โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กวีประชาไท: ดำทั้งแผ่นดิน

Posted: 24 Aug 2010 01:07 PM PDT

"ฝากบทกวีเนื่องในวันครบรอบการอุบัติขึ้นของใครบางคนที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตยไทย"

"ดำทั้งแผ่นดิน"

แต่งดำไว้ทุกข์ทุกหย่อมหญ้า
เพื่อย้ำว่ามวลประชาระทมทุกข์
ฉีกกระชากหน้ากากแห่งความสุข
ที่ซ่อนซุกความร่มเย็นอันจอมปลอม

...ประชาชนยากแค้นแสนสาหัส
คุณดื่มกินอำนาจรัฐอันหวานหอม
ประชาชนกินน้ำตาอย่างตรมตรอม
ภายใต้การมอมเมาอันยาวนาน

คุณเล่านิทานผ่านนายหน้า
สูบเลือดเนื้อมวลประชาเป็นอาหาร
ขูดรีดความภักดีอย่างโอฬาร
ประวัติศาสตร์สายธารนั้นจารจำ

อำมาตยาธิปไตย
ไม่เคยสร้างคุณอันใดที่เลิศล้ำ
ฉุดกระชากมวลชนมาจองจำ
ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำดำเนินไป

สร้างวาทกรรมความไม่พร้อม
ประชายอมยกพลีชีวิตให้
กดหัว...กดหัว...มันต่อไป
อย่าได้ลุกขึ้นยืนหลังตรง

เราพร้อมตั้งแต่เราเป็นมนุษย์
สิ้นสุดนิทานกากับหงส์
สองตีนจะลุกยืนอย่างทระนง
จะบุกป่าฝ่าดง...ก็ตีนกู

จะตะโกนกู่ก้องร้องประกาศ
เพื่อขับไล่มวลปีศาจที่สิงสู่
นี่ชีวิต...นี่ชะตากรรม...ของกู
กูจะสู้ เพื่อกู...ประชาชน!!!
 

หมายเหตุ: บทกวีบทนี้อ่านครั้งแรกในงาน "วันดอกไม้จันทน์" 26 สิงหาคม 2552  บทเวทีสนามหลวง ในคืนฝนตกหนักจนเวทีถล่ม ทุกอย่างยังจมอยู่ในความทรงจำ เมื่อครั้งการต่อสู้ยังหอมหวาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปุจฉาเปิดผนึกถึงพระไพศาล วิสาโล: ต้องปฏิรูป “อัตตาธิปไตย” หรือ “ปูชนียบุคลลาธิปไตย?

Posted: 24 Aug 2010 12:53 PM PDT

หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์ของพระไพศาล วิสาโล ที่มีชื่อว่า “พระไพศาล วิสาโล: ปฏิรูปอัตตาธิปไตย – ‘อภิสิทธิ์’ ต้องกล้านำความเปลี่ยนแปลง” แล้ว ผู้เขียนเกิดความข้องใจและไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะหากพระไพศาล วิสาโลให้สัมภาษณ์ในฐานะของกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ผู้เขียนก็เห็นว่า จุดยืน ท่าทีและทัศนคติดังที่พระไพศาลได้แสดงออกมาในบทสัมภาษณ์นี้ หากสะท้อนไปถึงจุดยืน ท่าทีและทัศนคติของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้วยแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ก็คงเหมือนดังเช่นคณะกรรมการชุดอื่น ๆ ที่มีมาในประเทศไทย นั่นคือ ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น

ก่อนอื่น เนื่องจากพระไพศาลมิใช่บุคคลทั่วไปในสังคมไทย แต่มีฐานะพิเศษในสถานะของ “พระภิกษุ” ซึ่งพุทธศาสนิกมีข้อผูกมัดต้องให้การเคารพ ทว่าเนื่องจากผู้เขียนมิใช่ผู้นับถือศาสนา ผู้เขียนจึงไม่มีข้อผูกมัดในทางศาสนาและความเชื่อที่จะต้องให้ความเคารพต่อพระภิกษุเป็นพิเศษเหมือนดัง เช่น ศาสนิกชนทั่วไป แน่นอน ผู้เขียนมีข้อผูกมัดในทางสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่พึงให้ความเคารพต่อพระไพศาลในฐานะผู้อาวุโสกว่าและในฐานะมนุษย์ ซึ่งผู้เขียนก็จะให้ความเคารพตามข้อผูกมัดนี้ ไม่น้อยกว่านี้และไม่มากไปกว่านี้ ดังนั้น หากจะมีผู้อ่านท่านใดมาวิพากษ์วิจารณ์ด่าว่าผู้เขียน โดยยกเอาบาปกรรมนรกมายัดเยียดให้ ย่อมเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะผู้เขียนมิได้มีข้อผูกมัดในทางศรัทธาความเชื่อ อุปมาดั่งหนึ่งเอาจริตมารยาทของมนุษย์ไปใช้กับช้าง ย่อมเป็นเรื่องน่าหัวเราะ

การนำแนวคิดทางศาสนามาประยุกต์ใช้กับสังคมนั้น มีปัญหาที่มักถูกมองข้ามไปสองประการ ประการแรก เนื่องจากศาสนาเป็นเรื่องที่เน้นการวิเคราะห์แก้ปัญหาของตัวบุคคล เมื่อพยายามขยายแนววิธีคิดของศาสนามาใช้กับสังคม โดยเฉพาะสังคมสมัยใหม่ ย่อมมีปัญหามาก จริงอยู่ ศาสนาทุกศาสนาย่อมกล่าวอ้างอิงถึงสังคมไม่มากก็น้อย แต่เนื่องจากศาสนาเกิดขึ้นมานานแล้ว การนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนจึงมักมีปัญหามากพอสมควร ประการที่สอง การนิยามของ “ความดี” “ความชั่ว” “ความจริง” ของศาสนา ถ้าไม่เป็นไปตามคัมภีร์ทางศาสนาที่มีอยู่ ก็มักต้องอาศัยผู้รู้ทางศาสนาไม่กี่คนมาเป็นผู้นิยาม เมื่อนำนิยามนั้นมาใช้กับคนทั้งสังคม ซึ่งก็มีทั้งผู้นับถือศาสนาอื่น ผู้นับถือนิกายอื่น ผู้ไม่นับถือศาสนา ฯลฯ ปะปนอยู่ การต่อต้านย่อมเกิดขึ้น ลงท้ายแล้ว การพยายามขยายนิยามของศาสนามาใช้กับสังคมก็มักไปกันไม่ได้กับระบอบประชาธิปไตย

การเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลัก โดยละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง หรืออย่างมากก็กล่าวถึงโดยผิวเผิน แต่ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงนั้น เป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดในบทสัมภาษณ์ของพระไพศาล เริ่มต้นมาท่านก็กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า ความขัดแย้งทั้งหมดมีทักษิณเป็นศูนย์กลาง (ซึ่งท่านไม่ได้ขยายความว่า คำว่า “ศูนย์กลาง” นี้หมายถึง “สาเหตุ” “ต้นตอ” “ตัวการ” กินความมากน้อยแค่ไหน) จากนั้นท่านก็ยกบุคคลดัง ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ ทั้งพลเอกเปรม นายอภิสิทธิ์ เนลสัน แมนเดลา เฟรเดอริก เดอ เคลิร์ก จิมมี คาร์เตอร์ อันวาร์ ซาดัต ฯลฯ กล่าวถึงบทบาทที่คนเหล่านี้กระทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยใช้วาทกรรมที่มุ่งเป้าเกี่ยวกับตัวบุคคลเป็นหลัก เช่น ความรัก ความเข้าใจ การไว้วางใจกัน การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัวกูของกู อัตตาธิปไตย ฯลฯ

ผู้เขียนอ่านแล้วสงสัยว่า แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน?

ในจักรวาลทางสังคมของพระไพศาลนั้น ประชาชนเป็นแค่คำคำหนึ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่มีความคิด ไม่มีเลือดเนื้อลมหายใจ ไม่มีชื่อ ไม่มีฐานะ โง่เง่าต่ำหยาบ คิดแต่หาประโยชน์ใส่ตัว คนเหล่านี้ถูกปิศาจร้ายตัวหนึ่งชื่อทักษิณหลอกล่อจูงจมูกจนรู้จักอวดอ้างสิทธิ เรียกร้องหาการเปลี่ยนแปลงที่ “อาตมาไม่แน่ใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า?” สรุปว่าประชาชนเหล่านี้ย่อมไม่มีทางที่จะรู้ว่าอะไร “ดี” สำหรับตัวเอง ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ต้องรอบุคคลดัง ๆ ปูชนียบุคคลเด่น ๆ มาคุยกันสบาย ๆ ในห้องบรรยากาศดี ๆ แล้วปัญหาร้ายกาจทุกอย่างก็จะคลี่คลายได้ทันที ประดุจดังแฮร์รี พอตเตอร์เอาไม้กายสิทธิ์มาโบกก็ไม่ปาน

สิ่งที่พระไพศาลมองไม่เห็นก็คือ กว่าเนลสัน แมนเดลาจะมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเดอ เคลิร์กนั้น เขาไม่ได้ต่อสู้มาคนเดียว เบื้องหลังเขาคือคนผิวดำไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนคน มีทั้งจับอาวุธลุกขึ้นสู่กับรัฐบาลเหยียดผิว เช่น ขบวนการ African National Congress (ANC) ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคก่อนเนลสัน แมนเดลาและตัวแมนเดลาเองก็เป็นสมาชิกและกลายมาเป็นผู้นำคนหนึ่งของขบวนการฝ่ายซ้ายนี้ ยังไม่นับแรงงานและผู้หญิงอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยการนัดหยุดงาน ประท้วง เดินขบวน ดื้อแพ่ง ฯลฯ เสียชีวิตเลือดเนื้อน้ำตากันไปเท่าไร หากไม่มีประชาชนที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหล่านี้ แมนเดลาจะเอาอำนาจอะไรไปเจรจาต่อรองกับเดอ เคลิร์ก? เป็นไปได้หรือที่อยู่ดี ๆ ชนชั้นนำผิวขาวของแอฟริกาใต้จะเกิดดวงตาเห็นธรรมหรือแมนเดลาใช้อำนาจวิเศษบุญบารมีของตัวมาดลบันดาลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้?

หากพระไพศาลศึกษาประวัติศาสตร์ให้ลึกซึ้งกว่านี้ ท่านจะทราบว่าทุกการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าบนโลกใบนี้ ล้วนมีประชาชนผู้หยาบกร้านสละชีวิตทำให้มันเกิดขึ้นทั้งสิ้น ไม่มีซากศพหรือจะมีวีรบุรุษ? ไม่มีสามัญชนหรือจะมีปูชนียบุคคล? ไร่นาบ้านเมืองนั้นแผ้วถางสร้างขึ้นจากมือของประชาชนทั้งสิ้น แม้แต่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ยังเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาก่อน

จริงอยู่ พระไพศาลได้พูดถึง “การกระจายอำนาจ” อยู่บ้าง แต่ก็พูดเหมือนเป็นสูตรสำเร็จที่ใคร ๆ ก็พูดกัน มิหนำซ้ำในบทสัมภาษณ์ยังตั้งเงื่อนไขแฝงไว้หลายอย่าง เช่น ไม่ควรใช้แนวทางประชานิยม เป็นต้น พระไพศาลคงไม่เข้าใจว่า คำว่า “การกระจายอำนาจ” นั้น หมายรวมถึงการยอมรับใน “การกำหนดชะตากรรมตัวเอง” (self-determination) ของประชาชนด้วย หากพระไพศาลในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยยังไม่ยอมรับใน “การกำหนดชะตากรรมตัวเอง” ของประชาชนหรือไม่แน่ใจว่า “สิ่งที่เขาเรียกร้องอยู่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า” แล้วท่านจะ “ไว้ใจ” ประชาชนด้วยการกระจายอำนาจให้อย่างแท้จริงได้อย่างไร หรือจะกั๊ก ๆ อำนาจไว้ให้ปูชนียบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ มาคอยกำหนดชะตากรรมให้ประชาชนตามนิยามแห่ง “ความดี” “ความงาม” “ความจริง” ที่ลิขิตจากเบื้องบนลงมาสู่เบื้องล่าง?

หากมองไม่เห็นประชาชนที่มีตัวตน หากไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีของพวกเขาอย่างเท่าเทียม หากจำได้แค่ชื่อและบทบาทของปูชนียบุคคลเด่นดัง แต่มองไม่เห็นหัวประชาชน วาทกรรมสวยหรูประเภท “กระจายอำนาจ” “การพัฒนาจากล่างขึ้นบน” “กลับไปสู่ชุมชน” ฯลฯ สุดท้ายแล้วก็เป็นแค่วาทกรรมที่ท่องตาม ๆ กัน หาสาระอันใดไม่ได้

จากจุดยืนและทัศนคติในแบบ “ปูชนียบุคคลาธิปไตย” นี่เอง ทำให้มีสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปอย่างน่าประหลาดในคำให้สัมภาษณ์ของพระไพศาล สิ่งที่ขาดหายไปนั้นก็คือ ความตายของ 91 ศพในเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต พระไพศาลไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย ไม่ได้เอ่ยถึงว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร จะเยียวยาอย่างไร จะปรองดองอย่างไร ราวกับ 91 ศพนั้นไม่ดำรงอยู่ ไม่มีตัวตน ไม่มีใบหน้า ไม่มีชื่อ

เพราะพวกเขาเป็นแค่ประชาชนกระมัง ไม่ใช่ปูชนียบุคคล พวกเขาจึงไม่อยู่ในพิกัดเรดาร์ความรับรู้ของท่าน

แต่การมีคนตายเกือบร้อย บาดเจ็บอีกหลายพัน เกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯ ยังไม่นับคนจำนวนมากที่ถูกฆ่าจับกุมคุมขังอีกไม่รู้เท่าไรตามต่างจังหวัด เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มันไม่ใช่เหตุการณ์ปรกติที่พึงเกิดในสังคมอารยะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะให้ปฏิบัติเหมือนหมาตัวหนึ่งตายกลางถนนได้อย่างไร? จะให้ขับรถต่อไปโดยไม่หันไปมองเพราะกลัวอุจาดตาได้อย่างไร? เมื่อความผิดเกิดขึ้น ก็ต้องมีการแก้ไขและมีการรับผิด จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แล้วบอกให้สังคมไทยเดินหน้าโดยยึดมั่นในหลักแห่งศาสนา ผู้เขียนไม่ทราบว่าท่านเห็นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องตลกหรือ?

มีคำ ๆ หนึ่งที่พระไพศาลใช้ในคำให้สัมภาษณ์คือคำว่า “กระจายความรัก” ผู้เขียนอ่านแล้วให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจยิ่งนัก เพราะพาลให้นึกถึงละครไทยที่ตัวละครด่าทอตบตีข่มขืนฆ่ากันมาตลอดเรื่อง แล้วจู่ ๆ ตอนจบทุกคนก็หันมารักกันกอดกัน Together We Can

ชีวิตจริงย่อมไม่เหมือนละครไทย ท่านจะให้คุณพ่อของน้องสมาพันธ์ ศรีเทพ คุณแม่ของคุณกมลเกด อัคฮาด พี่ชายของคุณมงคล เข็มทอง ภรรยาของคุณลุงบุญมี เริ่มสุข และคนอื่น ๆ อีกเกือบร้อยคน มา “กระจายความรัก” ให้ฆาตกรที่ฆ่าบุคคลอันเป็นที่รักของเขา มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ให้อภัยย่อมเป็นไปได้ แต่จะให้ลืมแล้วมากอดกันหน้าชื่น ย่อมสุดวิสัยของมนุษย์

การ “กระจายความรัก” แบบนั้นยังมีข้ออันตรายอยู่ในตัวเองด้วย เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น แทนที่จะเรียกร้องให้มีการรับผิด กลับเรียกร้องให้ลืมและให้อภัยกัน นี่ไม่เท่ากับเป็นการให้ท้ายอาชญากรรมหรอกหรือ? หากมีคนมาฆ่าบิดามารดาของท่านตาย ถึงแม้ท่านให้อภัยได้ กระจายความรักได้ แต่ฆาตกรผู้นั้นย่อมต้องมีความผิดตามกฎหมายกระบิลเมืองอยู่ดี (ยกเว้นกฎหมายกระบิลเมืองไม่มีต่อไปแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) นี่ไม่ใช่เรื่องที่ปัจเจกบุคคลจะมาตัดสินเอาตามความพอใจของตน แต่เป็นเรื่องกฎกติกาของสังคมที่ต้องรักษาไว้

ในหลาย ๆ กรณี “การกระจายความรัก” ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มิหนำซ้ำจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ทำให้บ้านเมืองไร้ขื่อแป อาชญากรย่ามใจ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม ทำอะไรผิด ๆ ชั่ว ๆ มาอย่างไรก็ทำผิด ๆ ชั่ว ๆ กันต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องที่ลูกสาวของผู้เขียนตั้งคำถามถามต่อผู้เขียน และผู้เขียนขอนำมาถามพระไพศาลต่ออีกทอดหนึ่ง ลูกสาวของผู้เขียนได้ตั้งคำถามว่า ทำไมพระไพศาลสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่นนี้ได้โดยไม่มีความผิด แล้วทำไมเมื่อพระชาวบ้านบางรูปแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเพียงแค่อยู่ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำไมพระเหล่านั้นจึงมีความผิด?

คำถามนี้ผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ เพราะมิใช่ผู้มีความรู้ในด้านศาสนาและกิจของสงฆ์

แต่คำถามที่ผู้เขียนไม่เข้าใจและอยากตั้งคำถามต่อพระไพศาลก็คือ ในเมื่อการสอบสวนความตายของ 91 ศพที่ดีเอสไอเป็นผู้รับผิดชอบ ยังไม่มีผลสรุปออกมาอย่างแน่ชัด เหตุใดพระไพศาลจึงออกมารับรองความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอย่างออกหน้าออกตาขนาดนั้น?

พระไพศาลได้กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ว่า “คุณอภิสิทธิ์มีความกล้าหาญระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้แสดงออกเท่าที่ควร โดยเฉพาะในยามวิกฤติ” “คนอย่างคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งมีสติปัญญา ถ้าสามารถสร้างแนวร่วมได้มากพอ ก็อาจจะมีกำลังพอที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูป แม้จะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ แต่เท่าที่ทราบคุณอภิสิทธิ์ไม่ค่อยสนใจหาแนวร่วมเท่าไร” “อาตมาคิดว่าคุณ อภิสิทธิ์ อาจมีวิสัยทัศน์ไกล แต่อาจจะอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้มีอำนาจที่สายตาสั้น คุณอภิสิทธิ์ก็ต้องหาพวก สร้างแนวร่วมที่อาจจะพอทัดทานกลุ่มอำนาจเดิม และสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้”

คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่หูไม่หนวกตาไม่บอด ไม่ได้ปัญญาอ่อน ไม่ได้เด็กทารกเกินไปหรือเฒ่าชราเกินไป ไม่ได้เจ็บป่วยจนไม่รับรู้เรื่องราว เกือบทุกคนย่อมทราบดีว่า คนเสื้อแดงตั้งข้อกล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมีส่วนต้องรับผิดต่อความตาย 91 ศพที่เกิดขึ้น ความรับผิดนั้นจะมีมากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนายอภิสิทธิ์ออกมาอย่างชัดเจน ก็ยังต้องถือว่านายอภิสิทธิ์เป็นคู่ขัดแย้งของคนเสื้อแดงอยู่

การที่พระไพศาล วิสาโล ทั้งในฐานะพระปัญญาชนแถวหน้าของประเทศและในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ออกมาให้สัมภาษณ์รับรองนายอภิสิทธิ์ถึงขนาดนี้ (ถึงจะวิจารณ์อยู่บ้าง แต่ใครที่อ่านหนังสือออก ย่อมอ่านแล้วเข้าใจทันทีในความหมายว่า นายอภิสิทธิ์ดีพอที่จะเป็นผู้นำประเทศ) จะให้ผู้อ่านคิดว่าพระไพศาลเลือกข้างแล้ว? ใช้สถานะของสงฆ์มาเอื้อประโยชน์ทางการเมือง? คณะกรรมการปฏิรูปไม่มีความเป็นกลาง? อันที่จริง หากพระไพศาลต้องการจะชมเชยนายอภิสิทธิ์อย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ไว้รอให้ดีเอสไอสรุปผลชันสูตรศพออกมาชัด ๆ ก่อนก็ได้ กระนั้นก็ควรคำนึงถึงสถานภาพและหัวโขนของตนด้วย มิฉะนั้นแล้ว แทนที่จะทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น กลับจะยิ่งเป็นการผลักคนเสื้อแดงออกไปและตอกย้ำข้อวิจารณ์เรื่องสองมาตรฐานยิ่งกว่าเดิม

ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงก็คือ เป็นเรื่องดีที่พระไพศาลเอ่ยถึงกองทัพและการปฏิวัติรัฐประหารว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ผู้เขียนอยากเสนอความคิดว่า ความเกลียดกลัวทักษิณอย่างเกินกว่าเหตุและไร้สติ จนราวกับทักษิณเป็นปิศาจร้ายนั้น ทำให้ฝ่ายตรงข้ามของทักษิณไปปลุกผีสร้างปิศาจอีกตนหนึ่งขึ้นมาเพื่อหวังจะใช้กำราบทักษิณ กองทัพก็คือปิศาจร้ายอีกตนนั่นเอง เมื่อกองทัพออกจากหม้อแม่นาคมาแล้ว ก็ยากจะยอมกลับลงไปอีก คราวนี้แทนที่สังคมไทยจะมีปิศาจตนเดียว ก็เลยกลายเป็นมีปิศาจเพิ่มเป็นสองตน นี่ยังไม่นับปิศาจที่มองไม่เห็นอีกตนหนึ่ง รวมกันแล้วกลายเป็นปิศาจสามตน (มองเห็นสอง มองไม่เห็นหนึ่ง) สร้างความยุ่งขิงอีนุงตุงนังให้แก่บ้านเมืองเรายิ่งนัก

ผู้เขียนเองก็เป็นผู้หนึ่งที่แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยชอบทักษิณ ไม่ชอบมาตั้งแต่เขาอยู่พรรคพลังธรรมของจำลอง ศรีเมืองด้วยซ้ำ ผู้เขียนไม่ชอบเขามาก ๆ ถึงขนาดชิงชัง เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนไม่เคยเล่าให้คนนอกครอบครัวฟังก็คือ ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ยินเสียงเขาทางวิทยุตอนเช้า ๆ ผู้เขียนจะมีอาการปวดท้องอยากเข้าห้องส้วมทุกทีไป ที่เอามาเล่านี่ไม่ใช่อยากจะตลกหยาบโลน แต่ต้องการให้เห็นภาพว่าผู้เขียนไม่ชอบเขามากขนาดไหน

แต่การที่ผู้เขียนเกลียดขี้หน้าทักษิณ ไม่ชอบพวกแกนนำเสื้อแดง ไม่เห็นด้วยกับการไปตั้งป้อมค่ายชุมนุมที่ราชประสงค์หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่า ความเกลียดหรือความไม่เห็นด้วยนี้จะเป็นเหตุอันควรที่ผู้เขียนพึง ลดบรรทัดฐานทางจริยธรรม ของตัวเองจนยอมรับการฆ่าเพื่อนมนุษย์ตายอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าเราไม่ควรปล่อยให้ความเกลียดความกลัวมาครอบงำจน ไม่มีสติ และปล่อยให้ มาตรฐานทางศีลธรรม ของเราบิดเบือนไป เราไม่ควรสู้กับความกลัวด้วยการสร้างความกลัวที่มากกว่า เราไม่ควรสู้กับปิศาจด้วยการสร้างปิศาจอีกตนขึ้นมา (อย่าลืมว่าเรามีปิศาจที่มองไม่เห็นด้วย) เราไม่ควรสู้กับความไร้เหตุผลด้วยความไร้เหตุผลที่บัดซบกว่าเดิม และเราต้องไม่ยอมลดบรรทัดฐานทางจริยธรรมของตนเองลง ไม่ว่าเราเป็นผู้มีศรัทธาในศาสนาหรือไม่ก็ตาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"จารุวรรณ" ยันต้องอยู่ต่อเพราะมี "คำสั่ง คปค."

Posted: 24 Aug 2010 12:34 PM PDT

"พิศิษฐ์ ลีลาววชิโรภาส" แถลงข่าว "จารุวรรณ เมณฑกา" พ้นผู้ว่าฯ สตง. แต่จารุวรรณบุกถึงที่แถลงข่าว ยันต้องอยู่รักษาการต่อเพราะ "คำสั่ง คปค." ให้อยู่จนกว่าจะมีผู้ว่าการคนใหม่ พร้อมท้าส่งศาลชี้ขาด

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (24 ส.ค.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพร้อมกับรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่น 6 คนได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงแจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยนายพิศิษฐ์พูดได้ไม่ถึง 1 นาทีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้เปิดประตูห้องเข้ามาและเดินไป นั่งร่วมแถลงข่าวกับนายพิศิษฐ์

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สตง.ได้ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานราชการ เพื่อประกาศให้ทราบว่าคุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินแล้วตามหนังสือที่ได้ส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีและหนังสือที่สอบถามไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาใน ประเด็นที่คุณหญิงจารุวรรณมีอายุครบ 65 ปีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553

โดยสำนักงานกฤษฎีกาเองได้มีหนังสือตอบกลับมาแล้วว่า คุณหญิงจารุวรรณถือว่าพ้นจากการดำรงตำแหน่ง จึงเป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำที่จะต้องรักษาการตำแหน่งต่อไป และ สตง.ได้หยุดจ่ายเงินเดือนให้คุณหญิงไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่อยู่ระหว่างดำเนินการจ่ายเงินบำเน็จที่นับจากเข้ารับตำแหน่งในปี 2545 จนถึง 5 กรกฎาคม 2553

“เมื่อมีคำวินิจฉัยจากทางสำนักงานกฤษฎีกา ผมก็ถือว่า คุณหญิงได้พ้นตำแหน่งจากที่มีอายุครบ 65 ปี แต่คุณหญิงกลับใช้ตำแหน่งในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542  มาตรการ 5 ว่า ประธานมีอำนาจในการรักษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้  ซึ่งผู้บริหารพิจาณาเห็นว่า รับฟังไม่ได้ จึงต้องการแถลงข้อเท็จจริงให้ส่วนราชการรับทราบ โดยได้ส่งหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานราชการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม เพื่อประโยชน์ของ สตง.ในการปฏิบัติงานจะได้เข้าใจตรงกันกับหน่วยรับตรวจได้ถูกต้อง จะได้ไม่เกิดผลกระทบกับหน่วยงานราชการ”

ในระหว่างแถลงข่าวนายพิศิษฐ์ได้แสดงจดหมายที่บอกว่า เพิ่งได้รับทางไปรษณีย์มาเปิดแสดงต่อหน้าสื่อมวลชนว่า ตนและผู้บริหารทั้ง 6 คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณหญิงจารุวรรณได้รับหนังสือพร้อมกัน โดยเป็นจดหมายจากคุณหญิงจารุวรรณที่มีหนังสือถึงผู้บริหารทั้ง 7 คนให้หยุดกระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีที่ไปลงนามอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า คุณหญิงจารุวรรณขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งตามกำหมาย ถือว่าการ กระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และยังอาจะเป็นความผิดทางอาญา เนื่องจากกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบทางราชการ

อย่างไรก็ตามคุณหญิงจารุวรรณได้กล่าวขึ้นว่า ไม่สามารถรับฟังข้ออ้างของนายพิศิษฐ์ได้ เพราะได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง สตง.เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้วาการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดินไปแล้ว จึงถือว่านายพิศิษฐ์พ้นจากการเป็นรักษาการ รวมถึงไม่สามารถรับฟังคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงคณะหนึ่งเท่า ไม่ใช่คำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็บอกว่า เป็นเพียงหน่วยงานให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ไม่ครอบคลุมองค์กรอิสระ จะไม่เชื่อก็ได้

“พี่ไม่ได้ยึดถือกับตำแหน่ง ตลอดอายุราชการปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด การก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ก็ไม่ได้มีส่วนดูแล เพียงแต่จัดหาที่ดิน 17 ไร่ให้เท่านั้น ที่เหลือก็ยกให้พิศิษฐ์ดูแล จะออกไปเลยก็ได้ เพราะตอนแรกก็พร้อมจะออกอยู่แล้ว เพียงแต่มีผู้รู้กฎหมายว่า หากทำเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการละเลยหน้าที่ได้ เพราะมีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมาหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข (คปค.) ที่มอบหมายให้ผู้ว่าการฯ รักษาการไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าการคนใหม่  และหากจะให้มีข้อยุติก็ควรจะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินอย่างศาลปกครอง กลางหรือศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งเด็ดขาดก่อนจึงออกไป หากเป็นเช่นนั้น ทำไมนายพิศิษฐ์ไม่ดำเนินการล่ะ”

ด้านนายพิศิษฐ์กล่าวยืนยันว่า สาเหตุที่ไม่ส่งเรื่องต่อไปยังศาลปกครองกลางหรือศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้สงสัยและยึดมั่นตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเป็นคณะที่มีบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะและยังมีอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนอยู่ในองค์คณะ วินิจฉัยนั้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เวลาที่ สตง.มีข้อสงสัยทางข้อกฎหมาย ก็สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกามาโดยตลอด แล้วทำไมคำสั่งเรื่องนี้จึงจะยกเว้นไม่เชื่อฟัง

ผู้สื่อข่าวถามคุณหญิงจารุวรรณว่า หากคุณหญิงยกเลิกคำสั่งรักษาการ ผู้ว่าการฯ ของนายพิศิษฐ์ ก็น่าจะมีอำนาจในการส่งเรื่องให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน ประเด็นเหล่านี้ได้ทำไมจึงไม่ดำเนินการ คุณหญิงจารุวรรณกล่าวว่า พี่ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะพี่ยึดมั่นว่า สิ่งที่พี่ทำถูกต้องตามกฎหมาย

ที่มา: เรียบเรียงจากมติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน กัมพูชา – ไทย: เมื่อเยาวชนร่วมเพาะเมล็ดพันธุ์สันติภาพ

Posted: 24 Aug 2010 11:43 AM PDT

ประสบการณ์จากเยาวชนไทยที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมมิตรภาพกับเยาวชนกัมพูชา “เราอยู่ด้วยกัน เราแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกระหว่างกันจนผมพอมีข้อสรุปอะไรบางอย่างขึ้นมา นั่นคือ เรามีสิ่งที่เหมือนกัน มากกว่าสิ่งที่ต่างกัน เราเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี อันจะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันที่ยั่งยืน”

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ส.ค. 53) ผมค่อนข้างจะตื่นเต้นกับการประชุมระหว่างเยาวชนกัมพูชา – ไทย ซึ่งรอมานานหลายวัน

ผมไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก ไม่มีอะไรจะเตรียมตัว กำหนดการที่ได้รับจากผู้จัดงานมีเพียงโครงกิจกรรมคร่าวๆ เท่านั้น ออกจะตื่นเต้นอยู่สักหน่อย ที่จะได้รู้จักเพื่อนที่ถือว่าเป็น “เพื่อนบ้าน” จริงๆ อีกหนึ่งประเทศ ซึ่งผมไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากเกี่ยวกับพวกเขา

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองระหว่างกัมพูชา-ไทย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าเขาจะนึกเช่นไรบ้าง นึกเลยไปถึงความร่วมมือในระดับอาเซียนที่ผู้นำรัฐบาลแทบจะทุกประเทศในแถบนี้พูดถึงกันมาเป็นสิบๆ ปีนั้น จะเป็นการประสานประโยชน์เพื่อพลเมืองแห่งอาเซียนได้จริงหรือไม่ และอย่างไร

เรารู้จักกันและกันน้อยเกินไป ผมเชื่ออย่างนั้น...

พอพูดถึงความเป็นไทย ความเป็นเขมร ความเป็นลาว ความเป็นพม่า มันทำให้รู้สึกแตกต่างและแปลกแยกทันทีที่ได้ฟัง มายาคติและความคิดความเชื่อผุดขึ้นหลอกหลอน ประวัติศาสตร์ที่ถูกฉายภาพให้เห็นแต่เพียยงความขัดแย้ง สร้างปมในใจจนสะสมกลายเป็นการแสดงออกซึ่งความรุนแรงในมิติต่างๆ

เมื่อผมได้พบเจอคณะเยาวชนซึ่งเพิ่งจะเดินทางมาถึงที่พัก ผมรู้สึกไม่แตกต่างกับพวกเขาเลยสักนิด

ไม่ใช่เพราะว่าหน้าตา นิสัยใจขอของพวกเราคล้ายคลึงกันหรอก เพียงแต่รู้สึกว่า เรามีความเชื่ออะไรบางอย่างที่เหมือนกัน...

ผมชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ผมเลยพอมีความรู้อยู่บ้างเกี่ยวกับอดีตของภูมิภาคนี้ มันทำให้ผมรู้สึกตระหนักอยู่เสมอว่า ในตัวผม อาจมีสายเลือดของทุกกลุ่มชนที่อาศัยร่วมกันในภูมิภาคนี้ผสมอยู่ก็เป็นได้

ความเป็นไทย ความเป็นเขมร จึงเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่า ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกแตกต่างแปลกแยก

เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวทั่วไปกับเพื่อนกัมพูชา ยิ่งทำให้เห็นว่า เราเหมือนกันมากกว่าที่คิด ทั้งรากฐานทางภาษาวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งมารยาทและนิสัยใจคอ

เพื่อนกัมพูชาหลายคน เข้าใจและพูดภาษาไทยได้อย่างดี เป็นเพราะบางคนมาเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย หรือบางคนก็รับสื่อจากไทยมาโดยตลอด ทำให้ผมนึกละอายที่ไม่รู้ภาษาของเขาเลยสักนิด

กระบวนการที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการสานเสวนา ผู้จัดงานเห็นว่า หลายต่อหลายครั้งที่มีการจัดพื้นที่สำหรับเยาวชนระดับระหว่างประเทศเช่นนี้ มักจะเป็นการเอาตัวงานเป็นหลัก ละเลยการดูแลหรือเรียนรู้ระหว่างกันและกัน

ผมว่านี่คือข้อสำคัญ เราจะไม่รู้จัก หรือไม่เข้าใจความเป็นเขาเป็นเราได้เลย ถ้าเราไม่เคยพูดคุยและรับฟังกั

ตัวตน ความฝัน ความคิด ความเชื่อ ถูกกระบวนการละลายออกมาให้เห็นอย่างช้าๆ เยาวชนกัมพูชาแต่ละคนมีจิตใจที่มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในทุกระดับด้วยสันติภาพและเพื่อสันติภาพ

ผมได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มากมาย สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในกัมพูชาผมไม่เคยรู้เลย เพราะข้อจำกัดทางภาษาที่ผมไม่สามารถเข้าใจภาษาเขมรได้นั่นเอง การรับสื่อเพื่อติดตามเรียนรู้จึงไม่สามารถทำได้

ไม่ใช่แต่เพียงความยากจน หรือ ไม่เข้าถึงโอกาสทางสังคมด้านต่างๆ เท่านั้น ที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องการจะยกระดับในประเทศ แต่สิ่งที่กำลังจะเชื่อมโยงเข้าหากันระหว่างกัมพูชา-ไทย ในนามของกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงร่วมกันโดยก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งทั้งปวง

คงเป็นเพราะเรามีผืนดินร่วมกัน มีสายน้ำสายหลักสายเดียวกัน มีทรัพยากรชุดเดียวกัน รวมถึงประวัติศาสตร์ที่เรามีร่วมกันนี้เอง ที่อาจจะเป็นแรงผลักและเป็นปัจจัยให้เรามาพบกันเช่นนี้

สองวันที่กระบวนการดำเนินไป เราอยู่ด้วยกัน เราแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกระหว่างกันจนผมพอมีข้อสรุปอะไรบางอย่างขึ้นมา นั่นคือ เรามีสิ่งที่เหมือนกัน มากกว่าสิ่งที่ต่างกัน , เราเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี อันจะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันที่ยั่งยืน และ เราต่างต่อการแสดงให้โลกเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องของพลเมืองระหว่างรัฐ แต่เป็นเพราะคนที่อยู่ในฐานะผู้นำทำให้มันเกิด เนื่องจากต้องการประโยชน์เพื่อกลุ่มคนใกล้ชิด ไม่ใช่เป็นไปเพื่อนพลเมืองทั้งสองประเทศอย่างที่กล่าวอ้างกัน

ที่น่าตกใจมากที่สุดสำหรับผม คือ เพื่อนชาวกัมพูชาหลายคนรู้สึกว่าคนไทยไม่เป็นมิตรกับเขาเลย เขาไม่กล้าพูดว่าเขาคือคนกัมพูชา เวลาอยู่ในประเทศไทย ทุกครั้งที่คนขับแท็กซี่ถาม หรือใครก็ตามถามเขา เขาไม่กล้าบอกว่าเป็นคนกัมพูชา เพราะเขากลัวที่จะได้รับการปฏิบัติที่เย็นชาและเกลียดชังจากคนไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา มาจากความคิดความเชื่อแบบชาตินิยมที่ไร้สาระ จากกลุ่มผู้นำที่ไร้จริยธรรมและเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด...

ความเกลียดชังถูกสร้างโดยตัวประวัติศาสตร์ที่ขาดพร่องซึ่งความจริงอันรอบด้าน เราเห็นแต่ความขัดแย้ง และไม่เคยตั้งคำถามว่าประวัติศาสตร์ชุดนี้ สร้างมาเพื่อประโยชน์อันใดกันแน่ เพื่อนชาวไทยบางคนได้เสนอประเด็นขึ้นมาว่า แท้จริงคามขัดแย้งในระดับผู้นำที่เกิดขึ้นและส่งผลมายังพลเมืองเช่นเรานี้ ตัวแสดงที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งเฉพาะหน้าดังกล่าวอาจมีมากกว่าสองฝ่าย และที่มาของสถานการณ์เฉพาะหน้าอาจซับซ้อนจนเราไม่อาจเข้าถึงหรือเข้าใจได้ ซึ่งเยาวชนกัมพูชาเองก็มองเห็นประเด็นนี้เช่นกัน

และนี่คือเรื่องที่พวกเราต้องการจะก้าวข้ามให้พ้น

คณะทำงานเยาวชนกัมพูชาพยายามอย่างมากในการสร้างพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนความเข้าใจระหว่างเยาวชน ทั้งในประเทศไทย และในประเทศเวียดนาม

ผมรู้ดีว่าปัจจัยทางการเมือง อาจเป็นเรื่องที่เราไม่อาจกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราอย่างไร การเมืองที่เกิดขึ้นในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งในนามของวงศ์วานเครือญาติหรือพวกพ้องเท่านั้นที่ผ่านมา เราแน่ใจในระดับหนึ่งแล้วว่า นโยบายในระดับต่างๆ ที่ถูกกำหนดมาจากฝ่านรัฐไม่เป็นมรรคเป็นผลได้จริงตามที่มันควรจะเป็นได้

แต่บางสิ่งบางอย่าง เราก็มีพลังเพียงพอที่จะสร้างหรือกำหนดมันขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หมายถึงการร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชนทั้งสองประเทศ ผู้ที่เติบโตขึ้นและมีส่วนในการรับผิดชอบสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่

แม้ว่าถ้อยสนทนาหรือความรู้สึกที่ถ่ายทอดตลอดระยะเวลาของกิจกรรมสานเสวนาที่เกิดขึ้นสองวันหนึ่งคืนไม่อาจดังไปได้ไกลมากนัก

แต่มันยังคงดังก้องอยู่ในใจ เพื่อคอยเตือนให้รู้ว่า รอยร้าวทางความรู้สึก ความเกลียดชัง ชาตินิยมที่งมงายไร้สาระ จะถูกสมานให้ความเจ็บปวดเหล่านั้นบรรเทาเบาบางลงไปได้ วยความจริงใจและความเชื่อมั่นในวันใหม่ที่ดีกว่า

ความร่วมมือระหว่างเยาวชนในภูมิภาคจะต้องถูกขยายพื้นที่เพื่อการรับฟังอย่างลึกซึ้งและเข้าถึงความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ด้วยใจที่ปราศจากมายาคติ ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะเยาวชนกัมพูชา-ไทยเท่านั้น

และนี่คือจุดเริ่มต้นของศักราชใหม่.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบอนุญาตฆ่าคน (Licence to Kill)

Posted: 24 Aug 2010 10:47 AM PDT

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมาได้สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย ในจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้ง 91 ราย นั้น มีนักข่าวต่างประเทศอยู่ด้วย 2 คน และ มีกรณีที่สื่อมวลชนได้รับ บาดเจ็บมากถึง ๑๐ ราย โดยในจำนวนนี้บางรายอาจต้องเสียสมรรถภาพทางร่างกายไปตลอดชีวิต นอกจากนี้แล้ว ยังมีกรณีการเซ็นเซอร์และปราบปรามสื่ออีกมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่หลังช่วงหลังทศวรรษ 1990

ภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว ต่างฝ่ายต่างป้ายความผิดให้ฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้กระทำความเสียหาย    ให้เกิดขึ้น ซึ่งตราบจนบัดนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าแท้ที่จริงแล้วใครกันแน่ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการสูญเสียครั้งนี้ หนึ่งในองค์กรที่เข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริงและมีผลการสอบสวนปรากฏออกสู่สาธารณชนไปทั่วโลกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็คือ องค์กรของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนหรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Reporter without Borders หรือ Reporters sans  frontières โดยจัดทำเป็นรายงานการสอบสวน (investigation report)ในชื่อว่า THAILAND LICENCE TO KILL

 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้สัมภาษณ์และวิเคราะห์ในกรณีสื่อมวลชนได้รับการคุกคาม  ดังต่อไปนี้
 1.  การเสียชีวิตของนักข่าวอิสระชาวอิตาเลียน นาย Fabio Polenghi
 2.  การเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ
 3.  กรณีการบาดเจ็บของนาย Nelson Rand ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ France24
 4.  กรณีการปิดกั้นเว็บไซต์ประชาไท
 5.  กรณีวางเพลิงสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3
 6.  การสัมภาษณ์นางสาว Agnès Dherbeys ช่างภาพหนังสือพิมพ์ The New York Times
      ในขณะเกิดเหตุ
 7.  กรณีนายสุบิน นวมจันทร์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชนได้รับบาดเจ็บ
 8.  กรณีนาย Chandler Vandergrift นักข่าวอิสระชาวแคนาดาได้รับบาดเจ็บสาหัส
 9.  คำบอกเล่าของสื่อมวลชนชาวต่างประเทศที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ
 10.  กรณีนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพอาวุโสของหนังสือพิมพ์ The Nation ได้รับบาดเจ็บสาหัส

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนตั้งคำถามว่าจำนวนสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น เป็นผลมา จากอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ทั้งนี้ มีนักข่าวมากมายที่ทำงานเสนอข่าวในบริเวณที่ชุมนุม และมีจำนวนหนึ่งที่อาจขาดการอบรมด้านการทำงานในพื้นที่อันตรายหรือไม่ ได้ใช้อุปกรณ์การป้องกันภัยที่พอเพียงรวมถึงการขาดการอบรมในด้านการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพลเมืองของทหารที่  ทำหน้าที่ควบคุมและสลายการชุมนุม หรือว่าเหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นมีเหตุมาจากความตั้งใจ คุกคามสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนชาวต่างประเทศโดยตรง

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้รับคำบอกเล่าจากนักข่าวชาวยุโรปที่อยู่ในพื้นที่ว่า ในช่วงวันสุดท้ายของการชุมนุมนั้นทหารได้ใช้อาวุธสงครามกับประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักข่าว นั่นแสดงให้เห็นว่า ทหารไม่ได้เคารพ กติกาของการปฏิบัติในการรบ (Rules of Engagement) แต่อย่างใด

ซึ่งในประเด็นนี้  ดร.ธานี ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่า ทหารได้รับคำสั่งให้เคารพ ข้อปฎิบัติเฉพาะ แต่เมื่อมีการยิงทหารไร้อาวุธในวันที่ 10 เมษายน นั้น ทหารก็ได้รับคำสั่งให้ใช้กระสุน จริงเพื่อป้องกันตนเองจากชายชุดดำ  ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับผู้ชุมนุม นปช. แต่เขาได้ย้ำว่า กองทัพไม่ได้รับการอนุญาตให้ยิงประชาชนแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนคือการเซ็นเซอร์สื่อที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วง วิกฤติการเมือง รวมถึงการปิดปากตัวเอง (Self-Censorship) ของสื่อบางส่วนด้วย  ในกรณีนี้ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยังได้มีคำสั่งให้ปิดกั้นสื่อมากมายรวมทั้งประชาไท ด้วย ทั้งนี้ ดร.ธานีได้ยืนยันกับองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อเป็น อย่างยิ่ง แต่ได้เพิ่มเติมว่าสถานการณ์ฉุกเฉินบังคับให้สื่อต้องมีความรับผิดชอบในการทำงาน

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น โดยมีเป้าหมายจะสะท้อนเสียงของกรณีตัวอย่าง ๑๐ ราย
ที่สื่อมวลชนได้รับการคุกคาม หรืออันตรายทั้งจากฝ่ายแรก ได้แก่  ทหาร  หน่วยกำลังพิเศษ และทหาร รับจ้าง และฝ่ายที่สองคือผู้ชุมนุมเสื้อแดงซึ่งเป็นสมาชิกของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเลือกที่จะเป็นสื่อกลางและกระบอกเสียงให้แก่สื่อมวลชนในครั้งนี้ นอกจากนั้นแล้ว ยังได้สัมภาษณ์ตัวแทนจากรัฐบาลไทยและทนายความของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย ซึ่งบางกรณีตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงการคุกคามสื่อมวลชน ทั้งจากฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงอย่างชัดเจน

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนย้ำให้เห็นความสำคัญของการสอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการณ์ ทางการเมืองครั้งนี้อย่างโปร่งใส และเสนอให้มีการขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ เนื่องจากหากไม่มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระแล้วไซร้  เหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสีย ความน่าเชื่อถือในเวทีนานาชาติ

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเรียกร้องให้มีการเพิ่มทั้งทรัพยากรและอำนาจแก่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้คณะทำงานดังกล่าวมีความอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง และ ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับ  เลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจึงเรียก ร้องให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นายบัน คี มุน ให้ความร่วมมือกับประเทศไทย โดยการให้ องค์กรต่างๆ ของสหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมกับการสอบสวนในครั้งนี้ โดยผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือและข้อมูลแก่คณะทำงานอย่างโปร่งใสและเป็นอิสระ

จะเห็นได้ว่ารายงานการสอบสวนฉบับนี้เป็นการรายงานของมืออาชีพที่แท้จริงที่เราทุกคนและฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะหามาอ่าน เพราะแสดงให้เห็นว่าการคุกคามสื่อนั้นมีมาจากทั้งสองด้าน คือทั้งจากฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งแกนนำรัฐบาลหรือแกนนำผู้ชุมนุมจะทราบหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วจริง ที่สำคัญก็คือกองทัพไม่ได้รับอนุญาตให้เข่นฆ่าประชาชน(Licence to Kill) แต่อย่างใด

แต่การสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วจะต้องมีผู้รับผิดชอบแน่นอน เพียงแต่ฝ่ายรัฐบาลอย่าเพิ่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังเช่น กรณี 6 ตุลาออกมาเสียก่อนก็แล้วกัน อย่างไรก็ดีถึงแม้จะมีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาก็ตาม การนิรโทษกรรมนี้ก็ไม่อยู่ในข่ายที่จะยกเว้นเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (หากจะมีผู้หยิบยกและให้สัตยาบันต่อไปในภายหน้า) แต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่ายื่นคำขาดกลุ่มหยุดยิงว้า – เมืองลา ตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ก่อนเลือกตั้ง

Posted: 24 Aug 2010 05:19 AM PDT

เจ้ากรมความมั่นคงกองทัพพม่า ยื่นคำขาดกลุ่มหยุดยิงว้าและกลุ่มหยุดยิงเมืองลา แปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ก่อนการเลือกตั้ง 7 พ.ย. ย้ำหากไม่รับจะถือเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย

แหล่งข่าวในรัฐฉานรายงานว่า ระหว่างที่ตัวแทนกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) และตัวแทนกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (NDAA) พบหารือกับพล.ท.เยมิ้นต์ ผอ.ความมั่นคงกองทัพพม่า Military Affairs Security (MAS) ตามคำเชิญเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทั้งสองกลุ่มได้รับยื่นคำขาดให้แปรสถานะกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF-Border Guard Force ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ย. นี้

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 ส.ค. ตัวแทนกองทัพสหรัฐว้า UWSA ราว 7 – 8 คน นำโดยโป่หลาคำ ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง ซึ่งเดินทางจากเมืองปางซาง บก.กองทัพสหรัฐว้า UWSA ได้พบหารือกับพล.ท.เยมิ้นต์ ที่เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ จากนั้นในช่วงบ่ายพล.ท.เยมิ้นต์ ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์มายังเมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก เพื่อพบกับตัวแทนกลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ที่มีเจ้าขุนส่างหลู่ รองประธาน NDAA เป็นแกนนำ ทั้งสองฝ่ายพบหารือกันภายในบก.กองทัพภาคสามเหลี่ยม อย่างไรก็ตาม การพบหารือกับแต่ละกลุ่มใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง

พล.ท.เย มิ้นต์ ได้กล่าวกับตัวแทนกลุ่มหยุดยิงทั้งสองในทำนองเดียวกันว่า ให้ตัดสินใจเปลี่ยนสถานะภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดนก่อนการเลือกตั้ง โดยให้ทางกลุ่มเร่งดำเนินการเรื่องนี้และให้ยื่นคำตอบกลับภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่มากการเลือกตั้งก็จะมาถึง หากไม่เร่งดำเนินการเป็น BGF หลังการเลือกตั้งจะถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า ทั้งตัวแทนกองทัพสหรัฐว้า UWSA และ NDAA ต่างไม่ได้ยื่นเงื่อนไขหรือข้อเสนอใดๆ ต่อพล.ท.เยมิ้นต์ เพียงกล่าวว่า ยังไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว และอ้างว่าจะนำข้อเสนอไปรายงานต่อผู้นำก่อน

กองทัพพม่าได้กำหนดเส้นตายให้กลุ่มหยุดยิงเปลี่ยนสถานะภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดนมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่มีการยื่นข้อเสนอครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา โดยครั้งแรกกำหนดไว้สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ครั้งที่สองสิ้นเดือนธันวาคม 2552 ครั้งที่สาม สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ครั้งที่สี่วันที่ 4 มีนาคม 2553 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้ มีกลุ่มหยุดยิงที่ยังยืนกรานไม่รับตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF และคัดค้านการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า 6 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพสหรัฐว้า UWSA, กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA, กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA, กองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N, พรรคดินแดนใหม่คะยาห์ KNLP และพรรครัฐมอญใหม่ NMSP

ขณะที่กลุ่มกองทัพสหรัฐว้า และกลุ่มหยุดยิงเมืองลายืนยันยึดหลักการเดิม 4 ประการ คือ 1.จะไม่ยอมวางอาวุธ 2.จะไม่เปลี่ยนสถานะภาพกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF 3.จะไม่เป็นฝ่ายโจมตีก่อน แต่จะปกป้องตนเองถึงที่สุดหากถูกรุกราน และ 4. จะไม่แยกตัวออกจากสหภาพพม่า

กองทัพสหรัฐว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ในอดีตเป็นกองกำลังในสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า โดยมีจีนให้การสนับสนุน ต่อมาในปี 2532 ได้ถอนตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า และตั้งกองบัญชาการและพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคตะวันออกรัฐฉาน ติดชายแดนจีน ปัจจุบันกองทัพสหรัฐว้า UWSA มีกำลังพลพร้อมรบกว่า 25,000 นาย มีนายเปาโหย่วเฉียงเป็นผู้นำสูงสุด ส่วนกองกำลังเมืองลา NDAA มีกำลังพลราว 3,500 – 4,000 นาย มีเจ้าจายลืน หรือ หลินหมิ่งเสียน เป็นผู้นำ

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหาร พล.ม.2 รอ. ถูกรถถังทับเสียชีวิต

Posted: 24 Aug 2010 04:38 AM PDT

พลทหารใน พล.ม.2 รอ. นำรถถังไปล้างหลังการฝึก แต่ไม่ได้ดับเครื่องยนต์ทำให้รถถังเคลื่อนชนจนร่างติดแทงค์น้ำ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

บ่ายวันนี้ (24 ส.ค.) มีรายงานจากโรงพยาบาลพญาไท 2 ว่า มีผู้ป่วยชื่อพลทหารจิรพงษ์ ทองปาน อายุ 21 ปี สังกัดกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ หรือ พล.ม.2 รอ. ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเนื่องจากถูกรถถังทับ สภาพศพบาดแผลถลอก มีรอยช้ำทั่วลำตัวและแขน ลักษณะคล้ายถูกตีนตะขาบของรถถังทับ

จากการสืบสวนของ สน.พญาไท พบว่า ขณะที่ผู้ตายเสร็จสิ้นภารกิจการฝึกใน พล.ม.2 รอ. ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ดินแดง ผู้ตายนำรถถังไปล้างที่จุดล้างรถถัง และไม่ได้ดับเครื่องยนต์ จากนั้นจู่ๆ รถถังก็เคลื่อนมาจากแท่นล้างซึ่งเป็นทางลาดและพุ่งชนร่างของผู้ตายจนอัดติดกับแทงค์น้ำได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุเพื่อนพลทหารจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 2 ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่พลทหารจิรพงษ์ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้มอบศพให้มูลนิธิร่วมกตัญญูนำส่งสถาบันนิติเวช รพ.รามธิบดี เพื่อทำการผ่าชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะประสานกับ สน.ดินแดง เจ้าของท้องที่เกิดเหตุให้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ และสอบปากคำพยานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีใครเกี่ยวข้องหรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตีแผ่ “อีไอเอ” 3 ฉบับ กับการลบล้างข้อหาโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ‘แย่งน้ำทำนา’

Posted: 24 Aug 2010 12:55 AM PDT

แม้สุดท้ายรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่เสมือนเป็นใบรับรองโครงการโรงไฟฟ้าหนองจะผ่านความเห็นชอบจาก สผ.และ คชก.หลังผ่านการแก้ไขมาถึง 3 ครั้ง ท่ามกลางข้อกังขา ต่อการสร้างความชอบธรรมในการใช้น้ำป่าสักให้กับโครงการ

 
 
ชื่อบทความเดิม: บทบาทของ สผ.และ คชก.ต่อการสร้างความชอบธรรมในการใช้น้ำป่าสักให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง สระบุรี 
 
ในช่วงปี พ.ศ.2550 – 2552 มีความพยายามถึง 3 ครั้งที่จะลบล้างข้อกล่าวหา ‘แย่งน้ำทำนา’ ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง จนสุดท้ายรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงก็ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) เสมือนเป็นใบรับรองให้โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงก่อสร้างขึ้นมาได้ ท่ามกลางข้อกังขาในเรื่องการแย่งน้ำทำนาซึ่ง สผ. และ คชก. ไม่สามารถคลี่คลายได้ 
 
 
อีไอเอฉบับแรก
 
อีไอเอฉบับแรก[1] ที่บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด หรือ ‘เพาเวอร์เจเนอเรชั่น’ เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงนำส่งให้ สผ. พิจารณาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 ระบุถึงการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงว่า “น้ำดิบจะได้มาจากการสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักและส่งเข้าสู่พื้นที่โครงการโดยผ่านท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 26 นิ้ว โดยจุดสูบน้ำจะตั้งอยู่เหนือเขื่อนพระรามหก ประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สามารถรับน้ำทั้งจากแม่น้ำป่าสักและคลองชัยนาท แนวท่อส่งน้ำจะฝังอยู่ใต้ดินและวางไปตามแนวถนนคันคลองระพีพัฒน์ฝั่งตะวันออก (ฝั่งซ้าย) ประมาณ 16 กิโลเมตร จนถึงพื้นที่โครงการ” (บทที่ 2 รายละเอียดโครงการ หัวข้อ 2.8.3 น้ำดิบและสมดุลน้ำ หน้า 2-40) 
 
และใน บทที่ 4 การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หัวข้อ 4.4.3.2 การใช้น้ำ ระยะดำเนินการ หน้า 4-58 ระบุว่า “โครงการโรงไฟฟ้าจะมีความต้องการใช้น้ำสูงสุดในกรณีที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ประมาณ 69,924 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนความต้องการใช้น้ำในกรณีใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจะอยู่ที่ประมาณ 58,754 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากข้อมูลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ (กรมชลประทาน, 2550) พบว่า แม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกต่ำสุด ในช่วงระหว่างปี 2545-2550 (ข้อมูลของวันที่ 23 มีนาคม 2548) อยู่ที่อัตรา 4.73 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 408,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เนื่องจากจุดสูบน้ำของโครงการจะตั้งอยู่เหนือเขื่อนพระรามหก ประมาณ 200 เมตร ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงได้ใช้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในการประเมินผลกระทบต่อการใช้น้ำ) โดยปริมาณน้ำที่โครงการจะสูบมาใช้คิดเป็นร้อยละ 17 และ 14 ของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก เมื่อใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตามลำดับ” ตามตารางการเปรียบเทียบอัตราความต้องการใช้น้ำฯ
 
 
ตารางการเปรียบเทียบอัตราความต้องการใช้น้ำของโครงการจากการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง (หน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) [2]
 
 
ฤดูฝน
ฤดูแล้ง
ใช้ก๊าซ
ธรรมชาติ
ใช้น้ำมัน
ดีเซล
ใช้ก๊าซ
ธรรมชาติ
ใช้น้ำมัน
ดีเซล
อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำป่าสักระดับต่ำสุดเท่ากับ 408,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ปริมาณน้ำที่จะสูบจากแม่น้ำป่าสัก (I)
58,754
69,924
58,754
69,924
ปริมาณน้ำที่จะปล่อยทิ้งกลับสู่แหล่งน้ำ* (E)
14,983
18,537
14,983
18,537
ปริมาณน้ำที่หายไป (I-E)
43,771
51,387
43,771
51,387
ร้อยละของปริมาณน้ำที่สูบมาใช้
14%
17%
14%
17%
ร้อยละของปริมาณน้ำที่หายไป
11%
13%
11%
13%
หมายเหตุ: * โครงการจะระบายน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่แยกออกมาจากแม่น้ำป่าสัก
 
สผ.ได้ทำหนังสือตอบกลับเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ว่าได้ตรวจสอบอีไอเอในเบื้องต้นแล้วเห็นว่ายังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่ชัดเจน โดยขอให้เพาเวอร์เจเนอเรชั่นพิจารณาดำเนินการตามประเด็นผลการตรวจสอบเบื้องต้นฯ [3] และนำเสนอต่อ สผ.เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม  [4] ใหม่ โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ดังนี้ 
 
“ข้อ 3.แสดงข้อมูลปริมาณ การใช้ประโยชน์และความพอเพียงของน้ำต้นทุนจากลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใช้ของโครงการ และพิจารณาเทคโนโลยีหรือแนวทางที่สามารถลดปริมาณการใช้น้ำของโครงการ การใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ให้มากที่สุด และเนื่องจากโครงการมีการสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสัก และมีการปล่อยน้ำลงสู่คลองระพีพัฒน์ ให้พิจารณาทางเลือกของโครงการในกรณีที่ไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกจากพื้นที่โครงการ หรือการนำน้ำทิ้งมาปรับปรุงคุณภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในโครงการให้มากที่สุด เพื่อลดข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับปริมาณการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักและการระบายน้ำทิ้งลงคลองระพีพัฒน์ รวมทั้งแสดงเอกสารและเงื่อนไขการอนุญาตให้สูบน้ำและปล่อยน้ำทิ้งของโครงการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งปรับปรุงสมดุลมวลน้ำของโครงการให้ชัดเจน”
 
 
อีไอเอฉบับที่สอง
 
ต่อมาเพาเวอร์เจเนอเรชั่นได้นำส่งอีไอเอฉบับแก้ไข/เพิ่มเติม  [5] ให้กับ สผ.เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 โดยมีการอำพรางหรือบิดเบือนตัวเลขการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงไม่เกี่ยวข้องต่อการขาดน้ำทำนาของเกษตรกรในประเด็นสำคัญ ดังนี้
 
(1) มีการระบุต้นทุนน้ำใช้ของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงมาจากสองแหล่ง ได้แก่ คลองชัยนาท-ป่าสัก (จากประตูระบายน้ำเริงราง) และแม่น้ำป่าสัก (จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ตามผังแสดงการบริหารจัดการน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก โดยจุดสูบน้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจะอยู่บริเวณเหนือเขื่อนพระรามหกและเหนือประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ซึ่งเป็นจุดที่สามารถรับน้ำทั้งจากแม่น้ำป่าสักและน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักได้
 
ผังแสดงการบริหารจัดการน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก  [6]
 
ปริมาณน้ำต้นทุนที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำเริงรางมีค่าเฉลี่ย 2,191.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อีกส่วนหนึ่งได้จากแม่น้ำป่าสัก (จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เขื่อนแห่งนี้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2537 และเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย และการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรม อ่างเก็บน้ำสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 1,895 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในช่วงฤดูแล้งประมาณ 266 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งนี้จะมีการกักเก็บน้ำไว้ภายในอ่างเก็บน้ำประมาณหนึ่งในสามของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน
 
ดังนั้น ต้นทุนน้ำทั้งสองแหล่ง           = 2,191.9 + 1,441*        ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
                                    รวม                   = 3,632.9                                  ,, ,,
 
[*ต้นทุนน้ำจากแม่น้ำป่าสักคิดจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯในฤดูฝนและฤดูแล้ง (1,895 + 266) เท่ากับ 2,161 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลบด้วยปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ภายในอ่างเก็บน้ำประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯ คือ 720 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (2,161 – 720) เหลือ 1,441 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี]
 
มีการอำพรางตัวเลขการใช้น้ำโดยแยกส่วนข้อมูลตัวเลขการใช้น้ำเพื่อทำให้การปะติดปะต่อข้อมูลเรื่องการใช้น้ำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือหากไม่ได้สังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็จะไม่ฉงนสงสัยแต่ประการใด กล่าวคือ ในผังแสดงการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ได้ระบุตัวเลขการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ตั้งแต่ Demand 1-6 เท่ากับ 1,330,410 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 485,599,650 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อเทียบกับต้นทุนน้ำที่มีปีละ 3,632.9 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงยังเหลือน้ำอีกมากถึงปีละ 3,147.30 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยไม่กล่าวถึงตัวเลขปริมาณการใช้น้ำของโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (Demand 7) ซึ่งก็คือน้ำในแม่น้ำป่าสักหน้าเขื่อนพระรามหกที่ต้องผันเข้าสู่ประตูระบายน้ำพระนารายณ์เพื่อเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ตามโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ นั่นเอง จึงเห็นได้ว่าอีไอเอฉบับนี้จงใจบิดเบือนตัวเลขการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสักเพื่อทำให้เข้าใจผิดได้ว่าปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำป่าสักมีเพียงพอสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
ผังแสดงการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก [7]
 
แต่กลับระบุตัวเลขความต้องการใช้น้ำของโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง(Demand 7) เอาไว้ในตารางความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสักฯ ซึ่งอยู่ในหน้าถัดไปของอีไอเอฉบับเดียวกันแทน
 
ตารางความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก (รวมความต้องการใช้ในปัจจุบัน+การคาดการณ์ความต้องการใช้ในอนาคตจากโครงการต่างๆ) [8]

กิจกรรมที่มีความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก
ความต้องการใช้น้ำ (ล้าน ลบ.ม./ปี)
ค่าต่ำสุด
ค่าเฉลี่ย
ค่าสูงสุด
โครงการชลประทาน
 
 
 
 - โครงการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร จังหวัดลพบุรี (Demand 1)
28.2
28.2
28.2
 - โครงการสูบน้ำพัฒนานิคม (Demand 2)
 
149.4
 
149.4
 
149.4
 - โครงการสูบน้ำพัฒนานิคม-แก่งคอย (Demand 2)
 - โครงการสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ (Demand 2)
 - โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ (Demand 5)
191.3
222.3
251.6
 - โครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (Demand 7)
3,257.27
3,887.67
4,467.45
การใช้น้ำในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม (Demand 3)
47.3
47.3
47.3
โรงไฟฟ้าแก่งคอย (Demand 4)
19.9
19.9
19.9
โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง (Demand 6)
20.2
20.2
20.2
รวม
3,713.57
4,374.97
4,984.05
 
เมื่อรวมตัวเลขความต้องการใช้น้ำของโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (Demand 7) คิดที่ค่าเฉลี่ย 3,887.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสักทั้งหมด (Demand 1-7) เท่ากับ 4,374.97 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเป็นการใช้น้ำเกินไปจากน้ำต้นทุนที่มีเพียงปีละประมาณ 3,632.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึง 742.07 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทีเดียว 
 
(2) ในประเด็นต่อเนื่องจากข้อ (1) อีไอเอฉบับนี้ได้หยิบยกตัวเลขปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน ณ จุดสูบน้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงขึ้นมาอ้างว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.09 ของปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ เท่านั้น เมื่อพิจารณาว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน มีค่าอยู่ในช่วง 24.9 ล้านลูกบาศก์เมตร (ค่าต่ำสุดอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม) และ 459.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ค่าสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนกันยายน) โดยผลการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่จุดสูบ ดังตารางการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำฯ
 
ตารางการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่จุดสูบน้ำ[9] 
 
เดือน
ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำโดยเฉลี่ยที่จุดสูบน้ำ (ล้าน ลบ.ม.)
ปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการ (ล้าน ลบ.ม.)
ความต้องการใช้น้ำของโครงการเป็นร้อยละเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่จุดสูบ (%)
มกราคม
45.6
1.71
3.75
กุมภาพันธ์
51.1
1.55
3.03
มีนาคม
151.3
1.71
1.13
เมษายน
149.2
1.66
1.11
พฤษภาคม
124.8
1.71
1.37
มิถุนายน
68.2
1.66
2.43
กรกฎาคม
94.5
1.71
1.81
สิงหาคม
174.2
1.71
0.98
กันยายน
459.5
1.66
0.36
ตุลาคม
447.3
1.71
0.38
พฤศจิกายน
60.9
1.66
2.72
ธันวาคม
24.9
1.71
6.89
รวม
1,851.4
20.2
1.09
 
 
ซึ่งในอีไอเออ้างต่อไปว่า “จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น (ตารางการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำฯ) จึงไม่คาดว่าปริมาณน้ำที่โครงการจะสูบมาใช้ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการจัดสรรน้ำภายในลุ่มน้ำป่าสักในปัจจุบัน อีกทั้งการใช้น้ำจากโครงการต้องได้รับการอนุญาตจากกรมชลประทานด้วย”
 
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คืออีไอเอฉบับนี้ได้หยิบยกเอาตัวเลขปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ มาอธิบายปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงที่คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.09 ของปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ เพื่อสร้างความชอบธรรมว่า น้ำในลุ่มน้ำป่าสักมีเพียงพอสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง และนำมาใช้ในโครงการเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง ไม่ถือว่าเป็นการแย่งชิงน้ำจากประชาชนในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และภาคส่วนอื่นๆ ที่ใช้น้ำอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด โดยจงใจละเว้นความเป็นจริงที่สำคัญข้อหนึ่งไปว่า น้ำที่ได้จากคลองชัยนาท-ป่าสัก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อไหลลงมาที่แม่น้ำป่าสักตอนล่างแล้วจะมีภาระหรือความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดประการแรกคือการเพิ่มน้ำให้เขื่อนพระรามหกเพื่อผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ และโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง สำหรับใช้ในภาคเกษตรกรรมที่ใช้น้ำอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 91.6 ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจะเป็นพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทาน 
 
การจงใจบิดเบือนข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสักว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง โดยโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงเลือกวิธีทำท่อสูบน้ำความยาว 16 กิโลเมตร เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าสู่พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงแทนที่จะสูบน้ำจากคลองระพีพัฒน์หรือคลองห้วยบ่าโดยตรงที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการมากกว่า (และสิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่า) เพื่อแสดงเจตนาให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบริษัทเจ้าของโครงการไม่ได้แย่งชิงน้ำจากเกษตรกรที่ใช้น้ำจากเขื่อนพระรามหก/คลองระพีพัฒน์ หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้/โครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างโดยตรง แต่ใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสักทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
ซึ่งการเลือกสูบน้ำที่แม่น้ำป่าสักก็เพื่อต้องการใช้ตัวเลขปริมาณน้ำในลุ่มน้ำป่าสักทั้งลุ่มมาอธิบายกิจกรรมการใช้น้ำของบริษัทเจ้าของโครงการที่คิดเป็นส่วนน้อยนิดเดียว เพียงแค่ 20.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 1.09 % เท่านั้น จากน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการโยนภาระให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำป่าสักทั้งลุ่ม ว่าจะต้องจัดหาน้ำมาให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงให้ได้เพราะตัวเลขความต้องการใช้น้ำของบริษัทอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำในลุ่มน้ำป่าสักทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าเลือกสูบน้ำจากคลองระพีพัฒน์หรือคลองห้วยบ่าจะทำให้ตัวเลขการใช้น้ำของบริษัทสูงมากเมื่อเทียบกับน้ำที่มีอยู่ในคลองระพีพัฒน์หรือคลองห้วยบ่า 
 
แต่เมื่ออีไอเอฉบับนี้ใช้ตัวเลขปริมาณน้ำทั้งลุ่มน้ำป่าสักมาอธิบายการใช้น้ำของโครงการนี้ แต่กลับไม่สามารถอธิบายการบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำป่าสักให้เห็นได้ เพื่อจะชี้ให้เห็นได้ว่าการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำป่าสักปีละประมาณ 742.07 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีนั้นมีภาคส่วนใดที่ขาดแคลนน้ำบ้างในปัจจุบัน และจะบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสักเพื่อจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมหรือโครงการใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือส่งผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อภาคส่วนต่าง ๆ ในอนาคต หรือเกลี่ยผลกระทบในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เท่าเทียมกัน/เกิดความสมดุลกันได้ในอนาคตอย่างไร
 
มิหนำซ้ำยังละเว้นอย่างจงใจไม่อธิบายการใช้น้ำของเขื่อนพระรามหก/คลองระพีพัฒน์ หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้/โครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งเป็นการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรมกว่าร้อยละ 91.6 ที่ตั้งอยู่โดยรอบพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงโดยตรง แต่กลับอธิบายบิดเบือนไปว่า “พื้นที่ศึกษา (ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโครงการ) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการชลประทานขนาดกลาง คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ จังหวัดสระบุรี” เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงพื้นที่โดยรอบโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงในรัศมี 5 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบส่งน้ำเพื่อการชลประทานทั้ง 2 โครงการ คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ 
 
ในฤดูแล้งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำป่าสักขาดน้ำ ในรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในพื้นที่ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี สำนักชลประทานที่ 10 สระบุรี ได้ระบุว่า “ในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำป่าสักมากเพียงพอ แต่ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน (180 วัน) ปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักมีจำนวนจำกัด และในบางปีปริมาณน้ำน้อย ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำของกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูแล้ง เช่น การอุปโภค บริโภค การประปา การเกษตร เป็นต้น” 
 
แม้ว่าบริษัทเจ้าของโครงการนี้จะออกแบบให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ถึงประมาณ 5.5 รอบก็ตาม แต่น้ำที่กักเก็บไว้ประมาณ 1,600,000 ลูกบาศก์เมตรในบ่อกักเก็บน้ำนั้น เมื่อคิดคำนวณแล้วจะสามารถใช้ได้เพียงประมาณ 90 วัน (3 เดือนเท่านั้น) ดังนั้น จะมีช่วงฤดูแล้งที่โครงการนี้จะต้องขาดน้ำอย่างแน่นอนอีกประมาณ 3 เดือน นั่นเท่ากับว่าจะเกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงกับชาวบ้านที่ทำนาอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านแถบนี้ทำนา 5 ครั้งในรอบ 2 ปี
 
หากดูตัวเลขการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสักแล้ว จะมีโรงไฟฟ้าอยู่ 3 โครงการ ที่เดินเครื่องแล้ว คือ โรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 ของ บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ขนาดกำลังผลิต 107 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของ บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ขนาดกำลังผลิต 1,468 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้า Unit 1 ประมาณ 768 เมกะวัตต์ เข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 และโรงไฟฟ้าหนองแค ของ บริษัท หนองแค เจนเนอเรชั่น จำกัด ขนาดกำลังผลิต 126 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ได้เริ่มเดินระบบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 และอีก 1 โครงการ ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง คือ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ถ้ากล่าวเฉพาะโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งมีเจ้าของเดียวกันคือบริษัท อิเล็คตริก พาวเวอร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ J-Power (บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น) จะใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักปีละ 19.9 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และ 20.2 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ตามลำดับ รวมกันทั้งหมดเท่ากับ 40.1 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี จะคิดเป็นพื้นที่นาที่ต้องสูญเสียไปจากการขาดแคลนน้ำประมาณ 33,417 ไร่ และหากคิดเฉพาะการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจะมีที่นาที่สูญเสียไปจากการขาดแคลนน้ำประมาณ 16,833 ไร่ [10] หรือคิดเป็นผลผลิตข้าวที่สูญเสียไปเฉพาะในส่วนของการใช้น้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงประมาณ 13,466 ตันข้าวเปลือก[11]
 
นั่นคือตัวเลขพื้นที่นาข้าวในลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างตั้งแต่ใต้เขื่อนป่าสักฯ ลงมาจรดเขื่อนพระรามหกที่ต้องสูญเสียพื้นที่นาข้าวและผลผลิตข้าวไปจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง แต่ถ้าหากคิดเฉพาะเจาะจงลงไปในพื้นที่นาข้าวของชาวนาในเขต อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ใช้น้ำทำนาจากคลองระพีพัฒน์และคลองเพรียว-เสาไห้เป็นหลักที่จะต้องสูญเสียไปจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อาจจะนำตัวเลขการขาดแคลนน้ำในช่วง 3 เดือน หรือ 90 วัน ของฤดูแล้งมาแสดงให้เห็น นั่นคือโครงการนี้เมื่อใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักจะใช้น้ำประมาณวันละ 55,342 ลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลา 90 วัน จะใช้น้ำทั้งสิ้น 4,980,780 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพื้นที่นาข้าวและผลผลิตข้าวในเขตอำเภอหนองแซงและภาชีที่ต้องสูญเสียไปจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงในช่วงฤดูแล้ง 3 เดือน (90 วัน) ประมาณ 4,151 ไร่ และ 3,321 ตันข้าวเปลือก ตามลำดับ 
 
ในท้ายที่สุด จากการถกเถียงในประเด็นการแย่งน้ำทำนาจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งเป็นทั้งข้อสงสัย ข้อคิดเห็น ข้อร้องเรียนและข้อกล่าวหา ที่ชาวบ้านในเขตอำเภอหนองแซงและภาชีได้รวมกลุ่มกันขึ้นเป็น ‘เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี’ เพื่อทำหนังสือยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง บริษัทเจ้าของโครงการ บริษัทที่ปรึกษารับทำอีไอเอและสื่อมวลชน ได้ทำให้ สผ. และ คชก. ไม่เห็นชอบกับอีไอเอฉบับนี้ เพราะเห็นว่าข้อมูลรายละเอียดในหลายส่วนยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้น้ำของโครงการนี้ที่ให้เสนอรายละเอียดสภาพปัจจุบันของแม่น้ำป่าสัก ทั้งปริมาณอัตราการไหล คุณภาพน้ำ การใช้ประโยชน์ของกิจกรรมการใช้น้ำ ประเมินผลกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก และนำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินโครงการจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำของแม่น้ำป่าสักในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งให้นำเสนอความเห็น เอกสารหรือเงื่อนไขการอนุญาตให้สูบน้ำจากหน่วยงานผู้อนุญาตประกอบไว้ในอีไอเอ
 
 
 
อีไอเอฉบับที่สาม
 
โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงในอีไอเอฉบับที่สาม [12] ได้ลดปริมาณการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักลง เหลือเพียงวันละ 46,932 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1.41 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หรือ 17 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยทำการสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักเหนือเขื่อนพระรามหก เพื่อนำมาใช้สำหรับกระบวนการผลิต ใช้เป็นน้ำหล่อเย็น และใช้ประโยชน์อื่น ๆ ภายในโรงไฟฟ้า โดยอธิบายการใช้น้ำเป็น 3 ช่วง คือ
 
ช่วงที่หนึ่ง - ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เขื่อนพระรามหกระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำของเขื่อนลงด้านท้ายน้ำของเขื่อน เฉลี่ย 27.17 – 642.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน และระบายน้ำผันไปใช้ในด้านเกษตรกรรมผ่านคลองระพีพัฒน์ประมาณ 147.9 – 230.42 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ความต้องการใช้น้ำทำการเกษตรกรรมจากคลองระพีพัฒน์ประมาณ 40 – 162 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน และน้ำอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมอีก 1.883 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน โครงการนี้สูบน้ำจากแม่น้ำป่าสัก 1.41 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน จะเห็นได้ว่าเฉพาะน้ำส่วนเกินที่จะต้องระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำของเขื่อนพระรามหก โครงการนี้สามารถสูบน้ำนำไปใช้ได้
 
ช่วงที่สอง - สำหรับในเดือนแรกของฤดูฝน (พฤษภาคม) และต้นฤดูแล้ง (ธันวาคม) ปริมาณความต้องการน้ำของโรงไฟฟ้า มีค่าประมาณร้อยละ 5.6 ของปริมาณน้ำที่ชลประทานปล่อยทิ้งลงสู่แม่น้ำป่าสักท้ายเขื่อนพระรามหก ซึ่งยังถือว่ามีผลกระทบน้อยสำหรับน้ำที่ปล่อยทิ้งท้ายเขื่อนพระรามหก แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับน้ำที่ส่งเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ระพีพัฒน์เลย
 
ช่วงที่สาม - ส่วนในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม - เมษายน) ปริมาณน้ำเกือบทั้งหมดเหนือเขื่อนพระรามหกถูกผันเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ระพีพัฒน์เพื่อใช้สำหรับการชลประทาน แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ดุลมวลน้ำพบว่า ปริมาณน้ำใช้ของโครงการฯ มีค่าประมาณไม่ถึงร้อยละ 1 ของน้ำเพื่อการชลประทาน โดยโครงการฯ ได้ทำเรื่องการขออนุญาตใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานกับกรมชลประทานและจะสร้างบ่อสำหรับสำรองน้ำดิบขนาด 1,600,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นปริมาณที่โครงการฯ สามารถนำมาใช้ในการผลิตได้นาน 39 วัน โดยไม่ต้องสูบน้ำจากภายนอก ถ้าเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้นมา กรมชลประทานมีสิทธิ์สั่งให้โครงการฯ หยุดสูบน้ำ เมื่อพิจารณาว่ามีการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น การใช้น้ำของโครงการนี้จึงไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 
ประเด็นสำคัญก็คือในช่วงฤดูแล้ง 4 เดือน (มกราคม – เมษายน) หรือ 120 วัน บ่อสำรองน้ำดิบขนาด 1,600,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่โครงการนี้สามารถนำมาใช้ในการผลิตได้นาน 39 วัน โดยไม่ต้องสูบน้ำจากภายนอก แต่ยังเหลือวันที่ขาดแคลนน้ำใช้ในการผลิตอีก 81 วัน คิดเป็นปริมาณน้ำที่ขาดแคลนเท่ากับ 3,801,492 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่นาที่ไม่สามารถผลิตข้าวได้ 3,168 ไร่ หรือคิดเป็นผลผลิตข้าวที่สูญเสียไป 2,534 ตันข้าวเปลือก 
 
สาระสำคัญมากในอีไอเอฉบับนี้ก็คือมีการยอมรับว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงเป็นน้ำที่เขื่อนพระรามหกใช้สำหรับผันเข้าคลองระพีพัฒน์เพื่อใช้ในการเกษตร แต่ละเลยการอธิบายการใช้น้ำของโครงการนี้ในส่วนของน้ำที่ต้องผันเข้าคลองระพีพัฒน์ในช่วงฤดูแล้งว่าจะนำมาซึ่งความสูญเสียพื้นที่นาข้าวและผลผลิตข้าวจำนวนเท่าไหร่ และจะมีความรับผิดชอบต่อความสูญเสียนี้อย่างไร แต่กลับยกตัวเลขปริมาณการใช้น้ำของโครงการนี้ที่มีค่าประมาณไม่ถึงร้อยละ 1 ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมว่าเป็นตัวเลขเพียงน้อยนิดที่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่ใช้น้ำคลองระพีพัฒน์แต่อย่างใด 
 
ถึงที่สุด สผ. และ คชก. กลับพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอฉบับที่สามนี้ไปอย่างง่ายดาย อาจจะเป็นด้วยแรงบีบบังคับจากกระบวนการสัญญาสัมปทานระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่อีไอเอฉบับนี้ไม่สามารถอธิบายความรับผิดชอบใด ๆ ที่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงได้แย่งน้ำจากคลองระพีพัฒน์ที่ใช้สำหรับการเกษตรไป มิหนำซ้ำอีไอเอฉบับนี้ยังไม่สามารถแสดงเอกสารและเงื่อนไขการอนุญาตให้สูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักและปล่อยน้ำทิ้งของโครงการลงคลองระพีพัฒน์จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมชลประทาน ตามที่ สผ.และ คชก.เรียกร้องไว้เมื่อคราวพิจารณาไม่เห็นชอบอีไอเอฉบับที่สองได้
 
 
..................................................................................
 
[1] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง. บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด. จัดทำโดย บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด. พฤศจิกายน 2550
[2] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ – รายงานฉบับหลัก) พฤศจิกายน 2550. หน้า 4-58 ตารางที่ 4.4-ช การเปรียบเทียบอัตราความต้องการใช้น้ำของโครงการจากการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง (หน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตรต่อวัน)
[3] ผลการตรวจสอบเบื้องต้นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และตำบลหนองน้ำใส และตำบลโคกม่วง อำเภอภาชี จังหวัดอยุธยา. (สิ่งที่ส่งมาด้วยพร้อมกับหนังสือ สผ. ที่ ทส 1009.7/10701.1 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550)
[4] พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
[5] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1). บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด. จัดทำโดย บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด. เมษายน 2551
[6] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 17 รูปที่ 3.1-ก ผังแสดงการบริหารจัดการน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก
[7]รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 19 รูปที่ 3.1-ค ผังแสดงการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก
[8] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 20 ตารางที่ 3.1-ข ความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก (รวมความต้องการใช้ในปัจจุบัน+การคาดการณ์ความต้องการใช้ในอนาคตจากโครงการต่าง ๆ)
[9] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 21 ตารางที่ 3.1-ค การเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่จุดสูบน้ำ
[10] คิดที่ค่าเฉลี่ยการใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวในพื้นที่ทำนาชลประทานคลองระพีพัฒน์ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ – ผู้เขียน. 
[11] คิดที่ค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้จากพื้นที่ทำนาชลประทานคลองระพีพัฒน์ประมาณ 80 ถังต่อไร่, 1 ถังเท่ากับ 10 กิโลกรัม – ผู้เขียน.
[12] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด. จัดทำโดย บริษัท ซีคอท จำกัด. กันยายน 2552 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มองมุมใหม่: อุตสาหกรรมไอซีทีหนุนดี โตได้อีกมาก

Posted: 23 Aug 2010 09:41 PM PDT

โครงการส่งเสริมบทบาทอุตสาหกรรมไอซีทีเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ระยะที่ 2 ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มอบหมายให้ทีดีอาร์ไอทำการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมไอซีทีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดใหม่ (emerging software and digital content industries) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในฐานะเป็นบริการ (Software as a Service หรือ SaaS) อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัว (Embedded software) อุตสาหกรรมการให้บริการเนื้อหาบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile content) อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อีกมาก อีกทั้งจากการศึกษาประสบการณ์จากประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมไอซีทีคือ ฟินแลนด์ เยอรมนี และอิสราเอล มีจุดเด่นที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จึงเสนอแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีไทย 5 ประการ คือ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและตลาดโทรคมนาคมในประเทศ 2) การพัฒนาเทคโนโลยี 3) การพัฒนาตลาดในประเทศ 4) การส่งเสริมการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ 5) การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังเติบโต และในบางสาขาของอุตสาหกรรมไอซีทียังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีผู้ประกอบการน้อยราย เติบโตจากการลองผิดลองถูก ขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารไร้สายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสมากในทางธุรกิจ หากสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นได้

ตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าฮาร์ดแวร์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer: OEM) อาจปรับตัวโดยการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเน้นการผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น หรือเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น และ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตเพียง 40-50 ราย และมีเพียง 10 รายที่สร้างตัวละครเอง อาจมุ่งสู่การพัฒนาตัวละคร (character) ของตัวเองเพื่อจะได้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้

 

ภาพที่ 1 Smiling Curve (มุมมองใหม่)

ด้านโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์นั้น ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในฐานะเป็นบริการ (SaaS) ผู้ประกอบการไทยอาจขยายตลาดได้ทั่วโลก โดยการมุ่งขายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แทนการขายแรงงาน และในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฝังตัว ผู้ประกอบการไทยควรสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการออกแบบ และเน้นการขายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แทนการขายแรงงาน ส่วนในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดใหม่นั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการให้บริการเนื้อหาบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุตสาหกรรมเกม ควรมุ่งสู่การขยายตลาดได้ทั่วโลก เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการขายในประเทศ ส่วนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ควรมุ่งขยายตลาดได้ทั่วโลก โดยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยการสร้างตัวละครของตนเอง

สำหรับการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีทีไทย การศึกษาให้ข้อเสนอแนะต่อทั้งผู้ประกอบการ และบทบาทภาครัฐ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยควรมุ่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดในประเทศมีขนาดเล็ก สร้างสมดุลระหว่างการรับจ้างผลิตและการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา (IP) โดยใช้การรับจ้างผลิตในการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ รักษากระแสเงินสดและการจ้างงาน ในขณะที่ใช้การสร้างทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ควรรวมตัวกันสร้าง app store สำหรับตลาดในประเทศ เพื่อลดต้นทุนในการต้องจ่ายค่าจัดจำหน่ายใน app store ของต่างประเทศ ซึ่งมักอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 30 สมาคมผู้ประกอบการควรเป็นแกนกลางทำหน้าที่ฝึกอบรมบุคลากร ตามความต้องการของอุตสาหกรรม โดยขอรับการอุดหนุนจากรัฐ

บทบาทภาครัฐในด้านการกำหนดกฎกติกา ควรเปิดเสรีโทรคมนาคม และส่งเสริมเทคโนโลยีทางเลือก การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างเป็นธรรม ลดการผูกขาด จะทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีราคาถูกลง ทำให้ตลาดเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ก็จะมีอำนาจต่อรองกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น และได้รับส่วนแบ่งรายได้สูงขึ้น รวมทั้งการทำกิจกรรมด้านการตลาดต่างๆ และปรับกฎเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนให้เอื้อธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ปรับลดมูลค่าขั้นต่ำของโครงการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เช่น ลดลงเหลือ 5 แสนบาท เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะในการประกอบการของผู้ประกอบการในประเทศขนาดเล็กที่ใช้เงินทุนไม่มาก เป็นต้น

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศ คือ การใช้ตลาดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยกำหนดเงื่อนไขให้โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะตลาดซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก และส่วนแบ่งตลาดส่วนมากเป็นของบริษัทจากต่างประเทศ ดังนั้น หากภาครัฐใช้ตลาดจัดซื้อจัดจ้างในการส่งเสริมให้มีการใช้ซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น จะเป็นการช่วยขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้มาก

โดยภาครัฐอาจริเริ่มให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ประเภทโอเพน ซอร์ส (Open source software) โดยเริ่มจากซอฟต์แวร์ที่ไม่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก เช่น ซอฟต์แวร์สำนักงาน (Office software) ก็จะสามารถลดต้นทุนของรัฐในการจัดหาซอฟต์แวร์ได้มากและจะช่วยสร้างตลาดให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยด้วย รวมทั้งตั้งหน่วยงานส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่เชื่อมโยงกับการส่งออกและขยายตัวของอุตสาหกรรม เพื่อให้ทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อย่างมีประสิทธิผล ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม

ส่วนตลาดต่างประเทศควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันในการทำการตลาดต่างประเทศโดยให้เงินสนับสนุนในการเข้าร่วมนิทรรศการระดับนานาชาติภายใต้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นพอ เช่น อนุญาตให้ใช้หรือไม่ใช้ตราสัญลักษณ์ของประเทศไทยก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม เพราะผู้ประกอบการอาจสร้างแบรนด์ตัวเองที่ตรงกับความต้องการของตลาดก็ได้

ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การใช้ไอซีทีในประเทศ แม้ภาครัฐได้มีการพัฒนาแผนแม่บทไอซีทีเพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ไอซีทีในประเทศมาตั้งแต่ปี 2545 แต่การใช้ไอซีทีในสถานประกอบการของไทยยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ควรมุ่งส่งเสริมในกลุ่มเป้าหมายหลักคือ SMEs และกิจการในภูมิภาค ส่งเสริมการสร้างทักษะด้าน IT ส่งเสริมบรอดแบนด์และเปิดเสรีโทรคมนาคม รวมทั้งการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการคลายกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านข้อมูล ขณะที่การใช้ไอซีทีของหน่วยงานภาครัฐ ควรส่งเสริมให้มีการบริการและทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้มากขึ้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกจี้ บ.ฟูจิตสึ รับกรรมการสหภาพกลับเข้าทำงาน

Posted: 23 Aug 2010 08:23 PM PDT

23 ส.ค. 53 - กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัท ฟูจิตสึ เจนเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด จัดให้มีการเจรจาหาข้อยุติปัญหาการเลิกจ้างระหว่างผู้แทนของสหภาพแรงงานฯ และผู้แทนของบริษัทฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว
 
 
 
วันที่ ๒๓ มีนาคม 2553
 
เรียน เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน, ประชาชนและสื่อมวลชนที่รักทุกท่าน
 
กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เลขที่ ๒๗๒/๑๔๒ หมู่ที่ ๖ ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นองค์กรที่เป็นการรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงานในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของลูกจ้าง เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารและให้การศึกษาด้านการบริหารงานขององค์กรของผู้ใช้แรงงาน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมและสังคมโดยรวม
 
กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้รับทราบเรื่องการกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้างของนายวัลลภ จั่นเพช็ร ซึ่งเป็นกรรมการของสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจนเนอรัล แห่งประเทศไทยและเป็นกรรมการลูกจ้าง กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก มีความเป็นกังวลและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในกรณีที่นายจ้างมีการขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างและไม่ให้นายวัลลภ จั่นเพ็ชร เข้าไปในสถานประกอบการตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขัดขวางโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสหภาพแรงงานฯ และกรรมการลูกจ้างของนายวัลลภ จั่นเพ็ชร
 
ดังนั้น กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก เห็นว่าการกระทำของบริษัทฯ เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน จึงเรียนมายังบริษัทฯ ได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับนายวัลลภ จั่นเพ็ชรและให้บริษัทฯ หาข้อยุติการละเมิดสิทธิแรงงานโดยด่วน
 
จากปัญหาการกลั่นแกล้งโดยไม่ให้นายวัลลภ จั่นเพชร เข้าภายในสถานประกอบการตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมานั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านายจ้างมีเจตนาที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในการรวมตัวกัน และขัดขวางและแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างที่สามารถกระทำได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา ๖๔ ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรฯ และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศอนุสัญญาหลักฉบับที่ 87 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวรัฐต้องให้การคุ้มครอง การที่บริษัทฯ พยายามที่จะเลิกจ้างลูกจ้างและขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างได้เข้าทำงานตามปกติ ทั้งที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนทุกเดือนให้กับลูกจ้างในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นการกระทำดังกล่าวยังขัดต่อมาตรา 20,52,121,122,123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งกรรมการลูกจ้างระหว่างข้อตกลงสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ
 
ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมของลูกจ้าง และเพื่อประโยชน์แก่องค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งมาเพื่อประโยชน์ของพนักงานบริษัท ฟูจิตสึ เจนเนอรัล(ประเทศไทย) จำกัดทุกคนมีสิทธิ์เป็นสมาชิกและได้รับการคุ้มครองจากสหภาพแรงงาน จึงขอเรียกร้องให้บริษัท ฟูจิตสึ เจนเนอรัล(ประเทศไทย) จำกัดปฏิบัติตามกกหมายดังต่อไปนี้
         1. ให้บริษัท ฟูจิตสึ เจนเนอรัล(ประเทศไทย) จำกัด รับนายวัลลภ จั่นเพ็ชร กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้างเดิมทุกประการ
         2. ห้ามมิให้บริษัท ฟูจิตสึ เจนเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด ขัดขวางการดำเนินงานของสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจนเนอรัลแห่งประเทศไทย ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
         3. ห้ามมิให้บริษัท ฟูจิตสึ เจนเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด ขัดขวางหรือกระทำการกลั่นแกล้งหรือการลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการและสมาชิกของสหภาพแรงงานฯ ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป
         4. ให้บริษัท ฟูจิตสึ เจนเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด จัดให้มีการเจรจาหาข้อยุติปัญหาการเลิกจ้างระหว่างผู้แทนของสหภาพแรงงานฯ และผู้แทนของบริษัทฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว
 
ดังนั้น กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก จึงขอร้องเรียนมายังท่านให้ดำเนินการช่วยเหลือให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้รับความเป็นธรรมและให้นายจ้างเคารพกฏหมายและยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฏหมายเพื่อไม่ให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนและเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์อันดีในระบบทวิภาคีที่ยั่งยืนตลอดไป
 
จึงเรียนมาเพื่อขอความอนุเคราะห์จากทุกท่าน ร่วมส่งหนังสือคัดค้านการกระทำไม่เป็นธรรมไปที่
 
กรรมกรจงรวมกันเข้า
กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปฏิรูปสื่อ

Posted: 23 Aug 2010 04:02 PM PDT

 
ครั้งที่แล้ว ผมได้พูดถึงว่าหากมองจากสังคม อะไรคือปัญหาของสื่อที่น่าจะปฏิรูป
 
ในครั้งนี้ ผมขอเสนอว่า หากสังคม (ไม่ใช่รัฐ) สามารถกำกับการปฏิรูปสื่อได้
 
เส้นทางปฏิรูปสื่อควรเป็นอย่างไร

1/ รัฐต้องโปร่งใสมากขึ้น โปร่งใสหมายความว่าเปิดตัวเองให้คนอื่นๆ สามารถมองเห็นได้ทะลุปรุโปร่ง เพื่อเขาจะได้สามารถตรวจสอบรัฐได้ในทุกแง่ ไม่เฉพาะแต่แง่โกงเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงแง่โง่, แง่หาประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่ใส่ใจต่อประโยชน์ของส่วนรวม, ฯลฯ
 
นอกจากต้องแก้กฎหมายและระเบียบราชการ ที่จะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้สะดวกขึ้นกว่าที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ข่าวสารข้อมูลของรัฐในปัจจุบันแล้ว รัฐและหน่วยงานของรัฐก็ต้องกระตือรือร้นในการให้ข้อมูลเองด้วย ไม่ต้องตามจี้กันไปทุกเรื่อง เคยมีความคิดกันว่า เอกสารราชการส่วนใหญ่ควรเอาลงในเว็บไซต์ของหน่วยงาน เพราะถึงอย่างไรในปัจจุบัน ก็เตรียมเอกสารเหล่านี้ในระบบดิจิตอลหมดแล้ว ไม่ได้เพิ่มแรงงานอะไรขึ้นมา ที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยปลายนิ้วอยู่แล้ว
 
แน่นอนว่า พ.ร.บ.ข่าวสารข้อมูลของรัฐก็ควรปรับ ปรุงแก้ไข เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการข้อมูลที่ถูกปิดกั้นโดยหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐร่วมกับเอกชน ในเวลาอันรวดเร็วพอสมควร
 
สื่อมีหน้าที่ต้องฉายแสงไปให้ประชาชนได้เห็นหลังบ้านของรัฐอย่างโจ่งแจ้ง การจ้องมองและเห็นคืออำนาจ ในยุคสมัยที่รัฐมีความสามารถในการจ้องมองและเห็นประชาชนแต่ละคนได้มากขึ้น
 
ประชาชนก็ต้องมีความสามารถไม่น้อยไปกว่ากันที่จะจ้องมองและเห็นรัฐได้ไม่น้อยกว่ากันบ้าง

2/ จำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์กันใหม่
 
จุดมุ่งหมายหลักของกฎหมายประเภทนี้ คือทำให้ทุกคนปลอดภัยจากการขโมย, ละเมิด และถูกรังแก เพราะอินเตอร์เน็ตสร้างตลาดชนิดใหม่ ซึ่งนับวันก็มีการแลกเปลี่ยนสินค้า, บริการ, ข้อมูลข่าวสาร, และความคิดในปริมาณมากขึ้นทุกที จนกระทั่งในอนาคตอันใกล้ ตลาดออนไลน์จะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของการแลกเปลี่ยนดังกล่าว รัฐนับตั้งแต่โบราณมามีหน้าที่ปกป้องให้ตลาดปลอดภัยและเป็นธรรม รัฐก็ต้องทำอย่างนั้นกับตลาดออนไลน์เหมือนกัน
 
แต่ความคิดที่มีกฎหมายเพื่อปกป้องระบอบปกครอง และระบบสังคม-วัฒนธรรมในตลาดประเภทนี้ เป็นความคิดที่ไม่อาจทำได้ในความเป็นจริง เพราะมีวิธีการร้อยแปดที่จะเล็ดลอดเข้าสู่พื้นที่ไซเบอร์ (อย่าลืมว่าโดยธรรมชาติแล้วพื้นที่นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่เปิด)
 
คงถึงเวลาเสียทีที่ต้องคิดถึงการปกป้องคุณค่าของระบอบการปกครองก็ตาม ของระบบสังคม-วัฒนธรรมก็ตาม ด้วยสติปัญญาแทนการใช้อำนาจ ถึงอย่างไรก็ไม่มีเทคโนโลยีอะไร หรืออำนาจอะไรที่จะสามารถปิดกั้นการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลและความคิดเห็นกันอย่างเสรีได้เสียแล้ว แทนที่จะเสียกำลังทรัพย์และกำลังคนไปนั่งคอยจับผิดผู้คน ใช้เงินและทรัพย์นั้นไปในทางที่จะทำให้การถกเถียงอภิปรายกันบนพื้นที่นี้ เป็นไปด้วยเหตุผลและข้อมูลที่เป็นจริงดีกว่า
 
สิ่งที่มีคุณค่าจริง ย่อมยืนยงได้ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ใช่อำนาจดิบ
 
อำนาจที่รัฐได้ไปจาก พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ รัฐใช้มันอย่างที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้เลย เป็นอันตรายต่อการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลอย่างยิ่ง กฎหมายใหม่เพื่อการปฏิรูปสื่อจึงต้องลดอำนาจรัฐลง และสร้างกระบวนการที่อำนาจรัฐในการใช้ดุลพินิจ ต้องถูกตรวจสอบหรือยับยั้งได้ตลอดเวลา

3/ หนังสือพิมพ์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของตนมานาน กว่าสังคมจะยอมรับว่าเสรีภาพของหนังสือพิมพ์มีความสำคัญ สื่อทางเลือกซึ่งเป็นสื่อชนิดใหม่ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ก็ควรได้เสรีภาพของตัว โดยไม่ต้องใช้เวลาต่อสู้ยาวนานอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์, วิทยุชุมชน, โทรทัศน์ชุมชน, หรือสื่อประเภทอื่น ต้องได้รับหลักประกันเรื่องเสรีภาพเหมือนกัน ต้องเข้าใจว่า เราอาจกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่สื่อจะมีขนาดเล็กลง และครอบคลุมตอบสนองต่อผู้คนในวงแคบกว่าเดิม แต่ทุกคนกลับเข้าถึงสื่อได้ง่ายกว่า
 
หากคิดถึงเสรีภาพของสื่อเฉพาะแต่สื่อขนาดใหญ่ เช่น หนังสือพิมพ์และทีวีในทุกวันนี้ เสรีภาพนั้นก็อาจไม่เป็นหลักประกันเสรีภาพในการรับรู้ของผู้คนมากนัก เพราะจะมีคนใช้สื่อประเภทนี้น้อยลงไปเรื่อยๆ

4/ ถึงแม้ปัจจุบัน อำนาจรัฐตามกฎหมายที่จะใช้ในการควบคุมสื่ออาจลดน้อยลง แต่สื่อซึ่งกลายเป็นธุรกิจเต็มตัวแล้ว กลับอ่อนไหวต่อการคุกคามและกำกับของรัฐ (ที่จริงคือนักการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐ) ได้มากกว่าเดิม เพราะรัฐกุมงบฯโฆษณาก้อนใหญ่ ซึ่งเป็นของกระทรวงทบวงกรมและรัฐวิสาหกิจ (รวมบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้นใหญ่ด้วย) จึงอาจลงหรือถอนโฆษณาเพื่อกำกับสื่อได้ด้วย
 
การเข้าถึงแหล่งข่าว ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่รัฐเลือกจะเปิดหรือปิดแก่สื่อได้ และย่อมกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจของสื่ออย่างแน่นอน
 
จนถึงที่สุด มาตรการนอกกฎหมาย เช่น การคุกคามด้วยการออกหนังสือขอความร่วมมือ ไปจนถึงปาระเบิดข่มขู่ ก็เป็นสิ่งที่รัฐยังใช้อยู่
 
เราควรกลับมาคิดถึงกระบวนการที่จะควบคุมรัฐ มิให้ใช้มาตรการในกฎหมายและนอกกฎหมายเหล่านี้ในการควบคุมสื่อ เช่น จะทำอย่างไร รัฐจึงจะไม่อาจใช้อำนาจการวางโฆษณาเป็นเครื่องมือควบคุมสื่อได้ เป็นต้น
 
การเข้าถึงแหล่งข่าวควรถือว่าเป็นสิทธิเสมอภาคแก่สื่อทุกชนิด อย่างน้อยก็ในบรรดาหน่วยงานของรัฐทั้งหมด จะไม่มีสื่อใดถูกกีดกันจากการให้ข่าวที่เป็นทางการของหน่วยงาน
 
การคุกคามสื่อในทางลับจะเกิดขึ้นไม่ได้ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในด้านนี้ ต้องเอาจริงเอาจังกับอาชญากรรมประเภทนี้อย่างไม่ไว้หน้า หากสื่อฟ้องร้องถึง ผู้บังคับบัญชา รัฐต้องดูแลว่าผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นพร้อมจะสืบสวนสอบสวน เพื่อลงโทษบุคคลที่คุกคามสื่อ

5/ ควรมีหน่วยงานในภาคสังคม ที่มีความเป็นกลางจริง ในการเฝ้าติดตามตรวจสอบสื่อ และรายงานผลให้สังคมได้รับรู้อยู่เป็นประจำ ต้องหาทางให้หน่วยงานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยไม่ต้องอยู่ในอาณัติของผู้ให้ทุนจนไม่สามารถให้ความเห็นที่เป็นกลางได้จริง ในขณะเดียวกันก็ควรสร้างหน่วยงานให้มีสมรรถภาพในการเฝ้าติดตาม และประเมินได้ดีด้วย
 
หน่วยงานประเภทนี้ สามารถให้ความรู้ด้านสื่อแก่ประชาชนได้มาก
 
ในขณะเดียวกัน ก็เท่ากับช่วยทำให้สังคมมีความสามารถในการอ่านสื่อ "ออก" (media literacy)

6/ ประเด็นสุดท้ายเท่าที่ผมจะนึกออกก็คือ การศึกษาวิชาสื่อ (ในชื่อ เช่น นิเทศศาสตร์, สื่อสารมวลชน หรือวารสารศาสตร์) ในระดับมหาวิทยาลัย ควรได้รับการทบทวนปรับปรุงเสียที วิชานี้สอนกันในมหาวิทยาลัยมาหลายสิบปีแล้ว และผลิตนักทำสื่อประเภทต่างๆ ป้อนตลาดแรงงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น จึงควรมีส่วนรับผิดชอบต่อคุณภาพของสื่อที่อาจไม่ได้ดีขึ้นในหลายด้านด้วย
 
ประเด็นที่น่าทบทวนมีมาก เช่น ยังควรรักษาหลักสูตรปริญญาตรีไว้ต่อไปหรือไม่ เพราะคนทำสื่อน่าจะมีวุฒิภาวะสูงกว่าความรู้ด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียว หากเปิดสอนแต่ระดับหลังปริญญาตรีอย่างเดียวจะดีกว่าหรือไม่ มหาวิทยาลัยควรมีภาระหน้าที่ด้านการผลิตคนด้านนี้ หรือผลิตความรู้ด้านนี้ โดยปล่อยให้สื่อผลิตคนของตนเอง หรือสื่ออาจร่วมมือกันในการผลิตคน (เช่น สมาคมสื่อทำหลักสูตรของตนเอง และฝึกเอง เป็นต้น) โดยมหาวิทยาลัยหาทางเชื่อมต่อความรู้ที่ตนสร้างขึ้นได้กับสื่อที่ทำงานอยู่จริง
 
ผมเชื่อว่า คนที่มีความรู้ด้านสื่อกว่าผม คงสามารถคิดถึงเส้นทางปฏิรูปได้อีกมาก โดยมีสังคมเป็นผู้นำการปฏิรูป ไม่ใช่รัฐเป็นผู้นำ
 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทอวยตรรกะเทพของเทวดาแถวสามย่าน

Posted: 23 Aug 2010 03:44 PM PDT

 
เมื่อวันเกิดคณะรัฐศาสตร์ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ได้มีการเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง มาร่วมเสวนาในงาน และในวันเดียวกันนั้นเองก็ได้เกิด “ข้อพิพาท” ขึ้นระหว่างกลุ่มนิสิตกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะชูป้าย อันมีข้อความที่เป็นเพียง “คำพูดที่นายอภิสิทธิ์เคยกล่าวไว้ หรือคำพูดที่โด่งดังต่างๆ ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างจอห์น เอฟ.เคนนาดี” กับอาจารย์ของคณะรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดงานของคณะ ที่มีชื่อว่า “นายวีระศักดิ์ เครือเทพ” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นหากสรุปแบบง่ายที่สุดก็คือ นายวีระศักดิ์ไม่ยอมอนุญาตให้นิสิตกลุ่มดังกล่าวชูป้ายที่พวกตนเตรียมไว้ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์อภิปราย จนเป็นเหตุให้เกิดความพิพาทต่อเนื่องกันไป
 
แน่นอนว่าตามธรรมชาติของการเกิดข้อพิพาท ต่างฝ่ายก็จะออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนเอง ซึ่งงานนี้จะลอง “สมมติ” ไปเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ นายวีระศักดิ์ เครือเทพ ออกมากล่าวอ้างนั้น “เป็นจริง” โดยจะอาศัยข้อมูลที่นายวีระศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับทาง Voice TV [1] (คลิกเพื่อดูลิงค์) เป็นสำคัญ
 
หากสิ่งที่นายวีระศักดิ์กล่าวไว้ทั้งหมดเป็นจริง (ตามข้อสมมติ) แล้ว นั่นแปลว่า :
 
- ไม่ได้มีการยื้อแย่ง หรือออกแรงอะไรมากมายเลยในการนำแผ่นป้ายมาจากทางฝ่ายนิสิต
- นิสิตไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า หรือให้ดูแผ่นป้ายก่อนยกชู
- กลุ่มนิสิตดังกล่าวใช้เสรีภาพโดยเบียดบังสิทธิของนายวีระศักดิ์ ในฐานะคนจัดงานประชุม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่ถูกต้อง
- ไม่มีการถามประชาคม จุฬาฯ ล่วงหน้า
- การเลือกที่จะชูป้ายเฉพาะช่วงที่นายอภิสิทธิ์อภิปราย เป็นการใช้แสดงออกอย่างเลือกที่รักมักที่ชัง
- นายวีระศักดิ์ “เชื่อว่า” นิสิตกลุ่มนี้มีบุคคลอยู่เบื้องหลัง
 
ผมจะแสดงให้เห็น “ตรรกะเทพ” นายวีระศักดิ์ เครือเทพไปเป็นข้อ ตามได้แจงไว้ข้างต้น โดยนี่ถือว่า “ไม่ฟังเสียงจากทางฟากนิสิตเลย และถือว่าข้อมูลที่นายวีระศักดิ์กล่าวมาทั้งหมดเป็นจริงดังได้อธิบายไว้แล้ว
 
ประเด็นแรก – การยื้อแย่ง: จากที่นายวีระศักดิ์กล่าวอ้างไว้ทาง Voice TV ว่าเมื่อตนไม่ไม่ยอมให้นิสิตยกชูป้าย เพราะยังไม่เห็นข้อความในป้าย กลุ่มนิสิตจึงเดินหันหลัง และนายวีระศักดิ์ก็สามารถยึดเอาป้ายมาได้โดยไม่ได้ออกแรงอะไรเลย จะเรียกว่ายื้อแย้งมั๊ย?
 
ผมเห็นด้วยเลยครับ หากอิงตามข้อมูลนี้ นายวีระศักดิ์ไม่ได้ยื้อแย่งแน่นอนครับ นายวีระศักดิ์นั้นจงใจขโมยโดยเจตนาครับ นายวีระศักดิ์ได้ทำการพรากความเป็นเจ้าของของแผ่นป้ายเหล่านั้นในขณะที่กลุ่มนิสิตที่เป็นเจ้าของแผ่นป้ายกำลังเดินหันหลัง และริบมันมาโดยไม่ได้ออกแรงใดๆ นี่คือการขโมยชัดๆ และที่เป็นเรื่องตลกอย่างร้ายแรงที่สุดก็คือ คนที่เป็นถึงอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงกับ “กล่าวอ้างแบบหน้าตาเฉย” ราวกับการขโมยของจากมือผู้อื่นเป็นเรื่องถูกต้อง ชอบธรรม ไร้ความผิด
 
เช่นนั้นก็น่าสนใจนะครับ ผมขอแนะนำให้ทุกท่าน “หยิบฉวยเอาอะไรก็ได้ที่นายวีระศักดิ์เป็นเจ้าของ ขณะที่นายวีระศักดิ์หันหลัง และไม่ต้องออกแรงอะไรมากมาย” ดูนะครับ ท่านสามารถทำได้กับนายวีระศักดิ์ครับ เพราะนายวีระศักดิ์ เครือเทพมองว่านั่นไม่ใช่ความผิด ฉะนั้นหากท่านทำได้ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าสตางค์, กุญแจรถยนต์, ฯลฯ ของนายวีระศักดิ์ก็น่าจะลองดูนะครับ คนๆ นี้เค้าใจดีครับ หากหยิบฉวยไปในกรณีนี้เค้าไม่ว่าอะไรครับ ท่านสามารถนำไปพูดต่ออย่างหน้าตาเฉย ในน้ำเสียงมั่นใจในการกระทำของตนต่อไปได้ด้วยนะครับ เพราะนี่คือตรรกะเทพที่คงความถูกต้องสมบูรณ์ไว้ครับ จงวางใจได้
 
...นี่แหละครับตรรกะอันเป็นเลิศที่สุดของเทวดาแถวสามย่าน
 
ประการที่สอง – นิสิตไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า เรื่องการชูป้าย: เป็นคำกล่าวอ้างที่น่าฟังจริงๆ ครับ นายวีระศักดิ์ยังอธิบายเพิ่มเติมไปอีกนะครับว่า “เพื่อว่าตนจะได้เตรียมการไว้ให้” แหม...ฟังแล้วช่างดูจับใจจริงๆ นะครับ แต่ก็น่าสงสัยนะครับว่า ถ้าเช่นนั้นต่อไปนายวีระศักดิ์คงจะต้องยุ่งมากแน่นอน หากใคร จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไรทุกอย่างเนี่ย จะต้องมาแจ้งให้นายวีระศักดิ์ทราบล่วงหน้า
 
ต่อไปใครอยากจะเข้าห้องสมุด พบปะอาจารย์คนไหน เปิดวิชาอะไร กินข้าวที่ไหน หรืออยากจะลุกไปเข้าห้องน้ำก็กรุณาแจ้งนายวีระศักดิ์ให้ทราบด้วยนะครับเพื่อที่ท่านจักได้เตรียมการให้เราท่าน อาจจะมีการปูพรมแดง, อุปกรณ์ดีท็อกซ์, เชิงเทียนสำหรับรับประทานอาหาร ฯลฯ ให้เรากระมัง
 
สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เราเห็นจาก “ตรรกะเทพ” ที่สองนี้ก็คือ มันมีคนคิดว่าการที่คนเค้าจะยกมือชูป้ายกระดาษนั้น ต้องเตรียมการอะไรมากเป็นพิเศษกว่าการเข้าห้องน้ำ บางทีผู้ใช้ตรรกะเทพ ก็ต้องคิดและเข้าใจผู้เป็นสามัญมนุษย์อย่างผมบ้างนะครับว่า บางทีการที่ไม่แจ้งไปเนี่ยว่าจะมีการยกป้าย ก็เพราะว่า “มันไม่มีเรื่องห่าอะไรต้องแจ้งครับ ไม่ต่างจากการไปทำธุระหนัก-เบาส่วนตัวเลย!” 
 
คือ ผู้เป็นสามัญมนุษย์อย่างผมเนี่ยก็คิดไม่ตกครับว่า มันจะต้องเตรียมการอะไรสำหรับการยืน และชูป้าย? พรมแดง? ทหารเดินสวนสนาม? พวงมาลัยร้อยแปดแบบจะชกมวย? ฯลฯ
 
หากการทำอะไรที่ธรรมดาสามัญขนาดนี้ต้องแจ้งนายวีระศักดิ์ทุกอย่างจริงๆ ผมก็อยากจะลองชวนให้ทุกท่านที่จะไปทำอะไรในคณะรัฐศาสตร์ก็ตามนะครับ จะทำอะไรก็ช่าง ก่อนอื่นวิ่งไปที่ห้องนายวีระศักดิ์ก่อนนะครับ แจ้งเค้า แล้วรอให้เค้าเตรียมการให้ทุกครั้งไปนะครับ เพราะบางทีสามัญมนุษย์อย่างเรานึกไม่ออกครับว่ามันจะต้องเตรียมการอะไรบ้าง พฤติกรรมสามัญเยี่ยงนี้เนี่ย แต่ผู้ใช้ตรรกะเทพ เค้าคิดได้ครับ
 
...นี่แหละครับตรรกะอันเป็นเลิศที่สุดของเทวดาแถวสามย่าน
 
ประการที่สาม – การใช้เสรีภาพโดยเบียดเบียนสิทธิผู้อื่น: น่าสนใจจริงๆ ครับกับตรรกะเทพชุดที่สามนี้ เมื่อคำตอบของนายวีระศักดิ์คือ การบอกว่ากลุ่มนิสิตใช้เสรีภาพแบบไม่มีขอบเขตไม่ได้ ต้องไม่ไปเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่เรียนรัฐศาสตร์ยิ่งต้องเข้าใจจุดนี้เป็นอย่างดีที่สุด (คือ กลุ่มนิสิตเบียดเบียนสิทธิของนายวีระศักดิ์ในฐานะผู้จัดงาน)
 
น่าสนใจยิ่งครับ คือจากคำพูดของนายวีระศักดิ์เองนะครับ (ที่ตั้งสมมติฐานว่าจริงตามนั้นทุกอย่าง) หากคิดแบบสามัญมนุษย์อย่างเราๆ แล้ว ก็น่าสนใจนะครับว่าใครกันแน่หนอที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของตนโดยเบียดบังสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ระหว่าง.....
 
การขโมยแผ่นป้ายของกลุ่มนิสิต, การใช้สิทธิเสรีภาพในฐานะผู้จัดงานมาเบียดบังไม่ให้กลุ่มนิสิตเริ่มแม้แต่จะชูป้าย, การที่นายกรัฐมนตรีใช้ “สิทธิเสรีภาพ” ของตนในการกันเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั้งหมดในบริเวณนั้น, การที่เอาฆาตกรสั่งฆ่าคนหลายสิบ หลายร้อย มานั่งหน้าซื่อ ลอยหน้าลอยตาที่คณะได้โดยไม่คิดว่าเป็นการสร้างมลภาวะทางจิตใจ สายตา และการฟัง ของคนแถวๆ นั้น ฯลฯ เทียบกับ การที่นิสิตกลุ่มหนึ่งพยายามจะชูป้าย (ที่นายวีระศักดิ์ยังไม่รู้ว่ามีข้อความว่าอะไร) แล้วเนี่ย ต่อให้ข้อความนั้นไม่ใช่คำพูดของนายอภิสิทธิ์ หรืออดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนนาดี ก็ตาม เป็นอะไรที่รุนแรง และหยาบคายกว่านั้นอีกมากๆ ก็ตาม ผมผู้คิดเยี่ยงสามัญมนุษย์ก็ไม่อาจจะเห็นได้ว่ากลุ่มนิสิตเหล่านั้นใช้สิทธิเสรีภาพของตนเบียดบังผู้อื่น มากกว่าที่นายวีระศักดิ์ หรือนายกรัฐมนตรีที่นายวีระศักดิ์พยายามปกป้องตรงไหนเลย ผู้ซึ่งสามารถมองว่านายวีระศักดิ์กล่าวถูกต้อง “สมควรแก่เหตุ” ได้ คงต้องมีตรรกะเทพ และเป็นเทวดาจริงๆ ที่ภูมิปัญญาระดับสามัญมนุษย์อย่างผมไม่อาจหยั่งถึงเป็นแน่
 
...นี่แหละครับตรรกะอันเป็นเลิศที่สุดของเทวดาแถวสามย่าน
 
ประการที่สี่ – ไม่ถามประชาคมจุฬาฯ ล่วงหน้า: ผมเพิ่งรู้แจ้ง (enlighten) เมื่อได้รับฟังตรรกะเทพที่สี่นี้เองว่าเดี๋ยวนี้ประชาคม จุฬาฯ จะกลายมาเป็น “พ่อ” ผมเสียแล้ว
 
ผมเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 4 ปี แต่บอกตามตรงว่าไม่เคยเขาไปร่วม หรือทำอะไรอันเป็นผลทางตรงจากสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ประชาคมจุฬาฯ” อะไรนี่เลย แต่น่าแปลกที่ผมเองก็สามารถได้รับ “ศักดิ์ และสิทธิ ในความเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่” ผมสามารถแสดงออกทางการเมือง กระทำพฤติการณ์ตามที่ผมต้องการ (ตามขอบข่ายที่กฎของจุฬาฯ กำหนด ซึ่งหมายรวมถึงการออกมาประท้วงกฎเหล่านั้นด้วย!) ผมไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าประชาคมจุฬาฯ มันคือห่าอะไร ใหญ่มาจากไหน แล้วทำไมต้องไปบอกอะไรมัน ฟังอะไรมัน...
 
จนกระทั่งผมได้ทราบจากตรรกะเทพของนายวีระศักดิ์นี่แหละว่า หากมีอะไรแล้ว เราชาวจุฬาฯ จะต้องไปปรึกษาประชาคมจุฬาฯ เสียก่อน ไม่เว้นแม้แต่การจะยกสมบัติของตนขึ้นชูในเขตของจุฬาฯ ครับ ต่อไปใครคิดจะชูมือยกโทรศัพท์มือถือ, ธง, กระเป๋าสตางค์, ฯลฯ อะไรขึ้นไป ก็กรุณาปรึกษา “ประชาคมจุฬาฯ” อะไรนี่ด้วยนะครับ (ว่าแต่มันอยู่ตรงไหนให้ไปปรึกษาหนอ? นี่ถามอย่างจริงจัง เพราะสามัญมนุษย์ผู้ไม่เคยสุงสิงกับไอ้เจ้าสิ่งนี้อย่างผม ไม่เคยทราบจริงๆ ว่าจะหามันพบได้จากที่ไหน)
 
และผมเชื่ออย่างยิ่งว่านายวีระศักดิ์ เจ้าของตรรกะเทพนี้จะต้องปฏิบัติตามความเชื่อที่ตนว่าออกมานี้อย่างเคร่งครัดแน่นอน ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านเห็นนายวีระศักดิ์ทำอะไร แปลความได้เลยครับว่า นั่นผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาของ “ประชาคมจุฬาฯ” เรียบร้อยแล้ว คงสามารถจะแทนสิทธิ และเสียงของชาวจุฬาฯ ทั้งหมดทั้งมวลได้กระมัง เผลอๆ อาจจะรวมถึงการให้เกรดนิสิตของนายวีระศักดิ์ ที่ก็คงจะผ่านการปรึกษา “ประชาคมจุฬาฯ” อย่างรอบคอบแล้วเป็นแน่แท้
 
...นี่แหละครับตรรกะอันเป็นเลิศที่สุดของเทวดาแถวสามย่าน
 
ประการที่ห้า – การชูป้ายอย่างเลือกที่รักมักที่ชัง: เช่นเคยครับ ผมเองก็เพิ่งได้ทราบจากตรรกะเทพของนายวีระศักดิ์นี่แหละที่ “มนุษย์เราหมดสิทธิเสรีภาพในการรักใคร่ชอบพอใคร และชิงชัง เกลียดขี้หน้าบางคนมากเป็นพิเศษ” ไปแล้ว น่าตื่นตระหนกจริงๆ
 
ผมเคยเข้าใจมาโดยตลอดว่าผมเองมีสิทธิที่จะรัก หรือชอบพอใครเป็นพิเศษ และเกลียดขี้หน้าบางคนมากเป็นพิเศษได้ โดยไม่ไปทำอะไรคนที่รัก หรือเกลียดนั้นเกินขอบเขตของกฎหมายนะครับเนี่ย ผมเข้าใจมาตลอดว่า ใครอยากจะชูป้ายช่วงอภิสิทธิ์ก็ได้ และชาวงจาตุรนต์พูด หากมีคนกลุ่มอื่นๆ อยากมายืนชูป้ายประท้วงด้วยก็คงจะเป็นเรื่องของพวกเค้า เป็นสิทธิของพวกเค้า ดังเช่นกองเชียร์อะคาเดมี แฟนตาเซีย (AF) ที่ต่างก็เลือกที่รัก เลือกที่ชังของตน และมีการชูป้ายแสดงอาการเหล่านั้นอย่างเด่นชัด พร้อมกับกระหน่ำโหวตให้คนที่ตนเองรักปานเป็นญาติฝ่ายแม่ตนอย่างไม่คิดชีวิต
 
เออ ผมเข้าใจมาตลอดนะเนี่ยว่านี่ต่างหากที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ และอย่างอิสระด้วย แน่นอนว่าความรู้ของสามัญมนุษย์อย่างผมคงจะต้องผิดเป็นแน่ ในเมื่อนี่คือตรรกะเทพของนายวีระศักดิ์แล้ว “มันย่อมต้องถูก อย่างห้ามไปสงสัย ไม่ต้องตั้งคำถาม แค่เชื่อไปเลยครับ” 
 
ต่อไปหากจะเลือกตั้งกรุณากากากบาทเลือกทุกเบอร์นะครับ เพราะตรรกะเทพบอกเราว่าเราต้องแสดงออกทางสิทธิเสรีภาพของเราอย่าง “ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง”, ต่อไปก็ขอให้รักลูกใครก็ไม่รู้ให้มากพอๆ กับลูกท่านเอง, รักน้องเมีย มากประหนึ่งเมียตนเอง (และกรุณาแสดงออกอย่างเท่าเทียมกันด้วย), ฯลฯ เพราะนี่คือตรรกะเทพครับ ท่านจงเชื่อมัน อย่าได้เผลอคิดต้าน อย่าได้เผลอตั้งคำถามครับ มันคือ “สัจจะ นิรันดร์ (Absolute Truth)” ครับ
 
...นี่แหละครับตรรกะอันเป็นเลิศที่สุดของเทวดาแถวสามย่าน
 
ประการที่หก – เชื่อว่ากลุ่มนิสิตมีผู้อยู่เบื้องหลัง: อ่าว ฉิบหายแล้ว...ผมจะทำอย่างไรดีเนี่ย หากตรรกะเทพเกิดขัดกันเองขึ้นมา? ในเมื่อผมบอกว่าให้เชื่อตรรกะเทพอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มันคงเป็นเรื่องตลกที่ตรรกะเทพมันจะเกิดขัดกันเองขึ้นมา (หรือเพราะมันเทพเกิน เกินกว่าความเข้าใจของเราไปก็เป็นได้ คือ แท้จริงแล้วมันไม่ได้ขัดกันเอง แต่ด้วยภูมิปัญญาต้อยต่ำแห่งสามัญมนุษย์อย่างผม เลยผิดพลาดเข้าใจว่ามันขัดกันไปซะงั้น)
 
ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใด แต่เอาเป็นว่า ด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ อยู่ดีๆ นายวีระศักดิ์ผู้ถือครองตรรกะเทพ อันเป็นสัจจะนิรันดร์นั้น เกิด “ความรู้เฉียบพลัน” ขึ้นมา ที่ทำให้นายวีระศักดิ์เชื่อ และแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของตนออกมาอย่างชัดเจนว่า “ตนเชื่อว่านิสิตกลุ่มนี้มีคนอยู่เบื้องหลัง” ไม่รู้จะเรียกว่านายวีระศักดิ์เลือกที่รักมักที่ชังดี หรืออคติดี แต่ที่แน่ๆ จงอย่าตั้งคำถามใดๆ กับตรรกะเทพนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งประเสริฐอันสูงสุดแล้ว ไม่ฟังไม่ได้ แม้สามัญมนุษย์อย่างเราจะรู้สึกว่ามันขัดกันปานใดก็ตาม
 
...นี่แหละครับตรรกะอันเป็นเลิศที่สุดของเทวดาแถวสามย่าน
 
ปัจฉิมลิขิต: ถึงกรณีที่นายจรัส สุวรรณมาลา กล่าวว่า นายวีระศักดิ์ เครือเทพ “กระทำสมควรแก่เหตุ” นั้น [2] (คลิกเพื่อดูลิงค์) ผมขอกล่าวตรงๆ แบบไม่ประชดประชันอย่างที่แล้วๆ มาแล้วว่าเป็นคำพูดที่ “สิ้นสมอง” มากๆ ทีเดียว นายวีระศักดิ์จะกระทำสมควรแก่เหตุได้อย่างไร ในเมื่อ ไอ้ “เหตุ” ที่ว่า มันยังไม่มีขึ้นมา ให้ “สมควร” ได้เลยครับจรัส หากแค่นี้คิดไม่ออก ผมคิดว่าต่อไปไม่ต้องให้มนุษย์มาเป็นคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้วก็ได้ครับ... ปีนี้คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฆ่าตัวตายในวันเกิดคณะจริงๆ
 
 
.................................................................
[1] สามารถติดตามได้จาก http://www.voicetv.co.th/
[2] โปรดดู http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30786 และหากเข้าชมหน้าเว็บไม่ได้เนื่องจากติดการบล็อกของกระทรวง ICT สามารถดูผ่าน http://freeproxyserver.net/ ครับ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น