ประชาไท | Prachatai3.info |
- ภาคประชาชนส่งแถลงการณ์ถึงอาเซียนในประเด็นทุนข้ามชาติในพม่า
- วิกิลีคส์: มายาคติดิจิทัลสามประการ
- รายงานเสวนา: เอ็นจีโอ-ภาคประชาชน ทบทวนบทบาท ท่ามกลางกระแส 'ปฏิรูป'
- กกต.พม่าส่งหีบหย่อนบัตรไปทุกพื้นที่เลือกตั้งแล้ว
- ภาคประชาชน จี้อาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริง
- ในความคิดคำนึง.....จะอยู่อย่างไร หากคนเสื้อแดงไม่เอา
- เครือข่ายแรงงาน นับร้อยบุกสภาเสนอวิปทั้งสองฝ่ายให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันความปลอดภัย
- วิวาทะ “ศาสนากับการเมือง”
- นักปรัชญาชายขอบ: ตาสว่างและเดินทางต่อ
- 17-19 กันยา ปีนี้สำคัญอย่างไร?
- ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 1: พูดถึงนิวมีเดียคือพูดถึงสิทธิในการสื่อสาร
ภาคประชาชนส่งแถลงการณ์ถึงอาเซียนในประเด็นทุนข้ามชาติในพม่า Posted: 22 Sep 2010 06:12 AM PDT เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 53 ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาชนได้ส่งจดหมายและแถลงการณ์ถึง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เรื่องประเด็นทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
21 กันยายน 2553 ถึง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เรื่อง แถลงการณ์ถึงอาเซียนในประเด็นทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน เรียน ท่านเลขาธิการอาเซียน ในวันที่ 18 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา กลุ่มภาคประชาชนอาเซียนได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “ทุนข้ามชาติในพม่า: ภัยคุกคาม ความรับรู้และการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน” ขึ้นที่กรุงเทพ ประเทศไทย การสัมมนาครั้งนี้ มีกลุ่มภาคประชาสังคมผู้สนใจในประเด็นอาเซียนและประเด็นพม่าเข้าร่วม อีกทั้งยังมีสมาชิกวุฒิสภาของไทย กลุ่มนักวิชาการและสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วย การสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์หลักคือ * เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบของการลงทุนข้ามประเทศในโครงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ในประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่เป็นที่ตระหนักและยังไม่มีการกล่าวถึงกันในหมู่สาธารณชน แนบมาพร้อมกับจดหมายนี้ คือแถลงการณ์ของภาคประชาชนจากการสัมมนาดังกล่าว พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำอาเซียน ท่านจะตระหนักว่าโครงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนนับล้านในภูมิภาค ประเด็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในพม่าจึงจำเป็นต้องได้รับการทบทวน หรือหยุดหากจำเป็น เพื่อให้วิถีชีวิตของประชาชน ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพจะยังคงอยู่ได้ เราเชื่อว่า การหาความเป็นไปได้ในการทบทวนโครงการทางเศรษฐกิจของพม่า โดยเฉพาะการลงทุนข้ามประเทศ ให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน เป็นไปตามแนวทางสิทธิมนุษยชน และให้รายได้ต่อประชาชนของประเทศ นับถือความยุติธรรมต่อแรงงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นภาระกิจที่สำคัญของผู้นำอาเซียน เราจึงขอเรียกร้องให้ท่านให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นของเสาสิ่งแวดล้อมในอาเซียน ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจในประเด็นที่ได้กล่าวมา และเราหวังว่าท่านจะตอบสนองข้อเสนอของเราอย่างจริงจัง ขอแสดงความนับถือ Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วิกิลีคส์: มายาคติดิจิทัลสามประการ Posted: 22 Sep 2010 05:57 AM PDT การที่วิกิลีคส์ (Wikileaks, http://www.wikileaks.org/) นำเอกสารลับเกี่ยวกับสงครามอัฟกานิสถานมาตีพิมพ์ใน เดอะ การ์เดียน [1] เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ [2] และ เดอ สปีเกล [3] ภายใต้ข้อตกลงกับวิกิลีคส์ ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก นอกจากนี้ เลอ มอนด์ ดิพโลมาธิก ร่วมกับ โอวนิ และเว็บสเลทฝรั่งเศส (Slate.fr) ยังได้เผยแพร่เอกสารออนไลน์บนเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ [4] นัยด้านความมั่นคงของเอกสารที่รั่วออกมาจะเป็นที่ถกเถียงไปอีกนานหลายปี ในขณะเดียวกัน การปล่อยเอกสารกว่า 900,000 ชิ้นก็ได้ก่อให้เกิดวิวาทะเกี่ยวกับพลังที่เพิ่มขึ้นของสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย วิวาทะหลายครั้งมีรากอยู่ในสิ่งที่ผมเรียกว่า มายาคติอินเทอร์เน็ตหรือมายาคติดิจิทัล กล่าวคือ มายาคติที่มีรากอยู่ในแนวคิดที่มองเทคโนโลยีอย่างโรแมนติกและมองว่าเราเปลี่ยนมันไม่ได้ มายาคติ #1: พลังของโซเชียลมีเดีย ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านสื่อถูกถามอยู่เนืองๆ ว่ากรณีของวิกิลีคส์บอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับพลังของโซเชียลมีเดียในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในแง่ของการรายงานข่าวสงคราม [5] คำถามนี้ไม่มีอะไรผิด แต่มันก็สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวล ที่จะอุปโลกน์ว่าโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ (บล็อก ทวิตเตอร์ เฟซบุค วิกิลีคส์) เป็นสิ่งเดียวกัน มายาคติคือความคิดที่ว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้เหมือนกันหมดเพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกัน แต่วิกิลีคส์ไม่มีอะไรเหมือนกับทวิตเตอร์หรือยูทูบเลย สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่น คือกระบวนการกลั่นกรองที่ใช้สำหรับเนื้อหาก่อนที่จะนำมาโพสบนเว็บไซต์ [6] กระบวนการนี้อาจดูเหมือนรายละเอียด แต่มันก็พุ่งตรงเข้าที่หัวใจของแนวคิดแบบ “ยูโทเปียเทคโนโลยี” ที่เชื่อใน “พื้นที่เปิดสาธารณะ” ที่ทุกคนสามารถโพส(แทบจะ)ทุกอย่างให้คนอื่นได้อ่าน ฟัง และดู พลังที่แท้จริงของวิกิลีคส์ไม่ใช่เทคโนโลยี (ซึ่งก็ช่วย แต่อย่าลืมว่าโลกมีเว็บไซต์หลายล้านเว็บ) แต่อยู่ที่ความไว้วางใจของผู้อ่านว่าสิ่งที่พวกเขาอ่านนั้นเป็นของแท้ ผู้อ่านเชื่อว่าทีมงานวิกิลีคส์รับรองความถูกต้องของเนื้อหา ยูทูบมีวีดีโอหลายร้อยคลิปจากอิรักและอัฟกานิสถานที่แสดงทหารจากกองกำลังผสมกระทำการไม่เหมาะสมและบางกรณีก็ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน [7] แต่แล้วก็ไม่มีคลิปวีดีโอบนยูทูบคลิปไหนที่สร้างผลกระทบสูงเท่ากับคลิปวีดีโอคลิปเดียวบนวิกิลีคส์ที่แสดงภาพพลเรือนหลายสิบคน (รวมนักข่าวรอยเตอร์สองคน) ถูกกราดยิงด้วยปืนแรงสูงจากเครื่องบินรบแถบชานเมืองของกรุงแบกแดด [8] ทำไม? เพราะถึงแม้ว่าการเปิดสมบูรณ์แบบอาจน่าดึงดูดใจในทฤษฎี ข้อมูลก็มีค่าเท่ากับความน่าเชื่อถือของมันเท่านั้น วิกิลีคส์มีโครงสร้างการกลั่นกรองแบบองค์กรที่ทวิตเตอร์ เฟซบุค ยูทูบ และบล็อกอื่นๆ ไม่มี (ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน) ในเมื่อโซเชียลมีเดียไม่เท่าเทียมกัน พลังของมันจึงไม่เท่าเทียมกันด้วย มายาคติ #2: รัฐชาติกำลังจะตาย ถ้ากรณีของวิกิลีคส์ให้บทเรียนอะไรกับเรา บทเรียนนั้นก็คือ รัฐชาติไม่ได้กำลังเสื่อมถอยลงแม้แต่น้อย วาทกรรมมากมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียบอกว่าเรากำลังอยู่ในสังคมดิจิทัลที่ไร้พรมแดน แนวคิดที่ว่ารัฐชาติกำลังเสื่อมถอยลงนั้นเป็นสิ่งที่นักวิชาการบางสำนักยืนกรานมานานหลายปีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาควรทำให้เราหยุดทบทวนใหม่ ชัดเจนว่าคนที่ทำวิกิลีคส์เข้าใจบทบาทที่ขาดไม่ได้ของรัฐชาติในแง่ของกฎหมาย ถึงแม้ว่า เจย์ โรเซน (Jay Rosen) นักวิชาการด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กจะอ้างว่าวิกิลีคส์เป็น “องค์กรสื่อแห่งแรกของโลกที่ไร้รัฐ” [9] ที่จริงวิกิลีคส์ก็อยู่ติดพื้นที่ทางกายภาพอย่างมาก วิกิลีคส์ตั้งอยู่ในสวีเดนอย่างไม่เป็นทางการ ใช้ประโยชน์จากกฎหมายสวีเดนที่มีบทบัญญัติคุ้มครองผู้ให้เบาะแสคอร์รัปชั่นและพิทักษ์ตัวตนที่แท้จริงของแหล่งข่าว [10] ดังที่ เดอะ นิวยอร์กเกอร์ รายงานในเดือนมิถุนายน 2010 ว่า [11] ผู้ให้บริการของวิกิลีคส์คือไอเอสพีสวีเดนชื่อ พีอาร์คิว [12] เนื้อหาที่คนส่งมาให้วิกิลีคส์ ก่อนอื่นจะต้องผ่านพีอาร์คิว แล้วค่อยส่งต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ในเบลเยียม ทำไมต้องเบลเยียม? เพราะเบลเยียมมีกฎหมายที่เข้มเป็นอันดับสองในแง่ของการปกป้องแหล่งข่าว และ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ ก็เลือกไอซ์แลนด์เป็นสถานที่ถอดรหัสคลิปวีดีโอการสังหารหมู่ในแบกแดด เพราะเมื่อไม่นานมานี้ไอซ์แลนด์เพิ่งดำเนินนโยบาย “Icelandic Modern Media Initiative” [13] ซึ่งถูกออกแบบมาให้ประเทศนี้เป็นแหล่งหลบภัยสำหรับผู้ให้เบาะแสคอร์รัปชั่น การทำข่าวเจาะ และเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากวิกิลีคส์ เราก็มีกรณีอื่นที่เตือนให้เห็นความสำคัญของรัฐและกฎหมายในโลกดิจิทัลที่ลื่นไหล เช่น กรณีที่รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียประกาศแบนฟังก์ชั่นแชทของเครื่องแบล็กเบอรี [14] หรือกรณีที่รัฐบาลตุรกีสั่งแบนยูทูบอย่างดูไม่มีที่สิ้นสุด [15] ถึงแม้ว่าโครงสร้างของวิกิลีคส์จะถูกออกแบบมาเพื่อข้ามพ้นกฎหมายในบางประเทศ (ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้ทำอย่างนั้นได้) มันก็ฉวยใช้ประโยชน์จากกฎหมายของประเทศอื่นเช่นกัน วิกิลีคส์ไม่ใช่ไม่ทำตามกฎหมาย มันเพียงแต่ย้ายเกมทั้งเกมไปอยู่ในที่ที่กฎกติกาแตกต่างออกไป มายาคติ #3: สื่อมวลชนไม่ได้ตายแล้ว (หรือเกือบตาย) ข่าวที่ว่าสื่อมวลชนตายแล้วนั้นเกินจริงไปมาก (ถ้าจะเลียนแบบคำพูดของ มาร์ค ทเวน) กรณีของวิกิลีคส์สะท้อนพลังของเทคโนโลยีที่ทำให้เราทบทวนว่า “สื่อมวลชน” หมายความว่าอะไรในยุคต้นศตวรรษที่ 21 แต่มันก็ช่วยตอกตรึงตำแหน่งแห่งที่ของสื่อกระแสหลักในวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วย วิกิลีคส์ตัดสินใจปล่อยเอกสารจากอัฟกานิสถานให้กับ เดอะ การ์เดียน, เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ และ เดอ สปีเกล ก่อนที่จะปล่อยมันออนไลน์ ซึ่งทั้งสามฉบับนี้ล้วนเป็นสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่ “สื่อทางเลือก” (ที่น่าจะสนับสนุนวิกิลีคส์) อย่างเช่น เนชั่น, แซด แมกกาซีน หรือ อินดีมีเดีย เหตุผลก็น่าจะชัดเจนว่าเป็นเพราะสื่อกระแสหลักทั้งสามนั้นเป็นผู้กำหนดวาระข่าวระดับนานาชาติ มีสื่อไม่กี่องค์กร (ถ้าไม่นับสื่อโทรทัศน์อย่างเช่นบีบีซีหรือซีเอ็นเอ็น) ที่มีอิทธิพลเท่ากับ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ และ เดอะ การ์เดียน – และการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษก็ช่วยให้คนเข้าถึงเช่นกัน ทีมงานของวิกิลีคส์ช่ำชองพอที่จะตระหนักว่าการปล่อยเอกสารออนไลน์ไปเลยโดยไม่ติดต่อสื่อกระแสหลักที่เลือกแล้วบางแห่งรังแต่จะทำให้เกิดกระแสแห่กันโพสบทความที่สับสนวุ่นวายไปทั่วโลก วิธีของวิกิลีคส์ทำให้ความสนใจทั้งหมดพุ่งไปสู่เนื้อหาในหนังสือพิมพ์สามฉบับ ซึ่งได้วิเคราะห์และสรุปเอกสารจำนวนมากเรียบร้อยแล้ว และบทบาทของวิกิลีคส์ก็ไม่ได้หลุดหายไปในวังวนข้อมูลด้วย แนวคิดเรื่องความตายของสื่อมวลชนสับสนระหว่างการเปลี่ยนแปลงกับการกำจัดทิ้ง (เหมือนกับแนวคิดเรื่องความตายของรัฐชาติ) การปล่อยเอกสารอัฟกานิสถานชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนกระแสหลักยังมีอิทธิพลสูงมาก แต่ลักษณะของอิทธิพลนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป (เทียบกับเมื่อ 20-30 ปีก่อน) ยกตัวอย่างเช่น บิล เคลเลอร์ (Bill Keller) บรรณาธิการบริหาร เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ อธิบายการติดต่อระหว่างกองบรรณาธิการกับทำเนียบขาว [16] หลังจากที่เอกสารได้รับการตีพิมพ์ว่า – “ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประณามวิกิลีคส์ที่เผยแพร่เอกสารสู่สาธารณะ รัฐบาลก็ไม่ได้บอกว่าหนังสือพิมพ์เราไม่ควรเขียนข่าวเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวท้าทายข้อสรุปบางข้อที่เราสรุปจากเนื้อหา ขอบคุณเราที่เราจัดการกับเอกสารเหล่านี้อย่างระมัดระวัง และขอให้เราไปกระตุ้นเตือนวิกิลีคส์ให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตคน และเราก็ได้ส่งต่อสารนั้นแล้ว” นั่นคือคำยอมรับที่น่าทึ่งโดยบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในสหรัฐอเมริกา น่าทึ่งด้วยเหตุผลสองข้อด้วยกัน ข้อแรก คำอธิบายการแลกเปลี่ยนกับทำเนียบขาวสะท้อนถึงความภาคภูมิใจในคำชมที่ได้รับจากทำเนียบขาว ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดดั้งเดิมที่ว่า สื่อเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ที่คอยตรวจสอบผู้มีอำนาจ ข้อสอง บทบาทของ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ ในการเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลอเมริกันกับวิกิลีคส์นั้น สะท้อนพลวัตอำนาจใหม่ที่น่าสนใจในโลกของข่าวสารและข้อมูลในอเมริกา หัวใจของมายาคติเกี่ยวกับความตายของสื่อมวลชน (และบทบาทของโซเชียลมีเดีย) คือสมมุติฐานที่ว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเหตุปัจจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประชาธิปไตย ความคิดที่ว่าลำพังการเข้าถึงข้อมูลดิบจะสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ (ไม่ว่าจะเปลี่ยนอย่างสุดขั้วหรือไม่) นั้นเป็นความคิดที่โรแมนติกพอๆ กับความคิดที่ว่าลำพังการเข้าถึงเทคโนโลยีจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน ข้อมูลก็เหมือนกับเทคโนโลยีตรงที่มันเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อคนมีความรู้และทักษะที่จะใช้ข้อมูลนั้นๆ วิกิลีคส์เลือกหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเป็นตัวแทนอุดมการณ์เดียวกันกับ จูเลียน อัสซานจ์ กับเพื่อนร่วมงานของเขา แต่เพราะหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้มีความพร้อมทางวิชาชีพ ทางองค์กร และทางเศรษฐกิจที่จะลงมือถอดรหัสและกระจายเนื้อหาที่วิกิลีคส์ส่งให้ ในโลกดิจิทัลที่กำลังถูกตั้งนิยามอยู่เนืองๆ ว่าไร้ลำดับชั้น ไร้พรมแดน และลื่นไหล วิกิลีคส์ได้ย้ำเตือนเราว่าโครงสร้าง พรมแดน กฎหมาย และชื่อเสียงล้วนยังเป็นสิ่งสำคัญ. ……………………………………………………………………. [1] http://www.guardian.co.uk/world/the-war-logs [2] http://www.nytimes.com/interactive/world/war-logs.html [3] http://www.spiegel.de/international/world/0,1518,708314,00.html [4] http://app.owni.fr/warlogs/ [5] http://www.huffingtonpost.com/phil-bronstein/the-wikileaks-incident-ho_b_527788.html [6] http://www.thelocal.de/society/20100730-28855.html [7] http://www.youtube.com/verify_age?next_url=http://www.youtube.com/watch%3Fv%3DLoFq9jYB2wo [8] http://www.youtube.com/verify_age?next_url=http://www.youtube.com/watch%3Fv%3D5rXPrfnU3G0 [9] http://archive.pressthink.org/2010/07/26/wikileaks_afghan.html [10] http://www.euractiv.com/en/infosociety/sweden-gives-legal-shelter-controversial-wikileaks-site-news-426138 [11] http://www.newyorker.com/reporting/2010/06/07/100607fa_fact_khatchadourian [12] http://prq.se/?intl=1 [13] http://www.immi.is/?l=en [14] http://www.bbc.co.uk/news/technology-10866417 [15] http://www.csmonitor.com/From-the-news-wires/2010/0627/Internet-censorship-alive-and-well-in-Turkey-YouTube-some-Google-sites-blocked [16] http://www.nytimes.com/2010/07/26/world/26askthetimes.html?ex=1295755200&en=f5e76af6999f3d76&ei=5087&WT.mc_id=NYT-E-I-NYT-E-AT-0728-L5 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงานเสวนา: เอ็นจีโอ-ภาคประชาชน ทบทวนบทบาท ท่ามกลางกระแส 'ปฏิรูป' Posted: 22 Sep 2010 05:35 AM PDT เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2553 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท จัดการเสวนาเรื่อง "ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการอภิปราย: “ขบวนการประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน” กก.ปฏิรูปเชื่อ 'ปฏิรูป' นำสู่การปรองดองได้ “คุณอานันท์เคยปาฐกถาเองว่านายกฯ เข้าใจผิด ของเราไม่เกี่ยวกับการปรองดอง คณะกรรมการของเรานั้นเป็นอิสระและเชื่อว่าการปฏิรูปจะนำไปสู่การปรองดอง แม้ว่าต้องกินเวลานานก็ตาม เรามองทั้งฝ่ายรัฐและไม่ใช่รัฐ มองในแง่การปฏิรูปสังคม สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น” บัณฑรกล่าว บัณฑร กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการทาบทามให้เข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูปก็ตกลงเข้าร่วมด้วย เพราะเคยมีสัมพันธ์กันมาเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคม และในการพูดคุยกันนั้นมีการถกเถียงกันใน 3 กรอบ คือจะเอาวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือเอาภูมิปัญญา ซึ่งเราก็เอากรอบวัตถุประสงค์ที่ว่าสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำขึ้นมา โดยแม้จะมีการคุยในหลายประเด็นเช่น ที่ดิน การศึกษา แรงงาน แต่ประเด็นร่วมก็คือการกระจายอำนาจ เพราะในเวลานี้ รวมๆ แล้วมันเป็นการรวมศูนย์อำนาจ บัณฑร กล่าวต่อมาถึงงบประมาณปีละ 200 ล้านของคณะกรรมการปฏิรูปว่า สิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการเงิน 57 ล้าน จาก 200 ล้าน แต่ก็มีไอ้ห้อยไอ้โหนเยอะ มีคนมาขอแบ่งไป โดยเขามองว่าจะมาขอแบ่ง แต่ไม่ได้มองว่า 200 ล้านนั้นมันจะทำให้เกิดการสร้างกระบวนการที่จะทำงาน ขณะนี้มีความไม่เข้าใจกันเยอะว่าจะมาของบประมาณส่วนนี้ไป แต่การที่จะเอามาใช้นั้น ไม่ใช่ว่าจะเบิกได้เลยต้องมีโครงการในมือ เพราะมันเป็นเงินภาษีทั้งนั้น บัณฑร กล่าวด้วยว่า มีการพูดคุยกันในเรื่องการพัฒนาประเทศไทย พวกเราจะพัฒนาอะไร ไม่ใช่บอกว่าพัฒนาสังคม ซึ่งมันกว้างไป อย่างเรื่องปัญหายาเสพติด เราไม่ได้คิดว่ามันเกิดจากความเหลื่อมล้ำหรอก แต่ว่ามันสร้างปัญหาเยอะ เราก็ตั้งข้อนี้ขึ้นมาว่าการที่จะแก้ปัญหายาเสพติดได้นั้นจะต้องแตกต่างไปจากรัฐ คือไม่มีการใช้ความรุนแรงและไม่ใช้กฎหมายนำหน้า โดยให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ค้า ผู้เสพ และตั้งกิจกรรมขึ้นมาว่า ป้องปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟู และป้องกัน ส่วนบทบาทของคณะกรรมการนั้นอาจจะทำการเมืองในและนอกสภาให้สมดุลกัน ไม่ได้ตั้งใจจะไม่ให้มีสภา ซึ่งมันเป็นไปได้ “ผมอยากจะฝากว่า ความจริงเราน่าจะเลิกทะเลาะกันตั้งนานแล้ว เรื่องใหญ่มันมีมากกว่านั้น มันจะต้องไปด้วยกันทั้งหมด และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของมันเอง ในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้ทำอะไรหรอก เขามีกัน 25-26 คน เขาเพียงแค่วิเคราะห์และชี้ประเด็น เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าคนพวกนั้นจะปฏิรูปประเทศไทยได้ มันเป็นเพียงกลไกที่จะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้น” บัณฑรกล่าว ทั้งนี้ เมื่อมีผู้ถามถึงความเป็นตัวแทนของเขาในการเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูป บัณฑรตอบว่า การไปร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ ไปในฐานะนักสังคมวิทยาชนบท ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนสมัชชาคนจน และสมัชชาคนจนเองก็ไม่ได้ต้องการให้เขาเป็นตัวแทนเช่นกัน ชี้ 'ปฏิรูป' ภายใต้ภาวะขัดแย้ง ท้าทายศีลธรรมของเอ็นจีโอ สมยศ กล่าวต่อมาถึงข้อสังเกตว่า เมื่อนายอานันท์เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้บอกว่าเขาไม่ใช่คนของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนแล้วว่ามันเริ่มต้นจากความไม่จริงใจ เพราะคณะกรรมการฯ ตั้งโดยรัฐบาลและใช้งบของรัฐบาล คำถามต่อมาคือ นายอานันท์เป็นคนของใคร เพราะหากดูปูมหลังจะพบว่าเคยเกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารมาก่อน โดยเป็นอำนาจที่ช่วยให้คณะรัฐประหารในยุคสุจินดามีอายุยืนมาได้ จนเข่นฆ่าผู้คนล้มตาย นั่นเป็นคุณูปการของฝ่ายอำมาตย์ของฝ่ายรัฐโบราณ ฝ่ายจารีต โดยเฉพาะฝ่ายทหาร ที่วันนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งในสถานการณ์พิเศษ สมยศ กล่าวถึงข้อสังเกตที่ 2 ว่า การที่นายอานันท์บอกว่าจะอยู่ทำงาน 3 ปีนั้น ใช้หลักการอะไร เพราะรัฐบาลที่เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมามีอำนาจเหลืออยู่เพียงแค่หนึ่งปีครึ่ง ทำให้ดูเหมือนว่ามีสัญญาณพิเศษที่จะบอกว่านายอานันท์คืออนาคตที่จะมาช่วยให้รัฐโบราณที่กำลังจะล่มสลายยืดอายุขึ้นไปอีก ตรงนี้ก็มาถึงจุดท้าทายทางศีลธรรมว่าทำไมต้องเป็น 3 ปี และต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านบาทในการปฏิรูป “ในความเป็นจริงถ้าหากใครศึกษาการเมืองและการแก้ปัญหาแบบประชาธิปัตย์ ก็จะพบว่าไม่ได้มีอะไรก้าวหน้าขึ้น เพราะประชาธิปัตย์มักจะแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งคณะทำงานแล้วก็ไม่ทำอะไร เราเคยมีปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2552 เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตีกันแล้วก็ไปต่อสู้จนกระทั่งฝ่ายเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 13 เมษายนปี 2552 ประชาธิปัตย์ก็แก้ปัญหาความขัดแย้งหลังจากมีความขัดแย้งด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีคุณดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ประกอบไปด้วยหลายฝ่ายและมีเอ็นจีโอรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้ข้อสรุปคลี่คลายความขัดแย้งโดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ สุดท้ายข้อเสนอที่มีความยาว 200-300 หน้าก็ถูกเก็บเอาไว้ในลิ้นชัก ผู้คนในสังคมก็ไม่ได้สนใจอะไร แล้วก็หายไปในกลีบเมฆ วันนี้ก็มาตั้งคณะกรรมการคณะใหม่เพื่อที่จะมาคุยกันในเรื่องเดิมอีก ซึ่งก็สะท้อนว่าประชาธิปัตย์นั้นคิดอะไรไม่ออก และไม่มีสติปัญญาที่จะคิดอะไรไปไกลมากกว่านี้ คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นเพียงแค่คนถ่ายสำเนาถูกต้องจากคุณชวน หลีกภัยมาเท่านั้นเอง” สมยศ กล่าว อดีตผู้นำแรงงาน กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้นโดยสถานการณ์ที่น่าหดหู่และน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกิดจากการมีคนตาย 90 ศพ และมีการเถียงกันว่าใครยิงกันแน่ แล้วเราก็ต้องมานั่งปฏิรูปประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะความขัดแย้งนี้ เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองของฝ่ายอำนาจรัฐ โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายระดับศีลธรรมของชาวเอ็นจีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรียกตัวเองว่านักสิทธิมนุษยชน นักพัฒนา ภาคประชาชน พลเมือง แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมแบบนี้ก็ไม่สามารถทำให้ยอมรับบทบาทของเอ็นจีโอที่ไปรับใช้และเป็นเครื่องมือของรัฐได้ “ปรากฏการณ์อีกอันหนึ่งซึ่งจะยืนยันในสิ่งที่ผมพูดก็คือว่าคุณอานันท์บอกว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะว่ามันไม่มีความหมายและไม่ถูกต้อง ผมยินดีที่คุณอานันท์พูด แต่ว่ารัฐบาลเขาก็ไม่ได้ฟังพวกคุณ แต่เขายินดีให้พวกคุณไปนั่งกินกาแฟในห้องสัมมนาแล้วทำรายงานให้ฉัน ในการปฏิรูปแบบประชาธิปัตย์ แต่ถ้าหากว่ามีข้อเสนอประการใด ก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาของท่านอภิสิทธิ์ แล้วไปเข้าหูหมาทันที คือไม่รู้เรื่องอะไร” สมยศกล่าว ในเรื่องเหลืองกับแดง สมยศแสดงความเห็นว่า การขัดแย้งเช่นว่านี้เป็นพัฒนาการทางสังคมที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันมาถึงยุคที่เกิดความขัดแย้งจริงๆ และจำเป็นต้องเกิด เหลืองกับแดงเป็นผลผลิตสำคัญของพัฒนาการทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่ได้รับแรงกระแทกจากระบบโลกาภิวัตน์ เพียงแต่ว่าตัวละครที่เล่นกันถูกนำมาใช้ในโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ว่ามีโครงสร้างอันหนึ่งที่ไม่สามารถนำมาพูดได้ และตรงนี้กลายเป็นปมเงื่อนที่ค่อนข้างจะลำบาก และสะท้อนความล้าหลังทางการเมืองของไทย นั่นคือการมีข้อกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดไม่ให้คนได้แสดงความคิดเห็น ที่เห็นได้ชัดคือการยังมีมาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และคดีเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาเรื่องเสรีภาพที่ชัดเจนที่สุดในสังคมไทย “ถ้าหากเป็นชาวสิทธิมนุษยชนจะต้องมองว่าการจำกัดคนให้คิดถึงระบบการปกครองเพียงระบบเดียว คือการจำกัดศักยภาพความเป็นคน คือคนไม่มีโอกาสใฝ่ฝันระบบการเมืองที่เขาปรารถนา คุณจะต้องยอมรับระบบการเมืองที่เขากำหนดมา ตรงนี้เราอาจจะเรียกกันได้ว่าเป็นระบอบอำมาตย์ที่ดำรงอยู่ ตรงนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น ในความขัดแย้งแบบนี้พอเราเห็นตัวละคร แต่ว่าเราไม่สามารถเข้าใจเนื้อแท้ของโครงสร้างปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เอ็นจีโอตกอยู่ในวาทกรรมของการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องเหลืองกับแดง” สมยศวิเคราะห์ สมยศกล่าวด้วยว่า คนเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นมา แน่นอนว่าเบื้องต้นนั้นเกิดขึ้นจากคนจำนวนมากที่เขาได้รับประโยชน์จากระบบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือว่าเป็นนโยบายประชานิยมต่างๆ แต่เนื่องจากมีความทับซ้อนระหว่างการรัฐประหารกับการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ในที่สุดกลุ่มคนเหล่านี้ก็ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองแล้วก็ได้ค้นพบโครงสร้างที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทย และมีคนเริ่มพูดถึงมากขึ้น ปีแรกอาจจะเห็นเพียงเงาตะคุ่มๆ และไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ แต่พอปีที่สองคนเริ่มพูดกันเซ็งแซ่มากขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าไม่น่าจะใช่ แต่ก็ไม่แน่ พอปีที่สามเราจึงได้ชัดเจนขึ้น แล้วบอกว่าใช่แล้ว พอถึงปีที่สี่ก็บอกว่าตาสว่าง เห็นแล้วว่าปัญหารัฐซ้อนรัฐนั้นคืออะไร ถึงตรงนี้ก็เป็นเกียรติภูมิของชาวเสื้อแดงที่ออกมาพูดหลายเรื่องที่เอ็นจีโอไม่กล้าพูด แล้วหลายคนก็ต้องติดคุกไป คนเหล่านี้เราก็ถือว่าเป็นภาคประชาชนอีกจุดหนึ่งที่เกิดขึ้น
กิ่งกร เล่าย้อนกลับไปว่า ตัวเองเริ่มทำงานเอ็นจีโอตั้งแต่ปี 2530 เติบโตและหล่อหลอมมาในวาทกรรมการพัฒนาแบบตำราเดิมคือวัฒนธรรมชุมชนเลย ทั้งนี้มองว่ามีช่วงเวลาเลี้ยวออกและเลี้ยวกลับ คือเหมือนกับเป็นวัฒนธรรมชุมชนอยู่สักพักแล้วก็มาเคลื่อนกันทางนโยบาย และเลี้ยวกลับมาสู่อนุรักษ์นิยมคือวัฒนธรรมชุมชนสุดขั้ว ที่เป็นการ Romanticize ชนบทแบบสุดขั้ว กิ่งกร เล่าถึงช่วงเวลาดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญๆ ช่วงแรกคือช่วงปี 40 ที่เคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ และได้รัฐธรรมนูญปี 40 ที่นับว่าดีที่สุดในความเชื่อของใครหลายคน อีกอันคือตั้งแต่ปี 41 เป็นต้นมา ที่เริ่มมี SIP (โครงการกองทุนเพื่อสังคม) ซึ่งเวลานั้นเริ่มมีความขัดแย้งทางความคิดที่สำคัญ แต่ไม่ได้ถกกันถึงขั้นที่แตกหัก เพราะเมื่อเอ็นจีโอคุยกันไม่รู้เรื่องก็มักจะแยกกันไปทำงาน เหตุการณ์ที่สำคัญๆ อีกอันหนึ่งก็คือปี 44 ซึ่งทักษิณเริ่มเข้ามา ตอนนั้นเอ็นจีโอเริ่มพูดกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง โดยไม่รู้ว่าทำไม แล้วก็มาอีกจุดหนึ่งคือปี 49 เป็นจุดที่มีการแตกหักทางความคิดมากขึ้น ในตอนนั้นเอ็นจีโอ เราและเพื่อนๆ อีกหลายคน ตกอยู่ในสภาพงงเป็นอย่างยิ่งว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้าน แล้วกระบวนการตั้งแต่ 41 เป็นต้นมา ก็คือการพัฒนาของพวกเรา ก็ทำให้เกิดอาการค่อนข้างลืมตัวด้วย ลืมว่าตัวเองไม่ใช่ประชาชนตัวเป็นๆ คือพอตั้งคำว่าภาคประชาชนขึ้นมาแล้ว คิดว่าตัวเองสามารถพูดแทนประชาชน ตั้งแต่ปี 40 เป็นต้นมา เรามีอาการหยุดชะงักทางปัญญา เพราะฉะนั้นคิดว่าคำจำกัดความของพวกเราในเวลานี้ที่เป็นเอ็นจีโอก็คือ งง ลืม หยุดชะงักทางปัญญา บวกกับอาการหูตึงตรงนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่สามารถวางตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราคิดว่ามันเป็นโจทย์ใหญ่ของพวกเรา กิ่งกร กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นปี 49 รู้สึกได้ถึงความไม่ชอบมาพากล แต่ว่ายังนึกอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไร พอมาถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม หรือปรากฏการณ์ที่มีการปะทะกันอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2553 เราพบว่าที่ผ่านมามันมีทางเลือก และเราต่างคนต่างก็เลือกกัน แล้วเราก็ทำงานไปตามความเชื่อของตัวเอง มันก็มีกระบวนการหล่อหลอมกำกับความคิดทิศทาง หรือว่ากระบวนการกระแสหลักของเอ็นจีโอไป ทำกันไปก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน ซึ่งก็คงจะไม่ผิดอะไรมากนัก แต่พอมาถึงจุดที่เราเห็นความขัดแย้งเผชิญหน้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็พบว่าปัญหาของพวกเราไม่ใช่เรื่องเล็กแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เป็นเราอยู่ไปทำลายความชอบธรรมของประชาชนตัวเป็นๆ เมื่อที่เป็นแบบนี้ทำให้เราไม่สามารถยอมรับบทบาทของตนเองได้ แล้วยิ่งมาพากันเกาะขบวนการปฏิรูปประเทศไทย ถึงแม้จะอ้างว่ากูคิดเรื่องการปฏิรูปมาก่อน แต่ส่วนตัวคิดว่าการกระทำนี้น่าจะไม่รอดและเป็นการกระทำที่เป็นปัญหาอย่างแรงต่อการเคลื่อนตัวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือว่าสร้างการถกเถียงทางสังคม เพื่อหาแนวทางหรือวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยที่มีการต่อรองที่แท้จริง เราคิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่ “โดยวัฒนธรรมของเอ็นจีโอนั้นมีปัญหามาก คือมีการวิจารณ์กันพอท้วมๆ ไม่สาวไส้ให้กากิน หลังๆ นี้มีการอวยกันด้วย แล้วก็มีปัญหามากเลยกับวัฒนธรรมความอาวุโสที่ควรจะถกเถียงกันได้อย่างเข้มข้น แล้วพอมีวัฒนธรรมตรงนั้นเนี่ย คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไร” กิ่งกรแสดงความเห็น กิ่งกร กล่าวต่อถึงข้อเสนอที่จะไปข้างหน้าว่า ส่วนตัวไม่หวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรจากตัวซากเดิมของเอ็นจีโอได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกระบวนการของนักกิจกรรมทางสังคมที่จะเป็นกลไกส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่พยายามกีดกันตัวเองออกจากกระบวนการการเมืองโครงสร้าง โดยอาจจะต้องมาสร้างเวทีใหม่ๆ สร้างวิวาทะ และถกกันอย่างจริงๆ จังๆ ว่าจะมีวิธีไหนที่จะเป็นการสร้างกระบวนการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบต่อรอง ไม่ใช่แบบสมยอม หรือไปเป็นเครื่องมือของระบบอำนาจแบบโบราณ "เราจะยอมรับกันได้ไหมว่าการเกิดขึ้นของการเรียกร้องสิทธิเพื่อการเลือกตั้งเป็น uprising อันหนึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาของคนหมู่มากหรือปัญญาชนก้าวหน้าที่ไม่สามารถยอมรับกันได้ว่านี่เป็นการก่อเกิดของขบวนการประชาชนอีกอันหนึ่ง... เอาง่ายๆ ว่า ถ้าแค่สิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตย ถ้าขบวนการภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไม่ผ่านตรงนี้ คิดว่าเราไปต่อไม่ได้" กิ่งกรทิ้งท้าย นักสิทธิฯ เผยความไม่เป็นกลางในองค์กร นอกจากนั้น อีกลักษณะหนึ่งที่มองเห็นได้ คือ การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่มีการจัดการที่ดีภายในองค์กร ขาดวิสัยทัศน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ มองว่าเอ็นจีโอควรจะต้องพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน คนรุ่นใหม่ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาเห็นน้องๆ หลายคนที่เข้ามารวมทั้งตนเองด้วย ต้องมาเรียนรู้เองตลอดเวลา ไม่มีการแนะแนวให้ก่อน ไม่มีการฝึกหรือช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาเลย เพราะแต่ละคนมีหมวกของตัวเองเยอะ ซึ่งมันทำให้ไม่เคยเห็นว่า งานที่ทำไปได้ส่งผลกระทบอะไรจริงๆ ในสังคมบ้าง ขวัญระวี กล่าวต่อว่า คนที่ทำงานแวดวงสิทธิฯ ส่วนใหญ่จะโตขึ้นมาจากการล็อบบี้ ซึ่งเป็นการใช้สายสัมพันธ์อย่างหนึ่งเพื่อผลักดันประเด็นของตนเองให้เกิดผล สนิทกับใครก็จะเข้าหาทางนั้น โดยขาดหลักการทำงาน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นในองค์กร นอกจากนั้นยังเป็นระบบอุปถัมภ์โดยการเลี้ยงคน หรือการซื้อใจ โดยการให้อำนาจสนับสนุนคน ให้ความพอใจกับคนนี้มากกว่าคนนั้น แล้วก็เกิดการเป็นบุญคุณขึ้นมาในองค์กร พร้อมยกตัวอย่างว่า ตนเองเคยคุยกับเพื่อนที่ทำงานด้านสิทธิฯ ถามเขาว่าเห็นไหมว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น องค์กรด้านสิทธิฯ ถูกวิจารณ์มากเรื่องปัญหาความไม่เป็นกลาง แม้เขาจะบอกว่าเห็นด้วยในหลักการทุกอย่าง แต่ก็ยังให้ความเคารพในตัวบุคคลมากกว่า ปัญหาอีกประการก็คือ การขาดความโปร่งใส เอ็นจีโอส่วนใหญ่ รวมถึงภาคประชาชนต่างๆ ไม่มีกลไกที่จะตรวจสอบ ซึ่งในความจริงอันนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาอย่างแอมเนสตี้ (AI) มีปัญหามากกรณีการออกแถลงการณ์เรื่องพันธมิตรฯ และกรณีที่มีการลวนลามละเมิดทางเพศของพนักงานหญิงในองค์กรสิทธิฯ ที่ถึงแม้ผู้กระทำจะถูกไล่ออกจากองค์กรไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการยอมรับความผิดอย่างจริงจัง ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือความตระหนักว่าตัวเองสำนึกผิดหรือเปล่า นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่คนทำงานในองค์กรสิทธิต่างก็เป็นวัวสันหลังหวะ คือมีแผลเยอะ กลัวว่าหากตัวเองจะต้องออกมาสู้หรือวิจารณ์ ก็จะถูกวิจารณ์กลับ “ที่สำคัญเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในองค์กร มีความพยายามที่จะทำให้ปัญหาซึ่งในความเป็นจริงเป็นปัญหาโครงสร้างขององค์กรถูกลดทอนให้เป็นเพียงปัญหาส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราเรียกร้องเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและความไม่ชัดเจนขององค์กร ของพันธกิจ และของผู้ปฏิบัติงาน” ขวัญระวีกล่าว ขวัญระวีวิเคราะห์ต่อมาว่า มุมมองด้านสิทธินั้นมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง ส่วนใหญ่คนที่ทำงานด้านสิทธิจะโฟกัสไปที่ประเด็นการละเมิด เมื่อเกิดการละเมิดขึ้นมา คนที่ละเมิดตกเป็นผู้ร้ายแล้วเราก็จะติดอยู่ที่การกระทำโดยที่ไม่มองภาพของโครงสร้างที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังติดกับวาทกรรมเรื่องนักการเมืองเลว เรื่อง Clean-Dirty politics นักการเมืองถูกมองว่าเป็นคนชั่วร้าย ฉ้อโกง คอร์รัปชั่น แต่สำหรับสถาบัน เรากลับมองว่าสถาบันอยู่เหนือการเมือง สถาบันบริสุทธิ์ ทั้งๆ ที่มีการสถาปนาอำนาจที่ส่งผ่านมาตลอด จนกระทั่งทำให้เอ็นจีโอด้านสิทธิบางคนยอมรับที่จะมีนายกพระราชทานได้ ในเรื่องทุน เอ็นจีโอจะมองว่า ทุนต้องเลวหมด ทักษิณก็ถูกมองว่าเลว โดยที่ไม่ได้แยกแยะว่าเลวทางด้านไหน และมีการกระทำอย่างไรบ้าง อีกด้านก็มีการ Romanticize ชุมชน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ที่มีการเผาตึก หลายคนเรียกเสื้อแดงว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มชาวบ้านที่เอ็นจีโอและนักสิทธิฯ รู้สึกว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางอุดมคติเลยชุมชนหนึ่งคือบ่อนอก-หินกรูด ก็เคยใช้วาทกรรมว่า “มึงสร้างกูเผา” ทำไมเอ็นจีโอจึงยังให้การสนับสนุน แต่ในอีกด้านหนึ่งตอนที่อริสมันต์บอกว่าให้เอาน้ำมันมาเผากลับถูกโจมตี ทั้งที่เป็นการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงแบบผิดบริบทด้วยซ้ำ ขวัญระวี ยกตัวอย่างมุมมองขององค์กรสิทธิกับการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น ว่า “ขอประณามทุกฝ่าย ไม่มีใครชนะ มีแต่ผู้ที่แพ้ แพ้น้อยแพ้มาก ประเทศไทยแพ้มากที่สุด เพราะทุกฝ่ายมุ่งแต่เอาชนะกัน” ส่วนหนึ่งของจดหายเปิดผนึก โดย 29 องค์กรต้านรุนแรงจากการชุมนุม หลังเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 สสส. เคยออกแถลงการณ์ว่า “นายกจะต้องยุบสภาหรือว่าลาออกก็ได้ มันก็เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่ง นปช.เสนอ แต่ว่าควรจะทำความจริงให้ปรากฏก่อน” ขวัญระวีถามว่า ในความเป็นจริงแล้วเรายังจะต้องทำความจริงให้ปรากฏอีกหรือ เพราะในเมื่อคนหนึ่งคนตาย รัฐก็ต้องรับผิดชอบแล้ว ขณะที่สมชาย หอมละออ นักสิทธิมนุษยชน อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า “หากบอกว่ารัฐจะต้องยุบสภาลาออก เหตุผลในขณะนี้ยังไม่สอดคล้อง เพราะว่ามีกลุ่มติดอาวุธแฝงอยู่ในผู้ชุมนุมเช่นกัน” แถลงการณ์ของ ครส. ลงชื่อโดยนายบุญแทน ตันสุเทพวีระวงศ์ เลขาธิการขององค์กรบอกว่า “ผู้ชุมนุมเสื้อแดง มีการใช้อาวุธ ขวด หนังสติ๊ก เหลาไม้ไผ่ บั้งไฟ ยิงใส่เจ้าหน้าที่ มีกองกำลังติดอาวุธที่ชัดเจน มีความพยายามก่อวินาศกรรม เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องหยุดใช้ความรุนแรง” ขวัญระวี กล่าวว่า ข้อความเหล่านี้ทำให้เห็นพื้นฐานความคิดของเขาเหล่านั้นที่มองว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ถามจริงๆ ว่าหลักฐานที่เห็นนั้นสามารถเรียกว่าเป็นกองทัพได้หรือยัง การออกแถลงการณ์ไปแบบนั้นทำให้คนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการฆ่ากันเองระหว่างคนไทยด้วยกัน และเป็นสงครามกลางเมือง เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะต้องปรองดองกัน ซึ่งเป็นการทำให้เกิดวาทกรรมปรองดองว่าต่างคนต่างต้องให้อภัยโดยไม่ดูที่มาที่ไปที่แท้จริง และในเวลานี้นักสิทธิฯ เหล่านี้ยังมีบทบาทอยู่มาก โดยส่วนหนึ่งได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการปรองดอง และตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “อยากฝากถามกลับไปว่า การที่คุณออกแถลงการณ์แบบนั้นเท่ากับเป็นการออกใบอนุญาตฆ่าคนเสื้อแดง ฆ่าผู้ชุมนุม ถามว่าคุณยังคิดว่าคุณสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบได้เหรอ ทำไมถึงตัดสินใจที่จะเข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริงในส่วนนี้” ขวัญระวีกล่าวและเสนอทางออกว่า คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าในแวดวงเอ็นจีโอต้องร่วมมือกัน โดยคนรุ่นใหม่ต้องกล้าหาญที่จะปลดแอกตัวเองออกมา นอกจากนี้เสนอให้มีการตรวจสอบองค์กรสิทธิฯ จากทั้งภายในและภายนอก หลังจากนั้น อยากให้ตั้งสหภาพเอ็นจีโอ เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วมต้องช่วยกัน และการมีสหภาพฯ จะช่วยทำให้เห็นว่างานคืองาน ทั้งองค์กรและคนทำงานต่างก็ได้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยลดความคิดที่ว่าการทำงานเป็นเรื่องของบุญคุณ หรือแนวคิดว่าตัวเองมีจิตสาธารณะมากกว่าคนทำงานธุรกิจหรือด้านอื่นๆ ลง ทุกคนต้องตรวจสอบตัวเอง จอน กล่าวด้วยว่า ข้อวิจารณ์ที่พบมากอันหนึ่งคือเอ็นจีโอไปมอมเมาล้างสมองชาวบ้าน แต่ว่าในขณะเดียวกันคนเสื้อแดงบอกว่าชาวบ้านไม่สามารถถูกหลอกได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการเขารู้อยู่แล้ว ซึ่งมันขัดกัน ทั้งนี้ในระยะยาวไม่มีใครหลอกชาวบ้านได้ เอ็นจีโอที่ดีซึ่งมีเยอะ เขาไปเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในฐานะเป็นองค์กรชนชั้นกลางเข้าไปเรียนรู้แล้วก็ช่วยชาวบ้านสู้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ สู้กับอำนาจรัฐในหลายๆ รูปแบบ ที่เป็นการปรึกษาหารือร่วมกัน ดังเช่น ขบวนการของสมัชชาคนจน ขบวนการป่าชุมชน หรือในประเด็นเรื่องเอดส์ ซึ่งตนเองเป็นคนทำงานอยู่ เดิมทีผู้ติดเชื้อเอดส์ไม่มีการรวมกลุ่มกันเลย ตอนนี้จากการทำงานร่วมกันของเอ็นจีโอทำให้มีกลุ่มผู้ติดเชื้อทั่วประเทศร่วมกันหนึ่งพันกว่าองค์กร องค์กรเหล่านี้มีตัวแทนทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ เครือข่ายเหล่านี้เขาต่อสู้เพื่อระบบหลักประกันสุขภาพได้สำเร็จ เขากล่าวเสริมว่า อย่ามองว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นการถวายให้ประชาชนโดยคุณทักษิณ เพราะมันเกิดขึ้นโดยขบวนการประชาชนรวบรวมรายชื่อเจ็ดหมื่นกว่ารายชื่อทั่วประเทศ ผู้ติดเชื้อหญิงคนหนึ่งทางภาคใต้รวบรวมชื่อได้กว่าหนึ่งหมื่นชื่อ ขณะที่ทักษิณไม่เห็นด้วยกับหลักประกันสุขภาพในเวลานั้น แต่มี น.พ.สุรพงษ์ (สืบวงศ์ลี) ซึ่งสนิทกับ นพ.สงวน (นิตยรัมพงศ์) เป็นคนพูดจนขายความคิดนี้ได้ เพราะบอกว่าไม่ต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น และไม่ต้องเก็บภาษีมากขึ้น คือคุณทักษิณจะทำได้ทุกอย่างตราบใดที่ยังไม่มีการขึ้นภาษี ซึ่งขัดกับความคิดของเอ็นจีโอที่ทำเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งต้องการปฏิรูประบบภาษีโดยเก็บภาษีที่เป็นธรรมกับประชาชน เก็บจากคนรวยมาใช้กับคนจน พร้อมย้ำว่าไม่มีวันที่ทักษิณจะเห็นด้วยกับการเก็บภาษีในระบบนี้ จอน กล่าวต่อมาว่า จากที่หลายคนวิจารณ์เอ็นจีไปแล้วมีส่วนที่เห็นด้วย คือหนึ่งจะต้องไม่มีระบบสองมาตรฐานโดยเฉพาะในองค์กรสิทธิ ที่เกิดสองมาตรฐานขึ้น ถ้าเป็นองค์กรสิทธิคุณต้องพิทักษ์สิทธิในทุกด้าน ทางวาจา ทางสิทธิ ต้องสนใจประเด็นของการถูกจับในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องสนใจอย่างยิ่งในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ได้ สิ่งเหล่านี้องค์กรสิทธิมีมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน ส่วนประเด็นที่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย คือ ที่มีการบอกว่าเอ็นจีโอมักจะอ่อนในประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเป็นความเชื่อของเอ็นจีโอบางส่วนว่าใครเป็นอำนาจรัฐใช้ไม่ได้ทั้งนั้น จะโดยเผด็จการหรือว่าประชาธิปไตย มันต้องต่อรอง หรือว่าต่อสู้ เอ็นจีโอต่อรองมากกว่าต่อสู้ ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อเรื่องการล็อบบี้ผู้มีอำนาจ แต่เชื่อในการใช้พลังสู้กับผู้มีอำนาจ ซึ่งหลายครั้งเอ็นจีโอก็ใช้ร่วมกับชาวบ้านในการสู้ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเอ็นจีโอเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ จะบอกว่าเอ็นจีโอไม่ได้สนใจโครงสร้างมันก็ไม่ใช่ มันก็มีกลุ่มเอ็นจีโอที่เขาต่อสู้กับโครงสร้างเช่นกัน เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2549 นั้น ยอมรับว่าการแสดงออกของเอ็นจีโอบางส่วนไม่เหมาะสม แต่จะต้องบอกว่าส่วนตัวก็เป็นคนหนึ่งที่สู้กับตัวเองอยู่ เพราะบางอย่างก็รู้สึกสองใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมอย่างไร แต่หากจะให้ไปร่วมในสภานิติบัญญัติก็ไม่เอาเพราะรู้สึกว่าเป็นสภาเถื่อน แม้จากการผ่านงานวุฒิสภามาจะเห็นอยู่บ้างว่าวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีปัญหา แต่มันก็เป็นประชาธิปไตยกว่า และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับที่เอ็นจีโอไปร่วมกับขบวนการปฏิรูปที่เริ่มต้นจากรัฐบาลนี้ เพราะคิดว่ามันเป็นรัฐบาลที่เปื้อนเลือด แต่ว่าในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ สำหรับคนที่เข้าร่วมทุกคนก็ต้องอธิบายของตัวเองในสิ่งนั้น แต่ก็คิดว่ามันเป็นจุดอ่อนของเอ็นจีโอ หลายอย่างที่วิจารณ์มันถูก แต่ไม่ได้แปลว่าขบวนการเอ็นจีโอโดยรวมจะอยู่ในสภาพที่แย่ หรือว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอำมาตย์ จอน กล่าวด้วยว่า ขบวนการเอ็นจีโอทำอะไรหลายอย่างซึ่งขบวนการคนเสื้อแดงไม่ทำ ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจริงๆ แล้วไม่ได้มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน เสื้อแดงที่มีเพียงกลุ่มหนึ่งที่มีความชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง อาจจะเป็นกลุ่มเลี้ยวซ้าย แต่โดยรวมไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน ในการปฏิรูปสังคมการเมือง และประเด็นเรื่องคุณทักษิณยังเป็นประเด็นที่ให้คำตอบไม่ได้ “เราอยู่ในสังคมที่แตกแยกที่มีหลายกลุ่มหลายส่วนและไม่มีใครที่สามารถภูมิใจตนเองได้เลยในขณะนี้ ทุกคนต้องตรวจสอบตัวเอง ไม่มีใครขาวสะอาด แต่เสียงการวิจารณ์นั้นจะออกมาเป็นแบบ “กูถูกทุกอย่าง” หรือว่าใสสะอาด แล้วพวกมึงนั้นเลวร้าย พวกเรานั้นน่าอายทั้งห้อง น่าอายทั้งสังคมที่เรามารบกันสู้กัน ด่ากันแต่กลับไม่ยอมหาทางออกที่จะทำงานร่วมกันในสังคม สถาบันที่มีอำนาจที่ใหญ่ในสังคมต้องถูกปฏิรูปทั้งหมด แล้วเราก็มาทะเลาะกันแตกแยกกัน ด่ากันเอง ผมก็ ไม่รู้ว่ามันคืออะไร และเมื่อไหร่พวกเราจะโตขึ้นสักที” จอนกล่าว
ท้ายการเสวนา อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทสังเคราะห์ภาพรวมการเสวนาตลอดทั้งวันนั้น ว่า ... กล่าวในทางศีลธรรม การแลกเปลี่ยนพูดคุยชี้ให้เห็นว่าความคิดเรื่องความดีและคนดีไม่ได้เป็นสิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องที่สามารถยึดถือได้อย่างซื่อๆ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกใช้ในการสถาปนาอำนาจของบุคคลจำนวนหนึ่งในการก้าวเข้ามามีบทบาทในสังคมและการเมือง ในแง่หนึ่งงานพัฒนาถูกนิยามให้เป็นเรื่องความเสียสละและความมุ่งมาดปรารถนาดีของบุคคล โดยละเลยการถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและการเมืองที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของปัญหาที่กำลังเผชิญหรือแก้ไข และตำแหน่งแห่งที่ของพวกตนในข่ายใยของอำนาจ ปูชณียบุคคลของงานพัฒนาจึงไม่ใช่ผู้ที่มีความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แต่กลายเป็นผู้ปวารณาตัวเองเป็นผู้ทรงศีล ความไม่ถูกต้องชอบธรรมของอำนาจที่รองรับองค์กรและคณะกรรมการชุดต่างๆ จึงถูกชำระด้วยคุณงามความดีส่วนตัวของปูชณียบุคคล ขณะเดียวกันการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันเองภายในถูกปิดกั้นโดยคุณงามความดีของปัจเจกบุคคล โยงกับปัญหาเกี่ยวกับระบบศีลธรรมคือปัญหาเกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจที่ใช้ในการเผชิญกับโจทย์และปัญหาต่างๆ ความรู้ที่ใช้ในการอธิบายการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ถูกตั้งคำถามว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาถูกละเลยและลุกลามบานปลายหรือไม่ การเน้นการทำความเข้าใจตัวขบวนการและประเด็นปัญหาเฉพาะทำให้ละเลยหรือมองไม่เห็นความซับซ้อนแยบยลของอำนาจที่บริหารผ่านรัฐหรือไม่ การเข้าร่วมสังฆกรรมกับรัฐเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการเจรจาต่อรองของคนส่วนใหญ่หรือผู้เสียเปรียบ หรือว่าเป็นการถูกกลืนกลายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบอำนาจหลักซึ่งพยายามที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและความตึงเครียดใหม่ๆ ขณะที่การหันหลังให้กับรัฐเช่นคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านหรือชุมชนพึ่งตนเองเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ การแตกตัวของชนชั้นนำโดยมีแรงกดดันของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นส่วนกำหนดไม่สู้จะได้รับการถกเถียงพิจารณา นอกจากนี้ภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันจะพูดถึงบทบาทกองทัพในทางการเมืองอย่างไรและจะพูดถึงบทบาทของสถานบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายอย่างไร เหล่านนี้เป็นโจทย์ที่ต้องการถกเถียงและอภิปรายอย่างจริงจัง ด้วยความคลุมเครือของระเบียบศีลธรรมและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและการเมืองที่จำกัด องค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวจึงอยู่ในสภาวะง่อนแง่นและถูกจับตามองด้วยความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจ องค์กรพัฒนาเอกชนถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงโดยเฉพาะจากคนภายในและผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดไม่เฉพาะในประเด็นแนวคิดทฤษฎีในการวิเคราะห์สังคมและการเมือง ระบบอาวุโสและระบบอุปถัมภ์ที่ปิดกั้นการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันเองภายใน หากแต่หมายรวมถึงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองกับสถานการณ์ความขัดแย้งการเมืองปัจจุบันที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ปัญหาความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรม คณะกรรมการชุดต่างๆที่ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมเป็นหัวหอกถูกตั้งคำถามว่าจะสามารถช่วยคลี่คลายปัญญาได้เพียงใดภายใต้ระเบียบอำนาจที่ผลิตคณะกรรมการเหล่านี้ขึ้นมา หรือว่มีสถานะเป็นเพียงกลไกในการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจดังกล่าว ขณะเดียวกันสถาบันทางสังคมและการเมืองตามประเพณีก็เสื่อมลงจนไม่สามารถอาศัยเป็นช่องทางในการคลี่คลายปัญหาโดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันได้ ประเทศไทยจึงแทบไม่เหลือกลไกทางสังคมและการเมืองสำหรับเผชิญหน้ากับปัญหาในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น โจทย์ที่เรากำลังเผชิญก็คือว่าเราจะอยู่กับความสั่นคลอนง่อนแง่นของระเบียบศีลธรรม ความรู้และทฤษฎีทางสังคมและการเมือง และสถานทางสังคมและการเมืองทั้งตามประเพณีและไม่ตามประเพณีอย่างไร ซึ่งไม่มีคำตอบสำเร็จรูปหรือว่าใครคนใดคนหนึ่งประทานให้ได้ การแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างเสมอหน้า เป็นเงื่อนไขต้นๆ ที่ช่วยให้เราสามารถเผชิญกับโจทย์เหล่านี้ได้อย่างรอบคอบและโดยไม่ต้องฆ่ากัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
กกต.พม่าส่งหีบหย่อนบัตรไปทุกพื้นที่เลือกตั้งแล้ว Posted: 22 Sep 2010 05:27 AM PDT คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าจัดส่งหีบหย่อนบัตรลงคะแนนไปยังภาคและเมืองต่างๆ เตรียมรับการเลือกตั้ง 7 พ.ย. 53 นี้ (Khonkhurtai : 22 ก.ย. 53) วารสารพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ SNDP (Shan National Democratic Party) ฉบับวันที่ 18 ก.ย. รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าได้จัดส่งหีบสำหรับหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. ไปยังภาคและเมืองต่างๆ แล้ว โดยหีบเลือกตั้งดังกล่าวเป็นกล่องพลาสติคแบ่งเป็น 4 สี ได้แก่ สีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง และสีขาว บทความของหม่องโมชิน จากหนังสือพิมพ์เมียนมาร์อลินให้รายละเอียดเกี่ยวกับหีบเลือกตั้ง 4 สี ดังกล่าว ว่า หีบสีเขียวสำหรับสมาชิกสภาประชาชน (House of People) สีน้ำเงินสำหรับสมาชิกสภาแห่งชาติ (House of Nationalities) สีม่วงสำหรับสมาชิกสภาภาคและรัฐ (State Parliament) ส่วนสีขาวสำหรับสมาชิกสภาชนชาติ (Minority Seat) วารสารของพรรค SNDP ซึ่งเป็นฉบับที่ 4 ระบุด้วยว่า ในเร็วๆ นี้ ทางคณะกรรมการเลือกตั้งจะมีการตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครและจะทำการจัดพิมพ์บัตรสำหรับให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนน โดยได้กำหนดช่องลงคะแนนไว้ 4 ช่อง สำหรับกาเลือกสมาชิกของสภาต่างๆ ขณะที่ อูเต็งโจ เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง กล่าวระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่กกต.จังหวัดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เพื่อให้การลงคะแนนเป็นไปโดยง่ายและเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด ให้จัดช่องลงคะแนนตามหน่วยเลือกตั้ง 5 ช่อง ส่วนกำหนดเวลาเลือกตั้งจะเริ่มตั้งแต่ 6.00 - 16.00 น. ของวันที่ 7 พ.ย. 53 "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ภาคประชาชน จี้อาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริง Posted: 22 Sep 2010 05:06 AM PDT 22 ก.ย. 53 – คณะทำงานอาเซียนภาคประชาชนไทยเสนอ ข้อเสนอของภาคประชาชนไทย ต่อรัฐบาลไทยและอาเซียนเพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชน เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดดังนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ในความคิดคำนึง.....จะอยู่อย่างไร หากคนเสื้อแดงไม่เอา Posted: 22 Sep 2010 04:56 AM PDT เมื่อราวต้นปี 51 ริมถนนเข้าตำบลหนึ่ง ในจังหวัดที่ผมอยู่ มีแผ่นป้ายติดริมทาง ขนาดไม่ใหญ่มาก เป็นรูปนายกทักษิณ พร้อมกับตัวอักษรเขียนด้วยลายมือว่า "กลับบ้านเถอะ คิดถึง" จำได้ว่าป้ายนั้นติดอยู่นานเป็นเดือน ดูแล้วคิดว่าคงเป็นป้ายที่ใครคนหนึ่งที่บ้านอยู่แถวนั้นทำขึ้นมาเอง เมื่อเดือน พ.ย.ปี 51ในการชุมนุมใหญ่ที่สนามกีฬาหัวหมาก ผมใส่เสื้อแดงไปร่วม จำได้ถึงความรู้สึกตื่นเต้น ดีใจกับผู้คนที่มากมาย บรรยากาศสนุกสนาน เสียงอึกทึกมาก แต่พอพลบค่ำ ในช่วงเวลาที่นายกทักษิณโฟนอินเข้ามาที่งาน ทุกคนนิ่ง บรรยากาศสงบเงียบ ผมเหลือบมองคนข้างๆผม ผมเห็นสองสามีภรรยาคู่หนึ่งวัยน่าจะประมาณหกสิบเศษท่าทางเป็นคนต่างจังหวัด ทั้งสองคนนั่งน้ำตาไหลตลอดเวลาที่นายกทักษิณพูด และเมื่อผมกวาดสายตาไปรอบๆ ก็รับรู้ได้ว่า หลายๆคนที่ผมเห็นรอบตัวก็คงรู้สึกไม่ต่างกับคุณลุงคุณป้าคู่นี้ เมื่อเดือนเมษา 52 ผมจำบรรยากาศการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ เมื่อนายกทักษิณโฟนอินมา และพูดว่า หากกระสุนนัดแรกดังขึ้น เขาจะมานำประชาชนเดินเท้าเข้ากรุงเทพ ผมจำได้ถึงเสียงร้องเสียงปรบมือ เสียงตีนตบหัวใจตบที่ดังลั่น จำได้ถึงแววตาของคนเสื้อแดง ทั้งหมดมันสะท้อนถึงกำลังใจและพลังที่พลุ่งพล่านของผู้คนตอนนั้น เดือนกรกฏาคมปี 52 ช่วงเวลาที่พวกเราล่ารายชื่อลงนามถวายฏีกา ขออภัยโทษให้กับนายกทักษิณ ที่ร้านอาหารที่เป็นที่พบปะกันเป็นประจำของคนเสื้อแดงในกลุ่มเรา และเป็นที่รู้ๆกันว่าเราจะเอาใบฏีกามาส่ง มารวมกันที่นี่ ผมจำได้ติดตา ถึงสายวันหนึ่ง ที่มีชาวบ้านสามคนพ่อ แม่และลูก รวมสามคน นั่งซ้อนกันมาบนรถเครื่องที่ดูเก่ามากๆ มาที่ร้านอาหารนั้ ในมือผู้เป็นพ่อ ถือกระดาษใบฏีกาที่ยับยู่ยี่ มาส่งให้กับผม ผมไม่รู้จักพวกเขา ถึงตอนนี้ก็จำหน้าไม่ได้ แต่จำคำพูดของคุณลุงที่ยื่นใบฎีกาให้กับผมได้อย่างดี ที่แกบอกว่า "ช่วยกันนะ ช่วยทักษิณเขา สงสารเขา" วันที่ 30 ธันวา 52 ในที่ชุมนุมที่หน้าสภา หลังคำปราศรัยถามดินถามฟ้าของคุณณัฐวุฒิจบ ผมได้ไปนั่งคุยกับหนุ่มสาวสามีภรรยาคู่หนึ่ง สอบถามได้ความว่าบ้านอยู่แถววงเวียนใหญ่ กรุงเทพ อาชีพค้าขาย ขายของตามตลาดนัด ทั้งสองเล่าให้ฟังถึงความรัก ประทับใจในตัวนายกทักษิณ และที่สุดคือความคาดหวังว่าชีวิตการทำมาค้าขายของเขาจะดีขึ้น หากได้นายกทักษิณกลับมาบริหารประเทศ หลังเหตุการณ์ 10 เมษา 53 ไม่นาน ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้น ที่ห้องผู้ป่วยโรงพยาบาล ผมได้พบกับผู้บาดเจ็บ เป็นชายหนุ่ม อายุยี่สิบเศษ มาจากภาคเหนือ มีอาชีพขายและซ่อมโทรศัพท์มือถือ เขาถูกยิงขณะที่ยืนอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ในจุดไม่ไกลจากที่คุณวสันต์ ภู่ทองโดนยิงศรีษะ เขาโดนกระสุนเข้าที่ต้นคอด้านหลัง เข้าด้านซ้ายและทะลุออกด้านขวา เป็นปาฏิหารย์ที่กระสุนไม่โดนอวัยวะสำคัญอันใด เขาเล่าว่า เขาเชื่อว่าที่รอดมาได้เพราะเขากำลังหันศีรษะไปด้านหลังและก้มศีรษะลงพอดีกับวินาทีที่กระสุนพุ่งเข้ามา เขาเล่าอีกว่า เขาเชื่อว่าที่วสันต์ โดนยิงเพราะถือธงโบกไปมา ทำให้ดูเป็นจุดเด่น ส่วนเขาที่ตกเป็นเป้าสังหารคงเป็นเพราะคนยิงคงส่องกล้องเห็นเสื้อที่เขาใส่ ผมถามเขาว่าเป็นยังไงหรือ เขาบอกว่า เป็นเสื้อยืดแดงธรรมดา แต่เขาเขียนข้อความว่า "ทักษิณ ไม่ใช่พ่อ แต่กูตายแทนได้" ก่อนกลับ เขายังบอกกับผมด้วยว่า เขาจะเก็บเสื้อยืดแดงตัวนั้นไว้ และรอวันที่จะได้พบนายกทักษิณและจะเอาเสื้อนี้ให้นายกทักษิณดู ในช่วงการชุมนุมที่ราชประสงค์ เมื่อถึงวันท้ายๆ บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้ความรุนแรงต่อเนื่องในหลายๆจุดติดต่อกัน แม้กระนั้น ยังมีความคิดความเชื่อในมวลชนคนเสื้อแดงบางส่วนว่า นายกทักษิณไม่ทิ้งพวกเรา ไม่ต้องกลัว นายกทักษิณได้ประสานทางต่างชาติไว้แล้ว หากมีการปราบรุนแรงเกิดขึ้น นายกทักษิณได้วางแผนแล้ว และจะมีทหารหรือกองกำลังฝ่ายเราออกมาช่วย .... สุดท้ายเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนสิ้นสุดลงพร้อมวันเดียวกับที่มีภาพนายกทักษิณจูงมือลูกสาวเดินช็อปปิ้งที่ร้านหลุยส์วิตอง กรุงปารีส สัปดาห์ที่แล้ว นายกทักษิณก็ได้ออกทวิตเตอร์ขอร้องให้คนที่รักเขาได้เข้าใจในความจงรักภักดีที่เขามีต่อสถาบันว่ามากขนาดไหน และประณามคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันโดยให้เหตุผลว่าเพราะสถาบันอยู่เหนือการเมือง และขอเชิญชวนคนที่รักเขาเข้าร่วมขบวนจงรักภักดี 19 กันยา ที่ผ่านมา พวกเราคนเสื้อแดง ร่วมกันมีกิจกรรมรำลึก 4ปีรัฐประหาร 4 ปีราชประสงค์ ในหลายๆ สถานที่ ท่ามกลางบรรยากาศของการเขียนจดหมายและปล่อยลูกโป่งถึงฟ้า พร้อมกับวาทะกรรม "ตาสว่างทั้งแผ่นดิน" ว่ากันว่าในทุกๆ ที่ที่มีกิจกรรม การด่า สาปแช่ง กลุ่มคนที่คนเสื้อแดงเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารประชาชน ดังระงมไปทุกๆ ที่ และในวันเดียวกันนี้เอง ที่นายกทักษิณได้ทวิตเตอร์บอกให้ ร่วมกันเสียสละยอมกลืนความเจ็บปวดคนละนิด เริ่มกระบวนการปรองดอง ถึงวันนี้ ผมคิดถึงคนหลายๆ คน ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย ผมคิดถึงคนหลายๆ คน คิดถึงคนที่ลงแรงเอารูปนายกทักษิณมาติดข้างถนนและบอกให้กลับบ้านเถอะ คุณลุงคุณป้าที่ร้องไห้ตอนได้ยินนายกทักษิณโฟนอินที่สนามราชมังคลาฯ คิดถึงคนเสื้อแดงมากมายที่อยู่ในที่ชุมนุมรอบทำเนียบและโห่ร้องด้วยความดีใจเมื่อได้ยินเสียงนายกทักษิณว่าจะเดินเท้าเข้ากรุงเทพ คิดถึงครอบครัวที่ใช้รถเครื่องเก่าๆ ขี่ซ้อนสามมาส่งใบฏีกาให้ คิดถึงหนุ่มสาวที่อาชีพขายของตามตลาดนัดและมีความหวังว่าค้าขายจะดีขึ้น คิดถึงชายหนุ่มที่รอดจากกระสุนทะลุที่คอได้ราวปาฏิหาริย์และตั้งใจเก็บเสื้อตัวที่ใส่ขณะโดนยิงที่เขียนว่า ยอมตายแทนได้ ไว้ให้นายกทักษิณดู และสุดท้าย ผมคิดถึง อีกเกือบร้อยศพ ที่เสียชีวิตไปจากคำสั่งอันโหดเหี้ยม ทั้งช่วงสลายการชุมนุมและจากการไล่ล่าหลังจากนั้น และผู้บาดเจ็บพิการอีกจำนวนมาก และวันนี้ ผมไม่คิดถึงคุณทักษิณเลย หากจะคิดก็เพียงสงสัยว่า ต่อแต่นี้ไปนายกทักษิณจะอยู่อย่างไรได้ หากคนเสื้อแดงเขาไม่เอาและไม่ยืนเคียงข้างนายกทักษิณอีกต่อไป......... สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เครือข่ายแรงงาน นับร้อยบุกสภาเสนอวิปทั้งสองฝ่ายให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันความปลอดภัย Posted: 22 Sep 2010 04:48 AM PDT 22 ก.ย. 53 - เวลา 10.30 น. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน นำโดย นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเนื่องจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นายทวีป กาญจนวงศ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำผู้ ใช้แรงงาน และผู้ป่วยเนื่องจากการทำงาน เข้ายื่นหนังสือ และมอบดอกไม้ กับประธานวิปรัฐบาล ประธานวิปฝ่ายค้าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งแจกเข็มกลัดที่มีข้อความ “เราต้องการสถาบันความปลอดภัย” ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เดินเข้าประชุม เพื่อให้ช่วยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าจะเข้าสภาฯเพื่อพิจารณาในวันนี้ นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯกล่าวว่า นานถึง 17 ปี ของการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สถาบันฯเพื่อให้เกิดมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ ขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งพวกเรากลุ่มคนป่วยผู้ถูกผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ต้องเหนื่อยยากสูญเสีย พลังกาย พลังใจ และ ทุนทรัพย์ ในการเคลื่อนไหวมามากมายยาวนานเกือบตลอดชีวิตของการป่วย และมีพี่น้องแรงงานที่ต้องสังเวย ชีวิตเลือดเนื้อไปในระหว่างทางการเรียกร้องร่างกฎหมายสถาบันความปลอดภัยฯ สิทธิกองทุนเงินทดแทน และการไม่รับผิดชอบต่อสังคมของนายทุนสถานประกอบการ นักการเมืองที่ออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปในทิศทางอุตสาหกรรม ที่คอยทำร้ายชีวิตผู้คนผู้ใช้แรงงาน ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เคยสวยงาม เราถูกกระทำย่ำยีมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยเอาความสมบูรณ์ของร่างกายสุขภาพ อวัยวะแขนขา ปอด หัวใจ ร่างกายรวมทั้งชีวิตพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทำไมการเรียกร้องผลักดันองค์กรอิสระเพื่อมาส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหานี้ มันถึงต้องเรียกร้องกันมายาวนานขนาดนี้ ผู้ถูกผลกระทบอย่างพวกเราไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเองสักหน่อย เราเรียกร้องให้ลูกหลานแรงงานของเราในวันข้างหน้า ให้เขามีชีวิตในการทำงานที่ปลอดภัย ทำไมทีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างขึ้นได้เรื่อยๆ ด้วยราคาหลายร้อยล้าน ซึ่งเป็นการรองรับที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นการป้องกันที่ต้นเหตุทำไมรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สนใจไม่สนับสนุน มันเป็นเพราะอะไร อยากให้มีศูนย์คนพิการเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองเพื่อโชว์ชาวโลกหรืออย่างไร ? วันนี้ จะเป็นทางแพร่งที่ฝ่ายการเมืองจะต้องตัดสินใจเดิน ระหว่างความปลอดภัยและชีวิตที่มีค่าของประชาชนคนทำงาน หรือกลเกมทางการเมือง สาระสำคัญของร่าง พรบ.ความปลอดภัยฯ ที่ผู้ใช้แรงงานได้เห็นชอบร่วมกัน คือ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ภายใต้ พรบ.ความปลอดภัยฯ หมวด 6/1 ว่าด้วย “ให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เป็นองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งให้มีวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย” โดยมีอำนาจหน้าที่ (1) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (2) พัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) ดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน (4) จัดให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ (5) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 22 Sep 2010 04:12 AM PDT ท่านผู้อ่านคงพอทราบมาบ้าง เรื่องต้องห้ามในบทสนทนาคือเรื่องศาสนาและเรื่องการเมือง เพราะหากยกขึ้นมาเมื่อไหร่มักนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดได้ทุกที ในอีกด้านหนึ่งความขัดแย้งหากไม่ร่วมกันถกเถียงหาข้อสรุปที่แต่ละฝ่ายพอจะยอมรับกันได้ ให้ความรู้สึกนั้นทุเลาเบาบางลง ความขัดแย้งนั้นย่อมไม่สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญ และกลุ่มก้อนทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกันก็จะไม่มีที่ให้ยืน หากย้อนดูเชิงลึกจะเห็นว่าการต่อสู้บนความขัดแย้งของความเชื่อทางศาสนามักมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง อยู่ที่ว่าบทบาทของความเชื่อที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น มีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด ในความสัมพันธ์ของบริบทต่อเหตุการณ์นั้น เช่นความขัดแย้งของผู้นับถือศาสนาอิสลามต่างนิกายในอิรัก-อิหร่านและอัฟกานิสถาน ดูอย่างกำแพงเบอร์ลินเคยเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่อ้างว่าเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาจนเกิดโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวร่วมหกล้านคน ผู้คนจำนนวนอีกไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลงที่บริเวณกำแพงนี้ ที่ถูกขนานนามว่า Death Strip หรือเส้นทางแห่งความตาย กรณี “ The Troubles” เมื่อปี 1968 ในไอส์แลนด์เหนือมีประชากรโปรเตสแตนต์ประมาณร้อยละ 60 อีก 40 เป็นคาทอลิก กลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม Unionist เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งให้ยุติการกดขี่กีดกันชาวคาทอลิก เกิดการประทะกันสูญเสียชีวิตกว่า 3,600 คน ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยสันติวิธี ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหาในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในหลายประเทศ ความเข้าใจเหล่านี้นำไปสู่ความระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้เข้าใจว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะมีศาสนาใดในโลกสอนให้ศาสนิกของตนใช้ความรุนแรงในการยุติความขัดแย้ง ในขณะนี้สหรัฐเองก็กำลังมีประเด็นร้อนๆ ที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งที่อ้างว่ามีที่มาทางศาสนา กรณีการประท้วงต่อต้านโครงการ Park51 ที่จะก่อสร้างมัสยิด ศูนย์วัฒนธรรมมุสลิมใจกลางเมือง Manhattan New York City ใกล้กับ Ground Zero ที่เคยเป็นที่ตั้งของตึก World Trade Center ที่โดนเครื่องบินชน เมื่อ 11 กันยายน 2001 ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตร่วม 3,000 คน กระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นก็ด้วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอ้างว่าความสูญเสียเหล่านี้เป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายทหารมุสลิม หรือAI Qaeda เหล่านี้คือบางเหตุการณ์ของความขัดแย้งที่โยงเข้าหาด้านลัทธิความเชื่อในต่างประเทศ ที่ต้องยกขึ้นมานี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงการแสดงทัศนะทางการเมืองและทางศาสนา เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากไม่ทำความเข้าใจให้ครบถ้วนกระบวนความจะก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรืออาจถึงขั้นหลงประเด็นไป ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย ทรงเผยแผ่พระศาสนาอย่างอิสระ ไม่ขึ้นต่อพรรคการเมืองหรือระบอบการปกครองใดๆทั้งสิ้น จึงทรงสามารถประกาศพระศาสนาไปได้ทุกประเทศทุกแว่นแคว้นไม่เลือกว่าจะมีการปกครองในระบอบใด พุทธธรรมสามารถเข้าสู่จิตใจของประชาชนได้ทุกชาติชั้นวรรณะและทุกเพศทุกวัย การเผยแผ่ศาสนาของพระองค์และสาวกมิได้ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครองประเทศและนักการ เมืองใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ยังได้รับความอุปถัมภ์จากบรรดาผู้ปกครองและประชาชนด้วยดี เป็นการให้ความอุปถัมภ์อย่างบริสุทธิ์ใจมิได้มีการเมืองมาปะปนเลย ในสมัยนั้นไม่มีนักการเมืองใดที่ใช้พระศาสนาเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ หรือในการหาเสียงเลย พระศาสนาจึงสามรถทรงตัวอยู่ได้ด้วยดี และอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องตลอดมา เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บทบาทพระสงฆ์เหล่าสาวกในการเผยแผ่พระศาสนาปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ในประเทศไทยประชาชนมากกว่าร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนา เป็นเวลากว่าพันปีแล้วที่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจนแยกกันไม่ออก กล่าวได้ว่าความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนาย่อมมีผลกระทบต่อสังคมไทย กรณีการให้สัมภาษณ์และบทความของพระไพศาล วิสาโล เป็นการสะท้อนบทบาทพระสงฆ์ต่อการทำหน้าที่ในฐานะพุทธสาวก และอีกฐานะหนึ่งคือสมาชิกในสังคมร่วมสมัย คำสัมภาษณ์และบทความทั้งหมดของท่านอาจไม่ใช่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งหมดเลยทีเดียว บางที่บางแห่งอาจเป็นทัศนะความคิดเห็นส่วนตัวของท่าน คำให้สัมภาษณ์และบทความของท่าน สามารถตรวจทาน หรือแม้แต่วาทกรรมทางศาสนาของ เกจิแต่ละสำนักก็ต้องพร้อมพิสูจน์ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพราะแม้แต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรายังต้องอ้างอิงว่าอยู่ในพระไตรปิฏกเล่มไหน เทศนา ณ ที่ใด กับใคร และว่าอย่างไร ผมแสดงทัศนะต่อบทความ “ไม่เถียงแต่ด่า” * ที่คุณคำ ผกา เขียนด่าพระไพศาล ด้วยเห็นว่าคุณคำ ผกา แสดงท่าทีต่อพระสงฆ์ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมสังคม อาจกล่าวได้ว่ามีอคติต่อท่านด้วยซ้ำไป สำหรับวิวาทะของผมที่มีต่อข้อวิจารณ์นั้น ผมระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “..กรณีพระไพศาลผมก็หาได้เห็นด้วยกับบทสัมภาษณ์และงานเขียนของพระไพศาลทั้งหมด เพียงแต่อยากให้ปุถุชนทึบหนาเช่นเราฉุกคิดว่าเราควรกำหนดท่าทีต่อบทบาทของพระสงฆ์อย่างไร จึงจะพองาม และพระสงฆ์เองก็ควรตระหนักในบทความร่วมสมัยของท่านด้วย” แม้ผมไม่ได้รู้จักพระไพศาลเป็นการส่วนตัว หรือมีโอกาสได้สนทนากับท่านเลย แต่ผมก็ให้ความเคารพท่านในฐานะพระรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า เป็นพระนักเผยแผ่และมีกิจกรรมส่งเสริมการปฏิบัติธรรมที่ควรแก่การยกย่องอีกรูปหนึ่ง กรณีบทความ “ไม่เถียงแต่ด่า” ไม่ใช่เพียงการวิพากษ์แนวคิดเท่านั้น แต่เป้าหลักน่าจะอยู่ที่จงใจด่า เสียดสี กดให้ท่านต่ำลง ซึ่งพระท่านคงไม่ถือสาอะไรกับคนเยี่ยงเราหรอก หลายท่านอยากฟังทัศนะของผมต่อกรณีคุณสนธิด่าพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ที่พระท่านเตือนผู้ปกครองอย่าพาเด็กไปร่วมฟังการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพราะเกรงจะได้ยินคำที่ไม่สุภาพนั้น คำกล่าวของคุณสนธิที่สถุลเช่นนั้นผมไม่อยากนำมาขยายให้มากความ กรณีคุณคำ ผกา ถือว่าเป็นผู้มีความคิดเห็นหวือหวา ปากคอร้อนแรงแหลมคม โต้ตอบประเด็นได้เผ็ดร้อนตรงไปตรงมาน่าประทับใจ แต่ในมุมความลุ่มลึกด้านจิตวิญญาณตามแนวทางศาสนา ดูเหมือนคุณเธอจะยัง “ละอ่อนมัก มั่ก” ดูอย่างบทสัมภาษณ์เรื่อง “ศาสนาในฐานะต้นทุนทางสังคม” ** คุณวิจักขณ์ พานิช ถามว่า: “ไม่รู้สึกว่าถ้าพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางศาสนาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้วจะแปดเปื้อน” คุณคำ ผกา ตอบว่า: “ถ้าคุณพูด คุณต้องยอมแปดเปื้อน (เน้นเสียง) แต่ถ้าคุณไม่อยากแปดเปื้อน คุณต้องไม่พูดเลย คนมาขอสัมภาษณ์ก็ต้องบอกว่าไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะว่าไม่อยากยุ่ง ไม่อยากแปดเปื้อน อาตมาอยู่เหนือการเมือง ก็ต้องพูดแบบนี้ ไม่ต้องมาถาม อยากฆ่ากันก็ฆ่าไป อาตมาไม่เกี่ยว ถ้าจะออกมาพูดก็ต้องยอมแปดเปื้อน ถ้าออกมาพูดแล้วไม่ยอมแปดเปื้อน เอาแต่ play safe อย่างนี้ แขกว่าเห็นแก่ตัว” ดูเหมือนคุณคำ ผกา จะนึกถึงบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองเพียงการให้สัมภาษณ์ การร่วมขบวนประท้วงเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองมีหลากหลายทั้งในระดับที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นผู้ปกครอง และกับระดับชาวบ้านฐานราก ดังที่ได้นำเรียนไปบ้างแล้ว อีกทั้งหากเกิดมิคสัญญีขึ้นการจะให้พระสงฆ์ดูดาย นิ่งเฉยปล่อยให้ผู้คนล้มตายเป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้องให้บทบาทท่านเป็นเช่นนั้นหรือ การกระแทกแดกดันเช่นนี้ดูจะไม่เป็นธรรมนัก ท่าทีการมองบทบาทศาสนาหรือพระสงฆ์ในสายตาของคุณคำ ผกา ยังกระตุกให้นึกภาพตามต่อ เช่น คุณคำ ผกากล่าวอีกว่า “...อย่างงานศพมันก็จะเป็นความโศกเศร้าแบบดราม่ากันคืนเดียว สมมติว่าวันนี้มีคนตาย ก็จะร้องห่มร้องไห้กัน พอร้องไห้เสร็จก็จะเป็นเรื่องพิธีกรรม ทุกคนก็จะลืมความทุกข์ แล้วไป concentrate เรื่องว่าเราจะเอาอาหารอะไรมารับแขก ใครจะมาตั้งวงไฮโลกี่วง เราจะเอาดนตรีอะไรมาเล่น จะเอาปี่พาทย์หรือวงดนตรีสมัยใหม่ จะนิมนต์พระที่ไหน มีพระที่เทศน์ตลกที่สุด ฮาที่สุด ที่ไหนบ้าง แล้วมีเงินจะจ่ายค่าตัวพระมั้ย พระเทศน์เก่งๆก็จะค่าตัวแพงหน่อย คือมันก็จะกลายเป็นเรื่องกิจกรรมทั้งหมด แล้วทุกคนก็ไม่ได้เศร้าอะไรกันนาน” นั่นแสดงว่าคุณคำ ผกาแสดงอาการทำนองเหน็บเย้ย และไม่เข้าใจคติธรรมคำสอนทางศาสนาที่สอดแทรกอยู่ในศาสนพิธีแม้แต่เพียงหยิบมือ ในพิธีศพนั้น หาใช่เรื่องกิจกรรมทั้งหมดไม่ โบราณท่านได้สอนธรรมะไว้ในพิธีกรรมเหล่านั้นด้วยอุบายอันแยบคาย เช่น การรดน้ำที่มือของผู้ตาย ซึ่งบางท่านเข้าใจว่าเป็นการขออโหสิกรรม ความจริงแล้วมุ่งเตือนสติผู้ที่มาร่วมงานว่าแม้แต่น้ำที่เทลงฝ่ามือก็ไหลร่วง ผู้ที่ตายทุกคนไปแต่มือเปล่าไม่ได้อะไรติดตัวไปเลย การเอาเหรียญใส่ปาก เอาอาหารวางหน้าหีบศพ การจุดตะเกียงหน้าศพ การเคาะโลงรับศีลฟังธรรม การสวดอภิธรรม การบังสุกุล กรวดน้ำ การวางดอกไม้จันทน์ การเก็บกระดูกฯลฯ ล้วนแฝงด้วยคติคำสอนทั้งสิ้น หาใช่เป็นเพียงกิจกรรมดังที่คุณคำ ผกาเข้าใจไม่ เพื่อไม่ยืดเยื้อในที่นี้ ยกตัวอย่าง อาทิ การเอาเหรียญใส่ปากศพ ทางโลกถือว่าให้ค่าเสบียงอาหาร ค่ารถ ค่าเรือ แก่คนตายสำหรับเดินทางไปสวรรค์ ทางธรรมถือว่าสอนคนเป็นให้รู้จักใช้เงินให้เป็นประโยชน์ อย่าตระหนี่ถี่เหนียว ไม่รู้จักกินรู้จักใช้ และอย่าโลภมาก เพราะเงินบาทสุดท้ายเขาเอาเงินยัดใส่ปาก ก็เอาไปไม่ได้ ดอกไม้จันทน์คือผลสะท้อนทางความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล แม้แต่การจะสำเร็จโทษเจ้านายชั้นสูง ก็จะมิให้ต้องคมหอกคมดาบ แต่คลุมด้วยถุงแดงแล้วทุบด้วยท่อนจันทน์ นัยว่าเป็นการประหารชีวิตอย่างให้เกียรติสูงสุด ความเชื่อถือเรื่องไม้จันทน์นี้ ได้มีการทำดอกไม้จันทน์ขึ้นมาจากแก่นจันทน์ฝานบางๆ นำมาขึ้นรูปให้เป็นดอกไม้ ภายหลังมีการทำจากไม้ฉำฉา จนแม้เปลือกข้าวโพดก็มี แต่ก็ยังสู้เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” ดังเดิม กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความสลดอาลัย และเป็นดอกไม้ในวาระสุดท้ายมอบให้เป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ ในบทสัมภาษณ์ “ลอกคราบวาทกรรมทางศาสนา” *** คุณวิจักขณ์ ถามต่อว่า: “แต่ถ้าเรามองในแง่ดี อย่างที่คุณแขกว่า พระก็มีหลายแบบ พระอย่าง ว.วชิรเมธี ที่ได้กลายเป็น Icon พระ Intellectual ของชนชั้นกลาง ท่านก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนเยอะนะ สิ่งที่ท่านสอนก็ถูกจริตกับคนกลุ่มหนึ่ง งานหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คมากมายของท่านก็ทำให้คนรู้สึกดี อิ่มเอม มีความสุข ได้แง่คิด แบบนี้ปล่อยท่านทำไป ไม่ต้องไปจิกกัดท่านไม่ได้เหรอ” คุณคำ ผกา ตอบว่า: “แต่แขกมองว่างานของ ว.วชิรเมธีมันเป็นยากล่อมประสาท หลอกขายกันไปวันๆ ไม่ได้ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นการเอาตัวรอดคนเดียว...แขกเลยมองว่ามันเป็นการมอมเมาทางปัญญา สอนให้คนหลีกหนีปัญหา แล้วก็ทำให้มืดบอดต่อปัญหาของคนอื่นในสังคมด้วย คำพูดของว.วชิรเมธี มีอะไรที่ลึกซึ้งบ้าง ไม่มี แต่ทำไมคนถึงให้ความสำคัญ เพราะมันออกมาจากพระที่บอกว่าตัวเองอ่านพระไตรปิฎกเจนจบ เป็นศิษย์พุทธทาส แล้วตอนนี้ก็จะเป็นศิษย์อะไรนะ สวนพลัม ใช่มั๊ย แล้วล่าสุดอมรินทร์ก็ยกให้เป็นหนึ่งในอริยบุคคลของสังคมไทย นี่ก็ยิ่งเป็นการเชิดชูกันหนักเข้าไปอีก” ผมคิดว่ามนุษย์เราควรมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อยู่ที่ว่าแต่ละบุคคลจะต้องใจกับหลักธรรมของศาสนาใด ในพระพุทธศาสนา หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 2 เดือน พระองค์ทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงอุปมามนุษย์ดั่งบัวสี่เหล่าที่แต่ละคนมีกิเลสน้อยมากต่างกัน มีอินทรีย์กล้าอ่อนต่างกัน มีอาการดีทรามต่างกัน คนที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี จึงทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะเสด็จไปโปรด นั่นแสดงว่าคนเรามีอยู่หลายประเภท ผู้ที่ควรรับรู้พระธรรมก็มี ผู้ที่โปรดได้ยากก็มี จริตของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน มุมมองของคุณคำ ผกา ที่มีต่องานของท่าน ว. วชิรเมธี ก็เป็นสิทธิที่เธอจะเห็นเช่นนั้น แต่คงมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ศรัทธาและต้องใจในวิธีการเผยแผ่ธรรมของท่าน ว.วชิรเมธี ในโลกปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยประกาศตนว่าไม่นับถือศาสนาใด การประกาศตนว่าเป็นคนไม่มีศาสนาก็ไม่ได้สร้างความทุกข์ร้อนให้แก่ใคร ตราบที่ทุกสมาชิกในสังคมปฏิบัติตนตามครรลองแห่งศีลธรรมอันดี เพราะทุกคนล้วนมีเหตุผลและศรัทธาในใจและมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินชีวิตไปตามแนวทางที่ตนยึดถือนั้น ตราบที่ไม่ไปเบียดเบียนหรือกระทบสิทธิ์ผู้อื่น ข้อจำกัดเรื่องเหตุผลและศรัทธา เป็นสิ่งที่ท้าทายให้ช่วยกันขบคิดมาช้านาน ทั้งความมีอยู่ของพระเจ้าในศาสนาเทวนิยม ปัญหาเรื่องความชั่วร้ายในศาสนาคริสต์ที่เมื่อจักรวาลและมนุษย์ถูกสร้างโดยพระเจ้าผู้ทรงสรรพฤทธิ์ จักรวาลนี้จึงน่าที่จะปราศจากความชั่วร้าย ทั้งด้านศีลธรรมหรือบาป ภัยธรรมชาติ และทางอภิปรัชญา ปัญหาความขัดแย้งทางจริยศาสตร์ในภควัทคีตาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และปัญหาความขัดแย้งทางจริยศาสตร์ในพระเวสสันดรชาดกของพระพุทธศาสนา ล้วนเป็นประเด็นให้ชวนเสวนา เหตุผลและศรัทธาเป็นข้อเท็จจริงที่บังเกิดในแต่ละบริบทของสังคม ดูอย่างในเมืองไทยมีการทำฟาร์มโคนมและวัวไม่เพียงแต่ช่วยไถนา ลากเกวียน และใช้แรงงานอื่นๆ วัวยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย สำหรับที่อินเดียวัวเป็นสัตว์ที่ชาวฮินดูนับถือเหมือนหนึ่งพระเจ้า เหตุผลและศรัทธาจึงมีคุณค่าในตัวของมันเอง เพียงให้เหตุผลและศรัทธานั้นมุ่งไปเพื่อความศานติของทุกสมาชิกในสังคม ที่สำคัญ มิควรหมิ่นเหตุผลและศรัทธาอันเป็นบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ วิวาทะเกี่ยวกับศาสนาและการเมืองที่จำต้องนำมาแถลงแจงสี่เบี้ยอยู่นี้ ด้วยเห็นว่าเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ อีกทั้งเป็นห่วงผู้เหน็บด่าพระสงฆ์ด้วยผรุสวาจา หากยังไม่สำนึกรู้ตัว ลามปามไปมากกว่านี้ เกิดพลั้งพลาดขึ้นมาจะน่าเสียดาย อ้างอิง *http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31022 **http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30688 *** http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1282225912&grpid=no&catid=02
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นักปรัชญาชายขอบ: ตาสว่างและเดินทางต่อ Posted: 22 Sep 2010 03:49 AM PDT ผมรู้สึกชื่นชมไอเดีย “เขียนจดหมายถึงฟ้า” กับ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” มาก ในขณะที่ขำเกือบตกเก้าอี้เมื่อเห็นท่าน “อภิสิทธัตถะ” เทศนาอัปปมาทกถา (ถ้อยแถลงว่าด้วยความไม่ประมาท) ทางทีวีว่า ให้ระมัดระวัง “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” แสดงว่า ในสายตาของเขาไม่ว่าคนเสื้อแดงจะขยับทำอะไร ก็ต้องรุนแรงเสมอ ไม่รุนแรงทางกายภาพก็ต้องรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ แต่โทษทีครับ สติปัญญาระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากอ๊อกฟอร์ดคิดไม่ออกเลยหรือไงว่า เป็นนายกฯ แล้วออกมาปรามประชาชนโดยอ้าง “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” ในสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยถูกใช้สัญลักษณ์กดทับไว้เช่นทุกวันนี้ มันเป็น “ทัศนะอำมหิต” ต่อการใช้เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนที่จะบอกเล่าความจริงและทวงคืนประชาธิปไตยมากเกินไป! นึกถึงประโยคสรุปในหนังสือ “สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย” ของ อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ว่า “ถึงเวลาที่ต้องให้การศึกษาแก่ชนชั้นนำให้เข้าใจและรู้คุณค่าประชาธิปไตย” มันเป็นข้อสรุปที่สวนทางกับทัศนะของชนชั้นนำที่พูดซ้ำๆ ซากๆ ว่า ประชาชนโง่ ไม่รู้ประชาธิปไตย จะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนให้เข้าใจประชาธิปไตย แต่ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ “อุปสรรค” ที่เด่นชัดของพัฒนาการประชาธิปไตยก็คือ “ชนชั้นนำ” จดหมายถึงฟ้า มันจึงมีความหมายสำคัญว่า ประชาชน เช่น คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กรรมกร ชาวนา แม่ค้าขายส้มตำ ลูกชิ้น ฯลฯ เขาตาสว่างแล้ว เขาเกิดปัญญารู้แจ้ง (Enlightenment) แล้วว่าประชาธิปไตยคืออะไร และเขาต้องการสอนบรรดาชนชั้นนำ โดยเฉพาะ “คนอย่างอภิสิทธัตถะ” ซึ่งถูกยกให้มีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมให้รู้ว่าคุณไม่สามารถต้านกระแสประชาธิปไตยได้ คนที่ต้านกระแสประชาธิปไตยคือคนที่ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก พูดอย่างถึงที่สุด ต้านกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย คือ ต้านกระแสเรียกร้องความเป็นคน ซึ่ง “ความเป็นคน” นั้นโดยพื้นฐาน หรือโดย essence เลย คือ freedom หรือเสรีภาพ รูปแบบการปกครองของรัฐที่จำกัดเสรีภาพก็เท่ากับจำกัดความเป็นคน อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่นี่ไง เพราะเราถูกจำกัดความเป็นคนจนเคยชิน เราจึงไม่รู้ว่าความเป็นคนของตัวเองและเพื่อนมนุษย์คืออะไร เราจึงเรียกร้องอำนาจพิเศษ อำนาจเบ็ดเสร็จของกองทัพ การใช้ พรก.ฉุกเฉิน ฯลฯ มาจำกัดความเป็นคนของตัวเองและเพื่อนมนุษย์ ไม่ให้เขา (และเรา) สามรถใช้เสรีภาพตามที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะพวกใช้เจ้าเป็นอาวุธเพื่อทำลายคนที่เห็นต่าง หรือศัตรูทางการเมืองของตนเอง ยิ่งชัดเจนว่าคุณกำลังทำลายความเป็นคนของตนเองและเพื่อนมนุษย์อย่างโง่เขลาและเลือดเย็น เพราะโดย “อาวุธ” ที่คุณใช้กับคนอื่น เขาก็จะใช้อาวุธเดียวกันกับคุณ สังคมเราจึงพยายามจำกัด หรือริบสิทธิในการใช้เสรีภาพของกันและกันไปด้วยการใช้อาวุธเช่นนี้ แต่ไม่มีใครสามารถห้ามคนไม่ให้มีเสรีภาพได้ คุณอาจจำกัดการใช้เสรีภาพของคนได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่คุณไม่อาจเอาเสรีภาพออกไปจากความเป็นคนได้ ถ้าประชาชนตระหนักถึงคุณค่าความเป็นคนที่ต้องมีเสรีภาพ อำนาจที่จำกัดเสรีภาพย่อมถูกท้าทาย และไม่อาจคงอยู่ต่อไปได้! คนเสื้อแดงเขาเรียกร้องเสรีภาพที่จะเป็นคนอย่างสมบูรณ์ ก็คือโดยพื้นฐานที่สุดคนต้องมีเสรีภาพที่จะพูด จะคิด แสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ โดยเฉพาะการพูดความจริง การเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง คนมันต้องมี “อิสระทางศีลธรรม” หรือมีอิสระในการวินิจฉัยถูกผิดในเรื่องคุณค่าเชิงบรรทัดฐานหลักๆ ของสังคม ไม่ใช่ต้องคอยแต่เชื่อฟังและทำตาม ถ้าคนชั้นนำคิดผิด ทำผิดในทางศีลธรรม ประชาชนที่มีความเป็น “คน” จะต้องตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ เรียกร้องให้เขารับผิดชอบในทางศีลธรรม และทางกฎหมายได้ ถ้าเสรีภาพดังกล่าวนี้มีไม่ได้ ถูกกดทับหรือถูกจำกัดก็หมายความว่าความเป็นคนของประชาชนถูกกำกัด คุณอยากมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ความเป็นคนของคุณถูกจำกัดหรือครับ คุณไม่อยากให้ศักยภาพที่จะเป็นคนอย่างเต็มที่ของคุณได้แสดงตัวออกมาหรือครับ ศักยภาพความเป็นคนมันเป็น “สภาพแฝง” (potentiality) มันจะแสดงออกมาหรือกลายเป็น “สภาพจริง” (actuality) ได้ ก็ต่อเมื่อเรามีเสรีภาพ เราไม่ถูกจำกัดหรือถูกกดทับเสรีภาพเอาไว้ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ แน่นอนว่า ในสังคมประชาธิปไตย การใช้เสรีภาพอาจถูกจำกัดหากมันไปละเมิดความเท่าเทียมในความเป็นคน เช่น เราไม่มีเสรีภาพที่จะประณามคนอื่นด้วยเหตุผลว่า เรามีสถานะความเป็นคนสูงส่งกว่าคนอื่น แต่การจำกัดเสรีภาพเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล เพราะเป็นการปกป้องความเท่าเทียมของคนซึ่งเป็นรากฐานในการปกป้องเสรีภาพที่เท่าเทียม มันต่างกับการอ้างว่า “ทุกคนมีเสรีภาพได้เต็มที่นะตราบเท่าที่ไม่ไปพูดความจริงเกี่ยวกับคนที่มีความเป็นคนเหนือกว่าทุกคน” เพราะข้ออ้างเช่นนี้มันหมายความว่า มนุษย์จำเป็นต้องมีเสรีภาพไม่เท่ากัน (ระว่างทุกคนกับคนที่เหนือกว่าทุกคน) และจำเป็นต้องถูกจำกัดเสรีภาพในการพูดความจริงเกี่ยวกับการกระทำของคนที่เหนือกว่าทุกคน ซึ่งเป็นไปได้ว่าการกระทำนั้นอาจส่งผลด้านลบต่อทุกคน และหรือกล่าวอย่างรวบยอด ทุกคนย่อมไม่มีอิสระทางศีลธรรมหากคนที่เหนือกว่าทุกคนเป็นผู้กำหนดถูก-ผิด ในเรื่องศีลธรรมที่เป็นบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง การมีชีวิตที่ดี ฯลฯ แทนประชาชน และประชาชนก็ไม่สามารถตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ได้ ฉะนั้น จดหมายถึงฟ้า/ตาสว่างทั้งแผ่นดิน จึงเป็นก้าวย่างทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่มีความหมายสำคัญยิ่ง ก้าวต่อไปก็คือเราต้องทวงเสรีภาพเพื่อให้ทุกคนภายใต้ผืนฟ้า (จริงๆ) นี้ มีความเป็นคนที่เท่าเทียม! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
17-19 กันยา ปีนี้สำคัญอย่างไร? Posted: 22 Sep 2010 03:38 AM PDT "ใจ อึ๊งภากรณ์" ประเมินความสำเร็จของการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในวันที่ 17-19 กันยา ที่ผ่านมา การที่คนเสื้อแดงเป็นหมื่นๆ ออกมาประท้วงที่ราชประสงค์แค่ 4 เดือนหลังจากการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตย พร้อมกับการชุมนุมที่ราชประสงค์ มีการชุมนุมตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ และแม้แต่ในประเทศอื่นทั่วโลก ก่อนหน้านั้นมีการวางดอกกุหลาบหน้าเรือนจำ 17 แห่ง เพื่อรำลึกถึงนักโทษการเมืองอีกด้วย การชุมนุมที่ราชประสงค์เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่ส่งสัญญาณและพิสูจน์ความจริงหลายอย่างคือ 1. มันพิสูจน์ว่าขบวนการเสื้อแดงไม่ได้ถูกทำลาย และยังเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ที่แล้วมาเมื่อขบวนการประชาชนถูกปราบจนพ่ายแพ้ เช่นในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ กว่าจะมีการฟื้นตัวของการเคลื่อนไหวในสังคมเปิดได้ ใช้เวลาหลายปี แต่วันนี้เราเห็นคนเสื้อแดงฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉิน แค่ 4 เดือนหลังการปราบปราม และการเคลื่อนไหวของคนจำนวนมากในสังคมเปิดเป็นการท้าทายอำมาตย์อย่างถึงที่สุด มันเป็นการยกนิ้วกลางด่าและท้าทายอำมาตย์ และเป็นการประกาศว่า “เราไม่กลัว” และ “เราจะไม่ยอมแพ้” 2. ในขณะที่แกนนำเสื้อแดงเกือบทุกคนติดคุก หรือต้องหลบหนีออกจากประเทศ คนเสื้อแดงได้แสดงความสามารถในการนำตนเองอย่างเห็นได้ชัด บก.ลายจุด คุณสมบัติ ประกาศตนเป็น “แกนนอน” เขาไม่ใช่นักการเมืองพรรคเพื่อไทย และเขาไม่มีแหล่งทุนมหาศาลจากใคร เขาเป็นนักกิจกรรม วันที่ ๑๙ กันยา ปีนี้พิสูจน์ความจริงของคนเสื้อแดงว่า “กูมาเอง” ไม่ใช่ว่าคนเสื้อแดงต้องพึ่งพา “ผู้อุปถัมภ์” อย่างนายกทักษิณหรือนักการเมืองเพื่อไทย 3. คนส่วนใหญ่ที่มาต่อสู้ทางการเมืองที่ราชประสงค์ในวันที่ ๑๙ กันยา เป็นคนกรุงเทพฯ หรือจากจังหวัดใกล้เคียง สิ่งนี้พิสูจน์ว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่เฉพาะคนชนบท หรือคนภาคเหนือ ภาคอีสาน 4. อย่าประเมินกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงเชิงสัญลักษณ์ต่ำเกินไปว่าไม่มีพลัง เพราะเราเห็นว่ามันมีผลสำคัญในการกำจัดความกลัวและให้กำลังใจกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ตอนนี้มันมีความเป็นไปได้ว่ากิจกรรมแบบนี้ในอนาคตจะใหญ่ขึ้น คนอาจมาเป็นแสนๆ ได้ 5. ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวในวันที่ 17-19 กันยา พิสูจน์ความผิดพลาดของ (ก) แนวคิดสยามแดง ที่มองว่าต้องจับอาวุธ หรือสู้ใต้ดิน เพราะการระดมมวลชนอย่างเปิดเผย “ทำไม่ได้” (ข) แนวอาจารย์ชูพงษ์ที่เสนอว่า “เราสู้ไม่ได้ เพราะมีคนสำคัญที่สั่งทหารได้และมีอำนาจล้นฟ้า” เราเลย “ต้อง” จำใจขอความเมตตาจากคนนี้อย่างเดียว (ค) แนวของคุณอาคมซิดนี่ย์ ที่มองว่าคนเสื้อแดงต้องพึ่งพาการจัดตั้งของพรรคเพื่อไทยตลอด สู้เองไม่ได้ 6. กิจกรรมในวันที่ 19 กันยา เป็นเครื่องเตือนใจให้นักการเมืองพรรคเพื่อไทยทราบว่า เขาไม่สามารถหันหลังและมองข้ามข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงเพื่อการ “ปรองดอง” กับอำมาตย์ได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่สู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย คนเสื้อแดงจะสู้อย่างอิสระและลดความสำคัญของพรรคเพื่อไทยลง และที่สำคัญมากๆ คือ 19 กันยา ส่งสัญญาณให้อำมาตย์ว่าเขาไม่ได้ชนะ และจะไม่ชนะ และทุกนาทีที่ผ่านไป ประชาชนค่อยๆ เสื่อมศรัทธาในระบบที่ให้ความชอบธรรมกับเผด็จการด้วย เวลาอำมาตย์ฝันร้าย เขาจะได้ยินเสียงตะโกนของมวลชนว่า “เหี้ยสั่งฆ่า” และเรากับเขาทราบดีว่าประชาชนหมายถึงใคร สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 1: พูดถึงนิวมีเดียคือพูดถึงสิทธิในการสื่อสาร Posted: 21 Sep 2010 06:22 PM PDT
ตอนที่ 1 อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์: พูดถึงนิวมีเดียคือพูดถึงสิทธิในการสื่อสาร
รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ผู้ขับเคลื่อนประเด็นเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อมาอย่างยาวนาน ไม่ได้แสดงความประหลาดใจมากนักกับปรากฏการณ์เครือข่ายทางสังคม และสื่อใหม่บนโลกออนไลน์ “มันเป็นของเล่นของชนชั้นกลาง ขณะที่คนระดับรากหญ้าหรือคนในต่างจังหวัดนั้นเขาก็มีนิวมีเดียของเขา คือวิทยุชุมชน แต่เราไม่ค่อยตื่นเต้นกัน” รศ.อุบลรัตน์ ให้เหตุผลสนับสนุนความคิดของตัวเองว่า เพราะการเข้าถึงสื่อใหม่ออนไลน์นั้นยังถือเป็นต้นทุนที่สูง มีงานวิจัยที่ระบุว่า เพื่อจะเข้าถึงสื่อชนิดนี้ ผู้ที่ต้องการเข้าถึงต้องมีเงินอย่างน้อยสามหมื่นบาทเป็นค่าอุปกรณ์และค่าเชื่อมโยงเครือข่าย “คุณต้องซื้อโน้ตบุ๊ก ต้องซื้อเครื่องที่บ้าน ต้องซื้อ blackberry ที่แพงๆ และที่บ้านต้องมีสายโทรศัพท์และ wi-fi ไปถึง ถ้าบ้านอยู่ชายขอบแล้วเขาไม่เดินสายให้ก็อด มันมีหลายปัจจัยมากกว่าจะได้สิทธิตรงนี้มา ไม่ใช่ได้มาลอยๆ แต่มันกลายเป็นสถานะที่มีอภิสิทธิ์สำหรับชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ และชนชั้นปกครอง ที่เราลืมมองไป ที่จริงแล้วคนอีก 50 กว่าล้าน ยังไม่ได้สิทธิตัวนี้ แล้วคนที่ได้อภิสิทธิ์ตัวนี้สนุกกับอภิสิทธิ์ที่ตัวเองได้ ใช้เพื่อทำอะไรหลายๆ อย่าง ที่อาจจะเป็นเรื่องเพิ่มพูนสิทธิข้อมูลข่าวสาร เรื่องการสร้างกระแสการมีความสำนึกทางการเมือง หรือเรื่องการโต้ตอบ อภิปราย การทำร้ายคนอื่นก็แล้วแต่จะใช้” มองสื่อใหม่ในฐานะพื้นที่สาธารณะทางการเมืองและเสรีภาพในการสื่อสาร “ระบบปัจจุบันมีปัญหา ทั้งในด้านการควบคุมโดยรัฐ การเจาะกลุ่มผู้รับบางกลุ่มของระบบทุนที่ดำเนินการสื่อ (เช่นสื่อกระแสหลัก) การควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่คัดค้านอำนาจรัฐ และการควบคุมการเปิดพื้นที่สื่อใหม่ ๆ การต่อสู้ทางการเมืองในสื่อที่ผ่านมา คือการต่อสู้ของกลุ่มที่คิดว่าตัวเองไม่มีสิทธิมีเสียงทางการเมือง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง โดยการพยายามขยายพื้นที่สาธารณะสำหรับความคิดเห็นของกลุ่มตนเพื่อเชื่อมต่อสมาชิกกลุ่ม หรือเพื่อขยายสมาชิกให้กว้างขวางออกไป” รศ. อุบลรัตน์ อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่นิวมีเดียได้สะท้อนออกมาให้เห็นว่า ประเด็นพื้นที่สาธารณะสำหรับข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสื่อในระบบปัจจุบันมีปัญหา อันนำไปสู่การเปิดพื้นที่ใหม่ แสวงหาพื้นที่การสื่อสารใหม่ โดยไม่รีรอสื่อมวลชนกระแสหลักเดิมๆ เอื้อเฟื้อพื้นที่ให้อีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อใหม่จะแทนที่สื่อกระแสหลักขนานแท้และดั้งเดิมเสียทีเดียว “ถามว่ามีล้านคนอยู่ใน facebook จะล้มไทยรัฐ จะล้มเดลินิวส์ไหม ไม่ใช่ การสื่อสารมันไม่ได้ทำงานแบบนั้น แต่มันเริ่มทำให้คนซึ่งเคยแต่เป็นผู้รับ คิดได้ว่า ฉันไม่ใช่แค่ผู้รับที่อยู่เงียบๆ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดนะ ซึ่งพออ่านข่าวแล้วคิดอย่างไร ก็ไปโพสต์ใน facebook อ่านแล้วก็ไปเขียนความเห็นที่นั้น ถ้าหนังสือพิมพ์อยากรู้ก็มาฟังเอาเอง สมัยก่อนก็จะรอจดหมายถึงบรรณาธิการ ซึ่งก็มีน้อยมากที่จะส่งเข้าไป เพราะต้องมานั่งกางกระดาษแล้วก็เขียนส่ง ขั้นตอนมันเยอะ ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว แล้วมันก็เปิดโอกาสให้ไม่ต้องเขียนไปที่บรรณาธิการก็ได้ เขียนไว้ใน facebook แทน ถ้าเขียนอะไรที่มันคมๆ มีความหมายเยอะๆ บรรณาธิการต้องได้ยิน” อย่างไร ก็ตาม ในประเด็นพื้นที่สาธารณะนี้ รศ.อุบลรัตน์มองว่า ยังคงจำกัดอยู่กับกลุ่มชั้นกลางซึ่งเป็นฐานของสื่อหลักอยู่อย่างเดิม นั่นหมายความว่า พื้นที่ในโลกออนไลน์ แม้จะเป็นพื้นที่ใหม่ แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนไม่มีปากไม่เสียง หรือ Voice of Voiceless หากแต่เป็นพื้นที่ที่เพิ่มช่องทางการสื่อสารให้กับคนกลุ่มเดิมที่มีความสามารถเข้าถึงช่องทางการสื่อสารอื่นอยู่แล้ว “ที่ไหนๆ เขาก็ไม่มีพื้นที่ในสื่อหลักอย่างแท้จริงและโดยตรง คือไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ไหนในโลกที่จะลงจดหมายที่ถึง บ.ก. 500 ฉบับได้ทุกวัน ไม่มีเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่เราวิจารณ์สื่อหลัก คือ Agenda ข่าวไม่กระจาย อย่างบทวิเคราะห์ มันก็กลุ่มคนเดียวกันที่ไปวิเคราะห์หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ แนวการเมืองส่วนหนึ่ง เป็นแนวที่ให้ชนชั้นกลางในเมืองอ่าน ไม่เอาไปขายในหมู่บ้าน มีหนังสือพิมพ์ที่เราเรียกเขาว่าหัวสี คือหนังสือพิมพ์มหาชน เขาพยายามจะให้ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างอ่าน แต่ก็ยังไม่กว้างขวางมากพอ เขาก็ยังไม่ไปขายในหมู่บ้านเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่ถึง สิทธิมันก็ไปไม่ถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันนี้คือหัวใจของปัญหา ยอดขายโดยรวมของประเทศไทยไม่ได้เพิ่ม ไม่ใช่เพราะคนไปใช้สื่ออินเทอร์เน็ตหมด แต่เพราะว่าเขาขายในเมือง เขาก็อยู่ได้ พอได้กำไร เขาไม่ขยายไปในหมู่บ้านเลย ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า สิทธิข้อมูลของประชาชนโดยจำนวนมากอันนี้คือตกสำรวจจริงๆ แล้วตัวเขาก็ไม่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของข่าวสารที่มีค่ามีความหมาย ความกินดีอยู่ดีของเขาส่วนหนึ่งมันไม่ได้ถูกสะท้อน ไม่ได้ถูกแก้ไข เพราะว่าสื่อในบ้านเราถูกจำกัด ถ้าเป็นสื่อกระแสหลักก็อาจจะถูกจำกัดด้วยระบบทุน ถ้าเป็นสื่อของรัฐก็ด้วยระบบทางการเมือง สื่อของประชาชนก็ถูกจำกัดด้วยระบบของการเงิน และความรู้ที่จะมาตั้งองค์กรของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันจะยาก แต่พอมาช่วงนี้ เริ่มมีสื่อใหม่ของระบบอินเทอร์เน็ต กับสื่อใหม่ที่เป็นของระดับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน หรือเคเบิลทีวี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของ oral communication (การสื่อสารแบบมุขปาฐะ) คือ เขาไม่ต้องมีความรู้เรื่อง จะใช้อินเทอร์เน็ตยังไง จะรู้ภาษาไทย 44 ตัวไหม ไม่ต้องอะไรเลย ฟังวิทยุเอา ดูเคเบิลซึ่งเริ่มมีข่าวท้องถิ่น ข่าวในเมืองของตัวเอง พื้นที่เหล่านี้มันไม่มีในอดีต หน้าข่าวต่างจังหวัดในหนังสือพิมพ์ก็มีนิดเดียว นานๆ จะมีทีหนึ่ง นี่คือการขาดสิทธิข้อมูลข่าวสาร แต่พอมีเคเบิล มีช่องข่าวท้องถิ่น ทุกๆ วัน ตรงนี้คือความตื่นตาตื่นใจของทุกคน คนรู้สึกว่าข้อมูลข่าวสารในจังหวัดเรา มันเยอะแยะ ไม่เคยรู้ ไม่เคยเดือดร้อน แต่เดี๋ยวนี้แค่ข่าวไฟไหม้ ก็เป็นประโยชน์มาก เพราะเรารู้ว่า มันไหม้จุดนี้ ญาติเราอยู่ตรงนี้ เราต้องถามข่าวคราวเขา เผื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ ยิ่งหน้าน้ำ น้ำท่วม การระดมความช่วยเหลือ การบรรเทาภัยต่างๆ ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มันช่วยชีวิต เป็นข้อมูลข่าวสารสำคัญกับชีวิต แล้วทำให้ความสูญเสียน้อยลง มีการช่วยเหลือ มีความหมายมีคุณค่ามากขึ้น” และข้อมูลแบบหักปากกาเซียนก็คือ ชาวบ้านไม่ได้ดูแต่ละครน้ำเน่าอย่างที่คิด หากแต่ต้องการสื่อและข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองความสนใจของตนเอง “การคาดการณ์ว่าชาวบ้านจะดูเคเบิลเพื่อความบันเทิง ก็คาดผิด เพราะว่าเขาสนใจช่องข่าวมากเป็นอันดับหนึ่ง ช่องไหนที่มีข่าวชาวบ้านจะดู ความนิยมก็สูสีกับข่าวจากส่วนกลาง ซึ่งจะเห็นภาพเลยว่า จริงๆ แล้วประชาชนทุกที่ ก็ต้องการพื้นที่ข่าวของเขา แล้วเราต้องขยายสื่อออกไปในแนวระนาบให้มากกว่านี้ สิ่งที่เป็นปัญหากับสังคมไทย คือเมื่อตั้งคำถามแล้วกระทบกับโครงสร้างเชิงแนวดิ่งของสังคมไทยสูงมาก การรวมศูนย์ การรวมทุกอย่าง พอสื่อกระจายก็สร้างความอ่อนไหว สร้างคำถาม ทุกอย่างขยับตัว เปลี่ยนไปหมด ก็เลยทำให้แต่ละจุดที่โดนกระทบกลับไปคิด ปรับปรุงหรือปิดกั้น หรือไม่ให้ขยายก็แล้วแต่”
อาจารย์อุบลรัตน์อธิบายว่าหากเทียบกับสิทธิในด้านการศึกษา การรับบริการสาธารณสุข สองเรื่องนี้สังคมถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และรัฐต้องจัดบริการให้แบบถ้วนหน้า และให้มีคุณภาพที่ดี โดยนัยเดียวกันสิทธิในการสื่อสารก็ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สังคมและรัฐ ร่วมกันดำเนินการให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธินี้อย่างถ้วนหน้าเสมอกัน และสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม แต่ทุกวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นแก่ชีวิต หรือที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเองอย่างเพียงพอ ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขาดโอกาสในด้านอาชีพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะความขัดแย้งทางการเมือง สื่อใหม่เป็นจำเลยลำดับแรกๆ ที่ถูกชี้ว่า ด้วยความไม่เป็นวิชาชีพนั้นเอง ทำให้สื่อใหม่กลายเป็นช่องทางสร้างความแตกแยก กระพือโหมความขัดแย้ง ซึ่ง รศ.อุบลรัตน์ กล่าวว่านี่เป็นคนละประเด็นกันอย่างสิ้นเชิง “สิทธิในการสื่อสาร มันไม่เป็นวิชาชีพ สิทธิการสื่อสารเป็นสิทธิของทุกคน เกิดมาพ่อแม่สอนให้เราพูด พ่อแม่จะสอนให้เราเป็นใบ้ไหม? มันเป็นสิทธิการสื่อสาร แต่ถ้าพูดถึงสื่อกระแสหลักก็แน่นอน เพราะเขาเป็นชุมชนมาตั้งชาติเศษแล้ว เขาก็ต้องมีหลักเกณฑ์ เพราะทำหน้าที่ให้กับสังคม สังคมก็ต้องเรียกร้องให้รับผิดชอบ แต่มันคนละเรื่องกับสิทธิในการสื่อสาร” แล้วนักวิชาการสื่อสารมวลชนมองสื่อของเสื้อแดงในฐานะอะไร “พื้นที่สาธารณะเพื่อใช้สิทธิในการสื่อสาร” หรือ “สื่อมวลชนที่ควรถูกเรียกร้องให้ทำหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณ” “เขาก็ไม่ใช่สื่อมืออาชีพ คืออะไรมันก็เป็นสื่อหมด แต่มันมีแบ่งประเภท แบ่งกลุ่ม เขาไม่ใช่สื่อมืออาชีพกระแสหลัก ซึ่งมีอยู่ 13 ยี่ห้อ เขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น แต่จะบอกว่าไม่ใช่สื่อ พูดอย่างนั้นไม่ได้ ในทางเทคโนโลยีมันเป็นหมด ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาอ่านเองดูเอง ทำได้หมด เปรียบเทียบกับหมอก็แล้วกัน คือทุกอาชีพในสังคม ที่เรียกว่า Profession (วิชาชีพ) ก็จะมีวาทกรรม แนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ของตัวเอง ในความเป็นวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหมอที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ นักกฎหมายทุกคนต้องมีหลักเกณฑ์ มีความรู้ที่สังคมยอมรับ แล้วเข้าไปสู่ระบบ ซึ่งขณะนี้กลายไปเป็นระบบอุตสาหกรรม แต่ถามว่าแล้วเวลาเราอยากจะรักษาตัวเอง เราใช้ระบบความรู้ที่สะสมกันมาอีกแบบหนึ่งไม่ใช่แพทย์ที่เรียนจบปริญญา ถามว่าเราทำได้ไหม ถ้าเรามีความรู้ ถ้าเราเป็นหวัดเราจะรักษาตัวเองยังไง บาดเจ็บเล็กๆ เราจะรักษาตัวเองยังไง ทำได้ ถามว่าแล้วเราจะโดนวิจารณ์ว่าเราไม่มีความเป็นวิชาชีพไหม มันก็คงจะใช่ เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติในแบบวิชาชีพ แต่เราก็ดูแลตัวเราเองได้ ดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ขณะนี้ถึงขนาดมีโฆษณาให้เราดูแลป้องกันตัวเองให้มากที่สุด เพื่อประหยัดงบประมาณ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวอะไรต่างๆ ถ้าหากว่าเถียงกันในแบบมองข้อบกพร่องกันไปมา มันก็จะสร้างปัญหา นัยหนึ่งก็คือสื่อกระแสหลักก็คือวิชาชีพ แล้วก็มีงานของเขา เขาก็มองคนมาใหม่ ว่าไมค่อยมีหลักเกณฑ์ ไม่ค่อยเข้าระบบ มันก็ไม่ใช่ระบบเดียวกันอยู่แล้ว” เรื่องใหม่ของสื่อใหม่: ตัวตนสองโลก “เราก็จะใจร้อนนิดหน่อย เราถูกปิดปากเงียบมา 50 ปี อยู่มาวันหนึ่งมี hi5 facebook เราก็ระดม เหมือนน้ำท่อแตก” เป็นคำเปรียบเปรยกลั้วเสียงหัวเราะ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงบทบาทของโลกออนไลน์ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้น รศ.อุบลรัตน์มองว่าสิ่งนั้นเข้าใกล้ชีวิต อยู่ใกล้ชิดความ “มีตัวตน” อย่างที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัว “new media มันจะไปถึงจุดที่ว่า เราจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีตัวเราอยู่ในโลกออนไลน์เลย ในอนาคตถ้าเราไม่มีตัวเราอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล ไม่ว่าจะเป็น facebook หรือเป็นอะไรก็ตาม มันจะไม่มี ‘ตัวเรา’ คือเราต้องมีทั้งตัวจริง มีเลือดเนื้อ แล้วก็มีเราในโลกไซเบอร์ ถึงจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ แค่บัตรประชาชน เราก็อยู่ในระบบแล้ว ถ้าเราไม่มี ไม่ใช่ตัวเรา เราเป็นประชาชนของประเทศไหนก็ตาม ถ้าเรามี ID แบบนี้มันจะเป็นข้อมูล ฐานข้อมูล ถ้าไม่มี เราเหมือนไม่มีตัวตน เราไม่มีชีวิต เราเป็นมนุษย์ล่องหน ไร้สัญชาติ เป็นหลายอย่าง ขาดความเป็นมนุษย์” มุมมองนี้แปลกไปสักหน่อยเมื่อนึกถึงการวิพากษ์วิจารณ์ “ความไม่จริง” เกี่ยวกับ “ตัวตน” ของประชากรออนไลน์ ซึ่งขณะนี้มีการแสดงตัวที่หลากหลาย ทั้งการแสดงตัวตนที่สอดคล้องกับ “ตัวจริง” ในโลกออฟไลน์ หรือการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ แตกต่างจากโลกออฟไลน์ ทำให้มีความเห็นทำนองที่ว่าตัวตนบนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องไม่จริง “อันนั้นพูดเรื่องของเล่น แต่ถ้าพูดถึงของจริง รัฐเก็บข้อมูลเราและธนาคารเก็บข้อมูลเรา นั่นคือของจริง ถ้าเราไม่มีฐานข้อมูลการเงินในแต่ละระบบเลย จะอยู่ยากไหม ข้อมูลมันคือเงิน มันคือชีวิต โลกเชื่อมต่อกัน พึ่งพาซึ่งกันและกัน ชีวิตมันจะไปอยู่กับพื้นที่ออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนที่ไม่เข้าอยู่ในสารบบ มันคงต้องไปดูแลกันอีกว่า เขาเสียสิทธิอะไร เขาเสียประโยชน์อะไรไหม หรือว่าชีวิตเขาสบายดี มันเป็น globalization คือวิถีชีวิตที่มันพาไป”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น