โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สมช.คาดเหตุป่วนชายแดนใต้อาจเกิดจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

Posted: 07 Apr 2017 09:52 AM PDT

เลขา สมช. คาดเหตุป่วนชายแดนใต้อาจเกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร ย้ำทุกหน่วยงานเข้มงวดด้านการข่าว

7 เม.ย. 2560 จากกรณีเหตุระเบิดหลายจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 6 เม.ย. ต่อเนื่องวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา วันนี้ (7 เม.ย.60) พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงเหตุดังกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดใช้แดนภาคใต้ ได้กำชับให้เร่งหาตัวคนร้าย ส่วนสาเหตุคาดว่าอาจเกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอเอซี เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการตอบโต้ขึ้น ซึ่งทาง กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าจะชี้แจงสาเหตุของการก่อเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง นอกจากนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำให้ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

เลขา สมช. กล่าวว่า สำหรับการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หน่วยงานด้านความมั่นคงได้เพิ่มมาตรการด้านการข่าว และการดูแลความมั่นคง ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

ประวิตร ย้ำทุกหน่วยงานเข้มงวดด้านการข่าว

ภาพจาก เว็บไซต์ทำเนียรัฐบาล

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง คปต. ได้รับมอบหมายให้เป็นกลไกลสำคัญเพื่อกำกับ ดูแล และขับเคลื่อนงานให้มีความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม/หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พล.อ. ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 13 คน ในฐานะกรรมการ คปต. เข้าร่วมประชุมด้วย

โดยกรณีเหตุเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ทหาร ตำรวจ ไปดูแลในภาพรวมแล้ว และเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบให้มีความเข้มงวดในเรื่องของงานด้านการข่าว เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเจ้าหน้าที่และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต.  และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป ขณะที่เรื่องปัญหาไฟฟ้าดับ เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการดำเนินการแก้ไขให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 6 เดือนแรก ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ( ต.ค. 59 – มี.ค.60) ที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 เดือนแรก ของปีงบประมาณ พ.ศ.2559 (ต.ค. 58 – มี.ค. 59) พบว่าสถิติการก่อเหตุลดลงถึง 96 เหตุการณ์ (ลดลงร้อยละ 54) และหากเปรียบเทียบกับ 6 เดือนหลัง ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (เม.ย.59 – ก.ย.59) พบว่าสถิติการก่อเหตุลดลง 99 เหตุการณ์ (ลดลงร้อยละ 55)  รวมทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ 7 เมืองหลัก และเมืองหนองจิก ซึ่งเป็นเมืองหลักตามนโยบายต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ก็พบการก่อเหตุความรุนแรงลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากการปฏิบัติการเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ของการบูรณาการขับเคลื่อนงานของทุกหน่วยงานใน 7 กลุ่มภารกิจงาน ( 1) การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2) การอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3) การสร้างความเข้าใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน 4) การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 5) การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และคุณภาพชีวิตประชาชน 6) การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย และ7) การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รับทราบการดำเนินงานของผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของประชาชน ทั้งด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนา ให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด โดยเฉพาะเรื่องของต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

 

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียรัฐบาล และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับทูตสวีเดน 250 ปี พ.ร.บ.เสรีภาพสื่อ: เคล็ดลับ TOP10 โลก เสรีภาพ+ประชาธิปไตย

Posted: 07 Apr 2017 09:19 AM PDT

คุยกับเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เคล็ดลับกฎหมายเสรีภาพสื่ออายุ 251 ปี ประเทศนี้ไม่กลัวเสรีภาพล้นเกิน ยิ่งขัดแย้งยิ่งต้องสื่อสารเพื่อหาทางออกโดยไม่ใช้กำลัง สื่อและสังคมแลกเปลี่ยนความเห็นจนตกผลึกสร้างชุดจริยธรรมมากำกับกันเองได้จริง รัฐห้ามยุ่ง

สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย

สวีเดนมีกฎหมายรับรองคุ้มครอง "เสรีภาพสื่อ" มาครบ 251 ปีพอดีเมื่อปีนี้ หันมองเมืองไทย เราก็เพิ่งมีประเด็นนี้เป็นข่าวครึกโครมเช่นกัน เพราะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อเสนอให้ สปท.รับรองและส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากนี้ยังมีเรื่องสดๆ ร้อนๆ เกี่ยวกับการลงดาบ วอยซ์ ทีวี โดยบอร์ดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) สั่งให้พักใช้ใบอนุญาตและงดออกอากาศเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่ามีการนำเสนอข่าวที่บิดเบือน ยุยงให้เกิดความแตกแยก (อ่านต่อที่นี่)

จากภาวะคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยและเสรีภาพในการแสดงออก ประกอบกับคำถามมากมายเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนอาชีพของไทยที่ดังมาต่อเนื่อง ตัดไปที่อีกซีกหนึ่งของโลก สวีเดนมีกฎหมายนี้มายาวนาน และสื่อมวลชนก็มีสถานะความเป็นอิสระสูง สวนทางกันสุดขั้ว ดังที่เห็นจากดัชนีเสรีภาพสื่อ ปี พ.ศ. 2559 โดย Reporters without Borders พบว่า ประเทศในสแกนดิเนเวีย(ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์) อยู่ใน 8 อันดับแรกของโลก ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 136 จาก 180 ประเทศ (วัดจากอัตราการถูกควบคุม ผูกขาด ข้อบัญญัติทางกฎหมาย ความโปร่งใสและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการทำข่าว) จึงเป็นเรื่องน่าสนใจถอดบทเรียนและวิธีคิดของสวีเดนให้ผู้อ่านชาวไทยได้รับรู้

ประชาไทได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตแห่งสวีเดนประจำประเทศไทย สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม (Staffan Herrström) ให้สัมภาษณ์ถึงพัฒนาการ เคล็ดลับการมีกฎหมายเสรีภาพสื่อที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน การสร้างระบบจริยธรรมบนฐานการกำกับกันเองของสื่อที่สังคมยอมรับ ความเป็นกลางในทัศนะของสื่อสวีเดน และข้อท้าทายของสื่อในยุคออนไลน์ที่ทุกคนทำข่าวได้ด้วยตนเอง

ที่สำคัญเอกอัครราชทูตสวีเดนคนนี้ยังเคยเป็นอดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ Göteborgs-Posten มาก่อนด้วย เรียกว่าเหมาะเจาะเป็นอย่างยิ่ง

000000

กฎหมายสวีเดนมีลักษณะและพัฒนาการอย่างไร

ทูตสวีเดน กล่าวว่า กฎหมายสื่อนั้นต้องสร้างขึ้นและพัฒนาจากเจตจำนงของประชาชน โดย พ.ร.บ.เสรีภาพของสื่อสวีเดน มีหลักพื้นฐานที่นำมาซึ่งกฎหมายอายุยืนยาวดังกล่าว 4 ประการ

1.ยกเลิกการเซนเซอร์สื่อโดยรัฐ

2. เปลี่ยนหลักการจากการ "ห้าม" เป็นการ "อนุญาต"
ก่อน ค.ศ. 1766 ซึ่งยังเป็นยุคที่ประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็งเหมือนปัจจุบัน รัฐห้ามไม่ให้จัดพิมพ์สื่อหากไม่ได้รับอนุญาตจากทางการเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถเผยแพร่สื่อได้ตามต้องการนอกจากสิ่งที่ห้ามไว้ในกฎหมาย

3. จัดให้ประชาชนเข้าถึงเอกสารของภาครัฐ

4. บรรจุหลักกฎหมายเสรีภาพสื่อไว้ในรัฐธรรมนูญ

เป็นเหตุทำให้ยากต่อการแก้ไข ทั้งยังเป็นการประกาศว่ารัฐไม่สามารถบัญญัติข้อจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ เนื่องจากจะเป็นการละเมิดตัวรัฐธรรมนูญเสียเอง

ดังหลักพื้นฐานสี่ประการ จะเห็นได้ว่าสวีเดนมีขอบเขตเสรีภาพที่กว้างมาก และเนื่องจากทุกอย่างสามารถเผยแพร่ได้อย่างถูกกฎหมาย จึงต้องมีระบบควบคุมจริยธรรมกันเองขึ้นมา เพราะประเด็นการเผยแพร่สิ่งที่เหมาะสมในสังคมนั้นเป็นคนละเรื่องกับความถูกต้องตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเผยชื่อผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีความถือเป็นความไม่เหมาะสมในเชิงจริยธรรม แต่ตามกฎหมายสามารถทำได้ สื่อทั้งหลายจึงร่วมกันสร้างแนวทางปฏิบัติขึ้นมากำกับกันเอง รวมถึงสร้างระบบพิจารณาและลงโทษผู้ละเมิดแนวทางปฏิบัติดังกล่าวโดยไม่ได้ผ่านการชี้นำจากรัฐ

อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ Göteborgs-Posten ยังกล่าวว่า แม้ภาพรวมของสื่อเปลี่ยนไปมากในปัจจุบันเนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี แต่หลักเสรีภาพของสื่อที่เป็นพื้นฐานแต่แรกเริ่มนั้นไม่เปลี่ยน โดยเลือกใช้วิธีการแยกใช้ข้อบังคับที่แตกต่างตามลักษณะเฉพาะของสื่อแต่ละชนิด ในขณะที่ยังคงหลักเสรีภาพสื่อตามแบบดั้งเดิมไว้เป็นพื้นฐาน

อะไรคือแก่นที่สำคัญในเสรีภาพของสื่อ

สตัฟฟาน กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักใหญ่ใจความในกฎหมาย นักข่าวสวีเดนได้รับการคุ้มครองในระดับที่สูงมาก ถ้าการรายงานข่าวได้รับความผิดประการใด หรือไปละเมิดข้อห้ามรุนแรง เช่น การปล่อยข้อมูลด้านความมั่นคง จะเป็นตัวผู้ตีพิมพ์ที่จดทะเบียนเท่านั้นที่ขึ้นศาล

วงการสื่อสวีเดนสถาปนาระบบจริยธรรมที่ตัวสื่อและผู้บริโภคเห็นพ้องต้องกันได้อย่างไร

ทูตสวีเดน กล่าวว่า การสร้างชุดจริยธรรมที่สอดคล้องกันระหว่างสื่อและผู้เสพสื่อมีที่มาจากความต้องการรักษาเสรีภาพการแสดงออกที่กว้างขวางเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ต้องการคงไว้ซึ่งสิทธิส่วนบุคคลที่พึงมี ชาวสวีเดนจึงคิดที่จะสร้างกรอบพฤติกรรมขึ้นมาภายใต้ฐานจริยธรรมที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการข้างต้น จึงเกิดสภาสื่อมวลชนขึ้นมา

สภาสื่อมวลชนถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนโดยสื่อด้วยกันเอง เพื่อพิจารณากรณีข้อร้องเรียนการละเมิดชุดจริยธรรมและใช้มาตรการลงโทษ เช่น การเสียค่าปรับ สภาสื่อมวลชนมีส่วนช่วยอย่างมากในการหาข้อบังคับใช้ทางจริยธรรมต่างๆ ที่ใช้ได้ดีที่สุดในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปดังกล่าวล้วนเกิดมาจากการพูดคุยถกเถียงระหว่างคนในวงการสื่อด้วยกันที่คอยจุดประเด็นผ่านประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนความเห็น

ความต่อเนื่องทางการเมืองและฉันทามติของสังคมมีผลอย่างไรต่อการสร้างระบบจริยธรรมสื่อ

เสรีภาพการแสดงออกเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาธิปไตยของสวีเดนมีความมั่นคง เพราะเสรีภาพการแสดงออกทำให้ข้อขัดแย้งต่างๆ ถูกดึงออกมาตีแผ่ในพื้นที่สาธารณะ และทำให้การแก้ไขความขัดแย้งผ่านการพูดคุยแทนที่จะใช้กำลังเข้าสู้กัน

มีกรณีการห้ามสื่อออกอากาศในสวีเดนไหม

ทูตสวีเดนกล่าวถึงพัฒนาการของกฎหมายเสรีภาพของสื่อว่า ข้อห้าม พันธนาการต่างๆ ค่อยๆ ลดลงสวนทางกับความเข้มแข็งขึ้นของเสรีภาพการแสดงออกและระบอบประชาธิปไตย ต่อข้อคำถามนี้ เขาจำไม่ได้ว่ามีกรณีดังกล่าวหรือไม่ แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นหนึ่งจุดหักเหที่สำคัญ เพราะในช่วงดังกล่าว สวีเดนพยายามเอาตัวเองออกจากสงคราม สื่อในเวลานั้นจึงถูกรัฐบาลควบคุมอย่างหนัก แต่มาตรการควบคุมดังกล่าวได้ยุติลงพร้อมกับสงคราม หลังจากนั้นก็มีการถกเถียงในสังคมอย่างหนักว่าสิ่งที่รัฐบาลทำลงไปนั้นสมเหตุสมผลจริงหรือไม่เรื่อยมา

แล้วมีการถกเถียงตีความข้อห้ามในกฎหมายบ้างไหม ในเมื่อมีเสรีภาพการแสดงออกสูงมาก

ข้อห้ามตามกฎหมายนั้นมีความจำเพาะเจาะจงมาก ในส่วนของการฟ้องสื่อในข้อหาหมิ่นประมาท ผู้ถูกไต่สวนต้องคำนึงเสมอว่าตนมีสิทธิ เสรีภาพการในการที่จะแสดงออก และกลไกกฎหมายก็ถูกสร้างบนหลักพื้นฐานเสรีภาพในการแสดงออก การฟ้องร้องในชั้นศาลจึงมีโอกาสน้อยที่โจทก์จะชนะ อีกทั้งระบบข้อบังคับทางจริยธรรมที่มีก็ทำหน้าที่ดูแลกรณีการหมิ่นประมาทอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีการฟ้องคดีหมิ่นประมาท และโทษคดีหมิ่นประมาทที่ผ่านมาก็ไม่ได้รุนแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โทษตามกฎหมายสวีเดนสำหรับคดีหมิ่นประมาท มีตั้งแต่โทษปรับ ไปจนถึงจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม สื่อในสวีเดนแทบไม่เคยถูกดำเนินคดีในฐานหมิ่นประมาทเลย และการพิพากษาโทษหมิ่นประมาทที่หนักที่สุด เกิดขึ้นในปี 2555 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ปรับ KT Rajasingham บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Asian Tribune และ World Institute for Asian Studies เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นราว 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7 แสนบาท ให้กับนักข่าวชาวนอร์เวย์

มีการถกเถียงเรื่องความเป็นกลางหรือไม่ อย่างไร ในสวีเดน

จุดยืนทางการเมืองของสำนักข่าวกับการทำหน้าที่ของนักข่าวนั้นแยกจากกันชัดเจน นักข่าวเองก็ต้องซื่อตรงต่อหน้าที่ของนักข่าวโดยไม่คำนึงถึงขั้วความคิดและการเมืองของสำนักข่าวที่ตนสังกัด แต่ละสำนักข่าวก็มีขั้วความคิด ขั้วการเมืองที่ต่างกันไปและต่างก็ทราบดีว่ามีผลถึงกลุ่มผู้อ่านที่จะเลือกอ่านหรือไม่อ่าน ดังนั้นเรื่องของความเป็นกลางจึงไม่ค่อยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากนัก

คิดว่าอะไรคือข้อท้าทายที่สุดสำหรับวงการข่าว

ทุกวันนี้สื่อทั่วโลกเป็นสื่ออิสระได้ยากขึ้น ทั้งๆ ที่การมีอิสระเป็นเครื่องมือต่อสู้การคอร์รัปชัน และจุดประกายการพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ความท้าทายของสื่อปัจจุบันคือการภาระหน้าที่ของการเป็นสื่อที่มีความเป็นอิสระและทำเนื้อหาที่เจาะลึกได้คุณภาพในเวลาเดียวกัน และใช้ศักยภาพดังกล่าวบริการผู้อ่านโดยไม่อิงแอบกับกลุ่มอำนาจใดๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ในสวีเดนยังมีสื่อแบบนั้น และสื่อเหล่านั้นมีส่วนช่วยประเทศอย่างมากในการช่วยให้ประชาธิปไตยทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี และใช้ความสร้างสรรค์ สรรสร้างสังคมให้เกิดความคิดใหม่ๆ

"คุณจะคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ได้เลยถ้ามีใครซักคนคอยบอกว่าคุณต้องเชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ ศักยภาพเช่นว่าเกิดขึ้นจากเสรีภาพในการคิดนอกกรอบ" ทูตสวีเดนกล่าว

รู้จักกับสภาสื่อมวลชนสแกนดิเนเวีย องค์กรอิสระที่สังคมยอมรับและวางใจได้

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์และนอร์เวย์) มีสภาสื่อมวลชนที่เข้มแข็ง ประสิทธิภาพสูงและเป็นที่เคารพนับถือในวงกว้างในฐานะองค์กรที่มีระบบกำกับกันเองที่ "เป็นอิสระ รวดเร็วและเป็นธรรม และสภาสื่อของประเทศแถบนี้ถูกออกแบบในสภาพคล้ายคลึงกันภายใต้รายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันไปเท่านั้น

ระบบสภาสื่อของสวีเดน (Pressens Opinionsnämnd) จะมีตำแหน่งผู้ตรวจการ (Ombudsman) นั่งเป็นประธานและรับเรื่องร้องเรียนแค่สื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ส่วนการร้องเรียนสื่อวิทยุ โทรทัศน์จะไปที่คณะกรรมการอีกชุดที่รัฐดำเนินการเองภายใต้ระเบียบวิธีการเดียวกัน การร้องเรียนก็สามารถทำได้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียมเพราะองค์กรสมาชิกเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเป็นรายปี สื่อเองจะเข้ารับการตรวจสอบและยอมรับคำตัดสินจากสภาโดยสมัครใจ เพราะการยอมรับนั้นสร้างภาพลักษณ์ของตนในฐานะสื่อที่รับผิดชอบ เป็นธรรมและวางใจได้
ตามโครงสร้างที่มี สภาสื่อมวลชนในสแกนดิเนเวียถูกออกแบบให้เป็นอิสระจากระบบยุติธรรม แม้ในเดนมาร์คจะถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และในฟินแลนด์ได้รับงบประมาณจากกระทรวงยุติธรรม แต่การปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลเหมือนกัน

เมื่อมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับพันธะทางกฎหมาย สภาสื่อจะส่งเรื่องต่อให้ศาล คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมจะต้องส่งเรื่องไปที่สภาด้วยล่ะ? เพราะผู้ร้องเรียนส่วนมากมักจะเลี่ยงกระบวนการทางกฎหมายร้อยแปดก่อน จึงเลือกที่จะลองเส้นทางนี้ก่อน

สภาสื่อในแถบนี้ปรับตัวกับเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีการร้องเรียนเข้ามาในสภามากขึ้นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนข่าวที่มีพาดหัวเกินจริง ล่อคนคลิกเข้ามาดู (Click Bait) และข้อมูลที่ผิดพลาดอันเกิดจากการแข่งขันกันนำเสนอข่าวที่รวดเร็วบนโลกออนไลน์ สภาสื่อของฟินแลนด์ได้จัดทำกรอบจริยธรรมของสื่อมวลชนเพื่อการดูแล ควบคุมการแสดงความเห็นอย่างเหมาะสม ในนอร์เวย์ก็มีการออกอากาศการประชุมรายเดือนผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์(ไลฟ์)

ในประเด็นจำนวนข้อร้องเรียน สภาสื่อของนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดนได้รับข้อร้องเรียนราว 300 เรื่องต่อปี เดนมาร์คได้รับราว 100 เรื่อง ส่วนคณะกรรมการดูแลข้อร้องเรียนการออกอากาศของโทรทัศน์และวิทยุของสวีเดน รับเรื่องต่อปีถึงกว่า 800 เรื่อง แต่จากข้อร้องเรียนจำนวนมหาศาล มีจำนวนน้อยที่ถูกวิจารณ์จากสภา นอกนั้นถูกปัดตกไป แต่ว่าทุกข้อร้องเรียนนั้นจะได้รับการตอบกลับจากทางสภาไม่ว่าเรื่องจะได้ไปต่อหรือถูกปัดตกก็ตาม นิน่า พอร์ร่า เลขานุการของสภาสื่อฟินแลนด์ ได้กล่าวสำทับว่า "ไม่ว่าอย่างไรคุณจะได้รับคำตอบกลับมา มีบางคนตามเรื่องคุณอย่างจริงจัง ซึ่งสำหรับคนจำนวนมาก นั่นถือเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ แล้ว"
 

อ้างอิง: Columbia Journalism Review, Self-Regulation Done Right: How Scandinavia's press councils keep the media accountable

 

Kelly/ Warner, Defamation Law in Sweden

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เผย ก.พ. คนดู 'ช่อง 7' ยังแชมป์ ขณะที่ 'เวิร์คพอยท์' หายใจรดต้นคอ 'ช่อง 3'

Posted: 07 Apr 2017 07:54 AM PDT

กสทช. รายงานสภาพตลาดดิจิตอลทีวี พบเดือน ก.พ. คนรับชมทีวีดิจิตอลผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินเพิ่มสูงขึ้นเป็น 86% ขณะรับชมผ่านดาวเทียมและเคเบิลลดลงเหลือ 14 % ความนิยมของช่องรายการทีวีภาคพื้นดิน อันดับ 1 ช่อง 7 เรตติ้ง 2.204 อันดับ 2 ช่อง 3 เรตติ้ง 1.388 อันดับ 3 และช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี เรตติ้ง 1.094 

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. รายงานสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2560 พบว่า การรับชมช่องรายการผ่านทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินมีสัดส่วนสูงกว่าการรับชมผ่านทางดาวเทียมและเคเบิล โดยในเดือน ก.พ. 2560 การรับชมผ่านทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับการรับชมผ่านดาวเทียมและเคเบิลที่ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 14 ซึ่งเมื่อพิจารณาการรับชมช่องรายการโทรทัศน์แยกตามเขตพื้นที่อยู่อาศัย พบว่า ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 เป็นต้นมา การรับชมช่องรายการผ่านดาวเทียมและเคเบิล มีแนวโน้มลดลงในทุกพื้นที่ โดยประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนการรับชมผ่านทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินมากกว่าประชาชนในต่างจังหวัด

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นผลมาจากการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศ รวมถึงจำนวนและคุณภาพของรายการ ประกอบกับความคมชัดในการรับชมผ่านช่องทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินรวมกันเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พฤติกรรมการรับชมช่องรายการของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป

ด้านมูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน พบว่า ในเดือน ก.พ. 2560 มียอดรวมประมาณ 5,230 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากเดือน ม.ค. ประมาณ 202 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4 ซึ่งแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นของมูลค่าโฆษณาในเดือน ก.พ. สะท้อนทิศทางการใช้งบโฆษณาของเอเจนซี่ที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากชะลอการใช้งบในช่วงเดือนแรกของปี 2560 โดยมูลค่าการโฆษณาแบ่งตามหมวดหมู่ช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลพบว่า หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) มีมูลค่าการโฆษณาสูงสุดประมาณ 3,568 ล้านบาท ตามมาด้วยหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) ประมาณ 1,101 ล้านบาท หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ประมาณ 169 ล้านบาท และหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ประมาณ 34 ล้านบาท

ฐากร กล่าวว่า สำหรับค่าความนิยมของช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในเดือน ก.พ. 2560 พบว่า ช่องรายการที่มีผู้ชมสูงสุด 10 อันดับแรก ยังคงเป็นกลุ่มเดิมเหมือนในช่วงเดือน ม.ค. 2560 นั่นคือ อันดับ 1 ช่อง 7 เรตติ้ง 2.204 อันดับ 2 ช่อง 3 เรตติ้ง 1.388 อันดับ 3 ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี เรตติ้ง 1.094 อันดับ 4 ช่อง โมโน 29   เรตติ้ง 0.648 อันดับ 5 ช่องวัน เรตติ้ง 0.561 อันดับ 6 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.509 อันดับ 7 ช่อง 3SD เรตติ้ง 0.264 อันดับ 8 ช่องไทยรัฐ ทีวี เรตติ้ง 0.228 อันดับ 9 ช่องอมรินทร์ ทีวี เรตติ้ง 0.2 และอันดับ 10 ช่อง NOW เรตติ้ง 0.176 

นอกจากนี้ ผลการจัดลำดับความนิยมในรายการประเภทต่างๆ ประจำเดือน ก.พ. 2560 พบว่า รายการละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ เรื่องเกิดเป็นกา ออกอากาศทางช่อง 7 เรตติ้ง 7.729 รายการวาไรตี้ทั่วไปที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ รายการเส้นทางบันเทิง ออกอากาศทางช่อง 7 เรตติ้ง 5.493 รายการประกวดแข่งขันความสามารถที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ รายการหน้ากากนักร้อง หรือ The Mask Singer ออกอากาศทางช่อง เวิร์คพอยท์ ทีวี เรตติ้ง 8.082 รายการกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ รายการมวยไทย 7 สี ออกอากาศทางช่อง 7 เรตติ้ง 3.191 และรายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ รายการข่าวภาคค่ำ ออกอากาศทางช่อง 7 เรตติ้ง 5.126

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัย ชี้ ม.5 เป็นการแก้ไขกลับมาเหมือน รธน.50 แต่เปิดกว้างขึ้น

Posted: 07 Apr 2017 07:23 AM PDT

วิษณุแจงรัฐบาลต้องเร่งร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ –ปฏิรูปประเทศภายใน 4 เดือน ยันคำสั่งตาม ม.44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ 'มีชัย' ชี้ คำสั่ง ตาม ม.44 ฉบับใดเกินขอบเขต รธน.ก็ต้องทบทวน 'ประธาน สนช.' ยัน ไม่ตีตกร่าง กม.ลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ 'อภิสิทธิ์' เชื่อคสช.ผ่อนคลายคำสั่งหลังมี กม.พรรคการเมือง

7 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยถึงการดำเนินการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ได้แบ่งระยะเวลาการดำเนินการออกเป็น  4 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละฉบับ ทั้งนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องร่างให้เสร็จและเร่งประกาศใช้ คือ ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ  และ ร่าง พ.ร.บ.ปฎิรูปประเทศ ซึ่งจะต้องร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน หรือกฎหมายบางประเภทต้องยกร่างให้เสร็จและเสนอ สนช.ตามขั้นตอน

วิษณุ กล่าวด้วยว่า ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือ การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างบริการประชาชน การต่อต้านการทุจริต และการออกกฎหมายที่จะต้องมีขั้นตอนมากขึ้น และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรา 77 ซึ่งต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจกัน

วิษณุ กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลจะทำงานเหมือนเดิม แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างในการเสนอกฎหมายของแต่ละกระทรวงต้องเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน เช่นเดียวกับ รัฐสภาที่จะมีแบบแผนการประชุมปรับเปลี่ยนข้อบังคับการประชุม สนช. ด้วย และรัฐบาลก็ต้องปรับเรื่องการนำเสนอกฎหมายที่จะต้องสอดรับยุทธศาสตร์ชาติและการปฎิรูปประเทศ เพราะสิ่งที่รัฐบาลจะทำคือการเดินหน้าปฎิรูปประเทศและจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ยันคำสั่งตาม ม.44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ 

ส่วนคำสั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น  วิษณุ กล่าวยืนยันว่า คำสั่งดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้แล้วก็ตาม เพราะในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ระบุให้คำสั่งมาตรา 44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่หากรัฐบาลใหม่ ต้องการจะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกคำสั่งมาตรา44 ให้ออกเป็นพ.ร.บ.ยกเลิกได้

มีชัย ชี้ ม.5 เป็นการแก้ไขกลับมาเหมือน รธน.50 แต่เปิดกว้างขึ้น

แฟ้มภาพ

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ว่าด้วยกรณีใดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติไว้ ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองว่า เป็นการแก้ไขกลับมาเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพียงแต่ช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเปิดกว้างมากขึ้นให้ทุกองค์กรสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ จากที่ผ่านมาจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต่อเมื่อมีปัญหาระหว่างองค์กรเท่านั้น ส่วนประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายรับรองไว้ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเบื้องต้น  ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และถือว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและเป็นผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตมักมีหลายฝ่ายไม่เชื่อมั่นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า เป็นความเข้าใจผิดของคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร

ชี้ คำสั่ง ตาม ม.44 ฉบับใดเกินขอบเขต รธน.ก็ต้องทบทวน

มีชัย ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. ว่า ยังสามารถใช้ได้ตามหลักการที่เคยใช้ แต่ต้องระมัดระวังมากขึ้นไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่ถึงขั้นใช้มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกไปก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้วว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่หากมีฉบับใดที่เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะต้องนำกลับมาทบทวน ซึ่ง คสช.ระมัดระวังอยู่แล้ว

ประธาน สนช. ยัน ไม่ตีตกร่าง กม.ลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ 

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ในวันที่ 18เมษายน นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองมาให้ สนช. พิจารณาตามกรอบเวลา 60วัน ทั้งนี้ยอมรับว่า มีบางประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง อาทิ การยกเลิก กกต.จังหวัด และการให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งทางคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายของ สนช. ได้มีการประสานพูดคุยกับ กรธ. เป็นระยะ และยืนยันว่า สนช. จะไม่ตีตกร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4ฉบับ ตามที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ได้ย้ำถึงความจำเป็นในการให้ สนช. เก็บตัวพิจารณากฎหมายลูกเพื่อให้คณะกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันภายใต้เงื่อนเวลาที่มีอยู่จำกัด

ประธาน สนช. ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ว่า สนช. จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120วัน ซึ่งคาดว่ารัฐบาลส่งให้ สนช. แล้ว โดยจะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม วิปสนช. ระหว่างวันที่ 18-19เมษายน นี้ และเบื้องต้นคาดว่าน่าจะนำเข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 20 - 21เมษายน นี้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความพร้อมของรัฐบาลด้วย พร้อมยืนยันว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2ฉบับ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ดังนั้นจึงไม่สามารถพิจารณาทั้ง 3วาระรวดได้

อภิสิทธิ์ เชื่อคสช.ผ่อนคลายคำสั่งหลังมี กม.พรรคการเมือง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงทิศทางการเมืองไทยหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ในที่สุดประเทศก็ต้องเดินกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย มีความชัดเจนของตารางเวลามากขึ้น ทุกฝ่ายมีหน้าที่ช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย และเรียนรู้จากปัญหาในอดีตเพื่อให้กลับเข้าสู่ประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน ส่วนที่ในรัฐธรรมนูญตัดเรื่ององค์กรแก้วิกฤติชาติ ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ปี 60 ออก  ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการเขียนไว้กว้าง ๆ แบบนี้ก็มีความยืดหยุ่นของฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาได้

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังยืนยันไม่ยกเลิกคำสั่ง หรือประกาศของคสช. ที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางการเมือง อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เข้าใจได้ว่าการผ่อนคลายน่าจะเกิดขึ้นหลังมีกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้  ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นพรรคการเมืองจะต้องทำอะไรหลายอย่างก็ให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่จะออกมา 

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดภาพแล้ว! ชายลึกลับถ่ายภาพบ้านผู้อุปถัมภ์ ของ 'ชัยภูมิ ป่าแส'

Posted: 07 Apr 2017 06:42 AM PDT

TNN24 เปิดภาพชายลึกลับถ่ายภาพบ้านผู้อุปถัมภ์ ของ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ขี่รถจักรยานยนต์วนเวียน จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัย 

7 เม.ย. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก (อ่านที่นี่)  

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา TNN24 ได้เผยแพร่ภาพ ชายลึกลับถ่ายภาพบ้านผู้อุปถัมภ์ ของ ชัยภูมิ โดยขี่รถจักรยานยนต์วนเวียน จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัย 

สำหรับกรณีการข่มขู่ผู้เกี่ยวข้องกับ ชัยภูมินั้น เมื่อวันที่  24 มี.ค.60 เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองเดินทางเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงพื้นที่ติดตามกรณีดังกล่าว และสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่และคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว เนื่องจาก ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักลาหู่ ซึ่งเป็นพี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ ที่กำลังถูกคุกคาม ด้วยการวางกระสุนปืนไว้หน้าบ้านไมตรี 

และวันต่อมา 25 มี.ค.60 อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองพร้อมด้วย เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสถานะบุคคล สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ลงพื้นที่ พร้อมได้พาไมตรีไปลงบันทึกประจำวันเรื่องโดนข่มขู่ที่ สภ. นาหวาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรดแมปเลือกตั้ง-ไหนบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน”

Posted: 07 Apr 2017 06:35 AM PDT

ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช่ว่าการเลือกตั้งทั่วไป การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และการลงจากอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล คสช. จะเกิดขึ้นในเร็ววัน "ประชาไท" อ่านรัฐธรรมนูญ 2560 สำรวจโรดแมป โดยพบว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นช้าสุดไม่เกินปลายปี 2561 รวมระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. นับตั้งแต่วันทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันเลือกตั้ง อาจจะมีระยะเวลารวมกว่า 4 ปี 6 เดือน

เป็นเรื่องที่แน่ชัดแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วในวันที่ 6 เมษายน 2560 ย่างก้าวต่อไปของการเมืองไทยคือการเดินหน้ากลับสู่การเลือกตั้ง และกลับสู่ภาวะเสมือนการเมืองปกติ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู สำหรับประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถึงที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ผ่านการเห็นชอบโดยคะแนนเสียง 16,820,402 เสียง ต่อ 10,598,037 เสียง (61.35% ต่อ 38.65%) นอกจากนี้มียังบัตรเสีย และผู้ที่กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนอีก 936,209 คิดเป็น 3.15% จากจำนวนผู้มาออกเสียงทั้งหมด 29,740,677 คน

อย่างไรก็ตามภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช่ว่าการเลือกตั้งทั่วไป การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และการลงจากอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลทหารจะเกิดขึ้นในเร็ววัน "ประชาไท" อ่านรัฐธรรมนูญ 2560 สำรวจเส้นทางการเดินไปสู่สิ่งเหล่านั้น โดยพบว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นช้าสุดไม่เกินปลายปี 2561 รวมระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. นับตั้งแต่วันทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อาจจะมีระยะเวลารวมกว่า 4 ปี 6 เดือน

8 เดือน
เมษายน 2560 ถึง ธันวาคม 2560
จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ

นับจากวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นช่วงเวลาสำหรับการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ แม้จะร่นระยะเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งให้เร็วกว่าเดิมได้โดยการเร่งจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับให้เสร็จก่อน แต่ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า หลังจากวันที่ 18 เม.ย. 2560 ที่จะมีการส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยหลังจากนั้น กรธ. ก็จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีก 6 ฉบับที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุว่า หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทาง กกต. และพรรคการเมืองต่างๆ จะได้มีเวลาเตรียมสู่การเลือกตั้งได้

จากนั้นจะนำเอากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เข้าสู่ที่พิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็น 2 อันดับสุดท้าย

2 เดือน
มกราคม 2561 ถึง กุมภาพันธ์ 2561
สนช.พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ภายหลังจากมีการส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้ายเข้าสู่การพิจารณา สนช. จะมีระยะเวลาพิจารณากฎหมายไม่เกิน 60 วัน

1 เดือน
มีนาคม 2561
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ประมาณ 30 วัน นับจากวันที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้าย ประกาศเป็นกฎหมาย จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าตรงตามเจตรมณ์แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

3 เดือน
เมษายน
2561 ถึง มิถุนายน 2561
นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ

นับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งความเห็นกลับมาว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้ายไม่เป็นปัญหา หรือหากมีปัญหาและได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน

5 เดือน
กรกฎาคม 2561 ถึง พฤศจิกายน 2561
จัดการเลือกตั้งทั่วไป

นับจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้เป็นกฎหมาย ให้ดำเนินการเลือกตั้งภาย 150 วัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ตื่น !

Posted: 07 Apr 2017 05:37 AM PDT



๐ ตื่น ตื่น ตื่น จากฝันที่ฟั่นเพ้อ
ท้าวท่านเธอไหนเล่าจะเข้าข้าง
หมากกลเม็ดทุกถ้วนล้วนอำพราง
เพื่อเหยียบย่างย่ำสูสู่แท่นทอง

๐ รองรับเบื้อง__บน,อุบาย
สมุนอมาตย์หมาย__มุ่งเกื้อ
บำเหน็จหลาย__ปูนล่อ
รุมย่ำเนื้อ__แหลกชน

๐ เลือดจะนองจะซากจะสูญสิล้น
มิอาจสะกิดสะท้อนกมล__อธรรมนั่น
๐ เพียงสนองกิเลสอำนาจ ณ วัน
เถลิงประกาศสิยึดและมั่น__เผด็จการ ฯ
....

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สังคมไทยชอบสันติจริงหรือ?' คำถามจากทหารและข้อสังเกตจากสานเสวนาพุทธศาสนาเพื่อสันติชายแดนใต้

Posted: 07 Apr 2017 04:40 AM PDT


 

เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2560 คณะทำงานโครงการ "พุทธศาสนากับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกลุ่มใหญ่กลุ่มน้อยในสังคมไทย ได้จัดงานสานเสวนาภายในกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มชาวพุทธจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาคใต้และส่วนอื่นๆ ของประเทศ การสานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นสำหรับชาวพุทธในส่วนกลาง และเป็นการสานเสวนาภายใน (intra dialogue) งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้อง 118 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์และวางยุทธศาสตร์ในการติดตามกระบวนการสันติภาพ-สันติสุข เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์และออกแบบวิธีการที่จะช่วยลดอุปสรรคที่อาจมีต่อกระบวนการสันติภาพ-สันติสุข  เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์และออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยผลักดันนโยบายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเช่น รัฐบาล สภาความมั่นคง ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล มหาเถรสมาคมและหน่วยงานศาสนาอื่นๆ  โครงการนี้เป็นการริเริ่มจากนักสันติวิธีสตรีคนสำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และยังเป็นผู้บุกเบิกงานด้านการสานเสวนา (Dialogue) ทั้งภายในและระหว่างศาสนา (Intra-Inter faith Dialogue) ตลอดจนอุทิศตนทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต่างศาสนิกในชายแดนใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ด้วยโรคมะเร็ง

ในวันแรกของการสานเสวนามีวิทยากรพิเศษ 2 ท่านได้รับเชิญมาร่วมเสวนาเพื่อประเมินสถานการณ์การสร้างสรรค์สันติสุขในสังคมพุทธ-ไทย วิทยากรท่านแรกคือ พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ นายทหารผู้รับหน้าที่เป็นเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่วนอีกท่านเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยดุสิตซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับพุทธศาสนาในสังคมไทยมาพอสมควรนั่นคือ ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ วิทยากรทั้งสองท่านได้รับการมอบหมายให้พูดภายใต้โจทย์ที่ท้าทายสังคมพุทธ-ไทยอย่างยิ่งว่า "องค์กรพุทธ ช่วย-ไม่ช่วยให้สถานการณ์ภาคใต้กลับคืนสู่สันติสุข"

ความโดดเด่นของวงสานเสวนานี้เริ่มต้นจากนายทหารที่ทำหน้าที่อยู่ในคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ นำการเสวนาด้วยการกล่าวแสดงความถ่อมตนเยี่ยงนักปรัชญาโสเครติสผู้มีประโยคเด็ดสะดุดใจว่า "ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย" ด้วยถ้อยคำว่า "ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี แต่ผมจะขอพูดในนามของผู้ปฏิบัติงาน" อาจจะกล่าวได้ว่าน่าจะเป็นนายทหารจำนวนน้อยนิดในกองทัพที่กล้ายืดอกพูดอย่างหนักแน่นเช่นนั้นทั้งๆ ที่ทำงานในหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนน่าเชื่อได้ว่าเป็นผู้รู้เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขดีที่สุดคนหนึ่ง  คงต้องกล่าวด้วยว่า ท่าทีและคำพูดเช่นนั้นยากยิ่งนักที่จะได้ยินจากปากชายชาติทหารคนอื่นๆ ที่มักเป็นร่างทรงของนักรบ ผู้เข้มแข็งห้าวหาญ ดุดัน สมเป็นรั้วผู้ทำหน้าที่ปกป้องกันภัยให้ชาติและคนในชาติ หรือภาพลักษณ์ที่มักเห็นจนชินตา คือ ผู้ที่มีเครื่องแบบอันทรงอำนาจ ทะนงว่าเป็นผู้รู้รอบและตอบได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจนของพลเมือง เงินคงคลัง ไปจนเข็มขัดนิรภัย หรือความปลอดภัยท้ายกระบะรถ  หากแต่ด้วยท่าทีที่สุภาพถ่อมตนและดูไม่เหมือนนายทัพนายกองที่ต้องปั้นหน้าเคร่งขรึมพูดจาเสียงห้วนห้าว บทสนทนาที่เริ่มขึ้นจึงกระชากใจผู้ร่วมสานเสวนาที่มีทั้งพระภิกษุ แม่ชี ฆราวาส ครูบาอาจารย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม และนักศึกษาให้จดจ่อและตั้งใจฟังจนครบถ้วนกระบวนความอย่างไม่ลุกหนีไปไหน และที่สำคัญด้วยท่าทีชื่นชมต่อผู้พูด บ่งบอกว่านายทหารผู้นี้สื่อสารอย่างชนิดที่เรียกว่า "ได้ใจผู้ฟัง" อย่างยิ่ง

กลับมาที่วงสานเสวนา คำถามแรกที่พลตรีสิทธิ เริ่มต้นชวนสนทนายิ่งดึงดูดความสนใจมากขึ้นอีกเมื่อท่านถามว่า "จริงๆ แล้ว สังคมไทยเรายึดสันติวิธีจริงหรือไม่" และตามมาด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายกรณีเป็นต้นว่า การฆ่ากันด้วยเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์รัฐไทย และข่าวแต่ละวันที่นำเสนอแต่ภาพความรุนแรง แม้กระทั่งขับรถยนต์กันไปบนท้องถนนก็ไม่เว้นมีการใช้ความรุนแรง ก็ต้องถามว่าเราชอบใช้ความรุนแรงกันใช่ไหม?

และเมื่อโยงถึงเหตุการณ์ในชายแดนใต้ดังที่คณะผู้จัดงานได้ตั้งชื่อโครงการไว้ แน่นอนว่ามีประเด็นเรื่องคนกลุ่มน้อย พลตรีสิทธิตั้งคำถามว่า "การเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นความรู้สึกหรือว่าเป็นเพราะการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อกันแน่ และในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ยังต้องมีคำถามว่าใครเป็นคนกลุ่มใหญ่เป็นคนกลุ่มน้อยกันแน่ ทหารเป็นคนกลุ่มน้อยหรือเปล่า แต่เมื่อพูดถึงคนไทยพุทธในพื้นที่ คนไทยพุทธก็บอกว่าตนเองเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ถ้าเราแหงนหน้ามองไปในสังคมใหญ่ มองขึ้นไปทางกรุงเทพฯ เราก็จะเห็นว่าคนกลุ่มใหญ่เป็นคนไทยพุทธหมดเลย เช่นเดียวกันที่พี่น้องมุสลิมหรือมลายูในภาคใต้พวกเขาก็บอกว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ถ้ามองกลับเข้าไปข้างหลังไปทางมาเลเซีย อินโดนีเซีย ใครเป็นคนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่กันแน่ ทีนี้ทำอย่างไรเราจะทำให้ความรู้สึกเป็นคนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่นี้มันไม่ใช่ ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันให้ได้" น่าสนใจว่าหากผู้คนในสังคมไทยเข้าใจบริบททางสังคมเช่นเดียวกับที่นายทหารผู้นี้เข้าใจ ปฏิสัมพันธ์และท่าทีที่ผู้คนซึ่งแตกต่างหลากหลายในสังคมปฏิบัติต่อกันน่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ พลตรีสิทธิชี้ให้เห็นว่า "เรามักจะมองเห็นว่านโยบายของรัฐบาลพยายามจะสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่ว่าสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่รับรู้กันมันไม่ใช่ ที่รือเสาะมีการยิงคนไทยพุทธ สื่อมีความพยายามจะสื่ออะไรให้สังคมรับทราบว่าไทยพุทธเป็นคนโดนกระทำไหม แต่ว่าอย่างที่มุสลิมตายทุกวัน สื่อลงว่าอย่างไร สื่อลงว่าราษฎรตาย ชาวบ้านตาย นี่คือสิ่งที่สื่อพยายามจะเน้นย้ำ ก็เป็นการทำให้รู้สึกไม่สบายใจต่อคนไทยพุทธ ก็มีปฏิกิริยาในเชิงตอบโต้กัน และเป็นปัญหาที่พลตรีสิทธิเองก็ตั้งคำถามมาตลอดว่า "จริงๆ แล้วคนไทยชอบความรุนแรง หรือไม่ชอบความรุนแรงกันแน่"  นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า "ความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาภาคใต้ได้เลย สะท้อนจากเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ มีการวิสามัญที่รือเสาะ 2 ศพ ที่เกี่ยวข้องกับการลอบยิงผู้ใหญ่บ้านตาย ตามมาด้วยการยิงถล่มโรงพักรือเสาะ และตามมาด้วยการยิงถล่มตำรวจที่รือเสาะ นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก" 

ถ้าย้อนกลับไปถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่รือเสาะ 2 ศพก็คงไม่มีเหตุการณ์ดังที่เล่ามา เขากล่าวย้ำว่า "ความรุนแรงโดยตัวมันเอง มันมีความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวัน เราจะลดทอนมันได้อย่างไร ที่ผมถามว่าสังคมไทยจริงๆ แล้วนิยมความรุนแรงหรือไม่ ส่วนหนึ่งส่วนตัวก็อยากจะเชื่อว่าไม่นิยมความรุนแรง" พลตรีสิทธิกล่าว

เขาย้อนภาพสถานการณ์ในชายแดนใต้ที่ผ่านมา 12-13 ปีโดยชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การตั้งคำถามต่อสังคมไทยซ้ำๆ ว่า "เมื่อมีการฆ่าคนไทยพุทธ พุทธก็ขอมีอาวุธเพื่อจะปกป้องคุ้มครองตัว แต่เอาเข้าจริงก็มีการใช้อาวุธไปทำร้ายคนมุสลิม เมื่อคนมุสลิมถูกทำร้าย ถูกยิง คนมุสลิมก็ร้องขอมีอาวุธเพื่อป้องกันตัว และอย่างที่รู้กัน ต่างฝ่ายต่างก็ใช้อาวุธไปห้ำหั่นโจมตีตอบโต้กัน นายทหารท่านนี้จึงย้อนถามผู้ร่วมสานเสวนาเพื่อชวนคิดว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่ต่างฝ่ายต่างร้องขอเพื่อให้รัฐจัดงบประมาณเพื่อติดอาวุธให้พลเรือน และที่สุดก็ไม่สามารถจะควบคุมได้ ตกลงสังคมไทย คนไทย นิยมสันติวิธีแน่หรือ"

นอกจากคำถามข้างต้นแล้ว เขายังให้ข้อสังเกตชวนขบคิดต่อไปว่า "ที่ผ่านมา ชาวไทยพุทธเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับหรืออยู่กับมุสลิมให้ได้ แต่ว่าคำถามคือ มุสลิมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับไทยพุทธให้ได้หรือไม่?"

ต่อข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกสำหรับการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งรุนแรง และการขับไล่ชาวพุทธออกจากพื้นที่เพื่อให้ชายแดนใต้เป็นสังคมอัตลักษณ์เดี่ยว ซึ่งเขาเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และทางออกของปัญหาการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าวยังคงต้องยึดแนวทาง "สังคมพหุวัฒนธรรม" โดยเขายกตัวอย่างภาพสังคมพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจ คือ สังคมมาเลเซีย โดยเล่าว่า "มาเลเซียเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมีหลากหลายเชื้อชาติ เด็กจีนเล่นด้วยกันใช้ภาษาจีน แต่พอเพื่อมุสลิมมาเขาก็ปรับเป็นพูดภาษาอังกฤษเพื่อให้สื่อสารด้วยกันได้ แต่สำหรับสังคมไทย ผมคุยกับเพื่อนมุสลิมอยู่ด้วยภาษาไทย แต่พอมีเพื่อนมุสลิมอีกคนมาเขากลับลุกไปและพูดภาษามลายูด้วยกัน แล้วเราจะเป็นพหุวัฒนธรรมได้อย่างไร"
ต่อจากนั้น ผศ.สุรพศ ได้นำเสนอแนวคิดชวนผู้เข้าร่วมสานเสวนาวิเคราะห์ภาพความเป็นจริงของสังคมไทยซึ่งเขาเห็นว่า ปัญหาชายแดนใต้มีงานวิจัย บทวิเคราะห์ บทความ การอภิปรายและการสานเสวนาเป็นจำนวนมากหากแต่คำตอบที่จะเป็นทางออกจากปัญหาที่แท้จริงนั้นยังมาไม่ถึง อย่างไรก็ดี ผศ.สุรพศชี้ให้เห็นรากเหง้าของปัญหาประการหนึ่งคือ "ความไม่เป็นประชาธิปไตยของสังคมไทย" และขยายความว่า ที่สังคมการเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้มีการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเดือนตุลาคม 2514, 2519 แต่การต่อสู้ที่ศูนย์กลางรัฐมักใช้การต่อรองบ้าง หรือไม่ก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและรุนแรงในการจัดการปัญหา แต่สำหรับปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ รัฐไม่อาจใช้อำนาจจัดการอย่างง่ายๆ ได้ ด้วยมีความซับซ้อนมากกว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่วนกลางเนื่องจากมีมิติของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และยังมีกลุ่มขบวนการต่างๆ ที่มีอุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและกลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ

ผศ.สุรพศ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้มีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่หลายฝ่ายมองว่า "ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา" คือ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับชาวพุทธในพื้นที่โดยตรง ข้อมูลจากผลศึกษาวิจัยต่างๆ บ่งชี้ว่ามีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือของฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐ และในการดึงคนให้ไปอยู่ในฝ่ายตัวเอง หรือใช้ศาสนาปลุกปั่นสร้างความรุนแรง ซึ่งขัดกับหลักคำสอนของศาสนาโดยพื้นฐาน ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นภาครัฐ องค์กรเอกชน มหาวิทยาลัย สื่อต่างๆ พยายามที่จะใช้ความเชื่อทางศาสนา พลังของผู้นำทางศาสนา หรือองค์กรทางศาสนาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของการสร้างความขัดแย้งรุนแรง หรือเป็นพลังในการแก้ปัญหาก็ได้

ที่ว่าศาสนาอาจเป็นทั้งพลังสร้างปัญหา และเป็นพลังในการแก้ปัญหา ย่อมสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยที่ "ไม่มีการแยกศาสนาออกจาการเมือง" ได้จริง จะเห็นได้ว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน มักจะมีการอ้างศาสนา หรือมีกลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มคนที่อ้างศาสนาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งมีทั้งการเคลื่อนไหวสนับสนุนและต่อต้านประชาธิปไตย กระทั่งสนับสนุนความรุนแรง เช่นบทบาทของกิตติวุฑโฒภิกขุ เจ้าของวาทกรรม "ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป" เป็นต้น ปัญหาภาคใต้ก็ย่อมมีเรื่องทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางศาสนาในวันนี้

ก่อนจะจบการนำเสนอ ผศ.สุรพศ ตั้งคำถามชวนขบคิดต่อว่า  "ถ้าเรายอมรับว่าศาสนาอาจเป็นทั้งเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง และอาจเป็นทั้งพลัง แก้ปัญหาความขัดแย้ง เราจะทำอย่างไรต่อ"  และให้ข้อเสนอด้วยว่า "เราควรใช้พลังศรัทธาของศาสนาสร้าง "ขันติธรรม" (tolerance) หรือความอดกลั้น การเปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายในสังคมพหุ วัฒนธรรม (cultural pluralism)" โดยได้เชื่อมโยงกับกรอบแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและแก่นสาระของแต่ละศาสนา มองในแง่หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ความแตกต่างของความเชื่อและอัตลักษณ์ทางศาสนา, วัฒนธรรม ย่อมเป็น "สิทธิ" อย่างหนึ่ง คือ "สิทธิทางวัฒนธรรม"(cultural rights) การมีขันติธรรมต่อความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม ก็คือการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกันและกัน ผศ.สุรพศกล่าว

ยิ่งกว่านั้น ผศ.สุรพศ ยังชี้ให้เห็นว่าการสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม ย่อมเป็นการสร้างความเป็น "พวกเดียวกัน" ขณะที่การเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกันและกัน ก็คือการสร้าง "เอกภาพ" ในความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม และเท่ากับเป็นการสร้าง "หลักประกัน" ให้ความแตกต่างหลากหลายเป็นไปได้ และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และชวนให้ผู้ร่วมสานเสวนามองให้เห็นมิติหลักธรรมคำสอนของพระศาสดาในศาสนาที่นับถือพระเจ้า (God) เช่น ศาสนาคริสต์, อิสลาม การเคารพความแตกต่างหลากหลาย ย่อมเป็นการเคารพ "พระประสงค์ของพระเจ้า" เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ในฐานะเป็น "จินตภาพ" (image) ของพระองค์ และทรงสร้างมนุษย์ให้มี "เจตจำนงอิสระ" (free will) เป็นของตนเอง ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงเสมอภาคกันในฐานะเป็นจินตภาพของพระเจ้า หรือเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า และเมื่อมีเจตจำนงอิสระของตนเอง ก็แปลว่ามนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือก เมื่อมีเสรีภาพที่จะเลือก ย่อมเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะเลือกแตกต่างกัน ฉะนั้น ความแตกต่างทางความคิดเห็น ความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ และอื่นๆ จึงเป็น "พระประสงค์ของพระเจ้า" ถ้าพระเจ้าไม่ต้องการให้มนุษย์แตกต่างกัน พระองค์ย่อมไม่สร้างมนุษย์ให้มีเจตจานงอิสระตั้งแต่แรก ด้วยเหตุนี้ ผศ.สุรพศ จึงสรุปว่า การมีขันติธรรมหรือมีความอดกลั้น เปิดกว้าง เคารพต่อความแตกต่างทางศาสนา จึงเท่ากับเคารพต่อพระประสงค์ของพระเจ้า ศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าอย่างพุทธศาสนา ก็ถือว่ามนุษย์มี "ธรรมชาติพื้นฐานที่ดีงามเสมอกัน" พุทธสายเถรวาทเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมี "โพธิปัญญา" เป็นศักยภาพด้านในเสมอกัน ขณะที่พุทธสายมหายาน เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี "พุทธภาวะ" หรือความเป็นพุทธะภายในตัวเองเสมอกัน ขณะเดียวกันในคาสอนเรื่อง "กรรม" หรือการกระทำ พุทธศาสนาก็ถือว่า มนุษย์ทุกคนมี "เจตจำนงอิสระ" ในการเลือกกระทำถูกหรือผิดทางศีลธรรมด้วยตนเอง เมื่อแต่ละคนเลือกทำถูก ทำผิดด้วยเจตจำนงอิสระของตน เขาหรือเธอย่อมต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ฉะนั้น จุดเน้นของคำสอนเรื่องกรรม ก็คือ การยืนยันว่ามนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกกระทำสิ่งต่างๆ และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของของตนเอง เมื่อมนุษย์มีเจตจำนงอิสระหรือมีเสรีภาพที่จะเลือกการกระทำ (รวมทั้งการคิด การพูด) ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่มนุษย์จะเลือกคิด เลือกเชื่อ เลือกกระทำ หรือเลือกนับถือศาสนาและอื่นๆ แตกต่างกันได้เสมอ การบังคับกะเกณฑ์ให้คนต้องคิด ต้องเชื่อ (เป็นต้น) เหมือนกันไปเสียทุกอย่าง ย่อมขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ และก่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ตามมา

ผศ.สุรพศย้ำว่า หากมองในมิติของคำสอน ไม่ว่าจะเป็นคำสอนของศาสนาที่นับถือพระเจ้าอย่างคริสต์ อิสลาม หรือศาสนาไม่มีพระเจ้าอย่างพุทธศาสนา ต่างก็เชื่อใน "ความเป็นมนุษย์" ที่มีความเสมอภาคและมีเจตจำนงอิสระเป็นของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ปกป้อง "สิทธิในเจตจำนงอิสระของตนเองของปัจเจกบุคคล" ทั้งนี้เพราะปรัชญาเสรีนิยม (Liberalism) ที่เป็นรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชนก็ "แบ่งปัน"  ความคิดเรื่องความเสมอภาคมาจากศาสนาคริสต์ เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิของนักปรัชญาเสรีนิยมอย่าง จอห์น ล็อค (John Locke) ที่ว่า "สิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาแก่ทุกคนพร้อมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์" โดยทั่วไปแล้ว แนวคิดเสรีนิยมย่อมถือว่า "ความเป็นมนุษย์" หมายถึง "ความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ที่มีเจตจำนงอิสระ และมีสิทธิ อำนาจเป็นของตนเอง" ความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าวนี้ คือรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ "ความเป็นมนุษย์" ในคำสอนของศาสนาคริสต์  อิสลาม พุทธศาสนา และตามหลักสิทธิมนุษยชน จะพบว่ามี "จุดร่วม" ที่สำคัญคือ ความเชื่อใน "ความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค มีเสรีภาพ มีสิทธิ อำนาจเป็นของตนเอง" ขณะที่ ความเป็นมนุษย์ในความหมายพื้นฐานนี้ จึงหมายถึง ความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพศ ผิว ฯลฯ อะไร ความแตกต่างทั้งหลายทั้งปวงที่เห็นได้ในสังคมมนุษย์ ย่อมสะท้อนออกมาจาก "ความเป็นมนุษย์" ที่ทุกคนมีเสมอภาคกัน ฉะนั้น การเคารพความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม เพศ ผิว ฯลฯ จึงหมายถึงการเคารพใน "ความเป็นมนุษย์" ที่โยงไปถึงการเคารพต่อพระประสงค์ของพระเจ้า หรือเคารพเจตนารมณ์แห่งธรรมะ หรือพูดอีกอย่างว่า ศรัทธาในพระเจ้าและธรรมะ ก็คือศรัทธาใน "ความเป็นมนุษย์" ของตนเองและผู้อื่นเท่าเทียมกัน นี่คือรากฐานของความรักความเมตตา และความดี ความงามในทางศาสนา ซึ่งมีความหมายสำคัญในเชิงสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

ก่อนสิ้นสุดการนำเสนอ ผศ.สุรพศ ท้าทายว่าถ้าองค์กรพุทธศาสนา (หรือองค์กรคริสต์ อิสลาม) จะมีบทบาทสนับสนุนให้สถานการณ์ภาคใต้กลับคืนสู่สันติได้ จำเป็นต้องตรวจสอบความเชื่อพื้นฐานของตนเองว่า "เชื่อ" หรือศรัทธาอย่างลึกซึ้งใน "ความเป็นมนุษย์" ที่มีความเสมอภาค มีเจตจานงอิสระ และมีสิทธิ อำนาจเป็นของตัวเองหรือไม่ เพียงใด ถ้าศรัทธาอย่างลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าว ย่อมสามารถแปรพลังศรัทธานั้นมาเป็นพลังให้เกิด "ขันติธรรม" บนพื้นฐานของการเคารพความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมได้

ผู้เขียนเห็นว่า การนำเสนอของ ผศ.สุรพศ เป็นเหมือนกุญแจไขไปสู่ประตูคำตอบที่พลตรีสิทธิตั้งไว้ต่อสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากสังคมไทยซึ่งกล่าวกันว่าคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจะย้อนไปตรึกตรองสะท้อนคิดว่าพึงจะดึงเอาหลักธรรมคำสอนที่สอดคล้องกับการมอง การปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันด้วยความเคารพต่อหลักคำสอนโดยเฉพาะคำสอนที่ว่า "ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต" ขณะเดียวกันก็ชี้ทางออกจากคำถามอีกประการที่พลตรีสิทธิถามต่อพี่น้องชาวมุสลิมด้วยเช่นกันว่าพร้อมจะเรียนรู้เพื่อจะอยู่ด้วยกันกับชาวพุทธและชาวศาสนิกอื่นๆ อย่างสันติและเคารพในความแตกต่างหลากหลายศาสนาที่นับถือและวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทั้งพุทธและศาสนิกอื่นๆ ก็พึงได้รับการเคารพให้เกียรติในฐานะสิ่งสร้างของพระเจ้าเช่นกัน

กล่าวให้ถึงที่สุด ตัวกลัวตายและอยากมีสันติสุขขณะดำรงชีวิตในโลกมนุษย์ โดยเฉพาะในรัฐที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและผ่านประวัติศาสตร์แห่งการฆ่ามาอย่างโชกโชน ทั้งยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่าจะมีชีวิตยืดยาวได้เพียงใดว่า "หากเรา/ท่านเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ ไม่ว่าพุทธหรือมุสลิมต่างก็เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าทั้งสิ้น" ควรหรือที่เราจะเข่นฆ่าทำลายมนุษย์ที่พระเจ้าได้ทรงสร้างขึ้น และที่สำคัญ "ความเป็นมนุษย์" ก็มีมาก่อนสิ่งใดๆ ก็ตาม รวมทั้งการนับถือศาสนา หรือการสังกัดรัฐชาติใดๆ

ในฐานะที่ผู้เขียนร่วมจัดงานสานเสวนาในโครงการนี้มาเป็นปีที่ 3 แล้ว ภาพแห่งความหวังว่าพลังของศาสนาจะนำมาสู่การสร้างสังคมการเมืองที่ผู้คนแตกต่างความเชื่อสามารถอยู่ร่วมกันได้โดย "ไม่ต้องฆ่ากัน" เด่นชัดขึ้นทุกทีๆ ย้อนไปก่อนหน้านั้น วันที่ 2 เมษายน 2560 ในวงสานเสวนาเรื่องเดียวกันที่คณะฯ ได้จัดขึ้นในจังหวัดปัตตานี พระภิกษุในชายแดนใต้รูปหนึ่งเสนอความคิดที่สำคัญยิ่งต่อการสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันโดย "ไม่ฆ่า" ว่า "เราอยู่ร่วมกันแบบไม่ฆ่าได้ไหม อยู่กันแบบต่างคนต่างมีวิถีของตน แต่ทำไงก็ได้ ไม่ต้องมาฆ่ากัน" ข้อเสนอนี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งทั้งต่อชาวพุทธเองและต่อพี่น้องชาวมุสลิมในชายแดนใต้ที่อยากฝากไว้ให้คิด 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา นักวิจัยในโครงการสานเสวนาพุทธศาสนากับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกลุ่มใหญ่และกลุ่มน้อยในสังคมไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอสุรเชษฐ์' ลาออกจาก กสม. ชี้บรรยากาศไม่เอื้อ 'อังคณา' ส่อถอดใจตาม

Posted: 07 Apr 2017 03:30 AM PDT

นพ.สุรเชษฐ์ ยันลาออกจาก กสม. จริง เหตุบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงาน ระบุ "จำเป็นต้องฮาราคีรีตัวเองเพื่อให้องค์กรรู้ตัว" แนะสื่อไปสืบเสาะหาจากคนภายใน กสม. ด้าน 'อังคณา' รับบรรยากาศไม่เอื้อจริง หลายคนอึดอัด ส่อถอดใจลาออกตาม

 

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย

7 เม.ย. 2560 จากรณีกระแสข่าว นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสิทธิฯ แล้วนั้น เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสิทธิฯ จริง 

เมื่อถามว่า หนังสือลาออกระบุเหตุผลว่าบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงาน หมายถึงอะไร นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า รอให้ฝุ่นมันหายจางสักนิด ตนพูดคนเดียวก็ไม่ดี ขอให้สื่อไปสืบเสาะหาจากคนภายในกรรมการสิทธิฯ อย่าให้ออกจากปากของตนเลย "เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมจะออกจากบ้านแล้วมาเผาบ้านตัวเองมันจะไม่ดี ขอให้ไปถามจากคนภายในแล้วกัน"

ต่อกรณีคำถามว่ามีปัญหาจนทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้นั้น นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า บรรยากาศมันขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ได้ ที่ผ่านมาก็พยายามปรับเปลี่ยนการทำงานภายในเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่มันก็มีเรื่องอื่นๆ อีกเยอะ

"ผมก็เลยจำเป็นต้องฮาราคีรีตัวเองเพื่อให้องค์กรรู้ตัวบ้าง ซึ่งก็หวังว่าการลาออกของผมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงจากภายในสำคัญที่สุด องค์กรต้องเข้มแข็ง ต้องเดินหน้าเพราะองค์กรนี้เป็นประโยชน์กับสังคม ตัวบุคคลมาแล้วมันก็ต้องไป ตัวกรรมการสิทธิฯ มาแล้วก็ต้องไป" นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

อังคณา เผยคิดว่าจะลาออกก่อน หมอสุรเชษฐ์ด้วยซ้ำ 

ขณะที่ ไทยโพสต์ รายงานบทสัมภาษณ์ของ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ถึง นพ.สุรเชษฐ์ ขอลาออกจากกสม.ด้วย อังคณา กล่าวว่า ว่าบรรยากาศการทำงานมันอึดอัด และไม่สร้างสรรค์ โดยส่วนตัวก็รู้เป็นแบบนี้และเป็นเยอะด้วย เพราะมติการออกเสียงไม่เป็นมติ

"ยอมรับตลอดมาว่าแม้บางครั้งเป็นเสียงข้างน้อยในกสม. ก็ยอมรับและเคารพมติที่ประชุมมาโดยตลอด แม้ว่าจะไม่พอใจกับหลายๆ เรื่อง ก็ยอมรับมติที่ประชุม แต่พอเราเป็นเสียงข้างมาก ฝ่ายเสียงข้างน้อยกลับไม่ยอมรับมติที่ประชุม และมีหลายอย่างที่ทำให้งานเดินหน้าต่อไปไม่ได้เลย ดังนั้นพอทำอะไรไม่ถูกต้องก็รู้สึกอึดอัด คิดว่า นพ.สุรเชษฐ์เขาก็คงอึดอัดเหมือนกัน" อังคณา กล่าว

อังคณาบอกว่า คิดว่าจะลาออกก่อน นพ.สุรเชษฐ์ด้วยซ้ำไป ตนเบื่อ ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ คือถ้าให้ทำงานกินเงินเดือนไปเดือนต่อเดือนเราก็อยู่ได้ แต่เราจะทนอยู่ได้ยังไง เพราะมันกินเงินภาษีประชาชนเดือนละเกือบแสน และตอนนี้ชาวบ้านก็เดือดร้อนจะตาย เราอยู่แล้วทำอะไรไม่ได้จะอยู่ต่อไปทำไม เพราะตนเองก็เคยเป็นชาวบ้าน ทำงานตรวจสอบรัฐมาก่อน ถ้าอยู่แล้วทำงานตามอำนาจหน้าที่ได้ก็อยากจะอยู่ เพราะเป็นคนอาสามาทำหน้าที่ กสม.เอง ไม่มีใครบังคับ แต่มาทำงานแล้วมันไม่สามารถทำอะไรได้ เราก็ต้องทบทวนตัวเอง เพราะอยู่ไปกินเงินภาษีชาวบ้านก็อายเขาอีก

"บอกตรงๆ ปัญหาตอนนี้หลังเจอปัญหาเรื่องการจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งในการทำงานเรื่องนี้ก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว ยังมาเจอปัญหาภายในอีก ที่มันทำให้ทำงานยาก ถ้าทุกคนเชื่อมั่นในประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนคิดว่ามันไปได้ แต่พอมาเจออะไรแบบนี้ก็ท้อ ยังมีกสม.บางคนที่รู้สึกไม่ไหว แต่บางคนก็ยังเชื่อมั่นว่าถ้าอยู่ได้ก็ถือว่าดีแล้ว" อังคณา กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องซื้อๆ ขายๆ รถถังจากเมืองจีน ‘VT-4’ โลกที่ 3 ชื่นชอบ-ไทยจ่อจัดซื้อ 1 กองพันรถถัง

Posted: 07 Apr 2017 03:07 AM PDT

ทำความรู้จักผู้ซื้อ ผู้ขาย และรถถัง VT-4 กับอาวุธจากเมืองจีน ขวัญใจประเทศกำลังพัฒนา หลังมติ คณะรัฐมนตรีไทยอนุมัติเงิน 2 พันล้านซื้อรถถังจากประเทศจีน 10 คัน ตั้งเป้าจัดซื้อ 1 กองพันรถถัง ทดแทนรถถังยุคคุณปู่ M-41

คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดซื้อรถถัง VT-4 จากจีน ในระยะที่ 2 อีก 10 คัน รวมเป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อเข้าประจำการของกองทัพบก (อ่านข่าวเกี่ยวข้อง)

ไม่ว่ารถถังจะถูกนำไปใช้ที่ไหน ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตัวรถถัง พันธะการเงินที่ผูกพันกับไทยในการซื้อขายครั้งนี้ และภาพรวมการขายอาวุธของจีนที่พุ่งทะยานขึ้นมามีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ และรัสเซียตามลำดับ เป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจอย่างยิ่ง

ประชาไท ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจทั้งหลาย แยกออกเป็นสามประเด็น ดังนี้

1. รู้จักคนซื้อ

ไทยเป็นประเทศแรกที่นำเข้ารถถัง VT 4

นอกจากไทย มีเปรูกับปากีสถานที่กำลังดำเนินเรื่องจัดซื้อ

กองทัพบกมีแผนจัดหา VT 4 ให้ครบ 49 คัน เพื่อทดแทนรถถัง M-41 จากสหรัฐฯ ที่ใช้งานมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น

ก่อนหน้านี้กองทัพบกได้ลงนามซื้อรถถัง VT- 4 จากประเทศจีน ไปแล้ว 28 คัน สมัย พ.อ. ธีรชัย นาควานิช ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และซื้อเพิ่มในสมัยของ พ.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท อีก 10 คัน

กองทัพบกตั้งเป้าจัดซื้อรถถังให้ครบหนึ่งกองพันภายในปีงบประมาณ 2560 หรือภายในสิ้นเดือนกันยายน 2560

ที่ประชุม ครม. อนุมัติวงเงินซื้อรถถังจำนวน 10 คันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2 พันล้านบาท มีผลผูกพันงบประมาณ 3 ปี กล่าวคือ จะเป็นภาระผูกพันกับการจัดสรรงบประมาณให้ครบวงเงินดังกล่าวในเวลา 3 ปี

 

2. รู้จักคนขาย

รถถังสัญชาติจีน ผลิตโดยบริษัท NORINCO (China North Industries Company) ปัจจุบัน จีอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธในประเทศอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินไร้คนขับ จรวดต่อต้านเรือ จรวดจากพื้นดินสู่อากาศแบบยิงประทับบ่า รถถัง และมีการส่งออกอาวุธให้ต่างชาติเรื่อยมา

Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) รายงานว่า ในช่วงปี 2553 - 2557 จีนมีมูลค่าการส่งออกอาวุธมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยกินส่วนแบ่งตลาดไป ร้อยละ 5 รองจากอันดับสองและหนึ่ง ได้แก่รัสเซีย ร้อยละ27 และสหรัฐฯ ร้อยละ 31 ตามลำดับ

จากข้อมูลชุดดังกล่าว พบว่า ลูกค้ารายใหญ่ของจีน 3 อันดับแรกได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ และเมียนมาร์ จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 35 ประเทศ ตลาดส่วนใหญ่ของจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีกำลังซื้อน้อย และกลุ่มประเทศที่ถูกตะวันตกคว่ำบาตร ยกตัวอย่าเงช่น แอลจีเรีย ไนจีเรีย ซูดาน แทนซาเนีย และไทย

บทความจาก National Interest วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเทคโนโลยีอาวุธของจีนเป็นการต่อยอดมาจากแบบแปลนของสหภาพโซเวียตเดิมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ไม่มีจุดขายโดดเด่นที่มีศักยภาพเป็นตัวพลิกเกม (Game changer) ในสมรภูมิแย่งชิงดุลอำนาจในภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่นเครื่องบินรบ K-8 ที่เป็นสินค้าขายดีอีกชิ้น ก็เป็นเครื่องบินรบที่บินได้ช้ากว่าความเร็วเสียง กล่าวคือ อาวุธของจีนเหมาะกับความต้องการของประเทศโลกที่ 3 ที่มีกำลังซื้อและศักยภาพการฝึกฝนไม่เพียงพอกับอาวุธที่ทันสมัยกว่า หลายครั้งที่การซื้อระบบอาวุธจากจีน แล้วเปลี่ยนตัวอาวุธเป็นของตะวันตก เช่นเรือรบแบบคอร์แวตที่อัลจีเรียซื้อจากจีน ก็เอาระบบเรดาร์และการสื่อสารของฝรั่งเศสมาใส่แทนที่ของเดิม ในกรณีของไทยก็มีการนำเอาเครื่องบิน Saab จากสวีเดนมาใส่เรือฟริเกตที่ซื้อจากจีน

 

3. รู้จักรถถัง VT 4

อีกชื่อหนึ่งคือ MBT(Main Battle Tank) - 3000 พัฒนาจากรถถัง MBT 2000 อิงการออกแบบจากรถถังของรัสเซีย โดยมีความละม้ายคล้ายกับรถถัง T-90

บรรจุพลขับ 3 นาย

ขนาด 10.10 x 3.50 x 2.40 เมตร

น้ำหนักพร้อมรบ 52 ตัน

ความเร็วสูงสุดบนถนน 68 กม./ชม.

เครื่องยนต์ดีเซล กำลัง 1,300 แรงม้า

ระยะปฏิบัติการ 500 กม.

อาวุธยุทโธปกรณ์

ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบขนาด 125 มม. 1 กระบอก บรรจุกระสุน 38 นัด

ปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 มม. 1 กระบอก บรรจุกระสุน 500 นัด

ปืนกลขนาด 7.62 มม. 1 กระบอก บรระจุกระสุน 3,000 นัด

เครื่องยิงลูกระเบิดควัน 8 ท่อ ลูกระเบิดสังหาร 4 ท่อ ขนาด 76 มม.

มีระบบมองเห็นเวลากลางคืน

หุ้มเกราะปฏิกิริยาป้องกันแรงระเบิด

ป้องกันการโจมตีจากอาวุธทำลายล้างสูง (นิวเคลียร์ เคมี ชีวภาพ)

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Military Factory, NORINCO MBT-3000 (VT-4) Main Battle Tank (MBT)

The National Interest, China's Military Is Getting Strong (So Why Aren't Chinese Weapons Selling?)

Thai Armed Force, ครม.อนุมัติจัดหา VT-4 อีก 10 คัน/Cabinet Approved Another 10 VT-4s

ประชาไท, ครม.ไฟเขียว ช็อปรถถังจีน อีก 10 คัน กว่า 2 พันล้าน, 4 เม.ย. 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชช.แห่ให้กำลังใจ ตร.ค้าน #ห้ามนั่งท้ายกระบะ หลังถูกสั่งสอบ - ประวิตรรับเป็นคนชงเรื่องเอง

Posted: 07 Apr 2017 01:04 AM PDT

ประชาชนใน จ.ชุมพร ให้กำลังใจ พ.ต.ท.เอกราช หลังถูกสั่งสอบ กรณีโพสต์วิจารณ์มาตรการ ห้ามนั่งท้ายกระบะ ด้าน พล.อ.ประวิตร รับเสนอห้ามนั่งท้ายกระบะเอง ขออย่าด่านายกฯ ยันไม่กลัวเสียคะแนนนิยม ผ่อนปรนให้แล้ว นั่งท้ายได้ไม่เกิน 6 คน

7 เม.ย. 2560 จากกรณี เฟซบุ๊กชื่อ 'Aggarach Hoonngaum (สารวัตรเอก หุ่น)' ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม สภ.สลุย จ.ชุมพร โดยระบุถึงนโยบายห้ามคนนั่งกระบะหลังว่าการออกกฎหมายไม่ควรก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนและควรฟังเหตุผลของคนทุกระดับ ซึ่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลก์มากกว่าแสนและกดแชร์มากกว่า หลายหมื่นครั้งนั้น จนต่อมา ถูกคำสั่งให้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายัง ภ.จว.ชุมพรทันทีและอาจมีการตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนทางวินัย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วานนี้ (6 เม.ย.60) เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง3 รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ มีประชาชนใน จ.ชุมพรร่วม 50 คน เดินทางมายัง สภ.สลุย พร้อมนำดอกกุหลาบสีแดง มอบให้กับ พ.ต.ท.เอกราช พร้อมกับกล่าวขอบคุณที่กล้าแสดงความคิดเห็น และเป็นปากเสียงแทนประชาชนในกรณีดังกล่าว แต่ทางด้าน พ.ต.ท.เอกราช ไม่สามารถให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องห้ามนั่งกระบะหลังได้ โดยชาวชุมพรที่เดินทางมาให้กำลังใจนั้นใช้เวลาอยู่ที่ สภ.สลุย ประมาณครึ่งชั่วโมงจึงแยกย้ายกันกลับ

ขณะที่เฟซบุ๊กมาการขึ้นภาพสนับสนุน พ.ต.ท.เอกราช ด้วยเช่นกัน 

ประวิตรรับเสนอห้ามนั่งท้ายกระบะเอง ขออย่าด่านายกฯ ยันกลัวเสียคะแนนนิยม

วันนี้ (7 เม.ย.60) รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนออกมาต่อต้านมาตรการการห้ามนั่งท้ายรถกระบะว่า มาตรการดังกล่าวตนเป็นคนคิดร่วมกับคณะกรรมการและเสนอให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ เพราะเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งขณะนี้เราก็ได้มีการผ่อนปรนให้แล้วก็คือสามารถนั่งท้ายรถกระบะได้ไม่เกิน 6 คน แต่อย่านั่งขอบรถกระบะ ตนดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปี 57-59 มีความสูญเสียมาก จึงออกมาตรการดังกล่าวเพื่อป้องกัน

แฟ้มภาพ

"ขออย่าไปด่านายกฯ เพราะผมเป็นคนเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบและท่านก็เห็นด้วย เนื่องจากผมดูความมั่นคง และเรื่องจราจร เราอยากให้ประชาชนมีความปลอดภัย แต่ถ้าประชาชนไม่เอา ก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา" พล.อ.ประวิตร กล่าว พร้อมระบุว่า มาตรการนี้ ตนเป็นคนคิดร่วมกับคณะกรรมการฯ และเสนอให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ เพราะเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของประชาชน

"เราไม่ได้กลัวว่ารัฐบาล จะเสียคะแนนนิยม ในเรื่องการทำงาน เพราะไม่ต้องการคะแนนนิยมหรือลงเลือกตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประเทศเดินไปด้วยความแข็งแกร่ง และประชาชนปลอดภัย ขอให้เข้าใจด้วย" พล.อ.ประวิตร กล่าว พร้อมข้อร้องด้วยว่า อย่าไปโจมตีนายกฯ เพราะตนยอมรับว่า ตนเป็นคนคิด เอง ร่วมกับที่ประชุม เพราะอยากให้ประชาชนปลอดภัย ไม่สูญเสีย

 

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์Wassana Nanuam  และเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง3

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน. แจงเหตุก่อกวนชายแดนใต้หลายจุด ไม่มีการเข้าตีฐานปฏิบัติการ ไร้เจ็บ-ตาย

Posted: 07 Apr 2017 12:02 AM PDT

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงเหตุก่อกวนด้วยการวางระเบิด-เผายางในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่มีการเข้าตีฐานปฏิบัติการ ไร้คนเจ็บ-ตาย แต่ มีเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหายจำนวน 52 ต้น 

7 เม.ย. 2560 รายงานข่าวจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งว่า วันนี้ (7 เม.ย.60) เมื่อเวลา 10.00 น. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงกรณีเกิดเหตุคนร้ายก่อกวนด้วยการวางระเบิดแสวงเครื่อง และเผายางรถยนต์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา ว่า เหตุเกิดเมื่อ 7 เม.ย.60 เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ กลุ่มคนร้ายได้ทำการก่อกวนด้วยการวางระเบิดเสาไฟฟ้า และเผายางรถยนต์ในพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 19 อำเภอ มีเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหายจำนวน 52 ต้น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 6 อำเภอ 18 ต้น จังหวัดยะลา จำนวน 3 อำเภอ 8 ต้น จังหวัดนราธิวาส จำนวน 8 อำเภอ 20 ต้น จังหวัดสงขลา จำนวน 2 อำเภอ 6 ต้น

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้ หน่วยเฉพาะกิจจังหวัดและหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่เข้าควบคุมพื้นที่ป้องกันไม่ให้  พี่น้องประชาชน เข้าในพื้นที่ที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชน และวันนี้ตอนเช้าได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารวบรวมหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และรวบรวมสถานการณ์ด้านการข่าว เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการก่อกวนสร้างความวุ่นวายในพื้นที่ ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชน ซึ่งพี่น้องประชาชนมีความเบื่อหน่าย เนื่องจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องการการพัฒนา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขอยืนยันว่าไม่มีการเข้าตีฐานปฏิบัติการ ตลอดจนไม่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชน ตามข่าวที่ได้ออกไป ซึ่งเป็นการแอบอ้างและก่อกวนทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงขอให้ผู้ที่จะให้ข่าวได้ทำการตรวจสอบข่าวสารจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความตื่นตระหนกต่อไป 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รู้ยัง? คัดเลือกทหารเกณฑ์ปีนี้ เชิญผู้เข้ารับการคัดเลือกทุกคนตรวจปัสสาวะด้วย

Posted: 06 Apr 2017 10:52 PM PDT

คัดเลือกทหารเกณฑ์ปีนี้ จากการตรวจสอบในหลายพื้นที่ อาทิ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ตาก รวมทั้งชัยนาท มีการเชิญตัวผู้เข้ารับการคัดเลือกทุกคนไปตรวจปัสสาวะโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ปลัดอำเภอชี้ เกรงหลบหนีหากแจ้งก่อน แจง เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกตรวจเฉพาะบุคคล

7 เม.ย. 2560 ที่ศาลาการเปรียญ วัดท่ากฤษณา อ.หันคา จ.ชัยนาท ได้มีการนัดตรวจคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการ ประจำปี 2560 โดยที่หน่วยคัดเลือกดังกล่าวมีรายชื่อผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดเลือกทั้งสิ้น 522 คน อย่างไรก็ตามมีผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผ่อนผันประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้ารับการตรวจคัดเลือกทั้งหมด ขณะที่หน่วยคัดเลือกดังกล่าวมีความต้องการทหารกองประจำการทั้งสิ้น 92 นาย แบ่งเป็นทหารบก 71 นาย และทหารอากาศ 11 นาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการตรวจคัดเลือกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยก่อนหน้าที่จะมีการเริ่มตรวจคัดเลือกเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการชี้แจงเรื่องการเตรียมเอกสาร พร้อมทั้งเชิญชวนให้มีการร้องขอสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ โดยระบุถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ เช่น เงินเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และโอกาสที่จะสามารถสมัครสอบเข้ารับราชการต่อในระดับนายสิบทุกหมู่เหล่า อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 09.00 น. มีผู้ร้องขอสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการเพียง 5 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในปีนี้ภายหลังจากที่ผู้ตรวจคัดเลือกได้ผ่านกระบวนการต่างๆ จนเสร็จสิ้นไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ที่ต้องเข้าตรวจคัดเลือกในปีนี้ กลุ่มที่ร่างกายไม่ผ่านการตรวจคัดเลือก และกลุ่มที่ใช้สิทธิผ่อนผัน จะถูกเชิญตัวไปตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารแมทแอมเฟตามีน (methamphetamine) โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าก่อน

ด้าน ศรุต พรหมทัต ปลัดอำเภอหันคา ได้ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า การตรวจปัสสาวะผู้ที่มาตรวจคัดเลือกการเข้าเป็นทหารกองประจำการที่อำเภอหันคา เพิ่งได้มีการเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด

ปลัดอำเภอหันคา อธิบายต่อไปว่า การตรวจปัสสาวะครั้งนี้ เป็นการตรวจหาสารแมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพียงอย่างเดียว โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ 4 ฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

ศรุต ชี้แจงด้วยว่า สาเหตุที่ไม่ได้มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนว่าจะมีการตรวจปัสสาวะ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเกรงว่าหากมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าอาจจะทำให้ผู้ที่มาเข้ารับการตรวจคัดเลือกหลบหนี และอาจจะทำให้ปีต่อๆไปมีผู้มาเข้ารับการตรวจคัดเลือกน้อยลง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีเหตุจำเป็น หรือเหตุต้องสงสัยอย่างไร จึงได้มีการทำการตรวจปัสสาวะในวันตรวจคัดเลือกทหารกองประจำการ ปลัดอำเภอหันคาระบุว่า เนื่องจากผู้ที่เข้ามาตรวจคัดเลือกนั้นเป็นผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยที่อาจจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ และการตรวจปัสสาวะในครั้งนี้ หากพบว่าผู้ใดมีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย เบื้องต้นจะมีการสอบถามก่อนว่า ได้ใช้สารเสพติดจริงหรือไม่ พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเป็นผู้ทำการจัดระดับว่า บุคคลนั้นๆ มีระดับการเสพติดอยู่ในระดับใด โดยจะมีทั้งหมด 3 ระดับคือ ผู้ใช้ หมายถึงผู้ที่เคยใช้สารเสพติดเพียง 1-2 ครั้ง ผู้เสพ หมายถึงผู้ที่ติดใจในการเสพ และมีแนวโน้มเสพบ่อยขึ้น และระดับที่ 3 คือ ผู้ติด หมายถึงผู้ที่หมกมุ่นในการเสพ มีอาการเมายา และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ โดยหลังจากที่มีการจัดระดับแล้ว ก็จะมีการส่งตัวผู้มีสารเสพติดอยู่ในปัสสาวะเข้ารับการบำบัดตามระดับนั้นๆ โดยจะไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พื้นที่อำเภอหันคา เป็นพื้นที่ที่มีระดับความรุนแรงของยาเสพติดในระดับใด ปลัดอำเภอให้ข้อมูลว่า ยังอยู่ในระดับเบาบางมาก ส่วนใหญ่จะมีเพียงแต่ผู้ใช้ และผู้เสพ ซึ่งยังมีจำนวนน้อยเหมือนเทียบกับพื้นที่อื่นๆ และยังไม่พบผู้ค้าในเขตพื้นที่

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจปัสสาวะ ในลักษณะนี้จะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ปลัดอำเภอระบุว่า ตนเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนดี และเห็นด้วยว่าการที่ผู้ตรวจคัดเลือกถูกเชิญตัวมาตรวจปัสสาวะนั้น อาจถูกทำให้คนรอบข้างมองไม่ดีและถูกตัดสินไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการตรวจครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเลือกตรวจเฉพาะบุคคล แต่เป็นการตรวจปัสสาวะของทุกคนเหมือนกันหมด และเป็นไปเพื่อการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า มีหนังสือสั่งการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท.0311.3/ว5669 เรื่อง การดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไทย ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรมการปกครองขอให้ทจังหวัดสั่งการทุกอำเภอ บูรณาการการทำงานร่วมกับทหารในการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดกับผู้เข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำปาร ประจำปี 2560 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2560 ทุกอำเภอ หากปรากฏว่ามีผู้เสพยาเสพติด ให้นเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินหรือระบบบำบัดอื่นๆ ตามความเหมาะสม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น