โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สรุปข่าวพม่า 6 - 11 กันยายน 53

Posted: 14 Sep 2010 11:21 AM PDT

พม่าตั้งด่านตรวจเข้มสมาชิกพรรคมอญใหม่ - รถไฟตกรางทำผักขึ้นราคา - ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเตรียมนำเรื่องทหารพม่าฆ่าเด็กหนุ่มถกในการประชุมสมัชชาใหญ่ - เตซา ยื่นคำขาดปลดนักเตะและโค้ช หากพลาดแชมป์การแข่งขันฟุตบอล - KNLA ดักโจมตีทหารพม่า เสียชีวิต 2 เจ็บอีก 6

6 กันยายน 53

พม่าตั้งด่านตรวจเข้มสมาชิกพรรคมอญใหม่
แหล่ง ข่าวจากพรรคมอญใหม่ (The New Mon State Party - NMSP) เปิดเผยว่า ทางการพม่าได้ตั้งด่านตวรจเข้มและสอบปากคำสมาชิกพรรคมอญใหม่ที่เดินทาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา

มีรายงานว่า ทางการพม่าเริ่มตั้งจุดตรวจรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ตลอดทางหลวงที่วิ่งจากเมืองเมียวดีถึงเมืองมะละแหม่ง และในเส้นทางระหว่าง เมืองตานพยูซัดมายังด่านเจดีย์สามองค์ และจากเมืองมูดงมายังด่านเจดีย์สามองค์ และจากมะละแหม่งถึงจังหวัดเยด้วยเช่นกัน  ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังชายแดนไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันครบกำหนดวันสุดท้ายของการตอบรับเข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้รัฐบาลทหารพม่า อย่างไรก็ตาม พรรคมอญใหม่ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับกองทัพพม่า

ด้านสมาชิกพรรคยืนยันว่า ผลของการปฏิเสธ ทางการพม่าได้มีการตรวจสอบสมาชิกพรรคมอญใหม่ที่เดินทางออกนอกพื้นที่อย่างเข้มงวด ขณะที่สมาชิกพรรคมอญใหม่ได้งดการเดินทางในช่วงนี้ เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้ที่ถือบัตรสมาชิกพรรคมอญใหม่ ได้รับการอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางจากทางการพม่าเป็นอย่างดี (IMNA)

รถไฟตกรางทำผักขึ้นราคา
ราคาผักสดและดอกไม้ในเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นมีราคาสูงขึ้นถึง 60% หลังจากที่ขบวนรถไฟที่บรรทุกสินค้ามาตกรางในเส้นทางระหว่าง เมืองมัณฑะเลย์- มิตจีนา เมื่อ 3 วันที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ระบบการเชื่อมต่อทางการค้าได้รับความเสียหาย

โดยรถไฟสายดังกล่าวได้ตกรางที่เมืองมัณฑะเลย์ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมาระหว่างสถานีนัมคำ-โบชอง ในตำบลวันโตะ ภาคสกาย โดยหัวรถจักรและหนึ่งในเก้าของตู้ผู้โดยสารพลิกคว่ำ ทั้งนี้ความเสียหายบางส่วนได้รับการซ่อมแซม แต่ทางรถไฟยังไม่เปิดให้ใช้

ส่วนสิ่งของที่บรรทุกมาเป็นพืชผักต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก มะเขือเทศ ทำให้พ่อค้าต่างได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยกำหนดเดิมของรถไฟต้องมาถึงเมืองมิตจีนาในเวลา ตี 4 ครึ่ง ของวันอังคารที่ 7 กันยายน แต่เกิดเหตุเสียก่อน

“พ่อค้าบางราย ขาดทุนกว่า 1-2 แสนจั๊ต (ประมาณ 3,300-6,600 บาท) ส่วนธุรกิจขนาดกลางเป็นต้นไปขาดทุนประมาณ 5 แสนจั๊ต (ประมาณ 16,500 บาท)” ผู้ค้ารายหนึ่งเปิดเผย

แม่บ้านในเมืองมิตจีนากล่าวว่า “ราคาของดอกไม้เช่นดอกกลาดิโอลัส ดอกเบญจมาศ ขึ้นราคาจาก 800 จั๊ต (28 บาท) เป็น 1,300 จั๊ต (35 บาท) ราคาผักก็แพงขึ้นเหมือนกัน แต่เราทำอะไรไม่ได้ ก็จำเป็นต้องซื้อของในราคาแพง”

ทั้งนี้ แม้จะมีการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน จากรถไฟตกราง แต่ผู้แทนของสถานีรถไฟมิตจีนาก็ออกมาระบุว่าไม่มีใครเสียชีวิต ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟมัณฑะเลย์ ก็ระบุไม่พบว่ามีใครเสียชีวิตเช่นกัน (Mizzima)

 

8 กันยายน 53

ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชน เตรียมนำเรื่องทหารพม่าฆ่าเด็กหนุ่มถกในการประชุมสมัชชาใหญ่
นาย โทมัส โอเจีย ควินตานา ทูตพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า จะนำเรื่องที่เด็กหนุ่มสองคนในเมืองพะโค (หงสาวดี) ที่ถูกฆ่าโดยทหารพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ ขึ้นรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่จะมีขึ้นในเดือน พฤศจิกายนนี้

ในการการสัมภาษณ์กับ Radio Free Asia ขณะนี้เขากำลังหารายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเมืองพะโค เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมระบุ การสังหารเด็กหนุ่มทั้งสองถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ งานศพของวัยรุ่นทั้งสองคน คือ นายอ่องทูเฮง อายุ 22 ปี และนายโซป่ายซอ อายุ 18 ปี ถูุกจัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ตรึงเครียดในวันอังคารที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา พวกเขาถูกยิงโดยทหารพม่าจากกองบังคับการทหารราบกองพลที่ 59 ในวันเสาร์หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายทะเลาะวิวาทกัน

ด้านครอบครัวผู้เสียชีวิตเปิดเผยว่า พวกเขาไม่มีความหวังหากหวังพึ่งกฎหมายในการไต่สวนสาเหตุการตาย ขณะที่น้าของนายอ่องทูเฮงผู้ตาย กล่าวว่า“เราจะเชื่อมั่นในระบบกฎหมายได้อย่างไร เราไม่ได้แม้แต่ข้อมูลของคดีที่สถานีตำรวจ”

มีรายงานว่า ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ดูศพก่อนที่จะนำไปเผา ยกเว้นสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด และขณะพิธีฌาปนกิจ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรักษาความปลอดภัยทั่วทั้งเมือง “เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ทุกจุด และถามเราว่าเราเกี่ยวข้องกับผู้ตายอย่างไร ก่อนที่จะให้เราดูศพ” หญิงคนเดิมกล่าว

ทั้งนี้ คนในพื้นที่ได้ระบุว่า ครอบครัวของผู้เสียชีวิตรายหนึ่งยอมรับเงินจำนวน 1 ล้านจั๊ต (ประมาณ 33,000 บาท) ที่กองทัพเสนอให้เป็นค่าชดเชย แต่มีรายงานว่า ครอบครัวของเหยื่ออีกรายหนึ่งยังไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด

ทางด้านนายเต่งเท ผู้นำพรรคสหภาพประชาธิปไตย ผู้มาร่วมงานศพกล่าวว่า  “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เราเห็นว่า รัฐบาลละเลยกฎหมายและสามารถทำอะไรก็ได้กับการปล่อยให้คนผิดลอยนวล นี่เป็นการคุกคามประชาชนจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง” (Irrawaddy)

11 กันยายน 53

เตซา ยื่นคำขาดปลดนักเตะและโค้ช หากพลาดแชมป์การแข่งขันฟุตบอล
มีรายงานว่า นายเตซา นักธุรกิจผู้มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล และเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล “ย่างกุ้งยูไนเต็ด” ได้ยื่นคำขาดแก่นักฟุตบอลรวมถึงโค๊ชและผู้จัดการทีมว่า หากทีมฟุตบอลของเขาไม่สามารถคว้าแชมป์ เบอร์ม่า เนชั่นแนลลีก แชมป์เปี้ยน (Burma National League championship - BNL) ในฤดูกาลนี้ก็จะถูกไล่ออกทั้งหมด

ทั้งนี้ ผู้จัดการทีมอย่างนายอ่องจ่อวิน ได้ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง “ใช่ มันเป็นเรื่องจริง นายเตซาได้เตือนเป็นพิเศษเพื่อเป้าหมายของการชนะเพื่อครองแชมป์ BNL ในปีนี้ และเราต้องชนะในนัดการฟาดแข้งกับทีมโอ๊กทา ซึ่งก็ใกล้ถึงวันแข่งขันแล้ว”

หลังจากผลการแข่งขันที่แพ้รวด 3 นัดติดต่อกัน นายเตซาได้กล่าวกับทีมฟุตบอลของเขาและลูกชายของเขาที่ชื่อ นายเผเพียวเตซา ซึ่งเล่นให้กับทีมนี้เช่นกันว่า จะต้องเล่นเพื่อเขตย่างกุ้ง ไม่ใช่เล่นเพื่อสโมสรเท่านั้น และจะต้องเอาชนะได้ทุกรอบการแข่งขันที่เหลืออยู่ใน BNL

ด้านผู้จัดการทีมได้กล่าวเพิ่มเติมถึงสิ่งที่นายเตซาระบุว่า ลูกทีมและผู้จัดการทีมกำลังได้รับแรงกดดัน แต่เชื่อว่าทีมจะสามารถเก็บชัยชนะที่เหลือได้  ทั้งนี้ นายเตซาได้ใช้เงินกว่า 500 ล้านจั๊ต (ประมาณ 15 ล้านบาท) ในการสร้างทีมสำหรับการแข่งขันในฤดูกาลนี้ รวมถึงสร้างสนามฝึกและการซื้อตัวนักแตะมาเสริมทีมอีกด้วย (Mizzima)
 

KNLA ดักโจมตีทหารพม่า เสียชีวิต 2 เจ็บอีก 6
มีรายงานจากแหล่งข่าวในรัฐกะเหรี่ยงว่า เมื่อวันพุธที่ 8 กันยายนที่ผ่านมากองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army - KNLA) ได้ซุ่มโจมตีทหารพม่าที่เมืองติงยางีนอง ในรัฐกะเหรี่ยง โดยมีทหารพม่าสองนายถูกสังหาร และอีก 6 คนได้รับบาดเจ็บ

ประธาน KNU ในเขตเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง นายพลอ่องหม่องเอ เปิดเผยว่า กองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากกองพันที่ 202 ของกองพลน้อยที่ 7 ของKNLA ได้ส่งกำลังเข้าโจมตีทหารของรัฐบาล ขณะที่กำลังลาดตระเวนในซินผิ่วต่าวหรือภูเขาช้างเผือก

ขณะที่กำลังทหารพม่าที่ถูกซุ่ม โจมตีครั้งนี้มาจากกองกำลังทหารราบที่ 587  (LIB 587) ภายใต้การบังคับบัญชาจากกองพันที่ 19 ที่มีฐานตั้งอยู่ในเมืองติงยางีนอง ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากเมียวดีไป 30 กิโลเมตร

ทางด้านนางซีโพร่า เส่ง  เลขาธิการ KNU ยืนยันถึงการต่อสู้ที่เกิดขึ้นใน พื้นที่ของ กองพลที่ 7 แต่ไม่มีรายงานการเสียชีวิตของทหารฝ่าย KNLA

เช่นเดียวกับรายงานของ องค์กรข่าวกะเหรี่ยง Kwekalu ระบุว่า ก่อนหน้านี้ในวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา เกิดการปะทะกันของทั้งสองผ่าย มีทหารพม่า 2 นาย จากกองพันที่ 584 เสียชีวิตและอีก 7 นาย ได้รับบาดเจ็บในระหว่างการต่อสู้กับกองพลที่ 4 ของ KNLA ก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคมก็มีการปะทะกัน มีรายงานว่า ทหารพม่าเสียชีวิต 9 นาย และบาดเจ็บ 14 นายด้วยเช่นกัน (Irrawaddy)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พีซีทีเลิกโปรฯ เม้าท์ไม่อั้น-เม้ากันให้มันส์” กลางคัน ผู้ใช้โอดเหมือนถูกโกงจี้ให้ชี้แจง

Posted: 14 Sep 2010 08:27 AM PDT

พีซีทีเบี้ยวโปรฯ “เม้าท์ไม่อั้น” “เม้ากันให้มันส์” ยกเลิกสัญญากลางทาง ผู้ใช้บริการร้อนร้องสบท. ระบุไม่เป็นธรรมเหมือนถูกโกง สบท.เปิดโอกาสให้บริษัทฯชี้แจงแต่ยังไร้คำตอบ

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมถึงขณะนี้มีผู้ใช้บริการ PCT จำนวนเกือบ ๔๐ ราย  ร้องเรียนเข้ามาที่สบท. เกี่ยวกับการสมัครใช้บริการ  we pct Promotion “เม้าท์กันให้มันส์ทุกเครือข่ายนาน ๑ ปี ตลอด 24 ชั่วโมง” และ “เม้าท์ไม่อั้น รีเทิร์น คุยมันส์ ทุกเครือข่าย นาน 1 ปี ตลอด 24 ชั่วโมง” โดยโปรโมชั่นนี้มีเงื่อนไขสำหรับลูกค้า we PCT ที่ซื้อ PLUS PHONE และ WE PHONE ในราคา 3,990 บาท และ 2,990 บาท จะได้รับสิทธิ์โทรไม่จำกัดทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง นาน 12 เดือน นับแต่วันที่เริ่มเปิดใช้บริการ แต่ปรากฏว่า หลังจากสมัครใช้บริการไปได้ 3 เดือน กลับถูกยกเลิกโปรโมชั่นดังกล่าวทั้งหมด เป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากผู้บริโภคที่สมัครใช้บริการก็เพราะต้องการใช้โปรโมชั่นนี้

“ผู้ที่ร้องเรียนเข้ามาระบุว่า รู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบ ถูกโกง และถ้าพูดกันถึงเรื่องความเป็นธรรมแล้ว บริษัทควรที่จะคืนโปรโมชั่นนี้ให้กับผู้ใช้บริการ เนื่องจากได้โฆษณาออกมาแล้วย่อมถือว่าเป็นสัญญาในการให้บริการ ถึงแม้บริษัทจะระบุว่า สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่ในความเป็นจริง การที่จะกำหนดว่า สัญญาจะเปลี่ยนอย่างไรก็ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะตามประกาศ กทช. สัญญาจะเปลี่ยนแปลงต้องให้ผู้บริโภคยินยอมด้วย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสงวนสิทธิเปลี่ยนฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นถ้าบริษัทจะสงวนสิทธิยกเลิกโปรโมชั่น บริษัทก็ต้องกำหนดว่าจะเยียวยาความเสียหายให้ผู้บริโภคอย่างไร” ผอ.สบท.กล่าว

ที่ผ่านมา สบท. โดยหน่วยบริการประชาชน ได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ให้กับผู้ให้บริการเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และหาทางเยียวยาแก้ไขให้ผู้เดือดร้อน แต่บริษัทไม่ตอบกลับมา  ผอ.สบท. เปิดเผยด้วยว่าขณะนี้ในตลาดโทรศัพท์ประจำที่ประเภท PCT มีผู้ใช้บริการอยู่ทั้งหมด 158,205 ราย ดังนั้นเชื่อว่า การยกเลิกโปรโมชั่น  2  รายการดังกล่าว น่าจะทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุเนตร ชุตินธรานนท์: ประวัติศาสตร์พม่า ความหลากหลาย อำนาจ ความรู้ และความเป็นอื่น

Posted: 14 Sep 2010 08:05 AM PDT

สุเนตร ชุตินธรานนท์” มองพม่านอกกรอบตะวันตก โดยชี้ให้เห็นความพยายามในการสร้าง “สิทธิธรรม” ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมเพื่อสืบทอดอำนาจของนายพลพม่า ในขณะที่จัดการเลือกตั้ง "7 พ.ย." แล้วจะไม่ยอมรับผลหากแพ้แบบ 20 ปีก่อนก็ทำไม่ได้แล้ว จึงต้องทำการเลือกตั้งให้ “เป็นไปตามโผ” เป็น “mission” ที่สำคัญของรัฐที่ต้องทำให้ผลเป็นไปอย่างที่ต้องการ

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) ร่วมกับศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษาเพื่อการพัฒนา ได้จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์พม่า: ความหลากหลาย อำนาจ ความรู้ และความเป็นอื่น” นำเสนอโดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้ (หมายเหตุ: ตัวเน้นและคำโปรยเป็นการบรรณาธิกรโดยประชาไท)

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลไม่ถ่ายโอนอำนาจ ตั้งแต่ปี 1990 จนปัจจุบัน จนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่กองทัพทำคือการปฏิเสธถ่ายโอนอำนาจ ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นคือจะอธิบายความชอบธรรมทางอำนาจหรือ “political legitimacy” อย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหาที่แหลมคมขึ้นมาทันที ทำให้ท้ายที่สุด รัฐบาลพม่าไม่มีทางเลือกมาก จึงต้องกลับไปสู่เวทีการเลือกตั้งอีกครั้ง จะช้าหรือเร็วก็ต้องไป ปัญหาคือรัฐบาลพม่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผลการเลือกตั้งออกมาแบบเมื่อที่ผ่านมาคือฝ่ายค้านชนะ 80% แล้วจะมาบอกว่าไม่เอาผลการเลือกตั้งไม่ได้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือสร้างความแน่ใจ ว่าหากมีการเลือกตั้ง จะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจของรัฐจากกองทัพไปสู่ฝ่าย pro democracy เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง

สำหรับกระบวนการนี้ รัฐบาลพม่าใช้เวลา 20 ปี เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง เรียกได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามโผที่รัฐบาลอยากให้เป็น เป็น mission ที่สำคัญของรัฐที่ต้องทำให้ผลเป็นไปอย่างที่ต้องการ”

 

มองพม่าผ่านมุมมองแบบพม่า

อาจารย์สุเนตรเริ่มต้นกล่าวถึงประเด็นของ “พม่า” ในการบรรยายว่า โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีพูดถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของพม่า จะมีกรอบการศึกษาอยู่เสมอ ประเด็นแรก เป็นกรอบที่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคย ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ โดยกรอบสำคัญที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาวะปัจจุบัน เวลานี้อ่านบทความพม่าที่ไหนหรือไปฟังเรื่องพม่าที่ไหน ประเด็นการเลือกตั้งถูกชูเป็นประเด็นสำคัญ เราสนในภาวะปัจจุบันเป็นสำคัญ ส่วน ประการที่สอง คือเวลามองพม่าเราะจะมองผ่านแว่นของคนอื่นเสมอ คือคนไทยด้วยกันเอง หรือจากจุดยืนหรือมุมมองของเราเป็นสำคัญหรือข้อมูลผ่านโลกตะวันตก ซึ่งเป็นข้อมูลผูกขาดการรับรู้เรื่องเของพม่าจากเวทีนานาชาติ แต่ไม่เคยศึกษาจากมุมมองของพม่า

ในคำว่า “พม่า” มีหลายคิดหลายและมิติที่หลากหลาย เช่นคำว่าพม่า อาจจะหมายถึงคนพม่าที่อยู่ในประเทศ หรือคนที่ลี้ภัยหรือประกอบธุรกิจการค้านอกประเทศ พม่ากลุ่มที่เป็นกองทัพ หรือประชาชนทั่วไป หรือเป็นพม่าที่เป็นชาติพันธุ์เบอมัน (Burman) หรือที่เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย หลายคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่าการบรรยายครั้งนี้จะมองจากส่วนไหน ซึ่งจะเป็นการมองจากเงื่อนไขภายในของภาครัฐหรือบทบาทของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้สะท้อนทั้งหมดของความเป็นพม่า แต่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องพม่าที่ผ่านมาและในปัจจุบัน เมื่อตีกรอบว่าจะศึกษาพม่าจากผู้นำหรือผู้ปกครองเป็นสำคัญ ปัจจัยสำคัญคือเน้นเรื่องการเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจ หรือเงื่อนไขในการใช้อำนาจของรัฐ หรือพม่ากับชนกลุ่มน้อย และพม่ากับต่างประเทศ เช่น จีนและอินเดีย และหากเรามองกลับไปที่ภายในของพม่า กิจกรรมของพม่ามีหลากหลายมหาศาลมาก บางครั้งไม่สามารถตีแบ่งแยกแยะว่าเป็นการเมือง ศาสนา สังคม และประวัติศาสตร์ เพราะสิ่งเหล่านี้มีการร้อยรัดเข้าด้วยกัน อย่างการย้ายเมืองเหลืองจากกรุงย่างกุ้งไปที่เนปิดอ ก็สามารถอธิบายได้หลายมิติทั้งการเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ ขึ้นอยู่กับจะเอามิติส่วนไหนมานำเสนอ แต่ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากตรรกะทางการเมืองมาเป็นตัวตั้ง คือมีลักษณะสมเหตุสมผลและ scientific (เป็นวิทยาศาสตร์) หรือไม่ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถอธิบายได้เพียงมิติใดมิติหนึ่งนั้นเท่านั้น

การบรรยายนี้จึงอยากเอาภาคส่วนอื่น ที่ไม่ได้พูดถึงในเชิงบทบาทของผู้นำพม่า โดยเริ่มแรกในมิติประวัติศาสตร์ และผู้นำพม่าใช้ประวัติศาสตร์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอำนาจความชอบธรรมทางการเมือง การกล่อมเกลาทางสังคม ตัวอย่างของการย้ายเมืองหลวงเป็นต้น แต่พอจับในรายละเอียด ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ทั้งสามสิ่งหล่อหลอมกลมกลืนในตัวเอง ดังนั้น จะพูดเรื่องเหล่านี้ที่สัมพันธ์กัน โดยดูผ่านกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อดูว่าจะทำให้เราเข้าใจพม่าอย่างไร

เมื่อพูดเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาของนักประวัติศาสตร์ว่าจะมีจุดเน้นตรงไหน กรอบอยู่ตรงไหน การแบ่งยุคการเมืองพม่าทำได้หลายวาระ เช่น หลังการประกาศเอกราช มีการการแบ่งการเมืองได้หลายแบบ ยุคเนวิน หรือแบ่งตั้งแต่ปี 1988 ก็ได้อีกรูปแบบหนึ่ง

หากใช้กรอบการแบ่งตั้งแต่ปี 1988 หรือตั้งแต่ช่วงปี 1990 ถึงปัจจุบัน การอรรถาธิบายต้องย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ในปี 1988 ด้วยเมื่อเป็นกรอบนี้ เราต้องเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ที่ผันแปรหรือช่วงเปลี่ยนแปลงจะใช้ปี 1988 เป็นจุดตัดช่วง และเป็นจุดเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมือง คือการลุกฮือของประชาชน ถ้าดูงานจากตะวันตกมักจะใช้คำว่า “popular revolution” หรือ “people revolution” แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือน 14 ตุลาอย่างในประเทศไทย เพราะท้ายที่สุดกองทัพก็กลับมายึดอำนาจได้เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะการลุกฮือทั้งในเมืองหลวงและอื่นๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เนวินขึ้นมาเถลิงอำนาจตั้งแต่ปี 1962 ซึ่งมีงานศึกษาเรื่องนี้มากมายแล้ว ผลจากการเหตุการณ์นี้ทำให้เนวิน ซึ่งครอบอำนาจมาเป็นเวลาช้านานในฐานะประธานาธิบดี ต้องก้าวลงจากอำนาจ จะลงจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่จำเป็นต้องให้คนอื่นมารั้งสถานนะนั้นเอง ในเดือนกรกฎาคม 1988 นายพลเส่งลวิน (Sein Lwin) ประธานาธิบดีพม่า ซึ่งเป็นนายทหารมีกิตติศัพท์ “the butcher of Rangoon” เพราะเอากองกำลังปราบประชาชน ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง แต่อยู่ได้แค่ 2 เดือน ก็ต้องลงจากตำแหน่งและให้ ดร.หม่องหม่อง  (Maung Maung) พลเรือนซึ่งเป็นคนสนิทของเนวินขึ้นมาทำหน้าที่แทนในวันที่ 19 สิงหาคม 1988 แต่อยู่ได้ไม่เกินเดือน เพราะไม่สามารรถทำให้เกิดความสงบได้

ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าเกิดปฏิวัติภายใน ทหารเก่าไม่พอใจที่เนวินไม่สามารถเอาความสงบภายในประเทศกลับมาได้ จึงเกิดรัฐประหารกลายๆ ในวันที่ 18 กันยายน 1988 ทำให้เกิดกลุ่มของนายพลซอหม่อง (Saw Maung) ตั้ง สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council) หรือสล็อร์ก (SLORC) โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการมาสร้างความสงบ และสัญญาจะว่าให้มีการเลือกตั้ง และในที่สุดการเลือก 16 มิถุนายน 1990 หลังจาก 28 ปีที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งขึ้นมาเลยตั้งแต่เนวินขึ้นในปี 1962 ได้เกิดการเลือกตั้งที่มีประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้งจำนวน 28.2 ล้านคน จำนวน 75% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดออกมาเลือกตั้ง ในขณะนั้นมีพรรคการเมืองทั้งหมด 234 พรรค แต่พรรคลงเลือกได้จริงๆ เพียง 93 พรรค พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะเลือกตั้ง ได้จำนวนผู้แทนถึง 392 จาก 489 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนพรรค UNP ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลได้ 10 ที่นั่ง

ปรากฏว่า SLORC ปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจ ทั้งนี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกในปี 1992 เป็นการขึ้นมาของกลุ่มทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรบกับชนกลุ่มน้อย เป็นทหารระดับภูมิภาค คนกลุ่มนี้มีตานฉ่วย และหม่องเอ ร่วมกับกลุ่มที่มีฐานอำนาจเดิมอย่าง ขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งใกล้ชิดกับเนวิน ช่วงเวลานี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้นำอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฐานอำนาจเดิมค่อนข้างอาวุโสและสัมพันธ์กับการต่อสู้ในช่วงอาณานิคมกับอังกฤษและญี่ปุ่น ที่เป็นสายนายพลอองซาน ซึ่งกลุ่มใหม่มีบทบาทใหม่ในการรบในสนามจริง

อย่างไรก็ตาม จะเป็นกลุ่มไหนขึ้นมาก็แล้วแต่ มันไม่เกิดกระบวนการส่งอำนาจจากการเลือกตั้งจากกองทัพสู่ฝ่าย pro democracy ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมกองทัพถึงคงอำนาจได้ยาวนานเหลือเกิน แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นนั้น ถ้าประเทศไทยคงทำไม่ได้ มีการตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพมีอำนาจยึดครองทรัพยากรและอาวุธต่างๆ อีกมิติหนึ่งคือภายในของพม่ามีปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่กองทัพ แต่อยู่คนละฝ่ายกับกองทัพ นั่นคือปัญหาความเป็นเอกภาพ (unity) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ พรรค NLD ส่วนหนึ่งก็ไม่ไว้วางใจคนกลุ่มน้อย เพราะเกรงว่าจะมีสิทธิในการปกครองตนเอง (demand for autonomy) กลุ่ม NLD เองก็ไม่ได้สร้างสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่คนกลุ่มน้อยจริงๆ แล้วเป็นองค์ประกอบที่ไม่น้อยในพม่า คือ 35% และเคลื่อนไหวทางการเมืองและเชิงอำนาจมาตลอด คือไม่ไว้วางใจพวกขับเคลื่อนประชาธิปไตยว่ามีความคำนึงกับสิทธิชนกลุ่มน้อยมากเพียงไหน

ภาวการณ์คือหากอำนาจหลุดมือไปอยู่ในมือพลเรือน ประเทศจะมีเอกภาพหรือไม่ถ้าทหารไม่คุม อันนี้ให้ความชอบธรรมกับกองทัพในการสืบสานอำนาจ แต่คนก็เบื่อหน่ายอย่างยิ่งกับการปกครองของกองทัพในหลายประประเด็น เช่น หนึ่ง ความไม่แน่นอนในการบริหาร เหตุการณ์ลดค่าเงินจ๊าต เช่น มีธนบัตรใบละ 1,000 ในกระเป๋า รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีเลิกให้ใช้ธนบัตร ปรากฏว่าเงินที่มีอยู่แลกไม่ได้ อันนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญ เหมือนกับเหตุการณ์ของประท้วงของพระหรือที่เรียกว่า “saffron revolution” คือการขึ้นค่าน้ำมัน อาจจะมีคนตั้งคำถามว่าแล้วพระเกี่ยวอะไร แต่มันส่งผลต่อประชาชน ทำให้ประชาชนต้องใช้มีค่าใช้จ่ายสูง ก็จะทำไม่มีเงินมาทำบุญตามมา อันนี้คือการตีความว่ามันเป็นปัญหา การควบคุมทางการเมืองและปราบปรามอย่างเฉียบขาด เช่น วันนี้ตนเองวิจารณ์รัฐบาลวันนี้ ไม่คิดว่า ศอฉ. จะเรียกตัวไปพรุ่งนี้ แต่ในพม่าหากคุณนินทาพม่าในร้านกาแฟ กลางคืนอาจจะโดนเรียกไปอบรม หรือพวกชอบเปิดเว็บไซต์ต่างจะโดนพม่าเอาไปขังเป็น 20-30 ปีเลย

นี่คือการปกครองในลักษณะที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีใครอยากถือเงินจ๊าต ถ้าจำไม่ผิด 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทางการสามารถแลก ได้ 6 จ๊าต แต่ในตลาดมืดแลกได้ 1,000 จ๊าต รวมถึงการขาดสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ คนเมืองร่างกุ้งที่เป็นเมืองหลวง ต้องคอยดูว่ากี่วันจะได้ไฟในหนึ่งอาทิตย์ อีกกี่วันไฟจะปิด อันนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร กลัวว่าถ้าไม่มีทหารประเทศจะไม่มีความเสถียรภาพ จะแตกกระจายเป็นเล็กน้อยหรือไม่

 

การเลือกตั้ง-วัฒนธรรม-ชาตินิยม เพื่อรักษาความชอบธรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลไม่ถ่ายโอนอำนาจ ตั้งแต่ปี 1990 จนปัจจุบัน จนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่กองทัพทำคือการปฏิเสธถ่ายโอนอำนาจ ปัญหาแรก ที่เกิดขึ้นคือจะอธิบายความชอบธรรมทางอำนาจหรือ “political legitimacy” อย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหาที่แหลมคมขึ้นมาทันที ทำให้ท้ายที่สุด รัฐบาลพม่าไม่มีทางเลือกมาก จึงต้องกลับไปสู่เวทีการเลือกตั้งอีกครั้ง จะช้าหรือเร็วก็ต้องไป ปัญหาคือรัฐบาลพม่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผลการเลือกตั้งออกมาแบบเมื่อที่ผ่านมาคือฝ่ายค้านชนะ 80% แล้วจะมาบอกว่าไม่เอาผลการเลือกตั้งไม่ได้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือสร้างความแน่ใจ ว่าหากมีการเลือกตั้ง จะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจของรัฐจากกองทัพไปสู่ฝ่าย pro democracy เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง

สำหรับกระบวนการนี้ รัฐบาลพม่าใช้เวลา 20 ปี เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง เรียกได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามโผที่รัฐบาลอยากให้เป็น เป็น mission ที่สำคัญของรัฐที่ต้องทำให้ผลเป็นไปอย่างที่ต้องการ

ปัญหาที่สอง คือการตกค้างมาก่อน 1990 คือปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่ฝังรากมาช้านาน mission นี้คือทำให้การฟื้นฟูระเบียบ ที่สำคัญประการหนึ่งคือการจัดการกับสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยให้ได้ด้วย จึงเป็น 2 เรื่องที่เป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ แต่สิ่งหนึ่งคืออำนาจของรัฐต้องอยู่ในมือกองทัพ เงื่อนไขนี้ส่งผลให้มีกิจกรรม 2 กิจกรรมหลัก เป็นปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อให้ได้ผลที่คาดหวัง เช่น ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ในเดือนมกราคม 1993 การขับเคลื่อนเรื่องเจรจาการหยุดยิงที่เริ่มตั้งแต่ปี 1991 โดยกลุ่มแรกคือองค์กรแห่งชาติปะโอ (Pa-O national organization) และต่อมาการที่ขุนส่ายอมวางอาวุธ กระบวนการนี้ยืดเยื้อตั้งแต่ 1990 และการทำแผน roadmap ที่เกิดจากความไม่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งรัฐบาลก็ทำตามทุกอย่างตามขั้นตอนที่ว่า โดยมีคำว่า “อยู่ในกฎเกณฑ์เสมอ” หรือ “discipline democracy” ไม่ว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ทำประชามติในช่วงเกิดพายุนาร์กีส จัดให้การเลือกตั้ง และเปิดรัฐสภาในเวลาต่อมา และต่อไปคือการสร้างชาติให้ทันสมัย และมีกิจกรรมอีกมากมายที่อยู่ในเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องทำ ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างโดยสังเขป ที่เริ่มจากปี 1990 ที่ใช้เวลา 20 ปี กรอบเวลาตรงนี้มันบอกอะไรเรา คือ หนึ่งการสร้างกรอบของกองทัพ นับแต่การเลือกตั้งในปี 1990 มาถึงขั้นตอนที่ มีการเลือกตั้งกินเวลา 20 ปีที่ปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจ รัฐบาลอาศัยความชอบธรรมอะไร และต้องนั่งอยู่ในอำนาจก่อน อธิบายความชอบธรรมที่อยู่บนเก้าอี้ของการปกครองของประเทศอย่างไร เขาอธิบายอย่างไร

ปัญหาที่สาม คือกองทัพไม่สามารถดำเนินแผนปฏิบัติการทางการเมืองได้ปกติสุข อย่างการกักบริเวณ ออง ซาน ซูจี หรือ ปัญหาชนกลุ่มน้อย และกองทัพก็ยังอ้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจ พิจารณาได้จากสิ่งที่ร่างในรัฐธรรมนูญ เช่น ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาร้อยละ 25 ต้องแต่งตั้งจากกองทัพ กระทรวงสำคัญอย่างกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน ต้องอยู่ในอำนาจทหาร คนเป็นประธานาธิบดีต้องมีประสบการทหารมาก่อน กองทัพจึงยังคงอำนาจอยู่ ขอชี้ให้เห็นประเด็นเรื่องกรอบเวลา และเป้าหมายของรัฐบาล เพราะรัฐบาลพม่าก็เหนื่อยเหมือนกัน ปัญหาอยู่ที่ไหน กติกาสากลมันถูกล้มซะเองโดยทหาร เพราะไม่สามารถใช้กติกามาคงไว้ซึ่งอำนาจได้ รัฐบาลจึงมองกลับไปสู่หลักธรรมแห่งอำนาจเดิมสมัยเก่าแก่ เป็นกลไกทางอำนาจในการแสดงถึงความชอบธรรม ปฏิบัติการศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม (cultural norms and popular beliefs) เพื่อ หนึ่ง ให้ความชอบธรรมกับกองทัพในการปกครอง สอง ลดความสำคัญของฝ่ายตรงข้ามโดยปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณอย่างมหาศาลและสอดประสานกับปฏิบัติการทางการเมืองที่ควบคู่กันไป

โดยมีลักษณะเด่นของปฏิบัติการ 3 แนวทาง ประกอบด้วย

หนึ่ง ใช้กลไกทางวัฒนธรรมแต่โบราณกาลก่อนได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม1948 ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมทางอำนาจ

สอง การสร้างวีรบุรุษทางประวัติศาสตร์ชุดใหม่เพื่อตอกย้ำผู้นำตั้งแต่หลังยุค 1990 โดยเน้นความเป็นเอกภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้ผู้นำชาติพันธุ์พม่าและกองทัพ

สาม ปลุกจิตสำนักชาตินิยมเพื่อต่อต้านจักรวรรดิภายในประเทศและนอกประเทศ

 

แนวทางแรก คือการใช้กลไกวัฒนธรรมโบราณ สิ่งนี้มีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์พม่า กษัตริย์พม่าอ้างตนเองพระธรรมราชา หรือพระโพธสัตว์ คือการเป็น “the righteous king” การเป็นพระธรรมราชาคือเป็นองศาสนูปถัมภก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ (belief factor of the religion) หรือเรียกตามภาษาว่า “ตาตานาดายากา” โดยต้องทำกิจกรรม เช่น การซ่อมสร้างเจดีย์ ขุดสระรอบวัด สร้างวัด ศาลา พระพุทธรูป ทำให้คนอื่นยอมรับว่าท่านเป็นผู้ปกครองโดยธรรม ตัวอย่างเช่นการสร้างเจดีย์เก็บพระบรมสารีริกธาตุ (the sacred tooth relic pagoda) ในปี 1994 เจดีย์องค์นี้ใหญ่มากและการใช้เงินสร้างลงทุนมหาศาลในบริเวณที่เป็นเนิน ซึ่งสร้างไว้ 2 แห่งคือเนินทำมาปาระ และเนินมหาจำมาราสี ในเมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ตามมา เรื่องนี้มีความเป็นมาว่าในปีดังกล่าว พม่าได้ยืมพระเขี้ยวแก้วจากจีนมาบูชาและแห่เฉลิมฉลองทั้งประเทศ ซึ่งมีความเชื่อว่าเขี้ยวแก้วนั้นมี 4 ซีกประจำอยู่ที่ สวรรค์ บาดาล เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาและประเทศจีน กษัตริย์พม่าบูชาพระเขี้ยวแก้วมาก ซึ่งปรากฏในประวัติศาสตร์ด้วย เช่น กษัตริย์บุเรงนองตัดผมยาวไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ศรีลังกา ตรงนี้จึงเป็นแนวคิดให้พม่าสร้างพระเขี้ยวแก้วจำลองและสร้างพระวิหารไว้บรรจุ ซึ่งมีลักษณะเหมือน วิหารเจดีย์อนันดาที่เมืองพุกาม ทำประตู 9 ประตู เพดานปิดทองคำเปลวจริงหมด แล้วมีครอบครัวหม่องเอมาทำพิธียกฉัตรพระเจดีย์ซึ่งมีความสำคัญ และต้องลงในหนังสือพิมพ์ The New Light of Myanmar และถ่ายทอดทางทีวี

นอกจากนี้ยังมีสร้างพระพุทธรูปหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ “Lawka Chantha Abhaya Babha Muni” สร้างใกล้สนามบินในปี 2000 ซึ่งแนวคิดแบบนี้ก็มีระบุไว้ในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน เช่น การสร้าง “the Naha Thet Kya Yanthi” โดยกษัตริย์ตะนินกะเนว่ (Taninganwe) ในช่วงปี 1714-1733 สมัยอังวะที่เห็นว่าหินอ่อนเป็นประหนึ่งอัญมณี และมีการใช้หินอ่อนมาสร้างเจดีย์ หรือกษัตริย์บาจีดอ (Bagyidaw) ในช่วงปี 1819 - 1837 ที่รบแพ้อังกฤษ แต่สร้างพระพุทธรูปหินอ่อนที่สวยงามมากที่สุด ต่อมาภายหลังพระเจ้ามินดงจากที่ย้ายเมืองหลวงจากอัมระปุระไปมัณฑะเลย์ แล้วประชาชนคิดถึงพระพุทธรูปหินอ่อน เลยสร้างอีกองค์อยู่ที่ตีนเขามัณฑะเลย์ ชื่อว่าเจ้ากฺอ่อจี (Kyaauk aw gyi Buddha) การที่พระองค์สร้างพระพุทธรูปจึงเป็นบารมีอันยิ่งใหญ่ จะเห็นว่าเขาสร้างมากจากสิ่งที่เป็นรากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ดังนั้น ผู้ปกคอรงยุคนี้จึงคิดสร้างสักองค์หนึ่งให้ใหญ่กว่าทุกองค์ที่เคยสร้างมาทั้งหมด และสร้างวัดให้พระพุทธรูปประดิษฐานไว้ รวมทั้งแก้วครอบทั้งองค์เพราะกลัวว่าจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี โดยสร้างจากหินอ่อนก้อนใหญ่ก้อนเดียว ซึ่งหินก้อนนี้ต้องขนลงเรือมา แกะมาเป็นโครงก่อนและสลักอีกทีที่ยางกุ้ง เหล่าแม่ทัพในกองก็ต้องแสดงตนเป็น “ตาตานาดายากา” คือผู้ให้การอุปการะ หม่องเอ ตานฉ่วย และขิ่น ยุ้นต์ ต่างมีรูปของตัวเอง ทั้ง 3 คนมาร่วมกันทำกริยาบุญนี้ ภาพวาดส่วนใหญ่ตอนนั้นยังเน้นที่ขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งตรงนี้เป็นกิจกรรมทางศาสนาอีกอย่างหนึ่งคือต้องเล่าตำนานการสร้างวัดวาอาราม ใครเป็นคนสร้างก็ต้องแสดงผ่านกิจกรรมฝาผนัง ตอนนั้นขิ่น ยุ้นต์ ยังมีอำนาจจึงเลยมีรูปของเขามากหน่อย หลังจากนั้น พอผู้นำทะเลาะกัน จะทำอย่างไงดี เพราะขิ่น ยุ้นต์ไปแล้ว เมื่อตนเองได้กลับไปดูรูปอีกรอบ ปรากฏว่ารูปขิ่น ยุ้นต์ถูกลบหายไป กลายเป็นใครก็ไม่รู้ ลักษณะนี้เหมือนกษัตริย์อียิปต์สมัยก่อน ที่ไม่ชอบใครก็มาเคาะรูปสลักทิ้งไป อันนี้เป็น politics ซ้อน politics การศึกษาเรื่องนี้จึงต้องหมั่นไปบ่อยๆ และสังเกต

งานสร้างพระนี้ยังไม่ใช่งานใหญ่ งานใหญ่คืองานยกฉัตรเจดีย์ชเวดากอง ในประวัติศาสตร์ กษัตริย์มินดงได้ทำเป็นคนสุดท้ายในปี 1871 และ SPDC มาทำพิธีอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายนปี 1999 ซึ่งประเพณีนี้ใหญ่โตมากและต้องเป็นผู้มีบุญบารมีมาก พอสิ้นฤดูฝน เขาจะเอาทองที่หลุดมาเคลือบพระเจดีย์ใหม่ ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องยกฉัตรเป็นเรื่องใหญ่เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปเทียวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่จัดห้องใหญ่ห้องหนึ่งเป็นเรื่องยกฉัตรนี้อย่างเดียวเลย อันนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมใหญ่ในยุคนั้น นอกจากนี้ ที่ทะเลสาบอินเล (Inle Lake) ในรัฐฉาน ก็มีประเพณีแห่พระจากวัดปองโดกู ซึ่งรัฐบาลพม่าก็ให้ความสำคัญ เช่น หม่องเอไปแห่พระตั้งแต่ปี 1998 - 2000 ซึ่งเป็นข้อมูลจากวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งในช่วงที่มีการไปเก็บข้อมูล ที่สำคัญมีการเจอช้างเผือกในปี 2001 จากป่ารัฐอาระกัน และสร้างโรงเก็บข้างเผือกใกล้ๆ กับพระพุทธรูปหินอ่อน อันนี้เป็นการสร้างบุญบารมีของผู้ปกครองอีกเช่นกัน

 

สิทธิธรรมของนายพล

กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นภาคส่วนกับการเป็น “righteous king” ที่ต้องทำอีกสิ่งหนึ่งคือ การสร้างพระนคร เป็นของที่เจอเสมอในพม่า กษัตริย์ตั้งแต่องค์แรกสุดเลย และการสร้างพระนครต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระอิศวร พระอินทร์ กิจกรรมสร้างเมืองไม่ใช่เรื่องของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่มีเทพมาช่วย และต้องเป็นคนที่มีบุญบารมีถึงจะมีเทพมาช่วย เช่น บุเรงนอง (Bayinnaung) สร้างเมืองหงสาวดีใหม่ซ้อนในปริมณฑลเมืองเดิม หรือกษัตริย์ปาจีดอสร้างเมองอังวะใหม่ กษัตริย์ปะดุงปดาพญาก็ย้ายเมืองใหม่ไปอัมมะปุระ และกษัตริย์มินดงย้ายไปมัณฑะเลย์ เป็นต้น การสร้างเมืองมันบ่งชี้นัยยะทางอำนาจ คตินี้มีนัยยะสำคัญต่อบทบาทของการเป็นธรรมราชา สุดท้ายก็เลยกลายมาเป็นเนปิดอ และสร้างเจดีย์ชเวดากองใหม่เลย เมืองนี้อยู่เหนือเมืองตองอู 70 กิโลเมตร และใกล้กับเมืองที่เป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า “nerve center” คือเปียนมะนา เมื่อคิดในแง่ยุทธศาสตร์ ทางการเมือง ซึ่งพระเจ้าอลองพญาเป็นคนใช้คนแรก กษัตริย์พม่ามีการควบคุมจากภายใน center ทำให้ที่ตั้งของเมืองปลอดภัยจากการรุกราน สมัยนั้นอำนาจอยู่ที่เมืองรัตนสิงหะ เช่นเดียวกันกับเวลานี้คือประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในย่างกุ้ง ซึ่งไม่สามารถปิดล้อมเมืองศูนย์กลางได้ ยุทธศาสตร์อันนี้ต้องมองกลับไปที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งนายพลอองซานใช้เป็นเซนเตอร์ต่อสู้กับอาณานิคม และสมัยอลองพญาที่ตั้งเมืองเป็นรัตนสิงหะเป็นราชธานี

ส่วนแนวทางที่สอง คือการสร้างวีรบุรุษชุดใหม่ การบ่งชี้โลกทัศน์ทางการเมืองเป็นของใหม่ เมื่อพิจารณางานของประวัติศาสตร์พม่าที่ผ่านมา พบว่าประวัติศาสตร์นั้นเริ่มแรกเขียนโดยคนตะวันตก คือ Sir Phayre (Sir Arthur Purves Phayre) เป็นคนเขียนคนแรก เสนอจากมุมมองตะวันตก และไม่ได้มองตะวันตกในแง่ร้าย นอกจากนั้น มีนักวิชาการอย่าง ดร.ทินอ่อง (Dr.Htin Aung) ที่มีลักษณะเป็นชาตินิยม แม้ไม่ถึงขั้นหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีการแปลหนังสือของเขาออกมาหลายเล่ม ที่มีเนื้อหาโจมตีตะวันตก หรือนักวิชาการอย่าง Michael Aung-Thwin ที่ไปโตเมืองนอกและเขียนงาน pro รัฐบาลออกมา ซึ่งทำให้นักวิชาการอย่าง Dr.Than Tun แทบจะฆ่าทิ้ง

มีกรณี Tun Aung Chain เขียนงานเกี่ยวกับพระธรรมราชา ซึ่งต่อต้านประวัติศาสตร์แบบศักดินา อย่างหนังสือ The Broken Grass (2004) ศึกษาพม่าก่อนรัฐบาล 1990 โดยเอานายพลเนวินเป็นตัวตั้ง เป็นประวัติศาสตร์แนว pre modern ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผู้ปกครอง แต่ไม่ใช่เรื่องประชาชน ซึ่งตรงนี้มีความแตกต่าง เพราะตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมามีนิตยสารอิระวดี ที่มี Aung Zaw เป็นบรรณาธิการ ซึ่งจะนำเสนอแตกต่างจาก The New Light of Myanmar ของรัฐบาลพม่า

การพูดถึงวีรบุรุษของชาติอย่าง ตูเยกอง ซึ่งเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง การพูดเรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ ในยุคเนวินก็พูดเรื่องนี้ แต่วีรบุรุษที่มีการพูดถึงนั้นสัมพันธ์กับการต่อต้านอาณานิคม หรือ มหาพันธุละ ก็มีการพูดเป็นหลัก เป็นนักรบที่ตายในสงคราม first Anglo-Burmese war (ค.ศ. 1824-1826) อีกคนคือ ซยาซาน ในสงครามชาวนาที่มีรูปในธนบัตรราคา 45 และ 90 จ๊าต ซึ่งก็มีรูปของอองซาน และมีอนุสาวรีย์ที่สร้างไว้หลายที่ เพราะเนวินเขาสัมพันธ์ตัวเขากับออง ซาน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเรื่องของอองซานชูจี แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังปี 1990 เป็นต้นมา หลังปี 1988 รัฐบาลเอารูปของอองซานออกหมดเลย และหยุดสร้างอนุสาวรีย์อองซาน ตลอดจนพิธีวางพวงมาลาที่ทำเป็นกิจจะลักษณะ (ทุกๆ วันที่ 19 ก.ค.) หลังจากนั้นทำแต่ก็ทำเงียบๆ แล้วมีอะไรเข้ามาแทนที่ นั่นคือการสร้างอนุสาวรีย์บุเรงนอง ที่แรกอยู่ทำพิธีวันที่ 22 พฤศจิกายน 1994 ที่ “Victory point” ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “บุเรงนอง พอยท์” ไปแล้ว และที่ท่าขี้เหล็กชายแดนไทย โดยเลือกที่จะเล่าว่ารบชนะไทย จะเห็นว่าเนื้อหาเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมา รวมถึงที่ตั้งหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อันนี้เป็นการสร้างวีรบุรุษชุดแรก เน้นที่บุเรงนองเป็นหลัก ตลอดจนการเขียนหนังสือ สร้างละคร และสร้างวังบุเรงนองเป็นอันสุดท้าย นี่เป็นการลงทุนกับประวัติศาสตร์ ต่อมาภายหลังเพิ่มท่านอื่นเข้าไปด้วย คือ อโนรธามังช่อ (Anawrahta) และ อลองพญา  (Alaungpaya) เริ่มจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และตามที่ต่างๆ เช่นฐานทัพที่เมเมียว ต่อจากนี้ไปเลยเป็น 3 แม่ครัวทุกที่ หลังจากสร้างวังบุเรงนอง ก็สร้างวังอลองพญาใหม่ที่บเดโย และวังอโนรธาที่กลางเมืองพุกาม ตลอดจนอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ที่เนปิดอ ซึ่งบุเรงนองต้องอยู่ตรงกลางตลอด เพราะเดี๋ยวคนจะสับสนว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแนวคิดในการสร้าง ในยุคเนวินจะเน้นคนต่อสู้เพื่อเอกราช มายุคปัจจุบันนี้กษัตริย์ต้องมีนัยยะคือ เป็นพุทธ เป็นชาติพันธุ์พม่า และเป็นคนที่เชื่อว่าเป็นคนสร้างเอกภาพในรัฐ ความเป็นปึกแผ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า SPDC และกษัตริย์ทั้งสามพระองค์คือประสบความสำเร็จในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย อลองพญาปราบชาวมอญได้อย่างราบคาบ มีการจัดรูปลักษณ์ใหม่ การนำเสนอและวางเรื่องใหม่ มีจุดเน้นและสร้างตำนานใหม่ และมีนัยยะอันสำคัญต่อกองทัพ

ส่วนประเด็นที่สาม คือปลุกสำนึกชาตินิยม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อประเทศ “Burma” เป็น “Myanmar” การเปลี่ยนชื่อเมืองให้มีออกเสียงใหม่ รวมถึงการเรียกชื่อชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1989 เปลี่ยนเพลงชาติจากคำว่า “Burma” ให้เป็น “Myanmar” และอื่นๆ เหล่านี้มันบ่งบอกถึงการอธิบายความชอบธรรมกับกองทัพในการปกครอง ว่าทำไมถึงมีผู้นำประมาณนี้อยู่ และเป็นการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญกับกองทัพที่ยึดโยงโดยความเป็นเอกภาพ ถ้าไม่มีผู้นำแบบนี้ บ้านเมืองจะเป็นเอกภาพหรือไม่ การทำสิ่งเหล่านี้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตามที บ่งชี้สถานะอันปฏิเสธไม่ได้ของกองทัพ ไม่ว่าประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร กองทัพต้องอยู่คู่กับความเป็นพม่า สิ่งที่ถูกสร้างล้วนให้ความชอบธรรมเหล่านี้ ที่ไม่เพียงอธิบายการอยู่ในอำนาจมา 20 ปี และการสืบทอดอำนาจจากนี้และต่อไป กองทัพจะมีบทบาทในการจัดกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยที่เรียกว่า discipline democracy ด้วยภาพตรงนี้เห็นชัดเจนว่า การเมืองพม่าจะเลือกตั้งไม่เลือกตั้งก็มีกองทัพอยู่ น้ำหนักต้องดูพร้อมๆกับ activities ทำนองนี้ เพื่อสู่ความข้าใจต่อการเมืองพม่า

ตรงนี้เป็นจุดคิดต่อไปไกลกว่า “free and fair election” ในภาษาของผู้ปกครอง อันนี้ไม่มี ไม่มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เป็นภาษาของเรา คือการเป็นประชาธิปไตยต้องมีขั้นตอน 1 – 2 – 3 – 4 - 5 … ถ้าดูกระบวนการนี้จะเห็นว่ามันไม่มีในศัพท์ของเขาว่าเป็นนัยยะกระบวนการประชาธิปไตยที่กองทัพคิดหรือเหมาะสมกับการเมืองพม่า และเป็นความไม่นอน เป็น logic อีกชุดหนึ่ง เราจะอยู่กับ logic อีกชุดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน ส่วนจะไปหักเหเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ทำกันมานาน แต่ว่าท้ายที่สุดคนมาให้ความหวังกับการเลือกตั้งเหมือนกัน โดยนัยยะหนึ่งการมองการจัดการทางอำนาจถือว่าเป็นการสืบทอด จะมีการเปลี่ยนแปบงในมติอื่น เช่น การค้า การลงทุน และชาติมหาอำนาจ ก็เหมือนกับหลับตาข้างหนึ่งและบอกว่ามีการเลือกตั้งแล้ว แล้วประเทศไทยจะมีนโยบายต่อพม่าอย่างไรด้วย

 

ช่วงตอบคำถาม: เขียนประวัติศาสตร์พม่าอย่างไร สื่อมวลชนจะรายงานอย่างไร

ในช่วงแลกเปลี่ยน อาจารย์สุเนตร ตอบคำถามแรกที่ถามถึงจุดเน้นสำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ในปี 2550 (Saffron revolution) ว่าการที่รัฐบาลพม่าใช้การแสดงตนทำนุบำรุงศาสนา วันดีคืนดีลุกขึ้นมาเก็บพระ หลังจากนั้นจะมาแสดงบทบาทของผู้พิทักษ์ศาสนาได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า รัฐจะมีคำอธิบายให้กับการกรำทำของตนเองเสมอ ถ้ามองจากพระหรือคนในนี้คือการกระทำบาปอย่างแรง แต่ว่าถ้าอธิบายตามภาษาของผู้นำ สามารถอธิบายก่อนหน้านี้เช่นกรณีที่เกิดในปี 1988 รัฐบาลเสนอว่าเป็นการกระทำของผู้ไม่หวังดี เป็นสิ่งที่รัฐสร้างกระบวนการใส่สีให้ฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ที่ผู้นำพม่านำมาใช้อ้างในพฤติกรรมที่ดำเนินการ การเคลื่อนไหวของพระจุดใหญ่อยู่ที่ย่างกุ้ง แต่การสอดประสานในพื้นที่อื่น ในมัณฑะเลย์เราไม่เห็นกระบวนการขับเคลื่อนในลักษณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐทำ ตอนแรกไม่รู้ว่าจะทำอย่าไร ก็ปล่อยให้การเคลื่อนไหวกินเวลาหลายวัน ตอนสุดท้ายไปทำตอนกลางคืน คือการปิดจองหรือที่นอนของพระและรู้ว่าผู้นำของพระอยู่ที่ไหนก็ไปเอาตัวมา และวันต่อมาก็ไม่เกิดการเคลื่อนไหวอีกเลย เป็นการปราบปรามในที่ลับ และรัฐมีคำอธิบายว่าเป็นพระหรือเปล่า บริสุทธิ์หรือเปล่า เป็นลักษณะ purity in purity นี่ไม่ใช่วิธีการใหม่ เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่ชำนาญเกมจะไม่มีปัญหา สิ่งที่น่าตามคือรัฐจะทำอย่างไรต่อ คือยังทำบุญหรือไม่ หรือไปงานพิธีหรือไม่ ซึ่งคิดว่ายังทำ กระบวนการที่ทำก่อนหน้าปฏิวัติเป็นการวางแผนมาก่อน การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือยังคงอยู่ ใช้มากใช้น้อยเป็นเงื่อนไขสำคัญ เงื่อนไขจะใช้มากเมื่อเสถียรภาพมีน้อย ตอนนี้จะมีการเลือกตั้ง ก็มีน้ำหนักความชอบธรรมที่เข้ามาช่วย

ต่อมามีผู้ถามคำถามที่สองว่า นักประวัติศาสตร์จะ contribute ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคนอย่างไร อาจารย์สุเนตรตอบว่า อยากเรียกว่าประวัติศาสตร์สังคม อยากจะบอกว่าไม่ได้อยู่เฉยๆ จะเกิด คนต้องมีความตระหนักรู้ ถึงจะมีได้ บ้านเราเกือบจะศูนย์ จนเกิด 14 ตุลา จึงเกิดประวัติศาสตร์คน หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างล้านนา เพราะคนมีเสรีภาพมาก ไม่ได้อยู่ในกรอบของประวัติศาสตร์แห่งชาติ ต้องมีพื้นที่ให้เปิดให้มีการเขียน เป็น growth within จะให้สุเนตรเขียนประวัติศาสตร์พม่าหรือ ไม่มีพลังเท่ากับคนพม่าเขียนขึ้นมาเอง ประเด็นคือมีโอกาสสร้าง consciousness ได้หรือไม่ และถ้ามีพื้นที่จะมีได้หรือไม่ คนต้องมีสำนึกว่าประวัติศาสตร์ว่าตอนนี้เป็นลักษณะ people without history หรือ missing ซึ่งต้องก่อเกิดภายในพม่าด้วย

มีผู้ถามคำถามว่า อาจารย์พูดเรื่องการกระทำของรัฐบาลที่ค่อนข้างจะสำเร็จ คำถามในใจคือสื่อในประเทศไทย เรื่องรบตามแนวชายแดน หรือเรื่องภายใน 50-100 กิโลเมตรจากไทย แต่ไม่ปรากฏผลกระทบต่อการลงทุนในพม่าของคนไทย ก็ไม่ค่อยมีในสื่อเท่าไร อยากถามว่าสาเหตุคืออะไร

อาจารย์สุเนตรตอบว่า คงตอบแทนสื่อมวลชนไม่ได้ ข้อแรกสื่อเราและคนที่มีบทบาทที่ควรจะให้ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านมีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านของเราค่อนข้างจำกัด หลายครั้งที่สื่อมาสัมภาษณ์เป็นสื่อเด็กๆ หรือรุ่นใหม่ และเห็นหลายครั้ง เช่นเรื่องเขาพระวิหาร มีลักษณะเป็น quick react ไม่ใช่การนั่งคุยกันยาว แต่คนที่มีความรู้อาจจะไม่มีบทบาท นอกจากนี้สถานการณ์มี dynamism สูงมาก เช่นเมื่อมีการพูดถึงพม่า ต่อไปมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คนๆหนึ่งอาจมีความรู้พม่าที่ดีในช่วงปี 1988 แต่หากไม่ได้ไปในประเทศบ่อยๆ ก็จะเป็นการยากที่จะนำเสนอข้อมูลที่ต่อเนืองที่ชัดเจน ปัญหาสำคัญคือความสนใจ คนไทยไม่ค่อยสนใจและเป็นไปตามกระแสของนานาชาติ ที่สนใจเรื่องการเลือกตั้ง สิ่งที่ตามมา การค้าการลงทุน การเปลี่ยนของพม่าอีกมิติหนึ่ง รวมถึงพื้นที่ความสนใจทำให้พื้นทีข่าวไม่ดึงความสนใจเท่าที่ควร หากมีการปล่อยและพูดก็เป็นข้อมูลที่ซ้ำและเป็นปัญหาเหมือนกัน หากติดตามหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่สัมภาษณ์ผู้เคลื่อนไหวของพม่าในการเลือกตั้ง ซึ่งก็ดีแต่ยังน้อย และผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย เป็นคนพม่าเป็นหลัก

นอกจากนี้ อาจารย์สุเนตรได้วิเคราะห์ถึงมิติความสัมพันธ์ของไทยและพม่าว่า ปัจจุบันพม่าอยู่ในสถานะในเชิงความสัมพันธ์ที่ได้เปรียบหรือกดดันไทยมากกว่าที่ไทยกดดันพม่า มิติความสัมพันธ์เปลี่ยนไปอย่างยิ่งหลังปี 1990 เพราะพม่าเกิดความเปลี่ยนแปลง คือเลิกนโยบายปิดประเทศ (close door policy) และใช้นโยบายเป็นกลางคือการเข้าอาเซียน ซึ่งเปิดโอกาสให้พม่ามีทางเลือกมากกว่าแต่เดิม มากกว่าทางเลือกที่ใช้ไทยเป็นสะพาน เช่น แต่เดิมสินค้าไทยไปป้อนตลาดมืดในพม่า แต่ปัจจุบัน พม่าเป็นสาวเนื้อหอม โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีมหาศาล ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับจีนและอินเดีย รวมทั้งประเทศยุโรปเองที่ชูธงประชาธิปไตยก็อยากจะเข้าไปลงทุนเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งก็คิดว่าน่าจะสามารถเข้าไปได้สักที

เงื่อนไขนี้นโยบายของพม่ามาจากประเทศไทย หลังจากสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการคา และสร้างประเทศให้เป็นนิกส์ และอยากได้พลังงาน ทรัพยากร จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พลังงานจากลาว ทรัพยากรจากพม่า โดยเฉพาะชนชั้นกลางทุกวันนี้ก็เสวยสุขจากทรัพยากรพม่า ทำให้อำนาจการต่อรองมันเปลี่ยนไป ไทยพยายามยืดหยุ่นมากขึ้น และมีน้ำหนักกับความสัมพันธ์ของพม่าในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ แต่ที่สำคัญไทยไม่ได้กำหนดเกมอีกต่อไป แต่พม่าเป็นผู้กำหนด เช่น ไทยจะมา ก็บอกว่าอย่าเพิ่งมา ขอรับเกาหลีเหนือดีกว่า ทำให้ไทยดำเนินนโยบายต่อพม่าเป็นหลักๆ คือ อย่างน้อยต้องมีไมตรีและสื่อสารได้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่างๆ ที่เราเสวยอยู่ แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ตามที เพราะมีนัยยะของการพึ่งพาที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเมืองอยู่ด้วย จะเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่เปลี่ยนนโยบายเท่าไร แต่จะเป็นดีกรีเท่านั้นเองว่าจะเอาใจมากหรือน้อยเท่านั้น

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาไทยในความสัมพันธ์ของพม่า แต่ก่อนเราได้เปรียบเพราะเสียงเราใหญ่ แต่ปัจจุบันเสียงจีนใหญ่กว่า และผู้ลงทุนอื่นที่มีกำลังมากกว่ามีเสียงใหญ่กว่า ขนาดอาเซียนคิดแล้วคิดอีกที่จะสัมพันธ์กับพม่า ไทยประเทศเดียวจะแสดงทีท่าแหวกแนวจากกระแสทั่วไป ก็กังวลเหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะเราไม่มีอำนาจต่อรองแบบเดิม อันนี้วิเคราะห์จากมุมมองของการเป็นรัฐบาลและดูแลประชาชน 60 กว่าล้านและเอาทรัพยากรจากพม่ามา ตัวแปรเหล่านี้ต้องเอามาคิด

 

ขอภาวนาให้การเปลี่ยนแปลงเกิดจากประชาชนให้สมเหตุสมผล

หลังจากนั้น มีสื่อมวลชนจากนิตยสารสาละวิน ตั้งคำถาม 3 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง สื่อเป็นผลพวงของการศึกษาไทยที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในเชิงอคติ ก็ต้องย้อนกลับไปที่ตำราไทย สอง การรายงานสื่อพม่าต้องใช้ภาษามากกว่าภาษาไทย ข่าวในพม่าอยู่ในหนังสือพิมพ์อังกฤษมากกว่าภาษาไทย และสาม พื้นที่ของหนังสือพิมพ์ไทยที่ไม่มีหน้า Regional page มีแต่ข่าวต่างประเทศทั่วไป ส่วนคำถาม คือฟังแล้วดูว่าการเลือกตั้งไม่มีความหวัง ถ้าเช่นนั้น พม่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

อาจารย์สุเนตรตอบว่า เห็นด้วยกับการศึกษาที่มีอยู่ คิดว่าคนทำงานด้านสื่อมีโอกาสรับสารได้มากหรือเปิดโลกทัศน์ของตัวเองมากกว่าความทรงจำที่มากกว่าตำราเรียน แต่ที่แปลกคือที่เรียนมาไม่จำที่มีใหม่ก็ไม่รู้ เห็นด้วยว่าเราจะต้องรู้ภาษาที่นอกเหนือจากภาษาไทย และภาษาอังกฤษก็จะเป็นข้อได้เปรียบ แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งประเด็นที่น่าสนใจไม่เกิด จะเห็นว่าเรามีเรื่องอะไรมากมายนอกประเทศที่น่าสนใจและเราไม่รู้ภาษาของเขา แต่เราก็ทำให้น่าสนใจได้ แต่มันไม่มีประเด็น ซึ่งผมก็หาข่าวจากนิตยสารอิระวดีและสาละวิน โพสต์อยู่ด้วย

ส่วนคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพม่า ถ้าพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพม่าที่จะเกิด ถ้าเราดูเรื่องการเปลี่ยนแปลง คำถามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นคือ ในเชิงโครงสร้างและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแล้วไม่เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ก็คิดว่าอย่ามีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลง ในอีกแง่หนึ่งหลังปี 1990 ถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงภายในพอสมควร แต่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่รวดเร็วคืออาจจะมีลักษณะ เดิน 2 ก้าว ถอย 1 ก้าว ก็เห็นว่ามีการตื่นตัวพอสมควร เช่น การลงทุน มันมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คำถามคือประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันส่งผลกับคนส่วนใหญ่อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ ปัจจุบันยังไม่ถึงประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น หลังการเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไร รัฐบาลพม่ามันติดผลจากปี 1990 คือขายสินค้าไม่ได้ มีการคว่ำบาตร เพราะฉะนั้น พยายามที่จะหากลไกลว่าจะเปิดอย่างไรดีถึงได้รับการตอบสนองจากมหาอำนาจกว่าที่ควรเป็น หากจะเปิดมากก็กลัวว่าอำนาจที่มีอยู่จะถูกกัดกร่อน เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว รัฐบาลกลัวการเสียการควบคุมของกองทัพมากกว่า รัฐบาลพม่ากำลังประนีประนอมทั้ง 2 ตัวนี้ สิ่งทีน่าคิดว่าบนเงื่อนไขของการเลือกตั้งว่า พม่าบอกว่า ฉันทำแล้ว ความสำคัญมันจะไม่ได้อยู่ที่เพียงว่ารัฐบาลพม่าลุกขึ้นมารบอกว่าการเลือกตั้ง free and fair แต่ความสำคัญคือต่างชาติที่จะเข้ามาพัวพันกับพม่าอย่างไรหลังการเลือกตั้งมากกว่า คือการตัดสินนั้นเกิดจากกระบวนการหรือผลประโยชน์ ถ้าตัดสินจากกระบวนการก็กลับไปกรอบเดิม หากที่ผลประโยชน์การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจะเกิดขึ้นกับพม่า ขอภาวนาให้การเปลี่ยนแปลงเกิดจากประชาชนให้สมเหตุสมผล

ต่อมามีผู้ถามว่า ยุทธศาสตร์การสร้างอนุสาวรีย์ระหว่างไทยกับพม่า ไทยก็สร้างอนุสาวรีย์ย่าโม หรืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อาจารย์สุเนตรตอบว่า ตอนนี้ยังไม่เปรียบเทียบกับไทยและพม่า เพราะมันซับซ้อนมาก สิ่งที่ผมทำอย่างเดียวแค่บอกว่าพม่าทำอย่างนี้ ส่วนจะเอาไปบวกกับไทยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กระบวนการสร้างอนุสาวรีย์เป็นเรื่องอำนาจของรัฐในส่วนกลาง น้อยครั้งเป็นเรื่องท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นย่าโม แต่ทำไปแล้วมันประสบความสำเร็จในการผ่าน integration คือคนอีสานไม่ได้รู้สึกว่าไม่ใช่ไทย แต่ย่าโมเป็นฮีโร่ทีเข้ามาผูกพันกับส่วนกลาง ไม่ใช่จบแค่โคราช แต่เป็นขบวนการที่รัฐไทย integrate เข้ามา เป็น กระบวนการรัฐไทยใช้กระบวนการสร้างรัฐโดยดึงฮีโร่ท้องถิ่นเป็นกระบวนการที่ทำมายาวนานควบคู่กับ centralization อย่างกรณีที่ผมให้คำปรึกษาหนังเรื่องนเรศวร ภาคแรกฉายที่ภูเก็ต และก็ตามด้วยภาคสองที่ยังไม่เข้าฉายด้วยซ้ำ แต่คนไปคอยหน้าโรงเต็มไปหมด ในแง่ประวัติศาสตร์พระนเรศวรไม่เคยเสด็จไปภูเก็ต อย่างมากไปตกปลาไกลสุดที่เพชรบุรี อันนี้เป็นความสำเร็จในการสร้างประวัติศาสตร์ ทำให้คนต่างพื้นที่มี memory ชุดเดียวกัน พม่าทำเรื่องนี้มากกับกษัตริย์ทั้ง 3 คนในขณะที่พม่ามีคนต่างกันเยอะมาก ถ้าเช่นนั้นจะให้มอญมารับบุเรงนองง่ายๆ นั้น พูดเป็นเล่นน่ะ

มีผู้ตั้งคำถามว่า เมื่อมีชนกลุ่มน้อยในพม่า รัฐบาลเขาใช้กระบวนการผ่านการศึกษาด้วยหรือไม่ ถ้ารัฐบาลพม่าเป็นเช่นนี้จะส่งผลต่อคนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยหรือไม่ อาจารย์สุเนตรตอบว่า รัฐบาลพม่าเป็นคนจัดระบบการศึกษาของชาติ รวมทั้งการศึกษาของคนกลุ่มน้อยด้วย ตำราเรียนไม่ได้แยกใช้ งานวิจัยของนิรัช นิยมธรรม เรื่องมโนทัศน์ทางการเมือง สะท้อนภาพนี้ได้ชัดเจน และรัฐบาลพยายามอย่างยิ่งไม่พยายามโปรโมท หรือ belittle ประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อยด้วย เช่น การเรียนภาษาคนกลุ่มน้อยไม่ได้รับการสนับสนุน เมืองพะโคสร้างให้เป็นเมืองพม่าในฐานะที่เป็นบริบททางประวัติศาสตร์ แต่ไม่เห็นในมิติของกษัตริย์มอญหรือถ้าทำก็กลายเป็นแบบพม่า รัฐใช้สื่อการศึกษาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว นอกเหนือจากสื่ออื่นๆ บอกไม่ได้ว่ารัฐทำสำเร็จขนาดไหน แต่ก็ยังไม่สู้สำเร็จนัก เพราะมีความแตกต่างของคนหรือกลไกและความทรงจำที่มีมากมาย

สำหรับนโยบายของคนย้ายถิ่น ประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากแรงานพม่า ถ้าเป็นจริงจะเดือดร้อนมาก ปัญหาคือเราไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ปล่อยปละในหลายส่วนในการควบคุม พิทักษ์รักษา เกิดการขูดรีดขึ้นมา เพราะการปล่อยปละลักษณะนี้เอื้อประโยชน์ต่อคนหลายกลุ่ม การขูดรีด การกดแรงงาน ผมคิดว่าเราต้องมาดูระบบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่การส่งกลับพม่า แต่ให้เหมาะสมกับเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ข้อที่สอง เราน่าจะเริมคิดถึงกลไกที่ไม่ให้เกิดการไหลอพยพ ท้ายที่สุดเราจะรับได้แค่ไหน แต่คิดว่าปัจจุบันไทยยังมีระบบจัดการไม่ดี ท้ายที่สุดก็ผลักออกไป พอต้องการก็หลับตาสักข้างก็เอามาใหม่ ปัญหาหลักคือการจัดระบบ แต่การคืนความเป็นคนให้พม่าถือเป็นเรื่องยาก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บก. ฟ้าเดียวกันหัวเราะร่า ขอบคุณผอ. สำนักหอสมุดแห่งชาติช่วยโฆษณา “ฟ้าเดียวกัน”

Posted: 14 Sep 2010 03:52 AM PDT

ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ แจ้งสันติบาลดำเนินการกับวารสาร “ฟ้าเดียวกัน” เนื่องจากไม่จดแจ้งการพิมพ์ และอาจเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง ด้านธนาพล อิ๋วสกุล บก. โต้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พร้อมขอบคุณที่ช่วยโฆษณา ย้ำเดินหน้าผลิตวารสารต่อไป

จากกรณีนางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้แจ้งความไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (ฝ่ายสิ่งพิมพ์) ให้ดำเนินการกับวารสารดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ได้ยื่นขอให้ตรวจสอบเนื้อหาในวารสารที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงด้วย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น

วันนี้ (14 ก.ย.) นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารฟ้าเดียวกัน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับประชาไท ด้วยเสียงกลั้วหัวเราะว่า “ขอขอบคุณที่ช่วยโฆษณาให้เรา” พร้อมระบุว่าการแจ้งความดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขายและการผลิตวารสารฟ้าเดียวกันแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา ร้านหนังสือใหญ่ๆ คือ นายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬา B2S และ ซีเอ็ด เขาก็ไม่ขายหนังสือเราอยู่แล้ว ก็ไม่มีผลอะไร พื้นฐานเลยคือเรื่องของเสรีภาพในการพิมพ์ ไม่ได้อยู่ที่กฎระเบียบ และคนอ่านก็อ่านเนื้อหา ไม่ได้อ่านว่าเราจดทะเบียนหรือไม่”

ส่วนกรณีที่วารสารดังกล่าวไม่จดทะเบียนการพิมพ์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น นายธนาพลอธิบายว่า เป็นความจงใจของเขาเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการมีพระราชบัญญัติดังกล่าว

“เราจงใจไม่จด เพราะเราคิดว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการโฆษณา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองอยู่แล้ว และพระราชบัญญัติที่ออกมานั้นงี่เง่า” นายธนาพลกล่าวว่า เขาเชื่อว่าคดีดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องการเมือง เนื่องจากยังมีวารสารและสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่ไม่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์แต่ไม่ถูกดำเนินการใดๆ โดยเขายืนยันว่าเขาจะยังดำเนินการผลิตวารสารดังกล่าวต่อไป พร้อมชี้แจงถึงกรณีวารสาร “ฟ้าเดียวกัน” ออกวางจำหน่ายล่าช้าไปถึง 2 ไตรมาสว่าเป็นปัญหาในกระบวนการผลิต ไม่ใช่ปัญหาการเมืองแต่อย่างใด

“สำหรับเล่มถัดไปก็จะออกตรงตามเวลา คิดว่าฉบับหน้าจะออกมาวางจำหน่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อย่างแน่นอน” นายธนาพลกล่าวพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

เมื่อถามว่า นางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้แจ้งความไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (ฝ่ายสิ่งพิมพ์) ขอให้ตรวจสอบเนื้อหาในวารสารที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง ด้วยนั้น นายธนาพลกล่าวว่า เรื่องไหนที่คิดว่าเข้าข่ายหมิ่นก็ขอให้ฟ้องเป็นเรื่องๆ ไป

สำหรับวารสารฟ้าเดียวกัน เป็นวารสารราย 3 เดือน ขณะนี้ได้ดำเนินการพิมพ์และเผยแพร่มาเป็นปีที่ 8 ฉบับล่าสุด คือฉบับปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-กันยายน 2553 “ประวัติศาสตร์ไทย ใต้ร่มพระบารมี”

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เนชั่นทันข่าว รายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ย. เวลา 16.46 น. ว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้รับทราบการรายงานผลการประชุมปรึกษาหารือการจดแจ้งการพิมพ์ของ วารสาร ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นวารสารที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามนโยบาย วธ. ในการดำเนินการกับวารสาร สิ่งพิมพ์ ที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550

โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา นางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้แจ้งความไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (ฝ่ายสิ่งพิมพ์) ให้ดำเนินการกับวารสารดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ได้ยื่นขอให้ตรวจสอบเนื้อหาในวารสารที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง ด้วย อย่างไรก็ตามตนได้รายงานกรณีดังกล่าวนี้ทางวาจาไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“พร้อมกันนี้ผมได้สั่งการให้ ผอ.สำนักหอสมุดแห่งชาติ และผอ.สำนักศิลปากร 15 แห่งทั่วประเทศในฐานะเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.การพิมพ์ ไปตรวจสอบสิ่งพิมพ์ทุกชนิดในทุกจังหวัด ที่ยังไม่ได้ยื่นจดทะเบียนตามกฎหมายให้ไปดำเนินการให้เรียบร้อย หรือแม้แต่ในกรณีที่มีการจดแจ้งการพิมพ์แล้วก็จะต้องตรวจสอบเนื้อหาและภาพใน สิ่งพิมพ์ต่างๆ ด้วย โดยต้องไม่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงหรือจาบจ้วงสถาบัน และหากพบจะถือเป็นความผิดอาญาให้ดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ทั้งนี้ในเบื้องต้นผมได้รับรายงานว่ามีสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่ยังดำเนิน การไม่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังจากมีการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติจะได้รายงานจำนวนที่แน่นอนมาให้ผมรับทราบต่อไป” รมว.วธ. กล่าว
 

ที่มาของข่าวบางส่วนจาก เนชั่นทันข่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: งานฌาปนกิจศพ “กฤษฎา กล้าหาญ” การ์ดเสื้อแดงเชียงใหม่

Posted: 14 Sep 2010 02:15 AM PDT

 

โอ้..กฤษดา กล้าหาญ จักขานกู่-------------------แสนหดหู่สู้ภัยจัญไรหลอน

ช่างหนาวเหน็บแจ็บแค้นแสนร้าวรอน--------------ล้มลงนอนซ้อนพรุนกระสุนเปรี้ยงลงฯ
 
ช่างปรองดองของแท้อีแม่อีพ่อ--------------------ช่วงรอยต่อข้อพับสดับประสงค์
ปิดตา-ผ้ายัดปาก-หูหากคง-----------------------เขาล้มลง ตรงปืนโป้ง ปังปัง ตาย ฯ
 
 แดงเอ๋ย .....เลือดแดงถั่งทะลัก-------------------กระฉูดชักลงทรุดเนื้อหลุดหาย
เหลือบตามองข้องคิดก่อนจิตวาย-----------------ทิ้งความหมายคลายคลี่คดีฉกรรห์ฯ
 
จะห่างอีกซีกโลกก็โศกสลด------------------------ครวญกำสรดส่งมาข้ามฟ้ากั้น
จักยกชูกู้ศักดิ์ศรีเสรีนั้น----------------------------ลื่อสนั่นครั่นโลกาประชาธิปไตยฯ
 
บริสุทธิ์ดุจเทพปัญญานางฟ้าทิพย์-----------------พร่างกระพริบส่องทางสว่างไสว
จิตวิญญาณท่านวีรชนเวียนวนไป------------------ปกป้องไทให้ต่อสู้กอบกู้ชาติพันธ์ฯ
 
ฝันถึงอรุณอบอุ่นอาณาจักร------------------------อันที่รักเสถียรภาพซึ้งซาบคงมั่น
สถาพรมิคลอนแคลนแค้นโรมรัน-------------------ความผูกพันธ์นั้นเราต่างเท่าเทียม
 
สิ้นจักรวาลขานระทึกจนกึกก้อง-------------------จักกู่ร้องฟ้องประจานผลงานเหี้ยม
เราอดหยากยากจนคนหน้าเกรียม-----------------อยากเท่าเทียมเทียบอื้ออึง...ถึงตาย
 
ลานโลหิตฉีดสาดราชประสงค์---------------------คือธารส่งกระแส..มิแพ้พ่าย
แผ่นดินล้านนา ผู้กล้า ชีพวาย---------------------สานสืบสายวีรชนผจญเผด็จการฯ
 
 
......... ThairedGermany........
ทัวร์นกขมิ้นแดงแจ๊ด นปช.สัญจร
วันที่ 14 กันยายน 2553
 
 
 
คลิปวันแห่ขบวนศพจากนักข่าวพลเมืองที่ถูกนำมาโพสไว้ในอินเตอร์เน็ต
 
 
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.53 บริเวณวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สถานที่ตั้งศพของนายกฤษดา กล้าหาญ อายุ 21 ปี การ์ดเสื้อแดงเชียงใหม่ ซึ่งถูกยิงเมื่อวันที่ 29 ส.ค.53 โดยคนร้ายใช้อาวุธสงครามปืนเอ็ม 16 ไล่ยิงถล่มขณะขับรถยนต์เก๋งส่วนบุคคล บนถนนเชียงใหม่-ฮอด หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.สาขาหางดง ต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กระสุนปืนเข้าที่ต้นขาข้างซ้าย ท้องด้านซ้าย หัวไหล่ซ้าย เสียชีวิตในวันศุกร์ที่ 4 ก.ย.53 โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมาร่วมงานศพจำนวนมาก ก่อนที่จะมีการเคลื่อนศพของนายกฤษดาไปเผาที่สุสานหายยา ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
 
ผู้สื่อข่าวรานงานว่า ขบวนศพได้เคลื่อนออกจากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เวลา 12.30 น. ตลอดเส้นทาง 2 กิโลเมตร จากวัดถึงสุสาน มีคนเสื้อแดงจำนวนมากซึ่งพร้อมใจกันใส่เสื้อแดงมาร่วมงานยืนเรียงรายตลอดเส้นทาง และเนื่องจากขบวนยาวมากและมีผู้คนจำนวนมาก ทำให้เส้นทางระหว่างวัดพระสิงห์ไปสุสานหายยาการจราจรเป็นอัมพาต รถติดยาว โดยบรรยากาศมีการโห่ร้องและจุดดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าตลอดเส้นทางจนถึงสุสานและบริเวณสุสาน
 
ในพิธีฌาปนกิจ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง พร้อมทั้งส.ส.เพื่อไทย จากจังหวัดต่างๆ กว่า 20 คนเดินทางไปร่วมงาน โดยก่อนที่จะมีการเริ่มพิธีศพ นายสมชายได้มอบเงินสดจำนวน 1 แสนบาท ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฝากมาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 
 
ทั้งนี้ นายกฤษฎา กล้าหาญ  (เจมส์) เกิดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2532  อายุ 21 ปี เข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงเมื่ออายุ 18 ปี เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นการ์ดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จังหวัดเชียงใหม่ และในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์บริเวณศาลาแดง 
 
 


 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มาภาพ: ประชาธรรม
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานยางแอฟริกาใต้นัดหยุดงาน ต่อรองกับบริษัทยักษ์ใหญ่

Posted: 14 Sep 2010 02:08 AM PDT

คนงานทำยาง 6,000 คนในแอฟริกาใต้หยุดงานต่อรองกับบริษัท Bridgestone/Firestone, Continental, Goodyear และ Apollo-Dunlop ต้องการเจรจาต่อรองข้อตกลงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น, ปรึกษาสหภาพในการรับคนงานชั่วคราว และยกเลิกบริษัทเหมาค่าแรง

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของสหพันธ์แรงงานนานาชาติของคนงานในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ยาง, พลังงาน, เหมืองแร่ และคนงานทั่วไป (ICEM) รายงานว่าสมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยาง 6,000 คนในแอฟริกาใต้นัดหยุดงานเป็นวันที่ 8 เพื่อต่อรองกับบริษัทยางยักษ์ใหญ่ของโลก ในขณะที่การเจรจายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สหภาพแรงงานและสมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมยางมีข้อพิพาทแรงงานตั้งแต่กลางเดือน สิงหาคม อันเกี่ยวเนื่องกับการเจรจาต่อรองข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับใหม่ ว่าด้วยค่าจ้าง, ระยะเวลาการทำข้อตกลง, ปัญหาการจ้างงานสัญญาระยะสั้น เหมาช่วง เหมาค่าแรง และสภาพการจ้างอื่นๆ

สมาชิกสหภาพแรงงานทำงานอยู่ในบริษัท Bridgestone/Firestone, Continental, Goodyear และ Apollo-Dunlop โดยก่อนหน้านี้ บริษัท Bridgestone และ Continental ประกาศปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยางก่อนการประกาศนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน

สมาคมนายจ้างต้องการทำข้อตกลงสามปี ในขณะที่สหภาพต้องการทำข้อตกลงปีเดียว ในเรื่องการขึ้นค่าจ้าง ทั้งสองฝ่าย มีข้อเสนอที่แตกต่างกันอย่างมาก สหภาพเสนอการขึ้น 11% ในปีแรก ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างเสนอ 8.5% ยกเว้น Bridgestone ที่เสนอ 7% สมาคมนายจ้างเสนอการขึ้นค่าจ้างของปีที่สองและสามตามดัชนีราคาผู้บริโภคบวก 1% หรือ 5% โดยจะเลือกอัตราที่สูงกว่าในการปรับค่าจ้าง

สหภาพแรงงานเรียกร้องสิทธิการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานก่อนที่บริษัทจะทำสัญญาการจ้างงานแบบชั่วคราวทุกประเภท และให้สมาคมนายจ้างยางยกเลิกการทำธุรกิจกับบริษัทนายหน้าค้าแรงงานใน อุตสาหกรรมยางทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้บรรจุคนงานชั่วคราวเป็นพนักงานประจำ หลังจากที่คนงานทำงานครบ 6 เดือน ประเด็นอื่นๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ ได้แก่ เรื่องการที่สหภาพเรียกร้องให้มีการใช้วัตถุดิบในประเทศในการผลิต 70%, ข้อ เรียกร้องเรื่องค่าจ้างอัตราพิเศษสำหรับงานที่ทำในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดของคนงาน และการจัดการศึกษาให้กับคนงานในวันทำงานโดยให้นับเป็นเวลางาน

ข้อตกลงฉบับเดิมที่ทำระหว่างสหภาพแรงงานกับสมาคมนายจ้างยาง สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553

วันที่ 1 กันยายน สหภาพแรงงานประกาศการนัดหยุดงานต่อสมาคมนายจ้างผู้ค้าปลีกในกลุ่มยานยนต์ และสมาคมนายจ้างผู้ค้าปลีกในกลุ่มเชื้อเพลิง คนงาน 70,000 คน/สมาชิกสหภาพแรงงานที่ทำงานในอู่รถยนต์ และร้านขายยางและอะไหล่ยานยนต์ ปั้มนำมัน ทั่วประเทศเข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งนี้

นอกจากข้อเรียกร้องเรื่องชั่วโมงการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สหภาพแรงงานเรียกร้องการปรับค่าจ้าง 15% ให้กับคนงานทุกคนในอุตสาหกรรมอะไหล่ ร้านค้าปลีกยานยนต์ อู่ซ่อมรถ และปั้มนำมัน ซึ่งเป็นคนงานที่ได้รับค่าจ้างตำมาก สมาคมนายจ้างเสนอการปรับ 6.6% ให้กับคนงานในกลุ่มนี้ จนถึงวันนี้ Volkswagen ได้ปิดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากขาดแคลนยางและอะไหล่รถยนต์

การนัดหยุดงานครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากสมาชิกสหภาพแรงงานยานยนต์ 31,000 คน นัดหยุดงานในเดือนสิงหาคม ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ต้องหยุดการผลิต 8 วัน (จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม) สมาชิกสหภาพแรงงานที่นัดหยุดงานในเดือนสิงหาคม ทำงานในบริษัทผลิตรถยนต์ในแอฟริกาใต้ 7 บริษัท (ซึ่งนายจ้างทั้ง 7 บริษัทเป็นสมาชิกของสมาคมนายจ้างยานยนต์)

ที่มาข่าว:

South Africa Tyre Strike Continues into Week Two (icem.org, 6-9-2010)
http://www.icem.org/en/78-ICEM-InBrief/3974-South-Africa-Tyre-Strike-Continues-into-Week-Two

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตัวแทนชาวบ้านไทย-กัมพูชา ขอสันติภาพคืนชายแดนเขาพระวิหาร

Posted: 14 Sep 2010 02:06 AM PDT

ชาวบ้านภูมิซรอลและตัวแทนชาวบ้านจากกัมพูชา ร้องกรรมการสิทธิฯ ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านเขาพระวิหารเรียกร้องรัฐบาลฟังประชาชนทุกฝ่าย ร้องขอสันติภาพคืนชายแดนไทย-กัมพูชา

มูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation) และตัวแทนประชาชนทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก่อนเข้าพบนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อชี้แจงกรณีปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนบริเวณจุดผ่อนปรนเขาพระวิหาร

โดยเวลา 20.00 น. ของวันที่ 13 ก.ย. มูลนิธิฯ ได้จัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) โดยมีตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เรื่องพื้นที่พิพาทบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร มาบอกเล่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง

ซาง ยูน ชาวพัมพูชาจากจังหวัดอุดรมีชัย (อุดอร์เมียนเจ็ย)เป็นพ่อของเด็กชายที่ถูกทหารไทยยิงและเผา เนื่องจากออกหาของป่าล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่พิพาท เขากล่าวผ่านล่ามเป็นภาษากัมพูชาว่า เขาไม่โกรธทหารไทยที่ทำเช่นนั้น แต่เขาอยากให้ทั้งสองประเทศนำสันติภาพกลับมาสู่ชายแดนไทยกัมพูชา

วิสิทธิ์ ดวงแก้ว ประชาชนจาก ต.ภูมิซรอล อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความผิดของประชาชนฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่เป็นปัญหาจากการที่รัฐบาลสองฝ่ายเจรจากันไม่ได้

“ไม่ใช่ความผิดของผมหรือของคนกัมพูชา แต่มันเป็นกฎเกณฑ์ของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาไม่ให้เราสัมพันธ์กันเหมือนเมื่อก่อน สรุป จากการที่ประชาชนเคยมองหน้ากันกลายเป็นเอาทหารทั้ง 2 ฝ่ายมายืนใกล้กัน ผมเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ความรู้สึกอย่างนี้ไม่อยากให้เกิดกับพี่น้องชายแดน อยากให้เป็นเหมือนเมื่อก่อนนี้เป็นพี่เป็นน้อง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามหาทางแก้ปัญหาจากผลกระทบของการปิดด่านผ่อนปรนบริเวณเขาพระวิหาร แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ก็ถูกขัดขวางจนล้มเลิกไปโดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มผู้รักชาติ” ที่จุดประเด็นพื้นที่เขาพระวิหาร และขัดขวางการพยายามแก้ปัญหาให้กับประชาชนในบริเวณพื้นที่พิพาทที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระดับประเทศ

“อยากให้รัฐบาลฟังเสียงจากประชาชนหลายๆ ฝ่าย อย่าไปฟังแต่กลุ่มผู้รักชาติ ขอให้มองที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นด้วย” นายวิสิทธิ์กล่าว

ประนอม บัวต้น แม่ค้าขายเสื้อผ้าบริเวณชายแดน ขายเสื้อผ้า ซึ่งตั้งแต่ปิดด่านบริเวณเขาพระวิหารมาตั้งแต่ปี 2551 นั้น ส่งผลให้ครอบครัวของเธอได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถเปิดร้านได้ และเสื้อผ้าที่ลงทุนไปแล้วก็เริ่มตกยุค ต้องจ่ายแจกไปให้กับบรรดาญาติๆ และคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่สำคัญคือ ลูกสาวของเธอซึ่งเป็นนักเรียนพยาบาล ที่ จ.ขอนแก่น เกือบจะไม่จบการศึกษาเพราะไม่มีเงินเรียนต่อ

“ฉันต้องลงมารับจ้างเป็นแม่บ้านอยู่หลายเดือน ได้เดือนละ 6 พันบาท” เธอกล่าว และว่าเธอเพิ่งเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเมื่อสองเดือนที่แล้ว เพราะลูกสาวเรียนจบแล้ว และคงจะสามารถช่วยรับภาระทางบ้านได้บ้าง ซึ่งเธอยังมีลูกคนเล็กที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมที่ศรีสะเกษ อีก 1 คน

“ลูกเราจะเรียนไม่จบเพราะเราไม่มีเงิน เราไม่มีโอกาสเข้าไปค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าแบบที่บรรพบุรุษทำมา เดี๋ยวนี้เราอยู่กันอย่างลำบากมาก อยากให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายคุยกันเหมือนเดิม อย่าให้กระทบกับราษฎรที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เคยอยู่ร่วมกันก็ไม่สามารถติดต่อกันได้ ถ้าเราติดต่อ ก็จะมีคนมาว่าเราเป็นคนขายชาติ เป็นกบฏ นี่คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯเขาพูด เรารู้สึกเสียใจที่เราอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ประนีประนอมกัน และมองหน้ากันไม่ติด"

ชิต พานทบ เป็นแม่ค้าขายของสดที่บริเวณจุดผ่อนปรนเขาพระวิหาร สินค้าของเธอนั้นเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จำพวกน้ำอัดลม อาหาร ข้าวสาร ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ซึ่งก่อนที่ด่านชายแดนเขาพระวิหารจะปิดลงนั้น เธอมีเงินสำหรับลงทุนหมุนเวียนประมาณสี่หมื่นบาทต่อวัน แต่เมื่อด่านปิด เธอขาดทุนทันที

“เราขายแบบหมุนเวียนทุนไปเรื่อยๆ คนฝั่งโน้นเขาก็จะสั่งมาว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น ข้าวสาร ผงซักฟอก น้ำแข็ง น้ำอัดลม” ชิตอธิบายกับประชาไท และว่า เมื่อไม่สามารถขายของได้ เธอจึงต้องหันกลับมาเช่าที่นาเพื่อทำนา และรับจ้างทั่วไป แต่ก็ต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนไปทำนาด้วยทุกครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะตรวจตราอย่างเข้มงวดมาก

“อยู่ๆ ก็มีคนกลุ่มที่สร้างเหตุการณ์ที่มีคาดคิดขึ้น เราเคยยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ว่าฯ และสื่อให้มาดูแม่ค้าจุดผ่อนปรนหน่อย เราก็บอกว่าเขาจะหาแหล่งขายของให้ใหม่ แต่ก็ไม้รู้ว่าจุดไหน ทุกวันนี้ฉันอยากให้เปิดช่องทางเก่า อยากให้ชุมชนชายแดนค้าขายได้ และมีสันติกับญาติชาวกัมพูชา” เธอกล่าวพร้อมย้ำว่า “กลุ่มที่บอกว่า คือกลุ่มผู้รักชาติ เป็นกลุ่มที่มาจากกรุงเทพฯ แต่เราคือคนที่ต้องอยู่ที่นี่”

จากนั้น เวลา 9.00 น. วันที่ 14 ก.ย. ‘ชลิดา ทาเจริญศักดิ์’ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และตัวแทนประชาชนจากบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เดินทางไปพบกับ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นข้อ ซึ่งภายหลังจากได้พบปะแล้ว ผอ. มูลนิธิเครือข่ายสร้างเสริมศัพยภาพชุมชนเปิดเผยกับประชาไทว่า ตัวแทนประชาชนทั้งหมดได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อประธานกรรมการสิทธิ โดยประเด็นสำคัญคือ ขอให้ทางรัฐบาลจัดสรรพื้นที่สำหรับการค้าขายชายแดนแห่งใหม่เพื่อชดเชยพื้นที่เก่าบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งไม่สามารถเปิดพื้นที่ได้

“ที่ผ่านมา การเจรจาเพื่อแก้ปัญหานั้นมีอุปสรรคเนื่องจากมีขบวนการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับข้อมูลจากเครือข่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวในกรุงเทพเข้ามาขัดขวางการเจรจาจนกระทั่งต้องเลิกล้มไป ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบนั้น เนื่องจากเขาไม่สามารถทำการค้าขายและติดต่อกับคนในเขตกัมพูชาได้ และพวกเขาไม่สามารถย้ายไปค้าขายบริเวณจุดผ่อนปรนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากในแต้ละจุดผ่อนปรนก็จะมีผู้ค้ารายเดิมที่มาค้าขายอยู่เป็นประจำ พวกเขาจึงอยากให้รัฐบาลช่วยดูแลหาพื้นที่ใหม่ให้ และเราก็หวังว่าจะได้รับสัญญาณที่ดีจากทางรัฐบาล” ชลิดากล่าวในที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ.ปิด “เรดนิวส์” ยุคมืดแห่ง “สื่อ” ตอกย้ำ“รัฐเผด็จการสุดขั้ว”

Posted: 13 Sep 2010 06:02 PM PDT

บทความโดยวรางคณา โกศลวิทยานันต์ กับการรุก คุกคามสื่อ ด้วยวาทกรรมซ้ำๆ แต่ทรงพลัง ในยุคเสื่อมที่สุดของคนทำสื่อ

“บก.เรดนิวส์โวย ศอฉ. ยึดแท่นพิมพ์เสียหายกว่า 10 ล้าน ลั่นทำต่อที่เชียงใหม่”

เป็นข้อความที่ได้รับผ่านโทรศัพท์มือถือจากสำนักข่าว Voice News ระหว่างกินสุกี้กับลูกๆ ในวันหยุดที่ผ่านมา
(12 กันยายน 2553 เวลา 15.58น.)
 
ล่าสุดนายกฯ พร้อมประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เชียงใหม่ตามคำร้องของพื้นที่
 
แหม...อะไรมันจะเหมาะเจาะพอดิบพอดีทันการณ์ทันเกมกันซะขนาดนั้นท่านนายกฯ ดิฉันละทึ่งจริงๆ 
 
นับเป็นความคืบหน้าล่าสุดภายหลังเหตุการณ์วันศุกร์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.ท.ธนพัฒน์ นิลบดี รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเมืองนนทบุรี ร่วมกับ พ.ต.ท.สุนทร ชื่นชิด พนักงานสืบสวน สภ.นนทบุรีนำหมายศาลเจ้าตรวจค้นบริษัท โกลเด้น เพาเวอร์ พรินติ้ง ซึ่งรับจ้างพิมพ์นิตยสาร “เรดพาวเวอร์” ซึ่งมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเป็นบรรณาธิการ
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น 10 วันคือวันที่ 31 สิงหาคม 2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ.ได้แถลงว่ามีสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับเสนอข้อมูลบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล มีความแบ่งแยก หรือเสนอข่าวในลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทาง ศอฉ.ได้ติดตามพฤติกรรมมาโดยตลอด และจะมีการแจ้งคดีความดังกล่าวกับสื่อสิ่งพิมพ์นั้น
 
ผลคือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดแท่นพิมพ์ทั้ง 11 แท่นที่พิมพ์นิตยสารดังกล่าว และสั่งปิดนิตยสารในทันที แต่ยังอนุญาตให้บริษัทพิมพ์หนังสืออื่นๆ ได้
 
ดิฉันมองว่าการปิดนิตยสารเรดนิวส์นั้นมีการวางแผน และติดตามความเคลื่อนไหวมานานแล้ว เพราะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของ “คนเสื้อแดง” ที่รัฐบาลเห็นว่า เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
 
เริ่มตั้งแต่การรวมตัวกันครั้งแรกในชื่อ นปช.หลังเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (ซึ่งจะครบ 4 ปี เร็วๆ นี้ ) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมได้รู้จัก “คนเสื้อแดง” ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ครั้งที่มีการรวมตัวกันจนสามารถชิงพื้นที่ข่าวในสื่อได้มากอย่างเห็นได้ชัดในเวลาต่อมา
 
ตลอดจนคนเสื้อแดงเองก็ได้ผลิตสื่อของตัวเองออกมาเป็นรูปเป็นร่างภายใต้ชื่อ “พีเพิลชาแนล” ซึ่งได้ดำเนินกิจการออกอากาศทางโทรทัศน์ดาวเทียมมุ่งนำเสนอข่าวสารของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นเสนอสาระภายใต้อุดมการณ์ของกลุ่มซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากเข้าร่วม 
 
สังเกตได้จากยอดสั่งซื้อจานดาวเทียมจากตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งจานดาวเทียมชั้นนำทั้งหลาย โดยเฉพาะที่ร้านของดิฉัน
 
“ติดไว้ดูข่าวเสื้อแดง” นี่เป็นคำตอบส่วนมากของลูกค้าที่เลือกมาใช้บริการที่ร้าน โทรทัศน์ดาวเทียมนับว่าเป็นเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมาก ชาวบ้านละแวกที่ดิฉันอาศัยอยู่เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงด้วยการรับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางนี้
 
และในทุกๆ ครั้งที่รัฐบาลเห็นท่าจะไม่ดีในเชิงรุกจึงสั่งปิดสื่อของคนเสื้อแดงโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบของประเทศ วาทกรรมซ้ำๆ แต่ทรงพลังเหลือเกินในการลุแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นนั้น
 
เริ่มตั้งแต่เผด็จการทางความคิด ใครเห็นแตกต่างต้องถูกกำจัดทิ้งให้สิ้นซาก ยกระดับขึ้นเป็นเผด็จการทางการเมือง ประชาชนกลุ่มใดเห็นแย้งหรือไม่เอารัฐบาลนี้แม้แต่เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองยังถูกปราบปราม นี่เรากำลังอยู่ในยุคไหนกันนี่ 
 
...หรือว่าเรากำลังย้อนกลับไปสู่ยุคที่มีสโลแกนสวยหรูว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นี่ดิฉันต้องใส่หมวกออกจากบ้านหรือเปล่านี่ เรากำลังกลับไปสู่ยุคที่มีนิยายประโลมโลกเกิดขึ้นมากมายเหมือนในยุคที่ผู้นำห้ามนักคิดนักเขียนเสนอข้อเขียนและวิจารณ์ทางการเมือง ใครเขียนเป็นโดนติดคุกลืมแน่
 
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ ดิฉันออกจะรู้สึกสลดหดหู่อย่างมากหรับวิชาชีพสื่อในขณะนี้ ที่หากไม่ถูกเซ็นเซอร์โดยตรงก็โดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการสะกิดเตือนนายทุนสื่อให้ละเว้นการเสนอข่าวบางข่าวที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล แลกกับการลงประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกลายเป็นรายได้สำคัญของสื่อในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด ข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ 
 
ตัวอย่างที่ดิฉันมองเห็นและขอถือโอกาสนำมาวิพากย์คือสื่อกระแสหลักที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งเดิมทีก็นำเสนอข่าวหลายมิติและรอบด้านจริงๆ เริ่มด้วยผู้บริหารช่องที่ดูดนักข่าวจากช่องอื่นๆ มามากมาย ระดับหัวกะทิกันทั้งนั้น แต่สาระข่าวที่ถ่ายทอดออกมากลับเป็นแค่หางๆ สะท้อนปรากฏการณ์ธรรมดา ข่าวบางข่าวน่าตามประเด็นต่อ น่าสืบสาวเจาะหาเซ็นเซอร์ตัวเองไปซะงั้น 
 
ดิฉันเฝ้าสังเกตดูรายการข่าวดังหลังละครช่องนั้นมาตลอด 4 เดือนให้หลังเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” เพราะอยากรับรู้ความเป็นไปของคนเสื้อแดงบ้างในฐานะเป็นมวลชนส่วนหนึ่งของคนไทย โดยเฉพาะการติดตามความคืบหน้าของคนไทย 91 ศพซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โต ส่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เรื่องราวของคนเสื้อคล้ายหายเข้ากลีบเมฆ เรื่องราวเหล่านั้นถูกลบจากรายการข่าวเจาะช่องนั้นราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น 
 
ดิฉันเชื่อว่ามีอำนาจพิเศษบางอย่างสำแดงพลังและสั่งตรงมายังเจ้าของทุนสื่อและเจ้าของรายการให้ละเว้นการเสนอข่าวคนเสื้อแดง ทั้งๆ ที่เคยเป็นข่าวเจาะเพียงช่องเดียวที่กล้าเสนอความจริงที่ในเชิงข่าวที่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี หรือเสื้อแดง ฯลฯ ส่วนใครจะคิดเห็นประการใดก็ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองตามข้อมูลที่เสพเข้ามามากน้อยต่างกันไปแต่ละคน
 
น่าเสียดายจริงๆ สื่อกระแสหลักเพียงรายการเดียวที่ดิฉันเคยมองว่าเป็นกลางในการนำเสนอ และติดตามมาตลอด ดิฉันเกิดความเบื่อหน่ายและออกจะผิดหวังอยู่มาก ดังนั้นพอละครจบตอนนี้ไม่เสียดายที่จะปิดโทรทัศน์นอนทันที ตอนเช้าค่อยติดตามข่าวทางวิทยุ โทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ก็สื่อออนไลน์ที่ “กล้า” มากกว่าที่จะวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองในมุมที่แตกต่าง
 
ทั้งนี้การเกิดสื่อของกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์เฉพาะตนมิใช่มีเฉพาะของคนเสื้อแดง ก่อนหน้านี้ในช่วงม็อบเสื้อเหลือง ก็มีเอเอสทีวีผู้จัดการเป็นสื่อในมือที่คนเสื้อเหลืองโดยมีคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นแกนนำคนสำคัญตลอดจนเป็นเจ้าของสื่อเสียด้วยซ้ำ
 
ดิฉันในฐานะของคนที่เคยทำสื่อ (สิ่งพิมพ์) มองว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ ของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว (เท่านั้น) ที่จะเกิดสื่อมากมายหลายหลากเพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นที่สอดคล้องหรือเห็นไปในทางเดียวกับรัฐบาลเสียทุกเรื่อง เป็นการแสดงถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเขียนและตีพิมพ์ ซึ่งทุกรัฐธรรมนูญของไทยก็ให้การรับรองเสรีภาพดังกล่าว เว้นแต่จะไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งจะกระทำไม่ได้
 
ย้อนกลับมากรณี ศอฉ.ปิดนิตยสารเรดนิวส์ โดยทางนายกฯอภิสิทธิ์ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในว่าไม่ได้สั่งปิด แต่ทำตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ยันรัฐไม่ปิดกั้นสื่อ (ข้อความที่ส่งเข้ามือถือของสำนักข่าว Voice New เวลา 18.48 น.วันที่ 10 กันยายน 2553)
 
ฟังดูทะแม่งๆ นะคะแต่มีเหตุผลรองรับเสมอตามสไตล์ท่านนายกฯ มาร์ค
 
คำถามคือพระราชบัญญัติดังกล่าวเขียนโดยใคร และเขียนโดยมีวัตถุประสงค์เช่นไร ดิฉันมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าคนเขียนกฎหมายคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนั้นๆ ตราบใดที่รัฐไทยไม่เคยฟังเสียงประชาชนเลยก่อนลงมือเขียน กฎหมายดังกล่าวย่อมอิงประโยชน์ของคนส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ให้ประโยชน์กับปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง
 
เพราะ....จะว่าไปตั้งแต่รัฐบาลประกาศขอคืนพื้นที่โดยใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รัฐใช้ความรุนแรงจนสื่อต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู
 
ความรุนแรงครั้งนั้นยากจะลืมเลือนสำหรับผู้สูญเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคนเสื้อแดงหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจซึ่งต้องปฏิบัติภารกิจนี้ตามคำสั่งของรัฐบาล และแม้ว่าจะมีแกนนำเสื้อแดงบางส่วนมอบตัว และถูกตีตรวนเป็นภาพอื้อฉาวไปทั่วสำหรับการกระทำกับ “ผู้ต้องหา” ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกระบวนการสืบสวนที่แน่ชัดว่ากระทำผิดจริงๆ ซึ่งต้องสืบพยานอีกหลายปาก พวกเขาเหล่านั้นถูกพิพากษาจากสังคมให้เป็นนักโทษการเมืองไปโดยปริยาย เช่นนี้แล้วความยุติธรรมมีนัยยะเช่นไรกันแน่
 
นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังตามไล่ล่าแกนนำคนเสื้อแดงคนอื่นๆ อีกมากมาย หนึ่งในนั้นดิฉันรู้จักในฐานะเพื่อนนักเขียน (แต่ไม่ขอลงรายละเอียด) ปฏิบัติการปราบปรามประชาชนที่มีความคิดแตกแถวดำเนินมาตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลต้องการกำจัดคนเสื้อแดงให้พ้นหูพ้นตา จึงมีการขึ้นแบล็คลิสต์บุคคลต่างๆ และอนุมัติหมายจับมากมาย
 
การกระทำของรัฐบาลออกจะเป็นยุทธวิธีที่ “ล้าหลัง” มากๆ คะ ถ้าเทียบกับยุคเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลาคม 19 ซึ่งทำให้ทำให้นักศึกษาต่างหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก เพราะกลัวข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์
 
หลังจากนั้นไม่นานสมัยที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคที่มี พล.เอกเปรมเป็นนายกฯ โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุติ เป็นกุนซือสำคัญนำนโยบาย 66/23 มาใช้ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากออกจากป่าสู่เมือง คือใช้การเมืองนำการทหาร แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างก็สามารถมีพื้นที่ยืนได้ในแผ่นดินไทยอย่างเสมอภาค
 
หลักของนโยบาย 66/23 ก็คือการยุติสงครามกลางเมืองด้วยการขยายเสรีภาพของบุคคล แก้ปัญหาความไม่มั่นคงของรัฐบาลด้วยการขยายอำนาจอธิปไตยของปวงชน เพราะอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อย หรือระบอบเผด็จการรัฐสภาเป็นต้นเหตุของความไม่มั่นคงของรัฐ ซึ่งมีเงื่อนไขให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำสงครามกลางเมืองเพื่อทำลายอำนาจรัฐ (ทำลายกองทัพแห่งชาติ)
 
นโยบาย 66/23 เป็นการส่งเสริมการต่อสู้อย่างสันติเพื่อประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย มิได้ขัดขวางประชาชน ดังเช่นเรียกผู้เคยต่อสู้แนวรุนแรงด้วยอาวุธมาต่อสู้สันติว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” 
 
การร่วมพัฒนาชาติไทยคือการพัฒนาทางการเมืองที่สามารถทำได้ เพราะยุติสงครามกลางเมืองแล้ว รูปธรรมคือการร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตยด้วยการให้เสรีภาพบุคคลบริบูรณ์ และทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอันเป็นภารกิจสูงสุดของกองทัพ
 
ในกรณีของการปิดนิตยสารเรดนิวส์ เป็นการกระทำของรัฐบาลที่มิแยแสต่อประวัติศาสตร์เลยสักนิดเมื่อเทียบเคียงกันแล้ว เพราะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการคุกคามสื่ออย่างเห็นได้ชัดซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมารังแต่จะสร้างความเก็บกด ความคับข้องใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนและนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงอีหรอบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำสื่อที่ถูกปิดกั้นถึงขั้นสั่งปิด
 
ทำไมท่านไม่ปล่อยให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์นั้นเล่า อย่างน้อยรัฐก็ได้รู้ ได้ทราบความเคลื่อนไหวว่าฝ่ายตรงข้ามว่าคิดเห็นประการใด เพื่อจะกำหนดยุทธวิธีที่ตรงจุด ซึ่งก็ดีกว่าตามล่าบุคคลที่รัฐบาลตราหน้าว่าเป็นพวก “ใต้ดิน” ซึ่งยิ่งปราบก็ยิ่งโต ไม่ต่างอะไรกับ “ตายสิบเกิดแสน” ของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เบ่งบานสุดๆ ในยุคหนึ่ง
 
การกระทำเช่นนี้ยิ่งสร้างความเจ็บปวดเจ็บแค้นให้กับกองบรรณาธิการนิตยสารดังกล่าว ปิดได้ ก็เปิดใหม่ได้ เอาซิ...ดูท่าจะเป็นเช่นนี้
 
แม้รัฐบาลจะอ้างหลักกฎหมาย(ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นกฎหมายที่คนส่วนมากหรือคนส่วนน้อยบัญญัติ) ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นทะลักเช่นนี้ ดิฉันมองว่าการปิดสื่อครั้งนี้เป็นเรื่องที่ “สิ้นคิด” อย่างรุนแรงของรัฐบาลเสมือนเป็นการ “ฆ่าตัวตายทางการเมือง” คำถามคือนี่หรือ “ประชาธิปไตย” ในแบบของท่าน
 
สำหรับดิฉันแล้วนี่มัน “เผด็จการสุดขั้ว” ต่างหาก 
 
ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์คงมิอาจลืมวาทกรรมของตนที่เคยพูดไว้ว่า “แม้เพียงเสียงเดียวก็ต้องฟัง” 
 
แต่....นี่มิใช่เสียงเดียวนะคะ การจัดตั้งเป็นกองบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งๆ ต้องประกอบด้วยคนไม่ต่ำกว่าสิบคนเป็นแน่ 
 
ดิฉันยังเชื่อในหลักเสรีภาพคะ (แม้ใครจะพยายามใส่สีให้ดิฉันก็ตามเถอะ ดิฉันไม่สนเพราะสิ่งที่พูดและเขียนในตั้งอยู่บนจุดยืนของคนที่เคยทำสื่อ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพของสื่อมวลชน
 
การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของสื่อไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์สื่อถึงขั้นสั่งปิด และยึดแท่นพิมพ์ทั้งหมดของนิตยสารเรดนิวส์ ตลอดจนข้อกล่าวหาว่าด้วยเรื่องการเสนอข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง หรือเป็นไปในลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นข้อหาที่รุนแรงมาก รัฐบาลเอาอะไรมาพิสูจน์ความจริงเหล่านั้น หลักฐานก็ไม่ได้หนาแน่นหนักหน่วงพอที่จะฟันธงเช่นนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวหาลอยๆ แต่ทรงอำนาจยิ่งนัก
 
ความคิดเห็นที่แตกต่างของ “เรดนิวส์” ไม่ใช่ข้อสรุปตามข้อกล่าวหาทั้งหมดที่จะพบบทสรุปเช่นนั้น
 
แต่.....มันคือเสรีภาพในการนำเสนอสื่อตามอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากความคิดเห็นของรัฐบาลก็เท่านั้น จะว่าเป็น “สื่อแตกแถว” ก็คงใช่
 
ดิฉันคิดว่ามันคือการ “คุกคามสื่อ” และเป็นยุคเสื่อมที่สุดของคนทำสื่อเลยก็ว่าได้ การยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายต่างหากเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำเวลานี้ ไม่ต้องไปจ้างดารามารับโทรศัพท์เหมือนที่ผ่านมาเพื่อประมวลปัญหาของประชาชนหรอกคะ แค่อ่านและดูสื่อทั้งกระแสหลักและสื่อทางเลือกเช่นสื่อออนไลน์ ซึ่งตอนนี้มีอิทธิพลมาก แล้วนำมาประมวลเป็นนโยบายเพื่อประชาชนจะดีเสียกว่า
 
การปิดเว็บไซต์ การปิดสื่อมิได้เป็นผลดีต่อรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย เพราะการโจมตีในที่แจ้งย่อมดีกว่าการเคลื่อนไหวใต้ดินแบบกองโจรเป็นไหนๆ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฝ่ายประชาธิปไตย พรรคการเมือง และชนชั้นนำ: ข้อคิดเห็นบางประการ

Posted: 13 Sep 2010 05:31 PM PDT

 
 
อ่านความเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงนี้แล้วรู้สึกว่าผมต้องออกความคิดอะไรบางอย่าง ความคิดที่ว่านั่นก็คือฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องทบทวนความสัมพันธ์ของตนเองกับพรรคการเมืองและชนชั้นนำเสียใหม่..
 
คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ของผมในที่นี้หมายถึงคนที่ลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในทางการเมือง สิทธิ เสรีภาพ รวมไปถึงการเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศทั้งระบบ ขจัดความไร้มาตรฐานในทางการเมือง บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในขณะนี้เป็นใครไม่ได้เลยนอกจากขบวน “แดง” ที่เรียกร้องสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง (ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงข้อบกพร่องในขบวนให้เสียเวลาเพราะก็มองเห็นกันอยู่มากมาย) ..
 
หลังราชประสงค์แตกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา คนเสื้อแดงเคียดแค้นชิงชังรัฐบาลไปทั่ว รัฐบาลเองก็รู้ว่าตนเองทำอะไรลงไปเมื่อตอนสลายประชาชน ใครยิงใครผมคิดว่าพวกเราต่างรู้กันดีในระดับปรากฏการณ์และตามแต่ละทัศนคติของตนเอง ..
 
2-3 วันที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์อันถือว่าเป็นแกนนำพรรครัฐบาลได้ออกแผนปรองดองระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน ซึ่งมุ่งเป้าไปที่พรรคเพื่อไทย แผนปรองดองดังกล่าวมีหัวใจหลักสำคัญก็คือความต้องการจับมือกันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์แห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ว่ามีแนวทางปรองดองที่สอดรับกับรัฐบาลท่ามกลางเสียงคัดค้านระงมจาก สส. ภายในพรรคและสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่าการออกแถลงการณ์ดังกล่าวจะทำให้เสียแนวร่วมจากมวลชนเสื้อแดงอันถือว่าเป็นฐานเสียงที่สำคัญที่สุดของพรรคแต่รองหัวหน้าพรรคกลับยืนยันว่าได้พูดคุยกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แล้ว แต่ในที่สุด พรรคเพื่อไทยก็มีท่าทีว่าขอปรองดองกับรัฐบาลโดยได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อสนับสนุนแผนการดังกล่าว .."
 
ใครที่ไม่ค่อยติดตามการเมืองก็ยังรู้เลยว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับตระกูลชินวัตรที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงต่อขบวนเสื้อแดงนั้นแนบแน่นเพียงใด ..
 
การเคลื่อนไหวของรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความคิดและท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ผมเดาของผมเองว่าคุณทักษิณคงประเมินอะไรออกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมของชนชั้นนำของฝ่ายการเมืองที่ต้องการ “ปรองดอง” กันเองเพราะสถานการณ์เฉพาะหน้าเรื่องเลือกตั้งและการ “ต่อรอง” ..
 
หลายอย่างที่ผมพอรู้มาคร่าวๆ ก็คือ การต่อสู้โดยแนวทางมวลชนของเสื้อแดงประสบความพ่ายแพ้หลายต่อหลายครา ในระหว่างทางที่พ่ายแพ้ก็ย่อมต้องมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อเสนอและข้อต่อรองระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน มิพักต้องพูดถึงสถาบันที่อยู่สูงกว่านั้นมีความสลับซับซ้อนที่พวกเราไม่เคยรู้ เกมการเมืองครานี้จึงเปรียบเสมือนการเล่นซ่อนหาท่ามกลางแดนประหารของแต่ละฝ่ายที่ต้องการจัดการกับผู้ที่พ่ายแพ้ออกไปจากเกม ..
 
ชนชั้นนำของแต่ละฝ่ายจึงต้องการจับมือกันชั่วคราวเพื่อผลประโยชน์ข้างหน้า ในที่นี้ก็คือการเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกปีกว่าๆ นี้ ..
 
ผมกลัวว่าสิ่งที่เขากำลังจะเฉดหัวทิ้งก็คือพี่น้องที่ออกมาต่อสู้ในทางการเมืองครับ ..
 
การบาดเจ็บล้มตายถูกคำนวณออกมาเป็นสมการการต่อรองทางการเมืองอันไร้น้ำหนักยิ่ง “แกนนำ” บางคนเชื่อว่าคนเสื้อแดงตายเพื่อประชาธิปไตยแล้วจะได้ “ราคา” ต่อรองกับ “เจ้ามือ” และ “ขาประจำวง” ..
 
แต่อนิจจา..เขาถูกเจ้ากินเรียบรอบวงในครั้งนี้ ส่วนขาประจำวงก็ได้บ้างเสียบ้างคละกันไป.. 
 
พี่น้องที่รักประชาธิปไตยออกมาต่อสู้เรียกร้องบนท้องถนนต้องถูกยกย่องเชิดชูจิตใจว่าพวกเขามีอุดมการณ์ที่เข้มแข็ง ไม่มีสิ่งอื่นใดที่เขาต้องการมากไปกว่าความยุติธรรมและประชาธิปไตย แต่แกนนำ ชนชั้นนำ และฝ่ายการเมืองทั้งหลายที่เป็นแนวร่วมของขบวนก็ย่อมต้องการผลประโยชน์จากการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนทุกครั้ง (และทุกสี) ..
 
เมื่อใดที่ฝ่ายประชาธิปไตยต่อสู้ได้รับชัยชนะ คนที่เข้าไปเสวยสุขก็คือนักการเมืองและชนชั้นนำในทางการเมือง นี่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่สุดก็จริง แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนจะต้องไม่ถูกหักหลังจากบุคคลที่เขาอุ้มชู พวกเขาเชื่อมั่นในตัวตนของผู้คนเหล่านั้น พวกเขาสู้เพื่อประชาธิปไตยที่พวกเขาต้องการกำหนดชีวิตของตนเอง กำหนดตัวแทนของตนเองในสภาฯ กำหนดนโยบายของตนเองภายใต้พรรคการเมืองที่เขาเลือก รวมไปถึง “กำหนดอุดมการณ์ประชาธิปไตย” ที่มีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศหรืออันเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ” ..
 
การกระทำของพรรคเพื่อไทยอันมีมวลชนแดงสนับสนุนเป็นจำนวนมากต้องคำนึงถึงจิตใจของผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มิใช่พอเห็นว่าฝ่ายประชาธิปไตยทำท่าจะพ่ายแพ้ในแนวทางมวลชนแล้วตนเองจะปฏิเสธขบวนไปจับมือกับศักดินาเพื่อมุ่งผลประโยชน์เฉพาะหน้า ..
 
แบบนี้เป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งความสำนึกต่อการต่อสู้ของประชาชนนะครับ ..
 
วันนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องทบทวนความสัมพันธ์ของตนเองกับพรรคการเมืองและชนชั้นนำทางการเมืองเสียใหม่ สิ่งที่เสื้อแดงทำได้ก็คือต้อง “สถาปนาสถาบันแดง” ขึ้นมาให้ได้ อันจะเป็นตัวจุดประกายให้แก่การต่อสู้และการบีบบังคับพรรคการเมืองที่มีฐานของคนเสื้อแดงทำตามที่ขบวนเรียกร้อง ชนชั้นนำจะไม่สามารถปฏิเสธความยินยอมพร้อมใจของมวลชนฐานรากที่พวกเขายืนอยู่ได้หากฐานรากในทางการเมืองเข้มแข็งด้วยตนเอง คิดอะไรได้ด้วยตนเอง กำหนดอุดการณ์ประชาธิปไตยของตนเองได้.. 
 
ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้ก็เพราะว่ามวลชนแดงที่เราเห็นๆ กันนั้นมีความคิดความอ่านที่ไปไกลมากมายกว่าที่เราสัมผัสจากภายนอก คำว่าไปไกลไม่ใช่เรื่องของการล้มเจ้าล้มสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เป็นเรื่องของการสถาปนารัฐไทยที่มีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ คนเสื้อแดงต้องการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและรัฐขึ้นมาใหม่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ..
 
ประชาธิปไตยที่ทุกคนต้อง “เท่าเทียมกัน” 
 
พรรคเพื่อไทยและคุณ ทักษิณ ชินวัตร ต้องเลิกคิดว่าประชาชนเป็นเครื่องมือได้แล้วครับ .. 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้องศาลขอเพิกถอนหมายจับ 45 พันธมิตรฯ

Posted: 13 Sep 2010 04:51 PM PDT

"ไชยวัฒน์-วีระ-จอย" นำพันธมิตรฯ พร้อมทนายร้องศาลอาญาขอเพิกถอนหมายจับ 45 คน อ้างไม่มีเหตุให้ถอนหมายจับ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลที่จะไปทำลายหลักฐานพยานได้

 
กรณีศาลอาญาได้เรียกตัวพล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มารายตัวต่อศาล แต่ผู้ต้องหายังมารายตัวไม่ครบ ขาดไป 45 คนนั้น ได้มีพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายจับผู้ต้องหากลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไม่มารายงานตัวต่อศาลในคราวก่อน จำนวน 45 คนดังกล่าว
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ กับพวกอาทิ นายวีระ สมความคิด นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จอย-ศิริลักษณ์ ผ่องโชค พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ นายสมชาย วงศ์เวช นางต้นฝัน แสงอาทิตย์ นายการุณ ใสงาม รวม 20 คน ได้เดินทางมาที่ศาล พร้อมนายนิติธร ล้ำเหลือทนายความ เพื่อร้องคัดค้านการออกหมายจับ โดยยื่นเข้า 3 ฉบับใจความสอดคล้องกัน
 
คำร้องบรรยายว่า เดิมเมื่อเดือน ก.ค. 2553 พนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกกลุ่มผู้ต้องหาไปพบพนักงานสอบสวน ซึ่งผู้ต้องไม่ได้มีเจตนาหลบหนี จึงเดินทางไปพร้อมนายณฐพร โตประยูร ทนายความ เพื่อชี้แจงถึงเหตุที่ก่อนหน้านี้ไม่มาให้การ แต่พนักงานสอบสวนกลับบ่ายเบี่ยงไม่ดำเนินการสอบสวน ผู้ร้องเห็นว่าตนไม่ได้กระทำความผิด และไม่มีเหตุออกหมายจับ ทั้งมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และในฐานะเป็นคนไทยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติเรื่องหมายจับรองรับไว้แล้วว่าต้องมีเหตุผลสมควรจึงจะออกหมายจับได้ แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความบริสุทธิ์ และตำรวจมักจะจับก่อนแสวงหาหลักฐานพยานภายหลัง ปล่อยให้ผู้ต้องหามีภาระไปต่อสู้คดีในชั้นศาล 
 
ผู้ร้องบรรยายคำร้องอีกว่า พวกตนมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรื่องการแสดงความคิดเห็น และสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนอย่างเป็นธรรม ดังนั้นการที่ศาลออกหมายจับโดยไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ต้องหา ซึ่งขอชี้แจงว่าพวกตนไม่คิดหลบหนีไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล ไม่อาจไปทำลายหลักฐานพยานได้ มีการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริง ทำให้ต่อสู้คดีได้ยาก ดังนั้นการขอออกหมายจับของพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความจำเป็น พวกตนไม่ควรถูกออกหมายจับ ขอให้ศาลอนุญาตให้ทนายความซักค้านการออกหมายจับด้วย 
 
ทั้งนี้ ศาลรับคำร้องไว้นัดฟังคำสั่งวันที่ 15 ก.ย.นี้ เวลา 13.00 น.
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“โกวิท” ยังไม่สมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย ด้าน "ยงยุทธ" ปัดข่าวขึ้นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

Posted: 13 Sep 2010 04:39 PM PDT

"ปลอดประสพ" เผย "โกวิท" ส่อถอดใจยังไม่มาสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย  อาจไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วน "ยงยุทธ" ปัดข่าวเสนอชื่อเป็นหัวหน้า "เพื่อไทย" อีกครั้ง โยนรอที่ประชุมใหญ่ชี้ขาด

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.53 ที่พรรคเพื่อไทย ในช่วงเช้าที่มีการประชุมคณะกรรมการประสานกิจการของพรรคเพื่อไทยปรากฏว่ามีการทยอยเดินทางเข้ามาของบรรดาแกนนำพรรคหลายคน และ ส.ส.สมาชิกพรรค สำคัญๆ หลายคน อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร โดยไม่ปรากฏว่า พล.ต.อ.โกวิทวัฒนะ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคตามที่ได้นัดหมายไว้ในเวลา 12.00 น.ของวันเดียวกันนี้ แต่อย่างใด

เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ตัวเก็งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ยังไม่ได้เดินทางสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยตามที่เจ้าหน้าที่พรรคแจ้งไว้ คือ ไม่เกิน 12.00 น. วันที่ 13 ก.ย. ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.โกวิท อาจจะไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ว่า เรื่องนี้ตนกินแอสไพรินไปแล้ว แต่เท่าที่ทราบผู้ช่วยของ พล.ต.อ.โกวิท ได้แจ้งมาว่า พล.ต.อ.โกวิท เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งตัวท่านไม่ใช่นักการเมือง ไม่รู้เรื่องในพรรค ดังนั้น จึงไม่มาสมัครสมาชิกพรรคในวันนี้ แต่ตนพูดเฉพาะวันนี้เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 14 ก.ย.นี้
 
เมื่อถามว่า หาก พล.ต.อ.โกวิท ไม่มาสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยภายในวันเดียวกันนี้ แต่สมัครสมาชิกในวันที่ 14 ก.ย. ก่อนเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะสามารถเสนอชื่อ พล.ต.อ.โกวิท เป็นหัวหน้าพรรคได้หรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า หาก พล.ต.อ.โกวิท ไม่มาสมัครสมาชิกในวันนี้ ตามระเบียบก็ไม่สามารถกระทำได้ 
 
ด้านนายกมล บันไดเพชร นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พล.อ.โกวิทไม่ได้แจ้งว่าจะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในวันที่ 13 ก.ย. หรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบด้วยว่าพล.อ.ต.โกวิท ได้มีการประสานไปที่ใคร แต่หากไม่มาในวันนี้ ก็สามารถที่จะสมัครสมาชิกได้ในวันอื่นคือวันที่ 14 ก.ย.ได้ เพราะตามข้อบังคับพรรค ระบุไว้ว่าทันทีที่นายทะเบียนเซ็นรับรอง ก็สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ทันที และตามข้อบังคับเมื่อขั้นตอบการสมัครเป็นสมาชิกเรียบร้อยสมบูรณ์ ก็สามารถใช้คุณสมบัตินี้ในการเป็นหัวหน้าพรรคได้
 
ขณะที่เว็บไซต์แนวหน้า  รายงานว่าที่พรรคเพื่อไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึง กระแสข่าวที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้งว่า ยังไม่ทราบเลย ต้องรอการพิจารณาจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญวันที่ 14 ก.ย. เมื่อถามว่า หากสมาชิกยังมอบความไว้วางใจ จะพร้อมรับตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดเลย สิ่งที่ถามมายังเป็นเรื่องสมมุติ ควรให้เกิดเหตุการณ์ก่อน ส่วนกรณีถ้าในที่ประชุมมีการเสนอชื่อ นายยงยุทธ เพียงชื่อเดียว นายยงยุทธ กล่าวว่า สิ่งที่ถามยังเป็นถ้า เป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น ไม่รู้จะตอบยังไง
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า การที่จะเสนอชื่อท่านกลับมาอีกครั้ง เป็นเพราะ ส.ส.บางส่วนไม่รับ พล.ต.อ.โกวิท หรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อมูลเหมือนกัน เพราะเพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัด เมื่อถามว่า ตกลงวันนี้ พล.ต.อ.โกวิท จะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธรรม: มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (2)

Posted: 13 Sep 2010 03:49 PM PDT

 
ในตอนแรก เราพอจะได้เห็นภาพอีกมุมหนึ่ง (ด้านสังคมวิทยา) ของคนเสื้อแดงไปแล้ว ในตอนนี้จะเป็นการนำเสนอกลุ่มคนเสื้อเหลืองบ้าง ซึ่งมีพลวัตรไม่ต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงเท่าไหร่ มีการปรับเปลี่ยนความคิดไปตามยุคสมัยในแต่ละช่วงเวลา มีอุดมการณ์ มีภูมิหลังอันน่าสนใจ หล่อหลอมให้พวกเขากลายมาเป็น "คนเสื้อเหลือง" 
 
ผศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนอภิปราย ได้นำเสนอจากประสบการณ์ที่เข้าไปคุย ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อทำวิจัยเรื่อง "ผู้หญิงเสื้อเหลืองในสังคมภาคเหนือ : กรณีเปรียบเทียบผู้หญิงเสื้อแดง" ฉะนั้นเนื้อหาในการอภิปรายจะเปรียบเทียบเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตลอด จนทำให้เห็นภาพที่น่าสนใจ
000
 
ความคิดผู้หญิง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก่อนการเมืองเหลืองแดง
 
ผศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายว่า ก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องความคิดทางการเมืองของผู้หญิงรากหญ้า ขอเรียนในเบื้องต้นหรือสารภาพบาปก็ได้ว่า สิ่งที่จะนำเสนอไม่ใช่เป็นงานวิจัย แต่เป็นความสนใจส่วนตัวที่ต้องการลงไปฟังประสบการณ์ของผู้หญิงเสื้อแดงรากหญ้าในหมู่บ้าน ทั้งที่ไปและไม่ไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ ชื่อเรื่องที่จะนำเสนอ คือ "การเมืองเสื้อเหลือง: บททดลองเสนอกรณีในสังคมภาคเหนือ" นี้ ดร.อภิญญาก็ตั้งให้ แต่เรียนไปว่าจะเน้นแต่เฉพาะผู้หญิง 
 
การจะไปคุยกับเสื้อแดงเป็นเรื่องลำบาก ก็เลยโทรศัพท์ไปหากลุ่มผู้นำรากหญ้าที่เคยร่วมทำงานด้วยกันมาว่า จะลงไปคุยกับคนเสื้อแดงนะช่วยติดต่อให้หน่อย เพราะเดี๋ยวเขาจะไม่คุยด้วย เผอิญว่าในงานศพของสามีผู้นำ เราก็มีโอกาสได้เจอสตรีรากหญ้าประมาณ 15 คน แต่พอเปิดประเด็นคุย ก็ตกใจ ปรากฏว่าทั้งหมดเลยก็ว่าได้เปิดอกว่าบอกว่า เขาเป็นเสื้อเหลืองนะ และถามว่าเสื้อเหลืองคืออะไร เขาก็ตอบง่ายๆ นิยามตัวเองอย่างง่ายๆว่าคือ คนที่ไม่ต่อต้านรัฐประหารและไม่เอาคุณทักษิณ จึงขอให้สตรีเสื้อเหลืองช่วยติดเสื้อแดงให้ ขณะที่กำลังลงไปคุยในพื้นที่แบบสนุกๆอยู่อย่างนี้ อ.ปิ่นแก้วก็เลยขอให้มาเล่าการเมืองของผู้หญิงเสื้อเหลือง เนื่องจากในพื้นที่ของอาจารย์แทบจะไม่มีใครเป็นเสื้อเหลืองเลย หลังจากชวนเสื้อเหลืองไปคุยเสื้อแดงหลายครั้งเข้า ปรากฏว่าคุยไปคุยมาเขาก็บอกว่าเขาไม่ใช่เหลืองจัดหรอกนะ เห็นด้วยกับแดงหลายเรื่องเหมือนกัน
 
สรุปวันนี้เลยไม่แน่ใจว่าจะเล่าเรื่องการเมืองของเหลืองหรือแดงกันแน่ เอาแบบผสมๆแล้วกัน เนื่องจากความคิดของพวกเขาดูมันมีพลวัตพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มเหลืองที่มาปะทะกับกลุ่มเสื้อแดงในช่วงหลังก็เปลี่ยนความคิดไปเยอะทีดีเดียว ส่วนแดงก็เช่นกันเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันอยู่บางเรื่อง 
 
เมื่อไม่ได้เป็นวิจัยก็เลยไม่ได้มีคำถามอะไรที่ชัดเจน เพียงแต่ตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า วาทกรรมทั้งหมดที่ อ.ปิ่นแก้วพูดตะกี้ทั้ง 4 กระแส น่าจะเป็นความคิดหรือวาทกรรมของผู้นำหรือชนชั้นกลางหรือผู้ชายมากกว่า คิดในใจนะ เพราะว่าผู้หญิงที่ไปนั่งอยู่ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงเต็มสนาม ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐสภาหรือสี่แยกราชประสงค์ ยังไม่เห็นว่าผู้นำรากหญ้าคนไหนลุกขึ้นมาบอกว่าตัวเองคิดอย่างไร อะไรคือการเมืองของตัวเองชัดๆ ก็เลยคิดว่าเราก็ทำงานกับรากหญ้ามาแล้ว ก็น่าจะถือโอกาสลงไปคุยกับเขาว่าเขาคิดอะไรอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้น
 
การพูดคุยได้เลือกลงใน 2 พื้นที่ด้วยกัน พื้นที่แรกถือว่าเป็นพื้นที่หลัก และที่เหลือเป็นพื้นที่รองแต่ทั้งหมดอยู่ในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แต่ที่จะเล่าจะเน้นประสบการณ์ในพื้นที่หลัก
 
พื้นที่หลักมีความคุ้นเคย เพราะเคยลงไปทำวิจัยมาก่อน ในช่วงปี 40 หลังจากนั้นก็ลงไปเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว หลังปี 40 หมู่บ้านนี้ได้กลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป หัตถกรรม ทอผ้า แล้วก็เป็นหมู่บ้านเรียกว่าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย ในเชิงการเมืองก็เรียกว่าเป็นหมู่บ้านที่ใกล้ชิดกับไทยรักไทยมาก่อน ก่อนหน้านั่นเป็นฐานการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ คือ ความหวังใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งสองพรรคแย่งชิงพื้นที่กันมา แต่ท้ายที่สุดก็ได้ความหวังใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำอาจกล่าวได้ว่าเป็นฐานเสียงที่สำคัญของสส. ความหวังใหม่ หลังจากนั้นผู้นำก็มาอยู่กับไทยรักไทย ไม่ว่าพรรคจะเปลี่ยนชื่อกี่ครั้งก็ตาม มีอยู่ส่วนน้อยที่ยังเป็นฐานของประชาธิปัตย์ พอเป็นหมู่บ้านโอท็อปสิ่งที่น่าสนใจคือว่า และเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมด้วยผู้หญิงเลยเป็นตัวหมากสำคัญ เมื่อไปคุย ทั้งเหลืองทั้งแดงก็พูดว่าในยุคไทยรักไทย เรียกได้ว่าหมู่บ้านของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อยู่ในยุคทองก็ว่าได้ ก่อนปี 40 เขายังไม่เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมโอท็อป แต่ก็ทำหัตถกรรมมายาวนานต่อเนื่องมาจากป่าซาง หมู่บ้านนี่ก็เป็นที่ดูดซับแรงงานจากในเมืองมากทีเดียว ผู้หญิงเป็นผู้กุมเศรษฐกิจหัตถกรรมทอมือทั้งหมดเลย อันนี้เป็นประเด็นที่ตนสนใจ พอกลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป พื้นที่ทางเศรษฐกิจก็เปิดให้ผู้หญิงมากขึ้น ที่เคยเป็นแรงงานรับจ้างก็กลายเป็นผู้ประกอบรายย่อยขึ้นมา ผู้ซึ่งเคยประกอบการรายย่อยก็กลายเป็นนายทุนน้อยขึ้นมา ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้หญิงเรียกได้ว่าล่ำซำมาก เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ 
 
ตรงนี้เห็นชัดเจน พวกเขาทั้งเหลืองทั้งแดง สรุปว่า นโยบายไทยรักไทยมีความโดดเด่น ทั้ง 2 ขา ขาที่หนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจซึ่งโดดเด่นมากและเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิง ในขณะเดียวกัน ขาที่สอง คือ เพิ่มระบบสวัสดิการ หรือด้านนโยบายประชานิยมก็ตรงใจผู้หญิงเช่นกัน ทั้งนี่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบเรื่องการระบบสวัสดิการครอบครัว นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและนโยบายอื่นๆทำให้ผู้หญิงติดใจการเลือกตั้ง ติดใจพรรค ทั้งๆที่ในปี 40 ไม่ปรากฏว่าสนใจพรรคและสส.ที่เลือกมากมายขนาดนี้ หมู่บ้านนี้ จึงกลายเป็นฐานของเสื้อแดงเกือบทั้งหมด เหลือเป็นเหลืองอยู่ไม่กี่คน เขาสาธยายว่า งบประมาณที่คุณทักษิณลงมาให้หมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 3 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องเขียนโครงการให้หน่วยราชการที่มักสร้างความยุ่งยากให้ชาวบ้าน คือ ต้องแก้ไขหลายครั้งจึงผ่านได้ แม้งบไม่กี่พันบาทก็ตาม ส่วนในสมัยคุณทักษิณ งบ 1 ล้านแรก ไม่ต้องทำอะไรเลย หน่วยราชการทำให้ เพื่อประชาสัมพันธ์งานโอท็อป ที่สร้างรายได้ต่อยอดให้หมู่บ้านได้อีกหลายเท่า ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้กุมเศรษฐกิจของชุมชนและครอบครัว และจากตรงนี้เองที่เขาบอกว่า ทำไมการเลือกตั้งจึงมีความหมาย เพราะเลือกแล้วเห็นหมู่บ้านเปลี่ยนไป และการเลือกพรรคมีความหมาย เพราะคิดว่ามีผลต่อนโยบายที่ต้องใจทั้งสองขา บางคนคิดว่าเลือกพรรคเก่าน่าจะมีหลักประกันในเชิงนโยบายมากกว่า ตัวอย่างหนึ่งที่อาจเป็นตัวสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจรากหญ้าในหมู่บ้าน ก่อนปี 40 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจดี ผู้หญิงคนหนึ่งมีคนงาน 14 คน เฉพาะคนงานทอผ้าฝ้ายนะ เศรษฐกิจตกลงในปี 2540 จึงกระทบต่อการผลิต จึงหดตัวลงมา เขาเก็บคนงานทอไว้ 7 คน ที่เหลือเปลี่ยนสภาพการจ้างเป็นชิ้นๆไป แต่กิจการกลับฟูขึ้นอีก จนกระทั้งมีคนงานเพิ่มเป็น 25 คนในช่วงที่พรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจ เมื่อหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป เจ้าของูธุรกิจข้างต้นเริ่มขยายร้านออกไป อีก 2 แห่งในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น ตัวอย่างแบบนี้ชี้ให้เห็นว่าเขาเปลี่ยนไปอย่างไร อีกคนชี้ให้ดูบ้านของตัวเอง เสื้อแดงคนนี้ตอนนี้ มีปิ๊กอัพด้วย พาคนไปกรุงเทพฯด้วย ปิ๊กอัพและสภาพบ้านที่ปรับปรุงใหม่ รวมทั้งลูกที่สามารถเรียนหนังสือได้ ต่างเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตอนปี 40 เขาสองคนผัวเมียรับจ้างทำงานเป็นชิ้นๆเท่านั้น ในแง่ของผู้หญิงจึงน่าขบคิดว่า ปรากฏการณ์การเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้ผู้หญิงมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมการเมืองแบบเลือกขั้วอย่างไร แต่จากที่ฟัง การมีธุรกิจส่วนตัว มีรถปิ๊กอัพ ทำให้พาเพื่อนไปไหนก็ไปได้ มีมือถือมีทุกอย่างเลย และการที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการมีนัยยะที่สำคัญมาก ทำให้หวงแหนการเลือกตั้งมาก ผู้หญิงกลุ่มนี้ตอนที่ทำวิจัยในปี 40 เขาไม่ใช่กลุ่มคนที่มีฐานะดี เพราะฉะนั้น ฐานะของเขาขยับมากในช่วงหลังนี้ 
 
 
การมองคนเสื้อแดงและความหลากหลายของผู้หญิงเสื้อเหลือง
 
ประเด็นที่นำเสนอจะได้เตรียมมา 3 ประเด็น คือ ผู้เล่าเรื่อง/ใครคือเหลือง/แดง การกลายเป็นเหลืองในแต่ละยุคและการเมืองเหลือง-แดงแยกขั้วเลือกข้างหรือไม่อย่างไร แต่คิดว่าถ้าคุยทั้ง 3 เรื่อง อาจจะไม่จบในเวลาสั้นๆ จึงเน้นที่ประเด็นแรกว่าใครบ้าง คือ ใครคือเหลือง/แดง และการเมืองเหลืองแดงในหมู่บ้านนี่แยกขั้วจริงหรือเปล่า จะเล่าเท่าที่เวลามีอยู่ก็แล้วกัน 
 
ใครคือเหลืองและแดง คนที่บอกว่าตัวเองเป็นเหลืองนี่มีทั้งหมดสีละ 7 คน ซึ่งฝ่ายเหลืองเป็นผู้นำทั้งหมด แต่ตอนแรกบอกว่าเหลือง คือไม่เอาคุณทักษิณ และเลือกรัฐประหาร แต่พอคุยกับจริงๆ ทั้ง 7 คนไม่ใช่เหลืองประเภทเดียวกัน ปรากฏว่าเหลืองมีหลากหลายมาก พอแยกได้เป็นเหลืองภาคพลเมืองหมายความว่าตัวเองไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้ง หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบเลือกตั้งมากนัก แต่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะอยากเก็บสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลาน ไม่ต้องการเห็น สมบัติชาติถูกถ่ายโอนให้นายทุนต่างชาติ เหลืองภาคพลเมืองกลุ่มต่อมาเป็นเหลืองที่หวงแหนสถาบันเบื้องสูง เหลืองกลุ่มที่สองเป็นเหลืองชาติและสถาบัน คือหวงแหนสถาบันเบื้องสูงและสมบัติของชาติ เหลืองกลุ่มนี้ ก็เหมือนกับกลุ่มแรกนะคะ คือไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้งมาก เปิดกว้างให้กับพรรคไหนก็ได้ บางคนบอกว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้ลงในช่อง no vote ผสมกับประชาธิปัตย์ เหลืองกลุ่มที่สามนี่บอกชัดเจนเลยว่าเป็นเหลืองประชาธิปัตย์ อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล มีเหลืองประชาธิปัตย์บางส่วนพ่วงความคิดในการปกป้องสถาบันเบื้องสูงด้วย และสุดท้ายอันนี้ก็เหลืองสถาบัน อันนี้รักและเทิดทูลตัวสถาบันและที่กลายเป็นพวกเหลืองเพราะรู้สึกว่าสถาบันถูกกระทบ ถูกจาบจ้วง สนับสนุนรัฐประหารเพราะแดงจาบจ้วงสถาบัน ไม่แตะต้องเรื่องสมบัติชาติ หรือประเด็นทุนข้ามชาติ การอันนี้คือความหลากของเหลือง แต่แอบชอบนักการเมืองอย่างคุณชวน
 
แล้วพอกลับไปที่แดง แดงก็ระบุตัวเองแบบหลากหลายมากเช่นกัน ที่สำคัญเหลืองในหมู่บ้านมองแดงแบบหลากรูปมาก และเหลืองก็สามารถระบุแดงได้ค่อนข้างตรงกับที่แดงระบุตัวเองด้วย แสดงว่าข้อมูลเขาถึงกันมากเลย อย่างดิฉันบอกว่าดิฉันอยากจะคุยกับเสื้อแดง เขาถามว่าจะคุยกับใคร ดิฉันคิดง่ายๆว่า 1 เอาแดงที่เผยตัวเองและกล้าบอกคนที่อยู่ในตลาด/ชุมชนว่าว่าตัวเองเป็นแดง เขาบอกโอ๊ยอาจารย์อย่างนี้มีเยอะ แต่อาจารย์ต้องเลือกมาสักแดง ในที่สุดเขาก็เลือกให้ไปคุยกับแดงที่รู้สึกว่า คิดถึงคุณทักษิณในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบุญคุณซึ่งอิงกับนโยบายประชานิยม เขาก็เลือกมาให้ อีกส่วนหนึ่งเราก็บอกว่าเราอยากได้แดงที่ไปกรุงเทพฯมา โดยเฉพาะที่อยู่ที่วัดปทุมฯในช่วงสุดท้ายอยากจะคุยถึงความรู้สึก เขาก็บอกว่าถ้างันก็ต้องไปหาแดงอุดมการณ์ แดงประเภทอุดมการณ์มักไปกรุงเทพด้วยทรัพยากรตัวเอง แล้วเขาก็พาดิฉันไปหาแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน ก็ไปเจอแดงมีอุดมการณ์ ก็คุยกัน 3-4 ชั่วโมง ดิฉันไม่ได้เข้าห้องน้ำเลย ชีวิตตื่นเต้นไปหมดว่าทำไมเราถึงได้ล้าหลังขนาดนี้ ที่สำคัญพอไปถึง แดงก็บอกว่าเขาเป็นแดงที่มีอุดมการณ์จริงๆ นะ แสดงว่าจริงๆว่าชาวบ้านเขาเข้าถึงกันมาก เขามีช่องทางสื่อสารกันหลายระดับ สื่อแนวตั้งแม้จะฟังกันคนละช่อง แต่มีสื่ออื่นๆ ในการสื่อสารอีกเยอะมาก แล้วเขาก็ไม่ปิดกั้นการติดต่อ ไม่ได้แยกกันอยู่อย่างที่เข้าใจ แต่ระมัดระวังไม่กระทบความชอบของกันและกัน จึงสามารถแนะนำได้ว่าอันนี้แดงบุญคุณ แดงสองมาตรฐาน แดงอุดมการณ์ และแดงบุญคุณก็แบ่งเป็นแดงที่ชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจ และแดงสำนึกบุญคุณที่ผูกพันกันหลายชั้น เขาบอกว่าตัวเองไม่สนใจอุดมการณ์สองมาตรฐานนะ แต่รู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคที่ตัวเองรุ่งเรืองที่สุดและตัวเองอยากได้พรรคการเมืองแบบนี้กลับคืนมาที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เขาอยากได้นักการเมืองที่ค้าขายเป็น กลับมาเป็นนายก ส่วนแดงอุดมการณ์ส่วนใหญ่คิดเรื่องสองมาตรฐานซึ่งประสบการณ์เขานี่น่าสนใจมากๆ ส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาประสบในชีวิตประจำวัน เมื่อชาวบ้านเข้าไปสัมพันธ์กับภาครัฐ/ข้าราชการ ที่พวกเขามักถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความสนใจ/มองไม่เห็นหัวชาวบ้าน ถูกปล่อยให้คอย และการใช่สายตา และท่าทางดูแคลน เป็นต้น ระบบอำมาตย์จึงมิใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องนามธรรมแต่อย่างใด 
 
 
ภูมิหลังของผู้หญิงเสื้อเหลือง
 
ตนได้เอาเหลืองแดงทั้งหมดมาใส่กล่องนิดหน่อย แบ่งเป็น 3 กล่อง คือ ความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวราชการ พฤติกรรมการเลือกตั้ง และบทบาทในพื้นที่สาธารณะ แต่จะไม่วิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขากลายเป็นเหลืองและแดงหรือไม่ อย่างไร และเหลืองแดงเป็นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นหรือเปล่า แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ พวกเขาเริ่มสนในการเมืองแบบเลือกขั้ว หรือเริ่มกลายเป็นเหลืองแดงในเวลาใกล้เดียงกัน คือประมาณ ปี 2548-ต่อปี 2549 โดยฟังวิทยุและสื่อประเภทเดียวกันในช่วงแรกๆ อาทิ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แต่คิดและตีความไปคนละอย่าง ข้อมูลที่ได้ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมหลังจากนั้นจึงตัดสินใจเลือกขั้วการเมืองต่างกัน และมีท่าทีต่อเรื่องสำคัญสองเรื่องต่างกันออกไป คือ เหลืองเลือกยืนข้างรัฐประหาร ปฏิเสธคุณทักษิณ ทั้งๆที่ไม่มีใครที่คุยด้วยยอมรับรัฐประหารอย่างสบายใจ แต่ต้องหลับตายอมรับอำนาจนอกระบบ ส่วนอีกกลุ่มเลือกคุณทักษิณ ไม่ยอมรับรัฐประหารเอามากๆ โดยเฉพาะการแลกคุณทักษิณกับรัฐประหารยิ่งยอมแทบไม่ได้ อาจเป็นความบังเอิญก็อาจเป็นได้ ปรากฏว่าคนที่เป็นเหลืองยกเว้นคนสุดท้ายนี่ เป็นคนที่อยู่ในครอบครัวราชการทั้งหมด และที่ดิฉันเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 40 เขาก็เป็นคนมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงมาตั้งแต่ก่อนคุณทักษิณแล้ว มีทุกอย่างทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และที่ดิน แต่คนที่เป็นแดง บางคนเป็นคนรวยหรือเป็นผู้มีอันจะกินที่เริ่มต้นในยุคคุณทักษิณ ยกเว้นคนนี้คนเดียวที่เป็นข้าราชการทหารที่ลาออกเนื่องจากความแค้นเรื่องถูกกดขี่จากเจ้านาย ส่วนคนอื่นๆก็เป็นอย่างนี้กันหมดเลย คือ เป็นผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นแม่ค้าในตลาด รวมทั้งเป็นเกษตรกรรายย่อย 
 
พอมาถึงการเมืองในช่องที่สอง พิจารณาความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเหลืองทั้ง 7 คน มี 5 คนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และ no voted มีเหลืองคนเดียวที่คาดว่าลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย 
 
ส่วนคนที่เป็นแดง 7 คน มีอยู่ 1 คนบอกว่าลงคะแนนครั้งสุดท้ายให้กับพรรคพลังธรรม และชอบคุณจำลอง มาก หลังจากนั้นก็ไม่เคยลงคะแนนให้ใครอีกเลย พอมีช่องโนโหวต ให้เลือกก็เลือกโนโหวตตลอด ส่วนที่เหลือลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย 

ช่องสุดท้ายที่ดูว่าเหลืองแดงเป็นใคร คือ พื้นที่เครือข่ายการเมือง/บทบาทในชุมชนของพวกเขา ดิฉันคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจในการมองการเมืองผู้หญิง ผู้หญิงส่วนหนึ่ง ทั้งสองสี บอกว่าเศรษฐกิจในยุคพรรคไทยรักไทยเปิดโอกาสให้พวกผู้หญิงในหมู่บ้านมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลพื้นที่ทางเศรษฐกิจของสีแดงกลับหดตัวลงมา ทำให้ที่ทางและตัวตนของเขาในเชิงเศรษฐกิจเป็นประเด็นเปาะบาง จึงเริ่มอึดอัด ความอึดอึดของเสื้อแดงยังเกี่ยวกับบทบาทในชุมชนด้วย กลุ่มเสื้อเหลืองมีช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรกว้างมาก หลายคนกลายเป็นผู้นำในระดับชาติ ส่วนเสื้อแดงแทบไม่มีเครือข่ายและบทบาททางสังคมในหมู่บ้านที่เป็นผู้นำเลย มีอยู่ 1คนที่ค่อนข้างชัดว่าต้องการตัวตนและความเป็นผู้นำในหมู่บ้าน คนนี้เก่งมาก ได้รับรางวัลการทำเกษตรในเชิงทางเลือกและเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงกบเลี้ยงเขียดเก่งมาก แต่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นบุคคลสาธารณะ จากกลุ่มอำนาจในหมู่บ้าน เขาดิ้นรนมากต้องการแสดงความเป็นผู้รู้ ผู้นำในระดับตำบล หมู่บ้าน แต่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.และหน่วยราชการในหมู่บ้านเลย เขาคิดว่าเขาถูกผู้มีอำนาจในหมู่บ้าน และอำเภอมองข้ามเบียดบังความสามมารถ และความตั้งใจ หรือมีสองมาตรฐาน เพราะมักเอางบประมาณไปให้แม่นายกอบต.ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในงานของตำบล ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีโครงการทดลองหรือนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ เขาเสนอตัวเองว่าเป็นแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน กลุ่มแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน พบว่ายิ่งดิ้นรนมาก ก็แค้นมากที่ตัวเองถูกกด ตรงนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้เล่ามาก จริงๆแล้วการถูกกดซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตประจำวันดูเหมือนเป็นประสบการณ์ร่วมที่ทำให้สนุกในการเข้าร่วมเวทีชุมนุมและมีพลังกลับมา
 
ส่วนที่ดิฉันไปคุยเรื่องสองมาตรฐาน ผู้หญิงสะท้อนมากเลยว่ามันมาจากประสบการณ์ ของตัวเองที่พบเจอในชีวิตประจำวัน คือไม่เกี่ยวว่าข้างบนจะพูดอะไรเรื่องสองมาตรฐานในเวทีราชประสงค์ แต่ประสบการณ์ตัวเองบอกว่าพวกเขาเจอกับมัน และเจอทั้งเหลืองและแดง เหลืองรู้สึกว่าความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวข้าราชการทำให้มีเกาะคุ้มกันบ้าง แต่แดงหลายคนเจอะเจออย่างจังและซ้ำซาก อาทิ ไปอำเภอก็จะเจอข้าราชการปล่อยให้คอย บอกว่าเจ้าที่ประจำลาบ้าง ไปกินข้าวบ้าง แต่พอข้าราชการมาขอบริการ บอกว่าต้องรีบทำให้จะได้ไม่ต้องลางานมาติดต่อราชการหลายวัน แดงอุดมการณ์สองมาตรฐานระบายว่าเมื่อก่อนก็อดทนเพราะรู้ว่าพูดไปก็เท่านั้น เขาไม่ฟัง แต่ตอนนี้อัดอั้นไม่อยากทนแล้ว ที่ไปร่วมเวทีก็ไประบายความอึดอัดและทำไปด้วยอุดมการณ์สองมาตรฐาน การถูกเบียดออกจากพื้นที่สาธารณะจึงมีส่วนให้หลายคนกลายเป็นแดง 
 
 
การเมืองเหลืองแดงในหมู่บ้านนี้แยกขั้วจริงหรือเปล่า : พลวัตรทางความคิดของผู้หญิงเสื้อเหลือง
 
ดังที่พูดในตอนต้น ความรู้สึกกลายเป็นแดงและเป็นเหลืองมันเกิดพร้อมกันประมาณปี 48-49 เขาเริ่มต้นพร้อมๆกันเลย แต่อะไรไม่ทราบที่ทำให้เขารู้สึกและบอกว่าตัวเองเป็นเหลือง แต่อีกคนขอบอกว่าตัวเองเป็นแดง เริ่มจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แดงบอกว่าฟังแล้วโมโห เหลืองฟังแล้วเกิดความรู้สึกหวงสมบัติชาติ เกลียดผู้นำไม่ซื่อสัตย์ และขี้โกง ส่วนแดงบอกว่าในโลกนี้มันจะมีคนโกงเพียงคนเดียวเหรอ คนอื่นไม่มีใครโกงเลยเหรอ จึงขุดคุ้ยอยู่คนเดียว จึงโมโหและคิดว่าเป็นสองมาตรฐาน อีกคนบอกว่ายิ่งฟังยิ่งชอบ และยอมรับให้มีรัฐประหาร ทั้งๆที่เคยต่อต้านสมัยพฤกษาทมิฬ โอ้โห คือเหมือนกับว่าเริ่มต้นมาพร้อมๆกันแล้วเพิ่งมาแยกทีหลังนะคะ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือว่าการเป็นเหลืองและแดงมีพลวัตมากและมีความผสมผสานกันหลายเรื่องมาก ตนจึงแบ่งเหลืองออกเป็น 3 ยุคคร่าวๆ
 
ตอนเริ่มต้นคุย ดิฉันเริ่มจากกลุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นเหลือง และทำความเข้าใจว่าทำไมคิดว่าตัวเองไม่ใช่แดง เหลืองแม้หลากในกลุ่มตัวเองแต่นิยามแบบรวบยอดว่าสั้นๆว่า ก็เขาไม่ต่อต้านรัฐประหาร เขาอยากปกป้องสถาบัน สมบัติชาติจากนายทุนต่างชาติ และเหลืองชอบพันธมิตรมาก พันธมิตรสุภาพ ไม่ชอบความรุนแรง ที่สำคัญ ไม่เคยตั้งใจที่จะพาคนไปตาย เมื่อไรที่ยกระดับไปถึงความเสี่ยงพันธมิตรก็จะลดลงมา เขารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็ชอบประชาธิปัตย์อย่างที่คุยไปแล้ว นอกจากนี้ผู้นำหน้าตาดี แล้วมีหลายโมเดลมากด้วย คนที่ชอบในตัวคุณจำลองก็สามารถอยู่รวมกับความคิดและการนำของคุณจำลองได้ คนที่ชอบคุณสนธิ ก็เช่นกัน เรียกว่า 5 คน 5 โมเดล ท่าน ทั้ง 5 สามารถสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มผู้นำในหมู่บ้านไปผูกพันกับแต่ละคนได้เหมือนกับดารา 
 
พอยุคที่สอง หลังจากเสื้อแดงมาครองเมืองแทนเสื้อเหลือง การเมืองของคนเสื้อเหลืองก็เปลี่ยนไป คือยังกลัวคุณทักษิณอยู่ แล้วก็ไม่ชอบ นปช.เพราะรุนแรงก้าวร้าว เอาคนไปตาย ชอบใช่วาจาก้าวร้าวสถาบันเบื้องสูง แต่รู้สึกผิดหวังรัฐประหาร รัฐบาลของคุณสรยุทธ์ก็ตอบโจทย์พวกเขาไม่ได้ บางคนไม่แน่ใจว่าสมบัติชาติและการโกงชาติได้ถูกกำจัดไปได้จริงหรือเปล่า และมิหนำซ้ำการพัฒนาในชนบท เขามองประเด็นเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ให้ถึงรากหญ้า พบว่าไม่ทำอะไรเลย ปัญหาเก่าที่คุณทักษิณเคยกวาดออกไปกลับมาเหมือนเดิม บางคนเริ่มลังเลว่าจะเลือกรัฐประหารอยู่หรือเปล่าถ้าเวลาย้อนกลับไปได้ บางคนแม้ลังเลแต่คิดว่าอาจเลือกทางเดิมเพราะตีบตันคิดไม่ออกว่ามีพลังทางเลือกอื่นๆให้หยิบใช้ได้ รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่เก่งเศรษฐกิจรากหญ้า
 
เหลืองยุคที่สาม หลังจากเหลืองพาติฉันไปคุยกับแดง เราก็ได้เหลืองใหม่ คือ พอคุยไปคุยมา เขาก็บอกว่าตัวเองจริงๆไม่ใช่เหลืองจ๋าหรอก ก็เห็นด้วยหมดแหละที่แดงพูด ยกเว้น นปช.ที่ยังไม่ชอบเพราะนิยมความรุนแรง ส่วนที่เห็นด้วย อาทิ นโยบายของคุณทักษิณที่โดดเด่น ทั้งสองขาจริงๆ คือ ขา เศรษฐกิจรากหญ้าและประชานิยม รัฐประหารก็เห็นด้วยว่าไม่ควรมีแล้ว ส่วนสถาบันเบื้องสูง ไม่ชอบแดงที่ชอบใช้วาจาจาบจ้วง ไม่เหมาะสม แต่หลายๆส่วนก็สร้างความลำบากให้ชาวบ้านจริงๆ 
 
ในการพูดคุยกับแดง แดงก็บอกว่า โดยเฉพาะแดงที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องตอบแทนบุญคุณคุณทักษิณ เขาบอกว่าสิ่งที่อยากจะเห็นคืออยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคไหนก็แล้วแต่ที่สามารถสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับนโยบายช่วยรากหญ้าได้จริงๆ อย่างประชาธิปัตย์ค้าขายไม่เก่ง ก็ต้องทำให้ประชานิยมที่มีอยู่ให้มั่นคงและต้องทำให้ดีกว่าเก่า ให้มากกว่าเก่า แดงมองว่านโยบายประชานิยมของประชาธิปัตย์ยังไม่มีอันไหนเด่นเกินของคุณทักษิณ อย่างดีแค่เสมอตัว แต่วันหนึ่งแดงอุดมการณ์ก็เสนอว่า แต่เรื่องการประกันราคาข้าวล่วงหน้า อันนี้ถูกใจชาวนามาก เขาบอกอีกว่าถ้าประกาศว่าต้องทำและขยับไปเรื่อยๆอย่างนี้ ชาวบ้านก็จะเริ่มมีความมั่นใจว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับพรรคเดิม แต่ที่คิดถึงพรรคเดิมเพราะเขาต้องการจะมีความมั่นคงในแง่ของสวัสดิการ อันนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคแล้ว แต่ที่อยากเก็บพรรคไทยรักไทยไว้ก็เชื่อมั่นว่าตรงนี้ต้องมีต่อแน่นอน 
 
สำหรับสองมาตรฐาน เหลืองใหม่บอกว่าสองมาตรฐานนี่ทุกคนเจอหมดเลยผู้หญิง และทั้งเหลืองทั้งแดงบอกว่าเป็นความขัดแย้งชัดเจนระหว่างเขากับข้าราชการ เพราะสองมาตรฐานหรืออำมาตย์นี่เขาไม่ได้พูดถึงใครที่อยู่ไกล แต่อำมาตย์ที่เขาเห็น คือครูในโรงเรียน คือนายอำเภอ คือหมอพยาบาล คือคนที่เขาติดต่อในชีวิตประจำวันที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่มีตัวตนเลย ไปโรงพยาบาลใครมาก็ไม่รู้แซงคิวไป ไปอำเภอก็นั่งหวีผมไม่ถามเลย แล้วพออีกคนรู้ว่าเป็นข้าราชการก็บอกว่าโอ้ต้องรีบทำให้ก่อน เพราะเขาจะต้องลางานมาใหม่ ชาวบ้านมีประสบการณ์เรื่องพวกนี้เยอะมาก และบอกว่านี่คือสองมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องอำมาตย์กับไพร่ไกลตัว เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน แล้วเขารู้สึกว่าตอนที่คุณทักษิณอยู่นี่ข้าราชการดูแลชาวบ้านมากกว่าประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์นี่ไม่ดูแลข้าราชการเลย ปล่อยให้ข้าราชการกดหัวประชาชน เคยทำงานตอนเที่ยงก็ไม่ทำ เคยพูดดีก็ไม่ดี คนหนึ่งบอกว่าเขาไปทำบัตรสมาร์ตการ์ด พอยื่นบัตรข้าราชการบอกว่าไปทำที่ ดูไบโน่น ไปทำกับทักษิณที่ดูไบโน่น โกรธมากกลับบ้านไปใหม่ คาดผมด้วยผ้าสองมาตรฐานเข้าไปเลย แล้วก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง นี่คือตัวอย่างสองมาตรฐานที่เขารู้สึกตลอดเวลาก็คือการที่เขาปะทะในชีวิตประจำวัน เขาต้องการพรรคการเมือง พรรคไหนก็ได้ ที่พิสูจน์ว่าดูแลเขามากกว่าข้าราชการ แต่ประชาธิปัตย์ดูแลราชการมากกว่าประชาชน เขารู้สึกอย่างนั้น
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น