ประชาไท | Prachatai3.info |
- อาการติดอินเตอร์เน็ต อาจมาจากยีนส์ผ่าเหล่า
- สมช.ยันสัมพันธ์ไทย-มาเลย์แน่นปึ๊ก
- ศูนย์นิติศาสตร์ "มธ." ออกแถลงการณ์คดีสาวขับซีวิคชน 9 ศพโทลล์เวย์
- เริ่มเก็บ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง "วิทยา" เผยราบรื่นเพราะเตรียมการดี
- นายกสั่งเลขาธิการ สมช.ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ป.ป.ท.พบพิรุธ ส่อทุจริตจ่ายงบฯช่วยน้ำท่วม 563 ล้าน
- ประกันสังคมเพิ่มวงเงินค่ารักษาจาก 3 แสนเป็น 1 ล้าน
- ประชาคมอาเซียนกับสมการความเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น
- ปัญหาการอ้าง “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” กับ “ความชอบธรรม” ในการดำเนินการทางพระธรรมวินัย
- ยืนด่า "ดารุณี กฤตบุญญาลัย" กลางพารากอน
อาการติดอินเตอร์เน็ต อาจมาจากยีนส์ผ่าเหล่า Posted: 01 Sep 2012 11:00 AM PDT นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ เยอรมนี ค้นพบว่ากลุ่มคนที่มีอาการติดอิ 29 ส.ค. 2012 - การวิจัยในมหาวิทยาลั นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนีได้สัมภาษณ์กลุ่ และเมื่อเปรียบเทียมยีนส์ของทั้ รายงานการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ "หากสามารถศึกษาเข้าใจความเชื่ มอนแทกและทีมของเขาเน้นย้ำว่า เรื่องนี้ยังต้องศึกษากับกลุ่ "กรณีการค้นพบเรื่องการเชื่
ที่มา Internet Addiction Tied to Gene Mutation, Livescience, 29-08-2012 http://www.livescience.com/ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมช.ยันสัมพันธ์ไทย-มาเลย์แน่นปึ๊ก Posted: 01 Sep 2012 07:16 AM PDT เลขาฯ สมช.ลงใต้ติดตามเหตุเผาธงไทยติดธงมาเลย์ ยันไม่ส่งผลกระทบสัมพันธ์ 2 ชาติ สรุปป่วนวันชาติมาเลย์ 102 จุด วางบึ้มสวนยางพารานราธิวาส 2 จุด ชาวบ้านสาหัส 2 ราย พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 กันยายน 2555 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และผู้นำศาสนา หลังจากได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีเหตุไม่สงบเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา พลตำรวจเอกวิเชียร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า เหตุคนร้ายเผาทำลายธงชาติและติดธงชาติประเทศมาเลเซียจะไม่ส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย เพราะไทยกับมาเลเซียมีความร่วมมือเป็นอย่างดีในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งจากการไปเยี่ยมประเทศมาเลเซียของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ทางมาเลเซียประกาศอย่างชัดเจนที่สนับสนุนในการสร้างความสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พลตำรวจเอกวิเชียร กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ย่อมรับว่าเป็นการแสดงสัญญาณลักษณ์ของฝ่านขบวนการว่า ยังมีตัวตนอยู่ ระดับแกนนำสามารถสั่งการได้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมรับว่าหน่วยความมั่นคงรายงานว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าจะเกิดเหตุการณ์ในรูปแบบใด พลตำรวจเอกวิเชียร กล่าวว่า หลังแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ได้มีการกระจายกำลังในการตรวจค้น ตลอดจนตั้งด่านสกัดในหลายพื้นที่ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามทำงานได้ยากขึ้น และผลการประชุมในวันนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเชิญหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมประชุม และรายงานให้กับนายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป พลตำรวจเอกวิเชียร กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น ขอเรียนว่ามีการจัดการบ้างในบางช่วง อย่างที่เรียนไปแล้วว่า ความเป็นเอกภาพของฝ่ายเราค่อนข้างชัดเจนขึ้น สำหรับการประชุมดังกล่าว มีการหารือเรื่องการสร้างพื้นที่ความปลอดภัยหรือ safety zone และแนวทางการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งมีการรายงานเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 โดยมีเหตุเผาทำลายธงชาติ และติดธงชาติมาเลเซียในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางส่วนของสงขลา แยกเป็นในพื้นที่ยะลา 34 จุด นราธิวาส 44 จุด ปัตตานี 12 จุด และสงขลา 12 จุด รวม 102 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะก่อกวน และมีการลอบวางระเบิดรวม 5 จุดในพื้นที่ จ.นราธิวาส คือที่ อ.เมือง อ.ระแงะ อ.จะแนะ อ.บาเจาะ และ อ.สุไหงปาดี ทำให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 6 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ของนาวิกโยธิน กองทัพเรือ 3 นาย ของหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 45 จำนวน 2 นาย และหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 46 จำนวน 1 นาย หลังการประชุม พลตำรวจเอกวิเชียร ได้พบปะผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนและภาคประชาชน ตลอดจนเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดยะลาและเยี่ยมการรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านในพื้นที่ ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี วันเดียวกัน ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งว่า เมื่อเวลา 06.06 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณสวนยางพารา บ้านตอหลัง ม.3 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้นายเจริญ แดงแต้ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 122 บ้านทุ่งขมิ้น ม.2 ต.ตันหยงลิมอ จ.นราธิวาส บาดเจ็บสาหัสบริเวณขา เหตุเกิดขณะที่นายเจริญ แดงแต้ กำลังเดินกรีดยางพาราในสวนดังกล่าว ส่วนสาเหตุเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินฯแจ้งอีกว่าเมื่อเวลา 08.25 น. เกิดเหตุระเบิดภายในสวนยางพาราบ้านแคนา ม.7 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้นางแมะมะ ลาเต๊ะ อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นราษฎรข้างต้น ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณขาขวา ได้รับบาดเจ็ดสาหัส ขณะเกิดเหตุนางแมะมะ ลาเต๊ะ กำลังกรีดยางในสวนยางพาราดังกล่าว ส่วนสาเหตุเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศูนย์นิติศาสตร์ "มธ." ออกแถลงการณ์คดีสาวขับซีวิคชน 9 ศพโทลล์เวย์ Posted: 01 Sep 2012 06:59 AM PDT 1 ก.ย. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่าศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บออกแถลงการณ์คดี น.ส.แพรวพราว ( นามสมมุติ) อายุ 18 ปี จำเลย ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท จนเป็นเหตุในผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย ที่ถูกศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาลงโทษจำคุก ระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาในคดีอาญากรณีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์แล้วนั้น คณะกรรมการกฎหมายเพื่อดูแลคดีที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้เสียหาย และได้แต่งตั้งทนายความของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ให้เป็นตัวแทนผู้เสียหายตามการร้องขอของผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ทางศูนย์นิติศาสตร์ มธ.จึงขอแถลงให้สาธารณชนได้ทราบถึงผลของการดำเนินคดีอาญาและแนวทางการดำเนินคดีต่อไป ดังนี้ 1. คดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนในข้อหาขับรถ โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ รวมทั้งข้อหาขับขี่รถขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น หลังจากการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งในวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 ให้มีการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายและจำเลยภายใน 30 วัน แต่ผู้ไกล่เกลี่ยแจ้งว่าไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้และคู่กรณีประสงค์จะให้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนฯ จึงได้อ่านคำพิพากษาซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า “จำเลยมีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและสาหัส จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี” พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยหลายประการ คณะกรรมการกฎหมายเพื่อดูแลคดีที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ในนามของผู้เสียหายใคร่ขอขอบคุณพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการที่ได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และขอบพระคุณศาลสถิตยุติธรรมที่ได้ให้ควายุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 9 คน รวมถึงขอขอบคุณพยานทุกท่านที่เข้าเบิกความตามความเป็นจริง ถึงแม้โทษจะเป็นเพียงการรอการลงโทษ แต่ผู้เสียหายยอมรับคำพิพากษาทุกประการ เนื่องจากผู้เสียหายมิได้ประสงค์ที่จะให้จำเลยต้องถูกลงโทษจำคุกแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการความเป็นธรรม เนื่องจากจำเลยมิได้ยอมรับผิดว่าได้ขับรถโดยประมาท และเชื่อมั่นว่าผลของคดีจะได้เป็นบรรทัดฐานสำหรับทุกฝ่าย รวมถึงผู้ปกครองจะได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการปล่อยให้ผู้เยาว์ในความปกครองของตนขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยที่มีมากขึ้นบนท้องถนนของประเทศไทยต่อไป 2. ในส่วนของคดีแพ่ง ซึ่งผู้เสียหายโดยทนายความของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง จำนวน 13 คดี โดยฟ้องเยาวชนผู้ก่อเหตุและบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายนั้น ศาลแพ่งยังไม่ได้พิพากษาเนื่องจากว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมผูกพันไปถึงคดีแพ่ง จึงต้องรอให้คำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุดก่อน ซึ่งในขณะนี้คดีอาญายังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากคู่ความมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ภายใน 30 วันหลังจากมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น 3. สำหรับในเรื่อง ค่าเสียหายในทางแพ่ง นั้น ทนายความของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เสียหาย ได้พิจารณาบนพื้นฐานของสิทธิตามกฎหมายของผู้เสียหาย ทั้งนี้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแก่ผู้เสียหายแต่ละราย โดยพิจารณาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้เคยตัดสินเป็นบรรทัดฐานเอาไว้ มิได้มีการใช้สิทธิเกินเลยไปจากที่กฎหมายกำหนด หรือเกินเลยไปจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยตัดสินไว้แต่ประการใด ซึ่งเมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วจะได้มีการแถลงให้สาธารณชนทราบในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมการกฎหมายเพื่อดูแลคดีที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ และทนายความของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่โดยยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกประการ การดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นการเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ หรือการฟ้องคดีแพ่งให้ผู้เสียหาย มีความประสงค์แต่เพียงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย และต้องการให้เกิดบรรทัดฐานที่ดีในสังคม โดยมิได้มีความประสงค์จะทำให้จำเลยต้องถูกเกลียดชังแต่ประการใด จึงใคร่ขอให้การใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์กันในเรื่องนี้ให้เป็นไปในขอบเขตของกฎหมายและการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างสังคมที่ดีงามร่วมกันต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เริ่มเก็บ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง "วิทยา" เผยราบรื่นเพราะเตรียมการดี Posted: 01 Sep 2012 06:20 AM PDT "วิทยา" เผยการดำเนินการร่วมจ่าย 30 บาท วันแรก ราบรื่นดี ระบุเพราะเตรียมการดี ส่วนที่นครราชสีมา 30 บาทวันแรกไม่ราบรื่น เผย ปชช.ยังไม่เข้าใจ 1 ก.ย. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทวันแรก ในการเดินทางไปยังโรงพยาบาลตรัง พร้อมมอบนโยบายแก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านว่า รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพบริการ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนป่วยหายเร็ว คนปกติมีสุขภาพแข็งแรง มีระบบบริการสาธารณสุขได้มาตรฐาน และเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงและทัดเทียม "จากการติดตามนโยบายร่วมจ่ายในวันแรกวันนี้ที่โรงพยาบาลตรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 535 เตียง มีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกวันละ 1,600-1,800 รายต่อวันและผู้ป่วยในวันละ 450-500 รายต่อวัน พบว่าราบรื่นดี เนื่องจากผู้บริหารมีการเตรียมการไว้อย่างดี"นาววิทยากล่าว นครราชสีมา 30 บาทวันแรกไม่ราบรื่น ปชช.ยังไม่เข้าใจ ด้านเนชั่นทันข่าวรายงานว่านายแพทย์วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วันนี้ (1 ก.ย. 55) เป็นวันแรก ก็ปรากฏว่าในสถานพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ มีประชาชนยังไม่เข้าใจเข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้มาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 4 พันคน ที่มีปัญหาไม่เข้าใจเรเข้าใจมาสอบถามที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์กันอย่างเนืองแน่น ซึ่งตนก็ได้ให้นโยบายกับโรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมโครงการ เร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง และให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาความพร้อมให้บริการที่ดีขึ้นทุกด้าน ทั้งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยเรื้อรัง บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ โดยไม่มีเวลาหยุดพักเที่ยง ทั้งนี้สำหรับในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลภาครัฐ เข้าร่วมโครงการนี้ 30 แห่ง และภาคเอกชนอีก 4 แห่ง ซึ่งทุกแห่งก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้วยความยินดี โดยจะมีการตรวจสิทธิ์ตามบัตรประชาชน ผู้ที่เคยได้รับสิทธิ์ยกเว้นการร่วมจ่าย 30 บาท ทั้ง 21 กลุ่ม ก็จะยังได้รับการยกเว้นร่วมจ่ายเหมือนเดิม แต่หากใครมีความสมัครใจที่จะช่วยจ่ายให้กับสถานพยาบาล ก็ยินดี เพราะปัจจุบันนี้สถานพยาบาลแต่ละแห่งก็รับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าอยู่เวรพยาบาล ค่าซื้อเครื่องมือแพทย์ และค่าตอบแทนแพทย์ชำนาญการ ซึ่งขณะนี้ก็ได้แต่เพียงจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินมาช่วยลดภาระเหล่านี้ แต่หากได้เงินค่าธรรมเนียมเล็กน้อยมาช่วยก็จะช่วยลดภาระให้กับสถานพยาบาลได้บ้าง นายแพทย์วิชัยฯ กล่าว รพ."รามาฯ-จุฬาฯ" ยังไม่เก็บ 30 บ. เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าเมื่อวันที่ 31 ส.ค. รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ในโครงการหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยมีเงื่อนไขต้องเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยา และหากผู้ป่วยไม่ประสงค์จ่ายก็ให้เป็นไปตามสิทธิผู้ป่วยว่า เพื่อลดความยุ่งยากในการตรวจสอบสิทธิ ลดการเผชิญหน้าของเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้จ่ายและผู้ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ยกเว้นกับบุคคลที่ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ที่ประชุมของรามาธิบดีจึงมีมติยกเว้นการจัดเก็บเงินดังกล่าว และใช้ระบบเดิมด้วยคุณภาพและมาตรฐานเดิมทุกอย่าง โดยร.พ.ยอมขาดรายได้และจะนำรายได้ส่วนอื่นมาทดแทน ด้านรศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองผอ.ร.พ.จุฬาลงกรณ์กล่าวว่า ร.พ.ขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างทำแนวปฏิบัติและสื่อสารให้กับผู้ปฏิบัติงาน หากไม่ทันก่อนวันที่ 1 ก.ย. ร.พ.จุฬาฯ จะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก่อนให้ได้มากที่สุด โดยจะยังไม่เก็บเงินดังกล่าว อาจต้องชะลอการเก็บเงินไปก่อน นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า กรณีร.พ.ที่ประกาศว่าจะไม่เก็บ 30 บาทก็ต้องมีเหตุผล โดยเรื่องนี้ต้องการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนผู้ที่ใช้บริการตรวจโรคหรืออื่นๆ เช่น ทำแผล ฉีดวัคซีนที่ไม่ได้รับยา รวมทั้งใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดาร และร.พ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล(ร.พ.สต.) ทั่วประเทศ ยังเป็นการให้บริการฟรีทั้งหมดเช่นเดิม ทั้งนี้ หากไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายก็สามารถสงวนสิทธิ์ได้ โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบรายหัวในโครงการ 30 บาท ในอัตรา 2,755.60 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 หัวละ 209.12 บาท ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ได้ระบุชัดถึงข้อปฏิบัติของหน่วยบริการว่าต้องดำเนินการเก็บร่วมจ่ายหรือไม่ แต่เน้นให้บริการประชาชนและให้ได้ร่วมจ่าย ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นจะผิดหลักกฎหมายหรือไม่ คงต้องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 ก.ย.ที่จะเริ่มเก็บเงินเป็นวันแรก สปสช.ได้เตรียมระบบรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วนโทร.1330 ร.พ.แม่สอด เริ่มโครงการร่วมจ่าย 30 บาท สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าโรงพยาบาลแม่สอด เริ่มโครงการร่วมจ่าย 30 บาท ดีเดย์วันนี้ 1 กันยายน 2555 สร้างแรงจูงใจประชาชน ใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ใกล้บ้าน นายแพทย์รณไตร เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า โครงการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามนโยบายรัฐบาล จะเริ่มในวันนี้ (1 กันยายน 2555) โดยทางโรงพยาบาลแม่สอด มีความพร้อมที่สนองนโยบาย มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่าย 30 บาท ในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป จนถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และในโรงพยาบาลเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอแม่สอด เผยว่า โครงการร่วมจ่ายนี้ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ใกล้บ้านมากขึ้น ซึ่งสามารถดูแลประชาชนได้ดีเหมือนโรงพยาบาลใหญ่ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยในอนาคตนี้จะใช้ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต พูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาในโรงพยาบาลแม่สอดโดยตรง หลังจากที่ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้มีโอกาสเดินทางไปที่อำเภอท่าสองยาง และส่งเสริมให้ใช้ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เนต ผ่านการแชทวิดีโอกับประชาชน ที่มีปัญหาการคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในพื้นที่โรงพยาบาลอำเภอท่าสองยาง และจะลงมาที่อำเภอแม่ระมาด รวมทั้ง อำเภอแม่สอด ตามลำดับ ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, เนชั่นทันข่าว, ข่าวสด, ไอเอ็นเอ็น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นายกสั่งเลขาธิการ สมช.ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ Posted: 01 Sep 2012 05:50 AM PDT นายกรัฐมนตรี สั่งเลขาธิการ สมช.ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังกลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ด้านกระทรวงกลาโหม แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ระบุให้ความสำคัญในทุกเรื่อง เน้นแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบข้อซักถามกรณีกลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุรุนแรง ลักษณะเชิงสัญลักษณ์หลายสิบจุดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปักธงชาติมาเลเซียหลายพื้นที่ว่า ได้รับรายงานแล้ว และได้สั่งการให้พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาพวามมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ลงไปดูแลแล้ว โดยจะลงพื้นที่ในวันนี้ (1 ก.ย.) กระทรวงกลาโหม แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ระบุให้ความสำคัญในทุกเรื่อง เน้นแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในการแถลงผลการดำเนินการครบรอบ 1 ปีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม ว่า ภารกิจของกระทรวงกลาโหมเน้นพันธกิจการทำงานด้านความมั่นคง โดยเรื่องของนโยบายรัฐบาลต่อกระทรวงกลาโหมได้ให้ความสำคัญในทุกเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวง ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการผ่านโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่องใน 7 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศขึ้นมาใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการทบทวนแผนแม่บทปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง / การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการพัฒนาระบบป้องกันล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ทางอินเตอร์เน็ต และจัดทำสื่อสร้างสรรค์เฉลิมพระเกียรติผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ / การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลกำหนดให้เร่งดำเนินการ โดยรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไข ซึ่งจะต้องนำส่วนราชการต่างๆทั้ง 17 กระทรวงที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน / การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยการดำเนินงานจะสอดคล้องกับนโยบายด้านต่างประเทศของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน / การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ / การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงได้สนับสนุนการดำเนินการใน 3 มิติ ทั้งการป้องกัน การสกัดกั้น รวมถึงการปราบปรามและการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ป.ป.ท.พบพิรุธ ส่อทุจริตจ่ายงบฯช่วยน้ำท่วม 563 ล้าน Posted: 01 Sep 2012 05:35 AM PDT เลขาฯ ป.ป.ท.เผยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ 6 จว.ภาคอีสานสุ่มตรวจการเบิกจ่ายงบฯ ช่วยเหลือน้ำท่วม 563 ล้านบาท พบข้อพิรุธทุกโครงการที่สุ่มตรวจ ทั้งเขียนโครงการซ่อมแซมทั้งที่ไม่มีการชำรุดจริง ผู้ควบคุมไม่ดูแลงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง กระทั่งนำวัสดุไม่ได้มาตรฐานมาก่อสร้าง ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ย. พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่ 4 ลงพื้นที่กระจายกำลังตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ซึ่งเป็นงบกลางในกรณีฉุกเฉิน หลังได้รับรายงานจากคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับงบดังกล่าวที่จัดสรรลงทั่วประเทศในปี 2555 มีจำนวนมากถึง 1.2 แสนล้านบาท ว่าอาจมีความผิดปกติในการเบิกจ่าย โดย ป.ป.ท.สุ่มตรวจสอบการใช้งบดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีการเบิกจ่ายงบจำนวนมากที่สุด ประกอบด้วย 6 จังหวัดคือ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ ขอนแก่น และชัยภูมิ มีการตั้งโครงการเบิกจ่ายจำนวน 595 โครงการ เป็นเงินกว่า 563 ล้านบาท พบข้อพิรุธในการเบิกจ่ายหลายประการ ทั้งการปกปิดรายละเอียดโครงการ การไม่ทำโครงการให้เป็นไปตามปริมาณวัสดุ การเขียนโครงการซ่อมแซมทั้งที่ไม่มีการชำรุดจริง ผู้ควบคุมไม่ดูแลงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง หรือกระทั่งการนำวัสดุไม่ได้มาตรฐานมาก่อสร้าง ที่น่าตกใจมาก คือ พบความผิดปกติในทุกโครงการที่สุ่มตรวจ โดยจำแนกได้ดังนี้ จ.บึงกาฬ มี 180 โครงการ งบประมาณรวม 57,761,400 บาท สุ่มตรวจ 5 โครงการ จ.เลย มี 198 โครงการ งบประมาณ 104,438,100 บาท สุ่มตรวจ 10 โครงการ จ.หนองคาย มี 47 โครงการ งบ 174,840,000 บาท สุ่มตรวจ 4 โครงการ จ.อุดรธานี มี 51 โครงการ งบ 76,378,900 บาท สุ่มตรวจ 7 โครงการ จ.ขอนแก่น 99 โครงการ งบ 70 ล้านบาท สุ่มตรวจ 4 โครงการ และ จ.หนองบัวลำภู มี 20 โครงการ งบ 79,803,800 บาท ยังไม่ได้สุ่มตรวจ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวต่อว่า ยอมรับว่ากรณีนี้มีความน่าเป็นห่วง เพราะเป็นงบประมาณที่น่าจะทำประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเต็มที่ ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ และแจ้งเบาะแสกับ ป.ป.ท. เพื่อดำเนินการกับผู้ที่ทุจริต โดยเฉพาะในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกันนี้ ป.ป.ท.จะเสนอให้รัฐบาลวางมาตรการควบคุมการใช้จ่ายงบภัยพิบัติอย่างเข้มงวด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประกันสังคมเพิ่มวงเงินค่ารักษาจาก 3 แสนเป็น 1 ล้าน Posted: 01 Sep 2012 05:22 AM PDT ไฟเขียวมติเพิ่มค่ารักษาพยาบาล ให้ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากวงเงิน 300,000 บาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีมติเพิ่มค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนจาก 300,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท โดยจะเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การพิจารณาค่าใช้จ่ายจำนวน 500,000 บาทแรก ใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ส่วน 500,000 บาท หลัง ใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ซึ่งหากผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานและมีค่ารักษาพยาบาล ต่ำกว่า 300,000 บาท ให้ปฏิบัติตามระเบียบเดิม ส่วนผู้ประกันตนที่มีค่ารักษาพยาบาลเกินกว่า 300,000 บาท จะให้โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาใช้ระบบดีอาร์จี ซึ่งเป็นระบบจำแนกความรุนแรงของโรคแบบสากล จากนั้นจะพิจารณาค่าน้ำหนักความรุนแรงของโรค (RW) หากผู้ประกันตนมีค่าน้ำหนักความรุนแรงของโรคเกินกว่า RW 20 ขึ้นไป ให้โรงพยาบาลพิจารณาส่งเรื่องมายัง สปส. เพื่อให้คณะกรรมการการแพทย์ พิจารณาว่าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงินเท่าไร โดยต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ คาดว่าร่างแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ประมาณ 6 เดือนนับจากนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประชาคมอาเซียนกับสมการความเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น Posted: 01 Sep 2012 05:09 AM PDT ในวันที่ 8 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นวันครบรอบ 45 ปีของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “อาเซียน” ผู้คน สถานบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐรวมทั้งเอกชนหลากหลายแห่งได้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ในด้านการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงภายในอีกสามปีข้างหน้าด้วยการจัดการพูดคุยและให้ข้อมูลต่างๆอันเกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังมีกระแสตื่นตระหนกและตื่นตาตื่นใจ ทั้งในระดับบุคคลธรรมดาทั่วไป นักวิชาการ และนักการเมือง กับการเกิดขึ้นของการรวมตัวระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนและผลกระทบต่างๆที่จะตามมาไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานที่มีฝีมือ สินค้า บริการ การลงทุน และเงินทุน ซึ่งในแง่นี้ ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือชาวไทยหมู่มากค่อนข้างมองหา “สิ่งที่ควรจะเป็น” นอกเหนือจาก “สิ่งที่เป็นอยู่” อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของอาเซียนอาจทำให้เกิดคำถามขบคิดที่ตามมามากมายถึงความเป็นไปได้ของประชาคมอาเซียนในอนาคต กล่าวคือ เมื่อพิจารณาถึงตัวแปรอาทิเช่น ปทัสถานระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียน พฤติกรรมของรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรณีศึกษาของการรวมกลุ่มระหว่างรัฐในภูมิภาคอื่นๆ อาเซียนกำลังอยู่ในช่วง “สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ในการเดินทางเข้าสู่เส้นทางประชาคม สภาวะกลืนไม่เข้า อาจจะไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่าปทัสถานระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียนหรือที่รู้จักกันดีว่า “วิถีทางอาเซียน” นั้นส่งผลให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน ในที่นี้ วิถีทางอาเซียนคือตัวเชื่อมระหว่างรัฐชาติที่มีระบบการปกครอง สังคม และวัฒนธรรมอันแตกต่างกันให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันโดยปราศจากสงครามซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง วิถีทางอาเซียน ซึ่งโดยหลักแล้วประกอบไปด้วยหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศสมาชิก จำเป็นสำหรับการรวมกลุ่มในภูมิภาคเนื่องด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก ประเทศในส่วนมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เปลี่ยนผ่านจากรัฐในรูปแบบเดิมสู่รัฐชาติในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปี โดยต่างจากรัฐชาติในแถบยุโรปซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้ง ค.ศ. 1648 และได้ผ่าน “สงครามอันยาวนาน” [1] ที่ได้พรากชีวิตผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน ในขณะที่รัฐชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดประสบการณ์การสูญเสียขนานใหญ่ ด้วยเหตุที่ขาดกระบวนการเรียนรู้จากความสูญเสียจึงส่งผลให้การรวมกลุ่มประเทศและความเชื่อใจกันระหว่างสมาชิกในอาเซียนค่อนข้างแผ่วเบาเมื่อเทียบกับการรวมกลุ่มในยุโรป สืบเนื่องจากเหตุผลประการแรก เหตุผลประการที่สองก็คือวัฒนธรรมการเมืองของรัฐส่วนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่บนฐานของความไม่เป็นทางการ (informal) ความไม่อยู่บนฐานของหนังสือสัญญา (non-contractual) และเชื่อมั่นในตัวผู้นำ [2] กล่าวคือในแง่ของความใหม่ในมุมมองแบบรัฐชาติ กอปรกับการที่หลายรัฐถูกแทรกแซงจากตะวันตกรวมถึงความขัดแย้งภายในภูมิภาคเองเป็นเนืองนิตย์ ซึ่งส่งผลให้รัฐแต่ละรัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติโดยเน้นไปที่ความมั่นคงทางการทหารเป็นหลัก ดังนั้นวิถีทางอาเซียนจึงจำเป็นสำหรับการดึงดูดรัฐอันปราศจากความเชื่อใจกันเข้าด้วยกัน ซ้ำยังจำเป็นต่อเหล่าประเทศอันมีความแตกต่างกันในมิติทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย ครั้นวิถีทางอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้างองค์การระหว่างรัฐ อาเซียนจึงได้ระบุวิถีทางดังกล่าวลงในกฎบัตรอาเซียน การระบุปทัสถานเหล่านั้นลงในกฎบัตรซึ่งมีจุดประสงค์ให้รัฐสมาชิกพึงปฏิบัติตามนั้น จึงเป็นความย้อนแย้งกันในเชิงหลักการเป็นที่แน่แท้ กล่าวคือ เมื่อกฎบัตรมีจุดประสงค์เรียกร้องให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อบังคับหนึ่งๆ ในขณะที่วิถีทางอาเซียนเปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกดำเนินนโยบายภายในโดยปราศจากการแทรกแซงจากสมาชิกด้วยกันเอง ในแง่นี้ การละเมิดข้อบังคับบางประการในกฎบัตรจึงเป็นการกระทำตามข้อบังคับของกฎบัตรโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือความย้อนแย้งกันในกฎบัตรมาตราที่ 1 วรรคที่ 7 ซึ่งกำหนดจุดประสงค์ของอาเซียนในการ “เสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน” ซึ่งมาตราดังกล่าวขัดกับมาตราที่ 2 ซึ่งกล่าวถึงการปฏิบัติตามวิถีทางอาเซียน ดังนั้น กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เช่นกรณีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมนางออง ซาน ซูจี ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งเหล่าประเทศสมาชิกได้แต่เพียงแสดงปฏิกิริยาอันเนื่องมาจากหลักการเคารพอธิปไตยของรัฐสมาชิกโดยไม่สามารถแทรกแซงในกิจการภายในที่ถูกเน้นย้ำไว้ในกฎบัตรมาตราที่ 2 ได้เลย การให้ความสำคัญต่อวิถีทางอาเซียนนั้นยังส่งผลให้ภูมิภาคขาดมาตรการการลงโทษรัฐสมาชิกที่ละเมิดข้อบังคับต่างๆนาๆที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตร ด้วยเหตุนี้รัฐสมาชิกจึงฉาบฉวยช่องทางดังกล่าวในการละเมิดข้อตกลงเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย อาทิเช่นกรณีเข้าร่วมในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี ค.ศ. 1992 โดยผ่านกลไกการลด “อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน” (Common Effective Preferential Tariff Scheme) แต่เดิมนั้นกลไกดังกล่าวครอบคลุมเพียงแค่สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูปเท่านั้นซึ่งต่อมาได้ขยายครอบคุลมสินค้าทุกประเภท กลไกดังกล่าวลดอัตราภาษีศุลกากรสินข้านำเข้าของรัฐสมาชิกโดยมีเป้าประสงค์ให้ลดเหลือร้อยละ 0-5 ภายในระยะเวลาสิบปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 จนถึงปี 2003 โดยแรกเริ่มนั้น กลไกนี้ครอบคลุมเพียงแค่สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูปเท่านั้น แต่ภายหลังได้ขยับขยายขอบข่ายเหมารวมสินค้าทุกประเภท [3] กระบวนการลดภาษีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการนำวิถีทางอาเซียนมาใช้เมื่อมีกรณีพิพาทระหว่างมาเลเซียและไทยเมื่อมาเลเซียขอเรียกร้องการเลื่อนการลดภาษีอันเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนยานยนต์ไปในปี 2005 ซึ่งประเทศไทยทักท้วงและขู่จะว่าเลื่อนการลดภาษีศุลกากรบางประเภทเช่นเดียวกัน [4] นอกจากกรณีของไทยและมาเลเซียแล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างความขัดแย้งที่ได้เกิดขึ้นก็คือปัญหาระหว่างฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ เมื่อฟิลิปปินส์ได้ส่งรายชื่อสินค้าประเภทปิโตรเคมี 11 รายการซึ่งฟิลิปปินส์ประสงค์ที่จะคงเดิมอัตราภาษีศุลกากรไว้ที่ร้อยละ 7-10 [5] แทนที่จะลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 5 ตามพันธะที่มีต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน นาย Manuel Roxas อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศฟิลิปปินส์ได้แสดงทัศนะต่อการกระทำดังกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีพันธะต่ออาเซียน แต่พวกเราก็จำต้องพิจารณาด้านผลประโยชน์แห่งชาติด้วย เพราะพวกเรามองว่าการค้าด้านปิโตรเคมีเป็นภาคส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ของฟิลิปปินส์” [6] ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐสมาชิกทั้งหลายมองเห็นโอกาสในการละทิ้งพันธะต่างๆที่มีต่ออาเซียนเพื่อดำเนินนโยบายที่จะทำให้รัฐตนได้ผลประโยชน์แห่งชาติได้มากที่สุดซึ่งเมื่อนำพฤติกรรมของรัฐสมาชิกเหล่านี้มาวิเคราะห์ภาพประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสามปีข้างหน้าก็คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าใดหากพบว่ารัฐบางรัฐเลือกที่จะปฏิเสธพันธะบางอย่างในการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติดังที่ นายสุพัฒน์ สงวนดีกุล ผู้อำนวยการสำนักอาเซียน ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจจะมีการนำมาตรการการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีมาเพื่อปกป้องพลเมืองของแต่ละที่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนในแง่การตีความว่าเป็นการกีดกันทางการค้าหรือไม่ นอกจากนี้ นายสุพัฒน์ ยังได้มองว่ากฎหมายภายในประเทศของแต่ละรัฐสมาชิกอาจจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำหรับการรวมกันเป็นประชาคมได้เนื่องจาก กฎหมายภายในอาจจะระบุถึงการจดทะเบียนหรือข้อบังคับต่างๆนา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่บั่นทอนแรงจูงใจของนักลงทุนต่างๆมากมาย [7] ในมุมนี้กฎหมายภายในของแต่ละรัฐสมาชิกอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบิดเบี้ยวพันธะที่มีต่อประชาคมก็เป็นได้ สถานะคายไม่ออก สืบเนื่องจากโครงสร้างที่เปิดช่องให้รัฐสมาชิกในอาเซียนมีแรงจูงใจในการเบี่ยงเบนจากพันธะของประชาคม นายสุพัฒน์ ได้เสนอให้มีผู้นำในอาเซียนเพียงประเทศเดียวในการถีบจักรและได้เสนอให้มีมาตรการลงโทษต่อประเทศสมาชิกที่ละเมิดข้อตกลงในองค์การ [8] ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับทฤษฎี “เสถียรภาพที่เกิดจากความเป็นเจ้า” (hegemonic stability theory) [9] กล่าวคือจำต้องมีอำนาจเหนือรัฐสมาชิกคอยกำกับดูแล ลงโทษ และป้องกันมิให้เกิดการเบี่ยงเบนไปจากข้อตกลงร่วมกันในภูมิภาค ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะอยู่ในรูปของรัฐซึ่งครองสถานะความเป็นเจ้า (hegemon) ซึ่งบังคับสมาชิกผ่านอิทธิผลหรือมาตรการต่าง หรือเป็นการใช้อำนาจเชิงสถาบันผ่านรูปแบบองค์การระหว่างประเทศเหนือรัฐ (supranational authority) หากจะกล่าวให้กระชับที่สุดก็คืออำนาจดังที่กล่าวมาในข้างต้นมีความสำคัญในการป้องกันปัญหาการละเมิดที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อปราศจากอำนาจดังกล่าวก็อาจจะเกิดปัญหา “ภัยทางศีลธรรม” (moral hazard) ดังที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปเมื่อตัวสหภาพเลือกที่จะไม่ควบคุมการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐสมาชิกอันเป็นเหตุให้มีรัฐบางรัฐเลือกที่จะใช้จ่ายเกินกำลังก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ตามมา ฉะนั้น เมื่อลองย้อนกลับมาดูในกรณีอาเซียนนั้น อำนาจดิบผ่านสถานะความเป็นเจ้าหรืออำนาจเชิงสถาบันนั้นถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการธำรงประชาคมอาเซียนให้ยืนยาวไปได้ไกลมากกว่าการที่จะยืนบนฐานของวิถีทางอาเซียน อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ก่อนหน้าถึงความจำเป็นในการดำรงอยู่ของวิถีทางอาเซียน ซึ่งดึงเหล่ารัฐสมาชิกที่มีความแตกต่างกันในด้าน การเมือง สังคมและวัฒนธรรม และยังปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันมารวมเข้าด้วยกัน แนวคิดการยอมรับสถานะความเป็นเจ้าของรัฐใดรัฐหนึ่งหรือการยอมถูกผูกมัดภายใต้อำนาจเหนือรัฐนั้นดูจะเป็นการเร่งการสูญสลายของประชาคมให้แตกเป็นเสี่ยง เมื่อจินตนาการถึงการบังคับใช้ประชาธิปไตยในภูมิภาคผ่านกลไกอำนาจเหนือรัฐนั้น รัฐบาลพม่าก็คงยินยอมถูกถอดความเป็นสมาชิกจากอาเซียนเป็นแน่ ด้วยเหตุที่การกำหนดดังกล่าวกระทบกระเทือนต่อผู้มีอำนาจภายในโดยตรง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในหลายกรณีเมื่อมีการก่อตั้งอำนาจเหนือรัฐ หากจะกล่าวโดยสรุปทั้งมวลก็คือสิ่งที่รวมกันให้เกิดอาเซียนและปัจจัยที่จะธำรงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นเป็นฟันเฟืองอันสำคัญในการหมุนอาเซียนดำเนินไปข้างหน้า แต่ทว่าทั้งสองตัวแปรนี้เปรียบเสมือนน้ำและน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถผสมกลมกลืนให้กลายเป็นเนื้อเดียวได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ตัวแปรที่ได้กล่าวมาจึงเป็นสมการของความเป็นไปไม่ได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มองย้อนหลัง คาดหวังไปข้างหน้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเซียนกับความเป็นไปไม่ได้นั้นค่อนข้างละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่ E.H. Carr ได้วิเคราะห์ไว้เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ในหนังสือชื่อดังของ Carr ที่ชื่อว่า The Twenty Years’ Crisis 1919-1939: an Introduction to the Study of International Relations นั้น Carr ได้วิจารณ์นักวิชาการและนักออกนโยบายเช่น Norman Angell และ Woodrow Wilson ซึ่ง Carr มองผ่านคำถามพื้นฐานว่านักวิชาการเหล่านี้มองสิ่งที่ “ควรจะเป็น” มากกว่าการศึกษา “สิ่งที่เป็นอยู่” เช่นเมื่อครั้ง Wilson ถูกถามเกี่ยวกับการออกแบบ “สันติบาตแห่งชาติ” (League of Nations) ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ Wilson ได้ตอบกลับได้อย่างมีนัยยะว่า “ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ ยังไงก็ต้องทำให้มันประสบความสำเร็จให้จงได้” [10] หรือถ้าจะอธิบายคำตอบของ Wilson ให้ง่ายที่สุดก็คือ นักวิชาการและนักออกนโยบายอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อ “ปัจจัยที่เป็นอยู่” มากนักเมื่อเทียบกับอนาคตที่กำลังจะเกิด เมื่อย้อนเหลียวดูอาเซียนและประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดนั้น นักวิชาการและนักออกนโยบายส่วนมากได้มองในมุมมองเฉกเช่นเดียวกับ Wilson นั่นก็คือมองอาเซียนในสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าปัจจัยความเป็นไปไม่ได้ที่เป็นอยู่ อาทิเช่น นักวิชาการไทยบางกลุ่มเสนอให้แก้ประวัติศาสตร์ร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบูรณาการในภูมิภาค ข้อเสนอดังกล่าวมองผ่านคำถาม “สิ่งที่ควรจะเป็น” มากกว่าศึกษาปัจจัยความเป็นไปได้ที่แต่ละรัฐจะยอมแก้ไขประวัติศาสตร์ จะอย่างไรก็ตาม นักวิชาการอิสระบางท่าน [11] ได้เสนอให้มองความเป็นไปได้ของประชาคมโดย “เชื่อมั่น” ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเพื่อที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนปทัสถานของอาเซียนจากวิถีอาเซียนสู่ปทัสถานในรูปแบบอื่นซึ่งเอื้อต่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของประชาคมอาเซียนในอนาคต ซึ่งตัวอย่างก็คือการที่เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิกจนกระทั่งรัฐสมาชิกเริ่มอยากเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนนับตั้งแต่ก่อตั้งและบางรัฐยินยอมอยู่ภายใต้พันธะบางประการของอาเซียน ฉะนั้นถ้ามองจากกรอบนี้วิถีอาเซียนก็คงมีการปรับเปลี่ยนในอนาคตเป็นแน่ ไม่ว่าจะวิเคราะห์จากปัจจัยที่เป็นอยู่หรือคาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านปทัสถานในอนาคตอันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของการปฏิสัมพันธ์ในหมู่รัฐสมาชิก ความเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบของประชาคมอาเซียนคงไม่มีทางผลิดอกออกผลในระยะเวลาเพียงสามปีเป็นแน่ ………………………………………………... [1] “สงครามขนานใหญ่” (Epochal War) เป็นศัพท์ที่บัญญัติโดย Phillip Bobbitt โดยเขาใช้กล่าวถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจาก “รัฐก่อนสมัยใหม่” (pre-modern state) จนสู่การต่อสู้ฆ่าฟันระหว่างเหล่ากษัตริย์ในยุโรปในขณะที่ “สงครามยาวนาน” (Long War) นั้นผู้บัญญัติศัพท์ใช้อ้างอิงถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จวบจนจบสงครามเย็น ดู Phillip Bobbitt, the Shield of Achilles: War, Peace, and the Course of History (New York, Vintage Books, 2002). [2] Karl D. Jackson, “Bureaucratic polity: a theoretical framework for the analysis of power and communications in Indonesia,” in Karl. D. Jackson and Lucien W. Pye, eds., Political Power and Communications in Indonesia. (Berkeley: University of California Press, 1978), pp. 3-22. [3] Boi.go.th [Thailand], “สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนตามข้อตกลงอาเซียน,” http://www.boi.go.th/thai/clmv/Back_up/2010_myanmar/2010_myanmar_7.html Accessed 31 August 2012 [4] Hidetaka Yoshimatsu, “Collective Action Problems and Regional Integration in ASEAN,” CSGR Working Paper No 198/06, http://wrap.warwick.ac.uk/1907/1/WRAP_Yoshimatsu_wp19806.pdf Accessed 31 August 2012, pp. 9-10 [5] Ibid, p.10 [6] AFP, 16 June 2013 cited in ibid. [7] ศุภกร จันทร์ศรีสุริยวงษ์, “ทางรอดทางเดียวของไทย เหลียวหลัง-และหน้า ‘อาเซียน’,” http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEl3TURnMU5RPT0=§ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE1pMHdPQzB5TUE9PQ== Accessed 31 August 2012 บทความดังกล่าวได้มาจากการสรุปการเสวนาในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 45 ปี อาเซียน” [8] Ibid. [9] โปรดดูมุมมองของนักวิชาการด้านนี้ในบทที่ว่าการบูรณาการในระดับภูมิภาคผ่านมุมมองทฤษฎีเสถียรภาพที่เกิดจากความเป็นเจ้าใน Robert Gilpin, Global Political Economy: Understanding the International Economic Order(New Jersey: Princeton University Press, 2001), pp. 341-361 [10] E.H. Carr, The Twenty Years’ Crisis 1919-1939: an Introduction to the Study of International Relations (New York: Palgrave, 2001), p.8 [11] ขอขอบคุณพี่ชัยวุฒิ ตันไชย สำหรับการเสนอให้ลองมองอาเซียนในมุมมองในด้านบวก เพื่อสร้างปัจจัยความเป็นไปได้ของประชาคม โดยการมองผ่านกรอบคิด “สรรสร้างนิยม” (constructivism) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปัญหาการอ้าง “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” กับ “ความชอบธรรม” ในการดำเนินการทางพระธรรมวินัย Posted: 01 Sep 2012 04:50 AM PDT อ่านบทความ “ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย” เก่งกิจ กิติเรียงลาภ แล้ว ผมยอมรับว่าเขียนได้ดีหากเป็นประเด็นที่เรากำลังถกเถียงกันว่า “ศาสนาควรเป็นอิสระจากรัฐหรือไม่” ซึ่งผมก็พูดไปหลายครั้งแล้วว่าผมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงให้ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐในอนาคต แต่ประเด็นที่เก่งกิจอ้างถึงข้อเสนอของหลวงพี่ไพศาล วิสาโล และผม ในการอ้างอิง “กรอบพระธรรมวินัย” ตรวจสอบการพูดถึงชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ็อบส์ ของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่าผิดวินัยสงฆ์หรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหา “การดำเนินการทางพระธรรมวินัย” โดยหน่วยงานที่มี “บารมีพอ (?)” (ถ้าทำตามระบบพระธรรมวินัยจริงๆ คณะสงฆ์วัดพระธรรมกายก็ตรวจสอบกันเองได้ หรือคณะสงฆ์ที่เป็นผู้ปกครองตามลำดับชั้น เช่นเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค แต่เขาไม่ตรวจสอบกันเองหรอกครับ หน่วยงานตามลำดับชั้นก็ไม่มีบารมีพอที่จะรับผิดชอบดำเนินการได้) คือ “มหาเถรสมาคม” (แม้มหาเถรฯก็ยังมีคำถามว่าเอาเข้าจริงมีบารมีพอหรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มหาเถรฯไม่เคยดำเนินการกับพระสงฆ์ผู้ทรงอิทธิพลทางสังคมที่มีปัญหาคล้ายๆ กันนี้เลย) แต่ที่ต้องระบุถึงมหาเถรฯ เพราะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสูงสุดที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ทีนี้ปัญหาการดำเนินการทางวินัยก็มาสัมพันธ์กับปัญหาว่า “มหาเถรฯมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการทางพระธรรมวินัยหรือไม่?” ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงหลักๆ 4 ประการ คือ 1.ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบพระธรรมวินัยระหว่างหมาเถรฯกับวัดพระธรรมกาย (และวัดทั่วประเทศ) อธิบายได้ว่าทั้งมหาเถรและวัดพระธรรมกายมีความเสมอภาคภายใต้ระบบพระธรรมวินัยเดียวกัน คือเป็นพระภิกษุในนิกายเถรวาทที่ต้องปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ 227 ข้อเช่นกัน ยึดหลักคำสอนในพระไตรปิฎกเถรวาทเช่นกัน 2.ความสัมพันธ์ภายใต้กฎหมายคณะสงฆ์ที่ออกโดยรัฐไทยระหว่างหมาเถรฯกับวัดพระธรรมกาย อธิบายได้ว่า มหาเถรอยู่ในสถานะของผู้ปกครอง วัดพระธรรมกาย (และวัดทั่วประเทศ) อยู่ในสถานะผู้ใต้ปกครอง แต่ทั้งสองฝ่ายมีความเสมอภาคทางกฎหมาย 3.ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบพระธรรมวินัยและกฎหมายดังกล่าว มีเงื่อนไขหลักๆ ว่า ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามหลักพระธรรมวินัยและกฎหมายเหมือนกัน และต้องรับผิดชอบในมาตรฐานเดียวกันหากใครละเมิดพระธรรมวินัยและกฎหมาย เช่นในแง่สิทธิประโยชน์พระภิกษุที่เป็นกรรมการมหาเถรฯ มีสิทธิได้รับ “สมณศักดิ์” พระที่วัดพระธรรมกายก็ได้รับสิทธินี้เช่นดัน (ดังเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ได้รับ) และ/หรือพระในวัดพระธรรมกาย รวมทั้งพระทุกวัดในนิกายเถรวาทมีสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรฯเช่นกัน หากมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายบัญญัติ ในแง่การรับผิดชอบทางพระธรรมวินัยและกฎหมาย หากพระภิกษุที่เป็นกรรมการมหาเถรฯ หรือพระวัดพระธรรมกาย (และวัดทั่วประเทศ) “ยักยอกเงินวัดไปใส่ชื่อบัญชีเงินฝากส่วนตัว” ย่อมต้องอาบัติปาราชิกและรับผิดตามกฎหมายของรัฐอย่างเสมอภาคกัน 4.ภายใต้ความสัมพันธ์ทั้ง 3 ข้อที่ว่ามา ทั้งพระในมหาเถรฯและพระวัดพระธรรมกายต่างมีเสรีภาพที่จะอ้างอิงหลักพระธรรมวินัยและหลักกฎหมาตรวจสอบกันและกันอย่างเท่าเทียม เช่น สมมติว่าพระวัดพระธรรมกาย (และพระทั่วประเทศ) พบข้อเท็จจริงว่าพระภิกษุในมหาเถรอวดอุตตริมนุสสธรรม ก็สามารถอ้างอิงอาบัติปาราชิกข้อที่ 4 เรียกร้องให้ดำเนินการไต่สวนเอาผิดพระภิกษุในมหาเถรตามวิธีการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ภายใต้ “กรอบพระธรรมวินัยที่เป็นพุทธบัญญัติ” (ไม่ใช่มหาเถรฯ หรือ ฯลฯ บัญญัติ) ฉะนั้น ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ อธิบายได้ว่า พระในกรรมการมหาเถรฯ พระวัดพระธรรมกาย และพระสงฆ์ทั่วประเทศมีความเสมอภาคทางพระธรรมวินัยและกฎหมาย และมีเสรีภาพในการตรวจสอบกันและกันโดยใช้มาตรฐานเดียวกันได้ อีกทั้งยังมีเสรีภาพที่จะแยกนิกายเป็น “ศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ” แบบ “สันติอโศก” เป็นต้น ได้ด้วย แต่ในความเป็นจริงจะตรวจสอบกันหรือไม่ ที่ไม่ตรวจสอบเป็นเพราะไม่มีวัฒนธรรมการตรวจสอบ หรือ ฯลฯ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ระบบไม่ได้ปิดโอกาสในการตรวจสอบ ที่ควรสังเกตไว้ ณ ที่นี้คือ เมื่อใครก็ตามกล่าวว่า มหาเถรฯเป็นเผด็จการโดยโยงไปเทียบกับระบบที่ถูกปกป้องด้วย ม.112 หรือเปรียบเทียบมหาเถรฯกับธรรมกายเหมือน คณะรัฐประหารกับคุณทักษิณนั้น ข้อเท็จจริงก็คือว่า ไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นมหาเถรฯ (มีเพียงกฎหมายห้ามหมิ่นสมเด็จพระสังฆราชซึ่งมีอัตราโทษเท่ากับ “หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา”) ใครจะด่ามหาเถรว่า “ห่วย” ออกทีวี หรือเสนอให้ยกเลิกระบบมหาเถรในเวทีสาธารณะที่ไหนก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมหาเถรฯ กับวัดพระธรรมกายนั้นก็เป็นไปโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย และเป็นไปในทางที่เป็นมิตร ไม่ได้มีลักษณะเชิงปฏิปักษ์หรือ “นอกรีต” เหมือนกรณี “พระเกษม” หรือ “สันติอโศก” หรือเหมือน “คณะรัฐประหารกับคุณทักษิณ” จึงสรุปได้ ณ ตอนนี้ว่าภายใต้ระบบที่เป็นอยู่จริง “การดำเนินการตามกรอบพระธรรมวินัย” อธิบายได้ว่า ระบบเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตรวจสอบความ “แฟร์” ได้ การเรียกร้องให้ให้กรอบพระธรรมวินัยตรวจสอบกรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หรือตรวจสอบพระภิกษุในกรรมการมหาเถรสมาคม และพระภิกษุรูปใดๆ ก็ตาม จึงมี “ความชอบธรรม” ที่อธิบายได้ด้วยหลักการและเหตุผล และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติตามสภาพที่เป็นอยู่จริง ประเด็นต่อมาคือ “ปัญหาศาสนาควรเป็นอิสระจากรัฐ” มีความสัมพันธ์ในเชิงตรรกะอย่างจำเป็น/อย่างไม่มีทางเลือกอื่น (necessary) กับ “ความชอบธรรม” ในการดำเนินการทางพระธรรมวินัยหรือไม่? คำว่า “ความสัมพันธ์เชิงตรรกะอย่างจำเป็น” หรืออย่างไม่มีทางเลือกอื่น เราอาจอธิบายให้เห็นภาพพจน์ด้วยวิธีอธิบายที่พูดกันในทางปรัชญาว่า “เงื่อนไขจำเป็น” และ “เงื่อนไขพอเพียง” เช่น ออกซิเจนเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการติดไฟ หมายความว่าขาดออกซิเจนไฟจะติดไม่ได้ ส่วนฟืน ถ่าน และ ฯลฯ ที่เป็นเชื้อเพลิงคือเงื่อนไขพอเพียงของการติดไฟ ในกรณีการดำเนินการทางพระธรรมวินัยของเถรวาท “กรอบอ้างอิง” ที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นของ “ความชอบธรรม” คือ “หลักพระธรรมวินัย” ส่วนกรอบสถานะมหาเถรสมาคม กรอบศาสนาเอ็นอิสระจากรัฐ กรอบศาสนาขึ้นต่อรัฐประชาธิปไตย รัฐราชาธิปไตย รัฐเผด็จการอื่นๆ เป็นเงื่อนไขพอเพียง เงื่อนไขจำเป็นตอบโจทย์เรื่อง “ความชอบธรรม” หมายความว่า หากขาดกรอบอ้างอิงคือ “หลักพระธรรมวินัย” ความชอบธรรมไม่อาจมีได้ ส่วนเงื่อนไขพอเพียงเป็นเรื่องของ “ประสิทธิภาพ” ที่อาจต่างกันในการช่วยให้การดำเนินการบรรลุความชอบธรรม คือการดำเนินการทางพระธรรมวินัยนั้น ถ้าสามารถอธิบาย ตรวจสอบได้ว่าใช้วิธีการ ขั้นตอน ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัยทุกประการ ก็ถือว่ามี “ความชอบธรรม” ส่วนการดำเนินการโดยมหาเถร โดยพุทธขึ้นกับรัฐประชาธิปไตยแบบไทย หรือพุทธเป็นอิสระจากรัฐ (ที่ดำเนินการอย่างอิสระของกลุ่มชาวพุทธเอกชนต่างๆ) นั้น ก็ต้องดำเนินการโดยอ้างอิง หรือให้เป็นไปตาม “กรอบพระธรรมวินัย” เท่านั้น เพราะกรอบพระธรรมวินัย (ที่พุทธะบัญญัติไว้ว่าต้องเป็นกลาง ตรวจสอบได้) เป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของ “ความชอบธรรม” เพื่อให้เห็นภาพ โปรดนึกถึงข้อเท็จจริงว่า คณะสงฆ์เถรวาทภายใต้ระบบการปกครองของมหาเถรสมาคมปัจจุบัน มีการดำเนินการทางพระธรรมวินัยหลายเรื่องอย่างเป็นปกติ คือวิถีชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตั้งแต่การกิน การอยู่ การกำหนดบทบาทหน้าที่อุปัชฌาย์อาจารย์กับลูกศิษย์ คุณสมบัติและบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เป็นนวกะ มัชฌิมะ เถระ ก็เป็นไปตามกรอบที่พระธรรมวินัยกำหนด การปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ 227 ข้ออย่างเสมอภาคกัน และรับการตรวจสอบอย่างเสมอภาคกันก็เป็นไปตามกรอบพระธรรมวินัยกำหนด การดำเดินการปรับอาบัติ หรือเอาผิดการละเมิดวินัยสงฆ์ตั้งแต่ข้อ 1-227 ก็ดำเนินการอยู่เป็นปกติ และหลายวิธีการ เช่นลงปาฎิโมกข์ ปลงอาบัติ อยู่กรรม กักบริเวณ ให้สละสมณะเพศ รวมทั้งการประกอบพิธีอุปสมบท รับกฐิน ฯลฯ ก็ดำเนินการโดยอ้างอิงกรอบพระธรรมวินัย หรือเป็นไปตามที่พุทธะบัญญัติให้ทำทั้งสิ้น โดยที่ไม่เกี่ยวกับว่าศาสนาจะเป็นอิสระจากรัฐหรือไม่ แม้ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐแล้วก็ยังต้องยึดกรอบพระธรรมวินัยเป็นหลักเหมือนเดิม “การปรับอาบัติปาราชิก” เป็นเพียงกรรมวิธีหนึ่งของการดำเนินการทางพระธรรมวินัยเท่านั้น หากใช้ข้ออ้างว่าเพราะ “ศาสนาไม่เป็นอิสระจากรัฐ” จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะปรับอาบัติปาราชิกกับพระ ก. (เป็นต้น) ก็เท่ากับว่าการดำเนินการทางพระธรรมวินัยใดๆ ดังตัวอย่างที่ยกมาเป็นต้น ก็ต้องไม่มีความชอบธรรมไปโดยปริยาย ความเห็นของเก่งกิจที่ว่า ปัญหาใหญ่ก็คือ ข้อเรียกร้องของอ.สุรพศให้ “พระธรรมวินัย” เข้ามาจัดการกับสงฆ์จะเป็นไปได้ (หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาของคนไม่มีศาสนาแบบผู้เขียน เพราะสุดท้ายแล้ว ชาวพุทธก็ต้องเป็นคนออกแบบกันเองว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยไม่ให้รัฐมายุ่ง) ก็ต่อเมื่อเราปลดล็อคปัญหา secularism ให้ได้เสียก่อนต่างหาก – เพราะสุดท้ายแล้ว สังคมที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐจะเจอสภาพ “หนีเสือปะจระเข้” คือ พยายามจัดระเบียบให้พระและศาสนิกชนเข้าที่เข้าทางโดยไม่ได้ใช้ศรัทธาหรือความยินยอม แต่ใช้อำนาจรัฐและการบังคับแบบที่อ.สุรพศเสนอ -- ตราบใดที่ยังแยกรัฐออกจากศาสนาไม่ได้ ตราบใดที่องค์กรสงฆ์พึ่งพิงเงินปีละหลายพันล้านจากเงินงบประมาณ ตราบใดที่มหาเถรสมาคมผูกขาดการตัดสินถูกผิดไว้ที่ตัวเอง ฯลฯ ข้อเรียกร้องของอ.สุรพศจะไม่มีความหมายตั้งแต่แรก – ยิ่งดึงดันให้มหาเถรสมาคมไปจับผิด/ผูกขาด/จัดการกับ “พวกนอกรีต” มากเท่าไร ยิ่งสถาบันศาสนาเกาะติด/อ้างอิงอำนาจตัวเองกับรัฐ สถาบันทางศาสนา (รวมถึงคำสอน) ยิ่งจะโดดเดี่ยวและห่างไหลจากความสามารถในการปรับตัวอยู่ร่วมกับโลกประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที – สุดท้ายจะกลายเป็นส่วนหนึ่ง/ซากเดนของสังคมเก่าแบบเดียวกับสถาบันจารีตนิยมทั้งหลายที่รอวันผุพังไป นี่คือตัวอย่างของคำวิจารณ์ของเก่งกิจที่ไม่ได้ตรงกับ “เนื้อหา” ที่ผมพูดและเขียนไปแล้วแต่อย่างใด ไม่ได้ตรงกับ “หลักการ” ที่ผมอ้างอิง และ “เจตนา” ของผมแต่อย่างใด โดยเฉพาะ “ข้อความย้อมสี” ที่ว่า “...ยิ่งดึงดันให้มหาเถรสมาคมไปจับผิด/ผูกขาด/จัดการกับ “พวกนอกรีต” มากเท่าไร ยิ่งสถาบันศาสนาเกาะติด/อ้างอิงอำนาจตัวเองกับรัฐ สถาบันทางศาสนา (รวมถึงคำสอน)...” เพราะตาม “ข้อเท็จจริง” ที่ผมพูด (ในเวทีเดียวกัน) และเขียนๆ ไปนั้น ผมไม่เคยเสนอให้จัดการกับ “พวกนอกรีต” ใดๆ ทั้งสิ้น ผมไม่เคยเสนอให้ใช้อำนาจรัฐมาจัดการ ผูกขาด แต่ผมเสนอให้ใช้ “กรอบการดำเนินการตามหลักพระธรรมวินัย” เข้ามาจัดการกับพระในนิกายเดียวกันที่เสมอภาคภายใต้หลักพระธรรมวินัยและหลักกฎหมายเดียวกัน แม้จะดำเนินการโดยมหาเถรสมาคมก็ต้องดำเนินการไปตามกรอบพระธรรมวินัยที่ตรวจสอบได้ว่า “แฟร์” กับทุกฝ่ายเท่านั้น ไม่ใช่ผมเสนอว่า มหาเถรสมาคมจะออ “กฎหมายพิเศษ” มาจัดการกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายหรือพระรูปใดๆ ได้ตามอำเภอใจ (หากเป็นเช่นนั้นผมคนหนึ่งต้องออกมา “คัดค้าน” อย่างถึงที่สุดแน่นอน พระสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่ก็คงยอมไม่ได้เช่นกัน) การพูดให้เกิดความเข้าใจไปในทำนองว่า “มหาเถรสมาคมเท่ากับรัฐ” อาจทำให้คนเข้าใจเสมือนว่ามหาเถรฯคือ “คนนอก” ที่รัฐส่งมาปกครองพระสงฆ์และชาวพุทธทั้งประเทศ และให้อำนาจเผด็จการแก่มหาเถรฯ ที่จะทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้ จึงจินตนาการไปว่า”...พยายามจัดระเบียบให้พระและศาสนิกชนเข้าที่เข้าทางโดยไม่ได้ใช้ศรัทธาหรือความยินยอม แต่ใช้อำนาจรัฐและการบังคับแบบที่อ.สุรพศเสนอ -- ตราบใดที่มหาเถรสมาคมผูกขาดการตัดสินถูกผิดไว้ที่ตัวเอง ฯลฯ..” เป็นต้น แท้จริงแล้ว ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ มหาเถรสมาคม คือ “คนใน” ของ “คณะสงฆ์เถรวาทไทย” ความชอบธรรมในการปกครองคณะสงฆ์ยึดโยงอยู่กับพระธรรมวินัยที่พระสงฆ์และชาวพุทธเถรวาทยึดถือร่วมกัน ตามกฎหมายสงฆ์ที่มีอยู่ มหาเถรฯ ไม่มีอำนาจออกฎระเบียบ คำสั่งที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยเถรวาทตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ (เช่นจะออกกฎให้พระมีเมียไม่ได้ เป็นต้น) หากมหาเถรฯใช้อำนาจเกินเลยไปจากพระธรรมวินัยกำหนด ชาวพุทธก็ตรวจสอบ เรียกร้องให้แก้ไขได้ กฎหมายใดๆ จะออกได้ก็ต้องผ่านการตรวจสอบในระบบรัฐสภา สถานะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของมหาเถรฯนั้น คือ ไม่ได้ยึดโยงกับพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปผ่าน “การเลือกตั้ง” ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจถ่วงดุลเหมือน พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 แต่โดยกรอบพระธรรมวินัยเถรวาทไม่อนุญาตให้รัฐออกกฎหมายใดๆ ที่ให้อำนาจมหาเถรฯ เป็น “เผด็จการเต็มรูปแบบ” อย่างที่เรียกว่า “บังคับศรัทธา” หรือ “ผูกขาดการตัดสินถูกผิดไว้ที่ตัวเอง” เท่านั้นได้ (โปรดดูที่ผมได้อธิยายให้เห็นแล้วตั้งแต่ต้น) สถานะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าวของมหาเถรฯ ย่อมเป็นปัญหาที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยต่อไปเพื่อให้การดำเนินการทางพระธรรมวินัย การศึกษาพุทธศาสนามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า มหาเถรฯตามที่เป็นอยู่นี้จะหมด “ความชอบธรรม” ในการดำเนินการทางพระธรรมวินัย หากอธิบายด้วยหลักการพระธรรมวินัย และตรวจสอบได้ว่าการดำเนินการเอาผิดทางวินัยสงฆ์ (เป็นต้น) กับพระภิกษุรูปใดๆ ถูกต้องชอบธรรมตามหลักพระธรรมวินัยที่พุทธะบัญญัติไว้ทุกประการ สำหรับผมแล้วประเด็น “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” หรือ “รัฐโลกวิสัย” เป็นประเด็นถกเถียงที่อ้างอิงหลักเสรีนิยมเพื่อสร้าง “รัฐเสรีประชาธิปไตย” ที่ “รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา” หลักการนี้เกี่ยวข้องโดยตรงหรืออย่างจำเป็นกับ “ความชอบธรรม” ของ “รัฐที่เป็นกลางทางศาสนา” ไม่เกี่ยวโดยตรงกับ “ความชอบธรรมในการดำเนินการทางพระธรรมวินัย” ตามนิกายเถรวาท อย่างที่อ้างกันว่า “ถ้าศาสนาไม่เป็นอิสระจากรัฐแล้ว การดำเนินการทางพระธรรมวินัยก็ไม่ชอบธรรม” ขอยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่า (ย้ำ “สมมติ”) พระรูปหนึ่งที่เป็นกรรมการมหาเถรฯ ไปเยี่ยมวัดพระธรรมกายแล้วแอบดื่มเหล้าในกุฏิ บังเอิญพระในวัดธรรมกายมาพบเข้า แล้วเรียกร้องให้คณะกรรมการมหาเถรฯเอาผิดทางวินัยสงฆ์ตามกรอบพระธรรมวินัย เราไม่อาจอ้าง “อย่างสมเหตุสมผล” ได้ว่า พระวัดพระธรรมกายจะมาเรียกร้องให้คณะกรรมการมหาเถรฯ ดำเนินการเช่นนั้นไม่ได้ เพราะ “ศาสนายังไม่เป็นอิสระจากรัฐ” หรือในทางตรงกันข้าม สมมติว่าพระจากวัดพระธรรมกายรูปหนึ่งไปเทศนาอวดอุตตริที่วัดของพระที่เป็นกรรมการมหาเถรฯ แล้วพระกรรมการมหาเถรฯ เรียกร้องให้ดำเนินการเอาผิดตามกรอบพระธรรมวินัยในมาตรฐานเดียวกัน เราก็จะคัดด้านด้วยข้ออ้าง “ศาสนายังไม่เป็นอิสระจากรัฐ” ไม่ได้อีกเช่นกัน จะว่าไปในรัฐไทยปัจจุบัน ศาสนาหลักๆ ล้วนขึ้นต่อรัฐ กรมการศาสนาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการก็จัดงบประมาณอุดหนุนทุกศาสนา ศาสนาอิสลามก็ออกกฎหมายเรื่องการศึกษา งบประมาณ ฯลฯ ผ่านรัฐสภา ถ้าใช้เหตุผล “ศาสนาไม่เป็นอิสระจากรัฐ” ใช้ภาษีรัฐ ฯลฯ ก็เท่ากับว่า การตรวจสอบกันด้วยหลักความเชื่อ กฎกติกาภายในศาสนาต่างๆ ก็ไร้ความชอบธรรม และเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด สรุป ผมไม่ได้คัดค้านข้อเสนอศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ ไม่ได้ดีเฟนว่าสถานะของมหาเถรสมาคมเหมาะกับสังคมประชาธิปไตย แต่ดีเฟน “ความชอบธรรมของการดำเนินการทางพระธรรมวินัย” ตามหลักการพุทธเถรวาทว่า “เป็นไปได้” ในระบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และดีเฟนว่า พระสงฆ์/ชาวพุทธเถรวาทมีเหตุผลที่จะยืนยันหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกรองรับความชอบธรรมในการตรวจสอบการกระทำผิดวินัยของพระสงฆ์ แม้ศาสนาจะเป็นอิสระจากรัฐในอนาคต
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยืนด่า "ดารุณี กฤตบุญญาลัย" กลางพารากอน Posted: 31 Aug 2012 06:12 PM PDT โดยถูกกล่าวหาว่าไม่รักในหลวง และด่าในหลวง ด้าน "ดารุณี" เผยได้ชวนหญิงรายดังกล่าวไปสถานีตำรวจ แต่กลับไม่ยอมไปด้วย โดยวันนี้จะไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน ขณะที่ก่อนหน้านี้ "ดารุณี" เคยฟ้องรายการโทรทัศน์ที่นำภาพเจ้าตัวไปประกอบข่าว "ดา ตอร์ปิโด" มาแล้ว เมื่อวานนี้ (31 ส.ค.) ผู้ใช้ชื่อว่า “AnonymousThailand” ได้อัพวิดีโอคลิปใน Youtube ตั้งชื่อว่า “เจ๊ดารุณีโดนด่ากลางห้าง” และบรรยายประกอบคลิปว่า “เวลา 19.10น วันที่ 31 สิงหาคม "นาง ดารุณี กฤตบุญญาลัย" ต้องโดน สาวใจเด็ด ด่ากลางห้าง สยามพาราก้อน ขณะรับประทานอาหาร ที่ร้าน เนื้อคู่ ของตระกูลใหญ่ "สารสิน" สาขาพาราก้อน เล่นเอา ดารุณี หน้าเหลือสองนิ้วและอับอาย เป็นอย่างมาก .... นับเป็นปรากฏการที่ ดารุณี จะต้องพบเจอเป็นครั้งที่สอง หลังจาก โดนคนไทย ล้อมด่าที่ LA. สหรัฐ อเมริกา !!! ... คนละหมัด เดอะซีรี่ย์ รายงาน !!!” โดยในคลิปดังกล่าวมีความยาว 1.20 นาที โดยเริ่มต้นด้วย สตรีสวมชุดสีดำคนหนึ่งยืนด่านางดารุณี กฤตบุญญาลัย โดยขณะนั้นกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้านว่า “หน้าด้านมาก ด่าในหลวงทำไม ด่าในหลวงทำไม” หลังจากนั้นมีเสียงชี้แจงจากผู้หญิงที่นั่งรับทานอาหารกับนางดารุณีว่าคนละคน แต่สตรีคนดังกล่าวไม่ฟัง พร้อมย้ำว่า “คนนี้ คนนี้แน่ๆ” และกล่าวต่อว่า “ด่าในหลวงทำไมคุณ ไม่รักในหลวงหรอ คุณด่าในหลวงทำไม” ทำให้นางดารุณี กฤตบุญญาลัย ได้โต้กลับไปว่า “เคยได้ยินฉันพูดหรือเปล่า” หญิงชุดดำจึงตอบกลับไปว่า “ก็เวทีคนเสื้อแดงที่คุณไปขึ้นมาไง หน้าด้านมากไม่มียางอาย ยังกลับมาเหยียบประเทศไทยอีก” ทำให้นางดารุณีและเพื่อที่มาด้วยกันพยายามเรียกพนักงานของร้านมาห้าม แต่กลับถูกสตรีคนดังกล่าวตอบกลับไปว่า “ฉันพูดความจริง ฉันเป็นประชาชน ฉันมีสิทธิว่า” ในคลิปเพื่อนของนางดารุณีกล่าวว่าไม่ใช่อย่างที่คุณคิด โดยก่อนจบคลิป นางดารุณีบอกให้สตรีที่มาต่อว่าเธอไปโรงพักด้วยกัน พร้อมสอบถามชื่อ แต่สตรีคนดังกล่างกลับเดินหนีไปก่อนที่จะจบคลิป โดยหลังจากนั้น เวปไซต์ go6TV ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นางดารุณี กฤตบุญญาลัย ถึงกรณีคลิปดังกล่าว โดยนางดารุณีระบุว่าจะไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่โรงพักในวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย.) นางดารุณี ซึ่งเคยขึ้นปราศรัยและร้องเพลงบนเวทีคนเสื้อแดงนั้น ก่อนหน้านี้ เดลิวนิวส์ออนไลน์ เคยรายงานเมื่อ 5 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า นางดารุณี ได้เคยร้อง รมว.ไอซีที ให้ช่วยเอาข้อมูลสับสนระหว่างตัวเขากับ “ดา ตอร์ปิโด” ออกจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ พร้อมประกาศฟ้องรายการข่าว 3 มิติ ที่ออกอากาศทางช่อง 3 และ T-News ทางช่องเอ็นบีที กรณีที่ทั้งสองรายการเสนอข่าวที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาลงโทษ “ดา ตอร์ปิโด” หรือ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่กลับนำใช้ภาพ "ดารุณี กฤตบุญญาลัย" เป็นภาพประกอบข่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น