โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ฮ่องกงเลิกบังคับเรียนวิชาชาตินิยมจีน หลังมีผู้ชุมนุมประท้วง

Posted: 08 Sep 2012 08:28 AM PDT

รัฐบาลฮ่องกงประกาศยกเลิกให้วิชาชาตินิยมจีน ซึ่งมีเนื้อหาเชิดชูระบบพรรคการเมืองเดียว ให้เป็นวิชาบังคับ และให้เป็นวิชาเลือกแทน หลังจากมีผู้ประท้วงกว่า 100,000 คน และมีโพลล์สำรวจว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 69
 
8 ก.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC ของอังกฤษรายงานว่ารัฐบาลฮ่องกงประกาศยกเลิกแผนการให้นักเรียนต้องเรียนวิชาชาตินิยมจีน (Chinese patriotism) เป็นวิชาบังคับ หนึ่งสัปดาห์หลังการประท้วง
 
ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง เหลียง ชุน หยิง กล่าวว่าวิชาดังกล่าวจะกลายเป็นวิชาเลือกแทน
 
"โรงเรียนจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่า พวกเขาจะให้การศึกษาด้านจริยธรรมและเรื่องราวของชาติตนเองในเวลาไหน และอย่างไร" เหลียงกล่าว
 
นักวิจารณ์กล่าวว่าการบังคับเรียนวิชาดังกล่าวเป็นการพยายามล้างสมองเด็กๆ ของฮ่องกงโดยรัฐบาลจีน
 
ทางด้านรัฐบาลจีนกล่าวว่า วิชานี้มีความสำคัญในการค้ำชูความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศและอัตลักษณ์ของชาติ ความรู้สึกต่อต้านจีนแผนดินใหญ่เริ่มมีมากขึ้นในเขตปกครองตนเองฮ่องกง ที่มีประชากรอยู่ราว 7 ล้านคน
 
การตัดสินใจในครั้งนี้มีขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งในวันอาทิคย์ (9 ก.ย.) นี้ เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทำการเลือกส.ส. จำนวนเกินครึ่งของทั้งหมด ซึ่งก็คือราว 60-70 ที่นั่ง
 
 
'ช่องว่าง' ระหว่างฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่
 
วิชาชาตินิยมจีนประกอบด้วยการเรียนรู้เรื่องสิทธิหน้าที่ทั่วไปของพลเมือง รวมถึงบทเรียนที่เป็นข้อถกเถียงกันในเรื่องความสำนักในบุญคุณของประเทศแผ่นดินใหญ่ โดยวิชานี้มีแผนการบรรจุลงในวิชาเรียนของนักเรียนชั้นประถมฯ และชั้นมัธยมฯ ในปี 2013
 
ในแบบเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลมีเนื้อหายกย่องข้อดีของการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียว และให้ค่าการปกครองประชาธิปไตยแบบหลายพรรคว่าเป็นความโกลาหล โดยยกตัวอย่างกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินและปัญหาความอดอยากทั่วประเทศในช่วงรัฐบาล เหมา เจ๋อ ตุง
 
จากการทำสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า มีนักเรียนร้อยละ 69 ไม่เห็นด้วยกับชั้นเรียนดังกล่าว
 
การยกเลิกบังคับวิชาเรียนชาตินิยมเกิดขึ้น 1 วัน หลังจากที่นักกิจกรรมบอกว่ามีผู้ชุมนุมราว 100,000 คน เดินขบวนกันหน้าสำนักงานรัฐบาลฮ่องกง
 
BBC รายงานว่า ฮ่องกงต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศจีน พวกเขาชอบให้มีเสรีภาพ รวมถึงเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุม และการมีสถาบันที่โปร่งใส เชื่อถือได้
 
จูเลียนนา ลิว ผู้สื่อข่าว BBC ในฮ่องกงกล่าวว่า ความขัดแย้งในเรื่องนี้เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นช่องว่างทางสังคม, วัฒนธรรม และการเมืองระหว่างฮ่องกงและผู้นำในแผ่นดินใหญ่
 
จูเลียนนา กล่าวอีกว่าเหตุการณ์นี้ยังได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวฮ่องกงจำนวนมากยังคงมีความคลางแคลงใจต่อรัฐบาลจีนอยู่ลึกๆ 
 
 
 
ที่มา:
Hong Kong backs down over Chinese patriotism classes, BBC, 08-09-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-19529867
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้งโต๊ะรับซื้อ-จำนองที่ดิน 3 จว.ใต้ ศอ.บต.สนองรับสั่ง 'ราชินี' ป้องแผนโจรแยกดินแดน

Posted: 08 Sep 2012 08:18 AM PDT

 ศอ.บต.เปิดรับซื้อ-จำนองที่ดิน 3 จว.ใต้แล้ว สนองรับสั่ง "ราชินี" ป้องกันโจรใต้กว้านซื้อที่แบ่งแยกดินแดน ขณะที่ "มาร์ค" จี้รัฐจับตาเข้มชาวไทยพุทธขายที่ดินส่งผลกระทบความมั่นคงชาติ
 
8 ก.ย. 55 - หนังสือพิมพ์บ้านเมืองรายงานว่าศอ.บต.เปิดรับซื้อ-จำนองที่ดิน 3 จว.ใต้แล้ว สนองรับสั่ง "ราชินี" ป้องกันโจรใต้กว้านซื้อที่แบ่งแยกดินแดน ขณะที่ "มาร์ค" จี้รัฐจับตาเข้มชาวไทยพุทธขายที่ดินส่งผลกระทบความมั่นคงชาติ  ด้าน "โต๊ะอิหม่าม" ปัดปอเนาะใช้เงินต่างประเทศหนุนใต้ ขณะที่ สปต.เสนอสร้างทูต ศอ.บต.เป็นตัวแทนไทยหาแนวทางสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ด้านโจรใต้ยะลาป่วนอีก ลอบบึ้มโรงเรียนสถานที่จัดงาน "วันกล้วยหินของดีอำเภอบันนังสตา 55" ชาวบ้านเจ็บ 2 ราย แถมปล่อยข่าวลือขู่ร้านค้าปิดกิจการวันศุกร์ ส่วนที่ปัตตานีประกบยิงชาวบ้านดับ 1 สาหัส 1 เผารถแบกโฮวอด 1 คัน
 
ศอ.บต.เปิดรับซื้อ-จำนองที่ดิน
 
เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงกรณีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นห่วงเรื่องการกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเรื่องดังกล่าวทางกองทัพก็มีความเป็นห่วงเช่นกัน เบื้องต้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจพบว่า มีบ้างแต่มีไม่มากนักและยังไม่พบว่ามีการกว้านซื้อที่ดินผิดปกติ สำหรับแนวทางการแก้ไขก็คือ จะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจ หาสาเหตุการซื้อขายที่ดินว่าเกิดขึ้นจากอะไร หากมาจากความไม่มั่นใจในความปลอดภัย ศอ.บต.ก็จะไปติดต่อขอซื้อที่ดินมาเก็บไว้ก่อน ส่วนจะเชื่อมโยงกับกลุ่มต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือเงินสนับสนุนจากนอกประเทศหรือไม่นั้นยังพิสูจน์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการมีส่วนร่วมระหว่างชุมนุมกับกองทัพ ได้พยายามสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับประชาชน แต่ด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ขอให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ทุกนายจะทำงานดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
 
"มาร์ค" จี้รัฐ จับตา ปัญหาการขายที่ดิน
 
วันเดียวกันนี้ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นห่วงเกี่ยวกับการขายที่ดินในพื้นที่ภาคใต้ของชาวไทยพุทธนั้นว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องจับตาว่า มีปัญหาลุกลามบานปลายมากน้อยเพียงใด ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอย่างไร ขณะนี้หลายท้องถิ่นก็ติดตามอยู่ เช่นที่ ยะลา ก็มีการช่วยแก้ปัญหาในระดับหนึ่งด้วย ทั้งนี้เห็นว่า ปัญหาการย้ายออกนอกพื้นที่จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐให้ความมั่นใจต่อชุมชนได้ว่ามีความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องอย่างจริงจังในช่วงนี้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข พรรคประชาธิปัตย์จึงเรียกร้องมาตลอดว่า ต้องมีรัฐมนตรีเข้าไปเกาะติดสถานการณ์ เพราะถ้าปล่อยให้ประชาชนอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือในการได้ข้อเท็จจริงใช้คลี่คลายคดี หรือแก้ปัญหา และถ้ามีการย้ายออก ก็จะทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น การที่นายกฯ ลงพื้นที่นราธิวาส ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ยืนยันว่า ควรจะมีการมอบหมายฝ่ายนโยบายคนใดคนหนึ่งไปเกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่
 
นายกฯ ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงก่อน
 
นายอภิสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ จะประสานกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มารับฟังการอภิปรายในญัตติปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ที่พรรคยื่นไว้ในสภาแล้วนั้น ได้รับแจ้งว่า นายกรัฐมนตรี กำลังอยู่ในระหว่างการปรึกษากับฝ่ายความมั่นคงก่อน และจะให้คำตอบเร็วๆ นี้ เชื่อว่าหลังกลับจากรัสเซียน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนขึ้น และคงไม่ใช่การมอบหมายให้รองนายกฯ มารับฟังแทน เพราะได้คุยชัดเจนกับนายสมศักดิ์ว่า จำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีมารับฟังและแลกเปลี่ยนด้วยตนเอง
 
ปัดปอเนาะอุดหนุนเงินป่วนใต้
 
ขณะที่ นายสูไฮมี มะเกะ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดเขาตันหยง หน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวถึงกรณีที่จะมีการบุกยึดทรัพย์สินโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศเพราะเชื่อว่าโรงเรียนปอเนาะจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการสนับสนุนการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การสนับสนุนเงินจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีวงเงินที่จำกัดโดยใช้จำนวนนักเรียนเป็นเกณฑ์ โดยจะเอาเงินทานหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเงินซากาตไปช่วยสนับสนุนเด็กที่เรียนดีและยากจน หากต่างประเทศเขาตัดเงินสนับสนุนปอเนาะทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชนที่ยากจน ไม่สามารถส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการเจรจากับกลุ่มที่สนับสนุนโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนปอเนาะใดมีพฤติกรรมก็ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเอาเงินก้อนไหน แต่รับรองได้ว่าไม่ใช่เงินทาน หรือเงินซากาต ซึ่งเป็นเงินบริสุทธิ์ นำไปใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์ไม่ได้ จึงอยากแนะนำให้เจ้าหน้าที่พิจารณาให้รอบขอบว่าปอเนาะเอาเงินส่วนไหนกันแน่ไปใช้สนับสนุนป่วนใต้ เพราะเป็นการทำลายชื่อเสียงของโรงเรียนปอเนาะ ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ได้รับความเชื่อถือของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เสนอสร้างทูต ศอ.บต.ดับไฟใต้
 
นายสุทธิพันธ์ คณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการด้านการต่างประเทศประจำสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สปต. จะเสนอแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการผลิตทูตศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทูต ศอ.บต.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในการสื่อสารสร้างความเข้าใจอย่างตรงจุดกับต่างประเทศ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของประเทศทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม ในการเผยแพร่ความเป็นไทยหรือความเป็นประเทศไทย ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งอีกภารกิจตัวแทนประเทศไทยหาแนวทางสร้างสันติภาพสู่ชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้จะ "มีการเจรจาของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาล ถึงกระบวนการยุติธรรมว่าทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติวิธีและสร้างฉันทามติของชาติการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของสันติธรรม ภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ โดยการเจรจาเน้นไม่มีการแบ่งแยกดินแดน" นายสุทธิพันธ์ กล่าว
 
ผบ.ทร.เยี่ยม 4 นาวิกโยธินเหยื่อโจรใต้
 
วันเดียวกันนี้ ที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. เดินทางเข้าเยี่ยมอาการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน สังกัดร้อยปืนเล็กที่ 3 ฉก.นราธิวาส 33 จำนวน 4 นายซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุเหยียบกับระเบิดที่คนร้ายลอบฝังไว้ใต้ป้ายโฆษณางานของดีเมืองนราธิวาส และพ่นข้อความโจมตีทหารเพื่อล่อให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบ ทำให้ทหารนาวิกโยธินทั้ง 4 นายเหยียบกับระเบิดของคนร้าย คือ 1.จ.อ.สุทิน สีม่วง อายุ 42 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสขาขาดทั้ง 2 ขา ขณะนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด 2.พลฯ เปรมอนันต์ ขวัญทองยิ้ม อายุ 22 ปี ถูกสะเก็ดระเบิดที่ขาขวา 3.พลฯ อติพล แซ่จิ้ว อายุ 23 ปี ถูกสะเก็ดระเบิดที่ขาขวาเช่นกัน และ 4.พลฯ วัชรพงษ์ นัสดา อายุ 22 ปี ได้รับบาดเจ็บจากแรงอัดของระเบิดเล็กน้อย พร้อมกันนี้ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ได้มอบเงินบำรุงขวัญกำลังพลให้กับเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธินทั้ง 4 นายเพื่อเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น
 
วางระเบิดในโรงเรียนจัดงานของดี
 
ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ เวลา 08.30 น. พ.ต.อ.เจริญ ธรรมขันธ์ ผกก.สภ.บันนังสตา พร้อมด้วย ร.ต.ท.ณรงค์ชัย เวชนิล ร้อยเวร สภ.บันนังสตา เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ภ.จว.ยะลา ได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดภายในโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน "วันกล้วยหินของดีอำเภอบันนังสตา 55" เมื่อช่วงดึกของวันที่ 6 ก.ย 55 เวลา 23.30 น. ทำให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 2 ราย คือ นายอาแซ เจ๊เต๊ะ และ ด.ช.อายุ 14 ปี 1 คน เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายบรรจุในหลอดอะลูมิเนียมขนาดเล็ก จุดชนวนด้วยนาฬิกา สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุคนร้ายได้นำวัตถุระเบิดมาวางไว้ใต้รถกระบะ แล้วเกิดระเบิดขึ้น ขณะที่มีการจัดแสดงบนเวทีในงาน ส่วนการจัดงานยังคงต้องดำเนินไปตามปกติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย.นี้
 
โจรใต้ปล่อยข่าวพบใบปลิวขู่ร้านค้า
 
ต่อมามีรายงานว่า วันเดียวกันนี้มีกระแสข่าวลือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา และในอำเภอทุกอำเภอ ว่ามีการพบใบปลิวข่มขู่ร้านค้าให้หยุดทำกิจการค้าขายในวันศุกร์ และให้หน่วยงานราชการหยุดทำการในวันศุกร์ โดยเฉพาะข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐ ที่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างอำเภอ เนื่องจากกระแสข่าวลือที่ว่า จะทำร้ายผู้ที่เปิดกิจการการค้าขายในวันศุกร์ และจะทำร้ายข้าราชการที่เดินทางไปทำงาน ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ข้าราชการและทำให้ผู้ประกอบการบางแห่งขวัญผวาได้ปิดกิจการไปแล้วหลายราย ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ อ.บันนังสตา ก็พบว่า ในพื้นที่เขตเทศบาลบันนังสตา ร้านค้าก็ยังคงเปิดร้านค้าขายกันตามปกติ สถานที่ทำงานอื่น ก็ยังคงเปิดทำการให้บริการประชาชนตามปกติ และเมื่อสอบถามชาวบ้านถึงเรื่องใบปลิวข่มขู่ ชาวบ้านไม่เห็น มีเพียงข่าวลือที่ได้ยินชาวบ้านพูดกันเท่านั้น ขณะที่ พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผบก.ภจว.ยะลา ได้สั่งการให้พนักงานวิทยุประจำกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ตรวจสอบแต่ก็ยังไม่พบใบปลิวในลักษณะข่มขู่แต่อย่างใด เชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าวลือแบบปากต่อปาก ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายปี นอกจากนี้ ในสังคมออนไลน์ หรือเฟสบุ๊ค ได้มีการระบุว่า พบใบปลิวข่มขู่ร้านค้าจนสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน
 
ยิงชาวบ้านดับ 1 เจ็บ 1 เผารถแบ็กโฮ
 
ส่วนที่ปัตตานีวันเดียวกันนี้ ร.ต.ท.วชิระ วัฒนาฤดี ร้อยเวร สภ.มายอ จ.ปัตตานี พร้อมด้วย ตำรวจพิสูจน์หลักฐานปัตตานี, นายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ และกำลังตำรวจ ฝ่ายปกครอง เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ รถแบ็กโฮถูกเผาเสียหายทั้งคัน ที่บริเวณเชิงเขาบ้านกูบังบาเดาะ ต.สะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี จากการตรวจสอบปรากฏว่า รถแบ็กโฮ ถูกเผาเสียหายทั้งคันซึ่งเป็น รถแบ็กโฮ ของบริษัทอันวาโยธากิจ รับเหมาขุดหินและดินลูกรังเขากูบังบาเดาะ เพื่อนำไปทำโครงการสร้างถนนในพื้นที่ สาเหตุเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตั้งไว้ 2 ประเด็น คือ อาจจะมีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ หรือเป็นการสร้างสถานการณ์ใต้
 
นอกจากนี้ พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐ์พันธ์ ผบก.ภ.จ.ปัตตานี ยังได้รับรายงานว่า เกิดเหตุยิงกันตาย ที่บริเวณบนถนนในหมู่บ้าน ต.กะรูบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี จึงนำกำลังตำรวจ พร้อมพนักงานสอบสวน และตำรวจพิสูจน์หลักฐานรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบผู้เสียชีวิต ทราบชื่อคือ นายมะราพี บานาปาแน อายุ 45 ปี ต.กะรูบี มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนเข้าบริเวณลำตัว 3 นัด เสียชีวิตคาที่ ขณะที่กำลังเดินกลับบ้าน หลังจากดื่มน้ำชาร้านในหมู่บ้าน คนร้ายขับรถ จยย.ตามประกบยิงและหลบหนีไป ทั้งเหตุการณที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทางด้าน พ.ต.อ.มานิตย์ ยิ้มซ้าย ผกก.สภ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งเกิดเหตุยิงกันในหมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านควน ต.ควน ส่วนผู้บาดเจ็บทราบชื่อคือ นาย อิบรอฮิม แฮะ อายุ 47 ปี ถูกยิงด้วยอาวุธปืนสั้นเข้าบริเวณลำตัวและแขน อาการสาหัส เหตุเกิดขณะที่ผู้บาดเจ็บกำลังเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทาง ถูกคนร้ายซุ่มยิง สาเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พัทลุงประท้วงราคายางตกต่ำ-แพร่ประท้วง พ.ร.บ.ยาสูบ

Posted: 08 Sep 2012 08:07 AM PDT

ชาวสหกรณ์สวนยางพัทลุง 500 คน ชุมนุมหน้าศาลากลาง ประท้วงรัฐบาลแก้ปัญหายางพาราตกต่ำเหลว และยางที่ขายให้องค์การสวนยางยังไม่ได้เงิน จี้โอนหนี้ 112 ล้าน ภายใน 12 ก.ย. ด้านกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบแพร่ ประท้วงคัดค้าน พรบ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ 

ไทยรัฐออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 55 ที่ผ่านมานายสมพร ศรียวง ประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด และเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 500 คน พร้อมรถกระบะ 40 คัน นำยางแผ่นหนัก 50 ตันมาเผา ชุมนุมประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง กล่าวโจมตีการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำของรัฐบาล และได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ซึ่งนายวิญญูรับปากว่าทางจังหวัดจะส่งหนังสือให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การสวนยางนาบอน จ.นครศรีธรรมราช และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายสมพร กล่าวว่า ตามที่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางฯ ได้ขายยางให้กับองค์การสวนยางตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางนั้น ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากไม่ได้โอนเงินให้กับชุมนุมสหกรณ์ฯ และสหกรณ์ภายในจังหวัดพัทลุง จำนวน 112 ล้านบาท ทำให้ไม่มีเงินจ่ายให้กับสมาชิก และไม่มีเงินทุนหมุนเวียนซื้อยางจากสมาชิก ในขณะที่ปริมาณยางที่รองรับยางของโครงการดังกล่าวอีก 900 ตัน ไม่สามารถออกจำหน่ายได้ เพราะสถานที่รองรับยางของโครงการองค์การสวนยางไม่เพียงพอ ในขณะที่จุดรับซื้อยางตามจังหวัดต่างๆ ได้ปฏิเสธการรับซื้อยางแผ่นจากจังหวัดพัทลุง ดังนั้นสหกรณ์ทั้ง 40 แห่ง ของ จ.พัทลุง จึงขอเรียกร้องให้สกย.จัดหาโกดังในการเก็บสต๊อกยาง และให้องค์การสวนยางโอนเงินที่ค้างอยู่ 112 ล้านบาท ให้สหกรณ์ภายใน 12 ก.ย.2555 นี้ 

นอกจากนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดราคายางให้ชัดเจนของยางทุกประเภทที่โครงการองค์การสวนยางรับซื้อ และให้ช่วยระบายยางของสหกรณ์ฯ จำนวน 900 ตัน ให้แล้วเสร็จภายในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ย. นี้ และขอให้ สกย.เปิดจุดรับซื้อยางของจังหวัดพัทลุง เพราะขณะนี้จุดดังกล่าวมีแล้วทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดพัทลุง หากข้อเรียกร้องไม่มีผลเป็นที่น่าพอใจ ทางสมาชิกสหกรณ์ฯ ทั้ง 40 สหกรณ์ ประมาณ 10,000 คน จะนัดมาชุมนุมประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดในวันที่ 13 ก.ย. และจะมอบยางแผ่น 900 ตัน ให้ รมช.กระทรวงเกษตรฯ รับไป เพราะไม่มีประโยชน์ ส่วนการชุมนุมประท้วงจะบานปลายหรือไม่ ไม่สามารถบอกได้

กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบแพร่ ประท้วงคัดค้าน พรบ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 55 เวลา 09.30 น. ที่หน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไร่ยาสูบจากอำเภอสอง และอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ประมาณ 500 คนนำโดยนายล้วน ร่องแก้ว อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 3 ตำบลทุ่งน้าว อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ชุมชุนประท้วงคัดค้านพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ หรือ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ได้ขอยกเลิก พ.ร.บ. พ.ศ.2535 จำนวน 2 ฉบับ และยกร่าง พรบ.ฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดโทษผู้ที่ผ่าฝืนรุนแรงขึ้น โดยเพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่และพนักงานผู้เกี่ยวข้องมีอำนาจมากขึ้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล ที่สำคัญได้กำหนดลดพื้นที่ปลูกยาสูบ โดยมีเป้าหมายให้หมดไปจากประเทศไทย และสุดท้ายโรงงานยาสูบของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่พึ่งต่อการดำรงชีพของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ จะไม่ดำรงอยู่ได้ อีกทั้ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคคลและละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพสุจริต ซึ่งพืชยาสูบไม่ใช่พืชผิดกฎหมาย รวมทั้งรัฐบาลได้อนุญาตให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ออกมาตราบังคับให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นยิ่งกว่าผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าไม่มีความเป็นธร

รมต่ออาชีพของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบแพร่ จึงขอคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างจริงใจ โดยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่,นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ รวมทั้งรัฐบาล , รัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ส.ส.ในพื้นที่ หากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ยังเดินหน้าผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบแพร่ก็จะเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อต้านทุกรูปแบบต่อไป

โดยนายเกษม วัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และนายอนุวัธ วงค์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ มาพบและรับหนังสือร้องเรียนคัดค้านจากตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบแพร่ เพื่อดำเนินการส่งให้ผู้เกี่ยวตามความต้องการของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบแพร่ ซึ่งเป็นที่พอของผู้ประท้วงและสลายการชุมนุมไปในที่สุด 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดงอุบลฯ ป่วน "มาร์ค-สุเทพ" ตั้งเวทีประชาธิปัตย์เดินหน้าผ่าความจริง

Posted: 08 Sep 2012 07:59 AM PDT

มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน  ที่หอประชุมไพรพยอม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี  พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรค พร้อมคณะ จัดเวทีพบประชาชน “เดินหน้าผ่าความจริง หยุดคุกคามศาล หยุดกฎหมายล้างผิด หยุดคิดล้มรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีประชาชนจากจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ นครพนม สุรินทร์ มารับฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางกำลังมีกำลังตำรวจกว่า 300 นาย มารักษาความสงบเรียบร้อย อยู่รอบบริเวณหอประชุม และปิดทางเข้าออกด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎ เนื่องจากมีกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 50 คน นำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงมากล่าวปราศรัยโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และคณะ โดยพยายามจะเข้าไปที่หอประชุมแต่ถูกกำลังตำรวจปิดทางเข้าออกไม่ยอมให้เข้าไปภายใน กลุ่มคนเสื้อแดงจึงได้แต่เพียงเปิดเวทีปราศรัยอยู่ด้านนอกซึ่งไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2 - 8 ก.ย. 2555

Posted: 08 Sep 2012 07:43 AM PDT

สวรส.สรุปมหาอุกทกภัยปี 54 พบตนคนงาน 6.5 แสน

(3 ก.ย.) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานเชิญร่วมงานแถลงข่าว มหาอุทกภัย ปี 2554 : บทเรียนจากประสบการณ์ว่า สถานการณ์ภัยธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่ไกลและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมาก ขึ้น หากไม่มีการเตรียมความพร้อม ขาดการทบทวนประสบการณ์ ขาดการค้นคว้าหาข้อมูลและศึกษาวิจัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ครั้งใหม่ที่อาจ เกิดขึ้น อาจทำให้ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น รวมทั้งเสียงบประมาณในการฟื้นฟูเยียวยาหลังภัยพิบัติมากขึ้นด้วย ทำให้ไม่สามารถนำเงินไปใช้พัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่
      
นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า สธ.ได้ปรับบทบาทและวิธีดำเนินงานให้เป็นเชิงรุก เพื่อเข้าถึงประชาชนและสเข้ากับสถานการณ์ปัญหามากขึ้น อาทิ การจัดทีมดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน การเปิดสายด่วนคลายเครียดช่วงน้ำท่วม 1667 การป้องกันปฐมพยาบาลจากไฟดูด เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมาทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ได้เรียนรู้การทำงานในสถานการณ์จริง ส่งผลดีต่อการปรับแนวทางการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก หากต้องเผชิญภัยพิบัติในอนาคต
      
น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วง ก.ค.-ธ.ค. 2554 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 61 จังหวัด ครัวเรือนถูกน้ำท่วม 3.9 ล้านครัวเรือน ประชากร 12.9 ล้านคน ระยะเวลาน้ำท่วมในบ้านเฉลี่ย 27 วัน นอกบ้าน 25 วัน ความสูงของน้ำในบ้านเฉลี่ย 88.83 ซม. นอกบ้าน 87.35 ซม. มีการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมร้อยละ 57.1 ส่วนมากนิยมยกของขึ้นที่สูง และสำรองของกินของใช้ ซึ่งการเตรียมตัวมีความสัมพันธ์กับรายได้ของครัวเรือน ขณะที่การย้ายสวิทซ์/ปลั๊กไฟขึ้นที่สูงเพียง 5.5 % ทั้งที่เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 51.1 ว่ายน้ำไม่เป็น และว่ายน้ำได้ 25 เมตรขึ้นไปร้อยละ 18.6 ส่วนในภาคแรงงานมีการตกงานเพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนลดลงจากช่วงก่อนน้ำท่วมร้อยละ 10 ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพ พบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมีสมาชิกได้รับบาดเจ็บ ป่วย หรือเสียชีวิตจากน้ำท่วมร้อยละ 8.1 ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตร้อยละ 0.3 มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าดูด/ช็อต
      
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีในฐานะนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวว่า ความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้แผ่นดินกว่า 36 ล้านไร่จมน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่จ.เชียงใหม่ ถึงกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 12 ล้านคน เสียชีวิต 815 คน 5,388,204 กลายเป็นผู้อพยพ คนงานเกือบ 650,000 คนตกงานหรือได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 และธนาคารโลกจัดอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจากสึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในโกเบ และเฮอริเคนแคทรีน่า
      
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนควรมีความรู้เบื้องต้นด้านการดูแลสุขภาพยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ น้ำท่วม เช่น เรื่องการป้องกันและปฐมพยาบาลจากไฟช็อต การช่วยเหลือตนเองกรณีว่ายน้ำไม่เป็น การเตรียมถุงยังชีพ การเตรียมยาสามัญประจำบ้าน อนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมเป็นต้น สามารถดาวน์โหลด คู่มือสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมได้ที่เว็บไซต์กรม www.ddc.moph.go.th โดยควรยึดหลัก รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด
      
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สวรส. กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย มี 5 เรื่องหลัก คือ 1.สธ.ควรพัฒนาบทบาทการเป็นเจ้าภาพหลักในการรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพให้ มากขึ้น 2.ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมแผน ซ้อมแผน ทบทวนแผนเป็นระยะ 3.ควรพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขยามภัยพิบัติ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกสธ. 4.ควรหาและกำหนดทำเลจัดตั้งศูนย์อพยพกรณีภัยพิบัติครอบคลุมทั่วประเทศและ เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ และ5.ควรเสริมสร้างทักษะการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-9-2555)

ป.ตรี หมื่นห้า-ค่าแรง 300 ทำเรื่อง อปท.ขาดงบ-นัดบุกกรุงพรุ่งนี้-จี้ รบ.ปูช่วย

วันนี้ (3 ก.ย.55) ที่ ณ ห้องประชุมจุฬามณี 1 เทศบาลนครพิษณุโลก ได้มีการประชุมสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 1/2555 โดยมีตัวแทนเทศบาลฯ ทั้ง 24 แห่งทั่วทั้งจังหวัดเข้าร่วม อาทิ ทน.พิษณุโลก ,ทต.นครไทย,ทต.พรหมพิราม,ทต.วัดโบสถ์,ทต.บางระกำ,ทต.ชาติ ตระการ,ทต.บางกระทุ่ม,ทต.วังทอง,ทต.เนินกุ่ม ฯลฯ เป็นต้น

ที่ประชุมได้ลงมติให้นายบุญทรง แทนธานี นายกเล็กนครพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก แทนตำแหน่งที่ว่าง(นางเปรมฤดี ชามพูนท)

นายบุญทรง กล่าวว่า การประชุมสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก เป็นการหารือข้อกฎหมายท้องถิ่นต่าง การกระจายอำนาจแก่อปท. ทั้งปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะของเทศบาลต่างๆ ประเด็นสำคัญในที่ประชุมก็คือ ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณ ในส่วนที่ท้องถิ่นต้องจ่ายให้พนักงาน และพนักงานจ้าง ตามนโยบายเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาท และต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับเงินเดือน ไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท

ล่าสุดได้นัดรวมตัวของพนักงานในแต่ละเทศบาล เดินทางเข้าไปแสดงพลังต่อรัฐบาล เพื่อให้ทราบถึงความเดือดร้อนของท้องถิ่น เนื่องจากท้องถิ่น ต้องเอาเงินงบประมาณที่ควรนำไปพัฒนา มาจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวนมาก ส่งผลให้งบการเงินสะดุด

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มีการร้องเรียนไปยังรัฐบาลแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเสนองบประมาณกรณีสนับสนุนและชดเชยเงินเดือน ป.ตรี และแก้ปัญหาระระยาวด้วยการ จ่ายเงินอุดหนุน อปท.ตามสัดส่วนที่เคยได้รับปากในอดีต คือ อบจ.30 %, เทศบาล 35 % อบต. 35%

กรณีเงินชดเชย ป.ตรี เฉพาะ จ.พิษณุโลก ปี 55 ในที่ประชุมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ระบุว่า เสนอให้สนับสนุนหรือชดเชยเหมาทั้งจังหวัด 23 ล้านบาท

ทั้งนี้พนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก ได้จ่ายเงินเดือนแก่พนักงานที่จบปริญญาตรี ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 เป็นต้นมาแล้วจำนวน 12 ล้านบาทเศษ ขณะที่เทศบาลต่างๆในพิษณุโลก บางแห่งไม่มีเงินจ่ายให้กับพนักงาน จนทำให้เกิดความเดือดร้อนตามมา

จึงเป็นที่มาของตัวแทนพนักงานเทศบาล เตรียมนัดระดมพลในคืนนี้ (3 ก.ย.55) ขึ้นรถตู้จำนวน 1 คัน เดินทางเข้าสมทบกับเครือข่ายพนักงานเทศบาล, อบต. จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพฯในเช้าวันพรุ่งนี้(4 ก.ย.55) ก่อนเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลต่อ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-9-2555)

ข่าวดี ! ขยายดูแล "ผู้ป่วยเอดส์-ไต" 3 กองทุนดีเดย์ 1 ต.ค.

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ในการให้ บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายสิทธิสร้างความเสมอภาคในการดูแลผู้ติดเชื้อ เอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มใน 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดยในส่วนของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ระยะสุดท้ายจะเน้นในเรื่องของการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ อาทิ ผู้ป่วยไตวายอยู่สิทธิประกันสังคม และลาออกต้องอยู่ในสิทธิ 30 บาทโดยอัตโนมัติ ก็จะได้รับการรักษาต่อเนื่องในสถานพยาบาลเดิมทันที ทั้งนี้ สำหรับการขยายสิทธิสร้างความเสมอภาคในผู้ป่วยดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้จริง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555

นพ.วินัยกล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์นั้น ขณะนี้มีการหารือว่าจะต้องปรับในเรื่องเกณฑ์ข้อกำหนดการรับยาต้านไวรัสเอชไอ วีให้เท่าเทียมทั้ง 3 กองทุน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้ตามข้อกำหนดที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับยาต้านไวรัสที่ค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือ ค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรค แทรกซ้อนต่างๆ ไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมเร็ว แต่ปัจจุบันการให้ยาต้านไวรัสจะให้เมื่อค่าซีดีโฟว์อยู่ที่ระดับ 200 ตรงนี้ก็จะมีการหารือและนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 3 กันยายน ว่า จะปรับเปลี่ยนตามองค์การอนามัยโลกแนะนำได้หรือไม่ เบื้องต้นอาจปรับในส่วนของสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคก่อน ส่วนอีก 2 สิทธิจะมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อนจะมีการประกาศขยายสิทธิสร้างความเสมอ ภาค 3 กองทุนต่อไป

"การปรับค่าซีดีโฟว์ หลายคนอาจวิตกว่าหากได้รับยาเร็วขึ้นจะมีปัญหาการทานยาไม่สม่ำเสมอและไม่ต่อ เนื่องหรือไม่ เพราะโดยปกติคนที่ร่างกายยังแข็งแรงมักไม่ค่อยทานยาเท่าไรนัก ตรงนี้ก็ต้องมาคุยว่าจะมีแนวทางอย่างไรด้วย" เลขาธิการ สปสช.กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้านไวรัส 225,272 คน ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน หรือร้อยละ 65.9 สิทธิประกันสังคม 46,114 คน หรือร้อยละ 20.5 สิทธิข้าราชการ 12,059 คนหรือร้อยละ 5.4 และสิทธิอื่นๆ 18,742 คนหรือร้อยละ 8.3 ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 38,780 คน ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน และสิทธิข้าราชการ 8,810 คน

(มติชนออนไลน์, 3-9-2555)

เหมืองแร่ใหญ่แพร่-เบี้ยวค่าจ้างคนงาน แรงงาน จว.บังคับจ่ายยังเฉย

(3 ก.ย.55) ผู้ใช้แรงงานในเหมืองแร่วูลแฟลม เลขที่ 98/1 หมู่ 3 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ จำนวน 160 คน ได้รวมตัวกันที่หน้าเหมือง เพื่อเรียกร้องค่าแรงที่บริษัททำเหมือง เอสซีไมนิ่ง จำกัด ของนายเทพศิริ กิจบำรุง ไม่จ่ายค่าแรง เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งขณะที่เรียกร้องทางกิจการทำเหมืองไม่ได้เดินเครื่องจักร เนื่องจากมีฝนตกหนัก และดินสไลด์ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ แต่คนงานก็ยังไม่ยอมหยุดงานยังคงมาที่เหมืองครบทั้ง 160 คน ส่วนหนึ่งมารอนายจ้างที่จะเข้ามาในเหมือง แต่พวกเขาก็ต้องผิดหวัง
      
โดยก่อนหน้านี้กลุ่มลูกจ้างได้เข้าร้องเรียนต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรง งาน จังหวัดแพร่ม าแล้ว ทางสำนักงานสวัสดิการได้มีหนังสือบังคับให้นายจ้างได้ทำการจ่ายเงินค่าแรง ให้กับลูกจ้างภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 8 ก.ย.55 นี้
      
หลังคนงานชุมนุมกันอยู่ที่ทางเข้าเหมืองนายอรรถพล นาควิจิตร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแพร่ ได้เดินทางเข้าไปพบกับผู้ใช้แรงงานทำเหมือง บริษัท เอสซีไมนิ่งฯในบริเวณเหมือง และได้เข้าพบกับนายณรงค์ฤทธิ์ วะชุม อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47/1 หมู่ 2 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ซึ่งเป็นผู้แทนเจ้าของกิจการที่ควบคุมการทำงานอยู่ในเหมือง และนายจรินทร์ เดชธิดา ผู้จัดการฝ่ายบุคคลภายในเหมืองดังกล่าว เพื่อสอบถามความคืบหน้าการจ่ายเงินค่าแรงงานให้กับลูกจ้างแต่ก็ได้รับคำตอบ เพียงว่า ไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ น่าจะไปต่างประเทศ ซึ่งทั้งสองคนยอมรับว่าไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้ ต้องรอให้นายเทพศิริ ติดต่อมาเอง
      
นายอรรถพล จึงได้แจ้งว่า การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายแรงงานและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้แรงงาน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งในที่สุดได้มีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ประกาศให้คนงานที่มีปัญหาหยุดงาน เพื่อจะได้หาทางออกในการไปรับจ้างที่อื่น และยังคงมีสิทธิ์ในการเป็นลูกจ้างของเหมืองดังกล่าวตามปกติ ไม่ถือว่าผิดระเบียบถ้าหยุดงานเกินกว่า 4 วันไม่ต้องถูกไล่ออก จนกว่าจะมีการนำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้าง โดยถ้ายังไม่ติดต่อและปล่อยลอยแพคนงานต่อไป เมื่อครบกำหนดถึงวันที่ 8 ก.ย.55 สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะนำตัวแทนผู้ใช้แรงงานเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของกิจการต่อไป
      
นางวันดา พิมเสน อายุ 56 ปี คนงานคัดเลือกแร่ในเหมือง กล่าวว่า หลังจากไม่ได้เงิน ทำให้ครอบครัวไม่มีเงินไปส่งดอกธนาคารและปัญหาอื่นๆก็ตามมาอีกมาก
      
นายจิ่น ยะจ่อ อายุ 45 ปี พนักงานขับรถบรรทุกในเหมือง กล่าวว่า ทำงานในเหมืองแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันได้ค่าแรงวันละ 267 บาท ขณะนี้ไม่ได้เงินค่าจ้างมานาน ผู้บริหารคนก่อนคือนายสมชาย ยอดธง ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินค่าแรง ทำให้ชาวบ้านทำงานกันตลอดมา แต่ 2 ปีที่ผ่านมานายเทพศิริ กิจบำรุง ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน ปัญหาการบริหารงานก็เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการสั่งซื้อน้ำมันมาใช้ในเหมืองครั้งละ 10,000 ลิตร แต่ปัจจุบันมีน้ำมันใช้บ้างไม่มีบ้าง นอกจากนั้นที่เคยให้ค่าแรงล่วงเวลา หรือ โอที แต่ปัจจุบันไม่มีโอที ซึ่งคนงานพอจะประเมินได้ว่าสถานะทางการเงินของบริษัทน่าจะมีปัญหา
      
นายณรงค์ฤทธิ์ วะชุม ผู้แทนนายจ้างที่อยู่ในเหมือง กล่าวว่า เหมืองแห่งนี้ทำมานาน ผลิตแร่วูลแฟลมเป็นหลัก และยังมีแร่อื่นๆบ้าง แร่วูลแฟลมที่เหมืองนี้เป็นแร่ที่นำไปทำชิ้นส่วนของหัวกระสุน และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งในประเทศไทยมีแหล่งเดียวคือที่นี่ กิจการที่ทำมาไม่เคยมีปัญหา มีคนงานอยู่ทั้งหมด 160 คน หลายคนมีรายได้สูงถึงคนละ 15,000 บาท บางราย 7-8,000 บาท ปัญหาที่เกิดนั้นในส่วนที่บริหารอยู่ในโรงงานไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่พอเข้าใจว่าผู้บริหารมีการเดินทางไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้เงินหมุนไม่ทันจนเกิดปัญหา ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อกับผู้รับผิดชอบโดยตรงได้
      
นายจรินทร์ เดชธิดา ผู้จัดการฝ่ายบุคคลเหมืองแห่งนี้ กล่าวว่า ตนเองอยู่ในสถานะเดียวกับลูกจ้างคือ ไม่ได้เงินเดือนเหมือนกัน และก็ไม่สามารถติดต่อกับเจ้าของโดยตรงได้ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลก็จริงอยู่
      
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้แรงงานยังคงต้องการทำงานในเหมืองต่อไป แต่ถ้าเหมืองไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ควรนำข้อมูลให้กับพนักงานได้รับทราบ เพื่อจะได้หาทางหาที่ทำงานใหม่ โดยในวันที่ 8 ก.ย. 55 ถ้านายจ้างยังไม่มาจ่ายค่าแรงที่ค้างอยู่ 2 เดือนและกำลังเข้าสู่เดือนที่ 3 รุ่งขึ้น (9 ก.ย.55)จะเดินทางไปที่ สภ.ลอง จ.แพร่ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อเข้าของกิจการทันที

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-9-2555)

บอร์ดค่าจ้างกลางยัน 1 ม.ค.56 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใน 70 จังหวัด

5 ก.ย. 55 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมค่าจ้างกลางมีมติเห็นชอบตามมติเดิมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.54 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในพื้นที่ 70 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.56 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 57-58

สาเหตุที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางยืนยันตามมติเดิมหลังได้ติดตามสถานการณ์ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ที่ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 หรือมีอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ สำหรับอัตราการว่างงานในรอบ 6 เดือนของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.8 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.1 และการเลิกจ้างที่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างมีเพียง 2 แห่ง รวมลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 144 คน

ปลัดกระทรวงแรงงาน คาดว่า จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

(อินโฟร์เควสท์, 5-9-2555)

อุดมศึกษาเตะฝุ่นเพิ่ม 8.33%

สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานสถานการณ์และการเตือนภัยด้านแรงงานประจำไตรมาส 2 ว่า อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ 0.92% หรือ 3.6 แสนคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ซึ่งมีอัตราการว่างงานที่ 0.66% หรือ 2.6 แสนคน โดยระดับอุดมศึกษามีการว่างงานสูงสุดในสัดส่วน 42.2% ของผู้ว่างงานทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึง 8.33%

ขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีสัดส่วนว่างงานรองลงมา 23.38% มัธยมศึกษาตอนปลาย 13.68% ประถมศึกษา 13.44% ต่ำกว่าประถมศึกษา 6.26% ไม่มีการศึกษา ไม่ทราบ และอื่นๆ รวมกัน 1.04% โดยในกลุ่มการศึกษาระดับต่ำกว่าประถมลงไป มีอัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสก่อน 0.86%

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้งานทำที่ตรงกับการศึกษา|มากที่สุด เนื่องจากมีจำนวนผู้สมัครงานน้อยกว่าตำแหน่งงานว่าง แบ่งเป็น 1.ระดับ ปวช. มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 52.47% อัตราการบรรจุงานต่อ|ผู้สมัครงานอยู่ที่ 89.39%

2.ระดับ ปวส. มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 75.98% อัตราการบรรจุงานต่อผู้สมัครงานอยู่ที่ 93.21% และ 3.ระดับอนุปริญญา มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 5.89% อัตราการบรรจุงานต่อผู้สมัคร 73.55% นอกจากนี้ อัตราการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ คือ 46.9% 70.82% และ 4.33% ตามลำดับ แสดงว่าคุณสมบัติของผู้สมัครงานยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานนัก

ขณะที่การมีงานทำ ผู้จบระดับอุดมศึกษามีผู้สมัครงานมากกว่าตำแหน่งงานว่างประมาณ 2-4 เท่าตัว แบ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 207.35% สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 197.78% และในส่วนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 229.58% ลดลงจากไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 380.9% นายจ้างมีโอกาสเลือกมากขึ้น และกำลังแรงงานเหล่านี้ได้รับการบรรจุงานเพียง 36-81%

(โพสต์ทูเดย์, 5-9-2555)

อนุมัติปรับค่าครองชีพลูกจ้าง อปท.15,000 ขั้นต่ำ 300

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติมีการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการหรือพนักงาน ส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ โดยให้ปรับเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท และค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรเงินจากงบกลาง 6,202 ล้านบาท มาอุดหนุน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555

แหล่งเงินที่ อปท.จะนำมาจัดสรร ได้แก่ 1.เงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งนั้นๆ หากท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นพิจารณาทบทวนเกณฑ์จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อนำเงินมาอุดหนุนการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว

กรณี อปท.มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนค่าจ้าง ประโยชน์ตอบแทนเกิน 40% ของงบรายจ่ายประจำปี ให้ทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และค่าธรรมเนียมล้อ เลื่อนที่จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)100% โดยให้ลดสัดส่วนรายได้ที่จัดสรรในส่วน อบจ.ลง และนำไปจัดสรรให้ อบต. เทศบาล เพื่ออุดหนุนค่าครองชีพแทน

ส่วน อปท. ใดมีงบฯ ไม่พอจ่ายในกรณีรับโอน เลื่อนระดับ เลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานส่วนท้องถิ่น การเบิกเงินให้พนักงานส่วนท้องถิ่นตามสิทธิ ตลอดจนลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอื่นตามกฎหมาย ให้ อปท.จ่ายขาดเงินสะสมได้

(RYT9.com, 5-9-2555)

ก.แรงงานโต้เอกชน ค่าแรง 300 บ.ไม่กระทบ SMEs

น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติเห็นชอบตามมติเดิมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 54 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในพื้นที่ 70 จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 56 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาทเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 57-58
      
ทั้งนี้ สาเหตุที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางยืนยันตามมติเดิมหลังได้ติดตามสถานการณ์ด้าน เศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดเพิ่มขึ้น 39.5% หรือมีอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ สำหรับอัตราการว่างงานในรอบ 6 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 0.8% เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.1% และการเลิกจ้างที่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างมีเพียง 2 แห่ง รวมลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 144 คน ปลัดกระทรวงแรงงานคาดว่าจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเพื่อ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้
      
ด้านนายสมมาต ขุนเศรษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางนั้น ในส่วนของ ส.อ.ท.อยากวิงวอนขอให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้นค่า จ้างในปี 2556 ออกไปก่อน โดยอยากให้การปรับขึ้นค่าจ้างทยอยปรับในปี 2557-2559 แทน เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีเวลาปรับตัวมากขึ้น
      
ขณะนี้เอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดที่เพิ่งปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 39.5% ค่าจ้างเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว และการปรับค่าจ้างยังทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการ ที่ราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกจนถึงขณะนี้ หากต้องปรับขึ้นค่าแรงในส่วนจังหวัดที่เหลืออีกย่อมจะทำให้เอสเอ็มอีเดือด ร้อนมากยิ่งขึ้น และทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากนายสมมาตกล่าว
      
ด้าน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสำรวจ สถานภาพธุรกิจไทยในปัจจุบันพบว่า หลังจากปรับขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการ 47.2% ปรับตัวโดยการเพิ่มราคาสินค้า 34.2% ลดสวัสดิการ 32.1% ลดจำนวนแรงงาน 8.5% ใช้เครื่องจักร และ 7.6% จ้างแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกัน การเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ 94.5% ยังไม่ได้รับ มีเพียง 5.5% ที่ได้รับการเยียวยา ส่วนมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคล ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-9-2555)

เร่งล่า 3 นายหน้าเถื่อนแก๊งหลอกลวงแรงงานไปอังกฤษ

นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ รวบรวมหมายจับของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เร่งออกติดตามจับกุมตัวนายสมบุญ ดวงเกตุ อายุ 48 ปี , นางบุญ ดวงเกตุ อายุ 42 ภรรยา และ น.ส.วรสา สอนวงศ์ อายุ 27 ปี 3 ผู้ต้องหาที่กำลังหลบหนีหมายจับในข้อหา ร่วมกันหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัด หางานกลาง โดยพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จะทำตัวเป็นสาย หรือนายหน้าเถื่อน เข้าไปใช้กลอุบายหลอกลวงแรงงานที่ว่างงานตามหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ

โดยอ้างว่าจะสามารถจัดส่งไปทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กที่ประเทศอังกฤษได้ พร้อมหลอกล่อว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนในอัตราที่สูงเพื่อเป็นการจูงใจ ทำให้แรงงานหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อถูกหลอกจำนวน 3 ราย สูญเงินไปรวมทั้งสิ้น 220,000 บาท แต่กลับไม่ได้ไปทำงานจริงตามที่กล่าวอ้าง แรงงานผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ลำปลายมาศ ก่อนจะขออำนาจศาลออกหมายจับแก๊งดังกล่าวซึ่งร่วมกันทั้งหมด 4 คน แต่ก่อนหน้านี้นางองค์เยา สอนวงศ์ อายุ 50 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลเข้าจับกุมตัวแล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัด ยังระบุด้วยว่า ส่วนกรณีการหลอกลวงแรงงานไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเขตพื้นที่อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อถึง 13 ราย สูญเงินไปกว่า 450,000 บาทนั้น ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์ชื่อดังโรงเรียนแห่งหนึ่ง และสมาชิกสภา อบต. ที่ถูกออกหมายจับในข้อหาเดียวกัน ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่แล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี พร้อมกันนี้ยังได้แจ้งเตือนแรงงานให้ระมัดระวังแก๊งมิจฉาชีพที่จะเข้าไปหลอก ลวงแรงงานตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ด้วย หากพบบุคคลต้องสงสัยก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและจับกุมตัวทันที

(เนชั่นทันข่าว, 6-9-2555)

แฉคน จิราธิวัฒน์เชื่อแต่ฝรั่งไสหัวผู้บริหารหญิงไทยท้องแก่แล้ว 3 ราย

จากกรณีโรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา ในเครือศาลากรุ๊ปของตระกูลจิราธิวัตฒน์ มีหนังสือลงนามโดย Mr.Dick Simarro ผู้จัดการทั่วไปในฐานะผู้รับมอบอำนาจนายจ้าง และมีนายธีรพงษ์ บ่อแก้ว ผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล ส่วนภูมิภาค ร่วมลงนามด้วยในฐานะพยาน และผู้ประสานงาน ลงวันที่ 22 ส.ค.2555 บอกเลิกจ้างนางเพชรฤดี เคนนาเมอร์ อดีตผู้จัดการแผนกสปาของโรงแรมที่ตั้งท้องได้ประมาณ 7 เดือน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2555 ที่ผ่านมา โดยตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรง ขณะนางเพชรฤดีเห็นว่า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงได้ลุกขึ้นต่อสู้ปกป้องเกียรติ และศักดิ์ศรีตนเอง และกลายเป็นข่าวครึกโครมตามที่ “ASTVผู้จัดการภาคใต้ได้รายงานมาต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ภายหลังโรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา บอกเลิกจากนางเพชรฤดีอย่างไม่เป็นธรรม ปรากฏว่า ได้มีพนักงานของโรงแรมทยอยลาออกตามไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะพนักงานในแผนกสปาที่เคยร่วมงานกับนางเพชรฤดี ขณะเดียวกัน ทางโรงแรมก็ได้เปิดรับสมัครพนักงานใหม่เพื่อทดแทน ซึ่งก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปากของคนบนเกาะสมุย และในแวดวงธุรกิจการท่องเที่ยว
       
อีกทั้งมีข้อมูลระบุด้วยว่า นางเพชรฤดีไม่ใช่พนักงานตั้งท้องแก่คนแรกที่ถูกบีบให้ออกจากงาน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีพนักงานตั้งครรภ์ถูกเลิกจ้างแล้วหลายราย โดยในส่วนของผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป มีการยืนยันว่า มีอย่างน้อย 3 ราย กล่าวคือ เคยบอกเลิกจ้างระดับผู้บริหารแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนคนแรกมีตำแหน่ง เป็นถึงโฮเทลเมเนเจอร์ หรือระดับเบอร์ 2 ของโรงแรม หลังจากที่ลาคลอดไปแล้วก็มีหนังสือเลิกจ้างส่งตามไปถึงบ้าน ทั้งที่ถือเป็นคนเก่าคนแก่ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และผู้บริหารคนที่สองก็มีตำแหน่งเป็นถึงระดับผู้จัดการแผนกห้องอาหาร ส่วนผู้จัดการแผนกสปาในครั้งนี้ ถือเป็นคนที่ 3

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าสนุกปากในหมู่คนวงใน และใกล้ชิดด้วยว่า ต้นตอของปัญหาการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นผลจากเจ้าของ และผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะนางศุกตา-นายทศ จิราธิวัฒน์ สองสามีภรรยาที่รับหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง ให้ความเชื่อมั่นชาวต่างชาติที่จ้างมานั่งบริหารมากกว่าคนไทย แม้ฝรั่งบางคนจะนิยมเผด็จอำนาจ แต่ขอให้ทำตามนโยบาย และสร้างกำไรให้ได้เท่านั้น จึงมีระดับผู้จัดการทั่วไป (GM) ที่มานั่งบริหารในยุคหนึ่งเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าพนักงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในแผนกอาหาร และเครื่องดื่มถึงขั้นบีบคนเก่าออก เพื่อเอากิ๊กหนุ่มของตัวเองมาแทน
       
สำหรับการลุกขึ้นต่อสู้ปกป้องเกียรติ และศักดิ์ศรีของนางเพชรฤดีนั้น หลังได้รับหนังสือเลิกจ้างก็ได้เดินทางไปร้องเรียนยังหน่วยงาน และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี อ.เกาะสมุย สำงานงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย และทำหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 25 ส.ค.2555 ส่งถึงประธานสมาพันธ์สปาไทย, นายกสมาคมสปาสมุย, ประธานชมรมผู้บริหารงานบุคคลเกาะสมุย, นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะสมุย และนายกสมาคมโรงแรมไทย ซึ่งทุกหน่วยงานมีการเซ็นทราบไว้แล้วด้วย

 สำหรับเนื้อหาในหนังสือร้องเรียนมีใจความสำคัญระบุว่า ดิฉัน นางเพชรฤดี เคนนาเมอร์ ผู้จัดการสปาของศาลาสปา โรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา ตั้งอยู่เลขที่ 10/9 หมู่ 5 ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 84320 มีความประสงค์ขอยื่นหนังสือฉบับนี้ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในการเลิกจ้างดิฉันอย่างไม่เป็นธรรม จากหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมศาลาสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท ศาลาสมุย จำกัด โดยยัดเยียดข้อกล่าวหาด้วยความอคติ ซึ่งไม่เป็นความจริง และปราศจากการไต่สวนตามกระบวนการที่ถูกต้อง กล่าวเลิกจ้างดิฉันในขณะที่ดิฉันกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งอายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 26 (6 เดือนกว่า) และจะมีอายุการทำงานครบสามปีในอีก 90 วัน (3 เดือน)
       
การบอกกล่าวเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันมีความเสื่อมเสียในเรื่องชื่อเสียง ทำให้ประวัติการทำงานของดิฉันเสียหาย ซึ่งเป็นผลให้ดิฉันมีโอกาสน้อยลงในการหางานอื่นทำได้ เกิดภาวะกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูบุตรที่จะคลอด ส่งผลให้จิตใจของดิฉันมีความตึงเครียด มีผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตโดยรวมของดิฉัน และทารกในครรภ์ ดิฉันจึงของร้องเรียนให้สมาพันธ์สปาไทย และองค์กรอื่นที่กล่าวถึง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-9-2555)

"แคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ"เคลียร์ครูสอนฟิตเนส หลังค้างจ่ายเงินเดือน-ค่าคอมฯขีดเส้นตาย 30 ก.ย. ไม่ชัดเจนเลิกจ้างหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 กันยายน  ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กลุ่มครูสอนฟิตเนสของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย และให้พนักงานลาหยุดแบบไม่มีกำหนด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ (7 กันยายน)  กลุ่มครูสอนฟิตเนสบริษัทดังกล่าว จำนวน 27 ราย เดินทางมาเจรจาไกล่เกลี่ยกับตัวแทนนายจ้าง คือนายไซมอน ดักกลาส โฮวาร์ด และนายสุรศักดิ์ กองปัญญา กรรมการบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ โดยฝ่ายลูกจ้างต้องการให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างและค่าคอมมิชชั่นที่นายจ้าง ค้างจ่ายพนักงาน และเรื่องความชัดเจนในการจ้างงานว่าบริษัทจะจ้างงานพนักงานต่อหรือไม่  โดยใช้เวลาในการเจรจานาน 2 ชั่วโมง

นายชยังกร ทับทิมทอง หนึ่งในครูสอนฟิตเนสบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ  กล่าวหลังจากการเจรจาว่า ตัวแทนนายจ้างรับปากว่าจะให้เงินเดือนที่ค้างจ่ายและค่าคอมมิชชั่นแก่ พนักงานทุกคน รวมถึงคนที่เซ็นใบลาออกไปแล้วก่อนหน้านี้ด้วย โดยจะจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้  อย่างไรก็ตาม นายจ้างยังไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ แต่ตนอยากให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เนื่องจากลูกจ้างแต่ละคนมีภาระเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งหากบริษัทมีการให้ออกจากงาน ลูกจ้างก็จะได้ยื่นขอใช้สิทธิประกันการว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้
          
นายชยังกร กล่าวต่อว่า บริษัทแคลิฟอร์เนียฯมีสาขาตั้งอยู่ในประเทศจำนวน 10 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ พัทยา จ.ชลบุรี และจ.เชียงใหม่ โดยมีพนักงานจำนวนกว่า 1,000 คน  ซึ่งพนักงานบางส่วนได้ลาออกไปหลังจากบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง
           
ขณะที่นายอุดมศิลป์  ลบล้ำเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 กรมสัวสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)  กล่าวว่า  หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างและค่าคอมมิชชั่นที่ค้างจ่ายให้แก่พนักงานก่อนวัน ที่ 25 กันยายนนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะออกหนังสือคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินตามที่ลูกจ้างร้อง เรียนโดยกำหนดระยะเวลาภายใน 30 วันหลังจากออกหนังสือคำสั่ง หากครบกำหนดแล้วนายจ้างไม่ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่ทง โดยไม่จ่ายเงินให้พนักงานอีก กระทรวงแรงงานจะให้พนักงานตรวจแรงงานไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนให้ดำเนิน คดีกับนายจ้างฐานไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งจะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

"หลังจากวันที่ 25 กันยายนเป็นต้นไป หากลูกจ้างยังไม่ได้รับค่าจ้างและค่าคอมมิชชั่นจากนายจ้าง ให้ลูกจ้างที่ยังไม่ได้เขียนคำร้องมาเขียนคำร้องได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 จากนั้นทางสำนักงานจะส่งเรื่องไปให้กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พื้นที่ 4 ซึ่งเป็นเขตพื้นที่เจ้าของเรื่องดำเนินการต่อ" นายอุดมศิลป์ กล่าว
               
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ใช้บริการฟิตเนสของบริษัทแคลิฟอร์เนียฯร้องเรียนมาที่มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภคจำนวนกว่า 400 ราย โดยในวันพรุ่งนี้(8 ก.ย.)จะนัดหารือกับตัวแทนผู้ร้องเรียนบางส่วนเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการ กับบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ และจะจัดเวทีสาธารณะเสวนาเรื่องฟิตเนสแคลิฟอร์เนียฯที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ในวันที่ 23 กันยายนนี้
(มติชน, 7-9-2555)

ไทยพาณิชย์มองขึ้นค่าจ้าง 300 ลดความตึงตัวตลาดแรงงาน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) รายงานถึงผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ที่เหลืออีก 70 จังหวัด ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่จะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบัน โดยคาดว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 2556 จะอยู่ในระดับ 1.1-1.3% ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทยจะยังคงมีอยู่ และผู้ประกอบการได้ทยอยปรับการผลิตบ้างแล้วภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรก

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตในอัตราที่สูงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผลิตภาพแรงงาน (Labour productivity) มีการเติบโตในอัตราเพียงครึ่งหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างการผลิตที่ไม่ทันท่วงที และไม่สมดุลกับระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง (Real minimum wage) แทบไม่มีการปรับขึ้นเลยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลต่อการขาดแรงจูงใจในการเพิ่มทักษะแรงงาน รวมถึงการเลือกไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานที่เป็นทางการของแรงงานไทย ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในด้านทักษะและปริมาณ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเพื่อชดเชยการขาด แคลนแรงงาน ซึ่งด้วยค่าจ้างที่อยู่ในระดับต่ำอาจประหยัดกว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วย การเพิ่มทักษะแรงงานหรือการลงทุนด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยี

ในระยะยาวการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีผลต่อโครงสร้างต้นทุนซึ่งนำไป สู่การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และช่วยผ่อนปรนความตึงตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มการไหลกลับของแรงงานต่างด้าว และการลดลงของประชากรวัยทำงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ของไทย

(กรุงเทพธุรกิจ, 7-9-2555)

กระทรวงแรงงานสั่งทูตเจรจาเพิ่มค่าจ้าง-สวัสดิการ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า หลังการแก้ปัญหาระบบการจัดส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลให้มีความโปร่ง ใสและมีค่าใช้จ่ายถูกลงผ่านระบบรัฐต่อรัฐแล้ว จากนี้ไปกระทรวงแรงงานต้องทำงานเชิงรุก เร่งขยายตลาดแรงงานในอาชีพต่างๆที่คนไทยมีศักยภาพในต่างประเทศ โดยได้ให้นโยบายกับอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานใน 13 ประเทศ เร่งเจรจาต่อรองเพิ่มค่าจ้าง และเพิ่มการดูแลคุ้มครองด้านสวัสดิการแก่แรงงานไทยในต่างประเทศ พร้อมทั้งเปิดตลาดแรงงานใหม่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้บริการจัดหางานต่างประเทศไปแล้ว 106,705 คน ปี55โดยล่าสุดได้รับรายงานจากนายบัญญัติ ศิริปรีชา อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)ว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในยูเออี 10,094 คน และ ขณะนี้ยูเออีมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก และถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากในเดือนตุลาคมบริษัท ZUBLIN ของเยอรมันจะเริ่มโครงการขุดเจาะอุโมงค์ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ในรัฐอาบูดาบี และยังหาคนงานไม่ได้ พร้อมแจ้งความต้องการแรงงานไทยกว่า 700 คน ไปทำงานช่างเชื่อม มีเงินเดือนสูงกว่า 50,000 บาท แต่ระยะนี้อากาศยังร้อนจัด บางบริษัทจึงยังไม่กล้านำเข้าแรงงานไทย เพราะคนงานจะปรับตัวยาก

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า งานครัวไทยในยูเออีก็กำลังเป็นที่นิยม เพราะรายได้ดี แต่จำนวนที่ต้องการแต่ละร้านยังไม่มากนัก ซึ่งในอีกไม่กี่เดือนหน้านักธุรกิจออสเตรเลียมีโครงการเปิดร้านอาหารไทย 15 แห่งในยูเออีและจะทยอยเปิดในปีต่อๆไป โดยได้มีการเจรจานำนักศึกษาไทยไปฝึกงานแบบมีค่าจ้างและจะจ้างต่อหากสามารถทำ งานได้ โดยร้านแรกจะเปิดเดือนธันวาคมนี้

นายเผดิมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแรงงานไทยที่ไปสนใจไปทำงานในประเทศตะวันออกกลาง ต้องมีความอดทนสูง ตั้งใจสูง และมีวินัย ไม่ดื่มสุรา หรือเที่ยวเตร่ เพราะสังคมที่นั่นมีความเคร่งครัดทางศาสนาและประเพณี จะสร้างความทุกข์ใจให้กับคนที่ขาดความอดทน จึงอยากแนะนำให้คนหางานไทยสำรวจตัวเองว่ามีความพร้อมหรือไม่ ก่อนแจ้งความประสงเดินทางไปทำงาน ขณะเดียวกันอยากกำชับให้บริษัทหางาน ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลคนงานที่จัดส่งไปไม่ใช่แค่จัดส่งแล้วหมดหน้าที่ รวมไปถึงการประทับรับรองเอกสารการจ้างงานต้องระมัดระวังให้มากและควรเสนอให้ เพิ่มค่าจ้าง โดยได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ (สนร.) ออกพบปะนายจ้าง และกำชับให้ดูแลแรงงานไทยให้ดี การตามสัญญาจ้างงาน หากไม่ปฏิบัติตามให้ใช้วิธีคาดโทษว่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้าแรงงานไทยอีก

(เนชั่นทันข่าว, 7-9-2555)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Yes Or No 2 “ความรักที่กั๊กไว้ แค่ในโลกของคนสองคน”

Posted: 08 Sep 2012 07:01 AM PDT

ภาพยนตร์เรื่อง Yes Or No 2 รักไม่รัก อย่ากั๊กเลย เป็นภาพยนต์รักวัยรุ่นหญิงรักหญิง (ทอม-ดี้) ภาคต่อจากความสำเร็จ Yes Or No: อยากรัก ก็รักเลย สร้างกระแสคลั่งไคล้ทั่วเอเชีย มีแฟนคลับมากมายคอยติดตามผลงาน ส่งผลให้สามารถทำคลอดภาคสองออกมาให้ชมกันได้ หนังรักวัยรุ่นหญิงรักหญิงเรื่องนี้มีคุณค่าที่กล้านำเสนอตัวละครนำเป็น ผู้หญิงที่รักผู้หญิง ทำให้เห็นถึงชีวิตรักที่เป็นไปตามความสุข ความเศร้า ในห้วงอารมณ์แห่งความรัก ให้สังคมเห็นความรักของหญิงรักหญิงก็ไม่ได้แตกต่างจากรักสมหวัง ผิดหวังและรักสามเศร้าของคู่รักชายหญิง

ภาพความรักวัยรุ่นของคิม สาวบุคลิกเท่ อบอุ่น กับออมสาวหวาน น่ารัก ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคความรักแบบใสๆ วัยรุ่น ทว่าเนื้อหาในหนังความรักของคนสองคนนั้น ไม่ได้เป็นแค่ความรักของคู่รักที่ต้องฝ่าฝันอุปสรรคความไม่เข้าใจกัน ง้องอน และมือที่สาม แม้จะพยายามต้องการสะท้อนปัญหาความรักหญิงรักหญิง ทอม ดี้ แต่เนื้อหาของหนังก็สะท้อนแนวความคิด ทัศนคติ เรื่องเพศแบบรักต่างเพศ ไว้อย่างเนียบเนียน และในท้ายที่สุดก็ขัดแย้งกันเอง

ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia)

ความเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกันของตัวเอง (Internalized Homophobia) เป็นเรื่องแรกที่สังเกตุได้เมื่อ พาย ไม่ยอมเปิดเผยความสัมพันธ์ที่มีต่อคิมให้คนอื่นรับรู้ หวาดกลัวที่จะถูกมองว่ามีใจรักทอมคนหนึ่ง จึงคะยั้นคะยอให้คิมไว้ผมยาว หรือกระทั่งบังคับให้ใส่วิก เพื่อปกปิดความบุคลิกทอม ผมสั้นแต่งตัวเท่ของคิม ไม่ให้คนอื่นรับรู้ความสัมพันธ์แบบใกล้ของผู้หญิงสองคน เพราะการถูกมองจากคนภายนอกว่า การที่ผู้หญิงคบ ทอม นั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ” หรือเป็น “ผิด” อย่างน้อยก็ในใจของตัวละคร พาย เองก็รู้สึกอึดอัดขัดเขินกับความเป็นจริงข้อนี้ว่า ตัวเองเป็นผู้หญิงที่รักทอม

บทซ้ำๆ ย้ำภาพทอม ดี้ และกะเทย

บทบาทของตัวละครคิมและพาย บุคลิกที่ย้ำภาพความเป็นทอม ดี้ คิม อยู่ฝ่ายเหตุผล การทุ่มเท่เอาใจใส่ ส่วนพายในฐานะแฟนสาว เอาแต่ใจ ต้องการการดูแลง้องอน ย้ำภาพความรักแบบทอมดี้ ทอมเป็นฝ่ายเอาใจ ทุ่มเท ความรักให้หญิงสาว

ตัวละครที่สร้างความสนุกสนาน ตลกขบขัน หรือตัวตลก ของกะเทยแบบเป้ย (ชื่อเล่นจริงว่า บอย) ก็ตอกย้ำภาพลักษณ์ตายตัว (Stereotype) ของกะเทยที่ต้องเป็นตัวตลก สนุกสนาน สร้างความหัวเราะ

หนังเรื่องนี้รับเอาภาพลักษณ์ที่สังคมมองบทบาททอม ดี้ กะเทยมาอย่างโดยดี ผลิตซ้ำความเชื่อแบบเดิม บทบาทเดิมที่สังคมเชื่อว่าให้คนกลุ่มนี้เป็น ไม่ว่าสื่อจอแก้วหรือจอเงิน ก็ย้ำภาพนี้จนกลายเป็นความคิดกระแสหลักไป ทั้งที่ความเป็นจริงทอม ดี้ หญิงรักหญิง หรือกะเทยก็มีหลายบุคลิก ไม่ได้แสดงหรือมีตัวตนแบบเดียว

กรอบของสังคม กับ การใช้ชีวิตคู่

ระหว่างการง้องอนของตัวละครคิมและพายตลอดทั้งเรื่อง ฉากสะท้อนความคิดเรื่องเพศ มากที่สุดอยู่ในสองฉากสุดท้าย

ฉากแรก ฝนตกหนักคิมมารอพายหน้าบ้าน พายได้พูดว่า แม่ของตนบอกว่า ความรักในแบบของเธอนั้น มันไม่ยั่งยืน จะดูแลกันยังไง ไม่สามารถแต่งงานจดทะเบียน เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีลูกได้ สะท้อนให้เห็น ความคิดบรรทัดฐานรักต่างเพศ ชาย-หญิง และคำนิยามแข็งทื่อตายตัวของคำว่า “ครอบครัว” ที่สมบูรณ์ คือ ชาย หญิง แต่งงานจดทะเบียนสมรส เพื่อเป็นการยืนยันความรัก และครอบครัว ถูกสร้างขึ้นด้วยพ่อ(ชาย)แม่(หญิง) และมีลูกเป็นพยานยืนยันของความสัมพันธ์อันสมบูรณ์

ฉากสอง ใกล้ตอนจบของเรื่อง คิมได้พบพาย และคิมได้บอกความรู้สึกในใจกับพายด้วยการ ขอแต่งงาน และกล่าวว่า

ทำไมความรักในแบบของเรา ต้องเป็นการแต่งงานจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ทำไมต้องมีลูกเป็นสิ่งยืนยันความสัมพันธ์ ทั้งที่คนที่เขาแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันนั้น เลิกรากันไปโครมๆ เพราะความรักสำหรับคิมและพาย ก็คือ การรักกันเองในโลกของคนสองคน จากข้อความนี้สามารถสะท้อนความคิดอันยอกย้อนว่า คิมขอพายแต่งงาน ตามกรอบความคิดความสัมพันธ์แบบชายหญิง ที่การแต่งงานคือ คำมั่นสัญญาความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน คำขอแต่งงานของคิม จึงเป็นการขอมีคำมั่นสัญญาในความสัมพันธ์ แต่คิมไม่ได้มองว่ามีจำเป็นต้องจดทะเบียนสมรส เพราะคนรักต่างเพศที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสก็เลิกร้างลากันไปมาก

แสดงให้เห็นว่า คิมไม่สามารถก้าวไปถึงความคิดว่า การแต่งงานจดทะเบียนสมรส(ชีวิตคู่) ของคู่ตัวเองนั้นเป็น สิทธิ ที่ควรจะมี กลับมองเห็นว่า การแต่งงานตามแบบพิธีนั้นเพศใดๆ ก็สามารถทำได้แต่การจดทะเบียนสมรส หรือจดทะเบียนชีวิตคู่นั้น ทำได้เฉพาะคู่ชายหญิงเท่านั้น จึงต้องยอมรับความไม่เสมอภาคกันด้วยการอ้างการหย่าร้าง แทนที่จะมองว่าการจดทะเบียนสมรส(ชีวิตคู่) หรือการหย่า เป็นสิทธิของบุคคล การแต่งงานโดยจดทะเบียนสมรส(ชีวิตคู่) ของหญิงกับหญิง ชายกับชาย ก็ต้องสามารถทำได้เป็นเรื่อง “ปกติ” ซึ่งจะเป็นการขยายขอบเขตของคำว่า “ครอบครัว” ของหญิงรักหญิง ชายรักชาย ให้มีความยั่งยืน เข้าถึงสิทธิและหน้าที่จากการสมรส เช่น สิทธิการกู้ร่วม สิทธิสวัสดิการคู่สมรส สิทธิการให้คำยินยอมการรักษาพยาบาล สิทธิการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการฟ้องร้างค่าเลี้ยงดู ฯลฯ เป็นต้น

ด้วยเนื้อหาของหนังที่แตะประเด็นเพียงแค่เรื่องความรัก สยบยอมต่อกรอบความคิดของสังคมที่ว่า การรักเดียวกันนั้นไม่ใช่สามารถเป็น “ความปกติ” ไม่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง ที่คู่สมรส คู่ชีวิตต้องสามารถมีสิทธิในกฎหมาย ได้รับสิทธิและหน้าที่จากการจดทะเบียน เพราะฉะนั้นความรักคิมและพาย ใน Yes Or No 2 จึงเป็นความรักที่กั๊กไว้ แค่ในโลกของคนสองคน 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักปรัชญาชายขอบ: เรามีคุณธรรมไปทำไม?

Posted: 08 Sep 2012 06:51 AM PDT

 
 
สูดกลิ่น "ศีลธรรม" จนสำลัก
กระอัก "จรรยา" จนหน้าเขียว
"คุณธรรม" เอ่อล้น จนซีดเซียว
ขับเคี่ยว "จริยธรรม" จนช้ำใน

มือถือสาก ปากถือศีล ตีนกระทืบ
ในซอกหลืบ ศพกอง เลือดนองไหล
ใครก็รู้ เราสู้ อยู่กับใคร
แผ่นดินธรรม อำไพ ไม่มีจริง!
 
(จากเฟซบุ๊กของ Rapeepan Songsaeng)
 
บทกวีข้างต้นนี้สะท้อนภาพการโฆษณาชวนเชื่อ ยัดเยียดปลูกฝังสิ่งที่เรียกกันว่า ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรม และชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงด้านตรงข้ามอย่างตรงไปตรงมาและน่าหดหู่ มีเหตุผลมากทีเดียวที่บรรดาผู้ซึ่ง “ตาสว่าง” มองเห็นความเป็นจริงของระบบอำนาจที่นิยาม โฆษณาชวนเชื่อ ยัดเยียด ปลูกฝังศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมว่าเป็นระบบอำนาจที่ทั้งฉ้อฉลเสรีภาพ หมิ่นศักดิ์ศรีมนุษย์ของประชาชน อำมหิตเลือดเย็น
 
คำถามที่ “ต้องถาม” คือ เราจะมีสิ่งที่เรียกกันว่า ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมกันไปทำไม? โยนมันทิ้งไปเลยได้ไหม? แน่นอน มันเป็นคำถามที่ “กวนประสาท” บรรดาผู้มีอำนาจ และผู้เสพติดยากล่อมประสาทพวกนั้น แต่แล้วยังไง สังคมนี้จะไม่มี “พื้นที่” ให้คนตั้งคำถามแบบนี้ได้เลยหรือ มีเหตุผลอะไรที่จะห้ามตั้งคำถามต่อ ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมบน “กองซากศพ” ว่า “ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมเหล่านั้น มันคือเครื่องมือปกป้องไม่ให้สังคมนี้มีกองซากศพ หรือว่ามันเป็นเพียงอาภรณ์อันสวยงามที่ประดับประดาการปราบปรามเข่นฆ่าให้ดูดีมีความชอบธรรมกันแน่?”
 
บรรดาชนชั้นผู้มีอำนาจต้องการ “คุณสมบัติ” ที่มีคุณธรรมจริยธรรมไปทำไมหรือ คำอธิบายของแมคเคียวเวลลี่ (Maciavelli) ใน “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ข้างล่างนี้น่าจะบออกอะไรได้บ้าง (คัดจาก The Big Questions 20 คำถามของปรัชญา โดยไซมอน แบล็กเบิร์น ปกรณ์ สิงห์สุริยา บรรณาธิการแปล สำนักพิมพ์มติชน,2555 หน้า 173)
 
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นสำหรับเจ้าผู้ปกครองที่จะต้องมีคุณสมบัติอันดีทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้จาระไนมา แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทรงแสดงพระองค์ว่ามีคุณสมบัติเหล่านั้น และข้าพเจ้ากล้าที่จะกล่าวอย่างนี้อีกด้วยว่า การมีคุณสมบัติเหล่านั้นและการปฏิบัติตามคุณสมบัติเหล่านี้เสมอจะทำร้ายพระองค์ และการแสดงว่าทรงมีคุณสมบัติเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อพระองค์ จงทำเหมือนเป็นผู้มีเมตตา ซื่อสัตย์จงรักภักดี มีมนุษยธรรม เคร่งศาสนา ยึดมั่นในความถูกต้องและจงเป็นแบบนั้น แต่ด้วยความคิดที่ตีกรอบไว้ว่าหากพระองค์จำเป็นที่จะต้องไม่เป็นแบบนั้น พระองค์จะสามารถทำได้และรู้ว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมกลับเป็นตรงกันข้ามได้อย่างไร
 
นี่คือคำแนะนำให้ผู้มีอำนาจให้คุณสมบัติที่มีคุณธรรมอย่างฉ้อฉล แต่ในโลกของความเป็นจริงเป็นไปได้ว่าผู้ปกครองไม่ว่าจะอยู่ในระบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย พวกเขาอาจจะแสดงตัวว่าเป็นคนดี เป็นผู้เปี่ยมคุณธรรมเช่น มีเมตตา ซื่อสัตย์จงรักภักดี มีมนุษยธรรม เคร่งศาสนา ยึดมั่นในความถูกต้อง ฯลฯ เพื่อสร้างภาพให้น่าเชื่อถือ แต่เมื่อต้องรักษาอำนาจและผลประโยชน์ พวกเขาอาจกลายร่างเป็นสุนัขจิ้งจอกได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้น คนพวกนี้เขามีคุณธรรมไปทำไม คำตอบชัดเจนในตัวมันเองตามข้อเท็จจริงของการกระทำ หรือพฤติกรรมของชนชั้นผู้มีอำนาจที่ชั่วชีวิตเราต่างก็ได้เห็นกันอยู่แล้ว
 
แล้วเราแต่ละคนล่ะ มีคุณธรรมไปทำไม?  คำตอบที่พรั่งพรูออกมา อาจจะเป็นว่า “แหมถามได้ ก็เพื่อความเจริญงอกงาม ความสำเร็จ ความสุข ความเอิบอิ่มใจยังไงเล่า” แต่ในโลกตามเป็นจริงเราพบอยู่เสมอไม่ใช่หรือว่า คนดี นมีคุณธรรมมักถูกรังแก เอาเปรียบ ถูกจับเข้าคุก ถูกปราบปรามเข่นฆ่า หรือไม่ก็หนีหัวซุกหัวซุนจากการไล่ล่าของอำนาจอยุติธรรม ส่วนคนเลวก็อาจเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จมีเงิน มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีความสุขกระทั่งเอิบอิ่มใจกับความสุขความสำเร็จนั้นๆ ได้
 
ศาสนาอาจจะบอกว่า เมื่อเรามีคุณธรรมหรือทำความดีต่างๆ แล้วความดีนั้นๆ จะดลบันดาลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้น ประสบความสำเร็จ มีความสุข ได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา แต่คุณธรรมหรือความดีทางศาสนาแบบนี้กลายเป็น “แก้วสารพัดนึก” ไป ซึ่งไม่มีข้อพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง และเราก็ค้นพบอย่างมีเหตุผลว่าหากต้องการความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จในชีวิตทางโลก ความรู้สมัยใหม่ เช่น ความรู้เรื่องทำธุรกิจ การบริหารจัดการ ฯลฯ ช่วยเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือพบว่าคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวมักประสบความสำเร็จกว่าคนเคร่งจริยธรรมที่มักอ่อนแอและถูกเอาเปรียบ (บางทีก็ยอมเสียเปรียบเอง เช่นเหตุผลในการประนีประนอมที่ทำให้เรียกร้องสิทธิของตนน้อยลง ในกรณีถูกรถชนเป็นต้น มักจะบอกว่า “ช่างมันเถอะถือว่าเป็นกรรมเก่า อโหสิกรรมกันไป จะได้ไม่จองเวรจองกรรมกันอีก)
 
“ก็เราต้องมีคุณธรรมเพื่อให้สังคมสงบสุขไง!” บางคนอาจพูดเช่นนี้ และแน่นอนเรา มักได้ยินนักสอนศาสนาสอนว่า “ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ถ้าสมาชิกส่วนมากของสังคมเป็นคนดีสังคมก็สงบสุข” แต่เราก็ได้เห็นการละเมิดอำนาจของประชาชนโดยพวกคนดี เห็นรัฐประหารโดยบรรดาคนดีมีคุณธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า โลกของเรามีประวัติศาสตร์สงครามและการก่อการร้ายในนามของศาสนาและคุณงามความดีไม่สิ้นสุด และหากคุณธรรมความดีตามที่สอนกันมาเป็นพันๆ ปี ทำให้สังคมมนุษย์มีความสงบสุขได้จริง เรายังจะโหยหาระบบสังคมการเมือง เศรษฐกิจที่เป็นธรรม กฎหมายที่ยุติธรรมเป็นต้นไปทำไม
 
แล้วเรายังจะหวังอะไรกับคุณธรรมและความดีงามอีกเล่า? ถึงตอนนี้ศาสนาที่นับถือพระเจ้าก็เสนอคำตอบว่า พระเจ้าจะประทานรางวัลให้กับผู้มีคุณธรรมความดี ในวันพิพากษารางวัลของคุณธรรมความดีคือการไป “เสวยสุข” อยู่ในสวรรค์กับพระองค์ชั่วริรันดร หรือพุทธศาสนาไทยๆ อาจเสนอคำตอบที่จะแจ้งยิ่งกว่านั้นว่า “คุณดูอย่างสตีฟ จ็อบส์สิ เขาทำความดีด้วยการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ แก่โลก ทำให้ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในวิมานสุดหรูดูดีมีสไตล์สุดไฮเทคฯ” คำตอบสุดท้ายทางศาสนา ก็คือว่าคุณธรรมความดีจะทำให้เราพ้นจากไฟนรก และขึ้นไปเสวยสุขบนสวรรค์
 
แต่สังเกตไหมครับ ไม่ว่าคุณธรรมความดีของชนชั้นปกครองที่มีไว้เป็นเครื่องมือปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา คุณธรรมความดีของเราแต่ละคนที่เป็นเครื่องมือไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ ความสุข ความเอิบอิ่มใจ กระทั่งคุณธรรมความดีทางศาสนาที่เป็นเครื่องมือไปสู่ความสุขบนสวรรค์ คุณธรรมทั้งหมดนั้นล้วนมี “เนื้อหา” แบบเดียวกันคือ “เป็นเครื่องมือไปสู่ผลลัพธ์ที่ตนต้องการ” ซึ่งมันคือคุณธรรมความดีแบบอัตตนิยม (egoism) คือเป็น “คุณธรรมความดีเพื่อตัวเองเป็นหลัก”
 
ชนชั้นปกครองอาจจะมีคุณธรรม เมื่อเขาเห็นว่ามันมีประโยชน์ต่อการปกป้องสถานะอำนาจของพวกเขา แต่ถ้าไม่พวกเขาก็พร้อมที่จะกลายร่างเป็นซาตานกระหายเลือด เราแต่ละคนก็อาจมีคุณธรรมเมื่อเราคำนวณว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการบางอย่าง แต่ถ้ามองไม่เห็นผลลัพธ์คุณธรรมก็อาจไม่จำเป็น ส่วนศาสนานั้นทั้งโปรฯคุณธรรมความดีต่างๆ เพื่อให้เราเกิดศรัทธา มีความหวังกับชีวิตในโลกหน้า พร้อมๆ กันนั้นยิ่งผู้คนศรัทธามาก เงินบริจาคทำบุญก็ไหลเข้าองค์กรทางศาสนามากขึ้น
 
คำถามคือ บางทีเราอาจจำเป็นต้องปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ของเราจากการอ้างคุณธรรม ความดีงามต่างๆ เหล่านั้นไหม?
 
ถึงตรงนี้ ผมนึกถึงข้อเรียกร้องของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในงาน “เผาศพอากง” ที่เพิ่งผ่านไป คือข้อเรียกร้อง “moral courage ความกล้าหาญทางคุณธรรม” ต่อสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน แกนนำทางการเมือง นักการเมือง พรรคการเมืองว่า “นิ่งเงียบ” กันอยู่ได้อย่างไรกับความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรมต่างๆ ทางสังคมการเมืองของบ้านเราที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ และที่เห็นกันอยู่ตำตา ดังกรณี “อากง” ตายในคุกเพราะความอยุติธรรมของมาตรา 112 เป็นต้น
 
แล้วผมก็ขอสรุปดื้อๆ ตรงนี้ว่า “มีคุณธรรมบางอย่างที่เราจำเป็นต้องมี” ถามว่ามีไปทำไม คำตอบคงไม่ใช่ว่าเราจะได้อะไร แต่คุณธรรมที่ว่านี้เราจำเป็นต้องมีตราบที่เรายังเห็นว่าควรปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ของตนเองและเพื่อนมนุษย์ คุณธรรมที่ว่านี้คือ “moral courage ความกล้าหาญทางคุณธรรม” คือ ความกล้าหาญที่จะปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์
 
เรามีความกล้าหาญทางคุณธรรมที่ว่านี้ไปเพื่ออะไร? ผมคิดว่าคำถามถึงผลลัพธ์อาจไม่จำเป็น เพราะผลลัพธ์ใดๆ ย่อมหาความแน่นอนคงที่ไม่ได้ หากเราจะมีความกล้าหาญทางคุณธรรมก็ต่อเมื่อประเมินผลลัพธ์ที่แน่นอนได้ เราอาจจะไม่มีวันกล้าหาญเลยก็ได้ เพราะในสถานการณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนเราไม่อาจประเมินผลลัพธ์ที่แน่นอนได้ หรือเราอาจผิดหวัง กระทั่งตัดสินว่าความกล้าหาญทางคุณธรรมคือความผิดพลาด เมื่อเราใช้มันไปแล้วแต่ไม่ได้ก่อผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง
 
ทางเดียวที่เราจะสามารถรักษา “ความกล้าหาญทางคุณธรรม” เอาไว้ได้ คือเราต้องคิดแบบค้านท์ (Immanuel Kant) ว่า “ความกล้าหาญทางคุณธรรมเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข” คือเป็นหน้าที่เราต้องมีความกล้าหาญทางคุณธรรมปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ของเรา ด้วยการปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาค
 
แต่ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าข้อเรียกร้อง “moral courage ความกล้าหาญทางคุณธรรม” ของอาจารย์สมศักดิ์มันเหมือนการเรียกหา “หยดน้ำในทะเลทราย” ยังไงไม่รู้
 
เพราะในสังคมที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ปลูกฝัง ยัดเยียด “คุณธรรมเครื่องมือ” ดังที่กล่าวมา ยากยิ่งนักที่ผู้คนจะเห็นคุณค่าในตัวมันเองของ “คุณธรรมหน้าที่” และไม่มีใครอยากจะ “เสี่ยง” แสดงความกล้าหาญทางคุณธรรม หากเขาไม่สามารถประเมินได้ว่า ตนจะได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทน หรืออย่างน้อยตนจะ “ปลอดภัย” หรือไม่!
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์หนุนรัฐผลักดันการคุยกับผู้เห็นต่าง มหาเธร์ยันปกครองตนเอง “ทางออกหนึ่ง” ดับไฟใต้

Posted: 08 Sep 2012 06:43 AM PDT

 ผู้นำฝ่ายค้านชี้ต้องเปิดพื้นที่หาช่องทางพูดคุยกับผู้เห็นต่าง ดึงประชาสังคมช่วยคุยกับขบวนการ อดีตนายกฯ มาเลเซียมอง “การปกครองตนเอง” เป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาภาคใต้
 
 
 
ในวันที่ 7 กันยายน 2555 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้มีการงานจัดการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและนายมหาเธร์  โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ผู้นำว่าด้วยการเมือง ความขัดแย้ง และสันติภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน”  
 
 นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่าปัญหาความรุนแรงในภาคใต้มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเป้าหมายในการสร้างสังคมที่อย่างสันติซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายระดับชาติเท่านั้น แต่เป็นเป้าหมายในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย  โดยต้องใช้ 3 เสาหลักในการแก้ปัญหา คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม  ซึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ  หากขาดเสาหลักอันใดอันหนึ่ง 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าสำหรับประเทศในอาเซียน แม้ว่าจะมีกลไกในการแก้ไขข้อขัดแย้งหลายๆ อย่าง เช่น การประชุมระหว่างสหประชาชาติกับอาเซียน แต่ก็ยังไม่มีกรอบเชิงสถาบันที่ชัดเจนของอาเซียนในการแก้ไขข้อพิพาทที่มีอยู่ในภูมิภาค
 
 “ความหลากหลายเป็นเรื่องที่เราต้องส่งเสริมเพราะว่า  เราไม่สามารถที่จะทำให้คนทุกคนเหมือนกัน  ดังนั้นความท้าทายอยู่ที่จะไปลบล้างความหลากหลายทิ้งไป แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
 
ในหลายๆ กรณีที่เกิดความขัดแย้งนั้น มีปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน  กล่าวคือ ความแตกต่างได้พัฒนาไปสู่การไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันและนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด  นอกจากนี้การใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม   หรือการมองว่ามีการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การละเมิดกฎหมายและการปิดพื้นที่ทางการเมืองก็ยิ่งจะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นไปอีก  สำหรับในกรณีภาคใต้นั้นปัญหามีรากเหง้าที่หยั่งลึกไปอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์  เมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547 ปัญหาก็ถูกซ้ำเติมด้วยการละเมิดกฎหมายและการใช้นโยบายปราบปรามอย่างแข็งกร้าวในการจัดการกับปัญหา 
 
“การใช้กำลังทหารหรือความคิดด้านความมั่นคงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาไม่อย่างยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการในการแสวงหาทางออกทางการเมืองซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย” นายอภิสิทธิ์กล่าว  โดยเสนอว่าสิ่งที่สำคัญและเป็นความท้าทายคือการสร้าง “กระบวนการ” ในการสร้างสันติภาพอย่างไร   และไม่ว่าสุดท้ายทางออกของปัญหาจะเป็นอย่างไร   สิ่งสำคัญจะต้องมีการเคารพความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ 
 
ในบางบริบท ความช่วยเหลือจากบุคคลที่ 3 ในการเป็นตัวกลางในการพูดคุยอาจจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังเช่น ในกรณีของประเทศอินโดนีเซียที่อนุญาตให้ประเทศอื่นเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในติมอร์ตะวันออก  พม่าที่มีหน่วยงานต่างประเทศเข้าไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น  หรือในกรณีของฟิลิปปินส์ที่องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และมาเลเซียได้เข้าไปร่วมดำเนินการในกระบวนการสร้างสันติภาพ ทั้งนี้บุคคลที่ 3 นี้ จะต้องเข้าใจถึง “ความละเอียดอ่อน” ในเรื่องเหล่านี้  โดยจะต้องแสวงหาวิธีและรูปแบบที่เหมาะสมกับในแต่ละกรณี อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
 
สำหรับบทบาทของภาคประชาสังคมในการเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุย  นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ดี” รัฐบาลควรจะใช้ประโยชน์จากการทำงานของภาคประชาชนในพื้นที่ที่มีความสามารถในการเข้าถึงบุคคลที่ยังไม่พร้อมจะนำเสนอความคิดเห็นต่อรัฐได้  และตนพร้อมที่จะไปร่วมพูดคุยกับรัฐบาลเมื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้
 
ภายหลังการกล่าวปาฐกถา นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “กระบวนการที่สำคัญในขณะนี้ คือ การที่พยายามเปิดพื้นที่หาช่องทางในการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกับคนที่คิดต่าง ซึ่งเรื่องนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีการดำเนินการอยู่แล้ว และรัฐบาลที่ผ่านมามีการดำเนินการในลักษณะอย่างนี้เช่นกัน และตนคิดว่าจากตรงนั้นมันค่อยๆ นำมาสู่ความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่ากระบวนการต่อไปมันควรที่จะเดินไปอย่างไร ” 
 
นายอภิสิทธิ์ชี้ว่าในที่สุดแล้วการแก้ปัญหาจะต้องเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองและจะต้องนำปัญหาทุกมิติในพื้นที่มาแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้มีอยู่ในระดับนโยบาย และกระบวนการตรงนี้ ตนคิดว่าเราต้องสามารถที่จะกำหนดแนวทางขั้นตอนที่จะเป็นไปได้   วันนี้การที่เราจะกระโดดพูดถึงเรื่องการเจรจา เรายังไม่รู้ว่าจะเจรจากับใคร
 
อนึ่ง  สมช.ได้ร่าง “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 -2557” ขึ้นตามข้อกำหนดของพ.ร.บ.การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2554  ซึ่งนโยบายดังนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  22 กุมภาพันธ์ 2555 และได้มีการอภิปรายในรัฐสภาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   โดยวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ในทั้งหมด 9 ข้อของนโยบายฉบับนี้ ระบุว่ารัฐมีหน้าที่ในการ “สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ”  
 
สำหรับนายมหาเธร์ได้กล่าวในการปาฐกถาว่าการเกิดขึ้นของอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก   ผู้นำประเทศสามารถที่จะใช้เวทีนี้ในการพูดคุยเจรจาเพื่อหาหนทางในการแก้ปัญหาอย่างสันติ   หากว่าไม่สำเร็จก็จะส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) เป็นผู้ตัดสิน
 
“มันเป็นเรื่องอันตรายที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเผชิญหน้ากัน” นายมหาเธร์กล่าว
 
เขาได้ยกตัวอย่างกรณีปัญหาข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียซึ่งปัญหายุติได้ด้วยการเจรจาโดยมีการแบ่งผลประโยชน์จากการผลิตแก๊สคนละครึ่ง  ส่วนปัญหาข้อพิพาทประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิเหนือเกาะ 2 แห่งระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียซึ่งไม่สามารถเจรจาได้  และได้ส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณา  เมื่อศาลโลกพิพากษาให้เกาะทั้งสองแห่งเป็นของมาเลเซีย  ประเทศคู่กรณีก็ยอมรับคำตัดสินของศาล
 
เขากล่าวว่าอาเซียนนั้น “เป็นตัวอย่างที่ดี” ของกลุ่มประเทศที่สามารถจัดการความขัดแย้งในระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างสันติ      
 
ทั้งนี้ นายมหาเธร์ ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทยว่า “มันเป็นเรื่องภายใน   ปกติในสถานการณ์เช่นนั้น อาเซียนจะไม่แทรกแซง เว้นแต่ว่าเราจะได้รับการเชิญจากประเทศไทยให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคนเหล่านี้และได้พยายามที่จะโน้มน้าวให้เขาแก้ปัญหาอย่างสันติ  นั่นเป็นสิ่งที่มากที่สุดที่ผมจะทำได้”
 
“มันเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดที่จะเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้าน” เขากล่าว  โดยยกตัวอย่างว่ามาเลเซียได้เข้าไปเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกรณีของฟิลิปปินส์ได้ก็เพราะได้รับเชิญจากเจ้าของประเทศ  
 
หลังการกล่าวปาฐกถา  นายมหาเธร์ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “ถ้าหากว่าประเทศไทยร้องขอ  มาเลเซียก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ”
 
”ปัญหาในภาคใต้นี้คือมันไม่มีองค์กรที่เป็นเอกภาพ  เขาแบ่งเป็นหลายๆ กลุ่ม  บางคนก็ต้องการใช้ความรุนแรง  บางคนก็ต้องการที่จะเจรจา   ถ้ามีกลุ่มที่ต้องการจะเจรจา เราก็ควรที่จะเจรจา  แต่ว่ากลุ่มนั้นต้องการใช้ความรุนแรง  แน่นอนไม่ว่าสำหรับประเทศใด พวกเขาก็คือพวกสุดโต่ง ก็ต้องทางออกด้วยวิธีอื่น”
สำหรับเหตุการณ์การก่อเหตุวางธงชาติมาเลเซีย การวางระเบิดจริงและปลอมกว่าร้อยจุดในจ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ 2 อำเภอในจ.สงขลาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 นายมหาเธร์กล่าวว่า “พวกเขาก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ   แต่ละคนก็มีไอเดียของตัวเอง  บางคนอาจจะต้องการวางธง  คุณไม่สามารถที่จะไปโทษคนที่เหลือได้”
 
นายมหาเธร์ย้ำว่า “คำว่าการปกครองตนเองนั้นถูกแปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนซึ่งมันไม่ใช่  เราจะต้องอธิบายกับคนไทยเพื่อให้เขายอมรับความคิดนั้น แต่พวกเขาก็อาจจะคิดว่าแม้แต่การปกครองพิเศษก็ไม่ควรที่จะให้  ซึ่งอาจจะเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ แต่ว่าเขตปกครองพิเศษก็เป็นทางออกหนึ่งที่ควรจะพิจารณา  การปกครองพิเศษไม่ใช่การให้เอกราช   เรื่องการต่างประเทศ การทหาร หรือแม้กระทั่งตำรวจก็ยังคงเป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง”
 
อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่าการปกครองพิเศษนั้นเป็นทางออกที่ใช้ในหลายๆ ประเทศ เช่น ในประเทศอินโดนีเซียก็ได้ให้อาเจะห์เป็นเขตปกครองพิเศษ  หลังจากที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลได้รบกันมาหลายทศวรรษ  
 
เขาอธิบายว่าในช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี   นายทักษิณปฏิเสธแนวคิดนี้อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์  ปันยารชุนอาจจะมีความคิดยอมรับความคิดนี้อยู่บ้าง   
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์หนุนรัฐผลักดันการคุยกับผู้เห็นต่าง มหาเธร์ยันปกครองตนเอง “ทางออกหนึ่ง” ดับไฟใต้

Posted: 08 Sep 2012 06:42 AM PDT

 ผู้นำฝ่ายค้านชี้ต้องเปิดพื้นที่หาช่องทางพูดคุยกับผู้เห็นต่าง ดึงประชาสังคมช่วยคุยกับขบวนการ อดีตนายกฯ มาเลเซียมอง “การปกครองตนเอง” เป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาภาคใต้
 
 
 
ในวันที่ 7 กันยายน 2555 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้มีการงานจัดการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและนายมหาเธร์  โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ผู้นำว่าด้วยการเมือง ความขัดแย้ง และสันติภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน”  
 
 นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่าปัญหาความรุนแรงในภาคใต้มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเป้าหมายในการสร้างสังคมที่อย่างสันติซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายระดับชาติเท่านั้น แต่เป็นเป้าหมายในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย  โดยต้องใช้ 3 เสาหลักในการแก้ปัญหา คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม  ซึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ  หากขาดเสาหลักอันใดอันหนึ่ง 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าสำหรับประเทศในอาเซียน แม้ว่าจะมีกลไกในการแก้ไขข้อขัดแย้งหลายๆ อย่าง เช่น การประชุมระหว่างสหประชาชาติกับอาเซียน แต่ก็ยังไม่มีกรอบเชิงสถาบันที่ชัดเจนของอาเซียนในการแก้ไขข้อพิพาทที่มีอยู่ในภูมิภาค
 
 “ความหลากหลายเป็นเรื่องที่เราต้องส่งเสริมเพราะว่า  เราไม่สามารถที่จะทำให้คนทุกคนเหมือนกัน  ดังนั้นความท้าทายอยู่ที่จะไปลบล้างความหลากหลายทิ้งไป แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
 
ในหลายๆ กรณีที่เกิดความขัดแย้งนั้น มีปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน  กล่าวคือ ความแตกต่างได้พัฒนาไปสู่การไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันและนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด  นอกจากนี้การใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม   หรือการมองว่ามีการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การละเมิดกฎหมายและการปิดพื้นที่ทางการเมืองก็ยิ่งจะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นไปอีก  สำหรับในกรณีภาคใต้นั้นปัญหามีรากเหง้าที่หยั่งลึกไปอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์  เมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547 ปัญหาก็ถูกซ้ำเติมด้วยการละเมิดกฎหมายและการใช้นโยบายปราบปรามอย่างแข็งกร้าวในการจัดการกับปัญหา 
 
“การใช้กำลังทหารหรือความคิดด้านความมั่นคงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาไม่อย่างยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการในการแสวงหาทางออกทางการเมืองซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย” นายอภิสิทธิ์กล่าว  โดยเสนอว่าสิ่งที่สำคัญและเป็นความท้าทายคือการสร้าง “กระบวนการ” ในการสร้างสันติภาพอย่างไร   และไม่ว่าสุดท้ายทางออกของปัญหาจะเป็นอย่างไร   สิ่งสำคัญจะต้องมีการเคารพความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ 
 
ในบางบริบท ความช่วยเหลือจากบุคคลที่ 3 ในการเป็นตัวกลางในการพูดคุยอาจจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังเช่น ในกรณีของประเทศอินโดนีเซียที่อนุญาตให้ประเทศอื่นเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในติมอร์ตะวันออก  พม่าที่มีหน่วยงานต่างประเทศเข้าไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น  หรือในกรณีของฟิลิปปินส์ที่องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และมาเลเซียได้เข้าไปร่วมดำเนินการในกระบวนการสร้างสันติภาพ ทั้งนี้บุคคลที่ 3 นี้ จะต้องเข้าใจถึง “ความละเอียดอ่อน” ในเรื่องเหล่านี้  โดยจะต้องแสวงหาวิธีและรูปแบบที่เหมาะสมกับในแต่ละกรณี อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
 
สำหรับบทบาทของภาคประชาสังคมในการเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุย  นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ดี” รัฐบาลควรจะใช้ประโยชน์จากการทำงานของภาคประชาชนในพื้นที่ที่มีความสามารถในการเข้าถึงบุคคลที่ยังไม่พร้อมจะนำเสนอความคิดเห็นต่อรัฐได้  และตนพร้อมที่จะไปร่วมพูดคุยกับรัฐบาลเมื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้
 
ภายหลังการกล่าวปาฐกถา นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “กระบวนการที่สำคัญในขณะนี้ คือ การที่พยายามเปิดพื้นที่หาช่องทางในการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกับคนที่คิดต่าง ซึ่งเรื่องนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีการดำเนินการอยู่แล้ว และรัฐบาลที่ผ่านมามีการดำเนินการในลักษณะอย่างนี้เช่นกัน และตนคิดว่าจากตรงนั้นมันค่อยๆ นำมาสู่ความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่ากระบวนการต่อไปมันควรที่จะเดินไปอย่างไร ” 
 
นายอภิสิทธิ์ชี้ว่าในที่สุดแล้วการแก้ปัญหาจะต้องเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองและจะต้องนำปัญหาทุกมิติในพื้นที่มาแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้มีอยู่ในระดับนโยบาย และกระบวนการตรงนี้ ตนคิดว่าเราต้องสามารถที่จะกำหนดแนวทางขั้นตอนที่จะเป็นไปได้   วันนี้การที่เราจะกระโดดพูดถึงเรื่องการเจรจา เรายังไม่รู้ว่าจะเจรจากับใคร
 
อนึ่ง  สมช.ได้ร่าง “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 -2557” ขึ้นตามข้อกำหนดของพ.ร.บ.การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2554  ซึ่งนโยบายดังนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  22 กุมภาพันธ์ 2555 และได้มีการอภิปรายในรัฐสภาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   โดยวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ในทั้งหมด 9 ข้อของนโยบายฉบับนี้ ระบุว่ารัฐมีหน้าที่ในการ “สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ”  
 
สำหรับนายมหาเธร์ได้กล่าวในการปาฐกถาว่าการเกิดขึ้นของอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก   ผู้นำประเทศสามารถที่จะใช้เวทีนี้ในการพูดคุยเจรจาเพื่อหาหนทางในการแก้ปัญหาอย่างสันติ   หากว่าไม่สำเร็จก็จะส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) เป็นผู้ตัดสิน
 
“มันเป็นเรื่องอันตรายที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเผชิญหน้ากัน” นายมหาเธร์กล่าว
 
เขาได้ยกตัวอย่างกรณีปัญหาข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียซึ่งปัญหายุติได้ด้วยการเจรจาโดยมีการแบ่งผลประโยชน์จากการผลิตแก๊สคนละครึ่ง  ส่วนปัญหาข้อพิพาทประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิเหนือเกาะ 2 แห่งระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียซึ่งไม่สามารถเจรจาได้  และได้ส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณา  เมื่อศาลโลกพิพากษาให้เกาะทั้งสองแห่งเป็นของมาเลเซีย  ประเทศคู่กรณีก็ยอมรับคำตัดสินของศาล
 
เขากล่าวว่าอาเซียนนั้น “เป็นตัวอย่างที่ดี” ของกลุ่มประเทศที่สามารถจัดการความขัดแย้งในระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างสันติ      
 
ทั้งนี้ นายมหาเธร์ ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทยว่า “มันเป็นเรื่องภายใน   ปกติในสถานการณ์เช่นนั้น อาเซียนจะไม่แทรกแซง เว้นแต่ว่าเราจะได้รับการเชิญจากประเทศไทยให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคนเหล่านี้และได้พยายามที่จะโน้มน้าวให้เขาแก้ปัญหาอย่างสันติ  นั่นเป็นสิ่งที่มากที่สุดที่ผมจะทำได้”
 
“มันเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดที่จะเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้าน” เขากล่าว  โดยยกตัวอย่างว่ามาเลเซียได้เข้าไปเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกรณีของฟิลิปปินส์ได้ก็เพราะได้รับเชิญจากเจ้าของประเทศ  
 
หลังการกล่าวปาฐกถา  นายมหาเธร์ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “ถ้าหากว่าประเทศไทยร้องขอ  มาเลเซียก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ”
 
”ปัญหาในภาคใต้นี้คือมันไม่มีองค์กรที่เป็นเอกภาพ  เขาแบ่งเป็นหลายๆ กลุ่ม  บางคนก็ต้องการใช้ความรุนแรง  บางคนก็ต้องการที่จะเจรจา   ถ้ามีกลุ่มที่ต้องการจะเจรจา เราก็ควรที่จะเจรจา  แต่ว่ากลุ่มนั้นต้องการใช้ความรุนแรง  แน่นอนไม่ว่าสำหรับประเทศใด พวกเขาก็คือพวกสุดโต่ง ก็ต้องทางออกด้วยวิธีอื่น”
สำหรับเหตุการณ์การก่อเหตุวางธงชาติมาเลเซีย การวางระเบิดจริงและปลอมกว่าร้อยจุดในจ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ 2 อำเภอในจ.สงขลาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 นายมหาเธร์กล่าวว่า “พวกเขาก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ   แต่ละคนก็มีไอเดียของตัวเอง  บางคนอาจจะต้องการวางธง  คุณไม่สามารถที่จะไปโทษคนที่เหลือได้”
 
นายมหาเธร์ย้ำว่า “คำว่าการปกครองตนเองนั้นถูกแปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนซึ่งมันไม่ใช่  เราจะต้องอธิบายกับคนไทยเพื่อให้เขายอมรับความคิดนั้น แต่พวกเขาก็อาจจะคิดว่าแม้แต่การปกครองพิเศษก็ไม่ควรที่จะให้  ซึ่งอาจจะเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ แต่ว่าเขตปกครองพิเศษก็เป็นทางออกหนึ่งที่ควรจะพิจารณา  การปกครองพิเศษไม่ใช่การให้เอกราช   เรื่องการต่างประเทศ การทหาร หรือแม้กระทั่งตำรวจก็ยังคงเป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง”
 
อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่าการปกครองพิเศษนั้นเป็นทางออกที่ใช้ในหลายๆ ประเทศ เช่น ในประเทศอินโดนีเซียก็ได้ให้อาเจะห์เป็นเขตปกครองพิเศษ  หลังจากที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลได้รบกันมาหลายทศวรรษ  
 
เขาอธิบายว่าในช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี   นายทักษิณปฏิเสธแนวคิดนี้อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์  ปันยารชุนอาจจะมีความคิดยอมรับความคิดนี้อยู่บ้าง   
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดเวที Pat(t)ani Peace Process เดินหน้าสร้างสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 08 Sep 2012 06:32 AM PDT

วงเสวนาพิเศษกระบวนการสันติภาพปาตานี นักวิชาการเยอรมันเปิดบทเรียน 10 ข้อ กระบวนการสันติภาพในโลก ยันความพร้อมในการพูดคุยสร้างได้ ไม่ต้องรอ  สร้างพื้นที่กลาง ผลักสันติภาพชายแดนใต้  ศ.ดร.แม็คคาร์โกชี้ “การปกครองตนเอง” ทางออกปัญหาภาคใต้ NGO อินโดแนะภาคประชาสังคมจะต้องสร้างข้อเสนอร่วม
 
 
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 กันยายน 2555 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการเสวนาพิเศษเรื่อง "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน" (“Pat(t)ani Peace Process in ASEAN Context”) ในการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน
 
เปิดบทเรียน 10 ข้อ สร้างสันติภาพในโลก
 
ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส  ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ กล่าวว่า ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา ตนได้ร่วมกับภาคประชาสังคมในภาคใต้จัดเวทีสันติภาพของคนใน (Insider peace platform) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คนและได้รับการสนับสนุนโดย 5 สถาบันวิชาการ  โดยผู้เข้าร่วมได้ทำการวิเคราะห์ร่วมกันว่าความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไรในการสัมมนาร่วมกัน 6 ครั้ง  โดยได้ทำบทวิเคราะห์ร่วมซึ่งจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไปเพื่อที่จะสร้างแผนที่ไปสู่สันติภาพ 
 
“กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา และในกระบวนการก็มีการสร้างความสัมพันธ์และมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดแบบสายเหยี่ยวและสายพิราบ” ดร.โรเปอร์สกล่าว
 
ดร.โรเปอร์สกล่าวด้วยว่า มีประสบการณ์ในการสร้างกระบวนการสันติภาพ 10 อย่างในต่างประเทศที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ ดังนี้ 
 
หนึ่ง ประเด็นของภาษา จะเห็นว่าภาษาที่ใช้ในการอธิบายความขัดแย้งมีผลต่อทิศทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ถ้ามองว่าเป็นปัญหาความมั่นคงอย่างเดียว ก็จะมีการแก้ปัญหาแบบหนึ่ง ซึ่งประสบการณ์ในประเทศอื่นแสดงให้เห็นแล้วว่าการใช้ภาษาความมั่นคงอย่างเดียวไม่สามารถจะเดินไปได้ ประสบการณ์ในประเทศอื่นๆ ยังชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ความขัดแย้งดำเนินไป ภาษาในการอธิบายความขัดแย้งก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของภาษานี้ก็จะมีผลทำให้การแก้ไขความขัดแย้งง่ายขึ้น
 
สอง มีความจำเป็นในการยอมรับถึงรากเหง้าของปัญหา เช่น ในประเทศแอฟริกาใต้ ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกสีผิวเป็นปัญหารากฐาน หากไม่แก้เรื่องนี้ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้
 
สาม ต้องไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะควบคุมการสื่อสาร จะต้องมีการอนุญาตให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีโอกาสในการพูดคุยถึงทางออกของปัญหา
 
ความพร้อมพูดคุยสร้างได้ ไม่ต้องรอ
 
สี่ ความพร้อมในการพูดคุย เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ความพร้อมเกิดขึ้นเอง เราควรต้องรณรงค์ในการสร้างกระบวนการสันติภาพขึ้นมา เช่น ด้วยการนำเสนอความคิดเรื่องการกระจายอำนาจ  หรือการริเริ่มข้อเสนอใหม่ๆ 
 
ห้า  การดำเนินการฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่ทำได้และมีพลัง ไม่จำเป็นต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มต้นก่อน   หลายครั้ง คู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงก่อน   หรืออีกฝ่ายหนึ่งก็เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการปฏิรูปก่อนที่ตนเองจะขยับ  จริงๆ แล้วกระบวนการที่ดำเนินการโดยฝ่ายเดียวนั้นสามารถที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพได้
 
หก ต้องดึงคนมีความสงสัยและไม่เชื่อมั่นในเรื่องสันติภาพให้เข้ามาในกระบวนการ เพราะหลายครั้งความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพนั้น ไม่ใช่เพราะว่าคู่ขัดแย้งไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ แต่ว่าเป็นเพราะว่ามีปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มเอง เช่น รัฐบาลอาจจะมีความขัดแย้งกับฝ่ายค้านและทำให้กระทบต่อกระบวนการนี้
 
เจ็ด จะต้องทำงานในเรื่องสันติภาพเชิงลบไปพร้อมๆ กับสันติภาพเชิงบวก บางครั้งกองทัพอาจจะบอกว่าต้องใช้สันติภาพเชิงลบ คือ การปราบปราม เพราะผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรง ก่อนที่จะใช้สันติภาพเชิงบวก คือการแก้ไขในประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ในขณะที่ขบวนการต้องการเห็นสันติภาพเชิงบวกก่อน ฉะนั้นในการทำงานจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงทั้งสันติภาพเชิงบวกและลบเข้าด้วยกัน
 
สื่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพ
 
แปด การสนับสนุนของสาธารณชนมีความสำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ เราจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงผลในทางบวกของกระบวนการดังกล่าว ฉะนั้น บทบาทของสื่อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  สื่อกระแสหลักยังคงมีปัญหาอยู่ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาการสนับสนุนจากสังคมให้มาก
 
เก้า จะต้องหยิบใช้อำนาจอ่อน (soft power) ขององค์กรภายนอก ส่วนใหญ่หลายๆ ประเทศจะกล่าวว่าตนเองยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ว่าพอถึงระดับปฏิบัติก็มักจะมีการปฏิเสธหรือต่อต้าน
 
สิบ ความจำเป็นในการนำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยเพื่อสร้างพื้นที่กลางและการแปรเปลี่ยนประเด็นผู้ชนะ-ผู้แพ้ไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสันติภาพสำหรับพื้นที่ 
 
กำเนิดพื้นที่กลาง ค้น “พหุวิธี” ดับไฟใต้
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวถึงกระบวนการสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เกิดจากภาคนักวิชาการร่วมกับภาคประชาสังคมและสื่อทำงานร่วมกันมาประมาณ 1- 2 ปี โดยการสร้างความคิดร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ จึงเกิดแนวคิด “พื้นที่กลาง” ขึ้นมา โดยขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น คือ การปกครองพิเศษ การสานเสวนาและความยุติธรรม พร้อมกับการสร้างกระบวนการสื่อสารสาธารณะ ทำให้มีการพูดคุยในประเด็นดังกล่าวกว้างขึ้นเรื่อยๆ
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า การขับเคลื่อนดังกล่าวจะเดินไปพร้อมกันทั้งในระดับบน (track1) คือระดับของคู่ต่อสู้ระหว่างรัฐกับกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐ ระดับกลาง (track2) คือภาคประชาสังคม และระดับล่าง (track3) คือประชาชน เพื่อให้พื้นที่กลางขยายเพิ่มขึ้น และเกิดการยอมรับมากขึ้น โดยมีแนวทางในการลดความรุนแรงในพื้นที่ออกมาหลายๆ แนวทาง เรียกว่า พหุวิธีในการทำงาน (multi-platform)
 
“ปัญหาภาคใต้ ต้องแก้ด้วยการปกครองตนเอง”
 
ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก ศาสตราจารย์ประจำสำนักศึกษาการเมืองและการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลีดส์, ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “ปัญหาในภาคใต้เป็นปัญหาการเมืองที่ต้องการทางออกทางการเมือง” แม้ว่าจะมีเรื่องอื่น เช่น ยาเสพติด การพัฒนา แต่ก็เป็นเพียงประเด็นรอง
 
ศ.ดร.แม็คคาร์โกกล่าวว่ามีคนที่ไม่พอใจกับอำนาจรัฐและจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้กับพวกเขา ในกรณีของไอร์แลนด์เหนือ รัฐบาลของนายโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้นได้คุยกับกลุ่ม IRA (กองกำลังกู้ชาติไอริส) ฉะนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีความจริงจังอย่างต่อเนื่องในการพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธ รัฐต้องพร้อมที่จะคุยกับคนที่เป็นศัตรู
 
นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้นี้กล่าวว่าประเทศไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ แต่จะต้องมีการให้อำนาจท้องถิ่นในการปกครองตนเองในบางระดับ  โดยให้เรื่องการทหารหรือการต่างประเทศคงไว้เป็นอำนาจของรัฐบาลต่อไป
 
เขาระบุว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการกระจายอำนาจ แต่สังคมไทยไม่ค่อยมีการพูดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แม้บางคนบอกว่าปัญหานี้เป็นเรื่องยาเสพติดหรือความยุติธรรม นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก เรื่องสำคัญคือเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ข้อตกลงทางการเมืองใดๆ ที่จะมีขึ้นนั้นจำเป็นจะต้องมีเรื่องการกระจายอำนาจอยู่ด้วย 
 
ศ.ดร.แม็คคาร์โกปฏิเสธที่จะเป็นผู้เสนอโมเดลที่ชัดเจน  เขาบอกว่า “อยากที่จะให้มีคนในสังคมไทยที่กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น มากกว่าที่จะนำเสนอโมเดล(รูปแบบ)เอง” 
 
นางมาโฮ นากายาม่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า (SPF), ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสนับสนุนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กล่าวถึงการหนุนเสริมสันติภาพจากคนภายนอกว่า ความสนใจของประเทศอื่นๆ ในการสร้างสันติภาพทำให้มีการสนับสนุนองค์กรในพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ หรืออาจจะช่วยในการลดการใช้อาวุธลง  ซึ่งมูลนิธิสันติภาพซาซากาว่าไม่ได้มาพร้อมกับโมเดลว่า จะต้องทำกระบวนการสันติภาพอย่างไร แต่ว่าอยากให้เป็นความริเริ่มของคนในพื้นที่
 
นางมาโฮเสนอว่าจะต้องพยายามสร้างการพูดคุยและทำให้เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็ง เพื่อนำความคิดที่หลากหลายมาผลักดันให้เป็นวาระร่วมที่เป็นรูปธรรมได้ และต้องมีการพัฒนาทักษะในการขับเคลื่อนและการบริหารจัดการองค์กรด้วย รวมทั้งการสร้างพันธมิตรในจังหวัดอื่นๆ ในเรื่องกระจายอำนาจ และการสร้างเครือข่ายกับชุมชนของคนในโลกมาเลย์
 
“ไม่สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ก็แก้ปัญหาไม่ได้”
 
นายอะหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องสร้างบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพื้นที่ หากไม่มีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยก็ไม่มีทางจะแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในพื้นที่ เพราะเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตย และการแก้ปัญหานั้นต้องไม่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเพียงแนวทางเดียว เช่น การปราบปราม เพราะฉะนั้นต้องมีหลายๆ แนวทางในการแก้ปัญหา
 
ภาคประชาสังคมต้องสร้างข้อเสนอร่วม
 
นาย Nur Khalis ที่ปรึกษาสถาบันช่วยเหลือทางกฎหมาย (Lembaga Bantuan Hukum - LBH), ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงบทบาทของภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาความรุนแรงว่า ความท้าทายของภาคประชาสังคมคือจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากเพราะว่าเป็นเรื่องความปลอดภัยของนักเคลื่อนไหวด้วย ประชาสังคมเองก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยในบางครั้ง
 
เขากล่าวว่า ภาคประชาสังคมจะต้องเสนอทางเลือก และจะต้องพัฒนาศักยภาพ และการศึกษาวิจัยและการรณรงค์ทางการเมือง ภาคประชาสังคมจะต้องสร้างข้อเสนอร่วมและเตรียมการที่จะดำเนินการกระบวนการสันติภาพ
 
นาย Nur Khalis กล่าวด้วยว่ากลุ่มของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้มีบทบาทสำคัญในช่วงทีมีการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอาเจะห์ เช่น การเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ การมีบทบาทในการเป็นตัวกลางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
 
นโยบายรัฐไทยไม่ชัดเจน เอ็นจีโอต่างชาติทำงานยาก
 
นาย Khairil Anwar ผู้ประสานงานอาเซียน องค์กร ARM จากประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า คนมาเลเซียกับคนปัตตานีมีความใกล้ชิดกัน รัฐมนตรีของมาเลเซียหลายคนมีบรรพบุรุษที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย  เมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนในมาเลเซียจะพูดถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว คนมาเลเซียยังมองเอ็นจีโอในแง่ลบอยู่
 
นาย Khairi กล่าวว่า นโยบายของอาเซียนที่ไม่แทรกแซงปัญหาภายในของแต่ละประเทศ ยิ่งทำให้เอ็นจีโอพูดถึงปัญหาประเทศเพื่อนบ้านยากขึ้นไปอีก ทำให้มองไม่เห็นบทบาทเอ็นจีโอในระดับภูมิภาคอาเซียน หรือมีแต่ก็ไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นเอ็นจีโอในภูมิภาคต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่มากกว่านี้ 
 
เขาระบุว่าสำหรับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่ารัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจน เช่น บางหน่วยงานมีนโยบายการเจรจาสันติภาพแต่บางหน่วยไม่เห็นด้วย ซึ่งการที่ นโยบายไม่ไปในทิศทางเดียวกันทำให้เอ็นจีโอต่างชาติเข้ามาทำงานยาก และเอ็นจีโอที่ผลักดันให้รัฐลงมาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศไทยเองก็ยังมองไม่เห็น ส่วนเรื่องที่ให้คนกลางที่เป็นคนในมาสร้างสันติภาพนั้น ARM เห็นด้วย แต่ยังไม่เห็นภาคประชาชนออกมากดดันในเรื่องนี้มากนัก
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พูดว่าปัญหาของรัฐไทยก็คือเรื่อง “ความชอบธรรมบกพร่อง” ส่วนปัญหาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบคือ “การตาบอด” เพราะการใช้ความรุนแรงซึ่งทำให้มีคนตายกว่า 5,000 คน  แม้ว่าอาจจะไม่ทั้งหมดที่จะตายด้วยน้ำมือของขบวนการก่อความไม่สงบ
 
ผมคิดว่ากลุ่มขบวนการนั้นเป็นกลุ่มที่มีเหตุมีผล ไม่ได้เป็นคนที่เสียสติ   ซึ่งในมุมของพวกเขา  การต่อสู้ของพวกเขา “มีความชอบธรรม”  ซึ่งเราจำเป็นจะต้องหาว่าความจริงคืออะไร   ขบวนการนั้นมีความไม่เป็นเอกภาพ 
 
ผมคิดว่าการต่อสู้ของขบวนการนั้นได้รับอิทธิพลจากบริบทในกระแสโลกในแต่ละช่วงเวลา เช่น  จากการต่อสู้แบบชาตินิยมเพื่อเอกราช มาสู่การปฏิวัติของอิสลามจนมาถึง Arab Spring  
ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่าตอตั้งคำถามว่าจะช่วยพวกขบวนการได้อย่างไรเพื่อให้พวกเขาหยุดใช้ความรุนแรง   ซึ่งตนคิดว่าขบวนการจำเป็นที่จะต้องเข้าใจผลกระทบของความรุนแรงต่อการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขา  เขาจะต้องเข้าใจหลักการเรื่องสันติวิธี  ในประเทศตูนีเชีย  ผู้นำการเคลื่อนไหวคนหนึ่งกล่าวว่าเมื่อใช้ความรุนแรงเมื่อใด ความชอบธรรมของพลังประชาชนก็หมดไป 
ศ.ดร. ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างว่าในช่วงปี ค.ศ. 1940 – 2006 มีสถิติชี้ว่าความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยความรุนแรงได้ลดลงจาก 40 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์  ในขณะที่ความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพิ่มขึ้นจาก  40 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์  
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ทิ้งท้ายว่า มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเริ่มต้นการสร้างกระบวนการสันติภาพที่มีความหมาย ซึ่งจะต้องรวมเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามาเกี่ยวข้อง  การพูดคุยจะต้องทำอย่างเปิดเผย ซึ่งสุดท้ายเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เองจะต้องเลือกว่าต้องการจะมีชีวิตอยู่ในสังคมเช่นไร 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีรับฟังฯ ขยายเหมืองทองร้อนก่อนเริ่ม กอสส.ชี้เร่งจัดขัด รธน.-เอ็นจีโอจ่อล้มกรรการฯ ที่มาทับซ้อน

Posted: 08 Sep 2012 04:06 AM PDT

กรรมการองค์การอิสระฯ ชี้จัดเวทีรับฟังความเห็นไม่ผิดกฎหมาย แต่โครงการหลายร้อยล้านทำไม่ต้องเร่ง ด้านเอ็นจีโอ จี้ กพร.เพิกถอนคำสั่งตั้งกรรการรับฟังฯ ชี้มีปัญหาที่มา ให้ตั้งใหม่ที่เป็นกลางต่อชาวบ้าน ขู่เตรียมร้อง ก.พ.-ยื่นศาลปกครองต่อ

 
ภาพ: เหมืองแร่ทอง จ.พิจิตร 
ที่มา: http://www.121easy.com
 
ปัญหาเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ที่ส่งผลกระทบเรื่องฝุ่นละออง มลภาวะทางเสียง ทั้งยังมีข้อกังวลต่อสารพิษและโลหะหนักจากกระบวนการผลิตแร่ที่อาจมีการเจือปนในน้ำใต้ดิน ถูกเกาะติดโดยชาวบ้านและองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่มาของการส่งฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งแม้ศาลจะยกคำร้องในเวลาต่อมา แต่การพยายามติดตามตรวจสอบก็ยังไม่หยุดยั้ง
 
อีกทั้ง บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ยังคงเดินหน้าโครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ โดยมุ่งเป้าขยายกำลังผลิตสินแร่ป้อนเพิ่มจาก 2.3 ล้านตันต่อปี เป็น 5.0 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 6,301 ตันต่อวัน เป็น 13,699 ตันต่อวัน เพื่อรองรับแหล่งแร่ทองคำของโครงการที่เพิ่มมากขึ้น และภาวะทางเศรษฐกิจที่เหมาะแก่การลงทุน เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวมเร็วตั้งแต่หลังปี 2549
 
จากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการฯ ฉบับย่อ ระบุแหล่งเงินทุนของโครงการมาจากเงินกู้ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมดในการพัฒนาโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนการก่อสร้างซึ่งประกอบด้วยอาคารโรงงาน รวมทั้งการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์คาดว่าจะให้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน
 
โครงการฯ นี้ ถือเป็น “โครงการอุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี ที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไปหรือที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต รวมกันตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไป” เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
ทำให้ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 
 
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.เหมืองแร่) ได้พิจารณาผ่านความเห็นชอบ EHIA ของโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา
 
อีกทั้งได้นำส่ง EHIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบแล้วให้แก่คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. เพื่อให้ความเห็นประกอบส่งต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
 
 
เอ็นจีโอเดินหน้าทักท้วง รับฟังความเห็นโครงการเหมืองแร่ทองคำ ขัดเจตนารมณ์ รธน.
 
ล่าสุด คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะจัดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ย.นี้ ซึ่งก็ถูกตาติดตั้งคำถามจากองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่าอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
โดยองค์กรภาคประชาชนระบุว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะเร่งจัดขึ้น ตัดโอกาสที่คณะกรรมการรับฟังฯ จะรับฟังความคิดเห็นขององค์การอิสระฯ ซึ่งมีกำหนดจะให้ความเห็นประกอบภายในวันที่ 20 ก.ย.2555 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจและพิจารณารายงานความเห็นประกอบขององค์การอิสระฯ ก่อนการให้ความคิดเห็นในเวทีดังกล่าว
 
ศุภกิจ นันทะวรการ หนึ่งในกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. (เฉพาะกาล) กล่าวให้ข้อมูลว่า โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ถือเป็นโครงการแรกที่คณะกรรมการรับฟังฯ จัดรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จะนำส่งรายงานความเห็นประกอบโครงการฯ แก่ กพร.ในฐานะหน่วยงานผู้อนุญาต
 
นายศุภกิจ กล่าวด้วยว่า โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จัดทำความเห็นทั้ง 7 โครงการ6 โครงการก่อนหน้านี้นั้นประกอบด้วย โครงการเกี่ยวกับปิโตรเคมีที่ จ.ระยอง 5 โครงการ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ระยองอีก 1 โครงการ ซึ่งเหล่านี้อยู่การดูแลของ 3 หน่วยงานคือ การนิคมอุตสาหกรรม กรมโรงงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต่างจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นภายหลังจากที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จัดทำรายงานความเห็นแล้วทั้งสิ้น
 
“นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นความตั้งใจที่จะจัดก่อน” ศุภกิจกล่าว
 
 
ชี้ จัดเวทีไม่ผิดกฎหมาย แต่โครงการหลายร้อยล้านทำไม่ต้องเร่งสังคมตัดสินใจ
 
กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวด้วยว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวของ คณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.จะไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายเขียนรองรับไว้ว่าการรับฟังความคิดเห็นต้องรอรายงานข้อเสนอจากองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ แต่ก็ถือว่าเป็นการเสียโอกาสของประชาชนที่จะได้รู้ว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ มีเงื่อนไขและขอเสนอแนะอะไร เพื่อนำไปถกเถียงในเวทีรับฟังความคิดเห็น
 
นอกจากนั้น แม้ว่าคณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.จะเปิดรับฟังความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรอีก 15 วันหลังการจัดเวที แต่การจัดเวทีซึ่งเป็นกระบวนการสาธารณะที่สำคัญนั้นก็ได้จบไปแล้ว รวมทั้งประชาชนก็จะมีเวลาเพียง 4 วัน หลังจากการให้ความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ในวันที่ 20 ก.ย.55 ที่จะต้องพิจารณาและส่งความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทันก่อนที่จะปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงวันที่ 24 ก.ย.55
 
“โครงการตั้งหลายรอยล้าน ทำไมต้องให้สังคมตัดสินใจเร็วอย่างนี้” ศุภกิจตั้งคำถาม
 
ดังนั้น ศุภกิจจึงเน้นว่าแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่กระบวนการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ที่จะส่งเสริมกระบวนการพิจารณา และตัดสินใจอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ก่อนที่หน่วยงานอนุมัติอนุญาตจะตัดสินใจตามอำนาจของตนเอง
 
พร้อมย้ำตามข้อเสนอขององค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีก่อนหน้านี้ว่า ทางคณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.ควรเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นออกไปก่อนอย่างน้อย 15-30 วัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พิจารณาความเห็นประกอบขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ แล้วจึงจัดรับฟังความคิดเห็น
 
“อย่าปล่อยให้มีการบิดพลิ้วโดยบอกว่าทำตาม (รัฐธรรมนูญ) แต่ไม่รอบด้าน” กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ กล่าว เรียกร้องต่อประชาชนทั่วไปให้ยึดตามรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุว่ารัฐธรรมนูญได้รับรองต่อการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของประชาชนตามสิทธิชุมชน
 
 
เผยเร่งจัดเวที เหตุหวั่นถูจี้ประเด็นเพิ่มเติม ทั้งปัญหา EHIA-คณะกรรมการรับฟังฯ ผิดคุณสมบัติ
 
ศุภกิจกล่าวแสดงความเห็นต่อมาว่า การเร่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นอาจเนื่องจากเกรงว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ อาจมีประเด็นเพิ่มเติม เช่นกรณี EHIA ที่การดำเนินการไม่ตรงกับที่ได้อนุมัติมา ซึ่งเป็นช่องว่างที่สำคัญ และมีผลกระทบชัดเจน อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่เรื่องที่ต้องมุ่งเน้น เนื่องจากรายงานความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ที่ส่งให้ กพร.จะต้องเปิดต่อสาธารณะอยู่แล้ว การเร่งจัดเวทีก่อนกลับจะถูกมองว่าเป็นการปิดกั้น แต่สุดท้ายประชาชนก็ต้องรู้อยู่ดี
 
“การรู้ที่หลังยิ่งสร้างความสงสัย ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับคณะกรรมการรับฟังฯ มากยิ่งขึ้น” ศุภกิจกล่าว
 
ศุภกิจ กล่าวถึงข้อสังเกตที่พบในโครงการด้วยว่า 1.โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีการทำบ่อทิ้งกากแร่ซึ่งเป็นกากของเสียอันตราย ที่มีสารไซยาไนต์ แต่ปรากฏว่าบ่อทิ้งกากแร่ที่ระบุไว้ในEHIA อยู่คนละตำแหน่งกับที่ตั้งจริง มีการย้ายที ซึ่งการวิเคราะห์ผลกระทบตรงนี้ก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย การปรับโครงการอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้น่าจะมีปัญหา
 
2.ปัจจุบันโรงแต่งแร่ตามโครงการฯ ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งคล้ายกับกรณีโครงการขนาดใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอีกหลายโครงการที่เข้าข่ายตามมาตรา 67 วรรคสอง ที่เดินหน้าก่อสร้างไปจนเกือบแล้วเสร็จโดยไม่รอคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ร่วมให้ความเห็น
 
ทั้งนี้ นับจากที่ศาลปกครองกลางมี คำสั่งให้ระงับ 76 โครงการ ที่บริษัทต่างๆ ขออนุญาตก่อสร้างและขยายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งตามความคิดเห็นของชาวบ้านโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการควรต้องหยุด แต่ในความเป็นจริง โครงการที่เข้าข่ายแต่ไม่มีรายชื่ออยู่ใน 76 โครงการนั้นมีการเดินหน้าต่อ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเกณฑ์ดำเนินการที่แน่นอน อย่างไรก็ตามตรงนี้ต้องมีการตรวจสอบ หากพบว่าโครงการมีการเดินเครื่องเพื่อดำเนินการไปก่อนต้องถือว่ามีความผิด
 
ศุภกิจ ให้ข้อมูลด้วยว่า ในส่วนคณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.เองก็มีการพบข้อมูลว่า กรรมการรับฟังฯ 4 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารการมีส่วนร่วม ในสังกัด กพร.ซึ่งในความเป็นจริงคณะกรรมการรับฟังฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหมืองแร่ อีกทั้งสำนักบริหารการมีส่วนร่วมฯ นั้นมีเป้าหมายข้อหนึ่งคือการสนับสนุนการทำเหมืองแร่ ส่วนกรรมการรับฟังฯ อีก 1 คนเป็นที่ปรึกษาบริษัทปูนซีเมนต์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่
 
กรณีดังกล่าวให้เกิดการตั้งคำถามของชาวบ้านถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการรับฟังฯ ที่ต้องไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการหรือกิจการ นั้นๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องจริงต้องถือว่าผิดกฎหมาย กระบวนการต่างๆ อาจล้มได้เนื่องจากคณะกรรมการผิดคุณสมบัติ
 
 
เสนอดัน พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ แก้ปัญหาระยะยาว
 
ต่อคำถามถึงการดำเนินการต่อไปขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ศุภกิจ กล่าวว่า กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ เห็นว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่เหมาะสม แต่กรรมการส่วนใหญ่ในจำนวน 13 คน ถือว่าเป็นเรื่องการดำเนินการขององค์กรอื่นซึ่งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ส่วนการจะเร่งให้มีรายงานข้อเสนอก่อนวันที่ 9 ก.ย.นั้นคงไม่ได้ เพราะเดิมที่มีเวลาเพียง 60 วันในการจัดทำรายงานนั้นก็ถือเป็นงานหนักอยู่แล้ว แต่จะพยายามทำให้ครบถ้วน รอบด้านตามเจตนารมณ์
 
ส่วนข้อเสนอ ศุภกิจ กล่าวว่าในระยะสั้นแรงกดดันทางสังคม และการนำเสนอข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชนถือเป็นความหวัง ส่วนในระยะยาวต่อไป คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (http://ilaw.or.th/node/255) ซึ่งตกไปในสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สนใจในเรื่องนี้ ไม่ยอมออกกฎหมายเพื่อนำไปสู่กระบวนการและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยืนยัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. ... ซึ่งเดินหน้าถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ วุฒิสภา ภายใน 60 วันหลังจากยุบสภา ทำให้ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่จะต้องตกไปและเข้าสู่ขั้นตอนการร่างกฎหมายใหม่
 
 
เอ็นจีโอ จี้ อธิบดี กพร.เพิกถอนคำสั่งตั้งกรรการรับฟังฯ ชี้มีปัญหาที่มา
 
ส่วนกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ นั้น โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (คขร.) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานติดตาม ศึกษาและวิจัยถึงสภาพปัญหาต่างๆ และธรรมาภิบาลจากการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ของรัฐ ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ลงวันที่ 3 ก.ย.55 ขอให้ยกเลิก/เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตเฉพาะในส่วนของโรงประกอบโลหกรรม ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด
 
เนื่องจากได้ทำการตรวจสอบพบว่ากรรมการ 5 คน มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อกิจการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ 
 
กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ 5 คนประกอบด้วย 1 ผศ.ดร.พันธุ์ลพ หัตถโกศล 2.ผศ.ดร.ชัยโรจน์ รัตนกวิน 3.นายวิศิษฎ์ อภัยทาน และ 4.รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ ซึ่งทั้ง 4 คน เป็นนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และได้ถูกแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารงานการมีส่วนร่วม สังกัดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สุดท้ายคนที่ 5.นพ.กิจจา เรืองไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สสส. อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพและผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมคุณภาพงานบริษัทเอสซีจีหรือปูนซีเมนต์ไทย
 
คขร.ยืนยันคัดค้านและไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้ง 5 คน โดยขอให้อธิบดี กพร. ยกเลิก เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 ก่อนวันที่ 9 ก.ย.55 ที่เป็นวันให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลางต่อชาวบ้าน ซึ่งกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิชาการทางด้านวิศวกรรมเหมืองแร่หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นต้องการความรู้ที่หลากหลายในการรังฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่โน้มเอียงเข้าข้างบริษัทอัคราฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ดีต่อการทำความคิดเห็นส่งต่อให้กับหน่วยงานอนุมัติอนุญาต ต่อไป
 
หนังสือของ คขร.ระบุด้วยว่า หากอธิบดี กพร. เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 จะดำเนินการผ่านไปแล้วหรือไม่ก็ตาม คขร. จะดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการของอธิบดี กพร. ที่ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ เพราะเห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กดขี่ ข่มเหง รังแก เอาเปรียบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ
 
อีกทั้งจะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาฯ เพื่อให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของนักวิชาการทั้ง 4 ด้วย รวมทั้งจะทำหนังสือถึง สสส.ให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของหมอกิจจา เรืองไทย ที่มีตำแหน่งหน้าที่หลายบทบาทซ้ำซ้อน ด้านหนึ่งอยู่ในองค์กรขอสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเอสซีจี อีกด้านหนึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นนักบุญคนดีอยู่ในองค์กรอย่าง สสส. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน
 
รวมทั้งจะมีการฟ้องต่อศาลปกครองอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อขอให้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 เป็นโมฆะ หากเวทีดังกล่าวดำเนินการผ่านไปแล้ว
 
 
 
 
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
 
ที่ คขร.  5/ 2555                                                
28/190 หมู่ 2 ต.ลำผักกูด
อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
 
3 กันยายน 2555
 
เรื่อง      ขอให้ยกเลิก/เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555
 
เรียน      อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
 
อ้างถึง    คำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตเฉพาะในส่วนของโรงประกอบโลหกรรม เพื่อให้มีกำลังการผลิตที่รองรับสินแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้สูงสุด 5,000,000 ตันต่อปี ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด
 
เนื่องด้วยโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (คขร.) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานติดตาม ศึกษาและวิจัยถึงสภาพปัญหาต่างๆ และธรรมาภิบาลจากการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ของรัฐ กำลังทำการติดตามสถานการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ต่อรายงาน EHIA โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อยู่ในขณะนี้ ได้ทราบว่า กพร. จะจัดให้มีเวทีดังกล่าวขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2555 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่ง คขร. ได้ตรวจสอบพบว่าอธิบดี กพร. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ (รายละเอียดตามอ้างถึง) โดยที่กรรมการทั้ง 5 ท่าน มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อกิจการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ ดังนี้
 
1. นักวิชาการจากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 ท่าน คือ ผศ.ดร.พันธุ์ลพ หัตถโกศล ซึ่งเป็นประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ มีผลงานทางวิชาการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองประเภทต่างๆ มาตลอด
 
ผศ.ดร.ชัยโรจน์ รัตนกวิน เป็นกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ อดีตเคยรับราชการกรมทรัพยากรธรณี (กพร.ปัจจุบัน) ซึ่งมีผลงานการศึกษาหลายชิ้นในระหว่างอยู่ที่กรมทรัพยากรธรณีที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ และนายวิศิษฎ์ อภัยทาน เป็นกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ อดีตเคยรับราชการกรมทรัพยากรธรณี (กพร.ปัจจุบัน) ในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ประจำฝ่ายพัฒนาเหมืองแร่และเหมืองหิน กองการเหมืองแร่ รับผิดชอบงานรวบรวมข้อมูลด้านเทคนิคของการทำเหมืองแร่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ เช่นเดียวกัน
 
2. กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ คนที่สี่ คือ รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการอิสระของบริษัท สยามสติลซินดิเกต จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัทอิตาเลียนไทยที่เป็นเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี เป็นกรรมการอยู่ในสมาคมวิศวกรเหมืองแร่ไทยที่มีบทบาทโดดเด่นในการผลักดันและรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษารับทำ EIA EHIA และ SEA โครงการเหมืองแร่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี โครงการศึกษาศักยภาพแร่ตะกั่ว อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องที่ชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ได้รับสารพิษตะกั่วจากการทำเหมืองแร่สังกะสี เป็นต้น และผลงานที่สำคัญคือเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ โดยการว่าจ้างของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำสองแห่งที่จังหวัดพิจิตรและเลย ซึ่งเป็นของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตามลำดับ
 
นอกจากนี้กรรมการทั้งสี่คนที่กล่าวมาได้ถูกแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารงานการมีส่วนร่วม สังกัดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ทำงานภายใต้การบังคับบัญชาและรายงานตรงต่ออธิบดี กพร. จัดตั้งขึ้นมาเมื่อ 11 พฤษภาคม 2553 มีเป้าหมายเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหามวลชนที่มีปัญหาการคัดค้านหรือได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เพื่อแก้ไขปัญหาให้การทำเหมืองแร่ดำเนินการต่อไปได้
 
3.กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ คนที่ห้า คือ นายแพทย์กิจจา เรืองไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านสุขภาพที่รู้จักกันดีในชื่อ สสส. นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งในองค์การเอกชนและหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับชีวอนามัยและสุขภาพหลายแห่ง และที่น่าสนใจคือเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพและผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมคุณภาพงานบริษัทเอสซีจีหรือปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองแร่หลายประเภท เช่น แร่ดินขาว แร่ยิปซั่ม แร่หินอุตสาหกรรม แร่เหล็ก แร่ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นต้น
 
ถึงแม้กรรมการทั้งห้าท่านจะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่โดยพฤติกรรมองค์กรที่แต่ละท่านสังกัดอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งผลงานในอดีต ส่อให้เห็นถึงเจตนาที่เอนเอียง ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมต่อประชาชนที่เป็นคนเล็กคนน้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชนหมู่บ้านใกล้เขตเหมืองแร่ ที่ไม่มีพลังต่อรองหรือต่อสู้กับเจ้าของเหมืองแร่เลย แล้ว กพร. ยังจะแต่งตั้งกรรมการที่เอาเปรียบชาวบ้านเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา คขร. มีความเห็นว่า กพร. ได้ดำเนินการในลักษณะที่เอาเปรียบชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง โรงงานแยกแร่ทองคำที่ขอขยายกำลังการผลิตตั้งอยู่ฝั่งจังหวัดพิจิตร แต่กลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ที่ทำการอำเภอวังโป่ง ฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ เหตุก็เพราะว่า กพร. เลือกข้างบริษัทอัคราฯ เพราะเห็นว่าบริษัทดังกล่าวควบคุมมวลชนได้ เพราะส่วนใหญ่ของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายอำเภอ สนับสนุนเหมืองแร่ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ที่เข้าข้างอัคราฯ อย่างออกนอกหน้า ก็เพราะอัคราฯ ได้มอบทองคำบริสุทธิ์หนัก 84 บาท ให้เมื่อปีที่แล้วเพื่อนำไปสร้างพระพุทธรูปข้างศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ แล้ว กพร.ยังจะมาแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้งห้าคน ที่อยู่ในแวดวงการทำเหมืองแร่ ที่มีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมหรืออยู่ในธุรกิจการทำเหมืองแร่อย่างเห็นได้ชัด
 
ดังนั้น คขร. จึงขอคัดค้าน/ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้งห้าท่านที่กล่าวมา โดยขอให้อธิบดี กพร. ยกเลิก/เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 เสียก่อนวันที่ 9 กันยายน 2555 ที่เป็นวันให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลางต่อชาวบ้าน ซึ่งกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิชาการทางด้านวิศวกรรมเหมืองแร่หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นต้องการความรู้ที่หลากหลายในการรังฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างตั้งอกตั้งใจและไม่โน้มเอียงเข้าข้างบริษัทอัคราฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ดีต่อการทำความคิดเห็นส่งต่อให้กับหน่วยงานอนุมัติ/อนุญาต ในลำดับต่อไป
 
หากอธิบดี กพร. เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 กันยายน 2555 จะดำเนินการผ่านไปแล้วหรือไม่ก็ตาม คขร. จะดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการของอธิบดี กพร. ที่ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ โดยสี่คนที่เป็นนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษามีรายชื่อซ้ำซ้อนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารการมีส่วนร่วม สังกัด กพร. ทำงานภายใต้การสั่งการของอธิบดี กพร. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เพราะเห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กดขี่ ข่มเหง รังแก เอาเปรียบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ แทนที่จะตั้งกรรมการที่มีความเป็นกลางมากกว่านี้ และจะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาฯ เพื่อให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของนักวิชาการทั้งสี่ด้วย รวมทั้งจะทำหนังสือถึง สสส. ให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของหมอกิจจา เรืองไทย ที่มีตำแหน่งหน้าที่หลายบทบาทซ้ำซ้อน ซ่อนเร้นจนมั่วไปหมด ด้านหนึ่งอยู่ในองค์กรขอสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเอสซีจี อีกด้านหนึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นนักบุญคนดีอยู่ในองค์กรอย่าง สสส. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อนโยบายและโครงการการพัฒนาจากภายนอกที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งฟ้องต่อศาลปกครองอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อขอให้วินิจฉัย/พิพากษาให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 กันยายน 2555 เป็นโมฆะ หากเวทีดังกล่าวดำเนินการผ่านไปแล้ว
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
( นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ )
ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอสโตเนีย' เตรียมฝึกเด็ก ป.1 เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

Posted: 07 Sep 2012 08:05 PM PDT

 

เอสโตเนีย - มูลนิธิ Tiger Leap เตรียมเริ่มโครงการ ProgeTiiger ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-12 ในการฝึกทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสร้างเว็บและแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ ในเดือนกันยายนนี้

โดยในขั้นแรกนั้นจะเริ่มกับโรงเรียนนำร่อง และปีต่อๆ ไป จะเปิดให้โรงเรียนของรัฐทั้งหมดที่สนใจเข้าร่วมได้

มูลนิธิฯ Tiger Leap ตัดสินใจเริ่มโครงการนี้เนื่องจากเห็นถึงความยากลำบากของบริษัทต่างๆ ในการหาโปรแกรมเมอร์ดีๆ โดยโครงการนี้จะเตรียมให้นักเรียนขยับจากผู้ใช้ไปเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และคาดว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้เอสโตเนียมาอยู่แถวหน้าของยุโรปตะวันออกในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี

ในปี 2540 เอสโตเนียตัดสินใจลงทุนอย่างมหาศาลในการพัฒนาและขยายโครงสร้างของระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ ปัจจุบัน เอสโตเนียได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดในโลก

 

 

ที่มา : Computer programming will soon reach all Estonian schoolchildren, Ubuntu Life ผ่าน เอสโตเนียเตรียมให้เด็กเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ประถมหนึ่ง , Jusci

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อองซอมเบิล โมเดโร ปาลู: ดนตรีจากเกาะสุลาเวสีมาแสดงที่กรุงเทพฯ

Posted: 07 Sep 2012 03:26 PM PDT

เมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 55) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการแสดงดนตรีคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู (Ensambel Modero Palu ในภาษาอินโดนีเซีย หรือ Ensemble Modero Palu) จากเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย โดยงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันไคลีแห่งสุลาเวสีกลาง ประเทศอินโดนีเซีย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู ได้แสดงดนตรีกว่า 10 ชุดการแสดง และการแสดงหลายชุดมีการเชิญชวนให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับการแสดงด้วย เช่น การแสดงชุด Pompaura หรือจุดไฟ กระชับหัวใจคุณ ที่เชิญชวนผู้ชมมามีส่วนร่วมกับการแสดงด้วยการเล่นเครื่องประกอบจังหวะบนเวทีด้วย

ส่วนหนึ่งของการแสดงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู จากเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

การแสดงชุด Ndua Ndua เป็นเพลงที่ใช้ในพิธีแต่งงาน เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงที่งาน

การแสดงชุด Pompaura ที่เชิญชวนผู้ชมมามีส่วนร่วมกับการแสดง


ช่วงหนึ่งของการแสดงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู 

การแสดงชุด Poveba หรือ พัดลมมือ ผลงานซึ่งแต่งโดย Hasan Bahasyuan ในปี พ.ศ. 2513 คณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู นำมาบรรเลงพร้อมกับนักแสดงซึ่งเป็นเพศชายที่แต่งกายแบบสตรี

 

สำหรับส่วนหนึ่งของการแสดงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู ได้แก่การแสดงชุด Dapa Dapa Lauro หรือดาปา ดาปา เลาโร เป็นการแสดงที่เกิดจากเพลงของเด็กชาวคาลี โดย Dapa Dapa Lauro ซึ่งหมายถึงไม้หวาย โดยดั้งเดิมเด็กๆ จะร้องเพลงในขณะที่เล่นเคาะไม้หวาย และคณะดังกล่าวได้นำเพลงดั้งเดิมนี้มาต่อด้วยเพลง Didi Lauro ซึ่งแต่งโดย Syahril Lawide

การแสดงชุดต่อมาคือ Ndua Ndua หรือนดัว นดัว เป็นผลงานดั้งเดิมของเพลงคาคูละ (Kakula) ที่โด่งดัง ได้นำมาแปลงในรูปแบบ "Kreasi Baru" หรือการสร้างใหม่ เพลงนี้ใช้ในระหว่างพิธีดั้งเดิมเช่นงานแต่งงาน จะเป็นเพลงแรกและเพลงประจำที่ใช้เมื่อเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงที่งาน

ต่อมาเป็นการแสดงชุด Ada Mposalama หรืออะดา โปซาลามะ งานชิ้นนี้แต่งโดย Ansar Dolo และเรียบเรียงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู มีพื้นฐานอยู่บนการชุมนุมพระราชพิธี

สำหรับคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ที่เมืองปาลู เกาะสุลาเวสีตอนกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ดนตรีอันมีเอกลักษณ์เฉพาะของคณะดนตรีนี้้เกิดจากการประยุกต์ดัดแปลงจากดนตรีขนบเดิมของเกาะสุลาวีตอนกลาง นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะดนตรีนี้ ได้มีการแสดงไปหลายเมืองในอินโดนีเซียทั้งยอร์กยาการ์ตา สุราบายา ปาลู จาร์กาตา มักกะสัน และปาดัง นอกจากนี้ยังได้แสดงในโทรทัศน์ท้องถิ่นอีกด้วย

ทั้งนี้เครื่องดนตรีคาคูล่า ยังเป็นส่วนหนึ่งของ "วัฒนธรรมฆ้อง" ที่พบในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ จนถึงเกาะสุมาตราตะวันตก ซึ่งครอบคลุมหลายประเทศตั้งแต่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย โดยวัฒนธรรมฆ้อง หรือ คาคูล่า ในอินโดนีเซีย ยังพบแพร่หลายในภาคกลางของเกาะสุลาเวสี เกาะโมลุกกะ และบางพื้นที่ในกะลิมันตัน สุลาเวสี และสุมาตรา

สำหรับคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู จะจัดแสดงในกรุงเทพฯ อีกรอบในวันนี้ (8 ก.ย.) ระหว่างเวลา 18.00 - 20.00 น. ที่หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในช่วงบ่ายจะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดนตรีและการเต้นแบบคาคูละให้กับผู้สนใจด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น