระลับ ทำให้ไม่มีการเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือสาธารณชนร่วมตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ

แฟ้มภาพ

27 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 16.17 น. ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra' วิจารณ์กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน โดยใช้วาระลับ โดยระบุว่า การใช่วาระลับดังกล่าว ทำให้ไม่มีการเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือสาธารณชนร่วมตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องมีภาระคำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสมความคุ้มค่าและการเปรียบเทียบราคาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการและประเทศชาติ และยังเป็นการใช้ภาระงบประมาณสูง ผูกพันหลายปีงบประมาณจนเป็นภาระหนี้ให้กับรัฐบาลถัดๆ ไปในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากนั้น

กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมากล่าวหาถึงโครงการรับจำนำข้าวว่าทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ต้องมาผ่อนชำระ ชดใช้หนี้ต่างๆ ในระบบการเงินการคลังของประเทศนั้น ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ถือเป็นการให้ร้ายต่อรัฐบาลตน ทั้งที่ตนก็อยากจะบอกว่า ถ้า นายกฯประยุทธ์ กล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศเสียหาย ก็น่าจะเทียบได้กับการจัดซื้อรถถัง และเรือดำน้ำ แถมยังมีแผนจะจัดซื้อเพิ่มเติมในอนาคตอีก

"ดิฉันขอยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าว เป็นการนำเงินทุกบาททุกสตางค์โอนเงินผ่าน ธ.ก.ส. จ่ายถึงมือชาวนาโดยตรงซึ่งมีผลทำให้ชาวนาได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก เศรษฐกิจดีขึ้น แต่วันนี้พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศมาถึง 3 ปีแล้วยังพบปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไขถึงขั้นจะยกเลิกโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ดูแลสุขภาพประชาชน และปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ แต่กลับใช้เงินงบประมาณไปกับการซื้อรถถัง เรือดำน้ำซึ่งในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องซื้ออีกกี่ลำถึงจะสามารถป้องกันประเทศได้ ทั้งๆ ที่อ่าวไทยนั้นตื้นเขิน และยังต้องคำนึงถึงปัญหาเทคนิคด้านประสิทธิภาพที่ยังไม่เป็นข้อยุติ และประเทศก็อยู่ในสภาวะปกติที่ยังไม่มีภัยคุกคามจากเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ข้ออ้างของการจัดซื้อเพื่อใช้ดูแลทรัพยากรชายฝั่งก็คงไม่จำเป็นที่ต้องใช้เรือที่มีราคาแพงขนาดนี้ อย่างนี้ไม่รู้ว่าท่านในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารเลือกที่จะให้น้ำหนักความมั่นคงหรือปากท้องของประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะภายใต้การบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งยังร่างไม่แล้วเสร็จ ก็หวังว่าปัจจุบันรัฐบาลนี้อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะปฏิบัติตาม" ยิ่งลักษณ์ โพสต์

อดีตนายกฯ โพสต์ด้วยว่า ตนหวังว่าหน่วยงานราชการทั้ง สตง. และ ป.ป.ช. จะไม่ละเลยอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ โดยเข้ามาตรวจสอบให้เข้มข้น เหมือนกับที่เคยทำกับรัฐบาลพลเรือนในอดีตโดยไม่เลือกปฏิบัติ และมีความเท่าเทียมกัน และไม่ควรมีการอ้างเรื่องชั้นความลับของทางราชการแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาก็มีข้อคิดเห็นหรือทักท้วง ข้อเสนอแนะมาโดยตลอดทั้งทางเทคนิคด้านประสิทธิภาพ ความเหมาะสมกับการใช้งานในการดูแลความมั่นคงรวมถึงภาระหนี้ที่จะเกิดถึงในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วย

ยิ่งลักษณ์ ระบุอีกว่า ในที่สุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 60 ครม. ก็ได้เห็นชอบให้ซื้อเรือดำน้ำและเป็นวาระลับโดยไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งๆ ที่บทบัญัญัติตามรัฐธรรมนูญใหม่บังคับให้ "การบริหารราชแผ่นดิน คณะรัฐมนตรี ต้องเปิดเผยและมีความรอบคอบและความระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสหรัฐฯ เบรกทรัมป์ตัดงบประมาณ 'เมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพ'

Posted: 27 Apr 2017 02:11 AM PDT

หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พยายามตัดงบประมาณ "เมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพ" ล่าสุดศาลอุทธรณ์ภาค 9 ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำตัดสินไม่ให้ตัดงบประมาณดังกล่าว โดยผู้พิพากษา วิลเลียม เอช ออร์ริค ตัดสินเอื้อประโยชน์ให้กับเทศมณฑลซานตาคลาราและท้องที่อื่นๆ โดยเขาบอกว่าการขู่ตัดงบประมาณจากเมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพเหล่านี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

โดนัลด์ ทรัมป์ ในวันสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อ 20 มกราคม 2560 (ที่มา: แฟ้มภาพ/The White House)

 

ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยประกาศใช้คำสั่งพิเศษชื่อว่า "การเสริมสร้างความปลอดภัยสาธารณะจากภาคส่วนภายในของสหรัฐอเมริกา" เรื่องนี้ไม่แค่ส่งผลกระทบต่อภายในประเทศอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเป็นการปราบปรามผู้ลี้ภัยหรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิมบางประเทศที่รัฐบาลทรัมป์มองว่าเป็นภัยด้วย

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2560 ซีเอ็นเอ็นรายงานการตัดสินของผู้พิพากษาออร์ริคว่าเฉพาะนโยบายของทรัมป์ไม่ได้ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากเมืองต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ฟ้องร้องโดยอ้างเรื่องละเมิดรัฐธรรมนูญพวกเขาก็มีโอกาสชนะ เนื่องจากการตัดงบประมาณด้วยเหตุผลนี้จะส่งผลเสียหายอย่างไม่อาจทดแทนได้

ทางด้านทำเนียบขาววิจารณ์การตัดสินในเรื่องนี้ว่าเป็นการที่ศาล "ใช้อำนาจเกินขอบเขต" แต่พวกเขาก็ระบุว่าพวกเขาจะสามารถชนะได้ในศาลสูงสุด ไม่ว่าจะในเรื่อง "เมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพ" (sanctuary cities) หรือเรื่องการสั่งห้ามเดินทาง ทรัมป์เองทวีตวิจารณ์เรื่องนี้ในช่วงวันพุธ (27 เม.ย.) ว่าเป็นการตัดสินที่ "น่าขัน" ส่วนไรนซ์ พรีบัส เสนาธิการทำเนียบขาวกล่าวว่ามันเป็นเรื่องน่าแปลกที่ทำไมรัฐบาลถึงจำกัดการใช้งบประมาณของตัวเองไม่ได้

อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาลยังพอจะให้ช่องทางจัดการของรัฐบาลทรัมป์อยู่บ้างเนื่องจากไม่ได้ห้ามการจำกัดเงื่อนไขการให้งบประมาณโดยรัฐบาลกลางรือไม่ได้ห้ามรัฐบาลในการแก้ไขนิยาม "เมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพ" โดยที่ผู้พิพากษาระบุว่าการสั่งระงับเงินงบประมาณเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างไม่อาจทดแทนได้และถึงแม้ว่าคำสั่งจะยังไม่ออกมาแต่การขู่ว่าจะนำงบประมาณออกก็สร้าง "ความไม่แน่นอนทางด้านงบประมาณ" ได้

ทางด้านเจมส์ วิลเลียมส์ ทนายความของฝ่ายเทศมณฑลซานตาคลาราบอกว่าเรื่องนี้เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของพวกเขา ทางด้านเดนนิส เฮอร์เรรา กล่าวว่านี่คือเหตุผลในการมีอยู่ของศาลคือปรามการใช้อำนาจของประธานาธิบดีหรืออัยการสูงสุดที่ละเลยรัฐธรรมนูญ

ออร์ริค ยังชี้ให้เห็นโดยการนำโวหารของทรัมป์เทียบกับถ้อยแถลงของตัวแทนกฎหมายของทรัมป์ในศาลว่าข้อความของทรัมป์ขัดแย้งกับ "การตีความใหม่ที่แคบลง" ของทนายความฝ่ายรัฐบาล เพราะทรัมป์เคยบอกว่ามาตรการของเขาจะถูกใช้เป็น "อาวุธ" ในการจัดการกับการพิจารณาใดๆ ก็ตามที่ไม่ตรงกับนโยบายที่เขาปรารถนาเกี่ยวกับผู้อพยพ

นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องที่การระงับงบประมาณจากส่วนกลางจะมีผลต่องบประมาณด้านการบังคับใช้กฎหมายด้วยซึ่งเหล่าเมืองที่ให้การคุ้มครองผู้อพยพต่างก็บอกว่าพวกเขามีนโยบายเป็นเมืองคุ้มครองเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยกับประชาชนอยู่แล้วโดยการให้ผู้อพยพที่ไม่มีใบอนุญาตรู้สึกปลอดภัยที่จะทำงานโดยมีผู้บบังคับกำหมายคอบดูแลไม่ให้เกิดอาชญากรรม

เรียบเรียงจาก

Judge blocks part of Trump's sanctuary cities executive order, CNN, 26-04-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ยืนจำคุก 9 ปี โบรกเกอร์ โพสต์เฟซบุ๊ก หมิ่นฯ กษัตริย์

Posted: 27 Apr 2017 01:54 AM PDT

คดี 'ปิยะ  โบรกเกอร์' ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 9 ปีจากความผิด 1 กรรม แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี เหตุจำเลยให้การเป็นประโยชน์  ผิด ม.112 เขียนข้อความลงพระบรมฉายาลักษณ์ โพสต์ลงเฟซบุ๊กปี 56 เจตนาให้ปชช.เสื่อมศรัทธา 

 

แฟ้มภาพ

27 เม.ย. 2560 จากรเมื่อ 20 ม.ค. 59  ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ ปิยะ จุลกิตติพันธ์ โบรกเกอร์ วัย 48 ปีตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก พงศธร บัญชร โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 9 ปีจากความผิด 1 กรรม แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน นั้น

ล่าสุดวันนี้ (27 เม.ย.60) สื่อหลายสำนัก เช่น มติชนออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์และคมชัดลึกออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายปิยะ จำเลยมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตลอดการพิจารณาคดี จำเลยไม่ได้รับการประกันตัว

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องมีความรู้และความเข้าใจระบบคอมพิวเตอร์รวมถึงการใช้โปรแกรมเฟซบุ๊ก โดยจำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กในชื่อ พงศธร บัญชร มาตลอด และพบภาพพร้อมข้อความที่ไม่เหมาะสมในคดีนี้ จำเลยอ้างทำนองว่ามีผู้อื่นใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการเบิกความลอยๆ และง่ายต่อการกล่าวอ้าง หากมีบุคคลอื่นแก้ไขใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย และกลับไม่สนใจรวมทั้งมิได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ กับบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ยังคงใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวตลอดมา รวมถึงมิได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งผิดปกติวิสัย ที่จำเลยอ้างนำสืบว่า เหตุที่จำเลยไม่ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีเนื่องจากมีผู้ใช้ชื่อ พงศธร บัญชร นั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทราบได้อย่างไรว่ามีการดำเนินคดีแก่จำเลยในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งความร้ายแรงของความผิดไม่อาจนำมาเป็นเหตุกล่าวอ้างได้ ที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ได้แจ้งไปทางเฟซบุ๊กและกูเกิลให้ลบภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมออกบางส่วนแล้ว แต่กลับปรากฏว่ายังคงเหลือพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมข้อความอยู่ และทราบจากเอกสารประกอบคำให้การของจำเลยว่า จำเลยได้แจ้งลบภายหลังจากที่มีการแจ้งความดำเนินคดีนี้แล้ว และที่จำเลยอ้างว่า เพิ่งทราบว่ามีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์เมื่อปี 2557 ก็ไม่ได้นำพยานอื่นมาเบิกความแต่อย่างใด ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ชื่อนายพงศทอน บันทอน จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงอาฆาตมาดร้ายต่อพระมาหากษัตริย์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน 
 
รายงานข่าวระบุถึง คำฟ้องโจทก์ด้วยว่า ว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 28 พ.ย. 2556 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกัน จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์ โดยการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 2 ข้อความ อยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ภาพ ในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ใช้ชื่อว่า พงศธร บัญชร (SIAMAID) โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ, อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม, อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และที่นอกราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
 
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีพนักงานสอบสวนและผู้ที่ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีเบิกความว่ามีผู้โพสต์ข้อความที่อยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการนำลงไปโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ พงศธร บัญชร (SIAMAID) การกระทำดังกล่าวมีเจตนาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้แชร์จำนวนมากจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3), (5)
 
นอกจากนี้ยังฟังได้จากคำเบิกความจำเลยว่าเคยใช้เฟซบุ๊กระหว่างปี 2553-2554 ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าได้แจ้งให้กูเกิลลบข้อความดังกล่าวไปแล้วนั้น จำเลยไม่ได้นำพยานอื่นมานำสืบให้ชัดเจนและการแจ้งให้ลบข้อความดังกล่าวนั้นก็เป็นช่วงหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 1 ปี พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
 
ทั้งนี้ ปิยะ ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 57 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.57 เรื่อยมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังยังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกเป็นคดีที่ 2 ในระหว่างถูกคุมขังในคดีนี้ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งข้อความหมิ่นไปยังอีเมล์หลายชื่อ
 
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของปิยะ กล่าวถึงคดีนี้เมื่อครั้งที่ศาลชั้นต้นตัดสิน  20 ม.ค. 59 ด้วยว่า คดี 112 คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ศาลาอาญาลงโทษจำคุกจำเลยหนักใกล้เคียงกับศาลทหาร ที่ผ่านมาหากจำเลยต่อสู้คดีในศาลอาญา โทษต่อกรรมของคดีนี้จะอยู่ที่ 5 ปีมาโดยตลอด เป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นของโทษคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นในยุคนี้ และน่าจะทำให้จำเลยที่คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และอยากต่อสู้คดีจะยิ่งมีน้อยลงไปอีก

ศศินันท์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีและการสืบพยานจากทนายความว่า หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์มีเพียงรูปภาพที่แคปเจอร์มา 1 ภาพ และพยานบุคคลที่สำคัญ 1 ปากซึ่งศาลรับฟังและนำมาเป็นส่วนหนึ่งในคำพิพากษา ขณะที่พนักงานสอบสวนของปอท.และพยานปากอื่นๆ ไม่มีใครสามารถยืนยันว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กนี้อยู่จริงเพราะไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนได้ขอไอพีแอดเดรสของบัญชีดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กแล้วแต่เฟซบุ๊กปฏิเสธการให้ข้อมูล

ทนายความขยายความถึงหลักฐานรูปภาพว่า เป็นภาพตัดต่อเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา-ข้อความหมิ่น-รูปโปรไฟล์ที่เป็นรูปของปิยะมาไว้รวมกันไว้ใน 1 ภาพซึ่งปริ๊นท์ออกมาเป็นกระดาษ ภาพดังกล่าวถูกแชร์ในโลกโซเชียลและมีบุคคลเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับปิยะหลายราย โดยมีผู้แจ้งความมาเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้รวม 5 คน แบ่งเป็น 3 คนแรกมาจากจังหวัดน่าน อีก 1 คนเป็นหมอจากจังหวัดนครปฐม ทั้งหมดเบิกความได้เห็นรูปภาพดังกล่าวจึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ โดยไม่เคยเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก พงศธร บัญชร หรือเห็นข้อความต้นฉบับจากเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ร่าง กม.ดักฟัง แจงโลกเสรียึดมั่นหลักนิติรัฐทั่วโลก ก็มี ย้ำมุ่งคุ้มครองเหยื่อ

Posted: 26 Apr 2017 10:53 PM PDT

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ โพสต์แจงเหตุเสนอกฎหมายดักรับข้อมูลของตำรวจ มุ่งคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม ไม่ใช่อยากได้อำนาจเข้าทำร้ายใคร  ยันในโลกเสรี ที่ยึดมั่นหลักนิติรัฐทั่วโลก เขาก็มีกฎหมายนี้

พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ (ภาพจาก iLaw)

27 เม.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) ซึ่งเกี่ยวกับการให้อำนาจการเข้าถึงพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยถอดเรื่องนี้ออกจากชั้นความลับที่สุด เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว กฎหมายทุกฉบับต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการดักฟังข้อมูลด้วย แต่ไม่อยากให้วิตกกังวล เพราะเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากศาล และทำได้เฉพาะในคดีอาญา จึงไม่ต้องกังวลว่าภาครัฐจะล้วงความลับหรือดักจับข้อมูลของประชาชน

ล่าสุดวันนี้ (27 เม.ย.60) พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รอง.ผบก. (International Law Enforcement Academy : ILEA ) โพสต์บันทึก 'การเสนอกฎหมายดักรับข้อมูลของตำรวจ' ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'SIRIPHON KUSONSINWUT' ในลักษณะสาธารณะ อธิบายถึงเหตุผลของการกฎหมายถึงกล่าวในฐานะคนร่างกฎหมาย และร่วมคณะผู้แทนตำรวจชี้แจงกฎหมายต่อคณะกรรมการประสานงานรัฐบาล (วิป) เพื่อชี้แจงร่างกฎหมาย การดักรับข้อมูล ก่อนนำเข้า สนช.   

"ผมยืนยันว่า โลกเสรี ที่ยึดมั่นหลักนิติรัฐทั่วโลก เขาก็มีกฎหมาย Intercept Law ทั้งนั้นครับ ถ้าบอกกฎหมายนี้ เผด็จการ แม่งเผด็จการทั้งโลกแหละครับ ... สุดท้าย ในฐานะผู้ยกร่าง ผมยืนยันว่า เรามุ่งคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม ไม่ใช่อยากได้อำนาจเข้าทำร้ายใคร แต่ใครจะ Abuse of Power ทำระยำตำบอนนั้น ผู้ร่างไม่เกี่ยว และผู้ร่างคิดว่า เราทำดีที่สุด เท่าที่จะทำได้แล้ว" พ.ต.อ.ศิริพล โพสต์
 
รายละเอียดดังนี้ 
 
1 ) หลักการกฎหมาย มีปรัชญาสำคัญ คือ คุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรม เพราะมีคดีกว่า 600,000 คดีต่อปี ที่เหยื่ออาชญากรรม ไม่มีสิทธิอะไร นอกจากการแจ้งความ กับการไปเบิกความต่อศาล หรือไปเรียกร้องเงินค่าปลงศพ กับค่ารักษา จากกองทุนยุติธรรม  แต่เสียงของเหยื่อ ไม่ได้รับการดูแล  และไม่ได้รับการฟัง อีกทั้ง ตำรวจยังไม่มีเครื่องมือในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อประโยชน์ของเหยื่อ นอกจากหมายเรียกฯ เท่านั้น เหยื่ออาชญากรรม จึง ไม่ได้รับการดูแลเท่าฝ่ายผู้กระทำผิดเลย แม้แต่น้อย  ถึงเวลาที่จะต้องสร้างสมดุลย์ให้กับสิทธิของเหยื่อกับสิทธิของผู้กระทำผิด ?
 
2 ) ความจำเป็นในการมีกฎหมายนี้ คือ ผู้กระทำผิดใช้เทคโนโลยีทันสมัยและพยานหลักฐานทั้งหลายอยู่ในมือและครอบครองของผู้กระทำผิด สามารถทำลายได้ง่าย ในขณะที่ตำรวจ ตาม ป.วิ.อาญา จะมีอำนาจเพียงการออกหมายเรียก และการตรวจการณ์ทั่วไป การรวบรวมพยานหลักฐานจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะคดีความมั่นคง พยานหลักฐานน้อย ถูกยกฟ้องประมาณ ร้อยละ 70 กันเลยทีเดียว 
 
3 ) วิธีการดักรับข้อมูล จะต้องถูกตรวจสอบภายในองค์กร คือ ผู้การเห็นชอบ แล้วจึงขออนุมัติต่อศาล ซึ่งจะต้องเป็น อธิบดีศาลอาญา หรือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเท่านั้น ซึ่งศาลที่มีประสบการณ์สูงเหล่านี้ จะมีดุลพินิจที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน ไม่ใช่ผู้พิพากษาทั่วไป ที่อาจจะทำให้ดุลพินิจแตกต่างกันได้ง่าย 
 
4 ) แนวทางการขอดักรับข้อมูล ประกอบด้วย 
 
4.1 ) มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่ามีการกระทำผิด คือ Probable Cause ว่ากระทำผิดจริง ในความผิดไม่กี่ฐาน เช่น ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดฐานก่อการร้าย ความผิดที่สลับซับซ้อนที่มีอัตราโทษอย่างสูงเกิน 10 ปี ไม่ใช่คดีขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง เล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไป แต่เป็นคดีที่มีโทษร้ายแรง และถ้าไม่ใช้วิธีการนี้ เหยื่ออาชญากรรม จะไม่มีทางได้รับการเยียวยา หรือ ความยุติธรรมจะเสียหาย เพราะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมได้ 
 
4.2 ) ไม่สามารถสืบสวนได้ด้วยวิธีการปกติแล้ว เช่น ออกหมายเรียกไม่ได้ หรือ ไปเฝ้าฝังตัว ตำรวจก็จะตายเปล่า หรือ ทางเทคนิคจะต้องได้พยานหลักฐานด้วยการเข้าถึงเท่านั้น 
 
4.3 ) ตำรวจจะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ทำไม จึงต้องได้ข้อมูลเช่นนั้น ตำรวจต้องการข้อมูลระดับไหน และจะเข้าถึงด้วยวิธีการอย่างไร จึงจะกระทบสิทธิประชาชนน้อยที่สุด 
 
4.4 ) ศาลสามารถตรวจสอบและสั่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ตลอดเวลา เช่น หยุดดักรับ หรือ กำหนดเงื่อนไข 
 
4.5 ) ต้องรายงานผลการดำเนินการต่อศาลต่อเนื่อง 
 
4.6 ) ต้องเก็บข้อมูลเป็นความลับ อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีต้องทำลาย
 
4.7 ) การเปิดเผยข้อมูล ไม่ว่าโดยประชาชนที่อาจจะรู้เห็น ต้องโทษจำคุก 3 ปี ถ้าเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ จำคุก 3 เท่า และปรับหลักแสนบาท 
 
หมายเหตุ : abuse of power คือ การใช้อำนาจในทางที่ผิด, Probable cause คือ การพิสูจน์ให้เห็นถึงเหตุอันมีพยานหลักฐานเพียงพอ  และ Intercept Law กฎหมายเกี่ยวกับการดักฟัง 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น