ประชาไท | Prachatai3.info |
- ‘ภาคประชาชน’ ห่วง ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ฮุบ ‘กองทุนพัฒนาสื่อฯ’
- วธ. จับมือเครือข่าย กะเหรี่ยง จัดเวทีพหุวัฒนธรรม
- สมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตบเท้าเข้าพบรัฐมนตรี ร้องให้ สคบ.พิจารณาดำเนินคดีอาญาเร่งด่วน
- หลี่หมิง เยือนไทย ทำหน้าที่ยุวทูตยูนิเซฟ
- เลาะเลียบริมโขง: 3G และเทคโนโลยีไอทีลาว
- ผู้ว่าฯ กทม. เผยในรอบ 20 วันเกิดฝนตกคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำฝน กทม. ทั้งปี
- ถ้านำไปใช้ก็ควรอ้างอิงบ้าง : ข้อสังเกตว่าด้วยลำดับเหตุการณ์ในรายงาน คอป.
- ศาสวัต บุญศรี: “ความเฉพาะเจาะจง” สิ่งสำคัญยิ่งในการสรรสร้างรายการทีวี
- อุเชนทร์ เชียงเสน
- โสภณ พรโชคชัย: ผังเมืองฝรั่งเน้น Smart Growth แต่ กทม. ยังไล่คนออกนอกเมือง
- ทริปพาสื่อไปอังกฤษ...‘ซื้อใจตบรางวัล’ หรือ ‘ดูงาน’ ด้วยภาษีประชาชน?
- เวียดนามจำคุก 12 ปีบล็อกเกอร์วิจารณ์รัฐบาล
- เสื้อแดงปะทะเสื้อหลากสีหนุนครูสาวหมิ่น “ดารุณี กฤตบุญญาลัย” หน้ากองปราบฯ
- รายงาน: สังเคราะห์ “บทเรียน” มหาอุทกภัย 2554 “อ่อนซ้อม” = “แพ้” !!
‘ภาคประชาชน’ ห่วง ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ฮุบ ‘กองทุนพัฒนาสื่อฯ’ Posted: 25 Sep 2012 11:20 AM PDT จวกรัฐเร่งผลักดันขณะร่างกฎหมายฉบับประชาชนอยู่ในขั้นตรวจรายชื่อ ชี้ร่าง ก.วัฒนธรรมมีลักษณะที่จะจับผิดสื่อมากกว่าการสร้างมุมมอง จินตนาการใหม่ๆ ให้ประชาชน ทั้งกรรมการกองทุนมีอำนาจที่ซ้ำซ้อนกับ กสทช. ที่มา: กองทุนสื่อสร้างสรรค์ สานฝันเด็กไทย (facebook) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26 ก.ย.55 ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับของรัฐบาลจะถูกผลักดันขึ้นเป็นเรื่องด่วนโดยกระทรวงวัฒนธรรม ขณะที่ร่างกฎหมายฯ ของภาคประชาชนยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจรายชื่อตามกระบวนการการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเร่งรีบเสนอร่างกฎหมายทั้งๆ ที่รู้ว่าภาคประชาชนได้ยื่นรายชื่อต่อสภาครบแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่เป็นการปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว "การนำร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งรีบโดยไม่รอร่างประชาชน สะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำมาตลอดว่าให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้น ยังไม่เกิดขึ้นจริง ทั้งๆ มีการบัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ แต่ภาครัฐกลับมองข้าม" นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้แทนเครือข่ายในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนกล่าว นางสาวเข็มพร กล่าวเน้นว่า การนำร่างกฎหมายภาคประชาชนมาประกบกับร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลเพื่อพิจารณาร่วมกันจะทำให้กฎหมายนี้สมบูรณ์ขึ้น นอกจากนั้นก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วม เพื่อนำมาซึ่งการใช้กองทุนนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 52(5) กำหนดให้ กสทช.ต้องจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ มาสนับสนุนกฏหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมี พ.ร.บ.กองทุนสื่อมารองรับ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้มีการสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนที่กำลังตกเป็นเหยื่อของการครอบงำโดยสื่อที่เน้นการบริโภคฟุ่มเฟือย หรือการบริโภคที่ไม่มีคุณภาพ นำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งความรุนแรง เรื่องเพศ ฯลฯ นางสาวเข็มพร กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีปัญหาทางสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พื้นที่สื่อถูกจับจองโดยภาคธุรกิจเพื่อบันเทิงและค้ากำไร โดยพื้นที่สื่อที่มีคุณภาพเพื่อเด็กและเยาวชนแทบไม่มีอยู่เลย และขาดการสนับสนุนมายาวนาน เพราะถูกจำกัดทุนสนับสนุน และถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์ "ขณะนี้ไม่มีพื้นที่สื่อสารของสื่อชุมชนของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่จะร่วมกันพัฒนาเด็กพัฒนาชุมชน เพราะสื่อโดนครอบงำโดยทุนในระบบสังคมบริโภค" นางสาวเข็มพร กล่าว ผู้แทนเครือข่ายในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน ให้ข้อมูลด้วยว่า หลายประเทศทั่วโลกได้จัดตั้งกองทุนที่เป็นอิสระให้มีความคล่องตัว ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ง่ายโดยสนับสนุนโดยรัฐ แต่รัฐบาลไทยกลับจะเอากองทุนนี้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการกระทรวงเดียว คือกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเราก็มีบทเรียนมามากแล้วว่ากองทุนที่อยู่ภายใต้ราชการก็จะมีข้อจำกัดมากมายและมีมุมมองที่คับแคบในเรื่องสื่อ "เห็นได้จากร่างของกระทรวงที่กำลังจะเข้าพิจารณานี้มีลักษณะที่จะจับผิดสื่อมากกว่าการสร้างมุมมองและจินตนาการใหม่ๆ ให้ภาคประชาชน โดยมีให้กรรมการกองทุนมีอำนาจ ออกกำหนดว่าสื่อใดไม่ปลอดภัยไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอำนาจที่ซ้ำซ้อนกับ กสทช." นางสาวเข็มพรขยายความ นางสาวเข็มพร กล่าวต่อมาว่าในหลายๆ ประเทศหันมาเน้นการสร้างชาติที่มีคุณภาพโดยเริ่มจากเด็ก เน้นที่การสร้างสื่อคุณภาพในการพัฒนาเด็กเยาวชน ในประเทศเกาหลีเรื่องการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ถูกจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการจัดการกองทุนสื่อแบบก้าวหน้า มีการดึงหลายหน่วยงานมาร่วมกันอย่างจริงจัง มีทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ไม่ใช่จัดให้กองทุนนี้มีหน่วยงานไหนมาเป็นเจ้าของ จึงไม่น่าแปลกใจที่สื่อจากประเทศเกาหลีกลายเป็นสื่อประสบความสำเร็จอย่างมากมายและได้รับความนิยมในต่างประเทศ ด้าน ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันสื่อพัฒนาภาคประชาชน กล่าวว่าหากกองทุนสื่อต้องตกไปอยู่ภายใต้หรือการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานนั้นก็ต้องตอบกับสาธารณชนให้ได้ว่าแล้วมันจะมีความแตกต่างจากการบริหารจัดการกับระบบราชการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม การทำงาน ซึ่งกองทุนนี้ต้องทำงานบนความหลากหลาย โดยคำนึงถึงการมีสื่อที่รับประกันได้ว่าจะดูแลสังคมและประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนได้เป็นอย่างดี ดร.เอื้อจิต กล่าวด้วยว่า ในเรื่องนี้มันจะเป็นเรื่องของมิติอำนาจและเป็นเรื่องของการผูกขาดอำนาจ ในขณะที่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกองทุนสื่อนั้นต้องการให้เกิดพลังของสังคมในการร่วมรับรู้ร่วมรับผิดชอบ และเป็นพลังของสังคมที่จะสื่อสารกับภาคสื่อและภาครัฐอีกด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วธ. จับมือเครือข่าย กะเหรี่ยง จัดเวทีพหุวัฒนธรรม Posted: 25 Sep 2012 09:01 AM PDT ชาวกระเหรี่ยงกว่า 1,000 ชีวิต ร่วมงานพหุวัฒนธรรมซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและเครือข่าย นิธิกล่าวในเวทีเสวนาชี้ พหุวัฒนธรรจะเกิดได้ ระบบการศึกษาและสื่อต้องเห็นความสำคัญและยอมรับในความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ไม่ทำให้เป็นเรื่องตลก เมื่อวันที่ 21-23 กันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จัดงาน "พหุวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง" ขึ้นเพื่อเพื่อเผยแพร่ สร้างความเข้าใจ ชีวิตวิถีทางวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยง และระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุนชีวิตและวัฒนธรรม กะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสังคม สร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับสังคมไทย ในวัน 21 กันยายน "ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์" รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวถึงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมด้านนโยบายการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้ ยั่งยืนตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่ากระทรวงวัฒนธรรมเห็นความสำคัญในการทำงานด้านแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุม กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยให้เตรียมการจัดตั้งกลุ่มงานชาติพันธุ์ หรือสำนักพหุวัฒนธรรมภายใต้สังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดกลไกการบริหารจัดการและทำงานเป็นระบบอย่างชัดเจนหรือแม้แต่ประเด็นการการดำเนินการจัดเวทีระดับชาติการประสานพลังท้องถิ่นเพื่อการผลักดันมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงสู่การปฏิบัติเกิดการรับรู้สถานการณ์และปัญหาที่กระทบชุมชนกะเหรี่ยงทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกร่วมกันมีการทำความเข้าใจ มติ ครม. ในด้านโอกาสและข้อจำกัดในการนำมาใช้มีการกำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์และกลไกการขับเคลื่อนในกลุ่มองค์กร/เครือข่ายของคนกะเหรี่ยงและเกิดแนวนโยบายเพื่อ เสนอต่อรัฐบาลในการผลักดันมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553ให้เกิดการยอมรับและเกิดผลต่อปฏิบัติการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงต่อไป "การจัดงานครั้งนี้จึงนับเป็นหนึ่งบทบาทหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมที่ดำเนินงานตามมติ ครม. ดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมด้วยการส่งเสริมให้สังคม ได้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมโดยให้เรียนรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง ผ่านการจัดงานในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสวนาเพื่อเปิดมุมมองสร้างความความเข้าใจการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านนิทรรศการภาพถ่ายและมัลติมีเดีย เรื่อง วิถีชีวิตวัฒนธรรมกะหรี่ยงแก่งกระจาน จากเครือข่ายคณะทำงานทั้งหมด รวมทั้งการแสดงดนตรี ศิลปวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่แสดงในงานทั้งหมด" รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าว นอกจากนั้นภายในงานยังมีการปาฐกกาเรื่อง "ชาวกะเหรี่ยงกับสังคมไทย" โดย อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม และเวทีเสวนาเรื่อง "พหุวัฒนธรรมกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง" โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งเเวดล้อม ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะปราชญ์ของชุมชนกระเหรี่ยง และ นายพะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอแห่งขุนเขา หรือ "ครูภูมิปัญญาไทย สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" แห่งบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของการอยู่ร่วมกันแห่งวัฒนธรรมอันหลากหลาย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นมีประมาณ 4-5 แสนคน นับเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่มาก และกระจายกันอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยหลายจังหวัดด้วยกัน ซึ่งกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนการถือครองที่ดิน ตั้งแต่สมัยที่มีการเริ่มออกเอกสารสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ทุกคนอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาหลายร้อยปี ส่งผลให้ปัจจุบันความเป็นอยู่วิถีทางทำกินของกะเหรี่ยงที่ตกอยู่ในฐานะค่อนข้างลำบากมาก สิ่งที่นักวิชาประวัติศาสตร์อย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตขึ้น คือ ภาครัฐมีนโยบายอะไรกับ ชนกลุ่มน้อยบ้าง เขาเห็นว่านโยบายที่ดูแลชนกลุ่มน้อยที่ผ่านมา จะเน้นไปที่การกลืนชนกลุ่มน้อยให้เข้ากับ ชนกลุ่มใหญ่ เช่น จีนให้กลายเป็นไทย แต่จีนไม่ค่อยมีปัญหามากนักเพราะจีนอยู่ในเขตเมือง และเมื่อกลืนเข้าไปคนจีนก็ได้ประโยชน์เองด้วยในการที่ถูกกลืนเข้าไป แต่คนกะเหรี่ยงนั้นไม่ได้อยู่ในเขตเมืองแต่อยู่ในพื้นที่ซึ่งกฎหมายไทยเรียกว่าป่า และผลที่ออกมา คือ กะเหรี่ยงจะถูกเบียดเบียนมากจากกฎหมายออกมาโดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในวิถีชีวิตคน ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับชนกลุ่มใหญ่ ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมต้องรักษาวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยเอาไว้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า สังคม ชนกลุ่มน้อย เปรียบเหมือนสังคมธรรมชาติหรือผืนป่า มันจะมีความหลากหลายของชีวิต ทั้งพืช ทั้งสัตว์ ที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะความไม่เหมือนกันนั่นเอง ที่ทำให้ป่าหรือธรรมชาติมีความมั่นคงถาวรได้ ยิ่งมีความหลากหลายหรือแตกต่างในสังคมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง ซึ่งมีจำนวนสูงมากในประเทศไทยว่า ควรจะกลืนเขาเข้ามาในวัฒนธรรมชนกลุ่มใหญ่หรือไม่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า หากสามารถกลืนได้ก็ทำไป แต่ควรให้กะเหรี่ยงมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ให้กะเหรี่ยงเข้ามาอยู่ในเมืองอย่างเดียวเท่านั้นเพราะจากสิ่งที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ กะเหรี่ยงไม่มีโอกาสที่จะถูกกลืนอย่างมีโอกาสทางเลือก ไม่เหมือนกับคนจีน ที่กลืนเข้ามาสักระยะหนึ่งก็พัฒนาเป็นเถ้าแก่ "ผมมองว่า การกลืนแบบจีนเป็นไปได้ในระยะยาว ร้อยหรือสองร้อยปี เราไม่รู้ แต่การที่เราจะกลืนใคร เราต้องให้โอกาสที่เขาจะถูกกลืนเข้ามาอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร ไม่ใช่กลืนเขาเข้ามาเพื่อที่เอามาเป็นแรงงานราคาถูก หรือว่าเอามาเป็นเพียงคนเก็บขยะในเมือง เพราะงั้นสิ่งที่ต้องทำในระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะตัดสินใจกลืนหรือไม่กลืนก็แล้วแต่ คือ การทำให้เขามีความเข้มแข็งพอที่เขาจะเลือก ในการพัฒนาตัวเองได้ เช่น ตอนนี้กะเหรี่ยงจำนวนมากในประเทศไทยทำเกษตรเลี้ยงยังเองอยู่ แต่เมื่อตลาดรุกเข้าไปจนเขาก็ต้องแปลงตัวเองเข้ามาสู่การ ผลิตเพื่อขาย หรือมิเช่นนั้นต้องขายแรงงาน ซึ่งปัญหาคือ ถ้าเขายังอยู่ในสภาพที่ต้องเลี้ยงตัวเองขณะที่ไม่มีโอกาสพัฒนาเลย เมื่อเขาเข้ามาขายแรงงาน แล้วจบแค่ ป.4 เขาจะไปขายแรงงานในฐานะอะไร ก็จะกลายเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ได้ค่าจ้างราคาถูก ก็ถูกสาปไปชั่วลูกชั่วหลานที่จะไม่มีโอกาสเงยหน้าอ้าปากขึ้นมา แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเปิดให้เขาได้มีเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองที่มีความเข้มแข็งพอสมควร ก็จะมีโอกาสที่จะทำให้ลูกเขาได้เรียนหนังสือมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อวันหนึ่งเขาจำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดการขายแรงงานหรือการผลิต เขาจะเข้มแข็งพอที่จะทำให้ลูกเขา เข้ามารับจ้างได้ในราคาที่แพงขึ้น ไม่ได้แปลว่า ให้เขาอยู่อย่างนี้ตลอดไปชั่วกัลปาวสาน แต่แปลว่า ถ้าจะให้เขาเปลี่ยน ก็ต้องให้เขาเปลี่ยนโดยมีพลังการต่อรองพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นพลังเศรษฐกิจ พลังการเมืองอะไรก็แล้วแต่" ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวด้วยว่า ความรู้ ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ การยอมรับความแตกต่างของกันและกัน เนื่องจากทีผ่านมาการศึกษา หรือสื่อ ไม่เห็นว่าความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ นำเอาความแตกต่างมาเป็นเรื่องตลก เช่น คนกะเหรี่ยงพูดไม่ชัด ก็นำมาเสนอเป็นเรื่องตลก แทนที่จะพยายามเข้าใจ ว่ามันเกิดจากการแต่ละภาษาที่มีเสียงไม่เท่ากัน เช่น คนไทยเอง ก็ยากที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ชัดเท่ากับเจ้าของภาษา เนื่องจากมีหน่วยเสียงในภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีในภาษาไทย คนไทยก็จะออกเสียงเหล่านั้นลำบาก "อย่างเราจะไปพูดภาษากะเหรี่ยง ก็พูดไม่ชัดเหมือนกัน เพราะภาษากะเหรี่ยงก็มีหน่วยเสียงที่ไม่เหมือนกันกับภาษาไทย เพราะงั้น มันไม่ใช่เรื่องตลก มันเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ภาษาเนี่ย ที่เราจะพูดให้เหมือนกันกับเจ้าของภาษามันยาก เพราะเรามีหน่วยเสียงที่แตกต่างกันก็เท่านั้นเอง ถ้าเรามีการสร้างความเข้าใจตรงนี้ โดยผ่านระบบการศึกษา ผ่านสื่อ อะไรก็ตาม เราจะมีขันติธรรมต่อความแตกต่าง มองเห็นความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา มนุษย์เราก็แตกต่างกันทั้งนั้น อย่างคุณปู นายกรัฐมนตรี เวลาพูดภาษาไทยกลาง ก็จะเพี้ยนนิดๆ เพราะว่า นายกฯ โตมาด้วยคำเมือง (เชียงใหม่) มันมีหน่วยเสียงในคำเมืองที่ไม่ตรงกับภาษากลาง ซึ่งไม่แปลกอะไรเลย ผมเห็นว่า การที่จะไปย้ำว่า คนที่จะออกทีวีได้ ต้องได้ใบประกาศของกรมประชาสัมพันธ์ มันก็เท่ากับการตอกย้ำว่า ถ้าคุณพูดภาษากรุงเทพฯ ไม่ชัด คุณเป็นคนไทยไม่ได้ แทนที่จะทำให้ตรงกันข้ามให้คนเข้าใจว่า ภาษาไทยนั้นมีหลายสำเนียงมาก และเราจำเป็นต้องใช้ภาษากลางด้วยกัน ซึ่งภาษากลางที่คนแต่ละท้องถิ่นพูดก็จะโอนอ่อนให้สำเนียงท้องถิ่นแทรกเข้ามาได้พอสมควร" ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวสรุปถึงการยอมรับการแตกต่างว่าจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในความแตกต่างของวัฒนธรรมเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้ ส่วน อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง ทำไมจึงจำเป็นสังคมต้องเข้าใจวัฒนธรรมกะเหรี่ยงว่า เนื่องจากสังคมเข้าใจและมองภาพลักษณ์ของคนกะเหรี่ยงว่าเป็นผู้ที่ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย มองว่ากะเหรี่ยงที่เป็นชาวเขา เมื่ออยู่ในกลุ่มชาวเขาก็ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และสุดท้าย คือ มองว่ากะเหรี่ยงหรือชาวเขาเป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งเบื้องหลังของคำว่าชนกลุ่มน้อยในการรับรู้ของสังคม คือ เป็นคนจากนอกประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนใหญ่ซึ่งถูกมองว่าเป็นคนไทย ทำให้กะเหรี่ยงถูกแยกส่วนออกมา นั่นคือภาพลักษณ์ที่สังคมเข้าใจอย่างนั้น ส่วนพี่น้องชาวเขาหรือกะเหรี่ยง ก็คิดว่าภาครัฐและสายตาที่สังคมมองเห็นกะเหรี่ยงหรือชาวเขาเป็นปัญหา มองว่าคนเหล่านี้คือปัญหาของสังคม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมจะต้องเรียนรู้และทำความใจเรื่องของความต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่หลากหลายในสังคมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ "ผมคิดว่า การอยู่ร่วมกันพหุวัฒนธรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อพวกเราทุกคนยอมรับได้ว่า สังคมไทยเกิดขึ้นภายใต้ความหลากหลายทางชาติพันธ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งมันเกิดขึ้นและหลอมรวมให้เป็นวัฒนธรรมของไทย ถ้าเรายอมรับว่า วัฒนธรรมของพี่น้อง เชื้อสาย ลาว มอญ จีน ที่อยู่ในสังคมไทยนั้นถูกผนึกอยู่ในวัฒนธรรมของไทยได้ กะเหรี่ยงหรือชาวเขาซึ่งก็เป็นประชาชนคนไทย ก็ต้องได้รับการยอมรับว่าเรามีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็เป็นวัฒนธรรมของชาติไทยด้วยเช่นกัน หากเกิดเรามองเห็นความแตกต่างเป็นเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม ไม่แบ่งแยกส่วน พหุวัฒนธรรมก็จะเจริญเติบขึ้นได้ในสังคมไทยแน่นอน" อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ กล่าวทิ้งท้าย นอกจากนั้นภายในงานยังมีทั้ง 3 วัน มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นเรื่องราววิถีชีวิตของกะเหรี่ยงแก่งกระจานจากเครือข่ายคณะทำงาน พร้อมกับการเสวนาเรื่อง "วิถีชีวิตวัฒนธรรมกะเหรี่ยงแก่งกระจาน" โดย คุณกฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์ ช่างภาพสารคดีอิสระ อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งเเวดล้อม นายสันติ สำเภาทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน และนายแจ พุกาด ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน พร้อมกับอีกหนึ่งวงเสวนาเรื่อง "กะเหรี่ยงวิพากษ์ (ปะทะ) อุทยานแห่งชาติ" โดย นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนกะเหรี่ยงภาคเหนือ ตัวแทนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตัวแทนกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายสุรพงษ์ กองจัน-ทึก ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา นอกจากนั้น ยังมีการแสดงดนตรีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง โดย ศิลปินปกาเกอะญอจากเมืองเชียงใหม่ ชิ สุวิชาน เพื่อถ่ายทอดวิถีปกาเกอะญอผ่านบทเพลง และการแสดงศิลปะรำตงกะเหรี่ยง รวมทั้งการแสดงดนตรีของวงจู่โจม แห่งเทือกเขาตะนาวศรี เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสียชีวิตครบรอบหนึ่งปี 10 กันยายน 2555 อาจารย์ ป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และปิดท้ายด้วยการร่วมกันทำพิธีกรรมผูกข้อมือกะเหรี่ยง โดย พ่อหลวงจอนิ โอโดเชา เพื่อให้เพื่อนพี่น้องกะเหรี่ยงที่เดินทางมาร่วมงานจากทั่วประเทศกว่า 1,000 คนอีกด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตบเท้าเข้าพบรัฐมนตรี ร้องให้ สคบ.พิจารณาดำเนินคดีอาญาเร่งด่วน Posted: 25 Sep 2012 08:13 AM PDT
สมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว เหลืออด ตบเท้าเข้าพบรัฐมนตรี ร้องให้ สคบ.พิจารณาดำเนินคดีอาญา รมต.รับปาก นำข้อเรียกร้อง เข้าพิจารณาศุกร์ที่ 28 ก.ย.นี้ วันนี้ 25 กันยายน 2555 เวลา 11.00 น. ที่ ทำเนียบรัฐบาล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และผู้เดือดร้อนจากกรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิสเนต กว่า 50 ราย เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้ สคบ.เร่ง ดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน ผู้เดือดร้อน นัดรวมพลอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2555 พร้อมสนับสนุนให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
สืบเนื่องจากกลุ่มสมาชิกผู้ใช้บริการสถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ๊กซ์พีเรียน จำกัด มหาชน จำนวน 532 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่บริษัทปิดบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าทำให้สมาชิกไม่สามารถเข้ารับบริการได้ตามปกติ ทั้งที่สมาชิกส่วนใหญ่ได้ชำระเงินค่าสมาชิกและค่าบริการล่วงหน้าแล้วเป็นจำนวนมาก คิดรวมมูลค่าความเสียหายที่ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับแจ้งกว่า 25 ล้านบาท โดยที่บริษัทยังไม่มีมาตรการชดเชยเยียวยา หรือแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องความเสียหายของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิจากการใช้บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนหลายราย ต้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่า สคบ. สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้เดือดร้อนได้ โดยการพิจารณาดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับทางบริษัทแคลิฟอร์เนียว้าว ซึ่งในวันที่ 28 กันยายน ที่จะถึงนี้ทาง สคบ.เองก็มีวาระการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้วในคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่มีเพียงการพิจารณาในส่วนคดีแพ่งเท่านั้น จึงอยากให้บรรจุวาระการพิจารณาในส่วนคดีอาญาไปด้วย "การดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ไม่เพียงแค่การช่วยเหลือเป็นรายๆไป แต่ต้องดำเนินการเพื่อยกระดับ มาตรฐานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค โดยรวมเพราะมองว่าปัญหาเรื่องการเข้าทำสัญญากับสถานออกกำลังกายเกือบทุกแห่ง ยังมีช่องโหว่อยู่มาก เช่น การบอกเลิกสัญญาที่บางแห่งให้บอกเลิกไม่เกิน 24 ชั่วโมงเท่านั้น และยังพบว่ามีสถานบริการฟิตเนสบางแห่งที่มีพฤติกรรมคล้ายกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคยังคงไม่ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคท่านอื่นระมัดระมัดระวังก่อนเข้าทำสัญญารับบริการ ในเมื่อกฎหมายและการบังคับใช้ยังมีข้ออ่อน ข้อบกพร่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาภาพรวมของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ" นางสาวสวนีย์ กล่าว ภายหลังการรับหนังสือ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการพิจารณา ในคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภควันที่ 28 กันยายน 2555 สำหรับผู้ที่ต้องผ่อนชำระบัตรเครดิตต่อ ถึงแม้ว่าไม่ได้ใช้บริการ ก็ต้องพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางออกต่อไป พร้อมกันนี้ในวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2555 เวลา 11.00 น. ทางผู้ร้องเรียนจะเดินทางไปที่ กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถ.พหลโยธิน เพื่อดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการคดีอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชนกับเจ้าของบริษัทแคลิฟอร์เนียว้าว เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการแจ้งความ ประกอบด้วย สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน สำเนาหนังสือสัญญาที่ทำกับบริษัท และสำเนาบัตรสมาชิก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หลี่หมิง เยือนไทย ทำหน้าที่ยุวทูตยูนิเซฟ Posted: 25 Sep 2012 07:56 AM PDT ลิขสิทธ์ภาพ © องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, ถ่ายภาพโดย M. Thomas กรุงเทพฯ 25 กันยายน 2555 - หลี่หมิง นักร้องและนักแสดงชื่อดังของฮ่องกงและทูตยูนิเซฟ เยี่ยมเด็กๆ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กศิลปเดช ในเขตจอมทอง กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กเล็ก ที่นั่น เขาได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ กับเด็ก ๆ เช่น เล่านิทาน และนั่งเป็นแบบให้เด็กๆ วาดรูป หลี่หมิงกล่าวว่า "ช่วงหกปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็ก การดูแลเด็กและพัฒนาเด็กให้ดีที่สุดในช่วงนี้ เป็นรากฐานที่สำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา" ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กศิลปเดชมีนักเรียนอายุระหว่าง 3-5 ปีจำนวน 30 คน ส่วนใหญ่ฐานะยากจน จุดเด่นคือก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเองที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กเล็ก และยังเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสาธิตที่นำเอา "สมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย 3-5 ปี" ซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟมาใช้ ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่และครูในการพัฒนาเด็กแต่ละช่วงอายุ และเป็นกรอบแนวทางสำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัยสำหรับเด็กทั่วประเทศ นอกจากการไปเยี่ยมเด็กๆ ที่ศูนย์ฯ แล้ว หลี่หมิงยังได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการระดมทุนของยูนิเซฟจากประเทศต่างๆ เกี่ยวกับงานของยูนิเซฟในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน 2555 ลิขสิทธ์ภาพ © องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, ถ่ายภาพโดย M. Thomas ลิขสิทธ์ภาพ © องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ถ่ายโดย Jingjai N. ลิขสิทธ์ภาพ © องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ถ่ายโดย Jingjai N. หลี่หมิง ดารานักแสดงและนักร้องชื่อดังของฮ่องกงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นยุวทูตยูนิเซฟ (Young Ambassador for UNICEF) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 โดยมีพิธีแต่งตั้งเป็นพิเศษในฮ่องกง จากนั้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2538 เป็นต้นมา เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตยูนิเซฟ (UNICEF Goodwill Ambassador) แล้ว เขาได้ทำงานเพื่อสนับสนุนการระดมทุนให้แก่ยูนิเซฟมาโดยตลอด โดยนักแสดงชื่อดังผู้นี้มุ่งเน้นที่การเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก่อนหน้าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นยุวทูตยูนิเซฟ หลี่หมิงเริ่มทำงานกับยูนิเซฟในปี 2536 โดยเขาได้ช่วยยูนิเซฟริเริ่มโครงการขจัดโรคโปลิโอในประเทศจีนด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนและกิจกรรมด้านประชาสัมพันธ์ในสัปดาห์เด็กของประเทศจีน (China Children's Week) ความมุ่งมั่นของหลี่หมิงเป็นผลให้ยูนิเซฟสามารถระดมทุนได้มากกว่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างปี 2536 ถึงปี 2538 โดยเงินทุนดังกล่าวนั้นได้นำไปจัดซื้อวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโปลิโอให้แก่เด็กกว่า 80 ล้านคนทั่วประเทศจีน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เลาะเลียบริมโขง: 3G และเทคโนโลยีไอทีลาว Posted: 25 Sep 2012 06:11 AM PDT ธีรภัทร เจริญสุข รายงานความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมตลอดจนปัญหาอุปสรรคของมิตรประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คนไทยมักจะมองเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างลาวว่า เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และอยู่ในภาพอดีต แต่ที่จริงแล้ว การพัฒนาเชิงเทคโนโลยีของลาวเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม เนื่องจากประเทศลาวมีภูมิประเทศค่อนข้างทุรกันดาร เดินทางไปมาลำบาก ทำให้การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ที่จะทำให้ประชาคม รวมถึงหน่วยงานรัฐสามารถสื่อสารได้โดยสะดวก ปัจจุบัน ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในประเทศลาว (Service Provider) มีทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ - ETL (ອີທີແອລ) บริษัท อีทีแอล มหาชน จำกัด - Unitel บริษัทสตาร์ เทเลคอม จำกัด ใช้ชื่อการค้าว่า ยูนิเทล - Lao telecom ລາວ ໂທລະຄົມ บริษัท ลาวโทรคม จำกัด - Beeline ບີລາຍ บริษัท บีไลน์ จำกัด โดยให้บริการครอบคลุมทั้งอินเตอร์เน็ต ADSL โทรศัพท์มือถือระบบ 3G ตั้งแต่ปี 2009 และระบบ 4G ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ระบบ LTE ในปีนี้ รายละเอียดของบริษัทผู้ให้บริการดังกล่าว มีดังต่อไปนี้ บริษัท อีทีแอล มหาชน จำกัด แปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์โทรคม โดยระหว่างปี 1954-1994 รวมอยู่ในรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์โทรคมลาว ต่อมาในปี 1996 ได้ร่วมทุนกับบริษัทชินวัตร อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เป็นบริษัทลาวโทรคม (LTC) และในปี 2000 ได้แยกออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจโทรคมลาว (ETL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ 100% และต่อมาในปี 2011 ได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัทรัฐวิสาหกิจโทรคมลาว มาเป็น บริษัท อีทีแอล มหาชน เพื่อเตรียมแปรรูปเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศลาว ยูนิเทล เป็นแบรนด์บริการโทรศัพท์มือถือของบริษัท สตาร์ เทเลคอม จำกัดซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Lao-Asia Telecom ซึ่งสนับสนุนทุนจากกระทรวงการป้องกันชาติของลาว กับกลุ่มบริษัทเวียตเทล โกลบัล (Viettel Global) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของกระทรวงกลาโหมเวียตนาม ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมในปี 2008 และให้บริการ 3G ในปี 2010 ในชื่อ Unitel 3G บริษัท ลาว โทรคม จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว (51%) กับบริษัท Shennington จากไทย (49%) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทลงทุนที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่และร่วมให้บริการคือเครือ AIS ในสัญญาสัมปทานอนุญาตระยะ 25 ปี ซึ่งบริษัท ลาวโทรคม ให้บริการทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน อินเตอร์เน็ต ADSL และโทรศัพท์มือถือหลายระบบ ในแบรนด์ M-phone ซึ่งกลุ่มบริษัทร่วมทุนนี้ ยังประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือในกัมพูชาอีกเช่นกัน บริษัท บีไลน์ จำกัด (ประเทศลาว) เป็นเครือข่ายบริการโทรศัพท์มือถือสัญชาติรัสเซีย ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท Vimplecom จำกัด (78%) และรัฐบาลลาว (22%) ซื้อใบอนุญาตประกอบการคลื่นโทรศัพท์ รวมถึงลูกค้าในเครือข่ายต่อจากระบบ Tango (โดยเครือ Orange ของเนเธอร์แลนด์) และ TiGo (โดยเครือ Milicom ของลักเซมเบิร์ก) นอกจากนี้ บีไลน์ยังได้ร่วมมือกับบริษัทดีแทค ของประเทศไทย ในการวางเครือข่ายและบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศด้วย ระบบสื่อสารไร้สายในประเทศลาว ได้รับการพัฒนาจากการแข่งขันระหว่างบริษัทอย่างเข้มข้น ทำให้ค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ทั้งการใช้สนทนา และการใช้บริการข้อมูลอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทั้งแบบจ่ายรายเดือนและเติมเงินอยู่ที่ระหว่าง 280-800 กีบ/นาที (1 – 3.2 บาท/นาที) ค่าบริการอินเตอร์เน็ตแบบคิดเป็นปริมาณข้อมูล (Data internet) อยู่ที่ Mb ละ 300 กีบ (1.20 บาท) แต่สามารถเลือกใช้แพ็คเกจต่างๆ ได้ตามความต้องการ เช่น แพ็คเกจ Data 1.2 Gb เดือนละ 49,000 – 50,000 กีบ (196-200 บาท) ซึ่งอินเตอร์เน็ตเป็นระบบ 3G+4G ทุกเครือข่าย ในขณะเดียวกัน การวางสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตแบบ ADSL ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากจำนวนประชากรที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และสภาพภูมิประเทศที่ลำบาก ทำให้ค่าใช้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วที่ได้ ยังถือว่าแพงอยู่มาก เช่น เครือข่าย ETL อินเตอร์เน็ต ADSL ความเร็ว 1Mbps/512 Kbps ราคาเดือนละ 350,000 กีบ (1,400 บาท) หรือ เครือข่าย Beeline ความเร็ว 4 Mbps ราคาเดือนละ 4,000,000 กีบ (16,000 บาท) เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ล่าสุด อินเตอร์เน็ต ADSL เพิ่มความเร็วเป็น 10 Mbps ในราคา 590 – 699 บาท (3BB และ True internet) ด้วยราคาค่าใช้บริการดังกล่าว ทำให้โทรศัพท์ประเภท Smartphone หรือ ມືຖືສະຫລາດ ที่สามารถเชื่อมต่อระบบ 3G ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนมากประชาชนชาวลาวจะซื้อสมาร์ทโฟนที่ตลาดจีน ซึ่งนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าต่างๆ มาจากประเทศจีน เช่น ตลาดซันเจียง ในนครหลวงเวียงจันทน์ สมาร์ทโฟนของจีนส่วนใหญ่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่ปรับแต่งเฉพาะ และหลายครั้งก็เลียนแบบรูปทรงภายนอกของโทรศัพท์แบรนด์รุ่นราคาแพงอย่าง iPhone หรือ Samsung อย่างไรก็ตาม แอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนการใช้งานในลาวยังมีน้อยอยู่ รวมถึงการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ใช้กับระบบการทำงานในลาวก็ยังไม่สมบูรณ์เท่าใด เนื่องจากการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์โปรแกรมยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังขาดแคลนบุคลากรในแวดวงคอมพิวเตอร์อยู่มาก เป็นโอกาสที่ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ชาวไทยจะเข้าไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี หากสามารถเรียนรู้ภาษาลาวและเข้าไปร่วมงานกับบริษัทโทรคมนาคมในลาวได้ทันการณ์ สำหรับชาวลาวที่มีฐานะ ก็มักจะข้ามมาซื้อหาสินค้าอุปกรณ์ไอที รวมถึงโทรศัพท์มือถือจากประเทศไทย ทำให้ธุรกิจอุปกรณ์ไอทีบริเวณชายแดนเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ทั้งในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ที่อยู่ใกล้กับนครหลวงเวียงจันทร์และเมืองจำปาสัก ที่ผู้คนมีกำลังซื้อมากกว่าแขวงและเมืองอื่น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแทบเล็ทแบรนด์ Apple ซึ่งยังไม่มีผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศลาวเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเป็นตัวแทนของความหรูหรามีระดับของผู้ใช้งาน ชาวต่างชาติที่ต้องการประกอบธุรกิจในประเทศลาว หรือเข้าไปท่องเที่ยว สามารถซื้อ ซิมการ์ดโทรศัพท์พร้อมเปิดใช้บริการอินเตอร์เน็ต 3G อย่างง่ายดาย เพียงเข้าไปยังศูนย์บริการหรือหน่วยขายของเครือข่ายต่างๆ พนักงานขายจะช่วยเหลือปรับตั้งค่าอุปกรณ์ของท่านเป็นอย่างดี ซึ่งเครือข่ายสามารถใช้ได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ภายในนครหลวงเวียงจันทร์ หลวงพระบาง ไปจนถึงแขวงทางใต้อย่างอัตตะปือหรือสาละวัน โดยนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวนิยมใช้บริการระบบเติมเงิน ซึ่งนอกจากจะสามารถเติมเงินผ่านทางจุดบริการของเครือข่าย หรือร้านสะดวกซื้อแล้ว บางเครือข่ายเช่น Beeline ยังมีบริการเติมเงินแบบรถเร่ หรือคนเดินเร่ขายบัตรเติมเงินตามสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหารด้วย ข้อดีหนึ่งของสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในลาวคือมีเสรีภาพสูงแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ เนื่องจากรัฐบาลลาวยังขาดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ากำกับดูแล ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจึงสามารถสร้างสรรค์และเข้าถึงข้อมูลจากต่างประเทศได้อย่างอิสระ โดยปัจจุบันยังไม่พบการปิดกั้นเว็บไซต์หรือการดำเนินคดีและกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตในลาวอย่างชัดเจน วัยรุ่นและบริษัทบันเทิงต่างๆ จึงสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงาน ความคิดเห็น เพลง และความสนใจต่างๆ ได้ยิ่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา หรือแม้กระทั่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโทรคมนาคมและวงการไอทีในลาวก็มีความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากความไม่แน่นอนและขาดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ดังเช่นการถอนตัวออกจากการร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจโทรคมลาวของเครือชินวัตรในปี 1998 หรือการเปลี่ยนมือใบอนุญาตหลายครั้งของเครือ Beeline การทำตลาดของบริษัทผู้ให้บริการจึงต้องอยู่กับความไม่แน่นอนของนโยบายและผู้มีอำนาจในรัฐเป็นอย่างยิ่ง ส่วนตลาดอุปกรณ์ไอที ฮาร์ดแวร์ ก็ต้องเผชิญกับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ราคาถูกจากประเทศจีน และขั้นตอนการขออนุญาตขายและนำเข้าสินค้าของรัฐบาลลาว ที่ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดของกระทรวงการป้องกันชาติ กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว และกระทรวงไปรษณีย์ โทรคมนาคมและการสื่อสารที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งลำดับขั้นตอนการขออนุญาตค่อนข้างซ้ำซ้อนและยุ่งยาก การเปิดกิจการในฝั่งไทยจึงสมเหตุสมผลและรวดเร็วกว่า ภาพรวมของการสื่อสารและเทคโนโลยีในลาว จึงเคลื่อนไหวพัฒนาอย่างรวดเร็วแต่ยังคลุมเครือ ขาดความโปร่งใส และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราเป็นเพียงนักท่องเที่ยวไปเที่ยวประเทศลาว ก็จะได้เพลิดเพลินกับการใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมด้วยราคาถูก ดี และทั่วถึงอย่างสบายใจ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้ว่าฯ กทม. เผยในรอบ 20 วันเกิดฝนตกคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำฝน กทม. ทั้งปี Posted: 25 Sep 2012 05:31 AM PDT ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เขียนบทความชี้แจงสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ ว่าเนื่องมาจากฝนตกในรอบ 20 วัน มีปริมาณถึง 1 ใน 3 ของปริมาณฝนที่ตกทั้งปี หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำในเขื่อนป่าสัก ชี้การที่สามารถระบายน้ำภายใน 1-3 ชั่วโมง และไม่มีน้ำท่วมขัง เป็นผลมาจากการที่ข้าราชการ และลูกจ้างกรุงเทพมหานครทำงานหนัก ชี้ผู้ว่าฯ โอซาก้ายังบอกว่าถ้าฝนตกเกิน 60 มม. ก็มีปัญหาเหมือนกัน ผู้ว่าราชการ กทม. ตรวจอุโมงค์ยักษ์คลองแสนแสบ วันนี้ (25 ก.ย.) วอยซ์ทีวีรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจระบบการทำงานของอุโมงค์ยักษ์คลองแสนแสบ เพื่อตรวจสอบการระบายน้ำเส้นคลองหลักตะวันออก เช่น คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองบางเขน ส่วนสถานการณ์การพร่องน้ำในคลองสายหลักขณะนี้ ได้พร่องน้ำในคลองแสนแสบอยู่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเลปานกลาง 60 -80 เซนติเมตร จาก ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 20 เซนติเมตร โดยจากการระบายน้ำ ที่เกิดจากฝนตกเกิน 100 มิลลิเมตร ทางกทม.ได้เดินเครื่อบสูบน้ำเต็มที่แล้ว เช่นที่อุโมงค์ยักษ์คลองแสนแสบ เปิดเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง ระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถระบายน้ำฝนได้ถายใน 2-3 ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่รอบอุโมงค์ 50 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า กทม. ทำงานระบายน้ำอย่างหนัก และประสานกรมชลประทานในการเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำฝั่งตะวันออกและตะวันตกเป็น 2 เท่า โดยให้น้ำออกสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด ส่วนกรณีที่นักวิชาการ ออกมาระบุว่า กทม.ควรเร่งพร่องน้ำให้มากกว่านี้นั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระบุว่า ขณะนี้ได้เร่งพร่องน้ำแล้ว ซึ่งมีปัญหากับการเดินเรือในคลองแสนแสบ และบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งคลอง ดังนั้นหากใครไม่รู้เรื่องนี้อย่างแท้จริง ก็ขอให้อย่าออกมาแสดงความคิดเห็น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รับฟังสถานการณ์น้ำที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เมื่อ 23 ก.ย. 55 (ที่มา: เฟซบุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร)
เขียนบทความเรื่อง "สถานการณ์น้ำทั่วไป" เผยปริมาณฝนในรอบ 20 วันเท่ากับ 1 ใน 3 ของทั้งปี เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เขียนบทความ "สถานการณ์น้ำทั่วไป" เผยแพร่ในเฟซบุคของตนมีรายละเอียดดังนี้
สถานการณ์น้ำทั่วไปวันนี้มารับฟังสถานการณ์น้ำทั่วไปนะครับ จากการรายงานก็สรุปสั้นๆ คือ "น้ำเยอะ แต่ยังไม่มีปัญหามากนัก ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก นอกคันกั้นน้ำนะครับ ซึ่งอาจมีปัญหาถ้าในสัปดาห์นี้มีฝนตกเพิ่มเติม" ในช่วงเวลาที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น สืบเนื่องมาจากฝนตกหนัก ปีๆ นึงจะมีฝนตกประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปีนะครับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงวันที่ 4 กันยายนมีฝนตกประมาณ 800 มิลลิเมตร วันที่ 4 กันยายนถึงวันที่ 23 กันยายน มีฝนตกมากกว่า 500 มิลลิเมตรครับ เท่ากับ 1 ใน 3 ของปริมาณฝนที่ตกปีต่อปี ภายใน 20 วันเท่านั้นนะครับ ถ้าจะดูกันในแง่ของปริมาตรน้ำที่ลงในพื้นที่กรุงเทพมหานครใน 20 วันเท่ากับ 444 ล้านลูกบาศ์กเมตร เท่ากับเขื่อนป่าสักครึ่งเขื่อนนะครับ ถ้าเขื่อนป่าสักเต็มจะเท่ากับ 900 ล้านลูกบาศก์เมตร นี่ 444 ล้านลูกบาศก์เมตร หมายความว่า "ภายใน 20 วันนั้นเอาน้ำครึ่งหนึ่งของเขื่อนป่าสักครึ่งมาลงที่กรุงเทพมหานคร ผมคิดว่าต้องถึงว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากนะครับ ที่ไม่มีน้ำท่วมขังเกิน 1-2 วัน และเส้นทางหลักนั้นสามารถระบายได้ภายใน 1-3 ชั่วโมงทั้งสิ้น" "สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปาฏิหาริย์นะครับ สิ่งเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ข้าราชการ และลูกจ้างกรุงเทพมหานครทำงานหนัก และเป็นผลสืบเนื่องมาจากในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ทุ่มเทงบประมาณในการที่จะพัฒนาระบบป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด" ผมยังยืนยันครับว่า "ในขณะนี้ถ้าพูดถึงน้ำฝนตกหนัก หรือน้ำล้นตลิ่ง กรุงเทพมหานครยังรับมือได้ครับ" ขอเรียนตอกย้ำนะครับว่า "ถ้าฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตรนั้น ต้องขอเวลาในการระบายน้ำ จะระบายในทันที่ไม่ได้" เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพบผู้ว่าราชการจังหวัดโอซาก้า จากประเทศญี่ปุ่น ท่านพูดสิ่งนึงที่ผมต้องจำไว้ครับ ท่านบอกว่า "ที่โอซาก้า ถ้าฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตร ก็มีปัญหาเหมือนกันครับ" อย่าลืมนะครับว่าโอซาก้าเป็นเมืองที่มีระบบระบายน้ำที่ดีมาก โดยปกติแล้วเป็นเมืองที่มีฝนตกน้อยกว่ากรุงเทพมหานคร ท่านยังพูดอย่างนี้เลยครับ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอกครับ ถ้าเขื่อนป่าสักครึ่งเขื่อนหล่นมาทับกรุงเทพฯ แล้วในบางช่วงเวลาได้เกิดน้ำท่วมบ้าง เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนบ้าง ซึ่ง "ผมต้องกราบขออภัยจริงๆนะครับ" แต่ว่าลองดูนะครับว่า เอาเขื่อนป่าสักครึ่งเขื่อนมาทิ้งลงที่กรุงเทพฯอะไรจะเกิดขึ้น ผมคิดว่าสิ่งที่น่าประทับใจ คือ การทำงานของข้าราชการ ลูกจ้างกรุงเทพมหานครนะครับ และต่อจากนี้ไปผมคิดว่า ในขณะนี้เรากำลังดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วนะครับ ระดับเจ้าหน้าที่ ระดับเทคนิค คนของกรุงเทพมหานคร กับกรมชลประทานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดครับ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ก็มีการประชุมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน ก็มีการตกลงกันว่า จะช่วยผันน้ำลงแม่น้ำบางปะกง และลงอ่าวไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ กรมชลประทานได้เพิ่มศักยภาพในการสูบน้ำเท่าตัว และเพิ่มการผลักดันน้ำในพื้นที่ที่เป็นคอขวดในจุดต่างๆ นะครับ ในขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ผมเข้าใจครับ ถ้าในบางครั้ง บางกรณี พี่น้องประชาชนต้องประสบกับความเดือดร้อน ต้องกราบขออภัยจริงๆ ครับ "แต่ว่ากรุงเทพมหานครทำทุกอย่างดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นมีน้อย หรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ" สัปดาห์นี้ผมคิดว่า ฝนตกหนักยังคงมีอยู่นะครับ ดังนั้นเราก็ต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ แต่ผมคิดว่าคงอาจจะไม่ถึง วันที่ 4 กันยา ถึง 23 กันยาครับ 500 กว่ามิลลิเมตรนะครับเยอะมากจริงๆ ครับ ดังที่ผมได้กล่าวไว้ "เหมือนเอาน้ำในเขื่อนป่าสักครึ่งเขื่อนมาทิ้งไว้ที่กรุงเทพมหานครภายใน 20 วัน" พื้นที่ที่ยังเป็นห่วง และกังวล คือพื้นที่คลองทวีวัฒนา ซึ่งระดับน้ำตรงนั้นสูง ถ้าเป็นไปได้ ถ้าฝนไม่ตกหนัก ผมอยากจะช่วยระบายน้ำให้พี่น้องชาวจังหวัดนนทบุรี ไม่เดือดร้อนเกินไปนักนะครับ ผมคิดว่าที่เราทำอยู่ในขณะนี้ดีที่สุดแล้วนะครับ มันเป็นการประสานงานของเจ้าหน้าที่ การประสานงานในเรื่องของเทคนิค แล้วมีการผ่อนบ้าง ดึงบ้างตามสถานการณ์นะครับ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดึงอย่างเดียว หรือผ่อนอย่างเดียว ผ่อนบ้างดึงบ้าง แต่เป็นการตกลงกันที่เข้าใจกันล่วงหน้าว่า เมื่อไหร่จะผ่อน เมื่อไหร่จะดึง นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดนะครับ ดังนั้นผมก็ยังยืนยัน อยากเรียนตอกย้ำว่า "อย่าให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องของการทำงานเชิงเทคนิคนี้ ไม่อยากเอาการเมืองเข้ามาใส่ในสมการน้ำ เพราะว่าเมื่อเอาการเมืองเข้ามาใส่ในสมการน้ำเมื่อไหร่ จะเกิดปัญหาทันทีนะครับ"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ถ้านำไปใช้ก็ควรอ้างอิงบ้าง : ข้อสังเกตว่าด้วยลำดับเหตุการณ์ในรายงาน คอป. Posted: 25 Sep 2012 05:17 AM PDT สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อได้อ่านรายงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ คอป. ใน "ส่วนที่ 2 สรุปเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น" เขียนโดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง ซึ่งมีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน ผู้เขียนก็อุทานขึ้นมาในใจทันทีว่า "เอ๊ะ!!! ผมไปช่วยเขียนลำดับเหตุการณ์หลังรัฐประหารให้กับ คอป.ตั้งแต่เมื่อไหร่" แต่ก็คิดอยู่นาน กว่าจะตัดสินใจลงมือเขียนบันทึกนี้ สาเหตุที่ไม่คิดจะเขียนในช่วงนั้น เพราะเกรงจะเป็นกระแสเดียวกันกับการโจมตีแบบส่วนตัวต่ออนุกรรมการชุดนี้บางท่าน อย่างเช่นที่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งโจมตี นายเมธา มาสขาว ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ท่าทีแบบนี้ ไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่นัก และสิ่งที่ควรจะทำมากกว่าคือ การวิจารณ์ โต้แย้งเนื้อหางานของ คอป. ที่ออกมา เช่น ข้อมูลหลักฐาน การใช้หลักฐาน การให้เหตุผล การตัดสินประเมินในเรื่องต่างๆ รวมทั้งโครงเรื่องในการนำเสนอ แต่ท้ายที่สุด ก็ตัดสินใจที่จะเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ ในฐานะคนที่ทำงานเขียนเองมาบ้าง เป็นบรรณาธิการ แก้ไข ปรับปรุงบทความของคนอื่นมาบ้างเล็กน้อย (แม้จะไม่ได้ดีมากเหมือนพวกมืออาชีพ) และคิดว่า ในอนาคตคงจะฝากปากท้องกับงานประเภทนี้ และดังนั้น จึงตระหนักว่า การเขียนนั้น กว่าจะได้สักประโยคหนึ่ง ย่อหน้าหนึ่งออกมานั้น มันไม่ง่ายเลย ไม่นับเวลาในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อตีพิมพ์ และคนทำงานนั้นควรได้รับเกียรติ ดังนั้น ทุกครั้งที่เอางานคนอื่นมาใช้ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้าง ต้องอ้างอิง ให้เครดิตทุกครั้ง และสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นบรรทัดฐานในหมู่คนที่ทำงานในด้านนี้ พูดตรงๆ คือ ผู้เขียนเห็นว่า รายงาน คอป. ชิ้นนี้ ในส่วนของลำดับเหตุการณ์บางส่วน มีรายละเอียดในการบรรยาย สำนวน แม้กระทั่งคำที่เน้นโดยใช้เครื่องหมายคำพูด ("") ในหลายเหตุการณ์ ตรงกับหรือคล้ายกันกับในหนังสือภาพ 19 - 19 : ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง จาก 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 ของสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน ที่ผู้เป็นบรรณาธิการ อย่างน่าตกใจ ราวกับว่าคัดลอก หรือคัดลอกแล้วแก้ไขนิดหน่อย และคงเอกลักษณ์บางอย่างไว้ โดยไม่ยอมอ้างอิง ก่อนที่จะแสดงให้เห็นรายละเอียดข้างหน้า อยากโฆษณาหนังสือนิดหน่อย ซึ่งจะช่วยให้เห็นที่มาของความประหลาดใจของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน ความพยายามในการทำหนังสือภาพเล่มนี้ เริ่มจากผู้เขียนและเพื่อนๆ ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน/คนเหมือนกัน หลังจากเหตุการณ์การนองเลือดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้ปรึกษากันว่า น่าจะมีหนังสือภาพสักเล่มหนึ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราวและชีวิตการต่อสู้ขบวนการเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า "คนเสื้อแดง" โดยการนำภาพที่พวกเราได้ถ่ายไว้มารวมกัน และขอจากคนอื่นๆ ที่รู้จัก มาเรียงตามลำดับเหตุการณ์เพื่อเล่าเรื่อง พร้อมกับเขียนคำบรรยายภาพ โดยจะให้เห็นถึงความพยายามและพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยก็ควรจะครอบคลุมเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายในช่วงต่างๆ รวมทั้งเนื้อหาในการเคลื่อนไหวแต่ละช่วง โดยพวกเราได้ช่วยกันทั้งในส่วนของการรวบรวมภาพ และจัดทำเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียด ในเว็บบอร์ดเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำหนังสือเล่มนี้ และต่อมาสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รับเป็นผู้จัดพิมพ์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จำนวนหนึ่งมาสนับสนุนการทำงานของ ศปช. ด้วยความคิดแบบนี้ อะไรที่เป็นครั้งแรกจะถูกเน้น ตัวละครกลุ่มต่างๆ จะถูกให้ความสำคัญ ฉากหลังเวที คำบรรยายหัวข้อของการชุมนุม การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ จะถูกระบุ การนำในแต่ละช่วงที่มีพลวัตจะได้รับการบันทึก เนื้อหาข้อเรียกร้องที่สำคัญในบางช่วงจะถูกบรรยาย รวมทั้งตัวเลขบางตัว ในการเล่าเรื่องต่อเนื่องกันไป ภายใต้กรอบของคำบรรยายภาพสั้นๆ แบบคำบรรยายภาพในหนังสือพิมพ์ และใช้การเน้นที่สำคัญโดยการใช้เครื่องหมายคำพูด (" ") นี่คือ สไตล์ของการเล่าเรื่อง รวมทั้งการทำลำดับเหตุการณ์เป็นภาคผนวก ให้ครอบคลุมเหตุการณ์ที่ไม่มีภาพในเล่ม และง่ายต่อการใช้ศึกษาค้นคว้าศึกษาต่อไป แม้หนังสือนี้จะไม่ได้รับการกล่าวขานถึงมากนัก แต่สำหรับพวกเราซึ่งเป็นผู้รวบรวมแล้ว ก็เป็นหนังสือภาพที่รวมรวบการเคลื่อนไหวไว้มากที่สุดและทำให้เห็นพลวัตของการเคลื่อนไหวได้พอสมควร กลับมาที่รายงานของ คอป. ในส่วนของลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ นปช. ซึ่งจริงๆ แล้ว มีความสำคัญต่อเนื้อหาไม่มากนักและใครๆ ก็สามารถที่จะรวบรวมและเขียนขึ้นมาได้จากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ตามเป้าหมายและตามสไตล์ของคนเอง ซึ่งในหนังสือภาพก็ทำเช่นนั้น แต่เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับคำบรรยายในหนังสือภาพแล้ว กลับผมว่า ข้อความ สไตล์ในการเขียน โครงในการบรรยายเหตุการณ์ ในรายงาน คอป. กับคำบรรยายในหนังสือภาพนั้นพ้องกันจนมากเกินไป มีทั้งข้อความในประโยค คำบรรยายเหมือนกันเกือบทั้งหมด หรือคล้ายกับมีการเขียนใหม่จากคำบรรยายเดิม ที่ยังคงสำนวนเดิมไว้ หรือยังคงจุดเน้นในเครื่องหมายคำพูด ("") ไว้หลายจุด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว จุดเน้นพวกนี้ ไม่จำเป็นเลยสำหรับลำดับเหตุการณ์ในรายงาน คอป. และถ้าจะเน้นก็ไม่น่าบังเอิญที่จะมีการเน้นแบบที่ทำในหนังสือภาพ (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ) บันทึกทั้งหมดนี้ ไม่ต้องการที่จะคิดกล่าวหาว่า รายงาน คอป. คัดลอก ตัดแปะ หรือขโมยงานคนอื่นมาเขียนใหม่ และไม่คิดว่าจะพิสูจน์หรืออยู่ในขอบเขตที่จะเอาผิดด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายได้ แต่บังคับใจที่จะให้หยุดสงสัยไม่ได้จริงๆ นอกจากนั้น ยังเห็นว่า เพื่ออนาคตสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวกับเขียนๆ ถ้ามีกรณีคัดลอกเอามาใช้โดยไม่ให้เครดิตเลย ไม่ควรจะปล่อยผ่านไปเฉยๆ เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ใช่เป็นดังที่ผู้เขียนสงสัย คอป. โดยนายสมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ น่าจะชี้แจงเรื่องนี้มา เพื่อจะได้ไม่เป็นที่ครหา และทำให้ผู้เขียนหายสงสัยว่าตัวเองไปช่วยงาน คอป. มาตั้งแต่เมื่อไหร่ %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% ตัวอย่างข้อความในรายงาน คอป. เปรียบเทียบกับในหนังสือภาพ 19 - 19 : ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง จาก 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 1. ข้อความเกือบเหมือนกันทั้งหมด 1.1 ภาพบน รายงาน คอป. หน้า 63, ภาพล่างหนังสือภาพ 19-19 หน้า 85 ข้อสังเกต : รายละเอียดมีความต่างกันเล็กน้อย คือ คอป. ระบุ นปช. เป็นคนจัดงาน ขณะที่ 19-19 ระบุครอบครัวความจริงวันนี้เป็นคนจัดงาน ข้อเท็จจริง คือ การนำในการจัดกิจกรรมแดงทั้งแผ่นดิน อยู่ที่อดีตแกนนำ นปก. ปีกไทยรักไทย ที่เข้าไปอยู่ในรัฐบาล ที่ร่วมกันจัดรายการ "ความจริงวันนี้" และเคลื่อนไหวในนาม "ครอบครัวความจริงวันนี้" ไม่ใช่ นปช. ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก่อนที่จะมีการจัดองค์กรนำใหม่ คือ 2 ส่วนรวมกันเป็น "นปช. แดงทั้งแผ่นดิน" การใส่ประธานของประโยคเสียใหม่ว่าเป็น นปช. น่าจะมาจากความเข้าใจว่า ทั้งสองกลุ่มเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่ต้น ผู้กระทำเป็น นปช. เสียทั้งหมด โดยไม่เห็นพลวัตภายในของการนำอย่างที่หนังสือภาพพยายามที่จะทำให้เห็น ขณะที่ข้อเรียกร้องมีการปรับคำเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อให้เป็นทางการมากขึ้น และมีกริยาครบทุกข้อ 1.2 ภาพบน รายงาน คอป. หน้า 6, ภาพล่างหนังสือภาพ 19-19 หน้า 86 ข้อสังเกต : เหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นเรื่อง ในรายงาน คอป. คนจัดงาน-ประธานของประโยค คือ นปช. เหมือนกับ 1.1 นอกจากนั้น มีการนำเอาเหตุการณ์การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อีก 1 เดือนต่อมา มาต่อกัน คือ การชุมนุมที่เริ่มต้นในวันที่ 26 มีนาคม 2552 และจบด้วยสงกรานต์เลือด 2. ดึงมาต่อกันบางส่วน แต่คงสำนวนไว้ 2.1 ภาพบน รายงาน คอป. หน้า 64, ภาพล่าง หนังสือภาพ 19-19 หน้า 96 ข้อสังเกต : อันนี้เป็นจุดเล็กมาก ในรายงาน คอป. โดยชื่อคนถูกตัดไปไว้ที่ข้อความใน 1.2 ซึ่งผิดจากข้อเท็จจริง กล่าวคือ ในการเริ่มต้นนั้น ข้อเรียกร้องมีเพียงยุบสภาเป็นหลักเท่านั้น ข้อเรียกร้องเรื่ององมนตรีพัฒนาขึ้นมาในภายหลัง ช่วงดีเดย์ 8 เมษายน 2552 แล้ว แต่ยังคงมีสำนวนบางส่วนไว้อย่างข้อเรียกร้อง "ไม่ได้รับการตอบสนอง" ส่วนเหลือคัดมาบางส่วน โดยให้ผู้อ่านพิจารณาเอง 2.2 ภาพบน รายงาน คอป. หน้า 60, ภาพล่าง หนังสือภาพ 19-19 หน้า 47 2.3 ภาพบน รายงาน คอป. หน้า 66, ภาพล่างหนังสือภาพ 19-19 หน้า 116 2.4 ภาพบน รายงาน คอป. หน้า 67, ภาพกลาง หนังสือภาพ 19-19 หน้า 118 ภาพล่างสุด หนังสือภาพ 19-19 หน้า 118 ข้อสังเกต ในกรณีกิจกรรมปีใหม่ "ปีแห่งชัยชนะ 2553" ไม่ค่อยเป็นข่าวในกระแสหลักเลย จากการรวบรวมเพื่อจัดทำลำดับเหตุการณ์ครั้งแรกก็ไม่มีบันทึกเหตุการณ์นี้ จนกระทั่งเมื่อมีการรวมรูปมาได้แล้ว บรรณาธิการภาพเห็นว่าภาพแกนนำในชุดแบบนี้น่าสนใจ ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงตัดสินใจเลือกจากรูป แล้วค่อยช่วยกันค้นหาว่ากิจกรรมนี้ชื่อว่าอะไรในภายหลัง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาสวัต บุญศรี: “ความเฉพาะเจาะจง” สิ่งสำคัญยิ่งในการสรรสร้างรายการทีวี Posted: 25 Sep 2012 05:16 AM PDT ตามปกติที่ชาวสื่อสารมวลชนได้รับการสั่งสอนกันมาตั้งแต่เรียนระดับเด็กน้อยปีหนึ่งปีสองในเรื่อการผลิตรายการทีวี วิทยุ นิตยสาร ไปจนถึงงานโฆษณา ต้องเริ่มต้นจากฐานคิดที่ว่าใครคือผู้รับสารของเรา เพราะบรรดา คนดู คนฟัง คนอ่าน นั้นมีลักษณะที่หลากหลาย เราไม่สามารถทำรายการเอาใจคนทุกกลุ่มทุกวัยได้ ดังนั้นต้องวิเคราะห์ให้ชัดเพื่อให้เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอตอบสนองต่อกลุ่มผู้รับสารนั้น ๆ วิธีการคิดเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เชิงประชากรศาสตร์ ดูว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเราเป็นวัยไหน เพศใด อายุเท่าไหร่ รายได้ประมาณไหน อยู่เขตที่อาศัยจุดไหนบนประเทศไทย เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้ (ซึ่งก็มีทั้งที่คิดเอาเองและซื้อข้อมูลจากบรรดาแหล่งวิจัยต่าง ๆ) มาก็จะทำการออกแบบรายการ เช่น รูปแบบการเสนอควรเป็นแบบใด มีพิธีกรกี่คนดี ออกอากาศช่วงไหนจะเข้าเป้ากับกลุ่มเป้าหมาย ไม่เวลาออกอากาศไม่ตรงกัน เช่น เอารายการวัยรุ่นไปออกอากาศช่วงกลางวันของวันธรรมดา เด็กก็ไม่มีทางได้ดูแน่เพราต้องไปเรียน อะไรทำนองนี้ ได้รูปแบบการนำเสนอแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องคิดว่าเราจะนำเสนอเนื้อหาอะไรบ้าง ก็ต้องมาดูแก่นแกนความคิดว่าภาพรวมจะนำเสนอเรื่องอะไร แบ่งเป็นกี่ช่วงและแต่ละช่วงจะพูดถึงเนื้อหาอะไรบ้าง หลัก ๆ จุดเริ่มต้นก็ประมาณนี้ ทว่าเริ่มมีการให้ความสำคัญกับวิธีคิดอื่น ๆ คือเริ่มมีการสนใจถึงพฤติกรรมและรสนิยมต่าง ๆ ของกลุ่มคนดูมากขึ้น มีการเจาะกลุ่มเป้าหมายด้วยลักษณะของพฤติกรรมการเสพ รสนิยมความชอบเป็นสำคัญแทนการมองเพียงกลุ่มกว้าง ๆ ที่แบ่งแยกด้วย เพศ วัย การศึกษา รายได้ และเขตพื้นที่อาศัย ยิ่งทุกวันนี้สถานีโทรทัศน์มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงฟรีทีวีหกช่องอีกต่อไปแล้ว เรามีรายการเคเบิลทีวีนับร้อย ๆ ช่อง ซึ่งหลาย ๆ ช่องก็นำรายการของตนไปอัพโหลดในเวบไซต์ยูทูบ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาษาพลาซ่า ทางเพลย์ ชาแนล หรือ เทยเที่ยวไทย ทางช่องแบง ชาแนล เคเบิลทีวีและยูทูบได้ทลายกำแพงวิธีคิดเก่า ๆ ไปมาก อย่างเช่น เรื่องเวลาในการชมที่ในอดีตนั้นต้องคำนึงเสมอว่าเวลาที่เราจะออกอากาศนั้น วิธีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายเรากำลังทำอะไรอยู่ เนื่องจากการออกอากาศแบบเดิมโดยเฉพาะในฟรีทีวีคือออกแล้วออกเลย พลาดแล้วไม่สามารถดูซ้ำย้อนหลังได้ยกเว้นจะรอนำมาฉายซ้ำในเวลาอีกห้าปีต่อมา ตอนจบของละครหลายเรื่องจึงเป็นวันที่คนดูไม่น้อยประกาศตนว่าฉันต้องไม่พลาด เพราะถ้าพลาดแล้วเท่ากับว่าไม่รู้จะมีโอกาสได้ชมอีกเมื่อไหร่ ทว่าปัญหาเหล่านี้กลับหมดไปเมื่อลักษณะของการจัดผังเคเบิลทีวีจะมีการนำรายการมารีรันเสมอ หากพลาดจากเวลาออกอากาศจริงก็สามารถที่จะเลือกชมในการรีรันช่วงเวลาอื่นได้ (บางทีรีรันกันอีกวันเลยด้วยซ้ำ) แน่นอนว่าแฟน ๆ รายการย่อมมีสิทธิและโอกาสแก้ตัวชมอีกครั้ง ยิ่งบางรายการที่นำไปอัพโหลดให้ได้ชมทางอินเตอร์เนต แฟนคลับยิ่งไม่ต้องสนใจเลยว่าจะชมเมื่อไหร่ เพราะพวกเขาสามารถชมได้ทุกเมื่อ ทุกเวลาที่ต้องการ พรมแดนเรื่องเวลาจึงมิใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้วในโลกของโทรทัศน์ นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างที่เปลี่ยนไปในโลกยุคเคเบิลทีวีและอินเตอร์เนตมีอิทธิพลไม่ต่างจากฟรีทีวี วิธีคิดสำคัญที่คนทำรายการทีวีคิดกันทุกวันนี้ก็คือ ประกาศแรก การประกาศตัวอย่างชัดเจนว่ารายการของเรานั้นมีจุดเด่นจุดขายอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น เพราะคนดูพร้อมยอมรับสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร เราไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยซ้ำว่ากลุ่มคนดูของเราคือใครหรือคิดว่าจะทำให้กลุ่มไหนดูเป็นพิเศษ ขอเพียงทำรายการออกมาที่มีลักษณะ uniqueness มีความเฉพาะเจาะจงสูง คนดูรู้ได้ทันทีว่าจะได้เจออะไรในรายการ อาทิ เทยเที่ยวไทยย่อมต้องเจอกะเทยไปเที่ยวจังหวัดต่าง ๆ กันมันส์ ๆ หลุด ๆ รายการแบบนี้มีลักษณะคนดูที่หลากหลายไม่จำกัดเพศวัย สิ่งเดียวที่มีเหมือนกันคือเขาประทับใจในความ uniqueness ของรายการที่ไม่สามารถดูได้จากที่ไหนอีก (ลองนึกถึงในยุคหนึ่งที่รายการวัยรุ่นพยายามจะเป็น Teen Talk กันเสียหมด วิธีคิดแบบนั้นแบบใช้ไม่ได้แล้วในทุกวันนี้) เหมือนกับว่ากระบวนทัศน์เปลี่ยน จากเดิมที่เราต้องคอยเดาใจคนดูว่าเนื้อหาเราจะเข้าเป้าคนดูมากน้อยขนาดไหน ตอนนี้หลาย ๆ รายการเริ่มลดความสนใจกับเรื่องนี้ไปมาก พวกเขาให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์รายการให้ออกมามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งรูปแบบและเนื้อหามากที่สุด แล้วคนดูต่างหากที่จะเข้ามาชมรายการเอง เพราะพฤติกรรมและรสนิยมของคนเป็นสิ่งที่เดายาก ดังนั้นจงเป็นตัวของตัวเอง ถ้าของ ๆ เรามีคุณภาพและไม่ซ้ำใคร นี่เป็นสิ่งแรก ๆ ที่เริ่มเปลี่ยนในวิธีคิดคนทำงานสื่อ สำหรับคราวหน้ามาว่ากันอีกว่ามีอะไรเปลี่ยนไปอีกบ้าง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 25 Sep 2012 05:08 AM PDT "พูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่ากับฝ่ายไหน ใครเริ่มก่อนหลัง ทางหลีก คือ อย่าไปเผชิญหน้ากัน แต่ทำไม่ได้นานหรือตลอดไปหรอก เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายก็พร้อมที่จะลุกออกมาเผชิญหน้ากันอีก นี่คือ สภาวะที่เรากำลังเจอจริงๆ" 25 ก.ย. 2555 |
โสภณ พรโชคชัย: ผังเมืองฝรั่งเน้น Smart Growth แต่ กทม. ยังไล่คนออกนอกเมือง Posted: 25 Sep 2012 04:07 AM PDT ที่มา: AREA แถลง ฉบับที่ 115/2555: 24 กันยายน 2555 คำว่า "Smart Growth" ว่ากันว่าเป็นแนวคิดใหม่ในการผังเมืองมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้การวางผังเมืองผิด ๆ แบบเดิมจนหากไม่มีรถส่วนตัว ก็เท่ากับพิการ ไม่มีขา เพราะบ้าน ร้านค้า โรงเรียน ฯลฯ แต่ละแห่ง ห่างไกลกัน เดินกันไม่ถึง แต่ไทยเรายังเอาแนวคิดผังเมืองแบบ "พระเจ้าเหา" มาใช้
ว่าด้วย 'Smart Growth' แนวคิดนี้คือการพัฒนาเมืองโดยรวมศูนย์ความเจริญอยู่ภายในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง (Urban Sprawl) แนวคิดนี้จะมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ คุณภาพชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังได้รับการต่อเติมให้ดูร่วมสมัยด้วยการพูดถึงการประหยัดพลังงาน การแก้ปัญหาโลกร้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักการ 10 ประการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การสร้างโอกาสที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย การสร้างชุมชนที่เดินถึงกันได้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของท้องที่ การตัดสินใจพัฒนาที่คาดการณ์ได้เป็นธรรมและคุ้มค่า การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย การพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สร้างชุมชนใหม่) และการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่หนาแน่นเกินไป
เหล้าเก่าในขวดใหม่ ทำไมที่สหรัฐอเมริกากำลัง 'ฮือฮา' กับแนวคิดนี้ เหตุผลก็คือตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา อเมริกาสร้างแต่บ้านแนวราบกินพื้นที่ออกไปนอกเมืองมากที่สุด ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองที่สุด จนใครต่อใครทราบดีว่าในอเมริกา หากใครไม่มีรถ ย่อมเหมือนคนพิการ ไปไหนไม่ได้ เพราะแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สำนักงาน หรืออื่น ๆ ล้วนแต่ห่างไกลจากบ้านทั้งนั้น แต่อเมริกาก็พัฒนาอย่างสูญเปล่านี้ได้มานานเพราะมีเงินมาก จะบันดาลอะไรก็ทำได้นั่นเอง ในระยะหลังมานี้อเมริกาจึงค่อยสำนึกได้ว่านี่เป็นการพัฒนาที่ทำร้ายตัวเองเป็นอย่างมาก จึงเกิดแนวคิด Smart Growth นี้ขึ้น ข้อนี้ไทยและประเทศในเอเชียจึงไม่ต้องตื่นเต้นมากนัก เพราะเมืองไทยเราดีกว่ามากในแง่นี้ ขนาดเวียดนามที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังที่นั่นมาระยะหนึ่ง ก็ยังมีละแวกบ้านแบบพึ่งตนเองได้ จะซื้อหาอะไรก็มีอยู่แถวนั้น ไม่ต้องถ่อไปซื้อไกลถึงใจกลางเมือง ดังนั้นแม้แนวคิดนี้จะเพิ่งได้รับการโฆษณา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว ผมเชื่อว่านี่เป็นเพียงการ 'import' วิธีการแบบตะวันออกไปใช้ในอเมริกา แล้ว 'export' ออกมาให้ชาวโลกได้ชื่นชมกันอีกคำรบหนึ่ง
เขามุ่งทำเมืองให้แน่นแต่ กทม. มุ่งให้หลวม บางคนมักอ้างว่ากรุงเทพมหานครหนาแน่นเหลือเกินเพราะมีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 3,600 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ประเทศไทยโดยรวมมีความหนาแน่นเพียง 129 คนต่อตารางกิโลเมตร จึงเสนอแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงให้ชะลอการเติบโตของกรุงเทพมหานคร โดยไม่ฉุกคิดว่า สิงคโปร์มีความหนาแน่นของประชากรเกือบ 7,000 คน หรือมากกว่ากรุงเทพมหานครถึงเกือบ 2 เท่า แต่กลับดูโล่งโปร่งสบายกว่า เกาะแมนฮันตันในนครนิวยอร์ก มีประชากร 1,634,795 คน แต่มีขนาดที่ดินเพียง 59.5 ตร.กม. หรือมีความหนาแน่นสูงถึง 27,476 คนต่อตารางกิโลเมตร นครนิวยอร์กโดยรวมมีประชากรถึง 8.3 ล้านคน มีความหนาแน่นของประชากรถึง 10,587 คนต่อตารางกิโลเมตร ดังนั้นแนวคิดที่ตั้งใจทำกรุงเทพมหานครให้โล่งจึงควรได้รับการทบทวนเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นแนวคิดที่จะมุ่งเก็บรักษาที่ดินในเมือง ซึ่งมักเป็นของผู้มีอันจะกินในวันนี้ไว้ และให้ผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางจำต้องไปซื้อบ้านอยู่นอกเขตผังเมืองที่ไม่อำนวยให้สร้างอาคารชุดหรือสร้างได้ในความสูงที่จำกัด การคิดผิดเพี้ยนของนักผังเมืองไทยกลับทำให้กรุงเทพมหานครในช่วง พ.ศ.2545-2554 มีประชากรลดลง 2% แต่ในเขตปริมณฑลกลับมีประชากรเพิ่มจาก 3.9 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 4.7 ล้านคนในปี 2554 หรือ 21% หากในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีผู้อยู่อาศัย 3,600 คนตามค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร ประชากร 1.2 ล้านคน ก็เท่ากับไปบุกรุกไร่นาเรือกสวนสีเขียวถึง 333 ตารางกิโลเมตร
ทำไมจึงเป็นไปได้ ทำไมในสหรัฐอเมริกาทำอะไรก็มักได้ ส่วนหนึ่งก็คือเขามีเงิน ประชากรมีรายได้มากกว่า จึงเก็บภาษีได้มากกว่า และเก็บในสัดส่วนที่มากกว่าไทย ของไทยเราภาษีท้องถิ่น ภาษีทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่มี ชุมชนหรือท้องถิ่นก็มีรายได้จำกัด โอกาสที่จะทำอะไรมากจึงจำกัด การนำแนวคิดนี้มาใช้ก็คง 'เลียนแบบ' มาได้บางส่วน และทำตามกำลัง ในสหรัฐอเมริกา บ้านทุกหลังต้องเสียภาษีทรัพย์สินปีละ 1-2% ของมูลค่าตลาด ไม่ใช่ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการไทย ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อนำเงินเหล่านี้มาใช้พัฒนาท้องถิ่น การนี้ท้องถิ่นก็มีเงินเพียงพอที่จะพัฒนา ลำพังการอาศัยการบริจาคจากภาคเอกชนหรือชุมชน ก็คงได้ทำอะไรเพียงเล็กน้อยแบบ 'ลูบหน้าปะจมูก' หรือ 'ไฟไหม้ฟาง' ดังนั้นการหวังให้ประชาคม บริษัทห้างร้าน มูลนิธิ ฯลฯ เข้าช่วยผลักดันแนวคิด 'Smart Growth' จึงมีความเป็นไปได้ที่จำกัด
ทำอย่างไรให้สำเร็จ แนวคิดการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยวาทกรรมใหม่หรือเก่าใด ๆ นั้น จะเป็นจริงได้ ก็อยู่ที่ผู้บริหาร เช่น นายกเทศมนตรี ผู้นำชุมชน ผู้ว่าราชการ ตลอดจนผู้นำรัฐบาล หาไม่แนวคิดดี ๆ ก็จะเพียง 'ขึ้นหิ้ง' หรือไม่ก็แค่อยู่ในตำรา หรืออย่างดีก็ได้รับการดำเนินการแบบ 'ไฟไหม้ฟาง' หรือ 'ผักชีโรยหน้า' ในที่สุด ถ้าผู้บริหารยอมรับหรือได้รับการปรับทัศนคติ (Mindset) แนวคิดก็จะได้รับการยอมรับ สานต่อและทำให้เป็นจริงขึ้น เราจึงต้องขายความคิดให้กับผู้บริหาร แต่ลำพังผู้บริหารนั้น บางครั้งเวลาฟังให้ได้ศัพท์ยังไม่มี ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงต้องพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้างด้วย เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้ผู้บริหารได้ตระหนักถึงความสำคัญและปรับทัศนคติต่อแนวคิดใหม่ ๆ ต่อไป มองเทศแล้วย้อนมองไทยครับ อย่าให้แนวคิดการวางผังเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพครอบงำไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทริปพาสื่อไปอังกฤษ...‘ซื้อใจตบรางวัล’ หรือ ‘ดูงาน’ ด้วยภาษีประชาชน? Posted: 25 Sep 2012 03:16 AM PDT
นี่เป็นเพียงหนึ่งในเสียงจำนวนมิน้อยที่ตั้งคำถามและกังขากับกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา พาคณะสื่อมวลชนและนักวิชาการไป 'ดูงาน' ที่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศสและเบลเยียมเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ระหว่างวันที่ 20-27 กันยายน 2555 คำถามคือ: 1) การจัดเดินทางท่องเที่ยวดูงานแบบนี้ถือเป็นการพยายามตบรางวัลหรือติดสินบนสื่อโดยใช้เงินภาษีประชาชนหรือไม่? ถึงแม้รัฐสภาจะมีงบที่สามารถจัดสรรนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทริปนี้ที่มีสื่อมวลชนเข้าร่วมกว่าสามสิบชีวิต มีลักษณะผิดปกติอย่างน่าสังเกตเริ่มจากที่ว่าจำนวนสื่อที่อยู่ในลิสต์เชิญ 25 คน จาก 37 คนที่อยู่ในลิสต์ http://thaipost.net/news/200912/62617 เป็นสื่อจาก Voice TV ซึ่งเป็นสื่อที่ถูกจัดอยู่ในฝ่ายที่เห็นใจสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถมเป็นสื่อของนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึง 4 คน (น้ำเพชร เชื้อชม, คมกริช สินภูมิศักดิ์, ชาคริต อ่อนน้อม และ ชัยธัช รัตนจันทร์) นี่ยังไม่รวมผู้ที่ไปจัดรายการ Wakeup Thailand ที่ Voice TV สองคน (ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บก.สำนักข่าวประชาไท และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์) แต่ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ... 2) ตกลงเป็นทริปดูงานหรือท่องเที่ยว? ข่าวลงอย่างครึกโครมว่าทริปที่ใช้ภาษีประชาชนไป 7 ล้านบาท หรือประมาณ 180,000 บาทต่อหัวนี้ รวมถึงกินอาหารหรูๆ แถบ Bloomsbury และพักโรงแรมหรูสี่ดาวอย่าง Park Plaza Westminster ที่เห็นวิว Big Ben และรัฐสภาอังกฤษ รวมถึงมีเตียงที่ใช้ผ้าฝ้ายอียิปต์อย่างดีปู และราคาค่าที่พักในอินเทอร์เน็ต ณ วันที่ 24 กันยา 2555 ระบุว่าราคาห้องตกคืนละ 9,516 บาท (ข้อมูลจากเว็บ hotel.com - http://www.hotels.com/ho335698/park-plaza-westminster-bridge-london-london-united-kingdom/ ) ...
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เวียดนามจำคุก 12 ปีบล็อกเกอร์วิจารณ์รัฐบาล Posted: 25 Sep 2012 02:02 AM PDT
บีบีซีระบุว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวซึ่งเป็นที่สนใจของสาธารณะ ดำเนินไปอย่างรวบรัดในนครโฮจิมินห์ ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา บล็อกเกอร์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่าโพสต์บทความการเมืองลงในเว็บไซต์ต้องห้ามชื่อ ชมรมผู้สื่อข่าวเสรี รวมถึงโพสต์บทความวิจารณ์รัฐบาลในบล็อกส่วนตัว โดย เหงียน วาน ฮาย ซึ่งมีนามปากกาว่า "เดียว เกย" ได้รับโทษสูงสุด 12 ปี ขณะที่ ตา ฝอง ตัน อดีตตำรวจหญิง เจ้าของบล็อกชื่อ ความยุติธรรมและความจริง ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม แม่ของเธอเสียชีวิตจากการจุดไฟเผาตัวเองหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยครอบครัวของเธอบอกว่าไม่แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อประท้วงการควบคุมตัวลูกสาวของนาง หรือเพราะความขัดแย้งอื่น ส่วน ฝาน ถัญ ฮาย นักเขียนอีกรายถูกจำคุก 4 ปี กรณีของ "เดียว เกย" ผู้เคยเป็นทหารก่อนจะกลายมาเป็นนักเขียนที่เห็นต่างกับรัฐ เคยถูกพูดถึงโดยบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา "เดียว เกย" กล่าวต่อศาลว่า เขาผิดหวังกับความอยุติธรรม การทุจริต และความเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ใช่ภาพแทนของรัฐ แต่เป็นคนไม่กี่คน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า "เดียว เกย" กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองเวียดนามซึ่งได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายของประเทศและตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เวียดนามเป็นภาคี ก่อนที่สัญญาณถ่ายทอดเสียงจะถูกตัดไป ฮา ฮุย โสน ทนายความของ "เดียว เกย" บอกว่า ลูกความของเขาบริสุทธิ์ ส่วนโทษที่ได้รับก็รุนแรงเกินไป ทั้งนี้ เขาระบุด้วยว่า ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ลูกความของเขาได้ให้การต่อสู้คดีจนจบด้วยเหตุผลว่า เวลามีจำกัด เดือง ติ ตัน อดีตภรรยาของ "เดียว เกย" บอกว่า ตำรวจกักตัวเธอและลูกชายไว้หลายชั่วโมง ทำให้พวกเขาไม่ได้ร่วมฟังกระบวนการพิจารณาคดี เธอบอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า คนทั้งสามถูกตัดสินให้มีความผิดอาญาร้ายแรงภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และว่าประชาชนสามารถเห็นได้ชัดเจนว่านี่เป็นโทษต่อนักโทษการเมืองที่เหลวไหลที่สุด ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามปล่อยตัวคนเหล่านี้ โดยระบุถึงความกังวลเมื่อทราบว่ามีการตัดสินจำคุกบล็อกเกอร์ถึง 12 ปี จากการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสันติ ขณะที่แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุในแถลงการณ์ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยบุคคลทั้งสามว่า การใช้กฎหมายความมั่นคงภายในประเทศตามอำเภอใจของเวียดนาม เพื่อจำคุกผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล ทำให้บล็อกเกอร์ต้องแบกรับผลของการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นครั้งนี้ ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของเวียดนามเพิ่งออกแถลงการณ์โจมตีบล็อกสามแห่งที่วิจารณ์รัฐบาล โดยสั่งให้ตำรวจสืบสวนและเอาเรื่องกับผู้ที่รับผิดชอบบล็อกดังกล่าวด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสื้อแดงปะทะเสื้อหลากสีหนุนครูสาวหมิ่น “ดารุณี กฤตบุญญาลัย” หน้ากองปราบฯ Posted: 25 Sep 2012 12:14 AM PDT เสื้อหลากสีหนุนอดีตครูสาวที่ต่อว่าดารุณี กฤตบุญญาลัย ปะทะเสื้อแดงหน้ากองปราบ หลังทั้ง 2 ฝ่ายเดินทางมาให้กำลังใจคู่กรณี จนมีผู้บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย ด้านผู้ต้องหาขอเลื่อนรับฟังข้อกล่าวหาไป 29 ต.ค.นี้ วันนี้(25 ก.ย.55) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่หน้าหน้ากองปราบปราม ถนนพหลโยธิน ถนนพหลโยธิน ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน ใช้ชื่อว่ากลุ่มประชาชนทนไม่ไหว "ร่วมให้กำลังใจคนดี ปกป้องสถาบัน" เพื่อให้กำลังใจ น.ส.มนัสนันท์ หนูคำ อดีตครูสาวโรงเรียนนานาชาติ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีที่ น.ส.มนัสนันท์ ต่อว่านางดารุณี กฤตบุญญาลัย ไฮโซนักธุรกิจชื่อดัง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)กลางห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันและพูดจาจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ ทำให้นางดารุณีเข้าแจ้งความกับกองปราบก่อนหน้านี้เพื่อดำเนินคดี
ที่มาภาพ คำเกิ่ง แห่งทุ่งหมาหลง ขณะที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงประมาณ 100 คน มาชุมนุมในบริเวณดังกล่าวเช่นกัน เพื่อให้กำลังใจ นางดารุณี กฤตบุญญาลัย ที่ต้องเดินทางมาชี้ตัวผู้กระทำความผิด โดยในเวลาประมาณ 11.15 น. เกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มประชาชนผู้รับสถาบันที่ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และทรัพย์สินในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายจากการขว้างปาสิ่งของเข้าใส่กัน หลังจากทั้งสองฝ่ายรวมตัวเผชิญหน้ากันในช่วงสายของวันนี้ ทั้งนี้ ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล โฆษกกองบังคับการปราบปราม กล่าวว่า น.ส. มนัสนันท์ได้ส่งทนายมาขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่าไม่สะดวก เนื่องจากเพิ่งกลับจากต่างประเทศ จึงขอเลื่อนรับฟังข้อกล่าวหาออกไปเป็นวันที่ 29 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ก.ย. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์ปกป้องครูสาวคนดังกล่าวและเชิญชวนให้ประชาชนผู้จงรักภักดีมาให้กำลังใจที่กองปราบปราม โดยแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยระบุว่า "กรณีสตรีดังกล่าวนั้น ได้แสดงออกโดยมีเจตนาอย่างชัดเจนว่ามีความต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้ความกล้าหาญในการแสดงออกอันเป็นการกดดันทางสังคมเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของคนไทย อีกทั้งยังไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่คำกล่าวของตนเองด้วยการโฆษณาผ่านเข้าไปในเว็บไซต์ยูทูป จึงเห็นว่าควรให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือสตรีที่มีเจตนาดังกล่าว โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอให้กำลังใจสตรีดังกล่าวและพร้อมจะจัดส่งทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการต่อสู้คดีความดังกล่าวหากเป็นความประสงค์ของสตรีคนดังกล่าวนี้ พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ไปแสดงออกให้กำลังใจสตรีคนดังกล่าวไในวันและเวลาที่มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน" โดยการชุมนุมวันนี้มีนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ เดินทางมาให้กำลังใจด้วย นอกจากนี้ยังมีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร หรือจอร์จ ตัน นักธุรกิจที่ต่อต้านทักษิณ ชินวัตรเข้าร่วมด้วย ภาพผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ ที่มาภาพ Paradorn Phuangpoo รถเครื่องขยายเสียงสถานีวิทยุมวลชนคนลำลูกกา 96.35 MHz อนึ่ง เดลิวนิวส์ออนไลน์ เคยรายงานเมื่อ 5 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า นางดารุณี ได้เคยร้อง รมว.ไอซีที ให้ช่วยเอาข้อมูลสับสนระหว่างตัวเขากับ "ดา ตอร์ปิโด" ออกจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ พร้อมประกาศฟ้องรายการข่าว 3 มิติ ที่ออกอากาศทางช่อง 3 และ T-News ทางช่องเอ็นบีที กรณีที่ทั้งสองรายการเสนอข่าวที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาลงโทษ "ดา ตอร์ปิโด" หรือ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่กลับนำใช้ภาพ "ดารุณี กฤตบุญญาลัย" เป็นภาพประกอบข่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: สังเคราะห์ “บทเรียน” มหาอุทกภัย 2554 “อ่อนซ้อม” = “แพ้” !! Posted: 24 Sep 2012 11:43 PM PDT
จาก "มหาอุทกภัย" ช่วงปลายปี 2554 ได้สร้างความเสียหายและสูญเสียแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง การรับมือภัยพิบัติในอนาคตจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ครบถ้วน โดยเฉพาะในด้าน "การแพทย์และการสาธารณสุข" มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นการตื่นตัวในทุกระดับ ทุกพื้นที่ ทั้งการวางแผน ซ้อมแผน ปรับแผนอย่างต่อเนื่อง ภารกิจนี้ จึงเปรียบเสมือนกับ "นักมวย" ถ้า "อ่อนซ้อม" เมื่อไหร่ "แพ้" เมื่อนั้น !! งานวิจัย 'การสังเคราะห์บทเรียนการรับมือมหาอุทกภัย 2554 ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข' ดำเนินการโดย ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล และคณะทำงาน ได้ศึกษาบทเรียนการรับมือมหาอุทกภัย 2554 ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลและความรู้สำหรับเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัย สวรส. กล่าวว่า "การเตรียมพร้อม คือการเตรียมการให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการรับมือกับความต้องการที่มักจะมากกว่าภาวะปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมการมาก่อนแล้ว ปัญหาเฉพาะหน้าในภาวะนั้นๆ ก็คือความขาดแคลน ซึ่งนำไปสู่วิกฤตซ้ำซ้อนเข้าไปอีก เช่น ในทางการแพทย์การสาธารณสุข ผู้ประสบภัยอาจไม่เดือดร้อนถึงชีวิตแต่ก็ไม่ได้รับบริการที่ดีและทั่วถึง" ในงานวิจัย คณะทำงานได้จัดทำชุดคำถามเพื่อรวบรวมบทเรียนจากหน่วยงานสาธารณสุข โดยหยิบยกประเด็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ หน่วยงาน "ด้านสาธารณสุข" และ "ด้านการแพทย์" จำแนกช่วงเวลาออกเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดอุทกภัย ก่อนการเกิดอุทกภัย ความพร้อมในการรับมือทางด้านบริการสาธารณสุขและการแพทย์ ว่าในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีโครงสร้างและสายบังคับบัญชาชัดเจน แต่จุดที่ไม่ชัดเจนคือ เนื้อหาของแผนอำนวยการและการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ อาทิ ภาคชุมชนและภาคเอกชน หน่วยงานทั้งสองส่วน ต่างมีการวางแผน ซ้อมแผน และปรับแผนเป็นระยะๆ ขณะที่ช่วงเกิดเหตุหน่วยงาน "ด้านสาธารณ" สุขจะปฏิบัติงานโดยมุ่งเน้นการลดความเสี่ยง เช่น เปิดสายด่วน 1667 คลายเครียดช่วงน้ำท่วม การดูแลเรื่องน้ำท่วมขังกับปัญหายุงลาย ฯลฯ ส่วนหน่วยงาน "ด้านการแพทย์" จะเน้นลดความสูญเสีย เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากอาการบาดเจ็บต่างๆ เป็นต้น และหลังเกิดเหตุภัยพิบัติยังต้องพร้อมสำหรับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูระบบบริการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จากบันทึกบทเรียนของกรมควบคุมโรค ระบุว่า "การประสานและสั่งการยังมีความซ้ำซ้อน" ขณะที่บันทึกของกรมอนามัย พบว่า "การประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นทำได้ยาก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แต่ละหน่วยงานก็มีภารกิจมาก ไม่มีใครให้ข้อมูลได้ ขาดข้อมูลที่เป็นจริงในสถานการณ์จริง" งานวิจัยครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ก่อนเกิดภัย ควรทบทวนการวางแผน ซ้อมแผน ปรับแผนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเชื่อมโยงกันทั้งแนวดิ่งและแนวราบ มีส่วนร่วมทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน รวมทั้งมีระบบสารสนเทศที่เอื้อต่อการใช้ร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของฝ่ายการเมืองเป็นไปตามแผนข้างต้น และเมื่อหลังเกิดภัยแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ จัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยง ขณะการเกิดอุทกภัย สำนักบริหารสาธารณสุข มีการสั่งการชัดเจนไปยังภูมิภาค ทำให้การปรับย้ายสถานที่ให้บริการสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะมีอุปสรรคในการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลเอกชน แต่ในที่สุดการส่งต่อสามารถดำเนินการได้ครบ หากประมวลผลและอุปสรรคของการดำเนินการในช่วงเกิดภัยพิบัติ พบปัญหา เช่น สถานการณ์ไม่สอดรับแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เนื่องจากผลกระทบมีบริเวณกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ โดยใช้สายด่วน 1668 กด 1 และสนับสนุนยาแก่ทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แต่ไม่มีข้อมูลปัญหาการขาดยาว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด หรือได้มีการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่ทราบว่าครอบคลุมความต้องการจริงเพียงใด โดยพบกรณีเสียชีวิตจากการจมน้ำร้อยละ 86 และไฟฟ้าดูด ร้อยละ 14 เป็นต้น หลังการเกิดอุทกภัย หลังอุทกภัยผ่านไป กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกิจกรรมฟื้นฟูหน่วยบริการและระบบบริการใน 45 วัน การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขอนามัยที่ครอบคลุมคุณภาพอาหาร น้ำ การล้างตลาด การปรับปรุงระบบประปา และคุณภาพสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน และการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยกำหนด 10 ตัวชี้วัดสำหรับการติดตามฟื้นฟู จำแนกเป็น 3 ระดับของสภาวะสุขภาพ คือ ปกติ ดีขึ้นบางส่วน และต้องฟื้นฟูอย่างมาก ทั้งนี้ จากการศึกษาไม่พบว่ามีกลไกการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ เหล่านี้ เป็นสรุปปัญหาหลักที่พบในช่วงมหาอุทกภัยปี 2554 และถอดบทเรียนสำคัญ ที่ ศ.นพ.ไพบูลย์ และคณะทำงานได้ทำการประมวลผลถึงสถานการณ์ปัญหาออกมาจาก "การสังเคราะห์บทเรียนการรับมือมหาอุทกภัย 2554" ส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในแต่ละประเด็นปัญหา สามารถติดตามได้จากรายงานฉบับสมบูรณ์และเอกสารอ้างอิงโดยดาวน์โหลดได้ทาง www.hsri.or.th ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น