โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

“พีมูฟ” ร้อง “ยิ่งลักษณ์” นั่งหัวโต๊ะเจรจาแก้ปัญหา 1 ต.ค.นี้

Posted: 24 Sep 2012 01:23 PM PDT

 

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟส่งตัวแทนยื่นหนังสือที่ทำเนียบ เสนอให้รัฐบาลเลื่อนการประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาฯ จาก27 ก.ย.นี้ออกไปก่อน ร้องต้องการ "ยิ่งลักษณ์" เป็นประธานเปิดเจรจาแก้ปัญหาให้เห็นผลจริง
 
 
วันนี้ (24 ก.ย.55) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟส่งตัวแทนประมาณ 60 คน เข้ายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมอย่างเป็นทางการไปแล้ว 2 ครั้ง และมีกำหนดการประชุมครั้งที่ 3 ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ออกไป โดยให้สำนักนายกนายกรัฐมนตรีหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประสานเจรจากับทางนายกฯ ถึงปัญหาอุปสรรคและการไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ภาคประชาชนเสนอแล้วรัฐบาลได้แถลงต่อสภาไว้เสียก่อน
 
ทั้งนี้ภาคประชาชนได้ขอเลื่อนครับการประชุมไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.55 และขอให้นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุมด้วยตนเอง โดยให้เหตุผลว่าเรื่องปัญหาที่ดินเป็นปัญหาทางนโยบายซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี
 
นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่าในระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาในการทำงานของรัฐบาล ปัญหาของพีมูฟยังคงไม่มีความคืบหน้าในทางรูปธรรมที่ชัดเจน หลายประเด็นมีข้อยุติแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการต่อ ในขณะที่สมาชิกของพีมูฟยังคงประสบกับการถูกจับกุมดำเนินคดี ถูกข่มขู่คุกคามจากความไม่เป็นธรรม แม้ว่าจะได้ใช้ความพยายามในการผลักดันให้เกิดกลไกการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 คนร้ายแต่งดำปล้นรถ ตามจับทันควัน เจ้าของล่องหน

Posted: 24 Sep 2012 01:05 PM PDT

4 คนร้ายแต่งชุกคล้ายทหารพราน ตั้งด่านปล้นรถ เจ้าหน้าที่ตามจับได้ 1 ขณะขับไปจอดทิ้งในป่าพรุ ส่วนเจ้าของยังล่องหน เผยถูกจับปิดตาพร้อมเพื่อน ปล่อยทิ้งที่บ้านตันหยงลิมอ ตำรวจทหารระดมกำลังตามหา คาดเกี่ยวข้องกับกลุ่มป่ว

ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอานวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4สน.) รายงานว่า เมื่อเวลา 23.00 น.วันที่ 23 กันยายน 2555 เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 48 (ชป.ฉก.ทพ.48) สนธิกำลังร่วมกับ ชป.ฉก.ทพ.46, ชุดสืบสวนคดีสำคัญศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ศชต.) และตำรวจสถานีตำรวจภูธร(สภ.)ตากใบ จ.นราธิวาส เข้าควบคุมตัวนายอับดุลฮาดี อับดุลเลาะห์ ยังไม่ทราบอายุและที่อยู่ ในป่าพรุบ้านบึงฉลาม หมู่ที่ 10 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จากนั้นจึงนำตัวมาซักถาม ณ บก.ฉก.ทพ.46 เพื่อการขยายผลการปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ นายอับดุลฮาดีได้ขับรถเก๋ง ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซิตี้ zx สีขาว หมายเลขทะเบียน ฎผ 4677กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของนางอุดมลักษณ์ ชาน อายุ 41 ปี ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัดแล้วจอดทิ้งไว้ก่อนหนีเข้าไปในป่าพรุ โดยในการสนธิกำลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ขอรับการสนับสนุนเครื่องบินตรวจการณ์ติดกล้องจาก กลล.ทอ.ฉก.9 ขึ้นบินตรวจการณ์ด้วย

การควบคุมตัวนายอับดุลฮาดีเกิดขึ้นหลังจาก ฉก.นราธิวาส 36 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 น้องสาวของนางอุดมลักษณ์เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเจาะไอร้อง จ.นราธิวาสว่า นางอุดมลักษณ์ ได้ขับขี่รถคันดังกล่าว ออกจากบ้านพักไปรับผู้หญิงชื่อนาที่สถานีขนส่งจังหวัดนราธิวาส และพากันไปหาสมาชิกและเก็บเงินจากสมาชิกที่บ้านป่าไผ่ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แล้วไปที่บ้านเจาะเกาะ หมู่ที่ 1 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง เมื่อมาถึงบริเวณทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าบ้าน กือรง ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง ถูกคนร้าย 4 แต่งกายชุดทหารพรานสีดำ มีอาวุธปืนสงครามครบมือเรียกให้หยุดรถและแจ้งว่าสงสัยมียาเสพติดอยู่ภายในรถ จึงขอตรวจค้นและลดกระจกลง

จากนั้นคนร้ายได้ดึงกุญแจรถไปและบอกให้นางอุดมลักษณ์และผู้หญิงชื่อนาไปนั่งด้านหลัง โดยมีคนร้าย 2 คน นั่งประกบทั้งสองข้าง จากนั้นคนร้ายนำผ้าสีดำมาปิดตาทั้งสองคน แล้วขับรถพาทั้งสองคนไปที่บ้านตันหยงลิมอ จากนั้นคนร้าย 1 คน ได้ควบคุมตัวนางอุดมลักษณ์ลงจากรถไป โดยไม่ทราบจุดมุ่งหมาย ส่วนคนร้ายที่เหลือได้ขับรถพาผู้หญิงชื่อนาไปปล่อยไว้ที่บ้านยะโง๊ะ ต.ลุโบะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส จากนั้นไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ต่อมา วันที่ 22 กันยายน 2555 ชป.ฉก.ทพ.48 ได้ตรวจพบรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวขับไปทาง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่จึงขับรถไล่ติดตาม จนสามารถควบคุมตัวนายอับดุลฮาดีได้ดังกล่าว

พ.ต.อ.เสน่ห์ จรรยาสถิต ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (ผกก.สภ.)ตากใบ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่พบตัวนางอุดมลักษณ์ แต่คาดว่าน่าจะยังอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่กำลังระดมค้นหาอยู่ ส่วนผลการสอบสวนนายอับดุลฮาดี ยังเปิดเผยไม่ได้ เนื่องจากยังตามหาตัวนางอุดมลักษณ์ยังไม่เจอ

พ.ต.อ.เสน่ห์ เปิดเผยอีกว่า จากการตรวจสอบประวัตินายอับดุลฮาดี พบว่า เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่ และมีหมายจับติดตัวอยู่ แต่ยังต้องตรวจสอบว่าเป็นหมายจับคดีอาญาหรือหมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) การโจรกรรมครั้งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบมากกว่าการโจรกรรมรถยนต์ธรรมดา


บึ้มศาลาโรงเรียน2ผอ.2ทหาร เจ็บ

 

เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 24 กันยายน 2555 เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ศาลาภายในโรงเรียนบ้านบาตู มิตรภาพที่ 66 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม สายนราธิวาส-ปัตตานี ช่วงบริเวณ หมู่ที่ 6 ต.ต้นไทร อ.บาเจาะ จ.นราธิวาสได้รับความเสียหาย ที่พื้นปูนกลางศาลามีหลุมระเบิดลึก 1 ฟุต กว้าง 1 ฟุต

เจ้าหน้าที่ตรวจพบเศษซากชิ้นส่วนของระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ไว้ในกล่องเหล็ก หนัก 5 กิโลกรัมจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือตกกระจายเกลื่อนบริเวณ พร้อมด้วยกองเลือดจำนวนหนึ่งตกอยู่

ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ มี 4 ราย เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวส่งรักษาโรงพยาบาลบาเจาะ ประกอบด้วย นายกอเดร์ แลแมแน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาตู มิตรภาพที่ 66 ถูกสะเก็ดระเบิดที่ขา นายมะ ดือราแม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบือแนปีแย หมู่ที่ 1 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ ถูกสะเก็ดระเบิดที่ขา พลทหารวัฒนา ศรีเดช สังกัดกองร้อยปืนเล็กที่ 1 ฉก.นราธิวาส 32 และพลทหารภานุวัฒน์ ชินรักษ์ สังกัดกองร้อยปืนเล็กที่ 1 ฉก.นราธิวาส 32 ถูกระเบิดที่บริเวณลำตัวและแขนขา

จากการสอบสวนทราบว่า ขณะที่ทางโรงเรียนบ้านบาตูกำลังจัดห้องประชุมเพื่อเตรียมการประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ ต.ปะลุกาสาเมาะ เรื่องโรงเรียนในฝันอยู่นั้น โดยนายกอเดร์ นายมะ และทหารอีก 2 นายนั่งพูดคุยกันอยู่ภายในศาลา คนร้ายที่แฝงตัวอยู่ในละแวกจุดเกิดเหตุใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิดที่ลอบนำไปวางไว้ในกระป๋องสีซุกซ่อนอยู่ใต้โต๊ะม้าหินอ่อน จนเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ทั้ง 4 คน ถูกสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บ ส่วนทหารที่เหลืออีก 6 นาย ซึ่งยืนอยู่ใกล้เคียงมีอาการแน่นอก หูอื้อ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ข้อเสนอเรื่องการสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

Posted: 24 Sep 2012 01:01 PM PDT

ปมปัญหา

            ปัญหาสำคัญในการแก้ไขเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่จำกัดขอบเขตเอาไว้เฉพาะเพียงความขัดแย้ง "ทางการเมือง/เฉพาะหน้า/ระหว่างสี" เท่านั้น เพราะจะทำให้การพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญวางอยู่บนปมขัดแย้งทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวและนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ>>การคัดค้าน>>การต่อต้าน และถึงแม้จะสามารถแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้บังเกิดขึ้นแต่ก็พร้อมที่จะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้โดยไม่ยากลำบาก

            ในด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาอย่างสำคัญทั้งในแง่ของความชอบธรรมของการกำเนิดขึ้น และทั้งในด้านโครงสร้างขององค์กรและสถาบันต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง

            แต่สังคมไทยมีปัญหาที่นำมาซึ่งความขัดแย้งอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคล การรวมศูนย์อำนาจรัฐ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงควรเป็นกรอบกติกาในการต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะปัญหาของโครงสร้างสถาบันการเมืองเท่านั้น อันอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือสีบังเกิดขึ้นอีกครั้ง จึงควรต้องพิจารณารัฐธรรมนูญในฐานะของเครื่องมือในการวางกฎเกณฑ์ที่จะให้แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายสามารถเข้ามาต่อรองและแข่งขันให้อย่างกว้างขวางและเป็นธรรมมากที่สุดในประเด็นต่างๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น และกลายเป็นกติกาในการวางขอบเขตสิทธิเสรีภาพของแต่ละฝ่าย อันจะทำให้รัฐธรรมนูญมีความหมายและมีชีวิตมากขึ้นกว่าเพียงบทบัญญัติที่ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด

ประเด็นที่ควรพิจารณา

            ประเด็นแรก โครงสร้างสถาบันทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยทั้งนี้มีสาระสำคัญคือต้องยอมรับอำนาจนำของสถาบันการเมืองจากระบบเลือกตั้ง แต่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจในทางการเมืองด้วย

            สำหรับองค์กรอิสระจะต้องปรับโครงสร้างให้มีความสัมพันธ์และความรับผิดต่อประชาชนได้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

            ประเด็นที่สอง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน ต้องยอมรับสิทธิในการปกครองของท้องถิ่นและชุมชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ โดยต้องยอมรับสิทธิของชุมชนและอำนาจในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง อำนาจในการจัดการทรัพยากร และเลือกตั้งผู้นำของตนเองในทุกระดับ ด้วยการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย

            ประเด็นที่สาม สร้างความเท่าเทียมและลดความเลื่อมล้ำในสังคม ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มต่างๆ เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนตัวเล็กในสังคม และนับวันจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการรับรองสิทธิในปัจจัยและความจำเป็นพื้นฐานของบุคคลรวมไปถึงการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมขึ้น

            ประเด็นที่สี่ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนต้องได้รับการปกป้องโดยกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิจากการถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐอย่างฉ้อฉล รวมทั้งต้องสร้างกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐอย่างเข้มงวด

            ทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงความเห็นต้องได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อสถาบันการเมืองต้องถือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ต้องปราศจากกฎหมายเฉพาะที่ส่งผลต่อการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบธรรม

กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

          การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจอำนาจของรัฐสภาที่สามารถจะกระทำได้ทั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมาในการจัดทำรัฐธรรมนูญหลายฉบับแต่ทั้งนี้ควรเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจของปวงชนเข้าไปในกระบวนการนี้

          หลักการมีส่วนร่วม นำหลักการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คือ การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการทำให้ประชาชนจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ โดยต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย นับตั้งแต่การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ ขั้นตอนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การรับฟังความคิดเห็น    

          หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน ในขั้นตอนของการจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องมีการลงประชามติจากประชาชน โดยในขั้นตอนนี้ต้องเปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ การโต้แย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวางก่อนที่จะมีการลงประชามติเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นประชามติที่ประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวียดนามลงมือก่อสร้างศูนย์อวกาศ

Posted: 24 Sep 2012 12:17 PM PDT

เวียดนามเริ่มก่อสร้างศูนย์วิจัยด้านอวกาศภายใต้เงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่น โดยจะก่อสร้างเสร็จในอีก 8 ปีข้างหน้า หวังพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมของตนเอง

ผังของศูนย์อวกาศเวียดนามที่นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงหว่าหลาก โดยจะสร้างเสร็จในปี 2563 (ที่มา: VOV)

สถานีวิทยุเวียดนาม (VOV) ซึ่งกระจายเสียงภาคภาษาไทย มาจากกรุงฮานอย รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนามได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างศูนย์อวกาศเวียดนามในพื้นที่เกือบ 9 เฮกตาร์ (56 ไร่) ณ นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงหว่าหลากในกรุงฮานอยที่ใช้เงินทุน 5.4 หมื่นล้านเยน (1.9 หมื่นล้านบาท) จากวงเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาหรือโอดีเอของรัฐบาลญี่ปุ่นและเงินทุนของรัฐบาลเวียดนามซึ่งจะเป็นศูนย์อวกาศชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศาสตราจารย์ Châu Văn Minh หัวหน้าสถาบันกล่าวว่า"โครงการศูนย์อวกาศเวียดนามเป็นโครงการเป้าหมายเพื่อทำการวิจัย ฝึกอบรม ประยุกต์ใช้และ ร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเทคโนโลยีอวกาศ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ศูนย์นี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีให้แก่การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อให้ในปี 2020 เวียดนามจะสามารถออกแบบ ประกอบติดตั้ง ทดลอง บังคับดาวเทียมของตนเองและรับภาพจากดาวเทียมเพื่อประยุกต์ใช้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังจะมีเจ้าหน้าที่วิจัยและประยุกต์ใช้ระดับสูงด้านอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม" โครงการนี้เป็นการเริ่มต้นให้แก่ความร่วมมือยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ

โดยก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เวียดนามโดยเครือบริษัทไปรษณีย์โทรคมนาคมเวียดนามได้ใช้งบประมาณราว 280 ล้านเหรียญสหรัฐ (8.4 พันล้านบาท) ว่าจ้างกลุ่มบริษัทลูคฮิด มาร์ตินของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตดาวเทียม VINASAT-2 และเพิ่งปล่อยสู่ห้วงอวกาศ ที่ศูนย์อวกาศเกียน่าใกล้เมืองกูรูของประเทศเฟรนซ์เกียน่าในทวีปอเมริกาใต้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองยกฟ้อง คดีบริษัทไฟฟ้าฟ้อง กฟผ.เปิดสัญญาซื้อขายไฟ ยืนยัน ปชช.มีสิทธิรู้ข้อมูล

Posted: 24 Sep 2012 12:05 PM PDT

 

ชาวบ้านเฮ! หลังรอมานานร่วม 5 ปี ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง คดีบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยฯ-กฟฝ.เปิดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ศาลชี้ข้อมูลเปิดเผยไม่เสียหายรายแรง ไม่ละเมิดสิทธิเรื่องความลับทางการค้า
 
วันนี้ (24 ก.ย.55) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1970/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 1708/2555 ที่บริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด หรือบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นไปเพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ที่มีมติให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งทำกับบริษัทฯ แก่เครือข่ายภาคประชาชน 4 เครือข่าย อันได้แก่ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว และเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ผู้ร้องสอดเข้าไปเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 และเพิกถอนคำสั่งของ กฟผ.ที่เห็นควรเปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
 
สืบเนื่องจากรณีที่ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.51 เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่ ได้มีการชุมนุมและยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยสัญญา ที่กฟผ.ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 3 ราย จาก 3 โครงการ คือ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ในพื้นที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง 2.โรงไฟฟ้าก๊าซบางคล้า บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ในพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ-ใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และ 3.โรงไฟฟ้าหนองแซง ของ บริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยที่ขณะนั้นโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ของ บริษัท ไทยเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ยังไม่มีการเซ็นสัญญา
 
 
 
 
ต่อมา กฟผ.พิจารณาและเห็นว่าควรเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ขอ แต่บริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า คือ บริษัทสยามเอ็นเนอจี (ผู้ฟ้องคดี 1970/2552) และกับบริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด (ผู้ฟ้องคดี 1971/2552) ได้คัดค้านการเปิดเผยข้อมูลสัญญา และยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวก็ได้มีคำวินิจฉัยให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขอ ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 (ความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้า) และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 (ค่าพลังงานไฟฟ้า)
 
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองที่ยืนยันตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งให้คัดถ่ายเนื้อหาสัญญาดังกล่าวได้ โดยให้ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจดูได้เท่านั้น 
 
 
หวังคำตัดสินสร้างบรรทัดฐานการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน
 
กนิษฐ์ พงษ์นาวิน เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า คำพิพากษาวันนี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานสำคัญในการรับรองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับรู้ข้อมูลของภาครัฐในกรณีการทำสัญญาต่างๆ ไม่ว่ากรณีการซื้อขายไฟฟ้าทำกันอย่างไร หรือโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเกิดขึ้นได้อย่างไร ถือเป็นการรับรองสิทธิทางกฎหมายซึ่งจะเป็นที่พึ่งทางหนึ่งของประชาชนได้ต่อไป
 
ขณะที่ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความประจำโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า คำพิพากษาในคดีดังกล่าว ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางราชการของประชาชน ซึ่งจะรวมไปถึงสัญญาทางปกครองอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะและจะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมด้วย ขณะนี้ชาวบ้านถือเป็นผู้ชนะคดีแต่คาดว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่จะมีการยื่นอุทธรณ์และขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ซึ่งจะมีผลต่อการเปิดเผยข้อมูลสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวด้วย
 
ส่วนกรณีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1971/2552 ที่บริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย ฟ้องคดีในกรณีเดียวกัน ซึ่งจะนัดฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.55) สงกรานต์ แสดงความคาดหวังว่าจะมีผลการพิจารณาออกมาไม่แตกต่างกัน
 
 
คำตัดสินชี้ข้อมูลเปิดเผยไม่เสียหายรายแรง ไม่ละเมิดสิทธิเรื่องความลับทางการค้า
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษายกฟ้องของศาลปกครอง สรุปความได้ว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง เว้นแต่การเปิดเผยนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐต้องจัดหาให้แก่ผู้ขอ 
 
อีกทั้ง มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หลายรายยินยอมให้เปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกับ กฟผ.โดยยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 แสดงว่าหากเปิดเผยไปก็ไม่ได้มีผลกระทบให้ผู้ฟ้องคดีเกิดความเสียหายอย่างรายแรง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้น ต้องพิจารณาจากผลกระทบ ซึ่งกรณีนี้ไม่ถึงกับส่งผลกระทบเช่นนั้น
 
ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการเปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าถือเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ได้กำหนดความหมายของคำว่าบุคคลไว้เป็นการเฉพาะโดยไม่รวมถึงนิติบุคคล จึงไม่สามารถกล่าวอ้างได้  
 
ส่วนการอ้างถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งกำหนดให้คู่สัญญารักษาความลับของข้อมูลในสัญญานั้น เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว การใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลย่อมชอบด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการเปิดเผยดังกล่าวไม่ได้ละเมิดสิทธิในเรื่องความลับทางการค้า เนื่องจากการขอข้อมูลข่าวสารของผู้ร้องสอด มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน และเพื่อตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า 
 
นอกจากนี้ ผู้ร้องสอดยังเป็นประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยในบริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่ง ซึ่งได้รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยอ้างว่าอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิต และต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มเนื่องจากสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อคุ้มครอง รักษาสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย หรือคุณภาพชีวิตของตนตามหลักสิทธิชุมชน ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ
 
 
5 ปี รอดูสัญญาซื้อขายไฟ โครงการเดินหน้าเพียบ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งในขณะนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (เอชไอเอ) หลังจากที่รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านการพิจารณาแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซบางคล้า บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ถูกคัดค้านอย่างหนักโดยชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ต้องย้ายที่ตั้งไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา พร้อมอนุมัติเพิ่มค่าไฟฟ้าใหม่อีก 9.49 สตางค์ต่อหน่วย
 
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านเดินหน้าฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎกระทรวงออกตามกฎหมายโรงงาน อีกทั้งในพื้นที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมซึ่งตามกฎกระทรวงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิหร่านปิดกั้น gmail และบริการค้นหาของ Google

Posted: 24 Sep 2012 10:52 AM PDT

รัฐบาลอิหร่านอ้างภาพยนตร์อื้อฉาวล้อเลียนมุสลิม ปิดกั้นเว็บค้นหาของ Google และบริการ Gmail ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมเห็นว่ารัฐบาลอิหร่านแค่ใช้ภาพยนตร์เป็นข้ออ้างแสดงอำนาจต่อสหรัฐฯ ชาวเน็ตบางส่วนหวั่นรัฐรุกคืบควบคุมอินเตอร์เน็ตเบ็ดเสร็จ

24 ก.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่าทางการอิหร่านได้ปิดกั้นการเข้าถึง Gmail ซึ่งเป็นบริการอีเมลล์ของ Google และระบบค้นหาของ Google โดยที่แต่เดิม firewall ก็ทำให้ชาวอิหร่านเข้าเว็บไซต์ตะวันตกจำนวนมากไม่ได้อยู่แล้ว

BBC รายงานว่า การดำเนินการครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ชาวมุสลิมทั่วโลกรวมถึงในอิหร่านพากันประท้วงต่อต้านภาพยนตร์ล้อเลียนศาสนาอิสลามที่โพสท์ลงในเว็บไซต์วีดิโอ Youtube ที่มีเจ้าของคือ Google

อับดุล ซามัด โครามาบาดี ที่ปรึกษาทนายของรัฐประกาศผ่านโทรทัศน์ของรัฐบาลอิหร่านเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าจะมีดการปิดกั้นการเข้าถึง Google และ Gmail ทั้งประเทศ จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป

ประกาศดังกล่าวมีการส่งผ่านข้อความของโทรศัพท์มือถือด้วย อย่างไรก็ตาม BBC รายงานว่าเวอร์ชั่นที่ไม่ได้ถูกควบคุมความปลอดภัย ซึ่งง่ายต่อการถูกดักสืบข้อมูลยังคงใช้งานได้

BBC กล่าวว่า "เว็บไซต์หาข้อมูลของ Google ยังคงใช้งานได้ แต่ไม่ทำงานตามปกติ บริการของ Google ซึ่งต้องการโปรโตคอลที่เพิ่มความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูล (Secure Socket Layer หรือ SSL) ไม่สามารถทำงานได้ในอิหร่าน"

"การพยายามเข้าสู่บริการเว็บไซต์ทำให้ผู้ใช้อยู่ในช่วงระยะการรอ (waiting phase) อย่างไม่จบไม่สิ้น แต่ไม่มีสิ่งใดปรากฏขึ้นหน้าจอ" BBC กล่าว

ผู้ใช้ gmail ในอิหร่านสามารถเข้าใช้บัญชี gmail ของตนผ่านระบบเครือข่ายเสมือนส่วนตัว (VPNs) ซึ่งอนุญาตให้ใช้เว็บได้ภายใต้ระบบป้องกัน firewall ที่แน่นหนามาก

มาห์มูด ทาจาลี เมห์ร ที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมชาวอิหร่านที่อาศัยในเยอรมนีกล่าวว่า ชาวอิหร่านจำนวนมากใช้ระบบ VPNs ในการเข้าชมเว็บตะวันตกที่ถูกรัฐบาลบล็อกอยู่แล้ว

"นี้คือมาตรการของรัฐบาลอิหร่านในการควบคุมระบบที่เรียกว่าอินทราเน็ตทั่วประเทศจากภายนอก และเจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่าพวกเขาจะนำมันมาใช้ในราว 3 ปีข้างหน้า"

"แต่เด็กนักเรียนทุกคนยังรู้วิธีฝ่าฝืนการปิดกั้นด้วย VPNs เลย มันเป็นเรื่องปกติมากในอิหร่าน" มาห์มูดกล่าว

 

ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลอิหร่านบล็อกบริการของ Google ในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เดือน มี.ค. ทั้งบริการค้นหาข้อมูลของ Google และ Gmail ก็ถูกปิดกั้นเช่นเดียวกัน

มาห์มูด ทาจาลี เมห์ร ให้ความเห็นว่าการบล็อกในครั้งนี้คงไม่กินเวลานาน "มันเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อที่แสดงให้เห็นว่าอิหร่านสามารถทำอะไรกับสหรัฐฯ ได้ แต่คงกินเวลาไม่กี่วัน"

มาห์มูด บอกอีกว่า ปัญหาเรื่องภาพยนตร์ล้อเลียนศาสนาก็ช่วยให้รัฐบาลหาข้ออ้างในการโฆษณาชวนเชื่อครั้งนี้ "รัฐบาลบอกว่าประชาชนขอร้องให้ปิดกั้นบริการพวกนี้โดยอ้างเรื่องภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ได้เห็นการประท้วงที่ใหญ่ขนาดในปากีสถานและที่อื่นเลย มีเพียงแค่กลุ่มจัดตั้งดลุ่มเล็กๆ โดยส่วนตัวผมถึงรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์"

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลองนึกว่า Youtube เคยถูกบล็อกมาแล้วบางครั้ง" มาห์มูดกล่าว

เว็บไซต์ Youtube ถูกเซนเซอร์มาตั้งแต่กลางปี 2009 ในช่วงที่มีการประท้วงกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง หลังจากที่อามาดิเนจัดถูกเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

เว็บไซต์ตะวันตกหลายแห่งถูกบล็อกในอิหร่าน และเว็บอื่นๆ เช่น facebook, twitter ก็มักจะถูกเซนเซอร์

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ออกคำสั่งให้มีการจัดตั้งสภาสูงจัดการพื้นที่เสมือนจริง (Supreme Council of Virtual Space) เพื่อวางนโยบายและประสานงานเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต

 

ความเห็นของชาวเน็ตอิหร่าน

แม้รัฐบาลอิหร่านจะอ้างว่าประชาชนเรียกร้องให้มีการเซนเซอร์ แต่หลายคนบอกกับ BBC ว่า พวกเขารู้สึกไม่พอใจต่อการปิดกั้นเว็บ

BBC รายงานว่า ผู้ใช้ Twitter ในอิหร่านพากันประท้วงหรือล้อเลียนการตัดสินใจของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็แสดงความกลัวว่า "นี่จะเป็นก้าวแรกสู่การจัดตั้งระบอินทราเน็ตแห่งชาติ"

ผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งชื่อ ฮาดี เคซรียัน กล่าวทวีตว่าการบล็อก Google ในอิหร่าน เป็นเหตุการณ์ที่วางแผนไว้ล่วงหน้า รัฐบาลต้องการทำมันมานานแล้ว และในตอนนี้พวกเขาก็มีข้ออ้างในการกระทำ

ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายชื่อ เนสฟาฮานี เขียนว่า "นักเรียนและนักธุรกิจใช้บริการของ Google มากที่สุด พวกที่อ้างตัวเองเป็นมหาอำนาจพวกนี้กลัวดาวเทียม, อินเตอร์เน็ต และจิตสำนึกของประชาชน"

แต่ก็มีชาวอิหร่านบางส่วนที่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเว็บ

"Google เอาชื่ออ่าวเปอร์เซียออกจากแผนที่ และแบนผู้ใช้ในอิหร่านไม่ให้เข้าใช้บริการหลายอย่างเนื่องจากการคว่ำบาตร" ผู้ใช้ชื่อฟารามาส แสดงความเห็น

"การผิดกั้นบริการอาจทำให้ Google สูญเสียได้บ้าง แม้จะไม่มากมายนัก ฉันเห็นด้วยกับการปิดกั้น"

ผู้อ่านเว็บไซต์ BBC ชื่อ อะเมียร์ กล่าวว่า "มันโอเค เพราะผู้คนไม่ควรจะเข้าถึงภาพยนตร์ที่ดูถูกศาสนาได้"

 
 
ที่มา
Google Search and Gmail censored in Iran, BBC, 24-09-2012 http://www.bbc.com/news/technology-19700910
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ล้างมลทิน 'ยงยุทธ' ระวังสะดุด 'ศาลรัฐธรรมนูญ'

Posted: 24 Sep 2012 08:34 AM PDT

บางท่านอาจ 'เห็นใจ' ท่านรองนายกรัฐมนตรี 'ยงยุทธ วิชัยดิษฐ' เจอแค่ปม 'ไล่ออกจากราชการ' จากกรณีสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้วไม่พอ ท่านรองฯ ยังต้องมาคอยเฝ้าน้ำหน้าบ้านแทน 'นายกรัฐมนตรี' ที่พารัฐมนตรี (ท่านอื่นบางท่าน) บินลัดฟ้าไปประชุมสหประชาชาติอย่างโก้หรู ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ประเด็นนี้ดูจะจบไม่ง่าย เมื่อ 'ฝ่ายรัฐบาล' อ้างกฎหมาย 'ล้างมลทิน' เพื่ออธิบายว่าคุณยงยุทธนั้น ได้รับการล้างมลทินโดยมีผลย้อนหลังไปสมัยที่เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แม้จะผิด แต่ก็ไม่ผิด จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ (http://bit.ly/Yongyut2545)

ในขณะที่ 'ฝ่ายค้าน' แย้งว่าการจะ 'ล้างมลทิน' ใครนั้น กฎหมายกำหนดว่าผู้นั้นต้องรับโทษทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนแล้ว แต่เมื่อคุณยงยุทธไม่ได้รับโทษก่อนที่กฎหมายตราขึ้น จึงย่อมไม่เข้าข่ายการล้างมลทิน  และต้องพ้นไปจากตำแหน่งรัฐมนตรี และอาจรวมไปถึงตำแหน่ง ส.ส. ด้วย (http://astv.mobi/A5rbtis)

น่าคิดต่อว่า 'ศาลรัฐธรรมนูญ' จะถูกดึงเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดหรือไม่ ซึ่งแม้ 'ในทางคดี' จะดูเกี่ยวกับคุณยงยุทธเป็นการส่วนตัว แต่ 'ในทางการเมือง' ย่อมไม่อาจปฏิเสธวาระการปะทะระลอกใหม่ระหว่างหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย มวลชนเสื้อแดง  ฝ่ายค้าน ส.ว. ป.ป.ช. กกต. และ ศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าไม่กี่เดือนที่แล้ว 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ได้วินิจฉัยให้ 'คุณจตุพร พรหมพันธุ์' พ้นจากความเป็น ส.ส. ด้วยเหตุผลทางกฎหมายที่น่ากังขา (http://bit.ly/Jatuporn) และต่อมาศาลเดียวกันก็ได้วินิจฉัยกึ่งแนะนำอย่างน่าสับสนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งค้างอยู่ที่วาระ 3 ควรมีการทำประชามติก่อน (http://bit.ly/article68) ซึ่งจนถึงวันนี้ พรรครัฐบาลก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร  ส่วนเรื่อง 'ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง' ที่แม้จะค้างในสภา ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็เปรยรอแล้วว่า "เดี๋ยวมันก็มา"

ความน่าสนใจ 'ในทางการเมือง' จากการปะทะเหล่านี้ คือ 'ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน' ของฝ่ายที่ 'เหมือนจะอยู่ข้างเดียวกัน' โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วนพยายามใจเย็นกับศาลเพื่อประคองสถานการณ์รัฐบาล ในขณะที่สมาชิกพรรคบางส่วน รวมถึงมวลชนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย อาจมองว่ารัฐบาลและแกนนำพรรคเอาใจศาลมากไปจนเสียหลักการหรือไม่ ?

การปะทะกันทางคดีเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า ควรมีการแก้ไข 'รัฐธรรมนูญ' เพื่อปฏิรูปศาลเสียใหม่หรือไม่ ? หากมีคดีใหม่ปะทะตามมาอีก ทาง รัฐบาล-พรรค-เสื้อแดง จะหา 'จุดยืนร่วมกัน' หรือไม่ อย่างไร ?

นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว 'ข้อกฎหมาย' ในกรณีคุณยงยุทธก็น่าสนใจชวนให้ถกเถียงได้หลายประเด็น และมีบางประเด็นที่ทำให้หวนนึกถึง 'คดี นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ชิมไปบ่นไป' ที่สุดท้ายก็ถูกปลดจากตำแหน่งโดย 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เช่นกัน

 

กรณีคุณยงยุทธ จะเดินต่อไปอย่างไร ผู้เขียนขอวิเคราะห์ไว้เบื้องต้น ดังนี้

1. ขั้นแรกต้องเข้าใจก่อนว่า คำสั่งหรือมติใดๆ จากกระทรวงมหาดไทย หรือ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้องกับการไล่คุณยงยุทธออกจากราชการนั้น เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคุณยงยุทธสมัยที่เป็น 'ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย' ไม่ใช่ในฐานะที่เป็น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ในปัจจุบัน กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ กระทรวงมหาดไทย หรือ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจมาไล่ใครออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรี หรือ ส.ส.

2. ส่วนคุณยงยุทธจะพ้นจากความเป็น 'รัฐมนตรี' หรือ 'ส.ส.' หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตาม 'รัฐธรรมนูญ' อาทิ มาตรา 91 มาตรา 102 มาตรา 106 มาตรา 174 และ มาตรา 182 และผู้ที่จะชี้ขาด ย่อมไม่ใช่กระทรวงมหาดไทย หรือ ป.ป.ช. แต่เป็น 'ศาลรัฐธรรมนูญ'

3. การที่คุณยงยุทธถูกไล่ออกสมัยรับราชการกระทรวงมหาดไทยนั้น เกี่ยวโยงกับความเป็น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ตรงที่ว่า 'รัฐธรรมนูญ' ได้กำหนด 'ลักษณะต้องห้าม' ของผู้ที่เป็น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ไว้หลายประการ ซึ่ง 'ลักษณะต้องห้าม' ประการหนึ่ง ก็คือ การ "เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ..."  ดังนั้น หากคุณยงยุทธเคยถูกไล่ออกสมัยเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย คุณยงยุทธก็ย่อมมี 'ลักษณะต้องห้าม' ที่ไม่สามารถ เป็น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ได้

4. แต่กรณีคุณยงยุทธน่าสนใจตรงที่ว่า 'ในทางความเป็นจริง' ก่อนที่คุณยงยุทธจะถูกไล่ออก คุณยงยุทธก็ได้เกษียณอายุและพ้นจากความเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้มาเป็น รัฐมนตรี และ ส.ส. เรียบร้อยเสียก่อนที่จะมีคำสั่งหรือมติให้ไล่ออกจากราชการเสียอีก แต่ 'ในทางกฎหมาย' มีข้อระเบียบที่กำหนดให้การไล่ออกนั้น 'มีผลย้อนหลัง' ไปถึงก่อนที่คุณยงยุทธจะเกษียณอายุราชการ ดังนั้น แม้คำสั่งหรือมติให้ไล่ออกจากราชการจะมีขึ้นในปี 2555 แต่ในทางกฎหมาย ถือว่าคุณยงยุทธได้ถูกไล่ออกจากราชการไปตั้งแต่ปี 2545 ก่อนเกษียณแล้ว

5. หากเรื่องจบแต่เพียงนี้ คุณยงยุทธย่อมอาจต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส. เพราะถือว่า เคยถูกไล่ออกจากราชการ แต่ที่เรื่องไม่จบ ก็เพราะว่าเมื่อปี 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตรา 'กฎหมายล้างมลทิน' ซึ่งมีใจความสำคัญใน มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า "ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ" (พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 5 ธันวาคม 2550)

ดังนั้น หากคุณยงยุทธจะได้รับการล้างมลทิน ก็จะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) คุณยงยุทธต้องได้กระทำผิดวินัยก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และ (2) คุณยงยุทธต้องได้รับโทษไปทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550

ในกรณีนี้ ชัดเจนว่า ปัญหากรณีที่ดิน 'อัลไพน์' อันนำมาสู่การไล่ออกนั้น เกิดขึ้นก่อน วันที่ 5 ธันวาคม 2550 อย่างไรก็ดี ยังมีข้อถกเถียงว่า กรณีนี้จะถือได้ว่า คุณยงยุทธได้รับโทษไปแล้วก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 หรือไม่ ?

'ฝ่ายรัฐบาล' ได้อ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบกับสำนักงาน ก.พ. ซึ่งพิจารณาระเบียบราชการที่ให้การไล่ออก 'มีผลย้อนหลัง' ไปถึงปี 2545 ก่อนที่คุณยงยุทธจะเกษียณจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็ต้องถือว่า คุณยงยุทธได้รับโทษโดยถูกไล่ออกไปแล้วก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ดังนั้น จึงเข้ากรณีที่จะได้รับการล้างมลทินตามเงื่อนไข มาตรา 5 ข้างต้น

แต่อาจมีผู้โต้แย้งว่า กรณีดังกล่าว มิอาจถือว่าคุณยงยุทธได้ถูกลงโทษ เพราะคำสั่งหรือมติให้ไล่ออกนั้น ได้มีขึ้นในปี 2555 และไม่อาจถือให้เกิดผลย้อนหลังได้

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อโต้แย้งดังกล่าว มีปัญหาหลายประการ ประการแรก กฎหมายล้างมลทิน มาตรา 5 มิได้มุ่งพิจารณาที่เวลาของคำสั่งหรือมติให้ไล่ออก แต่มุ่งพิจารณาไปที่การกระทำความผิดวินัยว่าเกิดขึ้นเมื่อใด (ดูความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 282/2540) และ ประการที่สอง หากมองว่าการไล่ออกไม่สามารถมีผลย้อนหลังได้ ก็จะเกิดคำถามว่า จะลงโทษข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วอย่างไร และยิ่งไปกว่านั้น ก็จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตโดยการเอื้อประโยชน์เพื่อถ่วงเวลาการพิจารณาเอาผิดทางวินัย โดยรอให้มีการเกษียณอายุจนไม่อาจลงโทษย้อนหลังได้

ดังนั้น ในชั้นนี้ ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับ 'ฝ่ายรัฐบาล' ว่า  คุณยงยุทธจะได้รับการล้างมลทินไปแล้ว

(อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวการตรากฎหมายของรัฐสภา และการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ทำให้เกิดช่องว่างในกรณีที่ผู้ได้รับโทษทางวินัยยังไม่เกษียณอายุราชการ ซึ่งแม้จะกระทำผิดในระยะเวลาที่คุ้มครองโดยกฎหมายล้างมลทิน แต่หากถูกสอบสวนนานจนมารับโทษภายหลังมีการตรากฎหมายล้างมลทิน  ก็จะเท่ากับไม่ได้รับการล้างมลทินไปโดยปริยาย ทำให้ข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุได้รับประโยชน์อย่างไม่เท่าเทียมภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน)

6. แม้คุณยงยุทธได้รับการ 'ล้างมลทิน' (กรณีสมัยรับราชการกระทรวงมหาดไทย) ตามเหตุผลที่อธิบายมาข้างต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณยงยุทธจะสามารถอยู่ในตำแหน่ง 'รัฐมนตรี' และ 'ส.ส.' ได้อย่างสบายใจ เพราะยังอาจมีผู้นำกรณีคุณยงยุทธไปสู่ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' โดยรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา สามารถเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาของตนเพื่อส่งคำร้องให้ศาล นอกจากนี้ 'คณะกรรมการการเลือกตั้ง' จะส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาเองก็ได้ ไม่ต่างจากกรณี 'คุณสมัคร สุนทรเวช' ที่ถูกทั้งสมาชิกรัฐสภา และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกัน

7. หากกรณีดังกล่าวไปถึง 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ผู้เขียนเห็นว่า ศาลอาจพิจารณาประเด็นการพ้นจากตำแหน่ง 'รัฐมนตรี' และ 'ส.ส.' โดยอาศัยเหตุผลในประเด็นต่อไปนี้

- ศาลอาจพิจารณาถึง 'กฎหมายล้างมลทิน' ว่ามีผลย้อนหลังกลับไปก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ตามที่รัฐบาลอ้างได้หรือไม่ และเมื่อศาลเห็นได้ว่ากฎหมายบัญญัติว่า "ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ" ก็ย่อมต้องตีความกฎหมายให้เชื่อมโยงทั้งระบบ โดยถือว่าคุณยงยุทธย่อมไม่เคยถูกไล่ออก และไม่มีเหตุให้เข้า 'ลักษณะต้องห้าม'

- ศาลอาจพิจารณาถึงความหมายที่แตกต่างระหว่าง 'คุณสมบัติ' และ 'ลักษณะต้องห้าม' ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีการ "เคยถูกไล่ออก" นั้น กฎหมายอาจไม่ได้ถือเป็นคุณสมบัติตายตัวถาวร แต่ถือว่าเป็น 'ลักษณะต้องห้าม' ซึ่งสามารถปรับปรุงแก้ไขให้พ้นจากลักษณะดังกล่าวได้ เช่น โดยการอาศัยกฎหมายล้างมลทิน เป็นต้น (การวิเคราะห์ความหมายที่แตกต่างระหว่าง 'คุณสมบัติ' และ 'ลักษณะต้องห้าม' นี้เอง คือสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากเหตุผลของศาลในคดี 'คุณสมัคร สุนทรเวช')

- แต่หากศาลไม่พิจาณาถึงความหมายของ 'ลักษณะต้องห้าม' ให้ถ่องแท้ ศาลอาจให้น้ำหนักกับ 'คุณธรรม-จริยธรรม' เพื่อจะวินิจฉัยว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศชาติได้นั้น ต้องมีมาตรฐาน 'คุณธรรม-จริยธรรม' ที่สูงเพียงพอ และย่อมต้องไม่เคยถูกไล่ออกจากราชการมาก่อน แม้จะถูกล้างมลทินก็ไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งหากศาลยึดมาตราฐาน 'คุณธรรม-จริยธรรม' ตามอำเภอใจเช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเขียนกฎหมายลอยๆ ขึ้นมาเอง

- แต่หากศาลต้องการเน้นเรื่อง 'คุณธรรม-จริยธรรม' ให้หลักแหลมแยบยลมากไปกว่าการอ้างลอยๆนั้น ศาลก็อาจนำ 'เหตุผลทางกฎหมาย' ประการอื่นมาสนับสนุนได้ เช่น แนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วางหลักเสมอมาว่า การล้างมลทินเป็นเพียงการล้างโทษ แต่ไม่ใช่การล้างความประพฤติผิดที่ได้ปฏิบัติไป (เช่น ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 657/2541 และ 321/2551) ดังนั้น ศาลจึงชอบจะนำความประพฤติผิดกระทำไป มาพิจารณาในบริบทความมุ่งหมายของ  'ลักษณะต้องห้าม' ตามรัฐธรรมนูญได้ (แต่ศาลก็พึงคำนึงถึงการแบ่งแยกอำนาจ และบทบาทของรัฐสภาที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวที่ศาลไม่ควรก้าวล่วง เช่น การถอดถอน หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ)

- นอกจากนี้ ศาลยังอาจอ้างไปถึงลำดับศักดิ์และนิติวิธีในการตีความรัฐธรรมนูญ โดยอธิบายว่าเหตุผลและความมุ่งหมายของ 'ลักษณะต้องห้าม' ตามรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสภาที่จะตรากฎหมายมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เช่น หากรัฐมนตรีมีลักษณะต้องห้าม คือ 'ล้มละลาย' ศาลย่อมพิจารณาการ 'ล้มละลาย' ได้ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มิใช่ยอมให้รัฐสภาตรากฎหมายมากำหนดความหมายของการ 'ล้มละลาย' เพื่อเอื้อประโยชน์รัฐมนตรีอย่างไรก็ได้ (แต่ทั้งนี้ ศาลชุดปัจจุบัน ก็เคยยอมรับการนำกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาใช้ตีความรัฐธรรมนูญ เช่นกัน)

ประเด็น 'ในทางกฎหมาย' ที่กล่าวมานี้มีแง่มุมที่สามารถถกเถียงกันได้ แต่สิ่งที่ต้องไม่มองข้าม ก็คือประเด็น 'ในทางการเมือง' ซึ่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า การเดินหน้ายืนยันล้างมลทินให้คุณยงยุทธนั้น มีความคุ้มค่าในทางการเมืองเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลและพรรคต้องเสี่ยงกับคลื่นทางการเมืองระลอกใหม่หรือไม่ ? รัฐบาลเชื่อมั่นในศาลได้มากเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ได้ถูกเสกให้เป็นอาวุธ 'สากกะเบือยันเรือรบ' (ซึ่งหากจะมีใครดิ้นรนเอากรณีคุณยงยุทธไปฟ้องได้สำเร็จ ก็คงไม่น่าแปลกใจอีกต่อไป)

ที่สำคัญก็คือ คลื่นที่ว่านี้อาจไม่ได้หนักหน่วงในทางการสู้คดีต่อศาล แต่อาจหนักหนาในแง่บรรยากาศทางการเมืองที่รัฐบาลต้องการรักษาไว้ และในแง่ความอึดอัดที่มวลชนคนเสื้อแดงมีต่อจุดยืนอันไม่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อตุลาการและหลักการมากขึ้นทุกที

เมื่อพิจารณาได้เช่นนี้ เราอาจต้องเห็นใจท่านรองนายกฯยงยุทธ ยิ่งขึ้นไปอีก หากสุดท้าย รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะมองว่า การเสียสละอายุการเมืองของคุณยงยุทธ อาจคุ้มค่ากว่าการไปล้มสะดุดที่ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' !

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรงงาน Foxconn ในจีนหยุดการผลิตชั่วคราว บริษัทเผยต้นเหตุคนงานวิวาท

Posted: 24 Sep 2012 08:10 AM PDT

โรงงาน Foxconn ทางตอนเหนือของจีน หยุดสายพานการผลิตชั่วคราวหลังคนงานกว่า 2,000 คนก่อเหตุวุ่นวายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 40 คน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่เอ็นจีโอพึ่งออกรายงานระบุคนงานผลิตชิ้นส่วนไอโฟนห้า ยังถูกกดขี่แบบเดิมๆ

24 ก.ย. 55 – สำนักข่าว BBC รายงานว่าโรงงานทางตอนเหนือในประเทศจีนของบริษัท Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่เป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ให้กับแบรนด์ Apple (ทั้งไอแพด, ไอโฟน รวมถึงชิ้นส่วนให้กับแบรนด์ดังๆ เจ้าอื่น) ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากเหตุการณ์ที่คนงานกว่า 2,000 คนก่อเหตุวุ่นวายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 40 คน

บริษัท Foxconn ระบุว่าเหตุวิวาทเกิดขึ้นเมื่อเวลา 23.00 น. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ในหอพักของคนงานที่โรงงานใกล้กับเมือง Taiyuan มณฑล Shanxi โดยผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและตำรวจได้ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว

อนึ่งคนงานในโรงงานที่เมือง Taiyuan มีพนักงานประมาณ 79,000 คน และ Foxconn เองก็มีภาพลักษณ์ต่อภายนอกว่าจ้างงานคนงานภายใต้สภาพการทำงานที่ย่ำแย่

เอ็นจีโอพึ่งออกรายงานระบุคนงานผลิตชิ้นส่วนไอโฟนห้า ยังถูกกดขี่แบบเดิมๆ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 55 ที่ผ่านมากลุ่ม Students & Scholars Against Corporate Misbehaviour (SACOM) ได้ออกรายงาน New iPhone, Old Abuses Have working conditions at Foxconn in China improved? โดยระบุว่าสภาพการจ้างงานของโรงงาน Foxconn ในเขตอุตสาหกรรมพิเศษ Zhengzhou มณทล Henan ยังคงมีสภาพการจ้างงานที่เลวร้าย อาทิ ชั่วโมงการทำงานที่สูงเกินไป, ไม่มีการจ่ายค่าจ้างล่วงเวลา, การใช้แรงงานนักเรียนฝึกงาน, ใช้แรงงานเหมาช่วงที่ไม่มีสวัสดิการเหมือนพนักงานประจำ รวมถึงการควบคุมสหภาพแรงงานโดยบริษัท เป็นต้น

 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก:

Foxconn halts production at plant after mass brawl (BBC, 24-09-2012)
http://www.bbc.co.uk/news/business-19697344

[REPORT]NEW IPHONE, OLD ABUSES: HAVE WORKING CONDITIONS AT FOXCONN IN CHINA IMPROVED? (sacom.hk, 23-9-2012) http://sacom.hk/archives/960

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลสหรัฐวิจารณ์ CNN กรณีนำไดอารีทูตประจำลิเบียเผยแพร่

Posted: 24 Sep 2012 07:34 AM PDT

ฟิลิป ไรนส์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าววิจารณ์ CNN ที่รายงานเนื้อหาบันทึกส่วนตัวของ คริสโตเฟอร์ สตีเว่น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่ถูกสังหารในลิเบีย บอกไม่เคารพต่อครอบครัวผู้ตายและเผยแพร่ข้อมูลก่อนนำมาส่งให้ทางการ ด้าน CNN โต้ว่าประชาชนมีสิทธิ์รับรู้เนื้อความในบันทึก ที่มีประเด็นสำคัญต้องการสื่ออยู่ในนั้น

24 ก.ย. 2012 - โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าววิพากษ์วืจารณ์สำนักข่าว CNN จากกรณีที่สำนักข่าว CNN รายงานสิ่งที่อยู่ในบันทึกส่วนตัวของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คริสโตเฟอร์ สตีเวน หลังจากที่เขาถูกสังหารที่สถานกงสุลลิเบีย แม้ว่าทางครอบครัวของเขาจะห้าม

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฟิลิป ไรนส์ กล่าวเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าสำนักข่าว CNN ได้นำบันทึกส่วนตัวของคริสมาจากสถานที่เกิดเหตุที่คริสและเจ้าหน้าที่อเมริกันอีก 3 คนถูกสังหารในเบงกาซี คืนวันที่ 11 ก.ย. และนำเรื่องราวมาเผยแพร่แม้ว่าสมาชิกครอบครัวของคริสไม่ต้องการให้ทำ

"จะมีใครกันที่พอเข้าถึงสถานที่เกิดอาชญากรรมแล้วมีแรงดลใจอย่างแรกคือการเก็บไดอารี่ของคนที่ถูกสังหารพร้อมกับชาวอเมริกันอีกสามรายที่รับใช้ประเทศของเรา นำมันมาอ่าน คัดสำเนา และอีเมลล์ส่งต่อไปทั่วห้องข่าวให้คนอื่นอ่าน และเมื่อพวกเขาพอใจกับการได้คลายข้อสงสัยแล้ว ถึงค่อยคิดจะติดต่อกับครอบครัวเขาหรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ" ไรนส์กล่าววิจารณ์

CNN กล่าวโต้ตอบคำวิจารณ์ว่าพวกเขาไม่ได้รายงานข่าวบันทึกส่วนตัวของคริสเพราะไม่เคารพต่อครอยครัวเขา แต่เพราะ "รู้สึกว่ามีประเด็นที่ควรยกมาพูดถึงเกี่ยวกับบันทึกนี้ ซึ่งจำเป็นต้องรายงานฉบับเต็ม"

"พวกเราคิดว่าประชาชนมีิสิทธิ์รับรู้ว่า CNN ได้รับข้อมูลจากหลายแหล่งเกี่ยวกับความกลัวและการเตือนเรื่องการข่มขู่ก่อการร้ายก่อนที่จะเกิดเหตุการโจมตีในเบงกาซี ซึ่งในตอนนี้ชวนให้ตั้งประเด็นคำถามว่า ทำไมรมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ถึงไม่ทำอะไรเพื่อปกป้องเอกอัครราชทูตสตีเวนและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายอื่นๆ" CNN กล่าวในแถลงการณ์ฉบับเขียน

"เป็นไปได้ว่า คำถามที่แท้จริงคือ ทำไมรมต.ต่างประเทศตอนนี้ถึงหันมาโจมตีสื่อผู้ส่งสาร" CNN กล่าวในแถลงการณ์

ในเนื้อข่าวที่โพสท์ลงในเว็บไซต์ CNN รายงานว่าพวกเขาพบบันทึกตกอยู่ที่พื้นของสถานกงสุล ซึ่งมีสภาพ "ไม่ปลอดภัยอย่างมาก"

ในแถลงการณ์ของไรนส์ เขาบอกว่าคณะทำงาน CNN ได้ถามสมาชิกครอบครัวของสตีเว่นผ่านทางโทรศัพท์มือถือหลายครั้งว่าจะให้สำนักข่าวรายงานเนื้อหาในบันทึกได้หรือไม่ โดยทางครอบครัวก็ตอบซ้ำๆ ว่าพวกเขาต้องการดูบันทึกก่อน

"แต่ครอบครัวของสตีเว่นก็ไม่เคยได้โอกาสเลย ผมเดาว่า CNN มีความสามารถควบคุมตัวเองได้สี่วันเท่านั้น พวกเขาจึงนำมันไปใช้ เพียงเพราะพวกเขารู้สึกอยากเท่านั้น" ไรนส์กล่าว

 

ที่มา: CNN slammed for report on ambassador's diary, Aljazeera, 24-09-2012 http://www.aljazeera.com/news/americas/2012/09/201292463458349269.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

Posted: 24 Sep 2012 07:23 AM PDT

" ไอ้วัฒนธรรม ชมๆ กันเอง ทั้งๆ ที่ สิ่งทีเกิดขึนในวงวิชาการมันห่วยขนาดไหน แบบนี้นี่แหละ เห็นกันจนเบื่อ ในวงวิชาการไทย แม้แต่ในวงทีอ้างว่า "ประชาธิปไตย" หรือ "รุ่นใหม่" 

24 ก.ย. โพสต์ในเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นต่อบทความ มานุษยวิทยา-สังคมวิทยา-ไทยศึกษาเพื่อใคร

คาร์บอมกลางเมืองกับมาตรการป้องกันโซนไข่แดง

Posted: 24 Sep 2012 07:00 AM PDT

เปิดมาตรการรักษาไข่แดง "เซฟตี้โซน" นโยบายป้องกัน 7 เมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ กับความเห็นที่หลากหลายของคนพื้นที่

เหตุคาร์บอมกลางตลาดเมืองสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อช่วงเที่ยงเศษๆ ของวันที่ 21 กันยายน 2555 นับเป็นเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่คนร้ายมุ่งต้องการทำลายเศรษฐกิจของเมืองให้ย่อยยับไป เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในย่านเศรษฐกิจสำคัญๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเมืองสำคัญอย่างอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาด้วย

หลังเหตุคาร์บอมกลางเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้มีการพูดถึงมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุร้ายในย่านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน (Safety Zone)

กระทั่งล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนในการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยใน 7 หัวเมืองเศรษฐกิจ หลังเกิดเหตุคาร์บอมในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 และที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555

ทั้ง 7 หัวเมืองเศรษฐกิจดังกล่าว ได้แก่

1.พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

2.พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

3.พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

4.พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

5.พื้นที่อำเภอตาบใบ จังหวัดนราธิวาส

6.พื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ

7.พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โดยจะมีมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในเขตพื้นที่ปลอดภัย เช่น กำหนดให้เดินรถทางเดียว หรือ one way กำหนดทางเข้าออกชัดเจน และมีจุดตรวจบริเวณทางเข้าและทางออก โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เครื่องมือทันสมัยในการตรวจวัตถุต้องสงสัย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพิ่ม รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยประจำจุดต่างๆ

ที่สำคัญมีการตรวจตรารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ทุกคนคันที่ผ่านเข้าออก หรือแม้กระทั่งการตรวจบุคคล ซึ่งแน่นอนย่อมสร้างความไม่สะดวกให้กับประชาชน จนส่งอาจผลให้วิถีชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ปลอดภัยเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งอาจกระทบกับการค้าการขาย จนทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่เห็นด้วย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับย่านเศรษฐกิจถนนรวมมิตรในเขตเทศบาลนครยะลามาแล้ว

การจัดทำเขตพื้นที่ปลอดภัยในย่านถนนรวมมิตรครั้งแรก มีขึ้นหลังเหตุระเบิดทั่วเมืองยะลา 12 จุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 แต่ทำได้เพียงเดือน ก็ถูกผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงไม่เห็นด้วย จนต้องยกเลิกไป กระทั่งเกิดเหตุคาร์บอมอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 พร้อมกับเหตุคาร์บอมที่โรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงมีการจัดทำเป็นเขตเซฟตี้โซนอีกครั้งกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครออกมาประท้วง

ถึงกระนั้น การกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย ก็ใช่ว่าจะสามารถป้องกันเหตุร้ายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเหตุระเบิดห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์4 สาขานราธิวาส ซึ่งเป็นห้างดังและใหญ่ที่สุดของจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่บนถนนจำรูญนรา ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 31 สิงหาคม 2555 จนเกิดเพลิงไหม้เสียหายอย่างหนัก ห้างนี้ก็ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ปลอดภัยเช่นกัน

ดังนั้น การกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยทั้ง 7 หัวเมืองเศรษฐกิจ จึงมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่า อย่างน้อยก็ช่วยรักษาชีวิตได้ แม้จะสร้างความลำบากอยู่บ้างก็ตาม

ฝ่ายผู้ประกอบการที่เห็นด้วย อย่างนายวรพจน์ อุฬาร์ศิลป์ เจ้าของห้างทองโอฬาร(อุ่ยยงพง)ในเขตเทศบาลนครยะลา แต่อยู่นอกเขตพื้นที่ปลอดภัย มองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะประชาชนจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น และอยากให้เพิ่มเขตพื้นที่ปลอดภัยในเขตเทศบาลนครยะลาขึ้นอีก

แต่ในมุมมองของพนักงานร้านค้าบนถนนรวมมิตรคนหนึ่ง มองว่า หากกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยเพิ่ม ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่ปลอดภัยไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน เพราะการจราจรไม่สะดวก แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น และเห็นด้วยที่จะให้มีเขตพื้นที่ปลอดภัยใน 7 เมืองเศรษฐกิจ เพราะจะรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยเวลาไปเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ

ขณะที่นายเดชรัฐ สิ้มศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ระบุว่า การกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซนทั้ง 7 เมืองดังกล่าว รัฐบาลควรนำรูปแบบเขตพื้นที่ปลอดภัยของจังหวัดยะลาไปเป็นตัวอย่าง เพราะมีมาตรการที่ดีสามารถดูแลรักษาความปลอดภัยได้

นายเดชรัฐ ย้ำด้วยว่า การเพิ่มเขตพื้นที่ปลอดภัยในเขตเทศบาลนครยะลานั้น ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุด้วย ซึ่งหน่วยงานรัฐได้ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา และเห็นว่าขณะนี้เขตที่จำเป็นต้องทำเขตพื้นที่ปลอดภัย มีเพียงถนนยะลาสายกลางและถนนรวมมิตร

ส่วนความเห็นของภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี อย่างนายสมศักดิ์ อิสริยะภิญโญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี มองว่า อยากเห็นรูปแบบเขตพื้นที่ปลอดภัยที่รัฐบาลต้องการก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยส่วนตัวเห็นด้วย "แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีของประชาชนในพื้นที่มากจนเกินไป อาจเป็นประโยชน์ครึ่งต่อครึ่งระหว่างรัฐกับประชาชน"

สอดคล้องกับความเห็นของภาครัฐอย่าง นายเสรี ศรีหะไตรรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่มองว่า เขตพื้นที่ปลอดภัยของคนปัตตานี หมายถึง วิถีชีวิตปกติของประชาชนในพื้นที่ อะไรก็ตามที่ทำให้วิถีชีวิตผิดปกติไปจากเดิม สิ่งนั้นไม่ใช่ "เซฟตี้" ของปัตตานี

"เซฟตี้โซนของปัตตานีคือ บริเวณที่พี่น้องอาศัยอยู่จะไม่มีสิ่งของขวางกั้น ทั้งป้อมยาม ด่านตรวจ การเดินรถทางเดียว หรือการตรวจเข้มเฉพาะบุคคลที่สวมชุดโต๊ปและหมวกกะปิเยาะ แต่เซฟตี้โซนในที่นี้หมายถึงการเพิ่มความแน่นแฟ้นของพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งทุกคนต้องช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลระมัดระวังสิ่งที่แปลกปลอมที่จะเข้ามาในพื้นที่ แต่ยังคงมีมาตรการเสริมในการดูแลจุดที่ล่อแหลมต่างๆอยู่" นายเสรี ยืนยัน

ในส่วนของจังหวัดนราธิวาส นายกู้เกียรติ บูรพาพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส เห็นว่า ในจังหวัดนราธิวาสเกิดเหตุรุนแรงมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่สามารถยับยั้งการก่อเหตุได้ ซึ่งเห็นด้วยการทำเขตเขตพื้นที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซนตามนโยบายของรัฐบาล อย่างน้อยก็สามารถสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ นายอำเภอเมืองนราธิวาส ระบุว่า ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ที่ผ่านมามีการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยบริเวณถนนภูผาภักดีมาแล้วประมาณ 8 เดือน ยังไม่เกิดเหตุรุนแรงใดๆ กระทั่งเกิดเหตุระเบิดวางเพลิงห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์4 บนถนนจำรูญนรา

นายเถกิงศักดิ์ ระบุต่อไปว่า ในเขตพื้นที่ปลอดภัยมีการตั้งจุดตรวจทางเข้า-ออก มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณ 150 นาย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ไม่ได้จัดระบบจราจรให้เดินรถทางเดียว

นายจำนัน เหมือนดำ นายอำเภอเมืองสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่งดำเนินการเรื่องเขตพื้นที่ปลอดภัยในเขตเทศบาลเมืองสุไหง โก-ลกมาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา รวม 4 จุด

"ผมเห็นด้วยกับการทำเขตเซฟตี้โซนใน 7 เมืองเศรษฐกิจ หากเป็นไปได้ควรขยายเขตเซฟตี้โซนออกไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง" นายจำนัน กล่าว

ขณะที่นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ระบุว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงาน 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองในการกำหนดมาตรการที่จะใช้เขตพื้นที่ปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการรับฟังความคิดจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

"เขตเซฟตี้โซนของนราธิวาส จะครอบคลุมทั้งในเขตชุมชนเมืองและย่านเศรษฐกิจ โดยจะเพิ่มจุดตรวจและปรับปรุงระบบจราจรให้เป็นระเบียบมากขึ้น" นายอภินันท์ ระบุ

ในส่วนของพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แม้จะอยู่นอกเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คนในหาดใหญ่ก็รู้สึกหวาดผวาทุกครั้ง เมื่อเกิดเหตุคาร์บอมในเขตเมือง เนื่องจากหาดใหญ่เองเคยประสบกับเหตุรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งมักเป็นเหตุการณ์ใหญ่และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา ทางจังหวัดสงขลาได้กำหนเขตพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอหาดใหญ่มาแล้ว แต่มีมาตรการที่แตกต่างกับที่ใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเน้นการใช้กำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน เครือข่ายภาคประชาชน และตำรวจในการดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อมิให้กระทบกับบรรยากาศการเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยมีการลาดตระเวนในย่านเศรษฐกิจกลางเมือง หรือเรียกว่าพื้นที่ไข่แดง และมีการการติดตั้งวงจรปิดกว่า 300 จุด

ในขณะที่การตั้งด่านตรวจหรือจุดตรวจ ที่อาจจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนนั้น จะตั้งอยู่ในพื้นที่รอบนอกหรือบริเวณทางเข้าพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ รวม 17 จุด

"เซฟตี้โซน" เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและใช้เฉพาะพื้นที่เท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าคนในพื้นที่อื่นไม่ต้องการความปลอดภัย ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ จะทำอย่างไรที่จะให้ทุกพื้นที่กลายเป็นเซฟตีโซนทั้งหมด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ขุนทูนอู” รับรางวัลประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกา

Posted: 24 Sep 2012 06:22 AM PDT

 

เจ้าขุนทูนอู นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพไทใหญ่ หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย SNLD  ได้รับรางวัลประชาธิปไตย จากสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 55 เนื่องในวันสันติภาพโลก เจ้าขุนทุนอู วัย 69 ปี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan National League for Democracy - SNLD) อดีตนักโทษการเมืองพม่า พร้อมด้วยนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในพม่าหลายคน เช่น ดร.ซินเธียหม่อง แห่งแม่ตาวคลิกนิก อ.แม่สอด จ.ตาก รวมถึงมินโก่ หน่าย อดีตนักศึกษาปี 1988 ได้รับรางวัลประชาธิปไตย 2012 (The Democracy Award 2012) มอบโดยสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Endowment for Democracy - NED) จากสหรัฐอเมริกา พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นที่  Capitol กรุงวอชิงตัน DC โดยมีนางอองซาน ซูจี ร่วมในพิธีด้วย

สำหรับ เจ้าขุนทุนอู เป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวรัฐฉาน เป็นบุตรของเจ้าจ่าส่ง น้องชายเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเมืองสี่ป้อ โดยเจ้าขุนทุนอู เป็นผู้นำพรรค SNLD ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่งในรัฐฉาน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 แต่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าขณะนั้นไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ปี 2548 เจ้าขุนทุนอู พร้อมด้วยนักการเมืองคนสำคัญของไทใหญ่อีก 8 คน ถูกทางการพม่าจับกุมในข้อหาคิดก่อการกบฏ สมคบกลุ่มคนนอกหมาย บ่อนทำลายชื่อเสียงประเทศ ทั้งหมดถูกศาลตัดสินจำคุกตั้งแต่ 75 – 106 ปี และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 13 มกราคม 55 ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ประกาศแผนสันติภาพประเทศ

พรรค SNLD ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการเลือกตั้งให้เป็นพรรคการเมืองถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยพรรค SNLD มีกำหนดจะเข้าร่วมลงชิงชัยในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในปี 2558  ปัจจุบันพรรค SNLD มีคณะกรรมการกลาง 11 คน มีเจ้าขุนทุนอู เป็นประธานพรรค นายจายอ่อง เป็นรองประธานพรรค จายนุท เป็นเลขาธิการพรรค นายจายเล็ก เป็นโฆษกพรรค จายฟ้า เป็นฝ่ายประสานงาน ปัจจุบันพรรคมีสมาชิกรวมกว่า 1 พันคน

 

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น