ประชาไท | Prachatai3.info |
- สร้อยแก้ว คำมาลา ละครโรงหนึ่ง (03) : ศักดิ์ศรีคนจนหายไปไหน?
- “คำพิพากษา” กรณีฟิล์ม-แอนนี่ : “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย
- นักข่าวพลเมือง: สื่ออุบลฯจวกทีวีไทยมีแต่กลิ่นไอส่วนกลาง ชี้ถึงเวลาผุดกรมสื่อชุมชน
สร้อยแก้ว คำมาลา ละครโรงหนึ่ง (03) : ศักดิ์ศรีคนจนหายไปไหน? Posted: 26 Sep 2010 05:08 AM PDT เขาเป็นชายร่างเล็ก หน้ากร้านเกรียม มือดำขมุกขะมอม เขายิ้มง่าย พูดเก่ง และต้อนรับเราอย่างมีอัธยาศัยด้วยน้ำเปล่าในขวดน้ำอัดลม เขาปาดเหงื่อบนหน้าผาก และคราบน้ำมันก็เลอะใบหน้าเขาเล็กน้อย ด้วยอาชีพช่างซ่อมรถยนต์และความรู้ระดับ ป.7 ในหมู่บ้านชาวนาตีนเขา ชายไทยอายุ 49ปี ผู้นี้คืออีกหนึ่ง, ที่ฉันอยากถ่ายทอดคำพูดของเขาให้คุณฟัง ทั้งหมดนี้คือภาษาที่เขาใช้ ฉันไม่ได้ดัดแปลง ตบแต่ง แต่อย่างใด ทำไมถึงเข้าร่วมกับการชุมนุม เราไปเพราะอยากให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าได้เราก็เลิก ถ้าเขาบอกว่าจะไม่ปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วจะปกครองแบบเผด็จการก็บอกมาตรงๆ ไม่ใช่บอกว่าเราปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เนื้อในจริงๆ ไม่ใช่ ผมไม่ชอบการรัฐประหาร คุณเริ่มเข้าชุมนุมตั้งแต่เมื่อไหร่ อืมม์... เมื่อไหร่ผมก็บอกไม่ถูก จำไม่ค่อยได้ แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมจะบอกว่าผมสนใจการเมือง และผมก็เห็นความไม่ชอบธรรมตั้งแต่ตอนรัฐประหาร และผมก็เข้าร่วมแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนตอนโหวตไม่เอารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นั่นคือการใส่เสื้อแดงครั้งแรกของผม ถามว่า ผมเข้าใจเรื่องการเมืองแค่ไหน ผมก็คงบอกว่าผมก็เหมือนคนรากหญ้าคนอื่นๆ ที่แต่ก่อนเข้าใจเรื่องการเมืองแบบผิวเผิน ไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้ง บอกตรงๆ เมื่อก่อนตอนไปก็เข้าใจแค่นิดหน่อย ก็พากันไป แต่พอไปทุกครั้งมันก็ค่อยยกระดับการรับรู้ขึ้นทีละหน่อยว่าการเมืองคืออะไร ในความรับรู้ของคนทั่วไปคิดว่าการเมืองคือความชั่วร้าย คือการคดโกง ความฉิบหายของประเทศนี้เกิดขึ้นเพราะนักการเมือง มันเป็นวาทกรรมที่เขาสร้างขึ้นมา คนพูดไม่รู้เข้าใจแค่ไหน แต่คนเสื้อแดงเข้าใจแล้วว่าการเมืองคืออะไร การเมืองคือปากคือท้องของเรา คือการได้อยู่ได้กินของเรา คือการได้รับของเรา มันสำคัญยิ่งกว่าคนชื่อทักษิณ ต่อไปมันจะเป็นใครก็ได้ อภิสิทธิ์ก็ได้ ถ้าประชาชนได้รับผลประโยชน์ เขาก็จะเลือกคุณ นี่คือความเข้าใจทางการเมืองของเรา และนี่คือการเมือง มีคนบอกเราว่าอย่ามายุ่งกับการเมือง เพราะการเมืองน่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน พยายามไม่ให้เรายุ่ง แต่มันเป็นไปไม่ได้ การเมืองมันยุ่งกับเราตั้งแต่เราเกิดแล้ว เขาไม่อยากให้เรายุ่งเพราะเขาอยากปกครองเราง่ายๆ มากกว่า ผมเคยอ่านงานเขียนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขาบอกว่า การเมืองคือการเข้ามามีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม คุณดูมีความรู้มากกว่าชาวบ้านธรรมดา ถ้าถามผมว่าเป็นใคร ผมเป็นคนธรรมดา ถ้าถามผมว่ามีความรู้เท่าไหร่ ถ้าเป็นใบปริญญาอย่างพวกคุณ ผมไม่มี แต่ผมมีปัญญา ผมศึกษา ถ้าอยากรู้ว่าคนรากหญ้าคิดอย่างไร ผมทำหนังสือเป็นเล่มได้อย่างคุณเหมือนกัน ผลประโยชน์ที่คุณได้รับจากการเมืองชัดเจนที่สุดคืออะไร ผมมีลูกสาวสองคน สิ่งที่เกี่ยวข้องกับผมมาตลอดยี่สิบปีนี้คือ เรื่องการศึกษาของลูกผม ทุกปีที่ลูกผมเลื่อนขึ้นชั้นเรียนใหม่ ผมจะต้องไปขอทุนการศึกษาให้ลูก ผมจะต้องไปพิสูจน์ความยากจนต่อหน้าคณะกรรมการสี่ห้าคนเพราะทุนมีจำกัด คนอยากได้ทุนมีหลายคน ดังนั้น เราต้องมาแข่งกัน พูดอย่างไรก็ได้ให้เราดูยากจนที่สุด ทุเรศที่สุด น่าอเนจอนาถที่สุด ไฟไหม้บ้าน น้ำท่วมนา หลังคารั่ว ข้าวไม่มีกิน เพื่อให้เราดูยากจนกว่าคนอื่นๆ นี่คือหลักการให้ทุน ถามว่าแล้วศักดิ์ศรีของผมอยู่ตรงไหน แต่ระบบการเมืองในหลายปีที่ผ่านมามันมีนโยบายใครเรียนได้ ต้องได้เรียน เราไม่ต้องไปพิสูจน์ความยากจน คือถ้าคุณสอบเข้าได้ คุณต้องได้เรียน คุณไม่ต้องไปทำอะไรเลย แค่ไปเซ็นเท่านั้น มันจะมีการติดต่อระหว่างรัฐกับสถานศึกษานั้นเลย ไม่ต้องไปพิสูจน์ความยากจนหรือไม่ยากจน ในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว การเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะทรัพยากรมนุษย์มันจะต้องมีคุณค่า แต่ในอดีตเราถูกหลอกว่าเป็นเวรกรรม ความเป็นจริงเราขาดโอกาสต่างหาก อย่างทุกวันนี้เราก็ขาดโอกาสในการเข้าถึงสื่อสารมวลชน (หมายเหตุ : ปัจจุบันลูกสาวคนโตของเขาเรียนอยู่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ชอบทักษิณหรือไม่ชอบทักษิณผมไม่รู้ แต่เขาเอาประชาธิปไตยที่อยู่บนพานลงมาให้คนจนสัมผัส ได้รู้ว่าถ้าคุณเลือกคนที่เหมาะสม เขาก็จะจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์กับคุณได้ มันอยู่ในรูปของโอกาส อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ถามหน่อยเถอะ ชั่วนาตาปี คนที่อ้างว่าตนเองทำเพื่อประเทศชาติๆ ชั่วนาตาปีเคยหยิบยื่นโอกาสนี้ให้คนจนไหม สมัยก่อนเราป่วย เราไม่กล้าไปหาหมอ เพราะเราไม่มีเงิน ป่วยก็อดเอา ถ้าไม่ไหวจริงๆ มีนาขายนา มีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ ถ้าเข้าโรงพยาบาลมันเป็นอย่างนี้ แต่ตอนนี้คนเสื้อแดงเข้าใจแล้วว่า เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาฟรี และมันไม่ใช่เงินใคร ไม่ใช่เงินทักษิณด้วย แต่เป็นเงินของพวกเรา เป็นเงินจากการจัดเก็บภาษีอากรของเรา พรรคเก่าแก่พรรคนั้นมันบอกว่า 30 บาทตายทุกโรค แต่มันมีเงิน มันไม่ได้จนเหมือนเรานี่ มันป่วยมันเข้าโรงพยาบาลเอกชน แล้วมันก็ป่าวประกาศว่านโยบายนี้ล้มเหลวๆ แต่สำหรับคนจน มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก และที่มีค่ามากกว่านั้นคือ เราได้รู้ว่าเรามีสิทธิ์ที่จะรักษาฟรี ถึงวันนี้คุณจะมายึดสิทธินี้เราไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะแม้เราจะรักษาฟรี แต่คุณไม่ได้ให้เราฟรี คุณไม่ได้ให้อะไรเราเลย เพราะมันเป็นสิทธิที่เราต้องได้ มันคือเงินภาษีของประชาชน หลายคนชอบคิดว่าเสื้อแดงโง่ ถูกจ้างมา ถามหน่อยว่าคุณจะไปจ้างคนเป็นล้านเป็นแสนได้ไหม เอารายชื่อถวายฎีกาไป 5 ล้านคน จ้างได้หรือ ผมสาบานได้ ผมไม่ได้รับเงินจากใคร หรืออย่างที่เขาชอบว่าพวกเราโดนซื้อเสียง ถ้าเราซื้อเสียงได้ง่ายอย่างนั้น เอาอย่างนี้ นายชวนเดินเข้ามาที่นี่ เอาเงินมาให้เรา ซื้อเสียงให้เต็มที่เลย ถามว่าเราจะเลือกเขาไหม ของอย่างนี้มันมีความผูกพันครับ มันไม่ใช่แค่คุณมีเงิน ถ้าเราจะเลือกคนคนนี้เสียอย่าง ไม่ต้องเอาเงินมาให้สักบาทหรอก ล้าสมัยแล้วครับที่จะมาบอกว่าเราโดนซื้อ อย่างตอนนี้รัฐบาลก็ทุ่มงบแจกทั้งชนชั้นกลาง ชาวบ้าน ข้าราชการ ถามว่าเขาจะซื้อใครได้บ้าง ช้าราชการ ชนชั้นกลางอาจจะได้ แต่ชาวบ้านไม่ได้หรอก เป็นความคิดที่ตื้นเขินมากนะครับที่คิดว่าเงินอย่างเดียวมันจะซื้อคนได้ แล้วความผูกพันระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน มันผิดตรงไหนครับ มันเป็นวิถีธรรมดาที่คนในอนารยประเทศนานาเขาทำกันอยู่นะครับ มันไม่ใช่ว่าเราเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เราต้องเป็นคนไม่ดี เรากลายเป็นคนไม่ดีไปแล้ว ไอ้นี่มีผลประโยชน์แอบแฝง แล้วถามว่าทุกครั้งที่เราเลือกนักการเมืองเข้าสภา เราไม่ได้เลือกจากการที่เขาจะจัดสรรผลประโยชน์ให้เราหรือ ก็ไอ้นโยบายต่างๆ นั่นล่ะที่เราต้องมาพิจารณาว่ามันจะเอื้อประโยชน์อะไรให้กับเราบ้าง พูดภาษาบ้านๆ ไปด้วยใจของผม คือ แบบนี้ คำว่าประชาธิปไตยคุณต้องยอมรับหนึ่งคนหนึ่งเสียง คุณต้องยอมรับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก่อน ไม่งั้นพูดเรื่องอื่นไม่ได้ อย่าคิดว่าชอบหรือไม่ชอบ คุณอยู่ในขบวนประชาธิปไตย คุณต้องยอมรับหนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง จะทำอะไรก็ต้องถามสังคมก่อน ถามว่าสังคมคืออะไร สังคมคือการที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีกิจกรรมร่วมกัน มีศิลปวัฒนธรรมร่วมกันมายาวนานและมีข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช่การบังคับนะครับ และไม่ใช่เรื่องชั่วครู่ชั่วยาม เพราะถ้าชั่วครู่ชั่วยามอย่างการมุงดูรถชนกัน มันเป็นแค่ฝูงชน ไม่ใช่สังคม มันจึงต้องยอมรับกติกาของการอยู่ร่วมกัน แต่พอกติกามันบอกว่าจะเอาคนนี้ เลือกคนนี้ คุณกลับบอกว่าไอ้พวกนี้โง่ มันถูกซื้อเสียง ทีนี้ถ้าคุณอยากปกครองแบบประชาธิปไตยคุณก็ต้องยอมรับเสียงของประชาชน แต่ถ้าคุณไม่ยอมรับคุณก็บอกไปเลยว่าเราปกครองแบบเผด็จการ ผมจะได้ไม่ต้องไปไล่เถียงกับใครต่อใครว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่นี่คุณบอกประชาธิปไตยแต่กลับไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ มันคืออะไร ผมก็งง (หัวเราะ) สิ่งที่คุณทำมันขัดแย้งในหลักการ รัฐบาลตอนนี้ไม่มีหลักการอะไรเลย ขณะที่ประชาชนเขาชัดเจนว่าเขากำลังต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ต้องเอาคนฆ่าประชาชนมาลงโทษ แต่คณิตบอกว่าเขาไม่ได้มีหน้าที่เอาคนฆ่ามาลงโทษ เขามีหน้าที่มาปรองดอง อ้าว! มันขัดกันนะ มันจะปรองดองได้ยังไง ผมไม่หวังเรื่องปรองดอง ขนาดญาตินักข่าวประเทศญี่ปุ่นที่เสียชีวิตเขามาถามความคืบหน้ากับตำรวจไทย เราไม่มีความคืบหน้าให้เขาเลย สามเดือนแล้ว เขาเลยใช้สิทธิ์พลเมืองไปฟ้องศาลเอง ศาลจะต้องเปิดพิจารณา มันก็ผ่านขั้นตอนพนักงานสอบสวนและอัยการ แต่ว่าศาลไม่รับฟ้อง ถ้ามันมีการฟ้องมันจะนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ทีนี้มันไม่มีไง มันแสดงถึงกระบวนการยุติธรรมเราไม่สามารถดำเนินไปตามปกติได้ ผมถึงถามย้ำว่า เรากำลังต่อสู้ในระบอบของอะไร จริงไหมครับ ตอนเราต่อสู้กับอะไรไม่รู้ วันนั้นผมอ่านในเว็บไซต์หนึ่ง มีงานเขียนของคนชื่อ ปรวย คุณเข้าอินเตอร์เน็ตด้วยหรือ ครับ ผมเป็นคนแก่ทันสมัย คุณปรวยทำให้เรามีแง่คิด เกี่ยวกับดีเอสไอ เขาถามว่า คุณกล้าจับคนที่ปิดสนามบินไหม ยกตัวอย่างถ้ามีรถเบ๊นซ์กับมอเตอร์ไซค์ฝ่าไฟแดง คุณไม่จับรถเบ๊นซ์ คุณจับมอเตอร์ไซค์ ถามว่าทำไมคุณไม่จับรถเบ๊นซ์ เพราะคุณกลัวรถเบ๊นซ์หรือ ไม่ใช่ คุณไม่ได้กลัวรถเบ๊นซ์ แต่คุณกลัวคนที่อยู่เบื้องหลังรถเบ๊นซ์นั่น นี่เป็นคำเปรียบเทียบที่ผมชอบใจมาก คือ เขาไม่ได้กลัวรถเบ๊นซ์ แต่เขากลัวคนที่อยู่เบื้องหลังรถนั้นต่างหาก เพราะฉะนั้น ที่คุณไม่จับคนยึดสนามบิน คุณรู้อยู่แก่ใจว่าคุณไม่ได้กลัวคนยึดสนามบิน แต่คุณกลัวคนที่อยู่เบื้องหลัง คุณรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร แต่ไม่เป็นไร วันหนึ่งความจริงจะปรากฏ ไม่เกินยี่สิบปีนี้หรอก จากนี้ไปมันเป็นเรื่องของประชาชน ตอนนี้ไม่ว่าองค์กรใดก็ตาม เขาพยายามจะหาหลักฐานมาสู้ หาข้อมูลหาหลักฐานมามัดให้แน่นๆ ไม่ว่าในส่วนของพรรคการเมืองและ ของหน่วยงานอื่น เห็นบางคนบอกว่าหลัง พรก.ฉุกเฉินเลิกใช้ คนเสื้อแดงจะลุกฮืออีก ผมไม่เห็นด้วยเลย คุณจะลุกฮือไปทำไม คุณจะไปทำอะไร ประชาชนตายกันเท่าไหร่ตั้งแต่สมัยเดือนตุลาแล้ว เราไม่เคยหลาบจำกันหรือ ไม่ได้เห็นด้วยเลยกับการเคลื่อนไหว พยายามจะยับยั้งด้วยซ้ำ เพราะเห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนชุมนุมเขาบอกเราหลายครั้งแล้วว่า สู้อีกหน่อย สู้อีกหน่อย อีกแค่สองขีดเท่านั้น เดี๋ยวทหารแตงโมจะมาช่วยเรา ตำรวจมะเขือเทศจะช่วยเรา พยายามปลุกเร้าเราให้สู้ อดทนอีกหน่อย อีกสองขีดเราก็จะชนะ จะเกิดแนวร่วมมหาศาล จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ กระบอกปืนจะหันไปทางผู้บัญชาการ ไม่ใช่ประชาชน ตามแต่จินตนาการของคนที่ปลุกเร้าบนเวที เขาเรียก นักจินตนาการ เสร็จแล้วผมก็บอกว่า บทเรียนเราผ่านมาตั้งหลายครั้งเราไม่ได้จดจำหรือ เราเดินเข้าไปให้เขาตี ให้เขาเอาเราเป็นเป้า เราโดนตีครั้งแล้วครั้งเล่า ไปเพื่ออะไร ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาทบทวนบทเรียนและหายุทธวิธีกันใหม่ คุณพูดกับใคร พูดกับเสื้อแดงด้วยกัน -- ต่อให้คุณเผาอะไรไปสารพัด แค่เผากองขยะเล็กๆ สักกอง ควันไม่ทันจางเลย ถามว่า แล้วคุณจะไปอยู่ที่ไหน คุณจะมีแผ่นดินยืนอยู่หรือ มันไม่มีทาง เพราะเงินเขาก็มี อำนาจเขาก็มี กระสุนปืนเขาก็มี แล้วคุณคิดว่าควรทำอย่างไร หรือว่าอยู่เฉยๆ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แต่เราก็ทำของเราไป ตามแนวทางของเรา สร้างความรู้ต่างๆ ขึ้นมาให้กับประชาชน สิทธิของพลเมือง อำนาจอธิปไตยต่างๆ ของประชาชน มันคืออะไร เราจะต้องวางรากฐาน ปูฐานตัวนี้ให้แข็งแรง เขาบอกว่ามีผู้นำแนวดิ่งมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัยแล้วที่พาคนไปตายไม่รู้จักจบจักสิ้น พอได้หรือยังที่ผู้นำจะพาคนไปตาย อย่างที่สมบัติทำตอนนี้เป็นผู้นำแนวนอน ผมเห็นด้วย เราไม่ได้ปล่อยเวลาไปเฉยๆ นะ ก็อย่างที่เรากำลังคุยนี่ล่ะคือเรากำลังเริ่มทำ เน้นสร้างความรู้ ไม่เอาการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ คือกิจกรรมอะไรก็ต้องมี คือมีรูปแบบกิจกรรมแต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ต้องไปในแนวทางเดียวกันหรอก ไม่ต้องมาทำอะไรเหมือนๆ กัน ไม่ต้องมาระดมกันทุกภาคส่วนกันหรอก ขอใช้ภาษาของหมอประเวศหน่อย ฮ่าๆ (หัวเราะ) คุณพอใจคณะปฏิรูปไหม ตราบใดที่เราอยู่ในรัฐบาลนี้ ผมยอมรับไม่ได้ แล้วอาจารย์หมอประเวศนี่ ผมถามคุณหน่อยในฐานะที่คุณเป็นสื่อ คุณเคยได้ยินหมอประเวศให้สัมภาษณ์ครั้งใดบ้างที่แสดงออกให้เห็นว่าเขามีจุดยืนอยู่เคียงข้างประชาธิปไตยที่แท้จริง มีไหมที่เคยออกมาพูดว่าผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร มีไหม ผมว่าจุดยืนของเขาชัดเจนนะว่าเป็นอย่างไร แล้วผมถามหน่อย นายอภิสิทธิ์มีความชอบธรรมอันใดที่จะมาตั้งคณะกรรมการปรองดองหรือปฏิรูป ในเมื่อคุณคือคู่ขัดแย้งกับประชาชน แล้วผมขอถามว่านายประเวศหรือนายอานันท์หน่อยว่าคุณใช้อำนาจในมาตราใดมาปฏิรูป มีกฎหมายใดรองรับพวกคุณหรือ? แต่คุณอานันท์ หมอประเวศ มีภาพพจน์ในการช่วยเหลือคนจน คนด้อยโอกาส ก็นั่นมันภาพ ภาพที่รัฐบาลอยากให้เราเห็นเป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้เราก้าวล้ำไปกว่านั้นแล้ว เรามาถึงการคิดวิเคราะห์กันแล้วว่าบทบาทที่แท้จริงของประชาชนควรเป็นอย่างไร แล้วบทบาทของพวกเขาควรเป็นอย่างไร เขาถือสิทธิ์อะไรมาอยู่เหนือเราในการจะมาปฏิรูปประเทศ แล้วคุณอานันท์นี่ ถ้าย้อนกลับไป เขาเคยเป็นนายกฯ ได้เพราะอะไร ก็เพราะการรัฐประหารไม่ใช่หรือ เขาไม่ได้มาจากระบอบการเลือกตั้ง อันนี้ผมพูดเพราะที่มาที่ไปของคุณอานันท์มันก็ไม่ชอบธรรมแล้ว คือนี่แหละโลกของเรา ประเทศไทยเราอยู่กับโฆษณาชวนเชื่อ บางทีคนที่ดีที่สุด อาจจะชั่วร้ายที่สุดก็ได้ ยกตัวอย่างเวลาคุณเดินออกไปจากหมู่บ้าน คุณจะเจอป้ายโฆษณา เป๊บซี่ดีที่สุด เป๊บซี่ดีที่สุด ออกไปสักครึ่งชั่วโมง คุณเห็นอยู่สามป้าย อยู่ในบ้านคุณดูทีวี คุณเห็นเป๊บซี่ดีที่สุด ทีนี้ พอคุณมีงานบุญอะไร คุณไม่มีเป๊บซี่ไม่ได้แล้ว คุณจะเลี้ยงแค่น้ำเปล่า เขาจะหาว่าขี้เหนียว ต้องมีเป๊บซี่ดีที่สุด เพราะเขาบอกว่า เป๊บซี่ดีที่สุด ทั้งที่เป๊บซี่นี่มันเป็นกรดนะครับ ที่ประเทศอินเดียนี่เขาฟ้องร้องกันนะครับ แต่ว่าคนไทยเราเชื่อปักใจกันไปแล้วว่าเป๊บซี่ดีที่สุด ดังนั้น เราต้องแยกกันให้ได้นะครับว่าความจริงคืออะไรกับภาพที่เขาต้องการให้เราเห็นคืออะไร รู้สึกอย่างไรที่คนในเมืองมักจะมองว่าผู้มาชุมนุมมาสร้างความเดือดร้อนให้ รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม รู้สึกว่าเราถูกแบ่งแยก ก็เหมือนภาพที่เขาเอาน้ำมาฉีดถนน ทำความสะอาด เอายาฆ่าเชื้อมาโรย แล้วจากนั้นก็จัดถนนคนเดิน มีคอนเสิร์ต มันเป็นการเหยียดหยามคนจน เป็นการตอกย้ำความแตกต่างของคนในเมืองกับคนชนบทชัดเจน เป็นการตอกลิ่มความขัดแย้ง เป็นสองนครา มันเป็นการบอกว่าคุณนี่ไม่มีคุณค่าแม้แต่จะเหยียบตีนเข้ามาในกรุงเลย มาล้างรอยตีนหมู่เฮา เป็นรอยเสนียดจัญไร คนเหนือเรานี่ถือนะครับ ถ้าใครออกบ้านไปแล้วเอาไม้กวาดมาปัดนี่ แสดงความรังเกียจกันอย่างแรง เป็นการบอกว่ามึงอย่ามาที่นี่อีก ภาพเหล่านี้มันตรึงตราครับ มันเจ็บปวด เรานี่ไม่มีคุณค่าเลย แต่รู้ไหมครับ มันก็เป็นธรรมดาของคนเราเพราะเรื่องที่คนเราต้องต่อสู้จะมีแค่นี้คือดำรงเผ่าพันธุ์และสืบทอดเผ่าพันธุ์ เราทำให้เขาไม่ได้ช็อปปิ้ง ไม่ได้เดินห้าง เขาเดือดร้อน เราทำลายวิถีการดำรงเผ่าพันธุ์ของเขา เขาก็สู้ คำที่ผมเจ็บปวดมากคือ ไอ้พวกรถไฟพามา เขามองเราเป็นคนบ้านนอก มากับรถไฟ มันรู้สึกเจ็บปวด บ่อยครั้งที่ดูทีวี ขอความสุขคืนมาผมน้ำตาไหล ถ้าวันนั้นเสื้อแดงชนะ คุณจะรู้สึกอย่างไร ว่าตามจริง ถึงตอนนี้แล้วผมไม่อยากให้เสื้อแดงชนะหรอกครับ ถึงชนะก็ไม่จบ เสื้อเหลืองก็คงจะออกมา คุณต้องเข้าใจ ประเทศเราไม่ได้มีแค่รัฐกับเสื้อแดงนะ มันมีกลุ่มอื่นๆ อีก เพราะฉะนั้น การจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยต้องเป็นกำลังประชาชาติ คือ มีความหลากหลายของหมู่คน ไม่มีใครยึดติดอันใดอันหนึ่ง มันต้องเป็นความร่วมมือของชนชั้นที่หลากหลาย ผมอยากเห็นอย่างนั้นมากกว่า ประเทศถึงจะสงบอย่างแท้จริง ถ้าไม่อยากให้เสื้อแดงชนะแล้วการต่อสู้ที่ผ่านมาของคุณล่ะคืออะไร คือผมไม่อยากให้เสื้อแดงชนะเพียงกลุ่มเดียวเข้าใจไหมครับ แต่หมายถึงเป็นความตกลงยินยอมสมัครใจของคนทั้งประเทศ เป็นข้อตกลงที่เรามีร่วมกัน เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ที่ลงตัวของคนในชาติเรา คือเป็นชัยชนะของคนทั้งประเทศไม่ใช่แค่เสื้อแดง พูดตามจริง ถ้าคนไทยเราคิดตรงกันว่ายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ มันก็จะดีมาก มันจะไม่มีความขัดแย้งต่อกันอีก ตอนนี้ผมถึงเห็นด้วยกับการให้ความรู้กับประชาชนว่าประชาธิปไตยคืออะไร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
“คำพิพากษา” กรณีฟิล์ม-แอนนี่ : “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย Posted: 26 Sep 2010 04:51 AM PDT ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่ไม่รับรู้ข่าวความสัมพันธ์ระหว่างนักร้องดัง ฟิล์ม รัฐภูมิ กับดาราสาว แอนนี บรู๊คก็นับว่าเป็นคนตกกระแสสังคมไปเลยทีเดียว เหตุเกิดจากข่าวลือเรื่องฟิล์มใช้เงินสองแสนบาทปิดข่าวเรื่องทำดาราสาว อ. คนหนึ่งท้อง จนทำให้ฟิล์มต้องออกมาแถลงข่าวยอมรับว่าเคยคบหากับแอนนี่ ตามมาด้วยการที่แอนนี่อุ้มลูกน้อยวัย 3 เดือนไปออกรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ของสรยุทธ สุทัศนจินดา หลังจากนั้นเราก็จะเห็นการ ทยอยกันออกโรงของ “ตัวละคร” ตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเฮียฮ้อ ค่ายอาร์เอส, จดหมายจากเรือนจำของเสี่ยอู๊ด ผู้เคยตกเป็นข่าวมีความสัมพันธ์กับนักร้องหนุ่ม, บทสัมภาษณ์ของพจน์ อานนท์ และล่าสุด นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ของพิธีกรดังคนเดิมทางช่อง 3 ยังไม่นับรวมการแสดงความคิดเห็นอย่างดุเด็ดเผ็ดมันของสาธารณชนในพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ อย่างเวปไซต์พันทิปดอทคอม ที่สะท้อนให้เห็นพายุไต้ฝุ่นทางอารมณ์ของชาวไทยที่มีหัวใจโอบอ้อมอารี แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมเข้าจู่โจมทำลายล้างบุคคลใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภัยต่อ “ความสงบสุขเรียบร้อยทางศีลธรรม” ของบ้านเมืองโดยเฉพาะถ้าคนนั้นเป็นบุคคลที่เขาเรียกว่า “บุคคลสาธารณะ” แรงกดดันจากกระแสสังคมที่โหมกระหน่ำนี้ทำให้ฟิล์มออกมาแถลงข่าวอีกครั้งในวันที่ 23 กันยายน 2553 โดยกล่าวว่า "ผมยอมทุกอย่างไม่ว่าจะให้ทำอะไร ผมขอบคุณทุกคนจริงๆนะครับ ผมไม่มีอะไรจะพูด" [1] นับเป็นการปิดองก์แรกของเรียลลิตี้โชว์ ตอน “โศกนาฏกรรมของชีวิต (คนอื่น) คือสุขนาฏกรรมของเรา (คนไทย)” เรียลลิตี้โชว์ชีวิตฟิล์ม-แอนนี่ครั้งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างแยบยลและเป็นขั้นเป็นตอนโดยสื่อมวลชนและกระแสสังคมดังที่เราได้เห็นจากการนำเสนอข่าวแบบลูกปิงปอง และทุกภาคส่วนในสังคมก็พร้อมจะออกมาเชียร์และเลือกโหวตปกป้อง V 1 “คนดี” ในดวงใจของตนเองและเลือกโหวตออก V 2 ที่ตนเห็นว่าเป็น “คนเลว” “คนดี” ทุกหมู่เหล่าของสังคมไทยพร้อมใจกันดาหน้าเข้าร่วมวิวาทะเพื่อหาข้อสรุปแบบฟันธงว่าใครคือ “พระเอก” ใครคือ “นางร้าย” ว่าใครคือ “ตัวร้าย” ใครคือ “นางเอก” หรือไม่ก็แข่งขันกันต่อคิวเข้าประกวดรับรางวัล “บุคคลตัวอย่าง” โดยการแย่งชิงพื้นที่ ทั้งทางสื่อกระแสหลักและพื้นที่ออนไลน์ เพื่อแสดง “ความสูงส่งทางจริยธรรม” ของตนเองให้ปรากฎเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ราวกับเป็นการร่วมลงแขกเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ทางจริยธรรมที่ถูกกดทับไว้ใต้สำนึกทางศีลธรรมของตน ศาลเตี้ยได้ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดในพื้นที่สาธารณะ และการเข่นฆ่าประหารชีวิตได้ถูกกระทำขึ้นอย่างเลือดเย็นภายใต้ข้ออ้างเรื่อง “ความถูกต้อง”, “จิตสำนึกทางศีลธรรม” แม้กระทั่ง “ความยุติธรรม” ที่นางระเบียบรัตน์ใช้สร้างความถูกต้องให้กับการ “โหวต” ของตน กรอบคิดเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม ของการเป็น “คนดี” ที่สังคมไทยสถาปนาให้เป็น “คุณค่าสูงสุด” ซึ่งราษฎรไทยพึงยึดถือเป็น “ความจริงสูงสุด” ได้แสดงแสนยานุภาพของตนเองในพื้นที่สาธารณะผ่านกรณีฟิล์ม-แอนนี่ได้อย่างไม่ขัดเขิน การพยายามตัดสินว่าใครผิด/ถูก ใครดี/เลว ใครขาว/ดำ ในนามของ “ลัทธิศีลธรรมนิยม” นี้กลายเป็นบรรทัดฐานเชิงคุณค่าที่สังคมมักจะใช้ครอบและตัดสินปรากฎการณ์ใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ โดยไม่ใส่ใจว่ากรณีแต่ละกรณีมีบริบทที่เฉพาะเจาะจง มีความซับซ้อนอ่อนไหวต่างกันไป และ ในกรณีเฉพาะเจาะจงนี้ มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่ไร้เหตุผลมาเกี่ยวข้องด้วย นี่เป็นอาการของ “โรคร้ายเรื้อรัง” ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่ว “ร่างกาย” ของชาติไทย นั่นก็คือ “โรคคลั่งความดี/ความถูกต้อง” และเชื้อร้ายของมันก็ค่อยๆปรากฎอาการให้เห็นในรูปของ “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” ในกรณีตัวอย่างนี้ ความบ้าคลั่งได้พุ่งเป้าไปที่ “เหยื่อ” สองราย ฟิล์มและแอนนี่ ระดับแรกคือ พวกเขาตกเป็น “เหยื่อ” ทางตรงของความคิดเห็นสาธารณะที่รุมกันทำร้ายทางวาจาและทางจิตวิทยา ดังจะเห็นจากภาวะเครียด เศร้าโศกและเสียใจสุดจะบรรยายของบุคคลทั้งสอง ระดับที่สองคือ ปฏิกิริยาและคำพูดในพื้นที่สาธารณะของพวกเขาทั้งสองล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการติดเชื้อโรคฮีสทีเรียทางศีลธรรมในตัวของคนทั้งสองอีกขั้นหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของแอนนี่ในรายการสรยุทธที่ว่า "ในเมื่อเราตัดสินใจและตัดใจแล้ว ฉะนั้นถ้าเขาต้องมายอมรับเพียงเพราะสังคมบีบบังคับอย่าดีกว่า เพราะไม่ได้ทำด้วยใจตั้งแต่แรก ทั้งๆ ที่เราแสดงความบริสุทธิ์ใจไปตั้งแต่แรก ถ้าทำเพราะสังคมบีบอย่าเลย เราเลี้ยงเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาตรวจอะไรแล้ว ไม่ต้องมาให้อะไรด้วย หนูไม่เอา ถ้าเราจะทำร้ายเขาก็ทำแต่แรกดีไหม แต่นี่ออกมาจะได้อะไร เรามีแต่เสีย" [2] และคำพูดของฟิล์มในงานแถลงข่าวดังที่ได้ยกไปแล้วในตอนต้นของบทความ ในสถานการณ์วิกฤต คำพูดของคนทั้งสองแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการตอบสนองต่อบรรทัดฐานทางศีลธรรมชุดหนึ่งที่กำกับความคิดเห็นสาธารณะ และกำกับแม้กระทั่งตัวผู้ถูกกระทำเอง พวกเขาพูดและทำในสิ่งที่คนไทยที่ดี มีศีลธรรม “พึง” กระทำในพื้นที่สาธารณะ (โดยที่ ในความเป็นจริง ไม่มีใครสนใจว่าเขาจะ “คิด” อย่างนั้นจริงๆ แต่ในสังคม “ซึนเดเระ”[3] ที่เรากำลังอยู่กันนี้ “ภาพลักษณ์” ที่ถูกนำเสนอย่อมมีความสำคัญมากกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว) ดัง นั้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม พวกเขา (และผู้คนที่เรียงคิวกันประกาศ “คำพิพากษา” เบื้องหน้าพวกเขา) เป็นทั้ง “ภาพสะท้อน” อาการติดเชื้อของสังคมไทย และ ในขณะเดียวกัน ก็เป็น “พาหะ” ของโรคฮีสทีเรียทางศีลธรรมนี้ด้วย พวกเขาเหล่านี้ได้ร่วมกระจายไวรัสให้ขยายวงกว้างและหยั่งรากลึกในระบบคุณค่าของสังคมไทยไปโดยปริยาย และความรุนแรงของไวรัสนี้ร้ายแรงจนกระทั่ง “อาการ” ไม่ได้ปรากฏให้เห็นเฉพาะในด้านจิตวิทยาดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ในด้านกายภาพด้วยเช่นกัน ดังเช่น มารดาของฟิล์มถึงกับต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาลด้วย “อาการท้องเสีย ถ่าย 4-5 ครั้งต่อวัน และในวันนี้ตื่นเช้ามามีอาการ ปวดตัว ปวดศีรษะ มีเสลดแห้งๆ อยู่ในลำคอ ไอเจ็บคอ และมีอาการหนาวสั่นเข้ากระดูก” [4] ส่วนมารดาของแอนนี่มีอาการ “ไม่สบายเพราะเกิดอาการเครียด คิดมากต่อเรื่องของลูกสาวทำให้ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะและอาเจียนอยู่บ่อยครั้ง ถือว่าส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้เป็นแม่อย่างมาก” [5] นี่แสดงให้เห็นว่าศีลธรรมนั้นทรงพลังมากจนส่งผลรุนแรงต่อร่างกายโดยตรง อาการ “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” นี้ก้าวเข้าสู่จุดสุดยอดเมื่อนักข่าวตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีว่าควรจะถอดถอนรางวัลเยาวชนดีเด่นจากฟิล์มหรือไม่ ? สิ่งนี้สะท้อนว่าเรากำลังยกระดับกรณีฟิล์ม-แอนนี่จากเรื่องอื้อฉาวของวงการดาราสู่ประเด็นคอขาดบาดตายทางศีลธรรมที่นายกรัฐมนตรี ผู้นำของประเทศ จะต้องลงมาดูแลและแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างนั้นหรือ ? แท้จริงแล้ว ปัญหาของเรื่องนี้่ไม่ได้อยู่ที่ความประพฤติดี/ชั่วของฟิล์ม แต่อยู่ที่กรอบคิดเรื่อง “รางวัลเยาวชนดีเด่น” รวมถึง “รางวัลคนดีเด่น” อื่นๆที่ทุกสถาบันของรัฐจะต้องยกขึ้นหิ้งเป็นผลงานบังคับที่ต้องทำในแต่ละปีงบประมาณ รางวัล “เยาวชนดีเด่น” นี้เกิดขึ้นภายใต้กรอบคิดคู่ตรง ข้ามว่ามี “เยาวชนเลวเด่น” ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหา “ความเลวดีเด่น” ที่เกาะกินเยาวชนของเรา “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายจึงคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อล่อลวงให้เด็กไทยยึดถือกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นตัวอย่างของ “ความดีอันสัมบูรณ์” นับว่าเป็นการสับขาหลอกที่แยบยลมากของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา เพราะแทนที่จะให้สังคมร่วมถก คิดวิเคราะห์ที่มาที่ไปของปัญหาและร่วมกันหาทางออกอย่างตรงไปตรงมา (โดยไม่ต้องเดินอ้อมผ่านจุดอ้างอิงเรื่องความดีงามทางศีลธรรมจริยธรรมอยู่เสมอๆ) ผู้ใหญ่ของเรากลับโยนของเล่นชิ้นนี้ให้กับสังคมเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้อาการเคล็ดขัดยอกอันเนื่องมาจากต่อมศีลธรรมปูดบวม “ลัทธิบูชาปูชนียบุคคล” ที่แฝงตัวอยู่ภายใต้หน้ากากอันสวยหรูของ “รางวัลคนดีเด่น” นี้จึงเป็น “ทายาทอสูร” สายตรงที่คลอดออกมาน้ำลายของเชื้อโรค “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนในสังคมไทยจะต้องตระหนักถึงภัยของโรค “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” นี้ ซึ่งเราทุกคนเป็นทั้งผู้ติดเชื้อและผู้แพร่เชื้อ เป็นทั้งเหยื่อและฆาตกร เป็นทั้งไอ้ฟักและผู้พิพากษา ? หากเราไม่ต้องการให้สมองและร่างกายของเราชักกระตุกอย่างควบคุบไม่ได้จาก “อาการคลั่ง” นี้ เราจะต้องหันมาพิจารณาและตั้งคำถามอย่างถึงรากถึงโคนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการยึดติดกับ “ลัทธิศักดิ์สิทธิ์นิยม” ว่าเป็นคุณค่าสากลสูงสุดอันละเมิดมิได้ (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ “ความดีงาม” หรือ “ปูชนียบุคคล” ใดๆ) ? ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะเปิดใจกว้างและยอมรับว่าไม่มีอะไรขาว/ดำอย่างเบ็ดเสร็จ และมองปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม (ไม่ว่าจะเป็นการเมือง วัฒนธรรม ศรัทธาหรือจารีต) อย่างไม่ด่วนตัดสิน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดถึงเรื่องต่างๆอย่างตรงไปตรงมาไม่ซึนเดเระ? กรณีฟิล์ม-แอนนี่แสดงให้เห็นว่าเราทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราพูดและเป่าหูตัวเราเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในพื้นที่สาธารณะ เพราะเรากำลังทำสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง กล่าวคือ เรากำลังดึงระดับมาตราฐานทางมนุษยธรรมของเราให้ต่ำลง โดยใช้ข้ออ้างเรื่องศีลธรรม/ความถูกต้องอันสูงสุด เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่เราเรียกกันว่า “ดีงาม” อาจยังไม่สายเกินไปนักที่เราจะเริ่มสกัดหา “แอนตี้บอดี้” จากฉันทามติร่วมของคนในสังคม ก่อนที่คนไทยทุกคนจะกลายร่างเป็น “อีสมทรง” กันทั้งเมือง ! ขอขอบคุณอาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับคำแนะนำในการเขียนบทความนี้ .................................................. [1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1285230134&grpid=00&catid [2] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284721442&grpid=06&catid=08 [3] “ซึนเดเระ” เป็นคำศัพท์ของวัยรุ่นที่ใช้กันมากในอินเตอร์เน็ต มีต้นกำเนิดจากลักษณะของตัวละครผู้หญิงในการ์ตูนญี่ปุ่นที่เมื่อมีความรักมักจะแสดงอาการ "รักนะ แต่ไม่แสดงออก" หรือ "ปากไม่ตรงกับใจ" ในปัจจุบัน เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึง ที่หน้าไหว้หลังหลอกหรือที่พูดไม่ตรงกับสิ่งที่คิด/กระทำ [4] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1285138542&grpid=10&catid=08 [5] http://www.khanpak.com/entertainment/3170/ [6] “ร่างกายใต้บงการ ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่” เป็นชื่อหนังสือฉบับภาษาไทยซึ่งแปลมาจากบท “Les corps dociles” ในหนังสือ Surveiller et Punir ของนักคิดชื่อดังชาวฝรั่งเศสมิแชล ฟูโก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: สื่ออุบลฯจวกทีวีไทยมีแต่กลิ่นไอส่วนกลาง ชี้ถึงเวลาผุดกรมสื่อชุมชน Posted: 26 Sep 2010 04:31 AM PDT สื่ออุบลฯจวกทีวีไทยมีแต่กลิ่นไอส่วนกลาง ชี้ถึงเวลาผุดกรมสื่อชุมชน แนะรัฐตั้งกรมสื่อชุมชนดูแลสื่อชาวบ้าน กลุ่มฮักน้ำของจ.อุบลฯ แนะรัฐต้องลงพื้นที่ศึกษาชุมชนก่อนกำหนดนโยบาย เมื่อวันที่ 25 ก.ย.53 ที่ผ่านมา ณ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.อบ.) ได้จัดเวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ ต่อคณะกรรมการซึ่งจะลงพื้นที่รับฟังปัญหาในวันที่ 26 ก.ย. 53 นี้ ในเวทีมีข้อเสนอจากการเสวนาเรื่องสื่อเพื่อสิทธิชุมชน นายประพันธ์ เวียงสมุทร สมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี,ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ครูบ้านนอกบ้านหนองฮีใหญ่เผย ปัจจุบันมีพื้นที่ให้สื่อชุมชนน้อยมาก สื่อห่างจากชาวบ้าน ข่าวก็เป็นมุมมองจากส่วนกลาง เพลงก็ผูกขาดกับไม่กี่ค่าย เคยเสนอโครงการให้ทีวีสาธารณะก็เปิดรับแค่เป็นพิธี ผู้ที่ได้ทำก็เป็นบริษัทส่วนกลาง หรือลงมาทำเรื่องชาวบ้านก็เป็นกลิ่นไอส่วนกลาง ดูเหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ ในทุกสื่อถูกกรอบส่วนกลางครอบไว้อย่างเหนียวแน่น นายพงษ์สันต์ เตชะเสน สติงเกอร์ท้องถิ่นกล่าวว่าสมัยก่อนข่าวชุมชนมีน้อยมาก หนักไปทางข่าวอาชญากรรมหรือข่าวส่วนกลาง ปัจจุบันมีข่าวชุมชนมากขึ้นเพราะชุมชนเข้มแข็งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่นกรณีทุบฟุตปาธทั่วเทศบาลนครอุบลราชธานี ชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงสิทธิในทางเท้าของพวกเขา สื่อมาหนุนช่วย จนศาลตัดสินให้เทศบาลฯคืนทางเท้าให้ประชาชนในที่สุด ดังนั้นทุกอย่างต้องเริ่มที่ชุมชนเข้มแข็งก่อนสื่อมาหนุนช่วยก็จะเกิดพลัง ข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศไทยในมุมมองของสื่อคือให้รัฐบาลตั้งกรมสื่อชุมชนขึ้นมาเพื่อดูแลสื่อเพื่อชุมชนโดยเฉพาะ มีสำนักประชาสัมพันธ์ชาวบ้านทำงานคู่ขนานกับประชาสัมพันธ์จังหวัด และให้มี 1. สร้างหลักสูตรการศึกษาสื่อเพื่อชุมชนในสถาบันการศึกษา โดยให้นักวิชาการนิเทศศาตร์มามีส่วนร่วมกับชุมชน 2. เปิดทีวีดาวเทียมเพื่อชุมชน ให้เป้นพื้นที่ที่ท้องถิ่นจะนำเสนอเรื่องของตนเองโดยมีคนในชุมชนเป็นคณะกรรมการ 3. กรมประชาสัมพันธ์แบ่งคลื่นมาให้ชุมชนดำเนินการ 4. ช่อง 11 ภูมิภาค แบ่งช่องทีวีภูมิภาคให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ กลุ่มฮักน้ำของจ.อุบลฯ แนะรัฐต้องลงพื้นที่ศึกษาชุมชนก่อนกำหนดนโยบาย ในเวทีมีการนำเสนอโมเดลปฏิรูปประเทศ ในประเด็นการอนุรักษ์นิเวศน์วัฒนธรรม จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กรณีศึกษาเหมืองแร่โปแตซ และเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี ด้านนายสำรอง มีวงศ์ กลุ่มคนฮักน้ำของ กล่าวว่าที่ผ่านมาการดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐ ขาดหลักการมีส่วนร่วม มีการประกาศโครงการมาโดยชาวบ้านไม่รู้เรื่องมาก่อน จึงตกใจมาก เช่น โครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ทำให้ประชาชนหวาดกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตผูกติดกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงอยากเสนอให้รัฐบาลได้ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก่อนกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการไร้สัญชาติของชาวบ้านริมโขงที่มีจำนวนมาก อยากให้รัฐบาลได้ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง หมอสมุนไพรสุรินทร์จี้รัฐหนุนแพทย์พื้นบ้าน ในประเด็นภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย นายเฟือย ดีด้วยมี อาศรมสร่างโศก อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และนายวุธชัย พระจันทร์ ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จ.สุรินทร์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่ามีโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน ระบบบริการสุขภาพของภาครัฐไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการ ของชาวบ้าน สังเกตได้จากเวลาไปพบแพทย์ๆ จะไม่มีเวลาคุยกับคนไข้ ชาวบ้านต้องกลับมาทานยา รักษาตัวเองที่บ้าน ส่วนศาสตร์การรักษาของหมอพื้นบ้าน จะมีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน มีเวลาดูแล พูดคุย ให้คำปรึกษากับชาวบ้าน จะช่วยลดภาระการให้บริการทางสุขภาพของภาพรัฐ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทย ไม่ได้รับการยอมรับ คุ้มครอง หรือส่งเสริมจากภาครัฐเท่าที่ควร จึงขอเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อผลักดันสู่นโยบาย คือ การให้การอนุญาตใบประกอบโรคศิลป์ โดยไม่ต้องสอบ ส่วนในเรื่องฐานทรัพยากร ควรมีการปกป้องคุ้มครองพันธุกรรมพืชพรรณเพื่อสร้างความหลากหลายให้ชุมชน และการยกระดับหมอพื้นบ้านให้ได้รับการยอมรับ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาควรเข้ามาให้การรับรอง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น