โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

10 เมษา กับ 10 เรื่องพื้นฐานที่..อาจจำไม่ได้ อาจไม่เคยรู้

Posted: 10 Apr 2017 12:37 PM PDT

ครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงบัดนี้คดีความที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากยังคงไม่คืบหน้า คนส่วนใหญ่อาจลืมเลือนเหตุการณ์ รายละเอียดต่างๆ ไปหมดแล้ว คนรุ่นใหม่ก็เติบโตมาไม่ทันได้ซึมซับบรรยากาศและข้อมูลช่วงที่ยังข้นคลัก บางคนอาจจำได้เพียงลางๆ ตอน "บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์" เราจึงขอทบทวนเหตุการณ์นั้นอีกครั้งผ่านคำอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ 10 ข้อ

ก่อนไปถึงตรงนั้น อาจมี "ตัวเลข" ที่สั้นกว่ามากและเป็นการทดสอบความทรงจำหรือความรับรู้ของเราๆ ท่านๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวเลขเหล่านี้นำมาจาก "หน้าปก" ของรายงานที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช.รวบรวมและจัดทำไว้ ตีพิมพ์เมื่อปี 2555

3,000 คือกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป  (2,120 คือกระสุนที่ใช้  และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)

117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม

700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย

3,000,000,0000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย

1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด

1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี

94 คือจำนวนคนเสียชีวิต

88  คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชาย

6 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง

10 คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)

2 คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)

6 คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต

32 คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ

12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด

1.  10 เมษาคืออะไร ?

เหตุการณ์ที่เรียกสั้นๆ ว่า 10 เมษานั้นเกิดขึ้นในปี 2553 จุดเริ่มต้นคือการชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) หรือเรียกกันว่า "คนเสื้อแดง" ที่เริ่มตั้งแต่ 12 มีนาคมจบลงในวันที่ 19 พฤษภาคมปีเดียวกัน

หลัง นปช.ชุมนุมได้เกือบเดือน วันที่ 10 เมษายนเป็นวันแรกที่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุม โดยในขณะนั้นใช้คำว่า "ขอคืนพื้นที่" จากผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดที่มีการปะทะและเสียชีวิตมากคือ ถนนดินสอและแยกคอกวัว (อ่านที่นี่)  ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตหลายราย จนในช่วงค่ำปรากฏ "ชายชุดดำ" ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนั้นมี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน ทหาร 5 นาย (มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมภายหลังบางแหล่งระบุ 1 คน บางแหล่งระบุ 2 คน)

หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมของ นปช.ต่อเนื่องไปอีกและการสลายการชุมนุมก็เต็มไปด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-19 พ.ค.มีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 70 คน

2.  ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร?

ข้อเรียกร้องหลักคือ การเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา หลังจากดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2551 การดำรงตำแหน่งของอภิสิทธิ์เป็นผลมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน (และอีก 2พรรค) ซึ่งมีเสียงข้างมากและเป็นผู้นำรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่งนายกฯ นับเป็นการถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่สอง หลังจากไทยรักไทยโดนยุบพรรคไปก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งแล้ว

เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสที่สื่อไทยและสื่อต่างประเทศระบุว่าทหารมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ส.ส.ในสภาเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวิน (เนวิน ชิดชอบ) ที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนเดิมเปลี่ยนขั้วมาร่วมกับฝ่ายค้าน กระแสข่าวและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้คนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชาชนไม่พอใจและรวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องให้เกิดการยุบสภามาโดยตลอด

ปี 2553 ไม่ใช่ปีแรกของการชุมนุม ช่วงสงกรานต์ปี 2552 ก็มีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงบริเวณทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออก มีการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงหลายราย ในการปะทะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีรายงานชาวบ้านนางเลิ้งเสียชีวิต 2 ราย ขณะเกิดเหตุชาวนางเลิ้งปะทะกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 52 นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุม นปช. ที่หายตัวไปแล้วพบเสียชีวิตคือ ชัยพร กันทัง อายุ 29 ปี ชาว จ.แพร่ และ นัฐพงษ์ ปองดี อายุ 23 ปี ชาว จ.อุดรธานี อาชีพ รปภ.ของกรุงไทยธุรกิจบริการซึ่งขับรถจักรยานยนต์ไปร่วมชุมนุม แล้วหายตัวไปพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 2552 ต่อมาเช้าวันที่ 15 เม.ย. 2552 พบเป็นศพลอยน้ำมาติดอยู่ที่ท่าเรือใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปีนั้นจบลงด้วยการที่แกนนำ นปช.ยินยอมสลายการชุมนุม

3.  เหตุการณ์ก่อน 10 เมษา

10 เมษายนเป็นจุดหักเหที่เกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบสองทศวรรษ เหตุการณ์ความรุนแรงนั้นลากยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้มียอดรวมผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมเกือบร้อยราย ผู้บาดเจ็บนับพันราย

(ศปช.ระบุมีผู้เสียชีวิต 94 รายโดยมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหลังการสลายการชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มในภายหลัง, คอป.ระบุมีผู้เสียชีวิต 92 ราย ศอฉ.ระบุมีผู้เสียชีวิต 91 ราย)

ก่อนมาถึงจุดนั้น ในวันที่ 24 ก.พ. 53 แกนนำ นปช. ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มีนาคม โดยการนัดหมายเกิดขึ้น 2 วัน ก่อนที่ในวันที่ 26 ก.พ.53 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4.6 หมื่นล้านบาท

การชุมนุมของนปช.เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 12 มี.ค.มีความพยายามต่างๆ มากมายในการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา รวมถึงเหตุการณ์สำคัญก่อนหน้าวันที่ 10 เมษาเพียง 1 วัน นั่นคือ คนเสื้อแดงจำนวนมากบุกยึดคืน "สถานีไทยคม" ที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเข้าคุมและตัดสัญญาณช่องทีวีดาวเทียมพีเพิลชาแนลซึ่งถ่ายทอดสดการชุมนุมของ นปช. ทำให้ทหารถูกประชาชนปลดอาวุธและเดินเท้ากลับขึ้นรถเป็นทิวแถว

เรื่องนี้วาสนา นาน่วม เขียนไว้ในหนังสือลับลวงพรางว่า ฝ่ายทหารรู้สึก "เสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีที่ทหารหลายพันคนต้องยอมวางโล่ กระบอง และอาวุธทุกอย่างที่มี ยอมแพ้ต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เวลานั้นยังไม่ปรากฏว่ามีกองกำลังติดอาวุธ ถูกผู้ชุมนุมยึดอาวุธ สั่งการไล่ต้อนให้เดินแถวออกสู่ทุ่งนา" และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพกู้ศักดิ์ศรีคืนด้วยยุทธการ "ขอคืนพื้นที่" ในวันรุ่งขึ้น

(อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบการเคลื่อนไหวของ นปช.ก่อนวันที่ 10 เมษา)

4.   มีคนถูกยิงที่ท้องเสียชีวิต 1 รายตั้งแต่บ่าย

คนส่วนใหญ่คิดว่าเหตุปะทะวันที่ 10 เมษาและทำให้มีคนตายมากมายนั้นเกิดในช่วงค่ำ แต่อันที่จริงแล้ว เค้าลางการสูญเสียมีตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตรงจุดปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ วันดังกล่าวมีจุดที่ทหารและผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากันในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นแยกวังแดง สะพานชมัยมรุเชษฐ หน้ากองทัพภาค1 สนามม้านางเลิ้ง ถนนดินสอ เป็นต้น  "เกรียงไกร คำน้อย" คนขับตุ๊กๆ วัย 23 ปี คือผู้ชุมนุมรายแรกที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานฯ ตั้งแต่ช่วงบ่าย เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ข้อมูลจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ระบุว่าถูกยิงที่สะโพกด้วยอาวุธสงคราม กระสุนฝังในช่องท้อง ต่อมาในปี 2557 ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการตายว่า กระสุนดังกล่าวมาจากฝั่งทหาร

5.  แก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์-การสลายการชุมนุมเวลากลางคืน

ช่วงราวๆ 4 โมงเย็น เฮลิคอปเตอร์เริ่มโปรยแก๊สน้ำตาบริเวณถนนราชดำเนิน แบ่งเป็น 2 ชุด มีผู้เสียชีวิตจากการโปรยแก๊สน้ำตาดังกล่าวด้วย นั่นคือ ในมนต์ชัย แซ่จอง โดยญาติผู้เสียชีวิตระบุว่ามนต์ชัยอยู่ในพื้นที่ชุมนุมโดยมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และเมื่อโดนแก๊สน้ำตาที่โปรยต่อเนื่องมาจากเฮลิคอปเตอร์ทำให้เขาเริ่มมีอาการราว 1 ทุ่ม หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนต้องส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในช่วงกลางดึกคืนนั้น

หลังการโปรยแก๊สน้ำตา มีการเริ่มต้นใช้กระสุนยางในช่วงเย็น กระสุนยางแม้ไม่มีผลถึงแก่ชีวิตแต่ก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เบิร์ด หนุ่มวัย 24 ปี ที่วิ่งหลบกระสุนในบริเวณดังกล่าวและโดนกระสุนยางเข้าที่ตาข้างขวาทำให้ตาบอดนับแต่นั้น

6.  จำแนกอาชีพ อายุ และรูกระสุนเข้า

จากรายงานข่าวหลายแหล่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการ M67 ที่ถูกโจมตีตอบโต้กลับในคืนวันดังกล่าว ขณะที่ประชาชนนั้นส่วนใหญ่เสียชีวิตจากกระสุนและทยอยเสียชีวิตตั้งแต่ เวลา 1-2 ทุ่มเศษ (อ่านรายละเอียด)

กระสุนที่หัว

กระสุนที่อก-ท้อง

หัวใจวายเฉียบพลัน

  อื่นๆ

สวาท วางาม

เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์

มนต์ชัย แซ่จอง

อนันต์ สริริกุลวาณิชย์ (กระสุนที่คอ)

อำพน ตติยรัตน์

จรูญ ฉายแม้น

 

บุญจันทร์ ไหมประเสริฐ (หัวเหน่า)

ยุทธนา ทองเจริญพูลพร

คะนึง ฉัตรเท

 

 

ไพรศล ทิพย์ลม

ธวัฒนะชัย  กลัดสุข

 

 

บุญธรรม ทองผุย

ฮิโรยูกิ มูราโมโต

 

 

ทศชัย เมฆงามฟ้า

เกรียงไกร คำน้อย

 

 

วสันต์ ภู่ทอง

สยาม วัฒนนุกูล

 

 

สมิง

สมศักดิ์

 

 

มานะ อาจราญ

นภพล เผ่าพนัส

 

 

รวม 9 ราย

รวม 9 ราย

รวม 1 ราย

รวม 2 ราย


รายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ  เช่น

อาชีพ

พนักงานบริษัท 3 คน

ขับแท็กซี่ 4 คน

ขับรถตุ๊กตุ๊ก 1 คน

รปภ.จุฬาฯ 1 คน

รับเหมาทำอลูมิเนียม 1 คน

ขับรถส่งของ 1 คน

กำลังศึกษา 2 คน

ทำไร่อ้อย 1 คน

ค้าขาย 2 คน

ช่างเย็บผ้า 1 คน

ช่างซ่อมรถโดยสาร 1 คน

นักข่าว (ญี่ปุ่น) 1 คน

เจ้าหน้าห้องแล็บ มหาวิทยาลัย 1 คน

ลูกจ้างชั่วคราว สวนสัตว์ดุสิต 1 คน

7.    ปริศนาชายชุดดำ

ภาพชายชุดดำที่มักปรากฏซ้ำๆ บนหน้าสื่อในช่วงที่หมอกควันเหตุการณ์ยังไม่จางนั้นอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ต่อมาปี 2555 ข่าวสด สัมภาษณ์บุคคลในภาพดังกล่าวว่าเป็นคนเก็บของเก่าที่เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช.ด้วยและไม่ได้เป็นชายชุดดำที่เปิดฉากตอบโต้ทหารแต่อย่างใด

ในด้านคดีความนั้น "คดีชายชุดดำ" ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คนหนึ่งในนั้นเป็นหญิง ผู้ต้องหาหลายรายมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ระบุว่า พวกเขาถูกซ้อมในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง (อ่าน) ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องคดีแรก คือ คดีครอบครองระเบิดเตรียมคาร์บอม ส่วนคดีครอบครองอาวุธนั้น ศาลพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2560 ยกฟ้อง 3 ราย อีก 2 รายมีความผิดฐานครอบครองอาวุธสงคราม ลงโทษจำคุกรายละ 10 ปี โดยศาลไม่เชื่อว่าผู้ต้องหารับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม อย่างไรก็ตามศาลสั่งให้ขังจำเลยทั้งหมดไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้งหมดถูกจำคุกมาตั้งแต่กันยายน 2557 จนปัจจุบันและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี  (อ่านสรุปคำพิพากษา)

8. ไต่สวนการตายแล้ว 7 ศพ ศาลสั่งกระสุนมาจากฝั่งทหาร 3 ศพ

การไต่ชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกภาษาปากว่า "ไต่สวนการตาย" นั้นเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลสั่งเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร ใครกระทำจากนั้นอัยการรวบรวมสำนวนหลักฐานจากพนักงานสอบสวนก่อนส่งฟ้องเป็นคดีอาญา 

เท่าที่ทราบจากรายงานข่าว พบว่า มีการไต่สวนการตายแล้ว 7 ราย โดยศาลสั่งว่ากระสุนที่สังหารผู้ตายมาจาก "ฝั่งทหาร" แต่ไม่ทราบผู้ยิงที่แน่ชัด จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายเกรียงไกร คำน้อย, นายจรูญ ฉายแม้น, นายสยาม วัฒนนุกูล  ส่วนอีก 4   รายศาลสั่งว่าไม่ทราบผู้ยิงและไม่ทราบว่ากระสุนมาจากทิศทางใด ได้แก่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต, นายวสันต์ ภู่ทอง, นายทศชัย เมฆงามฟ้า, นายมานะ อาจราญ (ถูกยิงในสวนสัตว์ดุสิตด้วยกระสุนความเร็วสูง)

9.  ไร้หนทางเอาผิดผู้สลายการชุมนุม?

นอกเหนือจากปรากฏการณ์ Big Cleaning Day ที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 พ.ค. หลังสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ 4 วัน นำโดยผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ทีมงานและประชาชนราว 1,000 คน ซึ่ง ศปช.วิจารณ์ว่าอาจเป็นการทำลายพยานหลักฐานที่อาจหลงเหลืออยู่ได้นั้น

หันมองได้ด้านการดำเนินคดี ขณะที่ประชาชนผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีเกือบ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีจำนวนหนึ่งที่เป็นคดีอาวุธและคดีเผาศาลากลาง หลายรายถูกจำคุกมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โทษสูงสุดของคดีเผาศาลากลางที่ศาลพิพากษาคือ จำคุกตลอดชีวิตในกรณีของอุบลราชธานี

ในส่วนของการดำเนินคดีกับกองทัพและผู้นำรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมนั้น  เคยมีญาติของนายพัน คำกอง ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม(พ.ค.2553) ร่วมกับนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ถูกทหารยิงแต่รอดชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2553

คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่อัยการยื่นฟ้อง ส่วนคดีอื่นๆ สำนวนยังคงค้างอยู่ที่ดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม คดีตัวอย่างนี้ทั้ง ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ต่างก็ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยศาลชั้นต้นระบุเหตุผลว่า เหตุเกิดในช่วงทั้งสองยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีจึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า เรื่องฟังไม่ได้ว่าทั้งสองกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการสอบสวน  (เปิดคำอุทธรณ์ของญาติผู้ตาย)

ต่อมา ป.ป.ช.ก็มีมติว่า ฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ล่าสุด ญาติที่เป็นโจทก์ร่วมยังคงฎีกาต่อ และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามาราว 1 ปีแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษา ทนายความในคดีนี้ระบุว่า กระบวนการที่ผ่านมาอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฎีกาแล้ว และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดผ่านไปแล้ว คาดว่าน่าจะรอผลคำพิพากษาของศาลฎีกาอีกไม่นาน

แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงคดีที่มุ่งฟ้องผู้นำรัฐบาลในเวลานั้น โดยที่ "กองทัพ" ยังไม่เคยก้าวมาสู่ปริมณฑลของ "จำเลย" ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่อย่างใด

10.  นักโทษการเมือง-"นิรโทษกรรมเหมาเข่ง"-กปปส. และรัฐประหาร

ศปช.ระบุว่า ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ถึงเมษายน 2555 พบว่ามีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ในช่วงนั้น 1,857 คน เป็นคดีทั้งสิ้น 1,381 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ศปช.พบข้อมูลด้วยว่าในช่วงหลังการสลายการชุมนุมไม่นานนัก ศาลลงโทษจำคุกจำเลยหลายรายด้วย โดยจำเลยที่รับสารภาพจะถูกจำคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ปฏิเสธและต่อสู้คดียาวนานทิ้งห่างช่วงเวลานั้น พบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะลงโทษปรับและรอลงอาญาโทษจำคุกเกือบทั้งหมด

กรณีของคดีอาวุธและเผาศาลากลางในจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานนั้นเป็นคดีโทษหนัก คดีอาวุธบางรายก็ถูกจำคุกตั้งแต่ชั้นจับกุม ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 38 ปีแต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เช่นกรณี บัณฑิต สิทธิทุม ผู้ต้องหายิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม (อ่านที่นี่)

กรณีของการเผาศาลากลาง เช่น จังหวัดอุบล ผู้ต้องขังถูกฟ้อง 21 รายถูกคุมขังอยู่นานนับปีจนบางส่วนได้ประกันตัว มีผู้ต้องขัง 4 รายหนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงที่ถูกขังตั้งแต่วันจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัว ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกพวกเขา 33 ปี 12 เดือนต่อมาศาลฎีกาพิพากษาโทษเหลือ 33 ปี 4 เดือน และพิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยคนอื่นเพิ่มเติม โดยมีบางคนที่ถูกศาลชั้นต้นและอุทธรณ์จำคุก 1 ปีกว่าแต่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เช่น ดีเจต้อย (อ่านที่นี่)

ศปช.ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า การออกหมายจับไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการกฎหมาย หลายกรณีใช้เพียงภาพนิ่งว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ บางภาพเป็นภาพถ่ายระยะไกล มืด มีการออกหมายจับบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยโดยตำรวจระบุว่าเคยเห็นเขาในเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ กระบวนการจับกุมหลายกรณีเป็นไปโดยมิชอบ เช่น หลอกให้มาตัดหญ้าที่สถานีตำรวจ หรือแจ้งว่าต้องการให้มาให้ปากคำในคดีอื่น ไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหา และบางส่วนยังถูกบังคับข่มขู่ให้รับสารภาพ แม้การรับสารภาพในชั้นจับกุมกฎหมายไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่การลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นคนเดียวกับในภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับเป็นหลักฐานที่ศาลรับฟ้อง

นอกจากนี้ศปช.ยังตั้งข้อสังเกตของการพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้น โดยระบุว่า ศาลให้น้ำหนักต่อคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนมากกว่าการเบิกความในศาล ด้วยเหตุผลว่า "ในชั้นศาล จำเลยมีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิด" โดยไม่ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการสอบสวน, ศาลให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์มากกว่าจำเลย แม้พยานโจทก์จะเบิกความเป็นคุณกับจำเลยก็ไม่ถูกหยิบมาเป็นเหตุประกอบการวินิจฉัย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กอ.รมน. ระบุว่าเมื่อมีคนพยายามเผาอาคารกรมธนารักษ์ เขาและจำเลยที่ 12 ไปช่วยกันดับไฟ แต่สุดท้ายศาลยังพิพากษาว่าจำเลยที่ 12 มีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

นี่เป็นแค่คดีตัวอย่างที่หยิบยกมา และด้วยเหตุที่มีนักโทษในคดีเกี่ยวพันกับการชุมนุมปี 2553 อยู่ในเรือนจำจำนวนไม่น้อย จึงมีแนวคิดเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดย คอป.เคยเสนอไว้ว่า

"คอป. เห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดองและกระทบต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนิรโทษกรรม คอป. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะในขณะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำการนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยต้องมีความเหมาะสมในแง่ของเวลา สถานการณ์และกระบวนการ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน..."

กฎหมายนิรโทษกรรมถูกผลักดันชัดเจนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ถูกกระแสต้านอย่างหนักเมื่อการนิรโทษจะกว้างขวางครอบคลุมคดีของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร, ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมด้วย รวมถึงคดีทางการเมืองก่อนหน้านั้นในทุกฝ่าย ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ปี 19 ก.ย.2549-10 พ.ค.2554 การต่อต้านถูกจุดขึ้น และขยายตัวทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยเอง จนเกิดการก่อตัวชุมนุมของ กปปส.นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.ในการสลายการชุมนุมปี 2553 การชุมของ กปปส.ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนจะลามมาถึงข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การเรียกทหารออกมาจัดการสถานการณ์ปั่นป่วน และลงท้ายด้วยการรัฐประหารโดย คสช.

 

การเคลื่อนไหวช่วงเดือนเมษายน 2553

16 มี.ค. รวมเลือดผู้ชุมนุมที่ร่วมบริจาค เทที่ทำเนียบรัฐบาลและหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

20 มี.ค. ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนการชุมนุมไปย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

25 มี.ค. อาสาสมัคร 500 คนรวมตัวโกนศีรษะประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

28-29 มี.ค. การเจราระหว่างตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนผู้ชุมนุม ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ชุมนุมเสนอยุบสภาใน 2 สัปดาห์ รัฐบาลเสนอ 9 เดือน

3 เม.ย. การชุมนุมเริ่มแบ่งเป็น 2 จุด จุดเดิมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และจุดใหม่ สี่แยกราชประสงค์

5 เม.ย. ศาลยกคำร้องที่อภิสิทธิ์ ในฐานะ ผอ.รมน.ยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากแยกราชประสงค์ ศาลระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวก่อความเดือดร้อน กระทบต่อความมั่งคงในราชอาณาจักร ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า กอ.รมน.สามารถมีคำสั่งดำเนินการได้เองตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ประกาศใช้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล

6 เม.ย. กำลังตำรวจจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ราชประสงค์เพื่อกดดันผู้ชุมนุม แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ประชาชนจับไม้จับมือกัน แล้วเดินทางกลับ

7 เม.ย. ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปปิดล้อมรัฐสภา ทำให้นายกฯ และคนสำคัญในรัฐบาลต้องไปอยู่ในกรมทหาราบที่ 11

9 เม.ย. กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเคลื่อนไปยังสถานีไทยคม มีการตรวจค้นอาวุธทหารและบุกเข้าไปสถานีได้สำเร็จแม้มีการประทะกันบางส่วนโดยเจ้าหน้าที่ใช้น้ำฉีด แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ผู้ชุมนุมยึดอาวุธทหารเอามากองเพื่อให้สื่อถ่ายรูปและให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการเดินเรียงแถวขึ้นรถกลับกรมกอง อย่างไรก็ตาม กลางดึกคืนวันนั้น ทหารประมาณ 5,000 นายเข้ายึดสถานีไทยคมไว้ได้ตามเดิม

10 เม.ย. เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน  ... ราย ทหาร .... ราย

26 เม.ย. ท่ามกลางฝุ่นตลบของสงครามข้อมูลข่าวสาร  พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด นำ "ผังล้มเจ้า" เผยแพร่กับผู้สื่อข่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจงเข้าใจคลาดเคลื่อน เหตุ รพ.เอกชนไม่รับรักษา เลขาฯ 'มูลนิธิอิสรชน' ตามสิทธิ UCEP

Posted: 10 Apr 2017 11:57 AM PDT

สบส. และ สพฉ.เคลียร์ กรณี รพ.เอกชนไม่รับรักษาเคส เลขาฯ มูลนิธิอิสรชน ตามสิทธินโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ 72 ชม. พร้อมสรุปสถิติการใช้งาน 9 วัน มีผู้ขอใช้สิทธิ 912 ราย เข้าเกณฑ์ 385 ราย รองเลขาธิการ สพฉ. ระบุ ระบบยังใหม่จะเร่งทำความเข้าใจกับ รพ.เอกชนในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้มากขึ้น

10 เม.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แจ้งว่า จากกรณีที่ได้มีการส่งต่อข้อมูลกันในโลกออนไลน์กรณีที่ นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ล้มป่วยกะทันหันด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกอาการโคม่า เข้ารับการผ่าตัดด่วนที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ และขอใช้สิทธิตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) 72 ชั่วโมง แต่ทาง รพ.ได้ประเมินอาการผู้ป่วยว่าไม่เข้าเกณฑ์ในการขอใช้สิทธิ เพราะเป็นเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่วิกฤตจนนำมาสู่การร้องเรียนของญาติผู้ป่วยนั้น

ล่าสุด นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ สพฉ. ได้ออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ว่า วันนี้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) และ สพฉ. ได้ลงพื้นที่ไปติดตามอาการและรับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่ายทั้งญาติและโรงพยาบาลซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของโรงพยาบาลในการประเมินอาการผู้ป่วย และได้สร้างความเข้าใจร่วมกันที่ถูกต้องให้กับโรงพยาบาลและผู้ป่วยจนสามารถใช้สิทธิ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) จนพ้นวิกฤต และย้ายผู้ป่วยไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยมี จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ 

ทั้งนี้ตามระบบการดำเนินงานตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ สพฉ.ได้จัดทำโปรแกรมในการคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยว่าเป็นฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าข่ายในการต้องรักษาอย่างเร่งด่วนหรือไม่เรียกว่าโปรแกรม (Preauthorization) ซึ่งหากโรงพยาบาลคีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบดังกล่าวนี้ระบบจะช่วยประเมินอาการของผู้ป่วยให้ว่าเป็นฉุกเฉินระดับไหนซึ่งจะเป็นผลดีกับทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่จะดำเนินการตามระบบโดยที่ไม่มีปัญหาได้ ตนเข้าใจว่าการดำเนินการตามระบบนี้ยังถือว่าใหม่อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น สพฉ.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใจในการใช้ระบบมากยิ่งขึ้น และสำหรับในส่วนของประชาชนนั้นหากมีปัญหาในการใช้บริการตามสิทธินี้ก็สามารถโทรเข้ามาสอบถามความชัดเจนหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 02-872-1669  หรืออีเมล์เข้ามาสอบถามได้ที่  ucepcenter@niems.go.th

รองเลขาธิการ สพฉ. ยังได้สรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP Coordination Center) ว่า ศูนย์ได้ปฏิบัติภารกิจมาวันนี้เป็นวันที่ 9 แล้ว พบผู้ขอใช้สิทธิ UCEP 912 ราย โดยเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าเกณฑ์ 385 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 223 ราย  ผู้ป่วยจากสิทธิประกันสังคม 59 ราย ผู้ป่วยจากสิทธิข้าราชการ73 รายและ ผู้ป่วยจากสิทธิกองทุนอื่นๆ อีก 30 ราย

"นอกจากนี้อยากขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์กรณีเร่งด่วนในวันนี้อีกหนึ่งเรื่องคือระบบโทรศัพท์ ของแม่ข่ายผู้ให้บริการ ที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.)ใช้บริการผ่านเบอร์โทร.028721669 ล่มและทำให้เบอร์ใช้การไม่ได้  ซึ่งสพฉ.ได้จัดหาเลขโทรศัพท์ชุดใหม่สำรอง จนกว่าหมายเลขเดิมจะใช้ได้ 7 หมายเลขดังนี้ 02 591 8905 , 02 591 9047, 02 591 9769, 02 591 8914,  02 591 8936 , 02 591 9140 ,02 591 8982" นพ.ภูมินทร์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครั้งแรก! จีนกักนักกิจกรรมไต้หวัน อ้างเป็นภัยความมั่นคง เมียเผยแค่แบ่งปันเรื่องประชาธิปไตย

Posted: 10 Apr 2017 11:24 AM PDT

จีนกักนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิฯ ไต้หวัน ตั้งแต่ กลาง มี.ค. หลังกฎหมายควบคุมองค์กรพัฒนาเอกชนฉบับใหม่ของจีนออก ภรรยาเผยเขาเพียงแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตยกับนักกิจกรรมในจีน ชี้เป็นเรื่องธรรมดาในอารยะประเทศ 

หลี่ หมิง เจ๋อ (ที่มาภาพ เว็บไซต์ amnesty.org)

10 เม.ย. 2560 นักกิจกรรมสังคมไต้หวัน หลี่ หมิง เจ๋อ LEE, MING-CHEH(李明哲) หายตัวไป ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเดินทางจากมาเก๊าเข้าประเทศจีน ในสองสามวันแรกรัฐบาลไต้หวันพยายามติดต่อฝ่ายจีน แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จนถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจาก หลี่ หายไป ทางด้านเจ้าหน้าที่ของทางการจีนเปิดเผยว่า หลี่ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ

หลี่ จิ่ง อวี๋ (李凈瑜) ภรรยาของ หลี่ กล่าวว่าปกติ หลี่ ใช้โซเชี่ยลมีเดีย we chat เพื่อติดต่อสื่อสาร แบ่งปันความรู้ทางประวัติศาสตร์และส่งหนังสือเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในไต้หวันกับนักกิจกรรมในประเทศจีน จนบัญชี we chat ของเขาถูกระงับหลายครั้ง

"การแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องธรรมดาในอารยะประเทศ" ภรรยาของ หลี่ กล่าว

ภรรยาของหลี่ได้จัดงานแถลงข่าวที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เพื่อประท้วงรัฐบาลจีน ที่ทางปักกิ่งคุมขังสามีของเธอโดยไม่มีเหตุผล โดยการแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่วันนี้ (10 เม.ย.60) เธอไม่สามารถเดินทางไปปักกิ่งเพื่อช่วยเหลือสามีเธอได้ เพราะระหว่างเดินทางไปถึงสนามบินเธอได้สังเกตเห็นว่าเอกสารการเดินทางของเธอถูกยกเลิกไปแล้ว

"สามีของฉันเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เป็นผู้บริสุทธิ์และแบ่งปันประสบการณ์ประชาธิปไตยของไต้หวันมาเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่เขาทำก็เป็นเรื่องธรรมดาในอารยะประเทศ" ภรรยาของ หลี่ กล่าวยืนยันในการแถลงข่าว

สำหรับกรณีของเขาดึงดูดความสนใจจากองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา นิโคลัส เบคิแลง ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำเอเชียตะวันออก กล่าวในแถลงการณ์ว่า การคุมขัง หลี่ เนื่องมาจาก การตีความคำว่าความมั่นคงแห่งชาติที่คลุมเครือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศจีน หากว่าการคุมขังเขาเกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียวกับการเคลื่อนไหวของเขาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาต้องได้รับการปล่อยตัวทันทีและไม่มีเงื่อนไข   

สำหรับ หลี่ ถือเป็นคนแรกที่ถูกคุมขังจากกฎหมายการควบคุมองค์กรพัฒนาเอกชนฉบับใหม่ของจีน อาจเป็นการเตือนแก่นักกิจกรรมต่างชาติ คนอื่น ๆ รวมถึงนักกิจกรรมไทยที่ต้องทำงานกับองค์กรเอกชนในจีนด้วย

การควบคุม NGO ระหว่างประเทศของจีน เส้นสีแดงอยู่ที่ไหน

ตั้งแต่ปี พ. ศ. 2560 รัฐบาลจีนได้ใช้กฎหมายใหม่ในการควบคุมองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศในจีนซึ่งเป็นการเพิ่มความกังวลจากเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอในประเทศจีนไม่ให้แตะประเด็นสำคัญที่กำหนดโดยปักกิ่ง

ในกฎหมายใหม่ห้ามมิให้องค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศให้การสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองและศาสนา กิจกรรมอันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศซึ่งมีความหมายที่คลุมเครือ

ในการแถลงข่าวที่ ภรรยาของหลี่ กล่าวว่ารัฐบาลจีนบางครั้งนำเสนอวิดีโอสารภาพผิดของคนที่ถูกจับ ซึ่งปกติก็คนเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้ความกดดันและถูกซ้อมทรมาน ครอบครัวหลี่ จะไม่ยอมรับคำแถลงใด ๆ ที่มาจากการดำเนินการคุมขัง หลี่ ที่ผิดกฎหมายโดยประเทศจีน

รัฐบาลไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลจีนชี้แจงเหตุผลที่คุมขัง หลี่ ตามข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยความผิดทางอาญาต่อความร่วมมือ และต้องอนุญาตให้ครอบครัวของหลี่สามารถเยี่ยมเขาได้โดยเร็วที่สุด เป็นข้อเรียกร้องที่ไต้หวันต่อรองกับประเทศจีน โดยหวังว่าความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญระหว่างไต้หวันและจีนจะเสื่อมถอยลงไปอีก

แรงกดดันจากปักกิ่งให้ไต้หวันรับหลักการของจีนอย่างหนึ่ง

ผู้นำคนใหม่ของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งได้รับเลือกเมื่อปีที่แล้ว เผชิญแรงกดดันจากรัฐบาลจีนให้ไต้หวันยอมรับหลักการจีนเดียว แต่ประธานาธิบดี ไช่ อิง เหวิน ปฏิเสธและพยายามที่จะสร้างดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ New Southbound Policy เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมไต้หวันจึงให้วีซ่าท่องเที่ยวฟรีแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและนโยบายนี้อาจยาวขึ้น

ภรรยาของหลี่ เปิดเผยอีกว่าเธอได้รับข้อความจากกรุงปักกิ่งเป็นการส่วนตัวและขอให้เธอไม่ไปที่ประเทศจีนแทนที่จะปล่อยหลี่ให้เร็วที่สุด แต่ภรรยาของหลี่ปฏิเสธและชี้แจงว่า หลี่ไม่ผิดอะไรที่จะขอการให้อภัยจากประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ภรรยาขงหลี่ ต้องประสบความผิดหวังซ้ำ หลังจากที่เอกสารการเดินทางของเธอถูกเพิกถอนในวันนี้ที่สนามบินไทเป ทำให้เธอเชื่อว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง เธอถามรัฐบาลจีนว่าการคุมขังถูกกฎหมายหรือ และไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธไม่ให้เดินทางไปจีน

ทั้งนี้รัฐบาลไต้หวันตำหนิรัฐบาลจีนว่าจีนควรให้เหตุผลในการกักขัง และรัฐบาลไต้หวันสัญญาจะให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวทั้งหมด

 

เอกสารอ้างอิง : 

- ภรรยาหลี่หมิงเจ๋อเหวอกลางสนามบิน ถูกสกัดไม่ให้เข้าจีนแผ่นดินใหญ่ ชี้เป็นเครื่องยืนยันจับกุมสามีตนไม่เป็นธรรม http://thai.rti.org.tw/m/news/?recordId=66093

- Rights advocate missing in China: family, friends http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2017/03/23/2003667298

- No entry: wife of missing activist turned away at boarding gate http://www.chinapost.com.tw/taiwan/detail.asp?id=495334&grp=%27B%27

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: YenLin Chen เป็นนักศึกษาฝึกงานจากไต้หวัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของไต้หวัน ภายใต้โครงการ New Southbound Policy

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน กกต.หนุน คสช.ปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรมได้

Posted: 10 Apr 2017 09:10 AM PDT

ที่มาภาพ เว็บไซต์ กกต.

10 เม.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของพรรคการเมือง ที่ให้ปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คาดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาในเร็วๆ นี้ เพราะต้องรอกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ  เชื่อว่า คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเตรียมร่างให้ทันตามกรอบเวลา

"แต่จะปลดล็อคหรือไม่ เป็นอำนาจ คสช. แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองมีการเตรียมตัว เช่นเดียวกับ กกต. เตรียมพร้อมทุกด้าน เนื่องจากยังมีเวลา หลังกฎหมายลูกเสร็จ สนช. จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา" ศุภชัย กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า การสรรหา กกต. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ นั้น เป็นเรื่องส่วนตัวของ กกต. แต่ละคน จึงไม่มีการหารือกันเรื่องนี้ และไม่ก้าวล่วง เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ที่จะดำเนินการสรรหา กกต. ตามที่รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. ด้วยว่า ยังสามารถใช้ได้ตามหลักการที่เคยใช้ แต่ต้องระมัดระวังมากขึ้นไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่ถึงขั้นใช้มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกไปก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้วว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่หากมีฉบับใดที่เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะต้องนำกลับมาทบทวน ซึ่ง คสช.ระมัดระวังอยู่แล้ว 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องเอาผิด ม.112 'พุทธอิสระ' ใช้เลือดปลุกเสกพระ มีพระปรามาภิไธยภปร.ด้านหลัง

Posted: 10 Apr 2017 08:07 AM PDT

'พุทธอิสระ' ลั่นเล่นไม่เลิก ก็อย่าเลิก พร้อมพิสูจน์ความจริงกันในศาล หลังผู้ประสานงานองค์กรส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ร้องกองปราบ เอาผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ม.112 ใช้เลือดปลุกเสกพระ มีพระปรามาภิไธยภปร.ด้านหลัง

แฟ้มภาพ

10 เม.ย.2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 เม.ย.60) ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.)  วิชัย ประเสริฐสุดสิริ ผู้ประสานงานองค์กรส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา (อสคพ.) พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อนันต์ จริงจิตร รองผกก.(สอบสวน) กก.5 บก.ป.เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ พระสุวิทย์ ธีรธฺมโม หรือหลวงปู่พุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้ประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่อง "พระนาคปรก" รุ่น "หนึ่งในปฐพี" โดยที่ด้านหลังของพระเครื่อง มีการอันเชิญพระปรมาภิไธย ภปร. และมีการใช้เลือด หรือปะสะโลหิต ของหลวงปู่พุทธอิสระ ในการจัดพิธีด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยทำหนังสือร้องทุกข์ ,ภาพถ่ายการประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่องดังกล่าว และเอกสารจากเว็บไซต์ 2 แห่ง ซึ่งมีภาพการประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่องในครั้งนี้มามอบไว้เป็นหลักฐาน

นายวิชัย กล่าวว่า หลังจากพบเว็บไซต์ 2 แห่ง ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพหลวงปู่พุทธอิสระ ประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่องพระนาคปรก ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2552 และมีการโฆษณาเพื่อให้เช่าและจ่ายแจก ซึ่งตนในฐานะพุทธบริษัท เล็งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวส่อไปในทางหมิ่นเบื้องสูง ไม่สมควร ไม่ใช่แนวทางแห่งพระพุทธศาสนา แล้ว ยังเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายด้วย จึงเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ป.เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และหากเป็นความผิดก็ขอให้ดำเนินคดีตามบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน พ.ต.ท.อนันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องและสอบปากคำผู้ร้องไว้ ก่อนจะนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

พุทธอิสระ ยันพร้อมดูความจริงกันในศาล

ด้าน หลวงปู่พุทธอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ต่อกรณีนี้ด้วยว่า อุตส่าห์ใจกล้า พยายามกัดฟันเดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่กองปราบ นำเรื่องพระนาคปรกที่พุทธะอิสระอัญเชิญสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่งมาประดิษฐานอยู่ด้านหลังองค์พระ เพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล สองปีที่ผ่านมาพุทธะอิสระพยายามนิ่งเงียบมาตลอดกับเรื่องนี้ เพราะไม่อยากต่อความยาว สาวความใหญ่ จนกลายเป็นเรื่องระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ด้วยเพราะพวกลัทธิผีบุญพยายามจะทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นประเด็นทางสังคมให้ได้มาตลอด

อย่างเช่นก่อนหน้าที่จะมีประเด็นพระนาคปรค คนพวกนี้ก็พยายามสื่อสารให้สังคมใจผิดเห็นผิดว่า การที่พุทธะอิสระกล้าออกไปเคลื่อนไหวต่อสู้อยู่กลางถนน ต่อต้านลัทธิผีบุญทำจนตัวตาย ย่อมต้องมีผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

"ตลอดเวลา 2 ปีพุทธะอิสระก็พยายามนิ่งมาตลอด เพราะไม่อยากขยายความ แทนที่คนพวกนี้จะมีสำนึกคิดได้เอง แต่พอเห็นว่าพวกพ้องเผ่าพันธุ์ตนถูกรุกไล่จนหนีหัวซุกหัวซุน แทบจะไม่มีแผ่นดินอยู่ คนพวกนี้จึงคิดมาเอาคืน เมื่ออยากเล่นไม่เลิก เช่นนั้นก็อย่าเลิกเล่นเลย แต่ยังไงความจริงก็คือความจริง หากกระสันอยากพิสูจน์นัก อย่างนี้ก็ต้องไปดูความจริงกันในศาลก็แล้วกัน" หลวงปู่พุทธอิสระ โพสต์

 

ที่มา : เฟซบุ๊กแฟนเพจ หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara),  TNN24Voice TV และผู้จัดการออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปท.เห็นชอบข้อเสนอ ปรับที่มากำนันให้เลือกตั้งอยู่ในวาระ 5 ปี ผู้ใหญ่บ้านประเมินทุก 3 ปี

Posted: 10 Apr 2017 06:22 AM PDT

สปท. ลงมติด้วยคะแนน 91 ต่อ 27 เห็นชอบรายงาน ข้อเสนอประเด็น ปรับที่มากำนันให้เลือกตั้งอยู่ในวาระ 5 ปี ผู้ใหญ่บ้านประเมินทุก 3 ปี ส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ด้าน 'สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน' ค้าน ชี้ขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ 

แฟ้มภาพ

10 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (10 เม.ย.60) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2475 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน วาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

โดย ที่ประชุม ลงมติด้วยคะแนน 91 ต่อ 27 คะแนน งดออกเสียง 32 เสียง เห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวเพื่อส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

การพิจารณาดังกล่าว เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมการธิการฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากที่ผ่านมา การเข้าสู่ตำแหน่งและวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกของราษฎรในหมู่บ้านและกำหนดให้กำนันมาจากการคัดเลือกกันเองของผู้ใหญ่บ้านในตำบล โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งจนอายุครบ 60 ปี ซึ่งการเลือกดังกล่าว ทำให้พบว่าแนวโน้มการผูกขาดตำแหน่งเกิดการสั่งสมอิทธิพล ขาดการยึดโยงกับราษฎรโดยตรงและไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วมของราษฎร และอาจเกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างผู้ใหญ่บ้าน จึงไม่เป็นที่ยอมรับโดยแท้จริง ดังนั้นจึงเสนอการปฏิรูป โดยให้ราษฎรในทุกหมู่บ้านเป็นผู้เลือกกำนันโดยตรง และควรมีวาระการเลือกทุก 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้โดยไม่จำกัดวาระ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสทบทวนผลการปฏิบัติงาน รวมถึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2475 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน วาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อประโยชน์ของราษฎร โดยเสนอให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ทุก 3 ปี ให้ผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันได้  

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กรรมาธิการฯ อาทิ คำนูณ สิทธิสมาน วิทยา แก้วภราดัย และชัย ชิดชอบ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีความเป็นผู้นำชุมชนและเป็นผู้นำของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการแก้ไขขั้นตอนการคัดเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อลดการบิดเบือนอำนาจรัฐในการบังคับใช้ และการแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องเริ่มจากการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่ที่สุจริต ยุติธรรม พร้อมย้ำว่าการแก้ไขครั้งนี้จะไม่กระทบกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เพราะเมื่อครบ 60 ปี ก็สามารถลงสมัครกำนันได้ ส่วนกำนันจะอยู่ในตำแหน่งจนครบ 5 ปี และเมื่อครบ 5 ปีสามารถใช้สิทธิสมัครเป็นกำนันต่อไปได้ โดยการปล่อยให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มีวาระดำรงตำแหน่งถึง 60 ปี ทำให้เกิดการผูกครองตำแหน่งที่นานเกินไป ส่งผลต่อวิธีคิดที่มองว่าใช้ตำแหน่งกับผลประโยชน์ ดังนั้นการเสนอกฎหมายดังกล่าวนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตยุติธรรม ซึ่งข้อเสนอนี้เป็นการประนีประนอมมากที่สุดแล้ว 

ขณะที่สมาชิก สปท. มีทั้งอภิปรายสนับสนุนและคัดค้าน ศานิตย์ นาคสุขศรี สมาชิก สปท. เสนอให้มีการกำหนดที่มาของกำนัน ผู้ใหญ่ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีหน้าที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากกำนันที่ได้รับการคัดเลือกมาจากผู้ใหญ่บ้านอาจทำให้เกิดการแลกผลประโยชน์ ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากชาวบ้าน อีกทั้งหากมีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่นานเกินไป อาจก่อให้เกิดการผูกขาด สะสมอิทธิพลในพื้นที่ได้

ปรีชา บุตรศรี สมาชิก สปท. เห็นว่าแนวทางที่กรรมาธิการฯ เสนอจะทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยึดโยงกับประชาชนได้จริง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ได้ อีกทั้งที่ผ่านมา การได้มาซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาโดยตลอด เพื่อใช้เป็นหัวคะแนนของพรรคการเมือง ขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านถูกออกแบบให้ปกครองท้องที่และดูแลคนในชุมชน ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นนักการเมือง ดังนั้นจึงจะมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ และไม่เห็นด้วยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำรงตำแหน่ง 5 ปี แล้วเลือกตั้งใหม่ แต่ให้อยู่ในตำแหน่งจนอายุ 60 ปี

สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ค้าน

วันเดียวกัน เจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สปท. เป็นตัวแทน สปท.รับการยื่นเรื่องจาก ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และคณะ เพื่อขอคัดค้านรายงานของ กมธ. ดังกล่าว

ยงยศ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอวาระดำรงตำแหน่งของกำนัน 5 ปี เนื่องจากหากต้องมีการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านบ่อยครั้งจะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนข้อสงสัยที่ว่าหากการดำรงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระนานเกินไปจะเป็นการสร้างอิทธิพลร่วมกับกลุ่มการเมืองหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการทำหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นอิสระจากการเมือง อีกทั้งหากกำนันผู้ใหญ่บ้านกระทำการทุจริตหรือสร้างอิทธิพล ประชาชนก็สามารถเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ และยังมีการประเมินผลงานทุกๆ 3 ปี ด้วย โดยหลังจากนี้สมาคมฯ จะเดินหน้าคัดค้านการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในทุกขั้นตอน

ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา สมาชิก สปท. ที่คัดค้านรายงานดังกล่าว กล่าวว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหัวใจของประชาชน ส่วนตัวเห็นว่าการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านควรให้มีวาระถึง 60 ปี ในขณะที่การดำรงตำแหน่งของกำนันควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนการแก้ไขในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ควรไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย มากกว่าจะนำมาเข้าที่ประชุม สปท.

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

BRN แถลง 3 เงื่อนไขเจรจาสันติภาพปาตานีต้องตามหลักสากล ฟังเสียง ปชช.

Posted: 10 Apr 2017 04:00 AM PDT

บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ต่อกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพแห่งปาตานี ย้ำต้องได้รับอำนาจ-ถ่ายทอดความต้องการของประชาชน เป็นไปตามหลักการสากล คนกลางเจรจามีความน่าเชื่อถือ มีคุณลักษณะตามมาตรฐานนานาชาติ มีความยุติธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

แถลงการณ์จากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น)

10 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์ telegra.ph ซึ่งเป็นเว็บโพสต์กระทู้แบบนิรนามพัฒนาโดยทีมเทเลแกรม มีการเผยแพร่แถลงการณ์ของ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ถึงการพูดคุยสันติสุข กระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพแห่งปาตานี โดยเรียกร้องให้การเจรจาต้องได้รับอำนาจจากประชาชน และการถ่ายทอดความปรารถนาของประชาชน กระทำบนฐานความสมัครใจของคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง โดยเห็นชอบที่จะหาทางออกร่วมกันอย่างสมัครใจ และต้องมีคนกลาง หรือประชาคมระหว่างประเทศ เป็นพยานและผู้สังเกตการณ์ ผู้ดำเนินการเจรจาควรมีความน่าเชื่อถือและมีคุณลักษณะตามมาตรฐานนานาชาติ เช่น มีความยุติธรรม จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการเจรจาตามกรอบกระบวนการที่คู่เจรจาเห็นชอบร่วมกัน รวมทั้ง คู่เจรจาควรกำหนดกระบวนการเจรจาให้ชัดเจน และเห็นชอบร่วมกันก่อนที่จะเริ่มต้นการเจรจา

โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้ (อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่)

แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ลงวันที่ 10 เมษายน 2560

ในประเด็นกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ ผู้แทนในการเจรจาจะต้องเป็นผู้ที่ถูกมอบหมาย และได้รับอำนาจมาจากคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย ต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมปฏิบัตินานาชาติ และกระบวนการเจรจาไม่ควรถูกกำหนดโดยคู่ตัวแสดงอื่นที่มิใช่คู่ขัดแย้ง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อใจและให้เกียรติซึ่งศักดิ์ศรีแห่งกันและกัน

ควรจะต้องเน้นย้ำว่า การต่อสู้ของบีอาร์เอ็น เป็นการต่อสู้เพื่อสันติภาพและความเป็นมนุษย์ ต่อต้านการกดขี่ การล่าอาณานิคมทุกรูปแบบเพื่อเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืนมา

บีอาร์เอ็นจึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การเจรจาสันติภาพคือการหาทางแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่การเชิดชูความเป็นมนุษย์ หยุดการเข่นฆ่าและนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง บีอาร์เอ็นเชื่อว่าการเจรจาดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง

บีอาร์เอ็นมีจุดยืนที่ชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลงว่า การหาทางออกเพื่อสันติภาพใดๆ จะต้องสอดคล้องกับคุณค่าและบรรทัดฐานสากล

บีอาร์เอ็น เห็นว่า เงื่อนไขดังต่อไปนี้ จะนำมาซึ่งความสำเร็จในกระบวนการเจรจาสันติภาพ

  1. การเจรจาสันติภาพใดๆ ต้องกระทำบนความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง โดยเห็นชอบที่จะหาหนทางยุติความขัดแย้งอย่างสมัครใจ และต้องมีบุคคลที่สามจากนานาชาติเป็นสักขีพยานและผู้สังเกตุการณ์
  2. คนกลางในการเจรจาควรมีความน่าเชื่อถือและมีคุณลักษณะตามมาตรฐานสากล เช่น คนกลางจะต้องมีความยุติธรรม จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการเจรจาตามกรอบกระบวนการที่คู่ขัดแย้งเห็นชอบร่วมกัน
  3. คู่ขัดแย้งควรออกแบบกระบวนการเจรจาให้ชัดเจน และเห็นชอบร่วมกันก่อนที่การเจรจาจะเริ่มขึ้น

การให้ความสำคัญต่อข้อปฏิบัติข้างต้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคู่ขัดแย้ง ที่จะทำให้เกิดท่าที ถ้อยแถลงที่เคารพซึ่งกันและกัน ส่งผลให้เกิดกระบวนการเจรจาที่มีประสิทธิภาพและสร้างแรงขับเคลื่อนเชิงบวกต่อไปในอนาคต

บีอาร์เอ็น ขอย้ำว่า การเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งในปาตานีนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียเลย ถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวไป

การพูดคุย เจรจาสันติภาพใดๆ จะต้องได้รับอำนาจจากประชาชน และการถ่ายทอดความปรารถนาของประชาชนออกมาเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่ง

แผนกข้อมูล บีอาร์เอ็น

ลงตราประทับ

 

หมายเหตุ: ประชาไท แก้ไขพาดหัวจาก "BRN แถลง 3 ข้อ เจรจาสันติภาพต้องฟังเสียง ปชช. มีคนกลางตามมาตรฐานนานาชาติ" เป็น "BRN แถลง 3 เงื่อนไขเจรจาต้องตามหลักสากล ฟังเสียง ปชช."

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม้งช่วยรบ (ตอนจบ) บทสรุปของการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นคนไทย

Posted: 10 Apr 2017 03:59 AM PDT

สนทนากับอดีตสมาชิกชุมชนถ้ำกระบอกหลังผ่านยุค "ม้งช่วยรบ" เมื่อพวกเขาเห็นว่าการเป็นคนไร้สัญชาตินั้น เหมือนชีวิตวิ่นแหว่ง ไม่มีความสมบูรณ์ จึงเริ่มต้นเรียกร้องสิทธิเพื่อสัญชาติไทยมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งต้องใช้เวลานับ 10 ปีจึงจะเริ่มคืบหน้า "อย่างที่บอกนั่นแหละว่า เราได้สัญชาติไทยในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเราไปช่วยรบ หรือเพราะคุณงามความดีที่เราเคยทำเพื่อประเทศชาติ แต่เราได้มาเพราะต่อสู้ด้วยสิทธิของเราเอง" เยี่ยปาว อดีตสมาชิก "ม้งช่วยรบ" กล่าว

000

เพราะการเป็นคนไร้สัญชาตินั้น เหมือนชีวิตนั้นวิ่นแหว่ง ไม่มีความสมบูรณ์
พวกเขาจึงเริ่มต้นเรียกร้องสิทธิ เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย
เป็นการต่อสู้ที่ใช้เวลายาวนาน และต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เยี่ยปาว แซ่ซง อดีตอาสาสมัคร "ม้งช่วยรบ" เล่าให้ฟังว่า เขากับญาติพี่น้อง ได้เดินทางไปยื่นเอกสารที่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อขอให้ดำเนินการเรื่องสัญชาติ โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา

"พวกผมได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 7 ภายใต้การประสานงานจากทหาร แต่หลังจากยื่นคำร้อง ก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ประมาณปี พ.ศ. 2551 ได้รับแจ้งจากผู้นำหมู่บ้านว่าให้พวกตนสำรวจใหม่เนื่องจากบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 ดำเนินการมานานแล้วไม่คืบหน้า ให้เปลี่ยนมาสำรวจทำบัตรประจำตัวเลข 0 ใหม่ทั้งหมด มีคนจำนวนหนึ่งมาสำรวจและทำบัตรเลข 0 ส่วนพวกตนไม่ยอมทำบัตรเลข 0 เนื่องจากพวกตนคิดว่าบัตรเลข 6 ของพวกตนมีคุณสมบัติที่ดีกว่า"

แน่นอนว่า การถือบัตรเลข 6 ของเยี่ยปาวและญาติพี่น้องของเขา ทำให้รู้ว่าถูกจำกัดสิทธิในหลายๆ ด้าน

"ยกตัวอย่างเช่น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเช่าซื้อรถ หากใครต้องการซื้อก็ให้คนรู้จักในหมู่บ้านไปเป็นผู้จดทะเบียน ส่วนการเดินทางถ้าเราขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปข้างนอก ไปในเมือง ก็มักถูกเรียกตรวจ และถูกปรับในข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับขี่"

การใช้ชีวิตของพวกเขา จึงพยายามอยู่กันในหมู่บ้านธารทอง แต่เมื่อถึงกรณีจำเป็นที่ต้องออกเดินทางไปทำธุระในการเดินทางต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ก็จะเกิดปัญหาตามมาทันที

"เวลาเราจำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ พวกเราจะใช้เอกสารที่ทางการออกให้เพื่อใช้สำหรับเดินทางไปใน 20 จังหวัดภาคเหนือที่กระทรวงออกให้ก่อนออกมาจากถ้ำกระบอกเป็นหลักฐาน บางครั้งก็ถูกโต้แย้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่สามารถใช้ได้ แต่เมื่อได้รับการอธิบายก็ไม่ถูกจับกุม"

และนั่นทำให้พวกเขา เริ่มหันกลับมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องขอสัญชาติกันอีกครั้ง

"การเรียกร้องต่อสู้เรื่องขอสัญชาติ ตอนแรกๆ เราก็ต่อสู้ด้วยตัวเอง มาตอนหลังก็เริ่มเรียนรู้จากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตอนนั้น มีองค์การแพลน เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงโรงเรียน สนับสนุนก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และมาถ่ายรูปทำข้อมูลเด็กแพลน และในช่วงนั้นเองพวกเรา ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเรื่องสัญชาติ ผมจึงได้เสนอเรื่องม้งถ้ำกระบอกไปในที่ประชุม เพื่อขอความช่วยเหลือ จนทำให้กรณีม้งถ้ำกระบอกเป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีประชุมเรื่องสัญชาติบ่อยมากขึ้น และจากการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดพะเยาครั้งนั้น พวกเราจึงได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือ โดยในที่ประชุมครั้งนั้น เราได้พบกับครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ด้วย"

เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และแสง แสงยาอรุณ จากมูลนิธิ พปส.ที่ ช่วยเหลือไปตามเรื่องสัญชาติ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

แสง แสงยาอรุณ มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง(พปส.) หนึ่งในทีมงานที่่เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มม้งช่วยรบ จนได้สัญชาติไทย

เยี่ยปาว บอกว่า หลังจากได้บอกเล่าเรื่องราวให้ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ครูแดงได้แนะนำให้แสง แสงยาอรุณ จากมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง (พปส.) ขอให้เข้ามาช่วยดูแลกรณีม้งถ้ำกระบอก เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนและยุ่งยากซับซ้อนกว่ากรณีรายอื่นๆ

แต่ที่แน่ๆ ทุกคนรู้ดีว่า ปัญหาในการดำเนินการเรื่องสัญชาติกรณีนี้ จริงๆ แล้ว ปัญหามันอยู่ที่อำเภอเชียงแสนไม่ยอมรับว่า ม้งถ้ำกระบอกมีฐานข้อมูลอยู่ที่อำเภอ

"ซึ่งหลังจากได้รับคำปรึกษาในเรื่องนี้ พวกผมก็เลยทำหนังสือถึงจังหวัด และก็ได้รับคำตอบว่า พวกเรามีฐานข้อมูลอยู่ที่อำเภอเชียงแสนจริง" เยี่ยปาว บอกย้ำอย่างหนักแน่น

นั่นทำให้เยี่ยปาวและชาวบ้าน ได้กลับมาคุยกัน วางแผนและหาข้อมูลหลักฐานกันใหม่ โดยมีหลายหน่วยงานองค์กรคอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนและชี้แนวทางในการทำงานให้

"ใช่ โดยเฉพาะทางมูลนิธิ พปส. พวกเราได้มาเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่ พปส. กันหลายเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการสื่อสาร การเจรจา เวลาไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับอำเภอ ต้องติดต่อยังไง ต้องคุยอย่างไรกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต้องหาพยานหลักฐานอย่างไร เราก็พยายามช่วยกัน" เยี่ยปาว บอกเล่า

เป็นที่รับรู้กันดีว่า การเรียกร้องสิทธิเรื่องสัญชาติ บางครั้งต้องใช้เวลาอันยาวนานกับการต่อสู้ กว่าจะได้มาซึ่งสิทธิของตน

กรณีของกลุ่มม้งบ้านธารทองนี้ก็เช่นเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2554 แสง แสงยาอรุณ และทีมงานฝ่ายสถานะบุคคล มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ได้รับการร้องขอจากเยี่ยปาว ให้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มม้งที่บ้านธารทอง ซึ่งอพยพมาจากสำนำสงฆ์ถ้ำกระบอก ต่อมา ทางมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จึงได้ทำการสำรวจ รวบรวมเอกสารและวิเคราะห์สถานะบุคคลของกลุ่มม้งดังกล่าว ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 บุคคลประเภท 6-xxxx-68xxx-xx-x มีสำเนาทะเบียนประวัติกลุ่มม้งถ้ำกระบอก มีสำเนาทะเบียนบ้าน (ทร.13) และรายการบุคคลในฐานข้อมูลได้แจ้งย้ายออกจากสำนักทะเบียนเทศบาลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และย้ายเข้า ณ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนที่เป็นภูมิลำเนาปัจจุบันแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย

กลุ่มที่ 2 บุคคลประเภท 6-xxxx-68xxx-xx-x มีสำเนาทะเบียนประวัติกลุ่มม้งถ้ำกระบอก มีสำเนาทะเบียนบ้าน (ทร.13) แต่รายการบุคคลในฐานข้อมูลไม่ได้แจ้งย้ายจากสำนักทะเบียนเทศบาลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ให้มาอยู่ ณ สำนักทะเบียนที่ชาวบ้านมีภูมิลำเนาปัจจุบัน ชาวบ้านอพยพโยกย้ายมาแค่ตัวบุคคล โดยข้อมูลทางทะเบียนของบางคนยังอยู่ที่สำนักทะเบียนเทศบาลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี แต่บางคนถูกจำหน่ายรายการทางทะเบียนราษฎร

กลุ่มที่ 3 บุคคลที่มีเอกสารตามกลุ่มที่ 2 หรือ 3 แต่ปัจจุบันบุคคลกลุ่มนี้ได้รับการสำรวจแบบ 89 และถือบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 0)

กลุ่มที่ 4 ไม่มีเอกสารทางราชการ มีเพียงเอกสารที่ออกให้โดยสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก

และเมื่อมีการพิจารณาตามลักษณะของสภาพปัญหา สามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ

1. กลุ่มที่มีทะเบียนประวัติที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ได้มีการแจ้งย้ายฐานข้อมูลมาที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นภูมิลำเนา ณ ปัจจุบัน แต่ไม่เคยได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่ผิดปกติคือ ชาวบ้านไม่มีทะเบียนประวัติฉบับจริง ณ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน

2. กลุ่มที่เคยมีทะเบียนประวัติที่อำเภอพระพุทธบาท บางคนมีหนังสือแจ้งย้าย แต่ไม่ได้ย้ายข้อมูลทางทะเบียน หรือบางคนไม่มีหนังสือแจ้งย้าย และไม่ได้ย้ายข้อมูลทางทะเบียน แต่ปัจจุบันรายการบุคคลในฐานข้อมูล(ที่อำเภอพระพุทธบาท)ถูกจำหน่าย ชาวบ้านกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสาร ในทางปฏิบัติจึงมีปัญหาข้อติดขัดในการไปขอคืนรายการบุคคล คือชาวบ้านไปขอคืนรายการบุคคล ณ สำนักทะเบียนที่มีรายการ(อำเภอพระพุทธบาท) แต่เจ้าหน้าที่ทะเบียนที่นั่นแจ้งว่าได้ย้ายไปหมดแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว ขณะที่สำนักทะเบียนที่ชาวบ้านมีภูมิลำเนาปัจจุบัน(อำเภอเชียงแสน) ก็ได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีรายการในสำนักทะเบียนนี้ จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวบ้านอุปสรรคยนยนที่มีรายการ าย (ห้โดยนะบุคคลของกลุ่มม้นักสงฆ์ถ้ำกระบอก และได้ดำเนินการแจ้งย้ายเข้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน

3. กลุ่มที่เคยมีทะเบียนประวัติชุมชนวัดถ้ำกระบอก ที่อำเภอพระพุทธบาท (6-xxxx-68xxx-xx-x) ไม่ได้แจ้งย้ายมาที่ปลายทางคืออำเภอเชียงแสน รายการบุคคลก็ถูกจำหน่าย และปัจจุบันได้รับการสำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (0-89) โดยมีรายการต่างๆ ตรงกันกับทะเบียนประวัติที่สำรวจ ณ วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี (6-xxxx-68xxx-xx-x) และมีหลายคนที่ข้อมูลตามแบบสำรวจ 89 ไม่ตรงกันเช่น วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด

จากการดำเนินการช่วยเหลือด้านสถานะบุคคล ของมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ซึ่งเราได้สำรวจข้อเท็จจริงและวิเคราะห์สถานะบุคคลของชาวม้งบ้านธารทอง ซึ่งถือว่ายากและมีความซับซ้อนกว่ากรณีอื่น โดยเราจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

กลุ่มที่มีเลข 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 จำนวน 55 คน

กลุ่มที่มีเลข 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 (เดิมเป็นเลข 6 แต่เปลี่ยนเป็นเลข 0) จำนวน229 คน

กลุ่มที่ไม่มีเลข 13 หลัก (คนไร้รัฐ) จำนวน 50 คน

รวมทั้งหมด 334 คน

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากมีการสืบค้น รวบรวมหลักฐานต่างๆ กันใหม่ ก็ได้มีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับม้งกลุ่มนี้กันอย่างต่อเนื่อง

และแน่นอน มีมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง เป็นองค์กรหลัก ที่โดดเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่

"ที่ผ่านมา เรามีการประสานงานกับทางสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และสำนักทะเบียนกลางฯ โดยเสนอคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติชุมชนวัดถ้ำกระบอก ทดแทนต้นฉบับที่สูญหาย โดยเฉพาะการประสานงานกับทางสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อจัดทำบัตรประจำตัวผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเราได้ประสานงานกับวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงแสนในขณะนั้น เพื่อร่วมหาแนวทางในการช่วยเหลือการพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มม้งจากถ้ำกระบอก บ้านธารทอง ต่อไป" ตรีลดา แสงยาอรุณ ผู้ประสานงานมูลนิธิ พปส.บอกเล่าให้ฟัง

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ยังได้ลงพื้นที่หมู่บ้านธารทอง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและเตรียมความพร้อมกลุ่มที่มีสิทธิยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 ก่อนที่จะลงรับคำขอจริง จัดเวทีทำความเข้าใจกับผู้นำ แกนนำกลุ่มม้งจากถ้ำกระบอก และบุคคลไร้สัญชาติม้งจากถ้ำกระบอกที่บ้านธารทอง

จนกระทั่งระหว่างวันที่ 28-31 สิงหาคม 2557 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จึงได้ประสานเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านสถานะบุคคล จำนวน 7 องค์กร คือ มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง (พปส.) จังหวัดเชียงราย องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) จังหวัดเชียงราย มูลนิธิกระจกเงา จังหวัดเชียงราย องค์การยุติธรรมนานาชาติ (IJM) จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมช่วยเหลือในการรับคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 (ฉบับที่ 4) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551

ซึ่งจากความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้ง 7 องค์กร ได้นำไปสู่การขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิให้กับชาวม้งกลุ่มนี้ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่รับคำร้อง มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ให้กับกลุ่มบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) และกลุ่มคนหัว 0 มีการสอบ ป.ค.14 ผู้ยื่นและพยาน มีการตรวจคัดกรองเอกสาร ของกลุ่ม (เลข 6) และกลุ่มคนหัว 0 บ้านธารทอง หมู่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่สูญหาย

จากนั้น มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ได้ลงพื้นที่บ้านธารทอง เพื่อนำเอกสารที่สอบ ป.ค.14 เสร็จสมบูรณ์แล้ว นำไปให้พยานและผู้ใหญ่บ้านลงนามรับรองเอกสาร และรับเอกสารเพิ่มเติมในส่วนของรายการที่เอกสารไม่ครบถ้วน ก่อนที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จะทำตรวจสอบเอกสาร และทำบันทึกข้อความเอาไว้

กระบวนการทำงาน ดูเหมือนว่าจะราบรื่น แต่แล้วหลายฝ่ายเริ่มมองเห็นอุปสรรคปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกันอีกแล้ว

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ทำการยื่นคำร้อง จำนวน 131 ราย ให้กับวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงแสน ในขณะนั้น โดยมีข้อตกลงกันว่า ขอให้ท่านนายอำเภอเชียงแสน ลงนามให้สัญชาติไทยตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่4 )พ.ศ.2551 นำร่อง 1 ครอบครัว ไปก่อน

"แต่ผลสุดท้าย ท่านนายอำเภอไม่ได้ลงนาม จึงไม่มีผู้ได้รับการอนุมัติแม้แต่รายเดียว" ผู้ประสานงานมูลนิธิ พปส. บอกเล่า

7 ตุลาคม 2557 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ จึงได้ประชุมและชี้แจง ทำความเข้าใจปัญหาที่พบในระหว่างดำเนินการรับคำร้อง และชี้แจงถึงความคืบหน้าของคำร้อง ตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 จำนวน 131 คน ประกอบด้วยกลุ่ม บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 0) และกลุ่มบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ที่ส่งมอบให้สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 พร้อมกับชี้แจงกลุ่มชาวบ้านที่เอกสารขัดแย้งกันเพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้ยื่นคำร้อง ต้องรอแก้ไขเอกสาร เช่น กลุ่มคนที่เคยมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) แต่ไปทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 0)

ทางมูลนิธิ พปส. ได้พยายามติดตามกระบวนการทำงานในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างการดำเนินการรับคำร้องของชาวบ้านส่วนที่เหลือ และการรอความคืบหน้าจากสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายนั้น ทางมูลนิธิ พปส.ได้จัดส่ง แสง แสงยาอรุณ เข้าเป็นตัวแทนของเครือข่ายเข้าไปเป็นคณะทำงานในระดับจังหวัดและได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน โดยได้นำประเด็นปัญหาของกลุ่มม้งที่มีสถานะบุคคลผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชุดใหม่แทนชุดที่ทำการสำรวจเมื่อ ปี 2542 ที่หายไป และยังไม่ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัว ไปพูดคุย เร่งรัด และผลักดัน ในเวทีคณะทำงานเพื่อให้เร่งดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มี สัญชาติไทย (เลข 6) แก่กลุ่มม้ง จำนวน 54 คน

จนกระทั่ง กรมการปกครอง ได้มีคำสั่งถึงสำนักทะเบียนเชียงแสน ให้กลุ่มม้งบ้านธารทอง ที่เป็นกลุ่ม บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ไปดำเนินการถ่ายบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 54 คน ต่อเนื่องจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้มาจัดทำแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติชาวเขา ของชาวบ้านใหม่ แทนอันเดิมที่สูญหายไป

และในวันที่ 21 มกราคม 2558 ก็เป็นวันหนึ่งที่สำคัญที่ เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และญาติพี่น้องม้ง ต้องจดจำและจารึกไว้ในชีวิตครอบครัวของพวกเขา เมื่อมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน และตัวแทนหน่วยงานทหาร หัวหน้าชุด ชบข. ที่ 3203 กอ.รมน.ภาค 3 สย.2 ได้ร่วมพิธีมอบบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ให้กับชาวบ้าน ณ หอประชุมบ้านธารทอง หมู่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย รวมทั้งสิ้น จำนวน 52 คน

ผ่านไปเพียงหนึ่งวัน วันที่ 22 มกราคม 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ก็ได้แจ้งข่าวให้มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนทางเครือข่ายฯ ทราบถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551แก่ บี แซ่ท่อร์ และไมเย้ะ แซ่ท่อร์ ซึ่งทั้งสองคน ได้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับเพื่อนชาวม้งทั้งหมด 17คน ก่อนที่เครือข่ายสถานะบุคคล จังหวัดเชียงราย ไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก่อนที่ทางมูลนิธิ พปส.และเครือข่ายฯ จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือรับคำร้องการขอสัญชาติไทย

ต่อมา มีการปรับเปลี่ยนนายอำเภอคนใหม่ แต่ปัญหาเรื่องสัญชาติของชาวบ้านยังไม่จบสิ้น จำเป็นต้องมีการเร่งรัดและสานต่อ

3 กุมภาพันธ์ 2558 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ จึงพากันเข้าพบนายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสนคนปัจจุบัน เพื่อหารือเรื่องการทำงานด้านสถานะบุคคลในพื้นที่อำเภอเชียงแสน และส่งมอบคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551เพิ่มอีกจำนวน 49 ราย ของกลุ่มชาวม้งจากถ้ำกระบอกที่บ้านธารทอง ให้สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน

โดยในการเข้าพบครั้งนั้น มีเตือนใจ ดีเทศน์, แสง แสงยาอรุณ และวีระ อยู่รัมย์ เข้าพบนายอำเภอเชียงแสน เพื่อหารือในประเด็นแนวทางการทำงานและความร่วมมือกัน โดยนายอำเภอบอกว่า เพิ่งเดินทางเข้ามารับตำแหน่งใหม่ จึงขอเวลาศึกษาเอกสาร รายละเอียดต่างๆ ก่อน เพื่อจะได้กำหนดแนวทางการทำงานต่อไป

หลังจากนั้น การทำงานพิจารณาและดำเนินการเรื่องสัญชาติก็เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ

10-12 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ได้ประสานมายังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง เพื่อแก้ไขคำร้อง กลุ่มที่ฟ้องศาลปกครอง จำนวน 16 ราย เตรียมเสนอให้กับนายอำเภอ พิจารณาการอนุมัติ

13 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้แจ้งถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มายังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จำนวน 10 คน

24 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้แจ้งถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มายังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จำนวน 1 คน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ก็ยังดูติดขัดและล่าช้า เนื่องจากยังมีชาวบ้านม้งบ้านธารทอง อีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาให้สัญชาติไทย จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ามันล่าช้า ผิดปกติ

3 มีนาคม 2558 ตัวแทนชาวบ้านธารทอง มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง และตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อยื่นร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการดำเนินการขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551ของสำนักทะเบียน ที่มีความล่าช้านานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 48 คน

แต่ทุกอย่างก็เงียบหาย ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น

16 มีนาคม 2558 ชาวบ้านธารทอง จำนวน 48 คน จึงตัดสินใจไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากทางอำเภอเชียงแสน ดำเนินการพิจารณาคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 ล่าช้า โดยมีเครือข่ายฯ เป็นผู้ช่วยร่างคำฟ้องและเป็นที่ปรึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้อง และฟ้องศาลปกครอง
ทำให้หน่วยงานรัฐขยับและเดินหน้ากันอีกครั้ง

ภาพเยี่ยปาว และไซ แซ่ซ่ง กับบัตรประจำตัวประชาชน ที่เรียกร้องต่อสู้จนได้มา

หลังจากถูกชาวบ้านฟ้องต่อศาลปกครอง ทำให้สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้เร่งดำเนินการรับรองคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แก่ชาวบ้านธารทอง ซึ่งมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ ร่วมลงนามรับรองคำร้องให้แก่ชาวบ้าน

ต่อมา สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้แจ้งถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ให้กับชาวบ้านธารทองที่เหลือทั้งหมด

ซึ่งทางมูลนิธิ พปส.ได้สรุปผลการยื่นคำร้องม้งถ้ำกระบอก บ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ให้ทุกคนทราบว่า "การลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ.2551 จำนวน183 คำร้องได้รับการอนุมัติ และได้สัญชาติไทยทุกคน"

เมื่อชาวบ้านได้รับสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว ทุกคนต่างดีใจ ถอนหายใจ โล่งอก

ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ พยายามขอเจรจาไกล่เกลี่ย ขอให้ชาวบ้านถอนคำฟ้องศาลปกครอง

11 พฤษภาคม 2558 ทางสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ได้จัดเวทีหารือถึงการถอนคำฟ้องศาลปกครอง ของชาวบ้านธารทอง จำนวน 48 คน ซึ่งผลการเจรจา ก็มีข้อสรุปคือ ชาวบ้านยินยอมถอนคำฟ้อง

"ซึ่งเราก็รู้ว่า ในประเทศไทยเรา ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป ผู้ที่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนก็มี ผู้ที่ไม่สนใจก็มี เราในฐานะชาวบ้านเล็กๆ คนหนึ่ง ก็ต้องต่อสู้เรียกร้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา การเรียกร้องต่อสู้ การดำเนินเรื่องสัญชาติ มันมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากเรามีสมาชิกครอบครัวมาก และดำเนินการหลายครั้ง บางครั้งต้องเดินทางไกล จึงมีค่าใช้จ่ายเป็น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเอกสาร แต่เราก็อดทน ต่อสู้จนได้สัญชาติไทย" เยี่ยปาว บอกย้ำด้วยสีหน้าจริงจัง

ทั้งนี้ มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง (พปส.) ได้สรุปในภาพรวมของเส้นทางการเรียกร้องสิทธิการขอสัญชาติไทย ของกลุ่มม้งช่วยรบ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า…

กลุ่มอดีตม้งช่วยรบ หรือม้งกลุ่มที่ 1 ที่ทางกองทัพไทยเคยใช้ให้พวกเขาทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก กับกลุ่มที่เคยเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกในจังหวัดสระบุรี ในระยะที่ผ่านมานั้นกลุ่มบางส่วนได้รับสัญชาติไทยแล้ว ขณะที่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย

กลุ่มที่ได้รับสัญชาติไทยกลุ่มแรก คือชาวม้งที่ชุมชนห้วยขาม เป็นหย่อมบ้านย่อยของหมู่บ้านตะเวน ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งไม่เคยเข้าไปอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ในจังหวัดสระบุรี กลุ่มนี้ได้รับสัญชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 จากคำสั่งและการเดินทางมาแจกสัญชาติไทยของจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ส่วนกลุ่มที่สองที่ได้รับสัญชาติไทยเป็นกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มบ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่ชาวบ้านต้องดิ้นรนด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการฟ้องศาลปกครอง ประกอบกับการเข้าไปช่วยเหลือขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิและสถานะบุคคล กับเจ้าหน้าที่จากสำนักทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง จนทางอำเภอเชียงแสนได้ทยอยดำเนินการอนุมัติสัญชาติให้

และกลุ่มที่สามคือที่อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ที่ชาวบ้านแต่ละคนและแต่ละครอบครัวต้องหาวิธีการในการประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานทะเบียนของอำเภอเอาเอง โดยในกระบวนการดังกล่าวมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปช่วยทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเป็นครั้งคราว ส่งผลให้มีการอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกเป็นบางราย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังคงมีกลุ่มม้งที่ออกมาจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก แต่ได้กระจายกันไปอยู่ตามชุมชนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลกและจังหวัดเลย ซึ่งมีบุคคลที่ส่งเอกสารมา ขอคำปรึกษา ยังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จำนวน 338 คน ซึ่งรวมไปถึงลูกหลานในครอบครัวด้วย บุคคลเหล่านี้ต่างดิ้นรน แสวงหาแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยด้วยตนเอง

"ซึ่งจริงๆ แล้ว คนม้งกลุ่มนี้ น่าจะได้สถานะตั้งนานแล้ว แต่กรมการปกครองไม่จัดการ ทั้ง ๆ ที่มีมติคณะรัฐมนตรี มาแล้ว แต่มติคณะรัฐมนตรีถูกยกเลิกโดยมติ 7 ธันวาคม 2553 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ สำหรับคนม้งบ้านธารทอง 56 คน ที่ได้ดูแลให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มม้งที่ไม่ยอมไปทำบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน "เลข 0" เพราะมีเลข 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข "6" บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย อยู่แล้ว โดยคนม้ง กลุ่มนี้มีเอกสารแบบพิมพ์ประวัติ แต่พอได้ไปตรวจสอบที่อำเภอเชียงแสน อำเภอบอกไม่มี บอกว่าอยู่ที่กรมการปกครอง พอเราไปตรวจสอบที่กรมการปกครอง แต่กรมการปกครองก็บอกว่าอยู่ที่อำเภอ ปัญหาแบบพิมพ์ประวัติรูปไม่ชัด ต้องสอบพยานเพิ่มเติม ช่องทางที่แนะนำคือ การยื่นตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และคนที่เกิดไทย ให้ยื่นตามมาตรา 23 ทุกคนมีเอกสารที่พร้อม มีใบรับรองการเกิด ทร.20/1 ซึ่งในตอนนั้น ได้มีการทดลองยื่น 1 ครอบครัวคือ ครอบครัวนายเยี่ยปาว แซ่ซ่ง แต่ติดอยู่ที่ไม่มีบัตรประจำตัว ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมทำบัตร คนม้งถ้ำกระบอก กลุ่มม้งกลุ่มที่ 1 ตามที่ได้ดูเอกสาร หลักฐาน มีเพียง 2-3 คน ที่เกิดนอก นอกนั้นเกิดในไทยหมด ทำให้เราเห็นว่า พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติจากการมการปกครอง ทางความมั่นคงได้ใช้ประโยชน์พวกเขาแล้ว ได้บอกจะกำหนดสถานะให้ แต่กรมการปกครองไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้ ทำให้ปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน" แสง แสงยาอรุณ บอกเล่า

"ใช่ แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ง่ายนัก เพราะชาวบ้านเองก็มีความรู้ ความพร้อมและความเข้าใจในกฎหมายที่แตกต่างกัน บางส่วนก็มีสำเนาของเอกสารที่ทางราชการเคยออกให้ บางส่วนก็ไม่มี นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจและความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มชาวม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกันด้วย" ตรีลดา แสงยาอรุณ ผู้ประสานงานมูลนิธิ พปส.บอกเล่าให้ฟัง

เมื่อเราตั้งคำถามว่า ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ อยากเสนอทางออกของปัญหาในเชิงนโยบายไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

"ก็อยากเสนอให้คณะรัฐมนตรี มีมติ และกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนในท้องที่ให้ดำเนินการสำรวจและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาให้สัญชาติแก่กลุ่มม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก โดยอ้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2545 ที่ยังตกค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว" ตัวแทนมูลนิธิฯ บอกในตอนท้าย

000

เมื่อหันกลับมามองสีหน้าแววตาของ เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และญาติพี่น้องของเขา ในวันนี้

ทุกคนเริ่มมีรอยยิ้มแต้มบนใบหน้าบ้างแล้ว แม้ว่าครั้งหนึ่ง ชีวิตของพวกเขานั้นได้ผ่านศึกสมรภูมิและสงครามความเป็นความตายมานักต่อนักแล้ว แต่เมื่อมาย้อนกลับมาดูการเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย นั้นก็หนักหนาสาหัสไม่ใช่น้อย กว่าจะมาถึงวันนี้...

แม้ว่าอดีตจะผ่านไปนานนับสิบๆ ปีแล้ว แต่พวกเขายังจำภาพเรื่องราวเก่าๆ ได้ชัดเจน

พวกเขากำลังยืนล้อมวงกันบนโต๊ะในกระท่อมไม้ไผ่ ในหมู่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เยี่ยปาว แซ่ซ่ง ค้นบัตรประจำตัววัดถ้ำกระบอกในกระท่อมนำออกมาวางให้ทุกคนดู ในขณะลี กับไซ แซ่ซ่ง น้องชายและหลานชาย รื้อค้นรูปภาพเก่าๆ สมัยที่พวกเขาอยู่ในสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก และอาสาไปเป็นทหารช่วยรบกับคอมมิวนิสต์ลาว มาวางบนโต๊ะให้ทุกคนดู ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม ฮึกเหิมและจริงจังในห้วงชีวิตหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเป็นความตายในราวป่า

แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับมีสีหน้าแววตา ซึ่งดูเหมือนเจ็บปวดและเศร้า เมื่อนึกถึง เรื่องราวและผลตอบแทนที่ได้รับ เมื่อกลับมา…

"ถ้าไปช่วยรบ เมื่อสถานการณ์สงบและยุติแล้วจะให้สัญชาติไทยพร้อมกับที่อยู่อาศัย และที่ทำกินเป็นการตอบแทน" คำสัญญาที่ทางการไทยเคยบอกไว้ในอดีต ยังคงก้องอยู่ในหัวของเยี่ยปาว แซ่ซ่ง กับ ลี น้องชาย และ ไซ หลานชายของเขาอยู่ย้ำๆ อย่างนั้นตลอดมา

ซึ่งเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่า ที่ไม่ได้รับคำตอบ และไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ เลย

"รู้ไหม พวกเรารู้สึกเสียใจ เจ็บปวดมาก เมื่อกลับมา ไม่ได้สัญชาติไทยแล้วยังไม่พอ เรายังถูกทางรัฐบาลไทยได้สั่งการให้ทหารหน่วยอื่นมาผลักดันกองกำลังชาวม้งให้ออกจากฐานที่มั่น โดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่ให้ไว้" เยี่ยปาว แซ่ซ่ง บอกเล่าด้วยน้ำเสียงปวดร้าว

"นี่เรายังถือว่าโชคดีนะ ที่ไปรบกลับมาแล้วไม่สูญเสียอวัยวะ ยังมีร่างกายอยู่ครบ แต่ยังมีพี่น้องเราหลายคน ต้องสูญเสีย ขาขาด เป็นคนพิการอยู่ในหมู่บ้านธารทอง ซึ่งพวกเขาเสียใจมาก ที่รัฐบาลไทยไม่ได้มาเหลียวแลเลย" ไซ แซ่ซ่ง หลานชายของเยี่ยปาว บอกย้ำให้ฟัง

"ที่สุดแล้ว เราต้องกลับมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องสัญชาติด้วยตัวเราเอง" ลี แซ่ซ่ง น้องชายของเยี่ยปาว เอ่ยออกมา ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม

"อย่างที่บอกนั่นแหละว่า เราได้สัญชาติไทยในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเราไปช่วยรบ หรือเพราะคุณงามความดีที่เราเคยทำเพื่อประเทศชาติ แต่เราได้มาเพราะต่อสู้ด้วยสิทธิของเราเอง" เยี่ยปาว แซ่ซ่ง หนึ่งในกลุ่มม้งช่วยรบ บอกย้ำให้ฟังในตอนท้าย.   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จ่านิว มวลร่างกายเกินเกณฑ์ ไม่ต้องเป็นทหาร

Posted: 10 Apr 2017 03:30 AM PDT

สิรวิชญ์ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ มวลร่างกายเกินเกณฑ์ ทำให้ไม่ต้องเป็นทหาร เพื่อนๆ นัดเลี้ยงลาบปลอบใจเย็นนี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo

10 เม.ย. 2560  เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' โพสต์ภาพ พร้อมมรายงานด้วยว่า ช่วงสายวันนี้ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เดินทางมารายงานตัวคัดเลือกทหารกองเกินที่โรงเรียนวัดหนองจอกตามหมายเรียก ต่อมาได้ขอสละสิทธิผ่อนผัน เตรียมเข้าจับใบดำ-ใบแดง ในช่วงบ่าย โดยภายหลังการสละสิทธิผ่อนผัน จ่านิวได้มีปากเสียงกับทหารเล็กน้อยในเรืองการออกนอกพื้นที่การตรวจเลือกทหาร ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาทหารจะอนุญาตให้ออกไปทานอาหารและพักรอการตรวจเลือกได้

โดยในช่วงบ่าย Voice TV รายงานว่า สิรวิชญ์ ปรากฎออกมาว่าถูกจัดให้อยู่ในจำพวก 4 ไม่ผ่านเกณฑ์เพราะน้ำหนักเกิน ทำให้ไม่ต้องเป็นทหาร ส่วนเจ้าตัวระบุแม้ไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร แต่เมื่อเป็นกฎหมายก็จำใจต้องเข้าสู่กระบวนการ

Voice TV รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อเข้าสู่ชั้นตอนการตรวจร่างกาย ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่สิบกว่านายตามประกบ สิรวิชญ์ ทุกฝีก้าว โดย สิรวิชญ์ ได้ขอให้มีการตรวจร่างกายในห้องลับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการริดรอนสิทธิเหลือร่างกายมากเกินไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยินดีให้ตรวจร่างกายในห้องลับตามที่ สิรวิชญ์ ร้องขอ ผลการตรวจร่างกาย ปรากฏออกมาว่า สิรวิชญ์ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนจำพวก 4 น้ำหนักมวลร่างกายเกินเกณฑ์ ทำให้ไม่ต้องเป็นทหาร โดยหลังจากการตรวจร่างกายเสร็จสิ้น กำลังเจ้าหน้าที่ก็ได้ตามประกบเพื่อกกดันนายสิรวิชญ์ให้ออกจากพื้นที่อย่างเร่งรีบ

สิรวิชญ์ระบุว่าตนยังคงยืนยันในจุดยืนไม่เห็นด้วยและต้องการให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ในเมื่อเป็นกฎหมาย ตนก็จำใจต้องปฏิบัติตาม และยินดีที่จะเข้าสู่ขั้นตอนในวันนี้ ส่วนในความรู้สึกนั้น ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ ที่ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อเวลา 16.19 น. ที่ผ่านมา สิรวิชญ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Sirawith Seritiwat' ญาติวีรชนและพลเมืองโต้กลับ ขอเชิญท่านร่วมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงลาบปลอบใจจ่านิว หลังถูกทหารกีดกัรนไม่ให้รับใช้ชาติ 19.00 น. ร้านลายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ต้องรับตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2560 นอกจาก สิรวิชญ์ แล้ว ยังมี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยประกาศไว้ในคำประกาศความเป็นไทเมื่ออายุ 18 ปี ว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเกณฑ์ทหารของกองทัพไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ซึ่งเนติวิทย์ได้ขอผ่อนผันไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดสำรวจยูนิเซฟพบหญิงจบประถม-หญิงรวย สมรส/อยู่กินกับชายมากกว่า 1 คน อัตราสูงกว่ากลุ่มอื่น

Posted: 09 Apr 2017 11:04 PM PDT

เด็กหลังห้อง เปิดรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี พบหญิงจบประถมหรือหญิงรวย สมรส/อยู่กินกับชายมากกว่า 1 คนในอัตราที่สูงกว่าหญิงกลุ่มอื่น ขณะที่ฝ่ายชาย 40-44 ปี มีสัดส่วนมากกว่าชายกลุ่มอื่นๆ พร้อมชี้สมรสในวัยเด็กเป็นการละเมิดสิทธิฯ ทำลายพัฒนาการ

เว็บไซต์เด็กหลังห้อง รายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ใน พ.ศ. 2558-2559 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม MICS ทั่วโลก ทั้งนี้มีองค์การยูนิเซฟเป็นผู้สนับสนุนหลักทั้งเทคนิคทางวิชาการและงบประมาณ

ซึ่งรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559 ดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ จึงหยิบยกบางส่วนมานำเสนอ โดยเฉพาะประเด็นการสมรสหรืออยู่กินมากกว่า 1 คน โดยผู้หญิงที่อายุ 15-49 ปี ที่สมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คน พบว่า ร้อยละ 3.4 ที่สมรสอยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คน โดยโดยสัดส่วนพบสูงสุดในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 4.5  ผู้หญิงอายุ 45-49 ปีที่สมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คนมีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 3.9 ซึ่งสัดส่วนนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.9 สำหรับผู้หญิงอายุ 15-19 ปี นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยมีสัดส่วนของการสมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คน ในอัตราที่มากกว่าผู้หญิงในกลุ่มอื่นๆ

ดูภาพขนาดใหญ่

ดูภาพขนาดใหญ่

ขณะที่ ผู้ชายที่มีการสมรสมากกว่า 1 คน โดยภาพรวมผู้ชายอายุ 15-49 ปี ร้อยละ 2.9 มีคู่สมรสมากกว่า 1 คน โดยพบสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือร้อยละ 4.0 และต่ำสุดในภาคเหนือ คือ ร้อยละ 1.6 นอกจากนี้พบว่าการมีคู่สมรสมากกว่า 1 คน พบในกลุ่มผู้ชายที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา คือ ร้อยละ 3.3 กลุ่มที่มีฐานะยากจนมาก คือ ร้อยละ 3.5 และผู้ชายในกลุ่มอายุ 40-44 ปี เป็น ร้อยละ 3.9 ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชายในกลุ่มอื่นๆ

สถิติการสมรสอายุน้อย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสมรสตั้งแต่อายุน้อย โดย พบว่า ผู้หญิงอายุ 15-19 ปีที่ขณะนี้สมรสหรือกินอยู่กับผู้ชายร้อยละ 14.1 โดยพบสัดส่วนสูงสุดในภาคเหนือ คือ ร้อยละ 17.7 และพบว่าสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากระหว่างผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล คือ ร้อยละ 13.4 และ 14.7 ตามลำดับ แต่มีประเด็นน่าสนใจเมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษาของผู้หญิง โดยพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาเกือบครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 46.6 ที่ขณะนี้มีการสมรสหรืออยู่กินกับผู้ชาย ในขณะที่สัดส่วนนี้ผู้หญิงไม่มีการศึกษาเท่ากับร้อยละ 15.7 ส่วนผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและสูงกว่ามัธยมศึกษามีสัดส่วนต่ำกว่า ร้อยละ 13.5 และ 1.4 ตามลำดับ
 
สำหรับสถานะทาง เศรษฐกิจของครัวเรือนพบว่ามีความสัมพันธ์ในทางตรงข้ามนั้นคือ เกือบ 1 ใน 4 ของผู้หญิงอายุ 15-19 ปีที่มีฐานะยากมากสมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายเปรียบเทียบกับร้อยละ 2.5 สำหรับผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยมาก
 
สำหรับผู้ชายอายุ 15-19 ปี ที่ขณะนี้สมรสหรืออยู่กินกับผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 6.8 โดยสัดส่วนไม่แตกต่างกันระหว่างในเขตเทศบาลกับนอกเทศบาล คิดเป็นร้อยละ 6.8 และ 6.7ตามลำดับ แต่มีความแตกต่างระหว่างภาค ดังนี้ สัดส่วนของผู้ชายอายุ 15-19 ปีที่ขณะนี้สมรสพบสูงสุดในภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 8.2 และต่ำสุดในภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 5.6โดยเมื่อพิจารณาระดับการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่อายุ 15-19 ปีที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปัจจุบันสมรสในสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 13.7 และมีสัดส่วนต่ำสุดในผู้ชายที่ไม่ได้รับการศึกษา คือ ร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ชายอายุ 15-19 ปีที่ไม่มีการศึกษามีเพียง 43 ราย
 
สัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายที่สมรสก่อนอายุ 15 ปี และ 18 ปี จำแนกตามพื้นที่และกลุ่มอายุ การพิจารณาร้อยละของผู้ที่สมรสก่อนอายุ 15 และ 18 ปีตามกลุ่มอายุจำทำให้เห็นแนวโน้มของการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าความชุกของสัดส่วนของผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีคู่สมรสก่อนอายุ 15 ปีและ 18 ปี นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงเวลาที่ผ่านไป โดยพบว่าร้อยละ 4.0 ของผู้หญิงอายุ 45-49 ปี แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี ร้อยละ 4.8 สำหรับผู้หญิงอายุ 40-44 ปี และร้อยละ 4.0 สำหรับผู้หญิงอายุ 25-29 ปี อย่างไรก็ตามพบว่าผู้หญิงอายุ 15-19 ปี ซึ่งแสดงแนวโน้มล่าสุดมีร้อยละ 4.4 ที่แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี และพบลักษณะเช่นเดียวกันสำหรับการแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี
 
สำหรับร้อยละของการสมรสก่อนอายุ 15 ปี ของเพศชายมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยพบว่าผู้ชายอายุ 15-19 ปี ที่สมรสก่อนอายุ 15-19 ปี ที่สมรสก่อนอายุ 15 ปี มีสัดส่วนต่ำสุด คือ ร้อยละ 0.8เมื่อเทียบกับผู้ชายกลุ่มอายุอื่น โดยร้อยละ 2.4 ของผู้ชายอายุ 35-39 ปี สมรสก่อนอายุ 15 ปี ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่าการสมรสก่อนอายุ 15 ปีของผู้ชายมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้ชายอายุ 20-24 ปีที่สมรสก่อนอายุ 18 ปีมีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับผู้ชายในกลุ่มอายุอื่นๆ
 
องค์ประกอบอื่นที่เกี่ยงข้องกับการสมรส คือ ความแตกต่างของอายุของคู่สมรส ซึ่งนำเสนอในลักษณะตัวชี้วัด คือ ร้อยละของผู้หญิงที่สมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายที่แก่กว่า 10 ปีขึ้นไป ผลสำรวจแสดงให้เห็นความแตกต่างของอายุสามีภรรยาของคู่สมรสในประเทศไทยดังนี้ 1 ใน 7 หรือ ร้อยละ 15.1 ของผู้หญิงอายุ 20-24 ปี มีสามีอายุแก่กว่า 10 ปีขึ้นไป ขณะที่ 1 ใน 13 หรือ ร้อยละ 7.5ของผู้หญิงอายุ 15-19 ปี มีสมามีอายุแก่กว่า 10 ปี โดยพบว่าผู้หญิงในภาคเหนือ คิดเป็น ร้อยละ 17.7 ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา คิดเป็น ร้อยละ 23.7 ผู้หญิงในครัวเรือนที่มีฐานะยากจนมาก คิดเป็น ร้อยละ 20.4 และผู้หญิงที่หัวหน้าครัวเรือนพูดภาษาไทย ร้อยละ 16 มีสัดส่วนที่สามีมีอายุแก่กว่า 10 ปี ขึ้นไปกว่ากลุ่มอื่น
 
1 ใน 2 หรือประมาณ ร้อยละ 46.9 ของผู้หญิงสมรสอายุ 20-24 ปี มีสามีที่แก่กว่า 0-4 ปี โดยมีสัดส่วนสูงสุด สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา คิดเป็น ร้อยละ 71.3 ผู้หญิงที่หัวหน้าครัวเรือนไม่พูดภาษาไทย คือ ร้อยละ 60.8 นอกจากนี้พบว่ามากกว่า 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 26.8 ของผู้หญิงกลุ่มอายุนี้ที่มีฐานร่ำรวยสมรสกับสามีที่อายุแก่กว่า 5-9 ปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สุงกว่าผู้หญิงในฐานะอื่นๆ ถึง   1 ใน 3 และพบว่าผู้หญิงที่มีสามีอายุอ่อนกว่า มีร้อยละ 18.6 โดยมีสัดส่วนสูงสุดในผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษาและมีฐานะยากจน ร้อยละ 19.8 และ 22.4 ตามลำดับ
 

ชี้สมรสในวัยเด็กเป็นการละเมิดสิทธิฯ ทำลายพัฒนาการ

รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า การสมรส ก่อนอายุ 18 ปี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หญิงสาววัยรุ่นหลายคน มีหลายแห่งของโลกที่พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่เด็ก ด้วยความหวังที่ว่าจะได้ประโยชน์ทั้งด้านการเงินและสังคม ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัว ซึ่งความเป็นจริงการสมรสในวัยเด็กเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายพัฒนาการของเด็ก และบ่อยครั้งที่ทำให้เด็กหญิงตั้งครรภ์และถูกแยกออกจากสังคมตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งที่มีการศึกษาเพียงเล็กน้อยและทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดความยากจนสำหรับเพศหญิงมากยิ่งขึ้น
 
สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการสมรสในวัยเด็ก เด็กหญิงเริ่มมีเพศสัมพันธ์ สมรสก่อนอายุ 18 ปี มีแนวโน้มที่จะมีบุตรจำนวนมากกว่าผู้หญิงที่สมรสช้ากว่า ทราบกันดีว่าการตายของเด็กหญิงอายุ 15-19 ปี มีสาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งครรภ์ จะแต่งงานหรือว่าไม่แต่งงานก็ตามโดยเฉพาะเด็กวัย 15 ปี มีหลักฐานที่ว่าเด็กหญิงที่แต่งงานเมื่ออายุยังน้อยมีโอกาสสูงที่จะแต่งงานกับชายที่อายุมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น  ดังนั้นความไม่สมดุลของอำนาจในการตัดสินใจ เนื่องมาจากอายุที่แตกต่างกันส่งผลให้การใช้ถุงยางอนามัยต่ำกว่ามากสำหรับคู่สมรสในลักษณะนี้
 
สำหรับโปรแกรมการสำรวนนี้ ได้พัฒนาโดยองค์การยูนิเซฟ ในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจครัวเรือนในระดับนานาชาติ โดยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กและผู้หญิงในระดับประเทศ เพื่อการจัดทำตัวชี้วัดที่เป็นสากลและสามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีช่วยให้ประเทศมีข้อมูลสำหรับใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ รวมใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ระลึกวีรชน 10 เมษายน 2553

Posted: 09 Apr 2017 10:35 PM PDT



7 ปีเข้านี่แล้วแถวราชดำเนิน     ใครยังเดินหามันสมองของใครหล่น

วิญญาณที่ไร้เงาเฝ้าดูคน     เคลื่อนไหวไปบนถนนเหมือนกลไก

เป้าหมายของทั้งมวลล้วนบรรลุ?     ณ อนุสาวรีย์ที่บอดใบ้

เลี้ยวซ้ายถนนดินสอต่อไม่ไกล     ผ่านไว ๆ แวบไหวใครโบกธง

เหมือนยังโบกธงชาติไทยเงาไหววาบ     มีช่างภาพญี่ปุ่นวิ่งวุ่นหลง

กล้องสะพายถ่ายต่อไปไม่งวยงง     เขายังคงส่งรอยเตอร์เพ้องมงาย

วิญญาณที่ไร้เงาคล้ายเขายังอยู่     ยังเฝ้าดูทำข่าวราวมุ่งหมาย

ใครยังเฝ้าโบกธงจงคลี่คลาย     อย่าทำร้ายประชาชนคนไทยด้วยกัน

7 ปีเข้านี่แล้วแถวราชดำเนิน     สมองหล่นคนเดินเพลินเหยียบฝัน

มองปีกนกอนุสาวรีย์ทุกวี่วัน     โบกธงประจันปืนยืนเพื่อใคร

ความหวังยังส่งต่อรุ่นต่อรุ่น     เถ้ากระดูกเป็นฝุ่นกรุ่นอยู่ใกล้

คำว่าวีรชนล้นหัวใจ     ใช่ไหมในวีรกรรมทำถูกลืม.

                                                              

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเกรงใจหรือการเคารพสิทธิผู้อื่น

Posted: 09 Apr 2017 10:21 PM PDT


 

ความขัดแย้งในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยทวีขึ้นมาก และมักจะดำเนินต่อไปจนจบเรื่องด้วยการใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะในระดับของ  "คนอยู่บ้านใกล้ชิดติดกัน" หรือในการใช้พื้นที่สาธารณะบนท้องถนนร่วมกัน ดังข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ เพียงแค่การไม่ยอมออกรถจากจุดจ่ายน้ำมันในปั๊มน้ำมัน ก็ทำให้ทะเลาะกันรุนแรง เป็นต้น

แน่นอนว่า การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนหรือสังคมนั้น ย่อมไม่มีใครที่ทำอะไรถูกใจคนอื่นได้หมด ความไม่พึงพอใจต่อการกระทำของผู้อื่นที่สัมพันธ์กับเราหรืออยู่ใกล้ชิดเราย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ  ในสมัยก่อน สังคมไทยได้สร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะหนึ่งขึ้นมาเพื่อลดทอนปัญหาความขัดแย้งในชีวิตประจำวันนี้ด้วยการทำให้คนแต่ละคนรู้จักและสำนึกที่จะควบคุมการกระทำของตนเองไม่ให้ไปรบกวนคนอื่นด้วยความคิดเรื่อง "ความเกรงใจ"

" ความเกรงใจ" คือ ความรู้สึกระมัดระวังที่จะไม่ให้การกระทำใดๆของตนไปทำให้คนอื่นรู้สึกถึงความลำบาก /เดือนร้อน/ ยุ่งยาก ในทุกมิติ  ในกาลก่อนนั้น สังคมไทยได้ทำให้ "ความเกรงใจ" กลายเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ทางสังคม  ซึ่งมีผลทำให้การกระทำที่จะกระทบกระทั่งผู้อื่นเกิดขึ้นไม่มากนัก

"ความเกรงใจ" เป็นระบบความหมายที่มีพลังในสังคมที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก  โดยเฉพาะในชุมชนขนาดเล็กและชุมชนขนาดย่อมทั่วไปของสังคมไทยที่ผู้คนยังหมายรู้กันได้ว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหนอย่างไร  แต่เมื่อเกิดรัฐแบบใหม่และเกิดการขายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา  ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ ความพยายามจะควบคุมการกระทบกระทั่งระหว่างผู้คนที่มีความสัมพันธ์กันมากขึ้นนั้น จึงทำให้ชนชั้นนำไทยในระยะหลังได้ผลักดันให้ "ความเกรงใจ" ขยายตัวครอบคลุมสังคมให้มากยิ่งขึ้น  ด้วยการทำให้เกิด "คุณลักษณะใหม่" ของผู้คนที่จะใช้ความสำนึกเรื่อง "ความเกรงใจ" ในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม   

กระบวนการนี้ทำได้โดยการนิยาม " ความเกรงใจ" ให้กลายเป็นคุณสมบัติบุคคลที่มีเกียรติในสังคม หรือเป็นบุคคลที่พึงประสงค์ นั่นคือ  การทำให้ " ความเกรงใจ" กลายเป็น "สมบัติผู้ดี" และได้นิยาม " ความเป็นผู้ดี" ที่ข้ามพ้นพรมแดนชนชั้นที่มีรากฐานอยู่บนหลักชาติวุฒิหรือชาติกำเนิดของคนในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ผู้มีคุณงามความดีตามระบบคุณค่าใหม่ๆ ในระยะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕  ซึ่งความหมายของกระบวนการนี้ก็คือ การขยายสำนึก "ความเกรงใจ" ออกไปครอบคลุมสังคมไทยกว้างขวางมากขึ้น ในขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และระบบคุณค่าเดิมๆในสังคมบางส่วนไม่มีพลังในการจรรโลงความสัมพันธ์ทางสังคมในดำเนินไปอย่างราบรื่น และระบบคุณค่าใหม่ๆ ยังไม่เป็นที่รับรู้หรือยอมรับมากนัก


คนรุ่นผมที่เคยเข้าค่ายลูกเสือหรือไปโรงเรียนในยุคสมัยที่มีการร้องเพลงหน้าเสาธง คงพอจะจำเพลง "ความเกรงใจ" ได้นะครับ ผมจำได้แม่นว่าเนื้อเพลง คือ "ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี ตรองดูซิทุกคนก็มีหัวใจ เกิดเป็นคนถ้าหากไม่เกรงใจใคร คนนั้นไซร้ไร้คุณธรรมประจำตน"

การควบคุมพฤติกรรมผู้คนในสังคมด้วยการขยาย "ความเกรงใจ" ให้มาเป็นคุณสมบัติของ "ผู้ดีมีคุณธรรม" นี้ ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควรในสังคมที่การเคลื่อนย้ายทางสังคมไม่เข้มข้นมากนัก หรือผู้คนมีความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าไม่ถี่มากเหมือนในสังคมปัจจุบัน แม้ว่าจะมีผู้คนย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในชุมชนที่ตนเองกลายเป็นคนแปลกหน้า  ทั้งคนที่อยู่มาก่อนและคนที่อพยพเข้าไปอยู่ใหม่ ก็จะใช้ความรู้สึก "เกรงใจ" ในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือนหรือสร้างปัญหาให้แก่คนอื่นๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของตนดำเนินต่อไปโดยมีปัญหาความขัดแย้งน้อยที่สุด

การที่ต้องอยู่ร่วมกันหรือพบหน้ากันไปนานๆ ตลอดจนความจำเป็นที่ต้องร่วมมือหรือช่วยเหลือกันในบางเรื่อง (แม้มิใช่การพึ่งพากันอย่างรอบด้านเหมือนในสังคมโบราณ) นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ "ความเกรงใจ" มีพลังกำกับความสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้น เมื่อสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520  เป็นต้นมาอันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจ  "ความเกรงใจ" จึงมีพลังน้อยลงเป็นลำดับ เมื่อประกอบกับการที่รัฐไทยเน้นความมั่นคงของชาติและความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นสองมิติหลัก ทำให้ "คุณธรรม" ที่ได้รับการเน้นจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" และเกี่ยวกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ความขยันและรับผิดชอบในการทำงาน ฯลฯ  ไม่ใช่เรื่องของ "ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี" อีกต่อไป

ดังนั้น "ความเกรงใจ" ที่เคยเป็นคุณลักษณะสำคัญที่รัฐบาลและครอบครัวปลูกฝังให้เยาวชนและลูกหลาน จึงเหลืออยู่ในพจนานุกรมมากกว่าในชีวิตจริงของคนไทย

แม้แต่ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนที่เป็นคนคุ้นเคยกัน "ความเกรงใจ" ก็เหลือน้อยลง มิพักต้องพูดถึงในระดับสังคมซึ่งก็ไม่เคยสร้างความคิดเรื่อง "ความเกรงใจสังคม " มาก่อน ยื่งทำให้การละเมิด "สังคม" เป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่า การใช้พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยในปัจจุบันเป็นไปโดยขาด "ความเกรงใจ" คนอื่นๆ และแทบจะไม่มีความเกรงใจต่อ "สังคม" เอาเสียเลย ทำให้พร้อมที่จะยึดเอาความพึงพอใจ ผลประโยชน์ หรือความสะดวกของตนเองเป็นหลัก ซึ่งการขาดความเกรงใจเช่นนี้เองที่คนไทยด้วยกันเองนั่นแหละที่มักจะพูดกันทำนองปรับทุกข์ว่า "คนสมัยนี้เห็นแก่ตัวมากขึ้น"
         

การสูญสลายไปของ "ความเกรงใจ" ก่อปัญหาการละเมิดกันมากมายได้อย่างไร  และสังคมไทยในวันนี้จะต้องคิดอะไรกันบ้างเพื่อรักษาสังคมให้เป็นสังคมกันต่อไป 

การสูญสลายไปของ "ความเกรงใจ" ก่อปัญหาการละเมิดกันมากมายในทุกมิติ ตั้งแต่การดำเนินชีวิตประจำวันในพื้นที่สาธารณะทุกแห่ง เช่น ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านกาแฟ โลกโซเชียล ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงความใฝ่ฝันถึง " บรมธรรม" ก็ล้วนแล้วแต่วางอยู่บนความปรารถนาส่วนตัวอย่างไม่แคร์คนอื่นและสังคมเลย ลองนึกถึงการสร้างพระพุทธรูปรุ่น " ดูดทรัพย์" ที่เน้นความร่ำรวยส่วนตัวอย่างไม่มีแก่ใจคิดไปถึงเรื่องของ " ความเมตตา" ที่ควรจะมีต่อผู้อื่น  ไม่ใช่คิดเพียงแค่จะดูดทรัพย์คนอื่นเท่านั้น

คนที่ "ขี้เกรงใจ" คนอื่น  ก็จะพบว่า "ความเกรงใจ" ที่ตนมีและทำให้ตนเอง "ถอย" สักหน่อยเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่นมากขึ้นกลับกลายเป็นช่องทางและโอกาสให้คนอื่นนั้นได้ใช้ " ความเกรงใจ" ที่ได้รับมากระทำการรุกล้ำ ล่วงเกิน ละเมิด และขูดรีด ตนมากขึ้นไปอีก
 


ท่ามกลางสังคมที่ปราศจาก " ความเกรงใจ" กันและกันเช่นนี้ เราจะอยู่กันอย่างไร

ผมเชื่อว่าปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างผู้คนในทุกระดับและทุกมิติจะทวีมากขึ้น  ลองนึกถึงการเกิดขึ้นและการขยายตัวของ " มนุษย์ป้า/มนุษย์ลุง/มนุษย์แว้น/มนุษย์ลูกคนรวย " ที่พร้อมจะเอาเปรียบคนอื่นและสังคมได้อย่างหน้าตาเฉยที่มากขึ้นตามวันเวลา เพื่อนสนิทผมคนหนึ่งก็พบกับพฤติกรรมเบรครถแล้วถอยมาจะชนแบบเดียวกับมนุษย์หนุ่มชื่อดังที่เคยทำเมื่อไม่นานมานี้


สังคมไทยในวันนี้จะต้องคิดอะไรกันบ้างเพื่อรักษาสังคมให้เป็นสังคมต่อไป

ผมคิดว่ามีสองทางเลือกที่จำเป็นต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา ตั้งแต่ครอบครัว ระบบการศึกษาทุกระดับ และระดับของสังคมโดยรวม ทางเลือกแรก ได้แก่  การคืนและขยาย "ความเกรงใจ" ให้ครอบคลุมกว้างขวางจนเป็น " ความเกรงใจสังคม" ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยสร้างการรับรู้และให้ความหมายของ " พื้นที่สาธารณะ" กันใหม่ว่าไม่ใช่พื้นที่ที่ใครจะมาถ่มถุยอะไรก็ได้อย่างที่เคยทำกันมา  หากแต่ต้องเข้าใจและตระหนักว่า "พื้นที่สาธารณะ" นั้นเป็น " สมบัติร่วมของสังคม" ที่ปัจเจกบุคคลไม่ควรล่วงละเมิด

ระบบการศึกษาในทุกระดับจะต้องสอนและสร้างกิจกรรมที่เชื่อมโยงตัวผู้เรียนเข้ากับ "สมบัติร่วมของชุมชนและสังคม" ตลอด  และต้องทำให้ตระหนักถึงสายตาของคนรอบข้างที่จะตำหนิเด็กหากละเมิดกฏเกณฑ์ของ "สมบัติร่วม" ซึ่งแน่นอนว่ามีความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีรู้สึกของคนไทยอยู่บ้างเพราะหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นต้นมา สังคมไทยมักจะสั่งสอนให้ใส่ใจคนรอบข้างน้อยลง เช่น คำพูดทำนองว่า "อย่าไปแคร์ใคร เพราะเราไม่ได้ไปขอข้าวใครกิน" แต่ก็จำเป็นต้องคิดถึงการสร้างจินตนาการเชื่อมต่อผู้คนกับ "สมบัติร่วม" เช่นนี้ให้ได้

ทางเลือกประการที่สอง ได้แก่ การทำให้คนในสังคมไทย "เคารพสิทธิของผู้อื่น" แม้ว่าสังคมไทยจะพูดหรือเขียนประโยคนี้ถี่มากขึ้น แต่น่าแปลกใจที่การกระทำมากมายในสังคมกลับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการจะสร้าง "สังคมที่เคารพสิทธิผู้อื่น" จำเป็นที่จะต้องสร้างความคิดและความรู้สึกถึง " ความเท่าเทียม" ของคนขึ้นมาให้ได้ก่อน แต่สังคมไทยที่ผ่านมาได้ได้สร้างให้เกิดความคิดและความรู้สึกถึงความเท่าเทียมกันแต่อย่างใด  ความหมายของ" ความเป็นไทย"ยังคงฝังลึกอยู่กับความสัมพันธ์ในเชิงลำดับชั้นอยู้ไม่เสื่อมคลาย

แม้ว่าจะแยก"ความเกรงใจสังคม" และ " การเคารพสิทธิผู้อื่น" ออกเป็นสองทางเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองชุดความคิดนี้จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพียงแต่แยกให้เห็นว่าหากเราจะเลือกอยู่กับ " วัฒนธรรมไทย" ให้มากหน่อยก็จำเป็นต้องเลือกทางไปสู่การสร้าง " ความเกรงใจสังคม" แต่หากเราจะเลือกเดินไปสู่ " วัฒนธรรมสากล" ก็คงต้องเน้นการสร้าง " การเคารพสิทธิผู้อื่น" แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สองชุดความคิดนี้เป็นเสมือนสองหน้าของเหรียญเดียวกัน

หลายคนก็พูดกันนะครับว่าสังคมไทยอยู่ยากมากขึ้น ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่เราก็ยังพอจะช่วยทำให้สังคมไทยอยู่กันอย่างสงบ สันติ และอยู่สบายๆ ได้ครับ โดยที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างระบบความหมายในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมกันใหม่ครับ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24,31 มีนาคม 2560

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.กรรมการสิทธิฯ งง เหตุมี กสม.ลาออก เพราะบรรยากาศการทำงานไม่เอื้อสร้างสรรค์

Posted: 09 Apr 2017 09:17 AM PDT

วัส ไม่ทราบความหมาย เหตุมี กสม.ลาออก เพราะบรรยากาศการทำงานไม่เอื้อ ชี้ทุกองค์กรย่อมมีปัญหา แต่ต้องร่วมกันแก้ไข หนุนความคิดที่ว่า กสม.ต้องทำหน้าที่เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องแท้จริง ถ้ารับใช้ต่างชาติ บ่อนทำลายประเทศ ย่อมเป็นที่เคียดแค้นชิงชังของ ปชช. และอยู่ไม่ได้ 

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. (ที่มาภาพ เว็บ กสม.) 

9 เม.ย. 2560 จากกรณี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสิทธิฯ แล้ว โดยให้เหตุผลว่าบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงานที่สร้างสรรค์ นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (9 เม.ย.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ได้เผยแพร่คำชี้แจงของ วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. โดยระบุว่าเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปทราบถึงปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้องครบถ้วน ประธาน กสม. ขอชี้แจงให้ทราบดังนี้

ต่อ คำถาม บรรยากาศการทำงานอย่างไรจึงไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์นั้น ประธาน กสม. ตอบ ไม่ทราบว่ามีหมายความอย่างไร คงมีรายงานข่าวในสื่อสังคมรายหนึ่งว่า ต้องรอให้ฝุ่นหายหรือจางลงก่อน

สำหรับคำถามที่ว่า กสม. และสำนักงาน กสม. มีปัญหาในการทำงานหรือไม่ นั้น ประธาน กสม. ตอบ ทุกองค์กรในสังคมระดับประเทศและระหว่างประเทศรวมทั้งองค์กรแห่งนี้ย่อมมีปัญหาในการทำงาน  ดังนั้น บุคคลในแต่ละองค์กรจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีให้ลุล่วงไปได้ จึงจะเป็นผลดี

ต่อคำถามว่า ในการทำงานของ กสม.บางครั้งเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับมติเสียงข้างมากจริงหรือไม่ วัส ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง  ในการทำงานของ กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3) ส่วนใหญ่มีมติเอกฉันท์ น้อยครั้งที่มีมติไม่เอกฉันท์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของทุกองค์กร การขอให้ระบุมติของที่ประชุม ในรายงานผลการตรวจสอบหรือพิจารณาของ กสม. ในกรณีนี้ให้ตรงตามข้อเท็จจริง   ย่อมสามารถกระทำได้  ในการทำงานของ กสม. ชุดที่สองถึงขนาดให้ระบุรายละเอียดของการลงมติในรายงาน หรือจะมีหมายเหตุข้างท้ายรายงาน ( Footnote) ในหน้าที่มีการลงนามด้วยก็ได้

ขณะที่ คำถามที่ว่า กสม. ต้องทำหน้าที่เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องแท้จริง ถ้าประพฤติตนรับใช้ต่างชาติ บ่อนทำลายประเทศชาติของตน ย่อมเป็นที่เคียดแค้นชิงชังของประชาชน และอยู่ไม่ได้ ประธาน กสม. ตอบว่า เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ 

ต่อกรณีคำถาม กสม. พ้นจากตำแหน่งในกรณีใดบ้าง ประธาน กสม. ตอบว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจพ้นจากตำแหน่งได้ 2 กรณี คือ โดยสมัครใจ คือการลาออก และโดยไม่สมัครใจ เช่น ขาดคุณสมบัติ  ถูกถอดถอน หรือครบวาระ  การลาออกเป็นเรื่องดุลพินิจเฉพาะตัว ไม่อาจที่จะบีบบังคับหรือเรียกร้องให้มีการลาออกได้ และมีผลทันที

ต่อคำถามที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา จะสามารถดำเนินการสรรหาบุคคลมาเป็น  กสม. แทนได้หรือไม่ นั้น ประธาน กสม. ตอบว่า ไม่สามารถดำเนินการสรรหาได้ กรณีก่อนวันที่ 5 เม.ย. 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 40/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 ให้งดเว้นการสรรหา กสม.  รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระอื่น และให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าว ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่เหลืออยู่ และแม้ว่าต่อมาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นนับจากวันที่ กสม. ลาออก จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ลงวันที่ 6 เม.ย. 2560 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 40/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 ก็ตาม แต่ยังคงให้งดเว้นการสรรหาก กสม. รวมทั้งกรรมการการเลือกตั้งและผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อไปดังเดิมจนกว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนั้นจะมีผลใช้บังคับ โดยอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #152 อิทธิพลตะวันตกใน ‘พุทธไทยแท้ๆ’

Posted: 09 Apr 2017 08:43 AM PDT

ถกกันเรื่องอิทธิพลโลกตะวันตกต่อพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่หลังพุทธกาลไม่นานก็ได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีก จนถึงระลอกปฏิรูปพุทธศาสนาในยุค "ธรรมยุติกนิกาย" ล่าสุดก็หนีไม่พ้นรูปแบบการแสวงหาความบริสุทธิ์และสร้างระเบียบแบบแผนไม่ต่างจากยุคปฏิรูปศาสนาในตะวันตก

กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ที่

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และแขกรับเชิญ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ถกกันในเรื่องอิทธิพลของโลกตะวันตกต่อพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่หลังพุทธกาลไม่นานก็ได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีก ผ่านการขยายอิทธิพลของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่กรีฑาทัพมาถึงอินเดีย และในยุคต่อมามีเจ้าผู้ครองนครกรีกตั้งอาณาจักรขึ้นในย่านอัฟกานิสถาน-ปากีสถานปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกเท่านั้น ยังรวมไปถึงปฏิสังสรรค์ทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อพุทธศาสนาผ่านทางศิลปะอย่างการสร้างพระพุทธรูป จีวรพระ และแนวคิดเชิงปรัชญาในคำสอนทางพุทธศาสนาอีกด้วย

ขณะเดียวกันในยุคปฏิรูปพุทธศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 4 ศิริพจน์เสนอด้วยว่าในยุคนี้ที่มีการแสวงหาความบริสุทธิ์ของหลักคำสอนทางพุทธศาสนา การตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติ การทำให้พุทธศาสนาเป็นแบบแผน ถึงขั้นกำหนดสีของจีวร พระพุทธรูปแนวพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 หรือสูตรการคำนวณวันสำคัญทางศาสนาอย่าง "วันมาฆบูชา" ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีคิดการค้นหามาตรฐาน และการแสวงหาความบริสุทธิ์แบบตะวันตก ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบของพุทธศาสนาในไทยในยุคปัจจุบันอีกด้วย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์เสนอ 8 ข้อเสนอรับมือการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ

Posted: 09 Apr 2017 05:01 AM PDT

ผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นสัญญาณก้าวแรกของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมและภาคการลงทุน เสนอ 8 ข้อเสนอรับมือการกีดกันการค้าจากสหรัฐอเมริกา ลดผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม

 
9 เม.ย. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและภาคการลงทุนโดยรวมว่า จะส่งผลบวกและเป็นสัญญาณแรกของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง การมีระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบบนิติรัฐอันจะสร้างความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นต่อภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการร่างกฎหมายลูกว่าจะเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ และ เป็นกลไกส่งเสริมให้มีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพและคุณภาพหรือไม่อย่างไร ยังคงไม่ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ระดับ 3.7-4.2% ต้องรอดูว่า กฎหมายลูกสามารถร่างให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา 8 เดือนหรือไม่และจะเกิดความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาของ สนช หรือไม่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยยังคงมีอยู่แต่ลดความเสี่ยงลงไปมาก มีความชัดเจนมากขึ้นย่อมส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นการบริโภค ความเชื่อมั่นในการลงทุนภาคเศรษฐกิจจริง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ความเชื่อมั่นภาคการผลิตอุตสาหกรรม ส่วนภาคตลาดการเงินจะได้รับผลบวกแต่ไม่มีนัยยสำคัญเพราะจะมีเลือกตั้งจริงก็น่าจะอยู่ในช่วงไตรมาสสามหรือสี่ปี พ.ศ. 2561 มีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งต้นปี พ.ศ. 2562 แม้นจะได้รับผลบวกจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและการลงทุนภาคเอกชนมีความสำคัญ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า " ผลบวกของประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะมีต่อภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ในระยะสั้นจะส่งผลบวกแต่ไม่มีนัยยสำคัญมากนักต่อการลงทุนในตลาดการเงิน ระยะต่อไป กองทุนต่างชาติน่าจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทยมากขึ้น รวมทั้งจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกจากระดับปัจจุบัน การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีการตัดสินใจที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับประเด็นที่เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากลก็ต้องมีการแก้ไขกันในภายหลังหลังจากใช้ไปได้ระยะหนึ่ง ยังไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในระยะนี้ หลังการเลือกตั้งหากได้รัฐบาลที่มีความสามารถและโปร่งใส มีเสถียรภาพ จะทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเดินหน้าโดยไม่สะดุด หากไม่ได้รัฐบาลอย่างที่คาดหวัง ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพและความไม่แน่นอนทางการเมืองกลับมาอีกหลังการเลือกตั้ง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจและภาคการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้น สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุด เกรงว่าจะเกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอและไร้เสถียรภาพเนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนในรัฐธรรมนูญปี 60 จะก่อให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากและพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดอาจไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ได้"
 
ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้กล่าวว่าสิ่งที่น่ากังวลเฉพาะหน้า คือ เรื่อง การลงนามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ให้มีการดำเนินการตอบโตทางการค้ากับคู่ค้าที่ทำการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา โดยการเตรียมรับมือกับการกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกานั้น ขอเสนอข้อเสนอ 8 ข้อดังต่อไปนี้ ข้อหนึ่ง ขอให้เตรียมความพร้อมในการรับมือภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Antidumping Countervailing Duty) จากสหรัฐอเมริกาในสามเดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวความคืบหน้าด้านนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ การค้าของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมรับมือการกีดกันการค้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ข้อสอง ผู้นำเข้ารายใหม่หรือผู้ที่เคยละเมิดการค้า (Abuse Trade Practice) ที่เป็นกิจการสัญชาติไทยต้องวางเงินมัดจำสินค้าก่อนสินค้าถึงท่าเรือปลายทางในสหรัฐฯ อาจทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น หน่วยงานรัฐและเอกชนควรหารือกันเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว  ข้อสาม ให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับส่งออกสินค้าและบริการต่างๆของไทยอย่างละเอียดทั้งสินค้าประเภทวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป ประเมินผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมผ่านการส่งออกของจีน อินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 16 ประเทศที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าทำการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ เป้าหมายอุตสาหกรรมส่งออกที่สหรัฐฯจะให้ความสำคัญในการตรวจสอบเป็นพิเศษ คือ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สมาคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ควรเตรียมการรับมือให้ดี 
 
ข้อสี่ รัฐบาลควรมอบหมายให้สำนักผู้แทนการค้าไทย กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าและสมาคมอุตสาหกรรมส่งออกต่างๆ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับสหรัฐอเมริกา โดยประสานความร่วมมือไปยังสมาชิกอาเซียนอื่นในการเข้าร่วมเจรจาต่อรองการค้ากับสหรัฐอเมริกา ข้อห้า เร่งรัดการหาตลาดใหม่ๆเพื่อชดเชยการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ข้อหก ใช้มาตรการต่างๆในการดึงดูดบรรษัทสัญชาติสหรัฐฯในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ข้อเจ็ด ขจัดเงื่อนไขในการที่สหรัฐอเมริกาจะใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าจากไทย เช่น แก้ไขปัญหาสิทธิแรงงาน (ปัญหาแรงงานทาส) แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาสารเคมีตกค้างในสินค้าอาหารและเกษตร ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ประเด็นคุณภาพสินค้ามาตรฐานสินค้า เป็นต้น และ ข้อแปด ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมชี้แจงว่า ทางการไทยไม่ได้มีนโยบายแทรกแซงให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าปรกติเช่นประเทศจีนหรือญี่ปุ่น 
 
และการที่ "ทางการไทย" อาจถูกกล่าวหาจากสหรัฐฯ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่ากว่าปัจจัยพื้นฐานมากเพื่อช่วยส่งออกนั้น ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ เพราะทางการไทยเพียงบริหารจัดการค่าเงินให้ไปตามภาวะตลาดและป้องกันไม่ให้กระแสเงินระยะสั้นเก็งกำไรกดดันให้เงินบาทแข็งค่ากว่าความเป็นจริงเท่านั้น และตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ค่าเงินบาทก็แข็งค่ามากกว่าเงินสกุลในภูมิภาคอยู่แล้ว 
 
ดร. อนุสรณ์ สรุปทิ้งท้ายว่า จีนคือเป้าหมายใหญ่ในการแก้ไขปัญหาดุลการค้าสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 11 ล้านล้านบาท (มากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์) แต่ด้วยอำนาจต่อรองของจีนที่มีอยู่สูง บรรดาประเทศเล็กๆในรายชื่อ 16 ประเทศที่มีอำนาจต่อรองต่ำจะโดนกดดันการค้าอย่างหนักก่อน ไทยจึงต้องผนึกกับสมาชิกอาเซียน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เพื่อวางแผนรับมือให้ดี ฉะนั้น มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะสร้างแรงกดดันมาที่สินค้าขั้นกลางที่ส่งเข้าจีนเพื่อส่งออก ขณะเดียวกัน ขอให้ เราเตรียมรับมือภาวะการชะลอตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้าเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับการต่ออายุสิทธิจีเอสพียกเว้นภาษีนำเข้ารอบใหม่จากสหรัฐฯ นอกจากนี้รัฐบาลไทย ควรเตรียมพร้อมเรื่องประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและการละเมิดลิขสิทธิ์ และ การเจรจาเปิดเสรีการค้าระดับทวิภาคีกับสหรัฐฯ 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น