โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

‘ญี่ปุ่น–ADB’ สองทุนอาเซียน ยันยังสนใจเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิ์’

Posted: 13 Sep 2010 03:11 PM PDT

สัมภาษณ์ ตัวแทนจากญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนสำคัญในพื้นที่อาเซียน ซึ่งมองพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดฯ-มาเลย์-ไทย (IMT–GT) เป็นตลาดใหญ่ พร้อมด้วยตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) แหล่งทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะพลิกโฉมหน้าอาเซียนไปอีกระดับหนึ่ง

 
ตัวแทนสองทุนอาเซียน หนึ่งคือตัวแทนจากญี่ปุ่น ในฐานะนักลงทุนสำคัญในพื้นที่อาเซียน โดยมองพื้นที่สมาเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดฯ มาเลย์ ไทย หรือ IMT–GT เป็นตลาดใหญ่ ในขณะที่ตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ในฐานะแหล่งทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะ 10 โครงการที่เกิดจากโรดแมป IMT–GT ที่จะพลิกโฉมหน้าอาเซียนไปอีกระดับหนึ่ง
 
 
000
 
dddd
ยูจิ ฮามาดะ
“IMT-GTคือตลาดใหญ่ของญี่ปุ่น” 
 
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT (Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ญี่ปุ่นได้ส่งนายยูจิ ฮามาดะ ผู้ประสานงานอาวุโสภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุมด้วย พื้นที่ IMT–GT สำคัญอย่างไร ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ “ประชาไท” ไว้ดังนี้ 
 
..........
 
-มอง IMT–GT อย่างไร
ในการประชุมเมื่อปี 2552 ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรก ที่ทางเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT–GT เชิญประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วม
 
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นรู้จักแต่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เล็กกว่านี้คือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจบาตัม ซึ่งเป็นความร่วมมือสามประเทศระหว่างรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และจังหวัดเรียว ประเทศอินโดนีเซีย
 
เมื่อมองถึงสามเหลี่ยมที่ใหญ่กว่า IMT–GT พบว่ามีความสำคัญมาก มีศักยภาพความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวออกไปอีก จุดเด่นของ IMT–GT คือ แรงงานราคายังถูก ทั้งประเทศไทยและอินโดนีเซียมีปริมาณแรงงานมากพอ จุดนี้จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจทำได้ดีขึ้น 
 
ขณะเดียวกันพื้นที่ IMT–GT มีช่องแคบสำคัญของโลกพาดผ่านถึง 2 ใน 3 ช่องแคบ คือช่องแคบมะละกากับช่องแคบลอมบอก มีปริมาณทรัพยากรมากและหลากหลาย มีประชากรผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ถือเป็นตลาดใหญ่ของโลกอีกแห่งหนึ่ง
 
ปัจจัยทั้ง 4 อย่างนี้ คือ แรงงาน ช่องแคบ ทรัพยากรและตลาด ทำให้ IMT–GT มีความสำคัญ ถ้าญี่ปุ่นไม่เข้ามาตรงนี้ ก็เหมือนกับตัดโอกาสตัวเอง
 
ปัจจุบันบทบาทของรัฐบาลมีน้อยลง สิ่งที่จะต้องคิดก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะให้การติดต่อระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน ระหว่างคนต่อคนทำได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือ รัฐบาลท้องถิ่นที่ต่อไปจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน โดยรัฐบาลไม่ต้องเข้ามาวางแผนให้ทั้งหมด
 
-จากการพูดคุยกับทั้ง 3 ประเทศ มองเห็นช่องทางอะไรบ้าง
ตัวอย่างองค์กรที่เข้ามาร่วม อย่างธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ที่เข้ามาให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับทั้ง 3 ประเทศ และสถาบันวิจัยของอาเซียน หรือ ERIA ที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาวิจัย หรืองานวิชาการ ขณะเดียวกันทาง IMT–GT ก็มาบอกญี่ปุ่นว่า IMT–GT ทำอะไรไปบ้าง อะไรควรปรับปรุง การที่ IMT–GT ออกมาร่วมมือกับองค์กรนานาชาติอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ
 
ตอนนี้มีตัวละครหลายตัว มีรัฐบาลท้องถิ่น มี ERIA มีภาคเอกชน ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนจากองค์กรเหล่านี้มาคิดร่วมกัน แทนที่ต่างคนต่างคิด เพื่อจะได้คิดไปในทิศทางทางเดียวกัน เช่น ให้เกษตรกรไทยกับเกษตรกรญี่ปุ่นได้ร่วมกันคิด
 
การทำให้ประชาชนติดต่อกับประชาชนได้นั้น สิ่งที่เราเน้นคือการสนับสนุนหรือให้เงิน แต่ไม่สามารถที่จะไปบังคับได้ว่าเกษตรกรไทยต้องไปคุยกับเกษตรกรญี่ปุ่น ตรงนี้เราช่วยประสานได้
 
-ภาคเอกชนญี่ปุ่นสนใจมาลงทุนใน IMT–GT ด้านไหน
อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ แทบจะไม่มีการผลิตในประเทศญี่ปุ่นแล้ว การลงทุนในอาเซียนถือเป็นกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้
 
-พื้นที่อาเซียนเป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการลงทุนของญี่ปุ่น
อย่างที่บอกว่าประเทศในอาเซียนมีศักยภาพสูงขึ้น ประชาชนก็มีการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย
 
-ปัจจุบัน โลกสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน และสิทธิมนุษยชน ทางญี่ปุ่นให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างไร ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนเยอะก็มีปัญหาอยู่
ตอนนี้ในแต่ละประเทศ มีมาตรการต่างๆ อยู่เยอะในการป้องกันแก้ไข เช่น มาตรการทางด้านภาษี ที่มีการจ่ายภาษีให้กับท้องถิ่น เป็นต้น
 
-ประเด็นเหล่านี้ญี่ปุ่นมองเป็นปัญหาหรือไม่
ญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องนำมาคิด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างจีนปัจจุบันค่าแรงก็ไม่ได้ถูกแล้ว มาเลเซียก็เช่นกัน ประเทศไทยค่าแรงก็กำลังพุ่งสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่นักลงทุนพอรับได้
 
ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาคิด ผู้ประกอบการต้องนำไปเปรียบเทียบดูว่า อะไรที่ส่งผลให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน หรือจะไม่เข้ามาลงทุน
 
000
 
 
dddd
อาจุน กอสวานี
“ADBมีมาตรการเฉพาะให้คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด”
 
ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เข้ามามีบทบาทใน IMT – GT เมื่อได้รับเชิญให้มาร่วมทำแผนที่นำทาง หรือ โรดแมป ปี 2009 – 2011 (พ.ศ.2550 – 2554) แต่ก่อนที่โรดแมป IMT – GT จะครบกำหนดเวลา ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT – GT ที่หัวหิน – ชะอำ เมื่อปลายปี 2552 ให้ ADB ทบทวนอีกครั้ง

จนกลายเป็นที่มาของ 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ที่มีการในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด IMT-GT ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็น 10 โครงการที่จะพลิกโฉมหน้าการพัฒนาพื้นที่ IMT-GT ต่อไป

นายอาจุน กอสวานี หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านความร่วมมือในภูมิภาคและการรวมกลุ่มพัฒนาภูมิภาค สำนักงานบริหารงานทั่วไป ADB คือหนึ่งในทีมงานสำคัญในการทบทวนเรื่องนี้ และยังเป็นตัวแทน ADB ในการเสนอผลการทบทวนดังกล่าว 
 
......
 
-จุดเริ่มต้นของการทบทวนโรดแมป
เนื่องจากโรแมปเป็นปี 2007 – 2011 ยังเหลือเวลาอีก 1 ปี ที่ประชุม IMT –GT เมื่อปีที่แล้ว จึงได้ขอให้ ADB ทบทวนก่อนจะหมดเวลาว่า มีอะไรบ้างที่ทำไปแล้ว อะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ มีอะไรที่ต้องแก้ไข
 
ตอนแรกที่ทบทวน ADB ถามตัวเองว่า ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ในโรดแมปถูกต้องหรือไม่ จึงมาพิจารณากลยุทธ์ที่วางไว้ในโรดแมป ก็พบว่าถูกต้องแล้ว แต่ประเด็นคือ จะใช้สอยมันอย่างไร
 
จากการวิเคราะห์พบว่า ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การลงทุน ทรัพยากรธรรมชาติ มันไปถูกทางแล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้กลยุทธ์นี้ไปสู่ภาคปฏิบัติได้
 
ปัญหามีอยู่ว่า โปรแกรมที่มีอยู่ในโรดแมปกว้างไป ทำให้กลยุทธ์ที่มีอยู่สามารถเดินต่อไปได้ สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ 
 
อีกปัญหาคือ มีโปรแกรมเยอะไป และโครงการที่อยู่ในโปรแกรมก็เยอะไปเช่นกัน บางอย่างไม่ใช่โครงการด้วยซ้ำ แต่เป็นแค่การศึกษา เราจึงแนะนำให้เหลือ 12 โปรแกรม แต่ละโปรแกรมก็ให้มีโครงการน้อยลง แล้วให้มันโฟกัสมากขึ้น เพื่อให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น
 
จาก 37 โครงการ มาเป็น 12 โปรแกรม สุดท้ายเหลือ 10 โครงการ เรียกว่า โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs)
 
ในตอนประชุม ผู้นำประเทศ IMT – GT ปี 2009 ได้บอกให้ ADB โฟกัสโครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (PCPs) ไปที่โครงสร้างพื้นฐานและซอร์ฟแวร์
 
ADB ก็เลยสรุปว่า ต้องโฟกัสไปอย่างนั้น แล้วก็ไปคุยกับ 3 ประเทศอีกครั้งว่า การที่จะทำให้การค้าและการลงทุนประสบความสำเร็จนั้น คุณต้องมีโครงการอะไรบ้าง
 
10 โครงการPCPs ดังกล่าว ได้มาจากกระบวนการตรงนี้และจากการสำรวจว่า โครงการอะไรบ้างที่จะทำให้ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนประสบความสำเร็จ ทั้ง 10 โครงการ แบ่งเป็นของอินโดนีเซีย 6 โครงการ มาเลเซีย 2 โครงการ และไทย 2 โครงการ ถามว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ใช่ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ 
 
-ดูเหมือนว่า ADB จะให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเพราะอะไร
ไม่ใช่มาเลเซียและไทยมีโครงการน้อย แต่เนื่องจากอยากเห็นโครงการที่เฉพาะเจาะจงแต่แน่ใจว่าต้องประสบความสำเร็จ อีกอย่างความพร้อมด้านโครงการสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซีย ไม่เท่ากับมาเลเซียและไทย
 
-โครงการก่อสร้างสะพานช่องแคบมะละกาที่เสนอโดยรัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ถ้าทำได้จะพลิกโฉมหน้าภูมิภาคนี้ได้เลย เพราะทางธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของประจีนให้ความสนใจ
นั่นเป็นโครงการระดับจังหวัด แต่ 10 โครงการPCPs เป็นโครงการที่ 3 ประเทศบอก ADB ว่า เป็นโครงการเร่งด่วนที่อยากให้ประสบความสำเร็จ และ ADB เองก็อยากทำ
 
โครงการเร่งด่วนของ ADB หมายถึง โครงการที่สามารถมองเห็นความสำเร็จได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกานั้น ยังอีกนาน
 
ขั้นต่อไปหลังจากนี้คือ มาดูว่าโครงการไหนใน 10 โครงการนั้น จะสร้างก่อนสร้างหลัง ตอนนี้ยังไม่ได้คิด 
 
-คาดว่าการเรียงลำดับนี้จะเสร็จเมื่อไหร่
ปีหน้า เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT – GT ที่จะประชุมร่วมควบคู่กับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศเวียดนามปลายปีนี้ก่อน เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว ADB ก็จะไปคุยกับผู้นำประเทศเหล่านั้นว่า โครงการไหนควรจะมาก่อนมาหลัง ซึ่งจะต้องมาพิจารณาร่วมกัน ในปีหน้าก็ควรจะรู้แล้วโครงการไหนมาก่อนมาหลัง
 
-จินตนาการของ ADB หลังจาก 10 โครงการนี้ประสบความสำเร็จ สภาพการค้าการลงทุนในย่านนี้จะเป็นอย่างไร
ตามหลักแล้วก็ควรจะทำให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียเพิ่มขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น แล้วก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นด้วย แล้วก็ต้องดูในเรื่องการศุลกากรด้วย ไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานดีแล้ว แต่ระบบศุลกากรยังไม่ดี ก็ไม่ทำให้ประสบความสำเร็จมากด้วย
 
-ในโลกยุคปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่องว่างระหว่างรายได้และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตรงนี้ ADB มีคำอธิบายอย่างไร
ไม่ใช่แค่ ADB เท่านั้น แต่ละประเทศก็ต้องเอาประเด็นเหล่านี้มาไว้ในการพิจารณาด้วย ถ้าเป็นโครงการที่ ADB สนับสนุน ก็ต้องมีมาตรฐานตามที่ ADB กำหนดไว้อยู่แล้ว และประเทศเหล่านี้ก็รู้อยู่แล้วว่า ถ้า ADB เลือกโครงการเหล่านี้ขึ้นมา ADB ต้องคำนึงถึงประเด็นพวกนี้อยู่แล้ว และเชื่อว่าประเทศไทยเองที่เลือกโครงการนี้ขึ้นมา ก็คงรู้ว่าต้องคำนึงเรื่องพวกนี้ด้วยเช่นกัน
 
โครงการพวกนี้ควรใช้เวลาที่เหมาะสมพอสมควรในการเตรียมโครงการ แล้วก็ต้องถามประชาชนที่อยู่รอบๆ โครงการด้วยว่า จะมีระบบอะไรในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องถามประชาชน เพราะเดี๋ยวนี้ประชาชนเป็นตัวละควรที่สำคัญ
 
-ที่อินโดนีเซียก็มีกลุ่มภาคประชาชนกับเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่เฝ้าระวังเรื่องการเข้าไปใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญหรืออย่างระมัดระวัง ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาทาง ถ้าเป็นโครงการที่ADB ต้องสนับสนุน จะใช้มาตรการอะไรในการควบคุมการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น เพื่อไม่ให้มีการล้างผลาญจนเกินไป
100% ของโครงการที่ ADB สนับสนุนต้องแน่ใจว่า ต้องมีการเปิดเผย ต้องเป็นโครงการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
 
ADB มองเอ็นจีโอเป็นหุ้นส่วนในการทำงาน ทุกครั้งก็จะให้เอ็นจีโอแสดงความเห็นเข้ามา ไม่ได้มองเอ็นจีโอเป็นศัตรู
 
เนื่องจากครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีโครงการถึง 10 โครงการที่ ADB ศึกษาให้กับ IMT – GT ทาง ADB ก็ต้องแน่ใจว่า ไม่ไปทำลายชื่อเสียงของ IMT – GT และแน่ใจว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกิดผลในทางลบน้อยที่สุด 
 
-ในฐานะที่เป็นแหล่งทุน สิ่งที่นักลงทุนในย่านนี้เจอ คือปัญหาการคอร์รัปชั่น ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนที่ต้องการเห็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทาง ADB จะมีส่วนช่วยลดปัญหานี้อย่างไรบ้าง มีมาตรการอะไรในการให้ทุนที่จะช่วยป้องกันและช่วยลดปัญหานี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่า ครั้งนี้เป็นการจัดชุดโครงการครั้งแรกของ IMT – GT คิดว่ารัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นอันดับหนึ่ง ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างจะทำในระดับนานาชาติ จะไม่ทำเหมือนที่ทำกันอยู่ เช่น บอกชื่อบริษัทนี้มาแล้วจ้างเลย แต่จะเปิดอย่างเสรี
 
-ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ADB จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยหรือไม่
จะมีไกด์ไลน์ (แนวปฏิบัติ) ของ ADB แม้จะเป็นโครงการที่ ADB ไม่ได้ให้เงินกู้ในโครงการนั้นก็ตาม หรือเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้จัดจ้างเองมาแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายก็ต้องมาพบ ADB อยู่ดี ตามไกด์ไลน์ที่ ADB มีอยู่
 
อีกอย่างหนึ่ง ADB มี แอนตี้ คอร์รัปชั่น แอคชั่น แพลน หรือ แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต ที่มีมาตรการเฉพาะสำหรับการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด 
 
-ตั้งแต่ก่อตั้ง ADB มา ครั้งนี้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมากในเรื่องการพัฒนา IMT – GT
ซาบซึ้งในคำชม ตลอด 12 เดือนที่ผ่าน ADB ทำอะไรไปพอสมควรแล้ว ADB เป็นธนาคารที่ให้กู้ในการพัฒนา ก็อยากจะมั่นใจว่า โครงการที่เกิดขึ้นมานั้น เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ
 
-ครั้งแรกที่ทำโรดแมปก็ทำให้ IMT – GT มีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังจับต้องไม่ได้ นี่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถจับต้องได้ แม้มีเพียง 10 โครงการเท่านั้น โดยใน 10 โครงการก็เป็นของไทยแค่ 10 โครงการ
ถึงแม้จะมีโครงการเกิดขึ้น แต่ก็อย่าเอาแต่จำนวนเป็นตัวตั้ง เพราะแม้จำนวนน้อยแต้ถ้ามั่นใจว่าเกิดขึ้นจริง มันก็ย่อมดีกว่ามีหลายๆ โครงการ แต่ไม่สำเร็จสักที 
 
 
000
 
10 โครงการเร่งด่วน (PCPs) โรดแมป ADB
 
ชื่อโครงการ

วงเงินงบประมาณ
(ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา)

อินโดนีเซีย

 

โครงการพัฒนาท่าเรือสุมาตรา
ประกอบด้วยท่าเรืออูลีหลิว ท่าเรือมาลาฮายาตี ท่าเรือเบลาวัน
และท่าเรือกัวลาอีนก

57.4

โครงการเชื่อมการคมนาคมขนส่งที่หลากหลายตามเส้นทางเศรษฐกิจมะละกา(มาเลเซีย) – ดูไม(อินโดนีเซีย)
ประกอบด้วย ท่าเรือดูไม และถนนสายปือกันบารู – ดูไม

875.2

โครงการทางด่วนสุมาตรา
ประกอบด้วย ทางด่วนปาเล็มบังและอินดารลายา
 ทางด่วนสายปาเล็มบัง – บือตง

493.0

โครงการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างมะละกา(มาเลเซีย) – ปือกันบารู(อินโดนีเซีย)

300.0

โครงการทางด่วนบันดาร์ลัมปุง – บาเกาเฮนี ส่วนหนึ่งของทางด่วนตะวันตกเชื่อมต่อกับเกาะชวา

820.0

โครงการพัฒนาทางด่วนบันดา อาเจะห์ – กัวลา ซิมปัง

2,000.0

 

รวม 4,545.6

มาเลเซีย

 

โครงการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างมะละกา(มาเลเซีย) – ปือกันบารู(อินโดนีเซีย)

200.0

โครงการพัฒนาระบบศุลกากร หรือ ICQs ที่ด่านบูเก็ตกายูฮิตัม ฝั่งตรงข้ามกับด่านพรมแดนไทย – มาเลเซีย อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

120.0

 

รวม 320

ไทย

 

การพัฒนาท่าเรือในภาคใต้(ท่าเรือบ้านนาเกลือ จังหวัดตรังและท่าเรือภูเก็ต)

28.0

ทางด่วนระหว่างเมืองหาดใหญ่ – สะเดา

300.0

 

รวม 328.0

 

รวมทั้งสิ้น 5,193.6
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลขอเวลาพิจารณารับฟ้อง 'กทช.' หรือไม่ ขณะ 3 ค่ายมือถือผ่านเกณฑ์ชิงประมูล 3 จีแล้ว

Posted: 13 Sep 2010 02:42 PM PDT

กสท.ยื่นฟ้อง กทช. ต่อศาลปกครองกลาง ขอเพิกถอนการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี พร้อมให้คุ้มครองชั่วคราว ขณะที่ ศาลขอเวลาพิจารณา 3-4 วัน ก่อนตัดสินว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ด้าน กทช.ประกาศ 3 บริษัทลูก เอไอเอส-ดีแทค-ทรู ผ่านคุณสมบัติชิงไลเซ่น 3 จี เรียกรายงานตัว 15 ก.ย.นี้
 
เว็บไซต์ไทยรัฐ  รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯ ให้มายื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อขอให้ศาลฯ เพิกถอนประกาศร่างหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตระบบ 3จี เนื่องจากเห็นว่า กทช.ชุดปัจจุบันไม่มีอำนาจในการออกประกาศดังกล่าว ขณะที่ศาลปกครองกลางขอเวลา 3-4 วัน พิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ โดยวันนี้เป็นเพียงการรับเรื่อง แต่เชื่อว่าจะรู้ผลก่อนการประมูล 3จี ในวันที่ 20 ก.ย.นี้
 
วันเดียวกัน นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท พร้อมด้วย นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบกรณี กทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดเงื่อนไขทำให้หน่วยงานของรัฐเสียสิทธิประโยชน์ และกีดกันการแข่งขัน
 
ประธานสหภาพฯ กสท กล่าวว่า การประมูล 3จี ของ กทช.ทำให้ 2 บริษัท ได้แก่ ทีโอที และ กสท ได้รับความเสียหายถึง 5 กรณี ได้แก่ 1.การประกาศเปิดประมูล 3 จีได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นขอเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตในเวลาที่น้อยเกินไป คือ ระหว่างวันที่ 1-29 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะเป็นหน่วยงานที่ติดระเบียบราชการ การจะลงทุนในกิจการใหม่ ต้องส่งให้กระทรวงการคลังในฐานะต้นสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าร่วมประมูลได้ 2.การกำหนดหลักเกณฑ์ของกทช. ทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะมีการบังคับให้ผู้ให้บริการโครงการระบบ 2จี ต้องเปิดการเชื่อมต่อโครงข่ายให้กับผู้ใช้บริการระบบ 3จี แต่ผู้ใช้ระบบ 2จี ไม่สามารถใช้บริการข้ามเครือข่ายไประบบ 3จี
 
3.การประกาศหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต โดยวิธีประมูลแบบเอ็นลบหนึ่ง (N-1) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลทำการสมยอมราคา หรือ ฮั้วราคาได้ 4.การกำหนดค่าใบอนุญาตใช้งานระบบ 3จี ในอัตรา 6.5% ต่อปี แต่การจ่ายค่าสัมปทานจะจ่ายส่วนแบ่งให้รัฐในอัตรา 25% และ 30%ต่อปี ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการในระบบ 2จี และ 5.กทช.ออกหลักเกณฑ์การคงหมายเลขเบอร์เดิม สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ ซึ่งจะเป็นเหตุจูงใจให้ได้รับใบอนุญาต 3จี ดำเนินการย้ายลูกค้าออกจากระบบ 2จี ไปทำการตลาดในระบบ 3จี ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
 
 
 
3 ค่ายมือถือผ่านเกณฑ์ชิง 3 จี
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี กล่าวว่า วานนี้ (13 ก.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทช. ได้เห็นชอบรายชื่อบริษัทที่ประสงค์จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3 จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ตามที่ได้ยื่นเอกสารมา 3 บริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก จำกัด บริษัท ดีแทค อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส และบริษัท เรียล มูฟ จำกัด โดยทั้ง 3 บริษัทได้ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว) แล้ว 
 
ขั้นตอนต่อจากนี้ จะกำหนดให้บริษัทที่ผ่านเกณฑ์พีคิวมารายงานตัววันที่ 15-16 ก.ย. เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูล (ปฐมนิเทศ) และให้โอเปอเรเตอร์แต่ละราย ส่งรายชื่อผู้แทนทั้ง 8 คน และสำรอง 2 คน ที่จะเป็นตัวแทนเข้าสู่สถานที่การประมูล และวันที่ 19 ก.ย. เวลา 13.30 น. ผู้แทนจะเดินทางเข้าสู่สถานที่การประมูล และรับไอดี การ์ด และยูสเซอร์เนม สำหรับใช้ประมูลวันที่ 20 ก.ย. 
 
“เข้าใจว่าผู้แทนแต่ละบริษัทที่จะเข้าบ้านมาตัดสินเคาะประมูล ต้องรับผิดชอบมาก จึงให้ระหว่างนี้มีตัวจริงและตัวสำรองได้ ส่วนการเข้าบ้านแต่ละรายจะได้รับยูสเซอร์เนม และรู้ว่าจะได้อยู่บ้านหลังไหนก่อนเวลาประมูลจริงเพียง 10 นาที จากนั้นจะได้รหัสลับสำหรับใช้ในการประมูล ซึ่งอาจจะเป็น Tiger Lion Leo”
 
ผู้แทนโอเปอเรเตอร์ที่จะเข้าร่วมประมูลสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากที่สำรองไว้ 2 คน แต่หลังจากวันรายงานตัวเข้าสถานที่ประมูลจริงแล้ว จะเข้าบ้านได้เพียง 8 คนไม่สามารถเปลี่ยนตัวได้อีก หากมีอุบัติเหตุหรือผู้แทนคนหนึ่งคนใด เจ็บป่วย หรืออยู่ร่วมการประมูลไม่ได้ สามารถออกจากการประมูลได้ทันที แต่จะส่งคนเข้าไปเพิ่มไม่ได้
 
“รายชื่อของผู้ที่จะเข้าประมูลทั้ง 8 คน กทช.ให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของบริษัท เราไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นพนักงานบริษัท แต่จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตัวแทนกลุ่มทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรในอนาคตก็ได้” พ.อ.นทีกล่าว 
 
ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติพีคิว ตามที่ กทช.ได้ว่าจ้างสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัตินั้น คณะกรรมการได้รายงานผลมายัง กทช.ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. โดยเห็นให้ทั้ง 3 บริษัทผ่านหลักเกณฑ์ทุกประการ ได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์แล้วว่าไม่มีลักษณะเป็นต่างด้าว 
 
หลังจากมีผู้ชนะการประมูลได้ไลเซ่นแล้ว กทช.จะออกหนังสือรับรองการเป็นผู้ชนะให้ภายใน 5-7 วัน จากนั้นอีก 45 วัน จะให้ผู้ชนะการประมูลชำระค่าไลเซ่นที่เหลืออีก 50% ของค่าไลเซ่นทั้งหมดที่ประมูลได้ และต้องเสนอแผนการติดตั้งโครงข่าย (Roll out) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นมหาชนด้วย
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิฯ ชี้วาระเวียดนามเป็นประธานอาเซียน พูดเรื่องสิทธิฯ ในประเทศไม่ได้

Posted: 13 Sep 2010 02:11 PM PDT

สององค์กรสิทธิฯ เผยนาทีถูกระงับวีซ่าเข้าไทย เพื่อแถลงข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ชี้การพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ขณะที่เวียดนามเป็นประธานอาเซียนนั้นเป็นไปไม่ได้ เผยผิดหวังไทยระงับวีซ่า 2 นักกิจกรรม พร้อมระบุไทยละเมิดปฏิญญายูเอ็นว่าด้วยนักสิทธิมนุษยชน

 
 
 
รายงาน "เวียดนาม: จาก 'วิสัยทัศน์' สู่ความเป็นจริง: สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียน" 
ดาวน์โหลดที่ http://www.fidh.org/IMG/pdf/bon.pdf
 
จากกรณีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยออกมาเปิดเผยว่าถูกกดดันจากกระทรวงการต่างประเทศให้ยกเลิกการจัดงานแถลงข่าวเรื่อง "จาก 'วิสัยทัศน์' สู่ความเป็นจริง: สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียน" ซึ่งต่อมา สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) องค์กรร่วมจัดซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้แจ้งยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว เนื่องจาก วอ หวั่น อ๋าย ประธานคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนามและเพเนโลเป ฟอล์กเนอร์ รองประธานฯ ถูกทางการไทยระงับวีซ่า 
 
ล่าสุด สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม ออกมาแสดงความเห็นว่า การอภิปรายเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้ภาวะการเป็นประธานอาเซียนของเวียดนามนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างที่สุด 
 
โดยทั้งสององค์กรให้ข้อมูลว่า ก่อนออกเดินทาง วอ หวั่น อ๋าย ได้รับโทรศัพท์จากสถานทูตไทยในกรุงปารีสว่า แม้เขาจะได้รับวีซ่าเพื่อเข้าประเทศไทย แต่เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ ทั้งนี้เป็นไปตามการร้องขอจากรัฐบาลเวียดนาม ขณะที่เช้าวานนี้ (12 ก.ย.) เพเนโลเป ฟอล์กเนอร์ ได้รับแจ้งจากสายการบินที่สนามบินปารีสว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่อง เนื่องจากเมื่อไปถึงกรุงเทพฯ เธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทย 
 
ซูแอร์ เบลลาสซอง ประธานสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า รู้สึกผิดหวังที่รัฐไทยห้ามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งสองคน ซึ่งรณรงค์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวียดนามอย่างสันติมาอย่างยาวนาน เข้าประเทศ และระบุด้วยว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะแสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่การพูดถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวียดนามจะทำในเวียดนามไม่ได้เท่านั้น แต่รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านด้วย 
 
วอ หวั่น อ๋าย กล่าวเสริมว่า รายงานของพวกเขาอ้างอิงตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสถิติจากสื่อของทางการเวียดนาม รวมถึงมีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมต่อทางการเวียดนาม เพื่อพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศและในฐานะของประธานอาเซียนปีนี้ ซึ่งสะท้อนเสียงจากในเวียดนามที่เรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐด้วย
 
ทั้งสององค์กรระบุว่า การกดดันไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยและการปฏิเสธไม่ให้นักกิจกรรมทั้งสองคนเข้าประเทศไทยนั้น เป็นหลักฐานถึงความสามารถในการก่อกวนในระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพของเวียดนาม รวมถึงการไร้ความสามารถของรัฐบาลเวียดนามในการทนต่อการอภิปรายเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ
 
องค์กรสิทธิทั้งสอง มองว่า การตัดสินใจของทางการไทยละเมิดปฏิญญาว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติอย่างเห็นได้ชัด โดยมาตรา 6 b ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิ โดยลำพังตนเองหรือร่วมกับผู้อื่น ในการจัดพิมพ์ สื่อสาร หรือเผยแพร่ซึ่งความเห็น ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานต่อบุคคลอื่นอย่างเสรี และมาตรา 12 ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิ โดยลำพังตนเองหรือร่วมกับผู้อื่น ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างสันติ นอกจากนี้ ตามปฏิญญานี้ รัฐไทยควรต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างหลักประกันว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะได้รับการคุ้มครองจากการคุกคาม การตอบโต้ การกดดัน หรือการกระทำใดๆ ตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิข้างต้นของพวกเขา
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้องปลดผู้บริหารศูนย์เตือนภัย เหตุสัญญาณเตือนสึนามิผิดพลาดทำคนแตกตื่น

Posted: 13 Sep 2010 12:53 PM PDT

เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิร่อนจดหมายเปิดผนึกจี้ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ปลดผู้บริหารศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทุกคน หลังซ้อมแผนเตือนภัยสึนามิ แต่เกิดสัญญาณดังติดๆ กันขึ้นอีก ทำประชาชนตื่นตระหนก เร่งอพยพออกจากพื้นที่ 

 
วานนี้ (13 ก.ย.53) ทีมเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติชุมชนบ้านน้ำเค็ม เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขอให้ปลดผู้บริหารศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทุกคน
 
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็ม เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีซ้อมแผนอพยพหลบภัยขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ 6 จังหวัดอันดามัน ในพื้นที่บ้านน้ำเค็ม เวลา 09.30-10.30 น. ของวันเดียวกัน เมื่อการซ้อมยุติลงนายสุเทพได้เดินทางกลับแล้ว แต่หอเตือนภัยได้ส่งสัญญาณดังขึ้นมาอีก ทั้งหมด 7 ครั้ง ตั้งแต่เวลา 10.50-11.50 น. ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและต้องอพยพออกจากพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องหาผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวของศูนย์เตือนภัยในครั้งนี้
 
ทั้งนี้ จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า ไม่สามารถให้ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกมาเพียงแค่กล่าวขอโทษอย่างเดียวได้ เพราะการซ้อมครั้งนี้เตรียมการมาไม่น้อยกว่า 3 เดือนแล้วยังเกิดข้อผิดพลาดได้ขนาดนี้ และหากเกิดเหตุการณ์จริงโดยการนำของผู้บริหารศูนย์เตือนภัยชุดปัจจุบันยังคงทำหน้าที่อยู่ต่อไป คนในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 6 จังหวัดอันอามันไม่อาจไว้วางใจให้บริหารและสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่ได้อีกต่อไป
 
 
จดหมายเปิดผนึก
ถึง
 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี
 
วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓
 
เรื่อง      ขอให้ปลดผู้บริหารศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทุกคน
 
ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการซ้อมแผนอพยพหลบภัยขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ ๖ จังหวัดอันดามัน ในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ โดยเริ่มการฝึกซ้อมตั้งแต่เวลา ๙.๓๐-๑๐.๓๐ น.นั้น และมีการประกาศยกเลิกการซ้อมในเวลา๑๐.๓๐ น.โดยประมาณนั้น
 
การฝึกซ้อมได้กำหนดให้บ้านน้ำเค็มเป็นพื้นที่เป้าหมายของการฝึกซ้อม โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการฝึกซ้อมแผน ประชาชนเข้าร่วมการฝึกซ้อมตามแผนของชุมชนเกิน กว่า ๙๐% โดยคนเข้าร่วมกว่า ๒,๐๐๐ คน โดยไม่ได้นัดหมาย การดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย จนจบการฝึกซ้อมและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับ
 
ต่อมาเวลา ประมาณ ๑๐.๕๐ น. เสียงหอสัญณาณเตือนภัยดังขึ้นมาอีกครั้ง โดยทำให้ชาวบ้านอพยพออกจากหมู่บ้านอีกรอบด้วยความตกใจว่าสึนามิเกิดขึ้นจริง ทำให้มีผู้ประสบเหตุรถมอเตอร์ไซด์ล้มหนึ่งราย และต่อมาดังทุก ๕ นาที อีก ๖ ครั้ง และเวลา ๑๒.๕๐ น. ได้มีการประกาศยกเลิก จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยใน ๖ จังหวัดอันดามันตื่นตระหนกตกใจอย่างร้ายแรงโดยเฉพาะชุมชนบ้านน้ำเค็ม ซึ่งไม่สามารถให้ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกมาเพียงแค่กล่าวขอโทษอย่างเดียวได้ เพราะการซ้อมครั้งนี้เตรียมการมาไม่น้อยกว่า ๓ เดือนแล้วยังเกิดข้อผิดพลาดได้ขนาดนี้ และหากเกิดเหตุการณ์จริงโดยการนำของผู้บริหารศูนย์เตือนภัยชุดปัจจุบันยังคงทำหน้าที่อยู่ต่อไป คนในพื้นที่เสี่ยงภัยใน ๖ จังหวัดอันอามันไม่อาจไว้วางใจให้บริหารและสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่ได้อีกต่อไป
 
จึงเรียมมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ปลดชุดบริหารศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทั้งหมดภายในทันที เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
 
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
 
ทีมเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติชุมชนบ้านน้ำเค็ม
เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์ 64.4% หนุนรัฐฯ ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาทต่อวัน

Posted: 13 Sep 2010 11:57 AM PDT

กรุงเทพโพลล์สำรวจความเห็น “ประเด็นเศรษฐกิจเดือนกันยายน 53” เผยนักเศรษฐศาสตร์ 67.1% เชื่อค่าเงินบาทไม่หลุดต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเสนอผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและราคาสินค้า 

 
วานนี้ (13 ก.ย.53) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 27 แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-10 ก.ย. ที่ผ่านมา พบว่า 
 
นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 67.1 เชื่อว่าค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ย และให้เหตุผลของการแข็งค่าดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น/ตลาดตราสารหนี้ (ร้อยละ 31.3) การส่งออกที่ขยายตัวสูง/การเกินดุลการค้า (ร้อยละ 20.3) ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น/ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและกลุ่มประเทศชั้นนำ (ร้อยละ 15.8) 
 
ประเด็นเกี่ยวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 58.9 เชื่อว่านักลงทุนจะได้เห็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,000 จุดภายในปีนี้ ซึ่งระดับดัชนีดังกล่าว นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 43.8 เชื่อว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ร้อยละ 41.1 เชื่อว่าเป็นระดับที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
 
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันของนายกรัฐมนตรีนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 64.4 สนับสนุนแนวคิดของนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า ระดับราคาสินค้าในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้นซึ่งจะกระทบกับประชาชนผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 
 
ด้านข้อเสนอนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องการให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่เข้ามาดูแลมากที่สุดคือ ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและเสถียรภาพของราคาสินค้า(ร้อยละ 58.6) ดูแลธนาคารพาณิชย์ให้เกื้อกูลต่อเศรษฐกิจและคนในประเทศ (ร้อยละ 22.7) และดูแลการเข้าถึงโอกาสทางการเงิน (โดยเฉพาะคนระดับรากหญ้าและ SMEs) (ร้อยละ 9.4) 
 
(ดังรายละเอียดต่อไปนี้)
 
1. ความเห็นประเด็น “การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยในช่วงที่เหลือของปี
 
ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ย
ร้อยละ   67.1
ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ย
ร้อยละ   27.4
ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
 
2. ความเห็นประเด็น “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบัน
 
อันดับ   1
เงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น/ตลาดตราสารหนี้
ร้อยละ   31.3
อันดับ    2
การส่งออกที่ขยายตัวสูง/การเกินดุลการค้า
ร้อยละ   20.3
อันดับ    3
ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น/ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและกลุ่มประเทศชั้นนำ (สหรัฐฯ, ยูโรโซน, ญี่ปุ่น)
ร้อยละ   15.8
อันดับ    4
เศรษฐกิจประเทศ G-3 ที่ยังแย่อยู่ (G-3 ได้แก่ประเทศ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี)
ร้อยละ   14.2
อันดับ    5
พื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง/เศรษฐกิจไทยเติบโตสูง
ร้อยละ   11.4
อันดับ    6
การเมืองที่มีเสถีรภาพมากขึ้น
ร้อยละ   3.4
อันดับ    7
การโจมตีค่าเงินบาท
ร้อยละ   1.8
อันดับ    8
อื่นๆ คือ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของประเทศ G-3
ร้อยละ   0.4
ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
ร้อยละ   1.4
 
3. ความเห็นประเด็น SET index ว่า “ภายในปีนี้นักลงทุนจะได้เห็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,000 จุดหรือไม่”
 
นักลงทุนจะได้เห็น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,000 จุด
ร้อยละ   58.9
นักลงทุนจะไม่ได้เห็น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,000 จุด
ร้อยละ   27.4
ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
ร้อยละ   13.7
 
4. ความเห็นประเด็น SET index ว่า “ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,000 จุด เป็นระดับที่สะท้อนเศรษฐกิจไทยอย่างไร
 
ดัชนีฯ อยู่ในระดับที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ   41.1
ดัชนีฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ   4.1
ดัชนีฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ   43.8
ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
ร้อยละ   11.0
 
5. ความเห็นเกี่ยวกับ แนวคิดการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันของนายกรัฐมนตรี
 
เห็นด้วย
ร้อยละ   64.4
 เพราะ 1. ราคาสินค้าในปัจจุบันเพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
 
 2. ค่าแรงขั้นต่ำเดิมอยู่ในระดับต่ำเกินไป(ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น) อีกทั้งที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
 
 3. การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาอุปสงค์ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ อันจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความสมดุลมากขึ้น
 
ไม่เห็นด้วย
ร้อยละ   27.4
เพราะ 1. การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา ดังนั้นจึงควรแก้ด้วยการควบคุมภาวะเงินเฟ้อมากกว่า นอกจากนี้ยังส่งผลให้แรงงานไร้ทักษะว่างงานมากขึ้น
 
 2. จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยที่ผลิตภาพการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตามส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และจะกระทบต่อเนื่องมายังการลงทุน
 
 3. ไม่ควรเพิ่มค่าแรงเท่ากับทุกพื้นที่เพราะอัตราเงินเฟ้อแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งทักษะความรู้ของแรงงานแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน
 
ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
ร้อยละ   8.2
 
6. ข้อเสนอนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่ต้องการให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ (คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล) เข้ามาดูแลมากที่สุด (ในขอบข่ายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย)
 
1. ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและเสถียรภาพของราคาสินค้า โดยการ
·         การควบคุมเงินทุนไหลเข้าโดยเฉพาะเงินไหลเข้าเพื่อการเก็งกำไร (Hot money)
·         เสนอให้ตั้งกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund)
·         เสนอให้ดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท และเสถียรภาพราคาสินค้า
ร้อยละ 58.6
2. ดูแลธนาคารพาณิชย์ให้เกื้อกูลต่อเศรษฐกิจและคนในประเทศ โดยการ
·         ดูแลส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากให้เหมาะสม
·         ดูแลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลไม่ควรสูงเกินควรเช่นปัจจุบัน (ควรเสนอทางเลือกให้กับคนที่มีระเบียบวินัยในการชำระเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า)
·         ดูแลค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ให้เป็นธรรม
·         แก้ปัญหา NPL ในระบบสถาบันการเงิน
ร้อยละ   22.7
3. ดูแลการเข้าถึงโอกาสทางการเงิน (โดยเฉพาะคนระดับรากหญ้าและ SMEs) โดยการ
·         การเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับคนรากหญ้าและSMEs
·         จัดตั้งธนาคารชุมชนหรือแหล่งเงินทุนในชุมชน เพื่อลดการผูกขาดของระบบธนาคาร
·         อัตราดอกเบี้ยสำหรับคนกลุ่มนี้ควรอยู่ในระดับต่ำ
ร้อยละ   9.4
4. อื่นๆ เช่น การนำทุนสำรองไปใช้ประโยชน์ การยอมให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง กระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนและภาคเอกชน ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง เป็นต้น
ร้อยละ   9.3
 
 
หมายเหตุ: มีนักเศรษฐศาสตร์ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ทั้งหมด 53 คน
 
** รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด**
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรฯ ค้านมติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ฮึ่ม! พร้อมเคลื่อนไหวฯ

Posted: 13 Sep 2010 11:07 AM PDT

มติประชุมกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีค้านประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนด 11 โครงการรุนแรง จากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอ 18 เผยพร้อมออกมาเคลื่อนไหว ยืนยันความชอบธรรมปกป้องสิทธิชุมชน

 
 
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.53 ณ ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 400 คน นัดประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางในการเคลื่อนไหว หลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) ซึ่งได้มีมติให้ตัดประเภทโครงการรุนแรงที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมา จาก 18 ประเภทโครงการรุนแรง เหลือเพียง 11 โครงการรุนแรง นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิชาการ นักพัฒนาและเครือข่ายภาคประชาชนกันอย่างกว้างขวาง
 
บรรยากาศการประชุม ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้นัดหมายกันมาร่วมรับฟังข้อมูล และสถานการณ์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำการให้ข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมมีมติจากการประชุมในเรื่องโครงการประเภทรุนแรงว่า การพิจารณาถึงโครงการที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงนั้น มองได้ 2 มิติ คือ รุนแรงโดยสภาพ และรุนแรงโดยข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการ ซึ่งการพิจารณาขอคณะกรรมาธิการนั้น มองในเชิงเทคนิคมากกว่าข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร
 
ชาวบ้านต่างได้สลับกันซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยชาวบ้านได้มีข้อสรุปร่วมกันในการที่คัดค้านประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพร้อมที่จะทำการออกมาเคลื่อนไหวปกป้องผืนแผ่นดินถิ่นกำเนิด หากว่ามีใครมารุกรานและใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านต่างยืนยันถึงความชอบธรรมในการปกป้องสิทธิชุมชน
 
ด้านนายบุญเลิศ เหล็กเขียว ได้กล่าวในที่ประชุมว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงการเหมืองแร่โปแตซที่มีเสาค้ำยันเป็นโครงการที่ไม่รุนแรง เพราะรู้อยู่แล้วว่าการทำโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเอาแร่ที่อยู่ใต้ดินขึ้นมานั้นจะส่งผลกระทบต่อชุมชนมากขนาดไหน และสถานการณ์ในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานีนั้น ทราบมาว่าบริษัทฯ กำลังมีการขยับโดยเปลี่ยนชุดประชาสัมพันธ์โครงการ และเตรียมที่จะทำการรังวัดปักหมุดแผนที่ตามขั้นตอนของการดำเนินโครงการ ตนจึงต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ว่าจะต้องออกมาสู้ให้ถึงที่สุดกับสถานการณ์ดังกล่าว
 
ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อมองจากมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับประเด็นการพิจารณาประเภทโครงการรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 67 นั้น ชาวบ้านมิสิทธิ์ที่จะคัดค้านมติดังกล่าว เพราะว่าการพิจารณาโครงการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนจนไม่สามารถหาหนทางเยียวยาแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่นที่ เหมืองทองคำ จังหวัดเลย ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะเป็นชาวบ้านที่มิสิทธิที่จะพิจารณาและตัดสินใจว่าโครงการประเภทใดบ้างที่เป็นโครงการรุนแรง
 
สุวิทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ชาวบ้านจะออกมาใช้สิทธิ์ในการเคลื่อนไหวคัดค้านมติของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสิทธิของชาวบ้านที่สามารถกระทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มชาวบ้านภาคประชาชนของมาบตาพุดได้ทำการยื่นหนังสือคัดค้านมติดังกล่าว และกำลังจะมีการเคลื่อนไหวฯเพื่อปิดล้อมมาบตาพุด ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ ก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวฯ ดังกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บีโอไออนุมัติให้เอกชนรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน 15%

Posted: 13 Sep 2010 05:32 AM PDT

บีโอไออนุมัติให้เอกชนรับแรงงานต่างด้าว แต่ต้องเป็นโครงการเก่าและพ้นกำหนดการได้รับยกเว้นภาษีและทำธุรกิจในไทย 20 ปี เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้าน มีแรงงานไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน จะสามารภใช้ต่างด้าวได้ 15% แรงงานไทย 85%

13 ก.ย. 53 - 13 ก.ย. 53 - นาง อรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้โครงการที่รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ สำหรับนำแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือเข้ามาทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ แต่เป็นการอนุมัติอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าจะต้องเป็นโครงการส่งเสริมการลงทุน เก่า และพ้นกำหนดการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และทำธุรกิจในประเทศมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีแรงงานไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ขณะที่จำนวนแรงงานที่จะรับเข้ามาใหม่จะต้องมีแรงงานไทยจำนวน 85%

นางอรรชกากล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติประจำ ปี 2553 พบว่านักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนส่วนในไทย มีระดับความเชื่อมั่นในทุกด้านสูงกว่าปีที่ผ่านมา และมีแผนรักษาระดับการลงทุนและขยายการลงทุนในไทยต่อไป

ชงบีโอไอเพิ่มแรงงานต่างด้าว

อนึ่งก่อนการอนุมัตินั้นมีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอเตรียมเสนอให้ที่ประชุมบีโอไอวันที่ 13 ก.ย. นี้ พิจารณานโยบายการกำหนดแนวทางขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือแก่ กิจการที่ก่อตั้งในไทยมานานและกำหนด   ให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในระยะยาว โดยจำกัดเฉพาะภาคอุตสาหกรรมไม่ครอบคลุมภาคเกษตรกรรมเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
  
“คาดว่าจะมีการเสนอขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือของกลุ่ม บ.มินิแบ ที่ มีแผนลงทุน 16,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการจ้างงานจากปัจจุบันราว 3 หมื่นคน เป็น 4.4 หมื่นคน ในปี 55 โดยในจำนวนที่เพิ่มขึ้นต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวระดับปฏิบัติการถึง 4,544 คน”
   
ขณะเดียวกันจะเสนอให้พิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวม 10 โครงการ มูล ค่ากว่า 15,590 ล้านบาท ประกอบด้วย บ. ชิงธง จำกัด ขยายกิจการเลี้ยงไก่มูลค่า 1,370 ล้านบาท ที่ จ.เพชรบูรณ์, บ.อินเตอร์เนชั่น แนล แคสติ้งโปรดักส์ จำกัด ผลิตชิ้นส่วน ล้อรถยนต์ 1,200 ล้านบาทที่ จ.ระยอง, บ.มาก๊อกโต้ จำกัด ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม 2,000 ล้านบาท ที่ จ.สระบุรี
  
บ.ค็อกเนอร์ แพนเธอพาสไทยแลนด์ จำกัด ผลิตฟิล์มพลาสติกถนอมอาหาร 862 ล้านบาท ที่ จ.ระยอง, บ.ทีพีไอโพลัน เพาเวอร์ จำกัด ผลิตเชื้อเพลิงจากน้ำเสียและอุตสาหกรรม 1,683 ล้านบาท ที่ จ.สระบุรี, บ.น้ำประปาไทย จำกัด ผลิตน้ำประปา มูลค่า 1,300 ล้านบาท ที่ จ.นครปฐม, บ.สุโขทัยไบดอเอ็นเนอยี่ จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 2,032 ล้านบาทที่  จ.สุโขทัย บ.โรจนะเพาเวอร์ จำกัด ขอรับการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำ 2,110 ล้านบาทที่ จ.พระนครศรีอยุธยา, บ.บางปะอินโคเจนเนเรชั่น จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำ 5,143 ล้านบาทที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ บ.โรจนะเพาเวอร์ จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (ไม่แจ้งมูลค่าลงทุน) ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา.

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

"บีโอไอ"อนุมัติจ้างแรงงานต่างด้าวแก้ขาดแคลน แบบมีเงื่อนไข (ประชาชาติธุรกิจ, 13-9-2553)
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1284379318

ชงบีโอไอเพิ่มแรงงานต่างด้าว (เดลินิวส์, 13-9-2553)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=91290


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แต่งผีไปหลอนทหารที่ BTS: เรามายืนยัน ให้เขานึกได้ว่าใคร เคยทำอะไร

Posted: 12 Sep 2010 04:29 PM PDT

 
โหมโรงก่อน 19 กันยายน สำหรับการจัดกิจกรรม “4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนราชประสงค์” กลุ่มประกายไฟ ร่วมกับเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย และนักเรียน นักศึกษากว่า 10 ชีวิต แต่งตัว-แต่งหน้า เลียนแบบผี ออกมาทำกิจกรรม “แต่งผีไปหลอนทหารที่ BTS” 
 
วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน เวลาบ่าย 3 โมง คือเวลาของการนัดหมายเพื่อเตรียมการกิจกรรม “แต่งผีไปหลอนทหารที่ BTS” ซึ่งในวันเดียวกัน ยังมีกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงปั่นจักรยานรอบพื้นที่ราชประสงค์ นำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ริเริ่มกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง ทั้งนี้พร้อมๆ กับช่วงเวลาที่ บก.ลายจุดนำขบวนรถจักรยานออกเดินทางจากจุดเริ่มต้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ กลุ่มคนแต่งผีก็เริ่มทำกิจกรรม
 
 
จากคำเชิญชวนในเฟซบุ๊ค ก่อนหน้านี้ที่ระบุเอาไว้ว่า สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวและภาพทหารที่มาประจำการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส นักกิจกรรมกลุ่มนี้จึงคิดกิจกรรมสำหรับผู้ที่อยากให้ทหารจดจำสิ่งที่พวกเขาลืมทิ้งเอาไว้ รวมทั้งสื่อสารให้สังคมได้ฉุกคิดต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา  
 
“ป๊อก” นักกิจกรรมจากกลุ่มประกายไฟ หนึ่งในคนแต่งผีบอกกับเราว่า เขาต้องการสะท้อนภาพว่าการมาดูแลความสงบสุขของทหารในวันนี้ ก่อนหน้านี้คนที่ทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิตก็คือทหารเอง 
 
“เรามายืนยัน ให้เขานึกได้ว่าใครเคยทำอะไร และพวกเรายังคงปรากฏตัวให้เขาเห็นอยู่ เหมือนภาพหลอน” หนุ่มนักกิจกรรมซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจากการขอคืนพื้นที่การชุมนุมเมื่อเดือนเมษา และต้องรับรู้ถึงความสูญเสียอีกครั้งเมื่อรัฐบาลประกาศกระชับพื้นที่ที่ราชประสงค์ ซึ่งเขามองว่าใครหลายคนอาจลืมไปแล้ว
 
ส่วน “ตี๋” นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งจากกลุ่มประกายไฟ บอกว่า กิจกรรมในวันนี้พวกเขาต้องการจะสื่อสารกับคนทั่วไป คนที่เห็น คนที่พวกเขาเดินผ่าน ซึ่งส่วนหนึ่งกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งมองว่าตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติตามที่ชีวิตพวกเขาควรจะเป็น 
 
แค่คำว่า “เอ๋!... มาทำอะไร” แค่ถูกตั้งคำถาม หรือเพียงแค่การทำกิจกรรมในวันนี้ไปสะดุดความคิด เท่านั้นพวกเขาก็พอใจแล้ว โดยตี๋บอกว่าเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ พร้อมยอมรับว่าหากจะไปเปลี่ยนความคิดใครคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
 
 
สำหรับกิจกรรมวันนี้ของกลุ่มคนแต่งผี เริ่มจากการเดินเท้าบน Sky Walk บริเวณหน้าวัดปทุมวนาราม ผ่านแยกราชประสงค์ เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีชิดลม จากนั้นไปต่อรถที่บีทีเอส สถานีสยามเพื่อไปยังบีทีเอส สถานีศาลาแดง ซึ่งบริเวณลานพระรูป ร.6 สวนลุมพินี มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ซึ่งถูกลอบยิงเสียชีวิต 
 
ทั้งนี้ ในระหว่างการเดินทางกลุ่มคนแต่งผีได้แวะทักทายและถ่ายรูปกับทหารที่ประจำการอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
 
“แนน” เด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.4 ที่ร่วมกิจกรรมบอกเล่าความรู้สึกให้ฟังว่า ตอนเธออยู่บนรถไฟฟ้าเหมือนถูกมองเป็นตัวประหลาด ถูกมองแบบสงสัย ตั้งคำถาม แต่เมื่อเดินทางไปถึงที่ลานพระรูป ร.6 คนเสื้อแดงที่มารวมตัวกันทำกิจกรรมกันอยู่ออกมาให้กำลังใจ บอกว่าให้สู้ๆ เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันมาก 
 
เมื่อถามแนนถึงจุดประสงค์ของการมีเรียกร้องในครั้งนี้ เธอบอกเราเพียงว่า “อยากให้เขา (ทหาร) กลับไป”
 
 
ขณะที่ “กอล์ฟ” หรือ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มประกายไฟเล่าว่าจากการไปทำกิจกรรมทำให้ได้รับรูว่าหลายคนไม่เข้าใจกับสิ่งที่ได้ทำ รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องทำอีกมากเพื่อจะให้คนที่ไม่เข้าใจได้เห็น อาจเป็นการทำกิจกรรมหรือลงไปพูดคุย
 
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนทำกิจกรรมเองก็มีปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการเปิดรับอาสาสมัคร ก็มีนักเรียน นักศึกษาที่สนใจอยากเข้ามาร่วมทำกิจกรรมมีจำนวนมาก แต่ก็ติดปัญหาเกี่ยวกับการเรียน เพราะต้องทำรายงาน ต้องเรียนพิเศษ ทำให้ไม่ว่างมาร่วมกิจกรรมที่ค่อนข้างต้องการความต่อเนื่องในการพูดคุย วางแผน และฝึกซ้อมร่วมกัน
 
กอล์ฟ แสดงความเห็นว่า สำหรับนักศึกษาแล้วการเรียนเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิต แต่ก็ตั้งคำถามว่าระบบการศึกษานั้นจำเป็นที่จะต้องบีบรัดขนาดทำให้กลายเป็นว่าไม่มีสิทธิมาทำกิจกรรมเลยหรือ เพราะในส่วนคนทำงานก็เคยมีตัวอย่างที่โทรมาให้กำลังใจ บอกว่าอยากเข้าร่วมเพราะที่ผ่านมาสมัยเรียนไม่เคยมีเวลาทำกิจกรรม แต่เขาก็ไม่มีเวลาเข้าร่วมทำกิจกรรม แล้วสุดท้ายก็ไม่มีเวลาทำอะไร
 
กอล์ฟ เล่าด้วยว่าที่ผ่านมา ในส่วนของกลุ่มประกายไฟได้มีการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวของกับปัญหาสังคม อีกทั้งยังมีในส่วนกิจกรรมการละครเวทีเพื่อการสื่อสารข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทำละครสะท้อนสังคมการเมือง 2 เรื่อง คือ หนูน้อยหมวกแดง และกินรีสีแดง ซึ่งขณะนี้กลุ่มประกายไฟยังเปิดรับนักแสดง คุณสมบัติที่ต้องการคือ รักประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกันการเข่นฆ่าประชาชน ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทางด้านการแสดง (สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ในเฟซบุ๊คที่ Iskra Drama 
 
 
สำหรับกิจกรรมต่อไป กอล์ฟ ให้ข้อมูลว่าในวันที่ 19 กันยายนนี้ ทางกลุ่มจะมีละครไปแสดงร่วมในกิจกรรม “4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนราชประสงค์” ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ นอกจากนั้นยังจะมีการทำค่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการสลายการชุมนุม ในวันที่ 27 ต.ค.-2 พ.ย.นี้ในภาคอีสาน โดยที่คิดรูปแบบไว้จะเป็นการเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ และจะมีการไปแสดงละครเวทีที่บริเวณศาลากลาง จ.ขอนแก่นด้วย
  
ส่วนกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง เธอเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ง่ายต่อการเข้าร่วม ง่ายในการใส่เสื้อแดงร่วมกิจกรรม แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่พอ ดังนั้นจึงต้องสร้างกิจกรรมของเราเองขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมให้มันแข็งแรงขึ้น
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น