โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ใบตองแห้ง (กวี): สิบเก้าเดือนเก้า

Posted: 19 Sep 2010 02:18 PM PDT

สิบเก้าเดือนเก้าปีสี่เก้า
ปัญหาเชาว์เข้าเนื้อแบ่งเสื้อสี
ไม่น่าเชื่อเมื่อผ่านไปได้สี่ปี
มิคสัญญียังไม่หยุดจุดฆ่าฟัน

เมื่ออำนาจนิยมล้มอำนาจ
เพิ่มพิพาทอ้างศรัทธามาห้ำหั่น
จึงปั่นป่วนทุกองค์กรสถาบัน
เข้าทางตันเกิดวิกฤติติดหลุมดำ

อำนาจปืนและกฎหมายแม้ใช้ปราบ
ไม่ราบคาบยิ่งเคียดแค้นแน่นกระหน่ำ
เพราะตราบใดแผ่นดินไร้ยุติธรรม
อย่าเอ่ยคำสามัคคีไม่มีทาง

เมื่อเกิดสองมาตรฐานประจานโลก
เมื่อสาเหตุวิปโยคยังคั่งค้าง
เมื่อประชาธิปไตยถูกอำพราง
จงอย่าอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์คิดกดดัน

คิดให้ดีสี่ปีแสนประหลาด
ทักษิณเสื่อมจากอำนาจไม่คาดฝัน
ถึงวันนี้เหมือนสลับกลับขั้วกัน
ความเสื่อมนั้นไม่เลือกข้างอ้างชั่วดี

อันปรัชญาแห่งอำนาจปราชญ์ว่าไว้
ทักษิณใช้พร่ำเพรื่อหมดเร็วจี๋
อำนาจหากไม่ใช้ได้บารมี
ถ้าใช้เอง ใช้ถี่ มีแต่จม

โปรดคืนสมดุลแห่งอำนาจ
ประชาธิปไตยไม่คิดคาดจะโค่นล้ม
เพียงหวังอยู่ร่วมในสังคม
อย่างเหมาะสมมีเสียงสิทธิไม่ปิดกั้น

แต่หากขืนฝืนหวนทวนกระแส
ไม่มีใครรู้แน่ความพลิกผัน
ที่ไหนมีแรงกดเกิดแรงดัน
ระเบิดลั่นอีกครั้งยังหวั่นกลัว

ใบตองแห้ง
18 ก.ย.53
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิยบุตร แสงกนกกุล: “4 ปี รัฐประหาร 4 เดือน พฤษภาอำมหิต อนาคตสังคมไทย”

Posted: 19 Sep 2010 01:35 PM PDT

หมายเหตุ

1 บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการอภิปรายในหัวข้อ "4 ปี รัฐประหาร 4 เดือน พฤษภาอำมหิต อนาคตสังคมไทย” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 กันยายน 2553

 2 ประชาไทคงตัวสะกดและถ้อยคำตามต้นฉบับเดิม เพื่อรักษาอรรถรสในการอ่าน

000

 

พลเมืองหญิง พลเมืองชายที่เคารพ

คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน สื่อมวลชน ตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่จาก ศอฉ. ทุกท่าน

ผมขอแบ่งหัวข้ออภิปรายเป็น 3 หัวข้อ

หัวข้อแรก ความสำเร็จของรัฐประหาร รัฐประหารดำรงและสำเร็จได้อย่างไร

หัวข้อสอง ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน

หัวข้อสาม รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ พฤษภาอำมหิต 2553

 

1. ความสำเร็จของรัฐประหาร

รัฐประหารโดยตัวของมันเองอาจไม่มีน้ำยาอะไร แต่รัฐประหารจะสำเร็จและดำรงอยู่ต่อไปได้จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนการลงมือกระทำรัฐประหาร มีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร

ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่

หนึ่ง แรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดจากวัฒนธรรมการเมืองของประเทศนั้นๆ ที่ประชาชนอาจเชื่อว่ารัฐประหารเป็นวิธีสุดท้ายในการแก้ปัญหาทางการเมือง หรือเป็น The last word of politic แรงสนับสนุนอาจเกิดจากการโหมกระพือของปัญญาชนและสื่อสารมวลชนมาก่อนหน้านั้น เพื่อเร่งเร้าให้สถานการณ์สุกงอมพอจนทำให้คณะรัฐประหารมั่นใจว่ารัฐประหารแล้วจะไม่มีประชาชนต่อต้านมาก

สอง การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อปราบปรามการต่อต้านรัฐประหาร เช่น จับกุมคุมขัง นำทหารออกมาควบคุมสถานการณ์จำนวนมาก ปราบปราม ลอบฆ่า อุ้มหาย ปิดกั้นสื่อ ห้ามชุมนุม

สาม การใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น ตรารัฐธรรมนูญรับรองความชอบธรรมของรัฐประหาร คำพิพากษาของศาลรับรองรัฐประหาร

สี่ ประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุนรัฐประหาร เช่น รัฐประหารในอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายประเทศ ที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างลับๆ

ห้า บุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์รับรองรัฐประหาร เป็นต้น

 

แปลความในทางกลับกัน ถ้าปราศจากซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จเด็ดขาด หากรัฐประหารปราศจากคนไปมอบดอกไม้ ปราศจากสื่อสารมวลชนร่วมเชียร์ ปราศจากมาตรการรุนแรงของเผด็จการในการปราบปราม หรือ หากมีผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งตัดสินว่ารัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลบล้างรัฐประหารและผลพวงลูกหลานของรัฐประหาร หากบุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์แสดงต่อสาธารณะว่าตนไม่สนับสนุนรัฐประหาร รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ และกลายเป็นความพยายามรัฐประหาร หรือกบฏเท่านั้น

 

จะขอยกตัวอย่างบางกรณี

ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส 8 มกราคม 1961 นายพลเดอโกลล์จัดให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการปกครองตนเองของแอลจีเรีย ผลปรากฏว่าเสียงข้างมากเห็นด้วย นโยบายแอลจีเรียของนายพลเดอโกลล์นี้สร้างความไม่พอใจต่อคณะนายทหารที่ประจำการในแอลจีเรีย พวกเขามองว่าทำแบบนี้เท่ากับปล่อยให้ทหารจำนวนมากตายฟรี ทหารอุตส่าห์เสียสละชีวิตเพื่อรักษาแอลจีเรียไว้ แต่ในท้ายที่สุดรัฐบาลกลับพยายามปลดปล่อยแอลจีเรีย คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง จึงพยายามก่อการรัฐประหาร โดยเชิญ นายพลราอูล ซาล็อง ที่เกษียณอายุไปแล้วเป็นผู้นำ คณะนายทหารกลุ่มนี้บุกเข้ายึดเมือง Alger เมืองหลวงของแอลจีเรียเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1961 และเตรียมยกพลเข้าฝรั่งเศส วันถัดมาตำรวจจับกุมนายพล Jaques Faure และพวกได้ เพราะกำลังตระเตรียมการรัฐประหารในปารีส

23 เมษายน 1961 นายพลเดอโกลล์แถลงการณ์สาธารณะ เรียกร้องให้ทหารแอลจีเรีย ประชาชนชาวฝรั่งเศสและแอลจีเรียร่วมมือกันต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ เจ้าหน้าที่และทหารไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหาร เรียกร้องให้ประชาชนใช้ทุกวิธีการในการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ และประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ รวมอำนาจเข้าสู่ตนเองแต่ผู้เดียว

จากนั้น Michel Debré นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแถลงซ้ำ เรียกร้องให้ประชาชนเดินทางโดยเท้าหรือรถยนต์ไปที่สนามบิน รวมตัวกันให้คณะทหารเหล่านั้นเห็นว่าเป็นข้อผิดพลาดมหันต์ของพวกเขาที่คิดทำการเช่นนี้

ความพยายามรัฐประหารครั้งนั้นไม่สำเร็จ นายทหารถูกตัดสินให้จำคุก

 

ในราชอาณาจักรสเปน เหตุการณ์ความพยายามรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1981 โดยคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปยังรัฐสภา ขณะที่คณะรัฐมนตรีกำลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดังที่ผมเคยเขียนเล่าเรื่องนี้ให้ฟังไปแล้ว และเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ภายหลัง 19 กันยายนไม่นานว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่สำเร็จ เพราะ กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ทรงอาศัยในฐานะเป็น กษัตริย์ผู้มีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และทรงเป็นจอมทัพสเปน อ่านแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์และวิทยุไม่รับรองความพยายามรัฐประหารครั้งนั้น (ดู http://www.onopen.com/2006/01/1186)

ผมขออนุญาตเปิดคลิปพระสุรเสียงของพระองค์ให้ชมให้ฟังกัน ....

http://www.youtube.com/watch?v=LVK-_bYWGNc

 

พระองค์ตรัสว่า...

"La Corona, símbolo de la permanencia y unidad de la Patria, no puede t0lerar en f0rma alguna acciones o actitudes que pretendan interrumpir p0r la fuerza el proceso democrático que la Constitución votada 0r el pueblo español determinó en su día a través de referéndum."

 

ผมลองแปลเป็นไทยได้ว่า

"ราชบัลลังก์ สัญลักษณ์แห่งความสถาพรและความเป็นเอกภาพของชาติ ไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อการกระทำในรูปแบบใดหรือความพยายามในการใช้กำลังใด เพื่อต้องการหยุดกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งราษฎรสเปนได้ให้ความเห็นชอบผ่านการลงประชามติ"

ฆวน คาร์ลอสที่ 1 

พระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสเปน

1 นาฬิกา 14 นาที วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1981

 

สังเกตได้ว่าพระองค์ทรงใส่ชุดทหารเต็มยศ เพื่อส่งสัญลักษณ์ไปถึงทหารด้วยว่า พระองค์เป็นจอมทัพ ภายหลังการแทรกแซงการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ ทหารผู้ก่อการก็กลายเป็นกบฏ รับโทษจำคุกไป 30 ปี ส่วนพระองค์ก็ได้การยอมรับอย่างกว้างขวาง ผ่านบททดสอบของชาวสเปนและประชาคมโลกว่าพระองค์อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งปลดปล่อยประเทศสเปนและตัวพระองค์เองด้วยให้ออกจากมรดกตกทอดของนายพลฟรังโก้อย่างเด็ดขาด

 

โดยธรรมชาติ กษัตริย์เป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อรัฐเสรีประชาธิปไตยใดเห็นพ้องต้องกันว่าควรเก็บรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รักษาประเพณีของตน เป็นศูนย์รวมใจของชาติ รัฐนั้นก็จะสร้างวิธีการหลอมรวมเอา สถาบันกษัตริย์ เข้ากับ ประชาธิปไตยโดยยกให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐและไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ จึงกล่าวได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตย เป็น ประชาธิปไตย ต่างหากที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข มิใช่กษัตริย์เป็นประมุขและมี ประชาธิปไตย เป็นส่วนเสริม

รัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข จึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเคารพรัฐธรรมนูญของกษัตริย์ การสาบานตนก่อนรับตำแหน่งว่าจะเคารพรัฐธรรมนูญ และบทบาทในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เช่น สเปน ในมาตรา 61 กษัตริย์ต้องปรากฏตนต่อหน้ารัฐสภาเพื่อสาบานตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิของพลเมืองและประชาคมปกครองตนเอง

เบลเยียม ในมาตรา 91 วรรคสอง กษัตริย์จะขึ้นครองราชย์ได้ภายหลังสาบานตนอย่างสง่าผ่าเผยต่อหน้ารัฐสภา คำสาบานมีดังนี้ ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของราษฎรชาวเบลเยียม รักษาเอกราชของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน

เดนมาร์ก ในมาตรา 8 ก่อนเข้าสู่อำนาจ กษัตริย์ต้องทำคำประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะรัฐมนตรีว่าจะไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ กษัตริย์ต้องทำคำประกาศนั้น 2 ฉบับ ฉบับหนึ่ง ส่งมอบให้กับรัฐสภา (Folketing แปลตรงตัวได้ว่า สภาของประชาชน) เพื่อเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของรัฐสภา อีกฉบับ เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของราชอาณาจักร...

เนเธอร์แลนด์ ในมาตรา 32 โดยเร็วที่สุด ภายหลังเริ่มใช้อำนาจ กษัตริย์ต้องสาบานตนอย่างสง่าผ่าเผยต่อที่ประชุมรัฐสภาอันเปิดเผยซึ่งจัดขึ้นในสถานที่ประชุมเดียวเท่านั้น คือ อัมสเตอร์ดัม พระองค์ต้องสาบานและสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญและซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติหน้าที่

 

เมื่อกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนพลเมือง หากกษัตริย์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาคืออะไร ในทางตำราเห็นกันว่า หลักการที่ว่า กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด หรือ กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ หรือ หลักการห้ามฟ้องร้องต่อกษัตริย์ นั้น คุ้มครองกษัตริย์ในสถานะเป็น กษัตริย์ และ สถานะความเป็นกษัตริย์นี้จะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อกษัตริย์ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ หากกษัตริย์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่รัฐธรรมนูญมอบให้นั้นย่อมหมดไป

หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ นักกฎหมายสาย รัฐธรรมนูญนิยม ผู้สนับสนุนอุดมการณ์แบบคณะราษฎร อธิบายไว้ในคำสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ศ. 2477 ไว้ว่า

"ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า คดีอาชญาซึ่งกษัตริย์ทำผิดจะต้องถูกฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ฉะเพาะแต่ความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญาเท่านั้น ยังหมายความเลยไปถึงความผิดซึ่งกษัตริย์กระทำการบกพร่องอย่างสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ละเมิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดต่อสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นเหตุจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศบ้านเมือง นี่เป็นความเห็น คือว่า ในคดีอาชญาไม่หมดความฉะเพาะแต่ความผิดซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญา ร.ศ. 127 แต่กินความเลยไปถึงการกระทำของกษัตริย์ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือว่ากระทำการผิดสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศบ้านเมือง ในกรณีเหล่านี้กษัตริย์ควรจะต้องรับผิดชอบและถูกฟ้องร้องตามมาตรา 6"
หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ คำสอนภาค 1 ชั้นปริญญาตรี, 2477, หน้า 75.

 

 

 

2. ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน

เอกลักษณ์ร่วมกันของรัฐประหาร คือ กระทำการโดยคณะบุคคล มีคนร่วมมือกันไม่กี่คนและยึดอำนาจโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ณ เวลานั้น

อย่างไรก็ตาม รัฐประหารแต่ละรัฐประหารล้วนแล้วแต่มีลักษณะเฉพาะ รัฐประหารอาจเป็นรัฐประหารก้าวหน้าเพื่อสร้างประชาธิปไตย เช่น รัฐประหารโดยคณะนายทหารหนุ่มในโปรตุเกส ปี 1974 เพื่อปูทางเข้าสู่ประชาธิปไตยหรือที่รู้จักกันนาม ปฏิวัติคาร์เนชั่น หรือรัฐประหารของพระยาพหลฯเมื่อปี 2476 เพื่อเอาระบบรัฐธรรมนูญกลับมา หรือรัฐประหารในอียิปต์เมื่อ 23 กรกฎาคม 1952 โดนคณะนายทหารในชื่อ "The Free Officers Movement" นำโดยนายพล Muhammad Naguib เพื่อโค่นกษัตริย์ Farouk I และในท้ายที่สุดก็กลายเป็นการยกเลิกโมนาร์ขี้และสถาปนาให้อียิปต์เป็นสาธารณรัฐ เป็นต้น

รัฐประหารอาจเป็นรัฐประหารผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยการตระเตรียมวางแผนล่วงหน้า เช่น รัฐประหาร 18 Brumaire an VIII เพื่อสถาปนาเผด็จการโดยนโปเลียน อันเป็นการปิดฉากปฏิวัติ 1789 เป็นต้น

รัฐประหารอาจเป็นรัฐประหารโดยอาศัยประชามติแบบ plébiscite เข้าสนับสนุนการรัฐประหาร เช่น การ plébiscite หลุยส์ นโปเลียน ให้เป็นจักรพรรดิตลอดชีพ

รัฐประหารอาจเป็นรัฐประหารโดยคณะนายทหารเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญและกลายเป็นเผด็จการทหาร ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในแอฟริกา ปากีสถาน ฟิจิ และราชอาณาจักรไทย

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางกฎหมายเรื่อง ศึกษารัฐประหารในความเป็นจริงและในกฎหมาย ของ Brichet ในปี 1935 เสนอว่ารัฐประหารมีหลายรูปหลายลักษณ์ อาจแบ่งได้โดยใช้เกณฑ์ต่างกันไป ได้แก่ การเคลื่อนไหวและแรงจูงใจ แบ่งเป็น รัฐประหารสังคม (ชี้นำโดยปัจจัยของผลประโยชน์ทางชนชั้น) กับรัฐประหารการเมือง, เป้าหมาย แบ่งเป็นรัฐประหารตั้งรับกับรัฐประหารเชิงรุก, การอำนวยการ แบ่งเป็นรัฐประหารเดี่ยวกับรัฐประหารกลุ่ม, วิธีการ แบ่งเป็นรัฐประหารโดยทหาร โดยพลเรือน หรือผสม, เทคนิค แบ่งเป็น รัฐประหารที่เข้ายึดที่ทำการสำคัญของศัตรูเพื่อเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เช่น วัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กับรัฐประหารที่เข้ายึดสถานที่สำคัญอันเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมในสังคม เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถไฟ โรงงาน สถานีโทรทัศน์และวิทยุ

 

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เช่นกัน มีลักษณะเฉพาะของมันอยู่ ซึ่งผมขอสรุปเป็น 3 ข้อ

1. รัฐประหารที่พรากความเป็นพลเมือง (ซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว) ให้หายไป

ตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองประการหนึ่ง คือ ความเสมอภาคทางการเมือง

ความเสมอภาคทางการเมือง แสดงออกให้เห็นได้จาก หนึ่งคน หนึ่งเสียง พลเมืองทุกคน ไม่ว่าชาติกำเนิดใด ศาสนาใด ความเชื่อใด ฐานะเศรษฐกิจอย่างใด เมื่อเดินไปหน้าคูหา ก็มี 1 เสียงเท่ากัน

ผมพูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้แทนและรัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แน่นอน นิติรัฐ-ประชาธิปไตย จำเป็นต้องเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เคารพเสียงข้างน้อย มีองค์กรตุลาการคอยตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่ต้องไม่ลืมวา การเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย

ผมตามอ่านงานของ Pierre Rosanvallon มาพอสมควร เล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ Le sacre du citoyen (การเถลิงขึ้นของพลเมือง) เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สิทธิการเลือกตั้งแบบทั่วไป-เท่าเทียมในฝรั่งเศสผมอ่านแล้วมีข้อสังเกตว่า เรื่องสิทธิเลือกตั้งเป็นของมีค่าของตะวันตกจริงๆ "สิทธิเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม" เป็นสัญลักษณ์ - ภาพแทนของการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของ "พลเมือง" เป็นเครื่องหมายของ การบอกว่าคุณกับฉันเท่ากัน เราเท่ากัน เราเป็นคนเหมือนกัน เมื่อเกิดมาเราก็เท่ากันแล้ว โดยไม่พิจารณาถึงชาติกำเนิด ยศถาบรรดาศักดิ์ สถานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา เขาต่อสู้กันยาวนาน กว่าจะได้ ก็ผ่านบทเรียนเยอะ มีนองเลือด มีความรุนแรง เมื่อได้มาด้วยความยากลำบาก จึงศักดิ์สิทธิ์และมีค่ามาก

แน่ล่ะ เมื่อฝังรากลึกแล้ว กลไกประชาธิปไตยแบบผู้แทนก็มีปัญหาในตัวมันเอง เมื่อนั้นก็ค่อยๆพัฒนากลไกตรวจสอบต่างๆตามมา แต่อย่างไรเสีย สิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม และองค์กรผู้ใช้อำนาจสาธารณะทั้งหลายล้วนต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชน ก็เป็นหลักการพื้นฐานอันดับ 1 ตรงกันข้ามกับบ้านเรา ได้มาง่าย ง่ายเกินไปจริงๆ ปฏิวัติ 24 มิ.ย.2475 ท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ก็เขียนใส่ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นการดี แต่เมื่อได้มาง่าย มันก็ดูเหมือนไม่มีค่า ประกอบกับโดนขบวนการสถาปนาอุดมการณ์ "ราชา-ชาตินิยม" บดขยี้ ด้วยการสร้างวาทกรรม "นักการเมืองเป็นคนชั่วร้าย" "ชาวบ้านโง่เขลาโดนซื้อ" สิทธิการเลือกตั้งแบบทั่วไปเท่าเทียม จึงเป็นเหมือนของไร้ราคา มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ใครมาพรากเอาไป ก็รู้สึกเฉยๆ 

ผมเห็นว่าความเสมอภาคทางการเมืองมาก่อนความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

ผมเชื่อของผมเองว่า "ความเสมอภาคทางการเมือง" เป็นบ่อเกิดของสังคมเสรีประชาธิปไตย 
หากปราศจากสิ่งนี้ เราไม่อาจอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ประชาธิปไตย อาจไม่ใช่ระบอบการเมือง ไม่ใช่รูปแบบของรัฐบาล แต่มันเป็นรูปแบบของการรักษา "สนาม" ที่เปิดให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกรสนิยม ได้ถกเถียงกัน 
และ "ความเสมอภาคทางการเมือง" ก็เป็นเครื่องมือในการรักษา "สนาม" นี้ ให้เกิดการถกเถียงอย่าง "ฟรี" และ "แฟร์" เมื่อนั้น ใครจะผลักดันรสนิยมทางการเมืองของตนก็ย่อมได้ทั้งนั้น จะขวาหรือซ้าย จะอนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้า จะเสรีนิยมทางเศรษฐกิจหรือสังคมนิยม จะเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า ย่อมสามารถถกเถียง-รณรงค์ได้อย่างเสรี

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการเหยียบย่ำสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม ขบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการประกาศซ้ำว่า ที่แห่งนี้ ไม่อนุญาตให้มี "ความเสมอภาคทางการเมือง" 

รัฐประหาร 19 กันยา ได้พรากเอาความเป็นพลเมืองไป ลดสถานะพลเมืองให้กลายเป็นไพร่ กระบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหาร ก็ยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อตอกย้ำความเป็นไพร่ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

2. รัฐประหารเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้มั่นคงสถาพรตลอดกาล

ในตำราต่างประเทศ มีคำศัพท์อยู่คำหนึ่ง คือ “Restaurati0n” คำนี้หมายความว่า การยึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูกลับไปสู่ระบบเก่า ในฝรั่งเศสมักนำคำนี้ไปใช้กับเหตุการณ์ยึดอำนาจและกลับไปฟื้นฟูระบอบเก่าหรือโมนาร์ขี้

การรัฐประหาร 19 กันยา อาจเรียกว่า “Restaurati0n” ได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก เพราะ ก่อนหน้า 19 กันยา ประเทศไทยก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพียงแต่ว่าอาจเข้มข้นไม่มากเท่าปัจจุบัน และเมื่อกลุ่มบุคคลชนชั้นนำจารีตประเพณีเริ่มเห็นว่าระบอบของพวกเขาถูกท้าทาย ถูกสั่นคลอน โดยรัฐบาลในขณะนั้น (ซึ่งรัฐบาลอาจไม่ได้คิด แต่พวกเขาคิดไปเองและไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง) และเพื่อมิให้ระบอบของพวกเขาถูกกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาว ก็จึงเกิดรัฐประหารขึ้น เป็นรัฐประหารเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะมั่นคงสถาพรตลอดกาล

ชื่อของคณะรัฐประหารก็บอกไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

บุคคลที่ครองอำนาจ หรือดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแนวทางของรัฐบาลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยา ก็เป็นไปในทางฟื้นฟู พระราชอำนาจ เทิดพระเกียรติ และใช้กฎหมาย 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จัดการคน ดังเราจะเห็นได้จากจำนวนคดี มีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการปิดกั้นสื่อจำนวนมาก ทั้งใช้อำนาจรัฐ และการเซนเซอร์ตนเองของสื่อ เดี๋ยวอาจารย์สาวตรีจะได้พูดในประเด็นเหล่านี้ต่อไป

 

3. รัฐประหารของนักกฎหมาย

กฎหมาย มีความสำคัญกับรัฐประหารในสามแง่มุม หนึ่ง เป็นกลไกรับรองความชอบธรรมและสนับสนุนรัฐประหาร สอง เป็นกลไกปราบปรามศัตรูของคณะรัฐประหารและพวกและปราบปรามอุดมการณ์ตรงข้ามกับรัฐประหาร สาม เป็นกลไกรักษาและเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐประหาร ซึ่งอุดมการณ์ของรัฐประหาร 19 กันยา คือ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

คณะรัฐประหารประกอบด้วยทหารไม่กี่นาย ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่มีความสามารถเสกสรรปั้นแต่งกฎหมายเพื่อรับรองและรับใช้รัฐประหารได้ เช่นนี้แล้ว นักกฎหมายจึงจำเป็นต่อรัฐประหาร 19 กันยา

นักกฎหมายเข้าไปมีบทบาทกับรัฐประหาร 19 กันยา ตั้งแต่การแนะนำเทคนิคทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหารถึงการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของรัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญ การยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง เก็บฉบับใดไว้บ้าง การยกเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดบ้าง เก็บองค์กรใดไว้บ้าง และควรสร้างองค์กรทางกฎหมายใหม่ใดขึ้นมาบ้างเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู

จากนั้น นักกฎหมายก็ต้องเข้าไปรับใช้คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น

และเพื่อให้รัฐประหาร 19 กันยา สำเร็จเด็ดขาด ก็จำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาจัดการกับการตอบโต้รัฐประหารและศัตรูของคณะรัฐประหารและพวก กลไกที่ว่าต้องเป็นกลไกทางกฎหมาย เพราะ สามารถเอาไปอ้างความชอบธรรมได้ว่า กระทำการตามกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐ เราจึงเห็นนักกฎหมายไปช่วยออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญ 2550 เราจึงเห็นนักกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นกรรมการองค์กรต่างๆเต็มไปหมด

พวกนักกฎหมายมีความสามารถเอกอุ สามารถเขียนกฎหมายรองรับรัฐประหาร ปิดรูโหว่ อุดรูนั้น ปิดรูนี้ ไหนจะวางกลไกทางกฎหมายไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู เช่น เขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรค ให้มีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีก่อนหน้า หรือ เขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรค ลากเอาความผิดของกรรมการบริหารมาเป็นเหตุให้ยุบพรรค หรือเขียนรัฐธรรมนูญรับรองรัฐประหารและลูกหลาน ไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ให้ไม่เป็นคุณต่อพรรคการเมืองขั้วศัตรู

บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือถูกกลไกของรัฐประหารเล่นงาน ก็อาจร้องขอความเป็นธรรมเอากับศาล ให้ศาลช่วยตรวจสอบรัฐประหาร ดังนั้น ศาล (ซึ่งก็คือผู้ปฏิบัติทางกฎหมาย แต่การกระทำของศาลมีอานุภาพมหาศาลกว่าการกระทำของผู้ปฏิบัติการทางกฎหมายอื่นๆ) จึงต้องเข้ามารับรองรัฐประหารผ่านคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐประหาร สมบูรณ์ ในนามของนิติรัฐ ดังปรากฏให้เห็นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551

รัฐประหารและกระบวนการต่อเนื่อง ยังอาศัยนักกฎหมายตามไล่บี้ ไล่ทุบ ปราบปราม ศัตรู ดังปรากฏให้เห็นในปรากฏการณ์ที่เขาเรียกกันว่า ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งผมได้อภิปรายและเขียนไว้ในหลายที่ จึงขออนุญาตไม่กล่าวในที่นี้

 

3. รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ พฤษภาอำมหิต 2553

รัฐประหาร 19 กันยายน บอกอะไรกับเรา?

รัฐประหาร 19 กันยายน บอกเราว่า ชนชั้นนำจารีตประเพณีไม่อนุญาตให้ประเทศนี้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ รัฐบาลไหนขึ้นมาทำตัวหน่อมแน้ม สุภาพ เรียบร้อย บริหารไปวันๆเหมือนงานรูทีน ก็ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งได้ รัฐบาลไหนที่ขึ้นมาดำเนินนโยบายมากมาย สร้างฐานมวลชน แย่งชิงฐานลูกค้าจากชนชั้นนำประเพณี ได้รับความนิยมเท่ากันหรือสูงกว่าชนชั้นนำประเพณี รัฐบาลนั้นต้องมีอันไป

กล่าวให้ถึงที่สุด ต้นตอความขัดแย้งของสังคมไทย คือ ชนชั้นนำจารีตประเพณีนอกระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากวัตรปฏิบัติประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อและการเผยแพร่อุดมการณ์หลักของรัฐไทย ปะทะกับ นักการเมืองในระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงแสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียง และทำให้พลเมืองเกิดรู้สึกว่าคะแนนเสียงมีค่า

ปะทะกันจนชนชั้นนำจารีตประเพณีรู้สึกว่าตนถูกคุกคามอย่างหนัก หากปล่อยไว้ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของตน เพื่อรักษาสถานะเดิมของตน จึงต้องจัดการ วิธีการจัดการ ก็คือ รัฐประหาร 19 กันยา

 

เราไม่อาจแยกรัฐประหาร 19 กันยายน กับ เหตุการณ์พฤษภาอำมหิตออกจากกันได้ ผมได้ยินความเห็นหลายคน รวมทั้งอาจารย์ในคณะผมบางคน พูดทำนองว่า พูดกันแต่เรื่อง 19 กันยา ไม่เบื่อกันหรือไร ผ่านมาตั้งนานแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่าว่าจะจัดการสังคมอย่างไร หรือผู้นำความคิดรุ่นใหม่บางคนก็แอ๊บเนียนว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่ควรหมกมุ่นกับรัฐประหาร รัฐประหารเป็นเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นแล้วในอดีต ถ้าอ้างว่าทุกอย่างสืบมาไม่ถูกต้อง ก็เลยไม่สนใจจะดูว่าเกิดอะไรขึ้น แบบนี้ก็ไม่ถูก

ผมเห็นว่า วันนี้ เราไม่พูดถึง 19 กันยา ไม่ได้เลย เพราะ 19 กันยา เป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์ปัจจุบัน ณ เวลานี้ เรายังคงอยู่ในรัฐประหาร 19 กันยาอยู่ เป้าประสงค์ของรัฐประหารยังคงอยู่ครบถ้วน และจำเป็นต้องพูดต่อไป พูดมันทุกโอกาส เพราะ ถ้าไม่พูด เดี๋ยวก็ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้พวกที่สนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานคณะรัฐประหารและพวกทั้งทางตรงและทางลับ แต่จนวันนี้มาทำเนียนว่าไม่เห็นด้วย ต้องช่วยกัน และไม่อยากพูดถึงแล้ว ผ่านไปแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่า

หากถามผมว่าเบื่อไหม ขอตอบว่าเบื่อมากที่ต้องพูดเรื่องนี้ แต่ก็ต้องถามกลับไปยังพวกเขาเหล่านั้นว่า แล้วพวกคุณไม่เบื่อบ้างหรือที่ไปรับรองรัฐประหาร ไปสนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานรัฐประหาร หรือขลุกอยู่กับกระบวนการรัฐประหารและพวกแล้วมันอิ่มอำนาจ อิ่มท้อง อิ่มใจที่ศัตรูได้พ้นจากอำนาจ

เมื่อรัฐประหาร 19 กันยา ไม่ต้องการให้ คะแนนเสียง ของพลเมืองมีความหมาย พวกเขาจึงจัดการไล่รัฐบาลที่พลเมืองเลือกมาออกไป และเมื่อรัฐบาลขั้วเดียวกันกลับมาได้อีกเพราะพลเมืองยังเลือกกลับเข้ามาอีก ลูกหลานของรัฐประหารก็ต้องหาหนทางกำจัดรัฐบาลนั้นออกไปอีก

แน่ล่ะ สีแดง ก็ไม่ได้เป็นสีแดงเหมือนกันทั้งหมด มันยังมีเฉดสี มีระดับ มีความแตกต่าง-หลากหลายภายในสีแดงนั้นเอง แต่อย่างน้อย จุดยืนร่วมกันที่เราพอสังเคราะห์ออกมาได้ คือ "ความเสมอภาคทางการเมือง" เมื่อการมาของ สีแดง เป็นไปเพื่อสิ่งนี้ เมื่อจำนวนของ สีแดง มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมสะเทือนไปถึงบรรดาผู้ไม่ปรารถนาให้สังคมไทยมี ความเสมอภาคทางการเมือง เพราะ หากทุกคนเสมอกันหมด หากไพร่เกิดจิตสำนึกทางการเมือง มาร้องขอเป็นพลเมืองกันทั้งแผ่นดินล่ะก็ สถานะของบรรดาชนชั้นนำจารีตประเพณีย่อมสะเทือน

เช่นนี้ ใบอนุญาตให้ฆ่าจึงเกิดขึ้น

10 เมษา ก็แล้ว ยังเอาไม่อยู่

จึงต้องเกิด 19 พฤษภาอีกสักหน

เพื่อประกาศให้รู้ว่า พวกเอ็ง คนเสื้อแดง มิได้เป็นพลเมือง ให้เป็นไพร่ดีๆก็ไม่เอา คิดกำเริบเสิบสาน เมื่อหือกับข้ามากนัก ไพร่ข้าก็ไม่ให้เป็น เอ็งเป็นแค่ Homo sacer ใครก็ฆ่าเอ็งได้ ฆ่าแล้วไม่มีความผิด

การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเป็นเรื่องไร้สาระ บุคคลที่เข้าร่วมเป็นกรรมการปฏิรูป แม้จะอ้างเหตุผลใดๆก็ตาม ล้วนแล้วแต่ไม่มี ethics ทางการเมือง หากเชื่อว่าโลกนี้มี ดี มี เลว จริง มีมาตรฐานที่พอจะวัดได้ว่าใคร ดี ใคร เลว ผมเห็นว่า บุคคลที่เข้าไปร่วมกับสารพัดกรรมการที่อภิสิทธิ์ตั้งขึ้นนั้น เลวคนตายต่อหน้าต่อหน้า ตายกันเกือบร้อย ตายกันกลางเมืองหลวง ตายด้วยการซุ่มส่องสไนเปอร์ กลับมองไม่เห็น หรือแกล้งมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่คิดคำนึง

ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนห่าเหวอะไรอีก ทำไมต้องมี fact finding ตั้งกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ในเมื่อเห็นกันคาตา รูปก็มี คลิปวิดีโอก็มี รายงานข่าวก็มี พยานบุคคลก็มี เห็นกันเต็มสองตาว่า มีคนตาย มีคนตายจากการถูกทหารยิง

สิ่งที่ต้องทำ ต้องตรวจสอบ จึงเหลือเพียงประการเดียว ใครสั่ง ใครกดปุ่ม ใครออกใบอนุญาตให้ฆ่า                                       

                         ..............

 

ผมขอปิดอภิปรายด้วยเรื่องสั้น Die Bäume หรือ ต้นไม้ ของ Franz Kafka สำนวนแปลโดยอาจารย์ถนอมนวล โอเจริญ ว่า

พวกเราเปรียบเสมือนขอนไม้บนหิมะ ดูเหมือนขอนไม้เหล่านี้วางเรียงกันเป็นธรรมดา ถ้าใช้แรงผลักเพียงนิดเดียว ก็คงขยับเขยื้อนมันได้ แต่มิใช่เช่นนั้นดอก ไม่มีใครขยับเขยื้อนมันได้ เพราะขอนไม้เหล่านั้นติดแน่นอยู่กับพื้น แต่ดูสิ นี่เป็นเพียงดูเหมือนว่าเท่านั้น

 

ใครเป็น พวกเรา” 

ใครเป็น ขอนไม้

และ ตกลงแล้วขอนไม้เขยื้อนได้หรือไม่

 

ทุกท่านมีเสรีภาพในการพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญาแห่งตน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

5 อาจารย์ นิติมธ. เปิดตัวเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com

Posted: 19 Sep 2010 01:20 PM PDT

วันที่ 19 กันยายน 2553 กลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และเพื่อนอาจารย์เปิดตัวเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ที่ห้อง LT2 คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ รวบรวมผลงาน และบทวิเคราะห์ทางวิชาการ หวังเหตุผลและความรู้เข้าแทนที่ความงมงาย

โดย เวลาประมาณ 13.00 น. รศ.ดร.จันจิรา เอี่ยมมยุรา เปิดงาน โดยกล่าวถึงความเป็นมาของคณะนิติราษฎร์ และที่มาของเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com โดยกล่าวว่าเดิมทีมาจากกลุ่ม 5 อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ซึ่งมีสมาชิก 5 คน คือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ธีระ สุธีวรางกูร ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล และปิยบุตร แสงกนกกุล

“อาจารย์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างกล้าหาญ โดยการออกแถลงการณ์โต้แย้งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองโดยการชี้แจงข้อกฎหมายต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ตามหลักนิติรัฐ และการทำหน้าที่ของกลุ่มห้าอาจารย์ก็คงเปรียบได้เหมือนกับบ่อน้ำที่ราษฎรทั้งหลายจะมาตักดื่มเพ่อดับความกระหายใคร่รู้ในความเป็นประชาธิปไตย และกลุ่มนี้ก็จะทำหน้าที่ในการตอบคำถามกฎหมายที่สอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยและความเป็นธรรมมาตลอด”

รศ.ดร. จันทจิรา อธิบายต่อไปว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาอาจจะพูดได้ว่าในวิกฤตก็มีโอกาส ความเป็นไปของบ้านเมืองในสี่ปีหลังรัฐประหาร โดยเพาะในช่วงเดือนท้ายๆ ที่มีการสังหารหมู่ประชาชนที่ราชประสงค์ ก็จำเป็นที่นักกฎหมายกลุ่มนี้ต้องก้าวมาข้างหน้าให้ดังขึ้น โดยมีสมาชิกเพิ่มคือ สาวตรี สุขศรี และจันทจิรา เอี่ยมมยุรา

“ถามว่าในบ้านเมืองเรามีนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามรถเยี่ยมยอดมีมากมายแต่ที่จะมีความกล้าหาญที่จะพูดในสิ่งทีถูกในเวลาที่จำเป็นเพื่อคนส่วนใหญ่ เราก็จะเห็นว่ามีได้น้อยกว่าน้อย นี่ก็เป็นที่มาของการเปิดตัวเว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์ โดยจะทำหน้าที่เป็นห้องเรียนกฎหมาย และใช้เป็นช่องทางในการต่อสู้ทางความคิดหรือโต้แย้งในประเด็นกฎหมายที่เห็นว่าสำคัญตามวาระต่างๆ”

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อธิบายที่มาของชื่อทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยกล่าวว่าชื่อภาษาอังกฤษ นั้นอาจจะแปลเป็นไทยได้ยากหน่อย แต่ว่าที่ผ่านมานักนิติศาสตร์เข้ามาช่วงชิงอำนาจ ทำลายล้างอำนาจ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลให้กับกฎหมายอย่างรุนแรงแต่ยังสร้างความอยุติธรรมในกับราษฎรทั่วไปด้วย เพราะผู้คนจำนวนมากที่มีบทบาทความคิดทางสังคมปิดล้อมความคิดของผู้คน ทำให้ไม่สามารถตั้งคำถามเพื่อไปสู่ความจริงได้

“ตลอดระยะ เวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจ สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจ ตลอดจนทำลายอำนาจ การช่วงชิง สร้างความชอบธรรม และทำลายล้างในนามของกฎหมายและความยุติธรรมนั้น ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่งให้กับวงการกฎหมายและวงวิชาการ นิติศาสตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลสร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมโดยรวม ด้วย

"เหตุที่ทำให้เกิดสภาพการณ์แบบนี้ขึ้นในสังคม ก็เนื่องจากผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคม และนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำปิดล้อมความคิดความอ่านของผู้คนด้วยการยกเอาข้อ ธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขังการใช้เหตุผล และสติปัญญาของผู้คนเพื่อ จะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ เราเห็นว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไป สู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป

"ลักษณะ สำคัญของ Enlightenment คือ การเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชา โดยการเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา ทั้งนี้โดยที่ถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี” การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรองไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม ถือว่ามนุษย์ทั้งหลายสามารถที่จะได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาได้ และถือว่าเหตุผลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ตัวอย่างเท่าทัน

ยุค นี้เป็นยุคที่เกิดการเรียกร้องให้มีขันติธรรมในเรื่องความเชื่อทางศาสนา กล่าวให้ถึงที่สุด ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา คือ ยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญาสิทธิ์ ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย” รศ.ดร.วรเจตน์กล่าว และว่า

“เราเรียกร้องให้บุคคลทั้งหลายใช้เหตุผลใช้ปัญญาให้เข้าถึงความจริง สำหรับชื่อภาษาไทยที่เราใช้คำว่านิติราษฎร์ เพราะเราเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาสะท้องให้เห็นความล้มเหลวของการสถาปนานิติรัฐและประชาธิปไตยในสังคมไทย ทำให้ใช้กฎหมายมารองรับการทำลายระบบพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือประชาธิปไตย เหตุผลสำคัญอันหนึ่งทีเกิดปรากฏการณ์นั้นก็คือทำให้กฎหมายไม่สามรรถเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งทางสังคม เพราะว่าการเรียนการสอนตามวิชาชีพนั้นตัดขาดจากสังคมและขาดการสอนคุณค่าที่แท้จริง เราจึงเห็นการนำตัวเองเข้าไปรับใช้รัฐประหารของบรรดานักกฎหมาย ท้ายที่สุดก็ทำลายนิติรัฐลงอย่างราบคาบ เราถือว่าราษฎรนั้นมีความหมายอย่างเดียวกับประชาชนและพลเมือง เราหวังว่านักกฎหมายจะตระหนักว่าการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของราษฎร เราจึงใช้ชื่อว่านิติราษฎร์ และขยายความว่าเป็นนิติศาสตร์เพื่อราษฎร”

รศ.ดร. วรเจตน์กล่าวว่า ทางเว็บไซต์จะเปิดคอลัมน์ให้นักศึกษากฎหมายได้เขียนบทความที่สนับสนุนอุดมการณ์ นิติรัฐและประชาธิปไตย เว็บไซต์นี่จะพยายามเคลื่อนไหวเป็นระยะ และพยายามใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และบรรดาผู้ก่อตั้งจะมาเขียนบทนำ และแสดงทัศนะทางกฎหมาย และหวังว่าจะทำให้การเรียนการสอนกฎหมายมีชีวิตชีวามากขึ้น
“หวังว่าความพยายามของเราจะเป็นจุดเล็กๆ ที่จะสร้างความเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้น เหตุผลสำคัญคือเพราะว่าอำนาจนั้นยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลายอย่างแท้จริง” รศ.ดร. วรเจตน์กล่าวในที่สุด

ด้าน อ.ดร. ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 5 อาจารย์กล่าวว่า ชื่อเว็บเป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจและต้องการให้ผู้ที่เข้าใช้ประโยชน์ได้รับประโยชน์จากข้อคิดงานเขียนที่เชื่อว่านี่คือหนทางที่จะนำเราไปสู่หลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ผมเคยคิดว่าเส้นทางของสังคมไทยคงไม่มีเส้นทางการต่อสู้แบบที่เกิดขึ้นในตะวันตกเพราะว่าเราไม่ได้มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ และช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้ว่าผมคิดผิด เพราะมันคิดไม่ถึง และแพร่หลายอย่างรวดเร็ว อาวุธที่สำคัญที่สุดก็คืออาวุธทางปัญญา และต้องรู้จักใช้เหตุผล กล้าที่จะใช้เหตุผลโยปราศจากการชี้นำ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งสากลสำหรับมนุษยชาติทุกคน ใครบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผมไม่เชื่อ คนไทยไม่ใช่มนุษย์หรือ ผมเชื่อว่าถ้าเรากล้าใช้เหตุผล และมันจะนำเราไปสูสังคมที่เหมาะสม เป็นสังคมที่พวกเราเหลือกจะอยู่ เป็นสังคมที่มีกฎหมายที่ตอบสนองความต้องการของพวกเรา ความขัดแย้งทางการมันเป็นโอกาสให้ความคิดได้ฟูมฟักและเบ่งบาน ผมคิดว่าความขัดแย้งนี้เป็นโอกาส

“กฎหมายคือเหตุผลที่ถูกต้อง True Law is Right Reason ผมคิดว่าท่ามกลางความขัดแย่งอันนี้กลุ่มผมเองก็พยายามยืนยันว่ากฎหมายที่แท้จริงคือเหตุผลที่ถูกต้อง

“และกฎหมายไม่ใช่อำนาจ กฎหมายไม่ใช่ตัวบท กฎหมายคืออะไรบางสิ่งบางอย่างที่พิทักษ์คุณค่าการอยู่ร่วมกัน หากเราละเมิดกฎหมาย เราไม่ได้ละเมิดแค่กฎหมายแต่เราละเมิดความปลอดภัยของพี่น้องในสังคมเดียวกัน กฎหมายเป็นเรื่องที่ในท่ามกลางความขัดแย่งหากเราสามรถที่จะเห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของมันและพูดถึงมันในฐานะเหตุผลที่ถูกต้องและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และหวังว่าเว็บไซต์นี้จะทำให้เรามองกฎหมายในแง่ที่เป็นเหตุผลคุณค่ามากขึ้น”

อ.สาวตรี สุขศรี ผู้ร่วมจัดทำเว็บไซต์กล่าวว่า “เมื่อจะเปิดเว็บไซต์แห่งนี้ มีสื่อมวลชนบางส่วนถามว่าเปิดเว็บแบบนี้ไม่กลัวเหรอ เราต้องบอกว่าเราไม่เคยกลัว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด งานทั้งหมดทั้งมวลที่พวกเรานำเสนอเป็นสิทธิเสรีภาพ เว็บไซต์นี่ทำในเชิงวิชาการจริงๆ ย้ำอีกครั้งว่าเราไม่กลัว แต่เราก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เราได้เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ งานทั้งหมดทั้งมวล อยู่ภายใต้หลักการครีเอทีฟ คอมมอน สามารถนำไปใช้ได้แต่ต้องอ้างอิง และไม่ใช้เพื่อการค้าและไม่ทำการดัดแปลง”

อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ฉบับที่ 1

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มอนุรักษ์ประจวบฯ : หยุด!! . อ้างเหตุไฟฟ้าวิกฤติ เอื้อทุจริตแผนพีดีพี

Posted: 19 Sep 2010 01:10 PM PDT

 
“วิกฤติพลังงาน”
 “ไฟดับ ไฟฟ้าสำรองไม่พอ” จะหลอนสมองคนไทยทั้งประเทศหากไม่ถามว่า...เป็นจริงหรือ?
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 13ปีที่ผ่านมา... แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า(แผนพีดีพี)สร้างปัญหาไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นมาโดยตลอด ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเกินจำเป็นและยังคง เป็นปัญหาต่อเนื่องในแผนพีดีพี2010.... มีการกำหนดตัวเลขไฟฟ้าสำรองให้สูงเกินค่ามาตรฐานสากล 15% เป็น20-40% โดยอ้างเหตุกลัวก๊าซหยุดส่ง...ทั้งๆที่มีทางเลือกง่ายๆคือ ทำระบบสำรองก๊าซที่ราคาถูกกว่าตอบโจทย์มากกว่า แต่กฟผ.และกระทรวงพลังงานกลับไม่ทำ แต่เลือกให้สร้างโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้เงินเยอะกว่าขึ้นมาสำรองแทน
ไม่คิดทำแผนบริหารช่วงมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี(Peak) ที่เกิดขึ้นปีละเพียงไม่กี่ชั่วโมง..
แถมกฟผ.ยังจงใจวางแผนหยุดซ่อมโรงไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนมี.ค-พ.ค ซ้ำเติมให้ไฟฟ้าสำรองดูลดต่ำลง
อย่างน่าใจหาย ..นี่ถ้าแค่รู้จักคิดวางแผนบริหารPEAK รู้จักคิดซ่อมโรงไฟฟ้าในหน้าหนาว หน้าฝนที่คนใช้ไฟฟ้าน้อย ก็ช่วยลดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มได้ แต่ก็เลือกไม่ทำ
มีนักวิชาการอิสระท้วงติงว่าการวางแผนพีดีพี.มีพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงแต่ก็ไม่เคยถูกรับฟัง เพราะคนวางแผนพีดีพีกับ คนได้ผลประโยชน์จาการสร้างโรงไฟฟ้า เป็นกลุ่มก๊วนผลประโยชน์เดียวกัน ค่าโบนัสจากบริษัทค้าพลังงานสูงกว่าเงินเดือนข้าราชการที่มาจากภาษีประชาชน ....ความผิดพลาดจากการวางแผนพีดีพี.อย่างจงใจไม่มีใครต้องรับผิดชอบ แต่ส่งผลให้ค่าเอฟทีในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ใกล้แตะ 30%ของค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายกันแล้ว
การพยากรณ์ที่เกินจริงนี้ เป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การจัดหาทางเลือกในการผลิตพลังงาน ที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศซ้ำเพิ่มเข้าอีก
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน,นิวเคลียร์ ต่ำเกินจริง และ เป็นต้นทุนที่ทั้งกฟผ.และกระทรวงพลังงานไม่กล้าเปิดเผยต่อสาธารณะถึงที่มาของตัวเลขที่ใช้ในการคิดคำนวณ 
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เคยรวมค่าก่อสร้างสายส่ง ค่าการจำหน่าย ค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯค่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคม จะมาอ้างเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงได้อย่างไร
ถ้าคิดต้นทุนที่แท้จริง ทั้งถ่านหินและนิวเคลียร์ จะเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ควรเลือกในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในขณะที่การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า(DSM)ซึ่งมีศักยภาพถึง 29%ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี2573 ถูกกำหนดให้ทำเพียง0.4% นี่เป็นตัวอย่างทางเลือกที่ต้นทุนต่ำสุด(0.5-1.5บาท/หน่วย) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้สูงสุดประเทศชาติได้ประโยชน์สุดแต่ทั้งกฟผ.และกระทรวงพลังงานไม่เลือกส่งเสริมให้ทำ
การเต้าวิกฤติพลังงาน จะถูกหยิบยกขึ้นมาทุกเวลาหากประชานยังไม่เท่าทันและถูกใช้อ้างเพื่อผลักดันโครงกาก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ขณะนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน จึงเป็นความจำเป็นและมีความชอบธรรมที่ชาวบ้านอย่างพวกเรา จะต้องช่วยกันหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน,นิวเคลียร์...หยุดการทุจริตแผนพีดีพี
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ ? ในเหตุการณ์10 เม.ย.-19 พ.ค.

Posted: 19 Sep 2010 01:04 PM PDT

 
ชื่อบทความเดิม: จะสามารถมีหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ (ด้วยเหตุผล) ได้หรือไม่ ? ในการพิจารณาว่า “รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ ? ในเหตุการณ์ ระหว่าง 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553”
 
มีความเห็นที่แตกต่างกันว่า   นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ ? ในเหตุการณ์ระหว่าง 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ที่มีผู้สูญเสียชีวิตจำนวนมากถึง 91 ศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน ฝ่ายที่เห็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำต้องรับผิดชอบ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เมื่อเกิดความสูญเสียชีวิตอย่างมาก จำเป็นต้องสืบหาผู้ผิด จึงไม่เหมาะสมที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดด้วยนั้น จะดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ควรลาออก เพื่อเปิดทางให้มีคณะกรรมการที่มิได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล เป็นผู้สืบสวนหาข้อเท็จจริง สำหรับฝ่ายที่เห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบมองว่า การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างจากการชุมนุมอื่นๆคือมีความรุนแรงและมีกลุ่มก่อการร้ายแฝงอยู่  และรัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาระเบียบและกฎหมายอย่างดีแล้ว
ดูเหมือนว่าฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบนั้นจะมีข้อสรุปอยู่แล้วว่า ผู้ชุมนุมซึ่งมีความคิดที่แตกต่างจากรัฐบาลนั้นเป็นฝ่ายผิดอย่างแน่นอน และการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลนั้นถูกต้องแล้ว หรือบ้างอาจให้เหตุผลว่า ในส่วนของรัฐบาลนั้น ต้องรอให้มีผลพิสูจน์ทราบก่อนว่าเป็นฝ่ายผิดจริง รัฐบาลถึงค่อยแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองได้ แต่สำหรับเหตุผลของฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปในชั้นนี้ว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายถูกหรือผิดกฎหมาย ใครผิดใครถูกเป็นสิ่งต้องสืบหากัน ซึ่งหากผิดก็ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายอีกด้วย แต่หากในขณะที่จะมีการสืบหาข้อเท็จจริง รัฐบาลในฐานะคู่พิพาทยังครองอำนาจอยู่ ย่อมทำให้เกิดความคลางแคลงใจอย่างเลี่ยงไม่ได้
จะมีหลักเกณฑ์อะไรที่จะบอกว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสอง แนวทางดังกล่าวข้างต้นนั้น ความเห็นใดถูกต้อง หรือว่าที่จริงปัญหานี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาหลักเกณฑ์ได้ เป็นเรื่องการมองต่างมุมที่ไม่อาจมีข้อยุติ นอกจากนี้บางท่านยังอ้างว่า บริบทของสังคมไทยแตกต่างจากสังคมตะวันตก ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่ใช้ย่อมแตกต่างกันด้วย
ผมคิดว่า หลักเกณฑ์ที่ควรใช้ในการพิจารณาสำหรับสังคมประชาธิปไตยหรือสังคมที่รัฐบาลต้องยึดโยงกับประชาชนคือ ความเสมอภาคของประชาชนในสังคมการเมืองนั่นเอง การที่ประชาชนมาอยู่ร่วมกันในรัฐนั้น พื้นฐานแรกสุดก็เพื่อต้องการมีชีวิตที่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และการให้ความคุ้มครองประชาชนนั้น รัฐต้องให้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ คิดถึงใจเขาใจเรา ประชาชนจึงจะมีความสุข หากรัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองประชาชนแล้วไซร้ ก็จำต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองก่อนในเบื้องต้น
ในครั้งที่เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีผู้สูญเสียชีวิต 2 ท่านนั้น ผู้ที่เวลานี้มีแนวคิดว่ารัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบกรณีเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 กลับเป็นผู้เรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นต้องรับผิดชอบอย่างมาก[1] แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ บุคคลที่เคยสนับสนุนเหตุผลว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ หากมีการสูญเสียชีวิตของประชาชน (อย่างตัวนายกอภิสิทธิ์) กลับเลือกที่จะไม่ใช้เหตุผลเดียวกัน หรือใช้มาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป
คำถามที่น่าพิจารณาคือ คุณค่าชีวิตของคนเราไม่เท่ากันใช่หรือไม่? คนที่คิดต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงชีวิตของเขามีค่ามากกว่าชีวิตของคนเสื้อแดงหรือ? หรืออาจสมมุติว่า ในอนาคตหากกลุ่มเสื้อแดงเป็นรัฐบาล แล้วกลุ่มคนหลากสีออกมาต้านแบบเดียวกับที่เสื้อแดงทำเมื่อเมษา-พฤษภา แล้วรัฐบาลเสื้อแดงใช้การสลายแบบเดียวกัน กลุ่มคนหลากสีจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร
การคิดอย่างตรงไปตรงมานี้น่าจะทำให้เลิกหลอกตนเองได้เสียทีว่า ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ร่วมกันได้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐบาล.
 
 
________________________________
 
[1] พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบขณะนั้นได้ลาออกทันทีในวันดังกล่าว และต่อมา ป.ป.ช.มีมติให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มีความผิดกรณีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย พล.ต.อ. พัชรวาท และ พล.ต..ท.สุชาติ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง สำหรับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว วุฒิสภายังพยายามลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งอีกด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: สิบเก้ากันยาฯ มหาสวัสดิ์

Posted: 19 Sep 2010 12:57 PM PDT

 
 
อรุณรุ่งสิบเก้ากันยาฯ มหาสวัสดิ์
พสกไทยทั้งรัฐ น้อมอภิวาท เทิดเยิรขึ้นสูงสุด
ดั่งหยาดฝนจากฟากฟ้า หลั่งลงมา พร้อมลมหัวกุด
ฉุดทวยไทยได้พ้นทุรยุค ให้ชื่นสุขอยู่ถ้วนหน้า เสมอกัน
 
สดุดีศรีสิทธิศักดิ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ
ที่นำพาชาวเราทั้งผอง พ้นอเวจีนรก สู่เมืองฟ้าแดนปองใฝ่ฝัน
ได้ดูดดื่มซึ้งซ่าน งานเฉลิมฉลอง อย่างเกริกก้องบนสรวงสวรรค์
ได้ก้าวหน้าทัดเทียมทันและอารยะกว่า นานาประเทศ
 
ได้นำหวนคืนกลับสู่รากเหง้าของชาวเราแต่เก่าก่อน
จะลุกยืนหรือนั่งนอน สลอนหน้า ว่าวิถีสัตว์พิเศษ
ล้างทุนนิยมสามานย์ ราญนักการเมือง เหล่าผีเปรต
ทั้งลิ่วล้อน่าสมเพช ก็กวาดสิ้นดิ้นด่าวดับ ลงกลางเมือง
 
ยุคคนดีมีคุณธรรมสูงสุดล้ำเป็นผู้นำพาก้าวย่าง
คณะท่านได้จัดวาง เพื่อสะสางอย่างต่อเนื่อง
แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองของคณะท่าน จึงฉานส่องอยู่รองเรือง
เป็นที่แซ่ซ้องลือเลื่อง ก้องกระเดื่อง เกริกโลกหล้าทั่วแดนไกล
 
แล้วสิบเก้ากันยายนก็เวียนวนมาจวบบรรจบ
กงล้อหมุนมาครบ รอบเวลาอีกคราสมัย
เป็นวันดีเป็นเกียรติเป็นศรี ของพสกทั้งรัฐไทย
เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั้งใกล้ไกล ใจชื่นบาน
 
กราบอาราธนาน้อมนำมาพระไตรรัตน์
ธูปเทียนดอกไม้จัด ตระเตรียมไว้อยู่ในสถาน
แล้วเชิญท่านทั้งคณะ มาตั้งเด่น มาเป็นประธาน
อยู่เบื้องบนทั้งแปดด้าน สูงสุดนั้น เห็นชัดถนัดตา
 
 
ไม่มีที่ใดหรือใครเหมือนเตือนใจให้รำลึก
ชอนทั่วความรู้สึกอันซาบซ่าน แผ่พล่านหา
ค้อมลงกราบท่านทั้งคณะ ด้วยดวงจิต ชิดศรัทธา
และตั้งมั่นในวาจานิรมาน หวานร่านล้นจนดูดดื่ม
 
 
แล้วจึงประนมกรก้มลงกราบอย่างสุดซาบซึ้ง
ด้วยใจพสกไทยดวงหนึ่ง ซึ่งสุดแสนจะปลาบปลื้ม
ธุรกิจ กิจการ งบประมาณของคณะท่าน มิอาจหลงลืม
ภาษีมีไม่พอจะขอหยิบยืม เอาทวยให้ได้ด่ำดื่ม สนองมา
 
 
สี่ปีรัฐประหารสี่เดือนของการสังหารหมู่
ทวยไทยลึกซึ้งรับรู้ ทั้งเยิรชูคณะท่าน กันถ้วนหน้า
รัฐประเทศเขตคาเมเร่รุดก้าว ไปเทียมเท่าเกาหลีเหนือและพม่า
จึงสำนึกบุญคุณอันท่วมบ่า ทั้งวันนี้วันหน้า ยากหาใดเทียม ฯ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาตุรนต์ ฉายแสง: 4 ปี รัฐประหาร ก้าวสู่เผด็จการเต็มรูปแบบ

Posted: 19 Sep 2010 12:42 PM PDT

 

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มักมีการประเมินกันทุกปีว่าบ้านเมืองอยู่ในสภาพอย่างไร ความจริงในปีแรกๆ มีการประเมินกันแทบทุกเดือนด้วยซ้ำ ผมเองพูดถึงรัฐประหารครั้งนี้เป็นประจำทุกปี และปีนี้ก็คิดว่ามีประเด็นที่ควรจะพูดถึงอีก ซึ่งดูจะพิเศษและเข้มข้นกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีกด้วย

การประเมินผลของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มักชอบทำกันมักจะทำกันคือ การประเมินจากข้ออ้างของการรัฐประหาร ในปีนี้เราก็ควรจะใช้เวลาสักหน่อยในการประเมินผลของการรัฐประหารจากข้ออ้างของการรัฐประหารนั้นเอง
ข้ออ้างประการแรกในการรัฐประหารคือ การป้องกันความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม คงจำกันได้ว่าขณะนั้นมีการชุมนุมของพวกพันธมิตรอยู่ และมีการนัดหมายว่าในวันที่ 20 กันยายน 2549 จะมีการชุมนุมของอีกฝ่ายหนึ่ง การรัฐประหารจึงเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยข้ออ้างง่ายๆว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจจะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2549
ก่อนการรัฐประหารไม่ปรากฏความรุนแรงเสียเลือดเสียเนื้ออะไรมาก แต่เมื่อผ่านไป 4 ปี จะพบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งหลายรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ 4 นี้ นั่นก็คือ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 มีคนเสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บ 2000 กว่าคน สูญหายอีกจำนวนมาก เป็นความสูญเสียมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใดๆในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้สังคมไทยยังมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้อีกมากในอนาคต เนื่องจากฝ่ายผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีข้อสรุปว่าจะปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างไรก็ได้ ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดในทางใดๆทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าจะไม่น้อยแล้วที่เริ่มหมดความหวังที่จะพึ่งพาระบบในปัจจุบัน
การรัฐประหารแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมได้หรือไม่ เราก็จะเห็นว่าผ่านมา 4 ปี สังคมไทยอยู่ในสภาพที่แตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโครงสร้างส่วนบน ไปจนถึงระดับครอบครัว นับได้ว่าแตกแยกมากที่สุดกว่ายุคสมัยใดๆ
การที่สังคมไทยต้องมาอยู่ในสภาพที่เกิดความรุนแรงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ก็ดี แตกแยกมากที่สุดยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆก็ดี ความจริงแล้วก็เป็นผลจากการรัฐประหารนั่นเอง เพราะการรัฐประหารก็คือการใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาบ้านเมือง และจัดการกับการที่ผู้คนมีความคิดเห็นที่ต่างกัน เมื่อมีการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับปัญหา ก็แน่นอนว่าจะหวังให้เกิดสันติภาพขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับการปล้นฆ่าแล้วจะหวังให้เกิดความสงบสุขตามมาย่อมเป็นไปไม่ได้
ข้ออ้างประการที่ 2 คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในคำแถลงหรือคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน บอกว่ารัฐบาลในขณะนั้นมีการกระทำอันเป็นการ “หมิ่นเหม่” จึงต้องยึดอำนาจ ผ่านไป 4 ปี มีบุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปบ้าง แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วไม่พบว่ามีผู้ใดกระทำผิด ตรงกันข้าม ฝ่ายที่กล่าวหารัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดนั้นถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท แล้วถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดในฐานหมิ่นประมาท เห็นรอลงอาญากันอยู่หลายคดี มิหนำซ้ำผู้กล่าวหารัฐบาลชุดนั้นยังถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียเองด้วย
จากวันรัฐประหารมาถึงวันนี้ เราจะพบว่าโดยรวมแล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประบรมเดชานุภาพจนคดีถึงที่สุดจำนวนน้อยมาก แต่ที่เป็นความเสียหายอย่างยิ่งก็คือ ใน 4 ปีมานี้ได้เกิดการอ้างความจงรักภักดีและการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อกล่าวหาว่า “หมิ่นเหม่” เมื่อก่อนรัฐประหารหรือในขณะรัฐประหารกลายมาเป็นข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมักใช้กล่าวหากันลอยๆ แบบเหวี่ยงแหแต่เอาเข้าจริงกลับดำเนินคดีกับใครน้อยมาก
ในปีที่ 4 การกล่าวหายิ่งยกระดับรุนแรงมากยิ่งขึ้น มาสู่ข้อหาล้มเจ้าล้มสถาบัน ซึ่งก็เช่นเดียวกัน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และไม่มีการชี้แจงว่าองค์ประกอบความผิดในข้อหาล้มสถาบันคืออย่างไร แต่รัฐบาลนี้กลับกล่าวหาว่ามีขบวนการล้มล้างสถาบัน คนที่ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ก็คือแกนนำของขบวนการที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นขบวนการที่เชื่อกันว่ามีประชาชนสนับสนุนเป็นล้านๆ
แน่นอนว่าถ้าหากมีการดำเนินคดีกันจริงๆ ก็จะพบว่าประชาชนเป็นจำนวนล้านๆ นั้นไม่มีใครที่จะไม่จงรักภักดีหรือคิดที่จะล้มล้างสถาบัน และใครๆ ก็รู้ว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการใส่ร้ายกันทางการเมือง แต่รัฐบาลนี้ก็ได้ประกาศโพนทะนาไปทั่วโลกแล้วว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีขบวนการที่มีประชาชนสนับสนุนเป็นล้านๆ มีความคิดการกระทำที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
4 ปีนี้สถานการณ์จึงเลวร้ายกว่าเดิมมาก จากการที่คณะรัฐประหารบอกว่ามีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อ 19 กันยายน 2549 มาถึงวันนี้กลายเป็นการกล่าวหาโดยรัฐบาลปัจจุบันกับพวกว่ามีขบวนการที่มีคนเป็นล้านสนับสนุนอยู่ มีการกระทำที่เป็นการล้มล้างสถาบันไปแล้ว
เพราะฉะนั้น 4 ปีมานี้ต้องสรุปว่าการอ้างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม กำลังทำให้เกิดความเสื่อมเสียและความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง ทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
“การแทรกแซงองค์อิสระ” ถูกใช้เป็นข้ออ้างหนึ่งของการรัฐประหารคือ อ้างว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระจึงต้องทำรัฐประหาร เหตุการณ์ผ่านพ้นไป 4 ปี เราพบว่าขณะนี้ไม่มีองค์อิสระ มีแต่องค์กรที่มีสังกัด องค์กรเหล่านี้ประเภทหนึ่งมาจากการสรรหาโดยองค์กรหรือบุคคลที่ไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชนเลย กับอีกประเภทหนึ่งเป็นองค์กรที่ผู้รับผิดชอบมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ซึ่งควรจะพ้นหน้าที่ไปนานแล้ว แต่ได้อาศัยบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ยังสามารถมีอำนาจหน้าที่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีอำนาจหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะหมดวาระในอีกหลายปีข้างหน้า
 ช่วงเวลา 4 ปีมานี้ จะเห็นได้ชัดว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรอยู่ในสภาพลงเรือลำเดียวกันกับผู้มีอำนาจและรัฐบาล เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ต้องช่วยกัน ทำให้ขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง ในช่วงหลังเราก็จะเห็นองค์กรอย่าง ปปช. ปล่อยให้คดีใหญ่บางคดีหมดอายุความไป คดีใหญ่ๆอีกหลายคดีในรัฐบาลอื่นๆไม่มีความคืบหน้า จะมีคืบหน้าก็เฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก่อนการยึดอำนาจ กับรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลก่อนการยึดอำนาจเท่านั้น
สภาวะอย่างนี้นำไปสู่การประเมินผลจากการรัฐประหารตามข้ออ้างต่อไปคือ การทุจริตคอรัปชั่น จากการจัดอันดับขององค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น จะพบว่าในสายตาขององค์กรระหว่างประเทศที่ใช้มาตรฐานสากล เขาจะมองว่าอันดับความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยนั้นตกลงอย่างมากหลังการรัฐประหาร กลับกระเตื้องขึ้นบ้างเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงแรก พอมีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงของผู้มีอำนาจและกองทัพ จนได้รัฐบาลปัจจุบัน ความน่าเชื่อถือในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นก็ลดต่ำลงไปอีก
แต่ในสายตาของผู้คนในสังคมไทยนั้น ผมคิดว่ามาถึงรอบปีที่ 4 หลังรัฐประหาร คนจำนวนมากน่าจะมาถึงจุดที่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นมากมายเหลือเกิน
 ที่น่าสนใจคือข้อสรุปของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร ล่าสุดกลับสรุปว่ารัฐบาลปัจจุบันโกงยิ่งกว่ายุคทักษิณหรือแย่กว่ายุคทักษิณ
ยุคทักษิณจะโกงแค่ไหนนั้น มาถึงปัจจุบันนี้ไม่มีทางจะพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่น่าเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว เพราะกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นได้ถูกคณะรัฐประหารก้าวก่ายแทรกแซง ด้วยการตั้งองค์กรอย่างคตส.ขึ้นมาทำหน้าที่ในการสอบสวน จนทำให้กระบวนการนี้หมดความน่าเชื่อถือ และไม่มีทางพิสูจน์เสียแล้วว่ารัฐบาลทักษิณโกงมากน้อยแค่ไหน
แต่การที่แม้แต่ผู้ที่เห็นว่ารัฐบาลทักษิณโกงมากๆนั้น วันนี้ก็ยังมาสรุปว่ารัฐบาลยุคปัจจุบันนี้แย่กว่ายุคทักษิณนั้นย่อมแสดงถึงความล้มเหลวของการรัฐประหาร และสะท้อนว่าเขาต้องเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้มีการทุจริตมากจริงๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยถ้าจะมีคนจำนวนมากขึ้นๆทุกทีๆ ที่ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันนี้โกงยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆที่ผ่านมา
เหตุใดจึงมีการคอรัปชั่นได้มากมายนัก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การทุจริตคอรัปชั่นงอกงามอย่างมากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะว่า ขณะนี้องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจในปัจจุบันนี้อยู่ในสภาพถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อผู้ถูกตรวจสอบและผู้ตรวจสอบเป็นพวกเดียวกันเสียแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่มีแนวโน้มที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้นเป็นธรรมดา
ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินผลของการรัฐประหาร จากข้ออ้างที่ใช้ในการทำรัฐประหารเอง แต่หลังจากการรัฐประหารมา 4 ปี เราจะพบว่าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่แตกต่างจากการรัฐประหารในอดีตก็คือ การรัฐประหารในอดีตนั้นมักจะสิ้นสุดลงในทางใดทางหนึ่ง แบบหนึ่งคือเมื่อรัฐประหารแล้ว คณะผู้รัฐประหารนั้นก็มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ปรามปราบการต่อสู้ของประชาชนลงไป ประชาชนแม้จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ต่อต้านคัดค้านด้วยความยากลำบากและมีจำนวนไม่มาก เรียกได้ว่าคณะรัฐประหารสามารถปกครองบ้านเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จต่อไปอีกเป็นเวลานานๆ
อีกแบบหนึ่งก็คือ รัฐประหารแล้วคณะรัฐประหารมีอำนาจอยู่ได้ไม่นานก็ถูกประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน จนกระทั่งบ้านเมืองต้องเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นี้ มีลักษณะพิเศษคือ เมื่อรัฐประหารแล้วยังมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายผู้มีอำนาจที่ทำการรัฐประหารและผู้สนับสนุนยังคงมีกระบวนการทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มีการต่อสู้คัดค้านการรัฐประหาร ต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
การต่อสู้ของประชาชนนี้สะท้อนให้เห็นจากผลการเลือกตั้งทั่วไปหลังการรัฐประหาร ซึ่งปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับรัฐประหารชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะเดียวกันก็เกิดการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ผ่านการรัฐประหารไป 4 ปี บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะชักกะเย่อระหว่างสองฝ่าย ไม่แพ้ชนะกันไปทางใดทางหนึ่ง
จากการที่บ้านเมืองอยู่ระหว่างการชักกะเย่อทั้งสองฝ่ายไม่แพ้ชนะกันไปทางใดทางหนึ่งนั้น ฝ่ายที่ยึดอำนาจและผู้สนับสนุนก็ยังคงมีกระบวนการทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ประเทศอยู่ในภาวะชะงักงันล้าหลังอย่างมาก
ใน 4 ปีมานี้เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการที่ทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยที่สำคัญและควรกล่าวถึงคือ กระบวนการยุติธรรมและกองทัพ
 หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระบวนการยุติธรรมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างมาก อาจจะเรียกได้ว่ามากกว่ายุคสมัยใดๆ
ในอดีตเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการรัฐประหารและการรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารไว้คือกองทัพ แต่การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยา 2539 นี้ มีลักษณะพิเศษคือ ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร มีการใช้ “กระบวนการยุติธรรม”มาเป็นเครื่องมือมือในการทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง มีกรณีที่ตอกย้ำความเป็นสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบปีที่ผ่านมา มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนต่างๆอย่างเป็นระบบมากที่สุด สะท้อนออกที่ผลของการดำเนินคดีที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างการดำเนินคดีกลุ่มพันธมิตรและพวกเสื้อเหลือง กับกลุ่มนปช.และคนเสื้อแดง
4 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการนำเอากระบวนการยุติธรรมเข้ามาจัดการกับปัญหาการเมืองภายใต้แนวความคิด“ตุลาการภิวัฒน์”นั้น ไม่เพียงจะไม่สามารถแก้วิกฤตทางการเมืองได้แล้วยังทำให้วิกฤติหนักหนายิ่งขึ้น และที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อระบบยุติธรรมเองอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเป็น“วิกฤตระบบยุติธรรม”ไปแล้ว
เมื่อครบรอบ 4 ปีก็จะพบว่าจากแนวความคิดที่ต้องการจะส่งเสริมบทบาทของฝ่ายตุลาการให้มีบทบาทมากขึ้นนั้น นอกจากเราจะพบเห็นการที่ฝ่ายตุลาการเข้ามาบทบาทก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองอย่างมากแล้ว สังคมยังมีข้อสงสัยและความวิตกกังวลเกี่ยวกับบทบาทของฝ่ายตุลาการที่กำลังมีต่อการบริหารประเทศอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการมาบตาพุดก็ดี การประมูล 3G ก็ดี ทำให้มีข้อสงสัยอย่างมากว่าสังคมไทยเราควรจะให้การตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารประเทศอยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการมากน้อยเพียงใดกันแน่
เครื่องมือที่สองที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ “กองทัพ” กองทัพนั้นมีบทบาทในการรัฐประหาร รักษาอำนาจของรัฐประหาร รักษาระบบเผด็จการมาตลอด หลังจากความล้มเหลวของรสช.เมื่อ 19 ปีก่อน กองทัพก็ต้องกลับเข้ากรมกองไม่มีบทบาททางการเมือง ไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของการให้กองทัพเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองอย่างในอดีตอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งแล้ว ถึงแม้กองทัพและผู้นำกองทัพจะพยายามแสดงตัวว่าไม่ต้องการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง แต่ผ่านไป 4 ปี บทบาทของกองทัพก็ชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งในรอบปีที่ 4 นี้ บทบาทของกองทัพก็มีความชัดเจนอย่างไม่มีใครเคลือบแคลงสงสัยอีกต่อไปว่า กองทัพได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง มีบทบาทในการกำหนด การดำรงอยู่ หรือการจะมาจะไปของรัฐบาล
 ผู้นำกองทัพมีบทบาทอย่างมากในการล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย เมื่อรัฐบาลทั้งสองล้มไปด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ ผู้นำกองทัพก็มีบทบาทเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการจัดตั้งรัฐบาลปัจจุบัน ในหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ กองทัพได้แสดงพลังให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ค้ำจุนรัฐบาลปัจจุบันให้สามารถเป็นรัฐบาลต่อไปได้ ผู้นำกองทัพที่เคยบอกว่า "ขอวางตัวเป็นกลาง การเมืองแก้ด้วยการเมือง" อันที่จริงก็ได้แสดงในเห็นมาตั้งแต่ปีก่อนแล้วว่านั่นเป็นเพียงการพูดให้ดูสวยหรูเท่านั้น
มาในรอบปีที่ 4 กองทัพยิ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคำพูดที่ว่า "ขอวางตัวเป็นกลาง การเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง" เป็นเพียงการหลอกให้ตายใจ เพราะในทางความเป็นจริง กองทัพก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการปราบปรามประชาชน ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากเพื่อจะรักษาค้ำจุนรัฐบาลปัจจุบันไว้ เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้นำกองทัพได้นำกองทัพกลับมามีบทบาททางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
ผู้นำกองทัพได้ก้าวมาอยู่ในจุดที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างมาก ทั้งยังได้รับความเกรงใจ ได้รับการเพิ่มงบประมาณทางทหารมากขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยที่การใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพก็มีปัญหาการทุจริต ขาดการตรวจสอบให้ได้ยินกันอยู่เนืองๆ
นอกจากนั้นในโอกาสครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารก็เป็นช่วงเวลาพอดีกันกับการที่จะมีการตั้งผู้นำกองทัพชุดใหม่ ซึ่งก็ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลที่เชื่อกันว่ามีแนวความคิดนิยมใช้ความเด็ดขาดในการปราบปรามประชาชน หรือที่เรียกกันว่า “สายเหยี่ยว” กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงในกองทัพด้วย
ในปีที่ 4 หลังการรัฐประหารยังเป็นปีที่กองทัพมามีบทบาทอย่างมาก ทั้งในการรักษากฎหมายและการใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และปราบปรามประชาชน ภายใต้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการฉุกเฉิน การลิดรอนสิทธิเสรีภาพและการปราบปรามที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นทั้งๆที่ผู้นำกองทัพในขณะนั้นพยายามแสดงตัวว่าต้องการเป็นกลางและไม่ต้องการปราบปรามประชาชน แต่การปราบปรามอย่างทารุณโหดเหี้ยมก็ได้เกิดขึ้น จึงน่าสนใจว่า ต่อจากนี้ไปเมื่อผู้นำกองทัพมาจากสายเหยี่ยวแล้ว ภายใต้พรก.ฉุกเฉินที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่กองทัพ ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและปราบปรามประชาชน บทบาทของกองทัพจะถูกผู้นำทำให้เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด
การลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐบาลนี้ได้อ้างพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ แถลงเป็นผลงานการปิดเว็บไซด์ด้วยการอ้างว่าเว็บเหล่านี้หมิ่นสถาบัน มากถึง 43,000 เว็บไซด์ และที่จะปิดอีก 3,000 เว็บไซด์ แต่ไม่มีรายละเอียดการแจ้งข้อกล่าวหาหรือการจับกุมใดๆ
กระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารใน 4 ปีมานี้ได้พิสูจน์ว่า การรัฐประหารนั้นไม่ได้เป็นการถอยหลังชั่วคราวเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่กระบวนการที่ต่อเนื่องจากรัฐประหารที่ได้ทำให้ประเทศไทยมาอยู่ในจุดที่มีระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบที่สุด จนเรียกได้ว่าเป็นระบอบการปกครองที่เผด็จการที่สุดในรอบ 30 - 40 ปีที่ผ่านมา
ระบบการปกครองแบบนี้ได้เกิดการผนึกกำลังและประสานกันเป็น “เครือข่ายเผด็จการของอำมาตย์และบริวาร”ขึ้น ในเครือข่ายนี้มีกลไกที่สำคัญๆหลายอย่าง ได้แก่ (๑) กองทัพ เป็นกำลังสำคัญในการรักษาอำนาจเผด็จการไว้ ค้ำจุนรัฐบาล ปราบประชาชน (๒) อำมาตย์ มีบทบาททั้งในการชี้นำทิศทางในการบงการ สนับสนุนเครือข่ายนี้ (๓) รัฐบาลพลเรือน มีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นโฆษกประชาสัมพันธ์ให้แก่เครือข่ายเผด็จการนี้ (๔) สื่อกระแสหลัก ที่นำโดยสื่อหัวหอก เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้กับเครือข่ายนี้ ซึ่งก็มีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงหลังของรอบปีที่ 4 นี้ สื่อกระแสหลักหลายส่วนก็เริ่มมีบทบาทที่เปลี่ยนไป ไม่ยินยอมเป็นเครื่องมือหรือสนับสนุนเครือข่ายนี้อีกต่อไป
(๕) ผู้มีบารมีทางสังคม โดยเฉพาะปัญญาชนชั้นนำและผู้ที่เป็นที่ยอมรับจากภาคประชาสังคม กลุ่มนี้ทำหน้าที่ใช้ความมีบารมีน่าเชื่อถือของตนเอง ในการสร้างความชอบธรรม ค้ำจุนเครือข่ายเผด็จการนี้ (๖) องค์กรตามรัฐธรรมนูญและตุลาการภิวัฒน์ และ (๗) กองกำลังนอกสภาที่ไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย เนื่องจากได้รับอภิสิทธิ์พิเศษอย่างพันธมิตรฯ
เครือข่ายเผด็จการนี้มีที่มาของอำนาจที่สำคัญ 2 ทาง คือ (๑) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และ (๒) พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและปราบปรามประชาชน ในลักษณะที่เป็นการยกเว้นมาตราบางมาตราในรัฐธรรมนูญ หรือถ้าใช้นานๆ ก็มีผลเหมือนกับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นเผด็จการยิ่งขึ้นนั่นเอง
จะเห็นว่าเครือข่ายเผด็จการของอำมาตย์และบริวารซึ่งเป็นผลิตผลของการพัฒนาต่อเนื่องมาจากรัฐประหารกันยา 2549 เป็นเครือข่ายที่ใหญ่โต เข้มแข็ง และทรงอำนาจอย่างยิ่ง เครือข่ายนี้กำลังเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ในเฉพาะหน้าก็คือการกระชับอำนาจเผด็จการ ปราบปรามประชาชน เพื่อให้แน่ใจว่าเครือข่ายนี้จะสามารถรักษาระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการนี้ให้ยั่งยืนมั่นคง และสามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ตามต้องการต่อไปได้
แต่ขณะเดียวกัน ระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการแบบนี้หรือเครือข่ายเผด็จการที่เข้มแข็งนี้ กลับเป็นเครือข่ายที่มีความอ่อนแออย่างมากในเชิงอุดมการณ์ กลายเป็นเครือข่ายที่ดูเหมือนเข้มแข็งแต่ข้างในกลวง เปราะบางอย่างยิ่ง เนื่องจากอุดมการณ์ที่เครือข่ายนี้ยึดถืออยู่เป็นอุดมการณ์ที่เป็นเผด็จการ ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการความยุติธรรม และยังมีแนวความคิดที่ล้าหลังในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ
อุดมการณ์ของเครือข่ายนี้จึงเป็นอุดมการณ์ที่ล้าหลังและไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลก และไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และด้วยเหตุนี้เองทำให้ความพยายามที่จะสร้างระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบนั้น ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ได้
แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องมา 4 ปี แต่ปรากฏว่าพลังประชาธิปไตยกลับยังคงเข้มแข็ง ไม่ได้สูญหายไป บ้านเมืองยังคงอยู่ในภาวะชักกะเย่อกันต่อไป แม้เครือข่ายเผด็จของอำมาตย์และบริวารจะเข้มแข็ง แต่ก็อยู่ในสภาพที่กินอีกฝ่ายหนึ่งไม่ลง ปราบอีกฝ่ายหนึ่งไม่หมด
พรรคการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นอกจากจะไม่ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นไปอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการแล้ว ยังมีศักยภาพจนเป็นที่วิตกของผู้มีอำนาจอีกด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็คือการเติบโตของ “กลุ่มพลังประชาธิปไตย” ที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
แน่นอนว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จากเหตุการณ์การชุมนุมนับจากเดือนมีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา การต่อสู้ของประชาชนนี้ต้องเพลี่ยงพล้ำได้รับความเสียหายไปไม่น้อย แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี้ก็ยังคงมีพลัง เพียงแต่ต้องการการสรุปบทเรียนและการการกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้นใหม่ให้ชัดเจนถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือทั้งพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นดีเห็นงามไปกับระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการก็ดี การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนก็ดี มีจุดแข็งที่สำคัญก็คือ มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ประเด็นที่ “กลุ่มพลังประชาธิปไตย”เหล่านี้เสนออยู่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน คือเสนอให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรม และต้องการให้บ้านเมืองนี้พัฒนาก้าวหน้าอย่าง สอดคล้องกับการพัฒนาของโลก และให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ คือให้ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ก็คือให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของประเทศได้รับความยุติธรรม รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันและเจริญก้าวหน้าไป มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เพราะฉะนั้นเราอาจประเมินผลของการรัฐประหารและกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารในรอบ 4 ปีว่า หากพิจารณาตามข้ออ้างของคณะรัฐประหารนั่นเองต้องถือว่าล้มเหลวในทุกด้าน นอกจากนั้นสังคมยังถูกผลักให้มาอยู่ในจุดที่ยังมีความขัดแย้ง ยังมีวิกฤตที่เข้มข้นหนักหนากว่าเดิม วิกฤตนี้นำไปสู่ความรุนแรง และมีแนวโน้ม มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการย่ามใจของผู้มีอำนาจที่จะปราบปรามประชาชนได้โดยเสรี และจากการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งอาจเลิกหวังพึ่งระบบ และหันไปหาวิธีการต่อสู้ด้วยวิธีต่างๆ ทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ในสภาพที่มีการปกครองที่ล้าหลังอย่างยิ่ง และเครือข่ายกระบวนการที่ต้องการทำให้ประเทศไทยล้าหลังไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ยังคงเดินหน้าต่อไป
ในขณะที่ประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย มีอุดมการประชาธิปไตย มีจุดแข็งของการที่ยืนอยู่กับหลักการประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเจริญก้าวหน้าของสังคม ก็ยังคงเดินหน้าที่จะผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป สภาพนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่แพ้ชนะกันไปข้างหนึ่งง่ายๆ ไม่มีทางทำให้บ้านเมืองไปสู่จุดสมดุลย์ ชนิดที่ฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะไปได้ง่ายๆ
ที่แน่ๆคือ 4 ปีมานี้ ประเทศไทยได้ล้าหลังไปมาก และสังคมไทยได้เสียโอกาสไปมาก ถ้ายังคงปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างนี้ มีความขัดแย้งเผชิญหน้ากันอยู่อย่างนี้ โดยไม่หาทางออกที่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมาตัดสิน บ้านเมืองไทยก็จะล้าหลังต่อไป วิกฤตทางการเมืองก็จะยังคงอยู่ และเรายังจะมีโอกาสที่จะเผชิญกับความรุนแรงที่มากขึ้นด้วย
 เราจึงจำเป็นต้องพยายามหาทางออกจากวิกฤตนี้ โดยทำให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย และให้ประชาชนมามีส่วนร่วมตัดสินความเป็นไปของบ้านเมืองร่วมกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ญาติวีรชนพฤษภา’35 เรียกร้องทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

Posted: 19 Sep 2010 12:31 PM PDT

19 ก.ย.53 คณะกรกรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2553 รายละเอียดมีดังนี้

 
 
แถลงการณ์ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35
เนื่องในครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2553
 
 
            เนื่องในวาระ 4 ปี การปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมถอยทางสังคมการเมืองอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย จนเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคมจนยากแก่การเยียวยาแก้ไข นอกจากใช้หลักการประชาธิปไตย การเคารพสิทธิ เสรีภาพทางการเมือง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
            คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 ซึ่งเป็นผู้ประสบความสูญเสียจากการปฏิวัติรัฐประหารในอดีต มีความเห็นต่อวาระครบรอบ 4 ปี การปฏิวัติรัฐประหาร ดังนี้
 
            1. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 ขอคัดค้านการปฏิวัติรัฐประหาร และต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารทุกรูปแบบ รวมถึงการผลักดันเงื่อนไขให้เกิดกระแสดังกล่าวในแวดวงการเมืองซึ่งไม่เป็นผลดีกับสังคมไทย เพราะการปฏิวัติรัฐประหารเป็นการปล้นประชาธิปไตย  และยังเป็นการทำร้ายประชาชนในระยะยาว
 
            2. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 ขอให้อโหสิธรรมและให้ความเมตตากับทุกฝ่าย เพื่อป้องกันและป้องปรามการปฏิวัติรัฐประหารในอนาคต ญาติมิตรและประชาชนผู้ได้รับผลกระสบและความสูญเสียจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 จะต้องได้รับความดูแลในฐานะพลเมืองของรัฐ  ในความผิดชอบของรัฐบาล กองทัพ และแกนนำ นปช. จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ทุกฝ่าย
 
 
19 กันยายน 2553
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์
ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เชียงใหม่นับหมื่นร่วมรำลึก 19 กันยา-19 พฤษภา กลุ่มย่อยร่วมจัดงานหลายจังหวัด

Posted: 19 Sep 2010 12:01 PM PDT

 
 
 
19 ก.ย.53 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ที่เชียงใหม่ กลุ่มเสื้อแดงอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว เดินทางเข้าไปร่วมกับ คนเสื้อแดงเชียงใหม่ ซึ่งจะรวมตัวกันที่สนามกีฬาเทศบาลเชียงใหม่ เพื่อขึ้นปราศรัยขับไล่รัฐบาล โจมตีว่าเป็นรัฐบาล 2 มาตรฐานและป่าเถื่อน รัฐบาลฆ่าคนบริสุทธิ์ โดยกลุ่มนัดรวมตัวกันตั้งแต่เวลา 14.00 น ถึงกลางคืน
 
เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงใหม่ ด.ต.วิชิต ตามูล และนายศรีวรรณ จันทร์ผง แกนนำศูนย์ประสานงานกลาง นปช.เชียงใหม่ นำมวลชนคนเสื้อแดงเริ่มรณรงค์กิจกรรมรำลึก 4 ปีรัฐประหาร รำลึก 19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดินเชียงใหม่ กลุ่มมวลชนเสื้อแดงประมาณ 1 พันคน เริ่มเดินรณรงค์ทั้งเดินเท้า รถจักรยานยนต์และรถยนต์ยาวร่วม 1 กิโลเมตร ออกจากสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่มุ่งไปยังข่วงประตูท่าแพ
จากนั้นทำกิจกรรมเชิญชวนมุ่งตรงไปยังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จัดกิจกรรมล้อการเมืองทั้งจำลองการประหาร ปลดปล่อยนักโทษการเมือง รำสมานฉันท์ ในขบวนยังมีจำลองเหตุการณ์การเมืองต่างๆ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก และได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ท่ามกลางการดูแลอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง
 
ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ กลุ่มเสื้อแดงทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และต่างจังหวัดจำนวนกว่า 10,000 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันบริเวณด้านหลังหอนาฬิกาสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยบนเวทีได้เขียนข้อความขนาดใหญ่ว่า "19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดิน" โดยมีส.ส.ภาคเหนือขึ้นไปนั่งบนเวที และสลับกันอภิปรายโจมตีเรื่องรัฐประหาร ที่ผ่านมารวมถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ที่ล้มเหลวและสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติหลายๆ เรื่อง
 
บรรยากาศบริเวณในสนามกีฬา มีร้านขายของเสื้อแดงมาตั้งจำนวนนมาก และมีป้ายทำจากผ้าไวนิล มีรูปภาพของกลุ่มผู้บริหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และแกนนำพันธมิตร ทุกคน รวมทั้งพล.อ.อนุพงษ์ ติดอยู่ โดยป้ายเขียนระบุ ให้ประชาชนระบายแค้น โดยมีประชาชนชาวเสื้อแดงที่เห็นตามพากันถอดรองเท้าเข้าไปตบภาพที่ปรากฏด้วยความโกรธแค้น
 
จตุพรขึ้นเวที-ปล่อยโคม
กิจกรรมครั้งนี้มีประชาชนชาวเสื้อแดงของเชียงใหม่พากันทยอยมาฟังการอภิปรายกันอย่างไม่ขาดสาย มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และของตำรวจภาค 5 รวมประมาณ 1,000 นาย มาคอยอำนวยความสะดวกและดูแลความสงบ เหตุการณ์ทั่วไปปกติ ประชาชนทั่วไปมาฟังการอภิปรายอย่างสงบ สลับกับการเดินซื้อของต่างๆ เกี่ยวกับสีแดงเป็นของที่ระลึก ทั้งเสื้อผ้า อุปกรณ์หัวใจตบ ตีนตบ พวงกุญแจต่างๆ ผ้าพันคอ เป็นต้น
 
ประชาชนเสื้อแดงต่างรอการขึ้นอภิปรายของนายจตุพร ซึ่งจะอภิปรายคนสุดท้าย และในช่วงดึกเวลาประมาณ 23.00 น.ก็จะปล่อยโคมไฟสีแดงเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของคนเสื้อแดงที่สูญเสียชีวิตในวันสลายการชุมนุมได้ขึ้นสวรรค์ ตามความเชื่อ พร้อมกับจุดเทียนสีแดงเพื่อส่งกระแสจิตให้กับผู้ล่วงลับ
 
ขอนแก่นบุกหน้าเรือนจำ
 ที่ จ.ขอนแก่น
นายพัฒนศักดิ์ อภัยสม เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน พร้อมตัวแทนนักศึกษา 20คน  จัดกิจกรรมรำลึก 4 ปี ต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร 4 เดือนการสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวง จัดกิจกรรมผูกผ้าแดง จุดเทียนส่องทางประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น และร่วมร้องเพลงคำตอบในสายลม  เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับวีรชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในช่วงเดือน เมษายน –พฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่วนกลุ่ม นปช.เคลื่อนไหวแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองโดยใช้ชื่อว่า 4 ปี รัฐประหาร 4 เดือน ราชประสงค์ ปล่อยนักโทษการเมือง เคลื่อนขบวนรถมาที่เรือนจำกลางขอนแก่น เพื่อขอเข้าไปวางดอกกุหลาบที่หน้าห้องคุมขังนักโทษคนเสื้อแดงขอนแก่น จำนวน 4 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในข้อหาเผาศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เอ็นบีทีขอนแก่น มีนายอดิศัย วิบูลย์เศรฐ นายจิรัฐตระกูล สุมะหา นายอุดม คำมูล นายสุทัศน์ สิงห์บัวขาว แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต และเจรจากัน สุดท้ายแกนนำวางดอกกุหลาบสีแดงที่ป้ายเรือนจำ พร้อมกับยื่นจดหมายจำนวน 4 ฉบับให้กำลังใจ ฝากไปกับเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางขอนแก่นให้กับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั้ง 4 คนอีกด้วย 
 
เมืองนนท์ปล่อยลูกโป่งไว้อาลัย
 ที่ จ.นนทบุรี กลุ่มเสื้อแดงนนทบุรีรวมตัวกันทำกิจกรรม โดยเดินทางไปที่บริเวณด้านหน้ากรมพลาธิการทหารบก แยกสนามบินน้ำ เพื่อวางดอกไม้จันทน์ ไว้อาลัยให้แก่ผู้สูญเสีย และอาลัยแด่ประชาธิปไตยไทยที่ล้าหลัง ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไปที่บ้านพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อวางดอกไม้จันทน์ไว้อาลัยเช่นกัน

 ช่วงเย็นทั้งหมดมารวมตัวกันหน้าสถานีดาวเทียมไทยคม ถนนรัตนาธิเบศร์ เพื่อร่วมไว้อาลัยผู้เสียชีวิต เริ่มจากการยืนไว้อาลัยก่อนปล่อยลูกโป่งสีแดงจำนวน 500 ลูกขึ้นสู่ท้องฟ้า ได้รับความสนใจจากประชาชนที่สัญจรไปมา บางรายบีบแตรรถ พร้อมทั้งชูนิ้วโป้งให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม หลังจากเสร็จพิธีการปล่อยลูกโป่งทั้งหมดก็แยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด

แดงสองแควบุกค่ายทหาร
 ที่ จ.พิษณุโลก กลุ่มเสื้อแดงพิษณุโลก ประมาณ 60-70 คน นำโดยนายภาณุกฤษณ์ พัชรอารี แกนนำกลุ่มเสื้อแดงพิษณุโลก เดินทางมาที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำพวงหรีดสีแดง ผ้าแดง ลูกโป่งสีแดงเขียนข้อความประณามเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข่นฆ่าประชาชนวางที่แนวรั้วที่ทหารนำไปวางกั้นไว้ 2 ด้าน ท่ามกลางกำลังทหารกว่า 50 นาย ที่ควบคุมสถานการณ์และดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างแน่นหนา ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง และพากันเดินทางกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงแต่อย่างใด

เพชรบูรณ์ผูกผ้าศาลากลาง
 ที่ จ.เพชรบูรณ์ กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดยนายสิทธิชัย ต๊ะอาจ รวมตัวกันประมาณ 100 คน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นเคลื่อนไปยังบริเวณหน้าค่ายทหารกองพลทหารม้าที่ 1 พร้อมทั้งไปผูกผ้าแดงไว้ที่เสาไฟฟ้าหน้าป้ายกองพลทหารม้าที่ 1 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยืนสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา จากนั้นเคลื่อนไปรอบๆ ตัวเมืองเพชรบูรณ์ และกลับไปยังบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งผูกผ้าแดงกับเสาไฟฟ้าหน้าศาลากลาง ก่อนการปราศรัยถึงความรุนแรงและความล้มเหลวในการบริหารประเทศ จากนั้นสลายตัวแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง

แรลลี่แดงแวะนครสวรรค์
 ที่ จ.นครสวรรค์ คึกคักเป็นพิเศษ เสื้อแดงต่างทยอยเดินทางด้วยขบวนแรลลี่ขึ้นเชียงใหม่แวะพักที่นครสวรรค์คึกคัก โดยมีขบวนรถคนเสื้อแดงกว่า 70 คัน มีผู้ร่วมขบวนกว่า 400 คน เดินทางมาถึงที่สนามกีฬากลางจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อพักรับประทานอาหาร และรวมกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนจะเดินทางเข้าสมทบเพื่อไปที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ คอยดูแลความสงบในทุกจุด ซึ่งเหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ

นายเผด็จ ชวนานนท์ อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคพลังประชาชน จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ทางจังหวัดนครสวรรค์ได้เป็นจุดพักขบวนแรลลี่กลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อรับประทานอาหาร และรอสมทบกับกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเดินทางเข้า จ.เชียงใหม่ ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งคาดว่าตลอดเส้นทางจะมีผู้เดินทางไปครั้งนี้ประมาณ 100 คัน
 
โคราชผวาถูกจับผิดฉุกเฉิน
 ที่ จ.นครราชสีมา แกนนำแต่ละองค์กรได้นัดหมายสำแดงพลังรวมตัวกันที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ในเวลาเที่ยงวันนี้ แต่ก่อนจะถึงเวลานัดหมาย พ.ต.อ.ผดุงเกียรติ ศิริพรวิวัฒน์ ผกก.สภ.เมือง อ.เมืองนครราชสีมา สั่งการให้ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบนายกระจายกำลังตรวจสอบความเรียบร้อย ทำให้มวลชนคนเสื้อแดงเกรงจะถูกจับกุมในความผิดละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงส่งตัวแทนคือนายสันทาน อุ่นใจ อายุ 36 ปี แกนนำกลุ่มองค์กรแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายคนเสื้อแดงโคราช พร้อมพวกรวม 4 คน สวมเสื้อสีแดง มายืนอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าประตูชุมพล ด้านหลังลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พร้อมประกาศให้คนที่มีหัวใจเสื้อแดงใส่เสื้อแดงทุกวันอาทิตย์ เพื่อเป็นการแสดงพลังประชาธิปไตย

มหาสารคามประณามเหตุสังหารหมู่
ที่ จ.มหาสารคาม กลุ่มคนเสื้อแดงจัดประชุมสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย มีแกนนำมวลชนคนเสื้อแดงจากจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ เข้าร่วมกว่า 200 คน ที่ห้องประชุมโรงเรียนกวดวิชาไตรมิตร อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม มีแกนนำคนสำคัญเข้าร่วมงานหลายคน อาทิ นายปองพล อดิเรกสาร นายสุทิน คลังแสง สมาชิกมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ
 
ส่วนที่บริเวณหอนาฬิกา เทศบาลเมืองมหาสารคาม กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) และกลุ่มอิสระเถียงนาประชาคมกว่า 50 คน ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับประณามเผด็จการรัฐประหาร การล้อมสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวง ซึ่งทางนิสิตนักศึกษาได้ขอไว้อาลัยในการฆาตกรรมประชาธิปไตยของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.)

หนองคายโจมตีเนวิน
 ส่วนบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่นคนเสื้อแดงหนองคาย ช่วงเช้านำรถขยายเสียงวิ่งเชิญชวนให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาแสดงพลัง โดยการรวมตัวกันที่ลานน้ำพุพญานาค หน้าอนุสาวรีย์ปราบฮ่อหนองคาย ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มคนเสื้อแดงหนองคาย ประมาณ 50 คน ออกมารวมตัวกัน เคลื่อนขบวนที่ประกอบด้วยรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถตู้ และรถบรรทุก 6 ล้อ ไปตามถนนสายหลักภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ข้างรถและหน้ารถติดป้ายข้อความโจมตีการตัดสินที่มี 2 มาตรฐาน โจมตีนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และโจมตีรัฐบาลที่ได้อำนาจมาอย่างไม่ถูกต้อง

แม่ณัฐวุฒิร่วมงานเมืองคอน
 ที่ จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มคนเสื้อแดงในภาคใต้ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร ที่หน้าสำนักงานพรรคเพื่อไทย จัดทำบุญเลี้ยงพระจำนวน 5 รูป อุทิศส่วนกุศลไปให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เสียชีวิต มีแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงในหลายจังหวัดใต้มาร่วมกิจกรรม อาทิ นายจาตุรนต์ คชสีห์, นายสมชาย ฝั่งชลจิตต์ นางปรียา นาคแก้ว อายุ 70 ปี มารดาของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาขึ้นเวที ซึ่งนางปรียาพูดกับกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ขอขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจให้กับตนและครอบครัว หลังจากที่ลูกชายถูกจับก็เสียกำลังใจมาก เพราะสงสารลูกแต่ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาเยี่ยมและปลอบใจให้กำลังใจตลอดเวลา ทำให้มีกำลังใจดีขึ้น
 
 
 
ที่มา เว็บไซต์ข่าวสด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มธ.-จุฬา รำลึก19 กันยา ออกแถลงการณ์ล้อคปค.ฉบับ1-สนนอ.จี้หยุดคุกคามคนพื้นที่

Posted: 19 Sep 2010 11:06 AM PDT

19 ก.ย.53 เวลา 9.30 น. กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน และกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าร่วมกิจกรรม "ปล้น 19 ตาย 91 ครบรอบวันปล้นอำนาจถึงวันฆ่าประชาชน" รำลึกสี่ปี รัฐประหาร 19 กันยา และสี่เดือน 19 พฤษภา เหตุการณ์การปราบปรามประชาชน โดยออกแถลงการณ์ วางพวงหรีด ดอกไม้จัน ไว้อาลัยให้แก่ผู้สูญเสีย และอาลัยแด่ประชาธิปไตยไทยที่ล้าหลัง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
 ขณะเดียวกันสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ออกแถลงการณ์ 4 ปีเผด็จการรัฐประหาร 4 เดือน การล้อมสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวง เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการคุกคามประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งขอให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบและขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 
แถลงการณ์ร่วม
กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ
 และกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน
 
เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
และ 4 เดือนเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553
 
ด้วยเป็นที่ปรากฎโดยแน่ชัดว่า หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ทำการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ได้เคยปรากฎมาแล้วในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ จอมพลถนอม กิตติขจรและพลเอกสุจินดา คราประยูร ในสภาพการณ์ปัจจุบันฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามเอาชนะศัตรูทางการเมืองด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และนับวันมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยต่ออนาคตประเทศไทยกันอย่างกว้างขวาง มีการบังคับใช้กฎหมายที่จงใจกระทำต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ดังจะเห็นชัดจากการจับกุมนักโทษการเมือง การแทรกแซงสื่อ การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตีฝ่ายตรงข้ามของตนอยู่บ่อยครั้ง แม้ในหลายภาคส่วนของสังคม จะได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 อันเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตตามตัวเลขล่าสุดคือ 92 ชีวิต แต่ก็ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะมีการออกมาแสดงความรับผิดชอบจากฝ่ายรัฐบาลผู้ใช้กองกำลังทหารสลายการชุมนุมแต่อย่างใด
 
กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ และกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยนิสิตนักศึกษาผู้ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เสรีภาพในการพูด และเคารพในสิทธิมนุษยชน จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเสื่อมถอยลง และรำลึกถึงประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ผ่านมา พวกเราขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเสียเอง แต่จะคืนให้กับท่านผู้หวาดกลัวพลังบริสุทธิ์ของเหล่านิสิตนักศึกษาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ ซึ่งศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพในการพูด รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งแนวทางตามระบอบประชาธิปไตยอันเป็นเจตจำนงสูงสุดของประชาชนคนไทยทุกคน
                                                  กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ
กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน
 
(แถลงการณ์นี้เขียนขึ้นโดยล้อ แถลงการณ์คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ฉบับที่1)
 
 

 
แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสานฉบับที่ 1/2553
4 ปีเผด็จการรัฐประหาร 4 เดือน การล้อมสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวง
นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งกระทำโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ผ่านมาแล้วเป็นเวลา 4 ปีเต็มนั้น ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ขอแสดงความไว้อาลัยในการ “ฆาตกรรมประชาธิปไตย” ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฯ มา ณ โอกาสนี้ด้วย
            ตลอดระยะเวลา 4ปี ในการทำรัฐประหารสังคมไทยเหมือนดั่งตกลงสู่หุบเหวแห่งความขัดแย้งที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ ซึ่งประชาชนภาคอีสาน มองเห็นแล้วว่าได้เกิดระบบสองมาตรฐานขึ้นในสังคมไทยซึ่งหลังการรัฐประหารที่ผ่านมาประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม พวกเขาได้เห็นความสำคัญความหมายของระบอบประชาธิปไตย หนึ่งคนหนึ่งเสียง ระบบพรรคการเมืองที่ต้องทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ไม่ได้โง่เง่า ขาดการศึกษา ถูกซื้อได้ อย่างที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการรัฐประหาร นักวิชาการสันดานอำมาตย์ได้โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนหลงผิด หมิ่นแคลน จิตใจนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ประชาชนคนอีสานได้ตื่นลุกยืนขึ้นแล้ว พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวแทน ระบอบอำมาตยาธิปไตย ได้กระทำการแย่งยึดอำนาจจากประชาชน และเมื่อประชาชนได้เข้าเรียกร้อง ร้องขออำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของตนเองอยู่เดิม ด้วยการเรียกร้องให้ ยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย รัฐบาลได้ใช้อำนาจรัฐ เข้าเข่นฆ่าประชาชน บาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมหาศาล
1.เราขอประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการล้อมสังหารหมู่ประชาชน ในเหตุการณ์การชุมนุมในเดือนเมษายน –พฤษภาคม ที่ผ่านมาและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลด้วยการออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว
2.รัฐบาลหยุด ข่มขู่ คุกคาม ตามล่าสังหาร เยาวชน นักศึกษา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและ แกนนำในระดับพื้นที่ภาคอีสานทันที
3.ขอเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้แสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสานพร้อมเป็นส่วนหนึ่งกับพี่น้องคนอีสานผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยั่งยืนต่อไป
อาวุธอาจจะมีอานุภาพอย่างมหาศาล แต่อำนาจอันยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ปืน รถถัง ทหาร ถึงมันจะมีความสามารถที่จะเข่นฆ่าผู้คน แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ในความพร้อมที่จะตายของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ของผู้คนเหล่านั้นต่างหาก ทำให้การต่อสู้ เสียสละ นำมาสู่ซึ่งชัยชนะของการต่อสู้เพื่อ เสรีภาพ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
                                                                            อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหล
                                                                                 นายพัฒนศักดิ์ อภัยสม
                                                                     เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมจับเข่าคุย 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

Posted: 19 Sep 2010 05:06 AM PDT

กลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักศึกษา มาบอกเล่าแนวความคิด การทำงาน ประสบการณ์และถอดบทเรียน หลังการรัฐประหาร 19 กันยา 49 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภา 53 ที่ผ่านมาว่า “พวกเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

 

วานนี้ (18 ก.ย.2553) เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) จัดสัมมนาถอดบทเรียน 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 ณ ห้องเรียน 102 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อหนึ่งในการเสวนา กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาบอกเล่าว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”
 

กลุ่มประกายไฟ: แยกตัวออกมาจากกลุ่มเลี้ยวซ้าย มีแนวทางรณรงค์ทางการเมืองภายใต้แนวคิดสังคมนิยม และมีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ปัจจุบันเป็นกลุ่มกิจกรรมที่ร่วมของคนหนุ่มสาวที่สนใจศึกษาเรียนรู้และต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม

รัชพงษ์ โอชาพงษ์ ตัวแทนกลุ่มประกายไฟ กล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 19 กันยา 2549  ประเด็นถกเถียงที่สำคัญของฝ่ายก้าวหน้าในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หรือไม่ จนกระทั่ง นปก.เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) การถกเถียงก็ยังไม่จบ โดยมีความคิดแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกับ นปช. เพราะเห็นว่ามวลชนที่เข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงมีความก้าวหน้า สามารถเข้าไปผลักดันประเด็นให้เห็นผลได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมนั้นคำนึงถึงพื้นที่ในการทำงานที่ไม่ใช่ทั้งสีเหลืองและสีแดง สำหรับกลุ่มประกายไฟ ที่ผ่านมาไม่ได้เข้าร่วมกับฝ่ายไหนอย่างชัดเจน

รัชพงษ์ กล่าวต่อมาถึงบทเรียนในการทำงานร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงว่า จากช่วงที่สถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมครั้งล่าสุดเริ่มเข้มข้นขึ้น ทางกลุ่มฯ ได้ประชุมหาทางออกกันแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกมืดมน เพราะในแง่หนึ่งรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าไปมีส่วนผลักดัน หรือเข้าไปเคลื่อนไหวในขบวนการได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้เข้าร่วมกับเสื้อแดงตั้งแต่แรกจึงทำให้ไม่มีพื้นที่ในกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อผลักดันประเด็นต่างๆ นอกจากนั้นบทเรียนที่สำคัญคือ หลายองค์กรที่เข้าร่วมก็ไม่ได้กำหนดจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไปผลักดันหรือทำงานเรื่องอะไรในกลุ่มคนเสื้อแดง หลายองค์กรเข้าร่วมโดยบอกว่าสนับสนุนการทำงานของแกนนำ แต่คำถามคือแกนนำเสนออะไรแล้วต้องเห็นด้วยทุกอย่างหรือไม่

ตัวแทนกลุ่มประกายไฟ กล่าวด้วยว่า หลังการเฝ้าดูการเคลื่อนไหวขบวนการภาคประชาชนที่ตื่นตัวในยุคพันธมิตรฯ แต่ในช่วงหลัง เน้นเรื่องความหลากหลายมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาสำคัญเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือก ยกตัวอย่างในกรณีของพันธมิตรฯ เพื่อนของเขาซึ่งอยู่ในภาคประชาชนไปร่วมกับพันธมิตรฯ ด้วยแบบไม่ยอมถอย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในแง่หนึ่งทำให้ตอนนี้คำว่าขบวนการภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ในสายตาคนเสื้อแดงย่ำแย่ เกิดการตั้งกำแพงกับเอ็นจีโอโดยเหมาร่วมว่าเป็นพันธมิตรฯ ตัวอย่างเช่น การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานการรถไฟเพื่อคัดค้านการแปรรูป ถูกคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการเคลื่อนของกลุ่มพันธมิตรฯ จึงไม่สนใจ โดยไม่ได้ดูถึงเรื่องเนื้อหาที่คัดค้าน แต่เคลื่อนไหวตรงข้ามไว้ก่อน

“บางครั้งเราอาจต้องตั้งคำถามว่า คำว่า 'เรา' ในขบวนการเคลื่อนไหวที่มักเป็นฝ่ายก้าวหน้า เป็นหัวหอก เอาเข้าจริงแล้วมันควรมีลักษณะแบบไหน ใครที่เราควรคบเป็นมิตร ใครที่เราควรจะกันออกไป ใครที่เราควรจะมองว่าเป็นศัตรูเรา” ตัวแทนกลุ่มประกายไฟ ตั้งคำถามและอธิบายว่าในการต่อสู้มักจะมีประเด็นที่แอบแฝงเข้ามา เช่น การต้านทุนนิยม แต่ต้านทุนนิยมแล้วจะเอาอะไร หากเลือกชุมชนนิยมแล้วสุดท้ายการขับเคลื่อนในแนวนี้จะนำไปสู่ชัยชนะอะไร แค่ไหน

ในขณะเดียวกัน ขบวนการคนเสื้อแดงที่บอกว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น ประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงจะเป็นเช่นไร จินตนาการปลายทางของการเข้าร่วมขบวนการจะนำไปสู่ตรงไหน เมื่อในกลุ่มแดงตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่มีสิทธิ์ไปไล่เขา เรื่องนี้ถูกต้องหรือเปล่า หากการเลือกตั้งเท่ากับความชอบธรรม แล้วประชาชนไม่มีสิทธิ์ไล่เขาจริงหรือ

นอกจากนี้ รัชพงษ์ ยังตั้งคำถามต่อมาถึงการล่มสลายขบวนการภาคประชาชนว่า จากพื้นที่ที่ได้ลงไปทำงาน พบว่าคนงานเวลามีประท้วงนัดหยุดงานของโรงงานมาบ้างไม่มาบ้าง แต่เมื่อคนเสื้อแดงนัดชุมชุมที่ผ่านฟ้ากลับไปกินไปนอนอยู่ที่นั่นทุกวัน ทำให้เกิดคำถามว่าวันนี้องค์กรแบบสหภาพแรงงาน องค์กรเรียกร้องผลประโยชน์มีปัญหาตรงไหน ทำไมจึงถูกมองข้าม แล้วทำไมแรงงานจึงเข้าร่วมกับเสื้อแดงมากกว่าการที่จะเข้าไปร่วมกับสหภาพแรงาน

กลุ่มเลี้ยวซ้าย : องค์กรที่ทำงานการเมืองในแนวทางของมาร์กซิส ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน 30 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน

วิภา ดาวมณี ตัวแทนกลุ่มเลี้ยวซ้าย กล่าวว่า มองจากประวัติศาสตร์สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจุดที่เปลี่ยนมากคือในช่วง 6 ต.ค.19 มีแนวคิดต่างๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยแนวคิดที่สำคัญที่สุดคือแนวคิดสังคมนิยมหรือมาร์กซ และมีพรรคใต้ดินคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประชาชนและนักศึกษาเปลี่ยนการต่อสู้จากเมืองสู่ป่า เข้าสู่การต่อสู้ในแนวทางของเหมาเจ๋อตง คือใช้ชนบทล้อมเมือง แต่ผลสรุปคือมันไม่ใช่สิ่งที่แก้ปัญหาได้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้ อดีตคนที่เคยเข้าป่าส่วนหนึ่งกลับมาทำมาหากิน ส่วนหนึ่งไปทำงานในสิ่งที่คิดว่าสร้างประโยชน์แก่สังคมที่ดีงามโดยไปเป็นเอ็นจีโอ

วิภา กล่าวต่อมาว่าสาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยไปไม่ถึงไหน เพราะเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมไทยได้แปรตัวเองไปรับใช้รัฐ ไปรับทุนจากภาครัฐ ไม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนอีกต่อไป แต่เชื่อมั่นในแนวทางปฏิรูป ทำตัวเป็นหลุมเพาะของระบบทุนนิยม คือต้องการทุนนิยมนั่นเอง มาถึงปัจจุบันสิ่งที่พิสูจน์ได้ดีคือกลุ่มเอ็นจีโอได้เปลี่ยนไปเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างและการเข้าถึงกลุ่มอำนาจหรือพรรคการเมืองเพื่อล็อบบี้ ซึ่งนี่คือจุดอ่อนของสังคมไทย และจุดอ่อนอีกอันหนึ่งคือทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไม่มีความชัดเจน ขาดการพัฒนาและวิเคราะห์

“สำหรับองค์กรเลี้ยวซ้ายเราถือว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่จะต้องกลับมารื้อฟื้นความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฏีมาร์กซ ทฤษฎีสังคมนิยมในสังคมไทย” วิภากล่าว

สำหรับองค์กรเลี้ยวซ้าย วิภา กล่าวว่ามาจากองค์กร “กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน” ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน 30 คน ซึ่งมีสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมด้วย ต่อมามีนักวิชาการคือ ใจ อึ๊งภากรณ์ เข้าร่วม หลังจากนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษาเข้าร่วม แต่ตอนนี้หากกลับไปถามว่าคนที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยแรงงานหรือองค์กรเลี้ยวซ้ายในปัจจุบันว่าเขาไปอยู่ที่ไหนกัน ตรงนี้อาจเพราะแนวทางของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระหว่างจากเสื้อเหลืองเป็นเสื้อแดง หรืออาจเรียกว่าก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

วิภา กล่าวถึงการเป็นกลุ่ม "สองไม่เอา" ก่อนหน้านี้ว่า ก่อนการรัฐประหารมีการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อเหลือง กลุ่มก็ไปตามกระแสมวลชน แต่เมื่อนานเข้าเจตนารมณ์และสิ่งที่นำมายึดเป็นหลักนั้นต่างไปจากจุดยืนขององค์กรเลี้ยวซ้าย คือมีการเชิดชูสถาบันสูงสุดแล้วเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการประณามคนอื่น จึงพยายามอธิบายว่านี่เป็นความขัดแย้งของชนชั้นปกครอง 2 กลุ่ม แต่ในที่สุดก็ได้เรียนรู้ว่ามวลชนเสื้อแดงเป็นมวลชนที่มาจากชนชั้นล่างจริงๆ เป็นคนรากหญ้าผู้เดือดร้อน ในขณะที่มวลชนในกลุ่มเสื้อเหลืองส่วนหนึ่งเป็นคนชั้นกลาง และส่วนหนึ่งเป็นแม่บ้านที่ติดตามเอเอสทีวีที่รู้สึกว่า ทำให้เขากลายเป็นคนสำคัญ กลายเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้

“กลุ่มเลี้ยวซ้ายเรารู้เลยว่าควรเข้าข้างใคร และเรามีบทเรียนที่ว่าคนที่ไม่ได้ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนมักจะเป็นผู้พ่ายแพ้ในที่สุด เราไม่สามารถเป็นสองไม่เอา หรือเอาทั้งสองได้ ในที่สุดเราจึงเชิดชูจิตใจที่กล้าหาญของมวลชน” วิภากล่าว


สมัชชาสังคมก้าวหน้า: กลุ่มนักกิจกรรมจากกลุ่มเลี้ยวซ้ายที่เลือกข้างแดง กับสโลแกน “โค่นล้มอำมาตยาธิปไตย จุดไฟสรรค์สร้างสังคมใหม่ พัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์”

ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ ตัวแทนสมัชชาสังคมก้าวหน้า กล่าวว่า สมัชชาสังคมก้าวหน้าเป็นส่วนที่แตกออกมาจากกลุ่มองค์กรเลี้ยวซ้าย เพื่อทำงานกับคนเสื้อแดง โดยคิดว่าคนเสื้อแดงก้าวหน้า ทั้งนี้จากเหตุการณ์เดือนเมษายนเมื่อปี 52 ก็ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อสมัชชาสังคมก้าวหน้าซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นทางกลุ่มจึงไม่มีข้อลังเลเรื่องการเลือกข้าง เพราะได้เลือกข้างไปแล้ว และจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ยืนหยัดต่อสู้อย่างเต็มที่จนถึงวันเกือบสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่หนักและเป็นสิ่งที่ไม่ปรารถนา ทำให้ต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่เลือกสนับสนุนว่าถูกต้องหรือไม่

ไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการกลับไปทบทวน พบว่า ผู้ที่ต่อต้านทักษิณซึ่งคืออำมาตยาธิปไตย แต่ไหนแต่ไรมาจะกำจัดศัตรูแบบสุขุมและเยือกเย็น รอบคอบ แต่การจัดการทักษิณครั้งนี้กลับรุนแรงและใช้รูปแบบวิธีการที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นเพราะเหลือเวลาอยู่น้อยเต็มที จึงต้องพยายามสกัดอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้ระบบดำรงอยู่ได้โดยไม่ถูกท้าทาย ตรงนี้ทำให้กลับมานั่งทบทวนว่าเมื่อเวลาของคนเสื้อแดงมีมาก ตั้งคำถามว่าการรุกเร้าให้ยุบสภาทันที ทั้งที่เมื่อยุบแล้วเลือกตั้งแล้วเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลจริงหรือไม่ หรือจะมีนายกฯ ที่เข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สามารถเข้าทำเนียบได้อีกหรือเปล่า ข้อเรียกร้องอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นจำเป็นจริงหรือไม่ หรือจะใช้ยุทธวิธีที่ดีกว่าในการลดความสูญเสีย

“เมื่อเดือนพฤษภาเรามีความเชื่อเรื่องทหารแตงโม แต่ถามจริงๆ ถ้ามีจริง เราจะมีสักเท่าไหร่ จะมีมากถึง 2 แสนคนที่จะรบกับกองทัพเขาหรือเปล่า อะไรพวกนี้มันเป็นคำถามที่จริงๆ แล้วในข้อจำกัดของคนอย่างพวกเรา มันมีเงื่อนไขการต่อสู้ที่ไม่เยอะ และมีปัจจัยที่เป็นทุน เราน่าจะกำหนดยุทธศาสตร์กันใหม่ นี่คือสิ่งที่พวกเราคุยกันว่าเราน่าจะเคลื่อนไหวยืดเยื้อยาวนาน และทำให้สีแดงมีความแข็งแกร่งและดำรงอยู่ โดยหลีกเลี่ยงการสูญเสีย ส่วนวิธีการยังไงเป็นเรื่องที่กำลังมองหาอยู่” ตัวแทนสมัชชาสังคมก้าวหน้ากล่าว

สำหรับการปฏิรูปองค์กรคนเสื้อแดง ไชยวัฒน์กล่าวว่าเนื่องจากการมีมวลชนเข้ามาร่วมจำนวนมาก และเป็นมวลชนจริงๆ ซึ่งขีดความสามารถทางการเงินไม่สูง ในตัวองค์ความรู้ก็ไม่มาก เมื่อเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าก็จะไม่กล้าที่จะไปชี้แจงว่าทำอะไร เพื่ออะไร และยังต้องต่อสู้ทางความคิดกับคนอื่นๆ เพื่อชักจูงเข้ามาร่วม ทั้งนี้แม้มวลชนเสื้อแดงจะมีจำนวนมาก แต่มีอำนาจทางเศรษฐกิจต่ำ ทำอย่างไรที่ทำให้คนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากมาเข้าร่วม โดยการสร้างองค์ความรู้ วาทกรรมเพื่อทำให้คนเหล่านั้นมาสนับสนุนมากขึ้น เช่น กรณีสองมาตรฐานซึ่งแทงใจกลุ่มชุมชนนิยม แต่เรายังไม่สามารถทำให้เขาเห็นว่าการต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ที่ถูกต้องและเข้ามาร่วม หรือกรณีเขายายเที่ยง น่าจะได้ขยายฐานแนวร่วมไปยังคนที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ให้เห็นว่าสังคมไม่เป็นธรรม ไม่ใช่แค่ประเด็นความขัดแย้งระหว่าง นปช. กับพวกอำมาตยาธิปไตย รวมทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย

“ผมมีความเชื่อว่าการที่จะชนะกับคนที่มีอำนาจรัฐได้ เราต้องมีมวลชนจำนวนมาก ชัยชนะของคนเสื้อแดง เราไม่สามารถเอาชนะโดยอาศัยเพียงคนเสื้อแดง 60-70 เปอร์เซ็นต์ อาจไม่เพียงพอ เราต้องการคนทั้งหมดที่ต้องการเปลี่ยนระบบนี้ และเราจะทำอย่างไรให้คนจำนวนมากเข้าร่วมกับเรา” ไชยวัฒน์กล่าว โดยยกตัวอย่างของมาร์กซที่สามารถเสนอแนวคิดสังคมนิยมให้คนยอมรับหลายล้านคนและเกิดการเคลื่อนไหว

กลุ่มกวีตีนแดง: กลุ่มนักเขียนวรรณกรรม กวี ที่รวมตัวกันขึ้นหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ในเดือนเม.ย.-พ.ค.2553

เพียงคำ ประดับความ ตัวแทนกลุ่มกวีตีนแดงหรือชื่อเป็นทางการคือ “วรรณกรรมตีนแดง” กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมาในแวดวงวรรณกรรมมีความขัดแย้งทางความคิดทางจุดยืน การเลือกข้างกันค่อนข้างสูง และในส่วนตัวคิดรู้สึกเจ็บปวดมาก เมื่อกลุ่มคนในแวดวงวรรณกรรมแนวกระแสหลักที่มีในบ้านเราวันนี้เป็นกลุ่มคนที่ตื่นช้าที่สุด ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงแพ้วาทกรรมในโลกวรรณกรรม หนึ่งเพราะนักเขียนวรรณกรรมกวีกลุ่มอำมาตย์ทำงานและทำงานได้ผล มีสื่อกระแสหลักขานรับ แต่นักเขียนกวีที่เลือกมาอยู่ฝ่ายเสื้อแดงถูกจัดให้เป็นชายขอบ เขียนแล้วไม่รู้จะเอาไปลงที่ไหน

“วันนี้เราแตกหักกับบางสิ่งบางอย่าง แล้วความแตกหักนี้มันดีตรงที่ว่ามันเป็นพลังให้เราคิดจะทำโน่นทำนี่ และที่เรามองเห็นความสำคัญของวรรณกรรม ก็เพราะคิดว่าวรรณกรรมมันรับผิดชอบเรื่องวาทกรรม เพราะสงครามที่ผ่านมาอย่างหนึ่งที่เราต้องสู้คือเรื่องของวาทกรรมด้วย มันเป็นสงครามวาทกรรม ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ผู้ก่อการร้าย โจรแดง ต่ำ ถ่อย ทราม นี่คือการผลิตวาทกรรมขึ้นมาสู้กัน แล้วบังเอิญมันได้ผล” ตัวแทนกลุ่มกวีตีนแดงบอกเล่าถึงความคิดเห็นหลังเปลี่ยนจากกวีสายลมแสงแดด มาต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยหลังเกิดการรัฐประหาร 2549

เพียงคำ กล่าวต่อมาว่า ถ้าจะวิเคราะห์กันเหมือนที่เอ็นจีโอพูด กวีก็อาจไม่ต่างกัน ส่วนตัวมองว่าคนที่ทำงานวรรณกรรมในบ้านเราช่วงเวลาที่ผ่านมายาวนาน ทั้งนักเขียน-กวีถูกผูกติดอยู่กับคุณธรรมจริยธรรม กลุ่มคนเหล่านี้คิดเหมือนกันหมดคือไม่เอาทุนนิยม ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นทุนนิยมในความหมายไหน แต่จุดที่ทำให้ทนไม่ไหวคือการที่กวีที่พอจะมีชื่อเสียงคนหนึ่งเขียนงานในช่วงเวลาที่มีการเข้ากระชับพื้นที่ที่แยกราชประสงค์โดยบอกว่า “คนเสื้อแดงโง่ ถูกทักษิณหลอกมา สมควรแล้วที่จะต้องตาย” และมีคนที่ยืนยันความคิดนี้ไม่น้อย ซึ่งเป็นการยากที่จะเปลี่ยนความคิดของคนเหล่านี้ ดังนั้นจึงคิดว่าต้องสร้างกวีนักเขียนของเราเองขึ้นมา

“หากคุณมาบอกว่าคนบางพวกที่คิดไม่เหมือนคุณมันสมควรตาย ไอ้การที่คุณเรียกร้องจากสังคม ว่าสังคมที่ดีงาม แล้วนักเขียนถูกผูกกับจริยธรรม ทำตัวเสมือนต่อมจริยธรรมของสังคม คุณต้องทบทวนแล้วว่า การที่คุณอยากเห็นคนตายเพราะคุณไม่ชอบเขาได้ มันเกิดอะไรขึ้นกับต่อมจริยธรรมของคุณ”

“ทำไมดิฉันจึงต้องมาเคร่งเครียด กับคนที่เป็นนักเขียน เป็นกวีด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นปัจเจกคนหนึ่งเหมือนเหมือนกับทุกคน นั่นเพราะคนพวกนี้เชื่ออย่างไรแล้วก็เขียน แต่พอเขียนออกไปแล้วมีคนอ่าน มีคนเชื่อ มีคนฟังเขา” เพียงคำ ประดับความ กล่าวและว่า เมื่อมาถึงตรงนี้ได้สรุปกับตัวเองว่าอาจทำงานน้อยเกินไป ทั้งตัวเอง ทั้งกลุ่มปัญญาชน ซึ่งต่อไปคงต้องทำงานหนักให้มากขึ้น และอยากทำงานสุดเพดานของตนเอง ถ้าทุกคนช่วยกัน คิดว่าเราอาจจะมีอนาคต

ทั้งนี้ เพียงคำ ประดับความ ได้ประชาสัมพันธ์ว่า ยินดีร่วมทำงานกับชมรมวรรณศิลป์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสนับสนุนกวีรุ่นใหม่ที่จะมาสร้างงานรับใช้ประชาธิปไตย นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ได้จัดการประกวด Free Write Award ครั้งที่ 1 โดยเชิญชวนร่วมประกวดบทกวีเพื่อเสรีภาพ ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ โดยต้องเป็นบทกวีที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ไม่จำกัดฉันทลักษณ์ และจะประกาศผลในวันที่ 10 ต.ค.53 โดยในงานมอบรางวัล ผู้ได้รับรางวัลจะได้ร่วมอ่านกวีกับกวีรุ่นพี่ เช่น ประกาย ปรัชญา, วัฒน์ วรรลยางกูร, เดือนวาด พิมวนา, รางชาง มโนมัย ฯลฯ 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.): ขบวนการนักศึกษาก่อตั้งโดยองค์การนักศึกษา 14 สถาบัน เมื่อปี 2527 เพื่อเป็นองค์กรกลางประสานงาน และหนุนเสริมให้นักศึกษาสามารถแสดงบทบาทต่อสังคม

สุญญาตา เมี้ยนละม้าย โฆษกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนนท.เคลื่อนไหวตามประเด็น จนเมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 สนนท.แตกออกเป็น 2 กลุ่มคือมีทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุน ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นของพันธมิตรฯ ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มทุน สนนท.เข้าร่วมด้วยจนกระทั่งมีการเรียกร้องขอนายกพระราชทาน โดยอ้างมาตรา 7 และเริ่มมีการสนับสนุนรัฐประหาร สนนท.จึงแยกตัวออกมา ส่วนการที่ประกาศเข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยเหตุผลว่าคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มของภาคประชาชนที่มีข้อเรียกร้องที่เป็นประชาธิปไตย

สุญญาตา กล่าวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประชาธิปไตยไม่ได้ก้าวไกลไปกว่าจุดเดิมสักเท่าไร โดยเปรียบเทียบว่าประชาธิปไตยไทยเหมือนบูมเมอแรงที่ขว้างออกไปไกลแล้วก็กลับมาหาคนที่ขว้าง และคนกลุ่มนั้นคือคนที่มากะเกณฑ์แนวทางทางการเมืองและสังคมทุกอย่าง ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในยุครัฐบาลทักษิณ มีรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย และบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้ามาก แต่สุดท้ายบูมเมอแรงมันก็ย้อนกลับไปสูคนกลุ่มเดิมที่บงการสังคม สังคมไทยจึงไม่ได้เกิดการเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร การรัฐประหารนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาคอยบงการและสอนเราอยู่ตลอด

“สังคมไม่เคยเกิดการเรียนรู้ สังคมไม่เคยรู้สึกว่าเราเจ็บปวดจากนักการเมือง เจ็บปวดจากการบริหารประเทศที่ไม่เป็นสับปะรด แต่เราคอยปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาทำรัฐประหารให้เราตลอด แต่หลังจากที่เราได้เรียนรู้ ได้สัมผัสกับประชาธิปไตยที่กินได้ จับต้องได้จริง แต่เมื่อสิ่งที่เรากินได้จับต้องได้นั้นมันถูกโค่นล้มลงไป ตรงนี้สังคมจึงเริ่มเจ็บปวด เริ่มเรียนรู้ และลุกขึ้นมาต่อสู้” สุญญาตากล่าว

สุญญาตา กล่าวต่อมาว่า จากเหตุการณ์ทางการเมือง เหลือง-แดง ที่ผ่านมาได้กระชากหน้ากากของสังคมไทยออกในหลายมิติ เช่น แนวคิดรักสงบของสังคมไทย ซึ่งความจริงคือการปฏิเสธการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน คิดว่าเป็นการสร้างความรุนแรง แต่ไม่เคยมองลึกลงไปว่าคนเหล่านั้นมาต่อสู้เรียกร้องอะไร จึงเกิดวัฒนธรรมการเมินเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่มีความเห็นต่างจากเรา อีกทั้งความเชื่อทางศาสนาพุทธที่มองว่าคนเราเกิดมาสูงต่ำไม่เท่ากัน การเทิดทูนคนดี คนที่อยู่สูงส่งกว่าให้เป็นผู้นำ ให้เป็นผู้ปกครอง ทั้งที่หลักศาสนาพุธสอนว่ามนุษย์เท่ากันและยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย

ทั้งนี้ในส่วนของคนเสื้อแดงเอง ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนอย่างชัดเจน เช่น จุดอ่อนที่ถูกมองว่าเป็นคนรากหญ้า ไร้การศึกษา แต่ความจริงเป็นคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ควรสื่อสารให้สังคมได้รู้ว่าคนเสื้อแดงเป็นองค์กรที่ก้าวหน้า มีความแตกต่างหลากหลาย เป็นประชาชนที่แท้จริง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาของคนเสื้อแดงคือคบอยู่แต่กับกลุ่มตัวเอง ขาดการหามิตร ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องเปิดกว้างกว่านี้ นอกจากนั้นปัญหาเรื่องการนำก็เป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาวิพากษ์วิจารณ์

“เชื่อว่าการที่เรามาจุดนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของประเทศไทย มันแสดงให้เห็นว่าสังคมได้เรียนรู้ เพราะหากเราไม่เรียนรู้เราคงยอมรับการรัฐประหาร และคงอยู่กันแบบสงบสันติ แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แม้จะมีการสูญเสียเกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นบทเรียนที่เจ็บปวด ต้องจดจำเอาไว้ เพื่อที่จะไม่เดินซ้ำบทเรียนเดิมแต่เราจะร่วมกันสร้างบทเรียนใหม่ให้กับประชาชน และเยาวชนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้”

“ต่อไปนี้จะเห็นนักศึกษาในมาดใหม่ เราจะอยู่เคียงข้างประชาชน” ตัวแทน สนนท.กล่าวลงท้าย


กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (CCP): กลุ่มนิสิตในจุฬาฯ รวมกลุ่มกันผ่านทางเฟซบุ๊ค มีแนวทางเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลสั่งฆ่าประชาชนกลางถนน

ปราศรัย เจตสันต์ ตัวแทนกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน กล่าวแนะนำกลุ่มว่า เป็นกลุ่มใหม่ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ผ่านมา เกิดจากการรวมกลุ่มกันผ่านทางเฟซบุ๊คของนิสิตจุฬาฯ ที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และมองเห็นความผิดของรัฐบาลที่สั่งฆ่าประชาชนกลางถนน ส่วนผลงานที่ผ่านมายังไม่มาก มีกรณีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูก ศอฉ. ควบคุมตัวด้วยข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมในวงเสวนา เพื่อหาแนวร่วม และรวมกลุ่มความคิดเห็นเดียวกันในจุฬาฯ ที่ผ่านมามีกิจกรรมดูหนังที่เกี่ยวกับการเมือง การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเชิญนักวิชาการมาสะท้อนความคิด

ปราศรัย กล่าวด้วยว่า นักศึกษาถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องศึกษาเรียนรู้ หาประสบการณ์จากอดีต และมองว่าการเรียนรู้ควรเป็นการเสริมปัญญา เพราะในขบวนการเคลื่อนไหวไม่ว่าเหลืองหรือแดงไม่ค่อยมีนักศึกษา แต่กลับเป็นคนที่เคยต่อสู้มาแล้วตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งก็ยังต้องมาสู้อีก อย่างไรก็ตาม นักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เกิดมาภายใต้การกดดันของรัฐบาลเผด็จการเช่นในอดีต แต่เป็นเผด็จการซ่อนรูปที่แนบเนียน และสภาพสังคมที่เป็นทุนนิยมก็มีผลอย่างมากต่อการเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวของนักศึกษาซึ่งจะไม่โดดเด่นเหมือนในอดีตแล้ว อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะการทำให้สังคมทังสังคมขยับขยาย เคลื่อนตัวได้เอง ดีกว่าการฝากความหวังกับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันคือทุกกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยทุกคนเห็นปัญหาเหมือนกัน

 

กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ: กลุ่มนักศึกษาในธรรมศาสตร์ที่รวมตัว เพื่อหวังเรียนรู้แลกเปลี่ยนทางการเมือง

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ เลขาธิการกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ กล่าวถึงที่มาว่า กลุ่มฯ เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี 2551 โดยใช้ชื่อนี้ในการลงชื่อท้ายแถลงการณ์คัดค้านอำนาจนอกระบบ และมอบพวงหรีดให้กับ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมมือกับกองทัพกดดันรัฐบาลที่นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ให้ลาออก หลังจากนั้น ทางกลุ่มก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร แต่จับกลุ่มกันอยู่หลวมๆ และในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ได้เริ่มมีการพูดคุยและทำกิจกรรมขึ้นอีกครั้ง โดยมีการแจกประกาศคณะราษฎร ในกิจกรรมวันแรกพบของธรรมศาสตร์ การร่วมล่ารายชื่อในแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด

เมื่อสมาชิกกลุ่มทำกิจกรรมก่อนหน้านี้จบการศึกษาไป คนที่เหลือจึงรวมตัวและก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ โดยมีคณะกรรมการราว 20 คน และวางแผนการทำกิจกรรมต่างๆ ล่วงหน้าเอาไว้ ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ผ่านมา เช่น กิจกรรม "กรวดน้ำ-คว่ำขัน-รักกัน-ชาติเดียว" จากใจนักศึกษาถึงอธิการบดี ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่งอธิการบดี และล่าสุดคือกิจกรรมวันที่ 19 กันยานี้ ซึ่งจะมีการรวมตัวกับ กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ที่ลานประติมากรรม มธ.เพื่อเดินขบวนมาร่วมกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเช้า

ปราบ กล่าวถึงการถอดบทเรียนกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาว่า จากการพูดคุยได้สมมติฐานที่ว่าการทำกิจกรรมที่ดูเหมือนเป็นการออกตัวแรง ทำให้กลายเป็นพวกฮาร์ดคอร์ พวกหัวรุนแรงในสายตากลุ่มนักศึกษาและประชาชนทั่วไป แม้ด้านหนึ่งอาจได้คนที่คิดเหมือนกันเข้ามาร่วมกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ระยะห่างกับนักศึกษาทั่วๆ ไปมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในการดึงให้เขาเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นจึงมีแนวทางว่า จะจัดกิจกรรมด้วยความระมัดระวัง เช่น ชื่อกิจกรรมล่าสุด “4 ปี รัฐประหาร ประเทศชาติไม่ดีขึ้น” ซึ่งคิดว่าเป็นความเห็นร่วมของคนแทบทุกกลุ่ม

“ผมต้องการคนที่อยู่ตรงกลางตรงนี้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม ให้เขาเข้ามาเรียนรู้วิธีคิดของเรา เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งถ้าเขาต้องการไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมืองระดับประเทศ นั่นก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา” ตัวแทนกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบกล่าว

ปราบ กล่าวด้วยว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกเชิดชูว่าเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน เพราะธรรมศาสตร์รักประชาชน แต่นักศึกษาปีหนึ่งที่เข้ามากลับไม่มีใครจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ แล้วคนที่เข้ามาในธรรมศาสตร์แล้วอยากเห็นภาพการเมืองในธรรมศาสตร์จะทำอย่างไร นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มีการตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับ ดังนั้นนักศึกษาปีหนึ่งในกลุ่มจึงมีจำนวนมาก

“ธรรมศาสตร์อยู่ในช่วงยุคสายลมแสงแดดมาแล้ว ต่อไปคนก็จะเข้าสู่ยุคแสวงหา ผมเชื่อว่าในตอนนี้ ในช่วงที่มีประเด็น 91 ศพนี้ การรับผิดชอบในชีวิต ผมคิดว่าคน นักเรียน นักศึกษาจะเข้ามาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น” ปราบแสดงความเห็น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนเสื้อแดงรำลึก 4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนสลายชุมนุม ความรู้สึกหลังพฤษภาเลือด

Posted: 19 Sep 2010 02:40 AM PDT

เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ ในโอกาสครบรอบ 4 ปี ของเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และ 4 เดือนการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้ลงมาปิดถนนหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่แยกราชประสงค์จนถึงแยกประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประสานกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนซึ่งมีกำหนดจัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว โดยนายสมบัติได้ใช้เครื่องเสียงจากรถของตำรวจ เพื่อขอให้ผู้ชุมนุมเปิดทางให้การจราจร แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากเครื่องเสียงมีขนาดเล็ก และมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ผู้ชุมุนุมส่วนใหญ่ปักหลักอยู่เต็มบริเวณแยกราชประสงค์ โห่ร้องเป็นระยะ บางส่วนเปิดเพลงเต้นรำกลางถนน ขณะที่อีกกลุ่มแยกไปร่วมกิจกรรมกับนายสมบัติ

ในช่วงเวลาเดียวกันมีการแจกจ่ายลูกโป่งสีแดง และมีกิจกรรมนอนตายตามจุดต่างๆ หลังจากนั้นมีการนำผ้าสีแดงขนาดใหญ่ที่มีความยาวนับสิบเมตรมาคลี่ออกเพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมกันเขียนข้อความ ก่อนจะนำไปผูกติดกับราวเหล็กกั้นทางเท้าที่ฝั่งห้างเกสรพลาซ่า

13.30 น.นายณัทพัช อัคฮาด น้องชาย น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.เดินทางมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่อาสากู้ชีพในชุดเอี๊ยมสีฟ้าติดเครื่องหมายกาชาดสีแดงซึ่งมีคราบเลือดติดอยู่หลายแห่งเพื่อมาร่วมกิจกรรม นายณัทพัชกล่าวว่าชุดดังกล่าวเป็นเอี๊ยมที่ น.ส.กมนเกด ใส่ในวันที่ถูกยิงเสียชีวิต
 
นายณัทพัชให้สัมภาษณ์ว่า พี่สาวของตนไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่เป็นอาสาพยาบาลที่มาช่วยคนทุกสี แต่เมื่อถูกยิงเสียชีวิต กลับมีแต่คนเสื้อแดงเท่านั้นที่เห็นใจ ทั้งนี้ การรัฐประหาร 19 ก.ย.เป็นจุดเริ่มของสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่สาวของตนและกับอีกหลายคนซึ่งได้รับบาดเจ็บ การรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตยที่ร้ายแรงที่สุดและเป็นสาเหตุของมิคสัญญีในทุกวันนี้ ส่วนผู้ที่สูญเสียมากที่สุดคือประชาชนทั่วไปที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย และผลสุดท้ายที่ร้ายแรงที่สุดของการรัฐประหารคือการฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฆ่าอาสาพยาบาลและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ โดยที่ข้อมูลจากฝ่ายรัฐยังคงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตลอดมา
 
นายณัทพัชกล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยยังคงมีกลุ่มอำมาตย์และไพร่ การปรองดองจะเกิดได้ยาก ส่วนการปรองดองของคนเสื้อแดงคือ ต้องไม่มี 2 มาตรฐาน คนที่ยิงประชาชนต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ถูกต้อง และหากจะมีการทำรัฐประหารอีก ตนจะออกมาคัดค้านแบบหัวชนฝา
 
นอกจากนี้ นายณัทพัชยังกล่าวถึงคดีการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกดว่า ล่าสุดได้เดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อสอบถามความคืบหน้า ซึ่งปรากฏว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และทางดีเอสไอได้ขอให้นำหลักฐานที่แสดงว่าทหารใช้อาวุธปืนยิง น.ส.กมนเกดมาให้ ตนจึงจะเดินทางไปศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือศอฉ.ในวันพุธที่ 22 ก.ย.นี้ เพื่อขอแถลงการณ์ ศอฉ.วันที่ 14 พ.ค.53 ที่ให้ทหารใช้อาวุธจริงได้และการติดป้ายพื้นที่การใช้กระสุนจริงมาเป็นหลักฐาน ซึ่งนายณัทพัชกล่าวว่าแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวของ ศอฉ.สอดคล้องกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชน
 
ด้านทวิตเตอร์ของ จส.100 https://twitter.com/js100radio รายงานว่า แยกราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ใช้เพียง 1 ช่องทางซ้าย โดยจะบังคับรถให้เลี้ยวซ้ายเข้าถ.ราชดำริเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ตรงไปแยกปทุมวันหรือเลี้ยวขวาที่แยกราชประสงค์ อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าบีทีเอสยังให้บริการปกติทุกเส้นทาง

ทวิตเตอร์ของคลื่น 100.5 เอฟเอ็ม https://twitter.com/news1005fm รายงานว่า พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพิ่มกำลังเป็น 25 กองร้อย ดูแลความปลอดภัยการชุมนุมแยกราชประสงค์ และมีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่มอีก 30 จุด

ด้านห้างสรรพสินค้าเกษร พลาซ่า ประกาศปิดบริการในวันนี้ ส่วนห้างเซ็นทรัล ชิดลม ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่มีการตรวจค้นบุคคลเข้า-ออก และสิ่งของสัมภาระอย่างเข้มงวด ขณะที่สยามพารากอน สยาม ดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ จะปิดให้บริการเวลา 18.00 น.

เวลาประมาณ 15.00 น. นักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ประมาณ 20 คน ถือพวงหรีดและกระถางถูปไว้อาลัยแก่ประชาธิปไตยไทย เดินทางมาร่วมสมทบกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์หลังตระเวนรณรงค์ไปยังสถานที BTS สถานีต่างๆ แล้ว โดยได้รับการต้อนรับปรบมือ โห่ร้องจากคนเสื้อแดงจำนวนมาก

16.30 น.นายสมบัติเริ่มกิจกรรม “จดหมายถึงฟ้า” โดยนำปล่อยลูกโป่งสีแดงจำนวนหนึ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันปล่อยลูกโป่งที่มีข้อความต่างๆ ขึ้นไปบนท้องฟ้าด้วยเช่นกัน ในขณะที่บางส่วนมีการร้องเพลงและเต้นรำอย่างสนุกสนาน
 
นายสมบัติให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า จำนวนผู้ที่มาร่วมกิจกรรมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนที่ตนเองและรัฐบาลประเมินไว้ จึงเป็นการสะท้อนว่ายังมีคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ยังมีความรู้สึกและต้องการแสดงออก แม้จะอยู่ในพื้นที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉินก็ตาม ส่วนการปล่อยลูกโป่งที่มีเครื่องหมายคำถามและข้อความขึ้นสู่ท้องฟ้า เนื่องจากรัฐบาลไม่ตอบคำถามเรื่องความรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชน นายสมบัติกล่าวว่า มีคำพูดอยู่ว่าคำตอบอยู่ในสายลม จึงปล่อยลูกโป่งให้ลอยไปตามสายลมไปบนฟ้า เผื่อว่าจะมีใครตอบคำถามนี้บ้าง
 
นอกจากนี้นายสมบัติยังกล่าวด้วยว่า รัฐประหาร 19 ก.ย.เป็นสาเหตุที่นำประเทศมาสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์จะนำไปสู่เรื่องราวที่ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง
 
“รัฐประหารนำประเทศชาติมาสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เหตุการณ์ 4 เดือนราชประสงค์ จะเป็นบาดแผลครั้งสำคัญ จะนำไปสู่เรื่องราวที่ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบ นี่จะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง รัฐบาลอาจจะพยายามบิดเบือนและลืมเลือนเรื่องราวเหล่านี้ แต่พวกเรามาที่นี่เพื่อจะบอกว่า เราไม่ลืม” นายสมบัติกล่าว
 
นายสมบัติกล่าวถึงการจัดกิจกรรมจากนี้ไปว่าจะยังไม่มีกิจกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่จะมีการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้มีขนาดเล็ก เช่น การปั่นจักรยาน และถ้าจะมีการจัดกิจกรรมที่มีคนมาร่วมเป็นหมื่นหรือแสนคน หากรัฐบาลมองว่าการลงมาบนถนนจะเกิดอันตราย ตนก็จะขอใช้สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง หรือราชมังคลากีฬาสถานแทน
 
สำหรับกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงในสัปดาห์ต่อไป นายสมบัติกล่าวว่าจะไปจัดกิจกรรมปั่นจักรยานที่ จ.อุดรธานี ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง และเป็นพื้นที่ที่ยังมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

16.53 น. โฆษก ศอฉ. เผยกับ คลื่นเอฟเอ็ม 100.5 ว่า ตำรวจยังไม่ได้ร้องขอกองกำลังเสริมจากทหาร แต่ทางกองทัพได้เตรียมทหารไว้ ณ ที่ตั้งประมาณ 5-6 กองร้อย

17.00 น. บก.ลายจุดประกาศจะยุติการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในเวลา 18.00น. เพราะเกรงว่า มืดแล้วจะควบคุมมวลชนได้ยาก หลังจากนั้นจึงมีการร่วมกันปล่อยลูกโป่งสีแดงขึ้นสู่ท้องฟ้า และมีกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ตลอดกิจกรรมมีผู้นำผ้าแดงเส้นเล็กๆ มาผูกเข้ากับผ้าแดงที่โยงมาจากราวกันตกบนทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยผูกโยงกันในลักษณะแห คล้ายใยแมงมุมสีแดงคลุมไปทั่วแยกราชประสงค์

 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ทักษิณ’ ทวีต 19 ก.ย.ขอคืนความปรองดอง

Posted: 18 Sep 2010 09:48 PM PDT

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.53 เวลาประมาณ 23.00น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งถูกทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ทวีตเกี่ยวกับการรัฐประหารที่ https://twitter.com/Thaksinlive ระบุว่า
“อีกไม่กี่ชั่วโมงก็เช้า 19 ก.ย.แล้ว ก็เป็นวันครบรอบ 4 ปีของการปฏิวัติ 4 เดือนของโศกนาฎกรรมทางการเมืองที่แสนสาหัส ผมอยากเห็นการมองไปข้างหน้าร่วมกัน
ผมอยากเห็นการเยียวยาผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมจากการขัดแย้งในครั้งนี้ ผมอยากเห็นการให้อภัยซึ่งกันและกัน ผมอยากเห็นความมีเมตตาต่อกัน ผมไม่อยากเห็นการก่อความไม่สงบใดฯ ผมไม่อยากเห็นการนำสถาบันฯมายุ่งกับการเมือง ผมไม่อยากเห็นการทำลายซึ่งกันและกันด้วยระบบ 2 มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม นี่คือ ความหมายของคำว่าปรองดองครับ ผมขอให้การนองเลือดที่ทหารต้องปราบปรามประชาชนเมื่อ 19 พ.ค.53 เป็นครั้งสุดท้าย ผมขอให้การปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 เป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน ขอให้การขัดแย้งที่นำความเสียหายอย่างมหันต์แก่ประเทศ แก่ประชาชน แก่สถาบันแทบทุกสถาบันเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายเถอะครับสาธุ
4 ปีเราเจ็บปวดกันมามากแล้วเราได้ทิ้งหลักการ ทิ้งอุดมการณ์ ทิ้งหลักกฎหมายและหลักความเป็นธรรม เราทิ้งคุณธรรมจริยธรรม เราทิ้งวัฒนธรรมอันดีงามที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพียงแค่เราต้องการเอาชนะกันทั้งที่พูดกันรู้เรื่องเพราะเป็นคนด้วยกันหันหน้าพูดกันเถอะครับไม่มีโอกาสไหนที่จะพูดกันดีกว่าโอกาสนี้อีกแล้ว ผมรู้ว่าหลายคนยังโกรธหลายคนยังไม่พอใจแต่ขอให้คิดว่าคำว่าชาติที่รุ่งเรือง ต้องประกอบด้วยคนในชาติที่รู้จักคำว่าเสียสละ มาร่วมกันเสียสละยอมกลืนความเจ็บปวดคนละนิด เริ่มกระบวนการปรองดองด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาต่อเพื่อนร่วมชาติซึ่งได้ ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน 
ผมหวังว่าคงจะไม่มีคนไหนขาดสติทำลายการปรองดองของคนในชาติ เราเสียหายกันเยอะแล้ว ความสุขที่เราเคยมีอยู่หายไปนานแล้วช่วยกันตามกลับมาคืนคนไทยเถอะ”
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่จัดเลือกตั้ง! กกต.พม่าสั่งงดในรัฐชนกลุ่มน้อย 5 รัฐ

Posted: 18 Sep 2010 09:29 PM PDT

กกต.พม่าประกาศงดจัดการเลือกตั้งคลุมพื้นที่ 32 อำเภอใน 5 รัฐ โดยไม่ระบุเหตุผล คลุมพื้นที่ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม บก.สำนักข่าวฉานชี้งดเลือกตั้งเหตุตึงเครียดระหว่างพม่า – ชนกลุ่มน้อย ขณะที่ยังจัดการเลือกตั้งในเขตว้าที่ติดกับไทย เพื่อส่งสัญญาณถึงกอง บก.ใหญ่ของว้าที่ปางซางว่า ไม่ร่วมเลือกตั้งก็ไม่เป็นไร แต่ “คนของคุณ” ที่ชายแดนไทย ทหารพม่ายังคุยได้อยู่

 
 
 
 

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 17 ก.ย. 53 หน้า 8, 9 และ 16
ตีพิมพ์คำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพพม่า (กกต.พม่า)
ฉบับที่ 99/2010, 100/2010, 101/2010, 102/2010, 103/2010 และ 104/2010
ลงนามโดย ถั่นซอ (Thein Soe) ลงวันที่ 16 ก.ย. 2010
โดยมีผลทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง ใน 32 อำเภอในพื้นที่ 5 รัฐชนกลุ่มน้อยของพม่า

 
 
 
พม่างดจัดเลือกตั้งคลุมพื้นที่ 32 อำเภอ ใน 5 รัฐชนกลุ่มน้อย
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่า ฉบับวันที่ 17 ก.ย. ได้ตีพิมพ์คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพพม่า (กกต.พม่า) ฉบับที่ 99/2010, 100/2010, 101/2010, 102/2010, 103/2010 และ 104/2010 ลงนามโดย ถั่นซอ (Thein Soe) ลงวันที่ 16 ก.ย. 2010 เรื่องท้องที่ซึ่งงดจัดการเลือกตั้ง
 
โดยคำสั่งฉบับที่ 99/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่นใน 68 ตำบล จาก 9 อำเภอ (township) คำสั่งฉบับที่ 100/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐคะยาห์ใน 9 ตำบลจาก 2 อำเภอ คำสั่งฉบับที่ 101/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐกะเหรี่ยงใน 155 ตำบลจาก 7 อำเภอ คำสั่งฉบับที่ 102/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐมอญ ใน 9 ตำบลจาก 2 อำเภอ คำสั่งฉบับที่ 103/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐฉาน 59 ตำบลใน 12 อำเภอ เฉพาะในรัฐฉาน มี 4 อำเภอ ที่จะไม่มีการเลือกตั้งเลยในทุกตำบล คือ ปางซาง นาปัน ปางแหวน และเมืองมาว
 
โดยพื้นที่ที่จะไม่มีการเลือกตั้งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าและยังตัดสินใจเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ได้แก่ กองทัพเพื่ออิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ในรัฐคะฉิ่น กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มเมืองลา (NDAA) ในรัฐฉาน กองกำลังในสังกัดพรรคแผ่นดินใหม่คะยาห์ (KNLP) ในรัฐคะเรนนี กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) กองพลน้อยที่ 5 ในรัฐกะเหรี่ยง และพื้นที่อิทธิพลของพรรคมอญใหม่ (NMSP) ในรัฐมอญ
 
 
สั่งยุบพรรคคะยาห์ – เตรียมประกาศชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20 ก.ย.
นอกจากนี้ กกต.พม่า ยังมีคำสั่งฉบับที่ 104/2010 เรื่อง การเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง และคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง โดยข้อแรกมีคำสั่งอนุญาตให้กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคการเมือง มีสภาพเป็นพรรคการเมืองได้ตาม มาตรา 3 ของกฎหมายลงทะเบียนพรรคการเมือง และข้อสอง มีคำสั่งยุบพรรคเชื้อชาติทั้งมวลและการพัฒนา (รัฐคะยาห์) (ANRUDP – Kayah State) เนื่องจากไม่ลงทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วันที่กำหนด จึงเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ตั้งพรรคดังกล่าว และให้ยุบพรรค
 
ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ยังระบุด้วยว่า ในวันที่ 20 ก.ย. นี้ จะมีการประกาศทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยผู้ที่รายชื่อตกหล่นให้มาลงทะเบียนรายชื่อภายใน 7 วัน นับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีที่พำนักนอกเขตเลือกตั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 180 วันขึ้นไป และต้องการมีสิทธิเลือกตั้งในสถานที่พำนักให้ไปแจ้งความประสงค์เลือกตั้งนอกเขต โดยต้องมีหนังสือรับรองที่ออกโดยสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐในพื้นที่พำนักของตน โดยต้องอยู่ในพื้นที่พำนักดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง
 
ถ้าผู้ลงคะแนนต้องการแก้ไขข้อมูลของตนในทะเบียนเลือกตั้ง ให้แจ้งภายใน 7 วัน นับจากวันที่มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดมีชื่อเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งของตนเอง และต้องการแก้ไขให้ถูกต้อง ให้นำทะเบียนบ้านไปเป็นหลักฐานเพื่อแจ้งแก้ไขรายชื่อให้อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ถูกต้อง
 
ทั้งนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 ก.ย.) กกต.พม่า ประกาศว่าการเลือกตั้ง 7 พ.ย. จะมีพรรคการเมือง 37 พรรคลงแข่งขัน ขณะที่ 5 พรรคการเมือง รวมทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มีนางอองซาน ซูจีเป็นผู้นำ และพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ซึ่งเป็น 2 พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งปี 2533 ถูกยุบพรรค เนื่องจากไม่เข้าสู่การลงทะเบียนพรรคการเมืองตามที่ กกต.พม่ากำหนด
 
ทั้งนี้พรรค NLD ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง 7 พ.ย. ดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่มีความชอบธรรมและไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ตามกฎหมายเลือกตั้งมีผลทำให้ออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองกว่าสองพันไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้เนื่องจากต้องโทษ
 
ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 การเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย. ที่จะถึงนี้ เป็นการเลือกตั้ง 3 ระดับ ได้แก่ สภาประชาชน (สภาผู้แทนราษฎร) 330 ที่นั่ง จากทั้งหมด 440 ที่นั่ง โดยอีก 110 ที่นั่ง หรือร้อยละ 25 มาจากแต่งตั้งของทหาร สภาแห่งชาติ (วุฒิสภา) มีการเลือกตั้ง 168 ที่นั่ง จาก 224 ที่นั่ง โดยอีก 56 ที่นั่งหรือร้อยละ 25 มาจากการแต่งตั้งของทหาร และการเลือกตั้งระดับสภาท้องถิ่น 7 รัฐ และ 7 ภาคทั่วพม่า รวม 689 ที่นั่ง
 
ขณะที่พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party) หรือ USDP ของนายกรัฐมนตรีเตงเส่ง (Thein Sein) และ 26 รัฐมนตรีที่เป็นนายทหาร จะลงแข่งในทุกเขตเลือกตั้ง
 
 
บก.สำนักข่าวฉานระบุงดเลือกตั้งบางพื้นที่เหตุตึงเครียดระหว่างพม่า - ชนกลุ่มน้อย
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) “ประชาไท” สัมภาษณ์อาจารย์คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ซึ่งเป็นสำนักข่าวซึ่งรายงานสถานการณ์ในรัฐฉาน สหภาพพม่า เกี่ยวกับการประกาศงดจัดการเลือกตั้งหลายพื้นที่ในพม่า โดยอาจารย์คืนใส ระบุว่าการงดจัดการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อปี 2533 ก็มีการทำในลักษณะนี้ ในเวลานั้นกลุ่มว้า และเมืองลา ซึ่งเพิ่งทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าในปี 2531 ก็มีความสัมพันธ์ที่ดี แต่กฎหมายเลือกตั้งออกมาก่อนการเจรจาหยุดยิง ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในเขตดังกล่าว ขณะที่ในปีนี้ไม่มีการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวเช่นกัน โดยสาเหตุที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตคือ น่าจะเกิดจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างกลุ่มว้าและเมืองลา กับรัฐบาลพม่า
 
นอกจากนี้ ยังสามารถกล่าวได้ว่า พม่าได้ใช้จิตวิทยาโจมตีว้าและเมืองลา และส่งสัญญาณไปยังจีน ถ้าพวกนี้ไม่เข้าร่วมเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน เราก็ไม่แคร์เหมือนกัน
 
เกี่ยวกับคำถามที่ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดฐานเสียงพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติรัฐฉาน (SNDP) หรือไม่ บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน ระบุว่า ไม่เกี่ยวข้อง เพราะในพื้นที่ๆ ไม่มีการเลือกตั้ง พรรคดังกล่าวไม่มีฐานเสียง นอกจากนี้การไม่จัดการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย แต่เป็นเรื่องการเมืองตึงเครียดระหว่างกลุ่มหยุดยิงของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะกรณีว้า ที่จะเป็นฝ่ายไม่ปลอดภัยก็เป็นฝ่ายพม่า ถ้าซี้ซั้วเอาทหารเข้าไปก็มีปัญหา
 
ส่วนกรณีที่พื้นที่ในเขตรัฐฉานตอนใต้ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองทัพสหรัฐว้า กองพลที่ 171 ยังเป็นเขตที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย. นั้น บรรณาธิการสำนักข่าวฉานวิเคราะห์ว่า เป็นการส่งสัญญาณไปยังกองทัพสหรัฐว้า ส่วนที่อยู่ที่ฐานบัญชาการที่เมืองปางซาง ทางตอนเหนือของรัฐฉานว่า
 
“เป็นสัญญาณ (จากรัฐบาลพม่า) ว่ายังสามารถจัดการเลือกตั้งได้อยู่ คุณ (ว้า) ไม่ร่วมก็ไม่เป็นไร คนของคุณที่อยู่ชายแดนไทย เราก็ยังสามารถพูดกันได้อยู่” บก.สำนักข่าวฉานกล่าว
 
 
ที่มาของข่าว: แปลบางส่วนจาก
Electoral rolls to be issued, P1 Union Election Commission issues Notification No. 99/2010, Areas where elections will not be held, New Light of Myanmar, Sept 17, 2010 P8 and P16
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ปาหี่ ‘ทางออกประเทศไทยแก้วิกฤตพลังงาน’ ไม่เสนอผลเสียนิวเคลียร์

Posted: 18 Sep 2010 09:03 PM PDT

 
19 ก.ย.53 ตามที่ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้เข้าร่วมเวทีทางออกของประเทศไทยในการแก้วิกฤตพลังงานที่จัดโดยกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ร่วมกับกฟผ.และกระทรวงพลังงานนั้น
นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของกฟผ.จำนวน 4,000 เมกกะวัตต์ ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า งานนี้ถูกออกแบบมาไม่มีการนำเสนอผลเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลย เป็นไปได้อย่างไรที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่มีข้อเสียเลย โดยเฉพาะบทบาทของกรรมาธิการพลังงานวุฒิสภา เห็นแล้วทำให้เข้าใจว่าไม่ต่างจากบริษัทรับจ้างทำงานประชาสัมพันธ์ให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ บอกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีจุดแข็งคือต้นทุนต่ำ แต่ในเอกสารประกอบกลับยอมรับมาเองว่ามีจุดอ่อนคือ งบประมาณบานปลาย แสดงว่าต้นทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้ต่ำจริง และเราขอตั้งข้อสังเกตว่า กฟผ.และกระทรวงพลังงานไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะถึงที่มาของการคำนวณตัวเลขต้นทุนจากทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน
นางสุรีรัตน์กล่าวต่อว่า ความพยายามทำให้เกิดวิกฤตพลังงานนั้น ชาวบ้านก็ตั้งข้อสังเกตว่าจริงหรือ เพราะจากการตามแผนพีดีพีมา 13 ปีพบว่าข้อเท็จจริงคือไฟฟ้าสำรองเกินมาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่กฟผ.หยุดซ่อมโรงไฟฟ้าของกฟผ.ในฤดูร้อน ช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก จะดึงตัวเลขไฟฟ้าสำรองให้ดูต่ำในช่วงมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพื่ออ้างเหตุผลในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ใช่หรือไม่
“นี่ถ้าเป็นธุรกิจส่วนตัวบริหารงานแบบนี้เจ๊งไปนานแล้ว แต่สำหรับกฟผ.อยู่กันได้และได้โบนัสมากด้วยเพราะกฎหมายเอื้อระบบประกันกำไรให้กฟผ.ปีละ 8% ที่สุดท้ายค่าใช้จ่ายและค่ากำไรก็ไปรวมอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องรับภาระจ่ายแทน” สุรีรัตน์กล่าวและว่า ระบบแบบนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานชาติ ควรสั่งแก้ไขระบบประกันกำไรให้กฟผ.ได้แล้ว และหันกลับมาส่งเสริมความโปร่งใสในการวางแผนพีดีพี เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่า
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น