ประชาไท | Prachatai3.info |
- รายงาน: ไต่สวนสาธารณะ ปากคำเหยื่อกระสุน เม.ย.- พ.ค.53
- ทีมดีเอสไอพบ ปลอกกระสุน 'เลเซอร์' ยันวิถียิงเสื้อแดง ไม่มีรอยยิงต่อสู้
- เครือข่าย ปชช.ตะวันออกประกาศชุมนุมต้านประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง
- เกิดเหตุระเบิดบริเวณประตูทางเข้าสนามม้านางเลิ้ง
- มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเปิดให้ทุนทำโครงการแก่เยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
- จากทำไม??? “ท้อง” แล้วต้อง “แต่ง” จนถึงเสรีภาพการเลือก “ทาง” ของชีวิต
- นายกฯ อภิสิทธิ์ตอบสารพันคำถาม ณ นิวยอร์ก (มีเรื่องเสรีภาพของสื่อด้วย)
- ทำไมวาทกรรม “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จึงไม่จูงใจพระสงฆ์ให้เลือกฝ่ายทางการเมือง
- "มาร์ค" พบคนไทยในนิวยอร์กชี้แจงสถานการณ์-แดงนิวยอร์คประท้วงหน้าที่พัก
- เสื้อแดงเปิดศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
- โลกวันนี้สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” (4 รัฐประหาร 19 กันยา 2549)
- นักข่าวพลเมือง: หมอนิรันดร์ชี้ชี้ปฏิรูปประเทศไทย ต้องเริ่มที่ชุมชน
- กองกำลังคะฉิ่น KIA ยิงเฮลิคอปเตอร์พม่าบินใกล้กองบัญชาการ
- ใจ อึ๊งภากรณ์: ความคิดผิดๆ เกี่ยวกับ “การนำ” ของคนที่วิจารณ์วันอาทิตย์สีแดง
- ความทรงจำบนสถานที่ก็คือพิพิธภัณฑ์ของเรา
รายงาน: ไต่สวนสาธารณะ ปากคำเหยื่อกระสุน เม.ย.- พ.ค.53 Posted: 25 Sep 2010 01:42 PM PDT 25 ก.ย.53 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 หรือ ศปช. ได้จัดงานระดมทุน "เราไม่ทอดทิ้งกัน ความจำ ความรัก ความจริง" เพื่อช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของศูนย์ข้อมูล โดยมีประชาชนซึ่งส่วนใหญ่สวมเสื้อแดงเข้าร่วมจนล้นห้องประชุม ภายในงานมีการเสวนาในช่วงเช้าและมีคอนเสิร์ตระดมทุนในช่วงค่ำ ส่วนช่วงบ่ายเป็นเวทีไต่สวนสาธารณะจากเหยื่อที่อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมีคณะกรรมการได้แต่ กฤตยา อาชวนิจกุล , เกษม เพ็ญภินันท์, สาวตรี สุขศรี, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว, ไชยยันต์ รัชชกูล มีรายละเอียด ดังนี้ ลุงปลาทู และ สันติพงษ์ อินทร์จัน 10 เมษายน 2553 นายสันติพงษ์ อินทร์จัน ถูกกระสุนยางที่เบ้าตา บริเวณสี่แยกคอกวัว ปัจจุบันตาบอด 1 ข้าง สันติพงษ์เล่าว่าในช่วงบ่ายของวันเกิดเหตุ กำลังนั่งทำกับข้าวที่บ้านเพื่อนำไปแจกประชาชนในที่ชุมนุม พอฟังวิทยุทางอินเตอร์เน็ตรู้ว่าทหารจะเข้ามาขอคืนพื้นที่และผู้ชุมนุมมีจำนวนน้อยเลยอยากไปช่วยกันทั้งบ้าน ถึงอนุเสาวรีย์ประมาณบ่าย 2 โมง เขาจึงแยกกับที่ไปสี่แยกคอกวัวตามที่แกนนำบนเวทีประกาศให้ไปช่วยผลักดันทหาร อยู่ทั่นั่นเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่การตั้งแนวของทั้งสองฝั่งซึ่งจะมีรั้วกั้นระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมและมีมีช่องว่างตรงกลาง ผู้ชุมนุมร้องรำทำเพลงกันตามประสา จากนั้นเริ่มมีแก๊สน้ำตาโปรยมาจากเฮลิคอปเตอร์ ทำให้ผู้ชุมนุมวิ่งหาน้ำล้างหน้ากันโกลาหล แล้วจึงกลับมารวมตัวกันใหม่ จนกระทั่งหกโมงเย็นจึงร่วมกันร้องเพลงชาติ นำพระบรมฉายาลักษณ์มาตั้งข้างหน้า พอฟ้าเริ่มมืด ทหารเริ่มเดินเข้ามาแล้วเกิดการปะทะกันขึ้น คณะกรรมการไต่สวนถามถึงอาวุธของทั้งสองฝ่าย สันติพงษ์กล่าวว่า ทหารข้างหน้ามีโล่กับกระบอง แต่ข้างหลังมีปืน ผู้ชุมนุมมีถุงปลาร้า ขวดน้ำ หิน ผู้ชุมนุมอยู่กับที่แต่ทหารเดินเข้ามาเรื่อย พอเกิดการปะทะผู้ชุมนุมไม่สามารถต้านทหารได้ มีเสียงดังปังๆๆๆ และได้เห็นคนเจ็บทยอยลำเลียงส่งโรงพยาบาลเรื่อยๆ ช่วงจังหวะนั้นก้มลงล้างหน้าเพราะโดนแก๊สน้ำตา จังหวะนั้นนั้นเองจึงโดนกระสุนยางเข้าที่ตา สำหรับคำถามว่ามีข้อเรียกร้องใดหรือไม่ สันติพงษ์กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองกระทำ ผู้ความจริง และยอมรับความจริง “ผมไม่เคยเห็น 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนักของเขา มีแต่เริ่มหนักแล้วหนักขึ้นเรื่อยๆ”สันติพงษ์กล่าว 10 เมษายน 2553 วสันต์ ภู่ทอง ถูกยิงเสียชีวิต ที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยทา กรณีของวสันต์นั้น กลิ่น เทียนยิ้ม ผู้เป็นพี่เขยเป็นผู้ขึ้นมาให้ปากคำบนเวที โดยเริ่มต้นด้วยการเปิดคลิปเกี่ยวกับเหตุการณ์ 10 เม.ย.ที่ นปช.จัดทำขึ้นเพื่อนำข้อมูลมาโต้แย้งศอฉ.ว่าวสันต์ถูกยิงจากทิศทางของเสื้อแดงด้วยกันเอง โดยโต้แย้งทั้งทิศทางและลักษณะของบาดแผลกระสุนเข้าซึ่งเป็นวิถีที่เข้าจากแนวทหาร อย่างไรก็ตาม นายกลิ่นแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงเนื่องจากเวลาผ่านมาเกือบ 6 เดือนแต่การชันสูตทรและคดีความไม่คืบหน้า หลังเกิดเหตุญาติได้รับเพียงแต่ ใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าเสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูงเท่านั้น จึงขอประณามรัฐบาลและขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน นักวิชาการช่วยติดตามผลการชันสูตรศพ เพื่อทวงถามความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต เพราะขณะนี้ศพของวสันต์ก็ยังไม่ได้ฌาปนกิจ เนื่องจากหวังจะรอพิสูจน์ความจริง 14 พฤษภาคม 2553 นายธงไชย เหงวียน หรือ “ลุงปลาทู” ถูกยิงเข้าที่สะโพกซ้าย-ขวา ที่สวนลุมพินี ก่อนการไต่สวนมีการเปิดคลิปการรายงานข่าว มีการเปิดคลิปการรายงานข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งบันทึกภาพลุงปลาทู และนักข่าวชาวแคนาดาขณะถูกยิงในช่วงสายของวันที่ 14 พ.ค. บริเวณริมรั้วสวนลุมพินี ลุงปลาทูให้การว่าตนเดินทางไปซื้อปลาทูโดยใช้เส้นทางถนนพระราม 4 ตามปกติ แต่วันเกิดเหตุพบว่ามีการปิดถนน ไปถึงได้แค่เพียงบ่อนไก่ และด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงขี่มอเตอร์ไซด์วนดู พบว่าบริเวณสน.ลุมพินี มีชาวบ้านและผู้สื่อข่าวมุงดูจำนวนมาก พร้อมกับเสียงกระสุนปืนที่ดังขึ้นเป็นระยะ ท้ายที่สุด นักข่าวแคนาดาและตนเองจึงชวนกันข้ามฝั่งไปหลบบริเวณกำแพงรั้วสวนลุมเพื่อซุ่มมองดูว่ากระสุนมาจากไหน สักพักเสียงปืนดังขึ้นอีกเป็นชุดราว 10 นาที ปรากฏว่านักข่าวคนดังกล่าวร่วงลงไป ตนกำลังจะลุกเข้าไปช่วยก็โดนเข้าที่สะโพก นัดแรกลอดลูกรงมาเข้าข้างขวา ก่อนจะโดนข้างซ้าย จากนั้นจึงมีคนวิ่งเข้ามาช่วย ลุงปลาทูให้ช่วยนักข่าวก่อนเพราะโดนยิงที่ท้องน่าจะบาดเจ็บหนักกว่า แล้วจึงมีคนวิ่งเข้ามาหามลุงปลาทูต่อไป “มีคนเข้ามาหามผม มันเจ็บมาก ผมบอกไม่ไหวแล้ว ลากไปแบบนี้ไม่ไหว บอกให้เขาเอาอะไรมารอง ไม่งั้นไม่ไป นอนนี่ดีกว่า ไม่เจ็บ (ผู้ฟังหัวเราะ) เขาเลยพาโล่ตำรวจมารอง แล้วยกมาสน.ลุมพินี นักข่าวอยู่เยอะ ถ่ายรูปทุกขั้นตอน” ลุงปลาทูเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนถูกนำตัวส่งรพ.กล้วยน้ำไท แพทย์ผ่าตัดสะโพกด้านซ้ายและเอากระสุนให้ดูพบว่าเป็นลูกขนาดเท่านิ้วก้อย เป็นสีตะกั่วและฐานสีทองเหลือง ซึ่งตำรวจพื้นที่ซึ่งมาสอบปากคำที่โรงพยาบาลและเห็นหลักฐานบอกว่าเป็นกระสุนปืนเอ็ม 16 ที่ผลิตจากประเทศจีน 15 พฤษภาคม 2553 ชัยวัฒน์ พุ่มพวง (และอุทร เพื่อนช่างภาพที่ไปด้วยกัน ) ช่างภาพจากสำนักข่าวเนชั่น ถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ชัยวัฒน์คือช่างภาพผู้ที่ถูกยิงที่ขา เดินขึ้นมาบนเวทีไต่สวนอย่างกระโผลกกระเผลก ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันและอาศัยการพยุงจากอุทร ชัยวัฒน์เล่าว่าในวันเกิดเหตุทั้งสองใส่เสื้อเกราะที่เขียนว่า PRESS และปลอกแขนสื่อมวลชนชัดเจน ขับมอเตอร์ไซด์เข้ามาในพื้นที่ซอยรางน้ำตั้งแต่ราว 10.30 น. และขับวนออกถนนราชปรารภ ช่วงนั้นเห็นศพผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน ผู้ชุมนุมพยายามจะเอาออกแต่เอาออกไม่ได้ เพราะมีการยิงจากทหารเข้ามาตลอด จนกระทั่งมีการหยุดยิง ทั้งสองเพิ่งมาถึงไม่ทราบว่าเป็นช่วงหยุดยิงก็เดินทางเข้าไป ทำให้ทหารเห็นว่ามีสื่อเข้ามาและไม่ยิง ผู้ชุมนุมจึงสามารถเอาศพผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่ได้ รวม 2 ศพ หนึ่งในนั้นคือ “น้องเฌอ” จนกระทั่งเริ่มมีการยิงอีกครั้งราวบ่าย 2-3 โมง ชัยวัฒน์เล่าว่าเขาถ่ายภาพโดยตลอดอย่างไม่ลดละโดยคิดว่าอย่างไรคงไม่โดนยิง แต่แล้วก็โดนเข้าที่ขา จึงทรุดนั่ง หยุดถ่ายภาพ โทรเรียกเพื่อนที่อยู่จุดใกล้เคียง นั่งรอราว 25-30 นาทีจึงมีทหารเข้ามานำขึ้นรถพยาบาลทหาร ซึ่งภายในชัยวัฒน์ตอบคำถามกรรมการไต่สวนโดยยืนยันว่า มีโลงศพอยู่ 3 โลงภายในรถจริงๆ แต่ไม่ทราบว่ามีศพอยู่ในนั้นหรือไม่ เพราะปิดรถแล้วมืดหมด เมื่อกรรมการถามว่าเห็นผู้ชุมนุมใช้อาวุธตอบโต้กับทหารตรงบริเวณดังกล่าวหรือไม่ ชัยวัฒน์ตอบว่า ไม่เห็นอาวุธ เห็นเพียงแต่บั้งไฟและประทัด ในส่วนใบรับรองแพทย์นั้นระบุเพียงว่าโดนกระสุนความเร็วสูง และไม่รู้ว่าชนิดไหนเพราะกระสุนระเบิดที่ต้นขาเป็นชิ้นเล็กๆ นอนโรงพยาบาล 10 วัน ไม่มีเจ้าหน้าที่มาสอบปากคำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จะมีการฟ้องร้องรัฐบาลเพื่อหาผู้รับผิดชอบและให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง ด้านอุทร ระบุว่าตึกชีวาทัยนั้นเป็นตึกที่เขาคาดว่ามีหน่วยสไนเปอร์อยู่ และบริเวณดังกล่าวยังมีทหารที่คอยไล่ล่าผู้ชุมนุมอยู่ด้านล่าง เมื่อเกิดเหตุปะทะกันเขาเข้าไปหลบที่ตึกแห่งหนึ่งพร้อมกับกู้ชีพ 3 คน ปรากฏว่ามีทหาร 4 คนเข้ามาสั่งให้กู้ชีพนอนลง เอาปืนจ่อ ค้นตัวและถามว่า คนบาดเจ็บไปไหน เพราะเห็นรอยเลือดเป็นทางมาทางนี้ นอกจากนี้เขายังแสดงภาพของญาติของ “กำปั้น” นักร้องชื่อดัง ที่ถูกยิงเสียชีวิตคาระเบียงคอนโดฯ ย่านรางน้ำ โดยระบุว่า กระสุนเข้าที่กกหูข้างหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าผู้ยิงต้องอยู่บนตึกระดับเดียวกับผู้ตาย ไม่ใช่การยิงจากด้านล่าง นอกจากนี้ยังฉายภาพถ่ายทหารเล็งปืนจริงด้วย “ผมถ่ายภาพมาทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่วิธีปฏิบัติของรัฐไม่เหมือนกัน ทั่วโลกก็น่าจะรู้ เสื้อเหลืองทหารปฏิบัติอย่างหนึ่ง เสื้อแดงชุมนุมทหารปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ... เสื้อเหลืองโดนสลายด้วยแก๊สน้ำตา มีคนตาย ผบ.ตร.โดนปลด เสื้อแดงโดนยิง ผบ.ทบ.ไม่เป็นไร”อุทรกล่าว 18 พฤษภาคม 2553 นิค นอสติทต์ ช่างภาพอิสระ เห็นเหตุการณ์การยิงจนมีผู้เสียชีวิตที่ถนนราชปรารภ (ชาญณรงค์ พลศรีลา) ก่อนการไต่สวนมีการเปิดคลิปมุมสูง เหตุการณ์?ผู้ชุมนุม 6-7 คนหลบห่ากระสุนหลังแนวยางรถยนต์หน้าปั๊มเชลล์ ถนนราชปรารภ ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังไม่ขาดสาย นิคเล่าวว่าเขามาถึงถนนราชปรารภประมาณ 11.00 น. ช่วนั้นผู้ชุมนุมเพิ่งเริ่มเข้ามาที่ถนนสายนี้ รวมแล้วไม่น่าเกิน 60 คน ไม่มีอาวุธ ขณะเกิดเหตุหลายคนที่หลบตรงนั้นพยายามปีนข้ามกำแพงมาหลบ 2-3 คนแรกหนีทัน แต่เขาหนีไม่ทัน ขณะที่ทหารเข้ามาถึงในปั๊มแล้วและตะโกนบอกให้ทุกคนออกมา ชาญณรงค์ได้รับบาดเจ็บโดนยิงเข้าช่วงท้องตั้งแต่ตอนที่เขาหลบอยู่หลังแนวยางรถ เขากระเสือกกระสนดิ้นลงไปในบ่อบัว นิกยอมมอบตัวกับทหารพร้อมบอกว่าเป็นสื่อมวลชน ทหารได้สั่งให้นิคไปดึงชาญณรงค์ขึ้นมาจากน้ำ แต่ดึงคนเดียวไม่ไหวจึงเรียกทหารให้เข้ามาช่วย ทหารด่าว่า “ไอ้เหี้ย ทำไมมึงไม่ตาย มึงตายดีกว่าเจ็บ กูต้องเอามึงไปโรงพยาบาลอีก” นิคบอกว่าเขาพูดอะไรไม่ออกและได้แต่เสนอให้เรียกหมอเพราะชาญณรงค์อาการหนัก ติดอยู่ที่นั่นราว 3 ชั่วโมงครึ่งจึงมีแพทย์ทหารมารับตัวไป กรรมการไต่สวนถามว่ายืนยันได้ไหมว่าใครเป็นคนยิง นิคกล่าวว่า ชัดเจนว่าช่วงนั้นมีแต่การยิงจากแนวทหารอย่างเดียว เสียงปืนมาจากทางนั้น 1 เดือนหลังจากนั้นนิคตามหาชาญณรงค์โดยสืบจากบัญชีรายชื่อผู้เสียชีวิตจนกระทั่งพบว่าเขาเป็นหนึ่งในนั้น และนิคยอมเป็นพยานให้การคดีชาญณรงค์กับตำรวจสน.พญาไท เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เขายังได้รับการติดต่อจากจากคณะกรรมการปรองดองชุด นายคณิต ณ นคร รวมถึงดีเอสไอให้ไปให้ปากคำ ซึ่งเขายินดีให้ข้อมูลกับทุกฝ่าย “ผมไม่มีปัญหา ผมเป็นนักข่าวก็แค่ทำหน้าที่ของผม ไม่ได้มีความโกรธ ความแค้นกับใคร ผมเพียงแต่พูดความจริง และยินดีคุยกับทุกคน” นิคกล่าว ระหว่างเสกสิทธิ์เล่าเหตุการณ์ มีผู้ฟังคนหนึ่งลุกขึ้นรวบรวมเงินบริจาจากผู้ร่วมงานในหอประชุมได้กว่า 6,000 บาท มอบให้เขาเพื่อเป็นทุนส่วนหนึ่งสำหรับผ่ากระสุนออก 19 พฤษภาคม 2553 เสกสิทธิ์ ช้างทอง ถูกยิงบริเวณถนนพระราม 4 หน้าพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันตาบอดทั้ง 2 ข้าง ก่อนการไต่สวนมีการเปิดคลิปบริเวณหน้าพรรคเพื่อไทย ช่วงเวลาประมาณ 10.00-11.00 ทหารประกาศให้คนออกจากหลังรถเมล์ภายใน 3 วินาที ก่อนระดมยิงเข้าใส่ รวมทั้งการกันไม่ให้รถพยาบาลเข้ามาในพื้นที่ เสกสิทธิ์ เป็นหนึ่งในเหยื่อรายแรกที่อยู่บริเวณนั้น เขาถูกจูงขึ้นมาบนเวทีและพิธีกรพยายามเล่าคลิปที่เพิ่งฉายให้คนดูเมื่อครู่ว่าเป็นเหตุการณ์ไหน อย่างไร เนื่องจากเขาไม่สามารถมองเห็นได้อีกแล้ว เสกสิทธิ์เล่าวว่า เขาเป็นคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง อยู่ดูลาดเลาร่วมกับผู้ชุมนุมตั้งแต่ 7.30 น. พบว่าผู้ชุมนุมมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และตะโกนบอกทหารว่าอย่าทำร้ายคนที่ราชประสงค์ อย่างไรก็ตาม แม้ในคลิปจะพบว่าเจ้าหน้าที่มีการเจรจากับผู้ชุมนุมก่อนยิง แต่ในช่วงที่เขาโดนยิงนั้น เขาจำได้ดีว่ามันไม่มีการกล่าวเตือนหรือบอกกล่าวอะไรเลย เพียงได้ยินเสียงปืนดังรอบทิศทาง และเห็นกิ่งไม้โดนกระสุนจนหักจึงพยายามจะหลบออกจากวิถีกระสุน พอลุกขึ้นกระสุนปืนก็ปะทะ ทำให้ล้มหน้าฟาดพื้น ตอนนั้นลืมตาไม่ขึ้นมืดไปหมด ร้องให้คนมาช่วย ปัจจุบันกระสุนปืนยังฝังอยู่บริเวณหว่างคิ้วของเขา โดยตัดประสานตาทั้ง 2 ข้าง หมอบอกว่าให้ทำใจแม้ผ่าตัดออกมาก็คงจะเรียกคืนการมองเห็นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เขาต้องการความช่วยเหลือในการผ่าตัดเอากระสุนออก เพราะการมีกระสุนค้างอยู่ทำให้เวลาลืมตาแล้วน้ำตาไหลและปวดตา ปวดหัวมาก ต้องหลับตาตลอด นั่งรถยนต์ก็ทรมาน กรรมการไต่สวนถามว่าประชาชนบริเวณนั้นมีอาวุธหรือไม่ เขาตอบว่า มีแต่มือกับปากและเสียงตะโกนว่าอย่าใช้อาวุธกับประชาชน สำหรับข้อเรียกร้องนั้นขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ อย่างที่โฆษณาไว้ เพราะหลายคนรวมทั้งตัวเขาก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ 19 พฤษภาคม พรพิมล พูนผล ผู้ชุมนุมที่อยู่ในวัดปทุม ก่อนการไต่สวนมีการเปิดคลิปทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และคลิปสัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์จากประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครของศูนย์ข้อมูลฯ ซึ่งชี้ให้เห็นรอยกระสุนหลายรูบริเวณกำแพงวัดปทุม รวมทั้งกระสุนที่ลงมายังฝากระโปรงรถที่จอดอยู่ซึ่งสะท้อนว่ามาจากมุมสูง พรพิมล เป็นคนกทม. ร่วมชุมนุมกับ นปช.แบบค้างคืนไม่กลับบ้านตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย วันเกิดเหตุเธอยืนยันว่าประมาณ 6 โมงเย็น เห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเริ่มยิงลงมาด้านล่าง พร้อมตะโกนว่าให้คนที่หลบอยู่ใต้ท้องรถซึ่งจอดอยู่ด้านหน้าของวัดถัดจากกำแพงวัดเข้าไปออกมาให้หมด ไม่เช่นนั้นจะยิง “ไม่ออกกูยิงมึงแน่” เธอเล่าว่าเห็นชัดเจนกระทั่งใบหน้า และสติ๊กเกอร์สีชมพูที่ติดอยู่บนหมวก เครื่องแบบทหาร 4-5 นายซึ่งถือปืนขู่อยู่บนรางรถไฟฟ้า สุดท้าย ทุกคนที่อยู่ใต้รถก็ออกมายืนที่โล่ง ผู้ชายให้ถอดเสื้อและยกมือขึ้น จากนั้นทหารก็พูดเหมือนจะมาทำประวัติ พอเดินคล้อยหลังไป ทุกคนราว 20 คนก็วิ่งเข้าไปข้างในวัด ไม่นานนักก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตที่ผู้ชุมนุมนำมานอนเรียงรายกันถึง 6 ศพ ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังตลอดคืนและมีหยุดเป็นพักๆ จนกระทั่งเช้าวันที่ 20 พ.ค.ก็ยังมีเสียงปืนอยู่ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ขึ้นมาร่วมการไต่สวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่วาจะเป็นการถูกยิงที่ลำคอ ขา เท้า ซึ่งทั้งหมดกล่าวว่า ไม่ต้องการเรียกร้องจากรัฐบาลเนื่องจากไม่เหลือความเชื่อถือรัฐบาล “มองไปเหมือนพวกลิงหลอกเจ้า...ถ้าจะเรียกร้องสิทธิใดๆ ผมจะขอเรียกร้องจากรัฐบาลข้างหน้า” ทศพล ผู้ร่วมงานและได้รับบาดเจ็บถูกยิงเฉี่ยวคอที่แยกศาลาแดงกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ทีมดีเอสไอพบ ปลอกกระสุน 'เลเซอร์' ยันวิถียิงเสื้อแดง ไม่มีรอยยิงต่อสู้ Posted: 25 Sep 2010 12:20 PM PDT ดีเอสไอชุดคลี่คดี 6 ศพวัดปทุมฯ ตรวจเก็บหลักฐานบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส จุดที่เคยมีทหารเข้าประจำการช่วงสลายม็อบ พบปลอกกระสุนปืนเอชเคจำนวนหนึ่ง เลเซอร์ตรวจวิถีกระสุนชี้ชัดยิงจากตำแหน่งดังกล่าว ไม่พบรอยยิงสวน ผบ.สำนัก คดีเทคโน โลยีดีเอสไอนำทีมขนอุปกรณ์ไฮเทคขึ้นตรวจสถานีรถไฟฟ้าสยาม และวัดปทุมวนาราม ไขปริศนาคดีการเสียชีวิต 6 ศพในเขตอภัยทานวัดปทุมฯ พบหลักฐานสำคัญเป็นปลอกกระสุนปืน 'เอชเค' กระ จายตกอยู่ใต้ราง อีกทั้งเลเซอร์ตรวจวิถีกระสุนชี้ชัด มีการยิงกระสุนปืนจากตำแหน่งที่ 'กลุ่มชายแต่งกายคล้ายทหาร' ยืนอยู่บนรางรถไฟฟ้าเข้าไปในวัดปทุมฯ จริง และตรงจุดเดียวกันนี้ยังสาดกระสุนไปสู่จุดที่มีผู้เสียชีวิต 6 ศพได้เช่นกัน แต่ไม่พบร่องรอยยิงปืนจากในวัดเข้าใส่กลุ่มชายคล้ายทหาร ส่วนดีเอสไออีกทีมลุยเก็บหลักฐานย่านบ่อนไก่-พระราม 4-ศาลาแดง เพื่อคลี่คลาย คดียิงเสื้อแดง ตะลึง! เจอรูกระสุนจริงนับร้อยรู ทั้งเอ็ม-16 และ 9 ม.ม. ทนายทักษิณยื่นร้อง 'ยูเอ็น' รบ.ไทยละเมิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศและสิทธิสากล ด้าน 'มาร์ค' โผล่จ้อ ซีเอ็นเอ็น ลั่นไม่ยุบสภาถ้าเสื้อแดงไม่ยอมสงบ ตรวจรถไฟฟ้า-วัดปทุมฯ เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 24 ก.ย. พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตจากการชุมนุมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสอบ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ประมาณ 20 นาย พร้อมอุปกรณ์การตรวจสอบที่เกิดเหตุ เดินทางมาเก็บหลักฐานบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม และภายในวัดปทุมวนาราม ตรงจุดที่น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือ "น้องเกด" พยาบาลอาสา ถูกยิงเสียชีวิต พร้อมเพื่อนอาสากู้ชีพกู้ภัยและประชาชน รวม 6 ศพ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ก่อนเริ่มกระบวนการตรวจสอบ พ.ต.ท. วรรณพงษ์ เรียกเจ้าหน้าที่ทุกคนมาประชุมวางแผนการค้นหาหลักฐานในครั้งนี้บริเวณด้าน หน้าทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าว โดยนำแผนที่มาประกอบคำอธิบายประมาณ 10 นาที ก่อนเจ้าหน้าที่จะแยกย้ายกันปฏิบัติงาน โดยแยกออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก ขึ้นไปตรวจบนรางรถไฟฟ้าชั้น 2 ตั้งแต่แยกเฉลิมเผ่าจนถึงหน้าวัดปทุมฯ ชุดที่ 2 ตรวจสอบบริเวณแนวกำแพงและภายในวัดปทุมฯ ทั้งนี้ระหว่างปฏิบัติงานโดยรอบพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า และหน้าวัดปทุมฯ มีกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอติดปืนกลประมาณ 5 นาย เข้าประจำจุดเพื่อคอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับทีมค้นหาหลักฐานตลอดทั้งคืน ยิง'เลเซอร์'หาวิถีกระสุน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการตรวจสอบ ทีมช่างของบีทีเอสได้เข้ามาตัดกระแสไฟบนรางทั้งหมด ก่อนจะอนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและนิติ วิทยาศาสตร์ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้สื่อ มวลชนร่วมสังเกตการณ์ สำหรับการตรวจวิถีกระสุน เจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าด้านหน้าวัดปทุมวนาราม พร้อมใช้เครื่องมือยิงแสงเลเซอร์ลงมายังพื้นดินตรงจุดที่พบหลุมลักษณะ คล้ายกระสุนปืน ขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร จำนวน 3 รอย บริเวณประตูทาง ออก ภายในวัดปทุมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่อีกชุดอยู่ภายในวัดด้วย พร้อมกับใช้เครื่องมือยิงเลเซอร์ขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าเช่นเดียวกัน เพื่อตรวจหาวิถีที่ชัดเจน และเดินตรวจหาปลอกกระสุนและหลักฐานอื่นๆ ที่อาจยังหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะกระสุนปืนและปลอกกระสุน ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะนำมา ตรวจสอบเปรียบเทียบกับหลักฐานที่เก็บได้ก่อนหน้านี้ ใช้เวลาค้นหาหลักฐานตั้งแต่ 01.00-05.00 น. เจอปลอก'เอชเค'ใต้ราง พ.ต.ท. วรรณพงษ์ กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบหาหลักฐานครั้งนี้ เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ตลอดจนใช้เครื่องมือตรวจหาแนววิถีกระสุนเพื่อคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของผู้ ชุมนุมกลุ่มนปช. ภายในวัดปทุมวนา ราม ในช่วงที่มีการชุมนุมเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังประสานขอความร่วมมือจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ "บีทีเอส" เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบบนแนวรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงตั้งแต่สถานีสยามจนถึงวัดปทุมฯ รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบหาหลักฐานบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้น 2 บริเวณด้านหน้าวัดปทุมฯ เจ้าหน้าที่ตรวจพบหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะเป็นกุญแจไขปริศนาว่าใครเป็นผู้ก่อ เหตุยิงประชาชนในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง-นปช. โดยพบปลอกกระสุนปืน "เอชเค" ใช้แล้ว ตกกระจายอยู่ใต้รางรถไฟฟ้าประมาณ 3-4 ปลอก เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์จึงเก็บไว้ตรวจสอบเปรียบเทียบกับหลักฐานหัว กระสุนปืนที่เก็บได้ก่อนหน้านี้ว่าตรงกันหรือไม่ ชี้คนบนรางยิงใส่วัดปทุมฯจริง รายงานข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่เคยเป็นข่าวใหญ่ กรณีมีกลุ่มชายแต่งกายคล้ายทหารยืนอยู่บนรางรถไฟฟ้า ตรงข้ามทางเข้าวัดปทุมฯ พร้อมกับเล็งปืนเข้าไปในวัดปทุมฯ ช่วงเวลาประมาณ 18.00-18.30 น. วันที่ 19 พ.ค.2553 และเทียบกับผลตรวจวิถีกระสุนด้วยเลเซอร์ ทั้งยังพบปลอกกระสุนปืนบนรางรถไฟฟ้าด้วยนั้น แนวทางการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า กลุ่มชายคล้ายทหารดังกล่าวได้ยิงกระสุนปืนเข้าไปในวัดปทุมฯ จริง นอกจากนั้น ตำแหน่งที่กลุ่มชายคล้ายทหารยืนอยู่ยังสามารถเล็งยิงเข้าไปได้ทุกจุดในวัด ปทุมฯ รวมถึงจุดที่พบศพผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ศพในวัดปทุมฯ เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ไม่พบร่องรอยการยิงกระสุนปืนตอบโต้จากพื้นราบในวัดปทุมฯ ขึ้นมาใส่กลุ่มชายคล้ายทหารบนรางรถไฟฟ้าดังกล่าว ลงพื้นที่'บ่อนไก่-ศาลาแดง' ต่อ มาเวลา 10.00 น. บริเวณหน้าสนามมวยเวทีลุมพินี ถ.พระราม 4 กทม. พ.ต.ท.บัณฑิต ประดับสุข เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษดีเอสไอ พร้อมเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กว่า 30 นาย ลงพื้นที่เดินทางตรวจสอบหาหลักฐานแนววิถีกระสุนที่กลุ่มคนเสื้อแดงถูกยิงได้ รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ใครยิง? - เจ้าหน้าที่ขึ้นไปยืนบนรางรถ ไฟฟ้าบีทีเอส ใช้อุปกรณ์เครื่องยิงเลเซอร์ตรวจสอบหาวิถีกระสุนที่ยิงเข้าไปในวัดปทุมวนา ราม ในช่วงเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดง 19 พฤษภาฯ พบว่าตรงกับรอยกระสุนบนพื้นอย่างพอดี ขั้นตอนการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่แบ่งกำลังออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกตรวจสอบบริเวณหน้าสนามมวยเวทีลุมพินี ชุมชนบ่อนไก่ จนถึงบริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 ระยะทางกว่า 3 ก.ม. และชุดที่ 2 ตรวจสอบบริเวณแยกศาลาแดงและซอยปลูกจิต ระยะทางประมาณ 3 ก.ม. โดยใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง สำหรับการตรวจหาหลักฐานวิถีกระสุนนี้ เจ้าหน้าที่จะตรวจทั้งหมด 8 จุด ประกอบด้วย หน้าร้านระเบียงทอง จุดพบศพนายบุญมี เริ่มสุข, หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาบ่อนไก่ จุดพบศพนาย สุพรรณ ทุมทอง, บริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. จุดพบศพนายวารินทร์ วงศ์สนิท, หน้าร้านเซเว่นฯ จุดพบศพนายสมชาย พรสุวรรณ ส่วนจุดบริเวณหน้าสำนักงานไทยประกันชีวิต สาขาลุมพินี และ ริมถนนพระราม 4 เป็นจุดที่มีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่เสียชีวิต และจุดที่อยู่ใต้ทางด่วนพระราม 4 พบศพนายเกียรติคุณ ฉัตรวีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข ทั้งนี้ กรณีของนายบุญมี เริ่มสุข หรือลุงบุญมี นั้นเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ผู้ร่วมชุมนุม แต่ถูกลูกหลงกระสุนยิงทะลุช่องท้องขณะเดินออกมากินก๋วยเตี๋ยว เจอรูกระสุนปืนนับ 100 นัด พ.ต.ท. บัณฑิตเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ในวันนี้เป็นการตรวจหาวิถีกระสุนและทิศทางการยิง เพื่อนำไปประกอบสำนวนในคดี โดยหลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทันที จึงทำให้การตรวจหาวิถีกระ สุนและหลักฐานต่างๆ ล่าช้าไปมาก แต่จะเร่งรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานที่ต่างๆ และตู้โทรศัพท์สาธารณะ ที่ตั้งอยู่ริมทางเท้า ถ.พระราม 4 พบมีรอยรูกระ สุนปืนจำนวนมากนับ 100 นัด มีทั้งรูกระสุนปืนเอ็ม 16 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5.56 มิลลิเมตร และกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. การตรวจสอบเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องวัดระยะและอุปกรณ์ของทางสถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ในการตรวจพิสูจน์ จากนั้นจะนำไปประมวลผลการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง พ.ต.ท.บัณฑิต กล่าวอีกว่า เบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบรอยวิถีกระสุนปืนพบว่า มีการยิงมาจาก 2 ทิศทาง เป็นการยิงมาจากทางด้านสะพานไทย-เบลเยียม ข้ามแยกถนนวิทยุ นอกจากนั้น จากการสอบปากคำพยานที่อยู่บริเวณจุดเกิดเหตุทราบว่ามีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย เป็นชายวัยรุ่น อายุ 17 ปี นอนเสียชีวิตอยู่บนฟุตปาธหน้าร้านอันซีน ทราเวล สาขาลุมพินี เลขที่ 1881/9 ซึ่งผู้เสียชีวิตดังกล่าวไม่มีอยู่ในสำนวนของดีเอสไอ แต่อาจจะอยู่ในสำนวนของพนักงานสอบสวนชุดอื่น ซึ่งต้องตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป ถ่ายรูป-เก็บข้อมูลอาคารสูง เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยา ศาสตร์เดินทางไปตรวจสอบบริเวณซอยปลูกจิต ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นจุดที่นายสมัย ทัดแก้ว อายุ 35 ปี ถูกยิงแผ่นหลัง 1 นัด ล้มลงอยู่หน้าร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ก่อนจะมีผู้นำส่งร.พ.กล้วยน้ำไท 1 ในวันที่ 19 พ.ค. เข้าพักรักษาตัวที่ร.พ.ประมาณ 14 วัน ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 31 พ.ค. และมีพยานให้ข้อมูลว่าเห็นผู้เสียชีวิตเดินอยู่บนถนนพระราม 4 ก่อนจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้น จึงรีบวิ่งเข้ามาในซอยประมาณ 50 เมตร ก่อนถูกยิงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ได้ถ่ายรูปที่เกิดเหตุและบริเวณอาคารสูง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นจึงเดินทางไปตรวจจุดต่อไป คือ บริเวณ ซอยศาลาแดง 1 หน้าบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เลขที่ 1010/16 แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. เป็นจุดที่ 2 ที่นายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ถูกยิงศีรษะ 1 นัดเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที ทางเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจวิถีกระสุน บริเวณประตูเหล็กเลื่อนหน้าบริษัทที่มีรอยกระสุนเฉี่ยวบริเวณประตูเหล็ก และเสาปูน โดยใช้เครื่องเลเซอร์วัดระยะและตรวจวิถีกระสุน ก่อนจะถ่ายภาพร่องรอยในที่เกิดเหตุใช้เวลาตรวจราว 30 นาที จึงแล้วเสร็จ รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเข้าตรวจหาร่องรอยบริเวณแยกบ่อนไก่ เจ้าหน้าที่ตรวจจากร่องรอยรูกระสุนปืนจากบริเวณตามบ้านเรือน ราวบันไดสะพานลอย ป้ายโฆษณา หน้าตึกแถวร้านขายสินค้าและตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งพบว่ายังมีร่องรอยรูกระสุนปืนอยู่เป็นจำนวนมาก ที่มาข่าว: สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เครือข่าย ปชช.ตะวันออกประกาศชุมนุมต้านประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง Posted: 25 Sep 2010 12:06 PM PDT เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกประกาศชุมนุมหน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ต่อต้านประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง 30 ก.ย. นี้ เมื่อวันวันที่ 25 ก.ย. 53 ที่โรงแรม มาดิน่า ถนนริมน้ำ ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แถลงข่าวการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรงต่อชุมชน ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ที่บริเวณ หน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ถนนสุขุมวิท โดยมีเครือข่ายประชาชนจากทุกภาคเข้าร่วมการชุมนุม เพื่อผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกประกาศดังกล่าวและให้มีการทบทวนใหม่ รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลจัดทำผังเมืองแนวป้องกันระหว่างโรงงานกับชุมชน และการแก้ไขลดปัญหามลพิษ นายสุทธิ กล่าวว่าได้รับรายงานว่าจะมีกลุ่มบ้านฉาง อ.บ้านฉางและต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง ออกมาคัดค้านการชุมนุมและจะยื่นหนังสือให้นายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง ในวันที่ 29 กันยายนที่ศูนย์ราชการ ทางเครือข่ายประชาชนฯพร้อมที่จะเข้าไปเจรจาเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และอยากทราบว่าการที่ออกมาคัดค้านการชุมนุม-ครั้งนี้ รู้ปัญหาเรื่อง 11 ประเภทโครงการรุนแรงมากน้อยขนาดไหน และรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองมากน้อยขนาดไหน คาดว่าน่าจะมีกลุ่มทุนบางกลุ่มบงการหนุนหลังการคัดค้านการชุมนุม รวมทั้งนักการเมืองบางคนในจังหวัดระยองและกลุ่มข้าราชการบางกลุ่มที่ให้การ สนับสนุนกลุ่มคัดค้าน ออกมาเคลื่อนไหวและขับไล่การชุมนุมของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นายสุทธิ กล่าวว่าเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ออกรณรงค์ให้ประชาชนทุกอำเภอในจังหวัดระยองที่เห็นด้วยกับเครือข่ายประชาชน ภาคตะวันออก ให้เดินทางมาร่วมชุมนุมกับเครือข่ายประชาชนฯในวันที่ 30 กันยายนที่บริเวณหน้าศูนย์ราชการ จ.ระยอง เป็นเวลา 3 วัน หากยังไม่มีการทบทวนการชุมนุมก็จะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป. ที่มาข่าว: สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เกิดเหตุระเบิดบริเวณประตูทางเข้าสนามม้านางเลิ้ง Posted: 25 Sep 2010 11:55 AM PDT 26 ก.ย. 53 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 00.40 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณประตูทางเข้าสนามม้านางเลิ้ง ถนนพิษณุโลก แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กทม.ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพิษณุโลก ไม่กี่เมตรเท่านั้น โดยแรงระเบิดทำให้กำแพงสนามม้าที่เป็นปูนแตกกระจาย และสะพานลอยมีรอยถูกสเก็ดระเบิดได้รับความเสียหาย เบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าวัตถุระเบิดบรรจุอยู่ในถังน้ำยาแอร์ ซึ่งมีน้ำมันเบนซิล ปุ๋ยยูเรียบรรจุดอยู่ทำให้กลิ่นน้ำมัน สารระเบิดกระจายอยู่ทั่วพื้นถนน เจ้าหน้าที่สน.นางเลิ้ง พร้อมตำรวจชั้นผู้ใหญ่รุดตรวจสอบพร้อมกั้นไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ จุดเกิดเหตุ ที่มาข่าว: บึ้มหน้าสนามม้านางเลิ้ง กำแพงพังยับ (เนชั่นทันข่าว, 26-9-2553)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเปิดให้ทุนทำโครงการแก่เยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ Posted: 25 Sep 2010 09:53 AM PDT มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพรับสมัครกลุ่มนิสิตนักศึกษา และเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สนใจจัดค่ายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ประเด็นสิทธิมนุษยชน และวิถีชีวิตที่หลากหลาย โดยมีระยะเวลาการจัดค่ายในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน 2554 กลุ่มที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับเงินทุนในการจัดค่ายสูงสุด 100,000 บาท เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 พฤษจิกายน 2553 ประกาศผลผู้ที่ได้รับคัดเลือกช่วงปลายเดือนธันวาคม ผู้สนใจ กรุณาเขียนโครงการเพื่อแนะนำตัว/องค์กร/กลุ่ม เหตุผลที่สนใจและวัตถุประสงค์ในการทำค่ายนี้ ส่งมาที่ info@wgjp.org หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ้าย 083 994 6012 หรือ อีเมลล์ suluck@wgjp.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
จากทำไม??? “ท้อง” แล้วต้อง “แต่ง” จนถึงเสรีภาพการเลือก “ทาง” ของชีวิต Posted: 25 Sep 2010 08:33 AM PDT สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นข่าวฮ็อตของนักร้องซุปเปอร์สตาร์ “ฟิล์ม” รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ กับนักแสดงสาวลูกครึ่ง แอนนี่ บรู๊ค ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาและสามารถแย่งพื้นที่ข่าว 3G ข่าวการสละตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของ พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม เพื่อแสดงสปิริตเพราะกลัวผลกระทบของชาวมุสลิมไทยที่ยื่นวีซ่าไปยังประเทศซาอุฯเพื่อประกอบพิธีฮัจน์ หรือแม้กระทั่งกระแสการปรองดองของรัฐบาลกับกลุ่มต่างๆ ก็ถูกกลบไปอย่างเห็นได้ชัด ทันทีที่ฉันได้ยินข่าวนี้ ความรู้สึกแรกคือตกตะลึงเหมือนๆ กับคนทั่วไปนั่นแหละ ทั้งๆ ที่ข่าวดาราเป็นข่าวหน้าท้ายๆ ที่ให้ความสนใจ ตลอดสัปดาห์ฉันจึงคิดหาเหตุผลกับเรื่องฮ็อตดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามหาคำตอบของความคิดเห็นของตัวเอง ฉันไม่ค่อยสนใจความฟูมฟายของผู้คนทั่วไปกับประเด็นดังกล่าวเท่าไหร่นัก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เห็นอกเห็นใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ฉันมีแง่มุมบางประการทีคิดขึ้นมาได้และอยากแลกเปลี่ยนตามสติปัญญาของคนวัยใกล้สี่สิบ และ....เมื่อวานฉันได้อ่านบทความของคุณ “คำ ผกา” เรื่อง “พี่ทำท้อง น้องทำแท้ง” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 -30 กันยายน 2553 ในตอนหนึ่งของบทความที่เธอเขียน ไว้ว่า ”ปัญหาเส้นผมบังภูเขาของสังคมไทยที่เกิดขึ้นกับกรณีของฟิล์มและแอนนี่คือ ยังแยกแยะไม่ได้ว่าการเป็นพ่อและแม่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแพ็กเกจคู่มาพร้อมกันกับความเป็นผัวเป็นเมีย เพราะมันไม่เหมือนการซื้อน้ำยาล้างจานแถมสก็อตไบรท์ ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกันหรือมาด้วยกันเสมอไป เพราะฉะนั้น นักข่าวจึงไม่จำเป็นต้องไปตั้งคำถามอย่างอีเดียทว่า “จะแต่งงานกันมั้ยคะ ฟิล์มจะรับผิดชอบอย่างไร จะช่วยเหลือ เลี้ยงดูอย่างไร” สังคมไทยควรต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่า “การเอากัน” นอกสถาบันการแต่งงานนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ดังนั้นการท้องโดยไม่ได้แต่งงานจึงเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง และหากคุณคัทลียา และสังคมไทย ณ เวลานั้น ตระหนักในความจริงที่ว่า ผู้หญิงท้องได้โดยไม่แต่งงาน เธอก็คงไม่ต้องออกมาโกหก กินเบนโล จนเป็นที่ประณามหยามเหยียดจากสังคม มันจะยากอะไรนักหนากับการบอกว่า สวัสดีคะ ดิฉันตั้งครรภ์ และยังไม่แน่ใจว่าจะแต่งงานเมื่อไหร่ดี จะแต่งเมื่อไหร่หรือหากว่าใครเป็นพ่อเด็ก เพราะตัวดิฉันเองยังไม่แน่ใจเช่นกันว่าเป็นลูกใคร จบข่าว” ฉันอ่านบทความชิ้นนี้ของคำผกาอย่างถึงสองรอบ ครั้งแรกอ่านผ่านๆ ก่อนไปรับลูกกลับจากโรงเรียนในวันศุกร์ และอ่านอย่างพินิจในครั้งที่สองเมื่อขึ้นไปบนห้องก่อนจะพาลูกๆ นอน ฉันพอจะจับความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาที่สุดได้ชัดขึ้น และออกจะคิดคล้อยไปกับบทความของคำ ผกาชิ้นนี้ นั่นคือ สถานภาพความเป็นพ่อเป็นแม่ หรือเป็นผัวเมียกันมันเป็นเรื่องที่สังคมต้องเปิดใจ และมีแง่มุมในการมองว่าเป็นเรื่องของ “สิทธิ” ในการเลือกมีชีวิตแบบใดก็ได้แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละคู่ แต่ละบุคคล บริบทของคนคนหนึ่งย่อมแตกต่างหลายหลากกันไป สังคมไม่มีสิทธิพิพากษา ฉันกำลังบอกว่าฉันมองประเด็นฮ็อตของสองดารา ตลอดจนมีทัศนคติต่อการมีชีวิตอยู่โดยยึดถือเรื่องสิทธิและเสรีภาพเป็นสำคัญ ฉันมองว่าจุดเริ่มต้นของการที่ดาราสองคนนี้มีความลึกซึ้งกันนั้น มันไม่ได้มีเป้าหมายที่ “ลงเอย” ด้วย “การแต่งงาน” ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันอาจเป็นเพียงความสุขและสนุกชั่วคราวของคนสองคน แต่ซวยที่ผู้หญิงดันท้องจนเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมาและออกมาประกาศต่อสาธารณะเมื่อลูกมีอายุได้ 3 เดือนแล้ว เช่นเดียวกันกับเรื่องของดาราคนอื่นๆ ที่เปลี่ยนคู่ไปมา รักแล้วเลิก เลิกแล้วรัก ซึ่งก็ออกจะเป็นข่าวธรรมดา แต่ตลาดสื่อกลับ “ขายได้” ทุกทีไป กระทั่งเรื่องดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นกับคนบ้านๆ อย่างเราๆ ซึ่งฉันก็ยังมองว่ามันเป็นเรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล” อยู่ดี ทุกคนมีสิทธิเลือกที่จะมีชีวิตในรูปแบบใดๆ ก็ได้ตามความเชื่อและปัจจัยที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นกับฟิล์มและแอนนี่ตั้งแต่เริ่มคบหากัน จนมีความสัมพันธ์กัน และยังคงลังเลสงสัยว่า “ลูกใครหว่า” ในปัจจุบัน ฉันมองว่ามันเป็นเงื่อนไขของคนสองคนที่จะตกลงกันว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด แม้เขาทั้งสองคนจะเป็นคนของสาธารณะก็ตาม แต่มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาอยู่ดี ซึ่งอันที่จริงจะออกมาแถลงข่าวหรือไม่ก็ไม่แปลก จะตอบคำถาม หรือจะตรวจดีเอ็นเอหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะตกลงกัน ไม่ควรมีใครเข้าไปยุ่งหรือกดดันใดๆ คำถามของนักข่าวสะท้อนภาพที่ชัดเจนมากของการก้าวล้ำความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ฉันคิดว่าไม่ว่าแอนนี่หรือฟิล์มอาจไม่จำเป็นตอบคำถามใดๆ ก็ได้ถ้ามันอึดอัดขัดใจนัก หรือยังหาทางออกไม่ได้ กระแสวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาถึงความผิดชอบชั่วดีต่างๆ ต่อกรณีข่าวนี้บอกกับเราว่าคนส่วนมากยังไม่เข้าใจชีวิตของมนุษย์ที่หลากหลายดีพอ ต่างคนต่างคิดและวิจารณ์ตามมุมมองที่ตัวเองถูกปลูกฝังมาตั้งแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเรื่องการรักนวลสงวนตัว การท้องโดยไม่มีพ่อ หรือแม้กระทั่งเรื่องการทำแท้ง ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่หาหาข้อสรุปไม่ได้ มีประโยคหนึ่งที่ ”คำ ผกา” กล่าวในบทความแล้วโดนใจฉันมากคือ “มนุษย์แต่ละคนต้องเผชิญกับเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป และไม่มีไม้บรรทัดแห่งความดีงามของใครมาวัดของใครได้ มีแต่ต้องพิจารณาหาทางออกไปตามเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ และหากยอมรับไม่ได้ ก็มีที่พึ่งคือ “กฎหมาย” และ “ศาล” สังคมไม่มีหน้าที่ไป sanction(แ ทรกแซงดิฉันแปลเอง)ว่าต้องลงโทษ บอยคอตใครให้สิ้นอนาคต” เพราะฉะนั้นบทความชิ้นนี้จึงมิได้มีจุดประสงค์ที่จะตัดสินถูกผิดใครทั้งสิ้น เพียงอยากบอกว่าในสภาวะเงื่อนไขที่คนรักหลายๆ คู่ประสบมันแตกต่างหลากหลายกันไป ร้อยคู่ก็ร้อยแบบ ชีวิตของใครก็ต้องแก้เป็นกรณีๆ ไป ด้วยคู่ของเขาเอง ไม่ใช่ต้องรอคำพิพากษาของสังคมหรือสื่อมวลชนที่ชอบทำตัวเป็นเปาบุ้นจิ้นตัดสินถูกผิดดีชั่วเลวทราม เพราะฉันเชื่อในเรื่องเสรีภาพเหนือเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีลธรรมอันดีงามสังคม หรือแม้กระทั่งบรรทัดฐานและการคาดหวังของสังคม เพราะในบางบริบทการกระทำหนึ่งอาจดีอาจงามในยุคหนึ่ง แต่พอเวลาเปลี่ยนไปก็อาจเลวร้ายไปก็เป็นได้ นี่คือพลวัตรของสังคม เราสตั๊ฟสังคมไม่ได้ และเราก็ห้ามความคิดและความรู้สึกของคนไม่ได้ด้วย ถูกของคนคนหนึ่งอาจจะผิดในมุมของอีกคนหนึ่งก็ได้ เอาอะไรมาวัด ที่สำคัญมันคือเสรีภาพในร่างกายของเราที่จะหลับนอนกับใครสักคนก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นสิทธิในร่างกายของคนสองคน ตราบใดที่ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปโดยยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย ถ้าเป็นกรณีข่มขืนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมีกระบวนการกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้อื่น แต่ในกรณีนี้มันไม่ใช่ กรณีของฟิล์มและแอนนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของวงการบันเทิงหรือในสังคมไทย ถ้าเรายังจำกันได้เมื่อหลายปีก่อน ”เจ้าพ่อแร็ป” เมืองไทยอย่าง “เจ เจตริน” ก็มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีความสัมพันธ์กับนางงามคนหนึ่งจนถึงมีลูกขึ้นมา ซึ่งในเวลาต่อมาคุณเจก็ยอมรับเป็นพ่อเด็ก แต่ไม่พร้อมจะดำรงสถานะสามีกับเธอผู้นั้นได้ เรื่องจึงจบลงด้วยการที่ทั้งสองคนยอมรับในสถานภาพพ่อและแม่ของเด็ก แต่ไม่ต้องการดำรงได้ซึ่งความเป็น “ผัวเมีย” กัน เพราะก่อนหน้าที่จะเป็นข่าวเจได้แต่งงานกับนักแสดงสาวคนหนึ่งและมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจถึง 3 คน ทั้งนี้เขาก็ไม่ได้ละทิ้งลูกคนแรกที่เกิดจากผู้หญิงในอดีต โดยได้ส่งเสียและอุปการะด้านการเงินและด้านอื่นๆ ตามควร ฝ่ายหญิงเองก็เข้าใจและก็ไม่เคยปิดบังว่าใครเป็นพ่อของลูก ส่วนภรรยาคนปัจจุบันของเจก็อยู่ในสภาพที่โอเครับได้ ฉันยกตัวอย่างถึงการแก้ปัญหาของคนคู่หนึ่ง เพื่อเป็นอะไรให้สังคมได้ฉุกคิด ฉันกำลังจะบอกว่าสังคมไทยก้าวไปไกลกว่าเรื่องศีลธรรมดีงามตามความหมายของคุณระเบียบรัตน์มากแล้ว การชี้ผิดชี้ถูกของคุณระเบียบรัตน์มันสุดโต่งและมองแต่ด้านเดียว ไม่เข้าใจบริบทของสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนไปจนหลายๆ คนตามไม่ทัน รวมถึงคุณระเบียบรัตน์เองด้วยที่ออกมาต่อว่าต่อขานฟิล์มอย่างรุนแรง โดยที่ลืมไปว่าคุณไม่เกี่ยวอะไรกับเขาเลย เป็นมือที่สามที่สี่ที่แย่งซีนเข้ามาเลยก็ว่าได้ ฉันเองก็เป็นคนที่มีครอบครัวแล้วและยังดำรงสถานภาพสมรสอยู่มานานถึง 10 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คนเงื่อนไขในชีวิตคู่ของดิฉันย่อมต่างจากกับคู่อื่นๆ แน่นอน ไม่มีคู่ใครเหมือนคู่ใครได้ฉันมั่นใจ ตลอดจนการที่ฉันและสามียังดำรงสถานสภาพสมรสกันถึงปัจจุบันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของฉันและสามี เป็นเรื่องของคนสองคนที่ตกลงกันโดยยินยอมพร้อมใจและกายกันทั้งสองฝ่าย สังคมห้ามมาล้ำเส้นเกินที่เราต้องการ มันคือเสรีภาพของการใช้ชีวิตของคนคู่หนึ่ง และการจะบอกว่าคนนั้นเหมาะกับคนนี่ยิ่งไปกันใหญ่ ละเมิดความเป็นส่วนตัวกันเต็มๆ ชีวิตของคนๆ หนึ่งหรือคู่หนึ่งมันเหมือนหนังสือที่ร่วมกันเขียน ส่วนตอนจบจะเป็นเช่นไร คนสองคนเท่านั้นที่รู้ และต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง ในกรณีตรงกันข้ามสำหรับคู่หย่าร้าง ก็เป็นอีกเงื่อนไขที่คู่นั้นๆ ต้องจัดการกับชีวิตคู่ของเขา บางคู่อยู่กันจนลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังมีดรณีแยกทาง ฉันมองว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ อีกเช่นกันเพราะในชีวิตคู่มันมีความหลากหลายซับซ้อนของปัญหาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ หรือวิสัยทัศน์ หรือแม้กระทั่งทัศนคติซึ่งถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ จากพ่อแม่ ฉันไม่ได้กำลังยุให้เกิดการหย่าร้างมากขึ้นในสังคมไทย แต่ฉันต้องการจะบอกว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทางเดินชีวิตในแบบใดก็ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และตัวเองก็มีความสุข ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วอึดอัดขัดใจ เจอหน้ากันก็ทะเลาะกันต่อหน้าลูกๆ ฉันคิดว่าคนคู่นี้สมควรอย่างยิ่งที่จะปรับความสัมพันธ์กันใหม่เพื่อความสุขของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะความสบายใจของคนกลางอย่างลูก จะทู่ซี้อยู่ด้วยกันเพื่อรักษาภาพอะไรกันนักกันหนา ก็ในเมื่อใจและอะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป มันถึงจุดอิ่มตัวกันแล้ว จะแคร์ทำไมกับคำว่า “หม้าย” หากเรารู้อยู่แก่ใจระหว่างคู่ของเราว่ามันต้องจบลงอย่างนี้ แค่กล้าหาญที่จะตัดสินใจและยอมรับมันก็เจ๋งมากแล้ว ทั้งนี้ฉันก็เชื่อว่าคู่ไหนๆ ก็คงไม่อยากจบแบบนี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าคู่ของคุณหากเลือกจะต้อง “จบ” ชีวิตคู่ลง ฉันก็คิดว่าไม่มีใครผิด สำคัญก็คือเมื่อมั่นใจที่จะเลือกทางนี้แล้ว ก็ต้องกล้าที่จะยอมรับกับอะไรๆ ที่ตามมาภายหลัง หากนั้นเป็นทางเลือกที่คนสองคนเลือกแล้ว ตัดสินใจดีแล้ว ฉันก็เคารพในการตัดสินใจโดยดุษฎี ไม่มีข้อกังขา และไม่มีการเปรียบเทียบกับชีวิตของใครๆ ทั้งสิ้น กระแสสังคมและบรรทัดสังคมมีไว้เพื่อจัดระเบียบเรื่องราวต่างๆ ก็จริง แต่สำหรับเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของการเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ของคนไม่ใช่หรือ ไม่ว่าจะสถานภาพสมรส หย่าร้าง single mom หรือ single dad ก็ตาม ไม่มีสถานภาพใดดีกว่ากว่าสถานภาพใดหรอก ขอเพียงเรามั่นใจและภูมิใจในสถานภาพนั้น และดำเนินชีวิตต่อไป การตกลงสถานภาพกันใหม่จึงเป็นเรื่องดีมากกว่าเรื่องเสีย เช่น เมื่อหย่าร้างกันแล้วลูกจะอยู่กับใคร ใครจะรับผิดชอบลูกในส่วนไหนบ้าง อย่างน้อยๆ ลูกก็ยังมีทั้งพ่อและแม่ เพียงแต่ต้องบอกให้เด็กเข้าใจว่าเพราะเหตุใดปลายทางของพ่อแม่จึงจบในอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนครอบครัวของเพื่อนๆ ลูก หากคุณอธิบายได้ เด็กก็พร้อมจะรับฟังพวกคุณ กลับมาถึงประเด็นที่ฉันอยากนำเสนอเพราะเป็นเรื่องที่ดิฉันกำลังคิดหาคำตอบถึงขั้นนอนไม่หลับในคืนก่อน และตัดสินใจเขียนมันออกมา นั่นคือ เรื่อง “การนอกใจ” สำหรับคู่แต่งงาน อย่าตกใจไปฉันไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้นนะคะ แต่ฉันกำลังมองถึงเหตุปัจจัยของเรื่องนี้อยู่ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง และทฤษฎีว่าด้วยการนอกใจมันมีให้ศึกษาหรือเปล่า ตลอดจนมีประวัติศาสตร์อันใดบ้างที่พูดถึงเรื่องนี้ อย่างในสมัยก่อนที่ผู้ชายไทยมีเมียมากกว่าหนึ่งคนมันเป็นการนอกใจหรือไม่ หรือการที่ในศาสนาอิสลามบอกไว้ว่าผู้ชายสามารถมีภรรยาได้ถึง 4 คน มันสัมพันธ์กับการนอกใจประการใด แม้กระทั่งบทประพันธ์เรื่องขุนช้างขุนแผนที่นางเอกมีสามีถึงสองคนจนได้รับฉายาว่า “เป็นนางวันทองสองใจ” เรื่องของนางวันทองเป็นเรื่องที่สังคมมองถึงภาพการนอกใจในระดับที่รุนแรงนั่นคือ การมีชู้ ทุกคนต่างตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีผิดประเพณี โดยไม่ได้ค้นถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องว่าทำไมนางถึงต้องตกอยู่ในสภาพสองผัวเช่นนั้น และท้ายสุดตัวนางเองก็บอกไม่ได้ว่าจะเลือกใคร จนทำให้ถูกตัดสินประหารชีวิตในที่สุด ฉันมองว่าการที่นางวันทองเลือกไม่ได้ก็เป็นเรื่องของสิทธิที่จะเลือกทั้งสองคนนั่นแหละ ตรงๆ เลย(เหมือนเพลงอยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคนของทาทายังถ้าฉันจำไม่ผิด) เพราะนางวันทองถูกยื้อยุดไปมาระหว่างขุนช้างและขุนแผน ซึ่งก็เป็นชายที่รักนางทั้งสองคน ถ้าคุณต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนางคุณจะทำเช่นไร แล้วคุณจะเลือกได้ไหมว่าจะอยู่กับใคร ฉันยกตัวอย่างเรื่องนางวันทองเพื่อจะพูดถึงประเด็น “ทางเลือก” ในเรื่องที่ไม่อยากเลือก ของคนกำลังนอกใจสามีหรือภรรยาของคุณอยู่ ฉันไม่ได้ส่งเสริมให้ใครนอกใจใครหรอกนะ แต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นเงื่อนไขของคนสอง(สาม)คน ที่ยากจะฟันธงผิดชอบชั่วดี ฉันคิดว่าหลายๆ คนคงเคยหรือกำลังประสบความรู้สึกเช่นนี้ คือจะทิ้งเมีย(ผัว) ก็ไม่ได้ จะให้เลิกกับผู้หญิง(ผู้ชาย) ที่เข้ามาสัมพันธ์ภายหลังชีวิตสมรสก็ไม่ได้อีก มันทรมาน และอึดอัด บางคนถึงขั้นเครียดเลยก็มี ในมุมมองของฉัน ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามในทุกเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นรักซ้อน รักซ่อนปมก็ตามเถอะ เรื่องของหัวใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากและยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ฉันคิดว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากเป็น “น้อย” หรือ คงไม่มีภรรยาคนใดรับได้เมื่อรู้ว่าสามีนอกใจไปมีผู้หญิงอีกคน เรื่องรักสามเส้าของแต่ละคู่(คี่) ก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป อยู่ที่การมองของแต่ละคนมากกว่า แต่สิ่งที่ดิฉันเชื่อด้วยใจจริงก็คือในทุกๆ เรื่องราวของแต่ละคนมันมีที่มาและที่ไปของพฤติกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรักในกรอบ รักนอกกรอบอย่างเรื่องนี้ก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นบางครั้งเราก็ค้นความรู้สึกลึกของตัวเองไม่เจอว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นหากคุณกำลังตกอยู่ในสภาพที่อยากจะจับปลาสองมือคุณก็ไม่จำเป็นต้องเลือกใคร เพียงแต่คุณต้องตกลงให้ได้กับความสัมพันธ์ใหม่นี้ให้สร้างความกดดันให้ตัวเองให้น้อยที่สุด กับใครก็ได้ระหว่างผู้หญิงสองคน (เลือกตกลงคนเดียวจะดีกว่า ถ้าไม่อยากเกิดปัญหา ดิฉันว่าน่าจะเป็นผู้หญิงคนที่สองของคุณ) ถ้าคุณยังทำหน้าที่สามีอย่างไม่บกพร่อง ในขณะเดียวกันก็คบกับผู้หญิงอีกคน (ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แค่คบกันหรือจะมีเซ็กส์ด้วยหรือไม่ก็ตามแต่) ถ้าเธอผู้นั้นพอใจในสถานภาพที่อาจเป็น “รอง” และไม่ต้องการครอบครองตัวคุณเพียงคนเดียว มันก็เป็นเรื่องของเสรีภาพในการได้รัก และสิทธิที่จะทำตามความรู้สึกของตัวเอง อย่างน้อยเธอผู้นั้นก็รู้หัวใจตัวเอง ไม่ได้หลอกตัวเอง อย่างที่ฉันย้ำนักย้ำหนาว่าเรื่องคนสองคน(หรือเกิดมีคนที่สามขึ้นมาก็ตาม) เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เป็นส่วนตัว ทุกคนมีสิทธิคิดและรู้สึกแบบนี้ได้ อย่าเอาบรรทัดฐานสังคมมากดดันตัวเองให้ต้องรู้สึกผิดเลย เพราะเรื่องบางเรื่องมันอธิบายเป็นคำพูด เป็นตัวอักษรไม่ได้ แต่มันรู้สึกได้ และเป็นความรู้สึกที่ยากจะฝืนหรือยากที่จะเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ฉันขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่เคยนอกใจสามี และก็ไม่ส่งเสริมเรื่องเช่นนี้ แต่หากมันเกิดกับคุณขึ้นมาไม่วันได้ก็วันหนึ่ง และหากต้องตกเป็นจำเลยของศีลธรรมอันแสนดีงามว่าด้วยเรื่องผัวเดียวเมียเดียว คุณจะรับหรือแก้ปัญหานี้ให้ตกอย่างไร ตัวฉันเองก็ไม่ได้เอาตัวเองเป็นมาตรวัดว่าเป็นคนดีเสียเต็มประดาที่มีรักเดียวใจเดียว ตลอดจนก็ไม่คิดจะตัดสินผิดถูกให้กับใครหาก “ปัญหาการนอกใจ” มันเกิดขึ้นกับชีวิตคู่ใดๆ ก็ตาม มันเป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะคู่(คี่)ของคุณ ลองปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของหัวใจนั่นแหละ ผิดหรือถูก ความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติจะตอบคำถามนี้ได้เอง เพราะ...ชีวิตเป็นของเรา เราต้องกำหนดชีวิตด้วยตัวของเราเอง ความรักเป็นสิ่งที่หอมหวานในขณะเดียวกันก็เย้ายวนใจมิใช่น้อย ซึ่งในคนคนหนึ่งอาจเกิดความรักได้พร้อมๆ กันกับผู้หญิง(ผู้ชาย) ถึง สองคนก็ได้ อยู่ที่คุณจัดความสัมพันธ์เช่นไรมากกว่า คุณมีเสรีภาพในทุกๆ เรื่องแม้กระทั่งเรื่องที่สังคมมองว่า “นอกกรอบ” เช่นนี้ ฉันเชื่อในสิทธิและเสรีภาพอย่างถึงที่สุด โดยเสรีภาพในเรื่องความรัก.....ในเงื่อนไขและบริบทที่ต่างกันไปของแต่ละคู่ เรื่องของใครก็เรื่องของมันสังคมไม่มีหน้าที่ตัดสิน...อย่าได้แคร์ ผิดชอบชั่วดีขึ้นกับตัวเราเท่านั้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
นายกฯ อภิสิทธิ์ตอบสารพันคำถาม ณ นิวยอร์ก (มีเรื่องเสรีภาพของสื่อด้วย) Posted: 25 Sep 2010 07:05 AM PDT “มาร์ค” ตอบสื่อนอก แจงประเด็นปิดสื่อเสื้อแดง “ผมไม่แน่ใจว่า ประเทศของคุณจะยอมปล่อยให้มีสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุที่สนับสนุนขบวนการอัลกออีดะห์เช่นกัน” นิวยอร์ก—นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (24 กันยายน พ.ศ. 2553) ว่า อาจมีการเลือกตั้งก่อนกำหนดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 แต่มีเงื่อนไขว่า กลุ่มคนเสื้อแดงต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนว่า พวกเขาจะตั้งมั่นในสันติวิธี “เราเชื่อว่า ถ้าประเทศยังมีความสงบเรียบร้อยต่อไปอีก 6 เดือน.....ก็น่าจะเป็นบรรยากาศที่เหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้งเร็วขึ้นในปีหน้า” เขาแถลงต่อกลุ่มมันสมองในนิวยอร์ก ระหว่างการไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ “กระนั้นก็ตาม ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายค้านและกลุ่มคนเสื้อแดงประพฤติตัวอย่างไร” อภิสิทธิ์ทิ้งท้ายไว้ในการปราศรัยที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “ถ้าพวกเขาพิสูจน์ตัวเองได้ว่าใส่ใจในกระบวนการประชาธิปไตย การชุมนุมอย่างสงบและไม่ข้องแวะกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงกิจกรรมที่ใช้ความรุนแรงด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็คิดว่าเราน่าจะอยู่บนเส้นทางที่บรรลุการแก้ไขปัญหาได้” การยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นข้อเรียกร้องสำคัญของขบวนการคนเสื้อแดงที่คัดค้านรัฐบาลชุดนี้ นายอภิสิทธิ์ ผู้เกิดในประเทศอังกฤษ จบการศึกษาจากออกซฟอร์ด และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่วาระการเลือกตั้งจนกระทั่งสิ้นปีหน้า เขาเคยเสนอให้จัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ทว่ายกเลิกแผนการนี้ไปเมื่อฝ่ายตรงข้ามประท้วงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ซึ่งลงเอยด้วยการที่รัฐบาลปราบปรามจนนองเลือดและเกิดจลาจลในกรุงเทพฯ มีประชาชนตายถึง 90 คนและบาดเจ็บเกือบ 1,900 คน จากการบุกโจมตีของกองทัพเพื่อกวาดล้างผู้ประท้วงในวันที่ 19 พฤษภาคม กลุ่มผู้ประท้วงรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะล้มรัฐบาลนี้ได้ เนื่องจากฝ่ายผู้ประท้วงมองว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาตามกระบวนการประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้อำนาจมาจากการหนุนหลังของกองทัพ หลังจากคำตัดสินของศาลทำให้รัฐบาลชุดก่อนต้องพ้นจากตำแหน่ง ตอนนี้ ผู้นำคนเสื้อแดงส่วนใหญ่อยู่ในคุกหรือไม่ก็ถูกประกาศจับในข้อหาก่อการร้าย เนื่องจากมีบทบาทในการระดมมวลชนชุมนุมประท้วงยาวนานถึงสองเดือน อภิสิทธิ์ยืนยันว่า การเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประเทศมีเสถียรภาพกลับคืนมาเท่านั้น “ผมไม่เชื่อในการเลือกตั้ง ตราบที่ยังมีการข่อขู่ การคุกคามหรือการใช้กำลัง” เขากล่าว เขายอมรับว่า “เรายังไม่สามารถอ้างว่า สถานการณ์กลับสู่ภาวะปรกติอย่างสมบูรณ์แล้ว” แต่กล่าวว่า การใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปนั้น “ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนคนธรรมดาทั่วไป” เขายังกล่าวแก้ต่างให้ตัวเองเกี่ยวกับข้อหาว่าทำลายเสรีภาพของสื่อ โดยกล่าวว่า เฉพาะสื่อที่ “ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง” เท่านั้นที่ถูกปิด “ผมไม่แน่ใจว่า ประเทศของคุณจะยอมปล่อยให้มีสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุที่สนับสนุนขบวนการอัลกออีดะห์เช่นกัน” เขากล่าวแก่ผู้ฟังที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ความรุนแรงเป็นระยะ ๆ ยังคงสร้างความปั่นป่วนในประเทศไทย ระเบิดขนาดเล็กที่ซุกซ่อนในถังขยะระเบิดขึ้นในย่านที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ และทำให้มีผู้บาดเจ็บสามคนตามรายงานของตำรวจ ถึงแม้จะยังอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ แต่นายกรัฐมนตรีของไทยก็กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง คาดว่าจีดีพีจะโตขึ้นถึง 8% ในปีนี้และการส่งออกกำลังเติบโตในอัตรา 30% ต่อปี เขากล่าวทิ้งท้าย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ทำไมวาทกรรม “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จึงไม่จูงใจพระสงฆ์ให้เลือกฝ่ายทางการเมือง Posted: 25 Sep 2010 06:04 AM PDT เท่าที่ผมลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัย* เกี่ยวกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ทุกภาคของประเทศ ข้อมูลที่พบคือ พระสงฆ์ส่วนใหญ่เลือกฝ่ายเสื้อแดง แม้ที่ไม่ได้แสดงตัวว่าเลือกฝ่ายไหน แต่เมื่อถามในรายละเอียดแล้วก็มักจะมีทัศนะหรือท่าทีที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และความเป็นธรรมของฝ่ายเสื้อแดง ผมถาม (พระที่ท่านยืนยันว่าเลือกฝ่ายเสื้อแดง) ว่า ฝ่ายเสื้อเหลืองเขาชูวาทกรรมจะสู้เพื่อปกป้องสถาบัน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ไม่ใช่หรือ ทำไมพระสงฆ์ไม่เลือกฝ่ายที่ปกป้องสามสถาบันหลักนี้? คำตอบที่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่เลยคือ มันเป็นเพียงการอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง พระสงฆ์ไม่เชื่อว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะล้มล้างสถาบัน และเห็นว่าการใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือแบ่งแยกคนในประเทศออกเป็นฝักฝ่ายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้! โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” พระสงฆ์โดยเฉพาะพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะตั้งคำถามมากขึ้นว่าในวาทกรรมดังกล่าวนั้น ประชาชนหายไปไหน ส่วนพระสงฆ์รากหญ้าที่มาชุมนุมกับชาวบ้านก็จะตั้งคำถามทำนองว่า ทำไมประชาชนฝ่ายเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงจึงถูกประเมินค่าไม่เท่ากัน เป็นต้น พระสงฆ์ที่เป็นพระผู้ใหญ่แม้ไม่ได้แสดงออกทางการเมือง แต่จากคำบอกเล่าของ “พระวงใน” ก็ดูเหมือนว่าบางท่านจะเห็นใจคนเสื้อแดง ส่วนพระหนุ่มที่ความคิดก้าวหน้าบางรูปกึงกับมองว่าหากพระสงฆ์ หรือสถาบันสงฆ์ไม่แสดงบทบาทที่ชัดเจน เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น พระสงฆ์หรือสถาบันสงฆ์เองอาจจะไม่มีที่ยืนในสังคม แม้แต่พระที่เคยขึ้นเวทีเสื้อเหลือง หรือถูกมองว่าสนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลืองบางรูป ก็ดูเหมือนความคิดจะเปลี่ยนไป มองฝ่ายเสื้อเหลืองอย่างวิพากษ์มากขึ้น เข้าใจประเด็นหลักในการต่อสู้ของฝ่ายเสื้อแดงมากขึ้น แม้ท่านเหล่านี้จะไม่ถึงกับเปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนฝ่ายเสื้อแดง แต่ที่ค่อนข้างชัดคือมีการถอนตัวจากฟากเสื้อเหลือง หรือระมัดระวังมากขึ้นที่จะไม่ให้ถูกแอบอ้างเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นต้น หากลงไปในรายละเอียดจากการโฟกัสกรุ๊ปพระนักศึกษา พระสังฆาธิการ และนักวิชาการด้านพุทธศาสนา ข้อเท็จจริงที่พบคือพระสงฆ์จะเห็นว่าคำสอนของพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก เรื่องความเป็นธรรม พุทธศาสนายอมรับความเท่าเทียมในความเป็นคน เช่นที่พระพุทธองค์ปฏิเสธเรื่องวรรณะสี่ ผู้ปกครองตามความหมายที่พระพุทธเจ้าสอนในอัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ 11) ในยุคแรกเริ่มที่เกิดสังคมการเมืองเป็นผู้ปกครองที่ประชาชนสมมติหรือแต่งตั้งขึ้นมา เรียกว่า “มหาชนสมมติ” เพราะความจำเป็นที่สังคมต้องมีผู้นำ ต่อมาเมื่อผู้นำเช่นนั้นดำเนินการปกครองที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนพึงพอใจจึงมีการเรียกผู้ปกครองเช่นนั้นว่า “ราชา” แปลว่า “ผู้ทำให้ประชาชนมีความยินดีหรือพึงพอใจ” โดยการมีคุณธรรมของราชา คือทศพิธราชธรรมเป็นต้น ซึ่งคุณธรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิ่งรองรับสถานะอันศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจที่แตะต้องไม่ได้ของราชาแต่อย่างใด แต่เป็นเงื่อนไขหรือเป็นข้อเรียกร้องที่ผู้นำ (ไม่ว่าจะอยู่ในระบบราชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม) จำเป็นต้องมีหากผู้นำเช่นนั้นต้องมีบทบาทเพื่อ “ประโยชน์สุข” ของมหาชน พระสงฆ์รุ่นใหม่บางส่วนมีการตั้งคำถามไปถึงว่า สถาบันสงฆ์ควรจะบทบทวนความผิดพลาดของตนเองหรือไม่ ที่ในอดีตมีการบิดเบือนคำสอนของพุทธศาสนาไปสนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีอำนาจรัฐ ทั้งที่จริงแนวคิดที่สนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ตรงๆ เลย คือแนวคิดแบบพราหมณ์ หรือฮินดูที่ถือว่าพระพรหมสร้างโลก แล้วก็สร้างกษัตริย์ให้มาปกครองโลก พิธีกรรมสถาปนากษัตริย์ในสังคมไทยหลักๆ เลยที่รองรับสถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์คือพิธีพราหมณ์ พิธีพุทธเป็นเพียงส่วนประกอบ แต่เนื่องจากในอดีตวัดกับวังคือแหล่งการศึกษาของสังคม ฉะนั้น วัดจึงถูกกำกับโดยวัง และถูกใช้เป็นเครื่องมือปลูกฝังความจงรักภักดีต่ออำนาจของวัง ซึ่งนั่นเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่พระสงฆ์รุ่นใหม่มองว่าอาจเป็นความจำเป็นของสังคมการเมืองในยุคนั้นๆ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามกฎอนิจจัง และการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นก็สอดคล้องกับแนวคิดดั้งเดิม หรือคำสอนอันแท้จริงของพุทธศาสนา จึงไม่มีเหตุผลที่พระสงฆ์จะคัดค้านหรือไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ โดยอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” นี่คือความเห็นบางแง่มุมของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง หรือที่ไม่เลือก (โดยการแสดงออก) แต่เข้าใจและเห็นใจฝ่ายแดง!
* งานวิจัยชื่อ “ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน” (ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนทุนวิจัย)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
"มาร์ค" พบคนไทยในนิวยอร์กชี้แจงสถานการณ์-แดงนิวยอร์คประท้วงหน้าที่พัก Posted: 25 Sep 2010 05:29 AM PDT "มาร์ค" พบคนไทยในนิวยอร์กชี้แจงสถานการณ์ทางการเมือง ด้านกลุ่มคนเสื้อแดงในนิวยอร์กรวมตัวประท้วงหน้าโรงแรมที่พัก ที่มาภาพ: ไทยอีนิวส์ 25 ก.ย. 53 - ไทยอีนิวส์รายงานว่ามีคนเสื้อแดงในนิวยอร์คและอเมริการาว 30 คนไปรวมกลุ่มประท้วงอภิสิทธิ์หน้าโรงแรมพลาซ่าแอทธินี ที่พักของอภิสิทธิ์ โดยร่วมกันตะโกนด่าในระยะประชิดไม่เกิน 10 ฟูต ด้วยปากเปล่า เพราะไม่ได้ขออนุญาตใช้เครืองขยายเสียง โดยผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้ตะโกนต่อว่านายอภิสิทธิ์ขณะเดินขึ้นรถ โดยไทยอีนิวส์ยังรายงานต่อไปว่า คนเสื้อแดงนิวยอร์ค ได้ชูป้ายโจมตีนายอภิสิทธิ์ด้วยข้อความต่างๆ เช่น -Thai prime minister you can't fool the world 91 killed (นายกฯไทยคุณไม่สามารถหลอกลวงชาวโลกได้ที่คุณสังหาร 91ศพ) บนป้ายที่ทำเป็นรอยเลือดไหล -Free all political prisoners (ปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด) -Abisit-murderer shame! you stoop lying the world (อภิสิทธิ์-ฆาตกร อายซะมั่ง หยุดหลอกชาวโลกได้แล้ว) -นายกฯทรราชย์ ไม่รู้จะด่ายังไงแล้ว พร้อมกับวาดรูปตีนประกอบ "มาร์ค" พบคนไทยในนิวยอร์กชี้แจงสถานการณ์ ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่า นายกรัฐมนตรีพบปะชุมชนชาวไทยในนครนิวยอร์ก ชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยหลังเกิดเหตุการณ์ชุมนุม ระบุไม่เคยปฏิเสธเรื่องการเลือกตั้ง หากช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงนิวยอร์ก มาดักรอที่บริเวณหน้าโรงแรมที่พัก ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ไทย-สหรัฐที่เป็นไปอย่างเข้ม งวด “อรวรรณ ชูดี” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ซึ่งติดตามภารกิจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน รายงานว่า ภารกิจสุดท้ายก่อนเดินทางกลับประเทศไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในเวลา 18.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีได้พบปะชุมชนชาวไทยในนครนิวยอร์กและมลรัฐใกล้เคียง ที่ Kavookjian Hall โดยนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การสร้างความสามัคคีปรองดองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความรู้สึกเกลียดชังเริ่มหยั่งรากลึกในสังคมไทยมากขึ้น และไม่มีผู้ใดแก้ไขได้นอกจากคนไทยทุกคนในส่วนของรัฐบาลได้นำปมขัดแย้งต่าง ๆ มาดูว่าความสูญเสียเกิดขึ้นได้อย่างไร และเปิดโอกาสให้มีการไต่สวนอย่างอิสระและตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหา “ผมไม่เคยปฏิเสธเรื่องการเลือกตั้ง ทั้งที่มีสิทธิอยู่จนครบวาระถึงต้นปี 2555 หากเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ ก็ยินดีที่จะจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น แต่หากยุบสภาฯ แล้วทำให้มีความรุนแรงในการเลือกตั้งก็ไม่เป็นประโยชน์ จึงได้ย้ำมาตลอดว่าหากฝ่ายที่เคลื่อนไหวแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะอยู่ภายใต้ กฎหมาย มีความสงบและสถานการณ์มีความเหมาะสม ก็พร้อมยุบสภา และได้เคยเสนอในการเจรจากับฝ่ายผู้ชุมนุมถึง 3 ครั้ง แต่เมื่อแกนนำไปรับฟังข้อมูลจากบางคน จึงไม่ตกลง ไม่เช่นนั้นขณะนี้คงได้เตรียมเลือกตั้งกันแล้ว”นายกรัฐมนตรี กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเปิดโอกาสให้ซักถาม คนไทยในนิวยอร์กได้สอบถามนายอภิสิทธิ์ว่า ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีมา อะไรเป็นเรื่องที่ลำบากใจที่สุด นายอภิสิทธิ์ ได้ตอบทันทีว่า เป็นเรื่องความแตกแยกในสังคม ซึ่งการแก้ไขโดยใช้แผนปรองดองถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนตัวก็มีจุดยืนทางการเมืองเช่นกันว่า หากเป็นการปรองดอง สามัคคี โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ก็จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด เพราะถ้ามาเอาใจกันแต่บ้านเมืองเสียระบบ มันไม่คุ้มค่า ซึ่งคำตอบดังกล่าวได้สร้างความพอใจจนเรียกเสียงเฮจากชุมชนคนไทย ทั้งนี้ ในการจัดงานพบปะชุมชนคนไทยในนครนิวยอร์กครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ได้พยายามป้องกันปัญหาการสร้างความวุ่นวายด้วยการให้ผู้ร่วมงานต้องลง ทะเบียนล่วงหน้าทางเว็บไซต์ และมีการคัดเลือกคำถาม รวมถึงตัวบุคคลที่จะซักถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนอกจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ยังมีเรื่องปัญหาปราสาทพระวิหารและความสัมพันธ์กับกัมพูชาที่ได้รับความสนใจ ซักถาม รวมทั้งขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยแก้ปัญหาการลงทุนของคนไทยต่างแดนในประเทศไทย ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะให้การบินไทยเปิดบริการเที่ยวบินตรงระหว่าง กรุงเทพฯ-นิวยอร์กขึ้นใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายแทรกแซงการบินไทย แต่ผู้บริหารเมื่อทราบความต้องการแล้ว อาจมีการทบทวนเส้นทางบินดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า แม้ภายในงานจะไม่มีวี่แววของคนเสื้อแดง แต่ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงในนิวยอร์ก ประมาณ 30 คนได้มารวมตัวกันที่บริเวณฟุตบาทฝั่งตรงข้ามกับโรงแรมพลาซา แอทธินี ที่พักของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยถือป้ายผ้าที่มีภาพของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อเดือน เมษายน-เดือนพฤษภาคม 2553 ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดของเจ้าหน้าที่ไทยและหน่วยรักษาความปลอดภัยสหรัฐ และเมื่อขบวนรถของนายกรัฐมนตรีเดินทางถึงกลุ่มคนเสื้อแดงนิวยอร์กได้ส่ง เสียงโห่ร้อง แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ใช้วิธีขับรถตู้ขวางรถประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ไว้ นอกจากนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงนิวยอร์กยังโห่ร้องเมื่อเห็นคณะผู้ติดตาม ทั้งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอิสรา สุนทรวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปรากฏตัวที่หน้าโรงแรม ก่อนที่จะสลายตัวไปในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบชุมชนคนไทยเมื่อเวลา 18.00 น. สำหรับนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางออกจากนครนิวยอร์กแล้ว เมื่อกลางดึกของวันที่ 24 กันยายน 2553 ตามเวลาท้องถิ่น และจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 26 กันยายน 2553 เวลา 06.05 น ที่มาข่าว: โอบาม่าเดินผ่านอะไรก็ไม่รู้แว้บๆ เสื้อแดงนิวยอร์ครวมพลังตะโกนใส่หน้าไอ้ฆาตกร Go to hell-ลงนรก (ไทยอีนิวส์, 25-9-2553)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เสื้อแดงเปิดศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม Posted: 25 Sep 2010 05:01 AM PDT "เสื้อแดง"เปิดอิมพีเรียลเป็น ศูนย์เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม สัญญาถ้าพท.ได้เป็นรัฐบาลจะให้ผู้เสียชิวิตรายละ 10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 53 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำนปช.ที่ไม่ถูกดำเนินคดี รวมถึง น.ส.สุนีย์ เหลืองวิจิตร รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตเหรัญญิกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในการชุมนุมที่ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้า อิมพีเรียลลาดพร้าว ซึ่งเป็นการแถลงข่าวที่ศูนย์บัญชาการเสื้อแดงที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว ครั้งแรกในรอบ 4 เดือนหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 53 นายจตุพร กล่าวว่า ตั้งแต่ยุติการชุมนุนคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม คนเสื้อแดงถูกล้อมกรอบ ทำให้คนเสื้อแดงเคลื่อนไหวอะไรได้ลำบาก พรรคเพื่อไทยก็เขามาช่วยเหลือ แต่ก็ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากติดขัดหลายๆเรื่อง แต่ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบในการชุมนุม โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อพิจารณาช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตลอดจนคนเสื้อแดงที่ได้ผลกระทบทั้งหมด โดยมีเงินทุนเบื้องต้น 1.5 ล้านบาท นายจตุพร กล่าวว่า ต้องยอมรับตรงๆ ว่ามีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งลำบากมาก ได้รับผลกระทบ ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เราจะช่วยเหลือผู้เสียชีวิตรายละ 10 ล้านบาทอย่างแน่นอน ความจริงจำนวนเงิน 10 ล้านบาทนั้นถือว่าน้อยไป และหากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าน้อยไป ตนเองก็จะจ้างนายสุเทพ ไปตาย 10 ล้าน ทั้งนี้ เงิน 10 ล้านบาทที่อยากจะช่วยเยียวยานั้น ไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ควรเป็นรางวัลให้กับครอบครัวที่พ่อและแม่ไปทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ซึ่งเรื่องนี้ได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้ว เบื้องต้นก็เห็นร่วมกันทั้งหมด ที่มาข่าว: เสื้อแดงเปิดศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม (โพสต์ทูเดย์, 24-9-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
โลกวันนี้สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” (4 รัฐประหาร 19 กันยา 2549) Posted: 25 Sep 2010 04:40 AM PDT “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองหนึ่งในนักวิชาการที่กล้าพูด กล้าวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ที่กลายเป็นหลุมดำที่ฉุดให้บ้านเมืองต้องดำดิ่งสู่เหวนรก พร้อมๆกับเหตุการณ์นองเลือด “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ยากจะเกิดการปรองดองสมานฉันท์ แต่จะรอวันแตกหักและการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง 4 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ถ้ามองย้อนกลับไป 4 ปี การรัฐประหารล้มรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) (หรือชื่อเดิมยาวเหยียดว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ต้องพูดว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “น่าเสียใจ” และ “น่าเสียดาย” มากที่เกิดขึ้นและเมื่อเกิดขึ้นกลับมีความเสียหาย มากกว่าเป็นผลดีกับประเทศชาติ ผมคิดว่ามันน่าเสียดายที่เราไม่สามารถใช้กลไกของประชาธิปไตยกับของกฎหมายจัดการกับปัญหา แต่ไทยเรา (โดยเฉพาะคนชั้นสูง) ใช้กำลังอาวุธ ใช้กองทหารมาจัดการกับปัญหาทางการเมือง อันนี้เป็นส่วนที่ผมคิดว่ามันน่าเสียดายและเสียใจ เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ชนะอย่างถล่มทลายของ “พรรคไทยรักไทย” นำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ จากนั้นก็มาเกิดวิกฤตอย่างที่เห็น เป็นวิกฤตตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดขบวนการโค่นล้มพ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขบวนการ “ม็อบเสื้อเหลือง” เกิดขบวนการ “อ้างและอิง” สถาบันพระมหากษัตริย์ในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อสังคมไทย อันนี้ผมคิดว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญมาก แล้วก็จบลงด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 แปลว่า พัฒนาทางการเมืองของไทย ซึ่งมันก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเวลาเป็นเวลาตั้ง 100 ปีแล้ว มันก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ต่อไป ไม่จบสิ้น แล้วดูเหมือนกับในด้านหนึ่งมัน ถอยหลังและในอีกด้านหนึ่งมันก็จมดิ่งลงไปอยู่ใน “หลุมดำ” ผมมองว่า มันเป็น “หลุมดำทางการเมือง” เป็นสิ่งที่ผมมองจากประวัติศาสตร์ช่วงยาวๆของสังคมของการเมืองไทยประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา มีทั้งที่ถอยหลังและตกต่ำลงลึกไปพร้อมๆกัน ประเด็นต่อมาผมมองว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. ปี 2549 เป็นรัฐประหารที่อาจเรียกได้ว่า “ล้มเหลวมากที่สุด” ก็อาจเป็นไปได้ เพราะทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยก เกิดความขัดแย้งอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของไทย ผมมองว่าที่ล้มเหลวที่สุด คือ เมื่อยึดอำนาจได้ในปี 2549 แล้วเราก็มีรัฐบาลชั่วคราวของกลุ่ม “ขิงแก่” ซึ่งก็พูดได้ว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างที่คาดหวังกันที่ว่า ถ้าได้ “คนดี-คนอาวุโส” เข้ามาแล้ว จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น ปรากฏว่าก็ “ไม่ใช่” สิ่งที่ตามมาในปี 2550 ก็คือ มีรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นฉบับที่ 18 แล้วก็เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งผมมองว่า เอื้ออำนวยต่อการรักษาอำนาจของกลุ่มคนที่เป็น “อนุรักษ์นิยม” กับกลุ่มคนที่เป็น “ชนชั้นสูง” ของบ้านเมือง เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และน้อยกว่าฉบับปี 2517 อาจเรียกว่ามีการ “หมกเม็ด” ก็ว่าได้ คือ แอบๆ ซ่อนๆ อะไรๆไว้เยอะ และตัวที่ผมคิดว่า น่าเกลียดน่าชังมากๆ คือ ส.ว. สรรหา ผมคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของประชาธิปไตย ถือเป็นความน่าละอายของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แอบใส่เอาไว้ เป็นการ “หมกเม็ด” เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองที่จะได้รับการสรรหา ซึ่งก็แปลว่า “แต่งตั้ง” ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เป็นจุดที่เลวร้ายมากๆในแง่ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมมองว่า ปี 2549 เป็นการถอยหลังเป็นการตกต่ำจมลงดิ่ง ในปี 2550 ทั้งรัฐบาล “ขิงแก่” ก็ดี ทั้งรัฐธรรมนูญก็ดี ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้วเราก็ตามมาด้วยมีการเลือกตั้งและการมีรัฐบาลตามลำดับที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สองรัฐบาลนี้ พูดง่ายๆว่า ถึงแม้จะร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อกำจัดอำนาจของฝ่ายของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ก็ใช้ “ม็อบเสื้อเหลือง” ดำเนินการต่อ จุดนี้เป็นจุดที่สร้างสิ่งที่เราเรียกว่า “อนาธิปไตย” ขึ้นมามันไม่ใช่ประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น “คปค.-คมช.” จะอ้างว่า เป็นประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อะไรก็ตามหรือทางฝ่าย “ม็อบเสื้อเหลือง” เรียกตัวเองว่าเป็นพันธมิตรประชาธิปไตย อะไรก็ตาม นี่ ตรงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ พูดเอาไว้ก็คือ ทำให้เกิดสภาพที่เป็น “อนาธิปไตย” เมื่อเกิดสภาพนี้แล้วก็เกิดการยึดอำนาจ “รัฐประหาร” ที่ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยทั้งฝ่าย คมช.และม็อบเสื้อเหลือง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วมันก็มีผลร้ายนำไปสู่การผลักดันให้ “เกิด” กระบวนต่อเนื่องที่เรียกกันว่า “ตุลาการธิปไตย” ขึ้นมาที่นักวิชาการบางคนพยายามเรียกให้เป็นบวกว่า “ตุลาการภิวัตน์” คือ เอากระบวนการตุลาการและกฎหมายมาแก้ปัญหาของสังคมและการเมือง แต่ผมคิดว่า ศัพท์ที่ถูกต้องน่าจะเป็น “ตุลาการธิปไตย” เสียมากกว่าศัพท์คำนี้มาจากฝ่ายนักวิชาการทวนกระแสที่ไม่รับใช้อำนาจรัฐ คือมีความหมายว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ หรืออยู่ที่ฝ่ายกฎหมายที่จะใช้ขจัดฝ่ายตรงข้ามหรือรัฐบาลที่ไม่พึงประสงค์ (อย่างนายสมัครและนายสมชาย) ออกไป เราก็มาถึงจุดนี้ของการที่มีรัฐบาลชุดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลของมันก็คือทำให้ “ม็อบเสื้อแดง” เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ นำมาซึ่งวิกฤตการณ์และความปั่นป่วนของบ้านเมืองต่อเนื่องอย่างที่เราเห็น ทั้งในเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด” ปี 2552 หรือทั้งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ปี 2553 ฉะนั้น แปลว่า ในปี 2549 ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ในปี 2550 มีรัฐธรรมนูญฉบับ “หมกเม็ด” ต่อมาในปี 2551 มีการเลือกตั้งตามมาด้วยสภาพ “อนาธิปไตย” ในปี 2552 เกิด “สงกรานต์เลือด” และในปี 2553 เกิด “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เป็นกระบวนการยาวเหยียด เราก็มาถึง ณ ตรงนี้ ซึ่งถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ในช่วง 4 ปี ก็มีแต่เลวร้ายลงทุกที ไม่ใช่ถอยหลังอย่างเดียว แต่มันดิ่งลงใน “หลุมดำทางการเมือง” ซึ่งหลุมนี้มันจะ “ดูด” ทุกสิ่งทุกอย่างให้จมดิ่งลงไปหมด และก็รวมถึงอีกหนึ่ง “หลุมดำ” ที่มีการปลุกกระแสเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร” ขึ้นมาอีกด้วยเหมือนกับไปสะกิด “แผลเก่า” ให้หนองแตก เลือดไหลพล่านทั้งๆที่เรื่องนี้ น่าจะจบไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และก็น่าจะจบไปแล้วเมื่อยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกปี 2551 (อีกตั้ง 46 ปีต่อมา) ผมมองอีกว่าในแง่ของการเมืองภายใน ความขัดแย้งระหว่าง “ม็อบเสื้อเหลือง” กับ “ม็อบเสื้อแดง” ความขัดแย้งระหว่างฝ่าย “อำมาตย์” กับฝ่าย “ไพร่” ทำให้เห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกมากๆ เรามาถึงจุดตรงนี้ ณ เวลานี้ คำถามก็คือว่า เมื่อมันเลวร้ายอย่างนี้ มันแตกแยกกันอย่างนี้ แล้วเราจะ “ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-หรือเกี๊ยเซี๊ย” กัน ได้ไหม ผมคิดว่ามันยากมากๆ คือ ผมมองว่าในด้านหนึ่งการเมืองที่เราเห็นเป็นการเมืองของ “ตัวแทน” หรือ “นอมินี” (nominees) คนที่ออกมาเล่นมาเต้นให้เราดูนั้น ไม่ใช่ตัวจริง เป็น “ตัวแทน” เกือบทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเป็น “ตัวแทน” ก็ไม่สามารถจะตัดสินใจอะไรได้ ประเด็นที่ 2 ยังเป็นการเมืองที่เป็น “เกมรอ” (waiting game) ผมคิดว่าเป็นการรอวันที่จะแตกหัก ตอนนี้สถานการณ์มันอึมครึม (พูดไม่ออก บอกไม่ได้) ผู้คนเกิดวิตกกังวลมากๆ (anxiety) ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของชาวต่างประเทศเขาบอกว่า คนไทยในระดับชนชั้นกลางกับชนชั้นสูง ปัญหาใหญ่คือความวิตกกังวล คือ มันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และก็เป็นความวิตกกังวลทาง “การเมือง” ไม่ใช่ทาง “เศรษฐกิจ” จริงๆแล้วก็คือ หวั่นวิตกกับอนาคต มนุษย์เราจะมีปัญหามาก ถ้าไม่รู้หรือพอจะคาดการณ์ได้ว่า “อนาคต” จะเป็นอย่างไรก็จะเกิดความวิตกกังวลผิดปรกติ กลายเป็นปัญหาทางด้านจิตใจและจิตวิทยา ส่งผลต่อไปยังการที่ไม่กล้าเผชิญกับ “ความจริง” และไม่กล้าพูดความจริง ทำให้ต้องพูดเท็จ ต้อง “โฆษณาชวนเชื่อ-ประชาสัมพันธ์” อย่างหนักหน่วงอย่างที่เราเห็นได้ของ “ความเกินพอดี” ทั้งจากสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ หรือป้ายคำขวัญ ผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นหรือเผชิญอยู่ในปัจจุบันมันอาจจะ “ก้าวเลย” ไปแล้วก็ได้ ที่เราพูดถึง “การปฏิรูป-การปรองดอง-สมานฉันท์-เกี๊ยเซี๊ย” ที่เห็นได้จากการใช้งบประมาณหลายร้อยล้านจัดตั้ง กก. ชุดของคุณอานันท์ ปันยารชุน ชุดของนพ.ประเวศ วะสี ชุดของคุณคณิต ณ นคร และชุดของ ดร.สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ผมคิดว่าอาจจะไม่มีผลอะไรเลยในแง่ของการปฏิรูป-ปรองดอง-เกี้ยเซี้ย เอาเข้าจริงแล้ว ผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมือง “ตัวจริง” ก็ไม่ได้ออกมาเล่น อย่างที่ผมใช้คำว่าเป็น “ตัวแทน” หรือ nominee แล้วในแง่ของผู้ที่ออกมาเล่นที่เราเห็นๆ อยู่ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน สิ่งที่นักการเมืองเหล่านี้ (ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้งก็ตาม) ขาดก็คือ ขาด “เจตจำนงทางการเมือง” ที่จะปฏิรูป ที่จะปรองดอง เล่นเกมเป็น “ตัวแทน” เสียมากกว่า และที่สำคัญคือเล่น “เกมของการรอเวลา” หรือ waiting game รอการระเบิด และการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่จะต้องมีมาไม่ช้าก็เร็ว ผมว่ามันเป็นสภาพแบบนี้ทำให้คนแบบเราๆท่านๆก็ “วิตกกังวลและเครียด” กันไปหมด บทบาททหารหรือกองทัพ ต้องยอมรับว่า ทหารหรือกองทัพยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอดยาวนานประมาณ 100 ปีมาแล้ว มีทหารพยายามที่จะยึดอำนาจและมีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 6 ที่เราเรียกว่า “กบฏ รศ.130” แต่พวกนักวิชาการไทยๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักรัฐศาสตร์) มักมองกลับไปเพียงแค่ “การปฏิวัติ 2475” ในรัชกาลที่ 7 ผมคิดว่า ในแง่ข้อเท็จจริงทาง ปวศ. ต้องกลับไปถึงปี 2454-2455คือก่อนหน้านั้น 20 ปี ที่มีปรากฏการณ์ “กบฏ รศ.130” ในต้นๆสมัยรัชกาลที่ 6 ในช่วงแรกๆนั้น อาจพูดได้ว่า ผู้นำรุ่นใหม่ของฝ่ายทหารมีความคิดในแง่ของ “ประชาธิปไตย” สูงมาก ความพยายามของกลุ่ม “ยังเติร์ก” ที่เราเรียกว่า “กบฎรศ.130” นั้น สาระสำคัญอยู่ที่การยึดอำนาจให้เป็นประชาธิปไตย เปลี่ยนแปลงระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิ์” ซึ่งแม้จะทำไม่สำเร็ย แต่ก็ส่งต่อมายังกลุ่มทหารบกและทหารเรือที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 คนอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลยสงคราม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หลวงศุภชลาศัยฯ คนเหล่านี้ มีความคิดทางการเมืองในแง่ของ “ประชาธิปไตย”และมีส่วนอย่างยิ่งในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่หลังจากนั้นแล้ว มันไม่ใช่ ผมคิดว่าหลังจากรัฐประหารปี 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นต้นมาเรียกว่า “ทหารประชาธิปไตย” หายากมากๆ ทหารกลายเป็นสถาบัน กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์และต้องการรักษาสถานะเดิมของตัวเองเอาไว้มากกว่าทหารสมัย “กบฏ รศ.130” หรือ “ทหารรุ่นปฏิวิติ 2475” ผมคิดว่าทหารนับตั้งแต่ปี 2490 มาเป็นกลุ่มที่กลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจในสังคมสูงมากและต้องการรักษาสถานภาพอันนี้ไว้ เพราะฉะนั้น ทหารพวกนี้จะไม่แฮบปี้กับระบอบประชาธิปไตย ไม่แฮบปี้กับการเลือกตั้ง ไม่แฮบปี้กับนักการเมือง จะเห็นได้ตลอดเวลาว่ามีความพยายามที่จะยึดอำนาจ ถ้ายึดอำนาจสำเร็จก็เรียกว่า “ปฏิวัติหรือปฏิรูป” แต่ถ้าไม่สำเร็จก็กลายเป็น “กบฏ” ไป มันกลายเป็นอย่างที่เราเห็นก็คือว่า ถ้าดูการเมืองไทยในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา เรามีปฏิวัติรัฐประหารที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ 3-4 ปีต่อ 1 ครั้งและเราก็มีรัฐธรรมนูญที่ใช้ 3 - 4 ปีต่อ 1 ฉบับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “กบฏ-ปฏิวัติ-รัฐประหาร” และมีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก คือ มี 18 ฉบับ และผมเชื่อว่าฉบับที่ 19 ก็คงจะตามมา ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองยาวๆ มองกลับไปสัก 100 ปี มันเดินมาอย่างนี้มันก็จะต้องเดินไปอย่างนี้ ถ้าเผื่อไม่แก้ปัญหาที่เป็นรากฐานสำคัญแต่ ณ ขณะนี้ เชื่อว่าทหารจะยังไม่ยึดอำนาจอีก (ชั่วคราว)เพราะเขาน่าจะพอใจกับการที่มี “ตัวแทน” อย่างรัฐบาลชุดปัจจุบัน 4 เดือนพฤษภาอำมหิต 2553 เหตุการณ์ความรุนแรง “พฤษภาอำมหิต” ที่ครบรอบ 4 เดือน ผมมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตราบาป และรอยด่างต่อไป ผมคิดว่าเรื่องนี้มันคงไม่จบ และจะอยู่ไปอีกยาวนานมาก มันจะขึ้นอยู่กับการเมืองในระดับข้างบน เป็นอย่างไร ตอนนี้ ในเมื่อการเมืองระดับข้างบนถูกคุมอยู่ เรื่องนี้ก็ดู “เบลอๆ” แล้วผมว่า คนชั้นสูงและกลาง (ในกรุง) จำนวนไม่น้อยก็หวังว่า ถ้าเวลามันยืดไป คนก็จะลืมไปเองเหมือนๆเหตุการณ์ 14 ตุลา--6 ตุลา--พฤษภา 35 แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า ในปัจจุบันนี้ มันจะเป็นเหมือนที่ผ่านมาแล้วหรือไม่ เพราะความแตกแยก ความร้าวฉาน มันลงไปลึกมากๆ แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะได้เห็นผลการสอบสวนคดี 91 ศพหรือแม้กระทั่งคำขอโทษและการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะเกมของราชการไทย คือ การตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำการศึกษาและคณะกรรมการ (กก.) ก็จะตั้งอนุกรรมการ (อนุ กก.) อีกหลายๆชุด เพื่อจะศึกษาต่อ ถ้าผลการศึกษานั้นเค้นเอาออกมาจนได้ ก็จะส่งรายงานนั้นๆ ไปตามลำดับขั้นตอนแล้วก็มักจะจบลงด้วยการเก็บขึ้นหิ้ง (แต่ปัจจุบัน น่าจะจบลงในแผ่นซีดี) ผมคิดว่าจะไม่มีผล และอันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติที่ราชการไทยๆ ทำมาเป็นเวลานาน ผมคิดว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” คงไม่เสียชีวิตแบบสูญเปล่า เพียงแต่จะเรียกร้องจากคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งไม่ได้ ต้องไปเรียกร้องที่อื่น ผมสงสัยอีกว่า คนที่มีอำนาจอยู่ ณ ขณะนี้เชื่อว่าตัวเองทำถูกอย่าง “บริสุทธิ์ใจ” ก็ว่าได้ เรื่องที่จะให้มา “ขอโทษ” หรือแสดงความรับผิดชอบ คงไม่ใช่ ผมเข้าใจว่า สิ่งที่เขา “ทำ” เป็นสิ่งที่เขา “คิด” และ “เชื่อ” ว่าถูกต้องมากๆ ทำให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะ “ปฏิรูป” ไม่ได้ “ปรองดอง” ไม่ได้ “เกี๊ยเซี๊ย” ไม่ได้ ในวันข้างหน้า ก็รอวันแตกหัก และเท่าที่ประเมินเหตุการณ์ที่จะแตกหักในอนาคตจะมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” ผมอยากให้กลับไปอ่าน “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” อาจถูกต้องใกล้เคียงที่สุด อาจให้ภาพอะไรได้ดีกว่า มันเกิดอาการ “วิปริต-อาเพศ” ไปหมด จะรุนแรง หรือเรียกได้ว่า “กลียุค” นั่นเอง สังคมไทยได้บทเรียนอะไร เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่กำลังจะครบรอบ 4 ปี มันให้บทเรียนว่า เรา “ไม่เรียน” จากประวัติศาสตร์ หรือ “ไม่เรียน” อะไรจากความผิดพลาดเลย ผมคิดว่า เรา “ไม่เคยเรียน” จากความผิดพลาดของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เรา “ไม่เคยเรียน” ความผิดพลาดของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เรา “ไม่เคยเรียน” จากเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 และผมรับรองว่าเรา “จะไม่เรียน” จากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” นี้ เพราะวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาการที่ “ตกต่ำที่สุด” ในประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบไม่มีใครอยากเรียนวิชานี้ ทางออกของวิกฤตการเมือง 1. จะต้องปฏิรูปและปรองดองกับกลุ่มคนทุกชนชั้นทุกระดับ 2. ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นของประเทศ “สยาม” สำหรับคนทุกคน ไม่หมกเม็ดสำหรับกลุ่มบางกลุ่ม 3. ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบัน “สูงสุด” เป็นสถาบัน “กลาง” ที่เป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง “เอาไปอ้างเอาไปอิง” เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง 4. ทำให้สถาบัน “ทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการพลเรือนและตุลาการ” เป็น “กลาง” ทางการเมือง ไม่ใช่เข้ามากุมอำนาจเพื่อประโยชน์ของสถาบันของตัวเอง กล่าวโดยสรุป คือ นอกจากจะมีสถาบัน “ชาติ” – “ศาสนา” – “พระมหากษัตริย์” แล้วต้องมีสถาบัน “ประชาชน” ที่เป็น “ประชาธิปไตย” อีกด้วย ปรับปรุงจากที่มา : http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=8012 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
นักข่าวพลเมือง: หมอนิรันดร์ชี้ชี้ปฏิรูปประเทศไทย ต้องเริ่มที่ชุมชน Posted: 25 Sep 2010 03:58 AM PDT จากสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายปฏิรูปประเทศไทยขึ้นจนกลายเป็นกระแสสังคมที่ทุกฝ่าย ได้ให้ความสำคัญ วันนี้ (25 ก.ย. 53) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.อบ.) ได้จัดเวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยโดยมีนาย แพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธานในการกล่าวปาฐกถา นายแพทย์นิรันดร์กล่าวว่า การปฏิรูปที่แท้จริงไม่ใช่การปรองดองของรัฐบาล การหันหน้าเข้าหากันของนักการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์สองฝ่าย ต้องเกิดจาก การต่อยอดการทำงานต่อสู้ของชาวบ้านมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับตามรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มิใช่แค่การรับฟังปัญหา แต่เป็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการตรวจสอบว่ารัฐบาลได้นำเอาสิ่งที่ประชาชนนำเสนอไปปฏิบัติตามหรือไม่ ดังนั้นประชาชนจึงต้องรู้เท่าทันให้มากขึ้น โดยการรวมตัวกันคุยถึงปัญหา แล้วสรุปแนวทางแก้ไข ยกระดับการนำเสนอด้วยการผลักดันสู่นโยบาย “สังคมไทยผ่านการต่อสู้มาเยอะ สูญเสียเยอะ แต่ยังอยู่ในวังวนของอำนาจ วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและความถูกต้อง ถือเป็นการเมืองภาคพลเมือง อย่างแท้จริง” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.อบ.) กล่าวถึงการจัดเวทีครั้งนี้ว่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2553 ณ ที่ทำการเครือข่ายฯ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ เพื่อนำเสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทยจาก 7 ประเด็น 7 จังหวัด 10 เครือข่ายที่ทำงานตามประเด็นต่างๆสั่งสมประสบการณ์จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ เป็นแนวทางการทำงานอย่างชัดเจนมานำเสนอในเวที ประกอบด้วยประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ที่ดินที่อยู่อาศัย การศึกษาทางเลือก ทรัพยากร/นิเวศน์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาหมอแผนไทย สื่อสิทธิชุมชน และศิลปวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีตัวแทนคณะกรรมการเดินทางมาร่วมรับข้อเสนอในวันที่ 26 กันยายน 2553 นี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานชี้ปฏิรูปประเทศไทย ต้องปฏิรูปที่ดิน ให้คนจนมีที่ทำกิน จะแก้ได้ทุกปัญหา ด้านเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีนำเสนอประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทยขึ้น ณ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ เพื่อนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จของการทำงานด้านต่างๆ ต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอในวันที่ 26 ก.ย. 53 นี้ ในเวทีมีการนำเสนอประสบการณ์ ชุดที่ดินที่อยู่อาศัยจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลฯ นายไสว มาลัย ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปท.) กล่าวว่าปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน คือเรื่องการกระจุกตัวของที่ดิน ทีดินจำนวน 90 % กระจุกอยู่กับคนจำนวนแค่ 10 % ทำให้คนจนไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากร แม้จะใช้วิธีการหรือกลไกต่างๆ เช่น กลไกการตลาด ก็ไม่สามารถกระจายที่ดินมายังคนจนได้ เพราะคนจนไม่มีเงินซื้อ หากจะปฏิรูปประเทศไทย อันดับแรกต้องปฏิรูปที่ดิน จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งหมด ด้านนางธนวรรณ พวงผกา เครือข่ายชุมชนเมืองฯ กล่าวว่าการปฏิรูปประทศไทยที่ต้องเริ่มต้นที่ชุมชนนำเสนอขึ้นไปสู่รัฐบาล ให้จัดทำเป็นนโยบายนำสู่การปฏิบัติ โดยยกกรณีตัวอย่างของเครือข่ายชุมชนเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีประสบการณ์ความสำเร็จจากชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนมา เป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันมีสมาชิก 1010 ครอบครัว ใน 20 ชุมชน มีเงินออมจำนวนกว่า 2,290,000 บาท สามารถแก้ไขปัญหาได้หลายประเด็น เช่น ที่ดินที่อยู่อาศัย (โฉนดชุมชน) สวัสดิการชุมชน สิทธิชุมชน การพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดงานพัฒนาตามทุนเดิมของชุมชน การทำงานและการต่อสู้ของชาวบ้านที่รวมตัวกันพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน เรียนรู้การประชุม การเรียกร้องสิทธิ การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วขยายให้ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ จะนำสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอด้านต่างๆ เช่น การจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ที่ต้องให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม เช่น ด้านการศึกษา ด้านการบริการสุขภาพ การปรับปรุงไล่รื้อระบบกระบวนการยุติธรรม ให้ข้อกฎหมายเอื้อต่อความถูกต้องและเป็นธรรม และสุดท้ายประชาชนทุกคนถือเป็นหุ้นส่วนของประเทศ ต้องมีสิทธิ์ที่จะกำหนดแผนพัฒนาประเทศ ภาครัฐต้องเชื่อมั่นในพลังของประชาชน ที่มีศักยภาพที่หลากหลายและแตกต่างกัน สามารถกำหนดอนาคตของประเทศไทยได้ นอกจากนี้ในเวทียังมีการนำเสนอประสบการณ์ ชุดความมั่นคงทางอาหาร ของเครือข่ายข้าวคุณธรรม วัดป่าสวนธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร มีพระอาจารย์สุภัทโธ ให้ข้อมูลถึงความเป็นมาว่า เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกโดยการออมเงินวันละบาท และการทำสวัสดิการกองบุญเกื้อหนุน เริ่มต้นด้วยสมาชิกจำนวน 130 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,500 คน ใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลให้กับสมาชิก จนเกิดกลุ่มเกษตร ปลอดสารโดยเฉพาะ “ข้าวคุณธรรม” ขึ้น โดยชาวนาจะเป็นผู้ที่ถือศีล 5 ลดอบายมุข 3 ประการ คืองดสูบบุหรี่ เสพสุรา และเล่นการพนัน มีการปลูกข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ โดยมีจำนวนถึง 150 สายพันธุ์ การผลิตข้าวด้วยกระบวนการที่มาตรฐาน รวบรวมข้าวเข้าสู่โรงสีชุมชน โดยชาวนาเป็นผู้ผลิตตลอดกระบวนการจนถึงมือผู้บริโภค ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้ ลดการอพยพเข้าไปทำงานในกทม. ลูกหลานได้รับการถ่ายทอด เกิดความรู้สึกรักชุมชน นับเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ด้านนายไพบูรณ์ ภาระวงศ์ เครือข่ายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง บ้านหนองพรานคาน จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาที่ชาวบ้านละทิ้งข้าวพันธุ์พื้นเมือง หันไปปลูกข้าวพันธุ์ส่งเสริมทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการทำนาที่สูงขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพเช่นโรคเบาหวาน ความดันมากขึ้น ข้าวพันธุ์พื้นเมืองสายพันธุ์ที่เคยปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเริ่มหายไป ทั้งๆที่เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่าย ต้านทานโรคได้ดี ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มเห็นความสำคัญ รวมตัวกันหันกลับมาทำนาแบบย้อนยุคเหมือนสมัยที่ปู่ย่าตายายในอดีตพาทำ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเอง ทำให้ต้นทุนการทำนาลดลง ผลผลิตได้มากขึ้น ปัจจุบันมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 100 ครัวเรือน หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น เช่น ข้าวหอมสามกอ ข้าวมะลิแดง ข้าวเหนียวอุบลฯ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาทั้งสองเครือข่ายได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย คือ การส่งเสริมให้ชุมชนปราศจากอบายมุข ให้รัฐบาลออกกฎหมายจำกัดเวลาในการขายสุราวันละ ๑ ชั่วโมง รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานกับศีลธรรมจริยธรรม การสร้างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์ชุมชน เพื่อรักษาสายพันธุ์ข้าวไม่ให้ตกสู่มือนายทุน ให้ชุมชนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านโดยการสนับสนุนของรัฐบาล และสุดท้ายคือการผลักดันให้จังหวัดอุบลฯเป็นจังหวัดนำร่องในการผลักดันเรื่องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
กองกำลังคะฉิ่น KIA ยิงเฮลิคอปเตอร์พม่าบินใกล้กองบัญชาการ Posted: 25 Sep 2010 02:35 AM PDT Khonkhurtai 25 ก.ย. 53 - สำนักข่าวอิรวดีรายงานอ้างคำเปิดเผยแหล่งข่าวว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (23 ก.ย.) กองกำลังทหารจากกองทัพคะฉิ่นอิสระ KIA (Kachin Independent Army) สาดกระสุนใส่เฮลิคอปเตอร์ทหารพม่าที่บินใกล้กับสำนักงานใหญ่ขององค์กรอิสระ ภาพคะฉิ่น KIO ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองของ KIA ในเมืองลายซา รัฐคะฉิ่น นายอ่องว้า ชาวคะฉิ่นที่อาศัยอยู่ใกล้ชายแดนพม่า-จีน กล่าวว่า เขาได้ยินเสียงเครื่องเฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่ได้ยินเสียงปืน หลังจากนั้นเขาพบเห็นทหารกองกำลัง KIA ใช้ปืนยิงใส่เฮลิคอปเตอร์สามครั้งขณะมันบินใกล้สำนักงานใหญ่ของ KIOในเมืองลายซา นายสินวา รองเลขาธิการและโฆษกของ KIO (Kachin Independence Organization) กล่าวกับสำนักข่าวอิระวดีเมื่อวันศุกร์ว่า เฮลิคอปเตอร์ของทหารพม่าบินใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ KIO เมื่อเวลาประมาณ 13:00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ยืนยันว่ากองกำลังคะฉิ่นยิงถูกเฮลิคอปเตอร์หรือไม่ ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารพม่าบินใกล้สำนักงานใหญ่ของ KIO/KIA ในเมืองลายซา ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นทาง KIA ไม่ได้มีการยิงสกัดกั้น กองกำลังคะฉิ่น KIO/KIA เป็นกองกำลังหยุดยิงกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 (1994) โดย KIO/KIA มีพื้นที่เคลื่อนไหวบางส่วนในรัฐคะฉิ่น ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากับ KIO/KIA ได้เริ่มขึ้นหลังจาก KIO/KIA ปฏิเสธจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ตามข้องเสนอของรัฐบาลทหารพม่า "หลังจากที่พวกเราปฏิเสธจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF พวกเราได้เฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของกองทัพพม่าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากฐานที่ตั้งทหารของเราอยู่ใกล้กัน กองกำลังของเราได้รับการแจ้งเตือนให้อยู่ในความพร้อมตลอดเวลา เพราะการรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา และเราได้จัดกำลังทหารดูแลในพื้นที่ควบคุมของเราเพิ่มขึ้น" นายสิวา กล่าว แถลงการณ์ของ KIO/KIA ที่มีขึ้นหลังการประชุมใหญ่เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม ระบุว่า KIO/KIA ยังคงมีความยินดีที่จะร่วมสนทนาหรือเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทหารพม่า หากเป็นการเจรจาที่จะก่อให้เกิดสันติภาพอย่างถาวร และการเปลี่ยนสถานะองค์กรจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสมของเวลา ขณะที่ผู้นำของ KIO/KIA กล่าวว่า พวกเขาจะยังคงยึดมั่นและดำเนินการตามข้อสนธิสัญญาปางโหลง เมื่อปีพ.ศ. 2490 (1947) ที่ทำขึ้นระหว่างคะฉิ่นและชาติพันธุ์อื่นๆ อันเป็นข้อตกลงให้ทุกชนชาติมีสิทธิเท่าเทียมกัน ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารพม่าได้กำหนดเส้นตายครั้งสุดท้ายสำหรับ KIO/KIA ปลดอาวุธภายในวันที่ 1 ก.ย. และขู่ว่า KIO/KIA จะถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมายหากพ้นเส้นกำหนดเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า ถึงแม้รัฐบาลทหารจะมีคำขู่ แต่คงจะไม่ใช้กำลังจัดการ KIO/KIA ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ย. นี้ แต่การโจมตีอาจเป็นไปได้หลังการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้สมาชิก KIO/KIA สวมเครื่องแบบและพกพาอาวุธขณะเดินทางในเมือง โดยกองทัพพม่าได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เพิ่มการตรวจตราตามจุดสำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยเข้างวดมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากหวั่นเกรง KIO/KIA จะก่อความวุ่นวายรบกวนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ใจ อึ๊งภากรณ์: ความคิดผิดๆ เกี่ยวกับ “การนำ” ของคนที่วิจารณ์วันอาทิตย์สีแดง Posted: 25 Sep 2010 02:29 AM PDT “การนำ” ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แบบขบวนการเสื้อแดงในไทย มีสองชนิดคือ 1. การนำจากเบื้องบน คือมีการพูดคุยกันในหมู่คนส่วนน้อยที่ถือว่าตนเองเป็น “ผู้ใหญ่” ของขบวนการ หรือ “ผู้รู้” ของขบวนการ แล้วมีการแต่งตั้งแกนนำ ไม่ว่าจะแต่งตั้งตนเองหรือแต่งตั้งผู้อื่น แกนนำประเภทนี้จะพยายาม “ควบคุม” และ “สั่ง” มวลชน แกนนำแบบนี้เป็นแกนนำเชิงเผด็จการ ข้อเสียคือไม่สามารถอาศัยพลังและความสร้างสรรค์ของมวลชนเต็มที่ มีการปิดโอกาสที่จะให้คนธรรมดาในมวลชนนำตนเอง 2. การนำจากเบื้องล่างหรือรากหญ้า ความหมายของ “การนำ” ในกรณีนี้ไม่ใช่การตัดสินใจในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ และไม่ใช่การ “สั่ง” ลงมาให้มวลชนทำตาม แต่เป็นปรากฏการณ์ของการ “ร่วมกันคิดร่วมกันทำ” โครงสร้างขบวนการไม่ได้มีลักษณะแบบทหาร แต่มีลักษณะแบบ “แกนนำแนวราบ” การเป็นผู้นำไม่ได้ขึ้นกับ “บารมี” ไม่ได้ขึ้นกับ “การเป็นผู้ใหญ่” และไม่ได้ถูกำหนดมาจากประเด็นว่าใครตะโกนสั่งคนอื่นได้ แต่การนำในรูปแบบนี้หมายถึงความสามารถในรูปธรรมที่จะเสนอข้อคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่มวลชนยอมรับและมองว่ามีประโยชน์ ดังนั้นจะมีผู้นำที่หลากหลาย ไม่ถาวร บางครั้งมวลชนจะรับฟังข้อเสนอของบุคคลคนหนึ่ง ครั้งต่อไปจะรับฟังข้อเสนอของคนอื่น มันเปิดโอกาสให้มวลชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดทิศทางการต่อสู้ และแกนนำจะพัฒนางอกจากรากหญ้าตามการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เป็นจริง นี่คือรูปแบบการนำที่คนเสื้อแดงควรใช้ ในหมู่คนที่สนับสนุนการนำจากเบื้องล่างหรือรากหญ้า อาจมีความแตกต่างกันในรูปแบบ บางคนจะไม่ชอบการจัดองค์กรถาวร เช่นพวกที่มีความคิดอนาธิปไตย อาจมองว่าควรปล่อยทุกอย่างตามธรรมชาติ ไม่ต้อง “จัดตั้งอะไร” แต่ในหมู่นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์อย่างผม เราจะมองว่าต้องมีความพยายามที่จะจัดตั้ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราจะจัดตั้งอย่างไร เพื่อรักษาการนำจากรากหญ้าได้ เพราะสองกระบวนการนี้ “การจัดตั้ง และการนำจากรากหญ้า” มันขัดแย้งกัน คำตอบสำหรับนักสังคมนิยมที่อาศัยประสบการณ์ของคนอย่างเลนิน ตรอทสกี และโรซา ลัคแซมเบอร์ค คือ เราต้องมีองค์กรหรือพรรคสังคมนิยม พรรคนั้นต้องมีประชาธิปไตยภายในเต็มที่ เพื่อให้สมาชิกรากหญ้านำได้ และเมื่อเข้าไปเคลื่อนไหวในกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ พรรคก็จะเสนอแนวทางต่อสู้และข้อคิด แต่ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่ของมวลชน ไม่ครอบงำมวลชน และไม่กีดกันคนที่คิดต่าง พูดง่ายๆ คือในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จะมีกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ละกลุ่มก็มีข้อเสนอกับมวลชน มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน แล้วมีการตัดสินใจร่วมกันภายใต้ความสามัคคีในการต่อสู้หรือเคลื่อนไหว การที่ใครหรือกลุ่มใดจะเป็นแกนนำได้ในเวลาหนึ่ง ต้องพิสูจน์ในรูปธรรมท่ามกลางการเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ ว่าสามารถนำมวลชนได้จริง.... ไม่ใช่มา “แต่งตั้ง” แกนนำล่วงหน้าจาก “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้รู้” ในกรณีการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ ๑๙ กันยาที่ผ่านมา เราไม่ควรหลงคิดว่าไม่มีการนำ เพราะการที่คนมาเป็นหมื่นแปลว่ากลุ่มคนเสื้อแดงตามชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ และที่อื่น ได้คุยกันล่วงหน้าและเตรียมตัวเพื่อที่จะมาชุมนุม นี่คือการนำที่สำคัญ เพราะเป็นการนำตนเอง และการที่มวลชนมีความเห็นพร้อมกันว่าควรมาชุมนุม พิสูจน์ความสามารถของแกนนอนวันอาทิตย์สีแดงในการนำแบบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ถ้าเราสามารถจัด “สมัชชาคนเสื้อแดง” ที่เปิดกว้างประกอบไปด้วยผู้แทนรากหญ้าของเสื้อแดงตามพื้นที่ต่างๆ มันจะมีประโยชน์มากในการประสานการทำงาน และการร่วมกันกำหนดนโยบายทางการเมืองและทิศทางการต่อสู้ แต่ที่สำคัญคือมันต้องเป็นสมัชชารากหญ้า มีบางคนพูดว่าการชุมนุมในวันที่ ๑๙ “เปิดเผยจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์” การพูดแบบนี้แสดงว่าไม่เข้าใจลักษณะพื้นฐานของการเคลื่อนไหวเลย เพราะการชุมนุมเดินขบวนทุกครั้ง ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหน และไม่ว่าจะมาสิบคนหรือสามแสนคน ล้วนแต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทั้งนั้น และมันสร้างความสามารถที่จะนำไปสู่การต่อสู้ที่ไม่เป็นสัญลักษณ์ได้ เช่นการนัดหยุดงาน การยึดสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่การยึดอำนาจโดยประชาชนและล้มเผด็จการได้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ความทรงจำบนสถานที่ก็คือพิพิธภัณฑ์ของเรา Posted: 25 Sep 2010 02:14 AM PDT มันคงเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจสำหรับนักรบผู้มีมโนทัศน์แบบก่อนศตวรรษที่ 21 ที่การกำจัดมนุษย์ทิ้งออกไปจากสถานที่หนึ่ง เพื่อแย่งชิงพื้นที่หรือเพียงประกาศศักดาแห่งอำนาจแบบเดิมๆ กลับสร้างความทรงจำถึงความป่าเถื่อนชิ้นนั้นฝังติดไว้บนสถานที่นั้นๆ ให้เป็นตราบาปของตนเอง แล้วก็ดูเหมือนจะหมดหนทางที่จะมีเครื่องมือชิ้นที่สองมาลบล้างความทรงจำแห่งสถานที่ที่เกิดใหม่นั้น ผู้เขียนเคยนึกฝันเฟื่องแบบเก่าๆ หลังการฆ่าจบไปสักเดือน ว่าอนุสรณ์สถาน - วัตถุบางอย่างควรได้รับการบรรจุลงบนสถานที่นี้ แต่สิ่งที่เกิดเมื่อวันครบรอบสี่เดือน เช่นตาข่ายผ้าแดงที่ขึงตรึงโครงสร้างทันสมัยของสถานีรถไฟฟ้าเข้ากับพื้นถนนราชประสงค์นั้นเป็นอนุสรณ์สถานในแบบของมันเอง แบบที่ศิลปินนักคิดอาจเรียกมันว่า “ศิลปะฉับพลัน” (Happening Art) หรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์เพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกในห้วงเวลาเฉพาะหนึ่งๆ ( moment ) และความที่มันเกิดขึ้นเฉพาะใน moment หนึ่งๆเท่านั้นนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะมันเปิดกว้างให้ความทรงจำทั้งหลายพรั่งพรูออกมาในกาลเวลาที่ไม่มีขอบเขต... เราพบกันได้อีกหลายครั้ง..มาเล่าเรื่องเล่าที่ยังเล่าไม่หมด...พาคนที่หวาดกลัวมาบอกเราในครั้งหน้าว่าทำไมจึงกลัวและจึงเลิกกลัว ...หลายคนคงเคยรู้สึก เมื่อสถานที่พิเศษบางแห่ง...ทำงานกับความทรงจำของเรา ต้องขอบคุณโลกที่เคลื่อนไปจนต้นทุนทางการผลิตและทางสังคมเคลื่อนย้ายจากวัตถุครอบครองมาเป็น “เนื้อหา” (content) แล้วอำนาจนิยมแบบเก่าก็ไล่ไม่ทันคนที่พวกเขาเรียกว่า “ประชาชนเสื้อแดงโง่ๆ” อีกครั้ง ไม่ใช่เพราะใครฉลาดทางกลยุทธ์มากกว่า แต่เพราะเราเป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมามากกว่า รู้สึกนึกคิดอย่างพลเมืองที่เป็นเสรีชน เจ็บก็ร้องบอกว่าเจ็บ ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมก็ถามหาผู้กระทำ มิใช่ผู้ปกครองหรือผู้ครอบครองผู้หวงแหนเหนี่ยวรั้งกรรมสิทธิ์ไว้กับตัว บนเรื่องราวที่ต้องปกปิดมากมาย ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ผืนดินรอบๆ แยกราชประสงค์จะเป็นของใครในตอนนี้ หรือจะเปลี่ยนมือไปอีกกี่รายในอนาคตก็ตาม ความทรงจำเรื่องความตาย ณ พ.ค.2553 ได้กลายเป็นเนื้อหา content เข้าครอบครองมวลอากาศย่านนั้นไปแล้ว เป็นความรู้สึกต่อสถานที่ (sense of place) ของพื้นที่ราชประสงค์ที่จะมิใช่เป็นแค่ของคนเสื้อแดง แต่ราชประสงค์ได้กลายเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองชิ้นใหม่สำหรับสังคมไทยไปเสียแล้ว ...ก็เป็นครั้งแรกมิใช่หรือ...ที่ใครกันเอาอาวุธสงครามเข้าไปกระหน่ำยิงบนย่านบันเทิงนี้กันข้ามวันข้ามคืน ...เป็นรัฐอภิสิทธิ์เองที่เปิด “พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยสมัยใหม่” นี้ขึ้นมาอย่างโฉ่งฉ่าง อาจจะเกินเลยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนัก ที่ผู้เขียนเหมาเอาว่า Happening Art ตามธรรมชาติบนราชประสงค์คือเนื้อหา และพื้นที่ราชประสงค์คือพิพิธภัณฑ์ ให้เราลองสังเกตสิ่งที่เกิดดังนี้ ลานหน้า Central World มีบุคลิกที่เป็น ความย้อนแย้ง (paradox) ของสังคมเมืองหลวงนี้เอง ที่บอกว่าชาวเมืองหลวงมีสองบุคลิกของผู้มีรสนิยมสูงผู้รักการ shopping และความทันสมัยทันโลกแฟชั่น ไปพร้อมๆ กับความไร้รสนิยมทางการเมืองที่ถึงกับยอมให้มีการฆ่าช่วงสั้นๆ ที่ตายกันมากมาย ตามมาด้วยความแปลกแยกในการรำลึกถึงมัน เกิดขึ้นบนสถานที่ (space) เดียวกันนี้เอง และมีกิจกรรมเหล่านี้สลับไปมาในเวลาที่ต่างกัน (time) แม้เจ้าของสถานที่อย่าง Central World ออกตัวแล้วว่าจะยังคงจุดยืนของการ shop in peace ด้วยโฉมหน้าใหม่ทันสมัยกว่าเก่าเพื่อให้ลืมเรื่องร้ายๆ ในขณะเดียวกันสถานที่นี้ก็ยังคงทำงานกับความทรงจำของคนเสื้อแดงและผู้สูญเสียที่ไม่มีสีต่อไป ด้วยความทรงจำในโศกนาฎกรรมดึงดูดเขาเข้าผูกพันกับสถานที่อย่างช่วยไม่ได้ดังกล่าว ต่อให้ฆาตกรได้รับการลงโทษแล้วก็ตาม เขาก็มีสิทธิ์สมบูรณ์ที่จะกลับมารำลึกถึงคนที่เขารัก หรือเหตุการณ์ที่ตนเคยผ่านบนสถานที่แห่งนี้ในเวลาที่เขาต้องการ มันเป็น ‘ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม’ (sense of belonging) ต่อสถานที่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการมีหรืออยากมีกรรมสิทธิ์ต่ออาคารสถานที่ เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนอยาก ‘เป็นเจ้าของร่วม’ (belong to) สถานที่ใดๆ บนประสบการณ์แบบโศกนาฎกรรมแน่ๆ ถ้าราชประสงค์เป็นอาคาร มันก็กำลังเก็บมนุษย์กรุงเทพเป็นๆ ที่มีพฤติกรรมน่าศึกษาไม่น้อยสำหรับนักมานุษยวิทยา คนเสื้อแดงที่ออกมาเล่าเรื่องที่ตัวประสบกันเป็นกลุ่มๆ ผลิต ‘กิจกรรมฉับพลัน’ ไร้แกนนำกันกลางถนนราชประสงค์ มันต่างอะไรกับ ‘พิพิธภัณฑ์เชิงปฏิสัมพันธ์’ (interactive museum) ? เมื่อมนุษย์ก็คืออุปกรณ์เล่าเรื่อง ทั้งในแบบข้อมูลดิบ เช่นความตายของกมลเกดกับเสื้อผ้าเปื้อนเลือดของเธอ ไปจนถึงข้อมูลขั้นประยุกต์เป็นงานศิลปะ เช่น ใยแมงมุมสีแดง ลูกโป่งกับข้อความของมัน เนื้อหาของเพลงที่ร้อง ไปจนถึงลีลาประกอบดนตรีที่บอกว่าเขาเป็นใครแบบไหน จากถิ่นใด และเคยเกิดอะไรขึ้นกับเขา ถ้าภาระของพิพิธภัณฑ์คือการเก็บเล่าเรื่องราวข้อเท็จจริงของสังคม ภาระที่คนเสื้อแดงแบกไว้ก็หนักหน่วงยิ่งกว่าภายใต้บรรยากาศของสังคมที่กำลังเลือกเก็บรับความจริงแบบไม่ถึงครึ่งไปจนถึงความเท็จและความเงียบไม่แยแส อาคาร-ที่ดิน-วัตถุปลูกสร้างอาจไม่มีความหมายเท่ากับ”ปรากฏการณ์” กรุงเทพอาจมีอาคารที่แห้งแล้งบรรจุของเก่าเก็บ บรรจุมนุษย์ที่ประกอบกิจกรรมซ้ำๆ ไว้ข้างในมากเกินพอแล้ว จะแปลกอะไรถ้าเราออกมาข้างนอก มาเล่าเรื่องที่มีเลือดเนื้อจิตใจที่กล่องทีวีเลิกเล่าไปแล้ว ปรากฏการณ์อาจให้ความจดจำ ให้ความสงสัยอยากรู้ที่ค้นหาเองได้ไม่ตายสนิทแบบพิพิธภัณฑ์ในความหมายแบบไทยๆ อีกต่อไป เหล่านี้ไม่ใช่หรือ... ที่เป็นคุณค่าของสถานที่แบบที่เราเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์” แบบที่บางโครงการต้องระบุต่อท้ายว่า “...เพื่อการเรียนรู้” ราวกับเป็นไปได้ว่าเพราะเรามีบางพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วที่ไม่ได้มีไว้ให้เรียนรู้อะไรได้เลย? สำหรับผู้เขียน... ราชประสงค์จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นผิวการจราจรอยู่ข้างในที่ชาวเมืองหลวงแล่นรถทับโศกนาฎกรรมไปมาได้...กรุงเทพนี่มันก็แปลกดี สี่ปีรัฐประหารสี่เดือนราชประสงค์ มันไม่ใช่ “ราชประสงค์” ...ไม่ใช่ “ราษฎร์ประสงค์” ...มีแต่ “พลเมือง” ที่แค่ต้องการบอกว่าเขามีสติมากพอที่จะจดจำความจริงอะไรได้บ้าง...
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น