โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงาน : ไทยพุทธกลุ่มสุดท้าย สัมพันธภาพแห่งฮูแตยือลอ

Posted: 21 Sep 2010 10:23 AM PDT

สัมภาษณ์ครอบครัวเหยื่อไทยพุทธ 4 ศพแห่งหมู่บ้านฮูแตยือลอ นราธิวาส เผยอยู่ในบ้าน 3 หลังสุดท้าย เพื่อนบ้านมุสลิมแห่ร่วมงานศพ

 

ดญ. ปาลิตา คงเพ็ชร์

 

ฮูแตยือลอ
(ภาพล่างจากผู้จัดการออนไลน์)







 

 

วงสนทนาใต้ร่มไม้ใหญ่ภายในวัดบางนรา อำเภอเมืองนราธิวาส บางครั้งก็มีเสียงสรวลเสเฮฮา ภาษายาวีบ้างไทยบ้างปะปนกัน ช่างขัดกับบรรยากาศโศกเศร้า เนื่องจากกำลังมีการจัดงานศพ 3 ศพจากหมู่บ้านฮูแตยือลอ หมู่ที่ 6 ตำบลบาเร๊ะใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

เป็นบรรยากาศในช่วงบ่ายไม่กี่วันหลังเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายแต่งกายคล้ายทหารตำรวจบุกเข้าไปยิงชาวบ้านไทยพุทธในหมู่บ้านดังกล่าวที่มีอยู่ 3 หลัง ทำใหม่มีผู้เสียชีวิตรวม 4 ศพ และบ้านทั้ง 3 หลังถูกเผาวอด เหตุเกิดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 กันยายน 2553

ทั้ง 4 ศพประกอบด้วย นายชื่น คงเพ็ชร อายุ 83 ปี เสียชีวิตในบ้านเลขที่ 111 นายเจริญศีลป์ บุญทอง อายุ 47 ปี และ นางสมศรี บุญทอง อายุ 58 ปี ซึ่งเป็นสามี ภรรยา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตที่บ้านเลขที่ 93/9 ห่างจากบ้านหลังแรกประมาณ 50 เมตร ส่วนอีกศพ คือ นางห้อง คงเพ็ชร์ อายุ 76 ปี ภรรยานายชื่น เสียชีวิตในบ้านของตัวเอง ซึ่งอยู่ห่างจากหลังที่ 2 ประมาณ 100 เมตร ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามของถนน

สำหรับบ้านเลขที่ 111 ซึ่งเป็นบ้านของนางวนิดา คงเพ็ชร์ ลูกสาวของนายชื่น ซึ่งได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแล้ว

คนหนึ่งในวงสนทนานั้น คือนายชูรสิทธิ์ คงเพ็ชร์ อายุ 36 ปี ลูกชายของนางห้อง หนึ่งในผู้เสียชีวิตดังกล่าว กำลังถามไถ่เพื่อนบ้านมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่มาเยี่ยมในงานศพผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย ถึงสภาพบ้านพักอาศัยที่ถูกเผาวอด ด้วยภาษายาวีอย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งยังถามถึงลูกลิงแสมตัวหนึ่งที่เขาเลี้ยงไว้ เพราะวันนี้เขาไปกล้ากลับไปที่บ้านตัวเองอีกแล้ว

เพื่อนบ้านคือเพื่อนที่โตมาด้วยกันกับชูรสิทธิ์ เพราะครอบครัวของชูรสิทธิ์เข้ามาตั้งรกรากที่หมู่บ้านแห่งนี้มากกว่า 40 ปีแล้ว

ชูรสิทธิ์ เล่าว่า พ่อ แม่ของตน คือ นายชื่อกับนางห้อง เข้าไปอาศัยในหมู่บ้านฮูแตยือลอนี้ โดยการซื้อที่ดินมาจากชาวบ้านที่เข้าไปจับจองที่ไว้ก่อนหน้านั้น จากนั้นมีญาติตามมาอยู่อาศัยในหมู่บ้านนี้ด้วย จึงเป็นคนในหมู่บ้านเพียง 3 หลังที่นับถือศาสนาพุทธ จากทั้งหมด 200 กว่าครัวเรือน

โดยทั้ง 3 หลัง มีทรัพย์สินนอกจากบ้านที่ถูกเผาวอดแล้ว ยังมีที่ดิน 33 ไร่ 12 ไร่ และ 5 ไร่ ตามลำดับ

“ชีวิตความเป็นในหมู่บ้านเป็นปกติ มีการไปมาหาสู่กันฉันท์เพื่อนบ้านทั่วไป ไม่เคยมีปัญหาต่อกัน” ชูรสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่เพื่อนบ้านมุสลิมในวงสนทนา ต่างก็ช่วยกันระบุว่า มีการพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอด ระหว่างชาวบ้านมุสลิมกับชาวพุทธจากบ้านทั้ง 3 หลังนี้ แม้แต่ในวันรายอ (วันสำคัญทางศาสนาอิสลาม) นายชื่นกับนางห้องยังจ้างคนทำตูปะ (เป็นอาหารว่างทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อ) เพื่อเอามาเลี้ยงเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ

“ครั้งหนึ่งตอนที่ชาวบ้านจะตั้งโรงเรียนขึ้นมาในหมู่บ้านก็มีนายชื่นเป็นคนช่วยประสาน เนื่องจากชาวบ้านคนอื่นๆ พูดภาษาไทยไม่ได้” เพื่อนบ้านที่อาวุโสที่สุดในกลุ่มย้อนความหลังให้ฟัง ก่อนจะย้ำด้วยว่า

“เรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่คนนอกเข้ามาสร้างปัญหา ต้องการให้เกิดความแตกแยก เพราะก่อนหน้านี้ 3 วันก่อนถึงวันถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม เจ้าหน้าที่ได้ยิงปะทับกับคนร้ายในหมู่บ้าน ทำให้มีวัยรุ่นตายไป 2 คน ซึ่งทั้ง 2 คนก็ไม่ใช่คนในหมู่บ้าน และก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในหมู่บ้านเลย”

เหตุการณ์ที่ว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2553 โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายคือ นายวาเหะและนายบัคซอรี อารอบีรือเสาะ

แต่สำหรับเหตุล่าสุดที่หมู่บ้านฮูแตยือลอนั้น นับเป็นความโชคดีอย่างสุดๆ ของชูรสิทธิ์ กับภรรยาและลูกอีก 1 คน จากทั้งหมด 3 คน ไม่ได้อยู่ที่บ้าน เพราะได้เดินทางไปร่วมงานศพญาติผู้ใหญ่ที่จังหวัดระนอง

ส่วนลูกอีก 2 คน อยู่ในเหตุการณ์

เด็กหญิงปาลิตา คงเพ็ชร์ อายุ 11 ปี คือลูกสาวคนโตของชูรสิทธิ์ ซึ่งคืนเกิดเหตุเธออยู่กับย่า คือนางห้อง กับน้องชายอายุ 10 ขวบอีก 1 คน

เธอเล่าว่า “มีคนมาเรียกบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้าน ย่าจึงไปเปิดประตูบ้าน เมื่อเข้ามาในบ้านแล้วคนร้ายก็ถามหนูว่า กินข้าวหรือยัง หนูตอบว่ากินแล้ว คนร้ายถามต่อว่า แล้วทำอะไรอยู่ หนูตอบว่า กำลังดูโทรทัศน์ คนร้ายก็ถามอีกว่า พ่อไปไหน หนูก็บอกว่า พ่อไประนอง จากนั้นคนร้ายกันหันกลับจะออกจากบ้านไป”

“แต่เมื่อย่าจะไปปิดประตู คนร้ายก็ดึงประตูไว้ แล้วพูดว่า มีทรัพย์สินอะไรเอาออกมาให้หมด แล้วก็ใช้ปืนยิงย่าจนล้มลง แล้วก็ผลักหนูกับน้องออกไป หนูก็วิ่งไปหลังบ้าน เห็นคนร้ายเข้าไปรื้อของในบ้านแล้วจุดไฟเผาบ้าน”

“จากนั้นมีคนร้ายก็ตามมาคนหนึ่ง หนูกับน้องจึงไปปล่อยหมาที่เลี้ยงไว้ 3 ตัว ให้ออกจากกรง ทั้ง 3 ตัวก็ไปรวมกัดคนร้ายคนนั้นจนเขาวิ่งหนีไป จากนั้นหนูกับน้องก็วิ่งที่บ้านเพื่อนที่เป็นมุสลิม อยู่ที่นั่นจนกระทั่งเที่ยงคืน จึงมีทหารมาช่วยนำตัวออกไป”

เธอพูดต่อว่า “อยากให้ช่วยหาชุดนักเรียนกับหนังสือให้หนูค่ะ เพราะถูกเผาหมดแล้ว”

แต่เมื่อถามว่า อยากกลับไปบ้านอีกไหม เธอได้แต่นิ่งเงียบ ขณะที่ชูรสิทธิ์ผู้เป็นพ่อ บอกว่า คงไม่กลับไปตอนนี้ รอให้เหตุการณ์สงบมากกว่านี้ก่อน แล้วค่อยกลับไป

ชูรสิทธิ์ เล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่าทางบ้านจะเจอเหตุการณ์อย่างนี้ แต่ก็รู้สึกไม่ค่อยดีแล้ว เพราะก่อนหน้านี้เพียง 2 สัปดาห์ พี่สะใภ้ซึ่งอาศัยอยู่ที่ที่บ้านอีกหลังก็ถูกคนร้ายลอบยิงได้รับบาเจ็บมาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สองที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

“คิดว่าน่าจะเป็นการล้างแค้นขอบกลุ่มคนร้ายที่ไม่สามารถตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ได้ จึงหันมาทำร้ายชาวบ้านแทน” ชูรสิทธิ์ กล่าว

ส่วนอนาคตหลังจากนี้จะดำเนินไปอย่างไรนั้น ชูรสิทธิ์ยังให้คำตอบไม่ได้ “ยังไม่ได้คิดอะไรเลย รอจัดการงานศพให้เสร็จก่อน” แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ชูรสิทธิ์กับครอบครัว คงได้อาศัยศาลาวัดเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวไปก่อน

อย่างน้อยก็ไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2553 ซึ่งจะเป็นวันพิธีเผาศพทั้ง 4 ศพ โดยอีกศพหนึ่ง คือ นายชื่น จะถูกเคลื่อนจากวัดกำแพง ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นบ้านเดิมของนายชื่นมา ทำพิธีเผาศพร่วมกับอีก 3 ศพที่วัดบางนรา

ไม่นานวงสนทนาเล็กๆ ก็เริ่มสลาย เมื่อมีแขกทยอยมาร่วมงานศพกันมากขึ้น แต่สำหรับพวกเขาแล้ว ยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้ จะมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนต่างศาสนิกในหมู่บ้านเดียวกันได้อีกเมื่อไหร่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รู้ทันนิรโทษกรรม

Posted: 21 Sep 2010 09:53 AM PDT

หากเรายังจำกันได้เมื่อครั้งจบเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 แล้ว ผู้นำนักศึกษาและประชาชนบางคนถูกตั้งข้อหาในคดีที่เรียกกันว่า “คดี 6 ตุลา” โดยนายสุธรรม แสงประทุม กับพวกรวมทั้งหมด 18 คน ถูกตั้งข้อหาว่าก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และร่วมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฯลฯ คดีนี้เริ่มต้นที่ศาลทหารโดยมีการฟ้องคดีในวันที่ 25 สิงหาคม 2520

ในตอนแรกลักษณะของการพิจารณาคดีไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานความยุติธรรมแต่อย่างใด เพราะผู้ต้องหาไม่มีสิทธิใช้ทนายความพลเรือนในการปกป้องตนเอง แต่หลังจากมีการรณรงค์เรียกร้องทั้งภายในและภายนอกประเทศในเรื่องนี้ และหลังจากที่รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกล้มไปโดยการรัฐประหารที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาในอีกหนึ่งปีถัดมา ลักษณะของคดีในศาลก็เปลี่ยนไปและมีการยินยอมให้แต่งตั้งทนายความพลเรือนสำหรับฝ่ายจำเลยได้

แต่การณ์กลับปรากฏว่าแทนที่คดี 6 ตุลา จะเป็นการพิสูจน์ความผิดของฝ่ายจำเลยโดยฝ่ายรัฐ ตัวฝ่ายรัฐเองกลับกลายเป็นจำเลยที่แท้จริงต่อสังคม นอกจากรัฐจะไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้แล้ว คดีนี้กลายเป็นเวทีในการนำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ออกมาประกาศต่อสาธารณะ นอกจากนั้นตั้งแต่วันแรกของการขึ้นศาล คดีนี้กลายเป็นเวทีของประชาชนในการประท้วงภายนอกศาลในเรื่องสิทธิเสรีภาพอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องรีบประกาศนิรโทษกรรมผู้ต้องหาทั้งหมดในวันที่ 15 กันยายน 2521 ก่อนที่ข้อมูลอื่นๆ จะออกมาสู่สาธารณะและจะวกกลับมาเล่นงานตนเองและเจ้าหน้าที่

เหตุผลในการประกาศกฎหมายนิรโทษกรรมในคราวนั้น คือ โดยที่รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด

ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดกรณีพฤษภาอำมหิตขึ้นในปี 2553 นี้ จึงได้มีความพยายามที่จะยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาอีกด้วยเหตุผลในทางลึกก็คือเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วย่อมต้อมมีการอ้างพยานหลักฐานต่างๆ นานาขึ้นมาต่อสู้กันในศาล ซึ่งย่อมที่จะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ฝ่ายรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่าย ศอฉ.จะต้องกลับกลายมาเป็นจำเลยของสังคมดังเช่นกรณี 6 ตุลาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ร่างกฎหมายที่รอการบรรจุวาระนั้น เป็นร่าง พรบ.นิรโทษกรรมผู้ก่อเหตุความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2552 โดยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นผู้เสนอตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2552 และพรรคภูมิใจไทยจะเสนอเพิ่มเติมเข้าไปใหม่แทนร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ไปด้วยโดยใช้ชื่อว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 พ.ศ.....”

โดยให้เหตุผลว่าสืบเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง มีการแบ่งแยกทางแนวความคิด ทำให้เกิดการประท้วง มีการรวมกลุ่มและชุมนุมของประชาชน ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความคิดและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จึงเป็นผลให้มีการกระทำความผิดทางอาญาและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แต่เมื่อได้พิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เห็นว่าประชาชนที่มาร่วมประท้วงเรียกร้องทางการเมืองล้วนแสดงออกทางความเห็นทางการเมืองโดยสุจริต การเกิดหตุการณ์วุ่นวายและนำมาซึ่งความร้ายแรงตามกฎหมายได้ยุติไปแล้ว เพื่อให้ประเทศชาติมีความรักความสามัคคีและรู้จักการให้อภัย จึงเห็นควรออกกฎหมายดังกล่าว โดยมีเนื้อหาที่สำคัญโดยย่อ ดังนี้

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมประท้วงเรียกร้องทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ไม่ว่าจะได้กระทำในกรุงเทพมหานครหรือในต่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรแลไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะที่เป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดทั้งในทางอาญาและทางแพ่งโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 บรรดาการกระทำของเจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการเกี่ยวกับหรือกระทำต่อบุคคลที่ร่วมชุมนุม และได้กระทำขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะผู้ออกคำสั่งหรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดในทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งความผิดทางวินัยโดยสิ้นเชิง

มาตรา 7 โดยผลของการนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ศาลปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องหรือ    คุมขังอยู่และให้พนักงานสอบสวนยุติการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดซึ่งถูกกล่าวหา

มาตรา 8 การนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

โดยในมาตรา 5 ได้บัญญัติให้ไม่มีผลนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เป็นตัวการในการกระทำอันเป็นความผิดในลักษณะความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายไว้ด้วยซึ่งก็เป็นประเด็นปัญหาใหญ่อีกล่ะครับว่าใครคือตัวการตามความหมายนี้

ผมเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คงต้องเข้าสู่สภาดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นในกรณี 6 ตุลา 19 และเนื้อหาคงมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามการแปรญัตติของ ส.ส.และ ส.ว. โดยถึงแม้ว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์จะแสดงละครลิงชิงหลักกับพรรคภูมิใจไทยอยู่ก็ตาม

นอกจากนั้นพรรคภูมิใจไทยยังระดมล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายนี้อีกทางหนึ่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วทำไม่ได้เพราะประชาชนไม่มีสิทธิเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยและหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้ประชาชนเพียง 10,000 ชื่อเท่านั้นก็สามารถเสนอกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องล่าชื่อกันเป็นแสนตามที่พรรคภูมิใจไทยกำลังพยายามทำอยู่นี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาก็คงมีการปะทะกันในทางความคิดกันอย่างหนักไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนหรือสีไหนก็ตาม

จะอย่างไรก็แล้วแต่ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ออกมาแล้วก็ตาม ผมก็ยังยืนยันอีกครั้งว่าผู้ที่รับผิดชอบทั้งหลายไม่สามารถรอดพ้นจากอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ไปได้ เพราะอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถดำเนินการเอาผิดต่อผู้ที่กระทำผิดต่อมวลมนุษยชาติได้ ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายมานิรโทษกรรมเขาเหล่านั้นแล้วก็ตาม ที่สำคัญก็คือคดีประเภทนี้ในศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอายุความ      เสียด้วยสิครับ

-----------------------------

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 21 กันยายน 2553
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ : เวทีกิจกรรมเสื้อแดงเชียงราย 20 ก.ย.

Posted: 21 Sep 2010 09:18 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. กลุ่มเสื้อแดงเชียงรายจัดเวที "20 กันยายน เวทีประชาธิปไตย เลิกทาสทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญา หยุดใส่ร้ายคนเสื้อแดง" นำโดย สมยศ พฤษาเกษมสุข, ดร.สุนัย จุลพงศธร, สส.วิเชียร ขาวขำ, แป๊ะ คนบางสนาน จำนวนมวลชนประมาณ 1000 คน ที่บริเวณลานสวนตุงและโคมฯ จ.เชียงราย

โดยในงานมีคาราวานจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกกลุ่มคนเสื้อแดง นิทรรศการผู้ที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา และมีการเตรียมต้อนรับขบวนคาราวานแรลลี่คนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯ
 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'อภิสิทธิ์' บอกเรื่องตั้ง 'สมคิด' ไม่ควรโยงกระทบศาสนา

Posted: 21 Sep 2010 08:45 AM PDT

'อภิสิทธิ์' บอกจะช่วยเหลือชาวไทยมุสลิมให้มีโอกาสได้ไปแสวงบุญตามหลักศาสนา จากการที่ซาอุฯ งดวีซ่า หลังกรณีแต่งตั้ง 'สมคิด' ยันศาสนาไม่ควรได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

 

 

21 ก.ย. 2553 - ไทยรัฐออนไลน์รายงาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ส.ส. มุสลิม พรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้ พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ. 5 เสียสละเพื่อชาติ แก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบียว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาอยู่ อย่างที่เคยตอบกระทู้ถามในสภาว่า เราต้องปฏิบัติตามกฏหมายของเราเหมือนกัน ตนได้พบกับทางอุปทูตยืนยันไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เป็นปัญหาทางเทคนิค

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางการซาอุฯ บอกว่า เรื่องงดวีซ่าไม่เกี่ยวข้องเหมือนกับเล่นสงครามจิตวิทยา และดึงเรื่องเอาไว้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรากำลังแก้ปัญหาอยู่ มีการประสานงานอยู่ตลอดเวลา จะอย่างไรก็ตามยืนยันว่าชาวไทยมุสลิมควรได้โอกาสไปแสวงบุญประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อ รัฐบาลจะดูแลเต็มที่ และไม่ควรมีใครเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเกมอะไร

เมื่อถามว่า แรงกดดันตอนนี้ตกอยู่ที่ พล.ต.ท. สมคิด จะเป็นธรรมหรือไม่ และถ้าไม่รับตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. จะมีผลช่วยปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าภาพรวมความสัมพันธ์ทั้งหมด รัฐบาลมีหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่ และพยายามให้กระทบชาวไทยมุสลิมให้น้อยที่สุด ยืนยันว่าเรื่องศาสนาไม่ควรได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้.

ที่มา - เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผ่านร่างพ.ร.บ. เงินเดือนครู เตรียมปรับขึ้นเทียบเท่าสายแพทย์ ใช้งบเพิ่ม 2,000 ล้าน

Posted: 21 Sep 2010 08:21 AM PDT

21 ก.ย. 2553 - เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 21 กันยายนว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...  และการปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานฝ่ายนิติบัญญัติ และสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับต่อไป ซึ่งสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ศธ.ได้เสนอให้มีการแก้ไขจากพ.ร.บ.เงินเดือนฯ พ.ศ.2547 ที่เป็นฉบับปัจจุบัน เนื่องจากได้มีการปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการพลเรือนใหม่หลังจากปรับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 โดยมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการพลเรือนใหม่ถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งของข้าราชการประเภทอื่นตลอดจนบัญชีเงินเดือนขั้นสูงและขั้น ต่ำของข้าราชการประเภทอื่นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับอัตราเงินเดือนและโครงสร้างเงินเดือนของข้า ราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉะนั้นจึงต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะฯ ใหม่เพื่อให้เกิดให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับข้าราชการประเภทอื่น ประกอบกับปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย

นายชินวรณ์กล่าวอีกว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 432,942 คน ได้ มีโอกาสปรับโครงสร้างเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ของบัญชีโครงสร้างเงินเดือนเดิม โดยในส่วนของเงินเดือน คศ.5 (ครูและบุคลากรทางการศึกษา 5 ) จะได้รับสูงสุดถึง 66,480 บาท เทียบเท่ากับสายงานแพทย์ สายงานนักกฎหมายและกฤษฎีกา ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน โดยข้าราชการครูครูและบุคลากรตั้งแต่ครูปฏิบัติการจนถึงเชี่ยวชาญพิเศษ จะได้ปรับโครงสร้างเงินเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นคนละ 2000-3000 บาทโดยอัตโนมัติเมื่อร่างพ.ร.บ.เงินเดือนฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ซึ่งการปรับฐานโครงสร้างเงินเดือนครั้งนี้ จะทำให้ใช้งบประมาณเพิ่มเติม  2,000 ล้านบาท

 

เตรียมปรับเพิ่มอีก 5% เม.ย. 54 นี้

โดยรมต.ศึกษาธิการกล่าวต่อว่า จะผลักดันร่างพ.ร.บ.เงินเดือนฯ ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทันสมัยประชุมนี้ เพื่อจะได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายก่อนเดือนเมษายน 2554 ทั้งนี้ เพื่อจะได้ใช้เป็นฐานโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ซึ่งจะได้มีการปรับฐานโครงสร้างเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ในเดือนเมษายน 2554 ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการทุกประเภทร้อยละ 5 ในเดือนเมษายน 2554  

นายชินวรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ที่แนบท้ายร่างพ.ร.บ.เงินเดือนฯ (ฉบับที่...) พ.ศ....   ดังนี้ ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 บาท ขั้นต่ำ 8,700 บาท ขั้นสูง 16,840 บาท, คศ.1 ขั้นต่ำชั่วคราว 8,130 บาท ขั้นต่ำ 11,930 บาท ขั้นสูง 29,700 บาท จากอัตราบัญชีเดิมในปัจจุบัน ครูผู้ช่วยขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 บาท ขั้นต่ำ 11,930 บาท ขึ้นสูง 27,500 บาท, ระดับ คศ. 2 (ชำนาญการ) ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 15,410 บาท ขั้นสูง 36,020 บาท จากเดิม ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 15,410 บาท ขั้นสูง 33,540 บาท , ระดับ คศ. 3 (ชำนาญการพิเศษ) ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 18,910 บาท ขั้นสูง 50,550 บาท จากเดิมขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 18,910 บาท ขั้นสูง 57,450บาท ,ระดับ คศ.4 (เชี่ยวชาญ) เริ่มที่ขั้นต่ำ 23,230 บาท ขั้นสูง 59,770 บาท จากเดิมขั้นต่ำ 23,230 บาท ขั้นสูง 50,550บาท และระดับคศ.5 (เชี่ยวชาญพิเศษ) ขั้นต่ำ  28,550 บาท ขั้นสูง 66,480 บาท จากเดิมขั้นต่ำ 28,550 บาท ขั้นสูง 64,340 บาท

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวด้วยว่า ส่วนบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและครูที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ก.ค.ศ.กำหนด ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีดังนี้ วิทยฐานะชำนาญการ 3,500 บาท ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท เชี่ยวชาญ 9,900 บาท เชี่ยวชาญพิเศษ 15,600 บาท จากอัตราเดิมในปัจจุบันวิทยฐานะชำนาญการ 3,500 บาท ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท เชี่ยชาญ 9,900 บาท และเชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 บาท ส่วนอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มีดังนี้ อาจารย์ ขั้นปฏิบัติการ ปริญญาตรี 7,940 บาท ปริญญาโท 9,700 บาท ปริญญาเอก 13,110 บาท ขั้นสูง 36,020 บาท, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขั้นสูง 50,550 บาท ,รองศาสตราจารย์ขั้นสูง 59,770 บาท, ศาสตราจารย์ ระดับ 9-10  64,340 บาท และระดับ 11  66,480 บาท

 

ที่มา - เว็บไซต์มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเห็นก่อนพ.ร.บ. ความปลอดภัยฯ เข้าสู่สภาวาระที่ 2-3 ในสภาฯ

Posted: 21 Sep 2010 05:26 AM PDT

จากกรณีที่  พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... กำลังจะเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) จึงขอนำเสนอความในใจของสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย และความเห็นจาก บัณฑิต แป้นวิเศษ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิเพื่อนหญิง

 

 



ความในใจสำหรับการเดินทางมายาวนานถึง 17 ปี ของการผลักดัน ร่าง พรบ.สถาบันฯ

สมบุญ สีคำดอกแค
 
การเดินทางมายาวนานถึง 17 ปี ของการผลักดัน ร่าง พรบ.สถาบันฯเพื่อให้เกิดมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ ขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งพวกเรากลุ่มคนป่วยผู้ถูกผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม เราต้องเหนื่อยยากสูญเสีย พลังกาย พลังใจ และ ทุนทรัพย์ ในการเคลื่อนไหวมามากมายยาวนานเกือบตลอดชีวิตของการป่วย รวมทั้งชีวิต พี่น้องเพื่อนผู้ป่วยของเรา พี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ต้องสังเวย ชีวิตเลือดเนื้อมาไม่รู้เท่าไหร่กับการไม่รับผิดชอบต่อสังคมของนายทุนสถานประกอบการ และก็พวกนักการเมืองที่ออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปในทิศทางอุตสาหกรรม ที่คอยทำร้ายชีวิตผู้คนผู้ใช้แรงงาน ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เคยสวยงาม เราถูกกระทำย่ำยีมานานกว่า 50 ปีแล้ว ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างดุเดือดเช่นนี้ ได้กอบโกย เอาความสมบูรณ์ของร่างกายสุขภาพ อวัยวะแขนขา ปอด หัวใจ ร่างกายรวมทั้งชีวิตพี่น้องผู้ใช้แรงงานของเราไปไม่รู้เท่าไหร่

และนี่คือต้นทุน ที่ไม่เคยมีใครมองเห็น ไม่เคยมีใครนึกถึง เขารวยขึ้นขยายกิจการมากขึ้น แต่ชีวิตครอบครัว ตัวคนงานที่ป่วย ต้องจนลง จนมาก จนลงเรื่อยๆ จนมองหาอนาคตไม่เห็น หาความสุขในชีวิตไม่มีเพราะต้องป่วยเรื้อรังจากการทำงาน เราก็ไม่รู้เลยนะว่า ทำไมการเรียกร้องผลักดันองค์กรอิสระเพื่อมาส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหานี้ มันถึงต้องเรียกร้องกันมายาวนานขนาดนี้ ผู้ถูกผลกระทบอย่างพวกเราไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเองสักหน่อย เราเรียกร้องให้ลูกหลานแรงงานของเราในวันข้างหน้า ให้เขามีชีวิตในการทำงานที่ปลอดภัย ทำไมทีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างขึ้นได้เรื่อยๆ ด้วยราคาหลายร้อยล้าน ซึ่งเป็นการรองรับที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นการป้องกันที่ต้นเหตุทำไมรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สนใจไม่สนับสนุน มันเป็นเพราะอะไร อยากให้มีศูนย์คนพิการเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองเพื่อโชว์ชาวโลกหรืออย่างไร ?

วันที่ 22 กันยายน 2553 นี้ จะเป็นทางแพร่งที่ฝ่ายการเมืองจะต้องตัดสินใจเดิน ระหว่างความปลอดภัยและชีวิตที่มีค่าของประชาชนคนทำงาน หรือกลเกมทางการเมือง

วันที่ 22 กันยายน นี้ ที่สภาผู้แทนราษฎร กำลังจะมีการพิจารณาพรบ. ความปลอดภัยที่บรรจุการตั้งสถาบันส่งเสริม ในวาระ 2-3 เราจะรอคอยว่า วันนี้จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกความเลวร้ายอีกครั้งหรือเปล่า ? หรือจะเป็นประวัติศาสตร์ที่พวกเราจะต้องชื่นชมยกย่องที่ สส.ในสภาชุดนี้ยุคนี้มีความเข้าใจความเดือดร้อนและปัญหาของผู้ใช้แรงงาน โดยพร้อมใจกันออกกฎหมายความปลอดภัยที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย

เราขอภาวนาให้วิญญาณของผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานที่ได้สังเวยไปด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ได้โปรดมาดลจิตดลใจ ดลบันดาลใจให้พวก สส.ในสภาทั้งหลายทุกท่าน ได้ตาสว่างร่วมใจกันมีมติผ่านร่างกฎหมาย พรบ. ความปลอดภัย ฉบับนี้ ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้วยเถิด.... เพราะมันเป็นโค้งสุดท้ายจริงๆ รวมทั้ง เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่รักยิ่งทั้งหลายขอให้ช่วยกันส่งใจส่งพลังจิตกันอย่างพร้อมเพียงเพื่อความปลอดภัยของชีวิตพวกเราทุกคน

ขอขอบคุณล่วงหน้า
สมบุญ สีคำดอกแค

ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย
21 กันยายน 2553

“พรบ.ความปลอดภัย อีกหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ ของรัฐสภาไทย ”

บัณฑิต แป้นวิเศษ
มูลนิธิเพื่อนหญิง
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

    เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมาข่าวหน้าหนึ่งหลายฉบับได้พาดหัว การเกิดโศกนาฏกรรมตึกที่กำลังก่อสร้างของมหาวิทยาลัยมศว.บางแสน ถล่มลงมามีแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากกว่า 30 คน มีผู้เสียชีวิต 3 คน นี่เป็นบทเรียนครั้งล่าสุด  ในรอบ17 ปี หลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานครั้งร้ายแรงเป็นอันดับสองของโลกคือโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ตายไป 188 คน บาดเจ็บ 469 ราย  และถ้ารวมผลกระทบจากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่ถูกทำลายจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หรือเขตการพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตะพุดที่ จังหวัดระยอง ที่คร่าชีวิตคนและชุมชนแบบผ่อนส่งอย่างไม่มีทางเลือก เพียงเพราะความต้องการให้ได้มาซึ่งเงินตรา ภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศอุตสาหกรรม

การเรียกร้องด้านสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย ชีวิตและความตายของผู้ใช้แรงงาน ประชาชนและชุมชนจึงเปรียบเสมือนการยืนอยู่บนเส้นด้ายของการพัฒนาที่แทบจะไม่มีอะไรให้เกาะยึดเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายในชีวิตอย่างมั่นคงยั่งยืน ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และภาคประชาชนได้มีการรณรงค์ เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายความปลอดภัย ยกระดับงานด้านอาชีวอนามัย อาชีวเวชศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำงาน และสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะประเด็นการขอให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายที่ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.....” (ฉบับภาคประชาชน)

การร้องขอให้รัฐบาลออกกฎหมายฉบับนี้  ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันใช้รัฐบาลเกือบ 7 ชุด ซึ่งแต่ละรัฐบาลก็ให้คำมั่น สัญญาว่าจะเร่งผลักดันร่างกฎหมายออกมารับใช้พี่น้องผู้ใช้แรงงานประชาชนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการเกิดโศกนาฏกรรมความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน กระทั่งเมื่อกลางปี 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ได้นำร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ....(ฉบับร่างรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน) ผ่านมติคณะรัฐมนตรี และเสนอเข้าการพิจารณาร่างกฎหมาย ชั้นสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 โดยมีการเสนอร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ (ฉบับภาคประชาชน) ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 20 รายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ทั้งสองฉบับ จากทั้งหมด 7 ร่างที่ถูกเสนอเข้ามาโดยผ่านพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีเสียงอยู่ในสภาฯ  โดยที่ผ่านมาได้มีการบรรจุเข้าพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระ 2-3 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 แต่ก็มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางใน หมวด 6/1 เรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ว่าควรเป็นองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน หรือจะเป็นในรูปแบบองค์กรของรัฐรูปแบบใหม่ จนกระทั่งทางสภาได้มีมติให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ความปลอดภัยได้ถอนร่างทั้งฉบับและนำไปแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะหมวด6/1 ซึ่งบัดนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุง เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่14 กันยายน 2553 โดยให้คงไว้ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พรบ.ความปลอดภัยฯที่ยอมรับได้ของภาคประชาชน คือ การบรรจุหมวด 6/1 ว่าด้วย ”ให้มีการจัดตั้งสถาบันฯส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เป็นองค์กรอิสระมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งให้มีวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”เมื่อผ่านร่างพรบ.ฯ ในวาระ 2-3 แล้วนั้น ให้กระทรวงแรงงาน ไปยกร่างกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ องค์กรอิสระรูปแบบมหาชน เป็นต้น

ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2553 ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังจะเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ปีที่ 3  (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นครั้งที่ 2 โดยถูกบรรจุไว้ในวาระการพิจารณาที่ 4.3 ณ วันนี้ ประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายล้านคนและคนในสังคมซึ่งได้ติดตามผลักดันกฎหมายความปลอดภัยฯ ฉบับนี้มาตลอด กำลังจับตามองการทำงานของรัฐสภาอย่างใจจดใจจ่อว่า ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะคำนึงถึงเป้าประโยชน์ของประชาชน คนทำงานที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยจากการทำงานซึ่งเขาทั้งหลายเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ในโอกาสนี้ นักการเมือง พรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน น่าจะพร้อมใจกันใช้การประชุมรัฐสภาครั้งนี้สร้างและบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยการผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัยฯ ที่มีหัวใจอยู่ที่ประเด็น ”การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ” ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ครั้งหนึ่งพวกท่านได้ออกกฎหมายสำคัญต่อการกำหนดชีวิต ความเป็นและความตายของประชาชน และประเทศชาติ

ผมและพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ต้องฝากความหวังกับท่าน สส. ทั้งหลายให้ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย พรบ. ความปลอดภัยที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ให้ผ่านวาระ 2-3 ออกมาให้ได้ เพราะร่าง พรบ. ความปลอดภัยฯ พี่น้องแรงงานได้ร้องขอ และรอคอยมากว่า 17 ปีแล้วครับ ถ้าไม่เร่งให้ผ่านในสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกกี่ชาติ อีกกี่ศพ อีกกี่คนพิกลพิการ

ขอเถอะครับท่านสส. ขอให้ท่านมีส่วนร่วมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องคิดถึงชีวิตคนมากกว่ากลการเมืองและเงินตรา
 


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวเน็ตแห่ลงชื่อ เรียกร้องรัฐกดดันถอนฟ้อง กทช. หวังเดินหน้า 3G

Posted: 21 Sep 2010 04:38 AM PDT

เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง นำโดย นส.สุภิญญา กลางณรงค์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกันร่างแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมืองสนับสนุนการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมเพื่อประชาชน กรณีการประมูลสามจี และเปิดให้ผู้ที่เห็นด้วยลงชื่อในแถลงการณ์ผ่านทาง http://bit.ly/thai3g-form ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อหลายร้อยคน โดยแถลงการณ์มีเนื้อหา ดังนี้

0 0 0

แถลงการณ์
ขอให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมือง
สนับสนุนการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมเพื่อประชาชน
กรณีการประมูลสามจี

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 2100 หรือ 3G (ประกาศ กทช. ฉบับ PDF) ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะมีการเริ่มต้นประมูลในวันนี้ (20 กันยายน 2553) รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และมีส่วนร่วมในแนวทางดังกล่าวของ กทช. มาโดยตลอด รวมทั้งหลายภาคส่วนในสังคมสนับสนุนแนวทางการประมูลครั้งนี้ ด้วยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย

ทว่าหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มหาชน ได้ดำเนินการฟ้องทางกฏหมายต่อ กทช. เรื่องอำนาจหน้าที่เพื่อจะระงับการประมูล (ข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ) จนนำไปสู่การชะงักงันของการประมูล ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย การฟ้องร้องครั้งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่มีต่อองค์กรอิสระในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ

แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีความซับซ้อนสูง เพราะปัญหาภายในที่สั่งสมมายาวนานของสังคมไทย แต่ทุกอย่างย่อมแก้ไขได้ด้วยเจตจำนงทางการเมือง ดังนั้นผู้มีรายชื่อข้างท้ายดังต่อไปนี้

ขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่อกรณีการประมูลสามจีที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้รัฐบาลเจรจากับผู้บริหาร กสท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับ เพื่อพิจารณาทบทวนการฟ้องร้อง กทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การประมูลเดินหน้าไปได้

  2. ขอให้รัฐบาลมีแนวทางในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อแก้ปัญหาของทั้งสองหน่วยงาน ที่จะได้รับผลประทบจากการประมูลสามจี สำหรับทางออกในระยะยาว

  3. ในขณะที่ กทช. เดินหน้าเรื่องการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคม ขอให้รัฐบาลและรัฐสภาผลักดันกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เป็นอิสระเพื่อมาปฏิรูปกิจการกระจายเสียงต่อไป

เราเห็นว่าการประมูลสามจีภายใต้เงื่อนไขของ กทช. ครั้งนี้ จะนำไปสู่การปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. การประมูลครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิรูปกิจการโทรคมนาคม จากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ภายใต้การกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันเสรีตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

  2. การประมูลครั้งนี้จะนำไปสู่กระบวนการปฏิรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการปรับตัวในเรื่องประสิทธิภาพของการบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคม

  3. การประมูลครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อกระจายการเข้าถึง เทคโนโลยีสารสนเทศออกไปในชนบท ลดช่องว่างทางเทคโนโลยี (digital divide) ในสังคม (ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์พื้นฐาน 10.37% อินเทอร์เน็ต 25.80% ในขณะที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือ 122.57%)
    รัฐจะได้ประโยชน์จากรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่ กทช. ต้องนำส่งเข้ารัฐเต็มจำนวน โดยไม่ถูกหักรายทางเหมือนระบบสัมปทาน

  4. ถ้าการประมูลครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ต่อสายตาคนไทยและชาวโลกด้วยความโปร่งใสมากที่สุด จะช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการทุจริต การสมยอมได้

ดังนั้น พวกเราตามรายชื่อข้างท้ายนี้เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมือง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคม ด้วยการให้ กสท.ยุติการดำเนินการทางกฏหมายต่อ กทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การประมูลสามจีเดินหน้าไปได้ และก่อประโยชน์ร่วมของสังคมไทย
 

                                                                           ด้วยความหวังที่จะได้เห็นการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมไทย

 

ร่วมลงชื่อได้ที่ http://bit.ly/thai3g-form
ดูรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนได้ที่ http://bit.ly/thai3g-name

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลขาฯ สรส.ยื่นหนังสือองค์กรต่างชาติ ร้องรัฐบาลให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนฯ

Posted: 21 Sep 2010 04:35 AM PDT

เนื่องด้วยวันนี้ (21 ก.ย. 2553) เวลา 10.00 น. นายสาวิทย์ แก้วหวาน (เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน เรื่อง "ความเห็นตามธรรมนูญองค์การแรงงานระหว่างประเทศข้อ 23 ต่อกรณีที่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตาม พันธกรณีที่มีอยู่ตาม อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 (อ.ที่ 19)" ถึง คุณคลีโอพัตรา ดัมเบีย เฮนรี ผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานแรงงานองค์การระหว่างประเทศ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกระเบียบที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือร้องเรียนระบุว่า "ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 19 ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2511 แต่ขณะนี้ กลับปฏิเสธไม่ให้แรงงาน ข้ามชาติจากประเทศพม่าซึ่งบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานในประเทศไทยหรือผู้อยู่ในอุปการะของแรงงานเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในเรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุจาก การทำงานเฉกเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อแรงงานสัญชาติไทย"

โดยระบุอีกว่า จากข้อมูลที่รวบรวมไว้โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) แสดงให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ประสบอุบัติเหตุ จากการทำงานถูกปฏิเสธการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็น หน่วยงานภายใต้สำนักงานประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ “แรงงาน” ทุกคนในกรณีที่ประสบ อุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมถึงมีการกีดกันนายจ้างไม่ให้จ่ายเงินทดแทน ทั้งยังยกตัวอย่างกรณี นางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานก่อสร้างหญิงชาวไทยใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่าประสบอันตรายในขณะที่กำลังทำงานในสถานที่ก่อสร้างเมื่อปี 2549 มาเป็นกรณีตัวอย่าง

นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ ที่เรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อสิทธิของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายแรงงานไทยได้บัญญัติให้ลูกจ้างทุกคนอย่างไม่แบ่งแยกและถือเป็นการปฏิบัติตามหลักการอันสำคัญของอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 ซึ่งประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี 2511 และเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้

 


 

แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครอง รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม
อนุสัญญาองค์การแรงงานประเทศ ฉบับที่ 19

 

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 19 ว่าด้วย “การว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนสำหรับคนงานชาติในบังคับและคนงานต่างชาติ” เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2511 โดยสาระสำคัญกำหนดให้ประเทศสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ดำเนินการอนุญาตให้ชนในชาติของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ หรือผู้มาพำนักอาศัย ผู้ซึ่งได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เนื่องจากอุบัติเหตุในงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนของตน ได้รับการปฏิบัติในเรื่องค่าทดแทนของคนงานเช่นเดียวกับที่มีให้ต่อคนในชาติของตน โดยปราศจากเงื่อนไขในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ในทางปฏิบัติและความเป็นจริง แรงงาน ข้ามชาติจากประเทศพม่าซึ่งบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานในประเทศไทย กลับถูกปฏิเสธจากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติได้ โดยอ้างเหตุผลบางประการ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติในเรื่องการได้รับเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุจาก การทำงานเฉกเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อแรงงานสัญชาติไทย ซึ่งขัดต่อหลักการอันสำคัญของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ให้สิทธิประโยชน์ในเงินทดแทนสำหรับแรงงานข้ามชาติ จาก ประเทศพม่า

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้หยิบยกเอาประเด็นของนางหนุ่ม ไหมแสง ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาทำการรณรงค์และผลักดันให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้การตอบสนองจากหน่วยงานและรัฐบาลไทย สรส.ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานโลก (International Trade Union Confederation : ITUC) ได้ยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ด้านมาตรฐานแรงงาน ในการประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศสมัยที่ 98 เมื่อปี 2552 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และเรื่องดังกล่าวได้ถูกนำไปพิจารณาในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการมีผลบังคับอนุสัญญา และคณะกรรมการฯได้รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ในการประชุมสมัยที่ 99 ปี 2553 และเสนอต่อรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ 19

แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางและถูกแสวงประโยชน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งใน สังคม เมื่อเทียบกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ พวกเขาทำงานในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก อันตราย สกปรก ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย จากการทำงานบ่อยครั้ง แรงงานเหล่านี้หนีภัยจากสถานการณ์ความขัดแย้งทาง การเมืองและเศรษฐกิจที่เลวร้ายในประเทศพม่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มสพ.บันทึกกรณีอุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานพม่ากว่า 200 กรณี  ซึ่งมาจาก 2 จังหวัด  ในจำนวน 77 จังหวัดของประเทศไทย แม้ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ แต่อาจประมาณการได้ว่า แรงงานข้ามชาติพม่าหลักพันประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในแต่ละปี และยังมีอีกหลายคนทุกข์ทรมานอยู่ หรือจะประสบปัญหาโรคจากการทำงานในอนาคต 

การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวรัฐบาลไทยได้สร้างระบบเงินทดแทนอุบัติเหตุจากการทำงานต่างหากเพื่อรองรับ โดยการใช้ระบบประกันชีวิต เพื่อรับทำประกันแก่แรงงานข้ามชาติโดยบริษัทเอกชน  โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้กำหนด อัตราเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ มิได้สอบถามความเห็นจาก สรส. และตัวแทนแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด

สรส. มีความเห็นว่า แผนการให้มีเงินประกันต่างหากและให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารงาน เพื่อจ่ายเงิน ทดแทนกรณีได้รับอุบัติเหตุ เจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตแก่แรงงานข้ามชาติ (และทายาท) จากประเทศพม่า ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นพัฒนาการที่น่าวิตก เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะเพิกเฉยต่อหลักการ ไม่เลือกปฏิบัติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน มีข้อกังขาที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เนื่องจากความไม่โปร่งใส และไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายว่า สิทธิประโยชน์จากระบบประกันเอกชนที่วางแผนไว้ อาจน้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างไทยได้รับจากกองทุนเงินทดแทน สรส. ถือว่าแผนการดังกล่าวละเมิด พระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่กำหนดให้ “ลูกจ้าง” มีสิทธิเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน โดยไม่จำกัดสัญชาติ

ดังนั้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) จึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อสิทธิของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายแรงงานไทยได้บัญญัติให้ลูกจ้างทุกคนอย่างไม่แบ่งแยกและถือเป็นการปฏิบัติตามหลักการอันสำคัญของอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 ซึ่งประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี 2511และเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคต ที่จะไม่ให้นานาชาตินำประเด็นนี้มากล่าวหาประเทศไทยว่าแสวงประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ทุกข์ยากเข้ามาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า อันจะทำให้ประเทศไทยอาจถูกปฏิเสธการยอมรับจากประชาคมโลก
 


สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
21 กันยายน 2553

 


 

AttachmentSize
Migrant Compensation _Fact Sheet_Thai.pdf547.54 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

รายงาน: ปากคำผู้ถูกควบคุม‘ผมถูกซ้อมในค่ายทหาร’

Posted: 21 Sep 2010 02:45 AM PDT

 
 
 
 
กรณีการตายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ของนายสุไลมาน แนซา เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยังกลายเป็นที่โจทย์จานของสังคม ทำให้เป็นที่สงสัยว่า สถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แห่งนี้มีการซ้อมทรมานซึ่งนำมาสู่การตายดังกล่าวหรือไม่
 
ต่อไปนี้ เป็นคำบอกเล่าจากปากของนักศึกษาในสถาบันการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้หนึ่งถึงประสบการณ์ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหารอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีเมื่อไม่นานมานี้
 
.............................................
 
ตอนนั้น เวลาประมาณ 08.30 . พวกเรานักศึกษาราชภัฏยะลา 6 คน และเพื่อนที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาอีกหนึ่งคนกำลังนอนอยู่ในหอพักแห่งหนึ่ง ในตัวเมืองยะลา ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดล้อม
 
ก่อนจะเข้าควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตะโกนให้มอบตัวหลายครั้ง แล้วก็สั่งให้เราเปิดประตูเมื่อนักศึกษาเปิดประตูเจ้าหน้าที่สั่งให้หมอบเอาปืนจี้หัวพวกเรา บอกให้ถอดเสื้อพร้อมกับสั่งให้ยกมือขึ้น
 
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการปิดล้อมตามกฎอัยการศึกจากนั้นได้ถามชื่อพวกเราทั้งหมด แล้วสั่งให้ออกไปข้างนอกระหว่างที่กำลังเดินออกไป พวกเราถูกเจ้าหน้าที่เตะต่อยทุบตีไปตลอดทาง พอออกไปนอกหอพักเจ้าหน้าที่สั่งให้นักศึกษานั่งคุกเข่าเป็นแถวหน้ากระดานพร้อมกับบอกให้ทุกคนรับสารภาพพร้อมกับเข้ามาเตะตีชกต่อย
 
ช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นภายในห้องพบกระดาษที่มีข้อความภาษายาวีในตู้เสื้อผ้าของนักศึกษาคนหนึ่งเจ้าหน้าที่ถามว่าเป็นตู้เสื้อผ้าของใครผมรับว่าเป็นของผม พวกเขานำผมกลับเข้าไปในห้องอีกครั้ง คราวนี้ให้ผมนั่งตรงกลางห้องมีเจ้าหน้าที่ 5 คนยืนล้อมรอบเจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกให้ผมรับสารภาพผมบอกว่าผมไม่รู้เรื่องอะไร
 
หลังจากนั้น ผมก็ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมโดนเตะต่อยถีบอยู่กลางวงล้อมของเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 คนผ่านไปประมาณ 15 นาที ผมทนไม่ไหวอ่อนแรงทรุดตัวลงนอนที่พื้น
 
ประมาณ 09.30 เจ้าหน้าที่ได้นำพวกเราทั้ง 7 คนไปที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 11 (ฉก.11) หลังโรงเรียนพาณิชยการยะลา ระหว่างเดินทางเจ้าหน้าที่ขับรถเร็วมาก แถมยังท้าให้พวกเราทั้ง 7 คนกระโดดลงจากรถ
 
พอถึงหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 เจ้าหน้าที่ให้นำพวกเราทั้ง 7 คนลงจากรถพร้อมกับทุบตีเตะ ต่อยไปด้วย ต่อมาก็เอาท่อนไม้ห่อด้วยผ้าแล้วทุบตีพวกเราทุกคน ตรงบริเวณหลังและหัว ผมเองถูกเจ้าหน้าที่เตะจนปากแตก
 
พอเที่ยงๆ เจ้าหน้าที่นำพวกผมทั้ง 7 คน ไปทิ้งกลางแดด โดยให้นั่งคุกเข่า แล้วเอาข้าวมาให้กินช่วงนั้นฝนตกลงมาพอดีพวกเราทั้งหมดต้องกินข้าวกลางฝน
 
เสร็จจากกินข้าว เจ้าหน้าที่ได้เอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาโชว์รูปภาพบุคคลต่างๆ มาให้นักศึกษาดูพร้อมกับบอกว่านี่คือผู้ก่อการร้ายถามว่ารู้จักไหม มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนำผมไปหลังรถแล้วเอาปืนมาจี้ที่หัวบอกให้รับสารภาพแต่ผมเงียบ
 
พอเวลาประมาณ 13.30 . เจ้าหน้าที่ได้นำนักศึกษาทั้ง 7 คนไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานีพอถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเจ้าหน้าที่ได้สอบประวัติพวกเราทั้ง 7 คนอย่างละเอียด จากนั้นนำไปแยกขังห้องละ 2 คนภายในห้องมีห้องน้ำแต่น้ำไม่ไหลมีพัดลมเปิดไฟให้แสงสว่างตลอด พวกเราไม่สามารถปิดไปได้ เนื่องจากสวิตช์อยู่นอกห้อง
 
วันที่ 2 ของการควบคุมตัวผมถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปซักถามเจ้าหน้าที่บอกให้ถอดเสื้อและปิดตาแล้วถามว่าจะยอมรับสารภาพหรือไม่ผมเงียบอีก ระหว่างซักถาม ผมถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมไปด้วย ผมถูกทุบตีเตะถีบจนหมดแรง
 
นับแต่นั้นมา ผมก็ถูกจับแยกให้พักคนเดียวในห้องปรับอากาศมีลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมเหมือนห้องเย็น ผมถูกขังในห้องนี้ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น ถึงตี 4 เป็นเวลา 1 คืนช่วงกลางดึกคืนนั้นเจ้าหน้าที่นำผมไปซ้อมอีกครั้งพร้อมซักถามไปด้วย พวกเขามัดตัวผมไว้กับเสา
 
จากนั้นเจ้าหน้าที่จับให้นั่งคุกเข่าใต้โต๊ะแล้วเอายางในมอเตอร์ไซค์มารัดที่คอตอนนั้นหายใจไม่ออกสักพักหนึ่งก็เอาสายไฟที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่รถยนต์มาจี้ฝ่าเท้า จนผมสะดุ้งเพราะถูกไฟช็อตระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย 2–3 คน
 
เมื่อถูกนำตัวกลับห้องขัง ก่อนเข้าห้องเจ้าหน้าที่สาดน้ำใส่ผมจนเปียกไปทั้งตัวแล้วเอาเข้าห้องเย็น ผมหนาวตัวสั่นไปหมด จนไม่รู้สึกตัวกระทั่งตี 4 เจ้าหน้าที่จึงนำผมไปขังที่ห้องขังที่ขังผมคืนแรก
 
พวกเราทั้ง 7 คนถูกควบคุมตัว 9 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่นำพวกเราไปปล่อยที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา ในตอนเที่ยงคืน ตอนนั้นแต่ละคนไม่รู้ชะตากรรมของแต่ละคนเลยว่าใครโดนอะไรกันมาบ้าง
 
เท่าที่ผมทราบการซ้อมทรมาน ในลักษณะเดียวกับที่ผมโดน เกิดขึ้นอยู่ตลอด เคยมีคดีฟ้องศาลแพ่ง ระหว่างนายอิสมาแอ เตะ นายอามีซี มานาก เป็นโจทก์ ฟ้องกองทัพบก กระทรวงกลาโหม เป็นจำเลย เรื่องละเมิด
 
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มิใช่เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงานตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา แต่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงส่งเรื่องให้ศาลปกครองกลางพิจารณา
 
ต่อมา ศาลปกครองกลางได้ส่งเรื่องให้ศาลปกครองสงขลาดำเนินการ ขณะนี้คดีนียังอยู่ที่ศาลปกครองสงขลา
 
……………………………..
 

คำสั่งศาลแพ่ง
ซ้อมทรมานต้องขึ้นศาลปกครอง
 
ต่อไปนี้เป็นคำสั่งศาลแพ่ง ในคดีที่นายอิสมาแอ เตะ โจทก์ที่ 1 นายอามีซี มานาก โจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม จำเลย ในคดีความแพ่ง ในความผิดละเมิด เป็นเงินกว่า 3.4 ล้านบาท ดังนี้

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่
27 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 เจ้าหน้าที่ทหารพราน เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยฉก.ที่ 11 และเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสอง ได้จงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ด้วยการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกายและยึดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายร่างกาย จิตใจ อนามัย สิทธิและเสรีภาพ

การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่หารพราน และเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของจำเลยทั้งสอง เป็นการกระทำตามหน้าที่ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่บังคับบัญชา และควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารพราน และเจ้าหน้าที่ทหารใต้บังคับบัญชา และหน่วยงานของรัฐ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด ที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนแรกเป็นเงิน
1,736,000 บาท โจทก์สำนวนที่สองเป็นเงิน 1,717,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเยียวยาความเสียหาย ที่โจทก์ทั้งสองได้รับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด

ก่อนศาลชี้สองสถาน จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลปกครองกลาง โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลแพ่งทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครองกลางตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.
2542 มาตรา 10

โจทก์คัดค้านว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้มิใช่การเรียกร้องจากการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงาน ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และเหตุละเมิดก็มิได้อยู่ในระหว่างขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีประมวลวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ แต่เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.
2547 อันเป็นกฎหมายเฉพาะและเป็นอำนาจฝ่ายทหาร ให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ทั้งเหตุละเมิดคดีนี้ก็เกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิด หรือการรับอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (3)

จึงมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้รอการพิจารณาคดีนี้ชั่วคราว และได้ส่งความเห็นนี้ไปยังศาลปกครองกลาง เพื่อพิจารณาความเห็นและดำเนินการตามนัยมาตรา
10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542

ความเห็นของศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามหนังสือที่อ้างถึงศาลแพ่ง ได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ความเห็นที่ 10/2552 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ตามมาตรา 10 แห่งราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 108/2552 ระหว่างนายอิสมาแอ เตะ โจทย์ กองทัพบกที่ 1 กับพวก รวม 2 คน จำเลย ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 109/2552 ระหว่าทางนายอามีซี มานาก โจทก์กองทัพบกที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย เพื่อให้สำนักงานศาลปกครองกลางพิจารณา

สำนักงานศาลปกครองกลาง ได้ส่งเรื่องให้ศาลปกครองสงขลา ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ทำความเห็นต่อไป
 
หมายเหตุ ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสงขลา
 

 
 
 
 
 
พล.ท กสิกร คีรีศรี
เราต้องเชื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
 
ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนแล้วแต่ตกอยู่บนบ่าของ “พล.ท.กสิกร คีรีศรี” อดีตผู้บัญชาการกำลังผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามการสู้รบ หรือในค่ายทหาร
 
ล่าสุด การเสียชีวิตของนายสุไลมาน แนซา ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในศูนย์สมานฉันท์ฯ ท่ามกลางความคลางแคลงใจของผู้คนหลายฝ่าย กระทั่งตกเป็นข่าวอื้อฉาว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นายพลผู้นี้ ต้องแอ่นอกรับหน้า ต่อไปนี้เป็นความในใจของ พล.ท.กสิกร คีรีศรี ต่อกรณีที่เกิดขึ้นไม่นาน ก่อนที่เจ้าตัวจะย้ายไปรับต่ำแหน่งใหม่ไม่นาน
 
....................................................
 
หลังจากนายสุไลมาน แนซา ฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอในห้องขังศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ก็มีการออกข่าวไปพอสมควร
 
ตอนนี้ กรณีการตายของนายสุไลมาน แนซา ถูกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วทางฝ่ายทหารได้ให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าเป็นหมอ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาตรวจสอบอย่างเปิดเผย
 
รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่สนใจติดตามเรื่องนี้ ตั้งแต่องค์พัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ไปจนถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ตอนแรกก็ไม่มีอะไร ไม่มีใครติดใจ แต่ตอนหลังก็ประเด็นเพิ่มเติมขึ้นมา กลายเป็นเรื่องโน้นเรื่องนี้
 
ทางเราเองไม่มีอะไรปิดบัง เพราะทั้งหมดมันเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง เราสามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ
 
อย่างประเด็นข้อสงสัยที่ว่า ทำไมเลือดออกทางนี้ ทำไมคอถุงพับ ในห้องขังไม่น่าจะผูกคอตายได้ รวมทั้งประเด็นข้อปลีกย่อยอื่นๆ ล้วนเป็นประเด็นความเห็นแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งทุกประเด็นหมอสามารถอธิบายด้วยวิทยาการทางการแพทย์ได้
 
จนถึงวันนี้ ทางกองทัพก็ยังคงยืนยันว่า เป็นการผูกคอตาย เพราะสถานที่เกิดเหตุมีคนเยอะ ไม่มีใครกล้าไปทำให้คนตายในสถานที่แบบนั้น มีห้องอยู่ติดๆ กันไปหมด ถ้าเกิดอะไรขึ้นได้ยินกันไปทั่ว
 
พอเกิดเหตุผูกคอตาย ทางฝ่ายทหารไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเอง เราแจ้งเจ้าหน้าตำรวจ และทุกฝ่ายเข้ามาดำเนินการสอบสวน ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการไปตามขั้นตอนของการทำคดี ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องการจะตรวจสอบก็เข้ามา
 
ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการเสียชีวิต นายสุไลมาน แนซา ที่มีการแต่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบการเสียชีวิตของนายสุไลมาน แนซา ผมไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร คำสั่งนี้ไม่ได้มาจากกองทัพ
 
ถึงตอนนี้ใครจะเข้ามาตรวจสอบ เราพร้อมให้ตรวจสอบ เพราะในวันเกิดเหตุมีคนมาก มีเจ้าหน้าที่อยู่หลายชุดมาก
 
การผูกคอตายของนายสุไลมาน แนซา อาจเกิดจากความกดดันก็อาจเป็นไปได้ แต่ใครจะเป็นผู้ยืนยัน ฝ่ายที่ยังสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุการตาย จะต้องฟังผู้เชี่ยวชาญอย่างหมอ ต้องยอมรับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
 
ถ้ายังตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างนี้ เป็นไปได้อย่างโน้น เรื่องจะไม่จบ เราต้องเชื่อหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญ เรื่องนี้มันพูดยาก เนื่องจากตอนเกิดเหตุการณ์ไม่มีใครรู้เห็น ไม่มีใครอยู่ในเหตุการณ์
 
สำหรับการจับกุมนายสุไลมาน แนซา มีความเป็นมาอย่างไร ผมจำไม่ได้ ถ้าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็ส่งมาควบคุมที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์นี้ได้เลย
 
ในการควบคุมตัว บางทีเราก็ใช้ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ขอออกหมายจับ ถ้าพิจารณาแล้วจะเกิดประโยชน์มากกว่า แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้กฎอัยการศึก นำตัวมาควบคุมซักถาม 7 วัน จากนั้นอาจพิจารณาควบคุมตัวต่อไปอีก 30 วัน หรือไม่ก็ควบคุมตัวโดยใช้อำนาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยส่งมาควบคุมที่ศูนย์สมานฉันท์แห่งนี้
 
ตอนนี้ไม่มีการบังคับหรือการซ้อมทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ เพราะทุกคนรู้อยู่ว่า หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการการควบคุมตัว คนที่ถูกซ้อมทรมานจะได้รับการปล่อยตัว หลังจากนั้นอาจถูกฟ้องศาล
 
สังเกตได้ว่า สมัยก่อนใครซ้อมทรมาน จะถูกแจ้งความดำเนินคดี ถูกฟ้องร้อง พอมาช่วง 2–3 ปีมานี้ ไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี ไม่มีการฟ้องร้องในคดีซ้อมทมาน เพราะเจ้าหน้าที่กลัวถูกคดี เพราะเจ้าหน้าที่ทำผิด ระหว่างอยู่ในคดีก็จะถูกสั่งพักราชการ ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะถูกจำคุก ถูกออกจากราชการ
 
ทุกวันนี้มีคนจับตามองมากขึ้น ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มองค์กรต่างๆ มีการตรวจสอบ
จากบุคคลภายนอก ขณะเดียวกันญาติก็สามารถเข้ามาเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ตลอด
 
ถ้าไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เราจะมีสถานที่เยี่ยมญาติ บางวันคนมาเยี่ยมกันเต็มไปหมด แต่เข้าไปเยี่ยมถึงสถานที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าเราจะให้ญาติเข้าไปดูข้างในทีหนึ่ง 30–40 คน มันแออัดดูไม่เหมาะสม แต่ถ้ามีข้อสงสัยขอเข้าไปดู คงไม่มีปัญหา
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: อุดมการณ์กับยุทธศาสตร์

Posted: 21 Sep 2010 01:35 AM PDT

และแล้ว “วันแดงเดือด” ก็ผ่านไปอย่างสงบ มีแค่แฟนหงส์แดงดีใจเก้อ กระโดดโลดเต้นจนผับถล่มทับพิธีกรสาวหัวแตกคอเคล็ด

มวลชนเสื้อแดงออกมาแสดงพลังต่อต้านอำนาจรัฐประหารอย่างสันติ มีพลัง พร้อมเพรียง และมากมายกว่าที่ถูกปรามาสไว้ว่าจะมีแค่หลักพัน โดยเฉพาะที่ “ราชประสงค์” ซึ่งแม้แต่ฝ่ายผู้จัดเองก็คงไม่คาดคิดว่าจะมีคนมาขนาดนี้

สื่อที่เตรียมจะเย้ยหยันปรามาสยังต้องกลับไปเปลี่ยนพาดหัวข่าวใหม่ เช่นหันไปเย้ยว่า “พับเพียบชุมนุม” คงขัดใจที่ม็อบไม่ “ถ่อย” อย่างตัวเองเตรียมประณามไว้

การรวมพลังครั้งนี้แสดงจุดยืนของมวลชนเสื้อแดงที่พร้อมต่อสู้ถึงที่สุด แม้อยู่ในบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวย กระแสต่ำ อำนาจจารีตนิยมครอบงำแทบทุกปริมณฑล ข้อกล่าวหาร้ายแรงว่อนสะพัด

การรวมพลังครั้งนี้แสดงจุดยืนของมวลชนเสื้อแดงที่พร้อมต่อสู้อย่างเป็น ตัวของตัวเอง ไม่แยแสว่าจะมีการ “ปรองดอง” กันอย่างไร ทักษิณจะถอยหนีไปไหน หรือพรรคเพื่อไทยจะเละตุ้มเป๊ะอย่างไร

มวลชนเสื้อแดงออกมาโดยไม่ต้องมีศูนย์การนำที่ชัดเจน ไม่ต้องมีแกนนำ นปช. ไม่ต้องมีทักษิณ จตุพรโผล่ไปร่วมที่เชียงใหม่ แต่ก็เป็นแค่หนึ่งในผู้คนหลากหลาย คนที่จุดประกายการนัดหมาย อย่าง บก.ลายจุด หรือสมยศ พฤกษาเกษมสุข คือคนที่ไม่ยอมขึ้นเวทีราชประสงค์ร่วมกับแกนนำ นปช.ตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา

แน่นอนเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มวลชนบางส่วนอาจเสียขวัญกำลังใจ ทดท้อ แนวร่วมหนีหาย ภายหลังการประโคมข้อหาก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ผิดพลาดของแกนนำ แต่ในสภาพที่ “กระแสต่ำ” เช่นนี้ ต่ำจนเกือบถึงขีดสุด และฝ่ายตรงข้ามก็กำลังอยู่ในกระแสสูงจนถึงขีดสุด การที่ยังมีมวลชนเหนียวแน่น “ของจริง” เป็นหมื่นๆ คนกล้าออกมาแสดงพลัง รวมทั้งการที่มีนักกิจกรรม นักวิชาการ นิสิตนักศึกษาสถาบันต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวอย่างหลากหลาย ก็แสดงว่าพลังประชาธิปไตยยังมีรากฐานที่เข้มแข็ง และพร้อมจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่เหลือตอนนี้ก็เพียงแต่ต้องปรับทัพจัดขบวนใหม่ ทั้งในแง่ของการนำและความคิด

อุดมการณ์สูงสุด

หลายวันก่อนผมมีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนพ้อง เขาพูดได้ถูกต้องและถูกใจว่า ขบวนคนเสื้อแดงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่จะเอาชนะ แม้แต่ภาพของ “ชัยชนะ” ก็ยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไร

การกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีจะต้องมาจากอุดมการณ์ของการต่อสู้ ว่าอะไรคืออุดมการณ์อันสูงสุด สมมติเช่นคุณจะปฏิวัติสังคมนิยม ยึดกิจการทุนนิยมเป็นของรัฐ จะโค่นล้มนั่นโค่นล้มนี่ คุณก็จะมีศัตรูเยอะ มีแรงต้านเยอะ ฉะนั้น คุณก็ต้องต่อสู้เอาชนะด้วยกำลังอาวุธ เพราะถ้าไม่ยึดอำนาจรัฐเด็ดขาด คุณก็ไม่สามารถทำตามอุดมการณ์ของคุณได้

และหลังจากยึดอำนาจรัฐแล้ว คุณก็ต้องใช้อำนาจเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ เพื่อกำราบปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการปฏิวัติสังคมนิยม แต่การปฏิวัติประชาธิปไตยในยุคเริ่มแรกก็เช่นกัน

การปฏิวัติฝรั่งเศส ตามมาด้วยการนองเลือด วุ่นวาย สับสน คดเคี้ยวยาวนาน ไม่ใช่ว่าทลายคุกบาสตีลล์แล้วฟ้าสีทองผ่องอำไพ การปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ โค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ก็เปลี่ยนไปสู่ยุคเผด็จการโดยโอลิเวอร์ ครอมเวล หลังจากครอมเวลตาย จึงเกิดการประนีประนอมสร้างสมดุลแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบ รัฐสภาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ที่แตกต่างจากเรา)

หรือแม้แต่การปฏิวัติ 2475 ความจำเป็นที่ต้องสู้รบกับ “อำนาจเก่า” โดยเฉพาะกบฎบวรเดชในปี 2476 ทำให้ต้องสร้าง “กองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ” จนใหญ่โตเข้มแข็ง แล้วก็กลับมากลืนกินตัวเองกลายเป็นเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย กระทั่งถูก “อำนาจเก่า” กลับมาครอบงำภายหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งคือ 2490 และ 2500

บทเรียนเหล่านี้บอกอะไร บอกว่าถ้าคุณจะปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยความรุนแรง ด้วยกำลังอาวุธ คุณก็จะกลายเป็นเผด็จการ ไม่ได้บรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยที่แท้จริง

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้โทษบรรพชนฝ่ายประชาธิปไตยในอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือคณะราษฎร แต่การปฏิวัติเหล่านั้นเกิดขึ้นท่ามกลางความจำเป็นที่ระบอบเก่าเสื่อมโทรม ล้าหลัง ไร้ประสิทธิภาพ ใกล้จะนำประเทศไปสู่หายนะ หรือกดขี่ประชาชนอย่างร้ายแรง (เช่นในฝรั่งเศส) จนเกิดการลุกฮือ ขณะที่ในยุคสมัยของเราเป็นยุคที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เราไม่จำเป็นจะต้องต่อสู้ถึงขั้นปฏิวัติโค่นล้มระบอบที่เป็นอยู่ แต่เราต้องการ “ปฏิรูประบอบ” เพื่อไปสู่การเคารพกติกา ยึดหลักนิติรัฐ ขจัดการแทรกแซงโดยอำนาจแฝง กองทัพ ตุลาการ และเพิ่มพื้นที่ให้อำนาจประชาชน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปรัฐราชการ และปฏิรูปองค์กรสถาบันสำคัญทั้งหมด ไม่ให้เข้ามาก้ำเกินล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของประชาชน

พูดให้ถึงที่สุด อุดมการณ์อันสูงสุดของเรา ไม่ได้มีอะไรวิเศษเลิศเลอไปกว่าความเป็น “ประชาธิปไตยปกติ” ดังที่เขาใช้กันอยู่ทั่วโลก เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนทุกองค์กรสถาบันอยู่ร่วมกันได้ อย่างสงบ สันติ มีสิทธิเสียง และแสดงความเห็นต่างได้อย่างเท่าเทียม ต่างคนต่างมีอำนาจ ไม่จำเป็นต้องไปโค่นล้มทำลายใคร แต่ต้องมี “สมดุลแห่งอำนาจ” ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบ ต้องตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ตามกติกาประชาธิปไตย มิใช่ใช้อำนาจแฝงแทรกแซงการเมืองการปกครองแล้วลอยตัว

อุดมการณ์อันสูงสุดของเรา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยึดอำนาจแล้วจับสนธิ ลิ้ม มาแขวนคอใต้ต้นมะขาม จับบิ๊กบัง เปรม สุรยุทธ์ อนุพงษ์ ประยุทธ์ ฯลฯ ยัดคุก แล้วไล่อภิสิทธิ์ไปอยู่นิวคาสเซิล เพราะอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องการความเป็นนิติรัฐ ความยุติธรรม ไม่สองมาตรฐาน รวมทั้งต้องการไปสู่ความสงบ สันติ อยู่ร่วมกัน แน่นอนที่วันหนึ่งเราจะต้องเรียกร้องให้มีการชำระสะสางผู้กระทำความผิด ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา มาจนถึงพฤษภาอำมหิต แต่ถ้าเราดูตัวอย่างเกาหลีใต้ คนเกาหลีไม่เคยลืมเหตุการณ์นองเลือดที่กวางจู 16 ปีผ่านไป พวกเขาจับชุนดูฮวาน โรห์แตวู ขึ้นศาล พิพากษาประหารชีวิตและจำคุก หลังจากนั้นจึงนิรโทษกรรม นี่คือการ “ปรองดอง” ที่แท้จริง โดยไม่ลูบหน้าปะจมูก คนผิดต้องรับโทษ แต่นิรโทษได้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนทั้งสองฝ่ายในสังคม

อุดมการณ์อันสูงสุดของเรา จึงน่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้แต่นายทุนใหญ่เล็กหรือคนชั้นกลางที่อยู่ในวิถีชีวิตทุนนิยม ถ้าไม่ใช่เพราะการบิดเบือนปลูกฝังความคิดเกลียดชังนักการเมืองจนพาลเกลียด “ประชาธิปไตยตะวันตก” และหันไปพึ่งอำนาจนอกระบบที่เชื่อว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

นั่นคืออุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อขั้วอำนาจจารีตนิยมได้หน้ากากหล่อๆ ถูกจริตคนชั้นกลางผู้นิยมความฉาบฉวยอย่างอภิสิทธิ์บนโพเดียม

ตรงไหนคือชัยชนะ
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายทางอุดมการณ์ของเรา ที่ต้องการสังคมประชาธิปไตยเต็มใบ มีความเป็นธรรม ยุติธรรม เปิดพื้นที่ให้ต่อสู้ความคิดกันอย่างสันติ ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับการใช้ความรุนแรงหรือใช้กำลังอาวุธ ซึงมีแต่จะถูกต่อต้านในสังคมปัจจุบันที่ “รักสงบ” ไม่ว่าจะรักสงบแบบประชาธิปไตย หรือรักสงบแบบสามานย์ (เอาอะไรก็ได้ขอให้สงบ ไม่ยุติธรรมไม่เป็นธรรมก็ขอให้สงบ แบบ “จ่าแฉ่ง” หรือซูม ไทยรัฐ) แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องปะทะเป็นศัตรูกับ “กระแสรักสงบ” ที่ชนชั้นนำเอามาบังหน้า

“ชัยชนะ” ของเราอยู่ตรงไหน ในทางอุดมการณ์คือสังคมประชาธิปไตยเต็มใบ อาจไม่จำเป็นต้องได้มาด้วยการยึดอำนาจ (และยิ่งไม่ใช่การที่ทักษิณกลับมายึดอำนาจ) แต่อาจได้มาด้วยการกดดัน ต่อสู้ เจรจา ต่อสู้ ปรองดอง-ทั้งทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ และต่อสู้อีก เป็นลำดับขั้น ด้วยสันติวิธีสลับกับการแสดงพลังหรือการต่อสู้เรียกร้องประเด็นต่างๆ สมมติเช่นในทางยุทธวิธีขั้นนื้คือเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินและปล่อยตัวมวลชนที่ถูกจับกุมแบบเหวี่ยงแห (ไม่ใช่นิรโทษกรรมซึ่งจะนิรโทษคนสั่งฆ่าประชาชนด้วย)

การต่อสู้แบบนี้ต้องแน่วแน่ มั่นคง ถึงที่สุด แต่ไม่จำเป็นต้องรุนแรง

จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของเสื้อแดงภายใต้การนำของ นปช.และทักษิณที่ผ่านมา สวนทางกันสิ้นเชิง เพราะมุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างเดียวคือเอาคนมาชุมนุมมากๆ หวังจะให้เกิดการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลและกลับกลายเป็นพ่ายแพ้ทางการเมือง

ที่พูดเช่นนี้มิใช่จะบอกว่าการลุกฮือระเบิดอารมณ์โกรธแค้นชิงชังของมวลชนเสื้อแดงเป็นสิ่งผิด แต่ความคิดชี้นำผิด ยุทธศาสตร์ผิด

ที่ไหนมีแรงกดย่อมมีแรงต้าน การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ความยุติธรรมสองมาตรฐาน การปล้นอำนาจอธิปไตย รวมถึงการบิดเบือนอย่างเลวร้ายหน้าไม่อายของสื่อกระแสหลักและนักวิชาการ ย่อมทำให้มวลชนผู้รักประชาธิปไตยโกรธแค้น มีอารมณ์รุนแรง ต้องการแสดงออก ซึ่งถ้าไม่แสดงออกบ้าง เอาแต่นั่งพับเพียบ มันก็คงไม่ใช่การต่อสู้

เพียงแต่ประเด็นสำคัญที่ยังแก้ไม่ตกคือจะจัดความสัมพันธ์อย่างไรให้ เหมาะสม ระหว่างยุทธศาสตร์การต่อสู้-เพื่อเอาชนะโดยสันติ กับการแสดงออกทางอารมณ์ ที่เป็นธรรมชาติของการต่อสู้ และเป็นขั้นตอนหนึ่งทางยุทธวิธี

เราต้องจัดความสัมพันธ์นี้ให้ได้และให้สอดคล้อง แสดงพลังเพื่อฟ้องให้สังคมได้รับรู้ว่าเราไม่ยอมรับความอยุติธรรม ขณะเดียวกันก็ไม่ข้ามเส้นที่ว่าเราจะเอาชนะโดยสันติ

ที่พูดเช่นนี้ผมไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งอาจเกิดการลุกฮือ หรือวันหนึ่งจะถึงจุดเปลี่ยนแบบแตกหัก แต่ต้องยืนยันว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเลือก หรือจงใจให้เกิด หากจะเกิดมันก็เป็นเพราะชนชั้นนำแข็งขืนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงโดย “ปฏิรูป” และใช้กำลังรุนแรงต่อต้านความพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ

แต่ยุทธศาสตร์หลักของขบวนประชาธิปไตย จะต้องตั้งมั่นไปที่การปฏิรูป ซึ่งเมื่อแปรเป็นยุทธวิธี ก็ต้องสร้างรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลาย การจัดตั้งมวลชนเครือข่ายในปริมณฑลต่างๆ ไม่ใช่คิดแต่จะปลุกความโกรธแค้นให้คนมาชุมนุม เอาชนะทีเดียวเบ็ดเสร็จ เหมือนเสื้อแดงที่ผ่านมา

เช่น ขบวนประชาธิปไตยจะต้อง “ขอคืนพื้นที่” ในปริมณฑลต่างๆ ตั้งแต่พื้นที่ของภาคประชาชน นักวิชาการ นักกิจกรรม ต่อสู้ทำลายล้างพวกเสื้อเหลืองและลัทธิประเวศ ให้คนพวกนี้ “ไม่มีแผ่นดินอยู่” ในเชิงหลักการ

เช่น มวลชนเสื้อแดงจะต้องจัดตั้งกันเป็นเครือข่าย ต่อสู้ในระบบพรรคการเมือง ซึ่งหมายความว่าคุณอาจจะสนับสนุน ส.ส.เพื่อไทยแต่อย่าไว้วางใจจนผูกติดและต้องมีข้อแลกเปลี่ยน หรือไม่ก็ต่อสู้ “ขอคืนพื้นที่” ในการเมืองท้องถิ่น ยึดเก้าอี้ อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบรู้กันว่านี่เราเสื้อแดง แต่ไม่จำเป็นต้องประกาศต่อสาธารณะ แล้วก็ทำงานให้ดี ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน (ถ้า อบต.เป็นเสื้อเหลือง หาเรื่องไล่แม่มเลย-ฮา)

หรือไม่ก็จัดตั้งกลุ่ม องค์กร ประเภทกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มไม่สูบบุหรี่ หลอกของบ สสส.มาเคลื่อนไหวอย่างที่พวกเสื้อเหลืองเขาทำกัน

ทั้งหมดนี้อยู่ที่การคิดดัดแปลงให้เข้ากับสภาพ ใช้เทคนิค ใช้แทกติก และบางทีก็ตุกติกได้ไม่ต้องเถนตรงนัก สมมติเช่นคุณอยากเอาชนะ อบต.แต่คะแนนไม่พอ ก็ขนเสื้อแดงย้ายทะเบียนบ้าน ไม่ผิดกติกา (วิธีนี้พวกผมทำมาแล้ว สมัยปี 17 ฝ่ายก้าวหน้าในธรรมศาสตร์อยากยึดชุมนุมดนตรีไทย ก็ขนพรรคพวกไปสมัครเป็นสมาชิก พอถึงวันเลือกตั้งกรรมการ ไอ้พวกเพลงตับเต่าหงายท้องไปเลย นี่คือจุดกำเนิดของวง “ต้นกล้า”)

สู้กับการแยกสลาย
อุปสรรคสำคัญที่ขบวนประชาธิปไตยจะต้องเผชิญในระยะต่อไปคือ ความพยายามแยกสลายและทำให้กระแสการต่อสู้โทรมลงจนต้องยอมจำนน เหลือแต่มวลชนที่ผิดหวังคับแค้นแต่ทำอะไรไม่ได้

ที่ชัดเจนคือหนึ่ง กระแสข่าวหลายกระแสตรงกันว่ามีการเจรจากับทักษิณ โดยไม่มีใครรู้ว่าเขาเจรจากันอย่างไรในรายละเอียด เพื่อให้ทักษิณถอย ซึ่งดูจากท่าทีที่ออกมา ดูท่าว่าทักษิณจะถอยจริง แถมยังมีข่าว “ปรองดอง” ไปถึงพวกทหารแตงโม ตท.10

ข้อนี้มีด้านดีมากกว่า เพราะทักษิณไม่ถอยขบวนประชาธิปไตยก็ต้องไล่ทักษิณไปอยู่ท้ายแถวอยู่แล้ว ทักษิณนำการต่อสู้แล้วแพ้ทุกที และมวลชนส่วนที่มีคุณภาพก็ “ก้าวข้าม” ทักษิณแล้ว เพียงแต่มวลชนด้านกว้างอาจรู้สึกสูญเสียผู้นำที่เขายึดเหนี่ยว ซึ่งต้องทำงานความคิดกันพอสมควร

ที่อาจมีผลกระทบอีกด้านคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าการเจรจา “ปรองดอง” ต้องการบีบให้พรรคเพื่อไทยถอยไปแค่ไหน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยจะทิ้งมวลชนเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียงและอำนาจต่อรองของตน ก็คงโง่บัดซบ (ไม่แน่เหมือนกัน โง่บัดซบขนาดแห่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งที่มาตรา 237 ยังอยู่) แต่เอาเหอะ ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็หวังพึ่งไม่ได้อยู่แล้ว

สอง ที่สำคัญกว่าคือความพยายามลดทอนกระแสการต่อสู้ เช่น ข้อเสนอนิรโทษกรรมของเนวิน ซึ่งอย่าคิดว่า ปชป.ไม่เอาด้วย อาจจะปากว่าตาขยิบ สังเกตไหมว่าเสธ.หนั่นไปเยี่ยมณัฐวุฒิทำไม

ผมคิดว่าเราไม่ควรปฏิเสธการนิรโทษกรรมทั้งหมด เรายอมรับได้กับการนิรโทษกรรมมวลชน หรือพูดให้ถูก ต้องปล่อยตัว เพราะมีการจับเหวี่ยงแห คนที่อยู่ในเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัด ถูกยัดข้อหาวางเพลิง-ก่อการร้ายหมด ถูกจับกุมคุมขังภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม (พูดก็พูดเหอะ พรรคเพื่อไทยและทักษิณทอดทิ้งมวลชนด้วย ไม่มีการจัดทนายความต่อสู้คดีให้อย่างทั่วถึง เท่าที่ได้ฟังมา มวลชนที่เชียงใหม่โดนคดีฆ่าพ่อแกนนำเสื้อเหลือง ต้องสู้คดีโดยใช้ทนายความอาสาของศาล ที่ได้ค่ากับข้าวจากศาลวันละ 500 บาท เขาผิดจริงหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง แต่เขาไม่มีโอกาสต่อสู้อย่างถึงที่สุด)

สิ่งที่เรายอมรับไม่ได้คือการนิรโทษกรรมเจ้าพนักงานทั้งผู้สั่งการและ ผู้รับคำสั่ง (สไนเปอร์) เรื่องนี้ต้องถีบก้นพันธมิตรออกมาค้าน เพราะพัชรวาทต้องได้นิรโทษกรรมด้วย (อย่าให้น้องโบว์ตายฟรีรีรีรี...)

บทเรียนในประวัติศาสตร์ว่าด้วยการครองอำนาจของชนชั้นนำ คือพวกเขาจะปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่งขึ้นทำลายล้างฝ่ายประชาธิปไตย ตั้งแต่ทำลาย อ.ปรีดี มาจนกรณี 6 ตุลา 2519 หลังจากนั้นก็บีบบังคับให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องต่อสู้ด้วยความรุนแรงแล้วถูก ปราบปราม เช่น อ.ปรีดีกลับมาก่อกบฎวังหลวง นักศึกษาเข้าป่าจับปืน ขณะที่พวกเขาหันไปฉวยกระแส “ไทยนี้รักสงบ” ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่พร้อมสยบยอมต่ออำนาจระบอบอุปถัมภ์ ประโคมโหมเรื่องสันติ ให้อภัย รักกันไว้เถิด โดยใช้ดารานักร้องทุกค่าย ไปจนถึง ว.วชิรเมธี (ดีที่ไม่ทันใช้สำนักสวนสันติธรรมด้วย)

นี่คือด้านที่น่ากลัวของ “ไม้นวม” ที่จะต้องต่อสู้อย่างรัดกุมและแยกแยะ ขบวนประชาธิปไตยจะต้องไม่ปฏิเสธข้อเสนอประนีประนอมทั้งหมด แต่ไม่ยอมจำนน เราสามารถยอมรับได้กับการปรองดองทางยุทธวิธี หรือแม้แต่ทางยุทธศาสตร์ เพื่อเปิดพื้นที่ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เคลื่อนไหวต่อสู้ได้มากขึ้น แต่ต้องยืนหยัด

อย่างไรก็ดี สิ่งแตกต่างคือ พลังประชาธิปไตยวันนี้เป็นพลังที่กำลังเติบโต ขณะที่พลังจารีตนิยมอยู่ในช่วงเปล่งแสงครั้งสุดท้าย เราไม่ได้อยู่ในยุค 66/23 ที่คอมมิวนิสต์สากลล่มสลาย เราเป็นเสรีประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมนิยม 66/23 คือการทำสัญญาสงบศึกกับผู้แพ้ แต่วันนี้ขบวนประชาธิปไตยไม่ได้แพ้ มีแต่จะเติบโตขึ้น

ใบตองแห้ง
21 ก.ย.53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคดี "พัชรวาท" ฟ้อง ป.ป.ช. กรณี 7 ต.ค.

Posted: 21 Sep 2010 01:33 AM PDT

ศาลปกครองชี้มติ ป.ป.ช. มีผลทางวินัย ไม่มีผลทางกฎหมายกระทบสิทธิหรือหน้าที่หรือก่อความเดือดร้อนเสียหายต่อ "พัชรวาท" จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำวินิจฉัยและชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีและมติของ ป.ป.ช.

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วัน ที่ 21 กันยายน ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาตัดสินคดี ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และความผิดทางอาญา โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีมิได้ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนใน การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น คือไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ว่า มติของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และส่งรายงานความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย หากจะมีผลทางกฎหมายก็คงมีผลแต่เฉพาะในความสัมพันธ์ภายในระหว่าง พล.ต.อ.พัชรวาท กับผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาลงโทษทางวินัย แต่ไม่มีผลทางกฎหมายกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่หรือก่อความเดือดร้อนเสียหายต่อ พล.ต.อ.พัชรวาท ดังนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำวินิจฉัยและชี้มูลความผิดผู้ฟ้อง คดีและมติของ ป.ป.ช.ดังกล่าวได้

ส่วนประเด็นที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เนื่อง จากการดำเนินงานของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำผู้กระทำผิดทางอาญามาลง โทษ ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องจากทั้งสองประเด็นดังกล่าวข้างต้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นฟ้องด้วย และเมื่่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณากรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาคำขอ เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความสับสนระหว่างข้อเท็จจริงและมายาคติ ในบทความ “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)”

Posted: 21 Sep 2010 01:08 AM PDT

 
หมายเหตุชื่อบทความเดิม: ข้อเท็จจริงและมายาคติในบทความ “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 
 
 
ดิฉันได้อ่านบทความเรื่อง “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอในประชาไทออนไลน์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 [1] อ่านแล้วพบว่าบทความนี้สับสนระหว่างข้อเท็จจริงและมายาคติทางเศรษฐศาสตร์อย่างมาก ดิฉันจึงเขียนบทวิพากษ์นี้เพื่ออธิบายความคลาดเคลื่อนในบทความดังกล่าว และเพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจได้วิเคราะห์ด้วยตนเอง 
 
ข้อเท็จจริง 1. สถิติช่องว่างรายได้ในบทความนี้คลาดเคลื่อนมากและไม่ได้มาตรฐาน 
 
ดัชนีจินีของไทยคือร้อยละ 53.5 ไม่ใช่ร้อยละ 43 ตามที่บทความดังกล่าวนำเสนอ ดูข้อมูลจริงได้จากตาราง A1.4 หน้า 151 ในรายงานจากสหประชาชาติชื่อ Thailand Human Development Report 2009 [2] ข้อมูลปฐมภูมิมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไทย [3]
 
ดิฉันเดาว่าบทความดังกล่าวเอาดัชนีจินีร้อยละ 43 มาจากฐานข้อมูลเก่า [4] ซึ่งไม่ได้เป็นฐานข้อมูลที่สหประชาชาติใช้ในการทำรายงาน ข้อมูลเก่านี้มาจากธนาคารโลก [5] เมื่อดูข้อมูลจากธนาคารโลกแล้วจะเห็นได้ว่าฐานข้อมูลจีนีที่ธนาคารโลกนั้นไม่สมบูรณ์มากๆดังที่ดิฉันได้แสดงไว้ในตาราง 1 แม้แต่ค่าเฉลี่ยจากตารางนี้ก็ไม่มีคุณค่าทางสถิติเพราะข้อมูลขาดๆ หายๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่สหประชาชาติไม่อ้างอิงฐานข้อมูลนี้ในรายงานประจำปีเกี่ยวกับประเทศไทย
 
ตาราง 1. ข้อมูลดัชนีจินีที่สหประชาชาติเลิกใช้แล้ว
Country
1992
1993
1994
1995
1996
1997
1998
1999
2000
2001
2002
2003
2004
2005
2006
2007
Indonesia
..
..
..
..
..
..
42
..
..
..
..
..
..
39
..
38
Philippines
..
..
43
..
..
46
..
..
46
..
..
44
..
..
44
..
Singapore
..
..
..
..
..
..
42
..
..
..
..
..
..
..
..
..
Thailand
46
..
..
..
43
..
41
44
43
..
42
..
42
..
..
..
ที่มา: ธนาคารโลก ดัชนีการพัฒนาโลก (World Development Indicators, 2010)
 
ฐานข้อมูลที่ว่าดัชนีจินีของไทยคือร้อยละ 53.5 นั้นน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไทย [3] และเป็นข้อมูลที่อาจารย์เศรษฐศาสตร์ใช้กัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าฐานข้อมูลที่ธนาคารโลกมีคุณภาพแย่ไปเสียหมดทุกอย่าง ธนาคารโลกเข้าใจข้อจำกัดด้านข้อมูลของตนและไม่สนับสนุนให้ใช้ข้อมูลคุณภาพต่ำ ข้อมูลดัชนีจินีไม่ใช่ข้อมูลที่ธนาคารโลกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของตนอย่างแพร่หลาย [5]
 
โปรดสังเกตว่ารายงานจากสหประชาชาติที่บทความดังกล่าวอ้างอิงก็ให้ข้อมูลว่าดัชนีจินีของไทยคือร้อยล่ะ 53.5 ดูได้ที่รูป 3.7 หน้า 79 (ซึ่งดิฉันได้ตัดมามาประกอบข้างล่างนี้) แต่สื่อมวลชนไทย [6] ยังให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนเหมือนบทความดังกล่าวว่าจีนีของไทยคือร้อยละ 43 ทั้งๆ ที่ตัวเลขนี้ขัดกับมาตรฐานสากลและขัดกับสำนักงานสถิติแห่งชาติไทย ความคลาดเคลื่อนนี้มาจากสหประชาชาติที่ไม่ได้ลบข้อมูลที่ไม่ใช้แล้วจากฐานข้อมูลออนไลน์ ทั้งๆที่ตัวรายงานของสหประชาชาติได้หันไปใช้ฐานข้อมูลอื่นแล้ว ทำให้บุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังนำสถิติตัวนี้ไปเผยแพร่อย่างไม่ถูกต้อง 
 
 
ในรูป 3.7 ในรายงานของสหประชาชาติที่ดิฉันนำมาแสดงข้างบนนี้ ดัชนีจินีบ่งบอกว่าปัญหาการกระจายรายได้ของไทยนั้นแย่กว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ถ้าสมมุติว่าข้อมูลในบทความดังกล่าวเกี่ยวกับดัชนีจินีของประเทศละตินอเมริกาเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ก็แปลว่าการกระจายรายได้ของไทยแย่พอๆกับประเทศละตินอเมริกา
 
 
ข้อเท็จจริง 2. เวลา 50 ปียาวนานพอที่จะแก้ปัญหาช่องว่างรายได้ 
 
บทความดังกล่าวอธิบายช่องว่างรายได้ด้วยหลักการเรื่องการพัฒนาขั้นแรกของระบบเศรษฐกิจแบบเปิด กล่าวคือ กลุ่มทุนและผู้มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดินได้ส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และกระบวนการ trickle-down หรือ ‘การไหลรินอย่างช้าๆ’ ของผลประโยชน์จากบนลงล่างต้องใช้เวลานาน 
 
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่าการไหลรินจากบนลงล่างใช้เวลานานหรือไม่นาน ใครๆก็รู้ว่าการพัฒนาประเทศต้องใช้เวลานาน ไม่ต้องให้นักเศรษฐศาสตร์บอกเขาก็รู้ ฉะนั้นประเด็นคือนานเท่าไร? ประเทศอื่นใช้เวลานานเท่าไรที่จะก้าวพ้นภาวะการพัฒนาขั้นแรก?
 
ระยะเวลา 50 ปียาวนานพอที่จะก้าวพ้นการพัฒนาขั้นแรกและลดช่องว่างรายได้ หลายประเทศได้ทำสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นประเทศกำลังพัฒนาในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ดิฉันขออธิบายโดยยกตัวอย่าง 3 ประเทศนี้เพราะประเทศเหล่านี้คล้ายคลึงกับไทยตรงที่ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และใช้การส่งออกเป็นฐานการพัฒนาประเทศมาก่อนเช่นเดียวกัน
 
นโยบายหลักที่ทำให้การ ‘การไหลรินอย่างช้าๆ’กลายเป็น ‘การไหลรินอย่างเร็วๆ’ มี 3 นโยบาย คือการปฏิรูปที่ดิน การจัดเก็บภาษีก้าวหน้า และการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด
 
2.1. การปฏิรูปที่ดินเป็นหัวใจสำคัญในลดช่องว่างรายได้ 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ผ่านการปฏิรูปที่ดินเพื่อลดอำนาจของเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่และเพื่อให้ทรัพยากรที่ดินได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่เสียกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนและที่ดินเหล่านั้นโดนแจกจ่ายให้ประชากรที่ไม่มีที่ดิน ส่วนสหรัฐฯ มีนโยบายปฏิรูปหรือพัฒนาที่ดินก่อนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถึง 80 ปี 
 
สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่และมีที่ดินมหาศาล เพื่อให้ที่ดินได้ใช้ประโยชน์สูงสุดรัฐบาลกลางของสหรัฐฯเมื่อ 150 ปีที่แล้วใช้นโยบายแจกที่ดิน (Land grant) เพื่อการพัฒนา กล่าวคือ รัฐบาลกลางแจกที่ดินให้แก่มลรัฐเพื่อให้สร้างมหาวิทยาลัยโดยมีเงื่อนไขว่าต้องพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และวิศวกรรม และต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน การสร้างมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีทั้งที่ใช้งบประมาณของมลรัฐและเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีที่มีวิสัยทัศน์ มีมหาวิทยาลัยเกิดจากนโยบายแจกที่ดิน (Land-grant universities) มากมาย เช่น มหาวิทยาลัยเอ็มไอที มหาวิทยาลัยคอร์เนล มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (ที่คนไทยมักรู้จักในนามของเบิร์กเลย์หรือยูซีแอลเอ) มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ฯลฯ 
 
นโยบายแจกที่ดินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ ทำให้บริษัทรถไฟสร้างทางรถไฟไปตามเมืองมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน และเชื่อมผู้ผลิตกับตลาดเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นฐานในการพัฒนาชุมชนและเทคโนโลยี และนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพียง 50 ปีหลังจากการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย และเครือข่ายรถไฟสหรัฐฯ ได้ผันตัวจากการส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจนกลายเป็นมหาอำนาจ
 
ส่วนญี่ปุ่นใช้เวลา 30 ปีหลังการปฏิรูปที่ดินในการแก้ปัญหาช่องว่างรายได้ เกาหลีใต้นั้นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลัง 30 ปีหลังญี่ปุ่น เนื่องจากเกาหลีปฏิรูปบางนโยบายช้ากว่าญี่ปุ่น
 
2.2. การจัดเก็บภาษีก้าวหน้าเป็นนโยบายปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว 
แม้แต่ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯและอังกฤษก็ใช้ระบบจัดเก็บภาษีก้าวหน้า เช่น ภาษีมรดกและภาษีของขวัญ ภาษีทรัพย์สินที่ครอบคลุมทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สหรัฐฯและอังกฤษมีภาษีเหล่านี้มาเกือบ 100 ปีแล้ว [7][8] ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นนำภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินเข้ามาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 [9][10] 
 
เมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีรายงานในสื่อมวลชนไทยว่าสหรัฐฯได้ยกเลิกภาษีมรดกแล้วและประเทศทุนนิยมไม่เก็บภาษีจากกำไรในตลาดหลักทรัพย์ [11] รายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริง การยกเลิกภาษีมรดกที่สหรัฐฯโดยรัฐบาลบุชเป็นเพียงการยกเลิกชั่วคราวเพียงปีนี้และปีหน้าภาษีมรดกจะกลับมาบังคับใช้เหมือนเดิม [12] กลุ่มคนอเมริกันที่ต้องการยกเลิกภาษีมรดกยังไม่สามารถจุดกระแสสังคมให้ยกเลิกภาษีมรดกได้ แม้แต่มหาเศรษฐีที่มีมรดกมากที่สุดในสหรัฐฯอย่างนายวอเรน บัฟเฟต์ และนายบิล เกตต์ยังสนับสนุนการใช้ภาษีมรดก นอกจากนี้ประเทศทุนนิยมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นมีการจัดเก็บภาษีจากกำไรในการค้าขายหลักทรัพย์ในรูปแบบต่างๆที่ไทยไม่จัดเก็บ ผู้อ่านที่สนใจสามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังหรือสรรพากรในประเทศเหล่านี้ได้
 
2.3. การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust laws) มีผลต่อการพัฒนาประเทศ
สหรัฐฯเริ่มบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดเมื่อ 120 ปีที่แล้วเพื่อสลายการผูกขาดของบริษัทการรถไฟแห่งหนึ่ง [13] ภายหลังได้จัดตั้งคณะกรรมการการค้า (Federal Trade Commission) เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดร่วมกับแผนกต่อต้านการผูกขาดในกระทรวงยุติธรรม (Antitrust Division, Department of Justice) ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นได้บังคับใช้กฎหมายนี้เพื่อสลายบรรษัทผูกขาด (Corporate monopoly) ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยาสูบ น้ำมัน เงินทุนหลักทรัพย์ ฯลฯ 
 
ส่วนการลดอำนาจการผูกขาดของกลุ่มทุนผูกขาดของญี่ปุ่น (Zaibatsu) เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว กลุ่มทุนผูกขาดของเกาหลีใต้ (Chaebol) โดนลดอำนาจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาตรการสำคัญของการลดอำนาจผูกขาดในเกาหลีใต้คือการห้ามกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเป็นเจ้าของธนาคาร ส่วนการลดอำนาจผูกขาดในญี่ปุ่นนั้นยังไม่แยกอำนาจธนาคารออกจากอุตสาหกรรมอื่น 
 
 
ข้อเท็จจริง 3. กลุ่มทุนไทยแตกต่างจากกลุ่มทุนในประเทศที่ก้าวข้ามการพัฒนาในขั้นแรก
 
บทความดังกล่าวนำเสนอว่าการที่กลุ่มทุนไทยได้ส่วนแบ่งจากการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าแรงงานนั้นเป็นภาวะปกติของการพัฒนาขั้นแรก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นภาวะการพัฒนาขั้นแรกของไทยนั้นยาวนานกว่าหลายประเทศมากๆ น่าจะตั้งคำถามว่ากลุ่มทุนของไทยต่างจากกลุ่มทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างไร?
 
กลุ่มทุนของไทยแตกต่างจากกลุ่มทุนในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในหลายด้าน ด้านที่ชัดเจนที่สุดคือบทบาทของกลุ่มทุนทหาร 
 
3.1. กองทัพไทยคือกลุ่มทุน แต่กองทัพในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯไม่ใช่กลุ่มทุน
ในประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศยกเว้นญี่ปุ่นมีกลุ่มทุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกองทัพผ่านการจัดซื้อและสัมปทาน ส่วนญี่ปุ่นเคยมีอุตสาหกรรมอาวุธจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลุ่มทุนในประเทศเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มทุนของกองทัพ กล่าวคือ กองทัพในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เคยถือหุ้นในบริษัทอาวุธ ไม่ถือหุ้นธนาคาร หุ้นสื่อมวลชน หุ้นโรงแรม ฯลฯ ดังนั้นกลุ่มทุนต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมอาวุธและนักวิชาการต่างประเทศจึงไม่สร้างสายสัมพันธ์กับกองทัพ และสามารถวิพากษ์วิจารณ์กองทัพได้อย่างเป็นกลาง 
 
ในทางกลับกันกองทัพไทยเป็นกลุ่มทุนที่มีธุรกิจครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม และมีเครือข่ายทั้งด้านธุรกิจและด้านวิชาการในสถาบันต่างๆ เครือข่ายเหล่านี้พร้อมจะสนับสนุนผลประโยชน์ของกองทัพในอุตสาหกรรมต่างๆไม่ว่าในยุคก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดวงจรรัฐประหารไม่จบไม่สิ้น นี่คือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากที่สุดในโลก
 
3.2. กลุ่มทุนกองทัพไทยไม่สร้างเทคโนโลยี แตกต่างจากกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมอาวุธในประเทศที่พัฒนาแล้ว
แม้ว่ากองทัพในประเทศพัฒนาแล้วไม่ถือหุ้นธนาคารและหุ้นในบริษัทเอกชน ผู้บริหารกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมอาวุธจำนวนหนึ่งเคยทำงานในกระทรวงกลาโหม ดังนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมอาวุธและพลเรือนในกระทรวงกลาโหมสามารถนำไปสู่การใช้อำนาจของกองทัพเพื่อเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมอาวุธ (Military-industrial complex) [14] ถ้ามองในแง่นี้เราสามารถเรียกกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมอาวุธได้ว่าเป็น ‘กลุ่มทุนทหาร’ ประเภทหนึ่ง 
 
เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทุนทหารในประเทศที่พัฒนาแล้วกับกลุ่มทุนทหารไทยแล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มทุนทหารในประเทศที่พัฒนาแล้วคือผู้ส่งออกอาวุธ แต่กลุ่มทุนกองทัพไทยคือผู้นำเข้าอาวุธ ความสัมพันธ์นี้ได้ฝังลึกมาตลอดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย 
 
นอกจากการพัฒนาอาวุธ กลุ่มทุนทหารในประเทศที่พัฒนาแล้วมีบทบาทในการพัฒนาอุตสากรรมด้วยการสร้างเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาทางพาณิชย์ด้วย กล่าวคือ อุตสาหกรรมสื่อสาร (บริษัทสื่อสารในสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และยุโรปจำนวนมากมีกระทรวงกลาโหมเป็นลูกค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์) อุตสาหกรรมเครื่องบิน (เช่น บริษัทโบว์อิ้งของสหรัฐฯ บริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศส และบริษัทอะไหล่เครื่องบินอีกมาก) อุตสาหกรรมรถยนต์ (เช่น บริษัทผลิตรถเกราะในสหรัฐฯและยุโรป บริษัทบีเอ็มดับบลิว) อุตสาหกรรมน้ำมัน (ทั้งในสหรัฐและยุโรป) 
 
นอกจากนี้ กลุ่มทุนทหารในต่างประเทศบางกลุ่มยังมีส่วนร่วมในการสร้างเทคโนโลยีด้วยการสร้างมหาวิทยาลัยและให้ทุนเพื่อการวิจัย เช่น นายจอห์น รอคกี้เฟลเลอร์ มหาเศรษฐีน้ำมันได้สร้างมหาวิทยาลัยชิคาโก นายแอนดรู คาร์เนกี้มหาเศรษฐีเหล็กกล้าก่อตั้งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลอน ฯลฯ การสร้างมหาวิทยาลัยและให้ทุนวิจัยเพื่อเทคโนโลยีโดยกลุ่มทุนทหาร (และกลุ่มทุนอื่นๆ เช่น กลุ่มทุนการรถไฟได้สร้างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์) เป็นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มทุนอุตสาหกรรมและแรงงาน เนื่องจากการเติบโตทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาองค์กร 
 
การสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยในญี่ปุ่นก็มาจากการผลักดันจากกลุ่มทุนด้วยจุดประสงค์เดียวกัน พ่อค้าญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลตั้งมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน
 
 
ข้อเท็จจริง 4. ช่องว่างรายได้เป็นปัญหาสำคัญที่แก้ได้ด้วยกระบวนการการเมืองและกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์
 
บทความดังกล่าวพยายามชี้ว่าปริมาณคนจนในไทยได้ลดลงในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติที่สร้างจากนิยามเส้นความจน (Poverty line) ซึ่งตกวันละ 1-2 เหรียญสหรัฐต่อคน [15] ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าชีวิตที่เพิ่งก้าวพ้นเส้นความจนนั้นไม่น่าพิสมัยนัก จะให้คนไทยยินดีว่าจำนวนคนจนในไทยน้อยกว่าคนจนในอัฟริกาแล้วไม่ต้องสนใจการกระจายรายได้นั้นก็ไปไม่ได้ ที่สำคัญคนไทยไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลอัฟริกา และการกระจายรายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดระบบภาษีทั่วโลก 
 
แม้แต่ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯและอังกฤษยังใช้การกระจายรายได้มากำหนดอัตราภาษีต่างๆว่าจะเก็บจากคนกลุ่มไหนเท่าไร นอกจากนี้การกระจายรายได้เป็นประเด็นสำคัญหลังวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่มโดยเฉพาะธนาคารมักได้งบประมาณภาษีมาอุ้มตอนวิกฤต ดังนั้นนักวิชาการในประเทศที่พัฒนาแล้วมักชี้ประเด็นเรื่องการการจายรายได้หลังวิกฤตทุกครั้งเพื่อตรวจสอบว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ด้านภาษีอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ นอกเหนือไปจากการตรวจสอบผู้บริหารของกลุ่มทุนที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาษี
 
นอกจากนี้รายงานการวิจัยทั้งในสาขาเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยาพบว่าการสนใจรายได้ของคนรอบข้างเป็นธรรมชาติมนุษย์ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบรายได้กับคนในองค์กรเดียวกันหรือชุมชนเดียวกัน แม้แต่ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯยังมีการเปรียบเทียบว่าผู้ว่าฯธนาคารกลางสหรัฐฯได้รายได้มากน้อยอย่างไรเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีโอบามาหรือผู้ว่าฯธนาคารกลางยุโรป [16] ความจนหรือความรวยก็นิยามจากการเปรียบเทียบ การจัดอันดับมหาเศรษฐีทั่วโลกหรือการจัดอันดับประเทศก็มาจากการเปรียบเทียบเช่นเดียวกัน 
 
ถ้าบทความดังกล่าวจะเอาการเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดของไทยมาอธิบายปัญหาช่องว่างรายได้ ก็น่าจะถือว่าปัญหาช่องว่างรายได้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจังเหมือนที่ระบบเศรษฐกิจเปิดอื่นๆได้แก้กันมาแล้ว 
 
 
บทสรุป
 
ปัญหาช่องว่างรายได้นั้นนิยามกันด้วยดัชนีจินีและดัชนีอื่นๆที่จะนำมาเปรียบเทียบกับสถิติต่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อการจัดทำสถิติได้มาตรฐานสากล ปัญหาช่องว่างรายได้เป็นปัญหาที่หลายประเทศตระหนักว่าสำคัญและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทรัพยากรในระยะยาว หลายประเทศได้พยายามแก้ไขปัญหานี้สำเร็จภายในเวลา 50 ปี 
 
ถ้ารัฐไทยต้องการแก้ปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายที่ได้ผลในประเทศอื่นมาแล้ว กล่าวคือ การปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษีก้าวหน้า และการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด มาตรการเหล่านี้จะทำให้ ‘การไหลรินอย่างช้าๆ’ กลายเป็น ‘การไหลรินอย่างเร็วๆ’ ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายเพื่อการพัฒนา โดยนิยามการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางการเมืองที่มีกฎหมายใหม่มารองรับก่อนที่จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นการแก้ปัญหาช่องว่างรายได้จึงต้องอาศัยทั้งกระบวนการการเมืองและกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์
 
..........................................................................................
 
 
อ้างอิง 
[1] “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประชาไทออนไลน์ 15 กันยายน 2553: http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31111
[2] Human Development Report Thailand 2009: http://hdr.undp.org/en/reports/nationalreports/asiathepacific/thailand/NHDR_2009_Thailand.pdf
[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/service/poverty50/kingdom_total_inc.htm
มีข้อสังเกตว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าเป็นรายได้บุคคลแต่สหประชาชาตินำไปรายงานว่าเป็นรายได้ของครัวเรือน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องสอบถามสำนักงานสถิติแห่งชาติและสหประชาชาติให้ชัดเจน 
[4] Human Development Report 2009, Economy and inequality: http://hdrstats.undp.org/en/indicators/161.html
[5] World Bank, World Development Indicators (2009): Poverty indicators: http://data.worldbank.org/topic/poverty
[6] Gini Coefficient, by Stephen Young, The Nation, April 21, 2010: http://www.nationmultimedia.com/home/2010/04/21/opinion/Gini-Coefficient-30127515.html
[7] U.S. Treasury, FAQs: The history of U.S. tax system: http://www.ustreas.gov/education/faq/taxes/history.shtml
[8] Her Majesty Revenue and Custom, Inheritance Tax Thresholds: http://www.hmrc.gov.uk/rates/iht-thresholds.htm
[9] Japan’s Ministry of Finance, Introduction to the Japanese Tax System: http://www.mof.go.jp/english/tax/taxes2006e_b.pdf
[10] Korea’s National Tax Service, Korean Taxation 2008 (Direct Taxes): http://www.nts.go.kr/eng/data/korean_taxation2008(Part_2).pdf
[11] “การปรับโครงสร้างภาษีอากร” โดย วีรพงษ์ รามางกูร ประชาชาติธุรกิจ 31 กรกฎาคม 2553: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1280469727&grpid=05&catid=02
[12] Prudential Financial, Estate Taxes and Gift Taxes: http://www.prudential.com/view/page/public/12019
[13] “Labor and the Sherman Act,” The Yale Law Journal 49(3), pp. 518-537, 1940.
[14] “Patriots and Profits,” Paul Krugman, The New York Times, December 16, 2003: http://www.nytimes.com/2003/12/16/opinion/16KRUG.html?th
[15] “Thailand’s Official Poverty Lines,” National Economic and Social Development Board:http://www.nscb.gov.ph/poverty/conference/papers/7_Thai%20official%20poverty.pdf
[16] “ความโปร่งใสของธนาคารกลาง” กานดา นาคน้อย มติชนออนไลน์ 2 สิงหาคม 2553: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280721467&grpid=04&catid=02
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ปะทะทหารพม่าอีกระลอก

Posted: 21 Sep 2010 12:54 AM PDT

ทหารกองพลน้อยที่ 1 กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N ปะทะทหารพม่าอีกระลอกบริเวณเมืองไหย๋ รัฐฉานภาคเหนือ ผลฝ่ายพม่าดับ 1 นาย

 

แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองไหย๋ ในรัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของกองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" (SSA-N) ซึ่งยังมีสถานะเป็นกลุ่มหยุดยิง โดยไม่ยอมเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังรักษาดินแดน (HGF) ตามคำสั่งของรัฐบาลพม่า ล่าสุดเมื่อ 20 ก.ย. มีเหตุปะทะรอบใหม่กับทหารพม่า (ที่มา: Prachatai Graphic)

 

สำนักข่าวฉาน รายงานจากแหล่งข่าว โดยระบุว่า เมื่อเวลา 13.40 วานนี้ (20 ก.ย.) ได้เกิดเหตุปะทะกันอีกระลอกระหว่างทหารกองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N กับทหารพม่าที่บริเวณบ้านกองอ่าย ต.น้ำส่อม เมืองไหย๋ รัฐฉานภาคเหนือ โดยการปะทะเกิดขึ้นขณะที่ทหาร SSA-N ชุดหนึ่งนำโดยร.ท.สุจิ่งต่า รอง ผบ.หน่วยรักษาความปลอดภัยบก. เดินทางกลับจากตรวจดูโครงการเกษตรของกองทัพ และถูกทหารพม่าไม่ทราบจำนวนจากกองพันทหารราบที่ 67 จากฐานบ้านตุง ต.หัวย่า เมืองไหย๋ ซุ่มโจมตี ทางฝ่าย SSA-N จึงทำการตอบโต้โดยใช้เวลานนาน 10 นาที ส่งผลให้ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 1 นาย และสามารถยึดอาวุธทหารพม่าชนิด M-1 ได้หนึ่งกระบอก พร้อมกระสุน 7 นัด ส่วนฝ่าย SSA-N ไม่มีรายงานการสูญเสีย

ทั้งนี้ ผู้นำระดับสูงของ SSA-N นายหนึ่งกล่าวว่า เหตุการปะทะที่เกิดขึ้นเข้าใจเป็นการจงใจของทหารพม่า ที่ผ่านมาทหารพม่ารู้ดีว่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่โครงการการเกษตรของ SSA-N และมีทหาร SSA-N เคลื่อนไหวอยู่ อย่างไรก็ตาม พล.ต.ป่างฟ้า ผบ.สูงสุดของ SSA-N ปัจจุบันได้สั่งให้นำอาวุธปืนพร้อมด้วยลูกกระสุนที่ยึดได้คืนให้แก่ทหารพม่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความตึงเครียดระหว่างกันแล้ว

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N กับทหารพม่าครั้งหนึ่ง บริเวณบ้านน้ำผักตบ ต.ต้นแกง เมืองสี่ป้อ ฝ่ายทหาร SSA-N ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ขณะที่แหล่งข่าวชาวบ้ายเผยฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 3 นาย โดยหลังการปะทะผ่านไป 2-3 วัน ทหารพม่าได้ส่งชาวบ้านไปกล่าวขอโทษ SSA-N โดยอ้างว่าเป็นการเข้าใจผิด

มีรายงานว่า หลังเกิดการปะทะกันทางฝ่ายทหาร SSA-N ได้สั่งการให้กำลังพลอยู่ในความพร้อมเพิ่มมากขึ้น โดยได้ให้กำลังพลที่เคยประจำตามหมู่บ้านเข้าไปอยู่ในป่าหรือตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ขณะที่ฝ่ายทหารพม่าจากกองพันทหารราบที่ 33 ประจำเมืองก๋าว ได้ร่วมกับกองกำลังอาสาสมัครออกตรวจตราตามหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลหนองคำ, นาเลา และดอยเจ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองต้างยานอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 


 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

19 ก.ย. 2549 – 19 ก.ย. 2553: 4 ปีแห่งความไร้เสถียรภาพ ! (และปัญหาที่ไม่มีคำตอบ)

Posted: 21 Sep 2010 12:38 AM PDT

ขณะที่เมฆทะมึนปรากฏอยู่บนท้องฟ้า
เราก็ชี้ให้เห็นว่า นั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว
เท่านั้นเอง ความมืดมนกำลังจะผ่านพ้นไป
แสงอรุณส่องรำไรอยู่ข้างหน้าแล้ว”
 
                                                                   ประธานเหมาเจ๋อตุง
                                                                      สรรนิพนธ์เล่ม 4
         
 
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แทบจะไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว รัฐประหารก็หวนกลับมาเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้นก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว เราไม่เคยเชื่อกันเลยว่าสังคมไทยจะต้องพานพบกับการรัฐประหารอีก จนเราเชื่ออย่างมั่นใจว่า สังคมไทยไม่ต้องกังวลกับเรื่องของทหารกับการเมือง เพราะโอกาสหวนคืนของทหารในการเมืองไทยนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่สิ้นสุดลงแล้ว หรือหากกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ สังคมไทยในยุคหลังเหตุการณ์ปี 2535 แล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงการจัดความสัมพันธ์พลเรือน – ทหารอีกต่อไป หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ไม่จำเป็นต้องคิดในเรื่องของยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกลุ่มทหารในการเมืองไทย ซึ่งในกรณีนี้หากพิจารณาในบริบทเปรียบเทียบจะเห็นได้ถึงความแตกต่างในการจัดการกับระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Democratic Transition) ของไทยกับของประเทศในละตินอเมริกาอย่างมากที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องของทหารกับการเมือง และทั้งพยายามสร้างกรอบที่เป็นประชาธิปไตยในการบริหารจัดการกองทัพและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคาดหวังว่าการจัดการเช่นว่านี้ จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Consolidation) ในขณะที่หัวข้อเหล่านี้ไม่เป็นประเด็นในไทยเท่าใดนัก และกลายเป็นเรื่องที่ถูกปล่อยผ่านเลยไปกับกาลเวลา
 
จะด้วยวิธีคิดเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยวิธีคิดดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึง “ความประมาท” ที่สังคมการเมืองไทยหลังจากเหตุการณ์ปี 2535 ไม่ได้เตรียมการใดๆ ที่จะทำให้ทหารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการเมืองไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือกองทัพถูกผลักออกจากการเมือง แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะบริหารจัดการในทางการเมืองอย่างไร หรือแม้กระทั่งคำถามว่า ถ้าจะสร้างกองทัพไทยให้เป็นทหารอาชีพหลังการเมืองปี 2535 แล้ว เราจะทำอย่างไร คำตอบจึงมีแค่ความเชื่ออย่างหยาบๆ ว่า อย่าไปกังวล กองทัพมีบทเรียนอย่าง “เจ็บปวด” แล้ว คงจะไม่กลับมาสู่การเมืองอีก คำตอบเช่นนี้ยังละเลยอีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ ปัญหาการปฏิรูปกองทัพ (Military Reform) ซึ่งต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นตั้งแต่ปี 2532/33 เป็นต้นมา ดังนั้นหากสรุปง่ายๆ ก็คือ หลังจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2535 แล้ว สังคมไทยละเลยการปฏิรูปกองทัพทั้งในทางการเมืองและการทหารไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า ประเด็นนี้มิได้หมายความว่า การปฏิรูปกองทัพจะไม่ทำให้ทหารยึดอำนาจอีก หากอย่างน้อยการปฏิรูปที่เกิดขึ้นจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยต่างหาก หรืออย่างน้อยการปฏิรูปกองทัพในทางการเมืองจะทำให้สถาบันทหารถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (ต่างจากแนวคิดที่ปฏิเสธการนำสถาบันทหารเข้าร่วมในกระบวนการนี้) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้พวกเขามีข้อพิจารณามากขึ้นเมื่อต้องตัดสินในยึดอำนาจ แม้จะไม่สามารถหยุดยั้งวิธีคิดเก่าได้ก็ตาม
 
ในอีกด้านหนึ่ง บทเรียนจากความขัดแย้งในปี 2535 ที่ไม่ได้ถูกนำมาสานต่อทางความคิดอย่างจริงจังก็คือ กลไกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยควรจะเป็นเช่นไร เพราะถ้าสังคมสามารถสร้างกลไกดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็นความคาดหวังว่า เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น กลไกเช่นนี้จะมีส่วนโดยตรงในการลดทอนความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หรืออย่างน้อยกลไกเช่นนี้ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้แรงกดดันของการเผชิญหน้าทางการเมืองมีช่องทางระบายออกไปได้บ้าง มิใช่ปล่อยให้การเผชิญหน้าขยายตัวออกไปในวงกว้าง และระเบิดออกเป็นความรุนแรงทางการเมืองจนไม่อาจควบคุมได้ และจบลงด้วยการรัฐประหาร
 
หากกลไกเช่นนี้เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นความหวังอีกส่วนหนึ่งที่ปัญหาจะไม่กลายเป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่เปิดให้ผู้นำทหารและชนชั้นนำบางส่วนฉวยเอาสถานการณ์เช่นนี้เป็นช่องทางให้แก่กลุ่มของตนเองในการก่อรัฐประหาร และขณะเดียวกันก็จะไม่อนุญาตให้พวกเขาใช้เหตุการณ์ของการเผชิญหน้าทางการเมืองดังได้กล่าวแล้วนั้น เป็นหนทางของการสร้างความชอบธรรมให้แก่การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นด้วย เพราะจนบัดนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 แล้ว จะเกิดการปะทะของฝูงชน ระหว่างผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลกับผู้ต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ หรือในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ สังคมไทยก็อาจจะต้องเรียนรู้การจัดการกับการเรียกร้องทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรง มิใช่ว่าการจัดการกับปัญหาเช่นนี้จะต้องใช้การยึดอำนาจของทหารเป็นการแก้ปัญหาเสมอไป เพราะหากเราไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการกับปัญหาเช่นนี้แล้ว กองทัพก็จะถูกชนชั้นกลางในเมืองเรียกร้องให้ออกมาทำหน้าที่ “สลายฝูงชน” ในระดับย่อย หรือทำการ “ล้อมปราบ” ในระดับใหญ่อยู่เรื่อยไป และเมื่อออกมาแล้วก็ย่อมนำไปสู่การยึดอำนาจได้ หรือมิฉะนั้นก็กลายเป็นหนทางของการคงอำนาจทหารไว้ในระบบการเมืองต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขั้นทำให้รัฐบาลต้องพึ่งพากองทัพเพื่อความอยู่รอดของตน
 
ดังนั้นคงไม่ผิดอะไรนักที่จะสรุปว่า สังคมไทยหลังพฤษภาคม 2535 ขาดทั้งกระบวนการจัดความสัมพันธ์พลเรือน – ทหาร และขาดยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกองทัพ ขณะเดียวกันก็ขาดองค์กรในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้าและ/ หรือความรุนแรงในสังคมไทย
 
ผลของความขาดแคลนเช่นนี้ทำให้ในที่สุดแล้วความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าฉงนแต่อย่างใด...ความน่าฉงนในอีกด้านหนึ่งอยู่ตรงที่ว่า กลุ่มคนที่เคยมีบทบาทในการคัดค้านรัฐประหารในปี 2534 และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับความพยายามในการฟื้นอำนาจของกลุ่มทหารในปี 2535 กลับเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนการรัฐประหารในปี 2549 จนบางคนต่อสู้อย่างสุดจิตสุดใจในการเป็น “ทนายแก้ต่าง” ให้กับรัฐประหารที่เกิดขึ้น ปัญหาการเปลี่ยน “จุดยืน” ทางการเมืองของพลังประชาธิปไตย 2535 บางส่วนนั้น ทำให้เกิดคำถามอย่างมากกับกลุ่มพลังที่จะเป็นฐานและขับเคลื่อนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสื่อ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และชนชั้นกลาง และจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า กลุ่มพลังเหล่านี้ยังยืนยันที่ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือต้องการเพียงการเมืองที่มีลักษณะของ “ประชาธิปไตยชี้นำ” (ผู้เขียนใช้คำนี้โดยขอยืมมาจากการเมืองอินโดนีเซีย คำในภาษาอังกฤษคือ “Guided Democracy”) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของทหาร หรือของชนชั้นนำ
 
นอกจากนี้พวกเขามักจะอ้างว่า ต้องการ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ซึ่งในบางคร้งดูจะใกล้เคียงกับแนวคิดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเรื่อง “การเมืองแบบไทยๆ” มากกว่าจะเป็นประชาธิปไตยในความหมายแบบสากล หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ การเมืองที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้นำทหารและชนชั้นนำคือสิ่งยอดปรารถนาของคน/กลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขามีความเชื่อว่า การเมืองในลักษณะเช่นนี้เป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพมากที่สุด และทั้งยังสอดรับกับแนวคิดเรื่อง “ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics) เช่นที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา โดยมองเห็นแต่ด้านลบของการเมืองแบบการเลือกตั้ง หรือมองเห็นประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy) เป็น “ตัวแทน” ของความชั่วร้ายทั้งปวง
 
ลักษณะของปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะทำให้บางคนคิดง่ายๆ  ด้วยการกล่าวโทษทุกอย่างไปที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยโยนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมาจากกลุ่มอำนาจเก่า หรือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ทั้งสิ้น เรื่องราวเช่นนี้ก็ไม่แปลกอะไร เพราะหลังการรัฐประหารแล้ว “การไล่ล่า” กลุ่มทักษิณ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ ซึ่งก็คงเปรียบเทียบได้กับคำพูดที่อธิบายสิ่งที่ชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจหลังกันยายน 2549 ดำเนินการว่าเสมือน “การเผาบ้านเพียงเพื่อจับหนูตัวเดียว” และปัญหาที่แย่ก็คือ บ้านก็ไหม้จนหมด หนูก็จับไม่ได้...แล้วเราก็ก้าวข้ามไม่พ้นทักษิณสักที ! จนแม้ในบางครั้ง ยอมที่จะมีปัญหาในระบบการเมือง ในระบบตุลาการ และในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ทั้งกับเพื่อนบ้านหรือกับประเทศอื่นๆ ก็ด้วยต้องการจับคนเพียงคนเดียวให้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็จับไม่ได้ จนกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับประเทศในเวทีสากลมากกว่าจะเป็นการสร้างเกียรติภูมิให้ประเทศ
 
เรื่องราวเช่นนี้บอกแก่เราอย่างเดียวว่า อิทธิฤทธิ์ของรัฐประหารนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้ว อาจจะใช้อะไรไม่ได้ผลมากนักเหมือนอย่างเช่นในอดีต เพราะในยุคก่อน เมื่อเกิดการยึดอำนาจแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อาจจะยุติลงโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามยอมยุติบทบาทของตนเอง แล้วรอให้ระบบการเมืองเปิดใหม่อีกครั้ง พวกเขาจึงหวนกลับสู่เวทีการต่อสู้ใหม่ รัฐประหารในวันเก่าจึงเป็นเสมือน “ยาแรง” ที่ใช้แก้ปัญหาอาการ “ไม่ลงตัว” ในทางการเมือง โดยการ “ล้างไพ่” หรือ “ล้มกระดาน” เพื่อหวังว่า การเริ่มต้นใหม่ภายใต้การควบคุมของทหารจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองอีกครั้ง
 
หากแต่หลังจากรัฐประหาร 2549 นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกลับไม่ถอยหนีกลับไปนั่งรอการเลือกตั้งที่จังหวัดของตนเอง และในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ก็ไม่ได้เก็บตัวอยู่เฉยๆ เพื่อรอให้การเมืองเปิดได้หวนคืน หากแต่เพียงระยะสั้นๆ หลังจากรัฐประหารสิ้นสุดลงนั้น กลุ่มต่อต้านรัฐประหารก็เปิดเวทีการเคลื่อนไหวทันที และที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มต่อต้านรัฐประหารขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนานวัน แนวร่วมของพวกเขาก็ยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายฐานแนวร่วมในชนบท จนอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ชนบทวันนี้กลายเป็นฐานที่มั่นของการต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร และขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเด่นชัดมากขึ้น จนเกิดภาพลักษณ์เชิงเปรียบเทียบในปัจจุบันว่า คนในเมืองพร้อมที่จะยอมรับ “ระบอบอำนาจนิยม” แต่คนในชนบทกลับร้องหา “ระบอบเสรีนิยม” ที่ต้องการเห็นการเลือกตั้ง และการสร้างความเป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดรวมถึงการกระจายการใช้และการตอบแทนทรัพยากร ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทเช่นนี้เป็นโจทย์ใหญ่อีกชุดหนึ่ง ที่สังคมและรัฐบาลควรจะต้องคิด ซึ่งปัญหานี้ผูกโยงกับประเด็นเรื่องของ “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาสำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่ประชาธิปไตยจะมีส่วนในการลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบททั้งในบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างน้อยถ้าประชาธิปไตยเลือกผู้ปกครองได้ ก็ต้องทำให้ “ประชาธิปไตยกินได้” ด้วยเช่นกัน
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สถานการณ์ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่ชนบทเป็นฐานที่มั่นของ พคท. หากแต่ผลของกระบวนการเมืองก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 ได้สร้าง “จิตสำนึกใหม่”  ให้แก่ผู้คนจำนวนมากในชนบท  ที่พวกเขาตระหนักมากขึ้นถึงพลังทางการเมืองของตนเอง การขยายบทบาททางการเมืองของคนชนบทจึงทำให้วันนี้เกิด “สงครามชนบท” ในลักษณะของการแย่งชิงมวลชนในชนบท ซึ่งกองทัพเองก็เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้นี้ เช่น การใช้เครือข่ายของทหารรุกเข้าไปในชนบท ทั้งเพื่อการควบคุม ติดตาม และปฏิบัติการจิตวิทยาแย่งชิงมวลชน คล้ายกับยุคสงคราม พคท. ในอดีต และปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามชุดนี้จะดำเนินคู่ขนานกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือดำเนินขนานกับการต่อสู้ในเมืองไปด้วยกัน บทบาททหารกับสงครามแย่งชิงมวลชนในชนบทของยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์เช่นในปัจจุบัน จึงกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการขยายบทบาทของกองทัพในยุคที่ไม่มี  พคท. เป็นภัยคุกคาม และทั้งยังเป็นปัจจัยโดยตรงต่อการขยายและดำรงบทบาทขององค์กรเก่าอย่าง กอ.รมน. ไว้ในการเมืองไทย แม้ว่าจะไม่มีสงครามคอมมิวนิสต์ให้ต้องเผชิญก็ตาม
 
แน่นอนว่าสำหรับคนในเมืองแล้ว บทบาทของคนชนบทถูกตีความว่าเป็นการ “ถูกซื้อ” จากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงเป็นเพียงการต่อ “ท่อน้ำเลี้ยง”  ของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากท่อดังกล่าวถูกตัดแล้ว การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็น่าจะหยุดลงไปโดยปริยาย ในมุมมองของคนในเมืองแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่คนชนบทจะเกิด  “จิตสำนึกทางการเมือง” ขึ้นได้เอง ถ้าไม่ใช่เพราะการได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ต่างกับยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่การต่อสู้ของคนชนบทถูกมองว่าเป็นเพียงผลของการปลุกระดมจาก พคท. โดยละเลยที่จะมองถึงปัญหาโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นธรรมในชนบท เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่างทางการเมืองอย่างมากระหว่างคนในเมืองและคนในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะของคนชนบทที่มองว่า คนในเมืองและ/หรือกลุ่มพลังของคนในเมืองพยายามครอบงำการเมืองไทย และปฏิเสธหรือละเลยต่อการตัดสินใจทางการเมืองของผู้คนในชนบท จนบางครั้งเลยไปถึงมีอาการในลักษณะ “ดูถูก” ความคิดทางการเมืองของคนชนบท ภายใต้ทัศนะว่า คนชนบท “โง่และไร้การศึกษา” ดังที่เราเคยได้รับฟังกันบ่อยๆ เป็นต้น
 
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐประหารให้ผลตอบแทนอย่างมากกับบรรดาผู้นำทหาร เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การยึดอำนาจมีผลโดยตรงต่อการขยายบทบาทของทหารในการเมืองไทยทั้งในเชิงสถาบันและเชิงตัวบุคคล (เห็นได้ชัดเจนว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 บทบาทของทหารลดลงอย่างมากในทางการเมือง) ซึ่งการขยายบทบาทเช่นนี้ ยังขยายไปถึงเรื่องการจัดทำงบประมาณทหารและการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ เพราะก่อนรัฐประหารจะเกิดขึ้นนั้น การจัดซื้ออาวุธของทหารมีความจำกัดอย่างมาก กระบวนการจัดซื้อจัดหาไม่มีความ “สะดวกและคล่องตัว” เช่นในปัจจุบัน และเช่นเดียวกันการขยายงบประมาณทหารก็มีความจำกัดด้วย การยึดอำนาจของทหารจึงกลายเป็นการแก้ปัญหาความจำกัดในเรื่องนี้
 
แม้อาวุธที่จัดซื้อหลายอย่างจะมีปัญหาในระยะต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบจีที – 200 เรือเหาะ หรือรถเกราะล้อยาง ซึ่งการจัดซื้อทั้ง 3 รายการล้วนแต่เป็นปัญหาในปัจจุบันทั้งสิ้น หรือแม้แต่กรณีการจัดซื้อเครื่องบินรบแบบกริพเพนจากสวีเดน ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน แต่ข้อวิจารณ์ทั้งหลายก็ใช่ว่าจะสร้างความยับยั้งชั่งใจให้เกิดขึ้นได้ในกระบวนการนี้ และเรื่องเช่นนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของทหารที่มีมากขึ้นในการเมืองไทยนั่นเอง
 
แต่ก็จะเห็นได้ว่าผลจากการขยายบทบาทของทหารเช่นนี้ ทำให้การตรวจสอบในเรื่องของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระบอบการเมืองปัจจุบัน หรือกล่าวในบริบทของการบริหารประเทศก็คือ ระบบตรวจสอบทั้งในระดับสังคมหรือในส่วนของรัฐสภากลายเป็นกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพ การตัดสินใจซื้ออาวุธของกองทัพจึงกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการค้ำประกันด้วยตัวเองโดยผู้นำทหารและไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งเครื่องจีที – 200 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย) ประเด็นเช่นนี้ให้คำตอบอย่างสำคัญในอนาคตว่า การปฏิรูปกองทัพไทยจะต้องปฏิรูประบบจัดซื้อจัดหาของทหาร และจะต้องไม่ปล่อยให้การจัดซื้อจัดหากลายเป็นการแสวงหาประโยชน์ของผู้นำกองทัพและผู้นำการเมือง ในขณะเดียวกันอาวุธเหล่านี้ก็จะต้องไม่เป็น “มรดกบาป” ที่ก่อให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการดำรงสภาพ หรือกลายเป็นยุทโธปกรณ์ที่ไม่อาจใช้จริงได้ และไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางยุทธการใดๆ แต่กองทัพในอนาคตต้องเก็บรักษาไว้เพราะเป็น “ของหลวง” ในระบบพัสดุราชการไทย
 
การสูญเสียระบบตรวจสอบในบริบททางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้องค์กรอิสระต่างๆ กลายเป็น “องค์กรไร้อิสระ” ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงกลไกการเมืองอีกส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้ในการแทรกแซงและการไล่ล่าทางการเมือง แต่ผลประการสำคัญที่กลายเป็นความผิดหวังของนักออกแบบโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คือ องค์กรเหล่านี้ถูกทำให้หมดสภาพและหมดความน่าเชื่อถือไปด้วยตัวเอง จนกลายเป็นความกังวลว่า องค์กรเหล่านี้จะอยู่อย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เว้นเสียแต่พวกเขาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าในระยะใกล้หรือระยะไกลก็ตาม ดังนั้นในอนาคตถ้าจะต้องสร้าง “องค์กรอิสระ” ให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย เราจะทำอย่างไร เพราะถ้าองค์กรเช่นนี้ไม่เกิดขึ้น การตรวจสอบทางการเมืองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่ถ้าองค์กรเหล่านี้ถูกครอบงำด้วยความคิดทางการเมืองแบบสุดโต่ง หรือมีผู้นำองค์กรที่พร้อมจะนำองค์กรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางการเมืองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยขาดความยั้งคิดแล้ว สถานะของความเป็น “อิสระ” ย่อมจะหมดลง ปัญหาเช่นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในภาระทางการเมืองในอนาคต เพราะการสร้างระบบ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” (Check and Balance) จะเป็นหลักประกันโดยตรงต่อประสิทธิภาพของระบบประชาธิปไตย และทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบการเมืองมีความโปร่งใสและความน่าเชื่อถืออีกด้วย
 
ผลของรัฐประหารที่ไม่สามารถควบคุมและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้นั้น ทำให้เกิดความจำเป็นในการต้องพึ่งพากระบวนการตุลาการในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 4 ปีที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินต่างๆ อย่างมาก จนทำให้เกิดความรู้สึกโดยทั่วไปว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ก็คือการทำให้เป็น “สองมาตรฐาน” สิ่งที่ผลสืบเนื่องก็คือ คำตัดสินในทางกฎหมายถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง จนก่อให้เกิดความกังวลกับอนาคตของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือในอีกด้านหนึ่งก็ปรากฏเป็นข้อเสนอในเรื่องของ “การปฏิรูปสถาบันตุลาการ” (Judicial Reform) เพื่อหวังให้เกิดระบบ “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” ในอรรถคดีต่างๆ พร้อมกับลบภาพความเป็น “สองมาตรฐาน” ออกไปจากความรู้สึกของผู้คนในสังคม
 
นอกจากนี้ ในระยะ 4 ปีหลังรัฐประหาร เห็นได้ชัดเจนถึงท่าทีของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองและกลุ่มชนชั้นนำ ที่พวกเขาพร้อมที่จะยอมรับทุกอย่างเพื่อป้องกันการขยายบทบาทของชนชั้นล่าง ที่ในวันนี้ถูกทดแทนด้วยภาพของการต่อสู้ทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” ด้วยฐานคติที่มองว่าคนในชนบทหรือคนชั้นล่างเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นการ “จัดตั้ง” ของฝ่าย “ต่อต้านทหาร – ต่อต้านรัฐบาล – ต่อต้านชนชั้นนำ” จึงทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกว่าการปราบปรามชนชั้นล่างเป็นความชอบธรรมในตัวเอง และขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมที่จะอยู่ในระบอบการเมืองที่มีกองทัพเป็นเสาหลัก โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพใดๆ ทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยพวกเขาก็ยอมรับว่า กองทัพคือหลักประกันทางการเมืองที่ดีที่สุดในภาวการณ์เช่นนี้ โดยพวกเขาเชื่อว่า การดำรงอยู่ของทหารในการเมืองไทยเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่พวกเขาไม่ปรารถนา การวิพากษ์วิจารณ์บทบาททหารในการเมืองไทยจึงถูกละเลยไปโดยปริยาย กล่าวคือ พวกเขายอมสละเสรีภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งการค้ำประกันเสถียรภาพของระบบการเมืองโดยอำนาจของกองทัพ และไม่คำนึงว่าระบบการเมืองนี้จะมีรูปลักษณ์เป็นเช่นไร และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองในอนาคตอย่างใดหรือไม่
 
สภาพเช่นนี้ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นความแนบแน่นของความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ และผู้นำทหาร อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นกลางในเมืองของไทยได้ออก “ใบอนุญาตฆ่า” ให้แก่ทหารเพื่อสลายการชุมนุมของชนชั้นล่าง ภายใต้ทัศนคติว่า คนเหล่านั้นกำลังก่อความวุ่นวายในเมืองหลวง และกำลังทำลาย “ชีวิตอันน่ารื่นรมย์” ของคนเมืองหลวง ! ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คนในเมืองจะไม่มีความรู้สึกอะไรกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการล้อมปราบ ไม่ว่าจะเป็นในปี 2552 หรือ 2553 ก็ตาม และที่น่ากลัวก็คือ พวกเขาเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ให้ความสนับสนุนต่อการล้อมปราบที่เกิดขึ้นด้วย จนก่อให้เกิดภาพลักษณ์ของการทำความสะอาดพื้นที่ของกรุงเทพมหานครหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ว่า พวกเขาไม่ได้แค่ทำความสะอาดกรุงเทพฯ แต่พวกเขากำลัง “ล้างคราบคนจน” ออกไปจากถนนและแหล่งช้อปปิ้งในกรุงเทพฯ ต่างหาก !
 
ผลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็คือ ผู้นำทหารอาจจะรู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการล้อมปราบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเมษายน 2552 เมษายน – พฤษภาคม 2553 ก็ตาม อันทำให้ปัญหาการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมในปี 2516 2519 และ 2535 กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกลบเลือนไปจากความทรงจำทางการเมืองของสังคมไทย จนการเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวกลายเป็น “งานพิธีกรรม” ที่สาระสำคัญของการต่อสู้ที่เคยเกิดขึ้นไม่ได้สร้างผลสะเทือนกับสถานการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด บทเรียนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งสามครั้งในอดีตกลายเป็น “บทลืม” ที่ไม่จำเป็นต้องนำมาคิดคำนึงในปัจจุบัน
 
แน่นอนว่าผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นได้ว่าการบริหารจัดการอนาคตสังคมการเมืองไทยคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป ทฤษฎีของชนชั้นนำและผู้นำทหารที่เชื่อว่ากองทัพคือกลไกหลักของการควบคุมการเมือง และหากควบคุมไม่ได้ก็ใช้การยึดอำนาจเป็นทางออกนั้น อาจจะเป็นประเด็นที่จะต้องขบคิดด้วยความมีสติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐประหารกลายเป็น “ยาเก่า” ที่ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่แล้ว ผู้นำทหารและชนชั้นนำยังจะใช้ยาขนานนี้อีกหรือไม่ หรือผู้นำทหารและชนชั้นนำบางส่วนเชื่อว่าที่รัฐประหารกลายเป็นยาเก่าที่หมดฤทธิ์นั้น เป็นเพราะผลของการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก และอิทธิพลของโลกสมัยใหม่ที่เป็น “โลกาภิวัตน์” (Globalization) แนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่งจึงเชื่อว่า เพื่อแก้ปัญหาของผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ไทยอาจจะต้อง “ปิดประเทศ” พร้อมกับขับเคลื่อน “กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์” ดังเช่นรูปธรรมของการต่อต้านสื่อสากล และข้อเรียกร้องว่า คนเหล่านั้นไม่เข้าใจ “ความเป็นไทย” และสังคมไทย (ข้อเรียกร้องจากการต่อต้านสื่อสากลสามารถทำให้เราตีความได้หรือไม่ว่า พวกเขากำลังคิดถึงความสำเร็จของรัฐบาลพม่าในการปิดประเทศเพื่อลดแรงกดดันของปัจจัยภายนอก)
 
ผลกับกองทัพอย่างมีนัยสำคัญจาก 4 ปีที่ผ่านมาก็คือ โอกาสของการสร้างความเป็น “ทหารอาชีพ” (Professional Soldiers) ของกองทัพไทย ก็เป็นความยุ่งยากอีกประการหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ที่กองทัพขยายบทบาททางการเมืองอย่างมากเช่นนี้ กระบวนการสร้างความเป็นทหารอาชีพไทย (Professionalization) จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หรืออย่างน้อยคำถามที่เป็นรูปธรรมจากกรณีนี้ก็คือ การลดบทบาททางการเมืองของทหารไทยจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และถ้าทหารไม่ยอมลดบทบาททางการเมืองแล้ว กองทัพจะคงบทบาทเช่นนี้ไปได้อีกนานเท่าใด และจะกระทบต่อความเป็นทหารอาชีพอย่างไรในอนาคต หรือผู้มีอำนาจในกองทัพเชื่ออย่างมั่นใจว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องเป็น “ทหารอาชีพ” เพราะตราบเท่าที่กองทัพยังมีอำนาจในการเมือง เพราะกองทัพสามารถได้รับผลตอบแทนทุกอย่างที่กองทัพต้องการ ความเป็นทหารอาชีพจึงเป็นเพียงข้อคิดในตำราเรียนของวิชารัฐศาสตร์ที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจในสถานการณ์ปัจจุบันก็ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สาระของความเป็นทหารถูกสร้างจากการมีอำนาจทางการเมือง ไม่ใช่ความเป็นทหารอาชีพเช่นกองทัพในระบบสากล
 
นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่คงจะต้องยอมรับก็คือ หลังจากการรัฐประหารแล้ว กองทัพมีความแตกแยกภายในอย่างมาก ความเชื่อของผู้นำทหารในยุคนี้มองว่า เอกภาพของทหารสร้างได้ด้วยการพึ่งพาคนในกลุ่มที่ตนเชื่อใจเท่านั้น ผลที่เห็นชัดเจนก็คือ การกำเนิดของ “บูรพาพยัคฆ์” ในการเมืองไทย ตลอดรวมถึงการฟื้นแนวคิดเรื่อง “รุ่น” ที่อาศัยรุ่นของผู้นำกองทัพเป็นฐาน เช่น กรณีเตรียมทหาร รุ่น 12 (จปร. 23) สภาพเช่นนี้ส่งผลให้การขึ้นสู่ตำแหน่งหลักที่สำคัญภายในกองทัพถูกพิจารณาจากมิติทางการเมืองและความเป็นรุ่น มากกว่าจะขยายฐานในแนวกว้าง ความแตกแยกซึ่งโยงกับการผูกพันทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้โอกาสของการปฏิรูปกองทัพในระยะสั้นเป็นไปได้ด้วยความลำบาก เช่นเดียวกับปัญหาการสร้างทหารอาชีพในกองทัพไทยเช่นที่กล่าวแล้ว แต่ผู้นำทหารในยุคปัจจุบันจะตระหนักหรือไม่กับบทเรียนในอดีตว่า ฐานในกองทัพสร้างจากความเป็นรุ่นของตนไม่ได้ การพังทลายเชิงอำนาจของ จปร. รุ่น 5 และรุ่น 7 เป็นสติเตือนใจอย่างดีในเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งเตรียมทหารรุ่น 10 ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็แตกออกเป็น “เตรียมทหาร 10/1” เป็นต้น สิ่งที่ต้องยอมรับในความเป็นจริงก็คือ เอกภาพของกองทัพไม่เคยถูกสร้างได้จากความเป็นรุ่น
 
แต่สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากรัฐประหาร 2549 ก็คือ ความแตกแยกขนาดใหญ่ของสังคมไทย และเป็นความแตกแยกที่ช่องว่างถูกขยายมากขึ้น จนหลายๆ ฝ่ายเกิดความกังวลว่า ปัญหาเช่นนี้ในที่สุดอาจจะต้องลงเอยด้วยความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ในอนาคตหรือไม่ เพราะข้อคิดและบทเรียนทางการเมืองที่สำคัญจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือ ความแตกแยกและการเผชิญหน้าทางการเมืองอย่างไม่มีทางออกนั้น ย่อมจะนำไปสู่การต่อสู้ที่แตกหักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การประนีประนอมที่อยู่บนรากฐานของการหลอกลวง การทำลาย และการกวาดล้างทางการเมืองย่อมไม่เป็นทางออกในการแก้ปัญหาของประเทศแต่อย่างใด มีแต่จะนำพาไปสู่เงื่อนไขของ “สงครามกลางเมือง” ในท้ายที่สุด ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่ออนาคตของประเทศไทย อีกทั้งสภาพเช่นนี้ส่งผลให้ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานเรื่อยไป และไม่สามารถทำให้ระยะเปลี่ยนดังกล่าวสิ้นสุดลง หรือในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะสิ้นสุดลงด้วยการยึดอำนาจครั้งใหม่
 
เรื่องราวเช่นนี้ให้คำตอบแต่เพียงประการเดียวก็คือ สังคมการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 ต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างยาวนาน จนแม้ในปัจจุบันก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า การสร้างเสถียรภาพในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในอนาคต และใครจะเข้ามาทำหน้าที่เช่นนี้ ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาในอนาคตไม่ใช่ต้องทำให้การเมือง “นิ่ง” เพราะการเมืองไม่เคยนิ่ง (ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใด) หากแต่ต้องทำให้กระบวนการทางการเมืองสามารถแก้ปัญหาได้ภายในระบอบรัฐสภา และสร้างเสถียรภาพของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ได้ และแก้ปัญหาทางการเมืองด้วย “ความอดทน” และ “อดกลั้น” โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “อำนาจนอกระบบ” จนกลายเป็นความเคยชินว่า มีปัญหาเมื่อใด ก็ยึดอำนาจเมื่อนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้การเมืองไทยต้องล้มคลุกคลานอย่างไม่จบสิ้น และกลายเป็นระบบการเมืองที่ไม่มีวุฒิภาวะในตัวเอง และไม่สามารถสร้างและพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ ยิ่งหากพิจารณาปัญหาด้วยความกังวล (หรือจะเรียกว่า “มองโลกในแง่ร้าย”) ก็อาจจะกล่าวได้ว่า สภาพการเมืองที่ไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่องและยาวนานอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของความเป็น “รัฐล้มเหลว” (Failed State) ได้ไม่ยากนัก อันจะเป็นผลลบอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ดังนั้นโจทย์ในเรื่อง “การปฏิรูปการเมือง” (Political Reform) จึงยังคงเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต และจะต้องไม่กลายเป็นการปฏิรูปภายใต้กรอบของชนชั้นนำ และการครอบงำของชนชั้นกลางเท่านั้น หรือจะต้องไม่ถูกชี้นำโดย “ปัญญาชนสาธารณะ” ที่ในอดีตชูธง “เขียวอ่อน” เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ต่อมาชูธง “เขียวขี้ม้า” ร้องหารัฐประหาร 2549 เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามในด้านบวกอาจจะต้องยอมรับว่า รัฐประหาร 2549 ได้ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขยายตัวสู่กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้อง “ขอบคุณ” ผู้นำทหาร คมช. อย่างยิ่ง อย่างน้อยพวกเขาก็เป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ช่วยส่งเสริมให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยสูงเด่นยิ่งขึ้นทั้งเวทีในประเทศและในเวทีสากล
 
เรื่องราวทั้งหมดในข้างต้นให้คำตอบแต่เพียงประการเดียวก็คือ ภารกิจของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยจะยังคงท้าทายและหนักหน่วง และยังจะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตด้วยความเหนื่อยยาก แม้ผู้ที่เชื่อมั่นในภารกิจนี้จะเป็นเสมือน “ลุงโง่” แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่ง “ลุงโง่จะย้ายภูเขา” ได้สำเร็จเช่นในนวนิยายจีนที่เราๆ ท่านๆ เคยได้ยินกันมาแล้ว !
 
 
หมายเหตุผู้เขียน:
บทความนี้ขยายจากบทความของผู้เขียนที่นำเสนอในการเสวนาเรื่อง “19 กันยา...4 ปีกับการปฏิรูปกองทัพไทย” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมต้านโลกร้อน ออก จม.เปิดผนึก ถึง รมต. อุตฯ ละเมิดอำนาจศาล

Posted: 20 Sep 2010 10:50 PM PDT

21 ก.ย. 2553 - นายศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง "การละเมิดอำนาจศาลโดยการอนุญาตโครงการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ วรรคสองก่อนดำเนินการ" สืบเนื่องจากการตัดสินคดีของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ซึ่งมีผลผูกพันจนกว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาตามการยื่นอุทธรณ์

โดยเนื้อหาในจดหมายของสมาคมระบุว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่ามีความพยายามให้ข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อหวังผลให้มีการเร่งอนุมัติหรืออนุญาตโครงการต่าง ๆ ที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอยู่อย่างเร่งรีบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จึงถือได้ว่ามีเจตนาที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

 


 

จดหมายเปิดผนึก
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓

 

เรื่อง    การละเมิดอำนาจศาลโดยการอนุญาตโครงการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ วรรคสองก่อนดำเนินการ
เรียน    ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

    ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓ ให้ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหมายถึง ฯพณฯ และพวกดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิจรรมที่เข้าข่ายเป็นโครงการรุนแรง ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ความดังทราบแล้วนั้น แม้การประกาศดังกล่าวจะดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการฟ้องร้องเพิกถอนกันต่อไปนั้น แต่เนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาตามที่ผู้ฟ้องคดีจักยื่นอุทธรณ์ต่อไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ นั้น
    แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสมาคมฯ พบว่ามีความพยายามให้ข่าวที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง เพื่อหวังผลให้มีการเร่งอนุมัติหรืออนุญาตโครงการต่าง ๆ ที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอยู่อย่างเร่งรีบ จนอาจลืมบริบทของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์เข็ญของชาวบ้านมาบตาพุดและบ้านฉางที่ยังไม่ได้รับการดูแล แก้ไขปัญหาหรือเยียวยาอย่างเหมาะสม เพียงพอเลย
    จากการตรวจสอบข้อมูลโครงการทั้ง ๗๖ โครงการในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียงตามฟ้องนั้น พบว่ามีไม่ต่ำกว่า ๑๙ โครงการที่เข้าข่ายเป็นโครงการรุนแรงตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง ที่มีวัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่มีหรือก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งในกลุ่มต่าง ๆ ตามประกาศดังกล่าว โดยมีหลักฐานยืนยันปรากฏชัดเจนในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหรือสุขภาพที่ผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ เหล่านั้นได้ดำเนินการหรือจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือสถาบันการศึกษาจัดทำ
    ดังนั้น การที่ ฯพณฯ และพวกเร่งรีบการอนุมัติหรืออนุญาตโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวไปโดยละเมิดคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จึงถือได้ว่ามีเจตนาที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยาย สมาคมฯและชาวบ้านในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ไม่อาจนิ่งเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้ต่อไป จึงใคร่กราบเรียนมายัง ฯพณฯและพวกให้ทบทวนหรือยุติการดำเนินการใด ๆ ที่นำไปสู่การละเมิดคำพิพากษาดังกล่าวเสีย หาก ฯพณฯ เพิกเฉยต่อจดหมายฉบับนี้ สมาคมฯและชาวบ้านที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพึ่งอำนาจศาลในการแสวงหาข้อยุติเพื่อความยุติธรรมต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

 


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น