โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สัมภาษณ์: “สาทิตย์” กับโครงการเชื่อมลุ่มน้ำโขง IMT–GT เปิดทางจีนผงาดในอาเซียน

Posted: 06 Sep 2010 02:03 PM PDT

สัมภาษณ์ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กับบทบาทหัวหน้าคณะประชุมรัฐมนตรีสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT–GT) ชี้นับจากนี้จะพลิกโฉมหน้าภูมิภาค เชื่อมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงกับ IMT–GT เปิดทางจีนผงาดในด้านเศรษฐกิจอาเซียน

 
 
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
 
ในช่วงหลายปีมานี้ ความร่วมมือเหลี่ยมเศรษฐกิจต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ริเริ่มในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ดูจะเงียบเหงาซบเซาลงมาอย่างมาก สวนทางกับข้อเท็จจริงที่สภาพการค้าตามแนวชายแดน กลับคึกคักเป็นอย่างยิ่ง
 
จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ถึงวันนี้รัฐบาลจะต้องหันหลับมาให้ความสำคัญกับเหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง การประชุมความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ IMT–GT ที่คนภาคใต้คุ้น ระหว่างวันที่ 2–5 สิงหาคม 2553 เป็นมาตรวัดถึงความกระตือรือร้นที่เพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
 
 
ต่อไปนี้ เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ “นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี IMT–GT ครั้งนี้ 
 
อันเป็นการสัมภาษณ์ในช่วงก่อนที่ความชัดเจนในเรื่องความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในการพัฒนากิจการรถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย – กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ และสายกรุงเทพ – ระยอง อันจะเป็นการเชื่อมสองความร่วมมือกลุ่มประเทศระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับ IMT–GT ไม่กี่วัน
 
000
 
ความคืบหน้าของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT
 
IMT–GT เป็นโครงการที่เริ่มมาสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ยุคนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย แต่ซบเซาไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากในช่วงรัฐบาลหนึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำให้กลไกหลักของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจคือ กลไกภาคเอกชนพลอยอ่อนแอไปด้วย
 
ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาเราก็คิดว่า เรื่องของ IMT–GT เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากในแง่ของการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนสินค้าบริการทั้งหลายในภูมิภาค เป็นเรื่องที่อาเซียนให้ความสำคัญมาก เราพูดถึงการรวมประชาคมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นการเปิดความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค จึงต้องมีการทบทวนโดยการเพิ่มความสัมพันธ์และบทบาทให้มากขึ้น
 
ประกอบกับการเข้ามาของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนในลุ่มน้ำโขงก็ดี หรืออย่างเกาหลีที่พยายามเข้ามาในลุ่มแม่น้ำโขง และทางฝั่งของญี่ปุ่นที่เข้ามาทาง IMT–GT ยิ่งทำให้โครงการระดับภูมิภาคมีความสำคัญมากขึ้น
 
IMT–GT เอง ก็มีความคืบหน้า ในการประชุมครั้งที่ 17 ที่จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 2 – 5 สิงหาคม 2553 ซึ่งมีการเสนอให้ทบทวนแผนกลางรอบ ตามที่มีการเสนอในที่ประชุมระดับผู้นำประเทศ IMT–GT ที่หัวหิน–ชะอำ เมื่อปลายปี 2552 หลังจากนั้นมีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงและรัฐมนตรี ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ก็มีมติให้ทบทวนแผนกลางรอบ
 
ผลที่ได้จากการประชุมที่กระบี่คราวนี้ก็คือ ความคืบหน้าในการทบทวนแผนกลางรอบ เป็นผลให้โครงการต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้สูงจาก 37 โครงการ ลดลงเหลือ 12 โครงการ จนที่สุดเหลือ 10 โครงการ ทั้งหมดเป็นโครงการที่แต่ละประเทศต้องการจะทำ โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เข้ามาสนับสนุน
 
ในฝั่งของอินโดนีเซีย เป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเยอะ ขณะที่ฝั่งมาเลเซียเอง เป็นโครงการเชื่อมต่อระหว่างรัฐใน IMT–GT ในส่วนของไทยเราพูดถึงโครงการหลักๆ อยู่ 3 โครงการด้วยกันคือ
 
หนึ่ง ถนนโทลเวย์สายสะเดามายังหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อันที่จริงโครงการนี้พูดกันมานานแล้ว เป็นความต้องการร่วมกันของทั้งสามประเทศ ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย เที่ยวนี้จึงถูกนำมาบรรจุไว้ในโครงการที่มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว
 
โทลเวย์จากสะเดามาหาดใหญ่เส้นนี้ มีความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ใช้เงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 พันกว่าล้านบาท น่าจะเป็นโทลเวย์ที่แพงที่สุดในประเทศไทย 
 
ความเป็นไปได้ของโครงการนี้ก็คือ จะเป็นการจัดงบประมาณของฝั่งไทยเอง ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ในระหว่างทบทวนเรื่องการศึกษาออกแบบ คิดว่าทุกอย่างจะชัดเจนและตั้งงบประมาณสนับสนุนก้อนแรกได้ภายในปีงบประมาณ 2555
 
สอง เรื่องท่าเรือนาเกลือ ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท ขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังศึกษาอยู่ ท่าเรือตัวนี้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณสนับสนุนในปี 2555 เช่นเดียวกัน ส่วนท่าเรือภูเก็ตจะใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท โครงการนี้ยังมีปัญหาที่ดินติดสัมปทานเอกชนอยู่อีก 5 ปี ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง
 
สาม เรื่องด่านบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างปรับขนาดให้เท่ากับฝั่งมาเลเซีย ด่านนี้มาเลเซียให้ความสำคัญมาก โครงการนี้น่าจะแล้วเสร็จในปี 2555
 
เรื่องสุดท้ายที่ต้องดำเนินการคือ เรื่องอนุกรรมการให้เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับกฎระเบียบในการขนส่งสินค้าและบริการข้ามพรมแดน ซึ่งเราต้องออกกฎหมายภาย 5 ฉบับ ครอบคลุมเรื่องศุลกากร การคมนาคม การพาณิชย์ กฎหมาย 5 ฉบับนี้
 
ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 ฉบับ ที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรหลายเดือนแล้ว ที่ช้าและลังเลกันอยู่ ทั้งที่ข้อตกลงเกิดขึ้นก่อนปี 2550 เพราะมีผู้ท้วงติงว่า จะขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 ที่กำหนดให้ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือมีผลผูกพันทางด้านการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
 
ในที่สุด เราตัดสินใจไม่นำเข้าไปขอความเห็นชอบจากสภา เพราะตกลงกันมาก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
 
 
โครงการที่มีความเป็นไปได้สูง 10 โครงการของ IMT–GT มีโครงการไหนที่คิดว่าน่าสนใจ
 
ผมคิดว่าน่าจะเป็นโครงการที่เชื่อมต่อการคมนาคม โดยเฉพาะระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียมีข้ออ่อนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเชื่อมโยงการค้ากันได้แล้ว เปิดด่านได้แล้ว กฎระเบียบต่างๆ แก้หมดแล้ว แต่โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม ขนส่งสินค้าข้ามไปมาไม่ได้
 
เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียค่อนข้างเยอะ เพราะฝั่งอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่มาก การเมืองในช่วงหลังก็นิ่งมาก เท่าที่คุยกับกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เรื่องการค้าการขายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลอินโดนีเซียชุดนี้ เราจึงสนใจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซียเป็นพิเศษ
 
ในบรรดา 2–3 ชาติที่คุยกันอยู่ มาเลเซียมีความกระตือรือร้นต่อ IMT–GT สูงที่สุด เห็นได้จากคณะที่เดินทางมาร่วมประชุมมากันเยอะมาก รัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็จับเรื่อง IMT – GT มานาน ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เขามีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากไทย ในแง่ที่มุขมนตรีของแต่ละรัฐ มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ และจัดทำนโยบาย โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลาง ศักยภาพที่แต่ละรัฐจะพัฒนาจึงมีค่อนข้างสูง
 
นอกจากเรื่องการขนส่งสินค้าแล้ว มาเลเซียยังพัฒนาด้านการท่องเที่ยวด้วย เห็นได้จากการประชุม IMT–GT เที่ยวนี้ ทางมะละกาก็มาโปรโมทการท่องเที่ยว เมื่อไหร่ที่ IMT–GT ทำให้การเข้าออกตรงด่านสะดวก มีการแก้กฎหมาย 4 – 5 ฉบับอย่างที่ว่ามา การตรวจตรา พิธีการด่านศุลกากรลดขั้นตอนลง ก็จะไปทำให้การเดินทางข้ามประเทศคล่องตัวมากขึ้น ที่ผ่านมาเรื่องการผ่านด่าน นับเป็นปัญหาของภูมิภาคนี้ทั้งภูมิภาค
 
อย่างข้อตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดน ไทยเป็นประเทศที่เกือบจะล้าหลังที่สุดในอาเซียน ในการแก้กฎหมาย ประเทศอื่นเขาแก้กันหมดแล้ว เหลือแต่เรากับพม่า กฎหมายสามฉบับ จะนำเข้าสภาในสมัยประชุมนี้ แต่จะแล้วเสร็จในปี 2554 จากนั้นอีกสองฉบับก็จะตามมา
 
 
ขอทราบความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา
 
เราจะเริ่มต้นจากการปกครองรูปแบบพิเศษตามแนวชายแดนก่อน ซึ่งก็ยังติดกฎหมายภายในอยู่หลายฉบับ ที่เริ่มตามแนวชายแดนเพราะเราดูจากตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนพบว่าสูงมากทุกที่ เราเลยเริ่มต้นที่แม่สอดก่อน ตอนนี้กฎหมายเทศบาลมหานครแม่สอดเสร็จแล้ว นำเข้าสภารอจ่อวาระพิจารณาอยู่
 
โมเดลเดียวกับที่แม่สอดก็จะนำมาใช้กับเมืองชายแดนอื่นๆ ขณะนี้ในส่วนของสะเดาเอง ยังไม่มีการร่างกฎหมาย ตามขั้นตอนต้องผ่านคณะกรรมการการปกครองท้องถิ่นก่อน เฉพาะหน้าเราพยายามปรับปรุงด่านสะเดาก่อน
 
ถึงอย่างไรก็ตาม ทิศทางของสะเดากำลังเดินไปสู่การปกครองรูปแบบพิเศษ เป็นเทศบาลมหานคร แต่จะต้องไปดูรายละเอียดอีกทีว่า จะดึงอะไรเข้ามาในมหานครแห่งนี้บ้าง โดยหลักก็ต้องดูในแง่ของงบประมาณ ในแง่ของการตัดสินใจด้านนโยบายการลงทุน ในแง่การตัดสินใจเรื่องการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่จะต้องถ่ายโอนอำนาจไปจากส่วนกลาง
 
 
ทราบว่าในอนาคตจะมีการเชื่อมแนวเหนือ–ใต้ ระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับ IMT–GT
 
ใช่ เริ่มต้นจากการขนส่งระบบรางเป็นหลักก่อน เรื่องนี้จะมีการหารือกันในที่ประชุมความร่วมมือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 19–21 สิงหาคม 2553 ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ตอนนี้มีตัวเลือกอยู่ 3–4 ตัว และแต่ละประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ยังเห็นไม่ตรงกัน
 
สำหรับไทยเอง เราต้องการเส้นที่จะขึ้นไปทางเด่นชัย จังหวัดแพร่ ไปจังหวัดเชียงราย แล้วออกไปพม่า เข้าไปเชื่อมต่อกับทางตอนใต้ของจีน ซึ่งจะมีรางอีกตัวหนึ่งมาเชื่อมต่อเข้าลาว ไปเขมร วนกลับเข้ามาประเทศไทยทางภาคตะวันออก เรื่องนี้ทางกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง จะต้องตัดสินใจในเดือนสิงหาคม 2553 นี้
 
โครงการนี้จะมาเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟรางคู่ของประเทศไทย ต้นเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูโครงการรถไฟรางคู่ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะรถไฟรางคู่ที่ใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง จะวางรางมาถึงหัวหิน
 
หลังจากนั้นจะมีการพูดถึงการเชื่อมต่อระบบรางมาจนถึงทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับทุ่งสงถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในโครงการศึกษาของ IMT–GT ต่อเนื่องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ IMT–GT เพื่อให้ทุ่งสงเป็นศูนย์กระจายสินค้า เพราะถ้าทุ่งสงสามารถเชื่อมต่อไปหาดใหญ่ แยกไปสะเดา จังหวัดสงขลา หรือไปสุไหงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส ไปเชื่อมกับมาเลเซียได้ ระบบรางก็จะครบรอบวงพอดี การขนส่งระบบรางของประเทศในย่านนี้ก็จะเชื่อมต่อถึงกันหมด
 
 
มีข่าวว่าจะลงทุนสร้างทางรถไฟร่วมกับจีน
 
เป็นเรื่องของรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอนที่เดินทางไปเยือนจีน ทางจีนให้ความสนใจเรื่องของระบบราง ที่มีการพูดกันก็คือ ระบบรางในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และระบบรางในเส้นทางอื่นๆ นอกเหนือไปจากที่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้ระบุไปแล้ว ขณะเดียวกันจีนเองก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนระบบรางในประเทศไทยด้วย
 
เราก็เลยคิดว่า ถ้ามีเงินลงทุนมา หรืออะไรต่อมิอะไรมานี่ก็น่าสนใจ เราเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา โดยมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธาน เชิญหน่วยงานต่างๆ มาทบทวนว่าแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศเรามีอะไรต้องทำบ้าง และตัวที่จะต้องเดินไปตามข้อตกลงในอนุภูมิภาคมีอะไรมั่ง แล้วจีนจะเข้ามาได้ตรงไหน คณะกรรมการชุดนี้เพิ่งประชุมไป เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553 ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน ต้องดูข้อมูลทั้งหมดก่อน หลังจากนั้นถึงจะเชิญจีนเข้ามาพูดคุย (ล่าสุดชัดเจนแล้วว่าจีนกับไทยจะร่วมมือสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย – กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ และสายกรุงเทพ – ระยอง)
 
 
ถ้าการพัฒนาขนส่งระบบราง สามารถเชื่อมต่อจากจีนลงมาจนถึงมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ทางรัฐมะละกาพยายามผลักดันให้มีการสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกา เชื่อมกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย นั่นหมายความว่าจะเกิดการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของอนุภูมิภาคนี้
 
ใช่ อนุภูมิภาคนี้จะพลิกโฉมหน้าไปมากเลย ในการประชุม IMT–GT เที่ยวนี้ เราพูดคุยกันเรื่องการสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกากันเยอะมาก
 
หนึ่ง เป็นโครงการที่รัฐมะละกาต้องการอย่างมาก มุขมนตรีเดินทางมานำเสนอเรื่องนี้ด้วยเอง ตัวมุขมนตรีได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยในทุกวงสนทนา เป็นการยืนยันว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐมะละกาจะผลักดัน ปัญหาอยู่ที่รัฐมะละกายังขาดเงินลงทุน เพราะโครงการนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ตอนนี้อยู่ระหว่างหาแหล่งทุน
 
เป็นไปได้ว่าจีนจะให้ความสนใจโครงการนี้ เพราะขณะนี้จีนให้ความสนใจกับอนุภูมิภาคด้านนี้มาก นอกจากจะเข้ามาในเชิงการค้าการลงทุนแล้ว จีนยังเข้ามาในลักษณะของการเชื่อมต่อ เพราะจีนเองหวังจะเป็นพี่เอื้อยในย่านนี้
 
ที่บอกว่าพลิกโฉมนี่ เพราะพอมันทำว่าจะเชื่อมการขนส่งสินค้าและการบริการได้ ทางญี่ปุ่นก็เข้ามาตั้งหน่วยงานวิจัยอาเซียน หรือ ERIA ในการประชุม IMT–GT ที่กระบี่ ERIA ก็มาร่วมประชุมกับเรา
 
ERIA เขานำเสนอกับเราว่า เขามีเงินทุนที่จะศึกษาโครงการที่ IMT–GT สนใจ อีกอย่างที่เขาสนใจมากคือ ไบโอดีเซล เพราะพื้นที่ปลูกปาล์มของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียสูงมาก ERIAเลยคิดว่า การพัฒนาไบโอดีเซล เช่น การทำโรงงาน การลดภาษีสินค้า การจับมือเพื่อส่งออกไบโอดีเซล เป็นสิ่งที่น่าจะทำ วันที่ 1 – 2 กันยายน 2553 ERIA จัดสัมมนาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจะเชิญเลขาธิการอาเซียนมาร่วมด้วย
 
เป็นการชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2555 โครงการเชื่อมต่อระบบราง และโครงการของรัฐมะละกา ที่จะสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกาเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงก็จะทำระบบรางเชื่อมต่อ หลังจากปี 2555 เป็นต้นไปเช่นเดียวกัน ผมคิดว่าภายใน 10 ปีนี้ คงจะเห็นหน้าเห็นหลัง
 
เราสังเกตเห็นได้จากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เข้ามายุ่งเกี่ยวกับอนุภาคนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะแถบนี้มีมูลค่าทางการค้าการลงทุนสูง การเข้ามาของจีนก็มีผลให้สหรัฐอเมริกาต้องขยับตัวเข้ามาในย่านนี้มากขึ้นตามไปด้วย
 
จะเห็นได้ว่า เมื่อก่อนเราจะเห็นคนเวียดนามในลาวเยอะมาก พอมาปัจจุบันกลายเป็นจีน ตอนนี้มีรถบรรทุกจีนวิ่งอยู่ในลาวมากมาย มีชุมชนคนจีนเกิดขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรแบบจีนที่ริมแม่น้ำโขง จีนเป็นผู้ให้ทุนลาวสร้างสถานีโทรทัศน์แห่งชาติทั้งระบบ แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังสร้างวัฒนธรรมทางสื่อแบบเดียวกับอเมริกา ขณะที่สหรัฐอเมริกามี CNN จีนก็มี CCN
 
จีนเข้ามาลงทุนในย่านนี้ค่อนข้างเยอะ การเข้ามาในไทยของจีน จะเข้ามาในรูปของความร่วมมือต่างๆ
 
ในส่วนของสหรัฐอเมริกา ก็เป็นพันธมิตรเก่า ถึงแม้ระยะหลังไม่ได้ร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกันอย่างแน่นแฟ้น แต่ก็มีเรื่องของความสัมพันธ์ทางทหารที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว หลังผ่านยุคสงครามเย็นอเมริกาก็ดำรงบทบาทเป็นประเทศมหาอำนาจ อยู่ในฐานะประเทศผู้นำและเป็นประเทศคู่ค้า พอความร่วมมือในภูมิภาคนี้เข้มแข็งขึ้น ยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่น อย่างจีนขยับตัว อเมริกาก็พยายามแสวงหาลู่ทางเข้ามามีความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แนบแน่นมากขึ้น
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มูลนิธิกระจกเงาแจงวุฒิฯ มีผู้สูญหายมากกว่า 90 คน แถมพบหนีไปบวชหลังร่วมชุมนุม

Posted: 06 Sep 2010 01:22 PM PDT

ตัวแทนมูลนิธิกระจกเงาแจงกรณีผู้สูญหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม พบหนีไปบวชหลังร่วมชุมนุม เพราะกลัวถูกจับ เชื่อมีผู้สูญหายมากกว่า 90 ราย กรณีคุกคาม ครอบครัวผู้สูญหายแจ้งมีการติดตาม และคอยเฝ้าหน้าบ้าน

 
6 กันยายน 53 เมื่อเวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม เชิญตัวแทนจากมูลนิธิกระจกเงาชี้แจงกรณีผู้สูญหายที่แท้จริง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม
 
น.ส.น้ำผึ้ง ไชยรังสี หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย เพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ชี้แจงว่า จากการลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล รวมทั้งการรับแจ้งกรณีมีผู้สูญหายเข้ามา ขณะนี้มีจำนวน 90 ราย แบ่งเป็นพบแล้วและมีรายชื่ออ้างอิงจำนวน 69 ราย แบ่งเป็นชาย 64 คน หญิง 5 คน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 21 ราย ทั้งนี้จำนวนผู้ที่พบจากสถิติ จะพบโดยครอบครัวผู้สูญหายเอง จากนั้นก็มีการแจ้งเข้ามายังมูลนิธิกระจกเงา และสาเหตุใหญ่ที่สูญหายเกิดจาก การหลบหนี ภายหลังการเข้าร่วมชุมนุม โดยเฉพาะการหลบหนีไปยังต่างจังหวัดเพราะกลัวถูกจับ บ้างก็หนีไปบวชพระ หรือบวชชีเป็นต้น 
 
ส่วนผู้สูญหายจะมีมากกว่านี้หรือไม่ มั่นใจว่า มีมากกว่านี้แน่นอน เพราะมีบางส่วน โดยเฉพาะญาติ ยังไม่ทราบว่า จะแจ้งผู้สูญหายได้ที่ไหน รวมทั้งมีความกังวลว่า หากแจ้งไปแล้วญาติของตนอาจถูกดำเนินคดี ส่วนการคุกคามมายังมูลนิธิกระจกเงา ยังไม่มีรายงานเข้ามา ขณะที่การคุกคามไปยังครอบครัวผู้สูญหาย กรณีนี้ก็ได้รับแจ้งมาว่า มีการติดตาม และคอยเฝ้าอยู่หน้าบ้านด้วย
 
น.ส.น้ำผึ้ง กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่อง เชื่อหรือไม่ว่ามีกลุ่มชุดดำยิงกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อใส่ร้ายรัฐบาล จากการสอบถามผู้สูญหายที่ติดตามตัวได้ คนเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกว่าชายชุดดำเป็นผู้ยิง แต่มีความเชื่ออย่างเดียวว่า ถูกฝ่ายรัฐเป็นผู้กระทำ และขณะนี้ก็มีความรู้สึกที่คับแค้นใจเป็นอย่างมาก
 
นายจิตติพจน์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ข้อมูลที่คณะกรรมการได้ฟัง กรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มีผู้สูญหายมากกว่า 90 รายแน่นอน เพราะผู้ที่แจ้งโดยเฉพาะญาติอาจมีความกังวลว่า อาจถูกจับและดำเนินคดีเพราะขณะนี้ยังมีการคงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปยังนายกฯ ว่า ควรยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างจะเข้าสู่สภาวะปกติ การแจ้งบุคคลที่สูญหายก็จะทยอยเข้ามา ได้ข้อมูลที่แท้จริง
 
ทั้งนี้ ในส่วนการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนหาย โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ทางคณะกรรมการฯ ยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ จึงอยากบอกข้อร้องเรียนนี้ไปยังนายกฯ ช่วยพิจารณา โดยเฉพาะการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่นายกฯ เคยพูดเสมอว่า จะเปิดกว้างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมอย่างเต็มที่ แต่ที่นายกฯ พูดกับสวนทางกับทุกอย่าง ทั้งนี้ในวันที่ 13 กันยายน ทางคณะกรรมการฯ จะเชิญอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มาชี้แจง โดยเฉพาะ ความคืบหน้าการสอบคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตต่อไป
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ในหลวง" ทรงให้ทหารผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี ย้ำให้รักษาความยุติธรรม

Posted: 06 Sep 2010 12:40 PM PDT

ในหลวงรับสั่งตุลาการศาลทหาร ถ้าทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี ทหารทั้งหมดก็จะป้องกันประเทศได้จริง ให้รักษาความยุติธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ถ้าทำได้แล้วประเทศจะเจริญ ทรงย้ำให้รักษาความเรียบร้อยให้ผ่านพ้นอันตรายทุกประการ
 
เมื่อเวลา 17.27 น. วันที่ 6 กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำตุลาการศาลทหารสูงสุด ตุลาการศาลทหารกลาง และตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารชั้นต้น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
 
ในโอกาสนี้ ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ประกอบด้วย พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สายัณห์ คัมภีร์พันธุ์ สมุหราชองครักษ์ พล.อ.ทรงกิตติ จักรบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.ร.อ.เดชา บุนนาค รองสมุหราชองครักษ์ นำนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์ประจำ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ก่อนปฏิบัติหน้าที่ตามลำดับ ดังนี้ พ.ต.ทนาย เพิ่มพูน น.ต.ปณภัช พิพัฒพลกาย น.ต.รพีพัฒน์ โกติกุล (นอ.)
 
โอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อเป็นแนวทางการทำงาน ความว่า "ให้ทหารทำหน้าที่สำคัญในการรักษาความเรียบร้อยของประเทศ ทหารจะต้องรักษาอย่างเคร่งเครัด ทุกสิ่งทุกอย่างในด้านความยุติธรรม ถ้าได้ทำแล้วเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะคนต้องรักษาความยุติธรรมโดยเฉพาะทหารและคนในชาติเชื่อว่าทหารมีความยุติธรรมและมีความตั้งใจจะรักษาความยุติธรรม ในประเทศทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเรียบร้อย เพราะว่าทหารมีความยุติธรรม ทหารมีอำนาจที่จะปฏิบัติอะไรที่เป็นความเรียบร้อยของประเทศ และเชื่อว่าถ้าทหารทำอย่างเข้มแข็งอย่างที่ได้ปฏิญาณไว้ เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะไปด้วยดี
 
ฉะนั้นการที่ให้ท่านไปปฏิญาณด้วยความเข้มแข็งนั้นมีความสำคัญมาก หากรักษาความยุติธรรมไว้อย่างดีก็จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาก็จะมีความเรียบร้อยทุกอย่าง หากทหารผู้ใหญ่ทำตัวอย่างดีแล้ว ทหารทุกคนซึ่งประกอบด้วยกองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพบกก็จะป้องกันประเทศได้อย่างแท้จริง ขอให้ท่านรักษาปฏิญาณนี้ตลอดไป ซึ่งจะทำให้ความยุติธรรมนี้ทำให้ประเทศเข้มแข็ง ถ้าท่านรักษาความยุติธรรมซึ่งจะทำให้ประเทศมีความยุติธรรมด้วย มีประกันของให้ทหารชั้นผู้ใหญ่ ถ้าทำเช่นนี้แล้วประเทศก็ไปได้ด้วยดีก็ไม่มีบกพร่อง ฉะนั้นขอให้รักษาความยุติธรรมได้ด้วยดี ขอให้ท่านมีกำลังใจกายที่จะรักษาความยุติธรรมดังที่ท่านได้กล่าวไว้ เพื่อที่จะให้ประเทศชาติที่จะสามารถผ่านพ้นอันตรายทุกอย่าง
 
ขอให้ท่านสามารถปฏิบัติงานด้วยดี ขอให้ท่านได้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขอให้มีความยุติธรรม ถ้าท่านปฏิบัติด้วยความเรียบร้อยบ้านเมืองก็จะผ่านไปด้วยดี ถ้าท่านปฏิบัติดีอย่างนี้ก็จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอันตรายต่างๆ ที่จะมีมา ถ้าท่านปฏิบัติงานด้วยดีทุกสิ่งทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี ขอให้ท่านได้สามารถรักษาความยุติธรรม รักษาประเทศชาติให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ที่ได้ปฏิญาณมานี้ขอให้รักษาความเรียบร้อยของประเทศชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นอันตรายทุกประการ และขอให้ท่านสามารถรักษาความเรียบร้อยของประเทศซึ่งเป็นของสำคัญและมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติให้ครบถ้วนทุกอย่าง"
 
 
 
 
โปรดเกล้าฯ วิเชียรนั่ง ผบ.ตร.มีผลตั้งแต่ 2 ก.ย.
 
วันที่ (6 ก.ย.53) เมื่อเวลา 15.00 น. มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ว่า มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พ้นจากตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2553 ประกาศ ณ วันที่ 6 กันยายน 2553 ผู้รับสนองพระบรมราชโอการ นายอภอิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'จตุพร'ลั่น 17 ก.ย.พาคนเสื้อแดงบุกเรือนจำ – ชม.แห่โลงศพการ์ดเสื้อแดง ประท้วงหน้า บช.ภาค 5

Posted: 06 Sep 2010 11:51 AM PDT

‘จตุพร’ ย้ำจุดยืนการเจรจาใดๆ ต้องไม่ลืมผู้เสียชีวิต 91 ศพ เตรียมรวมเสื้อแดงบุกเรือนจำ 17 ก.ย.นี้ จี้ปล่อยเพื่อนนักโทษ ด้านกลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ แห่โรงศพการ์ดตั้งประท้วงตำรวจภาค 5 จี้เร่งจับมือยิง ส่วนทนาย นปช.ขอศาลสืบพยานล่วงหน้าคดีก่อการร้าย พร้อมสั่งชันสูตร 9 ศพ เหยื่อสลายม็อบแยกคอกวัว   

 
'จตุพร'ลั่น 17 ก.ย.พาคนเสื้อแดงบุกเรือนจำ
 
ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ก.ย.53 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงถึงแผนปรองดองของพรรคเพื่อไทยว่า พรรคยังไม่เคยกำหนดตัวบุคคลไปเจรจาความใดๆ กับรัฐบาล ดังนั้นการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่าเห็นชื่อแล้วหนักใจนั้น ก็เข้าใจเอาเอง ถ้าเริ่มต้นด้วยการที่รัฐบาลมากินแดนก่อน เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องแสดงความจงรักภักดีก่อน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่า พรรคเพื่อไทยต้องต่อต้านกระบวนการล้มเจ้า อย่างนี้เป็นการบังคับการปรองดอง กำหนดหัวข้อเจรจาก่อน และเอาเปรียบทางการเมือง และคนที่ล้มเจ้าตัวจริงไม่ใช่เรา แต่คือคนที่เอาสถาบันมาแอบอ้าง ฆ่าคนชาติเดียวกันอย่างบ้าคลั่ง 
 
ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุด้วยว่า สำหรับการปรองดองที่พรรคทอดไมตรี ไม่ใช่ไปขอทาน แต่การปรองดองต้องเกิดขึ้นด้วยความเสมอภาค และความยุติธรรม พร้อมใจ ไม่ใช่มองอีกฝ่ายต่ำกว่า หรือเอาเปรียบ แล้วเริ่มด้วยการใส่ร้ายก่อน ถ้านายอภิสิทธิ์ไม่ให้เกียรติกันเหมือนที่ผ่านมา และไม่รับผิดชอบต่อ 91 ศพ รวมถึง 2 พันชีวิตที่บาดเจ็บ ก็ไม่ควรปรองดอง อย่างนี้ก็ควรปรองดองเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ เพราะการเจรจาใดๆ เราไม่สามารถไปทรยศต่อผู้บาดเจ็บและล้มตาย ไม่ได้ยืนยันว่าคนเสื้อแดงไม่ได้เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมหรือคดีความแน่ เพราะคนที่จะเป็นฝ่ายขอนิรโทษกรรม ก็คือรัฐบาลที่สั่งฆ่าประชาชน 
 
"ผมไม่ขวางการปรองดอง ผมจะแจ้งจุดยืนของผมต่อพรรค การเจรจาใดๆ จะต้องไม่ลืมผู้ที่เสียชีวิต 91 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน จากการสลายชุมนุม วันนี้ยังไม่รู้เจรจาอะไร เราเสนอไปกว้างๆ แต่ตีวงแคบกลับมา พร้อมตั้งเงื่อนไขแบบสุนัขจิ้งจอก ตนไม่ใช่คนยื่นเท้ามาก่อน แต่เป็นนายสุเทพที่ยื่นเท้าออกมา ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณเองก็ไม่ขัดข้องเรื่องการเจรจา แต่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความยุติธรรม เวลานี้รัฐบาลซื้อเวลาเท่านั้น ผมไม่ได้ร้องขอเรื่องการปรองดอง และไม่ขอนิรโทษกรรมกคดีก่อการร้ายและล้มสถาบัน วันนี้ผมรอกฎแห่งกรรม และใช้กาลเวลาในการต่อสู้ การให้ประกันตัวนายวีระ ก็ล้วนเป็นเกมการเมือง ไม่มีความยุติธรรม” นายจตุพร กล่าว 
 
เมื่อถามว่า ที่มาที่ไปที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอแผนการปรองดองขึ้น เป็นอย่างไร นายจตุพรหัวเราะก่อนตอบว่า เรื่องนี้ความลับไม่มีในโลก รัฐบาลกำลังหาเศษหาเลยกับเรื่องนี้จนเกินเหตุ แต่เมื่อเป็นมติพรรคแล้ว ตนก็พร้อมปฏิบัติตาม
 
นอกจากนี้ นายจตุพร ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ พวกตนจะเดินทางไปวางกุหลาบหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และประจาน 2 มาตรฐานที่แตกต่างระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ความจริงอยากไปวันที่ 19 ก.ย. แต่เนื่องจากคุกปิดวันอาทิตย์ จึงเลือกเดินทางไปวันศุกร์ โดยจะเชิญชวนคนเสื้อแดงทั่วประเทศไปพร้อมกัน จะเป็นหมื่นเป็นแสนไม่ทราบ แต่ไม่ได้ไปชุมนุม ส่วนในวันที่ 12 ก.ย.53 ตนและพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย จะเดินทางไปร่วมงานศพของนายกฤษฎา กล้าหาญ ที่เสียชีวิตจากอาวุธสงครามที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้กำลังใจ
 
 
แห่โลงศพการ์ดเสื้อแดงเชียงใหม่ ประท้วงหน้า บช.ภาค 5
 
ด้านเนชั่นทันข่าว รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.ย.53 กลุ่มคนเสื้อแดงใน จ.เชียงใหม่ ประมาณ 30 คน รวมตัว แห่โลงศพนายกฤษดา กล้าหาญ อายุ 21 ปี การ์ดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงเสียชีวิตขณะขับรถยนต์เก๋งกลับบ้านใน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เมื่อกลางดึกวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนเสื้อตำรวจแดงได้นำโลงศพเปล่าขึ้นรถกระบะตระเวนทั่วเมืองก่อนเดินทางไป ยังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อจี้ให้ตำรวจเร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีโดยเร็ว ขณะที่ตำรวจได้นำแผงกั้นและลวดหนามปิดกั้นทางเข้าไว้อย่างเข้มงวด
 
นายวรวุฒิ รุจนาพินันท์ หรือ "แดง สองแคว" หนึ่งในแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งนำคน เสื้อแดงมาประท้วงครั้งนี้ กล่าวว่า คนเสื้อแดงต้องการให้ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 หรือ พ.ต.อ.ภาณุเดช บุญเรือง รอง ผบก.ภ.จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลในคดีนี้มาชี้แจงถึงความ คืบหน้าพร้อมขอให้ตำรวจจริงจังในการสืบสวนและขอให้ทำงานด้วยความเป็นธรรมให้ความ ยุติธรรมกับคนเสื้อแดง 
 
ทั้งนี้คดีเกิดขึ้นมาแล้วกว่าสัปดาห์ แต่กลับยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ความจริงแล้ว ตำรวจสามารถหาภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดของหน่วยงานต่างๆ และของเอกชนที่มีการติดตั้ง ตลอดเส้นทางที่เกิดเหตุมาตรวจสอบได้แต่กลับไม่ทำ ขณะที่คนร้ายใช้อาวุธสงครามในการก่อเหตุ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ก่อเหตุจะไม่ใช่แก๊งวัยรุ่นทั่วไป จึงต้องมีการเรียกร้องขอความเป็นธรรม เพราะเกรงว่าคดีนี้จะเงียบหายไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกลุ่มคนเสื้อแดงได้รวมตัวประท้วงหน้ากองบัญชาการตำรวจ ภูธรภาค 5 ราว 1 ชั่วโมง ไม่มีนายตำรวจเข้ามาเจรจาจึงแยกย้ายเดินทางกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น
 
 
เฟซบุ๊ค เผยแพร่กำหนดการสวดอภิธรรมศพการ์ดเสื้อแดง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์เฟซบุ๊คของกลุ่มคนเสื้อแดงมีการเผยแพร่กำหนดการสวดอภิธรรมศพ นาย กฤษดา กล้าหาญ (เจมส์) โดยในวันนี้ (6 ก.ย. 53) 13.00 น จะเคลื่อนศพ จาก ร.พ.มหาราชนครเชียงใหม่ รอบเมือง เพื่อหยุดยั้งความรุนแรง โดยได้เชิญชวนคนเสื้อแดงเชียงใหม่เข้าร่วมในขบวน จากนั้นเมื่อขบวนถึงวัดพระสิงห์ฯ นำศพ เข้ายัง ศาลา สหัทหงษ์มหาคุณ จัดแต่งดอกไม้ จากนั้นเวลา 19.00 น จะมีการสวดอภิธรรมวันแรก โดยกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และสถานีวิทยุ fm 92.50 Mhz.รับเป็นเจ้าภาพ
 
วันที่ 7 ก.ย. 2553 สวดอภิธรรม วันที่ 2 เวลา 19.00 น.
วันที่ 8 ก.ย. 2553 สวดอภิธรรม วันที่ 3 เวลา 19.00 น.
วันที่ 9 ก.ย. 2553 สวดอภิธรรม วันที่ 4 เวลา 19.00 น.
วันที่ 10 ก.ย. 2553 สวดอภิธรรม วันที่ 5 เวลา 19.00 น.
วันที่ 11 ก.ย. 2553 สวดอภิธรรม วันที่ 6 เวลา 19.00 น.
วันที่ 12 ก.ย. 2553 ถวายภัตราหารเพล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย มีเทศนา 1 กัณท์
เวลา10.00 นวิธิทัศน์ ประวัติการต่อสู้ของ น้องเจมส์ ร่วมสดุดี ไว้อาลัยร่วมกัน
15.00 น. เคลื่อนศพ สู่สุสาน หายยา
16.00 น. พิธีบังสกุล และประชุมเพลิง 
 
วันที่ 13 ก.ย. 2553 เวลา 9.00 น. ทำพิธีเก็บเถากระดูก และถวายผ้าบังสกุล
 
ประธานฝ่ายสงฆ์ พระครู สุเทพ สิทธิคุณ เจ้า อาวาธ วัดศรีบุณเรือง
ประธานฝ่ายฆาราวาส ผ.อ.เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล 
นาง กัญญาภัค มณีจักร ดีเจอ้อม
นาย ภูมิใจ ไชยยา ดีเจต้อม
ดีเจ FM 92.50 Mhz. ทุกท่าน
 
 
"ทนายแดง" ร้องศาลไต่สวนชันสูตรศพ เหยื่อคอกวัว
 
เนชั่นทันข่าว รายงานว่า วันเดียวกันนี้ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.45 น. นายคารม พลทะกลาง ทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ที่บริเวณแยกคอกวัว ประมาณ 20 คนเดินทางมายื่นคำร้องขอให้มีการชันสูตรศพ ผู้เสียชีวิตทั้ง 9 ศพ นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์, นายวสันต์ ภู่ทอง, นายทศชัย เมฆงามฟ้า, นายสมิง แตงเพชร, นายบุญธรรม ทองผุย, นายจรูญ สายแม้น , นายมนต์ชัย แซ่จอง , นายสวาท วางาม และ นายสยาม วัฒนนุกูล เนื่องจากยังไม่มีการชันสูตรตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้มีการสืบพยานล่วงหน้า ในคดีที่หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. กับพวกซึ่งเป็นแกนนำ รวม 19 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย 
 
ขณะที่ศาล จะพิจารณาคำร้องเพื่อมีคำสั่งต่อไปว่าจะรับไว้ไต่สวนหรือไม่ต่อไป 
 
นายคารม ทนายความ กล่าวว่า การยื่นคำร้อง เนื่องจากคดียังไม่ได้กำหนดนัดสืบพยาน ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตต้องการนำศพไปประกอบพิธีตามศาสนา ดังนั้นหากไม่ขอให้ชันสูตรศพ พร้อมกับการสืบพยานกลุ่มญาติไว้ล่วงหน้าก่อน อาจจะทำให้พยานหลักฐานสูญเสียไปได้ เพราะกลุ่มแกนนำทั้ง 19 คนได้อ้างผู้เสียชีวิตทั้ง 9 คนเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดีด้วย โดยการขอให้ไต่สวนชันสูตรศพนั้นเราจะขอนำผู้เชี่ยวชาญการชันสูตรศพจากต่างประเทศ เข้าร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลย 
 
“เนื่องจากการสลายการชุมนุมบริเวณแยกคอกวัว เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ จึงต้องขอให้มีการชันสูตรศพตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีพนักงานสอบสวนพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวชศาสตร์ พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ปลัดอำเภอขึ้นไป ร่วมชันสูตรพลิกศพด้วย ก่อนจะส่งสำนวนให้อัยการมีคำสั่งว่า ศพเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย แต่เมื่ออัยการยังไม่ได้ดำเนินการ ญาติผู้เสียชีวิตจึงต้องยื่นคำร้องเอง” นายคารมระบุ 
 
ด้านนางสุภารัตน์ ทองผุย ภรรยาของ นายบุญธรรม หนึ่งในผู้เสียชีวิต กล่าวว่า สามีมีอาชีพเป็นช่างไฟ ทำงานอยู่ใน กทม. ทุกวันช่วงเย็นหลังเลิกงานจะเดินทางไปร่วมชุมนุมเสมอ ส่วนตน ทำไร่ ทำนาเลี้ยงลูกอีก 3 คนอยู่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งก่อนสามีเสียชีวิต เคยโทรศัพท์ไปเตือนว่าอันตราย โดยตนไม่เห็นด้วยที่สามีไปร่วมชุมนุมดังกล่าว แต่สามีบอกว่าไม่เป็นไรและอยากไปฟังปราศรัยที่เวที และเมื่อทราบข่าวว่าสามีถูกยิงเสียชีวิตรู้สึกเสียใจมากที่ต้องมาตายด้วยวิธีการรุนแรงเช่นนี้ โดยแพทย์โรงพยาบาลศิริราช ระบุในใบรายงานศพเพียงว่าสามีถูกยิงด้วยกระสุนที่ศีรษะ แต่ไม่มีการระบุว่าถูกยิงจากใคร กระสุนอะไร ซึ่งขณะนี้ศพสามียังไม่ได้เผา โดยเก็บไว้ที่วัดแห่งหนึ่ง 
 
“การยื่นคำร้องต่อศาลครั้งนี้หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาล ที่จะให้มีการชันสูตรศพสามีอีกครั้ง ที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักพระราชวัง ไปบ้างแล้ว” นางสุภารัตน์ระบุ
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์  เนชั่นทันข่าว และ เฟซบุ๊ค
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานทูตซาอุฯ ออกแถลงการณ์ล่าสุดยัน สื่อ-รัฐบาลไทยป้อง 'สมคิด' ด้าน 'สุเทพ' เตรียมส่งหนังสือแจง

Posted: 06 Sep 2010 11:05 AM PDT

“สุเทพ” ระบุ คดี "สมคิด" ต้องรอให้ถึงที่สุดก่อนตัดสิน ชี้ขณะนี้ยังเป็นผบช.ภ.5 กว่าจะโปรดเกล้าฯ เตรียมเผยรายละเอียดหนังสือแจงเอกอัครราชทูตซาอุฯ 1-2 วันนี้ ขณะที่สถานทูตซาอุดิอาระเบีย ออกแถลงการณ์ล่าสุด ยัน สื่อ-รัฐบาลไทย ปกป้องการแต่งตั้งผู้ต้องหาเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นการขัดขวางโอกาสนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ 
 
 
“สุเทพ” เผยเตรียมแจงซาอุฯ ตั้ง “สมคิด” เป็น ผช.ผบ.ตร.
 
สำนักโฆษก  รายงานวันนี้ (6 ก.ย.53) ว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้าการดำเนินการกรณีที่สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ไม่พอใจการแต่งตั้งพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ. 5) ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีการหายตัวของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ในปี พ.ศ.2533 ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ว่า พล.ต.ท.สมคิด ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ ผบช.ภ.5 อยู่จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
 
ส่วนคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะถูกหรือผิดก็ว่าไปตามข้อกฎหมาย ถ้าผิดก็มีปัญหา ถ้าไม่ผิดก็ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม คดีนี้ตนไม่ได้รื้อมาดูอย่างละเอียดว่าตกลงแล้วอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลสั่งยกฟ้อง แล้วเรื่องก็จบไป แต่เมื่อคดีผ่านมากว่า 10 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่ามีข้อมูลหลักฐานใหม่ จึงต้องรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ก็ต้องไปสู้คดีเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อ
 
ต่อคำถามว่าทำไมจึงระบุว่ากรณีของ พล.ต.ท.สมคิด ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 95 ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ระบุว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา จะต้องถูกสั่งพักราชการจนกว่าการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ นายสุเทพตอบว่า ขอให้ใจเย็นเพราะใน 1-2 วันนี้ตนจะนำบันทึกที่ได้ชี้แจงสถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ซึ่งในเอกสารเราได้ยืนยันข้อเท็จจริงกับทางเอกอัครราชทูตให้รับทราบ
 
ในทางปฏิบัติที่หากบุคคลต้องคดีจะต้องให้มีการพักราชการไว้ก่อน เพื่อต่อสู้คดีให้เรียบร้อยก่อน นายสุเทพกล่าวว่า เราทำตามใจ ตามอารมณ์หรือตามกระแสไม่ได้ เพราะถ้าผู้เสียหายเขามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเอง โดยไปร้องต่อศาลปกครองอาจจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือทำตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าการเมืองไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้แต่จุดธูปภาวนาขอให้ช่วยเข้าใจถูกต้อง
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าในสมัยที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร. เคยร้องกรณีที่คณะกรรมการที่ตั้งมาสอบเรื่องทุจริตของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ใครร้องเรียนอะไรมาเราก็สอบสวนและพิสูจน์ความจริง ถ้าพิสูจน์แล้วเป็นไปตามที่เขาร้องเรียนเราก็ยกเลิก ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มีคู่กรณีกันมากมาย ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมในทุกกรณีไม่เข้าข้างใคร
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีที่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นรองผบ.ตร. รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ยังมีตำแหน่งเป็นรองผบ.ตร.จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัย และคดีถึงที่สุด จากนั้นจึงมาดูผลคำพิพากษาว่าจะทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว ฉะนั้นอย่าไปตอบก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากคดีสิ้นสุดคำสั่งแต่งตั้งจะเป็นปัญหาในภายหลังได้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำสั่งไม่มีอะไรเป็นปัญหา ส่วนผู้บังคับบัญชาที่ดำเนินการก็ต้องว่ากันอีกครั้ง ปัญหานี้ต้องอดทน เพราะบางเรื่องมีกฎเกณฑ์กติกาอยู่ แต่ละคนอาจมองกฎ กติกาที่ไม่เหมือนกัน แต่เรามีกระบวนการตัดสิน ดังนั้นต้องว่าไปตามกระบวนการ
 
 
 
สถานทูตซาอุฯ ออกแถลงการณ์ อีกกร้าวตอบโต้ข่าวแต่งตั้ง 'สมคิด'
 
ไทยรัฐออนไลน์ ระบุ สำนักข่าวเอพี รายงานเมื่อ 6 ก.ย.ว่า หลังจากสถานทูตซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 3 ก.ย.53 แสดงความไม่พอใจรัฐบาลไทย กรณี ก.ตร.มีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.ทั้งที่ยังตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2533 และคดีนี้อาจโยงใยกับคดีเพชรซาอุฯด้วยนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย.53 สถานทูตซาอุดิอาระเบียได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับ ด้วยท่าทีแข็งกร้าวกว่าเดิม เพื่อตอบโต้การรายงานข่าวของสื่อฯ ไทยในช่วงสุดสัปดาห์ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ที่ปกป้องการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด 
 
โดยแถลงการณ์ระบุว่า กว่า 20 ปีนับตั้งแต่เกิดอาชญากรรม และเหตุการณ์อันน่าตกตะลึง น่าสยดสยอง และน่าสะพรึงกลัว สหราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ได้แสดงความเข้าใจ อดทน และให้ความร่วมมือทุกวิถีทางเพื่อช่วยทางการไทยสอบสวนคลี่คลายอาชญากรรมนี้ ทางสถานทูตซาอุดิอาระเบียเข้าใจว่า คดีนี้จะถูกส่งให้ศาลอาญาในวันที่ 25 พ.ย.นี้ และตั้งข้อกังขาว่า การแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ไม่เพียงแต่ละเมิดกฎหมายไทย แต่ยังขัดขวางโอกาสที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมด้วย ทางสถานทูตซาอุดิอาระเบียขอกระตุ้น และคาดหวังว่าจะได้เห็นความโปร่งใส ยุติธรรม และการไม่แทรกแซงในคดีนี้
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำจากลำโขงสู่เจ้าพระยา ถ่านหินจากพม่าสู่สระบุรี

Posted: 06 Sep 2010 09:39 AM PDT

เมื่อถ่านหินจากประเทศพม่ากำลังจะถูกนำเข้าสู่เชียงราย ก่อนลำเลียงผ่านถนนพหลโยธินไปส่งโรงไฟฟ้าที่สระบุรี ก่อให้ความหวั่นวิตกและข้อโต้แย้งต่างๆ จากคนในพื้นที่ ซึ่งต้องประจันหน้ากับคำว่าผลประโยชน์ของชาติ 

 
 
ภาพแผนที่เหมืองถ่านหินเมืองโก๊ก รัฐฉาน พม่า, เส้นทางขนส่งถ่านหินที่เป็นไปได้แสดงด้วยเส้นประ
ที่มา: คนเครือไทย
 
หาใช่เพียงเพราะบ้านของผู้เขียนตั้งอยู่บนทำเลถนนพลโยธินสายพะเยา- เชียงราย ที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการขนส่งถ่านหินจากประเทศพม่าส่งสู่โรงไฟฟ้าที่จังหวัดสระบุรีเท่านั้น 
 
หากแต่ข่าวบริษัท สระบุรีถ่านหิน จำกัด ได้รับสัมปทานจากแหล่งถ่านหินแอ่งเมืองก๊ก รัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นเวลา 30 ปี เริ่มเมื่อปี 2551 โดยใช้เส้นทางขนส่งออกจากพม่าผ่านหมู่บ้านม้งเก้าหลัง ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมีแผนนำเข้าถ่านหินวันละ 5,000 ตันหรือปีละ 1.5 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณรถบรรทุกขนถ่าย 200 เที่ยวต่อวัน ซึ่งขณะนี้ ถ่านหินทั้งหมดถูกพักไว้ตำบลป่าซาง อ.แม่จัน ก่อนจะลำเลียงขึ้นรถพ่วง 18 ล้อไปยังถนนพหลโยธิน เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้รับคำยินยอมหรือการทำประชาพิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่ 
 
การขนย้ายถ่านหินลิกไนต์จะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ไม่ว่าเป็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพของชาวบ้านวิถีชีวิตของชุมชน ความปลอดภัยในการคมนาคม การท่องเที่ยว รวมถึงการลักลอบขนยาเสพติด ตามแนวชายแดนที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งหากมีการขนย้ายจะต้องมีการเปิดเส้นทางใหม่สิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายเป็นจำนวนมาก 
 
แหล่งข่าวชาวบ้านตำบลเทอดไทยแจ้งว่า ทางบริษัทสระบุรีถ่านหิน ซึ่งได้รับสัมปทานขุดถ่านหินลิกไนต์จากรัฐบาลทหารพม่ามูลค่าหลายแสนล้านบาท ได้ส่งแบบสำรวจความคิดเห็นให้กับชาวบ้านในตำบลเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ให้ชาวบ้านกรอกความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่บริษัทจะสร้างเส้นถนนจากพื้นที่เมืองโก๊ก (รัฐฉานภาคตะวันออก) สู่ชายแดนไทย เพื่อใช้ลำเลียงถ่านหินผ่านมาทางบ้านเทอดไทย 
 
ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยที่บริษัทสระบุรีจะลำเลียงถ่านหินผ่านพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าหวั่นมลพิษถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต รวมถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ถนนหนทางในพื้นที่จะได้รับความเสียหายจากการลำเลียงถ่านหินหนักนับล้านตันด้วย หากทางบริษัทสระบุรีถ่านหินไม่ฟังคำคัดค้าน ยังคงฝืนที่จะลำเลียงถ่านหิน ก็จะรวมตัวกันประท้วงคัดค้านจนถึงที่สุดด้วย 
 
ก่อนหน้านี้บริษัทสระบุรีถ่านหิน ทำเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทยไปยังสภาความมั่นคง ขอเปิดจุดผ่านแดนในการขนส่งถ่านหินในพม่า ได้ 2 แปลง คือที่เมืองกก และอีกแปลงอยู่ติด อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยจะขอเปิดช่องนำเข้าที่ตะโกปิดทอง จ.ราชบุรี และที่บ้านม้งเก้าหลัง จ.เชียงราย แต่ที่ราชบุรีเป็นจุดที่สูงชันมาก และด้านเขตแดนที่จะขาดความชัดเจน จึงไม่เหมาะสม 
 
จึงมุ่งเส้นทางขนส่งมาที่เชียงรายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นเวลาสิ้นสุดของการเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการก่อสร้างถนนนี้ 
 
จังหวัดเชียงรายได้เสนอทางเลือกให้ขนส่งเข้าทางสะพานแม่สายที่ 2 เพราะมีโครงสร้างรองรับแล้ว ส่วนความเห็นโดยรวมของจังหวัดนั้นสอดรับกับแนวทางของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการไทยนำทรัพยากรต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศเป็นเรื่องดี แต่วิธีการจะนำเข้ามาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
 
นักธุรกิจจำนวนหนึ่งเห็นด้วยต่อกรณีของพลังงานที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็เป็นห่วงหากในพื้นที่จะมีการขนส่งแล้วเกิดผลทั้งแง่บวกและลบที่จำเป็นจะต้องศึกษา ไม่ใช่เพียงศึกษาแค่จะให้เกิดโครงการ ที่ผ่านมามีความพยายามตั้งโรงไฟฟ้าบริเวณที่มีแหล่งถ่านหิน และเอาโรงไฟฟ้าส่งไฟฟ้าข้ามไปฝั่งไทยเช่นที่ท่าขี้เหล็กส่งข้ามตรงแม่สาย แต่ไปไม่ได้ โรงไฟฟ้าก็ยังเก็บอยู่ในโกดังที่กรุงเทพ 
 
กรณีการสัมปทานถ่านหินจากพม่าขนส่งจากเชียงรายไปสระบุรี ฟังดูแล้วภาคธุรกิจและราชการที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะ เออ..ออ..ห่อหมกไปกับเขา.. เห็นทีชาวบ้านต้องก้มหน้ารับกรรม (ที่ตนไม่ได้ทำ) เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในข่ายเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งมีการเคลื่อนไหวกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม รวมถึงขบวนการค้ายาเสพติด ที่สำคัญต้องเกิดผลกระทบต่อชุมชนและป่าสงวนในพื้นที่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
น้ำจากลำโขงไหลล่องลงสู่เจ้าพระยา เป็นปรกกฎการณ์ทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้นชิน กรณีถ่านหินไฟฟ้าจากประเทศพม่าที่กำลังถูกลำเลียงสู่สระบุรี เป็นฝุ่นผงจากลิกไนต์ที่ชุมชนในท้องถิ่นต้องสูดดม เป็นหินกองใหญ่ที่วางไว้หน้าบ้าน เป็นเส้นทางขนส่งที่ต้องแลกด้วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน การท่องเที่ยว และความปลอดภัยด้านการคมนาคม 

ทำอย่างไรให้รัฐก็ได้ประโยชน์ เหลียวหลังดูชาวบ้านก็ให้พอเหลือรอยยิ้มที่มุมปากบ้าง อย่าให้อะไรมาบดบังจนมองไม่เห็นหัวชาวบ้าน หรือเสียงชาวบ้านมันไม่ดัง ฟังไม่ถนัด ดูจะกลายเป็นเสียงจิ้งจกตุ๊กแกไปแล้วกระมัง....ครับ.!
 
----------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง


- ที่มาภาพแผนที่: คนเครือไทย

- http://www.tvthainetwork.com/update/786, http://health2u.exteen.com/20090805/entry
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม้หนึ่ง ก.กุนที: รากฐานทางการยุทธ์

Posted: 06 Sep 2010 05:56 AM PDT

เมื่อเราสู้ เราจึงมีสิทธิ์ชนะ

หลังปะทะ ได้ถอดถอนบทเรียนรู้

ทั้งภายใน ภายนอก มิตรศัตรู

เมื่อสู้พ่าย ก็สู้ใหม่อีกครั้ง

 

เมื่อเพลี่ยงพล้ำ ก็ตั้งลำ พลิกฟื้นกลับ

ปรับสรุปแนวทางแต่หนหลัง

ปะ ตะล่อม ถนอมทะนุ สิ่งผุพัง

เพื่อสุกปลั่ง เปล่งแสงกว่า ประกายพรึก

 

ตั้งสติ ตรองคิด มิตรสหาย

แม้ประชามากมาย กระหายศึก

เข็มการเมือง ยังต้องตอกเพิ่มความลึก

และรูปการณ์จิตสำนึก..ต้องสุกงอม !!

 

 

ณ วันที่ 5 กันยายน 2010 เวลา 11:47 น.

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ส.ค. - 5 ก.ย. 2553

Posted: 06 Sep 2010 02:21 AM PDT

ค่ายรถโหมจ้างทำโอทีดูดแรงงาน

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปิดเผยว่า แม้หลายอุตสาหกรรมจะเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนแต่เชื่อว่าในภาคโรงงานผลิตรถยนต์จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปีนี้ แม้ว่าผู้ผลิตจะเร่งกำลังการผลิตเป็น 2 กะ เพื่อทำยอดผลิตให้ได้ 1.6 ล้านคันตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตหันมาใช้การทำงานล่วงเวลา (โอที) และการฝึกอบรม (เทรนนิง) เพื่อดึงแรงงานที่ถูกปลดออกไปในช่วงที่การผลิตลดลงให้กลับมาทำงานอีกครั้งประกอบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งผลให้แรงงานกลับเข้ามาในอุตสาหกรรมตามเดิม

"นอกจากการให้ค่าแรงทำงานนอกเวลาแล้ว หลายโรงงานเริ่มจัดให้มีการฝึกอบรม ซึ่งหากพนักงานคนไหนทำได้ดี ก็จะสามารถเลื่อนขั้นจากซับคอนแทรกต์มาเป็นพนักงานประจำได้ แรงงานก็พอใจทำให้กลับมาทำงานกันมากขึ้น"นางเพียงใจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ซัพพลายเออร์)ขนาดเล็กอาจจะประสบปัญหาในเรื่องของการหาแรงงานกลับเข้ามาเนื่องจากต้องแข่งขันกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงแข่งขันกันในกลุ่มซัพพลายเออร์เอง

ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่าแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถูกเลิกจ้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานกว่า3 แสนอัตราในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากปกติที่มีการใช้แรงงานมากถึง 7-7.5 แสนคน

(โพสต์ทูเดย์, 30-8-2553)

กล่อมเหยื่อแรงงานไทยในลิเบียถอนคำร้องทุกข์/โยน3หมื่นล้มคดีแรงงาน/บ.นายหน้า-กรมจัดฯดิ้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว วันที่ 29 ส.ค.2553 นายสนิท บุญทวี อดีตอบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ในฐานะผู้ประสานงานแรงงานไทยในลิเบีย เปิดเผยว่า หลังจากการร้องเรียน”นสพ.สยามรัฐ”และอดีตส.ว.กทม.ชัชวาล คงอุดม คอลัมนิสต์อาวุโส”นสพ.สยามรัฐ”วันที่ 19 ส.ค.53 ถึงความเดือดร้อนของแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากทำงานก่อสร้างที่ประเทศลิเบียกับบริษัท ARSEL-BENA WA TASHEED JOINT VENTURE ของประเทศตุรกี โดยบริษัทจัดหางาน เงินและทอง พัฒนา จำกัด ผลปรากฎว่าแรงงานไทยกลุ่มดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือให้เดินทางกลับมาอีก 19 คน และทยอยกลับเรื่อยๆ ตามการร้องเรียนของนางอนามัย นุวงศ์ ภรรยาคนงานนายวัชรพงษ์ สุขกมลกุล  ผ่านคอลัมน์”ชัช เตาปูน ตอบจดหมาย”รวมจำนวนแรงงานที่ได้กลับประเทศไทยราว 100  กว่าคน เหลือตกค้างอีกประมาณ 70-80 คน โดยตัวเลขยังไม่แน่นอน เพราะสอบถามแรงงานที่เพิ่งเดินทางกลับยังมีอาการเบลอๆพูดคุยยังไม่รู้เรื่องและหลายคนติดต่อไม่ได้  ส่วนที่ตกค้างหยุดงานหมดแล้ว และอยู่ในภาวะที่เครียดจัด  ไม่มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร ซึ่งน่าเป็นห่วงกลัวทำผิดกฎหมายลิเบียที่มีโทษหนักมาก

“ตอนนี้ทางบริษัทจัดหางานและเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กระทรววงแรงงานมีความพยายามดิ้นรนที่จะให้แรงงานที่ร้องเรียกยุติเรื่องและถอนคำร้องทุกข์กับกรมการจัดหางานและสื่อมวลชน  โดยยื่นข้อเสนอจ่ายเงินชดเชยให้รายละ 30,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านั้นทางบริษัทก็ได้มีการเกลี่ยกล่อมแถมข่มขู่ให้ถอนเรื่องแลกกับเงินชดเชยรายละ 5,000 บาทต่อมาก็เพิ่มให้เป็น 10,000 บาทและเพิ่มให้เป็น 15,000 บาทล่าสุดเป็น 30,000 บาท”ผู้ประสานงานแรงงานไทย กล่าวและว่า ขณะนี้บริษัทและเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้โทรศัพท์เพื่อเกลี่ยกล่อมแรงงานให้ถอนคำร้อง บางรายต้องปิดโทรศัพท์มือถือหนี ขณะเดียวกันบรรดาญาติของเหยื่อแรงงานก็ถูกโทรศัพท์ให้ถอนคำร้องเช่นกัน

อดีตอบต.ไทยสามัคคี กล่าวอีกว่า แม้บริษัทฯจะเสนอเงินค่าชดเชยดังกล่าวให้แลกกับการถอนคำร้องทุกข์ แต่แรงงาน ไม่ยอมรับ ซึ่งจุดยืนของแรงงานต้องเรียกร้องเงินเดือนค้างจ่ายที่บริษัทนายจ้างค้างอยู่ก่อน ทางกรมการจัดหางานต้องดำเนินการเรื่องนี้เสียก่อน ค่อยมาว่ากันถึงค่าชดเชยค่าหัวคิวของบริษัทจัดหางาน ซึ่งเก็บเกินกว่าที่กระทรวงแรงงานกำหนดอย่างแน่นอน

“หากยอมรับค่าชดเชย ทางบริษัทก็จะจ่ายเป็นเช็คจ่ายกรมการจัดหางานให้ทางกรมการจัดหางานดำเนินการจ่ายเงินให้กับแรงงานงานที่ลงชื่อยื่นร้องทุกข์เอาไว้ พร้อมกับพิมพ์คำร้องว่าแรงงานไทยได้รับเงินชดเชยการร้องทุกข์แล้ว จึงไม่ติดใจฟ้องร้องดำเนินการเอาผิดบริษัททั้งทางแพ่งและอาญา แนวทางก็จะเป็นแบบนั้นก็หมายถึงว่าบริษัทดำเนินการช่วยเหลือแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งการเรียกร้องเงินค่าจ้างค้างจ่ายก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย”นายสนิทกล่าวพร้อมยืนยันว่า การจ่ายเงินชดเชย 30,000 บาทดังกล่าวจะจ่ายเฉพาะแต่แรงงานที่เข้าชื่อร้องทุกข์ต่อนสพ.สยามรัฐเท่านั้น

นายสนิท กล่าวอีกว่า นอกจากเงินเงินค้างจ่ายที่แรงงานควรได้รับและเงินชดเชยที่บริษัทจ่าคืนค่าหัวคิวจะเป็นเท่าไหร่แล้ว อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายอิสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการเยียวยาแรงงานที่เดือดร้อนกรณีนี้เหมือนๆกับการเยียวยากลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่สี่แยกคอกวัวและราชประสงค์ที่ได้รับการเยียว ใครบาดเจ็บได้ 30,000-40,000 บาท ใครบาดเจ็บมากนอนโรงพยาบาลก็ได้มากขึ้น ใครเสียชีวิตได้เงินชดเชย300,000-400,000 บาท  ส่วนกรณีคนงานเขาได้รับผลกระทบจากทำงานต่างแดน ไม่ได้มุ่งร้ายกับประเทศ แต่ไปหาเงินเข้าประเทศชาติ  จึงน่าที่จะหันมามองความเดือดร้อนพวกเขาบ้าง

“แรงงานก่อนเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องกู้หนี้ยืมสินจ่ายค่าหัวคิวบริษัทนายหน้าคนละเป็นแสนๆและยังจ่ายเงินให้กับรัฐบาลค่าทำพาสปอร์ต 1,000 บาท ค่าวีซ่า 2,000-3,000 บาท ค่าประกันสุขภาพ 500 บาท กรมการจัดหางานได้ค่าบริการต่อหัวละ 10,000 บาท  ถึงเวลาแรงงานมีปัญหาที่มีน้อยมากแค่ 0.1%จากคนงานไปต่างประเทศ 10 ล้านคนนำเงินไหลบเข้าหน่วยงานต่างๆ เวลามีปัญหาน่าจะช่วยเหลือได้ แม้แต่กลุ่มคนที่ไปชุมประท้วงรัฐบาลยังออกเงินเยียวยา 100 กว่าล้านบาท”ผู้ประสานงานแรงงานไทยตกทุกข์ที่ลิเบีย กล่าวและว่า นอกจากนี้ นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลังควรมาดูแลเรื่องภาระหนี้สินเงินกู้นอกระบบที่คนงานกู้ไปจ่ายค่าหัวคิวรายละ 1 แสนบาทขึ้นไปตอนนี้พวกเขาไม่มีปัญญาจ่ายค่าดอกเบี้ยและเงินต้นแล้วควรยื่นมือมาช่วยเหลือให้กู้สถาบันการเงินในระบบ ขณะเดียวกันนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศควรเร่งรัดประสานงานกับสถานทูตลิเบียให้ดูแลแรงงานส่วนที่เหลือเพื่อเดินทางกลับโดยเร็ว เพราะเทราบว่าขณะนี้หลายคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตแล้ว

(สยามรัฐ, 30-8-2553)

ค่ายรถโหมจ้างทำโอทีดูดแรงงาน

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปิดเผยว่า แม้หลายอุตสาหกรรมจะเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนแต่เชื่อว่าในภาคโรงงานผลิตรถยนต์จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปีนี้ แม้ว่าผู้ผลิตจะเร่งกำลังการผลิตเป็น 2 กะ เพื่อทำยอดผลิตให้ได้ 1.6 ล้านคันตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตหันมาใช้การทำงานล่วงเวลา (โอที) และการฝึกอบรม (เทรนนิง) เพื่อดึงแรงงานที่ถูกปลดออกไปในช่วงที่การผลิตลดลงให้กลับมาทำงานอีกครั้งประกอบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งผลให้แรงงานกลับเข้ามาในอุตสาหกรรมตามเดิม

"นอกจากการให้ค่าแรงทำงานนอกเวลาแล้ว หลายโรงงานเริ่มจัดให้มีการฝึกอบรม ซึ่งหากพนักงานคนไหนทำได้ดี ก็จะสามารถเลื่อนขั้นจากซับคอนแทรกต์มาเป็นพนักงานประจำได้ แรงงานก็พอใจทำให้กลับมาทำงานกันมากขึ้น"นางเพียงใจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ซัพพลายเออร์)ขนาดเล็กอาจจะประสบปัญหาในเรื่องของการหาแรงงานกลับเข้ามาเนื่องจากต้องแข่งขันกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงแข่งขันกันในกลุ่มซัพพลายเออร์เอง

ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่าแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถูกเลิกจ้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานกว่า3 แสนอัตราในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากปกติที่มีการใช้แรงงานมากถึง 7-7.5 แสนคน

(โพสต์ทูเดย์, 30-8-2553)

ก.พ.เล็งคลอดกฎสกัดคุกคามทางเพศ ต้องรับผิดทางวินัย ลวนลามเพศเดียวกันโดนด้วย

ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการ ก.พ. กล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ว่า ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ก.พ. จะเสนอร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ พ.ศ... เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในวงราชการ เนื่องจากที่ผ่านมา ก.พ. ได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะผู้เสียหายไม่กล้าระบุชื่อ ประกอบกับไม่มีข้อกฎหมายรองรับ แต่เชื่อว่าหลังกฎ ก.พ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ข้าราชการที่ถูกคุกคามทางเพศจะกล้าร้องเรียนมากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้ข้าราชการตระหนักไม่กล้ากระทำผิด

“หลัง ครม. เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ฉบับนี้แล้ว ก.พ. จะเร่งทำคู่มืออธิบายรายละเอียดลักษณะพฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศให้ข้าราชการรับทราบโดยเร็วที่สุด พร้อมจัดประชุมชี้แจงส่วนราชการให้รับทราบ เพราะกฎก.พ. ฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับทันทีที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม กฎก.พ. ดังกล่าวจะใช้บังคับเฉพาะกับข้าราชการพลเรือนสามัญ 19 กระทรวงเท่านั้น ไม่รวมข้าราชการตำรวจ ทหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้พิพากษา อัยการ และข้าราชการการเมือง” เลขาธิการก.พ. กล่าว

นายพิรุณ เพียรล้ำเลิศ นิติกรผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานก.พ. กล่าวว่า กฎ ก.พ. ฉบับนี้มุ่งเอาผิดเฉพาะการปฏิบัติราชการ โดยเป็นกระทำระหว่างข้าราชการต่อข้าราชการ หรือข้าราชการต่อผู้ร่วมปฏิบัติราชการ เช่น ลูกจ้างในโครงการของส่วนราชการ ซึ่งขณะก่อเหตุไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ราชการเท่านั้น จะอยู่ภายนอกก็ได้ แต่จะดูเจตนาของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นหลัก ถ้าพบเป็นการสมยอมกันก็ไม่เข้าข่ายกระทำผิด แต่ถ้าฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่ยินยอม หรือทำให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ ก็จะมีความผิดตามกฎ ก.พ. นี้ สำหรับความผิดตามในการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศจะเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เว้นแต่การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อต้นสังกัด ก็จะเข้าข่ายความผิดวินัยร้ายแรงตามมาตรา 85 ของพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

นายพิรุณกล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎ ก.พ. มี 5 ประการคือ 1.กระทำการด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ เช่น การจูบ การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น จะเป็นเพศเดียวกันก็ได้ 2.กระทำการด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น วิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย พูดหยอกล้อ พูดหยาบคาย พูดจาสองแง่สามง่ามโดยที่อีกฝ่ายไม่อยากฟัง 3.กระทำการด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การใช้สายตาลวนลาม การทำสัญญาณหรือสัญลักษณ์ เช่น ชายจ้องมองอวัยวะผู้หญิง แต่กรณีนี้ต้องมีพยานหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน 4.การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใดๆ ที่ส่อไปในทางเพศ เช่น แสดงรูปลามกอนาจาร ส่งจดหมาย ข้อความ หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น อาทิ ผู้ชายชายเปิดเว็ปไซด์ลามกแล้วเรียกผู้หญิงไปดู หรือส่งอีเมล์รูปโป๊ให้โดยอีกฝ่ายไม่เต็มใจ 5.การแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ

นายพิรุณกล่าวว่า ผู้มีหน้าที่พิสูจน์พฤติกรรมการกระทำผิดคือ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตามลำดับชั้น โดยผู้ร้องต้องมีหนังสือร้องเรียน พยานหลักฐาน หากคำร้องเรียนมีมูล ผู้บังคับบัญชาก็จะสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ผู้ร้องเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นคู่กรณี จะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ที่พบเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม  อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบข้อร้องเรียนต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาด้วย เพราะมีหลายครั้งเป็นการสมยอม แต่ต่อมากลับถูกนำมาแบ็คเมล์ในภายหลัง

(มติชน, 30-8-2553)

พะเยาหนุนให้ความรู้ต่างด้าว ช่วยแก้ปัญหาหลบหนีเข้าเมือง

นายเริงณรงค์ ณียวัฒน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2553 ได้กำหนดให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรไทย ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.พ. 2555 ซึ่งการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมี 3 สัญชาติดังกล่าว ทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ยังประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองอยู่ เพราะสภาพภูมิประเทศของไทยติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน(สปป.)ลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา ทำให้มีการหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คนเข้าเมือง พ.ศ. 2552 เกิดขึ้น

โดยช่องทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้คือ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ ทั้งสถานีวิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ อย่างทั่วถึง เพื่อตระหนักถึงความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว

(แนวหน้า, 31-8-2553)

อนุมัติ 22 ล้านช่วยแรงงาน 3 พันคนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเสื้อแดง

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองประมาณ 3,000 คน แต่ให้ปรับปรุงลักษณะการดำเนินโครงการให้มีลักษณะสอดคล้องกับโครงการต้นกล้าอาชีพ พร้อมอนุมัติงบประมาณ 22 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ

“นายกฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินโครงการล่าช้าไปหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบผ่านมาหลายเดือนแล้ว และสอบถามกระทรวงแรงงานว่ายังมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือหรือไม่ แต่กระทรวงแรงงานยืนยันว่า การช่วยเหลือยังมีความจำเป็นอยู่ ครม.เศรษฐกิจจึงเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อ แต่ให้ทำในลักษณะโครงการต้นกล้าอาชีพ พร้อมทั้งมีการปรับตัวเลขลูกจ้างที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจาก 5,000 คน เหลือ 3,000 คนดังกล่าว” นายวัชระกล่าว

นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจยังมีมติเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวและการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ โดยให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำจากสถานประกอบการที่ต้องชำระค่าไฟฟ้าขั้นต่ำในปี 2553 (ม.ค.-พ.ค.) และต้องปิดกิจการหรือหยุดประกอบการกิจการตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤาภาคม ประกอบด้วย สถานประกอบการประเภทโรงแรม 10 ราย ซึ่งอยู่ในเขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และสถานประกอบการ 28 ราย

(คมชัดลึก, 31-8-2553)

สปส.เล็งเพิ่ม 6 สิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน 6 เรื่อง คือ

- เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 1.2 หมื่นบาทเป็น 1.3 หมื่นบาท

- เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท

- เพิ่มค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 500 บาท เป็นครั้งละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 600 บาท

- เพิ่มสิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม

- เพิ่มสิทธิในกรณีรักษาโรคจิต

- เพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพ จากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท

นอกจากนี้ ได้มอบให้ สปส.หาวิธีให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด โดยการจัดตั้ง "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" ในสถานประกอบการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ ให้ส่งบุคลากรมาร่วมอบรม

(โลกวันนี้, 31-8-2553)

สปส.เล็งเพิ่ม 6 สิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน 6 เรื่อง คือ

- เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 1.2 หมื่นบาทเป็น 1.3 หมื่นบาท

- เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท

- เพิ่มค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 500 บาท เป็นครั้งละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 600 บาท

- เพิ่มสิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม

- เพิ่มสิทธิในกรณีรักษาโรคจิต

- เพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพ จากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท

นอกจากนี้ ได้มอบให้ สปส.หาวิธีให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด โดยการจัดตั้ง "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" ในสถานประกอบการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ ให้ส่งบุคลากรมาร่วมอบรม

(โลกวันนี้, 31-8-2553)

คนระนองร้องตู้ ปณ.1111 ถูกพม่าแย่งอาชีพ

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยถึง กรณีปัญหาที่มีกลุ่มพ่อค้าชาวพม่าเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับคนไทยทั้งเปิดกิจการ บริษัท ร้านค้า แผงค้าต่างๆ นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว จนหลายฝ่ายเริ่มวิตกว่าหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าของไทย ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับปัญหาดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ผู้เดือดร้อน ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังตู้ ปณ. 1111 ของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนความเดือดร้อนโดยตรงให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อได้รับทราบถึงความเดือดร้อน และสั่งการแก้ไขปัญหาต่อไป

โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลมาจากการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวที่มีอย่างต่อเนื่อง และช่วงหลังพบว่าเป้าหมายของแรงงานต่างด้าวได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่อดีตจะเข้ามาเพื่อหางานทำ แต่ปัจจุบันเป็นการเข้ามาเพื่อตั้งถิ่นฐานแทน ซึ่งการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้จะต้องไปแก้ที่ต้นเหตุนั่นคือหาทางสกัดกั้นไม่ให้แรงงานพม่าทะลักข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า น่าจะเป็นด่านสกัดที่ดีที่สุด

แต่แผนงานดังกล่าวก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในเรื่องนี้จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนโดยรัฐบาล ในขณะเดียวกันระหว่างการตั้งรับของฝ่ายไทยที่ยังไม่มีระบบที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นช่องว่างและช่องทางให้ชาวพม่าเปลี่ยนเป้าหมายการเข้ามาในประเทศไทยจากการมาหางาน กลายเป็นการหาช่องทางการทำกิน ประกอบอาชีพ และตั้งรกรากแทน

นายนิตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วย ที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุดีกว่าที่จะต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่นปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะการเข้ามาตั้งรกรากของชาวพม่าในประเทศไทย ซึ่งพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งอีกไม่เกิน 10 ปี คาดจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการค้าของไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดน

พ.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี ซึ่งมีภารกิจดูแลพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดระนอง และชุมพร เปิดเผยว่า มีพม่าแฝงตัวเข้ามาเข้ามาประกอบธุรกิจแย่งอาชีพคนไทย อาทิการเปิดร้านโชว์ห่วย , เปิดบริษัทรับซื้อขายสินค้า , สัตว์น้ำ , ร้านเสริมสวย รวมถึงบางรายถึงขั้นใช้คนไทยบังหน้าเพื่อซื้อตึกหรืออาคารพาณิชย์เพื่อประกอบกิจการการค้า ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าว ในเบื้องต้นได้มีการตรวจสอบแล้วยอมรับว่ามีจริง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในจังหวัด ซึ่งตั้งแต่นี้ต่อไปจะเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างต่อไป

(เนชั่นทันข่าว, 1-9-2553)

ตม.ลุยไซด์งานก่อสร้างจับแรงงานเถื่อนกว่า 20 ราย 

พล.ต.ต.มนตรี โปตระนันท์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 สนง.ตรวจคนเข้าเมือง นำกำลัง จนท.คณะทำงานปราบปรามจับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานคณะที่ 3 รับผิดชอบ 19 จังหวัดอีสาน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 125/2553 ลงวันที่ 2 มิย. และคำสั่งที่ 177/2553 ลงวันที่ 13 กค. จำนวนกว่า 20 นาย เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นภายในพื้นที่โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม บริษัทแผ่นดินทอง บริเวณติดกับห้างสรรพสินค้าแม็คโคร ริม ถ.มิตรภาพ ขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง นครราชสีมา หลังสืบทราบมาว่ามีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากลักลอบเข้ามาใช้แรงงานโดยผิดกฎหมายขณะกลุ่มแรงานต่างด้าวเมื่อพบเห็น จนท. ต่างพากันวิ่งหลบหนี แต่เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังกันจับกุมได้ทั้งหมดจำนวน 24 คน มีชาย 18 คน หญิง 6 คน ทั้งหมดเป็นชาวกัมพูชา พร้อมกับควบคุมตัวนายวิชัย บุญแย้ม อายุ 62 ปี นายจ้างชาวไทย

จากนั้นนำตัวทั้งหมดมาตรวจสอบประวัติที่ สนง.จัดหางาน จ.นครราชสีมา ปรากฎว่าทั้งหมดไม่มีเอกสารอนุญาตทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนส่งตัวทั้งหมดให้ ร.ต.อ.สังเวียน ตรวจนอก พนักงานสอบสวน สภ.เมือง นครราชสีมา ดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง และทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนนายวิชัย ฯ นายจ้าง จะถูกดำเนินคดีในข้อหา ให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆให้บุคคล ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองพ้นการจับกุม รับบุคคลต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน

แรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมทั้งหมดได้ลักลอบเข้ามาโดยรถยนต์ เป็นยานพาหนะ มีนายหน้าทั้งคนไทยลักลอบนำเข้ามาใช้แรงงานก่อสร้างที่บริษัทดังกล่าว แรงงานต่างด้าวทั้งหมดต้องเสียค่าหัวรายละ 1-2 หมื่นบาทให้กับนายหน้าที่นำเข้ามาใช้แรงงาน โดยใช้ระบบผ่อน ซึ่งหลายรายยังต้องผ่อนชำระ สำหรับ ปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ภาคอีสาน มีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ กำลังเติบโตพัฒนา แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะลักลอบมาทำงานก่อสร้าง หรือตามโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

(เนชั่นทันข่าว, 1-9-2553)

กวาดล้างแรงงานต่างด้าวเชียงใหม่ 200 คน

วันนี้ (1 ก.ย.) พ.ต.อ.พิศุทธ์ น้อยปักษา ผกก.สภ.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นางพรรณวดี พลอยทับทิม จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยกำลัง ตชด.33 เชียงใหม่ กว่า 50 นาย เข้าปิดล้อมบริเวณถนนอัษฎาธร ต.ศรีภูมิ อ.เมือง หลังได้รับแจ้งว่า ที่บริเวณถนนดังกล่าว มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ทั้งที่มีบัตรถูกต้อง และไม่มีบัตรมารอพบกับนายจ้างชาวไทย เพื่อขายแรงงาน พบกลุ่มแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่กว่า 200 คน ยืนเรียงรายกันอยู่เต็มถนนทั้งสองฝากฝั่ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวขอเข้าตรวจสอบหลักฐานพบว่า เป็นบุคคลไม่มีบัตร 30 คน จึงควบคุมตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน เพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

(เดลินิวส์, 1-9-2553)

อึ้ง! แรงงานขาดแคลนหนัก อยุธยาเปิดประมูลยอมจ่ายแพง 500บาท/วัน ยังหาไม่ได้

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช. แถลงภาวะทางสังคมไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ว่า ผลจากการที่เศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาสแรก ของปี 2553 มีการขยายตัวที่ดี ส่งผลทำให้ปัญหาการว่างงานหมดไป โดยตัวเลขผู้ว่างงานในช่วงไตรมาสที่ 2 มีจำนวน 498, 700 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.3 ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 แต่ผลจากการที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูงดังกล่าวส่งผลทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแช่แข็ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่การส่งออกขยายตัวมากในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะฟื้นตัว จึงมีความความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น

“อุตสาหกรรมเหล่านี้ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ถึงขนาดบางนิคมอุตสาหกรรม เช่น ที่อยุธยา ต้องมีการเปิดประมูลหาแรงงาน ให้ค่าจ้างสูงถึง 500 บาทต่อวัน แต่ก็ยังหาไม่ได้เลย ขณะที่ตัวเลขความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีอยู่ประมาณถึง 1 แสนคน ” นางสุวรรณีกล่าว

นางสุวรรณี กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้  เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะส่งผลต่อกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้แล้ว อาจจะทำให้เกิดปัญหาทางสังคม ตามมาเป็นจำนวนมาก จากกรณีที่ผู้ประกอบการหลายราย นำแรงงานต่างชาติ เข้ามาทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นางสุวรรณี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของแรงงานไทย อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพและทักษะ ฝีมือแรงงาน ขณะที่กลุ่มแรงงานระดับอาชีวศึกษา ก็มีปัญหาการตึงตัว เนื่องจากมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ เลือกที่จะศึกษาต่อ แทนการเข้าทำงานในสถานประกอบทันที ส่วนแรงงานกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ผู้ว่างงานมีมากกว่าตำแหน่งงานอยู่มาก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเข้าไปดูรายละเอียดแผนการเรียนการสอน มากกว่ามุ่งเน้นแผนการขยายศูนย์การศึกษาเท่านั้น

นางสุวรรณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ครัวเรือนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้ในระบบยังมีปัญหาความไม่เป็นธรรม โดยจากการสำรวจพบว่า หนี้สินภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นหนี้ในระบบร้อยละ 82.4 หนี้นอกระบบร้อยละ 7.9 และเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบร้อยละ 9.7  มีจำนวนหนี้สินในระบบ 127,715 บาทต่อครัวเรือน และจำนวนหนี้นอกระบบ 6,984 บาทต่อครัวเรือน โดยกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนหนี้นอกระบบต่อหนี้ทั้งหมดสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงและมีปัญหาการชำระหนี้สูงกว่าในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ปัญหาหนี้นอกระบบพบว่า ลูกหนี้ต้องรับภาระดอกเบี้ยสูงและมีการข่มขู่ทำร้ายจากการทวงหนี้

(มติชน, 1-9-2553)

ปลัดฯ แรงงาน เผยปี 54 ใช้งบ 700 ล้านบาท ผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

ก.แรงงาน 1 ก.ย.- นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับไปนอกราชอาณาจักรว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติวงเงินให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ในการปราบปรามจับกุมและส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในปี 2554 วงเงินกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอนุมัติตามกรอบเดิมของปี 2553 โดยมีตัวชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของแต่ละหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลักดันกลับประเทศต้นทาง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวถูกส่งตัวกลับบริเวณชายแดนแล้ว แต่ก็สามารถลักลอบกลับเข้าประเทศใหม่ได้ทันที ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ จึงมีแนวคิดที่จะหารือกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เพื่อทำให้แรงงานที่ถูกส่งกลับสามารถกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องได้ โดยให้แต่ละชาติทำการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเหล่านั้น ก่อนส่งกลับแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้อง เบื้องต้นมีการหารือกับทางการพม่าแล้ว ซึ่งเห็นด้วยในหลักการ ขณะที่ทางการลาวและกัมพูชาอยู่ในระหว่างการประสานงาน สำหรับแนวคิดที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายซึ่งขณะนี้เชื่อว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน ให้กลายเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้น กรมการจัดหางานอยู่ในระหว่างการวางแผนงานก่อนเสนอรัฐมนตรีพิจารณา โดยยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะมีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งใหม่หรือไม่

(สำนักข่าวไทย, 1-8-2553)

บ.จัดส่งแรงงานมอบเงินช่วยเหยื่อถูกหลอก

นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ออกมาระบุ กรณีแรงงานที่ถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศลิเบีย เข้าร้องเรียนที่ สำนักงาน จ.บุรีรัมย์ ว่า ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างที่ต่างประเทศ รายละ 1 - 2 เดือน สร้างความเดือดร้อนให้กับแรงงานไทย เนื่องจากกรณีดังกล่าว ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด ได้ประสานไปยังบริษัทที่จัดส่งแรงงาน ให้รับผิดชอบช่วยเหลือ โดยให้จ่ายเงินค่าดำเนินการให้กับแรงงาน นอกจากนั้นยังได้รายงานไปยังกรมการจัดหางาน เพื่อติดตามเร่งรัดค่าจ้างที่นายจ้างค้างจ่าย โดยเบื้องต้นบริษัทที่จัดส่งแรงงาน ได้ยินยอมที่จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับแรงงานทั้ง 4 คน รายละ 35,000-40,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีรายงานที่ถูกหลอกไปทำงานยังต่างประเทศจากนายหน้าเถื่อน เข้าร้องทุกข์ ที่สำนักงานจัดหางาน สะสมรวม จำนวน 102 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย รวม 7,000,000 บาท

(ไอเอ็นเอ็น, 1-9-2553)

ทูตไทยในลิเบียหวั่นแรงงานถูกเลิกจ้าง

นายโอภาส จันทรทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย เปิดเผยว่า ได้รายงานข้อเท็จจริงให้กระทรวงการต่างประเทศทราบว่า ขณะนี้ทางการลิเบียเริ่มไม่พอใจแรงงานไทยบางกลุ่ม ที่ไปร้องเรียนผ่านสื่อในประเทศไทยว่า ไปทำงานในลิเบียแล้วประสบปัญหาเหมือนตกนรก  อาทิ ถูกโกงค่าแรง อ้างที่พักแอร์ไม่เย็น อาหารไม่อร่อย และข้อร้องเรียนบางเรื่องไม่เป็นเรื่อง เกินเลยความจริง และสิ่งที่ลิเบียไม่พอใจครั้งนี้ อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เพราะการจ้างงานทำในนามรัฐบาลผ่านบริษัทจัดหางาน

อย่างไรก็ตาม หลังจากแรงงานไทยมีปัญหาทางบริษัทนายจ้าง ได้ขอยกเลิกจ้างแรงงานไทยกลุ่มนี้ 90 คนแล้ว ตั้งแต่ 1 ส.ค. เพราะระอา คาดว่าจะส่งกลับถึงไทยในต้นเดือนก.ย.นี้ โดยทางบริษัทยอมเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ทุกอย่าง ขณะนี้ได้ประสานบริษัทนายจ้างซึ่งรับปากจะชำระเงินเดือนที่ค้างทั้งหมดให้ก่อนเดินทางกลับ จึงไม่ต้องห่วงแม้เลิกจ้างแล้วทางบริษัทก็ยังให้ที่พักอาศัย พร้อมอาหารดูแลจนถึงวันเดินทางกลับ

นายโอภาสกล่าวว่า ได้ตรวจสอบแล้วปัญหาของแรงงานไทยที่ไปร้องเรียน เกิดจากได้รับค่าจ้างล่าช้า จึงคิดว่าทางนายจ้างจะเบี้ยว ในช่วงเดือนรอมฎอนหรือถือศิลอด ทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทฝรั่ง หรือบริษัทไหนที่ทำงานให้กับทางการลิเบีย จะได้รับเงินค่างวดล่าช้า 3-5 เดือน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ได้เข้าไปช่วยเจรจาให้บริษัทนายจ้างให้จ่ายเงินเดือนแรงงานไทยก่อนเป็นกรณีพิเศษ ได้ชี้แจงไปว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสิ้นเขามา จึงอยากให้ออกเงินตรงตามเวลา เพราะต้องนำไปใช้หนี้

"ทางการลิเบียได้มีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจากหลายประเทศเข้าไปรับทำงาน มีบริษัทจากตุรกี อียิป และแคนาดา แต่บิเบียชื่นชอบแรงงานไทย เพราะฝีมือดีมาก มีความปราณีต และยังอยากให้เข้ามามากๆ แต่ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นทั้งที่ไม่ใช่เรื่องก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อไทย ที่ผ่านมาแรงงานอินเดียและบังคลาเทศก็เคยมีปัญหาลักษณะนี้ จนถูกทางการลิเบียขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามเข้าแล้ว ดังนั้นการที่แรงงานไทยสร้างปัญหาอาจทำให้แรงงานไทยโดยรวม ได้รับความเสียหาย หากรัฐบาลลิเบียขึ้นแบล็กลิสต์จะทำให้ตลาดแรงงานไทยในลิเบีย 2.6 หมื่นคนพังทันที ทั้งที่แรงงานเหล่านี้นำเม็ดเงินที่เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท"เอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลีกล่าว

ทั้งนี้ ลิเบียเป็นตลาดแรงงานไทยที่ใหญ่มาก ขณะนี้กำลังพัฒนาประเทศอย่างมาก มีการลงทุนเงินเป็นแสนๆ ล้านในการพัฒนาประเทศ กำลังมีงานก่อสร้างมากมายทั้งประเทศ และจะมีการจ้างแรงงานจำนวนมากในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถือเป็นโอกาสทองของแรงงานไทย จึงอยากให้ไทยเรารักษาตลาดนี้เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราเสียตลาดแรงงานที่เกาหลีไปแล้ว หลังเราถูกแบล็กลิสต์ เพราะแรงงานไทยชอบประท้วง จึงเป็นห่วงแรงงานไทยในลิเบียบางคนที่สร้างปัญหาอาจทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ

นายโอภาส กล่าวว่า อยากให้กระทรวงแรงานได้ทำความเข้าใจเรื่องกฎ-ระเบียบให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานในลิเบียให้เข้าใจก่อน อยากให้กลั่นกรองแรงงานให้ดี เพราะเวลานี้มีหัวโจกเพียงไม่กี่คน ทำให้แรงงานส่วนใหญ่เดือดร้อน หากทางการลิเบียเลิกจ้างแรงงานไทย และหันไปใช้แรงงานฟิลิปปินส์ หรือแรงงานชาติอื่นแทนจะทำให้เราเสียหายมหาศาล เพราะสิ่งที่แรงงานไทยร้องเรียนทางการลิเบียเขากลัวเสียชื่อเสียง และเสียภาพพจน์ เพราะบริษัทที่เข้าไปรับงานทางลิเบียไม่เคยโกงชาติไหนเลย

 (โพสต์ทูเดย์, 1-9-2553)

“ที่ปรึกษาเฉลิมชัย” เรียกแจงปัญหาแรงงานลิเบีย พร้อมตรวจสอบพื้นที่

ที่รัฐสภา  นายสุธรรม นทีทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงปัญหาแรงงานไทยในลิเบียที่เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลปัญหาแรงงานไทยที่กำลังประสบปัญหากับบริษัทนายจ้างในลิเบียว่า ขณะนี้ตนได้เรียกให้บริษัทจัดหางานที่เป็นผู้นำเข้าแรงงานไทยในลิเบียเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว และกำลังเชิญแรงงานไทยที่มีปัญหาดังกล่าวมาให้ข้อมูล ซึ่งตนจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดก่อนเดินทางไปตรวจสอบสถานที่จริงของบริษัทนายจ้างในลิเบีย พร้อมเข้ารับข้อมูลจากสถานทูตไทยในลิเบีย จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาต่อไปด

ขณะที่นายโอภาส จันทรทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย กล่าวว่าหลังจากมีปัญหาดังกล่าวตนได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทันที โดยตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กงศุลได้เดินทางไปประชุมกับผู้แทนแรงงานไทยบริษัท arsel-bena wa  tasheed joint  venture  จำนวน 13 คน โดยมีผู้แทนของบริษัทนายจ้างดังกล่าว และประธานบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัดร่วมประชุมด้วย โดยได้ชี้แจงให้แรงงานไทยเข้าใจว่าปกติการจ่ายค่าแรงงานที่ลิเบียจะเริ่มจ่ายในเดือนที่ 3 หลังเข้าทำงานแล้ว เพราะบริษัทส่วนใหญ่ทำงานให้กับทางการลิเบียและมีการเก็บเงินเป็นงวดๆจากรัฐบาล อย่างไรก็ตามมีปัญหาติดขัดบ้างจากรัฐบาลจึงทำให้บริษัทนายจ้างเก็บเงินล่าช้า แต่ไม่เคยมีบริษัทไหนไม่จ่ายหรือโกงแรงงานไทย

“การร้องเรียนของแรงงานไทย ถือเป็นเรื่องเกินเลยความจริง ไม่ว่าเรื่องโกงค่าแรงงาน ไม่ว่าตกนรกในลิเบีย ผมอ่านข่าวแล้วตกใจ เพราะหลายเรื่องเป็นการร้องเรียนแบบเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่ว่าการอ้างที่พักแอร์ไม่เย็น ไม่ว่าอ้างอาหารไม่อร่อย อย่างไรก็ตามผมรับฟังปัญหาแล้วก็ช่วยเหลือแก้ไข หรือแม้กระทั่งช่วยประสานให้บริษัทนายจ้างซื้อข้าวมาให้แรงงานไทยเป็นกรณีพิเศษ เพราะต้องนำเข้าและมีราคาแพงมาก แต่แรงงานไทยยังไม่พอใจ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน”

นายโอภาส กล่าวด้วยว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนหรือถือศิลอด ทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทฝรั่งหรือบริษัทไหนที่ทำงานให้กับทางการลิเบียจะได้รับเงินค่างวดล่าช้า 3-5 เดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เป็นเหมือนกันทุกบริษัท อย่างไรก็ตามตนได้เข้าไปช่วยเจรจาให้บริษัทนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานไทยก่อนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งได้ชี้แจงไปกว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่กู้หนี้ยืมสิ้นเขามา จึงอยากให้ออกเงินตรงตามเวลา เพราะต้องนำไปใช้หนี้สินดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดบริษัทนายจ้าง

นายโอภาส กล่าวว่า ที่ลิเบียได้มีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจากหลายประเทศเข้าไปรับทำงาน โดยเฉพาะมีบริษัทจากตุรกี บริษัทอียิปและบริษัทแคนาดาที่เข้าไปรับงานทางการลิเบีย ต่างชื่นชอบแรงงานไทย เพราะฝีมือดีมาก มีความปราณีต ขยันและอดทน และต้องการให้เข้ามาเยอะๆ แต่ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นมาทั้งที่ไม่ใช่เรื่องก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อไทย เพราะที่ผ่านมาแรงงานอินเดียและแรงงานบังคลาเทศเคยมีปัญหาและถูกทางการลิเบียแบล็กลิสต์ห้ามเข้าแล้ว ซึ่งการที่แรงงานไทยสร้างปัญหาขึ้นมาอาจทำให้แรงงานไทยโดยรวมได้รับความเสียหาย หากรัฐบาลลิเบียแบล็กลิสต์แรงงานไทยจะทำให้ตลาดแรงงานไทยในลิเบีย 2.6 หมื่นคนพังทันที เป็นความเสียหายมหาศาลกับเม็ดเงินที่เข้าประเทศไทยปีนับหมื่นล้านบาท เป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง ทั้งที่ลิเบียเป็นตลาดแรงงานไทยที่ใหญ่มาก และขณะนี้เขากำลังมีการพัฒนาประเทศอย่างมาก มีการลงทุนเงินเป็นแสนๆล้านในการพัฒนาประเทศ กำลังมีงานก่อสร้างมากมายทั้งประเทศ และจะมีการจ้างแรงงานจำนวนมากในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถือเป็นโอกาสทองของแรงงานไทยเราที่จะขนเงินกลับประเทศ จึงอยากให้ไทยเรารักษาตลาดนี้เอาไว้

นายโอภาส กล่าวด้วยว่าขณะนี้เราเสียตลาดแรงงานที่เกาหลีไปแล้วหลังเราถูกแบล็กลิสต์เพราะแรงงานไทยไปสร้างความวุ่นวายชอบประท้วง ตนจึงเป็นห่วงตลาดแรงงานไทยในลิเบียที่มีแรงงานก่อกวนแค่เล็กน้อยนที่อาจทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ผมเห็นข่าวแล้วกลุ้มใจ เพราะบริษัทนายจ้างเขาจ้างแรงงานเป็นพันๆคนจากหลายชาติ แต่ไม่มีชาติไหนประท้วงวุ่นวายเหมือนแรงงานไทยเลย เป็นห่วงแรงงานนิสัยไม่ดีจำนวนน้อยจะส่งผลกระทบถึงแรงงานจำนวนมาก

“ผมได้รายงานข้อเท็จจริงมาที่กระทรวงการต่างประเทศแล้ว และทางการลิเบียเริ่มไม่พอใจกับปัญหาแรงงานไทย และอาจกระทบความสัมพันธุ์ระหว่างประเทศ และหลังแรงงานไทยมีปัญหาทางบริษัทนายจ้างได้ขอยกเลิกจ้างแรงงานไทยกลุ่มนี้ 90 คนแล้วตั้งแต่ 1 ส.ค. เพราะเบื่อระอา คาดว่าจะได้กลับถึงไทยต้นเดือนกันยายน โดยทางบริษัทยอมเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ทุกอย่าง ขณะนี้ผมได้ประสานบริษัทนายจ้างซึ่งรับปากจะชำระเงินเดือนที่ค้างทั้งหมดให้ก่อนเดินทางกลับ จึงไม่ต้องห่วง และแม้เลิกจ้างแล้วทางบริษัทก็ยังให้ที่พักอาศัยพร้อมอาหารดูแลจนถึงวันเดินทางกลับ”

นายโอภาส กล่าวว่าจากนี้ไปก่อนส่งแรงงานไปลิเบียอยากให้กระทรวงแรงานได้ทำความเข้าใจเรื่องกฎ-ระเบียบให้แรงงานเข้าใจก่อน และอยากให้กลั่นกรองแรงงานให้ดี เพราะเวลานี้มีหัวโจกเพียงไม่กี่คนทำให้เดือดร้อนส่วนรวม ซึ่งหากทางการลิเบียเลิกจ้างแรงงานไทย และหันไปใช้แรงงานฟิลิปปินส์หรือแรงงานชาติอื่นจะทำให้เราเสียหายมหาศาล เพราะข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ทางการลิเบียเขากลัวเสียชื่อเสียง กลัวเสียภาพพจน์ เพราะบริษัทที่เข้าไปรับงานทางลิเบียไม่เคยโกงชาติไหนเลย

นายโอภาส กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาแรงานไทยที่ไปทำงานที่ลิเบียหลายบริษัทมีสวัสดิการที่ดี คือเมื่อทำงานครบ 2 ปีจะได้ตั๋วฟรีกลับไทยมาเยี่ยมญาติพร้อมเงินเดือนให้เปล่า ซึ่งเขาให้สิทธิพิเศษแรงงานไทยประเทศเดียว เพราะชื่นชอบในฝีมือที่ดี ซึ่งใครที่ไปทำงานเกิน 2 ปีส่วนใหญ่กลับมาสบายหมด หากไม่นำเงินไปใช่สุรุ่ยสุร่าย

(แนวหน้า, 1-8-2553)

ปลัดแรงงานยืนยันเพิ่มสิทธิผู้ประกันตนอีก 6 กรณี ไม่กระทบกองทุน

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้ สปส.เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนอีก 6 กรณี ประกอบด้วย เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 12,000 บาทเป็น 13,000 บาท เงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท ค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นครั้งละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง สิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม เพิ่มสิทธิในการรักษาโรคจิต และเพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพจากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาทเป็น 4,000 บาท ว่า เรื่องดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่กระทบกับเงินของกองทุนประกันสังคม เพราะใช้เงินเพียงแค่ 1,000 ล้านบาท หากคิดจากฐานกำไรปีที่ผ่านมากว่า 24,000 ล้านบาท ถือว่าสัดส่วนที่ไม่มากจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม แต่ในทางกลับกันผู้ประกันตนได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นถึง 6 กรณี

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส.ครั้งที่ผ่านมายังอนุมัติให้ปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 7-10 เป็นร้อยละ 7-11 เนื่องจากมองว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นช่วงขาขึ้น ขณะที่สถานการณ์ความผันผวนในตลาดหุ้นก็เริ่มนิ่ง แต่ก็ยังคงเน้นลงทุนในหุ้นที่มีเสถียรภาพ และหุ้นมีกำไรดี ทั้งนี้ ได้ประมาณการว่ากองทุนประกันสังคมจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มการลงทุนครั้งนี้ถึง 30,000 ล้านบาท

 (สำนักข่าวไทย, 1-9-2553)

จนท.พิทักษ์ป่า 5 หมื่นคนเคว้งถูกเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า มีลูกจ้างจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้มาร้องเรียนว่าลูกจ้างชั่วคราวของ ทั้ง 2 กรม ประมาณ 5 หมื่นคน กำลังจะถูกเลิกจ้าง เนื่องจาก ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระเบียบของ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ได้มีหนังสือถึงกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ โดยอ้าง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ส่วนราชการยุบตำแหน่งข้าราชการที่เกษียณอายุ ตำแหน่งลูกจ้างประจำหมวดแรงงาน ที่ว่างลง และให้ทบทวนงานที่สามารถถ่ายโอนให้เอกชนรับไปดำเนินการแทน ซึ่งจะกระทบกับลูกจ้างของ กรมอุทยานฯ โดยเฉพาะพนักงานพิทักษ์ป่าจำนวนกว่า 3 หมื่นอัตรา และลูกจ้างของกรมป่าไม้อีกประมาณ 2 หมื่นในอัตราทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ มาหารือกันแล้ว ได้ข้อสรุปว่า กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ไม่สามารถใช้วิธีการจ้างเหมาโดยบริษัทเอกชนได้ เนื่องจาก ลักษณะงานไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ลูกจ้างของกรมอุทยานฯ ส่วนใหญ่ ซึ่งมีมากกว่า 3 หมื่นคน จะต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ป่า ทั้งในเรื่องการพิทักษ์รักษาป่า การลาดตระเวนสอดส่อง การดับไฟป่าและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้คนท้องถิ่นในพื้นที่ ที่มีความชำนาญการเฉพาะตัว ไม่สามารถเอาคนของบริษัทเอกชนมาทำงานแบบจ้างเหมาได้ ทั้งนี้ ในเบื่องต้นได้ชี้แจงกับอธิบดีกรมบัญชีกลางแล้ว

“พนักงานพิทักษ์ป่าของกรมอุทยานฯ ส่วนใหญ่ ชีวิตค่อนข้างลำบาก เสี่ยงภัย ขณะที่เงินเดือนก็ไม่มากประมาณ 4 - 5 พันบาทเท่านั้น และไม่ได้ออกทุกเดือนต้องรอตกเบิก 3 - 4 เดือนต่อครั้ง แต่ทำงานด้วยใจ เพื่อรักษาทรัพยากรฯ ในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งพนักงานแต่ละคนจะมีความชำนาญเฉพาะด้าน ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาที่เฮลิคอปเตอร์คณะของนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ตกที่ จ.น่าน ได้อาศัยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่เป็นผู้ค้นหา เพราะมีความชำนาญและรู้จักสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี การจะเอาคนนอกมาทำนั้นไม่สามารถทำได้ และไม่เหมาะสมอย่างมาก ซึ่งเมื่อชี้แจงไปแล้วหวังว่ากรมบัญชีกลางจะเข้าใจ ทั้งนี้การจ้างงานของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ฯ ไม่เหมือนการจ้างงานของหน่วยงานอื่นๆ เพราะรูปแบบการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภารกิจอื่นๆ เช่น พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่ดูแลอาคารสถานที่ หรือ ผู้ดูแลบ้านพักตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ อาจจะพิจารณาว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการให้เข้าเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางตามความเหมาะสม 

ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว พนักงานพิทักษ์ป่าควรจะมีสวัสดิการและสวัสดิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนเหล่านี้เสียสละตัวเองทุกอย่าง ขณะที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพราะพวกลักลอบตัดไม้ต้องการจะเอาชีวิตเพราะไปขัดขวางงานของพวกเขา ยืนยันว่าเวลานี้พนักงานพิทักษ์ป่ามีจำนวนไม่เพียงพอกับภารกิจและงานที่กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้มีอยู่แล้ว นอกจาก ลดจำนวนลงไม่ได้แล้ว ยังต้องขอเพิ่มกำลังคนอีกด้วย ทั้งนี้การยุบรวมทั้ง 2 หน่วยงานเข้าด้วยกันก็จะทำให้ภารกิจการดูแลรักษาป่าทำได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

(ไทยรัฐ, 2-9-2553)

บริษัทจัดส่งคนงานไปลิเบียยอมจ่ายเงินคืนให้แรงงาน 9 คน แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (3 ก.ย.) แรงงานจาก 3 อำเภอ ใน จ.บุรีรัมย์ คือ หนองหงส์  ห้วยราช  ลำปลายมาศ และ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา จำนวน 9 คน ได้เดินทางมารับเงินค่าบริการจัดส่งคนงานไปต่างประเทศ คืนจากบริษัทจัดหางาน  “เงินและทองพัฒนา จำกัด”  รายละ 35,000-40,000 บาท รวมเป็นเงิน 320,000 บาท  หลังได้เข้าร้องทุกข์กับจัดหางานจังหวัด ใน 2 กรณี คือ ขอค่าบริการ หรือค่านายหน้าจัดส่งไปทำงานคืนจากบริษัทบางส่วน และขอให้ช่วยติดตามเงินจากนายจ้างที่ประเทศลิเบีย ซึ่งยังค้างจ่ายค่าจ้าง 1-2 เดือน

อย่างไรก็ตาม มีแรงงาน 1 คน ปฏิเสธไม่ยอมรับเงินคืน โดยอ้างว่าบริษัทจ่ายเงินให้ไม่ตรงตามจำนวน  จึงร้องขอให้จัดหางานจังหวัดดำเนินการตรวจสอบให้  ส่วนกรณีนายจ้างที่ประเทศลิเบียยังค้างจ่ายค่าจ้างนั้น  นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ รับปากจะเร่งตรวจสอบเอกสารส่งให้กรมการจัดหางาน เพื่อติดตามเร่งรัดนำเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายมาคืนให้กับแรงงานทั้งหมด

ทั้งนี้ แรงงานรายใหม่ที่ต้องการไปขายแรงงานในต่างประเทศ สามารถไปลงทะเบียนที่ศูนย์ทะเบียนคนหางาน ภายในสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด เพื่อรับการคัดเลือกไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านนายหน้าหรือบริษัทจัดหางาน ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย และป้องกันปัญหาการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้น

(สำนักข่าวไทย, 3-9-2553)

สหรัฐฯดำเนินคดีบริษัทหลอกลวงแรงงานไทย 400 คน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าคณะลูกขุนในเมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวายของสหรัฐฯ ตั้งข้อหาพนักงาน 4 คนของบริษัทโกลบอล ฮอไรซ่อนส์ แมนพาเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครลอสแองเจลลีสร่วมกับพนักงานจัดงานแรงงานคนไทยอีก 2 คน คือนางรัตวรรณ ชุนหฤทัยและนางพจนี สินชัย ในข้อหาหลอกลวง ขู่เข็ญและบังคับคนงานไทย 400 คน ให้ใช้แรงงานในไร่บนเกาะฮาวายในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2547 ถึงกันยายน 2548 หลังจากที่ใช้เวลารวบรวมหลักฐานอยู่นานก่อนที่จะเข้าจับกุมและตั้งข้อหาต่อพนักงานดังกล่าวเมื่อวานนี้

ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าพนักงานบริษัทนี้ล่อลวงคนไทยกลุ่มดังกล่าวเข้าเมืองแล้วยึดหนังสือเดินทางไว้พร้อมกับบังคับให้จ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหางานหลายพันดอลลาร์สหรัฐหรือหลายแสนบาท และถูกขู่ว่าจะส่งกลับประเทศหากไม่ยอมทำงาน โดยผู้ต้องหาคนไทยที่ร่วมขบวนการดังกล่าวคือนางรัตวรรณ อาจรับโทษสูงสุด 65 ปี ขณะที่นางพจนีอาจต้องโทษจำคุกระหว่าง 5-10 ปี

(สนุกดอทคอม, 4-9-2553)

เตรียมตั้ง สนง.ช่วยเหลือชาวพม่าในระนอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีความเคลื่อนไหวขององค์กรสิทธิมนุษยชนของพม่า ในชื่อสมาคมช่วยเหลือแรงงานพม่า ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ และที่ประเทศไทยมีสำนักงานอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดระนอง เพื่อเตรียมตั้งสำนักงานสาขาใน จ.ระนอง พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านกฏหมายเข้ามาประจำสำนักงาน จำนวน 2 คน เพื่อคอยให้การช่วยเหลือแรงงานพม่าที่อยู่ใน จ.ระนอง ในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ หรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง รวมถึงการรับบริการด้านสาธารณสุข

นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่ทนายความชาวพม่า เข้ามาประจำการเพื่อคอยให้คำปรึกษาและต่อสู้ทางกฏหมาย หากแรงงานพม่าถูกเจ้าหน้าที่ของไทยจับกุมในข้อหาต่างๆ

จากเรื่องดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายมนัส พิศุทธิกฤตยา ป้องกันจังหวัดระนอง กล่าวว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลเรื่องดังกล่าว แต่หากองค์กรใดหรือหน่วยงานใดจะเข้ามาตั้งสำนักงานใดๆ ก็สามารถดำเนินการได้ ภายใต้กรอบของกฏหมายไทย และคงจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ไทย เนื่องจากการปฏิบัติในปัจจุบันเป็นการดำเนินการตามกฏหมาย ซึ่งเป็นสิ่งดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะกรณีปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย

(เนชั่นทันข่าว, 4-9-2553)

รง.แม่สอดสั่งปิดกิจการ หวั่นถูกจับแรงงานต่างด้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า ขณะนี้สถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไม่น้อยกว่า 20 - 30 แห่ง ต่างปิดกิจการหลบเลี่ยงการจับกุม หลังชุดเฉพาะกิจปราบปรามแรงงานต่างด้าว จากส่วนกลาง หรือ คณะปราบปรามจับกุม ตรวจสอบแรงงานผิดกฎหมาย ที่ทางรับบาลตั้งขึ้นมา ได้กรายลงพื้นที่เพื่อทำการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวเถื่อน

โดยเริ่มลงพื้นที่กวาดล้างจับกุมแรงงานเถื่อนไปแล้วในพื้นที่อำเภอแม่สอด กว่า 300 - 400 คน และนำส่งให้ทางตรวจคนเจ้าเมืองจังหวัดตากดำเนินการผลักดันกลับประเทศตามระเบียบต่อไป

ข่าวแจ้งว่า สถานประกอบการในแม่สอดบางแห่งยังคงเปิดกิจการต่อไป เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย บางแห่งเปิดกิจการ แต่นำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายออกไป

ส่วนที่หยุดกิจการชั่วคราว คือกลุ่มที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนมากได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ในการทำหนังสือเดินทางเข้าไปพื้นที่ชั้นใน เพราะผู้ประกอบการในพื้นที่ถูกแย่งแรงงานมีฝีมือไป จึงจำเป็นต้องหาแรงงานใหม่มาทดแทน และผิดกฎหมาย

(เนชั่นทันข่าว, 4-9-2553)

สปสช.รับลูกถกขยายมาตรา 41 (ไทยรัฐ, 4-9-2553)

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการขยายมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ นอกเหนือจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ตามที่มีแพทย์กลุ่มหนึ่งเรียกร้อง แทนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ว่า ในวันที่ 13 ก.ย. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จะสามารถขยายมาตรา 41 ได้หรือไม่  แต่โดยหลักการแล้วหากขยายกฎหมายก็หมายความว่าต้องแก้กฎหมาย  เหมือนกับต้องร่างกฎหมายอีกฉบับอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องอยู่ที่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.

(ไทยรัฐ, 4-9-2553)

สหภาพฯกสทลุ้นศาลรับฟ้อง 3 จี 7 ก.ย.

สหภาพฯ กสท ฟ้องศาลปกครอง ชี้ กทช.ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นเปิดประมูล 3 จี ลุ้นศาลรับฟ้องหรือไม่ 7 ก.ย.นี้ แจงเทคโนโลยีบนไลเซ่นใหม่รันได้ทั้งภาพ วีดิโอ คอนเทนท์ คาบเกี่ยวกิจการกระจายเสียงจำเป็นต้องรอ กสทช. ระบุประกาศ กทช.เอื้อประโยชน์โอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ ให้สิทธิโรมมิ่ง 3 จี มา 2 จีได้ แต่โรมมิ่งกลับคืนไม่ได้ ถือเป็นการกีดกั้นการค้า "จิรายุทธ" เผยการฟ้องไม่ใช่มติบอร์ด เป็นเพียงการดำเนินการของสหภาพฯ

นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า วานนี้ (3 ก.ย.) ได้ร่วมกับตัวแทนสหภาพฯ กสท เดินทางไปยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อเวลา 11.00 น. ในกรณี กทช.จะเตรียมการเปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ วันที่ 20 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ สหภาพฯ กสท เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ได้ระบุให้จัดตั้งองค์กรอิสระ ในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม และกิจการกระจายเสียง ดังนั้น ไลเซ่น 3 จี จำเป็นต้องรอคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน กทช. ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นตามที่กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ ตามมารยาท กทช.ควรต้องรอให้มีประกาศใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายวิทยุ กระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... เสียก่อน ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

นายสุขุม กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ เวลา 16.00 น. ศาลปกครองกลางจะประกาศว่าจะรับคำฟ้องดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้ชี้แจงเบื้องต้นแล้ว ว่า ไม่สามารถเปิดไต่สวนฉุกเฉิน และคุ้มครองฉุกเฉินได้ เนื่องจากขั้นตอนการประมูล 3 จี ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว) จากจำนวนโอเปอเรเตอร์ที่ยื่นซองแสดงความจำนง มีจำนวน 3 ราย ดังนั้น ขั้นตอนการประมูลยังถือว่าไม่เกิดขึ้นจริง และยังไม่มีมูลค่าความเสียหาย

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีต่อ กสท หากเปิดประมูลไลเซ่น 3 จี คือ การให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ แบรนด์ "แคท ซีดีเอ็มเอ" ที่มีศักยภาพรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว จะเสียเปรียบคู่แข่งที่ได้ไลเซ่น 3 จีทันที นอกจากนี้ จากประกาศ กทช.ที่ระบุห้ามไม่ให้ระบบ 2 จีโรมมิ่งมายัง 3 จี แต่ให้ 3 จีสามารถโรมมิ่งมายัง 2 จีได้ ถือเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ การที่ กทช.ระบุให้โอเปอเรเตอร์ที่จะเปิดบริการ 3 จี จะต้องเปิดบริการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ตทิบิลิตี) ด้วย ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายใหญ่อย่างเห็นได้ชัด เพราะจะสามารถผ่องถ่ายลูกค้าข้ามไปมาได้ จะยิ่งเป็นผลกระทบต่อองค์กรอย่างมาก

"แม้ว่าที่ผ่านมา สหภาพฯ ทุกหน่วยงาน ทั้ง กสท และ บมจ.ทีโอที ได้เคยขอเข้าพบนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อขอให้ระงับการเปิดประมูลไลเซ่น 3 จี เพราะจะยิ่งทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเกิดความเสียหาย แต่ก็ไม่ได้มีคืบหน้าแต่อย่างใด" นายสุขุมกล่าว

(กรุงเทพธุรกิจ, 4-9-2553)

สหภาพแรงงานขสมก.ค้านเออร์ลีพนักงาน

นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เข้าพบนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อยื่นข้อเสนอแนะการดำเนินโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน และคัดค้านการจัดเก็บค่าโดยสารด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-ticket แทนใช้พนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับการเออร์ลีรีไทร์

"พนักงานที่ตัดสินใจเข้าโครงการเออร์ลีรีไทร์ เพราะไม่มีทางเลือก และ ขมสก.กำหนดแรงจูงใจไว้สูงมาก เช่น จ่ายชดเชย 3 เดือนสำหรับอายุงาน 1 ปี อายุงานเกิน 10 ปี ชดเชย  30 เดือน" นายธราดล กล่าว

นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังเห็นว่า การจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ควรใช้วิธีจัดซื้อแทนวิธีเช่า และควรพิจารณาศักยภาพบริหารจัดการของ ขสมก.ด้วย  โดยระยะแรกควรจัดหารถก่อน 2,000 คัน เพื่อไม่ให้เกินความสามารถรองรับรถเมล์ของอู่ ที่มี 5 แห่ง หากจัดหาอู่เพิ่มได้จึงค่อยพิจารณาจัดหารถเมล์เพิ่มในอนาคต แต่หากจัดหารถเมล์เอ็นจีวีทั้ง 4,000 คันทันที จะทำให้ ขสมก.ต้องมีภาระลงทุนอู่รถเมล์เพิ่ม ซึ่งใช้เงินสูงมาก

"ข้อเสนอของสหภาพฯ ครั้งนี้ จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อมูลแหล่งอื่นๆ ก่อน ซึ่งที่ผ่านมา นายไตรรงค์มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญงานโลจิสติกส์และขนส่ง ร่วมกันวิเคราะห์ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เออร์ลีรีไทร์พนักงาน 2,300 ราย ที่ยังไม่เข้าโครงการ 2.โครงการรถเมล์ฟรีถาวร ที่กระทบต่อโครงการรถเมล์เอ็นจีวี โดยเฉพาะจำนวนผู้โดยสารและรายได้ 3. การเชื่อมโยงกับรถร่วมบริการเอกชน รวมถึงทำแผนใช้งบจัดหาอู่จอดรถ สถานีเอ็นจีวี และจ่ายชดเชยพนักงานที่เออร์ลีรีไทร์ คาดว่าใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ก่อนเสนอ ครม."

นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน รองประธาน สร.ขสมก.กล่าวว่า  สหภาพฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดหารถโดยสารเอ็นจีวีล็อตแรก 500-1,000 คัน มาให้ ขสมก.ก่อน เพราะปัจจุบันรถโดยสารมีไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยมีรถจอดเสีย 700 คัน จากทั้งหมด 3,500 คัน ขณะที่รถโดยสารที่ให้บริการอยู่มีอายุใช้งานเฉลี่ย 12-17 ปี

นอกจากนั้น ยังเสนอให้ชะลอติดตั้งระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ จนกว่าจะมีรถเมล์เอ็นจีวีครบ 4,000 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับการเกษียณอายุของพนักงาน ซึ่งจะทำให้ ขสมก.ไม่ต้องบังคับพนักงานลาออกก่อนกำหนด เพราะปกติแต่ละปีจะมีพนักงานเกษียณ 400-500 คน

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เพื่อชี้แจงข้อสงสัยแก่ ครม.ใน 3 ประเด็น  คาดว่าจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งภายใน 2 เดือน และหาก ครม.อนุมัติ จะเริ่มทยอยรับมอบรถโดยสารใช้เอ็นจีวีปี 2555

(กรุงเทพธุรกิจ, 4-9-2553)

เผยตัวเลขคนว่างงาน 4.5 แสนคนกรมจัดหาฯยันสถานการณ์ปกติ

น.ส.ส่งศรี บุษบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุว่าภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่า 1 แสนคน ว่า ขณะนี้สถานการณ์การว่างงานยังอยู่ในภาวะปกติ ไม่ได้มีการขาดแคลนแรงงานอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เป็นเพียงความต้องการที่ยังไม่ได้เอามาผนวกกับอัตราตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ ซึ่งตัวเลขล่าสุดยังไม่ได้บ่งบอกถึงการขาดแคลนแรงงานแต่อย่างใด

สำหรับตัวเลขความต้องการแรงงานที่ได้รับแจ้งจากสถานประกอบการทั่วประเทศล่าสุดในเดือนกันยายนนี้มีประมาณ 1.9 แสนอัตราเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ต้องการ 1.6 แสนอัตรา โดยตำแหน่งที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ พนักงานฝ่ายผลิตและแรงงานทั่วไป มีจำนวนประมาณ 5.6 หมื่นอัตรา รองลงมาเป็นพนักงานขาย2.1หมื่นอัตรา พนักงานสิ่งทอ6,900 อัตรา พนักงานธุรการ 6,000 อัตรา และเจ้าหน้าที่คลังสินค้า 4,800 อัตรา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดสามารถจัดหาคนงานเข้าบรรจุงานได้ประมาณ50% จากจำนวนผู้ลงทะเบียนว่างทั่วประเทศทั้งหมด 4.59 แสนคน

(แนวหน้า, 4-9-2553)

โพลระบุคนมีรายได้ไม่เกินหมื่นบาท/เดือน ร้อยละ 55.7 มีรายได้ลดลง

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “เปิดกระเป๋าเงินของคนทำงานผู้มีรายได้น้อย สะท้อนอารมณ์และความล้มเหลวของรัฐบาล : กรณีศึกษาตัวอย่างคนทำงานผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ใน 12 จังหวัดของประเทศ”  ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 988 ครัวเรือน โดยดำเนินการสำรวจในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจ พบว่า แต่ละเดือนผู้มีรายได้ไม่กิน 10,000 บาท มีค่าใช้จ่ายพอๆ กับรายได้ โดยมากเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เฉลี่ย 4,626.77 บาท รองลงมาเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เฉลี่ย 1,156.56 บาท และของใช้อุปโภค เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน เฉลี่ย 978.11 บาท

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงรายได้ส่วนตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ภาพรวมพบว่า เกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 55.7 มีรายได้ลดลง ขณะที่ร้อยละ 38.7 เท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 5.6 ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อจำแนกตามการมีรายได้ประจำ พบว่า ผู้ไม่มีเงินรายได้ประจำ มีรายได้ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีรายได้ประจำ โดยรายได้ลดลงร้อยละ 58.0 และ 38.1 ตามลำดับ ในทางกลับกันเมื่อสอบถามถึงรายจ่ายส่วนตัว โดยภาพรวมพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 60.2 มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 25.0 ระบุว่าเท่าเดิม และร้อยละ 14.8 ระบุว่ามีรายจ่ายลดลง ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ และไม่มีรายได้ประจำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามต่อถึงการมีเงินออม โดยภาพรวมพบว่าตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.8 ไม่มีเงินออม โดยไม่แตกต่างกันมากนักไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้ประจำหรือไม่มี สำหรับตัวอย่างร้อยละ 34.2 ที่มีเงินออมนั้น โดยภาพรวมพบว่ามีเงินออมเฉลี่ย 1,369.37 บาทต่อเดือน ซึ่งร้อยละ 37.2 มีเงินออมในแต่ละเดือนไม่เกิน 500 บาท รองลงมาร้อยละ 26.5 มีเงินออม 501 – 1,000 บาท และร้อยละ 18.5 มีเงินออม 1,001 – 2,000 บาท ส่วนผู้ที่มีเงินออมมากกว่านี้ มีสัดส่วนลดหลั่นลงไป  ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายได้ประจำมีเงินออมมากกว่าผู้ไม่มีรายได้ประจำเล็กน้อย เฉลี่ย 1,535.22 บาท และ 1,342.02 บาท ตามลำดับ

ส่วนความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  ผลสำรวจพบว่าแม้โดยภาพรวมตัวอย่างร้อยละ 47.3 ระบุเชื่อมั่นเท่าเดิม แต่พบว่าสัดส่วนของกลุ่มที่ระบุเชื่อมั่นลดลงนั้นมีมากกว่ากลุ่มที่ระบุเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 39.3 และ 13.4 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาต่อไป ยังเห็นได้ชัดว่าผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำมีความเชื่อมั่นลดลงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ประจำ คิดเป็นร้อยละ 40.7 และ 28.8 ตามลำดับ

ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่เป็นผู้มีรายได้น้อยเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา และเกือบทุกอย่างดูเหมือนจะ “วน” อยู่ที่เดิม แค่เปลี่ยนชื่อคนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เท่านั้น  แต่วิธีคิดและแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองยังไม่ปรากฏให้เห็นว่ามี “การเปลี่ยนแปลง” หรือมี “อะไรใหม่” ให้นำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืน เพราะผลวิจัยครั้งนี้สะท้อนปัญหาเดิม ๆ ว่า คนไม่เชื่อมั่นต่อฐานะทางการเงินส่วนตัวของตนเอง และต่อความสามารถของรัฐบาล  สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งอยู่ที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปแต่เรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เดินตามรอยประเทศมหาอำนาจเกินไป

ทางออกตอนนี้อย่างน้อย 3 ประการคือ ประการแรก เร่งมุ่งเน้นไปที่ “ความเป็นธรรม” ที่ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมสู่ระดับท้องถิ่น เรื่องการเข้าถึงอาชีพ รายได้ที่เป็นธรรม การครอบครองทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ทำกิน การศึกษา ระบบสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น โดยระยะสั้นน่าจะมีโครงการบรรเทาคนรายได้น้อยที่ครอบคลุมทั้งประเทศในปัจจัยพื้นฐานคือ อาหาร และสาธารณูปโภคต่าง ๆ

ประการที่สอง เสนอให้ “กลุ่มนายทุน” หรือคนรวยช่วยเหลือคนจนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในลักษณะมูลนิธิหรือองค์กรไม่หวังผลกำไร และรัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มนายทุนเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง

และที่สำคัญ ประการที่สาม คือ ต้องแก้ “ปัญหาคอร์รัปชั่น” ในส่วนกลางและท้องถิ่น ที่เป็นปัจจัยทำให้ “ระบบเศรษฐกิจ” ทั้งทุนนิยมแบบประชาธิปไตยและไม่เป็นประชาธิปไตยพังไปหลายประเทศ ก่อให้เกิดการจลาจลต่อต้านรัฐบาลและผู้มีอำนาจมาหลายสมัยแล้ว จึงเห็นควรเสนอให้ปรับแนวทางแก้ปัญหาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หนุนเสริมความเข้มแข็งของประชาชนโดยเน้นไปที่ “ความเป็นธรรม” และโอกาสที่ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นปัญหาบ้านเมืองของประเทศจะ “วน” อยู่ที่เดิม สิ่งเลวร้ายเดิมๆ จะย้อนกลับมาซ้ำซาก และจะมีคนเพียงหยิบมือเดียวของประเทศที่จะอาศัยบ้านเมืองวุ่นวาย กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 58.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 41.2 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 17.6 อายุระหว่าง 25-30 ปี ร้อยละ 26.5 อายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 29.9 อายุระหว่าง 41-50 ปี และร้อยละ 26.0 อายุระหว่าง 51-60 ปี ตัวอย่างร้อยละ 51.9 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 22.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 14.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 5.2 สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส./อนุปริญญาหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.9 สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 37.6 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย ร้อยละ 31.3 ระบุอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 19.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 6.2 ระบุพนักงานเอกชน ร้อยละ 3.3 ระบุพนักงานโรงงาน และร้อยละ 2.4 ระบุรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 33.2 มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 66.8 มีรายได้ 5,001-10,000 บาท

(สำนักข่าวไทย, 5-9-2553)

คนงานไทยในลิเบียซึ้งใจทุกฝ่าย ช่วยเยียวยาจนได้ค่าหัวคิวคืน จวก "ทูต" เอียงเข้าข้างนายจ้าง

จากกรณีแรงงานไทยในประเทศลิเบีย ที่ตกระกำลำบาก มีความเป็นอยู่แร้งแค้น ถูกนายจ้างเอาเปรียบจ่ายเงินเดือนไม่ครบเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย และได้รับเงินค่าบริการหรือค่าหัวคิวคืน 8 รายแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.53 นายสนิท บุญทวี อดีตส.อบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์  ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนสพ.สยามรัฐ โดยระบุว่า ได้รับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจาก นางอนามัย  นุวงศ์  ภรรยาของ นายวัชรพงษ์  สุขกมลกุล  ที่ตกระกำลำบากในประเทศลิเบีย  นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างมาเป็นเวลา  2  เดือน  จึงได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือจาก นายชัชวาลย์  คงอุดม  อดีตส.ว.กทม. และคอลัมนิสต์ นสพ.สยามรัฐ  ทำให้ทางราชการ และบริษัทจัดหางาน เงินและทอง พัฒนา จำกัด บริษัท นายจ้าง ARSEL-BENA WA TASHEED JOINT VENTDRE  กระตือรือร้นประสานงานดำเนินการและทำให้คนงานได้เดินทางกลับบ้านประมาณ  80-90 คน เมื่อกลับมาทุกคนก็ได้เข้าร้องทุกข์ต่อกรมการจัดหางาน  เพื่อเรียกร้องเงินเดือนค้างจ่าย  ประกอบกับร้องขอให้บริษัทจัดหางานเยียวยาคืนเงินค่าบริการหรือค่าหัวคิวให้

จดหมายระบุต่อไปว่า กรมการจัดหางานได้ประสานเรื่องไปยังบริษัทจัดหางาน   ซึ่งต้องขอขอบคุณบริษัทจัดหางาน  ที่ช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนงานในครั้งนี้ โดยได้เยียวยาให้คนงานไทยแล้ว 8 รายๆ ละ 35,000-40,000 บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้เดินทางกลับและอีกจำนวนมากกลับมาแล้ว ยังไม่ได้รับการเยียวยา ส่วนหนึ่งยังต้องขอให้กรมการจัดหางาน  และบริษัทจัดหางานได้ช่วยเหลือติดตามเงินเดือนค้างจ่ายให้กับคนงานต่อไปด้วย

"ก่อนอื่นผมและคนงานทุกๆ คน ต้องขอขอบทีมงานสยามรัฐทุกคน ที่ได้นำเสนอสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของคนที่ใช้แรงงาน  จนนำไปสู่ การแก้ไขปัญหา  ขอบคุณ นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รมว.แรงงาน,  นายจีระศักดิ์  สุคนธชาติ  อธิบดีกรมการจัดหางาน,  นายสุวรรณ์  ดวงตา  จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ , คุณสุทธิรา  บรรจงทอง  เจ้าหน้าที่  เขต 9  ที่ให้ความกรุณาประสานสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือแรงงานไทย"

อย่างไรก็ตาม ข้อความในจดหมายนั้น นายสนิท ได้ตอบโต้เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องบริษัทนายจ้างและตำหนิแรงงานไทยว่าร้องเรียนเกินความเป็นจริง และขู่ว่าลิเบียอาจแบล็กลิสต์แรงงานไทยหันไปจ้างชาติอื่น

"เข้าใจปัญหาระหว่างประเทศ  แต่ไม่เห็นด้วยที่ท่านทูตออกมากล่าวเช่นนี้  แรงงานหยุดงานประท้วง  เรียกร้องค่าจ้างแรงงานที่ค้างจ่ายและจ่ายเงินเดือนล่าช้า  สวัสดิการ  ชีวิตความเป็นอยู่ของคนหางาน  สิทธิความเป็นมนุษย์  ที่ไม่ได้รับการดูแลจากนายจ้าง  มิได้เป็นการประท้วงรัฐบาลลิเบียและมิได้กล่าวโทษประเทศลิเบีย  ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานกลุ่มนี้  เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างไม่ปฏิบัติกับแรงงานให้เป็นไปตามสัญญา   คนหางานเรียกร้องสิทธิประโยชน์  ที่ไม่มีการตอบสนอง  คนหางานเป็นมนุษย์  มีเลือดเนื้อ  แม้แต่เครื่องจักรกล หากไม่ได้รับการดูแลหรือบำรุงรักษา  เครื่องจักรกลก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้เช่นกัน"

เนื้อหาในจดหมายระบุด้วยว่า สิ่งเหล่านี้อยากฝากถึงท่านทูต  ขอได้โปรดกรุณาไปสัมผัสด้วยตนเองว่า ชีวิตความเป็นอยู่แรงงานไทยแร้นแค้นลำบากอย่างที่คนหางานออกมาเรียกร้องหรือไม่  หากเป็นห่วงความสัมพันธ์ ระหว่างมิตรประเทศ   จนลืมนึกถึงความตกทุกข์ได้อยากของแรงงานไทย  อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง  ปัญหาทุกปัญหามีไว้ให้แก้ไข  เมื่อไม่อยากให้ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อมิตรประเทศ  ท่านและคณะรัฐบาลต้องรีบหาทางแก้ไข  เชื่อว่าคนหางานยังต้องการที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  แต่ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการใช้แรงงาน  ไม่เอารัดเอาเปรียบ  ถูกกดขี่  หรือถูกรังแก  ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา  และเหนือสิ่งอื่นใด  คนหางานต้องการเพียงเงินเดือนสวัสดิการที่ตรงกับสัญญาจ้าง  อย่างอื่นคิดว่าคนหางานคนไทยรับได้

จดหมายระบุอีกว่า คนงานไทย แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีความอดทน  สิ่งที่แรงงานตัดสินใจกู้เงินดอกเบี้ยโหดเพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ย่อมเป็นหลักประกันแล้วว่าคนหางาน  ยอมเสียสละความสุขของตัวเอง  เพื่อต้องการให้ครอบครัวมีความสุข  และมีเงินมาเลี้ยงครอบครัว  จะได้ไม่เป็นภาระกับประเทศ  อีกทั้งหาเงินทองเข้าประเทศ  ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น  คนหางานหาเงินมาสร้างบ้าน  ซื้อรถ  ในกรณีที่แรงงานประสบความสำเร็จ  ภาคแรงงานถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจ  เป็นฐานรากของประเทศ  หากประเทศใดขาดแคลนแรงงาน  ความเจริญก็ล่าช้า  ดังนั้นในฐานะที่เคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  และเข้าใจปัญหาแรงงานในต่างประเทศและในประเทศ  เพราะอาชีพของตน ก็บ่งบอกอยู่แล้วคืออาชีพรับจ้าง

จดหมายเปิดผนึก ระบุตอนท้ายว่า สิ่งที่ต้องการฝากไปถึงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทุกท่าน  ขอได้ให้ความสำคัญกับภาคแรงงาน  ให้สิทธิแรงงานได้รับการดูแลสวัสดิการคุ้มครองอย่างจริงจัง และอยากให้รัฐบาลหาวิธีค้ำประกันเงินกู้เพื่อคนหางานดอกเบี้ยต่ำ  และให้รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ในการใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  โดยให้คนงานที่ต้องหารเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ติดต่อบริษัทจัดหางาน  หรือกรมการจัดหางาน  เมื่อผ่านการทดสอบฝีมือ  มีนายจ้าง  มีหนังสือเดินทาง  ผ่านการตรวจสอบโรคที่ประเทศนั้นๆ ต้องห้ามแล้ว  ให้กรมการจัดหางานออกใบรับรองค้ำประกันเงินกู้  โดยให้ธนาคารที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการนี้ปล่อยสินเชื่อให้กับแรงงาน  คนหางานร้อยละ  90  เมื่อต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ส่วนใหญ่ต้องไปเช่าโฉนดที่ดิน  หนังสือรับรองการทำประโยชน์  นส.3 ก.  จากเพื่อนบ้าน  โดยมีค่าเช่าแปลงละ  2-3 หมื่นบาท แล้วนำไปกู้เงินดอกเบี้ยโหดอีกร้อยละ  3-5  บาท  หากรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ต้องการที่จะช่วยเหลือภาคแรงงานเล่านี้  ตนเห็นมีวิธีนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้ภาคแรงงาน ได้มีโอกาส ลืมตาอ้าปากได้

(สยามรัฐ, 5-9-2553)

สปส. เผยยอดผลตอบแทนการลงทุนครึ่งปีแรกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่าสำหรับการลงทุนในครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.2553 กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 15,223 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 12,380 ล้านบาท เงินปันผลและกำไรจากการขายหลักทรัพย์จำนวน 2,843 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรากฏว่ากองทุนมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 12,960 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ากองทุนมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2,263 ล้านบาท ซึ่งกองทุนประกันสังคมจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นประจำทุกปี โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมจำนวน 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยร้อยละ 7.55 ต่อปี

ทั้งนี้กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนที่ผ่านมารวม 707,730 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จำนวน 567,010 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคน ทั่วประเทศ สำหรับเงินลงทุนที่เหลือเป็นเงินกองทุนที่ดูแลผู้ประกันตนกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 94,746 ล้านบาท และเป็นเงินกองทุนกรณีว่างงาน 45,974 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในปี 2553 คาดว่าจะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท โดยคณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบให้คงสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ส่วนการลงทุนในหุ้นให้คงสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังเตรียมปรับกรอบการลงทุนเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในต่างประเทศการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางเลือกอื่น เพื่อเพิ่มช่องทางการลงทุนให้กับกองทุนประกันสังคมในระยะยาว

(บ้านเมือง, 5-9-2553)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" คว้าซีไรต์ 2553

Posted: 06 Sep 2010 02:16 AM PDT

6 ก.ย. 2553 - เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า หนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมซีไรต์ของไทย ได้แก่ รวมกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ชื่อ "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" ของ ซะการีย์ยา อมตยา

"ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา (สำนักพิมพ์หนึ่ง) เป็นกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) ที่มีความสั้น-ยาวแตกต่างกันตั้งแต่ 11 บรรทัดจบในครึ่งหน้าจนถึงร้อยกว่าบรรทัดหลายหน้าจบ รวม 36 บท โดยสื่อประสบการณ์และทัศนะอันหลากหลายของผู้แต่ง ตั้งแต่การสำรวจตนเอง ทัศนะต่อบทบาท ธรรมชาติ หน้าที่ของกวีและกวีนิพนธ์ ไปจนถึงทัศนะต่อมนุษย์ ชีวิต ปรากฏการณ์และสถานการณ์ร่วมสมัยในสังคมทั้งในระดับบุคคลและก้าวไปถึงระดับ มนุษยชาติโดยเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมคิดไปกับเขา แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ผู้อ่านและผู้แต่งมองเห็นหรือค้นพบอาจไม่ใช่สิ่ง หรือคำตอบเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ในการประกาศผลรอบแรกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ซึ่งปีนี้เป็นการตัดสินประเภทกวีนิพนธ์ มีผลงานส่งชิงรางวัล 71 เล่ม และ 6 เล่มที่เข้ารอบสุดท้ายคือ

1."ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง" ของศิริวร แก้วกาญจน์ (สำนักพิมพ์ผจญภัย) รวมกวีนิพนธ์ของนักเขียนรางวัลศิลปาธร

2."เดินตามรอย" ของวันเนาว์ ยูเด็น (แพรวสำนักพิมพ์) โคลงโลกนิติ 80 บท เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา

3."ในความไหวนิ่งงัน" ของ "นายทิวา" (สำนักพิมพ์ออน อาร์ต) กวีนิพนธ์ที่สะท้อนการเมืองท่ามกลางความขัดแย้ง และเสนอแนวทางแก้ปัญหา

4."เมืองในแสงแดด" ของโกสินทร์ ขาวงาม (สำนักพิมพ์คำสมัย) บทร้อยกรองสะท้อนภาพชีวิตประจำวัน

5."ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" ของซะการีย์ยา อมตยา (สำนักพิมพ์หนึ่ง) เป็นกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์

และ 6."รูปฉายลายชีพ" ของโชคชัย บัณฑิต (สำนักพิมพ์มิ่งมิตร) รวมบทกวีนิพนธ์ 56 บท ระหว่างช่วงปลายปี 2541 จนถึงต้นปี 2553

 
 
หมายเหตุ:อ่านงานบางชิ้นของกวีท่านนี้ได้ที่
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ 'โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม': อย่าปล่อยให้คำว่า ‘สมานฉันท์’ ปั่นหัวคุณ

Posted: 05 Sep 2010 11:56 PM PDT

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในเมืองไทยเพียงไม่นานเมื่อเขาตัดสินใจรับเป็นผู้ดูแลคดีฟ้องร้องรัฐบาลไทยที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อประชาชนของตนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงวันที่ 10 เม.ย. และ ช่วง 17-19 พ.ค. 2553

ชื่อของเขานั้น พ่วงท้ายด้วยความขัดแย้งในตัวเองไม่ต่างกับคนที่เขารับว่าความให้ นอกเหนือจากทักษิณ ชินวัตร ผู้ว่าจ้างคนล่าสุดแล้ว เขาเคยว่าความให้กับอดีตนักการเมืองในกัวเตมาลา เวเนซุเอลา และรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าเขายืนยันว่าการว่าความให้บุคคลเหล่านั้นเป็นการดำเนินไปเพื่อปกป้องหลักนิติธรรม ขณะที่ลูกความของเขาล้วนต้องเผชิญกับข้อวิพากษ์และกล่าวหาในทางลบ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงเช่น กรณีของ มิกาเอล คอร์โดคอฟสกี Mikhail Khodorkovsky อดีตนักการเมืองดาวรุ่งผู้อาจขึ้นมาเทียบรอยเท้าผู้นำอย่าง วลาดิมีร์ ปูติน โดยการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองหลายพรรค ด้วยฐานะระดับเศรษฐีอันดับหนึ่งของรัสเซีย และอันดับที่ 16 ของโลก แต่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่ายักยอกและฟอกเงิน กระทั่งถูกศาลสั่งจำคุก จบเส้นทางการเมืองไป

แนวทางของอัมสเตอร์ดัมเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า ถนัดเล่นนอกศาล ด้วยวิธีเล่นกับสื่อ มากกว่าการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับที่เขาถูกโจมตีจากสื่อไทยหลายสำนักเมื่อเขาออกสมุดปกขาวซึ่งรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ว่ามีเป้าหมายเพื่อโจมตีรัฐบาลไทย

ประชาไทสัมภาษณ์เขาทางโทรศัพท์ถึงความขัดแย้งเหล่านี้ ทั้งที่เกิดกับตัวเขาเองและลูกความของเขา ซึ่งล้วนเป็นผลอย่างสำคัญที่ทำให้การพูดคำว่า “นิติธรรม” ของเขาฟังคล้ายคำโฆษณา ซึ่งเขาตอบกลับอย่างน่าสนใจเช่นกันว่า สำหรับคนไทย สิ่งที่ต้องพึงระวังอาจจะมิใช่คำโฆษณาว่าด้วยการสู้เพื่อความเป็นธรรม และนิติธรรม แต่พึงระวังคารมหวานหูเกี่ยวกับคำว่า "สมานฉันท์" โดยปราศจากความจริง

ทำไมคุณถึงตัดสินใจทำคดีให้กับทักษิณ มีอะไรที่น่าสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับทักษิณหรือ?
ผมคิดว่าทักษิณนั้น ประการแรกคือ เขาเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ประการที่สอง ผมคิดว่าการรัฐประหารที่โค่นอำนาจทักษิณลงนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ชอบธรรม และข้อกล่าวหาที่เขาถูกตัดสินไปแล้วและที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นขาดพื้นฐานทางกฎหมาย ดังนั้นผมคิดว่าคดีของเขานั้นเป็นคดีสำคัญ เพราะมันจะเป็นตัวอย่างสำหรับการที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองใช้กฎหมายเพื่อบรรลุผลประโยชน์ของตน

แต่ว่าทักษิณก็เป็นบุคคลที่มีความขัดแย้งในตัวเองนะ ก่อนการรัฐประหารเขาก็ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี คุณรู้เรื่องพวกนี้หรือเปล่
แน่นอน และความเห็นของผมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือ ข้อกล่าวหาพวกนี้ต้องถูกพิสูจน์ สำหรับกรณีของทักษิณ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ต้องถูกพิสูจน์ แต่ยังไม่มีการดำเนินการเช่นนั้น ผมคิดว่ามันสำคัญมากสำหรับคนไทยที่จะต้องวางบรรทัดฐานให้ชัดเจนระหว่างการกล่าวหากับข้อเท็จจริง กับการกระทำที่ก่อให้เกิดความชอบธรรมในนามของรัฐและการกระทำที่เคารพต่อบุคคลหรือแนวทางทางการเมืองของบุคคล

คุณรู้ไหมว่าคนเสื้อแดงเองก็มีอาวุธ จากรายงานของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า ผู้สื่อข่าวต่างประเทศบางรายบาดเจ็บจากระเบิดเอ็ม 79 ที่ถูกยิงมาจากฝั่งเสื้อแดง
ผมเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว ผมเชื่อว่า การโต้ตอบอย่างโหดร้ายและขยายวงกว้างนั้นมาจากฝั่งของกองทัพ โดยการส่งเสริมของรัฐบาล

นี่เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยดำเนินรอยตามเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า เช่น เหตุการณ์การเรียกร้องปี 2535 และมันก็เป็นเอกสารที่ดี สิ่งที่ผมเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ การสืบสวนสอบสวนที่เป็นกลางและเป็นอิสระ และมุ่งหน้าสู่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลไทยไม่ได้เห็นด้วยกับการสืบสวนสอบสวน ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาชักช้า ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาจับกุมประชาชนและตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายก่อนที่พวกเขาจะได้พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงเหล่านี้แหละบอกผมว่า พวกเขามีเรื่องใหญ่ที่ซ้อนอยู่เบื้องหลัง ผมเองก็พยายามรวบรวมหลักฐาน และพิเคราะห์พยานหลักฐานอยู่ และก็แปลกใจว่าทำไมรัฐบาลไทยไม่ทำ

ในรายงานของคุณ คุณบอกว่า ถ้าประเทศไทยต้องการความสมานฉันท์ ก็ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงเสียก่อน แต่ว่าการที่คุณก้าวเข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เอาเข้าจริงแล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรอยร้าวในแผนการสมานฉันท์เช่นกัน
อย่างจริงใจเลยนะ เสรีภาพในการพูดของคุณมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นอันเป็นผลมาจากการพยายามควบคุมรัฐบาลผ่านกฎหมายความมั่นคงภายใน กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และผมคิดว่าประเทศไทยต้องการการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่มีปากมีเสียงได้พูดมากขึ้น

คน 90 คนที่เพิ่งถูกฆ่าตายกลางถนในกรุงเทพฯ ผมบอกคุณได้ว่า ประชาชนไม่ได้รับโอกาสให้พูดมากเท่าที่ควรจะเป็น ความเจ็บแค้นที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ มันเป็นระบบ และเกิดขึ้นทุกๆ 12 ปีหรือ 24 ปี นี่ไม่ใช่ประเด็นเรื่องของความแตกต่าง แต่มันเป็นรูปแบบของประเทศไทย และนี่คือเหตุผลของความสำคัญว่า ทำไมการที่ประชาชนซึ่งถูกกล่าวหาจะต้องได้รับการสอบสวนและตั้งข้อหา และการสมานฉันท์จะเกิดได้ก็ด้วยความจริงเท่านั้น

ผมแก่แล้ว และผมจำได้ว่าในยุคทศวรรษ 1970 และ 1980 เมื่อรัฐบาลละตินอเมริกาปรับตัวมาสู่แนวทางประชาธิปไตย  คนรุ่นเก่าก็ยังคงพร่ำพูดอยู่แต่เรื่องการสมานฉันท์ ในเวลาที่พวกเขาต้องการการนิรโทษกรรม เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นแล้ว อย่าปล่อยให้คำว่าสมานฉันท์ปั่นหัวคุณ หากพวกเขาต้องการการสมานฉันท์จริง พวกเขาก็ต้องไม่เรียกประชาชนว่า “ผู้ก่อการร้าย”

ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่พยายามจะติดป้ายให้กับคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ว่าคนไทยจำนวนมากก็สนับสนุนรัฐบาล คุณคิดว่าทักษิณจะสมานฉันท์กับคนที่สนับสนุนรัฐบาลได้หรือ
ในทุกประเทศ เช่น กัวเตมาลา หรือประเทศใดๆ ก็ตามที่เคยมีสงครามกลางเมือง ทุกๆ ที่มีความเป็นไปได้เสมอที่จะมีการสมานฉันท์ หากมันมีความจริงใจอยู่ เช่น แกนนำเสื้อแดงที่ยอมแพ้เพื่อป้องกันการเสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งคุณไม่อาจจะทำอย่างนั้นกับคนที่ยอมแพ้แล้ว หากคุณต้องการสมานฉันท์จริงๆ คุณต้องหยุดฟังที่ประชาชนพูดและมองสิ่งที่ประชาชนทำ เมื่อพวกเขาตีตราทักษิณว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่นั้นไม่เคยมีเกิดขึ้นกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ อย่างกรณีของซิมบับเว พวกเขาแสดงความบริสุทธิ์ใจแล้ว พวกเขาแสดงให้เห็นสิ่งที่พวกเขาเชื่ออย่างแท้จริง

นอกเหนือจากกรณีของซิมบับเว คุณมีกรณีอื่นๆ ที่คล้ายๆ กับกรณีของทักษิณอีกไหม คุณมีข้อพิสูจน์ไหมว่าการทำหน้าที่ของคุณเคยประสบความสำเร็จมาก่อน
ผมเกี่ยวข้องกับกรณีเหล่านี้อยู่เกือบตลอดชีวิตผม ผมเกี่ยวข้องกับกรณีของกัวเตมาลาอยู่ 15 ปี ในคดีที่ผมเรียกว่าเป็นการยึดรัฐโดยที่ผู้นำยึดรัฐเอาไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

กรณีของไทยและสถานการณ์ของทักษิณนั้นไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษจำเพาะเจาะจงอะไร อย่าปล่อยให้ผู้นำของคุณบอกว่าประเทศของคุณนั้นมีลักษณะเฉพาะ สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นหลักกฎหมายสำหรับทุกคน และไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าคุณค่าแบบอาเซียน หรือจะเรียกมันว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือแบบรัสเซีย ผู้นำมักจะมาพร้อมกับคำอธิบายทำนองนี้ตลอดเวลา เพื่อที่จะบอกว่าประเทศของเรานั้นแตกต่าง และดังนั้น สิทธิมนุษยชนจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องตระหนัก ข้อเท็จจริงก็คือว่า ประเทศไทยนั้นมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทั้งประเทศ การที่รัฐบาลของพวกเขาคิดว่าสามารถที่จะจัดการกับประเทศด้วยการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องเหลือเชื่อ พวกเขาสามารถจะกล่าวหาใครก็ได้ สิ่งที่คนไทยต้องการก็คือ “การเลือกตั้ง” และนั่นก็ดูเหมือนเป็นสิ่งที่พวกเขากลัวมากที่สุด

คุณมีความเห็นอย่างไรกับข้อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคุณในคดีของ มิกาเอล คอร์โดคอฟสกี (Mikhail Khodorkovsky) ที่ว่าคุณไมได้ให้ความสนใจมากนักต่อคดีดังกล่าว แต่เน้นเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชนมากกว่า แทนที่จะมุ่งต่อสู้ตามประเด็นของคดี ขออภัยที่ต้องถามคำถามนี้ แต่มันเป็นคำถามที่จำเป็น
ไม่เป็นไร ผมว่ามันเป็นเรื่องตลก เพราะว่าในรัสเซียนั้น ผมถูกจับตอนตีสอง และก็ถูกคุกคามชีวิต ดังนั้น สำหรับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ผมก็ต้องลองปล่อยให้พวกเขาเผชิญกับความเสี่ยงแบบที่ผมเคยเจอดูบ้าง ต้องลองให้พวกเขาเรียกนายปูตินว่า โจรอย่างที่ผมทำในรัสเซีย และจากนั้นก็ปล่อยให้พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ไป

เรื่องที่ผมไม่ได้ต่อสู้ประเด็นสิทธิมนุษยชนในศาลนั้น เพราะผมไม่ใช่ทนายความในรัสเซีย และสิ่งที่ผมทำได้โดยการอยู่นอกประเทศรัสเซียก็คือ ผมอยากจะบอกว่า ในรัสเซียนั้นไม่ใช่ศาลที่แท้จริง ไม่ใช่การฟ้องคดีที่ชอบธรรม และผมพูดได้ว่า ห้าปีก่อนทั้งโลกจะรู้ว่าผมเป็นฝ่ายถูก เป็นเวลาหลายปีก่อนที่สภายุโรปจะสนับสนุนในทุกสิ่งที่ผมพูด หลายปีก่อนที่ศาลแห่งสหพันธรัฐสวิสจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมพูด เราได้พิสูจน์ว่า รัฐบาลรัสเซียนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดีและเราได้พิสูจน์ว่ารัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ปัญหาก็คือว่า คนอ่านแต่พาดหัวข่าว แต่ไม่มีใครเข้าใจข้อเท็จจริง เรามีส่วนร่วมในคดีจำนวนหลายสิบคดี จากกัวเตมาลาถึงรัสเซีย จากไนจีเรียถึงเวเนซุเอล่า เราเพียงแต่ต้องการปลดปล่อยนักโทษการเมืองในเวเนซุเอลา เราเพียงต้องการคืนนักการเมืองคนสำคัญกลับสู่ไนจีเรีย แต่คนในประเทศไทยโฟกัสแค่เรื่องในรัสเซียเพื่อสร้างรอยด่างให้กับความพยายามของผม อย่างจริงใจที่สุด ผมภาคภูมิใจในการทำงานให้กับ มร.คอร์โดคอฟสกี และผมก็ภูมิใจมากในสิ่งที่ได้ทำลงไปตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการสู้เพื่อหลักนิติธรรมในประเทศที่ต่อสู้ได้ยากลำบาก

คุณคิดว่าระบบศาลรัสเซียที่เผชิญนั้นต่างกับที่กำลังเผชิญในไทยหรือไม่
ศาลในรัสเซียนั้นคอร์รัปชั่นอย่างน่าสิ้นหวัง โดยที่ผู้พิพากษาในรัสเซียนั้นเป็นคนคอร์รัปชั่นเสียเอง แต่ศาลในประเทศไทยนั้นถูกการเมืองครอบงำอย่างน่าสิ้นหวัง และไม่มีความเป็นอิสระ และโลกก็รู้เรื่องนี้ดี ผมหมายถึงกรณีของทักษิณที่ถูกพิพากษาโดยตุลาการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษโดยเลือกเอากลุ่มคนที่ไม่ชอบทักษิณเพื่อจะพิพากษาเขา ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ โลกนั้นจับจ้องอยู่และก็รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ และก็เป็นเรื่องน่าละอายที่รัฐบาลไทยและนายกรัฐมนตรีไม่ได้ดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นที่ยอมรับได้ในไทย และนายกรัฐมนตรีก็ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ นายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ และบรรดาผู้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดำเนินแนวทางเดียวกับที่กองทัพได้กระทำลงไปในช่วงที่ขอคืนพื้นที่ในกรุงเทพฯ พวกเขาพูดอะไรนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่ได้ดำเนินการบนพื้นฐานของความจริง

เราเผยแพร่รายงาน และพวกเขาก็โจมตีผม และผมพึงพอใจที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่านั่นคือสิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้ เพราะพวกเขาไม่สามารถที่จะตอบโต้ด้วยข้อโต้แย้งที่เป็นเหตุเป็นผลเพื่อที่จะคัดง้างกับข้อมูลในรายงานของผม และผมก็เรียกร้องให้ใครก็ตามที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้ ควรจะติดตามรายงานฉบับนั้นก่อนที่จะตัดสินการทำงานของเราด้วยตัวเขาเอง

คุณถูกห้ามเข้าประเทศไทยแล้ว ไม่ยิ่งเพิ่มความยุ่งยากให้แก่คุณในการทำคดีนี้หรือ
ไม่หรอก ผมรู้ว่าพวกเขาห้ามผมเข้าประเทศ พวกเขาสามารถจะทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ แต่ผมจะไม่หยุดเขียน ไม่หยุดพูด และเราจะไม่หยุดให้ความช่วยเหลือทนายความในประเทศไทยที่ทำงานต่อสู้กับอคติและสภาพที่ปราศจากความอิสระอย่างที่เป็นอยู่ และแม้ผมจะแน่ใจว่า ผู้พิพากษาจำนวนมากนั้นซื่อสัตย์ และผู้พิพากษาที่มีชื่อเสียงหลายๆ คนก็อาจจะเตรียมการรับมือกับแรงกดดันทางการเมือง แต่เราก็ต้องชัดเจนด้วยว่า คุณไม่สามารถมีระบบตุลาการที่เป็นอิสระได้ หากว่ากระบวนการสมคบคิดทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่ในระดับนี้

คุณบอกความคืบหน้าในคดีที่กำลังทำได้ไหม
ถ้าเป็นกรณีของคุณทักษิณซึ่งข้อกล่าวหาซับซ้อนมาก และผมถือว่าเป็นหน้าที่ของทีมงานคนไทยที่จะสื่อสารโดยตรงในกรณีนั้น ผมจะไม่พูดเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับการกล่าวหาหรือคดีใดๆ เป็นหน้าที่ของทีมงานชาวไทย

ตอนนี้ดูเหมือนว่าคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็คาดหวังสูงมากกับการทำงานของคุณ คุณอยากจะบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง
ความเห็นของผมก็คือ มันจะดีกว่าหากไม่มีการคาดหวัง เราทั้งหมดต้องเข้าใจว่า รัฐบาลไทยนั้นมีลักษณะนิสัยในการทำสิ่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ดำเนินตามหลักการในตำราใดๆ เลย และก็พยายามที่จะซ่อนเร้น พวกเขาพยายามที่จะถอยออกห่างจากพันธสัญญาระหว่างประเทศ พวกเขาเกี่ยวข้องกับการโจมตีประชาชนของตัวเองในหลายกรณี
 

สิ่งที่สำคัญประการแรกคือ ในการสืบสวนสอบสวนประชาชนนั้น รัฐบาลไทยนั้นผูกพันตนอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เราส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามพันธสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยผูกพันตน นั่นก็คือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และกระทำการตามหน้าที่ของรัฐบาลในการสืบสวนสอบสวนตามที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในปฏิญญาว่าจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนที่เหมาะสมตามความจริง ประชาชนมีสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อที่จะเรียกร้องความจริงที่เกิดขึ้น หยุดการป้ายสีประชาชนว่าเป็นผู้ก่อการร้าย หยุดการโจมตีตัวบุคคล และเริ่มต้นการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งชาวต่างชาติและคนไทยถูกยิงบนท้องถนน และทุกคนต้องการคำตอบที่รับฟังได้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การแก้ปัญหาความยากจนด้วยการแจกเงิน

Posted: 05 Sep 2010 11:01 PM PDT

หากถามว่าเราแก้ปัญหาความยากจนด้วยการ เอาเงินให้กับคนจนเลยเป็นเรื่องดีหรือไม่? จากประสบการณ์ของประเทศเราเองในช่วงที่ผ่านมา อาจจะบอกว่าไม่ดี เพราะมันจะทำให้คนยากจนไม่พึ่งตนเองแต่มาพึ่งเงินที่รัฐให้แทน อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่า วิธีการให้เงินกับคนยากจนอาจจะได้ผลดีก็ได้ แต่มันต้องดำเนินการด้วยวิธีที่แยบคายกว่าให้เงินเฉยๆ

Conditional Cash-transfer Program (CCT) หรือขอแปลเป็นภาษาไทยว่า โครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขนั้น จากการรายงานของนิตยสาร the Economist (the Economist 2010a) พบว่ากำลังเป็นที่แพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) และประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง (Middle-income Countries) อย่างมาก หรือกระทั่งเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก ซิตี้ ในสหรัฐอเมริกาก็ยังใช้โครงการนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะว่ามัน WORK!
 
หลักการของ CCT คือ โครงการจะให้เงินกับคนยากจนเมื่อพวกเขาทำตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ส่งลูกเข้าโรงเรียนและห้ามขาดเกิน 15%, ให้ลูกฉีดวัคซีน ฯลฯ เงินที่ให้ไม่ใช่เป็นเงินก้อนใหญ่ เป็นเงินจำนวนไม่มากแต่สามารถทำให้คนยากจนสามารถซื้อหาปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้ ในบางประเทศเช่น เฮติ ใช้วิธีการร่วมมือกับภาคเอกชนแทนการให้เงิน โดยสหกรณ์ผลิตภัณฑ์นม จะให้นมฟรีกับบ้านที่ให้ลูกไปโรงเรียน
 
จากประสบการณ์ของประเทศบราซิล (the Economist 2010b) พบว่า โครงการดังกล่าวทำให้จำนวนของคนยากจน (รายได้ต่ำกว่า 440 ดอลล่าต่อเดือน) ลดลง 8% ตั้งแต่ปี 2003 ดัชนีวัดความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ (Gini index) ลดลงจาก 0.58 เป็น 0.54 ซึ่งถือว่ามาก หมายถึงความเท่าเทียมกันในด้านรายได้มีมากขึ้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะโครงการดังกล่าวได้วางเงื่อนไขให้ครัวเรือนที่ยากจน ส่งลูกเข้าโรงเรียน ซึ่งเป็นการขยายโอกาสทางอาชีพให้พวกเขา พร้อมทั้งให้ครัวเรือนเหล่านั้นดูแลด้านสุขภาพแก่คนในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ ด้วย นอกจากนี้ ในกรณีของบราซิลโครงการนี้ยังใช้เงินเพียง 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเท่านั้น
 
อย่างไรก็ดี CCT ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความยากจนเท่านั้น ที่บอกว่าไม่ใช่ยาวิเศษเพราะว่ามันจะแก้ปัญหาความยากจนแบบเก่าได้ดี ปัญหาความยากจนแบบเก่าก็คือ การมีรายได้ต่ำมากจน ขาดปัจจัยสี่ ขาดการศึกษา และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข โครงการนี้ได้ผลดีมากในเขตชนบทที่ยังมีปัญหาความยากจนแบบเก่าอยู่ แต่สำหรับปัญหาความยากจนแบบใหม่นั้น ยังแก้ได้ไม่ดีพอ ในบางกรณีถึงกับล้มเหลว ปัญหาความยากจนแบบใหม่คือ ปัญหาการติดยาเสพติด ความรุนแรงในครัวเรือน ครอบครัวแตกแยก เสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาอื่นๆที่เราพบได้ตามสลัมในเมืองใหญ่ ในหลายๆกรณี เงินจาก CCT น้อยกว่ารายได้จากทางอื่นที่ครัวเรือนสามารถหาได้ในเมืองหรือระบบสวัสดิการ ที่มีอยู่แล้ว จึงไม่สามารถเป็นแรงจูงใจให้ครัวเรือนทำตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ บางกรณีเงินถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและทำให้ปัญหาเดิมลุกลาม บางกรณีเงินจากโครงการจะส่งผลให้เกิดการพึ่งพากันในครัวเรือนมากเกินไป ปัญหาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการใช้ CCT ในเมืองใหญ่จำเป็นต้องนำบริบทของเมืองใหญ่มาพิจารณาในการออกแบบโครงการนี้ ด้วย (the Economist 2010b)
 
CCT มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน? ในความเห็นของผม หาก CCT ถูกออกแบบมาให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ก็น่าจะสามารถใช้ได้ดีในเขตชนบทของเมืองไทยเช่นกัน แม้ว่าปัญหาด้านอาหาร การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการศึกษาจะแก้ไปได้เกือบหมดแล้ว แต่ในแง่คุณภาพ อย่างเช่น กรณีของการศึกษานั้น แม้ว่าเด็กที่เข้าเรียนจะมีเปอร์เซนต์สูงมากแต่การออกจากโรงเรียนก่อนเวลาก็ มีไม่น้อย อาจจะเป็นเพราะต้องช่วยทางบ้านหารายได้ หรือปัญหาอื่นๆ การมีโครงการ CCT อาจจะช่วยจูงใจให้เด็กยังคงอยู่ในระบบการศึกษาจนจบก็ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวเขาเองในระยะยาว สำหรับในเมืองปัญหาความยากจนแบบใหม่ก็เป็นปัญหาสำหรับเมืองใหญ่ๆในประเทศไทย เช่นกัน ปัญหาความยากจนแบบใหม่จำเป็นต้องแก้ด้วยความเข้าใจบริบทอันซับซ้อน ไม่สามารถยกเอาทางแก้หรือบทเรียนที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศมาใช้ทั้งหมดได้
 
กรณีศึกษาของ CCT ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้น่าจะช่วยเปิดมุมมองให้กับคนที่มีภาพลบโดยสิ้นเชิง กับโครงการแจกเงินของรัฐบาลได้เห็นแง่มุมดีๆของโครงการคล้ายๆกันแต่ออกแบบมา อย่างดีได้บ้าง และอาจเป็นทางเลือกเชิงนโยบายในอนาคตสำหรับประเทศไทยได้เช่นกัน
...................................................................................................................................................................
References
The Economist. 2010a. Give the poor money. the Economist July 31st- August 6th 2010 p.8
The Economist. 2010b. How to get children out of jobs and into school. the Economist July 31st- August 6th 2010 p.17-18

 

ที่มา:http://www.thaistudents.nl/tsan_newsletter/Journal/CCT

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ก้าวให้พ้นจากวิกฤต : จินตนาการของภูมิภาคหลังวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง

Posted: 05 Sep 2010 10:26 PM PDT

ถอดความจากการอภิปรายของ อ.พฤกษ์ เถาถวิล จาก ม.อุบลราชธานี ถึงสาเหตุและทางออกจากวิกฤติการเมืองไทย

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดขอนแก่นมีการประชุมทางวิชาการสังคมวิทยาภูมิภาคอีสาน จัดโดย มหาวิทยาลัยและองค์กรภาคีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ในงานดังกล่าวมีการอภิปรายในหัวข้อ “ก้าวให้พ้นจากวิกฤติ : จินตนาการของภูมิภาคหลังวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง” ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายสน รูปสูง, ผศ. พฤกษ์ เถาถวิล , ผศ.ดร. สมชัย ภัทรธนานันท์ และ ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก ดำเนินรายการโดย นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ ประชาไทเห็นว่าการอภิปรายของ ผศ. พฤกษ์ เถาถวิล มีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงสรุปการอภิปรายมานำเสนอ ดังต่อไปนี้  

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
สวัสดีครับผู้มีเกียรติทุกท่าน ในวันนี้ผมมี 3 ประเด็นที่จะพูด
 
ประเด็นแรก อยากจะเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันพิจารณาก่อนว่า วิกฤตการณ์ที่เราเผชิญอยู่ในเวลานี้คืออะไรกันแน่ เพราะเราจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้มีหลายมิติและหลายระดับ แต่ในที่นี้ผมอยากจะเสนอว่า วิกฤตการณ์ที่เป็นหัวใจของสังคมไทยในเวลานี้ก็คือ วิกฤติของการจัดการความขัดแย้ง พูดให้เข้าใจมากขึ้นก็คือภาวะที่รัฐล้มเหลวที่จะจัดการความขัดแย้งในสังคม ไม่ใช่รัฐไม่พยายามเข้าไปจัดการปัญหา แต่สิ่งที่ทำกลับเกิดผลในทางตรงกันข้ามก็คือ รัฐยิ่งจัดการความขัดแย้งๆยิ่งบานปลาย  ดังที่เกิดปัญหาตูมตามรายวัน และความไม่พอใจต่อกันมากขึ้นๆในตอนนี้
 
เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง ก่อนอื่นเราคงต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม ยิ่งสังคมมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองมาก ความขัดแย้งยิ่งมีมากขึ้น ประเด็นอยู่ที่ว่าสังคมจะมีสถาบันและกลไกจัดการความขัดแย้งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร ประชาชนทุกประเทศมีกลุ่มก้อนที่เห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พวกเขาไม่ลุกขึ้นมาฆ่าแกง หรือยุยงให้อีกฝ่ายถูกเข่นฆ่า ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ว่าความเห็นของพวกเขาจะถูกหรือผิด รัฐก็ไม่มีสิทธิไปล่าสังหารพวกเขา ไม่มีที่ไหนทำอย่างนั้น นอกจากรัฐเผด็จการแบบสุดๆ   
 
ถามต่อว่าสถานการณ์ที่เรียกว่าความล้มเหลวในการจัดการความขัดแย้งนี้เกิดจากอะไร ผมคิดว่าเกิดจากการที่สถาบันสำคัญต่างๆในสังคมไทยหมดความน่าเชื่อถือ หมายถึงสถาบันที่จะทำหน้าที่เป็นหลักยึดของความถูกต้องเที่ยงธรรมสำหรับทุกๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นความหวัง ส.ส., ส.ว. ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือจากผู้คนในประเทศ ถึงไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด แต่ก็เป็นคนจำนวนมากมายอาจจะถึงครึ่งค่อนประเทศ พูดง่ายๆคือความเสื่อมของสถาบัน ทำให้สังคมไม่มีหลักยึดของความถูกต้องเที่ยงธรรมได้
 
ดังนั้นความขัดแย้งในสังคมไทย จึงอยู่ในภาวะไร้กรรมการ ไม่มีใครฟังใคร เพราะไม่มีใครน่าเชื่อถือพอที่จะฟัง
 
ความขัดแย้งในสังคมไทยทุกวันนี้จึงดำเนินไป โดยที่ฝ่ายมีอำนาจมากกว่าใช้อำนาจกดบังคับอีกฝ่ายไว้ และฝ่ายที่ด้อยกว่าก็รอวันเอาคืน บ้านเมืองที่ไร้ความเที่ยงธรรม ไร้กติกา ก็คือการกลับไปสู่ภาวะดิบเถื่อน ที่แก้ปัญหากันด้วยกำลัง นี่คือความเสื่อมทรุด นี่คือเส้นทางแห่งหายนะของสังคมโดยแท้ นี้คือประเด็นแรกที่ผมอยากจะชี้ชวนให้เห็นว่าคือวิกฤตที่สังคมเราเผชิญอยู่  
 
ประเด็นที่สอง ภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อแปจนไม่สามารถจัดการความขัดแย้งอย่างสันติได้เกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงวันนี้ไม่ว่าท่านจะมีทัศนะต่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่างกันอย่างไร คือบางกลุ่มก็ชื่นชมอัศวินมาข้าวที่มาช่วยแก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2549 ที่ว่ากันว่าเรามีนายกรัฐมนตรีที่โกงกินมากที่สุดและก็มีอำนาจเข้มแข็งที่สุด  ในขณะที่บางกลุ่มก็รับไม่ได้กับการรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แต่เหตุการณ์ในบ้านเมืองเราที่ย่ำแย่ตลอด 3-4 ปีมานี้ เราคงต้องยอมรับกันอย่างจริงจังแล้วว่ารัฐประหาร 19 กันยา 49 เป็นต้นทุนที่สูงลิบลิ่วที่เราต้องจ่ายสำหรับแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนั้น มันสูงมากจนเกินกว่าจะรับได้จริงๆ  
 
ว่ากันให้ชัดต่อปัญหาจากรัฐประหาร 19 กันยา คือมันได้ไปเชื้อเชิญอำนาจนอกระบอบรัฐสภาให้มาเป็นผู้แก้ไขปัญหา ซึ่งอำนาจนอกระบอบรัฐสภานี้ก็แล้วแต่จะเรียกกัน เช่นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ กลุ่มอำมาตย์ ฯลฯ อำนาจนอกระบอบฯนี้ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เหมือนไปปลุกผีที่เคยอาละวาดที่เคยเป็นปัญหาของประชาธิปไตยไทยมาโดยตลอดออกมาจากหม้อ และเมื่อมันออกมาจากหม้อแล้วก็ยากที่มันจะกลับคืนหม้อ
 
หลังจากนั้นอำนาจนอกระบอบรัฐสภานี้ก็มีบทบาทครอบงำสถาบันการเมืองไทย  มันเข้าไปแทรกแซง ชักนำ กำกับ หรือชักใยให้สถาบันต่างๆทิ้งหลักการบทบาทหน้าที่ที่ต้องเที่ยงธรรมต่อทุกฝ่าย ไปสนองความต้องการของกลุ่มอำนาจนี้
 
ในอีกทางหนึ่ง เราก็ได้เห็นกลุ่มมวลชนที่ทำอะไรก็ไม่ผิด ไม่เกินความจริงที่คนบางกลุ่มขนานนามกลุ่มมวลชนนี้ว่าว่า “ม็อบเด็กเส้น” ในที่นี้ผมไม่ต้องการมาตัดสินว่าเป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาว่าถูกหรือผิด แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า การที่ท่านทำอะไรก็ไม่ผิด และสถาบันหลักทางกฎหมาย การบริหาร องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นๆ  การที่สถาบัน/องค์กรเหล่านั้นไม่สามารถเอาผิด หรือยอมให้ความผิดเกิดขึ้นโดยไม่เข้าไปจัดการ หรือกลับให้ท้ายเด็กเส้น นั้นก็คือการช่วยกันปู้ยี่ปู้ยำมาตรฐานทางสังคม ซึ่งนำมาสู่วิกฤตความน่าเชื่อถือของสถาบันต่างในสังคมไทยในเวลานี้
 
ดังนั้นในประเด็นนี้ผมอยากสรุปว่า รัฐประหาร 19 กันยา 49 คือที่มาของปัญหาในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มอำนาจนอกระบอบรัฐสภาเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยกลุ่มอำนาจนี้คือตัวปัญหาหลักของสังคมไทยในเวลานี้ ซึ่งพวกเขาได้เข้าไปแทรกแซงสถาบันทางสังคมต่างๆ จนสูญเสียความน่าเชื่อถือ และก็ปล่อยหรือสนับสนุกให้เกิดม๊อบเด็กเส้น ทั้งหมดนำมาสู่ความเสื่อมถอยของสถาบันกลายเป็นวิกฤตของสภาพบ้านเมืองไร้ขื่อแปในเวลานี้
 
ประเด็นที่สาม ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ในขณะนี้ ประเด็นนี้อยากจะเรียนไปยังรัฐบาล รวมทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาลทั้งหลายด้วย ผมพูดในฐานะนักวิจัยที่ได้ติดตามเก็บข้อมูลทั้งในสนามและจากสื่อทางเลือกอื่นๆ ผมอยากจะนำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาล ซึ่งท่านทั้งหลายหรือคนส่วนหนึ่งในสังคมอาจไม่ทราบเพราะมันไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้  
 
กล่าวโดยสรุป สำหรับกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาล พวกเขาคิดว่า รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะปกครอง หรือพูดอีกแบบหนึ่งพวกเขาไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาล เพราะพวกเขาคิดว่า รัฐบาลได้ทำให้เกิดปัญหาต่อไปนี้ ซึ่งมีอยู่ 3-4 ประการเกี่ยวเนื่องกัน
 
ประการแรก เรื่องสองมาตรฐาน  คำนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปใน 4 – 5 ปีมานี้ ไม่เพียงแต่ในหมู่ผู้ประท้วงรัฐบาล  สำหรับผู้ประท้วงรัฐบาลมันแทบจะเป็นคำขวัญ/เป้าหมายของการต่อสู้ของพวกเขาไปแล้ว พูดในภาษาชาวบ้านคือ ในเรื่องเดียวกันคนฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด   สองมาตรฐานแสดงออกอย่างชัดเจนต่อเนื่องหลายมิติในช่วงเวลาที่ผ่านมา
  • การชุมนุมของฝ่ายหนึ่ง คดีความดำเนินไปอย่างล่าช้า แต่อีกฝ่ายหนึ่งถูกจับกุมคุมขังห้ามประกันตัว
  •  ทีวีช่องหนึ่งแพร่ภาพได้อย่างเสรี อีกช่องถูกปิดแล้วปิดอีก
  •  พรรคการเมืองของฝ่ายหนึ่งถูกตัดสินยุบในเวลาอันรวดเร็ว อีกพรรคหนึ่งเรื่องยังไม่ไปถึงไหน
  • การสลายการชุมนุม จนมีผู้บาทเจ็บล้มตาย ผู้ชุมนุมฝ่ายหนึ่งแทบจะถูกลืม แต่อีกฝ่ายหนึ่งการเสียชีวิต          เป็นการทำเพื่อชาติ ห้างถูกเผาคนเสียใจ มีพิธีเอิกเกริก แต่คนตาย 91 คนไม่มีคนสนใจราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
  • ทหารกระตือรือร้นตอบสนองคำสั่งรัฐบาลเป็นพิเศษในการสลายการชุมนุมของฝ่ายหนึ่ง แต่ก่อนหน้านั้นในสมัยก่อนรัฐบาลปัจจุบัน นอกจากไม่สนองคำสั่งรัฐบาล ยังรวมตัวกันออกทีวีตักเตือนรัฐบาล
  •  ล่าสุดการชุมนุมของคนบางกลุ่ม ทั้งที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่มีความผิด แถมนายกฯเชิญเข้าพบ และยังไปขึ้นเวทีชุมนุม      ฯลฯ
 
ประการที่สอง ต่อเนื่องจากประเด็นแรก คือเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่ง รู้สึกว่า ไม่ได้รับการเหลียวแล เห็นใจ การได้รับคำขอโทษ ความรับผิดชอบ หรืออาจจะเรียกรวมกันว่าความยุติธรรม  เช่น
  •  การหาคนผิดที่สังหารผู้ชุมนุมตายไป 91 ชีวิต ที่ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน, กรณีความตายที่วัดปทุมวนาราม ,  การตายของแกนนำบางคนที่เขารักและศรัทธา, การตายของสื่อมวลชนต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น อิตาลี ที่ยังไม่มีความกระจ่างใดๆ
  • กรณีคนชุดดำที่รัฐบาลระบุว่าเป็นตัวการแต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ
  • การกล่าวคำขอโทษจากปากนายกรัฐมนตรี ต่อผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ ในฐานะที่ท่านเป็นนายกฯของทั้งประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบความสงบสุขของบ้านเมือง
  • การดูแลเยียวยาช่วยเหลือศพผู้ตาย ญาติมิตร รวมทั้งญาติมิตรผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังที่ตกทุกข์ได้ยากไร้คนเหลียวแล
 
ประการที่สาม การใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต ที่สำคัญคือกรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 
ที่จริง การประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน มีปัญหาตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่ ตั้งแต่วันที่ 7- 8 เมษายน ซึ่งมันกลับมีผลทำให้เกิดความกดดัน การเผชิญหน้า และมีความรุนแรงตามมา
 
  • การคง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯภายหลังการสลายการชุมนุมในหลายจังหวัด ทำให้มีผู้ถูกจับกุมภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯจำนวนมาก
  • การจับกุมมีลักษณะตั้งข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุหลายข้อหาอย่างครอบคลุม หลักฐานการกระทำผิดประกอบการตั้งข้อหาไม่ชัดเจน จึงเป็นการจับแบบเหวี่ยงแห
  •  เมื่อถูกแจ้งข้อหาแล้วก็ถูกฝากขังในเรือนจำ โดยคำฟ้องของอัยการยังไม่ชัดเจน โดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งๆที่พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวตามหลักกระบวนการยุติธรรม 
  • การปิดเว็บไซต์ ทีวี และสื่อมวลชนต่างๆ ปัจจุบันกล่าวกันว่าประเทศไทยมีการเซนเซอร์เหล่านี้ไม่ต่างจากประเทศเผด็จการบางประเทศ และอาจจะมีการเซนเซอร์มากที่สุดในโลกก็ได้  เมื่อวันก่อนรองนายกรัฐมาตรีได้ออกมาขู่หนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งที่ลงข่าวที่รัฐบาลไม่พอใจ
  • การถูกบังคับให้ดูทีวี หรือสื่อของรัฐ ที่ให้ข้อมูลฝ่ายเดียว และยังมีโฆษณารูปแบบต่างๆโน้มน้าวให้ความหมายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกก่อการร้าย พวก....ฯลฯ  ทั้งที่คดีความยังไม่ยุติ
  • การกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง 
  • การคุกคามผู้แสดงความเห็นต่าง เช่นกรณีที่ นร. เชียงราย นักศึกษาที่จุฬาฯ    กรณีคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  
 
ประการสุดท้าย การยังคงบริหารประเทศ โดยทำเหมือนว่าเราควรจะลืมๆเรื่องที่ผ่านมา หรือเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
 
รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆขึ้นมาหลายชุด ได้แก่  คณะกรรมการสืบสวนสืบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ
 
แต่ปัญหาก็คือ รัฐซึ่งเป็นคู่กรณีของความขัดแย้ง เป็นฝ่ายที่ตั้งกรรมการ คณะกรรมการจึงไม่มีความชอบธรรม ไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่เป็นที่ยอมรับจากอีกฝ่าย  และอีกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ ในขณะที่ในคณะกรรมการก็มีตัวแทนภาคประชาชนซึ่งเป็นอีกสีเสื้อหนึ่งเต็มไปหมด
 
คณะกรรมการต่างๆยังดำเนินการในบรรยากาศที่ ยังมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และการใช้อำนาจรัฐอย่างเกินขอบเขต เป็นการปิดปากอีกฝ่ายหนึ่ง
 
ที่กล่าวมานี้คือเหตุผล ซึ่งเป็นที่มาของความคิดความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้เขาไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาล รัฐบาลอาจจะบอกว่านั้นคือเสียงส่วนน้อย แต่จากการเก็บข้อมูลของผมคาดว่าไม่น้อยเลย อาจจะไม่น้อยกว่าเสียงสนับสนุนรัฐบาล หรืออาจจะมากกว่าก็ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นรัฐบาลคงไม่กลัวที่จะยุบสภาฯอย่างที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
เมื่อคนจำนวนมากมายในแผ่นดิน ไม่ยอมรับอำนาจปกครองของรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังจะปกครองต่อไปนี้ก็คือวิกฤตการณ์อีกด้านหนึ่ง ที่รัฐบาลยิ่งพยายามแก้ปัญหาแต่ปัญหากลับมากขึ้น
 
สรุปที่พูดมาทั้งหมด ผมเสนอว่าจินตนาการสู่อนาคต หรือการก้าวไปข้างหน้า เราต้องแก้ไขปัญหา 3 ระดับ แรกสุดสังคมไทยต้องถอยจากวิกฤตการณ์การปกครองในเวลานี้ คือรัฐบาลชุดนี้ควรจะถอยไป  สอง ช่วยกันยุติสองมาตรฐาน กอบกู้ความน่าเชื่อถือของสถาบันทางสังคมต่างๆกลับมา สาม ช่วยกันส่งปีศาจกลับไปยังที่ๆมันควรอยู่ .
 
            ###################################################################
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น