โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

INSouth Media: รณรงค์วันสันติภาพสากล ที่ปัตตานี

Posted: 21 Sep 2012 02:51 PM PDT

ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อโดย "INSouth Media"

 

ที่มาของคลิป: เอื้อเฟื้อโดย "INSouth Media" (หมายเหตุ: กรุณาคลิกที่ cc เพื่ออ่านคำบรรยายภาษาไทย)
 
INSouth Media รายงานเมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) ว่านักศึกษาประมาณ 30 คนในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต) ได้รวมตัวกิจทำกิจกรรมรณรงค์สันติภาพเนื่องในวันสันติภาพสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี กิจกรรมประกอบไปด้วย Short note for Peace เป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพในมุมมองของนักศึกษา "Patani Cinta Damai" "We want Peace/and you" "สันติภาพอยู่หนใด" เป็นข้อความบางส่วนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Short note for Peace ได้นำเสนอ และจะเคลื่อนตัวไปที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อทำกิจกรรม "บันทึกสันติภาพ" โดยการเขียนข้อความสันติภาพลงบนผ้าขาว เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านทีมาร่วมละหมาดวันศุกร์
 
นายอีรฟาน วัฒนะ คณะรัฐศาสตร์ ปี 2 หนึ่งในนักศึกษาที่จัดกิจกรรมในวันนี้ได้กล่าวว่าเจตนารมณ์กิจกรรมวันนี้ว่า "เพื่อที่จะสร้างการตื่นตัวให้กับนักศึกษาให้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"และนายอีรฟาน ยังได้กล่าวต่ออีกว่า "เราในฐานะนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง จะยังคงดำเนินกิจกรรมต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้ต้องขังคดี พ.ค.53 ร้อง “ยงยุทธ” เร่งเยียวยาประกาศสถานะ “บริสุทธิ์”

Posted: 21 Sep 2012 09:37 AM PDT

อดีตผู้ต้องขังคดีปล้น CTW และเผาสถานที่ราชการ อุดร-อุบล ที่ศาลยกฟ้อง ร้อง "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ประกาศความเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อสาธารณะ เร่งรัดเยียวยา พร้อมขออัยการไม่อุทธรณ์คดีต่อ

สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลอาญา กรุงเทพใต้ ยกฟ้องจำเลยคดีร่วมกันปล้น-ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธปืนในห้างเซ็นทรัลเวิร์ล และศาลจังหวัดอุดรธานีและอุบลราชธานี ยกฟ้องจำเลยคดีเผาสถานที่ราชการ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 

วันนี้ (21 ก.ย.55) เวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีและสูญเสียอิสรภาพ จากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 นำโดยนายอาทิตย์ เบ้าสุวรรณ พร้อมจำเลยคดีเผาศาลากลาง จ.อุดรธานีและ จ.อุบลราชธานี ที่ศาลได้ยกฟ้อง 15 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)

นายอาทิตย์ เบ้าสุวรรณ หนึ่งในจำเลยที่ศาลยกฟ้องในคดีร่วมกันปล้น-ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธปืนในห้างเซ็นทรัลเวิร์ล หลังถูกคุมขังเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน 12 วัน กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า อยากให้รัฐบาลออกข้อกำหนดว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม เม.ย. – พ.ค.53 เป็นโมฆะ เพื่อให้ประชาชนที่ถูกจำคุกและดำเนินคดีตามประกาศนี้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขอให้เร่งรัดการเยียวยาไม่เฉพาะในส่วนของตัวเงินตามมติ ครม. แต่ต้องประกาศต่อสาธารณะว่าผู้ที่ถูกยกฟ้องเป็นผู้บริสุทธิ์เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้แก่พวกเขา รวมถึงขอให้ออกคำสั่งไม่ให้อัยการอุทธรณ์คดีที่ศาลได้ตัดสินยกฟ้องแล้ว เพื่อให้คดีสิ้นสุด และเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการเยียวยา 

ทั้งนี้ นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า จนบัดนี้ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและสูญเสียอิสรภาพยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐเลย และหลังจากศาลพิพากษาแล้วก็ไม่มีหน่วยงานไหนมารับผิดชอบ จึงมาร้องเรียน เมื่อเดือนที่แล้วได้เคยยื่นหนังสือถึงนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

นายอาทิตย์ กล่าวว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ได้รับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมรับว่าจะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ทางกลุ่มมองว่าหากยังไม่มีความคืบหน้าภายใน 1 เดือน จะทำหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ

Posted: 21 Sep 2012 09:02 AM PDT

ตอนนี้ นายธาริต เดินไปไหนก็ถูกคนเกลียดหมดไม่ว่าฝ่ายไหน วันนี้ต่างคนต่างผิดแล้วกองเชียร์จะเอายังไง จะให้ดีเอสไอบอกว่าเสื้อแดงผิดหมด ฝ่ายบริหารไม่ผิดเลย ส่วนกองเชียร์ ฝ่ายบริหารก็บอกว่า แดงผิดหมด ฝ่ายบริหารไม่ผิด ส่วนฝ่ายแดงบอกว่าฝ่ายบริหารที่มี นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ผิดหมด แดงไม่ผิด มันไม่ใช่ บ้านเมืองไม่ใช่อย่างนั้น เหตุที่เกิดขึ้นมันต่างคนต่างผิดคนละบริบท ซึ่งเวลา 2 ปี เมื่อทำให้ข้อเท็จจริงนิ่งก่อน ศาลไต่สวนกรณีนายพัน คำกอง เสียชีวิตออกมาแล้ว คดีนายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ กำลังจะเป็นคดีที่หนึ่ง

 

21 ก.ย. 2555

MEDIA INSIDE OUT: สินบนนำเที่ยว

Posted: 21 Sep 2012 07:42 AM PDT

เผยแพร่ครั้งแรกที่ MEDIA INSIDE OUT

กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ใช้งบประมาณ 7 ล้านบาทของสภาฯ พาสื่อมวลชน 39 คน ไปทัวร์ยุโรปในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม ช่วงปลายเดือนกันยายน 2555 กลายเป็นข่าวทอล์กออฟเดอะทาวน์ซึ่งน่าจะไม่จบง่ายๆ ไม่ใช่เพราะนักการเมือง หรือ หน่วยราชการไทย หรือ คนทำสื่อไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน


เรื่องจริงคือ คนทำสื่อในประเทศไทยส่วนใหญ่มักเดินทางฟรีด้วยเงินคนอื่นเป็นอาชีพหลักและไม่เป็นข่าว (เหมาะสมหรือผิดหลักจริยธรรมอัน "สูงส่ง" หรือไม่ เป็นอีกประเด็น) แต่ครั้งนี้ที่เป็นข่าวเพราะคนจ่ายเงินไม่ใช่บริษัทเอกชนซึ่งจัดทัวร์เพื่อผลประโยชน์ทางการขาย หรือเพื่อภาพลักษณ์องค์กรว่าช่วยเหลือสังคมบ้าง ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติบ้าง ช่วยอนุรักษ์/พัฒนาศิลปะ-วัฒนธรรมบ้าง ฯลฯ

ประเด็นคือ ผู้ที่จ่ายเงินงวดนี้คือ รัฐสภา หมายถึงเป็นงบประมาณของรัฐที่มาจากภาษีอากรของประชาชน และสื่อมวลชนที่ร่วมทริปก็มีแต่ "ฝ่ายแดง" หรือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทั้งหมด แม้บางคนมีชื่อว่าเป็นนักวิชาการ ก็ทำงานสื่อด้วย เช่น พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และวิโรจน์ อาลี ซึ่งจัดรายการให้วอยซ์ทีวีทั้งคู่ และแม้เจ้าตัวจะอ้างว่าไปในนามนักวิชาการ แต่ในงบประมาณของสภาฯ ก็ระบุว่าทั้งคู่ได้รับเชิญในฐานะสื่อมวลชน

               วิโรจน์ อาลี ไปในนามผู้จัดรายการวอยซ์ทีวี และ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไปในนามคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ซึ่งมีข่าวว่าคม ชัด ลึก ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย

                ยิ่งกว่านั้น ในรายชื่อลูกทัวร์ ยังมีบรรดาคนใกล้ชิดทั้งที่นามสกุลเดียวกับประธานรัฐสภาและที่ไม่ใช่ร่วมเดินทางไปอีกต่างหาก

                มีการตรวจสอบข่าวนี้กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจากสื่อเครือผู้จัดการ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสื่อเลือกข้างแดง และผลจากการตรวจสอบก็คือ โปรแกรมทัวร์เจ็ดล้านครั้งนี้ เห็นๆ ว่าเป็นทัวร์เพื่อความบันเทิงมากกว่าเพื่อการศึกษาดูงาน แถมยังมีการพาไปดูฟุตบอลนัดสำคัญระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล เสียอีก เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทัวร์ คือ จักรพันธ์ ยมจินดา "มีเส้นสาย" กับสยามสปอร์ตซึ่งมีที่นั่งวีไอพีในสนาม

                เสียงก่นด่าคุณสมศักดิ์และคนทำสื่อสาย "แดง" ดังระงม ยิ่งกว่าเสียงกบและอึ่งอ่างในสายฝน โดยเฉพาะคนทำสื่อสายแดงที่ถูกด่าว่า ไหนล่ะ จริยธรรมสูงส่งกันดีนัก ไอ้พวกอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ที่แท้ก็มาแอบใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวกันหน้าด้านๆ

                ทัวร์นี้มีชื่อหรูว่า โครงการดูงานรัฐสภา สื่อ และวิชาการ โดยงบประมาณ 7 ล้านบาทที่ใช้ไปนั้น เป็นงบประมาณปี 2555 ซึ่งจะถึงกำหนดสิ้นปีงบประมาณ ในวันที่ 30 กันยายน

                ตามโปรแกรมทัวร์ซึ่งกำหนดโดยบริษัททัวร์ Skylight Elegance ระบุว่า ในวันที่ 20 กันยายน คณะทัวร์จะเข้าชมรัฐสภาอังกฤษ ระบบจัดเก็บข้อมูล และระบบการทำงานของรัฐสภาอังกฤษ โดยในช่วงกลางวันไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารโฟร์ซีซั่นส์ ลอนดอน (Four Seasons London) จากนั้นในช่วงค่ำไปรับประทานอาหารที่บลูมเบอรี ลอนดอน (Bloomsbury London) และเข้าพักที่โรงแรมปาร์ก พลาซา เวสต์มินสเตอร์ (Park Plaza Westminster) จากนั้นในวันที่ 21 กันยายน จะไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) ชมพิพิธภัณฑ์ ดิ อิมพีเรียล วอร์ มิวเซียม (The Imperial War Musem) วันที่ 22 กันยายน ชมสำนักงาน ดิ อีโคโนมิสต์ กรุ๊ป (The Economist Group) และพาไปซื้อของที่โบโรห์มาร์เกต (Borough Market)

จากนั้น ในวันที่ 23 กันยายน จะไปเยี่ยมชมสถานีโทรทัศน์บีบีซี กรุงลอนดอน ช่วงบ่ายไปชมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ฟุตบอลคู่แดงเดือด ระหว่างสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล วันที่ 24 กันยายน เดินทางโดยรถไฟไปประเทศฝรั่งเศส วันที่ 25 กันยายน เยี่ยมชมรัฐสภาฝรั่งเศส ช่วงบ่ายพาชมพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ช่วงค่ำรับประทานอาหารแบบฝรั่งเศสบนเรือที่ล่องแม่น้ำเซนน์ วันที่ 26 กันยายน นั่งรถโค้ชไปกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อเยี่ยมชมรัฐสภายุโรป และวันสุดท้ายที่ 27 กันยายน ไปเยี่ยมชมอะตอเมียม (Atomium) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ของประเทศเบลเยียม ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงค่ำ

ข้าราชการในรัฐสภา และสื่อมวลชนสายรัฐสภา หรือพูดง่ายๆ ว่านักข่าวที่เน้นทำข่าวต่างๆ ในบริบทรายรอบรัฐสภา แต่ไม่ยักได้รับเชิญร่วมทัวร์นี้ เห็นโปรแกรมทัวร์ก็รำพึงออกมาดังๆ ว่า นี่เป็นการดูงานในระหว่างเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปนะนั่น สงสัยว่าประธานรัฐสภาคงใช้สินบนนำเที่ยวล่อใจสื่อมวลชนพวกเดียวกันให้สนับสนุนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.....และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แน่เลย

จริงๆ เราคงบอกไม่ได้ว่า สื่อสายแดงที่ได้รับเชิญไปเที่ยวยุโรปครั้งนี้ จะสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพียงเพราะได้ไปเที่ยวยุโรปสามประเทศ เพราะถ้าพวกเขาเป็นสื่อที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือเป็นสื่อไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มีสติปัญญา เขาก็คงตั้งใจทำความเข้าใจสิ่งที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอและในที่สุดก็อาจเห็นว่ามีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล สมควรหรือไม่ควรสนับสนุนอยู่เอง

ที่เราควรบอกได้ก็คือ ความจริงสื่อไม่ควรรับเชิญไปงานแบบนี้ เพราะเหตุว่านี่เป็นงบประมาณรัฐ และมันควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อพาพวกพ้องไปเที่ยว แต่จะโทษคนทำสื่อที่รับเชิญก็ไม่เต็มปากอีก เพราะในการรับคำเชิญแต่ละครั้ง คนทำสื่อไม่รู้หรอกว่า ผู้ร่วมทริปเป็นใคร พวกพ้องเดียวกันไหม ฝักใฝ่การเมืองแบบไหน เชียร์พรรคไหน มัวแต่ดีใจเขาเชิญมาก็รีบตอบรับ กว่าจะรู้ว่าใครไปบ้าง ก็มักจะหลังจากส่งพาสปอร์ตให้บริษัททัวร์ไปแล้ว นอกจากนั้น การรับเชิญไปโน่นนี่นั่น ก็ยังกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงการสื่อไทย ทุกวันนี้ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐต่างๆ ล้วนจัดงบประมาณเพื่อพาสื่อไปดูงานโน่นนี่นั่น และคนทำสื่อก็เดินทางไปดูงานโน่นนี่นั่นกันตลอดปี ซึ่งบางครั้งก็ "ดู" งานประมาณสองวัน เที่ยวและช็อปปิ้งอีกห้าวัน

ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เฉพาะคนทำสื่อ แต่หมายถึงข้าราชการและคนทำงานในหน่วยงานต่างๆ ด้วย บางงานที่มีการออกบูทของหน่วยราชการในต่างประเทศนั้น เอาเข้าจริงๆ คนที่มีรายชื่อมาทำงาน หนีไปเที่ยวเกือบหมด เหลือคนเฝ้าบูทคนเดียวซึ่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ระดับเล็กมาก หรือไม่ก็โมเมจ้างคนไทยในพื้นที่มานั่งเฝ้าบูทด้วยข้ออ้างว่า จะได้ใช้ภาษาท้องถิ่นสื่อสารกับคนมาเที่ยวงาน

ในแวดวงคนทำสื่อ เรื่องรับเชิญไปต่างประเทศ เป็นเรื่องชวนอึดอัดอดสูใจเท่ากับลิงโลดใจ เพราะรายรับของคนทำสื่อที่ไม่ใช่เจ้าของสื่อนั้น เมื่อหักกลบลบหนี้กับรายจ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว พูดกันตามตรงว่าไม่พอจะขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในโซนยุโรปและอเมริกา คำเชิญร่วมทัวร์ร่วมทริปของแต่ละองค์กรที่ส่งมา จึงเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้คนทำสื่อ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีโอกาสสอบชิงทุนไปดูงานกับใครเขา ได้เห็นโลกภายนอกบ้าง

ความอยากเดินทางเห็นโลก บางครั้งก็ทำให้คนทำสื่อและเจ้าของสื่อซึ่งดีใจไม่ต้องควักกระเป๋าเอง ลืมความรู้สึกอึดอัดอดสูใจว่า เอ๊ะ เขาเชิญเราหรือคนทำงานของเราไปเที่ยวฟรีๆ นี่มันมีมูลค่านะ มันต่างอะไรกับการรับสินบนไหม ? และถึงนักข่าวจะกลับมารายงานข่าว แต่ เอ๊ะ ข่าวอย่างนี้หรือบทความอย่างนี้ มันจะถือว่าเขียนจากพื้นฐานความคิดแบบไหนกันล่ะ เป็นข่าวพีอาร์ บทความพีอาร์ไหม เชื่อถือได้หรือไม่ได้ หรือมันเป็นส่วนหนึ่งของการธุรกิจสื่อ แยกส่วนออกจากข่าวรายวัน แต่เอ๊ะ ข่าวรายวันของเรา แยกออกจากการครอบงำทางความคิดของกลุ่มการเมืองที่ให้เงินสนับสนุนการผลิตสื่อของเราหรือเปล่านะ?

มีคำถามมากมายถ้าอยากถาม และความจริงก็อาจไม่มีคำถาม ถ้าสื่อไม่อ้างจริยธรรมอัน "สูงส่ง" มากนัก ในเวลาที่พยายามเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ผู้เขียนเองก็ไม่ใช่คนดีเลิศ ยอมรับว่าเคยได้เที่ยวฟรีอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่เป็นทริปในประเทศ ทริปต่างประเทศมักขี้เกียจไปวุ่นวาย พูดแบบขำๆ ก็คือ ชีวิตนี้ได้รับเชิญไปสวิสเซอร์แลนด์ห้าครั้ง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยไปสักครั้ง

ย้อนกลับมาเรื่องทริปต่างประเทศว่าเคยเป็นชนวนทะเลาะเบาะแว้งในกองบรรณาธิการหลายแห่ง เพราะคนทำข่าวที่กว้างขวาง มีแหล่งข่าวมาก หรือทำข่าวสายธุรกิจ สายท่องเที่ยว สายสังคม สายข่าวต่างประเทศ สายข่าวพลังงาน ก็มักจะได้รับเชิญบ่อยจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่มีงบประมาณบ้าง จากสายการบินบ้าง บริษัททัวร์บ้าง บริษัทผลิตเครื่องสำอางบ้าง ฯลฯ ต่างๆ นานา

                นักข่าวสายไกลปืนเที่ยงที่ไม่เคยได้รับเชิญ หรือนักข่าวสายเดียวกันที่กว้างขวางน้อยกว่า หรือไม่ใช่ระดับหัวหน้าจึงไม่ได้รับเชิญ ก็จะเกิดอาการน้อยอกน้อยใจว่า ทีไปทำข่าวต่างจังหวัดในแดนกันดารส่งเราไป ไปต่างประเทศไม่เห็นให้เราไปบ้างเลย เกิดเป็นอาการแย่งกันไปต่างประเทศ ไม่แย่งกันไปต่างจังหวัด และแย่งกันไปเที่ยว ไม่ได้แย่งกันไปทำงาน

                เพื่อแก้ปัญหานี้ หลายๆ องค์กรสื่อจึงหันมาใช้วิธี "เวียนคิว" หมายถึงแม้แหล่งข่าวเชิญระบุชื่อ กองบรรณาธิการก็ไม่ให้ระบุชื่อ แล้วจัดรายชื่อนักข่าวเข้าคิว ถึงคิวใครคนนั้นก็ไป เว้นเสียแต่การเชิญนั้นเกี่ยวข้องกับข่าวซึ่งเฉพาะทางจริงๆ และนักข่าวที่จะไป ไม่มีความรู้เรื่องนั้นเลย ก็ต้องสลับคิว เช่น ได้รับเชิญให้เดินทางตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปรัสเซีย แม้คิวจะมาถึงนักข่าวสายการศึกษา ก็ต้องตัดคิวคืนนักข่าวสายต่างประเทศ

วิธีจัดคิวนี้นอกจากจะลดปัญหาน้อยอกน้อยใจลงได้ระดับหนึ่ง ก็ยังกลายเป็นคุณูปการให้บรรดานักข่าวเริ่มคิดว่า ฉันควรทำได้ทุกข่าว ไม่ใช่หมกหมุ่นทำอยู่แต่ข่าวประจำสาย จนจะกลายเป็นข้าราชการกระทรวงอยู่แล้ว เป็นต้น

                การรับเชิญแบบนี้ ถามว่า นักข่าวเขียนข่าวตามใจผู้เชิญไหม แม้แน่นอนว่าคำตอบคือ ไม่ มันก็ซ่อนนัยความพยายามแก้ตัวของนักข่าวและบรรณาธิการในแง่ของความเป็นอภิสิทธิชน  นอกจากนั้น มันก็ยังซ่อนอคติซ้อนอคติเมื่อนักข่าวต้องพยายามคัดค้านข้อดีของสิ่งที่แหล่งข่าวพยายามนำเสนอ (อย่างไม่เป็นธรรมชาติ) เพื่อให้ตัวเองสบายใจว่า ฉันไปเที่ยวฟรีก็จริงแต่ฉันไม่ได้ถูกซื้อตัวนะ ซึ่งหากมองไปยาวๆ เราก็คงปฏิเสธยากว่า สายสัมพันธ์ที่โยงใยกันอยู่ระหว่างคนทำสื่อกับแหล่งข่าวได้เกิดขึ้นแล้วจากการร่วมทริปแบบนี้

ดังนั้น วันข้างหน้าหากองค์กรหรือบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวเกิดปัญหา การนำเสนอข่าวในรูปแบบที่ผ่อนหนักเป็นเบาให้กับแหล่งข่าว จึงอาจเกิดขึ้นได้ และแม้โดยหลักการประชาสัมพันธ์จะบอกว่า การยืดอกรับความจริงดีกว่าการปกปิดแก้ตัว แต่สายสัมพันธ์ระหว่างแหล่งข่าวกับสื่อก็น่าจะช่วยให้การเปิดตัวรับความจริงเกิดขึ้นได้อย่างสวยงามกว่า

                หลายปีก่อน เมื่อผู้เขียนทำหน้าที่บรรณาธิการ Focus ในหนังสือพิมพ์ The Nation ที่ประชุมคณะบรรณาธิการ กำหนดให้ระบุท้ายบทความของผู้เขียนแต่ละคนที่เขียนเรื่องราวจากการได้รับเชิญไปเที่ยวฟรีว่า เธอหรือเขาได้รับการสนับสนุนให้เดินทางจากหน่วยงานใด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าดี แต่ปัจจุบัน สื่อในเครือมีมากขึ้น การระบุอาจไม่ครบครัน นอกจากนั้น หลายปีผ่านไป รูปแบบการทำธุรกิจสื่อก็มีการเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ หลายองค์กรสื่อรวมทั้งเครือเนชั่น ต่างจัดนำเที่ยวเองในรูปแบบต่างๆ

                เรื่องคนทำสื่อเที่ยวฟรีนี้ คาดว่าเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป และประชาชนทั่วไปก็คงหมั่นไส้และเหยียดหยามคนทำสื่ออยู่ไม่น้อย เมื่อครั้งผู้เขียนและช่างภาพไปทริปตามรอยโกษาปานที่ฝรั่งเศสกับอาจารย์สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยาเพื่อถ่ายทำสารคดีของบริษัทเอ็นบีซี ก็มีผู้ร่วมทริปบางคนพูดจาถากถางว่าสื่อเที่ยวฟรี จึงต้องชี้แจงว่าเดินทางมาทำงานด้วยเงินบริษัท และเมื่อไปร่วมทริปต่างๆ ในอุษาคเนย์กับอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กว่าผู้ร่วมทริปจะเข้าใจกันว่า ผู้เขียนใช้เงินสะสมส่วนตัวเป็นค่าเดินทางเองเพราะอยากได้ความรู้เป็นข้อมูลเอาไปทำงานต่อ ก็ถูกซุบซิบนินทาหมั่นไส้ไปแล้วหลายทริป

                เพื่อนชาวต่างประเทศที่ทำงานในวงการสื่อบอกว่า พวกเขาไม่เคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยเงินสนับสนุนจากบริษัทเอกชนที่เป็นสปอนเซอร์โฆษณา หรือจากหน่วยงานรัฐ ความจริงสื่อไทยที่ชอบอ้างจริยธรรมก็น่าจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน  ไม่อย่างนั้น ก็ยอมรับความจริงแล้วไม่ต้องอ้างจริยธรรมให้ใครหมั่นไส้

                ทุกวันนี้เส้นแบ่งของคนทำเนื้อหาสื่อกับคนหาทุนหรือหาโฆษณา (รายได้) บางลงมากจนเกือบไม่เห็นเส้น ถ้าพิจารณาดีๆ จะพบว่าบางครั้งคนทำเนื้อหาหลายคนแทบไม่ได้ทำเนื้อหาอะไรนอกจากโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบเนียนๆ ให้กับบริษัทโฆษณาที่เป็นผู้สนับสนุน หรือ บริษัทสื่อของตนที่มีกิจกรรมเสริมต่างๆ มากมายเพื่อความอยู่รอด หรืออีกนัยคือเพื่อความเจริญเติบโตทางธุรกิจขององค์กร  (ถ้าเก่งหน่อยหรือมือถึง ผู้ทำเนื้อหาก็อาจสามารถเสนอเนื้อหาแบบเนียนๆ ผ่านเนื้อหาประชาสัมพันธ์ และจะว่าไป นี่เป็นเรื่องของการประลองความสามารถกันเลยทีเดียว)

จริยธรรมอันเคร่งครัดของสื่อนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็มาจากโลกตะวันตก โลกครึ่งๆ กลางๆ แบบไทย ก็อาจเป็นแบบไทยๆ คือมีหลักการเอาไว้ เพื่อให้ได้ใช้ปาก "พูด" ข่มคนอื่นว่าฉันมีหลักการดูดีแบบสากล แต่ปฏิบัติอย่างไรก็เรื่องของฉัน ทำให้คิดถึงหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทยซึ่งคงรู้จริงมาหลายทศวรรษแล้วว่า สื่อคือธุรกิจชนิดหนึ่ง ดังนั้น แต่ไหนแต่ไรมา นักข่าวหนังสือพิมพ์จีนจึงหาข่าวด้วย ขายโฆษณาเข้าหนังสือพิมพ์ด้วย รับเที่ยวฟรีแลกโฆษณาด้วย เป็นที่เยาะเย้ยไยไพของนักข่าวชาวไทยที่ถือตัวว่ามีจริยธรรมสูงส่งมาเนิ่นนาน

เขียนทั้งหมดนี้ ไม่ได้สนับสนุนให้นักข่าววิ่งไปหาโฆษณาเพิ่มรายได้ หรือแสดงตัวเป็นอภิสิทธิชนเที่ยวฟรีกันเถิดจะเกิดผล เพียงแต่เปิดประเด็นไว้ให้ช่วยกันพิจารณา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ธาริต" แถลงข่าวระบุเหตุรุนแรงปี 53 ต่างคนต่างผิดคนละบริบท

Posted: 21 Sep 2012 04:25 AM PDT

"ธาริต" แถลงข่าวชี้ความรุนแรงสลายชุมนุมปี 53 เหตุที่เกิดขึ้นมันต่างคนต่างผิดคนละบริบท พ้อถูกด่าทั้งขึ้นทั้งล่อง แฉกลับ "มาร์ค" สั่งให้เคลียร์บิ๊กทหาร หลังผลสอบเสื้อแดงถูกทหารยิง

 
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 55 ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานว่าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 13.00 น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวตอบโต้กรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯในฐานะผอ.ศอฉ. ระบุว่าดีเอสไอตั้งธงมุ่งเล่นงาน โดยนายธาริต จะแจ้งข้อหาความผิดฐานก่อให้บุคคลอื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลนั้น อยากบอกว่า ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอถูกโจมตีมากจนขวัญเสีย เพราะทำงานตรงไปตรงมา เลยถูกกลุ่มคนเกลียดชัง ทั้งฝ่ายเชียร์ นปช.และฝ่ายเชียร์ นายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ ตลอดจนสื่อมวลชนหลายฉบับ ซึ่งสาธารณชนอาจเข้าใจผิดว่า กระบวนยุติธรรมผิดเพี้ยนเชื่อถือไม่ได้
 
"ตอนนี้ นายธาริต เดินไปไหนก็ถูกคนเกลียดหมดไม่ว่าฝ่ายไหน วันนี้ต่างคนต่างผิดแล้วกองเชียร์จะเอายังไง จะให้ดีเอสไอบอกว่าเสื้อแดงผิดหมด ฝ่ายบริหารไม่ผิดเลย ส่วนกองเชียร์ ฝ่ายบริหารก็บอกว่า แดงผิดหมด ฝ่ายบริหารไม่ผิด ส่วนฝ่ายแดงบอกว่าฝ่ายบริหารที่มี นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ผิดหมด แดงไม่ผิด มันไม่ใช่ บ้านเมืองไม่ใช่อย่างนั้น เหตุที่เกิดขึ้นมันต่างคนต่างผิดคนละบริบท ซึ่งเวลา 2 ปี เมื่อทำให้ข้อเท็จจริงนิ่งก่อน ศาลไต่สวนกรณีนายพัน คำกอง เสียชีวิตออกมาแล้ว คดีนายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ กำลังจะเป็นคดีที่หนึ่ง" นายธาริต กล่าว
 
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวย้อนหลังเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างรุนแรง เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 ทำให้สูญเสียอย่างมากทั้งชีวิตและร่างกาย ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งอาจเกิดจากต้นเหตุความผิดของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่าย นปช.และฝ่ายรัฐ ได้ถูกยกระดับให้เป็นคดีพิเศษ ดังนั้น ดีเอสไอ มีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคนและทุกฝ่าย ทั้งนี้ ดีเอสไอ ยืนยันว่า ทำงานตรงไปตรงมา ตั้งแต่ต้น และเข้าทำคดีโดยเสมอภาคทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย นปช. หรือ ศอฉ. ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ทางดีเอสไอ มีบทบาททำให้เหตุการณ์ยุติลงได้ด้วยการจับกุมผู้กระทำผิดกลุ่มฮาร์ดคอร์ของ นปช.จำนวนกว่า 259 คน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 100 คน ถูกดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดและจริงจังในฐานความผิดก่อการร้าย ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ฐานกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของราชการทหารอย่างไม่มีละเว้น จนอัยการสั่งฟ้องคดีและศาลก็รับฟ้องคดีไว้พิจารณา
 
ส่วนคดีฝ่ายรัฐหรือผู้บริหารของศอฉ.นั้น ดีเอสไอก็ได้ทำสำนวนคดีว่ามีการตายของพลเรือนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐมากน้อยเพียงใดและเพราะเหตุใด แต่เนื่องจากมีขั้นตอนที่เนิ่นนานกว่า เพราะต้องส่งศาลไต่สวนเหตุการตายก่อนว่าเกิดจากฝ่ายรัฐหรือไม่ จึงดูเหมือนว่าที่ผ่านมาดีเอสไอมุ่งเล่นงานแต่พวกฮาร์ดคอร์ของ นปช.
 
"ตอนนี้ฝ่าย ศอฉ.คนแรกกำลังจะโดนบ้าง ดีเอสไอก็ถูกด่าเสียหายว่า ตั้งธงในการทำคดี รับใบสั่งใครมา หลังจากสัปดาห์ที่แล้วศาลได้มีคำสั่งเป็นศพแรกว่า การตายของนายพัน คำกอง แท็กซี่เสื้อแดง เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง ศอฉ.ก็เป็นผลที่ข้อเท็จจริงยุติแล้ว ดีเอสไอ ก็ต้องเดินหน้าต่อตามข้อกฎหมาย ต้นตอก็ต้องมุ่งไปที่ผู้รับผิดชอบออกคำสั่ง ศอฉ. นี่คือการดำเนินคดีแบบเสมอภาค ไม่มีใครอยากฆ่าใครหรอก เมื่อผู้รับผิดชอบฝ่ายรัฐในขณะนั้นคือ ฝ่ายบริหาร ศอฉ.ออกคำสั่งไม่รอบคอบจนอาจเข้าข่ายก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกันกับกลุ่มฮาร์ดคอร์ของ นปช.ทำผิดกฎหมาย" นายธาริตกล่าว
 
นายธาริต กล่าวอีกว่า ตนขอเปิดเผยความลับว่า ในสมัยท่านอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ดีเอสไอได้ทำสำนวนคดีว่า มีการตายของพลเรือนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐมากน้อยเพียงใด และเพราะเหตุใด โดยผมได้เข้าไปพบรายงานท่านเองว่า เบื้องต้นพบ 11 ศพแล้วที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ตายจะต้องส่งศาลไต่สวน ท่านก็บอกเห็นด้วย และสั่งให้ผมชี้แจงกับฝ่ายทหารด้วย ผมก็ดำเนินการให้สอบสวนก็พบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้ 36 ศพแล้ว
 
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า รายงานของ คอป.หน้า193 และหน้า243 ก็ระบุว่า การออกคำสั่ง ศอฉ.บกพร่อง ไม่มีการทบทวนแผนปฎิบัติการ ซึ่งจะต้องมีผู้รับผิดทางอาญา พร้อมกันนี้ อยากถามว่า ทำไมไม่ดูย้อนหลังตั้งแต่ 2 ปี เรื่องมันเกิดขึ้นกลางบ้านกลางเมืองใหญ่โตขนาดนี้ มันโกหกไม่ได้ แต่วันนั้น เรายังชี้ว่าฝ่ายบริหารของ ศอฉ.ผิดไม่ได้ เพราะต้องรอให้ศาลตัดสินเสร็จก่อน ยืนยันตนไม่ได้เปลี่ยนสี ดีเอสไอ ตำรวจ อัยการ ไม่ได้เปลี่ยนสี เราเป็นสีเดียวอยู่แล้วเราคือสีราชการ ขอความเป็นธรรมให้คนของเราที่ทำงานด้วย ขอเน้นย้ำว่า จะแจ้งข้อหาใคร ฐานอะไร ต้องมีมติ 3 ฝ่ายร่วมกันทุกคดี ทั้ง นปช.ท่านอภิสิทธิ์ และท่านสุเทพ เสมอภาคกันแล้ว ทำไมมาผูกกับนายธาริต คนเดียว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาวิชาชีพสื่อ 2 องค์กรแถลงการณ์ร่วมสอบจริยธรรมสื่อกรณีไปทัวร์ยุโรป

Posted: 21 Sep 2012 04:06 AM PDT

21 ก.ย. 55 - สำนักข่าวอิศรารายงานว่าสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมพร้อมดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชน กรณีประธานรัฐสภาใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาทพาสื่อมวลชนไปทัวร์ยุโรป

 
ตามที่มีข่าวปรากฏต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เรื่อง ประธานรัฐสภานำสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ และใช้งบประมาณของรัฐสภากว่า 7 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานด้านรัฐสภาในยุโรป แต่จากข้อมูลที่ปรากฏในกำหนดการเดินทางกลับมีลักษณะเป็นการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว ส่งผลให้สังคมตั้งข้อสังเกตและมีการวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
 
สภาวิชาชีพทั้งสอง ซึ่งประกอบด้วยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการกำกับดูแลองค์กรสมาชิกให้ปฎิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้สภาวิชาชีพทั้งสองกำลังติดตามตรวจสอบรายละเอียด ข้อมูล และข้อเท็จจริงต่างๆ ว่าตรงกับข่าวที่นำเสนอทั้งหมดหรือไม่เพียงใด มีองค์กรใดที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องอันจะส่งผลให้สภาวิชาชีพทั้งจะต้องดำเนินการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกรอบข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาวิชาชีพประการใดบ้าง หากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นที่ประจักษ์ชัดเพียงพอต่อการทำงานแล้ว สภาวิชาชีพทั้งสองจะได้แจ้งให้สาธารณชนทราบถึงมาตรการการกำกับดูแลต่างๆ ต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาร์บอมบ์สายบุรีดับคาที่ 6 หัวหน้าโรงพักเจ็บ

Posted: 21 Sep 2012 03:59 AM PDT

คนร้ายยิงร้านทองกลางกลางเมืองสายบุรี ลวงเจ้าหน้าที่เข้าตรวจกดระเบิดคาร์บอมบ์ ดับคาที่ 5 ราย ตายที่โรงพยาบาลอีก 1 เจ็บ 20 ราย รวมหัวหน้าโรงพักสายบุรีด้วย

 
ภาพโดย: จรูญ ทองนวล
 
เมื่อเวลา 12.20 น.วันที่ 21 กันยายน 2555 เกิดเหตุคนร้ายประมาณ 3–4 คน ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนใช้อาวุธสงครามยิงใส่ร้านทองกมลพรรณ ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ต่อมาเวลา 12.35 น.เจ้าหน้าที่จึงกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ แต่ได้เกิดระเบิดขึ้นบริเวณห่างจากร้านทองกมลพรรณ ประมาณ 100 เมตร แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนชีวิตคาที่ 5 ราย และชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บประมาณ 20 ราย
 
โดยหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ คือ พ.ต.อ.อาซิส อุมายี ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสายบุรีรวมอยู่ด้วย โดยถูกสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บ
ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานว่า การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นระเบิดคาร์บอมบ์น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม โดยคนร้ายซุกซ่อนในรถกระบะยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำไม่ทราบหมายเลขทะเบียน
 
สำหรับผู้บาดเจ็บ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ บางส่วนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี โดยโรงพยาบาลปัตตานีประกาศขอรับบริจาคเลือด เพื่อช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว โดยสามารถเดินทางไปบริจาคได้ที่โรงพยาบาลปัตตานี หรือติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 0-7333-1861
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มอง “รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต” สู่ “รายงาน คอป.” ความคล้ายที่ลงตัว

Posted: 21 Sep 2012 03:55 AM PDT

<--break->

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติหรือ คอป. ได้ออก "รายงานฉบับสมบูรณ์ พ.ศ. 2555" ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบและค้นหาความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 โดยรายงานดังกล่าวได้บรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าควบคุมฝูงชนที่มาชุมนุมและแกนนำผู้ชุมนุมในเวลานั้น ประกอบด้วยเหตุการณ์ในช่วงเวลาต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์เสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณถนนราชปรารภ - มักกะสัน - ดินแดง โดยแบ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนการปิดล้อมพื้นที่และเหตุการณ์ช่วงการปิดล้อมพื้นที่ ระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 พฤษภาคม 2553 และเหตุการณ์บริเวณวัดปทุมวนารามฯ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553

แม้ว่า คอป. ได้พยายามพรรณาหรือบรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในการควบคุมฝูงชนในห้วงช่วงเวลานั้น แต่ข้อเท็จจริงในบางประเด็นก็ยังไม่ได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือให้ความกระจ่างแก่สังคมอย่างแน่ชัด จนอาจเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงจากการควบคุมฝูงชนและการสลายผู้ชุมนุม ที่อาศัยอำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการกระทำการดังกล่าว เช่น กรณีกลุ่มชายชุดดำที่มิได้สรุปว่ากลุ่มชายชุดดำมีอยู่จริงหรือไม่และมีบทบาทชัดเจนอย่างไรต่อเหตุการณ์ดังกล่าว อันอาจทำให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำหรือเกี่ยวข้องกับชายชุดดำมีตราบาปและถูกสังคมประณามว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรง เป็นต้น

เหตุการณ์ความคลุมเครือหรือน่าเคลือบแคลงสงสัยของรายงานที่จัดทำขึ้นด้วยภาครัฐหรือคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก หลายประเทศในอดีตก็เคยเผชิญกับปัญหาความน่าเคลือบแคลงสงสัยในรายงานที่จัดทำขึ้นที่มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฝูงชนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือเหตุการณ์ที่ต้องอาศัยกำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมเหตุการณ์เช่นว่านั้น ซึ่งรายงานของต่างประเทศที่น่าสนใจและน่าจะนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับรายงาน คอป. พ.ศ. 2555 ได้แก่ "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" ค.ศ. 1990 (Taylor Report) ของประเทศอังกฤษ ที่ได้บรรยายถึงการไต่สวนข้อเท็จจริงและประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 (Hillsborough Disaster) ซึ่งรายงานนี้จัดทำขึ้นเมื่อ 23 ปีที่แล้ว โดยคณะกรรมการอิสระที่มีผู้พิพากษาเทย์เลอร์ (Lord Peter Taylor) เป็นประธาน

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้กล่าวถึงข้อเท็จจริงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรว่ามีเหตุมาจากการแออัดยัดเยียดของฝูงชนเป็นจำนวนมากเกินไปกว่าที่สัดส่วนหรือจำนวนปริมาณของผู้ชมการแข่งขันที่เป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลต่อความจุสนามในฝั่งตะวันตกของสนามสโมสรฟุตบอลเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างทีมสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกับทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ในปีนั้น ซึ่งการแออัดยัดเยียดของฝูงชนที่เป็นแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลในขณะนั้นทำให้อัฒจรรย์ในฝั่งตะวันตกได้พังทลายลงมาและมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 96 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นแฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล โดยการปล่อยให้ฝูงชนเข้าชมในขณะที่พื้นที่รองรับของสนามไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่มาจากสโมสรลิเวร์พูลที่มหาศาลเช่นนั้น ย่อมเป็นปัญหาในเรื่องของการจัดการความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอล

นอกจาก "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการจัดการความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลแล้ว คณะผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวยังได้สรุปประเด็นข้อเท็จจริงว่าปัญหาบางส่วนของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงและประกอบอาชญากรรมของแฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลบางส่วน ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวได้แสวงหาข้อเท็จจริงโดยมีการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรงในขณะนั้นเข้ามาชี้แจ้งข้อเท็จจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวไปในเชิงที่กล่าวร้ายต่อแฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลในขณะนั้นว่าเป็นผู้ประกอบอาชญากรรมและใช้ความรุนแรงในระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผลของการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ชี้แจงหรือแถลงข้อเท็จจริงที่มีลักษณะไปในเชิงกล่าวหาว่าแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลได้ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้คนในสังคมทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลอังกฤษ มองแฟนบอลสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลว่าเป็นผู้ที่ชอบใช้ความรุนแรงและอาจก่ออาชญากรรมได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มี "รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร" ค.ศ. 2012 (Hillsborough Independent Panel) เกี่ยวกับความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรที่มีสาธุคุณเจมส์ โจนส์ สังฆราชเมืองลิเวอร์พูล ประธานคณะกรรมการฯ ที่ได้ออกมาแถลงรายงานจากการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ โดยระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นมาจากการประกอบอาชญากรรมของแฟนสโมสรกีฬาฟุตบอลลิเวอร์พูลในขณะนั้น หากแต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากปัญหาการจัดการด้านความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ "รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร" ยังได้กลับหรือแย้งความเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐในอดีตที่มีลักษณะไปในเชิงกล่าวหาว่าแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลได้ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อ 23 ปีที่แล้ว

ผลแห่งการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความจริงในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรขึ้นมาใหม่นี้ ส่งผลให้แฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น แฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น และครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น "ได้รับการล้างมลทิน" จากข้อกล่าวหาต่างๆ  ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กล่าวหาในคำชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อ 23 ปีที่แล้วและการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดในอดีตของคณะกรรมการอิสระที่จัดทำรายงาน "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต"

 

ข้อพิจารณาเปรียบเทียบ "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" ในอดีตเมื่อ 23 ปีที่แล้วกับ "รายงาน คอป." ฉบับปัจจุบัน

"รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" ค.. 1990 (.. 2533)

1. กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงใน "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" ใช้ระยะเวลาสั้นเกินไป โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่เกิน 1 ปีนับจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการดังกล่าวไม่อาจได้ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น

2. ข้อเท็จจริงใน "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" บางส่วน คณะกรรมการในขณะนั้นได้รับมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและตำรวจทางการยุติธรรม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจเซาธ์ยอร์กเชียร์ ที่ได้แถลงข้อเท็จจริงในเชิงลบและอาศัยอคติส่วนตน จนนำมาสู่การสรุปความจริงของคณะกรรมการในขณะนั้น อันทำให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นและแฟนบอลที่รอดจากเหตุการณ์นั้นและยังมีชีวิตอยู่ ตลอดจนถึงครอบครัวถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นอาชญากรและใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าว

3. ข้อเท็จจริงใน "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" ทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโศกนาฏกรรมดังกล่าวได้รับการกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรงหรือประกอบอาชญากรรม มาเป็นเวลานาน 23 ปี ก่อนที่จะมี "รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร" ค.ศ. 2012 ออกมาในปัจจุบันล้างมลทินให้

4. ในปัจจุบันมี "รายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร" ค.ศ. 2012 ออกมากลับคำแถลงข้อเท็จจริงของ "รายงานเทย์เลอร์ รีพอร์ต" นอกจากนี้ รายงานฉบับใหม่ยังให้ความกระจ่างมากขึ้นโดยอาศัยการแสวงหาข้อเท็จจริงจากบุคคลหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายและปราศจากอคติในการให้ข้อเท็จจริง รวมไปถึงการอาศัยกลไกและวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง

"รายงาน คอป." .. 2555

1. กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงจนนำไปสู่การจัดทำ "รายงาน คอป." ฉบับปัจจุบัน ใช้เวลา 2 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งเวลาเพียง 2 ปี อาจเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป ทำให้คณะกรรมการไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงในทุกประเด็น

2. ข้อเท็จจริงใน "รายงาน คอป." ฉบับปัจจุบันก็ได้รับมาจากการให้ปากคำหรือถ้อยคำแถลงของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมหรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการชุมนุม

3. ข้อเท็จจริงในเอกสาร "รายงาน คอป." หากไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริง ย่อมส่งผลให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนั้นบางส่วน ถูกสังคมประณามหรือได้รับตราบาปตามเนื้อหาของรายงานฉบับนี้

4. กรรมการและอนุกรรมการที่มาร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ใน "รายงาน คอป." มีความเป็นกลางและปราศจากอคติหรือไม่? นอกจากนี้ มีกระบวนการสรรหากรรมการและอนุกรรมการที่ทำหน้าที่แสวงหาความจริงและกลไกที่เป็นหลักประกันไม่ให้กรรมการและอนุกรรมการอาศัยอคติในการทำงานหรือไม่?

5. หากในภายภาคหน้ามีการอาศัยกลไกทางนิติวิทยาศาสตร์และวิทยาการตำรวจขั้นสูง จนเป็นเหตุให้พบความจริงหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ตรงกับเนื้อหาของ "รายงาน คอป." คอป. ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการและอนุกรรมการต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากน้อยเพียงใด?


หากในอนาคตรัฐบาลไทยในปัจจุบันหรืออนาคตได้ตั้ง "คณะกรรมการอิสระชุดใหม่" เฉกเช่นเดียวกับที่รัฐบาลอังกฤษได้ตั้ง "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 2012" เพื่อรื้อฟื้นหรือแสวงหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการที่ชัดเจนและแน่นอน รวมไปถึงกำหนดกลไกหรือวิธีการไม่ให้คณะกรรมการใช้อคติหรือขจัดปัญหาการบิดเบือนข้อเท็จจริงในลักษณะต่างๆ โดยปราศจากอคติในการแสวงหาข้อเท็จจริง ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไรย่อมเป็นเรื่องที่น่าขบคิด …………. !

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มชาติพันธุ์สหภาพพม่าประชุมร่างแผนสันติภาพ เสนอรัฐบาลปฏิรูปประเทศ

Posted: 21 Sep 2012 03:47 AM PDT

กลุ่มชาติพันธุ์จากสหภาพพม่ารวมตัวประชุมร่างแผนสันติภาพ เตรียมยื่นเสนอรัฐบาลเพื่อปฏิรูปประเทศ ทั้งเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่น และรัฐอาระกัน (ยะไข่) อย่างเร่งด่วน

 
เมื่อวันที่ 14 -16 ก.ย ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์จากสหภาพพม่า อาทิ คะฉิ่น กะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ คะเรนนี ชิน อาระกัน และอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึงตัวแทนกลุ่มติดอาวุธต่างๆ รวมกว่า 130 คน จัดประชุมที่สถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยร่วมกันเสนอร่างแผนสันติภาพตามแนวทางของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเตรียมยื่นเสนอต่อรัฐบาลพม่า เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองและยุติการขัดแย้งในประเทศ โดยในการประชุมของกลุ่มชาติพันธุ์ซึงมาจากหลายกลุ่มองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ได้ข้อสรุปในกระบวนการสร้างสันติภาพร่วมกัน 3 ข้อ และผนการสร้างสันติภาพอีก 6 ข้อ โดยกระบวนการสันติภาพ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.หยุดยิงทั่วประเทศ 2.ปฏิบัติตามข้อสัญญาให้เป็นรูปธรรม และ 3.เปิดการเจรจาทางการเมือง
 
ส่วนแผนการสร้างสันติภาพ 6 ข้อ ประกอบด้วย
 
1. จัดประชุมโดยที่ให้มีตัวแทนกลุ่มติดอาวุธ พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ (CSO) รวมถึงกลุ่มสตรีและกลุ่มเยาวชน ร่วมหารือและได้ข้อตกลงในกรอบเพื่อการเจรจาทางการเมือง
 
2. (ก) ให้จัดประชุมระหว่างตัวแทนรัฐบาลสหภาพ และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เพื่อหารือและมีมติในการเจรจาทางการเมืองอย่างมีขอบเขต
(ข) สถานที่จัดประชุมให้อยู่ภายใต้ความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย
(ค) ให้จัดตั้งผู้สังเกตุการณ์ที่เป็นกลางจากนานาชาติ เข้าร่วมสังเกตุการณ์การเจรจาและมติข้อตกลงของสองฝ่าย อีกทั้ง หลังการเจรจามีการลงนามให้ทั้งสองฝ่ายจัดการแถลงเผยแพร่ร่วมกัน
 
3. หลังจากได้ข้อตกลงร่างกฎระเบียบการเจราจาการเมืองระหว่างรัฐบาลและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธแล้ว ให้มีการจัดการประชุมในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ทุกรัฐและทุกภาค
 
4.ให้จัดประชุมแห่งชาติที่มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เข้าร่วม
 
5.ให้จัดประชุมใหญ่สหภาพ ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งจากตัวแทนรัฐบาล กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และกลุ่มประชาธิปไตย ลักษณะประชุมปางโหลง และให้มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันในระดับสหภาพ
 
6. กรอบระยะเวลาสำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพ ให้มีการหารือและตกลงร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมจากฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ 
 
ทั้งนี้ หลังประชุมได้ข้อสรุปกระบวนสร้างสันติภาพร่วมกัน กลุ่มชาติพันธุ์ได้ร่วมกันออกแถลงการ 8 ข้อ เรียกร้องรัฐบาลพม่า อาทิ ให้กลุ่มติดอาวุธที่ลงนามหยุดยิงมีโอกาสเจรจาทางการเมือง ให้ทุกกลุ่มทุกเพศมีสิทธิเข้าร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพ ให้ทุกฝ่ายร่วมสร้างและปกป้องเพื้อไม่ให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งในรัฐคะฉิ่น และ รัฐอาระกัน (ยะไข่) อย่างเร่งด่วนด้วย
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
 
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้ทัพภาค 4 แจงเหตุใช้อำนาจตาม พรบ.กฎอัยการศึก

Posted: 21 Sep 2012 03:41 AM PDT

 

21 ก.ย. 55 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์ด่วนเรื่องขอให้กองทัพภาคที่ 4 ชี้แจงสาเหตุการใช้อำนาจตาม พรบ.กฎอัยการศึก เพื่อการกักตัว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ด่วน
ขอให้กองทัพภาคที่ 4 ชี้แจงสาเหตุการใช้อำนาจตาม พรบ.กฎอัยการศึก
เพื่อการกักตัว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555 นายธรรมรัตน์  อาลีลาเต๊ะ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวและควบคุมตัวเมื่อเวลา 19.00 น. ขณะที่นายธรรมรัตน์อาศัยอยู่ในบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา นายธรรมรัตน์ได้ถูกนำตัวไปควบคุมไว้หน่วยเฉพาะกิจ 11 จังหวัดยะลา ภายใต้พรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457  จนถึงขณะนี้ผู้ถูกจับและญาติยังไม่ทราบถึงเหตุแห่งการจับกุมตัว   
 
นายธรรมรัตน์  อาลีลาเต๊ะเป็นสมาชิกในเครือข่ายของอดีตจำเลยคดีความมั่นคงหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี และเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาเคยถูกจับกุมและควบคุมตัว   เมื่อปี พ.ศ. 2550 และถูกดำเนินคดีความมั่นคง ขณะนี้ได้รับการปล่อยชั่วคราวและคดีอยู่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลจังหวัดยะลา  หลังจากได้รับการประกันตัวแล้วนายธรรมรัตน์ มิได้หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น และต้องการที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองตามระบบของกระบวนการยุติธรรม จึงเชื่อได้ว่านายธรรมรัตน์ยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมหลักการปกครองโดยใช้หลักนิติรัฐของไทย  และจากการเข้าร่วมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของนายธรรมรัตน์และกลุ่มเพื่อนจำเลยที่เคยถูกดำเนินคดีความมั่นคง ทางกลุ่มฯ ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรม   อย่างไรก็ตามการทำงานของนายธรรมรัตน์และกลุ่มเพื่อนในฐานะผู้ที่ทำงานช่วยเหลือประชาชน กลับได้รับผลกระทบเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มได้ถูกลอบสังหารไปแล้ว 3 ราย และคดีการลอบสังหารของสมาชิกยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด  ทำให้เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555 นายธรรมรัตน์และกลุ่มเพื่อนได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการร้องเรียนขอความเป็นธรรมในเรื่องความปลอดภัยและกรณีที่สมาชิกในเครือข่ายฯที่ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตถึง 3 คนในรอบปีที่ผ่านมา [1]
 
มูลนิธิฯ มีข้อสังเกตว่าความพยายามในการตั้งกลุ่มและสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันและกันในกลุ่มอดีตผู้ต้องขัง หรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจเป็นเหตุให้นายธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ เป็นที่ถูกจับตามองของหน่วยงานความมั่นคงเรื่องการเคลื่อนไหวรวมกลุ่มกัน ดังนั้น หากทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยึดมั่นในนโยบายการเมืองนำการทหารและเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและมีความจริงใจในการสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่าง การจับกุมและกักตัวตามอำนาจพรบ.กฎอัยการศึกย่อมเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
 
แม้ข้อเท็จจริงที่ทางมูลนิธิฯได้รับเบื้องต้นว่า นายธรรมรัตน์จะได้รับการปฏิบัติอย่างดีไม่มีการปฎิบัติโดยไม่ชอบหรือผิดกฎหมาย  การจับกุมและกักตัวนายธรรมรัตน์ตามอำนาจกฎอัยการศึกในยามวิกาลนั้นแสดงให้เห็นถึงอำนาจตามกฎหมายพิเศษที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขาดกระบวนการการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ   แม้จะมีการประสานของความร่วมมือกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่า หากการควบคุมตัวไม่มีข้อสงสัยว่านายธรรมรัตน์จะได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดร้ายแรงหรือกำลังจะกระทำความผิดกฎหมายในทางใดทางหนึ่ง ก็ควรปล่อยตัวและให้อิสรภาพแก่นายธรรมรัตน์   ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่มีคำตอบและยังคงควบคุมตัวนายธรรมรัตน์เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 19.00 ของวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555 ถึง  ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 16 ชั่วโมง โดยขาดซึ่งเหตุผลความจำเป็นที่มีสัดส่วนเพียงพอแก่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอันการกระทำที่ตามอำเภอใจ  
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่กักตัวบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกได้ชี้แจง ทำความเข้าใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในพื้นที่ว่า คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของตนและของกลุ่มโดยอหิงสาและไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกฝ่ายควรยอมรับและเคารพ  ซึ่งในห้วงระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯยังพบว่ามีกรณีของนายซาฮารี เจ๊ะหลง คนทำสื่อทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงบังคับใช้พรบ.กฎอัยการศึก นำตัวไปซักถาม ซึ่งได้มีข้อมูลว่าการซักถามภายใต้พรบ.กฎอัยการศึกนั้นเพื่อต้องการทราบถึงการทำงานของสื่อ บทบาท แนวคิดและการทำงานของสื่อที่เน้นไปที่การนำเสนอคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น[2] การจับกุมกักตัวตามอำเภอใจขาดซึ่งเหตุผลข้อเท็จจริงว่าได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นอันมิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุร้ายแรงและโดยปราศจากพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ ย่อมสื่อให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎอัยการศึกนั้นนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกินความจำเป็น  จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในการจับกุมและกักตัวบุคคล ทั้งนี้เพื่อเกิดบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเกินสัดส่วนความจำเป็นและโดยพลการ
 
[1] http://www.manager.co.th/south/viewnews.aspx?NewsID=9550000113754
 
[2] http://prachatai.com/journal/2012/07/41732
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้บริโภคเห็นด้วยติด GPS รถขนวัตถุอันตราย หนุนเร่งตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสาร 24 ชั่วโมง

Posted: 21 Sep 2012 03:33 AM PDT

 

21 ก.ย. 55 - นางสาวสวนีย์  ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับกรมการขนส่งทางบก ที่เตรียมออกมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในการขนส่งวัตถุอันตราย ทั้งด้านตัวรถ พนักงานขับรถ และผู้ประกอบการขนส่ง โดยด้านตัวรถได้มีการกำหนดให้รถบรรทุกวัตถุอันตรายต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของ รถ (GPS Tracking) เพื่อให้สามารถติดตาม ควบคุม กำกับดูแล พนักงานขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นไป 
 
แต่อย่างไรก็ตามอยากให้กรมการขนส่งทางบก เห็นความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสาร 24 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนจำนวน 72 จังหวัด รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอันประกอบด้วย นักวิชาการจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.)คณะทำงานสนับสนุนการป้องกัน อุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ขอให้จัดตั้ง"ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง" และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ
 
 
"รถโดยสารสาธารณะประจำทางขนาดใหญ่และรถตู้โดยสารประจำทาง นับเป็นบริการสาธารณะสำคัญที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้เดินทางในเส้นทาง ระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังส่วนภูมิภาค และใช้เดินทางระหว่างจังหวัดในส่วนภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เฉลี่ย 11-12 ล้านคนต่อปี และหากรวมกับผู้โดยสารที่ใช้บริการกับผู้ประกอบการรถร่วมที่มีจำนวนรถ มากกว่ารถของ บขส.ถึง 10 เท่าตัว จึงคาดว่าน่าจะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การที่รัฐบาลสนับสนุนให้รัฐบาลมีมาตรการในการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถ ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสรวมทั้งกล่องบันทึกข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะ ประจำทางเพื่อให้การกำกับดูแลการเดินรถมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่มีความคุ้มค่าและสมควรเร่งดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง
 
 
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเห็นว่าการหาทางป้องกันเฝ้าระวังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น มากกว่าการมาชดเชยเชยเยียวยากันหลังเกิดเหตุแล้ว เพราะบางครั้งความสูญเสียของผู้ประสบภัยไม่สามารถคำนวณมาเป็นตัวเลขความเสีย หายได้ โดยเฉพาะผู้โดยสารที่ตัดสินใจเสียเงินใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ก็ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทั้งด้านบริการ และความปลอดภัยควบคู่กันไป ผู้ให้บริการไม่ใช่แค่มีหน้าที่เร่งขับรถไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างรวด เร็วเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้ที่โดยสารมาด้วย " นางสาวสวนีย์กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวสายทหารชี้ยอดกระสุนสลายเสื้อแดงเกือบสองแสนนัด

Posted: 21 Sep 2012 03:01 AM PDT

ศปช. โพสต์ข้อมูลใหม่จากนักข่าวสายทหาร วาสนา นาน่วม จากบางกอกโพสต์ เจ้าของผลงาน "ลับลวงเลือด"  ชี้จำนวนกระสุนที่ ศอฉ.ใช้ปราบเสื้อแดงมากกว่าจำนวนในรายงานของ คอป.

วันนี้(21/9/2555) 15.30น. เฟซบุ๊ค ศปช. โพสต์ข้อมูลใหม่จากนักข่าวสายทหาร วาสนา นาน่วม จาก บางกอกโพสต์ เจ้าของผลงาน "ลับลวงเลือด"  ได้ระบุว่า จำนวนกระสุนสงครามที่ ศอฉ. ใช้ในการสลายการชุมนุมปี 53 มีจำนวน 191,949 นัด  ซึ่งคลาดเคลื่อนจากข้อมูลเดิมที่มีการระบุข้อมูลการใช้กระสุนสงครามจากหลายแหล่งว่ามีการใช้กระสุนทั้งหมด 117,923 นัดเท่านั้น  แต่ในขณะเดียวกันได้ชี้ว่ากระสุนสไนเปอร์ได้ถูกใช้ไปเพียง 500 นัด ลดลงจากข้อมูลที่เคยเสนอว่าใช้ไป 2,520นัด ทั้งนี้ยอดรวมกระสุนทั้งหมดที่วาสนาระบุเพิ่มขึ้นจากยอดเดิมถึง 74,026นัด


@Wassana Nanuam: "กระสุนศอฉ.53....รายงานที่คอป.อาจยังไม่เคยเห็น...ทบ.สรุปรายงานยอดกระสุนที่ใช้สลายม็อบแดง 191,949 นัดแม้จะพยายามหามาคืนให้มากที่สุดแล้วก็ตาม เผย "พล.อ.ประยุทธ์"เร่งสรุป ให้ตัวเลขน่าพอใจ

และยอมรับได้ แต่อ้างใช้กระสุนซุ่มยิง sniper หลายแบบ แต่ที่เป็น sniper จริงๆของหน่วยรบพิเศษ รวมใช้500 นัด/แต่ปืนซุ่มยิงดัดแปลง M1 ใช้ไป 4,842 นัด....ทบ.เพิ่งสรุปยอดกระสุนที่ใช้ไปในตอน ศอฉ.สลายเสื้อแดง 2553 ได้ เมื่อไม
่กี่วันมานี้ ทั้งๆที่ผ่านมา2ปีทบ.แจ้งให้หน่วยที่เบิกจ่ายไปส่งคืน ครั้งแรก ตัวเลขกระสุนสูงปริ๊ด จนไม่กล้าสรุป ทบ.ให้เวลาหน่วยไปหากระสุนมาคืนคลังให้ได้มากที่สุด จนมีการส่งคืนครั้งที่ 2 แล้วสรุปออกมาว่า มีการเบิกจ่ายกระสุนไป 9 ชนิด รวม 778,750 นัด และมีการส่งยอดคืน จำนวน 586,801 นัด สรุปใช้ไปจำนวน 191,949 นัด แม้ตัวเลขรวมจะมากกว่ารายงานของ คอป. แต่ยอดกระสุนสไน้ป์เปอร์จริงๆรวม 500 นัด ..โดยรายงานนี้จะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. หลังกลับจากเยือนอินโดนีเซียศุกร์นี้ (21กย.)"
 
 
 
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: "ตัวเลขเป๊ะๆหลุดมาได้อย่างไร"เสียงบ่นจาก "พล.อ.ดาว์พงษ์"กรณียอดเบิกจ่ายกระสุน"พฤษภามหาโหด"

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สค.ปท.พอใจผลประชุมกองทุนฟื้นฟูฯ แก้ปัญหา ‘หนี้สินเกษตร’ กรณีเร่งด่วน

Posted: 21 Sep 2012 02:22 AM PDT

เกษตรกรเครือข่าย สค.ปท.บุก 'ก.เกษตรฯ' ร่วมฟังผลประชุมกองทุนฟื้นฟูฯ แก้ปัญหา 'หนี้สินเกษตร' พอใจที่ประชุมอนุมัติงบประมาณ 731 ล้านบาทพร้อมรับรองรายชื่อเกษตรกรขึ้นทะเบียนกองทุนฯ เพิ่มอีกกว่า 8 พันราย แม้การแก้ไขปัญหาหนี้ยังล้าช้า 

 
วานนี้ (20 ก.ย.55) สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) กว่า 300คน ชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อเรียกร้องให้การประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในวันดังกล่าวนำเรื่องอนุมัติเงินค้างจ่ายประจำปี 2555 และให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ได้กำกับติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการกองทุนกองทุนฟื้นฟูฯ ไปแล้ว
 
รวมถึง ให้เร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ7 เม.ย.2553 เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ มติคณะรัฐมนตรี 8 ก.พ.2554 ให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯที่เสียชีวิต ผู้พิการและผู้ที่อายุเกิน65 ปี ได้รับการจำหน่ายหนี้สูญ
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2555 สมาชิก สค.ปท.ได้ชุมนุมร่วมกับแนวร่วมเกษตรกรไท ประมาณ2,000 คน เรียกร้องต่อนายชุมพล ศิลปะอาชา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร บรรจุวาระการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเมื่อ15 มิ.ย.2555 พบว่าการทำงานล่าช้าไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อน ทำให้ให้มีการประชุมบอร์ดใหญ่เร็วขึ้นเป็นวันที่ 20 ก.ย.2555 (วานนี้)
 
 
นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการชุมนุมของสมาชิก สค.ปท.ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เพื่อติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่กองทุนฟื้นฟู ผลปรากฏว่าก็อยู่ในระดับที่พอใจเพราะทำให้การแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนกับพี่น้องเกษตรกรที่ถูกบังคับคดีขายทอดตลาดและถูกฟ้องขับไล่
 
นางกิมอัง กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นไปอย่างล่าช้า คือในรอบ 13 ปี ตั้งแต่มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูมามีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณห้าแสนกว่าราย แต่บริหารจัดการหนี้ได้แค่สองหมื่นกว่าราย จนต้องมีการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมเกษตรกรไทเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่าน เพื่อกดดัน 
 
ขณะที่นางกนกพร ดิษฐกระจันทร์ ประธานกลุ่มฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี  กล่าวว่าจากการมาเรียกร้องของชาวบ้านในครั้งนี้มีความพอใจอยู่ 3 เรื่อง หนึ่งคือการที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาอนุมัติงบประมาณค้างจ่ายของไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีงบประมาณ 2555 จำนวน 731 ล้านบาทซึ่งงบประมาณจำนวนดังกล่าวเป็นงบในการบริหารจัดการหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรจำนวน 619 ล้านบาท 
 
เรื่องที่สองคือการรับรองเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนใหม่กับกองทุนฟื้นฟูฯ ระหว่างวันที่ 2 ธ.ค.2554 – 3 ก.พ.2555 จำนวนทั้งสิ้น 8,878 ราย และเรื่องสุดท้ายคือติดตามเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 เม.ย.2553 เนื่องจากเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนหนึ่งได้เข้าไปใช้สิทธิในโครงการนี้ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วได้อนุมัติงบประมาณไว้5,000ล้านบาท 
 
นางกนกพรชี้ว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญของการปรับโครงสร้างหนี้คือธนาคารเจ้าของหนี้ไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ต้องจ่ายจริง และความจริงแล้วเกษตรกรไม่อยากให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ต้องการให้รัฐซื้อหนี้ของเกษตรกรและให้ย้ายมาอยู่กับกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะถ้าเกษตรกรประสบปัญหาไม่สามารถทำการผลิตได้ก็มีสิทธิทำเรื่องอุทธรณ์ต่อสำนักงานกองทุนในระดับจังหวัดให้ขยายระเวลาการจ่ายหนี้ได้  
 
ทางด้านนายสัญญา ยะคะเสม เลขาธิการกลุ่มพัฒนาเกษตรกรหมู่ 7 อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่ให้คณะกรรมการกองทุนฯ ติดตามหนี้สินของเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี 8 ก.พ.2554 ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เสียชีวิต พิการทุพพลภาพ และเกษตรกรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับการจำหน่ายหนี้สูญนั้นมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย โดยนายสุรชัย ภู่ประเสร็จ รองเลขาธิการฝ่ายการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองได้รับปากว่าจะทำเรื่องต่อโดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะและนำเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลซีเรียปฏิเสธรายงานยูเอ็นกรณี 'ทรมานเด็ก'

Posted: 21 Sep 2012 12:25 AM PDT

มีรายงานของยูเอ็นที่ระบุว่าฝ่ายรัฐบาลซีเรียสังหาร ทรมานเด็ก และใช้เป็นโล่มนุษย์ ล่าสุดทูตซีเรียประจำยูเอ็นกล่าวโต้ว่าเป็นฝ่ายกบฏที่ทรมานเด็ก


20 ก.ย. 2012 - เอคอัครราชทูตซีเรียประจำสหประชาชาติกล่าววิพากษ์วิจารณ์รายงานของสหประชาชาติที่บอกว่ากองทัพรัฐบาลซีเรียมีความผิดฐานใช้ความรุนแรงต่อเด็กในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ขณะนี้ยาวนานถึง 18 เดือนแล้ว

เอกอัครราชทูต บาชาร์ จาฟารี กล่าวเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า ข้อกล่าวหาจากรายงานของยูนิเซฟ (องค์การกองทุนเด็กระหว่างประเทศของสหประชาชาติ) เป็นโฆษณาชวนเชื่อในทางลบ และกล่าวอีกว่ากลุ่มกบฏติดอาวุธเป็นฝ่ายที่ละเมิดสิทธิเด็ก ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล

"พวกเรายังขอให้ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการเพิ่มเติมย่อหน้าในรายงานที่ระบุถึงสาธารณรัฐอาหรับซีเรียด้วยว่า การกระทำซึ่งเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินจากต่างชาติ" จาฟารีกล่าว

"กลุ่มเหล่านี้ได้ทำลายโรงเรียนกว่า 2,600 แห่ง พวกเขายังได้โจมตีเป้าหมายที่เป็นศูนย์สุขภาพ ตามที่ยูนิเซฟระบุในรายงาน"

"เป็นกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ที่ละเมิดสิทธิเด็กในซีเรีย" จาฟารีกล่าว


ยูนิเซฟกล่าวถึงเด็กไม่มีสถานที่เรียน
ในเว็บไซต์ของยูนิเซฟเปิดเผยว่าเด็กในซีเรียกำลังต้องเข้าเรียนในชั้นปีการศึกษาใหม่ แต่จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาอยู่ในสภาวะขาดความมั่นคงปลอดภัย มีโรงเรียน 2,072 แห่งถูกทำลาย และอีกมากกว่า 800 ครอบครัวต้องอพยพจากที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์รุนแรง มีคนทำงานด้านการศึกษาราว 90 รายถูกสังหาร และในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมารัฐบาลก็ย้ายครอบครัวผู้อพยพออกจากโรงเรียนบางแห่งไปอยู่ในโรงกีฬา

ยูนิเซฟรายงานอีกว่า ในประเทศจอร์แดนที่มีเด็กผู้อพยพชาวซีเรียราว 17,000 ราย พวกเขาเข้าร่วมชั้นเรียนในชุมชนของจอร์แดนซึ่งเปิดเรียนวันที่ 4 ก.ย. ขณะที่ในค่ายผู้อพยพบางแห่งก็ยังขาดการเรียนการสอนเช่นในค่ายซาอะตารีซึ่งมีเด็กวัยเรียนอยู่กว่า 6,000 ราย


รายงานของยูเอ็นเรื่องการทรมานและใช้เป็นโล่มนุษย์
มีรายงานอีกชิ้นหนึ่งของยูเอ็นตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ระบุว่ากองกำลังรัฐบาลทรมานเด็กและใช้เด็กเป็นโล่อาวุธบนรถถัง เพื่อไม่ให้กลุ่มฝ่ายต่อต้านโจมตีใส่

รัตติกา คุมมาราสวามี ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นกล่าวว่ามีเด็กถูกกุมขังและทรมาน รวมถึงถูกสังหารในการสังหารหมู่

"อดีตทหารหลายคนพูดเกี่ยวกับการยิงเข้าไปในย่านที่มีคน ซึ่งมองเห็นว่ามีเด็กอยู่ด้วย เด็กอายุยังน้อยก็ถูกสังหารหรือทำให้พิการ" รัตติกากล่าว

โดยขณะเดียวกันในรายงานก็ระบุว่าฝ่ายกบฏได้ใช้เด็กเป็นกองกำลังแนวหน้าเช่นกัน ซึ่งรัตติกาก็กล่าววิจารณ์กลุ่มกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) ว่าพาเด็กไปอยู่ในที่ไม่ปลอดภัย

"ในตอนแรกพวกเราได้ยินว่าเด็กที่ถูกเกณฑ์โดยกองกำลังปลดปล่อยซีเรียจะอยู่ในข่ายงานด้านการพยาบาลและการบริการเป็นหลัก แต่ก็ยังต้องไปอยู่ในแนวหน้า" รัตติกากล่าว

ในรายงานประจำปีของยูเอ็นเรื่องเด็กและสงครามความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธอ้างถึงเหตุการณ์โจมตีในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเขตปกครองอิดลิบเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเด็กหลายคนถูกไล่ออกมาจากบ้านและถูกใช้เป็นโล่มนุษย์โดยทหารและกลุ่มทหารรับจ้าง วางพวกเขาไว้ที่หน้าต่างรถบัสซึ่งขนส่งทหารเข้ามาโจมตีหมู่บ้าน

รายงานของยูเอ็นกล่าวอีกว่ามีเด็กถูกทุบตี, คาดตา, อยู่ในท่าที่ตึงเครียด, ถูกฟาดด้วยสายไฟหนา, ถูกจี้บุหรี่ และมีรายหนึ่งถูกไฟฟ้าช็อตในช่วงที่ถูกไต่สวน

 


ที่มา เรียบเรียงจาก

Syria rejects UN report on 'child torture', Aljazeera, 20-09-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/09/20129208224414167.html

Press Release :  UNICEF, partners in race to assist displaced & refugee Syrian children return to learning, 17-09-2012
http://www.unicef.org/media/media_65859.html

Syrian children used as human shields, says UN report, BBC, 12-06-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-18405800
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นวมทอง ไพรวัลย์ : มรณกรรมอันรุ่งโรจน์

Posted: 20 Sep 2012 11:59 PM PDT


คุณนวมทอง ไพรวัลย์ เสียชีวิตจากการผูกคอตายเพื่อประท้วงการรัฐประหารที่ปฏิกิริยา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เขาประท้วงโดยขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังจนได้รับบาดเจ็บและถูกท้าทายจากนายทหารปฏิกิริยาว่าเป็นคนเสียสติเพราะไม่มีใครยอมสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง, คุณนวมทองรับคำท้าทายนั้นและใช้ชีวิตตนเอง แสดงให้ประจักษ์แก่คนทั้งโลก. การตายของคุณนวมทอง เป็นมรณะสักขี

คุณนวมทองเป็นผู้ใช้แรงงาน, เป็นคนสามัญคนหนึ่งในคนส่วนใหญ่ในประเทศ ประชาธิปไตยที่คุณนวมทองหวงแหน ก็คือความเป็นธรรมในสังคม ความเป็นธรรมที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะมีส่วนกำหนดอนาคตของทั้งส่วนรวมและส่วนตัวและความเป็นธรรมที่กำหนดหลักการที่จะทำให้การจัดสรรแบ่งปันและอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค. มิใช่ความเป็นธรรมแบบทุกคนร่ำรวยเป็นเศรษฐีเท่ากัน หรือทุกคนกลายเป็นคนจนเสมอกันโดยถ้วนหน้าอันเป็นวาทกรรมที่ชนชั้นศักดินาและทุนขุนนางใช้เยาะเย้ยและบิดเบือนการต่อสู้ของประชาชนมาตลอด คุณนวมทองและผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมทั้งหลาย ก้าวข้ามลักษณะเฉลี่ยสัมบูรณ์แบบนั้นมานานแล้ว

คุณนวมทองเสียชีวิตเมื่ออายุ 60 ปี การต่อสู้ของเขาคงมิใช่เพียงเพื่ออนาคตของตน หากแต่เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปต่างหาก แสดงให้เห็นอย่างลึกซึ้งว่าการตายของเขาเป็นการเสียสละเพื่อคนอื่น เสียสละชีวิตตนเองจุดประกายการต่อสู้, เสียสละชีวิตตนเองเพื่อปลุกความกล้าหาญอันเป็นธรรมชาติของคนให้ลุกขึ้นมา ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตนและชนชั้นตน. มรณกรรมของคุณนวมทองแม้จะเป็นที่เศร้าเสียใจของญาติมิตรและบรรดาผู้ต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายแต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่เจตนาของคุณนวมทองมีคนขานรับมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่า บัดนี้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมถูกส่งต่อและกลายมาเป็นภาระหน้าที่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศแล้ว

การต่อสู้ครั้งนี้มิใช่ต่อสู้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หากแต่เป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้าง ด้านหนึ่ง มันมีลักษณะทำลายซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานที่จะต้องทำลายโครงสร้างล้าหลังอันไม่เป็นธรรมนั้นเสีย อีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะสร้างสรรค์ ก็เป็นภาระที่จะต้องสร้างสรรค์โครงสร้างใหม่ที่ก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมอย่างแท้จริง. เบื้องหน้าการต่อสู้ครั้งนี้ นอกจากจะต้องเผชิญกับอันตรายจากความเจ้าเล่ห์โหดร้ายของชนชั้นผู้กุมกลไกรัฐ อันเป็นโครงสร้างเก่าแล้ว ยังต้องมีน้ำอดน้ำทนกับความสลับซับซ้อนในการสถาปนาโครงสร้างใหม่ด้วย

บรรดาผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมทั้งหลาย นอกจากตระเตรียมตนเองทางด้านความรู้ในหลักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม, จำแนกมิตรศัตรูได้, วิเคราะห์สถานการณ์เป็น และเข้าใจในยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแล้ว ต้องพึงตระเตรียมจิตใจในการเดินทางบนหนทางที่ยากลำบากและคดเคี้ยวยาวไกลนี้ ด้วยเช่นกัน

จิตใจชนิดใด ที่จักสามารถแบกรับภารกิจเช่นนี้ คือจิตใจนวมทอง ไพรวัลย์ คือจิตใจที่กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น