ประชาไท | Prachatai3.info |
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- ‘คนดี’ ตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมกับความรับผิดชอบต่อ ‘รัฐประหาร’
- คาร์บอมบ์ขวางทางแก้ด้วยสันติวิธี ศูนย์ทนายความมุสลิมแถลงเหตุสายบุรี
- ศาลตุรกีตัดสินให้ทหาร 330 คนมีความผิดฐานพยายามก่อรัฐประหาร
- ศาลอาญาระหว่างประเทศกับกรณีราชประสงค์และกรณีการปราบปรามยาเสพติด: Long Way to Go
- รัฐบาล : ใช้น้ำท่วมสร้างแบรนด์ดีมั๊ย แต่ต้อง....
- คุมแกนนำเครือข่ายคดีความมั่นคง
- “บุญยอด” ชง กมธ. สภาสอบ 3 กรณี
- 31 ต.ค. นัดพิพากษา ‘สุรภักดิ์’ โปรแกรมเมอร์โดนข้อหาหมิ่นฯ
Posted: 22 Sep 2012 06:12 AM PDT "ผมกับคุณสุเทพยืนยันกับพี่น้องอีกครั้งครับ จะโทษติดคุก หรือโทษประหาร ถ้าพวกผมผิดจริง ผมยอมรับที่จะรับโทษนั้น ถ้าพวกผมผิดจริง เอาพวกผมไปลงโทษ จะอย่างไรก็ไม่ต้องมาต่อรองเรื่องนิรโทษกรรม เพราะคนผิดต้องรับผิด บ้านเมืองจึงจะอยู่ได้ เราถึงจะเดินไปข้างหน้ากันได้ และความปรองดองจึงจะเกิดขึ้น" ปราศรัยที่ จ.ลพบุรี, 22 ก.ย. 55 |
‘คนดี’ ตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมกับความรับผิดชอบต่อ ‘รัฐประหาร’ Posted: 22 Sep 2012 05:30 AM PDT "คนดีก็มีที่ยืนเยอะ คนไม่ดีก็ยังมีที่ยืนอยู่ หน้าที่ของเราก็คือสร้างคนดี เบียดคนไม่ดีให้ไม่มีที่ยืน ในชาติบ้านเมืองของเรา" นี่คือ "วรรคทอง" ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวให้โอวาทในพิธีมอบทุน "มูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์" เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า "..สาเหตุที่กระผมต้องนำเรื่องนี้มาพูด เนื่องจากต้องการให้ผู้ที่เป็นแบบอย่างแก่เยาวชนของชาติ ได้ตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างคนดี หากเราที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยกันพยายามสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ บังเกิดความเข้าใจคุณธรรมจริยธรรมอย่างถ่องแท้ ชาติบ้านเมืองของเราจะไม่มีคนโกง..." (คม ชัด ลึก 16 ก.ย.55) แม้จะเป็นไปได้ว่าผู้พูดมีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง (ไม่มีวาระทางการเมืองแอบแฝง?) แต่ในทางข้อเท็จจริงและเหตุผล เราก็ควรตั้งคำถามกับ "วาทกรรมสร้างคนดี-ขจัดคนเลว" อย่างยิ่งว่า ในที่สุดแล้วมันเป็นวาทกรรมที่สร้างปัญหา หรือแก้ปัญหาของระบบสังคมการเมืองตามที่เป็นอยู่กันแน่ ประการแรก พลเอกเปรมถูกยกย่องว่าเป็น "เสาหลักทางจริยธรรม" ของชาติ แต่ "จริยธรรมของชาติ" ตามนิยามของเขาเป็นจริยธรรมตาม "อุดมการณ์ราชาชาตินิยม" ที่ถือว่า "ความดี/การเป็นคนดี หมายถึงการซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ชาติตามนิยามนี้ คือภาวะนามธรรมบางอย่างที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ (ดังที่พลเอกเปรมมักพูดเสมอๆ ว่า "ชาติบ้านเมืองเป็นของศักดิ์สิทธิ์") ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นั้นอิงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่เหนือการตรวจสอบ ไม่ใช่ชาติตามนิยามของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ถือว่า "ชาติคือประชาชน" ที่มาร่วมกันทำข้อตกลงแบ่งปันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กติกาที่สร้างขึ้นบน "หลักความยุติธรรม" ที่ถือว่าทุกคนมีเสรีภาพและมีความเป็นคนเท่ากัน ฉะนั้น "จริยธรรมของชาติ" ตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมจึงเรียกร้อง "ความจงรักภักดี" ต่อชนชั้นปกครองที่อยู่เหนือการตรวจสอบ ซึ่งตรงกันข้ามกับจริยธรรมของชาติตาม "อุดมการณ์ประชาธิปไตย" ที่เรียกร้อง "การตรวจสอบ" บุคคลที่มีบทบาทสาธารณะทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค จริยธรรมแห่งสังคมประชาธิปไตยจึงหมายถึงการมีจิตสำนึกและความกล้าหาญในการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเป็นจริยธรรมที่ "เสาหลักทางจริยธรรม" ของประเทศนี้ไม่เคยพูดถึงเลย ประการที่สอง ฉะนั้นเมื่อพลเอกเปรมพูดถึง "ความซื่อสัตย์ ไม่โกง" เขาจึงเน้นไปที่ความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ใช่ซื่อสัตย์ต่อ "อำนาจของประชาชน" และ "คนโกง" ก็มักจะหมายเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เครือข่ายอำมาตย์ที่เป็นคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานจริยธรรมที่ยึดอุดมการณ์ราชาชาตินิยม เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีการตั้งคำถามว่า พลเอกเปรมและบรรดาเครือข่ายอำมาตย์ที่เป็นคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานดังกล่าวซื่อสัตย์ต่อประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามทหารเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ผู้นำกองทัพกลับให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อมวลชนอย่างเป็นปกติ เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามองคมนตรีเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ประธานองคมนตรีกลับสนับสนุนให้องคมนตรีมาเป็นนายกฯ ของคณะรัฐประหาร 19 กันยา 49 (สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด) และกล่าวสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นนายกฯ ของรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร (ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ) เหล่านี้เป็นต้น ล้วนแสดงให้เห็น ปัญหา "ความไม่ซื่อสัตย์" ต่อ "รัฐธรรมนูญ" และ "ประชาธิปไตย" จริงอยู่ การที่นักการเมืองโกงงบประมาณแผ่นดินหรือโกงอะไรต่างๆ นั้น ก็เป็นการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรมทางการเมือง ผิดหลักการประชาธิปไตย และผิดกฎหมาย แต่การกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวนี้ก็เหมือนกับการทำผิดกฎหมายในกรณีอื่นๆ เช่น ทำผิดกฎจราจร ปล้นทรัพย์ ฆ่าคน ฯลฯ ซึ่งด้องแก้ไขด้วยการเอาผิดทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องที่บรรดาคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานอุดมการณ์ราชาชาตินิยมจะถืออภิสิทธิ์เข้ามาทำรัฐประหารเพื่อปราบคนโกง เพราะ 1) ประชาชนไม่ได้มีฉันทามติให้ทำเช่นนั้น 2) รัฐประหารเป็นการปล้นอำนาจประชาชน เป็นความไม่ซื่อสัตย์ คดโกงฉ้อฉลอำนาจ สิทธิ เสรีภาพของประชาชน เท่ากับอกตัญญูต่อชาติคือ "ประชาชน" และ 3) ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าบรรดาคนดีมีคุณธรรมที่รวมหัวกันทำรัฐประหารจะไม่โกง เพราะตรวจสอบไม่ได้ ประการสุดท้าย เมื่อมาตรฐานจริยธรรมแห่งชาติตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมขัดแย้งกับมาตรฐานจริยธรรมประชาธิปไตยใน "ระดับรากฐาน" จึงทำให้บรรดาคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานดังกล่าวอ้างคุณธรรมความดีละเมิดหลักการประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญห้ามยุ่งการเมือง ก็แสดงความเห็นทางการเมือง สนับสนุนฝ่ายการเมืองอย่างเปิดเผย (และไม่เปิดเผย?) กระทั่งทำรัฐประหารในนามของการอ้าง "คุณธรรมความดี" เพื่อชาติบ้านเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้ "ที่ยืน" ของ "บรรดาคนดี" อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยเสมอ เช่น - ที่ยืนในตำแหน่งนายกฯ แห่งคณะรัฐประหาร 19 กันยา และบนเขายายเที่ยง (ตามวาทะว่า "สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด") - ที่ยืนในตำแหน่งนายกฯ อำมาตย์อุ้ม และบนกองศพประชาชน (ตามวาทะว่า "ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ") ฯลฯ แน่นอนว่า ความเสียหายของชาติบ้านเมืองส่วนหนึ่งเกิดจากนักการเมืองโกงงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะต้องถูกตรวจสอบ และถูกดำเนินการตามกฎหมายด้วยกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ แล้วบรรดาคนดีมีคุณธรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ ปล้นอำนาจของประชาชน ทำรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่าล่ะ จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างไร? สังคมควรยอมรับการอ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมเพื่ออยู่เหนือ/ละเมิดรัฐธรรมนูญ และฉีกรัฐธรรม ล้มประชาธิปไตยซ้ำซากเช่นนี้ ตลอดไปหรือ? ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คาร์บอมบ์ขวางทางแก้ด้วยสันติวิธี ศูนย์ทนายความมุสลิมแถลงเหตุสายบุรี Posted: 22 Sep 2012 05:14 AM PDT
ศูนย์ทนายความมุสลิมแถลงเหตุคาร์บอมบ์สายบุรี เป็นอุปสรรคขวางทางแก้ด้วยสันติวิธี กอ.รมน.ชี้เป็นการตอบโต้เหตุ 93 ผู้เห็นต่างกับเข้าแสดงตัวกับรัฐ เปิดรายชื่อคนเจ็บ-ตาย เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2555 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมออกแถลงการณ์ต่อกรณีการก่อความไม่สงบในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยเรียกร้องให้มีการแสวงหาทางออกร่วมกันของรัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อยุติวงจรแห่งความรุนแรงด้วยแนวทางสันติวิธี แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 มีเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงร้านทองในย่านตลาด ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จากนั้นได้กดชนวนระเบิดที่บรรจุในรถยนต์ ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินเสียหาย เหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น หวาดกลัวในความปลอดภัยที่จะดำรงชีวิตอย่างปกติ และจากเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุอีกว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อทุกครอบครัวของผู้สูญเสีย และผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและทางจิตใจจากเหตุการณ์นี้และทุกเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา และขอเรียกร้องให้ผู้ก่อเหตุได้หยุดคิดพิจารณาถึงผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ที่นำมาสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและร่างกาย ตลอดถึงทรัพย์สิน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องให้รัฐแสวงหาทางออกโดยการสร้างกระบวนการในการเปิดพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่คำนึงถึงหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด "มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยึดหลักการปฏิบัติตามหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอแสดงถึงจุดยืนที่ชัดแจ้งต่อการไม่เห็นด้วยในการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา โดยไม่เลือกว่าจะเกิดความสูญเสียต่อบุคคลใด หรือกลุ่มใด ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ เพียงเพื่อต้องการให้บรรลุเป้าหมายที่ผู้ก่อเหตุต้องการ" แถลงการณ์ระบุ ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 21 กันยายน 2555 ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.แถลงข่าวชี้แจ้งหลังเหตุกราดยิงและระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อช่วงเที่ยงวันเดียวกัน พ.อ.ปราโมทย์ แถลงว่า จากการประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ว่า หลังจากที่แกนนำกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 93 ราย ได้เข้าเจรจาสันติกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงเพื่อประกาศจุดยืนที่จะเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ เพื่อพี่น้องประชาชนอย่างสันติ ซึ่งทางการได้เปิดโอกาสและช่องทางให้ผู้ที่มีความเห็นต่างมาร่วมสร้างแนวทาง และทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ทางเลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิมได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นผู้ที่มีความคิดที่ไม่เป็นไปตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม จึงทำให้กลุ่มคนร้ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาก่อเหตุตอบโต้ พ.อ.ปราโมทย์ แถลงอีกว่า นอกจากนี้ เชื่อว่ากลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุครั้งนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่ก่อเหตุประกบยิงทหาร ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เสียชีวิต 4 นาย และก่อเหตุลอบวางระเบิดในรถยนต์ดักสังหารตำรวจ สภ.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา เสียชีวิต 5 นาย โดยภายหลัง จ้าหน้าที่ออกหมายจับไปแล้ว 11 คน และสามารถจับกุมคนร้ายดังกล่าวได้แล้ว 5 ราย ซึ่งเชื่อว่า ทำให้คนร้ายกลุ่มเดียวกันก่อเหตุเพื่อตอบโต้การทำงานของเจ้าหน้าที่ พ.ต.อ.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รักษาการผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด(ผบก.ภ.จว.)ปัตตานี เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบรถกระบะที่คนร้ายประกอบระเบิดแสวงเครื่องนำมาก่อเหตุ ปรากฏว่า เป็นรถยนต์กระบะยี่ห้อเชฟโรเลต สีดำ ติดป้ายทะเบียนปลอม โดยมีการดัดแปลงป้ายทะเบียน 2 ด้านกลับกัน คือ บต 5993 ปัตตานี และ บต 5383 ยะลา เป็นรถที่คนร้ายได้ปล้นฆ่าแม่ค้ารับซื้อน้ำยางพาราในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ทำให้แม่ค้าเสียชีวิต 3 ศพ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา สำหรับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว พบว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย โดยเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) 1 ราย และชาวบ้าน 5 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บ รวมทั้งหมด 51 ราย เป็นชาวบ้านในพื้นที่ 39 ราย ตำรวจ สภ.สายบุรี 12 นาย ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 5 นาย แรงระเบิดทำให้เกิดเพลิงไหมร้านค้าเสียหาย 4 คูหา โดยเฉพาะบริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด สาขาสายบุรี ซึ่งเสียหายอย่างหนัก รถยนต์ของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้รับความเสียหายอีกหลายคัน รายชื่อผู้เสียชีวิต 1.นายวิชัย สกลธวุฒิ เป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนประจำอำเภอสายบุรี 2.นายวรุฒ สุนทร อายุ 21 ปี ชาว ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นเจ้าของร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ 3.นางอรียา สมัน อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 174/1 ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 4.นายไพศาล จันททรัพย์ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 129-131 ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 5.นางประทิน แก้งทอง อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 ม.5 ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 6.นางเสวภา ประศาสน์ศิลป์ รายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ 12 นาย 1.พ.ต.ท.พัฒนพงษ์ ทองด้วน รอง ผกก.3 สภ.สายบุรี 2.จ.ส.ต.มูหะมะ กาเดร์ อายุ 38 ปี 3.ส.ต.อ.ชาคริต ราชมณี 4.ส.ต.ท.ไซบิ ฮะมิงมะ 5.ส.ต.อ.ฮัซซาน สูเด็น อายุ 34 ปี 6.ร.ต.อ.อับดุลฮามิ บือราเฮง สวป.สภ.สายบุรี 7.ส.ต.ต.นิรี ด้วงชู 8.ส.ต.ท.อดิภัทร วาสนาทิพย์ อายุ 23 ปี 9.จ.ส.ต.แวอามิน แวและ อายุ 38 ปี 10.ส.ต.อ.ชัชวาลย์ พาคะ อายุ 35 ปี 11.ส.ต.อ.สุชาติ ราชมณี 12.พ.ต.อ.อาซิส อุมายี ผกก.สภ.สายบุรี ได้รับบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิดเฉียดที่บริเวณศีรษะเล็กน้อย รายชื่อชาวบ้านที่บาดเจ็บ ได้แก่ 1.นายสันติ แก้ววิไล อายุ 44 ปี 2.นายอับดุลเลาะ การี อายุ 47 ปี 3.นางเสาวลักษณ์ สมัน อายุ 23 ปี 4.นางเสวภา สรรพช้าง อายุ 52 ปี 5.นายซอพปรี สหพฤทธานนท์ อายุ 36 ปี 6.นางนิตยา แก้วอินทร์ อายุ 51 ปี 7.นายธีระศักดิ์ พรหมเชียรรัตน์ อายุ 47 ปี 8.นายฉัตรอรุณ จีรสิทธิ์ อายุ 55 ปี 9.นางสายใจ พรหมเชียรรัตน์ อายุ 51 ปี 10.ร.ต.ต.กิจติ แสงหทัย อายุ 72 ปี 11.น.ส.อัญชรา มะดือเระ อายุ 35 ปี 12.นางนันทพร เสรีกุล อายุ 51 ปี 13.น.ส.อาซียะ มาซู อายุ 16 ปี 14.นางลิ้ม ประศาสน์ศิลป์ อายุ 79 ปี 15.ด.ช.นพกร ชูพันธ์ อายุ 3 ปี 16.นางเกสร อโนทัยสถาพร อายุ 45 ปี 17.นายกำธร อโนทัยสถาพร อายุ 48 ปี 18.นายนิรันดร์ ศรีทอง อายุ 43 ปี 19.ด.ช.ภูริ อโนทัยสถาพร อายุ 3 ปี 20.ส.ต.ท.สุชาติ จุลราช อายุ 35 ปี 21.นายโยฮัน สาดออุมา อายุ 29 ปี 22.น.ส.สุมาลี ยีสมาน อายุ 49 ปี 23.นายวสันท์ แก้ววิไล อายุ 25 ปี 24.นางฟูซียะ อาลี อายุ 38 ปี 25.น.ส.นูรไอนี มามะ อายุ 17 ปี 26.นายสะบะ สะแลแม อายุ 69 ปี 27.ด.ญ.อัลฟาเดียร์ มะเกะรอ อายุ 15 เดือน 28.นายมะแอ เส็ง อายุ 63 ปี 29.นายอานุวา มิง อายุ 26 ปี 30.นางรอนะ อาบู อาบู อายุ 55 ปี 31.ด.ช.อามินทร์ เยะแล อายุ 12 ปี 32.นายดอเลาะ เวาะเล็ง อายุ 45 ปี 33.นายธรรมนูญ พรหมเชียรรัตน์ อายุ 56 ปี 34.นายมุขตารี สาแมแน็ง อายุ 18 ปี 35.นายอับดุลฟาริค การี 36.นางนฤษร อโณทัยสถาพร 37.นายนิมิต แก้วอินทร์ 38.นางทัศนีย์ เสรีกุล 39.นายสืบพงษ์ อโณทัยสถาพร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลตุรกีตัดสินให้ทหาร 330 คนมีความผิดฐานพยายามก่อรัฐประหาร Posted: 22 Sep 2012 05:07 AM PDT
ศาลของตุรกีได้ตัดสินให้เจ้าหน้าที่ทหารมีความผิดและลงโทษจำคุก 15-20 ปี โดยการตัดสินล่าสุดนี้เป็นการแสดงอำนาจของรัฐบาลพลเรือนในตุรกี ที่ก่อนหน้านี้กองทัพเคยควบคุมอำนาจและทำรัฐประหารบ่อยครั้ง เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน ของอังกฤษรายงานว่าศาลของตุรกีได้ตัดสินให้เจ้าหน้าที่ทหาร 330 นาย มีความผิดฐานพยายามก่อการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเทยิพ เออโดแกน ก่อนหน้านี้ศาลตุรกีได้ตัดสินให้อดีตแม่ทัพสามนายต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งต่อมาได้รับการลดหย่อนให้เหลือจำคุก 20 ปี เนื่องจากแผนการรัฐประหารไม่สำเร็จ และตัดสินให้แม่ทัพในตำแหน่งอีกสองรายกับอดีตแม่ทัพอีกหนึ่งรายจำคุก 18 ปี ยังมีจำเลยอีก 324 นายที่รอจากตัดสินโทษหลังพบว่ามีความผิดจากข้อหามีส่วนร่วมในแผนการรัฐประหาร ผู้ฟ้องร้องต้องการให้จำเลยทั้ง 365 คนถูกตัดสินจำคุก 15-20 ปี ก่อนหน้านี้ศาลได้ประกาศให้เจ้าหน้าที่ 34 นายพ้นโทษจากคดี เดอะ การ์เดียน รายงานว่ากรณีเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงการที่รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นสถาบันที่ควบคุมอำนาจไว้ทุกส่วนในตุรกี แผนรัฐประการมาในแผนการสมคบคิดชื่อ "แผนค้อนยักษ์" ที่มีการวางแผนระเบิดมัสยิดประวัติศาสตร์ในอิสตันบูลและสร้างเหตุความขัดแย้งกับกรีกเพื่อให้กองทัพหาหนทางขึ้นมาสู่อำนาจได้ เดอะ การ์เดียน กล่าวว่า แต่เดิมแล้วกองทัพตุรกีเป็นผู้ที่มีอำนาจนำในทางการเมือง พวกเขาก่อรัฐประหาร 3 ครั้งภายในช่วงปี 1960-1980 และขับให้รัฐบาลของฝ่ายอิสลามที่ขึ้นครองอำนาจเป็นครั้งแรกออกจากตำแหน่งไปในปี 1997 เดอะ การ์เดียน กล่าวในรายงานข่าวอีกว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเออโดแกนที่เข้าสู่ตำแหน่งเมื่อราว 10 ปีที่แล้วเป็นต้นมา อำนาจของฝ่ายกองทัพก็ถูกควบคุมมากขึ้น และการตัดสินคดีในครั้งนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นความเข้มแข็งของรัฐบาลที่เปิดเผยตัวเองออกมาจากเงามืด ที่มา: Turkish court finds 330 military staff guilty of attempted coup, The Guardian, 21-09-2012 http://www.guardian.co.uk/world/2012/sep/21/turkish-court-military-guilty-coup ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลอาญาระหว่างประเทศกับกรณีราชประสงค์และกรณีการปราบปรามยาเสพติด: Long Way to Go Posted: 22 Sep 2012 05:01 AM PDT
บทนำ จากความพยายามของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยื่นหนังสือ (หรือจดหมาย) ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) เพื่อต้องการให้มีการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์และกรณีที่นายกษิต ภิรมย์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นหนังสือ (หรือจดหมาย) ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อให้มีการดำเนินคดีอาญาต่อพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต่อกรณีนโยบายปราบปรามยาเสพติด อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้สังคมไทยได้ให้ความสนใจต่อศาลอาญาระหว่างประเทศมาก ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ในตั้งข้อสังเกตบางประการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจบางแง่มุมของศาลอาญาระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้ 1.ทั้งสองกรณีเป็นเพียงการยื่นจดหมายหรือหนังสือถึงศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อต้องการให้มีการนำบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลอาญาระหว่างประเทศเท่านั้นเอง การยื่นจดหมายไม่ถือว่าเป็นการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ อำนาจฟ้องเป็นของอัยการและรัฐนั้นต้องเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย หรือไม่ก็ได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามข้อที่ 12 (3) ซึ่งกรณีของประเทศไทยยังมิได้มีการดำเนินการทั้งให้สัตยาบันหรือทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด 2.สำหรับกรณีที่ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศมีหนังสือตอบกลับมายังคุณกษิต ภิรมย์ นั้นหากพิจารณาจากถ้อยคำแล้วเป็นเพียงจดหมายที่มีลักษณะเป็นการตอบเชิงการทูตเท่านั้น จดหมายของท่านประธานมิได้เป็นการตอบรับว่ากระบวนการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มต้นแล้ว ซึ่งหากสรุปเนื้อความของจดหมายแล้วก็อาจสรุปได้ว่าเป็นอำนาจของอัยการของ ICC ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆแล้วจึงจะใช้ดุลพินิจว่าจะมีการสืบสวนสอบสวนหรือดำเนินคดีอาญาต่อไปอย่างไรก็ตาม ประธาน ICC ท่านนี้ก็ได้เชิญชวนให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศในอนาคตอันใกล้ด้วย[1] 3. ทั้งกรณีราชประสงค์และกรณีนโยบายปรามปราบยาเสพติดในตอนนี้ศาลอาญาระหว่างประเทศยังไม่มีเขตอำนาจในการรับคำฟ้องไว้พิจารณาแต่ประการใด เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ยื่นคำประกาศฝ่ายเดียว (Unilateral Declaration) ยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามมาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันแต่อย่างใดด้วย ยิ่งกว่านั้นการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมนั้นก็ไม่มีผลทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจแต่อย่างใดเพราะการให้สัตยาบันนั้นไม่มีผลย้อนหลัง (non-retroactive) 4. สมมติว่าประเทศไทยทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อที่ 12 (3) ก็ไม่ได้หมายความว่ากลไกการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศจะเริ่มต้นทันที ยังต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายอีกหลายขั้นตอน เช่น การริเริ่มส่งเรื่องให้อัยการ การกลั่นกรองของ Pre-Trial Chamber การพิจารณาประเด็นเรื่อง "หลักการเสริมเขตอำนาจศาล" (Complementarity) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง การส่งเรื่องให้อัยการสอบสวนที่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า " Referral" คำๆนี้มีความหมายเฉพาะตัวและมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าอัยการจะเริ่มทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนได้เมื่อใด หลายคนเข้าใจว่า เมื่อรัฐได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมหรือทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามมาตรา 12 (3) แล้ว อัยการจะมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนแล้วส่งคำฟ้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาได้เลย ตรงกันข้าม แม้รัฐจะให้สัตยาบันหรือทำคำประกาศดังกล่าวก็หามีผลให้อัยการสามารถสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้ทันทีไม่ แต่จะต้องผ่านอีกขั้นตอนหนึ่งเสียก่อนขั้นตอนนี้เรียกว่า "การริเริ่มส่งเรื่องให้อัยการ" หรือ deferral สำหรับประชาชนทั่วไปอาจสงสัยว่าในเมื่อให้สัตยาบันเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมหรือสำหรับรัฐที่มิได้เป็นภาคีแต่ได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลแล้วทำไมอัยการจึงไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนและสั่งฟ้องต่อศาลได้เลย ทำไมต้องมาผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า deferral ให้ยุ่งยากอีก ปัญหานี้เป็นปัญหาเทคนิคประชาชนคนธรรมดาคงไม่สนใจเเต่เพื่อความเข้าใจผู้เขียนขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพจะได้เข้าใจง่ายขึ้น เวลาที่เราทำบัตรเครดิตกับธนาคาร เมื่อเราสมัครสมาชิกกรอกข้อมูลอะไรเรียบร้อยและธนาคารได้ส่งบัตรเครดิตมาให้เราพร้อมกับเจ้าของบัตรได้เซ็นชื่อหลังบัตรแล้วนั้น เราก็ไม่สามารถใช้บัตรเครดิตนั้นได้จนกว่าเราจะขอเปิดใช้บัตรเครดิตเสียก่อนที่เรียกว่า activate หากเจ้าของบัตรไม่ทำการขอเปิดบัตรเครดิตแล้ว บัตรเครดิตนั้นก็มาสามารถชำระราคาหรือทำธุรกรรมได้ การที่เรา "สมัครและรับบัตรเครดิต" แล้วนั้นเปรียบได้กับได้ให้ "สัตยาบรรณหรือทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อที่ 12 (3)" และ "การขอเปิดบัตรเครดิตหรือ activate" นั้นเปรียบได้กับ "การริเริ่มส่งเรื่องให้อัยการหรือที่เรียกว่า deferral" นั่นเอง ซึ่งนักกฎหมายระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องกระบวนวิธีพิจารณาของ ICC อย่าง Hector Olasolo[2] ก็เรียก deferral ว่า "activate request" ตามธรรมนูญกรุงโรมกำหนดว่าผู้ที่มีอำนาจในการทำ deferral นี้ได้แก่ รัฐภาคี คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (โดยกระทำภายใต้หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น) และอัยการเอง โดยสำหรับอัยการนั้นก็มีเงื่อนไขกำหนดอีกว่าอัยการจะสืบสวนสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อได้รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านและได้รับอนุญาตจาก Pre –Trial Chamber ของศาลอาญาระหว่างประเทศ เสียก่อน จะเห็นได้ว่า แม้ประทศไทยจะทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามข้อ 12 (3) ก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าอัยการจะสามารถสืบสวนสอบสวนและส่งคำฟ้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาได้ทันทีแต่จะต้องมีการทำ deferral เป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ปัญหามิได้จบเพียงแค่นี้ มีปัญหาต่อไปว่า ธรรมนูญกรุงโรมกำหนดให้เฉพาะรัฐภาคีเท่านั้นที่ทำ deferral ได้แต่ประเทศไทยหากทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลแล้ว ใครจะทำ deferral ประเด็นนี้มีอยู่สองแนว แนวแรกเห็นว่า รัฐที่มิได้เป็นภาคีที่ทำคำประกาศก็สามารถทำ deferralได้[3] ส่วนอีกความเห็นหนึ่งเห็นว่า กรณีนี้รัฐที่ทำคำประกาศจะต้องรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมให้แก่อัยการและจากนั้นเป็นอำนาจของอัยการที่จะพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงและจะต้องได้รับอนุญาตจาก Pre-Trial Chamber ก่อน อัยการจึงจะทำการสืบสวนสอบต่อไปได้[4] 5. ผู้เขียนเคยกล่าวถึงหลักเรื่อง "การเสริมเขตอำนาจศาล" ไปบ้างแล้วจะขอขยายความอีกครั้งหนึ่งเพราะว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญยิ่งและเป็นคุณลักษณะพิเศษของศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลหลักที่ทำหน้าที่พิจารณาดีความผิดอาญาระหว่างประเทศที่มีลักษณะร้ายแรงอย่าง การทำลายร้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม การรุกรานและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในทางตรงกันข้าม ศาลหลักที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีเหล่านี้คือศาลภายในของแต่ละรัฐ เงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะพิจารณาคดีได้ก็ต่อเมื่อรัฐภาคี "ไม่สามารถที่จะดำเนินคดี" (unable to prosecute) กับผู้นั้นได้ เช่น อาจเกิดจากการที่รัฐนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับฐานความผิดดังกล่าว กรณีของ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่มีความผิดเหล่านี้ ดังนั้น จึงไม่อาจดำเนินคดีอาญาตามฐานความผิดดังกล่าวได้ สำหรับเงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่จะฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ก็คือเป็นกรณีที่รัฐภาคี "ไม่เต็มใจที่จะให้มีการดำเนินคดีอาญา" (Unwilling to prosecute) กับผู้นั้นได้เช่น ผู้ถูกกล่าวหาอาจเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่จะสามารถเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมภายในได้ก็อาจให้ศาลอาญาระหว่างประเทศทำหน้าที่พิจารณาคดีแทน เงื่อนไขทั้งสองประการนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเพราะจะเป็นด่านแรกๆที่คอยกลั่นกรองคำฟ้อง เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ต้องมีเงื่อนไขข้อนี้ก็คือไม่ต้องการให้มีการเสนอคำฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างพร่ำเพรื่อมิฉะนั้นแล้วจะมีคำฟ้องทะลักเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมากจน over lode เหตุผลอีกประการหนึ่งที่มีหลักเรื่อง Complementality ก็คือต้องการให้ศาลภายในของรัฐมีบทบาทในการดำเนินคดีอาญาร้ายแรงด้วย[5] ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงมิใช่ศาลที่เข้ามาทดแทนหรือเข้ามาแทนที่ศาลภายในของรัฐแต่อย่างใด เฉพาะกรณี "ไม่เต็มใจที่จะให้มีการดำเนินคดีอาญาหรือไม่สามารถที่จะดำเนินคดี" เท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงจะพิจารณาคดี 7. สำหรับประเด็นที่ว่าการยื่นคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อที่ 12 (3) นั้นเข้าข่ายมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ที่จะต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนหรือไม่นั้นเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เป็นประเด็นถกเถียงกันมากนักผู้เขียนจึงขอละเว้นที่จะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ก่อน บทส่งท้าย การดำเนินคดีอาญาภายใต้กระบวนการยุติธรรมของศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นเรื่องสลับซับซ้อนพอควร ต้องผ่านเรื่องทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามข้อที่ 12 (3) ต้องผ่านการถกเถียงว่าเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่ ต้องผ่านเรื่อง deferral และ Complementarity รวมทั้งต้องผ่านการสืบสวนสอบสวนในชั้นของอัยการและ Pre-Trial Chamber ดังที่กล่าวมาข้างต้น ฉะนั้น หนทางยังอีกยาวไกลกว่าที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ทั้งกรณีของราชประสงค์และกรณีนโยบายปราบปรามยาเสพติด อย่างไรก็ตาม หากมีเจตจำนงที่แน่วแน่แล้วหนทางที่ยาวไกลนั้นก็ไม่อาจเป็นอุปสรรคกีดกั้นก็เป็นได้
[1] ประเทศไทยได้ลงนาม (sign) ในธรรมนูญกรุงโรมแต่ไม่มีผลให้ประเทศไทยเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ข้อที่ 18 บัญญัติว่า รัฐที่ลงนามสนธิสัญญามีพันธกรณีที่จะไม่ทำให้วัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของสนธิสัญญาเสียหาย (Article 18 :Obligation not to defeat the object and purpose of a treaty prior to its entry into force ) A State is obliged to refrain from acts which would defeat the object and purpose of a treaty when: (a) it has signed the treaty…….) [2] Hector Olasolo เป็นผู้แทนของประเทศสเปนที่เข้าร่วมประชุมร่างธรรมนูญกรุงโรมและยังเคยทำงานฝ่ายกฎหมายของ ICC ด้วย [3] โปรดดู M. Cherif Bassiouni, The Legislative History of the International Criminal Court: Analysis and Integrated Text, (USA: Transnational Publishers, Inc,2005),p.132 [4] โปรดดู Hector Olasolo, The Triggering Procedure of the International Criminal Court, (the Netherlands: Martinus Nijhoff Publishers,2005),p.142 [5] โปรดดูอารัมภบทของธรรมนูญกรุงโรมก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รัฐบาล : ใช้น้ำท่วมสร้างแบรนด์ดีมั๊ย แต่ต้อง.... Posted: 22 Sep 2012 04:12 AM PDT
ภาพน้ำท่วมปีนี้เริ่มปรากฎให้เห็นบ้างแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะหลายๆจังหวัดภาคเหนือ ส่งผลกระทบประชาชนเดือดร้อนอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลก็เร่งเดินหน้าแก้ไขเต็มสูบโดยไม่ชักช้า ส่วนหนึ่งเพราะมีบทเรียนจากเหตุการณ์ปีที่แล้ว อีกส่วนเพราะต้องการสะท้อนถึงความพร้อม ความสามารถบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ภาคเอกชน นักลงทุน ฯลฯ เห็นผลเมื่อ จ.สุโขทัย น้ำลดสู่ปกติใน 2 วัน (ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้) แต่ก็มิอาจนิ่งนอนใจ เพราะขึ้นชื่อว่า ภัยธรรมชาติ เป็นอะไรที่ยากจะควบคุมป้องกัน ถึงป้องกันได้ ก็ไม่เบ็ดเสร็จ ได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนต้องรอตั้งรับ แก้ไขเป็นเรื่องๆเฉพาะหน้าไป ที่น่ายินดี ก็คือ ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีนี้รุกเร็ว ลงพื้นที่สุโขทัยด้วยตนเอง มองในมุมประชาสัมพันธ์(PR) ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถือว่า รัฐบาลได้(คะแนน) สามารถ"เอาอยู่" แต่ก็ต้องไปดูในจุดท่วมอื่นๆด้วย หากแก้ไขได้ผลเร็วเช่นนี้ ย่อมสะท้อนถึงภาวะผู้นำ หลังจากที่ปีที่แล้ว โดนไปอ่วมเหมือนกัน ในฐานที่สนใจPR ก็มีมุมมองที่อยากนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่าน หรือผู้สนใจ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเห็นด้วย เห็นต่าง หรือเห็นแย้งผู้เขียน เพื่อเป็นแง่คิดหลากหลายให้สังคม โดยมองว่า เมื่อปีนี้มีแนวโน้มที่ดี "เอาอยู่" หากจะนำเรื่องน้ำท่วม มาใช้เป็นแบรนด์(Brand)รัฐบาล จะดีหรือไม่ ประการใด รัฐบาลทำอะไรบ้างในน้ำท่วมปีนี้ สร้างงานโครงการอะไรบ้างที่เป็นการเตรียมความพร้อม หยิบตรงนั้นมาทั้งหมด แล้วสื่อสารสังคม ชูที่เด่นๆออกมาให้เห็น ชูแล้วย้ำ ชูแล้วย้ำต่อเนื่องผ่านสื่อ อาจเป็นรูปแบบ สปอตทีวี หรืออื่นๆ มิเพียงสร้าง แต่ช่วงชิงการรับรู้จดจำที่ดี สังคมรับรู้จดจำภาพปีที่แล้วไม่ค่อยดีเท่าไร สร้างแบรนด์ใหม่ให้รับรู้จดจำภาพปีนี้แทน แต่รัฐบาลต้อง "เอาอยู่" ให้ได้ตลอดฤดูฝนปีนี้ หากทำได้ ก็เป็นโอกาสทางการประชาสัมพันธ์ ทำอย่างไรให้น้ำท่วม เป็นแบรนด์เชิงบวก แล้วสื่อสารสังคม ย้ำภาพอนาคตน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องน่ากลัวจนเกินเหตุ แต่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งโฆษกรัฐบาลและทีมงานประชาสัมพันธ์รัฐบาล จะช่วยนายกรัฐมนตรีได้ ผู้เขียนยังมองว่า ถ้ารัฐบาลเล่นเรื่องแบรนด์(บ้าง) น่าจะดี กลวิธีการบริหารใด ถ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน วันนี้ถึงเวลาระดมใช้ทุกทาง การสร้างแบรนด์ เป็นกลวิธีหนึ่ง จากแบรนด์น้ำท่วม สู่แบรนด์การบริหารด้านอื่นๆต่อไป เชื่อว่ารัฐบาล มีสิ่งที่อยากจะชูให้สังคมเห็นภาพที่โดดเด่น และยอมรับ ไม่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายสิ่ง โดดเด่นเท่าใด ยิ่งสะท้อนภาวะผู้นำเท่านั้น เป็นโอกาสและความท้าทายไม่น้อย มองภารกิจรัฐบาลที่มีมากมายหลายด้าน งานหลายหน้า เยอะแยะไปหมด ทั้งงานนโยบาย งานที่ต้องเน้นทำเชิงรุก การแก้ไขปัญหา งานเร่งด่วนเฉพาะหน้า งานประจำ ฯลฯ หลายด้านหรือไม่หลายด้าน ดูจากจำนวนกระทรวงก็เหนื่อยแล้ว 20 กระทรวงก็ 20 ด้าน(ดูจากชื่อกระทรวง) แต่ละกระทรวง แยกไปกี่ด้าน ดูจากจำนวนกรม ไหนจะรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเทียบเท่ากรมอีก ดูกันหลวมๆ ก็เข้าไป 200-300 ด้าน(ดูจากชื่อกรม ชื่อรัฐวิสาหกิจ ชื่อหน่วยงานเทียบเท่ากรม) หรือกว่านั้น นี่ดูมิติหน่วยงาน ดูมิติอื่นด้วยจะขนาดไหน ะให้ประชาชนรับรู้และจดจำ 200-300 ด้าน ภาพคงเบลอ ดูง่ายๆ 200-300 ด้านนี้ ไปสู่ประชาชน เดี๋ยวกรมนั้น กรมนี้เข้าไป กระทรวงนั้น กระทรวงนี้ลงไป สัมผัสโดยตรงยังจำไม่ได้ใครเข้าไปพื้นที่ตำบลหมู่บ้านบ้าง ถ้าเช่นนั้น เลือกให้ประชาชนรับรู้และจดจำที่เด่นๆ จะดีมั๊ย ส่วนจะให้ภาพรัฐบาลเด่นอะไร เน้นอะไร จะชูด้านใด ขึ้นกับผู้นำรัฐบาล มีคำถามชวนคิด : เลือกหยิบ 1-2 ด้านทำให้โดดเด่น แรงๆไปเลย ให้ประชาชนทั่วประเทศโฟกัสผลงานตรงกัน จะดีหรือไม่ ประการใด สร้าง "แบรนด์" แล้วตีปี๊บพีอาร์แบรนด์นั้นออกไปสู่สังคม สาธารณะเป็นระยะๆต่อเนื่อง อาจไตรมาสละแบรนด์ยังได้ ไตรมาสต่อมา เลือกหยิบอีก 1-2 ด้านขึ้นมาชู และไตรมาสต่อๆไปก็เช่นกัน ยุคใหม่นี้เป็นไปได้หมด ถ้าจำเป็น เป็นแบรนด์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น "แบรนด์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" "แบรนด์สร้างสุข สลายทุกข์" "แบรนด์เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นต้น ได้ "แบรนด์รัฐบาล" แล้ว ถ้าเห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม อาจมอบนโยบายให้แต่ละกระทรวงไปสร้าง " แบรนด์กระทรวง" ก็เป็นไปได้อีก กระทรวงมหาดไทย จะชูอะไรเป็นแบรนด์ในปี 2 ของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นอะไร พาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม จะให้ประชาชนโฟกัสอะไร รวมถึงกระทรวงอื่นๆ ก็เช่นกัน มิเพียงหวังผลประชาชนจดจำได้ แต่ยังเป็นเข็มทิศนำทาง เพื่อการทำงานอย่างมีพลังและเป้าหมาย ตรงทิศทางเพียงใด ขึ้นกับแบรนด์ที่ชู เปรียบการทำงาน เหมือนการวิ่งแข่ง รัฐบาลกระทรวงเป็นนักวิ่ง ลู่วิ่งเป็นแบรนด์ เส้นชัยเป็นเป้าหมาย ประชาชนผู้ชมรอบสนาม จะโฟกัส ชื่นชมคนวิ่งถึงเส้นชัยเป็นคนแรก เป็นใคร มาจากไหน เก่งอย่างไร ดังนั้น วิ่งตามแบรนด์ที่ชู ซึ่งมาจากรัฐบาลกระทรวงเลือกแล้ว เพื่อไปถึงเส้นชัยหรือเป้าหมายก่อนใคร ลดหลั่นลงมาอันดับ 2 อันดับ 3 ยังมีคนกล่าวถึงบ้าง เข้าเส้นชัยอันดับ 5,6,.. หรือท้ายๆ ก็แผ่วหน่อยเป็นธรรมดา เข้าเส้นชัยอันดับ 1 เป็นใครก็ได้ มีแบรนด์ก็เด่นสุด คนโฟกัสและจดจำ เป็นรัฐบาล ก็ต้องแข่ง เป็นการแข่งสร้างผลงาน สร้างประโยชน์ให้ประเทศ ประชาชน กระทรวง ก็เช่นกัน ต้องแข่งการทำงาน แข่งให้บริการประชาชน จะขับเคลื่อนผลักดันอะไรเข้าเส้นชัยก่อน อยู่ที่รัฐบาล กระทรวง จะเลือกหยิบอะไรชูเป็นแบรนด์ ไม่ว่านโยบาย งานโครงการ หรือผลงานที่ต้องการเน้น และอยากให้โดดเด่นที่สุด แบรนด์ชัด การทำงานชัด งานใหญ่ๆ หลักๆ ต้องรีบฉวยชูเป็นแบรนด์ ส่วนงานลดหลั่นรองๆ อันดับ 2, 3, 4, 5...ก็ว่าไป ขึ้นกับบริบทและความเหมาะสม อย่าลืมว่าภารกิจรัฐบาลมีทั้งงานนโยบาย งานที่ต้องเน้นทำเชิงรุก การแก้ไขปัญหา งานเร่งด่วนเฉพาะหน้า และงานประจำ อยู่ที่การจัดและให้ความสำคัญอย่างไร เพื่อให้การบริหารงานปีที่ 2 "เอาอยู่" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุมแกนนำเครือข่ายคดีความมั่นคง Posted: 22 Sep 2012 04:00 AM PDT
ฉก.ยะลา คุมตัวนายซากีมัน สูหลง แกนนำเครือข่ายคดีความมั่นคง หลังยื่น 3 ข้อให้รัฐช่วยลบข้อมูลหมายจับ ตรวจสอบสายข่าวในหมู่บ้าน มอบเงินเยียวยาตากใบ ทีมบอลสะบ้าย้อย งวดที่ 2 กว่า 335 ล้านบาท เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 20 กันยายน 2555 เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 (ฉก.ยะลา 11) เข้าควบคุมตัวนายซากีมัน สูหลง แกนนำเครือข่ายคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บ้านพักในเขตตลาดเก่าในเขตเทศบาลนครยะลาไปควบคุมตัวที่ฉก.ยะลา 11 ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 21 กันยายน 2555 ตัวแทนของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลา และทนายของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เดินทางไปเยี่ยมนายซากีมันที่ฉก.ยะลา 11 พบว่า นายซากีมันถูกควบคุมตัวอยู่ โดยได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่อย่างดี และไม่พบร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย โดยนาซากีมันมีอาชีพเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยัง ฉก.ยะลา 11 ถึงสาเหตุที่นายซากีมันถูกควบคุมตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า มีการควบคุมตัวนายซากีมันจริง แต่ไม่ทราบรายละเอียด และไม่สามารถให้หมายเลขโทรศัพท์ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 11 ได้ พร้อมระบุว่าขณะนี้ผู้บังคับหน่วยฉก.ยะลา 11 กำลังติดภารกิจ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2555 ตนและอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคงหนึ่งในนั้นคือนายซากีมัน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กรณีที่อดีตผู้ต้องหาในเครือข่ายคดีความมั่นคงถูกลอบสังหารเสียชีวิต 3 คนในปี 2555 จึงไม่ทราบว่าเหตุใดนายซากีมัน จึงถูกทหารควบคุมตัวอีก เนื่องจากเจ้าหน้าไม่ได้ซักถาม สอบถาม หรือตั้งข้อหาหรือข้อสงสัยใดๆ อาจเป็นการกระทำที่เกินความเป็นหรือไม่ "นายซากีมันอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีความมั่นคง แต่มาถูกถูกควบคุมตัวโดยทหารอีกโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ทั้งที่นายซากีมันได้แสดงตนให้ศาลเห็นแล้ว และผู้ที่ออกมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากรัฐ รวมทั้งได้แสดงความบริสุทธิ์ใจแล้วกับทางราชการแล้ว ก็ควรปล่อยให้มีการดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้องต่อไป ซึ่งในอดีตเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับหลายคนมาแล้ว" นางสาวพรเพ็ญ กล่าว สำหรับข้อเรียกร้องที่นายซากีมัน ได้ยื่นต่อศอ.บต. เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2555 ในนามเครือข่ายฯ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง จำนวน 3 ข้อได้แก่ 1.ให้มีมาตรการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยแก่สมาชิก รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยา 2.ขอให้ลบข้อมูลที่เกี่ยวกับหมายคดีต่างๆ และ 3.ให้คัดกรองข้อมูลจากสายข่าวในชุมชน เพราะมักจะส่งผลให้สมาชิกต้องถูกเชิญตัวหรือถูกควบคุมตัวซ้ำซาก มอบเงินเยียวยาตากใบ-ทีมบอลสะบ้าย้อยงวดที่ 2 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ทายาทผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเหตุสังหารทีมฟุตบอลที่อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา งวดที่สอง รายละ 4 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ได้จ่ายไปแล้ว รายละ 3.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการการเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท รวม 104 ราย เป็นเงินกว่า 335 ล้านจำนวนบาท โดยกรณีเหตุการณ์ตากใบมีผู้เสียชีวิต 85 ราย มีทายาทมารับเงิน 276 ราย กรณีสะบ้าย้อย มีผู้เสียชีวิต 19 ราย มีทายาทมารับเงิน 50 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 335,541,214 บาท โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ทายาทผู้ได้รับผลกระทบจะต้องปฏิบัติตามขั้นการเบิกถอนเงินเยียวยา ซึ่งจะต้องเปิดบัญชีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการกับ ศอ.บต. การเบิกถอนเงิน ปีละ 1 ล้าน ในระยะเวลา 4 ปี พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ฝากให้ญาติผู้ได้รับผลกระทบหากมีเรื่องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมีผู้แอบอ้างจะช่วยเหลือเยียวยาสามารถสอบถามที่ ศอ.บต.ได้ หรือผู้ที่ไว้วางใจ เช่นผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นได้ นางฮาซีเยาะ อูเซ็ง อายุ 30 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีตากใบ กล่าวว่า ตนสูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้ต้องเสียเสาหลักของครอบครัว ชีวิตลำบากมาก จิตใจอ่อนแอ แต่ต้องขอขอบคุณที่ทาง ศอ.บต. ช่วยเหลือเยียวยาทำให้ครอบครัวมีความหวังและกำลังใจ ที่จะต่อสู้ต่อไป และขอเป็นกำลังใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบอื่นๆด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
“บุญยอด” ชง กมธ. สภาสอบ 3 กรณี Posted: 22 Sep 2012 03:39 AM PDT
"บุญยอด" ชง กมธ. สภาสอบ 3 กรณี จ่อเชิญตัวแทนสมาคมสื่อ นักวิชาการร่วมวางบรรทัดฐานของตอบแทนรวมกรณีดูงานเพื่อรักษาสถาบันสื่อเป็นที่เชื่อถือขอสังคม 22 ก.ย. 55 - ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการกิจการสภา กล่าวถึงกรณีที่ตนได้ยื่นเรื่องต่อนายไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาให้ตรวจสอบกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ จัดทริปทัวร์สื่อมวลชนดูงานต่างประเทศที่ยุโรป 3 ประเทศว่าตนยื่นประเด็นในการสอบต่อประธาน กมธ.ใน 3 ประเด็นหลักคือ 1. กรณีการใช้งบประมาณที่นายสมศักดิ์ระบุว่าเป็นงบเหลือจ่ายจำนวน 7 ล้านบาทโดยการขอกันงบประมาณไว้ก่อนล่วงหน้าโดยระบุว่า เป็นงบเหลือจ่ายถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ 2.เนื้อหาสาระของโปรแกรมที่อ้างว่าไปศึกษาดูงานและกระบวนการคัดเลือกัวแทนสื่อหรือบุคคลที่ไปร่วมดูงานโดยใช้เงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนในลักษณะเช่นนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร 3. หน่วยงานราชการหรือรัฐสภา ต้องศึกษาและวางกฏเกณฑ์ให้ชัดเจนในความสัมพันต่อสื่อมวลชนเพื่อขีดเส้นแบ่งไม่ให้ขัดต่อจริยธรรมของสื่อที่เป็นฐานันดรที่สี่ โดยจะมีการเชิญตัวแทนสมาคมสื่อต่างๆ ร่วมหารือว่า การจัดทริปไปดูงาน การให้สิ่งของ เช่น ปากกา สิ่งของที่ระลึกหรือสิ่งที่สามารถตีมูลค่าเป็นจำนวนเงินหรือผลประโยชน์ หรือการไปตีกอล์ฟ ไปดูงาน. มีขั้นตอนการคัดเลือกบุคลลที่จะไปอย่างไร ซึ่งปกติจะให้ต้นสังกัดสอเป็นผู้คัดเลือก แต่กรณีนี้คล้ายกับเป็นการจิ้มเลือกเอาว่า ต้องการให้ใครไปโดยไม่ผ่านต้นสังกัดสื่อหรือไม่ อย่างไร ทั้งหมดเพื่อวางบรรทัดฐาน เทียบเคียงอย่างกรณีนักการเมืองรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 พัน โดยอาจจะปรับใช้หรือยึดกับผลการศึกษาวิจัยในการเสนอรายงานการศึกษาเกี่ยวกับสื่อของ รศ.ดร. ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะทำงานปฏิรูปสื่อ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ที่ได้ทำการศึกษาทำงานวิจัยเรืี่องสื่อโดยละเอียด ออกมาถึง 5 เล่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้สื่อสารมวลชนตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง พรรคการเมืองและยึดหลักเสรีภาพของสืี่ออย่างแท้จริง ทั้งหมดที่ทำนี้ก็เพื่อรักษาสถาบันสื่อให้เป็นที่เชื่อถือได้ของสังคมเอง ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
31 ต.ค. นัดพิพากษา ‘สุรภักดิ์’ โปรแกรมเมอร์โดนข้อหาหมิ่นฯ Posted: 22 Sep 2012 12:48 AM PDT สืบพยานโจทก์-จำเลยเสร็จสิ้น ศาลนัดพิพากษาวันที่ 31 ต.ค.55 เวลา 9.00 น. คดี 'สุรภักดิ์' โปรแกรมเมอร์วัย 41 ปีถูกกล่าวหาเป็นเจ้าของเฟซบุ๊คเราจะครองxxxx โพสต์ข้อความหมิ่น ผิด ม. 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 'ประชาไท' รวบรวมรายงานในประเด็นสำคัญ 20 ก.ย.55 ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญารัชดา มีการสืบพยานคดีที่นายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์วัย 41 ปี เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเพจเราจะครอง xxxx ในเฟซบุ๊คและโพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิด 5 ข้อความ โดยวันนี้เป็นวันสืบพยานนัดสุดท้าย และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นเจ้าของอีเมล์ dorkao@hotmail.com ซึ่งจัดทำเพจในเฟซบุ๊คชื่อว่า "เราจะครองxxxx" และกระทำการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดในวันที่ 4 พ.ค.54, 18 มิ.ย.54, 22 มิ.ย.54, 16 ส.ค.54 ในเฟซบุ๊ค และในวันที่ 2 ก.ย.54 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวจำเลย จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ถูกจับจนถึงปัจจุบัน รวม 1 ปี 22 วันโดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเกรงจะหลบหนี นอกจากนี้จำเลยยังอธิบายอีกว่า การเกิด cache หรือ temporary file ก็จะต้องเกิดใน partition ที่ตั้งของระบบปฏิบัติการ คือ ไดร์ฟ C แต่หลักฐานระบุว่าเกิดใน ไดร์ฟ E ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ และยังปรากฏหลักฐานว่าเครื่องของกลางมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในวันที่ 2 ก.ย.54 เวลาประมาณ 20.00 น. และวันที่ 7 ก.ย.54 เวลาประมาณ 21.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยถูกควบคุมตัวแล้วด้วย จำเลยสรุปว่าเอกสาร source code ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้จากการกู้ temporary file ในเครื่องนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาภายหลัง โดยการเซฟเองจากหน้าเพจที่ต้องการ ทำการแก้ไขดัดแปลงตามต้องการแล้วนำกลับเข้าไปใส่เป็น temporary file ในเครื่อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์สามารถทำได้โดยง่าย จากนั้นจำเลยได้ทดสอบให้ศาลเห็นตามกล่าวอ้าง และยังแก้ไข source code ให้แสดงผลเป็นวันเวลาย้อนหลังตามที่ต้องการได้ด้วย ทนายถามถึงทัศนคติทางการเมือง จำเลยเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้มีความจงรักภักดี และตระหนักดีว่าสถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรมากมาย ส่วนข้อความที่ปรากฏตามฟ้องนั้นอ่านแล้วรู้สึกแย่มาก และเห็นว่าวิญญูชนย่อมไม่กระทำการดังกล่าว จำเลยยืนยันว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องและเหตุที่มีการดำเนินคดีอาจเป็นเพราะกลุ่มล่าแม่มดมีความเข้าใจผิดแล้วแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ว่าตนเองเป็นผู้กระทำ นอกจากนี้ source code ที่ใช้เป็นหลักฐานยังมีลักษณะถูกตัดทอน เลือกแสดงผลบางส่วนเพราะมีลักษณะสั้นมากและพบการดัดแปลงโดยเฉพาะในส่วนที่ทำตัวหนา เพราะ source code จะแสดงผลเป็นตัวอักษรแบบเดียวกันทั้งหมด ในส่วนเอกสารประวัติการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้น พบว่ามีความพยามต่ออินเทอร์เน็ต 2 ครั้งในวันที่ 2 ก.ย.54 และ 7 ก.ย.54โดยในครั้งที่สองนั้นล้มเหลว แสดงว่ามีการเปิดเครื่องเพื่อเชื่อมต่อ พ.ต.อ.พิสิษฐ์กล่าวด้วยว่า เมื่อสอบถามถึงมูลเหตุจูงใจ จำเลยรับว่า เชื่อว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2549 นั้นสถาบันอยู่เบื้องหลัง จึงทำให้จำเลยโกรธแค้นและโพสต์ข้อความระบายความรู้สึก ซึ่งในเฟซบุ๊คแม้จะเป็นบัญชีส่วนตัวของจำเลยแต่ก็มีเพื่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนนายโกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เบิกความว่า เหตุที่เจ้าพนักงานกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบไม่เจอร่องรอยข้อความตามฟ้อง เพราะข้อความที่โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊คแล้วจะไม่หลงเหลือในเครื่องผู้ใช้ จากข้อมูลที่กู้ได้และนำส่งสามารถตามเอกสารนั้น สามารถยืนยันได้ว่ามีการใช้อีเมล์ dorkao@hotmail.com ในเครื่องนี้ แต่ไม่ทราบว่าใช้งานอย่างไร มีเนื้อหาอะไร และยืนยันว่าการใช้ฮอตเมล์จะเกิด cache ใน temporary file ของเครื่องได้ พนักงานจากกองพิสูจน์หลักฐานเบิกความต่อว่า ได้ตรวจทุกประเด็น โดยตรวจพบประเด็นที่1-4 แต่ตรวจไม่พบในประเด็นสุดท้ายในการค้นหาข้อความตามฟ้อง ซึ่งอาจเป็นเกิดจากตัวระบบของคอมพิวเตอร์เอง หรือการโพสต์ข้อความดังกล่าวไม่ได้กระทำโดยเครื่องของกลาง พยานอธิบายเพิ่มเติมว่า เจ้าพนักงานได้ทำการกู้ข้อมูลที่ลบไปและตรวจพบ temporary file ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ของเฟซบุ๊คด้วยชื่อดังกล่าว ซึ่งโดยปกติระบบจะเก็บโดยอัตโนมัติ บ่งบอกการเข้าใช้งานจำนวน 1 ครั้ง และไฟล์ที่บ่งบอกว่าเข้าใช้งานฮอตเมล์ในชื่อเมล์ดังกล่าวอีก 1 ครั้งโดยเข้าใช้งานเพียง 3 วินาทีซึ่งถือว่าปกติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทนายจำเลยได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการเช่นเดียวกับเครื่องของกลางให้พยานทดลองเข้าเฟซบุ๊คเพื่อดูว่าจะเกิดการเก็บ temporary file โดยระบบได้จริงหรือไม่ ปรากฏผลว่าไม่เกิด temporary file ตามที่เบิกความมา พยานอธิบายว่าอาจเป็นเพราะเพิ่งเข้าใช้งานครั้งเดียว ระบบจึงยังไม่เก็บก็ได้ และการเกิดไฟล์ดังกล่าวสามารถเกิดจากการก็อปปี้มาใส่ไว้ในเครื่องก็ได้ แต่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่สามารถทำได้
อ่านรายละเอียดคดีสุรภักดิ์ เพิ่มเติมได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/176#detail ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น