โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ต้นปีหน้า ค่าจ้างขั้นต่ำกลุ่มยานยนต์พุ่ง 400 บาทต่อวัน

Posted: 10 Sep 2010 01:26 PM PDT

ผอ. สถาบันยานยนต์เผยแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เพียงพอ ผลิตสินค้าไม่ทัน เร่งดึงแรงงานเสริมทัพจูงใจด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ระบุปัญหาระบบอาชีวะผลิตคนไม่ทัน

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ระบุนายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่าขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เพิ่มค่าแรงให้แก่แรงงานไร้ฝีมือจากวันละ 300 บาทในช่วงต้นปีเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาเพื่อจูงใจให้แรงงานเข้ามาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาค่อนข้างมาก แต่แรงงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน ทำให้บางรายไม่สามารถผลิตสินค้าส่งไม่ทัน จึงจำเป็นต้องใช้วิธีดึงแรงงานลักษณะนี้ จนมีแรงงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มไหลเข้ามาภาคยานยนต์โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 8 แสนคัน จากขณะนี้ 1.6 ล้านคันต่อปี เนื่องจากมีโรงงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกโดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) และรถกระบะรุ่นใหม่ที่จะทยอยวางตลอดช่วงปีหน้า ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับสูงขึ้นด้วย

“ตอนนี้แรงงานในระดับช่างไม่พอ ระบบอาชีวะผลิตคนไม่ทัน ทางอุตสาหกรรมจึงต้องการพัฒนาแรงงานในระดับล่างที่มีประสบการณ์ ให้ขึ้นมาเป็นแรงงานในระดับช่างมากขึ้น เพราะค่าแรงในระดับ 400 ถือว่าสูงมาก ไม่เคยมีมาก่อน และก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดึงแรงงานกันโดยต้องเพิ่มค่าแรงไปมากกว่านี้ หรือสูงขึ้นระดับ 500 บาทต่อวัน เพราะค่าแรงปรับแล้วลงยาก” นายวัลลภกล่าว

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ.วางแผนรับมือเฝ้าระวัง12-19 ก.ย.ขนกำลังตร.3 พัน ทหารรอเสริมทัพ

Posted: 10 Sep 2010 01:16 PM PDT

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เมื่อ เวลา 15.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นประธานในการประชุม ศอฉ. พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ จันโอชา รองผบ.ทบ. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิศรี ผบ.ตร. นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ผู้แทนเกหล่าทัพ ประชุมประเมินสถาณการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆในช่วงเดือนกันยายน ที่ใกล้ครบรอบการรัฐประหาร 19 กันยายน ต่อมาเวลา 16.40 น. พ.ต.ท.ทรงพล วัธนะชัย รองผบ.อำนวยการกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงว่า ในส่วนของสตช.ได้นำเสนอมาตรการ และแผนการรักษาความสงบกรณีกลุ่มชุมนุมที่ใช้ชื่อเรียกต่างๆที่จะชุมนุม ระหว่างวันที่ 12-19 กันยายนนี้ โดยจะมีมีศูนย์บัญชาการที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บชน.) ทั้งนี้ ศอฉ.โดยนายสุเทพได้แสดงความห่วงใยและกำชับให้สตช.วางมาตรการดูแลความเรียบ ร้อย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุแทรกซ้อน โดยจะดำเนินการทั้งในส่วนตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค โดยพล.ต.อ.วิเชียร ได้วีโอลิงค์ไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลภาค และภูธรภาคต่างๆค่ำวันที่ 9 ก.ย.

พ.ต.ท.ทรงพล กล่าวต่อว่า สำหรับกองบัญชาการที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ วันที่ 12 กันยายน จะมีการชุมนุมของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง จัดกิจกรรมที่พระบรมราชานุสาวรีรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี โดยจะมีการใช้รถจักรยานยนต์จำนวน 200 คัน ขับขี่ไปตามเส้นทางถนนราชดำริ ผ่านราชประสงค์ สามเหลี่ยมดินแดง และไปยังอนุสาวรีชัยสมรภูมิ โดยจะมีจะมีกองบัญชาการตำรวจนครบาลชน 5 บัญชาการเหตุการณ์ นอกจากนี้วันที่ 17 กันยายน จะมีกลุ่มวันอาทิยต์สีแดงและกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยนัดวางดอกไม้ที่หน้าเรือนจำทั่วประเทศ ในกทม.คือเรือนจำคลองเปรม วันที่ 18 กันยายน จะมีขบวนการแรลลี่รถ 50 คัน ออกจากห้ามอิมเรียลลาดพร้าวไปที่หมายที่จ.เชียงใหม่ และวันที่ 19 กันยายน จะมีการจัดกิจกรรมอะราวเดอะเวิลล์ 4 ปีรัฐประหาร ที่ราประสงค์ โดยส่วนนี้บชน.มอบให้ผผบก.ในพื้ที่ที่รับผิดชอบบัญชาการ โดยจะมีบก.น. 5 รับผิดชอบ ทั้งราชประสงค์ ลานพระบรมรูปทรงม้า และบก.น. 2 รับผิดชอบพื้นที่เรือนจำ เป็นต้น

พ.ต.ท.ทรง พล กล่าวว่า ด้านการจัดวางกำลัง จะระดมกำลังกองร้อยปราบจลาจล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ใช้กำลังตำรวจทั้งสิ้น 3,072 นาย ภายใตชื่อแผน รักษาความปลอดัภยระหว่างการชุมนุม 12-19 กันยายน จะมีการจัดเตรียมทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว อีกส่วนเป็นกำลังสนับสนุน โดยแต่ละบก.จะจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อสนับสนุนการปฏบิติ ส่วนมาตรการการดำเนินการทางกฎหมาย ผบ.ตร.ได้ให้นโยบายหลักๆไว้ ว่า มาตรการดำเนินการขั้นแรก จะใช้เจรจาและขอร่วมมือให้ชุมนุมโดยความเรียบร้อย ส่วนมาตรการสุดท้ายถ้าฝ่าฝืน จะมีการบังคับใช้กฎหมาย

ที่มา: เว็บไซต์มติชน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แทนที่ศีลธรรมแบบพ่อด้วยศีลธรรมแห่งมนุษย์

Posted: 10 Sep 2010 01:11 PM PDT

ศีลธรรมแบบพ่อ” เป็นคำที่มีนัยบ่งถึงการให้ ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรัก ซึ่งโดยอุดมคติแล้วควรจะเป็นความรักที่บริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่

 

มนุษย์ทุกคนต้องการความเคารพยกย่องจากผู้อื่นว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน นี่คือที่มาของพันธะทางศีลธรรมของการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค แต่สังคมแห่งความเสมอภาคก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นได้ง่ายๆ  (คงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะครอบครองอำนาจ และสิ่งที่น่าปรารถนาต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน) แม้ลัทธิสังคมนิยมจะเคยพยายามเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นเช่นนั้น แต่ก็ยังไม่ยังเคยประสบความสำเร็จ (และดูเหมือนว่าความหวังเช่นนั้นก็จบสิ้นไปแล้วในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่) และด้วยการครอบครองที่ไม่เท่าเทียมกัน ด้วยความรัก ความหลงตนเอง มนุษย์ก็ยังสามารถยกตนเองเหนือกันและกันเป็นชั้นๆ และสร้างวาทกรรมที่ทำให้ผู้ที่อยู่ต่ำลงมาเป็นชั้นๆ ยอมรับฐานะลดหลั่นเช่นนั้น วาทกรรมดังกล่าวมีพันธะทางศีลธรรมที่บิดเบือนเป็นแกนกลาง หมายความว่า เราอาจจะคิดว่าเราควรสร้างสังคมที่มนุษย์ทุกคนรู้สึกเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ถ้าพันธะทางศีลธรรมถูกเข้าใจอย่างผิดพลาดบิดเบือน เราอาจคิดว่าเรามีพันธะทางศีลธรรมต่อการรักษาสังคมแบบชนชั้นแทนก็เป็นได้

นักสังคมวิทยาเรียกระบบชนชั้นในสังคมไทยว่าระบบอุปถัมภ์ เพื่อที่จะแสดงว่าระบบชนชั้นแบบนี้มีพันธะทางศีลธรรมบางอย่างเป็นแกนกลาง เพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ปกติคำว่า ชนชั้น หมายความว่ามีกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือผู้อื่นและใช้อำนาจนั้นบังคับขูดรีดเอาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่ไร้อำนาจ นั่นคือระบบชนชั้นแบบดิบๆ ที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความรู้สึกของความสัมพันธ์ทางจิตใจต่อกัน ดังนั้นจึงไม่มีพันธะทางศีลธรรมต่อกัน ระบบอุปถัมภ์ไม่ใช่ระบบดิบๆ เช่นนั้น คำว่า อุปถัมภ์ เป็นคำทางศีลธรรม แสดงความเมตตาและการให้ความช่วยเหลือ ต่อผู้ที่มีน้อยกว่าตน สร้างให้เกิดพันธะทางศีลธรรมต่อผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ ที่จะต้องตอบแทนต่อผู้ให้การอุปถัมภ์ นักสังคมวิทยาจะกล่าวว่าระบบอุปถัมภ์ของไทยมีศีลธรรมคือเมตตาธรรม และ ความกตัญญู เป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ แต่แม้กระนั้นความมีชนชั้น คือความแตกต่างกันในอำนาจ และการขูดรีดผลประโยชน์ ที่ผู้อยู่เหนือเอาจากผู้อยู่ล่าง ก็ยังคงมีอยู่เป็นธาตุแท้ของความสัมพันธ์

จิตวิทยาเบื้องหลังความสัมพันธ์ทางสังคมแบบนี้ก็คือ ความรักความหลงในตนเองว่ามีค่าและอยู่เหนือผู้อื่นของผู้ให้การอุปถัมภ์ และความรู้สึกต่ำต้อยต้องการที่พึ่งพิง ความไร้ความเชื่อมั่นในตนเอง ของผู้รับการอุปถัมภ์

เป็นไปได้ว่าในระบบนี้ พันธะทางศีลธรรมที่มีระหว่างกัน จะพัฒนาไปถึงขีดสูงสุด จนการขูดรีดที่ผู้อยู่ข้างบนกระทำต่อผู้อยู่ข้างล่าง เป็นไปในขอบเขตที่น้อยที่สุด หรือไม่มีการขูดรีดตามความหมายปกติเลย คือ ผู้ให้อาจมีเมตตาอย่างสูงสุด คือให้ได้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนมีทรัพยากรที่จะใช้กระทำ เหลือความเป็นชนชั้นอยู่แต่เพียงในความแตกต่างกัน ของระดับของเกียรติและศักดิ์ศรี และอำนาจที่ผู้ที่อยู่ข้างบนจะกำหนดความถูกผิด และความน่าปรารถนาไม่น่าปรารถนาต่างๆ ให้ผู้อยู่ข้างล่างต้องยึดมั่นตาม ด้วยพันธะของความกตัญญู จนสูญเสียอำนาจ ในการกำหนดคุณค่าในชีวิตของตนเอง

เราจะเรียกระบบศีลธรรมที่มี เมตตาธรรม และ ความกตัญญู นี้เป็นแกนกลางว่าอย่างไรดี? คำว่าระบบอุปถัมภ์มุ่งเน้นที่ความเป็นชนชั้น ที่มีระบบศีลธรรมแบบนั้นเป็นตัวยึดเหนี่ยว แต่ตอนนี้ เราต้องการที่จะเน้นที่ตัวระบบศีลธรรมนี้เอง ในฐานะที่สร้างผลให้เกิดความต่างในระดับของเกียรติยศและศักดิ์ศรีของคนในสังคม และสร้างความเป็นชนชั้นตามขึ้นมา นั่นก็คือเราต้องการสลับที่การเน้นและสลับความสัมพันธ์ทางตรรกะ ระบบศีลธรรมนี้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นผู้ให้ การเป็นผู้รับ และการใช้อำนาจ ดังนั้นต้นแบบที่ดีที่สุดคือครอบครัว เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้กับลูก แต่ก็ใช้อำนาจกับลูก ดังนั้นขอให้เรียกระบบศีลธรรมแบบนี้ว่า ศีลธรรมแบบพ่อ แม้อาจจะเรียกแบบเต็มๆได้ว่า ศีลธรรมแบบพ่อแม่ แต่จะขอใช้ตามการใช้ของวิชาสังคมวิทยาที่เรียกสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ว่า สังคมแบบพ่อ(patriarchal society) และจะถือว่าแม่คือผู้ได้รับอำนาจและทรัพยากรในการให้ต่อลูกมาจากพ่อ คำว่า ศีลธรรมแบบพ่อ เป็นคำที่มีนัยบ่งถึงการให้ ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรัก ซึ่งโดยอุดมคติแล้วควรจะเป็นความรักที่บริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่

เราอาจบรรยาย พ่อ ในฐานะต้นแบบทางศีลธรรมได้ดังนี้ พ่อคือผู้ที่ใช้แรงกายแรงปัญญา แสวงหาทรัพยากรของความอยู่ดีกินดีของตนเองและครอบครัว พ่อส่งผ่านทรัพยากรไปให้แม่ เพื่อใช้ในการดูแลลูก ลูกเป็นผู้รับ เพราะไม่อาจแสวงหาทรัพยากรของชีวิตด้วยตนเองได้ พ่อคือต้นกำเนิดของความดีทั้งมวล เพราะพ่อคือผู้ให้คนแรก โดยมีแม่เป็นผู้ให้คนที่สอง เพราะเป็นผู้สนับสนุนภารกิจของพ่อ ลูกคือผู้รับ การให้คือความดี ดังนั้นลูกคนที่หนึ่งจะยังไม่มีความดีในตนเอง แต่เมื่อครอบครัวขยายออก ลูกคนโตสามารถกลายเป็นผู้ให้ต่อน้อง เขาได้ความดีในฐานะผู้ให้ต่อน้อง เขาเป็นผู้ช่วยพ่อ สร้างชีวิตที่ดีให้กับลูกคนอื่น ความดีนี้เกิดขึ้นเป็นขั้นๆ ไปตามอำนาจในการสร้างชีวิตที่ดีให้กับผู้อื่น พี่คนรองๆ สามารถให้ต่อน้องไปเรื่อยๆ จึงมีความดีลดหลั่นลงมา จนถึงน้องคนสุดท้อง แต่น้องคนสุดท้องคือผู้ที่รับเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีใครอยู่ต่ำกว่าที่เขาจะมีบทบาทเป็นผู้ให้อีกแล้ว การสร้างความดีระหว่างกันของลูกๆ และการที่พี่ให้ต่อน้อง คือการกตัญญูตอบแทนพระคุณพ่อ เพราะไม่มีอะไรที่พ่อต้องการกลับจากลูก พ่อคือผู้ที่ครอบครองฐานชีวิตทุกอย่างอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พ่อต้องการตอบจากลูก คือการให้ระหว่างกัน เพราะพ่อต้องการความสุขของลูกทุกคน

ในสังคมไทยเราได้ยินเสียงของวาทกรรมทางศีลธรรมแบบนี้ตลอดเวลา เราถูกเรียกร้องให้สร้างความดีต่อกัน ในฐานะความกตัญญูต่อผู้ให้สูงสุด ผู้ที่เป็นต้นกำเนิดของความดี ในชีวิตของคนทุกคน ความดีระหว่างเรา ไม่ได้เกิดด้วยเหตุแห่งความรักระหว่างเรา เท่ากับที่เกิดจากความรัก และความกตัญญูตอบ ต่อผู้ที่ให้ทุกสิ่งต่อเรา สรุปก็คือ ในวาทกรรมนี้พ่อคือต้นแบบของความดีงามทางศีลธรรม แต่วาทกรรมนี้ก็มีนัยว่า ความดี หรือเกียรติ หรือคุณค่าของคน มีไม่เท่ากัน หากแต่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ตามการครอบครองทรัพยากร ซึ่งกลายมาเป็นอำนาจของการให้ คนที่ไม่อาจให้อะไรต่อใครได้ เพราะเขาคือผู้ที่ขาดแคลน ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความดีอยู่เป็นสมบัติของตนเองเช่นกัน

สิ่งที่ยังต้องเติมเข้าไปในภาพอุปมาอุปมัยดังกล่าว ก็คือ อำนาจที่มีเหนือกันเป็นขั้นๆ พ่อถือครองอำนาจสูงสุด ลูกจะต้องเคารพบูชาเชื่อฟังพ่อ ในฐานะพันธะของความกตัญญู พ่อกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่ลูกจะต้องทำตาม ไม่มีสิทธิโต้เถียงตั้งคำถาม และพี่ก็มีอำนาจเดียวกันเช่นนั้นเหนือน้อง ลูกที่ดื้อดึงเกเรไม่เชื่อฟังหรือบังอาจตั้งคำถามโต้เถียง ก็ย่อมถูกลงโทษ และประณามว่าอกตัญญู เมื่อการถืออำนาจเหนือลูกเข้ามาเป็นเงื่อนไขประกอบของการให้ ความรักของพ่อก็ย่อมไม่บริสุทธิ์จริง พ่อที่รักลูกอย่างบริสุทธิ์ย่อมไม่สร้างความแตกต่างในอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่สร้างความแตกต่างแบบฟ้ากับดิน แต่ย่อมปรารถนาที่จะก้าวลงมาสู่ความสัมพันธ์ที่เสมอกันฉันท์เพื่อนกับลูก ยอมรับได้ว่าบางครั้งพ่อก็ผิด และขอโทษลูกได้ ยอมรับได้ว่า สิ่งที่พ่อกล่าวว่าดีสำหรับลูก ลูกอาจเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีจริงสำหรับตน ซึ่งหมายความว่า ในความรักที่บริสุทธิ์ของพ่อแม่ ลูกจะต้องไม่สูญเสียตัวตน วาทกรรมของศีลธรรมแบบพ่อ ที่เรียกร้องความกตัญญูจนลูกสูญเสียตนเอง จึงไม่ใช่ศีลธรรมที่บริสุทธิ์จริง  ดังนั้นความสัมพันธ์ทางศีลธรรมในระบบอุปถัมภ์จึงเป็นศีลธรรมที่จอมปลอม

ภาพยนตร์เพลงของวอลท์ดิสนีย์เรื่อง Mary Poppins   แสดงการเปลี่ยนของสังคมตะวันตก จากสังคมพ่อเป็นใหญ่ หรือ ครอบครัวแบบพ่อใช้อำนาจต่อลูก มาสู่สังคมที่เสมอภาค หรือครอบครัวที่พ่อเสมอกับลูกๆ ได้อย่างน่ารักสนุกสนาน พ่อทำงานธนาคาร แม่เป็นแม่บ้าน พ่อกำหนดทุกอย่างในบ้าน แม่ไม่เคยเถียงพ่อตรงๆ แต่แม่ก็ออกจากบ้าน ไปร่วมขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคในสิทธิทางการเมืองของสตรี พ่ออยากสอนลูกให้เห็นค่าของเงิน และการทำธุรกิจ จึงให้เงินลูกเพื่อนำไปฝากธนาคารที่ตนทำงาน แต่ลูกต้องการเอาเงินไปให้ขอทาน พ่อบังคับให้ลูกทำตามสิ่งที่ตนเห็นว่าดี แต่ในที่สุดลูกก็ดื้อทำตามใจตนเองแบบเด็กๆ ไปตะโกนขอถอนเงินจากธนาคาร เกิดความโกลาหล ลูกค้าคนอื่นเกิดความตระหนก ว่าธนาคารจะไม่ยอมคืนเงินฝาก แห่กันถอนเงินตาม ธนาคารจึงล่มในวันนั้นเอง พ่อถูกไล่ออกจากงาน จึงสำนึกในความโง่ ในการใช้อำนาจบังคับให้ลูกยอมรับความคิดและค่านิยมของตน ทั้งๆ ที่ลูกมีคุณค่าอื่นอยู่ในใจเป็นของตนเอง เมื่อสำนึกแล้วจึงลงมาชวนลูกไปเล่นว่าว ซึ่งลูกรอคอยมานาน เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน และความรักที่บริสุทธิ์ของพ่อ

ในการเรียนรู้ทางศีลธรรมของเด็ก  ครอบครัวและการให้ของพ่อแม่คือต้นแบบของศีลธรรมจริงๆ ไม่ใช่แค่ในเชิงของอุปมาอุปมัยเพื่ออธิบายศีลธรรมในสังคม แต่การให้ของพ่อแม่ต้องบริสุทธิ์ อยู่เหนือความปรารถนาที่จะมีอำนาจเหนือลูก เพราะเมื่อนั้นศีลธรรมที่ลูกมีต่อผู้อื่นก็จะเป็นการให้ที่บริสุทธิ์เช่นกัน มิใช่เพราะต้องการความเหนือกว่าในอำนาจ หรือในเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นการตอบแทน แต่ในศีลธรรมของระบบอุปถัมภ์นิยม การที่ผู้ให้การอุปถัมภ์เรียกร้องเอาอำนาจเหนือผู้รับการอุปถัมภ์ ถือตนว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า คือตัวธรรมชาติธาตุแท้ของระบบดังกล่าว ระบบอุปถัมภ์คือระบบชนชั้น ระบบชนชั้นคือการมีอำนาจและเกียรติยศศักดิ์ศรีที่ไม่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ การมีสถาบันชั้นสูงที่เป็นผู้อุปถัมภ์ชนชั้นล่าง แต่อยู่เหนืออำนาจการวิพากษ์วิจารณ์ของชนชั้นล่าง พ่อแม่ที่กำหนดวิถีชีวิตของลูก ครูบาอาจารย์ที่ไม่อนุญาตให้ศิษย์โต้เถียงแสดงความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งบังคับเอาจากพันธะทางศีลธรรมของความกตัญญู การที่ผู้สมัครเลือกตั้งใช้อำนาจเงินซื้อเสียงได้เสมอ ก็เพราะอาศัยพันธะของความกตัญญู ภายใต้วาทกรรมของศีลธรรมแบบพ่อนี้เอง เราจะเห็นการให้ที่ผู้ให้บังคับเอาอำนาจเหนือผู้รับ อยู่ในทุกกรณีของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบอุปถัมภ์นิยม

แต่การเปิดเผยให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในอำนาจ และความไม่บริสุทธิ์ของการให้ ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเอาชนะระบบศีลธรรมแบบชนชั้น ตราบใดที่เรายังไม่อาจเอาชนะความคิดว่า ความดีงามทางศีลธรรมเกิดจากอำนาจของการให้ในสิ่งที่มีค่าน่าปรารถนาต่อผู้ที่ขาดแคลน ตราบนั้นเกียรติยศ คุณค่า และศักดิ์ศรีของผู้คนในสังคมย่อมไม่มีวันเสมอภาคเท่าเทียมกัน บทเรียนจากวิชาจริยศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขอให้เรามาพิจารณากันอย่างละเอียดที่สุด ถึงผลตามนัยของความคิดว่าค่าทางศีลธรรมของบุคคลอยู่ที่อำนาจของการให้  ความคิดเช่นนี้มีอยู่จริงในสังคม และแสดงออกผ่านคำพูดว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ซึ่งหมายความว่าใครสร้างผลงานเป็นความดีในสังคมได้มากเท่าไร คน ๆ นั้นก็ย่อมมีค่ามากขึ้นเท่านั้น คำพูดนี้ฟังดูธรรมดา แต่เราก็จะรู้สึกถึงความจอมปลอมของมัน ทันทีที่เรานำความคิดนี้มาใช้ เพราะตามความคิดนี้ หมอมีค่ามากกว่าพยาบาล เพราะหมอมีอำนาจในการรักษาความป่วยไข้ได้มากว่าพยาบาล อาจารย์มหาวิทยาลัยย่อม มีค่ากว่าอาจารย์โรงเรียนมัธยม ประถม อนุบาล ไปตามลำดับ และอาจารย์ย่อมมีค่ามากกว่าภารโรง อย่างเทียบกันไม่ได้ เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของอาชีพต่างๆ ต่อสังคมได้ไม่ยาก และคนก็มีค่าลดหลั่นกันไป ตามความรู้ความชำนาญ สถานะและบทบาทในสังคม ด้วยศีลธรรมอันบิดเบี้ยวเท่านั้น ที่จะทำให้เราเห็นจริงเห็นจังไปกับความคิดเช่นนี้ได้

แต่อย่าคิดว่าความคิดเช่นนี้ห่างไกลจากตัวเรา ซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มองดูความหยิ่งทะนงและภาคภูมิใจในตัวเองของคุณ คุณทะนงว่าคุณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ย่อมเหนือกว่านักเรียนพาณิชย์หรือนักเรียนอาชีวะ เพียงเพราะคุณชนะเรียนเก่งกว่า หรือเพราะคุณคิดว่าในอนาคตต่อไป คุณจะเป็นคนที่มีอำนาจ ที่จะทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมมากกว่าพวกเขา และนักเรียนแพทย์ก็คงหยิ่งทะนง ว่าเขาเหนือพวกคุณ ความรู้สึกทะนงตนและมีอำนาจอาจมีเรื่องเงินทองมาประกอบ แต่ ครู หมอ พยาบาล สามารถทะนงตนกว่าพ่อค้านักธุรกิจที่ร่ำรวย แต่เราก็รู้สึกไม่ใช่หรือว่า ความทะนงตนว่าเราเหนือต่อกันในด้านทั้งปวง ล้วนคือความหลงตัวเองอันจอมปลอม ค่าของความเป็นมนุษย์ ของนายกรัฐมนตรีและคนกวาดถนน หรือขอทาน ต่างกันตรงไหน? ในศีลธรรมที่ออกมาจากหัวใจลึกๆ เราอยากยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

ขอให้ดูนัยทางศีลธรรม ที่บิดเบี้ยวที่สุดของคำพูดว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน”  ตามความคิดนี้ คนที่ไม่สามารถให้อะไรกับใครได้เลย เป็นได้แต่เพียงผู้รับ และเป็นได้แต่เพียงภาระของสังคม ย่อมไม่มีค่าในตนเองเลย ไม่ว่าจะเป็นคนไร้ความรู้ ไร้ทรัพยากร ขอทาน คนพิการ คนปัญญาอ่อน เด็กๆ ทั้งหลาย ซึ่งนี่คือสถานการณ์ของน้องคนสุดท้องในครอบครัวในระบบศีลธรรมแบบพ่อ แล้วยิ่งคนที่เป็นปัญหาต่อสังคมอีกละ อาชญากรนอกจากไม่มีค่าต่อสังคม แล้วยังมีค่าทางลบอีกด้วย ถ้าอย่างนั้นเราจะไม่ยอมรับเลยหรือว่า แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ที่กระทำผิดต่อผู้อื่นก็ตาม เขาก็ยังมีค่าของความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว เห็นได้ชัดว่า เราต้องเอาชนะความคิดที่ว่า ความดีตัดสินกันที่อำนาจของการให้ ให้จงได้  แต่จะด้วยวิธีอะไร?

นักจริยศาสตร์จะบอกเราว่า ถ้าเราคิดว่าความดีเกิดขึ้นจากอำนาจของการให้ เรากำลังคิดผิดด้วยการมองความดีว่าเป็นคุณสมบัติของการกระทำ แต่การกระทำที่ดีต้องออกมาจากจิตใจที่ดีไม่ใช่หรือ? ค้านท์ยืนยันว่าถ้ามีเจตนาที่ดี แต่ไม่มีอำนาจในการกระทำตามเจตนานั้น เพราะถูกขัดขวางไว้ด้วยอุปสรรคทั้งปวงที่เหนืออำนาจที่เขาจะเอาชนะ ไม่ว่าจะเพราะด้วยความพิการ หรือความขาดไร้ทรัพยากร ฯลฯ ความดีงามทางศีลธรรมก็เกิดขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ ขอเพียงแค่มี “เจตนาที่ดี” อยากที่จะกระทำก็พอ ตัวการกระทำและผลสำเร็จของการกระทำ ไม่ได้ช่วยเพิ่มอะไรให้กับคุณค่าและความดีงามที่เกิดขึ้นแล้วเลย คนที่เป็นกษัตริย์กับคนที่เป็นขอทาน อาจมีจิตใจที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่นเท่าๆ กัน และคนทั้งสองย่อมมีคุณค่า และความดีงามทางศีลธรรมที่เท่าเทียมกันทุกประการตามการอธิบายนี้ แม้คนหนึ่งจะมีอำนาจทุกประการที่จะบันดาลในสิ่งที่ตนเจตนาให้เป็นจริง แต่อีกคนหนึ่งไม่อาจแม้แต่จะช่วยตนเองเสียก่อน ทั้งสองคนก็มีความดีเท่ากัน

ดังนั้นการเอาชนะระบบศีลธรรมแบบที่ความดีตัดสินกันด้วยอำนาจของการให้ ทำได้ด้วยการตระหนักว่า เราไม่อาจมองความดีที่ภายนอก แต่ต้องมองกลับไปให้ถึงจุดกำเนิดของมัน เราต้องมองความดีไม่ใช่ที่เปลือก แต่ที่แก่นแท้ของมัน และนี่คือความผิดพลาดโง่เขลาของระบบศีลธรรมแบบชนชั้น แต่นี่อาจเป็นผลของเจตนาที่จะปิดกั้นสายตาของตนเองจากความเป็นจริง และการมีมโนสำนึกที่บิดเบือนไปเพราะผลทางจิตวิทยาของความต้องการอำนาจ เพื่อมาชดเชยชีวิตที่ต้องอยู่ใต้อำนาจกันเป็นชั้นๆ  และนี่ให้คำอธิบายต่อข้อเท็จจริงที่ว่า ในระบบอุปถัมภ์ คนสามารถลดตนเองลงเป็นธุลีดิน เรียกตนเองเป็นฝุ่นผงธุลีดินราวกับคนในวรรณะจัณฑาลของฮินดู ต่อหน้าผู้ที่ตนเองรู้สึกกตัญญูว่าเป็นผู้ที่เมตตา ให้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อตน และตนบูชาให้เป็นเทพเจ้า แต่คนเช่นนี้ก็จะต้องการความกตัญญู และเรียกร้องการยอมลดตัวเองลงต่ำของผู้ที่รับการอุปถัมภ์จากตนเช่นกัน นั้นก็คือ เขาย่อมต้องการคำเรียกว่า “ท่าน” “พณฯท่าน” และรูปแบบการปฏิบัติต่อเขาที่เหมาะสมตามคำเรียกนั้น จากสามัญชนผู้เป็น “นายนั่น” “นางนี่” ทั้งหลาย

กลับมาสู่บทเรียนของวิชาจริยศาสตร์ อะไรคือต้นกำเนิดของความดีที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ ค้านท์ใช้คำว่า “เจตนาที่ดี” อย่างที่เขาจะอธิบายเชื่อมโยงศีลธรรม เข้ากับการ “เคารพ” ต่อเหตุผล ซึ่งได้มาจากอำนาจทางปัญญาของมนุษย์ เพราะเขาเป็นนักปรัชญาแนวเหตุผลนิยม เราจะไม่ขยายความทฤษฎีของเขาอีกครั้งในที่นี้ แต่จะเสนอคำอธิบายในทิศทางตรงกันข้าม คือมุ่งไปสู่ความรู้สึกทางอารมณ์ของมนุษย์ โดยจะอธิบายว่า ความรู้สึกทางจิตใจหรือความรู้สึกทางอารมณ์ คือแก่นแท้ของความรู้สึกถึงคุณค่าทางศีลธรรม ที่มีอยู่ในตัวเองของเราและของมนุษย์ผู้อื่นทุกคน ผู้เขียนเลือกทางนี้เพราะเห็นว่า เมื่อเราถามหาเหตุผลว่า ทำไม มันจะต้องจบลงที่จุดๆ หนึ่ง ซึ่งเราไม่สามารถหาเหตุผลอื่นมาตอบต่อไปได้อีกแล้ว ที่นั่นคือที่ที่เราจะตอบได้แต่เพียงว่า เพราะมันเป็นเช่นนั้น หรือ เพราะฉันรู้สึกเช่นนั้น “ทำไมฉันจึงควรเคารพต่ออำนาจในการใช้เหตุผลของฉัน ก็เพราะฉันรู้สึกเช่นนั้น” ดังนั้น ลึกลงไปจากเหตุผล ก็คือความรู้สึกทางอารมณ์ ได้แก่สิ่งที่เป็นความจริงแบบอัตวิสัยของคนแต่ละคน หมายความว่า วิภาษวิธีต้องจบลงที่ใดที่หนึ่ง และที่นั่นเราต้องถามต่อหัวใจ

ถ้าเราถูกถามว่า อะไรคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าสูงค่าที่สุดในตัวเรา อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรารับรู้ตนเองว่าเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าทางศีลธรรมอยู่ในตนเอง และเป็นค่าที่เรารู้ด้วยความรู้สึกไม่ใช่ด้วยความคิด คำตอบที่ผู้เขียนจะให้ก็คือ การมีหัวใจที่จะรับรู้ถึงความรู้สึกของชีวิตอื่น ลองมาดูสิว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะตอบแบบเดียวกันนี้หรือไม่

การมีหัวใจก็คือการมีความรู้สึกสุขและทุกข์ และหัวใจของมนุษย์ก็เป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์ คุณเคยหรือไม่ที่รู้สึกมีความสุขในการรู้สึกถึงความทุกข์ คุณเคยยิ้มด้วยความดีใจเมื่อรับรู้ว่าน้ำตาของคุณกำลังรินไหลด้วยความทุกข์หรือไม่ นี่ฟังดูแปลกประหลาด แต่นี่แหละคือความมหัศจรรย์ของหัวใจ แต่ดูเหมือนว่าในแต่ละวันเราจะมีหัวใจน้อยกว่ามีหัวคิด ลองคิดถึงชีวิตของคุณแต่ละวัน มันดำเนินไปตามแบบแผนที่คุณวางไว้ เพื่อพาไปสู่สิ่งที่คุณมุ่งหวังปรารถนาในอนาคต ตื่นมาก็อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร คุยเล่นหัวกับเพื่อน เข้าเรียน พยายามทำความเข้าใจและจดจำบทเรียน กลับที่พัก ออกมาเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพและความสนุกสนาน หรือมีกิจกรรมนันทนาการอื่น แล้วก็กลับที่พัก เข้านอนผักผ่อน เพื่อที่จะตื่นมาทำในสิ่งเดิมๆ ในวันต่อไป อาจมีความสุขในเชิงของความสนุกสนาน และความทุกข์ในเชิงของความเหนื่อยยากอยูนิดๆ หน่อยๆ  คนส่วนใหญ่ในสังคมก็คงมีชีวิตเป็นรูปแบบที่ซ้ำซากเช่นนี้ไม่ต่างไปนัก นั่นก็คือเรามีชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้  เรารู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ของเราเท่าไรกันเชียวในแต่ละวัน แทบจะไม่เลย เรามีชีวิตอยู่กับหัวคิด และแผนงาน มากกว่ากับหัวใจ

เราอาจจะลืมๆ ไปด้วยซ้ำว่าเรามีหัวใจ จนวันหนึ่ง อะไรบางอย่างทำให้คุณร้องไห้ด้วยความรู้สึกเจ็บปวด แต่คุณไม่ได้ร้องไห้ให้ตัวคุณเอง หรือให้คนที่คุณรักและผูกพันด้วย แต่ร้องไห้ให้กับคนที่คุณไม่เคยรู้จักเลยแม้แต่น้อย อาจเพราะเคราะห์กรรมของเขา ถูกนำมาเสนอเป็นข่าวในโทรทัศน์หรือในหนังสือพิมพ์ หรือด้วยความบังเอิญอะไรก็แล้วแต่ คุณรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียอันลึกซึ้งของเขา แล้วคุณก็หลั่งน้ำตา และถ้าในวันนั้น คุณจำไม่ได้ว่าเมื่อไรคือครั้งสุดท้ายที่คุณเคยร้องไห้ให้กับคนที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อน คุณอาจยิ้มออกมาทั้งน้ำตา และพูดกับตัวเองว่า นี่ฉันยังมีหัวใจอยู่ ฉันยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ แม้เวลาจะผ่านไปนานจนจำไม่ได้ แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดในตัวฉัน ก็ยังอยู่เป็นตัวของฉัน คุณดีใจว่าวันเวลาที่คุณหมดไปกับการหมกมุ่นอยู่กับชีวิต ความสุข ความปรารถนาของตัวเอง มันไม่ได้กัดกล่อนจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของคุณให้หมดสิ้นไป นี่คือขณะที่คุณจะยิ้มให้กับน้ำตาของคุณ

ความเป็นมนุษย์ในความหมายทางศีลธรรม คือความสามารถที่จะรู้สึกถึงความรู้สึกของชีวิตอื่น เสมือนเป็นความรู้สึกของตนเอง นี่คือการข้ามพ้นตนเอง การสลายไปของขอบเขตของตัวตน คือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตอื่นอย่างเป็นสากล ไม่ใช่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบบการขยายออกของตัวตนที่สร้างการแบ่งแยกและความเป็นพวกเขาพวกเรา ในความหมายเช่นนี้ กวี คือผู้ที่มีความเป็นมนุษย์สูงสุด และเป็นต้นแบบของศีลธรรม และนี่คือศีลธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา

กวีเป็นผู้ที่มีความสุขในความทุกข์ของตนเอง เป็นผู้ที่ยิ้มให้กับน้ำตาของตน เพราะเขาเห็นคุณค่าและความหมาย ของความสุขและทุกข์ในชีวิตของเขา เขารับรู้ว่าความสุขทุกข์ของเขา เป็นชะตากรรมที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ดังนั้นมันจึงเป็นความสุขความทุกข์ของทุกคน และความสุขความทุกข์ของทุกคน ก็เป็นความสุขความทุกข์ของเขา เขาแสวงหาหนทาง ที่จะรับรู้ความสุขความทุกข์ของผู้อื่น เพื่อที่จะถ่ายทอดมันออกมา ให้มนุษย์ทั้งมวลได้รับรู้ และได้ร่วมรู้สึกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้

มนุษยธรรม เกิดขึ้นบนโลก เมื่อมนุษย์รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นอย่างไม่แบ่งแยก และทำทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจของตน เพื่อบรรเทามัน ใน มนุษยธรรม ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ หรือของชีวิตทั้งมวล มีค่าเท่าเทียมกัน ด้วย มนุษยธรรม เราให้ เพื่อให้ผู้เป็นทุกข์พ้นทุกข์ และกลับมามีความสุข เท่าที่เรามี เราให้อย่างที่ปรารถนาให้ผู้ที่ตกอยู่ในสถานะที่ต่ำต้อย ขึ้นมามีคุณค่าเสมอกับเรา

ความเป็นมนุษย์ในฐานะสิ่งที่มีค่าทางศีลธรรม เป็นสิ่งที่เรามีอย่างเท่าเทียมกัน เพราะมันเกิดอยู่ในหัวใจของการสามารถที่จะรู้สึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น เสมือนกับเป็นความรู้สึกของเราเอง นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ความสงสารแต่ทว่า แม้แต่เราเองก็ไม่ได้มี ความเป็นมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เฉพาะขณะที่เรารู้สึกด้วยหัวใจเท่านั้น และในชีวิตประจำวัน บางทีเราก็ไม่รู้ว่าหัวใจของเราไปซ่อนเร้นอยู่ที่ไหน ดังนั้น อาชญากร ผู้ที่กระทำผิดต่อผู้อื่น ก็มีความเป็นมนุษย์เท่าๆ กับเรา และเราต้องมีความหวังต่อเขาเสมอว่า แม้ว่าหัวใจของเขาจะหลับใหลไป ก็อาจตื่นขึ้นมาอีกครั้งได้เช่นเดียวกับหัวใจของเรา

และ ณ บัดนี้เราได้ข้ามพ้นศีลธรรมแบบพ่อมาสู่ศีลธรรมแห่งมนุษยธรรมแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สร้อยแก้ว คำมาลา: ละครโรงหนึ่ง ตอน 1 เขาตัดสินชะตาชีวิตเขาเองตั้งแต่กระสุนนัดแรก

Posted: 10 Sep 2010 12:58 PM PDT

บทบันทึกจากการพูดคุยกับคนเสื้อแดง ซึ่งไม่อาจเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของแหล่งข่าวได้เนื่องจากความหวาดกลัวผลกระทบที่จะตามมา

ขอทราบชื่อ-นามสกุล และข้อมูลส่วนตัวสักเล็กน้อย
ไม่ตอบ อย่าถาม, มันเรื่องส่วนตัวของฉัน ฉันจะบอกคุณเฉพาะที่อยากบอก

คุณเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่มีการเปิดตัว รายการความจริงวันนี้ ที่เมืองทองธานี จากนั้นเมื่อมีการเรียกรวมพลคนเสื้อแดง ฉันมาทุกครั้ง การมาทุกครั้งของฉัน ฉันไม่เคยรับเงินจ้าง ฉันมาเพราะฉันไม่ชอบการรัฐประหาร ฉันไม่ชอบเผด็จการ ฉันไม่ชอบการยึดอำนาจของทหาร

ฉันเป็นคริสเตียน พระคัมภีร์ไบเบิลสอนให้เชื่อ ศรัทธาพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้ตรัสว่า ให้ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปตามวิถีของมัน แล้วมนุษย์เป็นใครที่จะมาเบี่ยงเบนวิถีของมนุษย์ด้วยกันเอง พระองค์ยังไม่เห็นจะต้องมาชี้เลยว่า คนนั้นต้องมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันว่าระบอบประชาธิปไตยมันคือสิ่งนี้ ประชาธิปไตยมันมีวิถีของมัน ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง เราจำแนกบุคคลออกไปได้โดยหน้าที่ ความรับผิดชอบ ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่แตกต่างที่หน้าที่และความรับผิดชอบ ทหารมีหน้าที่ทำอะไร นักการเมืองมีหน้าที่อะไร ข้าราชการทำอะไร สื่อมวลชนมีหน้าที่ทำอะไร ก็ทำของคุณไป แล้วคุณจะมาทำรัฐประหารทำไม มันเกินหน้าที่ของคุณนะ

โดยสรุป ไม่เอาเผด็จการ จะเอาประชาธิปไตย ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่?

มันไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกอะไร เรามีสิทธิ์ที่จะเอาใครไม่เอาใคร เราต้องการเขาเพราะอยากให้เขามาทำโน่นนี่ให้ ถ้าเขาไม่ทำตามวัตถุประสงค์ของเรา ถ้าเขาไม่ทำเรามีสิทธิ์ไล่เขา ไม่ต้องมีใครมาช่วยไล่ อย่ามาอวดดีไล่ให้ เดี๋ยวฉันไล่เอง พูดง่ายๆ อย่าเสือก

อยากให้เล่าประสบการณ์การชุมนุมครั้งล่าสุด

คุณจะเอาอะไรล่ะ เรื่องราวมันเยอะมาก ฉันว่าเราเหมือนตาบอดคลำช้างนะ คือจับตรงนี้ก็บอกว่าช้าง ตรงนี้ก็บอกว่าช้าง แต่ช้างทั้งตัว ไม่มีใครมองเห็นหรอก ไม่มีใครรู้จัก ทุกคนจะเห็นแค่ที่สายตาเรามองเห็นเท่านั้น เพราะสถานการณ์มันใหญ่มาก แต่ละคนจะรับรู้แค่นิดเดียวเอง แค่เสี้ยวหนึ่ง ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ด้วย อย่างฉันเห็นเท่าที่ฉันเห็นมีเท่านี้ ที่ไม่เห็นล่ะ มันเยอะแยะไปหมด ถ้าคุณจะค้นหาความจริง มันยากมาก

ไม่เป็นไร เอาเท่าที่พี่เห็น

ฉันเริ่มมาชุมนุมตั้งแต่... เดี๋ยวก่อน ออกเดินทางจริงๆ คือวันที่ ๑๒ มีนาคม มาถึงกรุงเทพฯ มาร่วมชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าวันที่ ๑๓ มีนาคม ฉันถือว่าตัวเองเป็นประชากรธรรมดาคนหนึ่ง แต่ก็มีหน้าที่รับผิดชอบกับขบวนที่มาด้วยกันดับหนึ่ง ช่วยเกื้อกูลกันตามอัตภาพ

ถามว่า ฉันมีความมุ่งหวังว่าจะชนะไหม ไม่เลย ฉันไม่คิดว่าจะชนะ ประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา สอนฉันว่า เราไม่ชนะหรอก สู้กี่ครั้งๆ เราก็แพ้ เห็นไหมล่ะ แต่ว่า เราต้องทำ ต้องสู้ การที่มาบอกตัวเองว่าไม่ชนะหรอก แล้วอยู่เฉยๆ แล้วโลกจะรู้ไหม ว่าคุณคิดอะไรอยู่ ดังนั้น ที่ฉันออกมาฉันไม่ได้หวังว่าจะชนะ แต่ฉันหวังว่าฉันจะมาประกาศเพื่อให้ชาวโลกรู้ว่าเมืองไทยเป็นยังไง การเมืองเมืองไทยเป็นยังไง

คิดไหมว่าจะยืดเยื้อและรุนแรง

โอ้โห ไม่คิดเลยว่าชีวิตนี้จะได้เห็น ปักหลักยาว จะสู้ให้ถึงที่สุด ฉันไม่นิยมความรุนแรงทุกรูปแบบ ใครจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนคนนั้น ฉันไม่ไปยุ่ง เราก็สู้ในแบบของเรา เวลาเขาถือปืนมา เราจะอยู่ทำไม เราก็หนีสิ จะไปรอมันทำไม

มนุษย์เราต่อสู้กันทำไม รู้ไหม การต่อสู้มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์สู้เพื่อความอยู่รอด ดังนั้น การต่อสู้ครั้งนี้ก็เหมือนกัน แม้มันเป็นการต่อสู้ทางความคิด แต่มันเป็นเรื่องของการอยู่รอดโดยเอาแนวความคิดของตัวเองเป็นตัวตั้ง แนวความคิดแบบนี้มันคือความอยู่รอดของตัวเองใช่ไหม เพราะฉะนั้นในเมื่อมีความคิดต่างกันอยู่สองขั้ว ต่างฝ่ายต้องชนะเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง มันก็เกิดความรุนแรง

ความรุนแรงมันต้องเกิด เพราะเขามีพร้อมทั้งกองกำลังและอาวุธ เรารู้ทั้งรู้ แต่ก็จะสู้ ถ้าไม่สู้แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแพ้ แพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งน่ะเหรอ

ความรุนแรงที่พี่ต้องเผชิญหน้าเริ่มขึ้นเมื่อไหร่

วันที่ ๑๐ เมษา เต็นท์เราอยู่ที่มัฆวาน วันนั้นพวกมันมาข้างหน้าโน่นแล้ว ทั้งแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ เราก็ล้มเต็นท์ลงบอกพวกผู้หญิงที่อยู่ในเต็นท์อย่าเสียดาย ปล่อยมันล้มไปเลย อย่างน้อยก็เป็นกำบังให้เราได้ถ้าพวกมันจะเข้ามา พอ ฮ. บินผ่านหัว เราก็ยิงไล่ ฟิ้ว ฟิ้ว

อะไรพี่ ฟิ้ว ฟิ้ว?

ลูกหนู, เท่านี้ล่ะ ที่พอจะทำได้ เขาว่าพวก ฮ. มันจะกลัวอะไรที่พุ่งขึ้นฟ้า เพราะมันไม่แน่ใจว่าคืออะไร เห็นอะไรพุ่งขึ้นมาเดี๋ยวมันจะไม่กล้าผ่านมาอีก เขาว่าพวกนักบินนี่นอกจากชีวิตพวกมันแล้ว เขาจะต้องรักษาทรัพย์สินของหลวง นั่นคือ ฮ. เพราะฉะนั้น อย่าว่าเขาปอดแหก ถ้ามีอะไรฟิ้ว ฟิ้ว มา เขาต้องหลบ มันเป็นกฎของเขา ดังนั้นเขาไม่กล้าเข้าใกล้ เขาจะบินสูงขึ้น พอสูงขึ้นสิ่งที่เขาโยนลงมามันก็จะไม่โดนเป้าหมาย หรือถ้าลงก็ไม่โดนจะจะ

อย่างหน้าเวที ถนนราชดำเนินตลอดสายแก๊สน้ำตางี้ยิงลงมาจาก ฮ. เราก็ด่าพ่อล่อแม่ มึงแน่จริง มึงลงมาซิวะ ไอ้หอย ไอ้หอก พวกผู้หญิงในครัวก็ห่อพริกป่น น้ำส้ม ใส่ถุง เอาไปขว้างพวกมัน

หลังจากนั้นฉันก็ไปลุยที่หน้าเวที ไปแหมะดูทีวี ก็เห็นข่าวว่าเขายิงเราจริงๆ เฮ้ย! มันเอากูจริงนี่หว่า แล้วกระแสข่าวก็บอกว่าทหารบุกเข้ามาตรงนี้ๆ ไอ้เราก็บอกคนใกล้ตัวว่า ถ้าไม่มีความสามารถพอให้อยู่นิ่งๆ ให้ผู้ชายออกไป คนที่รับผิดชอบหน้าที่นี้เขามีอยู่แล้ว ปล่อยให้เขาทำไป ไม่ใช่หน้าที่เรา ฉันก็กลับมาอยู่ที่เต็นท์

วันนั้นมีคนร้องไห้เยอะแยะ แต่ฉันไม่ร้องเพระการต่อสู้มันต้องมีการสูญเสีย แต่ความสูญเสียของเราเกิดจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ฉันมีปาก ฉันใช้เสียง ฉันใช้มวลชน แต่คุณใช้อาวุธสงคราม คุณใช้อำนาจ แล้วความยุติธรรมอยู่ที่ไหน ฉันไม่ได้คาดหวังความยุติธรรมจากมนุษย์ แต่คุณควรมียางอาย คุณใช้อาวุธเพียงเพราะฉันมีความคิดเห็นไม่ตรงกับคุณเท่านั้น เพียงเท่านี้ คุณก็ใช้ไม่ได้แล้ว คุณไม่ใช่มนุษย์แล้ว

พอวันที่ ๑๙ ยิ่งแล้วใหญ่ ตั้งแต่ วัน ๑๐ มาจนถึง ๑๙ นี่ ตึงเครียดมาก แล้ววันที่ ๑๔ เสธ.แดงโดนยิงต่อหน้านักข่าว มันเครียดมาก ตนเองหมดศรัทธาในคนหลายๆ คน คือความเชื่อในความเป็นมนุษย์ หมดเลย รู้สึกเขาไม่ใช่มนุษย์แล้ว เขาเป็นซาตาน อสูร

แต่ก็จะยังสู้ เพราะการที่สู้ มันไม่ได้เบ่งเบนจาก เอม (aim=เป้าหมาย) ของตัวเองเลย เอมของตัวเองคือ ประกาศให้โลกรู้ว่าฉันสู้ ผลมันจะยังไงก็ช่าง ให้โลกรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนา ฉันอยู่ที่นี่ตลอด แต่อยู่ในที่ปลอดภัย ฉันไม่ทะเล่อทะล่าไปอยู่จุดล่อแหลม เพราะกระสุนมันไม่มีตานี่ เราก็ต้องรู้จักหลบบ้าง

แล้วตอนที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอนณัฐวุฒิประกาศแพ้ มอบตัว ฉันอยู่หน้าเวที มันทั้งโกรธทั้งแค้น โกรธทั้งรัฐบาล โกรธทั้งผู้นำของเรา มวลชนนี่ด่าเวทีเลย ไหนว่าจะตายด้วยกัน ไหนว่าจะสู้ด้วยกัน แต่ลืมคิดถึงความจริงไปอย่างว่า ถ้าเรายังมีชีวิตเราจะสู้ได้ แต่ถ้าตายไปแล้วเราจะเอาอะไรไปสู้ เราจะเอาวิญญาณไปสู้เหรอ บางคนร้องไห้ แล้วคนที่ตายไปแล้วล่ะ เราจะปล่อยให้เขาตายฟรีๆ เหรอ แต่ฉันมีความคิดต่าง คนตายไม่สามารถเอาคืนมาได้ สู้รักษาชีวิตเราเอง แล้วไล่บี้มันเมื่อมีกำลังดีกว่า

แล้วพี่ทำไงต่อ?

ตอนนั้นทุกอย่างมันอลหม่านมาก แต่ฉันนี่เตรียมพร้อมตลอดเวลาอยู่แล้ว ฉันมีเป้ใบหนึ่ง ก็เดินกลับไปเอา ยกเป้ขึ้นหลังได้ก็คอยดูมวลชนว่าเราจะช่วยอะไรเขาได้ ตอนนั้นมันมีระเบิดลงแล้ว มีเสียงปืน มวลชนหน้าเวทีที่ไม่ยอมให้เลิก ร้องไห้ ด่าทั้งแกนนำ ด่าทั้งรัฐบาล ส่วนคนที่อยากหนีอยากออกก็พากันหาทางออก บางคนก็ตระหนกตกใจ เพราะเสียงปืน เสียงระเบิดมันล้อมรอบตัวไปหมด มันเสียสติได้ง่ายมาก

พอฉันแบกเป้ได้ ตานี่ก็มองเลย จะช่วยใครได้ ไม่ใช่เฉพาะในเต็นท์เรา แต่ทุกคนที่ผ่านตาเรา ใครที่อ่อนแอเราพร้อมช่วย ตอนนั้นมันไม่มีผู้นำแล้ว ใครควรทำอย่างไร มันไม่รู้แล้ว มันเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าต้องทำกันยังไง เราต้องบอกเขา ยิ่งใครลนลานมาก เรายิ่งต้องไปเข้าไปช่วย ไปบอก เพื่อเอาเขามาให้พ้นอันตราย ทั้งที่เขาอยู่ในจุดที่อันตรายมาก เราก็เข้าไปเพื่อเอาเขามาให้พ้น

เราก็อยากให้เขาปลอดภัย ขนาดในวัดเรายังช่วยพยุงไปส่ง แต่ฉันตั้งปณิธานไว้แล้วว่าฉันจะไม่หลบในวัด เพราะสัญชาตญาณมันบอกว่า วัดปทุมฯ ไม่ปลอดภัย พวกเราบอกกันว่าวัดปทุมฯ ปลอดภัย แต่ฉันไม่ไป บางคนบอกว่าที่ฉันไม่เข้าวัดปทุมฯ เพราะเป็นคริสเตียน เออ เหตุผลใช้ได้ (หัวเราะ)

แต่ฉันจะบอกให้นะวัดปทุมฯ นี่ฉันไปเข้าห้องน้ำทีไร ฉันจะเดินดู มันไม่มีที่ให้หลบ มันไม่มีที่ให้กำบังเลย ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีอะไรให้หลบ อาคารมันไม่ได้แข็งแรง กำแพงมันแค่เอ็มสิบหกก็ยิงทะลุแล้ว มันป้องกันอาวุธหนักๆ ไม่ได้ แต่เพราะมันเป็นวัดไง คนมองโลกในแง่ดีคิดว่าวัดจะไม่มีคนยิง ปั๊ดโธ่! อยู่กันมานานไม่เห็นอีกหรือว่ามันมั่วได้ขนาดไหน รัฐมันใช้ความรุนแรงมาตั้งขนาดนี้แล้วคิดหรือว่ามันจะไม่กล้า ไปเชื่ออะไรกับมันว่ามันจะไม่ทำเราในวัด ลองมันแกล้งบอกว่า ขอโทษยิงผิดเป้าหมายว่ะ ไม่ได้ตั้งใจยิง เอาเอ็มเจ็ดสิบเก้าลงผิดสักสิบลูก มันจะเป็นไง ที่นั่นหลบไม่ได้ ไม่ปลอดภัย

ฉันมีสติอยู่ตลอด เตรียมตัวเตรียมใจ คือสู้ก็สู้ แต่ต้องสู้อย่างมีสติ อย่างเขาถือปืนอยู่เนี่ย เราจะวิ่งหนีกระเจิงไปไม่รู้ทิศทางได้ไง ฉันได้แต่ตะโกนบอกให้มวลชนวิ่งมาใต้รางรถไฟนี่ วิ่งมาทางนี้เลาะไปตามรางรถไฟนี้ ตะโกนจนไม่มีเสียง ก็มันอยู่ข้างบน ถ้าเราอยู่ข้างใต้มัน มันจะยิงโดนเราไหม ไม่โดน มันจะยิงเราได้ก็จากข้างนอก อยู่ในมุมที่ยิงลงมาได้ แต่คนเห็นทหารมันอยู่ใกล้ เขาเลยกลัวก็คิดว่าจะวิ่งไปให้ไกล แต่ยิ่งวิ่งออกไปข้างนอกนะ นั่นน่ะคือเป้าหมายให้มันยิงง่ายมาก
สภาพมันชุลมุนมากๆๆๆ ไอ้เราก็ตะโกนจนเหนื่อย จนไม่มีเสียง มันอลหม่าน เพราะคนวิ่งกันหมด ไม่มีใครเอ้อระเหยหรอกฉันเคยวิ่งสิบกิโลยังไม่เหนื่อยเท่านี้

พี่ไม่กลัวเลยเหรอ คิดไหมว่ากระสุนอาจจะโดนพี่ได้

เอ๊า! (ร้องเสียงสูง ทำหน้าแบบรำคาญ) ก็ฉันอยู่ใต้ตอม่อนี่ มันจะยิงโดนได้ยังไง พวกมันอยู่ข้างบน ถ้าเอ็มเจ็ดสิบเก้าไม่หล่นมาลงบนหัวแม่ตีนนี่ ฉันไม่มีทางตายแน่

อย่างฉันใช้เป้ ฉันก็มีเหตุผล ถ้ามันยิงตามหลัง มันก็โดนเป้ก่อน เวลาวิ่งก็ก้มๆ หัวหน่อยเดี๋ยวมันจะโดนหัว

พี่ช่วยคนอื่นจนถึงกี่โมงสักสี่โมงได้

ตอนนั้นเพิ่งกลับมาจากการช่วยเขาดับไฟที่ตึกผู้ป่วยนอก สี่แยกราชประสงค์ ถามว่าเสื้อแดงเผาเหรอ เสื้อแดงมันหนีตายไปอยู่โรงพยาบาลเยอะแยะไปหมด มันหนีตายกันแล้วมันจะยังมีแก่ใจเผาสถานที่ที่มันหลบอีกเหรอ คือคนสร้างสถานการณ์มันมีแน่ๆ ก็บอกแล้วว่ามันมีคนหลากหลายประเภทที่อยู่ในที่ชุมนุมนั้น ตั้งแต่ตอนชุมนุมแล้วที่เราเห็นคนแปลกๆ เข้ามาตลอด มันไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ฉะนั้น คนสร้างสถานการณ์มันมี แต่ฉันบอกได้เลยว่า มันไม่ใช่คนเสื้อแดงแน่ๆ เพราะคนเสื้อแดงจะเผาทำไม ตัวเองหลบอยู่ในนั้น เผาที่หลบซ่อนของตัวเองเนี่ยนะ ตัวเองก็พาเพื่อนพาญาติวิ่งเข้ามา มันก็ยังจะมาเผาตัวมันเองเหรอ แล้วใครมันจะไปเผา นอกจากไอ้สันขวานที่มัน... ขอโทษที ขอใช้คำที่มันชุ่ยๆ สักหน่อยเถอะ คิดได้ยังไงว่าคนเสื้อแดงมันเผา

ฉันไม่รู้ว่าใคร ไม่กล่าวหาใครทั้งนั้นแหละ แต่ว่า ไม่ใช่คนเสื้อแดงแน่ๆ

ฉันดูมวลชนหลบกันเกือบหมดแล้วก็วิ่งไปปีนรั้ว สตช. (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ตอนนั้นประตูปิดแล้ว ฉันโยนเป้เข้าไป ตำรวจในนั้นก็ตะโกนมาว่าทำไมไม่หนีไปอยู่ในวัดปทุมฯ ฉันบอกฉันไม่ไป ถ้าจะยิงฉันก็เชิญ แต่ฉันไม่ไป แล้วฉันก็ปีนข้ามไป หลังจากนั้นฉันก็ไม่รู้ไม่เห็นอะไรอีกแล้ว ถ้าจะถามฉันเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่อจากนี้ ฉันตอบไม่ได้ เพราะฉันอยู่ใน สตช.

ใน สตช. มีคนเยอะไหม

สักสองพันได้

อยู่ในนั้นยังได้ยินเสียงปืนตลอด?
ได้ยินเสียงปืนจนสองทุ่ม อาคารที่ฉันอยู่มันอยู่ตรงข้ามกับรพ.จุฬาฯ ได้ยินเสียงยิงกันตลอด จริงๆ ถ้าชะโงกหน้าดูก็รู้ละ แต่ทีนี้มันชะโงกหน้าไม่ได้ ถ้าชะโงกไปเกิดมันแป๊ะหน้าผาก จบพอดี ก็ไม่ต้องรู้กัน ก็ไม่กล้าชะโงก แต่หลับตาแล้วใช้หู เสียงมันไล่กันเลยนะ มันดังปึ้ดๆๆ อยู่ข้างเดียว ถ้าตอบโต้ มันจะเป็นเสียงสวนกัน ฟังออก ฉันอยู่ในมุมสงบพอ
ก็ได้แต่ถามตำรวจ เอ๊ะ! มันยิงกะใครวะ ก็พวกกูหนีกันมาจนหมดแล้วเนี่ย มันยิงกะใคร มันยิงกะใคร เขาบอก ผมก็ไม่รู้ครับ มันก็ตอบดี๊ ดี มันยิงข้างเดียว ไม่ใช่การยิงตอบโต้ไปมา แต่เสียงมันมาจากทิศทางเดียว ตั้งแต่สยามพารากอน ทั้งเสียงจากที่สูงและเสียงแนวระนาบ

คิดว่าเสียงจากแนวระนาบจะเป็นฝ่ายไหน

แนวระนาบมันจะเป็นใครล่ะ ในเมื่อทหารบุกเข้ามาเป็นแผง ข้างล่างก็มี ตั้งแต่ถนนพระรามสี่ตรงเข้ามาด้านข้างรพ.จุฬาฯ ผ่านศูนย์เสาวภา มาแยกเฉลิมเผ่าคือสี่แยกพารากอน สนามกีฬาแห่งชาติมาจนยันปทุมวัน จากราชเทวีตลอดจนถึงแยกประตูน้ำ มาจนถึงชุมชนวัดปทุมฯ ราชปรารภ ทหารทั้งนั้น และก็จากชิดลมจากถนนสุขุมวิท สถานีตำรวจลุมพินี สวนลุมพินี แยกสวนลุมฯ หลังสวน ทหารเต็มไปหมด

ทหารหนึ่งกองร้อยติดอาวุธแค่หมู่เดียวก็สังหารคนได้เป็นเบือแล้ว หนึ่งกองพันติดอาวุธแค่หมู่เดียว หมู่เดียวก็แค่สิบสองคนเองนะ รวมทั้งพลวิทยุ พลพยาบาล พลพยาบาลไม่ติดอาวุธ สิบสองคนก็ฆ่าคนได้เป็นเบือแล้ว แล้วทหารมีตั้งไม่รู้กี่ก๊ก
ฉะนั้น คนที่ยิงคนที่วัดปทุม มั่นใจว่าเป็นทหาร แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายไหน แต่ยืนยันได้ว่าไม่ใช่คนเสื้อแดง เพราะไม่มีใครจะหลุดเข้าไปในพื้นที่นั้นได้ นอกจากพวกทหาร

ฉะนั้น ไม่ว่าพวกนั้นจะเป็นใคร มือที่สาม ที่สี่ หรือใครห่าเหวไหนก็ตาม คุณจะเอามารวมกับเสื้อแดงไม่ได้ แล้วไม่ใช่คนเสื้อแดงสู้กับทหาร ยืนยันว่าไม่ใช่ แต่เป็นใคร --ฉันไม่รู้
เผาก็เหมือนกัน ไม่รู้ แต่อย่าเอามารวมกับคนเสื้อแดง มันจะมีอุปกรณ์อะไรไปเผาตึก ถ้าไม่ได้เตรียมการไว้ก่อน

จากเหตุการณ์ที่ประสบมาด้วยตัวเองทั้งหมด พี่สรุปให้ตัวเองว่าอย่างไร

พี่สรุปได้เลยว่าเขาแพ้ เราชนะ เราไม่ได้พ่ายแพ้ เพราะการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับประชาชน เขาแพ้ตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่เขาดึงดัน เขาคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เขาอยู่รอด แต่ยิ่งเขาใช้ความรุนแรงมากเท่าไหร่ เขายิ่งพ่ายแพ้ แม้จนถึงปัจจุบันนี้เขายังคงพรก.ฉุกเฉิน เขาแพ้โดยสิ้นเชิง เขาพยายามใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อความอยู่รอดของเขา นั่นแหละคือ เขาแพ้แล้ว ชัยชนะของเขาเป็นแค่ชัยชนะบนความพ่ายแพ้
เขาตัดสินชะตาชีวิตเขาเองตั้งแต่กระสุนนัดแรกแล้ว

หมายเหตุ บทบันทึกนี้ มีทั้งสิ้น 4 ตอน ประชาไทจะทยอยนำเสนอต่อเนื่อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมชัย จิตสุชน: ค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ไทย

Posted: 10 Sep 2010 12:41 PM PDT

“วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ทำไมธนาคารพาณิชย์ของไทยกำไรเอา ๆ”

“ส่วนต่างดอกเบี้ยสูงเหลือเกิน”

“ธนาคารโขกค่าธรรมเนียมแพงมาก รายได้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นตลอดเวลา ไม่ต้องหากำไรจากดอกเบี้ยก็กำไรบานอยู่แล้ว”

ระยะหนึ่งปีมานี้เราได้ยินเสียงบ่นเสียงวิจารณ์ธนาคารพาณิชย์ของไทยในทำนองข้างต้นหนาหูขึ้น บ่งบอกถึงความข้องใจของสังคมโดยรวมว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยทำหน้าที่ของตนเองอย่างเป็นธรรมต่อสังคมหรือไม่ ค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ฮั้วกันหรือไม่

แบงก์ชาติซึ่งมีหน้าที่กำกับสถาบันการเงินมีท่าทีในเรื่องนี้สองด้าน ด้านหนึ่งก็ออกมาปกป้องว่าส่วนต่างดอกเบี้ยระดับปัจจุบันไม่สูงเกินไป ลดได้แต่ต้องใช้เวลาเมื่อมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการจัดการลง ในอีกด้านหนึ่งก็พยายามกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมบางประการลง เช่นค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามเขต ค่าธรรมเนียมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่นการโอนจ่ายเงินครั้งละหลาย ๆ ราย (bulk payment) เช่นจ่ายเงินเดือนพนักงานหรือซื้อของคราวละมากราย (ที่เรียกว่าบริการ SMART) การโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม การโอนเงินรายใหญ่ที่เรียกว่า BAHTNET เป็นต้น

ธนาคารพาณิชย์เองก็ออกมาแก้ต่างว่าธนาคารส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่สูงเกินไป โดยบอกต้องดูที่อัตรากำไรต่อทุนหรือที่เรียกว่า ROE (return on equity) ที่อยู่แถว ๆ 1% เท่านั้น ส่วนกำไรสูงในช่วงวิกฤติก็เป็นเพราะการปล่อยกู้มีความเสี่ยงสูง จึงต้องรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไว้ป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคารเอง หากไม่ทำก็ไม่เป็นการดูแลผู้ถือหุ้น ผิดหลักบรรษัทภิบาล นักการเมืองและนักวิชาการไม่เข้าใจการทำธุรกิจ จึงไม่ควรวิจารณ์ด้วยความไม่รู้ ในส่วนการโอนเงินข้ามเขตเหตุที่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมก็เพราะธนาคารมีต้นทุนในการเคลื่อนย้ายเงินสดสูง เพราะคนไทยนั้นนิยมใช้เงินสดมากกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ อย่างเทียบไม่ติด

ข้อถกเถียงเกือบทุกประเด็นที่แต่ละฝ่ายยกมามีส่วนจริง แต่จริงมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ดังนั้นในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีปัญหาจริง ๆ แต่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องการความร่วมมือกันในการแก้ไขมากกว่าการต่อว่าต่อขานกัน โดยหวังว่าอีกฝ่ายจะประพฤติตัวดีขึ้นหรือเข้าใจมากขึ้น

ขอใช้กรณีค่าธรรมเนียมการชำระเงินเป็นตัวอย่างในการขยายความข้อสรุปข้างต้นนี้ ปัญหาหลักของระบบการชำระเงินไทย คือการให้บริการที่มีการอุดหนุนข้าม (cross subsidization) ทั้งระหว่างประเภทการชำระเงิน เช่นไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้เงินสดหรือคิดค่าธรรมเนียมการใช้เช็คต่ำทั้งที่ต้นทุนการให้บริการสองประเภทนี้สูงมาก แล้วไปเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สื่ออิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ แพงกว่าต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) ทำให้ประชาชนเลือกใช้สื่อชำระเงินที่บิดเบือนไม่สะท้อนต้นทุน และยังมีการอุดหนุนข้ามระหว่างลูกค้ารายใหญ่กับรายย่อย โดยลูกค้ารายย่อยเสียเต็มราคา ในขณะที่รายใหญ่มักได้ส่วนลดจากธนาคาร ปัญหา cross subsidization นี้เป็นปัญหาร่วมกันทั้งของธนาคารพาณิชย์และของแบงก์ชาติ ความต่างอยู่ที่ว่าแบงก์ชาติอยากให้แก้เรื่องนี้ทันทีและโดยเร็ว ส่วนธนาคารก็ลำบากใจว่าถ้าไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สื่อแบบเก่า (เงินสดและเช็ค) ตามต้นทุนได้ก็ไม่สามารถลดค่าธรรมเนียมสื่อแบบใหม่ได้ และถ้าเลิกเอาใจลูกค้ารายใหญ่โดยธนาคารคู่แข่งไม่เลิกด้วย ก็จะเสียลูกค้าไปซึ่งหมายถึงการเสียประโยชน์จากการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ กับลูกค้านั้นด้วย

เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ววิธีแก้ตามมา ประการแรก แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ต้องร่วมใจกันลดการอุดหนุนข้ามประเภทบริการสื่อการชำระเงิน โดยเพิ่มค่าใช้เช็ค (ต้นทุนการให้บริการเก็บเงินตามเช็คสูงกว่า 50 บาทต่อเช็คหนึ่งใบในขณะที่ราคาเช็ค 15 บาทและไม่มีค่าเรียกเก็บ) ริเริ่มการเก็บค่าใช้บริการเงินสด โดยเก็บจากผู้ที่เบิกถอนเงินสดครั้งละมาก ๆ เช่นเกิน 300,000 บาทต่อวันต่อลูกค้า (นับรวมทุกบัญชี) แต่ยังให้บริการฟรีสำหรับรายเล็ก วิธีนี้จะทำให้สามารถยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนข้ามเขตด้วย เพราะเมื่อคนถอนเงินสดน้อยลง การเคลื่อนย้ายเงินที่มีต้นทุนสูงก็ลดไปด้วย

ประการที่สอง ธนาคารทุกแห่งต้องพร้อมใจกันเลิกเอาใจลูกค้ารายใหญ่ ถ้าจะลดค่าธรรมเนียมให้ (รวมทั้งการลดส่วนต่างดอกเบี้ยด้วย) ก็ต้องไม่มากไปกว่าการประหยัดของต้นทุนต่อธุรกรรมเนื่องจากยอดเงินต่อธุรกรรมสูง เช่นไม่ควรให้บริการขนเงินสดฟรีกับลูกค้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องทำให้ห้างเหล่านั้นหันมาจูงใจลูกค้าของตนเองให้ใช้เงินสดน้อยลง (ในประเทศแคนาคาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เวลาจ่ายเงินสดตอนซื้อของห้าง พนักงานจะถามทันทีและทุกครั้งว่าสนใจใช้บริการเดบิตการ์ดหรือไม่ ถามจนเรารำคาญและหันมาใช้บัตรเดบิตในที่สุด) เรื่องนี้ต้องทำทุกธนาคาร เพื่อไม่ให้มีการแย่งลูกค้ารายใหญ่กันด้วยวิธีนี้ แบงก์ชาติอาจออกเป็นระเบียบด้วยเลยก็ได้ (ถ้ามีอำนาจตามกฏหมาย)

แต่ปัญหาใหญ่สุดของเรื่องนี้คือระดับการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ของไทย จริงอยู่ที่ ROA ไม่สูงในภาวะปกติ แต่มิได้หมายความว่าธนาคารมีการแข่งขันกันมากเท่าที่ควรเป็น น่าจะสะท้อนความหย่อนประสิทธิภาพภายในเมื่อเทียบกับธนาคารต่างประเทศชั้นนำมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ต้องเผชิญการแข่งขันเต็มรูปแบบ ธนาคารต่างประเทศเองก็ยังมีข้อจำกัดการเปิดสาขาหรือไม่พร้อมจะเข้ามาแข่งเพราะตัวเองมีปัญหาที่บ้านจากวิกฤติแฮมเบอเกอร์ นโยบายในเรื่องนี้ชัดเจนว่าต้องส่งเสริมการแข่งขันในการให้บริการทางการเงินกับประชาชนทุกรูปแบบมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้แหล่งทุนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการทางการเงิน โดยไม่จำกัดเพียงระบบการชำระเงิน แต่อาจครอบคลุมเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่าด้วย เช่นการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยครอบงำตลาดทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ลูกจนนำไปสู่ต้นทุนที่สูงของธุรกรรมในตลาดทุน และมีส่วนขัดขวางพัฒนาการตลาดทุนไทยในภาพรวมด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกเปิดทำเนียบให้นิสิตนักศึกษาเข้าพบ ตอบคำถามสลายชุมนุม - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 10 Sep 2010 11:54 AM PDT

สนนท. แถลงเดือด นายกเปิดให้นักศึกษาเข้าพบที่ทำเนียบเป็นการเล่นปาหี่ตบตาประชาชน เรียกร้องหยุดสร้างภาพ ปรองดองบนคราบเลือด อภิสิทธิ์ยัน“ถ้าความสูญเสียทั้งหมด เกิดจากการสั่งปราบปรามการชุมนุม ผมไม่อยู่ถึงวันนี้หรอก”

เว็บไซต์มติชน รายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่10กันยายน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบคำถามนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา “นิสิตนักศึกษาพบนายกรัฐมนตรี” ซึ่งบางส่วนจะถูกนำไปออกรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ในสุดสัปดาห์นี้ ถึงกรณีที่นักศึกษาที่ จ.เชียงรายที่ชูป้ายคัดค้านการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกควบคุมตัวและส่งไปบำบัดจิต และกรณีที่นสพ.เรดเพาเวอร์ถูกปิดเพียงเพราะมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง กัน ว่า รัฐบาลนี้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ กฎหมายพิเศษ ไม่เฉพาะในการชุมนุมทางการเมือง แต่รวมถึงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับกิจกรรมทางการเมือง ยืนยันว่าสามารถเคลื่อนไหวได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ละเมิดแนวทางที่ศาลแพ่งเคยวินิจฉัยไว้ 5 ข้อ อาทิ ต้องไม่ปิดถนน ละเมิดสิทธิของคนอื่น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าทุกครั้งที่มีข่าวว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบกับกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา ตนจะตรวจสอบและให้ดำเนินการตามแนวทางที่ควรจะเป็น บาง กรณีมีความเข้าใจผิด คิดว่าการเรียกตัวไปเป็นหมายจับ ทั้งที่จริงไม่ใช่ เป็นเพียงการเรียกตัวไปสอบถาม และเท่าที่ตนตรวจสอบไม่มีนักศึกษาคนใดถูกดำเนินคดี สำหรับการควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีการใช้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะถูกดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยืนยันว่าไม่มีการปกปิดรายชื่อผู้ถูกควบคุมตัว และไม่มีใครเป็นนักโทษการเมือง เพราะนักโทษการเมืองน่าจะหมายถึงคนที่ถูกจับ เพราะมีความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ซึ่งไม่มีเพราะคนที่ถูกคุมตัวทุกคนทำผิดกฎหมาย เช่น ผิดฐานก่อการร้าย

"ความจริงการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีเยอะ กรณีคนเสื้อแดงไปทำกิจกรรมที่สวนลุมพินี ก็ไม่ถูกดำเนินการใดๆ หากไม่ผิดเงื่อนไข 5 ข้อตามที่ศาลแพ่งวางเอาไว้ สำหรับการปิดนสพ.เรดเพาเวอร์ ยืนยันว่าไม่ใช่การปิดสื่อ เพราะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันทางการเมือง แต่ที่มีปัญหาเพราะทำผิดกฎหมายอื่น ซึ่งต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่ามีกฎหมายฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับสื่อที่ต้องแก้ไข คือพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ที่ยังขาดความชัดเจน จนทำให้เกิดปัญหา" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า นักศึกษาที่ จ.เชียงรายแค่ชูป้ายถูกคุมตัวและจับไปบำบัดจิต นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรืออาจารย์ยิ้ม อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อหาแล้ว แต่เหตุใดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมหน้ายูเนสโกถึงไม่มีใช้ อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีอาจารย์ยิ้มที่ทราบภายหลังว่ามีปัญหาสุขภาพ ตนก็ได้ประสานไปขอให้ดูแล แต่ยอมรับว่าบางเรื่องก็ดูแลไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอทราบว่ามีปัญหาก็ให้เข้าไปดูแล กรณีกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อมีการปิดถนน ตนก็ให้ตำรวจเข้าไปเจรจา รอบหลังที่จะมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ก็มีการเจรจาจนย้ายที่สำเร็จ

เมื่อถามว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้อง เพิ่มงบประมาณของกระทรวงกลาโหม (กห.) จากปีที่แล้วถึงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ราวเป็นกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งที่การใช้งบของกห.ที่ผ่านมาหลายอย่างก็มีปัญหา ทั้งการจัดซื้อเรือเหาะที่บินไม่ได้ หรือเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจีที 200 ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นของเก๊ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การ เพิ่มขึ้นของงบของกห. ถ้าตนจำไม่ผิด ไม่ได้สูงกว่าสัดส่วนงบของปีก่อนๆ ถามว่าจำเป็นแค่ไหน ตนได้ดูเรื่องนี้เชิงระบบ โดยนำไปเปรียบเทียบกับงบพัฒนากองทัพของประเทศเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าเรามีค่าใช้จ่ายด้านนี้ต่ำที่สุดในภูมิภาค ส่วนการใช้งบจะถูกผิดอย่างไร ต้องไปว่ากันอีกครั้ง

เมื่อถามว่าเหตุใดนายกฯถึงไม่รีบลงจากอำนาจ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุด เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อ 91 ศพที่เสียชีวิต นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงรัฐบาลนี้มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะอยู่จนถึงสิ้นปีหน้า และก่อนหน้านี้หากผู้ชุมนุมรับข้อเสนอของตน อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว ความจริงพวกเขา ปฏิเสธข้อเสนอของตนไปอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งแรก หากนำข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ไปทำประชามติ ป่านนี้ก็มีการเลือกตั้งไปแล้ว 2-3 เดือนก่อน แต่ฝ่ายโน้นก็ปฏิเสธ เพราะคนต่างประเทศไม่เห็นด้วย ครั้งที่สอง ระหว่าง ชุมนุมปลายพ.ค.ที่ผ่านมา ที่ตนไปนั่งโต๊ะเจรจา มีการเสนอให้เลือกตั้งปลายปี แต่ปรากฏว่าต้องเลิกเจรจา เพราะมีโทรศัพท์เข้ามาขอให้ฝ่ายโน้นเลิกเจรจา ครั้งสุดท้าย ตนเสนอให้เลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ย.2553 แต่สุดท้ายแกนนำคนเสื้อแดงก็ไม่ยอมรับ

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องความสูญเสีย ตนต้องขอความเป็นธรรม เพราะยืนยันไม่เคยมีนโยบายให้ปราบปรามหรือยิงประชาชน ความสูญเสียที่เกิดขึ้น มี 3 ช่วงเวลา ครั้งแรก วันที่ 10 เม.ย. ซึ่งเจ้าหน้าที่เริ่มขอคืนพื้นที่ตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงหนึ่งทุ่ม ไม่มีใครเป็นอะไร แต่ความสูญเสียเริ่มเกิดขึ้น นับแต่มีการยิงเอ็ม 79 เข้ามา ทำให้ทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ช่วง ที่สอง ระหว่าง วันที่ 14-18 พ.ค. ตอนนั้นรัฐบาลเห็นว่าการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนาน และปีนี้เป็นครั้งแรกที่ไม่มีระเบิดยิงใส่ผู้ชุมนุม มีแต่ระเบิดยิงออกมาจากผู้ชุมนุม นอกจากนี้ ยังพบอาวุธสงคราในบริเวณใกล้เคียงที่ชุมนุมจำนวนมาก เป็นเหตุให้ต้องมีการกระชับวงล้อม ถามว่าทำไมเกิดความสูญเสีย เพราะมีคนเข้าโจมตีด่านของทหาร ช่วงนี้เกิดความสูญเสียมากที่สุด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงสุดท้าย วันที่ 19 พ.ค.ที่มีการเข้า ยึดพื้นที่ชุมนุมแล้ว ซึ่งทำให้เกิดกรณีเสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนารามขึ้นมา ซึ่งต้องตรวจสอบกันต่อไปว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีการตั้งคนกลางเข้ามาตรวจสอบแล้ว แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยมีนโยบายจะทำให้ประชาชนเกิดความสูญเสีย เพราะตอนที่แกนนำคนเสื้อแดงประกาศยุติการชุมนุม เราก็สั่งให้ทหารยุติปฏิบัติการทั้งหมด ทั้งที่แยกสารสิน ถนนชิดลม และสนามศุภชลาศัย แต่ปรากฏว่าเมื่อยุติการชุมนุม มีการเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และสยามสแควร์ แต่ปรากฏว่าเมื่อนำรถดับเพลิงเข้าไปแล้วถูกยิงกลับมา ทำให้เกิดการต่อสู้ที่ถนนพระรามที่ 1 ซึ่งอาจทำให้เกิดกรณีวัดปทุมฯขึ้นหรือไม่

"ความจริงแล้ว ถ้าความสูญเสียทั้งหมด เกิดจากการสั่งปราบปรามการชุมนุม ผมไม่อยู่ถึงวันนี้หรอก ลาออกไปนานแล้ว ดังนั้นควรจะให้คนกลางเข้าไปตรวจสอบ ความจริงตัวผมเองก็ยืนยันว่าไม่มีเจตนาอยู่ครบเทอม แต่ก็ไม่ต้องการให้การเลือกตั้งอยู่กับความรุนแรง โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ หนึ่ง ต้องไม่มีการประกาศไล่ล่ากัน หรือห้ามไม่ให้พรรคการเมืองนี้เข้าไปหาเสียงในพื้นที่ใด สอง ผมไม่ต้องการเลือกตั้งที่ต้องมาถกเถียงเรื่องกติกาอีก เวลาเกิดปัญหาขึ้น ว่าควรยุบหรือไม่ยุบพรรค ถ้าสองเงื่อนไขนี้มีเมื่อไร ผมพร้อมจะยุบสภา ผมไม่ได้เกรงกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้ง เพราะผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวอะไรอยู่แล้ว ที่สำคัญช่วงที่ผมอยู่ มีเลือกตั้งซ่อมหลายครั้ง ผมก็แพ้น้อยมาก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้าที่จะมีการเข้าพบปะระหว่างนิสิตนักศึกษากับนายกรัฐมนตรีนั้น สหพันธนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้ออกแถลงการณ์ ชื่อ 10 กันยา รู้ทันนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า การพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนิสิตนักศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงปาหี่ตบตาประชาชนเท่านั้น แต่การที่ สนนท. ตัดสินใจเข้าร่วมในการพบปะดังกล่าว ไม่ใช่การเข้าร่วมสังฆกรรมกับคณะละครตบตาที่ชื่อว่า “กระบวนการปฏิรูปประเทศ” หรือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลมือเปื้อนเลือดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เข้าร่วมการพบปะเพื่อทวงถามข้อสงสัย ชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อมูลบางอย่าง ที่หวังว่าจะช่วยให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถาม และพิจารณาถึงความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจบริหารงานองรัฐบาลชุดนี้

สนนท. ระบุด้วยว่า ไม่มีรัฐบาลใดจะมีความชอบธรรมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากไปกว่ารัฐบาลที่มาจากเจตจำนงของประชาชน ซึ่งผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ด้วยความช่วยเหลือของทหาร การยุบสภายังคงเป็นวิถีทางในการรับฟังกระแสตอบรับของประชาชนที่ดีที่สุด ที่รัฐบาลปัจจุบัน สมควรจะทำ

000

แถลงการณ์ 10 กันยา รู้ทันนายกรัฐมนตรี

ตามที่สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีงาน “นิสิตนักศึกษาพบนายก รัฐมนตรี” ขึ้นในวันที่ 10 กันยายนนี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงาน จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลนั้น สามารถพิจารณาได้ว่างานดังกล่าว เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษากลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน ที่ได้พยายามชูป้ายประท้วงและยื่นจดหมายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางมากล่าวปาฐกถาในงานวันครบรอบ 60 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับถูกขัดขวางโดยคณะผู้ดูแลงาน จนทำให้กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวไม่สามารถใช้สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างที่ควรจะเป็น ในสังคมที่กล่าวอ้างว่ายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ พวกเรามีความเห็นว่า การพบนิสิตและนักศึกษา ของนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงละครปาหี่ตบตาประชาชนอย่างที่เคยเป็นมาตลอดอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น พวกเราทราบดีว่างานที่ถูกจัดขึ้นนี้ เป็นเพียงเครื่องมือ ที่นายกรัฐมนตรีจะใช้ในการสร้างภาพ ว่าตนเป็นบุคคลที่เปิดกว้าง รับฟังคำติชม และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง นั่นหมายความว่า นิสิตนักศึกษา ที่มาในวันนี้ จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกหยิบใช้ เพื่อบริหารความนิยมชมชอบ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีให้กับรัฐบาลมือเปื้อนเลือดเท่านั้น
เหนือสิ่งอื่นใด ตามคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีเอง ที่ว่า “การกระทำสำคัญที่สุด ถ้ากระทำไปในทิศทางเดียวกับคำพูด” ยิ่งแสดงให้พวกเราได้เห็นว่า ทุกสิ่งที่อย่างที่รัฐบาลทำ ความพยายามจะสร้างภาพความปรองดองสมานฉันท์นั้น เป็นเพียงการปิดบังความจริงด้วยวิธีการอันฉาบฉวย

ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ มีจิตใจเปิดกว้าง รับฟังคำติชม และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจริง ศพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ อย่างน้อย 91 ศพ จะไม่มีวันเกิดขึ้น เป็น 91 ศพ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เป็น 91 ศพ ที่เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นั่นคือ การได้หายใจในบรรยากาศของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไม่อาจมีความกล้าหาญที่จะเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนให้กับประเทศชาติได้ การปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างก็เกิดขึ้น การกระทำที่ดูใจกว้างในวันนี้ วันที่ 10 กันยายน ช่างแตกต่างกันลิบลับกับการขอคืนพื้นที่ในวันเดียวกันนี้เมื่อห้าเดือนที่แล้ว

เราจะมีหลักประกันอะไร ว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีกล่าว จะไม่ใช่เรื่องลมๆแล้งๆ ดูสวยหรูแต่สร้างภาพอย่างที่เคยทำมา และเราจะมีหลักประกันอะไรว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษาอย่างบริสุทธิ์ใจ ในเมื่อ “เพื่อนของเรา” บางคนยังถูกจับกุมคุมขัง และบางส่วนถูกส่งไปบำบัดทางจิต

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ขอแสดงจุดยืนต่อรัฐบาลเผด็จการมือเปื้อนเลือด และงานละครปาหี่ตบตาประชาชนในครั้งนี้ ว่า

1. งาน “นิสิต นักศึกษา พบนายกรัฐมนตรี” เป็นงานที่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ เป็นเพียงละครสร้างภาพตบตาประชาชนเท่านั้น นอกจากจะด้วยเหตุผลที่การกระทำของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคำพูดแล้ว การเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลนั้น แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี ไม่เห็นคุณค่าความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษาอย่างแท้จริง และยังสำคัญตนเองเป็นใหญ่ เสมือนเรียกให้นิสิต นักศึกษาต้องเข้าพบ แทนที่จะยอมเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาจากในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง

2. “การกระทำสำคัญที่สุด ถ้ากระทำไปในทิศทางเดียวกับคำพูด” นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลต้องรู้จักการกระทำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับคำพูด นั่นคือ ไม่คุกคามสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษา และประชาชน เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่เห็นต่างจำนวนมาก ถูกรัฐบาลทำให้กลายเป็นศัตรูของชาติ และถูกจับกุมคุมขัง มีแต่คนที่มืดบอดทางสติปัญญาเท่านั้น ที่จะเชื่อคำกล่าวสร้างภาพของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องจริง

พวกเราขอประกาศจุดยืนว่า การมาร่วมงาน “นิสิต นักศึกษา พบนายกรัฐมนตรี” ครั้งนี้ ไม่ใช่การเข้าร่วมสังฆกรรมกับคณะละครตบตาที่ชื่อว่า “กระบวนการปฏิรูปประเทศ” หรือมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลมือเปื้อนเลือดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เรามาเพื่อทวงถามข้อสงสัย ชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อมูลบางอย่าง ที่เราหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถาม และพิจารณาถึงความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจบริหารงานองรัฐบาลชุดนี้

พวกเราเชื่อว่า ไม่มีรัฐบาลใดจะมีความชอบธรรมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากไปกว่ารัฐบาลที่มาจากเจตจำนงของประชาชน ซึ่งผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ด้วยความช่วยเหลือของทหาร การยุบสภายังคงเป็นวิถีทางในการรับฟังกระแสตอบรับของประชาชนที่ดีที่สุด ที่รัฐบาลปัจจุบัน สมควรจะทำ

หยุดสร้างภาพ หยุดการปรองดองบนกองเลือด
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

หมายเหตุ ที่มาของข่าวบางส่วนจากเว็บไซต์มติชน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“รำลึก 5 เดือน 10 เมษา” ญาติถามหาผู้รับผิดชอบ

Posted: 10 Sep 2010 10:44 AM PDT

10 ก.ย.53 เวลา 17.00 น. ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 เม.ย. เดินทางมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เพื่อรำลึกถึงการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน

นางสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ สูญเสียบุตรชายคือ นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในตอนค่ำของวันที่ 10 เม.ย.ที่แยกคอกวัว ให้สัมภาษณ์ว่า การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้เพื่อรำลึกถึงลูกชาย โดยทุกๆ วันที่ 10 ความรู้สึกสูญเสียยังสะท้อนอยู่ในหัวอกของตนซึ่งเป็นแม่ นางสุวิมลกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลรู้ว่าตนต้องการทราบว่าใครเป็นคนยิงลูกชายของตน และมั่นใจว่าทหารเป็นผู้ยิง

น.ส.ธัญกมล คำน้อย ซึ่งสูญเสียน้องชายคือ นายเกรียงไกร คำน้อย ให้สัมภาษณ์ว่า น้องชายของตนถูกยิงเข้าที่ท้องในช่วงกลางวันที่บริเวณสะพานมัฆวานและเสียชีวิต การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้จึงมาเพื่อตอกย้ำไม่ให้รัฐบาลลืมว่า รัฐบาลเป็นผู้สั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม และสั่งให้ทหารยิงประชาชน

นายสำราญ วางาม บิดาของนายสวาท วางาม ให้สัมภาษณ์ว่า ลูกชายของตนถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตในตอนค่ำของวันที่ 10 เม.ย. ในวันนี้จึงเดินทางมาเพื่อแสดงความเคารพต่อวีรชนที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย.และเพื่อรำลึกถึงลูกชายที่เสียไป นายสำราญกล่าวว่า ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวคำขอโทษต่อผู้เสียชีวิตและบรรดาญาติ

นางสุนันทา ปรีชาเวช สูญเสียน้องชายคือ นายทศชัย เมฆงามฟ้า ซึ่งถูกยิงที่ปอดทะลุหัวใจและเสียชีวิตบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนต้องการทราบว่ารัฐบาลจะทำอะไรให้กับญาติผู้เสียชีวิตบ้าง เนื่องจากตนได้พยายามติดตามการดำเนินคดี แต่ไม่พบว่ามีความคืบหน้าแต่อย่างใด นางสุนันทากล่าวว่า ยังมีศพที่ยังไม่เผาและเป็นหลักฐานอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้รัฐบาลหันมาสนใจ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยแสดงความรับผิดชอบหรือกล่าวคำขอโทษต่อการสูญเสียชีวิต 91 ศพ จึงอยากถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล

กิจกรรมเริ่มขึ้นในเวลา 17.30 น. โดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวกับผู้ร่วมกิจกรรมว่า การรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. เป็นกิจกรรมของผู้ที่มีความทรงจำและผูกพันกับเหตุการณ์ในวันนั้น และเพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกจดจำและบอกเล่าต่อโดยไม่ถูกหลงลืม นายสมบัติจึงขอให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ออกมาเล่าเรื่องราวทีละคน

หลังจากกิจกรรมเล่าเรื่องแล้ว ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ร่วมกิจกรรมได้นำเทียนสีแดงและดอกกุหลาบแดงไปวางหน้าภาพถ่ายของผู้เสียชีวิต ในระหว่างนั้นมีการร้องเพลง “นักสู้ธุลีดิน” และกิจกรรมจบลงในเวลาประมาณ 19.00 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท:อานนท์ นำภา "บทกวีถึงนักสิทธิ์...???"

Posted: 10 Sep 2010 07:17 AM PDT

                            เมื่อนักสิทธิมนุษยชนหล่นหาย
                     ล้วนออกลาย ร่ายมนต์ คนต่ำ-สูง
                     โง่-จน-เจ็บ สงสารนัก ถูกชักจูง
                     ตายเป็นฝูง ก็สมควร เพื่อส่วนรวม
                              สังคมพึง ฟูมฟัก ด้วยนักปราชญ์
                     "คนดี"จึง ผูกขาด แต่ส่วนร่วม
                      นิติรัฐ นิติธรรม ต้องกำกวม
                      ใครเสือกสวม เสื้อแดง แม่งต้องตาย!
                               ความยุติธรรม จึงอำมหิต
                       บ้างยัดติด ตาราง บ้างอุ้มหาย
                       เสรีสิทธิ เบ็ดเสร็จ ดังเม็ดทราย
                       ให้เจ้านาย ปูพรม ขย่มเดิน @๑๐---------

                                     

                                                               ( ๒๐.๓๐ น. ณ ร้านสลิ่มสีแดง เชียงใหม่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: อานนท์ นำภา,บทกวีถึงนักสิทธ์...???

Posted: 10 Sep 2010 07:01 AM PDT

        เมื่อนักสิทธิมนุษชนหล่นหาย
ล้วนออกลาย ร่ายมนต์ คนต่ำ-สูง
โง่-จน-เจ็บ สงสารนัก ถูกชักจูง
ตายเป็นฝูง ก็สมควร เพื่อส่วนรวม
          สังคมพึง ฟูมฟัก ด้วยนักปราชญ์
"คนดี"จึง ผูกขาด แต่ส่วนร่วม
นิติรัฐ นิติธรรม ต้องกำกวม
ใครเสือกสวม เสื้อแดง แม่งต้องตาย!
          ความยุติธรรม จึงอำมหิต
บ้างยัดติด ตาราง บ้างอุ้มหาย
เสรีสิทธิ เบ็ดเสร็จ ดังเม็ดทราย
ให้เจ้านาย ปูพรม ขย่มเดิน @๑๐---------

                                ( ๒๐.๓๐ น. ณ ร้านสลิ่มสีแดง เชียงใหม่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: ‘ประวิตร’ ตั้งข้อสังเกต (ถ้า)‘เรด พาวเวอร์’ ถูกปิด สมาคมนักข่าวจะออกโรงไหม

Posted: 10 Sep 2010 12:49 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.53 ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว มีการจัดเสวนา “ทิศทางสื่อไทยจะไปทางไหนภายใต้อำนาจมืด” ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Nation ประเมินแนวโน้มทิศทางสื่อไทยในปัจจุบันว่าไม่สู้ดี น่าเป็นห่วง เอื้อให้เกิดการเซ็นเซอร์สื่อมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางการเมือง ข้อจำกัดที่สำคัญคือ ภาวะความวิตกกังวลหรืออาการวิตกจริตของชนชั้นนำบางกลุ่ม ซึ่งเกิดความกลัว เพราะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงของตนนำไปสู่การกระทำที่เกินเลยผิดปกติ  ภาวะปัจจุบันสื่อกระแสหลักตกอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจมืด ซึ่งอาจหมายถึงชนชั้นปกครองเก่า ทหาร หรือที่คนเสื้อแดงเรียกว่ากลุ่มอำมาตย์ เป็นภาวะที่ทหารมีอำนาจพิเศษ แตะต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ 
ประวิตรยกตัวอย่าง ว่า เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศอฉ.ออกมาขู่ว่าจะปิดหนังสือพิมพ์หัวสี เพราะไปเสนอข่าวว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของการ์ด นปช.ที่เชียงใหม่ ทั้งยังขู่จะปิด Red Power แม้กรณีนี้สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทยจะออกมาตอบโต้การกระทำของ ศอฉ. อย่างรวดเร็ว แต่ต้องตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการขู่เฉพาะ Red Power สมาคมผู้สื่อข่าวฯ จะทำงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา แม้สมาคมจะออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลและ ศอฉ. ถึงการคุกคามสื่อ แต่หลังจากนั้นมีการไล่ปิดสื่อและเว็บไซต์เสื้อแดงจำนวนมาก สมาคมผู้สื่อข่าวฯ ก็ไม่ได้ออกมาติดตามประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ประวิตรมองว่า ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะหันมาให้ความสนใจการเซ็นเซอร์ ตอนนี้สื่อสิ่งพิมพ์ของเสื้อแดงเริ่มกลับมาเปิดได้ 4 ฉบับ คือ Red Power (ในวันสัมมนายังไม่ถูกสั่งปิดแท่นพิมพ์-ประชาไท)  มหาประชาชน พีเพิลแชแนล และคนเสื้อแดง แต่ก็ยังไม่สามารถกลับไปเหมือนช่วงก่อน 19 พฤษภาคมได้ โดยประวิตรให้เหตุผลเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ก่อนนี้เขาสามารถหาซื้อสื่อสิ่งพิมพ์เสื้อแดงได้ตามร้านหนังสือในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ปัจจุบันสื่อเหล่านี้หาซื้อยากมาก อย่างไรก็ตาม อยากให้มองย้อนกลับไปช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีการปิดกั้นคุกคามสื่ออย่างมากเช่นกัน
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวว่า สื่อกระแสหลักคงปรับตัวไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันในช่วงนี้ก็มีการเติบโตของสื่อดาวเทียมอย่างน่าตกใจ และเป็นที่น่าสังเกตว่าคนซื้อดาวเทียมส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่ซื้อจานดาวเทียมมาติดเพราะสัญญาณช่องสื่อกระแสหลักไม่ชัด เลยพลอยได้ดูช่องอื่นๆ ที่นอกจากฟรีทีวีด้วย กลายเป็นการสร้างพฤติกรรมการดูทีวีแบบใหม่ บางคนเลิกดูฟรีทีวีไปเลยเพราะมีทางเลือกอื่นๆ 
บก.ลายจุดมองว่า แม้ปัจจุบันจะมีการปิดกั้นสื่อหรือสื่อถูกจำกัด ก็ไม่สามารถกล่าวได้เสียทีเดียวว่า ไม่มีช่องทางในการสื่อสาร เพราะสื่ออย่างทีวีดาวเทียม อินเตอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีสื่อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นจุดแข็ง คือเข้าถึงผู้ใช้ได้มากกว่าสื่ออินเตอร์เน็ตและมีราคาถูก ดังนั้น บก.ลายจุดจึงเสนอให้ใช้สื่อโทรศัพท์มือถือ เช่น เอสเอ็มเอสมากขึ้น  
ประวิตรกล่าวว่า โดยส่วนตัวแม้จะทำงานอยู่ในสื่อกระแสหลัก แต่ก็ไม่กังวลหากสื่อกระแสหลักจะได้รับความนิยมน้อยลง เพราะสังคมไทยที่ผ่านมา ทุกสิ่งทุกอย่างมักไปกระจุกอยู่กับคนเพียงไม่กี่คน เช่นเดียวกับที่ทุกสิ่งทุกอย่างมากระจุกตัวอยู่ในเมืองเมืองเดียวอย่างกรุงเทพมหานาคร เขาคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่สื่อกระแสหลักจะมีอำนาจและอิทธิพลน้อยลง เพราะจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านหรือประชาชนมากกว่า เพราะโครงสร้างของสื่อกระแสหลักในปัจจุบันนั้นมีข้อจำกัด คือ1.โครงสร้างรวมศูนย์เป็นแนวดิ่ง และเป็นธุรกิจ ไม่มีความเป็นประชาธิปไต 2.โครงสร้างวัฒนธรรมแบบพี่น้อง ผู้อาวุโส ผู้น้อย ทำให้ไม่มีการวิวาทะในสื่อกระแสหลัก สภาพในองค์กรไม่เป็นประชาธิปไตย 3.ข้อจำกัด 2 ข้อแรก ทำให้เกิดการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สุดท้ายต้องเลือกที่จะเซ็นเซอร์สื่อ ดังนั้น สื่อกระแสหลักคงไม่สามารถเป็นที่ฝากผีฝากไข้ของประชาชนได้ ตรงกันข้าม สื่อกระแสหลักจะกลายเป็นคนเล่นบทอนุรักษนิยมเสียเองในช่วงการเมืองปลายรัชกาลเช่นนี้ ดังนั้นสื่อกระแสหลักจึงยังอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่สนใจจะปรับปรุงตัวเอง
นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว ประวิตรยังได้วิจารณ์สื่อกระแสรองด้วย 1.แนวโน้มการท้าทายจากสื่อกระแสรองจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และการครอบงำจะไม่สามารถทำได้แบบเบ็ดเสร็จอีกต่อไป มีความพยายามมุดลอดออกมาจากการครอบงำของชนชั้นปกครองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 2.ปัญหาของสื่อทั้งแดงและเหลือง คือมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป มั่นใจว่าถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ท้าทายสื่อทั้งแดงและเหลืองคือการจัดการกับพื้นที่สีเทา คือกลุ่มคนที่ไม่ใช่แดงและไม่ใช่เหลือง
อรรถชัย อนันตเมฆ นักแสดงผู้ประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงกล่าวว่า สื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะทีวีมีปัญหาเพราะระบบสัมปทาน เจ้าของสัมปทานกลายเป็นทหารและรัฐ ประชาชนไม่เคยมีส่วนแบ่งในพื้นที่นั้น อรรถชัยสรุปปัญหาของสื่อว่าตกอยู่ใต้พระเจ้า 3 องค์ คือ 1.พระเจ้าทางการเมือง  คือรัฐบาล ทหาร และผู้มีอำนาจในการแทรกแซงสื่อ 2.พระเจ้าทางการเงิน คือเอเจนซี่ และระบบเอเจนซี่นี้เองที่ทำให้เกิดระบบเรตติ้งเทียม การจัดระบบเรตติ้งไม่เคยมีประชาชนไปเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาแม้มีความพยายามในการจัดระบบใหม่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 3.สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย แม้สมาคมผู้สื่อข่าวจะเกิดขึ้นเพราะความต้องการรวมตัวกันสู้กับพระเจ้าทางการเมือง แต่พระเจ้าองค์ที่ 3 นี้ ก็ไม่เคยมีประชาชนได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น