โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อภิสิทธิ์โต้ "มติชน-ข่าวสด" ยัน "ชายใจดำ" ตัวจริงอยู่ต่างแดน

Posted: 29 Sep 2012 12:10 PM PDT

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยที่ จ.ตราด โต้ปกมติชนสุดสัปดาห์ยัน "ชายใจดำ" อยู่ต่างแดน หลอกคนมาชุมนุม แล้วเอากองกำลังติดอาวุธมาป่วนจนทำให้ผู้ชุมนุม-ตำรวจ-ทหารเสียชีวิต แถมยังใจดำกับประเทศไทย ลั่นจะขอสู้เพื่อประชาชนคนไทย จะไม่ยอมให้ "ชายใจดำ" เอาชายชุดดำมาป่วนบ้านป่วนเมือง ทำลายโอกาสประเทศไม่จบสิ้น

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า เมื่อเย็นวานนี้ (29 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางไปที่ ศูนย์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จ.ตราด เพื่อปราศรัยเวที "เดินหน้า ผ่าความจริง หยุดล้มรัฐธรรมนูญ – ออกฎหมายล้างผิดคนโกง"

ตอนหนึ่งของการปราศรัย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ทุกคนมาในวันนี้ จะรักผม หรือจะรักใครก็ตาม ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับว่าทุกคนที่มาที่นี่รักความถูกต้อง รักความเป็นธรรม และรักประเทศไทย เพราะที่เราจัดเวทีกันทุกวันเสาร์ และมายืนอยู่ตรงนี้เราไม่ได้มาพูดเรื่องการหาเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เราไม่ได้แม้แต่จะมาขับไล่รัฐบาล แต่สิ่งที่เรามา เรากำลังเรียกร้องแทนพี่น้องคนไทย แทนประเทศไทยว่า รัฐบาลจะต้องอยู่บนความถูกต้อง อย่าเอาผลประโยชน์ของใคร คนใดคนหนึ่ง อย่าเอาผลประโยชน์ของพวกพ้อง อย่าเอาผลประโยชน์ของพรรค อย่าเอาผลประโยชน์ทางการเมือง ทางการเงิน มาอยู่เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้อง

 

อัดรัฐบาลใช้เงินเป็นแสนล้าน แต่น้ำยังท่วม ทำให้ประชาชนเป็นหนี้

"วันนี้เวทีนี้เช่นเดียวกัน ไม่ได้มาไล่รัฐบาล แต่มาเรียกร้องว่า จนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้เอาใจใส่ที่จะเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในกระบวนการประชาธิปไตย ต้องการและคาดหวังให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไข"

วันนี้ผมมาที่นี่ ผ่านจังหวัดระยอง ผ่านจังหวัดจันทบุรี มาถึงที่นี่ ก็ต้องขอถือโอกาสนี้ครับ เพราะว่าปีที่แล้วได้มีโอกาสไปเยี่ยมพี่น้องชาวปราจีนบุรีซึ่งประสบกับปัญหาน้ำท่วม วันนี้ตอนออกมาก็ได้อ่านข่าวชัดเจนว่า พี่น้องชาวปราจีนบุรีประสบภัยเป็นรอบที่ 2 แล้ว ซึ่งท่านรองหัวหน้าพรรค อลงกรณ์ พลบุตร ได้รับมอบหมายจากพรรคฯ ให้เข้าไปในพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนแล้วก็ได้ทำไปโดยร่วมกับอาสาสมัครจำนวนมาก ผมอยากให้พวกเราปรบมือเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวปราจีน ฯ ส่งใจ กำลังใจ ไปยังพี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วม

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลว่า ปีนี้รัฐบาลใช้เงิน แสน 2 หมื่นล้าน โดยไม่ขอบอกรายละเอียดให้กับสภา ขอให้ไว้วางใจนายกฯ เอาเงินแสน 2 หมื่นล้านไปแก้ปัญหาน้ำท่วม ขอสภาว่ามีเงินอีก 6 หมื่นล้านให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไว้ใช้ในการดูแลแก้ไขปัญหาที่เป็นเรื่องฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน และที่สำคัญที่สุดครับ ขอเงิน ขอไปกู้เงินอีก 3 แสน 5 หมื่นล้าน โดยไม่เข้าสู่ระบบงบประมาณปกติเพื่อจะไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

"วันนี้แสน 2 หมื่นล้าน ใช้หมดแล้ว 6 หมื่นล้านใช้หมดแล้วในนั้นใช้เป็นเรื่องน้ำท่วมอาจจะประมาณ 2-3 หมื่นล้าน และล่าสุดรายงานไปว่า 3 แสน 5 หมื่นล้าน อนุมัติไปแล้วประมาณ 3 หมื่น ถึง 5 หมื่นล้าน ใช้เงินไปแล้วประมาณพันกว่าล้าน สรุป 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินไปแล้วไม่ต่ำกว่าแสน 5 หมื่นล้านที่บอกว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม พอมาถึงปีนี้เป็นยังไงครับ ... สุโขทัยท่วมแล้ว พิจิตร พิษณุโลก ท่วมแล้ว อยุธยาท่วมแล้ว ฝนตกหนักอีกหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัดท่วมแล้ว และที่ภาคตะวันออกของเรา ปราจีนฯ สระแก้ว ท่วมแล้ว พวกเราไม่ได้มาไล่รัฐบาลครับ แต่พวกเราต้องการคำตอบจากรัฐบาลว่า เมื่อไหร่จะเอาใจใส่ดูแลว่า เงินที่เอาของประชาชนไปจากภาษีอากร และจากที่ทำให้ลูกหลานเราต้องเป็นหนี้ 3 แสน 4 แสน 5 แสนล้าน เอาไปใช้ที่ไหนอย่างไร ทำไมสถานการณ์น้ำท่วมจึงไม่ได้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ในหลายจังหวัดในขณะนี้"

"นี่เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งเรายังเรียกร้องอยู่ แล้วก็จะติดตามอย่างละเอียดว่า สรุปแล้วเงินเป็นแสนล้านหายไปไหน พวกผมเริ่มตรวจสอบกันแล้วครับ แล้วก็คงจะได้มีโอกาสนำเสนอต่อไปว่า ถ้าบริหารจัดการเงินแบบนี้ใช้ไม่ได้ มีทั้งการทุจริต ข้าราชการไปตรวจพบการทุจริต ถูกย้าย และมีการใช้จ่ายเงินซึ่งผมไล่ดูตามจังหวัดที่น้ำท่วมแต่ละจังหวัด บางจังหวัดไปเป็นพันล้าน ได้ไปหลายร้อยล้าน แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น นี่เรื่องหนึ่งละครับที่เราบอกว่า เราไม่ได้ไล่รัฐบาล"

 

นโยบายจำนำข้าวเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ และจะเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้เวียดนาม

นายอภิสิทธิ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลด้วยว่า "นโยบายที่เคยมาให้คำมั่นสัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คือพี่น้องเกษตรกร ถึงวันนี้เกิดอะไรขึ้น พี่น้องติดตามข่าวสารเห็นไหมครับ ตอนนี้มีเกษตรกรที่ต้องผูกคอตายเพราะเข้าโครงการจำนำข้าวแล้วไม่ได้เงิน แล้วเวลานี้ปัญหาโครงการจำนำข้าวชัดเจนมากขึ้นทุกวัน เกษตรกรไม่สามารถเอาข้าวไปจำนำได้ เพราะนโยบายนี้เก็บข้าวเข้าไปจนไม่มีที่จะเก็บแล้ว และนโยบายนี้ใช้เงินเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท และรัฐบาลก็พยายามผลักภาระไปให้ ธกส. ธนาคารต่าง ๆ ออกเงินไปก่อน แต่เขาก็ไม่ไหวแล้ว เพราะรัฐบาลไม่เอาเงินมาคืนเขาสักที"

"และที่สำคัญที่สุดในอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ครับ นอกจากข่าวที่ครึกโครมออกไปทั่วว่ามีนักวิชาการ ทนไม่ไหวแล้วบอกว่านโยบายอย่างนี้เจ๊งแน่ ขาดทุนปีละแสนล้าน มีการทุจริต คอร์รัปชั่นมากมาย เกษตรกรจำนวนมากก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า เราสูญเสียความเป็นแชมป์การส่งออกข้าว แล้วคนที่มาให้ข่าวที่ผมว่าคนไทยรู้สึกเจ็บมากที่สุดก็คือรัฐมนตรีของประเทศเวียดนาม ที่เขาบอกว่าเขามั่นใจว่าจากนี้ไปในอนาคตเขาจะเป็นแชมป์ส่งออกข้าว และที่เขาเป็นแชมป์ส่งออกข้าว แซงประเทศไทยได้ เขาขอบคุณรัฐบาลไทยที่ใช้นโยบายจำนำข้าว นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้น"

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยว่า  นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ สัญญาไว้ตอนต้นปีว่าราคายางพาราจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท แต่จนถึงวันนี้ก็ยังขยับไปไม่ถึงร้อย ใช้เงินไปแล้วหมื่น 5 พันล้าน ขออนุมัติจาก ครม.ไปอีก 3 หมื่นล้านครับ เราก็บอกนี่ต่างหาก ปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ยากครับ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายจำนำข้าวจากนักวิชาการในประเทศ ต่างประเทศ อาทิตย์ที่ผ่านมา มีเสียงมาจากแดนไกล จากคน 1 คน ที่บอกว่านโยบายนี้ต้องเดินต่อ อีก 2 ปี 3 ปี 4 ปี จะขาดทุนเท่าไหร่ก็ต้องเดินต่อ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ให้จับตาดูว่าจะมีคนบางคนมีความสุขกับนโยบายจำนำข้าวที่รัฐบาลกลายเป็นเจ้ามือใหญ่ในการค้าข้าวและมีการแสวงหาผลประโยชน์กัน เพราะซื้อแพง ขายถูก ภาระเป็นของประชาชน แต่รั่วไหลตรงไหน ได้ประโยชน์กันตรงไหนเป็นของคนหยิบมือเดียว นี่คือสิ่งที่เราเรียกร้องว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง จะต้องแก้ไข"

 

อัดรัฐบาลยังคิดปรองดองจอมปลอม ล้างผิดทักษิณ

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ได้ปราศรัยว่า "เพราะจนถึงวันนี้ความพยายามเรื่องการปรองดองจอมปลอม คือการจะล้างผิดให้กับทักษิณ ในเรื่องการทุจริต ก็ยังคงเป็นเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้อยู่ ดูเหมือนจะเงียบไป แต่ไม่ใช่ เดี๋ยวคุณนิพิฏฐ์ (อินทรสมบัติ) จะมาเล่าให้ฟังว่า เขากำลังวางแผนทำโครงการที่เรียกว่าสานเสวนา ขอเงินไป 90 ล้าน เพื่อที่จะอ้างว่าไปทำประชาพิจารณ์ สานเสวนาแล้วสรุปว่าประชาชนสนับสนุนกฎหมายปรองดอง และการรื้อรัฐธรรมนูญ เพื่อเป้าหมายกลับไปที่เดิมครับ ล้างผิดให้กับคนโกง เราถึงต้องเอาความจริงเหล่านี้เล่าอย่างต่อเนื่อง กฎหมายปรองดอง 4 ฉบับ ยังอยู่ในวาระการประชุมสภา แล้วคุณทักษิณ และหลายคนส่งสัญญาณอยู่อย่างต่อเนื่องนะครับว่า ตอนนี้รอจังหวะ โดยบอกว่าเป้าหมายไม่เกินสิ้นปีนี้จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และจะกลับมาประเทศไทย"

"พี่น้องยอมหรือเปล่าล่ะครับ เพราะถ้าพี่น้องยอม รับรองว่า ภายในสิ้นปีนี้เขาทำสำเร็จแน่ ถ้าพี่น้องบอกไม่ยอม แต่อยู่เฉย ผมก็ยืนยันว่า เขาทำสำเร็จแน่ แต่ถ้าไม่ยอมแล้วช่วยกันบอกต่อ ๆ ไปว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่สังคมจะยอม และต้องแสดงออกด้วยว่าไม่ยอม ผมยังเชื่อครับว่าเขาจะทำไม่สำเร็จ เราไม่ได้ห้ามคุณทักษิณกลับบ้าน กลับได้ แต่มารับโทษตามกฎหมายเสียดี ๆ ใช่มั้ยครับพี่น้องครับ (ผู้ฟังการปราศรัยตอบว่า - ใช่) นี่คือสิ่งที่เราเรียกร้อง และเรารู้ไงครับว่า ความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายปรองดองนั้น เขาจึงใช้ทุกวิธี"

 

ชี้รัฐบาลจะล้างผิดให้คนที่สั่งฆ่าประชาชนพ่วงคนโกง

"วันนี้หลังจากที่เขาพยายามมาหลายเดือนครับ ทำกระบวนการพยายามที่จะกดดันผม กดดันคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยอ้างว่าเหตุการณ์เมื่อปี 2553 จะต้องนำมาสู่การจับผม และคุณสุเทพ มาลงโทษ เขาต้องการกดดันบอกว่า ถ้าผมและคุณสุเทพ ไม่ยอมไปผ่านกฎหมายปรองดอง ซึ่งจะล้างผิดให้กับคนผิดในปี 53 ที่ผมเสียดายว่า พี่น้องเสื้อแดงไม่ได้ฟังนั้น ไม่ได้ฟังตรงนี้"

"กฎหมายที่รัฐบาลนี้กำลังทำนั้น กำลังจะล้างผิดให้ใครก็ตามที่ทำผิดในปี 53 จะสั่งฆ่าประชาชน หรืออะไรก็ตามที่คุณพยายามกล่าวหานั้น กฎหมายนี้ล้างผิดให้หมด เพราะเขาต้องการอย่างเดียว ทำอย่างไรก็ได้ให้ล้างผิดคนโกงไปด้วย เขาเลยกดดันมาโดยตลอด พยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ แต่เขียนไม่ได้หรอกครับ ความจริงคือความจริง"

"เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลได้ตัดสินอีก 1 คดีครับ ผมฟ้องคุณจตุพรอยู่ 4 คดี คดีแรกตัดสินไปแล้ว ศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว คดีที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือคุณจตุพร กล่าวหาว่าผมกับคุณสุเทพ วางแผนฆ่าประชาชน อ้างว่ามีการประชุมกัน สุดท้ายศาลพิพากษาว่า สิ่งที่นายจตุพรพูด นายจตุพรคิดเอง ทำขึ้นมาเอง เพื่อที่จะยั่วยุ เพื่อที่จะปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง ศาลจึงลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่ยังรอลงอาญา นี่คดีที่ 2 ผมก็จะอุทธรณ์ไปละครับ อุทธรณ์ไปว่า เนื่องจากศาลลงโทษคดีแรกไปแล้ว ก็ไม่น่าจะต้องรอลงอาญาในคดีนี้ ให้ติดคุกไปเลย"

"และผมจะต้องอุทธรณ์เพราะว่าในประเด็นที่ 2 ที่ฟ้องไปนั้น ศาลบอกว่าจตุพรหมิ่นประมาทที่มากล่าวหาผมว่าหนีการเกณฑ์ทหาร ใช้เอกสารเท็จ แต่เนื่องจากจตุพรเอาเอกสารมา ศาลบอกว่าเป็นการติชมได้ โดยสุจริตได้ โดยไม่ได้วินิจฉัยเรื่องข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ก็เลยยกฟ้องไป ผมก็จะอุทธรณ์ด้วย"

 

จวกแกนนำเสื้อแดงบิดเบือนประวัติศาสตร์ไม่หยุด ด้วยการเปิดคลิปตัดต่อเสียง

"แต่สิ่งที่ผมย้ำก็คือว่า คุณบิดเบือนประวัติศาสตร์ไม่ได้ และความพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ไม่หยุดนะครับ เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ยังมีเสื้อแดงเอารถที่เปิดคลิปเสียงผม ตัดต่อเนี่ยครับ ที่อ้างว่าผมพูดว่าจะสั่งฆ่าประชาชน สร้างสถานการณ์นั้น ยังมาเปิดอยู่หน้าพรรคฯ ตอนนี้ผมรวบรวมหลักฐานไว้ครับ จริง ๆ ไม่อยากขึ้นศาลอีก แต่คงต้องเอาอีกซักคดีครับ งานนี้ เพราะผมไม่ต้องการให้มีการบิดเบือนความจริง"

 

จวกแกนนำเสื้อแดง เพื่อไทย เป็นโรคมองไม่เห็นชายชุดดำ

"แล้วเขาพยายามมากครับ ไม่ว่าจะเป็นแกนนำเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นรองนายกฯ เฉลิม ไม่ว่าจะเป็นดีเอสไอ ตอนหลังเป็นโรคที่พิสดารที่สุด ผมเคยได้ยินแต่คนที่ตาบอดสี คือไม่เห็นสีที่เป็นสี มองไปเหมือนลักษณะเป็นขาวดำ แต่เกิดโรคใหม่ขึ้น คือโรคไม่เห็นสีดำ ไม่เห็นชายชุดดำครับ เพิ่งเกิดขึ้นที่นี่ ในประเทศไทย เป็นกันมากก็โรคนี้ระบาดอยู่แถวพรรคเพื่อไทย ในหมู่แกนนำเสื้อแดง ระบาดอยู่แถวกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วก็คงระบาดอยู่ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด กับมติชน"

ปฏิเสธ ไม่มีชุดดำ ไม่มีชุดดำ ชุดดำเป็นวาทกรรม แต่นับวันตอนนี้รายงานจากคนที่เขาเป็นกลาง เป็นอิสระ ความคืบหน้าในหลายคดี และการที่คนหลายคนทนไม่ไหว เอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มา จะเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และหลักฐานอื่น ๆ วันนี้ชัดเจนครับว่าชายชุดดำมีจริง และเราจะเดินหน้าต่อในการผ่าความจริงเร็ว ๆ นี้จะมี ผ่าความจริงตอนพิเศษว่าด้วยเรื่องชายชุดดำเป็นการเฉพาะให้ประชาชนทั้งประเทศและคนเสื้อแดงได้รู้ว่า ที่สุดแล้วความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาจากการวางแผนเอากองกำลังติดอาวุธ มาปะปนอยู่กับการชุมนุม เพื่อหวังให้เกิดการปะทะ การสูญเสีย การตาย แล้วมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง อดใจรอสักนิดครับ"

 

จะออกหนังสือฉีกหน้ากาก ให้เห็นว่ามีคนสร้างเรื่องเท็จ และไม่มีการปรองดองอยู่ในใจ

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่าจะออกหนังสือเล่มใหม่ เพื่ออธิบายเหตุการณ์ในปี 2552 และ 2553 "และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันครับ ผมก็กำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ออกมา ที่จะเล่าถึงเหตุการณ์ทั้งในปี 2552 และ 2553 เพื่อที่จะฉีกหน้ากาก คนที่พยายามโกหกกล่าวเท็จ สร้างเรื่องตลอดเวลา แล้วชี้ให้เห็นว่า การปรองดองที่เขาพูดถึงนั้นมันไม่ได้มีอยู่ในใจของเขาเลย

วันอังคารที่ผ่านมา พี่น้องเห็นไหมล่ะครับ ที่กลุ่มคนที่ไปให้กำลังใจครูคนหนึ่ง ซึ่งเขาพยายามที่จะปกป้องสถาบันฯ ต้องมาเจอกับกลุ่มเสื้อแดง แล้วก็ปะทะกัน ตีกัน เลือดตกยางออกอีก ไหนล่ะครับ รัฐบาลที่มีนโยบายปรองดอง พูดอะไรบ้างที่บอกว่า จะพยายามหาทางไม่ให้ปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นอีก"

 

ชี้ ปชป.ถูกรังควาญมาตั้งแต่ปี 49 ถูกปาอิฐในปี 51 โดยที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 53

"ไม่มีการพูดไปเลยครับว่าทำไมล่ะ ไม่ปล่อยให้คนที่เขาจัดกิจกรรมทางการเมือง ต่างคนก็ทำไป ไม่ใช่คุณตามไปรังควาญเขาไปทั่ว แล้วแกนนำเสื้อแดงคนหนึ่งมาบอกว่า ห้ามไม่ได้หรอก เพราะคนเสื้อแดง ทำเรื่องนี้เนื่องจากเจ็บแค้นผม กับคุณสุเทพ ที่ไปสั่งฆ่าประชาชน ผมบอกได้คำเดียวครับ โกหก"

"ทำไมโกหก ถ้าทั้งหมดเกิดจากการที่มีเหตุการณ์ปี 2553 ผมถามว่า ปี 49 ผมไปเปิดเวทีปราศรัยที่เชียงใหม่ เสื้อแดงมาไล่ตี พังเวที ขว้างของใส่อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ใส่ผม มันเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ปี 53 ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้น ผมถามว่าปี 2551 ผมได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ คุณองอาจนั่งรถออกมาจากสภา มีความผิดข้อเดียวคือเลือกผมเป็นนายกฯ เอาอิฐ เอาตัวหนอนปาใส่รถคุณองอาจ พยายามจุดไฟเผา ศาลตัดสินจำคุกไปแล้ว มันเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ปี 53 ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้น ผมถามว่าปี 2552 ไปพังเวทีการประชุมอาเซียนที่พัทยา มันเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ปี 53 แล้วที่มาทุบรถผมที่กระทรวงมหาดไทย สารพัดเหตุการณ์ ทำคนนางเลิ้งตายไป 2 คน ผมจึงสรุปคำเดียวว่าคุณโกหก"

และหยุดได้แล้ว ผมบอกว่าปล่อยให้คนฟังเรื่องโกหกมามาก พวกเราขอพูดความจริงบ้าง แล้วเราจะเอาความจริงเหล่านี้เปิดเผยอีก วันพฤหัสที่ผ่านมา คุณเฉลิมมาตอบกระทู้ถามคุณนิพิฏฐ์ถาม บอกกระบวนการยุติธรรมตอนนี้เป็นยังไง รัฐมนตรียุติธรรมอยู่ดี ๆ เอาตัวเองไปพยายามประกันตัวเจ๋ง ดอกจิก พยายามไปล็อบบี้คนที่เป็นอธิบดี หรือระดับนั้นในศาล กระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร ดีเอสไอซึ่งเคยสอบเหตุการณ์ 10 เมษา ถึงขั้นรู้ตัวว่า ใครเป็นคนทำให้ พล.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิต วันนี้ทำไมคดีเหล่านี้หายไป เฉลิมมาตอบ ถามคดีร่มเกล้า ตอบคดีนายพัน คำกอง แล้วก็ตอบไม่หมด ผมก็บอกว่า ตอบอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ เพราะที่ตอบก็พูดไม่ตรง กรณีนายพัน คำกอง ศาลเพียงแต่บอกว่า ในการชันสูตรเพื่อไต่สวนว่าตายเพราะเหตุใดนั้น ศาลเชื่อว่ากรณีที่เกิดการตั้งด่านแล้วมีรถตู้พยายามฝ่าด่านมา มีการยิงรถตู้ นายพัน คำกองนั้น วิ่งออกมาดูเหตุการณ์ เลยพูดง่าย ๆ ก็คือ โดนลูกหลงไปนั้นเกิดการเสียชีวิต แล้วมันเกี่ยวอะไรกับที่คุณเฉลิมบอก อันนี้เป็นเจตนาฆ่า แล้วคนเจตนาฆ่าคือผมกับคุณสุเทพสั่งให้ไปฆ่า ผมบอก ไม่ได้

 

ลั่นยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ขอให้ "นายใหญ่" มาเข้าด้วย

ผมยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เคยปฏิเสธ ถามคุณเฉลิมดีกว่าว่า นายใหญ่คุณน่ะ ทำไมไม่มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และยอมรับกระบวนการยุติธรรมบ้างล่ะครับ

ผมบอกเฉลิมไปแล้วงานนี้ห้ามมีไอ้ปื้ด เวลานี้มันจะมีไอ้ปื้ด ภาคพิศดาร ไอ้ภาคก่อนนั้นคนหนึ่งยิง แต่กลายเป็นไอ้ปื้ดยิง ภาคนี้จะบอกว่า ไอ้ปื้ดเป็นใครไม่รู้ยิง ไม่ต้องรู้ว่าไอ้ปื้ดเป็นใคร แต่เอาคนสั่งมาลงโทษ ไม่มีตำรากฎหมาย ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่ไหนในโลกทำอย่างนี้ แล้วสุดท้ายคุณเฉลิมก็เลยบอกว่า เอาละ ๆ เราไม่พูดเรื่องว่า เจตนาในมุมที่ว่าอยากให้เกิดขึ้น หรือว่าจงใจให้เกิดขึ้น แต่พูดบอกว่า ต้องเล็งเห็นผล ถ้าเล็งเห็นผลถือว่าเจตนา ก็ดีครับ เพราะในวันเดียวกันขณะนี้ผมเห็นแล้ว มติชน ข่าวสด เริ่มจะคลายอาการมองสีดำไม่เห็นแล้ว เปลี่ยนแนวใหม่บอก ไม่เป็นไร ชายชุดดำ มีก็มี แต่ไม่สำคัญเท่ากับ ชายใจดำ

 

บอกมติชน-ข่าวสด "ชายใจดำ" ตัวจริงคือผู้ที่หลอกคนมาชุมนุม แล้วเจอกองกำลังติดอาวุธป่วนจนเสียชีวิต

"แต่ว่าชายใจดำของมติชน ข่าวสด ผมบอกได้ มองผิดคนแล้ว ชายใจดำ ตัวจริง คือคนที่เล็งเห็นผลว่า เอาคนที่รักสนับสนุนตัวเองทางการเมือง หลอกเขามา บอกว่ามาชุมนุม เอากองกำลังติดอาวุธมายั่วยุ มาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ให้กับเหตุการณ์บ้านเมือง จนผู้สนับสนุนเหล่านั้นเสียชีวิต นี่ชายใจดำ ตัวจริงอยู่ต่างแดน

"ใจดำกับผู้สนับสนุนตัวเองไม่พอ ใจดำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ต้องมาเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ไม่พอ ใจดำกับประเทศไทย ใจดำกับประเทศไทยในคำพูดที่ว่า ถ้าผมอยู่ไม่ได้ ก็อย่าให้คนอื่นอยู่ได้อย่างมีความสุข ชายใจดำ ตัวจริง"

"ถ้าหนังสืออย่างมติชน ข่าวสด เขียนเป็นเรื่องอื่น เรื่องชายใจดำ ไม่ต้องไปอ่าน อ่านก็ได้ แต่อย่าไปซื้อ ผมอยากจะย้ำครับ เรามาถึงจุดนี้แล้ว เราต้องชี้ให้เห็นชัดว่าสุดท้ายปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากใคร และวันนี้อย่าเอาความใจดำกับประเทศ มากดดัน มาใช้เล่ห์ มาใช้อำนาจรัฐ มาใช้อำนาจเงิน เพียงเพื่อที่จะเอาเงิน 4 หมื่น 6 พันล้าน หรือจะเอาเรื่องของการที่ตัวเองถูกศาลตัดสินลงโทษแล้วล้างผิดไปง่าย ๆ เพราะเราไม่ยอมครับ พวกเราจะไม่ยอม แล้วก็จะปักหลักสู้ ผมยืนยัน และก็ยืนยันแทนคุณสุเทพ เพราะตอนนี้คุณสุเทพไม่อยู่ อาทิตย์หน้ากลับมาแล้ว ว่าจะกดดันพวกผมอย่างไร จะพยายามข่มขู่ คุกคาม จะเอาไปต่อรองอย่างไร ไม่เป็นผลหรอกครับ พวกผมสู้ต่อ เพราะผมไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง พวกเราสู้เพื่อประเทศไทย และประชาชนคนไทย"

"เราจะไม่ยอมให้ ชายใจดำ ที่เอา ชายชุดดำ มาป่วนบ้าน ป่วนเมือง ทำลายประเทศและทำลายโอกาสของประเทศไม่จบไม่สิ้น เราจะยืนยันว่าประเทศนี้จะอยู่บนความถูกต้อง ความเป็นธรรม และยึดมั่นผลประโยชน์ของส่วนรวมตลอดไป ใช่ไหมครับ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมบัติ จันทรวงศ์: ประชาธิปไตย VS ศีลธรรม ข้อถกเถียงเชิงปรัชญาแห่งยุคสมัย

Posted: 29 Sep 2012 10:24 AM PDT

สมบัติ จันทรวงศ์ อาจารย์ด้านปรัชญาการเมือง นำเสนองานวิจัยเรื่องประชาธิปไตยไทย: ปรัชญาและความเป็นจริง ขุดถึงราก ตั้งคำถาม ชวนถกเถียงประชาธิปไตยและศีลธรรม แถมท้ายด้วยการวิจารณ์จาก ปิยบุตร แสงกนกกุล จากนิติราษฎร์ และใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ชื่อดัง

 

(26 ก.ย.55) ในการเสวนาเรื่อง "ความมั่นคงมนุษย์: ความมั่นคงทางการเมืองในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไทย" ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการนำเสนองานวิจัย หัวข้อ "ประชาธิปไตยไทย : ปรัชญาและความเป็นจริง" โดย สมบัติ จันทรวงศ์  และการวิจารณ์โดยปิยบุตร แสงกนกกุล และอธึกกิต แสวงสุข หรือ "ใบตองแห้ง"

 

นำเสนองานวิจัย"ประชาธิปไตยไทย : ปรัชญาและความเป็นจริง"


สมบัติ จันทรวงศ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มต้นด้วยการอ้างอิงคำพูดของนักรัฐศาสตร์เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย 

"เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
เกษียร เตชะพีระ 4 ก.พ.2555

"อย่างผมพูดจริงๆ นะครับ ผมไม่ค่อยสนับสนุนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมาอยู่ในวัฒนธรรมไทยแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าจะเอามา ต้องเอามาใช้แบบที่ว่าปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม แต่จะปรับอย่างไรหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ถ้าไปแข่งขันกันก็จะกลายเป็นกึ่งๆ การแทงพนัน และคนก็ไม่ค่อยนับถือการเลือกตั้ง ถ้าผมบอกว่าผมมาจากการเลือกตั้ง ทุกคนก็เฉยๆ แต่ถ้าบอกว่าผมมาโดยพระบรมราชโองการ ยอดเลย เพราะฉะนั้น เราไม่ได้นับถือการเลือกตั้งแบบนี้ น่าจะต้องเอามาคิดให้ปราณีต ผมว่านี่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม จะต้องปรับ จะต้องเอากลไกอื่นมาใช้กับสังคมไทย จะใช้ได้อย่างไร ได้แค่ไหน"
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
เมืองไทยหลังขิงแก่ 1 หน้า 78-79

จากข้อสังเกตดังกล่าว ทำให้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วประชาธิปไตยในไทยต้องอธิบายตัวเองว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยถึงควรเป็นระบอบที่ชอบธรรม ทำไมคนที่มาจากการเลือกตั้งควรได้รับการยอมรับนับถือ เพราะถ้าคนไม่ยอมรับนับถือประชาธิปไตย เราจะมีปัญหามาก

เมื่อดูการเกิดของประชาธิปไตยในสังคมตะวันตกยุคใหม่ มีแรงต่อต้านโจมตีอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง งานของ David Spitz พูดถึงแนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยว่ามีสองสำนักใหญ่ คือ

1) ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะในทุกสังคมต้องมีชนชั้นผู้ปกครอง ซึ่งแยกเป็นสองทฤษฎีย่อย คือ หนึ่ง ชนชั้นผู้ปกครองเป็นความจำเป็นในการจัดองค์กร ไม่ว่าจะองค์กรเล็กหรือใหญ่ สุดท้ายอำนาจบริหารจัดการขึ้นกับคนเพียงไม่กี่คนทั้งนั้น โดยคนที่มีโอกาสมากในการเข้ามาจัดองค์กร โดยทั่วไปคือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีคุณสมบัติเด่นบางอย่าง สอง ชนชั้นผู้ปกครองในฐานะการสมคบกันขึ้นสู่อำนาจ อธิบายว่าผู้ปกครองเป็นคนพิเศษ ซึ่งกระหายอำนาจ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจ ดังนั้นประชาธิปไตยในฐานะที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วมจึงเป็นไปไม่ได้

2) ประชาธิปไตยเป็นไปได้ แต่ไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา กลุ่มนี้มองว่าถ้าจะเอาคนที่จะเป็นผู้ปกครอง ต้องเอาคนที่ดีที่สุด ไม่เอาคนธรรมดา ดังนั้น กลุ่มนี้จะโยงกับความคิดเรื่องอภิสิทธิชน ซึ่งเป็นทฤษฎีเก่าแก่ สืบสายจากสมัยเพลโตที่มองว่า ประชาธิปไตยที่มองว่าทุกคนเท่าเทียมกันเป็นการฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจัดให้คนไม่เท่ากัน ทุกสิ่งมีตำแหน่งแห่งที่ในลำดับชั้นอยู่แล้ว ประชาธิปไตยคือการทอนให้ทุกอย่างลงมาเท่ากันหมด มองที่ปริมาณอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ ยังไม่ต้องพูดว่าที่บอกว่าคนเท่ากันนั้นเท่ากันตรงไหน เราเห็นความไม่เท่ากันมากกว่าที่เท่ากัน

เพราะฉะนั้น กว่าที่ประชาธิปไตยจะพัฒนามาได้ ต้องใช้ความพยายาม มีพัฒนาการความคิดที่ยาวนาน ข้อกล่าวหาทั้งหลายเหล่านี้ยังมีอิทธิพลมากในสังคมไทย และยิ่งมีการพูดถึง "มวลมหาประชาชน" มากขึ้น ก็ยิ่งน่าหวาดเสียวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีตัวแปรเพิ่มขึ้นมาเมื่อเกิดศาสนาคริสต์ ทำให้คู่ต่อสู้เปลี่ยน ไม่ใช่แบบที่เพลโตบอกว่าเป็นคนที่รู้กับไม่รู้ แต่เป็นระหว่างพระมหากษัตริย์และพระ กับฝ่ายที่นับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่ยอมรับอำนาจกษัตริย์ โดยกษัตริย์อิงคำสอนศาสนาคริสต์ อ้างว่าได้รับอำนาจพิเศษจากพระเจ้า คนทั่วไปมีหน้าที่เชื่อฟังกษัตริย์ กษัตริย์จะทำดีหรือชั่วก็ไปรับผิดชอบต่อพระเจ้าเอง

กรณีนี้ไม่ว่าฝ่ายไหนก็อิงศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยกันทั้งคู่ พิสูจน์เชิงประจักษ์ไม่ได้


แนวคิด 'เทวสิทธิ์' เป็นเรื่องสมมติ 'ประชาธิปไตย' ก็เรื่องสมมติเช่นกัน
ถ้าเรามองว่าทฤษฎีเทวสิทธิ์เป็นการอ้างตำนาน สิ่งที่ไม่เป็นจริง บุญญาธิการ บาปบุญ กฎแห่งกรรมที่มองไม่เห็น ประชาธิปไตยก็กำเนิดจากการสร้างขึ้นมาเช่นกัน โดยมีรากฐานจากสิ่งสมมติว่า ตามหลักตรรกะ ถ้ามีสังคมการเมือง รัฐบาล ต้องมีสภาพก่อนที่จะไม่มีสังคมและรัฐบาล ในสภาพนั้นทุกคนต้องเท่ากัน เพราะยังไม่มีอะไรกำหนด เรียกว่า "สภาพธรรมชาติ"

โดยสิ่งที่ทำให้มนุษย์เท่ากันคือ ความเสมอภาคในการปกปักษ์ชีวิตตัวเอง นั่นคือ ทุกคนมีศักยภาพที่จะฆ่าคนอื่นได้เท่ากัน เพราะฉะนั้น ในยามหลับ คนฉลาดอาจถูกคนโง่ฆ่าได้ คนแข็งแรงก็ต้องมีวันเผลอถูกคนอ่อนแอฆ่าได้ เพราะฉะนั้น หลักที่บอกว่ามนุษย์เท่ากันเริ่มต้นจากสิ่งที่ต่ำมาก คือ ความสามารถที่บอกว่าเราฆ่าคนอื่นได้ นี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเสรีนิยมในปัจจุบัน คือเอาสิ่งที่ต่ำที่สุดของมนุษย์มาเป็นเกณฑ์บอกว่า เราเท่ากันเพราะเรามีสิทธิปกปักษ์รักษาตัวเรา ซึ่งมาจากสภาพธรรมชาติ  เหล่านี้ก็เป็นเรื่องสมมติ เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยต้องยอมรับว่ากำเนิดของตัวเองก็เป็นข้อสมมติ ไม่ใช่ของจริง

เมื่อถือว่ามนุษย์เท่ากัน สิ่งที่นอกเหนือจากความสามารถในการฆ่าคนอื่นก็คือเหตุผล มนุษย์มีเหตุผลเหมือนกัน ส่วนเกณฑ์ที่เข้ามาแทนพระเจ้าคือธรรม ชาติ เริ่มตั้งแต่สภาพธรรมชาติ มีการพูดถึงกฎแห่งธรรมชาติ สิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ และผูกพันทุกคนเหมือนกันหมด เพราะเราจะยอมรับคนอื่นก็ต่อเมื่อเราคิดถึงตัวเอง ด้วยวิธีคิดแบบนี้พัฒนาไปสู่อำนาจในการปกครอง เพราะเมื่อไม่มีอะไรบอกว่ามนุษย์คนไหนเหนือกว่า จึงต้องอาศัยความยินยอม ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลมาจากความยินยอมของประชาชนภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง
 

ความสัมพันธ์ ประชาธิปไตย-การปฏิวัติ
ตรงนี้เองที่การเปลี่ยนจากสังคมจารีตสู่สังคมประชาธิปไตยอาศัยกรอบความคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติและความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ โดยมีชนชั้นนำเป็นผู้กระจายความคิดออกไป เพราะฉะนั้น การปกครองด้วยเสียงข้างมาก จึงเป็นรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับคำสอนเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ เพราะการยินยอมให้คนอื่นปกครองตัวเรา เป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขตามมาเสมอ

มนุษย์ยอมสละสิทธิอำนาจธรรมชาติตามเดิมเพื่อมาอยู่ในสังคมการเมือง เพื่อมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย เป็นการยอมแต่ต้องมีเงื่อนไข ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นพร้อมกับทฤษฎีการปฏิวัติ ว่าหากทำไม่ถูกเงื่อนไข ประชาชนสามารถถอนคืนได้ตลอด ความชอบธรรมที่รัฐบาลประชาธิปไตยได้มาไม่ใช่ได้แล้วได้เลย แต่ยืดได้หดได้ ซึ่งทุกรัฐบาลต้องตระหนัก

ข้อสมมติต่อมาคือประชาธิปไตยเริ่มจากการมองที่ปัจเจกบุคคลเป็นหลัก การรวมเอาปัจเจกบุคคลมารวมเป็นสังคมก็เป็นสิ่งสมมติ และสิ่งที่มักลืมกันก็คือการมองว่าการตัดสินใจโดยส่วนเดียวของประชาชนเป็นการตัดสินใจของเสียงข้างมาก ซึ่งแทนทั้งสังคม ทั้งที่นี่คือเรื่องสมมติ เพราะหากดูระบบเลือกตั้งประเทศ ไทย จะเห็นว่า ตามหลัก เขตเดียวคนเดียว อาจจะไม่ถึง 30% ของทั้งประเทศ แต่ตัดสินแทนทั้ง 63 ล้านคน เพราะฉะนั้น ข้อจำกัดของเสียงข้างมากจึงคือ ความถูกต้อง ความเป็นธรรมและยุติธรรม เพราะเสียงข้างมากเป็นทรราชได้เสมอ ดูได้จากประวัติศาสตร์อเมริกัน ช่วง 1776-1787 ว่าเกิดอะไรขึ้น คล้ายกับบางอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ขอลงรายละเอียดตรงนี้

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นดูได้จากประวัติศาสตร์ช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยจะพูดถึงการปฏิวัติในอเมริกัน ฝรั่งเศส และไทย
 

แนวคิด "ความเท่าเทียม" ในอเมริกา และการกันศาสนาออกจากการเมือง
การปฏิวัติของอเมริกา ในปี 1776 เมื่อเกิดขึ้น มีผู้คนจำนวนมากแสดงความผิดหวังเพราะว่าไม่ได้ทำลายระบบทาส การกดขี่ผู้หญิงก็ยังอยู่ ช่วง 1776-1789 จริงๆ แล้วมีการต่อสู้ทางความคิดมาก่อนหน้านั้นนานพอสมควร ที่เรียกว่ายุคแห่งการรู้แจ้ง ยุคแห่งภูมิธรรมทั้งหลาย ซึ่งมาจากความคิดแหวกแนวในสมัยนั้น คือความคิดของ Spinoza ที่บอกว่าทุกอย่างในโลกเป็นอย่างเดียวคือ สสาร เพราะฉะนั้นมันไม่มีความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า จิตวิญญาณทั้งหลายเป็นเรื่องของสสารทั้งสิ้น เราต้องดูโลกอย่างที่มันเป็นจริง โดยเหตุผลของมนุษย์อาจจะไม่ใช่สิ่งซึ่งทรงพลังมากที่สุด แต่คือความอยากความปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นร่างกายกับจิตวิญญาณจึงไม่ใช่ของคนละส่วนกัน แต่เป็นส่วนเดียวกัน

มันก็เหมือนกับสสารซึ่งอยู่ภายใต้กฎการควบคุมทางฟิสิกส์อย่างเดียวกัน มนุษย์ทุกคนปรารถนาความสุขตามแบบของตัวเองเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่มีใครมีสิทธิบอกว่าของใครดีกว่า เพราะฉะนั้นความรู้สึกทั้งหลายของมนุษย์ต้องไม่ถูกกดกั้น ความปรารถนาทางเพศต้องไม่ถูกถือว่าเป็นบาป หรือตำหนิว่าชั่วร้าย สังคมต้องยอมรับว่าไม่อาจนำมนุษย์ไปสู่คุณธรรมได้โดยการกล่อมเกลาให้มนุษย์เป็นคนดี แต่สามารถมีพลเมืองดีได้โดยไม่ต้องมีคนดี เพราะฉะนั้นกติกาหลักจึงคือ ต้องสร้างกฎหมายบังคับทุกคนอย่างเท่าเทียม แล้วทุกอย่างจะดีเอง ศาสนาที่เป็นอยู่เกิดจากความกังวลของมนุษย์แต่ดั้งเดิม ศาสนาคริสต์ที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่านับถือ เพราะก็เป็นพันธมิตรที่ดีของสถาบันกษัตริย์ หลอกให้ประชาชนไปรบในสงครามและล้มตายจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ทางออกของปัญหาความเสื่อมทรามของสังคมยุโรป จึงอยู่ที่การล้มล้างตำแหน่งอภิสิทธิ์และอคติทั้งปวง ทดแทนด้วยสังคมที่ยึดหลักของความเสมอภาค โดยอาศัยยุทธวิธีดังนี้ หนึ่ง โจมตีข้อผิดพลาด สอง ป่าวประกาศสัจธรรมให้โลกรู้ ขั้นตอนสำคัญแรกของการป่าวประกาศคือให้การศึกษาแก่สาธารณชนเสียใหม่ และล้มล้างศาสนจักรและรัฐบาล นี่คือเป้าหมายการต่อสู้ก่อนเกิดการปฏิวัติ 1789

โดยสรุป นักคิดยุคนั้นต้องการความเสมอภาค ทางเชื้อชาติ เสรีภาพในการใช้ชีวิต ในการแสดงออกอย่างสมบูรณ์ กันศาสนาจากการเมืองและการศึกษาโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้สังคมรู้แจ้งและประจักษ์ถึงประโยชน์
 

'กลไกตลาด' ช่วยแก้ปัญหาความเห็นแก่ตัวแทนศาสนา
ก่อนเกิดการปฏิวัติ 1789 ในฝรั่งเศส คนที่คิดแบบเดิมว่าล้มอำนาจกษัตริย์ แต่ไม่ต้องล้มสถาบันศาสนา มีความคิดว่าถึงมนุษย์จะเห็นแก่ตัว แต่ในที่สุดระบบตลาดเสรีจะช่วย คือ ในทางความคิดต้องเข้าใจงานของ John Locke  ที่เน้นเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค แต่เสรีภาพ-เสมอภาคส่วนบุคคล ไม่พูดถึงส่วนรวม มี Adam Smith เข้ามาบอกว่าปล่อยให้เห็นแก่ตัวไป แต่กลไกของตลาดจะมีมือที่มองไม่เห็นทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมขึ้นมาเอง แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สังคมยุโรปเปลี่ยนได้ทันใจ เพราะฉะนั้นจึงเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 แต่ก็จะเห็นว่าจบลงด้วยประหารผู้คนมหาศาล จนต้องคิดเครื่องมือกิโยติน เพราะประหารไม่ทัน และท้ายที่สุด คนคิดกิโยตินเองก็ถูกประหารชีวิต
 

2475 ประชาธิปไตยแหว่งวิ่น ชนชั้นนำไทยไม่ธรรมดา
สังคมไทยมีความรู้เรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสน้อยมาก โดยก่อน 2475 ไม่มีงานภาษาไทยที่พูดเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสเลย หลัง 2475 พบงานของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งเป็นเจ้าที่ชื่นชอบคณะราษฎร หลังจากนั้นมีอีกเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดย อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย เข้าใจว่าปัจจุบันยังคงมีน้อยเล่มอยู่ 

150 ปีหลังปฏิวัติฝรั่งเศส เกิด 2475 ในประเทศไทย ได้สอบถามจาก อ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง 2475 ว่าสมัยนั้นมีการพูดถึงหลักการความเสมอภาคของมนุษย์หรือไม่ ซึ่งได้คำตอบว่าไม่มี ส่วนตัวหาดูก็ไม่เจอ พูดง่ายๆ คือก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส สนามความคิดที่ต่อสู้กัน คนซึมซับเข้าไปมหาศาล แต่ตอนเกิด 2475 ของประเทศไทย แทบจะไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นเลย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยมาก นี่คือสิ่งที่อธิบายว่าทำไม อ.เกษียรจึงบอกว่าเรายังคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ขณะที่เรามีโครงสร้างแบบประชาธิปไตย

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะชนชั้นนำของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยสามารถดัดแปลง ประนีประนอม อิทธิพลและผลกระทบของทางตะวันตกให้เข้ากับสังคมและประเพณีแบบเดิมของไทยได้มากที่สุด เป็นเนื้อเดียวกัน แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ถูกดัดแปลงให้เป็นเครื่องมือของรัฐในการส่งเสริมความคิดแบบชาตินิยม แต่คณะราษฎรไม่ได้ทำตรงนี้ ทำไม่ได้ หรือไม่มีเวลาทำก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นมันก็เลยขาดวิ่น
 

ประกาศฉบับหนึ่งคณะราษฎรกับหลักการที่หายไป
เคยถกเถียงกับ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บอกว่าแถลงการณ์ของคณะราษฎร์ข้อที่หนึ่งเป็นคำประกาศอันยิ่งใหญ่ แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่มีอะไรที่เป็นหลักการเลย เป็นเรื่องเฉพาะทั้งสิ้น โดยเริ่มต้นบอกว่า "ตั้งแต่กษัตริย์องค์นี้..." ก็จบแล้วเพราะพูดถึงตัวบุคคลโดยเฉพาะ ไม่ได้พูดถึงหลักการโดยทั่วไป พูดง่ายๆ คือเมื่อนักรัฐศาสตร์มาดูเอกสารเหล่านี้จะตีความแบบเดียวกับที่ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ตีความว่า การเปลี่ยนแปลง 2475 กำหนดให้ความเป็นพลเมืองทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน มันกลับหัวกลับหาง มันต้องความเป็นมนุษย์ที่มันเท่ากัน จึงทำให้เรามีสิทธิความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน แต่ 2475 กลับบอกว่าทุกคนเป็นพลเมืองเท่ากัน จึงต้องเท่ากัน

ที่สำคัญ 2475 ไม่ได้ใช้ฐานทางศาสนาพุทธเลย นักวิชาการสายพระบอกว่าศาสนาพุทธอิงแอบกับสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด ไม่ได้มีส่วนเกื้อหนุนในทางประชาธิปไตยสักเท่าใดเลย  หากพูดว่าศาสนาพุทธพูดเรื่องความเสมอภาคนั้น ไม่เถียง แต่ความเสมอภาคของมนุษย์ในแง่ของโอกาสในการหลุดพ้น ไม่สามารถใช้อธิบายข้อผูกพันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ มันคนละเรื่องกันกับกรณีของศาสนาคริสต์ เพราะฉะนั้น กระบวนการทางประชาธิปไตยไทย จึงไม่สามารถแจกแจงได้ว่าหลักการในทางทฤษฎีของประชาธิปไตยของตนนั้นคืออะไร

เมื่อหลายสิบปีก่อนได้รับเชิญไปพูดเรื่องรัฐธรรมนูญที่ฟิลิปปินส์ หลังโค่นมาร์กอสได้หนึ่งปี ได้แสดงความยินดีกับเขาและบอกว่าประชาธิปไตยมีสองหลัก คือ หนึ่ง หลักการทางทฤษฎี สอง หลักการทางปฏิบัติ สองหลักนี้ต้องไปด้วยกันและสอดคล้องกัน ที่สำคัญที่สุดคือ หลักการทางทฤษฎี โดยเปรียบเทียบกับผู้ชายผู้หญิงที่แต่งงานกันด้วยความรัก ความรักจึงคือหลักการทางทฤษฎี เมื่อต้องแบ่งงานบ้านกันทำ เป็นทางปฏิบัติ จะจัดแจงอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่หลักการทางทฤษฎีหรือความรักมั่นคง  แต่ถ้าเลิกรักกันเสียแล้ว แค่หยิบแก้วน้ำให้ยังไม่อยากหยิบเลย
 

สภาพเน้นการปฏิบัติ'เลือกตั้ง' แต่ขาดรากทางปรัชญา
ในสังคมไทย ตอนนี้กลับตาลปัตร คือเราให้ความสำคัญกับหลักการทางปฏิบัติ คือการเลือกตั้ง แต่ไม่พูดเรื่องหลักการทางทฤษฎีว่าเราเท่ากันตรงไหน เพราะถ้าพูดได้ว่าเราเท่ากันตรงไหน จะบอกได้ว่าเสรีภาพของเราควรจำกัดอยู่ตรงไหน ตรงนี้คือปัญหาใหญ่ และเราพลาดโอกาสเพราะ 2475 ไม่ได้คุยกันเลย
 

นิติราษฎร์ การป่าวประกาศสัจธรรม และเรื่องที่ทำไม่ได้ (ง่าย)
ความพยายามที่จะนำมาคุยกันใหม่มาจากกลุ่มนิติราษฎร์ โดยแถลงการณ์ของนิติราษฎร์ฉบับที่ 1 เรียกตัวเองเป็นภาษาอังกฤษว่า Enlightened Jurists โดย Enlightened คือภูมิธรรม ยุคแห่งความรู้แจ้ง เมื่อไปดูในงานที่นิติราษฎร์ทำต่อๆ มาก็จะยิ่งเห็นชัดเจนว่า ถอดแบบจาก Enlightenment 1789 รวมทั้งยุทธศาสตร์ก็ออกมาในแนวเดียวกันคือ ชี้ความผิด และป่าวประกาศสัจธรรม แถลงการณ์ของ อ.วรเจตน์ก็ใช้คำของคานท์ เรื่องการกล้าแสดงปรีชาญาณเต็มไปหมด แต่ตรงนี้คิดว่ายังอยู่ในขั้นที่จะต้องต่อสู้กันต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ตัวเลขปี 2550 เรื่องคนรวยคนจนในประเทศไทย ประชากรไทยที่มีรายได้สูงสุด 20% มีส่วนแบ่งรายได้รวมกัน 54.9% ของทั้งประเทศ ส่วน 20% ของคนที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งรวมกัน 4.4%

การจะทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศที่ต่างกันทางเศรษฐกิจขนาดนี้ไม่ง่าย งานวิจัยไหนๆ ก็บอกว่า ยากที่จะเกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำขนาดนี้

กรณีการถือครองที่ดิน มูลนิธิสถาบันที่ดิน พบว่า ที่ดินในการครอบครองของประชาชนทั่วไป 120 ล้านไร่ มากกว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียง 10% เท่านั้น และ 70% ของที่ดินที่มีการถือครองถูกปล่อยไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถามว่ามีรัฐบาลไหนบ้างที่พยายามจะแก้ไขตรงนี้ หรือถ้าพยายามจะแก้จริงๆ จะทำได้สำเร็จหรือไม่ นี่คือคำตอบ
 

วัฒนธรรมใหม่ ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มี 'จริยธรรม'  เน้นการไม่ตัดสิน
เพราะฉะนั้น มองว่า ในขณะที่การปฏิวัติด้านการเมืองโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเสมอภาคยังอยู่ในระดับของการก่อร้างสร้างตัว สิ่งที่ก้าวหน้ามากในสังคมไทยคือแนวรบด้านวัฒนธรรมหรือด้านสังคม คือแนวคิดที่สืบทอดมาจากนักคิดยุคการรู้แจ้งที่บอกว่า เหนืออื่นใด มนุษย์คือผู้มีสิทธิ สิทธิคือสิ่งที่มาก่อนแม้แต่สิ่งที่ดีงาม เพราะฉะนั้น หลักการใดก็ตามที่จะเป็นรากฐานในการกำหนดสิทธิของมนุษย์ จึงไม่ต้องพึ่งพาหรือผูกพันกับกรอบแนวคิดว่าด้วยชีวิตที่ดีแบบใดเลย วัฒนธรรมใหม่นี้คือวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ทำได้ สำนึกเรื่องบาปบุญคุณโทษถูกแทนด้วยมโนทัศน์เรื่องความเจ็บป่วย คนทำชั่วทั้งหลายคือคนป่วยทั้งสิ้น ถ้ารักษาให้ถูกก็จะไม่ทำชั่ว สังคมยุคใหม่คือสังคมที่ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์เหลืออยู่เลย มีผู้นำทางวัฒนธรรมพูดว่าแม้แต่ความรักระหว่างพ่อแม่ลูกไม่ใช่เรื่องทางธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องขนบประเพณี

ทุกวันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องจริยธรรม เพราะจะถูกถามกลับว่า จริยธรรมของใคร เมื่อไหร่ ชนชั้นไหน เสื้อสีอะไร ความแตกต่างด้านจริยธรรมของผู้คนในสังคมมีฐานะไม่แตกต่างอะไรจากความแตกต่างด้านรสนิยม เฉกเช่นเดียวกับความแตกต่างเรื่องเครื่องแต่งกายหรืออาหาร ซึ่งเป็นความพอใจส่วนตัว ความก้าวหน้าในความคิดเรื่องอิสระเสรีดังกล่าวทำให้ขันติธรรมเป็นคุณธรรมสุดยอดของสังคมไทยทุกวันนี้ คือต้องไม่ไปประเมินคุณค่าทางจริยธรรมของผู้อื่น
 

ศีลธรรมของพลเมือง (ไม่) จำเป็น ?
ทุกวันนี้ เรากำลังไปสู่จุดที่บอกว่าสัมพันธภาพทางศีลธรรม ก็เฉกเช่นเดียวกับสัมพันธภาพทางวัฒนธรรม ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเอง คือทุกคนต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นที่จะตามใจตัวเอง มุมมองด้านจริยธรรมที่แท้จริงคือการปฏิเสธน้ำหนักของจริยธรรม หลายคนเรียกตัวเองว่าเสรีนิยม แต่ถ้าพูดแบบนี้ เท่ากับลืมคิดไปว่า กำลังบอกว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องสนใจคุณธรรมของพลเมือง เพราะสิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่คุณลักษณะที่ดีของพลเมือง แต่เป็นสถาบันทางการเมืองและสังคมทั้งหลายที่เป็นสถาบันเสรี ประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่ระบบกฎหมายที่ทำให้ผู้คนที่มีต่างกันมากมายสามารถอยู่รวมกันได้ นี่กลับไปสู่สภาพธรรมชาติแบบเดิม เราเป็นแค่ปัจเจกที่มาอยู่รวมกัน ทุกคนมีผลประโยชน์ของตัวเองไม่ขึ้นต่อกันและกัน และแลกเปลี่ยนกันโดยกลไกตลาดเสรี

คำถามคือว่าจริงๆ แล้วเป็นแค่นี้พอไหม เพราะถ้าเรายอมรับตรงนี้ ต้องย้อนกลับไปด้วยว่าแต่เดิม เราคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์เปราะบางจึงต้องระมัดระวัง มีกฎกติกา ถ้าเช่นนั้น กรณีโฆษณาทางวิทยุรณรงค์ไม่ให้เด็กท้องก่อนแต่ง ทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้ หรือเรียกร้องให้ควบคุมตัวเอง เพราะคติเสรีนิยมบอกว่าเราต้องปล่อยตัวเอง ความอับอายต้องถูกทำให้หมดไป โดยมีผู้นำทางความคิดทางวัฒนธรรมบอกว่า เจตนาใดที่เคยถูกมองว่าผิดทำนองคลองธรรม ถามว่าลึกๆ ในใจอยากได้ใช่ไหม ถ้าอยากทำก็ทำไปเลย ถ้าไม่ถูกจับได้ นี่ไม่ต่างอะไรจากความสามารถในการฆ่า คือมองว่าทุกคนชั่วเหมือนกันหมด เพียงแต่ถูกจับได้หรือไม่ถูกจับได้


ความลักลั่นของเสรีนิยมแบบไทยๆ 
ทีนี้ ที่ตลกคือการเมืองไทยในปัจจุบัน จากการสำรวจของมูลนิธิเอเชียว่า สังคมไทยต้องการประชาธิปไตยแบบไหน ได้คำตอบว่า ต้องการให้ทุกคนมีส่วนในการปกครอง เมื่อถามต่อว่าสังคมไทยมีคนรวย เด่น มีการศึกษา ควรทำอย่างไร ได้คำตอบว่า เรียกร้องให้เอื้ออาทรคนระดับล่าง  ซึ่งมันขัดกัน ตามหลักการแล้ว สองอย่างไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าต้องการเสรีนิยม ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง คนรวยก็ควรอยู่ของคนรวย ไม่ต้องยุ่งกับคนจน เพราะอย่าลืมว่า ความเสมอภาคในโอกาสก็คือโอกาสที่ทุกคนจะไม่เท่ากันในตอนจบ

จากการสำรวจของมูลนิธิเอเชีย พบด้วยว่า ผู้คนส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐแทรกแซงกลไกตลาดเสรีและเกื้อหนุนประชาชนมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจ แต่อีกด้านคือสังคมและวัฒนธรรม ก็เรียกร้องให้รัฐเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเสรีภาพส่วนบุคคลในเรื่องครอบครัวและเสรีภาพทางเพศ ตรงนี้จะเห็นว่าเสรีนิยมในปัจจุบันเอาสองอย่างมาใส่ด้วยกันคือ หนึ่ง คติประโยชน์นิยม ประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นตัวชี้นำ ฟังแล้วดูดี แต่มีเงื่อนไขนิดเดียวคือ ถ้าหากว่าสังคมหมู่มากบอกว่าห้ามฆ่าคน ไม่ได้หมายความว่าการฆ่าคนไม่ดีในตัวของมันเอง แต่หมายความว่าการไม่ฆ่าคนทำให้คนหมู่มากมีความสุข กลับกัน ถ้าการฆ่าคนทำให้คนหมู่มากมีความสุขก็อาจถูกต้องตามกฎหมายได้

เพราะฉะนั้น แนวคิดนี้มีข้อจำกัดของมัน ถ้าจะเอาศีลธรรมออกจากการเมือง คำถามคือ กฎหมายเพียงเพียงพอจริงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่พอ เพราะกลไกของรัฐไม่เคยที่เพียงพอที่จะเอาคนมาลงโทษได้ ถ้าคนไม่กลัวกรรมจากการทำความผิด อย่างไรกฎหมายก็ไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรานึกแต่จะใช้ตัวบทกฎหมายเป็นเกณฑ์อย่างเดียว อาจทำให้คนก่ออาชญากรรมร้ายแรง ยิ่งกว่า เพื่อหนีอาชญากรรมเบื้องต้น เช่น ขับรถฝ่าไฟแดง ตำรวจไล่จับ ถ้ามองว่าซิ่งทันก็หนีพ้น จึงซิ่ง แต่ก็ปรากฏว่าไปชนรถตู้แล้วคนตายเก้าคน เป็นต้น
 

ผิด !  เอาศีลธรรมออกจากการเมือง
เพราะฉะนั้น มองว่าการเอาศีลธรรมออกจากกฎหมายโดยสิ้นเชิงเป็นเรื่องที่ผิด แม้แต่เรื่องขันติธรรมที่พยายามบอกว่าต้องละเว้นจากการมีข้อวินิจฉัยทางศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้นนั้น คิดว่าไม่ถูก เพราะขันติธรรมที่แท้จริงคือการอดกลั้นต่อสิ่งชั่วร้ายบางอย่าง โดยฝืนกับความรู้สึกที่ไม่อยากอดทน เฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เลวร้ายกว่าเท่านั้น เราอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่ชั่วบางอย่างไม่ได้หมายความวาเราเห็นด้วยกับสิ่งที่ชั่วนี้ แต่เราอดทนเพื่อไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายกว่ามันเกิดขึ้น หรือเราอดทนเพื่อสิ่งที่อยู่สูงกว่าต่างหาก

เพราะฉะนั้น การมีขันติธรรมจึงต้องมีวินิจฉัยเชิงศีลธรรมอยู่ด้วยเสมอ ว่าตรงไหนที่เราควรอดกลั้น หรือตรงไหนที่อดกลั้นไม่ได้ เพราะบางครั้งเราต้องปรามความเห็นที่ผิดเพื่อปกป้องรักษาความจริง แต่บางครั้ง เราต้องมีขันติธรรมต่อความเห็นผิดๆ เพื่อเห็นแก่สันติสุข ความจริงและสันติสุขเป็นของดีด้วยกันทั้งคู่แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน การประนีประนอมในเรื่องหลักการศีลธรรมนั้นเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย 

จากบทสนทนาระหว่างโสเครตีสกับยูไทโฟร โสเครตีสกล่าวว่า ถ้าเราเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของขนาดของสิ่งต่างๆ ก็ควรยุติการเห็นไม่ตรงกันด้วยการวัด ตกลงกันเรื่องของน้ำหนักที่แตกต่างด้วยการชั่ง แต่การเห็นไม่ตรงกันที่เราไม่สามารถจะตกลงกันได้และทำให้เราเป็นศัตรูกันคือเรื่องเกี่ยวกับความถูกผิด สูงส่ง ต่ำทรามและดีเลว เรากลายเป็นศัตรูกันเป็นเพราะเราเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถตกลงกันได้อย่างเป็นที่พอใจ
 

สังคมเห็นไม่ตรงกันเรื่องศีลธรรม การปกครองด้วยเสียงข้างมาก เป็นเรื่อง 'เพ้อเจ้อ'
ถ้าเป็นความเห็นไม่ตรงกัน เป็นความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ส่วนตัวไม่กลัวเท่าไหร่ เพราะยังมีทางตกลงกันได้ แต่ถ้าเป็นความเห็นไม่ตรงกันเรื่องศีลธรรม สำนึก จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้น สังคมปัจจุบันที่คนยอมรับว่าเป็นสังคมทุนนิยมเสรี ซึ่งปกติมีความแตกต่างทางผลประโยชน์และเศรษฐกิจเป็นตัวแบ่งแยกผู้คนอยู่แล้ว โดยผู้คนยังมีความคิดเรื่องศีลธรรมอย่างเดียวกัน ความแตกต่างในสังคมทุนนิยมนั้นยังพอทน แต่สังคมทุนนิยมเสรีแตกต่างกันทางฐานะ เศรษฐกิจ สังคม แล้วยังมีความแตกต่างในเรื่องว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่วด้วยแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ก็อย่างที่เห็น คือต้องฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง

ดังนั้นในสังคมแบบนั้น การปกครองโดยเสียงข้างมากเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ สังคมที่คนเห็นไม่ตรงกันเรื่องศีลธรรม การปกครองโดยเสียงข้างมากไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งที่แบ่งแยกเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยออกจากกัน จะมีความเป็นพื้นฐานหรือหนักแน่นยิ่งกว่าสิ่งที่รวมพวกเขาเข้าเป็นสังคมเดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือกรณีของอเมริกา ช่วงสงครามกลางเมือง ฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้มีสิ่งที่ร่วมกันหลายเรื่อง แต่พอประเด็นเรื่องทาสเข้ามา ทำให้ความเหมือนกันที่มีทั้งหมดหมดความสำคัญไปเลย  สังคมไทยตอนนี้ก็คล้ายๆ อย่างนั้น แต่เรามีทางเลือกว่าจะปล่อยคนดำให้หมดเลย หรือจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
 

ถึงเวลาถกเถียงฟันธงทางทฤษฎี
เพราะฉะนั้น ถึงตอนนี้ประชาธิปไตยไทยต้องตัดสินใจ ต้องมีพื้นฐานทางทฤษฎีที่ชัดเจนฟันธงเลยว่ามันคืออะไร จะมาอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่ได้ จริงๆ ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ เพราะผู้นำความคิดปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์ พอเป็นนักประวัติศาสตร์การจะพูดถึงสิทธิตามธรรมชาติ กฎแห่งธรรมชาติ ความจริงที่เป็นนิรันดร์ พูดไม่ได้  นักประวัติศาสตร์ยอมรับตรงนี้ไม่ได้เพราะต้องไปตามเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่พอพูดถึงเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาก็เกิดขึ้นทันทีว่า ตกลงที่พูดอย่างนี้เพราะเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจทำให้พูดอย่างนี้ใช่ไหม ตกลงที่พูดมาเป็นสัจธรรม เพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจทำให้เป็นแบบนั้น ต่อไปมันเปลี่ยนก็อาจทำให้มันเปลี่ยนไปอีก เพราะฉะนั้น จึงคิดว่า เราต้อง settle down พื้นฐานทางทฤษฎีตรงนี้ให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร

ที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยในปัจจุบัน อยากให้เทียบว่า ตอน 2475 คณะราษฎรวิจารณ์ระบอบกษัตริย์เละเลย เพราะว่าได้เห็นสิ่งที่เป็นจริง แต่ประชาธิปไตยของคณะราษฎร์ยังอยู่ในแผ่นกระดาษ ยังมาไม่ถึง ความฝันย่อมสวยกว่าความจริงเสมอ แต่พอมาตอนนี้ จะพูดถึงประชาธิปไตยราวกับว่ามันสวยต่อไปไม่ได้ ต้องพูดจากความจริงในปัจจุบันว่าอะไรที่ไม่ดี ถ้าไม่พูดตรงนั้นด้วย จะเหมือนกับกำลังเพ้อเหมือนคนหนุ่มสาวที่มีความรัก


ประชาธิปไตยแบบภาวะตกหลุมรัก
ขอจบด้วยข้อเขียนเรื่องความรักของคนหนุ่มสาว "ความรักของคนหนุ่มสาวเป็นอะไรบางอย่างที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น รุนแรง และหุนหัน ตราบเท่าที่ยังมีอารมณ์รักอยู่ มันฉุดดึงตัวตนของมนุษย์ทั้งตัวเข้าไปอยู่ใต้กระแสลม ห่าฝนและคลื่นกระแสไฟฟ้าของมัน ความรักเช่นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมจริง จากทัศนะมุมมองของสมัยใหม่ 9 ใน 10 ของสิ่งซึ่งคู่รักเห็นขณะที่พวกเขาจ้องมองตากัน เป็นสิ่งที่จินตนาการเอาเอง มันไปกันได้กับเหตุผลเฉพาะตราบเท่าที่เหตุผลไม่ได้ท้าทายภาพลวงตานั้น มันเป็นเรื่องที่เพ้อฝันเป็นไปไม่ได้ เพราะคู่รักไม่มีสำนึกในเรื่องข้อจำกัดของตนเองเลย มันอาจนำไปสู่การเสียสละอำนาจที่มีได้ เพราะด้วยเหตุผลที่ไม่ตระหนักในเรื่องข้อจำกัดของตนเอง คู่รักจึงอยากจะทุ่มเทอย่างสุดตัวให้แก่กันและกัน ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องเห็น แก่ตัวอย่างสุดๆ เพราะในช่วงแรกรัก เขาอาจจะไม่ได้ยินอะไรอื่นเลย และหากว่าจะมีใครอื่นอยู่ด้วย คนอื่นๆ ก็ไม่สำคัญทั้งสิ้น แน่นอนว่าชายหรือหญิงที่ไม่เคยมีความรักนั้นก็เหมือนกับคนที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่กระนั้นก็ตาม ความรักของหนุ่มสาวก็ไม่ใช่ทั้งหมดของความรักและโดยตัวมันเองแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ
 
"อุดมคติทางการเมืองของคนหนุ่มสาวมีลักษณะคล้ายความรักของคนหนุ่มสาวทั้งปวง ข้อแตกต่างที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า สิ่งที่ถูกรักไม่ใช่ตัวบุคคล เป็นอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า เพราะฉะนั้นผลกระทบโดยรอบจึงใหญ่เป็นเงาตามตัว และโดยที่ความรักของคนหนุ่มสาวสามารถพัฒนาเป็นความรักของผู้ใหญ่ได้ อุดมคติทางการเมืองก็สามารถพัฒนาเป็นอุดมคติที่มีวุฒิภาวะได้เช่นกัน แต่ในทำนองเดียวกับที่ความรักของคนหนุ่มสาวมักจะจบลงที่ความผิดหวัง อุดมคติทางการเมืองก็มักจะแปรเปลี่ยนเป็นการมุ่งเยาะเย้ยถากถางหรือเสื่อมถอยลงเป็นความบ้าคลั่ง มันไม่เพียงแต่จะแตกต่างจากความประเสริฐในทางการเมือง แต่มันจะกลายเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ที่เต็มไปด้วยอันตราย มันสามารถทำให้คนหนุ่มสาวมีความใฝ่ฝันที่สูงส่งยิ่ง แต่กลับจะทำให้เขาต้องบาดเจ็บพิการแทน"

ขอให้เรามีความหวังว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเราจะพัฒนาเช่นเดียวกับความรักของหนุ่มสาวไปเป็นความรักของผู้ใหญ่ที่ยั่งยืนต่อไป และฝากถึงนักประวัติศาสตร์ว่าเวลาบอกว่า ประวัติศาสตร์หวนคืนไม่ได้ เป็นอุปมาอุปไมยที่มีพลังมาก ในทำนองเดียวกัน เข็มนาฬิกากระโดดข้ามไม่ได้ ต้องค่อยๆ ไป ถ้ามันหมุนหวนคืนไม่ได้ ก็วิ่งเร็วไปข้างหน้าไม่ได้เช่นเดียวกัน

อุดมการณ์นั้นจะมีรายละเอียดอย่างไรอาจยังไม่ปรากฏชัด แต่ขอให้หวังว่า จะได้พบกับประชาธิปไตยที่ไม่ปฏิเสธมิติของศีลธรรม ไม่ปฏิเสธความดีความชั่วว่ามีอยู่จริง ไม่ปฏิเสธความเป็นธรรมชาติของความรักและความเป็นธรรมชาติของครอบครัวมนุษย์ เพราะนั่นเป็นสถาบันหลักที่เป็นรากฐานทางการเมืองที่ใหญ่กว่า แต่อาจจะมีความเป็นธรรมชาติน้อยกว่า จึงต้องพึ่งพาวัฒนธรรมหรือความเห็นร่วมกันของมนุษย์มากกว่า

ขออย่าให้หลงผิดถึงขนาดว่าเพื่อจะต่อสู้กับสิ่งซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็เต็มใจที่จะทำให้ประชาธิปไตยที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคต กลายเป็นประชาธิปไตยที่ตัดขาดจากศีลธรรมและธรรมชาติ เพราะนั่นจะไม่ใช่ประชาธิปไตยของมนุษย์แต่อาจเป็นผลผลิตของอะไรบางอย่างที่วิญญูชนอย่างผมไม่อาจนับได้ว่าเป็นมนุษย์


 


วิจารณ์และแลกเปลี่ยนความเห็นต่อบทความที่นำเสนอ

ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์

มีประเด็นวิจารณ์ 6 ประเด็น ได้แก่

1) กรณีที่บทความระบุว่า ความคิดของปัญญาชนสาธารณะที่พูดเรื่องประชาธิปไตยตอนนี้ออกมาทางปีก Radical Enlightment ตอนที่ทำนิติราษฎร์ขึ้นมา นั่งคุยเรื่องความคิดว่าจะสื่อสารกันอย่างไร ที่เสนอ Enlightenment ขึ้นมา เพราะคิดว่าสภาพสังคมปัจจุบันของไทย แม้ทางกายภาพดูเป็นสมัยใหม่ แต่ทางความคิดจิตใจยังไปไม่ถึงสมัยใหม่ เช่นนี้ ถ้าความคิดของนิติราษฎร์เป็นความคิดที่ radical หรือไปในทางที่สุดโต่งรุนแรง นั่นอาจหมายความโดยปริยายว่าสังคมไทยปัจจุบันยังไม่ถึงความเป็นสมัยใหม่ก็ได้ เพราะแนวคิด Enlightenment เกิดในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งเป็นการเขย่าของเดิม

2) เห็นด้วยว่า ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีโอกาสปูพื้นความคิดเรื่องประชาธิปไตยน้อยมากเมื่อเทียบกับปฏิวัติฝรั่งเศส มองว่าอาจเพราะชนชั้นกระฎุมพีไทยไม่โตเท่ากับชนชั้นกระฎุมพีช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส  1789 ซึ่งชัดมากว่า ระบอบเดิมนั้นไม่มีที่ให้คนพวกนี้ขึ้นไป ขณะที่ของไทยเป็นการระเบิดเพราะคนในระบบราชการเดิม โดยเฉพาะทหารชั้นกลางลงมา ดังนั้น การก่อตัวของ 1789 กับ 2475 จึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

นอกจากนี้ ในแง่บุคลิกภาพส่วนตัว หากมองปรีดี พนมยงค์ ในฐานะมันสมองของคณะราษฎร จะเห็นว่าปรีดีไม่อินกับการปฏิวัติ 1789 เนื่องจาก หนึ่ง ช่วงที่ปรีดีเรียนที่ฝรั่งเศส ในช่วง 1920 เป็นช่วงสาธารณรัฐที่สาม ซึ่งการปฏิวัติฝรั่งเศสเคลียร์หมดแล้ว และพูดกันเรื่องสังคมนิยมและสวัสดิการต่างๆ โดยจะเห็นว่าปรีดีพูดถึงเรื่องภราดรภาพ สวัสดิภาพ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การกระจายความเสมอภาคทางรายได้

สอง จากคำนำของ อ.ปรีดี ที่เขียนในหนังสือเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ระบุว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ไม่ใช่การปฏิวัติที่สมบูรณ์เพราะไม่ได้ทำเรื่องเศรษฐกิจ จนสุดท้ายมีการเสียชีวิต มีความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้น จะเห็นชัดว่าปรีดีไม่ได้เชียร์การปฏิวัติ 1789 และเมื่อดูในกลุ่มคณะราษฎร ก็พบว่าแทบไม่มีใครเชียร์การปฏิวัติ 1789 เช่นกัน อาจมีเพียงเตียง ศิริขันธ์ ที่เขียนหนังสือ "หัวใจปฏิวัติฝรั่งเศส" ซึ่งก็ไม่ได้พูดเชิงวิธีคิด ปรัชญาการฟอร์มตัวของความคิดแบบ 1789 แต่พูดเชิงโรแมนติก ชื่นชมความเสียสละของการปฏิวัติและเล่าข้อเท็จจริงมากกว่า ขณะที่งานภาษาไทยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่วิเคราะห์เหตุปัจจัยมีน้อย มีเพียงใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่เท่านั้น  ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง 2475 อาจเชื่อมกับการปฏิวัติ 1789 ได้นิดหน่อย แต่มันสมองขอคณะราษฎรไม่ได้รู้สึกถึง 1789 ในเชิงชื่นชมเท่าไหร่

3) ศีลธรรม ปัญหาของภาษาไทยคือพอแปลว่า ศีลธรรม แล้วไปเชื่อมกับศาสนาพุทธตลอด ถ้าศีลธรรมแปลจาก moral ซึ่งเป็นธรรมในทางปรัชญา ไม่น่าจะโยงกับศาสนาพุทธเท่าไหร่ แต่พอแปลเป็นภาษาไทย มันจะลากเข้าสู่พรมแดนของศาสนาพุทธตลอดเวลา

ที่ อ.สมบัติบอกว่าเป็นเทรนด์ว่าเมื่อพูดถึงศีลธรรม จะมีคำถามว่าศีลธรรมของใคร ทำไมต้องมีศีลธรรม จะบอกว่าพวกนี้วิจารณ์อย่างเดียวก็พูดได้ แต่ถ้าดูเหตุปัจจัยว่าทำไมเขาถึงเริ่มวิจารณ์ มองว่าเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยคำว่าศีลธรรมไปโจมตีคนอื่นตลอดเวลา จึงเกิดการตั้งคำถามกลับ นอกจากนี้ การโจมตีแบบไม่เสมอภาค ประเภทที่ว่าพอเป็นฝ่ายตัวเอง การประเมินเรื่องศีลธรรมจะอ่อนลง ทำให้คนเริ่มตั้งข้อสงสัยกลับมาและวิจารณ์ว่าไม่ต้องมีศีลธรรมก็ได้

ปัญหาคือตกลงแล้วศีลธรรมคืออะไร ในยุคนี้ประเมินยาก เสนอว่าจำเป็นจะต้องมีสนามที่มีอิสระและเสมอภาคเป็นธรรมในการถกเถียงกันได้ แต่ตอนนี้ในสังคมไทย ยังหาสนามเช่นนี้ไม่ได้

4) เห็นด้วยว่าประชาธิปไตยโดยไม่มีหลัก เช่น บอกว่าเสียงข้างมากแล้วได้ตลอดนั้นไม่ถูกต้อง แต่จะสังเกตได้ว่า สังคมประชาธิปไตยหรือที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยจะเกิดปัญหาคล้ายกัน คือมีความขัดแย้งระหว่างองค์กร สถาบันการเมือง บุคคลต่างๆ ที่มีฐานจากการเลือกตั้ง กับองค์กร สถาบัน บุคคลต่างๆ ที่ไม่มีฐานจากการเลือกตั้ง ฝ่ายที่หนึ่งคือเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลที่ประชาชนสนับสนุน อีกข้างคือ ศาล องค์กรอิสระ องค์กรตรวจสอบต่างๆ

แม้ว่าจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้สองสิ่งอยู่ด้วยกันได้ คิดว่าต้องยืนพื้นก่อนว่าประชาธิปไตยแบบผู้แทน แบบเลือกตั้ง ต้องเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ จากนั้นองค์กรที่มาตรวจสอบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยพอสมควร เช่น หลังรัฐประหาร โผล่มา คนจะตั้งคำถาม จึงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามาจากรัฐธรรมนูญกำหนดแน่นอน ที่มาขององค์กรมีจุดเชื่อมกับประชาชนอยู่บ้าง ก็จะชอบธรรมทางประชาธิปไตยพอสมควรที่จะตรวจสอบองค์กรจากการเลือกตั้ง

5) ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย ที่ อ.สมบัติบอกว่าถ้าอยากเสนอไอเดียว่าประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ควรต้องได้พูดออกมา ปัญหาคือทุกฝ่าย ปัญญาชนหรือคนส่วนใหญ่ที่อยากพูดเรื่องนี้พูดได้ไม่หมด ถ้าพูดได้หมดจะถกเถียงกันได้สนุกกว่านี้ การพูดได้ไม่หมดหมายความว่า สภาพสังคมไทยยังไม่มีสนามที่ฟรีและแฟร์ ถ้ามี สังคมประชาธิปไตยจะเดินหน้าไปได้ เช่นกรณีโสเครตีสกับยูไทโฟรเถียงกัน บางเรื่องไม่รู้ว่าใครถูกผิด แต่ถ้ามีสนามที่ว่า ก็จะได้เถียงและแสดงเหตุผลของตัวเอง

6) อุดมคติทางการเมือง-ความรัก ฝ่ายที่นำเสนอความคิดในทาง enlightenment มาทางประชาธิปไตย ถ้าเราบอกว่าพวกนี้เป็นพวกอุดมคติทางการเมือง ที่พยายามจะผลักดันกู่ร้องป่าวร้องประกาศให้คนมาสนใจและบอกว่าสิ่งที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่ผิดและมีสิ่งใหม่มาป่าวประกาศ ถ้าบอกว่านี่เป็นอุดมคติทางการเมืองคล้ายความรัก ก็ต้องเอามาใช้กับฝ่ายที่ครอบงำสังคมไทยในปัจจุบันอย่างพวกนิยมเจ้าเช่นกัน บางทีที่ทำไปก็กำลังกู่ร้องป่าวประกาศในนามของความรักเช่นกัน ดังนั้น ถ้าทั้งสองข้างต้องการรณรงค์ ก็จะกลับไปจุดที่บอกว่าต้องมีสนามให้เถียงกันได้

อนาคตของสังคมไทยจะเป็นอย่างไรจะเข้าสู่ย่อหน้าสุดท้ายที่ อ.สมบัติว่าหรือไม่ คิดว่า ปัจจุบันฝ่ายนิยมเจ้า ครอบงำรัฐไทยมาตลอดทั้งด้านอุดมการณ์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเปลี่ยนผ่านไม่แน่เสมอไปที่จะบอกว่าฝ่ายที่กำลังนำเสนอสิ่งใหม่จะนำไปสู่ความรุนแรงเสมอไป ตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายที่กำลังครอบงำสังคมไทย รู้ว่ากำลังมีสิ่งใหม่และต้องการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน แล้วเปิดโอกาสให้คุย ความรุนแรงจะไม่เกิดโดยอาจจะหาโมเดลที่สมดุลได้ แต่ถ้าข้างหนึ่งกำลังกู่ร้องป่าวประกาศ อีกข้างบอกว่าเดี๋ยวจะรุนแรง ให้หยุดเสีย ก็อาจกลายเป็นความรุนแรงขึ้นไปอีกได้

ดังนั้น กติกาพื้นฐานที่ให้พูดคุยได้ทุกเรื่องต้องเริ่มก่อน จากนั้น จะช่วยกันตอบได้เองว่าสังคมไทยจะเดินไปทิศทางใด

 


อธึกกิต แสวงสุข
คอลัมนิสต์นามปากกา "ใบตองแห้ง"

คงไม่สามารถวิจารณ์เชิงปรัชญาประชาธิปไตยได้มาก แต่ขอพูดจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ อ.สมบัติบอกว่า นิติราษฎร์กำหนดจุดยืนอยู่ในกลุ่มนักคิดภูมิธรรมหัวรุนแรงนั้น มองว่าต้องอธิบายปรัชญากับความเป็นจริง เวลาที่นิติราษฎร์เสนอข้อเสนอต่างๆ ปรัชญานั้นเป็นตัวหนึ่ง แต่ความจริงอาจจะเป็นอีกอย่างก็ได้ในทางปฏิบัติ เช่น ถ้านิติราษฎร์เสนอแก้มาตรา 112 มีคนถามว่าทำไมแรงจัง ส่วนตัวมองว่านี่คือทฤษฎี นิติราษฎร์ในฐานะนักกฎหมายเสนอแบบนี้ ส่วนจะแก้อย่างไรให้สมดุลได้ก็แก้กันไป หรือ กรณี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นหลักที่พูดตรงๆ แบบสมบูรณ์แบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จในวันนี้ พรุ่งนี้ ทุกคนก็ยอมรับว่าต้องค่อยเป็นไป

ที่พูดอย่างนี้ เพราะในสังคมไทย ถ้าใช้คำว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์มาตั้งนาน ตั้งแต่หลัง 14 ต.ค.16 โดยเฉพาะหลัง 6 ต.ค.19 ที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ คิดว่าสังคมไทยอยู่ในสถานะที่อะลุ่มอะล่วยระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ มาตลอด จะเรียกว่าประชาธิปไตยไหม ก็เป็นในระดับหนึ่ง คือไม่มีความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจ มันมีการประนีประนอม มีการเฉลี่ยอำนาจซึ่งกันและกัน อาจเรียกว่าเดินทางสายกลางมาตลอด และขัดแย้งกันช่วง พ.ค.35 และยุคทักษิณ ชินวัตร

ช่วงที่เกิดปัญหา อำมาตย์ที่คิดว่าเดินสายกลางมาตลอด กลับยอมรับทางสายกลางนั้นไม่ได้ และกลับไปสู่ความ radical ใช้ความรุนแรง โค่นล้มฝ่ายตรงข้ามชนิดที่จะเอาให้เหี้ยนเตียน ซึ่งจริงๆ มันขัดกับธรรมชาติที่เขาเดินมา อธิบายแบบธงชัย วินิจจะกูล คือ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยที่ฝ่ายอำมาตย์มีอำนาจ แทรกแซง ดูแล ซึ่งในด้านหนึ่งสังคมไทย รับว่า มีการดูแลโดยธรรมอยู่บ้าง มีผลประโยชน์บ้าง ยอมรับกันได้  จนมาไม่อะลุ่มอะล่วยกับระบอบทักษิณ

ส่วนตัวใกล้ชิดกับ อ.วรเจตน์ ตั้งแต่ปี 48-49 ตอนปี 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการหันคูหาเลือกตั้งหันหลังเป็นโมฆะ นั้น อ.วรเจตน์มองว่าตามหลักกฎหมายแล้วผิด แต่ก็เงียบเพราะเข้าใจว่า ถ้ากลับไปสู่การเลือกตั้งใหม่ เลือก กกต.ใหม่ ก็โอเค เพราะประชาธิปไตยทางหนึ่งก็คือการประสานความขัดแย้งด้วยการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล การถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครบอกว่า การเอาเงื่อนไขของการหันคูหามาล้มการเลือกตั้งมันไม่ถูก 

ส่วนตัวเตรียมใจว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งแล้วจะมีการเอาอำนาจนอกระบบหรือมวลชนมาต่อรองบีบไม่ให้ทักษิณเป็นนายกฯ ด้วยเหตุผลว่าไม่เหมาะสม ก็ยอมรับได้ เพราะยังอยู่ในกรอบของทางสายกลาง เพราะหลักประชาธิปไตยขั้นต้นคือไม่ทำลายความเห็นต่างที่เห็นชัดเจนในสังคมไทย ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีการปลุกระดมขึ้นมาเพื่อทำลาย ความเห็นต่าง เรื่องศีลธรรม-คนดี ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง บุกมาจากเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทั้งที่ก่อนปี 49 เราไม่เคยขัดแย้งกันเรื่องทฤษฎีเหล่านี้เลย

มีคำถามสองข้อ คือ ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราถึงมาขัดแย้ง อย่างที่อ.สมบัติว่า หรือคนกลุ่มหนึ่งปั้นปัญหาขึ้นมา ทั้งที่เมื่อก่อนตัวเองก็ยอมรับประชาธิปไตยเลือกตั้ง พ.ค.35 ก็ชูการเลือกตั้ง แต่พอต้องการเอาชนะทางการเมือง ก็บอกว่าเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย เชื่อคนดี ศีลธรรม ขึ้นมา ปลุกความคิดกษัตริย์นิยมขึ้น ยกตัวอย่างว่า ก่อนยุครัฐบาลทักษิณ ในหลวงพระราชทานพระบรมราโชวาท มีการนำเสนอที่พอเหมาะพอควร  แต่พอยุคทักษิณ สื่อพาดหัวใหญ่มาตลอด หนังสือพิมพ์ยุคทักษิณเป็นต้นมาชูหนักมาก คล้ายกับเอาทุกอย่างมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง

เพราะฉะนั้น ความสับสนเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น ตั้งคำถามว่าสับสนจริงหรือแกล้งสับสน อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ว่ามีข้อถกเถียงจริง ก็มองว่ามีได้ เพราะเราก็มาถึงจุดที่ต้องถกเถียงกันว่าจะไปอย่างไรต่อ  ถ้าพูดแบบผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ ก็สนับสนุนหลักการประชาธิปไตยว่าอยู่บนหลักความเท่าเทียมเสรีภาพ อาจไม่ต้องเกิดในพรุ่งนี้ก็ได้ แต่สิ่งที่ควรจะต้องเกิดคือการสร้างสมดุลแห่งอำนาจที่เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ขั้วอำนาจต่างๆ ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันได้ เพราะเมื่อก่อนประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ มีแต่ผู้มาจากการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย ระบบราชการและฝ่ายอำมาตย์ แต่พอระบอบทักษิณมา ตามที่เกษียร เตชะพีระ พูดคือ กลุ่มทุนใหม่ คนชั้นล่าง คนชนบท ที่ฮือขึ้นมากับการเลือกตั้ง ก็ต้องมีการหาจุดสมดุลใหม่ของสังคม แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยสูงสุดก็จะเป็นเป้าหมาย แม้รูปแบบที่จะไปไม่ต้อง 100% แต่ขอให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้

3-4 เดือนนี้ เราอยู่ในปัญหาใหม่ว่าสังคมเริ่มยอมรับกลายๆ แล้วว่า รัฐประหารไม่ได้ ใช้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไม่ได้ มองว่าต้องยอมให้รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ยาว แต่จะอยู่แบบแย่ๆ ไม่เป็นที่ยอมรับ วิพากษ์ ย่ามใจ เหลิงอำนาจ ทุจริต แต่ความขัดแย้งจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อไป ซึ่งนี่เป็นจุดที่ก็อึดอัด เพราะไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ อย่างเรื่องคอร์รัปชั่น บางครั้งไม่ได้พูดเพราะไม่แน่ใจว่าโจมตีเกินเลยไหม แต่ก็มีคนในพรรคเพื่อไทยเองเล่าให้ฟังว่ามีที่จริงหลายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้ คือ ผู้อยู่ตรงข้ามรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างที่มากกว่าตรวจสอบรัฐบาล แต่เป็นการล้มรัฐบาลและล้มรากฐานของประชาธิปไตย เช่นพยายามจะยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเสื้อแดงรับไม่ได้ เกิดการต่อต้านมาก จนไม่ฟังว่าที่ตรวจสอบรัฐบาลนั้นจริงไหม บางที จริง แต่การที่ฝ่ายค้าน พันธมิตรฯ หรือสื่อ ให้น้ำหนักมากจนเห็นว่าต้อการยุบพรรค ล้มรัฐบาล กลับสู่ระบอบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ถูกต่อต้าน

เรื่องประชาธิปไตยกับศีลธรรม มองว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ปฏิเสธศีลธรรม แต่ระยะเฉพาะหน้า อย่าเอาศีลธรรมมาปิดกั้นเสรีภาพ การแสดงความเห็น การวิจารณ์ ไม่ว่าในระบอบจารีตนิยมหรือ สังคมนิยม ถูกบอกว่าคนดีเท่านั้นถึงมีสิทธิพูด ซึ่งความจริงไม่ใช่ สิ่งเหล่านี้ถูกใช้ทั้งในป่าในความคิดแบบสังคมนิยม ตอนหลังเติ้งเสี่ยวผิงถึงบอกว่าแมวสีไหนก็จับหนูได้ เพราะถ้าเอาคนมีคุณธรรมมาบริหาร เศรษฐกิจก็คงไม่ไปไหน

อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมแบบที่พูดไม่ได้บอกว่าคนเป็นชู้นั้นเป็นคนดี แต่ศีลธรรมขั้นต่ำของการอยู่ร่วมกันคือไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ส่วนการจะว่าเขาถูกผิดดีเลวก็เป็นเสรีภาพ ไม่ได้หมายความว่ายอมรับพฤติกรรมแบบนั้นว่าดี แต่ยอมรับว่าไม่ได้เลวร้ายขนาดอยู่ในสังคมร่วมกันไม่ได้ และถ้าเขาทำบทบาทในสังคมเช่นเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี ตราบที่ไม่กระทบที่ทำงานก็ต้องยอมรับ

การดีไม่ดีเป็นมาตรฐานของคนที่จะคิดกันเอง เพราะมาตรฐานของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ซึ่งเรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับการใช้ในตุลาการภิวัตน์ ซึ่งจะเห็นว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เรียกร้องทางคุณธรรมจริยธรรม เช่น กรณียงยุทธ ทางจริยธรรมแล้ว ควรจะลาออก แต่เรื่องกฎหมายไปเถียงกันอีกที แต่สังคมไทยพอเจอนักการเมืองไม่มีมารยาทก็พยายามไล่ ชนิดให้พ้นจากตำแหน่งหรือต้องติดคุก ซึ่งเรื่องนี้ลำบาก เพราะมาตรฐานศีลธรรมของคนไม่เท่ากัน


สมบัติ จันทรวงศ์
ถ้าทุกคนเป็นพลเมืองดี สังคมต้องมีปัญหาแน่ ยกตัวอย่างกรณีเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์ ถ้าทุกคนเป็นคนดี เคารพกฎหมาย ยิวก็คงตายหมด ดังนั้น ต้องเป็นคนดี ออกมาต่อต้านนาซี ทรยศประเทศชาติของตัวเองเพื่อมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีแต่คนที่เคารพกฎหมายอย่างเดียว มีปัญหาแน่นอน

มีอะไรบ้างที่ทำแล้วกระทบตัวคุณคนเดียวโดยไม่กระทบสังคม ความเชื่อส่วนตัวนั้นกระทบสังคมทั้งนั้น เช่น สำมะเลเทเมา มีลูกแล้วทิ้ง สังคมก็ต้องเลี้ยง ต้องเก็บภาษีเพิ่ม แต่จะแค่ไหน ความผิดของนักการเมืองบางอย่างไม่ควรจ้องจับผิดเขา เพราะเขาทำประโยชน์ได้มากกว่า แต่ขณะเดียวกันความผิดบางอย่างถ้ายอมรับได้ สังคมเจ๊ง เช่น ทุกวันนี้ คน 70% บอกว่านักการเมืองโกงได้ ตราบเท่าที่แบ่งบ้าง นี่เป็นความเสียหายเพราะส่งเสริมให้คนโกงได้

ภูมิธรรมแบ่งได้หลายสาย สิ่งที่นิติราษฎร์พยายามทำคือแบบฝรั่งเศส โจมตีข้อผิดพลาด ป่าวประกาศสัจธรรม นั้นยังไม่ถูกต้อง ถ้าจะแนะนำ อ.ปิยบุตร ต้องอ่าน The Prince เพราะ The Prince บอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดที่นักการเมือง หรือผู้นำต้องทำคือ การเปลี่ยนแปลง การนำเอาสิ่งใหม่เข้ามาในสังคม ซึ่งยากเพราะคุณประโยชน์ของของใหม่ คนมองไม่เห็น แต่คนที่ได้ประโยชน์จากของเดิมมี จำนวนมากและพร้อมจะเป็นศัตรู คนที่จะเชียร์ต้องเชียร์ลับๆ ไม่กล้าออกมา เพราะกฎหมายอยู่อีกข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนที่จะนำการเปลี่ยนแปลง ตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องอ่านการเมืองเป็น เล่นการเมืองเป็น คิดเป็น วางแผนเป็น ซึ่งนิติราษฎร์ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ 

สอง ที่ต้องท้วงติงคือ เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่โดยไม่มีศีลธรรม อย่างทั้งสองท่าน (ปิยบุตร-อธึกกิต) ที่มาพูด ต้องแน่ใจว่าซื่อสัตย์สุจริต หมายความอย่างที่พูดจริงๆ ต้องทึกทักว่าท่านมีตรงนี้ก่อนไม่เช่นนั้น เราจะนั่งฟังท่านได้อย่างไร ดังนั้น คนที่บอกไม่ต้องเชื่อศีลธรรม เหมือนกับการที่ตนเองเป็นคนกรุงเทพฯ แล้วพูดว่า คนกรุงเทพโกหกทุกคน เชื่อได้ไหม นั่นก็ต้องยกเว้นตนเองคนหนึ่งสิ่งที่พูดถึงจะเป็นจริง เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธเรื่องศีลธรรมไม่ได้ ยิ่งนักการเมืองที่มีอำนาจตัดสินใจต่อส่วนรวม ยิ่งต้องมีมากกว่าคนอื่น ถ้านักการเมืองผิดศีลข้อสามก็ต้องสงสัยว่า เขาจะไม่ผิดข้ออื่นด้วยหรือ ในเมื่อมีอำนาจเอื้อให้ทำได้ง่าย

สาม อย่าคิดว่ากระบวนการประชาธิปไตยเป็น Self correcting process กระบวนการประชาธิปไตยไม่มีอะไรที่บอกว่าจะแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองได้ ไม่มีหลักประกันว่า ไปนานๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง ถ้าไม่วางแผน ไม่ออกแบบสถาบันไปช่วยอาจจะเละก็ได้

ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ มีการศึกษาว่า มีคนชั้นสูงซึ่งมีฐานะได้เปรียบ คนข้างล่างไม่มีเลย พรรคสังคมนิยมในอังกฤษพยายามเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ซึ่งไม่มีปรากฏในงานนิติราษฎร์หรือข้อคิดของเสื้อแดง นั่นคือ การปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้ลูกคนระดับล่างที่มีปัญญาไต่ขึ้นมาได้ เพราะความสามารถสติปัญญาเป็นสิ่งที่กระจายไปทั่ว แค่เอาเงินมาแจกร้อยชาติก็หมด แต่ไม่ทำให้คนเท่ากัน ถามว่า เห็นนโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองไหนบ้างที่พูดเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องที่ชี้ว่าใครที่คิดอะไรอย่างจริงจัง

เราไม่เห็นวิสัยทัศน์นี้เลยในส่วนของคนที่บอกว่าป่าวประกาศการเปลี่ยนแปลง

2475 คือผลพวงการปฏิรูปการศึกษาของรัชกาลที่ 5 ถ้ารัชกาลที่ 5 ไม่ปฏิรูปการศึกษา คนอย่าง ปรีดี จอมพล ป. พระยาพหลฯ จะโผล่มาได้หรือ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ประชาธิปไตยไม่ใช่กระบวนการที่แก้ไขตัวเองได้ เพราะประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าอาจไปทางไหนก็ได้ และไม่เห็นว่าเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่แท้นั้นเป็นอย่างไร

เวลาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค มีข้อถกเถียงกันมากว่าควรมีข้อจำกัดหรือไม่ แนวคิดสมัยใหม่บอกให้ปล่อยเต็มที่ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย กรณี The Innocence of Muslim เห็นได้ชัด อเมริกันบอกว่ามีอิสระจะพูดอะไรก็ได้ แต่หาเรื่อง มันทำให้เกิดความขัดแย้งมหาศาล ศาลสูงอเมริกาเองเคยตั้งธงไว้ว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็น ถ้าแสดงความเห็นแล้วจะเกิดอันตรายที่ชัดเจนปัจจุบันทันด่วน ไม่มีสิทธิพูด เช่น พูดในโรงหนังว่าไฟไหม้ ทั้งที่ไฟไม่ไหม้ ไม่มีสิทธิพูด

เพราะฉะนั้น ข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ที่วัตถุประสงค์ว่า พูดเพื่ออะไร 

ประชาธิปไตยที่เชิดชูความเสมอภาคและเสรีภาพในการแสดงออกต้องมีข้อจำกัดทั้งในทางศีลธรรมและทางปฏิบัติ ประชาธิปไตยก็เป็น myth เป็นสิ่งซึ่งถูกสร้างขึ้น มีข้อสมมติเต็มไปหมด ทำให้ต้องจัดองค์กรเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุล อย่าลืมว่าประชาธิปไตยของไทยเป็นแบบรัฐสภา ซึ่งโดยหลักการไม่ได้ตรวจสอบและถ่วงดุลที่เข้มแข็งเท่า แบบประธานาธิบดี เราจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้ามีอยู่ ภายใต้ความกดดันแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก มีคนถามว่าจะจบอย่างไร คุณถามคำถามผิด มันเพิ่งจะเริ่มต้น

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ส่วนตัวไม่ได้ปฏิเสธเรื่องศีลธรรม เพียงแต่ถ้าจะมีเกณฑ์วัดทางศีลธรรมต้องมาตรฐานเท่ากัน เช่น วัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ แต่สถาบันการเมือง องค์กรสาธารณะทั้งหมดต้องถูกวัดด้วย

ประเด็นเสรีภาพ ข้อจำกัดที่ว่าจะไปกระทบอย่างอื่น ในทางกลับกัน ปัญหาอยู่ที่คนรู้สึกถูกกระทบหรือไม่ กรณีเรื่องตะโกนไฟไหม้ในโรงหนังนั้นชัดเจน แต่มีเรื่องบางเรื่องที่สังคมบอกว่าแบบนี้พอจะพูดได้บ้าง แบบนี้พูดไม่ได้ สุดท้ายมาตรฐานอดทนอดกลั้นมันจะแค่ไหน เพราะบางทีคนที่ทนไม่ได้เลย เราต้อง concern เขาตลอดเวลา จะสลับกันทนได้หรือไม่ การจะมีข้อจำกัดที่ชัดเจนอาจจะยาก

 

อธึกกิต  แสวงสุข
ประเด็นศีลธรรม สังคมประชาธิปไตยขีดกรอบว่าสิ่งที่ผิดคือสิ่งที่กระทบต่อคนอื่น กระทบสิทธิของผู้อื่น แต่นอกเหนือจากนั้น ดีเลว คือเรื่องที่เราด่ากัน ถ้าไม่กระทบการอยู่ร่วมกันในสังคมก็ปล่อยให้เป็นเสรีภาพในการด่ากัน นั่นคือศีลธรรม

ยกตัวอย่างคดีทักษิณ ติดคุกสองปี คดีนี้ตามหลักเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักการเมือง มีความเคลือบแคลงสงสัยต้องตำหนิ ทางการเมืองถูกอภิปราย ถูกไล่ หรือปลดออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ควรเป็นความผิดอาญา

เรื่องถูกผิดในสังคมควรมีสองระดับ หนึ่ง คือ ผิดกฎหมาย เช่น ทุจริต ขับรถชนคนตาย สอง มาตรฐานที่เรียกร้องสูงกว่าคนอื่น เช่น เป็นนักการเมือง พระ นักข่าว อาจารย์ ไม่ใช่ความผิดอาญา แต่ต้องถูกด่า

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“คนดำสไตล์”: คุณค่าของการมีส่วนร่วมทางดนตรีกับความสำเร็จของ “กังนัมสไตล์”

Posted: 29 Sep 2012 08:37 AM PDT

เพลง Gangnam Style ของแรปเปอร์ร่างท้วมจากเกาหลี PSY ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและอภิปรายกันในหมู่นักวิจารณ์ดนตรีและนักฟังเพลงในไทยพอสมควรในช่วงปลายเดือนสิงหาคมและปลายเดือนกันยายน 2555 ในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน [1] ซึ่งนักวิจารณ์แต่ละท่านก็มีท่าทีในการปรากฎการณ์ที่ต่างกันออกไป บ้างก็เสนอว่าเพลงนี้มัน "ขยะ" บ้างก็เสนอว่าเหตุผลของนักวิจารณ์ท่านที่ในการกล่าวหาเพลงนี้ว่า "ขยะ" นั้นใช้ไม่ได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ข้อถกเถียงในหมู่นักวิจารณ์ชาวไทยก็สงบลงแล้วแต่บทเพลงนี้ก็ยังได้รับความนิยมอย่างไม่หยุดหย่อน โดยในขณะที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้อยู่มันก็ข้ามฝั่งไปติดอันดับ 2 ของ Billboard Hot 100 ซึ่งเป็นซิงเกิลชาร์ตของนิตยสารบิลล์บอร์ดในอเมริกาไปแล้ว (ซึ่งก็พอจะมีลุ้นเป็นเพลง [2] ) นอกจากนี้ในประเทศยุโรปจำนวนมากเพลงนี้ก็ติดอันดับ Top 20 เป็นปกติ ซึ่งในบางประเทศเพลงนี้ก็ติดใน Top 5 หรือกระทั่งขึ้นอันดับ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว [3] และยอดการกด "ไลค์" ของวีดีโอเพลงนี้บนเว็บไซต์ YouTube ก็มากที่สุดในโลกจนทางกินเนสส์บุ๊คได้ลงบันทึกไว้แล้ว [4]

บทเพลงนี้ "ฮิต" ถล่มทลายแน่ๆ แต่มันจะเป็นบทเพลงที่ "ดี" หรือไม่ก็คงเป็นอีกเรื่อง แน่นอนว่าคงจะไม่มีนักวิจารณ์ที่ไหนบอกว่าบทเพลงที่ฮิตนั้นเป็นบทเพลงที่ดีโดยอัตโนมัติ เพราะนักวิจารณ์ที่เอาแต่บอกว่าเพลงที่ฮิตคือเพลงที่ดีก็คงจะไร้หน้าที่ในทางสังคมพอๆ กับนักวิชาการที่ไม่เคยเสนออะไรที่ผิดไปจากสามัญสำนึกของผู้คนทั่วไปเลย อย่างน้อยๆ ที่สุดในตอนนี้ เท่าที่ผู้เขียนเห็นมันก็ยังไม่มีนักวิจารณ์คนไหนที่ออกมาชมบทเพลงนี้แบบตรงๆ ว่าเป็นบทเพลงที่ "ดี" ด้วยซ้ำ

งานชิ้นนี้ผู้เขียนอยากเสนอว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่ "ดี" แต่หลักการที่ผู้เขียนใช้ก็ไม่ใช่หลักการเกี่ยวกับงานดนตรีที่ดีตามที่เข้ากันทั่วไปว่างานดนตรีที่ดีคืองานที่ความเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว หรืองานดนตรีที่ดีคืองานที่ประพันธ์มาอย่างซับซ้อนและใช้เทคนิคซับซ้อนในการเล่น หรืองานดนตรีที่ดีคืองานดนตรีที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกของผู้เล่นออกมาอย่างเต็มที่ หรือกระทั่งหลักการบ้านๆ แบบงานดนตรีที่ดีคืองานดนตรีที่ขายดี

แทนที่จะเป็นเช่นนั้นผู้เขียนมองว่างานชิ้นนี้เป็นงานดนตรีที่ดีเพราะมันเป็นงานดนตรีที่เชื้อเชิญให้เกิดการมีส่วนร่วมทางดนตรี (musical participation) อย่างล้นหลาม ซึ่งนั่นเป็นคนละเรื่องกับการที่งานชิ้นนี้ "ฮิต" หรือไม่ "ฮิต" เพราะเพลงจำนวนมากแม้แต่ในยุคปัจจุบันก็ "ฮิต" ได้แบบที่คนไม่ได้มีส่วนร่วมในแบบที่ Gangnam Style มีแน่ๆ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ไม่น่าจะมีบทเพลงใดที่มีการทำคลิปล้อเลียนกันออกมามากมายขนาดนี้จากผู้คนแทบจะทั่วโลก ซึ่งบรรดาคลิปล้อเลียนหลายๆ คลิปก็กลายเป็นคลิปที่ฮิตไปชั่วข้ามคืน (จะกล่าวต่อไปด้านหน้า) แต่ก่อนอื่น ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านมาสำรวจอคติเกี่ยวกับการประเมินค่าทางดนตรีของเราในฐานะของคนเมืองในยุคทุนนิยมตอนปลายกันก่อน

อคติดนตรีที่ดีแบบชนชั้นกลางยุโรปศตวรรษที่ 19

ดนตรีจะมีลักษณะ "สากล" หรือไม่ก็คงเถียงกันได้ไม่จบ เพราะอย่างน้อยๆ คำกล่าวแบบนี้ก็ดุจะคลุมเครือเกินกว่าที่จะตัดสินได้ว่าจริงหรือเท็จ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ไม่ได้เป็นสากลแน่ๆ ก็คือมาตรฐานของดนตรีที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกอยู่กับความจำเพาะเจาะจงของแต่ละสังคมไปจนถึงชนชั้นมาโดยตลอด และเงื่อนไขพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่สร้าง "สามัญสำนึก" ของคนในยุคสมัยหนึ่งๆ ที่คนมักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญและเป็นสากลเกินกว่าจะตั้งคำถามด้วยซ้ำ

อันที่จริงแล้วแนวคิดที่ว่าดนตรีที่ดีคือดนตรีที่มีความเป็นต้นตำรับ (originality) เป็นผลผลิตของกระแสความคิดโรแมนติค (romanticism) ในยุโรปศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก งานดนตรีก็ถูกมองในฐานะงานลอกเลียนทั้งนั้น ดนตรีถ้าไม่เป็นเรื่องของการลอกเลียนธรรมชาติ (ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก พายุ ฤดูกาล หรือกระทั่งรูปอารมณ์ของมนุษย์โดยทั่วไป) ก็เป็นการลอกเลียนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ไม่ว่าจะเป็นนางอัปสรณ์มิวส์ พระเจ้า หรืออะไรก็ตามแต่) [5]  ไม่ก็ลอกเลียนกันเองแบบพวกเพลงพื้นบ้านทั่วโลกอันไม่ปรากฏผู้แต่งและนักดนตรีที่เอามาเล่นแต่ละคนก็เล่นออกมาแตกต่างกันเนื่องจากนักดนตรีแต่ละคนก็ทำการปรับแต่งองค์ประกอบบทเพลงตามใจตนได้โดยเสรี [6]

กระแสความคิดโรแมนติคทำให้คนเริ่มมองว่าอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การแสดงออกทางศิลปะ และเป็นรากฐานของการประเมินคุณค่าทางศิลปะที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้ และสิ่งที่พ่วงกันมาด้วยก็คือการให้ความสำคัญกับแบบฉบับเฉพาะตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มองว่าธรรมชาติของดนตรีคือการลอกเลียนมาโดยตลอด ตรรกะก็คือถ้าการนำเสนออารมณ์ของปัจเจกเป็นแกนของงานศิลป์ได้ และปัจเจกทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านงานศิลป์ของปัจเจก จึงมีแบบฉบับเฉพาะตัว [7]

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในบริบทที่ดนตรีคลาสสิคแบบยุโรปกำลังจะกลายเป็น "ศิลปะ" ในความหมายใหม่ของชนชั้นนำใหม่ของสังคมอย่างชนชั้นกลาง การมองดนตรีของชนชั้นกลางยุโรปต่างจากชนชั้นสูงยุโรปโดยสิ้นเชิง (ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ต่างกันแบบไปกันไม่ได้เลยเช่นศีลธรรมทางเพศ) ชนชั้นกลางยุโรปเป็นพวกแรกๆ ในโลกที่เสนอว่ามนุษย์ต้องนั่งฟังดนตรีอย่างจริงจังและอย่างสงบเพื่อซาบซึ้งในสุนทรียรสของดนตรี ซึ่งแนวคิดแบบเดียวกับ "โปรดปิดมือถือในโรงภาพยนตร์" นี่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแสดงความเหนือกว่าทางศีลธรรมของชนชั้นเช่นเดียวกับศีลธรรมแบบชนชั้นกลางในเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องเพศ [8]

ทั้งนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าการนั่งฟังดนตรีเงียบๆ นั้นน่าจะไม่มีในโลกมาก่อนนอกบริบทพิธีกรรม (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการฟังดนตรีในฐานะศิลปะ) ชนชั้นสูงเองในระดับชนชั้นก็ไม่เคยมานั่งจริงจังซาบซึ้งกับดนตรีที่เป็นดนตรี "คลาสสิค" ทุกวันนี้เท่าไรนัก เพราะของพวกนี้ดั้งเดิมก็เอาไว้ประดับบารมีชนชั้นมากกว่าที่จะเอาไว้ซาบซึ้ง [9] ซึ่งกว่าพวกชนชั้นสูงจะมาซาบซึ้งทางดนตรีก็ต้องรอให้ชนชั้นกลางมาสะสมอำนาจทางเศรษฐกิจมากมารุกไล่ก่อน ชนชั้นสูงจึงหันมาจริงจังและซาบซึ้งกับดนตรีที่ฟังยากๆ เพื่อแสดงความหนือกว่าทาง "วัฒนธรรม" ก่อนเช่นกรณีของเวียนนาในยุคของบีโธเฟน [10] โลกของชนชั้นล่างยิ่งแล้วใหญ่ การปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมทางดนตรีและกิจกรรมบันเทิงเป็นไปในแบบมีส่วนร่วมมากกว่าที่จะต้องนั่งหุบปากอย่างสำรวมเพื่อฟังอย่างจริงจังแบบชนชั้นกลาง หรืออย่างน้อยที่สุดใน "สังคมไร้ชนชั้น" แบบสังคมอเมริกันในยุคเริ่มแรก จริตในการฟังดนตรีอย่างสงบเสงี่ยมเรียบร้อยก็ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในคนกลุ่มไหน ก่อนที่คนบางกลุ่มจะรับเอาจริตแบบชนชั้นกลางยุโรปมาในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 [11]

"วัฒนธรรมดนตรีคนดำ" กับการมีส่วนร่วมและการเล่นล้อ

เมื่อชนชั้นกลางเป็นใหญ่ในแผ่นดินและสามารถสถาปนาแนวทางการบริโภคดนตรีแบบใหม่และระบบคุณค่าในการประเมินค่ากิจกรรมดนตรีใหม่ได้ในศตวรรษที่ 19 (ทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา) การลืมกำพืดชนชั้นต่ำของตนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติมากกว่าจะเป็นข้อยกเว้น และในศตวรรษที่ 20 คนขาวชนชั้นกลางทั่วโลกก็ได้ต้องเผชิญกับดนตรีของชนชั้นต่ำใหม่อย่างดนตรีแจ๊สของคนดำในสหรัฐอเมริกาที่ดูจะมีจริตใกล้เคียงกับกำพืดดนตรีพื้นบ้านของชนชั้นกลาง

ดนตรีอย่างแจ๊สวางอยู่บนระบบคุณค่าทางดนตรีที่ต่างจากดนตรีคลาสสิคในแบบชนชั้นกลางอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงมันจะเป็นดนตรีสมัยใหม่แต่มันก็อุดมไปด้วย "สุนทรียศาสตร์แบบดนดำ" อย่างชัดเจนถ้ามองในสายตาของบรรดานักวิชาการสายชาติพันธุ์ดุริยางควิทยา (ethnomusicology) แจ๊สเต็มไปด้วยการให้คุณค่ากับปฏิภาณในการด้นสด (improvisation) กล่าวคือให้ความสำคัญกับการใช้ตัวโน้ตเล่นล้อบนโครงสร้างเพลงที่ตายตัวมากกว่าที่ [12] จารีตทางดนตรีไปถึงการมีส่วนร่วม (ในการเต้นรำ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่นอกสารบบของดนตรีคลาสสิคแบบชนชั้นกลาง เพราะเพลงอย่างวอลทซ์ (waltz) ที่ตอนนี้กลายเป็นเพลงคลาสสิคไปแล้ว เดิมทีก็เป็นเพลงเต้นรำของชาวกรุงเวียนนาซึ่งถูกก่นด่าว่าเป็น "เพลงขยะ" อันนำไปสู่การร่วมเพศอันสกปรกโสมมในสายตาของชนชั้นกลาง [13]

นักชาติพันธุ์ดนตรีที่ศึกษาดนตรีในทวีปแอฟริกาเล่าให้ฟังว่าโลกทางดนตรีของคนดำนั้นเป็นโลกทางดนตรีที่เน้นการมีส่วนร่วมเหนือสิ่งอื่นใด ชาวแอฟริกันพื้นเมืองไม่สามารถจะตัดสินได้ว่างานดนตรีมันดีหรือไม่ดี ตราบที่เขายังไม่สามารถมีส่วนร่วมกับมันได้ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหรือเต้น [14] และการเล่นและเต้นของชาวแอฟริกันก็ไม่ใช่การเล่นและเต้นให้เป็นเลิศแบบยอดฝีมือ (virtuoso) แต่เป็นการเล่นและเต้นไปเพื่อหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงทั้งหมดหรือกระทั่งสังคม ในกรอบแบบนี้ดนตรีที่ดี (หรือให้ตรงกว่านั้นคือ "กิจกรรมทางดนตรี" ที่ดี) ก็คือดนตรีที่เชื้อเชิญให้คนมีส่วนร่วม และก็แน่นอนว่าในโลกทางดนตรีเหล่านี้มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในสารบบ การลอกเลียนและดัดแปลงจากบ่อของจารีตมันทำได้อย่างเต็มที่และงานใหม่ๆ เหล่านั้นก็จะลงบ่อไปเป็นทรัพย์สินส่วนรวมให้คนต่อสร้างงานยอดไปอีกได้เรื่อยๆ กล่าวอีกแบบคือวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิมของคนดำมีลักษณะเป็น "สังคมนิยม" มากถ้าเทียบกับดนตรีคลาสสิคจากโลกตะวันตกที่ระบบคุณค่าของมันวนเวียนอยู่กับความสูงส่งมีอัจฉริยภาพของปัจเจกนักดนตรีและทรัพย์สินส่วนบุคคลของบทประพันธ์ซึ่งดูจะทำให้มันมีลักษณะแบบ "ทุนนิยม" ในระดับโครงความคิด (แม้ว่าโดยพื้นฐานของจริตความเป็นศิลปะแบบโรแมนติคของมันจะทำให้มันเกลียดทุนนิยมก็ตาม) และจริงๆ แล้วดนตรีในวัฒนธรรมดนตรีคนดำทั้งหลายก็อาจมีลักษณะแบบ "สังคมนิยม"  เสียยิ่งกว่าดนตรีในโลกสังคมนิยมตะวันตกต่างๆ ที่มีฐานมาจากดนตรีคลาสสิคแบบยุโรปที่ยังมีซากเดนของวัฒนธรรมของกระฎุมพีอยู่เสียอีก

สิ่งที่ย้อนแย้งและน่าขันเล็กๆ ก็คือสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในโลกทางดนตรีพื้นบ้านของชาวยุโรป (เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก) ซึ่งชาวยุโรปก็ลืมกำพืดไปแล้ว และบรรดาคนขาวในโลกตะวันตกก็ได้รับการย้ำเตือนว่าวิถีทางดนตรีเหล่านี้มีอยู่ในโลกจากดนตรีของบรรดาคนดำพลัดถิ่นทั้งหลายตั้งแต่ดนตรีบลูส์ของทาส ไปจนถึงดนตรีฮิปฮอปจากชุมชนแออัด

กังนัมสไตล์ในฐานะ "คนดำสไตล์" ในยุคอินเทอร์เน็ต

หลังจากผู้เขียนพาผู้อ่านย้อนอดีตกันไกลโพ้นมาแล้ว เราก็จะเข้ามาสู่ประเด็นหลักของเราในปัจจุบันซึ่งเป็นข้อสรุปของบทความชิ้นนี้กัน มีนักวิจารณ์กล่าวว่า Gangnam Style เป็นเพลงที่ "ลอก" มาดังนั้นมันจึงเป็นเพลงที่ไม่ดี อย่างไรก็ดีถ้าหากพิจารณาจากการให้คุณค่ากับ "การมีส่วนร่วม" ในแบบดนตรีคนดำ (และดนตรีพื้นบ้านแล้ว) บทเพลงนี้ก็ดูจะเป็นบทเพลงที่ดีเสียยิ่งกว่าดี เพราะมันได้กระตุ้นให้คนทั่วทุกหัวระแหงมีส่วนร่วมในการร่วมเล่นและร่วมล้อเลียนในการทำคลิปโพสต์ขึ้น YouTube และไม่ทำการขัดขวางใดๆ ในภาพรวม [15] ซึ่งนี่ก็ยังไม่นับการมีส่วนร่วมในแบบเก่าๆ อย่างการเต้นรำตามสถานบันเทิง

คลิปแมชอัพเพลงกังนัมสไตล์ ร่วมกับหลากหลายเพลงฮิต 

ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นต่างในประเด็นว่าเพลงนี้เป็น "ขยะ" เพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่ "ดี" บนฐานของโลกดนตรีของคนดำและดนตรีพื้นบ้านกระตุ้นให้คนลุกแทบจะทั่วโลกขึ้นมามีส่วนร่วมโดยแท้ ยอดวิวกว่า 200 ล้านวิวบน YouTube ไม่ได้พิสูจน์อะไรเลยถึงความดีงามของเพลงนี้ในสายตาของผู้เขียน แต่คลิปล้อเลียนสารพัดคลิปที่น่าจะมีเป็นหลักร้อยหรือกระทั่งพันจากคนทั่วไปต่างหากที่เป็นตัววัดความดีงามของบทเพลงนี้บนกรอบแบบนี้

จะว่าไป จริงๆ แล้วบทเพลง "ต่างประเทศ" ที่ผู้ฟังส่วนใหญ่ในโลกฟังเนื้อหาในเพลงไม่เข้าใจก็เล่นบทบาทดนตรีในฐานะเครื่องเชื่อมผู้คนจากที่ต่างๆ กันทั่วโลกเข้าหากันได้ดีกว่าเพลงชั้นดีในประวัติศาสตร์โลกที่คนชอบเคลมความเป็น "สากล" อันสูงส่งทั้งหลายด้วยซ้ำ ซึ่งนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพลงนี้จะเป็น "ภาษาสากล" เช่นกันเพราะคนที่ไม่ใช่คนเกาหลีก็ยากจะเข้าใจอารมณ์ขันที่เล่นล้ออยู่กับย่าน "คังนัม" ของเพลงนี้ซึ่งแทบจะตรงข้ามกับที่ได้รับการนำเสนอในมิวสิควีดีโอ [16] หรือกระทั่งความนิยมของบทเพลงนี้ในโลกตะวันตกเองก็ดูจะเป็นเพราะตัว PSY ที่ถูกนำเสนอมาดูจะสอดรับกับความ "เจ๋ง" และบรรดาภาพเหมารวมอื่นๆ ของคนเอเชียในสายตาคนตะวันตก [17]

แต่อันที่จริงแล้วความ "ไม่เป็นภาษาสากล" (ในความหมายว่าต่างคนต่างเข้าใจไม่ตรงกัน) นี่เองที่ชวนให้คนมา "เล่น" กับกังนัมสไตล์ เพราะไม่มีใครฟังมันรู้เรื่อง จินตนาการของการเล่นก็ยิ่งเปิดกว้าง เพราะนอกจากการทำคลิปเต้นล้อเลียน MV เพลงโดยทั้งชายและหญิงไม่ว่าจะห่มมากหรือน้อยอันมีดาษดื่นจากสารพัดประเทศแล้ว การล้อเลียนที่โดดเด่นก็คือการนำดนตรีมาร้องเปลี่ยนเนื้อใหม่ เช่น "Gotham Style" [18] "Kim Jong Style" [19] หรือกระทั่งแบบไทยๆ ก็มี "กำนันสไตล์" [20] มีการเอามาผสมกับอินเทอร์เน็ตมีมอื่นเช่นการทำมาผสมกับคลิปคำพูดของฮิตเลอร์จากภาพยนตร์เรื่อง Downfall [21] ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสความนิยมนำคลิปมาใส่คำบรรยายต่างๆ เพื่อให้เกิดความขำขัน หรือในส่วนของการนำดนตรีมาบรรเลงใหม่ก็มีการบรรเลงของวงดุริยางค์มหาวิทยาลัยโอไฮโอ [22]

คลิปล้อเลียนกังนัมสไตล์ "Gotham Style"

คลิปล้อเลียนกังนัมสไตล์ ที่เอาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เยอรมัน "The Downfall" มาดัดแปลง

หรือจะเป็นการบรรเลงเพลง Gangnam Style ใหม่ในสไตล์ดนตรีเมทัลของ Eric Calderone มือกีต้าร์ผู้ชอบนำเพลงสารพัดมาบรรเลงใหม่ในสไตล์เมทัล [23] หรือของจะเป็นเวอร์ชั่นคันทรี่ของ Andy Rehfeldt มือกีต้าร์ที่ฝีมือเรียบเรียงเพลงใหม่อยู่อันดับต้นๆ ของแวดวงดนตรีออนไลน์ [24] ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดก็เป็นส่วนน้อยเสียยิ่งกว่านั้นของคลิปที่ทำการ "เล่น" กับกังนัมสไตล์อีกนับไม่ถ้วนที่กระจายอยู่ทั่วอินเทอร์เน็ต

การเล่นเพลงกังนัมสไตล์ ในแบบดนตรีเมทัลของ Eric Calderone

ทั้งหมดนี้ทำให้ความเด่นของกังนัมสไตล์ดูจะไม่ใช่มิติอื่นนอกจากการชวนให้ผู้คนทั่วทุกสารทิศมาเล่นสนุกกัน โดยที่ไม่ต้องเข้าใจอะไรกันทั้งนั้น มาสนุกกันเป็นพอ นี่ดูจะทำให้กังนัมสไตล์ตอบสนองความต้องการของผู้คนสังคมทุนนิยมที่ไม่ได้ต้องการดนตรีเป็นอะไรมากกว่าเครื่องสร้างความบันเทิงเริงใจที่มีประสิทธิภาพของมวลชน ซึ่งความ "ก้าวหน้า" ของมันถ้าจะมีเป็นพิเศษก็คือมิติในการ "สร้างความบันเทิงแบบมีส่วนร่วม" ในแบบที่งานดนตรีที่มีมาก่อนหน้านี้ของบรรดาป๊อปสตาร์และร็อคสตาร์ยุคก่อนอินเทอร์เน็ต เพราะอย่างน้อยที่สุด PSY ก็ดูจะเป็นเพื่อนเล่นของมวลชนมากกว่าการเป็นกึ่งศาสดากึ่งเทวะของบรรดานักดนตรีระดับสตาร์ในอดีตทั้งหลาย

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่า Gangnam Style จะเป็นเพลงที่ "ลอก" เพลงมาหรือไม่หรือว่ามันจะมีความเป็นต้นตำรับหรือไม่ก็คงไม่ได้สลักสำคัญตราบที่มันสามารถจะเชิญชวนให้คนมาร่วมสนุกกันได้มากกว่าบทเพลงอันเป็นต้นตำรับทั้งหลายทั้งมวล เพราะอย่างน้อยๆ มันก็กำลังทำหน้าที่ทางสังคมอีกประการของดนตรีได้ดีอย่างที่งานดนตรีร่วมสมัยอื่นยากจะเทียบเคียงได้  และจริงๆ แล้วเรื่องตลกที่สุดของการเรียกร้องให้เพลงเต้นรำอย่าง Gangnam Style มีความเป็นต้นตำรับก็คือด้วยรูปแบบดนตรีของเพลงแล้วแล้ว การมีส่วนร่วมของมันก็ดูจะเป็นประเด็นที่ควรจะมีน้ำหนักกว่าความเป็นต้นตำรับ ไม่เราเราจะพิจารณาว่ามันเป็นเพลงฮิปฮอป (ที่เป็นบทเพลงจากวัฒนธรรมดนตรีคนดำ) หรือเพลงแดนซ์ (ที่แค่ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าต้องมีส่วนร่วมด้วยการเต้น) การเรียกร้องความเป็นต้นตำรับจากเพลงอย่าง Gangnam Style มันชวนให้คิดต่อไปว่าถ้าเชื่อว่าแบบฉบับเฉพาะตัวอันสูงส่งต้องมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นจริงๆ ในดนตรีทุกรูปแบบรวมทั้งเพลงแดนซ์และฮิปฮอป ท้ายที่สุดแล้วเพลงฮิปฮอปและเพลงแดนซ์มันก็คงจะมีชะตาไม่ต่างจากเพลงคลาสสิคหรือกระทั่งเพลงแจ๊สในยุคนี้ที่คนฟังควรจะมีมารยาทในการนั่งฟังเพลงเฉยๆ ในชุดสุภาพเพื่อจะได้ซาบซึ้งกับดนตรีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะตลกหรือไม่ผู้อ่านก็คงต้องจินตนาการภาพของคนใส่สูทนั่งฟัง PSY เล่นเพลง Gangnam Style อย่างจริงจังและสำรวมในคอนเสิร์ตฮอลล์อันโอ่โถงเอาเอง

อ้างอิง:

  1. ดู ตัวอย่างเช่น บทความ "เชษฐา กังนัมลีลา" : ว่าด้วยเรื่องของ "เพลงขยะที่ก๊อปปี้ชาวบ้านมา" ของผู้เขียนที่ http://prachatai3.info/journal/2012/08/42396  บทความ "มองเพลงกิมจิผ่าน กังนัม สไตล์" ของอนันต์ ลือประดิษฐ์ที่ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20120907/469171/469171.html และบทความ "Gangnam Style : เพลงขยะกับการลอกเลียน" ของอติภพ ภัทรเดชไพศาลที่ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=823491
  2. ดู เพลงภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ 6 เพลงก่อนหน้านี้ที่เคยคิดอันดับ 1 ของ Billboard Hot 100 มาก่อนได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Billboard_Hot_100_chart_achievements_and_milestones#Non-English_language_number-ones
  3. ดูอันดับต่างๆ และที่มาของอันดับต่างๆ ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Gangnam_style ทั้งนี้หากต้องการรู้รายละเอียดการจัดอันดับแต่ละชาร์ตก็ควรจะคลิกเข้าไปดูรายละเอียด
  4. ดู " 'Gangnam Style' holds Guinness Word Record for most 'liked' video in YouTube History" ที่ http://www.guinnessworldrecords.com/news/2012/9/gangnam-style-now-most-liked-video-in-youtube-history-44977/
  5. ดู James H. Johnson, "Beethoven and the Birth of Romantic Musical Experience in France", 19th-Century Music, Vol. 15, No. 1 (Summer, 1991), pp. 23-35
  6. ดู Peter Burke, Popular Culture in Early Modern Europe, (New York: Harper & Row, 1978)
  7. ซึ่งแนวทางการใช้ตรรกะนี้ก็ไม่ได้เกิดทางสุญญากาศทางเศรษฐกิจ เพราะมันก็โตไปพร้อมๆ กับแนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เริ่มมองว่าผู้สร้างสรรค์งานเริ่มมีสิทธิเหนือ "ความคิด" ที่อยู่เบื้องหลังตัวงานด้วย นี่เป็นเหตุผลให้ยุโรปเป็นภูมิภาคแรกในโลกที่กฏหมายลิขสิทธิ์เริ่มให้สิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์เหนือ "งานดัดแปลง" ด้วยจากที่ในยุคก่อนคุ้มครองเพียงแค่ "การทำสำเนา" งานเท่านั้น เช่นการพิมพ์หนังสือจากต้นฉบับ นอกจากนี้การนำงานศิลป์ไปเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกยังทำให้เกิดการมองว่างานศิลป์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้สร้างด้วย ซึ่งนี่สะท้อนมาในทางกฎหมายที่เปลี่ยนแนวทางการคุ้มครองงานจากที่นับถอยหลังการหมดเขตการคุ้มครองหลังจากการเผยแพร่ มาเป็นหนับถอยหลังการหมดเขตการคุ้มครองหลังผู้สร้างสรรค์ตาย ดู Lee Marshall, Bootlegging: Romanticism and Copyright in the Music Industry, (London: Sage Publications, 2005)
  8. ดู ธนา วงศ์ญาณณาเวช, ใต้เตียงนักดนตรี เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: openbooks, 2554).
  9. ดู James H. Johnson, "Musical Experience and the Formation of a French Musical Public", The Journal of Modern History, Vol. 64, No. 2 (Jun., 1992), pp. 191-226
  10. ดู Tia DeNora, "Musical Patronage and Social Change in Beethoven's Vienna", The American Journal of Sociology, Vol. 97, No. 2 (Sep., 1991), pp. 310-346
  11. Lawrence W. Levine, Highbrow/ Lowbrow: The Emergence of Cultural Hierarchy in America, (Massachusetts: Harvard University Press, 1988)
  12. ดู Ingrid Monson, "Doubleness and Jazz Improvisation: Irony, Parody, and Ethnomusicology", Critical Inquiry, Vol. 20, No. 2 (Winter, 1994), pp. 283-313 และ Ingrid Monson, "Riffs, Repetition, and Theories of Globalization", Ethnomusicology, Vol. 43, No. 1 (Winter, 1999), pp. 31-65
  13. ดู ธนา วงศ์ญาณณาเวช, ใต้เตียงนักดนตรี เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: openbooks, 2554).
  14. ดู John Miller Chernoff, African Rhythm and African Sensibility: Aesthetics and Social Action in African Musical Idioms, (Chicago: University Of Chicago Press, 1979)
  15. ดังที่หลายๆ ท่านทราบกัน เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิที่จะแจ้งให้ทาง YouTube ทำการบล็อกวีดีโอหรือเสียงเพลงในคลิปที่มีงานอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของอยู่ได้ ในแง่นี้ทางเจ้าของเพลงและวีดีโอเพง Gangnam Style (ผู้เขียนไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นเจ้าของอะไรบ้าง) ก็สามารถจะเอาคลิปล้อเลียนทุกคลิปลงได้ แต่ก็ไม่ทำ ซึ่งผู้เขียนก็คิดว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วหากต้องการใช้ชื่อเสียงเพลงนี้มันระบาดดังที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ข้อยกเว้นในการลบคลิป ก็คือในกรณีคลิปแมชอัฟที่โด่งดังมากคลิปหนึ่งที่ทางวง LMFAO  (ซึ่งเป็นวงอเมริกันที่มีเพลงที่หลายฝ่ายกล่าวว่าเป็นเพลงต้นแบบของ Gangnam Style) เคยโพสต์ ดูร่องรอยการลบได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=eqHIkPzl0I0&feature=player_embedded อย่างไรก็ดีคลิปนี้ยังดูได้อยู่ที่ http://www.videobash.com/video_show/like-a-bad-white-guy-party-gangnam-style-378423  ดูข่าวการโพสต์คลิปของทาง LMFAO ได้ที่บทความ "ลอกหรือเจ๋ง? เมื่อ LMFAO โพสต์เอ็มวี "กังนัม สไตล์" แถมโรลลิ่ง สโตนยกย่องสุดยอดเค-ป๊อป" ของเซาะเปีย ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1347103041&grpid=&catid=08&subcatid=0806
  16. ดู "เปิดใจสาวเกาหลี "จอง เชยอง" เปรียบ "คังนัมสไตล์" เป็นดาวมหาลัย และตัวตนที่แท้จริงของ "ปาร์ก แจ ซาง" ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348719641&grpid=&catid=08&subcatid=0801
  17. ดู บทความ " Is "Gangnam Style" a Hit Because of Our Asian Stereotypes? " ของ Deanna Pan ที่ http://www.motherjones.com/mixed-media/2012/09/gangnam-style-asian-masculinity%20
  18. http://youtu.be/YSsCU3FcOkw
  19. http://youtu.be/_cG7ZVBXQII
  20. http://youtu.be/eBQz4AZrNuk
  21. http://youtu.be/wJFW7-hyWpE
  22. http://youtu.be/cDficEfonAE
  23. http://youtu.be/qLH6PidZ-7I
  24. ตอนนี้คลิปที่ http://vimeo.com/49576304 ถูกลบไปแล้ว แต่ยังฟังได้ที่ http://soundcloud.com/andy-rehfeldt/gangnam-style-country-version
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวนดุสิตโพลล์ชี้ 'เหลือง-แดง' ปะทะกันห้ามยาก แนะต้องมีสติถอยคนละก้าว

Posted: 29 Sep 2012 05:31 AM PDT


29 ก.ย.55 - เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กรณี การปะทะกันของคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง หน้ากองปราบ จำนวน 1,094 คน ระหว่างวันที่  26-28 กันยายน 2555 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางสังคมและแสวงหาฐานข้อมูล ด้านความคิดเห็นของประชาชน สรุปผลดังนี้

1.ความคิดเห็นของประชาชน กรณีเหตุการณ์การปะทะกันของคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง หน้ากองปราบฯ

อันดับ 1 เป็นเรื่องของคน 2 กลุ่ม ที่มีแนวคิดมุมมองที่แตกต่างกัน ยากที่จะห้ามไม่ให้มีการกระทบกระทั่งกันได้ 42.04%

อันดับ 2 มีแต่ผลเสียตามมา ภาพลักษณ์ประเทศดูแย่ลง ทรัพย์สินราชการเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 29.21%

อันดับ 3 ทางกองปราบฯ น่าจะรับมือกับผู้ชุมนุมได้ดีกว่านี้  ไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย 18.87%

อันดับ 4 การปะทะกันครั้งนี้อาจมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาปลุกปั่นยั่วยุหวังให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความโกรธแค้น 9.88%

2.จากเหตุการณ์การปะทะกันของคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง สะท้อนให้เห็นถึงภาพการเมืองไทย ณ วันนี้ เป็นอย่างไร?

อันดับ 1 การเมืองไทยยังขาดเสถียรภาพ ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นต้นเหตุสำคัญให้ประชาชนทะเลาะกัน 53.12%

อันดับ 2 ตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่สามารถปรองดองกันได้ ก็ไม่สามารถเดินหน้าบริหารบ้านเมืองในด้านอื่นๆให้พัฒนาได้ 19.23%

อันดับ 3 ภาพลักษณ์ของการเมืองไทยดูแย่ลง /ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น /นักลงทุนไม่ไว้วางใจ 17.56%

อันดับ 4 ประเทศไทยยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอ คนไทยไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 10.09%

3. ประชาชนคิดว่าแนวทางแก้ไขปัญหานี้เพื่อไม่ให้เกิดการบานปลาย ควรทำอย่างไร?

อันดับ 1 ต้องมีสติ อดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุ ถอยคนละก้าว ไม่ใช้กำลังในการตัดสินปัญหา 40.05%

อันดับ 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้มงวด มีการเตรียมการหรือวางแผนเพื่อป้องกันดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม 24.49%

อันดับ 3 ผู้ที่เป็นแกนนำแต่ละฝ่ายควรดูแล ควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายตนให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย 19.39%

อันดับ 4 อย่าหลงเชื่อหรือตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี /หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน ไม่อยู่ในที่สุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกัน16.07%อัญมินทร์ เรียบเรียง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อับดุลสุโก ดินอะ: กรณีทำงานวันศุกร์ ณ ชายแดนใต้

Posted: 29 Sep 2012 05:16 AM PDT



ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ  ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน เหตุการณ์ร้านค้าในพื้นที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนใหญ่เริ่มหยุดขายของในวันศุกร์ หลังจากสื่อต่างๆรายงานว่า มีใบปลิวข่มขู่ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะมีการเชื่อมโยงเหตุระเบิด ที่เทศบาลตะลุบัน อำเภอสายบุรี  กับใบปลิว ให้ประชาชนหยุดทำงานวันศุกร์
จาการเริ่มหยุดค้าขายของคนในพื้นที่ครั้งนี้ แสดงว่า คนในพื้นที่ไม่มั่นใจในกลไกและอำนาจรัฐที่จะคุ้มครองพวกเขาได้ ถึงแม้จะมีการพยายามกระตุ้นให้ประชาชนเปิดร้าน

มีการวิเคราะห์ว่า การหยุดทำงานวันศุกร์เกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางศาสนาอิสลามซึ่งความเป็นจริงในหลักศาสนามิได้ห้ามทำงานวันใดวันหนึ่งตายตัวเพียงแต่ ว่าวันศุกร์เป็นวันที่มุสลิมจะต้องไปละหมาดวันศุกร์ ที่มัสยิดประจำชุมชน

การละหมาดวันศุกร์เป็นหน้าที่มุสลิมทุกคน(เฉพาะผู้ชาย) จะต้องละหมาดที่มัสยิดของชุมชน (อยู่ระหว่างเวลาประมาณ 12.15-13.15) ไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพใด และกระทำสิ่งใดนอกจากศาสนกิจดังกล่าวด้วยความตั้งใจ และจิตใจที่บริสุทธิ์เท่านั้น อันเนื่องมาจาก อัลลอฮฺได้ดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อได้ยินเสียงเชิญชวนการทำละหมาดวันศุกร์ (อะซาน) ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั้นเป็นการดีสำหรับพวกท่าน" (อัลกุรอาน 62 : 9)

ในโองการนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อถึงเวลาละหมาดวันศุกร์ทุกคนจะต้องละทิ้งทุกกิจกรรม แต่จะต้องไปประกอบศาสนกิจทันที เพราะการประกอบศาสนกิจดังกล่าวดีกว่าทุกกิจกรรม

ในโองการต่อจากนี้หนึ่งโองการมีภูมิหลังการประทานโองการของพระเจ้าต่อศาสนฑูตมุฮัมมัดว่า ในขณะที่ท่านศาสนฑูตกำลังให้ธรรมเทศนาก่อนละหมาดนั้น จู่ๆ มีกองคาราวานสินค้าบรรทุกเครื่องบริโภค ของชายผู้หนึ่งผู้มีนามว่า ดะฮียะฮฺ อัลกัลบีย์ มาจากประเทศซีเรีย กอปรกับชาวเมืองมะดีนะฮฺขณะนั้นประสบความหิวโหย และเครื่องบริโภคมีราคาแพง ทำให้ชาวเมืองที่กำลังฟังธรรมเทศนาได้วิ่งกรูไปที่คาราวานสินค้าด้วยความเคยชินเหมือนวันปกติ ปล่อยท่านศาสนฑูตแสดงธรรมเทศนาและเหลือผู้ร่วมฟังเพียง 12 คน ดังนั้น อัลลอฮฺจึงประทานโองการนี้ เพื่อตักเตือนอัครสาวกศาสดาต่อพฤติกรรมหลงผิดดังกล่าว และเปรียบเทียบ การละหมาดและระลึกถึงพระองค์นั้นดีกว่าการละเล่นและการค้า เพราะพระองค์นั้นเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพที่แท้จริง เพราะอัลลอ์ได้โองการความว่า   "และเมื่อพวกเขาได้เห็นการค้าขายและการละเล่น พวกเขาก็กรูกันไปที่นั้นและปล่อยเจ้า(ศาสนฑูตมุฮัมมัด) ยืนอยู่คนเดียว จงกล่าวเถิด โอ้ศาสนฑูตมุฮัมมัด สิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นดีกว่าการละเล่นและการค้าและอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ" (อัลกุรอาน 62 : 11) โปรดดู al-Zuhaili, Wahbah, 1991 : al-Tafsir al-Munir, Berut : Dar alfikr al-Muasorah, 22/195/196

แต่เมื่อเสร็จการปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวทุกคนมีสิทธิที่จะออกไปประกอบอาชีพที่สุจริตเพราะอัลลอฮ์ได้โองการต่อจากโองการที่ผ่านมาว่า " ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดแล้วก็จงแยกย้ายกันตามแผ่นดินและจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺและจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆเพื่อพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ"   (อัลกุรอาน 62 : 10)
                     
ไม่เพียงเท่านั้นมุสลิมจะต้องละหมาดทุกวัน วันละ 5 เวลา(ประมาณเวลาละ 5-10 นาที ณ ที่ใดก็ได้) เพราะฉะนั้น การปฏิบัติศาสนกิจจึงมิได้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ เพียงแต่ในวันศุกร์มุสลิมจะต้องใช้เวลามากหน่อย ในการประกอบศาสนกิจ  และจะต้องทำที่มัสยิดของชุมชนเท่านั้น
                    
ดังนั้น เราจะเห็นว่า ในชุมชนมุสลิม โดยเฉพาะมัสยิดกลางปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เต็มไปด้วยข้าราชการ นักธุรกิจ ชาวบ้าน และคนทุกสาขาอาชีพไปร่วมละหมาด
                     
แต่ที่เป็นปัญหาสักหน่อยคือ ข้าราชการมุสลิมเขาต้องรีบออกจากที่ทำงานเพื่อประกอบศาสนกิจก่อนเวลา 12.00 น. และรีบออกจากมัสยิดให้ทันที่ทำงานก่อนเวลา 13.00 น. ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับข้าราชการมุสลิม ที่จะสามารถทำงานเต็มเวลา (08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. เพราะการละหมาดวันศุกร์ 12.15-13.15 น.)
                    
ดังนั้นหากเป็นไปได้การหยุดราชการในวันศุกร์น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตข้าราชการมุสลิมหรือการไปติดต่อราชการวันศุกร์ของชาวบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้
                  
การหยุดราชการวันศุกร์จึงเป็นเพียงทางออกหนึ่งในชุมชนมุสลิมเท่านั้น ในการแก้ปัญหาการประกอบศาสนกิจ แต่อีกหลายปัญหาที่เป็นเชิงระบบในการบริหารแผ่นดินทั่วประเทศที่มีความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายของคน จังหวัดชายแดนภาคใต้กับทั่วประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องผ่านกระบวนชูรอ (ประชุมปรึกษาแบบมีส่วนร่วมตามทัศนะอิสลาม) และการประชุม ปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างได้เป็นอย่างดี
               
ท้ายนี้ผู้เขียนขอประณามการระเบิดที่เทศบาลตะลุบันครั้งนี้และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อทุกครอบครัวของผู้สูญเสีย และผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและทางจิตใจจากเหตุการณ์นี้และทุกเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมาที่ขาดซึ่งมนุษยธรรมทั้งจากภาครัฐหรือทุกกลุ่มที่ปฏิบัติการ และขอเรียกร้องให้ผู้ก่อเหตุได้หยุดคิดพิจารณาถึงผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ที่นำมาสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและร่างกาย ตลอดถึงทรัพย์สิน ขณะเดียวกันผู้เขียน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอำนาจการปกครองที่สอดคล้องกับคนพื้นที่ บริหารความรู้สึกอธรรมด้วยกระบวนการทางยุติธรรมที่โปร่งใส  และแสวงหาทางออกทางการเมืองโดยการสร้างกระบวนการในการเปิดพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันศุกร์ชายแดนใต้ร้าง ร้านตลาดปิดเงียบผวาคำขู่

Posted: 29 Sep 2012 04:57 AM PDT

ร้านตลาดในชายแดนใต้ร้าง ผวาคำขู่ห้ามทำงานวันศุกร์ หวั่นซ้ำรอยเหตุคาร์บอมบ์สายบุรี เตือนระวังรถประกอบระเบิดหลุดเข้าเมืองยะลา นักวิชาการชี้เป็นการตอบโต้กรณีผู้เห็นต่างแสดงตัวต่อรัฐ

 

ผวาคำขู่ – ร้านค้าต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ต่างผากันปิดร้านหลังจากมีข่าวลือข่อขู่ไม่ให้เปิดกิจการในวันศุกร์ เช่นเดียวกับในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส จนทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน

ผู้สื่อข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) รายงานว่า บรรยากาศทั่วไปในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าพากันหยุดขายของ หลังจากมีข่าวลือถึงคำขู่ที่ห้ามประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำสินค้ามาวางขายตามตลาดนัดในวันศุกร์ ตลอดจนห้ามการประกอบอาชีพอื่นๆ ที่เข้าข่ายต้องหยุดทำการด้วย

โดยข่าวลือดังกล่าว ระบุว่า หากใครไม่เชื่อหรือยังคงดำเนินการค้าขายจะไม่รับประกันความปลอดภัย บ้างก็บอกว่าจะถูกตัดใบหู หรือจะถูกดักยิง มากไปกว่านั้น อาจจะถูกวางระเบิด โดยยกกรณีเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่บริเวณชุมชนตลาดสดเทศบาล ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากมาพูดกันอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ชาวบ้านหวาดกลัวไม่กล้าที่จะนำสินค้ามาวางจำหน่ายตามปกติ

ทั้งนี้ ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้กำลังตระเวนถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้ามถ่ายรูป เนื่องจากได้รับการร้องขอจากเจ้าของร้านค้า เนื่องเกรงว่าอาจได้รับอันตรายหากมีการเผยแพร่ภาพถ่ายดังกล่าวออกไป โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ได้รับการแจ้งเตือนให้ระวังการก่อเหตุ จึงจำเป็นต้องเข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัย

ไม่เพียงในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีเท่านั้น ในพื้นที่ชุมชนรอบนอก รวมทั้งในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี พ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งร้านค้าส่วนใหญ่ปิดทำการ เนื่องเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับอันตราย ในขณะที่มีโรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ ประกาศหยุดการเรียนการสอนด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มการดูแลเฝ้าระวังมากขึ้น

ในส่วนของตลาดสดเทศวิวัฒน์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับห้างไดอาน่า มีการปิดเงียบทั้งตลาด มีแม่ค้าตั้งแผงขายปลาดุกกับผักสด และพ่อค้าขายเนื้อหมูมีแค่ 2 รายเท่านั้น

สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไป มีเจ้าหน้าทั้งทหาร ตำรวจและอส.(อาสาสมัครรักษาดินแดน) ยืนรักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่ยังบางร้านเปิดค้าขายตามปกติอยู่ บรรยากาศดังกล่าว เกิดขึ้นเช่นเดียวกับในพื้นที่ของจังหวัดยะลาและนราธิวาสที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่พากันปิดร้าน เนื่องจากหวาดกลัวต่อคำขู่ดังกล่าวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการละหมาดวันศุกร์ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น.แล้ว ผู้ประกอบการร้านค้าบางส่วนได้เปิดร้านตามปกติ แต่ประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองปัตตานียังได้รับความเดือดร้อนอยู่ เนื่องจากมีร้านอาหารที่เปิดขายเพียงไม่กี่ร้าน ทำให้ประชาต้องยื้อแย่งกันซื้ออาหารและกับข้าว

เวลา 08.00 น. วันเดียวกัน ที่ตลาดสดพิมลชัย เทศบาลนครยะลา พ.อ.นพพร เรือนจันทร์ รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจยะลา และ พ.ท.ชลัช ศรีวิเชียร รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 พร้อมกำลังทหารและอาสาสมัครทหารพราน ออกตรวจสอบการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยมุสลิมในตลาดสดดังกล่าว พบว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของแม่ค้าชาวไทยมุสลิมต่างปิดร้านหยุดจำหน่ายสินค้า ทำให้บรรยากาศของตลาดสดดังกล่าวเงียบเหงากว่าปกติทุกวัน

วันเดียวกันที่บริเวณตลาดย่านธุรกิจในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยนายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสและคณะ เดินเท้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการ ร้านค้าต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ที่ต่างพากันปิดร้านหลังจากที่มีข่าวลือออกมาว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุห้ามให้ร้านค้าโดยเฉพาะร้านมุสลิมจำหน่ายสินค้าในวันศุกร์

ผู้ประกอบการรายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากมีกระแสข่าวลือดังกล่าวทำให้บรรดาผู้ประกอบการทั้งพุทธและมุสลิมเดือดร้อนอย่างหนัก ขาดรายได้ไปเป็นจำนวนมาก เพราะช่วงวันศุกร์ถือเป็นวันสุดท้ายของการทำงาน ปกติจะมีผู้คนออกมาจังจ่ายซื้อของมากกว่าทุกวัน และตนเองก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างกระแสข่าวลือนี้ เพราะไม่สามารถหาต้นตอของแหล่งที่มาได้ เพียงแต่เห็นเพื่อนผู้ประกอบการปิดร้านก็เลยปิดตามไปด้วย

แจ้งเตือนระวังคาร์บอมบ์ในเขตเมืองยะลา

พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผู้บังคับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การข่มขู่ไม่ให้ขายของในวันศุกร์มีมาประมาณ 3-4 สัปดาห์แล้ว ซึ่งสัปดาห์นี้ส่งผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีในวันศุกร์ที่ผ่านมา ตนมองว่าเป็นเรื่องทางจิตวิทยา หากคนในพื้นที่ทำตามคำข่มขู่ของพวกเขา หมายความว่าพวกเขาสามารถท้าทายอำนาจรัฐได้ แต่ในเขตเมืองยะลาไม่พบการโปรยใบปลิวข่มขู่

พล.ต.ต.พีระ เปิดเผยอีกว่า ตนได้สั่งการให้สถานีตำรวจภูธรทุกแห่งของจังหวัดยะลา ประชาสัมพันธ์กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งไทยพุทธและมุสลิมเชิญชวนให้ออกมาขายของในวันศุกร์ตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาละหมาดวันศุกร์ก็ให้ไปละหมาด โดยอธิบายว่า การข่มขู่ดังกล่าวของผู้ก่อการเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งศาสนาอิสลามไม่ได้สั่งให้หยุดขายของในวันศุกร์

พล.ต.ต.พีระ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวกรองว่า ในวันนี้คนร้ายได้นำรถยนต์ที่ประกอบระเบิดเป็นคาร์บอมบ์เข้ามาในเขตเทศบาลนครยะลา โดยมีข่าวว่าผู้ก่อการจะนำไปวางระเบิดที่ตลาดพิมลชัย ตลาดรถไฟและถนนสิโรรส จึงสั่งให้ประชาชนจอดรถบริเวณเกาะกลางถนน ห้ามจอดหน้าร้านค้า ซึ่งหากเกิดระเบิดจริง ก็จะไม่เกิดความเสียหายมากนัก พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง และสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่

พล.ต.ต.พีระ เปิดเผยอีกว่า ทั้งนี้ ตนได้สั่งการมีการตั้งด่านตรวจโดยการเอ็กซ์เรย์รถทุกคันที่ผ่านเข้ามาในเขตเมืองตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาแล้ว รวมทั้งได้ออกตรวจเส้นทางต่างๆ ที่รับผิดชอบโดยบูรณาการร่วมกับกองกำลัง อส. และกำลังทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11

สำหรับตำรวจได้ตั้งด่านใหญ่ร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ได้แก่ ด่านมลายูบางกอก ด่านท่าสาป ด่านสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี เส้นทางสายบ้านปาโด สายเนินงาม สายโกตาบารู แยกตือเบาะ แยกปรามะ สายบ้านโสร่ง

กอ.รมน.แจงเป็นการคุกคามเสรีภาพ-ผิดหลักศาสนา

ในวันเดียวกัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกหนังสือชี้แจงในกรณีนี้ว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิดในการนำหลักศาสนาอิสลามอันดีงามไปเบี่ยงเบนกระจายสู่ประชาชน อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบอาชีพตามปกติ อีกทั้งเป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพ การดำรงชีวิต และประกอบอาชีพของประชาชนผู้เป็นศาสนิกอื่น กอ.รมน.ภาค 4 สน.จึงขอชี้แจงมายังประชาชน ส่วนราชการ ผู้ประกอบการภาครัฐวิสาหกิจให้ได้รับทราบ ดังนี้

1.ดินแดนของประเทศไทยในทั่วทุกพื้นที่ ล้วนมีความยินดีต้อนรับบุคคลทุกเชื้อชาติ ศาสนา เข้ามาพักอาศัย หรือประกอบกิจทางศาสนาตามที่ตนเองมีความเลื่อมใสศรัทธา หากการเข้ามานั้นกระทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการกระทำที่มิได้มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

2."การห้ามชาวไทยพุทธ-มุสลิม หรือเชื้อสายจีน ประกอบกิจการค้าในทุกวันศุกร์" มิใช่การห้ามที่เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง โดยตามบทบัญญัติแท้จริงในหลักศาสนาอิสลามนั้นจะส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวมุสลิมปฏิบัติธรรมให้เกิดบุญกุศล ด้วยการละหมาดใหญ่ และฟังธรรม อบรมให้จิตใจบริสุทธิ์ มุ่งสู่การประพฤติในสิ่งที่ดีงามในห้วงกลางวัน เวลาประมาณ 12.00-14.00 หลังจากนั้นมุสลิมทุกเพศ ทุกวัยสามารถใช้เวลาที่เหลือในวันศุกร์ประกอบกิจการส่วนตัว รวมทั้งประกอบกิจการที่ยังคั่งค้างอยู่ได้ตามปกติ

3.หลายประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ประเทศในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันตก หรือแอฟริกา มิได้ห้ามประชาชนประกอบกิจการในวันศุกร์ แต่ส่งเสริมให้ประชาชนคงปฏิบัติเฉพาะการมุ่งปฏิบัติธรรมให้เกิดผลบุญกุศล ด้วยการร่วมละหมาดใหญ่ และฟังธรรมตามเวลาดังข้างต้น โดยมิได้ห้ามมิให้ใช้เวลาที่เหลือในการประกอบกิจการส่วนตัว หรืออาชีพแต่ประการใด

4.การออกคำสั่งห้ามดังกล่าว ถือเป็นการข่มขู่ต่อประชาชน ที่นอกจากเป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยส่วนรวมแล้ว ยังถือเป็นการนำหลักธรรมของศาสนามาถ่ายทอดในทางที่ผิดเพี้ยน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักธรรมอันดีงาม ดังนั้น จึงขอแจ้งให้ประชาชนได้ร่วมปฏิบัติดังต่อไปนี้คือ

ประการที่ 1 ไม่ต้องปฏิบัติตามการข่มขู่สั่งห้ามมิให้ประกอบการค้าในวันศุกร์ เนื่องจากผิดหลักกฎหมาย และศาสนา

ประการที่ 2 ขอประชาชนได้รวมพลังต่อต้านไม่สนับสนุนกลุ่มบุคคลที่มิได้มีจุดมุ่งประสงค์อันบริสุทธิ์ต่อศาสนา ประชาชน และสังคม ด้วยการยังคงให้ความสำคัญต่อการประกอบกิจกรรมทางศาสนา และสามารถประกอบกิจกรรมส่วนตัว หรือธุรกิจภายหลังจากเสร็จสิ้นการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ดังเช่นประเทศมุสลิมทั่วโลกได้ถือปฏิบัติ จนเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปแล้วจึงแถลงมาเพื่อทราบ

 

ชี้ตอบโต้กลุ่มเห็นต่างแสดงตัวต่อรัฐ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่า การข่มขู่ดังกล่าว เป็นการต่อสู้ในทางการเมืองอย่างหนึ่งของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเชิงอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของพื้นที่ และเพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีศักยภาพอยู่ หลังจากที่มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้ออกมาแสดงตัวต่อรัฐ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเป็นการตอบโต้กรณีที่รัฐออกมาบอกว่า ช่วงนี้พื้นที่เกิดเหตุรุนแรงมีเพียงแค่ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่พื้นที่ที่มีเหตุรุนแรง แต่การข่มขู่ครั้งนี้ปรากฏว่า ทำให้ประชาชนกลัวไปทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่ที่หยุดงานน่าจะมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เสนอด้วยว่า ประเด็นการข่มขู่ให้หยุดงานในวันศุกร์ ควรที่จะมีการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะกันอย่างจริงจังว่า จริงๆแล้ว วันศุกร์เป็นอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วตกลงจะเอาอย่างไร ซึ่งการข่มขู่ลักษณะนี้แม้ประชาชนจะทำตาม แต่ก็ไม่ใช่เพราะเห็นด้วย แต่ทำไปเพราะกลัว ซึ่งการทำตามลักษณะนี้ไม่มีความยั่งยืน เหตุที่กลัวเพราะรัฐไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ ดังนั้นต้องมาคุยกันว่าจะเอาอย่างไร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถึงไม่มีโครงการจำนำข้าว ต้นทุนทำนาก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี

Posted: 29 Sep 2012 04:38 AM PDT

แน่นอนว่าการจำนำข้าวไม่ได้แก้ปัญหาชาวนาได้เบ็ดเสร็จ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาครัฐที่จะหันมาสนใจเรื่องรายได้และปัญหาของชาวนา

 
แม้การรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากราคาขายข้าวเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่นักวิชาการและนักวิเคราะห์น้าจอทีวีว่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวนาต้องการจะผลิตข้าวให้ได้มากๆ เพื่อนำมาเข้าโครงการรับจำนำ
 
อย่างไรก็ดี ต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นในขณะนั้น เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของตลาดเสียมากกว่า เพราะเอาเข้าจริงแม้ราคาข้าวจะไม่เพิ่มขึ้น(โดยการจำนำข้าว) ราคาปุ๋ย-ยาก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ชาวนาไม่ได้ใช้ปุ๋ยหรือยาเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่พวกเขาใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ควบคู่ไปกับการประเมินความคุ้มทุนของเขาด้วย   นอกจากนั้น ต้นทุนการผลิตก็ยังเกี่ยวข้องกับค่าแรง ซึ่งแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน
 
ที่นาในพื้นที่ วิจัย ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา นั้นเป็นที่ลุ่ม ชาวนาส่วนใหญ่คือชาวนาเช่าไร้ที่ดิน สำหรับในส่วนของค่าเช่าที่ดิน ไม่ใช่แค่ราคาข้าวเปลือกที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้นที่จะมีผลต่อค่าเช่าที่นา แน่นอนว่าเมื่อราคาข้าวจากนาสู่ลานรับซื้อเพิ่มขึ้น ย่อมดึงดูดใจชาวนาทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ แต่การที่ที่นามีจำกัด คนที่มีอำนาจมากที่สุดก็คือเจ้าของที่นา ที่ย่อมรอโอกาสจากส่วนแบ่งของราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นมาเป็นธรรมดา
 
แต่การแข่งขันกันเองของชาวนาเช่าหน้าเก่ากับหน้าใหม่นี้ ยังต้องเผชิญกับปัญหาการเก็งกำไรจากนโยบายประกาศเช่าที่นาเป็นที่รองรับน้ำ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จากข่าวลือที่ออกมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 ที่ว่าอาจมีการเช่าที่นาในราคาสูงถึงไร่ละ 5,000 บ. นั้น เจ้าของที่นาบางรายถึงกับเปรยว่าจะไม่ให้ชาวนาเช่าที่นาเพื่อทำนาหนที่ 2 เพราะต้องการเก็บให้รัฐบาลเช่าแทน
 
 
 

ภาพดัดแปลง [1]
 
 
ความซับซ้อนในเรื่องนี้จึงกลายมาเป็นปัญหา ที่ทำให้ราคาเช่าที่นาในแถบ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา แพงกว่าใน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่นาดีและทำนาได้เกือบจะ 3 ครั้ง/ปี ในขณะที่ที่นาแถบ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีราคาขายต่ำมาก เนื่องจากเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังนานถึง 4 เดือน (เป็นอย่างน้อย) ในแต่ละปี รวมทั้งมีปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง เพราะอยู่ปลายสุดของโครงการชลประทาน แต่กลับต้องเป็นที่รองรับน้ำเมื่อต้องมีการระบายน้ำในช่วงหน้าน้ำ
 
 
นอกจากนั้น สำหรับชาวนาแล้ว การเพิ่มจำนวนรอบการปลูกข้าวขึ้นอยู่กับสภาพน้ำเป็นสำคัญ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าข้าวเปลือกราคาแพงหรือถูก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าในปีนั้นๆ รัฐบาลจะใช้นโยบายการประกันราคาหรือนโยบายการรับจำนำ เพราะถ้ามีน้ำเพียงพอให้ทำนาได้ พวกเขาก็ทำ ถึงทำไม่ได้ในบางปีเพราะแล้งก็ยังพยายามจะหาน้ำมาทำ(ในกรณีเขตชลประทาน) หรือทำนารอฝน (นอกพื้นที่ชลประทาน)
 
ส่วนเรื่องคุณภาพข้าวที่มีความกังวลกันมากว่าชาวนาจะผลิตข้าวคุณภาพต่ำ จนอาจทำให้เกิดปัญหาต่อการส่งออกนั้น อันที่จริงในขั้นตอนที่ชาวนาเข็นข้าวไปขาย ผู้รับซื้อก็ย่อมมีการควบคุมคุณภาพข้าวและการตรวจวัดความชื้นอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีข้อชวนสงสัยอีกว่าการปลอมปนข้าวหอมมะลิจนเป็นปัญหาเรื้อรังในตลาดข้าวนั้น เกิดขึ้นในขั้นตอนใดกันแน่ เกิดขึ้นในขั้นตอนการสีและบรรจุถุงขายเป็นข้าวสารส่งออกใช่หรือไม่ เช่นเดียวกับเวลาที่ชาวนาซื้อพันธุ์ข้าวมาปลูก ก็มักประสบปัญหาได้พันธุ์ข้าวที่เปอร์เซ็นต์ข้าวงอกต่ำบ้าง มีหญ้าปลอมปนบ้าง หรือไม่ใช่พันธุ์แท้ที่ต้องการบ้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ได้ถูกลดทอนจากนักวิชาการและนักวิเคราะห์หน้าจอทีวีให้เป็นความผิดพลาดของ ชาวนาแต่ฝ่ายเดียวทั้งสิ้น
 
ใช่ แค่จำนำข้าวมันยังไม่พอ
 
ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขต่อไป ควบคู่กับการปรับปรุงโครงการรับจำนำเข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้น ต้องปรับขั้นตอนกลไกการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และป้องกันปัญหาทุจริตให้รัดกุม
 
มันยากที่ชาวนาและเครือข่ายในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตข้าว (ที่ไม่ได้สัมพันธ์กันกับอุตสาหกรรมเคมีการเกษตรและปิโตรเคมี) อาทิ ชาวนารับจ้าง ผู้มีรถรับจ้างไถนา เกี่ยวข้าว เหล่านี้จะออกมาพูดต่อสาธารณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่พวกเขาได้จากโครงการ จำนำข้าว เพราะอย่างไรเสียเสียงของพวกเขาก็ไม่มีทางดังพอ ไม่ทรงภูมิมากพอ เท่ากับเสียงของพวกพ่อค้า ผู้ส่งออก นักวิชาการ และนักวิเคราะห์หน้าจอ ที่ไม่เคยผ่านความเสี่ยงของดินฟ้าอากาศและกลไกตลาดที่ใช้กดราคาข้าว ดังที่ชาวนาต้องเจออย่างจำเจซ้ำซากอยู่ชั่วนาตาปี
 
 
ภาพจากMaysaaNitto Org-home
 
 
หมายเหตุ: บทความนี้สังเคราะห์ขึ้นจาก งานวิจัย "ดำรงชีวิตท่ามกลางความเสี่ยง :  การรับมือและการปรับตัวต่อภัยพิบัติของชาวนารายย่อยภาคกลาง กรณีศึกษาภัยน้ำท่วมและภัยจากเพลี้ยกระโดด"  โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ นิรมล ยุวนบุณย์ และ นันทา กันตรี  สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบ เพื่อคุณภาพชีวิต เกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) เมษายน 2554
 
[1] ดัดแปลงข้อมูลจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์:ศาสนาปฏิบัติต่อมนุษย์ “อย่างมีศีลธรรม” หรือไม่?

Posted: 28 Sep 2012 10:50 PM PDT

 

ป้ายโฆษณา "ตักบาตรแอปเปิ้ลรับเกรด A" เป็นที่วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดีย บ้างก็ว่า "เป็นการมอมเมา งมงาย ไม่ซื่อตรงต่อหลักการพุทธศาสนาที่เน้นปัญญา ความมีเหตุผล" บ้างก็ว่า "นี่เป็นกุสโลบายดึงคนหนุ่มสาวปัจจุบันที่ห่างวัดให้หันมาสนใจใส่บาตรทำบุญ" หรือพยายามพูดให้ดูมีเหตุผลว่า "เมื่อใส่บาตรแล้วสบายใจ จิตสงบก็ทำให้มีสติดูหนังสือ และสอบได้เกรด A" บ้างว่า "มันเป็นสิทธิที่เขาจะทำเช่นนั้นได้ ตราบที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าจะทำการตลาดกับศรัทธาทางศาสนาของชาวบ้านก็เป็นเรื่องปกติ เพราะอะไรๆ ในสังคมปัจจุบันก็เป็นเรื่องการตลาดทั้งนั้น"

แต่ปัญหาที่ผมสนใจคือ ศาสนาที่ใช้ "กุสโลบาย" ทำนองนี้ (ที่ทำกันอยู่ทั่วไป) กำลังเดินสวนทางกับสิ่งที่เรียกว่า "ศีลธรรม" หรือไม่?

ศีลธรรมที่ผมพูดถึง หมาย ถึงศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานการ "เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์" ผมกำลังพูดศีลธรรมตามทัศนะของค้านท์ (Immanuel Kant) ซึ่งผมคิดว่า มีความหมายใกล้เคียงกับศีลธรรมตามสาระสำคัญของพุทธ สำหรับค้านท์ศักดิ์ศรีมนุษย์อยู่ที่ศักยภาพที่จะใช้เสรีภาพและเหตุผลเลือก "กฎศีลธรรม" สำหรับตนเอง (ลองคิดเปรียบเทียบหลวมๆ ถ้าสิทธัตถะมัวแต่เดินตามทางของคนอื่น ไม่เชื่อในเสรีภาพและปัญญาของตน ก็ไม่มีพุทธะที่ค้นพบอิสรภาพภายในด้วยตนเอง แน่นอนไม่มีใครค้นพบมันเพื่อคนอื่นได้)

หากมองจากหลักศีลธรรมแบบค้านท์ กุสโลบาย "ตักบาตรรับเกรด A" (หรือ ทำบุญแล้วรวย สวย หล่อ เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ "การกระทำภายใต้เงื่อนของการหวังผลตอบแทนใดๆ") ย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีศีลธรรม เพราะความมีศีลธรรมไม่ได้ขึ้นต่อเงื่อนไข หรือผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ใช่เป้าหมายกำหนดความถูกต้องของวิถี (end justifies means) แต่วิถีหรือตัวการกระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องในตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับผลที่เป็นบวกหรือลบ ความพอใจ ไม่พอใจ ฯลฯ

เพราะถ้าอ้างผลลัพธ์ที่ต้องการมาตัดสินความถูกต้องของการกระทำ ย่อมมีปัญหาตามมา เช่น ทำให้การกระทำที่ผิดศีลธรรมเป็นสิ่งที่ถูก (ลอกข้อสอบแล้วได้เกรด A ถ้าเอาผลลัพธ์เป็นเกณฑ์ตัดสิน การลอกข้อสอบก็ไม่ผิด เพราะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ) ทำให้การกระทำที่ไม่ใช่เรื่องศีลธรรมกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม (ชมสาวๆ ว่าสวยแล้วเธอปลื้มใจ ถ้าเอาผลคือความปลื้มใจเป็นเกณฑ์ การชมว่าสวยซึ่งเป็นคำพูดธรรมดาๆ ก็กลายเป็นความดีทางศีลธรรมไป) หรือแม้กระทั่งการอ้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เพื่อละเมิดความเป็นมนุษย์ของคนส่วนน้อย ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรม (เช่น ใช้ ม.112 เชือดไก่ให้ลิงดู เป็นการจัดการกับคนส่วนน้อยที่อ้างว่าเพื่อคำนึงถึง "ความรู้สึก" ของคนส่วนใหญ่ที่รักเจ้า)

สมมติเราถามว่า "ทำไมเสรีภาพจึงเป็นสิ่งมีค่า?" ถ้าตอบว่า เสรีภาพมีค่าเพราะมันก่อให้เกิดความสุขระยะยาวแก่คนส่วนใหญ่ คำตอบนี้ก็จะมีปัญหาว่า ถ้ามีหลักประกันความสุขระยะยาวที่ดีกว่าเสรีภาพ เช่นความจงรักภักดี เผด็จการโดยธรรม เผด็จการโดยทุนที่ทำให้คนส่วนใหญ่ร่ำรวยสุขสบายได้ หรือ ฯลฯ (ซึ่งใครๆ ก็อาจอ้างได้) เสรีภาพก็ไม่จำเป็น แน่นอน ค้านท์ย่อมไม่ตอบแบบนี้ สำหรับค้านท์เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าเพราะว่ามัน "มีค่าในตัวมันเอง" หรือค่าของเสรีภาพอยู่ที่เสรีภาพ ไม่ขึ้นอยู่กับว่ามันจะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร คุณปกป้องเสรีภาพแล้วเจ็บปวด ติดคุก หรือถูกฆ่าตาย ก็ไม่ได้ทำให้เสรีภาพเป็นสิ่งไร้ค่า ในทางตรงข้ามใครที่ทำลายเสรีภาพของเพื่อมนุษย์แล้วสุขสบาย มีอำนาจวาสนา ก็ไม่ได้ทำให้การกระทำที่เลวนั้นเป็นเป็นสิ่งที่ดี หรือมีเกียรติทางศีลธรรมไปได้

ฉะนั้น การกระทำที่ดีจึงเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง มันไม่ได้มีค่าเพราะว่าเป็นวิถี หรือเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งอื่น ด้วยเหตุนี้ เราจึงทำดีเพื่อความดี ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อรักษาความถูกต้อง เราปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม เพราะเสรีภาพ ความยุติธรรมมีค่าในตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับว่าปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรมแล้วใครจะได้หรือเสียประโยชน์ เช่น เป็นหน้าที่ที่เราต้องต่อต้านรัฐประหาร และ/หรือระบบอำนาจใดๆ ที่ทำลายเสรีภาพและความยุติธรรม การต่อต้านนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องในตัวของมันเอง ไม่เกี่ยวกับว่าใครหรือฝ่ายไหนจะได้ หรือเสียประโยชน์     

ถ้าคำนึงว่าใครจะได้หรือเสียประโยชน์ ก็เท่ากับว่าการได้หรือเสียประโยชน์เป็นเงื่อนไขของความถูกต้องของการปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรม แต่นิยามของ "ได้-เสียประโยชน์" เป็นสิ่งที่ลื่นไหลไม่แน่นอนตายตัว การปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่แน่นอนตายตัวไปด้วย เราไม่มีทางปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมในกรณีที่ศัตรู หรือคนที่เราเกลียดจะได้ประโยชน์ (เช่นไม่มีทางที่คนเกลียดทักษิณจะยอมรับการล้างผลพวงรัฐประหาร) หรืออาจสะใจที่ศัตรู คนที่เราเกลียดถูกละเมิดเสรีภาพ หรือถูกกระทำอย่างอยุติธรรม

ฉะนั้น จึงมีแต่การยอมรับว่าเสรีภาพ ความยุติธรรมมีค่าในตัวมันเองเท่านั้น เราจึงจะเกิดสำนึกปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข และนี่จึงทำให้การกระทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง (เช่น ปกป้องเสรีภาพเพื่อรักษาเสรีภาพ หรือปกป้องความยุติธรรมเพื่อรักษาความยุติธรรม) เป็นไปได้

การยอมรับว่า ความดีความถูกต้องเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง (ไม่เกี่ยวกับว่าทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องแล้วจะทำให้ตนเองดูดี เป็นคนดี) อยู่บนฐานของการยอมรับว่า "มนุษย์มีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง" การกระทำที่ดีหรือถูกต้องจึงอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่น หรือ "มนุษยชาติ" ทั้งมวล คุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์คือ "ศักยภาพที่จะมีเสรีภาพและเหตุผล" เลือกกฎศีลธรรมสำหรับตนเอง ที่สามารถทำให้เป็นกฎศีลธรรมสากลสำหรับมนุษย์ทุกคนได้ ความคิดดังกล่าวนี้ของค้านท์ถูกอ้างอิงอย่างหนักแน่นในการสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าสากลที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน

ในทัศนะของค้านท์ แม้โดยธรรมชาติมนุษย์อาจถูกชักจูงด้วยอารมณ์ สัญชาตญาณ ความต้องการ กิเลสตัณหาต่างๆ แต่มนุษย์ก็มีศักยภาพที่จะมีเสรีภาพเหนือสิ่งเหล่านั้น เสรีภาพไม่ได้มีความหมายแค่ว่า "ไม่ถูกบังคับ" แต่เสรีภาพคือการกระทำตาม "อัตตาณัติ" (การกระทำที่เป็นอิสระ-autonomously) หมายถึง การกระทำตามกฎที่เรากำหนดให้กับตนเอง ไม่ใช่กฎของธรรมชาติ หรือธรรมเนียมของสังคม

วิธีเข้าใจเสรีภาพตามความคิดของค้านท์ เราต้องเปรียบเทียบ อัตตาณัติที่ตรงข้ามกับ "อัญญาณัติ" (heteronomy) เวลาที่เราทำตามอัญญาณัติ หมายถึงเรากำลังทำตามเหตุปัจจัยที่นอกเหนือจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเหตุปัจจัยทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กฎธรรมชาติ เช่น เราหล่นจากที่สูง (หรือถูกผลัก) ขณะที่เรากำลังตกลงสู่พื้นไม่มีใครบอกว่าเราเป็นอิสระ เพราะการเคลื่อนไหวของเราถูกกำกับด้วยแรงโน้มถ่วง ถ้าบังเอิญเราทับใครตายก็ไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรม ค้านท์กำลังจะบอกว่าเราต้องมีเสรีภาพจากการกำหนดโดยสิ่งอื่นๆ การกระทำใดๆ ของเราจึงจะมีค่าทางศีลธรรม [i]

ประเด็นของค้านท์คือ เมื่อเรากระทำสิ่งใดๆ ตามแรงปรารถนา หรือแรงดึงดูดจากสิ่งอื่น เช่น อยากได้เกรด A เราไม่ได้มีเสรีภาพ เพราะเราถูกกำกับโดยสิ่งอื่น (อัญญาณัติ) ไม่ต่างอะไรจากการหล่นจากที่สูงที่เราถูกกำกับโดยแรงโน้มถ่วง เมื่อเรา "ใส่บาตรเพราะอยากได้เกรด A" ดูเผินๆ เหมือนกับว่าเราเลือกอย่างอิสระ เพราะไม่มีใครบังคับ แต่ที่จริงเราไม่ได้เลือกอย่างอิสระ เราถูกความอยากได้ผลลัพธ์ (เกรด A) กำหนดให้เราทำ หรือเกรด A คือเงื่อนไขให้เราใส่บาตร เราไม่ได้เป็นเจ้าของเป้าหมายที่อยู่นอกตัวเรา แต่เราตกเป็นเครื่องมือของเป้าหมาย (ใดๆ) ที่เราไล่ตาม มันคือการที่เราลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองให้เป็นสิ่งของที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนอกตัว

โดยเฉพาะเป็นเป้าหมายนอกตัวจาก "การวางเงื่อนไข" โดยคนอื่น คนที่โฆษณาชวนเชื่อให้มาตักบาตรรับเกรด A ก็คือคนที่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขาเอง เช่น พวกเขาอาจจะมีเป้าหมายว่า เพื่อดึงคนให้หันมาสนใจใส่บาตรทำบุญให้มากๆ หรือต้องการให้คนศรัทธาในศาสนามากขึ้น หรือแม้แต่เป้าหมายแบบ "คิดแทน" คนอื่นๆ ว่าเมื่อพวกเขาได้มาใส่บาตรแล้วเขาจะมีความสุข เป็นคนดี ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นการไม่เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและเหตุผลในตนเองของคนอื่นๆ ทั้งสิ้น

การมีเสรีภาพจึงหมายถึง การเป็นอิสระที่จะทำตามเหตุผล (ไม่ใช่ทำตามเงื่อนไขชักนำของอารมณ์ความรู้สึก กิเลส กฎธรรมชาติ ศาสนา ประเพณีฯลฯ) นักประโยชน์นิยมอาจมองว่า เราใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ที่ต้องการ มันช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ธอมัส ฮอบส์ เรียกเหตุผลว่า "แมวมองของความปรารถนา" (scout for the desires) ส่วนเดวิด ฮูม เรียกเหตุผลว่า "ทาสของอารมณ์" (slave of the passions)[ii]

แต่สำหรับค้านท์ การใช้เหตุผลที่แสดงว่า มนุษย์มีเสรีภาพเลือกกฎศีลธรรมสากลได้ หมายถึง "เหตุผลบริสุทธิ์เชิงปฏิบัติ" (a pure practical reason) ที่เป็นอิสระจากอารมณ์ อคติ อิทธิพลของเงื่อนไขทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และเหตุผลนี่เองที่รู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง และเห็นว่าความถูกต้องคือหน้าที่ที่ต้องทำ หรือทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้องไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใด

การใช้เหตุผลตามทัศนะของค้านท์ จึงหมายถึง การมีเจตนาทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเห็นว่ามันถูกต้องโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขว่าผลลัพธ์จะเป็นบวกหรือลบ เป็นความสุขหรือความเจ็บปวด พอใจหรือไม่พอใจ ฯลฯ สิ่งที่ถูกต้องมันถูกต้องในตัวมันเอง เช่น การพูดความจริงถูกต้องเสมอ ไม่ว่าคนจะชอบหรือไม่ก็ตาม (การมีกฎหมายอย่าง 112 ห้ามพูดความจริงจึงผิดหลักการนี้) การเอาสิ่งที่คนชอบมาล่อ หรือเป็น "กุสโลบาย" ให้คนทำสิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าหรือมีเกียรติทางศีลธรรม มันไม่ต่างอะไรกับการลงทุนเพื่อหวังกำไรเหมือนการทำธุรกิจทั่วๆ ไป

แน่นอน ผมกำลังพูดถึง "การใส่บาตรแอปเปิ้ลรับเกรด A" เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง แท้จริงแล้วสังคมเราเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมการใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเครื่องมือไปสู่ผลประโยชน์ที่ตนเองต้องการ จึงเป็นสังคมที่ไม่สามารถเดินไปได้บน "หลักการที่ถูกต้อง" คือ หลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ จึงเกิดรัฐประหารมากที่สุดในเอเชีย และจึงไม่มีตัวบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันไหนจะมี "ความเป็นกลาง" ที่น่าเชื่อถือได้จริง มีแต่หลักการที่ถูกต้องในตัวมันเองเท่านั้นที่มีความเป็นกลางจริงๆ

ผมคิดว่า แก่นสาระของพุทธคล้ายกับค้านท์ (แม้จะมีรายละเอียดบางด้านต่างกัน) เพราะพุทธศาสนามองว่า คุณค่าในตัวเองของมนุษย์คือ "พุทธภาวะ" หมายถึง ศักยภาพที่จะมีเสรีภาพด้านใน และเสรีภาพด้านในจะแสดงตัวออกมาเป็นปัญญาที่ปราศจากการครอบงำ (พูดภาษาค้านท์ คือเป็นอิสระจากอัญญาณัติ- heteronomy) ปัญญา คือการเห็นตามเป็นจริง และเห็นว่าความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อพอกพูนความต้องการสิ่งอื่นๆ หรือเพื่อไปสู่เป้าหมายอื่นๆ ที่รอคอยอยู่ข้างนอกจากการกระทำที่ถูกต้องนั้นๆ ฉะนั้น "วิถีกับจุดหมายจึงเป็นหนึ่งเดียวกัน" หรือ "จุดหมายที่ถูกต้องงอกงามออกมาจากวิถีที่ถูกต้อง" (ท่านพุทธทาสพูดคล้ายกับค้านท์ว่า "ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่" ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าจะนำมาพูดเพียงล้อเล่น)

แท้จริงแล้ว ค้านท์ไม่ได้ปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก ความปรารถนา ความต้องการ หรือกิเลสของมนุษย์ หรือไม่ยอมรับความจริงว่า มนุษย์มักทำสิ่งต่างๆ บนเงื่อนไขของการต้องการผลประโยชน์บางอย่าง แต่เขาเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ฐานอ้างอิงของศีลธรรมได้เลย ศีลธรรมต้องมาจากเสรีภาพและเหตุผลของมนุษย์ และเป็นศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่การใช้ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือไม่ว่าในกรณีใดๆ ฉะนั้น ศีลธรรมคือหน้าที่ที่ต้องเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์!

คิดจากศีลธรรมปกป้องคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์แบบค้านท์แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าพุทธศาสนาบ้านเราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ "อย่างมีศีลธรรม" หรือไม่?

 

 

  




[i] ผมสรุปเนื้อหาตรงนี้จาก หนังสือ "ความยุติธรรม: JUSTICE: WHAT"S THE RIGTH THING TO DO?" ของ Mjchael J. Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล หน้า 146

[ii] อ้างในเรื่องเดียวกัน หน้า 157

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : ปัญญาชนสาธารณะที่สร้าง “ความรู้แบบปลดปล่อย”

Posted: 28 Sep 2012 09:54 PM PDT

 

ปัญญาชนเป็นบุคคลสาธารณะ ความคิดและความรู้ที่ปัญญาชนสร้างขึ้นเป็นสมบัติสาธารณะ และสมบัติสาธารณะจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะต้องได้รับการประเมินคุณค่าและการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์และ "ต่อยอด"  ให้เกิดสมบัติสาธารณะใหม่ที่มีคุณค่าหรือประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น การตีพิมพ์หนังสือรวมบทความของอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ 4 เล่ม (ถกความคิดสังคมศาสตร์ในสังคมไทย, ทวนคลื่นความคิดกึ่งศตวรรษไทยศึกษา, เจ้าที่และผีปู่ย่า, จินตนาการทางมานุษยวิทยาแล้วย้อนมองสังคมไทย) และการจัดงานประชุมทางวิชาการในโอกาสอาจารย์อานันท์มีอายุครบ 65 ปี ที่ใช้ชื่องานว่า "สะท้อนย้อนคิดสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่" ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2555 จึงเป็นการกระทำที่ควรแก่การสรรเสริญ

บทความนี้มิได้ต้องการวิพากษ์ผลงานของอาจารย์อานันท์ เพียงแต่ต้องการเสนอว่า ความรู้ที่อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์สร้างขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมานั้น เป็น "ความรู้แบบปลดปล่อย" (emancipatory knowledge) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของชุดความรู้ "ไทยศึกษา" ที่สร้างโดยปัญญาชนกระแสหลักมาเนิ่นนาน การท้าทายของความรู้ที่มาจากวิธีคิดใหม่หรือมุมมองใหม่ในอดีต เช่น ความรู้ที่สร้างโดยปัญญาชนฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้าย ยังไม่มีพลังมากนัก ส่วนความรู้ที่สร้างจากมโนทัศน์ "วัฒนธรรมชุมชน" แม้ว่าจะดีกว่าความรู้เกี่ยวกับชาวบ้านที่สร้างโดยปัญญาชนกระแสหลักอย่างมาก ในแง่ที่ไม่ได้เน้นการแบ่งชนชั้นว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดาหรือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เน้นความเสมอภาคในชุมชน และต้องการให้ชุมชนชาวบ้านเสมอภาคกับชนชั้นกลาง แต่ก็เป็นมโนทัศน์ที่ไม่เหมาะสำหรับการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตของสังคมชาวบ้าน  

อาจารย์อานันท์สร้าง "ความรู้แบบปลดปล่อย" เพราะตระหนักถึงผลร้ายที่สังคมได้รับจาก "ความรู้แบบครอบงำ" และเพื่อจะสร้าง "ความรู้แบบปลดปล่อย" ได้อย่างมีพลังอาจารย์อานันท์จึงแสวงหาความรู้กว้างขวางไม่จำกัดสาขาวิชา หากดูจากหนังสือต่างๆ ที่อาจารย์อานันท์วิพากษ์วิจารณ์และอ้างอิงก็จะเห็นรายชื่อหนังสือนับพันเล่มซึ่งเป็นความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แทบทุกแขนง  เมื่อประกอบกับอาจารย์อานันท์มีความรักในความรู้อย่างยิ่ง ต้องการแสวงหาความรู้อย่างไม่สิ้นสุด อาจารย์อานันท์จึงศึกษาเล่าเรียนมาแล้วหลายสาขาวิชา ทั้งรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยาแบบนีโอมาร์กซิสต์ ซึ่งแต่ละสาขาวิชาก็ให้วิธีคิดบางอย่างแก่อาจารย์อานันท์ และในที่สุดอาจารย์อานันท์ก็เป็นคนที่ศึกษาแบบข้ามสาขาวิชาอย่างที่จะหาคนอื่นมาเทียบเคียงได้ยาก

ความรู้ในผลงานของอาจารย์อานันท์เป็น "ความรู้แบบปลดปล่อย" เพราะอาจารย์อานันท์ได้ชี้ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าความรู้ทุกแบบที่ได้รับการสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะโดยนักคิด/นักวิชาการตะวันตก หรือไทย หรือญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งสิ้น ยังไม่มีความรู้ใดที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ที่สมควรจะยึดมั่นเอาไว้ตลอดไป  

อาจารย์อานันท์เตือนอยู่เนืองๆ ว่าเราจะต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการสร้างความรู้ อยู่เสมอ อย่ายึดติดกับความรู้แบบใดแบบหนึ่งตายตัว ทฤษฎีที่ใช้ในวงวิชาการก็ยังไม่มีทฤษฎีใดที่ดีที่สุด แต่ละทฤษฎีล้วนมีข้อจำกัด เพราะสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง จึงต้องแสวงหาวิธีคิดและแนวการวิเคราะห์ใหม่ๆ และจะต้องพิจารณาบริบทของปรากฏการณ์ทางสังคมที่ตนศึกษาอย่างละเอียดชัดเจนเพื่อจะเข้าใจความซับซ้อนและลักษณะเฉพาะของปรากฏการณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทเฉพาะ และจะต้องใช้ "วิธีคิดเชิงซ้อน" คือมองเห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากกว่าความสัมพันธ์แบบที่ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งบอกเอาไว้ จินตนาการใหม่จึงมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าขาดจินตนาการก็จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนทะลุกรอบทฤษฎี และผลงานที่เขียนออกมาก็จะมีความหมายเพียงแค่การพิสูจน์ทฤษฎีที่คนอื่นสร้างไว้เท่านั้น

ในด้านมุมมองในการศึกษา อาจารย์อานันท์ก็เน้นว่าจะต้องฝึกมองจากแง่มุมที่หลากหลาย ทำให้ต้องรู้ทฤษฎีต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วจึงเลือกสรรบางทฤษฎีมาใช้ให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะศึกษา โดยที่คำตอบในงานวิจัยจะต้องมาจากการตีความข้อมูลและพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกับบริบท ไม่ใช่มาจากทฤษฎีที่ตายตัว จะต้องให้ความสำคัญแก่ทฤษฎีในแง่ที่เป็นเพียง "ตัวช่วย" เท่านั้น และหากจะยกระดับความรู้ใหม่ที่ค้นพบขึ้นมาเป็นทฤษฎี ก็จะต้องถือเป็นทฤษฎีชั่วคราวที่เป็น "ตัวช่วย" เช่นกัน    

กล่าวได้ว่า "ความรู้แบบปลดปล่อย" ที่อาจารย์อานันท์สร้าง มุ่งปลดปล่อยวิธีคิดของนักวิชาการ นักศึกษา และสังคมไทยโดยรวม ไม่ให้ยึดติดกับพื้นฐานความคิดหรือทฤษฎีใดๆ อย่างตายตัว ให้เปลี่ยนมาใช้ "วิธีคิดเชิงซ้อน" อยู่เสมอ พร้อมกันนั้นอาจารย์อานันท์ก็พยายามปลดปล่อยนักวิชาการ นักศึกษา และสังคมไทยโดยรวม ให้หลุดพ้นจากการตกอยู่ภายใต้ "กับดักคู่ตรงข้าม" ด้วย เพราะทุกๆ เรื่องมีความซับซ้อนเกินกว่าจะมองในลักษณะคู่ตรงข้าม

ในผลงานทางวิชาการทั้งหลาย นอกจากอาจารย์อานันท์จะประเมินสถานภาพของความรู้เชิงทฤษฎี วิธีคิด วิธีการศึกษา และข้อสรุปสำคัญๆ ในวงวิชาการสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไว้อย่างครอบคลุมแล้ว ความรู้สำคัญประการหนึ่งที่อาจารย์อานันท์สร้างขึ้นมาก็คือความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในสังคมไทย ซึ่งความรู้ทางวัฒนธรรมที่อาจารย์อานันท์สร้างขึ้นมานี้ มีส่วนช่วยปลดปล่อยสังคมไทยให้หลุดพ้นจากทัศนะครอบงำเกี่ยวกับ "วัฒนธรรมไทย" ว่ามีแบบเดียว อาจารย์อานันท์แสดงให้เห็นว่า "วัฒนธรรมไทย" เป็นพหุวัฒนธรรม และยังเน้นด้วยว่าส่วนที่สำคัญของวัฒนธรรมทุกๆ วัฒนธรรมก็คือ "ความหมาย" ของปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้นๆ ซึ่งมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบท และความหมายที่เกิดขึ้นยังเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งมีพลวัตเช่นกัน เพราะกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบก็สามารถเปลี่ยนสถานภาพทางอำนาจของตนในระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้ตลอดเวลา

การปลดปล่อยความหมายของ "วัฒนธรรมไทย" มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะการยึดติดกับความหมายเดิมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน กล่าวคือ นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500  ทำให้โครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมไทยในความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่กลับมีการปรับเปลี่ยนความหมายของ "วัฒนธรรมไทย" ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมน้อยมาก   ตรงกันข้าม ยังคงมีการสร้างความรู้ไทยศึกษาและมีการใช้ระบบการศึกษาที่เป็นทางการตลอดจนสื่อมวลชนนานาชนิดเพื่อทำให้คนไทยเชื่อว่า "ความเป็นไทย" หรือ  "วัฒนธรรมไทย"   ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" คือ ทำให้สังคมไทยมีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า เมื่อใดก็ตามที่คนไทยละทิ้งหรือหลงลืมวัฒนธรรมอันดีงามของไทยก็จะต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม

ในปัจจุบัน "คนชั้นกลางเก่า" ส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับวิธีคิดเดิมที่กล่าวมาข้างต้น แต่มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเขตเมืองและชนบทที่ต้องเผชิญกับความเสียเปรียบและความผันผวนในชีวิต พากันเห็นว่าที่จริงแล้ว "เมืองไทยนี้ไม่ดี" คนในเขตเมืองและชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้เป็น "ชนชั้นกลางใหม่" ที่การผลิตและวิถีชีวิตแบบใหม่ของพวกเขาทำให้เกิดความต้องการที่จะเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างสะดวกและเสมอภาคกับคนอื่น ๆ ในสังคม รวมทั้งต้องการความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ในบริบทที่เครือญาติและชุมชน รวมทั้งวัดและพระสงฆ์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นที่พึ่งที่ดีได้อีกต่อไป และสถาบันทางการเมืองใหม่ ๆ เช่น องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนระบบประกันสังคม ยังไม่ได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากพอที่ "ชนชั้นกลางใหม่" ทั้งหลายจะเข้าไปกำกับควบคุมและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง  พวกเขาจึงมีความรู้สึกรุนแรงต่อ "ความไม่เสมอภาค" และสภาวะ "สองมาตรฐาน" ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย และเชื่อถือคำอธิบายง่าย ๆ ที่ว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดจาก "พวกอำมาตย์" ที่พยายามผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ในมือตลอดไป "ชนชั้นกลางใหม่"  เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่สนใจความซับซ้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงในชีวิตของคนไทยทุกชนชั้น ทุกชาติพันธุ์ และทุกท้องถิ่นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

การแก้ไขปัญหาของฝ่ายที่เชื่อว่า "วัฒนธรรมไทยดีงาม" หรือเชื่อว่าแท้ที่จริง "เมืองไทยนี้ดี" เน้นไปที่การหาทางทำให้คนไทยหันกลับมายึดมั่นในวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการสอนศีลธรรมไทย โดยไม่ตระหนักว่า "วัฒนธรรมไทย" นั้นมีความแตกต่างหลากหลายและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนตลอดมา  แม้แต่ "ความจริง ความดี ความงาม" ในทัศนะของคนไทยก็แตกต่างหลากหลายอย่างมาก นอกจากจะขึ้นอยู่กับชนชั้น ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น เพศ และวัยแล้ว  ในระยะหลังยังเกิดสภาวะสังคมแยกย่อย (fragmented society)  และเกิดสังคมข้อมูลข่าวสาร (information society) ที่ทำให้ไม่มีใครในสังคมไทยสามารถจะผูกขาดอำนาจในการนิยามความหมายของ "ความจริง ความดี ความงาม" ได้อีกต่อไป   จึงเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะทำให้ "ความเป็นไทย"  หรือ "วัฒนธรรมไทย" ในความหมายเดิมดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างมั่นคง โดยแกล้งทำเป็นลืมว่า "วัฒนธรรมไทย" ที่เน้นการแบ่งชั้นทางสังคมนี้เองที่เป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย

จะเห็นได้ว่าเมื่อมาถึงปัจจุบัน  "ชนชั้นกลางใหม่" จำนวนมหาศาลได้กลายมาเป็น "คนเสื้อแดง" ที่ถูกทำให้เชื่อว่า "เมืองไทยนี้ไม่ดี"  เพราะการใช้อำนาจนอกระบบของ "พวกอำมาตย์" ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดสภาวะ "สองมาตรฐาน" และทำให้  "ไม่มีความยุติธรรมในสังคม" ส่งผลให้ "พวกไพร่" ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับ "พวกอำมาตย์" เพื่อนำสังคมไทยเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  จึงจะทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" ขึ้นมาได้

 กล่าวได้ว่า  ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบันเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่เห็นว่า "เมืองไทยนี้ดี" (แม้ว่าจะมีส่วนที่ยังไม่ดีอยู่บ้างก็สามารถจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ถ้าทุกคนยึดมั่นใน "ความเป็นไทย" หรือวัฒนธรรมไทย) กับฝ่ายที่เห็นว่า "เมืองไทยนี้ไม่ดี" เพราะมีการใช้อำนาจนอกระบบของพวกอำมาตย์ โดยแต่ละฝ่ายประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายและซับซ้อนขึ้น

พวกที่เห็นว่า "เมืองไทยนี้ดี" ได้แก่กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "อำมาตย์" และ "ศักดินาล้าหลัง" ซึ่งฐานทางสังคมของกลุ่มนี้ประกอบด้วยชนชั้นนำเก่า (พลังอนุรักษ์นิยม), ชนชั้นกลาง และฝ่ายซ้ายบางส่วนที่ระแวงและต่อต้านอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในระบบทุนนิยมที่มีอำนาจขึ้นมาจากการเลือกตั้ง

พวกที่เห็นว่า "เมืองไทยนี้ไม่ดี" (มีความไม่เสมอภาค ขาดความยุติธรรม สองมาตรฐาน) ได้แก่กลุ่มที่เรียกกันว่า "ทุนสามานย์" และ "ไพร่" ซึ่งฐานอำนาจของกลุ่มนี้ประกอบด้วยกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดธุรกิจการเมือง, ชนชั้นกลางระดับล่าง, และฝ่ายซ้ายบางส่วนที่เจ็บแค้นและเห็นว่าอำนาจนอกระบบของอำมาตย์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย

ทัศนะที่มองว่า "เมืองไทยนี้ดี" และ "เมืองไทยนี้ไม่ดี" ล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้น

การมองว่า "เมืองไทยนี้ดี"   สร้างความภูมิใจใน "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมามาก  เพราะทำให้เห็นว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องชอบธรรมและไม่ยอมรับความหมายของ "ความเป็นไทย"  ในแบบอื่น อีกทั้งยังเห็นว่า คนที่คิดต่าง หรือคนที่ไม่ยอมรับว่า "เมืองไทยนี้ดีเพราะมีความเป็นไทย"  เป็นคนไม่รักชาติ และที่สำคัญก็คือ การมองว่า "เมืองไทยนี้ดี" ทำให้มองข้ามรากฐานทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญของความตึงเครียดและความขัดแย้ง  ขาดความสามารถในการอธิบายหรือการเข้าใจความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  ต้องการสงวนรักษา "วัฒนธรรมไทย" ให้ดำรงอยู่ตลอดไปโดยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน "วัฒนธรรมไทย" ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญแต่เฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่อง ๆ โดยไม่ใส่ใจอย่างจริงจังต่อการกระจายอำนาจทางการเมือง หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งไม่สนับสนุนการปฏิรูปต่าง ๆ อย่างจริงจัง  ยังคิดอยู่เสมอว่าชนชั้นนำเท่านั้นที่มีความรู้และคุณธรรมมากพอที่จะปกครองและตัดสินใจแทนประชาชน  

 ส่วนกลุ่มคนที่มีทัศนะว่า "เมืองไทยนี้ไม่ดี"  ก็มักเน้นว่าเมืองไทย "ไม่มีความเสมอภาค" "ไม่มีความยุติธรรมทางสังคม" "ไม่มีเสรีภาพทางความคิด"  และโจมตี "พวกอำมาตย์" กับการรัฐประหารที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยมองข้ามอำนาจผูกขาดการเมืองของกลุ่มทุนและปัญหาโครงสร้างของทุนนิยม  นอกจากนี้ส่วนใหญ่ของกลุ่มคนที่คิดว่า "เมืองไทยนี้ไม่ดี" ยังมอง "ความเป็นประชาธิปไตย" เฉพาะในแง่ของการเลือกตั้งระดับชาติเท่านั้น  ไม่สนใจ กระบวนการใช้อำนาจของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล (good governance) หรือไม่  กลับหวังพึ่ง "ผู้นำ" ที่ใช้นโยบายประชานิยม  โดยไม่สนใจการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรอย่างแท้จริง และไม่ใส่ใจต่อการเสริมสร้างอำนาจต่อรองให้แก่ผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม รวมทั้งเกษตรพันธสัญญาซึ่งเกษตรกรเสียเปรียบกลุ่มทุนเป็นอย่างมาก

อาจกล่าวได้ว่า การมอง "เมืองไทย" แตกต่างกัน ระหว่างฝ่ายที่เชื่อว่า "เมืองไทยนี้ดี" กับฝ่ายที่เชื่อว่า "เมืองไทยนี้ไม่ดี" รวมทั้งการอธิบายปัญหาต่างกัน ทำให้ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาของสองฝ่ายแตกต่างกัน และต่างฝ่ายต่างก็เลือกหนทางในการแก้ปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น  

 แท้ที่จริงแล้ว การมองว่า "เมืองไทยนี้ดี" และ "เมืองไทยนี้ไม่ดี" ล้วนแต่เป็น "มายาคติ" และเป็นการมองอย่างสุดโต่ง  ที่ทำให้เข้าใจสังคมไทยคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับความเป็นจริง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาด อีกทั้งทำให้ความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยขยายลึกและกว้างยิ่งขึ้น เพราะการมองว่า "เมืองไทยนี้ดี" และ "เมืองไทยนี้ไม่ดี" ล้วนเป็นการมองเพียงด้านเดียว หรือมองเพียงส่วนเดียว และมองเป็นภาพนิ่ง เป็นการมองแบบคนที่ตกอยู่ภายใต้ "กับดักคู่ตรงกันข้าม" การมองแบบสุดโต่งนี้ทำให้แต่ละฝ่ายต่างก็รับรู้ข้อมูลข่าวสารเฉพาะที่สอดคล้องกับกรอบมโนทัศน์ของตน ปฏิเสธข้อมูลข่าวสารและการอธิบายปัญหาจากแง่มุมอื่น ๆ ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะเข้าใจคนกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน เกิดความเกลียดชังกัน จนยากที่จะต่อรองและประนีประนอมกันฉันมิตร และยากที่จะร่วมมือกันในการปฏิรูปประเทศ

"ความรู้แบบปลดปล่อย" สำคัญมากสำหรับทุกคนและทุกฝ่ายในสังคมไทย ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในกรอบความหมาย "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ซึ่งไม่เอื้อต่อการปรับตัวของสังคมไทย และฝ่ายที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแต่ยังมีอคติอยู่ไม่น้อยในการมองและอธิบายปัญหาต่างๆ การปลดปล่อยจากกระบวนทัศน์ครอบงำและปลดปล่อยจากอคติที่ยึดถืออย่างเหนียวแน่นจะช่วยสร้างความรู้ที่ทำให้ทุกฝ่ายเกิดสติปัญญามากขึ้น และ "ความรู้แบบปลดปล่อย" ที่อาจารย์อานันท์สร้างจึงสำคัญมากสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมั่นคง

"ความรู้แบบปลดปล่อย" สำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพราะจะนำไปสู่วัฒนธรรมทางความรู้แบบใหม่ ที่ช่วยให้มีทัศนะวิพากษ์ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เคารพวัฒนธรรมอื่นๆ ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ที่ต่างก็มีพลังสร้างสรรค์และมีพลังที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เช่น การที่อาจารย์อานันท์แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านและผู้หญิงมีสถานภาพทางอำนาจต่ำลงและตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจึงได้พยายามต่อสู้โดยอาศัยความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ซึ่งความรู้ชุดนี้ช่วยปลดปล่อยให้ผู้อ่านหลุดพ้นจากทัศนะครอบงำที่ว่า "ชาวบ้านโง่ จน เจ็บ" เพราะเกิดความเข้าใจใหม่ว่าการนับถือผีและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเป็นอุดมการณ์อำนาจ หรือเป็น "ภูมิปัญญา" ของชาวบ้าน มิใช่เป็นความโง่งมงาย เช่นเดียวกับการสร้างความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าคนทุกชาติพันธุ์มิได้ยอมรับสภาวะที่ต่ำต้อย หากแต่มีการปรับตัวท่ามกลางความสัมพันธ์และความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบท รวมทั้งการปรับตัวในเชิงอัตลักษณ์เพื่อเปลี่ยนสถานภาพและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ด้วยการแสวงหาความรู้และการสร้างสรรค์ความรู้อย่างจริงจัง อาจารย์อานันท์ได้แสดงให้เห็นถึงสถานภาพและความเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าของความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมทั้งความรู้ "ไทยศึกษา" ทั้งในด้านทฤษฎี วิธีคิด แนวการวิเคราะห์ วิธีการศึกษา และความรู้ใหม่ในด้านเนื้อหา ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ใครสนใจทฤษฎีใด วิธีคิดใด ประเด็นใด และวิธีการศึกษาแบบใด ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจชัดเจนขึ้น แล้วนำไปปรับใช้ หรืออาจผสมผสานหลายๆ วิธีคิดวิธีการศึกษา กลายเป็นวิธีใหม่ก็ได้

ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกันสร้าง "ความรู้แบบปลดปล่อย" เช่นเดียวกับอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ แทนการสร้างวาทกรรมเกลียดชัง (hate speech) เพื่อให้สังคมไทยก้าวพ้นความขัดแย้งและความรุนแรงในเร็ววัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น