ประชาไท | Prachatai3.info |
- จับตาภาคประชาชน:กิตติชัย งามชัยพิศิษฐ์ กับข้อสังเกตุถึงวาทกรรม"ภาคประชาชน"
- พ่อเทพและแม่มณี: วีรกรรมหรือความผิดพลาด
- สุเทพลั่น ศอฉ. เตรียมเดินหน้าแจกซีดี
- พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยเรียกร้องให้เลิกกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- กองทัพหนูบุกรัฐชินรอบใหม่
- พม่าห้ามพรรคการเมืองเกี่ยวข้องกลุ่มติดอาวุธ ขู่ถ้าจับได้จะปลดป้ายสำนักงานพรรค
- หม่อนกับเหลน
- ครม.มีมติตั้ง "บึงกาฬ" จังหวัดที่ 77 แยกหนองคาย
- จาตุรนต์ ฉายแสง: ความเห็นต่อกรณีการให้ประกันตัวผู้ต้องหาเสื้อแดง
- "อภิสิทธิ์" ชี้ความขัดแย้งเกิดจากการไม่รับข่าวสารรอบด้าน
- พวงทอง ภวัครพันธุ์: ปราสาทพระวิหาร เอ็มโอยู 2543 และแผนที่
- บุกจับ "ลุงเสื้อแดง" ข้อหาส่ง SMS หมิ่นเบื้องสูงถึงนายกฯ ผู้ต้องหาปฏิเสธ ตร.คาดมีผู้สนับสนุน
- จูบอำมหิตของกองทัพกับรัฐบาลไทย
- ประมวลข่าวการเมือง
- ‘อนุพงษ์-ประยุทธ์’ จับมือวางกำลัง ‘เตรียมทหารรุ่น 12’ คุมกองทัพ!
จับตาภาคประชาชน:กิตติชัย งามชัยพิศิษฐ์ กับข้อสังเกตุถึงวาทกรรม"ภาคประชาชน" Posted: 03 Aug 2010 10:32 AM PDT กิตติชัย งามชัยพิศิษฐ์ หรือ อ้วน ต้นกล้า นักพัฒนารุ่นกลางเก่ากลางใหม่ พูดถึงปัญหาของ"ภาคประชาชน"ที่ช่างดูเหมือนเลื่อนลอยและกระจุกกระจุยจนจับ ต้องไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันกลับกดทับให้ประชาชนที่เห็นต่างให้เป็นอื่น คลิปวีดีโอสั้นๆจากกลุ่ม"Thai Social Movement Watch (TSMW)" หรือ "กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย" ซึ่งประกอบด้วยอดีตและปัจจุบันของนักพัฒนาจำนวนหนึ่งซึ่งตั้งคำถามถึงการ ดำรงอยู่ของวาทกรรม"ภาคประชาชน"ที่ซ้ำเติมต่อชีวิตของเสื้อแดงกว่า90ชีวิต ที่สูญสลายอย่างไร้ค่าในสายตาของผู้ที่สะดีดสะดุ้งต่อการถล่มทลายของห้างสรรพสินค้า Central World หมายเหตุ:กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พ่อเทพและแม่มณี: วีรกรรมหรือความผิดพลาด Posted: 03 Aug 2010 08:25 AM PDT บทความโดย “กานดา นาคน้อย” ตั้งปมจาก “วรรณกรรมชาตินิยมโรแมนติค” เรื่อง “ทวิภพ” พร้อมเปิดประเด็น “การเสียดินแดนอาจจะเป็นวีรกรรมหรือความผิดพลาดก็ได้ แล้วแต่ขนาดของคู่พิพาท” ถ้า'พ่อเทพ'และ'แม่มณี'มีชีวิตจริงและอายุยืนถึงวันนี้ จะโดนกลุ่มชาตินิยมยกพวกไปประท้วงที่หน้าเรือนหรือไม่? ในวรรณกรรมชาตินิยมโรแมนติคเรื่องทวิภพ พ่อเทพและแม่มณีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเจรจากับฝรั่งเศสจนพ่อเทพได้เป็นวีรบุรุษและแม่มณีได้เป็นวีรสตรีที่ปกป้องสยามจากฝรั่ง เมื่อกาลเวลาผ่านไปกัมพูชาได้รับที่ดินจากฝรั่งเศส คนบางกลุ่มพากันหันมาชี้นำว่าการเสียดินแดนให้กัมพูชาเป็นความผิดพลาดอันแสดงถึงความไม่รักชาติ
ทำไมการเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส (และอังกฤษ) กลายเป็นวีรกรรม แต่การเสียดินแดนให้กัมพูชากลายเป็นความผิดพลาด? ประเด็นสำคัญคือสถานะของฝรั่งเศสและกัมพูชา ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมแต่กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและอาณานิคมของสยามในอดีต ในเชิงปริมาณฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่แต่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็ก โปรดสังเกตว่าไม่มีผู้เสนอให้รัฐบาลไทยไปทวงคืนดินแดนที่มาเลเซียรับไปจากอังกฤษ แม้ขนาดเศรษฐกิจของมาเลเซียจะเล็กกว่าไทย แต่มาเลเซียก็ใหญ่กว่ากัมพูชาและใหญ่พอที่จะทำให้การเสียดินแดนเป็นวีรกรรมต่อไป อนุมานได้ว่าการเสียดินแดนอาจจะเป็นวีรกรรมหรือความผิดพลาดก็ได้ แล้วแต่ขนาดของคู่พิพาท
ถ้าคู่พิพาทใหญ่และเรารบแพ้ ก็เรียกการเสียดินแดนว่าวีรกรรม ถ้าคู่พิพาทเล็กและเรารบชนะ ก็เรียกการเสียดินแดนว่าความผิดพลาด ถ้าคู่พิพาทเล็กแต่เรารบแพ้ จะเรียกการเสียดินแดนว่าอะไร? วีรกรรมหรือความผิดพลาด?
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สุเทพลั่น ศอฉ. เตรียมเดินหน้าแจกซีดี Posted: 03 Aug 2010 06:22 AM PDT "สุเทพ เทือกสุบรรณ" สั่งเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามคนที่มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง วอนประชาชนอย่าแตกตื่น ลั่นเดินหน้าแจกซีดี ศอฉ. เพื่อนำไปประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ ป้องกันไม่ให้คนบางกลุ่มนำไปบิดเบือนสร้างความร้าวฉานในบ้านเมือง ด้านภูมิใจไทยเปิดตัว 6 ส.ส.แปรพักตร์จากเพื่อไทย-เพื่อแผ่นดิน-ชาติไทยพัฒนา
ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล สุเทพลั่น ศอฉ. จะเดินหน้าแจกซีดีชี้แจงคนที่ยังไม่เข้าใจ ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (3 ส.ค.) เวลา 08.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่าสำนักข่าวกรองแห่งชาติออกมาเตือนว่าจะเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในย่านธุรกิจสำคัญ เช่น ถนนสีลม และถนนเยาวราช ประมาณต้นเดือนสิงหาคม ว่า ต้องไปถามรายละเอียดจากสำนักข่าวกรองว่าเขาได้ข่าวอย่างไร ตนยังไม่ได้ลงไปในรายละเอียด แต่เรื่องการข่าวตนได้สั่งการไปว่าทุกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางด้านฝ่ายข่าวต้องบูรณาการกำลังเพื่อที่จะติดตามดูว่ามีคนกลุ่มไหนที่มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการก่อวินาศกรรมบ้าง และเราจะได้หาทางสกัดกั้นยับยั้งป้องกันหตุร้ายให้ทันเวลากรณีที่เป็นข่าวขึ้นมานี้อาจจะเป็นไปตามสิ่งที่ได้สั่งการเอาไว้ก็ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการระบุว่าการเคลื่อนไหวก่อวินาศกรรมดังกล่าวจะเป็นฝีมือของกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มหัวรุนแรง ทางเจ้าหน้าที่มีการติดตามการเคลื่อนไหวอย่างไร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนตอบในรายละเอียดที่ลึกลงไปไม่ได้ แต่ว่าได้สั่งการอย่างนั้นแล้ว และเจ้าหน้าที่จะต้องไปดำเนินการ เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่เพราะการข่าวระบุว่าพื้นที่เป้าหมายที่จะก่อวินาศกรรมเป็นย่านธุรกิจสำคัญหากเกิดเหตุขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าคิดว่าเรารับฟังข่าวไว้ก็แล้วกัน และก็ไม่ประมาทแต่ก็อย่าไปแตกตื่นให้มากนัก เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลปกป้องบ้านเมืองของเรา ฝ่ายต่าง ๆ ก็จะต้องทำงานให้เข้มแข็งขึ้น ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่คนแก่ที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดตามที่พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ออกมาให้ข้อมูลมาหลายวัน และตามที่ท่านได้ดักคอเอาไว้ว่าคนแก่จะออกมาพูดเอง ตกลงพล.อ.ชวลิตใช่คนแก่ที่หมายความถึงหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนคงไม่ตอบแล้วเรื่องนี้ ตอบไปก็จะเป็นการต่อความยาวสาวความยืด ผู้สื่อข่าวถามว่า ด้วยความที่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่อย่างนี้ เป็นเหตุให้ยังต้องคงพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไปใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อถึงเวลาก็จะชี้แจง วันนี้ยังไม่มีอะไรที่จะต้องไปพิจารณาเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก. ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางแม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่าสถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมีความสงบเรียบร้อยพอที่อาจจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แล้ว รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลาที่มีรายงานเข้ามาตนก็จะนำไปพิจารณาในที่ประชุม ศอฉ. แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอมาแต่อย่างใด ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่คณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภาฯ ระบุว่าการแจกซีดีภาพเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองช่วงเมษายน - พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นข้อมูลฝ่ายเดียวและยิ่งสร้างความเกลียดชังต่อสังคม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของวุฒิสมาชิกบางคนเท่านั้น และคิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไร ซึ่งในที่ประชุม ศอฉ.ได้พิจารณาเรื่องนี้กันอย่างรอบคอบ และซีดีที่ได้จัดทำขึ้นนี้ได้พิจารณาจากทุกส่วนราชการ ที่ร่วมเป็นกรรมการใน ศอฉ.และเห็นว่าเป็นซีดีที่สามารถนำไปเสนอกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจในข้อเท็จจริงให้ได้เข้าใจลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนบางกลุ่มนำเอาเหตุการณ์ที่กิดขึ้นไปบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดทำให้เกิดความร้าวฉานในบ้านเมือง ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่า ศอฉ.ยังจะคงดำเนินการแจกซีดีนี้ต่อไปใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ถูกต้องครับ” ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ที่ผ่านมาประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารมาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีประเด็นใดที่จำเป็นต้องชี้แจงอีก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังมีประชาชนที่ไม่ได้ทราบข่าวสารและเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันเกิดขึ้นหลายวันมาแล้วอาจจะมีการลืมกันไป แต่มีบางกลุ่มที่ทำซีดีมาต่างหาก และพยายามทำให้คนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ไปทำร้ายประชาชน ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการออกซีดีเพื่อตอบโต้คนเสื้อแดงหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการตอบโต้ใคร แต่เป็นการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้คนในบ้านเมืองเข้าใจเหตุการณ์ผิด ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าการแจกซีดีครั้งนี้จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์โฆษณาชุดขอโทษประเทศไทยออกอากาศได้ แล้วอย่างนี้จะเผยแพร่ได้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนั้นตนไม่ทราบจริง ๆ ตนทำเฉพาะในส่วนที่ตนรับผิดชอบจริง ๆ ถ้ามีประชาชนสนใจขอเข้ามาก็จะแจกจ่ายให้
ภูมิใจไทย เปิดตัว 6 ส.ส. จากเพื่อไทย-เพื่อแผ่นดิน-ชาติพัฒนา ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. มีการประชุมพรรคภูมิใจไทย โดยได้มีนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ประธาน ส.ส.พรรค เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้มีการเปิดตัว ส.ส.จากพรรคอื่นที่มาร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย จำนวน 6 คน ได้แก่ น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วานิช ส.ส.ลพบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา นายยุซรี ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคเพื่อแผ่นดิน นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก พรรคเพื่อไทย นายสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย นายมานพ ปัตนวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน และนายนิมุตตา วาบา ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยเรียกร้องให้เลิกกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน Posted: 03 Aug 2010 05:53 AM PDT “พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย” ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีลักษณะเผด็จการ-อำนาจนิยม ชี้เลิกบังคับใช้ไม่พอ ต้องเลิกกฎหมายนี้ทั้งฉบับ เพื่อไม่ให้อำนาจแก่ผู้ปกครองคนใดควบคุม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อีกต่อไป และเพื่อคืนความปกติสุขให้แก่สังคม เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกกฎหมายพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยแถลงการณ์มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
000 แถลงการณ์ขอให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548: กฎหมายทำลายความเป็นมนุษย์ เหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม ณ ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อจำนวนนับร้อยและบาดเจ็บอีกนับพันเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บและประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ถูกกล่าวหาจากฝ่ายรัฐว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ทำลายความมั่นคงของประเทศ จึงต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และนี่คือการรับรองให้รัฐบาลออกมาพูดว่าทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง มิหนำซ้ำยังบังคับใช้ในหลายๆ จังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน การที่รัฐบาลอ้างความสงบสุขเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศโดยกล่าวหาประชาชนเรือนแสนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือผู้ก่อการร้าย ไม่ละเว้นแม้กระทั่งนักเรียนอายุเพียง 16 ปีที่ออกมาประณามการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐ โดยถูกออกหมายจับและนำไปกักขังที่สถานพินิจจังหวัดเชียงราย ทั้งติดตามไล่ล่าผู้ชุมนุมอย่างไม่ลดละ การกระทำเยี่ยงนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการปกครองของผู้มีอำนาจรัฐทั้งที่เป็นผู้ออกกฎหมายและใช้กฎหมายที่มีลักษณะเผด็จการ-อำนาจนิยม โดยมองการชุมนุมและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เห็นต่างจากตัวเองว่าเป็นพิษเป็นภัยต่อประเทศ จำต้องปราบปรามและกีดกันออกไปจากกระบวนการยุติธรรม พร้อมๆ กับทำลายความมั่นใจของคนที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามที่จะควบคุมประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทนที่จะพิจารณาถึงผลได้แก่สังคมโดยรวมว่าการชุมนุมทางการเมืองและเสรีภาพที่จะพูด เขียนจะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองของประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสังคมประชาธิปไตยในอนาคต พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยเล็งเห็นว่า รัฐบาลอำนาจนิยมย่อมหาทางสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อรับรองการกระทำใดๆ ของตัวเองว่าถูกกฎหมายและชอบธรรมต่อไปได้ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะตราออกมาอย่างไม่ถูกต้องตามกระบวนการทางรัฐสภา หรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ตาม รัฐบาลก็ยังคงแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนของตัวเอง เพื่อที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป และปัดความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยยอมรับการกระทำของรัฐบาลไม่ได้ และมองว่าการยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เพียงพอ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งฉบับโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้อำนาจแก่ผู้ปกครองคนใดควบคุม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อีกต่อไป และเพื่อคืนความปกติสุขให้แก่สังคม
แถลงเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2553 พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 03 Aug 2010 03:36 AM PDT จำนวนหนูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 3 หมู่บ้าน เมืองฟาลัม รัฐชิน สหภาพพม่า โดยหนูได้ทำลายพืชผลทางเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากจะหวั่นเรื่องพืชผลจะได้รับความเสียหายแล้ว ยังหวั่นจะเกิดโรคระบาดในพื้นที่จากการแพร่ขยายของหนู มีรายงานว่า จำนวนหนูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 3 หมู่บ้าน เมืองฟาลัม รัฐชิน โดยหนูได้ทำลายพืชผลทางเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากจะหวั่นเรื่องพืชผลจะได้รับความเสียหายแล้ว ยังหวั่นจะเกิดโรคระบาดในพื้นที่จากการแพร่ขยายของหนู ทั้งนี้ นาข้าว ไร่ข้าวโพดและไร่มะเขือเทศในสามหมูบ้าน ของเมืองฟาลัมได้ถูกหนูทำลายเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่การใช้ยาฆ่าหนูที่ทางการพม่าจัดหาให้ชาวบ้าน ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน หมูและไก่ หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงได้ตายลง หลังพบว่าไปกินสารปนเปื้อนยาฆ่าหนู จึงทำให้ชาวบ้านต้องเลิกการใช้ยาฆ่าหนู และประดิษฐ์อาวุธกำจัดหนูขึ้นมาใช้เอง ชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยว่า “เราสามารถพบเห็นหนูวิ่งไปมาในไร่ โดยที่พวกมันดูเหมือนจะไม่กลัวอะไรเลย ตอนที่เราพยายามไล่หรือแม้จะปาก้อนหินใส่พวกมัน มันก็ยังกลับมาอีก พวกมันกินผลน้ำเต้าและฟักทองที่เราปลูกไว้เสียหาย แต่อย่างน้อยมันก็ยังไม่เข้ามาในหมู่บ้าน” ชาวบ้านกล่าว ขณะที่ชาวบ้านเชื่อว่า ภูเขาตังพอ (Thangpawl) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กลายเป็นที่กำบังและกันไม่ให้หนูสามารถข้ามไปยังอีก 13 หมู่บ้านที่อยู่ถัดจากภูเขาตังพอได้ “ถ้าหากว่าเราไม่สามารถสกัดหนูข้ามไปยังอีกฟากของภูเขาตังพอได้ เชื่อว่าความเสียหายจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะมีอีก 13 หมู่บ้านตั้งอยู่ถัดจากภูเขาตังพอ และถึงตอนนั้นเราก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ และความอดอยากหิวโหยก็จะมาเยือนชาวบ้านอีกรอบเหมือนเมื่อปีที่แล้ว” ชาวบ้านกล่าว มีรายงานว่า ชาวบ้านเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของหนู เนื่องจากในช่วงนี้ อยู่ในช่วงการทำไร่ข้าวโพดและไร่มะเขือเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของหนูได้สร้างความเสียหายในเมืองหลักๆของรัฐชิน เช่นเมืองฮักคา ฟาลัม ทันแลง ปะเล็ตวาและเมืองมาตูพี เพราะพืชผลของชาวบ้านได้รับความเสียหายเกือบหมด ทำให้ชาวบ้านตามเมืองเหล่านี้ต้องขาดแคลนอาหารอย่างหนัก การเพิ่มขึ้นของหนูเป็นผลมาจากการที่ต้นไผ่ออกดอก และดอกไผ่ที่ว่านี้กลายเป็นอาหารชั้นดีและทำให้จำนวนหนูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนในรัฐชินที่ขาดแคลนอาหารจำนวนกว่า 7 หมื่นคน โดยกลุ่มบรรเทาทุกข์ชาวชินยังรายงานว่า มีเด็กในพื้นที่ต้องเสียชีวิต 44 คนจากผลกระทบในครั้งนี้ (Mizzima 3 ส.ค.53)
ที่มา: แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข่าวสาละวิน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พม่าห้ามพรรคการเมืองเกี่ยวข้องกลุ่มติดอาวุธ ขู่ถ้าจับได้จะปลดป้ายสำนักงานพรรค Posted: 03 Aug 2010 03:31 AM PDT ทางการพม่าสั่งห้ามสมาชิกพรรคการเมืองในรัฐฉานยุ่งเกี่ยวกลุ่มติดอาวุธทั้งกลุ่มหยุดยิง และกลุ่มต้านรัฐบาล ขู่หากมีหลักฐานจะปลดป้ายสำนักงานทันที ขณะที่พรรครัฐบาล USDP ชูนโยบายแก้จนหาเสียง ด้านทหารพม่าในรัฐฉานจี้ชาวบ้านรื้อสบู่ดำที่ระดมปลูกเมื่อปี 49 แล้วให้ปลูกไม้สัก–มะม่วง-ยูคาลิปตัสแทน พม่าห้ามพรรคการเมืองเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 53 ที่ผ่านมา พ.อ.วินส่วย ผบ.กองพันยุทธการประจำเมืองกุ๋นฮิง ในรัฐฉานภาคใต้ ได้เรียกประชุมตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ในพื้นที่ ที่ห้องประชุมของกองพัน มีผู้เข้าร่วมทั้งผู้นำหมู่บ้านและตัวแทนพรรคการเมืองราว 20 คน ทั้งนี้ พ.อ.วินส่วย กล่าวว่า เบื้องบนได้มีคำสั่งลงมาว่า สมาชิกพรรคการเมืองต้องไม่เกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวกับกองกำลังติดอาวุธ ทั้งกองกำลังหยุดยิงและกองกำลังกลุ่มต่อต้าน "คำสั่งเบื้องบนมีว่า หากมีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีสมาชิกพรรคการเมืองใดในพื้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มติด อาวุธ จะถูกปลดป้ายสำนักงานออกทันที และเจ้าหน้าที่ในท้องที่ก็จะถูกลงโทษด้วย ดังนั้น ขอให้สมาชิกพรรคการเมืองทุกคนอย่ายุ่งเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธ เพราะจะส่งผลเสียให้กับทั้งสองฝ่าย" พ.อ.วินส่วย กล่าว ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDP สาขาเมืองกุ๋นฮิง ซึ่งมีนายจายนุ อายุ 45 ปี เป็นผู้นำ ได้ออกรณรงค์หาเสียงตามหมู่บ้านต่างๆ ในหลายตำบล เช่น ตำบลเชียงคำ บ้านเลา ทรายขาว เชียงลม อย่างต่อเนื่อง โดยพรรคอ้างว่า หากได้รับเลือกเป็นรัฐบาลจะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความยากจนชาวบ้าน พร้อมกับระบุว่า พรรคมีความพร้อมในทุกๆ ด้านมากกว่าพรรคอื่นๆ สำหรับพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) มีพล.อ.เต็งเส่ง อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าเป็นประธาน โดยพรรค USDP เปลี่ยนถ่ายมาจากสมาคมสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association: USDA) สมาคมให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั่วประเทศ
ทหารพม่าในรัฐฉานจี้ชาวบ้านปลูกไม้สัก–มะม่วง-ยูคาฯ แทนสบู่ดำ (30 ก.ค. 53) มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทหารพม่าจากกองพันยานเกราะที่ 6003 ประจำเมืองโต๋น รัฐฉานภาคตะวันออก ตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำลายต้นสบู่ดำที่ปลูกไว้ตั้งแต่ปี 2549 บนเนื้อที่กว่า 246 เอเคอร์ ทั้งหมด พร้อมกับมีการเกณฑ์บังคับชาวบ้านปลูกต้นมะม่วงจำนวน 600 ต้น ยูคาลิปตัส 200 ต้น และไม้เนื้อแข็งอีก 500 ต้น ทดแทนด้วย นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า ในพื้นที่ภาคใต้ของรัฐฉาน เช่น เมืองปางโหลงและเมืองกู๋นฮิง ทางเจ้าหน้าที่พม่าได้มีคำสั่งให้ข้าราชการและชาวบ้านทำลายต้นสบู่ดำเช่นกัน โดยที่เมืองกุ๋นฮิงทหารพม่าได้เกณฑ์บังคับชาวบ้านตำบลละ 50 คน ไปช่วยกันทำลายต้นสบู่ดำทั้งสั่งให้ช่วยกันปลูกไม้สักและต้นชาแทน ซึ่งหากชาวบ้านคนใดปฏิเสธก็จะถูกปรับเงินคนละ 5,000 จั๊ต ขณะที่ชาวบ้านคนหนึ่งเผยกับแหล่งข่าวว่า ต้นสบู่ดำที่ทหารพม่าบังคับชาวบ้านปลูกไว้นั้น ใช้พื้นที่นับพันเอเคอร์ ทั้งตามพื้นที่ว่างเปล่า ขอบรั้วไร่นา หรือแม้กระทั่งตามสองฝั่งข้างถนน ซึ่งบางแห่งผลออกดกดีมาก แต่ไม่เห็นเจ้าหน้าที่เก็บนำไปใช้ประโยชน์อะไร ส่วนที่เมืองปางโหลง ทางเจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งให้ข้าราชการทุกหน่วยงาน เช่น ฝ่ายปกครอง ฝ่ายงานทะเบียน ฝ่ายภาษีอากร ฝ่ายป่าไม้ ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายดับเพลิง ให้ช่วยกันลงมือทำลายต้นสบู่ดำและให้นำต้นชามาปลูกแทน โดยคำสั่งมีขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านในพื้นจะยังไม่ได้ถูกบังคับให้ร่วมลงมือด้วย แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนเป็นกังวลกันว่าหลังจากนี้อาจจะถูกบังคับใช้แรงงาน เช่นเมื่อครั้งปลูกต้นสบู่ดำ เมื่อปลายปี 2548 รัฐบาลทหารพม่าได้มีคำสั่งบังคับประชาชนทั่วประเทศปลูกต้นสบู่ดำ นอกจากประชาชนจะถูกบังคับใช้แรงงานฟรีแล้ว ยังถูกยึดที่ดินเพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกด้วย โดยรัฐบาลทหารพม่าอ้างจะนำผลสบู่ดำไปใช้ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มากกว่า
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 03 Aug 2010 03:15 AM PDT หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารพลเมืองเหนือ. ฉบับ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
1. เรื่องราวของคนสูงอายุกับเด็กเป็นประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นในสังคม ไม่ว่าสังคมไหน โดยเฉพาะในสังคมที่ชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น (single family) คือ มีเพียงพ่อแม่ และลูก 1-2 คนอาศัยด้วยกัน แต่มิใช่เป็นครอบครัวขยาย (extended family) แบบในอดีต ซึ่งมีคนหลายวัยและกระทั่งหลายครอบครัวอยู่ด้วยกัน เช่น มีปู่ย่าหรือตายาย มีพ่อแม่ ลูกและหลาน และบางครอบครัวมีผู้สูงอายุระดับทวด ปู่ทวด ย่าทวด ซึ่งย่อมต้องมีเหลน และโหลน (ภาษาล้านนาเรียกว่าหลิน) และบางครอบครัวอาจมีสมาชิกนอกเหนือไปจากนั้น เช่น มีพี่น้องที่แต่งงานแล้วยังไม่แยกออกไป ส่งผลให้ครอบครัวขยายดังกล่าวมี 2-3 ครอบครัวอยู่ในเรือนเดียวกัน และอาจมีพี่น้องบางคนที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือเป็นหม้าย จึงมีลุง ป้า น้า อา อยู่ด้วย ฯลฯ สังคมล้านนาในอดีตประกอบด้วยครอบครัวขยายเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ มีคนอย่างน้อย 3 วัยอยู่ด้วยกัน ได้แก่ ปู่ย่า หรือตายาย พ่อแม่ และลูกๆ และบางเรือนอาจมีคนถึง 5 วัย คือ รวมเอาทวดและเหลนเข้าไป นอกจากนั้น พี่น้องส่วนใหญ่แต่งงานแล้วก็ไปตั้งบ้านเรือนไม่ไกลจากบ้านพ่อแม่ของตน กระทั่งอาจสร้างบ้านในอาณาบริเวณเดียวกันหรือห่างออกไปไม่กี่หรือหลัง ส่งผลให้สมาชิกในแต่ละครอบครัวมีมากมายและหลากวัย แต่ละคนช่วยกันทำงาน หาอาหารได้มาก็แบ่งกันกิน ซื้ออะไรได้มาก็เอามาให้กัน ผู้สูงอายุที่แข็งแรงก็ยังออกไปทำนา และประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนทำงานในบ้าน ผู้สูงอายุที่เหลือก็ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกหลาน ขณะที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ฯลฯ สายใยที่ร้อยรัดครอบครัวเช่นนี้ถักทอเหนียวแน่น สร้างรากฐานมั่นคงให้แก่ครอบครัวและทอดยาวไปถึงชุมชนและสังคมโดยรวม เช่น หากผัวเมียหรือพี่น้องทะเลาะกัน หรือลูกหลานกลับบ้านดึกดื่น หลานสาวหลานหนุ่มใจแตกมีแฟนหรือคิดมีแฟนตั้งแต่อายุยังน้อย หรือไม่ตั้งใจเรียน งานบ้านก็ไม่ช่วย เอาแต่นั่งตาลอยหรือหายออกจากบ้านจนดึกดื่น หรือเอาแต่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมีสมาชิกบางคนในครอบครัวขี้เกียจ ไม่ทำงาน หรือไม่สู้งานหนัก เอาแต่ดื่มเหล้าหรือมีปัญหาชีวิต ไม่พูดจากับใคร คิดทำลายชีวิตตนเอง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ เมื่ออยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องในบ้านเดียวกัน ก็จะมีการช่วยกันหาทางแก้ไข หรือตัดไฟต้นลม เรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นยังเป็นอุทาหรณ์สอนใจสมาชิกระดับลูกหลานในครอบครัวใหญ่ ที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัวขยายเป็นเสมือนชุมชนเล็กๆ ที่ปู่ย่าตายายมีเวลาได้เลี้ยงดูหลานๆ ได้ถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ศิลปะ ประเพณี และค่านิยมของคนรุ่นเก่าให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบสานต่อไป ศิลปวัฒนธรรมของครอบครัวและท้องถิ่นไม่เพียงแต่ไม่สูญหาย หากยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นก่อนได้ใช้ความรู้ความสามารถ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีความสุข ความอบอุ่นทางใจเพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลาน ส่วนลูกหลานก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวิธีประพฤติปฏิบัติตนจากผู้ใหญ่หลายระดับในชุมชนเล็กๆ นั้น และทั้งได้ความสุขและเป็นที่พึ่งพิงทางใจ ได้แรงบันดาลใจและได้เรียนรู้แบบอย่างการทำงานและการใช้ชีวิต ฯลฯ เมื่อครอบครัวอบอุ่น เข้มแข็ง สมาชิกมีความสุขและรักใคร่ปรองดองกัน เคารพนับถือกัน มีจิตใจเอื้อเฟื้ออ่อนโยนต่อกัน ศิลปวัฒนธรรมได้รับการส่งเสริมและสืบทอด ก็เป็นฐานที่มั่นคงสำหรับชุมชน และเมื่อชุมชนเข้มแข็ง มีความรักความสามัคคี ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมก็เกิดขึ้น และนำไปสู่ฐานที่มั่นคงสำหรับประเทศโดยรวม สังคมเกษตรกรรมดูเหมือนจะมีปัจจัยสำคัญสร้างครอบครัวขยายได้มาก ขณะที่สังคมที่เน้นอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำที่สลับซับซ้อน ผู้คนต้องไปทำงานในหลายท้องที่ ต้องพบกับระบบโยกย้ายสับเปลี่ยนกำลังคน การพลัดพรากจากกันจึงเกิดขึ้น ครอบครัวเดี่ยวจึงเกิดขึ้นมากมาย ครอบครัวผู้ปกครองคนเดียว (single parent family) ก็ตามมา พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกน้อยลง ต้องส่งลูกไปอยู่กับพี่เลี้ยงตั้งแต่ 1-2 ขวบ ไปอยู่โรงเรียนตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ หรือส่งไปอยู่ที่โรงเรียนประจำ บ้านก็จึงไม่มีใครอยู่ ปู่ย่าตายายก็อยู่กันตามลำพัง ไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ๆ ลูกหลานก็ไม่รู้จักคนสูงอายุหรือนานๆ ก็ได้ไปเยี่ยมกันสักครั้ง สภาพตีนถีบปากกัดในหลายๆ ครอบครัว รวมทั้งวัฒนธรรมบริโภคนิยมสมัยใหม่ ทำให้สตรีหันไปทำแท้ง บางคนนำลูกไปวางไว้ที่ข้างถังขยะหรือหน้าโรงพยาบาล บางคนคิดอะไรไม่ออกต้องฆ่าทารกแล้วทิ้งลงส้วม ฯลฯ ส่วนชายกลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ในสังคมที่รัฐไม่ค่อยสนใจพัฒนาภาคเกษตรกรรมและชนบท ท้องถิ่นห่างไกลมีงบประมาณจำกัด การจ้างงานมีน้อย ประชาชนขาดรายได้ การพัฒนา, การลงทุน, การงาน และรายได้กระจุกอยู่ในเขตเมือง หลายคนจึงต้องจากชนบทเข้าไปหางานทำในเมือง นำลูกไปฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงในชนบท หนุ่มสาวก็เข้าไปทำงานในเมือง ลูกหลานก็เข้าไปเรียนในตัวจังหวัด ชนบทจึงกลายเป็นชุมชนของคนแก่และเด็กๆ ส่วนบ้านจำนวนมากในเมืองกลับไม่มีใครอยู่เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงาน ให้พ่อทำงานคนเดียว รายได้ก็ไม่พอ ลูกๆ ก็ไปโรงเรียน และแน่นอน ในสังคมที่คิดถึงตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่เลี้ยงลูก 7-8 คนได้ แต่ลูกๆ 7-8 คนเลี้ยงพ่อแม่ 2 คนไม่ได้ เกี่ยงกันไปๆ มาๆ จนในที่สุด ปู่ย่าตายายหลายคนก็ต้องไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์คนชรา วันๆ ไม่มีอะไรทำ ได้แต่นั่งมองดูต้นไม้ ผืนฟ้า น้ำตาไหล คิดถึงลูกหลาน ไม่รู้ว่าอนาคตจะจบลงเมื่อไหร่ อีกนานแค่ไหนกว่าจะมีใครมาเยี่ยม ฯลฯ ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้เอง เมื่อเสียงเพลง “อุ๊ยคำ” ดังขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ชนชั้นกลางในสังคมพาณิชย์-อุตสาหกรรมที่ว้าเหว่แห่งเมืองหลวงจึงต้อนรับเพลงนี้อย่างอบอุ่น เมื่อเหว่ว้าฝันหาบรรยากาศของครอบครัวขยาย แต่ไม่อาจทำได้ดั่งฝัน ชนชั้นกลางคนแล้วคนเล่าจึงหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินเพลงอุ๊ยคำ ว่ากันว่าเมื่อจรัล มโนเพ็ชร ขับขานเพลงนี้ครั้งแรกๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพลงนี้ไม่เป็นที่ต้อนรับมากเหมือนเพลงอื่นๆ ซึ่งเป็นเพลงสนุกสนาน เช่น เพลงพี่สาวครับ สาวมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แน่นอน เมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นยังเป็นเมืองแบบชนบทไม่น้อย ครอบครัวขยายยังมีมาก แม้จะมีหลายครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านของปู่ย่าตายาย สามารถไปมาหาสู่กันได้ง่าย บริบททางสังคมของเมืองเชียงใหม่เป็นเช่นนั้น แต่สังคมเมืองหลวงเหว่ว้าอาดูรนักแล้ว จึงนิ่งงันดังต้องมนต์เมื่อได้รับรู้ชีวิตของอุ๊ยคำ ได้ยินความหม่นเศร้าของท่วงทำนองและสะเทือนใจในถ้อยคำ โดยเฉพาะเสียงระฆังจากวัด ยามเมื่อ “หมู่ผักบุ้งยอดซมเซาซบบ่ไหว เป๋นจะใดไปแล้ว อุ๊ยคำ ฟ้ามืดมัวหม่น เมฆฝนครึ้มดำ เสียงพระอ่านธรรม ขออุ๊ยคำไปดี......” สำหรับสมาชิกชนชั้นกลางที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเมืองใหญ่ ปีละครั้งจึงจะได้ไปพบปู่ย่าตายาย-ทวด หรือเหลืออยู่เพียงคน 2 คนแล้วในต่างจังหวัด อุ๊ยคำที่ต้องอยู่ “ตั๋วเดียวเปลี่ยวดาย ตุ๊กใจตุ๊กกายปี้น้องบ่มี” และเก็บผักบุ้ง “ส่งขาประจำ เลี้ยงตั๋วสืบมา...” จึงสะเทือนใจพวกเขาอย่างรุนแรง พวกเขาที่ต้องจากปู่ย่าตายายมา หรือกระทั่งฝากหลานให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง และชีวิตอันอ้างว้างของพวกเขาในป่าคอนกรีตเหมือนชีวิตของอุ๊ยคำที่ต้องเก็บผักบุ้งเดียวดายกลางหนองทุกค่ำ แน่นอน ชนชั้นกลางไม่ได้มีใจรักให้เฉพาะคนแก่ หากยังเป็นห่วงเป็นใยเด็กๆ ผู้จะเป็นกำลังสำคัญแห่งอนาคต เพลง “ตากับหลาน” ของจรัลซึ่งสะท้อนภาพอันเจ็บปวดกลางถนนหลวงเป็นตัวอย่างรูปธรรมอีกอันหนึ่งที่สอนให้ผู้คนตระหนักในความสำคัญของปัญหาเด็ก ปัญหาคนชรา และปัญหาจราจรซึ่งคร่าชีวิตของคนไทยจำนวนมากทุกๆ ปี ความพยายามในการปราบปรามยาบ้าและการจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ ผลพวงของความห่วงใยของคนไทยจำนวนมากว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพสังคมให้สูงขึ้น ไม่ใช่ว่าสักแต่พูดเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่เต็มไปด้วยปัญหาความชั่วช้ามาสามานย์จนเป็นที่อับอายขายหน้าทั่วโลก สังคมไทยจะต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาเหล่านี้ มิใช่เพราะเรื่องอับอายชาวโลก แต่เราควรจะทำเพื่อคนของเราและเพื่อชุมชนของเราเอง....
2. ในงานส่งสการคุณแม่จันทร์นวล กาญจนกามล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ที่อำเภอเมืองลำพูน ผมได้รับหนังสือรำลึกจากงานนี้ 1 เล่ม คุณแม่จันทร์นวลเกิดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2453 อันเป็นปีสุดท้ายของการครองราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 คุณแม่จันทร์นวลเป็นสาวคนเมือง พ่อแม่ชื่อนายอ้าย – นางคำมูล สิริ ซึ่งค้าขายผ้า ข้าวสาร และต่อมาได้ตั้งโรงงานทอผ้าด้วยกี่ มีคนงานทอกี่มากกว่า 20 กี่ จากบันทึกประวัติของนายไกรศรี นิมมานเหมินท์ (พ.ศ. 2455-2535) (ลายคราม. 2527) การค้าขายในเมืองเชียงใหม่เริ่มคึกคักมากขึ้นที่บริเวณริมฝั่งน้ำปิงโดยเฉพาะที่ท่าวัดเกต ส่วนใหญ่คือพ่อค้าชาวจีนที่ขนสินค้าไปมาทางน้ำระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ที่ผู้นำสยามยอมให้เปิดการค้าเสรีกับตะวันตกในปี พ.ศ. 2398 และมีพ่อค้าไม้สักชาวอังกฤษเดินทางเข้ามามากขึ้น การเดินทางมาเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายเพรสไบทีเรียนของเดเนียล แม็คกิลวารีในเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2410 และการเข้ามาประจำการถาวรของนายทหารจากกรุงเทพฯในเมืองเชียงใหม่จำนวน 70 นายเริ่มในปี พ.ศ. 2416 และหลังจากนั้น ก็เริ่มมีระบบเจ้าภาษีนายอากรโดยชาวจีนในเมืองเชียงใหม่ย่อมสะท้อนให้เห็นการเติบโตของการค้าขายในแถบนี้ (จนนำไปสู่กบฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2432-33) ชาวจีนหลบหนีจากฝั่งวัดเกตมายังฝั่งตะวันตกและก่อตั้งตลาดวโรรสขึ้นในปี พ.ศ. 2453 และหลวงอนุสารสุนทร (คุณตาของนายไกรศรี) ได้ก่อตั้งห้างชัวย่งเส็ง บนถนนวิชยานนท์ในปี พ.ศ. 2460 และจัดรถโดยสารเชียงใหม่-ลำพูน จำนวน 2 คัน (ด้านหน้าเก็บคนละ 1 บาทด้านหลังคนละ 1 รูปี) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็คือภาพรวมของเศรษฐกิจการค้าขายในเขตเมืองเชียงใหม่-ลำพูน คุณแม่จันทร์นวลอายุไล่เลี่ยกับนายไกรศรี พ่อแม่ของคุณแม่จันทร์นวลค้าขายผ้าและข้าวสาร จนกระทั่งตั้งโรงงานทอผ้า ท่านคงจะเป็นพ่อค้าคนเมืองยุคแรกๆ ที่ค้าขายกับเมืองเชียงใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2440-2460 และใช้บริการรถโดยสารของตระกูลนิมมานเหมินท์ ครั้นเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯถึงลำพูนและเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 กิจการค้าขายของตระกูลแม่จันทร์นวลก็น่าจะคึกคักมากขึ้น นี่จะต้องเป็นตระกูลพ่อค้าคนเมืองเพียงไม่กี่ตระกูลที่มากด้วยความสามารถ เมื่อเทียบกับธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในมือของชาวจีน น่าเสียดายที่ (คง) ไม่มี่ในช่วงปี พ.ศ. ันทร์นวลค้าขายผ้าและข้าวสาร จนกระทั่งตั้งโรงงานทอผ้า ท่านคงจะเป็นพ่ใครเคยสัมภาษณ์คุณแม่จันทร์นวลเกี่ยวกับธุรกิจการค้าของตระกูลของท่านในอดีต (อาจเนื่องจากสามีและลูกๆ ของท่านรับราชการ จึงทำให้ค่อยๆ วางมือด้านการทำธุรกิจและขาดคนสืบสาน)
3. ในหนังสือรำลึกคุณแม่จันทร์นวล มีบทความขนาด 2 หน้าชื่อ “คุณยายครับ กิ๋นข้าวครับ” (หน้า 17-18) เขียนโดยชายหนุ่มชื่อ “มิก” ผมไม่รู้จักชายหนุ่มคนนี้ รู้แต่ว่า “มิก” เรียกคุณแม่จันทร์นวล ว่า “หม่อน” ดังนั้น มิกจึงเป็นเหลน คุณแม่จันทร์นวลจึงเป็นหม่อน ดูจากเรื่องราวที่เขียน มิก กำลังเป็นบัณฑิต หม่อนจากไปเมื่ออายุได้ 91 ปี เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของหม่อนอายุ 80-90 ปี ส่วนเหลนอายุราว 10-20 ปี ผมไม่เคยได้พบทั้งหม่อนจันทร์นวลหรือเหลนมิก รู้จักแต่ทันตแพทย์อุทัยวรรณ และนายแพทย์วงศ์สว่าง กาญจนกามล ลูกชายที่มีชื่อเสียงของคุณแม่จันทร์นวล แต่ผมก็อยากจะบอกคุณ มิกว่า คุณเขียนบทความนี้ได้สะเทือนใจมาก อายุเท่านี้ เขียนได้ดีขนาดนี้ คุณจะต้องมีอนาคตไกล ที่ผมเห็นว่ามิกเขียนได้ดี ก็เพราะ 2 สิ่งคือ หนึ่ง เป็นงานเขียนถึงความสัมพันธ์ของคน 2 คนอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา ถ้อยคำกระชับ ตรงประเด็น อ่านแล้วได้บรรยากาศที่จริงใจ ไม่เสแสร้ง และ สอง เป็นงานที่สะท้อนภาพความจริงหลายอย่างของคนบนแผ่นดินล้านนา อ่านแล้วชวนให้คิดถึงคนสูงอายุและลูกหลานอีกมากมาย ตลอดจนอนาคตของแผ่นดินผืนนี้ มิกบอกว่า คุณจันทร์นวลเป็น “หม่อน” ของเขา และเขาก็เรียกว่า “หม่อน” จนเมื่อเขาโตขึ้นจึง “ถือวิสาสะ” เรียกว่า “ยาย” และไม่ได้เรียกหม่อนอีกเลย มิกยังบอกอีกว่า หม่อน “ไม่เคยพูดภาษากลางเลยสักคำ” กับเหลนที่พูดภาษากรุงเทพฯ ทำให้ผมนึกถึงอีกหลายๆ ครอบครัวที่ได้พบหรือที่เป็นข่าวบนแผ่นดินล้านนา คนเมืองเคยเรียกพ่อแม่ของปู่ย่าตายายว่า “หม่อน” บัดนี้ เหลนจำนวนมากเรียกหม่อนว่าทวด มิกบอกว่าเขาเรียกหม่อนว่ายาย และใช้คำว่า “ถือวิสาสะ” น่าเสียดายที่เขาไม่ได้บอกว่าเพราะอะไร มีผู้ใหญ่คนไหนที่สอนเขาเช่นนั้น หรือว่าเขาคิดเอง เขาเอาคำว่ายายไปแทนคำว่าหม่อนด้วยเหตุผลใดหนอ ทำไม่จึงไม่มีผู้ใหญ่คนเมืองในบ้านทักท้วง และหม่อนจันทร์นวลเล่า ท่านไม่ได้ว่าอะไรเลยหรือไร คงเป็นเพราะท่านอายุมากแล้ว จึงไม่มีเวลาสนใจวิธีการเรียกของเหลน คนเมืองเรียกพ่อแม่ของพ่อและแม่ว่า “อุ๊ย” ไม่ว่าเพศใด หลายปีมานี้ คนสูงวัยในบ้านเราก็สอนให้หลานเรียกว่า ปู่ย่าตายาย มีอุ๊ยจำนวนไม่น้อยนอกจากจะไม่คัดค้าน หากยังเต็มใจเรียกตัวเองตามนั้น อยากเป็นปู่ย่าตายายแบบคนกรุงเทพฯ “มาให้ตาอุ้มหน่อย หลาน” “ขอยายหอมหน่อยจ้ะ” “มา มาทางนี้ ดูสิว่าหน้าเหมือนปู่หรือเปล่า” คนสูงวัยในล้านนาไม่อยากเป็น “อุ๊ย” อีกแล้ว มิกเขียนว่าเขาพูดภาษาไทยกับหม่อน แต่หม่อนพูดกำเมืองตลอดเวลา ใครสอนให้มิกพูดภาษาไทยกับหม่อน มิกพูดกำเมืองได้ไหม มีผู้ใหญ่คนไหนในบ้านพูดกำเมืองกับมิกไหม ทำไมไม่มีใครสอนให้มิกพูดกำเมืองกับหม่อน เดี๋ยวนี้ มีอุ๊ยจำนวนไม่น้อยและมีพ่อแม่ลุงป้าน้าอาคนเมืองจำนวนมากที่ชอบพูดภาษาไทยกับลูกหลาน ทั้งๆ ที่พวกเขาพูดกันเองเป็นภาษากำเมือง พวกเขาปล่อยให้กระทรวงศึกษาและโรงเรียนข่มเหงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการบังคับให้เด็กพูดภาษากรุงเทพฯ เด็กกลับบ้านแล้ว ยังถูกพ่อแม่ลุงป้าน้าอาคนเมืองข่มเหงให้หลงลืมและดูถูกภาษาของบรรพชนอีก เดี๋ยวนี้ เยาวชนล้านนาแม้จะมีพ่อแม่เป็นคนเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พูดคุยกันเป็นภาษาไทยทั้งในและนอกห้องเรียน พ่อแม่คนเมืองก็ “ปากไทย” กับลูก พ่อแม่คนยองก็ “ปากไทย” กับลูก พ่อแม่คนลื้อก็ “ปากไทย” กับลูก อุ๊ยๆ ทั้งหลายก็ “ปากไทย” กับลูกหลาน หากเยาวชนรุ่นนี้ไม่ยอมพูดกำเมืองกันแล้ว แล้วจะมีอะไรหลงเหลือสำหรับศิลปวัฒนธรรมล้านนาเล่า? มิกเขียนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับหม่อนมีปัญหาบ่อยครั้ง เพราะมิกใช้ดาบเลเซอร์ฟันต้นเขียวหมื่นปีของหม่อน กระถางดอกไม้ของหม่อนก็กลายเป็นเป้าให้มิกเตะบอลเป็นประตูบ่อยๆ และจากการกินข้าวเช้าร่วมโต๊ะกันเพียงสองคนในยามที่มิกยังเป็นเด็ก (เพราะผู้ใหญ่คนอื่นออกไปทำงานกันหมดแล้ว) เมื่อมิกโตขึ้น เขาก็ไม่ได้กินข้าวกับหม่อนอีก เหลือเพียงการทักทายเมื่อมิกกลับถึงบ้านและอำลาจะออกจากบ้าน แต่แล้วมิกก็สะท้อนภาพเมื่อครั้งหม่อนเคยปกป้องเขาไม่ได้เขาถูกใครตี หม่อนสอนให้ร้อยดอกมะลิ เป็นแบบให้มิกถ่ายรูป และให้เงินแก่มิกในหลายๆ โอกาส เหนือสิ่งอื่นใด มิกไม่ลืมคำพูดที่หม่อนมีให้เขาทุกครั้งที่เขาจะออกจากบ้าน “ปิ๊กละกา” และ “บุญฮักษาเน่อ” เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วว่ามิกคิดอย่างไรกับหม่อนของเขา หม่อนผู้มีแต่ให้....ให้ลูก หลานและเหลน เรียงความสั้นๆ ของมิกสะท้อนความสั่นคลอนระดับรากของความเป็นล้านนา ล้านนาในห้วง 20 ปีที่ผ่านมาที่ผุกร่อนลงอย่างมาก นโยบายรวมศูนย์อำนาจและกดขี่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้คนท้องถิ่นด้วยกันเองอ่อนล้า มองไม่เห็นคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง ครอบครัวของมิกเป็นครอบครัวขยายก็จริง แต่ไม่ใช่อย่างที่เขียนไว้ในตอนต้น เท่าที่ปรากฏในเรียงความ มิกบอกว่าเขาเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน นอกจากหม่อน เขายังมีย่าและแม่ ต้องเสียน้อง ชายและพ่อไป ส่วนคนอื่นๆ ในบ้าน มิกไม่ได้พูดถึง แต่ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างคนสูงอายุกับหลาน เรื่องนี้ดูจะมีลักษณะสากล ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ช่องว่างระหว่างวัยทำให้สายใยสัมพันธ์หย่อนยานลงไป เพราะขณะที่ฝ่ายหนึ่งอยู่กับบ้าน เห็นโลกมายมาย อีกฝ่ายเปี่ยมไปด้วยพละกำลัง เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ออกสู่โลกกว้างทุกวัน ไปโรงเรียน พบเพื่อนใหม่ ดูหนัง เล่นกีฬา สนใจเพศตรงข้าม ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปเรียนต่อ ฯลฯ และแน่นอน มิกมองฝ่ายที่อยู่บ้านว่า ไม่ทันสมัย พูดแต่เรื่องอดีต หนังสือต่างประเทศที่โด่งดัง เช่น Chicken Soup กับ สรรสาระ มักเสนอเรื่องราวของเยาวชนที่เสียดายวันเวลาที่ผ่านไป มัวเพลินกับกิจกรรมต่างๆ ตนอกบ้าน จนลืม “หม่อน” ที่อยู่ที่บ้าน อาจจะเห็น “หม่อน” แต่ไม่ได้ดูแลท่าน ไม่ได้ไปนั่งใกล้ๆ พูดคุยกับท่าน ถามท่านว่าสุขสบายดีหรืออย่างไร ขอความรู้จากท่านหรือเล่าอะไรที่เราได้ไปรับรู้และไปเห็นนอกบ้านให้ท่านฟัง ฯลฯ ประเด็นหนึ่งจึงอยู่ที่ระบบการศึกษา ครู และผู้ใหญ่จะมองเห็นความสำคัญของปัญหานี้แค่ไหน และหยิบเป็นหัวข้อศึกษาในชั้นเรียนและที่บ้าน เช่น ครูจัดหัวข้อให้มีการศึกษา สนทนา และทำรายงานในชั้นเรียน ส่วนผู้ใหญ่ในแต่ละครอบครัวลงมือปฏิบัติด้วยการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกต่างวัยให้อบอุ่น ใกล้ชิด เรียนรู้จากกัน ช่วยเหลือกันและไปมาหาสู่กันบ่อยขึ้น.... ผมอยากให้เยาวชนและพ่อแม่ทั้งหลายได้อ่านงานชิ้นนี้ของมิก หลายปีมานี้ มีเยาวชนเรียนดีและรู้จักคิดหลายคนที่เสียดายเวลาที่ผ่านไป ระบบการสอบเข้า และการเตรียมตัวสอบเข้าที่บ้าคลั่ง ทำให้เยาวชนและผู้ปกครองจำนวนมากกลายเป็นเหยื่อของระบบนี้ ทั้งพ่อแม่ลูก ทุ่มเททุกอย่างให้กับสิ่งนี้จนละเลยประเด็นอื่นๆ ในครอบครัว และชุมชนตัวเอง กว่าเขาจะรู้ตัว หลายอย่างก็จากไป ไม่อาจเรียกกลับคืนมา.... ความเป็นล้านนาที่ถูกละเลยและอ่อนล้าในเวลานี้ก็คือ ท้องถิ่นที่ไม่มีใครใส่ใจ เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่ให้ความสำคัญ หรือดีแต่พูด แต่ไม่เคยใส่ใจจริงจัง ระบบการศึกษาจึงต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและคนจำนวนมากที่มองเห็นปัญหาดังกล่าว แต่ในระหว่างที่เรารอการเปลี่ยนแปลงที่ระบบ ผู้ใหญ่ควรตระหนัก และบอกให้เยาวชนได้รู้จักคิดว่า ชีวิตของเรานั้นไม่ใช่มีแต่นอกบ้าน แต่เรายังมีพระที่บ้าน เราไม่เพียงมีครูที่โรงเรียน แต่เรายังต้องมีครูที่บ้าน เพราะการศึกษานั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผู้ใหญ่จะหยุดการเรียนรู้ และยัดเยียดภาระการศึกษาให้แก่ครูที่โรงเรียนเท่านั้นไม่ได้ และเราไม่เพียงมีครอบครัวเดี่ยว คือพ่อแม่กับลูกๆ แต่เรายังมีครอบครัวขยายที่สังคมของเรานับวันจะขาดหาย หรือมี แต่ไม่เห็นความสำคัญ และแน่นอน เราไม่เพียงมีสังคมไทย หากเรายังมีสังคมล้านนา...แผ่นดินของเรา ล้านนาที่ไม่ควรมีเพียงชื่อป้ายห้างร้าน หรือป้ายสถาบันการศึกษา หรือตุงไชยตามสนามบินและโรงแรม แต่เป็นล้านนาที่มีชีวิต ที่แทรกอยู่และสืบสานในสายสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ในภาษา ในอาหาร ในกิจกรรม โรงเรียน วัด ตลาด และทุกอย่างบนแผ่นดินนี้ ทุกวัน ทุกคืน... ขอบคุณนะ มิก ที่เขียนถึงหม่อน.... ผมรู้ ตราบใดที่ยังมีคนร้องไห้เมื่อฟังเพลงอุ๊ยคำ และยังมีคนรักและอาลัย “หม่อน”........ ตราบนั้น ล้านนาก็ยังคงมีลมหายใจ.
ป.ล. บ่ายวันนี้ ผมได้พบกับมิกโดยบังเอิญ น่ายินดีอย่างยิ่งเพราะเขาพูดภาษากำเมืองได้ชัดถ้อยชัดคำเชียวแหละ.
22 พฤศจิกายน 2544. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ครม.มีมติตั้ง "บึงกาฬ" จังหวัดที่ 77 แยกหนองคาย Posted: 03 Aug 2010 02:39 AM PDT ครม. มีมติตั้ง "บึงกาฬ" เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศ ตามข้อเสนอ "สุเมธ พรมพันห่าว" อดีต ส.ส. ผู้ล่วงลับซึ่งเสนอเมื่อ 2537 ด้านเด็กภูมิใจไทยชี้ตั้งจังหวัดใหม่เป็นการแก้ดวงเมือง เพราะเดิมมี 76 จังหวัดรวมได้เลข 13 ไม่มงคล ปัดสลาย "เพื่อไทย" ในพื้นที่หนองคาย วันนี้ (3 ส.ค.) มีรายงานว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้งจังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโดยแบ่งอำเภอด้านตะวันออกของ จ.หนองคาย ออกจากเขตปกครองของ จ.หนองคาย รวมจัดตั้งเป็น จ.บึงกาฬ ทั้งนี้จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีการร้องขอให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2537 ตามข้อเสนอของนายสุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคายในขณะนั้น โดยแยกพื้นที่ อ.บึงกาฬ อ.ปากคาด อ.โซ่พิสัย อ.พรเจริญ อ.เซกา อ.บึงโขงหลง อ.ศรีวิไล และ อ.บุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย จากการสำรวจความเห็นของประชาชน จำนวน 366,903 คน ปรากฏว่าประชาชนเห็นด้วยกับการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ ร้อยละ 98.83 หากมีการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ จะมีประชากรประมาณ 399,233 คน ประกอบด้วย 8 อำเภอ ส่วนจังหวัดหนองคาย จะประกอบด้วย 9 อำเภอ ประชากร 506,343 คน ในปี พ.ศ. 2553 กระทรวงมหาดไทย ได้นำเรื่องการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ... สำหรับนายสุเมธ พรหมพันธ์ห่าว อดีต ส.ส.หนองคาย ซึ่งเตรียมลงสมัคร ส.ส.หนองคาย พรรคภูมิใจไทย เพื่อชิงพื้นที่ของนายพินิจ จารุสมบัติ ส.ส.พรรคเพื่อไทยนั้น ล่าสุดผู้เสนอให้ตั้ง จ.บึงกาฬ ผู้นี้เสียชีวิตแล้ว เมื่อ 7 ก.ค. 53 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 71 ปี ด้าน โพสต์ทูเดย์ ซึ่งสัมภาษณ์ นายทรงศักดิ์ ทองศรี แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ทำประชามติสำรวจความต้องการประชาชน จ.หนองคาย พบว่าร้อยละ 98.83 ต้องการให้แยก อ.บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77 เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความเจริญอยู่ริมแม่น้ำโขง ห่างจาก จ.หนองคาย 145 กม. และติดกับ จ.นครพนม มีการปลูกยางมากที่สุด รายได้ดีประชากรดีมาก ทุกอย่างเข้าเกณฑ์การตั้งเป็นจังหวัด นายทรงศักดิ์ ปฎิเสธว่า การตั้งจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77 ไม่ใช่เรื่องการเมือง เพื่อสลายพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ จ.หนองคาย แต่ยอมรับว่า ถือเป็นการแก้ดวงเมือง จากเดิมที่มี 76 จังหวัด เลขรวมกันได้ 13 เป็นเลขไม่ดีไม่เป็นมงคล ทำให้เกิดปัญหากับประเทศมาตลอด ไม่ว่าจะภัยพิบัติสึนามิ ปัญหาความขัดแย้งในชาติเสื้อเหลืองเสื้อแดง "เมื่อเพิ่มเป็น 77 จังหวัดเลขรวมกันได้ 14 รวมกันได้ 5 เป็นเลขมงคล แม้แต่พ.ต.อ.อรรถวิโรจน์ ศรีตุลา โหรดูดวงเมืองก็ทำนายตัวเลขนี้ไว้ จากนี้จะนำเรื่องเข้าสภาเพื่อออกเป็นพ.ร.บ.เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป”แกนนำพรรคภูมิใจไทยกล่าว. ที่มา: เรียบเรียงเพิ่มเติมจาก วิกิพีเดีย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จาตุรนต์ ฉายแสง: ความเห็นต่อกรณีการให้ประกันตัวผู้ต้องหาเสื้อแดง Posted: 03 Aug 2010 12:52 AM PDT หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้เผยแพร่บทความ "ความเห็นต่อกรณีการให้ประกันตัวผู้ต้องหาเสื้อแดง" ลงในเว็บบล็อกของเขา โดยรายละเอียดของบทความมีดังนี้
คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกำลังถูกโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายตรงข้ามของเสื้อแดง รวมทั้งพวกของคุณกอร์ปศักดิ์เองด้วย นายกฯอภิสิทธิ์ก็พยายามแก้ตัวให้คุณกอร์ปศักดิ์ว่า คุณกอร์ปศักดิ์ไปเป็นพยานตามหมายศาล แต่ไม่ได้อธิบายว่าที่คุณกอร์ปศักดิ์ไปให้การอย่างที่ให้การไปนั้นดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ดูเหมือนนายกฯอภิสิทธิ์จะแก้ปัญหาด้วยการใช้คำพูดที่กำกวม หรือไม่ก็แบบขอไปที ไม่เป็นเหตุเป็นผลในเรื่องต่างๆเป็นประจำไปเสียแล้ว การอธิบายแทนคุณกอร์ปศักดิ์จึงไม่มีน้ำหนักอะไรและไม่ควรค่าแก่การวิจารณ์แต่อย่างใด การที่คุณกอร์ปศักดิ์ไปเป็นพยานว่าคุณวีระได้เจรจากับคุณกอร์ปศักดิ์ในหลายโอกาสและได้แสดงให้คุณกอร์ปศักดิ์เห็นว่า คุณวีระไม่นิยมความรุนแรงและยังต้องการยุติการชุมนุมตามผลของการเจรจานั้น เป็นการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการขอประกันตัวคุณวีระและนอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อการปรองดองของทั้งฝ่ายต่อไปในอนาคตอีกด้วย ความจริงสิ่งที่รัฐบาลนี้ควรทำก็คือ สั่งการให้ดีเอสไอและพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหลาย และก็ควรส่งคนของรัฐบาลไปเป็นพยานช่วยให้ผู้ต้องหาเหล่านี้สามารถประกันตัวได้อย่างที่คุณกอร์ปศักดิ์ได้ไปช่วยเป็นพยานให้กับคุณวีระมาแล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ น่าคิดว่าผู้ต้องหาส่วนใหญ่ที่เข้ามอบตัวหรือแม้แต่บางคนที่ถูกจับตัวได้นั้น เป็นผู้ที่ยืนยันการต่อสู้แบบสันติวิธีเกือบทั้งสิ้น แต่คนเหล่านี้กลับต้องเข้าไปอยู่ในคุก ถูกล่ามโซ่ ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้โดยสะดวก ในขณะที่ผู้ที่ตกเป็นข่าวว่านิยมความรุนแรงกลับอยู่ข้างนอกคุก พร้อมกันนั้นก็มีข่าวว่าผู้ที่โกรธแค้นรัฐบาลบางส่วนกำลังหมดความอดทนที่จะต่อสู้ด้วยสันติวิธีต่อไป และมีผู้ต้องหาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องการต่อสู้แบบสันติวิธีที่ยังไม่ได้เข้ามอบตัว ก็ยังไม่ประสงค์จะเข้ามอบตัว เพราะรู้ว่าคงไม่ได้ประกันตัวก็เลยหลบหนีอยู่นอกคุกไปก่อนดีกว่า การปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย สถานการณ์การเมืองจะลดความตึงเครียดลงทันที หากผู้ต้องหาส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัว ผู้ที่หลบหนีอยู่หลายคนก็คงจะขอเข้ามอบตัวสู้คดี และถ้าเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้พูดคุยกัน ทั้งคุยกันเองและคุยกับพวกเสื้อแดงหรือกับผู้ที่สนใจการเมืองทั้งหลาย สิ่งที่จะตามมา ผมเชื่อว่าก็จะได้แก่ข้อสรุปว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่จะมีต่อไปจะต้องเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธีเท่านั้น ถ้าได้ข้อสรุปอย่างนี้ เราก็จะสามารถลดความเสี่ยงของการที่ผู้คนจะหันไปใช้การต่อสู้ในรูปแบบอื่นๆได้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองโดยส่วนรวมโดยตรง คนที่อาจไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบนี้ นอกจากผู้ที่ต้องการทำลายล้างพวกเสื้อแดงให้สิ้นซากไปแล้ว ก็คงได้แก่ ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในรูปแบบหรือวิธีการใดๆทั้งสิ้น ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมเสียแล้ว บ้านเมืองมาถึงขนาดนี้ ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะหายสาบสูญไปเฉยๆนั้นเป็นไปไม่ได้แน่ ปัญหาอยู่ทีว่าจะทำอย่างไรให้การต่อสู้นี้จำกัดอยู่ที่การต่อสู้แบบสันติวิธี การปิดกั้นการต่อสู้อย่างสันติอย่างที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ นอกจากไม่สามารถสกัดกั้นหรือทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้หมดไปแล้ว ยังจะเป็นการผลักดันให้เกิดการต่อสู้ที่รุนแรงให้เกิดมากขึ้นอีกด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้ารัฐบาลสนใจ ก็คือ การเจรจากับแกนนำคนเสื้อแดงที่ได้รับการประกันตัวออกมา รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ไปพบปะพูดจาหรือให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการต่างๆที่นายกฯตั้งขึ้น ผมเชื่อว่าแกนนำหลายคนก็คงพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ จะติดอยู่หน่อยเดียวก็ตรงที่นายกฯเคยพูดไว้ว่าจะไม่ปรองดองกับผู้ก่อการร้าย และถ้าคนฟังเข้าใจความหมายของนายกฯ คงคิดว่านายกฯหมายถึงจะไม่ปรองดองกับคนเสื้อแดงนั่นเอง ทางออกในเรื่องนี้ ก็คือ นายกฯจะต้องอธิบายเรื่องการปรองดองเสียใหม่ว่า การปรองดอง คือ การทำให้คนสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันหาหน้ามาหากัน ลดความขัดแย้งกัน ซึ่งจะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกตัดออกไปจากกระบวนการปรองดองเสียตั้งแต่ต้นแล้ว การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง ไม่ได้ทำให้กระทบกระเทือนระบบยุติธรรมของประเทศแต่อย่างใด ใครต้องถูกดำเนินคดีก็ถูกดำเนินคดีต่อไป และใครที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็อาจถูกเรียกร้องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียด้วย ว่าไปแล้วก็จะเป็นการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียด้วยซ้ำไป หลักการที่ผมเสนอนี้ รัฐบาลจะเอาไปใช้กับกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยก็ได้ ผมไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด สิ่งที่ควรเกิดขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรฯ ก็คือ การตั้งข้อหาอย่างเหมาะสมกับความผิดที่ได้ทำไป ยึดสนามบินเป็นการก่อการร้ายก็ควรตั้งข้อหาก่อการร้าย จะยกเว้นไม่ได้ แต่กลุ่มพันธมิตรฯทั้งหลายไม่ได้แสดงอาการว่าต้องการจะหลบหนี เพราะฉะนั้นเมื่อมอบตัวแล้วก็ควรดำเนินการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาคือต้องคุมตัวและให้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์หรือเงินสดจำนวนใกล้เคียงกับที่คุณวีระต้องใช้ก็ได้ รัฐบาลคงสะดวกใจอยู่แล้วที่จะไปให้การเป็นพยานเพื่อช่วยให้กลุ่มพันธมิตรฯ ประกันตัวได้ง่ายขึ้น ถ้านึกไม่ออกว่าจะส่งใครไป ผมขอแนะนำให้ส่งคุณกษิต ภิรมย์ไปก็ได้ แต่ถ้าเกรงว่าไม่มีน้ำหนัก ผมว่านายกฯนั่นแหละเหมาะที่สุดที่จะไปทำหน้าที่นี้ เมื่อทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองต่างก็ได้รับการประกันตัวเหมือนกัน ซึ่งหมายความว่าต้องถูกจับกุมคุมขังเหมือนกันเสียก่อนแล้ว คำครหาเกี่ยวกับความเป็นสองมาตรฐานก็จะลดลงไปด้วย คณะกรรมการทั้งหลายที่รัฐบาลตั้งขึ้นก็จะทำงานง่ายขึ้น และหากมีการเจรจา หารือของฝ่ายต่างๆ การจะหาทางออกจากวิกฤตและการปรองดองก็จะง่ายขึ้นด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"อภิสิทธิ์" ชี้ความขัดแย้งเกิดจากการไม่รับข่าวสารรอบด้าน Posted: 03 Aug 2010 12:14 AM PDT "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ระดมความเห็นกับสถาบันอุดมศึกษา หวังมหาวิทยาลัยทำงานใกล้ชิดท้องถิ่น เยาวชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูป-ปรองดอง ชี้ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากการไม่รับข่าวสารรอบด้าน ไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลหลายชุดที่จะนำไปสู่ปัญญา แต่ถูกบังคับให้เลือกกระโจนไปในชุดข้อมูลชุดใดชุดหนึ่งซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง นายกรัฐมนตรีระหว่างร่วมรับฟัง "การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมสร้างประเทศน่าอยู่โดยสถาบันอุดมศึกษา" ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล) เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (2 ส.ค.) ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมรับฟังการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมสร้างประเทศน่าอยู่ โดยสถาบันอุดมศึกษา ณ ห้องเซฟไฟร์ ชั้น 2 อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายหลังรับฟังรายงานผลการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมสร้างประเทศน่าอยู่โดยสถาบันอุดมศึกษา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมอบนโยบาย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่ง โดยขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนที่สละเวลามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแม้ว่าจะแบ่งกลุ่มแล้วแต่ภารกิจหลัก ความคาดหมาย คาดหวังของสังคมยังคล้ายคลึงกัน และข้อเสนอที่ออกมาสอดคล้องต้องกันในหลาย ๆ เรื่อง เท่าที่ตนอ่านในรายละเอียดก็ตรงกันในเชิงมาตรการที่ทำให้ตนเบาใจ เพราะถ้าข้อเสนอต่างกันหมดก็คงดีในแง่หลากหลาย แต่อาจจะทำให้ประมวลและเดินไปข้างหน้าค่อนข้างยาก หวั่นมหาวิทยาลัยเกิดช่องว่างกับสังคม หวังให้มหาวิทยาลัยทำงานใกล้ชิดกับท้องถิ่น “ขั้นแรกสิ่งที่จะต้องเร่งทำคือการกำหนดให้ชัดเจนว่าจังหวัดไหน มหาวิทยาลัยไหน จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะสำหรับผมถ้าเป็นไปได้ มหาวิทยาลัยที่จะรับผิดชอบพื้นที่ต้องเติบโตจากการเป็นอุดมศึกษา ที่ใกล้ชิดกับชุมชน หรือเป็นมหาวิทยาลัยที่พยายามผลักดันตัวเองขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเต็มรูปแบบ บทบาทที่น่าจะเป็นแม่ข่ายของกลุ่มจังหวัด เพราะตัวกลุ่มจังหวัดมีความสำคัญในเชิงพื้นที่ เพราะความจริงในอีกหลายพื้นที่ต้องเชื่อมโยงด้วยวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ลุ่มน้ำ คือให้มี 1 มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ แล้วก็มีระดับที่สูงขึ้นมาในการทำงานในเชิงเครือข่ายและกลุ่มจังหวัดหรือกลุ่มพื้นที่น่าจะช่วยทำให้การทำงานทางด้านนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ในการทำงานในพื้นที่ชุมชนและแต่ละจังหวัด ตนอยากเห็นการเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล หรือการปกครองรูปแบบพิเศษ รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งขณะนี้สภาหอการค้าไทยก็มีการขับเคลื่อนในเรื่องของการปฏิรูปเช่นเดียวกัน และยังมีการมอบนโยบายให้กับหอการค้าจังหวัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมตรงนี้ได้ดีและถ้ามองไปถึงเรื่องขององค์กรภาคประชาชนด้วย ตนคิดว่าการเป็นเจ้าภาพหลักในส่วนของตัวมหาวิทยาลัยน่าจะมีเหมาะสม ทั้งนี้ต้องเร่งกำหนดแนวทางโครงสร้าง โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เร่งนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเป็นมติต่อไป เชื่อปฏิรูป-ปรองดองจะสำเร็จได้อยู่ที่กระบวนการ หวังเยาวชนมีส่วนร่วม “สมัยก่อนอาจจะจัดตั้งยึดอยู่กับคณะ สถาบัน องค์กรนักศึกษา แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นเครือข่ายที่สร้างบนอินเตอร์เน็ตและสื่อผสมผสาน ซึ่งเป็นข้อดีในการกระตุ้นเรื่องนี้เพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในการให้นิสิตนักศึกษาเข้าไปในลักษณะของการอาสา ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตรงนี้ด้วย แม้ธรรมชาติของมนุษย์จะมองบทบาทของคนรุ่นใหม่ว่าจะต้องเหมือนคนสมัยก่อน คนแต่ละรุ่นก็มีวิธีการไม่เหมือนกัน ถ้าเราฝืนมันก็เชื่อมกันไม่ติด บางทีต้องฟังแนวทางของเยาวชนที่มีทั้งสภาเด็กเยาวชน สภานักเรียนที่เกิดขึ้นตามกฎหมายและนโยบาย ถ้าสามารถทำอย่างที่ว่าได้ ถือว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาไปในตัว ที่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปแก้กฎระเบียบอะไรกัน แต่จะเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในของแต่ละสถาบันเองที่ปฏิรูปได้ด้วยตัวเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว ชี้ความขัดแย้งเป็นเพราะคนไม่รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลหลายชุด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่เด็กเล็กที่จะแก้ปัญหานี้อย่างไรให้คนของเราเท่าทันและรู้ว่าความสลับซับซ้อนของสังคมและสภาวะแวดล้อม สามารถที่จะรับข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลาย รู้จักคิดด้วยตัวเอง แต่ต้องหาความพอดีและรู้จักเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้วยเหตุด้วยผลกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องช่วยให้นิสิตนักศึกษามีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในโลกของการสื่อสาร โลกของข้อมูลและข่าวสารที่มีความหลากหลายด้วย อย่างไรก็ตาม ตนหวังที่จะเห็นบทบาทนำของมหาวิทยาลัยบนความไว้เนื้อเชื่อใจของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งหมายถึงความเที่ยงตรงต่อหลักวิชาการ ความเป็นกลาง และพลังที่เกิดขึ้นจากการมีความรู้ ความพร้อมทางด้านต่าง ๆ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พวงทอง ภวัครพันธุ์: ปราสาทพระวิหาร เอ็มโอยู 2543 และแผนที่ Posted: 03 Aug 2010 12:07 AM PDT สถานการณ์ร้อนแรงระหว่างไทย-กัมพูชาลดระดับลงไป เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจเลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาออกไปเป็นปีหน้า แน่นอนว่านี่เป็นการผัดผ่อนปัญหาไปชั่วคราวเท่านั้น เรื่องนี้ยังไม่จบง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม จากการประท้วงของกลุ่มชาตินิยมครั้งล่าสุดนี้ มีประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการถกเถียงในที่นี้ คือ กรณี MOU ปี 2543 และคำอธิบายของกลุ่มชาตินิยมที่มีต่อแผนที่เจ้าปัญหา ควรยกเลิก MOU 2543 จริงหรือ? เรื่องนี้ดูจะสร้างความตระหนกให้แก่กลุ่มชาตินิยมไม่น้อย เพราะพวกเขายืนยันมาโดยตลอดว่า ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับนี้ (ฉะนั้น ไทยจึงไม่ต้องยอมรับคำตัดสินของศาลโลกที่ยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา) แต่ปรากฏว่าพวกเขาได้ค้นพบว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่พวกเขาช่วยกันอุ้มชู กลับเป็นผู้ไปทำ MOU ที่แสดงการยอมรับแผนที่เจ้าปัญหาเสียเอง ฉะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องเลิก MOU โดยด่วนที่สุด! คำถามที่จะต้องถามคือ 1. ไทยจะอ้างเหตุผลอะไรเพื่อยกเลิก MOU 2543 2. การยกเลิกจะทำให้ประเทศไทยได้และเสียอะไรบ้าง ตอบคำถามที่สอง: หากรัฐบาลอภิสิทธิ์เต้นไปตามแรงกดดันชาตินิยม และตัดสินใจเลิก MOUนี้ สิ่งที่ประเทศไทยจะได้ก็คือ นายกฯ ที่มีคะแนนนิยมที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็คงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น โชคดีที่ครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ไม่ใจร้อนเหมือนปีที่แล้ว ที่ด่วนบอกเลิก MOU การปักปันพื้นที่ไหล่ทวีป กับการให้ความช่วยเหลือสร้างถนนแก่กัมพูชา การจะตอบคำถามว่าการยกเลิก MOU 2543 จะทำให้ไทยเสียอะไรบ้าง จะต้องกลับไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนที่เจ้าปัญหาชุดนี้เสียก่อน กล่าวคือ แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสชุดนี้มีทั้งหมด 11 ตอน (ระวาง) ครอบคลุมเขตแดนทางบกด้านตะวันออกของไทย ตั้งแต่ลาวลงมาถึงกัมพูชา (ตอนเขาดงรัก หรือบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็น 1 ใน 11 ตอน) ฉะนั้น แผนที่ชุดนี้จึงไม่ได้ถูกใช้เป็นเอกสารในการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-ลาวด้วย หากฝ่ายไทยขอยกเลิก MOU 2543 กับกัมพูชา ด้วยเหตุผลว่าไทยไม่ยอมรับแผนที่ชุดนี้ ก็อาจกระทบต่อการปักปันเขตแดนที่กระทำร่วมกับลาวด้วย เพราะหากไทยไม่ยอมรับสถานะของแผนที่ชุดนี้ในความสัมพันธ์กับกัมพูชา แต่หันไปบอกกับลาวว่า ไม่เป็นไร ไทยยินดีใช้แผนที่ชุดนี้เพราะมันเป็นหลักฐานที่ทำให้ไทยได้เปรียบกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า... เหตุผลเช่นนี้ก็คงพิลึกดี สิ่งที่สังคมไทยควรรับทราบไว้ก็คือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่ไทยสามารถทำข้อตกลงเพื่อปักปันเขตแดนกับลาวและกัมพูชาได้ กระบวนการปักปันเขตแดนด้านตะวันออกได้ก้าวหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ข้อมูล กต. ระบุว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาที่มีความยาวทั้งสิ้น 798 กม. ได้ปักหลักเขตแดนไปแล้ว 603 กม. คือตั้งแต่ช่องสะงำ จ.ศรีษะเกษ–บ้านหาดเล็ก จ.ตราด ส่วนที่ยังไม่ได้ปักหลักมีระยะทาง 195 กม. ซึ่งก็คือตอนเขาดงรัก ที่ตั้งของปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. นั่นเอง ในส่วนของพรมแดนไทย-ลาว การปักหมุดเขตแดนทางบกสามารถดำเนินไปได้ถึงร้อยละ 96 หรือเท่ากับ 676 กม.จากพื้นที่ทั้งหมด 702 กม. ส่วนที่ไม่ค่อยคืบหน้าก็คือ บริเวณแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (บริเวรบ้านร่มเกล้า) (ดูเว็บ กต. www.mfa.go.th/laos/laos.php) หากมีการยกเลิก MOU ความพยายามที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันเพื่อยุติ-ป้องกันความขัดแย้งเหนือดินแดนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ย่อมหยุดชะงักลงทันที อย่างไรก็ตาม คำอธิบายเพียงแค่นี้อาจยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มชาตินิยม ที่มักเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้อง โง่ ไม่ทำการบ้าน แต่ในกรณี MOU 2543 เป็นเช่นนั้นจริงหรือ? สิ่งที่กลุ่มชาตินิยมไม่ได้อ้างถึงก็คือ MOU 2543 ยังระบุถึงเอกสารอีกชุดหนึ่ง ที่ต้องใช้ประกอบการสำรวจและปักหลักเขตแดน นั่นก็คือ อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 เอกสารทั้งสองนี้ระบุว่า การปักปันเขตแดนบริเวณเขาดงรัก ให้ยึดเส้นสันปันน้ำ อันเป็นหลักการที่ไทยยืนยันมาโดยตลอด ในแง่นี้ MOU 2543 จึงประกอบด้วยเอกสารที่ถ่วงดุลอำนาจในการต่อรองและผลประโยชน์ของคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืนยันให้ใช้แต่เฉพาะเอกสารที่ให้ประโยชน์กับฝ่ายตนเท่านั้น การเจรจาก็ไม่มีทางคืบหน้าไปได้ นอกจากนี้ มันยังหมายความต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องก็เห็นประโยชน์จากแผนที่ชุดนี้เช่นกัน เพราะในจำนวน 11 ตอน มีเฉพาะตอนเขาดงรักเท่านั้นที่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ แต่อีก 10 ตอนที่เหลือ จะช่วยให้ไทยแก้ปัญหาเรื่องดินแดนกับเพื่อนบ้านได้ ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่จริงหรือ? อันที่จริงทีมงานกฎหมายที่นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ใช้เหตุผลเหล่านี้เพื่อต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก และทำให้ไทยแพ้มาแล้ว และศาลโลกก็ได้โต้แย้งเหตุผลไปแล้วด้วย โดยศาลโลกยืนยันว่าไทยมีภาระผูกพันต่อแผนที่ตอนเขาดงรัก เพราะมีหลักฐานว่าไทยได้เคยตีพิมพ์ เผยแพร่ และจัดส่งแผนที่ทั้ง 11 ตอนหลายครั้งหลายครา ซึ่ง “เพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายได้” โดยสรุปได้ดังนี้ (ดูคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร) 1. เมื่อสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้รับแผนที่ทั้ง 11 ตอน อัครราชทูตไทยได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศในกรุงเทพฯ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในเรื่องที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม ตามคำร้องขอของกรรมการฝ่ายสยามให้กรรมการฝ่ายฝรั่งเศสช่วยจัดทำแผนที่เขตแดนต่าง ๆ ขึ้นนั้น บัดนี้ คณะกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสได้ปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว” อัครราชทูตไทยคนดังกล่าวยังระบุว่า ตนได้รับแผนที่จำนวน 50 ชุด และจะได้ส่งแผนที่อย่างละชุดไปยังสถานทูตไทยในยุโรปและอเมริกา นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดี มหาดไทยยังได้ขอบคุณอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ สำหรับแผนที่เหล่านั้น และได้ทรงขอแผนที่จากฝรั่งเศสอีกอย่างละ 15 ชุดเพื่อส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ของสยาม ศาลโลกเห็นว่าข้อความในหนังสือดังกล่าวชี้ว่า เจ้าหน้าที่สยามรับรู้ว่าแผนที่ที่ตนได้รับนั้นคือ ผลงานปักปันเขตแดน ที่รัฐบาลสยามได้ “ร้องขอ” ให้ฝ่ายฝรั่งเศสจัดทำให้ตนนั่นเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สยามได้ยอมรับแผนที่ โดยมิได้มีการตรวจสอบโดยตนเอง “จึงไม่อาจที่จะอ้างในเวลานี้ได้ว่ามีข้อผิดพลาดอันเป็นการลบล้างความยินยอมที่แท้จริงได้” 2. เหตุการณ์ในยุคหลัง ร.5 ยังชี้ว่าสยามได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ในทางพฤตินัยและไม่ได้สนใจที่จะคัดค้านแผนที่นี้ แม้ว่าจะมีโอกาสหลายครั้งก็ตาม กล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2477-2478 ไทยได้ทำการสำรวจบริเวณนี้ด้วยตนเอง แล้วพบว่าเส้นสันปันน้ำกับเส้นบนแผนที่ไม่ตรงกัน และฝ่ายไทยได้จัดทำแผนที่ขึ้นมาเอง โดยแสดงว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทย แต่ประเทศไทยก็ยังคงใช้แผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งเศสตลอดมา และที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นก็คือ ในปี พ.ศ. 2480 ในการลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อยืนยันเส้นเขตแดนร่วมที่มีอยู่แล้วอีกครั้งหนึ่ง “กรมแผนที่ของสยามก็ยังคงพิมพ์แผนที่แสดงว่าพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชาอยู่อีก” ประเทศไทยมีโอกาสขอแก้ไขเส้นเขตแดนที่ผิดพลาดอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2490 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยต้องคืนดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และจำปาสักให้แก่ฝรั่งเศส ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-ไทยขึ้น โดยภาระหน้าที่ประการหนึ่งคือตรวจแก้ไขเส้นเขตแดนซึ่งไทยอาจยกขึ้นมา ซึ่งไทยได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับเส้นเขตแดนในหลายบริเวณด้วยกัน แต่กลับไม่เคยร้องเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเลย แต่กลับยื่นแผนที่ฉบับหนึ่งต่อคณะกรรมการซึ่งแสดงว่าพระวิหารอยู่ในกัมพูชา ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติหลายครั้งหลายหนของฝ่ายไทยที่แสดงการยอมรับแผนที่ตอนเขาดงรัก ศาลโลกจึงมีข้อวินิจฉัยว่า “ประเทศไทยได้ยอมรับเส้นเขตแดนตรงจุดนี้ดังที่ลากไว้บนแผนที่โดยไม่คำนึงว่าจะตรงกันกับเส้นสันปันน้ำหรือไม่” ถึงแม้ว่าศาลโลกจะไม่ได้ตัดสินให้ตามคำขอของกัมพูชาที่ว่า แผนที่ตอนเขาดงรักมีสถานะเท่ากับสนธิสัญญา และเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่ไทยก็ต้องตระหนักว่าศาลโลกมีความเห็นว่า “ประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่า เมื่อพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป การกระทำต่อ ๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน” ไทยต้องตระหนักว่ารัฐบาลกัมพูชามีสิทธิ์ร้องขอโดยลำพังให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ได้ เพื่อชี้ขาดว่าเส้นเขตแดนในบริเวณพิพาทคือเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่เจ้าปัญหาหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่า หากความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาเลวร้ายลงเรื่อย ๆ กัมพูชาจะเลือกใช้หนทางนี้เพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเสียที ปัญหาคือ หากศาลชี้ขาดให้เป็นคุณกับฝ่ายกัมพูชา สังคมไทยจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ใครบ้างจะต้องกลายเป็นแพะรับบาป ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะเลวร้ายลงไปอีกเพียงใด ไม่มีใครรับประกันได้ บางทีการกลับไปอ่านเอกสารหลักฐานเก่าบ้าง อาจช่วยทำให้ผู้นำไทยมีสติมากขึ้น ไม่ต้องวนเวียนกับคำอธิบายเก่า ๆ ที่เคยถูกตีตกไปแล้ว ประการสำคัญ อาจทำให้เราพยายามคิดหาหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องอิงกับกระแสชาตินิยมมากจนเกินไป
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
บุกจับ "ลุงเสื้อแดง" ข้อหาส่ง SMS หมิ่นเบื้องสูงถึงนายกฯ ผู้ต้องหาปฏิเสธ ตร.คาดมีผู้สนับสนุน Posted: 02 Aug 2010 11:41 PM PDT มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 3 สิงหาคม พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศรัตรู ผบช.ก. พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน สว.กก.1 บก.ป. นำกำลังจับกุม นายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52 หมู่ที่ 1 ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญารัชดา ที่ 1659 /2553 ลงวันที่ 29 ก.ค.53 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี โดยจับกุมได้ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ระหว่างซอยวัดด่านสำโรง 17/1 และซอยวัดด่านสำโรง 19 หมู่ที่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า 2 เครื่อง และยี่ห้อเทเลวิช อีก 1 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า พล.ต.ท.ไถง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้รับแจ้งว่า มีบุคคลลึกลับส่งข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันไปยังบุคคลสำคัญระดับประเทศหลายคน จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท.ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ร่วมกันสืบสวนหาตัวคนร้าย จากการตรวจสอบบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายบริษัทพบว่า มีการใช้ซิมการ์ดแบบเติมเงิน เมื่อส่งข้อความเสร็จแล้วก็จะหักซิมการ์ดทิ้ง จึงติดตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์จนทราบว่านายอำพล เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าวจึงเข้าจับกุมมาสอบสวน พล.ต.ท.ไถง กล่าว่า สอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งข้อความตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่า โทรศัพท์ทั้งหมดเป็นของตนจริง แต่ได้เลิกใช้ไปนานแล้ว ทั้งนี้ผู้ต้องหาไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงไม่เชื่อว่า จะทราบเบอร์โทรศัพท์มือถือของบุคคลสำคัญของประเทศและส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ จึงเชื่อว่าจะมีผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลัง นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่า นายอำพลเป็นฮาร์ดคอร์กลุ่มคนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ที่ กอ.รมน. ขึ้นบัญชีดำไว้ด้วย "ยืนยันว่าจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคง เป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ และจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือความขัดแย้งทุกรูปแบบ พร้อมทั้งจะดำเนินการตามกฏหมายกับบุคคลที่ล่วงละเมิดสถาบันอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ และหากมีเบาะแสกลุ่มล้มสถาบันให้แจ้งมาที่กองปราบปรามได้" ผบช.ก.กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจหาหลักฐานภายในบ้านพักของนายอำพล อยู่นั้น มีกลุ่มชาวบ้านซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นคนเสื้อแดงกว่า 20 ราย พยายามเข้าปิดล้อมกดดันชุดจับกุม แต่เมื่อชุดจับกุมบอกว่า คดีนี้เป็นคดีดูหมิ่นสถาบันทั้งหมดจึงถอยร่นออกมาดูเชิงบริเวณหน้าปากซอย ส่วนนายอำพลได้ส่งข้อความดูหมิ่นสถาบันไปให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นากยกรัฐมนตรี ถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 9 -12 พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีหลายคนได้รับข้อความดังกล่าวรวมทั้ง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีอีกด้วย
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280808193&grpid=00&catid สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จูบอำมหิตของกองทัพกับรัฐบาลไทย Posted: 02 Aug 2010 10:40 PM PDT ภัควดี ไม่มีนามสกุล แปลจาก Richard S. Ehrlich, Thailand's military, government in sync: Prime minister needs to keep army on his side,” The Washington Times: http://www.washingtontimes.com/news/2010/jul/29/thailands-military-government-in-sync/print/; Thursday, July 29, 2010
นับตั้งแต่การปราบปราม “กลุ่มคนเสื้อแดง” ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยก็ได้เป็นประจักษ์พยานถึงความสมัครสมานแนบแน่นระหว่างนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของเขายังเป็นเครื่องหมายคำถาม กับกองทัพไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนความมั่นคงของรัฐบาลชุดนี้ สื่อมวลชนในประเทศไทย โดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ต่างพยายามฉายภาพความเป็นผู้นำของรัฐบาลและความพยายามของกองทัพในการฟื้นฟูความสงบทั้งระหว่างและหลังการประท้วง ในขณะเดียวกันก็เซ็นเซอร์ความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับการปราบปรามคนเสื้อแดง พร้อมกันนั้น นายอภิสิทธิ์ก็เห็นชอบต่องบประมาณกองทัพที่น่ากังขา และไม่ยอมให้มีการสอบสวนใด ๆ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับการใช้จ่ายอย่างไร้ประสิทธิภาพของกองทัพ มีการคาดหมายว่านายทหารระดับผู้บังคับบัญชาหลายคนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งอย่างน้อยก็คงพิจารณาความดีความชอบจากปฏิบัติการปราบกบฏเสื้อแดงด้วย นายอภิสิทธิ์ย่อมไม่กล้าสร้างความไม่พอใจแก่กองทัพ ซึ่งขับไล่นายทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่งใน พ.ศ. 2549 ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากถึง 3 ครั้งในประเทศไทยที่มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ กองทัพไทยเคยทำรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวมาแล้วถึง 18 ครั้ง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา กองทัพไทยมักทำรัฐประหารเมื่อไรก็ได้เมื่อรู้สึกว่าจำเป็น การรัฐประหารนายทักษิณออกจากตำแหน่งเป็นชนวนส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้เกิดการประท้วงของคนเสื้อแดงในย่านการค้าของกรุงเทพฯ ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา กองทัพไทยที่ได้รับการฝึกจากสหรัฐฯ จัดการผู้ประท้วงด้วยสไนเปอร์ ปืนไรเฟิลจู่โจม (assault rifle—เป็นปืนไรเฟิลประสิทธิภาพสูง มีความเสถียรในการยิงสูงมากและมีอัตราแรงถีบค่อนข้างต่ำ—ผู้แปล) และรถยานเกราะ มีประชาชนถูกสังหารถึง 90 คนและอีก 1,900 คนได้รับบาดเจ็บตลอดช่วง 9 สัปดาห์ของการปะทะกัน “เนื่องจากกองทัพเป็นเครื่องมืออย่างเดียวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในการต้านทานอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและคนเสื้อแดง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องทำทุกอย่างให้กองทัพพอใจเสมอ” หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ รายงานไว้ในเดือนที่ผ่านมา ในบรรดาผู้นำกองทัพที่รอการเลื่อนตำแหน่ง ประกอบด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา หลังจากฝ่ายหลังเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์และพลเอกอนุพงษ์เห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการกองทัพคนใหม่ ทั้งนายทหารและนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกองทัพไทยลงความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ผู้มีวัย 56 ปี เป็นนายทหารในสายเหยี่ยวยิ่งกว่าพลเอกอนุพงษ์ ซึ่งเชื่อกันว่าไม่ค่อยเต็มใจนักกับการใช้อาวุธหนักในการ “ขอคืนพื้นที่” จากคนเสื้อแดง เพราะเขาต้องการเกษียณอายุโดยไม่มีเลือดของเพื่อนร่วมชาติเปรอะเปื้อนมือ พลเอกอนุพงษ์และนายทหารระดับสูงคนอื่น ๆ เป็นผู้โค่นล้มทักษิณในการรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือด “หากพลเอกประยุทธ์ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก มันคงเป็นรางวัลสำหรับความดีความชอบของเขาในการปราบปรามคนเสื้อแดงครั้งล่าสุด นอกเหนือจากข้อที่ว่าเขาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกที่รอสืบทอดตำแหน่งจากพลเอกอนุพงษ์อยู่แล้ว” บางกอกโพสต์ รายงานไว้ในวันที่ 15 กรกฎาคม นอกจากนี้ ยังมีนายทหารระดับสูงอีกอย่างน้อย 5 คนที่คาดว่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งด้วย คนหนึ่งในนั้นก็คือ พล.ท. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้วางแผนยุทธศาสตร์ให้แก่ปฏิบัติการของกองทัพในการ “กระชับพื้นที่” จากคนเสื้อแดง กองทัพไทยครอบครองสื่อที่มีอิทธิพลและทำกำไรมหาศาล กองทัพเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุกว่า 200 คลื่น สถานีโทรทัศน์หนึ่งช่องและสัมปทานสถานีโทรทัศน์อีกหนึ่งช่อง กระนั้นก็ตาม กองทัพไม่ได้ออกมาเดินขบวนสวนสนามฉลองความสำเร็จหลังการทำลายคนเสื้อแดง เนื่องจากคงตระหนักว่า ปล่อยให้รัฐบาลพลเรือนได้หน้าได้ตาไปจะดีกว่า ระหว่างการปะทะกับคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นายทหารหน้าตาขึงขังหลายคนมักออกมาปราศรัยทางทีวีต่อประชาชน จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมนายอภิสิทธิ์จึงไม่ค่อยโผล่หน้ามาให้เห็นมากนัก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วย ในเรื่องที่เขาหลบอยู่ในฐานทัพในกรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ตลอดช่วงที่มีการลุกฮือของคนเสื้อแดง เขากินนอนอยู่ใกล้ ๆ ห้องทำงานของพลเอกอนุพงษ์ เห็นได้ชัดว่ากลัวจะถูกลอบสังหาร ทุกวันนี้ ภาพพจน์ของกองทัพยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก มักมีการฉายภาพทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงให้เห็นภาพของทหารติดอาวุธพยายามฟื้นฟูความสงบตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ที่คนเสื้อแดงมาสร้างความแปดเปื้อนเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็คอยนำทางประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ให้พ้นจากเส้นทางอันตรายอย่างกล้าหาญน่าสรรเสริญ อย่างไรก็ตาม มีปัญหาเกิดขึ้นทันทีเมื่อกลุ่มใหม่ในชื่อ “เครือข่ายพลังบวก” ซึ่งเกิดมาจากการรวมตัวกันของคนจากแวดวงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชนและสมาคมโทรทัศน์ ร่วมกันผลิตโฆษณาชื่อ “ขอโทษประเทศไทย” ออกมาในกลางเดือนกรกฎาคม ในโฆษณาชุดนี้มีคลิปภาพกราฟิกการปะทะระหว่างกองทัพกับคนเสื้อแดง ตลอดจนแง่มุมอื่น ๆ ที่มีปัญหาของสังคมไทย และโฆษณาชุดนี้ถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกอากาศ ในโฆษณามีเสียงผู้บรรยายบางตอนว่า “เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า? รุนแรงไปหรือเปล่า? ฟังความข้างเดียวหรือเปล่า? ทำหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่า? คิดถึงประชาชนหรือเปล่า? โกงหรือเปล่า?” เสียงผู้บรรยายแนะนำว่า “ถ้าจะต้องมีคนผิด ก็คงเป็นเราทั้งหมดที่ผิด ขอโทษประเทศไทย” หลังจากประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากการสั่งปิดเว็บไซต์หลายพันแห่ง รวมทั้งสื่ออื่น ๆ ด้วย ในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็บอกว่า “ขอโทษประเทศไทย” สามารถออกอากาศทางโทรทัศน์ได้ แต่คณะกรรมเซ็นเซอร์สั่งว่า มันต้อง “ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง” ก่อนออกอากาศ “กองทัพ [ไทย] นั้น โดยเบื้องต้นที่สุดก็คือข้าราชการติดอาวุธ ซึ่งไม่ได้มีไว้ต่อสู้ในสงคราม” นักวิเคราะห์ ดันแคน แมกคาร์โก เขียนไว้ในบทความ ค.ศ. 2002 ของเขาชื่อ "Security, Development and Political Participation in Thailand: Alternative Currencies of Legitimacy." “นายทหารระดับสูงมักทุ่มเทพลังงานให้แก่อาชีพในด้านธุรกิจและการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่าและให้ผลตอบแทนมากกว่า ธุรกิจหลักของพวกเขาคือการลักลอบขนสินค้าเถื่อน ตัดไม้ทำลายป่าและแสวงหากำไรจากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” นี่คือข้อเขียนของแมกคาร์โก ผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในประเทศอังกฤษ “ในด้านการเมืองนั้น พวกเขาเข้าไปครองตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงและเข้าไปมีส่วนแบ่งในการบริหารประเทศอยู่เสมอ นายกรัฐมนตรีไทยหลายคนมีปูมหลังเป็นทหารมาก่อน” เห็นได้ชัดว่ากองทัพพออกพอใจกับการที่นายอภิสิทธิ์เพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงและใจกว้างเป็นแม่น้ำสำหรับการทำสัญญาจัดซื้อจัดหาอาวุธที่เป็นปัญหาจำนวนมาก ท่าทีของนายกรัฐมนตรีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทัพประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ การเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านว่า กองทัพสูญเงินไปถึง 24 ล้านดอลลาร์กับการซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดที่เป็นของแหกตา เมื่อต้นปีนี้ เครื่องจีที-200 ถูกเปิดโปงว่าเป็นของปลอมและรัฐบาลไทยยอมรับในเรื่องนี้ กระนั้นก็ตาม กองทัพไทยยังคงใช้เครื่องมือนี้ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้มีการจับกุมคุมขังชาวมุสลิมผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ แต่กลับตรวจไม่พบวัตถุระเบิดจริง ๆ ที่สังหารทหารไปเป็นจำนวนมาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 02 Aug 2010 03:55 PM PDT ประชุมวุฒิฯ เดือด ซัดนัวปมเก้าอี้ "จารุวรรณ"/ “กสม." จี้ตั้งกรรมการอิสระสู้ปมพระวิหาร/ทนาย นปช.ร้องอัยการสูงสุด สอบพยานเพิ่ม 250 ปากก่อน สั่งคดี 25 แกนนำก่อการร้าย/ศาลนัดฟังคำสั่ง “มาร์ค” ฟ้อง “แม้ว” 9ส.ค.นี้ รวบเสื้อแดงฝืน พ.ร.ก.พกเสื้อเกราะ ซุกประทัด-ลูกเหล็กเหตุการณ์ปะทะวิภาวดี ประชุมวุฒิฯ เดือด ซัดนัวปมเก้าอี้ "จารุวรรณ" เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญนิติบัญญัตินัดแรก มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถิ์ ได้สอบถามประธานวุฒิสภา กรณีมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ได้เสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาว่า ควรให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพราะมีอายุครบ 65 ปี กลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า สตง.ต่อ เพื่อประโยชน์ในด้านการตรวจสอบ ว่าเป็นความจริงหรือไม่ และที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภาสามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ด้วยหรือ โดยนายประสพสุขชี้แจงว่า สตง.ได้ส่งเรื่องมาถึงตนเพื่อให้พิจารณา จึงได้ให้คณะที่ปรึกษากฎหมายฯ พิจารณาเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของประธานฯ เมื่อได้เสนอความเห็นมาแล้ว ตนก็ได้รับทราบเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการอย่างไร ความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายไม่มีส่วนผูกพันทางกฎหมาย หากมีคนมาสอบถามตน ก็จะชี้แจงว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ลุกขึ้นสอบถามว่า เมื่อวัน 30 ก.ค. มีข่าวปรากฏโดยอ้างบันทึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ระบุถึงความเห็นคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาในเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกแปลกใจว่า คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งทำงานเพื่อวุฒิสภา แต่เหตุใดจึงมีบันทึกออกไปเปิดเผยอยู่ภายนอกได้ ทำให้สื่อมวลชนนำไปอ้าง ทำให้เกิดความเสียหาย และเมื่อไปตรวจสอบกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่ามีบันทึกออกไปจริงหรือไม่ กลับดูไม่ได้ นายประสพสุขชี้แจง ว่า เรื่องนี้คณะที่ปรึกษากฎหมายฯให้ความเห็นมา แต่ตนรับทราบเฉยๆ ไม่ได้ดำเนินการใดต่อ ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า หลังจากคณะที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาเรื่องนี้ทำความเห็นเสนอประธานวุฒิสภาแล้ว คุณหญิงจารุวรรณ ได้ทำหนังสือเสนอมายังคณะที่ปรึกษากฎหมายฯ ในช่วงที่ประธานวุฒิสภาไปราชการในต่างประเทศ โดยหนังสือระบุว่า มีความต้องการที่จะได้บันทึกความเห็นดังกล่าวเพื่อนำไปประกอบดุลยพินิจของคุณหญิงจารุวรรณเอง ในฐานะประธานที่ปรึกษากฎหมายฯเห็นว่าบันทึกดังกล่าวไม่ได้เป็นความลับอะไร จึงนำส่งไปให้อย่างถูกต้องตามระบบสารบรรณ ยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษากฎหมายฯถูกต้องทุกประการ รองรับด้วยข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา อำนาจของประธานวุฒิสภา การพิจารณาได้ทำอย่างถูกต้องทุกประการ “ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากผู้ว่า สตง. แต่อาจเกิดจากผู้ผิดหวังบางคน ที่ผิดหวังหรือเสียประโยชน์ไม่ได้ตำแหน่ง หรือบางคนที่ชักใยอยู่ข้างหลังที่ต้องการสิ่งที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการที่ ไม่ถูกต้อง หนังสือของคณะที่ปรึกษากฎหมายฯ เป็นแค่ความเห็นทางกฎหมาย ผลจะมีหรือไม่อยู่ที่ผู้อ่านว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ทั้งหมดไม่ใช่ความเห็นชี้ขาด ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เคยวินิจฉัยว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่ง เป็นแต่เพียงความสงสัยของคุณหญิงจารุวรรณเองเท่านั้น การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปโดยโปร่งใส แต่ถ้าเพื่อนสมาชิกเห็นว่าพวกผมทำหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ก็ขอให้ไปฟ้องให้ตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”นายไพบูลย์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ยังขอสำเนาหนังสือความเห็นเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้งบันทึกการปะชุม หนังสือที่ออก และหนังสือความเห็นที่ส่งไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยอยากทราบว่าผู้ที่ส่งหนังสือคือใคร ใครเป็นผู้ลงนาม ลงนามในสถานะใด โดยกำหนดภายในวันนี้ ทำให้นายไพบูลย์ กล่าวตอบโต้ว่า เรื่องการขอเอกสารขอให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุรายละเอียดว่าต้องการหนังสืออะไร หากไม่มีลายลักษณ์อักษรจะไม่สามารถส่งเอกสารให้ได้ ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ "กสม." จี้ตั้งกรรมการอิสระสู้ปมพระวิหาร เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงาน คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมี นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้พิจารณากรณีคณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนรับรองแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ไปปีหน้า นายปริญญา กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเลื่อนครั้งนี้มีประเด็นลึกๆ อย่างไรหรือไม่ เพราะนายสก อาน รองนายกฯ ของกัมพูชา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้รับชัยชนะ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นการพูดเพราะมีข้อมูลอะไร หรือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ นอกจากนี้การเลือนพิจารณาก็เป็นเพราะปัญหาเรื่องเทคนิคไม่ได้มาจากข้อมูลที่นำไปสู้ "รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำงาน เพราะหากในอนาคตรัฐบาลอยู่ไม่ได้ ก็จะมีผู้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาทางฝ่ายกัมพูชามีคนที่ต่อสู้เรื่องนี้ต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงต้องการทีมงานเฉพาะกิจที่มีความมั่นคง" ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังกลับถึงประเทศไทยว่า เรื่องนี้ที่ผ่านมาเราไม่ได้รับความร่วมมือเรื่องเอกสาร ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือ 1.ต้องเร่งขอเอกสารจากคณะกรรมการมรดกโลก 2.การนำเอกสารต้องรีบนำเอกสารมาพิจารณาข้อถูกต้องหรือเงื่อนไขของกฎหมาย 3.ต้องทำความเข้าใจกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ 4.เปิดการเจรจาพูดคุยกับทางกัมพูชา หาข้อยุติเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีเขาพระวิหาร เตรียมเคลื่อนไหวและกดดันกรณีปราสาทพระวิหาร โดยจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า เคยพูดหลายครั้งแล้วว่าถ้ามีความคิดเห็นที่แตกต่างก็มาพูดคุยกันได้ แต่อย่าไปทำให้เกิดลักษณะที่เหมือนกับว่าในบ้านเมืองของเรามีความขัดแย้งกันเองในเรื่องนี้ ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ทนาย นปช.ร้องอัยการสูงสุด สอบพยานเพิ่ม 250 ปากก่อน สั่งคดี 25 แกนนำก่อการร้าย มติชนออนไลน์รายงาน เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 2 สิงหาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายสมหมาย กู้ทรัพย์ นายองอาจ คำทอง นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และทีมทนายความแนวร่วม นปช. เดินทางเข้าพบนายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุด ในการสั่งคดีที่ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำ นปช. รวมทั้งแนวร่วม นปช. รวม 25 คน ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-3 โดยผู้ต้องหา ขอให้อัยการ สอบสวนพยานเพิ่มเติมรวม 250 ปาก ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยนายรุจ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า จะรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไว้พิจารณา ซึ่งนอกจากหนังสือแล้ว ทีมทนายความยังยื่นหนังสือที่นักวิชาการเขียนเกี่ยวกับการชุมนุม ชื่อ “ ความจริงวันนั้น” และ “ไขปริศนาใครฆ่าประชาชน” ประกอบการพิจารณาของอัยการด้วย ส่วนอัยการจะสั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติม หรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นกรณี ซึ่งขณะนี้สำนวนที่ดีเอสไอ ส่งมอบให้นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด คณะทำงานอัยการคดีพิเศษ ได้พิจารณาไปบ้างแล้ว ส่วนจะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด หรือไม่ในความผิดฐานก่อการร้าย ก็ต้องพิจารณาพฤติการณ์ผู้ต้องหาแต่ละราย ไม่ได้หมายความถ้าสั่งฟ้องจะฟ้องทุกคนในความผิดดังกล่าว ซึ่งสำนวนที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอสรุปส่งให้อัยการ มีการกล่าวหาข้อหาอื่นด้วย ส่วนการพิจารณาจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อัยการจะดำเนินการให้เร็วที่สุดและพยายามให้ทันระยะเวลาฝากขังที่เหลืออยู่ โดยส่วนตัวคาดว่าจะพิจารณาสำนวนเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่นายสมหมาย หนึ่งในทีมทนายความ กล่าวว่า หนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่ยื่นต่ออัยการ ขอให้สอบพยานซึ่งเป็นนักวิชาการ ผู้ชุมนุมที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งญาติผู้ที่เสียชีวิต รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมายที่สู้ว่าการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากอัยการจะสอบสวนเพิ่มเติม ทีมทนายความก็พร้อมที่จะติดตามพยานมาให้เนื่องจากแต่ละคนมีถิ่นที่อยู่ในต่างจังหวัดด้วย ส่วนจะสั่งสอบพยานทั้งหมดหรือไม่ ถือเป็นดุลพินิจของอัยการ แต่หากอัยการจะไม่สั่งสอบสวนเพิ่มเติม แล้วถ้ามีการยื่นฟ้องต่อศาล ทีมทนายความ ก็จะนำพยานกลุ่มดังกล่าวเบิกความต่อศาลต่อไป เพราะพยานกลุ่มนี้จะเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทั้งหมด อย่างไรก็ดียืนยันการร้องขอความเป็นธรรม ให้สอบพยานถึง 250 ปาก ไม่ได้มีเจตนา เพื่อประวิงเวลาสั่งคดีแต่อย่างใด ด้านนายวิญญัติ ทนายความ ยังกล่าวถึงการยื่นประกันตัวนายก่อแก้ว พิกุลทอง และ น.พ.เหวง โตจิราการ เพิ่มเติมหลังจากศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัวนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.ว่า เตรียมจะยื่นภายในสัปดาห์นี้ โดยจะยกเหตุผลเดียวกับของนายวีระ ส่วนแกนนำ นปช.คนอื่นๆ จะรอจังหวะยื่นตามลำดับต่อไป ที่มา: มติชนออนไลน์ ศาลนัดฟังคำสั่ง “มาร์ค” ฟ้อง “แม้ว” 9ส.ค.นี้ เว็บไซต์คมชัดลึกรายงาน (2ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ครั้งแรกคดี อ .1074/ 2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 , 326 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 14 - 17 มี.ค.53 เวลา 20.00 - 22.000 น. จำเลยวีดีโอลิงค์ ผ่านเวทีการปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ที่มีการถ่ายทอดทางช่องพีเพิ่ล แชนแนล และวิทยุ ไปทั่วประเทศ ทำเข้าใจว่าโจทก์ มีอาการป่วยทางจิต เป็นคนใจอำมหิต โหดเหี้ยม ทารุณโหดร้ายต่อประชาชน ที่ใช้กำลังปราบปรามเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.52 โดยนายอภิสิทธิ์ เข้าเบิกความเป็นพยานด้วยตัวเองเพียงปากเดียว สรุปว่า ที่จำเลยอ้างถึงคลิปเสียงของโจทก์สั่งการให้ทหารใช้ความรุนแรงนั้น ได้มีการตรวจสอบด้วย คุณหญิง พ.ญ.พรทิพย์ โรจน์สุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แล้วว่าเป็นการตัดต่อคลิปเสียง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันยังหาต้นตอของผู้ทำการตัดต่อไม่ได้ แต่ก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในเหตุชุมนุม เมื่อปี 2552 โจทก์ยืนยันว่าได้สั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละมุนละม่อม และจากการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมเมื่อปี 2552 ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนกรณีที่มีการกล่าวถึงปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นนั้น ในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาลโจทก์ เมื่อมีการกล่าวหา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทันที และมีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบ ขณะที่การบริหารราชการการเมืองของโจทก์ที่ผ่านมา ไม่เคยถูกตัดสินคดีว่าทุจริตคอรัปชั่น หรืแอถูกยึดทรัพย์แต่อย่างใด สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นเพราะระบบอำมาตย์ถึงได้มาเป็นรัฐบาลนั้น โจทก์ยืนยันว่าโจทก์ได้รับเลือกจากระบบลงคะแนนเสียงในสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ให้ลงแข่งขันด้วย และในอดีต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แม้จะได้รับคะแนนเสียงน้อย แต่ ส.ส.ในสภาก็ใช้ดุลพินิจสนับสนุนให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ยังเบิกความถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พาดพิงถึงการใช้ความรุนแรงว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหาว่าตนมีสุขจิตไม่ปกติ ถือเป็นการพูดที่ยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เองที่เคยเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนเหตุการณ์บานปลาย และเหตุการณ์มิสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ที่ อำเภอตากใบ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80 คน ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นที่กักขาอยู่ รวมทั้งนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,000 คน ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ที่มา: คมชัดลึก รวบเสื้อแดงฝืน พ.ร.ก.พกเสื้อเกราะ ซุกประทัด-ลูกเหล็กในเหตุการณ์ปะทะวิภาวดี เนชั่นทันข่าวรายงานว่ากองกำกับการอำนวยการ 2 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล รายงานผลการสืบสวนติดตามคดีค้างเก่าที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.มายัง พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาว่า วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ดอนเมือง จับกุมตัว นายชัยพร คำทองทิพย์ อายุ 38 ปีตามหมายจับ ข้อหามีเครื่องยุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ซึ่งใช้ในราชการไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศหรือคำสั่งที่ออกความในมาตรา 9, 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายจับศาลอาญาที่ 1632/2553 ลงวันที่ 28 ก.ค. รายงานระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 28 เม.ย.กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม นปช.ได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ขาออกมุ่งหน้าตลาดไท และได้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน ซึ่งนายชัยพรได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวที่ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับการชุมนุม เช่น เสื้อเกราะจำนวน 1 ตัว ประทัดลูกกลมพลาสติกจำนวน 4 ลูก ลูกเหล็กกลมจำนวน 58 ลูก ได้ที่ตู้เก็บของนายชัยพรในห้องพักรักษาตัว โดยนายชัยพรให้การว่าสิ่งของดังกล่าวเป็นของตนจริง แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถติดตามตัวมาเพื่อทำการแจ้งข้อหาได้ จึงได้ขออนุญาตศาลออกหมายจับ และติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ในที่สุด ที่มา: เนชั่นทันข่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
‘อนุพงษ์-ประยุทธ์’ จับมือวางกำลัง ‘เตรียมทหารรุ่น 12’ คุมกองทัพ! Posted: 02 Aug 2010 03:04 PM PDT "ประวิตร"ส่งโผทหารถึงมือ "นายกฯอภิสิทธิ์" เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ผวาการเมืองแรง ส่ง"ประยุทธ์" นั่ง ผบ.ทบ.พร้อม ดันเพื่อน ตท.12 คุมกองทัพ สายบูรพาพยัคฆ์ผงาดยึดกองทัพบก ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า หลังจากที่หลายฝ่ายต่างจับตาดูว่าผู้นำกองทัพจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ท่ามกลาง สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนแรง ซึ่งในที่สุดทุกอย่างเป็นไปตามคาดหมายเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.ก้าวขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 2 ส.ค.53 ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2553 ให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อให้ นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย หลังจากทุกเหล่าทัพได้ส่งบัญชีรายชื่อให้ พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ ผบ.เหล่าทัพได้เข้าประชุมหารือกับ พล.อ.ประวิตร ที่กระทรวงกลาโหม โดยทาง พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ.ได้ร่วมกันปรับแก้เพื่อความเหมาะสมตามตำแหน่ง แต่ในบางตำแหน่งมีการผลักดันคนของตัวเองขึ้นมาสู่ตำแหน่งหลัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหลายปัจจัยที่ พล.อ.ประวิตร มีความเป็นห่วงในสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง นปช.และทหารแตงโม จึงหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. เพื่อการวางตำแหน่งสำคัญๆ พล.อ.อนุพงษ์จึงต้องร่วมจัดทำรายชื่อกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อวางตัวบุคคลในตำแหน่งเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะตำแหน่งในกองทัพภาคต่างๆและจังหวัดที่มีกลุ่มคนเสื้อแดง จึงเน้นไปที่บุคคลและมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ วางคนที่เหมาะสม สามารถดูแล และประสานงาน เพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดความมั่นคงได้ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และส่วนกลาง ทำให้ส่วนใหญ่มาจากสายบูรพาพยัคฆ์ และเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) เพื่อคล่องตัวต่อการดูและสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะขึ้นมานั่งในตำแหน่ง ผบ.ทบ.รายต่อไป ดังนั้นจึงทำให้มีแต่นายทหารในสังกัดสายบูรพาพยัคฆ์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ ส่วนนายทหารสายวงศ์เทวัญ มีเพียง พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เพียงรายเดียวที่ขึ้นสู่ตำแหน่ง 5 เสือ ทบ.สำหรับรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายมีดังนี้ พล.อ.กิตติ พงษ์ เกษโกวิท รอง ผบ.ทหารสูงสุด เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วิทวัส รัชตะนันท์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.นสผ.กห.) เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.รพล คำคล้าย เสธ.ทร. เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.อภิสิทธิ์ จุลโมกข์ ประธานคณะที่ปรึกษา ทอ. เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสธ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ผู้ช่วยผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ประธานคณะที่ปรึกษา บก.ทท. เป็น เสธ.ทหาร พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผบ.นทพ. เป็น ประธานคณะที่ปรึกษา บก.ทท. พล.ร.อ.วีระพล กิจสมบัติ รองเสธ.ทร. เป็น รอง เสธ.ทหาร พล.อ.ท.ไมตรี โอสถหงษ์ รอง เสธ.ทอ. เป็นรอง เสธ.ทหาร พล.ท.ดุลกฤต รักษ์เผ่า รอง ผบ.นทพ. เป็น ผบ.นทพ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. เป็น ผบ.ทบ. พล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (1) เป็น รอง ผบ.ทบ. พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นประธานที่ปรึกษา ทบ. พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง เสธ.ทบ. เป็น เสธ.ทบ. พล.ท.ชลวิชญ์ เพิ่มทรัพย์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา (อัตราพลเอก) พล.ท.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท.ทวนชัย พันธุ์เพิ่มศิริ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นที่ปรึกษาพิเศษ (อัตราพลเอก) พล.ท.สิงห์ศึก สิงห์ไพร จก.ยศ.ทบ. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ผบ.นปอ. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท.วิทยา ช่อวิเชียร จก.พบ.ทบ. เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท.มาลัย คิ้วเที่ยง รอง เสธ.ทบ. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท.มาโนช เปรมวงศ์ศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท. สุนัย สัมปตะวนิช ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล ผช.เสธ.ทบ.ฝขว. เป็นรอง เสธ.ทบ. พล.ท.อรุณ สมตน ผช.เสธ.ทบ.ฝกพ. เป็นรอง เสธ.ทบ. พล.ท.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นรอง เสธ.ทบ. พล.ต.ไตรรัตน์ รังคะรัตน์ ผบ.ศม. เป็น ผช.เสธ.ฝกบ. พล.ต.วิลาส อรุณศรี รองแม่ทัพน้อยที่ 1 เป็น ผช.เสธ.ทบ. ฝ่ายข่าว พล.ต.สุชาติ หนองบัว จก.กำลังพล ทบ. เป็น ผช. เสธ.ทบ.ฝกพ. พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.เสธ.ทบ.ฝกบ. เป็นปลัดบัญชีทหารบก พล.ต.นิพนธ์ ปานมงคล รองเจ้ากรมการทหารช่าง เป็น เจ้ากรมการทหารช่าง พล.ต.จักรรัตน์ ธาราพิทักษ์ รองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เป็น เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก พล.ต.ดิลก ธีระเนตร รองเจ้ากรมพลาธิการ เป็นเจ้ากรมพลาธิการทหารบก พล.ท. ธวัชชัย ศศิประภา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เป็นเจ้ากรมแพทย์ทหารบก พล.ต.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ รอง จก.ยศ.ทบ. เป็น จก.ยศ.ทบ. พล.ต.อุดมเดช สีตบุตร รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ธีรชัย นาควานิช รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.จีระศักดิ์ ชมประสพ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 2 พล.ท. วรรณวิทย์ ว่องไว แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.ชัยณรงค์ ธนารุณ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 พล.ต.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หัวหน้าประสานโครงการไทย-มาเลเซีย เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ยอดยุทธ บุญญาธิการ รอง ผบ.นปอ. เป็น ผบ.นปอ. พล.ต.อำพล ชูประทุม ผบ.พล.ปตอ. เป็นรอง ผบ.นปอ. พล.ต.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล เสธ.นปอ. เป็น ผบ.พล.ปตอ. พล.ต.ว ลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร. 2 รอ. เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.อุทิศ สุนทร ผบ.พล.ร. 9 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.อุกฤษฎ์ ณรงค์วิทย์ ผบ.มทบ.11 เป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.ศักดิ์ศิลป์ กลั่นเสนาะ รองแม่ทัพน้อยที่ 2 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.ชาญชัย ภู่ทอง ผบ.พล.ร. 3 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.ต่อศักดิ์ เหลืองตระกูล ผบ.มทบ.21 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.พรชัย วัดบัว เสธ.ทน.2 เป็นรอง มทน. 2 พล.ต.ชานุกร ตันโกศล ผบ.มทบ.33 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.ศิริพงษ์ ศโรภาส รองแม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต. ปรีชา จันทร์โอชา เสธ.ทน.3 เป็น ผบ.มทบ.33 พล.ต.สกล ชื่นตระกูล เสธ.ทภ.4 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต. คณินทร วงศาโรจน์ ผบ.จทบ.สระแก้ว เป็น ผบ.มทบ.11 พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผบ.จทบ.กาญจนบุรี เป็น ผบ.พล.ร.9 พล.ต.ประสงค์ ฟักสังข์ เสธ.กองทัพน้อยที่ 1 เป็น เสธ.กองทัพภาคที่ 1 พล.ต.ประสงค์ บุตรขวัญ ผบ.จทบ.สระบุรี เป็น ผบ.มทบ.13 พล.ต.วิชัย แชจอหอ ผบ.จทบ.บุรีรัมย์ เป็น ผบ.พล.ร.3 พล.ต.ณรงค์ดิศ สีทาแก ผบ.จทบ.สกลนคร เป็น ผบ.มทบ.23 พล.ต.คณิต แจ่มจันทรา ผบ.พล.ช. เป็นรองเจ้ากรมการทหารช่าง พล.ต.ชัยวัฒน์ ฐิตสาโร เสธ.กรมการทหารช่าง เป็น ผบ.พล.ช. พล.ต.จรัญ พันธุนนท์ ผบ.ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ เป็นรอง จก.สพ.ทบ. พล.ต.สุรพงษ์ พูลทรัพย์ เสธ.กรมพลาธิการ ทบ. เป็นรอง จก.พลาธิการ ทบ. พ.อ.ภาณุ วัชร นาควงษ์ รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. เป็น ผบ.มทบ.12 พ.อ.เทพพงษ์ ทิพย์จันทร์ รอง ผบ.พล.ร.2 รอ.เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. พ.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รอง ผบ.พล.1 รอ. เป็น ผบ.จทบ.กาญจนบุรี พ.อ.สิงหศักดิ์ อุทัยมงคล รอง ผบ.มทบ.11 เป็น ผบ.จทบ.สระแก้ว พ.อ.สมศักดิ์ ทองพิลา รอง เสธ.ทภ.2 เป็น เสธ.ทน.2 พ.อ.พุฒิเศรษฐ ภาคการ รอง ผบ.พล.ร.3 เป็น ผบ.จทบ.บุรีรัมย์ พ.อ.สถาพร โลหะสุต รอง ผบ.บชร.2 เป็น ผบ.บชร.2 พ.อ.สุรชัย จัตุมาศ รอง จก.สก.ทบ. เป็น จก.สก.ทบ. พ.อ.วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์ รอง เสธ.กรมการทหารช่าง เป็น เสธ.กรมการทหารช่าง พ.อ.สมชาย ลิ้มประเสริฐ รอง เสธ.พธ.ทบ. เป็น เสธ.พธ.ทบ. พ.อ.พิชเยนทร์ ธัญญสิริ รอง จก.ขส.ทบ. เป็น จก.ขส.ทบ. พ.อ.จเด็จ ใจมั่น รอง จก.วศ.ทบ. เป็น จก.วศ.ทบ. พล.ร.อ. ศุภกร บูรณดิลก ผบ.กองเรือยุทธการ เป็น ประธานคณะที่ปรึกษา ทร. พล.ร.ท.ยุทธนา ฟักผลงาม จก.ยศ.ทร. เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทร. พล.ร.ท.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ รอง เสธ.ทร. เป็น เสธ.ทร. พล.ร.อ.รุ่งรัตน์ บุณยรัตพันธุ์ รอง ผบ.กองเรือยุทธการ เป็น ผบ.กองเรือยุทธการ พล.ร.ท.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ รอง เสธ.ทร. เป็น หน.ฝสธ. ประจำ ผบ.ทร. (อัตราพลเรือเอก) พล.ร.ท.ชัยวัฒน์ ศรีอักขรินทร์ ปช.ทร. เป็น ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. (อัตราพลเรือเอก) พล.ร.ท.สุวิทย์ ธาระธูป ผบ.นาวิกโยธิน เป็น ผู้ ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. (อัตราพลเรือเอก) พล.ร.ท.ธีรวัฒน์ ศรีถาพร ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. (อัตราพลเรือเอก) พล.ร.ท.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผช. เสธ.ทร.ฝ่ายยุทธการ เป็น รอง เสธ.ทร. พล.ร.ท.อภิชาติ สุวรรณะชฎ ผช. เสธ.ทร.ฝ่ายกำลังพล เป็น รอง เสธ.ทร. พล.ร.ท.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร ผช. เสธ.ทร.ฝ่ายกิจการพลเรือน เป็น รอง เสธ.ทร. พล.ร.ท.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ผบ.รร.นายเรือ เป็น ปลัดบัญชีทหารเรือ พล.อ.อ.ดิลก ทรงกัลยาณวัตร ผู้ช่วย ผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทอ. พล.อ.อ.พิธพร กลิ่นเฟื่อง ที่ปรึกษาพิเศษ ทอ. เป็น ประธานคณะที่ปรึกษา ทอ. พล.อ.อ.บุณยฤทธิ์ เกิดสุข รอง เสธ.ทหาร เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทอ. พล.อ.อ.ศรีเชาวน์ จันทร์เรือง ผบ.กรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (ผบ.คปอ.) เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทอ. พล.อ.ท.ชนะ อยู่สถาพร รอง ผบ.คปอ. เป็น ผบ.คปอ. พล.อ.ท.วินัย เปล่งวิทยา รอง เสธ.ทอ. เป็น ที่ปรึกษาพิเศษ ทอ. (อัตราพลอากาศเอก) พล.อ.ท.เพทาย อุดมศักดิ์ ผบ.รร.นายเรืออากาศ เป็น หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา พล.อ.ท.ระพีพัฒน์ หลาบเลิศบุญ ผู้บัญชาการอากาศโยธิน (ผบ.อย.) เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. (อัตราพลอากาศเอก) พล.อ.ท.ชูศักดิ์ วิบูลย์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ (อัตราพลอากาศเอก) พล.อ.ท.ธัชชัย ถนัดใช้ปืน ผช. เสธ.ทอ.ฝกพ. เป็น รอง เสธ.ทอ. พล.อ.ท.ดิเรก พรหมประยูร จก.ยุทธศึกษา ทหารอากาศ เป็น รอง เสธ.ทอ. พล.อ.ท.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ จก.กำลังพลทหาร เป็น ผช. เสธ.ทอ.ฝ่ายกำลังพล พล.อ.ต.วิโรจน์ นิสยันต์ รอง ผบ.อย. เป็น ผบ.อย. พล.อ.ต. อานนท์ จารยะพันธ์ ผู้บังคับทหารอากาศดอนเมือง (ผบ.ดม.) เป็น รอง ผบ.คปอ. พล.อ.ต.คะเชนทร์ รอง จก.ยุทธศึกษา ทหารอากาศ เป็น จก.ยุทธศึกษาทหารอากาศ
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น