โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ประยุทธ์' สั่งกำชับห้ามเด็กต่ำกว่า 20 ปีเข้าสถานบันเทิง

Posted: 23 Apr 2017 04:59 AM PDT

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศเข้มงวดตรวจตราสถานบริการ เน้นคัดกรองป้องกันเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการ หลังพบผู้ประกอบการหลายรายฝ่าฝืน ย้ำต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

 
 
 
23 เม.ย. 2560 พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราสถานบริการ ทั้งเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา เวลาให้บริการ การใช้ยาเสพติด และเน้นเป็นพิเศษเรื่องการคัดกรองผู้ใช้บริการ โดยต้องควบคุมไม่ให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการ หลังจากตรวจพบสถานบริการหลายแห่งฝ่าฝืนกฎหมาย
 
"ท่านนายกฯ ได้รับรายงานว่า มีสถานบริการหลายแห่งอนุญาตให้เด็กและเยาวชนเข้าไปใช้บริการ จึงรู้สึกห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัย เนื่องจากบางแห่งเป็นแหล่งมั่วสุมดื่มสุรา เสพยาเสพติด และเสี่ยงอันตรายหากเกิดเหตุทะเลาะวิวาทหรือการใช้ความรุนแรงขึ้น เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าตรวจสอบร้าน DJ Zone และร้านเวียงจันทร์ ในพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อกลางดึกวันที่ 21 เม.ย. พบเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวนมาก รวมทั้งสถานบริการยังกระทำผิดกฎหมายหลายประการ ทั้งไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ขายสุราให้แก่เด็กและเยาวชน เปิดให้บริการเกินเวลา และซุกซ่อนยาเสพติด เป็นต้น"
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานกำกับติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้สถานบริการฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่ให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใด ๆ โดยหากตรวจพบการกระทำผิดจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองให้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยต้องให้แนะนำตักเตือนไม่ให้ประพฤติตนในทางที่ไม่ถูกต้อง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. ยันเก็บค่าสมาชิกพรรคประชาชนเหมือนเป็นเจ้าของ ด้าน 'อภิสิทธิ์' เชื่อมีปัญหาแน่

Posted: 23 Apr 2017 04:25 AM PDT

อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. ยืนยันการเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคและทำกิจกรรมการเมือง "อภิสิทธิ์" ชี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนในการกำหนดค่าบำรุงที่สูงขึ้นโดยที่สิทธิไม่ได้เพิ่มขึ้น เชื่อจะมีปัญหาฉ้อฉลเกิดขึ้น แนะหากจะปรับเปลี่ยน ควรให้เวลาพรรคการเมืองทำงาน ขณะเดียวกันเรียกร้อง คสช.ผ่อนปรนให้จัดประชุมพรรคได้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการปฏิรูปพรรค 

 
23 เม.ย. 2560 พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะประชุมกันนัดแรก เพื่อเริ่มเดินหน้าพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากที่ สนช.ได้รับหลักการแล้ว ซึ่งจากการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว ยืนยันว่าการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้มีการเรียกเก็บเงินสมาชิกพรรคการเมืองทุกปี จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งส่วนตัวในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าจำเป็นต้องบัญญัติเรื่องนี้เอาไว้ แต่หากพรรคการเมืองสามารถชี้ได้ว่ามีวิธีการอื่นที่ทำให้ประชาชนมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้อย่างต่อเนื่องและมีความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เฉพาะวันแรกที่สมัครเป็นสมาชิก หากมีเหตุผลพอเพียงก็ต้องสนับสนุนให้มีการปรับแก้ ทั้งนี้เห็นว่าข้อกังวลในเรื่องของตัวเงินว่าประชาชนจะไม่สามารถจ่ายเงินได้นั้นเป็นเพียงข้ออ้างของพรรคการเมือง เพราะ กรธ.ยังพร้อมที่จะปรับแก้ว่าสมาชิกแรกเข้าสามารถปรับลงมาเหลือ 50 บาท จาก 100 บาทได้
 
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อคคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องการทำกิจกรรมพรคการเมืองนั้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ คสช.ได้พิจารณาอยู่แล้ว คิดว่าไม่จำเป็นต้องเรียกร้องหรือไปบอก และในกฎหมายก็ระบุไว้ชัดว่าภายใน 180 วัน พรรคการเมืองจะต้องทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เชื่อว่า คสช.จะพิจารณาอยู่แล้ว
 
"สังศิต" ชี้แนวคิดเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเพียงอุดมคติที่ยากเป็นจริง
 
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุให้เก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองปีละ 100 บาท ว่า เป็นความพยายามของ กรธ.ที่อยากเห็นคนดีเข้ามาทำงานการเมืองและให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่เห็นว่าการระบุเช่นนี้เป็นอุดมคติที่ไม่สามารถเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ ดังนั้นขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกำลังพิจารณาเรื่องนี้ควรรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้ปฏิบัติและมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้การเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม
 
"ท่านที่ร่างกฎหมายแบบนี้ เป็นคนดี มีความรู้ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์จริงกับพรรคการเมือง การที่เอาคนที่เป็นคนดีมีความรู้ แต่ไม่มีประสบการณ์จริงมาร่างกฎหมาย ก็จะได้แต่สิ่งที่เป็นอุดมการณ์ สิ่งที่เป็นความฝัน อุดมคติที่พวกเขาอยากเห็น ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นจริงในทางปฏิบัติ ผมคิดว่าสิ่งที่ กรธ.ออกแบบมา เป็นเพียงความฝัน ไม่มีทางสำเร็จ ถ้าจะให้ดีต้องให้พรรคการเมืองที่มีประสบการณ์จริงได้มีส่วนร่วมและต้องรับฟังความเห็นด้วย เพราะคนเหล่านี้อยู่ในโลกของความเป็นจริง สนช.ต้องหาทางปรองดองร่างกฎหมายฉบับนี้กับพรรคการเมืองที่สามารถเป็นจริงได้ด้วย" นายสังศิต กล่าว
 
สำหรับกรณีที่ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยกเลิก กกต.จังหวัดและให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนนั้น นายสังศิต กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็น กกต.จังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำงานดูแลการเลือกตั้งก็ตาม แต่หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด คือ การได้คนดี ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ โดยต้องออกแบบเพื่อให้ได้บุคคลในคุณลักษณะดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลการเลือกตั้ง และอยากให้ถามประชาชนในพื้นที่และพรรคการเมืองด้วยว่าการใช้ระบบผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาจะเป็นหลักประกันว่าจะทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมขึ้นหรือไม่ และทำให้สังคมไทยเดินหน้าได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
 
นายสังศิต กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันเห็นว่าการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญควรให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ รวมทั้งเห็นว่าคนที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน จะต้องเปิดเผยรายได้และการเสียภาษีย้อนหลัง 3-5 ปี จะเป็นประโยชน์เช่นกัน
 
"อภิสิทธิ์" ชี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเชื่อจะมีปัญหาฉ้อฉลเกิดขึ้น
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติให้เก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมืองคนละ 100 บาทต่อปี ว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยพยายามทำเรื่องนี้ โดยเก็บค่าสมาชิกพรรคคนละ 20 บาท แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่คุ้นเคยกับแนวคิดการชำระเงินเพื่อเป็นสมาชิก และการกำหนดค่าบำรุงที่สูงขึ้นโดยที่สิทธิไม่ได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพรรคการเมืองไม่มีเวลาที่จะไปทำความเข้าใจกับสมาชิกซึ่งมีจำนวนมากว่าจากเดิมที่เคยเป็นสมาชิกพรรคโดยไม่ต้องชำระค่าบำรุง แล้วถ้าไม่ชำระเงินจะขาดสมาชิกภาพ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องอธิบาย ซึ่งยากในการทำงาน
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ส่วนตัวสนับสนุนแนวคิดที่ให้ประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้เก็บเงินเพียง 20 บาท ยังใช้เวลามากในการทำความเข้าใจ ดังนั้นจึงอยากขอว่าหากจะปรับเปลี่ยนอะไร ควรต้องมีเวลาให้พรรคการเมืองได้ทำงาน และต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นให้ประชาชนมั่นใจว่าการเข้ามาเป็นสมาชิกจะได้สิทธิมากขึ้น
 
"แต่ขณะนี้การเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องเสียสิทธิในหลายด้าน เพราะในกฎหมายหลายฉบับระบุว่าใครเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่สามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ จึงเป็นเรื่องยากในการอธิบายว่าจะเสียเงินค่าบำรุงพรรคเพื่อเป็นสมาชิกพรรคทำไม เรามีการส่งเสริมเปลี่ยนแปลงวัฒธรรมในสังคมหรือยังที่จะมาทำตรงนี้ ดังนั้นหากทำสิ่งเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย พวกผมก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าจะมาพยายามให้มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เก็บเงินในอัตราที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนว่าประโยชน์ที่ได้รับคืออะไร นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว จะมีปัญหาการฉ้อฉลเกิดขึ้น และจะมีการเอาเงินไปจ่ายแทนประชาชน และจะตรวจสอบยากมาก และขณะเดียวกันเมื่อเขียนว่าการจ่ายเงินแทนกันเป็นความผิด มีโทษรุนแรง ก็จะสุ่มเสี่ยงว่าจะมีการกลั่นแกล้งกัน เช่น ส่งคนมาล่อซื้อแล้วเกิดปัญหาว่าตกลงใครเป็นผู้ชำระเงิน ดังนั้นจึงอยากให้เอาหลักการสำคัญมากำหนดไว้ในกฎหมายแล้วรายละเอียดให้ออกเป็นระเบียบของหน่วยงานนั้น จะดีกว่า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
นายอภิสิทธิ์ ยังเรียกร้องว่า อยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่อนปรนในบางเรื่อง เพื่อสามารถประชุมพรรคและจัดองคาพยพของพรรคการเมืองได้ โดยผ่อนปรนในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่มาตรฐานตามกฎหมายก่อน ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เรียกร้องอยากจะหาเสียงในขณะนี้ แต่ต้องสามารถประชุมเพื่อบริหารจัดการภายในและเตรียมตัวสำหรับการปฏิรูปพรรค ซึ่งเป็นเรี่องจำเป็น
 
ส่วนกรณีที่ กรธ.ยกเลิกการมี กกต.จังหวัดและให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการไม่ใช้ กกต.จังหวัดแบบที่เคยใช้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่มีคณะกรรมการที่จะให้คุณให้โทษเกี่ยวกับการดูคดีเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่และเกิดปัญหาว่าผู้เล่นกับกรรมการมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นระบบที่มีความยืดหยุ่นหมุนเวียนนำคนที่มาจากนอกพื้นที่มาช่วยทำงาน ถือเป็นหลักคิดที่ใช้ได้ แต่ควรให้ กกต.ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้คิดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำงานมากกว่าที่ กรธ.จะไปกำหนดบังคับไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่รัดตัวเกินไป ซึ่งยากต่อการปฏิบัติ
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #154 ความทรงจำรำลึกบรรหาร ศิลปอาชา

Posted: 23 Apr 2017 04:25 AM PDT

กดติดตามเพื่อรับชมคลิปใหม่ๆ ที่

 

 

ในโอกาสครบรอบ 1 ปี การจากไปของบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 และแกนนำพรรคชาติไทย-พรรคชาติพัฒนา จากสุพรรณบุรี หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อ่านหนังสือที่ระลึกงานศพของบรรหาร 2 เล่ม คือ "เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย" และ "มังกรสุพรรณคืนฟ้า"

โดยหนังสืองานศพของบรรหารได้รื้อสร้างภาพจดจำต่อบรรหาร ทั้งข้อโจมตีเรื่อง (1) การศึกษาน้อย (2) พัฒนาแต่สุพรรณ หรือ (3) สไตล์การทำงานแบบ "ล้วงลูก" นอกจากนี้ยังเน้นย้ำมรดกทางการเมืองที่สำคัญของบรรหาร เช่น เรื่องที่รัฐบาลบรรหารผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และ "รัฐธรรมนูญ 2540"

นอกจากนี้ยังเซ็ตภาพรับรู้ใหม่ต่อบรรหาร ในฐานะผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านนโยบายการต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีจัดการประชุมผู้นำยุโรป-เอเชีย หรือ "ASEM Summit" ครั้งที่ 1 ในช่วงรัฐบาลของบรรหาร

โดยหนังสือทั้ง 2 เล่ม มุ่งรื้อสร้างเรื่องเล่าและความทรงจำเกี่ยวกับ "บรรหาร ศิลปอาชา" อย่างไร "ครอบครัวศิลปอาชา" ต้องการให้เราจดจำผู้จากไปอย่างไร อยากให้เราลืมอะไร จดจำอะไร อยากให้เราเห็นความสัมพันธ์ของบรรหารกับใคร อยากให้เรารับรู้มรดกทางการเมืองของบรรหารเรื่องใดบ้าง ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญี่ปุ่นจะซักซ้อมให้ 'คนทำงานที่บ้าน' รับมือโอลิมปิก 2020

Posted: 23 Apr 2017 02:27 AM PDT

แม้จะเหลือเวลาอีก 3 ปีกว่าที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2020 แต่ก็เริ่มมีการทดสอบซักซ้อมระบบต่าง ๆ เตรียมการไว้แล้ว โดยในวันที่ 24 ก.ค. จะให้บริษัทและหน่วยงานของรัฐอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ ซึ่งโอลิมปิกเมื่อปี 2012 ที่ลอนดอนก็เคยใช้มาตรการนี้เช่นกัน

ในช่วงกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ที่โตเกียว รัฐบาลญี่ปุ่นจะขอความร่วมมือให้บริษัทและหน่วยงานของรัฐอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ ซึ่งโอลิมปิกเมื่อปี 2012 ที่ลอนดอนก็เคยใช้มาตรการนี้เช่นกัน ที่มาภาพประกอบ: flickr/Kathy Ponce (CC BY 2.0)

23 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ Channel NewsAsia รายงานว่ากรุงโตเกียวได้ประกาศให้วันที่ 24 ก.ค. 2560 นี้เป็นวัน 'ทำงานที่บ้าน' (Telework Day) ซึ่งจะตรงกับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาฤดูร้อนที่จะมีขึ้นในอีก 3 ปี โดยรัฐบาลต้องการให้บริษัทและหน่วยงานรัฐ ๆ ให้พนักงานทำงานจากระยะไกลไม่ต้องเข้าที่ทำงาน

รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นระบุในระหว่างโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว คาดหมายว่าการจราจรจะตัดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่จัดพิธีเปิดการแข่งขัน (วันที่ 24 ก.ค.) ทั้งนี้การใช้วิธีทำงานจากที่บ้านจะสามารถช่วยบรรเทาการจราจรและความแออัดในระบบขนส่งมวลชนได้ มหานครโตเกียว มีประชากรมากกว่า 30 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่ามีสภาพรถไฟและรถไฟใต้ดินที่แออัดมากในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในตอนเช้า

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ในการเปลี่ยนแปลงค่านิยม 'การทำงานหนักแบบญี่ปุ่น' ที่ผู้ชายมักใช้เวลาอยู่ที่ทำงานเป็นเวลานานและใช้เวลากับครอบครัวน้อยมาก ก่อนหน้านี้รัฐบาลเพิ่งริเริ่มที่จะจำกัดการทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อแก้ปัญหาการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป และหวังว่าจะมีคนทำงานที่บ้านเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเสร็จสิ้นลง

ทั้งนี้โอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอนก็เคยใช้มาตรการนี้เช่นกัน โดยในครั้งนั้นภาคธุรกิจกรุงลอนดอนเข้าร่วมโครงการถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว ส่วนที่ญี่ปุ่นจนถึงขณะนี้ ภาคธุรกิจมากกว่า 60 บริษัท ประกาศจะเข้าร่วมโครงการนี้ โดยบริษัทดัง ๆ ก็มีอาทิเช่น Suntory, Japan Airlines และ Microsoft ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าภาคธุรกิจประมาณ 1,000 บริษัทจะเข้าร่วมในโครงการนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: อีกแล้ว? 'เมาแล้วขับ' ตายหนักมาก เทียบมาตรการ-วินัยของญี่ปุ่น

Posted: 23 Apr 2017 01:43 AM PDT

รายงานจาก TCIJ มูลนิธิเมาไม่ขับ ระบุสงกรานต์ล่าสุดตายถึง 540 ราย มากกว่าตัวเลขของ ศปถ. ที่ 390 ราย หากนับตัวเลขที่มาแจ้งภายหลังด้วย ระบุเมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุแรก แม้สถติโดยรวมลดแต่สัดส่วนตายเพราะเมาแล้วขับกลับก้าวกระโดด ชวนดูบทเรียนเจ็บแล้วจำแล้วสร้างวินัยของญี่ปุ่นที่เน้นป้องกัน เมาแล้วขับชนคนตายติดคุก 15 ปี ปรับเงินคนเมาแล้วขับเฉลี่ยเท่ากับรายได้ 2.4 เดือน ลงโทษผู้ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่คนขับ ให้รถคนเมาไปขับโทษก็เหมือนดื่มเอง และยังลงโทษคนติดรถไปกับคนขับที่เมาอีกด้วย

มูลนิธิเมาไม่ขับ ระบุสงกรานต์ล่าสุดตายถึง 540 ราย ตัวเลขมากกว่าทางการที่ระบุไว้ 390 ราย หากนับตัวเลขคนตายที่มาแจ้งภายหลังด้วย เมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุแรก ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจากมูลนิธิเมาไม่ขับระหว่างการรณรงค์ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา (11-17 เม.ย. 2560) พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 540 ราย [1] ซึ่งตัวเลขของมูลนิธิเมาไม่ขับนี้เป็นตัวเลขรายวันที่รวมถึงคนตายที่ 'มาแจ้งภายหลัง' เข้าไปด้วย จึงมากกว่าของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่สื่อทุกสำนักรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 390 ราย ลดลงจากปีก่อน 52 ราย เกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 243 ครั้ง และที่น่าสนใจคือ 'ผู้บาดเจ็บ' รวม 3,808 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 152 คน โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระบุว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ 3 อันดับแรก คือ 1.เมาสุรา 43.06%  2.ขับรถเร็วเกินกำหนด 27.86%  3.ตัดหน้ากระชั้นชิด 14.82% ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 1.รถจักรยานยนต์ 79.44%  2.รถปิกอัพ 6.83%

การเก็บสถิติควรมาจากตัวเลขหลายแบบหลายหน่วยงาน ไหม?

ตารางที่ 1 ที่มา: Cabinet Office, Government Of Japan

การอ้างอิงตัวเลขของมูลนิธิเมาไม่ขับ ซึ่งมีความแตกต่างจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนนั้น ชวนให้นึกถึงประเทศญี่ปุ่นที่เก็บสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งภายใน 24 ชั่วโมง และภายใน 30 วัน ไว้ด้วย โดยในปี 2014 จำนวนผู้เสียชีวิต (ภายใน 24 ชั่วโมง) มี 4,113 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิต (ภายใน 30 วัน) มี 4,838 ราย แต่ยังมีปัญหาที่บางครั้งการเก็บตัวเลขสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของญี่ปุ่นของแต่ละหน่วยงานก็ไม่ตรงกันอีกด้วย เช่น ข้อมูลจากกระทรวงสุขภาพ, แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare) ระบุว่าในปี 2013 มีผู้เสียชีวิต 5,914 ราย ซึ่งแตกต่างกับตัวเลขของสำนักงานสถิติ (Statistics Bureau) ของญี่ปุ่นระบุว่าเสียชีวิตแค่ 4,388 ราย [2]

 

เทศกาลนับศพ 'เมาแล้วขับ' ยังเป็นสาเหตุตายอันดับแรก

 

ตารางที่ 2 ที่มาข้อมูลเรียบเรียงจาก: ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน สำนักบูรณาการสาธารณภัย อุบัติภัยและความปลอดภัยทางถนน 

สำหรับบ้านเรา สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอันดับ 1 ของ 7 วันอันตราย 10 ครั้งล่าสุด (ทั้งปีใหม่และสงกรานต์ 2556-2560) ยังคงเป็นเมาสุรา และเมื่อเทียบสงกรานต์ปีที่ 2559 กับปี 2560 นี้ แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสื่อจะลดลงก็ตาม แต่สัดส่วนของอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (พิจารณาจากตารางที่ 2)   

แม้ก่อนหน้านี้เมื่อ 28 มี.ค. 2560 ที่ประชุม ครม. จะมีมติปรับปรุงเกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ให้ถือว่าผู้ขับขี่นั้นเมาสุรา จากเดิมที่มี ปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะถือว่าเมาสุรา โดยแก้เป็น 'ให้ผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา' นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามี ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ยังคงใช้กฎข้อบังคับตามหลักเกณฑ์เดิม คือ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะถือว่าเมาสุรา ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอให้ แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี จากวันที่ 19 พ.ค. 2559 [3]

แต่ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วพบว่าเยาวชนไทยเริ่มขี่มอเตอร์ไซค์และดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุ 10 ปี ซึ่งกฎหมายจะครอบคลุมเพียงช่วงอายุ หลัง 10 ปีเท่านั้น ส่วนอายุเกิน 20 ปียังเหมือนเดิม และก่อนหน้านั้นหลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่เมื่อวัน 5 ม.ค. 2560 ก็ได้มีการเพิ่มบทลงโทษกรณีเมาแล้วขับ จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท เป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับขั้นต่ำเพิ่มเป็น 10,000 บาท แต่ไม่ เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต และเพิ่มมาตรการยึดรถในชั้นศาล ไม่เกิน 7 วัน [4]     

ผลที่เกิดขึ้น เพจชมรมกล้องหน้ารถ - Car Camera Club (ซึ่งเป็นการรณรงค์ของมูลนิธิเมาไม่ขับ) ได้เปรียบเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิต '365 วัน อันตราย' : คนตายบนท้องถนนในจุดเกิดเหตุ โดยระบุว่าเดือน ม.ค. 2560 ตาย 947 ราย, ม.ค.2559 ตาย 1,012 ราย เฉลี่ย 77 จังหวัด 'ลดลง' จากปีที่แล้ววันละ 2.1 ราย เดือน ก.พ.2560 ตาย 850 ราย, ก.พ.2559 ตาย 890 ราย เฉลี่ย 77 จังหวัด 'ลดลง' จากปีที่แล้ววันละ 1.4 ราย และ เดือน มี.ค. 2560 ตาย 1,281 ราย, มี.ค.2559 ตาย 900 ราย เฉลี่ย 77 จังหวัด 'เพิ่มขึ้น' จากปีที่แล้ววันละ 12.3 ราย [5]    

 

'เราจะไม่ทนอีกต่อไป'  ตัวเร่งวินัยและกฎหมายที่เข้มงวดของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวของอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศตั้งแต่ช่วงปลาย ทศวรรษที่ 1950 จนถึงปี 1970 การแก้ปัญหาและการสร้างวินัยของคนในชาติเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของญี่ปุ่นกินเวลาร่วม 60 กว่าปีเลยทีเดียว ที่มาภาพประกอบ: Daidō Moriyama

ญี่ปุ่นเองก็เคยเป็นประเทศที่มีปัญหาผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงลิบมาก่อนเมื่อในอดีต และมีความพยายามแก้ปัญหารวมถึงการ สร้างวินัยคนในชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตลอดยาวนานกว่า 60 ปีอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติม: จับตา: เกร็ดประวัติศาสตร์ความตายทางถนนและการสร้างความปลอดภัยของญี่ปุ่น) เป็นผลให้หลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น  ๆ รวมถึงอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมาแล้วขับก็ยังน้อยด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างถนนที่ดีก็มีส่วน แต่ปัจจุบันกฎหมายเมาแล้วขับของญี่ปุ่นเข้มงวดมากด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าญี่ปุ่นนั้น 'ก้าวหน้า'ทั้งในเรื่องโครงสร้างภาคขนส่งและสาธารณูปโภค และก็ไม่ลืมสางปัญหาที่ค้างคาอยู่ อย่างเรื่องกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อควบคุมคนใช้ถนน แม้กฎหมายญี่ปุ่นที่ปัจจุบันอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทั้ง 365 วัน 24 ชั่วโมง แต่ผู้ที่จะดื่มได้ต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป และถ้าจะขับขี่ยานพาหนะจะต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญไม่มีการเลือกปฏิบัติเรื่องอายุหรือประเภทใบขับขี่ (all drivers, young drivers หรือ professional drivers ก็ต้องไม่เกิน 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อย่างเสมอภาคกัน) [6]

การแก้กฎหมายเมาแล้วขับ 2 ครั้งหลังสุดในญี่ปุ่นที่ทวีความเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ นั้นเกิดจาก 'คนที่ไม่ได้เมาเสียชีวิตเพราะถูกคนเมาขับรถชน' ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 'เราจะไม่ทนอีกต่อไป!' ในญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเรื่องราวภาคแรกในเดือน พ.ย. ปี 1999 ที่โตเกียว เกิดเหตุรถบรรทุกที่คนขับเมาอย่างหนักได้ชนรถยนต์อย่างรุนแรงเป็นเหตุให้เด็ก 2 คน เสียชีวิตอย่างทารุณ ต่อมาในเดือน เม.ย. ปี 2000 ที่คานางาวะ นักศึกษาวิทยาลัย 2 คน เสียชีวิตจากการถูกรถชนโดยคนขับเมาแถมไม่มีใบขับขี่ ทั้งสองเหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นให้คนญี่ปุ่นลุกขึ้นเรียกร้องครั้งใหญ่ ปี 2001 คำร้องที่ลงชื่อโดยประชาชน 370,000 คน ถูกส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และต่อมาญี่ปุ่นจึงได้แก้ไขกฎหมายจราจรทางบกที่เพิ่มบทลงโทษสำหรับการเมาแล้วขับ ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายอาญาเพิ่มโทษสูงสุด สำหรับการขับขี่อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจากโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี เป็น 15 ปี ในเดือน มิ.ย. 2002 เริ่มบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ [7] ที่มีข้อบังคับต่าง ๆ ได้แก่ การลดเกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจของผู้ขับขี่จากไม่เกิน 0.25 เหลือเพียง 0.15 มิลลิกรัม/ลิตร (คือไม่เกิน  0.03% ของแอลกอฮอล์ในเลือด) และเพิ่มบทลงโทษ คือ ค่าปรับเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 5 หมื่นเยน เป็น 5 แสนเยน (425 เป็น 4,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราแลกเปลี่ยนช่วง มิ.ย. 2002)  ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยในขณะนั้นของผู้ที่จบมหาวิทยาลัย ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายใหม่ไม่ได้ ครอบคลุมเพียงผู้เมาแล้วขับ แต่ยังรวมถึงผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ และผู้ที่นั่งรถไปกับผู้ขับขี่ที่เมาอีกด้วย [8]

แม้การแก้ไขกฎหมายครั้งนั้น ยังไม่ได้ระบุบทลงโทษแก่ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ [9] แต่ญี่ปุ่นได้เผยแพร่กฎหมายใหม่นี้ในหลาย ช่องทาง รวมถึงในสื่อกระแสหลักและการทำงานของตำรวจเข้มข้นมากขึ้น ผลก็คือสัดส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทางถนน เมื่อแยกเอาเฉพาะที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ก่อน-หลัง กฎหมายฉบับใหม่ เปรียบเทียบระหว่าง มิ.ย.-ธ.ค. 2001: (ก่อน) กับ ช่วงเดียวกันปี 2002: (หลัง)  พบว่าผู้บาดเจ็บจากเมาแล้วขับลดลง 27%, ผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับลดลง 26.7% [10]

ส่วนการแก้กฎหมายครั้งล่าสุด (ภาคสอง) ที่นำมาสู่กฎหมายเมาแล้วขับฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่น เกิดจากเรื่องเศร้าสลดที่นำมาซึ่งกฎหมาย   'สุดเคี่ยว' และเช่นเดียวกันกับการแก้กฎหมายครั้งก่อนหน้านี้ คือ ผู้เสียชีวิตไม่ได้เมา อุบัติเหตุนี้เกิดเมื่อ 25 ส.ค. ปี 2006 รถยนต์ที่ขับมาโดยเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองฟุกุโอกะที่มีอาการมึนเมา ชนรถยนต์ของครอบครัวที่มาด้วยกัน 5 คน เป็นสามีภรรยาและลูก 3 คน ที่สะพานในจังหวัดฟุกุโอกะ เป็นเหตุให้รถยนต์ของครอบครัวนี้ พลิกตกลงไปในทะเล ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กทั้ง 3 ราย [11]

กรณีนี้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงสาธารณะ (public debate) ที่ถูกกระตุ้นโดยสื่อมวลชน [12] ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์เศร้าสลด รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มวางแผนโดยในที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตกลงที่จะโปรโมทแคมเปญต่อต้านการเมาแล้วขับทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่ธุรกิจขนส่งรวมถึงธุรกิจผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มด้วย [11] จากโพลล์ชิ้นหนึ่งเมื่อ 2006 ของทางการญี่ปุ่น พบว่าประชาชน 73% เรียกร้องให้มีการลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นสำหรับการเมาแล้วขับ และ 44% เห็นด้วยกับการลงโทษที่คล้ายคลึงกันสำหรับผู้ที่นั่งไปกับยานพาหนะที่ขับขี่โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ [13] [14]

 

ปรับจนอาน ลงโทษผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่คนขับ

เดือน ม.ค.2007 The Japan Times รายงานว่าข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นในการเพิ่มบทลงโทษสำหรับการเมาแล้วขับ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนในช่วงนั้น ที่ต้องการให้ลงโทษผู้เมาแล้วขับให้รุนแรงขึ้น ข้อเสนอนี้จะใช้บทลงโทษเดียวกันลงโทษผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ได้ดื่มด้วย เช่น ผับ/บาร์ ร้านอาหาร แม้ปี 2006 จะมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเมาแล้วขับ 611 ราย ลดลงจากปี 2005 ถึง 13.6% แต่ก็ไม่สามารถหยุดความต้องการของประชาชนที่อยากให้เพิ่มความรุนแรงของกฎหมาย โดยกฎหมายก่อนหน้านี้ห้ามการให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ภายใต้ข้อเสนอของสำนักงานตำรวจ ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ได้ดื่ม อาจต้องถูกคุมขังเป็นเวลาถึง 5 ปี หรือถูกปรับสูงสุด 1 ล้านเยน [15] หรือ 8,800$ (เยน ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือน ก.ย.2007) [16] ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per Capita) ของคนญี่ปุ่นในปี 2007 อยู่ที่ 43,882.8$ [17] นั่นเท่ากับ ประมาณ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งปี หรือ รายได้ 2.4 เดือน

 

คนญี่ปุ่น เจ็บแล้วจำ !

ชาวเมืองฟุกุโอกะอุทิศส่วนกุศลเนื่องในวันครบรอบ 10 ปี ให้กับ 3 พี่น้อง ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับครั้งที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ ทำให้มีการแก้กฎหมายเมาแล้วขับให้รุนแรงยิ่นขึ้นในเวลาต่อมา ที่มาภาพ: mainichi.jp

25 ส.ค. 2016 ที่จังหวัดฟุกุโอกะ ผู้คนในเขตฮิงาชิ ได้อุทิศส่วนกุศลเนื่องในวันครบรอบ 10 ปี ให้กับ 3 พี่น้อง ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมา แล้วขับ  โดยเหตุการณ์นี้เกิดจากรถของเจ้าหน้าที่เทศบาลจังหวัดฟุกุโอกะ วัย 22 ปี ที่เมาแล้วขับพุ่งชนเข้าด้านหลังรถยนต์ของครอบครัวที่ขับรถมาด้วยกัน 5 คน เป็นสามีภรรยาและลูก ๆ ทั้ง 3 คน บนสะพานแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะ เป็นเหตุให้รถยนต์ของครอบครัวนี้ชน แนวป้องกันที่มีความสูง 1 เมตรพลิกตกลงไปในอ่าว แม้ว่าพ่อแม่คู่นี้ได้ช่วยลูกชายวัย 3 ขวบ และลูกสาววัย 1 ขวบ ได้จากรถที่จมลงไปแล้ว แต่เด็กทั้งสองก็เสียชีวิตในภายหลัง ขณะที่ลูกชายวัย 4 ขวบ จมน้ำเสียชีวิตเพราะติดอยู่ในรถยนต์ เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2006 และเด็กที่เสียชีวิตมีอายุ 4, 3 และ 1 ปี ตามลำดับ

ในวันครบรอบ 10 ปีของอุบัติเหตุ เพื่อนบ้านและเด็ก ๆ ได้อธิษฐานให้เด็ก 3 คน ที่หลุมฝังศพของพวกเขา ที่วัดมิโยโตกุเซน-จิ ในบริเวณที่มีรูปปั้นจิโซ 3 ตนยืนอยู่เพื่อรำลึกถึงเด็ก ๆ ศาลเจ้านี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2007 หลังจากโศกนาฎกรรมและถูกตั้งชื่อว่า "Jizo of sky, wind and light" (Jizo คือพระพุทธรูปสไตล์ญี่ปุ่น) นักเรียน 66 คนจากโรงเรียนอนุบาลมาอิดาชิของจังหวัดฟุกุโอกะ มาแสดงความรำลึกที่วัด อาการิ โตโยต้า อายุ 6 ปี กล่าวว่า "ฉันภาวนาว่าผู้ใหญ่จะไม่ดื่มแล้วขับรถอีกต่อไป"

ขณะเดียวกัน ที่สถานีตำรวจ เจอาร์ ฮากาตะ และสถานีอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดฟุกุโอกะและเจ้าหน้าที่ของเมือง ได้แจกใบปลิวให้ผู้ขับขี่ เพื่อเรียกร้องให้ตระหนักถึงอันตรายของการเมาแล้วขับ ด้านนายกเทศมนตรีจังหวัดฟุกุโอกะ โซอิจิโร่ ทากาชิม่า กล่าวในงานแถลงข่าว "นี่คือวันที่พวกเรา ณ ที่ศาลาว่าการจะต้องไม่มีวันลืม เราจะไม่ปล่อยให้ความทรงจำนี้หายไป และไม่มีวันปล่อยให้อุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด" [18] [19]

 

ตารางที่ 3 ที่มา: Cabinet Office, Government Of Japan

เมื่อพิจารณาจากสถิติดังตารางที่ 3 พบว่าหลังจากการแก้กฎหมายและบังคับใช้ให้การเมาแล้วขับโทษมีโทษหนักขึ้นตั้งแต่ปี 2007 อัตราการตายจากอุบัติเหตุที่ก่อขึ้นโดยผู้เมาแล้วขับในญี่ปุ่นก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

และจากที่ได้กล่าวไปว่าโศกนาฏกรรมที่ฟุกุโอกะเมื่อปี 2006 ได้นำมาซึ่งกฎหมายเมาแล้วขับฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่น คือฉบับที่ออกมาในเดือน ก.ย.  2007 ซึ่งมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้ [20] [21]

เมาแล้วขับ (Driving While Intoxicated: DWI) ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Content/Concentration: BAC) 0.08 ขึ้นไป  จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (8,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ) (เยน ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือน ก.ย.2007) ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per Capita) ของคนญี่ปุ่นในปี 2007 อยู่ที่ 43,882.8$ [22] นั่นเท่ากับ ประมาณ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งปี หรือ รายได้ 2.4 เดือน  ส่วนกฎหมายเดิม จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$)

ขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ (Driving Under the Influence: DUI) คือ ระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ 0.15 มิลลิกรัม/ลิตร หรือ  ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่าง 0.03 ถึง 0.07999 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$) ส่วนกฎหมายเดิม จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (2,650$)

บทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ได้ขับขี่ แต่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย  (1)ให้คนที่ต้องขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือนั่งรถในฐานะ 'ผู้โดยสาร' ไปกับผู้ขับขี่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าผู้ขับขี่ถูกตรวจพบว่า DUI: ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ หรือ 'ผู้โดยสาร' อาจถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (2,650$) DWI: ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ หรือ 'ผู้โดยสาร' อาจถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$) และ (2) เอารถให้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์มาแล้วไปขับ โทษก็เหมือนดื่มเอง คือ หากผู้ขับขี่ถูกตรวจพบว่า DUI: ผู้ที่เอารถให้คนที่ดื่มฯมาแล้วไปขับ อาจถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$) DWI: ผู้ที่เอารถให้คนที่ดื่มมาแล้วไปขับ อาจถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน! (8,800$)

ปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (4,400$)

ชนแล้วหนี จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (8,800$)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: ประวัติศาสตร์ความตายทางถนนและการสร้างความปลอดภัยของญี่ปุ่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กทค. ลดค่าปรับค่ายมือถือลอบโอนย้ายลูกค้า เหตุทำผิดเพราะจำเป็น

Posted: 23 Apr 2017 12:47 AM PDT

กทค. เสียงข้างมาก ลดค่าปรับทางปกครองให้สามค่ายมือถือกว่า 350 ล้าน กรณีฝ่าฝืนเงื่อนไขคงสิทธิเลขหมาย แอบโอนย้ายผู้ใช้บริการภายใต้สัญญาสัมปทานเข้าบริษัท อ้างเหตุน่าเห็นใจ ค่ายมือถือเจตนาทำผิดเพราะความจำเป็น

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 10/2560 เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา กทค. เสียงข้างมาก 3 ต่อ 1 เสียง ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางและผลการคำนวณจำนวนค่าปรับทางปกครองของคณะทำงานพิจารณาทบทวนคำสั่งกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครอง กรณีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3 ราย ได้แก่ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต, และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ โดยผลของมติดังกล่าว กำหนดให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 5,400,591.64 บาท จำนวน 41 วัน รวมเป็นเงิน 221,424,257.34 บาท, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 1,239,538.88 บาท จำนวน 17 วัน รวมเป็นเงิน 21,072,160.99 บาท, และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 166,576.30 บาท จำนวน 44 วัน รวมเป็นเงิน 7,329,357.05 บาท คิดเป็นยอดรวมค่าปรับของผู้ประกอบการทั้งสามรายประมาณ 249.82 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัญหาสืบเนื่องจากทางสำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติในการโอนย้ายลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในเครือของตนจากระบบสัมปทานไปสู่บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มเปิดให้บริการ 3G บนคลื่น 2100MHz เมื่อต้นปี 2556 โดยมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้ใช้บริการในการขอโอนย้าย สำนักงาน กสทช. จึงมีคำสั่งลงวันที่ 14 ธันวาคม 2558 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตทั้งสามรายชำระค่าปรับรวมเป็นจำนวน 595.96 ล้านบาท แต่ในเวลาต่อมาผู้รับใบอนุญาตได้ยื่นอุทธรณ์ และ กทค. ส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าปรับทางปกครองที่สำนักงาน กสทช. กำหนดนั้นสูงเกินไป จึงมีการตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาทบทวนคำสั่งกำหนดจำนวนค่าปรับใหม่ ซึ่งผลการคำนวณของคณะทำงานฯ ดังกล่าวทำให้จำนวนค่าปรับลดลงจากเดิมราว 346.14 ล้านบาท

สำหรับหลักการที่คณะทำงานฯ ใช้เป็นแนวทางในการคำนวณค่าปรับใหม่ ซึ่ง กทค. เสียงข้างมากเห็นชอบคือ "แม้ผู้รับใบอนุญาตทุกรายมีความจงใจที่จะกระทำความผิดดังกล่าว แต่ต้องกระทำเพราะความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบจากการใช้บริการเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ขณะที่ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากการโอนย้ายเลขหมาย เช่น ช่วยประหยัดค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาเพื่อไปโอนย้ายเลขหมาย และค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายเลขหมาย จึงต้องคิดค่าปรับทางปกครองให้เหมาะแก่พฤติการณ์การกระทำความผิด"

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ nbtcrights.com ได้เคยตั้งข้อสังเกตต่อแนวทางในการคำนวณค่าปรับทางปกครองของคณะทำงานฯ ว่า"ไม่ได้พิจารณาให้ความสำคัญถึงข้อท้วงติงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เคยมีหนังสือสอบถามการดำเนินการจัดการปัญหาของ กทค. และสำนักงาน กสทช. มาแล้วหลายครั้ง ในเรื่องที่การฝ่าฝืนดังกล่าวกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทานที่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ควรได้รับ ซึ่งกระทบต่อรายได้เข้าสู่รัฐด้วย" นอกจากนี้ "โดยข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่ามีผลกระทบตามมามากมาย เช่น ผู้บริโภคจำนวนมากที่ถูกโอนย้ายเลขหมายโดยไม่รู้ตัว ต้องประสบปัญหาตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถรองรับการใช้งานในระบบใหม่ได้ ทำให้ไม่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เกิดความเสียหายและต้นทุนที่ต้องเดินทางไปเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่ ขณะที่ผู้บริโภคบางรายเมื่อเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่ ก็ถูกบังคับให้ต้องใช้โปรโมชั่นที่แพงขึ้น และที่สำคัญเป็นการละเมิดเรื่องความสมัครใจซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย"

 

ผู้รับใบอนุญาต

จำนวนวันที่เสียค่าปรับ

ค่าปรับทางปกครองที่สำนักงาน กสทช. เคยกำหนดไว้เดิม (บาท)

ค่าปรับทางปกครองที่คำนวณใหม่ซึ่ง กทค. มีมติเห็นชอบ (บาท)

AWN

41 วัน

483,864,247.00

221,424,257.34

DTN

17 วัน

104,655,128.00

21,072,160.99

TUC

44 วัน

7,446,736.00

7,329,357.05

รวมจำนวนเงิน

 

595,966,111.00

249,825,775.38

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟันยกสอง 'ธาริต' ร่ำรวยผิดปกติ

Posted: 22 Apr 2017 11:48 PM PDT

ป.ป.ช. ระบุล่าสุดมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 'ธาริต เพ็งดิษฐ์' กรณีร่ำรวยผิดปกติขึ้นอีกครั้ง อายัดทรัพย์สินไว้ก่อนประมาณ 90 ล้านบาท จากทั้งหมด 346 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไล่สอบเส้นทางการเงินและตรวจสอบเชิงลึก

 
 
 
23 เม.ย. 2560 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่า นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ขยายผลสอบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งถูกชี้มูลความผิดเมื่อปลายปี 2559 ว่าร่ำรวยผิดปกติ จนมีการอายัดทรัพย์สินบางส่วนไว้ ล่าสุดมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีร่ำรวยผิดปกติขึ้นอีกครั้ง และอาจพบว่านายธาริต มีพฤติกรรมยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอีกบางส่วนไปยังบุคคลอื่นว่าเป็นการขยายผลสืบเนื่องจากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเดิมของนายธาริต เบื้องต้นมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้อายัดทรัพย์สินไว้ก่อนประมาณ 90 ล้านบาท จากทรัพย์สินทั้งหมด 346 ล้านบาท ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจร่ำรวยผิดปกติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไล่สอบเส้นทางการเงิน และตรวจสอบเชิงลึก
 
'มีข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่านายธาริต ได้โยกย้ายทรัพย์สินบางส่วนมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ไปอยู่กับคนใกล้ชิด อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ถ้าทรัพย์สินส่วนไหนที่นายธาริตชี้แจงได้ถูกต้อง มีที่มาที่ไปก็จะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าส่วนไหนชี้แจงไม่ได้ หรือมีที่มาที่ไปไม่ชัดเจน อาจถูกอายัดไว้เพื่อตรวจสอบก่อนได้ ยืนยันว่า ป.ป.ช. ให้ความยุติธรรมกับนายธาริตอย่างเต็มที่' นายปรีชา กล่าว
 
ด้านแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เบื้องจากการไต่สวนคดี พบข้อเท็จจริงว่านายธาริตได้โอนทรัพย์สินบางส่วนให้กับบุตร ภรรยา คนใกล้ชิด และนายตำรวจใกล้ชิดรายหนึ่งเป็นผู้ถือทรัพย์สินแทน โดยส่วนใหญ่เป็นเงิน และหุ้นของบริษัทต่างๆ รวมถึงที่ดินด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ขึ้น นายธาริตได้ดำเนินการฟ้องต่อประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน คือ นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. หลายคดีด้วยกัน แต่ศาลได้ยกคำร้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ที่สู้กันถึงชั้นอุทธรณ์ และศาลแพ่ง
 
ทั้งนี้เมื่อต้นปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายธาริต ในคดีร่ำรวยผิดปกติไปแล้ว เนื่องจากพบว่ามีพฤติการณ์ให้ผู้อื่นถือทรัพย์สินแทนกว่า 346 ล้านบาท
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชง ‘บัตรทอง’ ปรับระบบให้สอดคล้องกับความจริง ชี้ปัญหาโรงพยาบาลต้องยื้อการรักษาเพื่อให้ได้เงิน

Posted: 22 Apr 2017 09:58 PM PDT

หมอกระดูก ชี้ "โครงการบัตรทอง" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการมาก แต่อยากให้ผู้บริหาร-ผู้กำหนดนโยบายปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ระบุ ทุกวันนี้ระบบถูกบิดเบือน สนับสนุนให้โรงพยาบาลรักษาช้า-ผู้ป่วยนอนนาน เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น

 
 
23 เม.ย. 2560 นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ เปิดเผยว่า หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดถึงเรื่องเงินเป็นใหญ่ ส่งผลดีคือผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น แต่ในรายละเอียดยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และสอดคล้องกับวิวัฒนาการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า การรักษาโรคกระดูกและข้อในปัจจุบันมีพัฒนาการไปมาก ฉะนั้นค่าใช้จ่ายทั้งด้านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงด้านอื่นๆ ก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้นฝ่ายนโยบายจำเป็นต้องพิจารณาตามความเป็นจริง คือพิจารณาตามตัวเลขและภาระค่าใช้จ่ายจริงๆ
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลยังพออยู่ได้แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลก็พยายามปรับตัวและประหยัดมากขึ้น เช่น ลดจำนวนวันนอน ลดการใช้ยา ลดการผ่าตัดที่ต้องใช้อุปกรณ์เกินความจำเป็น แต่ก็ทำได้เฉพาะบางกรณี ส่วนกรณีที่จำเป็นอื่นๆ หรือในโรคบางโรคที่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีได้ ฉะนั้นผู้ออกแบบระบบหรือส่วนกลางจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้แพทย์หรือโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดมีโอกาสพัฒนาในส่วนนี้ด้วย
 
"ไม่ใช่ยังให้ใช้เทคโนโลยีเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ เพราะการพัฒนาเหล่านี้จะส่งผลดีต่อคนไข้ คือไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานเหมือนก่อน ตรงนี้ผู้บริหารต้องเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย แต่โดยหลักการภาพรวมยืนยันว่าบัตรทองเป็นสิ่งที่ดีมาก"นพ.ลักษณ์ กล่าว
 
นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลเดือดร้อนเพราะถูกควบคุมจากฝ่ายบริหาร ส่งผลให้คนทำงานรู้สึกอึดอัด ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งในภาพรวมอาจมองว่าใช้งบประมาณมากเกินไป แต่ในข้อเท็จจริงคือมีคนไข้ที่จำเป็นต้องได้รับบริการจำนวนมาก เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
 
"ในขณะที่ความต้องการมีมหาศาล แต่ข้างบนกลับพยายามจำกัดหรือกำหนดโควต้า ซึ่งก็เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะงบประมาณมีจำกัดจึงต้องพยายามเลือกเคสที่มีความจำเป็นจริงๆ ฉะนั้นหลังจากนี้อาจต้องมีการพัฒนาระบบ อาจจะเป็นรูปแบบการเก็บเงินเพิ่มเติมผ่านระบบภาษีก็ได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายในระหว่างรับบริการ เพราะจะทำให้คนไข้เป็นกังวลในการรับการรักษา" นพ.ลักษณ์ กล่าว
 
หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์รายนี้ กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความพยายามจะลดค่าใช้จ่ายลง เช่น ข้อเข่าเทียมในอดีตสามารถเบิกได้ 5 หมื่นบาท ปัจจุบันก็พยายามลดลงมาเหลือ 4.5 หมื่นบาท ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาต่อด้วยว่าเมื่อลดวงเงินการเบิกจ่ายแล้ว คุณภาพวัสดุอุปกรณ์เวชภัณฑ์ทางการแพทย์จะลดลงด้วยหรือไม่
 
"อย่างผู้ป่วยข้อเข่าเทียม ปัจจุบันเข้าคิวรับการรักษาเป็นร้อยราย หรือรวมทั้งปีมีจำนวนมากถึง 200-300 ราย ซึ่งการให้บริการในปีที่ผ่านมาสามารถผ่าได้อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันกลับได้โควต้าเพียง 90 กว่าเข่า หรือที่ จ.น่าน ซึ่งมีประชากรเท่ากับ จ.แพร่ แต่ได้โควต้าเพียง 50 กว่าเข่าเท่านั้น โดยความพยายามจำกัดจะทำให้เสียโอกาสในส่วนนี้" นพ.ลักษณ์ กล่าว
 
นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ระบบถูกบิดเบือนผ่านกระบวนการทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่มือ ซึ่งสามารถผ่าตัดและกลับบ้านได้เลยภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ระบบทุกวันนี้กลับสนับสนุนให้คนไข้ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานๆ เพื่อที่โรงพยาบาลจะได้เงินมากขึ้น หรืออย่างผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงและลดอัตราการเสียชีวิต ทว่าระบบกลับออกแบบว่ายิ่งนอนนานโรงพยาบาลจะยิ่งได้เงินเยอะ คำถามคือโรงพยาบาลจะให้การรักษาอย่างรวดเร็วไปทำไม
 
"ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยให้เสร็จได้ภายใน 1 วัน และเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากกว่า แต่ระบบกลับบิดเบือนให้นอนนาน ทั้งๆ ที่การนอนนานจะทำให้เปลืองค่าใช้จ่ายโดยรวม เพิ่มภาระงานให้บุคลากร เบียดบังเตียงของผู้ป่วยรายอื่นๆ และยังส่งผลให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลแออัด เข้าใจว่าเรื่องเงินมีความสำคัญจริง แต่การรักษาก็ต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ให้ผู้ป่วยนอนนานๆ เพื่อให้ได้เงินเยอะๆ เพื่อพยุงให้โรงพยาบาลอยู่ได้ แบบนี้คิดว่าไม่ถูกต้อง"นพ.ลักษณ์ กล่าว
 
ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม สปสช.จะจัดสรรเป็นรายเขต โดยแต่ละเขตจะจัดสรรต่อเป็นรายจังหวัด เพื่อกระจายโควต้าไปยัง รพ.แต่ละแห่ง ซึ่ง รพ.ยังสามารถปรับเกลี่ยในระดับเขตได้อีกตามความจำเป็นที่มีผู้ป่วยต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเพิ่ม รวมทั้งจะมีการปรับเกลี่ยเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะทำให้ รพ.ได้รับการจัดสรรโควต้าข้อเข่าเพิ่ม หากมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนข้อเข่า และหากยังมีจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดก็สามารถอุทธรณ์ได้
 
ส่วนสาเหตุที่ สปสช.ดำเนินการจัดสรรโค้วต้าผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมนั้น เนื่องจากข้อมูลบริการที่ผ่านมา พบว่ามีการเข้าถึงบริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าน้อยในบางพื้นที่ และบางพื้นที่มีการเข้าถึงบริการมาก  ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและตามความจำเป็นของผู้ป่วยตามหลักวิชาการที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจริงๆ ไม่ได้เป็นการจำกัดการรักษาผู้ป่วย
 
โดยผู้ป่วยที่จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมข้อเข่าแห่งประเทศไทยกำหนดร่วมกับ สปสช. ทั้งผู้ป่วยที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ส่วนอายุต่ำกว่า 55 ปี จะต้องให้การรักษาเบื้องต้นด้วยยาและกายภาพบำบัดก่อนที่จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมขอให้ยุติการดำเนินคดี 7 นศ. ที่ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล

Posted: 22 Apr 2017 09:29 PM PDT

'ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือเพื่อสังคมประชาธิปไตย-ดาวดิน' ออกแถลงการณ์ต่อกรณี นักศึกษา 7 คนในเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล ระบุขอยืนยันเคียงข้างและขอให้ยุติการดำเนินคดีกับนักศึกษานักกิจกรรมทั้งหมด

 
วานนี้ (22 เม.ย. 2560) ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือเพื่อสังคมประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ต่อกรณี นักศึกษา 7 คนในเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ถูกดำเนินคดี ละเมิดอำนาจศาล ระบุว่าจากการที่พวกเขาออกมาถามหา " ความยุติธรรม " ให้กับเพื่อน - ไผ่ ดาวดิน
 
เราในฐานะกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่เท่าเทียมเป็นธรรม คงมิอาจกล่าวประณามศาลให้เป็นคดีแต่สิ่งที่เราจะกล่าว คือการยืนยันเคียงข้างสามัญชน นักศึกษา และคนทุกคนที่หาญกล้าท้าทายต่อความอยุติธรรม
 
 
นอกจากนี้กลุ่ม ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน ก็ได้ออกแถลงการณ์กรณี 7 นักศึกษา นักกิจกรรม ถูกฟ้องละเมิดอำนาจศาล ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่องค์กรต่างๆอาจไม่เป็นอิสระได้ เพราะสามารถถูกแทรกแซงได้จากผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐคือหัวหน้าคณะเผด็จการ คสช. ซึ่งปรากฎให้เห็นได้ใน มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลจึงเห็นได้เป็นปกติ โดยการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้กระบวนการยุติธรรมในการกำราบ
 
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 นักศึกษา นักกิจกรรม ได้รับหมายจากศาลจังหวัดขอนแก่นในคดีละเมิดอำนาจศาล ได้แก่ นักศึกษาทั้งหมด 6 คน และ นักกิจกรรมจากกรุงเทพฯ 1 คน โดยนัดพิจารณาวันที่ 24 เมษายน 2560 ต่อเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 โดยได้จัดกิจกรรมในนามของเครือข่ายนักศึกษาสี่ภาคเพื่อให้กำลังใจ ไผ่ ดาวดิน และมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับไผ่ 
 
จากเหตุการณ์ดังกล่าวเรายืนยันว่า ในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แบบใดก็ตาม เราถือว่าเป็นการกระทำที่สามารถจะทำได้อย่างเสรี และการแสดงออกนั้นไม่ควรที่จะถูกจำกัดด้วยอำนาจใดๆ อย่างเช่น การฟ้องละเมิดอำนาจศาลต่อนักศึกษา นักกิจกรรม ทั้ง 7 คนนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย และเราขอให้กระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วน แสดงถึงความเข้มแข็งโดยไม่อ่อนไหวกับการแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกต่าง ๆ ที่ปัจเจกรู้สึกหรือแสดงออก และเราขอให้ยุติการดำเนินคดีกับนักศึกษานักกิจกรรมทั้งหมด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น