โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ทนาย19นปช.ไม่ลงชื่อรับรองรายงานศาลคดีก่อการร้าย–ญาติคนตาย10เม.ย.เศร้า ศาลยกคำร้องขอชันสูตรศพ

Posted: 28 Sep 2010 02:36 PM PDT

 
28 ก.ย.53 นายคารม พลกลาง ทนายความ นปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ในการตรวจพยานหลักฐานคดีก่อการร้ายของแกนนำ 19 คนเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) นั้น ทนาย 19 คนของจำเลยทั้งหมดไม่ลงนามรับรองรายงานกระบวนพิจารณาของศาล เนื่องจากไม่เห็นด้วยในหลายประการ และจะทำยื่นคำร้องของเพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้
นายคารม กล่าวถึงรายละเอียดว่าสาเหตุที่กลุ่มทนายไม่ยอมลงนามในรายงานกระบวนพิจารณานั้น กรณีแรกตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทนายได้ขอให้ศาลเปลี่ยนจากห้องพิจารณาคดี 908 เป็นห้องขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก มีจำเลย 19 คน ทนาย 19 คน ไม่รวมอัยการและญาติของจำเลยบางส่วน แม้ว่าคนเสื้อแดงหลายสิบคนที่มาให้กำลังใจออกไปอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีแล้วก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ทำให้ดำเนินการอย่างอึดอัด ทนายไม่มีที่นั่ง ต้องพากันนั่งพื้น
นอกจากนี้ยังมีการตัดพยานจำเลยออกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพยานฝ่ายอัยการจะมีกว่า 300 ปาก ฝ่ายจำเลยกว่า 200 ปาก แต่ก็ถือเป็นสิทธิของจำเลยที่จะได้สืบพยานเพื่อต่อสู้กันในศาล อีกทั้งยังมีการระบุในรายงานว่าหากภายใน 2 เดือนไม่ส่งพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ให้โจทก์ตรวจ ให้ถือว่าฝ่ายจำเลยไม่ติดใจสืบพยานอีก ซึ่งทนายความต้องการให้ชี้ชัดว่าเป็นคำสั่งของศาล ไม่ใช่ความต้องการของฝ่ายจำเลย
สำหรับกรณีคำร้องของจำเลยบางส่วนรวมถึงกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. ที่ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้มีการไต่สวนเรื่องชันสูตรพลิกศพ 9 ผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้ฌาปนกิจนั้น นายคารมระบุว่า ในช่วงเย็นวันเดียวกัน (27 ก.ย.) ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจยื่นขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพคือพนักงานอัยการเท่านั้น ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 9 รายซึ่งมารอตั้งแต่ช่วงเช้าแสดงความผิดหวังก่อนแยกย้ายกันกลับ
"ตอนแรกเราคิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะนี่เป็นลูกของเรา เราอยากจะให้ชันสูตรให้ถูกต้อง จะได้นำข้อมูลไปเพื่อพิสูจน์ความจริง เรียกร้องความเป็นธรรมได้ แล้วจะได้เผาให้จบไป สงสารลูก" นางสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ มารดาของเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ วัย 29 ปี หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย.53
นายปรีดา นาคผิว ทนายความจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายของจำเลยคนหนึ่งในนั้น กล่าวถึงการไม่ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า เนื่องจากมีการตัดพยานที่จะนำสืบออกไปจำนวนมากเพื่อให้รวบรัด และในวันนั้นไม่ได้ดำเนินการพิจารณาโดยให้จำเลยมาต่อหน้าศาลในช่วงบ่าย อีกทั้งนัดหน้า (27 ธ.ค.) ศาลก็ระบุว่าจะไม่ให้นำจำเลยมาศาลด้วย โดยอ้างว่าเป็นเพียงการตรวจพยานหลักฐาน ห้องพิจารณาคดีก็คับแคบ ไม่ต้องการให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟัง ทั้งที่ความจริงประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมฟังการพิจารณาและการพิจารณาต้องเป็นไปโดยเปิดเผย
นอกจากนี้นายปรีดายังกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 30 รายขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการเนื่องจากได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายและต้องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.ตั้งผู้ว่า 48 จังหวัด "มล.ปนัดดา ดิศกุล" นั่งผู้ว่าฯ เชียงใหม่

Posted: 28 Sep 2010 11:18 AM PDT

มติ ครม.ตั้งผู้ว่า 48 จังหวัด เป็นคำสั่งสุดท้ายก่อนปลัดกระทรวงเกษียณอายุ ส่วนเชียงใหม่ได้ "มล.ปนัดดา ดิศกุล" นั่งผู้ว่าฯ

วานนี้ (28 ก.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง และผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 48 ราย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ทั้งนี้ได้ต่ออายุราชการให้ นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อไปอีก 1 ปี หลังจากทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว ครบ 4 ปี เนื่องจากมีผลการปฏิบัติราชการดีเยี่ยม เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการของจังหวัดสุพรรณบุรี

สำหรับโยกย้ายผู้ว่าฯทั้ง 48 ตำแหน่งมีดังนี้ 1.นายสมชัย หทยะตันติ พ้นผู้ว่าฯพิจิตร เป็น ผู้ว่าฯ เชียงราย 2.นายเชิดศักดิ์ พ้นผู้ว่าฯ พะเยาเป็นผู้ว่าฯ สมุทรปราการ 3.นายปรีชา บุตรศรี พ้นผู้ว่าฯปทุมธานี เป็นผู้ตรวจราชการฯ 4.นายธวัชชัย ฟักอังกูร พ้นผู้ว่าร้อยเอ็ด เป็นผู้ตรวจราชการฯ 5.นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ พ้นผู้ว่าฯสกลนคร เป็นผู้ว่าขอนแก่น

6.นายอำนาจ ผการัตน์ พ้นผู้ว่าฯ อุดรธานี เป็น ผู้ว่าฯ สกลนคร 7. นายคมสัน เอกชัย พ้นผู้ว่าฯ หนองคาย เป็นผู้ว่าอุดรฯ 8. นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ พ้นผู้ว่าปัตตานี เป็นผู้ว่าจันทบุรี 9. มล.ปนัดดา ดิศกุล พ้นผู้ว่าฯ นครปฐม เป็นผู้ว่าฯเชียงใหม่ 10.นายชิดพงษ์ ฤทธิประศาสน์ พ้นผู้ว่าฯ สิงห์บุรี เป็นผู้ว่าฯนครปฐม

11. นายระพี ผ่องบุพกิจ พ้นผู้ว่าฯสุรินทร์ เป็นผู้ว่าฯ นครราชสีมา 12.นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี พ้นผู้ว่ากาญจนบุรี เป็นผู้ว่าฯ นครพนม 13.นายเสนีย์ จิตตเกษม พ้นผู้ว่าฯ ชลบุรี เป็นผู้ว่าน่าน 14.นายชวน ศิรินันท์พร พ้นผู้ว่าฯ อุบลราชธานี เป็นผู้ว่าฯแพร่ 15. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย พ้นผู้ว่าเพชรบูรณ์ เป็นผู้ว่าฯ ระยอง

16.นายวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ พ้นผู้ว่าศรีษะเกษ เป็น ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ 17.นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต พ้นผู้ว่าฯ หนองบัวลำภู เป็น ผู้ว่าศรีษะเกษ 18.นายวินัย บัวประดิษฐ์ พ้นผู้ตรวจราชการฯ เป็น ผู้ว่าฯ หนองบัวลำภู 19.นายวันชัย สุทธิวรชัย พ้นผู้ว่าฯ ชัยภูมิ เป็น ผู้ตรวจราชการฯ 20.นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ พ้นผู้ว่าฯ พัทลุง เป็นผู้ว่าฯสตูล

21.นายแก่นเพชร ช่วงรังษี พ้นผู้ว่าฯ ตราด เป็นผุ้ว่าอำนาจเจริญ 22.นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ พ้นผู้ว่าฯ ลำปาง เป็นผู้ตรวจราชการฯ 23.นายอธิคม สุพรรณพงศ์ พ้น ผู้ตรวจราชการฯ เป็นผู้ว่าฯลำปาง 24.นายพินิจ เจริญพานิช รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็น ผู้ว่าฯ ชุมพร 25.นายชาญวิทย์ วสยางกูร พ้นที่ปรึกษาด้านบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เป็นผู้ว่าฯ มุกดาหาร

26. นายวิชิต ชาตไพสิฐ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้ว่าฯ ชลบุรี 27.นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ พ้นผู้ว่าฯ มุกดาหาร 28.นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร พ้นรองผู้ว่าฯ พิจิตร เป็น ผู้ว่าฯ พิจิตร 29. นายกิตติ ทรัพยวิสุทธิ์ พ้นรองผู้ว่าฯ ราชบุรี เป็นผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา 30.นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ พ้นรองผู้ว่าฯ พะเยา เป็นผู้ว่าฯ พะเยา

31.นายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ พ้นรองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี เป็นผู้ว่าฯ อุทัยธานี 32.นายธานี สามารถกิจ พ้นรองผู้ว่าฯ ชลบุรี เป็นผู้ว่าฯ ปทุมธานี 33.นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม พ้นรองผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ เป็น ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด 34.นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล พ้นรองผู้ว่าฯ นราธิวาส เป็นผู้ว่าปัตตานี 35.นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ พ้นรองผู้ว่าฯ นครนายาก เป็นผู้ว่าฯ สิงห์บุรี

36.นายเสริม ไชยณรงค์ พ้นรองผู้ว่าฯบุรีรัมย์ เป็น ผู้ว่าฯ สุรินทร์ 37.นายชัยโรจน์ มีแดง พ้นรองผู้ว่า นครสวรรค์ เป็น ผู้ว่าฯ นครสวรรค์ 38.นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ พ้นรองผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เป็นผู้ว่ากาญจนบุรี 39.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พ้นรองผู้ว่าฯ นครนายก เป็น ผู้ว่าฯ นครนายก 40.นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ พ้นรองผู้ว่าอุดรธานี เป็นผู้ว่าฯ หนองคาย

41.นายธำรงค์ เจริญกุล พ้นรองผู้ว่าฯ สงขลา เป็น ผู้ว่าพังงา 42.นายสุรพล สายพันธ์ พ้นรองผู้ว่าฯอุบลราชธานี เป็น ผู้ว่าฯอุบลราชธานี 43.นายตรี อัครเดชา พ้นรองผู้ว่าฯ ภูเก็ตเป็นผู้ว่าฯภูเก็ต 44.นายพิสิษฐ์ บุญช่วง พ้นรองผู้ว่าฯอุทัยธานี เป็นผู้ว่าฯพัทลุง 45.นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล พ้นรองผู้ว่าฯภูเก็ต เป็นผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานี

46.น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง พ้นรองผู้ว่าฯ กำแพงเพชร เป็นผู้ว่าฯตราด 47.นายจุลภัทร แสงจันทร์ พ้นรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ว่าฯสมุทรสาคร 48.นายจรินทร์ จักกะพาก พ้นรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ว่าฯชัยภูมิ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 เป็นต้นไป

โดยการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ก่อนนายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เกษียณอายุราชการ และมีรองผู้ว่าฯ และรองอธิบดีระดับนักปกครองต้น ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ว่า 21 ตำแหน่ง ขณะที่ข้าราชการระดับ 10 ในตำแหน่งผู้ว่าฯ และผู้ตรวจ ย้ายสลับกันจำนวน 21 ตำแหน่ง และผู้ว่าฯ ที่ถูกย้ายกรณีเผาศาลากลาง คือ อุบลราชธานี มุกดาหาร อุดรธานี ขอนแก่น ที่ถูกย้ายมาช่วยราชการกระทรวงมหาดไทย มีนายชวน ศิรินันทพร อดีตผู้ว่าฯ อุบลราชธานี มาเป็นผู้ว่าฯ แพร่ และนายอำนาจ ผการัตน์ อดีตผู้ว่า อุดรธานี ไปเป็นผู้ว่าฯ สกลนคร ขณะที่ นายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าขอนแก่น เกษียณอายุราชการในปีนี้ และนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ มุกดาหาร ยังต้องช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยต่อไป

สำหรับการโยกย้ายตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่น่าสนใจ ได้แก่รายของ มล.ปนัดดา ดิศกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย (ฝ่ายข้าราชการ) ซึ่งย้ายจากผู้ว่าฯ นครปฐม มาเป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ โดย มล.ปนัดดา ถือเป็นผู้มีแนวคิดคัดค้านการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดย มล.ปนัดดา เป็นผู้หนึ่งที่แสดงความเห็นในการบรรยาย หรือการประชุมคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ

ครั้งหนึ่งในปี 2549 ได้เขียนบทความหัวข้อ สาเหตุใดกัน ที่ไม่ควรเลือกตั้ง"ผวจ." ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 5 ก.ย. 2549 ตอนหนึ่งของข้อเขียนระบุว่า "ผวจ. คือ ข้าราชการประจำผู้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม พิพากษา ฯลฯ และเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงจังหวัดในส่วนภูมิภาคกับส่วนกลาง รักษาไว้ซึ่งปรัชญาทางการบริหาร คือ ความเป็นราชอาณาจักร ที่เป็น "รัฐเดี่ยว" หรือ "Unitary State" มิใช่ระบบ "สหรัฐ" หรือ "Federation" แต่อย่างใด"

และล่าสุดในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 23 ก.ย. (กรอบบ่าย) ตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ มล.ปนัดดา ที่ระบุว่า กระแสให้ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ ตามที่นักการเมืองนำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวต่อ ส.ส.บางส่วนขณะนี้เป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง เพราะในยามประเทศชาติกำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะความเป็นเอกภาพและความสงบเรียบร้อยคนไทยต้องช่วยกันนำเสนอข้อคิดเรื่องการเสริมสร้างทัศนคติความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง ไม่ใช่เวลาคิดค้นกระบวนวิธีการแบ่งแยกรูปแบบการบริหารของจังหวัด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปส.เรียกร้องสภาผู้แทนฯ แสดงจุดยืน "ปฏิรูปสื่อ"

Posted: 28 Sep 2010 10:43 AM PDT

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน แสดงจุดยืนผลักดันการปฏิรูปสื่อ ขอให้รัฐบาลคำนึงหากจะขยายสัมปทานกิจการโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ เท่ากับยืนยันว่ารัฐบาลต้องการคงอภิสิทธิ์สื่อ และขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมาย

วันนี้ (28 ก.ย.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์ "เรียกร้องสภาผู้แทนราษฎรแสดงจุดยืน “ปฏิรูปสื่อ” พร้อมข้อเรียกร้องสองข้อ โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

"ด้วยระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีรัฐบาลใดผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระมากำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้ ด้วยเหตุที่ยังมีหลายฝ่ายคัดค้านการปฏิรูประบบและเข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหากรรมการ ประกอบกับฝ่ายบริหารเองก็ขาดเจตจำนงทางการเมืองในการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระมากำกับดูแลวิทยุโทรทัศน์ตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การปฏิรูปสื่อในความหมายเดิมที่ประชาชนต้องการเห็นคือ การมีองค์กรอิสระมาจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลตามระบบใหม่ องค์กรของรัฐไม่ผูกขาดคลื่นความถี่และเปิดให้ภาคส่วนอื่นๆในสังคมได้เข้าถึงและใช้ทรัพยากรการสื่อสารนี้อย่างทัดเทียม ขณะที่รัฐบาลต้องลดอำนาจตัวเองลงมากำกับทิศทางของหน่วยงานรัฐที่ยังต้องใช้คลื่นความถี่ เพื่อทำหน้าที่บริการสาธารณะ ตลอดจนรัฐต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่เป้าหมายในการปฏิรูประบบสื่อข้างต้นกลับเป็นเรื่องที่ถูกยื้อยุดไว้ในระบบผูกขาดเช่นในอดีต

แม้กระทั่งปัจจุบันทิศทางการปฏิรูปสื่อที่สะท้อนออกมาจากฝ่ายบริหาร ทั้งกรณีที่รัฐบาลต้องการแปรสัญญาสัมปทานเพื่อผลักดันสามจี การปิดกั้นวิทยุชุมชนและวิทยุท้องถิ่นที่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงได้ และการเฝ้าจับตาเอาผิดกับผู้ใช้สื่อใหม่ (New Media) ต่างสะท้อนอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปสื่อในความหมายเดิม ทั้งยังต้องการคงระบบสัมปทานที่รัฐผูกขาดและแสวงประโยชน์ไว้ จึงเท่ากับว่ารัฐบาลเป็นปฏิปักษ์กับการปฏิรูปสื่อในความหมายที่แท้จริงใช่หรือไม่

คปส.จึงมีข้อเรียกร้องต่อ สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล ดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้ทุกส่วนในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทั้งพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ได้แถลงแสดงจุดยืนในการผลักดันการปฏิรูปสื่อต่อสาธารณะ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร ต้องการให้มีการปฏิรูปสื่อหรือไม่ หรือจะปฏิรูปสื่อในความหมายใด อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกผู้แทนของประชาชนในวาระต่อไป

2. ขอให้รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารที่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสื่อ ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนและดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หากรัฐบาลต้องการแปรสัญญาสัมปทานในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมใดๆ ก็ตาม  และมีผลให้เป็นการขยายระยะเวลาสัญญาหรือสัมปทาน นอกจากจะเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลนี้ต้องการคงอภิสิทธิ์สื่อในระบบเดิมแล้ว ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของประชาชน
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
28 กันยายน 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สรรเสริญ" โต้ ตาย 91 ศพ เป็นการบิดเบือน

Posted: 28 Sep 2010 09:43 AM PDT

แจงมีผู้เสียชีวิตต่างกรรมต่างวาระ แต่มีความพยายามนำมาผูกเป็นประโยคให้สั้น เพื่อให้เกิดความสนใจ ปัดเรื่องมีสไนเปอร์ แจงพื้นที่พบศพทั้งหมดอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ชุมนุม ฟังแค่บางกลุ่มจะสับสน ยัน ศอฉ. ยึดหลักกฎหมาย หลักสากล ปฏิบัติตามคำสั่งศาล มีความเหมาะสม หลีกเลี่ยงความรุนแรง คิดเสมอว่าเป็นคนไทยด้วยกัน เพียงแต่เห็นต่างทางการเมือง ด้าน "พล.ท.ดาวพงษ์" เข้าพบ "สมชาย หอมละออ" แจงข้อมูลสลายชุมนุม

"พล.ท.ดาวพงษ์" เข้าพบอนุกรรมการสอบฯ "สมชาย หอมละออ"
หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันที่ 28 ก.ย. 53 รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก นายสมชาย หอมละออ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นช่วงเดือนเม.ย.-พ .ค.2553 พร้อมด้วย พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ คณะอนุกรรมการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการอยู่ในชุดของนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เดินทางเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายผู้ชุมนุมเสื้อแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อนุพงษ์ ติดภารกิจไปอำลาหน่วยในกองทัพภาคที่ 4 โดยลงไปตรวจเยี่ยมและอำลาตำแหน่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่ผบ.ทบ. ร่วมคณะไปด้วย จึงมอบหมายให้ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสธ. ทบ. เป็นผู้ชี้แจงแทน ขณะเดียวกัน ยังมี พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วยผบ.ตร. พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. และพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมชี้แจงด้วย

นายสมชาย เปิดเผยภายหลังเข้ารับฟังข้อมูลว่า ผลการประชุมน่าพอใจ แต่การหารือมีเวลาน้อย โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อธิบายภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงาน ศอฉ.ว่าดำเนินการอย่างไร และข้อมูลที่ศอฉ.รับรู้มีอะไรบ้าง ในช่วงชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยข้อมูลที่ ศอฉ.นำมาเปิดเผย เป็นข้อมูลที่เคยถูกสื่อนำเสนอมาแล้ว แต่เรียบเรียงให้เกิดความเข้าใจ และการหารือจะมีอีกครั้งในช่วงกลางเดือนต.ค. แต่ครั้งหน้าคณะกรรมการจะขอเวลาหารือมากขึ้น เพราะศอฉ.ยังไม่ได้ตอบคำถาม และยังมีข้อมูลจำนวนมากที่สลับซับซ้อน จึงยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ ยังต้องหารือมากกว่า 1 ครั้ง รวมถึงการขอข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ เพื่อมาประกอบด้วย

ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า พล.ท.ดาว์พงษ์ พูดถึงนโยบายชี้แจงการปฏิบัติกำลังพลเจ้าหน้าที่ช่วงกระชับพื้นที่ และอธิบายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบริเวณสี่แยกคอกวัว และแยกราชประสงค์ อย่าง ไรก็ตาม คณะกรรมการส่งเจ้าหน้าที่ไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องช่วงเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. เพื่อเก็บข้อมูลอีกทางหนึ่ง และประมวลเป็นข้อมูล เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถรับฟังความข้างเดียวได้ โดยวันที่ 30 ก.ย.นี้ คณะกรรมการเชิญแกนนำนปช.เข้าให้ข้อมูลที่ศูนย์ราชการ แจ้ง วัฒนะ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการจะนำข้อมูลรายงานฉบับเฉพาะกาลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับทราบความคืบหน้าในเดือนม.ค.ต่อไป คาดว่าไม่น่ามีปัญหารวบรวมข้อมูลแต่อย่างใด

ด้าน พล.ท.พีระพงษ์ หนึ่งในอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า เป็นการเข้ารับฟังข้อมูลครั้งแรกจากศอฉ. โดยพล.ท.ดาว์พงษ์ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดในภาพรวม บรรยากาศเป็นไปด้วยดี เน้นรับฟังข้อมูลวิธีคิด การวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์แก้ไขเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังชี้แจงถึงนโยบายการปฏิบัติงาน การจัดกำลัง ตั้งแต่ช่วงไม่มีเหตุรุนแรง จนถึงการกระชับพื้นที่ โดยศอฉ.พร้อมตอบทุกคำถามและข้อสงสัย ไม่ได้ปิดบังข้อมูล ทำให้คณะอนุกรรมการทราบว่า การทำงานของศอฉ.ยึดหลักกฎหมาย และตั้งใจแก้ไขสถานการณ์ให้คลี่คลาย

หนึ่งในอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวต่อว่า ศอฉ.มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมามาก จึงประ สานขอรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจ เบื้องต้นจะนัดกันอีกครั้งวัน ที่ 14-15 ต.ค.นี้ การชี้แจงของศอฉ.ให้คณะอนุกรรมการทราบในวันนี้ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที โดยคณะอนุกรรมการจะนำข้อมูลที่ได้ ไปตั้งคำถามในประเด็นอื่นๆ กับ ศอฉ.ในครั้งต่อไป รวมทั้งจะรับฟังข้อมูลจากหลายฝ่ายที่อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนด้วย

สรรเสริญแุถลง คนตาย 91 ศพเป็นการบิดเบือน เพราะเสียชีวิตต่างกรรมต่างวาระ
ส่วน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ศอฉ.ได้ชี้แจงกับคณะอนุกรรมการได้ทราบข้อเท็จทั้งหมด สิ่งที่เราได้ตรวจสอบหน่วยกำลัง ฝ่ายอำนวยการ และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถึงการปฏิบัติเมื่อไหร่ อย่างไร และไล่ลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างไรก็ตาม มีความพยายามของคนบางกลุ่มนำเสนอให้สังคมได้เห็นว่า จำนวนคนตายทั้ง 91 ศพ อยู่ในห้วงและเวลาที่มีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเหตุการณ์กระชับวงล้อมในวันที่ 19 พ.ค. ที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุด ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ในวันกระชับวงล้อม 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีคนตายไม่เยอะ การไปบิดเบือนว่ามีคนตายถึง 91 ศพ เป็นสิ่งที่ไม่จริง เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต ต่างกรรมต่างวาระกัน เพียงแต่เวลานี้มีความพยายามนำมาผูกเป็นประโยคให้สั้น เพื่อให้เกิดความสนใจ

โฆษกศอฉ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศอฉ.ยังชี้แจงกรณีที่มีคนบางกลุ่มบิดเบือนข้อมูล ว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารแอบยิงประชาชนที่มาร่วมชุมนุม โดยเฉพาะการใช้อาวุธสงคราม และสไนเปอร์ แต่ ศอฉ.ชี้แจงให้เห็นรายละเอียดรวมถึงสถานที่พบศพว่าอยู่ตรงไหนบ้าง อีกทั้งพื้นที่ที่พบศพ เกือบทั้งหมดก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเราพยายามให้ข้อมูลข้อเท็จจริง หากไปฟังแค่บางกลุ่มจะเกิดความสับสนได้ ยืนยันว่า ศอฉ. ปฏิบัติงานโดยยึดหลักตามกฎหมายและหลักสากล การปฏิบัติไปตามข้อกฎหมาย ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล บนพื้นที่ความเหมาะสม หลีกเลี่ยงความรุนแรง คิดเสมอว่าประชาชนที่มาชุมนุมเป็นคนไทยด้วยกัน เพียงแค่คิดเห็นแตกต่างกันทางการเมืองเท่านั้น ไม่มีทหารคนไหนคิดทำลายประชาชน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผอ.รพ.รามาฯ แนะเพื่อนหมอบริหารจัดการผลกระทบ พรบ.ผู้เสียหาย

Posted: 28 Sep 2010 08:59 AM PDT

28 ก.ย.53 รศ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ออกแถลงการณ์ "ข้อเสนอแนะของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี" เห็นชอบในหลักการของ พ.ร.บ. และแนะแพทย์ฝ่ายคัดค้าน หาทางออกจากปัญหา พ.ร.บ.ผู้เสียหายทางการแพทย์ ด้วยการบริหารจัดการผลกระทบ โดยมีรายละเอียดในแถลงการณ์ ดังนี้

0 0 0

ข้อเสนอแนะของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ติดตามความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นของ พ.ร.บ.แห่งนี้ ทั้งจากฝ่ายตัวแทนผู้รับบริการ ฝ่ายเพื่อนร่วมวิชาชีพ ผ่านทางแพทยสภา แพทยสมาคม ราชวิทยาลัยต่างๆมาโดยตลอด ทางสภาอาจารย์รามาธิบดีได้จัดทำประชาพิจารณ์ โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนของแพทยสภา แพทยสมาคม ฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าชี้แจงตอบข้อข้องใจของบุคลากรโดยตรง การแสดงความเห็นที่อิสระดังกล่าว ได้นำเข้าเป็นข้อมูลในการประชุมกรรมการบริหาร กรรมการประจำคณะฯ ซึ่งมีมติร่วมกัน เห็นชอบในหลักการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ขอให้มีการทบทวนทำความเข้าใจ และแก้ไข ในบางมาตรา เช่น มาตรา 6(1) และ (2) มาตราที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของสภาวิชาชีพ ที่มาของกองทุน เป็นต้น

ความเห็นชอบดังกล่าวของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น เพื่อนร่วมวิชาชีพหลายคนพูดว่าเป็นการเอาตัวรอดของโรงเรียนแพทย์ แต่จริงๆแล้ว เราพยายามหาทางรอดหรือเราหาโอกาสรอดจากผลกระทบของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มากกว่า

จากการรับฟังข้อมูลทุกฝ่ายเราเข้าใจดีว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไดเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยจากแบบอุปถัมภ์ เป็นแบบพันธสัญญา จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เราจึงไม่สามารถใช้ความสามัคคีเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องใช้สติเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง ใช้องค์ความรู้ด้านการบริการจัดการที่มีอยู่ทุกด้าน เพราะเราเชื่อว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ภาพสุดท้ายที่เราทุกคนต้องการเห็นคือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมผู้ให้บริการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีที่สุด ภายใต้การใช้ทรัพยากรสุขภาพที่เหมาะสม เราไม่อยากเห็นภาพที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ซึ่งแม้จะมีความเจริญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง แต่ความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย ชักนำทำให้เกิดลักษณะการแพทย์แบบป้องกันตนเองทางเทคโนโลยีสูง แต่ความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย ชักนำทำให้เกิดลักษณะการแพทย์แบบป้องกันตนเอง (Defensive Medicine) ซึ่งนำไปสู่การใช้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับความไม่ไว้วางใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน เรายอมรับว่าธรรมชาติของกระบวนการรักษายังมีความพลาดพลั้ง หรือผลการรักษาที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แม้จะให้การรักษาตามมาตรฐานตามวิชาชีพแล้ว กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการพลาดพลั้งหรืออาการแทรกซ้อนควรได้รับการเยียวยา ในกรณีเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพควรได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้สามารถทำงานได้ด้วยความสบายใจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เข้าใจดีและเห็นใจแพทย์ที่ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ท่านเป็นผู้รับผิดชอบภาระงานในการรักษาพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ภายใต้ทรัพยากรที่ถูกจัดสรรให้อย่างจำกัด

ขอเรียนให้ทราบทั่วกันว่า ผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลรามาธิบดีมีสถานภาพและเผชิญปัญหาไม่ต่างจากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ นอกจากนี้ผู้รับการบริการของเราส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลของท่าน เนื่องจากมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการดูแลรักษาซึ่งย่อมทำให้การรักษามีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนหรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังได้มากกว่า แม้การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนถ้าใช้จำนวนผู้ป่วยเป็นหลัก ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีคงต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนมากกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ แต่สิ่งที่บุคลากรของเราสามารถก้าวข้ามประเด็นข้อขัดแย้งของ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เนื่องจากฝ่ายบริหารของคณะซึ่งมีท่านคณบดี (ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน) เป็นประธานได้ทำการศึกษาผลกระทบและนำไปสู่การบริหารจัดการโดยใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร (enterprised risk management) ตามแนวทางของ CoSo และ ISO ตามนโยบายมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลได้ปรับโครงสร้างองค์การโดยจัดตั้งหน่วยงานของโรงพยาบาลเข้ารับผิดชอบทำหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้รับบริการ ขณะเดียวกันที่จะทำหน้าที่ดูแลเรื่องร้องเรียนจากผู้รับบริการแทนแพทย์ผู้รักษา ซึ่งจะทำให้ทีมผู้รักษาสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องร้องเรียน ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบ (Accountability) ของผู้บริหาร

ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เชื่อว่าการที่บุคลากรเข้าใจวิธีการและเห็นการเตรียมพร้อมเพื่อบริหารจัดการผลกระทบจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวจากผู้บริหาร ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราก้าวข้ามปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การมีมติ เห็นชอบในหลักการของ พ.ร.บ.ดังกล่าว 

สุดท้ายนี้ ทางคณะขอร้องฝ่ายตัวแทนผู้รับบริการให้ความเห้นใจและเข้าใจการปฏิบัติงานของฝ่ายแพทย์และทีมผู้รักษา ขณะเดียวกันขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก้าวข้ามประเด็นแห่งความขัดแย้งเพื่อความสามารถและองค์ความรู้ทั้งหมดมาใช้ในการบริหารจัดการผลกระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริงโดยยึดหลักการคำนึงถึงผู้ที่ส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
 

                                                                              รศ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ 
                                                                     ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี
                                                                                   28 ก.ย.53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมียันนายทุนต้องคืนป่าสงวน

Posted: 28 Sep 2010 08:55 AM PDT

แกนนำอนุรักษ์บ้านย่าหมีรวมตัวสำรวจพื้นที่ซึ่งถูกรถแบคโฮถาง ก่อนถูกบริษัทใหญ่ฟ้องข้อหาบุกรุก-ลักทรัพย์ ต้องขึ้นศาลพังงาเพื่อไกล่เกลี่ย ชาวบ้านเรียกร้องบริษัทต้องไม่ไถเปลี่ยนสภาพป่าเกินจากเขตใบจองของชาวบ้านที่รัฐเคยจัดให้ โครงการใดๆ ต้องผ่านความเห็นชอบจากชาวบ้าน ต้องพิสูจน์สิทธิ์ครอบครอง แต่ทนายฝ่ายบริษัทไม่รับข้อเสนอ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องอีกรอบเดือนธันวา

เวลา 9.30 น. วันนี้ (28 ก.ย.53) กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ที่ตกเป็นจำเลย จำนวน 17 ราย พร้อมด้วยญาติพี่น้องจากบ้านย่าหมีและเครือข่ายองค์กรชุมชนชายฝั่งภูเก็ต-พังงา จำนวน 40 คน ร่วมเดินขบวนและให้กำลังใจกับแกนนำนักอนุรักษ์บ้านย่าหมีที่ถูกบริษัท นาราชา จำกัด ฟ้องร้องในข้อ หาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร

กลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านทั้งหมดได้เดินขบวนพร้อมถือป้ายที่เขียนข้อความว่า “บ้านย่าหมี หมู่บ้านรางวัลลูกโลกสีเขียว 2 ครั้ง” โดยเริ่มเดินจากบริเวณสวนสาธารณสมเด็จศรีนครินทร์เดินเรียบถนนทางหลวงเพื่อมุ่งหน้าไปยังศาลจังหวัดพังงา เนื่องจากทางศาลจังหวัดพังงานัดไกล่เกลี่ยที่ห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ที่ 2 โดยมีนายพศวัต จงอรุณงามแสง เป็นผู้พิพากษา และมีนายสมพงศ์ เจียรจรูญศรีเป็นทนายฝ่ายโจทย์ของบริษัท นาราชา จำกัด และทนายความฝ่ายจำเลย คือนายแสงชัย รัตนเสรีย์วงศ์

ในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ย่าหมีได้ยืนถึงข้อเสนอต่อศาล 7 ข้อ คือ 1.บริษัท นาราชา จำกัด ต้องไม่ไถ ถาง เปลี่ยนแปลงสภาพป่าเกินจากเขตใบจองของชาวบ้านที่รัฐจัดให้เดิม 2. ต้องไม่สร้างท่าเทียบเรือส่วนตัวมารีน่าที่อ่าวคลองสน แต่ควรไปปรับปรุงท่าเทียบเรือสาธารณะที่มีอยู่เดิมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน 3.หยุดปิดกั้นร่องน้ำและการถมทำลายแอ่งรับน้ำธรรมชาติในพื้นที่กรณีพิพาท 4.เปิดทางเดินสาธารณะ  (ซึ่งอยู่ในทางเดินในกรณีพิพาท) ที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน 5.ทุกโครงการของบริษัท นาราชา จำกัด ที่จะดำเนินการในชุมชน ต้องผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านก่อน 6.บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องหลาด, ป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่ 2 และแนวเขตพื้นที่ชายหาดสาธารณะ และ 7.ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองตามใบจองและ นส.3 โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและชุมชน โดยที่บริษัท นาราชา จำกัด ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ และยอมรับผลการพิสูจน์ โดยบริษัทฯ ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ เช่น กรณี นายส้าฝาด ห่วงผล และนายส้อหล้า ห่วงผล, นายสุวรรณ หยั่งทะเล เป็นต้น ซึ่งทางทนายฝ่ายโจทย์ไม่รับข้อเสนอของกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านย่าหมี ดังนั้นทางผู้พิพากษาจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 22 ธ.ค.53

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2550 กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา จำนวนกว่า 30 คนรวมตัวกันเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด ที่เป็นป่าต้นน้ำของชุมชนหลังจากได้สังเกตเห็นมีการนำรถแบ็คโฮเข้ามาบุกรุก และถางไถ ปรับสภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

หลังจากนั้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมี จำนวน 17 ราย ได้รับหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเกาะยาวในข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร และกลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมีได้ขึ้นศาลจังหวัดพังงา ที่ไต่สวนมูลฟ้องและไกล่เกลี่ยมาแล้วเมื่อปี 2552 และกลุ่มอนุรักษ์ได้มีข้อเสนอต่อศาลขอให้บริษัท นาราชา จำกัด ปฏิบัติตามข้อเสนอของชุมชน 7 ข้อ เรื่องให้บริษัท นาราชา จำกัด คืนป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดและเป็นป่าต้นน้ำแก่รัฐและชุมชน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ภาระของการปฏิเสธความจริงเรื่องวิกฤติการเมือง

Posted: 28 Sep 2010 12:40 AM PDT

ในสังคมไทยความจริงและการยอมรับสิ่งที่เห็นอยู่โทนโท่ มักถูกปิดทับไว้ใต้นิยายปรัมปราอันหนักอึ้งและการปฏิเสธความจริง

ตัวอย่างล่าสุด: การกลับมาชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 เพื่อระลึกการครบรอบสี่ปีรัฐประหาร และสี่เดือนของการใช้ทหารปราบประชาชน คนเสื้อแดงออกจากพื้นที่ราชประสงค์
การรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในวันนั้นขาดซึ่งประเด็นสำคัญยิ่งไปหนึ่งประเด็นอันได้แก่ ข้อความเคียดแค้นที่ขีดเขียนโดยคนเสื้อแดงเต็มกำแพงสังกะสีที่กั้นเขตก่อสร้าง ซ่อมแซมตึกเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็น ซึ่งคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผาเมื่อสี่เดือนที่แล้ว

ก่อนวันอาทิตย์นั้น กำแพงสังกะสีสูงสองเมตร ยาวกว่าประมาณ 70 – 80 เมตร เต็มไปด้วยหลากข้อความโฆษณาชวนเชื่อ ชวนให้คนไทยมารัก ลืมและปรองดองกัน แต่พอพลบค่ำของเย็นวันที่สิบเก้า ข้อความบนกำแพงที่ทางเจ้าของเซ็นทรัลเวิลด์จัดไว้ก็ถูกเขียนทับด้วยข้อความอันเคียดแค้นต่อชนชั้นนำเก่า แบบที่ไม่สามารถนำมาอ้างได้ในที่นี้โดยไม่เสี่ยงผิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ราวหนึ่งทุ่มเศษคืนนั้น คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยจับกลุ่มหลายกลุ่ม ยืนพูดคุยวิจารณ์ข้อความและระบายความโกรธแค้นคับข้องใจทางการเมืองอยู่หน้ากำแพง หากทว่าพอถึงวันรุ่งขึ้น ข้อความเหล่านั้นก็ถูกลบทิ้งไปสิ้น ราวกลับว่า เหตุการณ์คืนก่อนหน้านั้นมิได้เคยเกิดขึ้น กำแพงยังคงอยู่ แต่ข้อความไม่เหลือให้ห็น คงเหลือเพียงกำแพงสังกะสีอันว่างเปล่าสีเทา ถึงแม้เพียงคืนเดียวก่อนหน้านั้น มันจะได้ทำหน้าที่เก็บบันทึกความในใจจากก้นบึ้งของคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง

คนบางคนได้ตัดสินใจว่า ข้อความเหล่านี้ไม่ควรถูกบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยปี 2553 ช่างภาพชาวตะวันตกผู้หนึ่ง ซึ่งพอเข้าใจความหมายของบางข้อความ กล่าวกับผู้เขียนในคืนนั้นว่า เขาไม่แน่ใจว่าจะนำรูปของข้อความบนกำแพงที่ถ่ายไปลงที่ไหนได้บ้าง และไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไรดีกับรูปเหล่านั้น
ช่องว่างระหว่างสิ่งที่คนไทยจำนวนมากอยากเชื่อเกี่ยวกับบางเรื่องกับความเป็นจริงที่ว่า คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งมีความเชื่อบางอย่างแตกต่างไป ไม่เคยกว้างแตกต่างเท่าทุกวันนี้ เหตุการณ์ 10 เมษา และ 19 พฤษภาคม 53 ซึ่งนำมาซึ่งความตายของ 91 ชีวิต ยิ่งทำให้ช่องว่างนี้กว้างขึ้น เต็มไปด้วยความโกรธแค้นในหมู่คนเสื้อแดงและวิตกจริตในหมู่ชนชั้นนำเก่า

ช่องว่างระหว่างสิ่งที่พูดและยอมรับในที่ลับ กับสิ่งที่ท่องและปฏิเสธในที่สาธารณะดูจะกว้าง ห่างจากกันมากขึ้นทุกที กลายเป็นราคาค่างวดที่สังคมไทยต้องแบกรับหนักอึ้งขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศยุคทักษิณผู้ซึ่งทิ้งทักษิณไปก่อนเกิดรัฐประหารกล่าวในสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสยามว่า การโจมตีสถาบันกษัตริย์ได้มีเพิ่มมากขึ้นและเห็นชัดขึ้น แถมเขายังบอกว่า นี่เป็นหนึ่งในสองรากปัญหาวิกฤติสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สุรเกียรติ์ไม่ได้พยายามแม้กระทั่งจะอธิบายว่า ทำไมคนจำนวนไม่น้อยถึงรู้สึกเช่นนั้นต่อสถาบัน

การเขียนข้อความเช่นนั้นจำนวนมากบนกำแพงซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่การลบข้อความเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว เป็นอาการป่วยของสังคม “เซ็นเซอร์นิยม” แถมคนที่ไม่เอาเสื้อแดงก็มักไม่ยอมที่จะตั้งคำถามว่าทำไมคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยถึงเชื่ออย่างที่เขาเชื่อ

การปฏิเสธไม่ยอมรับฟังความเห็นและความเชื่อของราษฏรจำนวนหนึ่ง จะไม่ช่วยให้ประเทศนี้ผ่าปัญหาทางตันทางการเมือง

รัฐประหาร 19 กันยา เมื่อสี่ปีที่แล้วได้สร้างปัญหาใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงและซับซ้อน เสมือนการเปิดกล่องแพนโดร่าของชาวกรีก และ ณ วันนี้หลัง 91 ศพต้องสังเวยเหตุการณ์ต้นปี ผู้คนควรเริ่มยอมรับความจริงเสียทีว่า คนจำนวนหนึ่งคิดอย่างไร และหันมาถามอย่างจริงจังว่า ทำไมพวกเขาถึงคิดและรู้สึกเช่นนั้น

 

--------------------------------

หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจาก It’s time to take off the blind fold.
http://www.nationmultimedia.com/home/2010/09/23/politics/It-may-be-time-to-take-off-the-bilindfold-30138569.html ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ.เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 23 ก.ย.53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์:แดงแท้ แดงเทียม แดงสลิ่ม แดงมือใหม่ แดงมือโปร แดงมหาเทพ แดงซูเปอร์แดง ฯลฯ

Posted: 27 Sep 2010 08:50 PM PDT

ภายหลังจากที่งาน"เราไม่ทอดทิ้งกัน"ลุล่วงไปได้มีข้อถกเถียงเรื่องของการให้คุณค่าและการจัดวางบทบาทของตนเองในขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงของนักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่ง  บันทึกสั้นๆในเฟซบุ๊คชิ้นนี้เป็นทัศนะหนึ่งที่น่าสนใจศึกษาและแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ความชัดเจนข้างหน้า

 

อ่านที่หลายคนพูดกันไปมาหลังจากงานเรา"ไม่ทอดทิ้งกัน"แล้วมีข้อสังเกตว่าเรื่องแดงแท้แดงสลิ่มเป็นคำที่คนชั้นกลางอยากแดงสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น  คำนี้มีคนทั่วไปใช้ที่ไหน  เวลาไปงานในพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่เคยได้ิยิน คำนี้เกิดจากความอึดอัดในสังคมคนชั้นกลางเอง โดยเฉพาะหลังการปราบปี 53 จนเกิดความต้องการอัตลักษณ์ใหม่เพื่อแยกตัวเองจากคนชั้นกลางอื่นๆ อัตลักษณ์นี้ไม่ผิด ควรมี แต่การมีอัตลักษณ์นี้ไม่ควรนำไปสู่การคิดเองเออเองว่าึคนทั้งหมดต้องเป็นแบบ เดียว ใครเป็นแบบอื่นผิด ไม่แจ๋ว ไม่แน่จริง คนแต่ละคนมีเงื่อนไขมีความถนัดมีรสนิยมต่างกัน ว่ากันไม่ได้ ไม่เห็นประโยชน์ของการว่ากันแบบนี้ เห็นแต่ผลที่จะทำให้คนอยากทำอะไรร่วมกันน้อยลง 

 นี่ไม่ได้ หมายความว่าเราไม่ควรวิจารณ์หรือตั้งคำถามกันเอง แต่การวิจารณ์หรือการตั้งคำถามที่ดีในความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เหมือนการ วิจารณ์หรือตั้งคำถามในเรื่องศิลปะหรือเรื่องอื่นๆ การวิจารณ์ที่ดีต้องช่วยให้อีกฝ่ายเปลี่ยนผ่านจากข้างใน ให้เขาเ็ห็นปัญหาเห็นข้อจำกัดของวิธีคิดต่างๆ ให้เขาเลือกเองตามความถนัดหรือเงื่อนไขที่แวดล้อมตัวเขา  ไม่ใช่วิจารณ์แบบตั้งตัวเองเป้นศาสดาหรือเจ้าพ่อศีลธรรมที่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด และทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงตามที่ข้าพเจ้าเห็นว่าดี 

อ่านความเห็นต่อไปยิ่งพบว่ากระแสคำแบบนี้เลยเถิดไปขนาดไล่ล่าคนที่ไม่เหมือนกัน ว่าเป็นแดงเทียม แดงหากิน แดงมือใหม่ แดงฟันน้ำนม ฯลฯ  คุณบุญชิตพูดไว้ดีว่าเอียงแดงแล้วมีอะไรให้หากินได้ที่ไหน  ในทางตรงข้าม คือทำให้ไม่มีจะกินมากกว่า  เรื่องแดงมือใหม่แดงฟังน้ำนมนี่ยิ่งเลอะเทอะ  มีใครในโลกนี้เป็นแดงตั้งแต่ต้น ความเป็นเสื้อแดงเพิ่งเกิดไม่กี่ปีนี้  ซ้ำหลายคนทีไล่ล่าคนอื่นว่าแดงน้อยไปก็ไม่ได้พูดอะไรเมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 ที่เคยเห็นด้วยกับรัฐประหารมากบ้างน้อยบ้างก็มี  

เมื่อตอนที่ไทยรักไทยถูกยุบพรรค เท่าที่จำได้ก็คือแทบไม่มีนักวิชาการคนไหนแสดงความคิดเห็นคัดค้าน  ตอนเกิดสิบเมษา 52 หรือ 53 หลายคนหายไปแม้กระทั่้งการโพสท์ข้อความในเว็บ  แล้วอย่างนี้จะเอาอะไรมาวัดว่าแดงแท้แดงเทียม? ประโยชน์ของการวัดแบบนี้คืออะไรนอกจากทำให้ขบวนการที่มีคนหลายกลุ่มเข้าร่วม กลายเป็นขบวนการผูกขาดคลั่งคัมภีร์ 

บางคนบอกว่าของแท้ ต้องกล้าแตะบางเรื่อง แต่เมื่อมีหลายคนในอดีตทำแล้วเดือดร้อน  มีใครคุ้มครองหรือช่วยเหลือพวกเขาได้? อันที่จริงถ้าใช้เกณฑ์นี้วัดความเป็นของแท้แล้วก็จะยิ่งพบว่าคนเป็นของแท้ แทบไม่เหลือสักราย  

ในอดีตแม้แต่คนที่ radical มากๆ อย่างปรีดีก็หลีกเลี่ยงไม่พูดเรื่องนี้อีกหลัง 2475 แม้กระทั่งงานปรีดีช่วงอยู่จีนหรือฝรั่งเศสก็แตะเรื่องแบบนี้เบาบาง อ้อมค้อม และต้องมีความเข้าใจบางแบบมากพอจึงจะเข้าใจสารของปรีดี อย่างนี้แปลว่าแท้หรือไม่แท้? นักการเมืองฝ่ายที่คิดว่าเป็นพวกเดียวกันส่วนใหญ่ก็ระมัดระวังในเรื่องทำนอง นี้ คำถามคือคนเหล่านี้แท้หรือเทียม? หรือจริงๆ คำถามนี้ผิดเพราะคำตอบคือเราวัดใครแบบฉาบฉวยไม่ได้นอกจากต้องประเมินกันในระยะยาว การโฉ่งฉ่างไล่ล่าไล่ประนามคนจึงไม่มีความจำเป็น และการวิจารณ์ไม่ควรล้ำเส้นจนกลายเป็นการทำอะไรแบบนี้

ความกล้าเป็นเรื่องดี แต่ความไม่กล้าหรือความกลัวก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะคนแต่ละคนมีเงื่อนไขหรือมีเหตุไม่เหมือนกัน คนที่เรียกร้องให้คนอื่นกล้าหาญอาจไม่ใช่้คนกล้าที่สุดในวันที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นจริงก็ได้  ลองย้อนกลับไปทบทวนความจำเดือนเมษาและพฤษภาก็จะเห็นเองว่าใครอยู่ที่ไหนและทำหรือไม่ทำอะไรเลยในขณะนั้น ใครแสดงตัว ใครหายไปเฉยๆ

การเอาวาทกรรมความกล้าไว้แบล็คเมล์คนอื่นนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของการอุทิศตัวเอง ไม่ใช่การเรียกร้องคาดคั้น ถึงคาดคั้นก็เปลี่ยนคนไม่ได้ ไม่มีประโยชน์อะไรจากการคาดคั้น ยิ่งกว่านั้นคือทุกคนมีสิทธิถูกคนอื่นประณามแบบนี้ได้ตลอดเวลา 

โจทย์ใหญ่ที่เป็นปัญหาร่วมของคนทั้งหมดมากที่สุดในตอนนี้คือ การไม่มีประชาธิปไตย เสียงประชาชนและการเลือกตั้งถูกทำให้อยู่ใต้เสียงเหนือประชาชนและสถาบันนอกการเลือกตั้ง  โจทย์อื่นเป็นประเด็นสำคัญแต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนในฝั่งเดียวกันมีคำตอบเดียว กันทั้งหมด การจัดลำดับผิดหรือการประเมินอะไรเข้าข้างตัวเองจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่อย่างไม่มีความจำเป็น

 

ที่มา:http://www.facebook.com/note.php?note_id=478600134809&id=600452703

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น