ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักวิชาการชี้ “ตู้เอทีเอ็มบริการภาษาพม่า” เรื่องปกติทางการตลาด
- สัมมนาแนวทางปรองดองที่พิษณุโลก "ศิโรตม์" แนะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- "องอาจ" แจงที่มาเงิน 15 ล้านมาจากคนใส่ซองงานแต่ง
- อภิสิทธัตถะ-สัปปายะสภาสถาน: ศิลปะวัตถุแห่งราชาชาตินิยม พ.ศ.2553
- คำแนะนำดีๆ สำหรับการถือศีลอด
- ทหารพม่าถูกกดขี่หนีทัพร่วมกองกำลังไทใหญ่ SSA
- รำลึก 10 เม.ย. คนเสื้อแดงวางดอกไม้แดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- รายงาน: วันแม่ น้ำตาแม่ ความทรงจำของแม่ผู้สูญเสียลูกจากการสลายการชุมนุม
- นักเรียน ม.5 เชียงรายไม่ต้องเข้าบำบัดจิต สถานพินิจฯ โทรแจ้งเด็กปกติดี
นักวิชาการชี้ “ตู้เอทีเอ็มบริการภาษาพม่า” เรื่องปกติทางการตลาด Posted: 10 Aug 2010 01:45 PM PDT จวกสื่อเล่นข่าวกับอคติ “พม่ายึดเมือง” ระบุในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก การให้บริการตามความต้องการใช้เป็นเรื่องปกติ เผยโรงพยาบาลเอกชนจ้างล่ามแปลภาษา สร้างรายได้มหาศาลจากลูกค้าแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่ วันนี้ (10 ส.ค.53) นายองค์ บรรจุน นักวิชาการอิสระที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวมอญจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวให้สัมภาษณ์กรณีรายงานข่าวเรื่องตู้เอทีเอ็มให้บริการภาษาพม่าในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาครว่า การพาดหัวข่าวดังกล่าวเป็นการแสดงถึงอคติของสื่อที่เลือกเล่นประเด็นนี้ โดยเอาไปผูกพันกับประวัติศาสตร์ว่าเขาเคยเผาบ้านเผาเมือง วันนี้ก็จะมีการมา “ยึดเมืองมหาชัย” อีกแล้ว ทั้งที่ความจริงกรณีแรงงานพม่าในมหาชัยมีการนำเสนอข่าวกันมาค่อนข้างมากแล้ว และหากไปดูในย่านเยาวราช พัฒน์พงศ์ก็จะเห็นว่าจะมีภาษาจีน ภาษาเกาหลีอยู่ทั่วไป ซึ่งหากไม่มีอคติเราก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา การปฏิรูปสื่อที่พูดกันในปัจจุบันควรพูดถึงเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะการทำร้ายคนไม่มีอำนาจ ถือเป็นการเปิดใจกว้าง ดีกว่าปิดกั้นเขาโดยอคติ นายองค์กล่าวด้วยว่า ความจริงการอยู่ในมหาชัยของแรงงานพม่าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่อาจดูน่าหมั่นไส้สำหรับคนบางคนมากกว่า เพราะอาจมีคนเห็นว่าไม่ใช้บ้านเมืองคุณ แต่กลับมีการแต่ตัวแบบพม่า ใช้ภาษาพม่าในพื้นที่นี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาแรงงานพม่าที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็มีความหวาดกลัวทั้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าของกิจการผู้มีอิทธิพลที่มาข่มขู่และข่มเหงรังแก กรณีของการกดขี่แรงงาน ยึดบัตรเพื่อไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งในปัจจุบันแม้เรื่องเหล่านี้จะดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ส่วนเรื่องตู้เอทีเอ็มที่มีภาษาพม่านั้นเขาแสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ตลาดเป็นอย่างไรก็มีการตอบสนองอย่างนั้น เมื่อพื้นที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทั้งพ่อค้าและแรงงานต่างไม่มีใครผิด กลับกับเรื่องนี้เป็นการลดอุปสรรค์ด้านภาษา แก้บัญหาการป้อนข้อมูลผิดพลาดทำให้บัตรเอทีเอ็มถูกยึดซึ่งจะนำไปสู่ความยุ่งยากในกระบวนการของตำรวจและเจ้าหน้าที่ธนาคาร นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์กับทกฝ่าย “เป็นปกติของการทำธุรกิจ มีตลาดก็ต้องลงมาเก็บตลาด” นายองค์กล่าว นอกจากนี้ ในส่วนการรักษาพยาบาลจากอดีตที่แรงงานข้ามชาติจะประสบปัญหาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากอุปสรรค์เรื่องการสื่อสาร ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้มีการจ้างล่ามทั้งภาษาพม่า มอญ ไทยใหญ่ และอังกฤษมาช่วยในการสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ ทำให้สามารถสร้างรายได้มหาศาล ในปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐก็มีการปรับตัวโดยมีการจ้างล่าม ติดตัวอักษรภาษาพม่าบนเคาน์เตอร์ มีคู่มือภาษาพม่า อีกทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงชุมชนเพื่อให้ข้อมูลการรักษาพยาบาล ทำให้การรักษาดีขึ้นแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด นายองค์ยกตัวอย่างต่อมาถึงการให้บริการโหลดเพลงรอสายและริงโทนเพลงภาษาพม่าของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ต่างๆ ซึ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ในตลาดใหม่ซึ่งผู่ให้บริการต่างต้องการเก็บส่วนแบ่งทางการตลาด ส่วนตัวคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถือเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆของกลุ่มแรงงาน อีกทั้งการเพิ่มภาษาตรงนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้เต็มที่มากขึ้นด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัมมนาแนวทางปรองดองที่พิษณุโลก "ศิโรตม์" แนะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน Posted: 10 Aug 2010 12:19 PM PDT ม.ราชภัฏพิบูลสงครามจัดสัมมนา “หนึ่งร้อยห้าสิบวันสู่แนวทางปรองดองแห่งชาติ” ตัวแทนสื่อชี้เหตุความขัดแย้งมาจากสื่อที่กลุ่มผลประโยชน์ใช้เป็นเครื่องมือ เชื่อจะปรองดองได้สื่อต้องเป็นกลาง ด้าน ส.ส.เพื่อไทยเชื่อแนวปรองดองยังมีจุดอ่อนเรื่องการถูกตรวจสอบ "ศิโรตม์" เชื่อยังไม่ขัดแย้งขั้นแบ่งประเทศ เสนอสร้างความไว้วางใจในสังคมด้วยการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การจัดสัมมนาหัวข้อ “หนึ่งร้อยห้าสิบวันสู่แนวทางปรองดองแห่งชาติ” เมื่อ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) ที่มาของภาพ: ข่าวสารศรีพิบูล, 6 ส.ค. 53, หน้า 1 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้น 2 อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ (อาคาร IT) มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) จ.พิษณุโลก มีการจัดสัมมนาหัวข้อ “หนึ่งร้อยห้าสิบวันสู่แนวทางปรองดองแห่งชาติ” โดยสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ นายลัญจกร โกศัย สื่อมวลชนและนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.พิษณุโลก ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.จักษ์ พันธุ์ชูเพชร อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ตัวแทนสื่อชี้จะปรองดองได้ สื่อต้องเป็นกลาง นายลัญจกร โกศัย สื่อมวลชนและนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ตอบคำถามที่ผู้ดำเนินรายการถามว่าข้อคำถามที่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากสื่อมวลชนหรือไม่ โดยนายลัญจกร ตอบว่า ตัวแทนจากสื่อมวลชนเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ความเป็นอุดมคติต่อวิชาชีพของสื่อมวลชนลดลงและถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ ประการหนึ่ง คือ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องการการสนับสนุนทางการเงิน ผนวกกับการนำเสนอของสื่อมวลชนเป็นไปในเชิงพาณิชย์ในลักษณะต้องตอบสนองต่อความต้องการบริโภคข่าวที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และอีกประการหนึ่ง เกิดจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสื่อมวลชนกับกลุ่มผลประโยชน์ เหตุปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์สื่อเสนอข่าวข้างเดียวจนสามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าสื่อเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มก้อนทางการเมืองฝ่ายใด ทั้ยังลดทอนความสามารถในการวิเคราะห์ที่ควรจะเป็นของสื่อมวลชน สำหรับแนวทางสู่ความปรองดองแห่งชาติและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในฐานะสื่อมวลชนเห็นว่า สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและตระหนักถึงเป้าหมายไปที่หน้าที่ที่แท้จริงของตน
ส.ส.เพือไทยชี้ปรองดองยังมีจุดอ่อนเรื่องการถูกตรวจสอบ แนะแก้ไขปัญหาความเป็นธรรม นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.พิษณุโลก กล่าวยอมรับว่าในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกมีความขัดแย้งเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครัวเรือน แต่ไม่มีความรุนแรงเช่นในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ดีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในภาพรวม ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เขาเห็นว่าสื่อเป็นตัวแสดงหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีตัวแสดงที่สำคัญอีกตัวแสดงหนึ่ง คือ ผู้นำประเทศหรือนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ 4 ประการ ได้แก่ การปกป้องอธิปไตย การรักษาความสงบภายในประเทศ การรักษาความชอบธรรมและความเสมอภาค และการรักษาสุขภาพหรือชีวิตของประชาชน นายนิยมยังเห็นว่าแนวทางปรองดองของรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องความเป็นธรรมของคณะกรรมการตรวจสอบ พร้อมทั้งเสนอว่าสมาชิกวุฒิสภาน่าจะเป็นตัวกลางในการปรองดองได้ดีที่สุด นอกจากนี้การนำนโยบายปรองดองไปสู่การปฏิบัติยังมีประเด็นที่ควรคำนึงในเรื่องการยอมรับจากประชาชนในเรื่องการกระจายทรัพยากรและปฎิรูปประเทศ ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้การแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมในสังคมไทยกระทำไปบนพื้นฐานของหลักนิติรัฐและนิติธรรม
ศิโรตม์เชื่อยังไม่ถึงขั้นแยกประเทศ แนะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สร้างความไว้วางใจในสังคม ด้านนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ตนมองความแตกต่างและความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา สังคมไทยเองเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งมาโดยตลอด หากนับมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางความคิดต่อระบอบการปกครองก่อน พ.ศ. 2475 ความขัดแย้งต่อทางเลือกในการนำพาประเทศเข้าสู่สงครามโลก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญในอดีตที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2516, 2519 และ 2535 ดังที่เคยปรากฏและรับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบันนั้น ศิโรตม์เห็นว่ามีความรุนแรงและแตกต่างจากความขัดแย้งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งในมิติระดับของความรุนแรงและมิติในการจัดการความขัดแย้ง ในมิติระดับของความรุนแรง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากกว่าความขัดแย้งในครั้งก่อนหน้าเมื่อพิจารณาในเชิงปริมาณของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ในขณะที่หากจะมองถึงมิติการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งมีความแตกต่างจากการจัดการความขัดแย้งในเหตุการณ์ในอดีต ความแตกต่างในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน มาจากการสร้างภาพและผูกติดแบบเหมารวมของคนเสื้อสีต่างๆ ในสังคม จนหล่อหลอมให้ไปสู่การสร้างฐานคิดของผู้คนในสังคมในการไม่ยอมรับหลักการบางอย่างที่จะไม่ละเมิดหรือกระทำรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นหลักการบางอย่างที่ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ เช่น หลักกฎหมาย หรือ หลักความชอบธรรม รัฐบาลในฐานะที่ควรกระทำตัวเป็นองค์การที่ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมก็มิได้ทำหน้าที่ดังกล่าว กลับนำตัวเข้าไปพันพัวกับความขัดแย้งมากเกินไปจนลดทอนความเป็นกลางและน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง การตั้งคณะกรรมการเป็นแกนนำในการปรองดองหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล แม้จะมีการคัดเลือกผู้มีความน่าเชื่อถือในวงสังคมเป็นแกนนำกลับสร้างความแคลงใจให้กับกลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายรัฐบาลอยู่ไม่น้อย และทำให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งหรือองคาพยพที่เกี่ยวข้องทำงานด้วยความยากลำบาก หากจะก้าวพ้นการมองกลุ่มก้อนทางการเมืองในขั้นตัวข้ามด้วยสายตาที่ปราศจากอคติ ทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองไทยสู่การปรองดองอย่างแท้จริงนั้น ศิโรตม์เสนอว่า แนวทางปรองดองจะสำเร็จได้ต้องมีการสร้างเงื่อนไข โดยเห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงควรมาจากการเลือกสรรของรัฐสภาเพื่อลดแรงตึงและการมองแบบเหมารวมขององคาพยพที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพราะการคง พ.ร.ก. ฉุกเฉินทำให้รัฐบาลสามารถกระทำรุนแรงแบบเหมารวมต่อผู้ที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงได้เรื่อยๆ เช่น กรณีที่กระทำกับเด็กมัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงรายที่ถือป้าย “ที่นี่มีคนตาย” การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่ารัฐบาลจะยุติการกระทำบางอย่างที่เป็นการคุกคามและทำร้ายผู้บริสุทธิ์ในสังคม ทั้งยังก่อให้เกิดความไว้วางใจและความเป็นธรรมในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย นอกจากนี้ในระดับสังคม ฝ่ายต่างๆ ในสังคมต้องยอมรับฟังความจริงของฝ่ายที่เห็นตรงข้าม เพื่อลดภาวการณ์มองแบบเหมารวมของคนแต่ละสี และสร้างให้ทั้งสองฝ่ายมีวุฒิภาวะทางสังคมร่วมกัน ต่อข้อซักถามเรื่องพัฒนาการของความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบัน ศิโรตม์เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยยังไม่ถึงจุดที่จะยกระดับถึงขั้นแบ่งประเทศ เพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสีสองสีหลักมีความขัดแย้งส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวพันอยู่มาก ทั้งยังยากที่จะพัฒนาเป็นการเมืองแบบสองขั้วเช่นที่เกิดขึ้นในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เพราะการเมืองแบบสองขั้วจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างมาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"องอาจ" แจงที่มาเงิน 15 ล้านมาจากคนใส่ซองงานแต่ง Posted: 10 Aug 2010 11:50 AM PDT "องอาจ คล้ามไพบูลย์" แจงหลังเจอ "เรืองไกร" ยื่นสอบทรัพย์สินเรื่องที่มาเงิน 15 ล้านบาท ระบุเป็นเงินจากคนใส่ซองร่วมงานแต่ง 10 ล้าน ระบุคนมาร่วมงานแต่งกว่า 6 พันคน ที่เหลือเงินส่วนตัว นำไปลงทุน 15 ล้าน กับบริษัทพิมพ์หนังสือพ็อกเกตบุ๊คขาย ไม่ใช่บริษัทสื่อ วานนี้ (10 ส.ค.) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากสงสัยว่า มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จว่าสิ่งที่นายเรืองไกรสงสัย เรื่องที่มาของเงิน 15 ล้านบาท ที่นำไปลงทุนในบริษัท เพชรประกาย จำกัด ว่ามีที่มาอย่างไรนั้น ขอยืนยันว่า เงินจำนวนดังกล่าวมีที่มาจากเงินใส่ซองงานแต่งงานของตน ซึ่งมียอดประมาณ 10 ล้านกว่าบาท และที่เหลือเป็นเงินส่วนตัว โดยงานแต่งงานตนมีแขกมาร่วมงานถึง 5-6 พันคน ซึ่งได้จัดงาน 3 ครั้ง คือ งานหมั้น งานแต่งงาน และงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน ทั้งนี้เรื่องเงิน 15 ล้านบาท ได้ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรไปพร้อมกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช.แล้ว เพียงแต่ผู้ร้องอาจไม่ได้อ่านหนังสือที่ตนแนบไป ยืนยันว่า ไม่ได้หลีกเลี่ยงการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และไม่หนักใจอะไร เพราะชี้แจงได้ หาก ป.ป.ช. ต้องการให้ชี้แจงก็พร้อม ซึ่งตนได้นำเงิน 15 ล้านบาท ไปลงทุนในบริษัท เพชรประกาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำหนังสือพ็อตเกตบุ๊ค ไม่ใช่บริษัททำสื่อ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อภิสิทธัตถะ-สัปปายะสภาสถาน: ศิลปะวัตถุแห่งราชาชาตินิยม พ.ศ.2553 Posted: 10 Aug 2010 11:36 AM PDT สัปปายะสภาสถาน – สถาปัตยกรรมราชาชาตินิยมร่วมสมัย 1. รูปตัดอาคารรัฐสภาแบบชนะเลิศการประกวด, ออกแบบ พ.ศ. 2552 2. “ ธรรมราชาเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางการเมืองและพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือบารมีมาแต่โบราณ เป็นอุดมคติดั้งเดิมของสังคมการเมืองพุทธเถรวาทที่ถือว่าพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรมย่อมสั่งสมพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือบารมี อันจะส่งผลโดยปริยายให้ระเบียบโลก(สังคม)ของชาวพุทธอยู่เย็นเป็นสุข ธรรมราชาตามทฤษฎีกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย อยู่บนพื้นฐานปรัชญาการเมืองของพุทธเถรวาทดังกล่าว แต่ปรับแปรให้สอดคล้องกับยุคสมัย ออกมาเป็นโครงการและพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งเน้นการเอาใจใส่ทุกข์สุขของมหาชน แต่พระราชกรณียกิจทั้งหลายกลับมิได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทาง ”การเมือง” ตามที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะพระองค์ทรงอยู่”เหนือการเมือง”เพราะ”การเมือง”ในความเข้าใจทั่วๆไปหมายถึง การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาลและรัฐสภา ธรรมราชายุคประชาธิปไตยหรือกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยอยู่เหนือการเมืองในความหมายแคบเช่นนี้ แต่หาก”การเมือง”หมายถึง สัมพันธภาพทางอำนาจ(power relation)ระหว่างกลุ่มฝ่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐ สถานะ”เหนือการเมือง”ย่อมจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมืองของไทย กล่าวคือมีปริมณฑล”การเมือง” (การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาลและรัฐสภา) อยู่ข้างล่าง และมีปริมณฑล”เหนือการเมือง”อยู่ข้างบนในระบบเดียวกัน ภายใต้ระบบเดียวกันนี้ ธรรมราชาเหนือการเมืองย่อมทรงพระบารมีวิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองซึ่งทำได้อย่างเก่งก็แค่มีอำนาจอันสกปรกฉ้อฉล” จากบทความ ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา, ธงชัย วินิจจะกูล, ปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2548, หน้า 13
รูปตัดแบบอาคารรัฐสภาใหม่ (1.) นี้ถูกผลิตขึ้นหลังข้อเขียน (2.) ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี แต่ดูราวกับว่าทั้งสองจะกลมกลืนอยู่ร่วมกันเป็นดังภาพประกอบและคำอธิบายแนวความคิดในการออกแบบได้อย่างพอดี? ความย้อนแย้งของมันก็คือ ผู้ออกแบบเองก็คงไม่ประสงค์จะลอกแนวความคิดของบทความนี้บรรจุลงไปเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบแน่ๆ ด้วยเหตุว่ามันเป็นบทความที่เคยถูกเซนเซอร์ในปี พ"ศ.2548[i] ด้วยเหตุผลของ”ความไม่เหมาะสม” ซึ่งน่าจะแสดงถึงความไม่เป็นที่พึงปรารถนา หรือการไม่ยอมรับทัศนะวิจารณ์ในบทความนี้ ณปีพศ.นั้น ไม่ว่าจะด้วยเชื่อว่าบทความนี้วิเคราะห์ผิดพลาด หรือวิเคราะห์ตรงไปตรงมาเสียจนไม่คิดว่าสังคมไทยจะยอมรับความจริงแบบนั้นได้ก็ตาม แล้วเหตุไฉนเลยสถาปัตยกรรมระดับชาติในปี พ.ศ.2553 นี้เอง ที่กลับประกาศตัวสวมปรัชญาการออกแบบ ที่มีเนื้อหาเดียวกับบทความที่ถูกเซนเซอร์จากสังคมเมื่อ5ปีก่อน และกลับได้รับการยอมรับจากกรรมการตัดสินจนเป็นแบบที่ชนะเลิศการประกวด? เมื่อได้ย้อนกลับมาอ่านบทความฉบับเต็ม ผู้เขียนพบว่ามันกลับสามารถอธิบาย”ที่มา”ความคิดงานออกแบบชิ้นนี้, ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองแบบไทยๆ และสาระแห่ง”ความเป็นไทย” ในการเมืองร่วมสมัยได้ (อาจจะ) ชัดเจนตรงไปตรงมาเสียยิ่งกว่าข้อแถลงของทีมออกแบบเองเสียอีก[ii] อย่างนี้แล้วสิ่งที่ไม่ยอมรับในปี 2548 คืออะไร? สิ่งที่ยอมรับในปี 2553 มันเป็นสิ่งเดียวกันที่มีความต่างกันตรงไหน? สิ่งที่ต่างคือ ”ท่าที” ในการมองข้อเท็จจริงสังคม-การเมืองไทย... บนสิ่งที่ถูกเห็นสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งมองด้วยการวิเคราะห์วิจารณ์ ส่วนอีกคนหนึ่งนำเอาเนื้อหาเดียวกันมาชื่นชมเชิดชู...[iii] มันคงไม่ได้เกิดจากแผนการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมแต่อย่างใด ผู้เขียนเชื่อว่ามันออกมาอย่างจริงใจจาก intuition ของปัจเจกที่ถูกก่อรูปมานับสิบปี มันคือรสนิยมทางการเมืองกระแสหลักของคนไทยร่วมสมัย ที่ถูกทำให้เป็นสิ่งสูงสุด ถูกต้องที่สุด ไม่ได้เป็นรสนิยมทางการเมืองที่ชาวไทยมีสิทธิเลือกหรือไม่ แต่ถูกทำให้เป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวทางการเมืองที่กดทับรสนิยมทางการเมืองแบบอื่นๆ ...ถ้าคุณเป็นคนไทย...คุณต้องเชื่อแบบนี้ ไม่อย่างนั้น....คุณก็”ไม่ไทย” แล้วในวิกฤติทางการเมือง3-5ปีที่ผ่านมาที่ทัศนะนี้กำลังถูกเขย่า การประกาศยืนยันคุณค่าในทัศนะคติทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมของผู้ออกแบบนี้ต่างหาก ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญให้แบบชนะใจกรรมการและทำให้สัปปายะสภาสถานได้รับชัยชนะ มิใช่การทำงานของแนวความคิดทางสถาปัตยกรรม หรือพูดอีกอย่างได้ว่า การประกวดแบบรัฐสภาใหม่เป็นการประกาศย้ำmanifestoทางการเมืองให้ถูกรับรองอย่างเป็นทางการผ่านงานสถาปัตยกรรมเพื่อสยบการท้าทายที่กำลังก่อตัว และกลายเป็นบทหนึ่งของการเมืองวัฒนธรรมไม่ว่าผู้ออกแบบจะประสงค์หรือไม่ก็ตาม
องค์ประกอบทางศิลปะลัทธิราชาชาตินิยม ถ้าย้อนไปดูอดีต วิกฤติเอกลักษณ์ไทย หรืออาการหมกมุ่นค้นหาระบุความเป็นไทยนั้นมักมาคู่กับกระแสชาตินิยม มันจะเร่งร้อนผลิตพฤติกรรมแสดงค่านิยมแปลกๆพิลึกๆฉาบฉวยๆออกมาบังคับใช้ เช่นแฟชั่นภาคบังคับสมัยจอมพล ป. หรือการยืนตรงเคารพธงชาติ ในสมัยรัฐบาลหอย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (2519-20) ผู้มอบมรดกอาการตัวแข็งเมื่อได้ยินเพลงชาติ มันเริ่มด้วยการสะกดให้กลัว [iv] จนทุกวันนี้หลายคนยอมรับมันไปในฐานะจารีตอันศักดิ์สิทธิ์มิใช่กฏหมาย และที่มาของมันก็ถูกลืมเลือนไป ชาติหรือ”ไทย”นั้นนับอายุได้ไม่ถึง 200 ปี หากเราเริ่มนับตั้งแต่กระแสล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือภาวะที่ไทยเริ่มต้องระบุความเป็นชาติแก่อิทธิพลภายนอก ก่อนหน้านั้นที่ยังเป็นสยาม มีบันทึกรณรงค์เอกลัษณ์แห่งสยามหรือไม่? หรือหากมี เหตุใดรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชนิยมโปรดให้สร้างวัดราชโอรสอันเป็นวัดประจำรัชกาลให้มีกลิ่นอายจีนได้? ผู้เขียนจะปล่อยให้มันเป็นคำถามต่อผู้เสพประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบทางการ อันเต็มไปด้วยจริง-ลวงที่เกินความสามารถผู้เขียนไปมาก แล้วเอกลักษณ์ไทยที่ราชาชาตินิยมร่วมสมัยหรือผู้ออกแบบต้องการหาได้จากที่ใด? ผู้เขียน google เข้าไปดื้อๆ แล้วพบเวบเพจนี้... สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ไทยก่อตั้งในปี 2521 โดยมีที่มาและนโยบายดังนี้ “เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑ ในสมัยรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พบว่ามีข้อมูลข่าวสารทั้งเปิดเผย และลับออกมาโจมตีสถาบันสูงสุดของชาติ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในบรรดาเยาวชน และประชาชนคนไทย นอกจากนั้นการที่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับคนไทย เช่น การนิยมวัตถุและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศ ความฟุ่มเฟือย การลดคุณค่าทางด้านจิตใจ ละเลยแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณี คุณธรรม และจริยธรรมทางสังคม ขาดความเข้าใจในคุณค่าของมรดกของชาติ มีการพัฒนาประเทศโดยขาดการพิจารณาทบทวนถึงคุณค่าของเอกลักษณ์และภูมิปัญญาไทย ความเป็นอยู่ชีวิตประจำวันที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยนับวันจะหายากขึ้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติตามลำดับ โดยปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ๔ สถาบัน ได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในพุทธศักราช ๒๕๒๓ ได้มีพระราชกฤษฎีกา ตั้งสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เป็นหน่วยงานระดับกอง สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และปฏิบัติงานเลขานุการของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และได้รับการยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับสำนัก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ปัจจุบันสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๕ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันที่สำคัญ ๔ สถาบัน คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “[v]
....ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสถาบันที่ 4 ชื่อว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”...องค์ประกอบของความเป็นไทยในสัปปายะสภาสถาน [vi] หรือเสาหลักแห่งราชาชาตินิยมนั้นเรียบง่ายและไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร เมื่อกระแสชาตินิยมครอบคลุมสังคมจะเต็มไปด้วย propaganda ที่บรรจุคำตัดสินดีชั่วถูกผิดไว้ให้กับเกือบทุกสิ่ง สิ่งที่ผู้เขียนสนใจเป็นกลไกและองค์ประกอบที่กำลังทำงานเพื่อปลุกเร้าชื่นชมสถาปนาความดีงาม ด้วยเทคนิควิธีชี้นำที่ต่างออกไปจากอดีต ที่เป็นผลมาจากส่วนผสมที่ ”ร่วมสมัย” เป็นการเมืองวัฒนธรรมแบบร่วมสมัยที่อาจฝังตัวเป็นจารีตหรือเป็นแค่ตลกร้ายรายวันเมื่ออำนาจพลิกผัน ศาสนา- อัตตลักษณ์ทางศีลธรรม- แฟชั่นและเทคนิคการไต่เต้าทางศีลธรรมแบบร่วมสมัย ศาสนาเป็นองค์ประกอบที่คลี่คลายตัวให้ร่วมสมัยได้อย่างน่าทึ่งนับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี2540 หนังสือธรรมะนั้นติดอันดับขายดีติดต่อกันมาหลายปี มาคู่กับการใช้vacationยอดนิยมไปกับวัดและการวิปัสสนา พุทธโครงการจึงผุดเพิ่มเข้ามาในสำนักงานให้สถาปนิกออกแบบ ผลงานเข้ารอบสถาปัตยกรรมดีเด่นปี2553ที่จัดแสดงในปีนี้ปีเดียว เป็นโครงการเกี่ยวกับวัดเสีย 3 ราย เทียบกับย้อนกลับไปสัก10-20 ปีก่อนรวมกันมีอยู่สัก2-3ราย[vii] พุทธบริโภคเติบโตมาตามdemandของกลุ่มเป้าหมายอันได้แก่ชนชั้นกลาง และผู้บริโภคกลุ่มนี้เองที่manipulateมันให้เข้ากับจริตตน โครงการเช่นวัดป่าเป็น Architecture without architect ที่เดิมเป็นการวางผังกันเองง่ายๆของพระในพื้นที่นั้นๆ เพื่อสะท้อนวิถีเรียบง่ายและการยอมสละตนสู่ความ”ไม่มี” ปัจจุบันมีโครงการเหล่านี้มาว่าจ้างให้สถาปนิกออกแบบ เข้าระบบการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ในอดีตวัดป่ามีหน้าที่ทางสังคมต่างกันกับวัดหลวงที่สถาปนาจากวังหรือกษัตริย์ วัดหลวงมีไว้ประกอบพิธีเพื่อการสถาปนาอำนาจของกษัตริย์ หรือการเข้าอิงศาสนธรรมเพื่อความชอบธรรมแห่งอำนาจของกษัตริย์ แต่ในปรากฏการณ์ปัจจุบัน แฟชั่นหรือค่านิยมใหม่จูงใจให้ชนชั้นกลางขอยืมวัดป่ามาตกแต่งอัตตลักษณ์ไปจนถึงช่วยสถาปนาอำนาจทางศีลธรรมในแบบเดียวกันกับที่กษัตริย์ในอดีตเข้าอิงศาสนธรรม ทั้งจากการเข้าบวชหรือเข้าอุปถัมภ์วัดด้วยพิธีกรรมแบบย่อ คำว่า”บวช”ไม่ต้องหมายถึงโกนหัวเข้าพิธีอีกต่อไป ผู้เขียนจำได้ว่าสักสิบปีก่อนนั้นเองที่เราฟังคำนี้อย่างแปลกใจกับการไปบวชของเพื่อนสาวเป็นเวลาสิบวัน แล้วก็กลับมาหน้าตาเหมือนเดิมได้โดยหัวไม่ล้าน มันเป็นพิธีกรรมร่วมสมัยของชนชั้นกลางในการเข้ารีตทางพุทธศาสนาโดยไม่ต้องแปลงเป็นสมณเพศ เราสามารถมีอัตตลักษณ์ทางธรรมได้โดยยังคงทำมาหากินไปได้ตามปกติ มีทรัพย์จับเงิน และมีกิเลสไว้ให้ห้ามได้เมื่อกลับมาบ้าน ศาสนาพุทธแบบร่วมสมัยจึงดูเหมือนจะเข้ารีตได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องมีพิธีกรรมแบบเดิม และผลิตกรรมวิธีใหม่ในการเข้ารีตได้โดยขึ้นอยู่กับการยอมรับและประนีประนอมในพิธีกรรมให้เข้ากับจริตของกลุ่มเป้าหมายอันได้แก่ชนชั้นกลาง สัปปายะสภาสถานนำพุทธศาสนามา interpret เป็นทั้งแกนทางความคิดรูปแบบผังอาคารและเครื่องมือช่วยสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ โดยการอ้างอิงการวางผังอาคารรูปไตรภูมิ คือจงใจที่จะทำให้อาคารกลายเป็นวัด เพื่อสถาปนาอาคารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้นักการเมืองชั่วยำเกรง[viii] รวมไปถึงการใช้เทคนิค metaphor พิธีกรรมทางพุทธด้วยการตั้งชื่อภาษาบาลีให้กับอาคาร โดยผู้ตั้งชื่อที่เป็นสถาปนิกไม่ใช่พระสงฆ์ สัปปายะสภาสถานคือความพยายาม transform อาคารจากรัฐสภาสมัยใหม่ให้กลับมาเป็นวัดหลวงตามคติการเมืองร่วมสมัย คือเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางการเมือง ที่ประกาศว่าอำนาจทางการเมืองจะชอบธรรมได้ก็ด้วยมีอำนาจทางศีลธรรมรองรับ แต่ด้วยว่าทั้งนักการเมืองหรือนัก(ถูก)แต่งตั้งเหล่านี้ไม่มีศักดิ์ศรีขัตติยะวงศ์แห่งกษัตริย์อย่างในอดีต เขาเหล่านี้จึงต้องอาศัยการไต่เต้าทางศีลธรรมโดยเทิดทูนธรรมราชาเป็นต้นแบบ ค่านิยมการไต่เต้าทางศีลธรรมจึงสร้างระบบคุณค่าไม่เพียงเพิ่มอัตตลักษณ์ต่อปัจเจก แต่มันสามารถนำพามาซึ่งสถานะที่สูงส่งกว่าในกลุ่มทางสังคม ไปจนถึงกลายเป็นอำนาจนิยมในทางศีลธรรมที่สามารถใช้ปกครองไปจนถึงกดข่มผู้ที่ด้อยกว่าเมื่อนำธรรมะในโลกุตระมาใช้เป็นอำนาจในโลกโลกียะ
ศาสนาคือการทำให้เป็นสิ่งศักดืสิทธิ์ดีงาม โดยสถาปนาชื่อบาลี ผลที่ได้นอกเหนือไปจากการประกาศรสนิยมทางการเมืองแล้ว คือการยกระดับอาคารให้ดูศักดิ์สิทธิ์ด้วยการมีหน้าตาและชื่อเหมือนวัด สัปปายะสภาสถานเปรียบได้กับชายไทยที่จะได้รับสมญานามบาลีเมื่อเข้ารับการบวชเป็นภิกษุ อันเป็นการกลายร่างกลายภพจากโลกียะไปสู่โลกุตตระ หรือถูกทำพิธีให้เข้าเป็นสมาชิกหนึ่งของศาสนา ด้วยวิธีการเดียวกับที่คนชั้นกลาง Manipulateวัดและพิธีกรรมให้เข้ากับจริตของตน การบัญญัติชื่อที่เป็นภาษาเฉพาะเช่นบาลี ก็เพื่อความรับรู้ว่าสิ่งนั้นได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับการtransformมนุษย์ให้กลายเป็นภิกษุ เพราะ”บาลีเป็นเช่นเดียวกับภาษาศักดิ์สิทธิ์โบราณอื่นๆที่เป็นระบบสัญญลักษณ์ที่ผลิตเพื่อการสื่อสารเชื่อมโยงกับระเบียบที่มีอานุภาพเหนือพื้นพิภพ หรืออำนาจที่เหนือมนุษย์เหนือธรรมชาติ เป็นภาษาสัจจธรรมที่รับรู้ได้โดยไม่ขึ้นกับชาติพันธุ์และข้ามประเทศข้ามพรมแดนได้ เป็นภาษาเขียนที่ตายสนิทและห่างไกลจากภาษาพูดยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพื่อหลักการที่ว่าภาษาแบบนี้ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโลกบริสุทธิ์แห่งสัญญลักษณ์ได้เหมือนกัน และมันดำรงอยู่เป็นเวลาเก่าแก่นานพอที่จะศักดิ์สิทธิ์ดังรูปเคารพ เช่นที่ละตินเป็นภาษาของชาวคริสต์ บาลีเป็นภาษาของชาวพุทธ”[ix] และก็เช่นเดียวกันกับการปลุกเสกฉายา “อภิสิทธัตถะ”ให้แก่นายก โดยคุณไพบูลย์มิได้มีสถานภาพพระสงฆ์แต่ประการใด และนายกก็ไม่ต้องแปลงเป็นสมณเพศแต่อย่างใด ทั้งสัปปายะสภาสถานและอภิสิทธัตถะแตกต่างจากการถูกทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอดีต ที่ผู้ประกอบพิธีกรรมมิใช่องค์กรหรือสมาชิกในองค์กรทางศาสนา แต่มาโดยสถานภาพ ผู้อาวุโสด้านวิชาชีพ ผู้อาวุโสด้านกิจกรรมทางสังคม หรือมีเครดิตจากตำแหน่งสูงๆทางสังคม, การเมืองที่เคยได้รับ นี่จึงอาจเป็นวิธีการและความพยายามไต่เต้าสถานภาพทางธรรมแบบร่วมสมัย หรือเพิ่มอำนาจทางศีลธรรมของทั้งผู้พูดและวัตถุที่ถูกปลุกเสกไปพร้อมๆกัน เมื่อผู้พูดไม่มีสถานภาพทางธรรมแบบเป็นทางการ สิ่งที่ท่านพยายามสถาปนาด้วยการผสม-สร้างคำบาลีทั้งหลายขึ้นมาเอง มันก็คงจะขึ้นอยู่กับสังคมว่าจะยอมรับลูกความหมายตามแบบนั้นๆหรือไม่ น่าสนใจที่มีความคิดว่าสถานภาพทางธรรมอาจได้มาทางลัด โดยวิธีการทางการโฆษณาแบบเดียวกับการทำงานของ copy writer ในการตั้งชื่อสินค้า...หมวดศีลธรรม ความหมายของฉายาอภิสิทธัตถะคือ คนดีผู้นำพาการปรองดองมาสู่บ้านเมือง (ทั้งๆ ที่ผลงานยังไม่ปรากฏ?) นายกฯ จึงอาจกลายเป็นได้ทั้งนักรบผู้ขาดความมั่นใจ หรือเป็นผู้นำที่เผชิญหน้าอยู่กับวิกฤติศรัทธา ผู้เข้ามาพึ่งพิงการเพิ่มพลังอำนาจจากการปลุกเสกนั่นเอง ถ้านายกถึงกับต้องลดทอนความเป็นมนุษย์ของตัวเองลงมาเป็นวัตถุแห่งการเจิม วัตถุที่ท่านพยายามปลุกเสกอาจทำงานได้มากที่สุด... เป็นอภิสิทธัตถะ – เดวิดรูปงามแห่งราชาชาตินิยม คล้ายๆ กับที่เราจะมีสัปปายะสภาสถาน – วัดราชาชาตินิยม พ.ศ.2553 ที่ชื่อรัฐสภา ที่มีกำหนดวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ [x] ตราบใดที่คุณค่าของชิ้นงานและอุดมการณ์ของมันยังน่ากังขา เราคงจะได้เห็นกระบวนการ endorsement... ที่ผู้ผลิตและผู้สนับสนุนจะออกมาปรากฏตัวรับรองกันด้วยกลวิธีต่างๆอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ [i] อ่านเพิ่มเติมที่ เวทีวิพากษ์ กรุงเทพธุรกิจจุดประกาย 21 ตุลาคม 2548 “ปาฐกถาของ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ถูกคนจำนวนหนึ่งแปะป้ายเป็นปาฐกถาตุลาชิน แต่ด้วยเนื้อหาที่คัดค้านหนังสือพระราชอำนาจและแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างอิงพระราชอำนาจ ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าเผยแพร่ปาฐกถาฉบับเต็มของ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ผิดฝาผิดตัวกันไปหมด” http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=print&sid=999 [ii] ดูบทสัมภาษณ์ผู้ชนะเลิศการประกวดแบบรัฐสภาไทย ทีม สงบ๑๐๕๑ วาสารอาษา 04-05:2553 ฉบับ รัฐสภา (ไทย) ใหม่ (หรือไม่) หน้า68-83 [iii] “แบบผู้ชนะการประกวดการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขั้นตอนที่ 2 จำนวน 5 ราย” สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ http://www.asa.or.th/?q=node/99415 [iv] ผู้เขียนเคยต้องไปโรงเรียนสายเพราะติดเพลงชาติในเช้าวันหนึ่งที่คับขัน เพราะพี่ชายที่พาไปส่งโรงเรียนนั้นมิกล้าฝืนกฏใหม่เอี่ยมของรัฐบาลที่เพิ่งปล่อยเขาออกมาจากคุก ในความเข้าใจของผู้เขียน เข้าใจว่าในสมัยนั้นการยืนตรงเคารพธงชาติเป็นกฏหมายหากฝ่าฝืนอาจโดนทั้งจำและปรับ แต่ปัจจุบันนี้มันมิใช่กม.แต่ประการใด ผู้ใดมีความรู้เพิ่มเติมโปรดช่วยขยายความและชี้แนะผู้เขียน [v] ประวัติความเป็นมาสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ http://www.identity.opm.go.th/identity/content/identity.asp?identity_code=21000001&lang=thai&doc_type=21 [vi] อ้างแล้วใน iii [vii] ดูรายชื่อผลการประกวดงานออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ.2553-2545 ใน Asa Journal ที่ http://dnszoo.com/index.php?q=node/94280 ปี 2551- อาคารเรียนพระสงฆ์ (พระปุณณมันตานีบุตร มหาเถระ) ของสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ปี2547- โบสถ์วัดป่าสุนันทวนาราม กาญจนบุรี ผู้ออกแบบ บริษัทสถาปนิก49จำกัด ปี 2549, 2545 – ไม่มี [viii] “สัปปายะสภาสถานเป็น”มณฑลศักดิ์สิทธิ์” เป็น”สภาแห่งศีลธรรม”ที่จะนำบ้านเมืองไปสู่ภาวะ”บังอบายเบิกฟ้า ฝึกพื้นใจเมือง” และฝ่าวิกฤติศีลธรรม” อ้างแล้วใน iii [ix] ความเป็นจริงในทางภววิทยาหรือสภาวะเที่ยงแท้ของความเป็นจริงนั้นจะเข้าถึงได้ก็โดยผ่านระบบสัญญลักษณ์แทนอันทรงสิทธิ์ระบบเดียวเท่านั้น ได้แก่ ภาษาสัจจธรรม อย่างภาษาละตินของคริสตจักร ภาษาอารบิกของกุรอ่าน หรือภาษาจีนในระบบการสอบข้าราชการแมนดาริน และในฐานะที่เป็นภาษาสัจจธรรม ภาษาเหล่านี้ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วย...แรงกระตุ้นสู่การเปลี่ยนรับเข้ารีต...มิใช่ในความหมายของการรับเอาข้อบัญญัติทางศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่าใดนัก แต่หมายถึงการหลอมกลืนแบบเล่นแร่แปรธาตุ...ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนรับเข้ารีตผ่านภาษาอัยศักดิ์สิทธิ์นี้เอง ที่ทำให้”ชาวอังกฤษ”ผู้หนึ่งสามารถดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาได้ และ”ชาวแมนจู”เป็นโอรสแห่งสวรรค์ได้” จากบทที่2 รากฐานทางวัฒนธรรม – The religious community, Benedict Anderson, ชุมชนจินตกรรม, หน้า 21-27 ( ตัวเน้นในบทความเป็นสิ่งที่ผู้เขียนสรุปย่อเองด้วยความเข้าใจส่วนตัวจากการพยายามอ่านบทนี้) [x] แนะนำเลี่ยงถนนสามเสน 12 ส.ค.เสด็จฯวางศิลาฤกษ์รัฐสภาใหม่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280900883 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 10 Aug 2010 10:58 AM PDT มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน (ปีนี้ 2553 อยู่ระหว่าง 12 สิงหาคม 2553-10 กันยายน 2553) ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ) บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำที่ทำให้เสียศีลอดนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)" ดังนั้น ในระหว่างวันชาวมุสลิมจะละเว้นการกิน การดื่ม ซึ่งทำให้ร่างกายขาดพลังงานจากสารอาหารที่จะได้รับและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำและเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าระยะหิวโหย ระดับน้ำตาลและน้ำที่ลดลงจะกระตุ้นไปที่ศูนย์ควบคุมความหิว สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา (นียะห์) และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ (ศุบหฯ) อย่างแน่วแน่ จะไม่ทำให้ร่างกายถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไป เพราะระบบต่างๆ ในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้น โดยในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงาน ที่เก็บสะสมไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และไขมันมาใช้เป็นพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีซึ่งทำงานในชุมชนมุสลิมได้ให้ทรรศนะว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะได้พักผ่อนและถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ล้างสารพิษในร่างกายออกไป เพราะจากการศึกษาพบว่า การอดอาหารในระยะหนึ่งจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะร่างกายจะขับของเสียที่หมักหมมหรือสารอาหารที่มีมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่น ไขมันเลือดในเลือด หรือที่เรียกกันว่าคอเรสเตอรอล ออกไป เพราะหากมีมากเกินไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ของ Mansell และ Macdonald ตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal เมื่อปี 1988 แสดงให้เห็นว่า หญิงที่มีน้ำหนักปกตินั้น หากให้กินอาหารน้อยมาก เป็นเวลา 7 วัน ปรากฏว่า ร่างกายของหญิงเหล่านั้นจะปรับตัวได้ดีไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเดียวกันนี้ยังศึกษาต่อไปอีกว่า หากลองให้คนอดอาหารอย่างสิ้นเชิงยาวนานถึง 48 ชั่วโมง แล้วตรวจสอบดูว่าจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของร่างกายอย่างไรบ้าง ผลของการศึกษาพบว่า ร่างกายของผู้อดอาหารกลับตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นด้วยซ้ำ คนที่อดอาหาร 48 ชั่วโมง เมื่อต้องกลับมากินอาหารอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ให้ประโยชน์และช่วยทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น มีรายงานการวิจัยอื่นๆ อีกเหมือนกันที่ยืนยันว่า การอดอาหารอย่างสิ้นเชิงจะทำให้ความดันโลหิตลดลง ในขณะที่ปริมาณของเลือดที่เข้าสู่หัวใจไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่า ร่างกายปรับตัวโดยลดการทำงานของร่างกายลงในขณะที่ประสิทธิภาพของร่างกายยังคงที่อยู่ ร่างกายของมนุษย์จึงอัศจรรย์กว่าที่เราเคยเข้าใจแยะ ภายหลังผ่านการอดอาหารมาแล้ว ระบบการย่อยอาหารจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมโดยไม่แสดงผลร้ายหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อผลเสียแต่อย่างใดเลย กองทัพบกอิสราเอล โดยมีคณะนักวิจัยทางการแพทย์นำโดยนายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียน อิสราเอล เป็นผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ให้กองทัพบก หมอ Maislos ทำการศึกษาพฤติกรรมการถือศีลอดของชนเผ่าทะเลทรายที่เรียกว่า เบดูอิน คนเหล่านี้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดเหมือนกับคนอาหรับถือศีลอดกันในอดีต นั่นคือ กินอาหารน้อย ออกกำลังกายหรือทำงานตามปกติ และนอนค่อนข้างน้อย วันเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเมื่อพ้นเดือนรอมฎอน หมอทำการตรวจสอบระดับไขมันของชนเผ่าเบดูอิน สิ่งที่พบคือ คนเหล่านี้มีสุขภาพทางร่างกายดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง ระดับไขมันที่ดีที่เรียกว่า เอชดีแอล เพิ่มระดับสูงขึ้น บทสรุปก็คือ การถือศีลอดอย่างเคร่งครัด น่าจะช่วยทำให้ผู้ที่ถือศีลอดลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจได้ อย่างไรก็แล้วแต่ การถือศีลอดจะมีสุขภาพดีและไม่เป็นอันตรายนั้นควรปฏิบัติดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน ขนมหวาน และอาหารหนักในปริมาณที่มากจนเกินควร แล้วเมื่อรอมฎอนผ่านไป น้ำหนักตัวของเขาจะลดลงเล็กน้อยและไขมันในร่างกายของเขาก็จะน้อยลงด้วย 2.ควรละศีลอดด้วยอินทผลัม ถ้าไม่มีก็ด้วยอินทผลัมแห้ง และถ้าไม่มีก็ด้วยการดื่มน้ำเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ถือศีลอดละศีลอด ร่างกายของเขากำลังต้องการอาหารประเภทน้ำตาล ซึ่งสามารถจะถูกดูดซับเข้าสู่เลือดได้อย่างรวดเร็วและขจัดความหิวโหยให้หมดไป ในขณะเดียวกันนั้น ร่างกายของเขาก็ต้องการน้ำด้วย และการละศีลอดด้วยน้ำและอินทผลัมก็ให้ทั้ง 2 ประการ นั่นคือ การขจัดความหิว และขจัดความกระหาย นอกจากนั้น ทั้งอินทผลัมสดและแห้งยังอุดมด้วยเส้ยใย ที่จะช่วยป้องกันการท้องผูกและยังทำให้รู้สึกอิ่ม ดังนั้น ภายหลังจากที่ผู้ถือศีลอดละศีลอดด้วยอินทผลัมแล้ว เขาจึงไม่มีความอยากที่จะรับประทานอาหารอื่นในปริมาณมากๆ อีก 3.จงแบ่งการละศีลอดเป็น 2 ช่วง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะรีบละศีลอดด้วยอินทผลัม หรือน้ำ ต่อจากนั้นก็จะรีบไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) เสร็จแล้ว จึงกลับมารับประทานอาหารหนักละศีลอดต่อการรับประทานอินทผลัมเล็กน้อยและน้ำ จะเป็นการกระตุ้นกระเพาะอาหารอย่างแท้จริง และในขณะที่กำลังละหมาดมัฆริบนั้น กระเพาะก็จะดูดซับสารน้ำตาลและน้ำทำให้ความรู้สึกหิวกระหายเลือนหายไป ครั้นเมื่อผู้ถือศีลอดละหมาดเสร็จ และกลับมารับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในคราวเดียวและอย่างเร่งรีบนั้น จะทำให้กระเพาะอาหารโป่งพอง ลำไส้เกิดอาการปั่นป่วนและอาหารย่อยยาก 4.จงเลือกอาหารที่ถูกอนามัยและมีสารอาหารครบถ้วน อาหารที่ท่านรับประทานควรมีความหลากหลาย และมีสารอาหารครบทุกหมู่และควรให้อาหารมื้อละศีลอด มีสลัดผักมากๆ 5.ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้ท้องผูก หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มักจะมีอาการท้องผูก ก็ให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น สลัดผัก ผัก และผลไม้ชนิดต่างๆ และจงหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน โดยให้รับประทานผลไม้แทน และจงทำละหมาดตะรอเวียห์อย่างสม่ำเสมอและบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างที่เคยปฏิบัติ 6.พึงหลีกเลี่ยงการนอนหลังการละศีลอด ผู้ถือศีลอดบางคนชอบที่จะนอนหลังการรับประทานอาหารละศีลอด อันที่จริงการนอนหลังอาหารมื้อใหญ่และมากไปด้วยไขมันนั้นจะเพิ่มความเฉื่อยชาและเกียจคร้านให้มากขึ้น 7.ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ก่อนที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะถือศีลอด นางควรปรึกษาแพทย์ หากแพทย์อนุญาต นางจึงถือศีลอด แต่ไม่ควรรับประทานอาหารละศีลอดในปริมาณที่มากเกินไป ให้รับประทานแต่พอประมาณและควรแบ่งการรับประทานอาหารละศีลอดเป็น 2 มื้อ มื้อแรกเมื่อได้เวลาละศีลอด และมื้อที่ 2 ให้ห่างกับมื้อแรกประมาณ 4 ชั่วโมง และในการรับประทานอาหารสะหูร (มื้อก่อนรุ่งสาง) ควรจะล่าช้ามากที่สุด และควรรับประทานอาหารประเภทนมโยเกิร์ตให้มาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและขนมหวาน นอกจากนั้นหญิงที่ให้นมบุตรยังควรที่จะจัดเตรียมน้ำและอาหารเหลวเพื่อให้เด็กได้รับประทานควบคู่ไปกับการให้นมของนางขณะถือศีลอดและอาหารที่นางรับประทานเองทั้งมือละศีลอด และมื้อสะหูรควรเป็นอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ และถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้นมเด็กบ่อยครั้งในช่วงหลังละศีลอดถึงสะหูรและเมื่อใดที่รู้สึกอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยก็ให้รีบละศีลอดและปรึกษาแพทย์ 8.คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจจำนวนไม่น้อย ที่สามารถถือศีลอดได้เนื่องจากในช่วงเวลากลางวันเมื่อไม่มีการย่อยอาหาร กล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานน้อยลง และได้พักผ่อนมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะเมื่อมีการย่อยอาหารนั้น ร้อยละ 10 ของเลือดหัวใจสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายจะต้องถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ปกติแล้วจะสามารถถือศีลอดได้ แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และในขณะนี้ก็มียาหลายชนิดที่ผู้ป่วยสามารถจะรับประทานเพียงแค่วันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มเปรี้ยวจัด และรับประทานอาหารที่ใส่เกลือสมุทรให้น้อยลง ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่รุนแรง และเฉียบพลัน โดยทั่วไปก็สามารถถือศีลอดได้ แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ก็มีผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหัวใจบางอย่างที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ อย่างเช่น ผู้ป่วยด้วยโรคก้อนเลือดแข็ง ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นอ่อนอย่างรุนแรง และผู้ที่มีอาการเจ็บเสียดหน้าอกอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น 9.การปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาในเดือนรอมฎอน (ฝ่ายเภสัชภรรมชุมชน โรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช) ในช่วงรอมฎอน สำหรับผู้ป่วยเล็กน้อยหรือพี่น้องที่ต้องรับประทานยานั้น บางท่านอาจจะสงสัยว่าจะปรับตัวอย่างไรในการถือศีลอดในแต่ละวัน เรามาดูวิธีการปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาในเดือนรอมฎอน วิธีรับประทานยาที่ปรากฏบนซองยา ช่วงเวลาที่แนะนำให้รับประทานยาในช่วงเดือนถือศีลอด ทานยาหลังจากละศีลอดแล้วไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) จึงมาทานข้าว/อาหารหลัก หลังจากละศีลอดประมาณ 15-30 นาที 4 ชั่วโมงหลังจากการละศีลอด 30 นาทีก่อนทานมื้อก่อนรุ่งสาง 15-30 นาทีหลังทานมื้อดังกล่าว สำหรับคำแนะนำสุดท้ายผู้เขียนขอกล่าวว่า ในช่วงกลางวันของรอมฎอน เราจะถือศีลอด และประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สุจริตตามบทบัญญัติ) ส่วนในตอนกลางคืนเราจะละหมาดตะรอเวียห์ ขอดุอาอ์ (ขอพร) ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ และขอความเมตตาจากพระองค์ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่พวกเราบางตนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนด โดยเขาใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันไปกับการนอน และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควร อู้งาน โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด ผู้ถือศีลอดที่แท้จริงคือผู้มีอวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษ ลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามก ท้องของเขาจะต้องระงับจากการกิน การดื่ม อวัยวะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก ถ้าหากเขาพูดจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาไร้ผล และถ้าหากเขาจะทำกิจกรรมใดจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย คำพูดของเขาที่ออกมาควรเป็นคำพูดที่ดี และการกระทำของเขาก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นการกระทำที่ดีบังเกิดผล ท่านศาสดาสนับสนุนให้มุสลิมผู้ถือศีลอดมีมารยาทที่ดีงาม และความประพฤติปฏิบัติเป็นที่ยอมรับและน่าสรรเสริญ และปลีกตัวให้ห่างไกลจากการกระทำที่น่าเกลียดน่าชัง และการพูดจาที่หยาบคายสามหาวลามก อนาจาร คือ การงานที่เป็นผิด เป็นบาป ถ้าหากมุสลิมถูกใช้ให้ปลีกตัวให้ห่างไกลและละเว้นมิให้ประพฤติปฏิบัติในทุกๆ วัน แน่นอนการห้ามมิให้ปฏิบัติในระหว่างการถือศีลอดก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเป็นที่สุด จำเป็นแก่มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องปลีกตัวออกมาจากการกระทำที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาต้องสูญเสียไป และเพื่อที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาบังเกิดผลและบรรลุสู่การยำเกรง (ตักวา) ซึ่งพระเจ้า (อัลลอฮฺตะอาลา) ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้า ดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (2/183) ท่านศาสดากล่าวไว้ ความว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จ อัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดย : อิม่ามอัลบุคอรีย์) กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนใดๆ ท่านศาสดากล่าวไว้อีก ความว่า"การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด" (บันทึกโดย : อับนคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม) "บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ การหิวและการกระหายเท่านั้น" (บันทึกโดย : อิบนุมาญะฮฺและอะหมัด) สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ผู้ใดที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เนื่องจากเขาไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงของการถือศีลอดที่พระเจ้าทรงใช้ให้เขายึดถือปฏิบัติ ดังนั้น พระองค์จึงลงโทษเขาด้วยการทำให้ผลบุญและการตอบแทนสูญเสียไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทหารพม่าถูกกดขี่หนีทัพร่วมกองกำลังไทใหญ่ SSA Posted: 10 Aug 2010 09:59 AM PDT ทหารพม่าเชื้อสายไทใหญ่ทนแรงกดขี่ไม่ไหว หนีทัพร่วมกองกำลังไทใหญ่ SSA ด้านตรงข้ามอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เผยเพราะเป็นชาวไทใหญ่จึงถูกบังคับต่างๆ นาๆ มีรายงานจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ SSA ว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีทหารในกองทัพพม่า 1 นาย ชื่อ พลทหาร ตานเจ่ง อายุ 26 ปี จากฐานที่มั่นเมืองทา ตรงข้ามบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ อยู่ในสังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 529 มีบก.อยู่ที่ท่าขี้เหล็ก หลบหนีมาเข้าร่วมกองกำลังไทใหญ่ SSA ที่ฐานดอยดำ บริเวณชายแดนไทย – พม่า (รัฐฉาน) พร้อมด้วยอาวุธปืนประจำกาย ชนิด MA-1 1 กระบอก กระสุน 497 นัด และกับระเบิด ชนิด M-14 ผลิตในจีนอีก 1 ลูก พลทหารตานเจ่ง เปิดเผยถึงสาเหตุที่หลบหนีมาว่า เนื่องจากทนต่อการกดขี่ข่มเหงผู้บังคับบัญชาไม่ไหว ด้วยเหตุมีเชื้อสายเป็นชาวไทใหญ่จึงถูกกลั่นแกล้งและถูกบังคับให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมักถูกใช้ให้เฝ้าเวรยามติดต่อหลายวัน หากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกตบตีชกต่อย จนเป็นเหตุให้หูของเขาข้างหนึ่งสูญเสียการได้ยิน พลทหารตานเจ่ง เผยอีกว่า ฐานทหารพม่าที่เมืองทา มีทหารซึ่งไม่ใช่ชาวพม่าอยู่ 2 นาย อีกหนึ่งนายเป็นชาวปะโอ ซึ่งทหารคนนี้ก็มักถูกกลั่นแกล้งและถูกบังคับใช้ทำงานไม่แตกต่างกับเขาเช่นกัน ทั้งนี้ จากการสอบถามของเจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ SSA ทราบว่า พลทหารตานเจ่ง เป็นชาวไทใหญ่ มีภูมิลำเนาอยู่เมืองลายค่า รัฐฉานภาคใต้ ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เมืองกึ๋ง ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าส้ม และเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่เขากำลังเดินทางไปเมืองเกซี ได้ถูกทหารพม่าจับไปเป็นลูกหาบติดตามไปทางเมืองเชียงตุง (รัฐฉานภาคตะวันออก) แต่หลังภาระกิจลูกหาบเสร็จสิ้น ทหารพม่ากลับบังคับให้เขาเป็นทหารต่อ และหลังจากเข้ารับการฝึกการทหารได้ถูกส่งตัวมาอยู่ที่เมืองทา ตรงข้ามบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ขณะเดียวกัน มีรายงานจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยด้วยว่า ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีทหารว้า UWSA ในพื้นที่ควบคุม 171 ภายใต้การนำของเหว่ยเซียะกัง หลบหนีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารไทยที่ปฏิบัติการตามแนวชายแดนไทย – พม่า ด้านอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่จับกุมทหารว้า 2 นาย เป็นทหารยศร้อยโทหนึ่งนาย และในช่วงเดือนนี้ (สิงหาคม) สามารถจับกุมทหารว้าได้อีก 4 นาย ซึ่งหลบเข้ามาด้านบ้านอรุโณทัย (หนองอุก) ของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบถึงสาเหตุการหลบหนีมาของทหารว้า อีกทั้งยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ทหารว้า UWSA ที่หลบหนีมาอยู่ในสังกัดกองพลน้อยใด ซึ่งในพื้นที่ 171 แบ่งกำลังพลออกเป็น 5 กองพลน้อย ได้แก่ กองพลน้อยที่ 778, 775, 772, 248 และ 518 โดยพื้นที่ด้านตรงข้ามอำเภอเชียงดาว อยู่ในความรับผิดชอบของกองพลน้อยที่ 248 และ 775
-------------------------------------------------------- ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รำลึก 10 เม.ย. คนเสื้อแดงวางดอกไม้แดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย Posted: 10 Aug 2010 06:52 AM PDT 10 ส.ค.53 เวลา 19.00 น.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 4 เดือนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม นปช.จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว และถนนดินสอใกล้โรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 25 ราย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 800 คน กิจกรรมเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีการแจกดอกกุหลาบสีแดงมาให้ผู้ที่มาร่วมรำลึกเหตุการณ์นำมาวางที่ฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คน ณัฐยา เวรุนัต หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม เล่าว่า ตนอยู่ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะกำลังเดิน มีแก๊สน้ำโยนตาลงมาเฮลิคอปเตอร์โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้น และเห็นคนเสื้อแดงถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งภาพดังกล่าวยังติดตามาจนถึงทุกวันนี้ สนั่น อายุ 53 ปี หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมกล่าวว่า เดินทางมาร่วมกิจกรรมเนื่องจากเพื่อนของตนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน โดยที่เขายังรู้สึกขมขื่นและคิดถึงเพื่อนที่จากไป และขอร้องให้นายกรัฐมนตรีสะสางและรับผิดชอบเรื่องผู้เสียชีวิต รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างจริงจังและจริงใจ ‘เดียร์ฮันเตอร์’ ช่างภาพอิสระ เล่าว่าตนเห็นทหารเล็งปืนใส่กลุ่มผู้สื่อข่าวหลายครั้ง ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ตนอยู่ที่บริเวณสะพานพระราม 8 ขณะกำลังยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ ถูกทหารยิงกระสุนยางเข้าใส่ที่กล้อง 1 นัด และถูกยิงเข้าที่แขนอีก 1 นัด ในการทำกิจกรรม ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ผู้ร่วมกิจกรรมจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: วันแม่ น้ำตาแม่ ความทรงจำของแม่ผู้สูญเสียลูกจากการสลายการชุมนุม Posted: 10 Aug 2010 05:31 AM PDT เรื่องราวของหนึ่งแม่ผู้สูญเสียลูกชายไปกับกระสุนปืน 5 นัด วันที่ 10 เมษา หนึ่งแม่ผู้สูญเสียลูกสาวไปกับกระสุนปืน 10 นัด วันที่ 19 พฤษภา และอีกหลายแม่ที่สูญเสียตัวตนดั้งเดิมกลายเป็นคนใหม่ผู้มุทะลุเก็บข้อมูลความสูญเสียมารายงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย *หัวใจแม่ แหลกสลาย ในวันนั้น *หัวอกแม่ ผู้สูญเสีย แสนชอกช้ำ *แผ่นดินนี้ แม่ของแม่ อยู่แก่เฒ่า *ลูกเรียกร้อง ป้องประชาธิปไตย ว ณ ปากนัง
000 วันแม่ปีนี้ แม่หลายคนไม่มีโอกาสได้รับดอกมะลิหรือการกราบแทบเท้าจากลูกชาย ลูกสาว อย่างที่มักได้ยินโฆษณารณรงค์ตามสื่อต่างๆ เพราะพวกเธอสูญเสียลูกไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่จากโรคภัยไข้เจ็บอันเกินเยียวยา ไม่ใช่อุบัติเหตุอันไม่อาจยับยั้ง แต่จากการชุมนุมทางการเมือง ... สำหรับ ‘สุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์’ ภาพสุดท้ายที่ได้เห็นลูกชายคือ ภาพของเด็กหนุ่มที่นอนนิ่ง เนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด พร้อมรอยกระสุน 5 นัด เต็มแผงอก
เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ หรือโบ้ท เด็กหนุ่มวัย 29 ปี เสียชีวิตบริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 “มันเป็นความผิดของแม่เอง แม่สอนเขาแต่เล็ก ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้องอย่าไปยอมก้มหัวให้” สุวิมลกล่าวช้าๆ ด้วยนัยตาแข็งๆ เหมือนคนไม่ได้นอนมาหลายวัน ไม่มีน้ำตาแม้แต่หยดเดียวตลอดการสนทนา “แม่นอนไม่ค่อยหลับ กลางคืนมันเงียบ.. คอยแต่จะตื่นมาคิดถึงโบ้ทมัน” เราเจอเธอครั้งแรกที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อครั้งครบรอบ 1 เดือนเหตุการณ์ 10 เมษา เธอมาพร้อมสามีและเพื่อนสนิทของลูกอีกสองคน หนึ่งในนั้นคือ เรย์ ซึ่งร่วมชุมนุมอยู่กับโบ้ทด้วยในวันเกิดเหตุ หลังจากนั้นเราก็มักพบเห็นเธออีกหลายต่อหลายครั้งในงานรำลึกที่กลุ่มต่างๆ จัดขึ้น สองสามีภรรยาพากันตระเวนพร้อมกระเป๋าหนึ่งใบที่บรรจุเอกสารหลักฐานการตาย รวมถึงภาพสยดสยองของศพลูกชาย พวกเขาจะคอยหยิบมันออกมาทุกครั้งเมื่อมีคนไถ่ถามถึงเหตุการณ์ “ผมไม่ได้หัวรุนแรงอะไรเลย เพียงแต่คิดว่าอยากไปช่วยเขา ถ้ามีคนไปเยอะๆ ทหารก็คงสลายประชาชนไม่ได้” เรย์เพื่อนของโบ้ทบอกถึงความรู้สึก ณ ขณะนั้น เขาเล่าว่าในวันเกิดเหตุเขาและโบ้ทขับมอเตอร์ไซด์จากนางเลิ้งไปยังสี่แยกคอกวัวตอนประมาณทุ่มกว่า ทหารกับผู้ชุมนุมอยู่คนละฝั่ง เมื่อเกิดการยิงและเริ่มมีผู้บาดเจ็บจากด้านหน้าทยอยลำเลียงออกมา เขาถอย แต่โบ้ทไม่ถอย จากนั้นทั้งสองก็พลัดหลงกัน เขาหาโบ๊ทไม่เจอและตัดสินใจกลับบ้าน “กระสุนน่ะเราไม่เห็น เห็นแต่คนร่วง แต่มันมาจากฝั่งทหารแน่ อย่างโบ้ทนี่โดนทหารแน่นอน เขาอยู่ด้านหน้าเลย เวลาศอฉ.พูด ผมไม่อยากฟังเลย โกหกทั้งนั้น กระสุนปลอมบ้าอะไร เขายิงระดับหน้าอก หัว อย่างเดียวเลย อย่างโบ้ทนี่ไม่ใช่ลูกหลง ไม่มีทางเป็นลูกหลง มัน 5 นัด เต็มหน้าอก กราดเลย มี 2 นัดเข้าหัวใจ” เรย์กล่าว ทั้งพ่อและแม่ยังสวมเสื้อสีแดงทุกวัน จนถึงทุกวันนี้… เธอเองก็ไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นตรงไหนแน่ แต่พ่อ แม่ และโบ๊ท ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่ปีที่แล้ว พวกเขามีความชื่นชอบในนโยบายของทักษิณ ชินวัตร เป็นทุนเดิม ประกอบกับเห็นความไม่ถูกต้องในบ้านเมืองมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้สุวิมลและสามียอมหยุดกิจการขายอาหารตามสั่งหลายวันติดต่อกัน เพื่อไปร่วมชุมนุมในปีนี้ที่ราชดำเนิน-ราชประสงค์จนดึกดื่นแทบทุกวัน ในคืนวันที่ 10 เมษา เธอและสามีอยู่ที่เวทีราชประสงค์และนัดหมายกับลูกชายว่าจะมาเจอกันด้านหน้าเวที แต่ก็ไร้วี่แวว “ช่วงแรกเรายอมรับว่าเราออกมาเคลื่อนไหวเพราะเราชอบทักษิณ แต่ตอนนี้มันเลยมาแล้ว สังคมมันแบ่งแยกกันออกไปเลย สังคมคนชั้นสูง ชั้นต่ำ มันไม่ใช่แค่รักทักษิณอย่างเดียวแล้ว เราอึดอัดเพราะรู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องไม่ถูกต้อง มันไม่ยุติธรรม หลายสิ่งหลายอย่าง ไม่เป็นประชาธิปไตย จนกระทั่งทุกวันนี้มันเหมือนประชาชนคนไทยแม่งถูกกดหัวอยู่ อะไรๆ ก็โดนบล็อกไว้หมด เขารู้สึกกันทั้งนั้น แม่ก็เป็นแค่แม่ค้าธรรมดา ไม่ใช่เรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แต่ความรู้สึกมันเป็นแบบนี้จริงๆ ไม่ต้องจบพวกนั้นเราก็มองออก แล้วคนที่ทำไร่ทำนาอย่าไปคิดว่าเขาโง่นะ คนที่เขาสูญเสียเหมือนกัน เขามีความรู้สึกเดียวกับเราเลย ถึงเขาจะอยู่ต่างจังหวัดเขาก็รู้เรื่องหมด สมัยนี้มันไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว” สุวิมลกล่าวในวันทำบุญครอบรอบ 50 วันการเสียชีวิตของลูกชาย ท่ามกลางสถานการณ์ปรองดองฟีเวอร์ สุวิมลเพียงแต่หวังว่าเธอจะได้รับความเป็นธรรมบ้างในเร็ววันนี้ เพื่อจะได้เผาศพลูกชายที่ยังคงนอนอยู่ในโลง ให้เขาไปสู่สุขคติเสียที ... 000 ระหว่างที่ผู้คนกำลังสนทนากันอย่างออกรสในเต๊นท์ด้านในท่ามกลางอากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวในวันทำบุญครบรอบ 1 เดือนที่วัดปทุมวนาราม พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องเกด อาสาสมัครที่ถูกยิงเสียชีวิตแอบปลีกตัวมายืนมองรางรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดเพียงลำพัง เนิ่นนาน คงมีแต่ความเงียบและความสะท้านสะเทือนใจเท่านั้นที่ครอบคลุมบรรยากาศ กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด วัย 25 ปี เป็นอาสาสมัครพยาบาลที่ไปหลบอยู่ในวัดปทุมฯ ร่วมกับชาวบ้านอีกหลายพันคนในวันที่ 19 พ.ค. มีพยานยืนยันว่าเห็นทหารบนรางบีทีเอสยิงเข้ามาในเต๊นท์พยาบาลด้านหน้าวัดในช่วงโพล้เพล้ ทำให้เธอเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมพร้อมกันอาสาสมัคร และประชาชนมือเปล่าคนอื่นๆ รวม 6 ศพ บรรดาอาสาสมัครกลุ่มนี้เป็นกลุ่มอิสระที่รวมตัวกันตั้งแต่วันที่ 10 เมษา ไม่มีสังกัด มากันเองจากคนละทิศละทางอันเนื่องมาจากการเข้าช่วยเหลือคนเจ็บ คนตายในเหตุการณ์ในคราวนั้น เกดก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
พะเยาว์เล่าว่า ตั้งแต่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง เกดมักกลับบ้านดึกดื่นหรือไม่ก็ไม่กลับเลยเพราะมัวแต่อยู่เต๊นท์พยาบาลคอยช่วยเหลือผู้ชุมนุม เกดมักเล่าให้แม่ฟังว่าในที่ชุมนุมมีแต่เด็ก คนแก่ เต็มไปหมด ยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร เห็นแล้วเธออดสงสารไม่ได้ ...เหตุผลเช่นนั้นทำให้ผู้เป็นแม่หมดหนทางจะทัดทานลูกสาวด้วยเช่นกัน เกดเรียนจบไม่สูงนักเพราะต้องออกมาช่วยแม่ขายของ จำพวกพวงมาลัย ดอกไม้ ขนมนมเนย แต่ก็พยายามเรียนต่อจนจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มีนิสัยรักการช่วยเหลือคน (แบบผจญภัย) มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น พะเยาว์เล่าว่าตั้งแต่ม.3 ก็ชอบตระเวนไปกับเพื่อนหน่วยกู้ชีพเพื่อช่วยคนเจ็บ เก็บคนตายแล้ว และชีวิตก็เบนเข็มมาวนเวียนอยู่กับคนเจ็บคนตายเช่นนั้นเรื่อยมา ในงานศพของเกดที่วัดใกล้บ้าน ผู้เป็นพ่อยังคงช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกินไม่ได้ พูดไม่ออก ขณะที่ผู้เป็นแม่เริ่มตั้งสติได้ เธอไม่กล้าที่กล่าวโทษใครอย่างชัดเจน แต่หลังจากเริ่มมีพยานหลักฐาน เช่นรูปและคลิปของทหารบนรางรถไฟฟ้า ปากคำพยานในเหตุการณ์ที่มาเล่าให้ฟัง การตอบสนองจากรัฐบาล ตลอดจนผลชันสูตรที่พบว่า ลูกสาวของเธอโดนยิงถึง 10 นัด ไม่ใช่ 2 นัดตามที่เธอเข้าใจ ทำให้เธอเต็มไปด้วยความเคียดแค้นและเดินทางทวงถามหาความยุติธรรมให้กับลูกอย่างไม่หยุดหย่อน “ของขวัญวันแม่เหรอ แม่อยากได้แค่อย่างเดียว อยากได้ความเป็นธรรมให้ลูกของแม่ แค่นั้นแหละ”
000 ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ไม่เพียงมีแม่หลายคนที่ต้องสูญเสียลูก หรือได้รับของขวัญเป็นลูกคนใหม่ที่สูญเสียอวัยวะ พิกลพิการ ยังมีแม่อีกจำนวนหนึ่งที่สูญเสียตัวตนในแบบเดิมไปแล้วท่ามกลางความโศกเศร้า หม่นหมอง และความเสียหายที่กระจัดกระจายอยู่ตามซอกหลืบของสังคมอันสงบสุข หากใครเป็นสิงห์ไซเบอร์ เสือเฟซบุ๊ค ย่อมต้องรู้ว่า ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ไม่ได้เงียบหายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนจำนวนมากพยายามรวบรวมข้อมูลและส่งต่อข่าวสาร ความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทั้งในส่วนของญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ครอบครัวผู้ถูกจับกุม อัพเดทสถานการณ์กันวันต่อวัน กระเสือกกระสนกันเท่าที่พละกำลังแต่ละคนจะอำนวย
กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงสี หรือ เจ แม่ของลูกสาววัย 5 ขวบ ก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เธอใช้เฟซบุ๊คแทนอาวุธปืน และใช้ข้อมูลข่าวสารแทนกระสุน ทั้งที่มีอาชีพรับราชการ แต่เธอใช้เวลาว่างทั้งหมดที่มีไปกับการเก็บข้อมูลญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ คนแล้วคนเล่า นำมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเผยแพร่ข้อมูลไปพร้อมๆ กับประสานความช่วยเหลือจากผู้อ่านไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบ เริ่มต้นลุยเดี่ยวจนกระทั่งปัจจุบันเริ่มมีอาสาสมัครผลัดกันมาช่วยเก็บข้อมูล เยี่ยมเยียนคนเจ็บ คอยนั่งรถเป็นเพื่อนกันขากลับยามดึกดื่น และอาสาสมัครส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นแม่ที่ทิ้งลูกเล็กไว้เบื้องหลังเพื่อมาเดินตามตรอกค้นหาบ้านคนเจ็บร่วมกันทั้งนั้น “ตอนแรกก็อธิบายให้ลูกฟัง ลูกก็เข้าใจ แต่พอมันหนักเข้าๆ ลูกเริ่มไม่เข้าใจอีกแล้ว ทำไมแม่ไม่มีเวลาพาไปเที่ยวสวนสัตว์ เที่ยวห้างเหมือนเดิม” เจเล่าให้ฟัง เบื้องหลังของขบวนการแม่ลูกอ่อนแต่ละคนก็เป็นสิ่งน่าสนใจ บางคนเข้ากับเสื้อแดง อยู่ร่วมชุมนุมจนวันสุดท้าย ซึมซับทุกเหตุการณ์ความรุนแรง ขณะที่เจเองมีพื้นฐานต่างออกไป เธอเป็นลูกของนักวิชาการรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียง อยู่ในสังคมระดับบน จบจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปเป็นปลัดอำเภออยู่จังหวัดห่างไกลนับสิบปี จุดเริ่มต้นกับเสื้อแดงของเธอมีเพียงการแวะเวียนไปเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยประจำการซึ่งมาร่วมชุมนุมกับ นปช.ด้วย อาจเป็นเพราะสมัยที่เป็นปลัดอำเภอนั้นทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านอย่างถึงพริกถึงขิงจนเข้าใจประชาชนในต่างจังหวัดเป็นอย่างดี ทำให้ทนไม่ได้เมื่อเห็นพวกเขาถูกกระทำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ 10 เมษา เจเริ่มเข้าไปป้วนเปี้ยนในม็อบมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ซึ่งเธอเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลส่วนงานนี้อยู่ จนกระทั่งหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีอาสาสมัครกู้ชีพเสียชีวิตถึง 5 คน จากนั้นมาเธอกลายเป็นอาสาสมัครที่แข็งขันที่สุดในการนำข้อมูล เรียกร้องความเป็นธรรม โดยไม่เกรงกลัวหัวโขน ของตำแหน่งหน้าที่การงานจะหลุดจากบ่า เธอและเพื่อนๆ ตระเวนเยี่ยมคนบาดเจ็บและติดตามความคืบหน้าต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงประสานงานระหว่างแหล่งข่าวกับผู้สื่อข่าวที่สนใจติดตามประเด็นเหล่านี้ด้วย บ่อยครั้งที่เห็นเธอน้ำตาซึมกับเรื่องเล่าสะเทือนใจของผู้สูญเสีย ผู้ซึ่งลูกๆ สามี ญาติพี่น้องของพวกเขาไม่มีโอกาสได้หว่านไถ ปลูกข้าวบนนาของแม่อีกแล้ว...
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักเรียน ม.5 เชียงรายไม่ต้องเข้าบำบัดจิต สถานพินิจฯ โทรแจ้งเด็กปกติดี Posted: 10 Aug 2010 03:55 AM PDT เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ เชียงรายโทรแจ้งแม่เด็ก ม.5 เช้าวันนี้ บอกไม่ต้องเข้ารับการบำบัดจิต 16 - 17 ส.ค.นี้ เพราะเด็กปกติดี ด้าน ผอ.สถานพินิจฯ แจงทำตามกระบวนการไม่มีเลือกปฏิบัติ ชี้สอบข้อมูลไม่ได้มุ่งเอาผิดหรือระบุเด็กเป็นโรคจิต ส่วนกระบวนการหลังส่งผลสอบ ตำรวจรวมข้อมูลส่งอัยการต่อไป จากกรณี นักเรียนชาย อายุ 16 ปี ชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย เข้ารับการตรวจสภาพจิตกับเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เชียงรายและถูกนัดให้เข้ารับการบำบัดจิตในวันที่ 16 - 17 ส.ค.นี้ อันเนื่องมาจากการร่วมกับกลุ่มนักศึกษาชูป้าย “เห็นคนตายที่ราชประสงค์” เพื่อคัดค้านการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และได้ถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับและต้องเข้าให้ข้อมูลกับตำรวจ ในข้อหา “ชุมนุม หรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันเสนอข่าวทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน” วันนี้ (10 ส.ค.53) แม่ของนักเรียนคนดังกล่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้เวลาประมาณ 9.00 น.ทางเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจฯ ได้โทรศัพท์แจ้งให้ทราบว่าไม่ต้องนำตัวลูกชายไปรับการบำบัดตามที่นัดหมายในวันที่ 16 - 17 ส.ค.นี้แล้ว เนื่องจากผลการตรวจพบว่าสุขภาพจิตปกติดี แต่ผลการตรวจที่เป็นเอกสารยังไม่ได้รับเพราะขณะนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้เดินทางกลับเชียงราย ส่วนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรคงต้องมีการปรึกษากับกลุ่มที่โดนคดีด้วยกัน ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการพูดด้วยคำพูดเรื่องจะจบหรือไม่อย่างไร เธอกล่าวด้วยว่าจากการได้เข้าไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นเพราะมีองค์กรด้านสิทธิฯ ยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือ ให้ความเป็นธรรม ส่วนโน้ตบุ๊กที่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปโดยอ้างว่าจะนำไปตรวจสอบหลักฐานเจ้าหน้าที่ก็ได้รับปากว่าจะนำมาคืนให้ นอกจากนั้นยังได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ ไว้ว่าหากมีปัญหาเรื่องการคุกคามให้สามารถโทรศัพท์แจ้งได้ แม่ของนักเรียนชั้น ม.5 เล่าว่าก่อนหน้าที่จะมีการลงมาให้ข้อมูลต่อกรรมการสิทธิฯ รู้สึกว่าตัวเองและคนในครอบครัวถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะ และมีการโทรศัพท์มาสอบถามว่าได้มีการประสานงานขอความช่วยเหลือจากทางพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งก็ได้ตอบไปว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง หรือรู้จักและไม่ได้มีศักยภาพในการติดต่อประสานงานอะไร โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่โรงเรียนในช่วงเช้าและอาจารย์โทรแจ้งให้ทราบพร้อมทั้งตามหาตัวลูกชาย เนื่องจากลูกชายไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพราะเจ็บขาแต่ไม่ได้แจ้งให้อาจารย์ไว้ ในวันที่ 6 ส.ค.ก่อนที่จะมีการทำกิจผูกผ้าแดงที่หอนาฬิกา จ.เชียงรายของ บก.ลายจุด เธอเล่าว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรหาและบอกว่าผู้กำกับต้องการจะพูดด้วย อีกทั้งยังบอกด้วยว่าตามกฎหมายจะต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนตัวไม่รู้จะคุยอะไร เพราะได้ให้ข้อมูลทั้งหมดไปแล้วและได้ทำตามกระบวนการโดยส่งลูกชายไปตรวจที่สถานพินิจแล้วด้วย จึงไม่ขอคุยและได้สื่อสารกลับไปว่าหากต้องการจะนัดสอบข้อมูลก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหมายนัดมาให้อีกครั้ง และในวันที่ 7 ส.ค.ซึ่งมีกิจกรรมผูกผ้าแดงเธอก็ได้พาลูกไปเข้าร่วมด้วย “เขามาเพื่อให้กำลังใจ และอีกอย่างมันก็เป็นประเด็นของลูกเรา” เธอบอกเหตุผลของการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงพาลูกออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก แต่ส่วนตัวแล้วเธอคิดว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เอาเรื่องในการแสดงออกของเด็กนักเรียนนักศึกษา เหตุการณ์คงไม่บานปลายถึงขนาดนี้ ด้านนางสาวสุมาลี ญาณภาพ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย กล่าวยืนยันว่าได้มีการแจ้งผลการตรวจสุขภาพจิตและติดต่อไปยังแม่ของนักเรียนชั้น ม.5 คนดังกล่าวว่าไม่ต้องเข้ารับการบำบัดแล้วจริง ทั้งนี้การทำงานของสถานพินิจฯ ถือเป็นการดำเนินการตามปกติ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ทางสถานพินิจฯ จะทำการสรุปข้อมูลที่ได้ส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในส่วนของกระบวนการ ต่อไปพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สรุปสำนวนส่งอัยการ และอัยการจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ “การตรวจสุขภาพ และตรวจสุขภาพจิต เป็นโปรแกรมเบื้องต้น ไม่ได้ระบุว่าเด็กทำผิด หรือเป็นโรคจิต เพียงแต่เป็นโปรแกรมบำบัดในการดำเนินชีวิตทั่วไป” นางสาวสุมาลีกล่าว นางสาวสุมาลี กล่าวด้วยว่าสถานพินิจฯ เป็นเพียงผู้สรุปข้อเท็จจริงและจัดทำเป็นรายงานส่งไปยังเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องการตรวจสุขภาพจิตนั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก และทางสถานพินิจฯ ไม่ได้มุ่งสอบสวนว่าเด็กได้กระทำผิดจริงหรือไม่ เด็กและเยาวชนไม่ว่าคดีอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่ากรณีทำผิดปกติทั่วไป หรือเป็นกรณีที่เกี่ยวกับทางการเมืองเช่นกรณีนี้ กระบวนการล้วนมีความเสมอภาคเหมือนๆ กัน ในกรณีนักเรียนชั้น ม.5 นี้ นางสาวสุมาลี กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาและมีการดำเนินคดี แต่ไม่ได้มีการจับกุม และได้แจ้งให้สถานพินิจให้ดำเนินการสอบข้อมูล ซึ่งตามกระบวนการฟ้องร้องต่อศาล หากไม่มีรายงานจากสถานพินิจฯ ศาลจะไม่รับฟ้อง ส่วนความรับผิดชอบของสถานพินิจนั้นก็เพียงทำรายงานส่งให้กับทางเจ้าหน้าที่ เด็กจะกลับมาอยู่ที่สถานพินิจอีกก็ต่อเมื่อศาลพิจารณาไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือมีคำสั่งให้เข้าฝึกอบรม หรือต้องควบคุมตัวตามหมายศาล หากไม่มี สถานพินิจก็หมดอำนาจและภาระรับผิดชอบ เมื่อสอบถามถึงการแจ้งหรือต้องส่งเอกสารสรุปข้อมูลในกับทางครอบครัวของเด็กด้วยหรือไม่ ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ กล่าวว่าไม่ต้อง เพราะสรุปข้อมูลดังกล่าวมาจากการให้ปากคำของเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งได้มีการเซ็นรับทราบไว้แล้วตั้งแต่ภายหลังจากการสอบข้อมูล อีกทั้งเอกสารดังกล่าวถือเป็นเอกสารลับที่ส่งให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และศาลจะนำมาใช้เมื่อมีการพิจารณาคดี โดยเด็กสามารถจะทำการคัดค้านได้ในชั้นศาล ทั้งนี้ นางสาวสุมาลีกล่าวยอมรับว่ากระแสข่าวของนักเรียนชั้น ม.5 คนดังกล่าวที่ต้องตรวจสุขภาพจิตนั้นส่งผลกระทบต่อองค์กร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำงานในหน้าที่ และในส่วนการบังคับบัญชา ที่ผ่านมาก็ได้มีการชี้แจงข้อมูลกับทางกรมกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแล้วในเรื่องการทำงานตามบทบาทและกระบวนการ ซึ่งไม่ได้มีอะไรนอกเหนือจากความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ในฐานะคนทำงานกับเด็กและเยาวชน มีเจตนาดีและมีความปารถนาดีกับเด็ก เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติอีกทั้งการทำงานก็เป็นไปด้วยความผูกพัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น