โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จดหมายถึงนักโทษการเมือง 19 พฤษภา

Posted: 24 Sep 2010 02:08 PM PDT

ความผิดของนักโทษการเมืองคือไม่มีความผิด

ใน การปราบปรามผู้ชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ได้ มีการจับกุม และตัดสินลงโทษผู้ถูกจับกุมไปแล้วบางส่วน แต่เราไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าผู้ถูกจับและถูกตัดสินลงโทษจำนวนกี่คน ไม่ว่าจะมีมากน้อยเพียงไร พวกเขาคือวีรชน แห่งการต่อสู้กับอำมาตยา นอกจากการถูกจับกุมแล้ว พวกเขายังถูกห้ามเยี่ยมจากเพื่อนฝูง เยี่ยมได้เฉพาะพ่อ แม่ พี่และน้องเท่านั้น

ภายใต้การไร้เสรีภาพจาก การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกเขาต้องการกำลังใจและมั่นใจว่าพวกเขาไม่ถูกทอดทิ้ง การเขียนจดหมายไปถึงพวกเขาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้จดหมายนี้จะเป็นการแสดงประชามติให้สาธารณะรับรู้ว่ามีคนจำนวนมาก เชื่อว่าพวกเขาในสิ่งที่ถูกต้อง เราจึงขอให้ทุกคนช่วยเขียนจดหมายถึงพวกเขา

เงื่อนไขในการเขียนจดหมายถึงพวกเขา

1. ไม่ควรใช้ข้อความที่สุ่มเสี่ยง เพราะจดหมายทุกฉบับจะถูกตรวจสอบก่อนส่งต่อให้กับผู้รับ
2. ให้เขียนลายมือ เพื่อแสดงออกถึงการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และบอกถึงที่มาที่แตกต่างกัน

รายชื่อผู้ถูกจับกุมเท่าที่เรารวบรวมได้ซึ่งถูกขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม (แดน 8) มีดังนี้

1.นายกฤษณะ ธัญชยพงศ์
2.นายสุระชัย พริ้งพงศ์
3.นายแสวง จงกัญญา
4.นายวิษณุ กมลแมน
5.นายอภิวัฒน์ เกิดนอก
6.นายอำนวย ชัยแสนสุข
7.นายประยูร สุรพินิต
8.นายสมหมาย อินทนาคา
9.นายเอกสิทธิ์ แม่นงาม

ส่งไปที่

เรือนจำกลางคลองเปรม (แดน 8)
33/2 ถนนงามวงศ์วาน
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

พวก เราได้เปิดบล๊อกเพื่อแสดงจดหมายถึงนักโทษการเมือง 19 พฤษภา ถ้าท่านส่งจดหมายโปรดสแกนจดหมายและพิมพ์ข้อความในจดหมายสำหรับนำขึ้นบล๊อก เพื่อร่วมรณรงค์โครงการนี้ แล้วส่งมาที่ soacialmovethai@gmail.com

เนื่องจากเรามีรายชื่อจำกัดถ้าท่านมีรายชื่ออื่นๆจากเรือนจำต่างๆทั่วประเทศ ส่งมาหาเราตามอีเมล์ข้างบน

สมัชชาสังคมก้าวหน้า

แถลงการณ์เชิญชวนเขียนจดหมายถึงนักโทษการเมือง

สิทธิ เสรีภาพของประชาชนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นหลักสำคัญและยิ่งใหญ่ ที่สุด คือสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้ง สิ้น ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุม มีเสรีภาพในการพูดในสิ่งที่ศรัทธาและเชื่อมั่น แม้การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, การพูด และการชุมนุมนั้นจะไม่สอดคล้องต้องกันกับแนวทางของรัฐบาลก็ตาม

เรา ขอยืนยันว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาคู่กับกับมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดที่จะพรากสิทธินี้ไปได้ และรัฐบาลไม่อาจจับประชาชนที่คิดเห็นแตกต่างจากรัฐ ไปจองจำในคุกตารางแล้วอ้างว่า ความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆที่เห็นแตกต่างจากรัฐนั้นทำลายความมั่นคง ของประเทศ หากรัฐบาลใดจับขังประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างได้นั้น รัฐบาลนี้จะมีได้เฉพาะก็แต่ในประเทศที่มีการปกครองโดยคณะเผด็จการเท่านั้น

ใน ประเทศที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริงนั้น ความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลนั้นยิ่งสำคัญมาก เพราะมันเป็นการสะท้อนสิ่งที่ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลในการบริหารประเทศ และที่สำคัญเพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งหมดเพราะอำนาจในการบริหารนั้น มาจากประชาชนตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อประชาชนไม่พอใจในการ ทำงานของรัฐบาล ประชาชนก็มีสิทธิเรียกร้องรัฐบาลให้ลาออก หรือยุบสภา ซึ่งการเรียกเรียกร้องแบบนี้ เป็นไปตามกลไกลการปกครองตามระบบรัฐสภา และการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาหรือลาออกเป็นเงื่อนไขที่ธรรมดาที่เกิดขึ้น ทั่วโลก

หลัง การชุมนุมทางการเมืองของชาวนปช.ที่ผ่านมา รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมีการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวางมากมายเป็นประวัติการณ์ มีการไล่ล่าและจับกุมคนหลายร้อยคนที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาลโดยใช้กระบวนการ ทางศาลเป็นเครื่องมือมิหนำซ้ำเมื่อจับกุมแล้วก็ไม่ให้มีการประกันตัวใดๆทั้ง สิ้นโดยอ้างว่าคนที่ถูกจับกุมนั้นจะหลบหนี การกระทำของของนายอภิสิทธิ์และพวกพ้อง จึงเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีสิทธิอันใดทั้งสิ้นที่จะจับคุมขังชาวนปช.ที่คิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ได้ และศาลภายใต้การนำของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพวกพ้อง ก็ไม่มีสิทธิกักขังประชาชนที่มาชุมนุมทางการเมืองด้วยเช่นกัน

เรา สมัชชาสังคมก้าวหน้า จึงขอเชิญชวนพี่น้องทั่วทุกสารทิศที่ปรารถนาเห็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เขียนจดหมายถึงนักโทษทางการเมืองชาวนปช.ทุกคนที่ถูกจองจำในคุกทั่วประเทศ เพื่อเป็นการให้กำลังใจ สำหรับผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อเป็นการยืนยันว่า ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีสิทธิในการชุมนุมเพื่อต่อ ต้านรัฐบาล

สมัชชาสังคมก้าวหน้า


จดหมายจากนักโทษการเมือง สุรชัย พริ้งพงษ์

สวัสดี ครับ กระผม นายสุรชัย พริ้งพงษ์ อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นนักศึกษาและเป็นนักโทษคดีการเมือง ตัวกระผมนั้นโดนเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมมาในคดีพรก.ฉุกเฉินในวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 โดยตัวกระผมนั้นและคนอื่นโดนทหารซ้อมปางตายและ โดนตัดสินจำคุก 1 ปี โดยไม่มีการสอบสวนสืบสวนหรือรอลงอาญาใดๆทั้งสิ้น ทั้งๆที่ตัวกระผมนั้นมาชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยมาเป็นแนวร่วมกับพี่ น้องประชาชนเพื่อมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยไม่มีสิ่งใดที่เป็นอาวุธเลยแม้แต่ชิ้นเดียว แต่กลับถูกจับมาคุมขัง โดยไร้ความยุติธรรม จากรัฐบาลผิดกับฝ่ายทางพันธมิตรที่ไม่มีการดำเนินคดีใดๆเลยทั้งสิ้นทั้งๆที่ ทำผิดกฎหมายเช่นกัน ทั้งคดียึดสนามบินสุวรรณภูมิ บุกยึดทำเนียบรัฐบาลและไหนจะออกมาชุมนุมกันนับพันคนที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 7-8 สิงหาคมที่ผ่านมา และยังประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินอยู่ กระผมจึงเขียนมาขอร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่าย ซึ่งตัวกระผมนั้นก็มีภาระหน้าที่ๆจะต้องออกไปเรียนหนังสือต่อและเลี้ยงดูพ่อ แม่ ซึ่งกระผมเป็นลูกคนเดียวฐานะทางบ้านก็ยากจน ห่วงว่าพ่อกับแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดนั้นไม่มีใครดูแล เพราะอายุทั้งสองก็แก่มากแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็อยู่เพียงลำพัง ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็มิอาจทราบ

กระผม จึงขอความเป็นธรรม ขอความเมตตาเห็นใจจากรัฐบาลและหน่วยงานทุกฝ่าย เพื่อปล่อยตัวหรือลดโทษ ดังที่ได้เขียนมาจากกระดาษแผ่นนี้ ด้วยความเคารพ และขอขอบพระคุณป็นอย่างสูง

ด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง
นายสุรชัย พริ้งพงษ์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ้าหน้าที่พม่า-จีน พบหารือที่เชียงตุง คาดเอี่ยวความมั่นคงชายแดน

Posted: 24 Sep 2010 01:56 PM PDT

แหล่งข่าวชายแดนจีนแจ้งว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. กองทัพภาคสามเหลี่ยมของพม่า มีบก.อยู่ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก จัดส่งเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 20 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เดินทางด้วยรถยนต์ 4 คัน เข้าไปในเมืองลา ที่ตั้งบก.กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ติดชายแดนจีน เพื่อรับเจ้าหน้าที่จีนที่มีการนัดหมายกันไว้

หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารพม่าได้พบกับเจ้าหน้าที่จีน 6 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงชายแดน ที่ด่านชายแดนท่าล่อแล้ว ทั้งหมดได้เดินทางไปยังเมืองเชียงตุงทันที โดยที่ไม่ได้มีการแวะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NDAA แต่อย่างใด โดยทราบว่าทั้งสองฝ่ายได้มีการพบหารือกันที่เมืองเชียงตุง และจะเดินทางกลับเมืองลาในวันนี้ (24 ก.ย.) และมีกำหนดจะพักค้างที่เมืองลาหนึ่งคืนก่อนเดินทางกลับ

แหล่งข่าวเผยว่า การพบหารือของเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียด ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่า อาจมีประเด็นการจัดระเบียบชายแดน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหากองกำลังหยุดยิงที่แข็งข้อต่อรัฐบาลทหารพม่าที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดนจีนรวมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันทหารพม่าในภาคเหนือของรัฐฉาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับเจ้าหน้าที่ของจีนที่ชายแดนด้านตรงข้ามเมืองแลมของจีน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของกองกำลังว้า UWSA แต่มีไม่รายงานถึงรายละเอียดในเรื่องนี้เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ทางการพม่าได้ยื่นคำขาดให้กองกำลังหยุดยิงเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชาย แดน BGF ภายในวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ระบุหากขืนจะถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย ขณะที่กลุ่มหยุดยิง 4 กลุ่ม ได้แก่ กองกำลังว้า UWSA กองกำลังเมืองลา NDAA กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N และกองกำลังคะฉิ่น KIA ได้จับมือกันตั้งเป็นกลุ่มสัมพันธมิตรพร้อมกับมีการเตรียมความพร้อมด้านการทหารเพื่อรับการปราบปรามของกองทัพพม่าอย่างคึกคัก

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจมาเลย์บุกจับนักวาดการ์ตูนก่อนงานเปิดตัวหนังสือ

Posted: 24 Sep 2010 01:03 PM PDT

"ซูนาร์" นักวาดการ์ตูนประจำ "มาเลเซียกินี" ถูกตำรวจมาเลย์บุกจับ ในข้อหา "ก่ออันตรายต่อระเบียบสาธารณะ" และ "ชักจูงประชาชนให้คัดค้านนโยบายรัฐบาล" พร้อมยึดหนังสือรวมเล่มการ์ตูนล่าสุดของเขาไว้จำนวนหนึ่ง โดยนักวาดการ์ตูนผู้นี้ไม่สามารถร่วมงานเปิดตัวหนังสือการ์ตูนเล่มล่าสุดของเขาซึ่งมีกำหนดจัดช่วงเย็นได้ เนื่องจากไม่ได้ประกันตัว

คลิปข่าวจับ "ซูนาร์" นักวาดการ์ตูนประจำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "มาเลเซียกินี" (ที่มา: Malaysiakini.tv)

ซูลคิฟลี อันวาร อุลฮาร์ค (Zulkiflee Anwar Ulhaque) หรือ "ซูนาร์" (Zunar) นักวาดการ์ตูนประจำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "มาเลเซียกินี" (ที่มาของภาพ: http://freewebcomic.com/tag/zunar/)

ภาพการ์ตูนในหนังสือ "Cartoon-o-phobia" เล่มล่าสุดของซูนาร์ ล้อบทบาทของ (Rosmah Mansor) ภรรยาที่มีอิทธิพลเหนือสามีคือนาญิป ตุนราซัค นายกรัฐมนตรีปัจจุบันของมาเลเซีย (ที่มา: Malaysiakini)

ภาพการ์ตูนในหนังสือ "Cartoon-o-phobia" เล่มล่าสุดของซูนาร์ ตีพิมพ์ในมาเลเซียกินีเมื่อ 31 ส.ค. ซึ่งเป็นวันประกาศเอกราชของมาเลเซีย ภาพนี้สะท้อนความไม่พอใจนโยบายของผู้ปกครองหลังได้รับเอกราชอย่างชัดเจน โดยในภาพซ้ายมือสะท้อนว่าสมัยอาณานิคมมีอังกฤษเป็นผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครองเป็นคนในมาเลเซียที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ ภาพขวามือซึ่งเปลี่ยนเป็นธงชาติมาเลเซียปัจจุบันแล้ว ผู้ใต้ปกครองยังเป็นคนกลุ่มเดิม เปลี่ยนแต่ผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่มีชาวมลายูเป็นชนชั้นนำ

บรรยากาศในงานเปิดตัวหนังสือ "Cartoon-o-phobia" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ที่หอประชุมสมาคมชาวจีนรัฐสลังงอร์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีผู้กล่าวเปิดตัวหนังสือได้แก่ (จากซ้ายไปขวา) ฟาซินา โรสเลย์ (Fazlina Rosley) ภรรยาของซูนาร์ ซึ่งมาแทนเจ้าของผลงานที่เพิ่งถูกตำรวจจับ สตีเฟน กัน (Steven Gan) หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "มาเลเซียกินี" และอดีตมุขมนตรีรัฐเปรัค นิซาร์ จาลาลุดดิน (Nizar Jamaluddin)

นิซาร์ จาลาลุดดิน อดีตมุขมนตรีรัฐเปรัค โชว์ภาพในหนังสือรวมเล่มการ์ตูน "Cartoon-o-phobia" งานนี้ทั้งงานมีหนังสือเพียงเล่มเดียว โดยไม่มีการนำหนังสือมาวางจำหน่ายในงานเนื่องจากเกรงจะถูกตำรวจยึด โดยภายนอกมีตำรวจวางกำลังกว่า 20 นาย สังเกตการณ์ภายนอกหอประชุม

จับการ์ตูนนิสต์ "มาเลเซียกินี" ข้อหาปลุกระดม ก่อนงานเปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุด

กัวลาลัมเปอร์ - ซูลคิฟลี อันวาร อุลฮาร์ค (Zulkiflee Anwar Ulhaque) หรือ "ซูนาร์" (Zunar) นักเขียนการ์ตูนประจำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "มาเลเซียกินี" (Malaysiakini) ในมาเลเซีย ถูกตำรวจมาเลเซียจับช่วงเย็นวานนี้ (24 ก.ย.) ในข้อหา "ก่ออันตรายต่อระเบียบสาธารณะ" และ "ชักจูงประชาชนให้คัดค้านนโยบายรัฐบาล" ตามกฎหมายป้องกันการปลุกระดม (the Sedition Act) หลังตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนฉบับรวมผลงานของเขาที่ชื่อ "Cartoon-o-phobia"

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมเขาที่สำนักงานของหนังสือพิมพ์มาเลเซียกินี ย่านบริกฟิวด์ กัวลาลัมเปอร์ พร้อมยึดหนังสือการ์ตูนของเขาที่ชื่อว่า "Cartoon-o-phobia" ซึ่งเป็นการรวมเล่มฉบับล่าสุดจำนวน 65 เล่ม โดยหนังสือดังกล่าวมีกำหนดเปิดตัวช่วงค่ำวันศุกร์ โดยซูนาร์ถูกส่งไปยังสถานีตำรวจเขตเซปัง (Sepang) ย่านชานเมืองทิศใต้ ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปราว 60 กิโลเมตร โดยยังไม่ได้รับการประกันตัว

สำหรับหนังสือเล่มล่าสุดของ "ซูนาร์" เป็นการรวมการ์ตูนล้อการเมืองมาเลเซียที่เขาเขียนลงในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "มาเลเซียกินี" เนื้อหาเป็นการ์ตูนล้อการเมือง-สังคมมาเลเซีย โดยเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีการโจมตีนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียว่าเป็นพวกนิยมอิสราเอล, ภรรยาของนายนาจีป ราซัค นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน, ปัญหารัฐซาราวัก, นโยบาย 1 มาเลเซีย ที่เรียกร้องความกลมเกลียวและเอกภาพในชาติ, ประเด็นเชื้อชาติ ปัญหาคอรัปชั่น และอื่นๆ

ซูนาร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวมาเลเซียกินีก่อนถูกจับกุมไม่นานนักว่า ที่หนังสือเล่มใหม่มีชื่อว่า "Cartoon-o-phobia" เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพความกลัวของพรรครัฐบาลที่มีต่อการ์ตูน

"ผมเลือกใช้คำใหม่ซึ่งกินความว่า กลุ่มคนหรือพรรคที่กลัวการ์ตูน และใช้อำนาจทางการเมืองต่อต้านนักวาดการ์ตูน" เขากล่าว เขาบอกด้วยว่าเนื้อหาในหนังสือรวมผลงานเล่มล่าสุดของเขา กัดเจ็บกว่าเล่มก่อนหน้านี้

ทั้งนี้หนังสือรวมผลงานการ์ตูน 3 เล่มของเขาก่อนหน้านี้ได้แก่ "1 Funny Malaysia", "Perak Darul Kartun" และ "Isu Dalam Kartun" ถูกกระทรวงมหาดไทยสั่งแบน เนื่องจาก "มีเนื้อหาก่ออันตรายต่อระเบียบสาธารณะ และ ชักจูงประชาชนให้คัดค้านนโยบายรัฐบาล"

 

ผู้จัดยังคงเดินหน้าจัดงาน ขณะที่เจ้าของผลงานยังถูกจับกุม

ทั้งนี้ สำนักพิมพ์กินีบุ๊คส์ ผู้พิมพ์หนังสือดังกล่าว ยังคงจัดเปิดตัวหนังสือ "Cartoon-o-phobia" ในช่วง 20.30 น. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ที่หอประชุมสมาคมชาวจีนรัฐสลังงอร์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมี อดีตมุขมนตรีรัฐเปรัค นิซาร์ จาลาลุดดิน (Nizar Jamaluddin) สตีเฟน กัน (Steven Gan) หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "มาเลเซียกินี" และภรรยาของ "ซูนาร์" ฟาซินา โรสเลย์ (Fazlina Rosley) โดยมีตำรวจมาเลเซียราว 20 นาย สังเกตการณ์อยู่ภายนอกหอประชุม โดยการเปิดตัวหนังสือดังกล่าวไม่มีการนำหนังสือมาวางจำหน่ายด้วย เนื่องจากกลัวถูกตำรวจมาเลเซียยึด

ปราเมศ จันดรัน (Premesh Chandran) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมาเลเซียกินี กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า "เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนไม่มาร่วมงานเปิดตัวหนังสือของเขา!"

โดยอดีตมุขมนตรีรัฐเปรัค กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือว่า "ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าในประเทศตะวันตกจะมีการจับกุมนักวาดการ์ตูน หรือมีการแบนการ์ตูนของพวกเขา" "พวกเราจะอยู่กันได้อย่างไร พวกเราอยู่ในยุคที่จะได้เห็นหนังสือต้องห้ามหรือ?"

ด้านฟาซินา ภรรยาของซูนาร์ อ่านเอสเอ็มเอส ที่สามีส่งมาให้ล่าสุดว่า "รัฐบาลกลัวหนังสือของผม พวกเขาอาจขังผมได้ แต่ไม่สามารถขังจิตใจผมได้"

ด้านสตีเฟน กัน หัวหน้ากองบรรณาธิการ "มาเลเซียกินี" กล่าวว่า การรายงานเหตุการณ์ให้เป็นข่าวใน 500 คำสำหรับนักข่าวเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่ยิ่งยากกว่าเมื่อนักวาดการ์ตูนต้องแทนเหตุการณ์ด้วยภาพ 1 ภาพ สตีเฟนยังเชิญชวนให้ผู้อ่าน หาหนังสือผลงานของซูนาร์เล่มล่าสุดเก็บไว้คนละเล่มสองเล่ม หรือนำไปฝากเพื่อนฝูง ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะถูกแบน

"การเผยแพร่หนังสือการ์ตูนล่าสุดของซูนาร์ หลังจากที่ได้มีการแบนหนังสือการ์ตูนเล่มก่อนๆ ของเขา ก็คือวิธีการชูนิ้วกลางต่อผู้มีอำนาจของซูนาร์"

"คุณเอารูปมหาธีร์ (มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี) และนาญิป (นาญิป ตุนราซัค นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) ขึ้นปกหนังสือได้ แต่ถ้าเป็นรูปโรสมา (ภรรยาของนาจีฟ) เมื่อไหร่ มีเรื่องเมื่อนั้น" เขากล่าว ท่ามกลางเสียงหัวเราะของผู้ร่วมงานเปิดตัวหนังสือ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอนที่ 2: ถ้าไม่เปิดพื้นที่ให้หลากหลาย สื่อก็จะไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม

Posted: 24 Sep 2010 12:34 PM PDT

 

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิมูลนิธิ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป



 

ตอนที่ 2 ปราปต์ บุนปาน: ถ้าไม่เปิดพื้นที่ให้หลากหลาย สื่อก็จะไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม

นับจาก พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มติชนออนไลน์ก็ถือว่ามีอายุมาได้ 13 ขวบปีแล้ว จริงอยู่ว่า ที่จุดเริ่มต้นแนวทางของมติชนอาจจะไม่แตกต่างจากสื่อกระแสหลักเดิมที่มีอยู่ในประเทศนี้ และมุมอื่นๆ ของโลก นั่นคือการไม่อาจทัดทานกับเทคโลยีใหม่ ที่มาพร้อมช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อันนำมาสู่การต้องปรับทิศทาง หรือขยายช่องทางในการนำเสนอมากขึ้น ทว่า หากอ่านด้วยสายตาวิเคราะห์วิจารณ์ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า มติชนออนไลน์นั้น มีแนวทางที่ “เป็นตัวของตัวเอง” มากขึ้น และเดินออกห่างจาก “เงา” ของสื่อสิ่งพิมพ์มาไกลกว่าสื่อกระแสหลักสำนักอื่นๆ ในประเทศนี้

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ก็ค่อยๆ ปรับแนวทางการทำงาน จากเดิมที่อิงอยู่กับข่าวรายวัน มาสู่การมีกองบรรณาธิการของเว็บไซต์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งปัจจุบันมีทีมงานอยู่ 17 ชีวิต ซึ่งสามารถอัพโหลดข่าวได้ด้วยตัวเอง และไต่ระดับความนิยมจากผู้อ่านมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีตัวเลขผู้เข้าชมสูงถึงราว 150,000 200,000 ยูนิคไอพีต่อวันในช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองร้อนแรงมากที่สุด เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม ที่ผ่านมา และกลับมาอยู่ที่ตัวเลขประมาณ 60,000 ยูนิคไอพีต่อวันในสถานการณ์ที่ลดความร้อนแรงทางการเมืองลง

ในความนิยมชมชอบนั้น ตามติดมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระแวงระวัง “มติชนพักหลังๆ แดงขึ้นหรือเปล่า” ความแดงและไม่แดงนี้ ส่งผลอะไรต่อการดำรงอยู่ของมติชนออนไลน์บ้างหรือไม่……

ประชาไทสัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในฐานะบรรณาธิการข่าวมติชนออนไลน์ ซึ่งเขาอธิบายว่าตัวเขาเริ่มหันมารับผิดชอบเว็บไซต์มติชนออนไลน์มา 1 ปี แล้ว โดยที่ความสนใจส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับสื่อออนไลน์นั้นไม่ได้มุ่งไปที่เทคโนโลยีของมันมากเท่ากับที่กำลังคิดว่ามันคือพื้นที่ “ผมจะมองมันในฐานะพื้นที่หนึ่ง ถ้าเรามีพื้นที่ใหม่เราจะเล่นอะไรกับมันได้บ้าง จะนำเสนออะไรได้บ้างนะครับ” เขาตอบด้วยใบหน้าเจือรอยยิ้ม แต่นัยน์ตาครุ่นคิด

ตัวเขาเองก็ยังไม่ชัดเจนกับความหมายของนิวมีเดียหากแต่มองว่ามันคือพื้นที่หนึ่งในการนำเสนอข่าว และเป็นพื้นที่ใหม่ที่อาจจะเปิดโอกาสให้คนหลากหลายมากขึ้น และเปิดให้นำเสนอได้มากกว่าสื่อกระแสหลัก

“มันอาจจะเป็นพื้นที่ใหม่ที่อาจจะเปิดโอกาสให้หลายๆ คน เสนอข่าวที่มันไม่มีที่ทางในกระแสหลัก หรือบทความงานเขียนอะไรบ้างส่วน มันได้มาเผยแพรตรงพื้นที่นี้ได้ คือคล้ายๆ ว่า คือเราพูดถึง new media เราอาจจะคิดถึงว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่ ถ้าคิดแบบคร่าวๆ ตอนนี้ ก็คิดว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่ แล้วก็เพราะว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่มันก็เลยมีช่องทางให้เรานำเสนออะไรได้มากกว่าสื่อกระแสหลักเดิม”

เปิดประเด็นเช่นนั้นแล้ว แปลว่าสื่อหลักเดิม เช่นสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ในเครือของมติชน มีข้อจำกัดในการนำเสนออย่างนั้นหรือ เราถาม และเขาตอบว่า

“ก็อาจจะเป็นได้ ก็คือคล้ายๆ ว่า มันอาจจะเปิดพื้นที่ได้ไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมที่มันกำลังเปลี่ยนไปอย่างนี้ บางทีตัวสื่อหลักเดิมอาจจะมีพื้นที่ไม่พอ คือในแง่พื้นที่ในการนำเสนอก็ชัดอยู่แล้วว่า หนังสือพิมพ์เขาจะมีพื้นที่จำกัด แต่ขณะที่อินเตอร์เน็ตมันเกินกว่านั้นได้ แต่ขณะเดียวกันสื่อใน อินเตอร์เน็ตหรือสื่อใหม่ที่ก็จะมีคุณลักษณะอะไรบางอย่างซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องของความคิดด้วย ซึ่งคนทำสื่อหลักเดิมก็อาจจะเป็นไปอีกแบบหนึ่ง คล้ายๆกับสื่อใหม่ ในพื้นที่ใหม่ อาจจะเปิดให้มีเพดานที่สูงขึ้น หรือเน้นพื้นที่ให้เปิดกว้างทางความคิดหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ผมก็กำลังคิดๆ อยู่เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม ปราบไม่แน่ใจว่า เมื่อพูดถึงพื้นที่ออนไลน์ นั่นจะหมายถึงพื้นที่ใหม่ห่างเสรีภาพได้จริงๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลายกรณีที่ผ่านมา ทั้งการจับกุมหรือไล่ปิดเว็บไซต์ต่างๆ

“ถ้าพูดถึงว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่ด้วยไหม มันก็ไม่แน่ใจว่าพื้นที่นี้มันจะเปิดได้ตลอด อย่างเช่นกรณีที่ประชาไท หรือเว็บบอร์ดต่างๆ ที่ถูกปิดไปในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พื้นที่ใหม่นี้จะเปิดได้จริงแค่ไหน หรืออย่างว่ามันมีอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงเมษา-พฤษภา ที่ผ่านมา มติชนเรา พอประชาไทถูกบล็อกหรือพวกเว็บบอร์ด หรือคนเหมือนกันถูกบล็อก เราก็พยายามตามดึงเนื้อหาบางส่วนในเว็บพวกนั้นมา แต่เราก็จะไม่โดนอะไร มันก็เกิดคำถามว่าบางส่วนโดนนะ แต่พอเราเอามาเล่นก็ยังไม่โดนอะไร เขาอาจจะแค่จับตาอยู่เฉยๆ ซึ่งมันก็ทำให้เห็นเหมือนกันว่า ถ้าเรามองว่าเป็นพื้นที่ใหม่ตรงนี้ อำนาจรัฐก็อาจจะยังไม่ได้มาลงหลักปักฐานให้มันชัด คือบางส่วนก็จะทำไปได้ แต่บางส่วนก็อาจจะไม่แน่ใจว่าจะทำดีหรือไม่ทำ มันก็เลยเป็นส่วนที่ท้าทาย ว่าเราจะจัดการหรือนำเสนอข่าวในพื้นที่ใหม่ตรงนี้ยังไง”

แม้มติชนจะยังไม่ถึงกับต้องปิดตัวเอง หรือรู้สึกสั่นสะเทือนต่อการตักเตือนจากรัฐ และยังไม่ปรากฏว่ามีการส่งสัญญาณถึงผู้ดูแลเว็บไซต์โดยตรง ทว่า เพื่อความไม่ประมาท ในช่วงที่การเมืองร้อนแรงถึงขีดสุด มติชนออนไลน์ก็เลือกที่จะปิดการแสดงความเห็นท้ายข่าวไปก่อน เมื่อเราถามง่ายๆ ก็คือ ท้ายข่าวของมติชนออนไลน์ดูเหมือนจะมีเสื้อแดงเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เขาตอบสั้นๆ ว่า “ใช่”

โดยอธิบายต่อไปว่า

“เท่าที่มีข้อสังเกตคร่าวๆ ก็คือ ก็คล้ายๆ กับว่าพื้นที่ของคนเสื้อแดงถูกปิดไปหลายๆ พื้นที่ เพราะฉะนั้นพอสื่อกระแสหลักมาเปิดพื้นที่ให้เขาบางบางส่วนอย่างนี้ มันก็เป็นพื้นที่ ที่เขาจะมาแสดงความเห็น หรือมาแสดงบทบาทอะไรได้ คือมันก็ช่วยไม่ได้ที่มันถูกปิดไปเยอะ ถ้ามันมีอะไรเปิดขึ้นมาจุกหนึ่ง คนก็ต้องมาทางนี้”

เมื่อเราตั้งข้อสังเกตว่า มติชนออนไลน์ ดูจะแตกต่างจากมติชนรายวันมากขึ้นทุกทีๆ แถมพกด้วยขอกล่าวหาว่า “แดง” ขึ้นด้วย เขาบอกว่า นั่นเพราะเว็บไซต์นั้นแยกกอง บ.ก.ออกมาจากมติชนรายวันแล้ว ซึ่งนี่อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้ “ออนไลน์” ต่างจาก “รายวัน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นกับสื่อหลักรายอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้ต่างได้จริงๆ ก็คงจะไม่พ้น “บุคลากร” และ “วิธีการทำงาน” ซึ่งแตกต่างกัน

“คือเว็บไซต์ก็จะแยกกองออกมา เพราะฉะนั้นมันจะมีจุดต่างระหว่างหนังสือพิมพ์มติชนกับเว็บไซต์มติชน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าในกอง บ.ก. มติชนเอง อย่างในช่วงเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา มันก็ต้องเริ่มจากฐานก่อน ฐานก็คือลักษณะงานมันอาจจะยังไม่ได้เป็นกอง บ.ก. อย่างลงตัว ประเภทกระจายงานให้นักข่าวทำ ตามคำสั่งหัวหน้าข่าว ตามคำสั่งกอง บ.ก. แล้วนักข่าวก็ทำมา แต่มันจะเป็นลักษณะเหมือนกึ่งๆ ซึ่งมันก็สะท้อนภาพของพื้นที่ออนไลน์หรือชุมชนออนไลน์ มันจะมีลักษณะต่างคนต่างยิงข่าวด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายในเนื้อหาและก็ปะทะพอสมควร บางคนที่สนใจเสื้อแดง เขาก็จะออกไปทำสกู๊ป คนที่มาชุมนุมเสื้อแดง ขณะที่บางส่วนก็จะเห็นใจทหารก็ไปสัมภาษณ์ทหารที่โรงพยาบาล แต่เราเห็นว่าน่าสนใจดีที่ได้มาปะทะกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายด้วย เราก็พยายามจะคงพื้นที่ไว้ ว่าถ้าคุณมีความเห็นอะไรยังไงก็สามารถทำมันได้ในระดับหนึ่ง”

ปราปต์อธิบายว่า ลำดับชั้นในการทำงานของกองบรรณาธิการออนไลน์นั้น แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ชัดเจน นักข่าวมีอิสระที่จะอัพโหลดสกู๊ปด้วยตัวเอง ซึ่งเขามองว่า นี่ก็แทบจะไม่ต่างกับการใช้ facebook ,twitter หรือ blog แต่ในส่วนของข่าวนั้น ยังคงต้องตรวจสอบเนื้อหา ซึ่งยอมรับว่า หลุด และดูแลไม่ทั่งถึง แต่ช่วงหลังนี้ได้รับการเสริมทัพจากทางกองบรรณาธิการประชาชาติ ซึ่งเข้ามาดูแลเป็นหัวหน้าข่าว จึงมีการตรวจสอบได้ทั่วถึงขึ้น

ปล่อยให้เรื่องเล่าหรือข้อมูลปะทะกัน แล้วคนก็จะเลือกเชื่อได้เอง เรียนรู้ได้เอง

จุดใหญ่ใจความที่ทำให้สื่อออนไลน์น่าสนใจสำหรับปราปต์ ดูเหมือนจะอยู่ที่การเปิดเพดานของ “เนื้อหา” ที่จะนำเสนอมากกว่า รูปแบบ หรือความเร็ว

สื่อบางสำนัก พอพูดถึง new media เขาจะออกไปแนว มันต้องเป็น media มันต้องมีทั้งคอมฯ โน้ตบุค เน็ตบุค ดีวีดี สะพายกล้องเต็มเลย ผมคิดว่ามันอาจจะต้องคิดว่ามันยังไม่ใช่จุดสำคัญมากนัก มันอาจจะไม่ใช่เส้นแบ่งว่านี้คือ สื่อใหม่ ขณะที่ไม่ใช่แบบนี้คือสื่อเก่ามากเท่ากับว่าเราเห็นพื้นที่นี้ยังไง แล้วพยายามใส่สิ่งใหม่ๆ ลงไปยังไง หรือถ้าเรารู้สึกว่าพื้นที่ทาง internet มันกว้างมากขึ้น จนมันสามารถทำให้การแสดงความเห็นในเรื่องสังคมไทยให้มันมีเพดานสูงขึ้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะใส่อะไร ใส่เนื้อหายังไงมากกว่า อย่างเช่นหลายๆ ปีที่ผ่านมา หัวข้อบทกวีทางการเมืองมันแรงขึ้น ทั้งๆ ที่ในแง่หนึ่งถ้าเราพูดถึงบทกวี มันก็อาจจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เก่ามากเลยก็ได้ อาจจะเป็นเชิงมุขปาฐะเลยก็ได้ แต่ผมว่า ถ้าบทกวีมันมีเนื้อหาที่อยู่ข้างประชาธิปไตย อยู่ข้างคนที่ถูกกดขี่ คนที่ถูกกระทำ แล้วอธิบายสังคมตอนนี้ได้ดี แล้วมันถูกนำมาพิมพ์ลงใน facebook ก็ได้ หรืออาจถูกพิมพ์ลงในเว็บก็ได้ หรืออาจจะปรากฏในรูปของคลิปอ่านบทกวีก็ได้ คือนั่นมันก็คือสื่อใหม่ ในความเห็นของผม”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราถามว่า ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่ต้องการข้อเท็จจริง เช่นกรณีการล้อมปราบประชาชนในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สื่อใหม่ออนไลน์ และเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของการถูกสื่อกระแสหลักวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวการอย่างหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบแพร่กระจายออกไป ทำให้เกิดการขยายแพร่ความแตกแยก ปราปต์ กลับมองต่างออกไป

“ประเด็นแรกเลย ผมไม่คิดว่าคนอ่านจะเชื่อง่ายๆขนาด ว่ามีข่าวมาว่าอะไรก็เชื่อหมด หรืออย่างเช่นที่ผ่านมาก็เห็นแล้ว คนจำนวนมากเลยที่ active ในช่วงสังคม 4-5 ปี ที่ผ่านมา มันก็เลยอาจจะไม่อินกับเรื่องนี้ แล้วก็จะมีอีกประเด็นก็คือ ผมนึกถึงนิยายเรื่อง ลับแล แก่งคอย [1] เท่าที่ตีความในนิยายนั้นนะ คือไม่ได้รู้สึกว่าความจริงความลวง จะเป็นปัญหามากนัก จากนิยายเล่มนั้น เหมือนเขาพยายามเสนอว่ามันไม่มีความจริงที่สมบูรณ์ แล้วความคิดก็คือเรื่องเล่าต่างๆ ที่มาปะทะกัน พยายามคิดให้มันเป็นศิลปะ มันขึ้นอยู่กับรสนิยม สุนทรียะ ของคุณ ว่าคุณจะเลือกอะไร แต่นั่นมันก็คือนิยายนะ แต่ถ้ามาคิดเรื่องออนไลน์เราก็คิดว่า คนเขาคงไม่ได้ปักใจเชื่ออะไรต่างๆ ได้โดยง่ายแล้ว ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้มีความจริงสูงสุดอะไรที่เราหรือคนจะยึดเป็นหลักได้แล้วตอนนี้ มันเป็นความจริงที่หลากหลาย แล้วคนก็เลือกเชื่อหรือเลือกยึดกับมัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเราจะคิดว่ามันไม่มีความจริงเลย เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าดูในพื้นที่ของสื่อ internet อย่างกรณีคลิป ต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์เมษา พฤษภา เราก็สามารถเดินทางไปถึงข้อเท็จจริงบางอย่างได้เหมือนกัน คือมันอาจจะต่างมุมมอง ถ่ายจากต่างสถานที่ หรือว่าคนถ่ายอาจจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน แต่สุดท้าย มันก็แสดงให้คนว่ามีคนถูกยิง แล้วรัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้”

เขาบอกว่า ด้วยความจริงที่หลากหลาย และสติปัญญาของมนุษย์ที่จะคัดกรอง และไม่เชื่อว่าคนจะยอมเชื่ออะไรง่าย ฉะนั้นแล้ว เขาจึงไม่เชื่อว่าจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรม” ในการนำเสนอข่าวแบบที่มีบางกระแสเรียกร้องให้มี

“เราคิดว่ามันอาจจะไม่ใช่แล้ว มันอาจจะปล่อยให้เป็นเรื่องเล่าหรือข้อมูลที่มันมาเป็นการปะทะกัน แล้วคนก็จะเลือกเชื่อได้เอง แล้วก็เรียนรู้ได้เองว่าอันไหนคือข่าวลือ อันไหนคือข่าวจริง หรืออีกอย่างหนึ่งในเมื่อมันเป็นข่าวลือ ข่าวลวง ทำไมคนถึงเลือกที่จะยึดกับมัน มันอาจจะมีฟังชั่น อะไรบางอย่างหรือเปล่า อย่างเช่น มันอาจจะรองรับอุดมการณ์เขา แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือ สื่อหลักเองก็รับประกันไม่ได้หรอกว่ามันจะมีข่าวที่ถูกตรวจสอบทั้งหมด คือสื่อหลักเอง คนเขียน คนตรวจสอบ จะมีฐานคติอะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน สุดท้ายแล้วปัญหานี้มันจะไม่ต่างกันทั้งสื่อใหม่และสื่อกระแสหลัก ผมคิดว่าอย่างนั้น”

สิ่งที่เขาพูดนั้นท้าทายกลับไปยังสื่อหลักที่เป็นรากฐานขององค์กรสื่อของเขาเอง ซึ่งเขาบอกว่า เป็นเรื่องที่สื่อหลักต้องปรับตัว

“ผมก็คิดว่าต้องเปิดมากขึ้น ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนหลายกลุ่มมากขึ้น ถ้าในแง่ของสื่อหลักนะครับ คือจะเหมือนกับว่าคุณเชื่อว่าตัวเองคัดกรองข่าวมาแล้ว มันคือความจริงที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว อะไรอย่างนี้มา มันจะไม่ใช่แล้ว หน้าที่ของเราก็อาจจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ความคิดต่างๆ ได้มาปะทะกัน ให้ได้มา dialogue กันมากกว่า เพราะความที่หลากหลายในพื้นที่ตรงนั้นมันน่ารองรับสังคมที่เปลี่ยนไปได้มากกว่า แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือ มันจะทำให้คนทำงานในองค์กรสื่อเองได้เรียนรู้ด้วย เพราะอีกหน่อยก็ต้องยอมรับ อย่างเช่น กรณีมติชน มันก็เหมือนกับว่า สุดท้ายปัญญาชนที่ยังทำงานมติชน ก็ยังอยู่ในยุคของอาจารย์ นิธิ อาจารย์ผาสุก ในขณะที่คน หรือแม้แต่คนในองค์กร ก็ไม่ได้รู้ว่าปัญญาชนรุ่นถัดมาคิดยังไง หรือความคิดอื่นๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งมันอาจจะสามารถอธิบายสังคมได้ ขยายความต่อเนื่องมาจากปัญญาชนอีกรุ่นหนึ่งก็จะไม่เห็นแล้วอีกเหมือนกัน

“ซึ่งในแง่หนึ่งถ้าเราไม่เปิดพื้นที่ให้มันหลากหลาย หรือเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดมากขึ้น คิดอีกในแง่หนึ่ง สื่อก็จะไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมเอง ทั้งในแง่ที่คนอ่านก็คงจะหายไปจำนวนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันตัวคนทำด้วยก็จะมีปัญหาเองด้วยในการที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้น”

ไม่ว่าจะสื่อหลักหรือสื่อใหม่ สิ่งที่ต้องคอยตรวจสอบคือ อคติ

ปราปต์ยืนยันอยู่บนฐานคิดที่ว่า ความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งไม่น่าจะไปด้วยกันได้กับการทำหน้าที่รับชอบในการนำเสนอข้อเท็จจริงในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นสถาบันที่สถาปนาตัวเองมานาน และมีหลักจริยธรรมวิชาชีพที่ต้องเคารพและพึงถูกตรวจสอบ

“ต่อจะให้คุณจะมีหลักอะไรอย่างนี้ มันก็จะมีการตั้งคำถามกลับไปเหมือนกันว่า แล้วหลักที่คุณยึดจริงๆแล้วมันเป็นหลักจริงหรือเปล่า หรือบางแง่คือ คุณก็ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักนั้นเหมือนกัน ในแง่สื่อเก่านะ อย่างที่บอกคือประเภทข่าวจริง ข่าวลวง มันก็อาจจะไม่ได้ปรากฏในพื้นที่ internet แม้แต่สื่อกระดาษ สื่อทีวีดั้งเดิมเองก็จะมีลักษณะอย่างนี้กันทั้งนั้น มันก็เลยเหมือนว่า โดยความคิดส่วนตัวก็คืออยากให้ยอมรับ และทำความเข้าใจกับมันมากกว่า”

สำหรับตัวเขาแล้ว เมื่อถามดึงการจัดการกับอคติของคนทำข่าวซึ่งอาจเป็นสิ่งชักพาคนที่ทำหน้าที่เสนอข้อมูลไปในทิศทางทิศทางหนึ่งมากเกินไป เขาบอกว่า เขาไม่จัดการกับอุดมการณ์ทางการเมืองของทีมข่าว

“เราอำนวยการให้เต็มที่ แต่หมายถึงว่าเราก็อาจจะต้องคุมอะไรบางอย่าง เช่น คุณต้องอย่าอินเกินไป หรือถ้ามันหมดมุขขึ้นมาจริงๆ มันก็หมดไปได้ เช่น อย่างกรณีเสื้อแดง คนที่ทำก็บอกว่าอยากทำให้ต่อเนื่อง แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มันขาดหายไป แล้วเขาก็เลยด้วยการรวบรวมสาวเสื้อแดง เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มันก็อาจจะไม่ต้องทำก็ได้นะ คือไม่แน่ใจว่ามันมีประเด็นอะไรแค่ไหน คือเราก็ต้องควบคุมเหมือนกันว่าไม่ให้หลุดออกมาจากกรอบ เช่น ถ้าเสื้อแดงคุณอาจจะพูดถึงวิธีคิด การมองโลกอะไรของเขาไป พูดถึงสังคมชนบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไป พูดถึงการถูกกระทำ การไม่ได้รับความเป็นธรรม สองมาตรฐานก็ว่าไป

คือสุดท้ายคนก็จะเขียนอะไรจากมุมมองของตนเองทั้งนั้น แต่ทำยังไงให้มันไม่กระทบต่อคนอื่นอย่างเสียหาย หรืออย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ค่อยแฟร์ ต่อคนที่ถูกกล่าวถึง ซะมากกว่า แต่ถ้าพูดถึงหลักที่มันจะต้องมีจริยธรรมหรืออะไรที่ตรวจสอบได้ อันนี้มันอาจจะไม่ชัดมาก ก็ยังคิดอยู่ว่ามันยังใช่การได้อยู่หรือเปล่า”

คนไม่ได้เข้าเว็บไซต์เพื่ออ่านแค่เรื่องบันเทิง

ปราปต์ ยอมรับว่า หลังจากที่ตัดสินใจปิดพื้นที่แสดงความเห็นท้ายข่าวแล้ว ทำให้จับกระแสผู้อ่านยากขึ้น แต่ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา ทำให้เขาต้องเปลี่ยนมุมมองว่า เว็บไซต์จะอยู่ได้ด้วยข่าวบันเทิง แม้ว่าทุกวันนี้สัดส่วนข่าวบันเทิงจะยังคงเยอะอยู่ก็ตาม

“ความคิดของเราก็คือว่า คอลัมน์บันเทิงทำให้คนอ่านเยอะ คือที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้นเลย จนกระทั่งช่วงเมษา พฤษภา มันจึงเป็นฐานอันหนึ่งที่ทำให้เราเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนอ่านอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เขายังต้องการอ่านอะไรบางอย่างจากเรา แต่เราไม่ได้นำเสนอให้เขา อีกส่วนที่วัดได้ ก็คือมีนักวิชาการบางส่วน ส่งบทความเข้ามาช่วงสถานการณ์ คือเราคิดว่าเขาก็คงเห็นนะว่าเรามีพื้นที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเขาก็ส่งมาได้ หรือปัญญาชนบางคนเช่น คุณวิจักขณ์ (พานิช)ที่ทำเรื่องศาสนา เขาก็ส่งมา ซึ่งเราก็คิดว่าเขาก็คงเห็นอะไรบางอย่างว่าเรามีพื้นที่ตรงนั้นเขาถึงส่งเข้ามา เราก็จะจัดพื้นที่ตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ข่าวบันเทิงก็ยังคงอยู่ในสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับข่าวการเมือง ปราปต์อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความถนัดและความสนใจของทีมงาน และแม้ว่าตัวเลขคนอ่านข่าวบันเทิงหรือไลฟ์สไตล์จะสูง แต่ยอดที่สูงนั้นไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้น

“อาจจะเป็นเรื่องรุ่นจริงๆ เพราะว่าคนรุ่น 20กว่าๆ อยู่ด้วยกันเยอะๆ ช่วงที่เรารับเขาเข้ามาใหม่ๆ มันเริ่มจากการรับเขามาเป็นนักข่าวของศูนย์ข้อมูล คือคีย์ข่าว เราได้เด็กกลุ่มนี้มา แล้วก็เป็นเด็กผู้หญิงหมดเลย แล้วก็ความสนใจจะไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองเข้มข้นนัก เพราะว่าพื้นฐานของเขาเป็นไลฟ์สไตล์หมดเลย พอเราเปิดโอกาสเช่น ลองทำอะไรที่สนใจมาสิ มันก็จะไปทางนั้นหมด ซึ่งเราอาจจะต้องยอมรับเงื่อนไขแล้วก็พยายามปรับเหมือนกัน คือถ้าไปทางนั้นก็อาจจะต้องปรับให้มันดี แต่โดยธรรมชาติของคนทำงานก็จะทำให้เห็นเลยว่า มติชนก็จะมีอะไรอย่างนี้เยอะ ไลฟ์สไตล์หรือบันเทิง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ข่าวบันเทิงคนอ่านจะค่อนข้างมากพอสมควร แต่ในความมากของช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มันไม่ได้เพิ่มไอพีเลย คือไอพีมันจะนิ่งตลอด จนเราทุ่มให้กับประเด็นการเมืองในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่แหละ ที่ไอพีมันเพิ่มขึ้นแล้วก็ยังเพิ่มขึ้นติดกันอยู่จนถึงปัจจุบัน”

เรื่องแปลกแต่จริง คนอ่านเยอะ แต่ขายโฆษณายากเพราะ “แดง”!?

แม้ว่าตัวเลขผู้อ่านของมติชนออนไลน์จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทว่าเมื่อเราถามถึงการอยู่รอด ตัวเลขหกหมื่นคนอ่านต่อวัน กลับไม่ช่วยอะไร

“มันก็ยังยากอยู่นะครับ พูดถึงเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้อย่างเปิดกว้าง มันก็ต้องอาศัยโฆษณาอย่างเดียว คือโฆษณาจริงๆ อย่างช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มันดูเหมือนจะเยอะขึ้น พัฒนาขึ้น แต่ปรากฏว่าหลังเหตุการณ์ทางการเมือง มันมีแนวโน้มตกลง แล้วส่วนหนึ่งที่คนขายโฆษณาทางออนไลน์เขาพูด เหมือนสะท้อนมาด้วยว่า องค์กร ธุรกิจบางส่วน อาจจะเห็นว่าองค์กรเราออกไปทางสีแดง เพราะฉะนั้นก็จะระงับโฆษณาเหมือนกัน มันก็เลยส่วนทางกันกับยอด ก็เลยน่าสนใจเหมือนกันว่า ถ้าพูดถึงธุรกิจ เราก็จะนึกถึงผู้บริโภค อะไรอย่างนี้ไปแบบปกติ แต่การใช้ตรรกะสังคมไทยมันไม่ใช่อย่างนั้น”

ทำไมไม่ไปขอธุรกิจที่น่าจะเชียร์เสื้อแดงละ ถ้าตรรกะของลูกค้าโฆษณาเป็นแบบนั้น - เราล้อ แต่เขาตอบจริงๆ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาตั้งคำถามกลับว่า ทำไมกลุ่มธุรกิจถึงไม่คิดว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้บริโภคของตัวเอง

“ผมก็ไม่ได้ไปทำงานส่วนนี้ แต่มันก็น่าสนใจเหมือนกันว่า หรือเรามุ่งไปที่กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มหรือเปล่า ยังติดอยู่หรือเปล่า คือเราจะสามารถทำได้แค่ไหน แล้วขณะเดียวกันก็น่าสนใจเหมือนกันว่าทำไมเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้น ถ้ามองในแง่ของสายตานักธุรกิจต่างๆ เขาก็คิดว่าเสื้อแดงมันเป็นอะไรสักอย่าง นอกสังคม นอกระบบ แล้วเหมือนจะต้องตัดออกซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ คนเสื้อแดงไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยมนะ ใช่ไหม แล้วเสื้อแดงก็คือคนส่วนใหญ่เป็นคนชนบทที่พัฒนาเศรษฐกิจไปตามระบบทุนนิยม เพียงแต่ว่าเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรอย่างนี้ คือมันก็ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามเหมือนกันว่า จริงๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจนะ มันไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องโฆษณาตามมา คือเสื้อแดงเขาก็อาจจะเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองมากกว่า แต่มันก็ทำให้น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่าตรรกะของสังคมหรือว่าตรรกะของภาคธุรกิจเป็นแบบไหน”

ถ้ามองในแง่ของผู้บริโภคแล้ว ปราปต์ตั้งข้อสังเกตว่า อาการคล้ายๆ “แดง” ของมติชนนั้นส่งผลอย่างสูงต่อยอดจำหน่ายหนังสือ นั่นแปลว่า ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถูกนับโดยกลุ่มธุรกิจหลายๆ กลุ่มนั้น เป็นกลุ่มที่กว้างพอสมควร

“อย่างในมติชนสุดสัปดาห์ หรือข่าวสดเอง ยอดมันก็เพิ่มอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น มติชนสุดสัปดาห์ปกหน้าวัดปทุมฯ ตรงที่มีทหารบนรางรถไฟฟ้า ซึ่งยอดพิมพ์โดยเฉลี่ยก็จะ 8-9 หมื่นฉบับ แต่ยอดส่งคืนเล่มนั้น ส่งคืนแค่ 5 % เอง ก็หมายความว่าขายได้ 95 % ซึ่งมันก็น่าพอใจอยู่ ทีนี้มันก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารชั่งใจนะว่าคนบริโภคเยอะขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเรื่องโฆษณาจะทำยังไง”

สื่อใหม่ VS สื่อเก่า ไม่ใช่เรื่อง “เทคนิค” แต่คือ “เนื้อหา”

ปราปต์คิดว่า สื่อออนไลน์ กับสื่อกระแสหลักเดิมโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์นั้น ไม่ได้ทำงานในฐานะคู่แข่ง แต่หากเข้าใจตรงกันว่า สังคมต้องการความหลากหลายและการปะทะกันของข้อมูล สื่อทั้งสองแบบย่อมทำงานหนุนเสริมกันได้

 “สุดท้ายก็ต้องตั้งคำถามสื่อหลักว่า เขาเข้าใจสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แล้วพร้อมที่จะเปิดพื้นที่รับวิธีคิดอะไรใหม่ๆ แค่ไหน คือถ้าสมมติเขาเปิด ก็สามารถทำงานไปด้วยกันได้กับสื่อหลักดั่งเดิมกับสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ แล้วก็มันก็จะทำให้เรื่องรูปลักษณ์มันก็จะเห็นชัดมากขึ้น สื่อหลักก็จะเน้นในการนำเสนอข่าวในพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ไป ส่วนออนไลน์ก็ช่วยเพิ่มได้ในฐานะเป็นเชิงอรรถของสื่อหลัก หรือจะอัพเดทข่าว แบบ real time มันก็สามารถทำได้ แต่ถ้าสื่อหลักมองไม่เห็นตรงนี้ มันก็เป็นที่แน่นอนว่า สื่อหลักก็คงจะต้องลดบทบาทไป คือมันก็คงทำให้คนส่วนหนึ่งรู้สึกเหมือนกันว่า สื่อหลักก็ไม่ได้ตอบสนองเขามากพอ หรือสื่อกระแสหลักไม่ได้อธิบายกระแสของสังคมไทยได้ดีพอ สื่อกระแสหลักเองก็คงจะมาบ่นอย่างเดียวไม่ได้ อย่างเช่น คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสืออะไรอย่างนี้ มันก็อาจจะไม่ใช่เหมือนกัน ก็อาจจะต้องตั้งคำถามกลับไปเหมือนกันว่า หรือว่าเราทำในสิ่งที่เขาเห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องอ่านหรือเปล่า คือมันอาจจะต้องตั้งคำถามเหมือนกัน ถ้าสื่อหลักพยายามทำความเข้าใจตรงจุดนี้ ผมคิดว่าเราสามารถทำงานด้วยกันได้ แล้วมันจะมีประสิทธิภาพด้วยกันทั้งคู่ ทั้งสื่อหลัก แล้วก็สื่อออนไลน์”

เรายังพูดคุยกับปราปต์ต่อเนื่องในรายละเอียด ทั้งในแง่ของการทำงานของกองบรรณาธิการเว็บ และการมองบทบาทของพื้นที่ออนไลน์ ปราปต์นิ่งคิด และตอบในฐานะของคนที่กำลังทดลองทำ สำหรับปราปต์แล้ว นิวมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ ยังเป็นพื้นที่แห่งการทดลอง ซึ่งเขตแดนและกำแพงยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ยังเอื้อต่อการปล่อยให้ ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่หลากหลายขัดแย้งได้มาปะทะสังสรรค์กัน

“ก็ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่นำเสนอมากกว่า ว่าสิ่งที่โพสต์ใน twitter หรือ facebook มันคืออะไร มันมีเนื้อหายังไง มีกรอบวิธีคิดแบบไหน ก็อย่างที่บอกไปคือ ถ้ามันทำความเข้าใจกับสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ต่อให้มีเครื่องไม้เครื่องมือเต็มตัวก็ไม่แน่ใจว่าจะมีประโยชน์หรือเปล่า”

ทิศทางของมติชนออนไลน์ข้างหน้านั้น ยังคงอยู่กับการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้กับ “เนื้อหา” ที่หลากหลาย เขาไม่ตื่นเต้นกับ “เครื่องมือ” ใหม่ๆ มากนัก เขาไม่เห่อ twitter หรือ facebook และยังไม่คิดว่านักข่าวต้องรีบส่งข่าวจากภาคสนามด้วยเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ และประโยคที่เขาย้ำหลายๆ ครั้งก็คือ สื่อใหม่ไม่ใช่แค่เทคนิค แต่มันคือพื้นที่สำหรับ “เนื้อหา” ที่สื่อหลักอาจมีพื้นที่ให้ไม่เพียงพอต่างหาก

 

หมายเหตุ

ลับแล, แก่งคอย เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2552เขียนโดยอุทิศ เหมะมูล จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์

อ่านคำแนะนำหนังสือ http://www.naiin.com/ProductDetail.aspx?sku=BK502490283464448&AspxAutoDetectCookieSupport=1

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 2)

Posted: 24 Sep 2010 12:24 PM PDT

(ต่อจากตอนที่ 1)
อย่างไรก็ตาม การกล่าวหาดังกล่าวจะมีความเป็นมายาคติน้อยลงหากเพิ่ม ‘ข้อเท็จจริง’ ว่า บางส่วนของ ‘ผู้นำการพัฒนา’ นั้นมิได้ทำหน้าที่ของตนอย่าง ‘สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม’ ต่อผู้อื่น เช่นนายทุนที่บุกรุกทำลายป่าเพื่อเอาที่ดินมาทำการเกษตร (นายทุนดังกล่าวรวมถึงเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยด้วย) หรือสร้างรีสอร์ท นายธนาคารที่ใช้ความใกล้ชิดกับนักการเมืองแล้วขอให้รัฐบาลนำเงินงบประมาณมาช่วยแก้ปัญหาของธนาคารในยามประสบความเดือดร้อน นักธุรกิจที่ร่ำรวยจากสัมปทานจนได้ทำธุรกิจผูกขาดโดยจ่ายค่าสัมปทานคืนรัฐน้อยกว่าที่ควร

ยังมิพักต้องกล่าวถึงผู้ที่ฉ้อราษฎร์ บังหลวง โกงกินเงินงบประมาณ ฉ้อฉลเงินบริษัท ออกนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวก ซึ่งมีทั้งนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจ
ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่เกิดจากสาเหตุนี้จึงเป็นช่องว่างที่ไม่เป็นชอบธรรมและสังคมใดๆ ก็ไม่ควรยอมรับ ที่สำคัญช่องว่างที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบระหว่างกันที่ซ่อนเร้นอยู่ในระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองแล้ว นอกจากจะเป็นช่องว่างที่ไม่ ‘ชอบธรรม’ แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาในระดับโครงสร้างตามมาอย่างมากมาย เริ่มจากปัญหาในด้านเศรษฐกิจเอง ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยที่มากเกินควรจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเศรษฐกิจจะขยายตัวช้าและไม่ยั่งยืน เพราะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่มีศักยภาพตามธรรมชาติในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจแต่ขาดโอกาสที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการศึกษา ความรู้ เงินทุน และเส้นสาย เป็นต้น ระบบเศรษฐกิจโดยรวมจึงไม่ได้ประโยชน์จากคนเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย การขาดโอกาสอันควรเช่นนี้อาจถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกได้ เพราะเด็กที่พ่อแม่ยากจนมักเป็นเด็กด้อยโอกาสไปด้วย

อีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว คือเกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากเกินควร เนื่องจากการใช้อำนาจอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรมของผู้ทำลายซึ่งมักจะมีเงินทุนและเส้นสาย นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งต่อแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การต่อต้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
ปัญหาจากความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคมก็มีมากมาย เช่นความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับสิทธิต่างๆ เช่นสวัสดิการของรัฐ สิทธิการได้รับการดูแลและปกป้องตามกฎหมาย เป็นต้น ปัญหาการขายบริการทางเพศก็มีที่มาจากความไม่เท่าเทียมกันของฐานะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายบริการ ซึ่งมีรายได้ต่างกันมากจนทำให้เกิดตลาดการซื้อขายศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นมนุษย์ได้ (ประเทศที่มีความเท่าเทียมกันสูงมักไม่มีปัญหานี้ ไม่ว่าจะจนเท่าเทียมกันแบบประเทศอัฟริกา หรือรวยเท่าเทียมกันแบบประเทศแถบสแกนดิเนเวีย) หรือแม้กระทั่งปัญหาการเมืองเช่นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่เป็นมาตลอด หรือการแพร่ขยายของแนวคิดประชานิยมในระยะหลังและได้กลายเป็นสูตรสำเร็จทางการเมืองของนักการเมืองที่เน้นผลประโยชน์ระยะสั้น ก็เพราะมีความแตกต่างกันมากระหว่างชีวิตความเป็นอยู่จนทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงเกิดในวงกว้าง และการขายนโยบายประชานิยมได้รับการตอบสนองอย่างท่วมท้นจากผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เสียเปรียบและไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกับอภิสิทธิชนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทุกสังคมมักจะมีกลไกภายใน ที่ปฏิเสธไม่ให้ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนห่างมากขึ้นเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เช่นจะมีเสียงเรียกร้องให้มีการดูแลคนจนมากขึ้น (ไม่ใช่เพียงรอรับเศษเสี้ยวของประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) มีนโยบายใหม่ๆ ที่กระจายความเจริญไปสู่ภาคส่วนอื่นของประเทศหรือสังคม ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย การกระจายอำนาจการคลังหรือ fiscal decentralization ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวประมาณสิบปีหลังจากที่เศรษฐกิจไทยล้มเหลวในการลดช่องว่างด้วยระบบเศรษฐกิจเอง
หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สะท้อนความต้องการ ‘ปฏิรูป’แบบนี้ เช่นการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากมาร่วมการชุมนุมเพราะไม่พอใจที่พวกเขาในฐานะ ‘ผู้ตาม’ ได้รับส่วนแบ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่า

กระแสการปฏิรูปในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าส่งเสริม อย่างไรก็ตามต้องแยกแยะระหว่างมายาคติและข้อเท็จจริงของสาเหตุแห่งช่องว่างรายได้ที่ชอบธรรมและที่ไม่ชอบธรรมออกจากกัน และควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยต้องเน้นไปที่การปฏิรูปในส่วนที่ก่อให้เกิดช่องว่างที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่ต้องไม่ขัดขวางกระบวนทางเศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในตัวเองอยู่ เช่นต้องไม่ขัดขวางการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (ซึ่งมีส่วนช่วยลดความยากจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ นี่เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ไม่ควรปฏิเสธ) แต่ควรต้องเน้นให้เป็นการขยายตัวอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) คือให้ประชาชนทุกระดับชั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการมากที่สุด เท่าเทียมกันมากเท่าที่เป็นไปได้ และต้องขจัดรากเหง้าของความไม่ชอบให้หมดสิ้นไป หรือลดน้อยลง

แนวทางแก้ปัญหา
รากเหง้าของปัญหาการกระจายรายได้มิใช่อยู่ที่ระบบเศรษฐกิจเพียงประการเดียว แต่เป็นผลพวงจากความเหลื่อมล้ำในอำนาจทางการเมือง ซึ่งแสดงออกในรูปของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ชอบธรรมดังที่กล่าวถึงข้างต้น ความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมืองมีอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับการเมืองท้องถิ่นซึ่งยังการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ (โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส) ในการใช้สิทธิใช้เสียงทางการเมืองและการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังถูกครอบงำด้วยผู้มีอิทธิพลในท้องที่ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง การเลือกตั้งมีลักษณะขึ้นกับตัวบุคคลสูงผ่านระบบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมือง หัวคะแนน และชาวบ้าน จนทำให้ผู้ที่ต้องการทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นจริงๆ ไม่มีโอกาส ระบบอุปถัมภ์นี้เองที่เป็นฐานรากของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มี (have) กับผู้ไม่มี (have-not) ในสังคมไทย การเมืองแบบนี้ต่อยอดไปถึงการเมืองระดับประเทศ ซึ่งก็มีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนระดับชาติ ในการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนและกลุ่มตน

ดังนั้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงต้องควบคู่กันทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง และต้องอาศัยภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมกันเป็นกลไกขับเคลื่อนภายใต้แนวทางที่หลากมิติหรือแบบองค์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ในด้านเศรษฐกิจ รัฐควรเน้นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เอื้อต่อคนจน (pro-poor growth) เช่นการให้การศึกษาและทักษะกับแรงงานระดับล่างที่ตรงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวพร้อมๆ กับการแบ่งปันโภคผลของการเติบโตให้กับผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รัฐควรให้บริการประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ การว่างงาน โดยควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ รัฐและเอกชนควรร่วมมือกันพัฒนาเกษตรทางเลือกหรือเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อสร้างงานให้แรงงานเกษตรชายขอบ และบรรเทาปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมและปัญหาสุขภาพของเกษตรกร เป็นต้น

ทางด้านสังคม สังคมไทยต้องให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยเฉพาะการศึกษาในระดับกลางและระดับสูง และควรมีระบบแนะแนวการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมที่กำลังเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดหรือที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริง ควรให้การดูแลคนแก่ คนพิการและเด็กกำพร้าซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้ให้สามารถใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและมีอนาคต ควรมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมเพื่อลดการบริโภคนิยมในประชากรที่รายได้น้อยและไม่แน่นอนซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว สังคมควรเปลี่ยนรูปแบบทุนทางสังคมให้อยู่ในลักษณะแนวนอน (horizontal social capital) กล่าวคือเป็นทุนทางสังคมที่ยืนอยู่บนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน เพื่อทดแทนทุนทางสังคมในแนวตั้ง (vertical social capital) ที่เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะไม่เท่าเทียมกันดังเช่นระบบอุปถัมภ์ที่มีเน้นทุนทางสังคมระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้รับการอุปถัมภ์

ด้านการเมือง ควรให้มีกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่น พร้อมๆ กับการส่งเสริมภาคประชาคมในท้องถิ่นให้มีความสามารถในตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า อันจะนำไปสู่การมีส่วนรวมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างแท้จริงต่อไป การจัดสรรสาธารณสมบัติ (common property) ของชุมชนก็ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง องค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ก็ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและผลักดันประเด็น (advocate) อย่างมีคุณภาพและได้ผล (effective).
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" จี้ปล่อยตัว-ยกเลิกดำเนินคดี "จีรนุช"

Posted: 24 Sep 2010 11:38 AM PDT

24 ก.ย. 2553 - เว็บไซต์องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) เผยแพร่แถลงการณ์กรณีที่ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทถูกจับกุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังกลับจากการประชุมเรื่องเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต (รายละเอียดข่าวกรณีนี้ http://prachatai.com/journal/2010/09/31237)

โดยแถลงการณ์ระบุว่า พวกเขาขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวและยกเลิกการดำเนินคดีกับจีรนุชโดยทันที ไม่เช่นนั้นแล้วจะถือเป็นการนำกฏหมาย พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้กดขี่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอีกครั้ง

"ประชาไท เป็นแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่ให้ผู้คนสามารถติดตามรับรู้ข่าวสารความเป็นไปในประเทศไทยได้"

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุอีกว่า "เจ้าหน้าที่ควรรับรู้ด้วยว่า การที่ประชาไทตัดสินใจปิดตัวกระดานข่าวลง ก็เนื่องจากความยุ่งยากในการควบคุมความคิดเห็นที่โพสต์ในกระทู้ การจับกุมในครั้งนี้จึงไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการจับกุมที่ผิดกาลเทศะมาก จีรนุชเพิ่งจะกลับมาจากการประชุมนานาชาติเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งเธอได้รับเชิญไป"

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงานอีกว่า จีรนุช ได้เข้าร่วมการประชุม "Internet at Liberty 2010" ที่ Google และมหาวิทยาลัย Central European จัดขึ้นที่บูดาเปสวันที่ 20-22 กันยายน มีบล็อกเกอร์หลายร้อยคนมากกว่า 70 ชาติเข้าร่วม และประเทศไทยถูกลิสต์ไว้เป็นหนึ่งใน "ประเทศภายใต้การสอดส่อง" ในรายงานเรื่อง "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" ที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเคยรายงานเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา


ที่มา

News website editor arrested on return from international conference, RSF,24-09-2010
http://en.rsf.org/thailand-news-website-editor-arrested-on-24-09-2010,38440.html
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเคลื่อนไหวในสื่อต่างประเทศ กรณี "ผอ.ประชาไท" ถูกจับกุม

Posted: 24 Sep 2010 11:31 AM PDT

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. สื่อต่างประเทศหลายสำนักเกาะติดการรายงานข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 14.30 น. ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวเอพีของสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทม์ของสิงคโปร์ เว็บไซต์นิวส์ 24 สื่อของประเทศแอฟริกาใต้ และเว็บไซต์นิตยสารวิเคราะห์เศรษฐกิจ “ฟอร์บส์” รายงานว่า น.ส.จีรนุช ซึ่งรับหน้าที่เว็บมาสเตอร์ของประชาไท ถูกกักตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะเดินทางกลับจากการประชุมนานาชาติที่กรุงบูดาเปสต์ในฮังการี หรือ ‘Internet Freedom Conference’ ซึ่งเป็นการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต

เนื้อหาข่าวระบุว่าศาลในจังหวัดขอนแก่นเป็นหน่วยงานที่อนุมัติการออกหมายจับตัวจีรนุช ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคุมตัวจีรนุชไปรับฟังข้อกล่าวหาที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 445 ก.ม. ทั้งยังอ้างอิงรายงานประจำปี2552 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อในปีที่ผ่านมา ระบุว่าประเทศไทยตกจากอันดับ 65 ของกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อเมื่อปี 2545 มาอยู่ที่อันดับ 130 โดยมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลพยายามปราบปรามผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จนนำไปสู่สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงหลายครั้งหลายหน

นอกจากนี้ยังมีรายงานคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับฟ้อง ระบุว่าจีรนุชถูกกล่าวหาว่าทำผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14 และมาตรา15 รวมถึงมาตรา 112 ว่าด้วยการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายสมาชิกสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลไทยใช้เป็นเหตุผลสั่งปิดเว็บไซต์จำนวนมากตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ดิจิทัลเดม็อคเครซี่ (www.digital-democracy.org) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศไม่แสวงผลกำไร และทำหน้าที่พิทักษ์และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รายงานการจับกุมตัวจีรนุช และกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ใช้เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ “ทวิตเตอร์” ซึ่งรณรงค์ผ่านอินเทอร์เน็ตให้มีการติดแท็ก #freejiew ท้ายข้อความที่ผู้ใช้แต่ละคนโพสต์สู่สาธารณะ เพื่อแสดงความสนับสนุนจีรนุชและเว็บไซต์ประชาไท รวมถึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวจีรนุชโดยเร็ว และผู้ที่ต้องการติดตามข่าวการจับกุมตัวจีรนุช สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ http://freejiew.blogspot.com

ส่วนองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) องค์กรระหว่างประเทศด้านการปกป้องสิทธิสื่อ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ขององค์กร เมื่อ 25 ก.ย. เรียกร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปล่อยตัวจีรนุช และยกเลิกข้อกล่าวหาที่อ้าง พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ RSF ระบุเพิ่มเติมด้วยว่าเจ้าหน้าที่ของไทยควรตระหนักว่าประชาไทตัดสินใจปิดเว็บบอร์ดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของทางเว็บด้วยตัวเอง เพราะเข้าใจว่าการควบคุมการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของผู้ใช้ภายในเว็บเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และการจับกุมในครั้งนี้ยังเป็นเรื่องผิดจังหวะเวลาจนไม่อาจยอมรับได้ เพราะเป็นการจับกุมขณะที่จีรนุชเพิ่งเดินทางกลับจากการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ และเป็นการเข้าร่วมโดยได้รับเชิญจากผู้จัดอย่างเป็นทางการ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'จีรนุช' ได้ประกัน วางหลักทรัพย์สองแสนบาท

Posted: 24 Sep 2010 11:27 AM PDT

เวลา 00.58น. วันที่ 25 ก.ย. 53 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไทได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ทั้งนี้ ระหว่างสอบปากคำ น.ส.จีรนุช ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ ต้องมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่นอีกครั้งในวันที่ 24 ต.ค.53

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านั้น เวลาประมาณ 23.55น. มีแฟนเว็บบอร์ดประชาไท (ซึ่งปิดตัวไปแล้ว) ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เดินทางมาให้กำลังใจสิบกว่าคน

 


ภาพระหว่างสอบปากคำ ที่สภ.เมืองขอนแก่น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'สุภิญญา' ระบุ กระบวนการจับกุม 'จีรนุช' ไม่ปกติ พบหมายจับออกตั้งแต่ปี 52

Posted: 24 Sep 2010 08:28 AM PDT

(24 ก.ย. 53) น.ส.สุภิญญา กลางรณรงค์ กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความเห็นกรณีการจับกุมตัว น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท หลังกลับจากการประชุมเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ที่สนามบินสุวรรณภูมิว่า การจับกุมครั้งนี้ไม่ปกติหลายอย่าง โดยมีความสับสนในรายละเอียดปีของคดี และมีการออกหมายจับเมื่อปี 52 แต่ตำรวจกลับมาจับกุมที่สนามบิน

ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญามองว่า การมาจับตอนนี้ถือเป็นวิธีที่ไม่ชาญฉลาด เพราะจะทำให้ประเด็นนี้เป็นที่สนใจไปทั่วโลกและเป็นที่จับตา เนื่องจากจีรนุชเพิ่งกลับจากการร่วมประชุมเวทีระดับโลก 2 เวทีคือ การประชุมเรื่องธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดโดยสหประชาชาติ ที่ลิทัวเนีย และสัมมนาเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ที่สนับสนุนโดยกูเกิ้ล ที่ฮังการี

นอกจากนี้ จีรนุชถูกดำเนินคดีในฐานะที่เป็นตัวกลาง ซึ่งเรื่องตัวกลางกับการรับผิดแทนคนอื่นนั้นยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในระดับโลก ทั้งนี้ จีรนุชเองมีคดีในชั้นศาลที่จะต้องสืบคดีอยู่แล้วในเดือนหน้า ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องทำการจับกุม ไม่เป็นผลดีต่อใคร โดยเฉพาะรัฐไทยซึ่งจะถูกจับตา เพราะการไปร่วมงานประชุมเรื่องเสรีภาพแล้วถูกจับกุมขณะเดินทางกลับเข้าประเทศนั้น ไม่เกิดขึ้นบ่อยในไทย การจับนี้เป็นเหมือนระฆังที่ดังไปทั่วโลก ในประเทศเอง ก่อให้เกิดบรรยากาศความกลัว ทั้งนี้ ประชาไทเองก็ถูกบล็อคเว็บไซต์ หลายคนเข้าถึงไม่ได้อยู่แล้ว และยังได้ยกเลิกให้บริการเว็บบอร์ดไปก่อนหน้านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาไทได้ถอยมาและต้องเจอกับความเสี่ยงจากคดีต่างๆ อยู่แล้ว

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ในส่วนของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ก่อนหน้านี้ ได้ประสานกับทนายความและองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือด้านการประกันตัว และจะทวงถามรัฐบาลต่อไป เพราะคิดว่าเรื่องนี้ต้องมีคำอธิบาย ในส่วนกระแสในต่างประเทศต่อการจับกุมครั้งนี้ ขณะนี้ค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรง โดยตนเองได้รับโทรศัพท์และอีเมลในเรื่องนี้จำนวนมาก ต่อจากนี้ก็คงจะมีท่าทีจากองค์กรต่างๆ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน ขณะที่ในอินเทอร์เน็ตเอง ตอนนี้ก็การรณรงค์ให้กำลังใจผ่านทางทวิตเตอร์ด้วย

น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนั้น ด้านหนึ่งมองว่าคงจะต้องระวังตัวเอง เพราะกฎหมายมีความเข้มงวด ขณะเดียวกัน ผู้ใช้เน็ตก็ควรแสดงความห่วงใยหรือถามถึงความชัดเจนในการดำเนินคดีต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะกระบวนการเหล่านี้อาจกระทบกับผู้ใช้เองได้โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ มีผู้สร้างเว็บ http://freejiew.blogspot.com/ เพื่อดึงข้อความจากทวิตเตอร์ ซึ่งทวีตข้อความและใส่แท็ก #freejiew รวมถึงรวบรวมข้อมูลข่าวเกี่ยวกับการจับกุมครั้งนี้ด้วย ขณะที่นักกิจกรรมและผู้อ่านประชาไทที่ทราบข่าว ได้นัดพบกันให้กำลังใจ น.ส.จีรนุช ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ตรงข้ามห้างเซ็นโตซ่า ในเวลา 23.30น.

ความคืบหน้าล่าสุด (21.30น.) ตำรวจ จ.ขอนแก่นมารับตัว น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ต่อจากตำรวจ ต.ม. และเปลี่ยนรถที่โคราช มุ่งหน้าสู่ขอนแก่นต่อไป

 

(หมายเหตุ: เลขปีในเอกสารผิดพลาด เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการแก้ไข แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผิดจุดใด)

ล่าสุด จากการตรวจสอบพบว่า เหตุเกิดในปี พ.ศ.2551 และหมายศาลออกในปี 2552


หมายจับ

ศาลจังหวัดขอนแก่น
วันที่ 8 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2552

ความอาญา

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ผู้ร้อง
หมายถึง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น

ด้วย นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ซึ่งต้องหากระทำความผิดฐาน ร่วมกันประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด, ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ในความควบคุมของตนเอง

เพราะฉะนั้น ให้จับตัว นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ---(ข้อมูลส่วนบุคคล)-- ไปส่งที่ สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ภายในอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 27 เดือนเมษายน พ.ศ.2551 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ไม่เกินวันที่ 27 เดือนเมษายน พ.ศ.2566

ในใบที่ระบุตำหนิรูปพรรณผู้กระทำผิด
ระบุ ฐานความผิด ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ฯ

วันเดือนปีเวลาและสถานที่เกิดเหตุ 27 เมษายน 2551 เวลากลางคืน ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พนักงานสอบสวนระบุไม่ออกหมายเรียกจีรนุช เพราะเป็นคดีร้ายแรง

Posted: 24 Sep 2010 04:15 AM PDT

มติชนออนไลน์สัมภาษณ์พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีจับกุมจีรนุช เปรมชัยพร ระบุเหตุไม่ออกหมายเรียกก่อนเพราะเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรง

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานเมื่อเวลา 18.00 น. ว่านายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บ.ก.ข่าวเว็บไซต์ประชาไท เปิดเผย เมื่อเวลา 17.20น. ว่า ตนเองอยู่ระหว่างเดินทางไปประกันตัว น.ส. นส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่จ.ขอนแก่น หลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ผอ.เว๊บไซต์ข่าวประชาไท จากด่านตรวจคนเข้าเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างกำลังเดินทางกลับจากการประชุมเรื่อง Internet at Liberty 2010 ประเทศฮังการี เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีหมายจับจากศาล จ.ขอนแก่น โดยขณะนี้ตนยังไม่ทราบข้อกล่าวหาที่ชัดเจน ทราบเพียงว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และทางประชาไทไม่เคยได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด อย่างไร ก็ตาม ทราบว่า น.ส.จีรนุช ถูกควบคุมตัวไปยัง สภ.เมืองขอนแก่นด้วยรถตำรวจ เมื่อเวลา 17.00 น. โดยมีเพื่อนไปด้วยอีก 1 คนคือ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

ด้าน พ.ต.ท.ชัชพงษ์ พงษ์สุวรรณ์ พนักงานสอบสวน(สบ.2) สภ.เมืองขอนแก่น 1 ในคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว เปิดเผยว่า มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.จีรนุช ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตั้งแต่ปี 2551 โดย มีการดำเนินการพิจารณาความผิด ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการตำรวจภูธรภาค 4 และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นของ กองคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนกรณีที่ไม่มีหมายเรียกไปยัง น.ส.จีรนุช ก่อนหน้านี้นั้น พ.ต.ท.ชัชพงษ์ กล่าวว่า เป็นคดีที่ไม่ต้องออกหมายเรียก เพราะมีอัตราโทษร้ายแรง

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 14.30น. รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส. จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ถูกกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากกลับจากการประชุมเรื่อง Internet at Liberty 2010 ประเทศฮังการี เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีหมายจับจากศาล จ.ขอนแก่น และอาจจะต้องส่งตัวไปยังจ.ขอนแก่นภายในวันนี้ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบข้อกล่าวหาที่ชัดเจน หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

เมื่อเวลา 16.30 น. มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ข้อกล่าวหา น.ส. จีรนุช มาจากคดีหมายเลขคดี ปจว.ข้อ ก. หรือคดีที่ 4371/2551 วันที่ 11 ส.ค. 51 เป็นการฟ้องโดยผู้กำกับการ สภ.อ.ขอนแก่น ผู้ดูแลระบบร่วมกับผู้ใช้กระทำความผิดมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ และมาตรา 15 หมายระบุว่า ข้อความที่ผิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2552 ระบุสถานที่เกิดเหตุ ขอนแก่น โดยหมายจับลงวันที่ 8 ก.ย. 2552 มีชัชพงษ์ พงษ์สุวรรณ เป็นพนักงานสอบสวน

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า วันที่เดินทางไปยุโรปเพื่อร่วมการประชุมเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน น.ส.จีรนุช ได้ถูกเจ้าหน้าที่ ตม.กักตัวตรวจสอบโดยระบุว่า มีชื่อซ้ำกับคนที่จ.ขอนแก่น และในวันที่เดินทางกลับ ก็ถูกกักไว้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ก่อนจะแจ้งว่ามีหมายจับ จากศาลขอนแก่น

รายงานแจ้งว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำบันทึกจับกุมที่สนามบิน จากนั้น จึงส่งตัวน.ส.จีรนุชไปที่ สภ.อ.ขอนแก่น ทางรถยนต์ทันที โดยมีทนายความเดินทางไปด้วย ขณะที่กองบ.ก.ประชาไทและทีมส่วนหนึ่งได้เดินทางล่วงหน้าไปที่จ.ขอนแก่น เพื่อเตรียมการประกันตัว

หมายเหตุ ที่มาจาก www.maticon.co.th ขณะนี้กำลังดำเนินการย้ายเซิร์ฟเวอร์ ทำให้ไม่สามารถเข้าใช้ง่ายได้จนถึงเวลา 6.00 น. ของวันที่ 25 ก.ย.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพแถลงประณามกรณีจับผอ.ประชาไท

Posted: 24 Sep 2010 04:05 AM PDT

ชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพประณามกรณีจับผอ.ประชาไท จี้ให้ถอนคดีโดยทันที พร้อมลงโทษตำรวจที่ทำคดีเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่เลว ชี้ประชาไทได้ทำหน้าที่กำกับดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว เหมือนที่สื่อกระแสหลักมักเรียกร้องไม่ให้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซง พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาคมด้านสื่อ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสภาทนายความอย่าเพิกเฉย

แถลงการณ์ของชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพกรณีจับผอ.ประชาไท

ตามที่มีการจับกุมดำเนินคดีน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเวบไซต์ประชาไท ด้วยข้อกล่าวหากระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานเป็นผู้ดูแลระบบร่วมกับผู้ใช้กระทำผิดหมิ่นอาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ เกิดความผิดเมื่อวันที่ 27 เมษายนนั้น

ประชาชนและวิญญูชนย่อมทราบกันดีว่า เวบไซต์ประชาไทนั้นเป็นสื่อทางเลือกบนระบบอินเตอร์เน็ตที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารความเห็นอย่างรอบด้าน และทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในกระดานสนทนา(เว็บบอร์ด)ได้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีทัศนะทางการเมืองอย่างใด แต่ในสถานการณ์การเมืองที่เกิดวิกฤตการณ์ในระยะที่ผ่านมานั้น ทำให้ผู้ดูแลควบคุมดูแลเว็บบอร์ดได้ยากลำบาก กระทั่งได้ตัดใจปิดเว็บบอร์ดลงเองเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ดังนั้นการอ้างเหตุในการจับกุมดำเนินคดีในคราวนี้จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริตของเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลผู้กำกับดูแล และไม่สอดคล้องต่อข้อเท็จจริงที่ว่าน.ส.จีรนุชได้แสดงความรับผิดชอบในการกำกับดูแลตัวเองอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดังที่สื่อมวลชนกระแสหลักมักอ้างเรื่องจะ”กำกับดูแลตนเอง”เพื่อไม่ให้อำนาจรัฐแทรกแซงหรือครอบงำ

จึงขอเรียกร้องดังนี้

1.เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องถอนการดำเนินคดีโดยทันทีเป็นอันดับแรก และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลควรต้องลงโทษตำรวจที่ดำเนินคดีน.ส.จีรนุชเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในทางที่เลวเช่นนี้อีก

2.รัฐบาลตั้งแต่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯที่กำกับดูแลเรื่องสื่อคือนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ต้องเร่งให้หลักประกันต่อเสรีภาพของสื่อสารมวลชนว่าจะไม่มีคดีที่ไร้เหตุผลทำนองนี้อีก รวมทั้งศอฉ.สมควรต้องยกเลิกประกาศปิดสื่อต่างๆทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต นับแต่ประกาศปิดมาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เพราะเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ขัดต่อบทบีญญัติรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ รวมทั้งต้องยกเลิกการกระทำเผด็จการปิดแท่นพิมพ์ของred powerด้วย เพราะน่าละอายที่มีการกระทำเผด็จการด้อยพัฒนาป่าเถื่อนเช่นนี้

3.สมาคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ทั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยพึงต้องแสดงความกระตือรือร้นที่จะต้องออกมาแสดงบทบาทพิทักษ์ปกป้องเสรีภาพของสื่อสารมวลชนโดยเร็ว โดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งภาครัฐ อย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือสภาทนายความ หรือองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนพึงต้องแสดงความกระตือรือร้นที่จะต้องออกมาแสดงบทบาทพิทักษ์ปกป้องเสรีภาพของสื่อสารมวลชนโดยเร็ว โดยไม่เลือกปฏิบัติ

ชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพไทย

หมายเหตุ:เกี่ยวกับชมรมนักข่าวเพื่อเสรีภาพไทย ดูเพิ่มเติมที่ http://thaifreedompressclub.com/about_tfpc.php
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อสังเกตบางประการในการทำความเข้าใจ “สลิ่ม”

Posted: 24 Sep 2010 02:12 AM PDT

 

 

“สลิ่มเป็นงานอาร์ท”  ศ.ดร.นพ.ทพ.โน๊ต อุด้ง

 

(1)

สลิ่ม: พื้นที่ศักดิ์สิทธ์ทางวิชาการหรือแค่เรื่องตลกของยุคสมัย

ท่ามกลางความสับสนและความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศเทยในช่วงที่ผ่านมา พฤติกรรม (จริงๆสิ่งที่จะกล่าวต่อไปจะเรียกว่า “พฤติกรรม” ก็ดูจะไม่ตรงนัก แต่เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำนี้ไปพลางก่อน) ที่เรียกกันอย่างลำลองทางวิชาการว่า “สลิ่ม” (Salim) ได้ก่อตัวขึ้นและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ชนชั้นกลางของประเทศเทย(โดย เฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว) มีการถกเถียงกันในวงวิชาการอย่างมากมายและกว้างขวางต่อปรากฏการณ์ที่เกิด ขึ้น บ้างก็ว่ามันเป็นอาการของโรค (disease) บ้างก็ว่าเป็นความผิดปกติทางจิต (psychological disorder) บางส่วนบอกว่าเป็นอุปทานรวมหมู่(mass hysteria) บางคนถึงกับบอกว่า “สลิ่ม” เป็นเพียงวาทกรรม(ในความหมายแบบไทยๆ)ที่เอาไว้ discredit ฝ่ายที่คิดเห็นไม่ตรงกับพวกตน

อย่างไรก็ดีแม่จะมีวิวาทะทางวิชาการมากมายในประเด็นดังกล่าว แต่ด้วยความลักลั่นย้อนแย้ง (paradox) ความลื่นไหล ความไม่เสถียร (stable) ของพฤติกรรม “สลิ่ม” ทำให้ข้อถกเสียงเหล่านั้นไม่สามารถให้ข้อสรุปถึงนิยาม (definition) ของคำว่า “สลิ่ม” ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับสังคมในการใช้คำว่า “สลิ่ม” มาก เพราะความหมาย (meaning) และสัญญะ (sign) ของมันขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ใช้เป็นหลัก ทำให้ผู้ที่ถูกเรียกว่า “พวกสลิ่ม” ไม่อินังขังขอบหรือเดือดเนื้อร้อนใจเมื่อถูกเรียกแบบนั้น ทั้งที่อันที่จริงแล้วคำนี้มีความหมายในเชิงประชดประชันเสียดสีอยู่มาก

จากการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่าการศึกษาปรากฏการณ์ “สลิ่ม” เป็นไปอย่างไร้ทิศทางและกระจัดกระจาย มีการใช้กรอบวิเคราะห์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในทาง สังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์, ปรัชญา, เศรษฐศาสตร์, หรือแม้แต่การวิเคราะห์ด้วยความตั้มฟิสิกส์ ซึ่งความหลากหลายในแนวทางการศึกษาเช่นนี้ แม้จะทำให้เราค้นพบแง่มุมใหม่ๆของคำว่า “สลิ่ม” แต่ก็ไม่สามารถให้ความหมายที่เป็นจุดร่วมของคำๆนี้ได้ ส่งผลให้ “สลิ่ม” กลายเป็นคำที่มีลักษณะนามธรรม (abstract) ลึกลับ (mysterious) หรือแม้กระทั่งดูศักดิ์สิทธิ์ (divine) กว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึงได้

บทความนี้ผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะเสนอข้อสรุปหรือทฤษฎีที่ชี้ขาดว่า “สลิ่ม” คืออะไรกันแน่ เพียงแต่ต้องการที่จะทบทวน วิเคราะห์ เพื่อสังเคราะห์เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นของพฤติกรรมที่เรียกว่า “สลิ่ม” ผู้เขียนพยามยามจะรวบรวมจุดร่วมของพฤติกรรมดังกล่าวที่เห็นได้อย่างชัดเจน (Obvious) ในกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าสลิ่มส่วนใหญ่ โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นของการวิเคราะห์ว่า “สลิ่ม” ไม่ใช่ความผิดปกติ (abnormally) เพราะกลุ่มคนที่ถูกขนานนามว่าสลิ่มนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่าง ปกติ ไม่ได้มีความบกพร่องในการใช้ชีวิตปกติแต่อย่างใด (แต่มี “ความคิด” หรือเปล่านั้นเป็นสิ่งที่ต้องอภิปรายต่อไป) โดยผู้เขียนใช้กรอบการว่าเคราะห์ “สลิ่ม” ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมผสม (hybrid culture) ซึ่งเกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมรวมถึงอุดมคติที่หลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมแบบชนชั้นกระฎุมภี, แนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่, pop culture, วัฒนธรรมแบบผู้มีการศึกษา และอาจร่วมถึงวัฒนธรรมนำเข้าอย่างกระแส k-pop

ผู้เขียนเห็นว่าการมองสลิ่มเป็นวัฒนธรรม ทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมนี้ได้อย่างมีมิติและเป็นพลวัตรมากขึ้น เพราะกระบวนการการทำให้เป็นสลิ่ม (Salimization) ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมายาวนานอย่างเป็น ระบบ ซึ่งเราอาจจะสืบย้อนกลับไปได้ถึงช่วงการเข้ามาของแนวคิดสมัยใหม่ (modernism) ในรัชสมัยรัชกาลที่ห้า หรืออย่างน้อยก็สมัยที่มีการเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมภีใหม่หลังการเปลี่ยน แปลงการปกครองเมื่อพุทธศักราช  2475 ซึ่งมันมีความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์อยู่มาก (อ่าน, สมสุข 2553) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่ากระบวนการทำให้เป็นสลิ่มชัดเจนที่สุดในทศวรรษ 2490-2500 และมีการแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดพร้อมๆกับการมาถึงของกลุ่มที่เรียก ตัวเองว่า “กลุ่มคนเสื้อหลากสี” (multicolor anti-democracy puppets) ในช่วงเดือนมีนาคม 2553 แต่ด้วยข้อจำกัดของความยาวของบทความผู้เขียนจะไม่อภิปรายกระบวนการทำให้เป็น สลิ่มในที่นี้ แต่จะขอตั้งข้อสังเกตลักษณะร่วมบางประการของ “สลิ่ม” เท่านั้น

 

(2)

สลิ่ม: ลักษณะร่วมบางประการ

จากการทบทวนวรรณกรรม การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (questionnaire) การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) และการสนทนากลุ่ม (focus group) ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการถึง “จุดร่วม” ของกลุ่มคนที่เรียกว่า “พวกสลิ่ม” ดังนี้

   1. สลิ่มรักพ่อและยินดีตายเพื่อพ่อ : ข้อนี้ไม่ต้องอธิบายให้มากความ “ถ้าไม่รักพ่อก็ออกจากบ้านไป ชิ้วๆ” สลิ่มผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ตัวพ่อ” ท่านหนึ่งกล่าวไว้อย่างภาคภูมิใจ
   2. สลิ่มมีการศึกษา: จากการเก็บข้อมูลภาคสนามผู้เขียนพบว่า “พวกสลิ่ม” ส่วนใหญ่เป็นที่มีการศึกษาสูง (ส่วนใหญ่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ) และเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความรู้ที่ได้จากการศึกษาในระบบอย่างยิ่ง สลิ่มส่วนใหญ่รู้ดีว่าคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต, ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก, ศิลปะวัฒนธรรมไทยมีความยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก, ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (แบบไทยๆ), ทุนนิยมเป็นแนวคิดที่น่ารังเกียจ ,ประชาธิปไตยต้องดูกันที่เนื้อหาสาระ เป็นต้น
   3. สลิ่มรักการอ่าน: ต่อคำกล่าวที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละเจ็ดบรรทัด” เมื่อนำมาใช้อธิบายสลิ่มจะไม่สามารถใช้ได้เลย เพราะสลิ่มเป็นคนมีการศึกษา พวกเขารักในการศึกษาหาความรู้ การอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่พวกเขาทำกันเป็นกิจวัตร ซึ่งสิ่งที่ยืนยันได้ดีคือการได้รับความนิยมอย่างสูงของงานสัปดาห์ลดราคา หนังสือแห่งชาติ และยอดพิมพ์ของหนังสือที่มีสาระมากมายหลายเล่ม เช่น เข็มพิษชีวิต, เดอะท๊อปบู๊ทซีเคร็ด, หนังสือของสำนักพิมพ์แจ่มใฉ, หนังสือแปลดีๆอย่างแวมไพร์ทไวไลด์, หรือแม้กระทั่งหนังสือปรัชญาชีวิตยากๆของนักเขียนผู้ทรงภูมิอย่างกา-ลาแมร์ ด้วยความที่สลิ่มเป็นผู้ที่อ่านหนังสือเยอะนี้ ทำให้สลิ่มเป็นกลุ่มคนที่เชื่อคนยากเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาจะเชื่อก็ต่อเมื่อรัฐบาล, ศอฉ., หรือผู้นำทางความคิดที่ดูดีมีความรู้บอกเท่านั้น ส่วนสื่อทางเลือกอื่นๆ เช่น CNN, Economist, บทความวิชาการต่างๆ สลิ่มรู้ดีว่าไม่ควรให้ความใส่ใจ
   4. สลิ่มมีศีลธรรมจรรยา: แหล่งที่พบสลิ่มได้อย่างหนาแน่นชุกชุมคือสถานปฏิบัติธรรมที่มีบรรยากาศ สะอาด สงบ สะดวกสบาย และดูดีมีรสนิยม ในวันหยุดสลิ่มหลายกลุ่มมักใช้เวลามาปฏิบัติธรรม-ภาวนา เพื่อสร้างบารมีตามสถานที่ดังกล่าว อีกข้อสังเกตหนึ่งของผู้เขียนก็คือ สลิ่มร้อยละเก้าสิบมีหนังสือของพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่เป็นปราชญ์แห่งยุคสมัย อย่าง ว. วชีรเมรี ที่เขียนหนังสือธรรมะเนื้อหาลึกซึ้งออกมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น “ธรรมนำเวร”, “ธรรมะดิลิเวทีพ”, “รักอนาไลสิส” และมีคำสอนที่ลึกซึ้งผ่านเครือข่ายทางสังคมอย่างทวิตเตอร์ออกมาเป็นประจำ เช่น “ที่ใดมีชู้ที่นั่นมีช้ำ ที่ใดมีกิ๊กที่นั่นมีกรรม”, “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน (นะจ๊ะ) เป็นต้น
   5. สลิ่มมีรสนิยมดีเยี่ยม: ในเรื่องรสนิยมในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่สลิ่มมีความก้าวหน้านำสมัยอย่างยิ่ง เหตุเพราะจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ชนชั้น สลิ่ม 98.96% เป็นผู้ที่มีอันจะกิน และมีกำลังซื้อมากพอที่จะซื้อสินค้าและบริการที่ “เทรนดี้” เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการมีชีวิต (purpose of live) จากกลุ่มตัวอย่าง สลิ่มส่วนใหญ่มี i-phone และ BB (บางส่วนใช้(Android), นิยมซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าที่มีระดับ, ฟังเพลงอินดี้, ดูหนังนอกกระแส, และอ่านนิตยสารเด็กแนว….( อนึ่ง ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าข้อนี้เป็น “ความเป็นสลิ่ม” หรือ “สลิ่มที่บังเอิญมีลักษณะนี้” มีบางกลุ่มที่นิยามตัวเองว่า “แดงสลิ่ม” ซึ่งตามความเห็นของผู้เขียน กลุ่มคนเหล่านี้เป็น “สลิ่มเทียม”)
   6. สลิ่มมีความรู้เรื่องการเมืองดีเยี่ยม: จากการเก็บตัวอย่างแบบสอบถามจากสลิ่มนับพันคน ทุกคนมีความรู้ในสถานการณ์และประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศเทยเป็น อย่างดี ทุกคนรู้ดีว่า ทักษิณเป็นปีศาจจากดาวอังคารที่เกิดมาเพื่อทำลายประเทศเทย ทักษิณสามารถซื้อทุกอย่างในโลกได้ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง, ชาวบ้าน, สื่อ, ตำรวจ, ผู้พิพากษา, CNN, BBC, FBI ,อองซานซูจี (จะมีแต่คนฉลาดและรักชาติอย่างสลิ่มเท่านั้นที่ทักษิณซื้อไม่ได้) ปัญหาทางการเมืองของประเทศเทยล้วนเกิดจากทักษิณทั้งสิ้น ถ้าเรากำจัดทักษิณได้แล้ว ปัญหาต่างๆทางการเมืองเหล่านี้จะคลี่คลายแน่นอน ดังนั้นไม่ว่าจะใช้วิธีใด เราต้องกำจัดทักษิณให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร,ตุลาการภิวัฒน์, การขอคืนพื้นที่-กระชับวงล้อม หรือแม้กระทั่งการไปงานศพน้องโบว์แดงแสลงใจ
   7. สลิ่มมีจิตใจอ่อนไหว: นอกจากมีศีลธรรมอันดีงามแล้ว สลิ่มยังเป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวในจิตใจสูงอย่างยิ่ง เมื่อมีสิ่งที่เร้าความรู้สึกเพียงเล็กน้อย พวกเขาพร้อมที่จะซาบซึ้ง ร้องไห้ ฟูมฟาย เป็นการแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของจิตใจที่จะพบได้ในเหล่าคนที่มีศ๊ล ธรรมสูงยิ่งเท่านั้น เหตุการณ์ที่ผมประทับใจในความอ่อนไหวของพวกเขามากที่สุดก็คือ พวกเขาร้องไห้เสียใจและแสดงความอาลัยรักอย่างยิ่งต่ออาคารเซ็นทรัลเวิร์ลที่ ถูกเผาไปโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย แม้แต่กับสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีชีวิตพวกเขายังให้ความรัก-ความอาลัยขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงคุณค่าของชีวิตเลย สลิ่มที่ผู้เขียนไปเก็บข้อมูลกว่าครึ่งเป็นมังสวิรัต!
   8. สลิ่มเห็นใจคนเสื้อแดง: เนื่องจากสลิ่มส่วนใหญ่เข้าใจการเมืองอย่างดี พวกเขาจึงรู้ว่าชาวบ้านที่มาชุมนุมกับขบวนการเสื้อแดง เป็นชาวบ้านที่บริสุทธิ์ เพียงแต่หลงผิดเพราะทักษิณ สลิ่มจึงมีความเห็นใจต่อชาวบ้านเสื้อแดงเป็นอย่างมาก พวกเขาจึงมักจะบอกกับชาวเสื้อแดงเสมอๆด้วยข้อธรรมะดีๆว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม(นะคะ)” และพร้อมที่จะให้อภัยผู้ที่หลงผิดทั้งหมด พร้อมที่จะมากอดกับพวกเขาอีกครั้ง เพื่อ “ขอความสุขกลับคืนมา” สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้นชาวสลิ่ม ก็ยินดีที่จะสอนพวกเขาด้วยธรรมะดีอีกเช่นกัน เช่น “ก้าวข้ามคราบน้ำตาแล้วมองไปข้างหน้าเถิด”, “ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก มีแต่ประเทศชาติที่บอบช้ำ เรามาปรองดองกันนะ” ….
   9. สลิ่มเป็นคนขวัญอ่อน: สลิ่มเป็นกลุ่มคนที่มีความซับซ้อนในตัวเองอย่างมาก ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจากจะเป็นคนมีการศึกษา, มีศีลธรรม,จิตใจอ่อนไหวแล้ว สลิ่มยังเป็นกลุ่มคนที่ขวัญอ่อนอย่างยิ่ง เมื่อไหร่ที่เห็นวัตถุสีแดง สลิ่มจะเกิดอาการที่ผู้เขียนขอเรียกอย่างลำลองว่า “มึงเป็นอะไรของมึง” อาการดังกล่าวลักษณะภายนอกจะคล้ายอาการจิตเภท (Schizophrenia) หรืออาการผิกปกติทางจิตอย่าง anxiety disorder ซึ่งเป็นปากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้เขียน (ในขณะสัมภาษณ์ สลิ่มนางหนึ่ง เมือผู้เขียนหยิบปากกาสีแดงขึ้นมาเพื่อขีดเส้นใต้บทสัมภาษณ์ สลิ่มนางนั้นเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย ตัวสั่น ดวงตาเบิกกว้างด้วยความหวาดกลัว แล้วก็เริ่มพึมพัมข้อความหยาบคายออกมา เมื่อผู้เขียนเก็บปากการใส่กระเป๋า สลิ่มนางนั้นก็กลับมาเป็นปกติทันที เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง)

ยังมีจุดสังเกตอีกหลายประการของสิ่งที่ผู้เขียนขออนุญาตเรียกว่า “วัฒนธรรมสลิ่ม” แต่หลักใหญ่ใจความผู้เขียนขอสรุปไว้เพียง 9 ข้อข้างต้น ต้องเรียนว่าไม่ใช่สลิ่มทุกคนที่มีลักษณะข้างต้นครบ 9 ข้อ สลิ่มบางคนก็ไม่ได้อ่านหนังสือ สลิ่มบางคนก็ไม่ได้ไปปฏิบัติธรรม ถ้าจะให้สรุปสั้นๆว่า “สลิ่มแท้” ต้องมีลักษณะแบบไหนบ้าง ผู้เขียนเสนอว่าสลิ่มแท้ต้อง “รักพ่อ เกลียดทักษิณ และเสียน้ำตาให้เซ็นทรัลเวิร์ล-ปล่อยวางต่อความตายของคนเสื้อแดง” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ผู้เขียนเห็นว่า unique พอที่จะแยกได้คร่าวๆว่าใครเป็น “สลิ่ม” หรือไม่

 

(3)

สลิ่ม: แล้วเราจะอยู่ร่วมกับเขาอย่างไร

ต่อคำถามนี้ผู้เขียนขอสรุปสั้นๆอย่างสุภาพว่า “ช่างแม่ง” ครับ ปล่อยพวกเขาไปเถิด

 

*************

แดงสลิ่ม ณ สยามพารากอน
(นักวิจัยอิสระ)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กักตัว ผอ.ประชาไท ที่สุวรรณภูมิ ความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14-15

Posted: 24 Sep 2010 01:41 AM PDT

กักตัว ผอ.ประชาไท ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เบื้องต้น จนท.แจ้งมีหมายจับจากศาลขอนแก่น

17.10น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัว น.ส.จีรนุช เดินทางไป จ.ขอนแก่นแล้ว โดยมีเพื่อนและทนายเดินทางไปด้วย ขณะที่ บ.ก.ประชาไทและทีมส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปขอนแก่น เพื่อเตรียมการประกันตัว
 
จากการสอบถาม พนง.สอบสวนระบุว่า คดีดังกล่าวแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษโดยนายสุนิมิต จิระสุข ชาวขอนแก่น โดยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ 15 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

(16.30น.) ล่าสุด ทราบหมายเลขคดี ปจว.ข้อ ก. หรือคดีที่ 4371/2551 วันที่ 11 ส.ค. 51 เป็นการฟ้องโดยผู้กำกับการ สภ.อ.เมืองขอนแก่น ผู้ดูแลระบบร่วมกับผู้ใช้กระทำความผิดมาตรา 14  และมาตรา 15  พรบ.คอมพิวเตอร์ หมายระบุว่า ข้อความที่ผิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2552 ระบุสถานที่เกิดเหตุ ขอนแก่น โดยหมายจับลงวันที่ 8 ก.ย. 2552 มี พ.ต.ต.ชัชพงษ์ พงษ์สุวรรณ์ เป็นพนักงานสอบสวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่เดินทางไปยุโรปเพื่อร่วมการประชุมเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน น.ส.จีรนุช ได้ถูกเจ้าหน้าที่ ตม.กักตัวตรวจสอบโดยระบุว่า มีชื่อซ้ำกับคนที่จ.ขอนแก่น และในวันที่เดินทางกลับ ก็ถูกกักไว้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ก่อนจะแจ้งว่ามีหมายจับ จากศาลขอนแก่น

 

ล่าสุด รายงานแจ้งว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำบันทึกจับกุมที่สนามบิน จากนั้น จะส่งตัวไปที่ สภ.อ.ขอนแก่น ทางรถยนต์ทันที

(24 ก.ย. 53) เมื่อเวลาประมาณ 14.30น. รายงานข่าวแจ้งว่า นส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ถูกกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากกลับจากการประชุมเรื่อง Internet at Liberty 2010 เวิร์กช็อปและสัมมนาเสรีภาพอินเทอร์เน็ต สนับสนุนโดย Google และมหาวิทยาลัย Central European University ที่บูดาเปสต์ ฮังการี  เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีหมายจับจากศาล จ.ขอนแก่น และอาจจะต้องส่งตัวไปยังจ.ขอนแก่นภายในวันนี้ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบข้อกล่าวหาที่ชัดเจน หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

อนึ่ง บก.ประชาไทระบุว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปัญหาองค์การนำในขบวนการประชาธิปไตย (ตอนที่หนึ่ง)

Posted: 23 Sep 2010 08:04 PM PDT

บทเรียนสำคัญประการหนึ่งจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 คือปัญหาการจัดการองค์การนำของขบวน ได้แก่ ประเด็นว่าด้วยสถานะของทักษิณ ชินวัตร แกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” และลักษณะการจัดตั้งของขบวนประชาธิปไตย

 

1. เกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร

ปัญหาที่โต้แย้งกันมายาวนานประการหนึ่งคือ สถานะของทักษิณ ชินวัตรในขบวนการประชาธิปไตย ข้อถกเถียงส่วนหนึ่งเห็นว่า ทักษิณเป็นเพียงนักการเมืองที่ถูกกระทำจากรัฐประหาร 19 กันยายน จึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อประโยชน์ตน และมีแต่ขบวนประชาธิปไตยต้องถอยห่างจากทักษิณเท่านั้น จึงจะพัฒนาเติบใหญ่เป็น “พลังประชาธิปไตยบริสุทธิ์” ได้ ความเห็นนี้มักจะมาจากปีกปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย

ในทางตรงข้าม ก็มีความเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตรคือผู้นำหนึ่งเดียวของฝ่ายประชาธิปไตย เป็นผู้ปฏิวัติสังคมที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิง “ระบอบ” มีสถานะเยี่ยงผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่น นายปรีดี พนมยงค์

เราจะเข้าใจสถานะ บทบาท และขีดจำกัดของทักษิณได้ก็โดยดูจากประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้คนแต่ละรุ่นนั้นถูกสาปด้วยมรดกจากคนรุ่นก่อนและจากอดีตของตนเอง”

ทักษิณ ชินวัตรมีภูมิหลังเติบโตจากต่างจังหวัด และก็เช่นเดียวกับไพร่สามัญชนที่ไต่ระดับสู่ชนชั้นนำได้สำเร็จคือ อาศัยการศึกษาและเข้าสู่เครือข่ายของระบอบจารีตนิยม ผ่านโรงเรียนเตรียมทหารและเข้าสู่ราชการตำรวจ ถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์ของจารีตนิยมมาอย่างเหนียวแน่น แม้ภายหลังจะออกจากราชการมาทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยเครือข่ายราชการ รัฐวิสาหกิจและธุรกิจของจารีตนิยม ทั้งร่วมมือแบ่งปันผลประโยชน์และแข่งขันกัน ฉะนั้น ในทางอุดมการณ์การเมือง เขาจึงมีความโน้มเอียงทางจารีตนิยมเช่นเดียวกับสมาชิกชนชั้นนำอื่น ๆ นี่คือด้านที่เป็นจารีตนิยมล้าหลังของทักษิณ

แต่พื้นภูมิหลังต่างจังหวัดที่ดิ้นรนมาอย่างยากลำบาก ภายหลังมีประสบการณ์ทางธุรกิจและความสัมพันธ์กับระบอบโลกาภิวัฒน์ของโลก ทำให้ทักษิณมองเห็นจุดเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย เมื่อเข้าสู่การเมือง ก็ต้องอาศัยกระบวนการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาเพื่อเข้าสู่อำนาจ ท้ายสุดยังถูกกระทำร้ายจากรัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้เขาเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน นี่คือด้านที่เป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าของทักษิณ

ลักษณะสองด้านของทักษิณเป็นผลให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเขามีลักษณะขัดแย้งกันเอง คือด้านหนึ่งก็ไม่กล้าแตกหักกับอำมาตยาธิปไตย ยังคงไว้ซึ่งเยื่อใย ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพ้อฝันที่จะเจรจาต่อรองเพื่อประนีประนอมอยู่ร่ำไป ไม่ยอมรับความจริงว่า ฝ่ายเผด็จการต้องการทำลายตัวเขาอย่างถึงที่สุด ไม่มีความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถเอาชนะฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้ แม้เขาจะมีวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมชัดเจนในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยตามแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัฒน์และมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในเชิงนามธรรม แต่กลับไม่เข้าใจถึงลักษณะปฏิวัติและลักษณะที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ของการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางในขั้นตอนปัจจุบัน ไม่มีความชัดเจนในเป้าหมายของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และไม่มีวิสัยทัศน์รูปธรรมถึงการก่อรูประบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทักษิณก็เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อช่วงชิงประชาธิปไตย ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ลำพังแต่เพียงกระบวนการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นไม่เพียงพอที่จะต่อสู้เพื่อเอาชีวิตตนให้รอด และยิ่งไม่เพียงพอที่จะช่วงชิงประชาธิปไตย หากแต่ต้องอาศัยมวลชนก่อรูปเป็นขบวนประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จึงจะสามารถต่อกรกับอำมาตยาธิปไตยได้

ท่าทีและจังหวะก้าวทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตรจึงมีลักษณะไม่ชัดเจนและขัดแย้งในตัวเองเสมอมา คือ ด้านหนึ่งเขาให้การสนับสนุนและเข้าร่วมขบวนประชาธิปไตยอย่างเอาการเอางาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ต่อสู้เพื่อต่อรองประนีประนอมเป็นหลัก ทั้งร้องขอ อ้อนวอน โดยหวังว่า ฝ่ายจารีตนิยมจะ “มีเหตุผล” พอที่จะยอมอ่อนข้อให้ฝ่ายประชาธิปไตย จังหวะก้าวของเขาในหลายครั้งเป็นเสมือนเอามวลชนไปต่อรองกับจารีตนิยม ก่อให้เกิดการถดถอยของขบวนประชาธิปไตยและความสับสนในหมู่มวลชน

ทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างแน่นอน มวลชนนับล้านคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในช่วงการบริหารของเขาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ว่ามีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนส่วนข้างมากของสังคม เปิดช่องให้ได้รับส่วนแบ่งอันชอบธรรมในโภคทรัพย์มวลรวมของประเทศเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความกินดีอยู่ดี ในแง่นี้ ทักษิณ ชินวัตรคือแรงบันดาลใจทางประชาธิปไตยของมวลชน

ทักษิณ ชินวัตร ยังมีสถานะเป็นผู้นำของขบวนประชาธิปไตยอีกด้วย แต่เขาไม่ใช่นักปฏิวัติสังคม  เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการเจรจาต่อรอง เป็นนักการเมืองแนวทางปฏิรูปที่ยังขาดความชัดเจนเชิงรูปธรรมของแนวทางประชาธิปไตย ฉะนั้น สถานะ “ผู้นำประชาธิปไตย” ของทักษิณ ชินวัตรจึงมีขีดจำกัด ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องจัดการให้ถูกต้อง

“สถานะผู้นำประชาธิปไตย” ของทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่สถานะของผู้ชี้นำหรือผู้ชี้ขาดในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี อันเนื่องมาจากขีดจำกัดข้างต้น อีกทั้งยังขาดประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองในแนวทางมวลชน การที่เขาต้องอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้ไม่สามารถกุมสภาพของการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรมในสภาพการณ์เช่นนี้จึงมีแนวโน้มผิดพลาดได้ง่าย

สถานะที่ถูกต้องของทักษิณในขบวนประชาธิปไตยจึงเปรียบเสมือนการดำรงตนเป็น “ประธานคณะกรรมการของบริษัท” คือ เป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจ รับรู้ทิศทางของขบวนประชาธิปไตย เข้าใจปัญหาทางหลักการและนโยบาย หนุนช่วยทุกวิถีทาง แต่ไม่บริหาร ไม่ลงสู่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรม ไม่แทรกแซงและไม่ตัดสินใจแทนฝ่ายบริหาร

 

2. คณะแกนนำนปช. และกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้”

ในช่วงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์เมษายน 2552 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” ได้ก่อรูปเป็นคณะแกนนำขึ้น แต่แกนกลางหลักยังคงเป็นกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้” แม้ นปช.จะพยายามพัฒนาการนำแบบรวมหมู่ขึ้น แต่ก็ยังไม่เข้มแข็ง และเมื่อกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ก็ไม่อาจต้านทานกระแสการต่อสู้ที่สลับซับซ้อนได้

สาเหตุสำคัญคือ คณะแกนนำ นปช. มีเวลาในการสั่งสมประสบการณ์น้อยมาก มิได้ผ่านการต่อสู้ร่วมกันมายาวนานพอ ยังไม่สามารถหลอมรวมกันเป็นคณะนำที่เหนียวแน่น มีเอกภาพทางอุดมการณ์และแนวทางที่ชัดเจน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงอันตรายที่จะต้องตัดสินใจเพื่อกำหนดความเป็นความตาย ก็ไม่สามารถเห็นพ้องกันในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีได้ เกิดการแตกแยกภายใน สูญเสียการกุมสภาพมวลชนและสภาพการเคลื่อนไหวไปในที่สุด

ปัจจุบัน คณะแกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” ได้หมดสภาพการเป็นแกนนำของขบวนประชาธิปไตย กลายเป็นนักโทษการเมือง พวกเขารวมทั้งมวลชนอีกจำนวนมากที่ถูกจับกุมคุมขังจะเป็นเป้าหมายที่ขบวนประชาธิปไตยจะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพ พร้อมกับการบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงในที่สุด

บทเรียนสำคัญคือ ขบวนประชาธิปไตยยังอ่อนเล็กเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับฝ่ายเผด็จการได้โดยตรง นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” ยังไม่สามารถพัฒนาเป็นองค์กรแบบแผนที่เป็นเอกภาพ มีแนวทางบริหารทรัพยากรและการทำงานมวลชนอย่างเป็นระบบ หากแต่เป็นเพียงการเชื่อมโยงกันอย่างหลวม ๆ ระหว่างกลุ่มมวลชนในพื้นที่แกนนำพื้นที่กับคณะแกนนำนปช.ระดับชาติเท่านั้น

บทเรียนจากกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้” คือ การเคลื่อนไหวมวลชนขนานใหญ่เพื่อบรรลุประชาธิปไตยนั้นไม่อาจประสบชัยชนะได้ด้วยเพียงโวหารและการแสดงบนเวที จุดอ่อนของพวกเขาคือ ความโน้มเอียงไปในทาง “นำโดยตัวบุคคล” ขาดความเชื่อมั่นในการนำรวมหมู่ จุดแข็งของพวกเขาในหมู่มวลชนก็คือ พวกเขามีสัมพันธ์แนบแน่นกับทักษิณ ชินวัตร แต่จุดแข็งดังกล่าวก็กลายเป็นผลเสียเมื่อมีการดึงเอาทักษิณเข้ามาพัวพันกับการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเฉพาะหน้า กระทั่งอ้างเอาทักษิณมาขัดแย้งหรือปฏิเสธมติของคณะแกนนำรวมหมู่ดังที่เกิดขึ้นเมื่อพฤษภาคม 2553 เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยภายในขบวนเสียเอง และสร้างความเสียหายแก่การเคลื่อนไหวมวลชนในที่สุด

แกนนำ นปช. บางคนที่มิได้ถูกจับกุมคุมขังและยังเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยต่อไปได้จะต้องสรุปบทเรียนความสำเร็จและจุดอ่อนที่ผ่านมาทั้งหมด รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากรอบด้าน ต้องไม่ดำเนินการซ้ำรอยเดิม ไม่หันไปสู่การนำส่วนบุคคลแบบวีรชนเอกชน จัดระยะห่างกับทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยให้เหมาะสม และที่สำคัญคือ เปิดใจร่วมมือกับมิตรสหายทั้งหลายในขบวนเพื่อเร่งปรับลักษณะองค์การนำและการจัดตั้งของขบวนประชาธิปไตยใหม่ เพื่อกลับมาต่อสู้ไปบรรลุประชาธิปไตยในที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"กองทัพว้า" ครวญ-เป็นแพะยาเสพติด

Posted: 23 Sep 2010 07:56 PM PDT

กองกำลังว้า UWSA และกลุ่มเมืองลา NDAA ร่วมจีนปราบยาเสพติดในพื้นที่จับผู้ต้องหาได้นับร้อย ขณะที่แหล่งข่าวกองทัพว้าแจงไม่เกี่ยวข้องแต่ถูกพาดพิง เหมือนตกเป็นแพะรับบาปเรื่องยาเสพย์ติด ชี้เป็นกรรมพ่วงไม่ต่างขุนส่า

สืบเนื่องจากสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่19 ก.ย. อ้างคำพูดนักวิเคราะห์สถานการณ์ในพม่าหลายคนที่ต่างแสดงความห่วงใยสถานการณ์ไหลทะลักของยาเสพติดออกจากพื้นที่แถบชายแดนพม่า ด้วยเหตุผลกองกำลังชนกลุ่มน้อยต้องเร่งหาเงินทุน เพื่อใช้ต่อสู้รับมือการถูกกวาดล้างจากรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้วันเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ในวันที่ 7 พ.ย.นี้

โดย นายอ่อง เนียง โอ นักวิเคราะห์สถานการณ์พม่าในกรุงเทพฯ กล่าวว่า กองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในพม่ากำลังเร่งหาเงินทุนจากการค้ายาเสพติด ค้าไม้สักและค้าหยก เพื่อนำเงินใช้เตรียมความพร้อมสู้รบ โดยระบุกองกำลังว้า หรือ UWSA ซึ่งเดิมทีครอบครองพื้นที่ปลูกฝิ่นรายใหญ่ในพม่า ได้หันมาตั้งโรงงานผลิตเมธแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้าหลายแห่งตามแนวชายแดนนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายทหารระดับสูงของว้านายหนึ่งที่พำนักอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า (รัฐฉาน) กล่าวกับสำนักข่าวฉาน SHAN ว่า ปัจจุบันกองกำลังว้า UWSA เป็นแพะรับบาปเรื่องยาเสพติด แม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดแต่หากมีการตรวจยึดก็จะถูกพาดพิงเสมอ เรื่องนี้เสมือนเป็นกรรมพ่วงไม่ต่างสมัยขุนส่า ช่วงนั้นมีกลุ่มเกี่ยวข้องยาเสพติดหลายกลุ่มซึ่งรวมถึงกลุ่มว้า แต่หากมีการตรวจยึดยาเสพติดเฮโรอีนในไทย ก็จะมีการพาดพิงเป็นของกลุ่มขุนส่า ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด

"ในช่วงนั้น ยาเสพติดจากพื้นที่เมืองโต๋น นากองมู ไปจนถึงดอยลาง ถูกส่งเข้าทางอ.เชียงดาว อ.ฝาง และอ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มว้า หรือ กลุ่มกองกำลังอื่นๆ ส่วนที่นำเข้าจากเมืองต้อ เมืองทา ตรงข้ามอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงบ้านเมืองหัว ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน เป็นของขุนส่า แต่ไม่ว่าจะถูกตรวจยึดที่ใดในไทยก็หนีไม่พ้นความผิดของขุนส่า ช่วงนั้นขุนส่าเป็นแพะรับบาป" นายทหารว้าคนเดิมกล่าว

ทั้งนี้ กองกำลังว้า UWSA (United Wa State Army) ถูกทางการไทยและสหรัฐกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องการค้ายาเสพติด โดยผู้นำระดับสูงของ UWSA หลายคนถูกขึ้นบัญชีดำและเป็นที่ต้องการตัวทั้งสหรัฐและไทย

ขณะที่มีรายงานจากนักธุรกิจที่เดินทางเข้าออกเขตว้าเป็นประจำ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 53 เป็นต้นมา กองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จีนปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ว้า และเมืองลา ซึ่งอยู่ตามแนวชายแดนจีนอย่างหนัก ในพื้นที่เมืองลา NDAA สามารถจับผู้เกี่ยวข้องได้กว่า 300 คน ขณะที่ในเขตว้า UWSA เมืองปางซาง ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดทรัพย์สินซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ราคาแพงกว่า 30 คัน โดยนำไปไว้รวมกันที่วัดเวฬุวัน ในเมืองปางซาง ส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพากันหนีข้ามไปในฝั่งจีน

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในรัฐฉานรายงานว่า ปัจจุบันกองกำลังอาสาสมัครที่อยู่ภายใต้การดูแลของทหารพม่า ได้มีการผลิตยาบ้าโดยลอกเลียนรูปแบบตราของว้า เช่น WY และ Tiger แต่มีความแตกต่างตรงที่มีสีซีด เม็ดเปราะแตกง่าย และไม่แรงเท่า WY และ Tiger ขณะที่ราคาก็ต่างกัน คือ หากเป็นของว้าจำหน่ายในพื้นที่ท่าขี้เหล็กจะอยู่ที่เม็ดละ 42 – 45 บาท ส่วนที่ผลิตโดยกองกำลังอาสาสมัครอยู่ที่เม็ดละ 30 – 35 บาท

แหล่งข่าวคนเดิมเผยด้วยว่า การสอบถามซื้อขายเฮโรอีนในรัฐฉานในช่วงนี้มีน้อย ขณะที่ราคาเฮโรอีน และยาไอซ์ก็ลดลงไปมาก เมื่อปีที่แล้วราคาเฮโรอีนอยู่ที่ 1 - 1.2 ล้านบาท ต่อน้ำหนัก 1 จิน (700 กก.) ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 2.8 – 2.9 แสนบาท ต่อ 1 จิน สาเหตุที่เฮโรอีนมีราคาลดลงนั้นเชื่อกันว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์ ส่วนราคายาไอซ์ปัจจุบันอยู่ที่ 5.2 แสนบาท ต่อ 1 กก. ขณะที่เมื่อก่อนมีราคาสูงถึง 1 ล้านบาท ต่อ 1 กก. อย่างไรก็ตามยาไอซ์จะมีราคาสูงขึ้น 1 เท่าตัว เมื่อถูกนำเข้าถึงกรุงเทพฯ และราคาจะเพิ่มสูงอีกหลายเท่าหากถูกส่งถึงต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง และใต้หวัน

ส่วนตลาดซื้อขายยาเสพติดใหญ่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ปัจจุบันอยู่ที่บ่อนคาสิโนคิงโรมันส์ (King Romans) ในฝั่งประเทศลาว โดยการขนยาเสพติดไปยังตลาดดังกล่าวส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่อิทธิกองกำลังนายหน่อคำ เจ้าพ่อยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำปัจจุบัน โดยกลุ่มของหน่อคำ จะทำหน้าที่เก็บภาษีและอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มพ่อค้า

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดยาเสพติดในรัฐฉานในช่วงปี 2552 – 2553 ทางกลุ่มจับตายาเสพติดรัฐฉาน (SDW-Shan Drug Watch) จะมีการแถลงเปิดตัวรายงานยาเสพติดในชื่อ Shan Drug Watch ฉบับที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 กันยายน 2553 นี้

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น