โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กัมพูชาแถลง“ทักษิณ”ทิ้งเก้าอี้ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ-ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฯ ฮุนเซน ปัดเกี่่ยวปมขัดแย้ง

Posted: 23 Aug 2010 02:46 PM PDT

“อภิสิทธิ์” เชื่อมีสัญญาณที่ดีความสัมพันธ์ 2 ประเทศ ด้าน “กษิต” ดีใจหมดเงื่อนไข ส่งทูตกลับไปประจำกัมพูชาวันนี้ หลังรัฐบาลกัมพูชาออกแถลงการณ์ระบุ "ทักษิณ" ลาออกที่ปรึกษา “ฮุน เซน-รบ.” เหตุประสบความลำบากส่วนตัว ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างเต็มที่ 

 
"ทักษิณ" ลาออกที่ปรึกษา ฮุนเซน-รบ.
รัฐบาลกัมพูชาออกแถลงการณ์ลงวันที่ 23 สิงหาคม ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอขอยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และที่ปรึกษารัฐบาลด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนี เพื่อทรงลงพระนามในพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว
 
ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนอย่างสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า พาณิชย์การลงทุน กสิกรรม และการท่องเที่ยว ทั้งยังได้ช่วยให้นักลงทุนระดับสำคัญของต่างประเทศสนใจและเข้าใจถึงศักยภาพของกัมพูชาในเรื่องดังกล่าว
 
อย่างไรก็ดี โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประสบความยากลำบากส่วนตัว จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงได้เสนอขอลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้รับทราบข้อเสนอและขอแสดงความขอบคุณ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศกัมพูชา
 
นายเขียว กันหะริด โฆษกรัฐบาลกัมพูชากล่าวว่า การลาออกของพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกัมพูชาไทย โดยอธิบายว่าเหตุผลที่ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกเป็นเพราะมีงานมาก พร้อมยืนยันว่านี่ไม่ใช่การประนีประนอมแต่อย่างใดสื่อนอกชี้อ้างเหตุผลส่วนตัว
 
ขณะที่สำนักข่าวเกียวโดและเอเอฟพีรายงานว่าตรงกันถึงกรณีการออกแถลงการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลกัมพูชา ทั้งนี้กัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน 2552 ทำให้ไทยประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชาพร้อมกับเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศทันที แถลงการณ์ของรัฐบาลกัมพูชาระบุด้วยว่าระหว่างทำหน้าที่ที่ปรึกษา ทักษิณได้แลกเปลี่ยนความเห็นแนวคิด และประสบการณ์เพื่อช่วยกัมพูชาในเรื่องการค้า การลงทุน การเกษตร และการท่องเที่ยว
 
 
'กษิต' ส่งทูตไปประจำทันที
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายประศาสน์ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา เดินทางกลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 24 สิงหาคม หลังจากที่ทางกัมพูชาได้มีถ้อยแถลงออกมาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะได้ลาออกจากตำแหน่งแล้วทำให้เงื่อนไขของการเรียกเอกอัครราชทูตไทยกลับประเทศหมดไปโดยปริยาย ขณะที่กัมพูชาก็จะส่งเอกอัครราชทูตกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในไทยเช่นกัน
 
"ผมรู้สึกยินดีและขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่จะร่วมมือกันสร้างความสัมพันธ์ให้คืบหน้าต่อไป" นายกษิตกล่าว
 
ขณะที่นายประศาสน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นแต่พร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งแล้ว โดยจะเดินทางกลับกรุงพนมเปญด้วยเที่ยวบินทีจี 584 เวลา 18.10 น.วันที่ 24 สิงหาคม 
 
ด้านนายกอย กวงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชายืนยันกับสำนักข่าวเกียวโดว่า จะส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเดินทางกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 24 สิงหาคมด้วยแบะท่าพร้อมเจรจาทุกเรื่องทันที
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแสดงความยินดีที่ทั้งสองประเทศจะมีเอกอัครราชทูตไปประจำการจะได้เริ่มต้นทำงานด้วยกันอีกครั้ง เพราะขณะนี้สถานการณ์ตึงเครียดหากความสัมพันธ์กลับไปเหมือนเดิมก็จะเป็นประโยชน์สำหรับสองประเทศ เชื่อว่าการประสานงานและความตึงเครียดด้านชายแดนจะดีขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องคณะกรรมการมรดกโลกคงต้องมาพูดคุยกันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ทั้งนี้ เชื่อว่าสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อยากจะแก้ไขปัญหาขณะที่ฝ่ายไทยก็พร้อมที่จะเจรจาทุกเรื่องทันทีเช่นกัน
 
 
'อภิสิทธิ์' เชื่อแก้ปัญหา 2 ประเทศง่ายขึ้น
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ เรื่องการข้ามไปมา การจับกุมตัวบ้างการยิง แต่ทุกกรณียังอยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ยังไม่ได้เป็นปัญหาขึ้นมาในระดับที่จะส่งผลกระทบกระเทือนในระดับชาติขณะนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้ช่องทางทางการทูตเข้าไปเจรจา คิดว่าในพื้นที่ยังดูแลได้ ถ้าพื้นที่ดูแลไม่ได้ก็คงจะรายงานขึ้นมา จากนั้นก็เป็นเรื่องที่จะไปดำเนินการอีกครั้ง แต่เข้าใจว่าจะมีสัญญาณในทางที่ดีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายถึงจะยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาสมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ทำนองนั้นแหละครับ ขณะนี้กำลังรอยืนยันอยู่ และเข้าใจว่าทางกัมพูชาเขากำลังประกาศอยู่ ทางเราก็กำลังตรวจสอบครับ ซึ่งถ้าเขายกเลิก เราก็ยินดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนทูตกันเหมือนเดิม"
 
ทั้งนี้ สัญญาณจากกัมพูชาที่ออกมา สะท้อนการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศจะดีขึ้นด้วยหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "คิดว่าถ้าความสัมพันธ์กลับไปอยู่ในระดับที่มีทูตอยู่ที่ 2 ประเทศ การแก้ปัญหาต่างๆ ก็คงจะง่ายขึ้น"
          
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: นารวมกลุ่มอนุรักษ์ฯ ปี 5 มั่นคง - หยัดยืน- คัดค้านโครงการโปแตซ!

Posted: 23 Aug 2010 02:13 PM PDT

ปีที่ 5 การผลิตแบบรวมหมู่ ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีออกแรงช่วยกันอย่างแข็งขัน อาศัยวีถีชีวิตที่เป็นรากเหง้าของชาวอีสาน ต่อต้านภัยเหมืองแร่โปแตซ

 
เมื่อวันที่ 22 – 23 สิงหาคม 2553 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน ร่วมกัน ทำนารวม เพื่อระดมทุนทำกิจกรรม ซึ่งปีนี้ เป็นปีที่ 5 ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ใช้การผลิตแบบรวมหมู่ออกแรงช่วยกันอย่างแข็งขัน อาศัยวีถีชีวิตที่เป็นรากเหง้าของชาวอีสาน ต่อต้านภัยเหมืองแร่โปแตซ โดยปีนี้ชาวบ้านทำนารวมเป็นจำนวน 30 กว่าไร่ 
 
 
 
บรรยากาศของการทำนารวมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในปีนี้ยังคงคึกคักและครื้นเครงดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทั้ง เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่วัยกลางคน รวมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ที่ต่อสู้กับภัยเหมืองแร่โปแตซมาร่วม 10 ปี ได้เดินทางมายังแปลงนารวมอย่าพร้อมเพรียงกัน ถึงแม้แสงแดดที่แผดเผาก็มิอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการดำนาของกลุ่มชาวบ้าน เพราะว่าทุกคนล้วนมีจุดหมายในการทำนาร่วมกันเพื่อที่จะได้ข้าวมาเป็นทุนของชุมชน แล้วนำไปต่อสู้กับอภิมหาทุนที่กำลังเข้ามาคุกคามชุมชนผ่านโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี
 
อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เข้ามาร่วมกิจกรรมดำนากับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง และกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงมาแปลงนารวมเพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ
 
แม่มณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ผู้ที่ยืนหยัดคัดค้านโครงการเหมืองโปแตซ มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ได้กล่าวถึงการทำนารวมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในครั้งนี้ว่า พวกเราทำนารวมมาเป็นปีที่ห้าติดต่อกันแล้ว โดยมีความมุ่งหมายว่าจะได้ข้าวไปขายเพื่อเป็นเงินทุนในการทำกิจกรรมของกลุ่ม โดยมีพี่น้องชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่มาดำนารวมนั้น ทุกคนที่มาต่างเป็นผู้มีใจรักในการปกป้องผืนแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเอง1ทั้งสิ้น
 
ด้านนางลำพูน รัตนี อีกหนึ่งแกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่นำพาชาวบ้านมาออกแรงดำนาร่วมกันในวันนี้ กล่าวอย่างภาคภูมิว่า ถึงแม้ว่าการดำนาจะเหนื่อยยากลำบาก แต่กลุ่มชาวบ้านก็ไม่เคยคิดย่อท้อต่อความยากลำบากในครั้งนี้ ทั้งยังถือเป็นโอกาสที่ดีที่ชาวบ้านจากแต่ละหมู่บ้านมาเจอกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน และไถ่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของชาวบ้านที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์กันอย่างกลมเกลียวเหนียวแน่น
 
ในส่วนของนายฐากูร สรวงศ์สิริ นักศึกษาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวความรู้สึกที่ได้มาสัมผัสกับชีวิตและการต่อสู้ของชาวบ้านผ่านกิจกรรมนารวมของกลุ่มอนุรักษ์ฯว่า โอกาสที่ดีของกลุ่มนักศึกษาที่ได้มาเรียนรู้การต่อสู้ของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ลุกขึ้นมาปกป้องฐานทรัพยากรของตนเอง โดยนักศึกษาขอส่งกำลังใจให้กับพี่น้องชาวบ้านคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซได้สำเร็จ
 
นายฐากูร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการที่ได้มาเห็นและทดลองทำนาด้วยตนเองนั้นทำให้ได้ซึมซับคุณค่าของข้าวว่า กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ดนั้น แสนยากลำบากจึงควรยกย่องพี่น้องชาวนาและร่วมกันรักษาวัฒนธรรมการทำนาของชาวอีสาน
 
เมื่อชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ดำนาร่วมกันจนเสร็จสิ้น ทุกคนต่างมีความรู้สึกปีติยินดีที่กิจกรรมในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และทุกๆ คนคงจะมาพบกันใหม่อีกครั้งในวันเกี่ยวข้าวนารวม โดยทั้งหมดต่างก็มีความมุ่งหวังร่วมกันว่า ข้าวจากนารวมในแปลงนี้ ที่ชาวบ้านร่วมกันปักดำจะงอกเงยไปเป็นต้นทุนในคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซ ต่อไป 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฤษฎีกาชี้ “อภิสิทธิ์” ต้องถอนคำสั่งปลด “พัชรวาท” กรณีสลายม็อบพันธมิตรฯ 7 ต.ค.51

Posted: 23 Aug 2010 01:42 PM PDT

วานนี้ (23 ส.ค.53) เว็บไซต์เดลินิวส์ มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีสอบถามความเห็นประเด็นรัฐธรรมนูญ กรณีมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เนื่องจากเห็นว่า มติ ก.ตร.กรณีรับอุทธรณ์คำสั่ง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ออกจากราชการ ตามความผิดกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 
 
โดยในหนังสือรับที่ 435/2553 เสร็จที่ 497/2553 เรื่องขอความเห็นประเด็นรัฐธรรมนูญ ผู้ทำคือคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่2) / ฝ่ายกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน โดยพิจารณาในประเด็นที่ว่า หากนายกฯ จะมีความเห็นแตกตางจากมติ ก.ตร.เนื่องจากเห็นว่ามติ ก.ตร.มีความแตกต่างกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพื่อเป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการโดยทั่วไปจะกระทำได้หรือไม่
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เมื่อนายกฯ ได้ออกคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 224/2552 ลงโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการ ตามมติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาม ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.ตร. ตามมาตรา 105(2) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เมื่อ ก.ตร.ได้มีมติแล้ว และสำนักงาน ก.ตร.ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกฯ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว นายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 72(1) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ จึงมีหน้าที่ต้องยกเลิกคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 224/2552 เพื่อดำเนินการตามมติ ก.ตร. โดยไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ 
 
สำหรับอำนาจของนายกฯ นั้น มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ประกอบกับมาตรา 4(12) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่อง และการประชุมต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 กำหนดให้นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี หรือมีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา หรือรับทราบได้ ดังนั้น หากนายกฯ เห็นว่ากรณีใดเป็นเรื่องสำคัญ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณารับทราบ ก็สามารถนำเสนอ หรือมีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีได้
 
แต่อย่างไรก็ตาม หากนายกฯ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้เสนอความขัดแย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นว่ากรณีนี้ แม้ว่า ครม.และ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญฯ แต่การเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ดังนั้น หากนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีไม่ว่า ครม.จะมีมติประการใด ก็หาได้กลายเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร และไม่ทำให้ ครม.มีฐานะเป็นผู้ร้องตามมาตรา 214 เนื่องจากการดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร.เป็นอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของ ผบ.ตร.ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ครม.ตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่1) เรื่องเสร็จที่ 642-644/2552 ลำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 23/2553 โดยลงชื่อ นางสาววิลลี่ อมราภรณ์ เลขานุการฯ นางสาวสุริศา ไขว้พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย และ นายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการ
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เครือข่ายคนทำงานบ้าน" ประกาศรัฐต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิ "อาชีพแม่บ้าน"

Posted: 23 Aug 2010 01:22 PM PDT

“เครือข่ายคนทำงานบ้าน” จี้รัฐต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิ เตรียมยื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.กระทรวงแรงงาน ชี้อาชีพแม่บ้านสร้างเม็ดเงินเกือบ 3 หมื่นล้าน แต่คุณภาพชีวิตคนทำงานย่ำแย่ เสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ รายได้ไม่เป็นธรรม ไร้สวัสดิการพื้นฐาน ส่วนประธานกรรมาธิการแรงงานเผยบางรายถึงขั้นห้ามติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก

 
 
เมื่อเวลา  09.00 น.วันที่ 22 สิงหาคม 2553 ณ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.) ราชเทวี กทม.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ภายใต้การ สนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานหญิงคนทำงานบ้านสากล มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมจัดสัมมนาทางวิชาการและการรณรงค์ชีวิตคนทำงานบ้าน สิทธิการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงานของไทย  เพื่อเป็น เวทีในการรับรู้ เรียนรู้อย่างเข้าใจเพื่อพัฒนากลไกในด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการผลักดันให้กระทรวงแรงงานเร่งออกประกาศกฎกระทรวงการคุ้มครองคนทำงานบ้าน  ให้ภาคสังคมทุกส่วนได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิด มุมมอง และเข้าใจชีวิตคนทำงานบ้านมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้รัฐบาลได้ออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานในภาคส่วนต่อไป
 
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) กล่าวว่า แม้จะมีตัวเลขยืนยันแน่ชัดถึงจำนวนคนทำงานบ้านที่มีรวมกันถึง 4 แสนคนสร้างเม็ดเงินสะพัดถึง 27,000 ล้านบาท การที่ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดแสดงให้เห็นว่าแรงงานทำงานบ้านถูกหลงลืมจากระบบการคุ้มครองแรงงานประเภทต่างๆ แม้มีการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
 
แต่มีข้อยกเว้นการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านหลายประการจึงทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองในประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น ไม่มีการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์เหมือนงานอื่นๆ ไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเวลาสำหรับการพักผ่อน  ไม่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานเด็กที่ห้ามทำงานประเภทนี้ การไม่มีการกำหนดมาตรการในการให้การคุ้มครองแรงงานทำงานบ้าน ส่งผลให้ลูกจ้างทำงานบ้านไม่ทราบถึงสิทธิที่ควรได้รับเช่นเดียวกับแรงงานในกลุ่มอื่นๆ
 
ด้านดร.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าที่ผ่านมามีการแบ่งประเภทของคนทำงานบ้านออกเป็น 3ประเภท คือประเภทที่หนึ่ง เป็นงานบริการคนทำงานบ้านที่คนไทยทำในประเทศปี 2550 มีประมาณ 225,000 คน เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1,100 ล้านบาท ประเภทที่สองเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเป็นคนทำงานบ้าน ปี 2550 มีประมาณ 150,000 คน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 9,000 ล้านบาทโดยแรงงานกลุ่มนี้จะมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท ต่อเดือน
 
ประเภทที่สาม คือแรงงานคนทำงานบ้านทีเป็นคนไทย แต่ไปเป็นคนทำงานบ้านที่ต่างประเทศ (อาชีพแม่บ้าน) มีประมาณ 25,000 คน ในปี 2550 สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งบางรายของลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงก็ถูกคุกคามข่มขืนทางเพศ ไม่มีวันหยุด วันลา วันพักผ่อนที่ชัดเจน ขาดการคุ้มครองด้านสุขภาพ ความปลอดภัยจากการทำงาน ขาดอำนาจการต่อรอง และสิ่งสำคัญที่แรงงานคนทำงานบ้านประสบปัญหาอย่างหนักคือการถูกคุกคามกีดกัน ไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกหรือญาติ และไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
 
ขณะที่นางสาวโมโม แรงงานทำงานบ้านชาวพม่า กล่าวว่า ได้เดินทางด้วยเท้ามาจากประเทศพม่าเข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งใช้เวลาจากประเทศพม่ากว่า 10 วันร่วมกับเพื่อนชาวพม่า 30 คน ซึ่งงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย คือ คนทำงานบ้าน โดยจะต้องทำทุกอย่าง ซึ่งงานหนึ่งที่ต้องทำเพิ่มจากการทำงานบ้าน คือ การดูแลสุนัขตัวโต ซึ่งตนไม่ชอบสุนัขอยู่แล้ว เนื่องจากกลัวสุนัขกัดแต่ก็จำเป็นจะต้องทำ การทำงานในแต่ละวันจะต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 และเข้านอนหลังจากที่นายจ้างนอนกันหมดแล้ว ที่ผ่านมาแม้จะมีวันหยุดแต่ก็ต้องทำงานทุกวันโดยไม่หยุดพัก
 
นางสาวโมโมเล่าต่อว่า ยังมีเพื่อนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานบ้านบางคนเล่าว่า ไปทำงานในบ้านที่มีเจ้านายเป็นผู้ชายและถูกลวนลามตลอดเวลาซึ่งเพื่อนของตนในขณะนั้นอายุได้เพียงแค่ 15 ปีเท่านั้นเอง และที่พักก็ไม่ปลอดภัยไม่มีห้องพักที่มิดชิดให้พักผ่อน ต้องนอนใต้บันไดบ้านและต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ทำงานในบ้านหลังนั้น ซึ่งตนอยากให้มีกฎหมายมาคุ้มครองคนทำงานบ้าน คิดว่าแม่บ้านจำนวนมาก็อยากให้มี และอยากให้มีวันหยุดอาทิตย์ละ 1วัน และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่คนทำงานบ้านจะต้องได้ด้วย
 
อย่างไรก็ตามภายในงานสัมมนายังมีการแสดงละครเรื่อง “เปิดชีวิตคนทำงานบ้าน” โดยเครือข่ายแรงงานหญิงทำงานบ้านสากล และภายในงานคณะกรรมการจัดงานได้ร่วมกับผู้แทนแรงงานคนทำงานบ้านประกาศเจตนารมณ์ รัฐต้องปกป้องและคุ้มครองคนทำงานบ้าน และภายหลังจากการจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้มีการกำหนดวันที่จะเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องของคนทำงานบ้านต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 27 สิงหาคม 2553 ที่จะถึงนี้ด้วย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (16 - 21 ส.ค.53)

Posted: 23 Aug 2010 12:59 PM PDT

วารสารถูกสั่งแบนเหตุพาดหัวข่าว “กันยายน” / ตานฉ่วยสั่งการ อาคารรัฐสภาต้องพร้อมช่วงการเลือกตั้ง/พรรคไทยใหญ่ ตัดสินใจส่งผู้สมัครหญิงลงเลือกตั้ง / พรรค USDP เปิดสำนักงานทั่วประเทศ / ยูซานาร์ ฮุบที่ดินชาวบ้านเกือบ 1,000 ครอบครัว / อาหารพม่าได้รับความสนใจในเทศกาลอาหารโลก

 
16 สิงหาคม 2553 
 
วารสารถูกสั่งแบนเหตุพาดหัวข่าว “กันยายน”
วารสาร ในย่างกุ้งรายสัปดาห์ชื่อ โมเดิร์นไทมส์ ถูกสั่งห้ามพิมพ์เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์จากกองตรวจสอบและการจดทะเบียนสื่อ (The Press Scrutiny and Registration Division -PSRD) ซึ่งเป็นคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของพม่า หลังจากพาดหัวข่าวเกี่ยวกับสภาพอากาศในหน้าแรกซึ่งมีข้อความว่า “มันกำลังจะมาในเดือนกันยายนนี้หรือไม่?”
 
นักข่าวในกรุง ย่างกุ้งต่างเปิดเผยว่า ข่าวดังกล่าวได้รายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดพายุในเดือนกันยายน ตามที่นักอุตุนิยมวิทยาที่รู้จักกันดีคือ ดอกเตอร์ตั่นวิน ออกมาเปิดเผยว่า ในฤดูฝนนี้อาจจะมีฝนตกหนักและมีโอกาสที่จะเกิดพายุ ซึ่งได้นำภาพความเสียหายจากพายุนาร์กิสเมื่อปี 2008 ลงตีพิมพ์ด้วย
 
ทั้งนี้ นักข่าวคนหนึ่งกล่าวว่า เป็นการเขียนวิเคราะห์สภาพอากาศและความเป็นไปได้ตามลักษณะการเขียนข่าวทั่วไป แต่คำว่า กันยายน กลับเป็นคำที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์ของพม่า สงสัยว่าอาจมีหมายถึงการครบรอบ 3 ปี ของเหตุการณ์การประท้วงของพระสงฆ์ในปี 2550 (2007) ที่ผ่านมา จึงทำให้ตัดสินใจแบนวารสารดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม มีหนังสือพิมพ์และวารสารของบริษัทเอกชนจำนวน 187 ฉบับ ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาระสนเทศของพม่า ซึ่งภายใต้กฎข้อบังคับของสื่อแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้จะต้องส่งต้นฉบับให้กองตรวจสอบและการจดทะเบียนสื่อ ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ทุกครั้ง (Irrawaddy)
 
 
17 สิงหาคม 2553 
 
ตานฉ่วยสั่งการ อาคารรัฐสภาต้องพร้อมช่วงการเลือกตั้ง
พลเอกอาวุโสตายฉ่วย สั่งการกำชับต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการประชุมหารือรอบพิเศษ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า การก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในอนาคต ในเมืองเนปีดอว์ จะต้องเสร็จสมบูรณ์ระหว่างการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
 
ทั้งนี้ อาคารรัฐสภาหลังดังกล่าว จะถูกใช้เป็นที่พักของประธานรัฐสภาและรองประธานในอนาคต และจะใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนาหรือ USDP (Union Solidarity and Development Party) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีเต็งเส่ง
 
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุว่า หลังจากการการเลือกตั้ง รัฐสภาก็จะถูกจัดตั้งทันที ดังนั้นอาคารต้องมีความพร้อม ส่วนสัญลักษณ์ของพรรค USDP คือรูปสิงโต สง่างาม จะตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานใหญ่ของพรรค
 
ทั้งนี้รัฐบาลใช้เงินใน การก่อสร้างนับล้านเหรียญสหรัฐ หลังการประชุม มีรายงานว่า พลเอกอาวุโสหม่องเอได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากบริษัทผู้รับเหมากว่า 20 บริษัทเร่งดำเนินการก่อสร้างตามคำสั่งของพลเอกอาวุโสตานฉ่วย (Irrawaddy)
 
 
18 พฤษภาคม 2553 
 
พรรคไทยใหญ่ ตัดสินใจส่งผู้สมัครหญิงลงเลือกตั้ง
พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (The Shan National Democratic Party - SNDP) ส่งผู้สมัครหญิงลงสนามเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ทั้งนี้การตัดสินใจมาจากที่ประชุมกรรมการพรรคสาขาเมืองหมู่เจ้ ในรัฐฉานตอนเหนือตรงข้ามกับเมืองรุ่ยลี่ของจีน โดยใช้ระบบการลงคะแนนลับ ซึ่งได้ผู้ลงสมัครที่ได้รับเลือกจากสมาชิกในพรรคทั้งหมด 16 คน
 
หนึ่งในผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดคือ นางหง่วยหง่วยวัย 54 ปี จบปริญญาด้านศึกษาศาสตร์ เป็นเจ้าของโรงเรียนในเมืองหมู่เจ้ และปัจจุบันได้ลาออกจาการเป็นครูแล้ว โดยเธอจะลงสมัครเลือกตั้งสภาในนามผู้สมัคจากรัฐฉาน
นอกเหนือ จากนางหง่วยหง่วยจากเมืองหมู่เจ้แล้ว ยังมีผู้หญิงที่คาดว่าจะได้รับการคัดเลือกจากเมืองอื่น ๆ อีก 40% ของสมาชิกพรรค SNDP ที่เป็นผู้หญิง โดยยังพบว่า ผู้หญิงราว10% จากจำนวน 40 % ในพรรค SNDP ยังพบว่า ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารระดับสูงของพรรครวมอยู่ด้วย
 
ทั้งนี้ มีรายงานว่าผู้หญิงที่เข้าร่วมกับพรรคมาจากทางตอนเหนือของรัฐฉาน เช่น เมืองน้ำตู้ เมืองน้ำคำ เมืองหมู่เจ้และเมืองกึ๋ง ในรัฐฉานตอนใต้ ตามด้วยจังหวัดท่าขี้เหล็ก ที่อยู่ติดกับ อ.แม่สายของประเทศไทย (S.H.A.N )
 
 
19 สิงหาคม 2553
 
พรรค USDP เปิดสำนักงานทั่วประเทศ
พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา หรือ USDP (Union Solidarity and Development Party) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เต็งเส่ง ได้เปิดที่ทำการสาขาพรรคตามหัวเมืองใหญ่ในพม่า เช่น ในเนปีดอว์ กรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ พร้อมกันในเช้าวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ พรรค USDP อ้างว่า มีสมาชิกแล้วว่า 8 ล้านคน 
 
ขณะที่แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การเปิดสาขาพรรคครั้งนี้ พรรค USDP มีแผนจะรวมตัวเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับผู้ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่พรรคUSDP ของรัฐบาลพม่าใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ (Irrawaddy)
 
ยูซานาร์ ฮุบที่ดินชาวบ้านเกือบ 1,000 ครอบครัว
ที่ดิน กว่า 10,000 เอเคอร์ (ประมาณ 25,000 ไร่) ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและทำเกษตรกรรมของชาวบ้านกว่า 1 พันครอบครัวใน 5 หมู่บ้านซึ่งได้แก่หมู่บ้าน วาราสุป, บางกก, นัมใส, อองรายัง และหมู่บ้านสะทูสุป ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาฮุกวาง รัฐคะฉิ่น ถูกบริษัทยูซานาร์ยึดไปเพื่อทำไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลัง ทั้งนี้ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากไร้ที่ไร้ที่ทำกิน โดยชาวบ้านบางส่วนได้หาที่ดินในการเพาะปลูกผืนใหม่ในเขตภูเขาที่อยู่ไกลออก ไป ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนต้องหาของป่าเพื่อแลกกับข้าวและของจำเป็นอื่นๆ
 
ทั้ง นี้ บริษัทยูซานาร์ที่นำโดย นายอูเทมิ้น ได้บุกรุกเข้าไปในหุบเขาฮูกวางในปี 2549 ที่ผ่านมาและยึดที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ไปกว่า 400,000 เอเคอร์ (ประมาณ 1 ล้านไร่) ซึ่งรวมถึงผืนป่าธรรมชาติ
 
ในขณะเดียวกัน บริษัทดังกล่าวได้ย้ายชาวพม่าหลายพันคนเข้ามาในพื้นที่หุบเขาดังกล่าว ในลักษณะของคนงานอย่างต่อเนื่อง มีรายงานเช่นเดียวกันว่า คนงานหลายคนในบริษัทมักจะหนีออกมาจากแคมป์คนงานเพราะไม่ได้รับเงินเดือน ติดต่อกันหลายเดือน อย่างไรก็ตามแรงงานพม่าเหล่านี้ก็ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้จึงตั้งตั้ง รกรากอยู่ในหุบเขาดังกล่าว
 
นอกจากนี้ ชาวพม่าเริ่มเข้ามาในเขตพื้นที่ดังกล่าว นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลและองค์กรเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization-KIO) เมื่อปี 2537 อย่างไรก็ตาม แม้การยึดที่ดินของบริษัทพม่า รวมไปถึงการทะลักเข้ามาของชาวพม่าในพื้นที่ จะสร้างความไม่พอใจ แต่มีรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถทำอะไรได้ (Kachin News Group)
 
 
21 สิงหาคม 2553
 
อาหารพม่าได้รับความสนใจในเทศกาลอาหารโลก
เทศกาลอาหารโลกที่จัดขึ้นที่เมือง Vung Tau ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 21 – 25 กรกฎาคมที่ผ่าน ปรากฏว่า อาหารพม่าได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอาหารเมณูเส้น ข้าวเหนียวและปลาทอด ทั้งนี้ ผิ่วผิ่ว ติ่น เจ้าของภัตตาคารจากกรุงย่างกุ้งที่ไปร่วมงานในครั้งนี้เปิดเผยว่า อาหารพม่าขายดีจนไม่พอกับจำนวนผู้ที่เข้ามาเที่ยวงาน โดยผิ่วผิ่ว ติ่นเปิดเผยว่า เหตุที่มีชาวต่างชาติให้ความสนใจอาหารพม่า เนื่องจากรสชาติอาหารพม่ายังแปลกใหม่และอาหารพม่ายังไม่เป็นที่รู้จักนักใน ระดับนานาชาติ
 
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า แม้ทางการพม่าจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเข้าร่วมในเทศกาลอาหารโลก ในครั้งนี้ แต่กลับพบว่า รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการแต่อย่างใด (Mizzima)
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทใหญ่สิ้นนักการเมืองคนสำคัญ "อูส่วยโอง"

Posted: 23 Aug 2010 12:37 PM PDT

"อูส่วยโอง" นักการเมืองคนสำคัญของไทใหญ่ หนึ่งในผู้ร่วมเหตุการณ์ลงนามสนธิสัญญาปางโหลง ถึงแก่กรรมด้วยโรคประจำตัว ในกรุงย่างกุ้ง
 
Khonkhurtai: 23 ส.ค.53 แหล่งข่าวในรัฐฉานแจ้งว่า เมื่อเวลา 18.15 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา อูส่วยโอง วัย 88 ปี อดีตนักการเมืองซึ่งมากด้วยอุดมการณ์และประสบการของไทใหญ่ และเป็นหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์การลงนามสนธิสัญปางโหลง ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคมะเร็งตับ ที่บ้านพักส่วนตัวบนถนนชินจอปุพยา เขตซานชอง กรุงย่างกุ้ง
 
ทั้งนี้ ก่อนถึงแก่กรรม อูส่วยโอง ดำรงตำแหน่งเป็นประธานพรรคสหภาพประชาธิปไตย Union Democracy Party – UDP ที่เพิ่งได้การรับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้งพม่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างที่เขาพร้อมด้วยคณะสมาชิกเดินทางจากกรุงย่างกุ้งไปหาเสียงใน พื้นที่เมืองหยองห้วย บ้านเกิดของเขาในรัฐฉานตอนใต้นั้น ได้เกิดป่วยขึ้นมาอย่างกะทันหันและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในกรุงย่างกุ้ง ทว่า อาการป่วยของเขากลับทรุดตัวลงเรื่อยๆ กระทั่งถึงแก่กรรมลงในที่สุด
 
สำหรับประวัติของอูส่วยโอง เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2465 ที่เมืองหยองห้วย รัฐฉานภาคใต้ เมื่อปี 2488 ขณะมีอายุ 23 ปี เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมเยาวชนเอเชีย ต่อมาในปี 2490 ได้เข้าร่วมการประชุมลงนามสนธิสัญญาปางโหลง ที่ทำขึ้นระหว่างพม่า คะฉิ่น ชิน และไทใหญ่ ที่เมืองปางโหลง รัฐฉานภาคใต้ ซึ่งเป็นสัญญาระบุจะให้เอกราชปกครองตนเองแก่ชนชาติดังกล่าวหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษและปกครองร่วมกันแล้วครบ 10 ปี นอกจากนี้ เขายังเคยดำรงตำแหน่งประธานสันนิบาตชาติชาติพันธุ์รัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย Shan State National Races League for Democracy –SSNRLD ซึ่งได้เข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2533 ด้วย
 
โดยงานฌาปนกิจศพของอูส่วยโอง ได้มีขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (22 ส.ค.) ที่สุสานเหย่โวย กรุงย่างกุ้ง โดยมีสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ให้เกียรติไปร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ สมาชิกพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย NLD สมาชิกพรรคชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย SNDP และสมาชิกพรรคประชาธิปไตยพม่า นอกจากนี้ มีผู้คนในแวดวงการเมืองและประชาชนจากที่ต่างๆ เข้าร่วมกว่า 800 คน
 
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า อูส่วยโอง กำลังอยู่ระหว่างเขียนหนังสือประวัติของตัวเอง จากประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านพ้นเหตุการณ์สำคัญมามากมาย แต่ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์เขากลับถึงแก่กรรมเสียก่อน
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
________________________________________
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาภาคประชาชน: วิไล คำเงิน จากเชียงราย และPhilip Hirsch นักวิชาการต่างชาติ เมื่อ NGO ไม่เท่ากับชาวบ้าน

Posted: 23 Aug 2010 10:48 AM PDT

วิไล คำเงิน ชาวบ้านคณะทำงานกองเลขาฝ่ายข้อมูล เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย และ Philip Hirsch นักวิชาการชาวต่างชาติ ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 21: วิไล คำเงิน ชาวบ้านคณะทำงานกองเลขาฝ่ายข้อมูล เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย 
 
 
 
“คนหลายคนชอบพูดถึงคำว่าภาคประชาชน แต่ในส่วนของภาคประชาชนเองเขาเป็นชาวบ้าน หมายถึงชาวบ้านที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ ไม่ใช่นักวิชาการ แต่คนที่อยู่ในชุมชนและมีวิถีชีวิตทำมาหากินทั่วไป" 
 
“ถ้าพูดถึงพื้นที่เชียงรายเองภาคประชาชนก็มีการรวมตัวกัน รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อทำงานพัฒนา เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาของตนเอง แล้วในส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่ทำงานร่วมกันเขาก็พบว่ามีกระบวนการหลายอย่างที่เขาต้องเรียนรู้ ก็มีพี่น้องเอ็นจีโอส่วนหนึ่งเข้าไปหนุนเสริมในส่วนข้อมูลวิชาการและการเท่าทันนโยบาย ตลอดถึงการชวนคิดชวนคุยเรื่องการวิเคราะห์ มันก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคประชาชนชาวบ้านกับเอ็นจีโอ”
 
“จากการทำงานที่ผ่านมาก็พบว่า เอ็นจีโอเองก็ต้องปรับบทบาทของตัวเองเหมือนกัน แต่ในส่วนของชาวบ้านเขามีกระบวนการที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาพอสมควรในระดับหนึ่ง จนชาวบ้านบางคนถูกมองว่าเป็นเอ็นจีโอหรือเปล่า อันนี้คือคำถามจากสังคมภายนอก”
 
“ในส่วนของเอ็นจีโอเอง ถ้าคุณยังทำงานแบบเดิม ไม่มีกระบวนการปรับปรุงตัวและกระบวนการเรียนรู้แบบจริงจังกับชาวบ้าน คุณก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะว่าชาวบ้านก็มีกระบวนการพัฒนาตัวเองที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ และก็มีการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน”
 
“เพราะฉะนั้นเอ็นจีโอจำเป็นต้องมีการปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่ว่าในส่วนหนึ่งถึงจะปรับตัวอย่างไร การพึ่งพิงกันระหว่างชาวบ้านกับเอ็นจีโอก็จำเป็น มีความสำคัญที่จะต้องพึ่งพิงกันในหลายๆ เรื่อง และในส่วนประเด็นปัญหาเมื่อมันแก้ได้เรื่องหนึ่ง มันก็ขยับไปอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน” วิไล คำเงิน ชาวบ้านคณะทำงานกองเลขาฝ่ายข้อมูล เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย
  
 
 000
 
 
ตอนที่ 22: Prof. Philip Hirsch (ศ.ฟิลิป เฮิอร์ซช์) The University of Sydney - School of Geosciences 
 
 
 
“ถ้าถามว่าเอ็นจีโอเป็นตัวแทนของภาคประชาชนไหม ก็แน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่เฉพาะในเหตุการณ์เร็วๆ แต่ว่านานมาแล้วมีปัญหาหากว่าจะมองเอ็นจีโอว่าผูกขาดในความเป็นตัวแทนของภาคประชาชน” 
 
“คำว่าเป็นตัวแทนของใคร จะต้องดูว่ามีกลไกหลายด้าน ซึ่งที่ผ่านมาถ้าดูในเชิงประวัติศาสตร์ สังคมไทยเคยมีช่วงที่ขาดแคลนจริงๆ ขาดแคลนที่ประชาชนจะมีโอกาส มีเสียงของตนเอง แล้วเอ็นจีโอหลายกลุ่มสามารถที่จะออกมาพูด อธิบาย และเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญอยู่ แต่ขณะเดียวกันเอ็นจีโอก็ได้ก้าวไปพูดว่าเป็นตัวแทนของภาคประชาชนทั้งหมด ตั้งแต่สมัยนั้นซึ่งมันก็ไม่ถูก”
 
“แน่นอนว่าในช่วงที่ชาวบ้านหรือว่าประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิไม่มีเสียงที่จะพูด บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรเป็นบุคคลที่สาม เป็นบุคคลที่มีโอกาสในทางใดทางหนึ่ง มีการศึกษา หรือว่ามีช่องทางที่จะพูดแทน แต่แน่นอนไม่มีสิ่งที่ดีกว่า หรือว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการที่คนจะพูดแทนตัวเอง”
 
“เอ็นจีโอจะเป็นภาคประชาชนส่วนหนึ่งแน่นอนอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่าง มีหลายองค์กร มีกลไกในสังคมไทยทุกวันนี้ของภาคประชาชนที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ” 
 
“อีกอย่างหนึ่งคือถ้าใช้คำว่าเอ็นจีโอ เอ็นจีโอมีหลายประเภท มีหลายกลุ่มแล้วกลุ่มต่างๆ คงจะมีความเห็น มีวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน มีคนที่มีรากฐานการทำงานจากชาวบ้าน มีคนทำงานพื้นฐานบางกลุ่มอาจเรียกร้องปัญหาของคนในเมือง คำว่าภาคประชาชนคิดว่ามันกว้างเกินไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะอ้างว่าเป็นตัวแทน” Prof. Philip Hirsch The University of Sydney - School of Geosciences
 
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธรรม: เปิดใจเด็กนร.เชียงรายและครอบครัว... "เราอยู่ใต้อำนาจเขาเกินไป จนทำให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพ"

Posted: 23 Aug 2010 04:52 AM PDT

มุมมองของครอบครัวที่มีสมาชิกวัย 16 ปีคนหนึ่งออกมาถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการล้อมปราบที่แยกราชประสงค์ แต่กลับถูกจับฐานผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และอะไรคือเหตุผลของการออกมายืนในจุดนี้ 
 
 
 
"ผมก็ชอบก็อยากแสดงความคิดเห็นบ้าง เพราะผมชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ก็เลยไปร่วมกับเขา แต่หลังจากนั้นก็ผิดคาด ไม่นึกว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่มีอะไรก็ไปถือป้ายกันแค่นั้นก็จบ อย่างมากก็เป็นข่าวเล็กๆ น้อยๆ แต่ตำรวจเขาเล่นอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่"


...."ถามจริงๆ เถอะลูกทำแบบนี้ ลูกคิดอย่างไรเนี่ย" เขาก็บอกว่า "สงสารคนที่เขาตายนะแม่ เราก็ออกมา มาช่วยเป็นพลังให้เขา เพราะเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม"


"เราก็กลับมาคิดว่า จากการที่มีการสลายการชุมนุม ญาติพี่น้องเราก็ไม่มีใครเสียชีวิต เรายังเป็นขนาดนี้เลย แล้วคนที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปล่ะจะเศร้าใจสักเพียงไหน แล้วสื่อต่างๆ ในโทรทัศน์ก็ยังคงตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่ารับไม่ได้" 
 
000
 
ภายใต้หน้ากากคนดีที่แฝงด้วยเผด็จการรูปแบบใหม่ กล่อมสังคมด้วยคำพูดที่สวยหรู แต่ปฏิบัติราวกับซาตานกลับชาติมาเกิด "คนดีภายใต้หน้ากาก" ไม่ได้รับรู้ว่าสังคมเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่จะให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมาปิดกั้นการรับรู้บางมุมของคนดีได้ จึงเกิดสมรภูมิรบระหว่างข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย เมื่อ "คนดี" พยายามพ่นวาทะสวยหรูออกมา หรือ แม้แต่แฉการการกระทำที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่ สิ่งเหล่านี้จะเห็นได้จากการจับกุมเด็กเชียงรายที่ออกมาถือป้าย การที่ สกอ.ออกหนังสือแจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาต่างๆทั่วประเทศ ให้ควบคุมนักเรียนและนักศึกษาที่จะออกมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือล่าสุดที่ อ.จุฬาไม่ให้นักศึกษาชูป้ายแสดงความคิดเห็นในขณะที่ "คนดีภายใต้หน้ากาก" จะมาปาฐกถา เป็นต้น ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนดีมักอ้างอยู่เสมอว่า "เคารพคนที่เห็นต่างกัน จะ 1 คนหรือแสนคน ก็ต้องฟัง"
 
การแสดงออกทางการเมืองทั้งทางกาย วาจา และการเขียนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าแม้แต่การกระทำเหล่านี้ยังทำไม่ได้ ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ฉะนั้น ประชาธรรมขอเสนอแง่มุมบ้างด้านที่ยังอยู่ในมุมมืด เป็นมุมของครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง (อายุ 16 ปี) ที่กล้าออกมาถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการล้อมปราบที่แยกราชประสงค์ในจังหวัดเชียงราย ท้ายที่สุดถูกจับฐานผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และอะไรคือเหตุผลของพวกเขาที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าไม่เห็นด้วย
 
เราเข้าไปเยี่ยมพวกเขาที่บ้านพบว่าทุกคนในบ้านยังคงใช้ชีวิตตามปกติ แม้ว่าในตอนเช้าจะมีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงคุณแม่ เพื่อให้ไปเป็นพยานในวันที่ 16 สิงหาคม เรานั่งสนทนา กับเยาวชน 16 ปี (เด็กนักเรียนเชียงราย) และคุณแม่ของเขา (ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม) คุณแม่ก็ได้กล่าวกับทางประชาธรรมถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า
 
"เรื่องที่มีการออกมาพูดในโทรทัศน์ว่าจะปรองดองกัน แต่ยังไม่เห็นว่าจะปรองดองอะไรเลย ซ้ำยังไปไล่ล่าเขาอีก คนที่ถูกกระทำ คนที่คิดแบบเดียวกับเราก็เจ็บช้ำใจ หลังจากที่เกิดการสลายการชุมนุม เราก็เสียใจ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร ก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ได้เข้าไปร่วมกลุ่มอะไรกับใคร แต่ก็ยังมีการติดตามข่าวอยู่เสมอ"
 
ถ้าอย่างนั้นอะไรคือจุดเริ่มต้นของการแสดงออกทางการเมือง
นร.เชียงราย : ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับการเมืองครับ ผมแค่ต้องการเห็นความถูกต้อง ต้องการเห็นความยุติธรรมแค่นั้นเองครับ การเมืองนี่ไม่เกี่ยวครับ
 
คุณแม่กล่าวเสริมว่า แต่ก่อนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ก็ดูข่าวในโทรทัศน์ แต่น้องเขามาบอกว่า แม่ ในทีวีไม่เห็นเหมือนในอินเทอร์เน็ตเลย ทำไมในทีวีเขาถึงไม่ให้เสื้อแดงพูดเลย เราก็เลยเริ่มเห็นความไม่ยุติธรรม เริ่มลองติดตาม ก็เห็นว่าข่าวที่ออกในโทรทัศน์กับที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตนั้นมันไม่เหมือนกัน จึงเริ่มสนใจและติดตามการชุมนุมมาตั้งแต่เดือนมีนาคมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะเราเห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น คนอื่นเขาก็เริ่มกันมานาน แต่เราเพิ่งเริ่มติดตาม เมื่อเทียบกันแล้ว คนอื่นอาจจะบอบช้ำมามากว่าเรา
 
แล้วทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
นร.เชียงราย : พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้จำกัดสิทธิของเรามากเกินไปครับ เราทำอะไรมากไม่ได้ เราอยู่ใต้อำนาจเขามากเกินไปจนทำให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพครับ ในเรื่องความไม่ถูกต้อง ความไม่ยุติธรรมต่างๆนั้น ก็ได้เห็นจากในทีวี ตามเว็บไซต์ต่างๆ เรา (ประชาชน) ถูกกระทำมากเกินไป
 
หลังจากที่น้องไปถือป้ายแล้ว ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปบ้างไหม
แม่ : ตอนที่น้องเขาไปทำกิจกรรม เราก็ไปทำงานนะ ซึ่งหลักจากนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงนะ ตอนนี้ก็ "ตุ๊มๆต่อมๆ" (เป็นคำเปรียบภาษาเหนือหมายถึงใจเต้นไม่เป็นปรกติเปรียบเหมือนว่าหวาดระแวงตลอดเวลา)ตลอดเวลา อย่างวันนี้ก็เอาอีกแล้ว (มีหมายเรียกจากตำรวจถึงคุณแม่ เพื่อให้ไปเป็นพยานในคดีที่นายแดงและพวกฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน) ที่จริงเราก็คุ้นเคยกับคนในเครื่องแบบนะ แต่หากถามว่าเรากลัวไหม? ก็กลัวนะ กลัวเพราะเราไม่ได้ทำผิด แต่ทำไมเราจะต้องไปให้ปากคำเขา ก็กลัวเขาจะกดดันเรา ความจริงก็คือความจริง จะให้เราว่ายังไงล่ะ ซึ่งนี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรก แต่ก็ไปมาหลายครั้งแล้ว ก็ได้บอกเท่าที่รู้ไปหมดแล้ว เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจของกฎหมายมากเกินไป มันเหมือนไม่จบไม่สิ้น เกิดความกังวลว่าวันนี้จะมีอะไรมาอีกไหม ทำให้ไม่ได้ทำการทำงานเลย (ตอนนี้กลายเป็นคนดังระดับประเทศไปแล้ว) ดังแบบนี้ไม่ไหว มัน "ตุ๊มๆต่อมๆ"ตลอดเลย
 
นร.เชียงราย: ตอนแรกๆก็ไม่ค่อยเปลี่ยนนะครับ แต่หลังจากที่ตำรวจเขาเริ่มติดตาม มันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตรงนี้ครับ คือ ต้องคอยระแวงว่าจะมีใครมาตามหรือมีใครมาแอบซุ่มดูเราตลอดเวลา
 
ผลกระทบต่อตัวเอง ครอบครัว เพื่อนฝูงพี่น้องเป็นอย่างไรบ้าง แล้วปฏิกิริยาของคนรอบข้างล่ะ
แม่ : เพื่อนฝูงที่เห็นด้วยกับเรา ก็โทรมาให้กำลังใจกันตลอด ก็มีกำลังใจตรงนี้ ตอนแรกนั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับเลย ช่วงนี้จึงดูผอมไปมาก เนื่องจากความกังวลและการที่จะต้องเดินทางบ่อย จะไปไหนตำรวจก็รู้ความเคลื่อนไหวหมด
 
นร.เชียงราย : เพื่อนๆ เขาก็เป็นห่วงนะครับ โทรมาให้กำลังใจตลอด เมื่อวานนี้ก็โทรมาถามว่าทำไมไม่ไปโรงเรียน พวกเขานึกว่าผมโดนไล่ออกแล้ว 
 
เพื่อนๆ คิดเหมือนเราไหม
นร.เชียงราย : เขาก็ไม่ค่อยสนใจนะครับ แบบว่าเล่นๆเรียนๆไป ผู้ใหญ่บางคนเขาก็มาสั่งห้าม มาบอกว่า เรามีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป (มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป) แต่ส่วนมากเขาก็ให้กำลังใจครับ
 
รู้สึกยังไงบ้างที่ต้องเข้ารับการบำบัด เหมือนเป็น "เด็กที่มีปัญหา"
นร.เชียงราย : ผมคิดว่าเขาคิดผิดแล้วครับ ใครกันแน่ที่มีปัญหา ต้องให้เขากลับไปคิดดูครับ
 
ตอนไปตรวจสุขภาพจิตเขาให้ทำอะไรบ้าง
นร.เชียงราย : ตอนที่ไปตรวจสุขภาพจิต เขาก็ให้ทำแบบทดสอบตอบคำถามแบบเชาว์ปัญญา ให้วาดรูปคน วาดรูปต้นไม้ แล้วถามว่าเราคิดอย่างไรกับรูปที่วาด แล้วก็มีการตอบคำถาม 60 ข้อ 
หลังจากที่ผลทดสอบออกมาแล้ว คุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้างครับ
 
แม่ : หลังจากที่รู้ผลการทดสอบแล้ว ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะลูกเราก็ปกติดี เราก็รู้แล้วว่าเป็นอย่างนั้น ตอนแรกๆคิดว่า ตำรวจเรียกไปตักเตือนแค่นั้น แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขากลับส่งไปยังสถานพินิจ แต่เราก็ไม่ได้โดนคนเดียวไง คนอื่นเขาก็โดนด้วย ความจริงก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนี้หรอก เพราะปกติก็อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่ได้ไปมีเรื่องมีราวกับใครอยู่แล้ว
 
รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ออกมาถือป้ายแสดงความเห็นทางการเมือง รู้สึกเสียใจไหม ความรู้สึกก่อนหลังออกมาต่างกันหรือเปล่า 
นร.เชียงราย : ผมก็ชอบเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว พอดีกับที่เพื่อนๆพี่ๆเขาชวนมาทำกิจกรรม ผมก็ชอบก็อยากแสดงความคิดเห็นบ้าง เพราะผมชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ก็เลยไปร่วมกับเขา แต่หลังจากนั้นก็ผิดคาด ไม่นึกว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่มีอะไรก็ไปถือป้ายกันแค่นั้นก็จบ อย่างมากก็เป็นข่าวเล็กๆน้อยๆ แต่ตำรวจเขาเล่นอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่นะครับ (ตอนนี้ยังกลัวอยู่ไหม?) ไม่กลัวครับ ตอนนี้ก็เฉยๆ เราก็ต้องสู้ไปตามกระบวนการครับ
 
แม่ : น้องเขาเป็นคนรักความยุติธรรม ทางบ้านก็สอนให้สงสารคน สงสารทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าไปรังแกเขา เพราะเขาก็มีชีวิตจิตใจ เราเคยถามเขาว่า "ถามจริงๆเถอะลูกทำแบบนี้ ลูกคิดอย่างไรเนี่ย" เขาก็บอกว่า "สงสารคนที่เขาตายนะแม่ เราก็ออกมา มาช่วยเป็นพลังให้เขา เพราะเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม" เราก็กลับมาคิดว่า จากการที่มีการสลายการชุมนุม ญาติพี่น้องเราก็ไม่มีใครเสียชีวิต เรายังเป็นขนาดนี้เลย แล้วคนที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปล่ะ จะเศร้าใจสักเพียงไหน แล้วสื่อต่างๆในโทรทัศน์ก็ยังคงตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่ารับไม่ได้ ก็เลยเลือกที่จะรับสื่ออย่างอื่นมากกว่า 
 
อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลและสังคมไทยบ้าง
นร.เชียงราย : ขอฝากถึงสังคมในเรื่องของความยุติธรรมแค่นั้นแหละครับ เพราะว่าสังคมนี้ยังไม่มีความยุติธรรมหรือความถูกต้อง ซึ่งผมเชื่อว่าสักวันหนึ่ง มันต้องมีวันที่มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม ส่วนทางรัฐบาลนั้น ผมขอแค่ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แค่นั้นแหละครับ ห้ามใช้ พ.ร.กฉุกเฉินฯ มาปกป้องตัวเอง และสุดท้ายนี้ก็ขอให้ยุบสภาก่อนธันวาคม
 
แม่ : อยากให้เขายุติ เพราะว่าเราก็เหนื่อยมามากแล้ว เราไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่ก็มีเรื่องตามมาจนทำให้เราไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างปกติ ลูกก็ต้องขาดเรียนเพราะต้องไปนั่นไปนี่ ชีวิตเราที่เคยปกติก็กลายมาเป็นอะไรไม่รู้ ถ้าคิดว่าจะปรองดองกัน ก็ควรที่จะพูดกันดีๆ ดีกว่า ไม่ต้องมาออกหมายเรียกหรือใช้กฎหมายเข้าข่มขู่ มันกลายเป็นการสร้างความกดดันมาบีบคั้นเรา อยากให้เจาหน้าที่ของรัฐไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะใช้อำนาจ จะทำอะไรก็ให้คิดถึงผลที่จะตามมาด้วย
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลเลื่อนไต่สวน "สุธาชัย" ฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ-สรรเสริญ

Posted: 23 Aug 2010 04:06 AM PDT

คดี "สุธาชัย" ฟ้องหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์-สุเทพ-พ.อ.สรรเสริญ กล่าวหาเอี่ยวขบวนการล้มสถาบัน ศาลสั่งเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องไป 15 พ.ย.นี้ เหตุพ.อ.สรรเสริญ ยังไม่ได้รับหมายนัดไต่สวนที่แนบคำฟ้องต่อศาล

 
วันนี้ (23 ส.ค.53) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา 
 
จากกรณีเมื่อวันที่ 27-28 เมษายน 2553 จำเลยทั้งสาม ร่วมกันจัดทำแผ่นใบปลิวโฆษณา แสดงแผนผังของ ศอฉ.เกี่ยวกับขบวนการล้มสถาบัน ซึ่งมีชื่อของ โจทก์ รวมอยู่ในใบปลิวดังกล่าวด้วย นำใบปลิวไปแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนประกอบการแถลงข่าว
 
ขณะที่ปรากฏว่า พ.อ.สรรเสริญ จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้แต่งตั้งทนายความ เพื่อแก้ต่างคดี เนื่องจากยังไม่ได้รับหมายนัดไต่สวนที่แนบคำฟ้องต่อศาล ศาลพิเคราะห์แล้ว จึงมีคำสั่งเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องออกไปเป็นวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เวลา 09.00 น.
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์คนงานเก็บบลููเบอรี่ที่ฟินแลนด์-สวีเดน

Posted: 23 Aug 2010 03:40 AM PDT

ในแต่ละปีประมาณการณ์ว่าจะมีคนมาเก็บบลูเบอรรี่ที่ฟินแลนด์ประมาณ 12,000 คน และที่สวีเดน ประมาณ 10,000 คน โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางมากันเอง แต่นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา จะมีกระบวนการจัดหาคนงานจากประเทศไทยเพื่อให้มาเก็บ บลูเบอรรี่กันอย่างจริงจังทำให้ตัวเลขคนไทยที่เดินทางมาสวีเดนและฟินแลนด์ทีเคยเดินทางมา ในระบบเครือญาติ ในวีซ่านักท่องเที่ยว ปีละเพียงไม่กี่ร้อยคน ได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเป็นหลักพันคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

ทั้งนี้การติดต่อหาคนมาเก็บเบอรรี่ ส่วนใหญ่จะกระทำผ่านเอเยนต์ หรือบริษัทจัดหางานในประเทศไทย และเกษตรกรเก็บบลูเบอรรี่จากประเทศไทย ก็็เข้ามาแทนที่ คนจากเพื่อนบ้านที่ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน เพราะเริ่มได้ไม่คุ้มทุนค่าใช้จ่าย และ เอเยนต์ก็ชอบคนไทยมากกว่าด้วยบอกว่า “คนไทยขยัน มีวินัย ทำงานเก่ง และไม่กินเหล้า เอะอะโวยวาย”
เอเยนต์หรือเจ้าของแคมป์บางแห่งจากทั้งสวีเดนและฟินแลนด์จะเดินทางไปประเทศไทยและเดินสายเข้าหมู่บ้านต่างๆ เพื่อไปเชิญชวนเกษตรกรไทยให้มาเก็บเบอรรี่ด้วยตัวของพวกเขาเอง โดยเฉพาะ จากจังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา
สำหรับฤดูกาลเก็บเบอรรี่ปี 2553 ที่มีการคาดการณ์ผลผลิตไม่ต่างจากปีที่แล้วคือ ไม่มากนัก อันเนื่องมาจากสภาวะความแห้งแล้ง ปัญหาคนงานเก็บบลูเบอรรี่ปี 2553 จึงได้เริ่มร้อนแรงขึ้นทุกขณะใน ทั้งสองประเทศ ทั้งสวีเดน และฟินแลนด์ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลกันเลยทีเดียว
 
ฟินแลนด์
 
ที่ฟินแลนด์ ข่าวคนงานไทยหายตัวไปในเช้าของวันที่ 26 กรกฎาคม ในระหว่างรอที่จุดนัดพบ เพื่อให้รถมารับได้เป็นที่สนใจในสื่ออย่างต่อเนื่อง ตำรวจได้พยายามค้นหาในช่วงแรกแต่ไม่พบ และ ยกเลิกภาระกิจ จนเมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้มีการพบหมวกไหมพรมที่หมาคาบมาเล่น ที่คาดว่าเป็นของผู้ตาย ตำรวจด้วยความช่วยเหลือของทหาร จึงเริ่มค้นหาอีกครั้งหนึ่ง  HELSINGIN SANOMAT รายงานเมื่อ วันที่ 3 สิงหาคมว่า “ชายไทยอายุ 38 ปี ที่เดินทางมาฟินแลนด์เพื่อหาเงินจากการเก็บลูกเบอรรี่ได้ถูก พบว่าเสียชีวิตในป่า ทีี่เมืองซัลลา ที่อยู่ทางภาคทิศตะวันออกของเขตแลปแลนด์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังจากหายตัว ไปสองสัปดาห์ครึ่่ง . . ตำรวจกล่าวว่าคาดว่าเสียชีวิตมานานแล้ว แต่สำหรับสาเหตุการ ตายต้องรอผลชัณสูตรศพ” http://www.hs.fi/english/article/Missing+Thai+berry+picker+found+dead+in+Lapland/1135259313900
 
ข่าวคนงานไทยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม หลังจากเก็บบลูเบอรี่่ได้เพียงสามวัน เป็นที่รับรู้ ของคนทั้งประเทศ ทำให้ประเด็นเรื่องคนงานไทยกับการมาเก็บบลูเบอรรี่อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์และทีวี อย่างต่อเนื่อง ทั้งการตามเข้าไปถ่ายทำสารคดีคนงานที่เก็บบลูเบอรี่่ หรือสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์
ในปี 2553 นี้ มีคนงานไทยประมาณ 2,000 คนที่ทยอยเดินทางมาฟินแลนด์ตัั้งแต่กลางเดือน กรกฎาคม เพื่อมาเก็บบลูเบอรรี่ให้กับเอเยนต์ 7 แห่งในฟินแลนด์ ส่วนใหญ่ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท ไปกับค่านายหน้า ตั๋วเครื่องบิน วีซ่า ค่าประกันอุบัติเหตุ และจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ข่าวแจ้งว่าพวกเขา จะทยอยเดินทางกลับในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 
การเดินทางเข้าป่าเพื่อไปเก็บบลูเบอรรี่ที่ฟินแลนด์ ต่างจากที่สวีเดน ทั้งนี้ที่ฟินแลนด์ถือว่า การเก็บของป่าโดยเฉพาะอาหารจากป่าเช่น เบอรรี่และเห็ดต่างๆ เป็น “everyman's right” “สิทธิของทุกคน” ที่จะกระทำได้ ดังนั้นรูปแบบการนำคนต่างประเทศเข้ามาในฟินแลนด์แม้จะมีการ จัดการของเอเยนต์ในประเทศไทย และเอเยนต์หรือกลุ่มธุรกิจบลูเบอรี่ที่ฟินแลนด์ก็ตาม แต่จะไม่ มีสัญญาจ้างงานที่ผูกมัด และเป็นไปในรูปแบบ “คนงานเดินทางมากันเอง เป็นหนี้กันมาเอง และก็มา เก็บขายกันเอง”   โดยเอเยนต์ที่นี่จะเตรียมที่พัก คนทำอาหาร รถยนต์ และปั๊มน้ำมันไว้ให้เติมรถ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้และจำนวนกิโลกรัมของเบอรี่ที่ได้จะมีการบันทึกเก็บไว้รายวัน และจะมาหักจ่าย กันตอนจบฤดูกาล
ในสื่อต่างๆ ทั้งทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ได้นำเสนอปัญหาเรื่องธุรกิจบลูเบอรรี่กับเรื่อง “สิทธิของทุกคน” ในทุกบริบททางสังคม มีชาวฟินแลนด์เขียนกระทู้ร้องเรียนไปที่รัฐสภาฟินแลนด์ ประเด็นถกเถียงมีตั้งแต่แนวกระแสแนวคิดชาตินิยมว่าสิทธินี้ เป็นสิทธิเฉพาะของคนฟินแลนด์ ทัศนะและมุมมองในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดต่อ “ทุนเอกชน” ที่เข้ามาเอาเปรียบสิทธิที่เป็น “สิทธิทางสาธารณะ” และในประเทศที่มีสัดส่วนสมาชิกสหภาพแรงงาน สูงที่สุดในโลกเช่นฟินแลนด์ (ประมาณ 80% ของกำลังแรงงานที่นี่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน) ประเด็น เรื่องการเอาเปรียบคนงานต่างชาติ การไม่ได้รับการคุ้มครองทางด้านสิทธิแรงงาน จึงเป็นประเด็นที่ สหภาพแรงงานต่างๆ ที่ฟินแลนด์ใส่ใจเป็นอย่างมากและต้องการให้มีการนำเสนอกรอบการคุ้มครอง เรื่องสิทธิทางกฎหมายกับคนที่เดินทางมาเก็บบลูเบอรรี่ที่ฟินแลนด์ด้วย ซึ่งประเทศสวีเดนได้นำร่อง ไปแล้วในฤดูกาลปี 2553
สำหรับคนงานไทยที่มาอยู่ตรงกลางในกระแสการถกเถียงขณะนี้ ข้าพเจ้าขอสรุปประเด็นปัญหา ที่เกิดขึ้นกับคนงานไทยคร่าวๆ ดังนี้คือ
1) มีการระดมเกษตรกรจากประเทศไทยเพื่อให้กู้หนี้ยืมสินคนละไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่านายหน้า ค่าตั๋ว ค่าวีซ่าร์ ค่าประกันต่างๆ รวมทั้งค่าจัดซื้ออุปกรณ์ ในแต่ละฤดูกาล เพื่อมาเสี่ยงโชค ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกษตรกรจากประเทศไทยเป็นผูรับผิดชอบ ความเสี่ยงเพียงฝ่ายเดียว และความสูญเสียก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน  ประมาณการณ์ กันว่าถึงหนึ่งในสามทีเดียวที่สูญเสียจากฤดูกาลบลูเบอรรี่ที่ผ่านมา
2) กระบวนการไม่ได้ตรงไปตรงมา ไม่มีการให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมากับเกษตรกร มีการ โฆษณารายได้สูงเกินจริง ในสถิติของเอเยนต์รายหนึ่งที่เอาให้ข้าพเจ้าดู รายได้เฉลี่ยหลัง จากหักค่าใช้จ่ายของคนไทยที่เดินทางมาเก็บบลูเบอรี่(ทั้งสองประเทศ) จะอยู่ที่เพียงประมาณ 1000 ยูโร หรือ 40,000 บาท จะมีเพียงไม่กี่คน ที่หาเก่งจริงๆ และได้เงินแสนหรือสองแสน กลับประเทศไทย  
3) มีเอเยนต์เข้ามาเอี่ยวผลประโยชน์ในรูปแบบ “จับเสือมือเปล่า” ทั้งต้นทางและปลายทาง (ทั้งจากประเทศไทยและจากฟินแลนด์) ทำให้ราคาค่าการจัดการสูงเกินไปทั้งจากประเทศไทย และจากประเทศฟินแลนด์ จนทำให้เกษตรกรไทยไม่มีเงินเหลือกลับบ้านเป็นกอบเป็นกำ
4) ด้วยสภาพความบีบคั้นจากหนี้สิน และต้นทุนค่าใช้จ่ายและค่ากินอยู่ที่ฟินแลนด์สูงมาก เฉลี่ย วันละ 1,200 บาท (ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเช่ารถ และค่าน้ำมัน)  เทียบได้กับราคาของ เบอรรี่ประมาณ 15-20 กก. ดังนั้นเพื่อให้เหลือกำไรเกษตรกรต้องได้เบอรรี่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 กก. ต่อวัน ทำให้พวกเขาต้องเร่งรีบทำงานกันอย่างหนักตลอดช่วงฤดูกาล ต้องเริ่มเดินทาง ออกจากที่พักตั้งแต่ตีสี่ตีห้า กว่าจะกลับก็สามหรือสี่ทุ่ม ทำงานเฉลี่ยวันละ 15-20 ชั่วโมง เพื่อต้องการเก็บบลูเบอรรี่ให้ได้มากที่สุด
5) ระบบที่ผูกขาด แม้ว่าเอเยนต์ทั้งสองทางจะอ้างว่าเกษตรเหล่านี้มากันเอง แต่กระบวนการจัด การมันมีการผูกขาดและควบคุมคนงานในตัวเอง เพราะเกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถเลือกขาย เบอร์รี่ที่เก็บได้ให้กับใครก็ได้ ต้องขายให้กับเจ้าของแคมป์หรือเอเยนต์ ยกเว้นเบอรรี่บางชนิด ที่เจ้าของแคมป์ไม่ต้องการ พวกเขาจึงจะสามารถขายให้กับผู้รับซื้อรายอื่นได้ และมีการบ่นกันว่า ราคาที่ขายให้กับเอเยนต์นั้นต่ำกว่าราคาท้องตลาด
การเดินทางหลายพันไมล์ จากประเทศไทยมายังประเทศฟินแลนด์ เพื่อมาเสี่ยงโชคโดยมีต้นทุน ติดลบตั้งแต่แรกแล้วถึง 70,000 กว่าบาท มันเป็นค่าความเสี่ยงที่ถูกผลักให้ตกอยู่ในความรับผิดชอบ ของเกษตรกรไทยเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ธุรกิจบลูเบอรรี่ไม่เคยร่วมรับผิดชอบความเสียหายใดๆ ทำให้ทุกปีมีตัวเลขเกษตรกรที่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยมือเปล่า และยังต้องไปใช้หนี้ค่าเดินทาง ที่กู้เงินมาสูงขึ้นเรื่อยๆ   
นี่จึงเป็นที่มาของการที่ประเด็นความสูญเสียของคนงานไทยและการอยู่ในสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทำให้สาธารณชน รัฐสภา และสหภาพแรงงานที่ฟินแลนด์ เริ่มตั้งคำถามเรื่องความรับผิดชอบต่อคน งานไทยของธุรกิจบลูเบอรรี่ที่ฟินแลนด์มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเรื่อง “สิทธิของทุกคน” จึงเป็นประเด็นที่มี การถกเถียงกันมากในฟินแลนด์ว่าจะทำอย่างไรถ้า “สิทธิของทุกคน” ถูกกลุ่มธุรกิจมาเอาเปรียบสิทธินี้ และเอาเปรียบคนเก็บบลูเบอรรี่ด้วย
เรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานนี้ เป็นประเด็นที่นำมาซึ่งความห่วงใยของสหภาพแรงงาน ฟินแลนด์​และชาวฟินแลนด์ต่อคนงานไทยสูงมาก เพราะถ้าเทียบอัตราชั่วโมงการทำงานปกติคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน และสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง คนงานไทยต้องทำงานฤดูกาลละ 70 วัน คิดเป็นจำนวนชั่วโมง 1,050-1,400 ชั่วโมง หรือเทียบได้ประมาณ 35 สัปดาห์ของการทำงานปกติของคนฟินแลนด์ 
นั่นก็หมายความว่าคนงานไทยได้ใช้พลังงานในการทำงานในฤดูกาลสั้นๆ เพียงสองเดือนครึ่งไปถึง 6-8 เดือนของภาวะการทำงานตามปกติของคนฟินแลนด์ และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมคนฟินแลนด์ และคนสวีเดนไม่ยอมทำงานนี้ เพราะถ้าเทียบกับกรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มันเป็นการทำงาน ที่ละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานของเขา ในประเทศที่มีสวัสดิการการว่างงาน แม้จะมีคนงานงาน หลายแสนคน(รวมกันทั้งสองประเทศ) แต่การอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานยังได้รับเงินและสวัสดิการสูงกว่าการ ลงไปทำงานเก็บบลูเบอรรี่วันละหลายชั่วโมง ที่ทั้งเหนื่อย ลำบาก เสี่ยงต่อยุง และหมี เงินล่วงเวลาก็ไม่ได้ จึงไม่มีคนเจ้าถิ่นยอมทำงานนี้ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยทำที่ตอนนี้เศรษฐกิจพากันพัฒนาขึ้น ต่างก็ไม่ค่อยเดินทางมาเก็บบลูเบอรรี่กันแล้ว เพราะได้ไม่คุ้มเสีย 
ก็จะเหลือเพียงคนงานไทย คนงานจีน และคนงานเวียดนามที่หลงเชื่อและพากันมา แต่ก็็คงจะพา กันถอดใจ และไม่สนใจในการเดินทางมาเก็บบลูเบอรรี่ในไม่อีกไม่เกินสองปี ถ้ายังขาดทุนย่อยยับ และเจอ ปัญหาต่อเนื่องเช่นนี้ และถ้ากลุ่มธุรกิจบลูเบอรรี่ยังทำกำไรบนการใช้แรงงานต่างชาติ โดยที่ไม่ยอมรับผิด ชอบความเสี่ยง และความเสียหาย หรือช่วยรับภาระต้นทุนค่าเดินทางมาฟินแลนด์และสวีเดน ให้กับเกษตรกรและคนงานที่ถูกระดมมาจากทั้งสามประเทศอยู่เช่นนี้ต่อไป 
สวีเดน
ปีนี้เป็นฤดูกาลแรกที่สวีเดนที่คนที่ไปเก็บบลูเบอรรี่อยู่ในระบบการจ้างงานเป็นเงินเดือน ภายใต้กรอบกฎหมายแรงงงานสวีเดนที่ครอบคลุมเรื่องค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน วันหยุด และค่าทำงาน ล่วงเวลาโดยระบุเงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่า 71-80,000 บาท ทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 40 ชั่วโมง ทำให้ เอเยนต์ไม่กล้าพาคนงานเข้าไปมากนัก เนื่องด้วยผลผลิตปีนี้ไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก และตัวคนงาน ไทยที่เจ็บตัวจากสวีเดนสองสามปีติดต่อกัน ก็พากันเข็ดขยาดไม่อยากเสี่ยง จึงทำให้คนไทยที่มาเก็บ บลูเบอร์รี่ปีนี่ที่สวีเดนทั้งวี่ซาทำงาน และเยี่ยมญาติประมาณ 4,000 คน หรือลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง จากปีที่ผ่านมาที่มีกว่า 8,000 คน
สำหรับสวีเดน สถานการณ์ปะทุอีกรอบเมื่อข่าวในวันที่ 6 สิงหาคมรายงานว่า “มีคนงานจีน 120 คน เดินเท้าตลอดคืนเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร มานั่งประท้วงที่ข้างทางพร้อมถือป้าย SOS” และ “Help (ช่วยด้วย)” เจ้าหน้าที่ของสวีเดนก็สื่อสารกับคนงานไม่ได้ แต่รู้เพียงว่าคนงานต้องการค่าแรงเพิ่มขึ้น”
ตามมาติดติดๆ ด้วยข่าวในวันที่ 10 สิงหาคมของ “การประท้วงของคนงานเวียดนาม 70 คนที่จับหัวหน้า 6 คนขัง และจับมัดไว้ แล้วพากันเดินขบวนมานั่งประท้วงที่ข้างทาง http://www.swedishwire.com/politics/5696-angry-berry-pickers-lock-up-bosses-in-sweden
เอเยนต์ที่สวีเดนพยายามกล่าวหาคนงานไทย 400 คน ที่ประท้วงเมื่อปีทีแล้วว่าเป็นต้นเหตุ ให้ธุรกิจเก็บบลูเบอรรี่เสียภาพลักษณ์ และบอกว่าถ้าคนงานไทยไม่หัวแข็ง เชื่อคำยุยง และประท้วง เมื่อปีที่ผ่านมา สถานการณ์มันก็ไม่เลวร้าย พร้อมบอกว่าจะไปจ้างคนงานจีนและเวียดนามแทนคนไทย
ข้าพเจ้าได้เตือนเอเยนต์สวีเดนไปว่า คนงานไทยที่ถือว่าเป็นคนงานต่างชาติที่ถ้าไม่สุดทน ก็มีมีทางลุกขึ้นมาประท้วง การหนีปัญหาด้วยการคิดว่าจ้างคนงานจีนและเวียดนามแล้วพวกเขาจะไม่ ประท้วง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะจริงๆ แล้ววัฒนธรรมการต่อสู้ของคนจีน และเวียดนาม สูงกว่าไทย และเขาจะประท้วงแน่นอนถ้าเจอปัญหา ซึ่งก็เป็นจริงๆ ดังเช่นที่ข้าพเจ้าได้เตือน เอเยนต์สวีเดนไว้แล้ว
สหภาพคนทำงานต่างประเทศ
ในฤดูกาลเบอรรี่ปี 2553 นี้ ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของสหภาพคนทำงานต่างประเทศ ที่ได้พูดคุยและนำเสนอปัญหาเรื่องบลูเบอรรี่ต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ สหภาพแรงงาน สื่อมวลชน และสาธารณชนที่สวีเดนและฟินแลนด์ ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีที่่ผ่านมา ได้พยายามเชื่อม ประสานและนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ผู้ได้รับผลกระทบปีที่ผ่านมาได้นำเสนอ ผ่านทางสหภาพคนทำงานต่างประเทศ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งสองด้าน
สหภาพแรงงานฟินแลนด์จึงได้เชิญข้าพเจ้ามาศึกษาปัญหาที่ฟินแลนด์ในฤดูกาลนี้ 
ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์ให้กับญาติและคนงานไทยที่มาเก็บบลูเบอรรี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ ในปีนี้ทราบว่าข้าพเจ้าและทีมงานจากฟินแลนด์จะเดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนปัญหา และ เยี่ยมเยียนคนไทย ที่เดินทางมาเก็บบลูเบอรรี่ที่เขตแลปแลนด์ทางตอนเหนือของฟินแลนด์ และสวีเดน ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 12 กันยายน สำหรับญาติๆ หรือคนงานไทยที่กำลังทำงาน เก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน และฟินแลนด์ ที่ประสบความเดือดร้อนและต้องการให้สหภาพคนทำงาน ต่างประเทศ และสหภาพแรงงานทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ช่วยเหลือ กรุณาติดต่อมาที่สำนักงาน ของสหภาพคนทำงานต่างประเทศที่ประเทศไทยด่วน เพื่อที่ทางสหภาพจะได้ประสานเส้นทางใน การไปเยี่ยมและให้คำแนะนำ หรือประสานความช่วยเหลือกับ สหภาพแรงงานในสองประเทศ ต่อไปในกรณีปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีก่อนที่ จะเดินทางกลับประเทศ เพราะบทเรียนจากปีที่ผ่านมาคือการแก้ไขปัญหายังยืดเยื้อ 
เบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานสหภาพคนทำงานต่างประเทศ 02 933 9492 หรือโทรมาที่เจ้าหน้าที่ของสหภาพฯ คุณธนากร สัมมาสาโก 080 172 9598
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ดีเอสไอ"แถลงความคืบหน้า คดี 91 ศพช่วงชุมนุมเสื้อแดงยังไม่คืบ-ไม่ฟันธงใครฆ่า

Posted: 23 Aug 2010 03:39 AM PDT

ดีเอสไอแถลง บชน.ส่ง 42 สำนวนชันสูตรพลิกศพ แจงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเป็นรายบุคคลได้เพราะการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น พร้อมปฏิเสธทหารยิงช่างภาพญี่ปุ่น ชี้ผลชันสูตรระบุแค่ยิงจากด้านหน้าทะลุหลัง ส่วนคืบหน้าการควบคุมตัวผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่สงบ ขณะนี้ในเรือนจำทั่วประเทศมี 209 คน 

วันนี้  (23 ส.ค.53) ว่าที่กระทรวงยุติธรรม พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงความคืบหน้าคดีก่อการร้ายและการควบคุมตัวผู้ต้องหากลุ่มคนเสื้อแดงว่า ในขณะนี้กรมราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่สงบ ในเรือนจำทั่วประเทศ 209 คน โดยแยกเป็น 4 ประเภท คือผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างสอบสวน 169 คน ผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด 12 คน กักขังแทนค่าปรับ 2 คน และผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์และฎีกา 22 คน รวม 209 คน 
 
ด้านพ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวถึง ความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุความไม่สงบว่า ขณะนี้มีคดีที่รับเป็นคดีพิเศษทั้งสิ้น 266 คดี เป็นคดีกับการก่อการร้าย 145 คดี คดีขู่บังคับรัฐบาล 21 คดี คดีทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน 80 คดี และกระทำผิดต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ 20 คดี
 
ส่วนความคืบหน้าการชันสูตรศพผู้ตายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตที่เป็นทั้งเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ อาสาสมัครและพลเรือน นอกจากนี้ ยังมี ช่างภาพสำนักข่าวต่างประเทศอีก 2 ราย คือ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นและชาวอิตาลี รวมไปถึงผู้เสียชีวิต 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม ซึ่งรวมทั้งสิ้น 91 ราย โดยขณะนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ได้ส่งสำนวนการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตเบื้องต้นให้ดีเอสไอแล้ว 42 ราย
 
พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่าการชันสูตรไม่เป็นไปตามขั้นตอนว่า เป็นการเข้าใจคาดเคลื่อน เนื่องจากกรณีที่ต้องชันสูตรพลิกศพให้ศาลไต่สวนจะต้องเป็นการเสียชีวิตขณะที่อยู่ในการคบคุมของเจ้าพนักงานหรือเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่ผู้เสียชีวิตกรณีดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตโดยถูกผู้อื่นทำให้เสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ
 
“ตามที่กฎหมาย ป. วิอาญา มาตรา148 ระบุ ว่าจะต้องชันสูตรพลิกศพธรรมและเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจึงส่งข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณาคดีพิเศษที่อยู่ในการพิจารณาของดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปภาพรวมของผู้เสียชีวิตทั้งหมดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด ทราบเพียงสาเหตุการตาย และอาวุธที่ใช้” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว
 
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า การเสียชีวิตของนายฮิโรยูมิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น กับนายฟาบิโอ โนเลนกีช่างภาพชาวอิตาลีว่า ดีเอสไอให้ความสำคัญกับทั้ง 2 กรณีเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งทางการประเทศญี่ปุ่นติดตามความคืบหน้าตลอด ซึ่งในวันนี้ (23 ส.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น จะเดินทางพบนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงต่างประเทศของไทยด้วย เช่นเดียวกับประเทศอิตาลีที่ญาติและกระทรวงต่างประเทศอิตาลี ได้สอบถามความคืบหน้ามาตลอด
 
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นสรุปได้เพียงเป็นเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงจากหน้าไปหลัง และชนิดของอาวุธ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เช่น ใครเป็นผู้กระทำยังไม่ได้ข้อสรุป โดยเฉพาะการสอบประจักษ์พยานที่อยู่ข้างผู้เสียชีวิต เนื่องจากทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตสูญหายไปหลายรายการทั้งโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตัล นอกจากนี้ ยังปฏิเสธกรณีที่เคยมีรายงานว่า ข้อมูลที่เคยปรากฏเป็นข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามเรียก พยานสอบปากคำ 4 คน แล้วให้การว่าทหารเป็นผู้ยิงช่างภาพชาวญี่ปุ่น ซึ่งข้อมูลในชั้นพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ได้เรียกพยานรายดังกล่าวมาสอบถามปรากฏว่าไม่มีใครให้การตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
 
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า การเสียชีวิตของทั้ง 91 ราย ดีเอสไอยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดหรือไม่ เนื่องจากตามที่ปรากฏเป็นข่าวคือมีชายชุดดำเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้แต่พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์เช่นกัน ซึ่งดีเอสไอจำเป็นต้องใช้กฎหมายเป็นที่ตั้ง จากนั้นจึงนำหลักฐานที่ได้มาเชื่อมโยงกันทั้งหมดก่อนสรุปสำนวนคดี ทั้งนี้ ยืนยันการดำเนินการของดีเอสไอไม่ได้ล่าช้า เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พร้อมยกเหตุการณ์ 911 ลอนดอมบอมบ์มิ่ง ว่าทางการสหรัฐอเมริกาใช้ระยะเวลานานเป็นเดือน เป็นปีกว่าจะสรุปรายละเอียดของเหตุการณ์ว่าเป็นมาอย่างไร
 
“ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้เพราะข้อมูลการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่ยืนยันจะทำความจริงให้ปรากฏ บางรายก็มีข้อมูลพอสมควร แต่ยังไม่เห็นภาพรวมทั้ง 91 ศพ จึงขอเวลาสอบสวนต่อเพื่อให้ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย ตัวจิ๊กซอว์ยังไม่ครบถ้วน คดีนี้ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดาที่พบศพในบ้าน มีร่องรอยงัดแงะ พยานหลักฐานอยู่ในวิสัยที่จะคลี่คลายได้ไม่ยากนักต่างจากคดีนี้ จึงไม่อยากด่วนสรุป สื่อมวลชนควรให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะทั้ง 91 ศพ ไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์  
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“พิศิษฐ์” ส่ง “ประกาศ สตง.” แจ้งหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ย้ำ “จารุวรรณ” พ้นเก้าอี้แล้ว

Posted: 23 Aug 2010 02:34 AM PDT

"พิศิษฐ์" ลงนามประกาศสำนักงานการตรวจการแผ่นดิน ส่งแจ้งหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง อ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ยัน “คุณหญิงจารุวรรณ” พ้นตำแหน่งแล้ว ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ

 
มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (23 ส.ค.53) จากกรณีความวุ่นวายภายในสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ และครบกำหนดเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงปฏิบัตหน้าที่เป็น "ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" อยู่นั้น
 
ล่าสุดนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าการฯ สตง. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2553 แจ้งถึงหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานราชการทุกแห่งยืนยันว่า คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้พ้นจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอ้างถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยเรื่องดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
 
 
เรื่อง แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรียน หัวหน้าส่วนราชการ ฯลฯ

ตามที่สำนักงานกรตรวจแผ่นดิน ได้หารือปัญหาการปฎิบัติหน้าที่ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้การตรวจเงินแผ่นดิน มีอายุครบ ๖๕ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมายตามความในมาตรา ๓๔(๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ นั้น
 
 
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับหนังสือจากงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ ๑) ว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว เนื่องจากมีอายุครบ ๖๕ ปีบริบูรณ์ ตามความในมาตรา ๓๔ (๒) แห่งบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๔๒ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
  
ประกาศสำนักงานการตรวจการแผ่นดิน
เรื่อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พ้นจากผู้การตรวจเงินแผ่นดิน
 
ด้วย คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้ปฎิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จนถึงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ มีอายุ ๖๕ ปีบริบูรณ์ อันเป็นเหตุแห่งการพ้นตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามนัยมาตรา ๓๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๙ เรื่องแก้ไขประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๒ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ มิได้กำหนดยกเว้นเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจการเงินแผ่นดินตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ดังนั้น คุณหญิงจารุวรรณเมณฑกา จึงต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจการแผ่นดินตามกฤษฎีกา (คณะที่ ๑)ได้พิจารณาและมีความเห็นทางกฎหมายดังกล่าว
 
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และไม่อาจเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่อย่างใด การใดที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้กระทำไปโดยอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือเป็นอำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมไม่ผูกพันสำนักการตรวจเงินแแผ่นดิน

จึงประกาศมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน 
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓

ลงชื่อ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
 
 
 
 
ส.ว.จี้ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเก้าอี้ผู้ว่าฯ สตง.
 
ขณะที่เนชั่นทันข่าว รายงานวันเดียวกันนี้ (23 ส.ค.53) ว่าในการประชุมวุฒิสภาที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ช่วงเปิดให้สมาชิกหารือ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา หารือปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยขณะนี้มีความสับสนในสังคมรวมถึงใน สตง.เองว่า ใครมีอำนาจสั่งการใน สตง.กันแน่ เพราะที่กรรมการปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความไม่ตรงกัน ซึ่งผู้มีอำนาจทั้งสองคนใน สตง. (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการสตง.) ต่างก็ยกความเห็นที่ต่างกันมาอ้าง 
 
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา มีอำนาจตีความปัญหากฎหมายในองค์กรอิสระได้หรือไม่ ต่อมาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 54 วุฒิสภา เชิญสตง.มาชี้แจงงบ ปรากฏว่า ทั้งคุณหญิงจารุวรรณ และนายพิศิษฐ์ ต่างส่งเอกสารมาชี้แจงทั้งคู่ กรรมาธิการตัดสินให้คุณหญิงจารุวรรณ ชี้แจงก่อนเพราะส่งหนังสือมาก่อน แต่เรื่องนี้ทิ้งไว้ยิ่งยุ่งยาก ส่งผลถึงการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณประเทศ ทางที่ดีรัฐบาลควรจะเร่งบรรจุร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่วุฒิสภาตีตก ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณายืนยัน หากเห็นชอบก็ประกาศบังคับใช้ได้เลยโดยนายกรัฐมนตรีส่งทูลเกล้าฯ ใน 20 วัน ก็จะรวดเร็ว จึงขอให้เร่งผลักดันเรื่องดังกล่าวจะได้ยุติ
 
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์ และเนชั่นทันข่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกประสานศูนย์วิจัยฯ รับเต่าตนุติดอวนชาวประมง

Posted: 23 Aug 2010 01:42 AM PDT


 

22 ส.ค.53 เวลาประมาณ 8.00 น. นายพิจิตรศักดิ์ สุวรรณโมลี อายุ 53ปี ชาวประมงพื้นบ้านหาดห้วยยาง หมู่ที่7 ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  พบเต่าตนุพื้นกระดองสีขาวลายประกายสีน้ำตาล หนัก 7 กิโลกรัม ขนาดกระดองกว้าง 38 ซม.ยาว 40 ซม.ติดอวนบริเวณตอนเหนือของหาดห้วยยาง จึงรีบช่วยเหลือปละนำขึ้นมาใส่ถังเพื่ออนุบาลเบื้องต้นและประสานกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกเพื่อแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสานกลุ่มหนูรักเต่าทับสะแกเข้าร่วมสังเกตการณ์
                     
ต่อมาเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนชุมพรในโครงการสัตว์หายากได้เดินทางมารับตัวไปอนุบาลต่อ จากการตรวจสอบข้อมูลจากไมโครชิพในตัวเต่าพบว่า เป็นเต่า 1 ใน 10 ตัวที่ปล่อยมาจากศูนย์วิทยาศาสตร์หว้ากอ เมื่อวันที่18 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเต่าที่ศูนย์วิจัยฯได้อนุบาลไว้ปีกว่าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และเมื่อวานชาวประมงหาดบางกุ่ม ตำลบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก ซึ่งเป็นหาดเชื่อมต่อกับหาดหห้วยยางไปทางใต้ ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯมาดูเต่าตัวนี้เช่นกัน ทางศูนย์จึงต้องรีบนำตัวกลับศูนย์วิจัยฯชุมพรต่อไป เพราะอยู่สภาพอ่อนเพลีย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรีนพีซเปิดตัว“สมาร์ทพาวเวอร์” ชวนถอดนิวเคลียร์ออกจากแผนพลังงานประเทศ

Posted: 23 Aug 2010 12:47 AM PDT

 
22 ส.ค.53ประชาชนกว่า 100 คนร่วม “ถอด” เสื้อ เพื่อแสดงข้อความ “ถอดปลั๊ก ถอดนิวเคลียร์” หน้าศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ เพื่อเชิญชวนให้ชาวไทยร่วม “ออกไปจากอนาคตแห่งนิวเคลียร์” กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวโครงการ “สมาร์ทพาวเวอร์” การริเริ่มเพื่อรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่ระบบพลังงานที่สะอาดและ ปลอดภัยอย่างแท้จริง
 
ทั้งนี้ “สมาร์ทพาวเวอร์” กล่าวถึงประสิทธิภาพทางพลังงานไฟฟ้า หรือแนวทางการใช้ไฟฟ้าอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การลดการสูญเสียพลังงานจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของผู้บริโภคและของประเทศ และตัดความต้องการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์ นอกจากนี้ มาตรการประสิทธิภาพพลังงานยังเป็นทางออกที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
 
ในการแถลงข่าวโครงการ กรีนพีซได้เปิดตัว “คู่มือหัวใสใช้พลังงาน” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และแสดงให้เห็นว่า ด้วยการหัวใสใช้พลังงานนี้เอง จะทำให้เราหลีกเลี่ยงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์ โดยมีรายละเอียดในแผนปฏิวัติพลังงานของกรีนพีซที่ได้สรุปรวบยอดไว้ในคู่มือดังกล่าวด้วย กรีนพีซยังเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติดำเนินการนโยบายประสิทธิภาพด้านพลังงาน (smart power) อย่างจริงจังเป็นระบบซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียในระบบพลังงานของประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล
 
 “ประสิทธิภาพพลังงานไฟฟ้าตามบ้านเรือนและที่ทำงานมีศักยภาพมหาศาล แต่ส่วนใหญ่ยังคงไม่ถูกนำมาใช้ (1) หัวใสใช้พลังงานหรือสมาร์ทพาวเวอร์สร้างศักยภาพในแง่ที่เป็นการลด ละ เลิกการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลง นอกจากนี้ เราไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการประสิทธิภาพด้านพลังงานไฟฟ้ามากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สกปรกหรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อันตราย” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
 
การดำเนินงานประสิทธิภาพด้านพลังงานไฟฟ้า (smart power policy) มีต้นทุนต่ำกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ การสร้างประสิทธิภาพด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบมีต้นทุนอยู่ที่ 0.5-1.5 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ในขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุน 5.82 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีต้นทุนที่สูงกว่านั้น (2)
 
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553-2573 (หรือ PDP 2010 ) ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นแผนพีดีพีสีเขียว ยังคงบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินไว้ แต่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่เป้าหมายที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ชุมชนท้องถิ่นตั้งแต่จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ในภาคกลาง จังหวัดขอนแก่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดตราดในภาคตะวันออก ไปจนถึงสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชในภาคใต้ต่างบอกว่าไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คนไทยทุกคนสามารถร่วมเป็นพลังในการเคลื่อนไหวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้โดยการเข้าร่วมโครงการสมาร์ทพาวเวอร์กับกรีนพีซ
 
“กรีนพีซจะเดินหน้าโครงการสมาร์ทพาวเวอร์นี้โดยทำกิจกรรมสาธารณะอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมาร่วมกันถอดปลั๊ก ถอดนิวเคลียร์ และถอดถ่านหิน โดยเริ่มต้นง่าย ๆ ที่การประหยัดไฟฟ้า การเข้าร่วมโครงการสมาร์ทพาวเวอร์ก็เป็นหนทางหนึ่งในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ หากทุกคนร่วมมือกัน อนาคตพลังงานของเราก็จะมุ่งไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืนและสะอาดอย่างแท้จริง” นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวสรุป
 
 
หมายเหตุ
(1) การศึกษาเกี่ยวกับการจัดการด้านความต้องการใช้พลังงานหรือ DSM ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาคือการศึกษาของธนาคารโลกที่ประมาณว่า ภายในปี พ.ศ. 2554 ศักยภาพของการจัดการด้านความต้องการใช้พลังงานที่เป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจและบรรลุผล อยู่ที่ 2,529 เมกะวัตต์ (11,468 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี) อีกการศึกษาหนึ่งของ ดร.ธีระ ฟอแรน จากหน่วยวิจัยสังคมและสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่า ประสิทธิภาพด้านพลังงานไฟฟ้าในครัวเรือนมีศักยภาพที่จะประหยัดลงได้ถึงร้อยละ 29 ภายในปี พ.ศ. 2569
 
(2) ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน “ต้นทุนรวมทั้งระบบของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ” 2550 โดยรวบรวมจากการศึกษาต่างๆ ได้แก่ การศึกษา Externality ตามแนวทาง ExternE ของสหภาพยุโรป โดยปรับ GDP ต่อหัวเป็นของประเทศไทย, ธนาคารโลก (2005), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ Cost of Liability Protection ใน Journal "Regulation" 2002-2003.
 
ดาวโหลดคู่มือหัวใสใช้พลังงาน ที่ http://www.greenpeace.or.th/smart-power-toolkit
ร่วมลงชื่อเรียกร้องคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ http://www.greenpeace.or.th/get-smart
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มุมชีวิตสุไลมาน แนซา: ดำเนินเศรษฐกิจพอเพียงสนองนโยบายรัฐ แต่ตายคามือทหาร

Posted: 23 Aug 2010 12:34 AM PDT

 
 
นายเจ๊ะแว แนซา พ่อของสุไลมาน
 
บ่อปลาและเล้าไก่ร้าง
 
 
สุไลมาน แนซา คือผู้ถูกควบคุมตัวที่เสียชีวิตภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ หรือ ศสฉ. ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามหมายควบคุมตัว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
 
เขาตายในค่ายทหาร คือค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อันเป็นที่ตั้งของ ศสฉ. โดยถูกพบเป็นศพในท่าแขวนคอด้วยผ้าขนหนูกับลูกกรงหน้าต่าง
 
สภาพศพของสุไลมาน ถูกตั้งข้อสงสัยหลายประการถึงสาเหตุการตาย โดยเฉพาะจากองค์กรภาคประชาสังคม พ่อแม่และญาติพี่น้อง ที่ร่วมเข้าไปดูศพรวมกับหน่วยงานต่างๆ รวม 14 องค์กร
 
พวกเขาไม่เชื่อว่าสุไลมาน ผูกคอตายจริง แต่น่าจะถูกจัดฉากมากกว่า เนื่องจากรอยช้ำหลายแห่งที่พบตามตัว เช่นที่คอ หรือรอยเลือดที่ไหลซึมออกมาที่ลูกอัณฑะกับทวารหนัก และคอหัก เป็นต้น
 
แม้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวยืนยันว่าเขาผูกคอตายจริง แต่ความสงสัยของสังคมนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจากหลายฝ่าย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือแม้แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เอง ก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการตายของเขาเช่นกัน
 
ถึงกระนั้นผลการตรวจสอบของทั้ง 2 คณะ ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเขาผูกคอตาย หรือถูกทำให้ตาย อันจะสร้างความกระจ่างชัดเพื่อสร้างความสบายใจให้กับครอบครัวของเขาได้ ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นว่า ญาติไม่อนุญาตให้ผ่าพิสูจน์ศพ จึงไม่อาจทราบสาเหตุการตายที่แท้จริงได้
 
การปฏิเสธดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อในคำสอนของศาสนาอิสลามที่ห้ามผ่าศพ เพราะเป็นการทรมานศพ เช่นเดียวกับความเชื่อในคำสอนศาสนาอิสลามที่ว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาปมหันต์ จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ชาวมุสลิมจะฆ่าตัวตาย
 
ที่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 บ้านฮูแตมาแจ ตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี พ่อแม่และน้องคนสุดท้องอายุ 5 ขวบของสุไลมานอยู่กันอย่างพร้อมหน้า ขณะที่ญาติๆ คนอื่นๆ รวมทั้งผู้นำศาสนาในหมู่บ้านต่างก็เข้ามาร่วมวงไพบูลย์พูดคุยหารือกับแขกผู้มาเยือน
 
ขณะที่ใต้ถุนบ้านบ้านซึ่งยกสูงเกือบ 3 เมตรให้พ้นระดับน้ำท่วม ก็มีไก่ประมาณ 10 กว่าตัวกำลังคุ้ยเขี่ยดินหาอาหารอยู่ตามซอกไม้และสิ่งของจำพวกเครื่องมือช่างที่วางอยู่ระเกะระกะ
 
บรรยากาศเช่นนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับวันอื่นตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การจากไปของสุไลมาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553
 
ถึงเรื่องราวการตายของสุไลมาน เป็นที่โจทย์ขานกันไปทั่ว แต่เรื่องราวความลำบากของครอบครัวสุไลมานที่ประสบอยู่แล้วก็ยิ่งซ้ำยังหนักเข้าไปอีก เมื่อครอบครัวขาดกำลังหลักไปอย่างไม่มีวันกลับ
 
สุไลมานเป็นลูกคนโตของบ้านตระกูลแนซา เขายังมีน้องอีก 4 คน โดยน้องคนที่ 2 รองจากสุไลมานเป็นผู้หญิง กำลังเรียนศาสนาอยู่ที่ปอเนาะซาบูดิง อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
 
ส่วนน้องๆ ที่เหลือเป็นชายทั้งหมด โดยคนที่ 3 กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนที่ 4 กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และคนสุดท้องอายุเพียง 5 ขวบยังไม่เข้าโรงเรียน
 
นายเจ๊ะแว แนซา พ่อของสุไลมาน เล่าว่า สุไลมานไม่ได้เรียนหนังสือเลย มีบ้างที่เคยไล่ให้ไปเรียนศาสนาอิสลามที่ปอเนาะ แต่ไปอยู่ได้ไม่ถึงเดือนก็กลับมาอยู่บ้าน พาไปอีกก็กลับมาอีก ถ้าวันไหนไม่มีงานทำ ก็ชอบไปอยู่ตามริมแม่น้ำสายบุรีแบบสันโดษ ไม่ค่อยเข้าสังคมเหมือนกับคนอื่นๆ
 
ก่อนสุไลมานจากไป เขาเป็นคนหารายได้หลักให้กับครอบครัวร่วมกับพ่อ คือทำงานก่อสร้าง โดยมีฝีมือในการเชื่อมเหล็ก นอกจากนี้ยังหารายได้เสริมจากการเลี้ยงปลาแรดในกระชังในแม่น้ำสายบุรี ที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 500 เมตร ซึ่งแม้จะชอบอยู่แบบสันโดษ แต่ก็เป็นคนขยันทำงาน
 
เมื่อปีที่แล้วนายสุไลมาน ยังสนองนโยบายรัฐ โดยร่วมโครงการ เช่น โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ โครงการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยได้รับมอบไก่บ้านจำนวนหนึ่ง กับพันธ์ปลาดุก รวมทั้งเคยเข้าร่วมอบรมกับภาครัฐมาแล้ว
 
ปัจจุบันบ่อปลาดุกกับเล้าไก่ที่สุไลมานทำขึ้นมาเองในสวนหลังบ้านถูกปล่อยร้างไปแล้ว
 
“ปลาดุกยังมีอยู่บ้างแต่คงผอมน่าดู พ่อเองก็เพิ่งได้มาดูวันนี้เหมือนกัน” นายเจ๊ะแวพูดพร้อมกับนำชมบ่อปลาดุกที่ยังมีแผ่นพลาสติกรองไว้ที่ก้นบ่อกันน้ำซึมกับเล้าไก่ที่ดูเหมือนยังสร้างไม่เสร็จ ส่วนรั้วไม้ไผ่ที่สร้างไว้รอบๆ บางท่อนก็หักไปบ้างแล้ว
 
“ส่วนไก่ที่ได้ตายเกือบหมด เหลืออยู่ 3 – 4 ตัวเท่านั้น เราก็ให้มันนอนใต้ถุนปะปนอยู่กับไก่ของที่บ้าน” โดยที่ตัวหนึ่งกำลังกกไข่อยู่ในกะละมังใบเก่าที่ถูกผูกติดอยู่กับเสาบ้าน “ตัวนี้ออกไข่ฝักเป็นตัวหลายตัวแล้ว”
 
เมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ก็ย่อมต้องมีการเยียวยา สิ่งที่ครอบครัวของสุไลมานได้รับจากรัฐ คือการรับมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากกองทัพ โดยพล.ต.มนตรี อุมารี ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเยียวยาและศาสนา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บาบอ” เป็นผู้มอบให้ 10,000 บาท พร้อมกระเช้าของฝากจากแม่ทัพภาคที่ 4
 
พล.ต.มนตรี ยังได้เสนอให้คนครอบครัวได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่เมืองเมกกะ ประเทศชาอุดี อาระเบีย แต่ในภาวะเศร้าเช่นนี้ คงไม่มีใครทำใจยอมรับได้ พ่อจึงปฏิเสธไปก่อน โดยให้เหตุผลที่ยังไม่อยากไปไหนตอนนี้ เพราะยังต้องดูแลลูก อีก 4 คน ขณะที่ยังพอเหลือเรี่ยวแรงทำงานอยู่
 
“ยังเสียใจไม่หาย ก็เลยบอกว่ายังไม่อยากไป” นายเจ๊ะแว ในวัย 59 ปี กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่น เช่นเดียวกับนางแมะเซาะ ซา ภรรยา
 
แม้นายเจ๊ะแวยังไม่อาจรับข้อเสนอเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีอันสำคัญที่สุดประการที่ 5 ของการเป็นมุสลิม ที่ถือเป็นความหวังสูงสุดอย่างหนึ่งของผู้นับถือศาสนาอิสลามบนโลกนี้ แต่ศาสนสถานประจำหมู่บ้านอย่างมัสยิดก็ได้รับการซ่อมแซมเพดานด้วยเงินช่วยเหลือจากพล.ต.มนตรีไปก่อนแล้ว ในคราวเดียวกับการเดินทางมาที่บ้านสุไลมาน
 
ในคราวนั้น พลอากาศตรีหญิงนิตยา อิ่มอโนทัย ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคประชาชน ก็ได้ร่วมขบวนมาเยี่ยมด้วย พร้อมกับมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้จำนวนหนึ่งจำพวกข้าวสารอาหารแห้ง
 
เมื่อไม่มีสุไลมาน นายเจ๊ะแวจึงต้องกลับไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอย่างเดิม โดยเฉพาะงานด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานถนัด แต่ก็เป็นงานหนักพอสมควร ที่สำคัญไม่มีคนหนุ่มร่างกายแข็งแรงในวัย 25 ปี คอยช่วยเหลือแบ่งเบาอีกแล้ว
 
แต่ยังดีหน่อยที่พอจะมีสวนยางพาราอยู่บ้าง ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งแม่ของสุไลมานเป็นคนกรีดยางขาย ส่วนไม้ผลยืนต้นที่มีอยู่รอบๆ บ้านก็พอจะเก็บกินได้เท่านั้น
 
ถึงตอนนี้ ในวงสนทนาเริ่มคุยกันอย่างออกรส มวนใบจากมวนแล้วมวนเล่าที่ถูกจุดดูดพ่น ส่วนน้ำร้อนในกาก็เย็นไปตั้งนานแล้ว
 
แต่สิ่งหนึ่งที่กระอักกระอวนใจของญาติๆ กับเพื่อนบ้านกลุ่มนี้ก็คือ หลังการตายเขาถูกหน่วยราชการด้านความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่า สุไลมานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบถึง 14 คดี
 
“มันก็น่าจะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอำเภอสายบุรีนั่นแหละ” ญาติคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมา
 
จากนั้นแต่ละคนก็ลองไล่เรียงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งมีตั้งแต่เหตุการณ์ยิงขณะที่กำลังมีการคัดเลือกทหารเกณฑ์ ซึ่งแม่เขาบอกว่าสุไลมานกำลังขูดมะพร้าวอยู่ที่บ้าน
 
เหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์ชุดดำลอบยิงกองเรือที่แล่นผ่านแม่น้ำสายบุรี ซึ่งญาติคนหนึ่งบอกว่าสุไลมานไปรับจ้างกรีดยางที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาได้ 20 วันแล้ว
 
กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดคือคดียิงผู้หญิงชาวบ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งในตอนเช้า ก่อนที่สุไลมานจะถูกควบคุมตัวในช่วง 10 โมงเช้า ขณะรับจ้างมุงหลังคาบ้านเพื่อนบ้าน
 
เป็นการควบคุมตัวที่นำมาสู่การตายในอีก 9 วันต่อมาในค่ายทหารนั่นเอง
 
“แค่พิสูจน์ว่าสุไลมานตายเพราะอะไร ทำไมตามร่างกายจึงมีแต่รอยช้ำเต็มไปหมด บอกให้ชัดๆ ไปเลยไม่ได้หรือ เราต้องการความยุติธรรมแค่นี้ เพื่อจะได้หาทางป้องกันไม่ให้คนอื่นต้องตายเหมือนสุไลมานอีก อยากให้เขาเป็นรายสุดท้าย” คือคำขอและคำทิ้งท้ายของพ่อ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น