โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เหตุเกิดที่ปูลาฆาชิง: ชาวบ้านเสียชีวิตหลังถูกชายในชุดคล้ายทหารควบคุมตัว

Posted: 12 Sep 2012 11:17 AM PDT

ที่มาของคลิป: เอื้อเฟื้อโดย "INSouth Media" (หมายเหตุ: กรุณาคลิกที่ cc เพื่ออ่านคำบรรยายภาษาไทย)

"INSouth Media" ได้เผยแพร่รายงานข่าวกรณีที่เมื่อคืนวันที่ 11 ก.ย. เวลาประมาณ 21.00 น. ชายแต่งกายในเครื่องแบบทหารจำนวนหนึ่งได้เข้าไปที่บ้านปูลาฆาซิง ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และทำการจับกุมตัวนายอับดุลราแซะ ดือแม ที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านปูลาฆาซิง ซึ่งมีคนในร้านน้ำชาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมามีผู้พบเห็นนายอับดุลราแซะ เป็นศพเสียชีวิต ที่หัวสะพานภายในหมู่บ้าน

โดยพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า คนร้ายสวมชุดดำคล้ายทหารพราน ที่มือถือปืนยาว เดินลงมา 3 คน และอยู่บนรถอีกคนหนึ่ง พวกเขาได้ถามว่า รถคันนี้ ใครเป็นเจ้าของ? แล้วนายอับดุลราแซะก็รับเป็นเจ้าของ จากนั้นชายเหล่านั้นได้นำนายอับดุลราแซะออกจากร้าน พร้อมสภาพมือไขว้หลัง ขึ้นรถกระบะวีโก้สีบรอนซ์เงินทันที ต่อมาเวลา 22.00 น. ชาวบ้านได้ไปที่เกิดเหตุที่ หมู่ที่ 1 ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พบศพนายอับดุลราแซะ ต้นคอมีรอยเหมือนโดนมัดคอ สภาพมือไขว้หลัง และถูกยิงที่ศีรษะ 2 นัด โดยก่อนเกิดเหตุ ชาวบ้านเห็นรถวีโก้คันดังกล่าว ขับเข้ามาในหมู่บ้านแล้ว

ทั้งนี้ญาติของผู้เสียชีวิตกล่าวด้วยว่า ต้องการรู้สาเหตุที่แท้จริงและรู้สึกคับข้องใจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เล็งใช้มาตรา 21 ล้างความผิด 93 ผู้เห็นต่าง

Posted: 12 Sep 2012 10:17 AM PDT

 

แม่ทัพภาค 4 เล็งใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง ล้างความผิด 93 คนผู้เห็นต่าง อาจประกาศใช้ในนราธิวาส พร้อมกับเลิกยก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เผย 20 คนมีหมายจับติดตัว


พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 กันยายน 2555 ที่มหาวิทยาราชภัฏยะลา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้สัมภาษณ์ก่อนการพบปะเสวนากับบุคลากรทางการศึกษากรณีการพบปะกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดต่างจากรัฐ 93 คน ที่ประกาศจุดยืนยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ที่จังหวัดนราธิวาส ว่า อย่าเรียกว่าเป็นการเจรจา แต่เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในเรื่องการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพกับพี่น้องกลุ่มหนึ่งที่เคยจับอาวุธมาต่อสู่กับรัฐและได้ออกมาปฏิเสธการใช้ความรุนแรง

เมื่อผู้ข่าวถามว่า จะมีการนิรโทษกรรมต่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้หรือไม่ เนื่องจากบางคนมีคดีติดตัว พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า อย่าเรียกว่านิรโทษกรรม แต่อาจจะใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ที่ให้มีการอบรมแทนถูกขัง อย่างที่ใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาในขณะนี้ เป็นช่องทางในการยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธหรือด้วยความรุนแรง

เมื่อถามว่า จะมีหลักประกันในการดูแลทั้ง 93 คน ให้ได้รับความปลอดภัยต่อไปอย่างไร พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า มีการดูแลปลอดภัยอย่างเต็มที่ตามความประสงค์ของเขา ส่วนบุคคลที่มีความผิดหรือมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) นั้น ตนได้บอกกับพวกเขาว่า จะอำนวยความสะดวกทุกอย่างสำหรับการสู้คดี

พล.ท.อุดมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่มีหมายเชิญตามพระกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) หรือเรียกว่าหมาย ฉฉ.นั้น ให้อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการ

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ว่า ในจำนวน 93 คนดังกล่าว มีผู้ที่มีหมายจับตาม ป.วิอาญา ประมาณ 20 คน บางคนอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ส่วนผู้ที่มีหมาย.ฉฉ.นั้นยังไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน และบางส่วนไม่มีหมายใดๆ ติดตัว

ทั้งนี้ ในการเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีการประกาศพื้นที่ที่ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง จึงใช้กระบวนการตามมาตรา 21 ได้ ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวทั้ง 93 คน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จึงเป็นไปได้อาจมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะทำให้ต้องยกเลิกการใช้พระกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสไปด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อีเมล์หยดน้ำ: หลิ่มหลีเขียนจดหมายถึงนักโทษการเมือง

Posted: 12 Sep 2012 08:43 AM PDT

จดหมายพูดคุยกับผู้ต้องขังโครงการส่งอีเมล์เพื่อให้กำลังใจนักโทษการเมืองของ "หนุ่ม เรดนนท์"

 

หนุ่ม เรดนนท์ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ก่อตั้งโครงการร่วมส่งอีเมลเพื่อให้กำลังใจนักโทษการเมือง เขาเคยบอกว่าการสื่อสารจากคนภายนอกนั้นเป็นเสมือนหยดน้ำที่ทำให้พวกเขามีกำลังใจ กระทั่งมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบการมาเยี่ยม จดหมาย โปสการ์ด หรือกระทั่งอีเมล และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ที่อยากส่งกำลังใจแต่ไม่สามารถไปเยี่ยมได้ ไม่มีตังค์ ไม่มีเวลา ไม่มีฯลฯ  เพียง "คลิ๊ก" เดียวข้อความของท่านก็จะไปถึงพวกเขา โดยผ่านอีเมลที่ทีมงานจะปริ๊นท์นำไปส่งตรงให้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ/หรือ เรือนจำใหม่หลักสี่

อันที่จริงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็มีอีเมลที่ให้ญาติมิตรพี่น้องของผู้ต้องขังส่งหาได้ แต่เหตุที่หนุ่ม เรดนนท์ ไม่แนะนำช่องทางนั้นก็เพราะเกรงว่าอาจมีการกลั่นแกล้ง หรือป่วนระบบอีเมลกลางของเรือนจำ

ผู้สนใจสามารถส่งอีเมลมาได้ที่   freedom4pp@gmail.com    (PP ย่อมาจาก Political Prisoners) 


สวัสดีค่ะ พี่พี่ที่พักอยู่ ณ บ้านพักรับรองของราชการแบบชั่วคราว

ฉันชื่อหลีค่ะ เป็นสาวแก่วัยระย้า ที่ได้รับมอบหมายให้มาเขียนจดหมายถึงพี่พี่ที่อยู่ในบ้านพักฯ เพื่อให้พี่พี่ได้อ่านกัน หลีจำไม่ได้ว่าเคยร่วมกิจกรรมอะไรทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ครก 112 หรือ การชุมนุมอะไรหรือเปล่า หลีเป็นคนความจำสั้นค่ะ แต่ก็ได้รับทราบว่า พี่พี่ที่อยู่ในบ้านพักฯนั้น คือคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานกันเลย อย่างน้อย หลายๆคนก็ควรจะได้รับสิทธิการประกันตัวออกมาอยู่ข้างนอกเพื่อต่อสู้กันต่อไป 

หลีไม่อยากจะมานั่งเขียนเรื่องสิทธิอะไร หรือ เรียกร้องคุยอะไรในเรื่องเครียดๆให้พี่ต้องหม่นหมองใจ หลีอยู่ฝ่ายสันทนาการเสมอๆ ซึ่งก็คือ ฝ่ายที่ให้พี่พี่ได้ร่าเริงขึ้นหรือยิ้มขึ้นมาบ้าง 

จะเล่าเรื่องราวโลกภายนอกให้พี่ได้ฟังกันดีกว่า

หลีมาจากโลกของชนชั้นกลางที่ไม่ค่อยจะสนใจเรื่องการเมืองเท่าไร ไม่รู้หรอกว่า ใครเป็นยังไง ใครชิบหายอะไร กว่าจะมารู้ตัวอีกทีก็ เอ๊ะ ประเทศเราโดนรัฐประหารแล้ว หลีก็ยังเฉยๆนะคะ ณ ตอนนั้น เรียกว่า ชินหง่ะค่ะ ประเทศนี้เขาก็ดีนะคะ ทำให้อะไรอะไรที่มันร้ายแรงในระดับประเทศมาให้ดูกิ๊บเก๋ แล้วก็มีสาวมาให้ดอกไม้ ยินดีที่ประเทศนี้มีรัฐประหาร ซึ่งคนเหล่านี้ก็เหมือนหลี แต่แรดกว่าตรงที่ไปอ่อยทหาร จะว่าไป พวกสาวๆพวกนั้นก็อยากหลอกแดกผู้ชายในเครื่องแบบ จะเห็นได้ว่า มันมีตัวอย่างระดับไฮโซหลายๆคน ที่ชอบกินผู้ชายในเครื่องแบบ เรียกว่า เป็น กระหรี่สี่เหล่าทัพกันได้เลย เคยได้ยินว่า ไฮโซบางนางนี่ ถึงกับให้หนุ่มๆคนสวนที่ดูแลสวนของตัวเอง มีชุดเครื่องแบบคนสวนด้วย แล้วก็กินคนสวนของตัวเอง เพราะเห็นว่าล่ำ น่าเจี๊ยะดี ความที่ชอบคนในเครื่องแบบ แล้วก็อยากกินคนสวนของตัวเอง ก็เลย ...ให้คนสวนมีเครื่องแบบ ตลกชิบเลยค่ะ ฮ่าๆๆๆ

ถ้ายังไง หลีแนะนำให้พี่พี่อยู่ในบ้านพักฯออกกำลังกายเยอะๆนะคะ แล้วก็เล่นกล้ามอะไรบ้าง อย่าอยู่เฉยๆค่ะ คนไฮโซเขาชอบกินรากหญ้าล่ำๆ อย่างน้อย ออกมาเมื่อไรก็ดูเท่ เก๋ กู๊ด นะคะ

หลายวันก่อน หลีมีความคิดแปลกๆในเรื่องเสรีภาพทางเพศ .. แต่หลีก็คงไม่คุยให้พี่ฟังอย่างละเอียด แต่หลีรู้สึกว่า โลกใบนี้มันต้องยอมรับในเรื่องส่วนตัวกัน ความคิดความอ่านที่แตกต่างกัน แล้วก็ยอมรับกันไปบ้างอะไรบ้าง คือแบบว่า ใครคิดอะไร มึงก็ฟังบ้าง หูทวนลมบ้างก็ได้ ไม่ต้องเสร่อแทรกเสือกไปทุกเรื่อง หรือ มีความเห็นไปด้วยทั้งหมด 

ตั้งแต่หลีมาเรียนรู้เรื่องของการเมืองสีแดงๆ ทำให้หลีมีเพื่อนหลากเพศเยอะมาก ไม่ว่าจะ หญิงรักหญิง หรือชายรักชาย หลีรู้สึกว่า หลีเริ่มยอมรับกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอยู่วันหนึ่ง คิดกับตัวเองว่า ถ้ามีลูก ลูกชอบเพศไหน แม่ก็จะชอบด้วย ถ้าหลีมีลูกชาย แล้วลูกชายมีแฟนเป็นชาย หลีก็ได้ลูกชายมาเป็นสองสามสี่ห้าคน ถ้าผู้หญิงก็คงเช่นกัน หรือเริ่มรู้สึกเปลี่ยนไป (จำได้ว่า สมัยก่อน เคยคิดว่าถ้า น้องตัวเองหรือใครเป็นเกย์ จะกดหัวล้างน้ำมัน ตอนนี้น้ำมันแพง ยอมๆมันไปดีกว่าเนอะ...อันนี้ มุข) .... แต่ก็ไม่ได้มีลูกกะใครนะคะ ... อิอิ

หลีว่า เราโตขึ้นเรื่อยๆกับสิ่งรอบตัวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หลีเคยมานั่งคิดว่า เราผ่านเหตุการณ์ต่างๆมาเยอะมาก จากสิ่งที่เราพบเจอด้วยตัวเอง จากการฟังเพื่อนๆหลากหลายคุยให้เราฟัง เราจำ เราคิดตาม ทำให้เรารู้สึกว่า เราเติบโต และยอมรับกับสิ่งรอบตัวได้มากมาย แต่หลีบอกตรงๆว่า หลีเป็นคนรักจริง เกลียดจริง อีพวกเหี้ยๆที่เกลียด พอเกลียดแล้ว แม่ง... มองหน้ากันไม่ได้จริงๆ แค่เห็น ก็แหวะ อ๊วกแล้ว ยิ่งอีพวกสร้างภาพในอินเตอร์เนต หลียิ่งรับไม่ได้ใหญ่ มันมีเยอะค่ะ ใช้เรื่องทางการเมืองมาสร้างชื่อสร้างภาพ หลอกแดกคนไปเรื่อยๆ จนคนเขารู้กันหมด แต่มันก็ยังเฉย นิ่ง ซึ่งหลีก็เห็นด้วยที่นิ่ง และเฉย เพราะหน้าด้านขนาดนั้น ไม่เฉยก็เสียหมาหนักเข้าไปใหญ่ 

หลายอาทิตย์ก่อนมีกีฬาโอลิมปิก เสี่ยน้ำชา แกมาสร้างสถานการณ์แจกเงินให้กับคนได้เหรียญทอง เงิน และทองแดงกับนักกีฬาไทย ให้เป็นล้านๆเลยค่ะ แต่พอกีฬาคนพิการ แกกลับพูดแบบว่า ผมทำบุญทุกวัดไม่ได้หรอก ชิบหายสิคะ ... โดนด่ายับ ... เลยต้องกลับลำ แจกบ้าง พอประมาณ แล้วหลายวันก่อน มาทำโฆษณาแจกมือถือรุ่นที่ยังไม่ออกตัวเลย ล่าสุดเพิ่งโดนเล่นจากเฟสบุ๊คว่า ห้ามทำแบบนี้ กิจกรรมคนร่วมเป็นแสน เลิกหมด อิอิ สมน้ำหน้า 

น้ำท่วมสุโขทัยอยู่ค่ะ คนหลายคนที่ขาดวิจารณญาณก็เริ่มวิตกว่า น้ำจะท่วมกรุงแน่ๆ โดยไม่ได้ไปตามข่าวเลยว่า ไอ้น้ำท่วมอันนี้มันเกิดจากอะไร หลายๆคนอยากให้น้ำท่วม ชิบหายเท่าไรไม่ว่า ขอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์แม่งเอาไม่อยู่ สันดานคนเห็นแก่ตัวที่คิดแต่ตัวเองรอด ใครชิบหายช่างแม่ง จึงเป็นสิ่งที่ให้มนุษย์ที่เรียกว่าตัวเองเป็นสัตว์ประเสริฐ หนีความเป็นสัตว์ไม่พ้นจริงๆ จริงไหมคะ ...

ประเทศนี้ก็ยังเห็นแค่กรุงเทพฯเป็นหัวใจสำคัญ เพราะคนกรุงเทพฯแม่งไม่ได้สนใจเรียนรู้อะไรอย่างจริงจัง วันๆ ทำงาน แล้วก็ กิน ขี้ ปี้ นอน ..จบ ... เวลาจะมาเรียนรู้ว่า เกิดอะไรอย่างแท้จริง เป็นไม่มี เห็นคนหมู่มากแหกปากไป ก็แหกปากตาม ... ด่าไปด่ามา หลีด่าเข้าตัวเอง เพราะเป็นคนกรุงเทพเหมือนกัน 

โลกใบนี้ยังไม่ได้หยุดหมุน หลีเชื่อว่า พี่พี่ทุกคนเมื่อออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว เรื่องราวก็ยังวนเวียนเหมือนเดิม ห่าตัวเดิมก็ยังอยู่ที่เดิน ห่าตัวใหม่ก็เข้ามาให้พี่ีพี่ได้พบรู้จักกันไป รอสักพัก คิดเสียว่า พักจิตวิญญาณของตัวเองให้สงบ สร้างกำลังใจให้แกร่งกล้า เมื่อออกมาเจอโลกเหี้ยๆ เราจะได้แกร่งพอที่จะรับความเหี้ยได้อย่างสบายใจ

ขอให้เจ้าที่เจ้าทางตายายที่เฝ้าอยู่ในบ้านพักรับรองนั้นๆดูแลพี่ให้ปลอดภัยและเป็นที่รักของทุกคน 

ขอบคุณค่ะ
หลี

 

 

หมายเหตุ: ทางผู้รวบรวมจะทะยอยนำอีเมล์ที่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนขึ้นเผยแพร่และรณรงค์ให้ผู้ที่มีอิสรภาพได้เขียนจดหมายพูดคุยให้กำลังใจ ถามไถ่สาระทุกข์สุกดิบกับผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพในเรือนจำเป็นระยะ

บทความที่เกี่ยวข้อง:รายงาน: นักโทษ112 ชวนส่ง 'อีเมลหยดน้ำ'– โปสการ์ดฝีมือ'หลานอากง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.112 กับ 8 ข้อโต้แย้งสุดฮิตจากคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงในทวีตภพ

Posted: 12 Sep 2012 06:31 AM PDT

เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีแล้วที่ผมได้ใช้เวลาบางส่วนของชีวิตในการทวีตแสดงความเห็นวิพากษ์ ม.112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อเปิดพื้นที่การถกเถียงเรื่องนี้ให้กว้างและมีส่วนร่วมมากกว่าสื่อกระแสหลักจะอนุญาต ปรากฎว่าผู้เขียนมักพบกับข้อโต้แย้งและกล่าวหาซ้ำๆ ประมาณ 8 แบบจากบรรดาผู้คนที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงและสนับสนุน ม.112  จึงขอรวบรวมเอามาเผยแพร่พร้อมโต้แย้งและพยายามตีความดังต่อไปนี้
 

1) ทำไมไม่พูดเรื่องปัญหาอื่นบ้าง เช่นคอรัปชั่น แทนที่จะมัวแต่บ่นเรื่อง ม.112 ?

ตอบ: มันเป็นทั้งคำถามและข้อเสนอที่พิสดารเพราะผมไม่เคยไปห้ามมิให้คนอื่นไปสนใจเรื่องอื่น หรือบังคับให้ใครมาติดตามสิ่งที่ผมแสดงออกในทวีตภพ ใครสนใจเรื่องปัญหาคอรัปชั่นนักการเมืองมากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการแสดงออกและการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ก็เชิญตามสะดวก ผมไม่เคยห้าม และคิดว่าเป็นการดี

  คำถามเช่นนี้ทำให้นึกถึงสังคมที่ประชาชนถูกบังคับให้ต้องสนใจในเรื่องที่เหมือนๆ กันทุกคน ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือสังคมเผด็จการ

  การทำเรื่องคอรัปชั่นกับการรณรงค์ต้าน ม.112 สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้โดยคนหลากหลายกลุ่มในสังคม ไม่จำเป็นต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง เหมือนกับที่เราไม่ต้องเลือกว่าถ้าดื่มน้ำแล้วจะกินข้าวไม่ได้ หรือถ้ากินข้าวแล้วจะดื่มน้ำไม่ได้
 

2) การพูดถึงปัญหา ม.112 ทำให้สังคมแตกแยก

ตอบ: ความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก แต่การปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนอย่างไม่รู้จักพอเพียง การยัดเยียดข้อมูล 'ดีๆ ' เกี่ยวกับเจ้าด้านเดียวอย่างไม่รู้จักพอเพียงผ่านสื่อทุกสื่อ พร้อมการจำคุกคนที่วิพากษ์เจ้าหรือใช้คำหยาบคายแสดงความเกลียดชังเจ้า ย่อมทำให้เกิดความแตกแยกอย่างแทบที่จะหลีกเหลี่ยงมิได้ เพราะคนจำนวนหนึ่งถูกกดขี่ไร้สิทธิพื้นฐานในการแสดงความเห็นต่าง ที่เท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์
 

3) ยังต้องคง ม.112 ไว้เพราะคนไทยส่วนใหญ่คิดแยกแยะเองไม่เป็นว่าอะไรจริงอะไรเท็จ

ตอบ: หลายคนที่พูดเช่นนี้กับผมอ้างว่าเขาได้อ่านหนังสือต้องห้ามอย่าง The King Never Smiles มาแล้วและเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจหลงเชื่อ แยกแยะไม่ออก หากมีการเผยแพร่หนังสือเช่นนี้อย่างถูกกฎหมายได้ แต่ผมอดสงสัยมิได้ว่าคนเหล่านี้มิได้เป็นคนไทยหรือฉลาดและเป็นเทวดาเหนือกว่าคนไทยส่วนใหญ่มากนักหรือ จึงสามารถอ่านหนังสือต้องห้ามได้โดยที่ยังคงอุดมการณ์รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงได้อย่างมั่นคง

  ข้อโต้แย้งนี้ทำให้ผมถึงนึกชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่อยากให้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่คนที่จบปริญญาตรีหรือเรียนสูงกว่านี้เท่านั้น หรือพวกที่มองประชาชนเป็นควายแต่กลับชอบหมอบคลานเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน
 

4) ก็ ม.112 มันเป็น 'กฎหมาย'

ตอบ: ใช่ครับ ม.112 เป็น 'กฎหมาย' หรือขอสะกดว่ามันเป็น 'กดหมาย' ด้วยก็แล้วกัน - แต่มันเป็นกฎหมายที่ชอบธรรมและเคารพความเสมอภาครวมถึงสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยหรือไม่? คำตอบคือ 'ไม่'

  ม.112 ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกฎหมายแบ่งสีผิวอันไม่ชอบธรรมในอเมริกาและอัฟริกาใต้ในอดีต หรือกฎหมายทาส ที่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกเพราะผู้คนที่ถูกกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทนไม่ได้และลุกขึ้นมาต่อสู้
 

5) ยังไม่ถึงเวลาอันควร

ตอบ: เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่มีการปิดหูปิดตาปิดปากและยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวอย่างไม่รู้จักพอเพียง และมีคนติดคุกจนต้องตายในคุกไปหนึ่งคนแล้ว แล้วจะต้องให้รอถึงชาติหน้าหรือ?
 

6) ไล่ผู้เขียนและผู้ต่อต้าน ม.112 ทั้งหมดไปอยู่ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เขมร หรือดูไบบุรี

ตอบ: ประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่บ้านของพ่อใครคนใด หรือของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวอย่างที่บางคนอาจเข้าใจผิดตามความเชื่อหลงยุคของดารารุ่นใหญ่แก่ๆ คนหนึ่ง - จึงไม่มีผู้ใดมีสิทธิไล่ใครออกจากแผ่นดินนี้ - ผมสงสารคนที่ยังเชื่อว่าประเทศนี้เป็นของคนๆ เดียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคนไทยทั้งหมดก็มิใช่พลเมืองหากเป็นเพียงผู้เช่าที่เช่าแผ่นดินคนอื่นเขาอยู่ แถมต้องจ่ายภาษี แต่กลับรู้สึกปิติไปกับการได้เป็นเพียงผู้เช่าอาศัยเขาอยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
 

7) คนต้าน ม.112 รับจ้างทักษิณหรือต่างชาติ

ตอบ: ใบเสร็จอยู่ไหนครับ? และหากพวกคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงสามารถมีอุดมการณ์รักอย่างไม่พอเพียงและอวยเจ้า อย่างไม่พอเพียงได้ ทำไมพวกเขาจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าคนอื่นๆ ก็สามารถมีอุดมการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการแสดงออกและความเสมอภาคได้เช่นกัน?
 

8) ผู้ที่ต่อต้าน ม.112 อย่างผู้เขียน เจอคำหยาบคายสารพัดทางทวีตภพ

ตอบ: จะด่าพ่อล่อแม่ และใช้คำหยาบและถ่อยสารพัดก็ตามสบายครับ ผมถือว่าเป็นข่าวดี - เป็นข่าวดีเพราะมันแสดงให้เห็นว่าคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงที่ใช้คำหยาบเขาจนปัญญาที่จะใช้เหตุผลปกป้อง ม.112 แล้วครับ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่ายันค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ร้องเปิดข้อมูลน้ำต่อสาธารณะ

Posted: 12 Sep 2012 04:53 AM PDT

จวกนักการเมืองเชียร์เขื่อน ฉวยโอกาสน้ำท่วมสุโขทัย ผลาญงบสร้างแก่งเสือเต้น ขอผู้มีอำนาจใช้ข้อเท็จจริงในพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-แล้ง พร้อมเปิดข้อมูลปริมาณน้ำต่อสาธารณะ ประกาศเตือนเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพื้นที่ ขู่ไม่รับรองความปลอดภัย

 
วันนี้ (12 ก.ย.55) กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์ "ขอประณาม พนักงานเชียร์เขื่อน ฉวยโอกาสความเดือดร้อนของประชาชนผลาญงบประมาณแผ่นดิน ขอให้ผู้มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำที่แท้จริงเพื่อให้สาธารณะชนได้รับรู้ เสนอใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน"
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าขอแสดงความเห็นใจในสถานการณ์น้ำทะลักเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย และขอเป็นกำลังใจให้ชาวสุโขทัย ฝ่าวิกฤตอุทกภัยในครั้งนี้ได้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้ง ขอให้ชาวไทยส่งกำลังใจ กำลังทรัพย์สิ่งของเครื่องใช้ช่วยเหลือ ดั่งที่ไม่เคยทิ้งกันมาโดยตลอด 
 
นอกจากนี้ ขณะที่ความเดือดร้อนของชาวสุโขทัยยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ กลับมีบุคคลออกมาเสนอให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ.แพร่ รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อาทิ นายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตนายกฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน 
 
"กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอประณามพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าว ที่ฉวยโอกาสอาศัยความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แสวงหาผลประโยชน์บนคราบน้ำตาประชาชน ด้วยการเสนอโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่พร้อมงบประมาณมหาศาล มุ่งหน้าผลาญงบประมาณแผ่นดินอย่างไร้ยางอาย อีกทั้งแนวทางการสร้างเขื่อนดังกล่าวจะเป็นการทำลายป่าสักทอง อุทยานแห่งชาติแม่ยมกว่า 65,000 ไร่ และทำลายป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกกว่า 13,000 ไร่ รวมทั้งสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ  ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อน อีกทั้งจะก่อให้เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง รุนแรงขึ้นในอนาคตอีกด้วย" แถลงการณ์ระบุ 
 
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เรียกร้องให้บุคลดังกล่าวยุติการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่า ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่า โดยระบุว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน พร้อมแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางของกรมทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาพื้นที่แก้มลิง ตลอดลุ่มลำน้ำยม ซึ่งมีทั้งสิ้น 364 โครงการ รวมวงเงินกว่า 4,866 ล้านบาท และมีความจุของน้ำมากกว่า 1,572 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เสียอีก
 
อีกทั้ง ข้อมูลและข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าปริมาณน้ำจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่สถานีอุทกวิทยา (Y20 อ.สอง จ.แพร่) ระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอยู่ในเกณฑ์น้อย วิกฤต นั่นหมายความว่าฝนตกใต้จุดที่จะสร้างเขื่อน และไม่มีทางไหลย้อนกลับไปเข้าเขื่อนได้ ดังนั้นหากมีเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงตามที่กล่าวอ้าง 
 
 
"กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าขอให้ผู้มีอำนาจได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงปริมาณน้ำที่แท้จริงให้สาธารณะชนได้รับรู้โดยทั่วกันด้วย" แถลงการณ์เรียกร้อง พร้อมระบุว่ากลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ยืนยันที่จะคัดค้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จนถึงที่สุด และขอเตือนเจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องห้ามเข้าพื้นที่ หากพบจะไม่รับรองความปลอดภัย
 
 
ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวระบุเนื้อหา ดังนี้

 

 

แถลงการณ์ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

ขอประณาม พนักงานเชียร์เขื่อน

ฉวยโอกาสความเดือดร้อนของประชาชนผลาญงบประมาณแผ่นดิน

ขอให้ผู้มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำที่แท้จริงเพื่อให้สาธารณะชนได้รับรู้

เสนอใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

 

จากสถานการณ์น้ำทะลักเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า  ต.สะเอียบ  อ.สอง จ.แพร่ ขอแสดงความเห็นใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวสุโขทัย ฝ่าวิกฤตอุทกภัยในครั้งนี้ได้อย่างเข้มแข็ง และขอให้พี่น้องชาวไทยส่งกำลังใจ กำลังทรัพย์สิ่งของเครื่องใช้ช่วยเหลือกันเหมือนดั่งน้ำใจไทยที่ไม่เคยทิ้งกันมาโดยตลอด

ขณะที่ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสุโขทัยยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ กลับมีพนักงานเชียเขื่อนอย่างนายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตนายกฯ ผู้รับเหมาก่อสร้าง, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมประมง, นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายรักเกียรติ สุขธนะ), นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ลูกมือบรรหาร หรือ รัฐมนตรีเป่าสากเรียกพี่, ดาหน้ากันออกมาเสนอให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จังหวัดแพร่ รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อีกด้วย

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอประณามพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าว ที่ฉวยโอกาสอาศัยความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แสวงหาผลประโยชน์บนคราบน้ำตาประชาชน ด้วยการเสนอโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่พร้อมงบประมาณมหาศาล มุ่งหน้าผลาญงบประมาณแผ่นดินอย่างไร้ยางอาย อีกทั้งแนวทางการสร้างเขื่อนดังกล่าวจะเป็นการทำลายป่าสักทอง อุทยานแห่งชาติแม่ยมกว่า 65,000 ไร่ และทำลายป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกกว่า 13,000 ไร่ รวมทั้งสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ  ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อน อีกทั้งจะก่อให้เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง รุนแรงขึ้นในอนาคตอีกด้วย

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอให้บุคลดังกล่าวยุติการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่า ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่า อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน ทั้งนี้เราเห็นด้วยกับ แนวทางของกรมทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาพื้นที่แก้มลิง ตลอดลุ่มลำน้ำยม ซึ่งมีทั้งสิ้น 364 โครงการ รวมวงเงินกว่า 4,866 ล้านบาท และมีความจุของน้ำมากกว่า 1,572 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เสียอีก

อีกทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริง ปรากฏชัดเจนว่าปริมาณน้ำจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่สถานีอุทกวิทยา (Y20 อ.สอง จ.แพร่) ระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอยู่ในเกณฑ์น้อย วิกฤต นั่นหมายความว่าฝนตกใต้จุดที่จะสร้างเขื่อน และไม่มีทางไหลย้อนกลับไปเข้าเขื่อนได้ ดังนั้นหากมีเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงตามที่กล่าวอ้าง กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าขอให้ผู้มีอำนาจได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงปริมาณน้ำที่แท้จริงให้สาธารณะชนได้รับรู้โดยทั่วกันด้วย

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ยืนยันที่จะคัดค้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จนถึงที่สุด และขอเตือนเจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ห้ามเข้าพื้นที่ หากเราพบเห็นจะไม่รับรองความปลอดภัยแต่อย่างใด

 

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

12 กันยายน 2555 ณ วัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทูตสหรัฐในลิเบียเสียชีวิตแล้ว เหตุผู้ประท้วงบุกไม่พอใจภาพยนตร์หมิ่นอิสลาม

Posted: 12 Sep 2012 04:42 AM PDT

เกิดเหตุปะทะที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาในลิเบีย หลังมีผู้ไม่พอใจภาพยนตร์อเมริกาที่ดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัด ผลทำให้ทูตสหรัฐพร้อมเจ้าหน้าที่รวม 4 คนเสียชีวิต

แฟ้มภาพคริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ ทูตสหรัฐอเมริกาประจำลิเบีย ซึ่งเสียชีวิตหลังเกิดเหตุปะทะที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาที่เมืองเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับสองของลิเบีย (ที่มาของภาพ: http://libya.usembassy.gov/)

12 ก.ย. 55 - รัฐบาลลิเบียยืนยันว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำลิเบีย คริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ เสียชีวิตแล้ว พร้อมเจ้าหน้าที่สถานทูตชาวสหรัฐอีกสามคน หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธชาวลิเบียราว 20 คน บุกเข้าสถานทูตสหรัฐในเมืองเบงกาซี เหตุไม่พอใจภาพยนตร์อเมริกันที่ดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลามว่าเป็นเสือผู้หญิง

 
มีรายงานว่า กลุ่มติดอาวุธชาวลิเบียได้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสถานทูตสหรัฐกว่า 20 นาที และได้เผาอาคารในสถานทูตเสียหายหนึ่งแห่ง 
 
ยังไม่แน่ใจว่า เอกอักราชทูตสตีเวนส์ เสียชีวิตจากการสำลักควันหรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ในระหว่างพยายามจะขับหนี ในขณะที่มีการยืนยันว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตหนึ่งคน เสียชีวิตจากการสำลักควัน
 
รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศอพยพชาวอเมริกันที่ทำงานในเบงกาซีทั้งหมด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นที่จะเกิดขึ้นในเกิดในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังจากที่เกิดเหตุประท้วงภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง "Innocence of Muslims" (ความใสซื่อของชาวมุสลิม) ที่ล้อเลียนศาสดานบีมูฮัมหมัดว่าเป็นผู้ที่เห็นชอบกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ทั้งนี้ หนึ่งในผู้สนับสนุนภาพยนตร์ดังกล่าว บาทหลวงเทอร์รี่ โจนส์ กล่าวว่า ไม่ตั้งใจจะให้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวโจมตีชาวมุสลิม แต่ตั้งใจจะแสดงถึง "อุดมการณ์ด้านที่เสื่อมเสียของศาสนาอิสลาม" 
 
ในวันเดียวกัน มีรายงานว่าในกรุงไคโร เมืองหลวงของประเทศอียิปต์ มีผู้ประท้วงชาวอียิปต์ราว 3,000 คนประท้วงที่สถานทูตสหรัฐเนื่องจากไม่พอใจภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว และพยายามจะเผาธงชาติสหรัฐ แต่ทำไม่สำเร็จ จึงได้เอาธงสีดำที่มีข้อความภาษาอารบิกไปปักที่หน้าสถานทูตแทน 
 
อนึ่ง เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในเบงกาซีและกรุงไคโร ตรงกับวันครบรอบ 11 ปี เหตุการณ์ 9/11 ที่เครื่องบินสองลำพุ่งเข้าชนตึกเวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุญาตถอนอุทธรณ์ คดี112 ‘ธันย์ฐวุฒิ’ -เตรียมยื่นขออภัยโทษ

Posted: 12 Sep 2012 03:25 AM PDT

12 ก.ย.55  ที่ศาลอาญารัชดา ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ คดีของนายธันย์ฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) จำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  เนื่องจากทางจำเลยได้มีการยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาศาลได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คดีในวันนี้ และให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 2 พ.ค. คดีนี้จึงถึงที่สุดแล้ว

อานนท์ นำภา ทนายจำเลยระบุว่า น่าจะมีการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ภายในสัปดาห์หน้า

รัษฎา มนูรัษฏา ทนายความรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ให้ความเห็นว่า การสั่งอนุญาตถอนอุทธรณ์นั้นโดยปกติใช้เวลาไม่นาน และไม่ควรจะใช้เวลานานถึง 4 เดือนกว่า เพราะกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องขัง นอกจากนี้กรณีที่จำเลยขอถอนอุทธรณ์ ไม่ควรต้องสอบถามอัยการโจทก์ เนื่องจากไม่ได้มีกฎหมายใดระบุให้ต้องสอบถาม และจำเลยประสงค์จะไม่ต่อสู้คดีต่อไปแล้ว แต่หากเป็นกรณีที่อัยการโจทก์ผู้ฟ้องคดีขอถอนอุทธรณ์เอง ศาลต้องถามฝ่ายจำเลย เพราะจำเลยบางคนอาจไม่ยินยอมและต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์ก็ยังนับว่าเป็น ประโยชน์ต่อจำเลยที่จะได้สิทธิบางประการย้อนหลัง

ธันย์ฐวุฒิ กล่าวว่า การที่คำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 2 พ.ค. น่าจะทำให้เขาได้รับสิทธิลดหย่อนโทษตามระบบปกติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ด้วย ซึ่งเขาได้เป็นนักโทษ "ชั้นกลาง" โดยปกติจะได้รับการลดโทษ 1 ใน 8 ซึ่งเมื่อเทียบแล้วน่าจะประมาณ 1 ปี กับ 7เดือนครึ่ง  
 

ทั้งนี้ ธันย์ฐวุฒิถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ

1 เม.ย.53 ถูกจับกุมและคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

12 มี.ค. 54  ศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี

12 พ.ค.54  จำเลยอุทธรณ์

2 พ.ค.55  จำเลยยื่นขอถอนอุทธรณ์

24 พ.ค.55 คำร้องส่งจากศาลอาญาถึงศาลอุทธรณ์         

5 ก.ค.55 ศาลอุทธรณ์ส่งคำสั่งมายังศาลอาญา

15 ส.ค.55 ศาลทำหนังสือสอบถามอัยการจะคัดค้านการถอนอุทธรณ์หรือไม่         

12 ก.ย.55 ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์


อ่านรายละเอียดคดีของธันย์ฐวุฒิเพิ่มเติมได้ที่  http://freedom.ilaw.or.th/th/case/19#detail

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: พรรคพวกเพื่อนศาล Fast Track (1)

Posted: 12 Sep 2012 03:10 AM PDT

อ.นวลน้อย ตรีรัตน์ เสนองานวิจัยเรื่อง "เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษา" ชี้ว่าหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเป็นช่องทางให้เกิดชนชั้นนำใหม่และทำให้ชนชั้นนำรวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น

"การรวมตัวระหว่างชนชั้นนำผ่านการศึกษาในหลักสูตรผู้บริการระดับสูงทำให้ชนชั้นนำมีแนวโน้ม

(1) แข่งขันลดลงและเป็นไปได้ที่จะแบ่งปันอำนาจระหว่างชนชั้นนำด้วยกันภายใต้ความสัมพันธ์แบบ "พรรคพวกเพื่อนฝูง" การแข่งขันหรือการเข้าถึงจากภายนอกโดยเฉพาะจากประชาชนทั่วไปจึงเป็นไปได้ยาก เพราะ "กำแพงของความเป็นเพื่อน" ผ่านหลักสูตรผู้บริหารทั้ง 6

(2) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเป็นเสมือน Fast Track ทำให้คนกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำได้"

หลักสูตรที่ อ.นวลน้อยศึกษา ซึ่งเอาข้าราชการระดับสูง ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร นักการเมือง นักธุรกิจ มาฝึกอบรมร่วมกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างผู้เข้าอบรมรุ่นเดียวกันหรือต่างรุ่น ได้แก่

(1) หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (2) หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของวิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม (3) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้า (4) หลักสูตรการพัฒนาการเมืองการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (5) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ (6) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย

แหม ไม่ยักรวมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงของสถาบันอิศราเข้าไปด้วย มองข้ามกันได้ไง ฮิฮิ

ใน 6 หลักสูตรที่ อ.นวลน้อยยกมา ที่ "น่าวิตก" ที่สุดในทัศนะผมคือ หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ซึ่งเอาพ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง เข้าไปอบรม "เป็นเพื่อน" กับผู้พิพากษาระดับสูง

นั่นอาจเพราะผมยังมีทัศนะแบบบ้านๆ ว่าผู้พิพากษาท่านเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย อยู่สูงส่งเหนือมนุษย์ทั่วไป ในแง่ศีลธรรมจรรยา ผู้พิพากษาท่านก็มีศีลธรรมจนล้น ไม่ใช่พระก็น้องๆ พระ คำพิพากษาจึงแฝงพระธรรมคำสอนผู้คนอยู่ทั่วไป เราๆ ท่านๆ ฟังแล้วก็ได้แต่สาธุ หาบังอาจจะไปวิพากษ์วิจารณ์ในหลักกฎหมายประการใดไม่

แต่ไหง ผู้พิพากษาจึงมาคบหาเสวนาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับพ่อค้านายทุน นักการเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่นั่งเรียนหนังสือด้วยกัน แต่ยังไปท่องเที่ยว ดูงานต่างประเทศด้วยกัน ตีกอล์ฟ จัดกิจกรรมสังสรรค์เสวนา สนุกสนานเฮฮา

แล้วมันจะไม่เกิดข้อกังขาหรือครหา เวลาคนพวกนี้เป็นโจทก์จำเลยมีคดีขึ้นสู่ศาลหรือครับ

ในแง่นี้ต่างกับตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ที่สังคมมองว่าคบค้าเสวนากับพ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง เป็นเรื่องปกติ แต่ผู้พิพากษาในทัศนะสังคมไทย ท่านคือผู้ถือสันโดษ สมถะ ไม่ควรไปสังสรรค์เฮฮา กินข้าวกินเหล้ากับผู้รับเหมา ไม่ควรเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ผ้าป่า หรือกิจกรรมใดที่ต้องมีการเรี่ยไร ไม่ควรเป็นกระทั่งประธานรุ่นโรงเรียนเก่า ถ้าอยากกินเหล้า ก็ควรกินเหล้าอยู่บ้านคนเดียว หรือกินกับผู้พิพากษาด้วยกัน

ถามว่าสุดขั้วไปไหม อ้าว ก็ผู้พิพากษาท่านไม่ใช่ปุถุชน วิพากษ์วิจารณ์แทบไม่ได้ จะไม่ให้สังคมมองสุดขั้วได้ไง

แล้วเรื่องนี้ก็มีที่มา ไม่ใช่ลอยๆ ดูประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่องจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ.2552 ซึ่งก็ปรับมาจากการประพฤติปฏิบัติของบุรพตุลาการนั่นแหละ

"ข้อ 29 ผู้พิพากษาไม่พึงเป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม สโมสรชมรม หรือองค์การใดๆ หรือเข้าร่วมในกิจการใดๆ อันจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

ข้อ 35 ผู้พิพากษาจักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ในกรอบของศีลธรรม และพึงมีความสันโดษ ครองตนอย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวมกิริยามารยาทมีอัธยาศัย ยึดถือจริยธรรมและประเพณีอันดีงามของตุลาการ ทั้งพึงวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป

ข้อ 40 ผู้พิพากษาจักต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ อาชีพ หรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลซึ่งอยู่ในครัวเรือนของตนมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมของผู้พิพากษา"

เห็นไหมครับว่าผู้พิพากษาต้องสันโดษ เรียบง่าย สำรวม สุภาพ มีกิริยามารยาท (ไม่ใช่วางอำนาจ) ทำตัวให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธา (ทำตัวซกมกก็เห็นจะไม่ได้) บทบัญญัติเหล่านี้ไม่มีอยู่ในวินัยข้าราชการทั่วไป บางอย่างเอามาจากวินัยพระด้วยซ้ำ

บุรพตุลาการท่านห้ามผู้พิพากษาไปเป็นกรรมการหรือสมาชิกชมรม สมาคม สโมสร ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ ก็คืออย่าไปสังสรรค์คบค้าสมาคมกับผู้คนนอกวงการมากเกินไป เพราะถ้ามีความผูกพัน มีน้ำใจ มีบุญคุณ เคารพนับถือกัน ก็อาจกระทบการปฏิบัติหน้าที่ได้

ท่านให้ระมัดระวังกระทั่งการประกอบอาชีพของลูกเมีย ญาติสนิท หรือผู้อยู่ในครัวเรือน แบบว่าตัวเป็นผู้พิพากษา เมียเป็นนายหน้าขายที่ดิน ลูกชายเปิดผับ ลูกสาวเปิดสำนักงานทนาย ฯลฯ ตำรวจทำได้ ทหารทำได้ นักการเมืองทำกันเกร่อ แต่ผู้พิพากษาทำไม่ได้นะครับ เพราะมันล่อแหลมต่อ "ผลประโยชน์ทับซ้อน"

ตอนออกประมวลจริยธรรมปี 2544 ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น (น่าจะเป็นสมัยท่านสันติ ทักราล) ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำรงตนในโอกาสต่างๆ ของข้าราชการตุลาการ

"ข้อ 3. การจัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆ

1. ข้าราชการตุลาการพึงงดเว้นการชักชวนหรือสนับสนุนให้มีการเดินทางไปอวยพร หรือจัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเกิด หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เว้นแต่เป็นการกระทำกันภายในหมู่ญาติมิตร หรือเฉพาะ ในหน่วยงานของตนเอง โดยมิได้รบกวนบุคคลภายนอก หรือให้บุคคลภายนอกมาร่วมจัดงาน

2. ข้าราชการตุลาการพึงงดรับของขวัญ ของมีค่า ของกำนัลจากผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลอื่น

3. ผู้ใต้บังคับบัญชาพึงงดเว้นการเดินทางไปอวยพรผู้บังคับบัญชา เว้นแต่เป็นการกระทำกันภายในหน่วยงานนั้นเอง ข้าราชการซึ่งอยู่ต่างท้องที่หรืออยู่ห่างไกล หากประสงค์จะอวยพร ควรใช้บัตรอวยพรทางไปรษณีย์แทน"

บอกแล้วว่าถ้าจะกินเหล้าก็ต้องกินในบ้าน หรือกินกับผู้พิพากษาด้วยกัน ห้ามกินกับทนาย ผู้พิพากษาจัดงานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิด งานปีใหม่ ถ้าเชิญแขกเหรื่อเอิกเกริกถือว่าไม่เหมาะสม ต้องจัดเงียบๆ ในญาติมิตร หรือในสำนักงาน

เรื่องรับของขวัญประมวลจริยธรรมปี 52 เขียนชัดขึ้นด้วยซ้ำ ว่าห้ามลูกเมียด้วย

"ข้อ 42 ผู้พิพากษาและคู่สมรสจักต้องไม่รับของขวัญของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดอันมีมูลค่าเกินกว่าที่พึงให้กันตามอัธยาศัยและประเพณีในสังคม และจักต้องดูแลให้บุคคลในครอบครัวปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย"

แม้แต่การเรี่ยไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมท่านก็ห้าม

"ข้อ 39/1 ผู้พิพากษาไม่พึงขอรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามระเบียบ คำสั่ง หรือมติว่าด้วยการนั้น"

แปลว่ามูลนิธิต้นตระกูลกมลวิศิษฎ์จะไปบริจาคเงินตั้งตู้น้ำดื่มให้ศาล เหมือนที่สร้างป้อมยามให้ตำรวจ ก็ไม่ได้

บางคนอาจร้องว่า โห! แบบนี้เป็นผู้พิพากษาก็ต้องวางตัวอยู่ในกรอบแทบกระดิกไม่ได้ ก็ใช่สิครับ รัฐถึงให้เงินเดือนผู้พิพากษาสูงกว่าข้าราชการฝ่ายอื่น เป็นผู้พิพากษามีเกียรติมีศักดิ์ศรี แล้วใช่ว่าจะเอาไปอวด เอาหน้า สร้างฐานะทางสังคม บุรพตุลาการท่านทำแบบอย่างไว้ แต่รุ่นหลังรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ ลูกท่านหลานท่านจบจากนอก อายุ 25 เป็นผู้พิพากษากันแล้ว

สาเหตุที่บุรพตุลาการกำหนดให้ผู้พิพากษาสันโดษ สมถะ ละเว้นการสังสรรค์สโมสร ก็เพราะเล็งเห็นว่าการคบค้าสมาคมกว้างขวางจะทำให้เกิดความรู้จัก เกรงใจ รักใคร่ ผูกพัน ซึ่งเวลาคนเหล่านั้นมีคดีขึ้นศาล แม้ตัวท่านไม่ได้เป็นองค์คณะ แต่ก็อาจรู้จัก เกรงใจ รักใคร่ ผูกพัน กับผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์ คนเหล่านั้นก็ย่อมจะมาขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ ตามประเพณีอันดีงามของสังคมอุปถัมภ์ ซึ่งปฏิเสธได้ยาก เพราะจะถูกหาว่าไม่มีน้ำใจ

คอร์รัปชั่นในสังคมไทยมาจากคอนเนคชั่นเสียเป็นส่วนใหญ่นะครับ ไม่ค่อยมีหรอก ที่จะมีคนเดินเข้ามาหาผู้มีอำนาจถามโต้งๆ ว่าจะเอา 10% 20% หรือ 30% มันมักจะเริ่มจากพี่น้องพ้องเพื่อน การสร้างความสัมพันธ์ น้ำใจและความผูกพัน ซึ่งหลวมตัวไปแล้วปฏิเสธลำบาก
 

หลักสูตรฮิตขยายกิจการ

หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง บ.ย.ส. จัดโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งขึ้นกับสำนักงานศาลยุติธรรม ปัจจุบันมีนายวิรัช ชินวินิจกุล เป็นเลขาธิการ, นายสราวุฒิ เบญจกุล เป็นรองเลขาธิการ และนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาล (อากงปลงไม่ตก) เป็นผู้บริหาร

หลักสูตร บ.ย.ส.เปิดรุ่นแรกเมื่อปี 2539 มีผู้เข้าอบรม 20 กว่าคน เกือบทั้งหมดเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ข้าราชการ (มีนายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันด้วย) แล้วก็มีสื่อรุ่นละคน รุ่นแรกมาจาก อสมท.รุ่น 2 ไทยรัฐ รุ่น 3 ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ จากผู้จัดการ รุ่น 4 เริ่มมีนักการเมืองอย่างอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รุ่น 5 การุณ ใสงาม รุ่น 7 ปานปรีย์ พหิทธานุกร, สาธิต ปิตุเตชะ รุ่นนี้เริ่มขยายมาราว 50 กว่าคน

จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น รุ่น 12 มี 66 คน รุ่น 13 มี 70 เริ่มมีชื่อคนดังๆ อย่างประกอบ จีรกิติ, ปริญญ์ จิราธิวัฒน์, พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และสุพจน์ ทรัพย์ล้อม (อ้าว! เพิ่งรู้ว่าเพื่อนร่วมรุ่น) รุ่น 14 มี 73 คน สมชาย แสวงการ, ประวิช รัตนเพียร, ฐาปน สิริวัฒนภักดี, สมชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล (จีสตีล), สมพันธุ จารุมิลินท (ทรูวิชั่น) สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ (เอเชียโกลเด้นไรซ์) เป็นต้น รุ่น 14 นี่ยังมีเฟซบุ๊ก มีภาพไปดูงานญี่ปุ่น จัดกอล์ฟ กันสนุกสนาน

รุ่น 15 ยังหาไม่เจอ แต่รายชื่อรุ่น 1-14 มีในเว็บไซต์ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกศาลยุติธรรม แสดงรายงานวิจัยผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รวม 14 รุ่น 717 คน ใครอยากอ่านไปดูได้ แต่รายชื่อรุ่นหลังๆ ไม่ได้บอกตำแหน่ง ที่มา ของผู้เข้าอบรม http://www.library.coj.go.th/indexresert.php?search=&&cbtype=&&page=1

รายชื่อผู้เข้าอบรมที่ยังค้างอยู่ในเว็บไซต์สถาบัน ซึ่งบอกที่มาที่ไป มีแค่ 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 16 ประจำปี 54-55 ซึ่งพระองค์ภาฯ ทรงเข้าอบรมในฐานะรองอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู มีผู้เข้าอบรมร่วมกับพระองค์ภาฯ 109 คน รุ่นที่ 17 ประกาศรายชื่อล่าสุดมี 90 คน

มาดูรุ่นที่ 16 กันก่อน ในจำนวนนี้มีผู้พิพากษา 21 คน (ตำแหน่งขณะนั้น)

นางกมลทิพย์ กรวิจิตรกุล ผู้ตรวจราชการสำนักงานศาลยุติธรรม
นายจตุรงค์ นาสมใจ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ ภาค 4
นายชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
นายชูเกียรติ ดิลกแพทย์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 7
นายนิยุต สุภัทรพาหิรผล ผู้พิพากษาศาลฎีกา
นายปกรณ์ วงศาโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
นายปกรณ์ สุวรรณพรหมา อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 4
นายปิ่น ศรีเมือง รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 6
นายเผดิม เพ็ชรกูล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
นายพิศิฏฐ์ สุดลาภา อธิบดีผู้พิพากษาภาค 6
นางสาวภาวนา สุคันธวณิช ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
นายมนูภาน ยศธแสนย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง
นายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
นายวิจิตร วิสุชาติ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9
นายวินัย เรืองศรี ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
นายวุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1
นายสมชาย เงารุ่งเรือง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
นายสุชาติ สุนทรีเกษม รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี
นางสาวสุนันท์ ชัยชูสอน ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์
นายอดุลย์ ขันทอง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้
นายอนันต์ คงบริรักษ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มีตุลาการศาลปกครอง 1 คนคือ อ.วิษณุ วรัญญู ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ส่วนอัยการ นอกจากพระองค์ภาฯ มี 3 คนได้แก่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองเลขานุการอัยการสูงสุด, ร.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ, นางอรนิตย์ บุนนาค อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว

ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 3, นายวิทยา สุริยะวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, พันโท อเนก ยมจินดา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งขณะนั้น)

โดยยังมีข้าราชการในพระองค์ ดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ, นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาโครงการกำลังใจในพระดำริพระองค์ภาฯ และตามธรรมเนียมต้องมีสื่อ ได้แก่ นายธเรศวร์ ธนะสมบูรณ์ บก.ข่าวอาวุโส ช่อง 5 น.ส.นาตยา เชษฐ์โชติรส ผู้ช่วย บก.ข่าวบางกอกโพสต์

ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ เอาเฉพาะตำแหน่งสำคัญก็เช่น นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท., พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ, พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่า สตง. นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์, พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รองเสนาธิการทหารบก, นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร, นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ในขณะนั้น

ฝ่ายการเมืองนำหน้าโดย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, หมอพฤติชัย ดำรงรัตน์ มาในฐานะที่ปรึกษาประธานบริษัท พีพีดี คอนสตรัคชั่น จำกัด, ฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น (ตอนนี้ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ นัยว่าเด็กเสธหนั่น) แล้วก็มี สว.2 คน ที่มาจากการสรรหาคือ น.ส.สุนันท์ สิงห์สมบุญ อดีตนายกสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย 3 สมัย (รายนี้นักอบรมเหมือนกัน เพราะจบ บยส.16 วตท.11 วปอ.มส.1 TEPCOT รุ่น 3 ปปร.ของสถาบันพระปกเกล้า รุ่น 13) และสุวิทย์ เมฆเสรีกุล สว.เลือกตั้งจากมหาชัย

ส่วนที่เหลือเป็นนักธุรกิจล้วนๆ ได้แก่

นายกนกศักดิ์ ปิ่นแสง ที่ปรึกษา บริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
นายเกียรติศักดิ์ กัลยาสิริวัฒน์ ประธานบริหาร บริษัท โนโลอากวีเทรด (ประเทศไทย) จำกัด
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กฎหมายกรุงไทย
นายชัยศักดิ์ อ่อนประดิษฐ์ กรรมการ บริษัท โอสิคอินเตอร์ เนชั่นแนล (ไทย) จำกัด
นายโชคชัย เศรษฐีวรรณ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยฟ้า (2511) จำกัด
นายณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสำนักประสานรัฐกิจกลุ่มธุรกิจการตลาด เครือซีพี
นางสาวณฤดี อรัณยกานนท์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เกลือขุนสมุทรมณีรัตน์ จำกัด
นางสาวธิดารัตน์ ธนภรรคภวิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวาลีฟ ซอฟท์แวร์ จำกัด
นายประเสริฐ เกษมโกเมศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอนวิสต้า เรียลตี้ จำกัด
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการกลางมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานกรรรมการบริหารกลุ่ม บริษัท จี สตีล จำกัด
ดร. ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานสภาอุตสาหกรรม
นายพรศักดิ์ พิทักษ์พูลสิน ประธานบริหาร บริษัท ฮอว์คอายส์ อินเตอร์เทรด จำกัด
นายภัคพล งามลักษณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
นายวรยุกต์ เจียรพันธุ์ ประธานกรรมการกลุ่ม บริษัท สมบูรณ์สุข จำกัด
นายวโรดม วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด
ดร.วาชิต รัตนเพียร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต
นายวิกรม ศรีประทักษ์ รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
ดร.วิชญะ เครืองาม ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบัญชีและการเงิน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
นายวิสุทธิ์ พิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซูซุสงวนไทยมอเตอร์เซลส์ จำกัด
นางศิรินันท์ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฎิบัติการ Loxley ICT Group
นายสมเกียรติ ศรมณี กรรมการบริหาร บริษัท วี.อาร์.เอ็ม.วอยซ์ พลัส จำกัด
นายสมบูรณ์ ฉายาวิจิตรศิลป์ ประธานกรรมการ บริษัท สมหรรษา จำกัด
นายสมสุข ศรีสถิตย์วัฒนา ประธานบริหาร บริษัท เอเชี่ยน พารากอน จำกัด
นายสุขสันต์ ตั้งสะสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริหาร บริษัท คอสมิก แม็กนัม จำกัด
นางสาวสุนีย์ เศวตเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจแปนเครน จำกัด
นายสุพรรณ อัครพันธุ์ ผู้จัดการ บริษัท สุขุมวิทฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด
นายสุรสิทธิ์ อัศดามงคล ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลบางมด
ดร.อธิป อัศวานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมิเน้นท์ ดอท คอม จำกัด
นายอนุวัตร บูรพชัยศรี กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี แมนเนจเม้นท์ จำกัด
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
นายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
นายเอกรัฐ วงศ์ศุภชาติกุล ผู้ช่วยกรรมการ บริษัท โกลเด้นเธร็ด จำกัด
นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล กรรมการ บริษัท โกลบอล อิเลคทริค มอเตอร์คาร์ เอเชีย จำกัด

รวมทั้งสิ้น 36 คน มาครบทั้งล่ำซำ-จิราธิวัฒน์ ทรู-เอไอเอส ฮอนด้า-อีซุซุ เฉพาะเครือซีพีนี่มา 3 คน

เห็นชื่อ ดร.วิชญะ เครืองาม อย่าแปลกใจ ลูกชายคนเดียวของวิษณุ เครืองาม อายุแค่ 30 เก่งมาก ทำงานให้ทรูในด้าน "รัฐกิจสัมพันธ์" ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า งานหลักที่ต้องรับผิดชอบ อาทิ การประมูลคลื่น 3G บรอดแบนด์แห่งชาติ และโครงการ Free wi-fi หรือ smart wi-fi แปลเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือลูกวิษณุทำงานสร้างความสัมพันธ์กับภาครัฐเพื่อให้ทรูชนะประมูล

อธิป อัศวานันท์ กรรมการผู้จัดการอิมิเน้นท์ ดอทคอม ชื่อดังด้านวิชาการ แต่ก็เป็นหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม ของทรูด้วย (ที่ทักเพราะไม่ยักเห็นคนของดีแทค ที่คลื่นล่มประจำ)

รายชื่ออื่นๆ ก็เช่น กนกศักดิ์ ปิ่นแสง ที่ปรึกษาเชียงใหม่คอนสตรัคชั่นของพ่อตาเนวิน ชิดชอบ และที่ปรึกษาคิงเพาเวอร์ ของวิชัย รักศรีอักษร ไทยนครพัฒนาก็ทิฟฟี่ บริษัทฮอว์คอายส์ อินเตอร์เทรด จำกัด ไม่แน่ใจว่าทำอะไร แต่ถ้าระดับโลก ฮอว์คอายส์ อินเตอร์เทรด (แคนาดา) คือพ่อค้าอาวุธ เคยยื่นขายรถหุ้มเกราะล้อยาง 4 พันล้านแต่แพ้ยูเครน
 

สลายขั้ว ทุน-ราชการ-ศาล

ผู้เข้ารับการอบรม บ.ย.ส.รุ่น 17 ปี 2555-2556 ตามประกาศในเว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรมมี 90 คน ในจำนวนนี้มีผู้พิพากษาได้แก่

นางกัญญา วรรณโกวิท ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
นายจุมพล ชูวงษ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
นายฉัตรชัย ไทรโชต รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง
นายโชคชัย รุจินินนาท ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6
นายธวัชชัย สุรักขกะ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี
นายนิพันธ์ ช่วยสกุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2
นายปริญญา ดีผดุง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
นายพันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 7
นางมนสิการ ดิษเณร วัชชวัลคุ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี
นายรังสรรค์ ดวงพัตรา ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์
นายวรงค์พร จิระภาค รองประธานศาลอุทธรณ์
นายวัฒนา วิทยกุล รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3
นายวันชัย ศศิโรจน์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 2
นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
นางวีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง
นายสุพจน์ กิตติรักษนนท์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 4
นายสุรพล เอี่ยมอธิคม อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6
นายสุรินทร์ ชลพัฒนา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา
นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ที่มาจากศาลปกครอง อัยการ องค์กรอิสระ กระทรวงยุติธรรม ทหาร ตำรวจ ก็เช่น

นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายกิตติ แก้วทับทิม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง
นายตระกูล วินิจฉัยภาค รองอัยการสูงสุด
นายภาณุพงษ์ โชติสิน รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการ ปปท.
นายพงศ์เอก วิจิตรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานต่างประเทศ ปปช.
พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการ กสทช.
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์
พล.ต.ท.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ผู้ช่วย ผบ.ตร.
พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร.
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกลาโหม

ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ก็เช่น นายสมชัย สวัสดีผล รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ที่จริงคุณสุรางคณา วายุภาพ นี่เป็นวิทยากรมาหลายรุ่นแล้ว เพิ่งจะเข้าอบรมเอง ฮิฮิ)

ข้าราชการในพระองค์ น.ส.กอบกุญ กาญจนาลัย ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง สื่อมวลชน นายวิโรจน์ วัฒนธาดากุล บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นายสมโภชน์ โตรักษา ผู้ช่วยหัวหน้ากอง บก.ช่อง 7

คราวนี้มาดูภาคเอกชนบ้าง ว่าแคลิเบอร์ขนาดไหน

นายเกรียง ศรีรวีวิลาส ประธานกรรมการบริษัทไทยศิลป์จิวเวลรี่ จำกัด
ดร.เฉลิมพล โล่ห์รัตนเสน่ห์ กรรมการผู้จัดการบริษัทนีโอเวฟ เทคโนโลยีคอร์ปอเรชั่น จำกัด
นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรูมัลติมีเดีย จำกัด
นางณัฐหทัย หิรัญเชาวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทตรีอรรถบูรณ์ จำกัด
นายธนการ ดำรงรัตน์ กรรมการบริหาร บริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด
นายนพพร บุญถนอม ประธานที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน)
นายนพพล ชูกลิ่น กรรมการผู้จัดการบริษัทรีเทล บิซิเนสโซลูชั่นส์ จำกัด
นายบัญฑิต พิทักษ์สิทธิ์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทสยามคาร์เรนท์ จำกัด
น.ส.ประกายดาว เขมะจันตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัททรอปิคอล แลนด์ จำกัด
นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโน๊ตแฟมิลี จำกัด
นางภัณฑิรา ฉัตรจุฑามาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.ซี.เจ.เอเชีย จำกัด (มหาชน)
ร.ต.อ.มนัส ฉายาวิจิตรศิลป์ ประธานกรรมการ บริษัทเอ็มโฮเต็ลสาธรกรุ๊ป จำกัด
นายมารชัย กองบุญมา ประธานกลุ่มบริษัท จันทภณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด
นางรัตนา ตฤษณารังสี ประธานกรรมการบริษัทดับบิลว.ซี.เอส.ซันซิโร่ (ประเทศไทย) จำกัด
นางลดาวัลย์ ธนะธนิต ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไอร่าแฟคเตอริ่ง จำกัด (มหาชน)
นายวิทัย รัตนากร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายบัญชีและการเงิน บริษัทสายการบินนกแอร์
นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
นางศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา กรรมการบริหารสภาหอการค้าไทย
นางศศิพร สุสมากุลวงศ์ รองประธานบริหาร บริษัทซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์)
นายสมชัย วงศ์วัฒนศานต์ ผู้ช่วยกรรมการด้านบริหารองค์กร บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน)
นายองอาจ เอื้ออภิญญกุล กรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน)

มีชินคอร์ป แสนสิริ ด้วยนะครับ (รอบหน้าคงมีเอสซีแอสเสท) กำแพงเพชรวิวัฒน์ เจียรวนนท์ ล่ำซำ โชควัฒนา

ฝ่ายการเมืองมี 6 คน นับจริงอาจแค่ 5 เพราะนางกีระณา สุมาวงศ์ สว.สรรหา จากสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ภริยา อ.อัครวิทย์ สุมาวงศ์ อดีตรองประธานศาปกครองสูงสุด ควรถือเป็นสายนักกฎหมาย คนอื่นๆ ได้แก่ นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ สว.สรรหา นางภารดี จงสุทธนามณี สว.เชียงราย น.ส.สุนทรี ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อีก 2 รายมาในคราบนักธุรกิจคือ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานกรรมการบริษัทไอดีลพร็อพเพอร์ตี้แมนเนจเมนท์ จำกัด นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น

การอบรมตามหลักสูตร บ.ย.ส.ซึ่งขอยกรุ่น 17 มาเป็นตัวอย่าง ต้องอบรม 84 วัน 528 ชั่วโมง แบ่งเป็นอบรมภาควิทยาการ ซึ่งมีทั้งฟังบรรยายและสัมมนา 198 ชั่วโมง จัดทุกวันศุกร์ 33 วัน อีก 294 ชั่วโมงเป็นการศึกษาดูงาน ซึ่งมีทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ อีก 36 ชั่วโมงให้ทำเอกสารวิชาการ

วิทยากรที่เชิญมาบรรยายออกจะค่อนไปข้างหนึ่ง อาจเพราะผู้มีชื่อเสียงในวงการกฎหมายค่อนไปทางนั้นอยู่แล้ว แม้จะถ่วงดุลมีเสียงข้างน้อยบ้าง

องคมนตรี ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร บรรยายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนักบริหารงานยุติธรรม ศ.เกษม วัฒนชัย เป็น 1 ใน 5 วิทยากรเรื่องความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ดร.สุเมธ เฟอร์รารี เรื่องการบริหารงานและกระบวนการยุติธรรมตามแนวพระราชดำริ ฯลฯ

ที่เหลือก็เช่น ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, กรณ์ จาติกวณิช, บัณฑูร ล่ำซำ, มีชัย ฤชุพันธ์, อักขราทร จุฬารัตน์, วิษณุ เครืองาม,บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, จรัญ ภักดีธนากุล, ว.วชิรเมธี, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์, เดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มี วีระพงษ์ รามางกูร, มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ, บุญคลี ปลั่งศิริ ขณะที่ฝ่ายนักวิชาการมี อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น 1 ใน 5 วิทยากรเรื่องความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

ผมแอบถาม อ.วรเจตน์ ได้ความว่าไปบรรยายมา 2-3 รุ่นแล้ว ถือเป็นการบรรยายทางวิชาการ มีเสรีภาพเต็มที่ เช่นปีที่แล้วรุ่น 16 พระองค์ภาฯ ทรงเข้าอบรม อ.วรเจตน์ก็ไปพูดเรื่องมาตรา 112 ท่านก็ทรงฟังจนจบ เหมือนผู้เข้ารับการอบรมทุกคน โดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เพราะถือเป็นเรื่องทางวิชาการ

อันนี้ก็ต้องชมสำนักงานศาลยุติธรรมผู้จัด ว่าใจกว้างเหมือนกัน
 

ศาลปกครองเอาด้วย

ศาลปกครองเปิดหลักสูตรนักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง (บ.ย.ป.) มาแล้ว 3 รุ่น รุ่นแรกสมัย อ.อักขราทร จุฬารัตน ยังเป็นประธาน เปิดอบรมวันที่ 17 ก.ย.2553-27 ม.ค.2554 มี 84 คน

ในจำนวนนี้มีตุลาการศาลปกครอง 10 คน ส่วนใหญ่เป็นระดับตุลาการหัวหน้าคณะและรองอธิบดี ข้าราชการศาลปกครอง 10 คน ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 2 คน อัยการ 2 คน ตำรวจ 3 คน หน่วยงานในพระองค์ 2 คน สื่อมวลชน 2 คน ผู้บริหาร อปท.2 คน สถาบันอุดมศึกษา 2 คน หน่วยงานอิสระ 11 คน เอกชน 9 คน รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน 8 คน ราชการ 11 คน การเมือง 10 คน

เอกชน 9 คนได้แก่

นายชาญชัย จินดาสถาพร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
นายชัยปิติ ม่วงกูล ผู้อำนวยการสำนักรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
นางฐิตตะวัน เฟื่องฟู รองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นายวัฒวุฒิ ศรีบุรินทร์ ผู้จัดการ/หัวหน้าสำนักงานกฎหมายและบัญชี ศรีวัฒนากรุ๊ป
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บ. กัลฟ์ เจพี จำกัด
นางสาวลักษมี ศรีสมเพชร กรรมการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมายบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
นางสาวรุ้งเพชร ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ กรรมการบริหาร โรงแรม s15 และโรงแรม s31

การเมือง 10 คน จากวุฒิสภาได้แก่ นายวรินทร์ เทียมจรัส, พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช, น.พ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์, น.ส.เกศสิณี แขวัฒนะ จากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้แก่ นายมารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายศุรพงศ์ พงศ์เดชขจร เลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม, นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ, นายปวีณ แซ่จึง, นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์, คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์

บ.ย.ป.รุ่น 2 เพิ่มเป็น 96 คน มีตุลาการศาลปกครอง 13 คน ส่วนใหญ่เป็นระดับตุลาการหัวหน้าคณะ อธิบดี รองอธิบดี ข้าราชการศาลปกครอง 7 คน ผู้พิพากษา 1 คน อัยการ 3 คน ส่วนอื่นๆ ที่มาจากราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ ที่ดังๆ ก็เช่น ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ตอนเป็นเลขา กลต. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กสทช. พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง จเรตำรวจแห่งชาติ ว่าที่ ปปช. นายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการสำนักบริการและสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มเป็น 15 คน เช่น

นายกังวาล กุศลธรรมรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น
นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ทนายความพาร์ทเนอร์และกรรมการบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี จำกัด
นายธาดา เศวตศิลา ผู้อำนวยการทรัพยากรบุคคล บ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด
นายบุญชัย ถิราติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทกัลฟ์ เจพี จำกัด
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายไพโรจน์ สินเพิ่มสุขสกุล กรรมการบริษัทเอเชีย ซีเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด
นายรุจชรินทร์ ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการบริษัทนิติการ อินเตอร์เนชั่นแนลลอว์ จำกัด
นางศรินทร เมธีวัชรานนท์ ประธานกรรมการ บริษัทซาวเวอร์คิง แมนูแฟคเจอริ่ง และบริษัทเอสอาร์ แอดวานซ์ อินดัสตรี
นางศิริพร สุสมากุลวงศ์ รองประธานกรรมการ บริษัทซุปเปอร์ริช จำกัด
นางศรีวัฒนา อัศดามงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมด
นายสมคาด สืบตระกูล ประธานกรรมการการลงทุนและกรรมการ บ.หลักทรัพย์คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
นายสมพงษ์ โกศัยพลกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทกรุงธนเอ็นจิเนียร์ จำกัด
นายสมัคร เชาวภานันท์ ประธานกรรมการ บ.ที่ปรึกษากฎหมายสมัครและเพื่อน จำกัด
นางสหัสชญาณ์ เลิศรัชตะปภัสร์ กรรมการผู้จัดการ บ.ฮัทชินสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด
นายสันติภาพ เตชะวณิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัททศภาค จำกัด

ทั้งนี้ยังมีตัวแทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ นายธนา เบญจาทิกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สคบ. นายนพดล พลเสน ประธานกรรมการมูลนิธิรักษ์ผืนป่าตะวันตกมรดกโลกห้วยขาแข้ง อุทัยธานี นายพาณิชย์ เจริญเผ่า นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ดูชื่อแล้วก็หัวร่อก๊าก เพราะธนา เบญจาทิกุล คือทนายทักษิณผู้มีชื่อลือลั่นในคดีกล่องขนม นพดล พลเสน คืออดีต ส.ส.พรรคชาติไทยผู้ถูกตัดสิทธิ 5 ปี พาณิชย์ เจริญเผ่า คืออดีต สว.และผู้นำแรงงาน ไม่มีใครเป็น NGO จริงๆ ซักราย

แต่นักการเมืองรุ่นนี้ไม่ยักมีคนดัง มีแต่พวกเลขา ที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่น่าจับตาหน่อยคือ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่

บ.ย.ป.รุ่นที่ 3 เพิ่มเป็น 99 คน เคยเป็นข่าวฮือฮาเพราะสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เข้าเรียนด้วยในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีทั้งที่เพิ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิทธิ 5 ปี นักการเมืองดังคนอื่นๆ ได้แก่ วิทยา แก้วภราดัย, วิรัตน์ กัลยาศิริ 2 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, วัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา น.ส. วิไล บูรณุปกรณ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ฝ่ายวุฒิสมาชิกก็มี นายจรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง ส.ว.สระบุรี นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ นายถาวร ลีนุตพงษ์ ส.ว.สรรหา (อันที่จริงคือทายาทยนตรกิจ แต่เข้ามาเป็น สว.สายวิชาการ) ภารดี จงสุขธนามณี ส.ว.เชียงรายเจ้าเก่า พวงเพ็ชร ชุนละเอียด เจ้าก่า มาในนามประธานกรรมการบริษัทไอดีล พร๊อพเพอร์ตี้ แมนเนจเมนท์ ตามเคย ปิติพงศ์ เต็มเจริญ อดีต ส.ส.ไทยรักไทย กรรมการผู้จัดการบริษัท สิริพงศ์พรรณ คอร์ปเปอเรชั่น

ปรากฏว่าคราวนี้ตุลาการและข้าราชการศาลปกครองหดหายเหลือไม่กี่คนคือ

นายเกียรติภูมิ แสงศศิธร ตุลาการศาลปกครองกลาง
นายมนูญ ปุญญกริยากร ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
พันเอกวรศักดิ์ อารีเปี่ยม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นางสาวสายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการศาลปกครองกลาง
นายอดุล จันทรศักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
นายบรรยาย นาคยศ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง
นางสมฤดี ธัญญสิริ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง

แต่รายชื่อภาคธุรกิจเอกชนล้นหลาม

นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นางสาวเกศมณี แย้มกลีบบัว กรรมการผู้จัดการบริษัท เกศมณี อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด
นางจันทิมา บุญวิริยะกุล กรรมการตรวจสอบบริษัทไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด (มหาชน)
นายชวิน ชัยวัชราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
นายโชคชัย นิลเจียรสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักงานจักรพงษ์ทนายความ จำกัด
นายเดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมและกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ สภาหอการค้าไทย
นางสาวทิพยวรรณ อุทัยสาง กรรมการบริหารบริษัท เปเปอร์เมท (ประเทศไทย) จำกัด
นายธนกร วังบุญคงชนะ ประธานคณะกรรมการบริษัท ทอง มัลติมีเดีย จำกัด
นายธนการ ดำรงรัตน์ กรรมการบริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด
นายธนญ ตันติสุนทร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานองค์กรสัมพันธ์ บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด
นายธัช บุษฎีกานต์ กรรมการบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด
นายนัที เปรมรัศมี กรรมการบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
นางสาวนิตยา ดิเรกสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายนิติ ถาวรวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด โฮม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด
เภสัชกรหญิง เบญจางค์ เคียงสุนทรา ประธานกรรมการบริษัท อัฟฟี่ฟาร์ม จำกัด
นางสาวประกายดาว เขมะจันตรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ทรอปิคอล แลนด์ จำกัด
นายประสิทธิ์ กิจวิวัฒนการ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท บียอนด์ เพอร์เซ็ปชั่น จำกัด
นายปริญญา เธียรวร ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท วี.เอ็ม.พี.ซี จำกัด
นางเปรมฤดี สุวรรณทัต ผู้อำนวยการอาวุโสบริษัท เจเนอรัล อิเลคทรอนิคคอมเมอร์ซ เซอร์วิสเซส จำกัด
นายพรชัย รัตนเมธานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาซา รอคคา จำกัด
นางพรนภา ไทยเจริญ กรรมการหุ้นส่วนบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด
นายพิสิษฐ์ เดชไชยยาศักดิ์ ทนายความหุ้นส่วนสำนักงาน Weerawong C&P
นางภัณฑิรา ฉัตรจุฑามาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ที.ซี.เจ เอเซีย จำกัด (มหาชน)
นางรัตนา ตฤษณารังสี ประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิว.ซี.เอส.ซันชิโร (ประเทศไทย) จำกัด
นายวงศ์พันธ์ ณธันยพัต ประธานบริษัทบริษัท พัฒนาวิชาการ (2535) จำกัด
นายวรวุฒิ นวโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดับเบิลยู แอนด์ เอส เดคคอเรชั่น จำกัด
นายวันไชย เยี่ยมสมถะ พาร์ทเนอร์ บริษัท แอลเอส ฮอไรซัน จำกัด
นายวิทูร ทวีสกุลชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท แอลเมทไทย จำกัด
นายสมบูรณ์ เนื่องจำนงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศรสิษฐ์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
นายสมบูรณ์ วรปัญญาสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แปซิฟิค รีเทล เซอร์วิส จำกัด
นายอชิตศักดิ์ บรรจงโพธิ์กลาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักกฎหมายธีรคุปต์ จำกัด
ดร.อนุกูล ตันติมาสน์ กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)
นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
นายอัชดา เกษรศุกร์ กรรมการบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด
นายอารีศักดิ์ เสถียรภาพอยุทธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหการประมูล จำกัด

ตัวแทนภาครัฐที่น่าสนใจก็เช่น

นางจิราภรณ์ เล้าเจริญ ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบกระบวนการหลักบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นายวีระพล จิรประดิษฐ์กุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้พวกที่อยู่ในสาย NGO เห็นชื่อ "ครูหยุย" วัลลภ ตังคณานุรักษ์ คนเดียว

น่าสังเกตว่าหลักสูตร บ.ย.ป.ของศาลปกครอง รุ่น 2 รุ่น 3 มีผู้บริหารหรือหุ้นส่วนสำนักงานทนายความเข้ามาเพียบ สำนักงานพวกนี้ไม่ได้รับว่าคดีอาญาฆ่ากันตายขายยาบ้าผัวเมียหย่าร้าง แต่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้บรรษัทยักษ์ใหญ่บรรษัทข้ามชาติทั้งสิ้น

ศาลปกครองมีอำนาจอะไร ก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับ 76 โครงการมาบตาพุดมาแล้ว มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ล้มประมูล 3G มาแล้ว (แล้ว กสท.ยุครัฐบาล ปชป.ก็ประเคน 3G ให้ทรู) เอาเฉพาะ 2 คำสั่งนี้ก็ทำให้เกิดผลได้เสียทางธุรกิจเป็นแสนล้าน

ฉะนั้น ถามว่าถ้าคุณเป็นผู้บริหารทรู ดีแทค เอไอเอส หรือสำนักกฎหมายที่เป็นตัวแทนให้ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ คุณจะอยากเข้าอบรม บ.ย.ป.มากขนาดไหน (แต่ไม่เห็นรายชื่อดีแทคอีกแหละ) คุณเป็นเจ้าของโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า บริษัทก่อสร้าง ฯลฯ หรือเป็นตัวแทนกฎหมายให้บริษัทญี่ปุ่น ฝรั่ง ที่มาบตาพุด ที่มีโอกาสจะถูกไอ้พวก NGO ตัวถ่วงความเจริญ ฟ้องให้ระงับการก่อสร้าง หยุดการผลิต ฯลฯ คุณจะเนื้อเต้นอยากเข้าร่วมไหม

โอเค ฉากหน้าทุกคนก็จะบอกว่ามาเพื่อศึกษาหาความรู้ จะได้ปฏิบัติถูกต้อง แต่ดูรายชื่อสิครับ หลายรายเป็นธุรกิจที่ล่อแหลมจะถูกฟ้อง การมาอบรมกับศาล มาสัมพันธ์กับตุลาการ พวกเขาต้องดีดลูกคิดรางแก้วไว้มากกว่าหาความรู้ตามปกติ

คดีปกครองประชาชนเสียเปรียบอยู่แล้วเมื่อฟ้องหน่วยงานรัฐให้บังคับใช้กฎหมายกับบริษัทเอกชน ศาลปกครองจึงใช้ระบบไต่สวน เพื่อให้ประชาชนมีตุลาการเป็นที่พึ่ง แต่เมื่อผู้บริหารบริษัทหรือสำนักกฎหมายที่เป็นตัวแทน เข้ามาอบรมกับศาลปกครอง ประชาชนผู้เดือดร้อนเสียเปรียบก็ต้องรู้สึกไขว้เขวสับสน จริงไหมครับ (ขณะที่ สุทธิ มาบตาพุด, จินตนา บ้านกรูด, บรรจง ณ ท่อก๊าซ ฯลฯ ไม่ยักได้เข้ามาอบรมมั่ง)

นักการเมือง นักธุรกิจ แห่ไปอบรม บ.ย.ส.เป็นเพื่อนกับผู้พิพากษา เจ้าของหรือทนายของโรงงานที่อาจก่อมลภาวะ แห่ไปอบรม บ.ย.ป.เป็นเพื่อนตุลาการศาลปกครอง

นี่เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นหรือ

       ใบตองแห้ง
       12 ก.ย.55

 

หมายเหตุ: จะมี (2) ตามมาเพื่อตั้งปุจฉาภาพรวมของหลักสูตรเหล่านี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

Posted: 12 Sep 2012 12:19 AM PDT

"ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยรุนแรงลดลงจาก 40 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงในโลกเพิ่มขึ้นจาก 40 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์"

อภิปราย "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน" 7 กันยายน 2555

ว่าด้วยพุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธปรัชญา พุทธวิทยาศาสตร์ พุทธประชาธิปไตย

Posted: 12 Sep 2012 12:05 AM PDT

ข้อวิจารณ์ที่ว่า การตีความพุทธศาสนาในเชิงปรัชญา เน้นความมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตยหรือการอ้างอิงคำสอนที่ถูกต้องจาก ‘พระไตรปิฎก’ เป็นการขจัดทำลายความหลากหลายของพุทธศาสนา ทำให้พุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธแก้กรรม พุทธปาฏิหาริย์ พุทธปลุกเสก พุทธแบบบ้านๆ พุทธนอกพระไตรปิฎก ฯลฯ ไม่มีที่ยืนในสังคม หรือกลายเป็นพุทธชายขอบไป ผมคิดว่าข้อวิจารณ์ดังกล่าวมีแง่มุมทั้งในเชิงข้อเท็จจริงและในเชิงหลักการที่ซับซ้อนอยู่ จึงอยากเสนอมุมมองอีกด้านเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน

ประเด็น ‘ข้อเท็จจริง’ มีข้อพิจารณาอยู่สองเรื่องหลักๆ คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อหาในพระไตรปิฎก และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ถูกตีความ หรือประยุกต์เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม

เป็นความจริงว่า เนื้อหาในพระไตปิฎกมีทั้งเรื่องราวที่สะท้อนความเชื่อแบบพุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธที่เป็นปรัชญา มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย หมายความว่าไม่ว่าคุณจะตีความพุทธอย่างไร คุณก็สามารถอ้างอิงที่มาที่ไปจากพระไตรปิฎกมาสนับสนุนการตีความของคุณได้ทั้งสิ้น เพราะในพระไตรปิฎกมีทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีสางเทวดา นรก เปรต อสุรกาย โลกสวรรค์ พรหมโลกชั้นต่างๆ กระทั่งเรื่องการเหาะเหินเดินหาวไปจนถึงราหูอมจันทร์ มีความเชื่อเรื่องบุญ บาป กฎแห่งกรรม ชาติหน้า ชาติหลัง ซึ่งเป็น ‘ความเชื่อร่วม’ ทางศาสนาในวัฒนธรรมพราหมณ์ของชาวอินโดอารยันที่มีอิทธิพลทางศาสนาและการเมืองในชมพูทวีปมาก่อนจะเกิดพุทธศาสนาราว 5-3 พันปี

ในขณะเดียวกันเนื้อหาของคำสอนพุทธส่วนที่ว่าด้วยกฎธรรมชาติและสภาวะนามธรรมบางอย่าง ก็รุ่มรวยเสน่ห์ดึงดูด ‘คนช่างคิด’ ทั้งหลายให้กระหายที่จะไตร่ตรองตีความคำสอนเหล่านั้นในเชิงปรัชญา ความมีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ก็มีอยู่อย่างเด่นชัด เช่นคำสอนเกี่ยวกับสังขตธรรม อสังขตธรรม สุญญตา อนัตตา ไตรลักษณ์ ปฏิจสมุปบาท อริยสัจ ขันธ์ห้า กฎแห่งกรรม ธรรมชาติของจิตหรือวิญญาณ ในวงการศึกษาพุทธศาสนาอย่างเป็นวิชาการก็มีการตีความ จำแนกแยกแยะเนื้อหาของหลักธรรมเหล่านี้ให้เห็นส่วนที่เป็นอภิปรัชญา (metaphysic) ญาณวิทยา (epistemology) และจริยปรัชญา (moral philosophy) เอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็มีประโยชน์มากในทางวิชาการ

นักคิดชาวพุทธบางคน เช่นท่านพุทธทาสก็ตีความว่า ‘พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต’ ดังงานเขียนชื่อ ‘ปมเขื่อง’ จะว่าไปก็มีความลึกซึ้งไม่ด้อยไปกว่าความคิดเรื่องจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ส่วนที่ตีความว่าพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยนั้น เห็นได้งานเขียนของ ส.ศิวรักษ์ ที่อ้างอิงหลักความเสมอภาค และเสรีภาพของสังคมสงฆ์ในสมัยพุทธกาล และการตีความพุทธศาสนาเพื่อตอบ ‘ปัญหาพื้นฐาน’ ทางปรัชญานั้น เห็นได้ชัดในงานของสมภาร พรมทา ที่ตีความหลักการพุทธศาสนาเพื่อตอบปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม รวมทั้งปัญหาจริยธรรมในโลกสมัยใหม่ เช่นปัญหาการทำแท้ง ชีวจริยธรรม การโคลนนิ่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในพระไตรปิฎกนอกจากจะมีหลากหลายสามารถนำมาอ้างอิงสนับสนุนทั้งพุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธปรัชญา พุทธวิทยาศาสตร์ พุทธราชาธิปไตย พุทธประชาธิปไตย แม้กระทั่งพุทธสังคมนิยม (เช่นธัมมิกสังคมนิยม เผด็จการโดยธรรม) ได้แล้ว (คือใครๆ ก็หยิบเรื่องนั้นเรื่องนี้มาสนับสนุนการตีความของตนได้ แต่จะสมเหตุสมผลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ในพระไตรปิฎกนั้นเองยังมีการวิพากษ์ความงมงายในรูปแบบต่างๆ เช่นการยึดถือภูเขา จอมปลวก ต้นไม้ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ทิศ การบูชายัญญ์ ความเชื่อเรื่องพระพรหมสร้างโลก ความงมงายในศีลพรต ความเชื่อลัทธิกรรมเก่า กระทั่งวิจารณ์การตีความคำสอนของตถาคตอย่างคลาดเคลื่อนว่าเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเป็นการ ‘ตู่พุทธพจน์’ (ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่าคนที่ตู่พุทธพจน์เป็นมหาโจร เป็นโมฆบุรุษ เป็นต้น) นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกยังได้วาง ‘มาตรฐาน’ ตัดสินว่าอะไรคือพระธรรมวินัยของตถาคตเอาไว้ด้วย

จึงกลายเป็นว่า เนื้อหาส่วนที่เป็นการวิพากษ์ความงมงาย การสอนผิด และหลักเกณฑ์การตัดสินพระธรรมวินัยเหล่านี้เองที่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งใช้เป็น ‘มาตรฐาน’ อ้างอิงในการแยกแยะว่า อะไรคือคำสอนที่ถูกต้อง และอะไรน่าจะไม่ใช่คำสอนของพุทธะ (โดยมีสมมติฐานว่า พระไตรปิฎกอาจมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่ใช่พุทธพจน์เข้าไปภายหลัง ดังท่านพุทธทาสบอกกว่า พระอภิธรรมปิฎกไม่อยู่ในรูปพุทธพจน์ และเห็นว่าพระไตรปิฎกควรฉีกทิ้งสัก ก็ได้ เหลือไว้สัก 30% ที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจเรื่องทุกข์กับการดับทุกข์ก็พอ) ซึ่งบางทีการกระทำเช่นนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่ากำลังพยายามแยก ‘พุทธแท้-พุทธเทียม’

แต่หากมองอย่าง common sense เราอาจเข้าใจได้ว่านี่เป็น ‘หลักการทั่วไป’ ที่คนจะตั้งคำถามว่าอะไรใช่-ไม่ใช่ หรือใครพูดถูกพูดผิด เช่น นักวิชาการคนนี้อธิบายความคิดของโสเครตีสถูกหรือไม่ คนนั้นอธิบายความคิดของมาร์กผิดหรือเปล่า เป็นต้น หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสอนถูกสอนผิดที่ไม่ได้ใช้อำนาจมาควบคุมบังคับก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลรองรับ ดังที่ยอมรับกันปกติในแวดวงวิชาการด้านอื่นๆ

จะเห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อหาในพระไตรปิฎกที่พุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธปรัชญา พุทธวิทยาศาสตร์ พุทธราชาธิปไตย พุทธประชาธิปไตย พุทธสังคมนิยม ต่างก็อาจอ้างอิงสนับสนุนความเชื่อของตนได้ทั้งนั้น รวมทั้งฝ่ายที่พยายามแยกแยะคำสอนที่ถูก-ผิด ก็สามารถอ้างอิง ‘มาตรฐาน’ สำหรับวินิจฉัยจากพระไตรปิฎกได้อีกเช่นกัน ปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันที่ดูสับสน ย้อนแย้ง เอาเข้าจริงแล้วอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีมานาน แม้แต่ในพระไตรปิฎกเองก็มีความซับซ้อนย้อนแย้งในตัวเอง และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการแยกนิกายออกเป็นร้อยๆ นิกาย เป็นต้น

ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพัฒนาการของพุทธศาสนาที่ถูกตีความหรือประยุกต์เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม จะเห็นว่าพุทธศาสนาถูกตีความเข้ากับบริบททางสังคมการเมือง และบริบทวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นมาโดยตลอด โดยในบริบททางสังคมการเมืองพุทธศาสนาถูกตีความสนับสนุนระบบราชาธิปไตยมาโดยตลอด (อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา)

ที่เราเรียกพุทธภายใต้ระบบมหาเถรสมาคมปัจจุบันนี้ว่า ‘พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ นั้น ก็คือพุทธราชาธิปไตยนี่แหละ ที่ตีความว่ากษัตริย์คือสมมติเทพ เป็นพระโพธิสัตว์ กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าหลวง) มีระบบการปกครองสงฆ์ที่ขึ้นกับอาวุโสทางสมณศักดิ์ที่ถูกสถาปนาโดย ‘พระราชอำนาจ’ และเป็นพุทธพราหมณ์ คือพุทธที่ถือว่าพระสงฆ์มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเหมือนพราหมณ์ มีบทบาทสำคัญในการรักษาพิธีกรรมของราชสำนักและรัฐพิธี ดังนั้น พุทธภายใต้ระบบมหาเถรสมาคมจึงไม่ใช่พุทธในเชิงปรัชญา ความมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ หรือพุทธประชาธิปไตยแต่อย่างใด

พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พุทธราชาธิปไตย+พุทธพราหมณ์) นี่แหละที่ขจัดทำลายความหลากหลายของพุทธศาสนา ดัง ร.6 ลงโทษกักบริเวณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เพราะเทศนาว่าการส่งทหารไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปาณาติบาต และดังที่การรวบอำนาจรวมศูนย์คุกคามครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา เป็นต้น พุทธที่ว่านี้ดูถูกพุทธผีว่างมงาย แต่ตนเองกลับทำพิธีพุทธาภิเษก เจิมป้าย รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นกิจวัตร นอกจากนี้ยังไม่ยินดีกับการตีความคำสอนพุทธในเชิงปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์มากนัก (ผู้ที่สัมผัสระบบการศึกษาของสถาบันสงฆ์คือนักธรรม-บาลี ย่อมรู้ว่าคนที่จบเปรียญ 9 ส่วนมากจะมีทัศนคติแอนตี้การตีความคำสอนพุทธแบบท่านพุทธทาส พวกนี้เน้นการเรียนแบบท่องจำ และเชื่อว่าพุทธบริสุทธิ์คือพุทธตามตัวอักษรในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา)

การตีความพุทธในเชิงวิทยาศาสตร์ของวชิรญาณภิกขุหรือ ร.4 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อคณะสงฆ์กระแสหลักมากนัก ที่มีอิทธิพลคือการรวบอำนาจการปกครองสงฆ์จากทั่วประเทศมาไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำควบคู่ไปกับการรวบอำนาจทางบ้านเมืองในสมัย ร.5 อันเป็นข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์พัฒนาการทางการเมืองของสยามประเทศ ฉะนั้น อิทธิพลของวชิรญาณภิกขุและสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่มีต่อคณะสงฆ์จริงๆ คือการวางระบบการปกครองและการจัดการศึกษาพุทธศาสนาแบบรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งส่งผลให้พุทธราชาธิปไตย+พุทธพราหมณ์ทรงอิทธิพลมากเป็นพิเศษเท่านั้น

ส่วนการตีความพุทธในเชิงวิทยาศาสตร์กลับมีอิทธิพลต่อพระภิกษุที่ขบถต่อระบบอย่างท่านพุทธทาสมากกว่า (ดังที่ท่านพุทธทาสเขียนพุทธประวัติฉบับวิจารณ์ ก็อ้างอิงการตีความที่ ‘เป็นเหตุเป็นผล’ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ) เอาเข้าจริงการตีความพุทธว่าเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผลที่พิสูจน์ได้ซึ่งเป็นเรื่องของการท้าทายทางปัญญาย่อมขัดแย้งกับธรรมชาติของพุทธราชาธิปไตย (ที่สอนเรื่อง ‘สมมติเทพ’ อวยทศพิธราชธรรมแต่ห้ามตรวจสอบ) และพุทธพิธีกรรมแบบพราหมณ์ ฉะนั้น การตีความพุทธว่าเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผลที่พิสูจน์ได้จึงไม่ได้มีอิทธิพลต่อคณะสงฆ์กระแสหลักมากนัก หากแต่ไปกันได้ดีกับพุทธแบบท่านพุทธทาสที่เน้นเสรีภาพในการตีความ การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนา สังคมการเมือง รวมทั้งการก้าวข้าม ‘อคติ’ ระหว่างนิกายเถรวาท มหายาน นิกายอื่นๆ และกระทั่งก้าวข้ามอคติระหว่างศาสนา

จะว่าไปแล้วศาสนาหลักๆ ของโลกล้วนแต่ถูกตีความรับใช้สังคมการเมืองในบริบทของยุคสมัยนั้นๆ ทั้งสิ้น ในยุคกลางมีนักปรัชญาศาสนาจำนวนมากอ้างอิงความคิดทางปรัชญาของอริสโตเติลสนับสนุนการมีอยู่ของพระเจ้า (เช่นโทมัส อไควนัส และ ฯลฯ) มีการตีความแนวคิด (concept) เรื่องพระเจ้าสนับสนุนความชอบธรรมของระบอบเผด็จการกษัตริย์และอำนาจเผด็จการของศาสนจักร แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปแนวคิดเรื่องพระเจ้าก็ถูกตีความสนับสนุนประชาธิปไตย ดังคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นต้นว่า ‘พระเจ้าสร้างมนุษย์มาเท่าเทียมกัน...’ หรือแนวคิดเรื่องสิทธิทางธรรมชาติของจอห์น ล็อก ก็อ้างว่าสิทธิทางธรรมชาติเป็นสิทธิที่พระเจ้าประทานมาพร้อมกับการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น

มองอีกแง่หนึ่ง ศาสนามีทั้งลักษณะที่แข็งทื่อตายตัวและยืดหยุ่น บางทีเราก็รู้สึกได้ว่าศาสนานำพามนุษย์ไปสู่ความสับสนทางความคิด สับสนระหว่างความจริงและความลวง ความมีเหตุผลและความงมงาย เสรีภาพและพันธนาการ สันติภาพและความรุนแรง ฯลฯ แต่สุดท้ายเราก็พบว่าศาสนาถูกตีความเสมอ อยู่ที่ว่าการตีความแบบไหนจะสมเหตุสมผลและมีคุณค่าต่อการส่งเสริมการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ยุติธรรมมากกว่า

ที่น่าประหลาดก็มีเพียงบ้านเราเท่านั้นแหละ ที่ถ้าใครตีความว่าพุทธเป็นประชาธิปไตย หรือเข้ากันได้กับประชาธิปไตยมักจะถูกโวยว่า กำลังดึงศาสนามายุ่งการเมือง ขณะที่การตีความพุทธสนับสนุนราชาธิปไตยมาเป็นพันๆ ปี และปัจจุบันพระสงฆ์ก็ยังเทศนาอวยราชาธิปไตยอยู่ทุกวัน กลับแทบจะไม่มีใครเดือดร้อนว่าพุทธศาสนายุ่งการเมือง

แท้จริงแล้ว การตีความว่าพุทธเป็นปรัชญา มีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การทำให้พุทธศาสนาเป็นของที่ ‘แตะต้องไม่ได้’ แต่เป็นการทำให้พุทธศาสนามาอยู่ในเวทีของเหตุผลที่ถกเถียงโต้แย้งกันได้อย่างเสรี เป็นการดึงพุทธศาสนาออกมาจากอำนาจของ ‘พุทธราชาธิปไตย+พุทธพราหมณ์’ เพื่อมาสัมผัสกับปัญหาในโลกที่เป็นจริง

เราจะกล่าวหาว่าชาวพุทธไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร หากเราปฏิเสธการตีความพุทธสนับสนุนประชาธิปไตย เราจะตัดสินว่าพุทธไม่ยอมรับคุณค่าของความมีเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร หากเรารังเกียจการตีความคำสอนสอนบางเรื่องของพุทธว่าเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์

และเราจะสรุปว่าพุทธไม่มีคำตอบเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานของชีวิตและสังคมการเมืองเช่นเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ศักดิศรีของมนุษย์ได้อย่างไร หากเราปฏิเสธการตีความพุทธในเชิงปรัชญาและความมีเหตุผล แท้จริงแล้วเราควรจะยอมรับมิใช่หรือว่า การตีความพุทธในเชิงปรัชญา ความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย คือลักษณะหนึ่งของความงอกงามแห่งพุทธศาสนาอย่างท้าทายทางปัญญา และอย่างสอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบันและอนาคต

ในทางตรงข้าม โดยที่ไม่จำเป็นต้องปกป้อง พุทธผี พุทธไสยศาสตร์ พุทธปาฎิหาริย์ พุทธแก้กรรม พุทธอ้างอิง ‘สถานะผู้มีญาณวิเศษเหนือมนุษย์’ ทำมาร์เก็ตติ้งเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของบรรดาคนดังของโลก ฯลฯ พุทธพวกนี้ก็ยังทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มข้นในสังคมที่เราใฝ่หาความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ ความเท่าเทียม และความเป็นประชาธิปไตยนี่แล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นฟิตเนสดัง 22 ล้านบาท

Posted: 11 Sep 2012 11:56 PM PDT

ผู้บริโภคบุกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ทวงถามความรับผิดชอบเบื้องต้นมูลค่าความเสียหายเกือบ 22 ล้านบาท หากไม่แก้ไข เอาผิดทั้งแพ่ง-อาญา

วันพุธที่ 12 ก.ย. 2555 เวลา 10.00 น. บริเวณตึกสีลมคอมเพล็กซ์ ลูกค้าแคลิฟอร์เนียว้าวนับร้อย พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บุกยื่นข้อเรียกร้องขอให้แคลิฟอร์เนียว้าว รับผิดชอบต่อผู้บริโภคที่เสียเงินแล้วไม่ได้ใช้บริการ หากไม่แก้ไข พร้อมเดินหน้าแจ้งความกองปราบฯข้อหาฉ้อโกง และฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคให้ชดใช้ค่าเสียหาย 

นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากการเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการฟิตเนส แคลิฟอร์เนียว้าว ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 21-31 ส.ค. 2555 มียอดผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 506 คน ในจำนวนนี้มี 300 คน ที่แจ้งยอดค่าเสียหายรวมทั้งหมด 21,622,776.77 บาท โดยยังไม่ได้ร่วมมูลค่าความเสียหายของผู้บริโภคอีก 200 คน ดังนั้นคิดว่า ความเสียหายทั้งหมดน่าจะมากกว่านี้

สำหรับปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การที่บริษัทปิดให้บริการแล้วไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้ลูกค้าไม่สามารถใช้บริการได้ในสาขาที่เป็นสมาชิกอยู่ หรือต้องเปลี่ยนไปใช้บริการในสาขาที่ไกลจากบ้าน ทำให้ไม่สะดวก รองลงมาคือ มีบางสาขาที่ปิดบริการไปแล้ว ลูกค้าบางคนยังมีทรัพย์สินส่วนตัวอยู่ในล๊อกเกอร์ ไม่สามารถเข้าไปนำออกมาได้ และปัญหาต่อมาก็คือ ลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิตในการชำระ ยังคงไม่สามารถยกเลิกได้ ต้องถูกหักเงินโดยที่ไม่ได้ใช้บริการ" 

นางสาวสวนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 23 ก.ย. 2555 นี้ จะมีการจัดเวทีประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่งยังคงต้องจ่ายเงินต่อเนื่อง โดยไม่ระงับการหักผ่านธนาคารให้ ดังนั้นจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขอให้แจ้งธนาคารต่างๆ ให้ระงับการเก็บค่าฟิตเนสเพื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย 

น.ส.เยาวภา จำรัสสมบูรณ์ ตัวแทนผู้ร้องเรียน กล่าวว่า ตนเองเป็นสมาชิกประเภทตลอดชีพ หลังจากบริษัทปิดทำการได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากสถานที่ที่บริษัทยังเปิดให้บริการ ตนเองไม่สะดวกในการเดินทาง เพราะสาขาที่ใช้บริการประจำอยู่ใกล้บ้าน นอกจากนั้นเมื่อไปลองใช้บริการสถานที่ก็แออัด มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งตนเองได้เคยแจ้งกับทางบริษัทเพื่อขอยกเลิกการเป็นสมาชิก แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และขอยื่นข้อเสนอกับทางบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 ขอให้บริษัทฯ แจ้งกับธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งหมดให้ยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ประการที่ 2 สำหรับสมาชิกที่ยกเลิกสัญญาไปแล้ว และประสงค์จะยกเลิกสัญญา ขอให้ทางบริษัทคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดทุกกรณี เต็มจำนวน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด ซึ่งหากทางบริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆกับผู้เสียหาย สมาชิกทั้งหมดจะยื่นฟ้องเพื่อดำเนินคดีทั้งทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย และทางอาญา ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ถามรัฐบาลใช้งบแก้น้ำท่วมแล้วเกิดประโยชน์สูงสุดอะไรบ้าง

Posted: 11 Sep 2012 11:43 PM PDT

อภิสิทธิ์ตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่สุโขทัย ระบุปีนี้ไม่สูงเท่าปีที่แล้ว ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้เตรียมลงพื้นที่อ่างทอง-อยุธยา พร้อมถามรัฐบาลงบประมาณน้ำท่วมที่ใช้ไปนั้น ก่อประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย (ที่มา: เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์)

 

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวันนี้ (12 ก.ย.) ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยว่า ระดับน้ำท่วมนั้นสูงจริง แต่ยังไม่สูงเท่าปีที่แล้ว ปัญหาขณะนี้คือกำลังพยายามอุดรอยรั่วที่น้ำท่วมทะลักเข้ามาในเมือง ในขณะที่ต้องการทวงถามถึงงบประมาณน้ำท่วมที่รัฐได้ใช้ไปแล้วนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง

“เอาสถานการณ์ก่อนนะครับว่า สถานการณ์นี้ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่วันอาทิตย์เย็น ช่วงค่ำๆ ประเด็นเป็นอย่างนี้นะครับ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ตัวเทศบาลเมืองสุโขทัยจะมีแม่น้ำยมผ่ากลาง แล้วก็ 2 ข้างแม่น้ำก็จะมีเป็นเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำอยู่ เป็นคอนกรีต ระดับน้ำในแม่น้ำยมนั้น ปีนี้ไม่สูงเท่าปีที่แล้ว และยังไม่ได้ล้นออกมา แต่เป็นระดับที่สูงกว่าตัวเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทางด้านตะวันออก ในจุดซึ่งอาจจะบอกว่าเป็นหัวโค้งของแม่น้ำ เนื่องจากน้ำแรงมาก คือระดับน้ำก็ถือว่าสูง แล้วก็ไหลเร็ว แรง ก็มาทำลายสิ่งที่พูดกันก็คือว่า ข้างใต้ตัวเขื่อน ทำให้ทะลุขึ้นมา น้ำก็ทะลุออกมาเข้าสู่ในเมืองแรงมาก

ตรงหัวโค้งของแม่น้ำ ซึ่งความจริง ส.ส. ของพรรคได้อภิปรายเรื่องนี้ในสภาฯ หลายครั้งแล้ว ก็ทำให้น้ำ พูดง่ายๆ ก็คือทะลุ แล้วก็ทะลักเข้ามา แล้วก็เข้ามาแต่มันเหมือนกับมาจากใต้ดิน เพราะมาจากข้างล่าง ตรงนี้ครับ แล้วก็โดยที่ระดับน้ำในแม่น้ำสูงกว่า ฉะนั้นน้ำก็ทะลักเข้าตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้น้ำท่วมอยู่ประมาณอาจจะ 1.30 เมตร 1.50 เมตร ซึ่งมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 3,000 ครัวเรือน ก็ประมาณ 6 – 7,000 คน

ความพยายามของฝ่ายทางการก็คือพยายามที่จะอุดจุดที่รั่ว ที่ทะลักเข้ามา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ การใช้บิ๊กแบค การใช้อะไรพยายามอยู่แต่ว่าน้ำในจุดที่เข้ามานั้นแรงมาก เพราะฉะนั้นเมื่อวานนี้ผมก็ได้เดินทางไป ก็เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แล้วก็ทางมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ก็จัดเรื่องของถุงยังชีพ ที่จะไปช่วยเหลือ รวมทั้ง สส. ในพื้นที่ สส. วิรัตน์ (วิริยะพงษ์) พรรคก็ดำเนินการในการอำนวยความสะดวกเรื่องนี้ แล้วก็กำลังจัดทำเรื่องครัว เรื่องอาหาร

แต่เมื่อวานก็ต้องขอบคุณครับ เราได้เห็นองค์กรเอกชนหลายองค์กรได้ลงไปในพื้นที่แล้ว ทำงานร่วมกับ อบจ. เทศบาล รวมทั้งทางหน่วยงานของรัฐ กองทัพ โรงพยาบาลก็มีไปตั้งหน่วยอะไรกัน แต่ว่า ความพยายามในการที่จะอุดรูรั่วตรงนี้ ผมได้พบกับท่านรองผู้ว่าฯ ท่านก็บอกว่า เนื่องจากมันแรงมาก แล้วก็ที่ผ่านมามันอุดไม่อยู่นั้น ก็อาจจะต้องขยายบริเวณที่จะกั้นน้ำ ที่เข้ามา แล้วก็ใช้วิธีที่จะกั้น แล้วก็ให้ระดับน้ำในบริเวณที่กั้นนั้นสูงขึ้น ใกล้เคียงขึ้นมา หรืออาจจะถึงขั้นเท่ากับแม่น้ำ แล้วก็ต้องใช้วิธีในการที่จะหยุดยั้งตรงนั้น ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา

แต่ก็ทราบว่ารัฐมนตรี ปลอดประสพ ก็ได้ไปดูแล้ว และผมไม่ทราบว่าท่านได้สั่งการแนวทางหรือตัดสินใจอย่างไร แต่ว่าก็เป็นสถานการณ์ที่น่าเห็นใจ แล้วก็อยู่ที่ความสามารถในการที่จะอุดรูรั่วตรงนี้ได้ครับ”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงระดับน้ำด้วยว่าปีก่อนระดับน้ำสูงกว่าปีนี้ “ปีที่แล้วนั้น สูงเลยขึ้นมานะครับ แล้วต้องเสริมขึ้นไปด้วยซ้ำ แต่ปีนี้ก็ยังน้อยกว่า ทีนี้ก็แน่นอนครับ ความห่วงใยของชาวสุโขทัย ก็คือว่า น้ำที่เข้าเมืองตรงนี้ก็ต้องไหลเข้าทุ่งไป ก็จะไปกระทบกับพื้นที่ข้างนอก ขณะเดียวกันนั้น ก็สุโขทัยปีที่แล้วโดนไป 10 รอบ คนในพื้นที่ก็บอกว่า รอบนี้เพิ่งจะรอบที่ 2 สำหรับปีนี้ แล้วก็ปกติมันก็จะมาแรง รอบ 3 รอบ 4 ก็จะแรงขึ้น เพราะฉะนั้นก็วิตกกังวลกันพอสมควรครับ”

“ทีนี้ต้องให้เห็นภาพต่อด้วยนะครับว่า ถัดจากสุโขทัยลงมาขณะนี้ ก็อย่างบางระกำ ก็ทราบว่าเริ่มมีน้ำท่วมใช่มั้ยครับ แล้วก็วันนี้ผมก็จะต้องเดินทางไปที่ โผงเผง บางบาล อ่างทอง อยุธยา เพราะว่าก็ทราบว่า ที่นั่นก็ได้รับผลกระทบแล้วเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นหลายคนก็เลยกังวลนะครับ เพราะว่าจริง ๆ ปีนี้น้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 20% อันนี้รัฐบาลก็ยืนยันตัวเลขนี้ แต่ว่าปรากฎว่าสภาพอย่างนี้ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันก็เลยเกิดคำถามขึ้นว่า ไอ้การเตรียมการ แล้วก็การใช้เงินงบประมาณมหาศาลไปในช่วงปีที่ผ่านมา ทำไมมันถึงยังไม่สามารถที่จะดูแลป้องกันตรงนี้ได้เลย ตรงนี้รัฐบาลคงต้องเร่งไปสำรวจ ตรวจสอบแล้วครับว่าเงินที่ลงไป โครงสร้างพื้นฐานที่ได้มีการปรับปรุงหรือไม่ อย่างไร กับคำตอบที่จะให้กับประชาชน ในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมปีนี้ เพราะว่าหลายคนก็พูดง่าย ๆ ก็ผวาจริง ๆ นะครับ

เมื่อวานนี้ก็คนที่ติดตามผมไป อะไรต่าง ๆ ก็ว่าเอ๊ะ บรรยากาศมันเริ่มเหมือนปีที่แล้วเลย ก็คือ สุโขทัย แล้วก็ไล่ลงมา เดี๋ยวก็ไล่ลงมาที่ภาคกลาง แต่ว่าก็ยังอยากจะให้ผู้ชมสบายใจนะครับว่า ปีนี้น้ำยังน้อยกว่าปีที่แล้วเยอะ แล้วก็มันอยู่ที่การบริหารจัดการนะครับ”

สำหรับกำหนดการที่อภิสิทธิ์ จะเดินทางไปที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และก็ไป อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยานั้น นายอภิสิทธิ์เปิดเผยแนวทางการทำงานว่า “ก็คงจะเตือน ๆ ทุกคนนะครับว่าคงต้องช่วยกันลงพื้นที่ ตอนนี้ก็เรื่องของการจัดถุงยังชีพ อะไรต่าง ๆ ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ก็ดำเนินการแล้วในบางพื้นที่ แล้วก็เรื่องครัว ก็คงจะต้องมาดูครับ ตรงไหนที่มีความจำเป็นก็จะต้องมีการเตรียมการไว้เหมือนกันครับ”

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ได้เชิญชวนผู้ที่ต้องการบริจาคความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สามารถบริจาคได้ที่มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ประโมช

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทยเชื้อสายจีนประท้วงสถานทูตญี่ปุ่นกรณีพิพาทเกาะเตี้ยวหวี

Posted: 11 Sep 2012 10:30 PM PDT

ผู้ชุมนุมที่ถือสัญชาติไทยเชื้อสายจีนชูธงแดงตัวหนังสือจีนสีขาว'还我河山。爱我中华"(หวนอั่วเหอซาน อ้ายอั่วจงหัว) แปลว่า'คืนแผ่นดินของฉัน ฉันรักประเทศจีน) ประท้วงที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นพร้อมเรียกร้องชาวจีนทั่วโลกเรียกร้องทางการโตเกียวคืนเกาะเตี้ยวหวีให้จีน

หนังสือพิมพ์ 亞洲日報 ซึ่งพิมพ์จำหน่ายรายวันในไทย รายงานว่าบ่ายวานนี้ (11 ก.ย.) ชาวไทยเชื้อสายประมาณร้อยคนภายใต้การนำของหอการค้าไทยจีน บ่ายวานนี้ชุมนุมหน้าสถานทูตญี่ปุ่น เรียกร้องทางการโตเกียวคืนเกาะเตี้ยวหวี ‘ที่ปล้นไป’

ผู้ชุมนุมที่ถือสัญชาติไทยเชื้อสายจีนชูธงแดงตัวหนังสือจีนสีขาว'还我河山。爱我中华"(หวนอั่วเหอซาน อ้ายอั่วจงหัว) แปลว่า'คืนแผ่นดินของฉัน ฉันรักประเทศจีน)

ในวันเดียวกัน สมาคมหอการค้าไทยจีนลงโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ออกในไทยหลายฉบับ เรียกร้องให้ชาวจีนทั่วโลกลุกขึ้นมาต่อต้าน 'การกระทำชั่วร้าย' ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ 'ปล้นฮุบ' หมู่เกาะเตี้ยวหวี เพื่อรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของชนชาติจีน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น