โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สวัสดิการที่คุณแม่อยากได้จากที่ทำงาน - คนทำงาน ส.ค.2555

Posted: 09 Sep 2012 10:53 AM PDT


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

'ยิ่งลักษณ์' เข้าชิงรางวัลสันติภาพ "ขงจื๊อ" ของจีน

Posted: 09 Sep 2012 09:57 AM PDT

เช่นเดียวกับอดีตเลขาธิการยูเอ็น 'โคฟี อันนัน' และผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ 'บิล เกตส์' ที่ได้รับการเสนอชื่อปีนี้สำหรับรางวัลที่เทียบกับ 'โนเบลสันติภาพ' ในแบบฉบับประเทศจีน

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 55 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติและบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสันติภาพ "ขงจื๊อ" ของจีนประจำปี 2555 โดยรางวัลดังกล่าว ก่อตั้งโดยศูนย์วิจัยสันติภาพนานาชาติของจีนในปี 2553 เพื่อโต้กลับรางวัลโนเบลสันติภาพ ซึ่งมอบรางวัลให้ หลิว เสียวโป นักเขียนฝ่ายค้านของจีน 

โดยในปีที่แล้ว ผู้ได้รับรางวัลสันติภาพขงจื๊อ คือ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สำหรับบทบาทการทำงานเพื่อส่งเสริมสถานะของประเทศ และการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลรัสเซียในจังหวัดเชชเนีย

ที่มาของรางวัลสันติภาพขงจื๊อ เกิดขึ้นหลังจากที่หลิว เสี่ยวโป นักเขียนและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจีน ผู้ถูกจำคุก 11 ปีในข้อหาเขียนคำประกาศที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในจีน ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพที่มอบโดยรัฐบาลนอร์เวย์เมื่อปี 2553 ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมาก โดยกล่าวหาว่าคณะกรรมการรางวัลสันติภาพเข้าแทรกแซงระบบกฎหมายของจีน และมีเป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาลจีน

ส่วนผู้ได้รับการเสนอชื่อรางวัลสันติภาพขงจื๊อคนอื่นๆ ในปีนี้ ได้แก่ หวาง ดิงกั๋ว นักเคลื่อนไหวทางสังคมของจีน ตาง หยี่เจียน อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หยวน หลงปิง นักวิจัยข้าวของจีน และองค์ปันเชิน ลามะที่ 11 ผู้ซึ่งสืบทอดตำแหน่งจากผู้นำศาสนาชาวทิเบต ดาไล ลามะ อย่างไรก็ตามเขาเองไม่ได้รับการยอมรับจากชาวทิเบตมากนัก เนื่องจากองค์ปันเชิน ลามะที่ 11 ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจีน

ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนรางวัลดังกล่าว ได้แก่ ศาสตราจารย์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยจีน ที่กล่าวว่าตนเป็นอิสระจากรัฐบาลจีน โดยในปี 2553 ผู้ได้รับรางวัลสันติภาพขงจื๊อ คือ เลียน ชาน อดีตรองประธานาธิบดีไต้หวัน สำหรับการมีบทบาทในการ "สร้างสะพานเชื่อมสันติภาพระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และใต้หวัน"

 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

8 ปี 'Munir', ความตายและความท้าทายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในอาเซียน

Posted: 09 Sep 2012 07:22 AM PDT

"You chose to be Human Rights Defender by your choice. When you chose it, be it. It's your country and your duty to defend. Also be sure that you will be attacked. There's fear and risk to be HRDs. People die every day but those die during their struggle will be remembered. If you couldn't confront fear, then leave."

Maina Kiai,
UNSR on the rights to freedom of peaceful assembly and of association 
[1]

“คุณเลือกที่จะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะคุณตัดสินใจที่จะเป็น เมื่อคุณเลือกแล้ว มันคือประเทศของคุณ, คือหน้าที่ของคุณ แน่นอนว่าคุณจะถูกข่มขู่ คุกคาม หรือแม้กระทั่งถูกทำร้าย การเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นมีทั้งความเสี่ยงและความหวาดกลัว มีคนเสียชีวิตทุกวันจากการยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชน, แต่การตายของเขาหรือเธอระหว่างการต่อสู้จะถูกจดจำ ถ้าคุณไม่สามารถเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวเหล่านั้น, อย่าเลือกเส้นทางนี้”

 

คำพูดข้างบนนั้นเป็นของ Maina Kiai ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพในการสมาคม, กล่าวไว้ในงานประชุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเอเชียครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3-5 กันยายน 2555 ที่กรุงเทพฯ หากพูดกันในเชิงหลักการ, ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิตหรือแม้กระทั่งสูญเสียอิสรภาพจากการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริง, นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนแล้วคนเล่าถูกข่มขู่, คุกคาม, ทำร้ายจนบางครั้งถึงแก่ชีวิต เพียงเพราะเขาหรือเธอเหล่านั้นเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

7 กันยายน 2012 เป็นวันครบรอบ 8 ปีแห่งการจากไปของ Munir Said Thalib นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมต่อต้านการทุจริตที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูเนียร์เป็นผู้ก่อตั้ง Kontras องค์กรที่มีพันธกิจส่งเสริมและปกป้องผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย แปดปีที่แล้ว, มูเนียร์ถูกวางยาพิษจนถึงแก่ความตายบนเครื่องบินของสายการบิน Garuda ซึ่งเป็นสายการบินของรัฐบาลอินโดนีเซีย ขณะกำลังเดินทางไปประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อในสาขากฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัย Utrecht ผลการชันสูตรศพบ่งชี้ว่ามูเนียร์น่าจะถูกวางยาด้วยสารหนูขณะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ เพราะมูเนียร์เปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพอินโดนีเซียในติมอร์ตะวันออก, อาเจะห์ และปาปัวตะวันตก รวมถึงการลักพาตัวนักกิจกรรม 13 คนในช่วงปลายทศวรรษที่ 90

หลังการเสียชีวิตของมูเนียร์, Polycarpus  Priyanto นักบินของสายการบินการูดาที่ไม่ได้มีตารางการบินในวันที่ 7 กันยายน 2004 และใช้เอกสารปลอมในการขึ้นเครื่อง ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใส่สารหนูลงในน้ำส้มของมูเนียร์ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ ในปี 2008 ศาลฎีกาตัดสินจำคุก Priyanto 20 ปีในข้อหาฆาตกรรม รวมถึงอดีตสองผู้บริหารของสายการบินการูดา Indra Setiawan และ Rohainil Aini ที่ถูกลงโทษจำคุกคนละหนึ่งปีในข้อหาช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตกรรมมูเนียร์ แต่ภรรยาม่ายและกลุ่มนักรณรงค์เชื่อว่า นายทหารยศพลตรี Muchdi Purwopranjono อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองอินโดนีเซีย (Indonesia’s Intelligence Agency) ในเวลานั้นเป็นคนบงการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ท้าทายอำนาจรัฐอย่างมูเนียร์ เพราะมีหลักฐานการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่าง Priyanto และ Purwoprajonon ก่อนการเสียชีวิตของมูเนียร์ [2] ในปี 2009 มีความพยายามที่จะนำตัว Muchdi เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่มีเหตุผิดปกติหลายประการเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการสืบพยาน เช่น พยานไม่มาปรากฏตัวหรือพยานขอถอนคำให้การในศาล ทำให้สุดท้ายศาลสั่งยกฟ้องในคดีของพลตรี Muchdi Purwopranjono [3]

แปดปีผ่านไป แต่ภรรยาม่ายของมูเนียร์และกลุ่มนักกิจกรรมที่ต้องการเห็นการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมซึ่งมูเนียร์สมควรได้รับ ความยุติธรรม, อาจจะเป็นเพียงคำธรรมดาสามัญแต่ยากที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในสังคมที่มีวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด (Culture of Impunity) อย่างหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไม่เพียงแต่กรณีของมูเนียร์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนแล้วคนเล่าต้องจากไปโดยหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ในประเทศไทย,จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้บงการให้สมชาย นีละไพจิตรสูญหาย ยังไม่มีใครรู้ว่าใครคือผู้บงการปลิดชีวิตเจริญ วัดอักษร สิบปีที่ผ่านมา, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (ส่วนใหญ่เป็นแกนนำในการต่อต้านโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อชุมชน) อย่างน้อย 20 คนถูกสังหาร[4] กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือมือปืนผู้ลั่นไกใส่ทองนาค เสวกจินดา แกนนำกลุ่มต่อต้านการขนส่งถ่านหินที่จังหวัดสมุทรสาครถูกประกาศิตสั่งตายเช่นกัน [5] ทำให้โอกาสที่จะสาวไปถึงตัวผู้บงการใหญ่นั้นริบหรี่เต็มทน  

ในประเทศฟิลิปปินส์ นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายเจ็ดคนถูกสังหารและสามคนถูกบังคับให้สูญหาย (Enforced Disappearance) โดยมีกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้[6] และทั้งสามประเทศนี้คือประเทศที่มีพัฒนาการด้านประชาธิปไตย “ก้าวหน้า” ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทางออกของปัญหาวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดนั้นไม่มีทางอื่น นอกจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการช่วยกันสร้างสังคมที่เคารพในประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สังคมที่จะไม่ลงมือเข่นฆ่าหรือกักขังกันเพียงเพราะผลประโยชน์ขัดแย้งหรือความเห็นแตกต่าง สังคมที่บังคับใช้กฎหมายกับทุกคนและทุกชนชั้น

น่าเศร้าและสิ้นหวังเกินไป, หากเราต้องจัดงานรำลึกและทวงถามความยุติธรรมให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นรายปี, โดยที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้, และสุดท้ายเขาหรือเธอเหล่านั้นก็จะค่อยเลือนหายไปจากความทรงจำของสังคม  

 

หมายเหตุ Thank you two Indonesian UPEACERs from Asia Leaders Programme, University for Peace, Dani for sparking and Dico Luckyharto for information.



[1] จาก Facebook ของคีตนาฏ วรรณบวร, Protection officer องค์กร Protection International องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศซึ่งทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

NGOs หลากประเด็นรวมตัว ค้าน 3 บิ๊กเศรษฐกิจดันแก้กฎหมาย

Posted: 09 Sep 2012 07:11 AM PDT

ค้าน 3 สมาคมเอกชนเร่งรัดรัฐบาลแก้กฎหมาย 37 ฉบับ ชี้เนื้อหาที่เอกชนขอแก้ ทำร้ายประชาชน เสนอส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดูแล และมีภาคประชาสังคมร่วมด้วย 

9 ก.ย.55 สืบเนื่องจากข่าวที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สมาคม (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย เตรียมจะเสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 12 กันยายนนี้ ให้แก้กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ รวม 37 ฉบับ โดยอ้างว่า ล้าหลัง และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากกฎหมายที่ภาคเอกชนต้องการแก้ 37 ฉบับนั้น มีบางฉบับที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเห็นด้วย เช่น พ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ควรต้องนำกฎหมายภาคประชาชนมาร่วมพิจารณา แต่ไม่เห็นด้วยในการเสนอขอแก้ไขในหลายฉบับ เช่น  พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย  2551,  พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม  2535 ฯลฯ จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรอ.ที่ให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนนักวิชาการนักกฎหมาย แต่ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง หรือมิเช่นนั้นก็ควรส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มี ศ.คณิต ณ นคร เป็นประธานไปดำเนินการที่มีการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ พ.ร.บ. พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ตามที่ กรอ.เสนอ ดังนี้

ข้อ 1.1 เรื่องการกำหนดภาระการพิสูจน์ให้ต่างจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ในขณะนี้ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของกฎหมาย PL คือ การแก้ไขปัญหาในการพิสูจน์ของฝ่ายผู้เสียหายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นไม่ปลอดภัยอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ออกมา โดยที่สินค้าในปัจจุบันไม่ว่าจะผลิตภายในประเทศหรือนำเข้า มีกระบวนการผลิตที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้นเป็นลำดับ การที่ผู้บริโภคจะตรวจพบว่าสินค้าไม่ปลอดภัยกระทำได้ยาก

ข้อ 1.2 ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อยกเว้นความรับผิด เพราะ หากเพิ่มเป็นข้อยกเว้น เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้าประเภทนี้ ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากข้อยกเว้น หากผู้เสียหายกล่าวอ้างว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐานผู้เสียหายต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ตนได้ใช้นั้นผลิตไม่ได้มาตรฐาน (ตามที่บังคับ)

ข้อ 1.3 สิทธิเรียกร้องความเสียหายจากกฎหมายหลายฉบับ หากผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ด้วยกฎหมายหลายฉบับ ให้ผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิตามกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเพียงฉบับเดียว อ่านโดยข้อความแล้วไม่เข้าใจว่า จะให้ผู้เสียหายเลือกหรืออย่างไร เพราะในปัจจุบัน มาตรา 3 ก็ให้ใช้กฎหมายที่คุ้มครองมากกว่าเป็นฐานในการเรียกร้อง

ข้อ 1.5 ความรับผิดระหว่างผู้ประกอบการ ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน  เว้นแต่ตามพฤติการณ์ศาลจะพิจารณาเป็นอย่างอื่น ประเด็นนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอเปลี่ยนหลักการในกฎหมายปัจจุบันซึ่งให้รับผิดร่วมกันต่อผู้เสียหาย ตามมาตรา 5 ที่เหมาะสมแล้ว

ข้อ 1.6 ไม่เห็นด้วยกับ คำจำกัดความสินค้าที่ไม่ปลอดภัย แก้ไขคำคำจำกัดความ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ให้มีความหมายถึงเฉพาะสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพราะเหตุบกพร่องจากการผลิต การออกแบบ หรือคำเตือนเท่านั้น เพราะความหมายเดิมครอบคลุมดีแล้วจะคุ้มครองผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก  พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เสนอให้ไปใช้  พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าแทนนั้น เพราะสินค้าและบริการที่เป้นการผูกขาด กลไกการแข่งขันไม่เกิด ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องมี  พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และต้องแก้ไข  พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าเพื่อให้แข่งขันได้จริง

ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ไม่เห็นด้วยกับการที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอให้ยกเลิกธรรมนูญสุขภาพที่ไม่ให้ภาครัฐสนับสนุนภาษีหรือสิทธิพิเศษการลงทุนกับธุรกิจการแพทย์ “นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นทั้งประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเป็นประธานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ ซึ่งสาระของธรรมนูญสุขภาพ ไม่ได้ไปกล่าวโทษภาคธุรกิจที่ทำมาหากิน แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปสนับสนุนธุรกิจทางการแพทย์โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนซึ่งควรต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และในประเทศที่เน้นหลักประกันสุขภาพของประชาชน เช่นที่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์กำลังดำเนินการอยู่ ต่างต้องควบคุมการทำธุรกิจการแพทย์ทั้งสิ้น เพราะจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประชาชน”

ขณะที่นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยมูลนิธิบูรณนิเวศ ระบุว่า ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ ว่า มีความเห็นต่างกับข้อเสนอ  กกร. เรื่องการแก้ไข  พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2535 ในเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้เอกชนสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ

เหตุผลคือ 1) การพิจารณาอีไอเอเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงรายงได้เป็นขั้นตอนอยู่แล้ว หากว่ารายงานไม่ผ่านความเห็นชอบนั่นหมายถึงว่า โครงการนั้นๆ ย่อมมีปัญหารุนแรงหรือมีความไม่เหมาะสมที่จะให้ดำเนินการจริงๆ หรืออาจจะก่อความเสียหายอย่างมากได้

2) การแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งเป็นการเฉพาะใน  พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 ตามข้อเสนอดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะกลุ่มของภาคธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมในมิติต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะความยั่งยืนและคุณภาพที่ดีของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวลด้อม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การแข่งขันทางการค้าทียั่งยืนในระยะยาวของประเทศไทยในตลาดโลกแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ในสหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศก็มีมาตรการส่งเสริมเรื่องความผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิภาพของเอกชนมากขึ้น

3)  พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 ควรมีการแก้ไขทั้งฉบับ เนื่องจาก  พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันไม่ครอบคลุมปัญหาและความเสียหายอีกหลายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น

· กรณีการจัดทำอีไอเอควรมีการแก้ไขให้ครอบคลุมไปถึงการศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่ ไม่ใช่รายโครงการ,  และอีไอเอควรมีผลต่อการอนุมัติการก่อสร้างโครงการและการยกเลิกการก่อสร้างโครงการ

· การแก้ไขในประเด็นกองทุนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย

· การเพิ่มโทษสำหรับผู้ก่อมลพิษทางแพ่งและทางอาญา เป็นต้น

ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้าน ร่าง  พ.ร.บ. มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ. และร่างพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง... แต่เห็นว่า ร่าง  พ.ร.บ. นี้มีประโยชน์ต่อสาธารณะ หากจะมีการปรับปรุงก็ควรเปิดโอกาสให้สาธารณะและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ให้ความเห็นกับร่าง พรบ. ฉบับนี้อย่างกว้างขวาง

ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การปนเปื้อนมลพิษในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน  แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรมีการตรากฎหมายย่อยที่ควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่โรงงาน รวมถึงการกำหนดมาตรการฟื้นฟู เยียวยาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และการเพิ่มโทษรุนแรงขึ้นกับผู้ก่อมลพิษ

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?

Posted: 09 Sep 2012 03:31 AM PDT

เสวนากลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน มองขบวนการนศ. ยังฟุบแต่ไม่ถึงทางตัน ต้องใช้เวลาค่อยๆ ฟื้นเพื่อร่วมกับยุคสมัยของขบวนการประชาชน ในขณะที่ "สนนท." ถูกมองว่าไม่ได้เป็นองค์กรนำในกลุ่มนศ. อีกต่อไป

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 55 กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอิสระในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อ “หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?” โดยมีวิทยากรประกอบด้วยเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ปี 2518 ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2535 อติเทพ ใชยสิทธิ์ กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2553 และหนึ่งฤดี นวนสาย สมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP)

ดิน บัวแดง หนึ่งในผู้จัดงานครั้งนี้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานว่า ต้องการจะเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา และฟังประสบการณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องในสมัยนั้น เพื่อเป็นบทเรียนและประโยชน์ให้กับกลุ่มนักศึกษาในปัจจุบัน ทั้งในแง่มุมวิชาการและประวัติศาสตร์

เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ มองว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในยุคสมัยนี้ ประชาชนมีความรับรู้และตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าสมัยก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นสมัย  14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 มาจนถึงพฤษภา 35 โดยเฉพาะขบวนการเสื้อแดงที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเพื่อคัดค้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้า ซึ่งต่างจากคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งที่เห็นชอบกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงสะท้อนให้เห็นว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีเพิ่มสูงขึ้นจากสมัยก่อนอย่างเห็นได้ชัด และเช่นเดียวกับเยาวชนลูกหลานของคนเสื้อแดง ก็ย่อมที่จะได้รับรู้ความเป็นไปทางการเมืองไม่ต่างกับพ่อแม่ของตนเอง 

เกรียงกมล กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้นำนักศึกษาในรุ่นนี้ที่จะทำให้เยาวชนออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและสภาพสังคมที่บีบรัด ทั้งยังแนะด้วยว่า ควรจะถอดบทเรียนจากขบวนการนักศึกษาจากในอดีตถึงข้อผิดพลาดและประสบการณ์

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ตั้งคำถามกับการมองขบวนการนักศึกษาเป็นภาพใหญ่ โดยกล่าวว่า ถ้าจะมองว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นขบวนการใหญ่ที่สามารถชี้นำสังคมได้ อาจจะเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด เพราะการเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ทั้งนั้น

เขาได้เล่าถึงการทำกิจกรรมในรุ่นตนเองสมัยทศวรรษ 2520-2530 ว่า เป็นช่วงที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหลังป่าแตก และสังคมนิยม ตอนแรกตนคิดว่าการเข้าไปทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครจัดตั้ง แต่เมื่อได้เริ่มสืบค้นมากขึ้น ก็จะเห็นถึงเบื้องหลังของอิทธิพลทางความคิดในการทำกิจกรรม โดยตอนที่ตนเป็นนักเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ตอนม.สี่ ราวปี 2522 ก็มีรุ่นพี่มาพูดคุยเรื่องการเมือง ตั้งคำถามถึงเรื่องความเชื่อเดิมๆ ในสังคม จะมีการทำงานที่เป็นแกนปิดลับ มีการจัดอบรมค่ายเยาวชน ร้อยเครือข่ายเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ราว 30 โรงเรียน จัดเป็นนิทรรศการเรื่องสันติภาพ  ว่าด้วยเรื่องสงครามเย็นและเรื่องการเมืองสังคม กิจกรรมนี้เอง ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายของ “เด็กขบถ” ที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสืบสาวไปมากขึ้นก็พบว่าสายธารความคิดนี้ มาจากนศ.สมัยสิบสี่ตุลา ซึ่งยังยึดถือแนวความคิดแบบสังคมนิยมอยู่ และเป็นช่วงที่แนวความคิดเรื่องประชาสังคมยังไม่เกิดขึ้นมา โดยต่อมาเมื่อเยาวชนเหล่านี้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็กระจายเข้าไปทำงานในองค์การสโมสรนิสิตนักศึกษาในที่ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นขบวนการนักศึกษาขึ้นมา สนนท. จึงเริ่มเกิดขึ้นในปี 2527 

ต่อมาเมื่อองค์กรภาคประชาสังคม ชนชั้นกลางเติบโตมากขึ้น  ในช่วงนี้ สนนท.มีการทำงานกับสโมสรนักศึกษาและกลุ่มนศ.ต่างๆ มากขึ้น แต่สมาชิกก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง เพราะสภาพเศรษฐกิจทางการเมืองที่เปลี่ยนไป สนนท. จึงทำงานแบบโดดเดี่ยวมากขึ้น เมื่อรัฐประหารเมื่อปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ สนนท. ร่วมกับกลุ่มกับองค์กรอื่นๆ ในภาคประชาสังคม ก็ได้ออกมาประท้วงต้านรปห. ในช่วงแรก นักศึกษาที่ออกมามีอยู่ 6-7 คน และมีบางส่วนถูกจับ ตนคิดว่าจะมีนศ. ออกมาเข้าร่วมกับขบวนการมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงสนนท. ก็เริ่มโดดเดี่ยวตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว 

ในช่วงนั้น กลุ่มนศ.สมัย 14 ตุลาได้เริ่มเข้ามาช่วยกำหนดยุทธศาสตร์และทำกิจกรรมต่างๆ ขบวนการนศ. จึงถูกชูเป็นภาพนำ  เพราะตอนนั้นองค์กรภาคประชาสังคมยังไม่เด่นมากนัก ทั้งนี้ เขามองว่า ในสมัย 2535 ไม่สามารถเคลมได้ว่านศ.เป็นผู้นำ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในสมาพันธ์ประชาธิปไตย  ที่เป็นเครือข่ายการต่อต้านรปห. และไม่ได้คิดว่านักศึกษาเป็นขบวนการตั้งแต่ตอนนั้นอีกแล้ว เพราะภาคประชาสังคมเติบโตมากขึ้น เขาไม่ต้องการนศ.ให้เป็นภาพมากเท่าเดิมแล้ว นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมหลังปี 2535 เป็นต้นมา นศ. ไม่มีความจำเป็นต่อขบวนการเคลื่อนไหวมากเท่าเดิมอีกต่อไป เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาสังคมสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

ชูวัสกล่าวว่า ปี 2535 เป็นรอยแยกครั้งสำคัญของสายความคิด โดยช่วงนั้นเกิดแนวความคิดที่หมดศรัทธาในประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง เชื่อว่าคำตอบในหมู่บ้าน ชูประเด็นเรื่องคุณธรรม ทำให้ขบวนการนศ./ ประชาชนแยกออกไปสายหนึ่ง มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่าง “นักเลือกตั้ง” “การเมืองแบบนี้ไม่ใช่คำตอบ” กลายเป็นเรื่องการเมืองแบบคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง การต้านทุนนิยม หรือการต้านโลกาภิวัตน์ ในขณะที่นศ. อีกสายหนึ่งก็รู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์จากทุนนิยมและยังมีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่า อิทธิพลของนศ.รุ่นใหม่ๆ จึงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การเมืองแบบคุณธรรมง่ายเท่ากับนศ. สมัย พ.ค. 35 

“หัวใจของขบวนการนศ. คือ แรงบันดาลใจ และแรงใฝ่ฝัน ถ้าคุณไม่มีตรงนี้ จะไปไหนไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า” ชูวัสกล่าว

อติเทพ ไชยสิทธิ์ กรรมการบริหาร สนนท. ปี 2553 ตั้งคำถามว่า ในสมัยนี้ นศ. มีภาระน้อยลง มีเวลาว่างทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ทำไมนศ. จึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการทางการเมืองน้อยลง นอกจากนี้ มองว่า ข้อเสนอที่บอกว่า นศ. เป็นพลังบริสุทธิ์ เป็นคำธิบายที่ไร้เดียงสาเกินไป เพราะเป็นคำอธิบายที่มาจากวรรณกรรม โดยส่วนตัวไม่คิดว่านศ. เป็นพลังบริสุทธิ์ เพราะนศ.ก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง เพียงแต่ผลประโยชน์เชิงสาธารณะของตนเองอาจจะแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ แต่ต้องดูว่า สิ่งที่ผลักดันให้คนออกมาเรียกร้องต่อสู้คืออะไร 

เมื่อไปตามงานการเมืองต่างๆ ตนมักจะถูกถามว่า นศ. หายไปไหนหมด ในขณะที่ภาพขบวนการนักศึกษาสมัย 14 ตุลายังถูกมองว่าต้องเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหว ต่อเรื่องดังกล่าว ตนมองว่า ผลประโยชน์ของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ไม่สามารถตอบเขาได้ว่ามีประโยชน์และเสียประโยชน์ได้อย่างไร คือนักศึกษาทุกคนก็มองว่า ตนเองแสดงพลังอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ออกมาแสดงพลังรวมกันเรียกร้อง เช่น การทำค่ายอาสา การทำแล็บวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมอื่นๆ โจทย์คือว่า ต้องทำให้เขารู้สึกว่านักศึกษาทั่วไปสูญเสียผลประโยชน์ร่วมกับเรา จึงจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันได้อีก 

นอกจากนี้ ต้องถามว่า สนนท. เป็นตัวแทนของอะไรในปัจจุบัน อาจจะบอกได้ว่า เป็นองค์กรตัวแทนของนศ.ที่สนใจการเมืองเท่านั้น ที่มีการจัดสมัชชาประจำปี มีภาระหน้าที่ที่กำหนดตามธรรมนูญ ไม่ได้เป็นตัวแทนของนศ. ประเทศไทยทั้งหมด ที่อยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนอยู่เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ที่เคยมีมา และคนทำงานก็ต้องเข้าใจตนเองถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และ มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับไปเป็นสถานการณ์สมัยประวัติศาสตร์ได้อีกครั้ง เพราะในอดีต การที่นศ. ออกมาแสดงพลัง เป็นเพราะกลุ่มภาคส่วนอื่นๆ มันไม่มีพื้นที่และถูกปิดกั้น ในขณะที่นศ. สามารถออกมาได้ เพราะมีพื้นที่และโอกาสมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

อติเทพ มองอุปสรรคของสนนท.ในปัจจุบันว่า ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่และเทอะทะคล้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์ และความหลากหลายของกลุ่มสมาชิกที่ลดลง ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวมากเท่าที่ควรจะเป็น และการนำก็มักจะอยู่ที่กลุ่มนศ. ของม. รามและสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น 

อติเทพมีข้อเสนอตอนท้ายว่า สนนท. ไม่ควรคิดว่าตนเองเป็นองค์กรนำได้แล้ว แต่อาจจะเปลี่ยนชื่อและปรับโครงสร้าง เพื่อให้ร่วมเคลิ่อนไหวกับกลุ่มต่างๆ เป็นประเด็นเฉพาะและให้ทันสถานการณ์ วิธีนี้อาจจะทำให้องค์กรใหม่ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่เข้มข้นมากขึ้น 

หนึ่งฤดี นวนสาย กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัว คือการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 พ่อแม่ของตนโทรศัพท์มาให้กลับไปเลือกตั้งที่ต่างจังหวัดด้วยความกระตือรือล้น แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านตื่นตัวมากกว่านศ. ส่วนใหญ่ของประเทศเสียอีก ในขณะที่ในสมัยก่อน นศ. มีบทบาทชี้นำชาวบ้านเรื่องประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ ชาวบ้านกลับเป็นฝ่ายที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และตื่นตัวมากกว่านศ. ในปัจจุบัน ในฐานะที่เธอได้เข้าร่วมในสมัชชาสนนท. ปีล่าสุด หนึ่งฤดีระบุว่า สนนท. ควรปรับบทบาท คิดถึงบทบาทของตนเอง เพื่อให้องค์กรและกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ มาเข้าร่วมสนับสนุนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ตั้งคำถามว่า สนนท. อาจจะไม่จำเป็นต่อขบวนการนักศึกษาอีกต่อไปแล้วก็ได้ 

ช่วงแลกเปลี่ยน

จรัล ดิษฐาพิชัย อดีตแกนนำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา - 6 ตุลา อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแกนนำนปช. เล่าถึงประสบการณ์สมัยที่ตนเองเป็นนักกิจกรรมนศ.ว่า ในช่วงก่อน 14 ตุลา ช่วงพ.ศ. 2507-2511 กว่าขบวนการนักศึกษาจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลาสร้างอยู่หลายปี ในเวลานั้นพวกนักศึกษากิจกรรมก็น้อยมาก ธรรมศาสตร์มีประมาณ 90 คน น้อยที่สุดก็เกษตร 7-8 คน จุฬาฯ มีประมาณ 30 กว่าคน ที่พยายามเคลื่อนไหวและพยายามให้เกิดเป็นขบวนการ 14 ตุลา

ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารปี 34 โดยคณะรสช. ก็มีนศ.ไม่กี่คนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการรปห. มีการจับกลุ่มคุยในร้านกาแฟเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ ก็มีการประชุมกันโดยกลุ่มนักศึกษา มีนักศึกษารามเป็นผู้นำ ตอนนั้นก็มีดร.โคทม อารียา ประชุมกันเรื่องการต่อต้านรปห. ตอนนั้นยังมีนักศึกษาน้อยอยู่ และเมื่อ 19 พ.ย. 34 ก็มีการจัดการชุมนุมกันใหญ่มาก ตอนนั้นนศ. มากันไม่ถึงร้อย แต่ประชาชนมากันเป็นหมื่น นศ. เริ่มเข้ามาชุมนุมกันมากจริงๆ ก็มืเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 35 ที่ถนนอู่ทอง หน้ารัฐสภา และต่อมามาราชดำเนิน สนามหลวง ไม่ใช่ว่านศ. จะออกมาร่วมตั้งแต่ต้น 

ต่อมาเมื่อ 24 ก.ย. 49 ก็มีการชุมนุมอภิปรายกันเรื่องต่อต้านรปห. ที่จุฬาฯ และก็มีการชุมนุมของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารที่บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน นำโดยหนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) มีการอภิปราย ตนได้รับเชิญให้มาพูดปราศรัย โดยคนที่มาฟังส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชน แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ขบวนการนศ.อยู่ดีๆ จะใหญ่ขึ้นมาเลย แต่แม้ว่าขบวนการนศ.ไทยจะฟุบมานาน ขบวนการนศ.ไม่มีทางตัน มันจะไปเรื่อยๆ ของมัน

จรัญกล่าวว่า เมื่อตอนที่ตนอยู่ที่ฝรั่งเศส ประชาชนฝรั่งเศสก็พูดเหมือนตอนนี้ว่าทำไมนศ.ไม่ค่อยออกมา แต่วันดีคืนดีเกิดเรื่องขึ้นมา มีการต่อต้าน นศ.ก็ออกมากันเยอะมาก ที่ประเทศชิลีนศ.ก็ออกมา แต่แน่นอนว่าหากเปรียบกับทั่วโลกขบวนการนักศึกษาก็ฟุบมานานแล้ว เป็น 20 กว่าปีแล้ว เพราะยุคนี้เป็นยุคของประชาชน นศ.เคยมีบทบาทมากตั้งแต่ศตวรรษ 16-20 ตอนกลาง หลังจากนั้นมา ขบวนการนศ. ทั่วโลกก็ยังมีบทบาท แต่ลดลง อย่าไปคาดหวังว่าจะไปเหมือนสมัย 1960-1970  แต่ตนเชื่อว่า ขบวนการนศ.ไทยอีกไม่กี่ปีจะเกิดมากขึ้น เพราะในฐานะตนเองที่เป็นแกนนำขบวนการเสื้อแดง ยังพยายามดึงกลุ่มขบวนอีกสามกลุ่มที่ยังขาดอยู่ คือ นักศึกษา กรรมกร และชาวนา

ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกคณะนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (ที่มาข้อความจากเฟซบุ๊ก) 

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับอติเทพ 

ผมเห็นว่า ยุคสมัยนี้ นักศึกษาไม่ได้เป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยแล้ว และถ้าเป็นไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้มันเป็น เพราะ ถ้าเราติดกรอบ "นักศึกษา" นั่นหมายความว่า อายุการใช้งานมันสั้นมาก เพียง ๔ ถึง ๕ ปี 

ในหลายประเทศ ขบวนนักศึกษา เขาเรียกร้องกันแต่เรื่องตัวเอง เช่น ขึ้นค่าเทอม เสรีภาพการแสดงออก มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 

อันนี้ อาจเป็นลักษณะของ กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ของต่างประเทศ ที่แตกต่างจากเรา คือ กลายเป็นกลุ่มแบบปัจเจก ตั้งขึ้นเพื่อรักษาประโยชน์ของกลุ่ม และต่อรองเจรจา กลุ่มของนักศึกษา ก็ไม่ต่างอะไร กับสหภาพแรงงานครู สหภาพแรงงานรถไฟ สมาคมกรีนพีซ สหภาพผู้พิพากษา สหภาพตำรวจ คือ ตั้งเพื่อรักษาประโยชน์ตนเอง เข้าร่วมเจรจาต่อรองในการหาฉันทามติต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองภาพใหญ่ 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในต่างประเทศ อุดมการณ์ ระบอบเสรีประชาธิปไตยฝังลึกไปแล้ว 

สภาพการณ์ปัจจุบัน หากมองแบบความเป็นจริง ขออนุญาตพูดตรงไปตรงมา กิจกรรมนักศึกษาเป็นเพียง "ห้องทดลอง" ให้ฝึกทำกิจกรรม พอฝึกทดลองเสร็จ ประมาณปี ๔ ก็เริ่มถอยออก เพราะต้องเตรียมเรียนต่อ ต้องเตรียมหางานทำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบ แล้วเรียนจบ ก็จะหายไป เว้นเสียแต่ว่าคนที่มุ่งประกอบอาชีพนักกิจกรรม เอนจีโอ 

ผมเห็นว่า กิจกรรมนักศึกษา น่าจะเปลี่ยนรูปให้รับกับสถานการณ์ใน ๒ รูปแบบ 

หนึ่ง เน้นเรื่องประโยชน์ของนักศึกษา เช่น ขึ้นค่าเทอม, สวัสดิการนักศึกษา ฯลฯ 

สอง เน้นการทำงานทางความคิดอย่างจริงจัง จับกลุ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง อ่านหนังสือ แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้อวมีแกนใหญ่ จับกลุ่มกันเองเล็กๆตามหัวข้อที่สนใจคล้ายๆกัน (อ่านจริงจังนะครับ ไม่ใช่ตั้งวงเหล้า แล้วคุยๆๆ ตื่นเช้าลืม) เผื่อเตรียมการสำหรับวันหน้าที่ใกล้จะมาถึงแล้ว

รูปแบบของนักศึกษา ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องการเมืองใหญ่โตเลย ใครชอบ ใครสนใจก็ทำ แต่ว่าไม่จำเป็นต้อง "ถวิลหา" บทบาทของนักศึกษาในทางการเมือง

การทำกิจกรรมแบบที่ผมเสนอนั้น ถ้าสถานการณ์การเมืองสุกงอมเต็มที่ ขบวนการนักศึกษาก็จะถูกรวมเข้าไปเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาพใหญ่โดยตัวมันเอง

 

ที่มาภาพ: พระอินทร์/PITV

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น