ประชาไท | Prachatai3.info |
- เพจล้อในมาเลเซียออกคู่มือระบุ "นักการเมือง" ย้อนเกล็ดคู่มือพ่อแม่สังเกตลูก "รักเพศเดียวกัน"
- นปช. ชุมนุมรำลึก 6 ปี 19 กันยา "วีระกานต์" หยิบข้อเสนอ "นิธิ-ใจ" มาถก
- ยุกติ มุกดาวิจิตร
- ร้อง "เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า" ดูแลคนงาน กรณีไฟไหม้ในปากีสถาน
- เกษตรกรประท้วงรับประชุม ครม. นายกสั่งผู้ว่าฯ รับมือภัยพิบัติอันดามัน
- ฆ่าเผาทหารพรานยะลาตาย 4 ศพ ปะทะหนองจิกดับผู้ต้องหาถล่มฐาน
- อุ้มฆ่าหนุ่มยะรัง ระวังชนวนเพิ่มไฟ ความหวาดระแวงขยายวง
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 ก.ย. 2555
- เมื่อความดีคือ “ใบอนุญาต” ให้ทำผิดหลักการ
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ความจริงเพื่อความยุติธรรม
- ปธน.ลิเบีย บอกเหตุโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯ มีการวางแผนไว้ก่อน
- ผลจากโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 ต่อกฎหมายกีฬาอังกฤษ: มองจากอดีต ปัจจุบันและอนาคต
เพจล้อในมาเลเซียออกคู่มือระบุ "นักการเมือง" ย้อนเกล็ดคู่มือพ่อแม่สังเกตลูก "รักเพศเดียวกัน" Posted: 15 Sep 2012 12:27 PM PDT หลังกระแสวิจารณ์กระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียออกคู่มือสำหรับพ่อแม่สังเกตลูกมีลักษณะ "รักเพศเดียวกัน" ล่าสุดเพจล้อ "Fakemalaysianews" ได้เอารูปนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมาประกอบคู่มือสังเกตลักษณะ "นักการเมือง" โดยใช้คุณสมบัติเดียวกับคู่มือสังเกตลูก "รักเพศเดียวกัน" ทุกประการ ตามที่ประชาไทนำเสนอข่าว กระทรวงศึกษามาเลเซียได้เผยแพร่ "แนวทาง" ที่ช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองมาเลเซีย ช่วยระบุ "ลักษณะอาการ" คนรักเพศเดียวกันในเยาวชน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ล่าสุดเว็บไซต์ "fakemalaysianews.com" ได้ทำข่าวล้อเลียนขึ้นมา โดยพาดหัดว่า "กระทรวงศึกษาธิการออก "คู่มือ" ช่วยผู้ปกครองระบุลักษณะของนักการเมือง โดยใช้ลักษณะเดียวกับที่เอกสารของกระทรวงศึกษาธิการระบุถึงผู้ที่เป็นชายรักชายข้างต้นทุกประการ แต่เปลี่ยนชื่อเป็นคุณสมบัติของ "นักการเมือง" แทน และใช้ภาพประกอบเป็นภาพนายนาจีป ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 15 ก.ย. มีผู้แชร์ภาพดังกล่าวจากแฟนเพจ fakemalaysianews ไปแล้วกว่า 570 แชร์ ทั้งนี้ เอกสารของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ซึ่งแจกจ่ายในงานสัมมนา "การเลี้ยงลูกกับการแก้ปัญหาความหลากหลายทางเพศ (LGBT)" ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียจัดโดยเวียนไปตามรัฐต่างๆ โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ที่ปีนังนั้น เอกสารได้ระบุลักษณะอาการของชายรักชายว่า มีร่างกายที่มีกล้ามเนื้อกำยำ และชอบโชว์เรือนร่างของตนเองด้วยการใส่เสื้อคอวี และเสื้อแขนกุด รวมถึงเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส นอกจากการชอบเพศชายด้วยกันแล้ว ยังมีนิสัยถือกระเป๋าผู้หญิงใบใหญ่เวลาออกไปข้างนอกบ้าน ส่วนอาการของหญิงรักหญิงระบุในเอกสารว่า ชอบพอกับผู้หญิงด้วยกัน ชอบไปเที่ยว ทานอาหาร และนอนกับผู้หญิง ไม่มีความสนใจต่อผู้ชาย โดยนักรณรงค์เพื่อสิทธิชาวรักเพศเดียวกันและนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ดังกล่าวของทางรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ และยังทำให้เกิดความเกลียดชัง สนับสนุนความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ มาเลเซีย เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีกฎหมายที่รับมรดกจากสมัยอาณานิคม ที่ทำให้การร่วมเพศระหว่างชายกับชายทางทวารหนัก เป็นความผิดทางกฎหมายอาญา และมีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี ในขณะที่ปีนี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้ภาพยนตร์และละคร มีตัวละครที่เป็นเกย์ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ในตอนจบของเรื่อง ชาวรักเพศเดียวกันต้องกลับตัวกลับใจ และ/หรือ เสียใจการกระทำที่เป็นไปในทางรักเพศเดียวกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นปช. ชุมนุมรำลึก 6 ปี 19 กันยา "วีระกานต์" หยิบข้อเสนอ "นิธิ-ใจ" มาถก Posted: 15 Sep 2012 10:31 AM PDT แต่ยังเชื่อเสื้อแดง-เพื่อไทยเสมือนคนยืนสองขาอยู่ห่างอยู่ใกล้ตามสมควร และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ "ใจ อึ๊งภากรณ์" ที่ให้เสื้อแดงแยกตัวไปตั้งอีกพรรค เพราะตอนนี้ยังร่วมรัฐบาลสู้อำมาตย์ ด้าน "ทักษิณ" โฟนอินเข้ามาโดยโทษว่า รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้รัฐบาลติดขัด วันนี้ (15 ก.ย.) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนเสื้อแดงได้มาชุมนุมเพื่อรำลึกการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยใช้ชื่องานว่า "ครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร คนสั่งการยังลอยนวล" โดยมีผู้เริ่มมาจับจองพื้นที่ฟังปราศรัยกันตั้งแต่ช่วงบ่าย ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนทั้งหมด 4 กองร้อย เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และวางจุดตรวจสิ่งผิดกฎหมายรอบที่ชุมนุม ขณะเดียวกันีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจจราจรและ สน.ท้องที่เข้ามาจัดการจราจรบนถนนราชดำเนิน โดยปิดการจราจร ถ.ราชดำเนิน เฉพาะฝั่งขาเข้าจากแยกคอกวัว จนถึงก่อนข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ส่วนช่องขาออกยังคงใช้สัญจรได้ โดยมีการปราศรัยจากแกนนำ นปช. ตั้งแต่เวลา 15.45 น. โดยช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. มีผู้ฟังการปราศรัยประมาณสองพันคน
โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมขึ้นปราศรัยเมื่อ 15 ก.ย. 55 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
"โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" วอนเสื้อแดงอย่าขวางอภิสิทธิ์ ต่อมาเวลาประมาณ 19.30 น. นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความ นปช. ปราศรัยว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังพิจารณาคำร้องของ นปช.และอ้างว่ากำลังมีข่าวดี และว่าไทยเป็นรัฐหนึ่งที่เคยลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน อย่างไรก็ตามประเทศอังกฤษทั้งลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมและลงสัตยาบันแล้ว และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ก็ถือสัญชาติอังกฤษ นายอภิสิทธิ์ทราบดีว่าจะไม่มีวันถูกลงโทษในประเทศไทย แต่อยากจะบอกว่าวันหนึ่งนายอภิสิทธิ์จะต้องถูกลงโทษ และถึงแม้ว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จในศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่จะต้องหาทางลงโทษนายอภิสิทธิ์ให้ได้ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมอ้างด้วยว่าตอนนี้ทางศาลอาญาระหว่างประเทศมีความสนใจและต้องการข้อมูลมากขึ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของคนเสื้อแดง และอยากให้สู้เพื่อความยุติธรรมต่อไป ทนายสัญชาติแคนาดาผู้นี้กล่าวด้วยว่าไม่มีทางที่ประเทศไทยจะปรองดองได้หากไม่มีความยุติธรรม พวกเรามาที่นี่เพื่อร่วมรำลึกวันครบรอบรัฐประหาร อยากบอกว่าช่วงเวลารัฐประหารนั้นยังไม่จบสิ้นลง คนเสื้อแดงยังไม่มีเสรีภาพหากพี่น้องเรายังคงอยู่ในเรือนจำ เมื่อวานนี้ผมได้ไปเยี่ยมนักโทษที่เรือนจำหลักสี่ เขาต้องถูกลงโทษจำคุก 34 ปี ทั้งที่ไม่ได้กระทำ ซึ่งคดีเหล่านี้จะต้องถูกนำมาพิจารณาใหม่ ทนายความ นปช. กล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้คนเสื้อแดงไปชุมนุมขัดขวางนายอภิสิทธิ์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะพูด แต่สิ่งที่พูดไปนั้นไม่มีความหมายอยู่แล้ว ซึ่งนับเป็นเรื่องดีของกลุ่ม นปช. หากฝ่ายค้านยังให้นายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำต่อ รวมทั้งรู้สึกยินดีที่พรรคประชาธิปัตย์อยากไปศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเราทั้งหมดอยากให้เป็นอย่างนั้น โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมยังอ้างด้วยว่าจะไม่สามารถปรองดองได้ ถ้าไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี
วีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมรำลึก 6 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 15 ก.ย. 55
แกนนำ นปช. วิจารณ์ข้อเสนอนิธิ-ใจ นอกจากนี้นายวีระกานต์ มุกสิกพงศ์ แกนนำ นปช. ได้ขึ้นปราศรัยด้วย ตอนหนึ่งกล่าวว่า ในโอกาสนี้ขอให้คนเสื้อแดงได้รำลึกตัวเอง ด้วยการเอาข้อเสนอของนักวิชาการ 2 คน มาพิจารณษ นักวิชาการคนแรกชื่อ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความแสดงความคิดเห็น วิจารณ์ขบวนการคนเสื้อแดง และว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงต้องทำคือพยายามถอยห่างออกมาเสียจากพรรคการเมืองระดับหนึ่ง แล้วทำเป็นพลังของประชาชนที่แท้จริง คอยดูงานหลักๆ ของประเทศ (อ่านบทความนิธิ เอียวศรีวงศ์) นายวีระกานต์ กล่าวว่าสิ่งนี้เป็นอุดมการณ์ของ นปช. ไม่เชื่อให้ถามธิดา ถาวรเศรษฐ์ แกนนำ นปช. ทั้งนี้คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยตกลงกันว่าจะเป็นแนวร่วมทางการเมือง เป็นพันธมิตรทางการเมือง เปรียบเสมือนคนยืนสองขา หนึ่งคือพรรคเพื่อไทย สองคือ นปช. สองขานี้ฉีกแยกออกจากกัน คนก็อยู่ไม่ได้ สองขานี้ถ้ามัดรวมกันเป็นขาเดียวก็เดินไม่ได้ สองขาจึงต้องแยกจากกันอยู่ห่างอยู่ใกล้ตามสมควร ดังนั้น ความคิดนี้เป็นความคิดที่คนเสื้อแดงควรรับฟัง และน่าพิจารณาว่าเราจะทำงานการเมืองในแบบที่นิธิ แนะนำ และตรงกับนโยบาย นปช. หรือไม่ ต่อมานายวีระกานต์ กล่าวถึงบทความของนักวิชาการคนที่สอง โดยบอกว่า "คนที่สองมีทั้งคนชอบ และคนสลดหดหู่ใจ แต่เราตัดความรู้สึกชอบไม่ชอบออกไปเสีย ถือว่ากำลังฟังคนภายนอก ซึ่งเป็นปัญญาชนเขานำเสนอ" โดยนายวีระกานต์ กล่าวว่า ข้อเสนอต่อมาเป็นของใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งมองต่างจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ (อ่านบทความใจ อึ๊งภากรณ์) โดยใจเสนอว่าถ้าไม่ปรับอุดมการณ์ วิธีการทางการเมือง การต่อสู้ของคนเสื้อแดงตลอด 6 ปี จะสูญเปล่า คือการไปร่วมมือกับพวกอำมาตย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง หมายความว่าพวกเราเป็นเครื่องมือให้คนที่มีสถานะได้เปรียบในสังคมไปกดขี่คนชั้นล่าง แล้วสรุปว่าถ้าหากว่าคนเสื้อแดงที่มีความคิดก้าวหน้าจะได้ขบคิดกันแล้วมาตั้งพรรคการเมืองอีกพรรคชื่อ "พรรคสังคมนิยม" ประเทศไทยจะมีทางเลือกที่สาม นายวีระกานต์วิจารณ์ว่า การต่อสู้ทางการเมืองช่วงนี้มีความแหลมคม แต่การต่อสู้ทางการเมืองต้องใช้สติปัญญา ที่นำมาเล่านี้ คิดว่าเราอย่าเพิ่งไปลงโทษรัฐบาล อย่าเพิ่งกินแหนงแคลงใจพรรคเพื่อไทย ที่ตรงนี้เมื่อครบรอบ 10 เม.ย. 19 พ.ค. เคยบอกว่า นปช. และรัฐบาลกำลังสู้กับอำมาตยาธิปไตย ซึ่งมีเลห์เพทุบายสูงส่ง ถ้าเรามองไม่ทะลุ ถ้าเรารีบแตกตัวออกจากกันด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด สภาพก็จะกลับไปเหมือนอดีตเมื่อก่อน 19 ก.ย. 2549 สิ่งที่เราควรทำในเวลานี้คือต้องผนึกกำลัง แต่ขาสองขาจะแยกกันต่อเมื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชนให้ได้เสียก่อน นอกนั้นเรื่องเล็กๆ จิ๊บจ๊อย อย่าเที่ยวเก็บเล็กผสมน้อย แต่เชิญวิจารณ์รัฐบาลได้ แต่ต้องคิดตลอดเวลาว่านั่นคือพันธมิตรอันแข็งแกร่ง
แนะใช้วิธีการทางกฎหมาย จัดการผู้เกี่ยวข้องการสลายชุมนุม นายวีระกานต์กล่าวต่อว่า ส่วนที่ว่าเมื่อไหร่คนสั่งฆ่าประชาชนจะได้ขึ้นศาลเสียที ผมว่าใกล้เต็มที่แล้ว การไต่สวนความตายของประชาชนช่วงสลายการชุมนุมรู้สึกจะเริ่มมีคำตัดสินแล้วในวันที่ 18 ก.ย. นี้ และการสอบสวนของดีเอสไอก็คืบหน้า เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว ขอให้คนเสื้อแดงเดินบนเส้นทางของสันติวิธี หมายความว่าต้องมีกฎหมายรองรับ มีความยุติธรรม อย่าเดินบนเส้นทางเลือดต้องล้างด้วยเลือด ทั้งนี้ ถ้าคนเสื้อแดงมีอำนาจรัฐแล้วไม่ฟังเสียงใคร จะจัดการตามประสงค์ ผมเรียนว่าถ้าเราทำอย่างนั้นเราจะกลายเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการไปปราบปรามปฏิปักษ์ ต้องยืนหยัดและยืนยันว่าจะต้องใช้กฎหมายอย่างเป็นอารยะจัดการกับโจรผู้ก่ออาชญากรรม คนเสื้อแดงจะอดทน และรอวันนั้น เพราะเชื่อว่าวิธีใช้กฎหมายจัดการเป็นวิธีการที่ หนึ่ง นานาชาติยอมรับ สอง ฝ่ายปฏิปักษ์ก็ปฏิเสธไม่ได้ และสาม เมื่อฝ่ายดังกล่าวถูกจัดการด้วยกฎหมายไปแล้ว พฤติกรรมล้างแค้นกันอย่างไม่สิ้นสุดก็จะไม่เกิดขึ้น
ทักษิณอ้าง ปชช.เลือกเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว แต่ยังติดขัดเพราะ รธน. ไม่เป็นประชาธิปไตย ต่อมา เวลา 20.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินเข้ามา โดยกล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมาของการทำรัฐประหารทำให้ประเทศชาติเสียหายขนาดไหน บ้านเมืองบริหารยากมาก แม้พี่น้องเลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลอย่างท่วมท้นแต่ยังติดขัดเรื่องกติการัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนนักการเมืองมุ่งเอาชนะกันโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม นิติธรรม พยายามดิ้นรนทุกอย่างเพื่อเข้าสู่อำนาจ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไปสนับสนุนฝ่ายเผด็จการ 6 ปีรัฐประหาร ทำให้ประเทศชาติบอบช้ำมาก เพราะขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเทียบกันได้ว่าประเทศไหนเป็นอย่างไร ที่สำคัญโลกตอนนี้เชื่อมโยงกันหมด ทำให้รู้ว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่ไหนก็รู้ถึงกันหมด อีกทั้งปี 2558 ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ถ้าเรายังทะเลาะกันอย่างนี้ก็คงสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ทั้งที่เรามีศักยภาพดีที่สุดในภูมิภาค
บอกอยากกลับไปตอบแทนบุญคุณเสื้อแดงที่เสียสละเพื่อประชาธิปไตย "ขอวิงวอนทุกฝ่ายให้ทบทวนให้ดี ให้หันหน้าเข้าหากันและเดินหน้าร่วมกัน โดยส่วนตัวผมไม่มีปัญหาว่าจะได้กลับหรือไม่ได้กลับ ไม่ใช่ปัญหา แต่จะทำอย่างไรก็ได้ให้บ้านเมืองดีขึ้น เพราะผมเป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่มาพูดวันนี้ไม่ได้มาพูดเพื่อใคร แต่จะพูดให้เห็นว่า 6 ปีที่ผ่านมามันมีอะไรเกิดขึ้นกับบ้านเมือง จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้อีก 7-8 ปีก็ได้ แต่จะมาพูดให้ทุกฝ่ายกลับไปคิดถึงการรัฐประหารทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสขนาดไหน" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า "คนเสื้อแดงเสียสละเพื่อประชาธิปไตย ทำให้การรัฐประหารในประเทศไทยเกิดยากขึ้น เพราะคนเสื้อแดงไม่เคยลืมว่าการรัฐประหารทำลายบ้านเมืองและประชาธิปไตย วันนี้จึงอยากขอบคุณน้ำใจของคนเสื้อแดงที่ผมไม่เคยลืม อยากกลับไปตอบแทนบุญคุณ และหวังว่าในอีกไม่นานจะได้กลับไปรับใช้พี่น้องประชาชนและได้อยู่ร่วมกัน" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 15 Sep 2012 09:10 AM PDT "แบบเกรียนภาษา" เป็นปรากฏการณ์ในเฟซบุกไทยที่น่าติดตามอย่างยิ่งในขณะนี้....ถ้าผู้เล่นเฟซบุกส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุน้อย และอาศัยในเขตเมือง นี่แสดงให้เห็นว่า ภาษาเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง พวกเขาตื่นตัวกับภาษาอย่างยิ่ง เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาษาแบบอนุรักษ์ แต่ให้ความสำคัญกับการทำให้ภาษามีวิวัฒนาการ มีการสร้างสรรค์ บล็อกกาซีน Armchair's Point of View |
ร้อง "เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า" ดูแลคนงาน กรณีไฟไหม้ในปากีสถาน Posted: 15 Sep 2012 08:23 AM PDT "กลุ่มโครงการรณรงค์เพื่อเสื้อผ้าที่สะอาดปลอดการกดขี่" เรียกร้องให้เจ้าของแบรนด์ต่างๆ ที่มาจ้างโรงงานในปากีสถานผลิตสินค้า แสดงความรับผิดชอบด้วยการปรับปรุงสภาพการทำงาน ใช้มาตรฐานแรงงานสากล รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยร่วมกับคนงาน พบโรงงานสิ่งทอผลิตส่งออกยุโรป
จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานสิ่งทอทางตะวันตกของการาจีและในโรงงานทำรองเท้าในลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 315 ศพ และได้รับบาดเจ็บสาหัสกว่า 250 คน โดยเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ นับเป็นเหตุเพลิงไหม้ครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 65 ปีของปากีสถาน (14 ก.ย.55) กลุ่มโครงการรณรงค์เพื่อเสื้อผ้าที่สะอาดปลอดการกดขี่ หรือ Clean Cloth Campaign (CCC) ออกมาเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของแบรนด์ต่างๆ แสดงความรับผิดชอบด้วยการปรับปรุงสภาพการทำงาน ใช้มาตรฐานแรงงานสากล รวมถึงทำงานร่วมกับผู้แทนแรงงานในการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในทุกประเทศที่พวกเขาเข้าไปใช้แรงงานเพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ CCC มีข้อมูลว่า โรงงานอาลีเอ็นเทอร์ไพรซ์ในคาราจี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเพลิงไหม้กว่า 300 คนนั้น ผลิตสินค้าส่งไปยังตลาดในยุโรป สหภาพแรงงานในปากีสถานเรียกวันดังกล่าวว่า เป็นวันที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของแรงงานปากีสถาน และเรียกร้องให้มีการจับกุมเจ้าของโรงงานอาลี รวมถึงฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว ขณะที่เกิดเพลิงไหม้นั้น มีคนงาน 650-1,000 คนกำลังทำงานอยู่ในโรงงานของอาลีเอ็นเทอร์ไพรซ์ ไม่มีอุปกรณ์ดับเพลิงภายในโรงงาน การเสียชีวิตจำนวนมากเกิดจากการที่คนงานติดอยู่ในโรงงาน มีทางหนีไฟทางเดียวที่ใช้ได้ หน้าต่างถูกใส่กลอนและบันไดถูกปิด คนงานจำนวนมากเสียชีวิตเพราะกระโดดลงจากทางหน้าต่าง สหภาพแรงงานระบุว่า การจะระบุตัวแรงงานที่เสียชีวิตทำได้ยากเพราะคนงานเหล่านั้นไม่มีสัญญาจ้าง สหพันธ์สหภาพแรงงานแห่งชาติในคาราจีระบุว่า แม้การที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจะทำให้มีการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางถึงเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว แต่พวกเขามองว่า กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการที่โรงงานเหล่านี้ไม่มีการควบคุมดูแลและการที่คนงานไม่สามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานได้ด้วย
ที่มา: ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เกษตรกรประท้วงรับประชุม ครม. นายกสั่งผู้ว่าฯ รับมือภัยพิบัติอันดามัน Posted: 15 Sep 2012 06:49 AM PDT
นายกสั่ง 5 ผู้ว่าฯ อันดามัน เตรียมรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม สึนามิ พร้อมฝากดูแลนักท่องเที่ยว และการบุกรุกป่า ขณะที่ม็อบเกษตรกรชาวสวนยางมารอรับการประชุมล่วงหน้า ให้เวลาแก้ปัญหา 15 วันก่อนจะเคลื่อนไหวอีกครั้ง 15 ก.ย. 55 - เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (15 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะได้เข้าประชุมหารือเพื่อมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และจังหวัดตรัง เกี่ยวกับการเตรียมรับมือภัยพิบัติด้านอันดามัน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า สำหรับจังหวัดฝั่งอันดามัน เป็นจังหวัดที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีลักษณะไปเร็วมาเร็ว มีอยู่ 2 ส่วน เรื่องน้ำท่วม และภัยพิบัติสึนามิ จึงขอเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เมื่อเกิดเหตุให้เร่งเข้าถึงพื้นที่โดยเร็ว นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ฝั่งอันดามันให้ดูแลปัญหาประชาชนในเรื่องของที่ดินทำกิน ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และการบุกรุกป่า การเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และข้อร้องเรียนของนักท่องเที่ยว รวมถึงการติดตามคดีต่างๆ เกี่ยวกับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้จังหวัดฝั่งอันดามันเป็นเมืองน่าเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแล้วเกิดความประทับใจ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะไม่กระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุม ได้มีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินภาคใต้ประมาณ 1,000 คน ได้เดินทางมารวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ทางนายกรัฐมนตรีจัดสรรที่ดินที่หมดสัมปทานให้แก่คนจน และนอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง และสวนปาล์มภาคใต้ ประมาณ 300 คน มาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของราคาที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ พร้อมให้เวลา 15 วัน ก็จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฆ่าเผาทหารพรานยะลาตาย 4 ศพ ปะทะหนองจิกดับผู้ต้องหาถล่มฐาน Posted: 15 Sep 2012 06:39 AM PDT ฆ่าเผาทหารพรานยะลาตายพร้อมแม่บ้าน รวม 4 ศพ คนร้ายโรยตะปูเรือใบดักทาง ก่อนยิงถล่ม ราดน้ำมันจุดไปเผา ส่วนเหตุปะทะหนองจิกดับผู้ต้องหาถล่มฐานบ้านเกาะแลหนัง รวมเหตุร้าย 2 วัน ตาย 8 คน (ที่มาภาพ: มูลนิธิแม่กอเหนี่ยวยะลา) เมื่อเวลา 06.10 น. วันที่ 15 กันยายน 2555 เกิดเหตุคนร้ายยิงเจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิต พร้อมเผารถยนต์บริเวณทางเข้าโรงเรียนธารน้ำผึ้ง บนถนนสายยะลา – โต๊ะปาเก๊ะ บริเวณบ้านปรามะ หมู่ที่ 13 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงช่วยกันฉีดน้ำสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้รถปิกอัพยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไมตี้เอ็กซ์ สีแดง ทะเบียน บต 4944 ปัตตานี ที่เกิดเหตุพบศพผู้เสียชีวิต 4 ราย นอนเรียงรายอยู่ด้านข้างตัวรถ ทราบชื่อ 1.อส.ทพ.สมยศ แววเพชร อายุ 45 ปี 2.อส.ทพ.กำพล มั่งวงศ์ อายุ 43 ปี 3.อส.ทพ.ภานุรัตน์ บุญฑานุวงศ์ อายุ 26 ปี สังกัดกรมทหารพรานที่ 41 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ส่วนอีกราย คือ นางพร แก้วมาก อายุ 48 ปี อาชีพแม่บ้าน ทำงานอยู่ที่กรมทหารพรานที่ 41 นอกจากนั้นยังพบปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 อาก้า ลูกซอง และขนาด 9 มม. กระจายเกลื่อนอยู่บนถนนนับร้อยปลอก เจ้าหน้าที่สอบสวนทราบว่า เมื่อช่วงเช้าเจ้าหน้าที่จากกรมทหารพรานที่ 41 พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่เสียชีวิต ได้ขี่รถจักรยานยนต์ พร้อมรถยนต์คันดังกล่าวจะไปซื้ออาหารที่ตลาดในเมืองยะลา โดยรถจักรยานยนต์นำหน้าอยู่ห่างกันประมาณ 500 เมตร เมื่อขับพ้นจากจุดเกิดเหตุ พบว่า ที่บริเวณก่อนจะถึงโรงเรียนบ้านธารน้ำผึ้ง มีตะปูเรือใบอยู่เต็มถนนจึงได้หันหัวรถกลับเพื่อจะไปบอกกับเพื่อนทหารพรานที่ขับรถยนต์ตามมา ขณะที่กำลังเลี้ยวรถกลับก็ได้ยินเสียงปืน ดังลั่นทั่วบริเวณ เมื่อขับมาถึงจุดเกิดเหตุก็พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารพรานทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตแล้ว และเพลิงกำลังลุกไหม้ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบ เบื้องต้นกลุ่มคนร้ายน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 5 ราย ซุ่มอยู่บริเวณข้างทางซึ่งเป็นพงหญ้า ก่อนใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่รถปิกอัพคันดังกล่าว จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต ก่อนที่คนร้ายจะไปหยิบอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายในรถ ยังไม่ทราบจำนวน ก่อนที่จะราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาดังกล่าว ต่อมาเวลา 14.00 น.ที่ศาลาสันติสุขฌาปนสถานเทศบาลนครยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีรดน้ำศพและวางพวงหรีด หน้าศพผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน โดยมี พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.สุพัฒน์ วิชิตการ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.4 สน.) นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พ.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 41 และข้าราชการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ญาติเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก พ.ต.อ.ทวี ได้มอบเงินช่วยเหลือแก่ทายาทของเจ้าหน้าที่ทหารพราน รายละ 500,000 บาท และ นางพร นาเพชร 100,000 บาท และ พล.ต.สุพัฒน์ มอบเหรียญบางระจันและเงินช่วยเหลืออีกจำนวนหนึ่ง สำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. รายงานว่า สำหรับศพของ อส.ทพ.กำพล ญาติจะนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่ อ.เทพา จ.สงขลา อส.ทพ.สมยศ ญาติจะนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพุทธภูมวิถีเขตเทศบาลนครยะลา อส.ทพ.ภาณุรัตน์ ญาติจะนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ส่วนนางพร ญาติจะนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่จ.นครราชสีมา หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้กระจายกำลังออกติดตามกลุ่มคนร้ายในเส้นทางที่คนร้ายใช้หลบหนี โดยเฉพาะบ้านเป้าหมายในพื้นที่ใกล้เคียงเขตรอยต่อที่บ้านโสร่ง ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. รายงานว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่ากลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มของนายอับดุลรอเซะ จาลง แกนนำก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่บ้านโสร่ง ผู้ต้องหาที่มีหมายจับในคดีความมั่นคงหลายคดี ร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา เป็นผู้ลงมือก่อเหตุในครั้งนี้ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอานวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 15 กันยายน 2555 ว่าได้รับแจ้งจากหน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.)ปัตตานี 24 ว่า ได้รับการประสานด้านการข่าวจากคณะทางานพิเศษด้านการข่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน. ว่านายมะยูนิ มะนอร์ เข้ามาหลบซ่อนในพื้นที่บ้านบาโง บ้านย่อยบ้านบางทัน หมู่ที่ 3 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อมา ฉก.ปัตตานี 24 โดย ร้อย.ทพ.4202 จัดกาลังร่วมกับคณะทางานพิเศษด้านการข่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน.(ชป.ฉลามดา) เข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมาย ณ บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ที่ 3 ต.บางเขา ขณะเจ้าหน้าที่แสดงตัวเข้าตรวจค้น นายมะยูนิได้วิ่งหนีออกทางหลังบ้านและใช้อาวุธปืนพกยิงใส่ เจ้าหน้าที่จึงได้ไล่ติดตามและยิงตอบโต้จนนายมะยูนิถูกยิงเสียชีวิต ส่วนจ.ส.อ.ชูศักดิ์ ไม้ดัด สังกัด ร้อย.ลว.ไกล พล.ร.๑๕ (ชป.ฉลามดา) กระสุนถูกบริเวณหน้าท้อง 2 นัดได้รับบาดเจ็บ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหนองจิก และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปัตตานี สำหรับนายมะยูนิ มะนอร์ อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 5 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา มีหมายจับศาลจังหวัดนาทวี ที่ จ 39/2555 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 พฤติกรรมเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ เคยร่วมก่อเหตุเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ นพส.42-1 บ้านเกาะแลหนัง หมู่ที่ 1ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ผลการตรวจที่เกิดเหตุ อาวุธปืนพก ขนาด.357 นิ้ว 1 กระบอก ซองปืนพกหนังสีดา 1 ซอง กระเป๋าแบบคาดเอว (ภายในบรรจุของใช้ส่วนตัว) รถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ รุ่นสแมช สีดา-แดง หมายเลขทะเบียน กยค 330 ปัตตานี และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง เวลาเที่ยงคืนวันเดียวกัน เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายอัฟนาน มะแตฮะ อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 2 ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา บริเวณบ้านกือลอง หมู่ที่ 2 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดขณะนายอัฟนานขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน สาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 14 กันยายน 2555 เกิดเหตุคนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ใช้อาวุธปืนพกประกบยิงนายสมจิตร ทองหนัก อายุ 40 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป อยู่บ้านเลขที่ 29/1 บ้านลานควาย หมู่ที่ 5 ต.กอลา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กระสุนถูกบริเวณศีรษะเสียชีวิต เหตุเกิดขณะนายสมจิตรขับรถจักรยานยนต์จะไปส่งลูกที่โรงเรียน และจะไปทำงานพร้อมภรรยาในพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา ส่วนบุตรและภรรยาไม่ได้รับบาดเจ็บ สาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ช่วงเวลาเดียวกัน พบศพชายไทยทราบชื่อภายหลัง คือนายยันวา อารง อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135 บ้านพิกุลทอง หมู่ที่ 6 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส บริเวณใต้สะพานบ้านยือลอ หมู่ที่ 3 ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส สภาพศพมีบาดแผลบริเวณหน้าอก ลักษณะศพนอนคว่าหน้าอยู่ในน้า คาดว่าเสียชีวิตมาแล้ว ประมาณ 8 วัน สาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทำให้ทั้ง 2 วัน รวมผู้เสียชีวิต จำนวน 8 คน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อุ้มฆ่าหนุ่มยะรัง ระวังชนวนเพิ่มไฟ ความหวาดระแวงขยายวง Posted: 15 Sep 2012 06:16 AM PDT
พบศพหนุ่มใหญ่ตายปริศนาริมทาง ชาวบ้านเห็นคนร้ายแต่งกายคล้ายตำรวจอุ้มฆ่า ศูนย์ทนายมุสลิมลงพื้นที่เก็บข้อมูล เจ้าหน้าที่ปัดลงปฏิบัติงานคือเกิดเหตุ ระวังชนวนเพิ่มไฟ ความหวาดระแวงขยายวง ภรรยาและลูกๆ ของนายอับดุลรอเซะ บือแน ชาวบ้านปูลาฆาซิง หมู่ที่ 4 ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ยังอยู่ในอาการโศกเศร้าเมื่อนายอับดุลรอเซะ ถูกคนร้ายอุ้มฆ่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ช่วงสายของวันที่ 12 กันยายน 2555 บรรดาญาติมิตรของนายอับดุลรอเซะ บือแน อายุ 42 ปี ชาวบ้านปูลาฆาซิง หมู่ที่ 4 ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ต่างร่วมทำพิธีศพของนายอับดุลรอเซะที่บ้านพัก หลังจากเขาถูกพบเป็นศพบริเวณสะพานในหมู่บ้าน เมื่อช่วงกลางคืนก่อนหน้านั้น เหตุร้ายเกิดขึ้นหลังจากนายมาหามะ มุกตากูลี เจ้าของร้านน้ำชาประจำหมู่บ้าน ได้ไปตะโกนเรียกนางสาวรอปีอะ สามะ ภรรยาของนายอับดุลรอเซะ ที่บ้านพักเลขที่ 24/4 ช่วงประมาณ 4 ทุ่มของวันที่ 11 กันยายน 2555 ว่านายอับดุลรอเซะ ถูกเจ้าหน้าที่เอาตัวไป เมื่อได้ยินเช่นนั้นนางสาวรอปีอะจึงขอช่วยชาวบ้านให้ช่วยกันออกตามหา กระทั่งถึงเวลาประมาณตี 2 ชาวบ้านจึงพบเป็นศพ จึงช่วยกันนำศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลยะรัง จากนั้นจึงมีการพูดต่อๆ กันไปในกลุ่มชาวบ้านว่า นายอับดุลรอเซะ อาจถูกเจ้าหน้าที่ฆ่าตาย? "สภาพศพสามีคือ ปากบวม มือบวม มีรอยคล้ายถูกใส่กุญแจมือบริเวณข้อมือ มีรอยคล้ายเชือกรัดบริเวณรอบคอ และมีรอยกระสุนปืนบริเวณหลังใบหู 1-2 จุด" นางสาวรอปีอะ กล่าว นางสาวรอปีอะ เปิดเผยว่า สามีมักออกจากบ้านไปร้านน้ำชาช่วง 2 ทุ่มเป็นประจำ โดยไปคนเดียว ปกติจะกลับถึงบ้านเวลาประมาณ 4 ทุ่ม สามีมีอาชีรับจ้างทั่วไป มีลูกด้วยกัน 4 คน เป็นหญิง 3 คน ชาย 1 คน คนโตเป็นผู้หญิง อายุ 20 ปี แต่งงานและมีครอบครัวแล้ว คนที่สองเป็นชายกำลังเรียนที่ปอเนาะแห่งหนึ่งใน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี คนที่สามเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 โรงเรียนสามัญใน อ.ยะรัง และคนสุดท้ายเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ใน อ.ยะรังเช่นกัน "สามีทำงานหนักมาก ไม่ค่อยมีวันหยุดเลย เวลาทำงานไม่ค่อยแน่นอน ขึ้นอยู่กับนายจ้าง ส่วนดิฉันไม่สบาย ไม่ได้ทำงานหลายเดือนแล้ว รายได้ในครอบครัวมาจากสามีคนเดียว ก่อนหน้านี้สามีเป็นคนขับรถโครงการชลประทานปัตตานีมา 2 เดือน แต่ต่อมามีคนจ้างให้ขับรถสิบล้อขนไม้ แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม ก็มาเสียชีวิตเสียก่อน ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะเงินที่มีก็พอมีพอกินไปวันๆ"นางสาวรอปีอะ กล่าว วันเดียวกันนั้น นายมูหมัดอัสมิง เปาะแมรีซอ ผู้ประสานงานอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมคณะได้เดินทางมาที่บ้านของนายอับดุลรอเซะ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพร้อมถ่ายรูปที่เกิดเหตุด้วย นายมูหมัดอัสมิง ได้แนะนำให้ญาติร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานีโดยเร็วที่สุด หากล่าช้าอาจส่งผลต่อรูปคดี และจะได้ยื่นขอเงินช่วยเหลือเยียวยาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ รวมถึงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอีกด้วย "มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจะช่วยหาข้อเท็จจริงและเรียกร้องความเป็นธรรมคืนให้อย่างเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์จากกองพิสูจน์หลักฐานด้วย ว่าใครทำให้นายอับดุลรอเซะตาย" นายมูหมัดอัสมิง กล่าว นายมาหามะ มุกตากูลี เจ้าของร้านน้ำชา บอกว่าผู้ตายชอบมานั่งพูดคุยอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกับเพื่อบ้านคนอื่นๆ ในช่วงหลังเวลาละหมาดประมาณ 2 ทุ่ม เพราะร้านตั้งอยู่ใกล้มัสยิด ทั้งที่ร้านของตนเปิดตั้งแต่ตี 5 ถึง 5 โมงเย็นเท่านั้น และในคืนเกิดเหตุนายอับดุลรอเซะก็ไม่ได้มานั่งดื่มน้ำชาที่ร้านตน เพียงแต่เวลาประมาณ 2 ทุ่ม นายอับดุลรอเซะขับรถจักรยานยนต์ฮอนด้า รุ่นดรีม มาจอดหน้าบ้านฝั่งตรงข้าม แล้วเดินเข้ามาบอกตนว่า "มีตำรวจมามากับรถกระบะ" จากนั้นนายอับดุลรอเซะก็ได้นั่งพูดคุยกับตนได้ครู่หนึ่งก็มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งแต่งตัวคล้ายเจ้าหน้าที่ เดินเข้ามาที่หน้าบ้าน แต่เนื่องจากมีแสงสว่างไม่เพียงพอ จึงมองไม่ชัดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายใด "เจ้าหน้าที่เข้ามาถามเป็นภาษาไทยว่า จักรยานยนต์คันนี้เป็นของใคร นายอับดุลรอเซะก็ออกไปบอกว่าเป็นของเขาเอง ส่วนผมยังนั่งอยู่ที่เดิม เห็นนายอับดุลรอเซะยืนคุยกับเจ้าหน้าที่ซักพักผมก็เห็นเจ้าหน้าที่จับตัวนายอับดุลรอเซะไป ผมจึงรีบวิ่งไปบอกภรรยาของนายอับดุลรอเซะ ว่าสามีของเธอถูกเจ้าหน้าที่อุ้มไปแล้ว" นายมาหะมะ กล่าว ในบันทึกข้อเท็จจริงของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานีกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้เห็นเหตุการณ์ ระบุว่า กลุ่มบุคคลที่นำตัวนายอับดุลรอเซะไป มาด้วยรถกระบะแบบแค็บยกสูง สีบรอนเงิน 1 คัน กลุ่มชายฉกรรจ์ลงมาจากรถมา 3 คน โดย 1 ใน 3 สวมชุดไอ้โม่ง ทั้งหมดแต่งกายชุดดำ ถืออาวุธสงครามคนละกระบอก สวมเสื้อเกราะกันกระสุน คล้ายเจ้าหน้าที่ จากนั้นหนึ่งในสามคนนั้นเดินไปที่รถจักรยานยนต์จอดอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่ง แล้วถามชาวบ้านคนหนึ่งว่า เห็นมอเตอร์ไซขับผ่านมาทางนี้ไหม จากนั้นทั้ง 3 คน เดินมุ่งตรงไปที่รถจักรยานยนต์ของนายอับดุลราเซะ พร้อมถามว่ารถของใคร? เมื่อนายอับดุลราเซะรับว่าเป็นของตน ทั้ง 3 คนจึงตรวจเช็คความร้อนของท่อไอเสีย จากนั้นก็ควบคุมตัวนายอับดุลราเซะ จับมือไขว้หลังพร้อมใส่กุญแจมือ แม้นายอับดุลราเซะพยายามขัดขืนแต่ก็ยอมไปแต่โดยดี ซึ่งคนที่ควบคุมตัวบอกว่าจะพาไปสถานีตำรวจภูธร(สภ.) โสร่ง อ.ยะรัง นายอับดุลรอเซะ จึงตะโกนว่า ต้องพาไปที่บ้านกำนันก่อน แต่ไม่เป็นผล เขาถูกนำตัวขึ้นรถแล้วขับออกไปอย่างรวดเร็ว หลังจากญาติทราบเรื่อง จึงพยายามโทรศัพท์สอบถามนายอิสมาแอ บือแน กำนันตำบลกอลำ ซึ่งกำนันบอกว่า ไม่มีใครมาที่บ้านในคืนนั้น จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดสังเกต รวมทั้งได้โทรศัพท์สอบถามไปยัง สภ.โสร่งว่า ได้ควบคุมตัวนายอับดุลรอเซะไว้หรือไม่ ทว่าไม่ทันจะได้คำตอบ เวลาประมาณ 22.00 น. ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงแจ้งว่า ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด รวมทั้งมีชาวบ้านแจ้งว่า เห็นคนนอนอยู่ริมถนนคล้ายศพ จึงพากันออกไปดู จึงพบว่าเป็น ศพของนายอับดุลราเซะนั่นเอง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.)คนที่เข้าไปดูศพ ระบุว่า สภาพของศพถูกยิงที่ศีรษะ ทะลุต้นคอ 1 นัด สภาพคว่ำหน้า มือยังไขว้หลังและมีรอยถูกรัดคอด้วยเชือด มีร่องรอยของกุญแจมือทั้งสองข้าง พร้อมมีขวดเบียร์ไม่ทราบยี่ห้อ 1 ขวด และยังได้กลิ่นเบียร์อยู่ ถูกวางไว้ใกล้ศีรษะของศพ ระยะทางจากบ้านปูลาฆาซิง กับสถานที่พบศพนายอับดุลราเซะ ห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร ในบันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าว ยังระบุข้อสังเกตด้วยว่า ในที่เกิดเหตุพบขวดเบียร์ตั้งอยู่เหนือศีรษะของผู้ตาย และเจ้าหน้าที่วิทยาการไม่ได้เก็บหลักฐานในบริเวณศพผู้ตายหรือแม้กระทั้งร่องรอยตามเสื้อผ้าและศพเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม หรือ DNA แต่อย่างใด ด้านพ.ต.อ.ศักดา เจริญกุล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบ้านโสร่ง ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังสืบพยานในคดีนี้อยู่ ทราบแต่เพียงว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ต.กอลำ และเป็นสายข่าวให้ทหารด้วย ส่วนสาเหตุการตายยังไม่ทราบแน่ชัด และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ "ในคืนเกิดเหตุ ตำรวจไม่ได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในชุมชนแต่อย่างใด ตำรวจจะลงพื้นที่รักษาความปลอดภัยในช่วงกลางวันและรักษาความปลอดภัยบนถนนสาย 410 (สายปัตตานี – ยะลา) เท่านั้น ในพื้นที่เกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านทำหน้าที่สอดส่องดูแลรักษาความเรียบร้อยอยู่แล้ว" พ.ต.อ.ศักดา ยืนยัน ขณะที่พ.ท.นิสิต สมานมิตร ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.)ปัตตานีที่ 21 เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้ลงพื้นที่พูดคุยเพื่อหาข้อเท็จจริงในชุมนุมที่เกิดเหตุแล้ว ซึ่งชาวบ้านบอกว่าคนร้ายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นยุทธวิธีเดิมๆ ของผู้ก่อการไม่สงบที่ต้องการให้ชาวบ้านเข้าใจว่าผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ แต่คืนวันเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารจาก ฉก.ปัตตานี 21 ลงไปลาดตระเวนในพื้นที่อย่างแน่นอน ขณะที่นายอิสมาแอ บือแน กำนัน ต.กอลำ ระบุว่า ก่อนที่นายอับดุลรอเซะจะเสียชีวิต เขาโทรศัพท์มาเล่าว่า ช่วงกลางคืนรู้สึกเหมือนมีคนมาคอยแอบฟังอยู่ข้างบ้าน และรู้สึกว่าไม่สบายใจ จึงแนะนำให้พกปืนไว้ตลอด คืนเกิดเหตุตนประสานให้ทหารช่วยกันสกัดรถยนต์คันก่อเหตุ แต่ก็ไม่มีวี่แวว แม้คดีนี้ ยังไม่สามารถระบุตัวคนร้ายได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็อาจสร้างความรู้สึกหวาดระแวงจะนำไปสู่การสร้างความแตกแยกได้ เป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหาทางป้องกันก่อนที่จะสายเกิดแก้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 ก.ย. 2555 Posted: 15 Sep 2012 05:42 AM PDT แรงงานนอกระบบยื่นข้อเสนอ ขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการรับสิทธิต่างๆ กทม.ขานรับเร่งพัฒนารับประชาคมอาเซียน
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ตยังต้องการแรงงานกว่าพันอัตรา
ครูอัตราจ้างบุรีรัมย์บุกกรุง สมทบม็อบจี้ รบ.ต่อสัญญา-เพิ่มเงินเดือน 15,000 บาท
ครูอัตราจ้างโครงการ SP2 บุก ศธ.ยื่น 4 ข้อเสนอให้ สพฐ.เยียวยา
นายจ้างแจ้งยอดความต้องการแรงงานเดือน ส.ค. 1 แสนอัตรา เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ศธ.ส่งเรื่องเข้า ครม. ปรับครูลูกจ้างอาชีวะเป็น พนง.ข้าราชการ
พนักงานการบินไทยจี้ "สรจักร" ว่าที่ดีดีแก้สัญญาจ้างไม่เป็นธรรม เป็นงานแรก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เมื่อความดีคือ “ใบอนุญาต” ให้ทำผิดหลักการ Posted: 15 Sep 2012 03:23 AM PDT วัฒนธรรมโปรฯความดีในบ้านเรานั้นดูเหมือนจะเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตย ในนามของความดีพ่อแม่ ครูอาจารย์พร้อมที่จะใช้อำนาจเผด็จการกับลูกและลูกศิษย์ ในนามของการปกป้องความดีทางศาสนา องค์กรทางศาสนาก็พร้อมที่จะใช้อำนาจกดบีบคนที่ออกมาตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ และในนามของการปกป้องความดีของสถาบันกษัตริย์ ผู้คนในสังคมนี้ก็พร้อมที่จะทำทุกอย่าง ตั้งแต่ก่นด่าประณามคนเห็นต่าง ไล่ออกนอกประเทศ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หาทางเอาผิดทางกฎหมาย ไปจนถึงทำรัฐประหาร และล้อมปราบนักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยมดังประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองในนามของการปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากในประเทศนี้ ฉะนั้น การโปรฯความดีจึงมักควบคู่ไปกับการโปรฯความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจ ความดีจึงถูกใช้เป็นเสมือน "ใบอนุญาต" ให้ผู้ซึ่งถูกสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมทำผิดหลักการได้ และทำได้อย่างอยู่เหนือการถูกตรวจสอบ เช่นพระที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นพระดี เป็นพระอริยะมีญาณวิเศษ แม้จะละเมิดหลักการพระธรรมวินัยด้วยการอวดอุตตริต่างๆ นานา ก็ไม่ถูกตรวจสอบ คนที่ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมสูงส่งจะทำรัฐประหารหรือถูกสงสัยว่าสนับสนุนการทำรัฐประหารก็ไม่ถูกตรวจสอบ เป็นต้น น่าสนใจว่า ทำไม "ความดี" และ "คนดี" ในมาตรฐานของวัฒนธรรมโปรฯความดีของบ้านเราจึงมักไปกันไม่ได้กับความเป็นประชาธิปไตย หรือหลักการที่ถูกต้อง? ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับอำนาจนิยามความดี คุณค่าของความดี และการใช้ความดีตามที่เป็นอยู่จริง ซึ่งมีความสับสนมากว่าความดีคืออะไร มีคุณค่าอย่างไร หรือเราต้องการมันเพื่ออะไร และเราใช้มันอย่างไร ในการรณรงค์ "ทำดีเพื่อพ่อ" นั้น ประเภทของความดีเยอะมาก ตั้งแต่คิดดี พูดดี เก็บขยะ ปลูกป่า ออกกำลังกาย เลิกยาเสพติด ไปจนถึงอ่านหนังสือสอบเพื่อพ่อ คุณค่าของความดีต่างๆ เหล่านี้เชื่อกันว่าคนทำได้ประโยชน์กับตัวเอง และได้ถวายเป็น "พระราชกุศล" ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สังคมเราไม่เคยมีการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาคเพื่อพ่อ ฉะนั้น ความดีต่างๆ ที่รณรงค์ให้ทำเพื่อพ่อจึงไม่ได้มีความหมายต่อการสร้างวัฒนธรรมยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมยึดมั่นในตัวบุคคล ลองมาดูความดีทางศาสนาที่สอนๆ กันอยู่ ก็ไม่ใช่ความดีที่ยึดโยงอยู่กับ หรือสนับสนุนการสร้างสังคมที่ยุติธรรมบนหลักของการมีสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ความดีทางศาสนามักถูกใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต เช่นการแก้กรรม ปล่อยนกปล่อยปลา สะเดาะเคราะห์โดยการใส่บาตรด้วยของสิ่งนั้นสิ่งนี้ บวชล้างซวย ฯลฯ เป็นเรื่องชี้นำให้คนหลอกตัวเองว่าความผิดพลาดในอดีตสามารถปลดเปลื้องได้ด้วยพิธีกรรม หรือควรจะลืมมันไปเสีย มากว่าที่จะเก็บมาทบทวนหรือเผชิญกับมันอย่างตรงไปตรงมาและพร้อมจะรับผิดชอบต่อมัน นอกจากจะเชื่อว่าความดีทำให้สบายใจ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำในอดีตแล้ว ความดียังให้ความหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น เพราะความดีมีอานุภาพดลบันดาลความสุขในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนี้ "ความดีเพื่อพ่อ" กับ "ความดีทางศาสนา" ยังถูกนำมาผสมกลมกลืนเป็นหลักอ้างอิงรองรับการกระทำที่ถูกต้องในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชีวิตการเรียน การทำงาน การมีชีวิตคู่ การบริโภค กระทั่ง "การกระทำที่ถูกต้องทางการเมือง" จนแม้กระทั่งความดีเหล่านั้นกลายเป็น "ใบอนุญาต" ให้ทำผิดหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน (เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่บาป ฯลฯ) หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่า ชนชั้นที่มีอำนาจนิยาม เผยแพร่ และโปรฯความดีเหล่านี้ คือชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชุดความดีของพวกเขาคือ กตัญญูต่อแผ่นดิน จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นความดีที่อยู่บนสมมติฐานว่า กษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตล้วนตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม มีบุญคุณต่อราษฎร ฉะนั้น ราษฎรจะเป็นคนดีได้จึงต้องมีคุณธรรมคือกตัญญูต่อแผ่นดิน จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความดีในความหมายนี้จึงเป็นความดีภายใต้เงื่อนไขการยอมรับอำนาจพิเศษที่เหนือกว่ามนุษย์สามัญ เราแต่ละคนหาได้เป็นคนดีได้ด้วยตนเองไม่ จะเป็นได้ก็ต่อเมือมี "ตราประทับความจงรักภักดี" รับรองเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นคนที่แสดงตนว่าเขามีตราประทับรับรองที่ว่านี้ ยังทำตัวเสมือนเป็นผู้มีใบอนุญาตให้ทำผิดหลักการประชาธิปไตยได้อย่างออกหน้าออกตา เช่นไล่คนที่เห็นต่างเรื่องสถาบันกษัตริย์ให้ออกไปนอกประเทศ กระทั่งทำรัฐประหารและปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ความดีเช่นนี้จึงผูกโยงอยู่กับอำนาจและศรัทธาต่ออำนาจ ฉะนั้น ฐานของความดีจึงไม่ใช่ "ความมีเหตุผล" แต่เป็นอำนาจ + ศรัทธา +อารมณ์ = การมีกฎหมายจำกัดเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ ความเชื่อที่ไม่ต้องพิสูจน์ และอารมณ์ด้านบวกที่เคลิบเคลิ้มดราม่าอย่างไร้ขีดจำกัด และอารมณ์ด้านลบที่โกรธเกรี้ยวรุนแรงต่อความเห็นต่าง ไม่ให้พื้นที่กับความเห็นต่าง ทำให้ความเห็นต่างเป็นอาชญากรรม คนเห็นต่างเป็นนักโทษการเมือง เป็นคนเลว ถูกสาปแช่งไม่ให้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพงานงาน ฯลฯ ส่วนความดีทางศาสนา ผู้มีอำนาจกำหนดนิยาม เผยแผ่คือสถาบันทางศาสนา พระสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่ที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีวัฒนธรรมในการใช้ความดีโปรฯชนชั้นปกครอง และใช้ความดีในนามของบุญ กุศล ศีล ทานสร้างความหวังที่จะมีชีวิตที่สุขสบายในโลกนี้และโลกหน้าแก่ชาวบ้าน และทำการตลาดรับทรัพย์กับความหวังที่สร้างขึ้นนั้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน "ความดีโปรฯชนชั้นปกครอง" และ "ความดีสร้างหวัง" ในชีวิตส่วนตัวที่สุขสบายดังกล่าว ไม่ได้มีความหมายใดๆ ต่อการส่งเสริมการสร้างระบบสังคมการเมืองที่ยุติธรรมมีเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือทำให้ประชาชนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทว่าบ้านเรากลับทุ่มทุนและสรรพกำลังอย่างมหาศาลเพื่อส่งเสริม "ความดียึดตัวบุคคล" และ "ความดีเพื่อความสุขส่วนตน" ที่ว่านั้น แต่ความดีที่ส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เช่นความกล้าหาญทางคุณธรรมที่จะต่อสู้ปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค นอกจากจะไม่ถูกส่งเสริมเท่าที่ควรแล้ว ยังถูกอ้าง "ความดียึดตัวบุคคล" และ "ความดีเพื่อความสุขส่วนตน" เป็นใบอนุญาตให้บรรดาคนดีมีคุณธรรมสูงส่งละเมิดหลักการเหล่านี้มาโดยตลอด ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามกับความดีที่ "ไม่ดี" ต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมให้มากขึ้น และยืนยันการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย ที่จำเป็นต้องให้ประชาชนมีอำนาจนิยามความดี หรือกำหนดถูก-ผิดทางศีลธรรมด้วยตนเองมากขึ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ความจริงเพื่อความยุติธรรม Posted: 15 Sep 2012 03:11 AM PDT
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน นี้ คณะกรรมการ ศปช. หรือที่มีชื่อเต็มว่า "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ได้เผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การปราบปรามประชาชนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๓ โดยใช้ชื่อว่า "ความจริงเพื่อความยุติธรรม" เป็นหนังสือหนาถึง ๑๓๙๐ หน้าพร้อมด้วย ซีดี ประกอบ ซึ่งนับเป็นรายงานข้อเท็จจริงที่ละเอียดที่สุด และกระทำสำเร็จเป็นฉบับแรกสุด หลังจากการเกิดเหตุการณ์กว่า ๒ ปี ขณะที่คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงชุดอื่น เช่น คอป. หรือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งหมดอายุการทำงานเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ยังไม่มีรายงานลักษณะนี้ และรายงานฉบับของ กสม. หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังมีปัญหา เพราะคงจะไม่ผ่านที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ศปช.ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ โดยกลุ่มนักกิจกรรมร่วมกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม มีเจ้าหน้าที่ทำงาน ๕-๖ คนในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสัมภาษณ์พยาน ผู้ได้รับผลกระทบฯ ในคำนำของหนังสือความจริงเพื่อความยุติธรรม ได้อธิบายว่า รายงานฉบับนี้ "มีจุดเริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถทำใจนิ่งเฉยกับความรุนแรงที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชน... คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้จึงได้แปรเปลี่ยนความเจ็บปวดต่อความอยุติธรรมให้เป็นความพยายามที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" และยังอธิบายด้วยว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่จะหาตัวผู้กระทำผิดนั้นไม่มีความก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ในรายงานฉบับนี้ได้สรุปตัวเลขที่น่าสนใจไว้ว่า ประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมมีถึง ๙๔ คนในจำนวนนี้เป็นหญิง ๖ คน ทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน ๘๘ คน โดยถูกยิงที่ศีรษะ ๓๒ คน ในจำนวนนี้ มีอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพและพยาบาลเสียชีวิต ๖ คน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิต ๒ คน ส่วนตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บคือ ๑,๒๘๓ คน กองทัพเบิกกระสุนไป ๕๙๗,๕๐๐ นัด ส่งคืน ๔๗๙,๕๗๗ นัด เท่ากับฝ่ายกองทัพใช้กระสุนในการปราบปรามถึง ๑๑๗,๙๒๓ นัด พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นการบันทึกข้อเท็จจริง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยมุ่งหวังว่าในอนาคต การรวบรวมข้อมูลนี้จะสามารถนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบและนำคนผิดมาลงโทษได้ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของคณะทำงานคือการเข้าไม่ถึงข้อมูลจากภาครัฐ ไม่มีอำนาจในการเรียกเอกสารหรือเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล แต่ก็ได้มีการรวบรวมข้อมูลเอกสารทางการเท่าที่มีการเผยแพร่และหามาได้ไว้ทั้งหมด รวมถึงหลักฐานจำพวกคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก และส่วนใหญ่ถูกลบไปแล้ว ในบทความของ เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานว่า กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปช.ได้จัดการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ถือเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองตามครรลอง แต่สถานการณ์กลับพาไปสู่ความรุนแรง โดยความรุนแรงเริ่มต้นจากการประกาศใช้พระราชกำหนดสถาณการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน จากเหตุการณ์ล้อมสภาของกลุ่ม นปช. ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็เป็นการจัดการที่เกินกว่าเหตุ และการใช้กฎหมายนี้นำไปสู่การใช้กำลังของหน่วยทหารจนเกิดความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการประกาศ "ขอคืนพื้นที่" ในวันที่ ๑๐ เมษายน ซึ่งเกิดการปะทะกันในพื้นที่โดยรอบถนนราชดำเนิน และทำให้มีผู้เสียชีวิต ๒๔ ราย นอกจากนี้ ในรายงานยังกล่าวถึงเรื่อง "ชายชุดดำ" ซึ่งคนเสื้อแดงเห็นว่าเป็นฮีโร่มาช่วยในเวลาที่เพลี่ยงพล้ำ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น ยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความชัดเจนได้ และเป็นปริศนาภายในกองทัพเอง ส่วนการเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารฝ่ายปราบปราม ๕ คน ก็เกิดขึ้นนอกบริเวณการชุมนุมของคนเสื้อแดง ในรายงานได้เผยข้อเท็จจริงต่อไปว่า การปราบปรามครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำหนดเส้นตายให้ นปช.ยุติการชุมนุมอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม หลังจากนั้น ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม รัฐบาลก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่สอง และดำเนินการให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ก็ได้เริ่มต้นสลายการชุมนุมโดยการกระชับวงล้อม การสังหารหมู่ครั้งใหม่ก็เริ่มต้นโดยการยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เสียชีวิตในวันเดียวกันนั้นเอง จากนั้น จึงได้มีการสังหารชีวิตประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจนถึงการสลายการชุมนุมในเวลากลางวันของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ๕๖ คน จากนั้น ต่อมา ก็มีการสังหารประชาชนที่วัดปทุมวนารามอีก ๖ คน และมีผู้ถึงแก่กรรมเพราะติดในตึกเซ็นทรัลเวิร์ลอีก ๑ คน ที่น่าสนใจคือ ในรายงานได้กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์การสลายการชุมนุม นำมาซึ่งการจับกุมประชาชนดำเนินคดีทั่วประเทศถึง ๑๘๕๗ คน ซึ่งบางคนไม่ได้ร่วมชุมนุมด้วย และจากจำนวนทั้งหมดนี้ ต่อมาถูกดำเนินคดีถึง ๑,๗๖๓ คน โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีคดีมากที่สุด รองลงมาคือภาคอีสาน โดยแยกลักษณะการฟ้องได้ ๒ ลักษณะ คือ คดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน และคดีที่ฟ้องร่วมกับคดีอาญา มีบางคดีที่ถูกฟ้องร่วมกับคดียาเสพติด ในการดำเนินคดีมีการรวบรัด มีหลายคดีที่ศาลชั้นต้นตัดสินคดีโดยลงโทษจำคุก ๑ ปี แล้วจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเพราะการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นผิดระเบียบ แต่มีถึง ๒๗ คดีที่ศาลตัดสินจำคุกมากกว่า ๑๐ ปี มีตัวอย่างหลายคดีพบว่า พยานหลักฐานหลายชิ้นที่ถูกนำมาใช้เพื่ออ้างว่าผู้ต้องหาฝ่าฝืน พระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน คือ ตีนตบ ธง นปช. หมวก ผ้าพันคอ พลุ ตะไล เป็นต้น และล่าสุดในขณะนี้ ยังมีผู้ที่ติดคุกอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ได้รับการประกันตัวอีก ๒๒ คน ในรายงานระบุด้วยว่าการใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉินส่งผลกระทบต่อกระบวนการดำเนินคดีคือมีการซ้อม มีการจูงใจให้รับสารภาพ และผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากก็ไม่มีทนายความช่วยเหลือคดี บทความของ ขวัญระวี วังอุดม ได้วิเคราะห์ว่า การสลายการชุมนุมทั้งหมดนี้เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ไม่สอดคล้องกับกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยและหลักสากล และกลายเป็นว่าประชาชนผู้เสียชีวิตโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาวุธอยู่ในมือเลย เท่ากับเป็นการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมที่มีแต่สองมือเปล่า ยิ่งกว่านั้น การใช้พลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ยิงประชาชนก็ไม่ถูกต้องด้วยหลักการสลายการชุมนุม และยังรวมถึงการยิงผู้สื่อข่าว และอาสาสมัครกู้ชีพอย่างไม่มีการแยกแยะ ซึ่งที่มาอย่างหนึ่งของการใช้ความรุนแรงเช่นนี้ก็คือ การใช้กฏหมายความมั่นคงมาจัดการกับการชุมนุมทางการเมือง จนทำให้กลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนขั้นรุนแรง อีกกรณีหนึ่งที่กล่าวถึงในรายงานนี้ก็คือ การใช้การปฏิบัติการด้านข่าวสารที่สร้างความชอบธรรมแก่การปราบปรามของฝ่ายรัฐบาล เช่น การโฆษณาชวนเชื่อด้วยการสร้างวาทกรรมด้านลบเกี่ยวกับผู้ชุมนุม การโจมตีว่า ผู้ชุมนุมเป็นสมุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้น่าสงสารไร้การศึกษาและถูกหลอกมา จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของการก่อการร้าย และที่ร้ายแรงคือการโจมตีด้วยข้อหาว่าเป็น"แดงล้มเจ้า" และเพื่อให้สมเหตุผลก็ได้มีการอุปโลกน์ข้อมูลเรื่องผังล้มเจ้าออกมาด้วย และเมื่อปราบปรามแล้ว ก็ใช้การบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ซึ่งต่อมาก็เป็นที่พิสูจน์ได้ว่า ผังล้มเจ้าเป็นเพียงเรื่องกำมะลอ แต่มีผลในการใส่ร้ายป้ายสีแล้วฆ่าคน ข้อสรุปที่น่าสนใจ ก็คือ กรณีการสลายการชุมนุมประชาชนอันนำมาซึ่งการบาดเจ็บเสียชีวิต และการถูกจับกุมของประชาชนจำนวนมากเช่นนั้น ถูกอธิบายด้วยคำ ๓ คำ คือ "อำพราง อัปลักษณ์ และ อำมหิต" และเมื่อเวลาขณะนี้ ความยุติธรรมก็ยังไม่ได้กลับคืนมาสู่ประชาชน สุภาษิตกฎหมายได้กล่าวว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม" และที่น่าแปลกใจก็คือ ความยุติธรรมที่มาล่าช้ายังดำเนินต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาแล้ว ๑ ปีก็ตาม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปธน.ลิเบีย บอกเหตุโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯ มีการวางแผนไว้ก่อน Posted: 15 Sep 2012 02:51 AM PDT อัลจาซีร่าสัมภาษณ์ ปธน.ของลิเบีย ต่อความเห็นเรื่องโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯ เผย อาจเป็นฝีมือของกลุ่มอัล-เคด้า และเหตุรุนแรงครั้งนี้มีการวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว เป็นความพยายามล้างแค้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา ที่มาภาพ: วีดีโอ Aljazeera 15 ก.ย. 2012 - ประธานาธิบดีลิเบียกล่าวว่าการโจมตีสถานกุงสุลสหรัฐฯ ในกรุงเบงกาซี ประเทศลิเบีย ที่เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ทางการทูตสหรัฐฯ เสียชีวิต 4 ราย และชาวลิเบียเสียชีวิต 10 ราย เป็นการกระทำของ "จอมวางแผนผู้มีประสบการณ์" ที่วางแผนตระเตรียมเอาไว้ก่อน "ผมคิดว่าเป็นฝีมือกลุ่มอัล-เคด้า" ประธานาธิบดี โมฮัมเม็ด อัล-มาการีฟ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาว๊ร่าเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุการรุนแรงเมื่อสามวันก่อน "ถ้าหากคุณลองพิจารณาการใช้อาวุธพวกอาร์พีจีและอาวุธหนักอื่นๆ มันก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องที่เตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว" ปธน.ของลิเบียกล่าว "มันเป็นการล้างแค้นอย่างสกปรก ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนาเลย" ก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมารักษาการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของลิเบีย ได้กล่าวหาว่าการโจมตีมาจากกลุ่มผู้ภักดีต่อกัดดาฟี อดีตประธานาธิบดีเผด็จการที่ถูกโค่นล้มไปเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่กลุ่มผู้ภักดีต่อกัดดาฟียังคงแสดงตัวอยู่ในลิเบีย แต่อัล-มาการีฟ ก็กล่าวว่าไม่มีทางที่พวกเขาจะอยู่เบื้องหลังการโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯ ปธน.ของลิเบีย เปิดเผยว่ามีกลุ่มอัล-เคด้าจำนวนไม่มากยังคงอยู่ในลิเบีย แต่พวกเขาก็ได้รับผลประโยชน์จากช่องว่างของหน่วยงานความมั่นคง และสามารถแทรกซึมเข้าไปในหน่วยรักษาความมั่นคงได้ การเพิ่มจำนวนอาวุธ ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในลิเบียคือการเพิ่มจำนวนอาวุธซึ่งหลงเหลือมาจากความขัดแย้งในช่วงปี 2011 ที่มีกลุ่มติดอาวุธล้มล้างอดีตผู้นำมุมมาร์ กัดดาฟี ลงได้ รวมถึงการที่รัฐบาลกลางถูกทำให้อ่อนแอลงจากกลุ่มเผ่าพันธุ์ที่เป็นปฏิปักษ์ ปธน.อัล-มาการีฟ กล่าวต่ออัลจาซีร่าว่า เขาจะสั่งหารให้มีการปลดอาวุธกลุ่มติดอาวุธ "แน่นอนว่าเราต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายกลุ่มติดอาวุธ และก่อนหน้านั้นก็จำต้องพึ่งพากองทัพ" มีประชาชนราวหนึ่งร้อยคนชุมนุมประท้วงกันที่จัตุรัสทาห์เรียของกรุงเบงกาซีเมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา มีหลายคนเรียกร้องให้มีการเพิ่มกำลังหน่วยรักษาความสงบในประเทศและให้กลุ่มติดอาวุธสลายตัวไป คาลิด เอล คาดีคี ผู้ร่วมจัดการประท้วงบอกว่ารัฐบาลควรเสริมกำลังให้กองทัพและตำรวจมากกว่านี้ เพื่อให้กลุ่มหัวรุนแรงไม่สามารถก่อเหตุรุนแรงได้อีก เมื่อถามว่าเขามีความเชื่อมั่นในคำสัญญาของปธน.ที่จะปลดอาวุธกลุ่มติดอาวุธหรือไม่ คาลิด เอล คาดีคี ก็บอกว่า ปธน. อัล-มาการัฟ ให้สัญญษไว้มากมายแต่ไม่เคยทำอะไร คาดิยา ฟิตอร์ ผู้ที่เข้าร่วมประท้วงพร้อมลูกสาว 2 คนถือป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจกับกลุ่มติดอาวุธ "พวกเราต่อต้านการก่อการร้ายและความรุนแรงต่อสถานกุงสุลสหรัฐฯ" คาดิยา กล่าว "พวกเราต้องการรักษาสัมพันธ์อันดีกับประชาชนชาวอเมริกัน พวกเขาช่วยเราในการปฏิวัติ" มีตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐของลิเบียเปราะบางต่อการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ คืกเหตุการณ์ในช่วงเช้าของวันที่ 14 ก.ย. ที่พื้นที่น่านฟ้าของกรุงเบงกาซีถูกสั่งห้ามหลายชั่วโมงหลังจากที่นักรบกลุ่มต่อต้านรัฐบาลขู่ว่าจะยิงเครื่องบินโดรนของสหรัฐฯ ในพื้นที่ ที่มา: Benghazi attack on US consulate 'pre-planned', Aljazeera, 15-09-2012 http://www.aljazeera.com/news/africa/2012/09/201291512714470776.html ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผลจากโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 ต่อกฎหมายกีฬาอังกฤษ: มองจากอดีต ปัจจุบันและอนาคต Posted: 15 Sep 2012 02:36 AM PDT
การประกาศจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร (Hillsborough Independent Panel) เกี่ยวกับความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรที่มีสาธุคุณเจมส์ โจนส์ สังฆราชเมืองลิเวอร์พูล ประธานคณะกรรมการฯ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ผู้บริหารองค์กรกีฬาฟุตบอลระดับชั้นต่างๆ สโมสรฟุตบอลเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่จัดการแข่งขันในขณะเกิดโศกนาฏกรรม และเจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ ต่างออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษต่อสาธารณะชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เหตุที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวทุกภาคส่วนต้องออกมาขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว ก็เพราะผลการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report ที่มีลอร์ด ปีเตอร์ เทย์เลอร์เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ประกอบด้วยเนื้อหาที่ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ซึ่งความผิดพลาดของรายงานในอดีตที่ผ่านมาส่งผลให้แฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธ์และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน อันเท่ากับว่าผลการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report ฉบับเดิมเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ได้สร้างความอยุติธรรมที่ซ้ำซ้อน (Double Injustice) เพราะนอกจากผู้ที่บริสุทธิ์และครอบครัวจะได้รับผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวแล้ว ผู้บริสุทธิ์บางส่วนยังถูกสังคมและหน่วยงานของรัฐในขณะนั้นตราหน้าว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมจนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมดังกล่าว มองอดีตที่ผ่านมาของโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1989 ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างทีมสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกับทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ที่สนามเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ ซึ่งจากการสรุปเนื้อหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวในเอกสาร Taylor Report ที่ได้รายงานว่าโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรเกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการก่ออาชญากรรมของแฟนบอลในก่อนและระหว่างเกมการแข่งขันฟุตบอลในสนามกีฬาได้เริ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในสนาม และการเข้าชมเกมการแข่งขันโดยไม่มีตั๋วเข้าชม เป็นต้น นอกจากข้อสรุปเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการก่ออาชญากรรมของผู้ชมการแข่งขันในครั้งนั้นแล้ว สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดเหตการณ์ดังกล่าวตามที่เอกสาร Taylor Report ในอดีตยังได้สรุปเกี่ยวกับข้อเท็จจริงไว้เกี่ยวกับความปลอดภัยในสนามกีฬา กล่าวคือ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดมาตรการส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลที่เหมาะสม เพราะจากหลักฐานและการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่าอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตก (West Stand) มีพื้นที่รองรับผู้ชมกีฬาฟุตบอลได้น้อยกว่าอัฒจรรย์ฝั่งตะวันออก (East Stand) แต่ทางสโมสรฟุตบอลเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่ใช้ในการแข่งขันกลับให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่มีจำนวนมากกว่าไปเข้าชมในอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตกและให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ที่มีจำนวนน้อยกว่าไปเข้าชมทางอัฒจรรย์ฝั่งตะวันออก ซึ่งการเข้าสู่สนามอย่างเบียดเสียดยัดเยียดของผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลในอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตกโดยขาดการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ดีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สโมสรฟุตบอลเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่จัดการแข่งขัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรงในขณะนั้น และฝ่ายปกครองท้องถิ่น ประกอบกับภาครัฐขาดมาตรการและการฝึกฝนเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ ในขณะนั้น จึงได้นำเอาข้อมูลจากเอกสาร Taylor Report ในปีเดียวกับมาเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและป้องกันการก่ออาชญากรรมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ซึ่งแม้ในเวลาต่อมาได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแถลงข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดจากการก่ออาชญากรรมของผู้ชมกีฬาฟุตบอลในสนามในเวลานั้น แต่เกิดจากการขาดเทคนิคการควบคุฝูงชนและการขาดมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในสนามที่ดี แต่ความเข้าใจผิดของคณะผู้จัดทำเอกสาร Taylor Report นี้เอง ได้ส่งผลให้มีการตราและบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันการก่ออาชญากรรมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ได้แก่ กฎหมาย Football Spectator Act 1989 ที่บังคับใช้ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียของผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นจำนวนมากจากโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร กฎหมาย Football Spectator Act 1989 ได้กำหนดมาตรการที่สำคัญสามประการด้วยกันได้แก่ ประการแรก กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในช่วงก่อน ขณะและภายหลังการแข่งขันกีฬาฟุตบอล โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอลของอังกฤษในการตรวจสอบความปลอดภัยและโครงสร้างอาคารของสนามกีฬาฟุตบอล ซึ่งมาตรา 13 ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้องค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอลมีหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยของสนามกีฬาฟุตบอล อนึ่ง องค์กรออกใบอนุญาตมาตรฐานสนามกีฬาฟุตบอลสามารถให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการออกใบอนุญาต (Licensing System) เพื่อให้ท้องถิ่นอังกฤษสามารถออกใบอนุญาตตรวจความปลอดภัย (Safety Certification) ของสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ประการที่สอง กฎหมาย Football Spectator Act 1989 มาตรา 15 ได้กำหนดให้มีหน่วยงานตำรวจทางฟุตบอลที่ถือเป็นตำรวจทางการยุติธรรมประเภทหนึ่งที่มีหน้าที่ในการออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง ที่ประกอบด้วย คำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรงในประเทศ (Domestic Football Banning Orders) และคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรงระหว่างประเทศ (International Football Banning Orders) ตัวอย่างเช่น ตำรวจทางฟุตบอลอาจทำคำสั่งยึดหนังสือเดินทางของผู้ชมกีฬาฟุตบอลต่างประเทศ (Surrender Passports) ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ เป็นต้น ประการที่สาม กฎหมาย Football Spectator Act 1989 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยและลดอาชญากรรมในสนามกีฬาฟุตบอล เช่น การจุดพลุหรือประทัดภายในสนามกีฬาฟุตบอลโดยไม่มีเหตุอันสมควร (Throw Missiles) การเหยียดผิวผู้ชมกีฬาฟุตบอล (Racist Chanting) การลงไปในบริเวณสนามฟุตบอลที่กำลังมีการแข่งขันโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น การขายบัตรเข้าชมกีฬาฟุตบอลราคาเกินไปกว่าความเป็นจริง (Ticket-touting) หรือการขายบัตรเข้าชมกีฬาฟุตบอลปลอม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ผลจากไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report เกิดขึ้นเนื่องมาจากความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อ 23 ปีที่แล้วต่อโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร แต่ความผิดพลาดของข้อมูลที่รัฐบาลอังกฤษได้มาจากการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงในเอกสาร Taylor Report กลับทำให้เกิดการพัฒนามาตรการทางกฎหมายเฉพาะหลายประการที่เอื้อประโยชน์ในการสร้างความมาตรการส่งเสริมปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลและมาตรการในการลดอาชญากรรมอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ในเวลาต่อมา มองปัจจุบันและอนาคต แม้ว่าโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรและผลการไต่สวนและแถลงข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดในเอกสาร Taylor Report จะส่งผลร้ายต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 96 ชีวิต ซึ่งบางคนยังไม่ได้เสียชีวิตทันทีในขณะที่เกิดช่วงชุลมุนในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่กลับมาเสียชีวิตไปเพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐไม่ยอมทำการค้นหาผู้ที่ยังรอดชีวิตอยู่ในซากสนามกีฬาฟุตบอลที่ถล่มลงมา นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบกลับถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมที่รุนแรงและประกอบอาชญากรรมอันเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมดังกล่าว แต่การเข้าใจผิดและการสรุปผลที่ผิดพลาดในหลายประเด็นในเอกสาร Taylor Report นี้เอง กลับทำให้นักกฎหมายอาญาและนักกฎหมายกีฬาของอังกฤษได้นำเอาข้อสรุปอันเกิดจากการเร่งสรุปและทำงานที่ผิดพลาดของคณะผู้จัดทำเอกสาร Taylor Report ไปแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลและมาตรการในการลดอาชญากรรมอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ เช่น กฎหมาย Football Spectator Act 1989 กฎหมาย The Football (Offences) Act 1991 กฎหมาย The Football (Offences and Disorder) Act 1999 และกฎหมาย The Football (Disorder) Act 2000 เป็นต้น ในปัจจุบันรายงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร (Report of the Hillsborough Independent Panel) ได้ออกมากลับคำแถลงข้อเท็จจริงจากเอกสาร Taylor Report ที่ให้แถลงประเด็นข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดและทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับตราบาปและถูกสังคมประนามว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ออกมาน้อมรับความผิดและแถลงคำขอโทษสาธารณะ (Public Apology) ต่อประชาชนทั่วไปเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความผิดพลาดของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา แม้ความผิดพลาดอย่างยิ่งยวดของเอกสาร Taylor Report ได้ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่บาดเจ็บและเสียชีวิต และครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเป็นบทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายในอนาคตตามมา ในขณะเดียวกันภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ อาจต้องร่วมมือกันในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายอาญาทางการกีฬาและกฎหมายความปลอดภัยในอาคารกีฬา รวมไปถึงแนวทางและวิธีการในการไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงสาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการกีฬาเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมในลักษณะเช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมนี้ขึ้นมาอีกในอนาคต เอกสารอ้างอิง: กฎหมาย Football Spectator Act 1989 โปรดดูใน http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1989/37/contents เอกสาร Taylor Report (The Hillsborough Stadium Disaster: 15 April 1989, Interim Report, Cmnd.765) โปรดดูใน http://www.southyorks.police.uk/sites/default/files/Taylor%20Interim%20Report.pdf รายงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร (Report of the Hillsborough Independent Panel, 12 September 2012) โปรดดูใน http://hillsborough.independent.gov.uk/repository/report/HIP_report.pdf ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น