โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กรุงเทพโพลล์: สรุปผลงาน ผบ.ตร.คนเก่าและความเชื่อมั่นต่อว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่

Posted: 27 Sep 2012 01:51 PM PDT

คนกรุงเทพฯ 68.4% ชี้การทำงานของตำรวจในยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์เป็น ผบ.ตร. ในภาพรวมถือว่า "เห็นผลงาน" ขณะที่ 57.0% เชื่อมั่นต่อว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่จะสร้างความปลอดภัยให้คน กทม.ได้ วอนแก้ปัญหายาเสพติดเป็นอันดับแรก

 
สืบเนื่องจาก ในวันที่ 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้ เป็นวันครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ของพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "สรุปผลงาน ผบ.ตร.คนเก่าและความเชื่อมั่นต่อว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย.55 ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,146 คน พบว่า
 
คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 68.4 เห็นว่าการทำงานของตำรวจไทยในยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์เป็น ผบ.ตร. ในภาพรวมถือว่าเห็นผลงาน ขณะที่ร้อยละ 31.6 ระบุว่าไม่เห็นผลงานเลย โดยด้านที่เห็นผลงานมากที่สุดคือ ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด แหล่งอบายมุข (ร้อยละ 86.5) รองลงมาคือ ด้านการพิทักษ์สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัติย์ทรงเป็นประมุข (ร้อยละ 80.3) การให้บริการประชาชนอย่างสุภาพ นุ่มนวล เอาใจเขามาใส่ใจเรา (ร้อยละ 69.3) มีเพียงด้านการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนร้อยละ 62.5 ระบุว่า "ไม่เห็นผลงานเลย"
           
ส่วนคะแนนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ผบ.ตร. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.47 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยได้คะแนนด้านการทำงานเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่ากับ 6.61 คะแนน ขณะที่ได้คะแนนด้านความซื่อสัตย์สุจริตน้อยที่สุดเท่ากับ 6.31 คะแนน
           
ด้านความเชื่อมั่นของคนกรุงเทพฯ ต่อตำรวจว่าจะสามารถแก้ปัญหาการลักขโมยสร้างความอุ่นใจให้ประชาชน หากเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. เหมือนปีที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.1 ไม่เชื่อมั่นว่าตำรวจจะสามารถแก้ปัญหาได้ ขณะที่ร้อยละ 35.9 เชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าเชื่อมั่นต่อตำรวจในการแก้ปัญหาบ่อนการพนันในพื้นที่กรุงเทพฯ มากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของ ส.ส. ชูวิทย์ กมลวิศฎ์ ร้อยละ 40.7 บอกว่าเชื่อมั่นพอๆกัน ขณะที่ร้อยละ 32.7 บอกว่าเชื่อมั่นชูวิทย์มากกว่า และร้อยละ 26.6 บอกว่าเชื่อมั่นตำรวจมากกว่า
 
นอกจากนี้เมื่อถามว่าปัจจุบันเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด กับการทำงานของตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ร้อยละ 78.6 เชื่อมั่นน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 21.4 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด
 
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผบ.ตร. คนใหม่ ว่าจะสามารถปราบปรามปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติดสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้คน กทม.ได้มากน้อยเพียงใด ร้อยละ 57.0 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 43.0 เชื่อมั่นน้อยถึงน้อยที่สุด
 
เมื่อถามต่อว่าเรื่องที่ต้องการให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร. คนใหม่ แก้ไขปัญหามากที่สุดอันดับแรกคือ ยาเสพติด (ร้อยละ 33.2) รองลงมาคือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (ร้อยละ 22.1)
และปัญหาแวดวงตำรวจเช่น การคอร์รัปชั่น รับส่วย สินบน (ร้อยละ 20.3)
 
รายละเอียดดังต่อไปนี้
 
1. ประเมินผลงานของตำรวจไทยในยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในด้าน
  ต่างๆ ต่อไปนี้
 
ด้าน
เห็นผลงาน
(ร้อยละ)
ไม่เห็นผลงานเลย
(ร้อยละ)
การพิทักษ์สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัติย์ทรงเป็นประมุข
80.3
19.7
การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด แหล่งอบายมุข
86.5
13.5
การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
37.5
62.5
การให้บริการประชาชนอย่างสุภาพ นุ่มนวล เอาใจเขามาใส่ใจเรา
69.3
30.7
เฉลี่ยรวม
68.4
31.6
 
 
2. คะแนนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ผบ.ตร. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พบว่า
  
ด้าน
คะแนนเต็ม 10
การทำงานเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม
6.61
ความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
6.58
ความขยันทุ่มเทในการทำงานเพื่อประชาชน
6.54
ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ
6.32
ความซื่อสัตย์สุจริต
6.31
เฉลี่ยรวม
6.47
 

 

3. ความเชื่อมั่นต่อตำรวจว่าจะสามารถแก้ปัญหาการลักขโมย สร้างความอุ่นใจให้ประชาชนได้ หากเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. เหมือนปีที่ผ่านมา
   
เชื่อมั่น
ร้อยละ
35.9
ไม่เชื่อมั่น
ร้อยละ
64.1
 
 
4. ความเชื่อมั่นต่อตำรวจในการแก้ปัญหาบ่อนการพนันในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเปรียบเทียบกับ ส.ส. ชูวิทย์ กมลวิศฎ์
 
เชื่อมั่นชูวิทย์มากกว่า
ร้อยละ
32.7
เชื่อมั่นตำรวจมากกว่า
ร้อยละ
26.6
เชื่อมั่นพอๆกัน
ร้อยละ
40.7
 
 
5. ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
 
เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด
(โดยแบ่งเป็นมากร้อยละ 19.7 และมากที่สุดร้อยละ 1.7)
ร้อยละ
21.4
 
เชื่อมั่นน้อยถึงน้อยที่สุด
(โดยแบ่งเป็นน้อยร้อยละ 48.3 และน้อยที่สุดร้อยละ 30.3 )
 
ร้อยละ
 
78.6
 
 
6. ความเชื่อมั่นที่มีต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร. คนใหม่ว่าจะสามารถปราบปรามปัญหาอาชญากรรม
ยาเสพติด สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้คน กทม.
 
เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด
(โดยแบ่งเป็นมากร้อยละ 6.6 และมากที่สุดร้อยละ 50.4 )
ร้อยละ
57.0
 
เชื่อมั่นน้อยถึงน้อยที่สุด
(โดยแบ่งเป็นน้อยร้อยละ 36.0 และน้อยที่สุดร้อยละ 7.0 )
 
ร้อยละ
 
43.0
 
 
7. เรื่องที่ต้องการให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่ แก้ไขปัญหามากที่สุด (5 อันดับแรก) คือ
  
อันดับ 1 ยาเสพติด
ร้อยละ
33.2
อันดับ 2 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน        
ร้อยละ
22.1
อันดับ 3 ปัญหาแวดวงตำรวจเช่น การคอร์รัปชั่น รับส่วย สินบน
ร้อยละ
20.3
อันดับ 4 ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ร้อยละ
9.9
อันดับ 5 นักเรียนตีกัน
ร้อยละ
6.0

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘นศ.มช.’ จับมือ ‘แนวร่วม นศ.ค้านม.นอกระบบ’ จัดถกปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

Posted: 27 Sep 2012 01:35 PM PDT

นศ.เผยจัดเวที หวังสร้างโอกาสการเรียนรู้  ด้าน 'อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์' ชี้ ระบบอำนาจทางการศึกษาไทยไม่เปิดโอกาสให้คนได้คิด หลักสูตรยังติดอยู่กับระบบหลัก คือ "ปฏิรูปคนให้เป็นลูกจ้าง" 

 

 
เมื่อวันอังคารที่ 18 ก.ย.55 เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายนักกิจกรรมกลุ่มแตกหน่อซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาชวนตั้งคำถามภายใต้หัวข้อ "รื้อ นโยบายเรียนฟรี กับ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ณ ห้องประชุม คณะสังคมศาสตร์ 04107 ห้อง 04-003 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการ นักกิจกรรม ตลอดจนนักศึกษาจากทั้งภายใน-นอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมพูดคุย-แลกเปลี่ยนภายใต้หัวข้อต่างๆ อาทิ การศึกษาที่นำมาสู่ความเลื่อมล้ำในสังคมไทย ความรับผิดชอบของภาครัฐกับการศึกษาไทย นักศึกษากับบทบาทภายใต้สังคมไทย และระบบการศึกษาไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
"การศึกษาไทย ผูกขาดระบบที่ไม่เปิดโอกาสให้คนคิด" รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชา ประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
 
รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวถึงระบบอำนาจทางการศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้คนได้คิดเป็นกับตำราแบบเรียนที่ถูกวางไว้เป็นระบบภายใต้หลักสูตรที่ยังติดอยู่กับระบบหลัก คือ "ปฏิรูปคนให้เป็นลูกจ้าง" จากประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาที่สอนมา รศ.ดร.อรรถจักร์ ระบุว่าสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นคณะมีความล้มเหลวที่สุดในการสร้างนักศึกษา เพราะไม่สามารถผลักดันให้เด็กสามารถคิดเป็นในระบบการเมืองปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดอยู่กับเพียงระดับอุดมศึกษา ยังส่งผลไปถึงหลักสูตรของ กศน.ที่ยังติดอยู่กับระบบหลัก 
 
ศ.ดร.อรรถจักร์ ยังกล่าวว่า งบประมาณที่สนับสนุนวงการศึกษาในแต่ละปีก็แค่เพียงการอุ้มชูเฉพาะกลุ่มก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์กลุ่มพวกพ้อง ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ของประชากรที่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงกลับไม่ได้อะไรเลยเป็น70 % ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ตามต่างจังหวัด ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณจะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ประถมตลอดจนระดับอุดมศึกษา ปัญหาหลักๆ ต้องยอมรับว่า เกิดจากสภาพสังคมไทยที่เกิดความเหลื่อมล้ำมาเป็นเวลานานจากการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาแห่งชาติที่ล้มเหลว 
 
อีกทั้งปัญหาด้านครูผู้สอนยังเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่าง ชาย-หญิงเพราะในสถานศึกษาส่วนใหญ่เต็มไปด้วยครูอาจารย์ที่เป็นผู้หญิง จึงขาดจิตวิทยากับตัวนักเรียนชายเกิดเป็นช่องว่างในการปลูกฝังความคิด ในเชิงของเด็กผู้ชายอีกส่วนหนึ่ง
 
"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคำถามกับทุกระดับการศึกษา  ก็ได้แต่หวังว่าในวันหนึ่งหวังว่าสังคมจะเยียวยาซึ่งกันและกัน ส่วนทางออกของปัญหา ผมเองก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างเต็มปาก"รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว
 
ด้านนางสาว กนกวรรณ มีพรหมเครือข่ายนักกิจกรรม กลุ่มแตกหน่อ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ว่า ประเด็นแรก คือเราเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการศึกษามาก่อนอย่างอื่น เชื่อเรื่องรากฐานของคนถ้าได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพจะได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งจะทำให้เขาได้รับโอกาสในสังคมมากขึ้น ส่วนตัวทำงานกับแนวร่วมนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ 
 
"ดิฉันเองเป็นผู้ประสานงานภาคเหนือ และตนเองเคยค้าน ม.นอกระบบเมื่อปี 2549 มาก่อน ตอนนั้นเรียนอยู่ ปี 2 สมัย มช.กำลังออกนอกระบบ ทำให้มีความสนใจในประเด็นปัญหาการศึกษา สำหรับเวทีนี้อาจเป็นการทดลองจัดครั้งแรกของ มช.แต่คิดว่าคงต้องมีเวทีแบบนี้บ่อยๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน" ผู้จัดงานกล่าว
 
ส่วนนาย ปกรณ์ อารีกุล คณะทำงานข้อมูลแนวร่วมนิสิต นักศึกษา คัดค้าน ม.นอกระบบ กล่าวว่า ม.เชียงใหม่ออกนอกระบบตั้งแต่ปี 2551 เวทีนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ลองสรุปบทเรียนเบื้องต้น ในด้านผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อดี-ข้อเสีย หลังจากการนำม.เชียงใหม่ออกนอกระบบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรืองที่แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านม.นอกระบบพยายามทำอย่างรอบด้าน เพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย
 
"อันที่จริง ประเด็นม.นอกระบบ หรือปัญหานระดับอุดมศึกษาไทยนั้น เป็นเหมือนระเบิดเวลาในระบบการศึกษา ที่ถูกวงาตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา หรืออนุบาล และตั้งเวลาให้ระเบิดปัญหาออกมาเมื่อเราเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้น แก้ปัญหาการศึกษาไทย ผมคิดว่าเราต้องแก้ทั้งระบบ โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย" นายปกรณ์กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สมาคมไทยรามัญ’ ร้องผู้เขียนนิยายรับผิดชอบ กรณีใช้ ‘ธงชาติมอญ’ เป็นลายผ้าถุง

Posted: 27 Sep 2012 01:03 PM PDT

พร้อมชวนร่วมลงชื่อถึงนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กรณีที่หนังสือนวนิยาย "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า"1 ใน 7 หนังสือเข้ารอบซีไรต์ปีนี้ มีเนื้อหาถึงผ้าถุงลายหงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก

 
วานนี้ (28 ก.ย.55) สมาคมไทยรามัญ เผยแพร่หนังสือเชิญชวนร่วมลงชื่อ ถึงนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงพลังในการเรียกร้องความถูกต้องและศักดิ์ศรีของชาวมอญ จากกรณีที่หนังสือนวนิยายเรื่อง "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า" (A WEIRD WORLD IN THE HISTORY OF SADNESS)" ของ สิริวร แก้วกาญจน์ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมปรากฏในหน้าที่ 181 โดยกล่าวถึงผ้าถุงลายหงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก
 
เนื้อหาดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมอญ และชาวมอญในรัฐมอญ ประเทศพม่า เนื่องจาก "หงส์" ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชนชาติมอญในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีตำนานผูกพันกับการสร้างเมืองหงสาวดีเมื่อปีพุทธศักราช 1116 รวมทั้งความเชื่อในทางพุทธศาสนา ปัจจุบัน ชาวมอญยังได้ใช้ "หงส์" เป็นสัญลักษณ์บนธงชาติ นั่นคือ "หงส์สีทองบินทะยานไปสู่ดวงดาวสีน้ำเงินบนผืนผ้าแดง" นำมาสู่การเรียกร้องให้ผู้เขียน ผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
ทั้งนี้ สมาคมไทยรามัญ เรียกร้องให้สมาคมนักเขียน เป็นตัวกลางประสานแก้ไขเหตุดังกล่าว ไม่ให้เรื่องดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งบานปลายภายในสังคมไทย รวมทั้งระหว่างพลเมืองของภูมิภาคที่จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในฐานะประชาคมอาเซียนในอนาคต อีกทั้งยังได้มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อส่งให้สมาคมนักเขียนและกระทรวงวัฒนธรรม
อย่างเป็นทางการด้วย
 
หนังสือของสมาคมไทยรามัญระบุรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
สมาคมไทยรามัญ
 
๒๗  กันยายน  ๒๕๕๕
 
เรียน นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
 
ตามที่หนังสือนวนิยายเรื่อง "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า" (A WEIRD WORLD IN THE HISTORY OF SADNESS)" ของ สิริวร แก้วกาญจน์ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ดังปรากฏในหน้าที่ ๑๘๑ ความว่า "...พอทูก็ตั้งสติกำราบเชื้อร้าย เช็ดหลังมือกับผ้าถุงลายหงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก..."
 
อันสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมอญ และชาวมอญในรัฐมอญ ประเทศพม่าเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้เขียนเจตนานำธงชาติมอญไปใช้เป็นลายผ้าถุงดังกล่าว
 
เนื่องจาก "หงส์" เป็นสัตว์ในเทพนิยายโบราณทั้งในทางพราหมณ์และพุทธ ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชนชาติมอญในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีตำนานผูกพันกับการสร้างเมืองหงสาวดีเมื่อปีพุทธศักราช ๑๑๑๖ รวมทั้งความเชื่อในทางพุทธศาสนา ปัจจุบัน ชาวมอญยังได้ใช้ "หงส์" เป็นสัญลักษณ์บนธงชาติ นั่นคือ "หงส์สีทองบินทะยานไปสู่ดวงดาวสีน้ำเงินบนผืนผ้าแดง"
 
เมื่อธงชาติมอญถูกใช้อย่างไม่เหมาะสม ตัวแทนชาวไทยเชื้อสายมอญและชาวมอญในรัฐมอญ ประเทศพม่า ดังมีรายชื่อแนบท้ายมาด้วยนี้ มีความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ขอเรียกร้องให้ผู้เขียน ผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
อนึ่ง ข้าพเจ้าในฐานะสมาคมไทยรามัญ จึงปรารถนาให้สมาคมนักเขียน องค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับนักเขียนและงานวรรณกรรมของไทยที่เป็นองค์กรใหญ่และได้รับความเชื่อถือจากสังคมไทยในวงกว้าง เป็นตัวกลางประสานแก้ไขเหตุดังกล่าว มิให้เรื่องดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งบานปลายภายในสังคมไทย รวมทั้งระหว่างพลเมืองของภูมิภาคที่จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในฐานะประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา
 
                                                            ขอแสดงความนับถือ
                                                                         
 
                                                          (นางฉวีวรรณ ควรแสวง)
                                                          นายกสมาคมไทยรามัญ
 
ผู้ร่วมลงชื่อ
 
1.นางฉวีวรรณ ควรแสวง นายกสมาคมไทยรามัญ
2.นายองค์ บรรจุน นักศึกษาปริญญาเอก  โครงการสหวิทยาการ  ม.ธรรมศาสตร์
3.นายวิรุฬห์ วุฒิฤทธากุล     นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรศิลปวัฒนธรรมวิจัย  ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
4.นางขนิษฐา คันธะวิชัย นักวิจัยผู้ช่วย ศูนย์แม่โขงศึกษา  สถาบันเอเชียศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.นายกิตติพนธ์ สิรินทรภูมิ อาจารย์โรงเรียนขามแก่นนคร  จังหวัดขอนแก่น
6.นางเบญริสา เย็นฉ่ำ                                                                  
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

46 องค์กรสิทธิค้านร่างปฏิญญาสิทธิอาเซียน ชี้เน้น 'จำกัด' สิทธิมากกว่าส่งเสริม

Posted: 27 Sep 2012 12:35 PM PDT

ก่อนการนำเสนอร่างปฏิญญาสิทธิอาเซียนเข้าพิจารณาในรัฐสภาอาเซียนที่กรุงนิวยอร์ก องค์กรสิทธิไทย 46 แห่งนำโดยกป.อพช. ยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการรับรองร่าง ชี้ขัดหลักการสิทธิสากลทั้งเรื่องเพศสภาวะ สิทธิเสรีภาพ และการพัฒนา 

26 ก.ย. 55 -  องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 46 องค์กร นำโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ คัดค้านการรับรองร่างปฏิญญาอาเซียน ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะถูกรับรองโดยรัฐสภาอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ร่างปฏิญญาดังกล่าว แสดงเจตนารมณ์ของการจำกัดมากกว่าจะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ละเลยการส่งเสริมและคุ้มครองความหลากหลายทางเพศ และไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
 
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า ร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่านการจัดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับภาคประชาชนหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อเสนอที่สำคัญก็มิได้ถูกเอาไปปรับปรุงแก้ไขให้ร่างมีความสมบูรณ์ตามข้อเสนอแนะ ภาคประชาสังคมไทย จึงต้องการจะคัดค้านการรับรองให้ร่างปฏิญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ในฐานะเอกสารที่จะเป็นหลักประกันของอาเซียนในด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 
 
0000
 
 

ASEAN WATCH

 

ที่ AWT 06/2012                                                                                                 25  กันยายน  2555

 

จดหมายเปิดผนึก

 

เรื่อง   คัดค้านการรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ร่างโดย AICHR

         4 เหตุผล ที่ภาคประชาสังคมไทยไม่เห็นด้วยกับร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ

         3 ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง

กราบเรียน   ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี 

สำเนาถึง     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

     ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

     เลขาธิการ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

 

ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Right - AICHR)   ได้ทำการยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Right Declaration – AHRD)  ภาคประชาสังคมของไทยได้ติดตาม และมีส่วนร่วมในกระบวนการ การประชุมปรึกษาหารือต่าง ๆ ที่ได้จัดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค อย่างกระตือรือร้นและสม่ำเสมอ บนความประสงค์ที่ต้องการเห็นปฏิญญาฉบับดังกล่าวอยู่ในระดับมาตรฐานสากล และเป็นหลักประกันว่ารัฐภาคีของอาเซียนจะพัฒนาการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของประชาชน และหลักการประชาธิปไตย  ดังเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่คณะกรรมาธิการ AICHR ได้ประกาศเมื่อเริ่มต้นกระบวนการยกร่างปฏิญญา AHRD

จากการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมที่คณะกรรมาธิการ AICHR จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา  ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีผู้แทนภาคประชาสังคมไทยเข้าร่วม 8 คน    โดยร่วมกับผู้แทนภาคประชาสังคมจากประเทศต่างๆ เสนอความเห็นเพื่อให้ร่างปฎิญญา AHRD สามารถเป็นบรรทัดฐานในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอาเซียนต่อไปในอนาคต โดยหวังว่า ทาง AICHR จะนำข้อคิดเห็นไปปรับแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ก่อนที่จะนำเสนอร่างปฏิญญา AHRD เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐมนตรีของรัฐภาคีอาเซียนในวันที่ 27 กันยายน นี้ ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะนำสู่การรับรองในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ประเทศกัมพูชา

และเพราะเราทราบว่าร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประทศของรัฐภาคีอาเซียนไม่ได้มีการปรับปรุงที่สำคัญใด ๆ ซึ่งตอบสนองต่อความคิดเห็นและเอกสารที่ภาคประชาสังคมได้นำเสนอ องค์กรภาคประชาสังคมไทยจึงขอคัดค้านร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR    ด้วยเหตุผลที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ

1)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR    แสดงเจตนารมณ์ และแนวคิดของการจำกัด

มากกว่าที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและและเสรีภาพของประชาชน ที่สำคัญคือ ข้อความในมาตราที่ 8 ภายใต้หมวดหลักการทั่วไป (General Principle) ที่กล่าวว่า ......สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย........ (The exercise of human rights and fundamental freedoms shall be subject only to limitations as are determined by law)  และ .........จะต้องสอดคล้องกับความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมของส่วนรวม และสวัสดิการทั่วไปของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ( and to meet the just requirements of national security, public order, public health, public safety, public morality, as well as the general welfare of the peoples in a democratic society.)  ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาทำให้ภาคประชาสังคมห่วงกังวลว่า ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ระบุเหล่านี้จะถูกนำมาอ้างโดยรัฐ ในการลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

2)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR สะท้อนแนวคิดของการเลือกปฏิบัติ ไม่ยอมรับ

ความหลากหลายทางและอัตตลักษณ์เฉพาะของกลุ่มคน อยู่ในหลายมาตรา ยกตัวอย่างเช่น ในมาตรา 19 ที่กล่าวว่าสิทธิในการสมรสและสร้างครอบครัว โดยเลือกที่จะใช้คำว่า  "หญิงและชาย" (Men and Women) แทนการใช้คำว่า "ทุกคน" (every person) ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตราอื่น ๆ ทุกมาตรา แสดงอย่างชัดเจนถึงการไม่ยอมรับและปฏิเสธสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ  ในขณะที่ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติก็ได้ตระหนักและเคารพในสิทธิในการเลือกวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลแล้ว

3)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิ

มนุษยชน ตามที่คณะกรรมาธิการ AICHR ได้เคยประกาศเป็นเจตจำนงไว้ ณ เมื่อเริ่มต้นยกร่างปฏิญญา AHRD เมื่อเปรียบเทียบร่างปฏิญญาฉบับนี้กับอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการคุ้มครองสิทธิผู้หญิง การคุ้มครองสิทธิเด็ก การคุ้มครองสิทธิคนพิการ การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การป้องกันการค้ามนุษย์ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และอื่น ๆ  จะพบสาระสำคัญที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และข้อจำกัดที่สำคัญยิ่ง คือ การระบุไว้ในแทบทุกมาตราว่า ให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชน "เป็นไปตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ" (in accordance with law, as prescribed by law, in accordance with the law and penal procedure of each ASEAN member state) ย่อมเปิดโอกาสให้แต่ละรัฐไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน หรือ แม้กระทั่งหลักการที่ปรากฏในปฏิญญา AHRD

4)        ร่างปฏิญญา AHRD ของคณะกรรมาธิการ AICHR ไม่สะท้อนลักษณะเฉพาะ และภัยคุกคามที่กำลัง

เกิดขึ้นในภูมิภาค อันได้แก่ ไม่ได้รับรองสิทธิของชุมชนในการร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งไม่ระบุถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (non state actors) เช่น บรรษัท  อุตสาหกรรม  ที่อาจจะมีการดำเนินการค้า การลงทุน ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิของประชาชนและชุมชนรวมทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของภูมิภาคให้เสื่อมโทรมและสูญสิ้นไปลงอย่างรวดเร็ว

           

องค์กรภาคประชาสังคมไทยที่ลงชื่อท้ายจดหมายนี้   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยกระทำก่อนที่จะมีการรับรองร่างปฏิญญา AHRD เพื่อความมั่นใจว่าจะได้ร่างปฏิญญา AHRDที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ดังนี้ คือ

1)        ดำเนินการเพื่อยุติกระบวนการที่จะนำไปสู่การรับรองร่างปฏิญญา AHRD ลงชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การประชุมชองรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 ประเทศอาเซียนเพื่อพิจารณาร่างปฏิญญา AHRD ในวันที่ 27 กันยายน นี้

2)        ให้ที่ประชุมของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐภาคีอาเซียน 10 ประเทศพิจารณาอย่างใส่ใจจริงจัง ต่อความคิดเห็นและเอกสารข้อเสนอของภาคประชาสังคม ที่ได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อปรึกษาหารือของคณะกรรมาธิการ AICHR เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

3)        กลับมาสู่กระบวนการเปิดให้มีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง กว้างขวาง อีกครั้ง

 

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

                                                                      ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง  

                                                                       

                                                                              ( สุนทรี  หัตถี  เซ่งกิ่ง)

                                                                                   เลขาธิการ

                                                คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

 

ASEAN WATCH , THILAND                                  เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ

มูลนิธิผู้หญิง                                                            เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย                                     

กลุ่มหญิงสู้ชีวิต                                                        สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน

มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ                                           มูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง

คณะทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยนชน                      เครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อ

สมาคมเพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี                         บางกอกเรนโบว์

เครือข่ายมังกี้ลพบุรีเพื่อความหลากหลายทางเพศ                  เครือข่ายคนทำงานบ้าน

มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตธรรมชาติ                                         คณะทำงานวาระทางสังคม

กลุ่มอัญจารี                                                             สมาคมเพื่อความก้าวหน้าอาชีพคนตาบอด

โครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ  สมาคมฟ้าสีรุ้ง

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม                                         องค์การคนพิการสากลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์                                                   มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก

CEIA                                                                     มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เครือข่ายชุมชน กทม.                                                เครือข่ายผู้หญิงอีสาน

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ                                     มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)                     มูลนิธิรักษ์ไทย

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์                                คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย                 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา                              มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

มูลนิธิชีวิตไท                                              กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.)

เครือข่ายผู้หญิงพิการ                                          มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.)                   โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

สมาคมม้ง                                                    ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซีไรต์ไม่สร้างสรรค์: กรณีนำธงชาติมอญเป็นลายผ้าถุง-"โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า"

Posted: 27 Sep 2012 12:21 PM PDT

 
ธงชาติมอญ 
 
ภาพปก "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า" (A WEIRD WORLD IN THE HISTORY OF SADNESS)
 
 
 
"...พอทูก็ตั้งสติกำราบเชื้อร้าย เช็ดหลังมือกับผ้าถุงลายหงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก..." (หน้า 181)
 
ผมอ่านเข้าไปเพื่อที่จะพบว่า (ไวยากรณ์สายพันธุ์นี้มีล้นเหลือจริงๆ ใน) "โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า - A WEIRD WORLD IN THE HISTORY OF SADNESS" ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ พับกระดาษถนอมสายตาไสกาวหนา 516 หน้า ราคา 345 บาท ฉบับปรับปรุงพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2555
 
"ครูเรื่องสั้นนิพนธ์" แนะให้ผมลองอ่าน ครูบอกว่า ผมอาจสามารถ (คนละอันกับ "อาจสามารถโมเดล") เขียนเรื่องแนวนี้ได้สะเทือนใจ เพราะผมจะเขียนมันออกมาจากข้างใน... นั่นเป็นเหตุให้ผมไปหาซื้อมาอ่าน อ่านแล้วก็นึกไม่ถึง นึกไม่ถึงว่าผมจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมใน "ความเศร้า" ...คนเขียน spec ให้เด็กหญิง "กะเหรี่ยง" นุ่งผ้าถุงลาย "หงส์" สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของ "มอญ" (ไม่ใช่หงส์เฉยๆ เพราะหงส์อยู่เฉยๆ ก็เป็นธรรมดาทั่วไป หลายชาติก็มีรูปหงส์อยู่ในงานศิลปกรรมของตน) แต่นี่... "หงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก"
 
... นั่นมัน--- ธงชาติมอญนี่ !!!???
 
ทำไม? ทำไม? ธงชาติมอญจึงถูกใช้เป็นลายผ้าถุงของเด็กผู้หญิงกะเหรี่ยง?-- พี่เบิร์ดธงชัย ฝากมาถามว่า "คืออะไรหรือจ๊ะ ศิริวรจ๋า" ---
 
อ่านจาก "บันทึกนักเขียน" (หน้า 5) เลยทำให้ทราบว่า ที่มาของหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการที่หน่วยงาน (มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, สสส.) ให้ทุน นั่นแสดงว่า มี "ค่าจ้าง" ให้เขียน มีเวลาให้ 6 เดือน นั่นแสดงว่ามี "ค่าจ้าง" ให้ค้นคว้า --- จะทำไงกันดีล่ะที้นี้ ค่าค้นคว้า ค่าเขียน ค่าส่วนแบ่งจากยอดพิมพ์ ได้ครบ แถมเข้ารอบสุดท้าย "ซีไรต์" อีกด้วย เอาละซี... ธงชาติมอญจะกลายเป็นผ้าถุงเด็กผู้หญิงกะเหรี่ยงยอดฮิตก็งานนี้!!!
 
จะว่าไป นิยายเล่มนี้มีข้อดี ดีที่รวบรวมเรื่องราวอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับพม่าแต่โบราณจนวันนี้เอาไว้ในเล่มเดียว แม้บางเรื่องไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหาโดยรวมก็อุตส่าห์แวะไปกอบเอามาไว้ก็ตาม ...อย่างไรก็ต้องเล่าสู่กันฟังเสียหน่อยว่า
 
เมืองมะละแหม่ง (Maw-La-Myine) เป็นเมืองหลวงของรัฐมอญ (Mon State) ส่วนเมืองพะอัน (Hpa-an) เป็นเมืองหลวงของรัฐกะฉิ่นหรือกะเหรี่ยง (Kayin State) --- มีข้อชวนสงสัย นั่นคือ
 
"สาวน้อยวัย 25 จากครอบครัวชนชั้นกลางแห่งเมืองมะละแหม่ง อดีตนักศึกษาแพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเช่นเธอ แทนที่จะได้ใช้ความรู้ที่เคยร่ำเรียนมาช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติในคลินิกเล็กๆ กลางเมืองพะอันบ้านเกิด..."  (หน้า 66-67)
 
ผมรู้สึกสับสนอยู่นะครับ พลอยนึกถึงข้อความในเล่มนี้ที่ว่า
 
"เพียงแค่ถามกูเกิ้ลผู้รอบรู้ หรือวิกิพีเดียผู้ปราดเปรื่อง รับรองได้ ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ท่านศาสตราจารย์แห่งไซเบอร์ สเปช เวิร์ลด์ก็จะหยิบยื่นข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาเหล่านั้นมาให้เราเสพกันไม่หวาดไม่ไหว..."  (หน้า 60-61)
 
ดูท่าผู้เขียนตั้งใจสลายกับดักอคติทางเชื้อหรือชาติชาติพันธุ์นิยมอย่างตั้งใจไปหน่อย ด้วยการเสนอชีวิต "พอทู" ตัวเอกที่รวมไว้ซึ่งความหลายหลากในสายเลือด อย่างไรกัน...?
 
"...ต่อมาซอว์ คยี (พม่าแท้) แต่งงานอยู่กินกับพยอ เวง สาวชาวมอญจากตะนาวศรี... ลูกสาวที่สวยที่สุดคนหนึ่งของซอว์ คยีก็หนีไปอยู่กินกับนายทหารอังกฤษ... หลานชายคนหนึ่งของซอว์ คยี ...แต่งงานกับสาวน้อยชาวกะเหรี่ยงจากพะอัน... ลูกชายคนหนึ่งของครอบครัวนี้ไปแต่งงานกับสาวน้อยชาวโซการี... ยายของพอทูก็ถือกำเนิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนี้ ครั้นอายุได้ 16 ปี ยายก็แต่งงานกับนายทหารญี่ปุ่น..." (หน้า 123-124)
 
...ลูกสาวของยายชื่อ โม ซาน ดา ส่วนหนูก็คือ "พอทู" หลังแม่ถูกทหารพม่าข่มขืนจึงตั้งท้อง "พอวา" ด้วยความชอกช้ำใจพ่อจึงขึ้นหลังม้าควบออกป่าประกาศตนเป็นนักรบชุดดำบนหลังม้าสีทอง - นาม "นายพลซาวา"
 
แต่ที่สุด ผู้เขียนก็เลือกให้ข้อสรุปว่า ตัวละครเลือกที่จะเป็น
 
"...แม่ลูกอ่อนชาวกะเหรี่ยงสะกอถูกนักรบชุดดำผู้นั่งมาบนหลังม้าสีทองนำตัวไป..." (หน้า 105)
 
ชีวิตจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกมั้ง พวกที่แต่งกันข้ามชาติพันธุ์กันไปข้ามชาติพันธุ์กันมาเนี่ย เว้นเสียแต่พวกพ่อค้ากะพวกเจ้าฯ เท่านั้น เพราะการแต่งงานบ่อยครั้งก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์
 
จะว่าสนุกก็สนุกดีนะครับ อ่านแล้วรับรู้ได้ถึงความอ่อนไหวของผู้เขียน ได้สัมผัสอารมณ์ที่เปลี่ยนผ่านจากความไม่เข้าใจสู่ความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ว่ายวนอยู่ในวังวนแห่งความเศร้า แน่นอน... ผมเข้าใจมันดี เพราะ ...ผมก็เศร้า... ผมเศร้า เพราะผมกลาย "เป็นส่วนหนึ่ง" ของประวัติศาสตร์ความเศร้าเวอร์ชัน "ผลิตซ้ำ" (หน้า 61) นี้ ...ผมเศร้าอย่างเหลือเกินแต่ก็มิลืมที่จะขอบคุณ "ท่านศาสตราจารย์แห่งไซเบอร์ สเปช เวิร์ลด์" ที่ทำให้ผมได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้!!!
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สะท้อนย้อนคิดฯ ที่เชียงใหม่: จินตนาการใหม่ทางมานุษยวิทยา

Posted: 27 Sep 2012 11:55 AM PDT

ช่วงหนึ่งจากเสวนา "จินตนาการใหม่ทางมานุษยวิทยา" ในงานประชุม "สะท้อนย้อนคิดสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่"  ยศ สันตสมบัติ เสนอจินตนาการใหม่ต้องการหลักการใหม่ - กรอบกติกาใหม่ที่พร้อมให้คนสามารถสร้างทางเลือกใหม่ในชีวิต ความคิด และการจัดองค์การสังคม

21 ก.ย. 2555 ณ ห้องประชุมชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสำนักพิมพ์คบไฟ จัดการประชุมวิชาการ "สะท้อนย้อนคิดสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่" โดยมีการเสวนาในหัวข้อ "จินตนาการใหม่ทางมานุษยวิทยา"

มีวิทยากรคือ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ และมี ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

 

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ เริ่มอภิปรายโดยเสนอว่ามีสิ่งที่เรียกว่ามานุษวิทยาไทย (Thai Anthropology) โดยนักวิชาการรุ่นหลังๆ มักจะยึดติดกับวิกฤติเชิงอัตลักษณ์ (Identity Crisis) ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง คิดว่าการเอาแนวคิดทฤษฎีฝรั่งมาใช้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วพยายามแสวงหาแนวทางของไทย ซึ่งในความเป็นจริง 50 ปีที่ผ่านมา มานุษยวิทยาไทยมีอะไรเป็นของตัวเองเยอะมาก ในแง่สังคมศาสตร์เราทำงานวิจัย เราสร้างแนวคิด (Concept) เยอะมาก สมัยตนเรียนปริญญาตรี เวลาคนพูดถึงมานุษยวิทยาคลาสสิก คนมักจะพูดถึงพระยาอนุมานราชธน แต่ตนกลับคิดว่างานคลาสสิกของมานุษยวิทยาจริงๆ คือ "โฉมหน้าศักดินาไทย" (โดยจิตร ภูมิศักดิ์) ซึ่งได้ปรับ Concept แล้วเอามาใช้ในบริบทของสังคมไทย

สิ่งที่เราเห็นคือมานุษยวิทยาไทยมันบรรลุวุฒิภาวะ ถึงระดับที่มันมี Dialogue กับโลก สมัยก่อนฝรั่งมาทำวิจัยเมืองไทย คนไทยเป็นผู้ช่วยวิจัย เดี๋ยวนี้เรานั่งเถียงกับฝรั่งตลอดเวลา ไม่ใช่การพูดข้างเดียวแล้ว ดังนั้นวิกฤติอัตลักษณ์จึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเอง นอกจากนั้นเรามีภาควิชาเกิน 10 มหาวิทยาลัย มีแหล่งที่สอนสังคมวิทยามานุษยวิทยาเยอะมาก แล้วแต่ละแห่งก็มีจุดแข็งในตัวเอง เรามีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ทำให้มานุษยวิทยาไทยเติบโตเยอะมาก มีงานประชุมประจำปีทุกปี มีการนำเสนองานวิจัยใหม่ๆ ตลอด สิ่งที่เรียกว่ามานุษยวิทยาไทยจึงเกิดและดำรงอยู่

ส่วนที่สำคัญคือภาษาของมานุษยวิทยาได้ถูกใช้โดยคนทั่วไป ซึ่งหมายความว่ามันขายได้ เช่น เรื่องการเปิดพื้นที่, สิทธิชุมชน ชาวบ้านก็พูด ทั้งที่เป็นแนวคิดชั้นสูงในทางมานุษยวิทยา การที่แนวคิดมันถูกนำไปใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเนื้อหาของวิชาการมันไปรับใช้สังคม คนสามารถเอามันไปใช้ ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการ

แต่ทั้งนี้เราไม่ควรคิดถึงมานุษยวิทยาในแง่แยกออกเด็ดขาดจากวิชาอื่นๆ เช่น รัฐศาสตร์,ประวัติศาสตร์, จิตวิทยา, ภูมิศาสตร์ เป็นต้น มันไปด้วยกัน สังคมไทยเป็นสังคมที่บางครั้งมักจะขีดอาณาจักรของตัวเอง แม้แต่ในภาคเดียวกันก็แยก ซึ่งเป็นการคิดแคบ สมัยปี 1980 ที่ตนเรียนมีบทความของ Clifford Geertz ชื่อ "Blurred Genres" พูดถึงว่าสาขาวิชา (Discipline) ต่างๆ ในโลก ว่าพรมแดนมันเริ่มเบลอ พร่ามัว ฉะนั้นวิธีคิดแบบ Trans-discipline มันเข้ามาแทนที่การแยกสาขาวิชา แต่ไม่ได้หมายความว่าสาขาวิชาไม่จำเป็น แต่สาขาวิชามันจะต้องมองออกไปว่าใครคนอื่นเขาทำอะไรบ้าง  ในต่างประเทศมันเปลี่ยนสาขากันเป็นว่าเล่น พรมแดนทางวิชาการมันพร่ามัว แต่มันทำให้จินตนาการมันแจ่มชัดขึ้น เป็นเหมือน paradox เพราะพอสาขาวิชามันเบลอ จินตนาการมันชัด

ยศกล่าวต่อว่าเมื่อพูดถึง "จินตนาการ" ตนก็กลับไปหางานของ C.Wright Mills เป็นนักสังคมวิทยาในอเมริกา เขียนเรื่อง "จินตนาการทางสังคมวิทยา" [Sociological Imagination (1959)] อธิบายว่าจินตนาการคืออะไร เขาบอกว่ามันคือการตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจต่อความเคลื่อนไหวของสังคมโลก แล้วเอาจินตนาการนั้นมาทำความเข้าใจตัวเอง ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ในกระแสโลกปัจจุบัน และจินตนาการเป็นพลังที่จะปลดเปลื้องโซ่ตรวนทางความคิด เพราะโลกทำให้เรายึดติดกับความเจริญทางวัตถุ  Mills ซึ่งเป็นมาร์กซิสต์ที่ไม่ได้รับการยอมรับในอเมริกา ก็จะพูดถึง Emancipation โดยเชื่อว่าเราต้องทะลวงโซ่ตรวนเพื่อไปสู่เสรีภาพ โดยการใช้จินตนาการ สำหรับ Mills การตั้งคำถามคือพลังเพื่อปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความไม่รู้และความประมาท ไปสู่เสรีภาพที่จะกำหนดชะตาชีวิตตนเอง

นอกจากนั้น จินตนาการยังมีบริบทของมัน ในทางมานุษยวิทยาจินตนาการเกิดขึ้นในคลื่นความคิด 3 ระลอกด้วยกัน ระลอกแรกคือเศรษฐศาสตร์การเมือง ระลอกสองประมาณปี 80 ขึ้นไป อเมริกาเข้าสู่วิกฤติของความคิด แล้วเกิดสกุลต่างๆ เช่น Cultural Critique, Writing Culture, Post Modernism ระลอกที่สามก็คือทุนนิยมยุคหลัง หรือ Globalization, Tran-Nationalism  บริบทที่เปลี่ยน ทำให้จินตนาการทางสังคมเปลี่ยน คนก็ต้องพยายามวิ่งตามบริบทที่เปลี่ยน เพื่อทำความเข้าใจ

ยศเสนอว่าสามารถแยกจินตนาการออกเป็นมิติต่างๆ 6 ระดับ ได้แก่ ระดับแรกคือชื่อของงาน "สะท้อนย้อนคิด" (Reflexivities) หรือไปอีกขั้นคือการวิจารณ์วัฒนธรรม  มิติที่สองคือการทำลายมายาคติ เปิดโปงสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นมันว่างเปล่า หรือไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริง  มิติที่สามคือการเปิดพื้นที่ โยงไปถึงเรื่องตัวตน อัตลักษณ์ทางสังคม ทางชาติพันธุ์  มิติที่สี่คือเรื่องการสร้างความเข้าใจ มานุษยวิทยามีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจ ให้มนุษย์มันเข้าใจกัน ให้คนเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  มิติที่ห้าคือสร้างหรือนำเสนอทางเลือกเชิงโยบาย และมิติสุดท้ายคือการนำเสนอหลักการหรือวิธีคิดใหม่ ซึ่งยังทำกันค่อนข้างน้อย

จุดแข็งของมานุษยวิทยา คือการพยายามสร้างเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งเวลาที่เขาพูดเองไม่ค่อยมีคนฟัง จินตนาการเก่าที่ทำกันมา 30 ปี ก็คือเราก็พูดวิพากษ์ปัญหาการพัฒนา พูดถึงการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองชนบท พูดถึงอุตสาหกรรม พูดถึงการดูดซับทรัพยากรของกทม. พูดถึงเกษตรชนบทล้มละลาย การเปลี่ยนมือของที่ดิน จนกระทั่งเราพูดถึงการเปลี่ยนองค์กร เช่น ภาคเหนือองค์กรเหมืองฝายมันเข้มแข็ง เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว จะเอาอะไรมาแทน จะสร้างองค์กรอย่างไร เป็นจินตนาการที่จะต้องคิดกันต่อไป

ส่วนสิ่งที่เป็นจินตนาการในปัจจุบัน อาจจะไม่ใหม่ ก็คือปัญหาของโลกมันบีบคั้นเข้ามา การว่างงานในยุโรป-สหรัฐ จีนก็ขยายอิทธิพลในอาเซียน ประสิทธิภาพการแข่งขันท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ในบ้านเราปัญหาก็ยังอยู่ ทั้งการแย่งชิงทรัพยากรดินน้ำป่า ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เรามีระบบจัดการทรัพยากรที่ยังคงป่าเถื่อนล้าหลัง เรามีสื่อที่ไม่มีเสรีภาพ เรามีระบบกฎหมายที่ล้าหลัง

จินตนาการอีกส่วนที่ยังไม่ค่อยมี อ.อานันท์ (กาญจนพันธุ์) ใช้คำว่า Invisible People คือคนชั้นล่างที่เคยเป็นเกษตรกรมาก่อน พอเปลี่ยนไม่ทำการเกษตรแล้ว เราเริ่มมองไม่เห็น ประเด็นคือเราต้องทำความเข้าใจสังคมชนบทแบบใหม่ ซึ่งมันเปลี่ยนเยอะมาก ชนชั้นมันซับซ้อนหลากหลายมากขึ้น ชนชั้นกลางเราก็ยังไม่รู้จัก ชนชั้นที่ไม่ใช่ชั้นกลางก็ยิ่งไม่รู้จัก หรือชนชั้นผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งไม่ใช่ตาสีตาสา แต่เป็นคนที่สนใจการเมือง สนใจนโยบาย พยายามรักษาผลประโยชน์ของเขา เราอาจจะต้องสร้างจินตนาการใหม่ๆ ที่พูดถึงคนเหล่านี้

ยศเสนอต่อไปว่าการเมืองก็ไม่ได้ง่ายเหมือนเดิม ต้องใช้จินตนาการมาก การบริหารจัดการสังคมไทยอาจต้องปฏิรูปใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเมือง ตุลาการ สถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบราชการ ประเด็นที่ตนคิดว่าอาจต้องใช้จินตนาการมากที่สุดก็คือเรื่องของอำนาจนำ (Hegemony) ตั้งแต่น้ำท่วมปีที่แล้ว เห็นชัดว่าไม่มีใครฟังใครอีกแล้ว อย่างเรื่องรื้อบิ๊กแบ็ค สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจนำมันล้มเหลว ที่มันลึกกว่านั้นคือคนมันไม่คุยกัน ไม่มีเวทีจะพูดคุย จะทำอะไรจึงต้องปิดถนน นำไปสู่ความรุนแรง อำนาจนำแบบเดิมๆ ตั้งแต่นาฏรัฐ รัฐราชการ ไปถึงการปฏิวัติของทหาร มันใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทหารจะปฏิวัติก็ได้ แต่ปฏิวัติแล้วคุณจะทำอะไร ทหารก็เข้าใจ แต่บางครั้งโดนสั่งมาก็ทำ

จินตนาการใหม่นี้ต้องพูดถึงเรื่องการนำเสนอหลักการใหม่ เพราะสังคมตอนนี้ต้องการหลักการใหม่ ต้องการกรอบกติกาใหม่ กติกาที่พร้อมให้คนสามารถสร้างทางเลือกใหม่ในชีวิต ทางเลือกในทางความคิด ซึ่งสังคมไทยอับจนมาก จะพูดอะไรก็ต้องระวัง และทางเลือกในการจัดองค์การสังคม รวมทั้งทางเลือกในการบริหารจัดการความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยจินตนาการทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วจินตนาการทางสังคมจำเป็นต้องมองในทุกมิติทุกสังคม ตั้งแต่ระดับเล็กไปถึงระดับใหญ่

 

ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล กล่าวถึงหนังสือ "จินตนาการทางมานุษยวิทยา แล้วย้อนมองสังคมไทย" ของอานันท์ กาญจนพันธุ์ โดยจะหยิบยกสามเรื่องจากหนังสือมาสนทนา และคิดต่อหรือจินตนาการต่อ ได้แก่เรื่องความซ้อน เรื่องพื้นที่ความรู้ และเรื่องจินตนาการ

ประเด็นแรกเรื่องความซ้อน ในหนังสือเล่มนี้ มีการใช้คำว่า "ซ้อน" หลายรูปแบบ เช่น ซับซ้อน เชิงซ้อน กลไกเชิงซ้อน วิธีคิดเชิงซ้อน ทีนี้การซ้อนแปลว่าอะไร เท่าที่อ่านอย่างน้อยถูกใช้ในสามด้าน ด้านแรกคือใช้เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ในโลกปัจจุบัน โดยปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนนี้อาจแบ่งได้สามแบบ แบบแรกคล้ายๆ ขนมชั้น คือมีหลายสิ่งในบริเวณเดียวกัน แต่อาจจะไม่ขัดแย้งกัน เช่น วัฒนธรรมลูกผสม หรืออัตลักษณ์ แบบที่สองใช้ในกรณีที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายๆ ทิศทางในบริเวณเดียวกัน เช่น การกล่าวถึงพื้นที่ชนบท ที่มีทั้งคนชนบทออกมาในเมือง คนในเมืองกลับไปทำเกษตรในชนบท แบบที่สามคือเรื่องการอ้างสิทธิในพื้นที่เดียวกัน เช่นในป่า รัฐบาลก็จะอ้างสิทธิว่าเป็นอุทยานฯ เป็นสมบัติของชาติ ขณะชาวบ้านที่อยู่มาก่อนก็อ้างสิทธิการอยู่อาศัยมาก่อน วิธีที่ใช้ป่าก็มีความแตกต่างกัน ขณะที่รัฐมองว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ชาวบ้านมองว่าอยู่ได้

ด้านที่สองคือซ้อนในฐานะที่เป็นวิธีคิด แต่ในหนังสือก็ไม่ได้นิยามว่าวิธีคิดเชิงซ้อนเป็นอย่างไร แต่นิยามในเชิงตรงข้าม คือนิยามว่าวิธีคิดแบบไหนไม่เอา ซึ่งมีสองแบบ หนึ่ง ก็คือไม่ยึดกรอบเดี่ยว และสองคือไม่ติดกับคู่ตรงข้าม มีข้อสังเกตว่าถ้ามองว่าปรากฏการณ์ในโลกปัจจุบันมันมีความซ้อน ทำให้นึกถึงคำที่เคยได้ยิน คือคำว่า Multiple-relationship คล้ายๆ ความสัมพันธ์เชิงซ้อนของอานันท์ แต่เขาพูดถึงสังคมโบราณมาก ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายคนหนึ่งกับลูก มันก็เป็นทั้งพ่อ-ลูก, คนที่สอนการล่าสัตว์, สอนการเลี้ยงวัว, เป็นคนทำพิธี, เป็นผู้ปกครอง มันมีหลายมิติซ้อนอยู่ในความสัมพันธ์ ดังนั้นมันก็ซ้อนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว คำถามคือมันซ้อนต่างจากเดิมอย่างไร

ด้านที่สามคือซ้อนในฐานะยุทธศาสตร์หรือกลวิธีที่ผู้เขียนใช้ เช่น กล่าวว่าเรื่องที่เขียนมัน "ซับซ้อนอยู่สักหน่อย" ต้องตั้งใจอ่าน เป็นกลวิธีให้ผู้อ่านเจริญสติ คือต้องอ่านอย่างมีสมาธิ ไอ้ซ้อนๆ ก็กลัวอ่านไม่รู้เรื่อง ดร.ปริตตาได้ยกตัวอย่างถึงทฤษฎี "ไข่มดแดง" ที่อธิบายความซับซ้อนของความสัมพันธ์เรื่องสิทธิ และประเด็นเรื่องเสียงของบุคคลต่างๆ ในการอ้างสิทธิ

เรื่องที่สอง คือเรื่องพื้นที่ความรู้ เท่าที่เข้าใจคือหมายถึงความรู้ทางมานุษยวิทยาจะเกิดหรือถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อมันมีปฏิบัติการ จะนั่งอ่านหนังสือหรือไปภาคสนามแล้วเอามาเขียนอย่างเดียว ยังมีข้อจำกัดอยู่ สิ่งที่จะเกิดความรู้อย่างแท้จริง และเป็นความรู้ที่เป็นมรรคผลกับคนที่ด้อยโอกาส จะต้องไปร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมปฏิบัติการ ร่วมรณรงค์ ร่วมต่อสู้ ร่วมหาทางออกด้วย ในกิจกรรมทั้งหมดนี้ บริเวณของการแลกเปลี่ยนกันคือสิ่งที่เรียกว่า "พื้นที่ความรู้" หรือ "พื้นที่สังคม"

ในพื้นที่นี้ ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ทุกคนต้องถอดหัวโขน จะเป็นอาจารย์ เป็นอธิบดี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะต้องมาคุยอย่างเท่าเทียมกัน สองคือจะต้องมีการใช้ภาษา ใช้ความรู้ความคิดที่หลากหลาย ไม่ได้ใช้แต่กระแสหลัก ไม่ใช่ภาษาของราชการ ของนักกฎหมาย แต่เป็นภาษาที่มีการแลกเปลี่ยนกัน สามคือมีการตัดสินใจร่วมกัน สี่คือมีการหาทางออกโดยการจัดการอย่างมีส่วนร่วม

ปริตตาเห็นว่าเรายังต้องช่วยบ่มเพาะความคิด คำอธิบายว่าทั้งหมดนี้มันนำไปสู่อะไร นำไปสู่คำอธิบายใหม่ จินตนาการใหม่ หรือไม่ ชนิดของความรู้มานุษยวิทยาใหม่หรือเปล่า หรือทั้งหมดก็ไม่ต่างจากที่เอ็นจีโอทำมาก่อน และทำเก่งกว่าตั้งเยอะ

เรื่องที่สาม คือเรื่องจินตนาการ คำถามคือจินตนาการหน้าตาเป็นอย่างไร มานุษยวิทยาใช้จินตนาการอย่างไร หรือจินตนาการมานุษยวิทยาแตกต่างจากใครต่อใคร เช่น นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน หรือคนทั่วไปอย่างไร ดร.ปริตตากล่าวถึงงานของ C.Wright Mills ซึ่งเสนอว่าจินตนาการทางสังคมวิทยาคือความสามารถในการที่จะเชื่อมโยงข้อเท็จจริงที่มีปริมาณมากมายมหาศาล ออกมาเป็นภาพบางอย่างว่าโลกเราหน้าตาเป็นอย่างไร มันจะเคลื่อนไปอย่างไร เราเป็นส่วนไหนของโลก มันกำลังเกิดอะไรขึ้นในโลก และมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา

Mills ยังกล่าวถึงยุคสมัยที่อยู่ว่าเป็นยุคของความอึดอัด และไม่อยากจะแยแสกับอะไร ในยุคแบบนี้ ที่ยุคที่เราถูกบดบังท่วมท้นด้วยข้อมูล การจะมีจินตนาการสังคมวิทยา จะต้องมี หนึ่ง ความสามารถในการเปลี่ยนมุมมอง จากมุมหนึ่งไปยังอีกมุม สลับไปมาได้ เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมุมมอง สองคือมีวิธีคิดใหม่ๆ สาม Trans-valuation คล้ายๆ คือการสร้างวิธีที่จะข้ามขัดแย้งของคุณค่าต่างๆ สร้างวิธีที่จะหาคุณค่าท่ามกลางความขัดแย้งของคุณค่า และสุดท้ายคือการเชื่อมโยงกับปัญหาความทุกข์ยากของบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัว กับโครงสร้างสังคม ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะ

ช่วงท้าย ปริตตาได้ทดลองเสนอว่าจินตนาการของศิลปิน กับจินตนาการทางมานุษยวิทยามีความใกล้เคียงกัน เวลาศิลปินวาดรูป มันไม่ได้มีภาพชัดๆ มีเป็นคำๆ ทฤษฎี จินตนาการไม่สมบูรณ์ในตัวเอง แต่ในกระบวนการที่เราปั้น เราวาด เราเขียนแต่ละครั้ง มันเป็นการโต้ตอบระหว่างจินตนาการกับปฏิบัติการ ขณะเดียวกันจินตนาการเป็นการโต้ตอบระหว่างตัวเรากับ subject ที่เราถ่ายทอด จินตนาการจึงมีการโต้ตอบกับหลายๆ สิ่ง ไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์แต่ต้น  แต่สำหรับนักสังคมวิทยา ภารกิจคือการแสดงให้เห็นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไร กระแสอะไรในโลก แต่มานุษยวิทยาอาจจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองอันนี้ ระหว่างจินตนาการที่ Mills พูดถึงระบบพูดถึงโครงสร้าง ให้ภาพรวมใหญ่ๆ กับจินตนาการของศิลปิน ที่จะเจาะจะดึงเอาความรู้สึกของคนออกมา อย่างมีชีวิต อย่างสะเทือนอารมณ์

 

ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล กล่าวว่าเมื่ออ่านงานอาจารย์อานันท์และงานของ C.Wright Mills รู้สึกสองอย่าง คือเรื่องแรก รู้สึกถึงเสียงวิพากษ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์ว่าการทำงานสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ผ่านมาและกำลังเป็นอยู่ ว่ามีปัญหาและข้อจำกัดอย่างไร ในกรณีของ Mills ได้วิพากษ์การวิจัยและเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งในช่วงที่ Mills เขียนกำลังสถาปนาอำนาจ และในที่สุดเปลี่ยนทิศทางการวิจัยของสังคมวิทยาในอเมริกาให้เป็นในเชิงปริมาณ

Mills ยังวิจารณ์ทฤษฎี โดยเฉพาะทฤษฎีใหญ่ Grand Theory ทั้งหลาย อันที่หนึ่งคือพวกนี้เขียนทฤษฎีจนไม่มีใครเข้าใจเลยว่าเขียนอะไร เขียนแล้วต้องแปล สองคือมันใหญ่เกินไป General ทั่วไปเกินไป จนมองไม่เห็น ทำให้ไม่รู้ว่าจะทำอะไร พอมาถึงยุคนี้ Grand Theory มันพินาศไปหมดแล้ว ตอนนี้ที่มีคือตลาดของมโนทัศน์ คล้ายๆ ตำราทางวิชาการ มีมโนทัศน์หลากหลายให้หยิบฉวยมาเลือกใช้ มันจะละเอียดเล็กๆ เช่น เรื่อง Identity ของผู้หญิง ของผู้ชาย ของเด็ก ของคนแก่ ของคนชายชอบ ฯลฯ

ยุคสมัยของเรามันจึงไม่ได้อับจนเรื่องทฤษฎี แต่ถูกทฤษฎีมโนทัศน์ท้วมทับ จนไม่รู้จักอะไรอีกต่อไปแล้ว มันอาจจะมาพร้อมบริบท ที่สังคมตอนนี้ถูกมองว่ามัน fragmented-fluid มันซ้อนไปหมด มโนทัศน์ที่เกิดก็เอาไปจับปรากฏการณ์เล็กๆ เหล่านี้ ปัญหาก็คือมันก็จินตนาการอะไรไม่ออก เพราะมันเล็กเกินไปหรือไม่

Mills ยังพูดว่าตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ที่เป็นเวลาเป็นยุคของความอึดอัด ความเฉยเมย ไม่แยแสว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร เฉื่อยเนือย แต่ขณะเดียวกันคนจำนวนมากก็จะมีอาการรู้สึกกลัดกลุ้ม กระวนกระวาย แต่ไม่เข้าใจว่าไม่พอใจอะไร ปัญหาอันนี้ Mills เห็นว่าทำให้จินตนาการทางสังคมวิทยามีความสำคัญ ถามว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหรือไม่ในบ้านเรา

สายพิณเห็นว่าจากแวดวงเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งนักศึกษานักวิจัยก็จะมีปัญหาแบบนี้ มีลักษณะที่เป็นผลมาจากความเข้าใจโลกว่ามันแตกกระจาย แยกเป็นชิ้นเล็กๆ personal is political เรื่องของคนๆ หนึ่งก็เป็นเรื่องทางการเมือง แต่ไม่ได้ชี้ว่าเรื่องการเมืองก็เป็นประเด็นสาธารณะได้ อะไรที่ขาดไป Mills ก็บอกว่าต้องดูประวัติศาสตร์ ว่าแต่ละยุคสมัยมันมีเงื่อนไขที่ทำให้ชีวิตของเขาเป็นแบบนั้น เช่น จะทำความเข้าใจคนทีไปทำศัลยกรรมเสริมความงาม ก็อาจไม่ใช่แค่ไปฟังเสียงของผู้หญิงหรือผู้ชายที่ไปทำ อาจจะต้องมองบริบททางประวัติศาสตร์ ในโลกยุคนี้แล้วความหมายของศัลยกรรมมันเคลื่อนไปแล้ว หรือการทำศัลยกรรมมันไปเกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคม โครงสร้างทางสังคมอย่างไรบ้าง  ถามว่าจินตนาการคืออะไร มันจึงอาจคือวิธีคิด การคิด การเชื่อมโยง โดย "คิด" อาจฟังดูเป็นวิชาการดูซีเรียส แต่ "จินตนาการ"ฟังดูเหลวๆ ฟุ้งๆ ไม่มีรูป

เรื่องที่สอง โจทย์คล้ายๆ ว่าเราจะไปทางไหนกัน ตอนนี้เราต้องทนกับอะไรบ้าง หลายคนพูดถึงระบบราชการ ที่เป็นปัญหามา หรือระบบประกันคุณภาพการศึกษา TQF ที่พูดถึงกัน เป็นภาวการณ์ที่เราต้องทน คำถามคือเราต้องทำอะไร ก็ต้องสอนหนังสือ และทำวิจัยด้วย เมื่ออ่านหนังสือของอ.อานันท์ ก็พบว่าข้อมูลจำนวนมากที่พูดถึง เป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ในยุคนี้ที่มีข้อเรียกร้องในทางวิชาการ ทางสังคมเยอะแยะ คิดว่าเราคงต้องทำงานด้วยกัน อาจารย์ทั้งสองท่านที่พูดก่อนหน้าก็ทำให้รู้สึกว่างานทางมานุษยวิทยามันไม่ใช่เรื่องที่เรียนรู้ในห้องเรียน ส่วน Mills เสนอว่าการวิจัยทางสังคมศาสตร์มันเป็นงานฝีมือ ตั้งแต่การได้ข้อมูลมา การค้นหาความรู้ การนำเสนอความรู้ นี่คือสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ งานมานุษยวิทยาก็น่าจะเป็นแบบนั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: คอป.หรือ คณะอุ้มอภิสิทธิ์ปกปิดความจริง?

Posted: 27 Sep 2012 11:19 AM PDT

ในที่สุด คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็ได้นำเสนอรายงานขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งผลก็เป็นไปตามความคาดหมาย คือ เต็มไปด้วยเรื่องปกปิดบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้น ฟอกขาวให้กับทั้งฝ่ายทหารและรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 
คนที่เจ็บปวดกับผลงานของ คอป.ในครั้งนี้ก็คือ ครอบครัวและบรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคนในเหตุการณ์ รวมไปถึงประชาชนที่เข้าร่วมต่อสู้ที่ถือว่า บรรดาผู้สูญเสียเหล่านั้นคือพี่น้องร่วมอุดมการณ์ที่เสี่ยงตายมาด้วยกัน
 
ผลงานอัปยศของ คอป.ในครั้งนี้ ทำให้สมควรได้รับขนานนามใหม่ว่า คณะอุ้มอภิสิทธิ์ปกปิดบิดเบือนความจริงเพื่อความแตกแยกแห่งชาติ โดยแท้!
 
ผู้ที่ติดตามการทำงานของ คอป.มาโดยตลอดจะไม่แปลกใจเลย เพราะคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัวบุคคลทั้งระดับกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษา หลายคนเป็นพวกอีแอบพรรคประชาธิปัตย์และ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่เป็นศัตรูโดยตรงกับฝ่ายประชาชน
 
ใน คอป.จึงมีตั้งแต่คนที่เคยร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรฯอย่างเปิดเผย แล้วมานั่งทำงาน "รวบรวมข้อเท็จจริง" ไปจนถึงกรรมการบางคนที่เป็นเอ็นจีโอ เพียรสร้างภาพเปลือกนอกเป็นนักสิทธิมนุษยชน รณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับมีเนื้อแท้เป็นพวกสนับสนุนเผด็จการในประเทศไทย
 
รายงานของ คอป.มีเนื้อหาที่ดูถูกสติปัญญาของคนอ่านอย่างยิ่ง เพราะเต็มไปด้วยการเล่านิทานเหตุการณ์ที่ปราศจากพยานหลักฐาน เลี่ยงไม่ตอบคำถามสำคัญๆ ขณะที่อีกหลายคำถามที่จำต้องตอบก็โยนไปให้ "ชายชุดดำ" ซึ่งกลายเป็น "หลุมดำ" ที่ คอป. จับเอาบรรดาคำถามที่ไม่อยากตอบ โยนใส่ลงไปเท่านั้น ทั้งหมดนี้ มีจุดประสงค์เดียวคือ ล้างบาปและคราบไคลเลือดออกจากเนื้อตัวของทหารและรัฐบาลอภิสิทธิ์ โยนความผิดทั้งหมดไปให้ "ชายชุดดำ" และประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย
 
ทำราวกับว่า คนอ่านไม่มีสติปัญญาพอที่จะรู้เท่าทัน คอป.คนอ่านจึงได้แต่กังขาว่า ถ้าเอายี่ห้อ คอป.ออกไปจากรายงานชุดนี้ คนอ่านอาจเผลอนึกไปว่า กำลังอ่านสกู๊ปรายงานของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีอยู่ก็ได้!
 
คำถามสำคัญที่สุดคือ คนเสียชีวิตเฉพาะที่รู้แน่นอนจำนวน 90 กว่าคนนั้น ตายอย่างไร? ในรูปแบบอาการอย่างใด? ใครเป็นคนกระทำ? ทหารนับพันที่ติดอาวุธหนักเบาตั้งแต่หัวถึงเท้าที่อยู่ในบริเวณนั้น กระหน่ำยิงกระสุนไปเป็นแสนนัด มีคลิปวิดีโอภาพการยิงอย่างเมามันนับไม่ถ้วน ทหารเหล่านี้มีส่วนรับผิดชอบแค่ไหน? นี่คือคำถามสำคัญที่สุดที่ รายงานของ คอป.ไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนจนไร้ข้อสงสัย
 
ส่วนกรณีการเสียชีวิตที่ปฏิเสธไม่ได้ รายงานของ คอป. ก็มี "แพะ" ที่แสนจะสะดวกสบายคือ "ชายชุดดำ" ที่ถูกตั้งธงให้รับผิดชอบการบาดเจ็บเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหนึ่ง และมีส่วนในการบาดเจ็บเสียชีวิตของฝ่ายทหาร แค่นั้น? โดยที่ คอป.ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ถ้าชายชุดดำเป็นกองกำลังของฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุมจริง แล้วทำไมจึงไม่มีหลักฐานการมีอยู่ของคนพวกนี้เลย และก็ไม่มีความพยายามที่จะสืบสวนติดตามจับกุมแต่อย่างใดตลอดสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์?
 
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงภาพถ่ายและคลิปวิดีโอจำนวนมากที่ปรากฏเป็นตรงข้ามคือ มี "ชายชุดดำติดอาวุธ" ปฏิบัติการอยู่เคียงข้างฝ่ายทหารที่ปราบปรามประชาชนในขณะนั้น!
 
แต่ความเลวร้ายที่ไม่อาจให้อภัยได้และถือว่า เป็นอยุติธรรมอย่างยิ่งก็คือ การที่ คอป. โยนบาปไปให้คนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีทหารพลแม่นปืนยิงคนตายถึงหกศพในบริเวณวัดปทุมวนารม ซึ่งรายงาน คอป.กลับโยนไปให้ "ชายชุดดำที่ยิ่งต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร" ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีพยานใดๆ เกี่ยวกับ "ชายชุดดำ" ในบริเวณนั้นเลย รวมทั้งยังมีหลักฐานทางนิติเวชที่แสดงชัดว่า ผู้ตายทั้งหกศพเสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูงที่ยิงจากมุมสูงเข้าที่ศรีษะหรือหน้าอก ทุกศพ!
 
คนบาดเจ็บนับพัน ตายอีกร่วมร้อยศพ พวกเขาถูกทหารฆ่าตายยังไม่พอ ยังถูกสื่อมวลชนกระแสหลักสามานย์กระหน่ำซ้ำเติมมาตลอดสองปี แล้วในท้ายสุด ยังมาถูก คอป.กระทืบแล้วแทงซ้ำอีกในวันนี้! คอป.กล้าทำเพราะคนตายไปแล้ว คอป.จะโยนอะไรใส่ก็ได้ เพราะพวกเขาไม่สามารถลุกขึ้นมาโต้แย้งกับ คอป.ได้อีกแล้ว
 
คนที่รับผิดชอบสั่งการฆ่าประชาชนนั้น โดยธรรมชาติ ย่อมแก้ตัว เพื่อหลบหลีกความผิด แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งเสวยงบประมาณจากภาษีประชาชนจำนวนมหาศาล มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการแสวงหาความจริงและให้ความยุติธรรม กลับมาปกปิดบิดเบือนความจริงเสียเอง แล้วล้างบาปให้กับฆาตกรตัวจริง เจ้าหน้าที่อย่างนี้ย่อมเลวกว่าคนที่กระทำผิดจริงเสียอีก
 
ผลลัพธ์เช่นนี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่แสดง "ความใจกว้าง" ยอมให้ คอป.ทำงานต่อไปทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า พวกนี้คือ "ไข่ประชาธิปัตย์" เพราะรัฐบาล ต้องการแสดงความจริงใจในการปรองดอง และมองในแง่ดีว่า คนพวกนี้น่าจะมี "จิตสำนึก" มากพอที่จะทำงานอย่างเที่ยงตรง
 
รัฐบาลจะต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ปฏิเสธและไม่รับรองรายงานของ คอป.ทั้งหมด ในทางตรงข้าม รัฐบาลจะต้องหันมาสนับสนุนการรวบรวมข้อเท็จจริงที่กระทำโดยประชาชนเอง คือ ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช.ซึ่งได้ทำหน้าที่รวบรวมความจริงทั้งหมดจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ มิตรสหาย ครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต ละเอียดเป็นรายบุคคล ปัจจุบัน ได้สำเร็จลุล่วงเป็นรายงานหนากว่าหนึ่งพันหน้าออกเผยแพร่แล้ว
 
สิ่งที่รัฐบาลควรกระทำคือ สนับสนุนการจัดพิมพ์และเผยแพร่รายงานฉบับ ศปช.ให้กว้างขวางที่สุด ไปสู่ห้องสมุดประชาชนและสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ
 
ท้ายสุดคือ บทเรียนซ้ำซากที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลับหูหลับตา ปฏิเสธที่จะยอมรับตลอดมาคือ พวกเผด็จการไม่เคยมีความคิดแม้แต่กระผีกริ้นที่จะ "ปรองดอง" กับพวกคุณ พวกเขาจะดิ้นรนต่อต้านประชาธิปไตยไปจนถึงที่สุด ซึ่งหมายความว่า พวกเขาจะหาทางบ่อนทำลายพรรคและรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยทุกวิถีทาง รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะต้องเลือกระหว่าง "เพ้อฝันปรองดองไปจนถูกทำลายในที่สุด" หรือจะยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนอย่างเหนียวแน่นไปบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วยกัน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

UNHCR เตือนผู้ลี้ภัยจากซีเรียอาจเพิ่มสองเท่าช่วงสิ้นปี

Posted: 27 Sep 2012 10:45 AM PDT

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เตือนผู้อพยพจากความขัดแย้งรุนแรงในซีเรียอาจเพิ่มจาก 300,000 ราย เป็น 700,000 ราย ร้องเงินสนับสนุนเพิ่มรับมือภัยฤดูหนาวให้ผู้อพยพ

 
27 ก.ย.2012 - ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เตือนจำนวนผู้อพยพลี้ภัยชาวซีเรียไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาจเพิ่มมากขึ้นเกินสองเท่าภายในช่วงสิ้นปี จากเดิมที่มีราว 300,000 ราย
 
"มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้อพยพชาวซีเรียในประเทศเพื่อนบ้านมากถึงราว 700,000 ราย ภายในช่วงสิ้นปีนี้" พานอส มุมท์ซิส ผู้ประสานงานหลักงานด้านผู้อพยพซีเรียของ UNHCR กล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เขาบอกอีกว่า "พวกเราเหลือเวลาไม่มากแล้ว"
 
จากความต้องการการช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมที่เพิ่มมากขึ้น องค์กร UNHCR เรียกร้องให้มีทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้น 487.9 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ยังคงปฏิบัติงานอยู่ได้จนถึงภายในสิ้นปีนี้
 
มุมท์ซิส บอกว่าในปัจจุบันพวกเขาได้รับเงินช่วยเหลือเพียง 141.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเพียงร้อยละ 29 จากที่ขอไว้ทั้งหมด และเน้นย้ำว่าการเพิ่มจำนวนผู้อพยพจากความขัดแย้งภายในประเทศถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
 
ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา UNHCR ได้ลงทะเบียนผู้อพยพชาวซีเรียไว้ 41,500 ราย และคาดการณ์ว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ในช่วงท้ายปี แต่จำนวนในเดือน ก.ค. จำนวนผู้อพยพก็เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้
 
มุมท์ซิสกล่าวอีกว่า การมาถึงของฤดูหนาวทำให้ข้อเรียกร้องของพวกเขามีความสำคัญมากขึ้น เพราะพวกเขาต้องการเต็นท์สำหรับฤดูหนาว, เสื้อผ้า, ผ้าห่ม และฮีทเตอร์ เพื่อเตรียมไว้สำหรับช่วงฤดูหนาวที่ยากลำบาก
 
 
การนองเลือดครั้งเลวร้ายที่สุด
 
ในวันเดียวกันกลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรีย (SOHR) รายงานว่ากองทัพของซีเรียได้บุกถล่มหลายย่านของเมืองอเล็ปโป หนึ่งวันหลังจากที่ประชาชน 300 คนถูกสังหาร ทำให้เป็นวันที่นองเลือดเลวร้ายที่สุดในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา
 
SOHR บอกว่ากองทัพได้ยิงถล่มย่านเมย์ซาร์ และ ฮานาโน ซึ่งเป็นเมืองการค้าทางตอนเหนือ ขณะที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล LCC บอกว่ามีการใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มย่าน ซาร์เคอ ทางฝั่งตะวันออกของเมือง และมีปืนใหญ่ตกลงที่ถนนสุไลมาน อัล-ฮาลาบี ใจกลางเมือง นอกจากนี้ยังมีเหตุคาร์บอมบ์ที่จุดตรวจฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเขตปกครองอิดลิบ บนทางหลวงสู่เมืองดามาสกัส นอกจากนี้ยังมีรายงานการปะทะที่เขตปกครองฮอม ลาทาเคีย และดิแอร์ เอซซอร์ ที่รายงานเพียงว่ามีกบฏคนหนึ่งถูกสังหาร
 
SOHR บอกอีกว่าผู้เสียชีวิตในวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา 199 รายเป็นพลเมืองทั่วไป ซึ่งรามี อับเดล ผู้อำนวยการของ SOHR บอกว่าเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดนับตั้งแต่มีการลุกฮือในเดือน มี.ค.2011 และหากพิจารณาจากศพที่ไม่ได้ตรวจสอบจำนวนตัวเลขจะเพิม่มากกว่านี้
 
 
ระเบิดศูนย์บัญชาการทหาร
 
อีกเหตุการณ์หนึ่งในวันที่ 26 ก.ย.2012 สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลรายงานว่า เกิดเหตุระเบิดสองครั้งขึ้นใกล้กับศูนย์บัญชาการกองทัพซีเรียในกรุงดามาสกัส เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเสียชีวิต 4 นาย และมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 14 ราย จากการรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน SOHR 
 
อมราน อัล-ซูวบี รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศกล่าวว่าระเบิดทั้งสองลูกเป็นระเบิดทำเอง ลูกหนึ่งถูกวางไว้ในอาคารศูนย์บัญชาการเกิดระเบิดขึ้นในเวลา 7:00 น. แรงระเบิดทำให้กระจกของอาคารโดยรอบพื้นที่จัตุรัสอุมเมยาดแตกกระจาย
 
เหตุระเบิดดังกล่าวกินพื้นที่อาคารสองชั้น ทำให้อาคารอยู่ในสภาพลุกไหม้ ซึ่งทางโฆษกของกลุ่มกบฏปลดปล่อยซีเรีย (FSA) ออกแถลงการณ์แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดดังกล่าว
 
 
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก
 
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/09/201292710371309519.html
 
http://www.aljazeera.com/news/americas/2012/09/20129267210189122.html
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนริมโขงเสนองานวิจัยชุมชน หวั่นผุดเขื่อนทำมูลค่าเศรษฐกิจ-คุณค่าวัฒนธรรมจมหาย

Posted: 27 Sep 2012 10:31 AM PDT

5 เครือข่ายภาคประชาสังคมจับมือนำเสนองานวิจัยชาวบ้านพบมูลค่าและคุณค่าบนชุมชนริมแม่น้ำโขงมหาศาล หลังเขื่อนจีนผุด ภูมิอากาศเปลี่ยนเริ่มกระทบชีวิต-สิ่งแวดล้อม หวั่นผุดเขื่อนบ้านกุ่ม-เขื่อนไซยะบุรีชาวบ้านถึงล้มละลาย

 
 
เมื่อวันที่ 25-26 กันยายน 2555 เครือข่ายภาคประชาสังคม 5 เครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิไฮริคเบิร์น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน และเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขง ร่วมจัดงานประชุม "เขื่อนแม่น้ำโขง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและศักยภาพการปรับตัวของชุมชนแม่น้ำโขง" ที่ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี 
 
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเสนอผลงานวิจัยภาคประชาสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 7 จังหวัดภาคอีสานประกอบไปด้วย จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร หนองคาย นครพนม บึงกาฬ และเลย รวมทั้งชาวกัมพูชา
 
นายชาญณรงค์ วงษ์ลา ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ผู้เสนองานวิจัย กล่าวว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงล้วนพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา การทำเกษตรริมโขง การค้าระหว่างชายแดน รวมไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อคิดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจเฉพาะที่มีการสำรวจแล้วมีมูลค่ารวมกันกว่า 5 ล้านบาทต่อครัวเรือนต่อปี หากเกิดการสร้างเขื่อนขึ้นมูลค่าหรือการพึ่งพิงแม่น้ำโขงก็จะสูญสิ้น เช่น เศรษฐกิจ ระบบนิเวศน์ การเกษตรริมฝั่งโขง พันธุ์ปลา การทำนาริมโขง การเลี้ยงปลาในกระชัง การท่องเที่ยว การค้าชายแดน ฯลฯ
 
ด้านนายประดิษฐ์  จันทรชาลี ตัวแทนเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงอุบลราชธานี ผู้เสนองานวิจัยอีกท่าน เผย ระบบนิเวศย่อยในแม่น้ำโขงที่มีมากถึง 19 ระบบ เช่น ซ่ง, คอน, ดอน, บุ่ง เป็นระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับคนและลักษณะการหาปลาที่แตกต่างกัน และจากการสำรวจแบบสอบถาม 500 ชุดใน 5 หมู่บ้าน พบว่า มีการทำอาชีพประมงมากถึงร้อยละ 52 คิดเป็นเงินมากถึง 9.6 ล้านบาทที่หมุนเวียนอยู่ในชุมชน ยังไม่รวมรายได้จากการพึ่งพิงแม่น้ำโขงด้านอื่นๆ ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนที่ประเทศจีนประกอบกับภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไปพบว่าพันธุ์ปลาลดน้อยลง ระดับน้ำแปรปรวนขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ เชื่อว่าหากมีการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมอีกระบบนิเวศรวมไปถึงรายได้ ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านก็จะหมดสิ้นไป
 
นายสีคอนสินชาวกัมพูชากล่าวว่า มีความสนใจในการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจึงได้เข้ามาร่วมฟัง แม่น้ำโขงเสมือนเป็นพ่อของเรา แม่น้ำที่กัมพูชาก็เหมือนแม่ วันนี้พ่อกับแม่เราเริ่มป่วยเราจะนิ่งดูดายอยู่ได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงคนไทยหรือกัมพูชา คนทั้งโลกควรร่วมกันลุกขึ้นมารักษาพ่อและแม่ของเรา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่มีความหวั่นใจหากเกิดเขื่อนบ้านกุ่มที่ประเทศไทยหรือเขื่อนไซยะบุรีที่ สปป.ลาว จะกระทบทั้งการประมง การเกษตร น้ำท่วม ปลาสูญพันธุ์ หาดทรายหาย วัชพืชไม่ตาย ดินเสียหาย ทรัพยากรสูญสิ้น คนริมโขงก็คงต้องอพยพไปหางานทำที่กรุงเทพฯ พร้อมกันนี้ยังมีการร่วมกล่าวแถลงการณ์เร่งให้รัฐบาลทบทวน ยุติการสร้างเขื่อน และฟังเสียงประชาชน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมชลฯ แจงโครงการพัฒนาลำพะเนียง ชาวบ้านย้ำประชาชนต้องออกแบบเอง

Posted: 27 Sep 2012 09:07 AM PDT

กรมชลประทานชี้แจงโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ชาวบ้านเน้นย้ำขอมีส่วนร่วมออกแบบการพัฒนาลำพะเนียงด้วยตนเอง

 
 
วันนี้ (27 ก.ย. 55) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมณัฐพงษ์ 1 โรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กรมชลประทาน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอลซัลแตนท์ จำกัด จัดเวทีชี้แจงปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังชี้แจงและแลกเปลี่ยนซักถาม ประมาณ 200 คน
 
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ประคองศรี ที่ปรึกษาโครงการได้ให้ข้อมูลว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ที่ทางกรมชลประทานร่วมกับ บริษัทพรีฯ จะทำการศึกษานั้น เพื่อต้องการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งใน จ.หนองบัวลำภู อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ตั้งแต่การจัดทำแผน การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การออกแบบรายละเอียดการปรับปรุงขยายลำน้ำพะเนียง การประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเวทีต่อไปจะตระเวนชี้แจงโครงการกับประชาชนทั้ง 6 อำเภอ ของ จ.หนองบัวลำภู เพื่อรับฟังความคิดเห็น
 
 
"เราต้องการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลำน้ำพะเนียงอย่างจริงจัง และสานต่อโครงการที่ผ่านมาที่ยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรม เช่น โครงการโขง เลยชีมูล โครงการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ โดยต้องการให้เกษตรกรได้ใช้น้ำจริงๆ จากระบบชลประทานที่มีอยู่ และจะชี้แจงโครงการและฟังความคิดเห็นในทุกๆ อำเภอ" รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าว
 
ด้านนายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ได้ให้ความเห็นว่า การจะศึกษาการพัฒนาลำน้ำพะเนียงนั้น ต้องศึกษาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาขุดลอกขยายครั้งที่แล้วก่อน ทั้งการพังทลายของหน้าดินริมตลิ่ง เกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำได้เนื่องจากคันดินที่สูงเกือบ 2-3 เมตร ที่ถูกขุดขึ้นมาขวางทางใช้น้ำ อีกทั้งยังขวางทางระบายน้ำที่จะไหลลงลำน้ำสาขา จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและยาวนานยิ่งไปอีก การพัฒนาลำพะเนียงจะต้องถูกออกแบบโดยชาวบ้าน และให้เหมาะสมตามระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ผ่านรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน
 
"การพัฒนาหรือเพิ่มเติมอะไร ต้องแก้ไขปัญหาผลกระทบเดิมก่อน ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการขุดลอกครั้งก่อนตอนนี้ก็ยังเดือดร้อนอยู่ ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยให้ประชาชนได้ร่วมจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำของตัวเองเลย คิดเอง ทำเองหมด ปัญหาถึงได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาประชาชนต้องจัดการทรัพยากรด้วยตัวเองแล้ว เพราะชาวบ้านเองจะรู้จักพื้นที่ดีที่สุด" นายวิเชียรกล่าว 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "คอป. 65 ล้าน"

Posted: 27 Sep 2012 08:11 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "คอป. 65 ล้าน"

ศาลชั้นต้นสั่งจ่าย 1.9 ล้าน ให้แม่ผู้เสียชีวิตจากรถร่วม บขส.ยางระเบิดตกร่องกลางถนน

Posted: 27 Sep 2012 07:26 AM PDT

แม่ผู้เสียชีวิตดีใจศาลให้ความเป็นธรรม เผยกฎหมายผู้บริโภคใช้ระยะเวลาดำเนินการ 7 เดือน ไม่นานอย่างที่คิด เผยขอเป็นอุทธาหรณ์ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง ตรวจสอบสภาพรถโดยสารให้พร้อมก่อนใช้ 

 
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นได้มีพิพากษาคดีบัณฑิตยสาวคณะสาธารณสุขศาสตร์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต จากการโดยสารรถประจำทางร่วม บขส.สาย นครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ พลิกคว่ำโดยมีสาเหตุมาจากยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด จนไม่สามารถควบคุมรถได้ เสียหลักตกท้องร่องกลางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ให้คนขับรถโดยสาร,เจ้าของรถ และ บขส. ชดเชยเงิน 1.9 ล้าน ให้กับมารดาผู้เสียชีวิต
 
คดีนี้ นางปุ่น ชุ่มพระ แม่ของ นางสาวภัทราพร ชุ่มพระ บัณฑิตยเกียรตินิยม จากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทองใบ ศรีโนรักษ์ คนขับรถร่วม บขส. บริษัทประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส.และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยฐานผิดสัญญารับส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 
 
จากกรณีที่นางสาวภัทราพร ชุ่มพระ ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) ของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทาง สาย นครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายได้เกิดระเบิดขึ้น จึงทำให้คนขับไม่สามารถบังคับรถได้ เสียหลักตกลงตกลงไปในร่องกลางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก 
 
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ในคดีอาญานายทองใบ ศรีโนรักษ์ ให้การรับสารภาพ และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลย ขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ ตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัยควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ 
 
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1,3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบพิพากษาให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ร่วมกันจำนวน 1,370,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 240,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 จนถึงวันพิพากษา และให้ร่วมจ่าย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ จำเลยที่ 1,3 และ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 10,000 บาทให้แก่โจทก์ด้วย รวม เป็นเงิน 1,621,080 บาท 
 
โดยก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ทางบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 5 ได้ตกลงยินยอมจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 350,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ โจทก์จึงถอนฟ้องไปก่อน ส่วนด้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ของ บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าปลงศพให้เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท หลังเกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจำเลยไม่ได้มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด 
 
แม่ของนางสาวภัทราพร กล่าวว่า ดีใจที่ศาลให้ความเป็นธรรม และระยะเวลาก็รวดเร็วไม่นานอย่างที่ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการบางแห่ง ที่ได้บอกกับตนไว้ก่อนยื่นฟ้อง ว่าต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี และก็อาจจะไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆอีกด้วย แต่หลังจากที่ตัดสินใจดำเนินการฟ้องร้องก็พบว่า กฎหมายผู้บริโภคใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 7 เดือนเท่านั้น ก็มีคำพิพากษาแล้ว
 
"แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา และจะไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย ขอให้เป็นอุทธาหรณ์ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถ ก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันเองก็มีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้ เพราะลูกคือความหวังของชีวิต" นางปุ่น กล่าว 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘แอมเนสตี้’ เผยการประหารชีวิต 2 นักโทษในญี่ปุ่น ก่อความกลัวต่อกระแสการแขวนคอรอบใหม่

Posted: 27 Sep 2012 05:18 AM PDT

แถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ มีผู้หญิงคนแรกที่ถูกประหารในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เผยยังมีนักโทษในแดนประหารญี่ปุ่นอยู่อีก 130 คน

 
 
วันนี้ (27 ก.ย.55) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ "การประหารชีวิตนักโทษ 2 คนในญี่ปุ่นทำให้เกิดความกลัวต่อกระแสการแขวนคอรอบใหม่" ระบุ ความกลัวว่าจะมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นเกิดขึ้น หลังจากทางการได้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอนักโทษสองคนวันนี้ โดยนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกประหารในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
 
ซาชิโกะ เอโตะ (Sachiko Eto) 65 ปี และยูกิโนริ มัตสุดะ (Yukinori Matsuda) 39 ปี ถูกแขวนคอเมื่อเช้านี้ที่ศูนย์กักตัวบุคคลฟูกูโอกะและเซนไดตามลำดับ เอโตะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกประหารชีวิตในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
 
"การประหารชีวิตซาชิโกะ เอโตะเป็นการสังหารชีวิตของบุคคลโดยรัฐญี่ปุ่นที่มีการวางแผนล่วงหน้าและเลือดเย็น" โรซีน ไรฟ์ (Roseann Rife) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
การประท้วงการใช้โทษประหารมีกำหนดเริ่มขึ้นในตอนค่ำวันนี้ด้านนอกกระทรวงยุติธรรมที่กรุงโตเกียว
 
การแขวนคอครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นประหารชีวิตนักโทษเจ็ดคนแล้วในปีนี้ ในปี 2554 ไม่มีการประหารชีวิตนักโทษในญี่ปุ่นเลย
 
ยังมีนักโทษในแดนประหารญี่ปุ่นอยู่อีก 130 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่า นักโทษเหล่านี้ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการประหารชีวิตในเร็วๆ นี้
 
มากาโตะ ทากิ (Makoto Taki) รัฐมนตรียุติธรรมญี่ปุ่นสนับสนุนการใช้โทษประหาร และตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมาได้ 4 เดือน เขาอนุมัติให้มีการประหารชีวิตไปแล้ว 4 ครั้ง โดยการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2555 เป็นการแขวนคอนักโทษชาย 2 คน
 
ทั้งนี้ ในระหว่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรค Democratic Party of Japan ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนระดับชาติเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต
 
"การประหารชีวิตครั้งล่าสุดเป็นการละเมิดคำสัญญาของพรรค DPJ เอง ที่จะจัดให้มีการอภิปรายระดับชาติเพื่อหาทางยกเลิกโทษประหารชีวิต จำเป็นต้องมีการอภิปรายเช่นนี้ และรัฐบาลควรกำหนดข้อตกลงเพื่อยุติการประหารชีวิตชั่วคราว" โรซีน ไรฟ์กล่าว
 
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มน้อยที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่มากกว่าสองในสามของประเทศต่างๆ ในโลกยกเลิกโทษประหารทั้งในทางปฏิบัติและในทางกฎหมาย
 
มัตสุดะถูกศาลแขวงกุมาโนโตะลงโทษประหารชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2549 ในข้อหาฆ่าผู้อื่นตาย 2 คน ไม่มีการอุทธรณ์คดีนี้ทั้งที่เป็นเงื่อนไขตามกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดคำถามว่าได้มีการปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
 
เอโตะได้ถูกลงโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2545 ในข้อหาฆ่าคนตายและฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา
 
ญี่ปุ่นประหารชีวิตนักโทษด้วยการแขวนคอ และมักทำกันเป็นความลับ ปรกติแล้วนักโทษจะได้รับแจ้งล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง บางคนไม่ได้รับแจ้งก่อนเลยด้วยซ้ำ ครอบครัวมักทราบข่าวหลังจากมีการประหารชีวิตไปแล้ว
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารชีวิตในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าพฤติการณ์ของความผิดจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีลักษณะแบบใด หรือไม่ว่าจะเป็นการประหารชีวิตด้วยวิธีการใด
 
โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอด และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากที่สุด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 6 เดือน รอลงอาญา จตุพรหมิ่นอภิสิทธิ์ สั่งฆ่าประชาชน - ยกฟ้องคดีกล่าวหาหนีทหาร

Posted: 27 Sep 2012 01:31 AM PDT

(27 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท อ.1008/53 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค.53 ระบุความผิดสรุปว่า
      
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.- 15 ก.พ.2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กล่าวปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับฟังและชมโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ที่มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทำนองว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ
      
การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังว่า โจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดเหี้ยม สั่งฆ่าประชาชน หนีทหาร เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326, 332
      
คดีนี้หลังจากศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ
      
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าที่จำเลยกล่าวปราศรัย เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2553 ทำนองว่า นายอภิสิทธิ์จะขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องถูกดำเนินคดีหนีทหาร ใช้เอกสารเท็จสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.นั้นเมื่อบุคคลทั่วไปรับฟังย่อมเข้าใจและรู้สึกว่าโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงและจงใจหนีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน โจทก์จึงไม่มีความน่าเชื่อถือศรัทธาไม่มีความเหมาะสมสง่างามที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยจำเลยย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่า การกล่าวปราศรัยนั้นจะกระทบชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ ข้อความที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

แต่มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำดังกล่าว จำเลยได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมตามวิสัยของประชาชนที่จะกระทำได้หรือไม่เห็นว่า ตามที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลย ฟังได้เพียงว่า โจทก์เป็นนักศึกษาในความดูแลของ ก.พ. โดย ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการผ่อนผันให้โจทก์โดยมีแบบหนังสือผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร (สด.41) แต่โจทก์ไม่มีหนังสือผ่อนผันดังกล่าวมาแสดงประกอบ

ส่วนที่โจทก์ตอบคำถามค้านอีกว่าโจทก์เคยแสดงเอกสารเกี่ยวกับการผ่อนผันเป็นบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ไปศึกษาต่างประเทศซึ่งได้ยกเว้นหรือผ่อนผัน (สด.20) ต่อประธานรัฐสภา เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวพบว่ามีชื่อโจทก์อยู่ลำดับที่ 3 ระบุว่าได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2529 เพื่อไปศึกษายังประเทศอังกฤษระหว่างปี 2530-32 แต่เอกสารดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือผ่อนผันการตรวจฯที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหนังสือผ่อนผันฯที่ถูกต้องจะต้องเป็น สด.41 ที่ลงนามโดย รมว.มหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นในส่วนที่โจทก์ไม่ไปตรวจเลือกเข้ารับเกณฑ์ทหารโดยอ้างว่าได้รับการผ่อนผันจึงยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยพอสมควร ส่วนที่โจทก์สมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. โจทก์เบิกความว่าไม่เคยใช้เอกสารเท็จในการสมัครเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีเอกสารพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน

ซึ่งขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นบุคคลสาธารณะย่อมตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติรวมถึงประวัติชีวิตความเป็นมาตามสมควรเพราะเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจ ส่วนจำเลยเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน จึงเป็นปกติที่จำเลยจะต้องตรวจสอบเรื่องราวฝ่ายรัฐบาลและตัวโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิจะตรวจสอบแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะหากเป็นไปตามที่จำเลยปราศรัยย่อมแสดงว่าโจทก์จงใจประพฤติตนฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส.และนายกรัฐมนตรีได้ จำเลยซึ่งมีสิทธิวิจารณ์เรื่องของโจทก์ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยสร้างขึ้นมาเอง โดยจำเลยได้ตั้งคำถามต่อโจทก์ก่อนจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่โจทก์กลับไม่ได้ชี้แจง จึงแสดงให้เห็นเจตนาจำเลยชัดเจนว่าจะตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว แม้โจทก์อาจจะได้รับการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารและไม่ได้ใช้เอกสารเท็จใดๆ ในการสมัครเข้าเป็นอาจารย์ แต่เอกสารที่เกี่ยวข้องมีพิรุธน่าสงสัยหลายประการและยังไม่ปรากฏว่าเอกสารที่จำเลยนำมาอ้างนั้นโจทก์ได้โต้แย้งว่าเป็นเอกสารปลอมหรือเท็จ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงมีเหตุตามสมควรที่ทำให้จำเลยมีความสงสัยและเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยปราศรัย การกระทำนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อาญา ม.329 (1) (3)

ส่วนที่จำเลยกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2553 ทำนองว่าโจทก์เป็นประธานนั่งประชุมวางแผนล้อมปราบประชาชน วางแผนสั่งปราบปรามประชาชนนั้นเห็นว่า การกล่าวปราศรัยดังกล่าวทำให้คนเสื้อแดงอาจมีความคิดคล้อยตามไปได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวจริงซึ่งจะทำให้บุคคลทั่วไปรู้สึกว่าโจทก์จิตใจโหดเหี้ยม อำมหิต เจ้าเล่ห์เพทุบายจนรู้สึกเกลียดชังโจทก์ ขณะที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างเพียงลอยๆ ไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุนว่าโจทก์กับพวกรวมประชุมวางแผนปราบปรามประชาชน ซึ่งแม้โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การกล่าวถ้อยคำของจำเลยเป็นการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงโดยไม่มีมูลความจริงใดๆ และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกล่าวหาและใส่ร้ายโจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการปราศรัยเพื่อยั่วยุปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชังในตัวโจทก์ ซึ่งจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่จำเลยปราศรัยเป็นความจริง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า ให้จำคุกจำเลย 6 เดือนและปรับ 50,000 บาท ตาม ม.328 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยโฆษณาลงคำพิพากษาใน นสพ.มติชนและเดลินิวส์เป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

ภายหลัง นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความนายอภิสิทธิ์ โจทก์ กล่าวว่า กรณีที่นายจตุพร กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ หนีทหารนั้น มีความชัดเจนว่าในคำพิพากษาของศาลที่ไม่ได้ระบุว่านายอภิสิทธิ์หนีทหาร หรือใช้เอกสารปลอมหรือเอกสารเท็จ เพียงแต่ระบุว่าเอกสารบางส่วนนั้นมีข้อพิรุธ ซึ่งตนเตรียมหารือกับนายอภิสิทธิ์ เพื่อยื่นอุทธรณ์ประเด็นนี้แน่นอน และหากจะมีผู้ใดนำคำพิพากษาในส่วนนี้ไปใช้ในประเด็นการเมืองก็ขอย้ำว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ส่วนกรณีที่นายจตุพรได้กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ วางแผนสั่งฆ่าประชาชนนั้นก็ชัดเจนว่าในคำพิพากษาระบุว่าการพูดลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการปลุกปั่น ยุยง ซึ่งคำกล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ศาลจึงได้พิพากษาจำคุกนายจตุพร

ด้านนายจตุพร แกนนำ นปช.กล่าวว่า จากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษามานี้ หลังจากนี้จะระวังถ้อยคำและการปราศรัย

เมื่อถามถึงกรณีนายเทพพนม นามลี ประธานคณะกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตย หรือแดงสุรินทร์ ยื่นเรื่องให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย หลังจากคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.) มีมติไล่ออกกรณีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่นายยงยุทธ ยังไม่ยอมลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลุ่มแดงสุรินทร์ เกรงว่าหากนายยงยุทธ ยังทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ในฐานะหัวหน้าพรรค อาจมีคนนำผลการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร้องต่อ กกต.เพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทยนั้น

นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้จักกับนายเทพพนมแต่อย่างใด อีกทั้งนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ในฐานะประธาน นปช.ก็ไม่เคยแต่งตั้งให้มีแกนนำแดงสุรินทร์ ตามที่นายเทพพนม กล่าวอ้าง จึงไม่ทราบว่าการออกมาเรียกร้องดังกล่าวนั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร พร้อมยืนยันว่า นายยงยุทธ สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ดี และทำประโยชน์ให้กับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด

ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร จำเลย กล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์คดีในส่วนที่ศาลพิพากษาจำเลยกระทำผิดหมิ่นนายอภิสิทธิ์ สำหรับประเด็นการหนีทหารหากจะมีการนำประเด็นนี้ไปตรวจสอบอีกครั้งในส่วนคำพิพากษาคดีนี้อาจจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการตรวจสอบการเกณฑ์ทหารของกระทรวงกลาโหมจะพิจารณาจากเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ในการรับเลือกและการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร

 

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกอัครราชทูตจีนส่งสาสน์เนื่องโอกาส 62 ปี ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

Posted: 27 Sep 2012 12:28 AM PDT

นายก่วน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ส่งสาสน์ในวันชาติจีน ระบุแม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงแต่รัฐบาลจีนพยายามรับมืออย่างสุขุมเย็นใจและช่วงชิงรุดหน้าอย่างแข็งขัน จะร่วมมือกับประเทศรอบข้างอย่างเป็นมิตรและเป็นเพื่อนบ้านที่ดี พร้อมสานสัมพันธ์ไทย-จีนชั่วลูกชั่วหลาน

หมายเหตุ: ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำเทศไทย วันนี้ (27 ก.ย.) นายก่วนมู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ส่งสาสน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 62 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ โดยในช่วงวันชาติทางการจีนจะประกาศให้เป็นวันหยุด 7 วัน ส่วนสถานทูตจีนในประเทศไทยมีการประกาศแจ้งปิดทำการ 30 ก.ย. - 7 ต.ค. โดยสาสน์อวยพรของนายก่วน มู่ ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

 

คำอวยพรของฯพณฯ ก่วนมู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

ในวารดิถีครบรอบ 62 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนนี้ ข้าพเจ้าในนามของรัฐบาลและประชาชนจีน ขอส่งความสุขสวัสดีและความปรารถนาอันดีงามมายังรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ณ โอกาสนี้ด้วย

ปี 2011 เป็นปีแรกที่ดำเนินแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 ของประเทศจีน ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง สถาณการณ์ระหว่างประเทศมีความผันผวนและสลับซับซ้อนมากขึ้น และภายใต้สภาพปรากฏการณ์แห่งปัญหาใหม่ในการดำเนินการของเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น รัฐบาลจีนได้พยายามรับมืออย่างสุขุมเย็นใจและช่วงชิงรุดหน้าอย่างแข็งขัน พร้อมๆกับการดำเนินนโยบายต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ได้เพิ่มมาตรการควบคุมทางมหภาพ พยายามบรรลุซึ่งเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนวีธีการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและประสานเข้ากันจนได้รับความสำเร็จอย่างงดงามในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือในครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งประชาชาติ (GDP) ของประเทศจีนสูงถึง 3.15 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 9.6% ยอดมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสูงถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 25.8% หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ตามที่รัฐบาลจีนได้ตั้งนโยบายเข็มมุ่งนั้น การดำเนินการของเราได้รับการคืบหน้าที่สำคัญและมีประสิธิผลเพิ่มมากขึ้นในหลายด้าน อทิเช่น ขยายความต้องการภายใน ผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดทั้งการประกันและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างสังคมเป็นแบบประหยัดทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรฯลฯ นับเป็นการเปิดเกมส์ที่ดีเพื่อปูพื้นฐานอย่างมั่งคงหนาแน่นให้แก่การสร้างสรรค์สังคมอยู่ดีกินดีแบบสมบูรณ์

ในขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักดีว่า ปัจจุบัน สถานการณ์โลกยังสลับซับซ้อนและเกิดการผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาของจีนต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากและการท้าทายอีกมาก แต่เรามีความมั่นใจอย่างเต็มที่และความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลจีน ยึดมั่นในนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศ ดำเนินการการพัฒนาตามหลักวิทยาศาสร์และยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนและประสานเข้ากัน เพื่อได้มาซึ่งความสำเร็จใหม่ๆในการพัฒนาประเทศให้เป็นแบบทันสมัย

การพัฒนาของจีนปราศจากโลกไม่ได้ ความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของโลกก็ปราศจากจีนไม่ได้เช่นกัน ประเทศจีนจะยืนหยัดเดินหน้าบนหนทางแห่งสันติภาพและการพัฒนาอย่างแน่วแน่ ยืนหยัดในยุทธศาสตร์เปิดประเทศซึ่งอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันและชนะร่วมกัน มุ่งหมายให้การพัฒนาประเทศที่เป็นแบบเปิดกว้าง ร่วมมือและสันติภาพ จีนมีข้อคิดเห็นว่าประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ ควรที่จะเคารพซึ่งกันและกัน เพิ่มพูนความเชื่อถือต่อกัน และร่วมมือกับประเทศรอบข้างอย่างเป็นมิตรและเพื่อนบ้านที่ดี ในรอบ 20 ปีที่ประเทศจีนได้สร้างความสัมพันธ์เป็นคู่เจรจากับอาเซียนนั้น ความร่วมมือฉันมิตรระหว่าสองฝ่ายในปริมณฑลต่างๅได้พัฒนาขยายตัวอย่างราบรื่น ความเชื่อถือทางการเมืองเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ การประสานและร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากขึ้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าได้รับผลอย่างเด่นชัด การแลกเปลี่ยนทางบุคลากรก็ได้เพิ่มมากขึ้น ปีนี้ จีนกับอาเซียนได้วางแผนจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ เพื่อหวลระลึกถึงอดีตและมองไปในอนาคตที่แจ่มใส

ในรอบปี 2011 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยได้รับการพัฒนาเป็นก้าวใหญ่ สองประเทศได้รักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีของการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าพัฒนาอย่างคึกคัก กล่าวคือ นับจากเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ยอดมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับไทยสูงถึง 4,3170 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 27.9% พร้อมกันนี้ใน 8 เดือนแรกปีนี้ จำนวนนักเดินทางชาวจีนที่เข้ามาในประเทศไทยสูงถึง 1.15 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนของปีที่แล้วทั้งปี ขณะเดียวกันจำนวนคนไทยที่เดินทางไปประเทศจีนในช่วงเวลาเดียวกันก็นับได้ 3.3 แสนคน ทั้งนี้เป็นผลยิ่งทำให้คำขวัญที่ว่า "จีนไทยไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน" นั้นได้ฝังรากลงในจิตใจของประชาชนทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มแรงขับเคลื่นใหม่ๆ ให้แก่ความสัมพันร์ระหว่างทั้งสองประเทศนั้นได้รับการพัฒนาต่อเนื่องไปด้วยดี ซึ่งอยู่บนพื้นฐานแห่งเสมอภาพ มิตรภาพและการเอื้อประโยชน์ต่อกัน เรามีเหตุผลเชื่อมั่นว่า ภายใต้ความพยายามร่วมกันของรัฐบาลและประชาชนทั้งสองประเทศสัมพันธไมตรีระหว่างจีน-ไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณการณ์จะได้พัฒนาอย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น มิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศจะได้สืบสายต่อทอดชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป

สุดท้ายนี้ ขออำนวยพรให้ประเทศจีนและประเทศไทยรุ่งเรืองไพบูลย์ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น