โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ถึงยุคความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปลี่ยน ปชช.ใช้ "สื่อ" ตรวจสอบอำนาจรัฐได้มากขึ้น

Posted: 15 Sep 2010 02:31 PM PDT

 

 

(15 ก.ย.53) อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (คปส.) อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปาฐกถาในหัวข้อ "2543-2553 ทศวรรษการปฎิรูปสื่อที่สูญเปล่า?" ที่ห้องประชุมศศนิเวศ จุฬาฯ ว่า สื่อเป็นตัวแทนของคำว่า "สิทธิเสรีภาพ" ในระดับนานาชาติ เสรีภาพสื่อจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน สำหรับประเทศไทย จากที่เป็นผู้นำในด้านสิทธิเสรีภาพของอาเซียน ล่าสุดหล่นลงไปอยู่ที่กลุ่ม 25% ล่าง ใกล้ๆ กับประเทศตองกา เป็น partially free หรือแปลเป็นไทย ก็คือไม่มีเสรีภาพ

ประธาน คปส. กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่สิทธิเสรีภาพของสื่อใดถูกลิดรอน สิทธิของประชาชนก็ถูกตัดไปด้วย เสรีภาพเหล่านี้ไม่ได้แยกออกจากกัน แต่เป็นก้อนเดียวกันทั้งหมด และย้ำว่า เสรีภาพเป็นเรื่องของทุกคน แม้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ควรปกป้องเสรีภาพนี้ เช่นเดียวกับเสรีภาพของเราเอง

อุบลรัตน์ กล่าวว่า ในอนาคตจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าการกลับข้างกันของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จากการที่เทคโนโลยีอนุญาตให้สื่อสารได้ด้วยตัวเอง ผู้รับหรือผู้บริโภคจะผลิตสื่อเองและทำการสื่อสารด้วยตัวเอง ไม่ต้องการให้ใครมาพูดแทน ซึ่งจะทำให้ทิศทางนโยบายสื่อเปลี่ยนเป็นจากล่างขึ้นบนและไม่รวมศูนย์

เธอบอกว่า ประชาชนพลเมืองที่เคยถูกคุมโดยอำนาจรัฐ จะควบคุมการบริหารงานของรัฐได้มากขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200 ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มหว้ากอในพันทิป โดยมีข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ ซึ่งรายงานในประเด็นเดียวกันนี้หนุนหลังอีกแรง อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลข่าวสารจะทำให้เราตาสว่าง เห็นปัญหาการบริหาารงานของรัฐ หน่วยงานที่ซื้อเครื่องนี้อาจรู้สึกล่อนจ้อนที่ถูกเปิดเผยให้เห็นว่าตัวเองทำอะไรอยู่ แต่ปัญหาก็ไม่จบในตัวเอง เพราะดุลอำนาจยังไม่มากพอ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็ถือว่าได้เริ่มต้น และสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องจับต้องไม่ได้อีกต่อไป

อุบลรัตน์ ระบุว่า จินตนาการปฎิรูปสื่อในช่วงสามสี่ปีมานี้เป็นของมวลชนกลุ่มใหม่ที่สร้างความกระสับกระส่ายให้อำนาจรัฐ โดยใช้อำนาจผ่านเทคโนโลยีสื่อใหม่ เมื่อถูกปิดเว็บก็หนีไปเปิดใหม่ หรือไปเผยแพร่ผ่านดาวเทียม โดยที่สื่อใหม่ๆ เหล่านี้ไม่ได้จัดตั้งคนแบบเก่าแบบที่รัฐจัดตั้งผ่านวิทยุแห่งประทเศไทย แต่ผู้ใช้สื่อ-ผู้ผลิตไปจัดตั้งและถูกจัดตั้งด้วยคนกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่อำนาจรัฐ นี่เป็นข้อที่น่าพิสมัย มีเสน่ห์ ท้าทาย แต่สร้างความวิตกอย่างยิ่งให้รัฐ เราถูกจัดตั้งโดยกูเกิ้ล จีนก็ปิดกูเกิ้ล หมอตุลย์จัดตั้งผ่านเพื่อนบนเฟซบุ๊คจนมีกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล มีการจัดตั้งในทวิตเตอร์ เริ่มมีการรวบรวมสร้างมวลชนอยู่เรื่อยๆ ผ่านอำนาจของสื่อบูรณาการ

อุบลรัตน์ มองว่าสำหรับการปฎิรูปสื่อในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งพยายามลดการผูกขาดสื่อของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพนั้น คว้าน้ำเหลว แต่ก็ได้เรียนรู้กระบวนการในแต่ละขั้น ได้ประสบการณ์ เรียนรู้ มองเห็นแง่มุมของสิทธิเสรีภาพและภูมิทัศน์สื่อ ทั้งนี้ เสริมว่า ที่ผ่านมา อาจไม่เดียงสาว่าแรงต้านทานมีสูง ผู้ต้านมีอำนาจมาก โดยเฉพาะในปี 2549

อย่างไรก็ตาม อุบลรัตน์มองว่า การปฎิรูปสื่อไม่ได้สูญเปล่า เพราะมีสื่อทางเลือกเกิดขึ้น มีเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กๆ จำนวนมาก วิทยุท้องถิ่นกว่าหกพันสถานี มีผู้บริโภค ผู้ประกอบการ นักวิชาชีพสื่อรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องฟังกันมากขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดการสื่อสารขึ้นจริงๆ นอกจากนี้ยังเกิดการเมือง Digital Politics เช่นกรณีที่มีแฟนๆ พีทีวีไปปกป้องสถานีสัญญาณดาวเทียมซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ใช้ทหารไปปกป้อง ซึ่งก็ปรากฎว่าปกป้องไม่ได้ ซึ่งน่าสนใจที่พลังของแฟนๆ ที่จะปกป้องสื่อของตัวเอง ดันให้ฝ่ายรัฐถอยไปจากบริเวณนั้นได้ และรัฐวิตกขนาดประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจนปัจจุบันยังคงประกาศใช้อยู่

ทั้งนี้ ในงานมีการเปิดตัวหนังสือ "จินตนาการปฎิรูปสื่อในทศวรรษหน้า" ซึ่งเป็นผลจากรายงานการศึกษาเรื่องจินตนาการปฎิรูปสื่อในทศวรรษหน้า โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต มูลนิธิหนังไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อฯ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ Siam Intelligence Unit ซึ่งศึกษาทิศทางการสื่อสารด้านสื่อ 4 ประเภท ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และภาพยนตร์ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ http://thmedia2020.wordpress.com

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จาก Siam Intelligence Unit กล่าวถึงข้อเสนอในการปฎิรูปสื่ออินเทอร์เน็ตว่า รัฐควรลงทุนกับอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น โดยมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ต่อประเด็นเรื่อง ไเนื้อหา" ในอินเทอร์เน็ต รัฐควรหาแนวทางกำกับดูแลเนื้อหาที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน ขณะที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้ใช้

ส่วนข้อเสนอต่อภาคประชาสังคมนั้น อิสริยะระบุว่า ภาคประชาสังคมควรมองอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เสียงเล็กๆ มีความหมายมากขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณี นพ.ตุลย์ ระดมผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อหลากสีผ่านทางเฟซบุ๊ค ขณะที่หลังการชุมนุม นายสมบัติ บุญงามอนงค์ก็รณรงค์กิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงผ่านทางเฟซบุ๊คเช่นกัน ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงควรช่ยกันปกป้องความเป็นอิสระของอินเทอร์เน็ต ไม่ให้หน่วยงานใดเข้ามาควบคุมได้โดยง่าย

ด้านสัณห์ชัย โชติรสเศรณี มูลนิธิหนังไทย กล่าวถึงข้อเสนอต่อการปฎิรูปสื่อภาพยนตร์ว่า รัฐต้องเข้ามาควบคุมเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจ เพราะจะเป็นอันตรายต่อผู้เล่นรายใหม่ๆ โดยยกตัวอย่างเจ้าของโรงภาพยนตร์หลายรายที่มีทั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ของตัวเอง นำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ ขายดีวีดี รวมถึงมีช่องทีวีดาวเทียมเป็นของตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้ พบว่าหนังกระแสหลัก มีระยะเวลาฉายน้อยลง โดยมีรายได้ 4 วันแรกเป็นตัวตัดสิน หากคนดูน้อย วันจันทร์หนังก็จะหายไปแล้ว ขณะที่หนังนอกกระแส แม้จะได้ฉายในโรงมากขึ้น แต่ก็พบว่าต้องเป็นหนังที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ เช่น "ลุงบุญมีระลึกชาติ"

นอกจากนี้ สัณห์ชัยยังเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ซึ่งจำกัดการแสดงความเห็น ผูกขาดความคิด โดยวิจารณ์ว่า หนังที่ได้ "ส." หรือ ส่งเสริมการเรียนรู้ นั้น ไม่ต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อสมัยนาซี โดยยกตัวอย่างว่า กรณีหนังนเรศวร แม้จะมีการใช้ความรุนแรงในเรื่องอย่างไรก็คงได้อยู่ในหมวด "ส." แน่ เพราะส่งเสริมการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ รวมถึงกรณีที่แม้จะมีการจัดเรตติ้งอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการเซ็นเซอร์หรือห้ามฉายหนังอยู่ นอกจากนี้ หนังที่ถูกมองว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือความมั่นคง ยังถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ โดยยกตัวอย่างกรณี หนัง "นาคปรก" ที่ถูกให้ขึ้นข้อความระหว่างหนังฉาย เช่น "พระสักไม่ได้" หรือ "พระแตะเนื้อต้องตัวสตรีไม่ได้" ราวกับไม่เชื่อว่าคนดูตัดสินเองได้

เขาเสนอว่า อยากให้รัฐสนับสนุนการควบคุมกันเองในวงวิชาชีพ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้ตั้งหน่วยงานตรวจสอบคนทำหนังเอง โดยรัฐมีหน้าที่แค่เปิดพื้นที่ให้องค์กรเหล่านี้ โดยยกตัวอย่าง กลุ่มของพ่อแม่ผู้ปกครองใน http://www.parentpreviews.com/ ซึ่งไม่ยอมรับการจัดเรตติ้งของกลุ่มภาพยนตร์ จึงจัดเรตติ้งของตัวเอง รวมถึงมีนักจิตวิทยาเด็กให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาพยนตร์ด้วย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งไต่สวนระงับ 3 จี

Posted: 15 Sep 2010 11:13 AM PDT

ศาลปกครองไต่สวน ระงับ 3 จีนานกว่า 3 ชม. ยังไม่มีคำสั่งคุ้มครอง

15 ก.ย. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการไต่สวนคดีที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) กรณีที่ออกประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ลงวันที่ 23 ก.ค.53 และเปิดให้มีการประมูลบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT 3 G  and beyond ว่า ขณะนี้ศาลยังไม่ได้นัดว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจว่าจะมีหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามตนก็ได้ชี้แจงถึงผลกระทบที่จะตามมาหลายอย่าง หากศาลไม่มีคำสั่งระงับการประมูล 3 จี อาทิ หลักเกณฑ์ในการเข้าประมูล การทำสัญญาสัมปทาน การโอนทรัพย์สินที่คู่สัญญาทำไว้กับ บริษัท กสท.  รวมถึงการใช้ทรัพย์สินร่วมกัน และเราก็เสียโอกาสในการที่เข้าร่วมประมูล 3 จีครั้งนี้ เนื่องจาก กสท.เห็นว่าการดำเนินการต่างๆ ของ กทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีการประมูลไป และ กทชไม่มีอำนาจก็จะทำให้บริษัทได้รับผลกระทบเกิดขึ้น

“เราไม่ได้ต้องการขัดขวางการประมูล3 จี เพราะที่ผ่านมาบริษัทได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการให้บริษัทดีแทค และบริษัททรูมู๊ฟ เราก็สนับสนุนมาโดยตลอด แต่ตอนนี้เกิดมีข้อสงสัยในเรื่องของข้อกฎหมาย ดังนั้นเห็นควรว่าน่าจะมีการทำให้เกิดความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามในวันนี้ก็ชี้แจงต่อศาลตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ซึ่งต้องรอให้ศาลพิจารณาว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่” นายจิรายุทธ กล่าวและว่า ส่วนจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นก็ต้องรอคำสั่งศาลออกมาก่อน

ขณะที่นายสุรนันท์  วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช. กล่าวว่า  ตุลาการศาลปกครองได้ไต่สวนในกรณีที่คู่กรณีกล่าวหาว่า กทช. ดำเนินการโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับ  โดยเราก็ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการของ กทช. ต่อกรณีการประมูลออกใบอนุญาต 3 จี ดังกล่าว  ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว  และผ่านขั้นตอนต่างๆโดยครบถ้วน  ทั้งในเรื่องของการศึกษาทำแผนความถี่  การทำประชาพิจารณ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน  รวมทั้งการปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาจนสุดท้ายประกาศในราชกิจจานุเบกษา  และเตรียมดำเนินการจัดประมูลในวันที่ 20 ก.ย.นี้

“หากศาลปกครองไม่มีการออกมาตรการคุ้มครองฉุกเฉินการประมูลก็จะดำเนินต่อไป  ไม่ว่าทาง กสท. จะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม  แต่หากมีการออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินทางกรรมการ กทช. ก็คงจะต้องกลับไปวิเคราะห์เหตุผลที่ศาลออกคำสั่งดังกล่าว” เลขาธิการ กทช. กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณาไต่สวนในครั้งนี้  ศาลได้ใช้เวลาในการไต่สวนและพิจารณากว่า 3 ชั่วโมง

ที่มาข่าว:

ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งไต่สวนระงับ 3 จี (15-9-2553)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=310&contentID=92117

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรื่องเล่าจากเรือนจำคลองเปรม – บันทึก 2 วันของการเข้าเยี่ยม “นักโทษการเมือง” [ตอนที่ 1]

Posted: 15 Sep 2010 11:00 AM PDT

เรื่องเล่าต่อจากนี้ เป็นบันทึก 2 วันในการเยี่ยมนักโทษการเมืองซึ่งไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไร เพราะมีปัญหาในการเยี่ยม เนื่องจากกฎระเบียบบางประการของเรือนจำ และความคิดทางการเมืองที่แตกต่างของเจ้าหน้าที่เรือนจำเอง

…………………………

วันแรกของการเข้าเยี่ยมนักโทษการเมือง คือวันที่ 6 กันยายน 2553 ผมนัดพบกับทนายอานนท์ นำภา จากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ในตอนเช้าราว 9 โมงครึ่ง ที่ “เรือนจำคลองเปรมฯ”

ความจริงวันนี้เป็นวันแรกที่ผมนัดกับทนายอานนท์ เพื่อเข้าไปเยี่ยมนักโทษการเมือง 2 คน ที่โดนคดีละเมิด พรก.ฉุกเฉิน พอถึงเรือนจำผมก็ได้เจอกับทนายอานนท์และคณะ รวมกับล่ามแปลภาษามือแล้ว เรามีทั้งหมด 7 คน

ผมไปในฐานะตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ที่กำลังมีโครงการช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่เป็นนักศึกษา ตอนนี้เมื่ออยู่กับพร้อมหน้า ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เยี่ยมนักโทษการเมืองอย่างที่ตั้งความประสงค์ไว้ แต่เมื่อเดินถึงห้องสำหรับให้ทนายยื่นเรื่องเข้าเยี่ยมนักโทษ ก็พบปัญหา คือหลังจากทนายอานนท์ยื่นเอกสารที่ได้เตรียมมาเรียบร้อยแล้ว ผู้ดูแลตอบปฏิเสธแล้วแจ้งว่า

“คุณต้องไปขออนุญาตจากผู้อำนวยการก่อน ว่าจะเอาล่ามเข้ามาในนี้”

หลังจากนั้นเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ พวกเราจึงไปติดต่อขอเข้าพบกับผู้อำนวยการเรือนจำ เมื่อพบ ทนายอานนท์ได้แจ้งต่อผู้อำนวยการเรือนจำว่า

“เจ้าหน้าที่ตรงห้องที่ให้ทนายเยี่ยมนักโทษ บอกให้ผมมาขออนุญาตท่านเพื่อเยี่ยมนักโทษการเมือง 2 คน มีหนึ่งคนในนี้เป็นใบ้ จำเป็นต้องใช้ภาษามือ เลยจะขออนุญาตนำล่ามเข้าไปด้วย”

“ใครเป็นล่ามบ้าง?” ผู้อำนวยการฯ ถาม

ทนายอานนท์ชี้ไปที่ล่ามสองคน “สองคนนี้ครับ สองคนนี้เป็นทนาย”

ผู้อำนวยการถามต่ออีกด้วยการชี้มาที่ผม แล้วถามคนนั้นเป็นใคร

“เสมียนทำหน้าที่บันทึกครับ”

ผู้อำนวยการพยักหน้าและบอกกับพวกเราว่า “ออกไปก่อนนะ เดี๋ยวผมจะแจ้งให้ทราบ เข้ามาอีกที”

…………………………

เราได้แต่รอข้างนอกสักประมาณ 30 นาทีได้ ระหว่างนี้ก็ได้พบปะพูดคุยกับคนที่มาเยี่ยมแกนนำเสื้อแดง จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่มาเรียกให้เข้าไปพบผู้อำนวยการ ตอนนี้ผมก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนลุ้นหวยว่าจะได้เข้าไปเยี่ยมหรือไม่ แต่คำตอบก็คือ “เราอนุญาตให้ล่ามเข้าไปได้คนเดียว อีกคนหนึ่งต้องรอข้างนอก ส่วนเสมียนก็ต้องรอข้างนอกเช่นกัน เพราะทนายเข้าไปตั้ง 3 คนแล้ว”

“เราจำเป็นจะต้องเอาล่ามเข้าไป 2 คน เพราะอีกคนเป็นใบ้เหมือนกัน บางคำเขาจะเข้าใจมากกว่าอีกคนทีพูดได้ ซึ่งเข้าใจภาษาใบ้ดี แต่ไม่สามารถสื่อสารบางคำได้” (คือเราไม่สามารถขาดได้ทั้ง 2 คน) “นอกจากนี้การมีนักโทษ 2 คน จึงทำให้ต้องนำเสมียนเข้าไปจดบันทึกด้วย” ทนายอานนท์ตอบผู้อำนวยการฯ

คำตอบที่เราได้จากผู้อำนวยการฯ ก็คือ “ไม่ได้ เดี๋ยวมีการส่งเสียงดังแล้วจะไปรบกวนคนอื่น เข้าไปเยอะอย่างนี้คนอื่นเขามาขอบ้างอย่างนี้มันไม่ได้”

สรุปก็คือผมไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมนักโทษการเมืองพร้อมกับทีมของ ศปช. ได้ จึงออกมาเดินข้างนอกด้วยความผิดหวัง ระหว่างนั้นก็พบกับกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งกำลังจะเข้าไปเยี่ยมแกนนำ ผมคิดว่า ไหนๆ ก็มาแล้วอย่าให้เสียเที่ยวเลย ก็เลยขอไปเยี่ยมแกนนำด้วยอีกหนึ่งคน ซึ่งการเยี่ยมแกนนำไม่ค่อยลำบากเท่าไร ปรากฎว่านักโทษการเมืองที่ไม่ใช่แกนนำดูจะลำบากกว่านักโทษทั่วไประดับเดียวกันเสียอีก เมื่อไปถึงห้องสำหรับขออนุญาตเข้าเยี่ยม เราก็ต้องกรอกรายละเอียดในเอกสารเพื่อยื่นคำร้อง จากนั้นเขาจะให้บัตรเยี่ยม นปช. มา รอสักพักตามเวลาเยี่ยมที่กำหนดไว้

…………………………

พอถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่เรียกเข้าไปเยี่ยม ผมก็รู้สึกตื่นเต้นขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเป็นครั้งแรกของการเยี่ยมนักโทษการเมืองในชีวิตนี้ เมื่อเข้าไปถึงได้เห็นรอยยิ้มของแกนนำ และของคนเสื้อแดงที่โต้ตอบกัน นับว่าเป็นภาพที่สวยงามอันหนึ่ง เวลาที่เราเห็นคนเหล่านี้มีความสุข แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานที่ซึ่งน่าจะทุกข์ที่สุดแห่งหนึ่งก็ตาม

นักโทษการเมืองคนแรกที่ผมเข้าเยี่ยมเป็นการ์ด นปช. ชื่อ อำนาจ อินตโชติ อายุ 54 ปี เป็นข้าราชการทหาร และคนที่แนะนำให้ผมรู้จักคุณอำนาจ คือ ดร.ประแสง มงคลศิริ หลังจากแนะนำตัวเอง แล้วก็ยิ้มตอบคุณอำนาจไป เขาก็เริ่มเกริ่นก่อนเลยว่า “ติดคุกมันไม่สบายหรอก โดนยัดข้อหาก่อการร้ายให้หมดทุกอย่าง เสียงานเสียงทุกอย่าง ความเป็นอยู่ก็ต้องเป็นแบบนักโทษ กฎหมายอะไร ใช้หมายเรียก ศอฉ. มาก่อน จากนั้นก็ออกหมายจับข้อหาผู้ก่อการร้ายให้ทีหลัง ผมรักชาติ ฝากบอกถึงทุกคนที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตย ต้องช่วยกันต่อสู้ ถ้าเผด็จการครองเมืองจะเป็นเรื่องใหญ่ ผมเรียกร้องประชาธิปไตยกลับโดนข้อหาก่อการร้าย เมียผมก็มาเยี่ยมบ่อยไม่ได้ เพราะวันธรรมดาต้องทำงานวันหยุด เขาก็ไม่ให้เยี่ยม ลูกผมเองอยู่ปีสี่ ต้องหาเงินส่งลูกเรียน และไม่นานผมก็จะถูกปลดแล้วด้วย เสียหายหมดทุกอย่างทั้งครอบครัว ถามว่ามันคุ้มไหม ถ้าได้ประชาธิปไตยมันก็คุ้ม”

ต่อมา ดร.ประแสงก็แนะนำให้ผมคุยกับ หมอเหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. อีกหนึ่งคน  พอ ดร. ประแสงแนะนำว่าผมเป็นตัวแทนมาจาก สนนท. สีหน้าหมอเหวงก็ยิ้มแย้มขึ้นมาก และคำแรกที่เขาพูดขึ้นก็คือ “ดีมาก ดีมาก คุณต้องให้นักศึกษาออกมาเยอะๆ นะคุณ คุณเป็นเยาวชน เป็นอนาคตของชาติ เรียกร้องประชาธิปไตย คุณต้องต่อสู้แบบสันติวิธีนะ ถ้าแบบอื่นเราแพ้เลย ดีมาก ดีมาก”

ผมถามหมอเวงต่อว่า ความเป็นอยู่ในนี้เป็นอย่างไรบ้าง เขาก็ตอบกลับมาว่า

“สบายดี ข้างในเจ้าหน้าที่ดี พวกเราเองก็ผูกมิตรกับเพื่อนนักโทษด้วยกันได้ดี” หมอเหวงพูดต่ออีกว่า “เราไม่ควรทำลายอิสรภาพ ถ้าคุณได้ดูข่าวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม DSI เป็นคนบอกเองว่า ไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนทำ และจะมากล่าวหาว่าเราเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร ต่อจากนั้นหมอเหวงก็ได้ร้องเพลงที่เขาแต่งไว้ ให้ผมฟัง 2 เพลง เพลงที่แต่งสมบูรณ์แล้วชื่อ “สู้ต่อไป” ซึ่งหมอเหวงบอกว่าเป็นเพลงมาร์ช หลังจากนั้นเวลาใกล้หมดแล้ว ผมก็เลยลุกออกมา เพื่อให้ อ.ธิดา เข้าไปคุยกับหมอเหวงต่อเพื่อล่ำลา หลังจากนั้นภาพอันน่าประทับใจอีกภาพหนึ่งก็เกิดขึ้น นั่นคือการรโบกมือลาด้วยความยิ้มแย้ม ระหว่างมวลชน และแกนนำของพวกเขา

[ตอนต่อไป จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับนักโทษการเมืองอีกสองคน ที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรก]
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สมยศ” ร้องกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบกรณีสั่งปิดโรงพิมพ์เรดพาวเวอร์

Posted: 15 Sep 2010 10:11 AM PDT

“สมยศ พฤกษาเกษมสุข” ยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิฯ เรียกร้องตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปิดสำนักพิมพ์รับจ้างพิมพ์นิตยสาร “เรดพาวเวอร์” ระบุกระทบธุรกิจโรงพิมพ์ เพราะรับงานอย่างอื่นด้วย

15 ก.ย. 53 - เมื่อเวลา 13.30 น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารเรดพาวเวอร์ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิฯ กรณีรัฐบาลสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นบริษัท โกลเด้น เพาเวอร์ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์รับจ้างพิมพ์นิตยสารเรดพาวเวอร์ โดยสั่งอายัดเครื่องพิมพ์ 11 เครื่อง และทรัพย์สินทุกชนิด  ต่อมาให้อุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.บ.โรงงาน รวมทั้งเข้าตรวจค้นบริษัท เค เค พับลิชชิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายนิตยสารเรดพาวเวอร์ และสั่งให้ยุติการจัดจำหน่าย สั่งปรับเป็นเงิน 10,000 บาท  เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา
  
นายสมยศ ระบุว่า การกระทำของรัฐบาลไม่เพียงแต่เป็นการปิดนิตยสารเรดพาวเวอร์ แต่ยังได้สร้างความเดือดร้อนให้กับธุรกิจทั้ง 2 บริษัท ซึ่งคิดเป็นเงินเสียหายว่า 10 ล้านบาท เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับจ้างพิมพ์เฉพาะนิตยสารเรดพาวเวอร์เท่านั้น แต่ยังรับพิมพ์สิ่งพิมพ์ทุกชนิด เช่น หนังสือของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักพิมพ์ไพลิน ดังนั้น จึงขอให้กรรมการสิทธิฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ธุรกิจทั้ง 2 บริษัทสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และหยุดยั้งพฤติกรรมอันธพาลการเมือง หยุดการคุกคามสื่อมวลชนของรัฐบาล เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิการรับรู้ข่าวสาร สิทธิการประกอบอาชีพและธุรกิจ สิทธิการแสดงเสรีภาพและความคิดเห็นตามครรลองประชาธิปไตย
  
ขณะที่นางอมรา กล่าวว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาและติดตามตรวจสอบ ดำเนินการตามขั้นตอนของกรรมการสิทธิฯ ต่อไป โดยสืบหาข้อเท็จจริงและเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากหนังสือร้องเรียนที่มอบให้กรรมการสิทธิฯ แล้ว นายสมยศยังมอบนิตยสารเรดพาวเวอร์ที่มีโซ่ล่ามพร้อมล็อกกุญแจ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าถูกปิดกั้น รวมทั้งมอบดอกกุหลาบแดงให้กรรมการสิทธิฯ ด้วย

ที่มาข่าว:

“สมยศ” ร้องกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบกรณีสั่งปิดโรงพิมพ์เรดพาวเวอร์ (สำนักข่าวไทย, 15-9-2553)
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/103008.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกคำร้องขอหมายจับ 45 พธม.คดีปิดสนามบิน

Posted: 15 Sep 2010 10:07 AM PDT

ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหมายจับ 45 แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคดีปิดล้อมท่าอากาศยาน 2 แห่ง

15 ก.ย. 53 - เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำสั่งที่พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ยื่นคำร้องขอหมายจับ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับพวกรวม 45 คน ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญฯ มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าษ ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการมั่วสุมแล้วไม่เลิก ก่อการร้าย บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ กรณีปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง เมื่อปี 2551

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ต้องหาบางรายได้ยื่นหนังสือ ขอเลื่อนนัดเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนก่อนวันนัดตามหมายเรียก จึงกล่าวไม่ได้ว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ขณะที่ผู้ต้องหาบางส่วนระบุเพียงชื่อเล่น ไม่มีชื่อและนามสกุลจริง ย่อมแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามาก่อน แม้ไม่ได้ตัวผู้ต้องหามา แต่ไม่ทำให้การสอบสวนล่าช้า เพราะข้อเท็จจริงพบว่า พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานได้ระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่รอตัวผู้ต้องหาไปเพื่อสั่งคดี กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้ออกหมายจับ จึงมีคำสั่งยกคำร้องทันทีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนายไชยวัฒน์, นายวีระ สมความคิด, นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ รวมถึงน.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค พร้อมด้วยบรรดาผู้ที่ติดตามไปให้กำลังใจ ต่างร้องเฮลั่นห้องพิจารณาคดี

ที่มาข่าว:

ศาลยกคำร้อง หมายจับพันธมิตรฯ (ไทยรัฐ, 15-9-2553)
http://www.thairath.co.th/content/region/111431

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)

Posted: 15 Sep 2010 09:03 AM PDT

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมีรูปแบบคล้ายกับหลายประเทศที่มีการเติบโตเร็ว คือใช้ระบบตลาดเป็นหลัก โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่ภาครัฐก็ทำหน้าที่สนับสนุนอย่างแข็งขันด้วยการจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น สร้างถนนหนทาง เขื่อน ไฟฟ้า แหล่งน้ำเพื่อการผลิต รวมทั้งวางรากฐานการบริหารจัดการที่เน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินการคลังที่มีความรอบคอบและรัดกุม

การที่ภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้าง ชนชั้นนายทุน หรือผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ผู้นำ ในการลงทุนสร้างกิจการ หาตลาด สร้างการจ้างงาน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเลต่างๆ ซึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วนั้น ในช่วงแรกชนชั้นนายทุนก็จะเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งของผลพวงการเติบโตที่มากกว่าคนอื่น อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์อย่างสูงด้วยคือเจ้าของที่ดินและผู้มี อำนาจในการใช้และจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ

ส่วนเจ้าของปัจจัยการผลิตประเภทอื่นๆ เช่น แรงงาน ผู้ประกอบการรายย่อย เจ้าของที่ดินผืนเล็กๆ ก็ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเช่นนี้เช่นกัน เนื่องจากมีส่วนร่วมในกระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในฐานะ ผู้ตาม เราเรียกกระบวนการนี้ว่า trickle-down หรือ การไหลรินอย่างช้าๆของประโยชน์จากการพัฒนาจากบนลงล่าง อย่างไรก็ตาม ผู้ตามมักได้รับส่วนแบ่งในสัดส่วนที่น้อยกว่า ผู้นำ ซึ่งก็สามารถเข้าใจได้เพราะผู้ตามจะรับภาระความเสี่ยงน้อยกว่าผู้นำ ส่งผลให้การกระจายรายได้ในระยะนี้จึงมีแนวโน้มแย่ลง แต่ความยากจนก็ลดลงเร็วเช่นกัน

ประเทศไทยในระยะ 30 ปีแรกของการพัฒนา (ช่วงต้นทศวรรษ 1960s ถึงต้นทศวรรษ 1990s มีลักษณะนี้ชัดเจน ส่วนประเทศอื่นที่เดินตามแบบแผนนี้ในปัจจุบันอาทิเช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย ก็พบว่าจำนวนคนจนลดลงอย่างรวดเร็ว แต่การกระจายรายได้ก็แย่ลงเช่นกัน

ถ้าดูจากสถิติตัวเลข ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลดความยากจน เพราะสัดส่วนคนจนต่อประชากร (poverty incidence) ลดลงค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา คือลดจากร้อยละ 44.9 ของประชากร ในปี 1986 เหลือร้อยละ 8.1 ในปี 2009

ความยากจนเป็นปัญหาของคนชนบทมากกว่าคนเมือง (ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล) ในปี 1986 สัดส่วนคนจนในชนบทเท่ากับร้อยละ 52.6 ของประชากรในชนบท และลดลงมาเหลือ 10.4 ในปี 2009 ในขณะที่สัดส่วนคนจนในเมืองเท่ากับร้อยละ 25.3 ในปี 1986 ลดลงเหลือร้อยละ 3 ในปี 2009 นอกจากนี้ ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตชนบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 15.2 ในปี 2009) และภาคเหนือ (ร้อยละ 12.7 ในปี 2009) (รูปที่ 1 และตารางที่ 1)

 

 

การที่ความยากจนโดยรวมลดลงค่อนข้างเร็วนั้น เป็นความสำเร็จที่มองในแง่เศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเป็นผลพวงจากการที่ระบบเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมากขึ้น (openness) และมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้รายได้เฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้คนจนด้านเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้มิได้กระจายตัวอย่างเท่าเทียมกันดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ข้อมูลที่แสดงถึงช่องว่างในการกระจายรายได้ของไทยที่ชัดเจนคือ การพิจารณาส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละกลุ่มรายได้ ซึ่งคำนวณได้โดยการเรียงลำดับประชากรไทยตามรายได้ (จากน้อยไปมาก) และแบ่งประชากรออกเป็นห้ากลุ่ม (แต่ละกลุ่มมีจำนวนเท่าๆ กัน) จากนั้นคำนวณหารายได้รวมของแต่ละกลุ่ม ตัวเลขล่าสุด (ปี ค.ศ. 2009) พบว่ากลุ่มที่รวยที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด โดยมีส่วนแบ่งรายได้สูงถึงร้อยละ 54.4 ในขณะที่กลุ่มที่จนที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 4.6 (รูปที่ 2) ผู้มีรายได้สูงสุด 20% ของประชากร มีรายได้เฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 11.9 เท่าของผู้มีรายได้ต่ำสุด 20% (รูปที่ 3) นอกจากนี้ ถ้าดูจากดัชนีความเหลื่อมล้ำที่ใช้กันกว้างขวาง คือสัมประสิทธิ์จินี [1] (gini coefficient) ก็มีค่าสูงถึง 0.49 ในปี 2009 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงมากของโลกประเทศหนึ่งทีเดียว โดยมีระดับใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่มี ชื่อเสียงในด้านการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน (รูปที่ 4)

 

 

 

ในทางทฤษฎี เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานระยะหนึ่ง จะถึงจุดที่ปัจจัยการผลิตที่เป็นของ ผู้ตามเริ่มขาดแคลนและเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่นแรงงานจากภาคเกษตรที่เคยย้ายไปภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนน้อยลง จนไม่พอกับความต้องการของทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ค่าจ้างเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว การไหลรินของประโยชน์จากการพัฒนาที่เคยเป็นไปอย่างช้าๆ ก็จะเร่งเร็วขึ้น และอาจเร็วมากพอที่จะทำให้การกระจายรายได้เริ่มดีขึ้น ตัวอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และในกลุ่มประเทศยุโรป

หากกระบวนการพัฒนาเป็นเพียงเช่นที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่เกิดขึ้นมีความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เพราะมีเหตุตามธรรมชาติหลายประการที่ทำให้คนมีรายได้ไม่เท่ากัน การกล่าวหาว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาตลอดเป็น ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จึงมีส่วนที่เป็น มายาคติอยู่ไม่น้อย เป็นมายาคติเพราะไม่สนใจข้อเท็จจริงของความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะแรก

การกล่าวอ้างถึงสงครามชนชั้น โดยใช้ความไม่เป็นธรรมที่สืบเนื่องจากช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนเป็นปฐมเหตุเมื่อไม่นานมานี้จึงขาดน้ำหนักและเป็นมายาคติ (มีต่อตอนที่ 2)

 

[1] ค่าสัมประสิทธิ์จีนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1 ถ้าค่าจินีเท่ากับ 0 หมายความว่า การกระจายรายได้มีความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าค่าจินีเท่ากับ 1 หมายความว่า การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำกันมาก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอแบคชี้เสื้อแดงชุมนุม 19 ก.ย.ไม่มีรุนแรง

Posted: 15 Sep 2010 07:17 AM PDT

15 ก.ย. 53 - เอเเบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ และบทวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองปัจจุบันโดยดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้หลังจากสอบถามความคิดเห็นถึงการ ชุมนุมทางการเมืองของประชาชนว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศที่ปกครองใน ระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในขณะที่ร้อยละ 15.6 ระบุไม่เป็นและที่เหลือไม่แน่ใจ

ดร.นพดล มองว่า หากกลุ่มประชาชนที่ต้องการชุมนุมในวันที่ 18 หรือ 19 กันยายนที่จะถึงนี้และเป็นการชุมนุมที่สงบมีการนำเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไปและต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมก็น่าจะได้รับการ สนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้

เมื่อถามถึงความเห็นต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนคนเสื้อแดงใน ประเด็นต่างๆ พบสิ่งที่น่าพิจารณาคือประการแรก ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.9 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องการประกันรายได้ให้เกษตรกรและกรรมกรให้เพียง พอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 เห็นด้วยที่จะมีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 5% และครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ  50.8 เห็นด้วยกับการยกเว้นภาษีน้ำมัน

ดร.นพดล วิเคราะห์ต่อว่า ข้อเรียกร้องที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยในการสำรวจครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ ธรรมดาที่ค้นพบเพราะหากรัฐบาลใดหรือกลุ่มคนกลุ่มใดทำให้ประชาชนมีหลักประกัน ในการดำรงชีวิต มีรายจ่ายน้อยลง ถ้าหากทำได้ก็ย่อมจะทำให้ประชาชนมีสิ่งที่ดีจับต้องได้เกิดขึ้นกับตนเองและ คนรอบข้างเพราะมีรายจ่ายน้อยลง ก็น่าจะมีเงินในการ “จับจ่ายใช้สอย” หรือ “เก็บออม” ได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ ความเดือดร้อนจะลดลงและชีวิตความเป็นอยู่ที่ยึดผูกกับรายได้ก็จะดีขึ้น

ผลสำรวจยังค้นพบต่อไปด้วยว่า คนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.8 เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า ในขณะที่ร้อยละ 22.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 30.4 ไม่มีความเห็น สิ่งที่ค้นพบในเรื่องนี้น่าถูกนำไปศึกษาเพิ่มเติมว่า จะสามารถช่วยลดช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจในหมู่ประชาชนได้มากน้อยเพียงไร จะมีการนำรายได้ไปช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้อย่างไร และที่สำคัญเงินที่จะสามารถจัดเก็บได้จะเป็นไปอย่างโปร่งใส ปราศจากปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างไร

ที่น่าสนใจคือ ประชาชนร้อยละ 37.4 เห็นด้วยกับการนำรูปแบบ “คณะลูกขุน” มาใช้ในการพิจารณาคดี แต่ร้อยละ 25.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 36.8 ไม่มีความเห็น แต่ที่น่าห่วง คือ กลุ่มประชาชนถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มสามกลุ่มในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ประเด็นขอให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงทุก คน ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา โดยพบว่า ร้อยละ 33.2 เห็นด้วย แต่ร้อยละ 37.5 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 29.3 ไม่มีความเห็น  โดยผลสำรวจที่ออกมาเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมืองก็จะทำให้ประชาชนถูกแบ่งออก ตามแนวคิดที่แตกต่างกันทางการเมืองในสัดส่วนมากพอๆ กัน และอาจส่งผลทำให้แนวคิดแนวทางในการปรองดองประชาชนกลุ่มต่างๆ ของประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม ประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.1 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องข้างต้นของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการปฏิรูปประเทศไทยสู่ความก้าวหน้า ในขณะที่ร้อยละ 13.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 32.1 ไม่มีความเห็น

ดร.นพดล  ชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 47.8 มีความกังวลค่อนข้างน้อย ถึงไม่กังวลเลยว่าจะเกิดความรุนแรงบานปลายในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ ในขณะที่ร้อยละ 17.4 กังวลระดับปานกลาง แต่ร้อยละ 34.8 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึงทางออกที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 32.7 เห็นว่ารัฐบาลกับฝ่ายค้านควรร่วมกันสร้างความปรองดอง ในขณะที่ร้อยละ 27.5 เห็นควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 24.8 ให้นำทุกคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเที่ยงธรรม และรองๆ ลงไปคือ นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และอยู่ให้ครบวาระแล้วเลือกตั้งใหม่

ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาคือ ร้อยละ 43.8 เห็นควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 3 เดือน ร้อยละ 37.8 ระบุภายใน 6 เดือน ร้อยละ 16.2 ระบุภายใน 1 ปีและร้อยละ 2.2 มากกว่า 1 ปีขึ้นไป ตามลำดับ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 53.5 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 46.5 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 6.4 อายุต่ำกว่า  20 ปี ร้อยละ 16.5 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 22.9 อายุระหว่าง 30-39 ปีร้อยละ 23.3 อายุระหว่าง 40-49 ปี และตัวอย่างร้อยละ 30.9 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 45.7 จบมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า รองลงมาร้อยละ 28.8 จบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าหรือ ปวช. และร้อยละ 14.6 จบปริญญาตรี ส่วนผู้ที่จบอนุปริญญาหรือเทียบเท่าหรือ ปวส. และจบสูงกว่าปริญญาตรี มีร้อยละ 9.3 และ 1.6 ตามลำดับ

เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่าร้อยละ 44.1 มีอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ รองลงมาร้อยละ 17.2 เป็นผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 13.8 เป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัท ร้อยละ 11.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.5 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.3 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 4.3 อื่นๆ อาทิ อาชีพเกษตรกร/ประมง รวมถึงว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งจำคุกเสื้อแดงอุบลฯ เผายาง แต่ให้รอลงอาญา

Posted: 15 Sep 2010 07:01 AM PDT

ศาลตัดสินคดีคนเสื้อแดงเผายาง ในพื้นที่เมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. จำนวน 2 คดี โทษมีทั้งจำและปรับ แต่โทษจำให้รอลงอาญา 2 ปี

15 ก.ย. 53 -  เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อ เวลา 10.30 น.  ศาลจังหวัดอุบลราชธานี อ่านคำตัดสินคดีก่อความไม่สงบ คดีที่ 1226/53 เผายางบริเวณหน้ากองบิน 21 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 16 พ.ค. และคดีที่ 1332/53 เผายางหน้าบ้านนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ มีผู้ต้องหาทั้งหมด 14 คน

ทั้งนี้ ศาลไต่สวนจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพร่วมก่อเหตุในวัน และเวลาดังกล่าวจริง ศาลจึงมีคำพิพากษาจำคุกผู้ต้องหาคดี 1226/53 มีผู้ต้องหา 12 คน 2 ปี 6 เดือน ปรับ 16,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ จำคุก 1 ปี 3 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี รายงานตัวทุก 3 เดือน

ส่วน คดี 1332/53 มีผู้ต้องหาจำนวน 5 คน ศาลตัดสินให้จำคุกจำเลย 2 ปี 4 เดือน ปรับ 7,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 2 เดือน ปรับ 3,500 บาท โทษจำรอลงอาญา 2 ปี รายงานตัวทุก 3 เดือน ส่วนรถยนต์ของกลางที่ใช้ก่อเหตุจำนวน 2 คัน ให้ยึดเข้าหลวง

ที่มาข่าว:

ศาลจำคุก14เสื้อแดงเผายางอุบลฯ แต่ให้รอลงอาญา (ไทยรัฐ, 15-9-2553)
http://www.thairath.co.th/content/region/111419

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม. รับทราบผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับกระทรวงแรงงาน)

Posted: 15 Sep 2010 06:40 AM PDT

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.53 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และกรณีพิพาทแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน” เพื่อให้  สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และให้มีอำนาจออกระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขมาตรา 6)

2. กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับต่อไป ในกรณีที่มิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องภายในระยะเวลาตามมาตรา 13 (ร่างมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 12 วรรคสอง)

3. กำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์การแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้แจ้งข้อเรียกร้องภายในหกสิบวันก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เดิมจะสิ้นสุดลง  และขยายระยะเวลาการเริ่มเจรจา (ร่างมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 13 และร่างมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 16)

4. ขยายระยะเวลาการแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและการ ดำเนินการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน (ร่างมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 21 และมาตรา 22)

5. แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการห้ามนายจ้างปิดงานหรือห้ามลูกจ้างนัดหยุดงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 22 (ร่างมาตรา 8 แก้ไขมาตรา 34 (3))

6. ปรับปรุงองค์ประกอบและวิธีการได้มาซึ่งกรรมการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง (ร่างมาตรา 9  แก้ไขมาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 39)

7. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจโดยตรงในการจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ หรือ การเลิกจ้าง จะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ ได้ (รางมาตรา 11 แก้ไขมาตรา 95 วรรคสาม)

8. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อร่วมประชุมหรือ อบรมตามที่ราชการกำหนดหรือปฏิบัติหน้าที่กรรมการไตรภาคีตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนเป็นพยานตามหมายเรียกของศาลในคดีเกี่ยวกับแรงงาน (ร่างมาตรา 12 แก้ไขมาตรา 102)

9. กำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังดำเนินการเพื่อจัด ตั้งสหภาพแรงงานหรือใช้สิทธิปิดงานเฉพาะลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียก ร้องเป็นบางคนอันเป็นการเลือกปฏิบัติ (ร่างมาตรา 13 แก้ไขมาตรา 121)

10. กำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างข้อ ตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 12 หรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ (ร่างมาตรา 14 แก้ไขมาตรา 123)
11. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 15 แก้ไขมาตรา 130)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นปช. เชียงใหม่แถลงข่าวจัดงาน "19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดิน"

Posted: 15 Sep 2010 05:58 AM PDT

ศูนย์ประสานงานกลาง นปช. แดงเชียงใหม่ แถลงข่าวการจัดงานมหกรรม "19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดิน" รำลึกครบรอบ 4 ปี เผด็จการทหารและอำนาจเก่าทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของประชาชน-ล้มล้างประชาธิปไตย 19 ก.ย. 49 และครบรอบ 4 เดือนการที่รัฐบาลสั่งฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่แยกราชประสงค์ 19 พ.ค. 53

 

15 .. 53 – เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ศูนย์ประสานงานกลาง นปช. แดงเชียงใหม่ ได้แถลงข่าวการจัดงานมหกรรม "19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดิน" ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน นี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการครบรอบ 4 ปี ที่เผด็จการทหารและอำนาจเก่าทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของประชาชน และล้มล้างระบอบประชาธิปไตย 19 กันยายน 49 และครบรอบ 4 เดือนการที่รัฐบาลสั่งฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2553

โดยในงานได้มีการแจกแถลงการณ์ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

 

แถลงการณ์

งานรำลึก 19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดิน

 

ประเทศ ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โดยกลุ่มคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 การ เปลี่ยนแปลงการปกครองกระทำได้สำเร็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน การปกครองของประเทศจึงเปลี่ยนไป คือมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

แต่ ระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจการปกครองทั้งหลายเป็นของประชาชนนั้น กลับไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้ตามเจตนารมณ์ของกลุ่มคณะราษฎร เพราะตลอดเวลานานกว่า 78 ปี ประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับการก่อการรัฐประหารหลายครั้งทั้งในรูปแบบโจ่งแจ้ง และในรูปแบบรัฐประหารเงียบ จาก การกระทำการของกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการอำนาจการปกครองประเทศกลับคืน โดยได้สนับสนุนสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มเผด็จการทหาร ทำการปล้นชิงอำนาจของ ประชาชน และหลอกลวงประชาชนให้กลับไปสนับสนุนการกระทำของพวกเขา แต่เมื่อพวกเขาได้อำนาจไปแล้วก็ไม่สามารถบริหารประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง มี แต่การแข่งขันกันแย่งชิงฉกฉวยหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับพวก กลุ่ม และบริวารของพวกเขา จนสร้างปัญหาต่อประชาชนและประเทศชาติจนเกือบสิ้นชาติ และเมื่อนั้นพวกเขาก็จะผลักภาระปัญหาของประเทศชาติทั้งหมดกลับมาให้ประชาชนเป็นผู้แก้ไข

และ หากเมื่อใดก็ตามเมื่อระบอบประชาธิปไตยและประชาชนเข้มแข็งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติลุล่วง สร้างความเจริญรุ่งเรืองขึ้นทัดเทียมนานาอารยะประเทศทั่วโลก เมื่อนั้นระบอบเผด็จการอำนาจเก่าก็จะกลับเข้ามายึดอำนาจปล้นชิงผลประโยชน์ของประเทศชาติเอาไปเป็นของส่วนตนอีก เป็นวงจรวัฎจักรที่เลวร้ายของประเทศไทยมานานกว่า 60 ปี

รัฐบาลของ นายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาล ที่กำลังสร้างประเทศชาติให้รุ่งเรือง เจริญก้าวหน้า สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเลิศให้กับประชาชน มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาชีวิตและปากท้องของประชาชน จนเป็นที่จับตาของนานาประเทศว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ความเจริญและก้าว หน้า

แต่ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดการรัฐประหารโดยเหล่าทหารที่ไม่มีความคิด พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากเหล่าเผด็จการอำนาจเก่า นักการเมืองใจทาส และสมุนบริวารที่กลัวระบอบประชาธิปไตย ทำการล้มล้างรัฐบาล และโค่นล้มรัฐธรรมนูญที่ถือว่าดีที่สุดฉบับหนึ่งที่ประเทศไทยเคยมีมา

ตั้งแต่วันนั้น วันที่ 19 กันยายน2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็เกิดปัญหาติดตามมาอย่างมากมาย ความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติล่มสลายลง เกิด การแบ่งฟักแบ่งฝ่าย มีการปะทะกันทั้งด้านความคิดและการใช้กำลัง จนถึงกับต้องเข่นฆ่ากันตายอย่างโหดเหี้ยม อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เหล่าเผด็จการที่กลัวการสูญเสียอำนาจก็ใช้อำนาจเถื่อนบิดเบือนกฎหมายจนเกิด ปัญหาสองมาตรฐานสร้างความมัวหมองต่อระบบความยุติธรรมของประเทศ บิดเบือนข่าวสารความเป็นจริงสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น จนมาถึงปัจจุบันนี้ปัญหาต่างๆ ที่ไม่อาจเยียวยาแก้ไขโดยกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวได้ ยังจะกลายเป็นปัญหาวิกฤติของประเทศชาติจากการทำงานของรัฐบาลที่บ้าอำนาจที่เป็นผลพลอยได้และสืบทอดอำนาจ มาจากการรัฐประหารในครั้งนั้น

วันที่ 19 กันยายน 2553 ที่จะมาถึงในวันอาทิตย์นี้ กลุ่มประชาชนทั่วประเทศที่รักและต้องการระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงถือเอาวันที่มาบรรจบครบรอบ 4 ปีของการทำรัฐประหารทำลายชาติ และครบรอบ 4 เดือน ที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำสั่งการไปยังทหารใจโหดเหี้ยมใช้ อาวุธสงครามเข้าทำร้ายประชาชนในมาตรการหลอกลวงครั้งใหญ่ที่ว่า กระชับพื้นที่ จนทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนหลายพันคนที่ยังตรวจสอบสืบหาผู้กระทำความผิดไม่ได้ และยังจับกุมคุมขังแกนนำของฝ่ายประชาชนที่โดนทำร้ายอย่างขาดความยุติธรรม

พวกเราประชาชนในนาม กลุ่ม นปช.แดงทั้งแผ่นดิน , กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย , กลุ่มThailand Mirror , กลุ่มประชาชนเสื้อแดงเชียงใหม่ และศูนย์ประสานงานกลาง นปช. แดงเชียงใหม่ จึงร่วมกันจัดงาน มหกรรม “ 19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดิน ที่เชียงใหม่ ในวันที่ 19 กันยายน 2553 ณ สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ถึง 24.00 น. เพื่อเป็นการรำลึกถึงสาเหตุที่สร้างปัญหาของประเทศชาติในปัจจุบัน ที่เกิดมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรำลึกถึงการสูญเสียชีวิตของผองเพื่อนของเราประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ออกไปเรียกร้องการยุบสภาแก้ปัญหาประเทศชาติ แต่พวกเขากลับได้รับกระสุนปืนปลิดชีวิตเป็นการตอบแทน ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

เราจัดงานในครั้งนี้เพื่อย้ำเตือนต่อทุกๆฝ่าย ทั้งประชาชนเจ้าของประเทศ เผด็จการอำนาจเก่า ทหารที่หลงมัวเมาในอำนาจ นักการเมืองใจทาส ข้าราชการทุกภาคส่วน การจะเสริมสร้างความรุ่งเรือง สร้างความเจริญ สร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ การแก้ปัญหาทุกอย่างในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่อาจจะมุ่งไปหาอำนาจนอกระบบใดๆ จะต้องฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาของประเทศชาติในครั้งนี้ได้

และเราประชาชนส่วนหนึ่งที่อยากให้ประเทศของเราสงบสุข จึงขอเรียกร้องต่อประชาสังคมไทยว่า

1.ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองนปช.ทุกคนนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19กันยายน2549เป็นต้นมา เพื่อสร้างสังคมปรองดองอย่างแท้จริง

2.ปฏิรูปศาลยุติธรรมให้เชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชนและนำคณะลูกขุนมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม

3.ปฏิรูป เศรษฐกิจ กระจายรายได้เป็นธรรมด้วยการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์เหบือ 5 เปอร์เซ็นต์ จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เพื่อนำมาสู้การจัดตั้งรัฐสวัสดิการ
4.ประกันรายได้เกษตรกรและกรรมกรให้พอเพียงต่อการดำรงชีพสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ใน ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิความเท่าเทียมกันทุกๆคนการปกป้องระบอบ ประชาธิปไตยคือการปกป้องความสงบสุขของประเทศชาติ จงร่วมกันต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนจะเกิดขึ้นได้จริง จะต้องร่วมกันเสริมสร้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เท่านั้น

 

 

ทางด้านเว็บไซต์ข่าวสดได้รายงานว่าในงานแถลงข่าวดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ช้างเผือก ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบมาดูแลความสงบและอำนวยความสะดวกประมาณ 10 นาย

โดยนายศรีวรรณ จันทร์ผง แกนนำกลุ่มได้เปิดเผยว่า การจัดงานในวันที่ 19 ก.ย. ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 13.00-24.00 น. เราจัดงานในครั้งนี้เพื่อย้ำเตือนต่อทุกๆ ฝ่าย ทั้งประชาชนเจ้าของประเทศ เผด็จการอำนาจเก่า ทหารที่หลงมัวเมาในอำนาจ นักการเมืองใจทาส ข้าราชการทุกภาคส่วน การจะเสริมสร้างความรุ่งเรือง สร้างความเจริญ สร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ การแก้ปัญหาทุกอย่างในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่อาจจะมุ่งไปหาอำนาจนอกระบบใดๆ จะต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เท่านั้น

นายศรีวรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการจัดกิจกรรมของคนเสื้อแดงนั้น ยังมีการโฟนอินของนางดารณี, อริสมันต์ และ นายจักรภพ เข้ามาด้วยในช่วงมีการปราศรัยบนเวที ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นคิดว่าคงไม่โฟนอินเพราะทางภาครัฐชอบโยงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ยุยงก่อม็อบ สร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศ

อนึ่งวันที่ 18 ก.ย. 53 ขบวนแรลลี่ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ พร้อมด้วยข้อความรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้ง 50 คน จะออกเดินทางตั้งแต่งเวลา 06.00 น. ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิล์ดลาดพร้าว โดยใช้เส้นทางถนนสายเอเชีย ผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ นัดคนเสื้อแดง และ ประชาชนร่วมกันแสดงความยินดีกับขบวนแรลลี่ตลอดเส้นทาง และ กลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเวทีประชาธิปไตยที่ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เพื่อรอรับขบวนแรลลี่จากกรุงเทพ และมวลชนคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ แล้วนำเข้าที่พักในเวลา 23.30 น.

โดยวันที่ 19 ก.ย. 53 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. จะนัดรวมตัวกันที่ สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เวลา 14.00 น. จัดการ เดินขบวนออกเดินพาเหรดรอบเมือง มีขบวนประเพณีวัฒนธรรม สะล้อซอซึง ตีกลองสะบัดชัย ขบวนล้อเลียนการเมือง เต้นระบำสมานฉันท์ชาวเหนือและชาวกรุง ขบวนรำลึกวีระชน พร้อมด้วยการแสดงการตัดสินประหารชีวิตผู้สั่งการสังหารหมู่ประชาชน ไปตามถนนรอบตัวเมืองเชียงใหม่

และในเวลา 18.00 - 23.30 น. จะมีการปราศรัย ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ , นายสุนัย จุลพงษศธร , นายจตุพร พรหมพันธ์ , นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ , นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักพูดเสื้อแดงอีกหลายท่าน รวมทั้งการโฟนอินจากแดนไกลอีกหลายท่าน

 

 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก:

เสื้อแดงเชียงใหม่จัดรำลึก "19 กันยา ตาสว่างทั้งแผ่นดิน" (ข่าวสด, 15-9-2553)
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRJNE5EVXpPRFV6Tnc9PQ==

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ดีเอสไอ-วธ." เตรียมตั้งกรรมสอบ "ฟ้าเดียวกัน" ข้อหาหมิ่นสถาบัน

Posted: 15 Sep 2010 05:26 AM PDT

รมว.วัฒนธรรมผยดีเอสไอ-วธ.เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อความหมิ่นเบื้องสูงใน "ฟ้าเดียวกัน" ระบุไม่มีการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.การพิมพ์จำเป็นต้องดำเนินคดี ด้านเครือข่ายราษฎรอาสาฯ ยื่น กมธ.วุฒิสภา จี้เอาผิดคนหมิ่นสถาบัน ดีเอสไอประกาศจับหนุ่มหมิ่นฯ บนเฟซบุ๊คอีกราย

15 ก.ย. 53 - นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติในขณะนี้พบว่า นิตยสารฟ้าเดียวกัน ยังไม่มีการจดแจ้งตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ปี 2550 และนิตยสารฉบับดังกล่าวได้มีการตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งก่อนปี 2550 ได้ใช้กฎหมายพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484

"ข้อมูลเบื้องต้นของสันติบาลและหอสมุดแห่งชาติ ยืนยันตรงกันว่าไม่ได้มีการขออนุญาตจดแจ้งการพิมพ์ เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องดำเนินคดี โดยโทษคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ทางหอสมุดแห่งชาติได้พยายามติดต่อไปยังบรรณาธิการนิตยสายดังกล่าว อยู่"

นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อดูแล ข้อความนิตยสารฉบับดังกล่าวว่า มีการจาบจ้วงต่อสถาบันเบื้องสูงหรือไม่ แต่คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่จะมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย

ทั้งนี้ทางกระทรวงยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบนิตยสารฉบับอื่นด้วย ที่พิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาติ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวง และไม่ได้เกี่ยวของอะไรกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

อนึ่ง ฟ้าเดียวกัน เป็นวารสารราย 3 เดือน ที่นำเสนอการเคลื่อนไหวทางสังคม ในรูปแบบของขบวนการประชาชนและทางความคิด โดยฉบับแรกวางแผงเมื่อต้นปี พ.ศ. 2546 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มี ธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

เครือข่ายราษฎรอาสาฯ ยื่น กมธ.วุฒิสภา เอาผิดคนหมิ่นสถาบัน

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา นายบวร ยสินทร อดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันในสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.อ.ณพฤษภ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหา กษัตริย์ วุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้หมิ่นสถาบันอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันมีการหยิบยกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาพูดในทางที่เสื่อมเสียและบิดเบือน กล่าวอ้างถึงสถาบันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยข้อความที่เป็นเท็จ โดยเฉพาะคำพูดของนายทอม ดันดี ที่แสดงข้อความด้วยวาจา และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ บนเวทีปราศรัยที่จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 และถูกนำไปเผยแพร่ในยูทูป  ซึ่งตนได้ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการแล้ว

“จากนั้นมีบุคคลที่ไม่ทราบชื่อ 2 คน นำลิงค์ยูทูปคำกล่าวของนายทอม ไปลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ทราบ ID เนื่องจากเป็นการโพสต์จากต่างประเทศ จึงจะยื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ  เพื่อให้ดำเนินการประท้วงบุคคลที่กระทำการโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊ก เนื่องจากเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการประท้วงได้ เช่น กรณีที่เคยประท้วงเรื่องการเผยแพร่ภาพโป๊มาก่อน” นายบวร กล่าวและว่า ในวันที่ 18 กันยายนนี้ จะมีการจัดกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เพื่อประกาศจุดยืนว่ากลุ่มเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน และคนเดือนตุลา มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน” นายบวร กล่าว

อนึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ประกาศผ่านเวบไซต์ http://www.dsi.go.th  ประกาศจับ นายธนพล หรือ อาร์ท บำรุงศรี อายุ 31 ปี ผู้ใช้นามแฝง "จุลดิษฐ์" หรือ "จุน" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า JOOLDITH KAI หรือ JOOLDITH KAIYAO กระทำการโพสต์ข้อความสนทนาที่ไม่เหมาะสมกับเครือข่ายเพื่อนในเว็บไซต์ www.facebok.com  ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1)  (3) และ (5)

ตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 274/11 ถนนสวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ในพระราชอาณาจักร

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

ตั้งกก.สอบฟ้าเดียวกันหมิ่นสถาบัน (โพสต์ทูเดย์, 15-9-2553)
http://bit.ly/aXKsIB

เครือข่ายราษฎรอาสาฯ ยื่น กมธ.วุฒิสภา เอาผิดคนหมิ่นสถาบัน (สำนักข่าวไทย, 14-9-2553)
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/102468.html

DSIประกาศจับ'ธนพล บำรุงศรี'โพสต์เฟซบุ๊คหมิ่น (กรุงเทพธุรกิจ, 13-9-2553)
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20100913/352742/DSIประกาศจับธนพล-บำรุงศรีโพสต์เฟซบุ๊คหมิ่น.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หมอสูติฯ ไทยถูกศาลสหรัฐฯ จำคุก 6 เดือน ข้อหาฆ่าคนตาย

Posted: 15 Sep 2010 05:13 AM PDT

15 ก.ย. 53 - สำนักข่าวเอพีรายงานผลการตัดสินคดี นายแพทย์ระพินทร์ โอสถานนท์ สูติแพทย์ชาวไทยในสหรัฐอเมริกา อายุ 67 ปี ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา เมื่อวันที่ 14 ก.ย. โดยศาลเมืองบาร์นสเทเบิล ในรัฐแมสซาชูแซทท์ของสหรัฐฯ ตัดสินว่า นพ.ระพินทร์ มีความผิดตามข้อกล่าวหา สืบเนื่องจากกรณีที่รับทำแท้งให้ น.ส.ลอร่า โฮป สมิธ ชาวอเมริกันเชื้อสายฮอนดูรัส อายุ 22 ปี ซึ่งตั้งครรภ์ได้ 13 สัปดาห์ ในวันที่ 12 ก.ย.2550 แต่มิได้เตรียมขั้นตอนและอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ น.ส.ลอร่าเสียชีวิตที่คลินิคส่วนตัวของ นพ.ระพินทร์ ในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลสหรฐฯ เบิกตัว นพ.ระพินทร์ขึ้นพิจารณคดีตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา และในที่สุดได้

ตัดสินลงโทษจำคุก นพ.ระพินทร์ เป็นเวลา 6 เดือน และผ่อนผันให้สามารถขอลดหย่อนโทษได้เมื่ออยู่ในคุกครบ 3 เดือน แต่ต้องสวมเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์และถูกกักบริเวณในบ้านพักเพื่อควบคุมความประพฤติอีก 9 เดือน รวมถึงถูกยึดคืนใบประกอบโรคศิลป์ โดย นพ.ระพินทร์ไม่สามารถประกอบอาชีพสูติแพทย์ในสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป ทั้งยังถูกสั่งห้ามอบรมหรือสอนวิชาทางการแพทย์ในสถาบันการศึกษาใดๆ ทั่วประเทศ

ด้านอัยการผู้รับผิดชอบคดีเสนอบทลงโทษต่อศาล อ้างอิงรายงานของคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติใบประกอบโรคศิลป์แห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่าขณะดำเนินการทำแท้งแก่ น.ส.ลอร่า โฮป สมิธ ในวันดังกล่าว นพ.ระพินทร์ มิได้เตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งจำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้เข้ารับการทำแท้ง ได้แก่ เครื่องตรวจวัดชีพจร เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และมิได้ปั๊มหัวใจด้วยมือเพื่อช่วยเหลือสมิธเมื่อหัวใจหยุดเต้น รวมถึงไม่ได้เรียกรถพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งยังพยายามโกหกในภายหลังเพื่อปกปิดข้อผิดพลาดของตน

รายงานข่าวของเอพีระบุด้วยว่า นพ.ระพินทร์ เดินทางมายังสหรัฐฯ ประมาณปี พ.ศ.2513 และ

ได้รับใบอนุญาติประกอบโรคศิลป์ในปี 2517 และเข้าร่วมเป็นนักวิจัยด้านสาธารณสุขประจำมหาวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ด้านนายพอล ซีเรล ทนายของ นพ.ระพินทร์ ยืนยันว่าลูกความของตนมีประสบการณ์การทำแท้งอย่างปลอดภัยมาแล้วนับพันๆ ครั้งก่อนการเสียชีวิตของ น.ส.ลอร่า โฮป สมิธ ซึ่งเป็นความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวที่เคยเกิดขึ้นในประวัติการทำงานอันยาวนานและเป็นโศกนาฎกรรมที่สร้างความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ นพ.ระพินทร์

อย่างไรก็ตาม นายทอม และนางไอลีน สมิธ พ่อและแม่บุญธรรมของลอร่า จะได้รับเงินชดเชยใน

การต่อสู้คดีเป็นเงิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 60 ล้านบาท) แต่นางไอลีนกล่าวว่าการกระทำของ นพ.ระพินทร์ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบการแพทย์ของชุมชน และบทลงโทษผู้กระทำผิดอาจนำมาซึ่งความยุติธรรม แต่ถือว่าไม่มีใครได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง เพราะไม่อาจนำชีวิตลูกสาวของตนกลับคืนมา
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Silence of the Lamp: สิบคำถามที่ต้องการคำตอบ ยุคไล่ปิดเรดพาวเวอร์-ฟ้าเดียวกัน

Posted: 15 Sep 2010 05:09 AM PDT

1) คุณคิดว่าสื่อฝ่ายตรงข้าม (ไม่ว่าเหลืองหรือแดง) ควรถูกปิดหรือไม่
ก. ควรถูกปิด เพราะความเห็นไม่ถูกต้องและรับไม่ได้
ข. ควรถูกปิด เพราะเขาคิดต่างจากเรา
ค. ปิดหรือไม่ ไม่สน ขอสื่อฝ่ายกูพวกกูอยู่ต่อไปได้ก็พอ
ง. ไม่ควร เพราะเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกขั้นพื้นฐาน

2) คุณคิดว่าสังคมไทยยอมรับความเห็นต่างทางการเมืองได้หรือไม่ และทำไม
ก. ยอมรับได้อยู่แล้ว ไม่เห็นหรือว่ามีหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ให้เลือกอ่านไม่รู้กี่หัวกี่ยี่ห้อ
ข. ยอมรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะสื่อที่เห็นด้วยกับรัฐบาล
ค. ยอมรับอยู่แล้ว ไม่ได้ฟัง ฯพณฯ มาร์ค พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนแผ่นเสียงตกร่องดอกหรือว่าประเทศเรามีเสรีภาพในการแสดงความเห็น (ล่าสุด ย้ำกับ นักศึกษา สนนท.)
ง. ไม่ยอมรับ แต่ถ้าผมพูดมากไป เดี๋ยวผมอาจตกที่นั่งลำบากเหมือนคุณสมยศ หรือคุณปรวย...

3) คุณคิดว่าความเห็นเชิงเท่าทันต่อสถาบันควรแสดงออกได้หรือไม่ ทำไม
ก. ไม่ได้ เพราะเมืองไทยในหลวงคือพ่อหลวงของแผ่นดิน
ข. ไม่ได้ เพราะเมืองไทยหน้าไหว้หลังหลอก
ค. ได้ เพราะเมืองไทยหน้าไหว้หลังหลอก
ง. ได้ เพราะในคุกยังมีที่ว่างสำหรับคนต้องการไปนั่งคุยกับดา ตอร์ปิโด

4) คุณคิดว่า นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการหรือ วารสารเรด พาวเวอร์ หรือฟ้าเดียวกัน เป็นสื่อหรือไม่
ก. สื่อชั่ว สื่อเทียม 100%
ข. พวกนี้มันสื่อการเมือง สู้สื่อกระแสหลักที่เป็นกลาง และไม่หากำไรสูงสุดไม่ได้
ค. พวกนี้มันไม่ใช่สื่อ เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เหมือนสื่อกระแสหลักที่ซื่อสัตย์มากและพูดเขียนความจริงทุกมุมทุกวัน
ง. ไม่ว่า สื่อชั่ว สื่อเทียม สื่อธุรกิจ ก็เป็นสื่อชนิดหนึ่งและความหลากหลายของสื่อจะเอื้อให้สังคมเข้มแข็งขึ้น
จ. ทีใครทีมัน คือไทยแท้

5) คุณคิดว่า 3 ฉบับนี้ ควรมีสิทธิในการแสดงออกหรือไม่ ทำไม
ก. ปิดเรด พาวเวอร์กับฟ้าเดียวกันไปเลย เพราะผมเสื้อเหลือง พวกคุณซาบซึ้ง
ข. ปิดเอเอสทีวี ผู้จัดการไปเลย เพราะไม่ชอบพวกสาวกแป๊ะลิ้ม (แต่คงปิดไม่ได้ เพราะเส้นมันใหญ่)
ค. ปิดมันไปทั้งสามเลย บ้านเมืองจะได้สงบ
ง. ปิดสื่อกระแสหลักทั้งหมดก่อนดีไหม
จ. ถาม ศอฉ.ดูสิว่าจะเอาไง
ฉ. เห็นต่างได้ แต่ไม่ใช่ที่บ้านพ่อ

6) ถ้าสื่อเหล่านี้ถูกปิด แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรต่อ
ก. อยู่กันอย่างปรองดองไงล่ะครับ แล้วอย่าลืมใส่เสื้อยืด We Love Thailand หรือ Together We Can
ข. จะเป็นห่วงอะไรล่ะครับ ผู้ที่มีอำนาจในแผ่นดิน (ที่เขารู้สึกวิตกจริต) เขายังไม่รู้สึกเป็นห่วงเลย ว่าเราจะอยู่ต่อไปกันอย่างไร
ค. จะต้องมีการฆ่ากันต่อหรืออุ้มกันแน่เลย
ง. ไม่ต้องห่วง เข้าเว็บคนเหมือนกัน หรือเว็บประชาเทียม แล้วดูวอยซ์ทีวีต่อ
จ. ถามนายธนาพล ดูสิ เห็นว่ายังหัวเราะก๊ากๆ ได้อยู่เลย
ฉ. เรามาจุ๊บๆ ปรองดองกันเถอะนะ
ช. เพื่อพ่อ อะไรก็เกิดขึ้นได้
 
7) ทำไมรัฐบาลจึงขะมักขะเม้นในการอ้างกฎหมายปลีกย่อยมาเล่นงานเรด พาวเวอร์ หรือฟ้าเดียวกัน โดยไม่สนใจสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
ก. เพราะรัฐบาลเคร่งครัด ยึดหลักนิติธรรม
ข. เพราะรัฐบาลเพิ่งรู้ว่ามีนิตยสารชื่อฟ้าเดียวกันและเรดพาวเวอร์
ค. การเมืองยุคปลายรัชกาลก็แบบนี้ล่ะ - ทราบแล้วเปลี่ยน
ง. เพราะชนชั้นนำรู้สึกไม่มั่นคงและวิตกจริต ไม่แน่ใจว่าอีกห้าปี ประเทศจะหน้าตาเป็นอย่างไร
จ. เพราะทักษิณ ชินวัตร เพียงผู้เดียว

8) ทำไมคนจำนวนมากจึงดูเหมือนยอมรับกับการกระทำเช่นนี้ได้
ก. เพราะที่นี่สังคมไทยมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือแบบไทยแท้ ซึ่งก็แปลว่าไม่มีนั่นเอง
ข. เพราะสังคมไทยเชื่อในการไม่ยึดติดกับสื่อใด (พุทธปรัชญาท่านว่าไว้เช่นนั้น)
ค. แล้วจะให้รัฐบาลทำไงล่ะไอ้เวร ก็ไอ้พวกนี้มันเหลืออดจริงๆ
ง. คุณจะไปสนใจทำไม เดี๋ยวคณะกรรมการปฎิรูปประเทศของท่านอานันท์-ประเวศ ก็หาทางออกให้เราเอง
จ. เพราะพวกเขาไม่ใส่ใจและไม่เข้าใจว่าเสรีภาพคืออะไร

9) ถ้าคุณเป็นนายกฯ สมาคมนักข่าว คุณจะทำอย่างไร
ก. ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล
ข. ออกแถลงการณ์สนับสนุนรัฐบาล
ค. ลาออก เพราะรู้สึกหดหู่
ง. อยู่ต่อไปโดยไม่สนใจอะไร
จ. รู้สึกดี

10) คุณคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ ถ้าไม่ ปัญหาอยู่ตรงไหน
ก. ล้อเล่นน่ะ คุณไม่รู้เหรอ ถามเสธ.ไก่อู ที่ ศอฉ. สิ
ข. ถ้าตอบตรงๆ แล้วผมจะถูกดีเอสไอจับหรืออุ้มไหมเนี่ย (ดูกรณีคุณปรวย...)
ค. อยู่แบบไทยๆ ดีแล้วจะได้ซาบซึ้งทุกค่ำไง
ง. เป็นสิ เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ 100% ช่อง 11 ยืนยันเช่นนั้น
จ. นี่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านสังคมไทยครั้งใหญ่ เพื่อรักษา จุดๆๆ ลืมประชาธิปไตยและเสรีภาพไปเสียเถอะ แล้วลองอยู่เงียบๆ สัก 5-10 ปีได้ไหม ให้เขาเคลียร์กันให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาเรียกร้องประชาธิปไตยกันใหม่
ฉ. จะห่วงไปทำไม สู้ดูบอลบุรีรัมย์ PEA ตีกับทหารบก สนุกกว่า
ช. ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่มีเสรีภาพ แต่จะไม่ยอมปล่อยให้มันเป็นเช่นนั้นต่อไปอีก
ซ. อย่าซีเรียส นี่เป็นแค่ the beginning of the end 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: พันธกิจแห่งกวี

Posted: 14 Sep 2010 08:10 PM PDT

 พันธกิจแห่งกวี

 
ทางเท้า
 
คำกวีต้องมีไว้เพื่อทายท้า
เพื่อต่อต้านอำมาตยารัฐประหาร
 คำกวีมีเพื่อต้านเผด็จการ
ใช่เบิกบานปรองดองบนกองศพ
 
เช่นนี้..กวีจึงมีคุณค่า
สืบภาษาสานตำนานไม่รู้จบ
นำความคิดมาเรียงร้อยเป็นแนวรบ
ไม่สยบต่ออำนาจด้วยขลาดกลัว
 
แสงดาวแห่งกวีจักแพรวพราย
ส่องประกายในคืนมืดสลัว
สู่เส้นทางสร้างศรัทธาฝ่าหมอกมัว
และเร่งรัวประกาศกล้าท้าอธรรม
 
ตื่นเถิด..เหล่ากวีน้อยใหญ่
ร่วมแรงใจพาผองชนพ้นตกต่ำ
สังคมใหม่ยังรอเจ้ามาก้าวนำ
ด้วยถ้อยคำเฉียบคมสมกวี
 
มาเถิด..มารับใช้ประชาชน
มาร่วมหนทางสู้เพื่อศักดิ์ศรี
มาต่อเติมเสริมสร้างสิทธิเสรี
ด้วยวิถีแห่งกวีประชาธิปไตย
 
.....
 
กลุ่มกวีตีนแดง
ขอเรียนเชิญมวลมิตรกวีเพื่อประชาธิปไตยทั้งใหญ่น้อย
มาร่วมกันอ่านบทกวีเพื่อรำลึกถึงการจากไปของประชาธิปไตย
และร่วมไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย
เนื่องในวาระครบรอบ
4 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
และ 4 เดือน เหตุการณ์สังหารหมู่ราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2553
ในวันที่ 19 กันยายน 2553  ณ สี่แยกราชประสงค์
 
- ขอสำนึกประชาธิปไตยจงสถิตอยู่ในใจกวี -
 
..............................
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธรรม: มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (จบ)

Posted: 14 Sep 2010 07:35 PM PDT

สำนักข่าวประชาธรรม รายงานจากการประชุมเวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ ที่ ม.เชียงใหม่ เมื่อ 28 ส.ค. จากการนำเสนอหัวข้อ “เรื่อง "คนเสื้อแดง": ปฏิบัติการช่วงชิงการนิยามความเป็นพลเมืองในบริบทโลกสมัยใหม่” ของสืบสกุล กิจนุกร และการอภิปรายโดยกฤตยา อาชวนิจกุล

 

 

ในตอนที่ผ่านมา ทำให้เราเข้าใจความคิดทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มคนเสื้อแดง-เหลืองในมุมมองของนักสังคมวิทยา มากขึ้น อันนำมาซึ่งการได้ข้อมูลอีกมุมหนึ่งในการทำความเข้าใจคนเสื้อแดง-เหลือง และตอนต่อไปหลังจากนี้จะเป็นมุมของการทำความเข้าใจความคิดของคนเสื้อแดงที่สัมพันธ์กับบริบทของโลกาภิวัตน์จนนำมาสู่ความต้องการความเป็นธรรมและ "ประชาธิปไตยที่กินได้" ซึ่งเป็นอีกมุมที่เราไม่ค่อยเข้าใจมากนัก(โดยเฉพาะคนที่มองว่าคนเสื้อแดงยังโง่อยู่) และบทสรุปการทำความเข้าใจการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา

นายสืบสกุล กิจนุกร นักศึกษาระดับปริญญาโทด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาการพัฒนาสังคม ซึ่งกำลังทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "คนเสื้อแดง": ปฏิบัติการช่วงชิงการนิยามความเป็นพลเมืองในบริบทโลกสมัยใหม่ ได้พยายามสะท้อนให้เห็นความคิดของคนเสื้อแดงผ่านการพูดคุย และนำคำพูดนั้นมาคิดวิเคราะห์ รวมทั้งตั้งคำถามในเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทำให้เราได้เห็นความคิดพื้นๆอันบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติของคนเสื้อแดง ที่แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปยังไม่เคยได้เข้าไปสัมผัส ศึกษาและวิจัย

ในตอนท้ายจะนำเสนอ การให้ความเห็น ของรศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผอ.สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พยายามสรุปและให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำความเข้าใจการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา เพื่อที่จะศึกษาและทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ ผ่านการเชื่อมโยงความรู้ด้านอื่นต่อไป

นายสืบสกุล กิจนุกร สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายว่า สาเหตุที่ตนตัดสินใจร่วมทำงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เนื่องมาจากภายหลัง "การสังหารหมู่คนเสื้อแดง" ที่ถนนราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาที่ผ่านมา "ตนเห็นคนถูกฆ่าตาย" นับ 90 ศพ มันทำให้ตนไม่อาจเพิกเฉย ต่อความตายที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาได้ คำถามคือว่าทำไมผู้คนถึงได้พากันออกมาชุมนุมนาน แรมเดือนบนท้องถนน เอาชีวิตเข้าแลกกับกระสุนปืนเช่นนี้ พวกเขาเป็นใคร

ตนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาการพัฒนาสังคมผมถูกสอนให้ตั้งคำถามกับอำนาจครอบงำสังคมในด้านต่างๆ แต่ในขณะที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ผมพบว่ามีนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐในการใช้ความรุนแรง ทางการเมืองผ่าน "ความรู้" ของพวกเขา การทำงานวิจัยของผมนี้จึงเป็นการตรวจสอบ "ที่ยืนที่อยู่" ของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาควรจะอยู่ตรงไหนไปด้วย

และเหตุผลสุดท้ายก็คือ ตนเป็นผลผลิตโดยตรงจากชนบท เกิดและเติบโตขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งติดกับชายแดนไทย - ลาว ฝั่งอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตนต้องการกลับไปสำรวจตรวจสอบดูว่า "คนเสื้อแดง" ในฐานะที่เป็นผู้คนที่พื้นเพมาจากชนบทเช่นเดียวกันนั้น พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไร กับข้อกล่าวหาที่กลายเป็นการประทับตราทางสังคมว่า "คนเสื้อแดง" เป็นคนบ้านนอก ยากจน โง่เง่า เป็นเหยื่อทางการเมือง และไม่เข้าใจประชาธิปไตย

ในงานศึกษาครั้งนี้ อาศัยเทคนิควิธีของนักมานุษยวิทยาที่สำคัญได้แก่ การสังเกตการณ์ แบบมีส่วนร่วมในการเข้าไปร่วมการ ชุมนุม ประชุม สัมมนา และพิธีกรรมต่างๆ ของ "คนเสื้อแดง" หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภา และการสัมภาษณ์เจาะลึกประสบการณ์ชีวิตของ "คนเสื้อแดง" ที่เข้าร่วมการชุมนุมและไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพ อย่างไรก็ตามผมไม่ได้ลงไปศึกษายังหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเป็นหลักอย่างเข้มข้นและยาวนานตามแบบฉบับประเพณีนิยมของนักมานุษยวิทยาที่ผ่านมา เนื่องจากว่าในสังคมยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ผู้คนได้เดินทางตัดผ่านความเป็นชนบทและความเป็นเมืองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน "คนเสื้อแดง" กระจายตัวอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ตนจึงได้พูดคุยกับ "ชาวนา" พ่อค้าในตลาดสด ผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรม คนงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน และเจ้าของกิจการร้านอาหาร ที่มาจากพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ และเชียงใหม่ อนึ่งภาษาที่ผมโค้ดมาเป็น "คำเมือง" ผสมกับ "คำไทย" และมี "คำหยาบ" ที่อาจฟังดูแล้วไม่ระรื่นหู

 

งานวิจัยด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเกี่ยวกับ "คนเสื้อแดง"

จากการสำรวจของพบว่าในตอนนี้มีงานเขียนทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่กล่าวถึง การปรากฏตัวขึ้นมาของ "คนเสื้อแดง" อย่างน้อยสองแนวทางหลักสำคัญ แนวทางแรกได้แก่งานศึกษาการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองในชนบทยุคโลกาภิวัตน์ ยกตัวอย่างเช่น งานของคณะวิจัยของอาจารย์ อภิชาต สถิตนิรามัยและคณะ รวมถึงบทความหลายชิ้นของอาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ที่ปรากฏในคอลัมน์ทัศนะวิจารณ์ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ งานศึกษาในแนวทางนี้มุ่งให้ภาพกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่เข้าไปกระทำในพื้นที่ชนบท และทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ทางเศรษฐกิจ การเมืองขึ้นมา และเป็นส่วนหนึ่งของ "คนเสื้อแดง"

ส่วนงานศึกษาในแนวทางที่สองพูดถึงการเดินทางเคลื่อนที่ของผู้คนในชนบท ที่ตัดผ่านพื้นที่เมืองกับชนบท และท้องถิ่นกับโลก ภายใต้กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจ อาทิงานของอาจารย์ชาร์ล คายส์ และอาจารย์พัฒนา กิตติอาษา เป็นต้น งานในแนวทางนี้เสนอว่า การเดินทางของผู้คนทำให้เกิดการเรียนรู้ เชื่อมโยงโลกเข้าหากัน และสร้างมุมมองใหม่ให้กับผู้คนในการมองโลกและชีวิต ซึ่งรวมโลกการเมืองของพวกเขาด้วย งานทั้งสองแนวทางที่ผมพูดถึงมีคุณูประการในแง่ที่ให้ภาพด้านกว้างของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างชนบท (rural restructuring) ยุคโลกาภิวัตน์ได้ป็นอย่างดี และทำการโต้แย้งความคิดที่ว่าพื้นที่และผู้คนชนบทมีความเฉื่อยชา ล้าหลัง ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง อันเป็นผลมาจากการมองชนบทเป็นคู่ตรงกันข้ามกับเมือง

งานศึกษาทั้งสองแนวทางได้ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วพื้นที่และผู้คนชนบทได้เข้าไปมีส่วนพัวพันกับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองอย่างแนบแน่น และเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นกระบวนการ มุมมองเดิมที่ใช้ในการศึกษาชนบทไทยที่หยุดนิ่ง แช่แข็งชนบทเอาไว้กับการผลิตภาคการเกษตรแบบเก่า และการเมืองแบบระบบอุปถัมภ์จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าในงานวิจัยครั้งนี้ขอเสนอว่า นอกจากเราจะมองการปรากฏตัวขึ้นมาของ "คนเสื้อแดง" จากการเปลี่ยนแปลงระดับกว้างแล้ว เราจำเป็นต้องมอง "คนเสื้อแดง" ในฐานะที่เป็น "ผู้กระทำการ" ภายใต้โครงสร้างการครอบงำทางความหมาย คนเสื้อแดงเป็นผู้มีความกระตือรือร้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ มีสำนึกในสิทธิพลเมืองตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนที่เท่าเทียมกัน และเชิดชูคุณค่าความเป็นคนที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ คนเสื้อแดง "ถูกสร้าง" ขึ้นมาจากเงื่อนไขการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย และ"สร้างตัวเอง" ขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิตประจำวันและการเมืองในระดับระดับชาติการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง" เป็นปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนนิยามความหมายในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่ครอบงำพวกเขาเอาไว้ อันเป็นการพยายามจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้มีความเท่าเทียมมากขึ้นในบริบทโลกสมัยใหม่ เพื่อที่จะขยายความข้อถกเถียงของผม ผมจะพูดใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวพันกัน ดังนี้

 

การช่วงชิงความหมายของงานในวัฒนธรรมเศรษฐกิจสมัยใหม่

สิ่งแรกที่อยากจะพูดในหัวข้อนี้ก็คือว่า ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัฒนธรรมเศรษฐกิจสมัยใหม่หลายคนอาจจะมองไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและบริโภคสินค้าผ่านกระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรมและเมือง หรือมองไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ อาทิ ถนน ไฟฟ้า และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่มีคนพูดกันน้อยในสังคมไทยหรือพูดกันแต่ในแง่ลบเท่านั้น ได้แก่การสร้างความหมายเกี่ยวกับ "งาน" ขึ้นมาใหม่ในยุคพัฒนา และยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐในการสร้างความจริงขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนประชากรให้เป็นสินค้าแรงงานสำหรับซื้อขายในตลาดภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม

"งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" เป็นการสร้างความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมเศรษฐกิจ ในยุคพัฒนาทศวรรษ 2500 สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ซึ่งเป็นยุคเผด็จการทางการเมือง "งาน" "เงิน" และ "ความสุข" ใน "ชีวิต" มีความหมายความหมายเดียวกันและใช้สลับที่กันไปมา ทำให้ชีวิตของผู้คนผูกติดเข้ากับเศรษฐกิจแบบเงินตราและการผลิตสมัยใหม่ที่ต้องอาศัยทุนมากขึ้น การเป็นพลเมืองที่ดีในสายตาของรัฐคือการ "ทำมาหาเงิน" มิใช่ "ทำมาหากิน" คนในภาคเหนือตอนบนคงจะคุ้นเคยกันดีกับบทเพลง "หนุ่มดอยเต่า" ของวงนกแลที่โด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา เนื้อเพลงนี้กล่าวถึงชีวิตของผู้คนจากอำเภอที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารอย่างอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องดิ้นรนหาเงิน ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งที่ว่า "หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ ทำงานเซาะเบี้ยทำมาหาเงิน ล้ำบากเหลือเกิ๋นตากแดดหน้าดำ" มันได้แสดงให้เห็นถึงความหมายของงานได้เข้าไปอยู่ในความรู้สึกนึกคิดและชีวิตประจำวันของผู้คนจนแยกไม่ออกอีกต่อไป

เมื่อเข้าถึงยุค "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" หรือยุคโลกาภิวัฒน์ในตอนต้นทศวรรษ 2530 ภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองภายหลังการสิ้นสุดของระบอบเปรม นโยบายทางการเมืองได้เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกหัวระแหงมากขึ้น "ชาวนา" จากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวย้อนถึงความรู้สึกที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีสำหรับเขาซึ่งเกิดขึ้นในยุค"ชาติชาย" ว่า "คล่องขึ้น ยะหยังก่ได้ก๋ำไร ขายตี้ดินได้ราคาดี" ( แปลว่า ค้าขายคล่องขึ้น ทำอะไรก็ได้กำไร ขายที่ดินได้ราคาดี)

หากว่าสิ่งที่ชาวนาจากอำเภอดอยสะเก็ดได้บอกให้เราเข้าใจสำนึกทางการเมืองของเขาที่เปลี่ยนไปแล้ว เรายังจะเห็นร่องรอยของการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์หรือยุคหลังการพัฒนาที่มี "โอกาส" ควบคู่มากับ "ความเสี่ยง" ที่ต้องอาศัย "ทุน" และ "ความรู้" เข้าไป "จัดการ" ซึ่งเป็น "ความจริง" ชุดใหม่ที่ซ้อนเข้ามากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสำนึกทางการเมือง เราจะเข้าใจมากขึ้นถึง "ความจริง" ชุดใหม่ในวัฒนธรรมเศรษฐกิจยุคนี้ เมื่อเราพิจารณาถึงเสียงสะท้อนของผู้คนที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง และโดยอ้อมจากนโยบายทางการเมืองของนายกทักษิณ ชินวัตร

ในกรณีของ "ชาวนา"จากอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย เขาพูดถึงการพยายามในพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาจากการเป็น "ผู้แพ้" มาโดยตลอด "ผมจ๋นมาเนี่ย พอนายทักษิณ นายกชาติชายมาเนี่ย พวกผมลืมต๋าอ้าปากได้พ่อง คือเปิ้นเจียดหื้อรากหญ้าไงครับ เปิ้นยกฐานะหื้อปอมีอันจะกิ๋นพ่อง อย่างหน้อยไปโฮงบาลก่เซฟเงินไปแหมเยอะน่อ พักหนี้น่ะครับอาจ๋านเจี้ยก่ว่า พักหนี้มันจ้วยได้เยอะมาก" (แปลว่า ผมจนมาตลอด พอนายกทักษิณ หรือชาติชาย เข้ามา ทำให้พวกผมสามารถลืมตาอ้าปากได้ เขาแบ่งผลประโยชน์ให้รากหญ้า เขายกระดับให้เราพอมีพอกิน อย่างน้อยไปโรงพยาบาลก็เชฟเงินไปได้มาก อย่างเรื่องพักหนี้ก็ช่วยได้มาก)

เช่นเดียวกับพ่อค้าในตลาดสดแห่งหนึ่งในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่เคยล้มเหลวจากธุรกิจท่องเที่ยวที่เสียหายไปในช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 กิจการรถตู้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจาก "ความเสี่ยง" ที่ไม่อาจควบคุมได้ในเศรษฐกิจโลก เขาติดหนี้ธนาคารจนต้องปิดกิจการ แต่สามารถกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้งหนึ่งภายหลังนโยบายของพรรคไทยรักไทย เขาบอกว่า "หนี้สินตี้เฮายืมจากธนาคารบ่ได้ใจ้คืน ธนาคารกรุงไทยจนถึงขั้นจะมีก๋านยื่นฟ้องผมละ พอมีนโยบายแก้ไขความยากจน ปรับปรุงหนี้...ผมเหลือแหมประมาณแสนกว่าบาท" (แปลว่า หนี้สินที่ยืมจากธนาคารไม่ได้ใช้คืน ถึงขั้นที่ธนาคารจะยื่นฟ้อง แต่พอมีนโยบายปรับปรุงหนี้ ผมเหลือหนี้ประมาณแสนกว่าบาท)

แน่นอนว่า "โอกาส" ของ "ผู้ชนะ" ก็ย่อมมี และมันชัดเจนว่าพวกเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็น "ผู้ประกอบการ" ที่สามารถเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ดังในกรณีตัวอย่างของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษสาส่งตลาดต่างประเทศในเขตอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พูดถึงกิจการของเขาที่เฟื่องฟูขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบาย OTOP " เอาสินค้าของเฮาไปแข่งขันในระดับโอท็อปแม่นก่ เฮาได้สามดาวห้าดาว เฮามีสิทธิ์เอาออกไปขายนอกพื้นที่ จัดงานหื้อเฮาๆก่ไปร่วม ถึงแม้ผมจะบ่ได้ไป แต่คนตี้เปิ้นได้ห้าดาว เปิ้นก่ต้องเอาสินค้าผมไปตวย เปิ้นจะขายตั๋วเดียวเป๋นไปบ่ได้ สินค้าต้องบ่ต่ำกว่า 50 ตั๋วตี้ต้องเข้าไปร่วมกับเปิ้น เพราะฉะนั้นเปิ้นก่จะดึงสินค้าออกจากพื้นที่ไป ปี๋ 48 เฮาได้ออเดอร์เยอะมาก ประมาณซาวตู้คอนเทนเนอร์ พอได้เงินเสร็จผมก่ซื้อตี้หนี้สร้างโกดังตี้นี่ขึ้นมา เพื่อรองรับ ตะก่อนนี้ผมบ่มีโกดังสักอย่าง...เฮาคิดตั๋วอย่างสินค้าขึ้นมาชิ้นหนึ่งเนี่ย เฮาก่ได้เป๋นเงินเป๋นทองขึ้นมา สามารถขายได้...แค่คิดเป๋นต้นแบบขึ้นมา ได้เงินแน่นอน ได้ขาย..." (แปลว่า เอาสินค้าของเราไปแข่งขันในระดับโอท็อป เราได้สามดาวห้าดาว เรามีสิทธิ์เอาออกไปขายนอกพื้นที่ จัดงานให้เรา เราก็ไปร่วม ถึงแม้ผมจะไม่ได้ไป แต่คนที่ได้ห้าดาว เขาก็ต้องเอาสินค้าผมไปด้วย เพราะ เขาจะขายสิ่งเดียวเป็นไปไม่ได้ สินค้าต้องมีไม่ต่ำกว่า 50 อย่างที่ต้องเข้าไปร่วมกับเขา เพราะฉะนั้นเขาก็จะต้องดึงสินค้าออกจากพื้นที่ไปด้วย ปี 48 เราได้ออเดอร์เยอะมาก ประมาณ 20 ตู้คอนเทนเนอร์ พอได้เงินเสร็จผมก็ซื้อที่สร้างโกดังตรงนี้ขึ้นมา เพื่อรองรับ เมื่อก่อนนี้ผมไม่มีโกดังสักอย่าง...เราคิดตัวอย่างสินค้าขึ้นมาชิ้นหนึ่งเนี่ย เราก็ได้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา สามารถขายได้...แค่คิดเป็นต้นแบบขึ้นมา ได้เงินแน่นอน ได้ขาย )

นอกจากผลประโยชน์โดยตรงจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองแล้ว ผลที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งคือการสร้าง "ความมั่นใจ" ใหม่ขึ้นมา ทำให้พวกเขาตระหนักใน "ความสามารถ" "ความรู้" และ "ความมั่นใจ" ของตัวเองในการกับชีวิตทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพิงทุน ท่ามกลางโอกาสและความเสี่ยงในยุคโลกาภิวัตน์

ในระดับหมู่บ้านเราจะได้ยินเรื่องเล่าของการจัดการกองทุนหมู่บ้านที่แสดงถึงความภาคภูมิใจในความสามารถจัดการของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ดังในกรณีของกองทุนหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย ที่รองประธานพูดออกมาอย่างมั่นใจว่า "ผมเป๋นรองประธานก๋องทุนหมู่บ้าน ต๋อนนี้ บริหารเงิน 4 ล้านบาท หมู่บ้านเดียว มีเอกสารหมด สามารถตรวจสอบได้ ผมสามารถอู้ได้เต๋มปากเลยจากเงิน 1 ล้านบาท เดี่ยวนี้เป๋น 4 ล้านบาท บริหารในชุมชน" (แปลว่า ผมเป็นรองประธานกองทุนหมู่บ้าน ตอนนี้ บริหารเงิน 4 ล้านบาท หมู่บ้านเดียว มีเอกสารหมด สามารถตรวจสอบได้ ผมสามารถพูดได้เต็มปากเลยจากเงิน 1 ล้านบาท เดี่ยวนี้เป็น 4 ล้านบาท บริหารในชุมชน) รองประธานคนนี้มีความภูมิใจในตัวเองมากแม้เขาจะบอกว่าเขาจบเพียงแค่ ป.4 แต่เขาก็สามารถจัดการเงินนับล้านได้ "เหมือนธนาคาร"

ในระดับโรงงานถึงแม้ว่าคนงานจะไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ แต่สำหรับคนงานที่ถูกฝึกทักษะมาจากระบบการศึกษาแล้ว สไตล์การทำงานของนายกทักษิณ ไม่ต่างอะไรกับการทำงานของเขาที่ทำจริงเป็นกิจวัตรประจำวัน

เงื่อนไขทางสังคมที่สร้างตัวตนใหม่ของคนขึ้นมา ผ่านความหมายของงานกับการเมืองและชีวิตประจำวัน พนักงานประจำในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับสไตล์การบริหารงานของนายกทักษิณเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "...ทำได้จริง ทำได้คล้ายบริษัท มี action plan มี workshop มีกลุ่มย่อย ทำให้งานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผมชอบสไตล์การทำงานในแบบบริษัทที่ผมทำอยู่"

สิ่งที่ตนพูดมาในหัวข้อนี้ต้องการจะบอกว่า การปรากฏตัวขึ้นของ"คนเสื้อแดง" เมื่อมองจากพลวัตของการเปลี่ยนแปลงความหมายของงานแล้วจะพบว่า พวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัฒนธรรมเศรษฐกิจสมัยใหม่ ความหมายของงานที่รัฐสร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปในยุคพัฒนากับยุคโลกาภิวัตน์ ในด้านหนึ่งมันมีลักษณะครอบงำ ลดทอนความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงสินค้าสำหรับ ซื้อขายในตลาดแรงงาน ผลักคนเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเงินตราอย่างยินยอมพร้อมใจ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ได้สร้างสำนึกใหม่ของการมีชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ต้องพึ่งพิงทุนและความรู้มากขึ้น "คนเสื้อแดง" ได้แสดงออกถึงความมุ่งมาดปรารถนา และตระหนักใน "ความรู้" และ"อำนาจ" ของตัวเอง ในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ นโยบายของพรรคการเมืองได้เชื่อมโยงชีวิตประจำวันเข้ากับ ความหมายของงานที่เปลี่ยนแปลงไป มันได้ลากเส้นแบ่งระหว่าง "งาน" กับ "ชีวิต" และ "การเมือง" ของ "คนเสื้อแดง" ให้ซ้อนทับกันจนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และมันได้ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องสิทธิทางการเมืองของพวกเขาอย่างแข็งขัน

 

การต่อสู้เพื่อนิยามสิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

หัวที่สองที่จะพูดต่อไปนี้สัมพันธ์ไปด้วยกันกับเรื่องเล่าที่ตนได้พูดมาบ้างแล้วในตอนที่หนึ่งกล่าวคือสาเหตุประการสำคัญประการหนี่งที่ทำให้ชาวบ้านทั่วไปกลายมาเป็น "คนสื้อแดง" ก็เพราะว่าพวกเขาได้ "เรียนรู้" แล้วว่า "งาน" กับ "ชีวิต" และ "การเมือง" ชีวิตประจำวัน ของพวกเขามีสภาพดีขึ้นก็เนื่องมาจากการที่เขาไปหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งพรรคการเมืองที่มีนโยบายสาธารณะตอบสนองกับความต้องการในชีวิตประจำวัน

ขอเริ่มต้นจากเจ้าของธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่ในเขตอำเภอฝาง, ไชยปราการ และ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่บอกถึงการเลือกนายกทักษิณว่า "...คะแนนทักษิณ...เพราะว่านโยบายเขาโดนใจ...เมื่อก่อนนะคุณนะ ถ้าเราไม่มีเงินเป็นพันเป็นหมื่น เราไม่กล้าไปโรงบาลหรอก...พอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมานะ มีเงิน 30 บาท 50 บาท มีเงินค่ารถก็ไปโรงบาลได้แล้ว..." สำหรับชาวนาจากอำเภอป่าแดดแล้วเขาฟันธงถึงนโยบายต่างๆ ที่เข้าไปช่วยผู้คนในชนบทว่าเป็น "ประชาธิปไตยกิ๋นได้แน่นอน"

จากการที่เสียงของพวกเขาได้แปรเปลี่ยนนโยบายสาธารณะผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่านายกรัฐมนตรีในดวงใจของ "คนเสื้อแดง" ที่ผมไปพูดคุยมาด้วย จะสัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยในแต่ละช่วง ดังที่ "ชาวนา" จากอำเภอป่าแดดได้ตอบคำถามผมเอาไว้ว่า "นายกเปลี่ยนมายี่สิบกว่าคนเนี่ย มีสองสามคนตี้อยู่ในใจ๋ของราษฎรรากหญ้าเนี่ย ชาติชาย ชุณหวัณ ปรีดี พนมยงค์ แล้วก่ นายกทักษิณ... ปรีดีรักเพราะอะไร "อ้าว ก็เขาเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ใช่มั้ย"

เรารู้กันดีว่าสิ่งที่ปรีดีทำไปพร้อมกับการเปลี่ยนประเทศเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย คือการพยายามสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย ส่วนชาติชายเองก็เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ส่วนนายกทักษิณเป็นเสมือนหนึ่งผู้มากอบกู้ความตกต่ำทางเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งในสายตาของ "คนเสื้อแดง" จุดร่วมของนายกรัฐมนตรีทั้งสามคนคือการที่บ้านเมืองอยู่สภาวะของการเป็นประชาธิปไตย

นอกเหนือไปจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแล้วผมคิดว่าคนเสื้อแดงยังให้ความหมายกับประชาธิปไตยที่สัมพันธ์ไปกับสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมอีกด้วย ในความเห็นของผมแล้วความเห็นพ่อค้าในตลาดสดได้แสดงทัศนะตรงนี้เอาไว้อย่างชัดแจ้งจากคำพูดของเขาที่ว่า "สิทธิทางการเมืองประชาธิปไตยคือหื้อปี่น้องประชาชนเป๋นใหญ่ มีสิทธิ์ทุกอย่าง บ่ว่าจะเป๋นก๋านเลือกตั้ง ใจ้อะหยังทุกอย่างตี้มันอยู่ในประเทศไทยเนี่ย บ่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกั๋น เป็นมนุษย์เต้าเดียวกั๋นหมด คนตุ๊กก่มีสิทธิ์เข้าโฮงยา คนรวยก่มีสิทธิ์เข้าโฮงยา คนตุ้กเสี้ยงสามสิบบาท เฮาก่อยากหื้อคนรวยก่เสี้ยงสามสิบบาท ... แต่ถ้าว่าคนรวยเปิ้นไค่ได้ห้องพิเศษเพิ่มเงินไปแล่ บ่ว่ากั๋น แต่ว่าขั้นพื้นฐานมันต้องหื้อได้เท่าเทียมกั๋น หื้อมันเป๋นประชาธิปไตยเหมือนกั๋น คือทุกคนมีสิทธิมีเสียงเต้าเดียวกั๋น" ( แปลว่า สิทธิทางการเมืองประชาธิปไตยคือให้พี่น้องประชาชนเป็นใหญ่ มีสิทธิ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ใช้ทุกอย่างที่มันอยู่ในประเทศไทย ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เป็นมนุษย์ที่เท่ากันหมด คนยากจนก็มีสิทธิ์เข้าโรงพยาบาล คนรวยก็มีสิทธิ์เข้าโรงพยาบาล คนจนเสียสามสิบบาท เราก็อยากให้คนรวยเสียสามสิบบาท ... แต่ถ้าว่าคนรวยอยากได้ห้องพิเศษก็เพิ่มเงินไป ไม่ว่ากัน แต่ว่าขั้นพื้นฐานมันต้องเท่าเทียมกัน เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน คือทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน)

ทั้งหมดที่กล่าวมาในหัวข้อนี้เป็นการนำเสนอให้เห็นว่า "คนเสื้อแดง" เป็นผู้ลงคะแนนเสียงที่สร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม และสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันนี่เองครับเป็นฐานคิดสำคัญของสำนึกทางการเมืองของ "คนเสื้อแดง" ซึ่งมันได้หล่อหลอมตัวตนทางการเมืองของพวกเขาให้เข้มแข็งขึ้น สำนึกในอำนาจของตัวเองที่เสมอหน้ากับคนอื่นๆ ในสังคม ที่ทำให้ชาวบ้านธรรมดากลายมาเป็นสิ่งที่ชาวนาจากอำเภอป่าแดดบอกกับผมว่า "เสื้อแดงมันถึงเกิดขึ้น ทั่วประเทศไง" แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าสิทธิทางการเมืองของพวกเขาถูกปฏิเสธและทำให้ไร้ค่าโดยชนชั้นนำ

 

การยืนยันความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน

ชนชั้นนำของไทยได้ปฏิเสธสิทธิทางการเมืองของ "คนเสื้อแดง" ด้วยการนำเอากระบวนการทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างหน้าด้านๆ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคการเมือง รัฐประหาร ตลอดจนการจับกุมคุมขังและเข่นฆ่า สิ่งที่น่าเกลียดที่สุดคือการทำให้เสื้อแดง "คนเสื้อแดง" "ไร้ตัวตน" ในสังคมไทยด้วยการจำแนกแยกแยะให้ "คนเสื้อแดง" เป็น "คนโง่""บ้านนอก" และ "ไร้การศึกษา" ที่ไม่สมควรได้รับสิทธิการเมืองที่เสมอภาคกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่อยู่ตรงกันข้ามกับ "คนเสื้อแดง" ทั้งหมด

ตนเห็นว่าการสร้างให้ "คนเสื้อแดง" มีสภาพไร้ตัวตนนี้เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป แต่มันก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้พวกเขายิ่งมีลูกฮึดในการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิอันชอบธรรมทางการเมืองของพวกเขาคืนมา และควบคู่ไปกับการต่อสู้เพื่อยืนยันความเป็นคนที่เท่าเทียมกันด้วย

ต่อจากนี้จะนำเสนอถึงคำพูดคำจาที่เป็นความในใจส่วนหนึ่งของ "คนเสื้อแดง" ที่พวกเขาแสดงมันออกมาในยามที่ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับเขา เห็นว่า มันมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าคำพูดของพวกเขาเป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจของพวกเขาที่มีต่อสภาวะไร้ตัวตนในสังคม และการพยายามต่อต้านกับสภาวะไร้ตัวตน

"คนเสื้อแดง" ตระหนักดีว่าพวกเขาถูกประทับตราให้กลายเป็นคนด้อยอำนาจในสังคม "ชาวนา" จากอำเภอป่าแดดที่ได้เข้ามาเป็นคนงานก่อสร้างในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้ระบายความอัดอั้นว่า "พวกผมนี้เป๋นคนก่อสร้าง ทำนาทำไร่ เอ้า คุณอยู่ตึกสวยๆ ก่เพราะพวกผมทั้งนั้น แต่พวกคนระดับก๋าง มองบ่หันหรอกครับ พวกผมมันต่ำต้อย" ( แปลว่า พวกผมนี้เป็นคนก่อสร้าง ทำนาทำไร่ เอ้า คุณอยู่ตึกสวยๆ ก็เพราะพวกผมทั้งนั้น แต่พวกคนระดับกลาง มองไม่เห็นหรอกครับ พวกผมมันต่ำต้อย) ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของพวกเขาเน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่พวกเขาได้รับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

"คนเสื้อแดง" มิได้ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมในสังคมและรอคอยโอกาสในการต่อต้านอำนาจ "เขากิ๋นกั๋นจนต้องไก้ต้องปองก่บ่คายออกมา คนรวยรวยแม่ะฮ้ากนะครับประเทศไทย มันบ่ยุติธรรมไง แล้วพวกผมจ๋นต๋ายห่า ผมก่ทำงานจ๋นเกือบจะขอข้าวกิ๋นแล้ว จ๋นตรอกน่ะ แต่คุณไปแบบผู้ดีน่ะ เหยียบหัวผมน่ะ ผมเขาบ่มีโอกาสต่อต้านรัฐบาล แต่อยู่ในใจ๋ผมเขาลึกๆ" (แปลว่า เขาคอรัปชั่นกันมากและไม่ยอมแบ่งปัน("เขากิ๋นกั๋นจนต้องไก้ต้องปองต้องไก้ต้องปองก่บ่คายออกมาเป็นสำนวนเปรียบเปรยซึ่งแปลตรงๆว่า กินกันอิ่มหมีพีมันจนเต็มท้องก็ไม่บ้วนออกมา) คนรวยก็รวยนะครับประเทศไทย มันไม่ยุติธรรมไง แล้วพวกผมจนจะตาย ผมก็ทำงานจนเกือบจะขอข้าวกิ๋นแล้ว จนตรอกน่ะ แต่คุณไปแบบผู้ดีน่ะ เหยียบหัวผมน่ะ พวกเราไม่มีโอกาสต่อต้านรัฐบาล แต่มันอยู่ในใจพวกเราลึกๆ)

"คนเสื้อแดง" แสดงให้เห็นว่าในการต่อต้านนักการเมืองที่พวกเขาเลือกเข้าไปนั้น แท้จริงแล้วเป็นการรักษาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่สูญเสียมันไป ดังในกรณีของกลุ่มครูที่เคยออกมาต่อต้านนโยบายการโอนย้ายครูไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า "...คนจั๋นก๋างเขาเสียผลประโยชน์ อย่างครูบาอาจ๋านบ่ชอบทักษิณ...เพราะทักษิณจะเอาครูบาอาจ๋านมาไว้ตี้เทศบาล คุมคนหลวก มันว่าบ่แก้วบ่าคำจะมาคุมครูจบปริญาโท ปริญญาตรี ครูเลยบ่ชอบทักษิณ เมื่อก่อนครูใส่เสื้อเหลือง แอนตี้นายกทักษิณขนาดหนัก...บ่าเด่วนี้เป๋นจะไดลู่กั๋นเข้าเทศบาล" ( แปลว่า คนชั้นกลางเขาเสียผลประโยชน์ อย่างครูบาอาจารย์จะไม่ชอบทักษิณ...เพราะทักษิณจะเอาครูบาอาจารย์มาไว้ที่เทศบาล ให้คุมคนฉลาด มันว่าไอ่แก้วไอ่คำจะมาคุมครูจบปริญาโท ปริญญาตรี ครูเลยไม่ชอบทักษิณ เมื่อก่อนครูใส่เสื้อเหลือง แอนตี้นายกทักษิณขนาดหนัก...ตอนนี้เป็นไงแย่งกันเข้าเทศบาล)

เช่นเดียวกันกับที่ "คนเสื้อแดง" ได้วิจารณ์ความไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายเอาไว้ว่า "...บ่าเด่วนี้จาวบ้านมันบ่ไจ้ตาสีตาสา อย่างผมนี้จบ ป.4 แต่ผ่อหันหนาครับ ผ่อบ่าสนธิ บ่าจำลอง แล้วผ่อบ่าเสื้อแดง ไผผิดไผถูก ผ่อฮู้ครับ มันไหนเอียงมันไหนบ่เอียง ผมก่ฮู้ ดา ตอปิโดติด 18 ปี๋ แล้วบ่าสนธิบ่ระคายผิวเลยเอี้ย ก่อแค่นี้คุณก่คงคิดได้ มันมีมาตรฐานก่คับ ประเทศไทยมีมาตรฐานก่คับ" (แปลว่า เดี๋ยวนี้ชาวบ้านมันไม่ใช่ตาสีตาสา อย่างผมนี้จบ ป.4 แต่ก็รู้นะว่า สนธิ จำลอง เสื้อแดง ใครผิด ใครถูก ใครเอียง หรือไม่เอียง ผมรู้ ดา ตอปิโดติด 18 ปี แล้วสนธิไม่โดนเลย แค่นี้คุณก็คงคิดได้ว่า มันมีมาตรฐานไหม ประเทศไทยมีมาตรฐานไหม) การติดตามข่าวสารทำให้พวกเขาเป็นประจักษ์พยานของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาคกันได้เป็นอย่างดี

เรื่องที่ยกตัวอย่างมานั้น ต้องการชี้ให้เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกของ "คนเสื้อแดง" ที่คุกรุ่นอยู่ในหัวใจของพวกเขา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะจบการศึกษาต่ำกว่าคนอื่นในสังคม แต่พวกเขามิได้โง่หรือไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย ตามที่ถูกยัดเยียดให้ยอมรับในสถานภาพที่ต่ำต้อย ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น คำพูดคำจาของพวกเขาได้แสดงออกให้เราได้รับรู้ว่า "คนเสื้อแดง" มิได้ยินยอมที่จะถูกกักขังอัตลักษณ์เอาไว้ แต่เพียงฝ่ายเดียว เราจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคำว่า "ไพร่" จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจ "คนเสื้อแดง" จำนวนมาก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามันเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ที่เป็นจริงของ "คนเสื้อแดง" นั่นเอง

 

บทสรุป: คำถามส่งท้าย

สิ่งที่พูดมาทั้งหมดในวันนี้เป็นหนึ่งในความพยายามลงไปทำความเข้าใจ รู้จัก และรับฟัง "คนเสื้อแดง" ในฐานะที่นักเรียนมานุษยวิทยาอย่างผมพอจะทำได้บ้างในขณะนี้ คำถามทั้งหมดอาจจะยังไม่สามารถตอบได้อย่างกระจ่างแจ้งทั้งหมด หากแต่พบว่ามันมีคำถามใหญ่ที่ค้างคาใจคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานวิจัยครั้งนี้ นั่นคือคำถามถึงวงการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ตนสังกัดโดยตรง

คำถามนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ไปพุดคุยกับ "คนเสื้อแดง" พวกเขามีทั้งคาดหวังในแง่ที่จะเป็นพลังในการทำความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และเรียกร้องหาความยุติธรรมให้กับพวกเขา ในขณะที่ก็มี "คนเสื้อแดง" อีกจำนวนไม่น้อยต่อต้าน "นักวิชาการ" ในสถาบันการศึกษา เนื่องจากพวกเขาได้เห็นแล้วว่านักวิชาการส่วนหนึ่งได้สร้างความรู้ความจริงขึ้นมา ให้คนทั่วไปเข้าใจว่า "คนเสื้อแดง" เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของสังคม และประการสำคัญในตอนนี้ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 19 พฤษภา นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญการพัฒนา อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรประเสิรฐกุล หมอประเวศ วะสี เป็นต้น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐในการค้ำจุนระบอบความจริงให้ครอบงำสังคมต่อไป

นักวิชาการหลายคนที่ให้เหตุผลในการเข้าเป็นกรรมการปฏิรูปที่นำโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ว่า "เกรงใจ" นายอานันท์ นั้น พวกท่านไม่เกรงใจ "คนเสื้อแดง" ไม่เกรงใจคนที่ถูกฆ่าตายบ้างหรือครับ

พ่อค้าในตลาดดอยสะเก็ด ได้วิจารณ์คณะกรรมการปฏิรูปเอาไว้ว่า "...ตั้งก๋ำมะก๋านขึ้นมาก๊าประธานก่หน้าเตะเหียแล้ว อานันท์ ปันยารชุน ไอ่ประเวส วะสี ราษฎรอาวุโส โห ไผไปตั้งหื้อมันเป๋น ราษฎรอาวุโส มันจะไปได้เรื่องอย่างใด" (แปลว่า ตั้งกรรมการขึ้นมา ประธานก็หน้าเตะซะแล้ว อานันท์ ปันยารชุน ประเวส วะสี ราษฎรอาวุโส ใครไปตั้งให้เป็น ราษฎรอาวุโส มันจะไปได้เรื่องอย่างใด)

 

เข้าใจเหลือง-แดงมากขึ้นได้อย่างไร

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รอง ผอ.สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตนต่อต้านรัฐประหาร เดิมไม่ชอบทักษิณ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ชอบเท่าไร เดิมชอบอภิสิทธิ์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยชอบอภิสิทธิ์เท่าไร มันก็จะเป็นอย่างนี้แหละใจคนเอาไว้เปลี่ยน

ประเด็นที่จะพูดถึงงานวิจัย โดยเฉพาะชุดของ อ.ปิ่นแก้วซึ่งยังทำไม่เสร็จ หลังจากฟังแล้วสร้างความหวังมาก ชอบในสิ่งที่อาจารย์ conceptualize โดยเฉพาะเรื่องความเสื่อม คิดว่ามันจะเป็นการสร้างความจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่งว่าความขัดแย้งของสังคมมาจากความเสื่อม 3-4 ประการ ความจริงชุดนี้รัฐบาลปัจจุบันไม่มีหูจะรับฟัง ตนเองได้คุยกับนายกรัฐมนตรี ตนพูดว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ ต้องสอบสวนเรื่อง 91 ศพ คนเจ็บ และตาย นายกรัฐมนตรีพยายามพูดให้ตนเข้าใจว่า เขาไม่ได้พูดชัดนะ แต่พูดให้เข้าใจว่ากรณีการตายต่างๆนั้นไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนก็หนักใจมากว่าเราจะเชื่อได้อย่างไรว่า 90 กว่าคน และบาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคนนั้นมาจากกระสุนปืนที่เรียกว่าชุดดำเท่านั้น ตนไม่สนใจว่าใครยิง แต่สนใจว่าต้องทำความจริงออกมาให้ได้ว่าใครเป็นคนยิง กี่คนถูกชุดดำยิง กี่คนถูกเจ้าหน้าที่ยิง อันนี้เข้าใจว่างานวิจัยชุดนี้มีคุณูปการตรงที่สร้างความจริงชุดนี้ให้เห็น

ประเด็นที่สองชี้ให้เห็นว่าคนเสื้อแดงรวมทั้งคนเสื้อเหลืองด้วยเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น ไม่ใช่วัวควายหรือชาวบ้านโง่ๆที่จะให้ใครมาชักจูงได้ อันนี้เข้าใจว่ามันย้ำในทั้ง 4 ท่าน รวมทั้งที่อ.นงเยาว์พูดถึง และถ้าไปตามดูในเน็ตต่างๆก็จะเห็นภาพพวกนี้ ข้อค้นพบที่สำคัญคือตัวชาวบ้านพวกนี้เข้ามาเคลื่อนไหวนี่ไม่ใช่เฉพาะคนชั้นล่าง ซึ่งตรงนี้ตรงกันข้ามกับงานวิจัยของงานอ.อภิชาต สถิตนิรามัย ตนถามอาจารย์ว่า อาจารย์มีคนเขาบอกว่างานอาจารย์ให้ภาพจริงบางส่วนเท่านั้น เพราะอาจารย์พูดว่าคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่หรือเป็นชนชั้นกลางใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในชนบท ในขณะที่เสื้อเหลืองเป็นชนชั้นกลางในเมือง ก็อาจารย์บอกว่ามันไปสรุปกันเอง จะมาเชื่อผมได้อย่างไร ผมเก็บตัวอย่างแค่ร้อยกว่าคนเท่านั้นเอง อาจารย์บอกว่าเพิ่งเริ่มต้นยังทำไม่เสร็จ คือเหมือนอ.ปิ่นแก้วที่ยังทำไม่เสร็จ คนดีใจรีบเอาไป quote อ.นิธิเอาไปเขียนกันใหญ่โต

ตนเห็นด้วยว่ากระบวนการทั้งของชาวบ้านและประชาชนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมันเป็นเรื่องของกระบวนการข้ามชนชั้นเลย คือมีทุกชนชั้น มีทุกการศึกษา ในที่ที่ตนแวดล้อมอยู่มีคนเสื้อแดงที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเยอะมาก แล้วเขาเป็นมาก่อนแล้วเขาประกาศตัวชัดเจน เป็นมาก่อนการยิงกันเสียเลือดเนื้อ แล้วเขาเป็นขาประจำ จบปริญญาเอกทั้งผู้หญิงผู้ชาย เขาไปชุมนุมกันที่โคราช เขาขับรถไปฟัง เขาไปชุมนุมกันที่ไหนชานเมือง ฝนตก ก็เดินกันย่ำโคลนกันไป ก็ไปดูไปฟัง เพราะฉะนั้น ภาพที่มันล้อมตัวกับภาพที่อ.ปิ่นแก้วเสนอนั้น ใครก็ตามที่เป็นคนเสื้อแดงเป็นเฉพาะคนชั้นล่างนั้นขอให้คิดใหม่ แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่านี้และคิดว่าเราไม่สามารถทำวิจัยได้ เราไม่สามารถคาดประมาณได้ว่าคนเสื้อแดงมีเท่าไร เราอาจจะเป็นคนเสื้อเหลืองเรามักจะพูดกันได้ แต่เนื่องจากว่าขณะนี้ นี่ตนตีความไม่เกี่ยวกับกาวิจัย ว่าการเป็นเสื้อแดงในบางพื้นที่มันถูกตีตรา ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า stigmatize คือการตีตราหรือถูกให้คุณค่าไปในทางซึ่งคนซึ่งเป็นเสื้อแดงต้องมองอย่างแวดระวังคือ เฮ้ย กูพูดได้มั้ยเนี่ย กูทำได้มั้ยเนี่ย เพราะมีการตีตราเรียบร้อยแล้ว และความจริงวาทกรรมส่วนใหญ่เป็นวาทกรรมที่รัฐบาลสร้างขึ้น เช่น ล้มเจ้า เพราะฉะนั้นแล้ว ตนเข้าใจว่ายิ่งรัฐบาลสร้างวาทกรรมแบบนี้มากขึ้นเท่าไร รัฐบาลก็ยิ่งไม่เห็นคนเสื้อแดงมากเท่านั้น ไม่เห็นคือก็คือไม่มีทางเข้าใจ

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญจากงานวิจัยอันนี้คือทำให้เห็นว่า การเลือกตั้ง นโยบายรัฐบาล และคะแนนเสียงมีความหมายต่อรัฐบาลมากนะคะ อันนี้เป็นความรู้สึกที่มีต่องานวิจัย

ประเด็นต่อมาคือประเด็นที่เตรียมมา คือเป็นเรื่อง grass root movement คือ พยายามจะมองว่าเรื่องที่คุยกันวันนี้จริงๆมี 2 ประเด็นที่น่าจะคุยต่อในเชิงคอนเซปท์( Concept) คือ การเคลื่อนไหวของประชาชนฐานราก เป็นเรื่องของอาวุธของผู้อ่อนแอ คือ weapon of the weak ทั้งหมดนี่ขโมยมาจากฝรั่ง ตนเป็นพวกประเภท monkey see, monkey do ก็คือเป็นพวกครูลักพักลักจำ ไม่ได้เรียนมาเพิ่งอ่านเมื่อเช้านี้เอง แล้วก็โน้ตไว้ คือกระบวนการประชาชนรากหญ้าจะเป็นอย่างนี้ กระบวนการประชาชนจะเกิดจากเล็กไปสู่ใหญ่ จากล่างไปสู่บน จากข้างในไปสู่ข้างนอก และมักจะถูกมองว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของการเมืองระดับบน ซึ่งจริงๆแล้วสอดคล้องกับสิ่งที่อ.เสกสรรค์พูดมาก แต่ว่าตนงงมากที่อ.เสกสรรค์เขียนอย่างนั้น ไม่น่าจะเชื่อว่าจบรัฐศาสตร์ปริญญาเอก และเขียนงานดีๆ ในอดีตจะเขียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือชวนมวลชนมาต่อสู้ แล้วมวลชนหายไปเลย ถ้าอ.เสกสรรค์เขียนแล้วคิดอย่างนั้นจริงๆ

ประเด็นต่อมา กระบวนการประชาชนเป็นกระบวนการสร้างเสรีภาพ สร้างทางเลือกใหม่ๆให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหากิน เรื่องการศึกษา เรื่องการลงคะแนนเสียง และเรื่องที่เขาจะยืนข้างอยู่กับใคร

ประเด็นที่สามกระบวนการประชาชนฐานรากจะสะท้อนชัดว่าเขาไม่เห็นด้วยกับอะไร เขาจะบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับอะไร และเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นที่สี่ อันนี้เป็นประเด็นของการทำงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 (ศปช.) คือเป็นกระบวนการที่ไม่ตัน แม้ว่าจะมีทรัพยากรหรือรายได้น้อยมากหรือไม่มีเลย เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่กระบวนการประชาชนฐานรากต้องการเห็นคือการแบ่งปันทรัพยากรที่เป็นธรรม ในขณะนี้ชอบใช้กันว่าเหลื่อมล้ำๆนี่

ประเด็นสุดท้ายคือกระบวนการประชาชนฐานรากไม่ใช่กระบวนการที่ไม่ทันสมัย ขี้ประติ๋ว แต่กระบวนการประชาชนฐานรากเป็นกระบวนการที่ใช้ไฮเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำที่เรียกว่า communicative action คือสามารถสื่อสารแนวราบแล้วเกิดการกระทำขึ้นมาได้ แล้วกระบวนการประชาชนฐานรากเป็นกระบวนการที่กระตือรือร้น ศึกษาตัวเองอยู่เสมอ และเมื่อเราดูลักษณะกระบวนการประชาชนจะเห็นว่าเขามีลักษณะการกระจายอำนาจ กระจายการตัดสินใจ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมโดยตรง เขามีความหลากหลาย มีความเป็นพหุลักษณ์ แล้วเขาต้องการจะเสริมพลังของคนที่ได้โอกาส จริงๆแล้วก็ตัวเขาเองให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับระบบคุณค่าบางอย่าง คือให้เรื่องความเท่าเทียม ให้เรื่องความเป็นธรรม ให้เรื่องความยั่งยืน บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าคอนเซ็ปท์มันเห็นภาพ แล้วภาพก็สะท้อนคอนเซปท์ ขบวนการเหล่านี้จะเคลื่อนไหวอย่างยืดหยุ่น สร้างความเข้มแข็งและเครือข่าย และจะเอียงข้าง จริงๆแล้วภาษาอังกฤษใช้คำว่า bias ตนแปลให้มันนุ่มลงมาหน่อย แล้วจริงๆแล้วคำว่าอคติไม่ใช่ข้อเสียหาย ถ้าเป็นอคติที่ท่านเลือกข้างได้ แล้วตนก็เข้าใจว่างานวิจัยก็ต้องเลือกข้างด้วย

ทีนี้มาประเด็นเรื่องอาวุธของผู้อ่อนแอ คือการที่เราจะเข้าใจกระบวนการของประชาชน วิธีการของกระบวนการประชาชนเป็นรูปแบบที่ใช้พลวัตรของอำนาจในการที่จะต่อสู้ รูปแบบนี้จะต่อสู้กับใคร ต่อสู้กับอำนาจนำทางการเมือง อำนาจนำทางการเมืองในสังคมไทยคืออะไร คิดว่าท่านตอบกันเองได้

ปัจจุบันนี้เรามักจะเรียกว่าอมาตยาธิปไตย แต่จริงๆแล้วมันน่าจะมีมากกว่าอมาตยาธิปไตย เราศึกษาเรื่องพวกนี้ แล้วเข้าถึงเรื่องพวกนี้เพื่อต้องการสร้างความรู้ในการเข้าถึงโอกาสและเรื่องต่างๆของชาวบ้านภายใต้บริบทของความไม่เป็นธรรม นี่คือภาพสะท้อนหนึ่งของวิธีการศึกษา เข้าใจว่าไม่ทราบว่าทีมวิจัยคิดมั้ย แต่ภาพมันสะท้อนการทำงานของทีมวิจัยที่ทำอยู่ แล้วอาวุธหนึ่งที่ใช้กันเป็นประจำ แล้วใช้มาตั้งแต่ในอดีต ในเชิงคอนเซปท์เขาจะเปรียบเทียบระหว่าง hidden script กับ public script คือสิ่งที่เป็นใต้ติดหรือข่าวลือกับสิ่งที่พูดกันในที่สาธารณะได้ สิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือของผู้อ่อนแอของทุกสังคมในโลกนี้คือใช้เรื่องเล่า ใช้สื่อใต้ดิน ใช้เรื่องตลก แล้วใช้ข่าวลือ ในปริญญานิพนธ์ปริญญาเอกบางเรื่องทำเรื่องข่าวลือในประเทศไทย แล้วก็เขาก็ทำหลายเรื่องมาก แล้ววิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนี้จะถูกพิมพ์ ปรากฏว่ามีคนมายื่นข้อเสนอกับสำนักพิมพ์(ซึ่งเป็นต่างประเทศ)ว่าให้ลบบางบทออกที่มีข่าวลือเกี่ยวกับบางสถาบัน ซึ่งคนเขียนเขาก็หงุดหงิดมากเลย แต่เขาก็อยากให้วิทยานิพนธ์เขาถูกตีพิมพ์ เฮ้ย มันสามารถที่จะไปลบ chapter ที่กำลังจะตีพิมพ์ในต่างประเทศได้ นี่ตนนับถือเลย ก็ลบไปเรียบร้อย เพราะหนังสือเขากำลังจะออก เพราะฉะนั้น อาวุธเหล่านี้จริงๆเป็นอาวุธที่ทรงพลัง คนมักจะคิดว่าอาวุธเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆแล้วเรื่องไร้สาระแบบนี้ในอดีตจะเห็นว่ามันสามารถที่จะโค่นล้มผู้มีอำนาจบางคนได้ ทั้งหมดนี้งานนี้หรืองานวิจัยที่พยายามทำอยู่นี้คือการพยายามอธิบายทฤษฎีความสัมพันธ์เชิงอำนาจร่วมสมัย ขยายความหมายหรือนิยามใหม่ในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มันจะเป็นทฤษฎีอธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจในกลุ่มฐานราก จะเป็นทฤษฎีที่เน้นความเป็น agency ของชาวบ้าน มันจะเป็นทฤษฎีที่เน้นความเป็นอัตลักษณ์ที่เคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชน เพราะฉะนั้น นี่คืออาวุธของผู้ที่อ่อนแอโดยวิธีการศึกษาที่กำลังทำกันอยู่.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น