โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

วิวาทะ: หลายมิติการซื้อเสียงปัญหาประชาธิปไตยจริงหรือ..???

Posted: 21 Aug 2010 01:46 PM PDT

ประธาน กกต. เปิดฉากถล่มนักการเมืองอีสานซื้อเสียงรุนแรงที่สุด ด้านนักวิชาการโต้อย่ามองด้านเดียว องค์กรควบคุมทำให้กลไกการเลือกตั้งอ่อนแอบั่นทอนพัฒนาการประชาธิปไตย

"มติชนออนไลน์" รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม ที่โรงแรมอาราญาน่า ภูพิมาน รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดปฐมนิเทศหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 2 

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาการซื้อเสียงการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะนักการเมืองที่เปรียบเสมือนไม้แก่ ดัดยาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน การซื้อเสียงรุนแรงและมีค่าตัวแพงมาก อย่างตอนเช้าก่อนเลือกตั้ง ค่าตัวราคาไม่กี่ร้อยบาท แต่พอตอนเย็นใกล้ปิดลงคะแนนเลือกตั้ง ค่าตัวเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงหัวละ 3-4 พันบาท ตกครอบครัวละ 2 หมื่นบาท  กลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดี แต่ก็ต้องปล่อยไปเพราะคนเหล่านี้ไม่นานก็คงหมดไปจากสังคม

ส่วนเจตนารมณ์การเปิดหลักสูตร พตส. ก็เพื่อมุ่งหวังให้แต่ละคนเข้าใจการเมืองและการเลือกตั้งมากขึ้นแล้ว ยังหวังว่าจะช่วยเรื่องความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเรื่องสี และกระจายแนวคิดการพัฒนาการเมืองการปกครองไปสู่ประชาชน ซึ่งนักศึกษารุ่นแรกเป็นไปตามความคาดหวังของหลักสูตร ทำให้รัฐสภาเห็นความตั้งใจของ กกต.ในการพัฒนาการเมืองและพรรคการเมืองอย่าง แท้จริง จึงเพิ่มงบประมาณให้กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเป็น 200 ล้านบาท จากเดิมได้งบประมาณ 100 ล้านบาท


ด้าน เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ "ประชาไท"
ถึงทัศนะดังกล่าวว่า หากมองเรื่องการซื้อเสียงว่าเป็นเพราะการขาดคุณธรรมของคนที่สมัครเข้ารับการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นการมองด้านเดียวเกินไป  ทำให้การแก้ปัญหาเน้นที่การตั้งกฎหรือองค์กรมาควบคุมนักการเมืองทำให้กลไกการเลือกตั้งอ่อนแอ  ดังจะเห็นได้จากการให้ใบแดงใบเหลืองในหลายๆพื้นที่ ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นบางแห่งแทบบริหารงานไม่ได้เลย เพราะเจอปัญหาเรื่องการร้องเรียนและการให้ใบแดง ก่อให้เกิดการเลือกตั้งหลายครั้ง ผู้ได้รับเลือกตั้งไม่สามารถบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีควบคุมนักการเมือง ได้บั่นทอนการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ทำให้กลไกการเลือกตั้งและการบริหารอ่อนแอไปด้วยโดยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

นักรัฐศาสตร์ท่านนี้ยังได้ชวนให้คิดถึงมิติอื่นๆที่ต้องพิจารณาจากเรื่องการซื้อเสียงขายเสียงว่า ประการแรก เราต้องศึกษาด้วยการเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างจริงจัง ว่าการใช้เงินให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้นหมายถึง การ “ซื้อเสียง” ในความหมายว่า เอาเงินแลกกับคะแนนเสียงง่ายๆอย่างนั้นหรือไม่ จากที่ได้ศึกษาการเมืองในระดับท้องถิ่นหลายพื้นที่นั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเงินที่ให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ (function) ซื้อการตัดสินใจให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่มันก็ได้ทำหน้าที่อื่นๆเช่น นักการเมืองหลายพื้นที่จะจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของตัวเองเท่านั้น  เงินจึงทำหน้าที่เป็นค่าตอบแทนที่จะไปเลือกตั้งให้เขา

ในอีกหลายๆพื้นที่จะเห็นว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาในเขตนั้นๆ ไม่ได้อาศัยหรือทำงานในเขตนั้น เงินจึงทำหน้าที่เป็นค่ารถ เป็นค่าเสียเวลา เพื่อให้คนกลับมาเลือกตั้งในกรณีเช่นนี้เราจะเห็นบางแห่งสามารถเอาตั๋วรถมาเบิกค่ารถได้ด้วย

ดังนั้นกรณีเหล่านี้ ผลงานหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ได้รับเลือกตั้งกับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในฐานะฐานคะแนนเสียง จึงมีความสำคัญกว่าเงินที่ใช้ในการตอบแทนให้ไปลงคะแนนเสียงมากมายนัก

ประการที่สอง ในกรณีที่มีการแข่งขันกันสูงระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง เงินเป็นตัวตัดสินคะแนนเสียงได้ ซึ่งเกิดขึ้นกับพื้นที่ที่ผู้สมัครมีฐานเสียงใกล้เคียงกัน หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอาจจะไม่มีข้อมูลของผู้สมัครเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างชัดเจน กรณีเช่นนี้เงินจะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ แต่มันจะไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการมาด้วยคะแนนเสียงเป็นตัวตัดสินนั้น เท่ากับได้สร้างความรับผิดชอบ (accountability) ต่อผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงให้ การแข่งขันที่สูงนี้เองจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจับตาดูผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง และเปรียบเทียบกับคู่แข่งอยู่เสมอ ในกรณีเช่นนี้ ผลงานหลังจากได้รับเลือกตั้งจึงมีความหมายตามมา และนั่นย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

"เมื่อเราสามารถเข้าใจมิติต่างๆ และสถานภาพของเงินที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เราก็จะเข้าใจได้ว่าปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ที่ไหน  การกล่าวเน้นไปที่นิสัยและคุณธรรมของนักการเมือง เท่ากับมองว่าคนในอาชีพอื่นๆไม่มีปัญหาในเรื่องนี้  ทั้งๆที่ข้าราชการ นักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร ชาวไร่ชาวนา  ทุกอาชีพ ทุกวงการก็มีทั้งคนที่มีคุณธรรมและไร้คุณธรรมทั้งสิ้น"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กะเหรี่ยงดีเคบีเอเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนแล้ว

Posted: 21 Aug 2010 12:07 PM PDT

ทหารกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือดีเคบีเอ เข้าพิธีเปลี่ยนสถานะเป็นทหารสังกัดกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ภายใต้การบัญชาการของกองทัพพม่าเรียบร้อยแล้ว ขณะที่มีรายงานว่านายทหารพม่าเข้าเจรจากดดันกองทัพสหรัฐว้าให้เปลี่ยนสถานะ โดยมีการขู่ว่าถ้าขัดขวางจะบังคับใช้กฎหมาย

ภาพข่าวพิธีตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตำบลเหล่งพเว เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง จากสถานีโทรทัศน์ MRTV3 ภาคภาษาอังกฤษ ของรัฐบาลทหารพม่า เมื่อ 19 ส.ค. 53

พิธีจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตำบลเหล่งพเว เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 19 ส.ค.)

พล.ท.เย มิ้น ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง กระทรวงกลาโหมของพม่าเดินตรวจแถวทหารกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นจากการเปลี่ยนสถานะทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอ (ที่มาของภาพ: นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 19 ส.ค.)


พล.ต.เต็ท หน่าย วิน ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐมอญ ผู้บัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ และพล.ต.หม่อง หม่อง โอน ผู้บัญชาการกองกำลังทหารบ้านและกองกำลังชายแดน (PMFF) ทำพิธีประดับยศแบบกองทัพพม่า ให้อดีตทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอ ซึ่งขณะนี้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ที่มาของภาพ: นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 19 ส.ค.)

 

สมาชิกกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ทำพิธีปฏิญาณตนเป็นสมาชิกตั๊ดมาดอ หรือสมาชิกกองทัพพม่า (ที่มาของภาพ: นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 19 ส.ค.)

 

สมาชิกกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ชาวกะเหรี่ยง มอญ และปะโอ ร่วมเต้นรำในพิธีจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (ที่มาของภาพ: นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 19 ส.ค.)

 

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ตำบลเหล่งพเว เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง พื้นที่ควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA กองทัพพม่าได้ทำพิธีตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภาคตะวันออกเฉียงใต้

โดยฝ่ายนายทหารพม่าที่เข้าร่วมพิธีตามรายงานจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า ประกอบด้วย พล.ท.เย มิ้น (Ye Min) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง กระทรวงกลาโหมของพม่า ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนอยู่ในขบวนรถนายทหารพม่าที่หวิดถูกทหารกะเหรี่ยง KNLA โจมตี, พล.ต.เต็ท หน่าย วิน (Thet Naing Win) ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐมอญ ผู้บัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้, พลจัตวา ซอว์ มิน (Zaw Min) ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐกะเหรี่ยง, พล.ต.ละ ฉ่วย (Hla Shwe) รองเสนาธิการทหาร, พล.ต.หม่อง หม่อง โอน (Maung Maung Ohn) ผู้บัญชาการกองกำลังทหารบ้านและกองกำลังชายแดน (PMFF), พล.ต.ถั่น ซอ (Than Soe) ผู้อำนวยการกองสงครามจิตวิทยาและมวลชนสัมพันธ์, พล.ต.หล่าย มิ้น (Hlaing Myint) ผู้อำนวยการกรมบัญชีกลางทหาร

โดยมีนายทหารของ DKBA 40 นาย ได้รับการประดับยศ ในหน่วยงานใหม่ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน โดยกองกำลังของ DKBA ที่เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนยังรวมถึง กองพลน้อย 999 ของ พ.อ.ชิตตู่ ผู้นำ DKBA ด้วย

อย่างไรก็ตาม กองพลน้อยที่ 5 ของ พ.อ.ซอว์ ลา บเว หรือ นาคะมเว ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน และได้นำกำลังพลราว 1,500 นาย แยกตัวออกมาจากกลุ่มของ พ.อ.ชิตตู่ โดยถือเป็นการแยกตัวครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ตั้งกองกำลัง DKBA ในปี 1994

มีรายงานว่า ในพิธีจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดนเมื่อ 18 ส.ค. มีทหาร DKBA ร่วมพิธี 600 นาย มีนายจ่อ ถั่น (Kyaw Than) รองประธาน DKBA เข้าร่วมพิธี มีประชาชนร่วมงานราว 5,000 คน ขณะที่พระอูซุซานะ (U Thuzana) ซึ่งมีอิทธิพลในหมู่กะเหรี่ยง DKBA ไม่ได้มาร่วมงาน โดยพระอูซุซานะมีปัญหาด้านสุขภาพ

โดยพิธีการประกอบด้วยการปฏิญาณตนเป็นสมาชิกตั๊ดมาดอ (Tatmadaw) หรือกองทัพพม่า จากนั้น พล.ต.เต็ท หน่าย วิน ผู้บัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้กล่าวเปิดพิธี จากนั้น พล.ต.หม่อง หม่อง โอน ผู้บัญชาการกองกำลังทหารบ้านและกองกำลังชายแดน (PMFF) กล่าวสุนทรพจน์ ตามด้วย รองประธาน DKBA นายจ่อถั่นกล่าวสุนทรพจน์

สำหรับกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA คาดว่าขณะนี้มีกำลังพลราว 4,000 นาย และตามแผนการเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน จะถูกแบ่งออกเป็น 6 หน่วย และไม่ได้มีแค่กลุ่มของ พ.อ.ซอว์ ลา เบว เท่านั้น ที่แยกตัวออกมาเพราะไม่เห็นด้วยกับแผนเปลี่ยนสถานะกองกำลังของรัฐบาล แต่กองกำลังชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ทั้งกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) และกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ก็ปฏิเสธแผนการเปลี่ยนสถานะเช่นกัน

ส่วนสถานการณ์ล่าสุดที่รัฐบาลทหารพม่ากดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ลงนามหยุดยิง ให้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนนั้น ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (20 ส.ค.) มีว่า พล.ท.เย มิ้น (Ye Min) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของพม่า เดินทางไปเจรจากับโป่ละคำ ผู้นำระดับรองของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่เมืองต้างยาน รัฐฉาน โดยมีรายงานว่า พล.ท.เยมิ้น กล่าวกับคณะเจรจาของว้าว่าถ้ามีการขัดขวางจะมีการบังคับใช้กฎหมาย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

DKBA officially becomes Border Guard Force, By NAW NOREEN, DVB, 19 August 2010 http://www.dvb.no/news/dkba-officially-becomes-border-guard-force/11330

Border Guard Forces of South-East Command formed: Members of Members of BGF have opportunity to discharge State defence duty with Union Spirit, New Light of Myanmar, August 19, 2010.

Junta Rebuffs UWSA Again, By WAI MOE, Irrawaddy, August 21, 2010 http://irrawaddy.org/highlight.php?art_id=19272

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐ-เอกชนผนึกกำลังตรวจสอบเนื้อหาสื่อออนไลน์

Posted: 21 Aug 2010 06:52 AM PDT

เนคเทค เผยความร่วมมือ 3 ฝ่าย สมาคมไอเอสพี-มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย-มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สร้างมาตรฐานคอนเทนท์

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้ เชี่ยวชาญฝ่ายศึกษาวิจัยประเด็นด้านจริยธรรม กฎหมาย และผลกระทบทางสังคมของเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนิติการ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การบล็อกเว็บเป็นประเด็นทางเทคโนโลยี จะปิดอย่างไร ก็มีช่องทางให้เข้าไปได้ และการกระทำผิดกฎหมายไทย แต่ไม่ผิดกฎหมายของประเทศนั้น ก็ขอตัวมาลงโทษไม่ได้

ทั้งนี้ การปิดเว็บต้องดูว่า ปิดด้วยเหตุผลอะไร ชัดเจนไหม บางกรณีจะหมิ่นเหม่ ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็น เป็นพื้นที่สีเทา ดังนั้น เนคเทค ร่วมกับสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สร้างมาตรการดูแลกันเอง โดยรัฐไม่ต้องเข้าไปยุ่งด้วยการจัดทำมาตรฐานคอนเทนท์ ที่ร่วมกันพิจารณากับฝ่ายต่างๆ ไม่ใช่ฝ่ายกฎหมายเพียงด้านเดียว แต่รวมนักรัฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักนิเทศ สื่อสาร นักจิตวิทยา แล้วคิดภาษาให้ซอฟต์แวร์รู้จัก มีระบบออโต้แอ็คทีฟคัดกรอง

"ประมาณ กลางปีหน้า น่าจะใช้ได้ ซึ่งต้องทำงานกับพับลิคค่อนข้างมาก ทำให้สังคมยอมรับได้ ที่ผ่านมา จะมีปัญหากับพวกเรียกร้องเสรีภาพสุดขั้ว ซึ่งหากมีมาตรฐานออกมาก็น่าจะใช้ร่วมกันได้ การเรียกร้องเสรีภาพต้องมีขอบเขต และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่คุกคามผู้อื่น"

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และรองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า การปิดเว็บไซต์วิกิรีคส์ (WikiLeaks) ของรัฐบาลไทย โดยอาศัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น รัฐจะต้องออกมาเป็นผู้อธิบายให้ชัดเจนว่า สั่งปิดเพราะอะไร โดยที่ผ่านมา รัฐบาลมักไม่มีความชัดเจนในการส่งปิดเว็บไซต์ ซึ่งหากยังสั่งปิด โดยไม่ชี้แจงชัดเจน และตอบคำถามสังคมไม่ได้ ก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

นาง สาวสุภิญญา ระบุว่า ต่างประเทศจับตาประเทศไทยอยู่ หากรัฐยังคงสั่งปิดเว็บแบบไม่ชี้แจงแบบนี้ เกรงว่าประเทศไทยจะถูกขึ้นบัญชีดำเหมือนๆ กับประเทศจีน และปากีสถาน และได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต

ด้านเว็บไซต์วิกิรีคส์ ยืน ยันว่า ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย ยังคงสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของวิกิรีคส์ได้ตามปกติ แม้รัฐบาลไทยจะมีคำสั่งฉุกเฉินห้ามเข้าถึงเว็บไซต์ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ก็ตาม

นอกจากนี้ วิกิรีคส์ ยังระบุว่า คำสั่งห้ามของทางการไทยครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทางเว็บไซต์จึงผลิตเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับไทยจาก เว็บไซต์วิกิรีคส์ ที่บรรดานักท่องเว็บสามารถดาวน์โหลดได้โดยตรง

 

 

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยันอาจารย์ทำสมควรแก่เหตุ ไม่ได้ลิดรอนสิทธินิสิตถือป้าย

Posted: 21 Aug 2010 06:33 AM PDT

"จรัส สุวรรณมาลา" เผยได้รับรายงานจาก "วีระศักดิ์" แล้ว หวั่นเป็นป้ายหยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่ เหมือนเสื้อแดงจึงได้ยึดมา "วีระศักดิ์" ยันมีนิสิตแฝงตัวเข้ามาอยู่กับกลุ่มต้อนรับนายกฯ ที่เซ็ตไว้ จึงขอดูข้อความในป้าย ยันไม่ได้ยื้อแย่ง ชี้มีการอ้างคำพูดไม่หมดแล้วนำไปตีความในทางที่ผิดความหมาย ที่จริงแล้วหมายถึง สถานที่จัดงานเป็นความรับผิดชอบของผม

จากกรณีที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งถูกขัดขวางไม่ให้ชูป้ายแสดง ความคิดเห็นทางการเมือง ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ มาปาฐกถา ในงานครบรอบ 60 ปีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 18 ส.ค. นั้น

กระทรวงศึกษาธิการแจ้ง สกอ. ให้จุฬาฯ ทำหนังสือแจงกรณียึดป้ายนิสิต
มติชนออนไลน์
รายงานช่วงเช้าวันนี้ (21 ส.ค.) ว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กรณีที่นายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยึดป้ายข้อความเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ขัดขวางไม่ให้ยื่นจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ ระหว่างมาร่วมงานวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า อยากให้เข้าใจเหตุผลของแต่ละฝ่าย ในส่วนของจุฬาฯ ผู้ที่จัดงานคงต้องการให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของนิสิตหรือไม่นั้น คงต้องเข้าไปดูข้อเท็จจริง ตนอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าใจเหตุผลของแต่ละฝ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพิ่งออกหนังสือขอความร่วมมือให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ควบคุมสอดส่องดูแลการจัดแสดงละครเวทีทางการเมืองให้เป็นกลาง และล่าสุดเกิดเหตุการณ์อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ยึดป้ายของนิสิต จุฬาฯจะกำชับ สกอ.ให้ออกหนังสือย้ำเรื่องไม่ให้ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนิสิตนัก ศึกษาหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า รัฐบาลและ ศธ.ไม่มีนโยบายที่จะปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา ตนมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาแสดงความเห็นทางการ เมือง และตนยังมองในแง่ดีว่าไม่มีฝ่ายใดต้องการให้สังคมเกิดความแตกแยก เพียงแต่มีความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งต้องพยายามทำความเข้าใจกันต่อไป

นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ในฐานะกำกับดูแล สกอ. กล่าวว่า ได้กำชับ สกอ.ให้แจ้งผ่านมหาวิทยาลัยทุกแห่งไปแล้วว่า ศธ.และรัฐบาลชุดนี้ มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้นิสิตินักศึกษาแสดงความคิดเห็น และทำกิจกรรมทางการเมืองได้เต็มที่ กรณีที่เกิดขึ้นที่จุฬาฯ ตนไม่ทราบกำลังรอคำชี้แจงจากจุฬาฯ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ สกอ.แจ้งจุฬาฯทำหนังสือชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นมายังตนแล้ว

"จรัส สุวรรณมาลา" ยันอาจารย์ทำสมควรแก่เหตุ ไม่ได้ลิดรอนสิทธิของนิสิต
ด้านนายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ "มติชนออนไลน์" ด้วยว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ได้รับรายงานจากนายวีระศักดิ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นว่านายวีระศักดิ์ไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ ถือว่าทำสมควรแก่เหตุ ไม่ได้ปิดกั้นหรือลิดรอนสิทธิในการแสดงออกของนิสิตด้วย เพราะในฐานะผู้จัดงานวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งได้เชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นแขก ต้องการดูแลงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่นิสิตกลุ่มนี้ถือป้ายในลักษณะพับไว้ ไม่ยอมให้นายวีระศักดิ์ดูว่าเป็นข้อความอะไร เมื่อนายวีระศักดิ์ขอดู ทำท่าจะเดินหนี นายวีระศักดิ์หวั่นว่าจะเป็นป้ายที่เขียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย ด่าพ่อล่อแม่ เหมือนที่ประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง จึงได้ยึดมา

"ผมขอยืนยันว่านายวีระศักดิ์ไม่ใช่คนที่ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของ นิสิต โดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ของเรา เปิดกว้างให้ทุกสี เคยใช้งบประมาณของคณะจัดเวทีให้กลุ่มเสื้อแดงทั่วประเทศมาแสดงความเห็นทาง การเมือง อาทิตย์ถัดมาก็จัดเวทีให้กลุ่มเสื้อเหลืองทั่วประเทศมาแสดงความเห็น ยืนยันว่าคณะรัฐศาสตร์เปิดกว้างเรื่องนี้มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วยซ้า " นายจรัสกล่าว และว่า ถ้านิสิตยอมให้ดูข้อความและข้อความนั้นไม่ได้หยาบคายอะไร เชื่อว่านายวีระศักดิ์จะยอมให้นิสิตโชว์ป้ายประท้วงแน่นอน ถ้ารัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ต้องการให้ชี้แจงข้อเท็จจริงก็ยินดี

วีระศักดิ์ยันมีนิสิตแฝงตัวเข้ามาถือป้ายจึงขอดูข้อความ ยันไม่ได้ยื้อแย่ง
ด้านนายวีระศักดิ์กล่าวกับ "มติชนออนไลน์" ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ ตนเดินตรวจเส้นทางกลับของนายกรัฐมนตรี ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับ แล้วทีมรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของนายกฯสะกิดตนให้ดูนิสิตกลุ่มหนึ่งที่ยืนแฝงมากับกลุ่มนิสิตที่เราเซ็ตไว้ สำหรับยืนต้อนรับนายกรัฐมนตรี นิสิตกลุ่มนี้ถือปึกโปสเตอร์ ตนเดินเข้าไปบอกว่า "ช่วยเปิดให้ผมดูหน่อย " ถามถึงสองครั้ง แต่นิสิตไม่ยอมเปิดและพยายามเดินหนี ในฐานะผู้รับผิดชอบงาน ที่ต้องดูแลงานให้เกิดความเรียบร้อย เมื่อนิสิตไม่ยอมเปิดให้ดู และส่อพิรุธด้วยการจะเดินหนี ตนจึงดึงกระดาษออกมา ยืนยันไม่ใช่การยื้อแย่ง เพราะเมื่อหยิบกระดาษมา นิสิตก็ปล่อยทันที

"จากนั้นมีนิสิตคนหนึ่งเดินมาพูดว่าไม่สามารถพูดแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองได้เลยหรือ ผมจึงพูดว่า "นี่เวทีวิชาการ ผมเป็นคนรับผิดชอบงานนี้ นี่เป็นที่ของผม ถ้ามีปัญหาค่อยฟ้องทีหลัง " มีการโค้ทคำพูดผมไม่หมด เลือกเฉพาะคำที่โดนใจตัวเอง แล้วไปตีความในทางที่ผิดความหมาย คำพูดผมหมายถึงสถานที่จัดงาน เป็นความรับผิดชอบของผม ไม่ได้หมายถึงว่าจุฬาฯ เป็นที่ของผม เป็นการตีความที่ผิดความหมาย ใครเรียนจุฬาฯ จะรู้ว่าที่จุฬาฯเป็นที่พระราชทาน" นายวีระศักดิ์กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท:ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์ "กูไม่ยอม...!!!"

Posted: 21 Aug 2010 05:56 AM PDT

 

กลางดึกอันเงียบงันฉันฝันร้าย
ฝันว่าตายกลางเปลวแดดในเมืองใหญ่
เห็นซากศพรอยเลือดและเปลวไฟ
เห็นคนพาลจัญไรไล่ยิงคน

เป็นกลางดึกพฤษภาที่ฉันฝัน
ม่านเมฆหมอกไฟควันที่สั่นไหว
เสียงกรีดร้องขอชีวิตไม่อยากตาย
ฉันจำได้นั่นคือเสียงประชาชน

เป็นความฝันเหมือนจริงยิ่งกว่าฝัน
เสียงไชโยโห่ร้องลั่นกระสุนสอย
ถ่มน้ำลายสมน้ำหน้าขี้ข้าพลอย
พวกคนถ่อยสมควรแล้วสมควรตาย

เหมือนไม่ฝันแต่เป็นฝันฉันจึงเห็น
ความเยือกเย็นของคนบนสวรรค์
แล้วสั่งการอ้างอำนาจการลงทัณฑ์
มึงบังอาจเย้ยหยันอำนาจกู

ในความฝันฉันตายกลางเปลวแดด
เสียงปืนแผดทะลุร่างระเบิดไหม้
ฉันเป็นศพแน่นิ่งตายลงไป
กลางวัดใหญ่ “ปทุมวนาราม”

ก่อนฟื้นตื่นจากหลับใหลในฝันร้าย
เห็นซากศพทั้งหลายลุกขึ้นสู้
ทั้งเกรี้ยวโกรธเคียดแค้นก็เกรียวกรู
มันมุ่งสู้มือชี้หน้า “กูไม่ยอม”


"ปราโมทย์  แสนสวาสดิ์"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลี่ปมเยียวยา(ตอนจบ) สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง

Posted: 21 Aug 2010 05:06 AM PDT

รายงานชุดคลี่ปมเยี่ยวยา สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง ตอนจบ พูดถึงการกำเนิดขึ้นของ"มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้" หรือ มยส.อันเป็นคุณูปการหนึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. กับอีกหนึ่งกรณีผู้ได้รับผลกระทบ แต่หมดสิทธิได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์รัฐ

คนสูญหาย ไร้การเยียวยา

ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือกรณีบุคคลสูญหาย โดยพบว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้สูญที่ได้รับการจดบันทึกไว้ มีทั้งหมด 35 ราย นับตั้งแต่ปี 2545 จนกระทั่งรายล่าสุดที่หายตัวไป เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2553

นั่นคือ การหายตัวไปของนายดอรอแม เจะและ อายุ 46 ปี ชาวบ้านบ้านลาดอ ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่รายนี้ไม่มีการแจ้งความจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภรรยาเนื่องจากความหวาดกลัว

อีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีเดียวในชายแดนใต้ที่คดีขึ้นสู่ศาล เพราะไม่อาจหาตัวเจอได้ภายในเวลา 2 ปี คือการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จนกระทั่งศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่า เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา 61 ด้วย เป็นคำสั่งศาลที่ไม่ได้เอาผิดใคร

ครั้งสุดท้ายที่คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันกับนายมะยาเต็ง คือ ตอนเที่ยงของวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งนำตัวไป พร้อมกับรถกระบะ 1 คัน อาวุธปืน 1 กระบอก และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง

แต่คนที่อยู่ข้างหลังนายมะยาเต็ง ก็ไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตากหลักเกณฑ์ของรัฐอยู่ดี แม้นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยาจะพยายามเรียกร้องสิทธิในส่วนนี้ ในฐานะที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ความพยายามก็สูญเปล่า

“หลังจากศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ดิฉันก็เอาคำสั่งศาลนี้ไปให้นายกฤษฎา บุญราช ตอนนั้นยังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ท่านก็บอกว่าน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเสียชีวิต จะได้เงินช่วยเหลือ 500,000 บาท” นางโซมาฮิเดาะห์ กล่าว

เธอหวังว่า จะเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ที่สามีทิ้งไว้รวมกว่า 780,000 บาท พร้อมกับภาระเลี้ยงดูลูกชายอีก 2 คน

หลังจากนั้นนายกฤษฎา ได้ส่งเรื่องไปให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สุดท้ายคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้แจ้งผลการพิจารณามายังเธอว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งไม่มีการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง

เธอพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สิทธิในเรื่องนี้ แต่เมื่อหมดทางความพยายามเธอก็ค่อยๆ หดหายลงไปด้วย ล่าสุดมีข่าวว่าโครงการจ้างงานเร่งด่วน เดือนละ 4,500 บาท ที่เธอได้รับอยู่ด้วยว่า จะมีการยกเลิกโครงการ ยิ่งทำให้เธอท้อใจ ยังดีที่พอจะมีน้ำใจจากเพื่อนบ้าน ญาติมิตร และเพื่อนผู้ที่สามีสูญหายไปเหมือนเธอหยิบยื่นให้บ้างเท่านั้น รวมกับน้ำใจจากนายทหารบางคน

กำเนิดมูลนิธิเยียวยา มยส.

คุณูปการอย่างหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คือ การจัดตั้งกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อปี 2548 เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ

กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติปิดฉากลงเมื่อปลายปี 2552 และเป็นการนับหนึ่งของ "มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้" หรือ มยส.ที่รับหน้าที่ต่อ ซึ่งเป็นข้อเสนอของนายแพทย์ประเวศ วะสี เพื่อต้องการให้มีการขับเคลื่อนการช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบ และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

โดยนำเงินทุนส่วนที่เหลือจากการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและสนับสนุนโครงการต่างๆไม่กี่แสนบาทมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิ จากนั้น ได้เชิญศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มาเป็นประธาน โดยจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2552

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา กล่าวว่า มูลนิธินี้ตั้งขึ้นมาไม่ใช่เพื่อให้คนมารับเงิน แต่จะเป็นคลังสมอง หน้าที่เราคือสนับสนุนงานเยียวยาที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า งานที่ทำไปแล้วดีหรือไม่ดี มูลนิธิต้องการทบทวนทุกงานที่ทำมา แล้วมาจัดว่า งานไหนมีผลลัพธ์ที่ดี ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น การทบทวนโครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research : AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อำเภอจะนะและเทพา จังหวัดสงขลา) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนทุนให้กับผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท หรือโครงการ AAR ซึ่งมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้จะรับมาสนับสนุนต่อจาก สกว.

“งานหนึ่งที่เราทำในตำบลหนึ่ง พบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือโต๊ะอิหม่าม แต่อีกตำบลหนึ่งโต๊ะอิหม่ามมีนิสัยอีกอย่าง ทำให้ว่างานไม่เดิน หรืออีกตำบลหนึ่งพบว่า แม่หม้ายที่สร้างกลุ่มอาชีพอยู่เป็นคนที่รู้จักหลายคน ทำให้สามารถสร้างกลุ่มได้ ส่วนอีกคนชอบทำงานคนเดียว จึงไม่ได้ช่วยให้ชุมชนของเขาเข้มแข็งขึ้นด้วย เราต้องการหาตัวแปรเช่นนี้ เพื่อหาทางช่วยเหลือที่ดีที่สุด ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละแห่ง”

สำหรับกลไกหลักอีกส่วนหนึ่งในการทำงานของมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ นอกจากนักจิตวิยาประจำโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่แล้ว ยังมีกลุ่มบัณฑิตอาสาในสังกัดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จะเข้ามาเป็นทีมงานในการเก็บข้อมูล รวมทั้งประเมินและติดตามโครงการ AAR นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรในฐานะเครือข่ายในพื้นที่ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นต้น

แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผลงานของมูลนิธิมีผลสะเทือนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังดำเนินการได้ไม่ครบหนึ่งปี แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้ จะมีเวทีใหญ่เพื่อการประเมินงานทั้งหมดอีกครั้ง

นั่นคือภาพรวมส่วนหนึ่งของงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในปลายด้านขวานของไทย ในส่วนของการใช้เงินเป็นตัวตั้งในวันนี้

.....................................

 
รู้จัก มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.)
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ หรือ มยส. ที่ตั้งชั้น 6 อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทรศัพท์ 08 3397 2200 โทรสาร 0 7445 5150 E-mail: dsrrfoundation@gmail.com
 
มยส. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนและประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อสร้างความสมานฉันท์และสร้างความเข้มแข็งแก่คนในท้องถิ่น สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยหรืองานวิชาการด้านการเยียวยาและความสมานฉันท์ และสื่อสารสาธารณะเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและการวางนโยบายที่ถูกต้อง
 
มยส.มี 4 แผนการดำเนินงานหลัก ได้แก่ 1.แผนงานการสร้างระบบการเยียวยาบุคคลเชิงคุณภาพ เช่น จัดตั้งกองทุนย่อยเพื่อให้การช่วยเหลือที่รวดเร็วและตรงกับ ความต้องการเฉพาะบุคคล ประสานขอความช่วยเหลือจากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ 2.แผนงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ เช่น สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการเยียวยาในชุมชนโดยชุมชน ผ่านโครงการ Alternative Activity Research (AAR) หรือโครงการอื่นๆ ผ่านเครือข่ายหรือบุคคลที่มีศักยภาพ 3. แผนงานวิชาการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้คู่การพัฒนาคน โดยการศึกษาวิจัย การพัฒนาคน และการจัดการความรู้ และ 4.แผนงานการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยการเผยแพร่ความจริงในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านวิถีชีวิตผ่านสื่อมวลชน จัดการข้อมูลข่าวสารและสื่อสารสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย
 
กรรมการมูลนิธิ ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย ประธาน ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ รองประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร เลขานุการ นายแพทย์วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย เหรัญญิก นายโสภณ สุภาพงษ์ นายแพทย์อนันต์ สุไลมาน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นายอับดุลรอซัค อาลี และนางมัรยัม สาเม๊าะ กรรมการ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"วีระศักดิ์" ถามนิสิตชูป้ายประท้วง เคยถามประชาคมจุฬาฯ หรือเปล่า

Posted: 20 Aug 2010 03:14 PM PDT

วอยซ์ทีวีสัมภาษณ์ "วีระศักดิ์ เครือเทพ" แจงทีมการ์ดนายกฯ ขอให้ช่วยตรวจสอบนิสิตเนื่องจากท่าทางไม่ได้มาร่วมฟังปาฐกถามาร์ค จึงเข้าไปตรวจสอบป้าย ยันไม่ได้ดึงป้ายจากมือนิสิตเพราะไม่ต้องออกแรง หยิบแล้วนิสิตก็ปล่อย ย้ำเสรีภาพต้องมีขอบเขต "นิสิตอยากแสดงออกแล้วสิทธิของผมในฐานะคนจัดงานประชุมอยู่ตรงไหน" ถามทำไมไม่มาแสดงออกช่วง "จาตุรนต์"

จากกรณีที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งถูกขัดขวางไม่ให้ชูป้ายแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ มาปาฐกถา ในงานครบรอบ 60 ปีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 18 ส.ค. นั้น

ล่าสุด เมื่อ 20 ส.ค. สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ได้สัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายวีระศักดิ์ชี้แจงว่า ในวันดังกล่าว ทีมรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยตรวจสอบนิสิตกลุ่มนี้ เนื่องจากมีลักษณะไม่ได้มาร่วมฟังปาฐกถา เมื่อเข้าไปสอบถามว่าป้ายข้อความอะไร นิสิตกลุ่มดังกล่าวไม่ตอบคำถาม จึงไม่อนุญาตให้ชูป้ายข้อความ

"ถามว่ามีการยื้อแย่งไหม ไม่ยื้อแย่งเลย ผมแค่ถามว่านี่คืออะไร นี่คืออะไรโชว์ให้ผมดู พอเด็กไม่โชว์ให้ผมดู เด็กก็เดินหันหลังน่ะ หันหลัง จะเดินหนี ผมเลยหยิบปึกนั้น โปสเตอร์อะไรไม่รู้ปึกใหญ่ปึกหนึ่ง หยิบแล้วเขาก็ปล่อย ถามว่าดึงจากมือได้ไหม จะเรียกว่าดึงจากมือก็ไม่เชิง เพราะว่าไม่ต้องออกแรงอะไรเลย เขาก็ปล่อยออกมา คำถามคือมีการยื้อแย่งไหม ใช้เวลาขนาดไหน ผมว่าใช้เวลาน้อยมาก แล้วผมก็ไม่ต้องการเสียเวลาตรงนั้น ผมแค่ดูความเรียบร้อยของเส้นทาง แล้วผมจะต้องให้นายกฯ ลงมาถึง  และขึ้นรถกลับไปเร็วที่สุด อันนี้อันที่หนึ่ง ผมให้ข้อเท็จจริงนะครับ เชื่อผมไม่เชื่อผมประเมินเอา"

"สิ่งที่ผมบอกย้ำเลยว่าเสรีภาพที่แสดงออก ไม่ใช่เสรีภาพโดยที่ไม่เคารพเสรีภาพคนอื่น นิสิตรัฐศาสตร์เราควรจะต้องรู้สิ่งนี้ดีเป็นพื้นฐาน ถ้าใครไม่รู้ถือว่าบกพร่องในการศึกษาเหมือนกัน เราไม่ใช่แสดงเสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตอะไรเลย นิสิตอยากแสดงออกแล้วสิทธิของผมในฐานะคนจัดงานประชุมอยู่ตรงไหน สิทธิของผมคือทำให้งานมันเรียบร้อยใช่ไหมครับ

แล้วสิ่งที่ต้องคิดนะ สิ่งที่ต้องคิดก็คือ นี่คือนิสิตกลุ่มหนึ่ง นิสิต 3-4 คนก็แล้วแต่ แล้วเคยถามประชาคมจุฬาฯ ไหม ว่าในฐานะที่เป็นประชาคมวิชาการที่อยากส่งเสริมเรื่องการกระจายอำนาจ ที่จะช่วยให้คนทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เคยถามเขาไหมว่า เรามาแสดงออกในเวทีนี้ เขาจะผลักดันนโยบายนี้ ถูกที่ไหม เคยถามหรือเปล่า หรือว่าเอะอะปาวๆ ก็จะแสดงออก แสดงออก ผมก็ถามกลับว่า อยากแสดงออกแล้วทำไมต้องเลือกแค่ช่วงที่บุคคลสำคัญมา ช่วงที่คุณจาตุรนต์อยู่ ช่วงต่อจากนั้น ทำไมไม่แสดงออกซึ่งความคิดเห็น ผมมีจัดงานประชุมทั้งวัน ทำไมไม่มาชูป้ายที่คณะ เอ๊ะ เป็นการแสดงออกแบบเลือกที่มักรักที่ชังหรือเปล่า อย่างนี้เรียกเสรีภาพที่แท้จริงหรือ ไม่เห็นมีใครปิดกั้นเลย เพียงแต่ว่าบอกผมหน่อยจะได้เตรียมอะไรต่างๆ ให้"

นายวีระศักดิ์ยังระบุถึงคำพูดที่ว่า "ที่นี่ไม่ใช่ที่จุฬา นี่เป็นที่ของผม ฟ้องผมได้เลย" คำพูดดังกล่าวนั้น เป็นความเข้าใจผิด ที่จริงเขาต้องการสื่อสารว่า บริเวณงานสถานที่นั้นตนได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งตนก็ต้องดูแลอย่างดีที่สุด โดยอาจารย์ผู้นี้เชื่อว่ามีบุคคลอยู่เบื้องหลังการกระทำของนิสิตกลุ่มนี้ จึงต้องการให้นิสิตกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ก่อนแสดงจุดยืนของตนเอง

ขณะที่ตัวแทนนิสิตได้เปิดเผยกับ "วอยซ์ทีวี" ว่า หลังเหตุการณ์ชูป้ายข้อความไม่ได้ถูกอาจารย์หรือเพื่อนนักศึกษาตำหนิการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น