ประชาไท | Prachatai3.info |
- ปชป. ร้อง กมธ.-สมาคมสื่อสอบ กรณีขุนค้อนใช้งบ 7 ล้าน พาสื่อบินดูงานยุโรป
- ศาลฎีกาพิพากษายืนอนุญาตเลิกจ้างแกนนำคนงานไทรอัมพ์ฯ
- ประวิตร โรจนพฤกษ์: รายงาน คอป. คือ ‘ความจริงที่เชื่อถือได้’?
- ศาลสรุป ‘สุไลมาน แนซา’ ผูกคอตาย ญาติถอนฟ้องแพ่ง เหตุได้ชดเชย 7.5 ล.แล้ว
- นักแสดง Innocence of Muslims ฟ้องผกก.หนัง ต้มตุ๋น-ทารุณทางใจ
- ชาวทวายจัดกิจกรรมต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย
- เครือข่ายเกษตรทางเลือก บุกกรมเจรจาฯ ยันไม่เอาทริปส์พลัส ชี้ผูกขาดเมล็ดพันธุ์
- ชาวคะฉิ่นในสหรัฐคว่ำบาตร "ออง ซาน ซูจี" รับรางวัลที่สภาคองเกรส
- 6 องค์กรสิทธิมนุษยชน-แรงงาน ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องปล่อย "สมยศ"
- SSA ยัน กองกำลังว้าปล่อยตัวทหารที่ถูกจับกุมหมดแล้ว
- “แอมเนสตี้” ชี้ยังมีผู้ถูกคุมตัวโดยพลการอีกมากในพม่า แนะรัฐบาลพม่าตั้งคณะทำงานทบทวนคดี
- นานาทัศนะ: ทำอย่างไร หากมีการ "ขัดขืนมติมหาชน" อีกครั้ง
- เลาะเลียบริมโขง: ลาว-อเมริกา ยังร่วมค้นหากระดูกจีไอต่อไป
- ASEAN Weekly: อาเซียนเอ็มโพเรี่ยม
- เสื้อแดงเชียงใหม่จัดรำลึก 6 ปี รัฐประหาร 19 กันยา
ปชป. ร้อง กมธ.-สมาคมสื่อสอบ กรณีขุนค้อนใช้งบ 7 ล้าน พาสื่อบินดูงานยุโรป Posted: 20 Sep 2012 11:26 AM PDT
กระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา พาสื่อมวลชนที่มีความใกล้ชิดจำนวน 39 คน เดินทางไปต่างประเทศตามโครงการดูงานรัฐสภา สื่อและวิชาการใน 3 ประเทศ ระหว่างวันที่ 19-27 กันยายน ที่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยียม ใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาทและอยู่ระหว่างเปิดสมัยประชุมสภา วันนี้ (20 ก.ย.55) ที่รัฐสภา นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาฯ กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องจากสื่อที่ลงข่าว ตนได้หารือกับเพื่อน กมธ.กิจการสภาฯ เห็นว่าสังคมและสื่อมวลชน โดยเฉพาะนักข่าวที่ทำงานสภาฯ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเชิญสื่อสายสภาฯจริงๆ ไปดูงานต่างประเทศ และกรณีนี้เป็นสื่อมวลชนจากที่ไหนไม่ทราบ และการดูงานครั้งนี้เป็น กมธ.ชุดไหน หรือไปในนามของ คณะทำงานอะไรที่อยู่ในสังกัดของประธานสภาฯ หรือไม่ โดยไม่มีใครรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร โดยเฉพาะการจ่ายค่าตั๋วดูฟุตบอลคู่ลิเวอร์พูลกับแมนฯ ยู ใครจะเป็นคนจ่าย หรือการล่องเรือหรูในแม่น้ำเซนน์ นอนโรงแรมหรูห้าดาว บุญยอดระบุว่า นอกจากนี้ นายจักรพันธุ์ ยมจินดา ตัวแทน อสมท ยังพาครอบครัวร่วมทัวร์ไปด้วย ร่วมทั้งคนในวอยซ์ ทีวี ที่ไปร่วมทริปถึง 5 คน และยังปรากฏบางสื่อไม่ใช่ของจริง ยกตัวอย่าง นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่ระบุว่าเป็นตัวแทนจากคมชัดลึก ก็ไม่เป็นความจริง ทั้งที่เขาเป็นอาจารย์จากรัฐศาสตร์ ที่จุฬาฯ และเป็นพิธีกรที่วอยซ์ทีวีร่วมด้วย ที่สำคัญการไปดูงานครั้งนี้ กลับไปในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ ทั้งที่ตามหลักปฏิบัติของการไปดูงานต่างประเทศของ กมธ.ฯ หรือของประธานสภาฯ จะไปในช่วงปิดสมัยประชุม ถือว่าไม่เหมาะสมเพราะกระทบต่อการทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยจะยื่นต่อ กมธ.กิจการสภา ให้ตรวจสอบกรณีนี้ นายบุญยอด กล่าวต่อว่า ส่วนที่อ้างไปดูงานเชื่อมความสัมพันธ์กัน ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ก็ไปร่วมงานประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ณ เกาะลอมบอก สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประธานสภาฯ ก็ใช้เวลาไป 1 สัปดาห์ หลังเสร็จงานนี้ก็ไปทัวร์ยุโรป คาบเกี่ยวเกือบ 2 สัปดาห์ รวมแล้วเกือบครึ่งเดือนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ ซึ่งนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ประธาน กมธ.กิจการสภาฯ รับทราบเรื่องแล้ว และมีความเห็นสอดคล้อง ก็รับเรื่องเพราะต้องการตรวจสอบการใช้งบประมาณครั้งนี้ จำนวน 7 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่าคืองบประมาณปี 55 ที่เหลือจ่ายที่ประธานสภาฯ กันเอาไว้ใช้ในทริปนี้โดยเฉพาะ โดยจะเชิญนายสมศักดิ์ และผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อ กมธ.ฯ กิจการสภาฯ ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หลังกลับจากทริปดังกล่าว และตนจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมของประธานสภาฯ ที่จะกระทบต่อความเป็นกลางหรือไม่ ทั้งนี้ บุญยอดได้เรียกร้องให้สมาคมนักข่าว ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ ตรวจสอบจริยธรรมของสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ที่ร่วมไปในลักษณะเช่นนี้ เพราะการเดินทางที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยให้เกือบ 2 แสนบาทว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ขอย้ำว่า วันนี้แมลงวันต้องตอมแมลงวัน เพราะหากไม่ทำ ก็จะเกิดคำถามต่อประชาชนและสังคมไทยในการทำหน้าที่ของสื่อบางส่วน และอาจจะรับไม่ได้ต่อพฤติกรรมของสื่อเช่นนี้ ด้าน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงว่า เดินทางไปจริงในฐานะนักวิชาการ เพื่อให้ความรู้เรื่องสภาและเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับอังกฤษ แต่มีความผิดพลาดในการจัดทำรายชื่อทำให้ไประบุว่าเป็นพนักงานของเนชั่น ขณะที่ จักรพันธุ์ ยมจินดา โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษจริงกับคณะกรรมการบริหารของ อสมท โดยจะอยู่ต่อเพื่อดูฟุตบอลกับสยามสปอร์ต ซึ่งสนิมสนมกับผู้ใหญ่ของสยามสปอร์ตเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ ชี้แจงว่า การเดินทางของภรรยาและลูกของตนนั้น ครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยังเป็นไปตามกำหนดเดิม โดยจะเดินทางไปอังกฤษ ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ และจะเดินทางกลับในวันที่ 26 ก.ย. แล้วจึงจะต่อเครื่องเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนทันที ทั้งนี้ยืนยันว่า การใช้งบประมาณของสภาไปดูงานนั้นมีความปกติ ชัดเจน และเหมาะสม ไม่ได้ถือเป็นการทุจริต และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ ไม่มีปัญหา เพียงแต่ยอมรับว่าครั้งนี้สื่อมวลชนไปได้ไม่ทั่วถึงเท่านั้นเอง ส่วนประเด็นที่ระบุว่า มีการใช้งบประมาณไปดูงานของสภาฯ ในทางที่ผิด มีการขนคนใกล้ชิดไปด้วยนั้น นายสมศักดิ์ระบุว่า ไม่เป็นความจริง ในส่วนของลูกสาวตนที่เดินทางไปด้วยใช้งบฯ ส่วนตัว ส่วนกรณีที่จะมีการเชิญตนและผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อ กมธ.ฯ กิจการสภาฯ ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หลังกลับจากทริปดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมของประธานสภาฯ ยืนยันว่า ไม่มีความหนักใจ และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ ไม่เป็นปัญหา
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 1, 2 เฟซบุ๊ก 1, 2
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศาลฎีกาพิพากษายืนอนุญาตเลิกจ้างแกนนำคนงานไทรอัมพ์ฯ Posted: 20 Sep 2012 10:27 AM PDT ศาลฎีกายืนอนุญาตเลิกจ้างแกนนำคงงานไทรอัมพ์ฯ ระบุไม่มี กม.กำหนดเกี่ยวกับการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงถึงสัดส่วนของคนงานในโรงงาน ตามที่อุทธรณ์ที่คนงานอ้าง เมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 ที่ศาลแรงงานกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ศาลฎีกา ได้อ่านคำพิพากษาคดีแรงงาน กรณีกรรมการลูกจ้าง 11 คน ของบริษัทบอดี้แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทไทรอัมพ์ฯ อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลแรงงานเมื่อปี 52 ที่อนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการทั้ง 11 คนได้ โดยศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำสั่งศาลแรงงาน คำพิพากษาของศาลฎีกายืนตามศาลแรงงานว่าอนุญาตให้ผู้ร้องคือบริษัทบอดี้แฟชั่น เลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง 11 คน ได้ โดยระบุว่าจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นเหตุให้ยอดสั่งซื้อและยอดจำหน่ายสินค้าของผู้ร้องลดลงจำนวนมาก ผู้ร้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ร้องปรับปรุงโครงสร้างหรือลดจำนวนลูกจ้างได้ โดยมีการเลิกจ้างในแผนกชุดว่ายน้ำที่ไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ ซึ่งกรรมการลูกจ้างจำนวนมากอยู่ในแผนกดังกล่าว รวมทั้งกรรมการลูกจ้างอีก 2 คน ได้ผลประเมินการทำงานที่ต่ำ นอกจากนี้ บริษัทได้จ่ายค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน ค่าชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 1 เดือน และสวัสดิการอื่นๆ แล้ว ศาลจึงเห็นว่ามีเหตุสมควรในการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทั้ง 11 คน ส่วนข้ออุทธรณ์ที่ระบุว่าต้องคำนึงถึงสัดส่วนของกรรมการลูกจ้างต่อจำนวนลูกจ้างที่เหลืออยู่ โดยควรเลิกจ้างลูกจ้างธรรมดาไปก่อน แล้วจึงพิจารณาเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเป็นทางสุดท้าย ศาลเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า การเลิกจ้างจะต้องคำนึงถึงจำนวนของลูกจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างที่คงมีอยู่ในสถานประกอบกิจการและจะต้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างภายหลังลูกจ้างธรรมดา ศาลจึงเห็นว่าข้ออุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น คนงานแย้ง รบ.ขณะนั้นมีนโยบายชะลอการเลิกจ้างกลับไม่ถูกใช้ บ.ไม่มีการเปิดอาสาสมัครก่อน นางวิภา กล่าวว่าการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างมากขนาดนี้ ย่อมส่งผลในความสามารถในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของของคนงานในโรงงานลดลงอย่างมาก น.ส.บุญรอด กล่าวว่า การเลิกจ้างต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่สหภาพแรงงานได้ทำไว้กับทางบริษัทด้วย ที่ต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงานก่อน เพื่อความเสมอภาคและความเป็นธรรม รวมทั้งต้องมีการเปิดเผยข้อมูลว่าการเลิกจ้างจะนำไปสู่อะไร ซึ่งทางบริษัทฯ ไม่ได้ทำตามข้อตกลงนี้ รวมถึงเมื่อเลิกจ้างแม้มีการจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่ก็ไม่ได้จ่ายตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มากกว่ากฎหมายกำหนด รวมทั้งในการเลิกจ้างนี้ก็ไม่ได้มีการเปิดให้มีการอาสาสมัครหรือการเลิกจ้างแบบสมัครใจก่อน ด้าน น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวเสริมด้วยว่า ในช่วงที่มีการเลิกจ้างจำนวนเกือบ 2,000 คน เมื่อปี 2552 นี้ เป็นช่วงที่อยู่ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีนโยบายชะลอการเลิกจ้าง โดยรัฐบาลในยุคนั้นอ้างว่ามีมาตรการป้องกันการเลิกจ้าง แต่กลับไม่สามารถทำได้จริง และเมื่อตนเองและคนงานไปยื่นจดหมายขอความช่วยเหลือกลับถูกดำเนินคดีอีก
สำรับฝ่ายผู้คัดค้านตามคำพิพากษาฯ ระบุว่า เป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ผู้ร้องได้รับผลกระบททางเศรษฐกิจบ้าง แต่ไม่มากนัก ลูกค้าทั่วโลกของผู้ร้องมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผู้ร้องได้รับผลกระทบกระเทือนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น เหตุที่ผู้ร้องเลิกจ้าง 1,930 คน เนื่องจากต้องการลดบทบาทของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และต้องการย้ายการผลิตไปที่โรงงานจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้อง ส่วนแผนกเย็บบางส่วนผู้ร้องนำไปจ้างโรงงานใกล้เคียงผลิตแทน ผู้ร้องไม่มีแผนการที่แน่นอนที่จะลดจำนวนลูกจ้างหรือปรับปรุงโครงสร้างกิจการทั่วโลก การเลิกจ้างดังกล่าวไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมหรือความเดือดร้อนของลูกจ้างและผู้ร้องไม่จัดโครงการสมัครใจลาออกก่อน จึงคัดเลือกลูกจ้างที่จะเลิกจ้างโดยผิดระเบียบ กรณีที่ลูกจ้างไม่มีประสิทธิภาพหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้ร้องสามารถหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ค.41 ม.75 ได้ การเลิกจ้างดังกล่าวผู้ร้องไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของพนักงาน ทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่โปร่งใสและมุ่งทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ขณะที่ผู้คัดค้านยื่นคัดค้านนั้น ผู้ร้องมีพนักงานกว่า 3,000 คน สามารถตั้งกรรมการลูกจ้างได้ 21 คน ตามเดิม ผู้คัดค้านดังกล่าวจึงจึงยังมีสถานะเป็นกรรมการลูกจ้างต่อไป การเลิกจ้างผู้คัดค้านย่อมทำให้พนักงานขาดตัวแทน ผู้ร้องต้องเลิกจ้างพนักงานธรรมดาก่อนแล้วจึงเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง จึงขอให้ยกคำร้อง ศาลแรงงานพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ลูกจ้างของผู้ร้องร้อยละ 90 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ผู้ร้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา คำนวณถึงปี 2551 รวมขาดทุนประมาณ 1,000,000,000 บาท ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ร้องปรับปรุงโครงสร้างหรือลดจำนวนลูกจ้างได้ ผู้ร้องพิจารณาเลิกจ้างลูกจ้างโดยพิจารณาผลประกอบการในแต่ละแผนก หากแผนกใดไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ก็จะยุบแผนกนั้น เช่น แผนกชุดว่ายน้ำและการประเมินลูกจ้างใช้วิธีการให้คะแนน ผู้คัดค้านส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในแผนกชุดว่ายน้ำ ส่วนผู้คัดค้านอีก 2 คนผลประเมินต่ำ ผู้ร้องตกลงให้สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า 2 เดือน ค่าชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 1 เดือน และเงินพิเศษอีก 7,500 บาท นอกจากนี้ ลูกจ้างยังสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ถึงสิ้นปี 2552 และลูกจ้างที่คลอดบุตรภายในเดือน ก.พ.53 สามารถใช้สิทธิประกันหรือเบิกค่ารักษาพยาบาลการคลอดบุตรได้เช่นเดิม อันเป็นการใช้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการหลังเลิกจ้างต่ออีก ผู้ร้องจึงมีเหตุสมควรเลิกจ้าง คำพิพากษาระบุด้วยว่าพิเคราะห์แล้วที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อำนาจศาลแรงงานในการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 45 วรรคสอง ประกอบ ม.46 (7) ซึ่งได้กำหนดแนวทางที่มาและจำนวนกรรมการลูกจ้างไว้ชัดแจ้ง ซึ่งในสถานประกอบการของผู้ร้องคณะกรรมการของสหภาพแรงงานเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างได้ 17 ถึง 21 คน กรรมการลูกจ้าง 5 คน จาก 16 คน ที่ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างยินยอมให้ผู้ร้องเลิกจ้างไปแล้ว จึงเหลือกรรมการลูกจ้างเพียง 11 คนที่ต่อสู้คดีอยู่การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างจะต้องยึดถือจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อผู้ร้องมีลูกจ้างเหลืออยู่ประมาณ 4,000 คน กรรมการลูกจ้างก็จะถูกแต่งตั้งโดยกรรมการสหภาพแรงงานเหมือนเดิม ผู้คัดค้านทั้ง 11 คน จึงเป็นกรรมการลูกจ้างต่อไปได้และกรรมการลูกจ้างมีหน้าที่ต้องประชุมร่วมกับผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องจะต้องส่งผู้คัดค้านทั้ง 11 คนไปเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ผู้ร้องควรเลิกจ้างลูกจ้างธรรมดาไปก่อน แล้วจึงเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้ง 11 คนเป็นทางสุดท้าย คำพิพากษาระบุว่า ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม.45 วรรคสอง และมาตรา 46 (7) นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับลักษณะคุณสมบัติและจำนวนคณะกรรมการลูกจ้างเท่านั้น หาใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอันเป็นเหตุพิพาทในคดีแต่อย่างใด โดยการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอันเป็นการคุ้มครองกรรมการลูกจ้างนั้น ต้องเป็นไปตาม ม.52 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กล่าวคือ นายจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนจึงจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ซึ่งศาลแรงงานจำต้องพิจารณาวินิจฉัยถึงมูลเหตุและความจำเป็นในการเลิกจ้างว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ตามพฤติการณ์แห่งคดีในแต่ละเรื่อง โดยพิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการกระทำของนายจ้างและกรรมการลูกจ้างประกอบเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า การเลิกจ้างจะต้องคำนึงถึงจำนวนของลูกจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างที่คงมีอยู่ในสถานประกอบกิจการและจะต้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างภายหลังลูกจ้างธรรมดา ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้ง 11 ที่เป็นกรรมการลูกจ้าง ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ประวิตร โรจนพฤกษ์: รายงาน คอป. คือ ‘ความจริงที่เชื่อถือได้’? Posted: 20 Sep 2012 09:54 AM PDT สมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและกรรมการคนสำคัญของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ที่ผ่านมาว่าตนอยากให้ถือว่ารายงาน คอป.ว่าด้วยการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษา-พฤษภา ปี 2553 และการสลายการชุมนุม เป็นรายงานที่เป็น 'ความจริงที่เชื่อถือได้' สำหรับผู้วิจารณ์ ความจริง 'ที่เชื่อถือได้' ควรอยู่บนพื้นฐานของการใช้วิธีการสรุปที่เชื่อถือได้ มีเหตุผลหลักฐาน และความพยายามเป็นกลางอย่างที่สุดของผู้ที่เข้ามาทำงาน ซึ่งผู้เขียนมองว่า คอป.แม้ดูเหมือนจะมีเจตนาดีแต่ก็มีปัญหาทั้งสองด้าน 1) ชายชุดดำกับการสรุปลอยๆ การสรุปลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานยืนยันพิสูจน์เจตนาของชายชุดดำ (ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงจำนวนมิน้อยเชื่อว่าชายชุดดำออกมาช่วยต่อสู้ช่วยชีวิตเขาในคืนนั้น) ไม่ได้ช่วยให้รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. น่าเชื่อถือ ในทางตรงกันข้าม มันกลับสร้างความไม่ไว้วางใจในหมู่คนเสื้อแดงมากขึ้น การสรุปเรื่องชายชุดดำอย่างลอยๆ นั้นต่างจากการใช้ภาษาและเหตุผลที่แม่นยำในหน้า 123 ที่ คอป.ไม่ได้สรุปลอยๆ แถมมีแหล่งอ้างอิงว่า การตายของ เสธ.แดงหรือ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล 'มีความเป็นไปได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการปิดล้อมและกระชับพื้นที่ชุมนุม' ในกรณีนี้ คอป. ไม่ได้สรุป แต่ใช้คำว่า 'มีความเป็นไปได้' ซึ่งสำหรับผู้วิจารณ์ เป็นการใช้ตรรกะที่แม่นยำเหมาะสม เพราะไม่มีหลักฐานมากไปกว่าการคาดคะเน ซึ่งต่างจากกรณีการฟันธงลอยๆ เรื่องเจตนาและเป้าหมายของชายชุดดำ (แถมในวันที่ 17 กันยายน 2555 ตอนท้ายของการเสนอรายงานของ คอป. ผู้วิจารณ์ถาม คอป. ว่ารายงานสรุปเรื่องชายชุดดำไปเช่นนั้นได้อย่างไร ก็ไม่มีคำตอบ แถม ประธาน คอป. นาย คณิต ณ นคร ก็รีบปิดการแถลงข่าวหน้าตาเฉย โดยบอกว่าเรื่องรายละเอียด คุยสามวันสามคืนก็ไม่จบ) 2) ความน่าเชื่อถือในความเป็นกลางของกรรมการและอนุกรรมการบางคน หลังจากนั้นนายคณิต ก็แต่งตั้ง นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผู้เคยส่ง e-mail ในปี 2549 ไปยังมิตรสหายเก่าว่าอย่าวิจารณ์กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหนักเกินไป แล้วในที่สุด พอมีการตั้งอนุกรรมการสอบสวน ซึ่งนายสมชายเป็นประธาน ก็ยังมีนำเอานายเมธา มาสขาว หนึ่งในรุ่นน้องคนสนิทของนายสุริยะใส กตะศิลา มาเป็นอนุกรรมการได้อย่างหน้าตาเฉย ประเด็นไม่ได้อยู่ที่นายเมธา มีความสามารถหรือไม่ แต่อยู่ที่หาก คอป. อยากให้สังคมทั้งสังคมเชื่อถือใน คอป.และรายงานของ คอป.อย่างแท้จริง คอป.พึงต้องหลีกเลี่ยงการแต่งตั้งคนที่ใกล้ชิดเสื้อสีใดสีหนึ่งมาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการตั้งแต่แรก น่าเสียดายที่งบกว่า 65 ล้านบาทของภาษีประชาชนที่ใช้ในการเขียนรายงานต้องเผชิญกับคำถามเรื่องความแม่นยำทางตรรกะในการเขียนรายงาน รวมถึงความเป็นกลางของคนทำงาน ทั้งๆ ที่รายงานก็มีข้อเสนอ 13 ข้อซึ่งรวมถึงการปฎิรูปกองทัพและกฎหมายมาตรา 112 ที่สังคมพึงสำเหนียกและเป็นประโยชน์ และอย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลที่ดำเนินการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมต้องตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริงและเสนอรายงานต่อสาธารณะ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่สำคัญซึ่งต่างจากสมัยหลังเหตุการณ์ พ.ค.2535 ซึ่งสาธารณะไม่มีโอกาสเข้าถึงรายงาน อย่างไรก็ตาม พอเกิดคำถามเรื่องการสรุปบางประเด็นที่สำคํญและความเป็นกลางของคนทำงาน คอป.ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดความจริงที่เชื่อถือโดยทุกฝ่ายโดยปราศจากข้อสงสัยได้ นี่ยังไม่รวมถึงการไม่สามารถสร้างความปรองดองหรือความล้มเหลวในการที่จะนำผู้อยู่เบื้องหลังความตายกว่าเก้าสิบศพมารับผิด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศาลสรุป ‘สุไลมาน แนซา’ ผูกคอตาย ญาติถอนฟ้องแพ่ง เหตุได้ชดเชย 7.5 ล.แล้ว Posted: 20 Sep 2012 08:59 AM PDT ศาลปัตตานีสั่งคดีไต่สวนการตายผู้ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร สรุป 'สุไลมาน แนซา' ผูกคอจนขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ไร้พยานยืนยันถูกฆาตกรรม บิดาถอนฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เหตุได้เงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทแล้ว
ศาลมีคำสั่งสรุปว่า นายสุไลมาน เสียชีวิตจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง เนื่องจากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวผูกติดกับเหล็กดัดหน้าต่างระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตามหน้าที่ โดยนายสุไลมานเสียชีวิตในช่วงเวลาระหว่างหลังเที่ยงคืนของวันที่ 29 พฤษภาคมถึงก่อนเที่ยงวันของวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 คดีนี้ศาลได้พิจารณาจากเหตุผล 3 ประเด็น ประเด็นแรก จากผลการตรวจสอบดีเอ็นเอ (รหัสพันธุกรรม) จากคราบเลือดที่พบบนผ้าใช้ในการผูกคอตายกับก้านสำลีที่ใช้ในการตรวจสอบดีเอ็นเอ พบว่า เป็นดีเอ็นเอเดียวกันซึ่งเป็นดีเอ็นเอของนายสุไลมาน และไม่พบดีเอ็นเอของผู้อื่นอยู่ด้วย ประเด็นที่สอง ตามคำเบิกความของพยานฝ่ายผู้ร้องคัดค้าน คือ นายอับดุลกอเดร์ บากา ซึ่งถูกควบคุมตัวช่วงเดียวกัน เบิกความว่า ในคืนที่เกิดเหตุ ตนได้ยินเสียงรถยนต์ขับเข้ามายังบริเวณหน้าห้องพักของนายสุไลมาน จากนั้นได้ยินเสียงโครมภายในห้อง อีกทั้งยังได้ยินเสียงคน 2 คน สนทนากันว่า เสร็จหรือยัง เร็วๆ หน่อย จากนั้นเสียงรถยนต์ขับออกไป แต่จากการเบิกความของนายอารอบี รือสะ ผู้ถูกควบคุมตัวอีกคน ซึ่งพักอยู่ที่ห้องข้างห้องพักนายสุไลมาน เบิกความว่า ในคืนเกิดเหตุไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย "ดังนั้น ศาลเห็นว่าการเบิกความของนายอับดุลเดร์เป็นเพียงแค่ได้ยินเสียงเท่านั้น ไม่ได้เห็นด้วยสายตา ฉะนั้นต้องฟังอย่างระมัดระวัง" ประเด็นที่สาม เลือดที่ไหลออกจากรูทวารหนักของนายสุไลมาน ตามคำเบิกความของแพทย์หญิงเปมิกา ตักขะนา แพทย์จากโรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี ให้ความเห็นว่า คนที่ผูกคอตายจะไม่ควรมีเลือดไหลออกจากทวารหนัก ส่วน พ.ท.เอกพล นิพัฒน์คุโณปการ แพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ให้ความเห็น 2 ประการ ประการแรก เมื่อคนตายไปแล้วหูรูดของทวารหนักอ่อนตัว มีโอกาสที่เลือดจะไหลออกมาได้ก็ต่อเมื่อริดสีดวงแตกหรือเป็นแผลในลำไส้ ประการที่สอง หากมีเลือดไหลออกมา อาจเกิดจากการถูกกระทบจากการทำร้ายหรือทุบตีอย่างรุนแรงบริเวณท้องและกระดูกเชิงกราน แต่หากถูกกระทำอย่างรุนแรง จะต้องปรากฏร่องรอยหรือบาดแผลบริเวณผิวหนัง แต่จากการตรวจชันสูตรพลิกศพนายสุไลมาน ไม่พบร่องรอยบาดแผลตามผิวหนังแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับให้ความเห็นของนายแพทย์มาฮะมะอับดุลนาเซร์ นิรีย์ แพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี ที่ให้ความเห็นว่า ช่วงแรกๆ ของการเสียชีวิตจะไม่มีเลือดไหลออกมา แต่ผ่านไปนานๆ เข้าอาจจะมีเลือดไหลออกมาได้ โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัว ประกอบกับการชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของนายสุไลมาน เป็นการชันสูตรพลิกศพต่อหน้าบรรดาญาติของผู้ที่เสียชีวิต ต่อหน้านักสิทธิมนุษยชน และต่อหน้าผู้สื่อข่าว และที่สำคัญแพทย์เหล่านี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นายเจ๊ะแว แนซา บิดานายสุไลมาน เปิดเผยว่า เมื่อศาลมีคำสั่งสรุปได้ว่าเหมือนเป็นการฆ่าตัวตายไม่ใช่เป็นการฆาตกรรม ก็จะต้องกลับไปปรึกษาหารือกับครอบครัวก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนคดีที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 วงเงิน 2,000,000 บาท ขณะนี้ได้ให้ทนายถอนฟ้องไปแล้ว เนื่องจากได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เป็นเงิน 7.5 ล้านเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นักแสดง Innocence of Muslims ฟ้องผกก.หนัง ต้มตุ๋น-ทารุณทางใจ Posted: 20 Sep 2012 08:42 AM PDT ซินดี้ ลี การ์เซีย นักแสดงหญิงในภาพยนตร์อื้อฉาว Innocence of Muslims ฟ้องร้อง ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ในข้อหาต้มตุ๋น, หมิ่นประมาท และทารุณทางจิตใจ เผยถูกหลอกว่าเป็นภาพยนตร์แนวผจญภัย
ซินดี้ ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยฟ้องบุคคลดังกล่าวในข้อหาต้มตุ๋นหลอกลวง, หมิ่นประมาท และกระทำทารุณทางจิตใจโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซินดี้ ฟ้องชายผู้ต้องสงสัยคือ นาคูลา บาสเซลีย์ นาคูลา ชาวอียิปต์นิกายคอปต์อายุ 55 ปี ที่อาศัยอยู่ในลอสแองเจลลิส สหรัฐอเมริกา ในข้อหาต้มตุ๋นหลอกลวง ซึ่งนาคูลายอมรับว่าเขาเป็นคนผลิตวิดีโอล้อเลียนศาสดาของศาสนาอิสลามจริง โดยที่สื่อของสหรัฐฯ เปิดเผยว่านาคูลาเขียนบทและกำกับวีดิโอดังกล่าวโดยใช้ชื่อแซม บาไซล์ ก่อนถูกจับได้ คำร้องระบุว่า "บาไซล์เสนอต่อเธอว่าภาพยนตร์ที่ทำอยู่เป็นภาพยนตร์แนวผจญภัยเกี่ยวกับอียิปต์โบราณ" เมื่อวันศุกร์ (14 ก.ย.) ที่ผ่านมาเขาถูกตำรวจสอบสวน ก่อนที่จะหนีไปหลบซ่อนตัวกับครอบครัว
ทนายความของซินดี้บอกว่าเธอถูกขู่เอาชีวิต จึงได้ขอศาลให้มีคำสั่งต่อยูทูปให้นำวิดีโอดังกล่าวออก "เธอกลายเป็นเหยื่อของการขู่เอาชีวิตและเป็นห่วงความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง รวมถึงสวัสดิภาพของคนที่เกี่ยวข้องกับเธอ" คำร้องระบุไว้ และยังได้บอกอีกว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้พบหลานของเธอหลังจากที่วิดีโอถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว หัวหน้าองค์กรโทรทัศน์การกุศลของชาวคริสเตียน มีเดีย ฟอร์ คริสต์ ถูกตรวจพบว่าเป็นผู้ทำงานด้านโปรดักชั่นเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ และเขาบอกเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมาเช่นกันว่าเขาถูกโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้หลอกลวง โดยถูกหลอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับ "การไล่ล่าชาวคริสเตียน"
ลิลลี่ ดิออน ที่เพิ่งเข้ามาที่ฮอลลิวูดเพื่อหางานด้านการแสดงบอกว่า นาคูลา ดูเป็นคนที่ควบคุมโครงการภาพยนตร์ชิ้นนี้ทั้งหมด "เขามีวิสัยทัศน์ ...เขาต้องการให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามทางที่กำหนดไว้" ลิลลี่กล่าว "เขารู้ว่าเขากำลังอะไรอยู่ เขาเล่นตบตาพวกเรามาโดยตลอด" ลิลลี่พูดเกี่ยวกับพล็อตเรื่องว่า "พวกเราสงสัยกันว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร พวกเขาพูดกันถึงแต่จอร์จ ซึ่งนี่มันเป็นฉากตะวันออกกลางเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว จะมีใครชื่อจอร์จ" ต่อมาในช่วงโพสท์โปรดักชั่น ลิลลี่และนักแสดงคนอื่นๆ ถูกเรียกตัวมาให้เสียงพากย์ คำบางคำยกตัวอย่างเช่น "มูฮัมหมัด" ถูกให้อัดเสียงเปล่าๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้บริบทใดๆ นักแสดงหญิงอีกคนหนึ่งคือ แอนนา เกอจี บอกว่าเธอเข้าคัดตัวนักแสดงเมื่อปีที่แล้วในฐานะนักแสดงบทรองของภาพยนตร์ที่เธอบอกว่าเป็น "ภาพยนตร์อินดี้ทุนต่ำ...เรื่องเกี่ยวกับดาวตกที่กำลังพุ่งลงมาในเขตทะเลทรายและกลุ่มชนเผ่าโบราณต้องต่อสู้กับมัน..." "ปีต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกพากย์ทับ (โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดง) คำพูดในบทถูกเปลี่ยนไปมากและภาพยนตร์ถูกแปลงให้กลายเป็นภาพยนตร์ต่อต้านศาสนาอิสลาม" แอนนากล่าว "แม้กระทั่งชื่อตัวละครก็ถูกเปลี่ยน และตัวละครที่ฉันเข้าร่วมฉากด้วยคือจอร์จ ก็กลายเป็นมูฮัมหมัด" แอนนากล่าวในจดหมายถึงนักเขียนชาวอังกฤษ นีล ไกแมน ซึ่งเขาโพสต์ลงในบล็อก จนถึงตอนนี้มีคนมากกว่า 30 คนแล้วที่ถูกสังหารในการโจมตีและเหตุประท้วงรุนแรงกรณีภาพยนตร์ Innocence of Muslims
ที่มา Actress sues over anti-Islam video, 20-09-2012, Aljazeera
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ชาวทวายจัดกิจกรรมต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย Posted: 20 Sep 2012 07:01 AM PDT ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่เพื่อต่อต้านโครงการฯ หมู่บ้านกาโลนท่าทวงถาม "เต็ง เส่ง" ถึงบัญญัติหลัก 4 ข้อ เกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติ ชาวกระเหรี่ยงติดป้าย "หยุดสร้างมาบตาพุดอีกแห่งในทวาย" 20 กันยายน 55 แหล่งข่าวจาก Dawei Development Association หรือ สมาคมพัฒนาทวายรายงานสถานการณ์จากในพื้นที่ทวายว่า ช่วงระหว่างสองวันมานี้ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในแคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของพม่า ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่เพื่อต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่พวกเขาบอกว่า เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เก็บน้ำเพื่อนำไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรม มีประชาชนประมาณ 1,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ได้รวมตัวกันเพื่อติดตั้งรูปของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง กับข้อความ "บัญญัติหลัก 4 ข้อ เกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติ" ที่ท่านประธานาธิบดีเคยดำริไว้ว่า การลงทุนจากต่างประเทศจะต้อง 1.ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนพม่า 2.ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งรัฐ 3.ปกป้องอธิปไตยของชาติ และสี่ 4.การลงทุนของต่างชาติต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง เมื่อเช้าของวันนี้ (20 ก.ย.55) ชาวกะเหรี่ยงนับร้อยคนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายกับยังประเทศไทย ซึ่งมีประชาชนกว่า 1,500 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ก็ได้รวมตัวกันติดตั้งป้ายประท้วงขนาดใหญ่ที่มีข้อความทั้งภาษากะเหรี่ยง พม่า และอังกฤษว่า "Stop building another Map Ta Phut in Dawei" ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "หยุดสร้างมาบตาพุดอีกแห่งในทวาย" หมายเหตุอ่านเพิ่มเติม: จากมาบตาพุดถึงทวาย การพัฒนาหรือทำลายข้ามพรมแดน (คลิก) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เครือข่ายเกษตรทางเลือก บุกกรมเจรจาฯ ยันไม่เอาทริปส์พลัส ชี้ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ Posted: 20 Sep 2012 06:58 AM PDT เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก บุกกรมเจรจาฯ ยืนยันไม่เอาทริปส์พลัส ชี้เอื้อผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ทำลายเกษตรกรรายย่อย (20 ก.ย.55) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า วันนี้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือเรื่องการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ในช่วงเช้าเป็นประเด็นสินค้าแอลกอฮอร์ ในช่วงบ่ายคือประเด็นทรัพยากรชีวภาพ โดยมีนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาฯเป็นประธานในที่ประชุมแทนนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดี สำหรับการหารือในห้องประชุม ประเด็นแอลกอฮอร์ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การลดภาษีแอลกอฮอล์ตามข้อเรียกร้องของทางสหภาพยุโรปที่มีมาก่อนหน้าคือ ลดภาษีไป 90% ภายใน 7 ปีนั้น จะทำให้เพิ่มจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ และจะมีผลกระทบต่อความพยายามควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ ดร.ทิพิชา โปษยานนท์ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบยุทธศาสตร์การควบคุมแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้ขัดขวางการเจรจาการค้า เพียงแต่ไม่ควรเจรจาการค้าในสินค้าที่ทำลายสุขภาพเช่นเหล้าและบุหรี่ ขณะที่ภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้ายื่นหนังสือไม่เข้าร่วมประชุมเพราะเห็นว่าจัดอย่างเร่งด่วน ไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ เกรงว่าจะเป็นการจัดแค่พิธีกรรมเท่านั้น ในประเด็นทรัพยากรชีวภาพ ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรมกว่า 30 คนได้ถือป้ายมีข้อความว่า "No TRIPS Plus ทริปส์พลัสเอื้อผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ทำลายเกษตรกรรายย่อย" เข้าไปในห้องประชุมด้วย พร้อมกับยื่นจดหมายเปิดผนึกมีสาระดังนี้ 'ไม่เพียงแต่เรื่องยาราคาแพงที่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องแบกรับเพิ่มขึ้นแล้ว การยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus/ทริปส์พลัส) จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการผลิตเกษตรกรรมและอาหารที่มั่นคงยั่งยืน ตลอดจนเกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ด้วยข้อตกลงที่ตั้งเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด เช่น ประเทศที่เข้าเป็นภาคีต้องเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ยู ปอพ 1991 (UPOV 1991) ซึ่งก็คือการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์อย่างเข้มงวด บีบบังคับให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ต้องการเพาะปลูก การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์พืชมีราคาสูงขึ้นไปอีก เป็นการขยายอำนาจการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ในขณะนี้บรรษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรในประเทศและสาขาของบรรษัทข้ามชาติ ได้ครอบครองธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชผักเอาไว้แล้ว ข้อเรียกร้องของยุโรปยังมีผลทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการจดสิทธิบัตรจุลชีพให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าจะสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้โดยง่าย เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในยุโรปเข้ามาครอบครองทรัพยากรจุลินทรีย์ในประเทศ ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยประมาณการว่าศักยภาพทาง เศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ของประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 – 6 แสนล้านบาท/ปี ทั้งนี้ ยังไม่นับผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น การละเมิดสิทธิของเกษตรกร ที่ต่อไปหากจะทำน้ำหมักชีวภาพอาจต้องขึ้นศาลพิสูจน์ว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำหมักชีวภาพนั้นไม่ใช่สิทธิบัตรของผู้ใด' ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรฯ ยืนยันคัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเอาชีวิตความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย และความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารทุกระดับไปแลกกับผลประโยชน์ทางการค้าของคนไม่กี่กลุ่ม และขอเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนซึ่งได้มีการจัดทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว จัดส่งไปให้คณะรัฐมนตรี และกรอบการเจรจาจะต้องระบุอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการคุ้มครองการผูกขาด ผ่านความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าพันธกรณีในองค์กรการค้าโลก (No TRIPs Plus) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเที่ยงมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเกือบ 100 คน มาขอพบนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ เพื่อมามอบตั๋วเครื่องบินจำลองขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการเดินทางขาเดียวให้นางศรีรัตน์ได้ลาพักร้อน นายอภิวัตน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เป็นผู้อ่านจดหมายขอลาพักร้อนโดยระบุว่า "รู้สึกเห็นใจอธิบดีกรมเจรจาฯ ที่ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันของอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ที่อยากคงสิทธิ GSP ผนวกกับแรงละโมบของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่เทียวมากดดันเช้าสายบ่ายเย็นได้ จึงอนุญาตลาพักร้อนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจนกว่าจะไปรับตำแหน่งใหม่ที่กรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อที่นางศรีรัตน์จะได้จะทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีจุดยืนมากกว่านี้" โดยมีนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาเป็นผู้รับมอบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ชาวคะฉิ่นในสหรัฐคว่ำบาตร "ออง ซาน ซูจี" รับรางวัลที่สภาคองเกรส Posted: 20 Sep 2012 02:06 AM PDT โดยให้เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมว่าเป็นเพราะสถานการณ์สู้รบในรัฐคะฉิ่น ขณะที่สื่อคะฉิ่นระบุสาเหตุมาจาก "ออง ซาน ซูจี" เลี่ยงพูดถึงปัญหารัฐคะฉิ่นระหว่างการปาฐกถาที่ลอนดอน ขณะเดียวกันอดีตนักโทษการเมืองจากรัฐฉานก็ตำหนิฝ่ายค้านและซูจีที่เมื่อมีตำแหน่งในสภาแล้ว ก็ไม่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน
ชาวคะฉิ่นในสหรัฐประกาศไม่เข้าร่วมพิธีรับรางวัลที่สภาคองเกรสของออง ซาน ซูจี องค์กรชาวคะฉิ่นในสหรัฐอเมริการะบุว่าได้คว่ำบาตรการรับรางวัลของนางออง ซาน ซูจีที่สภาคองเกรส ที่จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ขณะเดียวกันได้เรียกร้องนางออง ซาน ซูจีให้พูดและใช้การจูงใจของเธอในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างชาวคะฉิ่นและรัฐบาลพม่า โดยผู้นำของพันธมิตรคะฉิ่นสหรัฐอเมริกา (Kachin Alliance USA หรือ KA-USA) ระบุในจดหมายเปิดผนึกว่าทางกลุ่มได้ปฏิเสธคำเชิญไปร่วมงานดังกล่าวที่อาคาร capitol's Rotunda ของสภาคองเกรส ซึ่งคาดหมายว่าในงานจะมีสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกาและนานาชาติไปทำข่าว "อย่างไรก็ตาม พวกเราชาวคะฉิ่นไม่สามารถที่จะเข้าร่วมได้ เราสนใจความทุกข์ยากที่ไม่ถูกนำมาเปิดเผยของพี่น้องในรัฐคะฉิ่นที่กำลังดำเนินอยู่" "เรารู้สึกว่าเป็นการไม่เหมาะสมสำหรับพวกเรา ที่จะไปปลื้มปิติยินดี และเฉลิมฉลองเมื่อประชาชนหลายพันคนต้องพลัดถิ่นที่อยู่เนื่องจากมีการต่อสู้รอบใหม่ และอยู่ในภาวะที่ต้องการความจำเป็นพื้นฐานสำหรับมนุษย์อย่างยิ่ง เมื่อพวกเขาต้องอยู่กับความหวาดกลัวที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน เมื่อเจ้าหน้าที่จีนได้รื้อถอนค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดนและส่งพวกเขากลับเข้าสู่พื้นที่ขัดแย้ง เมื่อสิทธิของพวกเขาถูกละเมิด ซึ่งเกิดขึ้นแม้แต่ในพื้นที่ศักดิสิทธิ์ของค่ายอพยพที่ดูแลโดยโบสถ์ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าควบคุม" จดหมายดังกล่าวระบุ จดหมายดังกล่าวเรียกร้องให้ออกซาน ซูจี ให้ความสนใจความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่นมากขึ้นและออกมาปกป้องผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่น โฆษกของ KA-USA ซาง กุม ซัน (Nsang Gum San) ให้สัมภาษณ์ว่าเคยเรียกร้องไปยังออง ซาน ซูจีให้ช่วยเหลือและหาทางออกระยะยาวให้กับปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์
สื่อคะฉิ่นระบุเหตุไม่พอใจมาจาก "ออง ซาน ซูจี" เมินพูดเรื่องปัญหาในรัฐชนกลุ่มน้อย ในขณะที่สำนักข่าวคะฉิ่น (KNG) ระบุว่า กรณีที่ออง ซาน ซูจี ปฏิเสธที่จะพูดย้ำเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อปฏิบัติการทางทหารในรัฐคะฉิ่น ได้ทำให้ชาวคะฉิ่นจำนวนมากไม่พอใจ ในขณะเดียวกัน องค์กรสิทธิมนุษยชนชั้นนำรวมทั้งฮิวแมนไรท์ วอช (HRW) ได้ให้รายละเอียดลงไปในรายงานที่ระบุว่ากองทัพพม่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อชาวคะฉิ่น ในขณะที่ออง ซาน ซูจีเองก็เลี่ยงที่จะวิจารณ์ปฏิบัติการของทหารในรัฐคะฉิ่น ก่อนหน้านี้ในการปาฐกถาที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ออง ซาน ซูจีกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นยังคลุมเครือเพราะว่าขาด "ผู้สังเกตการณ์อิสระ" ในพื้นที่ ซึ่งได้ทำให้สถานการณ์ที่นั่น "เหมือนกับข้อกล่าวหาต่างๆ ออกมาจากทิศทางที่ต่างๆ กัน" "ถ้าถึงคราวที่จะประณาม เราจำเป็นต้องรู้ให้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่เราจะประณามคนกลุ่มเดียว หรือกลุ่มอื่นๆ" ออง ซาน ซูจี กล่าว "การคลี่คลายความขัดแย้งไม่ใช่การประณาม แต่เป็นการสืบค้นอย่างถึงรากและสาเหตุของปัญหา และค้นหาว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาด้วยหนทางที่ดีที่สุดและเป็นไปได้" ทั้งนี้สำนักข่าว KNG ได้อ้างคำพูดของนักสิทธิมนุษยชนชาวคะฉิ่นคนหนึ่งที่กล่าวว่า "เป็นไปได้อย่างไรที่ออง ซาน ซูจีจะไม่รู้เกี่ยวกับรายงานของฮิวแมนไรท์ วอช เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามในรัฐคะฉิ่น เธอจำเป็นที่จะต้องออกมาพูด และวิจารณ์กองทัพ หรือจะให้ประชาชนคะฉิ่นไม่ต้องเชื่อถือในตัวเธออีก" ทั้งนี้กองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIA ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2537 และได้พื้นที่ปกครองตนเองบริเวณชายแดนรัฐคะฉิ่นติดกับจีน อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปี 2553 หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border guard force - BGF) ตามคำสั่งของกองทัพพม่า และได้เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 เมื่อทหารพม่ามากกว่า 200 นาย ได้ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA และโจมตีฐานของทหารคะฉิ่น โดยจากข้อมูลของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 90,000 คน
นักการเมืองรัฐฉานตำหนิฝ่ายค้านพม่ารวม "ออง ซาน ซูจี" ไม่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ ขณะเดียวกัน ขุนทุนอู ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งในปี 2533 และเป็นอดีตนักโทษการเมืองซึ่งถูกจองจำหลายปี โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างเดินทางในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ให้สัมภาษณ์อิระวดีด้วยว่า "ฝ่ายค้านในสภารวมทั้งออง ซาน ซูจี ถูกรัฐบาลพม่าลดบทบาทไปแล้ว ด้วยการให้ตำแหน่งในสภา ดังนั้นเธอจะไม่พูดถึงสิทธิของประชาชนอีกต่อไป" ขุนทุนอู กล่าวระหว่างแถลงข่าวที่วอชิงตัน ทั้งนี้ขุน ทุน อู พร้อมด้วยนักกิจกรรมในพม่าอย่างเช่น จอ ตู่ พญ.ซินเธีย หม่อง หรือหมอซินเธียจากแม่ตาวคลินิก และอ่อง ดิน เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อรับรางวัลของสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ (NED) ของรัฐสภาสหรัฐ ที่สภาคองเกรสเช่นกัน ซึ่งออง ซาน ซูจีเองก็มีกำหนดการที่จะไปกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีนี้ ในการตอบคำถามสื่อมวลชน ขุนทุนอูกล่าวด้วยว่า "ความเชื่อถือในตัวเธอ (ออง ซาน ซูจี) ได้ลดลง" ขุนทุนอู กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพม่าพยายามลดบทบาทคนที่พยายามพูดต่อต้านรัฐบาลด้วยการให้ตำแหน่งในฝ่ายบริหาร รัฐสภา หรือองค์กรต่างๆ "ถ้านางยังเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้ เธอไม่ยอมพูดอะไรเพื่อสาธารณะ" ขุนทุนอูกล่าว พร้อมกันนี้ยังไม่เห็นด้วยกับถ้อยแถลงของออง ซาน ซูจีเรื่องสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตามองค์กรในสหรัฐอมริกาอย่าง "Barma Task Force" ยังคงยืนยันว่าจะจัดชุมนุมกว่า 100 พื้นที่ทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ออง ซาน ซูจีมาเยือน "พวกเราเคารพออง ซาน ซูจีอย่างยิ่ง ต่อการต่อสู้ของเธอ และการอุทิศเพื่อประชาธิปไตยในพม่า" นพ.ชาอิก อูเบด สมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มกล่าว "พวกเราจะชุมนุมใน 7 เมืองที่ออง ซาน ซูจีจะไปเยือนเพื่อแสดงความสมานฉันท์กับการต่อสู้ของเธอ และเรียกร้องให้เธอพูดเพื่อชาวโรฮิงยาและพลเมืองคนอื่นๆ" เขากล่าว ทั้งนี้ ออง ซาน ซูจี อยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อรับเหรียญทองสดุดีจากสภาคองเกรส ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดในระดับพลเรือนซึ่งมอบโดยสภาคองเกรส โดยเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ ออง ซาน ซูจีได้รับรางวัลขณะถูกกักบริเวณ โดยออง ซาน ซูจี กล่าวสุนทรพจน์หลังรับรางวัลว่าถือเป็นหนึ่งในวันที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดในชีวิต "ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่นี่ในขณะนี้ ด้วยความรับรู้อย่างเต็มเปี่ยมว่า ข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางหมู่มิตรสหายที่จะอยู่กับเรา ขณะที่เรายังคงเดินหน้าภารกิจสร้างชาติ ซึ่งจะมอบสันติภาพและความมั่นคั่ง รวมทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองจากหลักนิติธรรม แก่ผู้ที่อยู่ในดินแดนนั้น" โดยภายหลังรับรางวัลออง ซาน ซูจี ได้พบปะกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา ซึ่งทั้งคู่ต่างได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นกัน ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Kachin group boycotts Suu Kyi award ceremony, Wednesday, 19 September 2012 15:07 Mizzima News Suu Kyi 'Neutralized': Shan Leader, By LALIT K JHA / THE IRRAWADDY| September 20, 2012 Aung San Suu Kyi awarded US congressional medal, The Guardian, September 20, 2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
6 องค์กรสิทธิมนุษยชน-แรงงาน ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องปล่อย "สมยศ" Posted: 20 Sep 2012 01:34 AM PDT องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน 6 องค์กร ได้แก่ สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) องค์การสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (World Organisation Against Torture: OMCT) องค์กรผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง (Civil Rights Defender) ฟรีดอมเฮ้าส์ (Freedom House) โครงการรณรงค์เพื่อเสื้อผ้าที่สะอาดปลอดการกดขี่ (Clean Clothes Campaign) และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที หลังจากถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนนาน 17 เดือน หากถูกตัดสินลงโทษ เขาอาจต้องโทษจำคุกสูงถึง 30 ปี ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าตีพิมพ์บทความสองชิ้นที่เป็นการหมิ่นเบื้องสูง องค์กรเหล่านี้ยังเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และให้ยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ และการควบคุมตัวโดยพลการเพื่อหาทางเอาผิดทางอาญาหรือเป็นการจำกัดการแสดงออกอย่างเสรี ผลการไต่สวนคดีนายสมยศเป็นเหมือนบททดสอบเจตจำนงของประเทศไทยที่จะคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก องค์กรเหล่านี้กล่าว นายสมยศได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำนับแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนเมษายน 2554 ห้าวันหลังจากเขาเริ่มรณรงค์รวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การควบคุมตัวนายสมยศระหว่างรอการไต่สวนเป็นเวลานาน ขัดแย้งอย่างชัดเจนกับพันธกรณีของประเทศไทยที่จะต้องงดเว้นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ในวันที่ 18 กันยายน ศาลอาญาเลื่อนการรับฟังคำพิจารณาในคดีของเขาซึ่งเดิมกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 19 กันยายนออกไป เป็นเหตุให้เขาจะต้องถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนโดยไม่มีกำหนด ศาลอาญาไม่ได้แจ้งเหตุผลต่อการเลื่อนการอ่านคำพิพากษา (หมายเหตุจากประชาไท: การเลื่อนดังกล่าวเป็นการเลื่อนอ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการยื่นให้ตีความว่า มาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค. ทั้งนี้ การอ่านคำพิพากษา จะทำได้ต่อเมื่อทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว) ในช่วงสองปีที่ผ่านมาศาลไทยปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมให้จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการประกันตัว ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ได้เตือนรัฐต่างๆ ว่า การควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนอาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่จะมีอิสรภาพและการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยห้ามการใช้คำพูดหรือการแสดงออกที่เป็นการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" และมีการนำกฎหมายนี้มาบังคับใช้เหนือบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศในการคุ้มครองมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก ภาคประชาสังคมของไทย ครอบครัวของผู้ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีการอภิปรายต่อสาธารณะเพื่อปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในระหว่างการพิจารณารายงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ตามกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระ หรือ Universal Periodic Review โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) บรรดารัฐภาคีได้มีข้อเสนอแนะสิบกว่าข้อให้ประเทศไทยแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมุ่งเอาผิดทางอาญาต่อการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสี่คนรวมทั้งนายสมยศ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมาตรา 112 ในวันที่ 19 กันยายน นายสมยศคาดหวังว่าจะได้ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยสอดคล้องกับหลักประกันเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่ ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) "เน้นย้ำข้อเรียกร้องต่อรัฐทุกแห่งให้ลดการเอาผิดทางอาญาต่อการหมิ่นประมาท" ตามถ้อยความในรายงานของผู้รายงานพิเศษ (A/HRC/17/27) ที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ส่วนปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) คุ้มครองสิทธิ "ที่จะนำเสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงการทำงานต่อหน่วยงานและองค์กรของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และสามารถเรียกร้องให้สังคมติดตามการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน" ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เอาผิดทางอาญามากขึ้นต่อนักเขียนและบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์บทความซึ่งทางการถือว่าเป็นการหมิ่นเบื้องสูง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
SSA ยัน กองกำลังว้าปล่อยตัวทหารที่ถูกจับกุมหมดแล้ว Posted: 19 Sep 2012 11:08 PM PDT เจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ SSA ยัน กองกำลังว้า UWSA ปล่อยตัวทหาร SSA ที่ถูกควบคุมไว้พร้อมกับอาวุธทั้งหมดแล้ว เผยกองกำลังว้าเข้าใจผิดอ้าง SSA รุกล้ำพื้นที่ กล่าวหาว้าเกี่ยวข้องยาเสพติด และจับกุมคนบริษัทเครือข่ายของว้า รายงานข่าวจากชายแดนแจ้งว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา กองกำลังว้า UWSA ได้ประสานมายังกองกำลังไทใหญ่ SSA เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับทหารที่ถูกควบคุมตัวไว้นั้น ต่อมาในวันที่ 16 ก.ย. เจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ SSA จำนวน 5 นาย นำโดย พ.ต.วันหลี พ.ต.ตืนเครือ ได้ไปพบผู้นำกองกำลังว้าที่รับผิดพื้นที่ ที่บ้านห้วยอ้อ เขตอำเภอเมืองโต๋น ตรงข้ามอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ฝ่ายผู้นำว้ามี หยางก่อโจง ต้าเนิง ต้าสามซอย และ ต้าลุย
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ SSA คนหนึ่งประจำบริเวณชายแดนไทย-พม่า (รัฐฉาน) ด้านตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวยืนยันว่า กองกำลังว้า UWSA ได้ปล่อยตัวทหาร SSA พร้อมอาวุธทั้งหมดแล้ว ซึ่งการปล่อยตัวมีขึ้นหลังทาง SSA ได้พยายามประสานทำความเข้าใจกับกองกำลังว้า ส่วนสาเหตุที่กองกำลังว้าได้ควบคุมตัวทหารไทใหญ่ SSA นั้น ทางฝ่ายกองกำลังว้าอ้าง 3 สาเหตุ คือ 1. SSA รุกล้ำพื้นที่ 2. SSA กล่าวหาว้าเกี่ยวข้องยาเสพติด 3. SSA จับกุมคนในบริษัทหงปัง ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายกองกำลังว้า ซึ่งข้อกล่าวทั้งหมดเป็นการเข้าใจผิด และหลังจากมีการชี้แจงทางฝ่ายกองกำลังว้าจึงเข้าใจและปล่อยตัวทหารของ SSA
ทั้งนี้ ทหารไทใหญ่ SSA ได้ถูกทหารกองกำลังว้า UWSA ควบคุมตัวจำนวน 19 นายตามคำระบุของกองกำลังว้า UWSA ขณะเข้าไปสร้างฐานบริเวณดอยโป่งผา โป่งตอง ในพื้นที่อ.เมืองโต๋น จ.เมืองสาด (ตรงข้ามอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) โดยกองกำลังว้า UWSA อ้างว่ารุกล้ำพื้นที่ ต่อมาในวันที่ 24 ส.ค. ทหารว้า UWSA ได้นำตัวทหาร SSA จำนวน 4 นาย ขึ้นไปทำการสอบสวนที่เมืองปางซาง จากนั้นได้ปล่อยตัว 1 นาย และนำตัวมาปล่อยที่เมืองท่าขี้เหล็กอีก 2 นาย ขณะเดียวกันกองกำลังว้าได้ประสาน SSA ให้ไปรับตัวทหารที่ถูกควบคุมตัวไว้ในพื้นที่เมืองโต๋น กระทั่งล่าสุดมีการยืนยันว่าทหาร SSA ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดแล้ว
-------------------------------------------- "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
“แอมเนสตี้” ชี้ยังมีผู้ถูกคุมตัวโดยพลการอีกมากในพม่า แนะรัฐบาลพม่าตั้งคณะทำงานทบทวนคดี Posted: 19 Sep 2012 10:51 PM PDT หลังรัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษอีก 514 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ เรียกร้องรัฐบาลจัดตั้งกลไกทำงานด้วยความช่วยเหลือจากยูเอ็นและภาคประชาสังคม เพื่อทบทวนคดีทั้งหมด (18 ก.ย.55) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงกรณีรัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษเพิ่มเติมอีก 514 คน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. โดยระบุว่า เชื่อว่ายังมีบุคคลจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และต้องไม่ลืมบุคคลเหล่านี้ พร้อมเรียกร้องอีกครั้งให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกทำงานด้วยความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม เพื่อทบทวนคดีทั้งหมดและเพื่อจำแนกเหตุผลที่นำไปสู่การจับกุมตัวนักโทษเหล่านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ในบรรดาผู้ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 ก.ย. บางส่วนเป็นชาวต่างชาติ และมีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 90 คน รวมทั้งขิ่นจี (Khin Kyi) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ซินมินอ่อง (Zin Min Aung) ที่ผ่านมาแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าเขาเป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก ขิ่นจีเป็นสมาชิกกลุ่ม Generation Wave และถูกศาลตัดสินจำคุก 15 ปีเมื่อปี 2551 ฐานจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างสงบ มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวและเป็นตัวเลขที่มีการยืนยันเหล่านี้ จะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่วันและไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นานาทัศนะ: ทำอย่างไร หากมีการ "ขัดขืนมติมหาชน" อีกครั้ง Posted: 19 Sep 2012 10:25 PM PDT เนื่องในเดือนแห่งการรำลึกรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ฟังทัศนะนักต้านรัฐประหารสามรุ่น – 'อุทัย พิมพ์ใจชน' นักต้านรัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ 'สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์' นักต้านรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ และ 'สมบัติ บุญงามอนงค์' นักต้านรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ กับคำถามที่ว่า "หากมีการขัดขืนมติมหาชนอีกครั้ง" เราควรทำเช่นไร? อนึ่งบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ทัศนคติสั้นๆ ว่าหากมีการค้านมติมหาชนจากคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจ ประชาชนควรทำเช่นไร (เป็นการสัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา และตัดบางส่วนบางจากหนังสือประชาชนต้านรัฐประหาร)
อุทัย พิมพ์ใจชน
"ผมคิดว่าถ้าใครคิดทำรัฐประหารอีก ก็เป็นการฆ่าตัวตาย ถ้าฆ่าตัวเองแล้วไม่ตายก็เป็นการฆ่าประเทศชาติตาย มีอยู่สองอย่าง ผมเชื่อว่าประชาชนยอมไม่ได้หรอก"นอกจากนี้อุทัยยังมองว่าสังคมไทยไม่อดทนพอให้มีวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ "ผมมองว่ามันเป็นความไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย คือถ้าทหารไม่เข้ามายุ่งแล้วปล่อยให้มันเกิดวันที่ ๒๐ มันจะเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย เพราะสภายังมีอยู่ในตอนนั้น แม้อาจจะมีการปะทะกัน แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีการเสียเลือดเนื้อมากมาย อย่างดีก็แค่ผลักกันไปผลักกันมา เพราะสมัยนี้มันมีอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน มีแก๊สน้ำตา มีโล่ มีปืนฉีดน้ำแล้ว มันไม่เหมือนกับตอน ๑๔ ตุลาหรือพฤษภาทมิฬ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ไม่มี" "และตอนนั้นคนรักทักษิณก็เริ่มลดลง แต่คนชังเริ่มเพิ่มขึ้น เกิดการประท้วงขนาดใหญ่แบบนั้นผมก็เชื่อว่าทักษิณอยู่ไม่ได้ และถ้าสภายังมีอยู่ก็ต้องมีการไต่สวนกันไปตามระบบ แต่เราดันไม่เชื่อกระบวนการประชาธิปไตย ทำให้ทหารออกมายึดอำนาจ กลับไปตั้งอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาไต่สวนแทนสภา มันก็เลยเสียหายมาจนถึงปัจจุบันนี้" "ผมย้ำให้เห็นว่าเพราะเราไม่เชื่อในกระบวนการประชาธิปไตย เราไปเชื่อในกระบวนการอื่นเลยเกิดเหตุการณ์ ๑๙ กันยา กลายเป็นชัยชนะของทหารไม่ใช่ของประชาชน ผมคิดว่ามันผิดมหาศาลและเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเราไม่เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย" สำหรับการรัฐประหารหรือการค้านมติมหาชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ตุลาการภิวัฒน์ ฯลฯ ในอนาคตอุทัยมองว่า "ผมคิดว่ามันคาดเดายาก แต่จากบทเรียนที่เราเคยผ่านมามันชี้ไปว่าถ้าใครขืนทำอีกมันไปไม่รอด อย่างครั้งล่าสุดถึงแม้คณะก่อการอย่าง คมช. จะเอาตัวรอดกันไปได้ แต่ประเทศชาติมันก็ไปไม่รอด" "ถ้าต่อไปใครจะทำอีกผมกลับมองว่าผู้ก่อการจะไปไม่รอดแต่ประเทศชาติจะรอด เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้มากขึ้นแล้ว รู้เท่าทันการรัฐประหาร รู้ว่าการรัฐประหารมันไม่เกิดประโยชน์ มันมีแต่ทำให้เกิดโทษหนักขึ้นไปอีก ส่วนรูปแบบอื่นๆ ก็ยาก เพราะเดี๋ยวนี้ประชาชนมีกลุ่มต่างๆ ที่มีพลังพร้อมที่จะต่อต้านเสมอ"
เกี่ยวกับอุทัย พิมพ์ใจชน
อุทัย พิมพ์ใจชน เกิดวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่จังหวัดชลบุรี เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากการชักชวนของนายธรรมนูญ เทียนเงิน สมาชิกพรรค จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ จอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ยึดอำนาจตัวเอง นายอุทัย พิมพ์ใจชน พร้อมด้วย ส.ส. อีก ๒ คน คือนายอนันต์ ภักดิ์ประไพและนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏ ถือเป็นท้าทายอำนาจของผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา แต่แล้วทั้งสามคนตกเป็นจำเลยและถูกจำคุก ด้วยอำนาจของเผด็จการ ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พ้นวาระและประกาศวางมือการเมือง นายอุทัยได้ลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป กับ นายชวน หลีกภัย เพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเดียวกับ และ พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่าย โดยนายอุทัยได้รับการสนับสนุนจาก นายธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตเลขาธิการพรรค ด้วยความเป็นคนชลบุรีด้วยกัน ปรากฏว่า ที่ประชุมพรรคได้เลือก พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป หลังจากนั้นไม่นาน นายอุทัยก็ได้ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเองทั้งพรรคก้าวหน้า และพรรคเอกภาพ อุทัย ได้ตกเป็นข่าวฮือฮาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ขณะดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อถูกติวเตอร์คนหนึ่ง ปาถุงอุจจาระ ใส่ขณะแถลงข่าว หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น นายอุทัย ไม่ได้ดำเนินคดี หรือตอบโต้ใด ๆ กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งส่งผลดีกับภาพลักษณ์ของนายอุทัย ในฐานะเป็นผู้มีอาวุโส ที่ไม่ใช้อำนาจกับผู้ด้อยอำนาจกว่า ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นายอุทัยได้รับเลือกให้เป็น ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง นายอุทัยก็ได้ย้ายตัวเองเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ต่อมาในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ท้องสนามหลวง นายอุทัยได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ต่อมาในการเลือกตั้งวุฒิสภาชิกเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นายอุทัยก็ได้ลงรับสมัครในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่ ๑๒ ก่อนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ อุทัยเป็นบุคคลหนึ่ง ที่แสดงความเห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
0 0 0 สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์
"สังคมไทยควรตั้งสติให้ดี และลองศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยสติปัญญา เราก็จะพบว่าการรัฐประหารทุกครั้งส่งผลเสีย ส่งผลให้ประเทศนี้เกิดความหายนะและส่งผลกระทบมากมาย ... ในแง่นี้สังคมต้องสรุปบทเรียนได้แล้วว่าจะต้องไม่ยอมรับการรัฐประหารในทุกๆ กรณี ... สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย เราก็ต้องกระทำการมันให้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ..."สำหรับทัศนะที่ว่าการรัฐประหารหรือการค้านมติมหาชนในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกไหมนั้น สิริวัฒน์ให้ความเห็นว่า "ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสังคมไทยยังมีฝ่ายปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยอยู่ จริงอยู่ว่าโลกเคลื่อนตัวไปตามระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้นจะมีความขัดแย้งบ้าง แต่ในสังคมไทยฝ่ายที่ครองอำนาจและมีผลประโยชน์อยู่เดิมไม่ยินยอมให้ใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สามารถต้านกระแสโลกได้ เขาจึงสร้างระบบการศึกษา ความคิดคนให้ไม่เป็นประชาธิปไตยมาต้านทานไว้" "ทุกวันนี้ผู้นำทหารและผู้มีอำนาจบางคนก็ยังไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องการมีอำนาจ ต้องการให้เครือข่ายตนเองยังมีอำนาจผลประโยชน์ต่อไป โดยใช้วิธีที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตย รวมถึงยังมีการบิดเบือนหลักการทางศาสนามาใช้ ต่อสู้กับระบอบประชาธิปไตย เสนอความคิดผิดๆ ว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธประชาธิปไตยและเสียงส่วนใหญ่ เช่นอ้างว่าพุทธศาสนาสอนให้ไม่เอาระบบโลกาธิปไตย หรือประชาชนเป็นใหญ่แต่ให้ยึดธรรมมาธิปไตย หรือธรรมเป็นใหญ่และไม่ให้ยึดอัตตาธิปไตยหรือตัวเองเป็นใหญ่ฟังดูจะเคลิ้มแต่แท้ที่จริงพุทธศาสนาพูดถึงตัวบุคคลที่เป็นผู้นำมิใช่ตัวระบบ" "กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยพยายามบิดเบือนหรือมีวาทกรรมว่า "ควรใช้ธรรมมานำสังคมแทนประชาธิปไตย" นี่ก็เจตนาให้ผู้คนเห็นว่าหลักการทางศาสนาสูงส่งกว่าหลักการทางการเมืองผู้คนจำนวนหนึ่ง จึงหลงไปปฏิเสธประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ควรใช้ทั้งสองหลักศาสนาใช้กับปัจเจกบุคคล หลักประชาธิปไตยใช้กับทั้งปัจเจกบุคคลและรัฐ เพราะมันไม่ได้ขัดกันแต่ประการใด เผด็จการต่างหากที่ขัดกับหลักการทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน เรื่องคนดี นี่เป็นการแอบอิงศาสนาที่ผิดไปจากหลักธรรมคำสอน" "เพราะพุทธศาสนานั้นสอนให้พิจารณาตัดสินจากกรรมหรือการกระทำดูกันเป็นกรรมๆ ไป พุทธจึงพูดเรื่องทำดี ทำชั่ว มากกว่าเรืองคนดีคนชั่ว และพุทธไม่เชื่อเรื่องชาติกำเนิดว่าถ้าชาติกำเนิดดี จะดี วรรณะดีจะดี แต่เชื่อว่าดีหรือชั่วเกิดจากการกระทำ การใช้หลักคิดหรือคำอธิบายต่างๆ ที่แอบอิงกับการตีความศาสนาในแบบที่กล่าวไปนี้ มันจะบั่นทอนเรื่องแนวคิดประชาธิปไตย และพวกเขาก็ยังจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการคัดค้านเสียงของคนส่วนใหญ่"
เกี่ยวกับสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์
สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๘ เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต (ม.รามคำแหง) ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม (นิด้า) ในขณะที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สิริวัฒน์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมนักศึกษา โดยเขาได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ – ๒๕๓๔ และเขายังเป็นแกนนำนักศึกษาคนสำคัญในขบวนการต่อต้านคณะรัฐประหาร หลังจากเรียนจบเขายังได้ทำงานด้านพัฒนาสังคม โดยเป็นประธานมูลนิธิพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนฯ จ.นครศรีธรรมราช และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จ.นครศรีธรรมราช ในปี ๒๕๔๙ และได้รับเลือกอีกครั้งในปี ๒๕๕๑ โดยเป็นประธานกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา ๓ สมัย บทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง กอปรกับที่เคยเป็น 'เด็กกิจกรรม' เขาจึงไม่ละเลยที่จะพูดถึงการให้โอกาสเยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศตามครรลองประชาธิปไตย เช่น การอภิปรายเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในเดือนเมษายน ๒๕๕๕ สิริวัฒน์ได้อภิปรายเสนอให้ตัวแทนเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
0 0 0
สมบัติ บุญงามอนงค์
"ก็ต่อต้านนั่นแหละ แต่ผมอยากจะเสนอว่าเนื่องจากการต่อต้านในรอบที่ผ่านมามันเกิดการสูญเสียเยอะ ผมเสนอวิธีการต่อต้านที่เรียกว่า 'ป่วน' คือเรายังไปติดกรอบภาพของการต่อต้านที่ต้องมาเผชิญหน้ากันแบบเอาเป็นเอาตาย จากประสบการณ์ในปี ๒๕๕๒ –๒๕๕๓ ผมไม่อยากให้เรามีความเสี่ยงขนาดนั้น แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ทำไม่ได้ ผมอยากเสนอวิธีการต่อต้านแบบป่วน คือทำให้กลไกและความชอบธรรมของฝ่ายชนชั้นนำหมดสภาพลง"นอกจากนี้สำหรับประเด็นที่ว่าการค้านมติมหาชนโดยอำนาจนอกระบบในอนาคตจะมีอีกไหมนั้น สมบัติมองว่า "ก็อาจเป็นไปได้ แต่ว่าผมมองว่าเป็นวิวัฒนาการของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย โดยที่พลังอนุรักษ์นิยมเขาก็จะเหนี่ยวรั้งไว้อย่างสุดฤทธิ์ พอถึงจุดที่เหนี่ยวไม่อยู่แล้วมันพลาดหลุดมือจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่คุณจะไปห้ามให้เขาเหนี่ยวรั้งไม่ได้ พลังอนุรักษ์นิยมมันต้องเหนี่ยวอยู่แล้ว แต่วิธีการที่จะเหนี่ยวรั้งไว้จากนี้ไปพวกเขาจะรอบคอบกว่าเดิม เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาพวกเขาพลาดไป และทุกครั้งที่พวกเขาพลาดก็จะทำให้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีพลังมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่มีม๊อบพันธมิตรฯ เสื้อแดงกลับโตขึ้น หรือหลังจากคุณทำรัฐประหาร คุณปราบปรามประชาชน ก็กลับพบว่าเสื้อแดงขยายตัวขึ้น" "ถ้าหากมีการเหนี่ยวรั้งโดยพลังอนุรักษ์นิยมอีกครั้งในอนาคต ขณะที่ประชาชนโตขนาดนี้ ก็ถือได้ว่าว่ามันเป็นการใช้ทุนในอนาคตเลย เหมือนคุณเล่นการพนันแล้วต้องกู้มาเล่น คุณไม่ได้เล่นจากสิ่งที่คุณมีในตอนนี้ให้หมดตัวนะ แต่คุณเอาอนาคตคุณมาเล่นเลย ผมคิดว่ามันอันตรายมาก ฉะนั้นตอนนี้ผมคิดว่าจังหวะจะโคนของอำมาตย์จะระวังตัวมาก และกำลังพยายามหาจุดประนีประนอม เช่นเราจะเห็นบรรยากาศการปรองดองหรือจู๋จี๋กันระหว่างรัฐบาลกับพลเอกเปรมหรือหลายๆ คน เริ่มเห็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน นี่เป็นการประนีประนอมของชนชั้นนำ ซึ่งเมื่อก่อนมันมีเพียงแค่การต่อรองกันของคนชั้นนำ แต่เดี๋ยวนี้มันมีอีกมิติหนึ่งคือพลังจากข้างล่าง ตอนนี้คนข้างล่างเริ่มต่อต้านวิธีคิดของชนชั้นนำแบบนี้แล้ว" "ดังนั้นก็อาจจะมีนะ อะไรที่มันเพี้ยนๆ ที่จะออกมาขัดขวางมติมหาชน และนั่นมันก็อันตรายสำหรับเรา"
เกี่ยวกับ สมบัติ บุญงามอนงค์
สมบัติ บุญงามอนงค์ (ชื่อเล่น: หนูหริ่ง, หรือนามแฝงที่ใช้ในอินเตอร์เน็ท: บ.ก.ลายจุด) เป็นแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง และประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา สมบัติ เป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ต่อต้านการทำรัฐประหารและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช. โดยก่อนหน้านั้น เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร และต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยสมบัติ เป็นแกนนำ นปก.รุ่น ๒ ภายหลังแกนนำ นปก.รุ่นแรก ถูกคุมขัง อีกทั้งยังเป็นผู้ เสนอการรณรงค์ "แดงไม่รับ" เป็นสีตรงข้ามกับสีเขียวรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำให้ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะคณะรัฐประหาร ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน นิยมใส่เสื้อสีแดงมาร่วมชุมนุมหรือกิจกรรมการเมืองจนถึงปัจจุบัน หลังจากการเลือกตั้งและ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเมืองไทย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลับออกมาประท้วง เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่อ้างว่าอยู่ภายใต้อำนาจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในช่วงเวลานั้น นายสมบัติ ร่วมจัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ เพื่อต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ นายสมบัติ ยังเป็นผู้จัดทำสติกเกอร์ข้อความ "เบื่อม๊อบ พันธมิตร" สมบัติ เคยถูกจับที่สถานีขนส่งเชียงราย ขณะที่เขารณรงค์ปราศรัยไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ก่อนที่จะมีการลงประชามติ เนื่องจากจังหวัดเชียงรายมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เขาและเพื่อนอีก ๑ คนถูกควบคุมตัวในค่ายทหารบกเชียงรายเป็นเวลา ๑ วันก่อนถูกปล่อยตัวออกมาเนื่องจากมีแรงกดดันจากสาธารณะและมวลชน นปก ที่หน้ากองทัพภาคที่ ๑ นอกจากนั้นยังเคยถูกพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร และ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ฟ้องหมิ่นประมาทกรณีซุ้มปาเป้าที่สนามหลวง เขาเข้ามอบตัวและไม่ขอประกันตัวในช่วงแรก ๆ และอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ๑๑ วัน ก่อนขอประกันตัวต่อศาลโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ ภายหลังเหตุการณ์ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ และ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เขาได้เดินทางไปผูกผ้าสีแดงบริเวณป้ายแยกราชประสงค์ โดยเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กระชับพื้นที่ ที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากออกมาแสดงความรับผิดชอบ ทำให้เขาถูกคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยถูกคุมตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค ๑ จังหวัดปทุมธานี เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่ปกติแล้วศาลจึงอนุญาตปล่อยตัว ภายหลังได้รับการปล่อยตัวสมบัติได้เดินทางมาที่แยกราชประสงค์ และได้นำผ้าสีแดงไปผูกที่ป้ายแยกราชประสงค์อีกครั้ง นอกจากนี้ได้ทำกิจกรรม "ที่นี่มีคนตาย" แสดงการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ประกอบด้วย โดยนายสมบัติระบุว่าจะทำกิจกรรมทำนองนี้ทุกวันอาทิตย์แต่จะเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ภายหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๔ สมบัติกลับไปทำงานด้านสังคมอีกครั้งกับมูลนิธิกระจกเงา หลังจากที่เขาลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ในครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้เสื้อสีแดง.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เลาะเลียบริมโขง: ลาว-อเมริกา ยังร่วมค้นหากระดูกจีไอต่อไป Posted: 19 Sep 2012 06:39 PM PDT คณะผู้แทนของทางการลาวและสหรัฐอเมริกาได้พบปะเจรจากันเกี่ยวกับความร่วมมือในการค้นหาซากกระดูกและสิ่งหลงเหลือของบรรดาทหารอเมริกันที่เสียชีวิตและหายสาบสูญไปเมื่อครั้งสงครามอินโดจีนในเขตประเทศลาว โดยมีท่านสุทำ สากนนิยม ผู้บัญชาการทหารบกเขตแปซิฟิก เป็นประธานร่วมกันในการพบปะเจรจา ณ นครเวียงจันทร์เมื่อไม่นานมานี้ สาระสำคัญของการพบปะเจรจาในครั้งนี้ ก็คือการสรุปผลการดำเนินงานในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา และการกำหนดแผนปฏิบัติงานร่วมกันในระยะ 6 เดือนต่อไป รวมถึงการวางแผนปฏิบัติระยะยาวที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า นับแต่ทางการลาวกับสหรัฐ ได้ร่วมมือกันตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถค้นพบซากกระดูกและสิ่งหลงเหลือของทหารอเมริกันแล้ว 258 กรณีก็ตาม หากแต่ว่าก็ยังเหลืออีกถึง 317 กรณี ที่ทางการทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันค้นหาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม คณะวิชาการของทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถกำหนดร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการค้นหาร่วมกันต่อไปอีกจนถึงเมื่อใด แต่ทางการลาวก็ได้ยืนยันถึงความพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ดังที่ท่านยง จันทะลังสี เอกอัครราชทูตลาวประจำสวิตเซอร์แลนด์ ได้ยืนยันว่า "MIA นี้ยังดำเนินการต่อไปเป็นประจำ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของรัฐบาลลาว เป็นวิถีทางมนุษยธรรมเพราะว่าพวกเราคำนึงถึงและเข้าใจดีเกี่ยวกับความเจ็บปวดของครอบครัวทหารที่หายสาบสูญในสงคราม และในแต่ละปีพวกเราก็สามารถช่วยเหลือพวกเขาในการเก็บกู้ชิ้นส่วนหรือว่าสิ่งหลงเหลือของ MIA ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20-30 ศพ และได้ดำเนินการอยู่ในทุกแขวง" (หมายเหตุผู้แปล MIA ย่อมาจาก Missing In Action ใช้เรียกทหารหรือบุคลากรทางทหารที่สูญหายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในยามสงคราม) ซากกระดูกและสิ่งหลงเหลือของทหารอเมริกันที่ถูกค้นพบนั้น ทางการลาวก็จะส่งมอบให้กับทางการสหรัฐเป็นประจำทุกครั้งที่ได้สิ้นสุดการดำเนินงานร่วมกันในแต่ละระยะ ซึ่งตามปกติแล้วก็คือทุก 6 เดือน ส่วนทางการสหรัฐจะส่งซากกระดูกและสิ่งหลงเหลือนี้ไปยังเกาะฮาวาย เพื่อพิสูจน์ DNA ของทหารอเมริกันที่เสียชีวิตดังกล่าวต่อไป ส่วนทางการสหรัฐนั้นก็ได้ตอบแทนทางการลาวด้วยการให้ความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาต่างๆ ในเขตชนบท โดยทางการสหรัฐได้เน้นหนักใน 6 ด้าน คือด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกสิกรรม-ป่าไม้ ด้านสังคม-วัฒนธรรม และในด้านการรักษาสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ตัวอย่างก็คือ โครงการก่อสร้างห้องฉุกเฉินให้กับโรงพยาบาลมิตรภาพลาว-มองโกเลีย อยู่แขวงเชียงขวาง โครงการก่อสร้างโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ในแขวงสะหวันนะเขต เชียงขวาง เซกอง สาละวัน และโครงการก่อสร้างโรงเรียนประถมสมบูรณ์อยู่ในแขวงอัดตะปือ ซึ่งรวมไปถึงการช่วยเหลือในการบรรเทาปัญหายาเสพติดและการเก็บกู้ระเบิดที่ยังไม่ทำงานเป็นต้น นอกจากนี้ ทางด้านมูลนิธิมิตรภาพลาว-อเมริกัน ก็ยังได้ประกาศแผนการการช่วยเหลือแก่ลาวคิดเป็นมูลค่าถึง 70 ล้านดอลลาร์ โดยจะนำมาใช้ในโครงการก่อสร้างโรงเรียนและสถานีอนามัยทั่วประเทศลาวตลอดแผนการพัฒนาจากปี 2011-2015 นี้ ส่วนการเก็บกู้ระเบิดที่ยังไม่ทำงานตกค้างอยู่ในแผ่นดินลาวกว่า 70 ล้านลูกนั้น รัฐสภาสหรัฐก็ได้จัดสรรงบประมาณมูลค่าถึง 90 ล้านดอลลาร์ สำหรับให้การช่วยเหลือทางการลาวในระยะ 3 ปีต่อไปนี้
เกร็ดภาษาลาว เสนอคำว่า ຊອກຫາ (ซอกหา) : ค้นหา, search การ ຊອກຫາ เศษกระดูกและสิ่งหลงเหลือของทหารสหรัฐในลาว ถือเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์หนึ่งที่เปิดให้เห็นการทำสงครามลับในลาว ระหว่างช่วงสงครามเวียตนามของสหรัฐ ว่าได้มีการยกกำลังพลล่วงละเมิดอธิปไตยของประเทศอื่น เข้ารบในลาวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ก่อนหน้านี้ทหารที่เสียชีวิตในลาวจะถูกแทงจำหน่ายว่าหายสาบสูญ แต่เมื่อถึงวาระการเปิดเผยข้อมูล ทำให้พบว่ามีทหารเสียชีวิตในลาวจำนวนหนึ่ง ซึ่งญาติพี่น้องของทหารเหล่านั้นต้องการซากกระดูกและสิ่งหลงเหลือกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งทางการลาวก็ได้ร่วมมือกับสหรัฐค้นหาซากศพ กระดูก และสิ่งหลงเหลือของทหารตามสมรภูมิในแขวงต่างๆ นักเขียนลาว บุนทะนง ชมไชพน ได้นำเรื่องนี้มาเขียนเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด กระดูกอเมริกัน ซึ่งได้รับรางวัล S.E.A. Write ในปี 2011 ตัวอย่างจากข่าว ຄະນະຜູ້ແທນຂອງທາງການລາວແລະສະຫະລັດອະເມຣິກາ
คณะผู้แทนของทางการลาวและสหรัฐอเมริกาได้พบปะเจรจากันเกี่ยวกับความร่วมมือในการค้นหาซากกระดูกและสิ่งหลงเหลือของบรรดาทหารอเมริกันที่เสียชีวิตและหายสาบสูญไปเมื่อครั้งสงครามอินโดจีนในเขตประเทศลาว โดยมีท่านสุทำ สากนนิยม ผู้บัญชาการทหารบกเขตแปซิฟิก เป็นประธานร่วมกันในการพบปะเจรจา ณ นครเวียงจันทร์เมื่อไม่นานมานี้
| |
ASEAN Weekly: อาเซียนเอ็มโพเรี่ยม Posted: 19 Sep 2012 05:05 PM PDT ASEAN Weekly โดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการใหม่ให้กระชับยิ่งขึ้น โดยตอนนี้ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC มารู้จักและเข้าใจความเป็น "Emporium" หรือศูนย์กลางการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่สมัยอดีต โดยคำว่า "Emporium" ถูกใช้กันมานานในประวัติศาสตร์โลกการค้ายุคโบราณ ทั้งนี้แอนโธนี รีด (Anthony Reid) นักวิชาการชาวนิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อธิบายภูมิภาคนี้ในฐานะของ "ดินแดนใต้ลม" หมายถึงดินแดนที่ตกอยู่ใต้ลมมรสุมเขตร้อน ซึ่งพัดพาฝนที่ชุ่มฉ่ำ มาให้ดินแดนเหล่านี้ และขณะเดียวกันความเร็วของแรงลมได้ชักนำให้พ่อค้าต่างๆ ในอนุชมพูทวีปเดินเรือเข้ามาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนแถบนี้จึงมีความหมายทั้งด้านการค้าและวัฒนธรรม ทั้งนี้นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งอาณาจักรโบราณในภูมิภาคนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคืออาณาจักรกสิกรรม ซึ่งมักมีที่ตั้งอยู่ในฝั่งแผ่นดินใหญ่ สะสมอำนาจและความมั่งคั่งผ่านเครือข่ายชลประทานและการเพาะปลูก มีการแผ่อำนาจจากที่ราบไปยังเขตที่สูง เพื่อคุมการค้าของป่า และผันตัวเองเป็นพ่อค้าคนกลางเพื่อส่งสินค้าไปขายในโลกภายนอก และกลุ่มที่สองคืออาณาจักรทางทะเล ที่ไม่ได้เกณฑ์คนมากมายมาสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือเครือข่ายชลประทาน แต่คุมท่าเรือในช่องแคบมะละกา และส่งกองกำลังปราบโจรสลัดไม่ให้คุกคามเส้นทางการค้า อย่างอาณาจักรศรีวิชัย นอกจากนี้ยังมีอาณาจักรที่เป็นลูกผสมคือคุมทั้งการกสิกรรมและการค้าทางทะเล อย่างเช่น อยุธยา ซึ่งแม้จะมีที่ตั้งลึกเข้าไปในแผ่นดิน แต่ก็ไม่ได้อยู่ห่างจากทะเลมากนักโดยเชื่อมต่อทะเลผ่านเส้นทางของแม่น้ำ ทั้งนี้ระบบโครงสร้างราชการของอยุธยา มีการดูแลการค้าสองทิศ หนึ่งคือกรมท่าขวา ดูแลการค้าด้านทิศตะวันตกในทะเลอันดามัน ไปจนถึงอินเดียและเปอร์เซีย สองคือกรมท่าซ้ายดูแลการค้าด้านทิศตะวันออกไปถึงจีนและริวกิว ปัจจุบันคือโอกินาวาของญี่ปุ่น สำหรับสินค้าจากอยุธยาที่พ่อค้านานาชาติสนใจ ได้แก่ ของป่า สัตว์ป่า โดยบันทึกของชาวตะวันตกร่วมสมัยระบุถึงของแปลกๆ ที่มีการขายเป็นสินค้าอย่างเช่น การขนช้างเป็นๆ ไปขายถึงอินเดียเพื่อใช้เป็นยุทธปัจจัย รวมไปถึงชะมดเช็ด ที่สามารถนำไปทำเป็นน้ำหอมได้ ท้ายรายการ มีการแนะนำหนังสือที่บรรยายถึงสภาพการค้า และสภาพสังคม-สิ่งแวดล้อม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคโบราณ 2 เล่ม ได้แก่ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450 - 1680 เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม" โดย แอนโทนี รีด ฉบับแปลภาษาไทยโดยพงษ์ศรี เลขะวัฒนะ และ "ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)" โดย นิโกลาส์ แชรแวส แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เสื้อแดงเชียงใหม่จัดรำลึก 6 ปี รัฐประหาร 19 กันยา Posted: 19 Sep 2012 04:21 PM PDT กลุ่มเสื้อแดงที่เชียงใหม่แยกจัดรำลึกรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็น 2 เวที "ธเนศวร์ เจริญเมือง" เทียบกรณีเกาหลีใต้ใช้เวลา 15 ปี นำผู้สั่งสลายการชุมนุมมาเอาผิด ส่วนกรณีของไทยเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยขณะที่ศาลเริ่มมีคำตัดสินในคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตช่วงชุมนุมเมื่อปี 53 แล้ว เวทีรำลึก 19 กันยาของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่โรงแรมแกรนด์วโรรส และมีการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553
เวทีปราศรัยของกลุ่ม นปช. แดงเชียงใหม่ ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวานนี้ (19 ก.ย. 55) คนเสื้อแดงหลายกลุ่มในเชียงใหม่ จัดกิจกรรมในโอกาสครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 49 โดยที่โรงแรมแกรนด์วโรรส หลังวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้จัดนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 และมีการเสวนาโดยมีผู้อภิปรายคือเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำรักเชียงใหม่ 51 และกฤษณะ พรมบึงรำ ดีเจของสถานีวิทยุกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ขณะเดียวกันกลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงอีกกลุ่ม ได้จัดรถปราศรัยรอบเมือง และจัดการชุมนุมอยู่ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยประกาศว่าจะต้านรัฐประหารทุกรูปแบบ มีพิชิต ตามูล ศรีวรรณ จันทร์ผง ณรงค์ศักดิ์ มณี พ.ต.ท.สุพล ฟูมูลเจริญ เป็นผู้อภิปราย ขณะที่ธเนศวร์ เจริญเมือง ขึ้นอภิปรายทั้งเวทีของ นปช.แดงเชียงใหม่ และรักเชียงใหม่ 51 ตอนหนึ่ง ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวปราศรัยถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 ที่เวทีของกลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ ว่า กระบวนการประชาธิปไตยของเกาหลีใต้นั้นใช้เวลา 15 ปี ในการเอาคนสั่งการสลายการชุมนุมขึ้นสู่กระบวนการศาลและมารับโทษ ขณะที่เมืองไทยตอนนี้ผ่านมาแล้ว 2 ปี หลายเรื่องก็ดีขึ้น โดยตอนนี้ศาลเพิ่งตัดสินคดีไต่สวนการตายของแท็กซี่ที่เสียชีวิตที่ราชปรารภ โดยคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีไต่สวนการตายอื่นๆ และคนรูปหล่อ 2 คนที่จะเข้าออกศาลบ่อยขึ้นก็คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ สองคนนี้จะเดินเข้าออกศาลจนบันไดศาลมีแต่รอยเท้าของสองบุคคล ส่วนเรื่องที่ว่าใครเป็นคนสั่ง นี่คือชะตากรรมของคนบางคนที่ทำแล้วไม่คิด และไม่เข้าใจว่าไปหลบอยู่ในค่ายทหารทำไม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น