โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กองทัพคะฉิ่นระบุทหารพม่าใช้ปืนใหญ่ยิงใส่หมู่บ้านพลเรือน

Posted: 11 Sep 2012 02:55 PM PDT

สถานการณ์สู้รบในรัฐคะฉิ่นที่ดำเนินมากว่า 1 ปีนั้น ล่าสุดมีรายงานว่าทหารพม่าเคลื่อนเข้าใกล้ที่มั่นใหญ่ของฝ่ายกบฎ ในขณะที่การเจรจาสันติภาพระหว่างกองทัพคะฉิ่นและรัฐบาลพม่าสะดุดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ด้านโฆษก UNHCR ระบุเจ้าหน้าที่จีนเริ่มผลักดันผู้ลี้ภัยจากรัฐคะฉิ่นกลับพม่า ทั้งๆ ที่ในพื้นที่ยังมีการสู้รบอยู่

กองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) แถลงว่ากองทัพพม่าได้ใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าใส่พื้นที่ของพลเรือนที่อยู่รายรอบฐานที่มั่นที่เมืองลายซา ของกองทัพ KIA

KIA ระบุว่ากองพันทหารปืนใหญ่ที่ 364 และ 370 ภายใต้กองบัญชาการทหารปืนใหญ่พม่าได้ยิงกระสุนปืนใหญ่ขนาด 105 มม. เข้าใส่ฐานที่มั่นของ KIA ทางตอนเหนือของพม่าตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อน

ลา นาน โฆษกขององค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Organization - KIO) ซึ่งเป็นปีกทางการเมืองของ KIA แถลงว่ากองทัพพม่ายิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านที่ KIA ควบคุมทุกๆ คืน "ทำให้เราประหลาดใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับแผนสันติภาพ"

ลา นาน เปิดเผยด้วยว่า ทหารรัฐบาลพม่าได้เคลื่อนเข้าใกล้ฐานที่มั่นใหญ่ของฝ่ายคะฉิ่น ที่ซึ่งมีพลเรือนชาวคะฉิ่นหลายพันคนหลบภัยอยู่ ทั้งยังไม่มีสัญญาณว่าท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์เช่นนี้จะยุติ ในขณะที่การเจรจาสันติภาพระหว่างผู้นำ KIO และรัฐบาลเองก็ยังคงถูกระงับ

ลา นาน กล่าวด้วยว่า KIO ได้ติดต่อล่าสุดกับผู้แทนพม่าจากเนปิดอว์เมื่อเดือนกรกฎาคม และหลังจากนั้นเป็นต้นมาการสู้รบระหว่างทหารคะฉิ่นกับทหารพม่าก็ทวีความเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีทหารพม่าอย่างน้อย 50 รายเสียชีวิตเนื่องจากเกิดเหตุระเบิดของกระสุนครกเกิดตกใส่อาคารเก็บวัตถุระเบิดและเชื้อเพลิง ที่เขตชารองข่า ในเมืองผาคาน รัฐคะฉิ่น ในขณะที่มีรายงานด้วยว่าขณะนี้รัฐบาลพม่าได้ห้ามไม่ให้ส่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เข้าไปให้ผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่น ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมของทหารคะฉิ่น

วิเวียน ตัน โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำภูมิภาคเอเชีย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอิระวดีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมนี้ ผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นกว่า 5,000 คน ถูกเจ้าหน้าที่จีนบังคับให้อพยพกลับเข้าไปในรัฐคะฉิ่นซึ่งยังมีการสู้รบอยู่ ทั้งนี้ UNHCR ได้ร้องขอทางการจีนให้ยุติการส่งผู้ลี้กลับไปยังรัฐคะฉิ่น

ทั้งนี้ UNHCR ไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นซึ่งอาศัยตามแนวชายแดนจีนได้ แม้จะขออนุญาตจากทางการจีนหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของ UNHCR สามารถเข้าไปในพม่าผ่านทางเมืองลวยเจ (Lwe Je) เพื่อกระจายสิ่งของช่วยเหลือและประเมินความต้องการของผู้อพยพที่ต้องอพยพกลับเข้าพม่า

ทั้งนี้ UNHCR ได้แจกสิ่งของช่วยเหลือ ประกอบด้วย ผืนผ้าใบ ผ้าห่ม มุ้ง ชุดทำครัว และอุปกรณ์อาบน้ำ ให้กับผู้อพยพ 1,200 คน ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) ที่ลวย เจ

สำหรับกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIA ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2537 และได้พื้นที่ปกครองตนเองบริเวณชายแดนรัฐคะฉิ่นติดกับจีน อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปี 2553 หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border guard force - BGF) ตามคำสั่งของกองทัพพม่า และได้เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 เมื่อทหารพม่ามากกว่า 200 นาย ได้ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA และโจมตีฐานของทหารคะฉิ่น โดยจากข้อมูลของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 90,000 คน

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

KIA Claims Howitzer Mortar Shelling on Villages, By SAW YAN NAING / THE IRRAWADDY| September 11, 2012 http://www.irrawaddy.org/?slide=kia-claims-howitzer-mortar-shelling-on-villages

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพครูในชิคาโก้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี

Posted: 11 Sep 2012 10:04 AM PDT

ครูในรัฐชิคาโก้กว่าสองหมื่นคน นัดหยุดงานครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี เพื่อคัดค้านระบบประเมินผลแบบใหม่ที่ผูกกับผลการเรียนของนักเรียน ชี้ทำให้ครูราว 6,000 คนคกงานและมีสภาพการจ้างที่ไม่มั่นคง

11 ก.ย. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเวลาคืนวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา ครูจากสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ราว 26,000 คน ได้นัดหยุดงานและเดินขบวนใจกลางเมืองชิคาโก้ เพื่อคัดค้านการใช้ระบบประเมินผลครูแบบใหม่ ส่งผลให้มีนักเรียนระดับอนุบาลจนถึงมัธยมเกือบ 400,000 คนได้รับผลกระทบ การนัดหยุดงานดังกล่าว นอกจากจะท้าทายนายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก้แล้ว ยังมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งปธน.สหรัฐที่จะถึงในเดือนพ.ย. นี้ด้วย

การนัดหยุดงานครั้งแรกในรอบ 25 ปี ของสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ เกิดขึ้นหลังจากที่การเจรจาระหว่างนายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก้ ราห์ม เอมานูเอลและสหภาพฯ ที่ดำเนินมาหลายเดือน ไม่สามารถหาข้อตกลงได้ โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องการใช้ระบบประเมินคุณภาพครูแบบใหม่ ซึ่งผูกติดกับผลการเรียนของนักเรียนถึงร้อยละ 40 จากเดิมร้อยละ 25 โดยระบบนี้ ครูที่ไม่ปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียน จะถูกให้ออกจากงาน

นอกจากนี้ รัฐบาลกลาง ยังมีโครงการที่อุดหนุนเงินด้านการศึกษาเป็นพิเศษแก่รัฐที่นำระบบดังกล่าว และการปฏิรูประบบการศึกษาอื่นๆ มาใช้ โดยในปัจจุบัน มี 14 รัฐในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบดังกล่าว ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ระบบนี้ทำให้สภาพการจ้างงานในอาชีพไม่มั่นคง

ผู้สนับสนุนสหภาพ ชี้ว่า ระบบการวัดผลที่ดูจากผลการเรียนของนักเรียน เป็นมาตรการที่ไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะครูที่ต้องทำงานในโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนจำนวนมาก อาจทำให้ครูปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียนได้ยากกว่า นอกจากนี้ ทางสหภาพแรงงานยังชี้ด้วยว่า ระบบวัดผลเช่นนี้ อาจทำให้ครูราว 6,000 คนต้องตกงาน

"ประเมินเราจากสิ่งที่เรากระทำ ไม่ใช่จากชีวิตของนักเรียนที่เราควบคุมไม่ได้" คาเรน ลูอิส ประธานสหภาพแรงงานชิคาโก้กล่าวระหว่างแถลงการนัดหยุดงาน

นายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก้ ราห์ม เอมานูเอล อดีตหัวหน้าคณะทำงานทำเนียบขาวของประธานาธิบดีบารัก โอบามา
ระบุว่า ระบบประเมินคุณภาพครูดังกล่าว เป็นไปเพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของเยาวชน และเรียกการชุมนุมว่า "ไม่จำเป็นอย่างที่สุด"

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ข้อพิพาทระหว่างนายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก้กับสหภาพแรงงานครูชิคาโก้ อาจทำให้แรงสนับสนุนของสหภาพแรงงานต่อพรรคเดโมแครตมีน้อยลง ทั้งนี้ นอกจากชิคาโก้จะเป็นบ้านเกิดและฐานเสียงที่สำคัญของประธานาธิบดีโอบามาแล้ว องค์กรแรงงานจำนวนมาก ยังเป็นผู้บริจาคให้แก่คณะทำงานทางการเมืองที่สนับสนุนโอบามา อาทิ สหภาพลูกจ้างภาคบริการนานาชาติ (1.5 ล้านดอลลาร์) สมาคมผู้ควบคุมการจรจรทางอากาศ (1 ล้านดอลลาร์) และสหพันธ์ครูแห่งอเมริกัน (3 แสนดอลลาร์)

ในขณะที่ผู้ชิงแข่งขันประธานาธิบดีจาพรรครีพับลิกัน มิตต์ รอมนีย์ กล่าวตำหนิการนัดหยุดงานของสหภาพครูในชิคาโก้ โดยระบุว่า ครูควรเอาประโยชน์ของนักเรียนมาก่อนของตัวเอง เนื่องจากทักษะต่างๆ และการเรียนรู้ของเยาวชน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคต

ที่มา:

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม.ยื่น 4 ข้อเสนอด้านนโยบาย หวังพัฒนาคุณภาพชีวิต

Posted: 11 Sep 2012 09:45 AM PDT

(11 ก.ย.55) เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม.ยื่น 4 ข้อเสนอด้านนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อ เนื่องในวันสมัชชาแรงงานนอกระบบ ขณะที่ กทม.เตรียมยกระดับแรงงานนอกระบบ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และยกระดับศักยภาพในการทำงานขานรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ในการสัมมนา “สมัชชาแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานคร สุขภาวะแรงงานนอกระบบ รวยกระจุก ทุกข์กระจาย สุขกระจาย รายได้เพิ่ม” ว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีจำนวน 24 ล้านคน หรือร้อยละ 62 ของจำนวนแรงงานทั่วประเทศที่มีประมาณ 39 ล้านคน ให้มีการประกันสุขภาพ และการยกระดับศักยภาพในการทำงาน เช่น การออกบัตรประจำตัวในแต่ละอาชีพ รวมถึงการพัฒนาผู้ขับรถแท็กซี่ เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ประกาศเจตนารมณ์และยื่น 4 ข้อเสนอด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เนื่องในวันสมัชชาแรงงานนอกระบบประกอบด้วย
1.ขอให้สนับสนุนการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพ ด้วยการออกบัตรประจำตัวผู้ประกอบอาชีพเพื่อรับรองสถานภาพ เพื่อความสะดวกต่อการประกอบอาชีพ
2.สนับสนุนและส่งเสริมบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัยอาชีวอนามัยในการทำงาน เช่น การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานให้บริการสาธารณสุขให้มีทักษะในการคัดเกิดโรคที่เกิดจากการทำงานให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขและผู้นำแรงงานนอกระบบให้เป็นอาสาสมัครอาชีวอนามัยชุมชน
3.เร่งประสานความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร
4.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการจัดการอาชีพ เพื่อการเข้าถึงการมีรายได้ เช่น จัดสรรโควตาการจัดซื้อจัดจ้างชุดนักเรียน ให้กับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: "จำปาลาว:ลั่นทม" บทสนทนา:ทุนกับสังคมนิยม

Posted: 11 Sep 2012 09:21 AM PDT

 

เธอบอกว่าเธอชอบดอกจำปาลาว
เธอหลงไหลในกลิ่น และรูปลักษณ์ หอม สวยงาม
งั้นไปหาบนหลุมฝังศพไหม....
ใช่ มันคือ ดอกลั่นทม เธอบอกเธอกลัว

โอ แม่เจ้าดอกไม้ เธอบอกเธอคือคนของทุนนิยม
ชอบสินค้าแบรนด์เนม พักโรงแรมหรู กินกาแฟนอก
ฉันบอก ฉันคือคนของสังคมนิยม ติดดิน คลุกฝุ่น
อะไรก็ได้ที่ง่ายๆ กิน นอน ดำรงอยู่....

เธอหาว่า ฉันปฏิเสธทุน..ทั้งที่อยู่กับเทคโนโลยี
หัดเปิดกะโหลกมองโลกบ้าง...
งั้นฉันจะดักตีหัวพวกทุนนิยม ฉันหยอกเธอเล่น
ฉันก็ชอบตบกับพวกสังคมนิยมจัด เธอโต้ตอบ

ถึงเป็นทุนก็เป็นทุนเห็นหัวชาวบ้าน เธอบอก
ฉันก็บอกเธอถึงจะสังคมนิยม ก็หาได้ปฏิเสธทุน
แค่ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีตัวตนอยู่ในสังคมนี้
อย่าให้พวกเขาเอาแต่กดขี่ ข่มเหง รังแก

ดอกไม้พร้อมออกจากกระถางหรือยัง
ออกไปสู่ทุ่งกว้าง เป็นมิตรกับหนอน ใช่สารเคมี
ออกจากกรอบและระบบวิถี สู่ธรรมชาติ
"มีขี้วัวไหม" เธอถาม ....

 

ที่มาภาพ: Palm Phakwalan

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ “เรื่องต่อไปนี้ ผมพูดกับขบวนการต่อสู้แห่งปาตานี”

Posted: 11 Sep 2012 09:16 AM PDT

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักรัฐศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสันติภาพ ร่วมอภิปรายในงานสนทนาพิเศษ “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน” เมื่อ 7 กันยายน 2555 ได้ประมวลความเห็นและข้อเสนอโดยตรงถึงขบวนการต่อสู้ปาตานีเป็นภาษาอังกฤษ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) แปลคำอภิปรายเป็นภาษาไทย

0 0 0

ผู้จัดได้ขอให้ผมพูดเรื่องกระบวนการสันติภาพ ปกติผมไม่ค่อยจะตามใจผู้จัด ฉะนั้น สิ่งที่ผมจะทำ คือการ “ทำ” กระบวนการสันติภาพ ประเด็นที่สอง ผมคิดว่า ผู้ที่เป็นผู้ฟังหลักของผมอาจจะไม่ได้อยู่ในห้องนี้ เพราะว่าผมต้องการที่จะพูดกับขบวนการต่อสู้แห่งปาตานี ฉะนั้น กลุ่มผู้ฟังหลักของผมคือกลุ่มขบวนการ

ผมจะพูดถึง 4 คำ คำแรกคือ ปัญหา คำที่สองคือ สมมติฐาน คำที่สามคือ คำถาม และคำสุดท้ายคือ ความรู้

จะขอเริ่มต้นด้วย ‘ปัญหา’ เรามีปัญหาอยู่ 2 ประเภท คือปัญหาของรัฐไทยและปัญหาของฝ่ายขบวนการ ปัญหาของรัฐไทยได้มีการพูดถึงมากและมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นในงานของศ.ดร. ดันแคน แมคคาร์โก ในหนังสือของเขา เรื่อง “Tearing Apart the Land” หรือ “ฉีกแผ่นดิน” ซึ่งสำนักพิมพ์คบไฟกำลังจัดพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทย

ในความเข้าใจของผม ประเด็นเรื่องภาคใต้นี้ รัฐไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่เขา [ศ.แม็คคาร์โก] และผมเรียกว่า “โรคความชอบธรรมบกพร่อง” ไม่มีหนทางอื่นที่จะออกจากตรงนี้ได้ จะต้องจัดการกับปัญหา นั่นคือปัญหาของรัฐไทย เป็นโรคที่รัฐไทยได้เผชิญ แต่ปัญหาของฝ่ายขบวนการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าพวกเขากำลังเผชิญกับ “สภาวะตาบอด” ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ความรุนแรง การตาบอดนี้เป็นเพราะเครื่องมือที่ใช้ ก็คือความรุนแรง

ผลก็คือ มีคนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,000 คน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นฝีมือของขบวนการ เรายังคงจะต้องหาว่า มีจำนวนเท่าไหร่ที่เสียชีวิตจากการกระทำของขบวนการ จำนวนเท่าไหร่เสียชีวิตจากฝีมือของรัฐไทยหรือทหารพราน หรือว่าเกิดจากอาชญากรรมปกติ นี่คือปัญหาสองด้าน

สำหรับ ‘สมมติฐาน’ ผมมีสมมุติฐานเกี่ยวกับขบวนการดังนี้

หนึ่ง ผมคิดว่าขบวนการเป็นคนที่มีเหตุมีผล พวกเขาไม่ใช่คนที่เสียสติ ถ้าพวกเขาเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลหรือเสียสติ ผมจะไม่เสียเวลาพูดกับพวกเขา

สอง การใช้ความรุนแรงของพวกเขาเป็นสิ่งที่อธิบายได้ เพราะว่ามันเป็นเครื่องมือ และพวกเขาก็ใช้มันในฐานะเครื่องมือ

สาม จากมุมของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต่อสู้ สามารถมองได้ว่ามีความชอบธรรม ผมพูดว่า จากมุมของพวกเขา แต่จากมุมของคนอื่น แน่นอน มันไม่ชอบธรรม นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า เรากำลังมีปัญหาเรื่องทัศนคติที่แตกต่างกัน เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่ ศ.ดร.แมคคาร์โกพูดเกี่ยวกับเรื่องของความจริง และเรากำลังประสบกับปัญหาเดียวกัน

สี่ ผมไม่คิดว่ากลุ่มขบวนการเป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกัน ผมคิดว่าพวกเขามีความหลากหลาย ผมคิดว่าพวกเขาเองก็มีสภาวะที่แตกเป็นกลุ่มเล็กๆ และมีความแตกต่างกันในระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง ซึ่งประเด็นนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของปัตตานีเท่านั้น ผมคิดว่าที่อื่นๆ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

สุดท้าย ผมคิดว่าขบวนการและการต่อสู้ของพวกเขานั้น ได้รับอิทธิพลจากความขัดแย้งใหญ่ในโลก เราสามารถที่จะวางการต่อสู้ของพวกเขาในบริบทของโลกได้ ถ้าเรามองย้อนกลับไป 40-50 ปี เราสามารถที่จะพูดถึงบริบทของขบวนการชาตินิยมต่อสู้เพื่อเอกราชเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว เราหมุนเวลาผ่านไป 30 ปี ก็จะเป็นช่วงของการปฏิวัติอิสลาม อีก 20 ปีต่อมา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอีกในโลก  และเมื่อปีที่แล้ว เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศอาหรับที่เรียกกันว่า Arab Spring จะเห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก

ซึ่งผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลต่อความขัดแย้งในระดับท้องถิ่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประเด็นในระดับท้องถิ่นนี้ สามารถที่จะวางไว้ในบริบทที่กว้างกว่าได้เช่นกัน ซึ่งในบางส่วนก็มีการใช้การก่อการร้ายด้วย

สำหรับ ‘คำถาม’ คำถามที่ผมต้องการจะถามสมาชิกขบวนการที่เป็นทั้งสุภาพบุรุษและสตรีคือ เราจะช่วยขบวนการได้อย่างไร เพื่อที่ว่าพวกเขาจะไม่เห็นว่าความรุนแรงมีความจำเป็นอีกต่อไป

เมื่อวานนี้ (6 กันยายน 2555) ในการพูดของผม ผมพูดนิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องการใช้ความรุนแรง ซึ่งกล่าวโดยย่อ ผมบอกว่าความรุนแรงนั้นทำลายอำนาจ ศ.ดร.แมคคาร์โก ขอให้ผมอธิบาย ซึ่งผมก็พูดอะไรบางอย่าง แต่อาจจะไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลมากนัก และผมจะลองอีกที

ถ้าหากว่าคุณต้องการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงและอำนาจ ลองพยายามเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการข่มขืนกับการมีความสัมพันธ์ทางเพศ (sexuality) การข่มขืนฆ่ากับการทำลายความสัมพันธ์ทางเพศ ในความสัมพันธ์ทางเพศ คุณมีความรัก คุณมีความเข้าใจ คุณมีความใกล้ชิดสนิทสนม แต่ว่าเมื่อเกิดการข่มขืนเกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็หายไปหมด นั่นเป็นจุดจบของความสัมพันธ์ทางเพศ

ในลักษณะเดียวกัน เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้น อำนาจก็มลายหายไป ดังนั้น การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อคุณรู้สึกว่า คุณไม่มีอำนาจ นั่นคือความจริงพื้นฐานที่นักรัฐศาสตร์ในโลกส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย พวกเขาสามารถที่จะถกเถียงอภิปรายเรื่องนี้ได้ตลอดเวลา

ทีนี้ ผลก็คือ ขบวนการจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในหลายๆ เรื่อง อย่างน้อย 3 ประเด็น ผมคิดว่า วาระทางการเมืองของพวกเขา ควรได้ริเริ่มและสร้างอย่างรอบคอบในพื้นที่สาธารณชน ทั้งในบริบทของท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งบางทีพวกเขาอาจจะต้องการความช่วยเหลือ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

สอง พวกเขาต้องเข้าใจผลกระทบของการใช้ความรุนแรงต่อสิ่งที่พวกเขาต้องการต่อสู้อย่างเป็นจริงมากขึ้น สาม พวกเขาต้องคิดถึงความเป็นไปได้ของการใช้สันติวิธีแทนความรุนแรง

มีงานศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธในโลกนี้มากมายหลากหลาย บางชิ้นก็ศึกษากลุ่มติดอาวุธ 60 กลุ่มใน 4 ทวีป งานเหล่านี้ต่างก็ได้ข้อสรุปเดียวกัน ซึ่งผมอยากจะอ่านอะไรบางอย่างให้ฟัง ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า นี่ไม่ใช่สำหรับพวกคุณที่อยู่ในห้องนี้ แต่ (อ่าน) สำหรับขบวนการ

นี่เป็นคำพูดของนายมูเซเนวี ซึ่งเป็นหัวหน้าของกองทัพต่อต้าน (Resistance Army) ในประเทศอูกานดา บุคคลคนนี้มีความสำคัญ และเขากล่าวสิ่งนี้ เขากล่าวว่า พวกคุณจะต้องไม่ทำงานผิดพลาด ดังนั้น เวลาที่คุณเลือกเป้าหมาย คุณต้องเลือกเป้าหมายอย่างรอบคอบ

“สิ่งแรก คุณจะต้องไม่โจมตีคนที่ไม่ติดอาวุธ ต้องไม่ทำ...ไม่ทำ...ไม่ทำ...เด็ดขาด นี่คือคำแนะนำ ไม่ใช่จากบุคคลที่เป็นนักศีลธรรม แต่มาจากหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธ”

นายมูเซเนวีมีความสำคัญเพราะว่าหลายปีต่อมาเขาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอูกานดา

เรื่องราวนี้อยู่ที่ไหน มันอยู่ในวารสารที่ชื่อว่า Military Review ซึ่งเป็นวารสารด้านการทหาร มีงานศึกษาต่างๆ มากมายที่พวกคุณควรจะทำความเข้าใจ มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะเข้าใจเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง อาจารย์อะหมัดสมบูรณ์ (บัวหลวง) พูดว่า มีการพูดคุยมากมายเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรงและสันติภาพ แต่ผมคิดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้อีกมากว่า มันทำงานอย่างไร และมันคืออะไรกันแน่

ผมจะขอยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง มีบทสัมภาษณ์ในประเทศตูนีเซีย อาจกล่าวได้ว่า ตูนีเซียเป็นกรณีที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด Arab Spring และมันเกิดขึ้นอย่างสันติวิธีและประสบความสำเร็จ

นักข่าวได้ไปถามหนึ่งในแกนนำการเคลื่อนไหวว่า พวกเขาได้ต่อสู้กับรัฐมานาน ถ้าหากว่าพวกเขามีปืน จะเกิดอะไรขึ้น นักเคลื่อนไหวคนนั้นตอบโดยไม่ลังเลว่า ผู้คนเป็นเรือนพันจะต้องตาย หากว่าประชาชนมีปืน สำหรับพวกเขา การริเริ่มใช้ความรุนแรง ก็คือจุดจบของอำนาจประชาชน นั่นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของตูนีเซียและอาจจะอียิปต์ด้วย

ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย เมื่อมหาอำนาจเข้าไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน การปะทะด้วยความรุนแรงยังไม่หยุด แม้กระทั่งในเวลาที่ผมกำลังพูดอยู่นี้

อีกอย่างหนึ่งที่พวกคุณจะต้องเข้าใจคือ คุณควรจะดูถึงความสำเร็จของกระบวนการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 - 2006 เปรียบเทียบกับการต่อสู้ด้วยความรุนแรง คุณจะเห็นว่าความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยความรุนแรงลดลงจาก 40 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่า ในช่วงทศวรรษ 1960 ความสำเร็จนั้นสูงสำหรับการใช้ความรุนแรง แต่ในช่วงปี 2006 มันได้ลดลง

เมื่อคุณมองดูความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี มันเพิ่มขึ้นจาก 40 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์   กราฟของผมง่ายมาก ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยรุนแรงลดลงจาก 40 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงในโลกเพิ่มขึ้นจาก 40 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นที่สองที่คุณจะต้องรู้คือ เราควรที่จะตั้งคำถามว่า เราควรจะใช้ความรุนแรงต่อไปไหม แล้วเราจะได้อะไร ผมขอพูดสิ่งนี้ว่า 5 ปีหลังจากการต่อสู้ด้วยความรุนแรงจบ โอกาสที่สังคมนั้นจะเป็นประชาธิปไตยมีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้สันติวิธี โอกาสมี 41 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น 5 ปีหลังความขัดแย้งจบลง เราก็คงจะไม่ได้เห็นประชาธิปไตย คุณจะมีโอกาสเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ โอกาสของคุณจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า หากว่าคุณใช้สันติวิธี

ประเด็นสุดท้าย โอกาสของการเผชิญกับสภาวะสงครามกลางเมืองเมื่อความขัดแย้งจบลง

10 ปีหลังจากความขัดแย้งจบลง โอกาสในการเกิดสงครามกลางเมืองคือ 43 เปอร์เซ็นต์ หากว่าคุณใช้ความรุนแรง และ 28 เปอร์เซ็นต์ หากว่าคุณใช้การต่อสู้อย่างสันติวิธี

ผมอยากจะกลับไปที่ประเด็นเรื่อง สมมติฐาน

ถึงขบวนการที่รักทุกท่าน

ผมเข้าใจว่าพวกคุณเป็นคนที่มีเหตุมีผล ผมเข้าใจว่าพวกคุณไม่ใช่คนที่เสียสติ ผมเข้าใจว่าพวกคุณต่อสู้อย่างมีเหตุผล ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ที่จะต้องร่วมกันค้นหาทางเลือกทางการเมืองอย่างจริงจัง ศ.ดร.แมคคาร์โก ได้กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาทางการเมืองซึ่งต้องการทางออกทางการเมือง และทางออกทางการเมืองจำเป็นจะต้องมาจากทุกๆ ฝ่ายของความขัดแย้ง สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคือ ความเข้าใจถึงผลของความรุนแรงต่อการต่อสู้ของพวกคุณ มันจะทำให้พวกคุณอ่อนแอลง

ผมเลือกที่จะพูดกับฝ่ายขบวนการในวันนี้ เพราะว่า ผมได้ใช้เวลาหลายปีในการพูดกับรัฐ และผมจะยังคงทำต่อไป แต่ผมหวังว่า เวทีนี้จะทำให้เกิดกระบวนการสันติภาพในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มันไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องมานั่งเผชิญหน้า และก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องหลบซ่อนอยู่ในตู้ นี่เป็นการสนทนาในรูปแบบหนึ่ง และเป็นการสนทนาแบบเปิด

นี่คือสิ่งที่ผมต้องการที่จะยื่นให้กับคุณ ผมเป็นมุสลิม แต่ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ปาตานี ผมตระหนักในสิ่งนี้ดี แต่ในฐานะของนักวิจัยเรื่องสันติภาพและนักทฤษฎีด้านการไม่ใช้ความรุนแรง ผมคิดว่า พวกคุณจำเป็นอย่างมากที่จะเข้าใจถึงพลวัตรของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้กระบวนการสันติภาพนั้นเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์และทำลายสังคมใหญ่น้อยลง

 

คำถามจาก รุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช 
คำถาม : ดิฉันเป็นนักข่าว เป็นคนกรุงเทพฯ เป็นคนพุทธ เป็นลูกศิษย์อาจารย์ชัยวัฒน์ ต้องอธิบายหลายอย่างหน่อยก่อนที่จะพูดนะคะ อยากจะส่งเสียงแทน เพราะคิดว่าการเป็นคนพุทธและคนกรุงเทพฯ อาจจะทำให้พูดอะไรบางอย่างได้มากกว่าคนในพื้นที่ที่เป็นคนมลายูมุสลิมที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสและพูดคุยด้วย จริงๆ ชอบสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์อธิบายมากและคิดว่ามันมีพลังมาก

อยากจะลองท้าทายสิ่งที่อาจารย์พูดจากสิ่งที่ไปได้ยินได้ฟังมาจากคนที่อยู่ในขบวนการบางคน เขาเล่าว่า ที่อาจารย์พูดว่า ความรุนแรงทำให้อำนาจเขาน้อยลง และควรจะที่จะใช้สันติวิธีในการต่อสู้ แต่ในมุมของคนที่เขาต่อสู้ เขาอาจจะบอกว่า หะยีสุหลงหายตัวไปหลังจากเสนอข้อเสนอ 7 ข้อ ซึ่งนั่นเป็นการเรียกร้องอย่างสันติวิธีที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อมีการเรียกร้องเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ได้รับก็คือ เขาหายตัวไป จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น

หลังจากนั้นก็มีการก่อตัวของขบวนการติดอาวุธตั้งแต่ปี 1960 มาและไม่เคยจบจนถึงขณะนี้ คนที่อยู่ในขบวนการบางคนก็พูดว่า เขาไม่เชื่อมั่นในหนทางการต่อสู้ในหนทางรัฐสภาหรือการต่อสู้ในระบบ เพราะมันไม่เคยทำให้เขาได้ในสิ่งที่เขาเรียกร้องอย่างแท้จริง กลุ่มวะดะห์อยู่ในอำนาจ ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มากนัก แล้วถ้าหากว่าเขาไม่มีกองกำลังทหารอยู่ ทุกวันนี้ รัฐบาลก็คงไม่ฟังเขา ภาษาที่รัฐใช้จากปี พ.ศ.2447 มาจนถึงตอนนี้ เราก็เห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงมาระดับหนึ่ง นั่นเป็นผลจากการที่พวกเขาได้ต่อสู้ในหนทางแบบนี้หรือเปล่า แล้วถ้าจะพูดคุย รัฐบาลจะหลอกเขาหรือเปล่าให้ออกมา เพื่อที่จะทำลายขบวนการ นี่เป็นประเด็นที่อยากจะลองถามอาจารย์ว่าอาจารย์จะตอบพวกเขาอย่างไรบ้าง

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตอบ :
คำถามที่ 1 เรื่องของหะยีสุหลง ผมคิดว่ามีการพูดกันเยอะว่า ท่านหะยีสุหลงจากไปแล้ว หายไป ผมคิดว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างสาหัส ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าหะยีสุหลงมีชีวิตเลื่องลือ เป็นที่ชื่นชมมากเท่ากับในหลายปีที่ผ่านมา ในทุกวงที่ผมไป ข้อเสนอของหะยีสุหลง come alive (กลับมามีชีวิต) ทั้ง 7 ข้อ ผมคิดว่าถอยไป 30 ปี 1 อาทิตย์ 2 เดือน หลังจากท่านหะยีสุหลงหายไป ผมคิดว่าชื่อเสียงของท่านไม่ขจรขจาย ไม่ได้มีชีวิต ไม่ได้โด่งดังเหมือนกับสมัยนี้เลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่า message ของหะยีสุหลงคืออะไร หะยีสุหลงเป็นตัวแทนของการเรียกร้องที่ชอบธรรม เป็นตัวแทนของการเรียกร้องที่เป็นสันติวิธี ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ไม่ได้เสนอให้แม้กระทั่ง British Malaya แต่เสนอให้กับฝ่ายสยาม ฝ่ายไทยในสมัยนั้น ผมกำลังจะบอกว่า มีวิธีการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร วันนี้ก็มีความพยายามที่นำข้อเสนอของหะยีสุหลงมาพูดในเวทีเกือบทุกเวที แปลว่าอะไร แปลว่าความคิดนี้ยังมีชีวิตอยู่

คุณสมชาย นีละไพจิตร หายไป แต่ว่างานที่คุณสมชายทำ มรดกที่คุณสมชายมี การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมก็ใช้คุณสมชายเป็นแรงบันดาลใจ ....ในแง่นี้ เวลาบอกว่าใครเป็นใครตาย ไม่ใช่ดูแค่ว่าชีวิตจากไปไหม จะพูดในทางศาสนาก็ได้ ทางการเมืองก็ได้ ความตายของบุคคลเหล่านี้มีความหมายมหาศาล แต่มันปลูกอะไร มันปลูกความหวัง มันปลูกการต่อสู้ใช่ไหม

คำถามต่อไปคือ ต่อสู้อะไร ต่อสู้ด้วยวิธีไหน คุณสมชายต่อสู้ด้วยการใช้กฎหมาย ด้วยความเชื่อในระบบกฎหมายของรัฐ และด้วยความกล้าหาญ อันนี้ไม่ใช่เหรอเป็นแนวทางของสันติวิธีตลอดมา

คำถามที่สอง ... สันติวิธีไม่ใช่เรื่องของรัฐสภานะครับ รัฐสภาเป็นส่วนนิดเดียวของสันติวิธี ...ผมไม่ได้หมายความว่าให้นั่งเฉยๆ เขียนจดหมาย การต่อสู้ด้วยสันติวิธีมีนับไม่ถ้วนวิธีเลย สันติวิธีไม่ใช่แค่เดินขบวนบนถนนแล้วบอกว่า นี่เป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี อยู่ที่บ้านก็เป็นได้ หลังเหตุการณ์พฤษภา’35 ผมเสนอว่า วิธีการหนึ่งที่จะต่อสู้กับเผด็จการทหารในสมัยนั้น ผมพูดกับนักหนังสือพิมพ์ว่า ลองถอนเงินจากธนาคารในสมัยนั้นดูสิ สะเทือนเลย การถอนเงินเป็นสิทธิโดยชอบของประชาชนทุกคน เงินเป็นของคุณ แต่ถามว่าถอนแล้วเกิดอะไรขึ้น ผมว่าสะเทือนเลย ไม่กี่วันหลังจากนั้น กรรมการผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งออกมาพูดว่า ธนาคารของเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ยึดอำนาจหรือฝ่ายทหาร

สันติวิธีมีเยอะ ที่จะทำการต่อสู้แบบนี้ได้ สภาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่มันเล็ก การเจรจาก็ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ทีนี้ถามว่า ใช้ความรุนแรงแล้วเป็นอย่างนี้ คุณนาตยาถามว่า แล้วชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นยังไง ผมว่าน่าสนใจนะครับ ทุกเวทีทุกสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งชนิดที่ถึงตาย ระหว่างฝ่ายหนึ่งเป็นภาครัฐและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอะไรก็แล้วแต่ คนที่เดือดร้อนลำบากคือใคร ผมว่าชาวบ้านธรรมดาที่เดือดร้อน คนธรรมดาๆ ตอนนี้ติดกับในสิ่งเหล่านี้ แล้วจะให้เขาพูดอะไร เวลานี้เขาทำอะไร เขาก็ทน ถามเขา เขาก็ไม่พูด นี่คืออันตรายไม่ใช่เหรอ ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกร้องก็คือว่า วันนี้พูดกับผู้ก่อการ เพราะว่าพูดกับภาครัฐมาเยอะแล้ว จนเขารำคาญแล้ว แต่ในสถานการณ์อย่างแบบนี้ คนที่ตกเป็นเหยื่อก็คือชาวบ้านธรรมดา ฉะนั้นเวลาบอกว่าจะต้องฟังเสียงของชาวบ้าน ผมว่าความปลอดภัยชีวิตปกติเป็นอย่างนี้

คิดดูนะครับว่าเด็กวันนี้ที่อายุ 10 ขวบในหมู่บ้านเล็กๆ ในยี่งอ (จังหวัดนราธิวาส) โตมาโดยที่ไม่ได้เห็นเลยว่า พื้นที่ตรงนี้มีความปลอดภัยขนาดไหน 10 ขวบแล้วนะ แล้วเราอยากจะเห็น generation ต่อไปเป็นอย่างนี้หรือ แล้วหน้าที่ของ peace research หน้าที่ของการทำงานเพื่อสันติภาพคืออะไร ถ้าไม่คิดถึง generation ต่อไป ผมว่านี่คือโจทย์สำคัญและสันติวิธีพยายามที่จะพูดถึงปัญหาตรงนี้ ไม่ใช่แค่บอกว่ามี autonomy หรือ peace process นี่เป็นส่วนหนึ่งของมัน แต่ความรุนแรงก็เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น ถ้าไม่ทำเช่นนี้ เรื่องอื่นก็จะตามมาไม่ได้

ผมคิดว่าเป็นเวลาที่ดีที่จะต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจังสักที และทำความเข้าใจการใช้สันติวิธีทั้งภาครัฐและใครก็ได้ที่ใช้ความรุนแรงในเวลานี้ ผมคิดว่า ดูเบาอำนาจของมันมากเกินไป แล้วหลงอยู่ในกับดักของความรุนแรงทั้งสองฝ่าย ได้เวลาเปิดตาหรือยัง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
หลากความเห็น Pat(t)ani Peace Process เมื่อ‘คนใน’ต้องเป็น‘ตัวกลาง’สร้างสันติภาพ
Prof. Chaiwat’s Submission of Peace Message to Southern Insurgents
เปิดเวที Pat(t)ani Peace Process เดินหน้าสร้างสันติภาพชายแดนใต้
อภิสิทธิ์หนุนรัฐพูดคุยกับผู้เห็นต่าง มหาเธร์ยันปกครองตนเอง “ทางออกหนึ่ง” ดับไฟใต้
“Insiders” must be the one carrying the torch for peace
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : “คนใน” ต้องเป็นผู้นำถือคบไฟเพื่อสันติภาพ
Launching “Pa[t]tani Peace Process” : Building Common Space, Brainstorming Ideas to Tackle Southern Violence
เปิดตัว “กระบวนการสันติภาพปาตานี” สร้างพื้นที่กลาง-ระดมความคิดดับไฟใต้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กะเหรี่ยงแก่งกระจานรำลึกครบ 1 ปีการจากไปของ 'ทัศน์กมล โอบอ้อม'

Posted: 11 Sep 2012 08:07 AM PDT

 

ชาวกะเหรี่ยงนำโดยปู่โคอี้ มีมิ วัย 101 ปี จัดพิธีรำลึกถึงการจากไปของนักสิทธิมนุษยชน อาจารย์ป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ที่อนุสรณ์สถานเขตตะนาวศรี

 

 
ทัศน์กมล โอบอ้อม 


ปู่โคอี้  วางดอกไม้

 

วันที่ 10 กันยายน 2555 ที่อนุสรณ์สถานเขตตะนาวศรี  บ้านห้วยเกษม อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี  ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านโป่งลึกบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน นำโดยปู่โคอี้  มีมิ  กะเหรี่ยงวัย 101 ปี และกะเหรี่ยงจากอำเภอหนองหญ้าปล้อง ร่วมพิธีรำลึกถึงนายทัศน์กมล  โอบอ้อม ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่ถูกเผาบ้านและยุ้งฉาง ผลักดันออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ถูกยิงเสียชีวิตครบรอบ 1 ปี

เวลา 18.00 น. ของ วันที่ 10 ก.ย. 54 พ.ต.ท.บุญช่วย สมใจ สวส.สภ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี รับแจ้งเหตุมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณริมถนนเพชรเกษมขาล่อง หมู่ 6 ต.ถ้ำลงค์ อ.บ้านลาด จึงนำกำลังรุดตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบรถยนต์ยี่ห้อ จิ๊ปเชอโรกี สีบรอนซ์-ทอง ทะเบียน ภย 4754 กทม. พุ่งชนต้นไม้ข้างทาง ตัวรถบริเวณด้านขวาพบรอยกระสุนปืนไม่ทราบขนาดยิงพรุนทั้งคันกว่า 10 แห่ง กระจกประตูหน้าข้างคนขับแตกละเอียด ภายในรถพบศพนายทัศน์กมล โอบอ้อม ( อ.ป๊อด ) อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 362 หมู่ 1 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย จ.เพชรบุรี และเป็นหนึ่งในแกนนำการเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีอุทยานฯแก่งกระจานเผาไล่ที่ชาวกะเหรี่ยง

นายทัศน์กมล เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลตำบลหนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และเคยสมัครลงสมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้ ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 พรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งที่ผ่านมา แต่สอบตก นอกจากนั้น ยังมีบทบาทในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงตามแนวไทย-พม่า โดยภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปฏิบัติการเผาบ้านขับไล่กะเหรี่ยงแก่งกระจานออกจากพื้นที่บ้านบางกลอยบน เป็นเหตุให้มีตัวแทนกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ นายทัศน์กมลจึงได้มีบทบาทพยายามเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าภาคตะวันตก บริเวณชายแดนไทย - พม่า และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงานระหว่างชาวกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะเป็นผู้ประสานงานให้มีการปล่อยตัวตำรวจตระเวนชายแดน 4 นายที่ถูกจับกุมตัวในฝั่งพม่าในปี 2535 เมื่อคราวยุทธการบางกลอย จึงเป็นที่พึ่งของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและโป่งลึกมากว่า 20 ปี

นายทัศน์กมล เริ่มออกมาเคลื่อนไหวในการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันลงมาเมื่อประมาณวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 หลังจากถูกพาดพิงจากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ซึ่งได้ลงบทสัมภาษณ์ของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในบทความที่เห็นและเป็นอยู่ ของนายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ในหัวข้อ ถอดบทเรียนแก่งกระจาน มีใจความตอนหนึ่งว่า “ อีกอย่างคือ ที่มีคนมาพูดตามทีวี ผมบอกเลยก็ได้ว่า ทีวีไทย มีคนมาให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์นี้เกิดจากการปะทะกัน ผมบอกเลยว่า บุคคลคนนี้เสียประโยชน์จากการค้ายาเสพติด เขาเคยเป็นคนที่มาควบคุมกะหร่างในผืนป่าให้ช่วยขนยาเสพติดให้เขาออกจากผืนป่านี้ คนคนนี้แหล่ะที่เป็นภัยคุกคามของประเทศ คนคนนี้แหล่ะที่ผมหมายตาไว้ว่า ผมจะไม่ให้เขาเข้ามาเหยียบผืนป่าแก่งกระจานอีก คนคนนี้ทำลายประเทศชาติ และผมขอฝากไว้ตรงนี้เลยว่า เขาคงเจอกับผม”

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมานายทัศน์กมล เริ่มออกมาเคลื่อนไหวและมีบทบาทในการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอย่างเต็มที่ โดยเริ่มตั้งแต่พยายามให้ข้อมูลว่า กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิม มีแบบสำรวจชาวเขา เมื่อปี 2531 อีกทั้งยังมีเหรียญที่ระลึกชาวเขาที่ทางราชการแจกให้เมื่อปี 2512 -2513 จนกระทั่งมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนทำให้มีการตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

อีกทั้งยังเป็นคนที่ได้ประสานงานกับนายดุลสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ.อยุธยา ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ซึ่งยืนยันได้ว่าปู่โคอิ หนึ่งในผู้ที่ถูกผลักดันลงมา นั้นเป็นพระสหายกับคุณตา และยังเป็นคนที่พบช้างเผือกเพศผู้ จนนำไปสู่การทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งนายดุลย์สิทธิ์ ยังได้กล่าวว่า คุณตาสอนเสมอว่ากะเหรี่ยงไม่เคยทำลายป่า

กระทั่งก่อนเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน นายทัศน์กมล ยังได้ดำเนินการทำเรื่องเตรียมถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงท้องถิ่นดั้งเดิมที่ถูกผลักดันลงมา ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าจะยื่นเรื่องถวายฎีกากับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 12 กันยายนนี้

อีกทั้งนายทัศน์กมล ยังเตรียมที่จะตีแผ่เร่องราวในอุทยานฯแก่งกระจาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่มีกลุ่มบุคคลเข้าไปบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานฯปลูกยางพารา ปลูกมะนาว จำนวนกว่า 100 ไร่ ซึ่งทางอุทยานไม่ได้มีการห้ามปรามแต่อย่างใด หรือแม้กระทั่งเรื่องที่เคยมีชาวกะเหรี่ยงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯยิงเสียชีวิต โดยกล่าวหาว่ามายิงช้างในพื้นที่อุทยานฯ แม้กระทั่งเรื่องของรีสอร์ท ที่มีกระแสข่าวว่า มีการนำไม้จากอุทยานออกมาใช้ รีสอร์ท ดังกล่าวยังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกด้วย และเรื่องการตัดเถาวัลย์ ในป่าแก่งกระจาน ที่มีกลุ่มบุคคลอีกหลายกลุ่มพยายามออกมาคัดค้าน การกระทำในโครงการนี้ และอีกหลายๆเรื่อง

ก่อนหน้าจะถูกลอบยิงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา อุทยานฯแก่งกระจาน ได้ออกประกาศห้ามนายทัศน์กมล ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้ามาในเขตอุทยานฯแก่งกระจานฐานสร้างความปั่นป่วนและอุปสรรคในการพัฒนาชนกลุ่มน้อย ซึ่งได้มีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการใน จังหวัดเพชรบุรี และแจ้งต่อนายชาย พานิชพรพันธ์ ผวจ.เพชรบุรี ที่เป็นประธาน ที่ศาลากลาง จ.เพชรบุรีว่า ห้ามบุคคลดังกล่าวเข้าในพื้นที่อุทยานฯโดยเด็ดขาด โดยแสดงเป็นประกาศ มีใจความว่า "ห้ามบุคคลภายนอก นายทัศน์กมล โอบอ้อม เข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เนื่องจาก มีพฤติกรรมยุยง ปลุกปั่นราษฎรในพื้นที่ สร้างความวุ่นวาย ความแตกแยก ความขัดแย้ง และมีผลประโยชน์แอบแฝง สร้างความเสื่อมเสียให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานของราชการอื่นๆ โดยอาศัยอำนาจอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ.2504 มาตรา 16(9)(13) มาตรา 18 และมาตรา 21 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ จึงห้าม นายทัศน์กมล โอบอ้อม เข้าไปในเขตอุทยาน" โดยนายชัยวัฒน์ ได้แสดงภาพต่อที่ประชุม และกล่าวเพิ่มว่า "ที่ผ่านมานายทัศน์กมลพยายามให้นักการเมืองเข้ามาบีบตน ให้นายทัศน์กมลเข้าพื้นที่ห้าม โดยอ้างจะขอเข้าไปจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อย ทั้งที่ความจริงแล้ว แต่เดิมปัญหาของชนกลุ่มน้อย มีปัญหายาเสพติด เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กรณี ฮ.ตก นายทัศน์กมล ก็ให้ข่าวบิดเบือนสร้างความเสียหายให้เจ้าหน้าที่ ตนได้ออกคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่อุทยานฯ หากฝ่าฝืน จะจับกุมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ตนมีอำนาจโดยชอบที่จะกระทำเช่นนั้นด้วย " อีกทั้งในวันที่ 31 สิงหาคม นายชัยวัฒน์ ได้นำประกาศข้อความห้ามเข้าพื้นที่ พร้อมรูป นายทัศน์กมล ขนาดประมาณ 10 X 15 นิ้ว ปิดไว้ ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด่านตรวจสามยอด และด่านมะเร็ว เพื่อให้ทราบทั่วกัน

ทั้งหลายนี้จึงกลายเป็นข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการสั่งตาย แกนนำกะเหรี่ยง อ.ป๊อด เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม ให้กับผู้ที่ยังอยู่ว่าควรจะทำตัวอย่างไรต่อไป

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในที่สุดพนักงานสอบสวนได้ส่งฟ้องนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นผู้จ้างวานฆ่า อ.ป๊อด  ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งต่อพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 22 ธ.ค. 2554 และอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี จนวันที่ 29 ธ.ค. 2554 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้ประทับรับฟ้องคดีหัวหน้าอุทยาน ในข้อหาจ้างวานฆ่า ร่วมกับพวกอีก 4 คน ประกอบด้วย นายศักดิ์ พลับงาม มือปืน, นายชูชัย สุขประเสริฐ อดีตสมาชิก อบต.บางเก่า อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี, นายธวัชชัย ทองสุข หรือ ส.ท.ต่อ สมาชิกสภาเทศบาล ต.หนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และนายดวง สังข์ทอง ลูกจ้างอุทยาน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นคดีอาญา คดีดำ 4653/2554  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้แทนจากองค์การความร่วมมืออิสลามเดินทางเยือนรัฐอาระกัน

Posted: 11 Sep 2012 06:07 AM PDT

ทูตสหรัฐแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐอาระกันของพม่า ขณะที่รัฐสภาอังกฤษมีการอภิปรายเรื่องการช่วยเหลือชาวโรฮิงยาในพม่าและบังกลาเทศ

วันนี้ (11 ก.ย.) สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ Jonathan Ashworth ได้อภิปรายหัวข้อการเยี่ยวยาชุมชนชาวโรฮิงยาในพม่าและบังกลาเทศ ขณะที่มีรายงานว่าคณะทูตจากองค์การความร่วมมืออิสลาม ซึ่งมีประเทศสมาชิก 57 ประเทศ ได้เดินทางเยือนรัฐอาระกัน เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าและเยี่ยมชุมชนต่างๆ ในรัฐอาระกันและมอบความช่วยเหลือ (ที่มา: บันทึกเว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษ)

 

สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานโดยอ้างจากสำนักข่าว AFP ว่า เจ้าหน้าที่พม่าที่เมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงของรัฐอาระกัน เปิดเผยว่าคณะผู้แทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC นำโดยทูตผู้แทนจากสหประชาชาติ Ufuk Gokcen ได้เดินทางไปที่รัฐอาระกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ก.ย. 55)

โดยคณะผู้แทนจาก OIC ได้พบกับรัฐมนตรีด้านกิจการชายแดนของพม่า และพบกับผู้ว่าการรัฐอาระกัน มีการเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยและบริจาคเงินช่วยเหลือด้วย โดยคณะผู้แทนจาก OIC ยังได้สรุปการเยือนครั้งนี้ไปเมื่อวานนี้ (10 ก.ย.)

ทั้งนี้ความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่ในรัฐอาระกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คนจากตัวเลขของทางการ อย่างไรก็ตามกลุ่มสิทธิมนุษยชนเกรงว่าจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น

ขณะที่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ซึ่งมีสมาชิกกว่า 57 ประเทศ ได้ประชุมกันที่เมืองเมกกะ ซาอุดิอาระเบีย และมีมติให้นำกรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกันเข้าสู่ที่ประชุมของสหประชาชาติ พร้อมกันนั้น OIC ยังประณามการแก้แค้นโดยใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่พม่า ต่อสมาชิกของชนกลุ่มน้อย และประณามการปฏิเสธการรับรองสิทธิพลเมืองแก่ชาวโรฮิงยาด้วย

ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางการพม่าอนุญาตให้ OIC นำความช่วยเหลือเข้าไปในรัฐอาระกัน โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องช่วยเหลือทุกชุมชนในพื้นที่

ขณะที่เมื่อวันจันทร์นี้ (10 ก.ย.) สหรัฐอเมริกาได้แสดง "ความวิตกกังวลอย่างยิ่ง" ต่อสถานการณ์ทางมนุษยธรรมในรัฐอาระกัน หลังจากที่ผู้แทนของสหรัฐอเมริกา Derek Mitchell และทูตอาวุโส Joseph Yun เข้าไปเยือนรัฐอาระกัน

ทั้งนี้มีชาวโรฮิงยาอยู่ในรัฐอาระกันราว 800,000 คน โดยรัฐบาลพม่าและชาวพม่าจำนวนมากเห็นว่าชาวโรฮิงยาเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

และล่าสุดในวันนี้ (11 ก.ย.) เว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษ ได้เผยแพร่การอภิปรายในสภา โดยเมื่อเวลา 9.29 น. ตามเวลาท้องถิ่น (15.29 น. ตามเวลาประเทศไทย) สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ Jonathan Ashworth ได้อภิปรายหัวข้อการเยี่ยวยาชุมชนชาวโรฮิงยาในพม่าและบังกลาเทศด้วย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Parliament UK (Sep 11, 2012) http://www.parliamentlive.tv/main/Player.aspx?meetingId=11365

Int’l Islamic group visit Arakan state, Democratic Voice of Burma, 11 September 2012 http://www.dvb.no/news/islamic-body-to-take-rohingya-issue-to-united-nations/23339

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. จัดเวที 'สื่อการเมือง' ถก จรรยาบรรณกับการกำกับดูแลกันเอง

Posted: 11 Sep 2012 05:27 AM PDT

 กสทช. จัดเวที วอยซ์ทีวี-เอเอสทีวี-บลูสกาย-เอเชียอัพเดท พร้อมนักวิชาการ-สื่อต่างประเทศ-ผู้บริโภค คุยมุมมองเรื่องการกำกับดูแลกันเองของ "สื่อการเมือง"

 

(11 ก.ย.55) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนาไตรภาคี ครั้งที่ 3 หัวข้อ “จรรยาบรรณสื่อกับการพัฒนาการเมืองไทย” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าวโดยมีคนทำสื่อ นักวิชาการ และผู้บริโภคเข้าร่วม

รมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลตนเอง กสทช. เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงร่างกรอบจรรยาบรรณพื้นฐานของวิชาชีพสื่อ 7 ข้อ ว่าได้แก่ หลักจริยธรรม หลักความเป็นอิสระ หลักสิทธิมนุษยชน หลักความทั่วถึง หลักความหลากหลาย ทั้งแง่เนื้อหารายงานและกลุ่มเป้าหมาย หลักความถูกต้องเที่ยงตรง และหลักความไม่ลำเอียง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และเปิดพื้นที่ให้ชี้แจง

พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อถือเป็นสินค้าสาธารณะหรือสินค้าคุณธรรม ซึ่งมีผลต่ออุดมการณ์ความคิดของคนในสังคม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากสื่อ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ดราม่า รู้ทันกลุ่มการเมือง กลุ่มอำนาจ กลุ่มทุน กลุ่มอำมาตย์ทั้งใหม่และเก่า แม้หลายครั้งในการร่วมเวทีกับสื่อ สื่อมักบอกว่าผู้บริโภคต้องเท่าทันสื่อ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าผู้บริโภคมีงานส่วนตัวที่ต้องทำ ไม่ได้มีหน้าที่หาความจริง ค้นหาข้อมูลข่าวสาร การจะรู้เท่าทันสื่อคงยาก อยากให้สื่อทันกลุ่มอำนาจมากกว่า

ในด้านความถูกต้องเที่ยงตรง ในข่าวการเมืองนั้น เมื่อนักข่าวลงพื้นที่จะมีการเล่าเรื่อง มุมกล้อง ซึ่งมีอัตวิสัยเป็นปกติอยู่แล้ว จากงานวิจัยของตนเองพบว่า สำนักข่าวต่างประเทศ ไม่ว่าบีบีซี ซีเอ็นเอ็น ก็มีความเห็นส่วนบุคคลอยู่บ้าง แต่จะเห็นว่าสื่อที่ไม่ได้อยู่บนกลไกตลาด เช่น บีบีซี การแบ่งพื้นที่ของสื่อจะเท่ากัน

ด้านองค์กรกำกับดูแลสื่อ ต้องมีจุดยืนเชิงนโยบายว่าจะให้สื่อเป็นตลาดทางความคิด ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก หรือจะเป็นสินค้าคุณธรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออุดมการณ์ ทั้งนี้ อยากให้เน้นการกำกับข่าวการเมืองช่วงการเลือกตั้ง เพราะระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงหาเสียงนั้นสำคัญ และการเมืองหลายครั้งเป็นอารมณ์ หากเสนอข่าวเลือกข้างหรือดราม่า จะมีผลต่อการจูงใจคน อันจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างอำนาจในอนาคต

ทั้งนี้ พิจิตรา เรียกร้องต่อสื่อสามข้อ ได้แก่ หนึ่ง ขอให้เคารพข้อมูลส่วนตัว หรือสิทธิมนุษยชนของคนที่เป็นข่าว สอง ระวัง hate speech ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ความแตกแยก และ สาม สื่อไม่ควรทำตัวเป็นศูนย์โฆษณาชวนเชื่อ ไม่ควรเป็นเอเย่นต์ของกลุ่มอำนาจใด เพราะถือว่าให้พื้นที่สาธารณะแก่สื่อแล้ว ก็อยากให้สื่อให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกลับมา โดยถ้าสื่อทำได้ ประเทศไทยจะมีความหวังมากขึ้น
 

สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะ ระบุว่า ที่ผ่านมา มีความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูลข่าวสาร ทำให้มีการก่อตั้งสื่อขึ้นมากมาย ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 เกิดสื่อเฉพาะกิจหรือสื่อการเมืองจำนวนมาก เนื่องมาจากมีผู้ใช้อำนาจการเมืองและเศรษฐกิจควบคุมข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปในทางที่ต้องการ จึงเกิดการเปิดสื่อใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยีใหม่ เช่น ดาวเทียม วิทยุชุมชน

อย่างไรก็ตาม เขาตั้งคำถามว่า การเกิดขึ้นของสื่อจำนวนมาก แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของข่าวสารจริงหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าเมื่อเกิดมาก กลับมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เกิดการจูงใจ ใช้เป็นกระบอกเสียงการเมือง ทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่ได้ใช้หลักวิชาชีพสื่อมาเทียบเคียง สื่อต่างๆ มีภารกิจเฉพาะกิจของตัว เพื่อสร้างคะแนนนิยมหรือกำหนดทิศทางการเมือง มีการใช้กลยุทธ์ต่างๆ สร้างคะแนนนิยม และมองว่าบางครั้ง แม้ว่าคนทำสื่อเลือกข้างจะมีความเป็นวิชาชีพสื่อ แต่ก็ไม่กล้าใช้ฝีมือวิชาชีพเพราะจะกระทบจิตใจผู้ติดตามสื่อ

สำหรับเสรีภาพสื่อ เสนอว่า รัฐไม่ยุ่งจะดีที่สุด ควรปล่อยให้สื่อสามารถดูแลกันเอง กำกับกันเอง อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา ดูเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์จะเห็นว่าคุมกันไม่ได้ผล ในต่างประเทศเองก็ไม่สามารถควบคุมดูแลกันเองได้ เช่น กรณี News of the World ของอังกฤษ ซึ่งมีคณะกรรมการไต่สวนเรื่องการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ผิดจรรรยาบรรณ และความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง โดยมีการเสนอให้ภาครัฐมาร่วมกำกับ แต่ก็มีการสะท้อนจากทั้งสื่อและนักการเมืองบางส่วนว่าไม่เห็นด้วย

ขณะที่สื่อวิทยุโทรทัศน์ของอังกฤษ มีการกำกับดูแลมากกว่า เพราะถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรสาธารณะมาทำสื่อ มีองค์กรคล้าย กสทช.กำกับ ครั้งหนึ่งในลอนดอน ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีดีเจวิทยุ สนับสนุนผู้สมัครคนหนึ่ง คณะกรรมการกำกับดูแลมีมติว่า ดีเจไม่ได้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ดีเจคนดังกล่าวจึงถูกเจ้าของสถานีลงโทษ

สมชัย กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดูเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ของไทย ยังดูแลกันเองไม่ได้ผล การกำกับดูแลนั้น อาจต้องมีองค์กรอะไรมาผสมเพื่อให้กำกับได้หรือไม่ นอกจากนี้ ฝากถึงคำถามถึง กสทช.ด้วยว่า จะกำกับสื่อค่ายการเมืองและสื่อค่ายศาสนา ที่มีอิทธิพลควบคุมความคิดคนอย่างไรด้วย


จอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าวอิสระ วอยซ์ทีวี
มองว่า สิบปีที่ผ่านมา ภาวะทำสื่อของเมืองไทย ตกต่ำ วิกฤต และเลวร้ายที่สุด ก่อน 19 ก.ย.49 เห็นการทำข่าวที่ตรวจสอบท้วงติงอย่างเป็นระบบ แต่หลัง19 ก.ย. ไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นแล้ว

จอม กล่าวว่า สื่อรู้ทันทุนอยู่แล้ว แต่สื่อเองก็กลัวที่จะหลุดจากวิชาชีพ ไม่สามารถอยู่ได้ในพื้นที่ แทนการรู้ทันท้วงติงตามวิชาชีพ กลับต้องดูแลปกป้องทุนที่ช่วยเหลือตัวเอง ทั้งนี้ มองว่า สื่อที่ถูกมองว่าเลือกข้างแล้ว การจะยืนบนจริยธรรมยากมาก เพราะมีมวลชน-แฟนคลับที่อยากฟังด้านเดียว เช่น กรณีวอยซ์ทีวี หลายครั้งพยายามสร้างสมดุล สร้างความแตกต่าง วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ฝั่งแดง หรือรัฐบาล พบว่าเป็นเรื่องยาก

เรื่องของจรรยาบรรณเป็นสิ่งที่พยายามพูดกัน แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ กลไกการตรวจสอบมี แต่ก็จะเห็นว่า แม้แต่หนังสือพิมพ์ที่มีระบบชัดเจนมานานก็ยังตรวจสอบไม่ได้ เพราะจิตสำนึกคนทำสื่อไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างจริงจัง แต่คำนึงถึงการอยู่รอดและสถานะส่วนตัว

จอม กล่าวว่า เรามีคนทำข่าวการเมืองที่มีคุณภาพเยอะ แต่ก็เลี่ยงไม่ทำกัน เพราะพูดไปแล้วอยู่ไม่ได้ หรือช่องไม่ยอม จึงหันมาเล่นเชิงดราม่า อาชญากรรม หรือเล่นกับคนที่ไม่มีอำนาจแทน เช่น ศิลปิน ดารา

เขาตั้งคำถามว่า คนทำข่าวคิดหรือยังว่าจะเปลี่ยนผ่านโดยไม่ฆ่ากันได้อย่างไร ในขณะที่ความรู้สึกของคนไทยทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่เชื่อในอำนาจรัฐ หรืออำนาจเดิมที่มีอยู่ เช่นนี้เราจะเปลี่ยนความคิดหลากหลายไปสู่การสร้างประเทศที่มั่นคงได้อย่างไร เรากำลังต่อสู้ทางความคิด ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การต่อสู้ทางความคิดในสื่อทุกแขนง ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้เกิดสงครามการเมืองอีก คนทำข่าวการเมืองจะต้องสังวรณ์เรื่องนี้ให้มาก

ด้านการกำกับดูแล ไม่อยากให้คนทำสื่อมาตั้งองค์กรดูแลกันเอง เพราะเมื่อกระทบประโยชน์กันจะไม่แตะกัน แต่ควรให้ประชาชนตั้งและบอกว่าอยากเห็นสื่อเป็นอย่างไร นอกจากนี้ การที่ กสทช.จะมากำกับเองนั้นมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะยังถือเป็นองค์กรรัฐ แต่อาจทำหน้าที่หนุนองค์กรอิสระที่มีหลายภาคส่วน มาตรวจสอบน่าจะดีกว่า


สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ
กล่าวว่า ข้อแตกต่างของสื่อปัจจุบันกับสิปีก่อน แบ่งได้เป็น 4 ข้อ หนึ่ง เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เกิดสื่อหลายฝ่าย ประกาศตัวเองเลือกข้างชัดเจน มีความหลากหลาย สอง ประชาชนเป็นสื่อเองได้ ในแง่การเข้าถึงพื้นที่อินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน เคเบิล ดาวเทียม ต้นทุนลดลง ทำให้ทางเลือกและพลังการเข้าถึง-กระจายความเห็น มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โลกของสื่อใหม่ เส้นแบ่งระหว่างสื่ออาชีพและมือสมัครเล่นแยกกันยาก ยกตัวอย่างว่า เมื่อเปิดสื่อออนไลน์มา เรามีทั้งข้อความจากนักข่าวสนาม จากเพื่อน จากการแลกเปลี่ยนความเห็น ในพื้นที่เดียวกัน สาม มี กสทช. ซึ่งแบกความคาดหวัง ว่าจะมีบทบาทในการทำให้เกิดสถานการณ์ที่ดีขึ้น

ทั้งสามข้อนำไปสู่ สี่ การเรียกร้องจริยธรรมสื่อ เสนอตัวอย่างของวิชาชีพบัญชี ที่มีสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าวางมาตรฐานและยกระดับวิชาชีพ มีการบังคับใช้ที่เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เช่น ร้องเรียนเรื่องการฟอกเงิน มีกลไกตรวจสอบกันเอง เรียกสอบสวน มีการลงโทษตั้งแต่ภาคทัณฑ์ไปจนถึงการยึดใบอนุญาต

ในด้านกรอบจริยธรรม เมื่อยอมรับว่ามีสื่อเลือกข้าง ตั้งคำถามว่าเลือกข้างอย่างเป็นมืออาชีพได้หรือไม่ จะบอกได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่สื่อกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ และนักข่าว-สมาคมนักข่าว จะว่าอย่างไร ถ้าไม่มีการแก้ไข กสทช.จะช่วยกำกับได้หรือไม่ ถ้ามีการเอาอุดมการณ์การเมืองมายั่วยุ ให้แตกแยก จะมีกลไกจัดการอย่างไร

สฤณี กล่าวว่า โดยสรุป โจทย์ใหญ่ของ กสทช. คือ หนึ่ง สร้างความเข้าใจตรงกันว่ามาตรฐานขั้นต่ำจรรยาบรรณสื่อไทยอยู่ตรงไหน เพราะปัจจุบันสับสนมาก สอง สร้างกลไกให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่า ไม่ทำตามมาตรฐานแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ฝากสื่อมวลชนว่าไม่อยากเห็นการแบ่งแยกว่า เป็นมืออาชีพแล้วไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร เหมือนแพทย์ประกอบโรคศิลป์ที่ทำหน้าที่ของตัวเองแต่สนใจไม่จัดการกับหมอเถื่อน ก็จะกระทบกับทั้งวงการ


อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระ
กล่าวว่า จริยธรรมของผู้ประกอบการและนักวิชาชีพนั้นต่างกัน อาจต้องมีกติกาในองค์กรระหว่างผู้มีอำนาจในการคุมเนื้อหากับฝ่ายวิชาชีพที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงาน ไม่อย่างนั้น จริยธรรมของนักวิชาชีพจะถูกคอร์รัป แล้วต่อไปสังคมจะไม่เหลือคนที่พูดอะไรเที่ยงตรง แทนความคิดที่หลากหลาย พูดความจริง จะมีแต่สื่อที่ตีกรอบให้เข้าแนวคิดของตัวเอง

ทั้งนี้ ในการกำกับจริยธรรมนั้น อาจเป็นในรูปแบบไตรภาคี หรือมีวิธีใหม่ๆ เพื่อถ่วงดุลในองค์กรระหว่างห้องข่าวกับผู้บริหาร หรือให้มีการเตือนผู้บริโภคเป็นระยะๆ ว่าสื่อนั้นๆ เลือกข้างไหนเพื่อให้ผู้บริโภคถ่วงดุลด้วยตัวเองได้ เพราะแม้ว่าผู้บริโภคจะรู้อยู่แล้ว แต่อาจมีแฟนคลับใหม่เข้ามาติดตาม

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ASTV อ้างถึงผลสำรวจเอแบคโพลล์ที่บอกว่า ประชาชนกว่า 60% รับได้กับการคอร์รัปชั่น โดยคนอายุน้อยมีแนวโน้มยอมรับได้มาก แสดงถึงความล้มเหลวรวมหมู่ ซึ่งสื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะสื่อเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นอย่างนั้น นอกจากนี้ จากการที่ ดุสิต นนทนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย เคยบอกว่า การเรียกสินบนเมื่อปี 54 เพิ่มขึ้น 50% จะเห็นว่า สื่อถูกดึงเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง ทำให้อิสรภาพสื่อถูกลิดรอนและหายไป

ทั้งนี้ ปานเทพ มองว่า ถ้าให้สื่อรู้ทันนักการเมือง กสทช.ต้องรู้ทันทุนและนักการเมืองด้วย เพราะถ้าตั้งโจทย์ผิดกลายเป็นเครื่องมือฝ่ายทุน สำหรับ เอเอสทีวีตรวจสอบรัฐบาลทุกยุค ประท้วงทุกรัฐบาล ทั้งทักษิณ สุรยุทธ์ สมัคร สมชาย ไม่เว้นแม้อภิสิทธิ์ ได้พิสูจน์บางอย่างโดยเห็นว่า เมื่อเริ่มตรวจสอบประชาธิปัตย์ทุนจะหายไป เมื่อตรวจสอบยิ่งลักษณ์ ยิ่งไม่มีใครกล้าลงโฆษณา

สำหรับไทยพีบีเอสอาจไม่ต้องกังวลเรื่องทุนทางการเมืองกลั่นแกล้ง แต่แคบไปเพียงโทรทัศน์หนึ่งช่อง ปัจจุบันมีสื่อที่สร้างสรรค์ เฟซบุ๊ก บล็อก นำเสนอได้ก้าวหน้ากว่ากระแสหลัก ทั้งหมดเพราะสื่อหลักไม่ทำงาน ถ้าฟรีทีวี วิทยุ มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอะไรให้ชาติ จะไม่มาถึงขนาดนี้ ถ้าเปิดพื้นที่จริง ไม่จำเป็นต้องมีสื่อทางเลือก

สื่อทางเลือกล้วนมีทุนหนุนหลัง ตั้งคำถามว่าสื่อเหล่านี้จะตรวจสอบคอร์รัปชั่นในทุนของตัวเองได้อย่างไร ทั้งนี้ยังไม่คิดว่าสื่อที่เลือกข้างที่มีทุนทางการเมืองจะดูแลกันเองได้ การตั้งคณะกรรมการกันเองจะทำไม่ได้ เพราะจะเกรงใจกันและไม่ปฏิบัติตาม จนต้องออกมาตรการบังคับ ซึ่งจะกระทบสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ ในการกำกับกันเองนั้น เสนอว่า ควรแยกสื่อเพื่อนักการเมืองไว้เป็นอีกหนึ่งหมวด และควรให้พื้นที่สื่อแต่ละพรรคเท่าเทียมกัน โดยนอกจากการดูแลกันเอง อาจต้องมี กกต. กำกับด้วย

ปานเทพ กล่าวด้วยว่า โจทย์สำคัญปัจจุบันคือ เรายังแยกไม่ออกระหว่างสื่อกับเครื่องมือของทุนและนักการเมือง

 

วิทเยนทร์ มุตตามระ ตัวแทนจากบลูสกายแชนแนล กล่าวว่า คนมองว่าการเกิดขึ้นของสื่อจำนวนมาก มีจุดเปลี่ยนที่การรัฐประหาร แต่จริงๆ แล้วเกิดก่อนหน้านั้น เพราะเสรีภาพที่ถูกจำกัดในช่วงปี 47-48 คน คนเห็นต่างจากรัฐบาล ถูกถอดรายการ เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ต้องหาช่องทางแสดงความคิด โชคดีที่มีเทคโนโลยี ดาวเทียม วิทยุชุมชน จนพอมาในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ คนก็ติกันว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร ทำให้เกิดสื่อดาวเทียม วิทยุชุมชนเป็นปัญหาขึ้น

สำหรับบลูสกายแชนแนลนั้น ก่อตั้งเมื่อตุลาคม 54 แต่มีปัญหาเรื่องการออกอากาศมาตลอด แม้จะมีการเซ็นสัญญาแล้วก็ตาม จนมาได้ออกอากาศเมื่อ 1 ก.พ.ปีนี้ นอกจากนี้ อาคารที่เช่าก็ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปดูสัญญาเช่า เอกสารชำระเงินถึง 2 ครั้งในหนึ่งเดือน ถามไปยัง กสทช.ว่านี่คือการคุกคามเสรีภาพใช่หรือไม่

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการดูแลกันเอง ขอให้มีทั้งการกำกับและส่งเสริม บังคับปฏิบัติใช้กันเสมอหน้า ส่งเสริมค่านิยมที่ถูกให้กับสังคม เช่น ต่อต้านค่านิยมเรื่องคอร์รัปชั่น และส่งเสริมคนที่ปฏิบัติได้ตามกรอบ ให้ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ถูกคุกคามในการนำเสนอ เช่น ผู้ประกาศบลูสกายบางคนถูกถอดจากช่องอื่นๆ ที่ทำอยู่


บูรพา เล็กล้วนงาม ตัวแทนจากเอเชียอัพเดท
กล่าวว่า เมื่อพูดถึงจรรยาบรรณสื่อ ต้องพิจารณาก่อนว่า สื่อคืออะไร ส่วนตัวมองว่า สื่อมวลชน คือ สื่อของมวลชน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยลัทธิที่เหมาะกับมวลชนคือประชาธิปไตย ซึ่งเคารพสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น สื่อจึงต้องมีประชาธิปไตยและประชาชนเป็นผู้กำกับ

สำหรับการกำกับดูแลกันเองของสื่อนั้น กสทช.อาจเป็นตัวกลาง เชิญสื่อมาออกทีวี ตั้งประเด็นว่าการเสนอข่าวแบบนี้ สื่อถึงอะไร ทำไมจึงเสนอแบบนั้น หรือในวาระครบหกปีการรัฐประหาร ก็ให้บอกจุดยืนของสื่อแต่ละแห่ง ทำเช่นนี้ เดือนละครั้ง เพื่อคนจะทราบจุดยืนและถือเป็นการตรวจสอบกันไปมา
 

แพทริก วินน์ กรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) และผู้สื่อข่าวอาวุโส เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Global Post กล่าวว่า สื่อการเมืองไทยไม่ใช่แค่เลือกข้าง แต่มีส่วนกับการเคลื่อนไหวบนถนน คนดูก็รู้ว่าใครเป็นสีอะไร ซึ่งก็ดีที่จริงใจและยอมรับว่าเป็นสื่อเลือกข้าง ทั้งนี้ มองว่า อคติแบบที่เป็นอันตรายต่อเมืองไทยกว่า คืออคติต่อนายทุนและผู้มีอำนาจ เช่น ถ้าผู้มีอำนาจไม่แถลงข่าวก็ประหนึ่งว่าเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้น

เขากล่าวว่า ข้อควรรระวังในการนำเสนอคือ การรายงานแบบอ้างคำพูดโดยตรง เพราะอาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เท็จ หรือตกเป็นเครื่องมือ โดยควรมีแหล่งน้อยอย่างน้อย 3 แหล่ง หรือ 2-3 มุมมองในเรื่อง เพื่อมุมมองที่รอบด้าน นอกจากนี้ ส่วนตัวจะไม่เดินทางแบบที่มีสปอนเซอร์จัดให้ เพราะมองว่าจะได้เห็นแต่สิ่งที่เขาอยากให้เห็น และไม่ค่อยเห็นคนที่ไป วิจารณ์คนจัดทริปเท่าใด รวมถึงไม่ควรเสนอข่าวลือของนักการเมือง เพราะแม้จะมีเนื้อหาน่าตื่นเต้นมาก แต่พอนักข่าวไม่เจาะลึก-ตรวจสอบ คนก็จะไม่รู้ว่าเรื่องนั้นๆ จริงไหม

แม้จะมีการเกิดขึ้นของสื่อพลเมืองจำนวนมาก อยู่ในที่ต่างๆ ที่นักข่าวอาจไม่ได้อยู่ อัพเดทได้ปัจจุบันทันด่วน และนำมาใช้ได้ฟรี เช่น ทวิตเตอร์ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนหนึ่ง ซึ่งถ่ายคลิปเหตุการณ์ระเบิดที่สุขุมวิท แต่นักข่าวอาชีพควรมีอยู่ต่อไป เพราะการทำข่าววันต่อวันต้องใช้เวลาสูง มอเตอร์ไซค์รับจ้างคงไม่ไปรอนายกฯ ที่ทำเนียบเพื่อถามถึงนโยบายจำนำข้าว เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น ตราบใดที่คนในสังคมยังไม่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้สนุกต้องมีนักข่าวต่อไป

เขากล่าวว่า หวังว่า กสทช.จะเน้นการปกป้องนักข่าวจากผู้มีอิทธิพลในสังคม ไม่ใช่ปกป้องผู้มีอิทธิพลจากการเป็นข่า ทั้งนี้หากรัฐบาลอยากกำกับควบคุมสื่อจะนำสู่การลงโทษซึ่งไม่ใช่หนทางที่ดี ควรให้ดูแลกันเอง เราไม่สามารถเซ็นเซอร์ได้อีกแล้ว ทันทีที่ปิดวิทยุชุมชน ดาวเทียม จะขึ้นมาอีกในรูปอินเทอร์เน็ต คนจะกระหายข้อมูลเหล่านั้น ไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นไหม นอกจากเผชิญหน้ากับมัน เชื่อในผู้บริโภค ให้มีข้อมูลหลากหลาย


อุษา บิกกินส์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มองว่า สื่อเลือกข้างนั้นไม่เป็นไร แต่อยากให้บอกหน่อยว่าอยู่ข้างไหน ส่วนการปิดกั้นสื่อเลือกข้างนั้น มองว่าทำไม่ได้ ต้องเข้าใจเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สำหรับการตัดอิทธิพลสื่อทุน-รัฐพูดกันมานานแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ มองว่าสิ่งที่ภาครัฐ หรือ กสทช.ทำได้คือตกลงร่วมกัน ว่า ควรมีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนกี่เปอร์เซ็น ไม่ใช่ผลิตซ้ำ สะท้อนแต่เสียงนักการเมือง แต่ควรฟังภาคประชาชนด้วย และเน้นว่า การตรวจสอบ-กำกับดูแลกันเอง ควรอยู่ที่สื่อกระแสหลัก ที่อยู่ในฟรีทีวีทุกช่อง


ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.
แสดงความเห็นว่า หลายคนคาดหวังกับ กสทช. แต่อยากบอกว่า กสทช. 11 คนก็มีความคาดหวังส่วนตัว ไม่ว่าจากรัฐ ทุน ฯลฯ สังคมจึงต้องกำกับการโหวตต่างๆ ของ กสทช.ด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่า หากรัฐมาเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร ประชาธิปไตยจะล้มเหลว ดังนั้น หน้าที่ของรัฐจึงควรกำกับหน่วยธุรกิจ เช่น เวลาโฆษณา ส่วนวิชาชีพนั้นให้กำกับกันเอง


สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง
ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพูดคุยกันนี้ มองว่า กสทช.ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งในการเป็นตัวกลางระหว่างคนทำสื่อต่างๆ ซึ่ง กสทช. คงต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สุภิญญา กล่าวว่า สำหรับการพูดคุยในวันนี้จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลต่อไป โดยในปีหน้า เมื่อสื่อต่างๆ ลงทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว ต้องมีการตั้งองค์กรวิชาชีพ เพื่อกำกับดูแลกันเอง เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ต้องแก้ไขปัญหา แต่หากไม่จบในขั้นของวิชาชีพ กสทช.ก็อาจต้องเข้ามาใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งมองว่าจะใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในเรื่องนี้ยังไม่สรุป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์รับฟ้อง "รสนา โตสิตระกูล" ฟ้องหมิ่นประมาท "จตุพร พรหมพันธุ์"

Posted: 11 Sep 2012 04:44 AM PDT

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ขณะที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าการกล่าวของจตุพร พรหมพันธุ์ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่ารสนา โตสิตระกูลเป็นพวกเดียวกับพันธมิตร ซึ่งทำให้ได้รับความเสียหาย จึงพิพากษากลับให้รับฟ้อง เพื่อสืบพยานและมีคำพิพากษาต่อไป

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 804 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.3982/2553 ที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 29 ส.ค.53 นายจตุพร จำเลย ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า โจทก์มีความพยายามโยกคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีโจทก์เป็นตัวตั้งตัวตี โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่มีมูล ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์

โดยศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยซักค้านว่า โจทก์เคยขึ้นปราศรัยบนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และโจทก์มีความสนิทสนมกับนายพิภพ ธงไชย เป็นกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง และมูลนิธิสุขภาพไทย โดยโจทก์รู้จักกับนายพิภพเป็นการส่วนตัวและทราบว่านายพิภพเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตร ช่วงที่กลุ่มพันธมิตรล้อมทำเนียบ โจทก์และ ส.ว. หลายคนเดินทางไปเยี่ยมผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล การกล่าวเช่นนี้ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นพวกเดียวกับกลุ่มพันธมิตร ที่จำเลยให้สัมภาษณ์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าโจทก์ใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มพันธมิตรผู้ต้องหาซึ่งเป็นพรรคพวกเดียวกับโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับเป็นให้ประทับฟ้อง เพื่อสืบพยานและมีคำพิพากษาต่อไป

ทั้งนี้ ศาลอาญานัดสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ล่าชื่อร้อง ป.ป.ช.ห้าม "ข้าราชการพลังงาน" เป็นบอร์ด "กิจการด้านพลังงาน"

Posted: 11 Sep 2012 04:22 AM PDT

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชวนร่วมลงชื่อเรียกร้อง ป.ป.ช.ใช้อำนาจตามกฎหมาย ห้ามไม่ให้ปลัดกระทรวงพลังงาน-ข้าราชการ ก.พลังงานเป็นกรรมการในบริษัทกิจการด้านพลังงาน ชี้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชาติ-ประชาชน

 
วันนี้ (11 ก.ย.55) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหน้าเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการเชิญชวนประชาชนทั่วไปชวนร่วมลงชื่อเรียกร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ห้ามไม่ให้ปลัดกระทรวงพลังงาน และข้าราชการในกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการในบริษัทที่ประกอบกิจการด้านพลังงาน เหตุหวั่นเกรงผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่
 
ข้อมูลในหน้าเว็บดังกล่าวระบุว่า มีหลักฐานปรากฏชัดว่า ณ ขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในกระทรวงพลังงานหลายตำแหน่ง เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น อันเป็นการดำเนินกิจการต้องห้ามตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
 
เพื่อยับยั้งป้องกันการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในบทบัญญัติดังกล่าวเพิ่มเติมโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้ 1.ปลัดกระทรวงพลังงาน 2.รองปลัดกระทรวงพลังงาน 3.อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 4.อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 5.อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 6.ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
 
นอกจากยังมีการเผยแผร่ข้อมูลผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการพลังงาน อาทิ
 
 
 
 
เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงาน
 
ตำแหน่งในบริษัทเอกชน 
 
นายคุรุจิต  นาครทรรพ
รองปลัดกระทรวงพลังงาน
กรรมการบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจน้ำมัน มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น 170,000 บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย
ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) (RATCH) รับซื้อเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. เพื่อผลิตไฟฟ้า
 
นายศิริศักดิ์  วิทยอุดม
รองปลัดกระทรวงพลังงาน
กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น 215,000 บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย
 
นายทรงภพ  พลจันทร์
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
กรรมการบริษัท ปตท เคมิคอล จำกัด(มหาชน)  บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ครบวงจร
 
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
กรรมการบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน มีกำลังการกลั่นมากที่สุดในประเทศไทย 280,000 บาร์เรล/วัน
 
นายวีระพล  จิรประดิษฐกุล
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
กรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. เป็นผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยและต่างประเทศ จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ คอนเดนเสทให้แก่ ปตท.
 
นายไกรฤทธิ์  นิลคูหา
อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
กรรมการบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน)
และกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ที่มีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย มีกำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรล/วัน
 
 
ผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มร่วมลงชื่อได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (คลิก)
 
ทั้งนี้ มาตราที่ 100 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (กฎหมาย ป.ป.ช.) อยู่ในหมวด 9 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม (มาตราที่ 100-103) โดยบทบัญญัติมาตรา 100 มีข้อความดังนี้
 
มาตรา 100 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
 
(1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจ กำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
 
(2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญา กับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
 
(3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญา กับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือ เข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว
 
(4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ ทางราชการหรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
 
เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามวรรคสอง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสดังกล่าว เป็นการ ดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ออกหลักเกณฑ์สนับสนุนร่างกฎหมายประชาชน

Posted: 11 Sep 2012 12:56 AM PDT

ครอบคลุมตั้งแต่วิธีการจัดทำร่างกฎหมาย การเข้าร่วมในการจัดทำร่างกฎหมาย การสนับสนุนการศึกษาวิจัย  การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การสนับสนุนการเผยแพร่ร่างกฎหมาย

11 กันยายน 2555 – คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)ได้ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้คำปรึกษาและสนับสนุนในการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ.2555เพื่อการให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินการในการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ในการดำเนินการสนับสนุนการร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะประกอบด้วย 1.ให้ข้อเสนอแนะวิธีการจัดทำร่างกฎหมาย บันทึกหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ และเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 2.เข้าร่วมในการจัดทำร่างกฎหมาย 3.สนับสนุนการศึกษาวิจัย ในกรณีที่คณะกรรมการมีความเห็นว่า การร่างกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาข้อมูล หรือองค์ความรู้เพิ่มเติม 4.ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของผู้ขอรับการสนับสนุน 5.สนับสนุนการเผยแพร่ร่างกฎหมายของประชาชนต่อสื่อสารสาธารณะ และ 6.เรื่องอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการให้การสนับสนุนการร่างกฎหมายจะกระทำเมื่อปรากฏว่าเป็นกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยหรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหรือที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการขอรับการสนับสนุนในการร่างกฎหมายนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนหรือผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอรับการปรึกษาและการสนับสนุนในการร่างกฎหมายเป็นที่ประจักษ์ ประสงค์จะขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสนับสนุนการร่างกฎหมาย ต้องแต่งตั้งตัวแทนผู้ยื่นคำขอ จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน โดยอาจแสดงให้เห็นถึงการประสานงานกับเครือข่ายในการดำเนินการเสนอกฎหมายด้วย และต้องยื่นคำขอนั้นตามแบบ คปก.ขช.๒ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาพปัญหาและความจำเป็นในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย  สรุปสาระสำคัญและหลักการของกฎหมายที่ต้องการเสนอปรับปรุงและแก้ไขประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้แทนองค์กรเอกชนราย สามารถยื่นคำขอนั้นตามแบบ คปก.ขช. ๑ ต่อสำนักงานฯหรือยื่นคำขอด้วยตนเอง ทางจดหมาย ทางโทรศัพท์ ทางโทรสาร  สื่ออิเล็กทรอนิกส์  โดยดาวน์โหลดแบบคำขอรับคำปรึกษาในการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทางเว็บไซต์คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย www.lrct.go.th หรือติดต่อขอรับแบบคำขอรับคำปรึกษาในการร่างกฎหมายได้โดยตรงที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในวันและเวลาราชการ

 

 

AttachmentSize
ระเบียบ_คปก._ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ....pdf231.55 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

เรื่องชวนขบคิดจากการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น

Posted: 11 Sep 2012 12:45 AM PDT

การประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น และปรากฏการณ์เล็กๆ ในสื่อรายการวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ เจเรมี ซู จาก Livescience นำเสนอมุมมองเรื่องภาพเหมารวม และการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ให้วงการวิทยาศาสตร์

เจเรมี ซู นักเขียนอาวุโส เว็บไซต์ Livescience กล่าวถึง ดร. เอริก้า เอบเบิ้ล แองเกิล ที่ปรากฏตัวในรายการของตัวเองคือ 'ดร.เอริก้า โชว์' พร้อมสวมมงกุฏมิสแมสซาชูเซตส์ ทำให้เด็กๆ ในรายการของเธอร้องอุทาน "โอ้!" ขึ้นมาพร้อมกัน เอริก้า เรียนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาชีวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร Science from Scientists และเป็นพิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ 10 นาที ที่เผยแพร่ในช่องเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น อีกทั้งกำลังวางแผนเป็นผู้ประกอบการจากความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของเธอเองด้วย

"คุณค่าของความงามและสติปัญญาถูกเน้นย้ำน้อยมากในที่อื่นที่ไม่ใช่วงการบันเทิงฮอลลืวูด" เจเรมีกล่าวในรายงาน "แต่ผลสะท้อนล่าสุดจากรายการ 'ดร.เอริก้า โชว์' แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นผู้หญิงจำนวนมากกำลังตอบรับสิ่งที่แองเกิลพยายามสื่อ เมื่อเธอเลือกสวมมงกุฏนางงามพร้อมเสื้อโค้ทห้องแล็บออกรายการเธอเอง พวกเด็กผู้หญิงพากันบอกว่า พวกเธออยากจะเป็น 'เจ้าหญิงนักวิทยาศาสตร์' "

"วิทยาศาสตร์กลายเป็นภาพตีตราในสังคมว่า หากคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิง คุณก็ไม่มีความสนใจในเรื่องอื่น และคุณจะเป็นพวกสวมกางเกงขายาวที่ไม่สนใจเรื่องรูปร่างหน้าตาหรือเรื่องความสวยความงาม" เอบเบิ้ล แองเกิล กล่าว

ในญี่ปุ่นมีความพยายามฉีกภาพลักษณ์กี๊คๆ (Geeky*) ของนักวิทยาศาสตร์ด้วยการจัดประกวด 'Miss Rikei Contest' โดยกลุ่มองค์กรนักศึกษาของญี่ปุ่น โดยมีผู้ที่เข้ารอบสุดท้าย 6 คน คัดจากนักศึกษาและนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ที่จะชิงชัยกันทางการลงคะแนนเสียงด้านความสวยงาม, สติปัญญา และการเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ (Rikei ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า 'วิทยาศาสตร์')

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองเพศต่างก็มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ และนักวิจัยหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับ Livescience ก็บอกว่าเรื่องสไตล์ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีสาระพอจะนำมาหารือกันเรื่องงานของพวกเขาเลย

ซูกล่าวในรายงานว่า ความพยายามเสริมความงามแบบสตรีลงไปในตัวแทนภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ยังเป็นการแตะประเด็นที่อ่อนไหว เนื่องจากผู้หญิงในประวัติศาสตร์ต่อสู้มานานมากเพื่อให้ไปไกลกว่าภาพเหมารวมของผู้หญิงในสนามงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่มีชายเป็นใหญ่ ขณะที่รายการของ ดร.เอริก้า เน้นการช่วยนักเรียนในการหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์หรือโครงการทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขา การประกวดความงามของ Miss Rikei ได้รับการตอบรับในหลายๆ แง่

ความสวยและความกี๊ค
มีความไม่พอใจเล็กน้อยในหมู่นักวิทยาศาสตร์ นักข่าว และนักการศึกษาของสหรัฐฯ ต่อกรณีของการประกวด Miss Rikei โจแอนน์ มานัสเตอร์ อาจารย์และนักพัฒนาหลักสูตรการสอนวิชาวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ กล่าวในทวิตเตอร์ว่า เมื่อเธอเข้าไปดูในเว็บไซต์ที่แสดงความเห็นต่อการประกวดนี้ มันเต็มไปด้วยความเห็นจากผู้ชายที่มีปฏิกิริยาต่อผู้หญิงสวยๆ ซึ่งมานาสเตอร์บอกว่า "ฉันคิดว่าเรื่องนี้ทำให้คนที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นกังวล โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยากให้คนมองพวกเธอจริงจังกว่านี้"

ทาง Livescience ได้ถามความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์หญิงของญี่ปุ่น 3 คน ที่จบปริญญาตรีจากสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์

ผู้ใช้ชื่อ 'ยูคาริ' นักวิจัยด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยในนิวยอร์คซิตี้ ให้ความเห็นว่า การประกวด Miss Rikei เป็นแค่เรื่องผิวเผิน และไม่เห็นด้วยกับการพยายามทำให้วิทยาศาสตร์ดูมีความเป็นหญิงมากเกินไปในเชิงภาพเหมารวม

'ยูคาริ' บอกว่าเธอชอบมากกว่าที่จะปล่อยให้คนคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งอุดมสำหรับหมู่กี๊คที่ไม่ค่อยสนใจโลกภายนอก "มีอะไรบางอย่างในวิทยาศาสตร์สำหรับฉันที่สามารถมองข้ามภาพลักษณ์ของชายเป็นใหญ่หรือความเป็นกี๊คได้ ดังนั้นหากคุณสนุกหรือมองเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ มันก็ไม่เกี่ยวเลยว่ามันจะเป็นเรื่องกี๊คๆ เรื่องชายเป็นใหญ่ หรือได้เงินไม่มากเท่าคนทำการเงิน"

'ริน' นักวิจัยด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยในนิวยอร์กซิตี้ คาดการณ์ว่าการประกวด Miss Rikei จะไม่ได้ผลในแง่การพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงญี่ปุ่นหันมาสนใจอาชีพวิทยาศาสตร์มากขึ้นได้

"นักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงคนใดก็ตามที่ทำงานได้ดีในสายวิชาชีพของตนเอง ควรจะเป็นต้นแบบตัวอย่างสำหรับนักศึกษาใหม่" รินกล่าว "นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนซูเปอร์โมเดล หรือ นักแสดงหญิง"

คานาเอะ โคบายาชิ ผู้ที่ทำงานในบริษัทรักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่นหลังจบจากสาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม บอกว่าการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ดูน่าสนุก และไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่ก็คิดว่ามันไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงอยากทำอาชีพวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากนัก

เป็นคุณหรือเป็นโทษ
การที่ไม่ได้ช่วยอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน Livescience ก็ตั้งคำถามว่ามันอาจจะทำให้เกิดผลในทางข้าม คือทำให้ผู้หญิงที่เป็นเยาวชนไม่อยากเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์หรือไม่

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ตีพิมพ์ในวารสารเมื่อเดือน มี.ค. เปิดเผยว่า การใช้ผู้หญิงเป็นแบบอย่างทำให้เด็กผู้หญิงมีความสนใจและความสามารถด้านคณิตศาสตร์ลดลง และทำให้พวกเขาลดความคาดหวังความสำเร็จในระยะสั้น และการมีต้นแบบที่เน้นความสวยงามยังเป็นการลดแรงจูงใจของเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้สนใจเรียนวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์มาก่อนด้วย

ไดอานา เบทซ์ และ เดนนิส เซกากัวเทวา นักจิตวิทยาผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัยของม.มิชิแกน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่บอกว่าแบบอย่างที่ดูกี๊คๆ ทำให้ผู้หญิงสนใจสายวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์น้อยลงเช่นกัน

แล้วแบบอย่างผู้หญิงในสายงานนี้ควรเป็นเช่นไร?
เบทซ์ และเซกากัวเทวา กล่าวว่าแบบอย่างควรจะมาจากตัวอย่างกว้างๆ ของคนที่ประสบความสำเร็จในสายงานต่างๆ โดยไม่ต้องจำกัดเขาอยู่ในภาพเหมารวมอย่างใดอย่างหนึ่ง

นักวิจัยเสนอว่าเด็กผู้หญิงและเด็กสาวควรมองเห็นความหลากหลายในหมู่สตรีผู้เป็นแบบอย่าง พวกเขาไม่ควรมองว่าวิทยาศาสตร์ต้องโยงกับคนประเภทเดียวคือกี๊ค หรือ ผู้หญิงสาวสวย

"บางที วิธีการที่ดีที่สุดในการส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คือการให้พวกเขาได้เจอนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์หญิงตัวจริง" เบทซ์ และเซกากัวเทวากล่าว "เด็กหญิงควรรู้ว่านักวิยาศาสตร์คือคนจริงๆ ที่มีความซับซ้อน เช่นเดียวกับตัวพวกเขาเอง แล้วพวกเธอก็มีความหลากหลายทางสายงาน และมีเป้าหมายชีวิตต่างกันไป"

นักวิจัยชี้ให้เห็นด้วยว่าสิ่งที่ลดแรงจูงใจเด้กผู้หญิงคือความรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถอาจเอื้อมเป็นได้แบบเดียวกับภาพลักษณ์ของต้นแบบ แต่แนวคิดเรื่องการไม่สามารถอาจเอื้อมถึงก็เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเด็กผู้หญิงถึงยกย่องให้ ดร.เอริก้า เป็นไอดอล แม้ว่าเด็กสาวที่โตกว่านี้จะเมินเธอในฐานะซูเปอร์โมเดลแห่งวงการวิทยาศาสตร์

ปรับโฉมให้วิทยาศาสตร์
ในประวัติศาสตร์ ภาพเหมารวมของผู้หญิงเคยหลอกหลอนนักวิทยาศาสตร์หญิงมาก่อน อย่าง โรซาลินด์ แฟรงคลิน ผู้ร่วมค้นพบ DNA เคยถูก เจมส์ วัตสัน ที่เอางานวิจัยของเธอมาใช้กล่าวถึงเธออย่างตรงไปตรงมาว่าแฟรงคลินไม่ชอบทาลิปสติกและไม่พยายามแต่งตัวให้ดูเป็นผู้หญิงมากกว่านี้

แต่ Livescience ก็บอกว่าแนวคิดเรื่อง "สวยแบบมีสมอง" อาจจะเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าได้ เมื่อสองทศวรรษที่แล้วมีตุ๊กตาทีนส์ทอล์กบาร์บี้พูดกับเด็กสาวอเมริกันว่า "วิชาคณิตฯ ยากจัง" แต่การประกวด Miss Rikei เป็นการยืนอยู่คนละข้างกับคำพูดของบาร์บี้โดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับที่ ดร.เอริก้า เอาใจช่วยเด็กผู้หญิงที่อยากโตขึ้นเป็นเจ้าหญิงนักวิทยาศาสตร์

เอริก้า เอบเบิ้ล แองเกิ้ล ก็ปกป้องแนวคิดเรื่องการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ต้องแยกแยะให้ดีระหว่างการประกวดความงาม (มิสยูนิเวิร์ส) กับการประกวดชิงทุนการศึกษา (มิสอเมริกา) เธอบอกว่าเธอชอบที่ได้สร้างความสามารถทางสังคมและความมั่นใจในตัวเองจากการประกวดหลายปีจนได้เป็นมิสแมสซาชูเซตส์ หลังจากที่เพื่อนเธอที่ MIT ส่งชื่อเธอประกวดโดยที่เธอไม่รู้

"จากสิ่งที่ฉันอ่านเกี่ยวกับเรื่องการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ ฉันคิดว่ามันให้โอกาสพวกเขาได้พิสูจน์ว่าเขาสวยแบบมีสมอง" เอริก้ากล่าว "ฉันไม่เห็นว่ามันมีอะไรผิด พวกเขาเป็นผู้หญิงที่โตแล้ว บางคนเรียนจบแล้วหรือยังเรียนอยู่ พวกเขาตัดสินใจว่าอยากให้ภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างไรได้"

เอริก้าบอกว่าเธอเห็นมงกูฏประกวดในฐานะสัญลักษณ์แห่งความเป็นไปได้ เด็กหญิงและผู้หญิงวัยรุ่นสามารถรักในวิทยาศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับการเป็นนักเต้น, นักดนตรี, นักฟุตบอล หรืออะไรก็ตามที่พวกเธอต้องการได้ "มันเป็นข้อความมากกว่าจะเป็นแค่มงกุฏ"

มานาสเตอร์ ผู้ที่เตือนคนจำนวนมากผ่านทวิตเตอร์เรื่องเกี่ยวกับการประกวด Miss Rikei ยอมรับว่ารูปลักษณ์ภายนอกของเธอเองมีส่วนในการสร้างความต่างเมื่อเธอทำรายการวิทยาศาสตร์ทางโทรทัศน์หรือในค่ายวิศวกรรมเด็กผู้หญิง ในอดีตมานาสเตอร์เคยเป็นนางแบบแฟชั่นมาก่อน แต่เธอก็เน้นย้ำว่าความรักในงานวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ

"บางทีเรายังไม่ได้แสดงให้เห็นมากพอ ว่ามีนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงที่หลงใหลในงานของตัวเอง" มานาสเตอร์กล่าว "ทำงานวิทยาศาสตร์ถ้าคุณรักมัน และถ้าคุณเป็นผู้หญิงมันเยี่ยมยอด และถ้าคุณไม่ใช่ผู้หญิง มันก็เยี่ยมยอดเช่นกัน"

 

ที่มา
'Princess Scientists' Stir Controversy, Livescience, 06-09-2012
http://www.livescience.com/22992-princess-scientists-take-stage.html

เชิงอรรถ
*Geek ผู้ที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและหลงใหลในความรู้เฉพาะด้านของตนอย่างมาก พวกเขามักจะมีภาพลักษณ์เป็นหนอนหนังสือหรือคนที่ดูไม่ใส่ใจกับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: "แด่...ภาวนา"

Posted: 10 Sep 2012 07:01 PM PDT

 

ภาวนาขอให้ "ภาวนา"
ก้าวสู่มรคาดาราสวรรค์
ปริศนาบ่อน้ำโปรดจำนรรจ์
เผยฆาตกรนั้นใครกันฤๅ

บั้นปลายชีวิต "ภาวนา"
สมคำล้ำค่าน่านับถือ
คนของประชาชนแท้ก็คือ
ยึดถือคุณธรรมค้ำคทา

"ชนะจิต" ชนะใจมหาชน
ยืนหยัดทุกหนท่ามฝนห่า
"เดือนแดง" แฝงหมู่ดาริกา
นามเธอ "ภาวนา" คนอาลัย

 

 

ที่มาภาพ: มนัส กิ่งจันทร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น