โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พรรคในสวิสเล็งทำประชามติ เลิก 'พาวเวอร์พอยต์' ใช้ 'กระดาษ-ขาตั้ง' แทน

Posted: 06 Sep 2012 11:01 AM PDT

พรรคต่อต้านพาวเวอร์พอยต์ ในสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งเป้าทำประชามติ ยกเลิกการใช้พาวเวอร์พอยต์ในการพรีเซ็นต์งาน ชี้น่าเบื่อและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ เสนอใช้ "กระดาษ-ขาตั้ง" หรือฟลิบชาร์ตแทน เพราะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และดึงดูดใจกว่า

 

เว็บพีซีเวิล์ด รายงานว่า พรรคต่อต้านพาวเวอร์พอยต์ The Anti-PowerPoint Party (APPP) ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2554 ตั้งเป้าทำประชามติเพื่อไม่ให้มีการใช้พาวเวอร์พอยต์และซอฟต์แวร์ต่างๆ ในการนำเสนองาน ทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลว่า การใช้พาวเวอร์พอยต์นั้นทำลายแรงบันดาลใจและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสวิส ราว 2.1 พันล้านฟรังก์ต่อปี (ราว 6.8 หมื่นล้านบาท) โดยคำนวณคร่าวๆ ว่า 85% ของลูกจ้างที่เข้าร่วมการพรีเซ็นต์งานโดยพาวเวอร์พอยต์ ไม่เห็นว่าจะได้อะไรจากมัน นอกจากนี้ พรรคดังกล่าวมีแผนส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งระดับชาติในเดือนตุลาคมนี้ด้วย

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่เปิดให้ประชาชนสามารถเสนอทำประชามติได้เกือบทุกเรื่อง โดยต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100,000 ชื่อ ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่มีการล่ารายชื่อเมื่อวันที่ 5 พ.ค.เป็นต้นมา พรรคฯ ได้รายชื่อแล้ว 245 ชื่อ

สำหรับพรรคดังกล่าวเปิดให้เข้าร่วมได้โดยเสรี แต่สมาชิกจะต้องซื้อหนังสือ The PowerPoint Fallacy (ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพาวเวอร์พอยต์) ซึ่งเขียนโดยผู้ก่อตั้งพรรค Matthias Poehm

Poehm ยอมรับว่าพรรคของเขาเป็นแพลตฟอร์มในการขายหนังสือ แต่ก็ไม่ได้จบแค่นั้น โดยระบุว่าประเด็นดังกล่าวจะสร้างความตะหนักรู้แก่ผู้คน ซึ่งไม่รู้ว่ายังมีทางเลือกอื่นนอกจากพาวเวอร์พอยต์

โดย Poehm เสนอว่า ทางเลือกนั้นคือ ฟลิบชาร์ต หรือขาตั้งกับกระดาษ ซึ่งเขายกย่องว่าเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และมองว่าการนำเสนองานที่สร้างแบบสดๆ ก็ดึงดูดใจกว่า

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายจริงๆ ของ Poehm ไม่ได้ต้องการจะห้ามไม่ให้มีการใช้พาวเวอร์พอยต์เลย แต่เขาเพียงต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงประเด็นนี้และรับรู้ทางเลือกที่มี แต่ยังไม่มีใครใช้มัน

ทั้งนี้ เว็บพีซีเวิล์ดรายงานด้วยว่า เมื่อสอบถามความเห็นของ ไมโครซอฟท์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์พาวเวอร์พอยต์ เกี่ยวกับท่าทีและแผนของพรรคฯ ไมโครซอฟต์ไม่ได้แสดงความเห็นกลับมาแต่อย่างใด

 


ที่มา:

http://www.pcworld.com/businesscenter/article/235028/swiss_party_makes_dislike_of_powerpoint_a_political_issue.html


http://www.anti-powerpoint-party.com/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลโพสต์วิจารณ์ข้อเสนอนิธิ และใจ

Posted: 06 Sep 2012 10:54 AM PDT

จั่วหัวถึง "คนเสื้อแดง หรือผู้รักประชาธิปไตยอื่นๆ" โดยเห็นว่าข้อเสนอจาก "นิธิ เอียวศรีวงศ์" เรื่องให้คนเสื้อแดงมีกลไกคุมพรรคเพื่อไทยนั้น "น้อยไป" และเห็นว่าข้อเสนอของ "ใจ อึ๊งภากรณ์" เรื่องตั้งพรรคสังคมนิยม "มากไป" 

หมายเหตุ - เมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์บทความในเฟซบุคของตน วิจารณ์บทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์ และใจ อึ๊งภากรณ์ ในเรื่องข้อเสนอทางการเมืองต่อขบวนการเสื้อแดง โดยเห็นว่าข้อเสนอของ ใจ อึ๊งภากรณ์ "มากไป" และข้อเสนอของนิธิ เอียวศรีวงศ์ "น้อยไป" โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

 

คนเสื้อแดง หรือผู้รักประชาธิปไตยอื่นๆ 

- ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแท้จริง [ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และกลไกล้อมรอบสถาบันฯ (ตุลาการ, กองทัพ, องคมนตรี, เครือข่าย) ให้เป็นประชาธิปไตย]

- และไม่เห็นว่า ทุกสิ่งที่ เพื่อไทย-นปช ทำ เป็นอะไรที่ถูกต้อง ต้องสนับสนุน โดยอัตโนมัติ หรือเป็นอะไรที่วิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านไม่ได้

- และเห็นว่า เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพื่อไทย-นปช กำลังทำหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องตามทิศทางประชาธิปไตย

ควรทำอะไร?

......................

ไม่กี่วันนี้ หลายคนคงเห็นบทความของ นิธิ และ ใจ ที่มีเนื้อหาสำคัญ พูดถึงเรื่องเดียวกัน แม้จะด้วยภาษาและการวิเคราะห์ คนละอย่าง นันคือ เรื่องทำนองที่ผมสรุปข้างบนแบบยาวๆ 

(บทความนิธิ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1346645356 บทความ ใจ http://www.prachatai3.info/journal/2012/09/42468)

แน่นอน ที่ผมสรุปนี้ ก็สะท้อนวิธีวิเคราะห์ ที่ต่างกับทั้ง นิธิ และ ใจ อยู่ ซึ่งผมจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ ในที่นี้ แต่จะพูดเฉพาะประเด็นสำคัญ ที่ผมแชร์ความสนใจร่วมกับ นิธิ และ ใจ (และคงอีกหลายคน - ถ้าดูจากที่มีการพูดในที่ต่างๆ รวมถึงรายการ "ชูพงศ์" เมื่อวานนี้) คือ "ควรทำอะไร?"

เพื่อประหยัดเวลา ผมอยากเสนอแบบ "ฟันธง" ดังนี้

ผมคิดว่า ข้อเสนอของ ใจ "มากไป" ขณะที่ ข้อเสนอของนิธิ "น้อยไป"

ใจ เสนอเรื่องตั้งพรรคสังคมนิยม ซึ่งผมเห็นว่า too ambitious และ unrealistic

ผมขอพูดถึงข้อเสนนิธิ สักนิด คือ 3 ข้อ ตรงกลางบทความ ซึ่งผมเห็นด้วย โดยเฉพาะข้อ 1 และ 2 (ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอนิธิ เสียทีเดียว นิธิ เพียงแต่ยกขึ้นมาว่า มีข้อเสนออะไรได้บ้าง คือ สนับสนุนพรรคอื่น กับ ตั้งพรรคเอง ซึงนิธิ ปฏิเสธทั้งคู่ ซึ่งผมเห็นด้วย)

ข้อ 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอของนิธิจริงๆ คือ 

"3.ที่พอเป็นไปได้ในช่วงนี้ก็คือ หาทางที่จะควบคุมทิศทางของพรรคเพื่อไทยให้ได้มากขึ้น ไม่ใช่รณรงค์เข้าไปเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ต้องคุมให้ได้ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง

เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะที่จริงแล้วยังไม่มีสมาชิกของพรรคการเมืองใดที่สามารถคุมพรรคของตนเองได้สักพรรคเดียว"

นิธิ เสนอรูปธรรมต่อไปเรื่อง "ไพรมารี่"

ผมเองเห็นว่า ข้อเสนอนี้ ของนิธิ ยังน้อยไป หรือจะพูดให้รอบด้านคือ ผมคิดว่า มัน "ไม่เวิร์ค" จริงๆ ด้วยเหตุผลทีนิธิพูดมาเอง (ซึงผมเห็นด้วย) ที่ว่า "ยังไม่มีสมาชิกของพรรคการเมืองใดที่สามารถคุมพรรคของตนเองได้สักพรรคเดียว" ซึงเรือ่งนี้ ผมคิดว่า รวมถึงการมี "ไพรมารี่" ด้วย คือต่อให้ ผลักดันจนมีได้จริงๆ ผมก็ไม่คิดว่า ตางจากที่เป็นอยู่ตอนนี้นัก (โดยส่วนตัว ผมไม่คิดว่า ผลักดันให้สำเร็จได้ด้วยซ้ำ)

ข้อเสนอผม อาจจะบอกว่า อยู่ "กึ่งกลาง" ระหว่าง ใจ กับ นิธิ

จริงๆ เรื่องนี้ เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ผมลองเสนอ ในการพูดคุยกับ นักวิชาการและแอ๊คติวิสต์ 10 กว่าคน ก่อนจะมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผมเคยเล่าให้ฟัง (แต่คร้ังนั้น ผมเล่าให้ฟังเฉพาะประเด็นการประเมินสถานการณ์)

ไอเดียกว้างๆ ของผมคือ 

ผมคิดว่า คนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง (ตามหัวข้อข้างบน ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์-ตุลาการ-กองทัพ) 

น่าจะพยายาม "ก่อรูป" ขึ้นเป็น องค์กร ที่มีลักษณะเป็นรูปเป็นร่างแน่นอน และมีลักษณะถาวร และทำกิจกรรมทางความคิด อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ (อาจจะคิดทำนองโมเดล ngo บางอันในอดีต เช่น สมัยชาคนจน หรือแม้แต่ ครป) 

สิ่งที่ผมคิดว่า เป็น key หรือ กุญแจ ของเรื่องนี้ คือ "ปัญญาชน" นักวิชาการ

ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ผมคิดว่า มีปัญหา ซึ่งต้องไว้อภิปรายเพิ่มเติมคราวหลัง

ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ องค์กร ที่ว่านี้ คือ

ผมคิดว่า จะต้องมีลักษณะ "เป็นอิสระ" จาก "เสื้อแดง" มากกว่าที่เป็นอยุ่ (ซึงนี่จะเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ ทีต้องอภิปรายเพิ่มเติมคราวหลังเช่นกัน)

.................

ภาพประกอบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระทู้นี้เลย ยกเว้น "คำ" คือ ภาพหน้าปก ความเรียงที่มีชื่อเสียง (หรือ อื้อฉาว) ของ เลนิน เรื่อง Chato delat? หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า "What Is to Be Done?" (ควรทำอะไร?) ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1902

ท่านทีสนใจ เมื่อไม่กี่ปีที่ผานมา มี่หนังสือใหม่เล่มหนาวิเคราะห์ความเรียงนี้ อย่างสมบุรณ์ ที่สุด เท่าทีเคยมีมา พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษ What Is to Be Done? ของเลนิน ใหม่ทั้งหมด เป็นหนังสือที่เขียนดีและน่าสนใจมาก ชื่อ Lenin Rediscovered: What Is to Be Done? in Context http://www.amazon.com/Lenin-Rediscovered-Context-Historical-Materialism/dp/1931859582/ref=sr_1_1?ie=UTF8&qid=1346941579&sr=8-1&keywords=Lenin+rediscovered

ผมสังเข้ามาในห้องสมุด ธรรมศาสตร์มาระยะหนึ่งแล้ว สนใจลองไปหากันดู (ผมสั่งซื้อเป็นของตัวเองด้วย)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำสั่งศาลให้ปล่อยตัวคนงานเหมืองแอฟริกาใต้

Posted: 06 Sep 2012 10:46 AM PDT

 

 

คนงานเหมืองแพลทตินั่มในแอฟริกาใต้ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจับกุมในการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อกลางเดือน ส.ค. ขณะที่สหภาพหลักในการประท้วงยังไม่ยอมเซ็นข้อตกลงสันติฯ เพราะต้องการเจรจาเรื่องค่าจ้างก่อน

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2012 ศาลเมืองพรีโตเรีย ประเทศแอฟริกาใต้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวคนงานเหมืองแร่ที่ถูกจับกุมจากเหตุปะทะในการประท้วงที่มาริคานา หลังจากที่ตัวแทนสำคัญของข้อพิพาทไม่ยอม

คนงานเหมืองมากกว่า 100 คนถูกขังไว้ในเรือนจำแอฟริกาใต้ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พวกเขาถูกจับโดยอ้างจากกฏหมายความมั่นคงในยุคแบ่งแยกสีผิวในข้อหาสังหารเพื่อนคนงานเหมืองด้วยกันเอง  แม้ภาพวีดิโอของเหตุการณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตำรวจเป้นผู้ยิงใส่ผู้ประท้วง
 
ทาเนีย เพจ ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากมาริคานาว่า กลุ่มนักโทษที่ถูกปล่อยตัวเป็นส่วนหนึ่งของคนงานเหมือง 270 คน ที่ถูกจับหลังจากตำรวจยิงคนงาน 34 คนเสียชีวิต
 
ทาเนียกล่าวอีกว่ามีบางส่วนได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่วันจันทร์ (3 ก.ย.) แล้ว หลังจากที่อัยการถอนฟ้องข้อหาฆาตกรรมและปล่อยตัวนักโทษ 162 คน
 
ตัวแทนคนงานและตัวกลางเจรจากล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา มีการตั้งข้อตกลงสันติระหว่างทั้งสองฝ่ายที่มีการยอมรับร่วมกัน แต่ตัวแทนสำคัญของทั้งสองฝ่ายไม่มีใครยอมเซนต์รับข้อตกลง
 
ข้อตกลงดังกล่าวร่วมกันร่างโดยฝ่ายบริหารของบริษัทเหมืองแร่ลอนมินและสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งไม่ให้มีการนัดหยุดงานอย่างผิดกฏหมาย โดยการประท้วงหยุดงานดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แล้ว 44 ราย
 
แต่คนงานที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพแรงงานและตัวแทนหลักของสหภาพฯ ไม่ยอมเซนต์สัญญา ซึ่งจะทำให้การนัดหยุดงานสิ้นสุดลง
 
"พวกเราไม่สามารถเซนต์สัญญานั้นได้ เพราะในสัญญาระบุว่าหากเรายอมเซนต์ เราก็ต้องกลับไปทำงาน แต่เรารู้ว่าคนงานจะไม่กลับไป" โซลิซา โบดลานี ตัวแทนจากคนงานที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพฯ กล่าว 
 
ตัวกลางเจรจา บิชอป โจ เซโอกา บอกว่าสมาพันธ์คนงานเหมืองแร่และการก่อสร้าง (AMCU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานหลักในความขัดแย้งครั้งนี้ก็ไม่ยอมเซนต์สัญญา
 
เซโอกา บอกอีกว่าในช่วงตอนดึกของคืนที่ผ่านมา ผู้ที่เซนต์สัญญาลงนามในข้อตกลงสันติคือฝ่ายรัฐบาลและสหภาพแรงงานอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน, สหภาพคนงานเหมืองแห่งชาติ (NUM), สมานฉันท์แรงงานแอฟริกาใต้ และ สหพันธ์แรงงานแอฟริกาใต้ (UASA)
 
ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ากล่าวว่า เหตุที่คนงานเหมืองไม่ยอมเซนต์สัญญาข้อตกลงเพราะพวกเขาต้องการกลับไปมาริคานาและต้องการเจรจาก่อน โดยคนงานเหมืองยืนยันว่า พวกเขาต้องการให้ลอนมิน บริษัทเหมืองแร่ของอังกฤษที่เป็นผู้ผลิตแพลทตินั่มรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ให้เงินเดือนพวกเขา 1,479 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 46,000 บาท)
 
ทางฝ่ายบริษัทลอนมินบอกก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาจะยอมเจรจาเรื่องค่าแรงหากมีการลงนามข้อตกลงสันติแล้ว เซโอกาบอกว่าฝ่ายตัวกลางเจรจาของคนงานจะเริ่มเจรจาเรื่องค่าจ้างตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงสันติ
 
มาเลมา ถูกฟ้องข้อหายุยงความรุนแรง
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มสมานฉันท์แรงงานแอริฟาใต้ (Solidarity) ซึ่งเป็นสหภาพที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนผิวขาวมีฝีมือ ได้ฟ้องร้องจูเลียส มาเลมา นักการเมืองผิวดำ ที่สถานีตำรวจเมืองพรีโตเรียในข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงและข้อหาข่มขู่คุกคาม
 
ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า กลุ่มสมานฉันท์แรงงานแอฟริกาใต้บอกว่า มาเลมาปรากฏตัวและเรียกให้มีการปฏิวัติ เป็นเหตุให้มีการข่มขู่คนงานเหมืองที่ต้องการกลับเข้าทำงาน
 
"ความรุนแรงจากการประท้วงที่เหมืองไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เขา (มาเลมา) เป็นผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง มาเลมาเป็นนักฉวยโอกาสผู้ที่อาศัยความวุ่นวายในการฟื้นฟูอาชีพนักการเมืองของเขาเอง" โจฮาน ครูเกอร์ โฆษกของสมานฉันท์แรงงานแอฟริกาใต้กล่าว
 
อัลจาซีร่าเปิดเผยว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มาเลมา ถูกขับออกจากพรรครัฐบาล ANC จากข้อหาผิดวินัย เขาได้อาศัยการประท้วงด้วยความรุนแรงที่เหมืองแร่แอฟริกาใต้ในการโจมตีสัตรูทางการเมืองอย่าง ประธานาธิบดี เจคอบ ซูมา และพยายามผลักดันให้เหมืองแร่กลายเป็นของรัฐ
 
รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ออกมาขอโทษเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น และบอกว่าคณะสืบสวนข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงดังกล่าวจะรายงานต่อซูมาภายในเดือน ม.ค. ปีหน้า
 
หลังจากยุคแบ่งแยกสีผิวสิ้นสุดลงในปี 1994 แอฟริกาใต้ถูกกดดันให้แบ่งความมั่งคั่งจากเหมืองแร่ที่มีจำนวนมากในประเทศให้กับกลุ่มคนผิวดำยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้ แต่บัดนี้ยังไม่เป็นผล ราคาของแพลทตินั่มสูงขึ้นร้อยละ 10 หลังเกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ขณะที่บริษัทลอนมินมูลค่าหุ้นตกลงร้อยละ 15
 
 
ที่มา
Court frees jailed South African miners, Aljazeera, 06-09-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ว่าฯ ตรัง สั่งชะลอฟันยางในพื้นที่โฉนดชุมชน ยืนยันเดินหน้าแก้ปัญหาตามนโยบายรัฐ

Posted: 06 Sep 2012 10:23 AM PDT

ประชุมแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ผู้ว่าฯ ตรังยืนยันดำเนินการตามแนวนโยบายโฉนดชุมชน และมติ ครม.4 ก.ย.55 ที่แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ดินระดับจังหวัดให้ผู้ว่าฯ ดูแล พร้อมสั่งชะลอการตัดฟันต้นยาง 1 เดือน

 
วันนี้ (6 ก.ย.55) เวลาประมาณ 13.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายธีระยุุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธานในการประชุมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะความหวั่นเกรงต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตำรวจตระเวนชายแดน จะเข้าไปตัดฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชน เขตเทือกเขาบรรทัด
 
ผลการประชุม นายธีระยุุทธยืนยันที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวนโยบายโฉนดชุมชน และ มติคณะรัฐมนตรี 4 ก.ย.55 เรื่องกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการ การบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ ซึ่งมีการแต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ดินระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยทำหน้าที่ในการกำกับดูแล และสั่งการหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาป้องกันการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับจังหวัด
 
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังยังได้สั่งการให้ชะลอการตัดฟันต้นยางพาราในพื้นที่โฉนดชุมชน 1 เดือน พร้อมทั้งให้ชะลอการดำเนินคดีชาวบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชน หลังจากนั้นให้เข้าสู่กระบวนการของศูนย์ปฏิบัติการที่ดินระดับจังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการระดับชาติ
 
ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.55 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ เอื่ยมสะอาด รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.เห็นชอบกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการ การบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการฯ ครั้งที่ 1/2555 ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 ก.ค.55 ที่ผ่านมา
 
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของกรอบการดำเนินงานคณะกรรมการบูรณาการฯ มีดังนี้ 1.คณะกรรมการบูรณาการฯ ทำหน้าที่ในการบูรณาการการทำงานของทุกส่วนราชการในการจัดการและกระจายการถือครองที่ดินทั่วประเทศให้เหมาะสมและสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เป็นกลไก ซึ่งมีแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบโดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ดินระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ ที่ดิน ป่าไม้ อุทยาน ธนารักษ์ ส.ป.ก.และสถาบันการศึกษา เป็นต้น เป็นคณะกรรมการทำหน้าที่ในการกำกับดูแล สั่งการ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาป้องกันการบุกรุก และการใช้ประโยชน์ในที่ดินระดับจังหวัด
 
2.เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการที่ดินระดับจังหวัดสามารถสนองต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้ บจธ.เสนอขอแปรญัตติเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฯ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,570,535,200 บาท
 
3.เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านกฎหมาย 2) คณะอนุกรรมการจัดรูปที่ดิน และ 3) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการที่ดิน มีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้ง 3 คณะ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Patani Forum: ขบวนการฯยังไม่พร้อมที่จะให้อภัยทักษิณ

Posted: 06 Sep 2012 09:43 AM PDT

เมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้นำเสนอแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจว่า การบริหารงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ดูเหมือนว่าพล.ต.อ. อดุลย์คงพยายามที่จะหยั่งกระแสนี้ให้กับสังคมเพื่อดูว่าจะมีการตอบรับอย่างไรต่อข้อเสนอนี้โดยเฉพาะกระแสการเมือง ซึ่งสอดรับกับแหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งให้ข้อมูลว่าจะมีการโยกให้ศอ.บต.เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของ กอ.รมน. เพื่อแลกกับการให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เดินหน้าเรื่องการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้อย่างเต็มที่

ดูเหมือนว่าการขยับในครั้งนี้จะเป็นการเอาใจกองทัพครั้งใหญ่ของรัฐบาล ถ้ากองทัพได้รับอนุญาตให้คุมการบริหารงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วกองทัพจะไม่เข้ามาออกหน้ารับผิดชอบกับกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลพลเรือนถ้ามันล้มแหลว

เห็นได้ชัดว่าความพยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ (ศปก.จชต.) ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจะเป็นเพียงเรื่องเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

พล.อ.ยุทธศักดิ์ได้ประกาศว่ารัฐบาลจะเริ่มกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแต่ก็ย้ำว่าการพูดคุยนั้นจะต้องไม่ใช่การเจรจา ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่พล.อ. ยุทธศักดิ์อาจจะลืมไปก็คือ กระบวนการพูดคุยหรือความพยายามที่จะพูดคุยกับกลุ่มต่อต้านรัฐนั้นเป็นสิ่งที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลในสมัยนั้น

ความพยายามดังกล่าวได้หยุดไปในช่วงทศวรรษ 1990 หลังจากการล่มสลายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนรุ่นเก่า การพูดคุยได้กลับมาเริ่มต้นอีกครั้งในปี 2005 ในช่วงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร แต่ว่ารูปแบบนั้นแตกต่างอย่างมากกับการพูดคุยในอดีต พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่พล.อ.ยุทธศักดิ์พูดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการตอกย้ำความลับที่มีคนรับรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการพูดกันในที่สาธารณะเท่านั้น

ในอดีตกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธนั้นถูกผูกขาดโดยทางกองทัพแต่เพียงผู้เดียว กระบวนการพูดคุยเกิดขึ้นในหลายๆเมืองของประเทศในแถบอาหรับ แต่ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลชั่วคราวซึ่งนำโดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามามีบทบาทมากชึ้นในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547

พล.อ. สุรยุทธ์ได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติตั้งกลุ่มที่ปิดลับเพื่อทำงานในเรื่องนี้โดยการสนับสนุนขององค์กรเอกชนระหว่างประเทศ สมช. ประสบความสำเร็จในการริเริ่ม “กระบวนการเจนีวา” (Geneva Process) ซึ่งเป็นการพูดคุยกับหนึ่งในหลายมุ้งของกลุ่มพูโลซึ่งนำโดยนายคัสตูรี มะกอตา (Kasturi Mahkota) ในขณะที่มีมุ้งอื่นๆ ที่ผู้นำประกาศตัวว่าเป็น “ประธานพูโล” ด้วยเช่นกัน เช่น นายนอร์ อับดุลเราะห์มาน (Noor Abdulrahman) และนายซัมซูดิน คาน (Samsudine Khan) กระบวนการเจนีวาไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เพราะว่าไม่สามารถที่จะนำเอากลุ่มที่เคลื่อนไหวมานานเข้ามาร่วมพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลได้

มีคนหลายคนซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกของ Barisan Revolusi Nasional-Coordinate (BRN-C) ซึ่งก็คล้ายๆ กับกลุ่มพูโล ทุกคนดูเหมือนอยากจะใช้ชื่อองค์กรที่ตนเองเคยเป็นสมาชิกเมื่อสามสิบปีก่อนมาเพื่อทำให้ตนเองมีบทบาทขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คำถามก็คือคนที่อ้างตนเป็นสมาชิกหรือหัวหน้าของกลุ่มนี้กลุ่มนั้นมีความสามารถขนาดไหนในการควบคุมกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ยูแว (juwae)

กระบวนการเจนีวาได้หยุดชะงักเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ามาสู่อำนาจและเลือกที่จะให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. เป็นผู้ที่ดำเนินการในเรื่องนี้แทน ทวีเป็นคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพรรคเพื่อไทย คนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือนายทักษิณซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริงนั่นเอง ทักษิณไม่เห็นด้วยกับการตั้งศอ.บต.มาตั้งแต่ต้นแล้ว เขายุบหน่วยงานนี้ในปี 2545 เพราะว่าเขาคิดว่ากลุ่มวาดะห์(Wadah)น่าจะมีความสามารถในการดูแลกลุ่มคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ได้

กลุ่มวาดะห์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างราบคาบหลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่กรณีตากใบในเดือนตุลาคม 2547 กลุ่มของทักษิณและนักการเมืองในสังกัดของเขาไม่สามารถที่จะฟื้นความนิยมในพื้นที่ขึ้นมาได้อีก เมื่อยิ่งลักษณ์ น้องสาวของเขาก้าวเข้ามาสู่อำนาจเมื่อปีก่อน ทักษิณคิดว่าจะยุบศอ.บต.อีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าการยุบศอ.บต.อีกครั้งนั้นเป็นเรื่องยากเพราะมี พรบ. ศอ.บต.ซึ่งออกในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลคำ้คออยู่ ฉะนั้นการยุบหน่วยงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจส่งทวีไปนั่งเป็นเลขาธิการศอ.บต. แทน

นอกจากเป็นเลขาธิการแล้ว ทวียังได้รับมอบหมายงานที่สำคัญงานหนึ่งคือการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ ซึ่งการเตรียมการนี้ได้นำไปสู่การพบกันของนายทักษิณกับกลุ่มขบวนการในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้มอบหมายให้ตำรวจสันติบาลเป็นผู้ประสานงานติดต่อให้เกิดการประชุมนี้ขึ้นระหว่างทักษิณและกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งก็คือกลุ่มเดียวกันกับคนที่ได้พบกับทหารไทยเมื่อสามสิบปีก่อนในประเทศแถบตะวันออกกลางประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทวีอ่านไม่ขาดคือ ในฝ่ายขบวนการนั้นมีช่องว่างของวัยและความเชื่อถือระหว่างกันของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ กลุ่มคน “รุ่นเก่า” เหล่านี้ไม่อาจที่จะควบคุมกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนรุ่นใหม่ (ยูแว-juwae) ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ได้ ซึ่งแปลว่าความพยายามของทวีที่ผ่านมานั้นไม่ประสบผลสำเร็จ

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ในขณะที่นายทวีได้ผลักดันการดำเนินการพูดคุยกับรุ่นเก่าอย่างเต็มที่นั้น ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนรุ่นใหม่หรือยูแว (juwae) เองก็ได้โต้กลับโดยการก่อเหตุให้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยความรุนแรงนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความกลัวให้กับคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทางด้านการเมืองของประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องรีบทำการปรับโครงสร้างด้านหน่วยความมั่นคง ตัวอย่างจากความรุนแรงที่ผ่านมาได้แก่ เหตุการณ์คาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ยะลาและหาดใหญ่ ปฏิบัติการ “มายอ” ซึ่งเป็นการก่อเหตุหน้ากล้องวงจรปิด การวางระเบิดคาร์บอมบ์โรงแรมซีเอสปัตตานี รวมไปถึงมหกรรมการปักธงชาติมาเลเซียเพื่อล้อเลียนการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและการโจมตีฐานทหารหลายๆ ครั้งในหลายปีที่ผ่านมา

ทวีคิดว่าการแจกเงินเยียวยาให้กับเหยื่อของความรุนแรงและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ศอ.บต.ดำเนินการอยู่จะช่วยส่งสัญญาณแห่งความปรารถนาดีจากเขาไปสู่พี่น้องประชาชนเพื่อที่จะส่งต่อความรู้สึกในเชิงบวกในการพูดคุยกับขบวนการ แต่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่หยั่งรากลึกมานานระหว่างรัฐกับคนมลายูมุสลิมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและขบวนการไม่เคยให้อภัยทวี และรวมถึงสิ่งทักษิณทำมาในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทวีถูกส่งลงมาไล่ล่าผู้ก่อความไม่สงบหลังเหตุการณ์ปล้นปืน in 2004 นายคัสตูรี แกนนำมุ้งหนึ่งในกลุ่มพูโลกล่าวว่าการพุ่งสูงขึ้นของความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคนมลายูมุสลิมยังไม่เคยลืมหรือให้อภัยรัฐโดยเฉพาะเหตุการณ์ตากใบซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนในปี 2547

สารจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ก็คือความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลจะต้องมีความตั้งใจจริงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลจะต้องชี้แจงว่าพร้อมที่จะให้อะไรกับฝ่ายขบวนการบ้าง หากเป็นเช่นนั้น กลุ่มคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันก็อาจจะพร้อมที่จะขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพเพื่อสร้างสันติภาพ ผู้ปฏิบัติการคนหนึ่งของ BRN-C กล่าว

สำหรับในตอนนี้ ความรู้สึกไม่ดีของกลุ่ม BRN-C และพวกยูแวต่อทักษิณยังคงมีอยู่ แต่สมาชิกบางคนของ BRN-C มองว่าความรู้สึกนี้สามารถที่จะเปลี่ยนได้และพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง แต่มันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยพร้อมที่จะเสนออะไรบนโต๊ะเจรจา

แต่มีปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราลืมไม่ได้เลยคือปฏิกิริยาของทหาร ถ้าทหารปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับข้อตกลงที่รัฐบาลพลเรือนไปทำไว้กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สันติภาพคงเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าเราจะเอื้อมไปถึง

Note: For more reading on the conflict in southern Thailand, please visit: http://seasiaconflict.com/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คนสะเอียบ’ ท้าชนรัฐบาล ประกาศไม่เอา ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ปลุกลูกหลานร่วมสู้

Posted: 06 Sep 2012 08:57 AM PDT

มติชาวบ้านสะเอียบไม่เอาทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ประกาศเขตห้ามเจ้าหน้าที่และหน่วยงานเข้าสำรวจชุมชน พร้อมตั้งทีมลูกหลาน คนรุ่นใหม่ เสริมทัพ คัดค้านจนถึงที่สุด

 
 
เช้าวันที่ 6 ก.ย.55 ที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านกว่า 1,000 คน จาก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น ได้ร่วมประชุมหารือกันเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ตามที่รัฐบาลได้กำหนดโครงการไว้ในกรอบแผนงานการบริหารจัดการลุ่มน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท และมีมติให้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นจนถึงที่สุด รวมทั้งเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ระบุจะไล่ไปให้ไกลจากชุมชนและป่าสักทอง พร้อมประกาศเขตห้ามเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจชุมชน
 
 
จากการต่อสู้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นของคนสะเอียบ มากว่า 20 ปี วันนี้รัฐบาลอ้างน้ำท่วมกรุงเทพฯ แล้วรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง ชาวสะเอียบเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน และที่ผ่านมามีผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก ระบุเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
 
ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ
 
นอกจากนี้ ข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณียังระบุว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งชาวบ้านให้ความเห็นว่าเป็นการเสี่ยงมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่
 
 
กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ แกนนำการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรจะฟังเหตุผลของประชาชนบ้าง
 
"ผลการศึกษาของนักวิชาการก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แก้น้ำท่วมก็ไม่ได้ แก้น้ำแล้งก็ไม่ได้ ผลาญป่าอีกหกหมื่นห้าพันไร่ รัฐบาลกลับรื้อฟื้นขึ้นมาอีก อย่างนี้จะไม่ให้ชาวบ้านเขาประณามได้อย่างไร" กำนันเส็งกล่าว  
 
"เราเกิดที่นี้โตมากับที่นี้อายุจนปูนนี้แล้ว ตายก็ให้มันตายที่นี้ เราต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เราสู้กันมายี่สิบกว่าปีแล้ว เราจะไม่ยอมอพยพย้ายไปไหน ขอให้ลูกหลานเราร่วมแรงร่วมใจสู้ให้ถึงที่สุด"นายจื่น สะเอียบคง ชาวบ้านดอนชัยสักทอง วัย 85 ปีกล่าว
 
ส่วนนางสาวชนิดา ขันทะรักษ์ ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า เกิดมาพอจำความได้ก็รับรู้แล้วว่าพ่อแม่ได้ต่อสู้เขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอดมาถึงวันนี้จะยอมเขาได้ยังไง ลูกหลานโตขึ้นมาก็จะต่อสู้ สืบสานเจตนาต่อไป โดยเราจะไม่ให้มีการสร้างเขื่อนใดๆ
 
"เราไม่ยอมให้สร้างสักเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง ก็กระทบกับเรา ถ้าเราไม่มีที่ทำกินแล้วเราจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน ขอให้เขาไปสร้างที่อื่นเถอะ" นายสัน แสนอุ้ม อายุ 55 ปี ชาวบ้าน ม.6 บ้านดอนแก้ว ให้ความเห็น
 
นายเล็ก สมวงค์อิน อายุ 65 ปี ชาวบ้านบ้านแม่เต้น กล่าวว่า “หน้าทำเนียบเราก็ไปนอนมาแล้ว 99 วัน เราสู้มาถึงขนาดนี้แล้ว จะยอมง่ายๆ ได้อย่างไง ถ้ายืนยันว่าเราไม่เอา เราต้องต่อสู้ร่วมกันนะพี่น้อง เราเก็บเงินสู้กันมาโดยตลอด หมดเงินไปหลายล้านแล้ว เวลาเก็บเงินไปสู้เขื่อนก็อย่าบ่น งานนี้ต้องเสียสละเพื่อบ้านของเรา"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายของการประชุม กรรมการหมู่บ้านได้ขอมติชาวบ้านที่มาร่วมประชุมกันโดยการยกมือ ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดยกมือมีมติให้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง ทุกคน โดยไม่มีใครเห็นด้วยแม้แต่คนเดียว
 
 
อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่าเคยได้เสนอทางออกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมโดยได้ยืนข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งการประชุม ครม สัญจรครั้งที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ เนื้อหาข้อเสนอมีทั้งหมด 8 ข้อ อาทิ 1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน2.การฟื้นฟูและพัฒนาระบบเหมืองฝาย ตามแนวทางการจัดการน้ำชุมชน
 
3.การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า โดยยังกระทบต่อชุมชนและป่าไม้น้อยกว่าอีกด้วย 4.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด
 
5.การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบล หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งชุมชน หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ จะกระจายแหล่งน้ำทั่วทุกชุมชน และทุกชุมชนจะได้ประโยชน์ทั่วหน้า 6.การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม 7.การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม
 
8.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กของกรมการปกครอง
 
อีกทั้งยังมีทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 2.เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน
 
7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม
 
15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุชาติ นาคบางไทร' กับทฤษฎีว่าด้วยนักโทษ ม.112 หลังพระราชทานอภัยโทษ

Posted: 06 Sep 2012 06:25 AM PDT

 

 

อดีตนักโทษยันไม่มีใครชนะคดี ม.112 เสนอให้เลือกยอมรับ ถึงแม้จะบริสุทธิ์ก็จะได้ลดโทษครึ่งหนึ่งและตัดสินทันที ไม่ต้องยืดเยื้อรอ ย้ำประชาธิปไตยจะต้องมีที่ยืนให้กับคนทุกกลุ่ม

ภาพ สุชาติ นาคบางไทร

ที่มา facebook 
“สุชาติ นาคบางไทร” 

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.55 ที่ผ่านมาทางรายการประกายทอล์ค ซึ่งเผยแพร่ทางเวปไซต์ konthaiuk.com ได้สัมภาษณ์ สุชาติ นาคบางไทร หรือนายวราวุธ (สงวนนามสกุล) ซึ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 ส.ค.55 จากการพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555  เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม โดยนายวราวุธถูกศาลพิพากษา จำคุก 6 ปี จากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ซึ่งนายวราวุธให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 3 ปี แต่รวมเวลาที่อยู่ในเรือนจำก่อนได้การอภัยโทษทั้งสิ้น 1 ปี กับเกือบ 10 เดือน ซึ่งสุชาติ นาคบางไทร ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการดังกล่าวว่า หลังจากได้รับอภัยโทษ ขณะนี้กำลังตั้งหลักปรับตัวหลังจากห่างหายชีวิตอิสรภาพไปนาน

0 0 0

สภาพในเรือนจำ
สำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วนนี่ แนะนำที่นี่เลย เพราะ 2 สัปดาห์แรก ลดไป 11 กิโลกรัม จิตใจสภาพร่างกาย สภาพแวดล้อม ทุกอย่างเอื้ออำนวยให้น้ำหนักลดมาก อาหารการกินไม่ต้องคิดว่าจะอร่อย สิ่งเดียวที่เราได้รับ คืออาหารที่สะอาดและถูกหลักอนามัย แต่เรื่องที่กลัวก่อนจะเข้าไป กลับไม่ได้พบเลย ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับนักโทษคนอื่นๆ ไม่ได้พิเศษหรือแย่กว่าใคร 

ความสัมพันธ์กับอากง (SMS) ขณะที่อยู่ในเรือนจำ
ได้มีโอกาสคุยกับอากง ตอนแรกก็ไม่รู้จักกัน แต่คุณธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดม หรือ หนุ่ม แดงนนท์ เขาจะเป็นคนที่รวบรวมนักโทษทางการเมืองและนักโทษ ม.112 ให้มาได้รู้จักกัน อากง เป็นคนพูดน้อยและดูแววตาแล้วจะเศร้าอยู่ตลอดเวลา ส่วนตนเองก็ยังมีอารมณ์อื่นบ้าง อากงยังดูเหนื่อย มีสภาพร่างกายที่แก่กว่าอายุมาก เมื่อเทียบกับพี่สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งอายุมากกว่าอากง แต่แข็งแรงและกระฉับกระเฉงมาก ซึ่งตอนที่อยู่ในคุกนั้น ไม่ค่อยได้คุยกับใครมากในเรื่องคดีหรือการเมืองเพราะไม่ทราบว่าแต่ละคนที่เข้ามา เข้ามาด้วยเหตุผลอะไร หรือมีเหตุผลอื่นแอบแฝงด้วยหรือไม่ ส่วนมากจะคุยในเรื่องทั่วๆไป

 

 

สุชาติ หลังถูกปล่อยตัว

การเคลื่อนไหวหลังจากออกจากเรือนจำ
เดิมทีไม่ได้มีแนวที่ชัดเจนเท่าไหร่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรา (กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ) เป็นการเคลื่อนไหวที่งดงามมาก เป็นการเคลื่อนไหวของคนที่ตกลงกันกลุ่มใหญ่ แบ่งงานกันทำตามใจอาสา ในแง่ที่เราไม่ชอบการปฏิวัติรัฐประหารการฉีกรัฐธรรมนูญ เราคิดไว้แบบไหน เราก็ยังคิดเช่นเดิม แต่จะทำอย่างไรนั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เราเคลื่อนไหวกันหลายคน ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนเก่าๆของเรา ว่าจะมีความคิดอย่างไร แต่ส่วนตัวยังเหมือนเดิม

ความช่วยเหลือในเรือนจำ
ช่วงที่เข้าไปนั้นมีแกนนำ 8-9 คนอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อนแล้ว และกระจายกันอยู่ทุกแดน ดังนั้นความที่เคยกลัวเรื่องร้ายๆ ก่อนเข้าไปในนั้นกลับไม่พบเลย  อาจเป็นเพราะว่ามีแกนนำเหล่านั้นคอยเป็นหูเป็นตาให้อยู่แล้ว หรือว่ามีคนสนใจนักโทษคนอื่นๆ ก็เลยรอดปลอดภัย

คดีของผมเป็นคดีที่มีน้อยคนอยากจะเป็นเพื่อนหรือถูกมองว่าเป็นพวกเป็นฝ่ายเดียวกัน เราจึงไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องมีใครดูแล เราไม่ได้อาสาใครมาติดคุก เราทำตัวเราเอง ในเมื่อเราทำผิดกฎหมาย เราก็ได้รับโทษ เราก็ถูกจองจำให้เป็นทุกข์ในคุกนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าเราถูกจองจำแล้วได้รับความสุข มันก็ไม่ใช่คุก ดังนั้นการที่ตนเองไปติดคุกนั้น ถูกต้อง ไม่ได้โหยหาเรียกร้องว่าใครจะต้องมาดูแล ดังนั้นถ้าจะไม่มีใครดูแล ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะไม่มีใครสั่งให้ผมไปติดคุก เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ต้องให้โอกาสกับบุคคลอื่นที่ร่วมต่อสู้กันมา เขาก็ต่อสู้ในอุดมการณ์ของตนเอง ก็คงไม่มีเวลามาดูแลเรา 

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ ม.112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับหลายฝ่าย ดังนั้นมันมีถูกมีผิดทั้ง 2 ด้าน ถ้าจะบอกว่า การรับโทษของผมเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ก็อาจจะถูกต้อง เพราะศาลพิจารณา เราก็ยอมรับสารภาพว่าทำผิด เพราะฉะนั้นติดคุกมันก็ถูกต้องนี่คือมองในแง่กฎหมาย แต่ในแง่ของการต่อสู้เคลื่อนไหวของเรา เนื้อหาจริงๆ ของเรา คือเราออกมาต่อต้านการรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญโดยพลการ และเราเป็นประชาชนออกมาต่อต้าน ถ้าเรื่องแบบนี้ คนๆ หนึ่งออกมาต่อต้านการรัฐประหารแล้วต้องติดคุกนี่ไม่น่าจะถูกต้อง แต่หลังจากที่เราออกจากคุกแล้ว เรากลับเข้าใจและให้อภัย ไม่ใช่เพราะเราเก่งหรือทำใจได้  เราเข้าใจว่า ในประเทศนี้มีคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้แบบนี้ และมีมาก่อนพวกเรา มีหลายคนอยู่ประเทศไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะทำอะไรที่หมิ่นเหม่หรือผิดต่อกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

การเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการปรับแก้หรือยกเลิก ม.112
มีความคิด 2 ด้าน คือทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยแสดงว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตย นั่นต้องไม่มีกฎหมายประเภทนี้เลย แต่ประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตยแบบที่เราเห็นอยู่ เพราะฉะนั้นการที่มีกฎหมายนี้อยู่ จึงเป็นหลักฐานในทางประวัติศาสตร์สำหรับอนาคต เพราะฉะนั้นการมี ม.112 เป็นสิ่งยืนยันว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีประชาธิปไตยแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนที่เกี่ยวข้องกับมาตรานี้ เมื่อรู้ว่าในอนาคตประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ก็ควรยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ หรือผลักดันให้เข้าที่เข้าทางโดยที่เราไม่ต้องเรียกร้อง

ม.112 กับสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง
ม.112 เป็นสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยไม่ควรมี เพราะทุกคนเท่าเทียมกันหมด เมื่อทุกคนเท่าเทียมกันหมดก็ไม่ต้องมีมาตราอะไรที่เป็นพิเศษอย่างนี้ แล้วทุกคนจะไม่สนใจมาตรานี้

ว่าด้วยนักโทษ ม.112 กับแนวทางการต่อสู้ของคนที่โดนคดี
การต่อสู้ในคดีนี้เป็นประเด็นลำบากใจของนักโทษในปัจจุบัน เพราะต้องตั้งคำถามว่า จะเอาอย่างไรดี จะสู้ก็มีเหตุผล ไม่สู้แล้วรับสารภาพก็มีเหตุผล คดีนี้ลองศึกษาในประวัติศาสตร์ การต่อสู้คดีในชั้นศาล เหมือนมีธงไว้แล้ว ดังนั้นเราต้องแยกนักโทษออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ ไม่ได้ทำผิด เขาก็ต้องสู้ สู้เพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เขาทำมันไม่ผิด แต่ในประวัติศาสตร์มีใครสู้แล้วชนะบ้าง

ทฤษฎีบทที่ 1 ไม่มีใครชนะคดี ม.112 เลย

ทฤษฎีบทที่ 2 ถ้าคุณจะสู้ เพราะมีความบริสุทธิ์ใจ ก็สู้ไป แต่ในที่สุดก็จะไปเข้าทฤษฎีบทที่ 1 อยู่ดี แม้ว่าจะคิดว่าตัวเองบริสุทธิ์อย่างไร คดีนี้สู้ไปไม่มีใครชนะ และจะโดนลงโทษเต็มๆ

ทฤษฎีบทที่ 3 แล้วถ้าคุณยอมรับล่ะ (ถึงแม้จะบริสุทธิ์) ก็จะได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง ตัดสินทันที ไม่ต้องยืดเยื้อรอการไต่สวน หรือรออะไรทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น มีทฤษฎีบทอยู่ 3 ทฤษฎี ในมาตรา 112 แล้วแต่ว่าใครจะเลือกบทไหน ซึ่งจะไม่ขอก้าวก่ายวิจารณ์เลย เพราะมีนักต่อสู้บางท่านบอกว่า “ชีวิตนี้ขอมอบให้กับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าชีวิตจะหาไม่ ก็จะต่อสู้” นั่นคือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกคุมขังอยู่ เขาก็ยังยืนยันแบบนี้ ผมก็บอกไปว่าเมื่อก่อนคดี ม.112 จะมีโทษระหว่าง 3-15 ปี แต่ดูจากประวัติ คนที่เคยโดนคดีนี้จะถูกยกมา 6 ปี คือใครโดนคดีนี้ก็รับไป 6 ปีก่อน ถ้ารับสารภาพจะลดลงครึ่งหนึ่งจาก 6 ปีเหลือ 3 ปี แต่ถ้าไม่รับ แล้วต่อสู้ไม่ชนะ จะโดนโทษ 6 ปี

แต่มีข่าวดีสำหรับผู้ที่อาจมีโอกาสพลาดไปเป็นนักโทษคดี ม.112 เพราะตั้งแต่อากง SMS โดน โทษที่ได้รับ ไม่ใช่ 6 ปี แต่เหลือ 5 ปี คือถ้าใครสู้คดีแล้วแพ้ ก็จะตัดสิน 5 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าใครรับ จะได้รับโทษครึ่งหนึ่ง คือ 2 ปี 6 เดือน เหมือนกรณีคุณโจ กอร์ดอน ดังนั้นขณะนี้อัตราโทษลดลงแล้ว

สำหรับผม ใช้ทฤษฎีบทที่ 3 คือ ไหนๆ ก็สู้ไม่ได้แล้ว ขอรับสารภาพแล้วลดโทษครึ่งหนึ่ง เป็นโปรโมชั่นที่ผมเลือก แต่คุณสมยศ ไม่เลือก ตรงนี้ก็ต้องเคารพ

ขณะที่ผมเลือกโปรโมชั่นในทฤษฎีบที่ 3 แล้ว พอเข้าไปในเรือนจำ ยังมีอีก 2 โปรโมชั่นใหญ่ๆ คือโปรฯแรก ได้ลดโทษไปอีก 9 เดือน และโปรฯที่ 2 ได้ลดไปอีก 5 เดือน ดังนั้นจากเดิมที่ติด 36 เดือน จึงเหลือแค่ 22 เดือน

สำหรับการหนีคดีก่อนหน้าถูกจับนั้น ไม่ถือเป็นโปรโมชั่น เพราะขณะนั้นชีวิตสบสนวุ่นวาย ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่มีจุดเปลี่ยนคือ คดีของคุณสุวิชา ท่าค้อ ได้รับพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายจนได้ออกไป เท่าที่ทราบ คดีของคุณสุวิชา โทษประมาณ 10 ปี แต่จำคุกประมาณปีเศษๆ ถือเป็นข่าวที่น่ายินดีมาก จึงได้คิดแบบบัญญัติไตรยางค์ว่า ถ้าเทียบกับคดีตนเอง โทษคงเหลือไม่กี่เดือน ผมจึงคิดว่า ติดคุกไปเลยดีกว่า เพราะถ้าหนีต่อไป จะต้องใช้เวลา 20 ปี แล้วยังเป็นไปได้ที่ปีที่ 19 จะโดนจับอีก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นยิ่งแย่ แต่ถ้าเราติดคุกแล้วก็มีโอกาสที่จะถูกดำเนินการแบบคุณสุวิชา ซึ่งมีความเป็นไปได้ จึงเลือกเข้ามาติดคุก

สุชาติ ขณะปราศรัยที่ท้องสนามหลวง โดยมีโทรโข่งกับเก้าอี้ 1 ตัว
11 พ.ย. 49 ที่มา เฟสบุ๊ค
“สุชาติ นาคบางไทร”


การเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ – ทอล์คโชว์
โครงการนี้คิดขึ้นมาจากนักโทษ 112 ด้วยกัน ในขณะนอนคุยในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คือคิดว่า ถ้าเราออกจากคุกแล้วไปทำมาหากินเฉยๆ เงียบๆ ไป สิ่งแรกคนที่มาเยี่ยม มาช่วยบริจาคสนับสนุนเรา เขาคงผิดหวัง ที่เขากล้าให้เพราะเขาเชื่อว่า เขาฝากประชาธิปไตยกับผมได้ ดังนั้นจึงต้องซื่อสัตย์ต่อความคิดนี้ของผู้สนับสนุน อีกเหตุผลคือ เราจะต้องพูดถึงนักโทษ 112 ในแง่ของความจริง แล้วพูดให้สนุก พูดกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ตลกอาจเล่นในคาเฟ่ได้ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต้องระมัดระวัง แต่ก็ต้องรู้ว่า จะพูดอย่างไรถึงพูดได้ ดังนั้นจึงต้องพูดให้เป็นตัวอย่าง พูดให้เป็นเรื่องธรรมดาและไม่ผิดกฎหมาย ถ้าเราไม่กล้าพูด คนอื่นก็ไม่กล้า หรือไปพูดในมุมมืดแทน ถ้าเรายังใช้ประชาธิปไตยเรื่องนี้ต้องพูดได้ แต่ก็ต้องไม่ก้าวล่วงใคร ไม่ผิดกฎหมาย และประการสำคัญที่ต้องจัด เนื่องจากผมไม่มีรายได้และเงินทุนในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

บัตรมี 2 ราคา คือ 112 บาท และสำหรับคนที่มีเงินมากหน่อยคือ 2,000 บาท ซึ่งคาดไว้ว่าน่าจะมีประมาณ 50 คนที่จ่ายในราคานี้ เรื่องวันจัดนั้น ต้องใช้เวลาในการเตรียมการก่อน คิดว่าจะทำให้เป็นแบบมืออาชีพ จึงต้องเตรียมการทั้งเนื้อหา ความสนุกและข้อกฎหมาย ทุกคนสามารถฟังได้ แม้กระทั่งฝ่ายตรงข้าม คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 3 พ.ย.55 นี้ ตรงกับวันแรกๆ ในปี 2549 ที่กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการเกิดขึ้นที่สนามหลวง มีการจัดการปราศรัย จึงเป็นวันรำลึกถึงกลุ่มที่ได้ต่อสู้มาด้วย ส่วนสถานที่ต้องประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมอีกที คาดว่าจะใกล้สนามหลวง ซึ่งตนเองคิดไว้เพียงไม่น่าจะเกิน 150 คน แต่เพื่อนในเรือนจำ คือคุณหนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ และคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประเมินไว้ 500 คน

เกี่ยวกับกลุ่ม ‘คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ’
จะไม่มีใครปรากฏตัวว่าเป็นใคร มีแต่ผลงานที่ปรากฏ และขณะนั้นสมาชิกแต่ละคนก็ไปทำกิจกรรมในหลายๆ ส่วน อย่าสนใจว่าเราเป็นใคร แต่ควรสนใจว่า เราทำอะไร และเราได้ประชาธิปไตยแล้วหรือยัง เป้าหมายของกลุ่มคนวันเสาร์ฯ ในปี 49 คือต่อต้านการทำรัฐประหาร แสดงให้คณะรัฐประหารเห็นว่า มีคนเดือดร้อนจากการทำรัฐประหาร และเร็วๆ นี้จะมีการเชิญสมาชิกกลุ่มคนวันเสาร์ฯมาร่วมพูดคุยกัน มาพบปะและสรุปบทเรียนที่เคยเคลื่อนไหวกันมา

ความเห็นต่อวาระครบ 6 ปีการรัฐประหาร
เป็นการดีที่เราจะได้รำลึกถึงสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ส่วนผมและสมาชิกกลุ่มคนวันเสาร์นอกจากจะมีการพบปะพูดคุยกัน กลุ่มคนวันเสาร์จะเป็นกลุ่มนำที่จะเริ่มการปรองดอง ด้วยการเริ่มจากคนในกลุ่ม เพราะกลุ่มมีความหลากหลายมาก ถ้าเราสามารถปรองดองกลุ่มของเราได้ เราก็จะสามารถปรองดองสังคมที่ใหญ่ขึ้นได้ วันนี้ภาระของเราไม่ใช่แค่ต่อต้านรัฐประหาร แต่เราต้องการนำประชาธิปไตยมาให้กับประเทศนี้

เราได้รัฐบาลนี้มาภายใต้ความคลุมเครือ แม้จะให้มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่ได้ก็ทำงานได้ลำบาก คนที่ทำรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ยังเดินไปเดินมาในสภา ทั้งๆ ที่เป็นนักโทษประหาร มันถูกต้องหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นถ้าผมรวบรวมคนแล้วยึดประเทศได้จะเป็นอย่างไรบ้าง ผมโดนแค่คดีเล็กๆ แต่ประเทศไทยเดินไม่ได้มา 4 ปี ส่วนคนทำรัฐประหารกลับไปไหนมาไหนได้สบาย แสดงว่ามันมีอะไรที่พิเศษพิสดารอยู่

ทราบดีว่าทุกคนต้องการประชาธิปไตย แต่การเป็นประชาธิปไตยต้องมีที่ยืนให้ฝ่ายตรงข้ามด้วย เรามาพูดว่า ใครไม่เห็นด้วยกับเราก็ต้องเชิญไปต่างประเทศ ใครไม่เห็นด้วยกับเรา ต้องไปเกิดใหม่ อันนี้ไม่ใช่ ประชาธิปไตยต้องไม่พูดคำนี้

เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำนี้เมื่อไหร่ แสดงว่ายังไม่มีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยในฝากฝั่งของเรา จะต้องมีที่ยืนให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกสถาบัน อะไรที่มีแล้วมาเป็นประโยชน์ต้องรักษาไว้ อะไรที่มีแล้วมาไม่เป็นประโยชน์ก็ต้องระงับหรือยุติไป เราต้องมากับประชาชนด้วยกัน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่คุยกัน 2 คนแล้วมากำหนด มันไม่ใช่ เมื่อทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ แต่ประเทศไม่ได้มีเราเพียงคนเดียว เราเป็นหนึ่งในนั้น จึงต้องรู้ร้อนรู้หนาว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
ปล่อยตัว 2 นักโทษคดี 112 แล้ว-หมอนิรันดร์ เยี่ยมเรือนจำใหม่หลักสี่ http://prachatai.com/journal/2012/08/42264

ตัดสินจำคุก 'สุชาติ นาคบางไทร' 3 ปี ข้อหาหมิ่นสถาบัน http://prachatai.com/journal/2010/11/32096

ประชาชาติธุรกิจ: เปิดใจผ่านลูกกรง-กุญแจมือ สุชาติ นาคบางไทร ผู้ต้องหาคนล่าสุด "คดีหมิ่น-ม.112" http://prachatai.com/journal/2010/11/31808

ตร.รวบ "สุชาติ นาคบางไทร" ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ที่ประตูน้ำส่ง สน.ชนะสงคราม http://prachatai.com/journal/2010/11/31696

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อเลวก็ต้องใส่ตะกร้าล้างน้ำของสำนักงานคุมประพฤติ เพื่อ “คืนคนดีสู่สังคม”

Posted: 05 Sep 2012 11:12 PM PDT

 

 
วันนี้ผู้เขียนได้มีประสบการณ์จริงกับการเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติตามศาลชั้นต้นสั่ง คือ รายงานตัวทุกสามเดือนต่อครั้งในระยะเวลา 1 ปี  ให้ทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง ถึงแม้นเราจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่เราก็ต้องเข้าสู่การ “คุมประพฤติ และงานบริการสังคม”  ผู้เขียนโดนคดี อัยการฟ้อง“หมิ่นประมาทผู้อื่นโดนเครื่องกระจายเสียง ตามมาตรา 326,328 ประมวลกฎหมายอาญา ศาลสั่งจะคุก 4 เดือน รองอาญาสองปีและคุมประพฤติ 1 ปี สามเดือนครั้งและบริการสังคม 12 ชั่วโมง ปรับ 80000 บาท
 
ต้องทำอะไรบ้าง??
ผู้เขียนไปรายงานตัวทันทีที่สำนักงานคุมประพฤติ เมื่อจ่ายค่าปรับเรียบร้อย เมื่อไปถึงก็ต้องถ่ายรูป ถือป้ายหมายเลข หน้ากล้องคอมพิวเตอร์ และไปพบพนักงานคุมประพฤติให้กรอกข้อความหลายหน้า เป็นคำถามทั้งหมดเกี่ยวกับครอบครัว และที่อยู่ปัจจุบันและทำแผนที่ที่อยู่ให้เรียบร้อย และมีคำถามนึงที่สะดุดตาคือเมื่อฟังอ่านคำพิพากษาแล้วรู้สึกอย่างไร เช่นไม่สำนึก จะปรับตัว ไม่รู้สึกผิด เป็นต้น
 
ผู้เขียนได้สมุดพกสีเหลืองมาหนึ่งเล่ม ด้านหน้าเป็นเลขทะเบียน เบอร์โทรสำนักงาน และชื่อพนักงานคุมประพฤติเจ้าของสำนวน หน้าสองเป็นชื่อนามสกุลผู้เขียน เงื่อนไขคุมประพฤติ

หน้าสาม คือกำหนดนัดรายงานตัว ผู้เขียนได้ 4 นัด คือ

 
นัดแรก 4 กันยายน 2555 นัดมาปฐมนิเทศ เวลา 8.30น.-12.00น.
ครั้งที่ 2 วันที่ 25 ธันวาคม 2555
ครั้งที่ 3 วันที่ 5 มีนาคม 2556
ครั้งที่  4 มิถุนายน 2556
วันนี้ วันที่ 4 กันยายน 2555 ผู้เขียนแต่งตัวเรียบร้อยใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงขายาว ใส่เสื้อเข้ากางเกง คาดเข็มขัด ใส่รองเท้าหุ้มส้นอย่างเรียบร้อย เพราะความเป็นคนในสังคมก็ย่อมรู้ว่าจะแต่งตัวอย่างไรให้เหมาะสม ไปถึง 8.15 น. เมื่อเข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ให้ขึ้นไปห้องประชุมชั้นสอง ในห้อง เจ้าหน้าที่สั่งให้คนที่มาคุมประพฤติจัดเก้าอี้ และให้เก้าอี้ทุกตัวตรงกัน และให้ใครมาก่อนเข้ามานั่งหน้าก่อน

ผู้เขียนก็ได้นั่งหน้า สักแป๊บก็มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายมาแนะนำตัวและแจกเอกสารให้กรอกหมายเลขและชื่อนามสกุล และเข้าแถวลงทะเบียน  ในลงทะเบียนจะให้เขียนฐานความผิดและให้กลับมานั่งที่เดิม

เจ้าหน้าที่ผู้ชายแนะนำตัวเริ่มบรรยาย ว่าอยากแนะนำองค์กรแต่ไม่แนะนำให้พวกเราไปหาอ่านกันที่บอร์ดหน้าสำนักงาน และบอกว่าพวกเราที่มาทีนี่ได้ถูกส่งชื่อไปที่ระบบอาชญากรรมแห่งประทศไทยแล้วทุกคน  นัดที่สองต้องมาตรงตามเวลานัดและมาไม่เกินเที่ยงแต่ถ้า11 โมงแล้วก็ไม่ต้องมาสรุปคือมาแต่เช้า และถ้าเราไม่มาก็จะออกหมายเรียกไปที่บ้ายที่อยู่ปัจจุบันและภูมิลำเนาใครมีพ่อแม่อยู่บ้านก็ต้องระวังเพราะตราครุฑอาจจะทำให้พ่อแม่ตกใจไม่สบายใจ และเจ้าหน้าที่จะทำรายงานผู้พิพากษา อาจจะถูกยกเลิกการรอลงอาญาได้

งานบริการทางสังคม
วันที่ 18 กันยายน 2555 นี้ทางสำนักงานคุมประพฤติได้สร้างวัดธรรมสถิต อยู่ในซอยมังกร ใครมีความสามารถด้านช่าง เช่น ก่ออิฐฉาบปูน ก็แจ้งมาได้ ส่วนผู้หญิงก็อาจจะเสิร์ฟน้ำทำอาหารในโรงครัว

ส่วนคนที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ลายมือสวย ก็สามารถมาขอบริการงานสังคมที่สำนักงานคุมประพฤติได้ทุกวัน เช่น มาทำงานเก็บข้อมูลลงคอมพิวเตอร์  หรือถ้าทำไม่ได้ก็ไปปลูกแปลงผักเศรษฐกิจพอเพียงด้านหลังสำนักงาน ก็จะได้ชั่วโมงบริการสังคม และไม่ต้องมาติดสินบนเจ้าหน้าที่เพราะเราเป็นราชการในพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว เราต้องการคืนคนดีสู่สังคม ใครเมาแล้วขับก็สามารถไปยืนชูป้ายรณรงค์งดเหล้า ตามสี่แยกก็จะได้ชั่วโมงเหมือนกัน หรือไปแจ้งความประสงค์ที่จะไปช่วยเหลือหน่วยงานรัฐหรือที่อื่นๆ ก็ต้องมาบริการที่สำนักงานคุมประพฤติก่อน 1 ครั้ง ก่อนจะขอไปทำที่อื่น ต้องได้ใบส่งตัวก่อนถึงจะได้ไป และอาจจะมีเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจว่าไปทำจริงหรือเปล่า

 
คนที่สอง เจ้าหน้าที่ผู้หญิง  ก็แจ้งให้ทราบว่าการคุมประพฤติสูงสุดไม่เกิน 5 ปี  ถ้าใครเกิน ให้ไปติดต่อที่ศาล แสดงว่าเจ้าหน้าที่ศาลเขียนผิด “การบริการสังคมหมายความว่า เป็นการบริการไม่มีค่าตอบแทน
คือการทำความสะอาดวัดวาอาราม สถานที่ราชการ และถ้าต้องการไปทำมี่อื่น ต้องมาขอใบส่งตัวและตรวจเช็คว่า มีหน่วยงานนั้นจริงหรือเปล่า และต้องบริการสังคมก่อนการรายงานตัวคุมประพฤติจะหมดครั้งสุดท้าย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เรียกมาถามว่า ใครโดนคดียาเสพติดให้ยกมือ ใครเมาแล้วขับ ยกมือ ใครไม่ยกโดนคดีอะไรกันบ้าง  ผู้เขียนตอบว่า ให้ไปดูสมุดเอาเอง ส่วนชายหนุ่มนั่งข้างซ้าย อนาจาร ข้างขวา ยาเสพติด 
และบรรยายต่อว่า พวกเราเป็นคนที่มีสิทธิพิเศษ เป็นคนที่ศาลเมตตา ต้องการให้เราเป็นคนดี และเห็นว่าพวกเรามีโอกาสกลับตัวได้ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

กรณีตัวอย่าง เหมือนกรณี สาวซีวิค ก็ถือว่าศาลเมตตา ตัดสินด้วยความยุติธรรม

การมาสำนักงานคุมประพฤติต้องแต่งกายเรียบร้อย  ไม่ควรใส่สายเดี่ยว กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น เสื้อคอกว้าง เพราะคนที่มาสำนักงานคุมประพฤติ มีทั้งโดนดคีอนาจาร ยาเสพติด สรุปง่ายๆ ก็มีแต่อาชญากรระวังตัวไว้ด้วย (สรุปนี่ผู้เขียนเข้าใจเอง)

กรณีนัดรายงานตัว อนุญาตให้มารายงานในเดือนนั้น วันไหนก็ได้ ยกเว้นวันหยุด เฉพาะ จันทร์ อังคาร พุธ เท่านั้น ไม่เกินเที่ยง

มีรายงานตัวสัญจรได้ทีตามนี้ ตั้งแค่ 8.30น.-12.00น .

พฤหัสบดีที่ 1 ของเดือน โรงเรียนรัตนโกสินทร์ 9 เคหะบางพลี
พฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน 1-ห้องประชุมลัดหลวงชั้นสี่ พระประแดง
                                2-ศูนย์ยุติธรรมชุมชนหระสมุทรเจดี  สุขสวัสดิ์ 55
พฤหัสบดีที่ 3                ที่ว่าการอำเภอบางพลี อาคารสาธารณะภัย
พฤหสบดีที่ 4                1-ศูนย์ยุติธรรมบางหญ้าแพรก พระประแดง
                                 2-เทศบาลด่านสำโรง
การขาดรายงานตัว
1.โทรมาแจ้ง เจ็บป่วยมีใบรับรองแพทย์
2.นักศึกษาติดสอบ
 
เหตุผลที่ไม่สามารถรับฟังได้ เช่น ขาดงานไม่ได้จะโดนไล่ออก ขาดงานแล้วไม่ได้เบี้ยขนันหรือโบบัส
เมื่อรายงานคัวครบ มีเงินสงเคราะห์ให้
 
1.ค่าพาหนะ จ่ายค่ารถเมถ์
2.ค่าศึกษาเล่าเรียน
3.ทุนประกอยอาชีพ
4.ฝึกอาชีพ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะพิจารณาเองทั้งหมด
หมายเหตุ:            การบริจาคโลหิต 1 ครั้งได้ชั่วโมงบริการสังคม 6 ชั่วโมง
                            การเจาะเลือดแล้ว ผลเลือดไม่ได้ ได้ชั่วโมงบริการสังคม 3 ชั่วโมง
ถ้าต้องการไปช่วยเหลืองานบริการสังคมที่อื่นที่เราต้องการไป ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ ต้องมาขอใบส่งตัวต่อเจ้าหน้าที่และขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่จะพิจารณา
การขอย้ายไปคุมประพฤติที่จังหวัดอื่นได้ เจ้าหน้าที่ต้องอนุญาต
ส่วนคนเมาแล้วขับ วันที่ 26 กันยายน 2555 ต้องไปอบรมการขับรถใหม่ที่ศูนย์รถยนต์ฮอนด้า
 
 
ข้อคิดเห็นและข้อแนะนำต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติ
 1.การคุมประพฤติมุ่งเน้นบริการทางสังคม คือช่วยเหลือศาสนาพุทธมากไป การปฐมนิเทศ วิทยากรเน้นการบริการทางสังคม คือการช่วยสร้างวัด การกวาดลานวัด ยกตัวอย่างแต่การทำงานให้กับวัด เท่ากับการบริการสังคมของผู้ถูกศาลสั่งมุ่งเน้นการบริการทางสังคมกับศาสนาพุทธเท่านั้น และการไปสร้างวัดก็จะมีเจ้าหน้าที่พาไป แต่ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐอื่นต้องมาขอใบส่งตัวจากสำนักงานคุมประพฤติและต้องได้รับการอนุญาตถึงจะไปทำได้ และไปทำมาก่อนไม่มีใบส่งตัวหรือไม่ได้ไปกับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ชั่วโมง

เช่น การสร้างวัดในโครงการของสำนักงานคุมประพฤติปีนี้ คือสร้างวัดธรรมสถิต  ถ้าผู้หญิงทำงานหนักไม่ได้ ก็อาจจะทำครัวหรือเสิร์ฟน้ำ เจ้าหน้าที่ต้องมีมุมมองเท่าเทียมชายหญิง
 

2.การให้คนเข้ามาช่วยงานในสำนักงานคุมประพฤติ เช่น ปลูกแปลงผักพอเพียงไว้รองรับการคืนคนดีสู่สังคม  การเข้าสู่การบริการทางสังคม ต้องเข้ามาทำที่สำนักงานคุมประพฤติก่อนครั้งแรกทุกคน ก่อนที่จะมีสิทธิ์ขอใบส่งตัวไปทำงานบริการสังคมที่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือมูลนิธิ โรงเรียน อบต.งานที่สำนักงานคุมประพฤติมีสองอย่าง คือการช่วยทำเอกสาร ใครมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำหน้าที่กรอกข้อมูล ลายมือสวยก็อาจจะทำให้เขียน แต่ถ้าทำไม่ได้ทั้งสองอย่างก็มีแปลงปลูกผัก โครงการแปลงผักพอเพียงของสำนักงาน ก็ต้องไปทำแปลงผัก รดน้ำพรวนดิน ถอนหญ้าใส่ปุ๋ย และถ้าเราไม่มีความสามารถอะไรเลย และทำงานหนักไม่ได้ต้องมีใบรับรองแพทย์มารับรอง
3.ควรทำคู่มือแจกไว้เลยหลักการปฎิบัติที่สำคัญหลักเกณฑ์การคุมประพฤติ เช่น การรายงานตัว ทำคู่มือและแจ้งสถานที่สัญจรให้กับผู้ถูกคุมประพฤติ  การไม่มารายงานตัวมีขั้นตอนอะไรบ้าง ตามเงื่อนไขพิเศษที่ทางสำนักงานคุมประพฤติกำหนดใหม่ เพื่อความชัดเจนในการสื่อสาร เพราะการบรรยายแบบกระโดดไปกระโดดมา นึกอะไรได้ก็พูด ไม่สามารถทำให้คนเข้าใจตรงกันได้ และคอยถามว่าเข้าใจมั๊ยค่ะ อยู่ตลอดเวลา
4.ไม่ควรอย่างยิ่งในการเรียกถามว่าใครโดนคดีอะไร
5.เจ้าหน้าที่คุมประพฤติต้องไม่มุ่งเน้นการบังคับให้เป็นไปตามกรอบที่เจ้าหน้าที่ต้องการ เช่น เก้าอี้ต้องตรงกันทุกตัว ทำตามกรอบของกฎหมายก็เพียงพอแล้ว
6.เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้ คือการคืนคนดีสู่สังคม ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่รู้รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง  มองคนที่มาสำนักงานคุมประพฤติ คือคนที่ต้องแก้ปัญหา เพราะเขาคืออาชญากร
 
สมุดปกเหลืองคือทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อจบคุมประพฤติต้องคืน และให้รักษาเท่าชีวิต
ที่สำคัญสุดท้าย เขาขานชื่อนางสาว จิน- ตะ- หรา   คะ-ชะ-เดช เลยรอตั้งนาน
 
 
4 กันยายน 2555

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น