ประชาไท | Prachatai3.info |
- รายงาน:จากปากคำผู้ต้องหาหญิง คดีเผาศาลากลางจ.อุดรธานี
- ว่าด้วย"เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"
- จากนิยายออนไลน์ถึงสังคมไทย : ว่าด้วยความรุนแรงที่เป็นลักษณะเฉพาะของไทย?
- คนงานพม่าร่วมพันในขอนแก่น ชุมนุมขอคืนสถานะวีซ่าเพื่อนคนงานที่ถูกเลิกจ้าง
รายงาน:จากปากคำผู้ต้องหาหญิง คดีเผาศาลากลางจ.อุดรธานี Posted: 10 Sep 2010 11:47 PM PDT เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ศกนี้ ได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาจำนวน 28 คนจาก 29 คนที่ครบกำหนดฝากขังถึง 7 ครั้งรวม 84วัน ยังเหลือผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจ.อุดรธานีอีก 16 คน ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวใดๆทั้งสิ้น เพราะถูกตั้งข้อหาหนัก 3 ฐานความผิด กล่าวคือ เผาศาลากลาง ,ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานและบุกรุกสถานที่ราชการ แม้จะมีการจำแนกผู้ต้องหา 28 คนออกมาและปล่อยตัวออกมาให้เป็นอิสระ โดยตั้งเงื่อนไขเพียงให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวต้องไปรายงานตัวทุกวันที่ 15 ของเดือนจนกว่าจะมีการยกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวและญาติพี่น้องพากันยินดีปรีดากับอิสรภาพของแต่ละคน เช่น นางจันทร์ เทพสาร รองประธานอสม.สถานีอนามัยจำปา ตำบลเชียงยืน ที่ในวันเกิดเหตุได้ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์เพื่อนบ้านที่กำลังจะออกไปรับลูกที่โรงเรียน เพื่อไปซื้อกับข้าวในตลาด ผ่านทางไปศาลากลางเห็นไฟไหม้ศาลากลางอยู่ เข้าร่วมมุงดูเหตุการณ์พร้อมกับคนจำนวนมาก และร่นไปถึงสำนักงานเทศบาลที่ถูกไฟไหม้ด้วย จนปะกับนางเพียง ชาวพ่อค้า นางประกาย วรรณศรี นางวิไล ธาตุไพบูลย์ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันและขวนกันนั่งรถประจำทางออกมาซื้อของในเมืองแล้วเดินมาดูเหตุการณ์ไฟไหม้ศาลากลางเช่นกัน แม่บ้านกลุ่มนี้พากันเดินหาทางออกจากการตีโอบของเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง รวมทั้งบรรดาไทยมุงลาวมุงทั้งหลายที่พากัน “ไปดูไฟไหม้ศาลากลาง” ระหว่างทางนางจันทร์ได้พบกับคุณนายรัศมีขับรถผ่านมา เห็นหน้าก็รู้จักหน้าว่าคุณนายรัศมีเป็นคนจากหมู่บ้านใกล้เคียงกัน ขออาศัยติดรถออกมาด้วยกัน จะด้วยความตกใจที่ถูกเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่เข้ามา ประกอบกับพบคันกองดินกีดขวางการขับรถผ่านออกมาไม่ได้ คุณนายรัศมีขับรถโหลดเตี้ยวนเวียนหาทางออกไม่ได้ จนในที่สุดทั้งหมดถูกจับกุมขังไว้ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งก่อนนำตัวส่งเข้าเรือนจำนานถึง 84 วัน ป้าจันทร์ในวัย 56ปี ได้เคยตั้งคำถามกับผู้เขียนที่เข้าไปเยี่ยมในเรือนจำว่า “คุก ไม่ใช่ที่ที่พวกเราต้องเข้ามาอยู่ ถึงเราจะจน เราก็มีบ้านอยู่ มีที่นอน ที่กิน ทำไมต้องเอาเรามาขังไว้ เราทำผิดตรงไหน ?” แกต้องทุกข์ทรมานมากกว่าผู้อื่นตรงที่ ต้องอดหมาก เมื่อเสื้ยนหมากมากๆ เพื่อนร่วมชะตากรรมก็จะปลอบใจป้าจันทร์อย่างขื่นๆว่า ไม่เป็นไร ถือเสียว่า ป้าต้องอดหมากเพื่อประชาธิปไตยก็แล้วกัน เมื่ออกจากคุกมาได้ เราถามว่าป้าอดหมากตัดหมากได้ไหม แกรีบบอกว่า “ออกมาได้ฉันต้องคว้าหมากกินก่อนอื่น อดมาตั้ง 3 เดือน” คนที่ได้ออกมาจากคุกบอกเล่ากับผู้เขียนว่ารู้สึกกังวลใจเป็นห่วงชะตากรรมของคนอีก 16 คนที่ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำกลางอุดรธานีที่แออัดยัดเหยียดด้วยนักโทษเด็ดขาดและผู้ต้องหาถึง 2,400คน บนพื้นที่ 18 ไร่ โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงอีก 4 รายที่ถูกขังรวมกับผู้ต้องโทษคดีอื่นๆในสภาพที่อาจทำให้เสียจริต กระทั่งบางคนเคยคิดจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีให้พ้นจากสภาพความเลวร้ายที่ทนไม่ได้ … ผู้เขียนได้เข้าไปรับฟังคำบอกเล่าจากปากของผู้ต้องหาหญิงที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก4คน และขออนุญาตนำเรื่องราวของ ผู้ต้องหาหญิง 3 คน แจ้งให้คนภายนอกได้รับรู้ นางรัศมี อายุ 50 ปีในเย็นวันเกิดเหตุได้ขับรถออกมาเพื่อรับหลานชายที่โรงเรียน ชาวบ้านที่รู้จักนางรัศมี จะเรียกว่า “คุณนาย” และรู้กันว่า คุณนายรัศมีเป็นคนรักสวยรักงาม เมื่อตกอยู่ในสภาพที่ต้องปรับตัวด้วยความยากลำบากกับการอาบน้ำวันละไม่กี่ขันภายในเวลาที่กำหนดไม่กี่นาที นางรัศมีได้เล่าให้ผู้เขียนฟังพร้อมน้ำตาที่ไหลอาบแก้มตลอดเวลาว่า "คุณยายไม่ได้รับส่ง หลานไม่ได้ไปโรงเรียน สถานที่อยู่ลำบากมากนอนกินน้ำตาทุกคืน ห้องน้อยๆ ยาว 8 x 20 ม. นอนตั้ง 200 คน วันนั้นบ่าย3 ขับรถออกไปรับหลานชายที่โรงเรียน ขับรถผ่านถนนไพธิศรี แวะจอดรถฟังปราศรัย แล้วออกมาฝั่งโน้นแล้ว เขายิงกันมาก็จอดรถไม่ได้ คนวิ่งหนีออกมาจากฝั่งโน้น ตกใจเจอคนตำบลเดียวกันเข้าวัดเข้าวาสายเดียวกันในการทำบุญ ก็เลยเรียก วิลัย เพียง จันทร์ ประกาย ขึ้นรถคันเดียวกัน กลัวถูกกระสุน จึงขับรถวนเวียน เพราะออกไม่ได้ เป็นเขตก่อสร้าง รถโหลดเตี้ยวิ่งขึ้นไม่ได้ เราสอบถามเส้นทางจากตำรวจ ทหารก็ล็อกตัวไว้ วันนั้นถูกจับเอาไปขังที่ค่ายทหาร 2 คืน วันที่ 21 มาเรือนจำมีเจ้าหน้าที่ศาล มีผู้พิพากษามาอ่านว่าพวกเราร่วมเผา อ่านให้เราฟัง เขาบอกว่าผิด พรก. เฉยๆไม่มีข้อหวาดกลัวอะไร ถูกปรับไม่มากมาย โทษเท่ากับเล่นไฮโล ทุกวันนี้เรารู้ว่าหลอกพวกเราให้ลงชื่อ แต่เราอ่านแล้วรู้ว่าหลงกลเพราะมีทางเพิ่มข้อหาเราหนักหนา ขนาดเราไม่เซ็นต์ก็หาว่าหัวหมอ หัวแข็ง ถ้าว่าเราร่วมชุมนุม จะฟ้องเราแค่นี้เราก็ยอมรับ เพราะเรามาดูมาฟังการชุมนุมจริงในวันนั้น แต่เราไม่ได้ทำลายหรือเผาศาลากลางตามที่กล่าวหา ” คุณนายรัศมี มีอาการปวดท้องจากเนื้องอกในมดลูกที่แพทย์กำลังจะนัดผ่าตัด จึงเชื่อได้ว่าคุณนายคงไม่หลบหนีหรือไปก่อเหตุวุ่นวายใดๆทั้งสิ้น ควรที่จะเมตตาปราณีอนุญาตให้ประกันตัวออกไปรักษาพยาบาลจะเป็นการดีกว่า นางแสงเดือน เล่าว่า ถูกจับในเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 53 ได้เปิดวิทยุชุมชน มีเสียงพูดว่า “พี่น้องทุกแห่ง ทุกกลุ่ม ให้ออกมาช่วยกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุดรฯ ” ตนเองไม่คิดว่าจะออกไปต่อต้านใดๆ เพียงแต่อยากออกไปดู มีคนเยอะไหม พอที่จะเอาไอศกรีม ที่ตนเองและลูกไปจำหน่ายขายเป็นประจำ ไปถึงแล้วได้เดินไปดูเต้นท์ต่างๆ และฟังผู้ประกาศไมค์ ที่หน้าศาลากลาง ยืนฟังว่าเ ขาพูดอะไร ขณะนั้นเกิดเหตุการณ์ชุมนุมในศาลากลางไม่รู้อะไรเกิดขึ้น ก็ยังยืนดูอยู่หน้าศาลากลางพักหนึ่งก็ออกไปซื้อยาหม่องมาดม กลับมาไฟไหม้หมดแล้ว ก็ยืนดูขณะนั้นไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คิดว่าไม่ได้ทำผิดอะไร จึงไม่ได้หลบหนี ขณะนั้นมีผู้ชายที่กำลังจะปีนกำแพงแถวร้านข้าวต้มกันเอง ฉันยืนอยู่ใกล้ชายคนดังกล่าว จึงโดนจับไปด้วย เขาตั้งข้อกล่าวหาผิด พรก.ฉุกเฉิน และร่วมกันวางเพลิง ทหารได้พาฉันไปที่กักขังที่ค่ายทหารบังคับให้รับสารภาพว่า ฉันเป็นคนบอกว่าเผาเลย ฉันไม่ยอมรับเพราะไม่ได้พูดคำดังกล่าว และไม่มีในความคิดของฉันเลย” นางแสงเดือนอยู่ในค่ายทหาร 2 วัน นำมาฝากขังที่เรือนจำกลางอุดรฯ อยู่เรือนจำมีชีวิตที่เจ็บปวดทรมาน หวาดผวาที่สุด โดยเฉพาะข้อกล่าวหาของผู้มีอำนาจรัฐ และจิตใจคิดถึงลูกที่ต้องดูแล และแม่ที่แก่แล้ว สามีก็ไม่มี ดูแลลูกคนเดียวมาตั้งแต่เล็ก ที่สำคัญแม่ไม่ได้ทำความผิด ทำไมต้องถูกจับความยุติธรรมไม่มีสำหรับเรา และยังต้องมาคิดห่วงลูกในคดีที่โดนเขาเอาน้ำร้อนสาดทั้งตัว (หัวลงมาหน้า) ขณะที่อยู่ในเรือนจำถึงวันที่ลูกขึ้นศาล ลูกก็ไม่มีใคร ไม่มีแม่ให้ความอบอุ่น มีแต่เด็กขึ้นศาลตามลำพัง ส่วนที่รักษาลูกไปก็รักษาเป็นปีกว่าลูกจะได้ขนาดนี้ และยังไม่ได้รับค่าเสียหายเลย ฉันใคร่ขอความเป็นธรรมทุกที่ แต่สุดท้ายก็ไม่มี ในเวลาที่คิดถึงลูก ฉันอยากขอความเป็นธรรมให้โอกาสได้กลับไปดูแลลูกที่ไม่มีใครดูแลเลย นางปัทมาวดี อายุ 48 ปีได้เข้ามอบตัวทันทีที่ตำรวจโทรศัพท์ตามให้ไปพบในวันที่ 26 พ.ค.2553 ถูกตั้งข้อหากระทำความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ,ร่วมวางเพลิง,เป็นผู้ปลุกระดม ผู้ร่วมประกาศ โฆษณา “ ข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อ ดิฉันให้การปฏิเสธ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ยอมรับว่าได้ถือไมค์จริง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางความคิด ในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น แต่ถูกถ่ายรูป เคยยื่นการขอประกันตัวแต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะ เกรงหลบหนี ขอยืนยันว่าไม่เคยคิดเลย ไม่เช่นนั้นดิฉันไม่มามอบตัวทำไม” ดีเจผู้นี้ได้บอกว่า “ ดิฉันต้องการให้ได้รับทราบข้อมูลจากผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะคนไทยคนหนึ่งในการแสดงทรรศนะทางการเมือง หากถือว่าเป็นความผิด ต้องขอถามต่อว่าประเทศไทยของเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ทำไมคนเสื้อแดงถึงถูกติดตามจับกุมโดยไม่ลดละโดยส่วนใหญ่ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเวลานี้เป็นชาวบ้านธรรมดา ที่อยากรู้อยากเห็น ไปมุงดูเหตุการณ์แล้วก็ถูกทหารกวาดต้อนมา บางคนไปขายของในที่ชุมนุมทั้งสามีและภรรยา ถูกควบคุมตัวมา ถามว่าครอบครัว ลูกเต้า พ่อแม่ที่ไม่มีใครดูแล เมื่อขาดเสาหลักใครจะรับผิดชอบ ใคร่ขอวิงวอนให้ท่านช่วยพวกเราด้วย ในแง่ของความเป็นจริง ถ้ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์จริง ก็ควรจะให้ความเป็นธรรมแก่คนเสื้อแดงบ้าง อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อสู้ตามกระบวนการ และขั้นตอนของกฎหมาย ถูกก็ว่ากันไปตามถูก ผิดก็ว่ากันไปตามผิด และควรจะให้เขาได้ประกันตัวออกไปพบกับครอบครัวลูกเมียที่รออยู่ พวกคุณทราบหรือไม่ว่า การถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนั้น พวกเราเจอกับอะไรบ้าง มันมีความกดดันมากมายขนาดไหน ที่จะต้องมาใช้ชีวิตกับผู้ต้องขังคดี ยาเสพติด หรือคดีฆ่า อีกทั้งยังมีสายตาของผู้ต้องขัง ที่ไม่เคยรู้ข่าวความข้อเท็จจริงภายนอก พวกเขามองว่าพวกเราเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เจ็บปวดมาก ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนเริ่มมีอาการทางประสาท มีความหวาดระแวงและและขาดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งการกินอยู่หลับนอนก็แออัด ยัดเยียด ในวันเกิดเหตุเวลา 11.00 น.ได้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุดรฯ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แต่ด้วยวิญญาณของนักจัดรายการวิทยุ ดิฉันก็ได้ร่วมแสดงความรู้สึกในทรรศนะของตัวเอง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯในขณะนั้น เพียงแต่ต้องการให้เสียงของคนตัวเล็กๆได้ดังไปถึงนายอภิสิทธิ์ ว่าให้ยุติการกระทำในการล้อมปราบประชาชนเสีย คำกล่าวในการบันทึกเสียงไม่มีการปลุกระดมแต่อย่างใด ภายหลังดิฉันทราบมาว่ามีคนโยนความผิดมาให้ โดยกล่าวหาว่าดิฉันเป็นแกนนำ ขอเรียนความตรงว่า ดิฉันไม่มีมวลชน ดิฉันไปสังเกตการณ์เพียงคนเดียว จอดรถไว้ที่ศาลเจ้าปู่เจ้าย่า ในสนามทุ่งศรีเมืองอุดรธานี ถือไมค์ประกาศที่หน้าศาลากลางไม่ถึง 10 นาที ดิฉันกลับบ้านก่อนเที่ยงในขณะนั้นยังไม่มีเหตุการณ์เผาศาลากลางเลย ” ผู้หญิงทั้งสี่คน เป็นคนไทย อยากให้ผู้มีอำนาจได้รับรู้ ไม่ว่าเธอจะผิดหรือถูก จะให้อภัยกันไหม ผิด – ถูก ว่ากันทีหลัง พวกเธอไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาสเตรียมตัวสู้คดี ช่วยเถอะ ช่วยให้โอกาส ถ้าไม่ผิดต้องให้ความยุติธรรม ถ้าผิด ก็ให้โอกาส ให้อภัยกันได้ไหม ############################################################
หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกใน"มติชนสุดสัปดาห์"ปีที่ 30 ฉบับที่ 1567 (27 ส.ค.-2 ก.ย.2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ว่าด้วย"เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" Posted: 10 Sep 2010 10:53 PM PDT การปรองดองจะไม่มีทางเป็นไปได้บนสถานะที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถเทียบกันได้ (equivalent to) คือ ฝ่ายหนึ่งไม่มีเสรีภาพ นอกจากนี้ไม่มีความเสมอภาคกับอีกฝ่าย และยังไม่มีภราดรภาพแก่กัน ระบอบการปกครองปัจจุบันอันเป็นที่ยอมรับและเป็นกระแสหลักนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่ประชาธิปไตยโดดๆ หากแต่มันคือ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณ (ซึ่งผู้หญิง ทาสเองก็ไม่มีสิทธิมีเสียงในทางการเมือง) คำขวัญสำคัญอันหนึ่งของเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ได้มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสก็คือ Liberté, égalité, fraternité หรือ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ไม่ได้ได้มาพร้อมๆ กัน หรือได้อย่างหลังมาก่อน แต่มันต้องเริ่มต้นที่เสรีภาพก่อน จึงจะเกิดความเสมอภาค และสุดท้ายก็จะเกิดภราดรภาพ (สำหรับองค์ประกอบของเสรีนิยมประชาธิปไตย ดูได้จากหนังสือ อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย ของรศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ) ความคิดในคำว่าเสรีภาพ (liberty) ก็ออกจะไม่ยุ่งยากนักคือ “You have freedom if you have choice. I have liberty if I have choice, if I have option and if I am able to select among them.” หมายถึง “คุณมีอิสระ ถ้าคุณมีทางเลือก ฉันมีเสรีภาพ ถ้าฉันมีทางเลือก หากฉันมีตัวเลือก ฉันก็สามารถที่จะเลือกของพวกเขาได้” คือไม่ว่ายังไงเสรีนิยมประชาธิปไตยย่อมมีตัวเลือกให้ประชาชนที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงตัวเลือกเดียว เช่นว่า ถ้าคุณไม่เลือกผมถือว่าคุณไม่รักชาติ? ส่วนคำว่าเสมอภาค (equality) นั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเท่ากัน หรือมีค่าเท่ากัน (equivalence) ซึ่งก็คือ“people or things are equal when they are equivalent to each other” หมายถึง “คนหรือทุกอย่างที่เท่าเทียมกัน เมื่อมีการเปรียบเทียบกัน” สำหรับความเสมอภาคทางการเมืองนั้นก็คือ ความมีสิทธิที่เท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เมื่อเกิดความเสมอภาคขึ้นก็จะไม่เจอกับปัญหา เช่น สองมาตรฐาน? สามมาตรฐาน? ภราดรภาพ (fraternity) มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า frater หมายถึง brother คือความเป็นพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมชาติ พูดกันอย่างหยาบๆ ก็คือ “คนบ้านเดียวกัน” มาอยู่รวมกันแล้วก็เป็นเพื่อนกัน ซึ่งมันก็จะไม่เกิดคำถามเช่นว่า คุณเป็นคนพื้นเพที่ไหน? คุณไม่ใช่พวกผมเพราะคุณไม่ได้มาจากที่เดียวกับผม? ถ้าจะพูดกันให้ทันสมัยหน่อยสำหรับการเมืองไทย ก็คือคำว่า “ปรองดอง” (ถ้าจะดูเป็นภาษาอังกฤษก็คือ hamony มาจากภาษากรีกคือ hamonia แปลว่า การร่วมกัน “joint”, การตกลงกัน “agreement”, สอดคล้องกัน “concord” ซึ่งมาจากคำกริยาว่า harmozo หมายถึง ให้พอดีกัน “to fit together” , ให้ร่วมกัน “to join”) ซึ่งคำพูดที่โก้หรูอย่างคำว่า “ปรองดอง” ดูจะเป็นเป้าหมายที่ทุกๆ ฝ่ายอยากจะให้เป็น แต่เมื่อดูสภาพการณ์ต่างๆ หรือบริบททางการเมืองแล้ว มันไม่ได้ตอบสนองต่อองค์ประกอบทั้งสามเลย (แถมออกจะไปในทางตรงกันข้าม) ถ้าไม่มีองค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ คำว่า “ปรองดอง” ก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้จริง และสิ่งที่สำคัญการปรองดองนั้นไม่ใช่การเกี้ยเซียะกันเองของนักการเมือง แต่มันจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับประชาชน ทำไมรัฐ(บาล)ต้องเริ่ม? รัฐ(บาล)ต้องเป็นตนแบบ ตัวเริ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐ(บาล)คือผู้ที่กุมอำนาจของรัฐทั้งหมด หาใช่ประชาชนหรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ รัฐ(บาล)สามารถที่จะประกอบกิจกรรมใดๆ แม้กระทั่งความรุนแรงโดยชอบธรรมด้วย ดูจากความเห็นเช่น แมกซ์ เวเบอร์เองก็กล่าวถึงว่า “รัฐคือประชาคมของมนุษย์ที่อ้างสิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพโดยชอบธรรมภายในอาณาเขตหนึ่งๆ” โดยเวเบอร์ก็อ้างถึงลีออน ทรอตสกี้ที่ว่า “รัฐทุกรัฐก่อตั้งขึ้นบนฐานของความรุนแรง” หรือแม้แต่คำกล่าวของจอร์จ วอชิงตันที่ว่า “รัฐบาลไม่มีเหตุผล ไม่สำบัดสำนวน – มันคือกำลัง” เป็นต้น การปรองดองจะไม่มีทางเป็นไปได้บนสถานะที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถเทียบกันได้ (equivalent to) คือ ฝ่ายหนึ่งไม่มีเสรีภาพ นอกจากนี้ไม่มีความเสมอภาคกับอีกฝ่าย และยังไม่มีภราดรภาพแก่กัน ############################################ หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ"ว่าด้วย Liberté, égalité, fraternité " สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จากนิยายออนไลน์ถึงสังคมไทย : ว่าด้วยความรุนแรงที่เป็นลักษณะเฉพาะของไทย? Posted: 10 Sep 2010 10:44 PM PDT
หลังจากที่ทดลองติดตามอ่านนิยายออนไลน์ในเวบไซต์แห่งหนึ่งมาเกือบเดือน ผู้เขียนก็พบข้อสังเกตของชื่อเรื่องที่มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "อสูร" "ซาตาน" "มาเฟีย" หรืออะไรก็ตามที่แสดงให้เห็นถึงพลังที่เหนือกว่าของผู้ชายจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันจุดร่วมของเนื้อหาของนิยายเหล่านี้ก็ดูจะไม่พ้นเรื่องราวของความรักที่มีฉากของการ "ตบจูบ" "ขืนใจ" หรือการที่ผู้หญิงยินยอมใช้ตัวเองแลกกับเงินหรือครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู และหากจะหนักใจผู้เขียนมากขึ้นไปอีกก็คงจะเป็นการบรรยายถึงบทรักทั้งหลายที่ดุเดือด รุนแรง และเห็นภาพชัดเจนเป็นอย่างยิ่งแม้ว่าจะมีการควบคุมเนื้อหาของนิยายก็ตาม บุคลิกของตัวละครผู้หญิงที่ปรากฏในเรื่องก็หนีไม่พ้นผู้หญิงที่ไม่สามารถจะหาทางออกอื่นได้นอกจากการยินยอมตกเป็นของผู้ชายที่ตนเองไม่ได้รักหรือแม้แต่ไม่เคยพบหน้า แต่ในท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ครองรักกันอย่างมีความสุขโดยที่บางคู่อาจจะมีพยานรักพ่วงแถมมาจากความไม่ตั้งใจหรือการใช้กำลังใดๆก็ตามที่ผ่านมาและที่สำคัญคือ นิยายประเภทนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในเวบไซต์และตลาดหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม บางทีนี่อาจไม่ใช่ข้อสังเกตที่แปลกใหม่อะไรในสังคมไทยเพราะนิยายประเภทนี้ก็เคยถูกนำมาทำเป็นละครหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่สร้างก็ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วกับความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงในสังคมไทย เราก็จะพบว่าเรื่องการใช้ความรุนแรงในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่สามารถยอมรับกันได้เป็นปกติ ผู้เขียนเคยสอบถามเพื่อนที่เป็นผู้หญิงหลายคนเกี่ยวกับความรู้สึกที่ผู้ชายที่เป็นคู่รักใช้กำลังกับตน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะตอบว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชายไทยที่สามารถยอมรับได้ และที่หนักกว่านั้นคือบางคนบอกว่าพอใจเพราะรู้สึกว่าผู้ชายกำลังรู้สึกหึงหวงตน นั่นยิ่งแสดงว่าผู้ชายคนนั้นรักคนมาก และหมายความว่ายิ่งใช้กำลังมากเท่าใด ความรักก็เพิ่มตามไปด้วย หลังจากคำถามดังกล่าวยิ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกมึนงงกับทัศคติของหญิงไทยที่มีต่อการใช้ความรุนแรงทั้งที่ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นกับตัวเองแต่กลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดาอย่างนั้นหรือ? จากกรณีของผู้หญิงเมื่อหันกลับมาสู่สังคมไทยโดยรวม เราจะพบว่าการใช้ความรุนแรงของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับอย่างปกติเช่นเดียวกัน ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่ใช้กฎหมายมาตรา 17 ในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่สั่งการได้จากนายกรัฐมนตรีโดยตรงทำให้เกิดการจับกุมอันธพาลเข้ามาอบรมเพื่อให้กลับสู่สังคมแบบคนดี เกิดการประหารคนที่ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ เช่น การลอบวางเพลิง การค้าขายฝิ่นและยาเสพติด และการเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ทั้งที่คนในสังคมเกิดความกลัวเป็นอย่างมากภายใต้สถานการณ์ที่ถูกลิดรอนทั้งเสรีภาพทางด้านร่างกายและการแสดงออก แต่ทุกคนก็สามารถยอมรับจอมพลสฤษดิ์ได้และยังถือกันว่าเป็นผู้นำที่ใช้ความเด็ดขาดในการทำให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นต่างไปจากผู้นำคนอื่นๆที่เคยผ่านมาและรวมถึงผู้นำในสมัยปัจจุบันด้วย ไม่เพียงเท่านี้ การเกิดรัฐประหารในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งก็อาจจะกล่าวได้ว่าสืบเนื่องมาจากการปูทางของคนในสังคมเองที่เรียกร้องให้มีการใช้อำนาจเข้ามาจัดการ "ความไม่เรียบร้อย" ที่เกิดจากบรรดานักการเมืองที่หวังผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว คนไทยส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าการใช้ทหารเข้ามาจัดการให้สังคมเป็นระเบียบยิ่งขึ้นย่อมจะได้ผลที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าการเลือกตั้งที่มักจะมีการโกงกันอย่างสกปรกและยังได้ผลมากกว่าการเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองอีกด้วย ภายใต้เหตุการณ์ดังกล่าวเราได้ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยพยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องของความเป็นไทยที่ไม่เหมือนใครและไม่จำเป็นจะต้องมีใครเหมือน ทั้งยังลงท้ายด้วยการสรุปว่าวัฒนธรรมของไทยเป็นวัฒนธรรมที่สามารถใช้อำนาจเพื่อจะผดุงความสงบสุขให้กับสังคม ซึ่งควรจะถือเป็นเรื่องน่ายินดีด้วยซ้ำที่ประเทศอื่นไม่สามารถจะทำตามได้ ย้อนกลับมาสู่สังคมไทยในปัจจุบันอีกครั้ง นอกเหนือไปจากกรณีของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธ ในที่นี้ผู้เขียนจะไม่ขออธิบายรายละเอียดลงไปมากนักเพราะเชื่อว่าทุกคนคงจะรับรู้เรื่องราวกันมาแล้วทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นด้านของคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง แต่ไม่ว่าคนเสื้อแดงจะมีอาวุธจริงหรือไม่ ? หรือฝ่ายทหารได้ตั้งใจยิงเข้าสู่คนเสื้อแดงอย่างนั้นหรือ? นั่นไม่ใช่คำตอบที่เราสามารถจะสรุปลงไปได้อย่างชัดเจน (อย่างน้อยก็ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้) แต่สิ่งที่เราควรจะครุ่นคิดหาคำตอบคือ ปฏิกิริยาของคนในสังคมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อความรุนแรงที่เกิดจนทำให้มีจำนวนของผู้เสียชีวิตเป็นตัวเลขที่สูงมากและนั่นยังไม่รวมกับสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ของคนที่ร่วมชุมนุมและผู้ที่อยู่ ในเหตุการณ์ เราควรจะทำความเข้าใจสังคมของเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือคนเกือบทั้งหมดของกรุงเทพมหานครที่กำลังโกรธแค้นบุคคลที่ทำลายอนุสรณ์สถานแห่งความรื่นรมย์ของชีวิตเมืองกรุงของพวกเขาและเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาจัดการกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวอย่างเร่งด่วน แต่กลับกันเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง พวกเขาก็โหยหาอาลัยอาวรณ์จนถึงขนาดที่ว่าต้องมีการจัดงานระลึกหรืออะไรก็ตามเพื่อดึงเอาความทรงจำที่ดีกับสถานที่เหล่านั้นของพวกเขากลับคืนมา หรือแม้แต่ เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่เคยสาหัสเพียงใด ในตอนนี้ก็ดูจะเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม กระแสของการหล่อหลอมคนไทยให้มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวได้จางหายไปกับกาลเวลา สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงความเมินเฉยของคนในสังคมส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังข่าวคราวที่อาจจะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆบ้างเท่านั้น ผู้เขียนไม่ขอปฏิเสธว่าผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่สามารถรับฟังข่าวการเสียชีวิตของคนในภาคใต้ได้อย่างชินชา จนถึงในวันนี้ที่เกิดคำถามกับตัวเองว่าเราเคยถามตัวเองไหมว่าจำนวนของคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้มันเป็นจำนวนเท่าใด? แทนที่จะมัวมานั่งหาวิธีสมานฉันท์ เราควรจะย้อนกลับไปคิดหรือไม่ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นและเราควรจะจัดการกับมันอย่างไร? ท่ามกลางกระแสนิยายออนไลน์ที่กำลังขยายตัวไปพร้อมกับเรื่องราวที่วนเวียนอยู่กับการที่พระเอกข่มขืนนางเอกไม่รู้จบ ท่ามกลางทัศนคติของผู้หญิงไทยที่มีต่อความรุนแรงทั้งในครอบครัวและชีวิตรักว่าเป็นเรื่องธรรมดา ท่ามกลางการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งแล้วครั้งเล่าและยังมีทีท่าว่ารัฐประหารกับการเมืองไทยจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอดทั้งที่ผ่านมาและอาจจะตลอดไปโดยไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ใดๆทั้งสิ้น ท่ามกลางปรากฏการณ์การแบ่งสีที่นำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองและจบลงด้วยการสูญเสีย ท่ามกลางสถานการณ์ภาคใต้ที่ยังคุกรุ่นอยู่และยากที่จะดับลงไป ในเวลานี้ความรู้สึกต่อความรุนแรงของคนในสังคมมันกำลังดำเนินไปในทิศทางใด บางทีเราไม่ควรจะมองสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องธรรมดาที่เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว แต่เราควรจะมองตัวเราเองด้วยความประหลาดใจว่าเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและหาวิธีจัดการกับมันอย่างเร็วที่สุดก่อนที่สังคมของเราจะกลายเป็นสังคมที่มีความรุนแรงเป็นพื้นฐานต่อการจัดการทางอำนาจมากไปกว่านี้ เราควรจะตระหนักว่าการใช้กำลังได้แทรกซึมเขาสู่ปริมณฑลของปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม ตลอดจนรัฐของเราอย่างช้าๆ และในท้ายที่สุดมันก็อาจจะกลืนให้สังคมไทยสามารถใช้กำลังในการตัดสินใจทุกๆอย่างโดยไม่ต้องมีศีลธรรมหรือเหตุผลมารองรับ เอกลักษณ์ของความเป็นไทยอาจมีหลายรูปแบบเท่าที่เราจะสร้างมันขึ้นมาได้และสามารถนำออกไปอวดสู่สายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิใจ แต่กับความรุนแรงที่กลายมาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว มันช่างเป็นความเป็นไทยที่บิดเบี้ยวไปอย่างน่าใจหายเหลือเกิน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คนงานพม่าร่วมพันในขอนแก่น ชุมนุมขอคืนสถานะวีซ่าเพื่อนคนงานที่ถูกเลิกจ้าง Posted: 10 Sep 2010 07:32 PM PDT คนงานพม่าโรงงานทออวนเดชาพานิช อ.เมือง จ.ขอนแก่น กว่า 1,000 คนได้รวมตัวประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. คนงานได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้คืนสถานะวีซ่าให้เพื่อนคนงาน 6 คนซึ่งหลังถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายจ้างคืนพาสปอร์ตให้คนงานพม่าทุกคน และขอเพิ่มค่าจ้างให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ด้านนายจ้างแจงเก็บพาสปอร์ตไว้ เพื่อง่ายต่อการนำคนงานจำนวนมากรายงานตัวกับแรงงานจังหวัด ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (10 ก.ย. 53) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (มูลนิธิแมพ) ระบุ คนงานพม่าโรงงานทออวนเดชาพานิช อ.เมือง จ.ขอนแก่น กว่า 1,000 คนได้รวมตัวประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. คนงานได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้คืนสถานะวีซ่าให้เพื่อนคนงาน 6 คนซึ่งหลังถูกเลิกจ้าง เนื่องจากหยุดงานเกินกว่า 3 วันในหนึ่งเดือน วีซ่าทำงานของพวกเขาได้ถูกยกเลิก ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องถูกส่งกลับ ขณะที่มูลนิธิฯ ระบุว่า โดยปกติ การยกเลิกวีซ่าทำงาน นายจ้างจะต้องแจ้งไปยังสำนักงานคุ้มครองแรงงานก่อน จากนั้นจะมีการแจ้งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยการยกเลิกใดๆ ก็ตามจะต้องระบุเหตุผลและลายเซ็นของเจ้าหน้าที่กำกับไว้ด้วย ขณะที่กรณีนี้มีเพียงข้อความ "cancel" (ยกเลิก) ระบุไว้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายจ้างคืนพาสปอร์ตให้คนงานพม่าทุกคน และขอเพิ่มค่าจ้างให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดขอนแก่นด้วย โดยข้อเรียกร้องของคนงานมี 4 ข้อได้แก่ 1.ให้คืนสถานะวีซ่าให้คนงานทั้งหกคน กลับมาถูกกฎหมาย และตรวจสอบบัตรทำงานต่างแดนให้ถูกต้อง 2.ขอพาสปอร์ตคืนจากนายจ้าง 3.ขอให้ร้านค้าในบริเวณโรงงานขายสินค้าให้ตามปกติ 4.ขอให้ค่าจ้างให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดขอนแก่น (157 บาท) ขณะที่เมื่อพูดคุยกับนายจ้าง นายจ้างให้ข้อมูลว่า ตามที่คนงานเรียกร้องมานั้น 1.เมื่อมีการเลิกจ้าง ก็จะต้องยกเลิกวีซ่าและส่งกลับ ส่วนเรื่องบัตรทำงานต่างแดนนั้นออกโดยรัฐบาลพม่า ซึ่งอาจมีปัญหาที่กระบวนการผลิตที่ใช้กาวติดรูปกับบัตร ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ 2.ไม่สามารถคืนพาสปอร์ตให้ได้ เนื่องจากสถานประกอบการต้องนำคนงานรายงานตัวกับทางแรงงานจังหวัดทุก 90 วัน โดยแรงงานพม่ามีจำนวนมาก การเก็บพาสปอร์ตไว้ทำให้ง่ายต่อการจัดการ โดยหากไปรายงานตัวไม่ทันตามวันที่ กำหนดก็จะถูกปรับเงินวันละ 500 บาท 3.เรื่องร้านค้า เป็นเรื่องของคนซื้อและคนขาย ไม่เกี่ยวกับนายจ้าง อย่างไรก็ตาม นายสุริยา ระบุว่า ล่าสุด ทราบว่าร้านค้าได้ขายสินค้าให้แล้ว แต่ในราคาที่แพงขึ้น 4.นายจ้างระบุว่าได้จ่ายเงินค่าจ้างให้ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำแล้ว โดยบางครั้งหากทำงานเกินเป้า ก็จะได้เงินพิเศษ เป็นเงิน 203 บาทต่อคน เป็นอย่างต่ำ นายสุริยา กล่าวว่า ล่าสุด ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเข้าไปในโรงงานเพื่อจะส่งกลับแรงงานจำนวนหนึ่ง ทางมูลนิธิฯ จึงได้ประสานสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อขอให้ระงับการส่งกลับไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติว่า ใครถูกหรือผิดอย่างไร สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น