ประชาไท | Prachatai3.info |
- สงกรานต์พม่ายุคเปลี่ยนแปลง-เมื่อรัฐบาลพม่าลดวันหยุด 10 วันเหลือ 5 วัน
- สั่ง ปชช. งดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่โพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์' ชี้แชร์ผิด พ.ร.บ.คอมพ์
- สุรพงษ์ เตือน คสช. ใช้ ม.44 ระวังขัด รธน. ม.77 ผบ.ทบ.ย้ำยังมีความจำเป็น
- รวบ ‘โชกุน’ ตุ๋นทัวร์ญี่ปุ่น เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ฉ้อโกงประชาชน
- สปสช. ยันไม่มีคำสั่งกดเพดานของบฯ บัตรทอง
- ผู้ใหญ่เฉลิมพล มาลาคำ หนุนลดวาระกำนัน-ผู้ใหญ่ ย้ำทำงานเพื่อส่วนรวมชาวบ้านก็เลือกตลอด
- โฉมหน้าที่แท้จริงเนติวิทย์
- อุทธรณ์พิพากษา ปรับ 8 แสน แอดมินเพจ 'ทวงคืนพลังงาน' ฐานหมิ่น ปตท.
- วิสามัญฆาตกรรมกับการโต้กลับด้วยความรุนแรง
- สื่อเล็กๆ ในไอโอวาคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ จากผลงานต่อสู้กับบรรษัทเกษตรยักษ์ใหญ่
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
- นักปรัชญาชายขอบ: มายาคติของ ‘ความเป็นอารยะ’
สงกรานต์พม่ายุคเปลี่ยนแปลง-เมื่อรัฐบาลพม่าลดวันหยุด 10 วันเหลือ 5 วัน Posted: 12 Apr 2017 01:15 PM PDT ผู้คนในพม่าที่ตั้งตารอหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ต้องเปลี่ยนแผนอีกครั้ง หลังจากต้นเดือนมีนาคม รัฐบาลพม่าประกาศมาอย่างกระชั้นชิดให้ลดวันหยุด "มหาสงกรานต์" จาก 10 วัน เหลือ 5 วัน โดยให้เหตุผลว่าหยุด 10 วัน กระทบธุรกิจ-การเดินทาง-กระจายสินค้า แต่ยังให้ จนท.รัฐหยุด 10 วันแล้วค่อยเปลี่ยนปีหน้า ทำให้ลูกจ้างเอกชนรู้สึกเสียเปรียบ จนเกิดเหตุประท้วงขอคืนวันหยุด 10 วัน นักศึกษาพม่าร่วมในขบวนแห่เทศกาลสงกรานต์ที่มัณฑะเลย์ ประเทศพม่าเมื่อ 12 เมษายนปี 2555 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Htoo Tay Zar/Wikipedia) ปฏิทินวันหยุดพม่าในปี 2559 จะเห็นวันหยุดสีแดงเถือกเนื่องในวันสงกรานต์ระหว่าง 11-20 เมษายน และเมื่อรวมกับวันเสาร์อาทิตย์ก็จะเป็นวันหยุดยาวตั้งแต่ 9-20 เมษายน หรือหยุด 12 วัน ทั้งนี้โฆษกสำนักงานประธานาธิบดีพม่า ซอเท ได้ประกาศมาตั้งแต่ 9 มีนาคม ว่ารัฐบาลพม่าจะลดวันหยุดช่วงติงยาน หรือเทศกาลสงกรานต์จากเดิม 10 วัน ลดเหลือ 5 วัน คือจากเดิม 11 ถึง 20 เมษายนในปีที่แล้ว มาเป็น 13 ถึง 17 เมษายนเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าวันหยุด 10 วัน เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงาน การบริการธนาคาร ทำให้การเดินทางและการกระจายสินค้าล่าช้า เนื่องจากมีวันหยุดที่ยาวนาน โดยวันหยุดที่ลดลงในช่วงสงกรานต์ Coconut Yangon ซึ่งอ้างคำแถลงของซอเท ระบุว่า รัฐบาลพม่าจะพิจารณานำวันหยุด 5 วัน ไปชดเชยให้ในวันที่ 4 และ 6 ตุลาคม ช่วงวันออกพรรษา 2 พฤศจิกายน ช่วงวันลอยกระทง และ 30 และ 31 ธันวาคมช่วงวันขึ้นปีใหม่ อย่างไรก็ตามการจัดวันหยุดใหม่ 5 วันยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ประกาศของสำนักงานประธานาธิบดีพม่าระบุว่า แม้จะมีการเปลี่ยนวันหยุด แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่ายังคงมีวันหยุดสงกรานต์ 10 วันในปีนี้ แต่จะไปลดวันหยุดเหลือ 5 วันในปีหน้า ส่วนผู้ที่ได้จองการเดินทางเอาไว้แล้ว ก็สามารถทำตามแผนการเดินทางได้ แต่วันหยุดตอนนี้มีเพียง 5 วันเท่านั้น สำนักข่าวอิระวดีระบุว่า วันหยุดสงกรานต์ 10 วัน เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปี 2550 เกิดขึ้นหลังจากย้ายเมืองหลวงใหม่ไปที่เนปิดอว์ได้ 2 ปี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าที่เมืองหลวงและแรงงานทั่วประเทศพม่าจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดนี้ และผู้ที่ทำงานในช่วงวันหยุดสงกรานต์จะได้ค่าจ้างเพิ่ม 2 เท่า สำนักข่าวอิระวดีระบุว่า การประกาศของรัฐบาลพม่าในเดือนมีนาคมถือว่ากระชั้นชิด เพราะหลายคนอาจจะวางแผนการเดินทางแล้ว มีคนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจเนื่องจากการตัดวันหยุดกระทันหันทำให้นายจ้างได้เปรียบและลูกจ้างเสียเปรียบ โดยการลดวันหยุดกระทันหันดังกล่าว ทำให้เมื่อ 26 มีนาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกสหพันธ์แรงงานเมียนมา (CTUM) กว่าห้าพันคน ออกมาชุมนุมในย่างกุ้ง เรียกร้องให้คืนวันหยุด 10 วันด้วย ทั้งนี้จากรายงานของเมียนมาไทม์ วินเทงจีซอ ประธานสหพันธ์แรงงาน CTUM ระบุว่า จากการสำรวจข้อมูล พบว่าแรงงานไม่พอใจกับการลดวันหยุด เนื่องจากแรงงานที่ทำงานในโรงงานส่วนใหญ่มาจากภูมิลำเนาห่างไกล และประสบความยากลำบากในการกลับไปพบครอบครัวภายในช่วงวันหยุดเพียง 5 วัน "พวกเราไม่ใช่พนักงานของรัฐบาล พวกเราเป็นคนงานภาคเอกชน มีวันลาน้อยนิด ในขณะที่พนักงานของรัฐบาลมีวันหยุดมากมาย ถ้าพวกรัฐบาลต้องการทำให้มีวันหยุดเท่ากัน ก็ต้องให้สิทธินั้นแก่เราเหมือนกัน" วินเทงจีซอกล่าว ขณะที่วินเทงจีซอกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเลขวันหยุดสร้างปัญหาให้กับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง "แรงงานส่วนใหญ่ในโรงงานที่ฉันทำงาน มาจากพื้นที่ห่างไกลจากภาคย่างกุ้ง ไม่อาจกลับภูมิลำเนาได้ในช่วงวันหยุด 5 วัน พวกเรายอมรับวันหยุด 10 วันเท่านั้น" ฉ่วยฉ่วยถั่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมียนมาไทม์
แปลและเรียบเรียงจาก Thingyan Holiday Cut Short, By SAN YAMIN AUNG, Irrawaddy, 10 March 2017 Workers want 10-day Thingyan holiday, Zaw Zaw Htwe, Myanmar Times, Monday, 27 March 2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สั่ง ปชช. งดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่โพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์' ชี้แชร์ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ Posted: 12 Apr 2017 06:20 AM PDT ออกประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์' ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งเจตนา และไม่เจตนา 12 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามในประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่องการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (Andrew MacGregor Marshall บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งเจตนา และไม่เจตนา ประกาศ ณ วันที่ 12 เม.ย. 2560 ลงชื่อโดย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุรพงษ์ เตือน คสช. ใช้ ม.44 ระวังขัด รธน. ม.77 ผบ.ทบ.ย้ำยังมีความจำเป็น Posted: 12 Apr 2017 05:57 AM PDT อดีต รมว.ต่างประเทศ เตือน คสช. จะประกาศใช้ ม.44 ต้องระวัง ขัด ม.77 ใน รธน.ใหม่ ว่าก่อนตรากฎหมายใดๆ ขึ้นมาบังคับใช้ ให้ถามความเห็นประชาชนก่อน ด้าน ผบ.ทบ.ย้ำคง ม.44 รักษาความสงบ 2 พระราชพิธี 12 เม.ย. 2560 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 44 ว่า แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์จะนิ่งระดับหนึ่ง แต่ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมาย และยังมีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีสำคัญ ที่ต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ "มาตรา 44 ยังมีความจำเป็น และนายกรัฐมนตรีย้ำชัดเจนว่าจะใช้อย่างสร้างสรรค์และรอบคอบ ทหารต้องพยายามทำให้ดีที่สุด จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ตามโรดแมป" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว พล.อ.เฉลิมชัย ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ของ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เปิดเผยว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ได้แบ่งกรอบเวลาการพูดคุยในส่วนกลางและภูมิภาค ตั้งแต่ 14 ก.พ. - 5 เม.ย.ที่ผ่านมา จากนั้น จะเป็นกรอบการสรุปข้อคิดเห็นถึงวันที่ 25 เม.ย. และ วันที่ 26 เม.ย.- 8 พ.ค.นี้ จะเชิญกลุ่มต่างๆ ที่เคยเเสดงความเห็น ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค มาดูว่า สรุปถูกต้องหรือไม่ "หลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะเข้าขั้นตอนที่ 3 ผมไม่รู้สึกหนักใจในการทำงาน เพราะความตั้งใจและปรารถนาดีของคนไทยทุกคน และผู้ที่มาให้ข้อมูล ต่างต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว สุรพงษ์ เตือน คสช. ระวังขัด รธน. ม.77ด้าน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การจะประกาศใช้มาตรา 44 นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป หัวหน้า คสช.คงต้องถามความเห็นประชาชนก่อนที่จะประกาศคำสั่งอะไรออกมาเพื่อใช้เป็นกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 60 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 77 ว่าก่อนตรากฎหมายใดๆ ขึ้นมาบังคับใช้ ให้ถามความเห็นประชาชนก่อนที่จะตรากฎหมายขึ้นมาใช้กับประชาชน โดยไม่มีข้อยกเว้น จึงใคร่ขอฝากให้หัวหน้า คสช. ดำเนินการให้ถูกต้องเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 60 คือกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมาตรา 44 เป็นเพียงมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เท่านั้น อย่าได้ตีความกฎหมายผิดพลาดหรือตีความแบบมั่วๆ เพราะอนาคตนั้นมันไม่แน่นอน อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ หากใช้กฎหมายผิดพลาดไป หัวหน้า คสช. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ และนี่จะเป็นตัวพิสูจน์ และชี้วัดว่า มาตรา 44 จะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญปี 60 หรือไม่
ที่มา : สำนักข่าวไทย และมติชนออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รวบ ‘โชกุน’ ตุ๋นทัวร์ญี่ปุ่น เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ฉ้อโกงประชาชน Posted: 12 Apr 2017 04:54 AM PDT รวบตัว 'โชกุน' และครอบครัว ตุ๋นทัวร์ญี่ปุ่น รมว.ท่องเที่ยว ชี้เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ รองโฆษก สตช. แจงเป็นการฉ้อโกงประชาชน ด้านชูวิทย์ เผย ผู้เสียหายไม่ได้โลภ แค่ต้องการโอกาสไปเที่ยว พร้อมอัดมาตราการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ 12 เม.ย.2560 จากกรณีวานนี้ (11 เม.ย.) เวลา 21.30 น. ได้มีกลุ่มผู้โดยสารชาวไทยกว่า 1,000 คนได้รวมตัวกันที่บริเวณ ประตู 1-2 ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้เดินทางเข้าร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว เนื่องจากถูกหลอกซื้อทริปท่องเที่ยวไปประเทศญี่ปุ่น โอซาก้า ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เจแปน กับ บริษัทขายอาหารเสริมชื่อ เวล เอเวอร์ (WealthEver) ในราคา 9,730-20,000 บาท และนัดเดินทางในวันที่ 11-16 เมษายน 2560 โดยระบุว่าเป็นการเดินทางแบบเครื่องบินเช่าเหมาลำโดยสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิก แต่เมื่อมาถึงกลับไม่มีเที่ยวบินดังกล่าวนั้น จนท.รวบซินแสโชกุนและครอบครัว ล่าสุด วันนี้ (12 เม.ย.60) รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร สามารถควบคุมตัว มารดาและครอบครัวของ พิสิษฐ์ อริญชญ์ลาภิศ หรือ "ซินแสโชกุน" เจ้าของบริษัทเวล เอเวอร์ ได้ที่ห้างบิ๊กซี จ.ระนอง พร้อมกับได้เชิญตัวมาสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรระนอง รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนกองบังคับการปราบปราม ยังสามารถจับกุมตัว พิสิษฐ์ หรือ "ซินแสโชกุล" เอาไว้ได้ในช่วงบ่ายของวันนี้ด้วยเช่นกัน โดยสามารถควบคุมตัวได้ขณะกบดานอยู่ในบ้านพัก ภายในกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบบ้านพัก เพื่อหาหลักฐานต่างๆ ที่เชื่อมโยงการทำธุรกิจหลอกหลวงประชาชนในครั้งนี้ โดยคาดว่าจะนำตัว พิสิษฐ์ หรือ "ซินแสโชกุน" มาสอบปากคำได้ในช่วงเวลา 18.00 น. ของวันนี้ รมว.ท่องเที่ยว ชี้เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เผยผู้เสียหายแจ้งความแล้ว 470 ราย โดยก่อนหน้านั้น กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้มารับฟังเหตุการณ์ และสถานการณ์ในตอนนี้ก็มั่นใจว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนของบริษัทขายตรงบริษัทหนึ่งซึ่งการรับสมัครและเก็บค่าสมาชิกที่ 9,730 บาท และบอกว่าให้ไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นได้ โดยบอกว่าในวันนี้จะมีชาเตอร์ไฟร์ 6 ลำ มารับไป ซึ่งเราเช็คกับทางสนามบินสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้วไม่มีชาเตอร์ไฟร์ทั้ง 6 ลำแน่นอน สมาชิกบางท่านก็รับทราบก็ทยอยกลับไปบ้านแต่บางส่วนก็เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นเพราะเคยมีล๊อตหนึ่งเมื่อก่อนมีการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นจริง แต่ก็คาดว่าจะเป็นลักษณะบริษัทขายตรง เวลาที่เขามีการหลอกลวง ในครั้งแรกก็จะมีการเกิดขึ้นจริง เพื่อทำให้มีสมาชิกใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น แล้วก็นำเงินส่งเงินเข้ามาแล้วหารายได้แต่พอถึงสุดท้ายก็จะเป็นการทิ้งทัวร์ไปเลย กอบกาญจน์ ยังกล่าวย้ำว่า ตำรวจกำลังดำเนินเรื่องอยู่ เพราะถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงอยากขอให้ประชาชนที่ซื้อทัวร์ไปญี่ปุ่นกับบริษัทขายตรงบริษัท เดินทางเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่ ส่วนที่กรุงเทพฯให้แจ้งความที่กองปราบปราม เพราะว่าไม่มีการเดินทางแน่นอน อยากจะให้เป็นบทเรียนให้กับพี่น้องคนไทย ต่อมา กอบกาญจน์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผู้เสียหายที่ได้เข้าแจ้งความอย่างเป็นทางการแล้วจำนวน 470 คน และเชื่อว่าจะมีจำนวนมากกว่านี้ สำหรับกรณีนี้อาจจะเข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่ และยังพบอีกว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยว ขณะนี้ทางตำรวจกองปราบปราม เป็นแม่งานในการดำเนินคดี รองโฆษก สตช. ชี้เป็นการฉ้อโกงประชาชน ส่วนพล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวว่า คาดว่า ใช้เวลาไม่นานก็สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เนื่องจากพบการกระทำความผิดที่ชัดเจน ขอให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดี สำหรับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหาย สามารถติดต่อเพื่อแจ้งความได้ สภ.สุวรรณภูมิ หมายเลข 02-134-0555 และ สายด่วนกองปราบปราม 1195 ตลอด 24 ชั่วโมง ชูวิทย์ เผยเหยื่อมาจากทั่วสารทิศ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและนักจัดรายการทางไทยรัฐทีวี ได้เข้าพูดคุยกับผู้เสียหายจากกรณีนี้ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของตัวเองด้วยว่า เหยื่อมาจากทั่วสารทิศ ทั้ง เชียงใหม่ อุบล ลำปาง ชลบุรี ไปจนถึงสงขลา ทุกคนพาญาติพี่น้องมากันเป็นหมู่คณะ หวังจะได้ไปชมดอกซากุระถึง โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น "ผมเดินตระเวนสอบถามผู้เสียหาย ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นการหลอกลวงคนไปเที่ยวแล้วลอยแพครั้งใหญ่ เพราะมีเหยื่อร่วม 2-3 พันคน ความวุ่นวายสับสนจากคนที่เดินทางไปท่องเที่ยวทำให้สนามบินแน่นขนัดขนาดต้อง นั่งพื้น ยืนรอ เหมือนสถานีขนส่งหมอชิต บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดล่วงหน้าตั้งแต่คืนก่อน บางคนก็มาแต่เช้าจนกระทั่งดึกยังไม่ได้ไป" ชูวิทย์ โพสต์ แฉมาจากหลอกรูปของ MLM ชี้ไม่ใช่เพราะโลภ แค่ต้องการมีโอกาสไปเที่ยว ชูวิทย์ ระบุถึงที่มาของเรื่องดังกล่าวด้วยว่า มาจากการหลอกลวงในรูปแบบของ MLM (Multiple Level Marketing) หรือการอ้างการขายสินค้าที่มีการสมัครสมาชิก โดยแบ่งเป็นแต่ละสาย มี แม่ทีมเอายาบำรุงบังหน้า และอ้างว่าจะพาไปเที่ยวญี่ปุ่นในราคา 9,730 บาท ราคาถูกจริง เพราะต้องการโปรโมทสินค้า ได้งบโฆษณาจากบริษัทยาเมืองนอก "ใครๆ ก็อยากไป เพราะราคาถูก ตั๋วเครื่องบินและโรงแรมก็หายาก ไม่ใช่เขาโลภมากอยากได้เงิน แต่ในวันสงกรานต์ได้มีโอกาสไปเที่ยวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวญาติพี่น้องสักครั้งในชีวิต แถมบางคนไม่เคยมากรุงเทพฯเลยเสียด้วยซ้ำ" ชูวิทย์ โพสต์ อัดมาตรการแก้ปัญหา แย่เหลือทน นอกจากนี้ ชูวิทย์ ยังได้วิจารณ์ถึงมาตรการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ด้วยว่า แย่เหลือทน เป็นสนามบินระดับประเทศแท้ๆ มีระดับรัฐมนตรีมาลงพื้นที่ด้วยตัวเอง กลับแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ขณะที่เหยื่อถูกหลอกเดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่ดันจะไล่เขากลับไปแจ้งความที่ภูมิลำเนาอีก แล้วทำไมไม่ตั้งศูนย์รับแจ้งฉุกเฉินที่สนามบิน เพราะเหยื่อทุกคนก็พร้อมหน้าพร้อมตาอยู่ที่นี่แล้ว "มัวแต่กลัวว่าอยู่สนามบินเยอะจะแตกตื่น พยายามจะไล่เขากลับท่าเดียว อ้างว่าจะขอคืนพื้นที่ แล้วจะให้เขากลับอย่างไรล่ะครับ เพราะวันนี้รถที่ไหนมันจะไปเหลือ เรื่องก็คาราคาซัง ความไม่พร้อมเลยทำให้สับสนอลหม่านกันไปหมด ผมยังนึกไม่ออก นี่ขนาดแค่คนถูกหลอกยังจัดการได้แค่นี้ แล้วหากเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงจะทำอย่างไร รู้ๆอยู่แล้วว่าเทศกาลสงกรานต์คนเดินทางมาก ควรจะมีแผนรองรับเรื่องฉุกเฉินได้ดีกว่านี้" ชูวิทย์ โพสต์วิจารณ์การแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่
เรียบเรียงจาก : มติชนออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์, เนชั่นทีวี 1, 2 และ โพสต์ของชูวิทย์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สปสช. ยันไม่มีคำสั่งกดเพดานของบฯ บัตรทอง Posted: 12 Apr 2017 04:44 AM PDT สปสช.ยืนยัน ไม่มีคำสั่งหรือเพดานจั 12 เม.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุ ทั้งนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่ โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า ในส่วนของเงินเดือนบุ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้ใหญ่เฉลิมพล มาลาคำ หนุนลดวาระกำนัน-ผู้ใหญ่ ย้ำทำงานเพื่อส่วนรวมชาวบ้านก็เลือกตลอด Posted: 12 Apr 2017 03:37 AM PDT หมอลำชื่อดังและผู้ใหญ่บ้าน เฉลิมพล มาลาคำ หนุนข้อเสนอลดวาระกำนัน-ผู้ใหญ่ ชี้เป็นการเปลี่ยนถ่าย สร้างความกระตือรือรน ยันหากเป็นคนดีทำงานเพื่อส่วนรวมชาวบ้านก็เลือกตลอด 'ประยุทธ์' ขอกำนัน-ผู้ใหญ่ อย่าออกมาเคลื่อนไหว ขณะที่ 'อภิสิทธิ์' แนะขยายไปถึงการเลือกผู้ว่าฯ ด้วย 12 เม.ย.2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีมติ 91 ต่อ 27 คะแนน งดออกเสียง 32 เสียง เห็นชอบรายงานรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2475 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน วาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป โดยให้ราษฎรในทุกหมู่บ้านเป็นผู้เลือกกำนันโดยตรง และควรมีวาระการเลือกทุก 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้โดยไม่จำกัดวาระ และให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ทุก 3 ปี ให้ผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันได้ นั้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการเคลื่อนไหวในสังคม โดยในวันเดียวกัน (10 เม.ย.60) สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และคณะ ได้ยื่นหนังสือขอคัดค้านรายงานของ กมธ. ดังกล่าว ต่อ สปท. ด้วย โดย ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมฯ ระบุว่า จะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนข้อสงสัยที่ว่าหากการดำรงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระนานเกินไปจะเป็นการสร้างอิทธิพลร่วมกับกลุ่มการเมืองหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการทำหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นอิสระจากการเมือง ผู้ใหญ่เฉลิมพล หนุนลดวาระ ย้ำถ้าทำงานเพื่อส่วนรวมชาวบ้านก็เลือกตลอดเฉลิมพล มาลาคำ ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก เฉลิมพล มาลาคำ ล่าสุดวันนี้ (12 เม.ย.60) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า เฉลิมพล มาลาคำ หมอลำชื่อดังและผู้ใหญ่บ้านท่าเจริญ หมู่ที่11 ต.ท่าลาด อ.วารินชำราย จ.อุบลราชธานี กล่าวสนับสนุนการลดวาระกำนัน-ผู้ใหญ่ เหลือ 5 ปี เนื่องจาก เป็นการเปลี่ยนถ่าย และสร้างความกระตือรือรนในารทำงานมากกว่า พร้อมยืนยันด้วยว่าหากเป็นคนดีทำงานเพื่อส่วนรวมชาวบ้านก็เลือกตลอด "ผมเปรียบเทียบให้ฟังนะ ตำรวจใครก็สั่งย้ายได้ถ้าทำไม่ดี แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านสั่งย้ายไม่ได้ มันพิเศษตรงนี้ การอยู่นานๆมันเป็นการคุมอำนาจมันไม่เป็นเรื่องดีนะ การเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่เหมือนราชการทั่วไป ผมคิดว่าอยู่ในวาระ 5 ปี มันดีเป็นการเปลี่ยนถ่าย มันกระตือรือรนมากกว่า ถ้าคุณเป็นคนดีทำงานเพื่อส่วนรวมชาวบ้านก็เลือกคุณตลอดนั่นแหล่ะ แต่ถ้าอยู่แล้วไม่ทำงาน ทำตัวมีอำนาจก๋ไม่ไหว คือการอยู่นานมันทำงานต่อเนื่องได้ก็จริง แต่ไม่เห็นจะทำอะไรกัน" ผู้ใหญ่ เฉลิมพล กล่าว "สำหรับผมอยู่ 2 ปีเลือกตั้งใหม่ก็ได้ผมพร้อมและท้าเลย ถ้าเราทำงานเพื่อชาวบ้านจริงๆ อย่ากลัว ถ้าคุณดีจริงเลือกเมื่อไหร่ก็ได้ ช่วงนี้คนเดินทางกลับบ้านกันในข่วงเทศกาลสงกรานต์ ผมก็มาตั้งจุดบริการประชาชนอยู่ที่ตลาดเฉลิมพล ตั้งมาตั่งแต่วันที่10เมษายนแล้ว อันนี้ทำแบบส่วนตัวไม่ต้องรอรัฐมาบอก เราบริการให้ชาวบ้านคนเดินทางทำดีทำไปเถอะ" ผู้ใหญ่เฉลิมพล กล่าว ประยุทธ์ ขอกำนัน-ผู้ใหญ่ อย่าออกมาเคลื่อนไหวขณะที่ วานนี้ (11 เม.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของ สปท. เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาการดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต่อไปในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดและการนำเสนอของ สปท.ในส่วนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเคารพการทำงาน เพราะเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ ต้องหาปัญหาให้เจอ ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันให้ได้ โดยรัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมาทบทวนเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ตอนนี้ต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย จึงขอความร่วมมือนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยดูแลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอย่าให้ออกมารวมตัวเคลื่อนไหว เพราะถ้าเคลื่อนไหวมากๆ จะกลายเป็นการทำเพื่อตัวเอง และต้องคำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลัก ขอให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ส่วนขั้นตอนการพิจารณาปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลจะศึกษาข้อเสนอของ สปท. แล้วส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกที อภิสิทธิ์ แนะขยายไปถึงการเลือกผู้ว่าฯ ด้วยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้้ด้วยเช่นกันว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และว่า เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยเสนอเรื่องนี้ให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาเรื่อง เพราะเห็นว่าการกำหนดวาระจะทำให้เกิดความมั่นใจและรับผิดชอบต่อประชาชน และยังมีส่วนร่วมของประชาชนจากการเลือกตั้ง "ไม่น่าจะมีปัญหา เรื่องการทำหน้าที่ ที่อาจขาดความต่อเนื่อง เพราะการกำหนดวาระไม่ได้ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ดังนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่า จะใช้กลไกอย่างไรในการปฏิรูปเรื่องนี้ โดยรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ขณะที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ต้องรับฟังข้อเสนอนี้ ซึ่งหากมีความคิดเห็นเพิ่มเติม ก็สามารถส่งความเห็นมายังรัฐบาลได้ เพราะขณะนี้ทุกองค์กรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพร้อมปฏิรูป" อภิสิทธิ์ กล่าว พร้อมเสนอด้วยว่า หากจะ มีการขยายไปถึงการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดก็เห็นด้วย เพราะถือว่าเป็น การกระจายอำนาจท้องถิ่น แต่ควรต้องมีกฎหมายธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 12 Apr 2017 02:59 AM PDT
ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นถึงภาพกว้างของระบบการศึกษาไทยรวมถึงความหวังกับความพยายามของชายหนุ่มที่ชื่อว่า "เนติวิทย์ โชติภัตรไพศาล ในการต่อต้านการเกณฑ์ทหาร ในทัศนคติของกระผมนั้น เนติวิทย์ คือ นักกิจกรรมทางการเมืองและการศึกษา เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการลุกขึ้นมาพูดต่อต้านเรื่องกฎระเบียบการแต่งตัวและตัดผมของโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมถึงการปัญหาของเกณฑ์ทหารโดยอ้างถึงกฏบัตรของสหประชาชาติ (UN ปัจจุบัน เป็นนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในคณะรัฐศาสตร์ สิงห์ดำแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเวลามัธยมนั้น เนติวิทย์ได้เริ่มทำจุลสารปรีดี [U1] [PK2] [PK3] ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในจุลสารดังกล่าวได้พูดถึงเหตุการณ์หรือช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่เขาได้รับ โดยเขาคิดว่า การศึกษาไทยนั้นควรสนับสนุนให้เราได้ไปค้นหาความจริงลสารปรีดีนำเสนอประเด็นปัญหาในโรงเรียนและสังคมการเมืองไทย ยกตัวอย่างเช่น ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในถูกสอนในวิชาสังคมศาสตร์เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ถูกเลือก แต่ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่องที่ถูกมองข้ามอย่างจงใจ ดังนั้นเนติวิทย์จึงมองเห็นว่า การเรียนในแบบดังกล่าวงจะเป็นเครื่องมือในการที่จะสร้างอิทธิพลทางความคิดเพื่อไม่ให้ตั้งข้อสงสัยต่อระบบด้วยนักเรียนที่ถูกการครอบงำของการศึกษาในระบบ อย่างไรก็ตาม เนติวิทย์เองนั้นยังมีความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ของคุณครู แต่วิธีการนี้ที่เนติวิทย์ได้กระทำการแบบที่ได้กล่าวมาก็[U4] ไม่สามารถทำให้เขาเสนอแนวคิดที่ยืนยาวได้นานนัก จะเห็นได้จาก เมื่อเขาเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ครู โรงเรียนรวมไปถึงระบบการศึกษาของผู้มีอำนาจในโรงเรียน เนติวิทย์ก็กลายเป็นปีศาจและบุคคลอันตรายของสังคมในโรงเรียนทันที ในทางกลับกัน สิ่งนี้บังคับให้เขาจำเป็นต้องท้าทายระบบในวิธีการต่าง ๆ ที่เขาต้องเผชิญกับความเป็นจริงในระบบของการศึกษาในกะลาแลนด์แห่งนี้มากขึ้น (?) แต่ปัญหาและอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงอยู่บนกรอบพื้นฐานของระบบอำนาจแบบอำนาจนิยมในสังคมไทย ซึ่งให้สิทธิอำนาจของผู้สอนและนักการศึกษาในสามประการ ดังนี้ 1.สิทธิในทางกฎหมาย ในแง่นี้ ครูมีหน้าที่ผูกขาดอำนาจในการใช้กฎที่ถูกก่อตั้งแบบไม่เป็นประชาธิปไตย หรือพูดแบบนักกฎหมายคือเป็นกฎที่ไม่มีอำนาจสถาปนา(Pouvoir Constituant) ในความคิดของอันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) 2.สิทธิอำนาจในเชิงศีลธรรม สังคมไทยเองมองว่าครูเป็นคนดีมีคุณค่า แต่คำถามคือที่ต้องตามมาคือดีแบบตรวจสอบได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ดีแบบจอมปลอม 3. สิทธิอำนาจในเชิงบุญบารมี อำนาจดังกล่าวส่งเสริมให้ผู้ที่กุมอำจได้ความยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีบุญบารมีและเก่งกาจและนับถือจากสังคม ทั้งหมดนี้ถือเป็นกระบวนการสร้างคุณค่าของบุคคลในระบบโดยเฉพาะผู้สอน นี่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมของระบบการศึกษา ผู้เขียนอยากเรียกระบบการศึกษาแบบนี้ว่า "การเมือง-การศึกษาที่มีลักษณะเคล่งคัดในกฎเรื่องการแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งหมดนี่กฎระเบียบและกรอบการคิดของการศึกษาไทยอยู่บนฐานของชาตินิยมและราชาชาตินิยม จึงมีความต้องการที่อยากจะชี้ให้เห็นว่า "ในระบบของการศึกษาเองก็มีความเป็นการเมืองและหน้าที่ ที่จะแบกรับและโอบอุ้มอุดมการณ์ดังกล่าวในการสร้างชาติแบบที่ชนชั้นนำให้มีความต้องการในแบบของตนเอง[U5] เราอาจจะเห็นจากการที่บังคับให้เราแต่งตัวชุดนักเรียนและร้องเพลงชาติและในการเรียนก็เรียนคล้ายกันมีการผูกประวัติศาสตร์ในฉบับโรงเรียนที่เราเห็นได้ทั่วไป ที่ไม่ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์แบบคณะราษฏรซึ่งตัวอย่างนี้ถือเป็นการสะท้อนรูปแบบความคิดของการเมืองในการศึกษา
เนติวิทย์ต้องต่อสู้กับการเมือง-การศึกษาในลักษณะดังกล่าวหลังจากที่เขาต้องพบปัญหาในการทำจุลสารปรีดี เนติวิทย์ได้เริ่มกระบวนการก่อตั้งชมรมเพื่อทำกิจกรรมในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนและเรียนรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์ ในระบบการศึกษาไทยเราไม่ได้สนับสนุนวิธีการคิดดังกล่าว เพราะสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและห้องเรียนที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันในเชิงอำนาจระหว่างนักเรียนและคุณครู นี่บุคคลคนสองกลุ่มนั้นต่างก็ต้องพึ่งพากัน แต่ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างครูกับนักเรียนกลับแข็งแกร่งด้วยพื้นฐานของแนวคิดการศึกษาไทยในเชิงปฏิบัติ [U6] จึงทำให้คงอยู่แบบเดิมๆที่เป็นการกดขี่ เหตุผลดังกล่าวนี้ ได้ส่งผลทำให้กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษานั้นเกิดยากด้วยสภาวะแห่งการกดขี่และผู้บริหารและครูเองก็ยังยอมรับกับสภาวะเช่นนี้ ผู้บริหารโรงเรียนมีความเป็นอำนาจนิยมแบบเข้มข้นที่ผสมผสานอุดมการณ์ชาตินิยม และราชาชาตินิยม [U7] ที่เน้นการเอาตัวพระมหากษัตริย์เป็นตัวพัฒนาและดำเนินเรื่องทางประวัติศาสตร์ การที่สังคมการศึกษาของไทยเข้มข้นด้วยการเมือง ทำให้ครูในโรงเรียนเล่นงานเขาทำให้เขาดูกลายเป็นตัวอันตรายต่อสังคม คำถามที่น่าสำคัญคืออะไรคือตัวอันตรายของสังคม เรามีตัววัดอย่างไรในการบอกใครอันตราย ไม่อันตราย หลังจากการล้มเหลวและการถูกทำให้กลายเป็นปีศาจในสายตาของเพื่อนๆ และครู เนติวทย์เริ่มแผนการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนผ่านการตั้งมูลนิธิเพื่อการจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียน นอกห้องเรียนและส่งเสิมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์(Critical thinking) เพราะด้วยเหตุผลหลายประการอันเป็นปัจจัยที่ทำให้ห้องเรียนในระบบการศึกษาเป็นได้แค่สถานที่ให้เรียนตามกัน เนื่องด้วยสภาวะทางอำนาจและบรรยากาศแห่งห้องเรียนที่ไม่สมดุลในเชิงอำนาจและบรรยากาศแห่งการถูกกดขี่ผ่านวิธีการต่างๆเมื่อผู้ใดพยายามท้าทายก็จะถูกลงทันฑ์ทางระบบและสังคม [U8] การยกตัวอย่างง่ายอาจจะเห็นได้จาการที่ผู้เรียนพยายามตั้งคำถามว่าเรียนวิชานี้ไปทำไม แต่คำตอบในทางกลับกันกับเป็นการดูถูกและสกัดกั้นการคิดและท้าทาย หรือการที่ตัดผมไม่ตามกฏและตั้งคำถาม เราก็จะถูกการดูถูกจากคนเรียนด้วยกัน ณ วันนี้เนติวิทย์ก็กลายเป็นภาพใหญ่หรือจุดใหญ่จุดหนึ่งในการพยายามสร้างพลังทางสังคม หลังจากที่เราอาจมองได้ว่ามันล้มเหลวในกระบวนการเปลี่ยนแปลงในสถานที่แสนดีแห่งหนึ่ง เพราะท้ายที่สุดกิจกรรมของเขาที่เขาพยายามหมายมั่นปั่นมือก็ถูกปิดด้วยผู้บริหาร แต่ได้ทิ้งบทเรียนและมรดกทางความคิดและการกระทำผ่านการจัดงานเสวนาที่ได้พูดถึงอาจารย์ป๋วย ผู้เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าหนึ่ง หรือหากเรียกตามปัญญาชน หมายเลขสิบอาจเรียกได้ว่าเป็น"ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน"[1] ผู้เขียนมองเห็นว่าวิธีคิดของเนติวิทย์คือเราต้องพยายามสร้างองค์ความรู้ทางสังคมเพื่อกระทำการเปลี่ยนแปลง และเนติวิทย์พร้อมทิ้งมรดกทางธรรมชาติด้วยการปลูกต้นไม้ก่อนไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ หากเรามองการศึกษาไทยผ่านเส้นทางของเนติวิทย์ การศึกษาไทยคงเป็นการศึกษาในแบบคนดีในระบบสังคมแบบไทยๆ นั้น ก็คือการศึกษาที่สยบยอมต่อกรอบสังคมที่อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมบริโภคนิยม เราสามารถจะยกแนวคิดของนักการศึกษาชื่อดังอย่าง Ken Robinson ที่ชื่อ "The Element: How Finding Your Passion Changes Everything" เขาได้พยายามเสนอแนวคิดว่าด้วยพรสวรรค์ของคนนั้นเสมือนกับการขุดเจาะน้ำมันหรือทรัพยากรทางธรรมชาติ เค็นบอกว่า เมื่อผู้ใดคนผมสิ่งที่มันใช่สำหรับตนผู้นั้นก็จะหมกหมุ่นอยู่กับการทำสิ่งนั้นไม่เบื่อเพราะนั้นเป็นชีวิตของเขาและการจะมีสิ่งนี้ได้เค็นเสนอว่าเราต้องมีการศึกษาแบบเกษตรกรรมที่พายามCultivateพรสวรรค์และความสามารถของเขาในลักษณะของปัจเจกบุคคล เนื่องด้วยการศึกษาปัจจุบันอยู่ภายใต้การศึกษาอุตสาหกรรม เพราะการศึกษาที่ดีต้องเป็นระบบที่ค้นหาความสนใจหรือความสามารถที่เหมาะกับปัจเจกบุคคลผู้นั้น[2] หากนำชุดความคิดนี้มาเปรียบเทียบกับการศึกษาไทย การศึกษาไทยก็เป็นได้แค่การศึกษาที่ไม่สามารถนำให้มนุษย์นั้นไปได้ไกล ถ้าหากยังไม่สามารถที่จะให้ความสำเร็จในการค้นพบพรสวรรค์ แก่นักเรียนที่ได้เห็นข้อดีของเขา และสนับสนุนนักเรียนเหล่านั้นไปในทางที่ตนถนัดตามสิ่งที่ตนชอบ ในเคสนี้เราอาจจะมองได้ถึงการศึกษาในประเทศแบบนิวซีแลนด์ที่ผูเรียนสามารถเลือกวิชเรียนและเลือกตารางสอนเองได้ นั้นหมายความว่าผู้เรียนมีสิทธิในการค้นหาตัวเองตามสายวิชาที่ต้องการ หากถ้าหากเรามองลึกไปอีกในระบบการศึกษาไทยนั้นมีสภาพสอดคล้องกับสภาวะแห่งสังคมการเมืองที่ไม่ชอบให้ผู้น้อยหรือผู้ที่ต้อยต่ำกว่า ที่อยู่บนกรอบสังคมแบบโครงสร้างและหน้าที่ ที่ทำให้สร้างสภาวะนึกคิดและจำกัดทางสังคมที่พยายามบีบให้คนต้องทำหน้าที่ของตน ในเรื่องนี้อาจสืบย้อนกับเรื่องที่เนติวิทย์ได้แสดงท่าทีในการต่อต้านการเกณฑ์ทหาร ในเรื่องนี้ประเด็นการเกณฑ์ทหารเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมายาวนาน พยายามนำเสนอไอเดียแนวคิดของการสร้างความคิดสร้างสรรค์มากกว่าความคิดที่เลือกที่จะตาม ๆ กันของวิถีแห่งการตาม ๆ กัน เขาพยายามเสนอการรักชาติในทางอื่น ๆ ที่เป็นแนวแบบกว้างที่สามารถเดินตามหนทางของตนได้ ในทางนี้แนวทางของเขาได้ขัดกับหนทางของสังคมด้วยการเรียกร้องให้เกณฑ์ทหาร เพื่อการรักชาติและทำเพื่อชาติแนวทางนี้มันเป็นหนทางของกระบวนการเดินตามวิถีทางแห่งสังคมที่ถูกสร้างและปรุงแต่งผ่านกระบวนการต่างๆ ของสังคมกระแสหลักที่ได้เป็นผลผลิตของรัฐราชการที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนายและบ่าว ในท้ายที่สุดกระบวนการของเนติวิทย์ย่อมจะต้องถูกท้าทายผ่านทางสังคมและรัฐ นี้จะเป็นอีกหนทางของเนติวิทย์ที่จะฝ่าฝันกระบวนการทางสังคมและเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ไปในทางที่ดีกว่าในโลกแห่งปัจจุบันนี้ได้หรือไม่? หรืออาจจะเหมือนดังที่เขาได้กระทำต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กับปัญหาทางสังคมที่ผ่านมาในสังคม
เชิงอรรถ [1] นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน (1979 ) ส.ศิวรักษ์ [2] The Element: How Finding Your Passion Changes Everything ( 2009 ) Ken Robinson
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อุทธรณ์พิพากษา ปรับ 8 แสน แอดมินเพจ 'ทวงคืนพลังงาน' ฐานหมิ่น ปตท. Posted: 12 Apr 2017 02:59 AM PDT เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา iLaw รายงานว่า วันดังกล่าว ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ยืนฟ้องศรัลย์ แอดมินเพจ "ทวงคืนพลังงานไทย" ฐาน หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบ โดย iLaw รายงานรายละเอียดว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วิสามัญฆาตกรรมกับการโต้กลับด้วยความรุนแรง Posted: 12 Apr 2017 02:18 AM PDT
สำหรับคนนอกพื้นที่ ความรุนแรงในภาคใต้เป็นแค่ข่าว แต่สำหรับคนที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของสงขลา มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องประสบในช่วงกว่า 13 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีต้องเรียนในห้องที่มืดบ้างสว่างบ้าง บางคนหุงข้าวยังไม่สุกแต่ไฟดับก่อน ธุรกิจได้รับผลกระทบ มิพักต้องพูดถึงว่าการที่กระแสไฟฟ้าติดๆ ดับๆ อาจจะส่งผลต่อการจัดการของโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยนอนรักษาพยาบาลอยู่ การก่อเหตุข้ามจังหวัดไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการปฏิบัติการในลักษณะเช่นนี้หลายครั้งหลายคราในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในภาคใต้ ข้อมูลจาก "คนใน" คนหนึ่งบอกว่าการปฏิบัติการครั้งนี้เป็น "การก่อเหตุประจำปี" จากที่เคยสัมภาษณ์คนที่เคยร่วมปฏิบัติการกับ BRN พวกเขาสะท้อนว่าการปฏิบัติการแบบข้ามพื้นที่หลายจังหวัดเช่นนี้ มีส่วนในการสร้างขวัญกำลังเพราะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนที่ร่วมในขบวนการ เพราะคนในระดับปฏิบัติการก็ไม่รู้จักคนที่ทำงานต่างพื้นที่ รับรู้แต่ในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องเท่านั้น อีกประเด็นหนึ่งที่พึงพิจารณาคือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแปดวัน (29 มี.ค.) หลังการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย 2 รายที่อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส คือนายอาเซ็ง อูเซ็งและนายอิสมาแอ หามะ ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการกราดยิงรถของนายสมชาย ทองจันทร์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในอำเภอเดียวกันเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน รวมถึงเด็กวัย 8 ขวบด้วย การโจมตีเด็กทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลังเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมดังกล่าวเพียงวันเดียว (30 มี.ค.) ก็มีการปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการกราดยิงอาวุธสงครามเข้าไปยังสถานีตำรวจที่อ.ระแงะ จ.นราธิวาสทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นายและบาดเจ็บ 3 นาย อีกสี่วันถัดมา (3 เม.ษ.) ก็มีการใช้อาวุธสงครามยิงถล่มป้อมตำรวจที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลาทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 9 นาย สิ่งที่พึงตั้งข้อสังเกตคือ มีการร้องเรียนหลายครั้งว่าการวิสามัญฆาตกรรมของฝ่ายรัฐนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะไม่มีการต่อสู้ ในครั้งนี้ก็มีการร้องเรียนจากครอบครัวของผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกัน และหลายครั้งที่การวิสามัญฆาตกรรมของผู้ที่เชื่อว่าเป็นแนวร่วมของฝ่ายขบวนการจะตามมาด้วยการตอบโต้ที่รุนแรง การโจมตีที่สถานีตำรวจที่ อ.ระแงะและ อ.กรงปินังนั้นมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเป็นการตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมที่ อ.รือเสาะ ส่วนการก่อเหตุระเบิดเสาไฟฟ้าและก่อกวนอื่นๆ ใน 19 อำเภอนั้นเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ขบวนการจะใช้ช่วงจังหวะนี้ในการระดมพลปฏิบัติการเพื่อปลุก semangat (จิตวิญญาณ/กำลังใจ) ของสมาชิก หากยังจำกันได้ในวันที่ 13 ตุลาคมปีที่แล้ว มีการวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา รายงานข่าวบอกว่าเจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้เสียชีวิตเป็น "แกนนำระดับควบคุมสั่งการ" 11 วันต่อมา (24 ต.ค. 2559) เกิดเหตุระเบิดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม หน้าตลาดโต้รุ่งที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 20 คน ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นคนพุทธ ต่อมาในวันที่ 30 ต.ค. 2559 มีการวิสามัญฆาตกรรมนายอาหามะ แมเร๊าะ ซึ่งตามรายงานข่าวเชื่อว่าเป็นแกนนำระดับปฏิบัติการในพื้นที่ จ.นราธิวาส หลังจากนั้นสามวัน (2 พ.ย. 2559) มีการปฏิบัติการในปัตตานี นราธิวาสและสงขลา 19 เหตุการณ์ทั้งยิงใส่ฐานของเจ้าหน้าที่ทหารพรานและตำรวจ ระเบิดเสาไฟฟ้า ระเบิดร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน ระเบิดตู้ ATM เผายางรถยนต์ ฯลฯ ในรายงานข่าวของมติชนออนไลน์ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็เชื่อว่าเป็นการตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมนายอาหามะ จากรูปแบบการปฏิบัติการที่ผ่านมา รวมถึงการได้สัมภาษณ์ "คนใน" บางคน ผู้เขียนมองเห็นลักษณะการโต้ตอบแบบนี้ในหลายครั้ง การวิสามัญฆาตกรรมของฝ่ายเจ้าหน้าที่ผลักให้เกิดการปฏิบัติการแก้แค้นเอาคืนที่รุนแรง ดูเหมือนว่าผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ก็อาจจะสนับสนุนอย่างเงียบๆ หรืออย่างน้อยก็ปล่อยให้การวิสามัญฆาตกรรมที่เกินกว่าเหตุเช่นนี้เกิดขึ้น ที่น่าเศร้าก็คือ ในบางครั้งเป้าหมายอ่อนแอ เช่น ชุมชนคนพุทธ ได้กลายเป็นเหยื่อโดยที่พวกเขาเองก็อาจจะไม่รู้ที่มาที่ไป แม้จะดูเหมือนว่าในหลายเดือนที่ผ่านมาฝ่ายขบวนการจะมีความระมัดระวังในการปฏิบัติการมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติการหลังการวิสามัญฆาตกรรมในครั้งนี้มุ่งโจมตีผู้ถืออาวุธโดยตรงและทำลายฐานทางเศรษฐกิจของฝ่ายรัฐ โดยไม่มุ่งโจมตีเป้าหมายพลเรือน บทเรียนจากปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงควรจะหลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมให้มากที่สุด กฎการปะทะพึงจะนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนควรจะให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้ถืออาวุธ การหลีกเลี่ยงในเรื่องนี้จะเป็นการช่วยลดวงจรอุบาทว์ของการแก้แค้นเอาคืนซึ่งมักจะขยายตัวเมื่อความขัดแย้งรุนแรงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งรุนแรงยังไม่ยุติ การพูดคุยสันติภาพยังไม่ก้าวหน้า อย่างน้อยก็ควรหลีกเลี่ยงปฏิบัติการใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน Rungrawee's Blogs DeepsouthWatch ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สื่อเล็กๆ ในไอโอวาคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ จากผลงานต่อสู้กับบรรษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ Posted: 12 Apr 2017 12:28 AM PDT เกียรติยศสำหรับนักข่าว นักเขียน และคนทำงานสื่ออย่างรางวัล "พูลิตเซอร์" ปีนี้บทบรรณาธิการยอดเยี่ยมได้แก่สื่อเล็กๆ ในเทศมณฑลหนึ่งของรัฐไอโอวา "The Storm Lake Times" ที่มีคนทำข่าวแบบกิจการในครอบครัวอยู่แค่ประมาณสิบคน แต่เคยร่วมกับองค์กรสื่อเปิดโปงกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ที่ปล่อยสารพิษลงแม่น้ำ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 เม.ย. 2560) มีการประกาศผลรางวัลพูลิตเซอร์ซึ่งเป็นรางวัลในสหรัฐฯ ที่มองให้กับวงการสิ่งพิมพ์-วรรณกรรม โดยที่ในปีนี้สื่อสิ่งพิมพ์เล็กๆ ระดับครอบครัวที่มีคนทำเพียงแค่ 10 คน อย่างสตรอมเลคไทม์ (The Storm Lake Times) แห่งไอโอวา คว้ารางวัลบทบรรณาธิการยอดเยี่ยมไปครอง อาร์ต คูลเลน (คนกลาง) บรรณาธิการแห่งเดอะสตอมเลคไทม์ (ที่มา: The Strom Lake Times) อาร์ต คูลเลน อายุ 60 ปี ไม่ใช่บรรณาธิการใหญ่โตที่นั่งเขียนบทความในสำนักงานหรูหรากลางเมืองใหญ่แต่อย่างใด เขาเป็นบรรณาธิการที่เห็นว่าการเขียนเรื่องนี้เป็นหน้าที่ประจำวันของเขาเท่านั้น พวกเขาอยู่กันในสำนักงานที่พวกเขาเรียกว่า "เหล็กสีเทาพังๆ" คูลเลนทำหน้าที่บรรณาธิการสลับกับเป็นผู้รายงานข่าวเป็นครั้งคราว โดยที่หนังสือพิมพ์สตรอมเลคไทม์ผลิตออกมาสัปดาห์ละสองครั้ง มียอดหมุนเวียนครั้งละ 3,000 ฉบับ แม้จะดูเหมือนสื่อตัวเล็กๆ แต่ก็กล้านำเสนอแบบงัดข้อกับหลายๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของฟาร์มในท้องถิ่น ทนายความ ที่ปรึกษาเทศมณฑล ไปจนถึงบรรษัทใหญ่อย่างมอนซานโต พี่น้องเศรษฐีตระกูลคอช บรรษัทธุรกรรมการเกษตร ไปจนถึงพรรครีพับลิกัน ตามคำบอกเล่าของริชาร์ด ลองเวิร์ธ นักข่าวเกษียณอายุที่เคยทำงานข่าวในแถบมิดเวสต์ เขาบอกอีกว่าสื่อของคูลเลนกล่าววิจารณ์วุฒิสมาชิก ชารืลส์ กราสลีย์ ว่า "เป็นแค่สุนัขรับใช้พวกฐานอำนาจพรรครีพับลิกัน" และวิจารณ์วุฒิสมาชิกโจนี เอิร์นส์ ว่า "เป็นผู้หญิงคนเดียวที่หยาบคายเท่าโดนัลด์ ทรัมป์" คูลเลนบอกว่างานข่าวเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสังคมและการทำข่าวที่มีคุณภาพมีอยู่ทั่วไปในประเทศสหรัฐฯ ส่วนลองเวิร์ธมองว่าคูลเลนสมควรแล้วที่จะได้รับรางวัลที่ทรงเกียรติ์นี้ สตรอมเลค เป็นเทศมณฑลท้องถิ่นแหล่งกำเนิดสื่อของครอบครัวคูลเลนเป็นเมืองที่มีประชากร 11,000 คน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐไอโอวา เต็มไปด้วยผู้อพยพ แต่ในทางการเมืองมีคนที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ จำนวนมากทั้งที่มีเด็กวัยประถมเป็นคนดำร้อยละ 88 ชาวละตินร้อยละ 75 และมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันในเมืองนี้รวม 21 ภาษาทำให้คูลเลนต้องทำงานสื่อร่วมกับครอบครัวเพื่อสื่อสารให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติในเมืองสตรอมเลคถูกหลอกใช้เป็นแรงงานราคาถูก อย่างคนผลิตเอทานอลจากข้าวโพด คนฆ่าหมูชาวเม็กซิกัน เพราะ ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ยังส่งผลกระทบเรื่องมลภาวะทางน้ำด้วย โดยเคยมีคดีที่บริษัทการประปาเดส์มวนส์ฟ้องร้องเทศมณฑลสตอร์มเลคและเทศมณฑลอื่นๆ ข้อหาปล่อยให้สารไนโตรเจนจากการเกษตรไหลลงแม่น้ำที่ทางการประปานำมาผลิตน้ำดื่มที่มีผู้บริโภค 500,000 คนในหลายเทศมณฑล โดยที่ทางสื่อสตรอมเลคไทม์ร่วมมือกับสภาเพื่อเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารของไอโอวากดดันให้มีการเผยแพร่เอกสารแสดงให้เห็นว่าฝ่ายเทศมณฑลไอโอวาต่อสู้คดีโดยอาศัยทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ช่วยกันเปิดโปงเบื้องหลังของเทศมณฑลที่ทำให้น้ำเน่าเสีย คณะกรรมการพูลิตเซอร์ระบุว่าผลงานบทบรรณาธิการของคูลเลนนั้นมาจากการรายงานข่าวที่หนักแน่น มีความชำนาญอย่างน่าประทับใจ รวมถึงมีการเขียนน่าดึงดูดและท้าทายกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นบรรษัทเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในไอโอวาได้สำเร็จ เดอะการ์เดียนระบุว่าไม่เพียงแค่บทบรรณาธิการ หรือเรื่องราวหนักๆ เท่านั้น สื่อสตรอมเลคยังมีเรื่องราวเล็กๆ ของคนในท้องถิ่น เช่นเรื่องของเด็กนักเรียนที่เจอใบโคลเวอร์ 4 กลีบ (ที่หายากและมีความเชื่อว่าถ้าเจอจะสื่อถึงโชคดี) หลังโรงเรียนของเธอ คูลเลนบอกว่าเขานำเสนอเรื่องที่คิดว่าคนอื่นน่าจะชอบ ทั้งเรื่องเด็ก สุนัข ข่าวไฟไหม้ เขายอมรับว่าสื่อของเขาเองก็มีด้านที่พยายามเอาใจคนอยู่เหมือนกัน รางวัลพูลิตเชอร์ก่อตั้งโดยโจเซฟ พูลิตเซอร์ นักหนังสือพิมพ์และผู้พิมพ์โฆษณาชาวฮังการี-อเมริกัน โดยมีการประกาศรางวัลเป้นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2460 เป็นต้นมาจากเงินพินัยกรรมหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว มีประเภทรางวัลรวมทั้งหมด 21 ประเภท ทั้งงานข่าวต่างๆ งานวิจารณ์ งานถ่ายภาพ สารคดี รวมถึงงานเขียนบันเทิงคดีด้วย นอกจากสตรอมเลคแล้วยังมีรางวัลในสายอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น งานของซาราห์ ไรลีย์ ที่ลงในนิวยอร์กเดลีนิวส์ และโปรพับลิกา ซึ่งขุดคุ้ยการใช้อำนาจในทางที่ผิดของตำรวจในกรณีสั่งไล่ที่ทำให้คนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนชนกลุ่มน้อยกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ งานของเธอได้รับรางวัลสาขาบริการสาธารณะ
เรียบเรียงจาก Tiny, family-run newspaper wins Pulitzer Prize for taking on big business, Poynter, 10-04-2017 Tiny, family-run Iowa newspaper wins Pulitzer for taking on agriculture companies, The Guardian, 11-04-2017 2017 Pulitzer Prizes http://www.pulitzer.org/prize-winners-by-year/2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ Posted: 11 Apr 2017 06:42 PM PDT
มีข่าวหนึ่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา คือ เรื่องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง โดยมตินี้ หมายความว่า จะยังไม่มีการตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" "แต่จะมีการ "ซื้อเวลา" โดยนำเนื้อหาเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปใส่ไว้ในข้อสังเกต เสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสม แล้วกำหนดให้ทำงานเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ปัญหาที่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่า เรื่องนี้มาได้อย่างไร และ ปตท.(การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) ไม่ได้เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของไทยดอกหรือ ถึงต้องมีการตั้งใหม่ ในเรื่องนี้ คงต้องย้อนหลังอธิบายว่า กระบวนการนำมาสู่กฎหมายฉบับนี้ เริ่มมาจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตร และ กปปส. ที่โจมตีบริษัท ปตท,ว่าเป็นกิจการฝ่ายทักษิณ และเป็นของนายทุน ไม่ได้เป็นของประชาชนไทย รสนา โตสิตระกูล ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อต้าน ปตท. อธิบายว่า แม้ว่า ปตท.เคยมีลักษณะเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ต่อมา รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แปรรูปให้เป็นบริษัทมหาชน ทำให้สถานะนั้นหมดสิ้นไป เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติ และนายทุนนักการเมือง เข้ามาครองครองกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านฝ่ายทักษิณ จึงได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะทวงคืนน้ำมัน ทวงคืนท่อก๊าซ ทวงคืน ปตท. ควบคู่ไปด้วยเสมอมา ข้อเสนอที่ชัดเจนของฝ่าย คปพ. คือ การนำเอาพลังงานกลับสู่ประชาชนไทย โดยการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ"ขึ้นมาใหม่ โครงสร้างของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่นี้จะเป็น "หน่วยงานที่เป็นของรัฐ" ทำหน้าที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ และจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด และจะเป็นตัวกลางให้บริษัทเอกชนต้องเข้ามาทำสัญญาเพื่อจัดการใหม่ในระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) และ ระบบรับจ้างผลิต (Service Contract) ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งปิโตรเลียมในทะเล เมื่อเกิดการรัฐประหารพฤษภาคม พ.ศ.2557 ฝ่าย คปพ.ก็มีความหวังว่า คณะรัฐบาลเผด็จการทหารจะเห็นด้วยและช่วยผลักดันการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และสถานการณ์ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อมีการนำเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่เข้าสู่สภาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2558 แต่ในกระบวนการพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติ ที่มี พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ได้เพิ่มมาตราที่ 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในเงื่อนไขเมื่อ "มีความพร้อม" ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกโจมตีต่อมา วันที่ 24 มีนาคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้ออกข่าวโจมตี ร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ว่า มีความบกพร่องถึง 10 จุด ถือว่าเป็นกฎหมายอัปยศ เปิดช่องให้รัฐบาลวางเกณฑ์เรื่องพลังงานตามใจชอบ และไม่ตั้งบรรษัทพลังงานขึ้นมารองรับ เพื่อเอื้อให้เอกชนได้ต่อสัมปทานแหล่งบงกช – เอราวัณ ที่กำลังจะหมดสัมปทานลง ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม ก่อนที่กฎหมายนี้จะถูกนำกลับเข้ามาสู่สภาเพื่อลงมติเห็นชอบเพียง 3 วัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ประเด็นสำคัญ ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนำเสนอที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่เป็นเพียงแต่เรื่องของการบิดประเด็นในสภา สนช. แต่ยังเป็นเรื่องที่ว่า มีกลุ่มทหารกำลังพยายามจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อดำเนินกิจการปิโตรเลียมทั้งระบบ ทั้งเป็นผู้กำกับดูแล เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และจะเป็นผู้ขายและจัดจำหน่าย ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงได้มีการสอดไส้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้รองรับ โดยมาตราที่ว่าจะให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม ก็จะมีการนำเสนอให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในระยะเริ่มต้น และเมื่อกำหนดให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติควบคุมกรรมสิทธิ์ในพลังงานทุกชนิด ก็จะสร้างความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตของ บริษัท ปตท. และถ้า ปตท.ประสบปัญหาจะกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนำเสนอเช่นนี้ ฝ่ายรัฐบาลก็ปฏิเสธข่าวทันทีว่า ว่าไม่ได้มีแผนการจะฮุบกิจการพลังงานไว้ในฝ่ายทหาร ในขณะที่ฝ่าย คปพ.ก็เรียกร้องให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยทันที และเมื่อมีการลงมติเลื่อนการพิจารณาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำกลุ่ม คปพ. ก็อธิบายว่า มติของสภาถือเป็นความล้มเหลว เพราะการนำมาตรา 10/1 ไปอยู่ในข้อสังเกตเท่ากับว่าเป็นการ"ถอดเครื่องยนต์" กลับไปสู่การทำสัมปทานรูปแบบเดิม และการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี ก็ยังจะไม่ใช่เป็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คปพ.ก็จะเคลื่อนไหวต่อไป สรุปความเห็นต่อเรื่องนี้ก็คือ เราคงต้องติดตาม แต่ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจสนับสนุน เพราะส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่า การเคลื่อนไหวเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทั้งหมด มาจากสมมติฐานที่ผิดในการโจมตี ปตท. เพราะบริษัท ปตท.ก็เริ่มมาจากการเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาตินำเอาวิธีการบริหารแบบบริษัทสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อแก้ข้อบกพร่องขององค์การเชื้อเพลิงและบริษัทน้ำมันสามทหารสมัยดั้งเดิม ที่มีลักษณะการบริหารแบบระบบราชการ และพัวพันกับการทุจริตของฝ่ายทหาร การแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็เป็นวิธีการบริหารแบบทุนนิยมสมัยใหม่ลักษณะหนึ่ง ไม่ได้เป็นการ"ขายชาติ" หรือยกประโยชน์ให้นายทุนกลุ่มทักษิณ ตามที่ คปพ.พยายามโจมตีเสมอมา เพราะสำหรับบริษัท ปตท. กระทรวงการคลังก็ยังเป็นผู้ถือหุ้น 51 % และกองทุนวายุภักดิ์ก็ยังถือหุ้นอีกราว 15 % นอกจากนี้ การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เป็นองค์กรของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แล้วให้สิทธิผูกขาดแต่เพียงรายเดียว ในการดำเนินการเรื่องพลังงานซึ่งมีมูลค่านับแสนล้าน จะกลายเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง ประเด็นที่ต้องอธิบายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความจำเป็นของประเทศที่จะต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ดังที่นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงานอธิบายก็คือ ไทยยังไม่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะมีโครงสร้างที่รองรับ มีการแบ่งภารกิจที่ชัดเจน มีการคานอำนาจ และตรวจสอบ โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลภารกิจภาครัฐ ขณะที่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) เป็นผู้สำรวจและผลิต มีการแข่งขันกับบริษัทอื่นอย่างเสรี ไม่ผูกขาด ขณะที่บริษัท ปตท.ในฐานะผู้ค้า ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดังนั้น หากมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานเดียว ก็อาจจะกลายเป็นการผูกขาด และถ้าจะให้รัฐลงทุนเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาจเสี่ยงกับการสูญเสียเงินจำนวนมาก ถ้าไม่พบปิโตรเลียม แม้จะมีข้อเสนอประเภทที่จะให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาตินี้ ต้อง "ปลดจากทุน ปลอดจากราชการ ปลอดจากการแทรกแซงของทหาร" ซึ่งอาจจะฟังดูดี แต่อย่าเพิ่งรีบเชื่อ เพราะต่อให้เป็นจริงก็มีปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะให้ใครเข้าไปทำ
จาก โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 611 วันที่ 8 เมษายน 2560 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักปรัชญาชายขอบ: มายาคติของ ‘ความเป็นอารยะ’ Posted: 11 Apr 2017 06:22 PM PDT
ในหนังสือ "ปรัชญาสาธารณะ - Public Philosophy" (แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล) ไมเคิล แซลเดล (Michael Sandel) วิพากษ์ "ปัญหาของความเป็นอารยะ" (หน้า 84-90) ไว้อย่างน่าสนใจ โดยอ้างถึงกระแสต่อต้านความไร้อารยะในสังคมอเมริกัน ช่วงปี 1996 ที่บิล คลินตันชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ว่า
แซลเดมองว่า "คนอเมริกันคิดถูกแล้ว ที่เป็นห่วงว่าความเป็นอารยะในชีวิตประจำวันกำลังเสื่อมถอยลง แต่เราจะพลาดถ้าคิดว่ามารยาทและความประพฤติที่ดีกว่าเดิมจะแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยอเมริกันได้" เพราะแม้เราจะอยากให้การถกเถียงทางการเมืองดำเนินไปด้วยจิตวิญญาณของการนับถือซึ่งกันและกัน แต่การให้คุณค่าแก่ความเป็นอารยะสูงเกินไป เชิดชูมันมากเกินไป ก็อาจเกิดปัญหาต่อความเป็นประชาธิปไตยเสียเอง ดังที่เขาวิพากษ์ว่า
เมื่อหันมามองการเมืองในบ้านเรา จะเห็นการสร้างกระแสความเอือมระอาต่อ "ความไร้อารยะ" อย่างชัดเจน เช่น เอือมระอาต่อการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การมุ่งเอาชนะคะคานกันของภาคการเมือง การอภิปรายที่ไร้สาระ ไร้มารยาทในสภา การแบ่งฝ่ายแบ่ง "สี" ของกลุ่มมวลชนทางการเมืองนอกสภา และสิ่งที่ใช้เป็นมาตรฐานของ "ความเป็นอารยะ" ก็คือ "การอ้างศีลธรรม" การอ้างสถานะทางการศึกษา ทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงรูปลักษณ์หน้าตา ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์ของการโจมตีศีลธรรมของนักการเมือง การดูถูกสถานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา รูปลักษณ์หน้าตาของมวลชนฝ่ายตรงข้าม เช่นว่าเพราะความยากจนจึงมารับจ้างชุมนุมเพราะด้อยการศึกษาจึงถูกหลอก รูปลักษณ์หน้าตาก็โง่ๆ เซ่อๆ เป็นพวกกเฬวราก ควายแดง ฯลฯ ไม่เหมือนกับพวกตัวเองที่มีฐานะดี มาชุมนุมก็นำเงินมาบริจาคด้วย การศึกษาก็ดี หน้าตาดี ท่าทางฉลาด บางคนก็ประกาศว่าตนเองมี "ปริญญา 5 ใบ" ประกาศความเป็นเสรีชน อธิการบดีมหาวิทยาลัยบางคนพูดถึงปัญหาความยากจน ความด้อยการศึกษาของอีกฝ่ายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แล้วบรรดาคนที่มีอารยะก็เรียกร้องและสนับสนุนรัฐประหารไปพร้อมๆ กัน การเชิดชูความเป็นอารยะภายใต้การอ้างศีลธรรม,สถานะทางเศรษฐกิจ,การศึกษา,รูปลักษณ์หน้าตาฯลฯ ดังกล่าว จึงนำไปสู่ปัญหาที่แซลเดลกล่าวว่า "กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองที่ปราศจากหลักการหรือความเชื่ออันแรงกล้า" โดยการทำให้ความเชื่อในเรื่องการเลือกตั้งของคนเสื้อแดงไร้ความหมาย เพราะพวกเขาถูกให้ความหมายว่า "ไร้ความเป็นอารยะ" จนกระทั่งไม่สามารถจะมี "เจตจำนงทางการเมือง" ของตนเอง เพราะเป็นเพียงคนที่ถูกหลอก ถูกซื้อ หรือเป็น "ขี้ข้าทักษิณ" เป็นต้น พร้อมกับการทำให้อีกฝ่ายไร้ความเป็นอารยะก็คือการ "ให้ความชอบธรรมกับการเมืองที่ปราศจากหลักการประชาธิปไตย" นั่นก็คือการเมืองในวิถีรัฐประหารที่อ้างว่า "นี่ไม่ใช่การเล่นการเมือง" แต่เป็นการแก้ปัญหาบ้านเมืองในนามศีลธรรม ความดี คนดี ที่มีความเป็นอารยะเหนือกว่าการเมืองน้ำเน่าที่มากไปด้วยปัญหาดังที่ผ่านๆ มา แล้ววิถีแห่ง "ความเป็นอารยะ" หลังรัฐประหาร 2557 ก็เริ่มตั้งแต่การปิดเว็บฯ โป๊ การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์, คิวรถตู้, การขายล็อตเตอร์รี่ เรื่อยมาถึงการจัดระเบียบการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ต้องแต่งกายชุดสุภาพ ห้ามนั่งแคปและกระบะรถยนต์ รวมทั้งออกคำสั่งเรียกนักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมือง สื่อมวลชนฝ่ายตรงข้ามเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร การส่งเจ้าหน้าที่ทหารสกัดการชุมนุม การจัดเสวนาเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ที่ทำกิน สิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน การควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกในโลกโซเชียล การเสนอร่างกฎหมายควบคุมสื่อฯลฯ สุดท้ายตามมาด้วยการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช.ภายใต้ ม. 44" ทั้งหมดนี้คือ "ความเป็นอารยะ" ได้พาเรามาถึงและดำเนินต่อไป แต่ในทัศนะของแซลเดล "ถ้าการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นไปย่างเหมาะสม มันจะเต็มไปด้วยประเด็นที่เกิดการโต้แย้งมากมาย เราเลือกนักการเมืองให้มาถกเถียงกันในประเด็นสาธารณะร้อนฉ่าทั้งหลาย เช่น จะใช้เงินเท่าไรกับการศึกษา การทหาร และการดูแลคนจน จะลงโทษอาชญากรอย่างไร และจะยอมให้คนทำแท้งหรือไม่ เราไม่ควรแขยงหน่ายกับเสียงต่อต้านอึกทึกและการโต้แย้งที่ตามมา เพราะมันคือภาพและเสียงที่เร้าใจของประชาธิปไตย" บางทีผมก็แปลกใจกับการแสดงความเอือมระอาต่อการโต้เถียง ก่นด่าใน "โลกเสมือนจริง" ของสังคมโซเชียล เพราะมองว่ามันเป็นความวุ่นวาย สร้างความแตกแยก ความไม่สงบสุขของสังคม แต่อย่างที่ประจักษ์ ก้องกีรติให้สัมภาษณ์เผยแพร่ในสื่อออนไลน์(ประมาณ)ว่า "ความสงบสุขไม่ใช่เป้าหมายเดียวของสังคม ถ้าความสงบสุขเป็นเป้าหมายเดียวของสังคม ประเทศเกาหลีเหนือคงเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด เพราะไม่มีสื่อวิจารณ์รัฐบาล ไม่มีการประท้วงทางการเมือง" ดังนั้น ความคิดต่าง การถกเถียงโต้แย้ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การชุมนุมประท้วงและอื่นๆ ที่ไม่เกิดความรุนแรงจึงเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้วิถีประชาธิปไตยจึงเป็นวิถีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการปรับปรุงการบริหาร การสร้างความยุติธรรม และอื่นๆ แต่ประชาธิปไตยจะสามารถลงหลักปักฐานได้ ก็ต่อเมื่อเราหลุดจากมายาคติความเป็นอารยะหลอกๆ และตระหนักอย่างชัดเจนว่า "ความเป็นประชาธิปไตยคือความเป็นอารยะในตัวมันเอง" กล่าวคือ ความเป็นอารยะอยู่ที่รูปแบบและวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่อยู่ที่ข้ออ้างทางศีลธรรม ความดี ความสงบสุข และอื่นๆ ที่ถูกเชิดชูขึ้นมาให้เหนือกว่าและลดทอนเสรีภาพ สิทธิ และอำนาจของประชาชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น