โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แห่รำลึก ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ กลางกรุง ‘เพนกวิ้น’ ย้ำใครก็ตกเป็นเหยื่ออย่างเขาได้

Posted: 01 Apr 2017 09:40 AM PDT

ดนตรี ศิลปะ ขับขานกวี รำลึกวิสามัญฯ ชัยภูมิ ป่าแส คนแห่ร่วมจนสถานที่จัดไม่พอ ผู้จัดย้ำเขาต้องไม่ตายเปล่า ชี้เป็นความตายที่ถูกประเคนให้ เตือนวันข้างหน้าใครก็ตกเป็นเหยื่อได้ ท้ายงานตำรวจโผล่ ไล่ยัดคนเข้าร้านให้หมด

1 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ร้าน The Writer's Secret ซึ่งอยู่ข้าง สน. นางเลิ้ง กลุ่มนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรม นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น จัดงานแสดงดนตรีและบทกวี "ชัยภูมิสุดท้าย" เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ด่านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พร้อมกับข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในงาน "ชัยภูมิสุดท้าย" มีการจัดแสดงภาพงานศิลปะ พูดคุยเรื่องชัยภูมิกับ ศรัญญา กาตะโล จากเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นพี่เลี้ยงให้ชัยภูมิเป็นเวลา 8 ปี มีการแสดงดนตรี ขับขานบทกวีและฉายหนังสั้น งานนี้ได้รับความสนจากนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรมและบุคคลทั่วไปมากพอสมควร ทำให้พื้นที่จัดงานไม่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้พอ ผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งจึงนั่งฟังอยู่หน้าร้าน

ศรัญญา เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชัยภูมิว่า ชัยภูมิกำลังดำรงตำแหน่งเป็นประธานเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง เมื่อครั้งยังมีชีวิตได้ใช้วัฒนธรรม ดนตรีและสื่อต่างๆ แสดงออกถึงตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์และสิทธิมนุษยชน

ศรัญญา กล่าวถึงปัญหาในภาพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ว่า แต่ละภาคจะเจอสภาพปัญหาต่างกันไป ภาคเหนือจะเป็นเรื่องปัญหาสัญชาติ ภาคกลางจะเป็นเรื่องการเข้าถึงการศึกษา ส่วนในภาคใต้จะเป็นปัญหาการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ การไม่มีสัญชาติเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมรณรงค์ เพราะเดินทางลำบาก มีค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตเดินทางเพิ่มเติม ตนจึงเห็นว่า การมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยนั้นเป็นปัญหาระยะยาวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ศรัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเจ็บปวดกับการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะแท้ที่จริง ทุกคนก็มีชาติพันธุ์เป็นของตัวเองตั้งแต่กำเนิดทั้งนั้น ตนอยากให้มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนเหมือนกัน เพราะอย่างไรก็เกิดบนแผ่นดินเดียวกันแล้ว

ขณะที่ พริษฐ์ หัวเรือใหญ่ในการจัดงาน กล่าวว่า ต้องการจัดงานดังกล่าวในกรุงเทพฯ เพราะว่ากรณีชัยภูมิเป็นกระแสสังคมอย่างมาก แต่ว่าไม่มีการจัดงานเพื่อรวมตัวกันในกรุงเทพฯ เลย และต้องการแสดงให้เห็นว่าการตายของชัยภูมิเป็นการตายที่คลุมเครือ เกิดจากความอยุติธรรม ดังนั้นการตายครั้งนี้จึงไม่ควรสูญเปล่า

พริษฐ์ ยังได้ทิ้งท้ายว่า ชัยภูมิไม่ได้รนหาที่ตาย แต่มีคนกลุ่มหนึ่งทีประเคนความตายให้ชัยภูมิ และในวันต่อไปคนกลุ่มนี้อาจจะประเคนความตายให้กับคนอื่นก็ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรอยู่เฉย ในฐานะคนๆหนึ่งเราไม่ควรทำให้เรื่องนี้ถูกลืม

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ผู้เข้าร่วมงานให้กลับไปนั่งในร้านให้หมด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อ 19.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. นางเลิ้งมาแจ้งให้ผู้เข้าร่วมงานให้กลับไปนั่งในร้านให้หมด โดยก่อนหน้านี้เมื่อชั่วโมงที่แล้วก็ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาแจ้งข้อความดังกล่าวแล้ว ทางเจ้าหน้าที่และผู้จัดงานได้พูดคุยกันและขอให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าไปในร้านให้หมด แต่พื้นที่ในร้านไม่สามารถรองรับคนทั้งหมดได้ ส่งผลให้ยังคงมีบางส่วนที่ยืนอยู่ข้างนอกประมาณกว่า 20 คน

ภาพพื้นที่ในร้านไม่สามารถรองรับคนทั้งหมดได้ ส่งผลให้ยังคงมีบางส่วนที่ยืนอยู่ข้างนอกประมาณกว่า 20 คน

ตัวอย่างบทกวีในงาน : 

อภินิหารประวัติศาสตร์ชาติ จากสุจิตต์ วงเทศน์

บรรพชนคนไทยหลายเผ่าพัน

ผสมปนเปกันร้อยพ่อพันแม่

หลอกคนอื่นหลอกตัวเองเป็นไทยแท้

รังแกกลุ่มชาติพันบรรพชน

อภินิหารประวัติศาสตร์แห่งชาติ

ชูอำนาจเผด็จการขันเข้มข้น

ใต้สุดเหนือสุดสุขสกนธ์

แน่นขนัดไปด้วยคนไม่เท่ากัน

 

ครึ่งชีวิต จากเจน อนัญจา

เยาวชนกำพร้า ไร้ผืนแผ่นดินใดโอบรับ

มนุษย์ไร้ใบกำกับ ในประเทศที่หนึ่ง

เป็นได้แค่ครึ่งคน เสียงสะท้อนกึกก้องหุบเขา

กลองชนเผ่าตีสะบัด บอกเรื่องราวเราจงภูมิใจ

คนดงดอยรัฐขีดสีแดง แม้แววตาเธอลงต่ำ

รอยยิ้มไม่มั่นใจเพียงไร แต่ขัดขืนต้านอำนาจรัฐเถื่อน ไม่สยบรับความกดขี่

จึงร่ายร้องบทเพลง ปะติดปะต่อภาพชีวิตเคลื่อนไหว

หวังเพียงสังคมรับรู้ เราก็มนุษย์เท่ากัน

เสียงโอหังกำลังอธิบาย ถึงเด็กชายที่เป็นศพอยู่ตรงหน้า

เขาได้แต่ยืนเงียบ ฟังเรื่องเท็จของตัวเอง

เพราะศพนั้นพูดไม่ได้ โอ้ เยาวชนชาย

เธอเกิดมาได้ความเป็นคนเพียงครึ่ง

มันยังมาพรากเอาครึ่งที่มีอยู่นี้ไป

ก่อนเวลาที่เธอได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

หลับเถิดเด็กชายกำพร้า แม้หมาขี้เรื้อนยังไม่หยุดเห่าหอน

เธอถูกพากลับบ้านแล้วนะ ร่างไร้วิญญาณในโลงไม้สี่เหลี่ยม

แด่ ชัยภูมิ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาเสนอให้ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบกรณี 'ชัยภูมิ ป่าแส'

Posted: 01 Apr 2017 06:33 AM PDT

เสวนา "วิสามัญ ฆาตกรรม License to Kill?" หลายฝ่ายเห็นพ้อง "เหยื่อ" ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล นักวิชาการชี้กรณี "ชัยภูมิ ป่าแส" ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีตัวแทนจากภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วยเพื่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

 
 
ที่มาภาพ: northpublicnews.com
 
เว็บไซต์ northpublicnews.com รายงานเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CESD) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย (LRDC) นิติศาสตร์ มช. มูลนิธิประสานวัฒนธรรม และกลุ่มนักกิจกรรมดีจัง young team จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง "วิสามัญ ฆาตกรรม License to Kill?" ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)    
      
วิทยากรประกอบด้วย นายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) , รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มช., นายสุมิตร วอพะพอ สุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลและสิทธิพลเมือง องค์การแพลนประเทศไทย และนายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ จากคณะนิติศาสตร์ มช. โดยมี ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา เป็นผู้ดำเนินรายการซึ่งช่วงต้นของกิจกรรม มีการเปิดเพลง "จงภูมิใจ" ที่แต่งและขับร้องโดยนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ต่อด้วยละคร "วิสามัญ ฆาตกรรม License to Kill?" จากนั้นจึงเริ่มการเสวนา ในเวลาประมาณ 14.00 น.
 
นายสุมิตร ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ครอบครัวของพี่สาว เป็น 1 ในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ.2546 โดยในครั้งนั้น พี่เขย ชื่อนายสิแด ค่อร่า ได้ถูกฆาตกรรม เพราะมีชื่ออยู่ในบัญชีดำผู้ค้ายาเสพติด ทั้งที่ผ่านมา นายสิแด ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมต่อต้านยาเสพติดมาตลอด
 
"เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวของพี่สาวได้รับผลกระทบ พี่สาวต้องกินยาระงับประสาททุกวัน ลูกคนโต กับคนรองต้องออกจากการศึกษาในขณะนั้น ขณะที่ลูกคนเล็ก เครือญาติได้ช่วยกันส่งเสียจนได้รับราชการครู แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านมาแล้วถึง 14 ปี ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบต่อกรณีฆาตกรรม ได้แต่ตั้งข้อสงสัยว่า ก่อนการฆาตกรรม ผู้ตายได้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งระหว่างชุมชนจับเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการทำไม้ และช่วงนั้นผู้ตายได้ลาออกจากผู้ใหญ่บ้าน ไปเป็นสมาชิก อบต. รวมถึงยังเป็นผู้นำในการคัดค้านการประกาศเขตอุทยาน" 
 
นายสุมิตร กล่าวส่วนกรณีถูกขึ้นบัญชีดำผู้ค้ายาเสพติดนั้น เป็นที่สังเกตว่านายสิแด ถึงมีหนี้สินมากมาย แม้แต่นาฬิกาข้อมือ ยังผ่อนเดือนละ 600 บาท  อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามหาคำตอบ โดยเฉพาะลูก ที่อยากรู้ว่าใครคือคนฆ่าพ่อ แต่กลับทำให้ครอบครัวอยู่ในความไม่ปลอดภัย มีโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่ให้ยุติการสืบสวนเรื่องดังกล่าว หากไม่อยากมีจุดจบเหมือนนายสิแดนายสุมิตร กล่าวในตอนท้ายว่า แม้มนุษย์ไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือกระบวนการตรวจสอบ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่การใช้ศาลเตี้ย และการฆ่าตัดตอน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และผิดหลักนิติธรรมด้านนายวสันต์ กล่าวว่า ในอดีตช่วงที่รัฐทำสงครามกับยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย.46 ระยะเวลาแค่ 3 เดือน มีการฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 กรณี และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,800 คน โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงนั้น มีการแต่งเรื่องให้ผู้ต้องหา หรือผู้เสียชีวิต อาทิ ผู้ตายมือหนึ่งถือปืน อีกมือหนึ่งมียาเสพติด ในจำนวนนี้มีการร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 100 กว่าราย และเมื่อตรวจสอบก็พบว่าผู้เสียชีวิตคือคนเล็กคนน้อย ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในช่วงนั้น ก็ทำให้สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย ที่ภาคเหนือมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการรวมตัวชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
 
อดีต กสม. ยังกล่าวถึงกรณีการวิสามัญฆาตกรรม ที่ ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ญาติของผู้เสียชีวิตและคนในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่าผู้เสียชีวิตไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในการตั้งคณะกรรมการครั้งนั้น มีผู้แทนจากภาคประชาชน หรือฝ่ายผู้เสียชีวิตด้วย ทำให้ญาติเกิดความมั่นใจในกระบวนการทำงานมากขึ้นดังนั้น กรณีการวิสามัญคดียาเสพติด หากเจ้าหน้าที่รัฐบริสุทธิ์ใจ ควรมีการเปิดเผยข้อมูล และดำเนินการให้ถูกต้อง โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักเป็นผู้ถูกกระทำ เนื่องจากถูกสังคมมองว่าเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเสนอแนวทางใช้รูปแบบการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีตัวแทนจากภาคประชาชน หรือญาติผู้เสียหายด้วย เหมือนเช่นกรณีทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี           
 
นายสงกรานต์  กล่าวว่าวิสามัญฆาตกรรม เปรียบเสมือนการฆาตกรรมในนามของรัฐ เพราะวิสามัญ คือความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือผู้ถูกกระทำตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมาย การวิสามัญฆาตกรรม จึงเสมือนการกระทำในนามตัวแทนของประชาชน  เพราะมีการใช้ภาษีประชาชน ดังนั้นในกรณีการวิสามัญ ประชาชนจึงมีสิทธิรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งนี้ รัฐมีศักยภาพในการฆ่ามากกว่าองค์กรอาชญากรรม อีกทั้งการที่ประเทศส่วนใหญ่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็หมายความว่า รัฐไม่มีสิทธิฆ่าพลเมืองของตนเอง แต่ไทยเป็น 1 ใน 58 ประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ มีสิทธิในการป้องกันตัวเองเท่าเทียมกันกับประชาชนทั่วไป โดยหลักเกณฑ์ข้ออ้างในการป้องกันตัวนั้นประกอบไปด้วย 1) มีอันตรายหรือมีการละเมิดต่อกฎหมาย 2) อันตรายต้องใกล้ถึงตัว และ 3) ต้องกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การที่อ้างว่าประชาชนมียาเสพติด ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิวิสามัญฆาตกรรม  และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า การวิสามัญฆาตกรรมหรือการลงโทษประหารชีวิตที่ไร้เหตุผล และรวบรัด เป็นการกระทำที่ปราศจากความชอบธรรมอย่างร้ายแรง 
 
สำหรับปัญหาของคดีวิสามัญฆาตกรรม ประกอบด้วย 1) คดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวอ้างว่าผู้ตายกระทำความผิด 2) คดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐ อ้างว่าผู้ตายขัดขืนการจับกุม และพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ และ 3) คดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้ต้องหาทำให้ผู้อื่นตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ ในคดีของนายชัยภูมิ ป่าแส สังเกตว่ารัฐให้ความสำคัญเพียงข้อ 1) กับข้อ 2) เท่านั้น แต่ทั้งนี้ อยากเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีตัวแทนจากภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วย เพื่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
 
ขณะที่ รศ.สมชาย กล่าวนิยามสังคมไทยว่าเป็นสังคมวิสามัญ ซึ่งเกิดจากปัญหา 3 ส่วนคือ 1) การวิสามัญฆาตกรรม 2) ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ในระบบกฎหมาย และ 3) ระบอบอำนาจนิยม โดยไทยเกิดคดีวิสามัญฆาตกรรมบ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งรัฐไม่มีการออกมารับผิดชอบ แม้กรณีการวิสามัญฆาตกรรมโจ ด่านซ้าย เมื่อปี พ.ศ.2539 ที่นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่อย่างจริงจังส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยในระบบกฎหมายนั้น ถ้าการวิสามัญฆาตกรรม เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ จะเพิ่มความยากลำบากในการต่อสู้คดีมากขึ้นกว่าบุคคลอื่นทั่วไป เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ มักถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือเป็นกลุ่มที่ตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดระบบกฎหมายที่ไม่เป็นกลางต่อชาติพันธุ์ ประกอบกับฐานความคิด ภาษา และอคติหรือความลำเอียงด้านระบอบอำนาจนิยม คือระบอบที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ให้ตรวจสอบ ไม่ให้แสดงความคิดเห็น ใช้อำนาจปิดปาก ตรงกันข้าม ระบอบที่ไม่ใช่อำนาจนิยม แม้เกิดปรากฏการณ์วิสามัญฆาตกรรมเหมือนกัน แต่สังคมจะสามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบได้ มากกว่าที่เป็นอยู่  ปรากฏการณ์ของนายชัยภูมิ จึงไม่ใช่เพียงเรื่องเฉพาะตัวบุคคล หากสัมพันธ์กับระบบการเมือง กระบวนการยุติธรรม เสรีภาพของสื่อ ความเข้าใจของสังคมด้วยดังนั้นสิ่งที่ทุกคนพอจะทำได้คือ ระวังอย่าให้ตนเองถูกยัดยาบ้า ปืน ระเบิด ถึงแม้ตัวตายก็อย่ายอม ใช้ข้อมูลเหตุผลในการผลักดันเรียกร้องกับสาธารณะ อย่างเช่นกรณีทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ สร้างเครือข่ายในการพิสูจน์ความจริง ระหว่างกลุ่ม และผู้คนที่พอจะเห็นพ้องกันกับการสร้างสังคมเสรีประชาธิปไตย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเกณฑ์ถูกซ้อมเสียชีวิตในค่ายอีก 1 ศพ ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุก่อนหน้านี้ถูกสั่งขังเพราะทำผิดวินัยทหาร

Posted: 01 Apr 2017 04:50 AM PDT

ต้อนรับวันเกณฑ์ทหารประจำปี 2560 พลทหารยุทธอินันท์ บุญเนียม ถูกซ้อมเสียชีวิตหลังทำผิดวินัยทหาร และถูกสั่งขัง ด้านผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 45 สุราษฎร์ธานี ระบุพร้อมให้ความเป็นธรรมกับสองฝ่าย ย้ำทหารจะไม่ยุ่งเรื่องคดีความ

ภาพประกอบจาก poltahan.blogspot.com

1 เม.ย. 2560 workpoint news รายงานว่า มีผู้ออกมาเผยแพร่ภาพพลทหารถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายวิภาวดีรังสิต มณฑลทหารบกที่ 45 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้เสียชีวิตคือ พลทหารยุทธอินันท์ บุญเนียม ซึ่งมีแหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้พลทหารยุทธอินันท์ จะเสียชีวิตได้ทำผิดวินัย จึงถูกสั่งขังคุกทหารเพื่อเป็นการลงโทษ โดยหลังจากนั้นพลทหารยุทธอินันท์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในวันที่ 31 มี.ค. และเสียชีวิตในเวลา 05.00 น. วันที่ 1 เม.ย. นี้

ทั้งนี้ผู้ชื่อเฟสบุ๊กชื่อ Bom Lung Lang ได้เป็นผู้นำภาพดังกล่าวออกมาเผยแพร่ และเฟสบุ๊กแฟนเพจ YouLike (คลิปเด็ด) ได้นำภาพดังกล่าวไปแชร์ต่อ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา โดยผู้เผยแพร่ภาพรายแรก ซึ่งเป็นภาพก่อนที่พลทหารยุทธอินันนท์จะเสียชีวิตโดยได้ระบุว่า "ช่วยแชร์กันหน่อยนะครับ เพื่อหาความเป็นธรรมให้คนเจ็บ ญาติผมถูกขังในเรือนจำทหารแล้วโดนทหารทำร้ายร่างกาย ตอนนี้อาการสาหัสมาก คุณหมอช่วยปั๊มหัวใจ 4 รอบแล้วครับ"

ด้าน เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานด้วยว่า ต่อกรณีดังกล่าว เรณู หมดราศี ญาติของผู้เสียชีวิต เดินทางเข้าร้องเรียนกับ พล.ต.วิชัย ทัศนมณเฑียร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 45 สุราษฎร์ธานี เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก่อนประสาน พ.ต.อ.ศิริชัย ทรงวสิน ผกก.สภ.เมืองสุราษฎร์ธานีเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย โดยทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องคดีความ และจะให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย

อนึง ในวันที่ 1 เม.ย. นี้ เป็นวันแรกขอการเรียกตรวจคัดเลือกทหารเกณฑ์ทั่วประเทศ โดยปีนี้ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ รองโฆษกกองทัพบก ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า มีความต้องการทหารกองประจำการทั้งสิ้น 103,097 นาย ซึ่งขึ้นจากปี 2559 จากเดิม 101,307 นาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าก่อนหน้านี้มีพลทหารถูกซ้อมจนเสียเช่นในค่ายทหารแล้วหลายราย เช่น พลทหารวิเชียร เผือกสม พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด เป็นต้น

สำหรับความต้องการทหารกองประจำการ(ทหารเกณฑ์) ตั้งแต่ปี 2547 มีดังนี้

2547 มีความต้องการทหารกองประจำการ 80,345 นาย

2548 มีความต้องการทหารกองประจำการ 85,44 นาย

2549 มีความต้องการทหารกองประจำการ 81,090 นาย

2550 มีความต้องการทหารกองประจำการ 81,701 นาย

2551 มีความต้องการทหารกองประจำการ 85,760 นาย

2552 มีความต้องการทหารกองประจำการ 87,041 นาย

2553 มีความต้องการทหารกองประจำการ 87,452 นาย

2554 มีความต้องการทหารกองประจำการ 97,280 นาย

2555 มีความต้องการทหารกองประจำการ103,555 นาย

2556 มีความต้องการทหารกองประจำการ 94,480 นาย

2557 มีความต้องการทหารกองประจำการ 100,865 นาย

2558 มีความต้องการทหารกองประจำการ 99,373 นาย

2559 มีความต้องการทหารกองประจำการ 101,307 นาย

2560 มีความต้องการทหารกองประจำการ 103,097 นาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปปท.เซ็นฟัน 'วินัย-อาญา' โครงการรับจำนำข้าว 302 ราย

Posted: 01 Apr 2017 04:24 AM PDT

1 เม.ย. 2560 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในส่วนของข้าราชการว่า หลังจากคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการรับจำนำข้าว ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารตามสำนวน 986 สำนวนคดี พร้อมทยอยเรียกสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำแล้ว โดยขณะนี้การสอบสวนดำเนินไปกว่าครึ่งทางแล้ว และคณะอนุกรรมการฯก็ได้ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ตนได้ลงนามในคำสั่งเพื่อส่งรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานต้นสังกัด ดำเนินการทางวินัยและอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฎิบัติการของ องค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) เบื้องต้นจำนวน 158 คน และภาคเอกชนอีก 144 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจ้าของโกดังและกลุ่มเซเวย์เยอร์ รวมทั้งหมด 302 คน ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการไต่สวนและตรวจสอบเพิ่มเติม
 
"ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่บางรายที่เป็นหัวหน้าคลังสินค้า แต่รับผิดชอบในหลายโกดังกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าวต่างกรรมต่างวาระถึง 40 ครั้ง และขณะนี้ทั้ง 302 รายชื่อ ป.ป.ท.ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมกรรมทางการเงินแล้ว พร้อมขยายผลถึงข้าราชการระดับสูงที่รับผิดชอบ หากพบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระดับนโยบายจะต้องส่งให้ป.ป.ช.ดำเนินการ" 
 
นายประยงค์ กล่าวต่อว่า คดีนี้มีมูลค่าความเสียหายที่รัฐจะต้องเรียกเงินคืนสูงถึง 115,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจะยังไม่มีการฟ้องทางเพ่งเพื่อเรียกเงินคืน จนกว่าปปง.จะสอบเส้นทางการเงินแล้วเสร็จ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. ผ่านวาระ 3 พ.ร.บ. กสทช. แล้ว

Posted: 01 Apr 2017 03:31 AM PDT

สนช. ผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เห็นชอบ 197 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง นอกจากนี้ยังรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในวาระ 2 และ 3 โดย กรรมาธิการฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่างจากหลักเกณฑ์ที่รับหลักการในวาระแรกไว้ โดยแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้ว เช่น แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. อาทิ ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายศาล ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเคยถูกวุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้จัดการผู้บริหารที่ปรึกษาพนักงาน ผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือกิจการด้านโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปี ก่อนคัดเลือก และยังตัดหลักการที่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนสามารถนำเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะไปลงทุนได้ออก เพราะเห็นว่าขัดและไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งนี้ สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายนี้ โดยหลังการอภิปรายที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 197 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง
 
นอกจากนี้ สนช. ยังมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ  ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 190 เสียง  ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง  พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน  26  คน กรอบเวลาในการดำเนินการ 60  วัน กำหนดแปรญัตติภายใน 21 วัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานข้ามชาติที่มีหนังสือเดินทาง-กลับบ้านช่วงสงกรานต์ไม่ต้องขอหนังสือรับรอง

Posted: 01 Apr 2017 03:01 AM PDT

กรมการจัดหางานย้ำแรงงานจากพม่า ลาว กัมพูชา ที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทาง สามารถกลับบ้านช่วงสงกรานต์ได้ โดยต้องเดินทางไป-กลับภายในช่วง 5-30 เมษายน เส่วนแรงงานข้ามชาติผู้ถือบัตรสีชมพูยังต้องขอหนังสือรับรองเพื่อกลับประเทศต้นทาง พร้อมย้ำให้ระวังผู้ไม่หวังดีแสวงหาผลประโยชน์หลอกเรียกเก็บเงิน

แรงงานชาวพม่าที่ตลาดปลามหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร (แฟ้มภาพ)

1 เม.ย. 2560 นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามที่ได้เคยแจ้งไปแล้วว่า แรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา ลาว และพม่า สามารถเดินทางกลับบ้านไปฉลองสงกรานต์ได้ในระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน 2560 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 นั้น กรมการจัดหางานขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมว่าแรงงานกลุ่มที่จะต้องมาขอหนังสือรับรองเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์จากกรมการจัดหางานก่อน มี 2 กลุ่มคือ 1) กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ที่บัตรหมดอายุวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หรือ 31 มีนาคม 2561 2) ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรชมพู บัตรหมดอายุวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หรือ 31 มีนาคม 2561 ที่อายุไม่เกิน 18 ปี เท่านั้น

โดยแรงงานที่ถือบัตรชมพูจะต้องเดินทางไปและกลับ ภายในวันที่ 5-30 เมษายน 2560 หากไม่กลับเข้ามาภายในเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถเข้ามาได้อีก ทั้งนี้แรงงานไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด โดยขอหนังสือรับรองได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ และให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประทับตราเข้า-ออก ในหนังสือรับรองดังกล่าว โดยมีข้อกำหนดว่าเดินทางออกทางด่านตรวจคนเข้าเมืองใด ให้กลับเข้ามาทางด่านตรวจคนเข้าเมืองนั้น

สำหรับแรงงานกลุ่มที่มีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (CI) ไม่ต้องขอหนังสือรับรอง เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสามารถประทับตราเข้า-ออกในหนังสือเดินทางได้ และต้องเดินทางไปและกลับภายในวันที่ 5-30 เมษายน 2560 ทั้งนี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ใช้ในกระบวนการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน 2560 เท่านั้น หากประสงค์จะกลับเข้ามาหลังวันที่ 30 เมษายน 2560 ต้องทำ Re-entry และชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 1,000 บาทก่อนเดินทางออกนอกประเทศ ถ้าไม่ได้ดำเนินการก่อนไม่สามารถกลับเข้ามาหลังวันที่ 30 เมษายน 2560 ได้

นายวรานนท์ กล่าวย้ำเตือนว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยแรงงานที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทางช่วงสงกรานต์ในครั้งนี้ โดยขอให้ระวังผู้ไม่หวังดีเรียกรับผลประโยชน์หรือค่าธรรมเนียมกับแรงงานต่างด้าว เพราะการเดินทางดังกล่าวไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด หากเดินทางภายในเงื่อนไขที่กำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น