ประชาไท | Prachatai3.info |
- สรุปผลโพลล์ประชาไท ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยวิสามัญชี้ละเมิดสิทธิ์
- ภัควดี แปล: พอล เอ็ม. สวีซี “ทำไมชะงักงัน?”
- ‘สาทิตย์’ เล่นงานโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง ดึง ‘กฟผ.’ ชี้แจงกรรมาธิการพลังงานฯ
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ส.ค. - 1 ก.ย. 2555
- หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง "เดอะไพเรตเบย์" ถูกรวบแล้วที่พนมเปญ
- 8 เรื่องน่ารู้ เกร็ดวันแรงงานสหรัฐฯ
สรุปผลโพลล์ประชาไท ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยวิสามัญชี้ละเมิดสิทธิ์ Posted: 02 Sep 2012 11:12 AM PDT เนื่องจากประเด็นปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน กรณีการฆ่าตัดตอนและหรือวิสามัญฆาตกรรมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ปี2548-2549 หรือแม้กระทั่ง เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคลที่พูดซึ่งก็คือบุตรชายคนเดียวของ อดีตนายกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากที่สุดในประวัติการเมืองไทย หรือหลานชายของ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าทัศนทางการเมืองของเขาได้รับการติดตามจากคนในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่นอกจากจะจับตามองของสาธาธารณะชนแล้วยังน่าที่จะมีพื้นที่ในการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีดังกล่าวด้วย ประชาไทจึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้อ่านที่ใช้เฟซบุ๊คบนประชาไทแฟนเพจ โดยตั้งตัวเลือกเริ่มต้นในการสำรวจสอบถามความคิดเห็น3ข้อได้แก่ 1.ไม่เห็นด้วยเนื่องจากขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน 2.เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการสละคนส่วนน้อยที่สร้างผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ 3.ไม่เห็นด้วยผิดศีลปาณาฯ เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ โดยเงื่อนไขในแฟนเพจได้อนุญาตให้ผู้โหวตสามารถโหวตเลือกได้มากกว่าหนึ่งหัวข้อ และสามารถเพิ่มตัวเลือกในการโหวตเพิ่มด้วยตัวเองได้ สำหรับผลของการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมด้วยความสมัครใจจำนวน601แอ็คเคาต์ ดังนี้
โดยแบ่งเป็น 1.1 ไม่เห็นด้วยโดยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชน 323 ไม่เห็นด้วยเนื่องจากขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน (225) 1.2.ไม่เห็นด้วยโดยเหตุผลด้านศาสนา 7 ไม่มีใครตัดสินใครคนอื่นได้ นอกจากอัลลอฮฺ (5) 1.3 ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่เชื่อว่าจะแก้ไขด้วยการวิสามัญ 23 ไม่เห็นด้วย เพราะที่ตายผู้น้อยทั้งนั้น ตัวการใหญ่ ๆ ยังอยู่ครบ (1) การตัดตอนคงไม่ดี ที่ดีควรจับมาตัดสินโทษก่อน แต่ให้โทษหนัก ประหารเป็นหลัก(21) ถ้า 2500 ศพ เป็นพ่อค้ายาจริงๆ ไม่ใช่แพะ ค่อยคิดอีกที(1) 2.เห็นด้วย 119 เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการสละคนส่วนน้อยที่สร้างผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ (83) เห็นด้วยกับการฆ่าให้หมด เหมือนกับที่จัดการกับพวกเผาเมืองนั่นแหล่ะ(3) เขาเตือนแล้วไม่หยุดก็สมควรตายซะ สันดารทำลายขาติเข้าเส้นเลือดแล้ว(2) เห็นด้วยเนื่องจากคนตายคือพ่อค้ายาเสพติดเป็นอาชญากรร้ายแรง (17) สัสต้องสอยเเม่มเเบบถอนรากถอนโคน ฆ่าทั้งขบวนการไม่ใช่เเค่ตัดตอน (3) กฏหมายไทยโทษเบาไป จะฆ่าทิ้งก็บอกขัดหลักสิทธิ ไม่ฆ่าแม่งออกคุกมาก็ทำอีก (11)
3.เหตุผลอื่นๆ 24 มันเป็นความจริง ที่ต่อให้ตัวตายก็พูดไม่ได้ 1 เห็นด้วยกับการฆ่า แต่ไม่เห็นด้วยกับการตอน11 ยกเลิก112สิคับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง5 ให้xxxกลับมาก่อนสิครับ แล้วผมจะบอก 1 ให้xxxมาติดคุกโดยด่วน XXXมึงรู้ไหม1 คนอยู่ในขบวนการ ฆ่าตัดตอนกันเองจะมาโทษคนให้นโยบายไงอะ2 นรกเท่านั้นที่สรรเสริญXXX1 หากยังมียาเสพติดก็คงมีการฆ่าปิดปาก ขัดผลประโยชน์ หักหลังห้ามไม่ได้ว่ากี่ศพ 2 นอกจากข้อมูลทางตัวเลขเคร่าๆที่อาจพอระบุได้ว่าผู้เข้าร่วมตอบโพลล์ประชาไท โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของนายพานทองแท้ในกรณีข้างต้นแล้ว ท่านผู้อ่านยังสามารถติดตามข้อมูลที่ผู้ติดตาม ประชาไทแฟนเพจเข้ามตอบคำถามและแสดงทัศนะที่หลากหลายต่อกรณีนี้ได้ที่ Prachatai Poll เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ประชาไทโพลล์: คุณคิดอย่างไรกับทัศนคติของ พานทองแท้ ชินวัตร กรณีปัญหายาเสพติด เพจโอ๊ค พานทองแท้ โพสต์ พ่อค้ายา ตายไปให้หมดประเทศ มีแต่คนเขาสรรเสริญ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ภัควดี แปล: พอล เอ็ม. สวีซี “ทำไมชะงักงัน?” Posted: 02 Sep 2012 07:43 AM PDT
พอล เอ็ม. สวีซี เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของ Monthly Review ตั้งแต่ ค.ศ.1949 กระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ.2004 บทความนี้เรียบเรียงขึ้นมาจากบันทึกย่อสำหรับการปาฐกถาต่อ Harvard Economics Club เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1982 และตีพิมพ์ซ้ำจากต้นฉบับที่เคยเผยแพร่ใน Monthly Review ฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ.1982 หรือเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ผู้แปลนำบทความนี้มาแปล เพราะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงใน ค.ศ.1937 การวิวาทะเกี่ยวกับสาเหตุต่าง ๆ ของภาวะชะงักงันเริ่มแพร่หลายในวงการเศรษฐศาสตร์ ผู้อภิปรายประเด็นนี้ที่โดดเด่นที่สุดสองคนคือ อัลวิน แฮนเซ่น (Alvin Hansen) กับโยเซฟ ชุมพีเทอร์ (Joseph Schumpeter) นักเศรษฐศาสตร์ระดับหัวกะทิของฮาร์วาร์ดในช่วงทศวรรษ 1930 จุดยืนของแฮนเซ่นสรุปรวบยอดไว้ดีที่สุดในหนังสือของเขาชื่อ Full Recovery or Stagnation? ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1938 ส่วนของชุมพีเทอร์อยู่ในบทสุดท้ายของตำราชุดสองเล่มของเขาที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1939 ในชื่อว่า Business Cycles ชุมพีเทอร์ตีตราทฤษฎีของแฮนเซ่นว่าเป็น “ทฤษฎีของโอกาสการลงทุนที่หายไป” ซึ่งก็เป็นคำจำกัดความที่เหมาะสม ตามทฤษฎีนี้ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมก้าวหน้าสมัยใหม่มีศักยภาพมหาศาลในด้านการออม ทั้งเพราะโครงสร้างความเป็นบรรษัทขนาดใหญ่และเพราะการกระจายรายได้ส่วนบุคคลที่ไม่เท่าเทียมอย่างมาก แต่หากขาดโอกาสการลงทุนที่ให้ผลกำไรมากเพียงพอ ศักยภาพการออมนี้กลับมิได้แปรเปลี่ยนไปเป็นการสะสมทุนที่แท้จริงและความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน แต่กลับกลายเป็นภาวะรายได้ตกต่ำ การว่างงานของคนจำนวนมากและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรัง อันเป็นเงื่อนไขที่สรุปรวมด้วยคำว่า “ภาวะชะงักงัน” (stagnation) (แน่นอน กรอบของการวิเคราะห์นี้ได้มาจาก General Theory ของเคนส์โดยตรง ซึ่งเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1936 และแฮนเซ่นเป็นผู้ตีความและผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ที่รู้จักกันดีที่สุดในฟากสมุทรแอตแลนติกฝั่งนี้) เพื่อให้ทฤษฎีนี้สมบูรณ์ ก็ต้องมีคำอธิบายว่าทำไมจึงเกิดภาวะขาดแคลนโอกาสการลงทุนขึ้นในทศวรรษ 1930 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ความพยายามของแฮนเซ่นในการเติมคำลงในช่องว่างตรงนี้ อยู่ในรูปของสิ่งที่เขาพิจารณาว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่กลับกลายไม่ได้ ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้นและสุดท้ายก็กลายเป็นเงื่อนไขครอบงำความเป็นไปของโลกหลังจากจุดที่ชุมพีเทอร์เรียกว่า “วิกฤตการณ์โลก” เริ่มขึ้นใน ค.ศ.1929 ถ้าจะอธิบายอย่างหยาบ ๆ ง่าย ๆ สักหน่อย ตามแนวคิดของแฮนเซ่นนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือ (1) การสิ้นสุดการขยายอาณาเขตเชิงภูมิศาสตร์ บางครั้งเรียกกันว่า “การปิดชายแดน” แต่แฮนเซ่นตีความกว้างขึ้นในระดับโลก (2) อัตราการเติบโตของประชากรที่ถดถอยลง และ (3) แนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีการใช้ทุนน้อยลงกว่าขั้นตอนต้น ๆ ของการพัฒนาระบบทุนนิยม ในทัศนะของแฮนเซ่น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทั้งหมดทำให้เกิดข้อจำกัดต่ออุปสงค์สำหรับการลงทุนใหม่ ๆ และในแง่นี้จึงทำให้ศักยภาพมหาศาลในการออมของระบบแปรเปลี่ยนไปเป็นแรงขับที่สร้างภาวะชะงักงันมากกว่าเครื่องจักรสู่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กลุ่มผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของแฮนเซ่น ซึ่งรวมชุมพีเทอร์อยู่ด้วย มองเห็นคุณประโยชน์น้อยมากในทฤษฎีนี้ มิใช่ว่าพวกเขาปฏิเสธความจำเป็นของการสะสมทุนที่เข้มแข็งเพื่อความเติบโตที่ยั่งยืนและการจ้างงานในอัตราสูง แต่เพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถยอมรับข้อถกเถียงว่า ความเปลี่ยนแปลงที่แฮนเซ่นระบุชี้ไว้นั้นเป็นความจริง หรือต่อให้มันเป็นความจริง มันก็ไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งการบั่นทอนอุปสงค์ของการลงทุนใหม่ ๆ การสิ้นสุดการขยายอาณาเขตเชิงภูมิศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ทำไมมันจึงเพิ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านร้ายทางเศรษฐกิจเมื่ออีกสามสี่ทศวรรษให้หลัง? ความเติบโตของจำนวนประชากรไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการลงทุน มันอาจมีความหมายแค่การว่างงานเพิ่มขึ้น ที่อยู่อาศัยแออัดมากขึ้น มาตรฐานการครองชีพตกต่ำลง ส่วนลักษณะและผลกระทบที่อ้างถึงความเปลี่ยนแปลงในนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ และตามทัศนะของกลุ่มผู้วิจารณ์นั้น มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ตรงกันข้ามกับทฤษฎีของแฮนเซ่น ชุมพีเทอร์นำเสนออีกทฤษฎีหนึ่งโดยตั้งคำถามจากแง่มุมที่แตกต่างออกไป แทนที่จะถามว่า อะไรคือสาเหตุของภาวะชะงักงันในทศวรรษ 1930 เขากลับตั้งคำถามว่า ทำไมวงจรขาขึ้นที่เริ่มต้นใน ค.ศ.1933 จึงสิ้นสุดลงโดยที่ไม่มีสภาพการณ์หลายอย่างที่พึงมี เช่น ภาวะจ้างงานเต็มอัตรา ราคาสินค้าสูงขึ้น สินเชื่อตึงตัว ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่เขาและนักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ คาดการณ์ไว้เสมอมาว่าเป็นสภาพการณ์ “ปรกติ” ที่พึงเกิดขึ้นในช่วงท้ายของขั้นตอนความเฟื่องฟูในวงจรขาขึ้น บางท่านคงจำได้ว่า ชุมพีเทอร์แบ่งวงจรเศรษฐกิจออกเป็น 3 ประเภท แต่ละประเภทตั้งชื่อตามนักคิดคนก่อน ๆ ที่ศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้ อันประกอบด้วย “Kitchins” (วงจรที่สั้นมาก โดยพื้นฐานแล้วเป็นวงจรของสินค้าคงเหลือหรือสินค้าที่ผลิตเกินอุปสงค์) “Juglars” (สิ่งที่นักเขียนส่วนใหญ่คิดว่า นี่แหละคือวงจรธุรกิจ) และ “Kondratieffs” (วงจรที่เชื่อกันว่ามีระยะเวลาประมาณห้าสิบปี เป็นวงจรที่ชุมพีเทอร์เชื่อว่าเป็นความจริงของโลกเศรษฐกิจ) ประสบการณ์ในช่วงทศวรรษ 1930 นั้น เขาให้คำจำกัดความว่าเป็น “วงจร Juglar ที่น่าผิดหวัง” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เนื่องจากชุมพีเทอร์ไม่ยอมรับทฤษฎีโอกาสการลงทุนที่ขาดหายไปของแฮนเซ่น ชุมพีเทอร์หันไปกล่าวโทษบรรยากาศต่อต้านธุรกิจในช่วงเวลานั้นแทน บรรยากาศที่เขาคิดว่าเป็นผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการพัฒนาระบบทุนนิยม ในแง่หนึ่ง เราอาจเรียกบรรยากาศนี้ว่า “ทฤษฎีนิวดีลของภาวะชะงักงัน” และเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่เชื่อกันอยู่แล้วในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นธรรมดาสำหรับชุมพีเทอร์ที่เขาต้องทำให้มันหักมุมเป็นพิเศษสักหน่อย สำหรับชุมพีเทอร์ หัวใจสำคัญของปัญหาไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของกฎหมายนิวดีล ซึ่งเขายอมรับว่าสอดคล้องกับการทำงานตามปรกติของระบบทุนนิยม แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคลากรที่บังคับใช้กฎหมายและสิ่งที่เขามองว่าเป็นจิตวิญญาณต่อต้านธุรกิจที่คนเหล่านี้ประพฤติปฏิบัติออกมาต่างหาก เขาเชื่อว่า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบด้านลบที่บั่นทอนทำลายความเชื่อมั่นและการมองโลกในแง่ดีของผู้ประกอบการ พร่าเลือนความหวังที่มีต่ออนาคตและขัดขวางกิจกรรมการลงทุนในปัจจุบัน มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ๆ ที่วิวาทะเกี่ยวกับภาวะชะงักงันนี้เกิดขึ้นมามากมายหลังจากการตกต่ำอย่างรุนแรงของวงจรเศรษฐกิจในช่วง ค.ศ.1937-38 ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนมีเหตุผลให้ตั้งความหวังว่า วงจรขาขึ้นอันยาวนานที่เริ่มต้นใน ค.ศ.1933 จะดำเนินต่อไปจนเต็มกำลังการผลิตและภาวะจ้างงานเต็มอัตรา ดังนั้น เมื่อเกิดความซบเซาลงอย่างรุนแรง จึงทำให้เสียขวัญ เมื่ออัตราการว่างงานกระโดดขึ้นไปที่ร้อยละ 19 ใน ค.ศ.1938 และคงค้างอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 17 ตลอด ค.ศ.1939 ความเป็นจริงอันมืดมนของภาวะชะงักงันจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป หนังสือที่ออกมาใน ค.ศ.1938 ของแฮนเซ่นและการตอบโต้ของชุมพีเทอร์ในปีต่อมาจึงเป็นแค่จุดเด่นของปรากฏการณ์ที่น่าจะกลายเป็นหนึ่งในการถกเถียงระดับคลาสสิกในประวัติศาสตร์ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ และมิใช่มีเพียงแค่นักเศรษฐศาสตร์ที่วิตกกังวลกับเรื่องนี้ กระทั่งประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ เมื่อโครงการนิวดีลอันเคยเป็นความหวังของเขาต้องมาเหี่ยวเฉาจากหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อน เขาก็รีบแต่งตั้งคณะกรรมาธิการระดับสูงที่เรียกว่า Temporary National Economic Committee (TNEC) ขึ้นเพื่อค้นหาว่า อะไรที่ทำให้เกิดความผิดพลาดและสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง แต่ยังไม่ทันที่ TNEC จะได้เริ่มรายงานการค้นพบ (อันน้อยนิดอย่างยิ่ง) สงครามโลกครั้งที่สองก็ปะทุขึ้นเสียก่อน เพียงชั่วข้ามคืน หัวข้อปัญหาภาวะชะงักงันทั้งหมดก็อันตรธานไปจากสายตาของทุกคน และไม่เคยรื้อฟื้นกันขึ้นมาอีก หลังสงครามโลก ใน ค.ศ.1952 ผลงานการศึกษาหัวข้อนี้อย่างจริงจังและสำคัญชิ้นหนึ่งได้รับการตีพิมพ์ในอังกฤษ นั่นคือ Maturity and Stagnation in American Capitalism ของโยเซฟ สแตงดึล (Joseph Steindl) นักวิชาการลี้ภัยชาวออสเตรียที่ใช้เวลาหลายปีในช่วงสงครามอยู่ที่ Oxford Institute of Statistics แต่น่าเสียดายที่ผลงานชิ้นนี้ถูกเพิกเฉยจากวงการเศรษฐศาสตร์ และช่วงเวลายาวนานของการขยายตัวของระบบทุนนิยมหลังสงครามโลก ซึ่งกำลังดำเนินไปในช่วงที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมา จึงดูราวกับเสือกไสให้ “ปริศนา” ของภาวะชะงักงันทั้งหมดถูกปัดทิ้งไปอยู่ในซอกหลืบของเรื่องประหลาดทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หลายเหตุการณ์ในระยะหลังแสดงให้เห็นว่า การกลบฝังประเด็นภาวะชะงักงันเป็นการด่วนสรุปเกินไป ผมคงไม่จำเป็นต้องบอกทุกท่านอีกว่า ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ปัญหานี้ย้อนรอยกลับมาอีก โดยครั้งนี้มีการหักมุมใหม่ ๆ ที่สะท้อนออกมาในศัพท์บัญญัติคำใหม่คือ “ภาวะชะงักงันควบคู่ภาวะเงินเฟ้อ” (stagflation) ภาวะนี้ย้อนกลับมาปรากฏซ้ำเมื่อไรแน่ควรเป็นหัวข้อวิวาทะกันอีกทีหนึ่ง อาจในช่วงปลายทศวรรษ 1950 โดยมีสงครามเวียดนามเป็นปัจจัยที่ช่วยถ่วงเวลาออกไปชั่วคราว หรืออาจในช่วงต้นทศวรรษ 1970 หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ตลาดสินเชื่อหดตัว (credit crunch) อันสืบเนื่องมาจากการล้มละลายของบริษัท Penn Central Transportation Company และการที่ประธานาธิบดีนิกสันประกาศถอนตัวจากมาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการและการทดลองควบคุมค่าแรงและราคาสินค้าเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรืออาจเป็นไปได้ว่า ภาวะชะงักงันย้อนกลับมาอย่างแท้จริงโดยเริ่มต้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน ค.ศ.1974-75 ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ1970 ได้สำแดงปรากฏการณ์ในรูปแบบใหม่ของ “ภาวะชะงักงันควบคู่ภาวะเงินเฟ้อ” ให้ทุกคนได้เห็น และแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาวะเศรษฐกิจรังแต่จะแย่ลงนับตั้งแต่นั้นมา โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดเจนสองชุดด้วยกัน ข้อเท็จจริงชุดแรกคือ ภาวะว่างงานในโลกทุนนิยมพัฒนาแล้ว (24 ประเทศในกลุ่ม OECD) คาดว่าจะทะลุ 30 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมด (แน่นอนว่า ตัวเลขสูงกว่านี้ในกลุ่มผู้หญิง คนหนุ่มสาวและชนกลุ่มน้อย) ข้อเท็จจริงชุดที่สองคือ ในสหรัฐอเมริกา มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยสองครั้งเกิดขึ้นติดต่อกัน โดยมีแนวโน้มเป็นไปได้ที่ครั้งหลังในขณะนี้อาจร้ายแรงจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเต็มที่ (นี่มิได้หมายความว่า ผู้สันทัดกรณีที่คาดหมายหรือทำนายว่าจะมีภาวะขาขึ้นในอนาคตอันใกล้มีมุมมองที่ผิดพลาด ใน ค.ศ.1930 ก็มีภาวะขาขึ้นสั้น ๆ และมักมีการอ้างถึงภาวะฟื้นตัวที่ใช้เวลานานในช่วง ค.ศ.1933-1937 อันที่จริง ภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ว่าในช่วงวงจรขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม ไม่เพียงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เกิดขึ้นเสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ผมจะไม่เสแสร้งว่าติดตามงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ ๆ ได้ทันทั้งหมด แต่ผมมีความรู้สึกว่า วงการเศรษฐศาสตร์ยังไม่ได้เริ่มกลับไปวิวาทะเกี่ยวกับภาวะชะงักงัน ซึ่งขาดห้วนไปอย่างกะทันหันเนื่องจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง ผมรู้สึกว่า ถ้าเราถามนักเศรษฐศาสตร์ว่า เราตกอยู่ในภาวะจมปลักที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร แม้ว่าเขาหรือเธอคงไม่ปฏิเสธว่ามันจมปลักจริง ๆ แต่ก็จะตอบคำถามด้วยการให้คำแนะนำถึงวิธีการออกจากปลัก แต่ไม่ค่อยมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากนักว่าเราเดินมาติดหล่มนี้ได้อย่างไร เลนเนิร์ด ซิลค์ (Leonard Silk) บรรณาธิการเศรษฐศาสตร์สายกลางผู้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลแห่ง New York Times เป็นตัวอย่างที่ดี ในหลายคอลัมน์ที่เขาเขียนในระยะหลัง เขาย้ำตลอดเวลาถึงความหมิ่นเหม่ของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเรแกนและชี้แนะหนทางที่น่าจะดีกว่า ในคอลัมน์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในเซ็คชั่น “ธุรกิจ” ของหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม เขาถึงขนาดให้ข้อมูลภูมิหลังจำนวนมาก โดยเน้นที่แผนภูมิห้าอันที่ย้อนหลังไปถึง ค.ศ.1965 แสดงให้เห็นรากเหง้าของปัญหาที่ย้อนหลังไปเป็นระยะเวลายาวนาน หัวข้อคอลัมน์ก็ตั้งได้อย่างน่าสนใจว่า “สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เป็นภาวะเรื้อรังของการว่างงานและความหยุดนิ่งของภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลคือตัวการ” อ่านเผิน ๆ นี่ดูเหมือนเป็นทั้งคำบรรยายและคำอธิบายถึงภาวะชะงักงัน แต่ถ้าอ่านทั้งบทความ กลับไม่พบคำอธิบายจริง ๆ มากนัก นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสักเท่าไร เพราะนับตั้งแต่ ค.ศ.1965 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกามีรัฐบาลถึงห้าชุด ซึ่งมีอุดมการณ์และนโยบายแตกต่างกันไป และโดยเหตุผล เชิงนิรนัย แล้ว มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ใครจะกลั่นประสบการณ์โดยรวมทั้งหมดให้เหลือแค่องค์คณะใดองค์คณะหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาลตัวการ” ซึ่งสมควรเป็นแพะรับบาป เลนเนิร์ด ซิลค์เองก็ไม่ได้พยายามทำเช่นนั้นจริงจังหรอก กระทั่งเราตั้งข้อสงสัยได้ด้วยซ้ำไปว่า ชะรอยบรรณาธิการมักง่ายบางคนคงเขียนพาดหัวข้อคอลัมน์ให้โดยไม่ทันได้อ่านบทความนี้อย่างละเอียดลออ ดังนั้น เราจึงยังมีคำถามว่า “ทำไมชะงักงัน?” คำถามนี้ตั้งขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1930 แล้วก็ถูกปัดทิ้งไปโดยยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ ความเป็นจริงในโลกกำลังตั้งคำถามนี้ซ้ำอีก ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรยอมรับความท้าทายนี้และช่วยกันหาคำตอบอีกครั้ง ผมคิดว่าเราจะช่วยหาคำตอบได้ดีขึ้น ถ้าเราเริ่มต้นตรงที่แฮนเซ่นเริ่มไว้ให้ในทศวรรษ 1930 โดยพื้นฐานแล้ว โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคบรรษัทและในมิติส่วนบุคคลก็ยังคงเหมือนกับเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ศักยภาพในการออมก็ยังคงมหาศาล และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มที่ศักยภาพนี้ยิ่งมากขึ้น มิใช่ลดลง การรวมศูนย์ของภาคบรรษัทเพิ่มขึ้นและการกระจายรายได้ส่วนบุคคลยังคงเหลื่อมล้ำลิบลิ่ว ยิ่งไปกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโครงสร้างภาษีมีแต่จะยิ่งเอื้ออำนวยต่อบรรษัทและคนรวยมากขึ้น ๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเสมอภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ การลงทุนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนคือสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยไม่ให้ระบบเศรษฐกิจจมลงสู่ภาวะชะงักงัน และนี่แหละคือสิ่งที่ขาดหายไปเป็นเวลานานแล้ว และโดยเฉพาะขาดหายไปในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดังนั้น สาเหตุโดยตรงของภาวะชะงักงันก็เหมือนเมื่อคราวทศวรรษ 1930 กล่าวคือ แนวโน้มอันแรงกล้าที่จะออมและแนวโน้มอันอ่อนแอที่จะลงทุน ผมขอออกนอกเรื่องสักประเดี๋ยวเพื่อชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า สมรรถนะโดยรวมของระบบเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ไม่ได้แย่ลงกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ได้แย่เท่ากับในช่วงทศวรรษ 1930 ทั้งนี้เพราะสาเหตุใหญ่ ๆ สามประการด้วยกันคือ (1) บทบาทที่มากขึ้นอย่างมหาศาลของการใช้จ่ายภาครัฐและการจัดงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐบาล (2) การเติบโตอย่างกว้างขวางของหนี้ผู้บริโภค รวมทั้งหนี้เงินกู้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1970 และ (3) ฟองสบู่ของภาคการเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากการเติบโตของสินเชื่อแล้ว ก็ยังมีความเฟื่องฟูของการเก็งกำไรสารพัดรูปแบบ ทั้งแบบใหม่แบบเก่า ซึ่งก็ส่งผลที่ก่อให้เกิดกำลังซื้อที่มากกว่าแค่การไหลหยด (trickle down) ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ “ที่แท้จริง” ส่วนใหญ่ในรูปแบบของการเพิ่มอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งสามประการนี้คือพลังสำคัญที่ช่วยบรรเทาภาวะชะงักงันไว้ตราบเท่าที่ยังไหว แต่ก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่เสมอว่า ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้มากเกินไป มันอาจพังทลายกลายเป็นความตื่นกลัวแบบเก่า ๆ ที่เราไม่ได้เห็นมานานแล้วนับตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วง ค.ศ.1929-33 ดังนั้น ในเบื้องต้นที่สุด เราจึงกลับไปตรงจุดที่วิวาทะในทศวรรษ 1930 ทิ้งค้างไว้ นั่นคือ ทำไมแรงจูงใจเพื่อการลงทุนจึงอ่อนแอเหลือเกิน? ผมคิดว่า เมื่อนำคำตอบของแฮนเซ่นมาใช้กับปัจจุบัน มันชวนให้คล้อยตามได้น้อยกว่าสมัยที่เขานำเสนอเป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าคงไม่มีใครเห็นด้วยกับชุมพีเทอร์ในการกล่าวโทษนโยบายต่อต้านธุรกิจว่าเป็นตัวการบั่นทอนกำลังใจของนายทุนจากการลงทุนในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ยิ่งกับรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจอย่างรัฐบาลเรแกนในวอชิงตันตอนนี้ คงยิ่งไม่มีใครคิดเช่นนั้น เราจึงต้องมองหาคำตอบที่อื่น ผมขอเสนอว่า คำตอบจะพบได้ในการวิเคราะห์ช่วงเวลาระยะยาว ช่วงยี่สิบห้าปีหรือประมาณนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่เราไม่มีปัญหาภาวะชะงักงัน อันที่จริง ระหว่างช่วงเวลานั้น แรงจูงใจเพื่อการลงทุนมีความแข็งแกร่งและคงเส้นคงวาทีเดียว และสถิติความเติบโตของระบบเศรษฐกิจก็น่าจะดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงใด ๆ ก็ตามในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ผมคิดว่า เหตุผลก็คือ สงครามโลกได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสภาพการณ์เศรษฐกิจโลกไปในลักษณะที่สร้างความเข้มแข็งให้แรงจูงใจเพื่อการลงทุนอย่างมาก ผมวิเคราะห์ปัจจัยหลัก ๆ โดยสังเขปย่นย่อได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้คือ (1) ความจำเป็นต้องฟื้นฟูความเสียหายจากช่วงสงคราม (2) อุปสงค์ที่ขยายตัวขึ้นมาอย่างมากต่อสินค้าและบริการ เนื่องจากการผลิตถูกทำลายหรือหดตัวลงในระหว่างสงคราม (บ้าน รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ ฯลฯ) กำลังซื้อจำนวนมากที่สั่งสมไว้ในระหว่างสงครามของบริษัทและปัจเจกบุคคลที่สามารถเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ที่มีศักยภาพหรืออุปสงค์ที่มีแนวโน้มจะซื้อ (potential demand) ให้กลายเป็นอุปสงค์ที่แท้จริงหรือซื้อจริง (effective demand) (3) การที่สหรัฐอเมริกาตั้งตัวเป็นผู้ครองความเป็นใหญ่ในโลกได้จากผลของสงคราม เงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นพื้นฐานของระบบการเงินสากล การค้าก่อนสงครามและกลุ่มเงินตราหลายกลุ่มพังทลายลง และเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายทุนอย่างค่อนข้างเสรีถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้อำนวยพลังขับดันให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างมาก (4) ผลพลอยได้ที่ภาคพลเรือนได้จากเทคโนโลยีของกองทัพ โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องบินไอพ่น และ (5) การที่สหรัฐอเมริกาสร้างอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในช่วงสันติภาพขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ โดยได้แรงกระตุ้นจากสงครามใหญ่ ๆ ในภูมิภาค ทั้งสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ข้อเท็จจริงที่สำคัญมากแต่มักถูกมองข้ามไปก็คือ เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในบรรยากาศธุรกิจ การมองโลกในแง่ร้ายและความระแวงที่หลงเหลือตกค้างมาจากยุคทศวรรษ 1930 ไม่ได้มลายหายไปในฉับพลัน แต่เมื่อเริ่มเห็นชัดว่า ความเฟื่องฟูหลังสงครามมีรากหยั่งลึกกว่าแค่การซ่อมแซมความเสียหายและการสูญเสียของสงคราม บรรยากาศจึงแปรเปลี่ยนไปเป็นการมองโลกในแง่ดีในระยะยาว ความเฟื่องฟูของการลงทุนขนานใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญทั้งหมดของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่จึงปลดปล่อยออกมาทันที ทั้งเหล็กกล้า รถยนต์ พลังงาน การต่อเรือ สารเคมีหนักและอื่น ๆ อีกมากมาย กำลังการผลิตถูกสร้างสมขึ้นมาอย่างรวดเร็วในทุกประเทศทุนนิยมชั้นนำ รวมทั้งในประเทศโลกที่สามที่ค่อนข้างก้าวหน้าบางประเทศ เช่น เม็กซิโก บราซิล อินเดีย และเกาหลีใต้ เมื่อย้อนกลับไปดูสาเหตุต่าง ๆ ของภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นซ้ำในทศวรรษ 1970 ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงไว้ในใจก็คือ ทุกปัจจัยที่เป็นพลังขับดันการขยายตัวระยะยาวของเศรษฐกิจยุคหลังสงครามโลกล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดในตัวมันเอง อันที่จริง นี่คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติของการลงทุน กล่าวคือ มันไม่เพียงสนองตอบต่ออุปสงค์ มันยังปรนเปรออุปสงค์ด้วย ความเสียหายระหว่างสงครามได้รับการซ่อมแซม อุปสงค์ที่ถูกถ่วงไว้ในระหว่างสงครามก็ได้รับการปรนเปรอ กระบวนการในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในช่วงสันติภาพ) ต้องอาศัยการลงทุนมากกว่าการรักษาอุตสาหกรรมนั้นเอาไว้ การขยายกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมมักลงเอยที่การสร้างกำลังการผลิตล้นเกินขึ้นมาเสมอ กล่าวอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ แรงจูงใจต่อการลงทุนที่เข้มแข็งนำไปสู่การลงทุนจำนวนมากที่ย้อนกลับมาบ่อนทำลายแรงจูงใจต่อการลงทุน นี่คือความลับของความเฟื่องฟูระยะยาวหลังสงครามและการหวนกลับมาของภาวะชะงักงันในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อความเฟื่องฟูเริ่มจางหายไป ภาวะชะงักงันถูกเตะถ่วงออกไปอีกหลายปีด้วยการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ๆ ทั้งในระดับชาติและสากล การเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่งมากขึ้น ๆ เงินเฟ้อมากขึ้น ๆ พอถึงตอนนี้ การบรรเทาอาการโดยไม่รักษาที่ต้นเหตุกลับกลายเป็นเรื่องร้ายยิ่งกว่าเรื่องดี และปัญหาที่มาซ้ำเติมภาวะชะงักงันให้ซ้ำร้ายลงไปอีกก็คือสถานการณ์ของภาคการเงินที่เสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว นี่หมายความว่า ผมกำลังให้เหตุผลหรือชี้นำว่า ภาวะชะงักงันกลายเป็นภาวะความเป็นไปโดยถาวรหรือเปล่า? เปล่าเลย นักคิดบางคน (ซึ่งผมคิดว่าคงรวมแฮนเซ่นไว้ในกลุ่มนี้ด้วย) คิดว่า ภาวะชะงักงันของทศวรรษ 1930 จะคงอยู่ไปเรื่อย ๆ และเราจะก้าวข้ามพ้นมันได้ก็ต่อเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในโครงสร้างของระบบทุนนิยมก้าวหน้าเท่านั้น แต่ดังที่ประสบการณ์ได้สำแดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาคิดผิด และข้ออ้างเหตุผลคล้าย ๆ กันในวันนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าผิดเช่นกัน ตัวผมเองไม่เชื่อว่า สงครามโลกครั้งใหม่จะช่วยสร้างผลพวงตามมาเหมือนครั้งที่แล้ว (หรือดังผลพวงในระดับที่น้อยกว่าหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) หากสงครามครั้งใหม่ใหญ่พอที่จะส่งผลกระทบใหญ่ ๆ ต่อระบบเศรษฐกิจ มันก็คงกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งหลังจากนั้นก็คงแทบไม่เหลืออะไรให้สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่า ต่อแต่นี้จะไม่มีแรงกระตุ้นใหม่ ๆ ที่มีพลังต่อการลงทุนอีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น แรงกระตุ้นแบบที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม การรถไฟ และรถยนต์ในสมัยก่อน ผมคิดว่า สิ่งที่เราพอพูดได้ก็คือ อะไรแบบนั้นยังไม่มีให้มองเห็นเลย ณ ขอบฟากฟ้าในตอนนี้ สำหรับคนที่เข้าใจประเด็นนี้ บทเรียนที่ชัดเจนก็คือ แทนที่จะรอให้เกิดปาฏิหาริย์ (หรือหายนะที่กอบกู้กลับคืนไม่ได้) นี่คือเวลาสำคัญที่เราต้องอุทิศความคิดและแรงกายแรงใจเพื่อแทนที่ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยระบบเศรษฐกิจที่ทำงานเพื่อตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์ และไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นแค่ผลพลอยได้ของการมีอยู่หรือการขาดหายไปของโอกาสการลงทุนที่ดึงดูดแค่นายทุนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมจำนวนหยิบมือหนึ่งเท่านั้น ผมขอปิดท้ายด้วยข้อคิดเห็นสองสามประการเกี่ยวกับความเกี่ยวพันของการวิเคราะห์ข้างต้นกับหัวข้อที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นั่นคือ ประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมมีลักษณะแบบวงจรระยะยาวที่กินเวลาประมาณห้าสิบปีหรือไม่ (วงจรที่ชุมพีเทอร์เรียกว่า Kondratieff cycle) ประการแรก เราควรเข้าใจให้ชัดเจนว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่อยู่ตรงที่พัฒนาการของระบบทุนนิยมเกิดขึ้นในแบบไม่สม่ำเสมอ โดยมีช่วงเวลาของการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามมาด้วยช่วงเวลาของการขยายตัวช้า (หรือกระทั่งไม่ขยายตัวเลย) และในทางกลับกันด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า คลื่นยาว หลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งบอกถึงการมีอยู่จริงของคลื่นยาวในความหมายข้างต้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว และนักสถิติก็สามารถจัดการกับข้อมูลเชิงสถิติที่มีอยู่มากมายหลากหลายแทบไม่มีสิ้นสุดเพื่อสร้างเป็นเหตุผลสนับสนุนได้ว่า มีช่วงลำดับเวลาที่ต่อเนื่องกันของอัตราความเติบโตที่รวดเร็วกับถ่วงช้า ซึ่งดูเหมือนสอดคล้องกับการอ้างว่ามีกลไกวงจรซ่อนอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ทั้งหมดจริง ๆ แต่ความสอดคล้อง กับการมีอยู่จริงของกลไกวงจรเศรษฐกิจไม่ใช่ ข้อพิสูจน์ ถึงการมีอยู่จริงของกลไกดังกล่าว เหตุผลที่เรายอมรับแนวคิดว่า วงจรระยะสั้นมีอยู่จริง (กล่าวคือ วงจรที่กินเวลาน้อยกว่าสิบปี เช่น วงจร Kitchin และ Juglar ของชุมพีเทอร์) ก็เพราะกลไกนั้นสามารถอธิบายได้ทั้งในเชิงวิเคราะห์และพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ ประเด็นสำคัญก็คือ เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า ทั้งสองขั้นตอนที่เป็นพื้นฐานของวงจร กล่าวคือ การขยายตัวและการหดตัว เป็นสิ่งที่สามารถแจกแจงให้เห็นได้ว่า ในแต่ละขั้นตอนนั้นต่างก็มีเมล็ดพันธุ์ของขั้นตอนตรงกันข้ามแฝงอยู่ในตัวมันเอง หลักการนี้เป็นแก่นกลางของทฤษฎีวงจรธุรกิจสมัยใหม่ทั้งหมด ในที่นี้ขอคัดอ้างข้อความที่เป็นตำราพื้นฐานของวิชานี้มานมนานดังนี้ วงจรธุรกิจประกอบด้วยการสลับกันไปมาระหว่างการขยายตัวและการหดตัวในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด.....ระบบเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนไม่สามารถทรงตัวอยู่บนแคมเรือที่สมดุลได้ และช่วงเวลาของการขยายตัวย่อมต้องหลีกทางให้ช่วงเวลาของการผลิตและการจ้างงานที่หดตัวเสมอในเวลาไม่นานนัก ยิ่งกว่านั้น อีกทั้งนี่คือหัวใจสำคัญของปัญหา นั่นคือ ในแต่ละวงจรขาขึ้นหรือขาลงมีลักษณะของการซ้ำเติมตัวมันเอง มันผลักดันตัวมันเองและสร้างแรงขับดันไปในทิศทางเดียว พอเริ่มต้นขึ้นแล้ว มันก็จะมุ่งไปในทิศทางนั้น จนกว่าจะเกิดแรงสะสมที่เหวี่ยงไปในทิศทางตรงกันข้าม (Robert A. Gordon, Business Fluctuations, New York, 1952, 214) วลีที่เป็นกุญแจสำคัญคือ “จนกว่าจะเกิดแรงสะสมที่เหวี่ยงไปในทิศทางตรงกันข้าม” สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งในขั้นตอนการขยายตัวและหดตัวของวงจรธุรกิจตามปรกติ แต่ความสมมาตรนี้ใช้ไม่ได้กับคลื่นยาว ดังที่เราตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในกรณีของการขยายตัวระยะยาวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเปลี่ยนทิศทางเกิดขึ้นก็จริง มันเป็นธรรมชาติที่ความเฟื่องฟูของการลงทุนย่อมต้องฝ่อลงเอง แต่ประสบการณ์ในช่วงทศวรรษ 1930 และ 1970 ชี้ให้เห็นชัดเจนเช่นกันว่า ขั้นตอนของภาวะชะงักงันในคลื่นยาวนั้นไม่ได้ก่อให้เกิด “แรงสะสมที่เหวี่ยงไปในทิศทางตรงกันข้าม” เมื่อใดก็ตามที่แรงนั้นเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากตรรกะภายในของระบบเศรษฐกิจ แต่เกิดขึ้นจากบริบททางประวัติศาสตร์ที่กว้างกว่า ซึ่งโอบล้อมการทำงานของระบบเศรษฐกิจเอาไว้ สงครามโลกครั้งที่สองคือปัจจัยที่ยุติภาวะชะงักงันในช่วงทศวรรษ 1930 เรายังไม่รู้ว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ภาวะชะงักงันในทศวรรษ 1970 และ 1980 ยุติลง—หรือจะยุติลงแบบไหน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘สาทิตย์’ เล่นงานโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง ดึง ‘กฟผ.’ ชี้แจงกรรมาธิการพลังงานฯ Posted: 02 Sep 2012 07:27 AM PDT “สาทิตย์” ดึงกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมฯ ลงพื้นที่ตรัง จัดสัมมนาเมกะโปรเจ็กต์ ชาวบ้านรุมถล่มโรงไฟฟ้าถ่านหินยับ “สาทิตย์” รับปากดึง กฟผ. แจงกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนฯ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 กันยายน 2555 ที่ศาลาประชาคมอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดสัมมนาสัญจร “โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” มีนายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ เป็นประธาน มีนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ โครงการจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองท้องถิ่น นักศึกษา ชาวบ้านอำเภอกันตัง และอำเภอต่างๆ ในจังหวัดตรัง ร่วมประมาณ 150 คน โดยไม่มีตัวแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมสัมมนา ในการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้พูดถึงภาพรวมของแผนพัฒนาภาคใต้ กระบวนการขั้นตอนในการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010 ) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 และโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยผู้เข้าร่วมสัมมนายืนยันว่า ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดตรัง พร้อมกับแสดงท่าทีไม่พอใจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ้างว่าไม่จริงใจและเจตนาปกปิดข้อมูล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง เพื่อร่วมกันเรียนรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงร่วมกัน แต่ปรากฏว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่ได้มาในเวที ทั้งที่สมควรมาให้ข้อมูลด้วยกันทุกฝ่าย นายสาทิตย์ กล่าวต่อที่สัมมนาว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ตนพร้อมเป็นคนกลางประสานให้มีเวทีเรียนรู้แบบนี้อีก และตนจะเสนอเข้าคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อต้องการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยร่วมชี้แจง ไม่ใช่ปกปิดข้อมูลกับชาวบ้าน โดยจะเชิญชาวบ้าน และนักวิชาการร่วมให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสข้างหน้า นายชวการ โชคดำลีลา หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ เนื่องจากเป็นงานของกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เรื่องพลังงาน จึงไม่เกี่ยวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ส.ค. - 1 ก.ย. 2555 Posted: 02 Sep 2012 05:52 AM PDT เสวนาแรงงานชี้สิทธิแรงงานยังล้าหลังอัดนักการเมืองยังมึนเรื่องรัฐสวัสดิการ 26 ส.ค. 55 - ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง“ประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อคนทำงานทุกกลุ่ม อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม” มีผู้เข้าร่วมเสวนาอาทิ เช่น น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์ นักวิชาการด้านแรงงานและกรรมการมูลนิธิคม จันทรวิทุร โดยมี นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดำเนินรายการ น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า โครงสร้างการบริหารของกองทุนประกันสังคมถูกแทรกแซงโดยง่ายจากฝ่ายต่างๆที่ เกี่ยวข้องในหลายรูปแบบ ในอนาคตจะกระทบกับสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ กองทุนชราภาพ ซึ่งจะกระทบกับลูกจ้างมาก ทั้งนี้เราจะสามารถทราบได้ว่านายจ้างไม่นำเงินเข้าสมทบในกองทุนประกันสังคม เมื่อมีการไปใช้สวัสดิการที่โรงพยาบาล เรื่องนี้น่าวิตกเป็นอย่างมาก "อีกทั้งมีการนำเงินกองทุนฯจำนวนหลายร้อยล้านบาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ 23 ปีที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ยังล้าหลัง ทำให้ผู้ประกันตนอยากถอนตัวออกจากประกันสังคมมากขึ้น และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสมาชิก 1.2 ล้านคน แต่มีผู้บริหารมืออาชีพที่มาจากการสรรหามืออาชีพเข้ามาบริหาร ต่างจากกองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคนแต่ไม่มีผู้บริหารมืออาชีพเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นข้าราชการเข้า มาบริหาร" ขอเสนอแนะให้การบริหารในกองทุนฯมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ด้านนางสุจิน กล่าวว่า เห็นด้วยที่สิทธิประโยชน์ของกองทุนฯจะสามารถเข้าถึงทุกภาคส่วน เป็นอิสระในการจัดการ เนื่องจากที่ผ่านมาเรารับรู้มาตลอดว่ามีการจัดการที่ไม่โปร่งใส ขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบควรมีตัวแทนเข้ามาบริหารจัดการเงินกองทุนด้วย และเห็นว่าสิทธิประโยชน์ในส่วนของแรงงานนอกระบบมีสิทธิประโยชน์น้อยไม่มีแรง จูงใจ "ที่ผ่านมาการเข้าถึงสวัสดิการประกันสังคมมีความยากลำบากมาก ส่งเงินประกันรายปี ปีละ3,600 บาท แต่มีสิทธิประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือคลอดบุตร เสียชีวิต และทุพพลภาพเท่านั้น แรงงานนอกระบบยังไม่มีสิทธิประโยชน์เป็นที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับแรง งานในระบบ " น.ส.วิไลวรรณ กล่าว ด้านนายโกวิทย์ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วเราต้องตั้งคำถามว่าเราต้องการอะไรจากประกันสังคม ที่ผ่านมาสามารถตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงานหรือไม่ กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่มีงบประมาณกว่า 9 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมามีสมาชิกเข้าไปมีส่วนในการบริหารหรือไม่ แม้จะปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคมแบบดีที่สุดแต่เห็นว่าผู้ใช้แรงงานจะมี ชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ จึงเห็นว่าอย่ามองเห็นแค่องค์ประกอบเดียว "ทั้งนี้ควรมีการผลักดันนโยบายด้านประชาสังคมที่ยั่งยืน ที่ไม่ใช่เป็นรูปแบบประชานิยมเพื่อร่วมกับพ.ร.บ.ประกันสังคม ทุกวันนี้มีสวัสดิการต่างๆในประเทศ แต่ไม่เชื่อมั่นว่านักการเมืองจะเข้าใจคำว่าสวัสดิการสังคม ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ระบบสวัสดิการไม่ใช่เป็นเรื่องฝ่ายซ้ายหรือขวา แต่เป็นเรื่องการกระจายทรัพยากรเข้าถึงประชาชน"นายโกวิทย์ กล่าว (เดลินิวส์, 26-8-2555) อัตราว่างงานไตรมาส 2 พุ่งกว่า 3 แสนคน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 55 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานความเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงไตรมาสสอง ปี 2555 โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การจ้างงานและรายได้ช่วงไตรมาสสอง ปี 2555 พบ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 โดยมีจำนวน 334,121 คน สูงกว่าอัตราการการว่างงาน ร้อยละ 0.6 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งการว่างงานที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจาก ปัจจัยด้านการผลิตกำลังคน เพราะแรงงานคนมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 521,199 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และกำลังแรงงานรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 นายอาคม กล่าวว่า ความต้องการของตลาดการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 แต่ช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงาน เพราะการลงทุนและการผลิตยังไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ เป็นผลจากผลกระทบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้บางกิจการต้องปิดตัวลงและบางกิจการยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้ยูโร ซึ่งแรงงานที่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามีอัตราการว่างงานต่ำ เพียงร้อยละ 0.3 แต่กลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 จาก 0.7 ระดับอาชีวศึกษา 1.2 จาก 0.9 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2.1 จาก 1.4 และระดับอุดมศึกษา 1.9 จาก 1.0 ในไตรมาสสองของปี 2554 โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน "ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจและพาณิชยศาสตร์ มีการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 2.1 ระดับ ปวส.ร้อยละ 1.8 ซึ่งสาขาที่มีปัญหาการผลิตเกินความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548-2554 คือ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ ร้อยละ 4.4 และมนุษยศาสตร์ ร้อยละ 2.4 นอกจากนี้ยังมีการว่างงานในสาขาคอมพิวเตอร์ ระดับ ปวช.ร้อยละ 6.0 ระดับ ปวส.ร้อยละ 4.3 และระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 4.8" นายอาคม กล่าวต่อว่า รายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้น โดยค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ ตอบแทนอื่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 ตามการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ทำให้ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ด้าน นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การติดตามสถานการณ์การเฝ้าระวังด้านการว่างงานในระยะสั้นนั้น ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยเริ่มส่งสัญญาณการเฝ้าระวังสถานการณ์ว่างงานที่อาจ เพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยไตรมาสสองลดลงร้อยละ 1.2 และจำนวนผู้ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงขึ้นไปลดลงร้อยละ 0.7 โดยผู้ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.2 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้แก่ แรงงานผลิตเพื่อส่งออก แรงงานในภาคบริการท่องเที่ยว และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในยุโรป นางสุวรรณี กล่าวอีกว่า ในระยะยาวปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการพัฒนาของประเทศและ คุณภาพชีวิตของแรงงาน ที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ กลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-39 ปี แต่มีการศึกษาต่ำ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดในการผลักดันการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อทดแทนกำลังแรง งานที่จะน้อยลงในเชิงปริมาณภายใต้โครงสร้างประชากรสูงอายุ และปัญหาแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุมากแต่ระดับการศึกษาต่ำซึ่งส่วนมากทำ งานนอกระบบ จึงเป็นข้อจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถและการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นทักษะการทำงานที่สำคัญในอนาคต อาจส่งผลต่อการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้และความสามารถในการเก็บ ออม "สำหรับด้านการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีความเสียเปรียบในด้านภาษาอังกฤษและความหลากหลายของภาษาทีใช้ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับต่ำมาก การจัดอันดับของ English Proficiency Index (EPI) ใน 42 ประเทศ จึงต้องเร่งให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ประชาชนสามารถสื่อสารได้ นอกจากนี้การพัฒนาภาษามลายูกลาง ก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกันเพราะใช้สื่อสารกับประชากรครึ่งหนึ่งของประชาคมอา เซียน" ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย พบเยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 250,000 คน จากข้อมูลศูนย์วิจัยสุราในปี 2554 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มแอลกฮอล์มากถึง 17 ล้านคน ส่วนข้อมูลสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลก ปี 2552-2554 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 14.3 ล้านคน เป็น 14.6 ล้านคน ซึ่งช่วงอายุ 14-24 มีอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 14.8 นอกจากนี้ผลสำรวจการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของกรมสุขภาพจิต พบว่า เด็กและเยาวชนมีความฉลาดทางอารมณ์ลดลง ในปี 2554 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขาดความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น นางสุวรรณี กล่าวอีกว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.6 เป็นผลมาจากภัยคุกคามเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส 71 ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 7 ล้านคน ของสถาบันรามจิตติ ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2555 พบว่า เด็ก 1 ล้านคน มีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดโดยไม่รู้สาเหตุ เด็กร้อยละ 50 มีความสุขในการไปเรียนลดลง ด้านคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสอง ปี 2554 และไตรมาสหนึ่ง ปี 2555 ร้อยละ 30.9 และ 14.0 โดยในขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ต้องจับตาด้านการค้า มนุษย์เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน (คมชัดลึก, 27-8-2555) ประกันสังคมจ่อรณรงค์ผู้ประกันตนให้ครบเป้า นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ มีสวัสดิการด้านการประกันสังคมเพื่อความมั่นคงของชีวิต จึงจัดหน่วยเคลื่อนที่ร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชน ทำการประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจ และรับสมัครแรงงานเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายรับสมัครผู้ประกันตน จำนวน 1,200,000 คน ภายในเดือน ก.ย. 2555 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ประกันตนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นับจากวันที่ 1 พ.ค. 2554-21 ส.ค. 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,006,859 คน อย่างไรก็ตาม ทิศทางการดำเนินงานหลังจากนี้ สำนักงานประกันสังคมจะรณรงค์ให้ขึ้นทะเบียนเป็นไปตามเป้าหมาย เพิ่มช่องทางชำระเงินในพื้นที่ห่างไกล และขอให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนผู้ประกันตน รวมทั้ง ร่วมจ่ายเงินสมทบได้ตามกฎหมายด้วย (ไอเอ็นเอ็น, 27-8-2555) แรงงานอุตฯขาดอื้อ ศธ.เร่งผลิตคนสายอาชีพรองรับ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงแรงงาน (รง.) และ ศธ.ไปทำแผนกำลังคนรองรับการขยายการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมี ความโดดเด่น พร้อมทำแผนกำลังคนรองรับการขยายการคมนาคมทางบก โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมต่อภายในประเทศและเชื่อม ต่อกับประเทศในประชาคมอาเซียนนั้น ในส่วน ศธ.ซึ่งรับผิดชอบการเตรียมกำลังคนในระบบสถานศึกษา กำลังเร่งมือสำรวจและจัดทำแผนกำลังคนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปริญญาตรี ระยะ 10 ปี (2555-2565 ) ในสาขาหลัก 3 สาขาที่เกี่ยวกับการขยายการลงทุนและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยตรง ได้แก่ สาขายานยนต์และชิ้นส่วน, สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาช่างก่อสร้าง/ช่างสำรวจ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-8-2555) ธปท.แพ้คดีพนักงานเกษียณฟ้อง จ่อสูญพันล้าน รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้ตัดสินให้ ธปท. จ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตพนักงานธปท.ที่ยื่นฟ้องธปท.กรณีให้ออกจากงานเนื่อง จากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยศาลฯ ตัดสินให้ธปท.จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 300 วัน(10เดือน) ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายก่อนครบเกษียณอายุ ให้กับอดีตพนักงานธปท.ทุกคนที่ยื่นฟ้อง นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ ธปท. จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ของจำนวนเงินที่ผู้ฟ้องคดีแต่ละคนจะได้รับ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22พ.ย.2551 เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ฟ้องคดีในครั้งนี้มีจำนวน 28 คน แต่ได้ถอนฟ้องออกไป 1 คน เหลือผู้ฟ้องจำนวน 27 คน ทั้งหมดเป็นผู้ที่เกษียณอายุงานในปี 2551 ซึ่งในจำนวนผู้ฟ้องทั้งหมดนี้ ศาลปกครองกลางตัดสินให้ ธปท.จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินรวมประมาณ 21.77 ล้านบาท สำหรับคดีฟ้องร้องนี้ สืบเนื่องจากอดีตพนักงานธปท.ได้ยื่นฟ้อง ธปท. รวมไปถึง คณะกรรมการธปท. และ ผู้ว่าการธปท. เพื่อให้จ่ายค่าชดเชยกรณีการเกษียณอายุงาน ตามมาตรา118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดไว้ว่าผู้ที่ทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปต้องได้รับค่าชดเชยในการ เกษียณอายุงานไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ธปท. ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้จ่ายค่าตอบแทนในรูปของเงินบำเหน็จบำนาญ และระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานที่เกษียณอายุงานเหล่านี้อยู่แล้ว โดยมูลค่าการจ่ายชดเชยก็มีมูลค่าที่สูงกว่าค่าชดเชยที่อดีตพนักงานธปท.เหล่า นี้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง รายงานข่าวระบุว่า ธปท.ได้จ่ายค่าชดเชยในระบบบำเหน็จ บำนาญ ให้กับพนักงานที่ได้รับการบรรจุก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2539 ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธปท. โดยในส่วนบำเหน็จจ่ายเป็นเงินครั้งเดียวเมื่อออกจากงานซึ่งคำนวณจากเงิน เดือนสุดท้ายคูณเวลาทำงาน ขณะที่บำนาญเป็นเงินที่ธปท.จ่ายให้พนักงานเป็นรายเดือนหลังออกจากงาน ซึ่งคำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงานหารด้วย 50 หรือ 55 แล้วแต่กรณี ส่วนระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น สำหรับพนักงานที่บรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2539 เป็นต้นไป และพนักงานที่ได้รับการบรรจุก่อนวันดังกล่าว ซึ่งสมัครใจเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยธปท.ได้จ่ายเงินสมทบเป็นรายเดือนเข้ากองทุนให้แก่พนักงานที่เป็นสมาชิกใน อัตรา12%ของเงินเดือน ซึ่งสมาชิกมีสิทธิได้เงินสมทบรายเดือนที่พนักงานผู้นั้นพึงได้จาก ธปท.ในแต่ละเดือน โดยที่สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสมทบรายเดือนและผลประโยชน์ดังกล่าวทั้งจำนวน ตามหลักเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลาง มีความเห็นว่า การจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 5 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติเอาไว้ว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เป็นเงินที่นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้นผู้ถูกฟ้องจึงมีหน้าที่ต้องจัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้ พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนกรณีพ้นจากตำแหน่งและออกจาก งานไม่น้อยกว่าที่กำหนดในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รายงานข่าวระบุด้วยว่า ศาลปกครองได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องมีสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเดียวกันกับค่าชดเชยจำนวน 300 วันของค่าจ้างอัตราสุดท้ายก่อนครบเกษียณอายุ ตามมาตรา118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี2541 แหล่งข่าวอดีตพนักงานธปท.รายหนึ่ง กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานเหล่านี้ตัดสินใจยื่นฟ้องร้องธปท.ต่อศาลปกครองเพราะเห็นว่า บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ก็มีการจ่ายค่าชดเชยในลักษณะนี้ให้กับ พนักงานที่เกษียณอายุงาน ขณะที่หน่วยงานธปท.เองก็เป็นองค์กรในลักษณะเดียวกับรัฐวิสาหกิจดังนั้นจึง ควรต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตพนักงานเหล่านี้ด้วย สำหรับคำตัดสินของศาลปกครองในครั้งนี้ น่าจะเป็นบรรทัดฐานให้อดีตพนักงานเกษียณอายุคนอื่นๆ ด้วย เพราะนอกจากมีชุดที่ยื่นฟ้องธปท.จำนวน 27 คนนี้แล้ว ยังมีชุดอื่นๆ ที่ยื่นฟ้องไปและอยู่ระหว่างรอคำตัดสินของศาลปกครองอีกจำนวนมาก และเชื่อว่าคำตัดสินของคดีความชุดที่เหลือน่าจะออกมาในลักษณะเดียวกันนี้ "คำตัดสินของศาลปกครองกลางที่ออกมา ก็คงทำให้พนักงานที่เกษียณอายุได้รับค่าชดเชยเหมือนกันหมด เพราะถ้าใครยื่นฟ้องก็ชนะอยู่ดี ดังนั้นธปท.น่าจะออกประกาศจ่ายชดเชยให้ไปเลย โดยชุดที่ศาลตัดสินมาแล้วเป็นเพียงชุดของอดีตพนักงานที่ยื่นเกษียณในปี 2551 แต่ยังมีชุดของปีอื่นๆ ทั้งปี 2552-2554 ยื่นฟ้องไปอีกจำนวนมาก และเชื่อว่าพนักงานที่จะเกษียณในปีนี้ก็คงมียื่นฟ้องด้วยเช่นกัน"แหล่ง ข่าวกล่าว เขากล่าวว่า กรณีนี้น่าจะทำให้ ธปท. ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนมาก คาดว่าไม่น่าต่ำกว่า 1 พันล้านบาท เพราะแต่ละปีมีพนักงานเกษียณราว 100-200 คน ยิ่งในระดับผู้บริหารแล้ว แต่ละคนมีเงินเดือนค่อนข้างสูง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธปท. งวดปี 2554 พบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2554 ในการดำเนินกิจการตามปกติ ธปท.ถูกฟ้องร้องเป็นทุนทรัพย์รวม 5,214.6 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบผลของคดี และจากการคาดการณ์เมื่อคดีถึงที่สุดความเสียหายซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ถูกฟ้อง ร้องน่าจะไม่มีผลกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ของธปท. นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธปท. กล่าวว่า คดีความในเรื่องนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุด เพราะธปท.ได้ยื่นอุธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ, 27-8-2555)
ครูอัตราจ้างโวยรัฐลอยแพครูทั่วประเทศกว่า 3 พัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมหอสมุด 33 ปี พนมไพรวิทยาคาร อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด แกนนำครูอัตราจ้างสายวิทยาศาสตร์และสายคณิตศาสตร์ จำนวน 30 คนจาก 20 จังหวัดภาคอีสาน จัดประชุมหาทางออก สรุปปัญหาความเดือดร้อนและสรุปข้อเรียกร้องเพื่อยื่นผ่านสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาร้อยเอ็ด และ นางเอมอร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดเขต 5 ร้อยเอ็ด อดีตข้าราชการครู เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาทบทวนคำสั่งหลังจากที่ก่อนหน้านั้น มีคำสั่งให้ยกเลิกการจ้างครูอัตราจ้างสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั่ว ประเทศ 3,323 คน เพราะไม่จัดสรรงบประมาณให้ทุกพื้นที่จ้างต่อหลังจากที่มีการดำเนินการมาครบ 3 ปี ทำให้ทุกคนได้รับความเดือดร้อน จากการเลิกจ้างของรัฐบาล นายอมรัตน์ ทองสาดี ประธานชมรมครูอัตราจ้าง สพฐ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ครูตามโครงการดังกล่าวมีการทำสัญญาด้วยงบไทยเข้มแข็ง 2 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2552 โดยมีการจ้างอยู่ 2 กลุ่มคือ ครูจ้างตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ จำนวน 5,290 อัตรา ครูจ้างโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3,323 อัตรา ซึ่งจะหมดสัญญาจ้างสิ้นเดือนกันยายน 2555 นี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ครูอัตราจ้างเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนครูประจำการทั่วไป มีภาระรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนและงานอื่นๆที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนโรงเรียนและชุมชน จากแนวโน้มที่รัฐบาลจะหยุดจ้างในครั้งนี้ ทำให้ครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ มีผลกระทบทางจิตใจ และครอบครัวเป็นอย่างมากเพราะอาศัยรายได้จากเงินเดือนครูอัตราจ้างเดือนละ 9,140 บาท เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยไม่ได้ปรับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาตรี เป็น 15,000 บาทแต่อย่างใด แต่ก็ยังต่อสู้ทำหน้าที่ด้วยดี หลังจากหมดสัญญาจ้าง ตนได้ยื่นเรื่องราวผ่านสำนักงานเขตการศึกษาให้มีการจ้างต่อ แต่กลับไม่ให้คำตอบและโยนความรับผิดชอบไปยัง นายไกร เกษทัน ผอ.สำนัดพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวง ศึกษาธิการ แต่เมื่อตนไปยิ่นข้อเรียกร้อง กลับโยนเรื่องกลับมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัด และในที่สุดกลับมีมติเลิกจ้าง พวกตนจึงเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาให้คำตอบ และแสดงความรับผิดชอบ หลังจากการประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า ทางชมรมครูอัตราจ้างจึงสรุปข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล ผ่านนายสมาน รัญระนา เลขานุการของ นางเอมอร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย ที่เป็นอดีตข้าราชการครู เพื่อเสนอให้กระทรวงศึกษาและรัฐบาล ทบทวนการเลิกจ้าง และพร้อมกันนั้น ยื่นเงื่อนไข ขอให้ปรับเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท และเมื่อครบกำหนดจ้างต่อ 3 ปีแล้วขอ ให้ปรับเป็นพนักงานราชการ และเมื่อเป็นพนักงานราชการครบ 5 ปีแล้ว ก็ขอให้ปรับเป็นครูผู้ช่วยต่อไป และหากยังยื่นผ่านสส.แล้วไม่มีความ ชัดเจน และไม่มีการทบทวนก็จะมีการขับเคลื่อนรวมตัวกันทั้งประเทศเดินทางเข้าพบ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ช่วยเหลือต่อไป (เนชั่นทันข่าว, 27-8-2555) สปส.สั่งเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการหลังพบ จนท.ทุจริต นายจิรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่กองคลัง ซึ่งเป็นลูกจ้างของ สปส.ทุจริตการเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการบำนาญ ว่ามีผู้ถูกปลอมแปลงเอกสารการเบิกค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าเอ็กซ์เรย์ จากสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในปี 2554 จำนวน 24 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600,000 บาท ซึ่งพฤติกรรมการทุจริตพบเป็นการกระทำเพียงคนเดียวด้วยการนำเอกสารขอเบิกค่า รักษาพยาบาลของ ข้าราชการบำนาญที่เซ็นมอบอำนาจไว้ไปเพิ่มจำนวนเงิน แล้วค่อยนำเงินไปให้กับผู้ขอเบิกตามจำนวนที่ขอเบิกไว้ เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาช่อโกงและยักยอกทรัพย์แล้ว ส่วนการดำเนินการทางวินัยจะต้องรอผลการสอบสวนเสร็จสิ้นซึ่งจะต้องใช้เวลา เพราะจะต้องสอบสวนย้อนไปถึงปี2553 ว่ามีการทุจริตด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเปลี่ยนการจ่ายเงินเป็นทาง บัญชีให้กับผู้ขอเบิกโดยตรงเพื่อป้องกันการทุจริตในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ประกันตนวางใจได้เพราะเงินที่ถูกทุจริตเป็นเงินในส่วนของงบประมาณ ราชการไม่ใช่เงินในกองทุนประกันสังคมและที่สำคัญการใช้สิทธิ์ ในกองทุนประกันสังคมของเจ้าหน้าที่นั้นใช้ระบบเดียวกับผู้ประกันตนไม่สามารถ นำมาเบิกจ่ายได้ (เนชั่นทันข่าว, 27-8-2555) ครม.แถลงปัญหา "คนตกงาน-เด็กติดยา" น่าห่วง 28 ส.ค. 55 - น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมนายกฯ ให้เลขาธิการสภาพัฒน์แจ้งครม.ทราบถึงรายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2 ของปี 2555 ซึ่งจำนวนการว่างงานเพิ่มขึ้นตามกำลังแรงงานที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และตามสาขาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เฉลี่ยรายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจำแนกได้ดังนี้ อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 หรือเท่ากับ 334,121 คน ซึ่งสูงกว่าอัตราว่างงานที่ผ่านมาคือร้อยละ 0.6 ในช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว การว่างงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น มาก มีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 คน กำลังแรงงานรวมทั้งหมดก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 แต่ความต้องการของตลาดการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ช้ากว่าการเพิ่มของกำลังแรงงาน เพราะการลงทุนและการผลิตยังไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ น.ส.ศันสนีย์กล่าวอีกว่า แรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่า มีอัตราว่างงานต่ำเพียงร้อยละ 0.3 กลุ่มที่อัตราว่างงานสูงเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่ 2 ได้แก่ ม.ต้น อาชีวะ ปกศ. และอุดมศึกษา การว่างงานรายสาขาศึกษาสะท้อนปัญหาความต้องการในตลาดและปัญหาการผลิตกำลังคน เกินความต้องการในหลายสาขาที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง การว่างงานสำหรับคนจบสาขาธุรกิจ บริหาร พาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของการศึกษา มีข้อมูลว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนไทยเสียเปรียบด้านภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นประเทศที่มีทักษะระดับต่ำมาก และต้องถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องจริงจังต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะภาษา อังกฤษให้ประชาชน ด้านสุขภาพก็น่าเป็นห่วง เพราะเด็กและเยาวชนไทย 1 ล้านคนมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 7 ล้านคนตั้งแต่ม.ค.-ก.พ. 2555 พบเด็ก 1 ล้านคนมีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดโดยไม่รู้สาเหตุ และเด็กร้อยละ 50 มีอาการเครียด มีความสุขในการไปโรงเรียนลดลง โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า เยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่าปีละ 2.5 แสนคน คนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่เกือบ 15 ล้านคน เด็กและเยาวชนมีความฉลาดและวุฒิภาวะทางอารมณ์น้อยลง ส่งผลให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมมากขึ้น ด้านความมั่นคงทางสังคมยาเสพติดยังคงรุนแรง เฝ้าระวังยากขึ้น และไทยยังถูกจัดอันดับเป็นประเทศต้องจับตามองเรื่องค้ามนุษย์เป็นปีที่ 3 ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ โฆษกรัฐบาลกล่าวด้วยว่า นายกฯ สั่งทุกกระทรวงรวบรวมปัญหาด้านสังคมที่พบส่งมาสภาพัฒน์เพื่อให้มีแนวทาง พัฒนาเยาวชนอย่างไร โดยฝากกระทรวงศึกษาฯ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ซึ่งดูแลตำรวจ ช่วยเฝ้าระวังและจัดการสิ่งมอมเมาทั้งหลาย (ข่าวสด, 28-8-2555) ทีดีอาร์ไอชี้ค่าจ้าง 300 กระทบธุรกิจต้องลดคน ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงสถานการ์ณแรงงานในปัจจุบันที่ตัวเลขอัตราการว่างงานที่พุ่งสูง ขึ้นกว่า0.2%จนไปแตะระดับที่0.85%เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปตามที่ได้คาดหมายไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ กองทุนช่วยเหลือต่างๆของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาในช่วงหลังน้ำท่วมตั้งแต่ช่วง ต้นปี ที่เป็นโครงการช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้างได้สิ้นสุดโครงการหมดแล้ว ทำให้สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขณะนั้นบางส่วนตัดสินใจ ปิดกิจการ เพราะไม่สามารถกู้คืนธุรกิจกลับมาได้ หรือบางแห่งก็ลดขนาดกิจการลงมาให้พอดำเนินธุรกิจไปได้ จึงทำให้มีลูกจ้างส่วนหนึ่งต้องตกงานในช่วงนั้น ซึ่งแรงงานบางคนก็หันไปทำอาชีพอื่น และไม่ยอมกลับเข้าสู่ตลาดงาน ขณะที่บางคนก็อยู่ระหว่างรองานใหม่ หรือเรียกว่าเป็นช่วงการปรับตัวทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ประเด็นต่อมาคือปัจจัยที่มาจากการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวัน ละ300บาท ที่ส่งผลให้่มีผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ โดยการปรับโครงสร้างภายใน เช่น ปรับปรุงในส่วนของผลิตภาพแรงงานให้ดีขึ้น หมายถึงแรงงานหนึ่งคนต้องสามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นเพื่อให้คุ้มกับค่า จ้างที่สูงขึ้น และลดต้นทุนด้านอื่นๆ ขณะที่บางส่วนที่มีเงินทุนสำรองเยอะก็ลงทุนซื้อเครื่องจักรเข้ามาทดเแทนแรง งาน เพื่อชดเชยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องชะลอการจ้างงานใหม่ สุดท้ายคือกลุ่มผู้ประกอบการปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีลดคนงานลงโดยจ่ายเงินชดเชยแล้วให้ออกจากงานไปก่อน นอกจากนี้ ปัจจัยจากยอดตกค้างของนักศึกษาจบใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางปีอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถเข้าสู่ตลาดงานได้ จากปัญหาภาวะการจ้างงานชะลอตัว ไม่สามารถดูดซับแรงงานใหม่เหล่านี้ได้ บวกกับสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ที่ยังไม่ค่อยสดใสสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่มาจากปัญหาวิกฤติยูโรโซน ที่ส่งผลกระทบธุรกิจภาคการส่งออกให้ชะลอตัว จนกระทบไปถึงการจ้างแรงงานในกลุ่มนี้ แม้จะยังไม่มีการปลดคนงานออกชัดเจน แต่ก็มีบางแห่งมีการลดเวลาทำงานลง ลดค่าโอที และสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งทำให้แรงงานเริ่มเปลี่ยนงาน และบางส่วนอยู่ระหว่างรองานใหม่มากขึ้น "เป็นผลกระทบในระยะสั้น คนที่เคยจ้างก็จะไม่จ้าง ฟรีซหมด ตำแหน่งใหม่เพิ่มเข้าไปแทนเท่าที่จำเป็น ทุกๆปีจะมีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 2.5% ของปริมาณแรงงาน ปัญหาคือถ้ามีคนเก่าหายไปและไม่รับคนใหม่เข้ามาจะทำอย่างไร ถ้าดูผลกระทบก็ต้องดูระยะยาว เพราะตลาดแรงงานยังขาดคนงานหลายแสนคน" ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นวิกฤต แม้ตัวเลขว่างงานจะพุ่งขึ้นกว่า 3.3 แสนคน จากเดิม 2 .8แสนคน ทว่าความต้องการแรงงานยังมีถึงกว่า 2.5 แสนคน ซึ่งไม่น่าวิตกมากนัก แต่ปัญหาคือ 70% ของผู้ว่างงานไม่ยอมทำงานหรือหางานทำ เราจึงมีภาวะแรงงานตึงตัว ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และส่งออก ที่ยังคงใช้แรงงานเข้มข้นน่าเป็นห่วงมาก และที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่3-4 นี้เป็นช่วงที่แรงงานจะกลับเข้าสู่ตลาดงานจำนวนมากอีกครั้ง จึงมองว่าภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ต้องเร่งหาวิธีที่จะดึงหรือแมชชิ่งแรงงานกลุ่มนี้กลับมาสู่ระบบให้มากที่สุด การเกลี่ยแรงงานจากอุตสาหกรรมที่เลิกจ้างไปยังอุตสาหกรรมที่ยังต้องการแรง งานสูง เช่น การจัดโครงการนัดพบแรงงาน การให้ข้อมูลเรื่องตำแหน่งงานค่าจ้างให้ชัดเจน และการทำประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ตลอดจนการสร้างแรงงานจูงใจให้เห็นคุณค่าของการทำงาน ที่ต้องทำให้ครบวงจร ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตียว คณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ (คสรส) กล่าวว่า จากข้อมูลในพื้นที่ ไม่พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้าง หลังจากที่ปรับค่าจ้าง 300 บาทเพิ่มขึ้นโดยจะพบก่อนหน้าเดือนเมษายนที่ปรับขึ้นค่าจ้างซึ่งมีย้านฐานการ ผลิตไปบ้าง แต่ภาวะช่วงนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องเลิกจ้างมีเพียงเรื่องของนาย จ้างที่ปรับค่าสวัสดิการไปเป็นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้นแต่ข้อมูลการเลิกจ้าง จากเอสเอ็มอีอาจจะมีบ้างซึ่งในเรื่องนี้คสรส.ไม่มมีข้อมูลชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายงานจากสภาพัฒน์ฯจะมีอัตราว่างงานไม่สู้งมากนัก แตนางวิไลวรรณ บอกว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องเขจ้ามาดูแลและตรวจสอบตัวเลขการว่างงานอย่างถูกต้อง แม้จะอัตราว่างงานไม่มากแต่ก็ถือว่าเริ่มส่งสัญญาณอันตราย ที่จะต้องเร่งเข้ามาดูแลเพื่อหามาตรการแก้ไขในอนาคตไม่ให้ตัวเลขตกงานมาก ขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ, 28-8-2555) กระทรวงแรงงานเชิญสตรี 10 ประเทศอาเซียน หารือการพัฒนาสินค้าชุมชน
นางนฤมล ธารดำรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับบทบาทสตรี ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และกระทรวงแรงงาน มีนโยบายเพิ่มทักษะฝีมือให้สตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าพื้นบ้านหรือโอทอป ให้มีความรู้ด้านการขาย เพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ ยอมรับว่า การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แรงงานกลุ่มสตรีต้องเร่งพัฒนาด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาที่ 3 ในกลุ่มอาเซียน ในการติดต่อสื่อสารสู่ตลาดอาเซียน และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ล่าสุดกระทรวงแรงงาน ได้จัดสัมมนาโครงการพัฒนาฝีมือสตรีอาเซียน ซึ่งมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 30 คน สำหรับสาระการสัมมนาจะครอบคลุมการพัฒนากลุ่มสตรีประเทศอาเซียนให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยจะนำผลสรุปการสัมมนา เสนอที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียน ด้านสตรี นำไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาบทบาทสตรีในประเทศไทย เพื่อรองรับการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 29-8-2555)
ก.แรงงานตีปี๊บสมัครทำงานเกาหลี กระทรวงแรงงาน - นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คณะอนุกรรมการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ เปิดรับสมัครคนหางานไม่จำกัดเพศและวุฒิการศึกษา (ยกเว้นงานก่อสร้างรับเฉพาะเพศชาย) อายุ 18-39 ปี เพื่อไปทำงานตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ ครั้งที่ 13 ใน 3 ประเภทงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต 7,000 คน งานเกษตรและเลี้ยงสัตว์ 500 คน งานก่อสร้าง 200 คน รวมทั้งสิ้น 7,700 คน โดยผู้ผ่านการทดสอบภาษาและได้รับการคัดเลือก จะได้รับค่าจ้างมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของประเทศเกาหลี สำหรับการสอบเกือบทุกขั้นตอนดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกาหลี ผู้สอบต้องชำระค่าธรรมเนียมการทดสอบให้กับหน่วยงานดังกล่าวเป็นเงิน 875 บาท เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 10-14 ก.ย.นี้ ผู้สนใจสมัครได้ที่โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ข้างกระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพฯ สอบถามโทร.0-2245-9429 หรือสายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694 (ข่าวสด, 29-8-2555)
ทปอ.ชงสูตรเพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ทปอ. พิจารณากรณีที่รัฐบาลให้เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งมีผลต่อพนักงานมหาวิทยาลัยที่เพิ่งบรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 ที่ผ่านมา ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุก่อนหน้านั้น หรือผู้ที่ทำงานมาแล้ว 1 ปีขึ้นไป จะพบว่าบางส่วนได้รับเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานใหม่ หรือมีช่องว่างห่างกันไม่มากนัก ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทปอ. จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตรคิดสูตรในการขึ้นเงินเดือนพนักงานที่บรรจุก่อนวันที่ 1 ม.ค. 55 ซึ่งสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางต้องการให้มหาวิทยาลัยมีสูตรกลางในการ คำนวณ หากให้แต่ละมหาวิทยาลัยเสนอก็จะเกิดความแตกต่างกัน ดังนั้น ในการประชุม ทปอ. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ทปอ. มีมติเห็นชอบตามสูตรที่ มศว เสนอ เป็นสูตรกลางเพื่อของบประมาณปี 2556 มาจัดสรรให้มหาวิทยาลัยต่างๆต่อไป ด้าน ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว กล่าวว่า มศว คิดสูตรคำนวณการเพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยกลุ่มพนักงานที่ทำงานไม่เกิน 10 ปี ที่ยังได้เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ก็ให้ปรับให้ได้ 15,000 บาทก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จากนั้นจะเพิ่มเติมตามอายุงานและเบื้องต้นที่มีการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้อง เพิ่มให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยในทุกแห่งประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่เป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงานที่จะทุ่มเททำงานเพื่อสังคม. (ไทยรัฐ, 29-8-2555) เผยยิ่งเรียนสูงยิ่งมีโอกาสตกงานในพะเยามาก เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 ส.ค. ที่ห้องประชุมศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา นายกาบพล เอิบสุขศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียนในปี 2558 แต่ทุกวันนี้การเตรียมการยังไม่เป็นรูปธรรม หรือรูปแบบที่ชัดเจน การประชุมของหลายหน่วยงานที่ผ่านมา ก็เป็นการนำเสนอแนวคิด และประสบการณ์ของกรรมการ แต่ไม่ได้บอกวิธีการที่จะไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจน สถานการณ์ด้านแรงงานยังน่าเป็นห่วง ข้อมูลแรงงานหลายหน่วยงาน ไม่ตรงกัน ดังนั้น การที่จะทำงานให้ได้ผลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคณะทำงานที่มาจากหน่วย งานที่เกี่ยวข้องมาวางแผนร่วมกัน โดยมีหน่วยงานหลักคือกระทรวงแรงงาน สำนักงานจังหวัดและสถิติจังหวัดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ นายชำนาญศิลป์ สุขยิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา รายงานสถิติข้อมูลด้านแรงงานของจังหวัดพะเยา ว่า โอกาสมีงานทำในตลาดแรงงานจังหวัดพะเยายังผกผันกับระดับการศึกษา คือผู้ที่จบการศึกษาไม่เกินระดับประถมศึกษามีอัตราว่างงานร้อยละ 9.18 ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับ ปวช., ปวส.มีอัตราการว่างงานร้อยละ 17.8 ทั้งนี้ เพราะกลุ่มคนระดับนี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก แต่ขณะที่การศึกษาระดับปริญญาตรีกลับมีอัตราการว่างงานสูงถึง 33.57 ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะมีจำนวนมาก แต่ความต้องการของตลาดมีน้อย จึงมีโอกาสตกงานมากกว่า. (ไทยรัฐ, 30-8-2555) อธิบดีจัดหางานสั่งประกาศประเทศที่ห้ามแรงงานทำงาน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานจัดหางานไปต่าง ประเทศ ว่า การประชุมวันนี้(29 ส.ค.)ได้เชิญหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมา ประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลในเรื่องปัญหาการจัดเก็บค่าใช้จ่ายแรงงานใน การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และการป้องกันปัญหาการหลอกลวงแรงงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานในพื้นที่ทราบว่ามีประเทศใด บ้างที่เป็นประเทศต้องห้าม ที่ไม่อนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เช่น ลิเบีย, อเมริกา, แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อป้องกันการหลอกลวงแรงงาน โดยขณะนี้ กกจ.ได้ให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องในการ ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานในพื้นที่ โดยไม่ต้องเดินทางมาแจ้งที่ส่วนกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีบางจังหวัดไม่รับแจ้งจึงทำให้เกิดการร้องเรียน ขึ้น "ขณะนี้ยังคงใช้ระเบียบกระทรวงฉบับเดิมไปก่อน เพราะระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฎหมาย ของกระทรวงแรงงาน กกจ.จึงต้องจัดประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ เกี่ยวกับการใช้ระเบียบกระทรวงฉบับเดิม โดยเฉพาะเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อป้องกันบริษัทจัดหางานใช้ช่องว่างทางกฎหมายเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกิน กว่าที่กฎหมายกำหนด สำหรับระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีการบังคับใช้แล้ว จะเชิญบริษัทจัดหางานที่ส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศมาประชุมอีกครั้ง " อธิบดี กกจ.กล่าว นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินการเอาผิดกับบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรง งานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอลทั้ง 35 แห่ง ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้น ขณะนี้ กกจ.ได้พักใช้ใบอนุญาตกับบริษัทจัดหางานครบทั้ง 35 แห่งแล้ว โดยที่ผ่านมาได้แจ้งความดำเนินคดีกับ 7 บริษัทแรก ส่วนบริษัทจัดหางานอีก 22 บริษัทยังอยู่ในขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายในระยะเวลา 30 วัน สำหรับบริษัทจัดหางานอีก 6 บริษัทสุดท้าย ได้มีการพักใช้ใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการรอยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ในขั้นตอนแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาและดำเนินการเอาผิดต่อไป (เนชั่นทันข่าว, 30-8-2555) โพลเผยอาชีพแรงงาน-เกษตรกร ใช้ยาบ้ามากสุดถึง 1.2 ล้านคน เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง สถานการณ์ปัญหายาเสพติด ผลวิจัยประมาณจำนวนผู้ใช้ยาบ้าในประเทศจำแนกตามกลุ่มอาชีพและผลวิจัยเชิง คุณภาพต่อนโยบายรัฐบาล ว่าด้วยการแก้ปัญหายาเสพติด กรณีศึกษาตัวอย่างเยาวชนและประชาชน อายุ 12–65 ปี ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 48,354,601 คน ดำเนินโครงการระหว่างเดือน มี.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในกลุ่มประชากรกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ มีผู้เคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา 3.7 ล้านคน และผู้เคยใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีก่อนการสำรวจมีอยู่ประมาณเกือบ 3 ล้านคน จึงอาจกล่าวว่าประมาณร้อยละ 80 ของผู้เคยใช้ยาบ้าครั้งหนึ่งในชีวิตยังคงใช้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อจำแนกตามอาชีพในกลุ่มผู้เคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา พบว่าเป็นกลุ่มรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป กลุ่มเกษตรกร ก่อสร้าง ขับรถ และรักษาความปลอดภัย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.2 ล้านคนเคยใช้ยาบ้าตลอดประสบการณ์ชีวิต รองลงมาคือ กลุ่มคนว่างงาน กำลังหางานมีประมาณ 7.9 แสนคน และอันดับสามคือ กลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและลูกจ้างหน่วยงานรัฐมีอยู่ประมาณ 4.8 แสนคน อันดับสี่คือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา มีอยู่ประมาณ 4.5 แสนคน กลุ่มอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัวมีอยู่ประมาณ 2.8 แสนคน กลุ่มรับจ้างที่ต้องใช้ความรู้นอกภาคการเกษตรมีประมาณ 2.1 แสนคน กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนระดับปฏิบัติงานมีอยู่ประมาณ 1.5 แสนคน และกลุ่มอาชีพอิสระมีอยู่ประมาณ 9 หมื่นกว่าคน เมื่อวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้ยาบ้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนของผู้ใช้ยาบ้ากลับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือยังคงมีผู้ใช้ยาบ้าอยู่ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่เคยใช้ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา (ไทยรัฐ, 30-8-2555) นักวิชาการชี้อีก 5 ปีต้องการแรงงานฝีมือทั่วโลกพุ่ง 90 ล้านคน ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงานสัมนาระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา แรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) โดยมีผผู้เข้าร่วมสัมนาจำนวน 120 คนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่าปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานฝีมือกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทั่วโลก กำลังเผชิญอยู่ โดยจากการวิจัยพบว่าในปี 2560 ทั่วโลกจะมีความต้องการแรงงานฝีมือกว่า 93 ล้านคน โดยเป็นการขาดแคลนในประเทศพัฒนาแล้ว 37 ล้านคน และในประเทศกำลังพัฒนาจะมีการจะขาดแคลนถึง 56 ล้านคน ซึ่งการแขดแคลนแรงงานฝีมือถือเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนากำลังมีบทบาทสำคัญในการขับ เคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่จะยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจใน ระยะยาว โดยหากประเทศไทยสามารถพัฒนาทักษะแรงงานให้มีฝีมือตรงความต้องการของตลาดได้ ก็จะเป็นโอกาสของแรงงานไทยในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับสากลได้ง่ายขึ้น สำหรับในประเทศไทยการขาดแคลนแรงงานฝีมือเป็นปัญหาสำคัญ โดยปัจจุบันในอุตสาหกรรมต่างๆยังมีความต้องการมากกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีอัตราว่างงานต่ำเพียง 0.7% แต่การขาดแคลนแรงงานในสาขาที่ผู้ประกอบการมีความต้องการยังมีสูง การแก้ปัญหาก็คือภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อดูความต้องการแรงงานของตลาดในปัจจุบันและ อนาคต เอกชนต้องเป็นผู้เข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยม ศึกษา และอุดมศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ต่างๆ ซึ่งส่วนนี้เอกชนจะมีความได้เปรียบมากกว่าเนื่องจากมีข้อมูลมากกว่าฝ่ายวิชา สถาบันการศึกษาที่มักมีแต่ข้อมูลทางวิชการซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของเอกชน และอุตสาหกรรม "การผลิตบุคลากรและแรงงานออกมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เกิดจากภาคส่วนต่างๆทำงานไม่ประสานกัน ภาคเอกชนก็หันไปแก้ไขด้วยการจัดหลักสูตรอบรมให้กับพนักงานใหม่ ซึ่งเสียเวลาและงบประมาณและเสียโอกาสในการแข่งขันทางที่ดีควรเข้ามามีส่วน ร่วมในการจัดทำหลักสูตรกับสถาบันศึกษาตั้งแต่ต้นก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้" นายเอนก กล่าว ด้านร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสภาพแวดล้อมของโลกและภูมิภาคในปัจจุบันมีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ โดยในส่วนของการพัฒนาฝีมือแรงงานรัฐบาลมีการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆโดย เฉพาะการทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถสร้างแรงงานได้ครงกับ ความต้องการของตลาด ทั้งนี้หลังจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมีผลแล้วจะเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาต่างๆให้มีคุณภาพมาก ขึ้น นอกจากนี้ตนมองว่าแรงงานไทยมีความสามารถสูงและมีความพร้อมในระดับหนึ่ง สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) อย่างไรก็ตาม ทักษะที่ต้องเพิ่มเติมก็คือทักษะเรื่องภาษาและด้านเทคโนโลยีไอซีทีซึ่งจำได้ ประสานงานกับภาคส่วนต่างๆเพื่อจัดการฝึกอบรมต่อไป ด้านนายสมนึก พิมลเสถียร รองประธาน กพร.ปช.กล่าวว่า คณะกรรมการฯอยู่ในระหว่างผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาแรงงานและประสานงานการ ฝึกอาชีพแห่งชาติ โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันยุทธศาตร์ของรัฐบาลในการยกระดับและพัฒนาฝีมือ แรงงาน 5 ประการให้แล้วเสร็จก่อนปี 2558 ที่จะเปิดเออีซี ได้แก่ 1.ยุทธศาตร์ในการยกระดับรายได้แรงงานให้เพิ่มขึ้นตามทักษะฝีมือ ศักยภาพและผลผลิตของแรงงาน 2.เร่งจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนร่วม กับภาคเอกชน 3.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทุกระดับตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 4.เตรียมพร้อมแรงงานไทยให้มีความพร้อมสำหรับผลประโยชน์และลดผลกระทบที่อาจ เกิดขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ5.สร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยในการออกไปทำงานในต่างประเทศ โดยพัฒนาทั้งทักษะอาชีพและทักษะภาษา (กรุงเทพธุรกิจ, 30-8-2555) สปส.เพิ่มค่ารักษาผู้ประกันตน บาดเจ็บจาก "3แสน" เป็น "1ล้าน" เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ครั้งที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บเนื่อง จากการทำงานในกองทุนเงินทดแทนจาก 300,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท โดยจากนี้ไปจะต้องมีการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนเงิน ทดแทน เพื่อให้เห็นชอบอีกครั้ง "หากผู้ประกันตนมีค่าน้ำหนักความรุนแรงของโรค (Relative Weight - RW) เกินกว่าระดับ 20 ขึ้นไป ให้โรงพยาบาลพิจารณาว่าโรคดังกล่าวมีความรุนแรงและให้ส่งเรื่องไปยัง สปส. หลังจากนั้น สปส.จะให้คณะกรรมการการแพทย์นำกรณีของผู้ประกันที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจาก การทำงานไปพิจารณาว่าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนเป็นจำนวนเงิน เท่าใด โดยมีข้อกำหนดว่าต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะพิจารณาค่าใช้จ่ายจำนวน 500,000 บาทแรก โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ส่วนค่าใช้จ่ายจำนวน 500,000 บาทหลัง โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน โดยหลังจากทำการรักษาผู้ประกันตนแล้ว โรงพยาบาลสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกับ สปส.ได้ทันที" นพ.สมเกียรติกล่าว (มติชนออนไลน์, 1-9-2555) สาวท้องร้องขอความเป็นธรรมถูกโรงแรมที่เกาะสมุยให้ออก นางเพชรฤดี เคนนาเมอร์ อายุ 42 ปี ผู้จัดการแผนกสปา ได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่ง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากถูกผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมบอกยกเลิกสัญญาจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผล 3 ข้อว่า หน่วงเหนียวหรืออิดเอือน เถลไถลในการปฎิบัติงาน ไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และประพฤติปฎิบัติตนในลักษณะหยาบโลน หรือผิดวัฒนธรรมประเพณีของการดูแลบริหารจัดการกับลูกค้า โดยนางเพชรฤดี ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองได้ตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน และเตรียมลาคลอดในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ แต่ถูกผู้บริหารของโรงแรมบอกยกเลิกสัญญาก่อนที่จะถึงวันลาคลอด โดยให้เหตุผลที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นความจริง โดยตนเองได้ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้ก็มีพนักงานของโรงแรมที่ตั้งครรภ์ และถูกให้ออกลักษณะนี้มาแล้ว 2 คน และตนเป็นรายที่ 3 ที่ทางผู้บริหารของโรงแรมได้แจ้งความผิดที่ไม่เป็นธรรมและไม่ให้สิทธิ์ลา คลอด และในขณะที่เรียกร้องขอความเป็นธรรมได้มีกลุ่มเพื่อนที่ทำงานด้วยกันออก มาให้กำลังใจ และขอความเป็นธรรมให้กับนางเพชรฤดี ส่วนผู้บริหารของโรงแรมไม่ได้ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด โดยนางเพชรฤดีจะไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-9-2555) ก.แรงงานติวเข้มแกนนำเครือข่ายประกันสังคม-เก็บข้อมูลแก้ปัญหาค่าหัวคนงาน ที่ โรงแรมบ้านเชียง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคม และเจ้าหน้าที่ประกันสังคมที่ทำหน้าที่ขยายการขึ้นเบียนประกันสังคมมาตรา 40 พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานประกันสังคมมาตรา 40 (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-9-2555)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง "เดอะไพเรตเบย์" ถูกรวบแล้วที่พนมเปญ Posted: 02 Sep 2012 04:27 AM PDT Gottfrid Svartholm ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บเดอะไพเรตเบย์ เว็บแชร์ไฟล์ยอดฮิต ถูกจับกุมที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตร.กัมพูชาระบุ เป็นคำขอจากรัฐบาลสวีเดน ชี้แม้ 2 ประเทศ ยังไม่มีสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดน แต่กำลังดู กม.ภายในว่าจะจัดการอย่างไร เว็บ TorrentFreak รายงานว่า Gottfrid Svartholm ชาวสวีเดน วัย 27 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บเดอะไพเรตเบย์ เว็บแชร์ไฟล์ยอดฮิต ถูกจับกุมที่อพาร์ตเมนต์ริมน้ำแห่งหนึ่ง ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (30 ส.ค.) ในปี 2552 ศาลสวีเดนตัดสินว่า เดอะไพเรตเบย์มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ และลงโทษจำคุก 4 ผู้ก่อตั้ง คือ Gottfrid Svartholm, Fredrik Neij, Peter Sunde และ Carl Lundstroem เป็นเวลา 1 ปี พร้อมปรับเป็นเงิน ราว 11.2 ล้านบาท ต่อมา เมื่อปลายปี 2553 ในชั้นอุทธรณ์ ศาลได้ลดโทษ Fredrik Neij, Peter Sunde และ Carl Lundstroem เหลือจำคุก 4-10 เดือน และปรับเป็นเงินราว 21.5 ล้านบาท ส่วน Gottfrid Svartholm ซึ่งไม่ได้มาศาล เนื่องจากอาการเจ็บป่วย ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 1 ปีและปรับเป็นเงินราว 34.3 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในวันที่ต้องมารับโทษเมื่อช่วงต้นปีนี้ (2555) เขาไม่ได้ปรากฏตัว สำหรับการจับกุมตัวดังกล่าว โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา ระบุว่า เป็นคำขอจากรัฐบาลสวีเดน เกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และแม้ว่า กัมพูชาจะยังไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสวีเดน แต่ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบกฎหมายภายในว่าจะจัดการกับกรณีนี้อย่างไร ทั้งนี้ กัมพูชากำลังรอข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมจากทางการสวีเดน ขณะที่ Aftonbladet หนังสือพิมพ์ในสวีเดน รายงานข่าวการจับกุมตัวนี้ด้วย พร้อมระบุว่า ตัวแทนกระทรวงต่างประเทศของสวีเดนออกมายืนยันว่าเพียงว่ามีพลเมืองสวีเดนคนหนึ่งถูกจับที่พนมเปญ โดยระบุว่ามีชายอายุราว 30 ปีถูกจับกุมเนื่องจากอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่เป็นที่ต้องการตัวระหว่างประเทศ อนึ่ง เว็บไซต์เดอะไพเรตเบย์เป็นเว็บไซต์แชร์ไฟล์สัญชาติสวีเดน เปิดให้บริการตั้งแต่พฤศจิกายน 2546 และกล่าวอ้างว่าเป็น "เว็บไซต์บิตทอร์เรนต์แทร็กเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อเล็กซาจัดอันดับให้เดอะไพเรตเบย์เป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับที่ 80 ของโลกและอันดับที่ 14 ของสวีเดน โดยปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่
แปลและเรียบเรียงจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
8 เรื่องน่ารู้ เกร็ดวันแรงงานสหรัฐฯ Posted: 02 Sep 2012 02:19 AM PDT ปีนี้วันที่ 3 ก.ย. ถือเป็นวันแรงงานของสหรัฐฯ ที่จะนับตามวันจันทร์วันแรกของเดือน ก.ย. เว็บไซต์ BusinessNewsDaily ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวธุรกิจได้นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของแรงงานในสหรัฐฯ ที่มาภาพ: Credit: Women at work image via Shutterstock วันที่ 3 ก.ย. 2012 ถือเป็นวันแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งปกติแล้วจะนับตามวันจันทร์วันแรกของเดือน ก.ย. ในปีนี้เว็บไซต์ BusinessNewsDaily ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวธุรกิจได้นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของแรงงานในสหรัฐฯ BusinessNewsDaily กล่าวว่าหากคุณคิดว่าวันแรงงานเป็นแค่การหาข้ออ้างในการเลี้ยงบาร์บีคิวและการฉลองให้การวันสิ้นสุดฤดูร้อน คุณก็คิดผิดแล้ว รากเหง้าของวันแรงงานของสหรัฐฯ คือการเชิดชูผลงานของแรงงาน เกร็ดน่ารู้เกี่ยวแรงงานในสหรัฐฯ 8 ข้อ มีดังนี้ 1. วันแรงงานสหรัฐฯ เดิมทีเป็นการประท้วง ต้นกำเนิดของวันแรงงานสหรัฐฯ ไม่ใช่การเฉลิมฉลอง จริงๆ แล้วการ 'ฉลอง' ให้กับวันแรงงานครั้งแรกในสหรัฐฯ คือการประท้วงของคนงาน 10,000 คน ที่ชุมนุมเดินขบวนมาที่จัตุรัสยูเนียน สแควร์ ในนิวยอร์กซิตี้ เพื่อสนับสนุนแนงคิดเรื่องวันหยุดของแรงงาน จนกระทั่งถึงในปี 1894 หลังจากการประท้วงครั้งนั้น 12 ปี ประธานาธิบดี โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ได้เซ็นลงนามให้วันจันทร์วันแรกของเดือน ก.ย. ของทุกปี เป็นวันแรงงาน ซึ่งหลายรัฐได้ผ่านร่างกฏหมายยอมรับวันแรงงานก่อนหน้านี้แล้ว 2. คนทำงานในสำนักงานน้อยลง จำนวนลูกจ้างที่ทำงานจากบ้านมีเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานในที่ไกลจากสำนักงานทำได้ง่ายขึ้น การสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ในปี 2010 ระบุว่า มีคนราว 5,900,000 คนโดยประมาณที่ทำงานจากที่บ้านในปี 2010 แม้ว่าจำนวนนี้จะคิดเป็นคนในสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนลูกจ้างทั้งหมด แต่ก็มีการประเมินว่าคนกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีกช่วงสองสามปีนี้ ลูกจ้างในสหรัฐฯ มีความอยากทำงานที่บ้านมากถึงขนาดยอมสละบางอย่างได้ ในการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ ลูกจ้างราวร้อยละ 12 บอกว่าพวกเขายอมไม่อาบน้ำเพื่อแลกกับการได้ทำงานที่บ้าน อีกร้อยละ 5 บอกว่าพวกเขายอมหย่ากับคู่ครองเพื่อให้ได้ทำงานที่บ้าน 3. เป็นวันที่คน 155 ล้านคน จะได้เฉลิมฉลอง จำนวนคนงานที่ได้มีวันหยุดในวันแรงงานของสหรัฐฯ มีจำนวน 155,200,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนแรงงานสหรัฐฯ ทั้งหมด จำนวน 155 ล้านคนนี้รวบรวมมาจากข้อมูลของสำนักสถิติแรงงานแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อเดือน มิ.ย. 2012 ซึ่งทำการสำรวจจากจำนวนผู้ใช้แรงงานอายุ 16 ปีขึ้นไป งานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวัดตามการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ในปี 2010 ได้แก่ วิชาชีพครู (3,073.673 คน), ภารโรง (1,445,991 คน) และ คนทำอาหาร (1,051,471 คน) 4. ไม่มีใครทราบว่าผู้ริเริ่มวันหยุดนี้เป็นใคร แม้ว่าจะไม่มีรู้แน่ชัดว่าผู้เริ่มต้นวันแรงงานสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการคือใคร มีอยูสองคนที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ให้เครดิตกับทั้ง ปีเตอร์ เจ แมคไกร์ เลขาธิการภราดรภาพช่างไม้ และผู้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์แรงงานของสหรัฐฯ กับอีกคนคือ แมธธิว มาไกร์ ช่างเครื่องยนต์ ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นเลขาธิการสาขาของสมาคมช่างยนต์ ในเพเตอสัน รัฐนิวเจอร์ซี ว่าทั้งสองคนนี้เป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่องวันแรงงานสหรัฐฯ 5. ความแตกต่างด้านรายได้ยังคงอยู่ แม้ว่าจะมีความพยายามอย่างมากในการทำให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงได้รับเงินค่าตอบแทนเท่ากัน แต่ความต่างก็ยังมีอยู่ ในการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2010 ประชากรชายโดยเฉลี่ยได้รับเงินค่าจ้าง 47,715 ดอลลาร์ (ราว 1,490,000 บาท) ต่อปี ขณะที่ผู้หญิงโดยเฉลี่ยได้รับเงินค่าจ้าง 36,931 ดอลลาร์ (ราว 1,153,000 บาท) ต่อปี 6. คนงาน 'นกตื่นเช้า' คนงานต้องเสียสละอะไรหลายอย่างมากเพื่องาน หนึ่งในสิ่งที่พวกเขาสละมากที่สุดคือตารางเวลานอน สำมะโนประชากรปี 2010 ระบุว่ามีคนงานราว 16,300,000 คน เริ่มออกไปทำงานตั้งแต่ช่วงเวลาระหว่างเที่ยงคืนถึง 5.59 น. คนงาน 'นกตื่นเช้า' เหล่านี้นับเป็นร้อยละ 12.5 ของคนงานทั้งหมด คนงานจำนวนที่เหลือไม่มีความกังวลเรื่องการติดรถคนอื่นไปทำงานหรือการตื่นเช้าเพื่อไปทำงาน สำมะโนประชากรระบุว่า ร้อยละ 76.6 ของคนงาน บอกว่าพวกเขาขับรถไปทำงานคนเดียว อีกน้อยกว่าร้อยละ 10 บอกว่าพวกเขาติดรถไปทำงานพร้อมกับคนอื่น ที่เหลืออีกร้อยละ 4.9 บอกว่าพวกเขาใช้บริการขนส่งมวลชนเดินทางไปทำงาน 7. เวลาเดินทางไปทำงานของคนงานสหรัฐฯ แตกต่างกันมาก แม้ว่าคนงานแต่และคนจะเดินทางไปทำงานด้วยวิธีต่างกัน แต่พวกเขาควรจะใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงในการเดินทางไปถึงที่ทำงานใช่หรือไม่ จากสำรวจสำมะโนประชากรปี 2010 ระบุว่าเวลาโดยเฉลี่ยของคนงานในการเดินทางไปถึงที่งานคือ 25 นาที คนงานในรัฐแมรีแลนด์และนิวยอร์กใช้เวลาเดินทางนานที่สุดคือแต่ละคนโดยเฉลี่ยมากกว่า 31 นาที ขณะที่คนงานส่วนใหญ่ไปถึงที่ทำงานด้วยเวลาครึ่งชั่วโมง มีคนงานราว 3,200,000 ล้านคนที่ใช้เวลา 90 นาทีหรือมากกว่าในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน 8. ไม่ใช่แค่วันส่งท้ายฤดูร้อน แม้วันแรงงานจะเริ่มต้นโดยเป็นวันเพื่อระลึกถึงความสำคัญของคนงาน แต่ในตอนนี้มันกลายเป็นวันฉลองส่งท้ายฤดูร้อนอย่างไม่เป็นทางการด้วยเช่นกัน วันแรงงานสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่ากำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงแล้ว แต่ยังบังเอิญตรงกับวันเริ่มต้นปีการศึกษาในหลายๆ รัฐด้วย นอกจากนี้แล้ว วันแรงงานยังมีความสำคัญต่อโลกแฟชั่นส่วนหนึ่งจากความเชื่อที่บอกกันมานานว่าไม่ควรสวมชุดสีขาวหลังจากวันหยุดเดือน ก.ย. สุดท้ายคือ วันแรงงานยังเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลของลีคอเมริกันฟุตบอล NFL ซึ่งจะเริ่มแข่งกันนัดแรกในวันพฤหัสฯ (6 ก.ย.) หลังช่วงวันหยุดวันแรงงานด้วย ที่มา: Labor Day: 8 Facts about America's Work Force, 30-08-2012 http://www.businessnewsdaily.com/3068-labor-day-facts.html ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น