โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จับตาภาคประชาชน: ฑิฆัมพร กองสอน และอรศรี สานารี ถึงวันนี้ NGO ก็ยังคงมีความสำคัญ

Posted: 04 Sep 2010 06:18 AM PDT

ฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน และอรศรี สานารี แรงงาน กรรมการสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ ในซีรี่ส์สั้นๆ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 33 ฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน
 
 
"ภาคประชาชน ก็คือคนที่อยู่ในฐานรากจริงๆ ที่ประกอบอาชีพ ไม่ว่าทำไร่ทำนา เกษตรกรรม เกษตรกรทั่วประเทศ แล้วก็คนที่อยู่ในภาคธุรกิจที่ประกอบอาชีพเป็นส่วนตัวของตนเอง ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง"
 
"จังหวัดน่านภาคเอ็นจีโอกับภาคประชาชนแทบจะแยกกัน เพราะจังหวัดน่าน... ยอมรับว่าด้วยบริบทหรือด้วยความเป็นคนน่าน ถึงแม้เขาจะทำงานเป็นภาคเอ็นจีโอ แล้วที่นี้เราเป็นชาวบ้าน แต่การทำงานพื้นที่ของชาวบ้าน ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการเอง แต่ภาคเอ็นจีโอของในระดับจังหวัดเขาก็จะมาเกาะเกี่ยวเอาพื้นที่ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำงานเข้าไป" 
 
"ความต่างระหว่างเอ็นจีโอกับชาวบ้านแทบแยกกันไม่ออก เพราะว่าเอ็นจีโอที่มีในจังหวัดจริงๆ ทำงานกับชาวบ้านจริงๆ" 
 
"แต่ถ้าเรามองอีกระดับหนึ่งซึ่งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัส หรือไปประชุมประชาฯ แล้วไปดูกระบวนการของหลายๆ ที่... เอ็นจีโออีกระหนึ่ง มันจะเป็นลักษณะว่าใช้ตัวชาวบ้านเป็นฐาน แต่ว่าไม่ลงไป แล้วแต่ว่า... โครงการอะไรก็แล้วแต่ จะลอยๆ อยู่ข้างบน ใช้พื้นที่ของชาวบ้านเป็นฐานทำงานแต่ว่า ยอมรับว่ากระบวนการหรืองบประมาณบางเรื่องไม่ลงถีงตัวชาวบ้านเลย ตัวเองไปจัดการทั้งหมดเพื่อที่จะได้ผลงานขึ้นมา"   
 
"จริงๆ แล้วถามว่าเอ็นจีโอมีความดีไหม มีความดี มีความสามารถ คือมีความรู้ ความสามารถ ความดีอยู่ใน ถ้าเอ็นจีโอละบทบาทในเรื่องของว่าจะเอางานของชาวบ้านขึ้นมาเป็นงานของตนเอง แต่กลับไปช่วยพัฒนาในระดับหมู่บ้าน ระดับพื้นที่ ระดับคนจริงๆ โดยเอาตัวเองไปหาพี่น้องชาวบ้าน พร้อมกับยอมรับว่า พร้อมกับนำ หางบประมาณ หรือผลประโยชน์บางอย่างเอาไปให้ชาวบ้านจัดการเอง แต่ตนเองเป็นพี่เลี้ยง และเป็นที่ปรึกษาที่จะคอยให้คำแนะนำกับชาวบ้าน"
 
"เอ็นจีโอเขารู้ ไม่ว่าจะข่าวสาร การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง หลักคิดต่างๆ ยอมรับว่าเอ็นจีนี่เยี่ยม เพราะฉะนั้นอยากได้ความรู้ ความสามารถของเอ็นจีโอเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงของชาวบ้าน มากกว่าที่จะไปจัดการพื้นที่ ไปจัดการชาวบ้าน" 
 
 
ตอนที่ 34 อรศรี สานารี แรงงาน กรรมการสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์
 
 
"เอ็นจีโอพี่ก็จะรู้จักมาในสหภาพแรงงาน เขาก็จะมาช่วยทีมในเรื่องสหภาพแรงงานหรือในอะไร แล้วทีนี้ ในทุกวันนี้เหมือนว่าเอ็นจีโอจะเป็นไปไม่ได้"
 
บทบาทของเอ็นจีโอในอนาคต "ก็ควรจะเป็นเหมือนอดีตที่เคยผ่านมา คือเขาต้องแบบว่าทำให้รู้ แล้วก็ช่วยภาคประชาชนเยอะ หมายถึงว่าในอดีตที่พี่เคยรู้จักกับเอ็นจีโอ เขาช่วยหนุนนำพวกแรงงานเหมือนพวกพี่ แล้วต่อไปภาคประชาชนจะต้องจบออกมาเยอะๆ แล้วก็จะต้องมาใช้แรงงานกันเยอะ แล้วทุกวันนี้แรงงานเองแม้แต่เรื่องแรงงาน แล้วก็ผู้ใช้แรงงานในรุ่นต่อไปก็มี เช่นอย่างที่พี่ทำในเรื่องสหภาพแรงงาน อย่างสมมุติบริษัท... ที่รับคนวุฒิน้อย แล้วงานเขาจะเป็นงานที่ยาก ทอด้าย พันด้าย ทุกวันนี้เขาก็ไม่มีคนที่จะทำงานแล้ว เพราะว่าคนรุ่นเก่าๆ ของเขาก็จะเกษียรออกไป แต่ว่าคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบออกมาเยอะๆ เขาก็จะไปเข้าในกระบวนการอิเล็กทรอนิกส์ ไปอยู่ในช่วงแรงงานเหมาค่าแรง เป็นซับซับคอนแทรก จะตีไปเรื่อยๆ คือไม่มีความมั่นคงให้กับคนงาน เพราะว่าเอ็นจีโอไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยในส่วนนี้"   
 
 
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนนท.แถลงการณ์ ไม่สังฆกรรม กก.ปฏิรูป ประนามรัฐจับกุมสองมาตรฐานยืนยันแนวทางคนเสื้อแดง

Posted: 04 Sep 2010 04:39 AM PDT

2 กันยายน 2553  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย( สนนท.) ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนทางการเมือง  ยันไม่สังฆกรรม กก.ปฏิรูป หยามเป็นแค่คณะปาหี่ ประนามรัฐบาลฆาตกรตีฝีปากปิดบังปัญหา ยืนยันแนวทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดง  ประกาศพร้อมสู้เคียงข้างตราบวันได้ชัย

                 แถลงการณ์สมัชชาใหญ่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 2553

          เป็นเวลากว่าสามเดือนแล้วที่รัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเรียกร้องข้อเสนอที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนคนเสื้อแดง เป็นเวลากว่าสามเดือนแล้วที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกประหัตประหารด้วยกำลังจากน้ำมือของทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มาจากภาษีของพวกเขาเอง ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังคงไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ แม้แต่รัฐบาล ในฐานะที่ควรจะต้องรับผิดชอบมากที่สุด เมื่อมีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากใจกลางกรุงเทพมหานครก็ตาม รัฐบาลไม่เพียงนิ่งเฉย หากแต่กลับป้ายความผิดให้กับผู้เสียชีวิตอย่างหน้าด้านๆ ให้พวกเขากลายเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้สร้างความเดือดร้อนและ เป็นผู้ทำร้ายประเทศไทย ทั้งๆที่เศรษฐกิจที่ล้มเหลว การเมืองที่เป็นเผด็จการ การทุจริตฉ้อฉลในทุกวงการ ที่เป็นตัวการทำร้ายประเทศไทยอย่างแท้จริงและหนักหน่วงที่สุด ล้วนแต่เป็นฝีมือของรัฐบาลทั้งสิ้น อีกทั้งในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาเลือดที่ผ่านมา หลักฐานมากมายระบุชัดว่า กองกำลังฝ่ายรัฐบาลคือผู้ยิงฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่า 90 ชีวิต ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลยังคงใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนข่าวสาร สร้างวาทกรรม ตีฝีปากเพื่อเอาภาพลักษณ์บดบังปัญหา ไม่ได้มีความจริงใจที่จะแก้ไขความขัดแย้งใดๆ หยิบยกเอาตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปลอมๆที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงของชีวิตประชาชนตามท้องนาและท้องตลาดที่ลำบากยากแค้นแสนเข็ญ มากลบเกลื่อนปัญหาที่ต้องรับผิดชอบ ก็เหมือนใช้ใบบัวมาปิดซากศพของประชาชนเอาไว้ ตอนนี้ครอบครัวญาติพี่น้องของผู้สูญหายและเสียชีวิตยังคงร่ำไห้ได้แต่เก็บความเคียดแค้นไว้ในใจรอวันชำระ

           และเป็นเวลาสามเดือนกว่า อีกเช่นกันที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยดิ่งลงถึงจุดที่ต่ำที่สุดในนประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าตัวอย่างที่ชัดเจน ก็คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่มีจำนวนสูงเกินกว่าในการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลเผด็จการในอดีตเสียอีก การเห็นต่างมีอานุภาพร้ายแรงจนสามารถสั่งเป็นสั่งตายคนได้ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องจดจำไว้ว่าเรามีรัฐบาลเผด็จการทรราชย์ครองเมือง ที่ใช้อำนาจผ่านกฎหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อทำร้ายประชาชนอย่างชอบธรรม นั่นคือรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ได้มองประชาชนผู้เรียกร้องการยุบสภา เป็นเพียงศัตรูที่จะต้องปราบปราม

          แม้จะดูเหมือนว่ารัฐบาลได้พยายามแสดงความตั้งใจที่จะคลี่คลายปัญหา และเร่งสร้างภาวะปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นโดยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แต่สิ่งที่เรามองเห็นคือการโกหกปลิ้นปล้อน และการผลาญงบประมาณโดยใช่เหตุ เราจะปฏิรูปประเทศได้อย่างไร ในเมื่อญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และเสียงของพวกเขายังถูกทำให้แผ่วหายไปในสายลม

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ พวกเรา ในนามของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จึงขอประกาศจุดยืนต่อจากนี้ที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่อเผด็จการ และขอประณามการกระทำของรัฐบาลทรราชย์จอมสร้างภาพ ดังนี้:

          1. พวกเราจะไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมการปฎิรูปฯ คนที่เป็นคู่กรณีย่อมไม่อาจเป็นตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยได้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าคณะกรรมการปฏิรูปฯ ที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ผ่านการทาบทามนายประเวศ วะสี และนายอานันท์ ปันยารชุน นั้น เป็นเพียงคณะเล่นละครปาหี่ตบตาประชาชนเท่านั้น และถึงที่สุดคณะกรรมการที่ว่านี้ ก็ไม่ได้ประกอบขึ้นมาจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง การปรองดองบนกองเลือดของผู้เสียชีวิตจะทำไม่ได้ การปรองดองบนความเกลียดชังย่อมไม่นำไปสู่สันติภาพ การที่รัฐบาลเข่นฆ่าประชาชนกลุ่มหนึ่ง แล้วยัดเยียดพวกเขาให้เป็นฝ่ายผิด จากนั้นก็มัดมือชกขอให้ลืมเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมา ลืมความแค้น แล้วมาเริ่มต้นความสุขกันใหม่ ผู้ที่มีสามัญสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ย่อมไม่อาจทำใจยอมรับได้

           2. พวกเราขอประณามการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาล แม้ปากจะบอกให้ปรองดอง แต่รัฐก็ยังกุมอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ กระทำการสองมาตรฐานได้อย่างหน้าไม่อาย ใช้กฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่สะทกสะท้าน เพื่อสั่งปิดสื่อของฝ่ายตรงข้าม และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการตีความและจับกุมคนที่เห็นต่างได้อย่างเต็มที่ ทั้งกรณีของนักเรียนนักศึกษาจังหวัดเชียงรายที่ถูกจับเพราะมาชูป้าย “เราเห็นคนตายที่ราชประสงค์” กรณี บ.ก.ลายจุด ที่ถูกจับเนื่องจากมาผูกผ้าแดงที่แยกราชประสงค์ หรือคุณนที สรวารี ที่ถูกจับเพียงเพราะตะโกนคำว่า “ผมเห็นคนตายที่นี่” ไม่ใช่แต่เพียงเท่านี้ ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ถูกจับกุมด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรม หากแต่ในขณะช่วงเวลาเดียวกันกับกรณีข้างต้น ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรมาปักหลักชุมนุมหน้าสำนักงานยูเนสโก (UNESCO) หรือพยายามจะบุกทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งก็ตาม รัฐบาลนี้กลับบอกว่าไม่ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อน แม้จะอยู่ใต้การบังคับใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์เอง ก็ยังไปร่วมขึ้นเวทีทวงคืนเขาพระวิหารของกลุ่มพันธมิตรอีกด้วย

           3. พวกเรายืนยันแนวทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรายังคงขอยึดแนวทางประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆเป็นที่ตั้ง เราจะเชิดชูการต่อสู้ของประชาชนผู้ถูกกดขี่เจตน์จำนงของประชาชนจะต้องได้รับการตอบสนอง เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ ไม่ใช่แค่ฟันเฟืองตัวเล็กตัวน้อยที่ตรากตรำทำงานหนักแล้วยังต้องจ่ายภาษีไปให้กลุ่มอำมาตย์ และรัฐบาลสันดานโจรสูบกินเสวยสุขกันอย่างไร้ประโยชน์ เราจะขอต่อสู้เคียงข้างเจ้าของประเทศตัวจริง นั่นคือ ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จนกว่าความเท่าเทียมเสมอภาคจะมาถึง

           4. พวกเรายืนยันว่าพลังนักศึกษาไม่ได้หายไปไหน ความอยุติธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น นักศึกษาสัมผัสได้ เราเจ็บแค้น และเศร้าโศกเสียใจเช่นกัน แม้ว่าครั้งนี้พวกเราจะรู้ตัวช้า และปล่อยให้พ่อแม่พี่น้องต้องออกแรงก่อน แต่เมื่อพวกเราตื่นขึ้นแล้ว เราจะไม่หลับอีกต่อไป เราขอร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่อแม่พี่น้อง เป็นกำลังใจ เป็นแนวร่วม เป็นความหวัง และเป็นเพื่อนร่วมรบกับปีศาจเผด็จการที่ชั่วร้ายในสมรภูมิแห่งนี้ที่ชื่อว่าประเทศไทยต่อไปจนได้รับชัยชนะ และท้ายที่สุดแม้ว่าพวกเราจะไม่ใช่ตัวแทนของนิสิตนักศึกษาทั้งประเทศ แต่พวกเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นตัวแทนของความถูกต้อง

           พวกเราเชื่อว่า หัวใจอันยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ของประชาชนผู้รักความเป็นธรรม จิตวิญญาณแห่งเสรีชนที่รักความก้าวหน้า และไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจบาตรใหญ่ใดๆ พวกเขาคือประชาชนผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย และพวกเขาคือคนที่จะหลอมรวมกันเป็นพลังเพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้บังเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนอย่างแท้จริง

           สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยไปสู่สังคมที่ยึดมั่นในหลักการแห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพในท้ายที่สุด

 

                                                      จงร่วมกันเร่งสภาวะประชาธิปไตยเสรีสมบูรณ์!

                                                    สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

 ที่มา: http://www.siamintelligence.com/announcement-of-student-federation-of-thailand-2010/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การ์ดเสื้อแดงเชียงใหม่ เสียชีวิตแล้ว...จากการถูกยิงด้วยปืนเอ็ม 16

Posted: 04 Sep 2010 04:16 AM PDT

กฤษฎา กล้าหาญ การ์ดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จังหวัดเชียงใหม่ และในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์บริเวณศาลาแดง ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามปืนเอ็ม 16 ไล่ยิงเสียชีวิตแล้ว

วันที่ 29 สิงหาคม 53 นายกฤษฎา กล้าหาญ อายุ 21 ปี เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นการ์ดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จังหวัดเชียงใหม่ และในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์บริเวณศาลาแดง ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามปืนเอ็ม 16 ไล่ยิงถล่มขณะขับรถยนต์เก๋งส่วนบุคคล บนถนนเชียงใหม่-ฮอด หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.สาขาหางดง ต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กระสุนปืนเข้าที่ต้นขาข้างซ้าย ท้องด้านซ้าย หัวไหล่ซ้าย อาการสาหัสและถูกส่งไปรักษาต่อยังที่ห้อง ICU ตึกสุจิณโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

นายกฤษฎารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลฯโดยได้รับการผ่าตัดที่ช่องท้อง โดยมีครอบครัวและคนเสื้อแดงเชียงใหม่คอยให้กำลังใจ บริจาคเลือดและระดมเงินช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาล จนกระทั้งช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 53 นายกฤษฎาได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ในวันพรุ่งนี้( 5 กันยายน)ครอบครัว และคนเสื้อแดงเชียงใหม่จะรับศพนายกฤษฎาไปตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดศรีบุญเรือง ต.หนองหอย อ.เมือง จ .เชียงใหม่

สำหรับประเด็นการสังหารในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.หางดง จ.เชียงใหม่ ตั้งประเด็นไว้ 1. ยิงผิดตัวเพราะผู้ตายขับรถยนต์ของคนอื่นในวันเกิดเหตุ 2.ขัดแย้งเรื่องแผงขายของที่ถนนคนเดิน 3.ยาเสพติด 4. การ์ดนปช.

ขณะเดียวกันไทยรัฐออนไลน์รายงาน ว่า พ.ต.อ.ภาณุเดช บุญเรือง รอง ผบก.ภ.จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า นายกฤษดา เป็นคน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของยาเสพติด แต่ตรวจประวัติพบว่า ไม่มีประวัติยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และยังทำงานเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ อยู่กับพ่อของแฟนสาวใน อ.หางดง แต่ประเด็นที่ตำรวจมุ่งให้น้ำหนักมากน่าจะเป็นประเด็นที่นายกฤษดา และครอบครัว เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงชัดเจนมาก เมื่อมีการ ชุมนุมที่ไหน นายกฤษดาจะไปร่วมด้วยทุกหนแห่ง ล่าสุด ยังไปชุมนุมที่กรุงเทพฯมา จึงอาจจะมีผู้ที่ต้องการสร้างสถานการณ์มาก่อเหตุ ซึ่งลักษณะการยิงด้วยปืนเอ็ม 16 ต้องการเอาชีวิต หรือไม่ก็อาจจะเป็นการข่มขู่อะไรบางอย่าง
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรื่องเล่า nostalgia : กรณีเสกสรรค์กับอองซานซูจีและนักวิชาการ"ประชาธิปไตย"ปี 2538 และ 2553

Posted: 04 Sep 2010 03:15 AM PDT

ชื่อบทความเดิม :
เรื่องเล่า nostalgia : กรณีเสกสรรค์กับอองซานซูจีและนักวิชาการ"ประชาธิปไตย"ปี 2538 กับกรณีนิธิ-เสกสรรค์-กรรมการปฏิรูปประเทศ และนักวิชาการ"ประชาธิปไตย"ปี 2553

 

ม่านฟ้ายามค่ำ ดั่งม่านสีดำม่านแห่งความร้าวระบม
เปรียบเหมือนดวงใจ มืดทึบระทม พ่ายแพ้ซานซมพัดพรากบ้านมา .........

แว่วเสียงก้องกู่ จากขอบฟ้าไกล แว่วดังจากโพ้นนภา
บ้านเอ๋ยเคยเนาว์ กังวานครวญมา รอคอยเรียกข้าอยู่ทุกวัน
 

จิตร ภูมิศักดิ์, เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ (2503-2505)

 

ผมเป็นคนที่ฝรั่งเรียกว่ามีอาการ nostalgia สูงมาแต่ไหนแต่ไร nostalgia เป็นคำลาติน แปลตรงๆว่า "โรคคิดถึงบ้าน" (homesickness "โรค" [sickness] เพราะเป็นคำที่คิดขึ้นในวงการแพทย์ก่อน ในปี 1688 ต่อมาถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ใช้ในความหมายของ "โรคคิดถึงบ้าน" ตามการแพทย์-จิตวิทยาเท่านั้น ยังหมายถึงอารมณ์ความรู้สึกแบบที่เรียกว่า "ความรู้สึกโหยหาแบบขมปนหวานถึงสิ่ง, คน, และสภาพการณ์ ในอดีต" [a bittersweet longing for things, persons, or situations of the past] ด้วย) - หลังขบวนการฝ่ายซ้ายล่มปี 2525 รู้สึกตัวเอง "ไม่มีบ้าน" บางเวลาเหมือนจะเจอ "บ้าน" แต่สุดท้ายกลายเป็นเพียง illusion (ภาพลวง) ไป ช่วงใกล้ๆนี้ ยิ่งมีเรื่องที่ทำให้เกิดอาการของ "โรค" นี้ "กำเริบ" หนัก

เรื่องเล่าต่อไปนี้ คงเป็นส่วนหนึ่งของอาการ nostalgia ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ . . . .

เดือนสิงหาคม 2538 (คือครบ 15 ปีในช่วงนี้พอดี) ธรรมศาสตร์มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มีเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นคณบดีรัฐศาสตร์ ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี (2534) คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับ อองซานซูจี โดยที่เธอเองยังคงถูกกักกันตัวในบ้านพักในพม่าโดยกลุ่มเผด็จการทหารที่เรียกว่า "สล็อก" เมื่อมีการประกาศรางวัลนี้ บังเอิญในเดือนกรกฎาคม 2538 นั้น "สล็อก" ได้ปล่อยตัวซูจีจากการกักกันในบ้าน และมีข่าวว่าซูจีอาจจะเดินทางไปรับรางวัลอันมีเกียรตินั้นที่สวีเดน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าเธอจะต้องเดินทางผ่านเข้ามาในประเทศไทยก่อนจะไปยุโรป ภายหลังต่อมา ซูจีตัดสินใจเด็ดเดี่ยวไม่ไปรับรางวัล เพราะเธอทราบดีว่ากลุ่มเผด็จการทหารพม่าต้องการให้เธอออกนอกประเทศ ถ้าเธอเดินทางออกไป จะไม่มีวันกลับเข้าพม่าได้อีก เธอตัดสินใจอยู่ร่วมชะตากรรมกับเพื่อนร่วมชาติในพม่า (หลายปีต่อมา แม้แต่สามีเธอที่กำลังป่วยตายและมีงานศพในอังกฤษ เธอก็ไม่สามารถไปพบหน้าเป็นครั้งสุดท้ายได้ และ "สล็อก" ก็ไม่ยอมให้วีซ่าสามีเธอเข้าพม่า) แต่ในระหว่างที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าเธออาจจะเดินทางไปรับรางวัลก็ได้นั้น เอนกในฐานะรองอธิการบดีวิชาการได้ผลักดันให้ธรรมศาสตร์ออกคำเชิญให้เธอแวะเยี่ยมธรรมศาสตร์ เพื่อรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ที่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เคยมีมติเป็นเอกฉันท์เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยและสภาฯรับรอง ให้เธอตั้งแต่ปี 2534 (แต่เธอยังไม่เคยมีโอกาสมารับ เช่นเดียวกับรางวัลโนเบลดังกล่าว)

ปรากฏว่าเมื่อมีข่าวธรรมศาสตร์จะเชิญซูจีมารับปริญญากิตติมศักดิ์เช่นนี้ ทางการทหารไทยได้ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจ ท้วงติงไม่ให้ธรรมศาสตร์เดินหน้าตามแผนการเชิญนั้น

สิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดคือ ในต้นเดือนสิงหาคมนั้นเอง เสกสรรค์ได้ตีพิมพ์บทความใน ผู้จัดการรายสัปดาห์ แสดงความเห็นด้วยกับท่าทีของทางการทหารไทยและไม่เห็นด้วยกับการที่ธรรมศาสตร์จะเชิญซูจีมารับปริญญา เหตุผลที่เสกสรรค์ให้คือ ไทยมีผลประโยชน์ร่วมกับพม่าในแง่การลงทุนและการค้า ดังนั้น "ข้อท้วงติงจากกองทัพเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรรับฟัง เพราะปกติแล้วเขาแบกปัญหามากกว่าเรา รวมทั้งอาจจะกำลังเจรจาต่อรองอะไรกันอยู่ซึ่งเราไม่ควรไปทำให้เขาเสียเปรียบ"

ท่าทีของเสกสรรค์ดังกล่าว สร้างความกระอักกระอ่วนไม่สบายใจให้กับนักวิชาการที่ผมขอเรียกว่า "นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย" ไม่น้อย ในจำนวนนี้ มี "ช" และ "ธ" นักวิชาการชื่อดังระดับนานาชาติ รวมอยู่ด้วย แต่ความที่ทั้ง "ช" และ "ธ" เป็น "รุ่นน้อง" ของเสกสรรค์โดยตรง (ทั้งในแง่รุ่นน้องคณะและรุ่นน้องขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา) ก็เลยอาจจะรู้สึกไม่อยากจะเขียนอะไรออกมาวิจารณ์ตรงๆ "ช" และ "ธ" จึงไปคุยกับ "พ" นักวิชาการรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบได้ปริญญาเอกจากเมืองนอกมาหมาดๆในปีนั้นเอง แล้วก็ "กระตุ้น" (หรือเรียกว่า"ยุ"ก็ได้) ให้ "พ" เขียนบทความออกมาวิจารณ์บทความของเสกสรรค์ ความจริง "พ" เองอ่านบทความเสกสรรค์แล้วก็ไม่พอใจ และกำลังนึกอยากเขียนอะไรออกมาตอบโต้อยู่แล้ว ("พ" ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอาคเนย์) ก็เลยลงมือเขียน บทความวิจารณ์เสกสรรค์ของ "พ" ได้รับการตีพิมพ์ใน ผู้จัดการรายวัน ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนั้นเอง . . . .

ผมขอจบ "เรื่องเล่า" นี้เพียงเท่านี้ ไม่ลงไปในรายละเอียดมากกว่านี้  และผมไม่ขอพูดต่อ เพราะประเด็นที่ "เล่า" เรื่องนี้ อยู่ที่...

ปี 2553 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งบรรดานักวิชาการ"ประชาธิปไตย"ยอมรับนับถือเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นนักวิชาการปัญญาชนทีมีความสำคัญทีสุดของยุคสมัย (และแน่นอน ตัวเสกสรรค์ ประเสริฐกุลเอง) ได้ตอบรับเข้าร่วมเป็น "กรรมการปฏิรูปประเทศ" ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำการปราบปรามการชุมนุมที่ราชประสงค์ของ "คนเสื้อแดง" ทำให้มีคนตาย พิการ บาดเจ็บ สูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

ถ้ามองจากจุดยืนของนักวิชาการ"ประชาธิปไตย" ทั้งสองกรณีที่ห่างกัน 15 ปีนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ควรคัดค้านไม่เห็นด้วย วิพากษ์วิจารณ์ทั้งคู่ (ผมขออนุญาตไม่อภิปรายให้เหตุผลในทีนี้ ใครทีสนใจ ในกรณีเสกสรรค์เมื่อ 15 ปีก่อน กรุณาไปหาอ่านบทความของ "พ" ดังกล่าว ส่วนกรณี กรรมการปฏิรูปประเทศ กรุณาดูบทวิจารณ์นิธิของผมที่เผยแพร่ทาง ประชาไท และ มติชนออนไลน์ ไม่กี่วันก่อน)

ถ้าเปรียบเทียบการเข้ารับเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศของนิธิ(และเสกสรรค์)นี้ กับบทความสนับสนุนทหารกรณีอองซานซูจีของเสกสรรค์เมื่อ 15 ปีก่อน คงไม่มีใคร โดยเฉพาะในบรรดานักวิชาการ"ประชาธิปไตย" เอง ปฏิเสธได้ว่า กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นมีความสำคัญ และมีผลสะเทือนกว้างขวางใหญ่โตมากกว่าอย่างชนิด"ขาดลอย" 15 ปีก่อน มีสักกี่คนที่รู้เรื่องบทความเสกสรรค์ นอกจากในแวดวงนักวิชาการและผู้อ่านบทความ นสพ. จำนวนแคบๆ? แต่กรณีรับเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ มีใครในประเทศนี้ตั้งแต่คนแก่ถึงลูกเด็กเล็กแดง ที่ไม่ทราบข่าว? (ในแง่การเผยแพร่ต่อสาธารณะ เมื่อ 15 ปีก่อน เสกสรรค์หลังจากบทความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ได้เขียนต่อเนื่องอะไรออกมา แต่หลังการเข้ารับเป็นการกรรมการปฏิรูปประเทศแล้ว ทั้งเสกสรรค์และนิธิ ให้สัมภาษณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเข้าไปรับตำแหน่งทั้งทางสิ่งพิมพ์และทางทีวีอย่างใหญ่โต) กรณีอองซานซูจีในปี 2538 กับกรณีการฆ่าหมู่ที่ราชประสงค์ในขณะนี้ ก็ห่างไกลกันลิบลับในแง่ความสำคัญ

แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดที่ผมต้องการเสนอในที่นี้คือ ในปี 2538 อย่างน้อย ยังมีนักวิชาการ"ประชาธิปไตย"บางคน มีความกล้าหาญทีออกมาตอบโต้วิจารณ์ (โดยเฉพาะกรณี "พ" นั้นต้องนับว่าเป็น "ความใจถึง" ไม่น้อย เพราะเพิ่งจบใหม่ ยังไม่มีงานทำ และเสกสรรค์ก็เป็น "ผู้อาวุโส" ระดับ "ปูชนียบุคคล" ของคณะรัฐศาสตร์ที่จะต้องเป็นเป้าหมายการสมัครงานของเขาแน่ๆ - "พ" เป็น "ลูกหม้อคณะ" คนหนึ่ง) แต่ในปีนี้ ในเรื่องที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้กับเรื่องเมื่อ 15 ปีก่อนนี้ นักวิชาการ"ประชาธิปไตย"หายไปไหนกันหมด?

 

.................................

ปล. ในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับปัญญาชนในประเทศฝรั่งเอง ประเด็น (theme) หนึ่ง ที่มักมีการยกขึ้นมาพูดบ่อยๆคือ "สมัยนี้ ปัญญาชนหายไปไหน" โดยมักจะยกเปรียบเทียบว่า "สมัยนี้" (คือสมัยที่มีการพูดประเด็นนี้) "ไม่เหมือนสมัยก่อน" คือ ไม่มี "ปัญญาชนที่แท้จริง" (real intellectuals) นักวิชาการคนหนึ่งได้วิจารณ์ว่า ประเด็นแบบนี้ มีลักษณะของอคติอยู่ เพราะใน "สมัยก่อน" ที่เชื่อกันว่า มี "ปัญญาชนแท้จริง" นั้น คนร่วมสมัยนั้นเอง ก็มักจะพูดเหมือนกันว่า "สมัยนี้" (คือ "สมัยก่อน" ของเรา) "ไม่มีปัญญาชนแท้จริง" และ "สมัยก่อน" ของ "สมัยก่อน" ก็จะพูดในลักษณะเดียวกัน ต่อๆกันไปไม่จบสิ้น พูดแบบภาษิตก็อาจจะได้่วา The grass always look greener on the other side of the fence ("หญ้าในพื้นที่คนอื่นดูเขียวกว่าของเราเองเสมอ") (ดูการวิจารณ์เรื่องนี้ใน Stefan Collini, Absent Mind: Intellectuals in Britain. 2006 หนังสือนี้ ในแง่หนึ่งจัดว่าเป็นหนังสือชั้นยอดที่อภิปรายปัญหาปัญญาชน) ในเรื่องนี้ อย่างที่บอกแต่ต้นว่า ผมเป็นคนมีลักษณะ nostalgia สูง ดังนั้น the grass always look greener yesteryears ("หญ้าในอดีตดูเขียวกว่าหญ้าปัจจุบันเสมอ") เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ผมยังเห็นว่า เฉพาะประเด็นนี้ ไม่แน่ว่า การมองเช่นนี้ ไม่ตรงความจริง หรือเป็น "อคติ" เสมอไป นั่นคือ ผมเชื่ออย่างเป็นเหตุผลและมีข้อมูลด้วยว่า กรณีที่พูดถึงข้างบนนี้ ไม่ใช่มาจาก "อาการ" ของ "โรคคิดถึงบ้าน" ของผมเองเท่านั้น

 

(หมายเหตุ กอง บก. ประชาไท ได้ตัดทอนบางส่วนจากต้นฉบับเดิม)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น