โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เอ็นจีโอจี้รัฐฯ ทบทวนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ

Posted: 18 Sep 2012 09:20 AM PDT

'ปัญญาชนสยาม' เตือน 'ยิ่งลักษณ์' คิดให้ดีเดินตามทักษิณหรือฟังเสียงประชาชน ด้าน 'เอ็นจีโอ' ร้องสภาพัฒน์เปิดภาพรวม 'โครงการพัฒนาทวาย' ศึกษาผลกระทบในทุกมิติ ชี้ตัวแบบการพัฒนาจาก 'มาบตาพุด' สู่ผลกระทบยิ่งเลวร้ายที่ 'ทวาย'

ที่มาภาพ: aweidevelopment.com/index.php/th/about-ddc/introduction
 
โครงการขายฝันนำ "ทวาย" สู่การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อการค้าที่เจริญก้าวหน้าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นประตูสู่การค้าใหม่ให้เส้นทางทะเลที่เริ่มต้นโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2551 กำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลไทย 
 
พร้อมๆ กับการตั้งคำถามจากภาคประชาชนไทยว่าทำไมรัฐต้องไปแบกรับภาระความเสี่ยงการลงทุนแทนภาคเอกชน จากกรณีที่โครงการดังกล่าวกำลังประสบกับปัญหาหลายด้านจนไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ จนถึงปัจจุบันทั้งการสร้างเส้นทางชั่วคราวจากชายแดนไทย-พม่า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อีกทั้งปัญหาสำคัญคือการจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะยาว
 
 
วันนี้ 18 ก.ย.55 เสมสิกขาลัยร่วมกับ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ มูลนิธิบูรณนิเวศ (EARTH) และโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโข (TERRA) จัดแถลงข่าว "หยุดอุ้มโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ" โดยมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมแจงข้อมูล
 
สืบเนื่องจาก การที่เครือข่ายภาคประชาสังคมไทยได้ติดตามโครงการทวายมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าการเดินทางไปเยือนประเทศพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ย.55 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเจรจาความร่วมมือการพัฒนาโครงการทวาย
 
 
ร้องสภาพัฒน์เปิดภาพรวม "โครงการพัฒนาทวาย" ศึกษาผลกระทบในทุกมิติ 
 
วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า โครงการทวายเป็นโครงการใหญ่ และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงการทวายก็กำลังเร่งดำเนินการ เพราะหากล่าช้าจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในส่วนภาคประชาชนเห็นว่าสภาพัฒน์ในฐานะหน่วยงานหลักควรจัดทำแผนอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบและมีส่วนร่วม เพราะโครงการนี้ไม่ได้เป็นโครงการเฉพาะในเขตพม่า แต่เชื่อมต่อมายังประเทศไทยและมีแนวโน้มว่าจะกระทบในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสังคมอย่างรุนแรง 
 
ยกตัวอย่างโครงการมอเตอร์เวย์จากบางใหญ่ (อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี) ไป จ.กาญจนบุรี และเชื่อมจาก จ.กาญจนบุรีไปบ้านพุน้ำร้อนติดชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเส้นทางนี้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อปี 2542 และ 2546 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการพูดถึงโครงการทวายและไม่ได้มีการกล่าวถึงในรายงาน ดังนั้นการใช้ผลการศึกษาซึ่งผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าวไปเชื่อมต่อกับทวายเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ในทางวิชาการถือว่าต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่
 
"จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาพัฒน์เองจะต้องเปิดเผยภาพรวมของโครงการทั้งหมด เพราะว่าโครงการทวายไม่ได้หมายถึงโครงการท่าเรือ โครงการนิคมอุตสาหกรรม แต่หมายถึงโครงการที่จะเชื่อมมาประเทศไทยอีกหลายโครงการ โครงการมอเตอร์เวย์ที่ผลกล่าวมาแล้วก็ยังต้องมีการศึกษาใหม่ โครงการรถไฟที่จะเชื่อมต่อจากทวายไปยังมาบตาพุดก็จะต้องเปิดเผย แนวท่อก๊าซที่จะผ่านมายังประเทศไทยก็จะต้องเปิดเผย รวมไปถึงสายไฟฟ้าแรงสูงที่เชื่อมต่อจากนิคมอุตสาหกรรมมายังประเทศไทยก็จะต้องเปิดเผย แต่สิ่งเหล่านี้ดุเหมือนกับมืดดำในขณะนี้ คนไทยไม่รู้ ประชาชนไม่รู้" วีรวัธน์ กล่าว
 
ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องว่า สภาพัฒน์ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปรงใส ต้องชัดเจนในเรื่องการศึกษาทั้งในมิติของผลกระทบทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ขณะเดียวกันเมื่อทำเสร็จแล้วก็ต้องเปิดประชาวิจารณ์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันพิจารณาให้เกิดความโปร่งใสและจะส่งผลต่อการป้องกันผลกระทบในวันข้างหน้าด้วย
 
 
เสนอแสดงตัวอย่างการจัดการ-แก้ปัญหาที่มาบตาพุด สร้างความมั่นใจให้เพื่อนบ้าน
 
อีกประเด็นที่วีรวัธน์ ต้องการเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ การลงทุนของไทยในพม่า สิ่งที่นักลุงทุนไทยและรัฐบาลไทยต้องทำให้ได้คือการสร้างความเชื่อมั่นกับคนพม่าว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ไม่เช่นนั้นแล้วความเชื่อมั่นต่อกันในระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจะไม่เกิดขึ้น 
 
"การหวังจะเขาไปแสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ถือเป็นความบกพร่องในบานะเพื่อนบ้าน" ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าว
  
วีรวัธน์ กล่าวว่า กรณีปัญหามาบตาพุดเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่รับรู้ แต่คนพม่าก็รู้ และหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับพวกเขา ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสิบเท่าเพราะทวายมีขนาดใหญ่มากกว่ามาบตาพุดถึงสิบเท่า ดังนั้นควรใช้บทเรียนจากมาบตาพุดเป็นการให้หลักประกันกับประเทศพม่าว่ารัฐบาลไทยและคนไทยตระหนักในเรื่องนี้ และจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันต่อประเทศเพื่อนบ้าน 
 
ต่อคำถามถึงเรื่องกลุ่มคนที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรม วีรวัธน์ ชี้แจงว่า ขณะนี้มีกลุ่มคน 5 กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ประกอบด้วย 1.ชาวบ้านที่ได้รับผลกรทบจากโครงการเขื่อนและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ กว่า 30,000 คน ที่เริ่มจับมือกันจากเดิมที่แยกกันต่อสู้แต่ละหมู่บ้านโดยมีพระเป็นแกนนำ 2.ชนชั้นกลางในทวายเอง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสูง 3.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างถนน ในกรณีกะเหรี่ยง KNU ที่ร่วมกันต่อสู้คัดค้านถนนเนื่องจากคิดว่าจะทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรม 4.องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในย่างกุ้งเป็นนักกิจกรรมเก่า ซึ่งได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อจะติดตามโครงการ โดยทั้ง 4 กลุ่มเริ่มมีความสัมพันธ์ที่จะถ่ายทอดข้อมูลระหว่างกัน
 
และ 5 กลุ่มคนไทยใน จ.กาญจนบุรี ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งมีนักลงทุน ข้าราชการ ชนชั้นกลาง และในส่วนสถาบันการศึกษาที่รวมตัวกันและตั้งคำถามว่าคนเมืองกาญจน์ฯ จะได้อะไร หรือจะกลายเป็นทางผ่านที่ถูกมองข้าม โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ แถมอาจมีการทิ้งสิ่งสกปรกไว้ด้วย และมีข้อเรียกร้องที่น่าสนใจว่า รัฐบาลน่าจะสนับสนุนให้ภาคประชาชนของ จ.กาญจนบุรีและทวายได้มีโอกาสพบปะร่วมแลกเปลี่ยนกัน เพื่อแสวงหาการพัฒนาที่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืน 
 
ทั้งนี้ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่คนเมืองกาญจน์ฯ จะลุกมาตั้งคำถามถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่อาจได้รับ ทั้งมลภาวะทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 6,000 เมกะวัตต์ ในกรณีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝนกรดที่อาจกระทบกับป่าตะวันตก ผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งในอนาคต ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบที่ชัดเจน
 
ที่มาภาพ: aweidevelopment.com/index.php/th/about-ddc/introduction
 
ชี้ตัวแบบการพัฒนาจาก 'มาบตาพุด' สู่ผลกระทบยิ่งเลวร้ายที่ 'ทวาย'
 
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวยกตัวอย่างถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) โดยระบุว่ามีความคล้ายคลึงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาระดับภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อราวปี 2525 ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 โดยถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นตัวพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ทั้งใช้เป็นกลไกพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ระดับภูมิภาค แก้ไขปัญหาคนว่างงานภายในประเทศ สร้างเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรม โดยตั้งระยะเวลาของการพัฒนาไว้ที่ 50 ปี
 
ระยะเวลา 30 ที่ผ่านมา เป้าหมายหนึ่งเรื่องการลดหนี้สินสาธารณะ แต่นับวันหนี้สินสาธารณะที่เป็นเงินกู้ยืมจากต่างประเทศของไทยกลับยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นพัฒนาโครงการฯ อย่างเต็มตัวในราวปี 2530-2540 นอกจากนั้นลักษณะการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุดและแหลงฉบัง ภายใต้โครงการ Eastern Seaboard และกำลังจะเกิดขึ้นที่ทวายมีรูปแบบเดียวกัน คือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่มีฐานทรัพยากรจากการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ และอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาต่อเนื่องไปก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี การกลั่นน้ำมัน การแยกก๊าซ อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมพลาสติก ไปจนถึงอุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ 
 
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะมีการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดและแหลงฉบัง รัฐบาลไทยโดยสภาพัฒน์ได้ว่าจ้างบริษัทชื่อคูเปอร์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ศึกษาความเป็นได้ เมื่อปี 2524-2526 ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่า หากรัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหาคนว่างงาน ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะกระจายรายได้ไปตามภูมิภาค และส่งเสริมความยั่งยืนในการพัฒนา รูปแบบการพัฒนาที่วางแผนไว้ไม่เหมาะสม ควรมีการพัฒนาที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรในพื้นที่ โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมขนาดเล็กอื่นๆ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา โดยสภาพัฒน์ยืนยันทำตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นความขัดแย้งสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วและกำลังจะเกิดขึ้นที่ทวายประเทศพม่าโดยชุดความคิดและกลุ่มเทคโนแครตของไทย
 
"รูปแบบการพัฒนาทวายที่รัฐบาลพม่า กลุ่มอิตัลไทย และรัฐบาลไทยที่กำลังจะเข้าไปดำเนินการแทนภาคเอกชนในเวลานี้เป็นรูปแบบ เป็นทิศทางที่ดิฉันของพูดจากประสบการณ์ในการทำงานเรื่องนี้ว่าไม่เหมาะสม และเชื่อว่าไม่ใช่ดิฉันคนเดียวเท่านั้นที่พูดได้อย่างนี้ นักวิชาการไทยไม่ว่าด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เชียวชาญด้านมลพิษ เชื่อว่าทุกคนคงพูดไปในทิศทางเดียวกัน" เพ็ญโฉมกล่าว
 
เพ็ญโฉม กล่าวต่อมาถึงความพยายามแก้ปัญหาของชาวบ้านมาบตาพุดว่า มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการชุมนุมประท้วงไม่ให้มีการขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และมีนักวิชาชาการจำนวนมากเข้าไปช่วยเหลือ มีนักการเมือง ผู้เชียวชาญ ผู้ตรวจการ นักสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เข้าไปดูปัญหาในพื้นที่แต่ก็ไม่มีใครสามารถแก้ได้ อีกทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการประกาศให้มาบตาพุดเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ ก็ติดปัญหาเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการสั่นคลอนบรรยากาศการลงทุนของต่างชาติ จนมีการฟ้องคดีและนำมาสู่การประกาศเป็นเขตควบคุมมวลพิษ แต่เวลาผ่านมา 4 ปีเต็ม ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการจัดการมลพิษอย่างจริงจัง หรือกำจัดถึงรากเง้าของปัญหา
 
ขณะที่ การฟ้องให้มีการยับยัง 76 โครงการมาบตาพุด ซึ่งสุดท้ายศาลได้ยกฟ้องและมี 60 กว่าโครงการที่เดินหน้าไปได้ ในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดความชะงักงันและสร้างความเสียหายให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ได้ไปกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในส่วนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มธุรกิจเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ และแหล่งเงินกู้ต่างประเทศให้เริ่มมองหาช่องทางในการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอีกหลายๆ โครงการ ไปที่เวียดนาม พม่า และทวายได้กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากพม่าอยู่ระหว่างเปิดประเทศ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายหลายๆ ฉบับที่สำคัญ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมมลพิษ และกฎหมายที่คุมครองสิทธิชุมชน 
 
"อยากฝากข้อมูลไปถึงรัฐบาลพม่าก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ว่าลักษณะและประเภทของกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังส่งเสริมอยู่ โดยมีรัฐบาลไทย กลุ่มทุนไทย แหล่งเงินกู้จากต่างประทศและบริษัทต่างประเทศอีกมากมายที่จ้องรออยู่ มันอันตรายสำหรับคุณมากกว่าจะส่งผลดีหรือส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจพม่ามีความยั่งยืน" เพ็ญโฉมกล่าว
 
 
จวกทุกรัฐบาลรู้ปัญหาดีแต่ไม่แก้ เหตุไม่มีความกล้าหาญ-ขาดจริยธรรม-ไร้ความละอาย 
 
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวด้วยว่าสำหรับประเทศไทย ตนเองไม่ค่อยมีความหวัง ไม่ว่ากับรัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลที่จะมาในวันข้างหน้า เพราะว่าทุกรัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าปัญหาประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าไม่มีความกล้าหาญพอที่จะแก้ไขปัญหา ไม่มีจริยธรรมสูงพอที่จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนโดยน้ำมือของพวกเขา ไม่มีความละอายเพียงพอที่จะรับผิดชอบต่อพลเมืองของตนเองและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกละอายต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในทวาย
 
ไม่จะไร้ความหวัง แต่สำหรับข้อเสนอทิ้งท้าย เพ็ญโฉมกล่าวว่า 1.ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในพม่า เพื่อโอบอุ้มโครงการนี้แทนเอกชนที่เข้าไปลงทุนแล้วเจออุปสรรค์ไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อ การตัดสินใจของรัฐบาลไทยควรมีการทบทวน ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ความคุ้มทุนของโครงการก่อน เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นจะเกิดเป็นภาระหนี้สาธารณะที่คนไทยทุกคนต้องต้องแบกรับ
 
"ที่สำคัญดิฉันอยากให้หยิบเอาข้อเสนอของคูเปอร์ที่เสนอต่อรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาดูอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งที่คุณเข้าไปส่งเสริมมันเหมาะสมต่อการลงทุนของพม่าจริงหรือเปล่า แล้วคุณย้อนกลับมาทบทวนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งก็ยังไม่สายเกินไป เพราะประเทศไทยก็ยังดำรงอยู่ การปรับปรุงแก้ไขในวันนี้มันไม่เสียหายแต่มันจะส่งผลดีทั้งต่อไทยและพม่าเองด้วย" เพ็ญโฉมกล่าว
 
 2.การที่สภาพัฒน์พูดว่าการเข้าไปลงทุนในทวายจะทำให้จีดีพีของไทยเติมโตร้อยละ 1.9 ตรงนี้คิดคำนวณจากอะไร อยากให้เอาข้อมูลมาแสดงให้เห็น และ 3.ไทยไม่ควรเอาเปรียบพม่า โดยตราบใดที่พม่ายังไม่มีกลไกในการปกป้องสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รอให้มีการพัฒนากลไกเหล่านี้ให้พร้อม หรือเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดกลไกเหล่านี้ก่อนได้หรือไม่
 
 
'ปัญญาชนสยาม' จี้ 'ยิ่งลักษณ์' คิดให้ดีเดินตาม 'ทักษิณหรือฟังเสียงประชาชน 
 
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวถึงแง่มุมของพม่าว่า ในเวลานี้ประเทศพม่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีข้อหนึ่งคือการมีรัฐสภา และจากการได้ไปพม่าเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนพม่าบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดในพม่าตอนนี้คือรัฐสภา รองลงมาคือรัฐบาล ส่วนสิ่งที่เลวที่สุดคือทหาร และข้าราชการประจำ โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่ล้าหลัง ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่สนใจประชาชน ซึ่งในกรณีของทวายที่มีการพูดถึงเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม หากเป็นไปได้น่าจะมีการทำข้อเสนอส่งไปให้เพื่อนเอ็นจีโอพม่า คนที่ทำงานในพม่า เพื่อเสนอให้รัฐสภาทำงานตรงนี้ เนื่องจากในเวลานี้คนพม่าตื่นตัวมากแม้ประชาธิปไตยเพิ่งเริ่มต้นแต่คนก็มีความหวังต่อรัฐสภา
 
นอกจากนั้น คนพม่าแม้จะอยู่ในระบอบเผด็จการทหารมายาวนาน แต่คนพม่าก็มีความตื่นตัวและมีความสามารถโดยเฉพาะในกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ยกตัวอย่างคนคะฉิ่นที่กล้าท้าทายรัฐบาลจีน ด้วยการคัดค้านโครงการเขื่อนของจีน โดยบอกว่าหากจะสร้างเขื่อนในรัฐคะฉิ่นจะต้องปรึกษาคนคะฉิ่นก่อน ซึ่งสำหรับคนที่ทวายก็คิดว่าน่าจะไม่แตกต่างกัน
 
"เวลาเรามองมาที่ทวาย แน่นอนข้อมูลจากมาบตาพุดจะช่วยได้มาก แต่เราต้องมองที่พม่าด้วยว่ามีจุดอะไรที่เราจะทำอะไรได้บ้าง หนึ่งผมเชื่อว่ารัฐสภาเป็นจุดหนึ่งที่หวังได้ สองคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ในพม่านั้นต้องสื่อสารกับเขาโดยตรงให้เขาต่อต้าน แล้วเขาจะต่อต้านอย่างมีกึ๋น" สุลักษณ์
 
สุลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ตนเองหมดหวังกับชนชั้นปกครอง รัฐบาลไม่ว่าโดยการนำของยิ่งลักษณ์หรืออภิสิทธิ์ ต่างก็เป็นพวกเดียวกันหมด เพราะรัฐบาลไทยต้องมองไปที่อภิมหาอำนาจ มองไปที่อเมริกัน มองที่จีน มองที่บริษัทข้ามชาติ แต่ไม่ได้มองที่รากหญ้า ที่ประชาชนพลเมืองว่าจะมีความเดือดร้อนอย่างไร แต่ก็มีนิมิตรหมายอันดีในเมืองไทยคือคนรากหญ้าได้ตื่นตัว ลุกขึ้นมาต่อสู้ทั้งที่มาบตาพุด ประจวบคีรีขันธ์ และคนเหล่านี้ยังมีศาสนธรรม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่ ความหวังจึงอยู่ที่ประชาชน 
 
"ต้องเตือนเลยครับ ยิ่งลักษณ์ถ้าจะพิสูจน์ว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นหัวโขนของทักษิณ ยิ่งลักษณ์จะต้องฟังเสียงคนไทย ฟังเสียงที่คนไทยเตือน ฟังเสียงให้เห็นความผิดพลาดของมาบตาพุด แล้วยิ่งลักษณ์ก็จะมีลักษณะยิ่งในทางที่ดีงาม ถ้าไม่ฟัง เดินตามทักษิณ ยิ่งลักษณ์ก็จะเป็นยิ่งลักษณ์ในทางที่เลวทรามต่ำช้าเรื่อยๆ ไป" สุลักษณ์กล่าว
 
ทั้งนี้ ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวายประมาณ 28 กิโลเมตรโดยอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลพม่าในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค
 
 
30 องค์กร ลงนามจี้รัฐฯ ทบทวนการลงทุนแทนอิตาเลียนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
 
เครือข่ายภาคประชาชน 30 องค์กรได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ ลงวันที่ 18 ก.ย.55 "รัฐบาลต้องทบทวนการลงทุนแทนอิตาเลียนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: หยุดอุ้มทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ"  ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจใดๆ รัฐบาลจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในภาพรวมใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญ จะต้องมีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ทางเลือกการพัฒนาในเขตทวาย การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนพม่าและไทย และการศึกษาต่างๆ นั้นต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมาย  และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย เพราะรัฐบาลไทยจะเข้าไปเป็นผู้แบกรับภาระความเสี่ยงการลงทุนแทน และนั่นหมายถึง สาธารณชนไทยที่จะเป็นผู้แบกรับภาระหนี้สาธารณะในระยะยาวนั่นเอง
 
2.หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจะส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยสูงขึ้น 1.9% แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่เคยเปิดเผยสู่สาธารณะว่ามีฐานคิดจากปัจจัยอะไรบ้าง นอกจากนี้ กรมทางหลวง ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาถนนเพื่อเชื่อมต่อจากชายแดนพม่า ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเส้นทางถนน และการศึกษาผลกระทบทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ต้องดำเนินการจัดการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนเสนอรัฐบาลเพื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนในโครงการนี้หรือไม่
 
3.ปัจจุบันประเทศพม่ายังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกลไกเชิงสถาบันที่จะทำหน้าที่กำกับติดตามตรวจสอบ เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งคือความเสี่ยงของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐจะต้องแบกรับกับความไม่พร้อม ความไม่แน่นอน และยังไม่ได้มาตรฐานของกฎระเบียบและกลไกต่างๆ ในขณะเดียวกันยังเป็นคำถามสำคัญด้านจริยธรรมด้วย เนื่องจากการลงทุนโครงการที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงเช่นนี้จะถูกมองจากสายตาของคนในพื้นที่และชาวโลกว่า ประเทศไทยเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ และทิ้งขยะมลพิษอุตสาหกรรมไว้ในประเทศเพื่อนบ้าน
 
"พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวน และศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่มก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุนแทนเอกชนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และไม่ทิ้งภาระทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ" แถลงการณ์ระบุ
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
18 กันยายน 2555
รัฐบาลต้องทบทวนการลงทุนแทนอิตาเลียนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย:
หยุดอุ้มทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ
 
การเดินทางเยือนประเทศเมียนมาร์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2555 มีเป้าหมายสำคัญ คือการเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์ในการสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของรัฐบาลไทย
 
ผู้ริเริ่มพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิในการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2553 ได้รับสัมปทาน 60 ปีเพื่อพัฒนาโครงการกับการท่าเรือเมียนมาร์ ประกอบด้วยการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, อ่างเก็บน้ำ, ท่อก๊าซ, ท่อน้ำมัน, สายส่งไฟฟ้า และถนนเชื่อมโยงสู่ประเทศไทย และในประเทศไทยจะมีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษเชื่อมโยงจากชายแดนไทย-พม่า ไปสู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยได้จัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินการและการระดมทุน
 
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายโดยภาคเอกชนไทย ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก นอกจากการสร้างเส้นทางชั่วคราวจากชายแดนไทย-พม่าแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก, การสร้างอ่างเก็บน้ำและการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน, ปัญหาในการจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะยาว และยังไม่มีการลงทุนเพื่อซื้อพื้นที่โครงการไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากไทยหรือต่างประเทศ
 
ปัญหาสำคัญคือการไม่ได้ยอมรับจากประชาชนพม่าในพื้นที่โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้กำลังถูกประชาชนในพม่าและเมืองทวาย ตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงจากโครงการ และผลกระทบต่อประชาชน ทั้งการอพยพประชาชนในพื้นที่มากกว่า 30,000 คน และผลกระทบต่อเนื่องต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ดังเช่นบทเรียนที่เกิดขึ้นกับเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของประเทศไทย และการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อในเขตประเทศไทย คือจากชายแดนพม่าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ยังถูกต่อต้านจากประชาชนไทยในพื้นที่ด้วย พร้อมกันนี้สถาบันทางวิชาการ, เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการผลักภาระด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณสาธารณะจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนกิจการของภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง
 
อย่างไรก็ตามภายใต้สภาวะชะงักงันของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายนี้ รัฐบาลไทยกลับพยายามผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่องที่จะให้โครงการท่าเรือนํ้าลึกทวายดำเนินการต่อไปได้ ล่าสุดเมื่อประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ โดยรัฐบาลไทยได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และขณะนี้ได้วางแผนเข้าไปบริหารโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ต่อเนื่องจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งจะทำให้สถานะของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมีสภาพเป็นโครงการของรัฐ ขณะที่โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นความอ่อนไหวด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน, การมีส่วนร่วมของประชาชนพม่าในเมืองทวาย, การทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม, การแย่งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติจากประชาชนพม่าทั้งในและนอกเขตพื้นที่โครงการ นอกจากนั้นยังจะเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลาง, รัฐบาลท้องถิ่น และชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาร์
 
ดังนั้นจากสถานภาพของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ พวกเราองค์กรตามที่มีรายนามแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ขอเรียกร้อง และตั้งคำถามต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาลของโครงการท่าเรือน้ำลึก
ทวาย ดังนี้
 
ประการแรก ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจใดๆ รัฐบาลจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในภาพรวมใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญ จะต้องมีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ทางเลือกการพัฒนาในเขตทวาย, การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนพม่าและไทย และการศึกษาต่างๆ นั้นต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ, กฎหมาย, และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย เพราะรัฐบาลไทยจะเข้าไปเป็นผู้แบกรับภาระความเสี่ยงการลงทุนแทน และนั่นหมายถึง สาธารณชนไทยที่จะเป็นผู้แบกรับภาระหนี้สาธารณะในระยะยาวนั่นเอง
 
ประการที่สอง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจะส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยสูงขึ้น 1.9% แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่เคยเปิดเผยสู่สาธารณะ ว่ามีฐานคิดจากปัจจัยอะไรบ้าง นอกจากนี้ กรมทางหลวง ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาถนนเพื่อเชื่อมต่อจากชายแดนพม่า ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเส้นทางถนน และการศึกษาผลกระทบทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ต้องดำเนินการจัดการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนเสนอรัฐบาลเพื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนในโครงการนี้หรือไม่
 
ประการที่สาม ปัจจุบันประเทศเมียนมาร์ยังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกลไกเชิงสถาบันที่จะทำหน้าที่กำกับติดตามตรวจสอบ เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งคือ ความเสี่ยงของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐจะต้องแบกรับกับความไม่พร้อม ความไม่แน่นอน และยังไม่ได้มาตรฐานของกฎระเบียบและกลไกต่างๆ ในขณะเดียวกันยังเป็นคำถามสำคัญด้านจริยธรรมด้วย เนื่องจากการลงทุนโครงการที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงเช่นนี้จะถูกมองจากสายตาของคนในพื้นที่และชาวโลกว่า ประเทศไทยเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ และทิ้งขยะมลพิษอุตสาหกรรมไว้ในประเทศเพื่อนบ้าน
 
พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวน และศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่มก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุนแทนเอกชนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และไม่ทิ้งภาระทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ
 
รายชื่อองค์กรสนับสนุนแถลงการณ์
 
1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
2. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (ภาคเหนือ)
3. โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
4. เสมสิกขาลัย (SEM)
5. มูลนิธิบูรณนิเวศ (EARTH)
6. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (HPPF)
7. โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (EAB)
8. คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (TCJ)
9. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี
10. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกาญจนบุรี
11. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
12. ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภาคเหนือล่าง
13. ชมรมพิทักษ์ธรรมชาติจังหวัดพิษณุโลก
14. เครือข่ายนักพัฒนาเหนือตอนล่าง
15. เครือข่ายทรัพยากรดินน้ำป่า ภาคเหนือล่าง
16. เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม
17. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
18. กลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู
19. เครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดภาคอีสาน
20. เครือข่ายดิน น้ำ ปลา ป่าแร่ ภาคอีสาน
21. สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน
22. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก
23. สภาลุ่มน้ำบางปะกง ปราจีนบุรี และโตนเลสาป
24. โครงการคุ้มครองวิถีชีวิตบนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี บางคล้า-คลองเขื่อน
25. เครือข่ายประชาชนคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่สาม
26. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง
27. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ
28. กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก
29. Book Re:public
30. Karen Rivers Watch (KRW)
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน 'ยูเอ็น' แถลง 'ยินดี' ต่อการออกรายงานคอป.

Posted: 18 Sep 2012 09:09 AM PDT

พร้อมระบุรบ.ควรปฏิบัติตามข้อเสนอคอป. ในการปฏิรูปสถาบันและกฎหมาย โดยเฉพาะสถาบันทหารและม. 112 ชี้รัฐต้องเก็บรักษาข้อมูลหลักฐานต่างๆ ไว้ให้คงอยู่ เพราะจำเป็นสำหรับการตรวจสอบในอนาคต  

18 ก.ย. 55 - ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นาวี พิลเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แถลงแสดงความยินดีต่อการเผยแพร่รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย. - พ.ค. 53 และย้ำถึงข้อเสนอของคอป. ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย และให้กองทัพเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลควรต้องนำไปปฏิบัติ 

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชี้ว่า การออกรายงานดังกล่าวของคอป. นับเป็นก้าวที่สำคัญในการได้มาซึ่งความโปร่งใสและการปรองดองในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย และระบุว่า ถึงแม้รายงานดังกล่าวจะล้มเหลวในการระบุผู้กระทำความผิดในความรุนแรงครั้งนั้น แต่ก็ประกอบด้วยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่น และยังได้เสนอแนะให้หาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ​อย่างเร่งด่วน 
 
"การปฏิรูปกฎหมายและสถาบันตามข้อเสนอในรายงาน จะช่วยทำให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น" ข้าหลวงใหญ่แห่งสิทธิมนุษยชนกล่าว "การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ จะไม่เพียงแต่สร้างหมุดหมายสำคัญให้กับประเทศไทย แต่ยังมีความหมายสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย" โดยเฉพาะข้อเสนอที่ทำให้กองทัพเป็นกลางทางการเมือง การทำให้ตุลาการเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น และการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อพิทักษ์เสรีภาพทางการแสดงออกในไทย
 
นอกจากนี้ ข้าหลวงใหญ่ฯ ชี้ว่า ยังมีข้อกังวลถึงเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลหลักฐานที่รวบรวมไว้ได้โดยคอป. และดีเอสไอ ที่จำเป็นต่อการหาความจริงและการตรวจสอบต่อไปในอนาคต โดยได้ย้ำให้รัฐบาลมีมาตรการที่จำเป็นในการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวด้วย 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สันนิบาตมุสลิมประณามหนังหมิ่นศาสนา ชมไทยใส่ใจกลุ่มชาติพันธุ์

Posted: 18 Sep 2012 08:40 AM PDT

 

ประณามหนังหมิ่นศาสนาและการทารุณชนกลุ่มน้อยมุสลิมในพม่า ยันอิสลามเป็นปรปักษ์กับการก่อการร้ายที่อ้างศาสนา ปฏิเสธความสุดโต่งที่พาดพิงอิสลาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ดร.อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลมุห์สิน อัล-ตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม

 

 

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 17 กันยายน 2555 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร สันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League -MWL) หรือ รอบีเฏาะฮ ในภาษาอาหรับ ร่วมกับสภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดโครงการสัมมนานานาชาติ เรื่อง ศาสนากับกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยมี ศ.ดร.อับดุลเลาะห์ บิน อับดุลมุห์สิน อัล-ตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาถรสมาคม เจ้าคณะหนเหนือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกิยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา พระราชวราจารย์ ประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย และผู้นำทางศาสนาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน  คณะกรรมการสภาศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย นักวิชาการสันติวิธีและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 200 คน

ดร.อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลมุห์สิน อัล-ตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม กล่าวในการปาฐกถาพิเศษว่า สันนิบาตโลกมุสลิมขอประมาณอย่างที่สุด ต่อหนังดูหมิ่นต่ออิสลาม และขอปฏิเสธต่อการใส่ร้ายต่ออิสลาม ต่อท่านศาสนาทูตมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมและต่อคัมภีร์อัลกรุอาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลก สถาบันต่างๆ และองค์การสิทธิมนุษยชนระดับโลก ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ออกมาแถลงประกาศถึงความผิดของการใส่ร้ายศาสนาต่างๆ และสัญลักษณ์ทั้งหลายของศาสนาเหล่านั้น และห้ามมิให้กล่าวอ้างถึงสิทธิเสรีภาพและการสื่อสาร ในรูปแบบที่บ่อนทำลายบรรยากาศแห่งการอยู่ร่วมกันและความมั่นคงระดับโลก

ดร.อับดุลลอฮ์ กล่าวต่อไปว่า สันนิบาตโลกมุสลิมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งและขอปฏิเสธต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาในประเทศเมียนมาร์ คือการกดขี่ทารุณอย่างโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิม และขอเรียกร้องให้คืนสิทธิแก่ชนกลุ่มน้อยเหล่นนี้และหยุดการขดขี่ทารุณ

ดร.อับดุลลอฮ์ กล่าวว่า ไทยถือว่าเป็นแหล่งบรรจบระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ เช่น จีน อินเดีย และอิสลาม วันนี้เห็นแนวโน้มที่ดีที่ไทยเปิดกว้างและเอาใจใส่ต่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงและความสันติสุขในสังคม และเพิ่มสถานะความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมอาเซียน รวมถึงยกระดับบทบาทของไทยในการสนับสนุนการเสวนาและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ อีกด้วย เพื่อเป้าหมายในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันบนจุดรวมแห่งมนุษยธรรม

"การเผยภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของอิสลาม และแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างอิสลามกับรูปแบบความสุดโต่งต่างๆ ที่ถูกนำมาพาดพิงกับอิสลามโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยความสะเพร่า พร้อมๆ กับการรณรงค์ว่า การก่อการร้ายที่ปะทุขึ้นจากบางคนในกลุ่มชาวมุสลิมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยบทบัญญัติอิสลามแต่อย่างใด และเป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธ อิสลามเป็นปรปักษ์กับวิธีการนั้นด้วย" ดร.อับดุลลอฮ์ กล่าว

ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ในฐานะประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กล่าวในการเปิดงานว่า ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งที่มีความสัมพันธ์ทางตรงหรือทางอ้อมกับศาสนาหรือศาสนิกในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบในปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสร้างความไม่ไว้วางใจกันในหมู่ศาสนิก

ดร.อิสมาอีลลุตฟี กล่าวว่า สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เกิดขึ้นโดยการรวมตัวกันของผู้นำศาสนา 5 ศาสนา คือ อิสลาม พุทธ คริสต์ ซิกข์ และฮินดู ถือเป็นเวทีและสะพานเชื่อมระหว่างผู้นำศาสนาและประชาชนทั่วไปในการนำหลักการศาสนาที่ถูกต้องมาใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดโอกาสให้แต่ละศาสนาในพื้นที่ เสนอทางออกในมิติของการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุข

ดร.อิสมาอีลลุตฟี กล่าวว่า หลักการดังกล่าวเป็นเหตุผลของการจัดการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำศาสนาต่างๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำตัวอย่างที่ดีและประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้งทางศาสนาหรือความขัดแย้งอื่นๆ ที่สามารถใช้หลักการและกระบวนการทางศาสนาเข้าไปเยียวยา อันจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพอันยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประเทศ แต่ประเทศไทยสามารถอยู่ร่วมกันศาสนิกอื่นๆ อย่างราบรื่นมาช้านาน ในโอกาสที่จะประเทศไทยจะเข้าร่วมกับประเทศอาเซียน อาตมาเห็นว่าความสำคัญของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความเข้าใจระหว่างศาสนา อันเป็นหนึ่งของเนื้อหาที่สำคัญของประชาคมอาเซียนและวัฒนธรรม

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวอีกว่า แม้ภูมิภาคอาเซียนมีอัตลักษณ์และความหลากหลายในประเด็นต่างๆ ศาสนาทั้งหลายก็อาจมีความสัมพันธ์กันในด้านคำสอนบางข้อที่คล้ายคลึงกัน มีคุณค่าบางประการร่วมกัน เช่น การสอนเรื่องความรัก ความเมตตา และความยุติธรรม แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีความเชื่อที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาตมามั่นใจว่า ทั้งความเหมือนและความแตกต่างในเรื่องศาสนาของเรานั้นเป็นสิ่งที่งดงามและท้าท้ายการเรียนรู้ซึ่งและกันอย่างยิ่ง

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดงานว่า กระบวนการในทางศาสนาถือเป็นกระบวนการสำคัญในการแก้ปัญหาสังคม ตนคิดว่า ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า เนื่องจากไทยได้เปิดโอกาสให้ทุกศาสนิกมีโอกาสเท่ากันในการเข้ามาบริหารประเทศ

นายยงยุทธ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยมีผู้บริหารระดับประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา อดีตประธานรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่นับถือศาสนาอิสลาม ในการแก้ปัญหานั้นรัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาทางออกร่วมกันของนักการเมือง ซึ่งในวันที่ 18 กันยายน 2555 รัฐบาลและฝ่ายค้านจะหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอ ว็อทช์ แฉพรีม่าบิดข้อมูล-จับมืออุตสาหกรรมเกษตรดันเอฟทีเอ ไทย-อียู

Posted: 18 Sep 2012 07:28 AM PDT

เอฟทีเอ ว็อทช์ แฉอุตสากรรมส่งออกสินค้าเกษตรจับมือบรรษัทยาข้ามชาติหนุนกรมเจรจาฯ ยอมขยายสิทธิผูกขาดยาตามอียู นักวิชาการชำแหละพรีม่าร่อนจดหมายบิดเบือนทั่ว

 

การอภิปรายเรื่อง  กระบวนการพัฒนากฎหมายนโยบายสาธารณะ ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษาการการจัดทำ FTA Thai-EU ต่อการเข้าถึงยา จัดขึ้นที่ อาคารศศนิเวศน์ จุฬาฯ เมื่อบ่ายที่ผ่านมา

นายจักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ระบุว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญที่ควรประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ  ควรใช้ปัญญา มีธรรมาภิบาล ปราศจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม น่าเสียดายที่เรื่องนี้ยังไม่เกิดในหน่วยงานที่รับผิดชอบการเจรจา

"ณ ขณะนี้ กรมเจรจาฯ มีจุดยืนที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ทั้งสองกลุ่มนี้สนับสนุนร่างกรอบที่กรมเจรจาฯเสนอ แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการว่า ไม่ได้ใช้ความรู้และงานวิจัยที่มีการศึกษามา แต่กลับพยายามเร่งให้เกิดการเจรจาเร็วที่สุดอย่างไม่มีเหตุผล จนไม่ยอมรอการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังดำเนินการอยู่"

ดร.ภก.สุชาติ จองประเสริฐ นักวิชาการด้านยา กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ขอพูดในฐานะนักวิชาการอิสระ เพราะเห็นว่าการพัฒนานโยบายสาธารณะต้องมาจากการจัดทำของหน่วยราชการ และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ผ่านมามีนโยบายสาธารณะดีๆจำนวนมากที่ออกมาไม่ได้ เพราะมีกระบวนการให้ข้อมูลที่บิดเบือนกับสังคม จากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์หรือคนที่ไม่สามารถเอากอบโกยประโยชน์จากสังคมได้อย่างเต็มที่

"ตามที่สมาคมพรีม่า ส่งจดหมายกล่าวหาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพขณะนี้แปลความหมายคลาดเคลื่อนจากข้อมูลความเป็นจริง ส่งผลให้การวิจัยผิดพลาด แล้วสำเนาจดหมายนี้ไปยังหน่วยงานรัฐและเอกชน 17 หน่วยงาน เพราะองค์กรเหล่านี้คือองค์กรที่ตัดสินนโยบายสาธารณะ ซึ่งการเขียนเช่นนี้ จะมีผลเมื่อส่งไปยังองค์กรที่ไม่มีความรู้ หากสามารถทำให้เขาชะลอหรือออกนโยบายที่สนับสนุนบรรษัทยาข้ามชาติได้ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งๆที่สิ่งที่พรีม่าเขียนในจดหมายไม่ใช่การแปลความ แต่เป็นการหาข้ออ้าง ในการสนับสนุน พรีม่ามีสิทธิให้ความเห็นแต่ไม่ควรโกหก"

สุชาติ กล่าวต่อว่า สาระในจดหมายที่โกหก หรือให้ข้อมูลไม่ครบ อาทิ ในความตกลงทริปส์ไม่มีการชดเชยอายุสิทธิบัตร แม้มีการให้ในบางประเทศไม่ใช่สากล, การทดสอบว่ายามีความปลอดภัยเป็นองค์ความรู้สาธารณะที่ไม่มีสิทธิผูกขาด,  หากยอมให้มีการผูกขาด ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นการประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) จะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง,  ข้ออ้างที่ว่าให้ บริษัทยาชื่อสามัญลงทุนวิจัย เป็นเรื่องโกหก เพราะใครจะให้ทำวิจัยที่รู้คำตอบแล้ว คณะกรรมการจะไม่ให้ทำวิจัยซ้ำ ทำไมจึงให้ผู้ป่วยมาเสี่ยงอีก เขารู้ว่าบริษัทยาชื่อสามัญในไทยไม่สามารถทำได้ คือปิดช่องนั่นเอง และมาตรการ ณ จุดผ่านแดน ให้ตรวจ จับ ยึด อายัด ลิขสิทธิกับเครื่องหมายการค้า เพราะเห็นด้วยตา แต่ถ้าทำเอฟทีเอจะต้องเป็นทุกประเภทที่จะละเมิดทรัพยสินทางปัญญาด้วย ซึ่งทุกวันนี้ แม้แต่ อย.ยังไม่สามารถฟันธงการละเมิดสิทธิบัตรได้ ต้องส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การปล่อยให้มีการยึดจับยาละเมิดสิทธิบัตร ณ จุดผ่านแดน จะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่น ยาชื่อสามัญช่วยชีวิตของอินเดียถูกยึดในสหภาพยุโรปถึง 18 ครั้ง ซึ่งล่าสุด สหภาพยุโรปยอมรับแล้วว่า การกระทำนี้ทำไม่ได้ นอกจากนี้ ข้ออ้างเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากยาปลอม ยาด้อยคุณภาพนั้น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่เรื่องของยาปลอม ยาด้อยคุณภาพก็มีทั้งยาแบรนด์เนมและยาชื่อสามัญ

สุชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่อยู่ อย. ยืนยันว่า จุดยืนของการไม่รับข้อตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์นั้นสอดคล้องต้องตรงกับสถาบันวิจัยชั้นนำในประเทศนี้ทั้งหมด แต่คงไม่ถูกใจบริษัทยาข้ามชาติ พวกนี้คือปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องหนักแน่น 

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้การทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพได้คัดเลือกเนื้อหาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดจากเอฟทีเอ ไทย-อียู ใน 4 ประเด็น คือ การ การออกประกาศนียบัตรเพิ่มเติมการคุ้มครองเพิ่มเติม, การ​ผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา (Data Exclusivity), การปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาที่อียูบังคับ และการใช้มาตรการ ณ จุดชายแดน รวมถึงประเมินมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และทางทีมวิจัยจะทำหนังสือชี้แจงไปทุกหน่วยงานที่พรีม่าได้ทำหนังสือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ การอภิปราย  กระบวนการพัฒนากฎหมายนโยบายสาธารณะ ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษาการการจัดทำ FTA Thai-EU ต่อการเข้าถึงยา ร่วมจัดโดยสถาบันวิจัยสังคม, ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

(ติดตามคลิปการเสวนาได้ทาง http://www.thaidrugwatch.org เร็วๆนี้)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ไป่ตู้" เปลี่ยนภาพธีมเป็นธงชาติจีนปักกลางเกาะพิพาทจีน-ญี่ปุ่น

Posted: 18 Sep 2012 07:13 AM PDT

 

เสิร์ชเอนจิ้นของจีนเปลี่ยนภาพธีมหน้าเว็บเป็นภาพธงชาติจีนปักลงกลางหมู่เกาะพิพาทจีน-ญี่ปุ่น ด้านโฆษกเว็บอ้างเป็นการแสดงความรักชาติที่ดีกว่าการปาหินหรือทุบรถ ขณะเดียวกันยังแสดงภาพแผนที่ประเทศจีน ที่กินเขตแดนทางทะเลลึกเข้ามาถึงชายฝั่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หน้าแรกของเว็บ "ไป่ตู้" (Baidu) ซึ่งเปลี่ยนหน้าธีมด้วยการปักธงชาติจีนลงในภาพเกาะที่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น (ที่มา: Baidu.com เข้าถึงเมื่อ 18 ก.ย. 55)

มีรายงานว่าเว็บเสิร์ชเอนจิ้นของจีน "ไป่ตู้" (Baidu) ได้เปลี่ยนภาพธีมเป็นภาพธงชาติจีนปักลงไปบริเวณหมู่เกาะเซ็นคากุ หรือเตี้ยวหวี ซึ่งเกิดข้อพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่น โดยมีข้อความว่า "ไป๋" ตามมาด้วยภาพเกาะที่มีธงชาติจีนปักลงไป และมีข้อความอีกคำคือ "ด๋าว" แปลว่า เกาะ ซึ่งออกเสียงคล้าย "ตู้"

ทั้งนี้ "ไป่ตู้" มักจะเปลี่ยนภาพธีมในวันสำคัญ เทศกาล หรือวันครบรอบต่างๆ โดยการเปลี่ยนภาพในวันนี้ เป็นวันครบรอบ 81 ปี ที่กองทัพญี่ปุ่นแอบวางระเบิดรถไฟที่เมืองมุกเดน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพื่อเป็นข้ออ้างในการรุกรานแมนจูเรียของจีน 

"ผู้ใช้ไป่ตู้ส่วนใหญ่ อย่างเช่นพนักงานของเรา ถือว่าเรื่องนี้อยู่ในใจ" ไกเซอร์ กว๋อ โฆษกของไป่ตู้ กล่าว "แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็คือส่งเสริมให้ผู้คนมีเหตุมีผลในการแสดงออกซึ่งความรักชาติ และปฏิเสธการใช้ความรุนแรงและความสุดขั้วต่างๆ เมื่อเห็นดังนี้ เราจึงวางธงชาติดิจิตอลเพื่อแสดงความรู้สึกของพวกเราเกี่ยวกับเกาะเตี้ยวหวี ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการไปปาหิน หรือไปทุบรถ"

เมื่อคลิกภาพธีมจะเข้ามายังหน้า http://baodiao.baidu.com/ ซึ่งมีภาพธงชาติจีนปักอยู่บริเวณหมู่เกาะพิพาทจีน-ญี่ปุ่น นอกจากนี้เขตแดนทางทะเลของจีนยังครอบคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกำลังพิพาทกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่มา:  http://baodiao.baidu.com/ เข้าถึงเมื่อ 18 ก.ย. 55)

ทั้งนี้เมื่อคลิกไปที่ภาพธีม ก็จะเข้ามายังหน้า baodiao.baidu.com เป็นรูปแผนที่ของหมู่เกาะพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และมีการปักธงชติจีนลงไปในเกาะ โดยเมื่อซูมภาพแผนที่ออกจะเห็นแผนที่จีนทั้งผืน ซึ่งบริเวณเขตแดนทางทะเลนั้นกินลงมาถึงทะเลจีนใต้ประชิดชายฝั่งของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย 

ในบทความของ Duncan Mavin และ Paul Mozur ที่เผยแพร่ในบล็อกของในวอลสตรีทเจอนัล ซึ่งรายงานถึงภาพธีมของเว็บไป๋ตู้ดังกล่าว ยังแสดงความเห็นด้วยว่า "สำหรับคนจีนบางกลุ่มที่เผารถยนต์ญี่ปุ่นและทำลายทรัพย์สินของบริษัทญี่ปุ่น ความเคลื่อนไหวจากไป๋ตู้คงดูเป็นเรื่องไม่น่าตื่นเต้น แต่แน่นอนสำหรับใครก็ตามที่มาใช้เว็บเอนจิ้นนี้เพื่อหวังเสิร์ชข้อมูลอย่างเป็นกลาง ย่อมมีความไม่พอใจ"

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

Net Neutrality? Baidu Plants its Flag on Disputed Islands, Duncan Mavin and Paul Mozur, WSJ, September 18, 2012, 5:42 PM HKT

Mukden Incident, Wikipedia

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย หอมลออ

Posted: 18 Sep 2012 06:24 AM PDT

"อย่าถือว่าเราเป็นความจริงที่เป็นจริงที่สุด แต่เราเป็นความจริงที่เชื่อถือได้"

ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง, คอป., 17 กันยายน 2555

สืบพยานนัดแรกโปรแกรมเมอร์โดน112 – เลื่อนคดี ‘สมยศ’ รอคำสั่งศาลรธน.

Posted: 18 Sep 2012 06:17 AM PDT

สืบพยานโจทก์นัดแรกคดีสุรภักดิ์ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าของเพจเราจะครองxxxx ในเฟซบุ๊ค หลังถูกจับกุมและคุมขังปีกว่า นศ.ราชภัฏจันเกษมเบิกความเป็นผู้แจ้งความ สืบตำรวจปอท.พรุ่งนี้ ด้านคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ศาลเลื่อนนัดฟังคำสั่งศาลรธน. เหตุคำสั่งยังไม่ออก เลื่อนเป็น 19 ธ.ค.นี้

 

18 ก.ย.55 ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญารัชดา มีการสืบพยานคดีที่อัยการฟ้องนายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี อาชีพโปรแกรมเมอร์ เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเพจเราจะครอง xxxx ในเฟซบุ๊ค โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์นัดแรก 3 ปาก คือ เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่ยืนยันกันจดทะเบียนของ หจก.มณียาแมนชั่น อพาร์ตเม้นท์ที่จำเลยเช่าอยู่ , เจ้าหน้าที่อพาร์ตเม้นท์ และนายเฉลิมชัย มงคลเกิดกิจ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อพาร์ตเม้นท์เบิกความเกี่ยวกับการเช่าห้องพักของนายสุรภักดิ์ตั้งแต่ปี 2553 และระบบอินเตอร์เน็ตของห้องพัก ซึ่งเป็นสายสัญญาณที่ใช้ร่วมกันทั้งอพาร์ตเม้นท์

ขณะที่เฉลิมชัย เบิกความว่า เป็นนักศึกษาของวิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันเกษม เมื่อปี 2554 มีเพื่อนแจ้งว่ามีบุคคลใช้ user name เราจะครองxxxx โพสต์ข้อความหมิ่นในเฟซบุ๊ ตนเองซึ่งใช้ชื่อในเฟซบุ๊คว่า prasertpat pat ได้ขอเป็นเพื่อนและติดตามดูบัญชีดังกล่าวตั้งแต่ 4 พ.ค.-16 ส.ค.54 พบว่ามีการหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันกษัตริย์ แต่จำข้อความไม่ได้เพราะเหตุเกิดนานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นได้รวบรวมหลักฐานการโพสต์ของผู้ใช้ชื่อดังกล่าว เข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ปรากฏตามเอกสารหมายจ.1 รวม 6 แผ่น โดยไม่ทราบว่าเจ้าของ user name  เป็นใคร และชื่อดังกล่าวยังถูกนำมาตั้งเป็นแฟนเพจด้วย สำหรับหน้าแฟนเพจนั้นสามารถเปิดดูได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิก ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก ปอท.จึงแจ้งว่าผู้ใช้ชื่อดังกล่าวคือนายสุรภักดิ์

ทนายจำเลยถามค้านว่า กลุ่มที่พยานเข้าร่วมคือกลุ่มล่าแม่มดใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มใด ดำเนินการเองเพียงคนเดียว เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง นายเฉลิมชัยระบุว่าเคยชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อแสดงความจงรักภักดี

นอกจากนี้พยานยังรับว่าได้ปลอมตัวเข้าไปเป็นเพื่อนกับผู้ใช้ชื่อเราจะครองxxxx โดยใช้รูปประจำตัวที่มีข้อความว่า I am red และจำไม่ได้ว่าเคยแสดงความคิดเห็นหรือกด like หรือไม่ และทราบว่าเฟซบุ๊คนี้บัญชีนี้ใช้อีเมล์ชื่อว่า ดอกอ้อโดยสะกดเป็นภาษาอังกฤษ เหตุที่ตนทราบเพราะเป็นสมาชิกของกลุ่มหนึ่งแล้วมีการใช้อีเมล์ google group ติดต่อกันพบว่ามีข้อความหมิ่นจากอีเมล์บางอัน จึงได้นำอีเมล์ดังกล่าวไปค้นหาแล้วพบว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊คชื่อเราจะครองxxxx จึงเชื่อว่าเป็นคนเดียวกัน

พยานรับว่าทราบว่ามีเพจในลักษณะหมิ่นเหม่จำนวนมากในอินเตอร์เน็ต แต่ไม่เคยไปแจ้งความกับกรณีอื่น และไม่ทราบว่าทุกวันนี้หน้าเพจเราจะครองแผ่นดินxxxxยังมีการดำเนินการอยู่หรือไม่ เนื่องจากหลังจากแจ้งความแล้วก็ไม่ได้เข้าไปติดตามอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสืบพยานจะมีจนถึงวันที่ 20 ก.ย.นี้ โดยวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) จะเป็นการสืบพยานเจ้าหน้าที่จาก ปอท.และในวันที่ 20 ก.ย.จะเป็นพยานจำเลย ได้แก่ ตัวจำเลย และพยานผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นเจ้าของอีเมล์  dorkao@hotmail.com ซึ่งจัดทำเพจในเฟซบุ๊กชื่อว่า "เราจะครองxxxx" และกระทำการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  มาตรา 3,14,17  

คำฟ้องระบุว่า จำเลยทำการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าวในวันที่ 4 พ.ค.54, 18 มิ.ย.54, 22 มิ.ย.54, 16 ส.ค.54  ในเฟซบุ๊ก และในวันที่ 2 ก.ย.54 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวจำเลย ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวน จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ถูกจับตลอดมาจนถึงปัจจุบัน มีการยื่นประกันหลายครั้งแต่ศาลสั่งยกคำร้อง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีสุรภักดิ์ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/176

 

คดีสมยศ เลื่อนเป็น 19 ธ.ค.รอคำวินิจฉัยศาลรธน.

วันเดียวกัน นายคารม พลพรกลาง ทนายความนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  ผู้ต้องขังคดี 112 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้โทรแจ้งในบ่ายวันนี้ว่าศาลสั่งเลื่อนนัดที่จะมีในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญออกมา จากกรณีที่ฝ่ายจำเลยยื่นให้ตีความว่ามาตรา 112  ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติม) โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค.นี้

นายคารมย้ำว่าจะยื่นหนังสือเร่งรัดการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากคดีนี้สืบพยานเสร็จและยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตั้งแต่เดือนพฤษาคมแล้ว และการยืดเวลาออกไปก็ทำให้คดีนี้ยังไม่สามารถมีคำพิพากษาออกมาได้ในขณะที่จำเลยก็ไม่สามารถประกันตัวได้มาตั้งแต่ชั้นสอบสวน อย่างไรก็ดี จะเร่งดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลชั้นต้น ซึ่งดำเนินการยื่นคำร้องไปแล้วถึง 10 ครั้งแต่ถูกปฏิเสธ หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นนี้เช่นกัน

ขณะที่จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงานและนักกิจกรรมการเมืองแจ้งในเฟซบุ๊คว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) เวลา 10.38 น. -12.30 น. จะมีกิจกรรม "แต่งดำ นั่งเงียบ ปิดตา หน้าศาลอาญา 112 นาที" ประท้วงการเลื่อนอ่านคำพิพากษา"สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ไม่มีกำหนด และไม่ให้สิทธิปล่อยตัวชั่วคราว รวมทถึงประท้วงความไม่ยุติธรรมต่อนักโทษการเมืองและนักโทษ 112 ทุกคน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ชงความเห็นร่าง พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ ชี้ต้องเปิดข้อมูลจากการตรวจสอบ

Posted: 18 Sep 2012 05:41 AM PDT

คปก.ชงความเห็นร่าง พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูล เสนอแนวทางแก้ปัญหาตีความอำนาจตรวจสอบฯ

(18 ก.ย.55) นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ทำหนังสือ ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปแล้ว

"คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะใน 7 ประเด็นคือ1.องค์ประกอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2.การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3.อำนาจการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4.การรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา 5.กองทุนสิทธิมนุษยชน 6.อำนาจการเปิดเผยข้อมูลหรือข้อเท็จจริง 7.สถานะของบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ"

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า  ประเด็นสำคัญคือ ในร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....  มาตรา 43 บัญญัติห้ามมิให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เปิดเผยข้อเท็จจริงที่รู้หรือได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่นั้น ประเด็นนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่หลักในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้มานั้น อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงของภาคประชาชน ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขอเสนอให้ตัด มาตรา 43 ออกจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเห็นว่าในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐไว้อยู่แล้ว จึงไม่ควรบัญญัติห้ามเรื่องการเปิดเผยข้อเท็จจริงไว้ในร่างพระราชบัญญัติ

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า อำนาจการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เดิมเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความอำนาจในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิฯว่าไม่สามารถดำเนินการได้หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล กรณีนี้ คปก. เห็นว่า อำนาจตรวจสอบฯดังกล่าวปรากฏในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฯ ระบุว่า หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนั้นในประเด็นเดียวกับที่มีการฟ้องร้องอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตรวจสอบเพื่อเสนอแนะนโยบายและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม  ดังนั้น แม้จะมีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแล้ว แต่หากประเด็นที่จะดำเนินการตรวจสอบเป็นคนละประเด็นที่มีการฟ้องคดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังคงมีอำนาจตรวจสอบได้

"ในแง่องค์ประกอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คปก.เสนอให้การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสม และความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกซึ่งควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาและในกระบวนการสรรหา

"ส่วนการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเด็นนี้ คปก.เสนอให้การกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ประโยชน์ตอบแทนอื่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน ตลอดจนบำเหน็จตอบแทนเมื่อพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ แทนการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา"

นายสุขุมพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง และบุคลากรในหน่วยงานก็ควรมีสถานะที่เป็นอิสระด้วยเช่นกัน ไม่ควรมีสถานภาพเป็นข้าราชการ อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้รับฟังความคิดเห็นของข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและอาจได้รับผลกระทบจากการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงมีข้อเสนอในระยะยาวว่า ในเรื่องการกำหนดสถานภาพบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการและพนักงาน โดยให้บุคลากรที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการอยู่ในปัจจุบันยังคงสถานภาพดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์: สังคมในฐานะตัวประกันถาวรของรัฐประหาร

Posted: 18 Sep 2012 04:30 AM PDT

 


ภาพโดย pittaya (CC BY 2.0)

 

ในสังคมที่มีรัฐประหารที่ 'ประสบความสำเร็จ' 18 ครั้งในรอบแปดทศวรรษ คงเป็นการไม่ฉลาดนักที่ใครจะออกมาประกาศว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของอดีตที่ไม่มีวันเกิดขึ้นอีก แต่หากรัฐประหารก่อให้เกิดประชาธิปไตยได้จริง ป่านนี้ไทยคงเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดระดับต้นๆ ของโลกประเทศหนึ่งไปนานแล้วเพราะผ่านรัฐประหาร 'เพื่อประชาธิปไตย' มากว่า 18 ครั้งในรอบ 80 ปี

ในโอกาสวันคล้ายวันครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผู้เขียนก็ไม่คิดว่าจะมีปัญญาชนสาธารณะผู้ใดจะกล้าฟันธงว่าเมืองไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว

หกปีหลังรัฐประหาร 19 กันยา ไม่มีนายพลคนใดต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาได้กระทำลงไป ไม่มีแม้กระทั่งคำขอโทษหรือการแสดงความเสียใจต่อสาธารณะ หรือแม้แต่ต่อลุงนวมทอง ไพรวัลย์ แท็กซี่ผู้พลีชีพผูกคอตายต้านรัฐประหาร

ประชาชนคนไทยจำนวนมิน้อยยังคงยึดมั่นกับความเชื่อในเรื่อง 'รัฐประหารที่ดี' ('good coup') ว่าจะช่วยกำจัดการโกงกินของนักการเมืองให้หมดจากแผ่นดินไปได้ โดยที่พวกเขาอาจไม่ตระหนักว่าแท้จริงแล้วรัฐประหารคือส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทยที่ทำให้ประเทศไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้

หลายคนยังเชื่อว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การก่อรัฐประหารแต่อยู่ที่ คมช. หรือคณะรัฐประหาร 19 กันยา ที่ไม่เด็ดขาดและปราศจากความสามารถที่จะกำจัด 'ระบอบทักษิณ' ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย ทักษิณ ชินวัตร อาจเป็นนายกฯ ที่ลุแก่อำนาจ มีปัญหาซุกหุ้น ฆ่าตัดตอน ปราบปรามกรือเซะตากใบโดยไม่เคารพสิทธิในการมีชีวิตของผู้อื่น รวมถึงคุกคามสื่อที่เห็นต่างจากทักษิณในยุคที่เขาเป็นนายกฯ แต่รัฐประหารมิใช่ทางออก หากรัฐประหารได้นำสังคมไทยดิ่งลงสู่สภาพที่คนจำนวนมิน้อยได้ตัดสินใจว่าตนไม่จำเป็นต้องยึดกติการ่วมใดๆ ในการต่อสู้ทางการเมืองอีกต่อไป

แม้คนเสื้อแดงจะเป็นผลพวงโดยไม่เจตนาของรัฐประหาร 19 กันยา 49 แต่คนที่เกลียดทักษิณจำนวนมิน้อยก็ยังคงถวิลหารัฐประหารที่ดีสมบูรณ์แบบ (perfect coup) ที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยกวาดล้างการเมืองให้สะอาด อันเป็นความคิดมักง่ายและตื้นเขิน เพราะไม่มีการตั้งคำถามว่า อำนาจที่ไปกระจุกตัวอยู่กับคณะรัฐประหารนั้นตรวจสอบได้หรือไม่ และกองทัพบกและโดยเฉพาะคณะรัฐประหารมีปัญหาเรื่องคอรัปชั่นหรือใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบด้วยหรือไม่?

ทัศนคติเช่นนี้สะท้อนความเชื่อที่ว่าหากคุณเชื่อว่าใครเป็น 'คนดี' เขาย่อมทำอะไรดีและถูกต้องโดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ เวลาบรรดา 'คนดี' ก่อรัฐประหาร พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจเหมือนกับผู้อื่น เหมือนกับ 'คนชั่ว'

พูดง่ายๆ คือ คนไทยจำนวนมิน้อยยังคงเชื่อใน 'ความดี' และ 'คนดี' ที่ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบวิพากษ์หรือถ่วงดุลอำนาจใดๆ

ในเมื่อเป็นเช่นนี้ แม้รัฐประหารจะขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นไร เพราะผู้ที่สนับสนุนรัฐประหาร เชื่อใน 'ความดี' ของคณะรัฐประหาร 19 กันยา 2549 – ไม่เพียงแต่ไม่เป็นไร หากรัฐประหารยังเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมสรรเสริญดังที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งนำดอกไม้ไปมอบให้ทหารเมื่อหกปีที่แล้ว และดังที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนและไม่ละอายตนเองในบทบรรณาธิการและบททรรศนะว่า 'รับได้'

หลายคนยังได้สรุปอีกว่า ในเมื่อคนเหล่านี้ชอบเลือกทักษิณนัก พวกเขาก็คงเลวเหมือนทักษิณ หรือมิเช่นนั้นก็โง่เสียจนถูกทักษิณหลอกและซื้อได้ หรือไม่ก็ทั้งเลวและโง่

ผลที่ตามมาคือความโกรธแค้นเจ็บปวดของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่เลือกทักษิณและพรรคไทยรักไทย ที่รู้สึกว่าพวกเขาเหมือนประชาชนชั้นสอง ที่มีคนที่อ้างตนว่ารู้ดีมีการศึกษามีคุณธรรมตัดสินแทนพวกเขาผ่านลำกระบอกปืนและรถถัง จนในที่สุดนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเดือนเมษาพฤษภาปี 2553 ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครต้องออกมารับผิดชอบกับความตายกว่าเก้าสิบศพ

หกปีหลังรัฐประหาร 19 กันยา ไม่มีความพยายามอันใดในการปฏิรูปกองทัพ เพื่อที่จะให้กองทัพมีวินัยและอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง และไม่ไปจุ้นจ้านแทรกแทรงการเมืองอีกต่อไป ทุกวันนี้กองทัพบกยังคงเป็นเจ้าของฟรีทีวีสองในหกสถานี เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุกว่า 60 เปอร์เซนต์ของทั้งประเทศ มีหุ้นจำนวนมหาศาลในธนาคารทหารไทย ผบ.ทบ. มักให้สัมภาษณ์เรื่องการเมืองเป็นนิจ แถมนักข่าวมักถาม ผบ.ทบ. เป็นระยะๆ ว่า: 'ท่านคะๆ จะมีรัฐประหารเร็วๆ อีกหรือเปล่าคะ?' – คำถามคือ มีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงกี่ประเทศ ที่กองทัพบกมีอำนาจและอิทธิพลมากขนาดนี้?

ในสถานการณ์เช่นนี้ จำเป็นยิ่งที่สังคมไทยจะต้องปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก และควรมีขบวนการประชาชนที่จะผลักดันแคมเปญให้เกิดการปฏิรูป ความเชื่อเรื่องรัฐประหารที่ 'ดี' จะต้องถูกท้าทายอย่างตรงไปตรงมาและกว้างขวางเช่นกัน หากไม่สำเร็จ สังคมไทยก็จักยังคงต้องตกเป็นตัวประกันถาวรของการรัฐประหารต่อไป

ตำแหน่งที่หนึ่งในประเทศที่เสพติดรัฐประหารมากที่สุดในโลก มิใช่ตำแหน่งที่สังคมไทยควรภาคภูมิใจ นอกจากเสียแต่ว่าคนจำนวนมากติดรัฐประหารกันงอมแงมจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ไม่สนใจอะไรอีกแล้ว



ป.ล. มีผู้ที่สนับสนุนรัฐประหารคนหนึ่งในทวีตภพบอกผมว่า รัฐประหารคราวหน้า ทหารมิควรยึดแต่สถานีโทรทัศน์ หากควรปิดอินเทอร์เน็ตด้วย – ทั้งนี้คงเป็นเพราะทุกวันนี้ การถกเถียงเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการเมือง ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งในโลกไซเบอร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้พิพากษากรีซหยุดงานประท้วง หวั่นเงินเดือนลดเซ่นนโยบายรัฐเข็มขัด

Posted: 18 Sep 2012 03:07 AM PDT

ผู้พิพากษากรีซหยุดงานประท้วงไม่พอใจนโยบายรัดเข็มขัด เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาลกรีซ หวั่นส่งผลเงินเดือนถูกตัดลด 38% ด้านสองสหภาพแรงงานหลักเตรียมนัดหยุดงานประท้วงใหญ่ทั่วประเทศครั้งแรก 26 ก.ย. นี้

 


Greece: Judges go on strike by euronews-en

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 55 ที่ผ่านมาผู้พิพากษารวมถึงพนักงานศาล ได้ทำการหยุดงานเพื่อประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดแรงงานภาครัฐเพื่อแลกการสนับสนุนด้านการเงินของต่างประเทศ ทั้งจากสหภาพยุโรป (EU) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยมาตรการนี้จะทำให้รายได้ของผู้พิพากษาในกรีซลดลงถึง 38%

"เรามีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องค่าจ้างในปัจจุบันของเรา" "เราจะไม่ยอมให้มีการลดระดับผู้พิพากษา" สมาคมผู้พิพากษากรีซกล่าวในแถลงการณ์ที่มีต่อสาธารณชนจากการรายงานของ Reuters

การประท้วงนี้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังใกล้เวลาที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Antonis Samaras จะต้องตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือจากนานาประเทศงวดใหม่จำนวน 12 พันล้านยูโร ตามโครงการช่วยเหลือของ EU/IMF โดยคาดหมายกันว่าคณะผู้ตรวจสอบของ EU/IMF จะสามารถทำข้อตกลงกันกับรัฐบาลกรีซได้ในวันที่ 21 ก.ย. ที่จะถึงนี้ที่เอเธนส์

ก่อนหน้านี้ Reuters ได้รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า สหภาพแรงงานภาครัฐ ADEDY และสหพันธ์แรงงานภาคเอกชน GSEE ซึ่งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานหลักของกรีซได้เรียกร้องให้มีการหยุดงาน 24 ชั่วโมงทั่วประเทศในวันที่ 26 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศครั้งแรกตั้งแต่ Samaras ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

ที่มาข่าวบางส่วนเรียบจาก:

Greek unions call anti-austerity strike for September 26 (Reuters, 13-9-2012)
http://uk.reuters.com/article/2012/09/13/uk-greece-strike-idUKBRE88C0KO20120913

Greek judges stop work to protest austerity (Reuters, 17-9-2012)
http://uk.reuters.com/article/2012/09/17/uk-greece-judges-idUKBRE88G10A20120917

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มือดีแฮกเว็บมอบตัวแล้ว-ปลัด ศธ.ไม่เอาผิด พร้อมดึงช่วยงาน

Posted: 18 Sep 2012 02:54 AM PDT

กรณีเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th ถูกแฮกเกอร์ เข้ามาป่วนเมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนแบนเนอร์ภาพเป็นข้อความทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ว่า Hacked by Gleich z Libertia …We don't need you Bring me democracy จิตอาสา มึงทำเพื่อเหี้ยไร มึงรู้ไหม ไม่มีประโยชน์?! นี้ไง จิตอาสากู...อาสาพัฒนาประเทศให้ดีกว่านี้ไงสัส! และข้อความ "พวกเราคือ "Libertia" เราทำในสิ่งที่อยากทำ เพื่อรักษาเสรีภาพของเรา คุณไม่มีสิทธิในการควบคุมวัยรุ่นอย่างพวกเรา เรามีชีวิต เรามีกฎของเราเอง"
      
ล่าสุด (18 ก.ย.55) เมื่อเที่ยงวันที่ผ่านมา ผู้ปกครองได้นำตัวเยาวชนที่ลักลอบแก้ไขในเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ เดินทางเข้าพบนางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อกล่าวขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำลงไป และขอให้สื่อไม่บันทึกภาพใดๆ

นางสาวศศิธารา กล่าวว่าเยาวชนคนนี้เป็นคนเรียนเก่ง มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี และสามารถลักลอบเปลี่ยนข้อมูลได้จากช่องทางที่ให้ร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ โดยเหตุผลที่ทำลงไปเพราะไม่พอใจที่เวลามีคนทำความดี แล้วต้องถ่ายรูปลงโฆษณา 

ทั้งนี้ เรื่องบทลงโทษไม่ต้องการเอาผิดร้ายแรง เนื่องจากไม่ได้สร้างความเสียหายต่อกระทรวงศึกษาธิการ และเด็กก็ยังเป็นเยาวชน จึงให้มาช่วยงานด้านฐานข้อมูลเว็บไซต์  วันนี้ให้กลับไปตั้งใจสอบให้เสร็จแล้วกลับมาช่วยงานในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ พร้อมฝากเป็นอุทาหรณ์กับกระทรวงศึกษาฯ เนื่องจากเด็กมีความสามารถถ้าขัดเกลาให้ดี จะโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ

 


ที่มา: สำนักข่าวไทย และ ผู้จัดการ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการพม่าปล่อยนักโทษการเมืองกว่า 80 คน

Posted: 18 Sep 2012 02:38 AM PDT

โดยเป็นการปล่อยก่อนประธานาธิบดี "เต็ง เส่ง" จะไปเยือนสหประชาชาติ ขณะเดียวกันการปล่อยตัวรอบนี้มีการปล่อยตัวนักโทษชาวต่างชาติกว่า 300 คน ในจำนวนนี้รวมคนไทย 80 กว่าคนที่ลักลอบเข้าพม่าอย่างผิดกฎหมายเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย

บีบีซี รายงานว่า ทางการพม่าได้อภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษมากกว่า 500 คน รวมทั้งนักโทษการเมืองที่ยังถูกจองจำ และนักโทษชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ทางการไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการปล่อยตัว โดยพรรคฝ่ายค้านระบุว่ามีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 58 รายได้รับการปล่อยตัว

โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มีกำหนดไปเยือนสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก โดยในรอบ 1 ปีมานี้ รัฐบาลได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 600 คน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปในพม่า

ในจำนวนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว ยังมีสมาชิกฝ่ายค้านคนสำคัญๆ ด้วย โดยหน่าย หน่าย สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่า หรือ เอ็นแอลดี กล่าวว่า "เรามองโลกในแง่ดีว่า ผู้คนเหล่านี้คือนักโทษการเมืองที่ยังเหลืออยู่"

อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้เตือนว่า จำนวนนักโทษการเมืองที่แท้จริงในพม่ายังไม่เป็นที่แน่ชัด

"ในขณะที่การอภัยโทษให้กับนักโทษคนอื่นๆ เป็นเรื่องน่ายินดีในหลักการ แต่เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เราเองก็รอคอยที่จะได้เห็นรายชื่อว่ามีนักโทษการเมืองเท่าไหร่ที่รวมอยู่ในรายชื่อผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว และเรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร" ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ของฮิวแมนไรท์ วอชท์ (HRW) ระบุในแถลงการณ์

"ปัญหาก็คือ ไม่มีความโปร่งใสจากรัฐบาลพม่าว่าใครเป็นนักโทษการเมือง พวกเขาถูกจองจำไว้ที่ไหน และยังเหลือนักโทษการเมืองอีกกี่คน" โรเบิร์ตสันกล่าว

ทั้งนี้ มีตัวเลขประมาณการของนักโทษการเมืองในพม่าแตกต่างกันไป แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าหลังการปล่อยตัวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ยังคงมีนักโทษการเมืองอีกราว 300 คน

แถลงการณ์ของรัฐบาลกล่าวว่า การอภัยโทษก็เพื่อที่จะ "ประกันเสถียรภาพของรัฐ และสันติภาพถาวร บนพื้นฐานของการเคารพในหลักมนุษยธรรม และเพื่อให้มิตรภาพ ความปรารถนาดีในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน" ทั้งนี้ในการปล่อยตัวนักโทษยังรวมไปถึง "นักโทษชาวต่าวชาติ จากเรือนจำทั่วประเทศ"

ทั้งนี้สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี อย่างเนย์ วิน ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำอินเส่ง ในนครย่างกุ้งด้วย "ชีวิตของพวกเราถูกทำลาย แม้ว่าพวกเราจะยังมีชีวิตอยู่" เขากล่าวกับเอเอฟพี โดยเนย์ วิน ถูกลงโทษจำคุก 7 ปี ในปี 2551 ในข้อกล่าวหาว่าคอรัปชั่น ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติอีก 2 ราย คือชาวอินเดียและชาวจีนก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน

ล่าสุดในวันนี้ (18 ก.ย.) สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า สรุปตัวเลขนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวรอบนี้ โดยอ้างข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (AAPPB) ซึ่งมีสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งระบุว่ามีนักโทษการเมืองทั้งสิ้น 88 คนได้รับการปล่อยตัว 

อย่างไรก็ตามในจำนวนนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวกว่า 300 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติซึ่งมีสัญชาติจีน อินเดีย บังกลาเทศ ไทย และลาว โดยในจำนวนนี้มีนักโทษสัญชาติไทยอย่างน้อย 83 ราย ซึ่งถูกจับเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายเข้าไปในพม่า

 

อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ได้รับการปล่อยตัวด้วย

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยพม่า (ดีวีบี) รายงานด้วยว่า ชเว ตู่ อายุ 68 ปี อาจารย์สอนประวัติศาสตร์จากเมืองมัณฑะเลย์ หนึ่งในนักโทษการเมืองก็ได้รับการปล่อยตัวด้วย หลังติดคุกที่เรือนจำเมืองตองจี รัฐฉานถึง 14 ปี "หลังจากอยู่ในเรือนจำหลายปี จิตใจของผมย่ำแย่ คงจะใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการเยียวยา" เขากล่าว

อดีตครูสอนประวัติศาสตร์ผู้นี้ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่แข็งขันนับตั้งแต่ขบวนการประท้วงของนักศึกษาเริ่มขึ้นในปี 1962 และเขาเองเข้าร่วมการประท้วงเดือนสิงหาคมปี 1988 ด้วย ชเว ตู่ ถูกจับรอบแรกในปี 1993 และได้รับการปล่อยตัวในปี 1995 อย่างไรก็ตามเขาถูกควบคุมตัวอีกครั้งโดยเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพเมื่อ 30 พ.ค. ปี 1998 เนื่องจากพยายามจะจัดการชุมนุม "9999" ซึ่งการจัดการชุมนุมในครั้งนั้นล้มเหลว ทั้งนี้ ชเว ตู่ ถูกตัดสินจำคุก 42 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา

โดยการปล่อยตัวนักโทษรวมไปถึงนักโทษการเมืองระลอกใหญ่ของพม่า เกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งกำลังต้องการแรงสนับสนุนการปฏิรูปจากระดับนานาชาติ กำลังเริ่มต้นการเยือนประเทศจีน ก่อนมุ่งสู่การประชุมสหประชาชาติ ในขณะที่ออง ซาน ซูจีก็กำลังจะเริ่มต้นเยือนสหรัฐอเมริกา นับเป็นการเยือนเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี โดยกำหนดการเยือน 18 วันของออง ซาน ซูจี จะมีการไปรับรางวัลเหรียญทองของสภาคองเกรสด้วย ซึ่งเป็นเกียรติยศของพลเรือนระดับสูงสุดของอเมริกา

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Burma releases 500 prisoners in amnesty, BBC, 17 September 2012

More than 80 political prisoners freed in amnesty, DVB, Published: 18 September 2012

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สภาทนายความ" ตกลงทำ MOU "สมาคมนักข่าวนักนสพ." ว่าความให้นักข่าวที่ถูกฟ้องฟรี

Posted: 18 Sep 2012 12:35 AM PDT

สภาทนายความ ตกลงทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รับแก้ต่างคดีให้นักข่าวที่ถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ฟรี

(17 ก.ย.55) เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า ที่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมป์  ถนนราชดำเนิน นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และคณะเข้าพบนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ เพื่อหารือขอความร่วมมือในการจัดหาทนายความให้แก่นักข่าว นักหนังสือพิมพ์และสมาชิกสมาคม ที่ถูกฟ้องร้อง หรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยหรือเป็นผู้เสียหาย ในคดีอาญาคดีแพ่งและอื่นๆ อันเนื่องมากจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ต้องต่อสู้คดีเองโดยลำพังซึ่งมักเกิดกับสื่อเล็กๆ จนได้รับความเดือดร้อน เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงหรือเกิดความกลัวจนไม่กล้าเสนอข่าว  รวมไปไปถึงนักข่าวอื่นที่กลัวผลร้ายจะเกิดกับตนเองบ้าง ทั้งนี้เป็นการขอทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันหรือเอ็มโอยู เพื่อให้เกิดความชัดเจน ต่อเนื่องในการดำเนินคดีทุกชั้นศา

โดยนายสัก ยินดีทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ไม่จำกัดรูปคดี แต่มีเงื่อนไข โดยให้สมาคมฯ ตั้งคณะทำงานฝ่ายสิทธิเพื่อกลั่นกรองคดีก่อน โดยตัวความจะต้องเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และเป็นสมาชิกฯ กับต้องได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง หรือยากไร้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นระเบียบของสภาทนาย จากนั้นให้ทั้งสองฝ่ายมาทำเอ็มโอยูกันในเร็วๆนี้และจะแถลงข่าวให้ทราบต่อไป

 

 

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านรายงาน คอป. ฉบับเต็มที่นี่

Posted: 17 Sep 2012 10:22 PM PDT

รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

เมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงข่าวสรุปผลรายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก.ค. 53 – ก.ค. 55 หลังครบวาระการทำงาน 2 ปี โดยเนื้อหาในรายงานฉบับสมบูรณ์มีจำนวน 276 หน้า ไม่รวมภาคผนวก ในเล่มแบ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคณะกรรมการ สาเหตุ และรากเหง้าของปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมทั้งสรุปสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น โดยสามารถอ่านเอกสารดังกล่าวได้ที่นี่

 

หมายเหตุ: 18 ก.ย. 55 เวลา 17.50น.  มีการแก้ไขไฟล์รายงาน โดยเจ้าหน้าที่ คอป. ได้ส่งฉบับแก้ไขล่าสุดมาให้เผยแพร่

AttachmentSize
รายงานฉบับสมบูรณ์ คอป.4.08 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

"พ.อ.สรรเสริญ" เคารพคำตัดสินศาลกรณี "พัน คำกอง" แต่ขอชี้แจงว่าเป็นพื้นที่ห้ามเข้า

Posted: 17 Sep 2012 07:37 PM PDT

วอนสื่อระมัดระวังในการนำเสนอเพราะละเอียดอ่อน ย้ำทหารยิงรถตู้เพราะไม่ยอมหยุด กังขาตำรวจอ้างต่อศาลว่าเข้าพื้นที่ไม่ได้ ทั้งที่ตำรวจก็อยู่ใน ศอฉ. เชื่อสังคมรู้ดีว่ามีชายชุดดำ

เมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) มติชนออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลอาญาอ่านคำตัดสินว่า การเสียชีวิต ของนายพัน คำกอง อายุ 43 ปี  อาชีพขับรถแท็กซี่ถูกยิงเสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ว่า เรื่องนี้ศาลได้ชี้ตามสิ่งที่ได้ไต่สวน เราต้องเคารพในการชี้ของศาล แต่ในขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องที่ทางศาลจะต้องส่ง สำนวนต่อไปทางอัยการ และอัยการก็จะส่งต่อไปยังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามขบวนการต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่กองทัพอยากชี้แจงทำความเข้าใจส่วนหนึ่งคือ ต้องย้อนกลับไปดูถึงสาเหตุในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ในขั้นต่อไป ว่าที่เกิดแบบนั้น มีมูลเหตุมาจากอะไร เจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมายอะไร แล้วพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าประกาศเป็นพื้นที่อันตรายที่ห้ามเข้าไปหรือไม่

"เรื่องนี้ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีผลกระทบต่อความรู้สึกของทุกฝ่าย อย่าลืมว่าในเหตุการณ์ที่ว่ามานี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากให้เกิด ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต มีด้วยกันทุกฝ่าย" พ.อ.สรรเสริญ ระบุ

 

สรรเสริญแจงเอเอสทีวี ทหารยิงรถตู้เพราะไม่ยอมทำตามคำสั่งให้หยุด

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) พ.อ.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี โดยช่วงหนึ่งชี้แจงกรณีคำตัดสินของศาล โดยกล่าวถึงคำให้การของตนว่า เท่าที่ถูกเรียกไปเป็นพยาน เจ้าหน้าที่ที่เรียกไปก็บอกว่าเขาอยู่ในส่วนของการประกาศให้รถคันนั้นหยุด แต่รถคันนั้นก็ยังฝ่าเข้ามา แล้วก็ฝ่าเลยแนวที่เขาอยู่ แล้วก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด จนกระทั่งรถนั้นหยุด ตอนที่ตนไปให้การในฐานะพยานเขาก็ถามถึงสถานการณ์โดยทั่วไป การชี้แจงแถลงข่าว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่เขาเรียกไปแล้วบอกว่าไปอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ใช้อาวุธ เพราะฉะนั้นตรงนี้ตนก็ตอบรายละเอียดมากไปกว่านี้ไม่ได้ เมื่อหมดภาระหน้าที่ไปสอบตนก็กลับ

ทั้งนี้ รู้สึกว่าคนไปให้การหลังจากตนอีก 1-2 คน ก็ให้การในลักษณะว่าอยู่ในส่วนของคนที่ประกาศ ซึ่งใช้โทรโข่งประกาศออกไปว่าให้รถตู้คันนี้หยุด ซึ่งรถตู้คันดังกล่าวพยายามออกไปจากซอยราชปรารภ 8 มุ่งหน้าไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แล้วรถคันนี้ก็จอดอยู่พักหนึ่ง เขาก็พยายามใช้โทรโข่งขนาดใหญ่เพื่อให้เสียงดังขึ้น สักพักรถตู้คันนี้วิ่งฝ่าเข้ามาก็วิ่งฝ่าแนวที่เจ้าหน้าที่ใช้โทรโข่งประกาศ แล้วก็มีเสียงปืนดังหลายนัด จนกระทั่งรถหยุด แต่ตัวเขาซึ่งอยู่ในโซนที่ประกาศเขาไม่ได้เป็นผู้ยิง

เมื่อถามว่า กองทัพจะถือว่าคดีนี้เป็นบทเรียนในแง่มุมไหนได้บ้าง พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า โดยบทเรียนคงไม่ใช่แค่ผู้ปฏิบัติอย่างเดียว เป็นบทเรียนของทุกฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุมที่พยายามใช้ว่าการชุมนุมด้วยความสันติ อหิงสา แท้จริงแล้วท่านเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือเปล่า กรณีที่มีชายชุดดำที่ใช้อาวุธ จะแต่งกายด้วยชุดดำหรือสีทำนองคล้ายๆ สีดำแต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผู้ที่ใช้อาวุธสงครามยิงออกไปยังจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานก็จริง ท่านได้ให้ท้ายพวกนี้หรือเปล่าท่านได้สนับสนุนพวกนี้หรือเปล่า ท่านปากว่าตาขยิบหรือไม่

 

กังขาตำรวจให้การว่าเข้าพื้นที่ไม่ได้ ทั้งที่ตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ.

"เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในฐานะผู้ควบคุมกฎหมายตั้งแต่การปฏิบัติการชุมนุมได้เริ่มต้นตั้งแต่แรก ท่านแข็งขันเต็มที่ไหม ท่านบังคับใช้กฎหมายเต็มที่ไหม เจ้าหน้าที่ทหารที่ไปในการปฏิบัติภารกิจ ท่านมีนโยบาย มีคำสั่งที่ชัดเจนในการตกลงใจปฏิบัติไหม ท่านใช้ดุลยพินิจอะไร ท่านคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ผมว่ามันเป็นบทเรียนกับทุกฝ่าย ที่จะต้องร่วมกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นอีก" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว

เมื่อถามว่า ตามคำสั่งศาลระบุว่า เชื่อได้ว่าในที่เกิดเหตุมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถพกพาอาวุธปืนได้เท่านั้น โอกาสที่จะมีคนร้ายหลายคนพร้อมอาวุธปืนผ่านเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้ พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ตนเคารพในคำชี้ของศาล แต่ตนติดใจอยู่นิดเดียว ตรงที่มีเจ้าพนักงานตำรวจที่ให้ข้อมูลว่า แม้ตำรวจก็ยังผ่านไปไม่ได้ ถามว่า ศอฉ.มันประกอบด้วยทหารอย่างเดียวหรือเปล่า ศอฉ.ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำ จากทุกกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ตำรวจก็เป็นหนึ่งใน ศอฉ. ทำไมท่านถึงเข้าไม่ได้ ท่านก็เป็นเจ้าพนักงาน ท่านเข้าไปปฏิบัติภารกิจก็ต้องดูกัน ต้องย้อนถามตัวท่านว่า ถ้าตำรวจเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของ ศอฉ.หรือไม่ ก็ท่านรักษาการ ผบ.ตำรวจ นั่งประชุมทุกวัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น