โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N ปะทะทหารพม่า

Posted: 17 Sep 2010 01:04 PM PDT

มีรายงานว่า เมื่อเวลา 17.40 น. ของวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างชุดลาดตระเวนกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ภายใต้การนำของร.ท.แสงหาญ กับทหารพม่าไม่ทราบจำนวนจากกองพันทหารราบที่ 147 ฐานบ้านคายสิ่ม เมืองน้ำตู้ ที่บริเวณบ้านผักตบ ต.ต้นแกง เมืองสี่ป้อ ตะวันตกเส้นทางเมืองล่าเสี้ยว – เมืองไหย๋ รัฐฉานภาคเหนือ

ทั้งนี้ เหตุปะทะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ทหารพม่ามีคำสั่งให้กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" กองพลน้อยที่ 1 ภายใต้การบังคับบัญชาของพล.ต.ป่างฟ้า ที่ปฏิเสธรับข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ถอนกำลังออกไปก่อนหน้านี้ และนับเป็นการปะทะครั้งแรกระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N อย่างไรก็ตาม ผลการปะทะของทั้งสองฝ่ายยังไม่เป็นที่ชัดเจน ขณะที่มีรายงานไม่ยืนยันว่า ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 3 นาย ฝ่าย SSA-N ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย

มีรายงานด้วยว่า นับตั้งแต่ทางการพม่ายื่นคำขาดให้กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N จัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ภายในวันที่ 1 ก.ย. ทาง SSA-N ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจตรายานยนต์ที่เข้าออกในพื้นที่ทุกเส้นทางอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแทรกซึมของทหารพม่า

ขณะที่ฝ่ายทหารพม่าได้มีการเสริมกำลังเข้าประชิดพื้นที่เคลื่อนไหวของ SSA-N ในเมืองต้างยาน เกซี และเมืองสู้ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บก.กองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ยังมีคำสั่งให้กำลังพลทั้งหมดอยู่ในความพร้อมตลอด 24 ชม. และเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา บก.ควบคุมยุทธการที่ 1 ประจำเมืองจ๊อกแม รัฐฉานภาคเหนือ ได้จัดส่งกำลังพลจำนวน 3 กองพัน ไปเสริมในบริเวณดอยปางโหลง ตะวันออกแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามเขตพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มหยุดยิงว้า UWSA ทั้งนี้ เพื่อตัดกำลังการช่วยเหลือกันระหว่างกองกำลัง SSA-N และกองกำลังว้า UWSA

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

๑๙ กันยานี้ พรรคเพื่อไทย จะปรองดองหรือจะยอมแพ้?

Posted: 17 Sep 2010 12:47 PM PDT

ขบวนการเสื้อแดงได้สร้างประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่น่าภูมิใจ ขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการรากหญ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่การต่อสู้ต้องกระทำท่ามกลางความเจ็บปวด และการเสียสละ

ใครๆ พูดเรื่องปรองดองก็ได้ ฟังแล้วดูดีทั้งนั้นถ้าไม่พิจารณาความหมายของการปรองดอง ใครๆ ก็คงต้องการสันติภาพและความสงบสุข ถ้าแค่พูดลอยๆ นามธรรม แต่ในโลกจริงเราต้องทราบว่าในรูปธรรมการปรองดองหมายความว่าอะไร และสันติภาพและความสงบสุขจะสร้างบนเงื่อนไขอะไร

สิ่งที่เสื้อแดงทุกคนต้องการคือ

1. ประชาธิปไตยแท้
2. การยกเลิกสองมาตรฐานทางกฎหมาย
3. การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน
4. การลงโทษผู้ที่สั่งฆ่าประชาชน

นี่คือประเด็นสำคัญพื้นฐาน และเป็นเงื่อนไขสามัญในการสร้างประชาธิปไตย และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน นอกจากนี้มันเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สุดขั้วเกินเหตุแต่อย่างใด แล้วทำไม พรรคเพื่อไทย ไม่พูดถึงประเด็นเหล่านี้ในรูปธรรม?
รัฐบาลอำมาตย์ของอภิสิทธิ์เสนออะไรเพื่อปรองดอง? รัฐบาลอำมาตย์เสนอว่าควรจะมีการเจรจา แต่ในการเจรจาจะต้องไม่มีแกนนำสำคัญของขบวนการเสื้อแดง เช่นคุณจตุพร นอกจากนี้รัฐบาลอำมาตย์ไม่สัญญาหรือให้อะไรทั้งสิ้น จบแค่นี้ แต่มีข้อเรียกร้องต่อคนเสื้อแดงมากมาย เช่น “คนเสื้อแดงต้องยุติการเคลื่อนไหว” “คนเสื้อแดงต้องยุติการผลิตสื่อของตนเอง” “คนเสื้อแดงต้องไม่ก่อความรุนแรง” อันหลังนี้หน้าด้านมาก เพราะผู้ที่ใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนคือรัฐบาลอภิสิทธิ์กับทหาร

สิ่งที่อำมาตย์กำลังทำไม่ใช่การปรองดองแต่อย่างใด มันเป็นพฤติกรรมของโจรนักเลงต่างหาก คืออำมาตย์มันเอารถถังและทหารมาปล้นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพเมื่อ 19 กันยายน 2549 มันทำลายรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยใช้ศาล มันยุบพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดสองรอบ มันก่อความวุ่นวายที่สนามบินด้วยกองกำลังอันธพาล มันตั้งรัฐบาลเผด็จการภายใต้อภิสิทธิ์ มันเซ็นเซอร์สื่อ แล้วมันฆ่าประชาชนในเมษายน 2552 และเมษายน พฤษภาคม 2553 และคนที่ไม่โดนฆ่าก็ถูกจับเข้าคุก จนตอนนี้ไทยมีนักโทษการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์.... เสร็จแล้วอำมาตย์มันหันมาบอกคนเสื้อแดงว่า “พวกคุณเลิกได้แล้วเพื่อการปรองดอง” นั้นไม่ใช่ปรองดอง มันเป็นการข่มขู่ ไม่ต่างจากโจรที่ปล้นบ้านเสร็จแล้วบอกเจ้าของบ้านให้เลิกหาเรื่อง

“ปรองดอง” ของอภิสิทธิ์และอำมาตย์คือการบอกคนเสื้อแดงว่าฝ่ายมันจะรักษาอำนาจทุกอย่างไว้ และคนเสื้อแดงต้องยุติกิจกรรม

“ปรองดอง” ของอำมาตย์คือการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่มีรัฐบาลผสมของหลายพรรคที่แบ่งกันกิน ผลัดกันนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี โดยที่รัฐบาลนั้นอ่อนแอเพื่อเปิดช่องให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญแทรกแซง มันเป็นระบบที่อาศัยการซื้อขายเสียงอย่างเดียว ไม่ต้องเสนอนโยบายอะไรที่เป็นรูปธรรมหรือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
แล้วปรองดองของผู้นำพรรคเพื่อไทยคืออะไร? ปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบายว่ามันคือ

1. การยอมรับการปรองดองของอภิสิทธิ์
2. การร่วมกันสร้างประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเท่าเทียม
3. การไม่สนับสนุนความรุนแรง
4. การร่วมถวายความจงรักภักดี
5. การเจรจากับอำมาตย์โดยที่เสื้อแดงไม่มีส่วนร่วม

มันมีแต่ “น้ำ” ไม่มีสาระอะไร แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ไม่มีการพูดถึงสี่ประเด็นสำคัญคือ

1. การปล่อยนักโทษการเมือง
2. การยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน และการเซ็นเซอร์สื่อต่างๆ
3. การปูทางไปสู่การลงโทษผู้สั่งฆ่าประชาชน
4. การประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน และกติกาการเลือกตั้งที่โปรงใสและเป็นธรรม

คำถามที่คนเสื้อแดงต้องถามกับผู้นำพรรคเพื่อไทยคือ “คุณกำลังจะยอมแพ้เพื่อปกป้องอาชีพนักการเมืองของคุณ หรือคุณจะหาทางปรองดองโดยเป็นผู้แทนของคนเสื้อแดง”?

ถ้าจะมีการปรองดองที่ดีที่สุดเพื่อความสงบสุขของประเทศ ผู้กระทำความผิดต้องยอมรับผิด โดยการสัญญาว่าจะเลิกกระทำความผิด เช่น อำมาตย์ต้องสัญญาว่าจะฟังเสียงประชาชนโดยที่ไม่มีการแทรกแซงการเมืองโดยทหารหรือองค์กรอื่น ต้องสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ที่ชัดเจน และ กกต. ต้องแต่งตั้งใหม่ให้มีคนที่เชื่อถือได้ว่าจะรักษากติกาประชาธิปไตย ต้องยกเลิกการเซ็นเซอร์และ พรก.เผด็จการ ต้องปล่อยนักโทษเสื้อแดงทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ต้องให้นายกรัฐมนตรี ผบทบ. และนายพลที่มีส่วนใน ศอฉ. ลางานและพักตำแหน่ง เพื่อให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนการฆ่าประชาชน ต้องประกาศด้วยว่าจะตั้งกรรมการสอบสวนศาลที่ใช้สองมาตรฐานทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงฝ่ายอำมาตย์ไม่ยอมรับผิดแน่

เอาละ....ถ้าจะมีการปรองดอง อย่างน้อยสุดต้องมีการพบกันครึ่งทาง ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่ปรองดองแล้ว

การพบกันครึ่งทางคืออะไร?

1. ต้องประกันตัวนักโทษเสื้อแดงทุกคนทันทีและให้เข้าถึงทนาย
2. ต้องตั้งกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ เมษายน-พฤษภาคม ซึ่งครึ่งหนึ่งต้องเป็นฝ่ายเสื้อแดง(และไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทย) อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนของอำมาตย์
3. ต้องตั้งกรรมการอีกชุดในรูปแบบเดียวกัน เพื่อสอบสวนรัฐประหาร 19 กันยา และการที่ศาลใช้สองมาตรฐานทางกฎหมาย
4. ต้องประกาศยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และการปิดกั้นสื่อทันที เพื่อให้มีสื่อของทั้งสองฝ่ายที่ดำเนินการอย่างเสรีได้
5. ต้องประกาศวันยุบสภาและวันเลือกตั้ง และต้องแต่งตั้ง กกต. ใหม่ที่ประกอบไปด้วยคนที่ถูกเสนอจากฝ่ายเสื้อแดงครึ่งหนึ่งและฝ่ายอำมาตย์ครึ่งหนึ่ง
6. การเจรจาต่างๆ ต้องเปิดกว้าง เจรจาในที่สาธารณะ และประกอบไปด้วยตัวแทนของทุกฝ่ายรวมถึงคนเสื้อแดงด้วย

คนเสื้อแดงต้องยื่นคำขาดต่อพรรคเพื่อไทย เราต้องพูดชัดๆ ว่า “อย่าประเมินคนเสื้อแดงต่ำเกินไป” “อย่าคิดว่าคนเสื้อแดงจะเลือกพรรคเพื่อไทยตลอดไปโดยไม่มีเงื่อนไข” และเงื่อนไขของคนเสื้อแดงคือ พรรคเพื่อไทยต้องฟังคนเสื้อแดงทั้งหมด และทำตัวเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ในขบวนการเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยต้องเปิดรับคนเสื้อแดงเข้าไปสมัครเป็น สส. ต้องเสนอนโยบายใหม่ๆ ที่จะครองใจประชาชน และถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ฟัง คนเสื้อแดงต้องสร้างพรรคใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้แปลว่าคนเสื้อแดงต้องรักษาองค์กรด้วยกิจการต่อเนื่อง และต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนจนทุกคนชัดเจนว่าต้องการอะไร
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครองนัดฟังคำสั่ง 3 จี 20 ก.ย. รมว. -ไอซีที เตรียมเสนอบรอดแบนด์แห่งชาติ

Posted: 17 Sep 2010 11:39 AM PDT

ศาลปกครองกลางนัดฟังคำสั่ง กทช.ยื่นคัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีกสท.ฟ้องระงับการจัดประมูล3จี 20 ก.ย.นี้ ด้าน รัฐมนตรีไอซีที เตรียมเสนอบรอดแบนด์แห่งชาติกำหนดนโยบายหลักให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประชาชนมีโอกาสเลือกใช้บริการที่หลากหลายทั่วถึงเท่าเทียมกัน ค่าบริการสมเหตุผล ผู้ให้บริการรายเล็กแข่งขันได้

เมื่อเวลา 22.50 น.วันที่ 17 ก.ย. นายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี บริษัท กสท. โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองกลางว่า ศาลได้นัดฟังคำสั่งกรณี คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีที่ กสท. ยื่นฟ้องระงับการจัดประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เวลา 08.30น.

ขณะที่ กทช. จะยังคงไม่ยุติกระบวนการประมูล 3 จี โดยจะรอฟังคำสั่งศาลในวันที่ 20 ก.ย.นี้ หากศาลรับอุทธรณ์ก็จะจัดประมูลต่อไป แต่ถ้าไม่รับก็จะยกเลิกการจัดประมูล

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 17.00 น.ที่ผ่านมา สำนักงานศาลปกครองได้จัดสำนวนที่ กทช. ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กับองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดพิจารณา

ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงาน 3 จี และ กทช. กล่าวว่า ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองว่าให้รอฟังคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในเวลาประมาณ 23.00 น. วันที่ 17 ก.ย. นี้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นคำสั่งรับหรือไม่รับคำอุทธรณ์ หรือจะเป็นคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน หรือจะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองหรือเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น

ขณะที่ทางกสท. ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลปกครองให้รอฟังคำสั่งเช่นกัน ซึ่งหากศาลปกครองมีคำสั่งเพียงรับคำอุทธรณ์แต่ไม่มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้น กสท.ก็เตรียมทำคำแก้อุทธรณ์ยื่นศาลปกครองสูงสุดต่อไป

จุติ เตรียมเสนอ บรอดแบนด์แห่งชาติ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่านายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวภายหลังการประชุมร่วมคณะกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า ไอซีทีได้นำเสนอ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่ง ชาติให้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีพิจารณา หลังจากที่กระทรวงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดทำร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้การพัฒนาบรอดแบนด์ของ ประเทศไทยเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน มีความเป็นเอกภาพสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ และสามารถรองรับความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมตามมติของคณะ รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553

สาระสำคัญของ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติที่กระทรวงเสนอให้ กทสช. พิจารณา ก็คือ การกำหนดนโยบายหลักให้บริการบรอดแบนด์เป็น สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นเดียวกับน้ำ ไฟฟ้า หรือถนนทางด่วนที่ต้องมีอย่างเพียงพอ ประชาชนมีโอกาสเลือกใช้บริการที่หลากหลายทั่วถึงเท่าเทียมกัน ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสแข่งขันอย่างเสมอภาค โดยมีอัตราค่าบริการพื้นฐานที่เหมาะสม และมีการให้บริการแบบ 24x7 ที่ระดับคุณภาพเชื่อถือได้ 99.99% ภายในปี 2558

"เราอยากให้โครงข่ายบรอดแบนด์เป็น ตัวช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษา สาธารณสุข บริการของรัฐ เศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ดี ขึ้น โดยมีการครอบคลุมอย่างทั่วถึง คือ ให้ประชากรไทยไม่ต่ำกว่า 80% จะต้องสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ได้ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ภายในปี 2563 ซึ่งก็ถือเป็นการช่วยขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์ได้อีกทางหนึ่งนอกจาก 3จี”

สำหรับมาตรการที่วางไว้เพื่อผลักดันการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวนั้น มี 8 ข้อ คือ 1.ลดการลงทุนซ้ำซ้อนด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน 2.กำหนดให้มีการร่วมกันใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการบรอดแบนด์ในราคาที่เหมาะสมโดยรัฐต้องเป็นผู้นำในโครงการประเภทนี้

3.รัฐ ต้องมีนโยบายผลักดันและส่งเสริมตลาด (market intervention) เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม โดยส่งเสริมการเข้าถึงตลาดแบบเปิด (OPEN Access model) อันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด 4.เลิกการผูกขาดเชิงนโยบายของหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ คือ ไม่ให้สิทธิพิเศษหรือข้อยกเว้นแก่หน่วยงานภาครัฐที่ต้องแข่งขันกับเอกชนบน พื้นฐานการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวทางอย่างจริงจังสำหรับการลงทุนกิจการโทรคมนาคมแบบรัฐ ร่วมมือกับเอกชน (Public-Private Partnership) พร้อมไปกับการปกป้องสิทธิอันพึงได้ของพนักงานในหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้า ของอย่างเหมาะสม

5.ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับบริการบรอดแบนด์ 6.ส่งเสริมการใช้บรอดแบนด์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อม 7.ปกป้องภัยคุกคามและเตรียมการรับมือผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดตามมาจากการมีบริการบรอดแบนด์อย่างแพร่หลาย โดยต้องทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงประโยชน์และภัยอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้

และ8. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เสนอ ร่าง นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติฉบับสมบูรณ์แก่คณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอแนะการปรับปรุงนโยบายบรอดแบนด์แห่ง ชาติ กำหนดตัวชี้วัดและวิธีประเมินผลที่จำเป็นสำหรับการติดตามความสำเร็จของ นโยบายฯ ตลอดจนประสานการดำเนินงานที่จำเป็นกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถ บรรลุเป้าหมายของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

เตรียมร่างบรอดแบนด์เข้า ครม.
“ส่วนข้อเสนอที่กระทรวงต้องการให้ กทสช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ คือ การตั้งอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการภายใต้นโยบายทั้ง 8 ข้อ รวมทั้งนำร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เข้ารับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตลอดจนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกคณะกรรมการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ซ้ำซ้อนกับงานของคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้รวมงานที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียวอีกด้วย”

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ ครั้งนี้ กระทรวงฯ ยังมีการเสนอเรื่อง ร่าง กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ระยะ พ.ศ.2554 - 2563 (ICT 2020) ร่าง แผนแม่บทไอซีทีอา เซียน (ASEAN ICT MasterPlan 2015) และร่าง พระราชบัญญัติสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....เข้าสู่การพิจารณา เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปอีกด้วย

ที่มา: http://www.posttoday.com และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

[ปาฐกถาฉบับเต็ม] ผาสุก พงษ์ไพจิตร ทบทวนขบวนการสังคม-เสื้อเหลือง-เสื้อแดง: การต่อสู้ที่ไม่ใช่เฉพาะของชนชั้นนำอีกต่อไป

Posted: 17 Sep 2010 10:18 AM PDT

ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "หนึ่งทศวรรษ วิถีชีวิต วิถีสู้: ขบวนการประชาชนร่วมสมัย" ในการเสวนาเรื่อง "ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา

00000

ที่ผ่านมา ได้มีการประเมินขบวนการทางสังคมของไทยในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ต้นๆ ไว้บ้างแล้ว จะไม่พูดมากนัก อาจจะสรุปให้ฟังในส่วนแรก ในส่วนที่สอง จะพูดถึงกระบวนการเกิดขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยพยายามจะอธิบายให้มุมมองด้านความหักเหทางการเมือง ส่วนที่สาม จะพูดถึงนัยของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในเวลานี้กับการเมืองของไทยที่อาจมีขึ้นต่อไปในอนาคต

ขบวนการเสื้อเหลืองและขบวนการเสื้อแดงเป็นสงครามความคิดและสงครามแย่งชิงมวลชน ปรากฏการณ์นี้จึงแตกต่างจากขบวนการทางสังคมเมื่อทศวรรษ 2530 และต้นทศวรรษ 2540 ในการอภิปรายถึงขบวนการทางสังคมในช่วงก่อนปี 2540 นักวิเคราะห์ได้มีข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับขบวนการทางสังคมในสมัยนั้น โดยเรียกขบวนการสมัยนั้นว่าขบวนการทางสังคมใหม่ ในความหมายที่ว่า ขบวนการทางสังคมในบริบทของการเมืองภาคประชาชนตอนนั้นมีการจัดตั้งยึดโยงเป็นเครือข่ายแบบหลวมๆ ที่ใช้ปัญหาความล้มเหลวของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อน และขบวนการดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายที่จะแข่งขันเข้าเป็นรัฐบาล เป็นขบวนการที่ทำงานอยู่ข้างนอกระบบการเมืองอย่างเป็นทางการ ขบวนการทางสังคมดังกล่าวนี้มีองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นหัวขบวนที่สำคัญ ที่ร่วมคิดร่วมสร้างยุทธศาสตร์และสร้างความมั่นใจให้กับขบวนการ เพราะฉะนั้น บางครั้งเมื่อพูดถึงขบวนการสมัยนั้น จึงมีการสลับไปมาระหว่างขบวนการภาคประชาชนและขบวนการเอ็นจีโอประหนึ่งเป็นเนื้อเดียวกัน

ในครั้งนั้น ขบวนการทางสังคมเป็นการรวมตัวกลุ่มของราษฎร เพื่อแสดงความคับข้องใจ เสนอข้อเรียกร้องและต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานของรัฐบาล การเรียกร้องต่อรองนี้ประสบความสำเร็จในช่วงต้น เช่น การล้มโครงการ คจก. ที่กองทัพเป็นผู้ดำเนินการได้สำเร็จในต้นทศวรรษ 1990 แต่ต่อมา แม้องค์กรพัฒนาเอกชน จะทำงานหนักในการก่อร่างกระบวนการประชาชน แต่ไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเมื่อฟากรัฐบาลตระหนักถึงพลังอำนาจของประชาชนจำนวนมาก ก็ไม่ต้องการให้ขบวนการดังกล่าวเข้มแข็งขึ้น จึงหาช่องทางแบ่งแยกและปกครอง รวมทั้งซื้อหรือสร้างพันธมิตรให้เอ็นจีโอบางส่วนเข้าเป็นพวก จึงเกิดกระบวนการกลืนกลายส่วนหัวของขบวนการทางสังคมในสมัยนั้น นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความอ่อนแอ ไม่อยากเรียกว่าความล้มเหลว เพราะความอ่อนแอของขบวนการทางสังคมในสมัยนั้นยังมีสาเหตุอีกส่วนคือความไม่ลงรอยกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับชาวบ้านว่าควรจะมีวิถีชีวิตอย่างไร ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่อาจไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ ระบบตลาด แต่ต้องการเติบโตไปกับโลกาภิวัตน์ ขณะที่เอ็นจีโอจำนวนหนึ่งอาจจะมีโลกของตัวเองที่แตกต่างและไม่ปลื้มที่ประชาชนจำนวนมากเข้ากันได้กับพรรคการเมืองบางพรรคเหมือนปลาได้น้ำ

อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่อยากพูดเหมือนอย่างที่นักวิเคราะห์บางท่านบอกว่า ขบวนการสมัยนั้นเป็นความล้มเหลว เพราะได้เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับราษฎรภายใต้กรอบของระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย จนเรียกขานกันว่ายุคนั้นเป็นยุคของการเมืองภาคประชาชน แต่จุดอ่อนของขบวนการดังกล่าวเกิดความชัดเจนขึ้นเมื่อมีความหักเหทางการเมืองเกิดขึ้น

ภาวะหักเหทางการเมืองซึ่งก่อให้เกิดขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่ได้ฉีกแนวออกไปจากการเมืองภาคประชาชนของทศวรรษ 2530 โดยเสนอว่าขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นผลจากการหักเหที่สำคัญทางการเมือง ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่มีความคับข้องใจเริ่มแสวงหาทางออกผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แทนการเดินขบวนประท้วงแบบเดิมๆ จึงเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2543 และปี 2548 ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้ คือ คุณทักษิณ ชินวัตร แต่ก่อนอื่น ต้องเกริ่นเล็กน้อยว่าเมืองไทยมีระบบการเมืองแบบรัฐสภาประชาธิปไตยสลับกับการรัฐประหารมาโดยตลอดหลายทศวรรษ แต่รัฐสภาเป็นเพียงสมาคมของผู้มั่งมี คนธรรมดาทั่วไปก็ไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าได้รับประโยชน์จากระบอบดังกล่าวเท่าใดนัก แต่เหตุการณ์สองสถานได้เปลี่ยนสภาพดังกล่าว

ประการที่หนึ่ง ปลายทศวรรษ 2530 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการปฏิรูปที่โยงกัน ได้เพิ่มจำนวนของการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่หลังการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ชาวบ้านจะเลือกตั้งปีละ 4-5 ครั้ง เลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศบาล สมาชิก อบต. วุฒิสมาชิก และ ส.ส. สำหรับ ส.ส. อาจอยู่ห่างไกลจากชาวบ้าน แต่ผู้แทนในระดับองค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับเลือกตั้งมาอยู่ใกล้ชิด กระบวนการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านได้บทเรียนว่าการออกเสียงเลือกตั้งบุคคลสำคัญที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ แทนการแต่งตั้งอย่างในอดีตเป็นอำนาจและเครื่องมือที่จะนำทรัพยากรของประเทศที่พวกเขามีส่วนก่อให้เกิดทรัพยากรเหล่านั้น ทั้งในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มและการทำงานต่างๆ ทำให้เขาสามารถปรับปรุงชีวิตของตนเองและลูกหลานได้ดีกว่าเดิม

อีกเหตุการณ์ที่อธิบายว่าเหตุใดการเมืองไทยว่าด้วยการเลือกตั้งในระดับประเทศจึงมีความสำคัญขึ้นโยงกับเส้นทางการเมืองของทักษิณ ผู้ซึ่งดิฉันคิดว่าได้หักเหทิศทางของการเมืองไทยดั้งเดิม โดยทำสัญญากับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง ทั้งนี้ ออกตัวว่า ดิฉันไม่ใช่ผู้ที่นิยมคุณทักษิณและไม่ได้คิดว่าคุณทักษิณเป็นทางออกของประเทศไทย แต่ในการวิเคราะห์การปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องวิเคราะห์บทบาทของคนนี้ ขณะเดียวกันแต่ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่า วิเคราะห์การเมืองแบบเฉพาะตัวบุคคล หรือ personalize politics

ภาวะสำคัญที่ทำให้เกิดการหักเหทางการเมืองมีหลายองค์ประกอบ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และที่ปรากฏการณ์ที่ชนชั้นนำแตกขั้วและเคลื่อนไหวเพื่อระดมผู้สนับสนุนแบ่งเป็นฟากฝ่าย แต่จะเข้าใจวิกฤตการณ์การเมืองปัจจุบันได้ถ่องแท้ ต้องเข้าใจว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยมวลชนเลย มีนักวิเคราะห์ที่บอกว่า ขบวนการเสื้อแดงในขณะนี้อาจจะเป็นขบวนการมวลชนที่กว้างขวางมากที่สุดที่สังคมไทยเคยมีมา อาจจะต้องรอดูกันต่อไปว่า ขบวนการนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญหรือไม่

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยขบวนการมวลชน เราไม่เคยมีขบวนการกู้ชาติจากเจ้าอาณานิคม เหมือนที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และพม่า ล้วนมีขบวนการกู้ชาติที่นำเอาคนทั้งประเทศเข้ามามีประสบการณ์ในขบวนการทางการเมืองและสำเร็จในการขับไล่เจ้าอาณานิคมออกไป แต่เราไม่มี เราไม่เคยทำสงคราม ซึ่งดิสเครดิตชนชั้นนำของเราอย่างถึงรากถึงโคน เช่น กรณีญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

การปฎิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในปี 2475 มีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมากก็จริง แต่ไม่ได้ระดมมวลชนอย่างกว้างขวางเช่นที่เกิดขึ้นในรัสเซียหรือจีน สำหรับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อทศวรรษ 2500 และ 2510 ขยายใหญ่กว่าเหตุการณ์ 2475 แต่ก็จำกัดฐานที่มั่นอยู่ที่เขาทึบและป่าลึก อาจเข้ามาอยู่ในเมืองบ้างประปราย แต่ไม่สามารถเคลื่อนขบวน หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนหรือรัสเซีย ขบถชาวนาในอดีต ขบวนการเกษตรกรและกรรมกรในช่วงสมัยใหม่ก็จำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ระบบการเมืองไทยร่วมสมัยจึงลักษณะเป็นคณาธิปไตย หรือ Oligarchy การปกครองโดยคณะบุคคลจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เคยถูกท้าทายจากมวลชนอย่างถึงรากถึงโคน ดึงดูดส่วนหัวของกลุ่มอำนาจใหญ่ๆ เข้าเป็นพวกอยู่เสมอ โดยก่อร่างสร้างสายสัมพันธ์ร้อยรัดกันเข้าไว้ภายในผ่านระบบเครือข่าย ระบบอุปถัมภ์ และการทำธุรกิจหรือการแบ่งผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน

ขณะที่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ชนชั้นนำได้แก่ ขุนนาง ข้าราชการได้พัฒนาขึ้นเมื่อต้นศตวรรษ 20 และได้ตกผลึกมีผลประโยชน์ร่วมกับรัฐศักดินาอย่างหนาแน่น ทศวรรษ 2470-2520 ชนชั้นนำฟากทหารพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ครั้นเมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟูสมัยพัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นนำฝ่ายธุรกิจในเมืองก็ได้เข้าร่วมขบวนกับคณาธิปไตยกลุ่มนี้ ต่อมาเมื่อความมั่งคั่งและการคมนาคมสมัยใหม่กระจายสู่ต่างจังหวัดยึดโยงเขตรอบนอกเข้ากับกรุงเทพฯ นักธุรกิจชั้นนำระดับภูธรก็ได้ร่วมขบวนภายใต้กรอบของรัฐสภาประชาธิปไตย และเมื่อไม่นานมานี้เอง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระบวนการตุลาการและส่วนอื่นๆ ของระบบข้าราชการก็ได้เข้าร่วมขบวน แม้ครอบครัวขุนนางและกลุ่มเงินเก่าจะมีบทบาทสูงในคณาธิปไตยนี้ แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มปิด โดยความอยู่รอดของกลุ่มดังกล่าวโดยรวมส่วนหนึ่งเพราะมีความยืดหยุ่นสูง กลุ่มอำนาจใหม่ๆ จากภายนอกจะถูกดึงดูดเข้ามาร่วมขบวน ระบบรัฐสภาและการเมืองในระบอบการเลือกตั้งก็ไม่ได้ท้าทายคณาธิปไตยอย่างจริงจังจน กระทั่งเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับระบอบใหม่ คือระบอบประชาธิปไตย ได้จำกัดวงของกลุ่มอื่นๆ นอกวงไว้ได้ เพราะพวกเขาได้ลงทุนสร้างระบบที่ต้องใช้เงินมากในการเลือกตั้ง ใครที่มีเงินไม่หนาพอก็ไม่อาจหาญจะร่วมขบวนในระบอบใหม่ได้

การก่อตั้งระบอบที่ต้องใช้เงินมหาศาลนี้ ไม่ใช่เพราะนักธุรกิจเข้ามา ในการเมืองสถานเดียว ก่อนหน้านั้น ถ้าอ่านงานของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ ได้พูดถึง "โรคร้อยเอ็ด" ที่มีการจัดองค์กร ใช้เงินมโหฬารเพื่อนำเอาผู้นำฝ่ายทหารเข้ามาสู่กระบวนการรัฐสภาประชาธิปไตย หลังจากนั้นโรคนี้ได้ระบาดและบานปลายออกกลายเป็นสิ่งที่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับมันในขณะนี้ อีกส่วนที่พบคือ ในระบบใหม่ ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีพื้นเพเป็นเจ้าของธุรกิจ มาจากกลุ่มคนที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐสภาจึงกลายเป็นสมาคมของคนรวม และกลายเป็นสถาบันหลักของเครือข่ายคณาธิปไตยที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 มีความสำคัญมาก เพราะได้เปิดช่องให้มีการท้าทายโครงสร้างอำนาจแบบคณาธิปไตยนี้ได้ เศรษฐกิจไทยก่อนหน้านั้นไม่เคยติดลบมาเป็นเวลา 50 ปีนับแต่ปี 2493 เป็นต้นมา แต่ปี 2540 จีดีพีติดลบถึงเกือบร้อยละ 20 ทำให้ผู้ที่เป็นรัฐบาลหรืออยู่ในอำนาจขณะนั้นถูกดิสเครดิตอย่างสิ้นเชิง ในภาวะเช่นนั้นพลังนอกคณาธิปไตยจึงสามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ก้าวไปไกล เพราะเกี่ยวโยงกับการเอาทรัพยากรของงบประมาณจากส่วนกลางมาสู่รอบนอกที่มากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจวิกฤตส่งผลให้แรงผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงจากชนชั้นล่างและกลางนอกกลุ่มคณาธิปไตยมีความรุนแรงขึ้น แต่ผลสะเทือนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องใช้เวลา

ทักษิณ ชินวัตรผันตัวเองให้เป็นหัวขบวนที่จะท้าทายคณาธิปไตยเดิม เริ่มต้น เขาเพียงแต่จะท้าทายระบบข้าราชการรวมศูนย์และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสไตล์การทำงานและอุดมการณ์แบบเดียวกับระบบข้าราชการ คงจำได้ว่าทักษิณสัญญาจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตและพัฒนาเมืองไทยให้เป็นสมาชิกประเทศ OECD ให้ได้ โดยจะบริหารประเทศเสมือนหนึ่งบริษัทธุรกิจ ซึ่งหมายถึงจะลดความสำคัญของระบบข้าราชการให้อยู่ในอาณัติของผู้บริหาร และทำการปฏิรูปเปลี่ยนให้สอดคล้องกับระบบบริหารใหม่ ซึ่งชุมชนธุรกิจของไทย ชนชั้นกลาง และฝ่ายซ้ายก็สนับสนุนทักษิณอย่างแข็งขัน ต่อมาทักษิณถูกมองว่าท้าทายส่วนอื่นๆ ของคณาธิปไตยทั้งหมด ข้าราชการไม่พอใจมาก ต่างต่อต้านการปฏิรูป และทักษิณรู้ดีว่าภัยของนักปฏิรูปคือการรัฐประหาร จึงพยายามเข้าควบคุมกองทัพ ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์ว่าเขาไม่เก่ง และได้สร้างศัตรูในกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจสูงและเป็นชนชั้นนำฟากสำคัญของกองทัพ

ช่วงแรกๆ นักธุรกิจก็ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อพบว่าผลประโยชน์ต่างๆ เริ่มกระจุกตัวกับกลุ่มนักธุรกิจที่ห้อมล้อมทักษิณและครอบครัวจำนวนหยิบมือเท่านั้นก็เริ่มไม่พอใจ และในที่สุด ฝ่ายรอยัลลิสต์เริ่มมีเสียงบ่น สภาวะดังกล่าวเหมือนจะพัฒนาเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง ดังที่เคยพบเห็นเสมอในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ครั้งนี้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเดิมๆ เพราะมีตัวแปรใหม่ขึ้นในสาระบบการเมืองไทย คือ เสียงเรียกร้องจากมวลชนระดับกลางและล่างที่ประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และปัญหาอื่นๆ ที่ได้สะสมมา พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในอำนาจการปกครองประเทศอย่างแท้จริง ต้องการได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าเดิม และต้องการสินค้าสาธารณะต่างๆ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยปรับปรุงชีวิตของเขาและลูกหลาน ทักษิณได้ฉวยโอกาสที่จะหาประโยชน์จากพลังสังคมเหล่านี้เพื่อนำตัวเองเข้าสู่อำนาจ พ.ศ.2544 ก็ชนะการเลือกตั้งจากการเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค พักชำระหนี้เกษตรกร และโครงการสินเชื่อหนึ่งล้านบาทหนึ่งตำบล โดยนโยบายเหล่านี้คุณทักษิณไม่ได้คิดเอง มีสหายเก่าๆ ช่วยคิด เมื่อชนชั้นนำส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านั้น คุณทักษิณก็รีบดำเนินการนโยบายตามที่สัญญาไว้อย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมล้นหลาม โดยเฉพาะจากมวลชนที่ภาคเหนือ อีสาน และชนชั้นกลางและล่างบางส่วนในเมือง นโยบายที่สำคัญคือ 30 บาทรักษาทุกโรค และนโยบายการให้เครดิตในราคาถูกในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตอบชีวิตการที่สังคมไทยได้เริ่มขยายตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยรายเล็กในเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรมากขึ้น และแม้ในภาคเกษตรเองก็ต้องการเครดิตราคาถูกซึ่งไม่เคยได้รับมาก่อน

ทักษิณฉวยโอกาสที่จะหาประโยชน์จากพลังสังคมเหล่านี้ที่จะนำตัวเองเข้าสู่อำนาจ จากนั้น เขาเสนอนโยบายอื่นๆ อีกเป็นระลอก รวมทั้งสัญญาจะขจัดความจน ดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพืชผลเกษตรอย่างต่อเนื่อง พ.ศ.2547-48 เมื่อเผชิญกับแรงต้านของกลุ่มคณาธิปไตยเดิมและผู้ที่เคยสนับสนุนเขามากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทักษิณก็ท้าทายต่อไป โดยเสนอตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยม ที่อิงความชอบธรรมสู่อำนาจเพราะได้รับเสียงเลือกตั้งจากประชาชนและเน้นภาพพจน์นักการเมืองที่อุทิศตัวเพื่อประชาชน เป็นปรปักษ์กับกลุ่มที่พยายามปกป้องอำนาจเดิม อันได้แก่ ข้าราชการ นายธนาคาร นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ และผู้พิพากษา

อย่างไรก็ตาม คุณทักษิณยังไม่เคยมีท่าทีมาก่อนลงสนามการเมืองว่าจะเป็นคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบแบบพลิกผัน จริงๆ แล้ว เขาอยากเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและครอบครัวในเรื่องธุรกิจ ฯลฯ แม้อาจมีความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยบ้างแต่ในขณะนั้นอาจไม่ค่อยชัดเจน เสียงเรียกร้องจากมวลชนชั้นล่างเป็นแรงจูงใจและแรงผลักที่สำคัญ การเลือกตั้งครั้งที่สองคุณทักษิณชนะถล่มทลาย เขาสัญญากับผู้สนับสนุนว่าจะเป็นรัฐบาลถึง 25 ปี ตามแบบมหาธีร์ที่มาเลเซียและลีกวนยูที่สิงคโปร์ ถือว่าเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองอย่างแท้จริงที่สามารถฉวยประโยชน์จากภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้ตัวเองอยู่ในความนิยมได้อย่างเนิ่นนาน

ณ จุดนี้ คณาธิปไตยกลุ่มเดิมร่วมมือกันเพื่อดีดทักษิณออกจากสาระบบ แต่มีตัวแปรใหม่ที่ทำให้ส่วนหัวของชนชั้นนำขยายขอบเขตออกไป นั่นคือ ชนชั้นกลางชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ที่ตอนต้นเคยสนับสนุนโครงการของคุณทักษิณ ภายหลังไม่เห็นด้วยกับแนวโน้มสู่การเมืองประชานิยม เพราะตระหนักดีว่ากลุ่มตนเสียเปรียบด้านจำนวน แต่ได้เปรียบในการเข้าถึงอภิสิทธิ์ต่างๆ จึงไม่ไว้ใจต่อแนวโน้มสู่นโยบายประชานิยม ด้วยเกรงว่าจะเป็นภัยกับเขาในอนาคต ขบวนการเสื้อเหลืองจึงเกิดขึ้นในปี 2548 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นกลางเมือง กลุ่มคนเสื้อเหลืองอ้างว่า ทักษิณเป็นภัยกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อแสวงหาแนวร่วมและสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้นขึ้น

อันที่จริง ทักษิณค่อนข้างระแวดระวังที่จะไม่โจมตีหรือท้าทายสถาบัน แต่เสื้อเหลืองก็โพนทะนาว่าทักษิณมีแผนการล้มเจ้าที่ฟินแลนด์ และใช้เสื้อเหลืองเพื่อประกาศว่าเป็นผู้ปกป้องสถาบัน การเมืองคณาธิปไตยก่อนหน้านี้เมื่อเกิดความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วยกันเองก็จะต้องตัดสินด้วยการรัฐประหาร และคราวนี้ก็ได้เกิดขึ้นจริงในเดือนกันยายน 2549 แต่การเมืองแบบเก่าใช้ไม่ได้แล้ว รัฐประหารจึงไม่ได้ผล กองทัพไทยร่วมสมัยดูเหมือนว่าจะขาดประสบการณ์ในเรื่องนี้ และรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นก็ไม่ได้เรื่อง ดังที่พวกเดียวกันเองวิจารณ์กันอยู่ จึงสูญเสียความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่นและสังคมโลกไม่ยอมรับรัฐประหาร จึงต้องสถาปนารัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยเร็ว และแม้ใช้เงินภาษีของประชาชนและใช้ข้าราชการรณรงค์เพื่อไม่ให้พรรคทักษิณชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นผล ฝ่ายทักษิณชนะการเลือกตั้ง จึงต้องยอมให้ก่อตั้งรัฐบาล

การโจมตีทักษิณและนโยบายประชานิยมยิ่งขยายตัวต่อไปและรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ลดอำนาจของรัฐสภาและเพิ่มอำนาจให้กองทัพและฝ่ายตุลาการ กลุ่มคนเสื้อเหลืองขณะนั้นกลายเป็นม็อบที่มีกองทัพหนุนหลัง สามารถข่มขู่รัฐมนตรี เข้ายึดรัฐสภา ฝ่ายตุลาการตัดสินให้สองรัฐบาลเป็นโมฆะ รัฐมนตรีขาดคุณภาพที่จะเป็นรัฐมนตรี ยุบพรรคการเมืองสามพรรค ตัดสิทธิ ส.ส. 220 คนจากการเมืองเป็นเวลา 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเส้นขนานคือ กลุ่มคนเสื้อเหลืองก่นสร้างเหตุผลสนับสนุนอุดมการณ์ที่เป็นรากฐานให้เขาโจมตีฝ่ายทักษิณ โดยชี้ว่านักการเมืองส่วนมากโกงกิน ชนะการเลือกตั้งเพราะซื้อเสียง ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจึงขาดความชอบธรรม จึงเสนอแต่งตั้ง ส.ส. ทดแทนระบบการออกเสียงเลือกตั้ง หรือให้มีระบบตัวแทนตามสาขาอาชีพ หรือโอนอำนาจกลับไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบข้าราชการและตุลาการ มีข้อเสนอให้มีการแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30

ขบวนการคนเสื้อแดงได้ผุดขึ้นเพื่อคานกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง โดยก่อนหน้านี้มีการใช้สีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร 2549 มาก่อน แกนนำเสื้อแดงเป็นผู้นิยมทักษิณและพรรคไทยรักไทย ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ในระยะแรกมาจากภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งแรงงานอพยพซึ่งทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ก็มีผู้สนับสนุนที่เป็นนักวิชาการ นักธุรกิจ และชนชั้นกลางที่ไม่ได้รักคุณทักษิณ แต่เชื่อว่าต้องเข้าร่วมขบวนเพื่อปก ป้องประชาธิปไตย บางคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2549 จึงเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพลเมืองเน็ต คนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจทักษิณเลย แต่สนใจประชาธิปไตยมากกว่า ขบวนการนี้ใช้สื่อมวลชนที่โยงกับวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียมเช่นเดียวกับเสื้อเหลือง ปลายปี 2552 ก่อตั้งโรงเรียน นปช. กลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนในพื้นที่จัดกิจกรรมหาเงินบริจาค รณรงค์เพื่อระดมมวลชนเป็นประจำ อาจมีบางส่วนที่มีแนวคิดสังคมนิยม หรือนิยม republicanism แต่จากการวิเคราะห์ของหลายสายพบว่าส่วนหลังนี้อาจเป็นกลุ่มน้อย

กลางปี 2551 เสื้อเหลืองและเสื้อแดงปะทะกันประปราย โดยฝ่ายเสื้อเหลืองอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ ปะทะกับเสื้อแดงซึ่งอ้างว่าปกป้องประชาธิปไตย ปลายปี 2551 รัฐบาลฝ่ายทักษิณซึ่งชนะการเลือก ตั้งเมื่อปี 2550 ถูกบีบให้ออก ด้วยแรงผลักดันจากกองทัพ คำพิพากษาของศาล และกระบวนการรัฐสภา ตั้งแต่นั้นมา ข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงคือ ให้การเลือกตั้งทั่วไปภายใต้หลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงเป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็นรัฐบาลและต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยอยากให้กลับไปหาฉบับรัฐธรรมนูญ 2540 โดยอาจมีการแก้ไข สร้างวาทกรรมเรียกตัวเองว่าไพร่ เรียกฝ่ายตรงข้ามว่าอำมาตย์ และประณามระบบสองมาตรฐาน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวาทกรรมเหล่านี้มีนัยของความไม่พอใจความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อำนาจ กระบวนการยุติธรรม โอกาสและวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย

โดยสรุป วิกฤตการเมืองมีองค์ประกอบของความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำที่ดำเนินอยู่ แต่มีประเด็นเรื่องการท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิมจากพลเมืองที่ตระหนักในสิทธิอำนาจทางการเมืองของตน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและต้องการปกป้องสิทธิอำนาจเหล่านั้นด้วย ทักษิณและพรรคพวกตั้งใจลดทอนอำนาจของระบบราชการและคณาธิปไตยเดิมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน ณ จุดเริ่มต้น เป็นเพียงความขัดกันของบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ พรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้อยู่ในอำนาจและพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ทักษิณหวนคืนสู่อำนาจได้อีก แต่ความขัดแย้งดังกล่าวเอ่อล้นไปไกลกว่ากลุ่มชนชั้นนำ ทักษิณได้กลายเป็นตัวแทนของพลเมืองระดับล่างและกลางที่ต้องการสังคมที่ไม่เลือกปฏิบัติ พลังพลเมืองตรงนี้เองที่ได้ผลักดันให้ทักษิณกลายเป็นนักการเมืองแนวประชานิยมเหมือนที่เกิดในประเทศอื่นๆ ก่อนหน้าเช่นในละตินอเมริกาแต่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ทักษิณผันตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยมที่อ้างอิงความชอบธรรมจากแรงสนับสนุนของประชาชน ดังนั้น เขาจึงกลายเป็นเสมือนคบไฟให้มวลชนได้ใช้เสียงเลือกตั้งเป็นเครื่องมือปรับปรุงชีวิตและสถานะของกลุ่มเขา แต่ความเชี่ยวจัดในการใช้ประชานิยมเพื่อก้าวสู่อำนาจ ประกอบกับความมั่งคั่งมหาศาลของทักษิณ ทำให้ชนชั้นกลางต้องการยึดโยงกับสถาบันดั้งเดิมคือกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อทดแทนกับจำนวนอันน้อยนิดของกลุ่มตนเมื่อเทียบกับมวลชนระดับล่างและกลางที่สนับสนุนทักษิณ การระดมมวลชนของคนเสื้อเหลืองก็ได้ขยายมวลชนของคนเสื้อเหลือง ท้ายที่สุด ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองได้ขยายขอบเขตกลายเป็นความขัดแย้งเพื่อหาผู้สนับสนุนของสองขบวนการที่ขัดกัน ดังที่ได้กล่าวว่า ขบวนการเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นสงครามความคิดและสงครามแย่งชิงมวลชนไปในท้ายที่สุด

ขบวนการสังคมทั้งสองนำไปสู่การอภิปรายในประเด็นที่ว่าการเมืองไทยควรพัฒนาไปในแนวทางใด กลุ่มคนเสื้อแดงต้องการปกป้องระบบการเลือกตั้งให้ย้อนกลับสู่กรอบกติกา 2540 เป็นหลักเกณฑ์ในการลดสองมาตรฐาน ซึ่งเป็นหัวใจของอำนาจภายใต้ระบบคณาธิปไตยเดิม แต่กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ได้ย้อนแย้งอย่างมีประเด็นว่า ประชาธิปไตยที่ขาดระบบตรวจสอบและการคานอำนาจที่ได้ผลเป็นอันตรายและเป็นระบบที่ไร้ เสถียรภาพ พวกเขาต้องการกฎหมายที่เข้มแข็ง หลักการศีลธรรมที่สูงกว่านี้ มีการพูดถึงการเมืองจริยธรรม ต้องการกำกับควบคุมคอร์รัปชั่นและการแสวงหากำไรเกินควรอย่างโจ่งแจ้งของนักการเมืองทั้งหลาย

ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำและขบวนการทางสังคมที่ก่อตัวขึ้นโยงเข้าด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีทักษิณ เป็นตัวเชื่อม ตรงนี้เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะทักษิณมีบุคลิกเป็นบุคคลหลายแพร่งที่ขัดแย้งในตัวเอง แพร่งหนึ่ง เขาอาจจะนิยมความเป็นสมัยใหม่ และเป็นนักธุรกิจที่ผันตัวเป็นนักการเมืองประชานิยม อีกแพร่งหนึ่ง เป็นบุคคลที่หยามเหยียดประชาธิปไตยเป็นที่สุด แต่ได้กลายเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย อีกแพร่งหนึ่ง เขาโกงกินเงินจากภาษีประชาชนได้อย่างหน้าตาเฉยและหาประโยชน์จากระบบสองมาตรฐานตลอดเวลา แต่ให้ภาพว่า ด่าคอร์รัปชั่นและสองมาตรฐาน แต่ประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยบุคคลที่มีบุคลิกเหล่านี้มิใช่หรือ และทักษิณก็มิใช่คนเดียวที่มีบุคลิกเช่นนั้น

สำหรับบทสรุปเป็นเรื่องที่ยากมากและคิดไม่จบว่าจะสรุปอย่างไร ... เราคงต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่พูดถึงขบวนการทางสังคมของทศวรรษ 2530 ที่ผจญกับความอ่อนแอและอาจถูกกลบกลืนไปโดยขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองเสื้อแดงดังที่ได้กล่าวมา จุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของขบวนการประชาชนก่อน 2540 คือการที่ขบวนการประชาชนตัดสินใจว่าจะไม่เข้าแข่งขันเพื่อเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง แต่จะดำเนินการเมืองรอบนอก แบบใช้ยุทธศาสตร์ในท้องถนน ดาวกระจาย การผลักดันอะไรต่างๆ ตรงนี้นำเราไปสู่คำถามว่าเราจะมีบทเรียนจากจุดอ่อนนั้นอย่างไร

ขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะสามารถเข้าไปแข่งขันกันในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยได้หรือไม่ จริงๆ แล้วเรามีความเอือมระอากันตามสมควรกับการต่อสู้กันในท้องถนน หากสามารถเข้าไปต่อสู้กันในรัฐสภา คาดว่าจะมีผลในการลดการใช้ความรุนแรงได้มาก ดังนั้น ประเด็นสำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรที่จะให้สงครามความคิดและสงครามการแย่งมวลชนหลุดออกจากถนนแล้วเข้าสู่กรอบกติกาทางการเมืองที่ทุกฝ่ายจะยอมรับกันได้ในระบบรัฐสภา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เรายังมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ไม่มากพอ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะถูกรบกวนด้วยพลังนอกรัฐสภาอยู่เสมอ โดยเฉพาะการรัฐประหาร การรัฐประหารเกิดขึ้นครั้งใดได้ทำลายกระบวนการเรียนรู้ที่สั่งสมมา และย้อนกลับไปสู่ระบอบเดิมและนำเอาความสัมพันธ์ในระบอบเดิมที่เหลวเละกลับเข้ามาอยู่ตลอด

ดังนั้น ถ้าจะพูดกันต่อไปว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ขบวนการสังคมพัฒนาต่อไปในแนวทางสร้างสรรค์ ก็คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับกองทัพในการเมืองไทย สถาบันอื่นๆ ก็เริ่มปรับตัวและเปลี่ยนแปลง แต่กรณีกองทัพ รัฐประหาร 2549 ทำให้กองทัพเข้ามายืนใน ฐานของอำนาจอย่างเป็นทางการ และมีสถาบันรองรับคือ รัฐธรรมนูญ 2550 อีกเรื่องที่ต้องคิดกันคือ ความกลัวพลังของราษฎร หรือพลังของประชาชนในหัวใจของกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วนที่อาจยังยึดติดกับระบบคณาธิปไตย และไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะทำให้สภาพของตัวเองเปลี่ยนแปลง ไป แต่ถ้าคิดในทางบวก การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น เพราะไม่มีเกมที่เป็น zero-sum game ถ้าจะ zero-sum game ก็ต้องตายกันครึ่งประเทศ ซึ่งจะเป็นความเสียหายอย่างมหาศาล ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่พูดเรื่อง game theory อยากเสนอว่า ต้องเปลี่ยนจาก zero-sum game เป็นเกมที่จะก้าวไปด้วยกันและตกลงกันว่าต้องใช้กติกาอะไร

ดังนั้น ทางออกของการเมืองไทยขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ว่าจะมีการพัฒนาสู่พรรคการเมืองทั้งสองฟากที่ข้ามพ้นทักษิณและการเมืองที่ใช้เงินจำนวนมาก ทั้งนี้ ตามที่มีนักวิเคราะห์และฝ่ายเสื้อแดงเสนอว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยของการเลือกตั้งอีกต่อไป ข้อเสนอนี้ต้องการการพิสูจน์ รวมถึงทำอย่างไรจึงจะหาทางออกให้กองทัพได้ลดบทบาทของตัวเองอย่างสง่างามและไม่ทำให้ต้องเสียอกเสียใจมากนัก

--------------------------------------


ถาม-ตอบ

ประวิตร โรจนพฤกษ์ เดอะเนชั่น: อีกปัจจัยที่สำคัญมากในการพิจารณาสภาพการเมืองปัจจุบันคือ สภาพความเป็นจริงที่เรียกว่า การเมืองและสภาพสังคมยุคปลายรัชกาล ซึ่งมีนัยสำคัญในแง่ที่ว่าชนชั้นนำเก่ามีอาการพารานอยด์หรือวิตกจริตมาก และมันเป็นพลวัตรสำคัญที่จะผลักดันให้ความขัดแย้งปัจจุบันมีสภาพสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ไม่สามารถพูดอย่างเท่าทันในที่สาธารณะโดยไม่สุ่มเสี่ยงได้ อยากถามว่ามองเรื่องนี้อย่างไร และสุดท้ายคิดว่า มี speculation เยอะมาก และเรื่องนี้เป็นการต่อสู้เรื่องที่ทางของสถาบันในอนาคต โดยเฉพาะมีการคาดการณ์ที่แตกต่างกันในสังคมไทยต่อที่ทางของสถาบันกษัตริย์ในอนาคต โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งมีมุมมองที่แตกต่างกันไป

ผาสุก: ตอนที่กระบวนการโลกาภิวัตน์เกิดในเมืองไทยนำความตกใจมาสู่สังคมไทยอย่างมาก มีปฏิกิริยาต่างๆ มีผู้ต่อต้านหลายหัวขบวนตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็พบว่าการต่อต้านความเปลี่ยนแปลง เป็นผลเสียกับตัวเอง จึงหาประโยชน์กับโลกาภิวัตน์ และขณะนี้สามารถกล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ แม้อาจมีส่วนย่อยบางกลุ่มที่ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัตน์

การเปลี่ยนแปลงของสถาบันต่างๆ ในประเทศไทย ไม่เฉพาะสถาบันที่คุณพูด เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจมีความเฉื่อย และไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง และมีอาการต่างๆ ออกมา แต่ในท้ายที่สุด การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเกิดขึ้น ประเด็นอาจอยู่ที่ว่าจะปรับไปแบบไหน ในโลกก็มีโมเดลต่างๆ ในความเห็นของตนนี่อาจไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือการที่กลุ่มต่างๆ ในสังคมแสวงหาประโยชน์จากภาวะของการเกิดช่องว่างหรือความวิตกกังวลในภาวะของการเปลี่ยนแปลงนี้ต่างหาก ในเรื่องนี้จึงคิดว่า เราอาจต้องตั้งสติและพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยลดความมีอคติและความกลัวของเราเองลงไป

ทั้งนี้ ในบรรดากลุ่มคณะที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากภาวะความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ยังคิดว่ากลุ่มที่มีอาวุธอยู่ในมือน่าจะน่ากลัวที่สุด ดังนั้น การจะช่วยกันหาทางให้พลังตรงนี้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์จึงจำเป็นมาก

ก่อนหน้านี้ ได้คุยกับนักวิเคราะห์จากอินโดนีเซีย บอกว่า ขณะนี้ อินโดนีเซียก้าวข้ามเมืองไทยไปในหลายเรื่องตั้งแต่ 2540 ทั้งนี้เคยตามไทยมาตลอด เขาบอกว่า ในกรณีอินโดนีเซีย กลุ่มชนชั้นนำหลายกลุ่มมีเอกภาพต่อบทบาทของกองทัพในการเมืองอินโดนีเซีย โดยไม่ต้องการให้กองทัพมีบทบาทนำทางการเมืองหรือเป็นศูนย์กลางของการเมือง แต่กรณีเมืองไทย ไม่มีเอกภาพเรื่องนี้ เมื่อชนชั้นนำสำคัญของไทยไม่คิดเป็นเอกภาพเรื่องการจัดการบทบาทของกองทัพ จึงเกิดช่องว่างให้กองทัพเสนอตัวขึ้นมา คือใครใช้ใครต้องไปวิเคราะห์กัน ในท้ายที่สุดจะเห็นผลในงบประมาณประจำปี ที่โก่งขึ้นหลังปี 2549 นี่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และมีการเปลี่ยนแปลงด้านสถาบัน หมายถึงกรอบกติกาที่จะกำกับในประเทศ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่นายกฯ มีบทบาทแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นฝ่ายกองทัพน้อยลง เมื่อมีกระบวนการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นๆ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อรถเบนซ์ที่ฮิตเลอร์เคยมอบให้อดีตกษัตริย์เนปาล กำลังจะกลายเป็นรถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์

Posted: 17 Sep 2010 04:11 AM PDT

รัฐบาลเนปาลกำลังมีแผนบูรณะรถเบนซ์ที่ฮิตเลอร์เคยมอบให้ราชวงศ์เนปาลเมื่อ 71 ปีที่แล้ว เพื่อใช้เป็นพาหนะแก่ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเคยเป็นอดีตพระราชวังเนปาล

รัฐบาลเนปาลแถลงเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ว่ารถยนต์ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำนาซีส่งมอบให้ราชวงศ์เนปาล จะได้รับการซ่อมแซมและใช้เป็นรถนำเที่ยวโดยรอบพิพิธภัณฑ์พระราชวังสำหรับแขกผู้มาเยือน

ผู้ นำนาซีได้มอบรถเมอเซเดซ เบนซ์ รุ่นปีค.ศ. 1939 แก่กษัตริย์ตรีภูวัน พระอัยกา (ปู่) ของอดีตกษัตริย์คเยนทรา ผู้ถูกขับไล่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

มีการเก็บรถคันดังกล่าวไว้ในโรงรถเก่ามามากกว่า 5 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้ถูกใช้ในการศึกษาในวิทยาลัยด้านวิศวกรรม รัฐบาลกล่าวว่ารถคันนี้มีความเสียหายทั้งส่วนของประตู ที่นั่งและฝากระโปรงหน้า

โมด ราช โดเทล รมว. กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ต้องใช้เงินราว 537,000 ดอลลาร์ (ราว 16,500,000 บาท) ในการบูรณะทั้งรถยนต์และรถม้าของกษัตริย์ตรีภูวัน

"มีไอเดียว่าเราจะซ่อมพวกมัน เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้ลองขับรถยนต์และขี่รถม้าของวัง" โดเทลกล่าว "ซึ่งจะเป็นการดึงดูดผู้เยี่ยมชมและทำให้ประชาชนรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศ"

ในปี 2551 มีการโหวตลงมติให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ในเนปาล ทำให้พระราชวังของกษัตริย์คเยนทรา กลายเป็นพิพิธภัณฑ์

รถยนต์ที่ฮิตเลอร์มอบให้คันดังกล่าวถูกค้นย้ายเข้ามาในกรุงกาฐมานฑุของเนปาลโดยเหล่าคนงาน ซึ่งในช่วงนั้นรถยนต์ในประเทศยังถือเป็นของหายาก และเมืองหลวงที่รายล้อมด้วยภูเขาก็ต้องใช้เวลาหลายวันในการเดินเท้าเพื่อออกไปภายนอก

Hitler's car gift to Nepal king to be used again, Reuters, 17-09-2010
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์

Posted: 17 Sep 2010 04:08 AM PDT

ชาวไทใหญ่จัดงานวันเกิดให้ขุนทุนอูครบรอบ 67 ปี, เครื่องบินรบพม่าผ่านสำนักงาน KIO ชาวบ้านหวั่นสงครามรอบใหม่, ทหารพม่าใส่ชุดทหารไทใหญ่ – ว้า รีดไถชาวบ้าน, พม่าแบนพรรคการเมืองคะฉิ่นลงเลือกตั้ง, พม่าจับมือโครงการสร้างถนนเชื่อมจีน – พม่า บังกลาเทศแล้ว

13 ก.ย.53
ชาวไทใหญ่จัดงานวันเกิดให้ขุนทุนอูครบรอบ 67 ปี

ชาวไทใหญ่ในย่างกุ้งร่วมกันจัดงานวันเกิดทำบุญเลี้ยงพระให้กับขุนทุนอู นักเคลื่อนไหวชาวไทใหญ่และเป็นหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยรัฐฉาน(Shan National League for Democracy) เมื่อวันที่ 11 ก.ย.53ที่ผ่านมา โดยมีผู้นำชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆเข้าร่วมงานด้วย

ขณะที่ขุนทุนอูยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำปูเตา รัฐคะฉิ่น โดยถูกจับพร้อมกับนักเคลื่อนไหวชาวไทใหญ่อีกจำนวน 10 คน เมื่อปี 2548 โดยทั้งหมดถูกศาลพม่าจำคุกเป็นเวลา 79 – 106 ปี ในข้อหาคบค้ากับพรรคการเมืองนอกประเทศและบ่อนทำลายชื่อเสียงประเทศ มีรายงานว่า ขุนทุนอูซึ่งถูกตัดสินให้ถูกจำคุกเป็นเวลา 93 ปี ขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพอย่างหนัก (เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่ www.mongloi.org)

14 ก.ย.53
เครื่องบินรบพม่าผ่านสำนักงาน KIO ชาวบ้านหวั่นสงครามรอบใหม่

เมื่อเวลาตีสามของคืนวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา พบเครื่องบินรบลำหนึ่งบินผ่านรอบเมืองไลสิ่น บ่ม เมืองอะเล่น บ่มและเมืองไลซา รัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization - KIO) ใกล้กับชายแดนจีน – พม่า มีรายงานว่า ทหารจาก KIO หลายคนเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวและเชื่อว่าเป็นเครื่องบินรบของกองทัพอากาศพม่า

หลังข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้เกิดกระแสข่าวลือหวาดวิตกในหมู่ประชาชนชาวคะฉิ่นว่า อาจเกิดการสู้รบครั้งใหม่ระหว่างกองทัพพม่าและ KIO อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่อพยพไปยังฝั่งจีน ขณะที่ KIO ได้ออกแถลงการณ์จะไม่ยอมรับเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) จนกว่าการทำสัญญาหยุดยิงและการปกครองแบบสหพันธรัฐที่แท้จริงเกิดขึ้น และยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าทบทวนข้อตกลงสัญญาป๋างโหลง ซึ่งผู้นำคะฉิ่นและผู้นำชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นได้ตกลงกันไว้เมื่อปี 1947 (2490) โดย KIO ระบุจะไม่ทำสงครามกับพม่าก่อน แต่หากมีใครมารุกล้ำก็จะป้องกันตัวเอง มีรายงานเช่นเดียวกันว่า หลังการเยือนจีนของนายพลอาวุโสตานฉ่วย กองทัพพม่าได้เพิ่มกำลังทหารเป็นจำนวนมากเข้าไปในรัฐฉาน เข้าประชิดกับเขตควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army) (KNG)

15 ก.ย.53
พม่าสั่งตัดชุดทหารไทใหญ่ – ว้า หวังสร้างความแตกแยก

แหล่งข่าวรายงานว่า กองทัพพม่าในเมืองโต๋น ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน ตรงข้าม จ. เชียงใหม่ สั่งให้ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตัดเย็บชุดทหารไทใหญ่ SSA – ใต้ และชุดทหารว้า ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่แหล่งข่าวเชื่อว่า ไม่เฉพาะแต่ในเมืองโต๋นเท่านั้นที่มีการสั่งตัดเย็บชุดทหารไทใหญ่และว้าเพราะในบางพื้นที่อื่นๆก็มีคำสั่งในลักษณะเดียวกัน

ด้านพันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำ SSA- ใต้ ยอมรับว่า ได้รับรายงานทหารพม่าได้สวมชุดทหารไทใหญ่เข้าข่มขู่รีดไถชาวบ้านในรัฐฉานจริง โดยหากชาวบ้านคนใดที่ยอมจ่ายเงินให้ ทหารพม่าก็จะกล่าวหาว่าชาวบ้านคนนั้นสนับสนุนทหาร SSA และเข้าจับกุมชาวบ้านเป็นต้น ขณะที่ชาวบ้านเชื่อเหตุที่ทหารพม่าใส่เครื่องแบบทหารไทใหญ่และว้ารีดไถชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านเกลียดชังทหารทั้งสองกลุ่ม หรือเพื่อสร้างความขัดแย้งระหว่างทหารไทใหญ่และว้าด้วยกันเอง

ด้านนักวิเคราะห์เชื่อ คำสั่งดังกล่าวน่าจะเป็นคำสั่งโดยตรงจากรัฐบาลเนปีดอว์ อย่างไรก็ตามพบว่า การเคลื่อนไหวของทหารพม่าในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน (เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่ www.mongloi.org)

16 ก.ย.53
พม่าแบนพรรคการเมืองคะฉิ่นลงเลือกตั้ง

คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าปฏิเสธรับพรรคชนกลุ่มน้อยอย่าง พรรคก้าวหน้ารัฐคะฉิ่น (Kachin State Progressive Party - KSPP) จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง โดยอ้างว่าพรรคดังกล่าวขาดคุณสมบัติและเชื่อมโยงกับกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization - KIO) นอกจากนี้คณะกรรมการเลือกตั้งยังสั่งห้ามสมาชิกพรรคดังกล่าวลงสมัครเลือกตั้งเป็นรายบุคคลในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ด้วยเช่นกัน

 

ด้านเลขาธิการพรรค KSPP นายทุรอ กล่าวว่า การปฏิเสธของคณะกรรมการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ยุติธรรม และไม่ได้รับสิทธิเพียงพอในฐานะพลเมืองที่ควรมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า การที่คณะกรรมการเลือกตั้งปฏิเสธพรรค KSPP เป็นเพราะ KIO ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดนหรือ BGF (Border Guard Force) ภายใต้รัฐบาลพม่าเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พรรค KSPP เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดในรัฐคะฉิ่น สมาชิกพรรคของ KSPP เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ลงสมัครในนามของพรรค KSPP เคยถูกพรรคพรรคสหภาพและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party - USDP) ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลกีดกันไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง (Irrawaddy /Mizzima)

พม่ารับโครงการสร้างถนนเชื่อมจีน – พม่า บังกลาเทศแล้ว
รัฐบาลพม่าตกลงรับโครงการสร้างถนนเชื่อมสามประเทศระหว่าง จีน พม่า และบังกลาเทศแล้ว ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลบังกลาเทศได้ร้องขอให้จีนช่วยกดดันให้พม่ารับและเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ด้านนักวิเคราะห์เชื่อ เหตุที่พม่ารับโครงการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน น่าจะเป็นเพราะการเยือนจีนของนายพลอาวุโสตานฉ่วยที่ผ่านมา ซึ่งได้พบปะกับผู้นำของจีน ซึ่งอาจมีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้บังกลาเทศเคยร้องขอให้รัฐบาลพม่าเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมานานกว่า 10 ปี แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ จนนางคลาลิด้า เซีย นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศต้องขอร้องให้จีนช่วยเจรจากับพม่าตามที่เป็นข่าว (Narinjara)
 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น