โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เหวง โตจิราการ: คอป.พูดอย่างทำอย่าง? หน้าเนื้อใจเสือ?

Posted: 17 Sep 2012 12:39 PM PDT

ผมมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมถึง คอป.และนายสมชายหอมละออ ดังนี้ครับ

1.คอป.บอกว่าจะไม่จับผิดเพื่อนำไปสู่การลงโทษ พวกคุณปากพูดอย่าง แต่การกระทำอีกอย่างครับ เพราะในคำรายงานของคอป.ในวันนี้ไม่เพียงแต่พวกคุณจะทำการลงโทษคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่พวกคุณทำตัวเสมือนหนึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคอป.ตัดสินพิพากษาไปเลยว่า คนเสื้อแดงสนับสนุนชายชุดดำที่ สังหารทหาร6ราย สังหารตำรวจ2ราย สังหารประชาชน1ราย

พวกคุณหน้าเนื้อใจเสือจริงๆ คอป.พูดมาตลอดทำให้คนหลงเชื่อว่า จะไม่ทำหน้าที่เหมือนตำรวจนำคนผิดไปลงโทษจนคนหลงเชื่อหมด แต่วันนี้(17กย.55)คุณพิพากษาเลยว่า นปช.สนับสนุนชายชุดดำ แล้วชายชุดดำไปฆ่า ทหาร 6 นาย
ตำรวจ 2 นาย และประชาชน 1 นาย คอป.ครับคุณเป็นอะไรกันแน่ครับ คุณเป็นปีศาจในคราบนักบุญหรือเปล่าครับ


2.คอป.ฟันธงเลยว่า ไฟไหม้เซนทรัลเวิลด์โดยเริ่มจากห้างเซน และก็เริ่มไหม้ตั้งแต่ตอนที่คนเสื้อแดงยังอยู่กันในบริเวณนั้น ทหารยังมาไม่ถึง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า คนเสื้อแดงนั่นแหละเผาเซนทรัลเวิลด์ 

คุณยกเมฆเอาเองหรือเปล่า เพราะแกนนำนปช.มอบตัวตั้งแต่เวลา13.30น.โดยประมาณ จากนั้นทหารก็เข้าคุมเต็มพื้นที่ประมาณ14.00น.แล้ว ยังมีภาพทหารถอดเสื้อเดินพักผ่อนไปมาบริเวณหน้าห้างในเวลาใกล้เคียง แสดงให้เห็นว่าไม่มีคนร้ายมาคุกคามทหารแล้วในตอนนั้นครับ

มีคนพยายามเผาเซนทรัลเวิลด์ตั้งแต่ ประมาณ14.00-15.00น พนักงานดับเพลิงของห้างได้พยายามเข้าดับ อย่างน้อยสองครั้ง ต่อมาเจอกับ ผู้แต่งกายคล้ายทหารครึ่งท่อนใช้อาวุธมาบังคับให้หยุดดับเพลิง แล้วยังมีภาพของทหารครึ่งท่อนเข้าไปในห้างในเวลาประมาณ14.00น.นั่นเอง จากนั้นพนักงานดับเพลิงไปขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาอารักขาแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็โดนชายครึ่งท่อนทหารพร้อมอาวุธสงครามมาขับไล่  จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาบอกให้ทุกคนออกจากห้างประมาณ16.00น.แล้วก็มีไฟที่ระเบิดอย่างรุนแรงที่ชั้นแปดของเซนทรัลเวิลด์เป็นระลอกประมาณ17.00น. ไม่ต่างกับจัดวางถังน้ำมัน(เชื้อเพลิงเช่นเบนซิน?)แล้วจุดระเบิดด้วยรีโมท(เช่นโทรมือถือ?)จนไฟลุกท่วมไหม้อย่างรุนแรงจากตอนนั้น 

พนักงานดับเพลิงเขายังบอกเลยว่า เขารายล้อมอยู่รอบห้างสี่หน่วยใหญ่ด้วยกัน แต่รัฐบาลและทหารไม่ยอมให้เข้าไปดับ คอป.ทำไมไม่ค้นหาความจริงในเรื่องนี้ครับ 

แล้วคุณไปสรุปมั่วๆว่า ไฟไหม้ตั้งแต่ตอนที่คนเสื้อแดงอยู่ และทหารไม่ทันได้เข้ามาได้อย่างไร?

ผมทราบเพราะมีฝรั่งที่อยู่ตึกตรงข้ามบันทึกรายละเอียดไว้ตลอดเวลา และฝรั่งดังกล่าวไม่มีส่วนได้เสียใดกับความขัดแย้งการเมืองเขาเคยรับการฝึกฝนจากนาวิกโยธินอเมริกัน เขาบอกว่า นี่เป็นการเผาโดยฝีมือของทหารที่ได้รับการฝึกฝนแบบเดียวกับเขาชัดๆ

คอป.เคยพยายามหาความจริงด้านนี้ไหมครับ หรือหน้ามืดตามัว หลับหูหลับตาเพื่อจะสรุปว่า "คนเสื้อแดงนี่แหละเป็นคนผู้เผาบ้านเผาเมืองเช่นที่ประชาธิปัตย์และพวกเสื้อเหลืองสลิ่มเขาใส่ร้ายอยู่ทุกวินาทีลมหายใจเข้าออก"

3.คอป.เคยไปหาเอกสารทางการทหารบ้างไหมครับ ว่าใครสั่งการ ให้ใครทำอะไร วันไหนที่ไหนอย่างไร แล้วผลของการทำนั้นเป็นอย่างไร ไม่เห็นกล่าวถึงสักคำ ทั้งที่คำสั่งที่ลงนามโดยนายสุเทพเทือกสุบรรณสั่งให้ยิงด้วยกระสุนจริงได้ โดยที่คนที่ถูกยิงทุกคนไม่มีอาวุธ ไม่ได้อยู่ในระยะใกล้ถึงขั้นสามารถสังหารหรือคุกคามชีวิตของทหารได้

แล้วก็มีคำสั่งให้ตั้งหน่วยยิงอย่างน้อยก็ 39ราย ลงนามโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. แพร่หลายไปทั่วเน็ต 
และที่ สส.สมชาย เพศประเสริฐ ประธานกรรมาธิการทหารของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วได้สรุปแถลงในสภาเป็นที่เปิดเผยว่า มีการเบิกกระสุนกว่า ห้าแสนนัด ใช้ไปแล้วส่งคืน สี่แสนกว่านัด รวมแล้วใช้ไป หนึ่งแสนสองหมื่นนัด. พลเอก.อนุพงษ์เผ่าจินดา พลเอกประยุทธ จันโอชา ไม่เคยออกมาปฏิเสธเลยครับ การนิ่งไม่ปฏิเสธเป็นเวลายาวนานก็เท่ากับยอมรับ แม้แต่ปชป.เองอภิสิทธิ์-สุเทพเองก็ไม่เคยปฏิเสธ คอป.เคยหาความจริงในเรื่องนี้ไหมครับ แล้วกระสุนสไนเปอร์ที่เบิกไป สามพันนัด ส่งคืน แปดร้อยนัด ใช้ไปสองพันกว่านัด เคยค้นหาความจริงไหมครับว่า เอาไปยิงใครที่ไหนอย่างไร ตายไปกี่ศพ บาดเจ็บเท่าไร

4.คอป.เคยไปตรวจสอบการเคลื่อนย้ายกำลังทหารที่มาปราบปรามประชาชนไหมครับว่า มาจากหน่วยอะไร กรมไหน กองพันไหน กองทัพภาคไหน ใช้ทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศหรือไม่ กองพลไหน ประจำถนนสีลม กองพลไหนประจำสวนลุม ประจำราชปรารภ ประจำอนุสาวรีย์ ถนนสุรวงศ์ ถนนสี่พระยา สามย่าน ฯลฯ.คอป.ไม่ได้กล่าวถึงเลย(ไปหาอ่านจากเสนาธิปัตย์ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 และปีที่ 60 ฉบับที่ 1.ได้นะครับหาไม่ได้มาเอาที่ผมได้ครับ)

คุณกำลังทำอะไรอยู่ครับ คอป. คุณเป็นคณะกรรมการอุปถัมภ์ ศอฉ.หรือ คุณเป็น คณะกรรมการอุปถัมภ์อภิสิทธิ์-สุเทพหรือเปล่า

ก่อนที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมจะพิพากษาใดๆท่านยังต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานมากมายและให้ทั้งฝ่ายโจกท์และจำเลยได้ต่อสู้กันเพื่อพิสูจน์ความจริงกันอย่างเต็มที่ และยังต้องมีศาลถึงสามชั้นครับ จึงจะถึงที่สุด 

คอป.คุณถามพวกของคุณกี่คนครับแล้วก็สรุปเลยว่า คนเสื้อแดงสนับสนุนชายชุดดำทำการสังหารคน9คน คนเสื้อแดงทำการเผาห้างเซนทรัลเวิลด์ เอากันอย่างนั้นเลยหรือ? 

น่าเศร้าจริงๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คนละแม-ชุมพร’ รำลึก 2 ปีไล่ ‘กฟผ.’ ตื่นรู้ ‘ผังเมือง’ ตรึงโรงถ่านหิน-นิวเคลียร์

Posted: 17 Sep 2012 11:36 AM PDT

เวทีร่วมสร้างละแมน่าอยู่ ครบ 2 ปี การตื่นรู้ฐานทรัพยากรและพลังงาน ตรึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์ นักผังเมืองเผยผังเมืองรวมชุมพรระบุชัดเปิดพื้นที่สีเขียวสร้างเมกะโปรเจ็กต์

 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 กันยายน 2555 ที่ศาลาประชาคมอำเภอละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร สมาคมประชาสังคมจังหวัดชุมพร ร่วมกับเครือข่ายรักษ์ละแม จัดเวทีร่วมสร้างละแมน่าอยู่: แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของดีดีที่ละแม "ครบ 2 ปี การตื่นรู้ฐานทรัพยากรและพลังงาน" โดยมีส่วนราชการ นักวิชาการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นักศึกษา และชาวบ้านในอำเภอละแม และใกล้เคียง ร่วมประมาณ 150 คน
 
วิเวก อมตเวทย์
 
นายวิเวก อมตเวทย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ละแม ชี้แจงว่า เครือข่ายรักษ์ละแม และภาคีเครือข่ายต่างๆ ต้องการรำลึก 2 ปี ของการต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีแผนสร้างในอำเภอละแม โดยร้อนคุกรุ่นเมื่อปี 2553 จนชาวบ้านรวมตัวกันจัดเวทีใหญ่ทำสัญญาประชาคม จนสามารถไล่เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ
 
"ทั้งนี้เพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่องดีๆ ของอำเภอละแม ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ละแมน่าอยู่ พร้อมรับมือกับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 การมีอาชีพมั่นคง การมีสุขภาพดี การมีการศึกษาดี การมีสิ่งแวดล้อมดี อยู่ในสังคมสงบสุข ผู้คนมีจิตอาสาและสำนึกประชาธิปไตย ขับเคลื่อนถักทอสานกับสถาบันครอบครัว ศาสนา สถาบันการศึกษา พลังชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) อาสาสมัคร และสื่อมวลชน ภายใต้บริบทของการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลสุขภาพ เกษตรยั่งยืน การเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน เศรษฐกิจชุมชน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น และแนวทางเพื่อสร้างละแมน่าอยู่" นายวิเวก กล่าว
 
ภารนี สวัสดิรักษ์
 
นางสาวภารนี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ เครือข่ายผังเมืองเพื่อสังคม ชี้แจงว่า จังหวัดชุมพรถูกกรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดทั้งในผังประเทศ 2600 ผังเมืองรวมอนุภูมิภาคอ่าวไทย ผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร ผังเมืองรวมเมืองหลังสวน โดยในผังประเทศ 2600 ระบุว่า อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง มีท่าเรือน้ำลึก และถนนเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดชุมพร ฝั่งอ่าวไทย กับจังหวัดระนอง ฝั่งทะเลอันดามัน 
 
นางสาวภารนี ชี้แจงอีกว่า ร่างผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศใช้ในพระราชกฤษฎีกา ระบุเอกสารแนบท้ายว่า พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดชุมพร) สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าได้ อีกทั้งผังเมืองรวมเมืองหลังสวน ผังเมืองรวมชุมชนปากน้ำหลังสวน ผังเมืองรวมเมืองชุมพร ก็หมดอายุ ซึ่งอาจถูกลักไก่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมเหล็กก็ได้
 
 
ทั้งนี้ เอกสารแนบท้าย ร่างผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร พ.ศ. ... ระบุว่า ลำดับที่ 49 โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม ลำดับที่ 59 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงเหล็ก ผลิตเหล็ก หรือเหล็กกล้าในขั้นต้น โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม ลำดับที่ 88 โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม และลำดับที่ 89 โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่ง หรือจำหน่ายก๊าซ โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายญาติ 112 จัดวันเกิด “สมยศ-ธันย์ฐวุฒิ”หน้าคุก

Posted: 17 Sep 2012 11:35 AM PDT

พ่อ-ภรรยา นักโทษการเมืองนำทีมจัดกิจกรรมฉลองวันเกิด จรัลปราศรัยเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้มาตรา 112 หาทางช่วยเหลือผู้ต้องขัง

 

 

17 ก.ย.55 เวลา 12.00 น. บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ร่วมกับคนเสื้อแดงราว 30 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมอวยพรวันเกิดให้นายธันย์ฐวุฒิ (ขอสงวนนามสกุล) หรือหนุ่ม เรดนนท์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษในคดีมาตรา 112 ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมครั้งนี้มีการนำเค้กวันเกิดซึ่งมีข้อความว่า "สุขสันต์วันเกิดคุณหนุ่ม คุณสมยศ คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน" "สุขสันต์วันเกิดคุณหนุ่ม คุณสมยศขอให้ออกไวๆ" และการ์ดรูปวาดเค้กพร้อมข้อความจากหลานๆ ของนายอำพล หรือ "อากง sms" ที่ส่งมาร่วมอวยพรวันเกิดนักโทษทั้งสองด้วย รวมทั้งข้อความอวยพรจากลูกชายของนายธันย์ฐวุฒิ ที่ไม่สามารถมาเยี่ยมได้

กลุ่มญาติเครือข่าย 112 อดีตนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัว และคนเสื้อแดงได้ผลัดกันกล่าวคำอวยพรวันเกิดให้นักโทษทั้งสอง และร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์บริเวณหน้าเรือนจำ พร้อมกับชูป้ายเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง

 


 

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย กล่าวว่า นักโทษการเมืองไม่ได้รับสิทธิ ทั้งสิทธิการประกันตัว สิทธิการปฏิบัติอย่างเหมาะสม สิทธิการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม และความผิด 112 สังคมส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยรู้ ถ้ารู้ก็มักมีความคิดไปในทางหนึ่ง การมาร่วมอวยพรวันเกิดทั้งสองคน นอกจากขอให้มีสุขภาพใจอันเข้มแข็งที่จะเผชิญการจองจำ ยังอยากเรียกร้องของขวัญที่ประเสริฐสุดสำหรับนักโทษการเมืองคือการได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระโดยเร็วที่สุด

นายจรัลได้กล่าวเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมว่าขอให้พิจารณาคดี 112 อย่างยุติธรรม และเรียกร้องไปทางรัฐบาลในปัจจุบันขอให้กำหนดเป็นแนวทางการเมืองที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112 และปล่อยนักโทษการเมืองทั้งในคดี 112 และคดีอื่นๆ โดยเร็วที่สุด จะโดยวิธีใดก็ตาม เพราะขณะนี้เป็นรัฐบาลมากว่า 1 ปีแล้ว ปีแรกยังพอเข้าใจว่าทำอะไรไม่ได้มาก แต่พอปีที่สองแล้วต้องกล้าทำมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยตัวนักโทษการเมือง

จากนั้นนายชีเกียง (ขอสงวนนามสกุล) บิดาของนายธันย์ฐวุฒิ ได้เป็นตัวแทนเป่าเทียนวันเกิด และเดินพร้อมกับนางรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล นำเค้กไปให้นักโทษภายในเรือนจำดูขณะเยี่ยมญาติ โดยไม่สามารถนำเค้กส่งเข้าไปในเรือนจำได้ เพราะทางเรือนจำไม่อนุญาตให้นำอาหารจากภายนอกเข้าไป


นายชีเกียง และนางรสมาลิน

 

นางแต้ม แม่ของสุรภักดิ์ ผุ้ต้องขังคดี 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างเดินจากหน้าเรือนจำเข้าไปภายในจุดเยี่ยมญาติ มีการร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์และตะโกนเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นระยะด้วย

ทั้งนี้ นายธันย์ฐวุฒิ มีวันคล้ายวันเกิดในวันที่ 17 ก.ย. โดยในปีนี้มีอายุครบ 41 ปี และนายสมยศ มีวันคล้ายวันเกิดวันที่ 20 ก.ย. โดยในปีนี้มีอายุครบ 50 ปี นายสมยศยังมีกำหนดจะขึ้นฟังศาลนัดพร้อมวันพิพากษาคดีในวันที่ 19 ก.ย.นี้ที่ศาลอาญารัชดา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านริมน้ำโขงผิดหวัง ‘ยิ่งลักษณ์’ เมินรับเรื่องค้าน ‘เขื่อนไชยะบุรี’

Posted: 17 Sep 2012 10:40 AM PDT

 

ยิ่งลักษณ์ส่งผู้ตรวจราชการ ก.พลังงานรับเรื่องแทน ชาวบ้านริมน้ำโขงผิดหวัง ชี้เมื่อนายกฯ ไม่มารับยื่นหนังสือด้วยตนเอง ประชาชนจึงตกลงจะไม่พบนายกฯ เช่นกัน พร้อมยันค้านเขื่อนแม่น้ำโขงต่อไป แถมพ้อจะไม่หนุนนายกฯ อีก
 
 
วันนี้ (17 ก.ย.55) เวลาประมาณ 9.00 น. ชาวบ้านริมน้ำโขง 8 จังหวัด และเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความห่วงใยในประเด็นเขื่อนไซยะบุรี เดินทางมารวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำโปสการ์ดปลาบึกที่ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อและเขียนเหตุผลในการคัดค้านเขื่อนบนแม่น้ำโขง รวมทั้งหนังสือที่มีการเปิดลงชื่อทางระบบอีเล็คโทรนิคส์ รวมรายชื่อ 9,055 รายชื่อ เข้ายื่นให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายไม่มีการยื่นเนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ยอมมารับด้วยตนเอง
 
ข้อความในหนังสือที่เตรียมยื่นต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ระบุเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการสนับสนุนเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด และระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศ สปป.ลาวที่กำลังเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทของไทย นำโดยบริษัท ช.การช่างผู้ก่อสร้าง สนับสนุนโดยธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ดำเนินการในการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
 
"พวกข้าพเจ้า ในนามตัวแทนประชาชนและภาคประชาชน ขอนำโปสการ์ดจำนวนดังกล่าวเพื่อเสนอต่อ ฯพณฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนจากจังหวัดริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดและเครือข่ายอื่นๆ ที่มีความห่วงใยต่อปัญหาเขื่อนพลังไซยะบุรี รวมทั้งเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากประเทศกัมพูชา และนานาชาติ ด้วยความหวังว่า ฯพณฯ และรัฐบาลของท่าน จะได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยและรัฐบาลไทย ที่มีต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยืนยันการปกป้องรักษาสิทธิและความเป็นอยู่ของประชาชน" หนังสือดังกล่าวระบุ
 
นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งตรวจสอบกระบวนการทำงานของหน่วยงาน และบริษัทเอกชนของไทย ที่มีบทบาทในการสร้างเขื่อน และวางแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่น ๆ และดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งในระดับภูมิภาค และให้กับประชาชนไทยโดยเร็วที่สุด
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานเป็นตัวแทนรับหนังสือ แต่ชาวบ้านยืนยันจะพบกับนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าการได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่พวกเขาได้เลือกตั้งเข้ามาจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตระหนักถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยและรัฐบาลไทยที่มีต่อความเดือดร้อน และยืนยันปกป้องรักษาสิทธิของประชาชน 
 
อย่างไรก็ตาม ต่อมาชาวบ้านได้มีการปรับข้อเรียกร้อง โดยให้รัฐบาลส่ง ส.ส.จากจังหวัดลุ่มน้ำโขงที่ชาวบ้านเลือกตั้งเข้าไปให้มารับหนังสือแทน แต่สุดท้ายก็ไม่มีนักการเมืองเดินทางมาพบชาวบ้าน จึงไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ
 
"เมื่อนายกไม่มารับยื่นหนังสือจากชาวบ้านด้วยตนเอง ประชาชนจึงตกลงจะไม่พบนายกเช่นกัน และจะร่วมกันรณรงค์ในพื้นที่ ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ดำเนินการไม่สนับสนุนโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างไม่หยุดต่อไป และไม่อาจสนับสนุนท่านนายกฯ ได้อีก"  ข้อความจากเพจ เกาะติดไฟฟ้า ในสังคมออนไลน์ facebook โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้
 
 
สำหรับหนังสือข้อเรียกร้อง "ร่วมกันลงนามถึงนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อหยุดเขื่อนไซยะบุรี ปกป้องวิถีแม่น้ำโขง!" ซึ่งเปิดลงชื่อทางระบบอีเล็คโทรนิคส์ ให้ข้อมูลว่าขณะนี้รัฐบาลลาว กำลังผลักดันการสร้าง "เขื่อนไซยะบุรี"1,285 เมกะวัตต์ซึ่งจะปิดกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ตรงข้ามกับจังหวัดน่านของไทย และจะเป็นเขื่อนแรกที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง 
 
ตัวเขื่อนไซยะบุรีจะอยู่เหนือจาก อ.เชียงคาน จ.เลยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยขึ้นไปตามลำน้ำโขงประมาณ 200 กิโลเมตรอันเป็นระยะทางที่นับว่าใกล้มากในแง่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนริมน้ำโขงตลอดพรมแดนไทย-ลาว ทั้งในเขต จ.เชียงราย ทางภาคเหนือ และในเขต 7 จังหวัดของภาคอีสาน อันได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหารอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งอาศัยแม่น้ำโขงหาเลี้ยงชีพทั้งการทำเกษตรริมโขง และประมง ฯลฯการทำมาหาเลี้ยงชีพเหล่านี้จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเก็บกักน้ำและปล่อยน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี
 
แม้เขื่อนไซยะบุรีจะสร้างอยู่ในลาวแต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ถึงร้อยละ 95 จะส่งมาขายยังประเทศไทย ซึ่งในเดือนตุลาคม 2554 รัฐบาลไทยโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด [ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือ บริษัทไทย อันประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท นที ชินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูกของปตท.), บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (บริษัทลูกของกฟผ.) และบริษัท พี.ที.คอนสตรัคชั่นแอนด์อิริเกชั่น จำกัด] และแหล่งเงินกู้ของโครงการมูลค่า 115,000 ล้านบาทจะมาจากธนาคารสัญชาติไทย คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ 
 
ฉะนั้นประเทศไทยจึงมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการเดินหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีแทนที่ประเทศไทยจะสนับสนุนโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มูลค่านับแสนล้านบาทซึ่งจะสร้างผลกระทบมหาศาล และทำลายหลายล้านชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขงเพียงเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่ไม่สิ้นสุด ประเทศไทยควรต้องมุ่งเน้นพัฒนา 'พลังงานทางเลือก' ที่มีประสิทธิภาพยั่งยืน และเป็นธรรม
 
 
 
ทั้งนี้ หนังสือที่เตรียมมอบต่อนายกรัฐมนตรีมีเนื้อหา ดังนี้
 

 

 
17 กันยายน 2555
 
เรื่อง      ขอยื่นโปสการ์ดรูปปลาบึก ที่ประชาชน 9,055 รายนาม ลงนามไม่สนับสนุนเขื่อนไซยะบุรีในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
กราบเรียน         ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของโลก และเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงภาคอีสานและภาคเหนือของไทย ซึ่งชาวบ้านริมน้ำโขง 8 จังหวัด รวมถึงประเทศแม่น้ำโขง 6 ประเทศคือจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนามได้พึ่งพา เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญ อีกทั้งยังได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามกันมาหลายชั่วอายุคน
 
บัดนี้ ประชาชนจำนวน 9,055 คน ได้ร่วมลงนามไม่สนับสนุนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 12 เขื่อนบนลำน้ำโขง อันจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิต การประมง ระบบนิเวศ และการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง โดยการลงนามในโปสการ์ดรูปปลาบึกและลงนามในทางระบบการลงนามอีเลคโทรนิคส์และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการสนับสนุนเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด และระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่กำลังเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทของไทย นำโดยบริษัท ช.การช่างผู้ก่อสร้าง สนับสนุนโดยธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ดำเนินการในการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
 
รัฐบาลควรต้องพิจารณาถึงพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน เหมาะสม และเคารพสิทธิประชาชนผู้พึ่งพิงแม่น้ำโขง ให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีตลอดไป ทั้งนี้ ดังตัวอย่างโปสการ์ดรูปปลาบึก และเนื้อหาที่ประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และผู้สนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ได้เขียนไว้ในโปสการ์ดที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้
 
ทั้งนี้ โปสการ์ดรูปปลาบึกทั้งหมด ได้ถูกนำมาแสดงต่อสาธารณชนเป็นเวลา 1 อาทิตย์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีประชาชนในกรุงเทพมหานครและประชาชนร่วมลงนามเป็นจำนวนมาก อีกทั้งประชาชนจาก 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ทำการเดินเท้าไปรอบ ๆ บริเวณในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอ และเรียกร้องให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร รับทราบเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก
 
พวกข้าพเจ้า ในนามตัวแทนประชาชนและภาคประชาชน ขอนำโปสการ์ดจำนวนดังกล่าวเพื่อเสนอต่อฯพณฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนจากจังหวัดริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดและเครือข่ายอื่นๆ ที่มีความห่วงใยต่อปัญหาเขื่อนพลังไซยะบุรี รวมทั้งเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากประเทศกัมพูชา และนานาชาติ ด้วยความหวังว่า ฯพณฯ และรัฐบาลของท่าน จะได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยและรัฐบาลไทย ที่มีต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยืนยันการปกป้องรักษาสิทธิและความเป็นอยู่ของประชาชน และขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง ให้รัฐบาลไทย เร่งตรวจสอบกระบวนการทำงานของหน่วยงาน และบริษัทเอกชนของไทย ที่มีบทบาทในการสร้างเขื่อน และวางแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่น ๆ และดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งในระดับภูมิภาค และให้กับประชาชนไทยโดยเร็วที่สุด
 
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
 
 
(นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง)
เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
 
 
                        (นายอิทธิพล คำสุข)                                              (นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง)
  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด                          มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 ปี คอป.เสนอ 13 ข้อไขปมขัดแย้ง

Posted: 17 Sep 2012 09:27 AM PDT

นอกเหนือจากการแถลงรายงานการศึกษาข้อเท็จจริงเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.53 ฉบับสมบูรณ์แล้ว ในรายงานรวมทั้งในแถลงข่าวของ คอป.ยังมีส่วนของข้อเสนอแนะต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เรื่อสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม ฯลฯ

 

17 ก.ย.55 ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ถนนรัชดา คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงข่าวถึงรายงานการศึกษาการค้นหาความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ฉบับสมบูรณ์ หลังจากทำงานจนครบวาระ 2 ปี โดยภายหลังการนำเสนอที่มาของปัญหาในเชิงโครงสร้าง และข้อมูลรายละเอียดในประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว ยังได้มีการนำเสนอข้อเสนอแนะของ คอป.ต่อทุกฝ่าย

โดยแบ่งเป็น 13 ข้อ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์: ขอให้ทุกฝ่ายไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงระหว่างกัน  โดยหยิบเอาประเด็นบางส่วนเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเองมานำเสนอ

2.ยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน: นำหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ร่วมกับหลักกระบวนการยุติธรรมในทางอาญา หากจะมีกฎหมายนิรโทษกรรม จะต้องกำหนดขอบเขตความผิดและเงื่อนไขที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการทั่วไป และเพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลและยุติการก่ออาชญากรรมร้ายแรงในอนาคต รัฐควรเร่งพิจารณาให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และแก้ไขกฎหมายให้มีการพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลยในความผิดอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

3.หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม: ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่เป็นอิสระ ถูกแทรกแซง และขาดกระบวนการตรวจสอบ ดังนั้นทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมพึงวางตนเป็นกลางและเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด องค์กรตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายพึงระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้อำนาจที่เหมาะสมภายในกรอบกฎหมายและหลักนิติธรรม และคำนึงถึงดุลยภาพของการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในระยะยาวรัฐต้องปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ

4.หลักประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล: เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือหลักประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาล และการเคารพสิทธิมนุษยชน หากมีปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย ทุกฝ่ายจะต้องอดทนและเรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นด้วยวิธีการตามระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางของสันติวิธี

5.โครงสร้างปัญหา: รัฐบาลควรมีความมุ่งมั่นและมีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่เสมอภาค

6.การแก้รัฐธรรมนูญ: การเร่งรัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนยังมิได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามหลักการและกระบวนการที่กำหนด มีการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดให้มีเวทีสาธารณะหรือสานเสวนาเพื่ออภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหาอย่างไรและควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

7. สถาบันพระมหากษัตริย์: ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม รัฐควรสนับสนุนให้สังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง รัฐบาลและรัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้ที่มีการระวางโทษสูงเกินสัดส่วนของความผิด จำกัดดุลพินิจของศาลในการกำเนิดโทษที่เหมาะสม และการเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ แต่ประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง รัฐจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวัง ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐพึงระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยไม่ใช้อย่างกว้างขวางเกินไปกว่าที่กฎหมายบัญญัติ

8.สื่อมวลชน: เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดมมวลชนหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง สื่อทุกแขนงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ สื่อควรเพิ่มบทบาทในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งในประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเห็นในสายกลาง (moderates) เพื่อลดบทบาทของผู้ที่มีความเห็นแบบสุดโต่ง (extremists) ส่วนรัฐต้องไม่ปิดสื่อหรือเข้าไปมีอิทธิพลใดๆ ต่อสื่อ สนับสนุนการควบคุมกันเองและให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบ

9.กองทัพ: เรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างเคร่งครัดไม่ว่าในทางใด นอกจากนี้ สังคมหรือกลุ่มการเมืองจะต้องไม่เรียกร้องหรือสนับสนุนให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง โดยทุกฝ่ายต้องยึดหลักการว่ากองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Civilian control)

10. สิทธิการชุมนุม: เรียกร้องให้ผู้นำและผู้ร่วมชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยความสงบ เรียบร้อย ไม่ใช้อาวุธ  หรือสิ่งอื่นใดเยี่ยงอาวุธ ต้องยึดมั่นในวิถีทางสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด ขอให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังอย่างสูงต่อการนำกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงมาบังคับใช้เพื่อจัดการสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐต้องไม่สั่งการให้ทหารควบคุมฝูงชน แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน

11.หน่วยแพทย์ฯ: เรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยแพทย์ พยาบาล การขนส่งทางแพทย์ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม และขอให้ทุกฝ่ายใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างถูกต้อง

12.สถาบันศาสนา: เรียกร้องให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีสันติภาพและส่งเสริมสันติวิธี รัฐควรส่งเสริมให้สถาบันศาสนามีบทบาทในการลดความขัดแย้ง ยุติการใช้ความรุนแรง เยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ

13. การเผยแพร่รายงานสุดท้าย: ให้รัฐบาลและสื่อมวลชนนำเสนอและเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้ายของ คอป. ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งรากเหง้าของความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความปรองดอง ให้ประชาชนและได้รับรู้อย่างกว้างขวาง
 


=========================================================

สรุปข้อเสนอแนะของ คอป.

 

คอป. มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่อาจกระตุ้นให้ความขัดแย้งยกระดับไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ คอป.เห็นว่า สังคมไทยควรตระหนักว่าประเทศชาติได้รับความเสียหายและบอบช้ำจากปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมมาเป็นเวลานานแล้ว และควรนำวิกฤตการณ์ความรุนแรงในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อระลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นและร่วมกันประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ความประเทศต้องประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงอีก รวมทั้งช่วยกันนำพาสังคมไทยให้ก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่ความปรองดอง

คอป.ขอเรียกร้องให้รัฐและทุกภาคส่วนในสังคมนำข้อเสนอแนะของคอป.ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลต่อการปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และไม่เลือกปฏิบัติตามเฉพาะข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น โดย คอป.มีข้อเสนอแนะอันเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองของชาติ ดังนี้


๑. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรากเหง้าของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียนในการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน

คอป.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันรักษาบรรยากาศของการปรองดอง ลดทัศนคติในการเอาชนะกันและประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรงระหว่างกัน โดยเฉพาะภาคการเมืองต้องไม่นำข้อได้เปรียบทางการเมืองหรือใช้พื้นที่ทางการเมืองเพื่อทำให้ประเด็นความขัดแย้งขยายตัวเพียงเพื่อความได้เปรียบเฉพาะหน้า ในการดำเนินกระบวนการปรองดอง รัฐบาลและภาคการเมืองต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยไม่พยายามรวบรัดหรือเร่งรัดกระบวนการปรองดอง อีกทั้งรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลและมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันได้มีพื้นที่ทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้หยั่งรากลึกถึงปัญหาที่โยงใยกันอย่างซับซ้อนในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง คอป.จึงขอให้ทุกฝ่ายเรียนรู้และทำความเข้าใจสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานและก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง สำหรับการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คอป.มีความห่วงใยอย่างยิ่งว่า อาจมีข้อเท็จจริงไปขยายผลทำให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลาย เช่น การเลือกเฉพาะข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนมานำเสนอต่อสาธารชนอย่างไม่รอบด้าน เพื่อโจมตีคู่ขัดแย้งฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยข้อเท็จจริง คอป. จึงขอให้ทุกฝ่ายงดเว้นการกระทำที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าว

อนึ่ง แม้ คอป.จะสิ้นสุดวาระการดำเนินงานแล้ว กระบวนการปรองดองก็ต้องดำเนินต่อไปโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย คอป.เห็นว่า รัฐควรส่งเสริมกลไกต่างๆ ซึ่งมีความเป็นกลาง เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการปรองดองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐควรสนับสนุนด้านงบประมาณโดยไม่แทรกแซงการทำงานของกลไกดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งเครือข่ายด้านการปรองดองในชาติซึ่งอาจเกิดจากการรวมกลุ่มของบุคคลซึ่งเป็นกลางและเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งประสงค์จะมีบทบาทนำในกระบวนการปรองดองตามวิถีประชาธิปไตยและแนวทางของสันติวิธี


๒. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้

คอป.เห็นว่า ทุกฝ่ายควรทำความเข้าใจและนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)  มาปรับใช้แบบองค์รวม โดยไม่เลือกเพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนมาใช้ และคำนึงว่าหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมิได้ยกเลิกกระบวนการยุติธรรมหลัก เพียงแต่เป็นกลไกที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยที่กำลังก้าวผ่านความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง การนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้เริ่มจากการเปิดเผยความจริงและสร้างกระบวนการเรียนรู้ความจริงในหมู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ความจริงที่เปิดเผยนี้จะนำไปสู่การดำเนินคดี การเยียวยา หรือการดำเนินการเพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างอื่นที่เหมาะสม

การดำเนินคดี

คอป.เห็นว่าผู้กระทำความผิดต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย (accountability) โดยรัฐต้องนำตัวผู้กระทำผิดทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม คอป.เห็นว่า การกระทำความผิดอาญาในระหว่างที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบหรือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองสูงนั้น มีมูลเหตุประการหนึ่งมาจากความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองและมีการปลุกเร้าให้เกิดความเคียดแค้น ซึ่งบางกรณีผู้กระทำความผิดมิใช่ผู้ร้ายหรืออาชญากรโดยกมลสันดาน ดังนั้น จึงควรนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มุ่งลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างคู่ขัดแย้งและอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย

การเยียวยา

รัฐบาลต้องเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่ายอย่างจริงจัง เป็นระบบ และต่อเนื่อง ครอบคลุมความเสียหายลักษณะต่างๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น เช่น การฟื้นฟูสภาพจิตใจ การฟื้นฟูเกียรติยศของเหยื่อ การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เป็นต้น อีกทั้งรัฐบาลควรจัดทำบันทึกความทรงจำ จดหมายเหตุ หรือสร้างสัญลักษณ์ความทรงจำให้แก่สาธารณชน เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ คอป.ขอให้รัฐเร่งเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม โดยถูกตั้งข้อหารุนแรงเกินสมควรและไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวด้วย

การแสดงความรับผิดชอบโดยการขอโทษ

จากข้อเท็จจริงและรากเหง้าของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ฝ่ายต่างๆ ย่อมมีส่วนรับผิดชอบไม่มากก็น้อย ผู้นำทุกฝ่ายโดยเฉพาะนายยกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และ/หรือนายกรัฐมนตรีซึ่งบริหารประเทศในปัจจุบันควรแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยการกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน (public apology) เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี รวมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงขึ้นอีกในอนาคต คอป.ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า การขอโทษเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่จะนำไปสู่การปรองดอง ทั้งเป็นการเยียวยาโดยคำนึงถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของเหยื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองในสังคมไทย และช่วยรักษาบรรยากาศของการปรองดองในชาติ

การนิรโทษกรรม

คอป. เห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดองและกระทบต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนิรโทษกรรม คอป. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะในขณะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำการนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยต้องมีความเหมาะสมในแง่ของเวลา สถานการณ์และกระบวนการ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งต้องคำนึงถึงความต้องการของเหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ความรับผิดชอบของผู้กระทำความผิด การให้ผู้กระทำความผิดต้องชดเชยเยียวยาหรือแสดงความรับผิดชอบจนผู้ที่มีความขัดแย้งต่อกันในอดีตเกิดความเข้าใจ และให้อภัยหรือประนีประนอมกันเพื่อการนิรโทษกรรมได้ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม รัฐจะต้องประกันและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและดำเนินคดีแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน

คอป. เห็นว่าการนิรโทษกรรมจะต้องกำหนดขอบเขตความผิดและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมิใช่การนิรโทษกรรมตนเอง (self-amnesty) หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป  (blanket amnesty) โดยปราศจากเงื่อนไข นอกจากนี้ การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ใช่การลบล้างความผิดหรือยกเว้นความผิดโดยมิชอบ (impunity) คอป. เห็นว่า เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลและยุติการก่ออาชญากรรมร้ายแรงในอนาคต รัฐควรเร่งพิจารณาให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และแก้ไขกฎหมายให้มีการพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลยในความผิดอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง โดยรัฐให้หลักประกันในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม


๓. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกล่าวอ้างความถูกต้องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์ในระยะสั้นของตนเอง ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาต่อหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ทุกฝ่ายต้องมุ่งผดุงหลักนิติธรรมในประเทศอย่างจริงจังและรัฐบาลต้องยึดถือหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ รัฐและกระบวนการยุติธรรมควรนำสังคมสู่การจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และระมัดระวังมิให้กลายเป็นผู้ทำลายหลักนิติธรรมและละเมิดสิทธิของประชาชนเสียเอง นอกจากนี้ การใช้อำนาจของรัฐจะต้องสอดคล้องกับกระบวนการตามกฎหมาย (due process) และต้องดำเนินการให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากองค์กรของรัฐเองและจากองค์กรอื่นที่ไม่ใช่รัฐ

ในช่วงที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่เป็นอิสระ ถูกแทรกแซง และขาดกระบวนการตรวจสอบ โดยเฉพาะการดำเนินคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องทางการเมือง ซึ่งบุคคลบางกลุ่มรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและมีการเลือกปฏิบัติ ทำให้ขยายผลไปสู่การวิจารณ์ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีสองมาตรฐาน นอกจากนี้ คอป.พบว่าการสืบสวนสอบสวนในคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ๒๕๕๓ มีการแทรกแซง และการแสวงหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในบางกรณียังไม่สมบูรณ์และไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ทำให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น คอป. เห็นว่ารัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมพึงวางตนเป็นกลางและเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด ยึดหลักความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ และระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือของรัฐซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทั้งนี้ องค์กรตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายพึงระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้อำนาจที่เหมาะสมภายในกรอบกฎหมายและหลักนิติธรรม และคำนึงถึงดุลยภาพของการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

รัฐควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และดำเนินกระบวนการยุติธรรมโดยสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ (๑) งดเว้นการตีตรวนและใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ถูกกล่าวหาและผู้ต้องขัง (๒) ตรวจสอบอย่างเป็นระบบให้ชัดเจนเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินสมควร (๓) ดำเนินการอย่างจริงจังให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว และ (๔) คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา โดยปรับปรุงเรื่องการแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายทราบ นอกจากนี้ คอป. เห็นว่าในระยะยาว รัฐต้องปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งพัฒนาการศึกษากฎหมายและคุณภาพของบุคลากรในวงการกฎหมายให้เข้าใจหลักทฤษฎีทางกฎหมายและหลักความยุติธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการอบรมจริยธรรมของนักกฎหมาย


๔. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาล และการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย โดยเข้าใจว่าแม้ระบอบประชาธิปไตยจะมิใช่ระบอบที่ไร้ซึ่งข้อบกพร่องแต่ก็เป็นการปกครองที่ดีที่สุดในปัจจุบัน หากมีปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย ทุกฝ่ายจะต้องอดทนและเรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นด้วยวิธีการตามระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางของสันติวิธี เช่น ใช้กระบวนการทางรัฐสภา กระบวนการยุติธรรมทางศาล หรือการลงประชามติ เป็นต้น และต้องไม่แก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหาร โดยรัฐต้องเผยแพร่หลักพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยให้เป็นความรู้พื้นฐานของประชาชน รวมถึงส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยในครอบครัว สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ ในสังคม ให้มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย

รัฐต้องนำหลักธรรมาภิบาล หรือระบบการบริหารจัดการที่ดี (good governance) มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การบริหารปกครองประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ รัฐต้องแก้ไขปัญหาทุจริตและการเอื้อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องและสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาสังคมหรือเครือข่ายภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบรัฐและกลไกมาตรการการควบคุมทางสังคม (social sanction) ต่อผู้ทุจริต

รัฐต้องคุ้มครองและประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมทั้งป้องกันการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจากการกระทำของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ระหว่างที่ประเทศชาติมีความขัดแย้งและมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน คอป. เห็นว่ารัฐต้องคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) ของประชาชน ซึ่งดำเนินไปตามกรอบของกฎหมายโดยสันติวิธี รวมทั้งคุ้มครองไม่ให้บุคคลถูกคุกคามจากการใช้เสรีภาพดังกล่าว อีกทั้งต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อปิดกั้นหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามกรอบของกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่มีสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อีกทั้งควรพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น


๕. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย

ตราบใดที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งยังมิได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น สังคมไทยจะอยู่ในสภาพที่มีความขัดแย้งซึ่งบ่มเพาะอยู่และอาจปะทุกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงได้ คอป. จึงเห็นว่ารัฐบาลควรมีความมุ่งมั่นและมีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่เสมอภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมถึงการมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ รัฐบาลควรคำนึงถึงสิทธิและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกระจายอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการแทน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง


๖. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

การเร่งรัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนยังมิได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้านและไม่เข้าใจกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อกระบวนการดังกล่าวได้ คอป. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐสภา ภาคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักนิติธรรม หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักการและกระบวนการที่กำหนด ทั้งนี้ คอป. ขอย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยรัฐต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง สามารถเข้าใจประเด็นปัญหาและความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดจนให้ข้อคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้

คอป.เห็นว่า รัฐต้องจัดให้มีเวทีสาธารณะหรือสานเสวนาเพื่ออภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหาอย่างไรและควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่รอบด้าน และสามารถพิจารณาผลดีผลเสียรวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ กระบวนการดังกล่าวจะทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของโดยแท้จริง โดยรัฐควรปลูกฝังให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่าประชาชนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ รู้สึกเคารพและหวงแหนรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่รัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติไว้


๗. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวโยงกับประเด็นและความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีส่วนทำให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลายจนเกิดความแตกแยกของประชาชนและส่งผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ คอป. จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ คอป. เห็นว่ารัฐควรสนับสนุนให้สังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และให้มีเวทีให้บุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์โดยสันติวิธี

กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดคู่ขัดแย้ง เพราะไม่ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดอง คอป. เห็นว่ารัฐบาลและรัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้ที่มีการระวางโทษสูงเกินสัดส่วนของความผิด จำกัดดุลพินิจของศาลในการกำเนิดโทษที่เหมาะสม และการเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ แต่ประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง รัฐจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวังว่าจะไม่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น โดยอาจศึกษาแนวทางจากประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาปรับใช้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เหมาะสม

ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐพึงระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยไม่ใช้อย่างกว้างขวางเกินไปกว่าที่กฎหมายบัญญัติ และไม่นำมาตรการทางอาญามาใช้อย่างเคร่งครัดจนเกินสมควรโดยขาดทิศทางและไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี รัฐต้องส่งเสริมการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นเอกภาพ รวมถึงสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการโดยมีกลไกในการกำหนดนโยบายทางอาญาที่เหมาะสม สามารถจำแนกลักษณะคดี และกลั่นกรองคดีที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรม เจตนาและสถานภาพของผู้กระทำ บริบทโดยรวมของสถานการณ์ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินคดีโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นจากการถวายพระเกียรติยศสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ


๘. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสื่อ

ข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อ

สื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความแตกแยก และทำให้ความขัดแย้งในสังคมยกระดับเป็นความรุนแรง โดยเฉพาะการนำเสนอของสื่อที่บิดเบือน กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือให้ใช้ความรุนแรง คอป. ขอเรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดมมวลชนหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง สื่อทุกแขนงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ สื่อควรเพิ่มบทบาทในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งในประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเห็นในสายกลาง (moderates) เพื่อลดบทบาทของผู้ที่มีความเห็นแบบสุดโต่ง (extremists) และมุ่งให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ คอป. เห็นว่าองค์กรวิชาชีพสื่อควรมีมาตรการควบคุมสื่อและบุคลากรในวิชาชีพสื่อที่กระทำผิดมาตรฐานจรรยาบรรณอย่างจริงจัง และฝึกอบรมพนักงานถึงความสำคัญของอุดมการณ์และจริยธรรมในวิชาชีพ รวมถึงวิธีการปฏิบัติงานสื่อสารมวลชนในภาวะความขัดแย้งซึ่งมีการใช้ความรุนแรง ข้อควรปฏิบัติของสื่อมวลชนภาคสนาม และข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์

ข้อเสนอแนะต่อรัฐ

รัฐต้องมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการทำงานของสื่อให้เป็นไปอย่างอิสระ และสนับสนุนให้มีกลไกป้องกันการแทรกแซงและคุกคามสื่อด้วยอิทธิพลใดๆ และรัฐต้องแก้ปัญหาโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อเพื่อป้องกันการครอบงำสื่อ และควรออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรในกิจการสื่อมวลชนให้สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระอย่างแท้จริง คอป.เห็นว่ารัฐรัฐต้องดำเนินการในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์

รัฐต้องไม่ใช้มาตรการปิดสื่อหรือเข้าไปมีอิทธิพลใดๆ ต่อสื่อ และต้องสนับสนุนการพัฒนากลไกในการควบคุมกันเองในทางมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน โดยปราศจากการแทรกแซง นอกจากนี้รัฐควรให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบสื่อมากกว่าเป็นเพียงผู้บริโภคสื่อ และในระยะยาวรัฐต้องส่งเสริมการจัดตั้งสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ


๙. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกองทัพและทหาร

การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพและทหาร โดยเฉพาะการรัฐประหาร ส่งผลให้สังคมไทยขาดโอกาสเรียนรู้ที่จะจัดการความขัดแย้งทางการเมืองตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย และทำให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มที่เห็นว่าอำนาจอธิปไตย สิทธิ และผลประโยชน์ของตนถูกคุกคามจากการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น คอป.ขอเรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างเคร่งครัดไม่ว่าในทางใด นอกจากนี้ สังคมหรือกลุ่มการเมืองจะต้องไม่เรียกร้องหรือสนับสนุนให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง โดยทุกฝ่ายต้องยึดหลักการว่ากองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Civilian control) อีกทั้ง รัฐและกองทัพต้องสร้างทหารอาชีพที่มีความรู้ความสามารถ และปลูกฝังจิตสำนึกให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย และตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล นอกจากนี้ คอป.เห็นว่ารัฐควรตั้งผู้ตรวจการกองทัพ (Ombudsman) แห่งรัฐสภาด้วย

การใช้กำลังทหารเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศมักนำไปสู่ความรุนแรง คอป.เห็นว่ารัฐต้องไม่ใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศและการชุมนุมของประชาชนโดยเด็ดขาด เนื่องจากลักษณะของกองทัพไม่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาภายในประเทศและการควบคุมฝูงชน รัฐต้องปรับปรุงระบบการควบคุมและกำกับอาวุธของกองทัพให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรการขจัดปัญหาอาวุธที่ผิดกฎหมาย การค้าอาวุธ และมาตรการเพื่อลดอาวุธในมือประชาชน หรือลุ่มองค์กรอาชญากรรมต่างๆ นอกจากนี้ กองทัพต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและได้ผลในด้านการป้องกันและด้านวินัยต่อพฤติกรรมของทหารนอกแถวที่มีบทบาทกับกลุ่มการเมือง กลุ่มอิทธิพล และผลประโยชน์ต่างๆ ธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เกียรติภูมิของกองทัพเสื่อมเสีย โดย คอป.เห็นว่า รัฐควรแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.๒๔๗๖ ให้สามารถลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ทหารได้ทุกระดับ


๑๐. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม

เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการรับรองจากรัฐ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย คอป.ขอเรียกร้องให้ผู้นำและผู้ร่วมชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยความสงบ เรียบร้อย ไม่ใช้อาวุธ  หรือสิ่งอื่นใดเยี่ยงอาวุธ ต้องยึดมั่นในวิถีทางสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด งดเว้นพฤติกรรมหรือการใช้ถ้อยคำที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง หรือใช้ความรุนแรง รวมทั้งพฤติกรรมที่ท้าทาย หรือยั่วยุให้เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุมใช้ความรุนแรง คอป.เห็นว่าผู้นำการชุมนุมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่มีการชุมนุมโดยละเมิดกฎหมายและมีการใช้ความรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน คอป.ขอให้ประชาชนที่มิได้เข้าร่วมการชุมนุมมีความอดทนอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพดังกล่าว และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้ร่วมชุมนุมด้วยการแสดงความไม่พอใจหรือใช้ความรุนแรง

คอป.ขอให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังอย่างสูงต่อการนำกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ มาบังคับใช้เพื่อจัดการสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สอดคล้องกับหลักของความได้สัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและสังคมส่วนรวมได้ นอกจากนี้ รัฐต้องไม่สั่งการให้ทหารควบคุมฝูงชน แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมการควบคุมฝูงชนมาเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่มีการละเมิดหลักสกลในการชุมนุม รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริง เยียวยาเยื่อ และนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในการประกันเสรีภาพในการชุมนุม รัฐต้องคุมครองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมจากการแทรกแซงทางหรือประทุษร้ายโดยบุคคลที่สามที่เป็นปรปักษ์หรือต่อต้านการชุมนุมที่ดำเนินไปโดยสงบ ตลอดจนมีหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม รัฐบาลควรจัดทำแผนปฏิบัติการยุติการชุมนุมและมาตรการควบคุมฝูงชนโดยไม่ใช้ความรุนแรง เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการยุติการชุมนุมที่เหมาะสมและเพียงพอ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามหลักการสากลอย่างเคร่งครัด และประเมินความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่มีบุคคลที่ติดอาวุธแอบแฝงอยู่กับผู้ชุมนุมเพื่อใช้ความรุนแรง รัฐอาจใช้เจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นการเฉพาะปฏิบัติการต่อเป้าหมายอย่างแม่นยำเพียงเท่าที่จำเป็นตามหลักความสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าการปฏิบัติการจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น จะต้องหยุดปฏิบัติการทันที

คอป.เห็นว่ารัฐควรส่งเสริมให้เกิดบรรทัดฐานของการชุมนุมที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง โดยจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็น หากจะมีการกำหนดกติกาหรือการตรากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะในอนาคต ก็ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงประเภทและลักษณะของการชุมนุมด้วย โดยรัฐอาจศึกษากรณีต่างประเทศเพื่อมาปรับใช้ให้เหมาะสม 


๑๑. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทและการคุ้มครองของหน่วยแพทย์ พยาบาล หน่วยบรรเทาสาธารณภัยในการปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในสถานการณ์ความขัดแย้ง

คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยแพทย์ พยาบาล การขนส่งทางแพทย์ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม และขอให้ทุกฝ่ายใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างถูกต้อง โดยรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายกาชาดอย่างจริงจัง  นอกจากนี้ รัฐควรสร้างความเข้าใจกับสังคมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความสำคัญของหน่วยแพทย์หรือใช้หน่วยแพทย์เป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง อนึ่ง คอป. เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องตั้งอยู่บนหลักการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสากลอย่างเป็นกลางและไม่เลือกปฏิบัติ โดยยึดมั่นในหลักจริยธรรมทางการแพทย์และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลต้องแจ้งเตือนและประสานงานกับหน่วยแพทย์ พยาบาล และหน่วยบรรเทาสาธารณภัยเกี่ยวกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการจัดการเหตุการณ์ความรุนแรงหรือสลายการชุมนุม รัฐบาลควรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ซึ่งควบคุมฝูงชนให้เข้าใจมาตรฐานในการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยแพทย์ พยาบาล และหน่วยบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งจัดให้มีสวัสดิการและฟื้นฟูเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และบรรเทาสาธารณภัย และเชิดชูเกียรติของบุคลากรที่เสียชีวิตด้วย


๑๒. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันศาสนา

คอป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีสันติภาพและส่งเสริมสันติวิธี รัฐควรส่งเสริมให้สถาบันศาสนามีบทบาทในการลดความขัดแย้ง ยุติการใช้ความรุนแรง เยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสร้างทัศนคติที่เอื้อต่อสันติภาพ บุคลากรทางด้านศาสนาทุกศาสนาควรเพิ่มบทบาทในการลดการใช้ความรุนแรง ส่งเสริมสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งนี้ สถาบันศาสนาควรแสดงออกถึงความเป็นกลางในการแสดงธรรมหรือคำสอน โดยพึงละเว้นจากการข้องเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง เพื่อมิให้กระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันศาสนาในระหว่างที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับปัญหาความแตกแยกในสังคม


๑๓. ข้อเสนอแนะในการเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้าย

คอป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสื่อมวลชนนำเสนอและเผยแพร่รายงานฉบับสุดท้ายของ คอป. ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งรากเหง้าของความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความปรองดอง ให้ประชาชนและได้รับรู้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ต้องตรงกันต่อเหตุการณ์และสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และรับทราบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่ความปรองดองอย่างยั่งยืน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูกันดาให้ประกันตัวนักทำละครเกย์ชาวอังกฤษ

Posted: 17 Sep 2012 09:19 AM PDT

เดวิด เซซิล ถูกทางการยูกันดาจับหลังจัดแสดงละครเดอะ ริเวอร์ แอนด์ เดอะ เมาท์เท่น ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนกฏระเบียบและถูกประกันตัวด้วยวงเงินราว 6,000 บาท

17 ก.ย. 2012 BBC รายงานว่า เดวิด เซซิล ผู้ผลิตละครชาวอังกฤษที่ถูกจับกุมโดยทางการยูกันดาเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว
 
เดวิด เซซิล ถูกจับกุมหลังจากที่ทำละครเกี่ยวกับชาวเกย์ ในชื่อเดอะ ริเวอร์ แอนด์ เดอะ เมาท์เท่น โดยไม่ได้รับอนุญาต เขาถูกตั้งข้อหา "ฝ่าฝืนกฏระเบียบ" ซึ่งหากได้รับการพิพากษาว่ามีความผิด เขาจะต้องโทษจำคุก 2 ปี
 
ละครเรื่องดังกล่าวมีการแสดงในโรงละครสองแห่งในกรุงกัมปาลาเมืองหลวงของยูกันดา เป็นเรื่องราวของนักธุรกิจชาวเกย์ที่ถูกสังหารโดยลูกจ้างของตนเอง
 
หนังสือพิมพ์เดลีมอนิเตอร์ของยูกันดารายงานว่าสภาสื่อได้เตือนผู้สนับสนุนละครเรื่องนี้แล้วว่าอย่าเพิ่งแสดงจนกว่าจะได้รับอนุญาต
 
เซซิลถูกปล่อยตัวหลังวางเงินประกันตัว 500,000 ชิลลิ่ง (ราว 6,000 บาท) เขาถูกสั่งให้คืนพาสปอร์ตและต้องรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 18 ต.ค.
 
ทนายความของเซซิล จอห์น ฟรานซิส ฮอนยันโก กล่าวว่าลูกความของเขายังมีสุขภาพดี
 
การกระทำเชิงรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฏหมายในยูกันดา และชาวเกย์ก็ถูกทำร้ายร่างกายและถูกสังคมกีดกัน
 
มีกฏหมายต่อต้านเกย์ที่ต้องการให้มีการตัดสินโทษประหารชีวิตผู้ที่กระทำเชิงรักร่วมเพศ ถูกนำเสนอในสภาของยูกันดาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
 
กฏหมายฉบับนี้ถูกนำเสนอครั้งแรกเมื่อปี 2009 แต่ไม่เคยมีการนำมาอภิปราย และส.ส. ที่สนับสนุนร่างกฏหมายนี้บอกว่าจะมีการยกเลิกข้อความที่เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต
 
 
ที่มา
Uganda frees British producer David Cecil over gay play, BBC, 17-09-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคาะงบหนุนสร้างสภาวะเอื้อดับไฟใต้ กพต.อนุมัติซื้อโรงแรมร้างกลางเมืองยะลา

Posted: 17 Sep 2012 09:14 AM PDT

อนุมัติ ศอ.บต.ซื้อโรงแรมร้างบนทำเลทองกลางเมืองยะลา สร้างศูนย์เยียวยา เผยได้ของถูก ต่ำกว่าราคาประเมินเกือบ 60 ล้าน ตั้งอนุกรรมการซื้อที่ดินชายแดนใต้

 

ศอ.บต.ซื้อ - โรงแรมชางลีกลางเมืองยะลาถูกทิ้งร้างมานานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบ
กำลังจะได้รับการปรับปรุงอีกครั้งหลังจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ได้รับอนุมัติให้ซื้อมาสร้างเป็นศูนย์เยียวยา
(ภาพจาก 
http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=1298545&page=81)

 

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 กันยายน 2555 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 3/2555 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในแผนบูรณาการ/โครงการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเร่งด่วน ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกัน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน ซึ่งจะเสนอขอความเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้ง 5 กลุ่มงาน มีดังนี้ 1.กลุ่มงานการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน งบประมาณ 1,003 ล้านบาท 2.กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงการพื้นฐาน 1,050 ล้านบาท 3.กลุ่มงานยุติธรรม 1,134 ล้านบาท 4.กลุ่มสิทธิมนุษยชนและการสร้างความเข้าใจ 49 ล้านบาท และ 5.กลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง 23 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3,262 ล้านบาท

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ศอ.บต. ซื้อโรงแรมชางลี ซึ่งเป็นโรงแรมหรูชื่อดังบนถนนสิโรรส กลางเมืองยะลาพร้อมที่ดินซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้าง เพื่อจัดทำเป็นสถาบันส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และศูนย์ฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ งบประมาณทั้งสิ้น 167 ล้านบาท  โดยใช้จ่ายจากงบกลางรายการเงินสำรองฉุกเฉินปีงบประมาณ 2555 จำนวน 90 ล้านบาท ที่เหลือใช้งบปี 2556 จำนวน 76 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าว ต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินประมาณ 59 ล้านบาท

ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้ตั้งอำเภอใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา โดยรวมพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง กับตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ขึ้นเป็นอำเภอใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ซับซ้อน รวมทั้งประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาและการพัฒนาไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร ซึ่ง กพต.จะมอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อไป

ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับที่ดินและทรัพย์สินจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดสรรงบ 1,200 ล้านบาท ในการซื้อที่ดินคืนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ จนต้องย้ายออกจากพื้นที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 6 ปีรัฐประหารอัปยศ

Posted: 17 Sep 2012 09:04 AM PDT

เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นายทหารกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมด้วย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 พล.ท.อนุพงศ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 เป็นต้น ได้นำกองทัพเข้าก่อการยึดอำนาจทำการรัฐประหาร เพื่อล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ได้ทำการล้มเลิกประชาธิปไตย แล้วล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งชาติไปด้วย มาถึงขณะนี้เวลาผ่านมาแล้ว 6 ปี คงจะต้องสรุปว่า การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นครั้งล้มเหลวที่สุด เป็นการรัฐประหารที่นำมาสู่ความวุ่นวาย ความแตกแยก และการนองเลือดของประชาชน และเป็นการชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้กรอบแนวคิดอนุรักษ์นิยมจัด ย่อมไม่ได้ผล และนำไปสู่ความอัปยศเป็นที่สุด

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า การรัฐประหารในประเทศไทยครั้งนั้น เผชิญปัญหาประการแรกทันที เพราะเป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เอื้ออำนวยของสถานการณ์ระหว่างประเทศ เพราะโลกนานาชาติไม่ได้ถือกันแล้วว่า การรัฐประหารเป็นวิถีทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบอารยะ ประเทศที่ก้าวหน้าในยุโรป ไม่มีการรัฐประหารมาเป็นเวลาช้านาน ในลาตินอเมริกา แอฟริกา ก็แทบจะไม่เหลือประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการรัฐประหารเลย การรัฐประหาร พ.ศ.2549 ของไทยจึงถูกมองด้วยความประหลาดใจและไม่เข้าใจ กล่าวกันว่าแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็มีความเห็นว่า การรัฐประหารในไทยครั้งนั้น "ไม่มีเหตุผลที่จะยอมรับได้" สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้คณะรัฐประหารไม่สามารถถือครองอำนาจไว้ได้ยาวนาน ต้องรีบดำเนินการให้กลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองปกติโดยเร็ว

ความล้มเหลวของการรัฐประหารประการสำคัญ เห็นได้จากการไม่บรรลุข้ออ้างในการรัฐประหาร เช่น ข้ออ้างที่จะทำหารรัฐประหารเพื่อการป้องกันความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม จะเห็นได้ว่า หลังรัฐประหาร สังคมไทยก็ยังแตกแยกยิ่งกว่าเดิม และยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และจนถึงขณะนี้ ผลกระทบจากความแตกแยกและความรุนแรงก็ยังไม่อาจเยียวยาได้ แม้ว่า พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ในวันนี้ จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการปรองดองฯของรัฐสภา พร้อมทั้งเสนอกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่การปรองดองก็ยังไม่บรรลุผล

ข้ออ้างต่อมา คือ เรื่องของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เห็นได้ชัดว่า หลังจากการัฐประหาร มีการเอาอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายศัตรูทางการเมืองกันชัดเจน ดังเช่นการใช้มาตรา 112 มาจับกุมประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก จนถึงขณะนี้ ก็ยังมีผู้บริสุทธิ์ถูกคุมขังอยู่ การที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขังผู้บริสุทธิ์ หรือทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตคาคุกเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่จะยิ่งทำให้เกิดความแยกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น

ข้อกล่าวหาเรื่อง รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทรกแซงองค์กรอิสระ ในวันนี้ องค์กรอิสระทั้งหมดก็ยังถูกแทรกแซงโดยฝ่ายตุลาการ ที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ มีบทบาทอันอัปลักษณ์บิดเบี้ยว การดำเนินการและผลงานล้วนไม่เป็นที่ยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอยุติธรรม เช่นเดียวกับองค์กรตุลาการอื่น ส่วนข้อกล่าวเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์อันชัดเจนแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นมายาคติขนาดใหญ่ ที่ยังคงมีการสร้างอย่างต่อเนื่อง และทำให้ฝ่ายประชาชนเสื้อเหลืองเชื่อว่าเป็นความจริง และยังคงต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไม่ลืมหูลืมตา

แต่ผลของการรัฐประหารที่เสียหายอย่างยิ่ง คือ การล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะความจริงแล้วการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยพัฒนาอย่างราบรื่นมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และมีกติกาชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด และรวบรวมเสียงในรัฐสภาได้มากกว่าครึ่ง ก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล และการเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นไปตมครรลองประชาธิปไตยเสมอ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2540 ก็ถือว่าเป็นฉบับประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดฉบับหนึ่ง แต่คณะรัฐประหารล้มเลิกหมด และนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์ ที่ให้อำนาจแก่ศาลเหนือการเมือง มาใช้แทน จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่กระนั่นความพยายามที่จะแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมอัปลักษณ์นี้ ก้ยังถูกต่อต้านจากฝ่ายปฏิกิริยาเสมอมา

ปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ความรุนแรงก็คือ การที่กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลังทางการเมืองหลังรัฐประหาร สนับสนุนให้มีการตั้งรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่สองในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2550 โดยให้มีการรวบรวมเสียงจากพรรคเสียงเล็กน้อยกับกลุ่มแปรพักตร์มาตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ นั่นคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รับตำแหน่งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 จึงนำมาซึ่งการต่อต้านคัดค้านอย่างหนัก ในที่สุด ชนชั้นนำที่ค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็สนับสนุนการใส่ร้ายป้ายสีด้วยการสร้างผังล้มเจ้า เพื่อเปิดทางให้เกิดการใช้ความรุนแรงในการกวาดล้างปราบปรามประชาชนด้วยกองทัพ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 คน และบาดเจ็บนับพันคน มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก และในขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถูกจับกุมอยู่

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็ได้ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ โดยเฉพาะในเรื่องการตื่นตัวของประชาชน ที่มีความสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมือง อันทำให้การรัฐประหารครั้งใหม่คงเกิดขึ้นอีกได้ยาก และที่เห็นได้คือ การเกิด"ปรากฏการณ์ตาสว่าง" ที่ทำให้ประชาชนเห็นถึงความชั่วร้ายของฝ่ายอำมาตย์ และทำให้เกิดการปฏิเสธสถาบันหลัก(Establishment)ที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน และทำให้เห็นว่า สังคมไทยที่แท้จริงแล้วเป็นเมืองตอแหล หน้าไหว้หลังหลอก พร่ำพูดกันแต่เรื่องดีด้านเดียว ไม่สนใจความจริง ชนชั้นนำไทยไม่สนใจและเอาใจใส่ชีวิตของประชาชนระดับล่าง ยิ่งกว่านั้น คือ การได้เห็นธาตุแท้ของตุลาการและกระบวนยุติธรรม ที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนชั้นล่าง แต่ยอมจำนนกับการรัฐประหาร และพร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้มีการจับผู้บริสุทธิ์เข้าคุก

สถานการณ์ในระยะ 6 ปีนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่จะสร้างประเทศให้มีความก้าวหน้ามั่นคง ไม่อาจจะฝากความหวังใดกับชนชั้นนำ เพราะชนชั้นนำไทยมีแนวโน้มทางทัศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมจัด โลกทัศน์แคบ หวาดกลัวความคิดแตกต่าง ยอมรับและปอปั้นอภิสิทธิ์ชน และไม่นิยมประชาธิปไตย อำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงอยู่ที่ประชาชนระดับล่าง ซึ่งมีใจรักประชาธิปไตย เคารพในสิทธิของมนุษย์ คิดในหลักเสมอภาค และ มีจิตใจกล้าต่อสู้ ปัญญาชนที่ก้าวหน้าและอยู่ฝ่ายประชาชน เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ครก.112 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ นักวิชาการแนวหน้าคนอื่น อาจจะมีบทบาทในการนำเสนอประเด็นต่อสังคมไทย แต่การผลักดันให้เป็นจริง ย่อมอยู่ที่การทำให้ประเด็นเหล่านั้นมีลักษณะยอมรับร่วมกันในหมู่ประชาชน การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงจะเป็นจริงได้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิหร่านยอมรับ ช่วยเหลือด้านข้อมูลแก่รัฐบาลซีเรีย

Posted: 17 Sep 2012 08:58 AM PDT

 

นายพลจาฟารีของอิหร่าน แถลงข่าวยอมรับว่า กองกำลังปกป้องการปฏิวัติของอิหร่าน ส่งหน่วยช่วยเหลือด้านข่าวกรองและให้คำแนะนำแก่กองทัพซีเรียในการสู้รบกับฝ่ายกบฏ แต่ยืนยันไม่ได้ส่งไปช่วยสู้รบโดยตรง

 
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษรายงานว่า ผู้บัญชาการกองกำลังปกป้องการปฏิวัติของอิหร่าน (IRGC) ยืนยันว่า มีการส่งกองกำลังปกป้องการปฏิวัติของอิหร่านเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาล และเตือนว่าทางอิหร่านมีการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงหากเกิดกรณีที่ประเทศพันธมิตรอาหรับถูกโจมตี
 
นายพลโมฮัมหมัด อาลี จาฟารี กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่งของ IRGC เข้าไปในซีเรีย แต่ก็อ้างว่าการมีอยู่ของหน่วย Qods จากกองกำลัง IRGC ไม่ได้หมายถึงการช่วยรบภาคสนามในซีเรีย
 
สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน กล่าวว่า การเปิดเผยในครั้งนี้เป็นการตอบโต้ที่น่าประหลาดใจต่อข้อกล่าวหาที่ประเทศตะวันตก อิสราเอล และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของซีเรียที่กล่าวอ้างมาตลอดว่า ฝ่ายอิหร่านให้การช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียในการสู้รบ
 
เดอะการ์เดียนกล่าวว่า การออกมายอมรับของนายพลจาฟารี เน้นให้เห็นว่าการลุกฮือในซีเรียกลายเป็นเรื่องที่ชาติปฏิปักษ์ต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเข้ามามีส่วนพัวพัน ประเทศซาอุดิอารเบีย, กาตาร์ และตุรกีทำการติดอาวุธให้กับกลุ่มกบฏในซีเรีย ขณะที่สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส เรียกร้องให้อัสซาดลงจากตำแหน่งและจำกัดการช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธในทางที่ไม่ใช่ความรุนแรง แต่ในที่ประชุมของสหประชาชาติทางรัสเซียและจีนก็พยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการใช้มาตรการใดๆ ต่อซีเรีย
 
กองกำลังหน่วย Qods ของอิหร่านประกอบด้วยกองกำลังพิเศษ หน่วยข่าวกรองรวบรวมข้อมูลที่คอยให้การช่วยเหลือและให้ข้อมูลต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี กองกำลังหน่วยนี้เคยถูกกล่าวหาเรื่องวางแผนโจมตีในอิรักตั้งแต่เหตุการณ์โค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน จาฟารีกล่าวว่า IRGC คอยให้ความช่วยเหลือทางด้านข้าวกรองและคำแนะนำแก่ซีเรีย
 
เจ้าหน้าที่ทางการของอังกฤษกล่าวว่า IRGC ได้ให้เครื่องมือและคำแนะนำทางเทคนิคแก่รัฐบาลซีเรียในการปราบบรามฝ่ายต่อต้าน ยกตัวอย่างเช่น วิธีการเทกองกำลังรักษาความสงบจำนวนมากลงไปในพื้นที่ นอกจากนี้แล้วอิหร่านยังได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรียในด้านการพัฒนาการรวบรวมข่าวสาร และช่วยสอดส่องการใช้อินเตอร์เน็ตกับเครื่อข่ายโทรศัพท์ของฝ่ายผู้ประท้วง รวมถึงการส่งข้อความตัวอักษรด้วย
 
มีรายงานว่าอิหร่านไม่พอใจต่อการใช้กำลังของประเทศพันธมิตรอาหรับในการตอบโต้ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 2011 ซึ่งขัดกับวืธีการตอบโต้ผู้ชุมนุมของอิหร่านที่มีความซับซ้อนกว่า ในช่วงที่มีการประท้วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2009
 
นายพลจาฟารีกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวอีกว่า หากซีเรียถูกโจมตีด้วยทหาร อิหร่านพร้อมจะให้การสนับสนุนทางกองทัพ แต่ก็ต้องดูบริบทโดยรวมก่อน จาฟารีบอกอีกว่า หากมีสงครามเกิดขึ้นจริงในพื้นที่และสาธารณรัฐอิสลามเข้าร่วมสงครามด้วย ช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นแหล่งสำตัญในการค้าน้ำมันอาจตกเป็นเป้าโจมตีของอิหร่าน
 
แผนสร้างสันติของทูตยูเอ็นคนใหม่
ลัคดาร์ บราฮิมี ทูตผู้มีประสบการณ์ชาวอัลจีเรียผู้ที่ทำหน้าที่ต่อจากโคฟี่ อันนัน ในการเป็นตัวแทนช่วยเหลือแก้ปัญหาวิกฤติในซีเรียเข้าพบประธานาธิบดีอัสซาดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ก็เตือนว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาอาจเป็นไปอย่างเชื่องข้าเนื่องจากช่องว่างระหว่างฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายรัฐบาลที่ถ่างกว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็บอกว่าวิกฤติในซีเรียกำลังอันตรายและร้ายแรงมากขึ้น เป็นภัยต่อประชาชนชาวซีเรีย ต่อภูมิภาคอาหรับ และต่อโลก
 
บราฮีมี ยังได้เข้าพบตัวแทนของฝ่ายตอ่ต้านในซีเรีย ฮัสซัน อับเดล อะซิม โฆษกของคณะกรรมการประสานงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงตามหลักประชาธิปไตยแห่งชาติซีเรียกล่าวว่า พวกเขาบอกกับบราฮิมีว่าพวกเขาให้การสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขวิกฤติโดยการหยุดยั้งความรุนแรงและการสังหาร รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
 
แต่ผู้นำกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) คาดการณ์ว่าแผนการสรางสันติของตัวแทนจากยูเอ็นจะประสบความล้มเหลว เช่นเดียวกับกรณีของอันนัน เนื่องจากบราฮิมี ไม่มีข้อเสนอใดๆ ต่อฝ่ายที่กำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
 
ด้านสำนักข่าวซานาของรัฐบาลซีเรียรายงานโดยอ้างคำกล่าวของปธน.อัสซาดที่กล่าวต่อบราฮิมีว่า ความสำเร็จของภารกิจขึ้นอยู่กับ "การกดดันให้ประเทศที่เกื้อหนุนด้านการเงิน ฝึกซ้อมรบให้ผู้ก่อการร้าย และส่งอาวุธมาที่ซีเรีย หยุดการกระทำเหล่านี้"
 
มีรายงานจากซีเรียเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาอีกว่ากลุ่มกบฏได้ต่อสู้ท่ามกลางการระดมยิงอาวุธหนักและการใช้สไนเปอร์ในกรุงดามาสกัส อเล็ปโป ฮอม และดิแอร์ เอซซอร์ จากข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุขัดแย้งในซีเรียตอนนี้มีมากถึงราว 20,000 ราย ขณะที่แหล่งข่าวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบอกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเข้าใกล้ปริมาณ 30,000 รายแล้ว
 
 
ที่มา
Iran confirms it has forces in Syria and will take military action if pushed, The Guardian, 16-09-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพครูชิคาโก้ ยังสไตรค์ต่ออาทิตย์ที่สอง

Posted: 17 Sep 2012 06:02 AM PDT

การผละงานครั้งแรกในรอบ 25 ปีของครูในชิคาโก้กว่า 2 หมื่นคน ยังดำเนินเป็นสัปดาห์ที่ 2 เพื่อกดดันให้รัฐเลิกระบบประเมินผลแบบใหม่และเพิ่มสวัสดิการครู ในขณะที่นายกฯ ชิคาโก้ระบุการชุมนุมเป็นเรื่อง "ผิดกฎหมาย"

17 ก.ย. 55 - สำนักข่าวบีบีซี รายงานการผละงานของสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินมาเป็นสัปดาห์ที่สองว่า นายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก้ ได้เตรียมขอหมายศาลเพื่อยุติการประท้วงของครูเมืองชิคาโก้ราว 25,000 คน ที่กำลังคัดค้านระบบประเมินผลครูแบบใหม่และเรียกร้องสวัสดิการที่มากขึ้น ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าว เป็นการผละงานครั้งแรกในรอบ 25 ปีของสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ 

การผละงานของสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ ที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนกว่า 350,000 คน เริ่มต้นขึ้นเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ย. 55 หลังจากที่การเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานครูและนายกเทศมนตรีไม่สามารถหาข้อตกลงเรื่องค่าจ้างและระบบการประเมินคุณภาพครู ซึ่งดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน
 
นายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก้ ราห์ม เอมานูเอล อดีตหัวหน้าคณะทำงานในทำเนียบขาวของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประณามการนัดหยุดงานดังกล่าวของครูชิคาโก้ และกล่าวในแถลงการณ์ว่า การผละงานเป็นการ "ผิดกฎหมาย" และ "ไม่ถูกต้องต่อเด็กๆ ของเรา"​ 
 
การเผชิญหน้าดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับปธน. โอบามา ในฐานะผู้มีฐานเสียงที่เมืองชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ ระหว่างช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นเดือนพ.ย. นี้
 
ด้านสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ ระบุว่า หากระบบประเมินผลแบบใหม่ถูกนำมาใช้ จะทำให้ผลการเรียนของนักเรียนมีผลต่อการประเมินคุณภาพของครูราวร้อยละ 40 ซึ่งทางสหภาพเกรงว่า วิธีนี้ อาจทำให้ครูร้อยละ 25 ในโรงเรียนรัฐต้องตกงาน 
 
ถึงแม้นายกเทศมนตรีชิคาโก้จะขอหมายศาลเพื่อสั่งห้ามการผละงาน แต่ทางตัวแทนของสหภาพแรงงานครูคาเรน ลูอิส กล่าวว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพฯ ราว 26,000 คน โหวตว่าจะยังคงผละงานต่อไป เพื่อให้การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายยังสามารถดำเนินต่อไป
 
ทั้งนี้ นายกฯ เอมนานูเอล ต้องเผชิญกับงบขาดดุลด้านการศึกษาราว 700 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปีที่แล้ว และกล่าวว่า ข้อเสนอที่ตกลงไว้กับสหภาพแรงงาน จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 295 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 4 ปี 
 
โดยข้อเสนอของสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ ได้เรียกร้องให้รัฐชะลอเวลาการนำระบบประเมินผลใหม่มาใช้ และลดน้ำหนักของคะแนนผลการเรียนของนักเรียนที่มีผลต่อการประเมินคุณภาพครู การคงไว้ซึ่งสวัสดิการด้านสุขภาพที่เท่าเดิม​ และให้ขึ้นเงินเดือนร้อยละ 3 ในปีนี้ และอีกร้อยละ 2 ในปีต่อไป 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก 
 
Rahm Emanuel says Chicago teachers' strike 'illegal'
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายอมรับ FTAไทย-ยุโรปต้องรอบคอบ กระทบเรื่องยา

Posted: 17 Sep 2012 05:28 AM PDT

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ทำเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ฉะนั้นต้องรอบคอบ ด้านนักวิชาการชี้ควรเจรจาเฉพาะส่วน อย่าเอาประเด็นทางสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปแลก

 

17 ก.ย.55  นางปัจฉิมา ธนสมบัติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้สัมภาษณ์ทางรายการเช้าทันโลก เอฟเอ็ม 96.5 กล่าวถึงความพยายามของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่พยายามเร่งให้มีการเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องทำอย่างรอบคอบ และหากไทยไปยอมรับความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ตามที่สหภาพยุโรปต้องการ จะนำไปสู่การแก้กฎหมายซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆ ขององค์การการค้าโลกจะมาเรียกร้องขอใช้ประโยชน์ด้วย

"เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในข้อการเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป ที่กระทรวงสาธารณสุขกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเข้าไปมีส่วนของกรมฯ เราเห็นว่าต้องรอบคอบ เพราะเท่ากับเป็นการขยายเวลาสิทธิบัตรที่จดทะเบียนเอาไว้ ทางกรมฯเห็นว่า น่าต้องมีเอกสารหลักฐานข้อดี ผลกระทบอย่างไรจะเกิดขึ้น และที่ตามมาคือต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ต้องศึกษาประเทศอื่นๆ ว่า เป็นเช่นไร ไม่ใช่ทำกันบางประเทศ แล้วไปยอมรับมา น่าจะดูผลประโยชน์ส่วนใหญ่ เพราะจะมีปัญหากับการเข้าถึงยาของประชาชนด้วย ยาเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แล้วประเทศอื่นๆก็จะมาขอ เราจะไม่ให้ก็เป็นปัญหา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก คือเรื่องใหญ่เลย"

เมื่อถูกถามว่าได้ให้ข้อมูลกับกรมเจรจาฯบ้างหรือไม่ เพราะกรมเจรจาฯทำจุดยืนเสนอรองนายกฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนองว่า การยอมรับทริปส์พลัสจะไม่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า แจ้งไปว่ามีกระทบและต้องแก้ไขกฎหมายอยู่แล้ว ต้องมีการชี้แจงหลายเรื่อง อีกทั้งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาข้อบทที่เกี่ยวกับเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปตรงๆ จึงควรรอบคอบ

ทางด้าน รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในการสัมมนา "Thai Trade Policy at A Crossroads: TPP, AEC, FTAs, and Beyond" ที่จุฬาฯ ระบุว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ แผนแม่บทในการเจรจาการค้า ทำให้ไม่มีทิศทาง หากไทยคิดจะเข้าสู่การเจรจาความตกลงข้ามแปซิฟิค (TPPA) ที่สหรัฐฯกำลังเป็นเจ้าภาพต้องคิดให้หนัก เพราะมีต้นทุนสูง และไทยไม่น่ามีความพร้อม และควรเน้นเรื่องอาเซียนมากกว่า

ทางด้าน ดร.รัชดา  เจียสกุล  ผู้จัดการอาวุโสบริษัทไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) ซึ่งทำการศึกษาผลได้จาก TPPA ให้กับกรมเจรจาฯ ให้ความเห็นว่า การเจรจาการค้าที่ใช้หลักการ single undertaking หรือ เอาต้องเอาทั้งหมดหมด ไม่เอาก็จะไม่ได้ทั้งหมด ต้องทบทวน เพราะปัจจุบัน การเจรจาการค้ามีประเด็นทางสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมสูง ถ้ารัฐบาลเห็นว่า บางภาคเศรษฐกิจ เช่นบริการ หรือสินค้า จะได้ประโยชน์ ก็ควรเจรจาเฉพาะส่วน น่าจะเหมาะสมกว่า

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์แสดงความห่วงใยต่อข้อเรียกร้องของทางอียู ที่ขอให้ 1.การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี 2.การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูล ที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อไป อย่างน้อย 5 ปี (Data exclusivity) และ 3.การจับยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สิน ทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน เพราะทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง อาจส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของรัฐ  กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปีและการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าและมีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34% และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66% ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ  แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77% ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23% เท่านั้น จากมูลค่ายา ของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2554) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายาสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภาย ในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เว็บกระทรวงศึกษาฯ โดนแฮก

Posted: 17 Sep 2012 04:08 AM PDT

เว็บไซต์บล็อกนันรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.40 น. มีผู้พบว่า มีมือดีไปเปลี่ยนภาพแบนเนอร์ 3 ภาพ ในหน้าเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ

ภาพแรกเขียนว่า "Hacked by Gleich zi Libertia... We don't need you.. Bring me democrazy !"
ภาพที่ 2 เขียนว่า "พวกเราคือ "Libertia" เราทำในสิ่งที่เราอยากทำ เพื่อรักษาเสรีภาพของเรา คุณไม่มีสิทธิ์ในการควบคุมวัยรุ่นอยากพวกเรา เรามีชีวิต เรามีกฎของพวกเราเอง"
ภาพที่ 3 เขียนว่า "We're Libertia We do whatever we want, before we can. Don't dominant your teenager. We have our life, We have our rules"

ทั้งนี้ พบว่าแฮกเกอร์ได้มีการประกาศล่วงหน้าเอาไว้แล้วในเพจ โหดสัส V2 ในเฟซบุ๊ก

ล่าสุด (18.05น.) เว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการยังไม่สามารถเข้าชมเนื้อหาตามปกติ ขณะที่ ทวิตเตอร์ของไทยรัฐ ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และจะตามล่าตัวผู้กระทำอย่างแน่นอน

 


 

 

 

ที่มา: 
เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการโดนแฮก, blognone 
http://www.blognone.com/node/36112

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เงียโจ งามยิ่ง' ราษฎรไทยที่ถือบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 8

Posted: 17 Sep 2012 02:14 AM PDT


"เราก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ให้เราเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะเราก็เข้าใจว่าเราทำตามกฎหมายทุกอย่างแล้ว"
นายเงียโจ งามยิ่ง 3 กันยายน 2555


 

นาย เงียโจ งามยิ่ง มาประชุมผู้ใหญ่บ้าน ณ ที่ว่าการอำเภอุ้มผางเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา

วันนี้มีนัดสอบถามข้อเท็จจริงกรณีนายเงียโจ ผู้ใหญ่บ้านแม่จันที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกบ้าน ซึ่งต่อมาถูกพิจารณาว่า ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะเขาไม่ได้เป็น "ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด" เพราะเลขประจำตัวประชาชนของเขาขึ้นต้นด้วยเลข 8

ณ วันนี้ แม้นายเงียโจ งามยิ่ง จะไม่มีหนังสือยืนยันถึงความเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ในการประชุมผู้ใหญ่บ้านที่ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง เขายังมาร่วมและช่วยงานทางราชการอยู่ และนี่เป็นโอกาสที่จะได้คุยกับเขา

จากคำบอกเล่าของนายเงียโจพบว่า เขาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่จันทะ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยนายเงียโจได้ยื่นพยานหลักฐานประกอบการสมัครรับเลือกตั้งต่อนายอำเภออุ้มผาง และได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจากคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งทางคณะกรรมการได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายเงียโจแล้วพบว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ปรากฎว่าเงียโจได้รับเลือกตั้งจากชาวบ้านให้เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง (จากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้นจำนวน 6 คน) ต่อมานายอำเภออุ้มผางได้ออกคำสั่งแต่งตั้งนายเงียโจ งามยิ่ง ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (หนังสือคำสั่งอำเภออุ้มผางที่ 73/2555 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555)

แต่ภายหลังการแต่งตั้งได้ไม่นาน ทางปลัดอำเภอได้แจ้งให้นายเงียโจทราบว่า ทางจังหวัดตากยังไม่สามารถออกหนังสือสำคัญการเป็นผู้ใหญ่บ้านแก่นายเงียโจได้ เพราะนายเงียโจไม่ได้เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 12 (1) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช พ.ศ. 2457 จึงถือว่านายเงียโจขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน

อย่างไรก็ดี ปลัดอำเภอได้แจ้งว่า ทางอำเภอไม่ได้มีข้อขัดข้องใดๆ เนื่องจากนายเงียโจผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว และทางอำเภอก็ได้ออกหนังสือแต่งตั้งให้นายเงียโจเป็นผู้ใหญ่บ้านไปแล้วเช่นกัน จึงขอให้นายเงียโจปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านต่อไป และทางอำเภอก็รับปากว่าจะดูแลปัญหาเรื่องนี้ให้ ทางเงียโจจึงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านเรื่อยมา เช่น การส่งชาวบ้านออกมาอบรมหลักสูตรชรบ.กับทางอำเภอ เป็นต้น จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม นายเงียโจกล่าวว่า การที่ยังไม่มีหนังสือแต่งตั้งการเป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการส่งมาจากทางจังหวัดนั้น ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ การรับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนายเงียโจบอกว่า เพิ่งได้รับค่าตอบแทนเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ส่วนค่าตอบแทนตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อต้นปียังไม่ได้รับ และไม่สามารถตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาช่วยปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะชาวบ้านหลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่า นายเงียโจได้เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยสมบูรณ์แล้ว

นายเงียโจกล่าวอีกว่า ตนเองมีความสงสัยว่า น่าจะมีบุคคลที่เป็นคู่แข่งในการรับเลือกตั้งไปแจ้งกับทางอำเภอว่า นายเงียโจเป็นบุคคลต่างด้าว ทำให้เกิดปัญหาขัดข้องในการเข้ารับการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านดังกล่าว

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือ เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 12 (1) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พุทธศักราช 2457 ซึ่งได้วางหลักไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วนายเงียโจเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ อย่างไร

จากการสอบถามข้อเท็จจริง นายเงียโจเล่าว่า นายเงียโจมีบิดาชื่อ นายเงียซะ งามยิ่ง มีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 มารดาชื่อ นางคำหล้า งามยิ่ง มีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5 นายเงียโจเป็นบุตรชายคนโต มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 7 คน

จากพยานหลักฐานที่เป็นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลในครอบครัวของนายเงียโจพบว่า นายเงียซะ นายเงียโจ และนายบุญดี (บุตรชายคนที่สองของนายเงียซะและนางคำหล้า) ถือบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 ส่วนนางคำหล้าและลูกๆ คนที่เหลือทั้งหมดถือบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5

นายเงียโจเล่าต่อมาว่า สาเหตุที่บุคคลในครอบครัวของนายเงียถือบัตรประจำตัวประชาชนโดยมีเลขประจำตัว แบ่งเป็นสองกลุ่มเช่นนี้ เหตุผลก็คือ แต่เดิมนั้นทางอำเภออุ้มผางได้เข้าไปแจ้งให้ชาวบ้านในหมู่บ้านของนายเงียโจ ไปทำบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงที่ทางตัวอำเภออุ้มผาง แต่เนื่องจากการคมนาคมจากหมู่บ้านของนายเงียโจไปยังตัวอำเภออุ้มผางนั้นมีความยากลำบากมาก ประกอบกับนางคำหล้ากำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนเล็กด้วย ทั้งครอบครัวจึงมีแค่นายเงียซะ นายเงียโจ นายบุญดีเท่านั้นที่เดินทางออกจากหมู่บ้านมาทำบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า) ส่วนนางคำหล้าและน้องคนอื่นๆ นั้นไม่ได้เดินทางออกมาด้วย ทำให้มีนายเงียซะ นายเงียโจ นายบุญดีเท่านั้นที่มีเอกสารแสดงสถานะเป็นบุคคลพื้นที่สูง

ต่อมาภายหลังราวปี พ.ศ.2547-2550 ทางอำเภออุ้มผางได้เข้าไปแจ้งให้คนในพื้นที่หมู่บ้านนายเงียโจให้มาทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่อีกครั้ง (มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการสำรวจและลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลง รายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูงพ.ศ.2543) นายเงียซะ นายเงียโจ นายบุญดีจึงได้รับการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านและมีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 ส่วนนางคำหล้านั้นปรากฎพยานหลักฐานว่า บิดาและมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย จึงยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าทะบียนบ้านและมีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 5 จากนั้นนางคำหล้าก็ขอเพิ่มชื่อบุตรทุกคนที่เหลือเข้าทะเบียนบ้านด้วย บุตรคนที่เหลือทั้งหมดจึงได้บัตรประจำตัวประชาชนเลข 5 ในช่วงปี พ.ศ.2547-2550 เช่นเดียวกัน

พิจารณาในส่วนของกรณีของเงียโจนั้น ปรากฎจากพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. สำเนาทะเบียนบ้านของนายเงียโจ งามยิ่ง
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ระบุเลขประจำตัวประชาชน 8 xxxx 84xxx xx x
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาและพี่น้องร่วมบิดามารดานายเงียโจ งามยิ่ง

เมื่อพิจารณาจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จะเห็นได้ว่า นายเงียโจ งามยิ่ง มีบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 8 กลุ่ม 84 (เลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 84) จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า นายเงียโจคือบุคคลที่มีบิดามารดาเกิดในประเทศไทย และถือว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย จึงได้รับการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543

อย่างไรก็ตาม สำเนาทะเบียนบ้านของนายเงีย โจนั้นกลับแตกต่างจากสำเนาทะเบียนบ้านของน้องคนอื่นๆ กล่าวคือ ระบุสัญชาติของบิดามารดาของนายเงียโจว่า เป็นผู้มีสัญชาติกระเหรี่ยง ทั้งที่น้องของนายเงียโจทุกคนมีสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่า มีบิดาและมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย นอกจากนี้ทะเบียนบ้านของนายเงียโจกับของน้องคนอื่นๆ ก็ใส่ชื่อบิดามารดาแตกต่างกัน กล่าวคือ

- ในสำเนาทะเบียนบ้านของนายเงียโจระบุบิดาชื่อ นาย เวียซะ ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน สัญชาติกระเหรี่ยง มารดาชื่อนางคำละ ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน สัญชาติกระเหรี่ยง

- ส่วนในทะเบียนบ้านของน้องๆ ของนายเงียโจทุกคนนั้นระบุมีบิดาชื่อนายเงียซะ สัญชาติไทย มารดาชื่อ นางคำหล้า สัญชาติไทย

ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ที่ทางจังหวัดอ้างว่า นายเงียโจเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้นอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า เป็นการพิจารณาจากสำเนาทะเบียนบ้านของนายเงียโจ โดยไม่ได้พิจารณาจากข้อมูลในเลขประจำตัวประชาชน ทั้งที่เลขประจำตัวประชาชนของนายเงียโจนั้นได้ยืนยันแล้วว่า นายเงียโจเป็น บุคคลบนพื้นที่สูงที่ได้รับลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคล บนพื้นที่สูงพ.ศ.2543 โดยถือว่าเป็นผู้ที่มีบิดามารดาเกิดในประเทศไทย และถือว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้นนายเงียโจย่อมไม่ขาดคุณสมบัติการลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 (1) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช พ.ศ. 2457

จากการสอบถามทางอำเภออุ้มผางกล่าวว่าขณะนี้ (4 กันยายน 2555) เรื่องของนายเงียโจได้ถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความปัญหาการเป็นผู้ใหญ่บ้านของนายเงียโจแล้ว จึงต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมกฤษฎีกาต่อไป

กรณีของนายเงียโจนี้ นอกจากจะต้องพิจารณาในแง่กฎหมายปกครองแล้ว เห็นควรที่จะได้พิจารณาแง่กฎหมายระหว่างประเทศ ในประเด็นเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองในรัฐไทยว่ามีความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและทางปฏิบัติของนานาประเทศหรือไม่ อย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)[1] โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2539 มีผลผูกพันรัฐไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 ซึ่งกติกาฉบับนี้ ได้รับรองสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองของพลเมืองเจ้าของดินแดน (Right of Self-Determination) และสิทธิทางการเมืองในการที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ เช่น สิทธิที่จะลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนของตนเอง สิทธิที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในระดับต่างๆ และสิทธิในการเลือกตั้งหรือลงรับเลือกตั้งดังกล่าวจะต้องไม่ถูกจำกัดอย่างไร้เหตุผลด้วย ดังนั้นเมื่อราษฎรไทยที่อยู่ในสถานะเป็นพลเมืองของประเทศไทยต้องการที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้วก็ควรที่จะรับรองสิทธิดังกล่าวตามพันธกรณีที่ได้ตกลงร่วมกันกับนานาประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงร่วมกันของรัฐภาคีในอันที่จะส่งเสริมและยอมรับซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมืองในรัฐของตนเอง

นอกจากพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยจะต้องปฏิบัติการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกติกาฉบับดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[2] ก็ได้รับรองสิทธิในการสิทธิในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของพลเมืองไว้อย่างชัดแจ้งไว้แล้วว่าสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันหน่วยงานของรัฐในการใช้บังคับกฎหมายด้วย ดังนั้นเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงอันทำให้นายเงียโจ งามยิ่ง ราษฎรไทย ที่อยู่ในสถานะผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดแล้วนายเงียโจย่อมสามารถใช้สิทธิฐานะราษฎรไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช พ.ศ. 2457 และเมื่อผลการเลือกตั้งเป็นไปถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอื่นอันทำให้ผลการเลือกตั้งเสียไปแล้ว ทางรัฐไทยก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดอีกที่จะระงับสิทธิสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนายเงียโจไว้ นอกจากจะต้องรับรองให้นายเงียโจดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านตามสิทธิที่นายเงียโจควรจะได้

 

 




[1] ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองค.ศ.1966[International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR] ได้วางหลักว่า ข้อ 2 1.รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพและประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่นๆ และข้อ 25 พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาสโดยปราศจากความแตกต่างดั่งกล่าวไว้ในข้อ 2 และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร (ข)ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก

[2] มาตรา 3 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 27 สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลิเบียจับผู้ต้องสงสัยสังหารทูตสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 50 คน

Posted: 17 Sep 2012 01:44 AM PDT

 

ผู้นำลิเบียเผยจับผู้ต้องสงสัยบุกสังหารทูตสหรัฐฯ ได้ 50 ราย ระบุเป็นกลุ่มก่อการร้ายแฝงตัวเข้ามาในประเทศ ด้านกลุ่มอัลเคด้าอ้างกลุ่มตนก่อเหตุเพื่อแก้แค้นที่รองผู้นำกลุ่มตนถูกเครื่องบินโดรนสังหาร

 
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2012 ประธานาธิบดีของลิเบียเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 50 คนที่มีส่วนพัวพันกับการบุกจู่โจมสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเบงกาซีจนเป็นเหตุให้เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตอีก 3 รายเสียชีวิต
 
โมฮาเม็ด อัล-มาการีฟ ประธานาธิบดีจากสภาแห่งชาติของลิเบีนให้สัมภาษณ์กับสถานี CBS เมื่อวันที่ 16 ก.ย. โดยบอกว่าตัวเลขการจับกุมเพิ่มขึ้นถึง 50 รายแล้ว
 
คริสโตเฟอร์ สตีเวน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำลิเบีย และเจ้าหน้าที่ชาวสหรัฐฯ อีก 3 รายเสียชีวิตหลังกลุ่มติดอาวุธบุกโจมตีสถานกงสุลและบ้านพักหลบภัยทางฝั่งตะวันออกของกรุงเบงกาซีด้วยจรวดติดระเบิดและการเผา
 
"มันเป็นการวางแผนมาก่อนอย่างแน่นอน มันเป็นการวางแผนของคนนอกประเทศ โดยกลุ่มคนที่เข้ามาในประเทศเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และพวกมันได้มีการเตรียมการวางแผนก่อเหตุไว้แล้วตั้งแต่เข้ามา" อัล-มาการีฟ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ CBS
 
"การกระทำที่น่ารังเกียจ การก่ออาชญากรรมต่อเอกอัครราชทูตคริส สตีเวน และเพื่อนร่วมงานของเขาผู้ล่วงลับ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในทางใด ไม่ได้เป็นเหตุจูงใจ ไม่ใช่สิ่งที่ชาวลิเบียรู้สึกต่อชาวสหรัฐฯ และพลเมืองของพวกเขาเลย"
 
ขณะเดียวกันซูซาน ไรซ์ เอคอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ผ่านรายการทอล์กโชว์ว่า จากข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าการโจมตีสถานกงสุลไม่ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อน
 
ขณะที่ทางกลุ่มอัล-เคด้า ในคาบสมุทรอาหรับกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่าการโจมตีในครั้งนี้เป็นการแก้แค้นให้กับรองผู้นำกลุ่มก่อการร้าย ชีค อาบู ยาห์ยา อัล-ลิบี ที่ถูกสังหารจากการจู่โจมของเครื่องบินโดรนบังคับอัตโนมัติในเดือน มิ.ย.
 
พันเอก รอมฎอน เอล-เดรสซี กล่าวว่าจะเริ่มมีการให้ประชาชนและสมาชิกกลุ่มติดอาวุธคืนิาวุธที่ได้มาในช่วงความขัดแย้งในปี 2011 ในวันศุกร์ที่ 21 ก.ย. นี้ เป็นการจัดเตรียมของกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอที่ทางรัฐบาลและกองทัพให้การสนับสนุนในการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์โจมตีใดๆ อีก
 
"พวกเราต้องการความร่วมมือจากรัฐบาลในการปกป้องคุ้มครองประชาชนของเราจากพวกหัวรุนแรง" เอล-เดรสซีกล่าว "พวกเราไม่ได้เอาชนะเผด็จการที่ปกครองมาตลอด 42 ปี เพียงเพื่อให้เกิดเหตุก่อการร้ายครั้งใหม่ยึดครองประเทศ"
 
 
 
ที่มา
Libya makes Benghazi attack arrests, Aljazeera, 16-09-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ชีวจริยศาสตร์ (ตอนจบ)

Posted: 16 Sep 2012 11:31 PM PDT

องค์กรที่มีบทบาทสำคัญ
แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรสาธารณสุขเป็นผู้เล่นสำคัญในด้านชีวจริยศาสตร์ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงด้านการแพทย์และการวิจัยพัฒนาการแพทย์ อย่างไรก็ตามการมุ่งพัฒนาการวิจัยทางแพทย์โดยไม่มีแบบแผนกฎเกณฑ์มากำกับอาจนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งภายในสังคมเฉกเช่นในอดีต และจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาศึกษาและกำกับด้านชีวจริยศาสตร์เพื่อสร้างความสมดุลย์ระหว่างการพัฒนาการแพทย์ในประเทศเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ และพัฒนาการแพทย์เพื่อรับใช้ความต้องการของสังคมควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในสังคมและยกคุณค่าความเป็นมนุษย์

ในประเทศฝรั่งเศสในปี 2005 ได้สร้างหน่วยงานชีวการแพทย์ (Agence de la biomédecine) โดยอำนาจของกฎหมาย la loi de la bioéthique 2004 ซึ่งเปลี่ยนจากองค์กรเดิมคือ สถาบันการปลูกถ่ายอวัยวะในฝรั่งเศส สถาบันใหม่ที่สร้างขึ้นนี้อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงสาธารณสุข และได้ขยายขอบเขตจากเดิมที่เน้นเฉพาะเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะไปสู่สี่เรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยศาสตร์ของมนุษย์ คือ การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์เพื่อเจริญพันธุ์ การวินิจฉัยปริกำเนิดและการวินิจฉัยทางยีน การวิจัยด้านตัวอ่อนและสเตมเซลล์ และ การจัดหาและปลูกถ่ายอวัยวะ

องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่เน้นด้านการออกแบบ กำกับ ควบคุม และฝึกฝนการปฏิบัติการทางการแพทย์และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อเกิดการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในสี่เรื่องหลักดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน สร้างความเท่าเทียมกันกับประชาชนในการเข้าถึงการรักษาในสี่เรื่องข้างต้น ไม่ละเมิดจริยธรรมและกฎหมาย สร้างความน่าเชื่อถือโปร่งใสกับประชาชน รวมถึงให้ข้อมูลข่าวสารและทำรายงานประจำปีให้สาธารณชนรับทราบ เช่นการจัดการลิสต์รายชื่อของผู้บริจาคอวัยวะ และผู้รับอวัยวะ ตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้อำนาจในการจัดหาผู้บริจาคอวัยวะตับ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของการบริจาคอวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ มีอำนาจในการอนุญาตการนำเข้าหรือส่งออกเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อน รับรองผู้ปฏิบัติงานทางคลินิคและชีววิทยาในการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ ควบคุมและออกใบอนุญาตและยึดใบอนุญาตให้กับนักวิจัยเป็นรายบุคคลในด้านการวิจัยตัวอ่อนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยหน่วยงานชีวการแพทย์

ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ตั้งคณะกรรมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยศาสตร์ โดยในปี 1983 รัฐบาลฝรั่งเศสสมัยฟรองซัวส์ มิตเตรฮงด์ได้ตั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติด้านจริยธรรมเพื่อวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและสุขภาพ (le Comité consultatif d'éthique pour les sciences de la vie et de la santé) ขึ้นมา

คณะกรรมการดังกล่าวจะแตกต่างจากหน่วยงานชีวการแพทย์ที่เน้นถึงด้านการวางกรอบปฏิบัติงาน และควบคุมออกใบอนุญาตให้แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรสาธารณสุขในการทำวิจัยและบริการสาธารณะโดยไม่ละเมิดข้อกฎหมายและจริยธรรม แต่คณะกรรมการนี้จะเป็นองค์กรที่ตอบปัญหาทางด้านปรัชญาชีวจริยศาสตร์ และเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชีวจริยศาสตร์เท่านั้น และรัปฟังคำถามสังคมที่เกิดจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีววิทยา การแพทย์และสุขภาพ โดยองค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระและไม่ขึ้นอำนาจกำกับจากองค์กรรัฐ และเคลื่อนไหวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

คณะกรรมการประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพซึ่งมีประธานหนึ่งคนได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีดำรงวาระสองปีและสมาชิกอีก 39 คนดำรงวาระสี่ปีโดย 5 คนมาจากพื้นเพทางด้านปรัชญาและศาสนาคาธอลิค อิสลาม โปรเตสแตนท์ และยูดาห์, 19 คนได้รับเลือกจากความสามารถและความสนใจในด้านการทำงานชีวจริยศาสตร์เป็นเวลานาน, และอีก 15 คนมาจากสถาบันการวิจัย ด้านการแพทย์และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการปัจจุบันประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ ทั้งอาชีพ นักวิทยาศาสตร์เช่น Pascale Cossart, แพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เช่น Alain Grimfieldกุมารแพทย์และดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติด้านจริยธรรม, นักปรัชญาอย่าง Luc Ferry, นักบวชนักเทววิทยา เช่น Louis Schweitzer, นักวารสารที่เกิดในตูนิเซียอย่างAlain-Gérard Slama,นักมานุษยวิทยา เช่น Françoise Héritier, นักการเมือง Lucien Neuwirthที่เป็นคนผลักดันการออกกฎหมายการใช้ยาคุมกำเนิดเมื่อปี 1967

คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่รับฟังปัญหาทางชีวจริยศาสตร์ซึ่งอาจมาจากทั้งทางด้านรัฐสภา มาจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่มีส่วนสำคัญต่อชีวจริยศาสตร์ หรือมาจากภาคประชาสังคมยกประเด็นมา โดยคณะกรรมการมีการประชุมดีเบตกันทุกๆเดือนเพื่อหาข้อถกเถียงและทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา และตีพิมพ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ นอกจากนี้ร่วมมือทำงานกับคณะทำงานด้านชีวจริยศาสตร์ในประเทอื่นๆและจัดการประชุมด้านชีวจริยศาสตร์ในระดับนานาชาติ ผลงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการระดับชาติทางจริยธรรมได้แก่ การให้คำแนะนำในเรื่องการนำเนื้อเยื่อของตัวอ่อนที่ตายแล้ว เพื่อการรักษาวินิจฉัย และการศึกษา การวินิจฉัยปริกำเนิด การบริจาคอวัยวะ การได้มาและใช้สเตมเซลล์ การุณฆาต สุขภาพของประชากรในคุก และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตั้งครรภ์

เนื่องจากองค์กรสององค์กรข้างต้นทำหน้าที่เรื่องภาคปฏิบัติควบคุมกำกับและด้านปรัชญาแต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ทางกฎหมาย และไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อย่างไรก็ตามการจะออกข้อบังคับเพื่อควบคุมคนทั้งรัฐโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นนิติรัฐแล้ว จำเป็นต้องออกมารูปในกฎบัญญัติจากรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาต้องอาศัยกฤษฎีกา (Conseil d'Etat) ที่มีหน้าที่สำคัญด้านให้คำปรึกษากฎหมายแก่รัฐสภาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ กฤษฎีกาทำหน้าที่ศึกษาข้อด้อยของกฎหมายในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยศาสตร์ เพื่อหาข้อแก้ไขสำหรับอนาคตให้สอดคล้องกับสังคมและดำรงค์ไว้ซึ่งคุณธรรมของมนุษย์ในขณะเดียวกันก็ต้องเกิดการพัฒนาการแพทย์ควบคู่ไปด้วย

ในการศึกษาเพื่อทำข้อเสนอแก่รัฐสภาในการแก้กฎหมายชีวจริยศาสตร์ la loi de la bioéthique 2004 กฤษฎีกาได้เชิญที่ปรึกษาจำนวน 60 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ตัวแทนจากสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากปัญญาชน เพื่อทำการศึกษาฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ ศึกษาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ต่างประเทศ ผลจาการศึกษาของคณะกรรมการได้แนะนำว่า เพื่อดำรงค์ไว้ถึงจริยธรรมและการพัฒนาการแพทย์ การศึกษาวิจัยตัวอ่อนและสเตมเซลล์ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นเฉพาะกรณีเพื่อทำการรักษา ในด้านการวินิจฉัยปริกำเนิดสามารถทำได้เฉพาะกรณีอันตรายร้ายแรงเท่านั้น และการวินิจฉัยก่อนตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกสามารถทำได้ในกรณีที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ในด้านการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อเจริญพันธุ์สามารถทำได้เฉพาะคู่แต่งงานที่มีบุตรยาก และเป็นคู่แต่งงานที่อยู่กินด้วยกันอย่างน้อยมาสองปี และห้ามกรณีการนำตัวอ่อนที่ตายแล้วจากการเกิดข้อผิดพลาดในขณะตั้งครรภ์มาทำการวิจัย ส่วนประวัติผู้บริจาคสเปิร์มหรือไข่ก็ยังคงปิดเป็นความลับ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากสิทธิมนุษยชนพิจารณาจากศาลยุโรป ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการอนุญาตให้ข้อมูลลักษณะของผู้บริจาคได้หรือถ้าในกรณีที่ได้รับการอนุญาตจากผู้บริจาคก็สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของผ้บริจาคแก่เด็กที่กำเนิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ในเรื่องการตั้งครรภ์แทนผู้อื่นเป็นข้อต้องห้ามในทุกกรณีเพราะเป็นลักษณะการนำร่างกายมนุษย์เพื่อการค้า ในด้านการุณยฆาตเชิงรุก (active euthanasia) ยังคงเป็นข้อห้ามในฝรั่งเศสเนื่องจากสาเหตุด้านมนุษยธรรม     

การขยายตัวสู่เวทีสาธารณะ
ตั้งแต่ทศวรรษ80 ชีวจริยศาสตร์ถูกตีกรอบให้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น และกฎหมายฉบับปี 1994และ 2004 ถึงเริ่มมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของกฎหมาย la loi de la bioéthique 2004และครบกำหนดเวลาในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง เนื่องจากขอบเขตของชีวจริยศาสตร์ขยายตัวและกระทบวิถีชีวิตประชาชนมากขึ้น ประกอบกับการทบทวนเปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความคิดเห็นของคนในสังคม ด้วยการสนับสนุนจากรัฐมนตรีสาธารณสุขสมัชชาประชาชนแห่งชีวจริยศาสตร์ (Les Etats Généraux de la bioéthique)จึงได้จัดตั้งขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมิถุนายน 2009 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในเรื่องชีวจริยศาสตร์เพื่อตอบสนองวิกฤติที่เกิดในสังคมอันมาจากเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อผู้ปฏิบัติงาน สมัชชาได้จัดการดีเบตสาธารณะซึ่งเชิญ นักวิจัย นักปรัชญา นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ และประชาชนเข้าร่วม

การดีเบตมีจัดขึ้นในหลายเขตคือ มาร์กเซย์ แรนส์ สตราสบูร์ก และปารีส ผลดีของการดีเบตคือได้รับฟังแนวความคิดและข้อเสนอแนะของประชาชนอันมีผลไปสู่การปรับกฎหมายชีวจริยศาสตร์ในปี 2010 นอกจากนี้ความสำเร็จจากการจัดตั้งทำให้รัฐบาลมีดำริให้มีการจัดดีเบตสาธารณะเรื่องชีวจริยศาสตร์ต่อไปโดยให้คณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติด้านจริยธรรมเพื่อวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและสุขภาพเป็นแม่งานสำคัญ 
บทบาทของศาสนาและสื่อต่อชีวจริยศาสตร์

นอกจากองค์กรดังกล่าวข้างต้นที่มีส่วนสำคัญแล้ว ศาสนจักรและสื่อก็มีบทบาทเช่นกันในด้านชีวจริยศาสตร์ ทั้งนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดคำสอนของศาสนา ในประเทศฝรั่งเศสถึงแม้คนส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายคาธอลิคแต่ก็มิได้กำหนดไว้เป็นศาสนาประจำชาติ ไม่ว่าศาสนาคริสต์ พุทธ อิสลาม หรือ ยูดาห์ ต่างตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในชีวจริยศาสตร์ สังฆราชออกมาให้ความเห็นทุกครั้งเมื่อมีประเด็นด้านจริยธรรมในสังคม เช่นการแต่งงานของรักร่วมเพศ การคุมกำเนิด การทำแท้ง หรือ คำถามเรื่องสภาพความเป็นมนุษย์ของตัวอ่อน มีการประชุมจัดโต๊ะกลมเรื่องชีวจริยศาสตร์โดยเชิญตัวแทนจากสี่ศาสนาหลัก มีการทำเวปไซต์เคลื่อนไหวเรื่องชีจริยศาสตร์เป็นต้น

สื่อไม่ว่าเป็นสื่อโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์เองก็ตื่นตัวและทำหน้าที่สำคัญในการกระจายเรื่องชีวจริยศาสตร์สู่สาธารณชน และมีการจัดรายการด้านชีวจริยศาสตร์ทุกครั้งเมื่อมีข้อขัดแย้งในสังคม เช่นรายการโทรทัศน์ภายใต้หัวข้อเรื่อง "แพทย์ทำหน้าที่เป็นพระเจ้าหรือ" ซึ่งถ่ายทอดผ่านทีวีสาธารณะ France24

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ในประเทศไทย พุทธศาสนาที่เป็นศานาประจำชาติไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการถกปัญหาเชิงปรัชญาด้านชีวจริยศาสตร์ที่เป็นเรื่องส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต และยังคงยึดติดกับเรื่องบุญกรรมในอดีต การล้างกรรมจากการทำแท้งแต่ไม่เคยอธิบายว่าทำแท้งไม่ได้เพราะเหตุใดนอกจากสาเหตุเดียวคือเป็นบาป หรือพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในสังคมก็หมกหมุ่นอยู่กับสตีฟ จอบส์ ไอนสไตน์โดยไม่เคยเข้ามาถกปัญหาด้านชีวจริยศาสตร์ ในขณะที่สื่อเองก็ไม่ได้เป็นตัวกลางนำเรื่องชีวจริยศาสตร์ขยายวงไปสู่ภาคประชาชน น่าเสียดายที่มีนักวิชาการประเทศไทยทำงานและสนใจด้านชีวจริยศาสตร์มาเป็นสิบปีแล้วแต่ขาดตัวกลางที่นำงานต่างๆขยายเข้าสู่ภาคประชาชน แม้แต่กระบวนการออกกฎหมายการุณยฆาตแบบPassive (ผู้ป่วยสามารถปฏิเสธการรักษาเพื่อจากโลกนี้อย่างสงบ) ซึ่งออกมาในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ ก็มีการรับรู้ของประชาชนในวงจำกัด ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญมากกับประชาชนทุกคน

 

เชิงอรรถ
http://fr.wikipedia.org/wiki/Bio%C3%A9thique
http://www.lefigaro.fr/actualite-france/2011/01/27/01016-20110127ARTFIG00737-bioethique-la-loi-ne-doit-pas-suivre-les-sondages-d-opinion.php
http://www.science.gouv.fr/fr/dossiers/bdd/res/3251/la-bioethique-en-debat/
http://www.ladocumentationfrancaise.fr/dossiers/bioethique/historique-lois-bioethique.shtml
http://www.vie-publique.fr/decouverte-institutions/citoyen/enjeux/citoyennete-societe/bioethique-recherche-scientifique-quels-enjeux.html
http://fulltext.bdsp.ehesp.fr/Hcsp/ADSP/69/ad691315.pdf
http://www.etatsgenerauxdelabioethique.fr/base-legislative-et-documentaire/les-travaux-et-syntheses-des-religions-et-courants-de-pensee.html
http://www.bioethique.net/modules.php?name=News&file=article&sid=5
http://fr.wikipedia.org/wiki/Comit%C3%A9_consultatif_national_d%27%C3%A9thique
http://www.ccne-ethique.fr/membres.html
http://www.agence-biomedecine.fr/IMG/pdf/doc_agenceva.pdf
http://www.france24.com/fr/20110210-debat-bioethique-bebe-medicament        
      

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น