ประชาไท | Prachatai3.info |
- สิ้น “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ผู้ก่อตั้ง "เอเชียทัศน์"
- 15 กลุ่มร่วมตั้งเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ฯ ก้าวแรกค้าน พ.ร.บ.แร่-พ.ร.บ.ชุมนุม
- เพื่อไทยหนุนแผนปรองดอง5 ข้อ เตรียมส่ง "ชวลิต" เจรจารัฐบาล
- ‘สุเทพ’ ผวาข่าวลอบสังหาร คุมเข้ม ‘มาร์ค-อนุพงษ์-เนวิน-ธาริต’
- ไทยเตรียมทำหนังสือแจงซาอุฯ ตั้ง‘สมคิด’นั่งบิ๊กตร.ยันไม่พบโยงอุ้มนักธุรกิจซาอุฯ
- เสื้อแดงร่วมกิจกรรม ‘แดงลงทะเล’ คึกคักที่หาดจอมเทียน
- เตรียมอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกรณีมาบตาพุด-ฟ้องเพิกถอนประกาศ11โครงการรุนแรงฯ
- โค้งสุดท้ายของรอมฎอนสำหรับวิถีชีวิตมุสลิมชายแดนใต้
- กวีประชาไท: แด่...สหาย
- ใจ อึ๊งภากรณ์ : ทหารไทย กาฝากของสังคม
- รายงาน: รอมฎอนในความเคลื่อนไหว สู้เพื่อบ้านเกิด ค้านท่าเรือปากบารา
- รายงานเสวนา: “การเมืองบนท้องถนนของคนธรรมดา” มองผ่านแว่นหลายสี
- หน่วยราชการผวา มือมืดพ่นข้อความ “สตูลเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี”
- พระสงฆ์: “เป็นกลางทางศีลธรรม”
สิ้น “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ผู้ก่อตั้ง "เอเชียทัศน์" Posted: 05 Sep 2010 02:25 PM PDT "สิทธิพงษ์ กลยาณี" ช่างภาพสารคดีผู้ร่วมก่อตั้ง "เอเชียทัศน์" และผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ "Burma VJ"ภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์อันมีชื่อเสียง เสียชีวิตแล้ว คงเหลือแต่ผลงานสารคดีเรื่องพม่าที่มีความสำคัญหลายชิ้น รวมถึงงาน “Re-construction” ในการถ่ายทำ “Burma VJ” ที่ยังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ช่างภาพสารคดีผู้ร่วมก่อตั้ง "เอเชียทัศน์" และมีผลงานเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์ "Burma VJ" อันมีชื่อเสียง “สิทธิพงษ์” หรือที่เพื่อนร่วมงานและมิตรสหายเรียกเขาว่า “แซม” เป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่มีความสนใจด้านพม่านับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในชีวิตการทำงานของเขา (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี)
ภาพระหว่างการถ่ายทำสารคดีเรื่อง "Barefoot Student Army" ในปี 2535 สารคดีที่ “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ทำงานร่วมกับสองผู้กำกับชาวออสเตรเลีย สะท้อนเรื่องราวของขบวนการนักศึกษาพม่าในป่าเขา ภายหลังการปราบปรามการชุมนุมของรัฐบาลทหารพม่าในเดือนสิงหาคม ปี 1988 สิทธิพงษ์มีผลงานสารคดีเกี่ยวกับพม่าหลายเรื่อง โดยขณะที่เขาจากไปแล้วนั้น ยังมีภาพยนตร์สารคดีอีกหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการถ่ายทำ (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี)
“สิทธิพงษ์ กลยาณี” (ขวา) ถ่ายภาพกับทหารกองกำลังคะฉิ่นอิสระ (KIA) ในฐานที่มั่นปาเจา (Pa-Jau) ของกองกำลังคะฉิ่นอิสระชายแดนพม่า-จีน โดยภาพนี้ถ่ายในปี 2538 สิทธิพงษ์เป็นผู้สื่อข่าวชาวไทยไม่กี่คนที่อุทิศการทำงานให้กับประเด็นพม่า และเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่ที่รัฐบาลทหารพม่าถือว่า “ต้องห้าม” โดยเฉพาะพื้นที่ยึดครองของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลพม่า (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี)
ใบปิดหนังของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Burma VJ” ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์สารคดีในปีนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับและเขียนบทโดย Anders Østergaard และ Jan Krogsgaard ชาวเดนมาร์ก โดย “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์พื้นที่ (Co- producer on location) สิทธิพงษ์และทีมงานของเขามีส่วนสำคัญในการเตรียมดูแลจัดการการถ่ายทำภาพยนตร์ในส่วนที่อยู่ในเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง และมีส่วนสำคัญในการจัดเตรียมถ่ายทำเพิ่มเติมที่เรียกว่า “Reconstruction” บางฉาก เพื่อให้ “เชื่อมโยงเนื้อหาแต่ละช่วงให้ดูสอดคล้องกลมกลืนกับภาพจากเหตุการณ์จริง”
“Burma VJ” ใช้ภาพเหตุการณ์จริงในเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์พม่าในปี 2550 เป็นฉากสำคัญในเรื่อง แต่มีหลายฉากที่ใช้การ “Reconstruction” หรือการถ่ายทำเพิ่มเติมเพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ ในภาพ เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่เป็นบทสนทนาแสดงความไม่เข้าใจกันระหว่างตัวละครที่เป็นนักข่าวดีวีบี กับพระสงฆ์ผู้นำการเดินขบวนในย่างกุ้ง เนื่องจากพระสงฆ์คิดว่านักข่าวเป็นสายลับของรัฐบาล จนมีการกระทบกระทั่งกับ “การ์ด” พระสงฆ์เล็กน้อย ก่อนจะมีการชี้แจงกันจนเข้าใจ เฉพาะฉากนี้ใช้โลเคชั่นบริเวณถนนในสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ ด้านซ้ายในภาพจะเห็นอาคารหมู่บ้านนักกีฬาสมัยกีฬาซีเกมส์ปี 2538 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแฟลตสวัสดิการสำหรับข้าราชการ สภาพของอาคารโทรมๆ ร่มรื่นด้วยต้นไม้และเนินเตี้ยๆ คล้ายกับสภาพสองข้างทางทั่วไปในกรุงย่างกุ้ง โดยฉากที่ถ่ายทำในเชียงใหม่นี้ปรากฏในภาพยนตร์เป็นเวลาหลายสิบวินาทีก่อนที่จะตัดกลับมาเป็นภาพเหตุการณ์ประท้วงในสถานที่จริงกลางเมืองย่างกุ้งอย่างแนบเนียน (ที่มาของภาพ: จากภาพยนตร์ Burma VJ)
ใบปิดหนังเรื่อง “Lost Generation” หนึ่งในผลงานที่กำลังถ่ายทำของ “สิทธิพงษ์ กลยาณี” สะท้อนเรื่องราวแห่งช่วงวัยที่หายไปของคนหนุ่มสาวพม่ายุค’88 จากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนสิงหาคมปี 1988 เขาอัพโหลดภาพใบปิดหนังเรื่องนี้ลงในเฟซบุคส่วนตัวของเขาเมื่อ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา และเขาพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่า “A Creative Documentary Feature. Coming soon!” (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี) 000 เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา สิทธิพงษ์ กลยาณี หรือ "แซม" ผู้สื่อข่าวและช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนดอกตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา และย้ายไปรักษาอาการหายใจไม่ออกและน้ำท่วมปอดที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลช้างเผือกตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. กระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 3 ก.ย. ดังกล่าว โดยการสวดอภิธรรมศพของสิทธิพงษ์ ที่วัดช่างแต้ม ถ.พระปกเกล้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. ถึงวันที่ 10 ก.ย. ในเวลา 20.00 น. ทุกคืน และมีพิธีฌาปนกิจวันที่ 11 ก.ย. เวลา 14.00 น. ที่สุสานหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำหรับสิทธิพงษ์ อายุ 50 ปี เป็นชาว จ.เชียงราย เป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่มีความสนใจด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเด็นพม่าเป็นพิเศษ หลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมในพม่าเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2531 สิทธิพงษ์เป็นผู้สื่อข่าวกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางไปที่ชายแดนไทย-พม่า เพื่อรายงานเรื่องราวของนักศึกษาพม่าหนีการปราบปรามมาตั้งกองกำลัง แนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตยทั้งมวล (the All Burma Students' Democratic Front - ABSDF) ซึ่งมาตั้งฐานที่มั่นในรัฐชนกลุ่มน้อยของพม่าหลายจุด ในปี 2536 เขาตั้งบริษัทเอเชียทัศน์ (Images Asia Inc.) เพื่อผลิตภาพยนตร์ สารคดี สื่อมัลติมีเดีย และส่งภาพฟุตเตจ (footage) ให้รายการโทรทัศน์ของต่างประเทศ นอกจากนี้เอเชียทัศน์ยังทำห้องสมุดฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่ง ไม่เพียงแต่รวบรวมเรื่องราวจากพม่า แต่ยังรวมเอาเรื่องราวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วย โดยตลอดการทำงานของเขายังอุทิศตัวให้กับการเป็นวิทยากรอบรมด้านการผลิตสื่อให้นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวชาวพม่าอีกด้วย สิทธิพงษ์ ยังมีผลงานด้านภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นพม่าหลายชิ้น ในปี 2535 เรื่อง “Barefoot Student Army” เป็นผลงานร่วมกับผู้กำกับชาวออสเตรเลีย โดยใช้เวลาถ่ายทำหลายปีเพื่อบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของกองกำลังนักศึกษาพม่าในป่า ต่อมาปี 2538 เขามีผลงานเรื่อง “Caught in the Crossfire” ถ่ายทอดเรื่องราวการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรีในพม่า ในปี 2542 เขามีผลงานเรื่อง “Road to Nowhere” ถ่ายทอดเรื่องราวของการบังคับใช้แรงงานทาสในพม่า ต่อมาในปี 2547 เขามีผลงานเรื่อง “Living on The Line” เกี่ยวกับสภาพอันเลวร้ายของผู้ลี้ภัยและคนพลัดถิ่นภายในประเทศของพม่า ในปี 2552 เขามีผลงานเรื่อง “The Invisible Soldiers” เกี่ยวกับทหารเด็กในพม่า และเรื่อง “Burma's Hidden Killers” เป็นสารคดีต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดเรื่องราวจากพม่าเท่านั้น เขายังมีผลงานเรื่อง “Nagalim: Pilgrims for Peace” ในปี 2552 เป็นเรื่องราวของการเรียกร้องอิสรภาพของชาวนากา ชนเผ่าซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ที่สำคัญ สิทธิพงษ์เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์พื้นที่ (Co- producer on location) ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Burma VJ” ภาพยนตร์สารคดีที่ฉายครั้งแรกในปี 2551 ที่กำกับและเขียนบทโดย Anders Østergaard และ Jan Krogsgaard ชาวเดนมาร์ก โดยเป็นภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวของผู้สื่อข่าวพม่าของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) ที่ลักลอบใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพเหตุการณ์ช่วงการชุมนุมของนักกิจกรรมและพระสงฆ์พม่าในปี 2550 และลักลอบส่งออกมาเผยแพร่ในโลกภายนอก ซึ่งการกระทำนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า โดย “Burma VJ” ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในงานเทศกาลฉายภาพยนตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Full Frame Documentary, Film Festival Hot Docs International, Film Festival San Francisco Independent Film Festival, Seattle International Film Festival, Sundance Film Festival และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “Burma VJ” ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดต 1 ใน 5 เรื่อง เข้าชิงรางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์สารคดี สิทธิพงษ์ เปิดเผยกับนิตยสารคอมพาส ฉบับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับหน้าที่ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของเขาในภาพยนตร์เรื่อง “Burma VJ” ว่า “ดูแลจัดการทุกอย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด เพราะทางโน้น (เดนมาร์ค) ส่งคนมาแค่สามคนเอง คือช่างภาพ ผู้กำกับ และผู้ช่วยผู้กำกับแค่นั้น ที่เหลือผมต้องจัดการเองหมด เป็นทีมงานของผมหมด” โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ภาพเหตุการณ์จริงในเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์พม่าในปี 2550 เป็นฉากสำคัญในเรื่อง แต่มีหลายฉากที่ต้องถ่ายทำเพิ่มเติมเพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ มีการใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Reconstruction” สิทธิพงษ์กล่าวกับนิตยสารคอมพาสว่า “การถ่ายทำเพิ่มเติมแบบนี้จำเป็น เพราะช่วยในการเชื่อมโยงเนื้อหาแต่ละช่วงให้ดูสอดคล้องกลมกลืนกับภาพจากเหตุการณ์จริง” “เนื่องจากฟุตเตจบางฉากจากต้นฉบับเป็นการแอบถ่าย ต้องหลบซ่อนกล้องไม่ให้โดนจับได้ ภาพจึงสั่นไหวไปมาตลอด พอถ่ายทำเพิ่ม เราก็ต้องถือกล้องให้เคลื่อนไหวส่ายไปมาเหมือนภาพต้นฉบับด้วย” สิทธิพงศ์ หรือที่เพื่อนร่วมงานเรียกว่า “แซม” กล่าวกับนิตยสารคอมพาส ทั้งนี้บางฉากในภาพยนตร์ เช่น บางช่วงของการประท้วงโดยพระสงฆ์พม่า การสนทนาของชาวบ้านในรถประจำทางเกี่ยวกับการขึ้นค่าเชื้อเพลิง การประกาศเคอร์ฟิว ฯลฯ ล้วนเป็นฝีมือการคัดเลือกสถานทีและฉากสำหรับถ่ายทำโดยสิทธิพงษ์ เทคนิค “Re-construction” ในภาพยนตร์ “Burma VJ” ถูกกล่าวถึงและมีวิวาทะอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ ข้อเขียนเรื่อง “Burma VJ: Truth as Casualty” โดยแอนดรูว์ มาแชล (Andrew Marshall) นักเขียนและผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษซึ่งเขียนลงในนิตยสารไทม์ ซึ่งตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อ 29 ม.ค. 52 และเมื่อ “สิทธิพงษ์” จากไป “มาแชล” ได้กล่าวถึงเขาใน “อิระวดี” ว่า “เขาเป็นหนึ่งในนักข่าวที่มีความลึกซึ้งและเอาใจใส่ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ใจกว้างและได้รับการยกย่อง มีจิตวิญญาณเสรี เป็นเพื่อนที่ควรค่าสำหรับคนจำนวนมาก” นอกจากนี้สิทธิพงษ์ อยู่ในระหว่างการผลิตภาพยนตร์สารคดีหลายชิ้น ได้แก่เรื่อง “Comrades” หรือ “สหายศึก” ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ของทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ปีกทางการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) “Lost Generation” อธิบายปัญหาสังคม-การเมืองภายในพม่าผ่านเรื่องราวของคนหนุ่มสาวพม่ารุ่น ‘88 ที่เหตุการณ์ทางการเมืองในปีดังกล่าว ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียช่วงวัยหนุ่มสาวของพวกเขา รวมทั้ง “Flying Dream” ถ่ายทอดเรื่องราวของ “หม่อง ทองดี” เด็กไร้สัญชาติจากรัฐฉาน ผู้เป็นแชมป์เครื่องบินพับกระดาษและการต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติ อย่างไรก็ตามสิทธิพงษ์จากไปก่อนที่จะผลิตสารคดีเหล่านี้แล้วเสร็จ
อ่านประกอบ Obituary: Sam Kalayanee, By YENI and JEANNE HALLACY, Irrawaddy, Sept 4, 2010 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
15 กลุ่มร่วมตั้งเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ฯ ก้าวแรกค้าน พ.ร.บ.แร่-พ.ร.บ.ชุมนุม Posted: 05 Sep 2010 12:36 PM PDT 5 ก.ย.53 ตัวแทนประชาชนจาก 15 พื้นที่ทั่วประเทศรวมตัวก่อตั้งเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับแรก คัดค้านพ.ร.บ.ว่าด้วยแร่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณา คัดค้าน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเนื่องจากละเมิดสิทธิประชาชน รวมทั้งคัดค้านประกาศโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง 11 โครงการเนื่องจากยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เพื่อไทยหนุนแผนปรองดอง5 ข้อ เตรียมส่ง "ชวลิต" เจรจารัฐบาล Posted: 05 Sep 2010 12:19 PM PDT มติ กก.บห.เพื่อไทยหนุนแผนปรองดอง5ข้อส่ง"บิ๊กจิ๋ว"เจรจารัฐบาล 5 ก.ย.53 เมื่อเวลา 18.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย มีประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย(พท.) มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน หารือเกี่ยวกับการเสนอแผนปรองดองของพรรค พท. จากนั้นคณะกรรมการบริหารพรรค นำโดย นายยงยุทธ นายคณวัฒน์ วสินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าว โดยนายยงยุทธ กล่าวว่า กรรมการบริหารพรรคมีมติตอบรับข้อเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค ได้ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.พรรคขอสนับสนุนแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติเพื่อนำความสุขกลับมาสู่ประเทศไทย 2.พรรคขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในประเทศ นายยงยุทธกล่าวต่อว่า 3.พรรคไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและการสร้างสถานการณ์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง 4.พรรคขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายร่วมกันถวายความจงรักภัดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์และหยุดกระทำการใดๆ อันอาจเป็นการที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท 5.ขั้นตอนต่อไปของพรรค หัวหน้าพรรคและคณะผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ดำเนินการในการเจรจาและติดต่อประสานงานเพื่อให้แนวทางการปรองดองเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งปรากฎว่าหลายฝ่ายออกมาตอบรับถึงแนวทาง ด้านนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 6 ก.ย.นี้กรรมการบริหารพรรคจะนำมติกรรมการบริหารพรรคเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประสานกิจกรรมพรรค ที่มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธานเพื่อหารือก่อนเพื่อกำหนดบุคคลที่จะไปประสานงานกับรัฐบาล และเมื่อสรุปแล้วจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมส.ส.พรรคในวันที่ 7 ก.ย.ต่อไป เมื่อถามว่า พรรคจะขอนัดพบรัฐบาลเองเลยหรือไม่เพราะคล้ายว่ารัฐบาลอยากให้ฝ่ายค้านนัดเจรจาโดยอ้างว่าขอดูความจริงใจ นายยงยุทธกล่าวว่า เรื่องนี้ปรบมือข้างเดียวไม่ได้ มันต้องร่วมมือกับทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ที่ระบุว่าหากสถานการณ์ยังไม่นิ่งปลายปีนี้ยังไม่เลือกตั้งนั้น นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า พรรคแสดงความจริงใจไปแล้วกับแถลงการณ์ในวันนี้ หากนายกฯพูดแบบนั้น ประชาชนจะได้รู้ธาตุแท้ของนักการเมืองว่าใครมีความจริงใจกับประชาชน รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า เหตุที่เร่งเจรจานั้นเพราะพรรคได้รับสัญญาณที่ดีจากรัฐบาล จึงควรเร่งประชุมและส่งคณะไปเจรจา เบื้องต้นพรรคจะมอบให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประธานที่ปรึกษาพรรค และนายยงยุทธเป็นตัวแทนพรรค รวมทั้งนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช.ที่พรรคอยากส่งไปด้วยแต่ต้องดูกระแสและฝ่ายตรงข้ามว่าจะยอมรับนายจตุพรด้วยหรือไม่ เพราะหากนนายจตุพรเข้าร่วมคณะเจรจาด้วยนั้นอาจจะเป็นการถูกกล่าวาว่าฮั้วทางการเมือง และหลังจากที่นายกฯกลับมาจากประเทศจีนน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ปชป.ยุ พท.ปลดแอก"แม้ว"ร่วมแผนปรองดอง เวลา 11.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นข้อเสนอเพื่อการปรองดองต่อรัฐบาล 5 ข้อ ว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ตรงกับแผนการสร้างความปรองดอง หรือโรดแมปของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรง แต่เชื่อว่าข้อเสนอของนายปลอดประสพยังไม่ใช่แนวคิดที่ตกผลึกภายในพรรคเพื่อไทยเห็นได้จากการที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนออกมาต่อต้าน จึงอยากให้กลับไปหาข้อสรุปภายในพรรคเพื่อไทยให้ได้ก่อน นายสาธิต กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าหากจะเดินทางโรดแมปปรองดองของพรรคเพื่อไทยจะต้องทำ 2. แนวทาง 1.คนที่เห็นด้วยกับโรดแมปปรองดองจะต้องปลดแอกตัวเองจากการครอบงำและชี้นำของคนๆ เดียวที่อยู่ต่างประเทศเสียก่อน ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นพรรคการเมืองที่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง หากทำได้บ้านเมืองก็จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ถ้าทำไม่ได้ 2.ให้พรรคเพื่อไทยเลือกนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง จุดยืนของนายจตุพรจะได้เป็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทย และสังคมจะได้รู้ความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยต้องการอะไร ด้านนพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกปชป. กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าพร้อมเดินหน้าสร้างความปรองดองไปพร้อมกันกับทุกฝ่าย เพื่อยุติความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยืดเยื้อมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่แน่ใจว่าแนวร่วมของพท.อย่างสมาชิกบ้านเลขที่ 111 อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จะเอาด้วยหรือไม่ เพราะยังออกมาบอกว่า รัฐบาลยังไล่ล่าคนที่เห็นต่างอยู่ ซึ่งไม่เป็นจริง กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โฟนอินเข้ามาบอกพร้อมให้ความร่วมมือ ตนอยากเห็นการกระทำมากกว่าแค่คำพูด ภูมิใจไทยพร้อมสนับสนุนแผน พท. ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ ให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วย และพร้อมที่จะสนับสนุน เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลและพรรคร่วมเอง ก็ต้องการที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ เพื่อผลักดันให้แผนปรองดองได้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอแนวคิดขึ้นมาเพิ่มเติม ก็เป็นเรื่องดีที่จะทำให้แผนการดำเนินการต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนกระบวนการต่อจากนี้ไปจะอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอีกครั้งหนึ่ง "ยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยพร้อมสนับสนุนแนวคิดของพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่ และไม่มองว่าเป็นการสร้างภาพหรือหวังผลทางการเมือง เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยต้องการให้ทุกฝ่ายมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน ในการสร้างเอกภาพเพื่อประเทศอยู่แล้ว และเชื่อว่าในส่วนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็น่าจะยินดีรับข้อเสนอจากฝ่ายค้านเพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินการอย่างแน่นอน" เรียบเรียงจากมติชนออนไลน์ และ ไทยรัฐออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
‘สุเทพ’ ผวาข่าวลอบสังหาร คุมเข้ม ‘มาร์ค-อนุพงษ์-เนวิน-ธาริต’ Posted: 05 Sep 2010 12:04 PM PDT 5 ก.ย.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการลอบสังหารบุคคลสำคัญ 4 คนได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ว่า ไม่สามารถยืนยันรายงานข่าวใดๆได้ว่า คนที่พยายามสร้างสถานการณ์ให้บ้านเมืองเลวร้ายมีเป้าหมายสังหารใครบ้าง แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามหาข่าวและวางมาตรการแก้ไข ป้องกันเพื่อความไม่ประมาท นายสุเทพ กล่าวว่่า ข่าวที่เกิดขึ้นอาจเป็นการปั่นกระแสสร้างสถานการณ์เป็นช่วงๆ หรือมีความพยายามจริงๆ ก็ได้ แต่ข่าวรั่วออกมา ส่วนการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จะประเมินจากสถานการณ์ตามความเป็นจริง ไม่ได้ดูจากกระแสข่าว ถ้าเมื่อใดเห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ภาวะใช้กฎหมายปกติได้ ก็จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าทางนายเนวินเอง ต้องระมัดระวังตัวเองและติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ส่วนทางกระทรวงมหาดไทยหรือทางพรรคภูมิใจไทยเองยังคงดำเนินการตามปกติในการติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด แต่ไม่จำเป็นต้องเข้มงวดมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าทางนายเนวินสามารถดูแลตนเองได้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ไทยเตรียมทำหนังสือแจงซาอุฯ ตั้ง‘สมคิด’นั่งบิ๊กตร.ยันไม่พบโยงอุ้มนักธุรกิจซาอุฯ Posted: 05 Sep 2010 11:57 AM PDT 5 ก.ย.53 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม เป็นผู้ช่วยผบ.ตร. เนื่องจากถูกสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ว่า อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย เดินทางมาพบตนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งตนได้อธิบายว่า รัฐบาลชุดก่อนๆ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนดำเนินคดีและสอบสวนทางวินัยกับพล.ต.ท.สมคิด โดยผลการสอบสวนได้ข้อยุติว่า พล.ต.ท.สมคิดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามกฎหมายและวินัย ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงต้องพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตามกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต่อไป นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การแต่งตั้งพล.ต.ท.สมคิดครั้งนี้ เนื่องจากพล.ต.ท.สมคิดอยู่ในอาวุโส 11 คนแรก ในลำดับที่ 2-3 ซึ่งตามกฎก.ตร. ระบุชัดเจนว่า เมื่อมีตำแหน่งว่างลง การแต่งตั้งโยกย้าย 33% ต้องจัดให้ผู้อาวุโสตามลำดับ ไม่สามารถปฏิบัติเป็นทางอื่นได้ ต้องทำตามกฎก.ตร. อีกทั้งกรณีนี้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย และส่งมาให้ก.ตร.พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย จึงขอให้อุปทูตซาอุดิอาระเบียเข้าใจว่า รัฐบาลไม่ได้แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย และไม่ได้ช่วยเหลือ เข้าข้าง หรือแทรกแซงคดีของพล.ต.ท.สมคิด ซึ่งขณะนี้มีการรื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาใหม่ เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ระบุว่า มีหลักฐานใหม่ ก็จะให้ดำเนินคดีไป ขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย ว่าจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ผู้สื่อข่าวถามว่า แถลงการณ์ของซาอุดิอาระเบียอ้างว่า ตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัว ไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน นายสุเทพตอบว่า ไม่ใช่ แถลงการณ์ดังกล่าวผิด เพราะเข้าใจข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง ส่วนการแต่งตั้งพล.ต.ท.สมคิด เป็นผู้ช่วยผบ.ตร. จะกระทบต่อการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ มีมา 20 ปีแล้ว จากกรณีปัญหา 3-4 เรื่อง ซึ่งรัฐบาลทุกชุดพยายามฟื้นความสัมพันธ์ ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่การฟื้นสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ต้องแยกประเด็นกันให้ชัดเจน
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์และมติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เสื้อแดงร่วมกิจกรรม ‘แดงลงทะเล’ คึกคักที่หาดจอมเทียน Posted: 05 Sep 2010 11:47 AM PDT 5 ก.ย.53 บริเวณชายหาดจอมเทียน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี กลุ่มคนเสื้อแดงหลายร้อยคน เดินทางมาพักผ่อนที่บริเวณชายหาดจอมเทียน โดยมีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด (นสพ.ลายจุด ) เป็นแกนนำในการร่วมทำกิจกรรมและพักผ่อนบริเวณชายหาด โดยกิจกรรมบริเวณชายหาดจอมเทียนนั้นมีการรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดต่างๆ นอกจากนั้นตามริมฟุตปาธจะมีแผงจำหน่ายเสื้อผ้าคนเสื้อแดง แผนซีดีการสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ สลับหมุนเวียนกับการคลายร้อนโดยการวิ่งลงทะเล พร้อมมีการเต้นประกอบเพลง และมีกล่องรับบริจาคสนับสนุนกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งบรรยากาศโดยส่วนให้สร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลายความร้อนให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมวันอาทิตย์เป็นอย่างมาก ทักษิณโฟนอินคอนเสิร์ตพัทยา บอกไม่กลับไทยแล้วก็ได้ ก่อนหน้านี้เมื่อค่ำวันที่ 4 ก.ย. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอินเข้ามาในคอนเสิร์ตของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่เขาตาโล เมืองพัทยา นานประมาณ 10 นาที ว่า "เสียงนี้เป็นเสียงของอดีตนายกทักษิณ ยังไม่ตายครับ สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ยิ่งแช่งเหมือนยิ่งแข็งแรงขึ้นเยอะ ถ้าผมเงียบก็หาว่าผมตายแล้ว ถ้าผมพูดก็หาว่าผมสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง ตกลงเอายังไงดี ทุกวันนี้ที่ผมเงียบเพราะเห็นว่าบ้านเมืองมันไม่ไหวแล้ว อยากให้เกิดความปรองดองในชาติขึ้น หยิบยื่นโอกาสให้ทุกอย่าง ก็ยังไม่เลือก ยังเลือกที่จะเป็นฆาตกรมากกว่า" นอกจากนี้ อดีตนายกฯ กล่าวว่า ตนก็เป็นเหมือนหนูตัวหนึ่งที่ไล่ออกนอกประเทศ แต่ก็ยังมีหนูอีกจำนวนมากที่ยังก่อความไม่สงบในประเทศ และแม้ตนจะไม่อยู่ในประเทศ แต่พรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะทำงานให้กับประเทศเพื่อพี่น้องชาวไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนจะกลับไม่กลับประเทศก็ไม่จำเป็น เพราะมีธุรกิจต่างประเทศ แต่พร้อมช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและบริหารประเทศ ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล ตนก็มีนโยบายในการช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศให้เศรษฐกิจและประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้น จตุพร ชวนเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมือง หลังจากนั้น นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.เพื่อไทย และแกนนำนปช. ได้กล่าวชักชวนกลุ่มเสื้อแดงร่วมกันนำดอกกุหลาบไปวางที่เรือนจำทั่วประเทศเพื่อเป็นการเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองที่ถูกกักขังอยู่ ที่มา: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เตรียมอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกรณีมาบตาพุด-ฟ้องเพิกถอนประกาศ11โครงการรุนแรงฯ Posted: 05 Sep 2010 11:31 AM PDT สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีมาบตาพุด ระบุศาลยอมรับแล้วว่า8 หน่วยงานรัฐไม่ทำตามรธน.มาตรา67 จะมาแก้ไขโดยยกประกาศ 11 โครงการรุนแรงฯ มาอ้างไม่ได้ เตรียมอุทธรณ์และฟ้องเพิกถอนประกาศ ชี้ควรทำตามคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่เตรียมผลักดัน 18 โครงการรุนแรงต้องผ่านองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมตามม.67 5 ก.ย.53 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ค้ดค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีมาบตาพุด ดังนี้ แถลงการณ์ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรื่อง ค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ยอมรับตามคำขอบางส่วนของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุดและบ้านฉางรวม 43 ราย ที่ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ 8 หน่วยงาน ฐานเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 กำหนดไว้ แต่กลับมิได้กำหนดให้ 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางทั้งหมด ที่มิได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้ (24 สิงหาคม 2550) มาจนถึงวันที่ฟ้องคดี (19 มิถุนายน 2552) ทั้งหมดต้องกลับไปเริ่มต้นดำเนินการใหม่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ถือว่าเป็นความอดสูของการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ แต่การที่ศาลปกครองกลางยอมรับว่าหน่วยงานรัฐ 8 หน่วยงาน กระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง กำหนดไว้ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีนั้น ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐได้กระทำการอันมี “ความผิดที่สำเร็จแล้ว” และศาลก็ยอมรับ ดังนั้นการที่จะอ้างเอาประกาศ 11 โครงการรุนแรงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 มาเป็นหลักในการพิจารณาเพื่อลบล้างการดำเนินการที่ไม่ชอบของผู้ถูกฟ้องคดีนั้น จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศมาแล้ว การประกาศ 11 โครงการรุนแรง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะมีการกำหนดขนาดหรือประเภทโครงการเพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใน 76 โครงการ ไม่ให้เข้าหลักเกณฑ์โครงการรุนแรง ซึ่งจะได้ใช้เป็นข้ออ้างต่อศาลเพื่อให้ผู้ประกอบการหลุดพ้นจากคำพิพากษาของศาลเท่านั้น อีกทั้งกระบวนพิจารณาของศาลปกครองกลางได้กำหนดการสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2553 และนัดคู่กรณีมาพิจารณาคดีกันเป็นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา และในการพิจารณาคดีอัยการได้แต่เพียงนำเอาโครงการรุนแรงทั้ง 11 โครงการก็เป็นเพียง(ร่าง)ประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแสดงต่อศาลเท่านั้น การที่ศาลนำประกาศ 11 โครงการรุนแรงฯ ที่เกิดขึ้นภายหลังการพิจารณาคดีของศาล (31 สิงหาคม 2553) และกำหนดขึ้นโดยผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีที่กำหนดกันขึ้นมาเอง มาเป็นข้อพิจารณาในคำพิพากษาจึงอาจขัดหรือแย้งต่อกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง เนื่องจากประกาศ 11 โครงการรุนแรงนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีแล้ว ถือเป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี อีกทั้งขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ชัดเจนแล้ว กรณีดังกล่าวหากปล่อยให้เป็นมาตรฐานทางคดีต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาจนยากจะเยียวยาได้ เพราะถ้าปล่อยให้หน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้องคดี สามารถใช้อำนาจทางปกครองของตนเอง ไปแก้ไขหรือกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงหรือหลุดจากความผิดที่สำเร็จแล้วของตนในอดีตตามข้อกล่าวหาได้ ก่อนที่ศาลจะพิพากษา ในอนาคตสังคมจะมีการฟ้องร้องคดีประเภทดังกล่าวไปเพื่อประโยชน์อันใด ในเมื่อหน่วยงานรัฐที่เป็นคู่กรณีในศาลสามารถกำหนดอะไรก็ได้เพื่อนำมาอ้างต่อศาลเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากคำพิพากษา หรือเพื่อให้ศาลนำข้ออ้างดังกล่าวมาประกอบการตัดสินได้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ถือเป็นการแก้ไขความผิดที่สำเร็จแล้วในอดีตให้สามารถหลุดพ้นไปได้โดยไม่มีความผิดเลยในปัจจุบัน ซึ่งขัดต่อหลักของกฎหมาย ที่ไม่อาจบังคับผลย้อนหลังได้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงเห็นแย้งต่อคำพิพากษาดังกล่าว จึงจำต้องอุทธรณ์คดีเพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนและเสียหาย ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 15 วันนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมกับจะต้องฟ้องร้องเพิกถอน 11 โครงการรุนแรงฯต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนคำสั่งหรือมติของคณะรัฐมนตรีและหรือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหรือไม่ถูกต้องตามวิธีการหรือขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป เพื่อยืนยันความถูกต้องและความยุติธรรมให้ปรากฏให้จงได้ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะต้องต่อสู้ถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน หากกระบวนการทางปกครองไม่สามารถให้ความสร้างความเป็นธรรมต่อชาวมาบตาพุด-บ้านฉางได้ สมาคมฯขอเชิญชวนประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ ที่เคยไปร่วมให้ความคิดเห็นกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4-5 ภูมิภาคมาแล้ว และได้ข้อสรุปร่วมกันว่าต้องมีโครงการรุนแรงฯทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 18 โครงการรุนแรงฯนั้น ให้มาร่วมฟ้องร้องกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเพื่อเพิกถอน 11 โครงการรุนแรงฯอัปยศ ที่ไม่ได้นำความคิดเห็นของประชาชนมาประกาศบังคับใช้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานร่วมกันในกระบวนการยุติธรรมต่อไป... ด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน 3 กันยายน 2553 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
โค้งสุดท้ายของรอมฎอนสำหรับวิถีชีวิตมุสลิมชายแดนใต้ Posted: 05 Sep 2010 11:09 AM PDT ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอ ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสนทูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน ในช่วง วันที่ 1 - 10 กันยายน 2553 เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอดใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และไม่วันที่ 10 หรือ 11 กันยาย นี้ จะเป็นวันอีดิลฟิตรี(ฉลองหลังถือศีลอด) การถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในช่วงนี้ จะมีความเข้มข้นทั้งกลางวันและกลางคืน(โดยเฉพาะกลางคืน) หลายๆ กิจกรรมหากองค์กรของรัฐและหน่วยความมั่นคงไม่เข้าใจและไม่ทราบหลักปฏิบัติของชุมชนมุสลิมอาจจะนำไปสู่การจับผิดและอาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวอันนำไปสู่ความรุนแรงได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่คิดร้าย(ส่วนน้อยของชุมชน)อาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้สร้างสถานการณ์ได้เช่นกัน หลักปฏิบัติช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน 1.การเอี๊ยะติกาฟ (การพำนักในมัสยิด) หมายถึง การพำนักอยู่ในมัสยิดโดยมีเจตนาปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮฺเจ้า เพื่อปลดปล่อยตัวเอง ให้หลุดพ้นจากความสับสนวุ่นวายในสังคมมาเป็นการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ ในจังหวัดชายแดนใต้จะมีหลายมัสยิดจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ที่มีชื่อเสียงมีอยู่ไม่เกิน 10 แห่ง เช่น ที่มัสยิดอิบาดุรเราะมาน บ้านปูยุด อ.เมืองปัตตานี ภายใต้การอำนวยการโดย อ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา (อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลาม ปัตตานี) และมัสยิดศูนย์ดะห์วะฮฺยะลา เพราะมีการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการ การปฏิบัติศาสนกิจ และระบบสาธารณูปโภค ทั้งสองแห่งนี้จะมีผู้มาร่วมไม่ต่ำกว่าหมื่นคนจากทุกจังหวัดและผู้คนทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ข้าราชการมุสลิมยอมใช้สิทธิลาพักร้อนในช่วงนี้ 2. การละหมาด ช่วง 10 วันสุดท้ายจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญคือ ละหมาดตะรอเวี๊ยะ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30 -20.30 น.(ความเป็นจริงการละหมาดดังกล่าวกระทำมาตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอน แต่จะเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้าย ถูกบัญญัติให้ละหมาดรวมกันเป็นญะมาอะฮฺ (รวมกันที่มัสยิด) ละหมาดตะฮัจยุด ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00น. - 04.30 น.(ช่วงกลางดึกถึงรุ่งอรุณ) ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดอีกครั้งหนึ่ง การละหมาดทั้งสองช่วงจะมีผู้คนมากที่สุดในคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอนเพื่อให้ได้คุณค่าของลัยลุตุลกอดัร คำว่า ลัยลุตุลกอดัร หมายถึงค่ำคืนหนึ่งที่พระเจ้าได้เลือกให้เป็นค่ำคืนที่มีความประเสริฐในช่วงสิบคืนหลังของเดือนรอมฏอนอันเนื่องมาจากพระองค์ได้ดำรัสความว่า แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดร และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ว่าคืนอัลกอดรนั้นคืออะไร คืนอัลก็อดรนั้นดีกว่า 1000 เดือน บรรดามะลาอิกะห์ และอัลรูฮ ( ญิบรีล ) จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขา เนื่องจากในกิจการทุกสิ่งคืนนั้นมีความศานติสุขจนกระทั่งรุ่งอรุณ (ซูเราะห์อัลก็อดร) บรรดานักวิชาการโลกมุสลิมในอดีตมีทัศนะที่แตกต่างกันหลายทัศนะว่าคืนใดจะตรงกับค่ำคืนดังกล่าว แต่นักวิการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องว่ามันอยู่ในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอนเพราะท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ความว่า พวกท่านจงแสวงหามัน (หมายถึงคืนลัยละตุดก็อดรฺ) ในช่วงสิบคืนสุดท้าย (วจนะศาสนทูตบันทึกโดย บุคอรีย์ 2018 มุสลิม 1167) และบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า ลัยละตุลกอดรนั้นจะเกิดในคืนคี่แต่นักวิการบางท่านมีความเห็นว่าลัยละตุลก็อดรฺนั้นคือค่ำคืนที่ 27 ซึ่งเป็นทัศนะของบรรดา ซอฮาบะห์ กลุ่มหนึ่ง โดยที่ท่าน อุบัย บิน กะฮบฺ (โปรดดูวจนะศาสนทูตในซอเอียะ มุสลิม 762 / อัตติรมีซีย์ 3351) ดังนั้นจึงทำให้มุสลิมจะทำศาสนกิจมากที่สุดในค่ำคืนที่ 27 นี่คือหลักปฏิบัติของอิสลามพอสังเขปซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมภาคใต้ซึ่งอยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าใจและนำเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติในพื้นที่ เพราะหลายๆกิจกรรมเป็นช่วงกลางคืนและดึกดื่น ในขณะเดียวกันการเรียกร้องให้องค์กรของรัฐและสังคมอื่นเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ได้อย่างสมบูรณ์นั้น มุสลิมเองต้องมีคุณลักษณะ และแสดงความเป็นมุสลิมที่ดีตามแนวทางศาสนทูตมุฮัมมัดทุกอริยะบทของการดำเนินชีวิต รวมทั้งเข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกับสังคมอื่นตามกรอบที่ศาสนาได้กำหนดไว้เช่นกัน หากทุกฝ่ายยึดตามแนวทางที่ถูกต้องและเข้าใจซึ่งกันสังคมไทยจะอยู่ร่วมอย่างสมานฉันท์และหวังว่า “เหตุการณ์ตากใบสอง” คงไม่เกิดในช่วงท้ายรอมฎอนอีกครั้งในปีนี้ หวังว่าศาสนธรรมและสันติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นวิถีทางที่สำคัญในการอยู่ร่วมอย่างสันติ และขอดุอาอ์(พร)จากอัลลอฮซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง รวมทั้งขอให้ความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดี ขอให้พระองค์ทรงทำให้วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน ให้พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้ และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ สุขสวัสดี...วันตรุษอีดดิลฟิตรี ฮิจเราะห์ศักราชที่ 1431...อามีน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 05 Sep 2010 10:37 AM PDT สหาย ... เธอได้ตาย วิญญาณละลอยจากร่าง วิญญาณนักต่อสู้มิรู้หน่ายจาง วิญญาณข้างคนจน ชนศักดินา วิญญาณจิตสถิตในทุ่งกว้าง วิญญาณคว้างในอากาศหวาดผวา วิญญาณเปลี่ยวเทียวล้อดาริกา วิญญาณท้ายุติธรรมนำชาวชน วิญญาณโลมแมกไม้ที่ในป่า วิญญาณกล้าแทงประทุลุทุกหน วิญญาณชื่นดอกไม้ไล้สกล วิญญาณปล้นกำแพงแห่งปรัตจุบัน วิญญาณล่องลอยไปทุกสายน้ำ วิญญาณคร่ำครวญครางกลางห้ำหั่น วิญญาณสู้ขู่รุกคุกคามพลัน วิญญาณนั้น รักเสรี ประชาธิปไตย วิญญาณเหล่าสหาย ณ ปลายฟ้า ดุจดารารุ่งราง...ส่องทางให้ ทุกวิญญาณหาญกล้ามาชูใจ รุกเข้าไปคืบทางอย่าง...มหาชน เพื่อทวงสิทธิ์ติดกายหญิงชายถ้วน เพื่อปลดล้วนสิทธิศักดิ์จากนักปล้น เพื่อเทียมเท่าเสมอภาคสิทธิชน เพื่อดาลดลยุติธรรม นำ ประชาธิปไตยฯ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ใจ อึ๊งภากรณ์ : ทหารไทย กาฝากของสังคม Posted: 05 Sep 2010 10:25 AM PDT ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเชื่อว่า จุดศูนย์กลางอำนาจอำมาตย์อยู่ที่คนคนเดียว แต่ในความเป็นจริงอำนาจแท้ที่อยู่เบื้องหลังคือกองทัพ กองทัพไทยแทรกแซงการเมืองและสังคมมาตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 เพราะคณะราษฎร์พึ่งพาอาศัยอำนาจทหารในการทำการปฏิวัติ แทนที่จะเน้นการสร้างพรรคมวลชน อย่างไรก็ตามเราควรเข้าใจว่าอำนาจทหารเป็นอำนาจจำกัด ในหลายยุคหลายสมัยอำนาจกองทัพถูกจำกัดและลดลงเพราะการลุกฮือและการเคลื่อนไหวของประชาชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กรณี 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 เป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้นเราควรเข้าใจว่ากองทัพเป็นกลุ่มอำนาจหนึ่งในชนชั้นปกครอง กลุ่มอื่นๆ ประกอบไปด้วย นายทุนใหญ่ นักการเมือง และข้าราชการชั้นสูง แต่สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับกองทัพ ถ้าเทียบกับกลุ่มอื่นๆในชนชั้นปกครองหรืออำมาตย์คือ กองทัพจะผูกขาดการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ ซึ่งความรุนแรงนี้ใช้ในรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล และใช้เพื่อฆ่าประชาชนมือเปล่า ล่าสุดก็ที่ราชประสงค์ในปี 2553 นี้เอง วัตถุประสงค์หลักของการมีกองทัพสำหรับชนชั้นปกครองไทยคือ เป็นเครื่องมือในการควบคุมและปราบปรามประชาชนภายในประเทศ วัตถุประสงค์รองคือเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่ำรวยให้พวกนายพล กองทัพไทยขาดประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงในการทำสงครามระหว่างประเทศ สงครามกับประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเกิดขึ้น ทหารไทยจะเป็น “รั้วผุ” ที่ป้องกันประเทศไม่ได้ ในอดีตกองทัพไทยต้องยอมแพ้ต่อญี่ปุ่น และมหาอำนาจอื่นๆ มาตลอด กองทัพไทยต่างจากกองทัพของเวียดนาม ลาว หรือของอินโดนีเซีย ที่เคยได้รับชัยชนะในการปลดแอกประเทศ ดังนั้นกองทัพไทยมีรถถังไว้เพื่อข่มขู่ประชาชนไทยและเพื่อทำรัฐประหารเท่านั้น ในอดีตมีสองกรณีที่กองทัพไทยทำสงคราม แต่เป็นสงครามภายใน คือสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และสงครามปัจจุบันที่ยังไม่สิ้นสุดในสามจังหวัดภาคใต้ ในทั้งสองกรณีนี้กองทัพไม่สามารถเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ เพราะการลุกขึ้นสู้ของประชาชน เกิดจากการกดขี่และการที่ไม่มีความยุติธรรมในสังคม และทุกครั้งพฤติกรรมป่าเถื่อนของทหารไทย ยิ่งทำให้การกบฏเข้มแข็งมากขึ้น บทเรียนสำคัญจากสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์คือ ต้องใช้การเมืองแก้ปัญหา ไม่ใช่การทหาร ในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ก็เช่นกัน กองทัพไทยอาจมีอำนาจก็จริง แต่อำนาจนั้นถูกจำกัดจากเงื่อนไขสามประการ (1) อำนาจของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (2) อำนาจของกลุ่มอื่นๆ ในชนชั้นปกครองที่มีอำนาจเงินและอำนาจการเมือง และ (3) การที่กองทัพแบ่งเป็นพรรคเป็นพวกที่แข่งขันกันเสมอ นอกจากนี้การที่กองทัพต้องอ้างความชอบธรรมจาก “ลัทธิกษัตริย์” ก็เป็นจุดอ่อนด้วย เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่มีความชอบธรรมของตนเองเลย แม้แต่ในยุคเผด็จการ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ทหารไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะต้องอาศัยการร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญ และนายทุน และต้องฟังเสียงของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อย่าลืมว่าในยุคแรกๆ แม้แต่ สฤษดิ์ ยังต้องพึ่งพาขบวนการนักศึกษาและคนของพรรคคอมมิวนิสต์ในหนังสือพิมพ์ของเขาเพื่อทำรัฐประหารจนสำเร็จ ในกรณีรัฐประหาร 19 กันยา ทหารคงทำรัฐประหารไม่ได้ถ้าพันธมิตรฯ นักวิชาการ และเอ็นจีโอ ไม่โบกมือเรียกทหารให้เข้ามาแทรกแซงการเมือง ตอนนั้นขบวนการคนเสื้อแดงยังไม่เกิด แต่พอเกิดขึ้น ทหารต้องใช้กลไกอื่นๆ เช่นศาล ในการล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หรือใช้วิธีการไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาลในการปกป้องสนามบินจากม็อบพันธมิตรฯ การแบ่งเป็นพรรคเป็นพวกของทหารในกองทัพ เป็นการแย่งชิงผลประโยชน์กัน ไม่ค่อยเกี่ยวอะไรกับความคิดทางการเมือง ก๊กต่างๆ ของทหารมักจะเชื่อมกับทหารเกษียณ นายทุน และนักการเมือง กรณีล่าสุดคือกลุ่มทหาร “บูรพาพยัคฆ์” จากราบที่สอง ปราจีนบุรี ซึ่งขึ้นมามีอำนาจชั่วคราว กลุ่มนี้พร้อมจะเข่นฆ่าประชาชนเพื่อปกป้องเผด็จการ กรณีทหารแตงโมที่ถล่มผู้บัญชาการทหารบูรพาพยัคฆ์ที่ราชดำเนิน เป็นการสู้กันระหว่างทหารสองพวก ทหารแตงโมดังกล่าวไม่ได้ขึ้นกับขบวนการเสื้อแดง และในอดีตไม่เคยมีจิตใจประชาธิปไตย วัฒนธรรมของกองทัพไทยคือวัฒนธรรมในการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนตำแหน่ง ตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดคือ ผบ.ทบ. ซึ่งต้องผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เพื่อให้นายพลต่างๆ มีโอกาสเข้าถึงรางอาหารในคอกเลี้ยงหมู ทหารคนใดคนหนึ่งไม่สามารถผูกขาดการกินและการเข้าถึงอำนาจและความร่ำรวยได้ ความร่ำรวย “ผิดปกติ” เกินรายได้ธรรมดาของพวกนายพล มาจากกิจกรรมของกองทัพในสื่อและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้มีรายได้มหาศาลจากการคอร์รัปชั่น รับเงินใต้โต๊ะเวลาซื้ออาวุธ การค้ายาเสพติด การค้าไม้เถื่อน และการลักลอกขนสินค้าข้ามพรมแดน ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจให้ทหารรักษาอิทธิพลทางการเมือง เพื่อปกป้องกิจกรรมต่างๆ ของทหาร ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการป้องกันประเทศ แต่การใช้ความรุนแรงอย่างเดียวสร้างอำนาจในการปกครองไม่ได้ ต้องมีการครองใจประชาชนควบคู่กันไป ลัทธิที่ครองใจประชาชนไทยในยุคสมัยใหม่มากที่สุดคือ “ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม” แต่ทหารอ้างความชอบธรรมจากแนวคิดนี้ไม่ได้ เพราะทหารทำลายประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทหารจึงต้องใช้ “ลัทธิกษัตริย์” โดยอ้างว่าทหารรับใช้กษัตริย์ แถมยังมีกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพฯไว้ข่มขู่คนที่คัดค้านทหารอีกด้วย ในความเป็นจริงทหารไม่ได้รับใช้ใครนอกจากตนเอง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” คือลัทธิของอำมาตย์ชนชั้นปกครอง แต่ตั้งแต่ยุค สฤษดิ์ ทหารพยายามลดบทบาททางการเมืองของศาสนาพุทธ ดังนั้นทหารใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือไม่ค่อยได้ ส่วนเรื่อง “ชาติ” เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับ “กษัตริย์” ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 เพราะ “ความเป็นชาติ” มีลักษณะส่วนรวมมากกว่าไปเน้นตัวบุคคล ผู้ที่เน้นลัทธิชาตินิยมในอดีต มักเป็นพวกที่ไม่เอากษัตริย์ด้วย เช่น คณะราษฎร์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นี่คือสาเหตุที่ “ลัทธิกษัตริย์” เป็นลัทธิที่เหมาะกับทหารมากที่สุดหลังการขึ้นมาของจอมพลสฤษดิ์จนถึงทุกวันนี้ ลักษณะการสั่งการและสายอำนาจในกองทัพ มีผลในการสร้างวัฒนธรรมเลวทรามไปทั่วองค์กร คนดีๆ ที่เข้าไปเป็นนายทหารหนุ่มต้านพลังของวัฒนธรรมนี้ไม่ได้ แต่เราไม่โทษเขา เราจะโทษพวกนายพลระดับสูง ถ้าเราจะมีประชาธิปไตยแท้ เราต้องตัดบทบาททหารออกจากสังคมและเศรษฐกิจ ต้องตัดงบประมาณทหาร ต้องปลดนายพลเผด็จการออกให้หมด ต้องนำนายพลฆาตกรมาลงโทษ และต้องยกเลิกหรือไม่ก็เปลี่ยนโครงสร้างกองทัพอย่างถอนรากถอนโคน แต่อย่าไปหวังว่าผู้ใหญ่ที่ไหนเขาจะทำให้เรา และอย่าไปหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะทำให้ ส่วนใหญ่พวกนี้เคยชินกับการร่วมมือกับกองทัพมานาน พลังหลักในการสร้างประชาธิปไตยต้องมาจากขบวนการเสื้อแดง และเสื้อแดงต้องเรียนบทเรียนจากราชประสงค์ เราต้องขยายอิทธิพลของขบวนการประชาธิปไตยไปสู่ขบวนการสหภาพแรงงาน ขบวนการนักศึกษา และเข้าไปสู่ทหารเกณฑ์ระดับล่างที่เป็นพี่น้องลูกหลานแท้ของประชาชน ทหารไทยคือกาฝากของสังคม ในหมู่ชาวไร่ชาวนามันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับกาฝาก นั้นคือการตัดมันออกไปให้แห้งตาย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงาน: รอมฎอนในความเคลื่อนไหว สู้เพื่อบ้านเกิด ค้านท่าเรือปากบารา Posted: 05 Sep 2010 10:19 AM PDT ชื่อบทความเดิม: รอมฎอนในความเคลื่อนไหว การต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของชาวละงู เผา – ร่างแผนแม่บทลดโลกร้อน ที่จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกนำมาเผาในเวทีคู่ขนานกับภาพบรรยากาศเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทลดโลกร้อนครั้งที่ 4 ที่โรงแรมไดมอนท์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2553 เกี่ยวกับท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล สร้างความวิตกตื่นกลัวให้ชาวบ้านในพื้นที่พอสมควร ข่าวชิ้นนั้นรายคำให้สัมภาษณ์ของนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังคงผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ให้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ เป็นความพยายามหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เห็นชอบ ผลการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามัน และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาความเหมาะสมของทางเลือก และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการพัฒนาในกรณีต่างๆ “ในขณะที่ สนข.เองก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องมีท่าเรือในทะเลฝั่งอันดามัน และยืนยันว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามีความเหมาะสม จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริจด์)” นั่นคือการรุกคืบของภาครัฐ สร้างความวิตกจริต ตื่นกลัวพอสมควร จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การเฝ้าระวัง ตรึงพื้นที่ สอดส่ายสายตา จับตามองกลุ่มคนแปลกหน้ามากยิ่งขึ้น ความวิตกดังกล่าว เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลจะเดินทางไปร่วมเคลื่อนไหวใหญ่เวทีประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทลดโลกร้อนครั้งที่ 4 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่โรงแรมไดมอนท์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ไม่นาน เมื่อผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล แจ้งว่า ในวันเดียวกันนั้น จะมีรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง พร้อมคณะจำนวน 12 คนลงพื้นที่มาเพื่อรับฟังชาวบ้านและแจกถุงยังชีพ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ปากน้ำด้วย เท่านั้นแหละความตึงเครียดและวิตกกังวลของชาวบ้านก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ “กูไม่ไปแล้วสุราษฎร์ นู้เขาอิมาเอาบ้านแล้ว กูไม่ไป!” เสียงสะท้อนจากชาวบ้านถูกส่งปฏิกิริยาต่อๆกันไปเป็นลูกโซ่ กลายเป็นความตื่นตระหนกของชาวบ้านในกลุ่มเครือข่ายนี้ จนถึงกับต้องมีการระงับสติอารมณ์กัน พร้อมกับมีการตรวจสอบข่าวกันวุ่นว่า รัฐมนตรี ใคร คนไหนลงมา “ถ้าหากเป็นไอ้เกื้อกูล พวกเราก็จะไม่ไปสุราษฎร์กัน” คือคำประกาศจากแกนนำเครือข่ายฯคนหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง จึงได้มีการหารือกัน จนได้ข้อสรุปว่า ต้องแบ่งสมาชิกในเครือข่ายฯออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก ซึ่งเป็นชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่บ้านปากบารา เพื่อติดตามดูว่ารัฐมนตรีคนไหนกันกันแน่ที่เดินทางมา พร้อมกับเฝ้าระวังสถานการณ์และไม่ประมาท ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 70 คนเดินทางไปจังหวัดสุราษฏร์ธานี เวลา 20.30 น.รถโดยสารประจำทางหาดใหญ่ - สตูล จอดรอรับชาวบ้านหน้าโรงเรียนบ้านตะโละไส กลางดึกของเดือนรอมฎอน อันเป็นเดินแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม รถคันนี้ถูกเหมาให้นำพาชาวบ้านกลุ่มนี้ไป “เราไปด้วยแหละมะ” “อย่าไปแหละลูก การประท้วงไม่ใช่เรื่องหนุก” “ให้ลูกไปด้วยแหละ ถ้ามะไม่ให้ลูกไป หากสักวันหนึ่งเราสูญเสียแผ่นดินบ้านเกิดไป แล้วลูกก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน?” นั่นคือถ้อยคำโต้ตอบของแม่ลูกคู่หนึ่ง ที่ลูกคนหนึ่งดึงดันอยากไปให้ได้ด้วยใจมุ่งมั่น แม้ว่าพรุ่งนี้หน้าที่ของเขาคือต้องไปโรงเรียนก็ตาม ที่สุดแล้วเด็กผู้หญิงคนนั้นก็ได้ไปสมใจอยาก ไม่นับพวกวัยรุ่นที่วิ่งร่อมาออดอ้อนขอไปด้วยอีกนับสิบกว่าคน รถเคลื่อนตัวออกจากอำเภอละงูตอนสามทุ่มครึ่ง จนเวลาประมาณ 04.00 น. ก็ถึงสถานีขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ข้าวปลาอาหารที่เตรียมมาก็ถูกนำออกมาจัดแจงรับประทานกัน เพราะใกล้จะถึงเวลาที่ต้องถือศีลอดกันแล้ว กว่าจะได้กินอีกทีก็ต้องพระอาทิตย์ตกดิน จากนั้นบางคนก็หาที่ทางงีบหลับเอาแรง บ้างก็ออกไปดูรถที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วภาคใต้ ที่ทยอยเดินทางมาถึง ตั้งแต่จากอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยันอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จนกระทั่งเวลา 08.00 น. ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมงานได้เริ่มตั้งขบวน โดยเครือข่ายจากสตูลนำหน้า พร้อมตีกลองสร้างบรรยากาศให้คึกคักมากขึ้น เด็กหญิงคนเดิม มือสองข้างทิ้งปากกาเลิกจับดินสอมาถือไม้ตีกลองแทน เธอเดินไปพร้อมกับชาวบ้านคนอื่นๆ เป็นขบวน พร้อมกับริ้วธงเขียวโบกสะบัด ป้ายผ้าหลายใบแสดงข้อความสะท้อนความเดือดร้อนของแต่ละท้องถิ่น ผู้คนร่วม700 คนเคลื่อนขบวนพร้อมรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง ป่าวประกาศโห่ร้อง เริ่มจากสถานีขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังโรงแรมไดมอนท์พลาซ่า ระยะทาง 2 กิโลเมตรท่ามกลางความสนใจของผู้คนที่ผ่านไปมา เวลา 09.17 น. เวทีคู่ขนานได้ถูกจัดตั้งขึ้นบริเวณด้านหน้าโรงแรมไดมอนท์พลาซ่า มีการขึ้นเวทีปราศรัยสลับสับเปลี่ยนกันของแกนนำแต่ละเครือข่ายฯ เรียกร้องความเป็นธรรมต่างๆ “ร่างแผนแม่บทลดโลกร้อน หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ หยุดโลกร้อน หยุดตอแหลแผนแก้โลกร้อน” แต่ท่ามกลางความอึกทึกนั้น ก็ยังมีการติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์กับชาวบ้านที่ห้องประชุมอบต.ปากน้ำอยู่เป็นระยะๆ จนกระทั่งสายปลายทางแจ้งว่า ข้าราชการการเมืองตำแหน่งสูงสุดในวันนั่น เป็นแค่ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น และเวทีประชุมได้ล่มไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถูกชาวบ้านโห่ไล่ ข่าวนี้จึงยิ่งสร้างความฮึกเหิมให้ชาวบ้านที่มาร่วมเวทีที่สุราษฎร์ธานีไม่น้อย เช่นเดียวกับเวทีประชุมสัมมนาร่างแผนแม่บทลดโลกร้อนที่ล่มไม่เป็นท่าเช่นกัน แม้นางอารญา นันทโพธิเดช รองเลขาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงมาชี้แจงที่เวทีคู่ขนานด้วยตัวเองก็ตาม ยิ่งใกล้เวลาละศีลอด ชาวบ้านก็ยิ่งอ่อนล้าและอิดโรยมากขึ้นไปอีก แม้จุดหมายปลายทางขากลับยังอยู่อีกไม่ไกล แต่พี่น้องละงูก็ตัดสินใจจอดรถ ลงไปรับประทานอาหารละศีลอดกันที่จังหวังตรัง ใครจะวิตกยังไงก็ช่าง ถึงเวลากินก็ขอกินก่อนแล้วกันนะ พี่น้อง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงานเสวนา: “การเมืองบนท้องถนนของคนธรรมดา” มองผ่านแว่นหลายสี Posted: 05 Sep 2010 09:41 AM PDT 4 ก.ย.53 เวลา 13.00 น. ที่ห้องเรียน 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิศักยภาพชุมชนได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “การเมืองบนท้องถนนของคนธรรมดา” โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร จากโรงเรียนสาธิตมัฆวานแห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน, น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร มองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยผ่านแว่นตาสีเหลืองว่า การเมืองบนท้องถนนมีความสำคัญต่อการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของทุกประเทศ เมื่อใดที่การเมืองของรัฐบาลกระทบต่อประชาชนและไม่มีกลไกแก้ไข จำเป็นจะต้องมีการแสดงพลังบนท้องถนน นายแสงธรรม กล่าวว่า สาเหตุของการเมืองบนท้องถนนเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน และการเกิดสิ่งผิดแปลกหรือแปลกปลอมขึ้นในระบบการเมือง ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่ง พธม.มีความชัดเจนคือต่อต้านระบอบทักษิณ และยังคงต่อสู้อยู่จนถึงปัจจุบัน นายแสงธรรม กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ พธม.ในสมัยรัฐบาลทักษิณว่า ได้ทำหน้าที่หลายเรื่อง ได้แก่ ตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น, การละเมิดสิทธิมนุษยชน, ตรวจสอบกรณีกรือเซะ-ตากใบ, กรณีฆ่าตัดตอน 2,500 ศพในสงครามยาเสพติด และกรณีการเสียชีวิตของทนายสมชาย นีละไพจิตร และพระสุพจน์ สุวโจ นอกจากนี้ นายแสงธรรม กล่าวด้วยว่า กลุ่ม พธม.มีความรู้สึกเช่นกันว่า รัฐประหารปี 2549 เป็นสิ่งแปลกปลอมทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเท่ากับคนเสื้อแดง และภายหลังรัฐประหาร ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พธม.ได้ยุติการชุมนุมไป 1 ปี แต่หลังการเลือกตั้งได้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค และมาตรา 309 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ พธม.กลับมาชุมนุมอีกครั้ง และเป็นการชุมนุมยืดเยื้อถึง 193 วัน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มองการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแว่นตาสีแดงว่า เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงมีส่วนที่เหมือนกันอยู่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนที่เหมือนกันมักไม่ได้นำมาพูดคุย และส่วนที่ต่างกันนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ เช่น ความคิดเรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของใคร และการให้ความสำคัญกับความต่าง ทำให้ทั้งสองสีไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ นายสมบัติกล่าวว่า การเมืองของคนเสื้อแดงครั้งนี้เป็นวิวัฒนาการทางประชาธิปไตย ซึ่งในปี 2475 เป็นการเปลี่ยนอำนาจจากหนึ่งคนมาเป็นคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เป็นอำมาตย์และขุนศึก ต่อมาเมื่อคนมีการศึกษามากขึ้น ปัญญาชนจึงต้องการส่วนแบ่งทางอำนาจจึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ขึ้น ทำให้ปัญญาชนมีพื้นที่ทางการเมืองนับแต่นั้นมา และในปี 2535 คนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จึงเป็นการต่อสู้ของชนชั้นกลางซึ่งได้รับชัยชนะและได้รับประโยชน์ ชนชั้นกลางจึงไม่มีความรู้สึกถึงคำว่า อำมาตย์ นายสมบัติกล่าวว่า ตัวละครสุดท้ายซึ่งกล่าวอ้างคำว่าประชาธิปไตยเช่นเดียวกับคณะราษฎรและชนชั้นกลางในปี 2535 เป็นตัวละครสุดท้ายของวิวัฒนาการประชาธิปไตยไทย คนกลุ่มนี้แทรกตัวอยู่ในทุกจุดของสังคม ในรูปของแม่บ้าน คนรับใช้ และ รปภ. การต่อสู้ครั้งนี้จึงไม่ใช่สงครามของชนชั้นกลาง แต่เป็นการต่อสู้ของยักษ์หลับซึ่งอยู่ชั้นล่าง เมื่อยักษ์ขยับตัว ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงจึงตีความว่าเป็นการเคลื่อนไหวของทักษิณ เพราะชนชั้นล่างไม่เคยปริปาก ทำให้ชนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่รู้จักประชาธิปไตย การประเมินการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงว่าเป็นการขยับตัวของทักษิณ แสดงว่าไม่เข้าใจวิวัฒนาการทางรูปการจิตสำนึกหรือการเติบโตทางจิตวิญญาณของประชาชน และการกล่าวว่าชาวบ้านโปรทักษิณ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีสิทธิในการต่อสู้ นายสมบัติกล่าวว่า ตนได้สร้างวาทกรรมขึ้นใหม่โดยนิยามศัพท์การเมือง 3 คำ ได้แก่ “อำมาตย์ เวอร์ชั่น 1.0” คือ การที่มีคนขีดเส้นแบ่ง แล้วกดปุ่มบอกว่าประชาชนต้องทำอะไรและต้องไม่ทำอะไร และการบังคับให้คนอยู่ในกรอบคิดว่าอะไรดี อะไรไม่ดี “นักการเมือง 2.0” คือ กลุ่มคนที่มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม และมีความสามารถเชื่อมโยงอำนาจระหว่างระดับบนและระดับล่าง “ประชาชน 3.0” คือ คนที่ต้องการปกครองตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การโค่นรัฐบาลอภิสิทธิ์ลงแล้วเอาคนของตัวเองมาเป็นเจ้านายแทน แต่หมายถึงชัยชนะในครั้งนี้ ผู้เป็นนายคือประชาชน ประชาชนเป็นผู้ควบคุมอำนาจ ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนเป็นผู้แทนที่ประชาชนควบคุมได้ และต้องไม่มีใครใหญ่ไปกว่าประชาชน นายสมบัติกล่าวว่า ปัจจุบันอำนาจหรือนโยบายกระจายออกไปในแนวดิ่ง การจัดสรรงบประมาณเริ่มที่รัฐสภาแล้วกระจายออกไปสู่จังหวัดไล่ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เปรียบกับการส่งแท่งไอติม เมื่อมาถึงหมู่บ้านก็เหลือแต่ไม้ ชาวบ้านไม่เคยชิมเนื้อไอติม แต่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ งบประมาณถูกส่งตรงมายังกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้ลิ้มรสไอติม แต่ยังไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการเดินทางของชาวบ้านครั้งนี้จึงเป็นการตามหาคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนคนที่เดินหาต้นตอของปัญหาน้ำแห้ง และไปพบเขื่อนกักน้ำอยู่ที่ต้นน้ำ ซึ่งชาวบ้านพบว่านั่นคือระบบอำมาตย์ นายสมบัติกล่าวในตอนท้ายว่า นี่ไม่ใช่สงครามของตนเอง แต่เป็นสงครามของยักษ์ที่ขยับตัว จึงอยากให้ทุกคนให้โอกาส น.ส.จิตรา คชเดช กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทยว่า คนงานไม่มีเครื่องมือที่จะต่อสู้กับนายทุน โดยที่นายทุนร่วมมือกับรัฐในการกำหนดสิ่งต่างๆ เช่น สวัสดิการ หรือค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานที่มีทักษะสูงจึงไม่สามารถเสนอค่าแรงต่อนายจ้างตามความสามารถของตนได้ น.ส.จิตรา กล่าวว่าเนื่องจากแรงงานไม่มีเครื่องมือในการต่อสู้ จึงจำเป็นต้องออกมาเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน แต่สิ่งที่ตามมาคือการถูกออกหมายจับ และถูกตำหนิจากผู้ที่มีรถยนต์ขับว่าเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดบนท้องถนน น.ส.จิตรา กล่าวว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม ปัญหาของแรงงานก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข ในยุครัฐบาลทักษิณ มีการทดลองใช้สเปรย์พริกไทยกับคนงานบริษัทไทยเกรียง รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีการนำเครื่อง L-RAD ที่สามารถทำลายแก้วหูมาทดลองใช้กับคนงานไทรอัมพ์ และในที่สุดคนงานบางส่วนก็ถูกออกหมายจับ น.ส.จิตรา มองว่าการเคลื่อนไหวของแรงงานเฉพาะภายในประเทศนั้นยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการลงทุนมาจากต่างประเทศ และนายจ้างก็เป็นชาวต่างชาติ จึงต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่าย การเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งแรงงานถูกเลิกจ้างพบว่าคนงานฟิลิปปินส์ที่เคลื่อนไหวก็ถูกออกหมายจับและถูกบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อเดือนถึงเดือนละ 1 ล้านเปโซ น.ส.จิตรากล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจกับประเทศไทยว่าเหตุใดจึงไม่มีใครรู้สึกอะไรกับการฆ่าคนกลางเมืองหลวง แต่กลับมีคนออกมาช่วยกันทำความสะอาดครั้งใหญ่ และเมื่อใดที่มีการชุมนุมบนท้องถนนก็จะมีการฆ่าหรือการจับกุม ซึ่งหากไม่มีเสรีภาพบนท้องถนน เราก็ไม่สามารถจะมีประชาธิปไตยได้เลย การพยายามจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม จึงมีคำถามว่ายังมีพื้นที่สาธารณะเหลืออยู่ตรงไหนบ้าง เพราะพื้นที่หน้าโรงงานก็เป็นของนายจ้าง น.ส.จิตรากล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง เพื่อส่งตัวแทนเข้าไปในระบบการเมือง และเป็นปากเสียงให้กับการแก้ไขปัญหาของแรงงงาน นางจินตนา แก้วขาว กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า ชาวบ้านรวมตัวเคลื่อนไหวบนท้องถนนมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร โดยคิดว่าเพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง ความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้านจึงเริ่มมีมาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าการชุมนุมของ พธม. ในปี 2548 การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสีเขียวนั้นต้องการคนทุกสีทั้งสีเหลืองและสีแดง แต่ที่เป็นปัญหาอยู่บ้างตอนนี้คือในสีเขียวเองนั้นก็มีทั้งสีเหลืองและสีแดง ในตอนท้าย นายแสงธรรม กล่าวว่าเสริมว่า เห็นด้วยกับ บก.ลายจุดที่บอกว่า จริงๆ แล้ว สีเหลืองกับสีแดงมีจุดร่วมกันอยู่ อาจมีที่เหมือนกัน 80 และต่างกัน 20 แต่ตัวเขาอาจไม่ถึงขนาดสรุปเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนอย่าง บก. ลายจุด จุดยืนหลักที่ต่างจากสีแดงของสีเหลืองคือ พวกเขาต้านระบอบทักษิณ ซึ่งเขาอธิบายคร่าวๆ ว่า ระบอบทักษิณนำไปสู่ปัญหาหลายด้าน เช่น กรณีกรือเซะ การขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี การหายตัวไปของนักต่อสู้ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่น่ากลัว ไม่แน่ใจว่าถ้าปล่อยให้ระบอบทักษิณยังอยู่ ตอนนี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ส่วนที่เหมือนกันก็มีหลายประเด็น เช่นเรื่องการรัฐประหาร ตัวเขาเองก็ไม่เห็นด้วย และถึงตอนนี้ เขาคิดว่า ถ้าที่ผ่านมาไม่เกิดรัฐประหาร 19 กันยาเลย ก็คงจะดีมาก ระหว่างการสนทนา มีผู้ซักถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งหลายอย่างไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ หรือจะเรียกว่า ระบอบทักษ๋ิณในรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ได้ ที่กรือเซะมีคนตาย ที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ก็มีคนตายเช่นกัน ประเด็นนี้สีเหลืองมีจุดยืนอย่างไร แสงธรรมตอบว่า ที่ผ่านมาสีเหลืองก็วิพากษ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วย จากนั้นมีผู้ซักถามถึงการได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันจากรัฐบาลระหว่างสีเหลืองและสี แดง แสงธรรมตอบว่า สิ่งที่ทำให้การสลายการชุมนุมระหว่างสีเหลืองกับสีแดงแตกต่างกันคือ เสื้อแดงมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอาวุธ มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางไม่ใช้สันติ เห็นได้จาก ผู้เสียชีวิตนั้นไม่ได้มีเพียงคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่มีทหารเสียชีวิตด้วย ขณะที่ม็อบสีเหลืองมีความพยายามยึดหลักสันติอหิงสาในการชุมนุมตลอดเวลา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
หน่วยราชการผวา มือมืดพ่นข้อความ “สตูลเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี” Posted: 05 Sep 2010 09:09 AM PDT ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบ้านกาแบงหมู่ที่ 2 ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล แจ้งว่า พบข้อความว่า “สตูลเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี” หลายแห่งในหมู่บ้าน เช่น ที่ป้ายหมู่บ้าน สะพานข้ามคลองละงู เมื่อหลายวันที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นเด็กวัยรุ่นที่มั่วสุมและคึกคะนองฉีดพ่นสีสเปรย์กวนเมือง “คงไม่มีทางที่คนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ แม้ข้อความดังกล่าวถูกลบออกไปแล้ว แต่มีคนมาพ่นสเปรย์ใหม่อีกตามราวสะพานข้ามคลองละงู มีใจความว่า “ระวังตัว อิสลามสู้” และข้อความภาษามาลายูด้วย” ชาวบ้านรายหนึ่งระบุ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 นายพันฐรัตน์ จิช่อง ปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน อำเภอละงู จังหวัดสตูล แจ้งในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านประจำเดือนว่า จากเหตุการณ์มีมือดีฉีดสีสเปรย์ด้วยข้อความว่า “สตูลเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี” และข้อความภาษามาลายู บริเวณป้ายบ้านกาแบง เมื่อ3 -4วันที่ผ่านมา ทางอำเภอละงูมีข้อสันนิษฐาน 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1.เป็นความขัดแย้งผลประโยชน์ 2.ขัดแย้งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น 3.เป็นวัยรุ่นก่อกวน แต่มิได้ตัดการเข้ามาเคลื่อนไหวของบุคคลจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้จึงต้องมีการเฝ้าระวังตรวจติดตามโดยขอความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยสังเกต 1.กลุ่มบุคคลที่เป็นประชากรแฝงในหมู่บ้าน 2.กลุ่มดะวะฮ์ที่เข้ามาในพื้นที่ 3.กลุ่มเรี่ยไรเงินบริจาค นายพันฐรัตน์ กล่าวว่า ขอให้จดชื่อและถ่ายภาพไว้ แล้วแจ้งให้ทางอำเภอทราบ และขอความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและบัณฑิตอาสาทุกหมู่บ้านในอำเภอละงู เพื่อตรวจสอบทะเบียนราษฎร์ การย้ายเข้าย้ายออกของบุคคลจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างละเอียดด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 05 Sep 2010 08:42 AM PDT ชาวพุทธไทยดูเหมือนจะเชื่อกันทำนองนี้ว่า “บทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ในทางการเมืองก็คือ การแนะนำสั่งสอนธรรมเกี่ยวกับการเมือง ...สอนให้นักการเมืองหรือผู้ปกครองเป็นนักการเมืองหรือผู้ปกครองที่ดีมีคุณธรรม ดำเนินกิจการเมืองและปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เมื่อทำหน้าที่นี้ พระสงฆ์เองก็จำเป็นที่ต้องตั้งอยู่ในธรรม คือมีความเป็นกลาง (เน้นโดยผู้เขียน) ... เพื่อผลนี้ จึงมีสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นธรรมของสถาบัน (เน้นโดยผู้เขียน) หรือเป็นทำนองจรรยาบรรณของพระสงฆ์ในด้านการเมืองที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ...ความเป็นฝักฝ่ายอย่างหนึ่งอย่างใด…” <1> หลักการที่ว่า “พระสงฆ์ควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง”<2> ดังที่ยกมานี้ แม้จะฟังดูมีเหตุผล แต่ใน “บางบริบท” ของความขัดแย้ง การวางตัวเป็นกลางกลับเผชิญปัญหาศีลยธรรมที่ตอบไม่ได้ เช่น สภาคองเกรส ของสหรัฐอเมริกา เคยออก “รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง” (Neutrality Acts)<3> เป็นกฎหมาย“วางตัวเป็นกลาง” เพื่อไม่ให้ไม่ตกเป็นคู่ความขัดแย้งกับฝ่ายใดๆ แต่ชนรุ่นหลังเห็นว่าความเป็นกลางเช่นนั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่าง (ทางศีลธรรม) ระหว่าง “ชาติผู้รุกราน” และ “เหยื่อ” แต่ปฏิบัติต่อทั้งสองประเทศเหมือนกับว่าเป็น "ผู้เข้าร่วมสงคราม" อย่างเสมอภาคกันเท่านั้น ซึ่งในที่สุดจะเป็นการเกื้อหนุนให้แก่ประเทศผู้รุกรานมากกว่า จึงทำให้ต้องถูกยกเลิกไปในปี 1941 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในทวีปยุโรป และเอเชีย จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยรัฐบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้สหรัฐฯ บริบทความขัดแย้งทางการเมือง “เมษา-พฤษภา 53” ก็เช่นกัน (และที่ผ่านมาที่นักศึกษา ประชาชนถูกฆ่า) เราไม่สามารถจะมองรัฐกับประชาชนในฐานะ “คู่สงคราม” ที่เราควรปฏิบัติ หรือเรียกร้องต่อทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมได้ เพราะชัดเจนว่า 91 ศพ กับบาดเจ็บกว่า 2,000 คน คือ “เหยื่อ” ของรัฐบาลซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เป็น “เผด็จการซ่อนรูป” (หน้าฉากมาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจจริงขึ้นนอยู่กับหลังฉากที่เป็น “อำนาจนอกการเลือกตั้ง”) ในบริบทดังกล่าว ดูเหมือนพระสงฆ์จะแสดงออก 3 ลักษณะ คือ 1) วางเฉย เสมือนไม่รับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในประเทศนี้ 2) วางตัวเป็นกลางและเรียกร้องสันติวิธี และ 3) เลือกฝ่ายเสื้อแดง ปัญหาคือ ในฐานะพระสงฆ์ผู้สอนศีลธรรมทางพุทธศาสนา จะสามารถ “วางเฉย” หรือ “เป็นกลาง” ต่อการละเมิดหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา อย่างเช่น ต่อไปนี้ได้อย่างไร? 1) ต่อการที่รัฐละเมิดศีลข้อ 1 หรือละเมิดสิทธิในชีวิต ด้วยการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเรียกร้อง “การเลือกตั้ง” ตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ที่ทำให้มีคนตายมากถึง 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และ 2) ต่อการที่รัฐละเมิดศีลข้อ 4 ด้วยการผลิตสร้าง “วาทกรรมฉ้อฉล” เช่น ขอคืนพื้นที่ กระชับวงล้อม คืนความสุขให้คนกรุงเทพฯ เป็นต้น ที่โดยสาระแล้วเป็นการให้ความสำคัญกับ “พื้นที่ทางกายภาพ” เช่น ถนนหนทาง การจราจร ความสะดวกสบายของคนเมือง มากกว่า “พื้นที่ทางเสรีภาพและสิทธิทางการเมือง”<4> และทำให้พื้นที่ทางกายภาพเช่นนั้นสำคัญกว่า “ชีวิต” ของประชาชน พระสงฆ์ที่ “วางเฉย” คือ คณะสงฆ์ หรือสถาบันสงฆ์ แต่ที่จริง “การวางเฉย” ต่อเหตุการณ์ประชาชนถูกฆ่าต้องถือว่าเป็น “ท่าทีทางศีลธรรม” แบบ “เลือดเย็น” และในฐานะที่สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันทางการเมืองแท้ๆ (ในฐานะเป็นตัวแทนสถาบันศาสนา อันเป็นหนึ่งในสามของสถาบันหลัก “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”) ท่าที “วางเฉย” ก็คือ “ท่าทีทางการเมืองที่เลือกข้างรัฐ” ในแง่ของความเป็นสถาบันหลักทางศีลธรรมของสังคม “การวางเฉย” ก็คือ ท่าทีทางศีลธรรมที่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการปกป้องศีลธรรมทางสังคมนั่นเอง หรือพูดอีกอย่างว่า การวางเฉยของคณะสงฆ์ต่อการที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เป็นจุดยืนที่อยู่บน ‘ภาวะหลับใหลทางศีลธรรม’ และโดยสภาวะหลับใหลเช่นนั้น จึงทำให้คณะสงฆ์นอกจากจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความตายของประชาชนแล้ว ยังไม่รู้ตัว (หรือรู้สึกผิดใดๆ) กับการที่กลายเป็นแนวร่วมโดยปริยายของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ และ/หรือ “อำนาจนอกการเลือกตั้ง” ที่กระทำการอันละเมิดหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา! ส่วนพระสงฆ์และองค์กรชาวพุทธที่ออกมาเรียกร้องสันติวิธี ที่ยืนยัน “การไม่เลือกข้างทางการเมือง” และพยายามเรียกร้องทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน ให้ใช้การเจรจาหรือสันติวิธีในการแก้ปัญหา ดูเหมือนว่าการแสดงบทบาทในแนวทางเช่นนี้จะเป็นที่ยอมรับของสังคมชนชั้นกลาง แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียด การพยายามรักษา “ความเป็นกลาง” ทำให้กลุ่มนี้ทำได้เพียงเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้สันติวิธีต่อกันเท่านั้น ไม่สามารถวิจารณ์หรือ “ประท้วง” ต่อรัฐบาล และ/หรือ “อำนาจนอกการเลือกตั้ง” ที่ละเมิดศีลธรรมทางพุทธศาสนาโดยตรง (ศีลข้อ 1 และ ข้อ 4) ซึ่งทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และฉ้อฉลต่อการใช้เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองของประชาชนดังกล่าวแล้ว ปัญหาสำคัญที่สุดของพระสงฆ์ฝ่ายเป็นกลาง คือ จะ “เป็นกลางทางศีลธรรม” ได้อย่างไร? ส่วนกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาชุมนุมร่วมกับคนเสื้อแดง หากมองในเชิง “ภาพพจน์” ที่ดูไม่สำรวม ซื่อๆ แบบชนบท หรือออกทางก้าวร้าวในบางโอกาส ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของสื่อ นักวิชาการ และชนชั้นกลางในเมืองผู้มี “จริตนิยม” เรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากคนอื่น แต่ไม่มีนิสัยตรวจสอบตนเอง และหากมองในเชิงหลักการพระธรรมวินัย ก็ดูเสมือนว่าพระเหล่านี้ดูจะไม่ปกป้องความเป็นอิสระของพระธรรมวินัยจากความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองเอาเสียเลย แต่สำหรับผมแล้ว พระสงฆ์ที่ชุมนุมร่วมกับคนเสื้อแดง เป็นพระสงฆ์ที่แสดงออกถึงการมี “หัวใจ” ที่รู้ร้อนรู้หนาวต่อ “ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง” “การละเมิดศีลธรรมพุทธศาสนา” และ “ความตาย” ของประชาชน ย่อมถือว่ามีความรับผิดชอบทางศีลธรรมมากกว่าพระสงฆ์กลุ่มใดๆ กล่าวคือ เป็นความรับผิดชอบที่สามารถอธิบายบทบาทของตนเองได้ ซึ่งในที่นี้คือบทบาททางศีลธรรมของพระสงฆ์ ต่อการที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบรามการชุมนุมของประชาชน ที่สามารถอธิบายต่อสาธารณะได้ว่า ตัวท่านเองที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองกับคนเสื้อแดง (ยัง) มี “หัวใจ” หรือมี “ความรู้สึก” ต่อความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรม (แม้ในความหมายตามที่ท่านเข้าใจยังอาจตั้งคำถามกันได้) รู้ร้อนรู้หนาวต่อความตาย ความสูญเสียของเพื่อนมนุษย์ และการละเมิดศีลธรรมพุทธศาสนาด้วยการฆ่าประชาชน! ซึ่งต่างจาก “การวางเฉย” ของคณะสงฆ์ที่เป็นตัวแทน “สถาบันสงฆ์” ที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลใดๆ ได้ถึงความรับผิดชอบทางศีลธรรมอันเป็นบทบาทที่สถาบันสงฆ์พึงมี ในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญสถาบันหนึ่งที่จำเป็นต้อง “มีความหมาย” ต่อการจรรโลงสันติภาพในสังคม ส่วนพระสงฆ์ที่แสดง “ความเป็นกลาง” ท่านจะอธิบาย “ความเป็นกลางทางศีลธรรม” ได้อย่างไร พูดตรงๆ คือท่านจะอธิบายต่อ “มโนธรรม” ของตนเอง และต่อ “มาตรฐานศีลธรรม” ในฐานะศิษย์ตถาคต ได้อย่างไรว่า ท่าน “ควรเป็นกลาง” ในสถานการณ์ “หมาป่ากับลูกแกะ” (ที่ “อาจจะ” นับศพ “เหยื่อ” ยังไม่เสร็จด้วยซ้ำ?!) เชิงอรรถ <1> พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).กรณีสันติอโศก.(กรุงเทพฯ: เปรียญธรรมสมาคม,2531).หน้า 27. <2> ในพุทธศาสนาไม่มีหลักการว่า “พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” เพราะวินัยสงฆ์ไม่ได้ห้ามไว้ แม้หลักการที่ว่า “พระสงฆ์ควรเป็นกลางทางการเมือง” พระสงฆ์ประเทศอื่นๆ ก็ไม่มี พระศรีลังกาสมัคร ส.ส.ได้ พระพม่าเลือกข้างทางการเมืองได้ พระธิเบตปกครองประเทศเสียเอง เป็นต้น <3> http://th.wikipedia.org/wiki%E0%B8%81% E0%B8%A3% E0%B8%B1% E0%B8%90%E0~B8~9A...1/9/2553. <4> ข้อสังเกตนี้ผู้เขียนได้รับฟังจาก ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ทาง Voice Tv. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น