ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประชาธรรม: มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (1)
- ฝากข้อคิดแม่ทัพภาค 4 คนใหม่: อย่าผลักภาระให้กับผู้เสียหาย รู้สึกถึงความอยุติธรรมต่อไปเรื่อยๆ
- กวีประชาไท: ยิงมาสิ
- แรงงานบุกกระทรวงแรงงาน จี้ รมว.เร่งสั่งจ่ายค่าเสียหายถูกหลอกทำงานต่างประเทศ
- เมื่อ “สถาบันนิยม” สะท้อน “ชาตินิยม”: กรณี “หัวโจก” กับ “รัฐมาเฟีย”
- เพื่อนเพื่อเพื่อน
- วิจารณ์ศาล
- มาร์คชี้รัฐบาลปรองดองมาตั้งแต่พฤษภาคมแล้ว ปลอดประสบ-ไกรศักดิ์ รับมีทูต ตปท. ทาบให้คุยกัน
- ทุกข์เวียนโถมใส่ชาวพม่าในประเทศไทย
- ชำแหละ 20 ปีประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร?
- รายงาน: จากเฟซบุ๊คถึง ‘ลุงปลาทู’ ประชาชน3.0 กับการเยียวยา ‘เหยื่อ’ (และประชาธิปไตย)
- การเมืองเรื่องสวัสดิการสังคม
- ทหารพรานนราธิวาสพบค่ายฝึกของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน
- การปรองดอง: แก้วิกฤต - ขัดแย้ง
- ‘คอร์เนอร์’ ฝรั่งขึ้นเวทีนปช.เพิ่งได้กลับบ้าน คุมตัวต่อ 3 สัปดาห์ เหตุไม่มีค่าตั๋วเครื่องบิน
ประชาธรรม: มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (1) Posted: 07 Sep 2010 01:14 PM PDT สำนักข่าวประชาธรรม รายงานจากการประชุมเวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ เมื่อ 28 ส.ค. ในช่วงอภิปรายหัวข้อ "โครงสร้างทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคมภาคเหนือ" โดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อรัญญา ศิริผล และนพพล อาชามาส หมายเหตุ: สำนักข่าวประชาธรรม ได้กรุณาเผยแพร่รายงานเรื่อง มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (1) ซึ่งเป็นการรายงานจากการประชุม "แผ่นดินเดียวกัน แต่อยู่คนละโลก" หรือเวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ ซึ่งจัดที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยประชาไทขอเผยแพร่ต่อโดยมีรายละเอียดดังนี้
มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (1) อานนท์ ตันติวิวัฒน์/สำนักข่าวประชาธรรม เรียบเรียง เผยแพร่ครั้งแรกใน เว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรม 7 ก.ย. 53
กระแสการเมืองเหลืองแดง ยังคงเป็นประเด็นเด่นที่แวดวงนักวิชาการให้ความสนใจที่จะทำความเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องเพราะกรอบ(Concept) การอธิบายทางสังคมศาสตร์ ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนและครอบคลุมอีกต่อไป จนก่อให้เกิดการถกเถียงในเชิงคำถามและทฤษฎีหรือแนวคิดใหม่ในการอธิบายอย่างกว้างขวาง คำถามยอดฮิตที่นักวิชาการมักจะตั้งเป็นคำถามแรก คือ "แดง เหลือง เป็นใคร" จากนั้นก็มีการการอธิบายตามกรอบคิดและแนวทฤษฎีที่ตัวเองจัดวางไว้ เช่น เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในภาคชนบท หรือเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง หรือเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกดึงเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มชนชั้นนำ เป็นต้น จนนำมาสู่การอธิบายในระดับโครงสร้างทั้งหมดของสังคม เร็วๆ นี้ คณะกรรมการวิจัยสภาแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคีภาคเหนือ อันได้แก่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ,คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ,คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ เชียงใหม่,โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง ม.แม่ฟ้าหลวง,สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวที"แผ่นดินเดียวกัน แต่อยู่คนละโลก" (เวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ) เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสังคมวิทยากับความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายตั้งคำถามในประเด็นเรื่อง "โครงสร้างทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคมภาคเหนือ" ซึ่งมีการนำเสนอให้เห็นภาพว่ากลุ่มคนเสื้อแดง และเสื้อเหลืองในภาคเหนือเป็นใคร มาจากไหน และมีฐานความคิดในการมองการเมือง สังคมอย่างไร จึงนำมาสู่การสวมใส่อัตลักษณ์ที่มีชื่อว่า "เสื้อเหลือง" กับ "เสื้อแดง" 000
4 แนวคิดกระแสหลักในวงวิชาการ ไม่พออธิบายเสื้อแดง อ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า งานชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่เริ่มทำเมื่อเดือนกรกฎาคมโดยทีมวิจัยทั้ง 4 คนจะนำเสนอในเวทีนี้ และเป็นงานที่ยังไม่เสร็จ การนำเสนอในครั้งนี้จึงยังเป็นเพียงบทสำรวจเบื้องต้น โดยตนอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่า งานวิจัยนี้เริ่มจากความข้องใจกับวิธีการอธิบายความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งตนเสนอว่าปัจจุบันมี 4 กระแสคิดหลักว่าด้วยเรื่องปรากฏการณ์แผ่นดินเดียวกันแต่อยู่คนละโลก โดยเวทีวันนี้ ทีมวิจัยทั้งสี่คนจะพยายามสนทนากับสี่กระแสคิดหลักว่ามันมีปัญหายังไงบ้าง กระแสคิดหลักนี้ จนกระทั่งเมื่อเช้าวันนี้เราก็ยังได้ยินอยู่ อันแรกคือ "ความขัดแย้งมาจากความต่าง" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินเรื่องความต่างในฐานะสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างมาก กระแสคิดหลักอันนี้มองความต่างเป็นสองระนาบ ระนาบแรกมองว่าเป็นความต่างของชนชั้นนำสองฝ่าย ขอใช้คำพูดของอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นตัวแทนของความคิดดังกล่าว อาจารย์เสกสรรพูดว่า "มันเริ่มต้นจากความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครอง หมู่ชนชั้นนำ ชนชั้นนำเก่าและชนชั้นนำใหม่ พวกเขาสร้างพื้นที่ทางอำนาจ ตกลงกันไม่ได้ แล้วไปชวนมวลชนฝ่ายที่ไม่ชอบคู่ต่อสู้ของตนมาเป็นพวก มันก็เลยบานปลายขยายตัวกลายเป็นความคิดแบบเสื้อสองสี ขอเน้นตรงนี้ "แล้วชวนมวลชนมาเป็นพวก" อาจารย์ผาสุกก็เขียนบทความหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งลงในมติชน พูดว่า "ในระดับหนึ่งมันเป็นความขัดแย้งในบรรดาชนชั้นนำ ในระนาบที่สอง มันก็มีความพยายามอธิบายเหมือนกันว่า มันไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำ แต่ว่ามันมีปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากโครงสร้าง ทั้งเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงเป็นที่มาของประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราอยู่ในโมเดลของการพยายามอธิบายความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ผ่านแต่เรื่องความต่าง ไม่ว่าจะเป็นความต่างอันเนื่องมาจากชนชั้นนำก็ดี หรือว่าความต่างอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำก็ดี นี่เป็นกระแสคิดที่หนึ่ง กระแสคิดที่สองเราจะคุ้นหู ตนขอเรียกว่า "สามลักษณะของเสื้อแดง" คือเป็นพวกคนจน เป็นพวกรุนแรง ทั้งหัวรุนแรงและพฤติกรรมรุนแรง และเป็นสาวกทักษิณ ขอใช้คำพูดของอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ให้สัมภาษณ์ BBC ว่า"ในการดำเนินการกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้ผมคิดว่าเราได้ระงับพฤติกรรมความรุนแรง ที่กลุ่มเสื้อแดงได้เคยทำมาอย่างต่อเนื่องจนแทบจะกลายเป็นเรื่องถาวรแล้ว" หรือ "ความสมานฉันท์พวกนี้ที่รัฐพยายามจะทำ มันไปได้อย่างช้าๆ แม้ว่าพวกเสื้อแดงจะเป็นพวกภักดีต่อทักษิณ เป็นพวกสังคมหัวรุนแรง เป็นสังคมนิยม เป็นพวกนิยมสาธารณรัฐ นักวิชาการฝ่ายซ้ายซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าถึงได้ยากก็ตามที" ในรัฐก็ดี ในกลุ่มคนจำนวนมาก หรือกระทั่งนักวิชาการเอง ภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของคนเสื้อแดง เป็นพวกที่นิยมความรุนแรง กลายเป็นความคิดที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป กระแสคิดหลักที่สามที่เรามักจะได้ยินบ่อยมากคือ "วิทยุชุมชนเสี้ยมความขัดแย้ง" ตนขอนิยามสื่อที่โดนปิดโดยรัฐ โดยเฉพาะ ศอฉ. และสื่อที่โดนวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็น "สื่อนอกรีต" เป็นภัยต่อประเทศ ไกรศักดิ์ก็พูดอีกว่า "นโยบายการเซ็นเซอร์ช่วยให้การปลุกปั่นยั่วยุอันนำไปสู่ความรุนแรงนั้นเงียบสงบลงได้" พูดง่ายๆคือ ความรุนแรงอันเป็นอัตลักษณ์ของเสื้อแดง ก่อรูปขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะสื่อของพวกเขาเองทำการยุยง กระแสคิดที่สี่ เป็นแนวคิดเกี่ยวกับทางออกจากความขัดแย้ง ปัจจุบัน วิธีการมองทางออกของความขัดแย้งมีอยู่สองกระแสใหญ่ๆ กระแสแรกคือว่า เอาคนดี เอาความดีมา แล้วสังคมมันจะดี ขออนุญาตอัญเชิญคำพูดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ทราบว่าพูดที่ไหน ซึ่งกล่าวทำนองว่า คนที่ทำความดี จะทำให้สังคมดีขึ้น หรือกระทั่งอาจารย์ประเวศก็เป็นตัวแทนความคิดนี้ กับอีกความคิดหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความยากจนในชนบท เป็นทางออกของปัญหาทางการเมืองปัจจุบัน ขอใช้คำพูดของอ.เสกสรร ซึ่งเป็นกรรมการปฏิรูป สะท้อนให้เห็นความเชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปว่า มันมีโครงสร้างความไม่เท่าเทียมอยู่ และจะต้องปลดล็อคความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจออก แต่ไม่แตะเรื่องการเมือง "ผมขอยกตัวอย่างกลุ่มชาวนาภาคเหนือที่ผมคุ้นเคย ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดงทั้งนั้น แต่พอถอดเสื้อออกแล้ว เขาก็เป็นชาวนาที่มีปัญหาที่ดินทำกิน เพราะฉะนั้นถ้าเราชวนเขามาปฏิรูปที่ดิน ผมไม่คิดว่าเขาปฏิเสธ" เสกสรรก็เชื่อเหมือนนักคิดนักวิชาการทั่วไปว่า หนึ่งความขัดแย้งเป็นความต่าง ชนชั้นนำตีกัน แล้วลากมวลชนเข้าไป สองปัญหาของชาวบ้านเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับวัตถุ เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ถ้าปลดล็อคปัญหาทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ชนบทไทยหมดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางการเมืองไทยก็จะยุติ หรือถ้าเราทำสมการใหม่คือว่า ปัญหาทางการเมืองตอนนี้เป็นปัญหาของชนชั้นนำ ไม่ใช่ปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาของชาวบ้านคือปัญหาทางเศรษฐกิจ แยกกัน ตนคิดว่ากระแสคิดสี่กระแสมีปัญหา แม้ว่าความเชื่อพื้นฐานของแนวคิดกระแสหลักที่ว่ามาทั้งสี่ ไม่ได้ผิด เพราะปัจจุบันนี้ความเชื่ออะไรก็ไม่ผิดทั้งนั้น เราอยู่ในยุคที่หาหลักเกณฑ์มาวัดความถูกผิดยากขึ้นทุกที แต่มันเป็นความเชื่อที่มีปัญหา เพราะว่ามันยึดติดกับพล็อตละครการเมืองไทยมากเกินไป คิดอย่างนี้การเมืองไทยมันไม่เปลี่ยนเลยตั้งแต่ 2475 การอยู่ในกรอบคิดอย่างนี้แล้วมันอึดอัดมาก เพราะว่าหากมุ่งแต่อธิบายความขัดแย้งทางการเมืองผ่านกรอบที่ใหญ่ และแข็งทื่อเช่นนี้ ระบบการเมืองไทยก็คงไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย structure อันนี้มันแสนจะยิ่งใหญ่ แล้วก็เราไม่มีทางออก ดังนั้นตนคิดว่านักคิดนักวิชาการที่ใช้พล็อตแบบนี้อธิบายความขัดแย้งการเมืองไทย มันไม่มีทางออกให้สังคม หรือหากมีก็ไปออกในทางที่ผิด
"ความเสื่อม" ความคิดทางการเมืองของชาวเสื้อแดงในภาคเหนือ อ.ดร.ปิ่นแก้ว อภิปรายต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้มองการเมืองไทยที่มีฐานมาจากจิตสำนึก ประสบการณ์ทางการเมืองของประชาชน เพราะหากคิดแบบพล็อตใหญ่ ประชาชน ถ้าไม่เป็นเหยื่อ ก็เป็นเด็กทารก ที่คิดไม่เป็น โดนลากไป โดนจูงไป ทำให้ยากที่จะมองเห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลง การคลี่คลาย หรือกระทั่งพหุลักษณะของความเป็นตัวตนทางการเมืองคนหลายกลุ่ม คำถามที่สำคัญคือ จริงหรือไม่ที่ว่า ปัญหาการเมืองตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาของชาวบ้าน เป็นปัญหาของชนชั้นนำตีกัน แล้วการปฏิรูปสังคมโดยไม่แตะการเมืองระดับชนบทจะปลดล็อกปัญหาการเมืองไทยได้จริงหรือ พวกเราไปพูดคุยกับชาวบ้านเสื้อแดงกันหลายหมู่บ้าน ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ทั้งอ.แม่ออน ดอยสะเก็ด สันกำแพง สัมภาษณ์แกนนำ นปช.หลายคน เราใช้แบบสอบถามในงานสองงาน ทั้งงานบุญวันเกิดทักษิณที่สันกำแพง แล้วก็งานปราศรัยของพรรคเพื่อไทยที่ลำพูน ตนขอเสนอแบบนี้ว่า ข้อเสนอต่อไปนี้ ไม่ใช่เป็นข้อสรุปทางทฤษฎี แนวคิดอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นข้อเสนอเพื่อที่จะถกเถียง ที่อยากจะไปพ้นจากการมองเรื่องความขัดแย้ง ว่ามันมีที่มาจากความต่าง ไม่ใช่เพราะว่าเป็นความเชื่อที่ผิด แต่คิดว่าสมมุติฐานแบบนี้มันหาทางออกไม่ค่อยได้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่ได้ยินจากชาวบ้านในหลายที่ Narrative ที่ชาวบ้านมักพูดถึง ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องความต่าง ชาวบ้านอาจจะพูดเรื่องความต่าง ในแง่ที่เป็นการประชดประชัน เสียดสี การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม แต่สิ่งที่มันเป็นภาพสะท้อนของปัญหา ที่ชาวบ้านพูดถึงบ่อย สะท้อนถึงภาวการณ์ที่เป็นที่มาของความขัดแย้ง คือเรื่อง "ความเสื่อม" ซึ่งเป็นประเด็นนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ตนคิดว่าสำหรับชาวบ้านแล้ว ความขัดแย้งที่สะสมมาหลายปีที่ผ่านมาของพวกเสื้อแดง ซึ่งไม่เฉพาะในชนบท มันมาจากความเสื่อมของสถาบันในสังคมที่ล้มเหลวในการทำหน้าที่ ซึ่งเราอาจประมวลได้อย่างน้อยในสามประการด้วยกัน ประการแรก เราได้ยินชาวบ้านพูดถึงเรื่องความเสื่อมของยุครุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจประชาชน หลังจากที่มีรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมที่มาจากเผด็จการทหาร ประการที่สอง เราได้ยินชาวบ้านพูดเรื่องความเสื่อมของสถาบันที่ทำหน้าที่กำกับประชาธิปไตย และสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมในสังคม สถาบันที่กำกับอันนี้มันไม่ทำหน้าที่ มันจึงเกิดปัญหาสองมาตรฐาน มันจึงเกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมขึ้น และอันที่สามซึ่งสำคัญมาก คือ ความเสื่อมของศรัทธา ที่มีต่อสถาบันจารีตนิยมตามประเพณีที่เคยคุ้มครองราษฎร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ไปที่ไหนใครก็พูด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะนำมาเปิดเผย แต่ว่าความเสื่อมประการที่สาม มันเป็น Narrative หลักของชาวเสื้อแดงในทุกที่ที่ไป ดังนั้นตนขอเสนอว่า วิกฤติของความขัดแย้ง ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่วิกฤติระหว่างเหลืองแดง แต่เป็นวิกฤติในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สถาบัน และพลเมือง นี่เป็นข้อเสนอ เมื่อดูในรายละเอียดจากแบบสอบถาม ชาวบ้านพูดถึง อดีตอันรุ่งโรจน์ อาทิ ในยุคทักษิณนั้น คนที่ไม่เคยกำเงินก็ได้กำเงิน สามารถปลดหนี้ได้ ฯลฯ ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าที่ไหนก็ตอบเช่นเดียวกัน คือ ไม่เคยเกิดในยุคไหนที่ไข่แพงขนาดนี้ สินค้าราคาแพง ไม่มีลูกค้า ไม่มีอะไรต่ออะไรมากมาย รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจไม่เป็น มันแย่จริงๆ ตกต่ำ ฯลฯ ชาวบ้านพูดถึงความเสื่อมด้วยวลีหลายอัน ที่จริงมีโน้ตบทสัมภาษณ์ชาวบ้านเยอะมาก แต่ไม่มีเวลาเอามาลงในที่นี้ ถามว่า ทำไมสองมาตรฐานแต่ก่อนไม่เป็นปัญหา แต่ตอนนี้ถึงเป็น ชาวบ้านทุกที่ก็พูดเหมือนกันว่า แต่ก่อนเราไม่รู้ เดี๋ยวนี้เรารู้ เราจึงเห็นว่ามันเสื่อม ความไม่เป็นธรรมต่างๆ เรารู้ถึงที่มาและต้นตอแล้ว เราไม่ได้โง่เหมือนรุ่นปู่รุ่นย่า ต่างๆ มากมาย ถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปไตยคือความเป็นธรรม ประชาธิปไตยมาจากประชาชน แต่ปัจจุบันประชาธิปไตยคือประชาธิปัตย์ "เดี๋ยวนี้เรารู้แล้ว" เป็นวลีสำคัญของชาวเสื้อแดงที่มักใช้เสมอๆ ประการที่สองคือ ความเสื่อมของความยุติธรรมในสังคมไทย คือไม่ใช่เหลืองกับแดง แต่ว่าสถาบันซึ่งทำหน้าที่กำกับว่าเราได้รับสิทธิ และสามารถที่จะมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน มันเสื่อมและมันล้มเหลว และมันแสดงออกตำตา รัฐบาลที่เสื้อแดงเลือก ถูกไล่อย่างไม่เป็นธรรม เสื้อแดงทำผิด ติดคุก เสื้อเหลืองไม่เคยถูกลงโทษ จำลองออกมาประท้วง ไม่โดนจับ นักศึกษาเชียงรายไปชูป้ายก็โดนจับไป ตรวจจับเรื่องความบ้า ฯลฯ จะให้อธิบายเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ประการที่สามคือ ความเสื่อมศรัทธาในสถาบันฯ มีรายละเอียดมากมายที่ยังหาวิธีจะนำเสนอในทางวิชาการอยู่ ข้อเสนอที่สองของงานวิจัยที่โต้แย้งกระแสคิดหลัก คือเสื้อแดงเป็นมากกว่าคนจนชนบทผู้นิยมทักษิณ จากการสัมภาษณ์ชาวเสื้อแดงจำนวนมากมาย ว่าเขาคือใคร ไม่มีสักที่ที่เห็นด้วยว่าเสื้อแดงเป็น "เพียง"คนชนบท จริงๆชาวบ้านแย้งเราด้วยซ้ำไปว่า อาจารย์ไปที่กรุงเทพฯ มีแต่เสื้อแดงนะ มาร่วมชุมนุมทุกเย็น เมื่อถามต่อว่า แล้วตกลงเสื้อแดงคืออะไร สิ่งที่เขาตอบก็จะเป็นอย่างนี้ จะตอบว่าเป็นความถูกต้อง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกรังแก เป็นผู้ซึ่งมาทำความจริงให้ปรากฏ เป็นเม็ดเลือดขาว กำจัดเชื้อโรครัฐบาล จริงๆในหมู่คนเสื้อแดงเองก็พยายามคัดกรอง สิ่งที่เรียกว่ารุนแรงกับไม่รุนแรงออกจากกัน อย่างกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ทุกคนทราบดีว่าเป็นฮาร์ดคอร์ พวก นปช.เชียงใหม่เขาก็ไม่ไปร่วมด้วย นอกจากนี้สถานะทางเศรษฐกิจอาจใช้วัดความเป็นเสื้อแดงไม่ได้ ข้อมูลจากแบบสอบถามแม้ว่าจะไม่สะท้อนประชากรของเสื้อแดงทั้งหมด เพราะเราไปเก็บข้อมูลในที่ชุมนุม ซึ่งอาจจะมีชนชั้นกลางไปกันเยอะ มันขึ้นอยู่กับว่าไปที่ไหน ถ้าไปที่หมู่บ้าน แน่นอนว่าเป็นชนบท ชาวบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จากที่ชุมนุม เราพบว่าเกินครึ่งเป็นชนชั้นกลาง เป็นนายจ้าง ข้าราชการ เป็นครู ในขณะที่สัดส่วนอาชีพอื่นคละกันไป ดังนั้นการที่บอกว่าคนชนบทเป็นเสื้อแดงหมด สมมติฐานนี้ ตนคิดว่าใช้ไม่ได้ ตนจึงขอเสนอว่า ชาวเสื้อแดงนั้นอยู่ในทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ หรือพูดให้ชัด ข้ามชนชั้น ความเชื่อที่ว่าพวกเสื้อแดงมักเป็นชาวบ้านไร้การศึกษา จากแบบสอบถามก็พบว่า คนไปร่วมนั้นเข้าโรงเรียน สูงกว่าปริญญาตรีรวมกันเกินครึ่ง นอกจากนี้สิ่งที่เรียกว่า "แดง" นั้นยังมีหลายเฉดสี ทั้งแดงเก่า แดงใหม่ แดงหลัง 19 พฤษภา ที่มีเหตุผลที่จะเป็นแดงมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราสำรวจมา เหตุผลที่คนไปร่วมชุมนุม ได้ขยายออกจากปัญหาสองมาตรฐานและความอยุติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงได้บอกว่าความเสื่อมของสถาบันประชาธิปไตยไทย เป็นตัวผลักให้คนเหล่านี้ออกมาเดินบนถนน มากกว่าเหตุผลที่คนมักจะบอกว่าสนับสนุนพรรคไทยรักไทยหรือทักษิณ โดยสรุปขอบอกว่าเสื้อแดงจริงๆ ประกอบด้วยชนทุกชั้น ต่างสถานะและประสบการณ์ เติบโตทั้งจากยุคเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสมัยทักษิณ และจากการเข้าร่วมทางการเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร ขบวนการมีความหลากหลาย อาจจะสัมพันธ์กับพรรคการเมือง บางสายก็เป็นหัวคะแนน แต่ว่ากลุ่มเสื้อแดงมีความเป็นเอกเทศ ขยายตัวตามแนวราบตามธรรมชาติซึ่งน่าสนใจมาก ขยายตัวผ่านเครือข่ายในและนอกชุมชนหลายประเทศ เช่นกลุ่มในตลาด วิทยุชุมชน เวทีปราศรัย งานผ้าป่า โต๊ะจีนต่างๆมากมาย แต่ที่น่าสนใจคือเรื่อง Becoming Red หลังพฤษภา เราพบว่า การเกิดขึ้นของแดง นอกสังกัด นอกเครือข่ายของกลุ่มการเมือง เกิดขึ้นมากมาย ไม่มีใครจ้างให้คนไปยกป้ายค้าน พรก.ฉุกเฉิน กลุ่มเหล่านี้เขาทำกันเอง สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือสิ่งที่รัฐเรียกว่าสื่อนอกรีต หรือเป็นสื่อนอกรัฐ จริงๆ แล้วมันคือยุคเบ่งบานของขบวนการสื่อประชาชน ซึ่งทำให้ชาวบ้านสามารถเห็นและรู้แจ้งถึงความเสื่อมได้มาก ได้กว้าง และได้ลึก อย่างน่าสนใจ เดี๋ยวนี้ชาวชนบทรับสื่อหลายทางมาก บางบ้านมีทีวีสองเครื่อง 3 5 7 9 เขาไม่ดู บางคนดู ASTV เปรียบเทียบกับสื่อเสื้อแดง และวิเคราะห์ว่าอันไหนมันจริงไม่จริง สุดท้าย ขอเสนอว่าหากไม่ปลดล็อคทางการเมือง การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้จริง ชาวบ้านทุกที่ที่ไปไม่มีใครเอาปฏิรูป ชาวบ้านเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่เอาปฏิรูป ในบางพื้นที่ ทหารยกหูโทรศัพท์ถึง อบต.บอกว่าแผนปรองดองมาแล้ว สั่งให้ทำนั่นนี่ เอาฝายน้ำมาให้ ชาวบ้านเสนออย่างอื่นก็ตอบว่าไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ก่อให้เกิดการปรองดอง นี่คือภาคปฏิบัติของการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งยังคงผ่านระบบการสั่งการทางการเมือง แบบนี้แล้วการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมมันจะส่งผลทางการเมืองได้อย่างไร
สื่อกับคนเสื้อแดง อ.ดร.อรัญญา ศิริผล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพมายาคติเกี่ยวกับเรื่องสื่อต่อคนเสื้อแดง จากปรากฏการณ์ทั่วไปที่เราเห็นกัน โดยเฉพาะชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มักมองคนเสื้อแดงเกี่ยวกับเรื่องสื่ออย่างไร มองว่า ดูข่าวไม่เป็นบ้าง เป็นพวกหลงผิดบ้าง คิดไม่ทันและพร้อมที่จะถูกชักจูงได้ง่าย อันนี้เป็นภาพปรากฏที่เรามักได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับคนเสื้อแดงตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องวิทยุชุมชน ที่ถูกมองว่า เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการยุยง ปุกปั่น โน้มน้าวให้ล้มรัฐบาล ล้มเจ้า ปลุกเร้าอารมณ์และเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม และสุดท้ายนำไปสู่ความรุนแรง งานวิจัยนี้จึงกลับไปตั้งคำถามเบื้องต้นว่า จริงหรือที่คนเสื้อแดงเหล่านั้นจะถูกถูกครอบงำจากสื่อได้ง่ายเช่นนั้น จากภาพปรากฏดังกล่าวจึงไปตั้งคำถามที่ต้องการค้นหา 2 คำถามหลักคือ หนึ่ง ถามว่า การบริโภคสื่อต่างๆ ของคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร คือสนใจว่า เขาอยู่กับข่าวสารอย่างไร และสอง บทบาทสื่อของคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร การไหลเวียนของข่าวสารเป็นไปอย่างที่สื่อวิทยุชุมชนถูกเข้าใจดังที่กล่าวกันหรือไม่ เนื่องจากเรามีเวลาในการทำงานวิจัยสั้นมาก เราจึงออกแบบวิธีการศึกษา 2 ทางคือ ทำการสำรวจด้วยแบบสอบถาม กับการทำ focus group สนทนากลุ่มร่วมกันประมาณ 3-4 ที่ แลกเปลี่ยนกับคนเสื้อแดง สำหรับผลการศึกษา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่กลุ่มคนที่ดูข่าวไม่เป็น หรือหลงผิดถูกชักจูงไป แต่คนเสื้อแดงกลับเป็นผู้ที่ใช้สื่ออย่างกระตือรือร้น จากการที่รับสื่อหลากหลายประเภท หลากหลายแหล่งที่มา และยังมีการจำแนกแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่รับมาจากหลากหลายแหล่งดังกล่าว เพื่อใช้เปรียบเทียบข้อมูลข่าวสาร สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า คนเสื้อแดงมีการพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ใช่ว่า เดินตามใคร ใครว่าอย่างไร ก็ไปอย่างนั้น ส่วนประเด็นเรื่องวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือที่เสี้ยมความขัดแย้งจริงหรือไม่ เราพบว่า วิทยุชุมชนไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่ในทางกลับกัน วิทยุชุมชนกลับทำหน้าที่ที่ไม่ใช่เพียงการเผยแพร่ข่าวสารและยกระดับการวิเคราะห์สถานการณ์ให้กับคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่วิทยุชุมชนยังทำให้เกิดรูปแบบของการกระจายอำนาจในแนวราบ ช่วยสร้างและขยายเครือข่ายในระดับแนวราบ ไม่ว่า ตัวดีเจที่เกิดขึ้นในระดับของชุมชนแล้วกระจายข่าวสารในระดับชุมชน ในแบบสอบถาม เราถามว่า คนเสื้อแดงรับฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อใดบ้าง คำตอบค่อนข้างชัดเจนที่เราจะความหลากหลายในการรับสื่อ คือ กลุ่มคนเสื้อแดงดูทั้งฟรีทีวี หนังสือพิมพ์สื่อรายวัน สื่อส่วนกลาง การสนทนาภายในกลุ่ม แลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มเครือญาติ ในตลาด ร้านค้าต่างๆ อย่างทั่วไปเต็มไปหมด ข้อสอง ถามว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้คนเสื้อแดงตัดสินใจเลือกรับสื่อหรือติดตามข่าวสารจากสื่อดังกล่าว ส่วนใหญ่ตอบว่า ใช้เปรียบเทียบข้อมูลข่าวสารกับสื่ออื่นๆ รองลงมาคือ ใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ และสื่อต่างๆ ที่เลือกมีความน่าเชื่อถือ ส่วนที่ถามเกี่ยวกับวิทยุชุมชน ถามว่า คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า วิทยุชุมชนมีส่วนชักนำให้เกิดการแตกแยกและขัดแย้ง คำตอบส่วนใหญ่พบว่า ไม่เห็นด้วย เพราะว่า ประชาชนคิดเองได้ และก็ไม่เห็นด้วยเพราะว่า ประชาชนเลือกฟังจากหลายสื่อ ทีนี้มีตัวอย่างจากคนเสื้อแดง คนใช้สื่ออย่างกระตือรือร้น สิ่งที่คนเสื้อแดงทำคือ การมองหาสื่อที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถรับรู้ข่าวสารที่มันกว้างขวางขึ้น ในยุคสังคมโลกาภิวัฒน์เราไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้อีกต่อไป ลองดูตัวอย่างนี้ "ดูสื่อกระแสหลักเอาไว้เปรียบเทียบ ติดตามข่าวสาร และวิพากษ์วิจารณ์" เช่น โครงการยืนเคารพธงชาติ 6 โมงเย็น ดูแล้ว รู้สึกอย่างไร "โอ้ย มันผลาญงบ" นี่คือสิ่งที่เสียงสะท้อนจากคนเสื้อแดง จะได้ดูเพื่อจะได้รู้ว่าเอาเงินไปทิ้งอย่างไรบ้าง หรือดูว่า วิธีการที่สืบแสวงหาสื่อต่างๆ เหล่านี้ การที่ลูกหลานเรียนหนังสือในเมืองพยายามค้นข้อมูลข่าวสารมาเล่าสู่กันฟังให้กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เครือญาติต่างๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์มากับสื่ออินเตอร์เน็ต ส่วนบทบาทของสื่อต่างๆ ในกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่คนเสื้อแดงใช้สื่อกระแสหลักเพื่อตามกระแสสถานการณ์และจับโกหกรัฐ และการนำเสนอข่าวสารของสื่อกระแสหลัก ส่วนสื่อในกลุ่มสิ่งพิมพ์ วีซีดี ใต้ดินมีการกระจายไหลเวียนในกลุ่มของคนเสื้อแดง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่เปิดเผยในที่สาธารณะ และมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า (Narrative) ที่นำมาเล่าต่อๆ กัน ซึ่งหลักๆ มี 2 เรื่องที่เราจับความได้ คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับสถาบันและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ เรื่องที่ 2 เป็นเรื่อง ความรุนแรงในช่วงการปราบปรามประชาชนที่ราชประสงค์ ข้อมูลข่าวสารถูกกระจายและส่งต่อภายในกลุ่มเสื้อแดง ส่วนวิธีการกระจายจะเห็นชัดว่า เนื่องจากไม่สามารถเปิดเผยในที่สาธารณะได้ วีซีดี หนังสือเอกสารเหล่านี้จะถูกส่งต่อแบบ person to person จากเพื่อนสู่เพื่อน จากเพื่อนบ้านสู่คนที่รู้จักและไว้ใจได้ แล้วไปกระจายต่อกันเอง มีทั้งมาจากต่างประเทศ และส่งต่อจากข้างใน ลองดูความรู้สึกบางส่วนของชาวบ้าน " แต่ก่อนเราไม่ค่อยได้ดูอะไร เทียบสมัย 6 ตุลา 2519 โลกก็เป็นโลกอีกแบบที่สังคมข้อมูลข่าวสารของเราไม่ได้ถึงกันขนาดนี้ แต่ว่าในยุคนี้ เรากำลังพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว ก้าวหน้า มันหมายความว่า เรามีสิ่งต่างๆ ที่น่าจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงในที่ต่างๆ ได้ที่มาคานกับสื่อกระแสหลัก" ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์บนดิน คือ กลุ่มนี้สามารถกระจายได้ทั่วไป ทั้งคนเสื้อแดงและคนอื่นๆ ที่สนใจจะรับรู้ข่าวสาร ขณะที่สื่อทีวี จากจานดาวเทียม ที่เรียกว่า "จานดำ" แต่ก่อนเรารู้ว่า พรรคการเมืองเป็นคนจัดหามาให้ในราคาทุน เพื่อให้สามารถเข้าถึงชาวบ้าน ต่อมาระยะหลังก็สามารถซื้อได้ในราคาถูกลงเรื่อยๆ เพราะความต้องการของคนเสื้อแดงที่ต้องการรับสื่อนี้มากขึ้น อยากดูข้อมูลข่าวสารของช่องPeople Channel ที่อยู่ในนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงมีการขยายการติดตั้งจานดำในกลุ่มคนเสื้อชนบท จานดำมีความสำคัญอย่างไร ไม่ใช่เพราะว่ามีเพียงรายการจาก People Channel ซึ่งเป็น highlight หลัก แต่จริงๆ แล้วมีรายการอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบ รายงานอื่นๆ ที่ช่วย update ข่าว แหล่งข้อมูลจากสื่อเหล่านี้ช่วย balance การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่ใช่มาจากสื่อกระแสหลักเพียงที่เดียว ที่คนมักจะอึดอัดคับข้องใจเสมอ ส่วนวิทยุชุมชน เราพูดถึงคลื่นหลายๆ คลื่น แน่นอน เชียงใหม่เราพูดถึงคลื่น 92.5 MHZ มีประวัติศาสตร์ ของพัฒนาการการก่อตั้งที่สัมพันธ์กับพรรคการเมือง แต่สำหรับคนเสื้อแดงแล้ว เราจะพบว่า วิทยุชุมชนกับดีเจกลุ่มนี้โยงกับกลุ่ม hard core ของการเคลื่อนไหว ซึ่งคนเสื้อแดงมีความหลากหลายมากไปกว่า กลุ่ม hard core เท่านั้น ดังนั้นเองคลื่น 92.5 MHZ คือกลุ่มแดง 51 ที่มักจะใช้ความรุนแรงมาตลอด ทำให้เกิดการแตกตัวของคนเสื้อแดงในยุคหลัง เริ่มมีความพยายามจะแยกตัวเองออกมาจากกลุ่ม hard core ทั้งหลาย เช่น "เขาเรียกเพื่อใช้การระดมพล แต่ไม่ยอมบอกว่าจะให้ไปทำอะไร สุดท้ายถ้าไม่ยอมบอกว่าให้ไปทำอะไร ก็ไม่ไป" ดังนั้น มันสิทธิและเสรีภาพที่ผู้บริโภคที่คนเสื้อแดงเลือกหรือไม่เลือกว่าจะทำอะไร ไมใช่ว่าต้องวิ่งตามวิทยุชุมชนอย่างที่กล่าวมาตลอด
เราควรจะมองคนเสื้อแดงอย่างไร นายนพพล อาชามาส สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราควรจะมองคนเสื้อแดงอย่างไร คือเราควรที่จะให้ความสำคัญกับความหลากหลายภายในกลุ่มของคนที่เข้าร่วม คือขบวนการมีความหลากหลายในตัวเอง อย่างที่พูดถึงว่า ชาวบ้านก็มีการแยกว่ากลุ่มไหนฮาร์ดคอร์ไม่ฮาร์ดคอร์ หรือว่าประเด็นแต่ละช่วง ที่เสื้อแดงเคลื่อนไป มันมีความเปลี่ยนแปลง อย่างคำว่าพวกสองมาตรฐาน ถ้าจำกันได้มันเพิ่งเกิดขึ้นตอนเดือนมีนา แต่ก่อนหน้านั้นยังไม่มีคำพวกนี้ และก็คนเสื้อแดงแต่ละคนเองก็มีการคัดกรอง จำแนกเลือกสังกัดกลุ่ม และก็เลือกวิธีการที่เหมาะกับตัวเองในการเข้าร่วมขบวนการ ตัวอย่างที่ชัดคือ ในเชียงใหม่มันจะมีสองกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งจะแยกกันทำงาน คือกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และกลุ่มศูนย์ประสานงานกลางนปช.เชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเสื้อแดงตามอำเภอต่างๆในเชียงใหม่เข้าร่วมอย่างหลวมๆ โดยในตอนแรกเกิดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ก่อน แล้วจึงมีการแยกออกมาเป็นกลุ่มศูนย์ประสานงานกลาง เนื่องจากเค้าไม่เห็นด้วยกับบางแนวทางเคลื่อนไหว และในกลุ่มที่แยกออกมาเอง เค้าก็มีการวางกำหนดกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ที่ต่างออกไปจากแนวทางที่เค้าไม่เห็นด้วย อย่างแกนนำบางคนก็บอกว่า เราก็ห้ามตลอดว่าไม่ให้มีการทำอันตราย วางระเบิด หรือทำร้ายผู้คน เราสู้กันด้วยความคิด ถ้าไปทำลาย มันก็เป็นเงินภาษีของเรา เป็นข้าวของของเรา ก็คือมันมีการจำแนกและเลือกวิธีการของตนเอง หรือว่าการระดมทุน ก็มีการจัดผ้าป่า ตั้งกองทุน ฮอมเงินร่วมกัน อยากจะเล่าถึงคนที่ได้เข้าไปพูดคุย อย่างกลุ่มป้าๆ แม่ค้าผู้หญิงในสันกำแพง แดงสันกำแพงนั้นมีแกนหลักจะอยู่ในตลาดสันกำแพง ตอนแรกเขาไปร่วมกับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 แต่พอมีการแยกออกมา และเห็นว่าที่นี่เป็นบ้านเกิดของทักษิณ ก็น่าจะมีกลุ่มที่รวมตัวกันและเริ่มทำการเคลื่อนไหว โดยได้กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นอีกบางส่วนมาช่วย และพวกเขาก็ทำกิจกรรมกันเอง เช่น จัดเวทีปราศรัยที่ถนนคนเดินสันกำแพง ขายเสื้อ อุปกรณ์เสื้อแดงต่างๆ บางครั้งก็รับบริจาคข้าวของให้คนที่ไปชุมนุม มีเฮียร้านขายยาคนหนึ่งไม่เคยไปร่วมชุมนุมเลย แต่ก็บริจาคให้เอาเข้าไปตอนชุมนุมกรุงเทพฯ เยอะมาก แล้วก็น่าสนใจกิจกรรมที่เค้าลงไปทำ คือเขามีการกระจายลงไปพูดคุยกับชาวบ้านรอบนอกตามหมู่บ้านต่างๆ พูดคุยเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมืองจะเคลื่อนไหวอะไรได้บ้าง หรือทำไมต้องเป็นแดง คือมันน่าสนใจมากที่ชาวบ้านลงไปทำอย่างนี้กันเอง ป้าแกนนำยังเล่าว่าแกนนำทางกรุงเทพฯยังแปลกใจที่กลุ่มได้ทำแบบนี้กันไปก่อนแล้ว เพราะทางกรุงเทพฯก็คิดจะทำเหมือนกัน อันนี้จะเกิดก่อนชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ทำให้ได้เครือข่ายในตำบลหรือหมู่บ้านภายในอำเภอของตน หากเจาะไปดูในแต่ละกลุ่มเสื้อแดงจริงก็จะเห็นความหลากหลายของคน อย่างบางคนก็เดินเข้ามาร่วม มาสมัครกับกลุ่มป้าๆ สันกำแพงเอง เช่นมีพี่ช่างตัดผมคนหนึ่ง ก่อนหน้านี้แค่ติดตามข่าวสารบ้างเท่านั้น แต่พอเห็นและรู้หลายๆ อย่างที่คิดว่าไม่เป็นธรรมมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งเริ่มรับไม่ได้เขาก็มาร่วมกับกลุ่มเอง แล้วได้ไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ปีนี้เป็นครั้งแรก แล้วก็อยู่ในวัดปทุมฯ ด้วย หรือมีลุงที่เป็นสหายเก่า ก็มาเข้าร่วมกับกลุ่มด้วย แต่ร่วมแบบหลวมๆ ช่วยให้ข้อมูลประสบการณ์กับคนอื่นๆ หรือมียายอีกคนอายุ 82 ปี แกก็นั่งรถไฟลงไปกรุงเทพฯเองคนเดียว แกไม่ได้ร่วมกับกลุ่มไหนเลย แต่ขอเงินลูกหลานมาบอกว่าจะเอาไปเล่นไพ่ แต่แอบหนีเข้าไปชุมนุม โดยสรุปคือในกลุ่มแต่ละอำเภอของเชียงใหม่เอง ก็มีอิสระในการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมของตน ขณะที่ปัจเจกบุคคลบางส่วนก็มีการเลือกวิธีการในการเข้าร่วมตามของตน อย่างอิสระในระดับหนึ่ง
เหลือง แดง 2 โลกคู่ขนาน : แผ่นดินเดียวกันแต่อยู่คนละกาลเวลา นายนพพล กล่าวต่อว่า อยากอธิบายถึงปรากฏการณ์หลังความรุนแรงในเดือนพฤษภาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้านหนึ่งอย่างที่รู้กันอยู่แล้วมันเกิดกระบวนการคู่ขนานของรัฐบาล คือด้านหนึ่งก็คือการข่มขู่คุกคาม ปราบปรามภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน แต่กระบวนการนี้กลับทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มเสื้อแดงหรือแนวร่วม อย่างนักศึกษาที่ออกมาชูป้าย อีกกระบวนการหนึ่ง คือกระบวนการปรองดองและปฏิรูปประเทศ แต่ปัญหาคือกระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังความรุนแรง จึงอยากเสนอว่าความรุนแรงมันส่งผลมากมายถึงความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ สิ่งหนึ่งที่อยากเสนอคือมันได้แยกโลกออกเป็นสองใบ อันนี้แบ่งแบบหยาบๆ โลกใบที่หนึ่ง เห็นได้ในแนวทางปรองดองกับปฏิรูป การเรียกร้องให้คนร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยต่อ ตัวอย่างในคำพูดของหมอประเวศที่เคยพูดว่า "ปรองดองเป็นเรื่องของอดีต แต่ปฏิรูปเป็นเรื่องของอนาคต เราถึงไม่ควรหมกมุ่นกับการแก้ปัญหาจนเคลื่อนไปสู่อนาคตไม่ได้" หรือของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พูดลงในมติชนออนไลน์ว่า "ผมกลับคิดว่าการลืมง่ายเป็นสิ่งที่ดี คนไทยจำนวนมากเป็นคนขี้ลืม ทำให้ทุกอย่างกลับมาได้ ลืมซะบ้างก็ดี" แต่อาจารย์ลืมไปว่า ตอนนี้มันไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้ง แต่มันมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว อีกกรณีคือในวงพูดคุยสัมมนาในมหาวิทยาลัยพายัพที่ผมได้ไปร่วม เชิญทั้งคนเสื้อแดงและเสื้อหลากสีมานั่งคุยกันได้ น่าสนใจมาก ที่เสื้อหลากสีเค้าบอกกับคนเสื้อแดงตอนหนึ่งว่า "ข้างหลังทิ้งมันไปเสีย เดินไปข้างหน้าดีกว่า พูดแต่อดีตกันทั้งนั้นเลย แล้วจะจบลงไปได้อย่างไร" ถ้ายังจำกันได้ ท่าทีอย่างนี้มันคล้ายๆท่าทีอย่างหนึ่งหลังการรัฐประหาร ที่ว่า "ไหนๆ มันก็เกิดขึ้นแล้ว" คือแม้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว สังคมต้องคิดถึงอนาคต ดังนั้นแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องเข้าร่วมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อไป" โลกใบที่สอง ลองดูว่าเกิดอะไรขึ้นในกลุ่มคนเสื้อแดงบ้าง วันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังเชียงใหม่ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 17 สิงหา ชาวบ้านที่สันกำแพงกับบ่อสร้าง โทรนัดกันบ่ายนั้นเลย ตอนเย็นก็มารวมกัน 20-30 คน และจัดฉายภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเมษา-พฤษภา คือสองสามชั่วโมงที่นั่งดูจอโปรเจ็คเตอร์เล็กๆ ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องซีดีที่เสนอภาพเหตุการณ์ต่างๆ กระจายไปทั่ว หรือหนังสือ "ความจริงจากข่าวสด" ที่ร่วมเหตุการณ์เมษา-พฤษภา ผมสำรวจส่วนตัว ไปถามบางร้านหนังสือ สั่งมาสามสี่รอบแล้ว หมดเกลี้ยง แล้วก็ตอนคุยกับชาวบ้านที่สันกำแพง คนส่งหนังสือพิมพ์มาส่งให้ป้าๆแต่ละคนสั่งทีสามถึงสี่เล่ม คือมันขายดีมาก แล้วก็เรื่องเล่าแบบปากต่อปาก ช่วงที่ผ่านมาแต่ละคนก็จะเล่าว่าเค้าประสบอะไรมาบ้าง เรื่องเล่าแบบต่างๆ มันกระจายไปทั่ว ป้าคนหนึ่งเอากระสุนปืนที่เก็บมาได้ตอน 10 เมษา มาให้ดู แล้วบอกว่าจะไปใส่กรอบทำที่ห้อยคอ ผมคิดว่ามันสะท้อนว่าป้าอยากจะจำเหตุการณ์นั้นไว้กับตัวตลอด อีกส่วนหนึ่งคือ มันมีหลากหลายอารมณ์ในกลุ่มคนเสื้อแดงในปัจจุบัน ที่สัมพันธ์กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น มันเป็นอารมณ์ที่อยู่ต่อเนื่องมา และอาจส่งผลถึงการกระทำต่อไป อย่างผมลองโค้ดบางประโยคที่คนเสื้อแดงพูดคือ "เราทั้งแค้น เจ็บใจ ตายเป็นร้อยศพ" "แผลนี้ลึกมาก ไม่มีการเยียวยา เยียวยาไม่ได้เลย" "ชาวบ้านเจ็บใจ เอาหนังสติ๊กใส่ลูกแก้วยิงสู้กับเอ็ม 16 กลายเป็นกบฏ กลายเป็นผู้ก่อการร้าย" "พวกผู้หญิงดูทีวีกันทั้งคืน ตอนสลาย ดูแล้วร้องไห้กัน" "มันเหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ ขอความเห็นใจ ยังมายิงเราอีก เราไม่มีอำนาจ ก็บ่นไปงั้นแหละ พูดแล้วเศร้า เสียใจแทนคนที่เสียชีวิต" หรือบางคนก็อัดอั้น ทำอะไรไม่ได้เลย แล้วก็เครียด รอบๆตัวมันเหมือนแย่ไปหมด คือความรู้สึกคนมันยังวนเวียนกับความเจ็บปวด โกรธแค้น ผิดหวังในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ตาม มีส่วนที่ผมโค้ดมาจากข่าว เป็นรายงานเรื่องพ่อแม่ของผู้ที่เสียชีวิตคนหนึ่งวัย 29 ปีถูกยิงตายที่แยกคอกวัว ตอนนี้พ่อกับแม่ของเขายังวนเวียนไปร่วมในงานรำลึกที่กลุ่มต่างๆจัดขึ้น สองสามีภรรยาพากันตระเวนพร้อมกับกระเป๋าใบหนึ่งที่บรรจุเอกสาร หลักฐานการตาย รวมถึงภาพสยดสยองของศพลูกชาย และก็คอยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้ที่ถามไถ่ และอีกอย่างที่น่าสนใจ กิจกรรมของคนเสื้อแดงที่กำลังดำเนินอยู่ ถ้าใครสังเกตในเดือนสองเดือนนี้มันมีกิจกรรมรำลึกมากมาย คือแทบจะทุกวัน พอครบรอบ 19 พฤษภา 1 เดือนทีก็รำลึกกันที มิถุนา กรกฎา สิงหา มาตลอด อย่าง 19 กันยาที่จะถึงนี้ มีสี่เดือนราชประสงค์ สี่ปีรัฐประหาร หรือวันอาทิตย์สีแดง ก็มีคนไปนอนตายกันทุกอาทิตย์ ถ้าจำกันได้วันอาทิตย์สีแดง จะมีตั้งแต่หลังรัฐประหาร กลุ่มของคุณสมบัติ จัดเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ตอนนั้นเป็นประเด็นรัฐประหาร แต่ตอนนี้ประเด็นที่เน้นคือ ที่นี่มีคนตาย ประเทศนี้มีคนตาย โดยสรุปก็คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันได้ทำอะไรกับโลกสองใบ ผมยืมมาจากอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวปาฐกถาในงาน 30 ปี 6 ตุลา เรื่องความรุนแรงกับกาลเวลา ความรุนแรงทำกับ "เวลา" สองอย่าง ด้านแรกคือ ความรุนแรงมันแช่แข็งเวลา เวลาของเหยื่อ ความรุนแรงมันไม่เคลื่อนที่ไปไหน แต่ถูกสกัดให้หยุดอยู่กับที่ จำขังผู้คนไว้ในความรุนแรงอย่างไม่มีคำตอบ ด้านที่สองคือ ความรุนแรงลบเลือนเวลาที่เกิดขึ้นนั้นเสีย สำหรับคนส่วนหนึ่ง หนทางที่อยู่ต่อไปได้คือพยายามลืมเหตุการณ์นั้น ทำราวกับว่าเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังความรุนแรงจึงเกิดสภาวะที่อยู่ "แผ่นดินเดียวกันแต่อยู่คนละกาลเวลา" ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งโลกของเขาและเธอยังวนเวียนอยู่ในอดีต ที่ไม่ได้รับการชำระสะสาง ต้องคอยย้ำเตือนให้สังคมมองเห็นอดีตและให้ความเป็นธรรมแก่อดีตเหล่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม คนอีกกลุ่มหนึ่ง โลกของเขาและเธอกลับเลยข้ามไปอยู่ในอนาคต เร่งย้ำให้ไปข้างหน้า โดยลืมเลือนอดีตอันรุนแรงเหล่านั้นเสีย ทำให้ปัจจุบันของแผ่นดินนี้แตกสลายเป็นเสี่ยงๆ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ฝากข้อคิดแม่ทัพภาค 4 คนใหม่: อย่าผลักภาระให้กับผู้เสียหาย รู้สึกถึงความอยุติธรรมต่อไปเรื่อยๆ Posted: 07 Sep 2010 12:59 PM PDT ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอ ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน ปลายเดือนสิงหาคมช่วงท้ายของเดือนรอมฎอนพี่น้องชาวบ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสต้องฝันสลายไม่สามารถเอาผิดคนชั่วทีกราดยิงญาติพี่น้องของเขาถึง 10 ศพในมัสยิดอัลฟุรกอน หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้อง หลังจากนั้นสองวันกล่าวคือเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 พี่น้องชาวนราธิวาสต้องผิดหวังอีกครั้งหนึ่งเมื่อ ศาลไม่รับฟ้อง 5 ทหารซ้อม“อิหม่ามยะผา”จนตาย อันเนื่องมาจากศาลได้ ชี้ว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร กล่าวคือศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดฟังคำสั่งการไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1611/2552 ระหว่าง นางนิม๊ะ กาเซ็ง โจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.วิชา ภู่ทอง ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง จ.ส.อ.เริงณรงค์ บัวงาม ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช ส.อ.บัณฑิต ถิ่นสุข อดีตทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 และ พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ วังสุภา อดีตผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (อดีตผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ) ทุกข้อกล่าวหา โดยเห็นว่าที่โจทก์อ้างว่าการนำตัว นายยะผา กาเซ็ง กับพวก ไปแถลงข่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนั้น ระเบียบดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ไม่มีบทลงโทษการกระทำดังกล่าว จึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 6 ได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 6 นำรถยนต์บรรทุกผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้เป็นที่คุมขังและควบคุมตัว นายยะผา กาเซ็ง ผู้ตายกับพวก ภายในหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 ก็เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ส่วนจำเลยที่ 1-5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ อย่างไรก็ดี หากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1-5 ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจได้ จากคำพิพากษาดังกล่าวทั้งสองคดีทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่คดีของชาวบ้านหากจำเลยเป็นคนของรัฐหรืออดีตคนของรัฐจะรอดและไม่เคยถูกลงโทษ (ทั้งๆ ที่ต้องเคารพในอำนาจการตัดสินใจของศาล) ขณะเดียวกันพวกเขารู้สึกว่าการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ (ทั้งที่ชาวบ้านเห็นว่ากระทำความผิดอย่างชัดเจน) นั้นเป็นเรื่องยากเหลือเกินและไม่ต่างอะไรกับคดีตากใบซ้ำร้ายเป็นชาวนราธิวาสด้วยเช่นกันที่ถูกกระทำ สำหรับไอร์ปาแย เกิดคำถามมากมายถึงวาทกรรม 2 มาตรฐานที่พวกเขาได้ยินจากกลุ่มคนเสื้อแดงมาตลอดนั้นพวกเขาสัมผัสมาก่อน ผู้ต้องหามุสลิม มักจะโดนกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงหรือก่อการร้าย (ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงทั้งหมดและผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษทุกคนเป็นชาวมุสลิม) และพวกเขาเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี แต่ชาวไทยพุทธที่ใช้ความรุนแรงก็จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย ศาลจะลงโทษหรือไม่มีความผิดหรือไม่ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่เมื่อผลเป็อย่างนี้หมายความว่าตำรวจใช้อำนาจสอบสวนที่ตนมีอยู่ดำเนินการปิดคดีไปแล้ว อาจจะต้องมีการตรวจสอบจากผู้บังคับบัญชาตำรวจว่าความเห็นเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่หรือมีมูลหรือไม่ที่สั่งไม่ฟ้อง อัยการและผู้ว่าราชการจังหวัดยังสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องของตำรวจได้ คำถามจากชาวบ้านว่ารัฐจะทำหรือเปล่า หรือกรณีที่ผู้เสียหายอาจตั้งคดีฟ้องเองแบบคดีอิหม่ามยะผา ก็อาจจะทำได้ แต่ก็ยากลำบากมาก ในขณะที่การใช้กฎหมายพิเศษในการสอบสวน 30 วันตามพรก.ฉุกเฉินนั้นก็ไม่เคยใช้กับไทยพุทธและที่สำคัญเท่าที่ทราบก็ไม่ได้ใช้กับผู้ต้องหาคดีนี้ ไม่เคยออกหมายจับ (ฉฉ.) การสอบสวนของตำรวจมีการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างสุดความสามารถแล้วหรือยังเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิด ทั้งนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการใช้ พรก.ฉุกเฉิน แต่เพียงแสดงให้เห็นว่าการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดเป็นการเลือกปฏิบัติ ประเด็นก็คือหากสิ่งที่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมชายแดนใต้ตั้งข้อสัเกตุข้างต้นเป็นจริงการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งยากขึ้นถึงแม้จะเปลี่ยนแม่ทัพภาคสี่สักกี่คนและพูดผ่านสื่อเป็นประจำว่าปัญหาใต้นั้นดีขึ้น ในขณะเดียวกันอย่าลืมองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำลังจับจ้องการจัดการความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษของไทยไม่ว่าจะเป็นที่เมืองหลวงหรือจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งกรณีนี้อาจจะถูกเขียนรายงานและนำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติได้ว่าการใช้กฎหมาย พรก. เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่ไทยเป็นรัฐภาคีหรือไหม หรือการร้องเรียนต่อศาลปกครองหรือศาลปกครองว่าการบังคับใช้กฎหมายพิเศษไปในทางเลือกปฏิบัติได้หรือไม่ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ที่สำคัญมีหนทางใดบ้างที่จะให้ผู้เสียหายเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งฝากทุกส่วน (ทั้งเมืองหลวงและชายแดนใต้) ต้องช่วยกันทำช่วยกันคิด ไม่ใช่ผลักภาระนี้ให้กับผู้เสียหายและสังคมผู้ถูกกระทำ (ไม่ว่ามุสลิมหรือเสื้อแดงขณะนี้) รู้สึกถึงความอยุติธรรมต่อไปเรื่อยๆ ศาสนาอิสลามได้บัญญัติถึงความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ไว้แล้วเพราะมนุษย์นั้นไม่ได้แตกต่างกันที่ความเป็นมนุษย์ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ความว่า และท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้กล่าวไว้เช่นกันความว่า
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 07 Sep 2010 12:48 PM PDT ยิงมาสิ!
ยิงมาสิ ยิงมาสิ ท็อปบูททมิฬ ยิงมาสิ ให้โลกยิน การเข่นฆ่า ยิงมาสิ กระสุนร้าย รับใช้ศักดินา ที่มึงยิง ที่มึงฆ่า นั่น “ประชาชน”
ยิงมาสิ ยิงมาสิ ยิงเข้าใส่ อย่าหวั่นไหว ลังเลใจ ทหารกล้า เกียรติยศ เหรียญกล้าหาญ สำคัญกว่า เลือด และน้ำตา “ประชาชน”
ยิงมาสิ ! มึงมีกระสุนกูมีมวลชน ดั่งใบไม้ที่ร่วงหล่นแล้วผลิบาน คนทุกข์ทนบนแผ่นดินเป็นล้านๆ จะไม่ยอมกราบกรานอำนาจมึง
ยิงมาสิ! ยิงมาสิ! จงยิงประชาชน ก็สวรรค์เบื้องบนบัญชาไว้ พวกกบฏจะกดหัวจนวันตาย มึงบังอาจท้าทายอำนาจกู
ยิงมาสิ! ยิงมาเถิด! ฉันพร้อมตาย เพื่ออรุณรุ่งสดใสวันหน้า แอกคราดจะปลดปล่อยแม้เลือดทา ก็ทนทุกข์เจ็บปวดมานานเกินทน
ยิงมาสิ! ยิงมาสิ! ยิงมาสิ!
ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แรงงานบุกกระทรวงแรงงาน จี้ รมว.เร่งสั่งจ่ายค่าเสียหายถูกหลอกทำงานต่างประเทศ Posted: 07 Sep 2010 12:36 PM PDT คนงานโวยถูกหลอกไปทำงานโปแลนด์ แล้วถูกลอยแพ กลับมาหนี้บาน เคยร้องค่าเสียหายบริษัทไปแล้วแต่ไม่คืบหน้า จึงมาทวงที่กระทรวงแรงงาน รองอธิบดีกรมการจัดหางานยอมลงมารับหนังสือ แจงกองตรวจคนหางานวินิจฉัยชี้ขาดมีคำสั่งให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายให้คนงาน แต่รอบริษัทอุทธรณ์ และรมว.แรงงานวินิจฉัย หลังจากนี้สามารถนำเงินมาชดเชยคนงานได้ 7 ก.ย.53 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน สหภาพแรงงานคนทำงานต่างประเทศ (แห่งประเทศไทย) และคนงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงานยังประเทศโปแลนด์ 40 คน ผ่านบริษัทจัดหางาน กิตติ บราเดอร์ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับปัญหาจากการไปทำงานโปแลนด์ โดยคนงาน 20 คนถูกจับติดคุกเป็นเวลา 1 เดือน ขณะที่ส่วนที่เหลือไม่ได้เงินเดือนเลย อีกทั้งความเป็นอยู่ในที่ทำงานและที่พักก็ลำบาก ขณะที่เมื่อกลับถึงเมืองไทยยังต้องเผชิญกับดอกเบี้ยเงินต้นที่กู้ยืมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศคนละ 10,000-25,000 บาท และการตามทวงหนี้ของนายทุนเงินกู้นอกระบบ รวมไปถึงปัญหาความแตกแยกในครอบครัว ก่อนหน้านี้คนงานทั้งหมดได้เดินทางเข้าร้องทุกข์ที่กองตรวจคนหางานแล้วเมื่อ 19 มี.ค.เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทจัดหางานเป็นเงินทั้งสิ้น 8,000,000 บาท แต่ไม่มีความคืบหน้า ในวันนี้จึงมีการรวมตัวปราศรัยกันที่ลานน้ำพุ หน้าตึกกระทรวงแรงงาน โจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง คือ 1. รัฐมนตรีต้องสั่งการให้กองตรวจจ่ายเงินให้คนงานทันที เพราะมีคำวินิจฉัยแล้ว 2. รัฐมนตรีต้องให้คำตอบกับคนงานที่ชัดเจน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่คนงานได้มีการปราศรัยอยู่ นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางานได้ลงมารับหนังสือ แต่คนงานยืนยันว่าต้องการจะยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเท่านั้น ทำให้มีการโต้แย้งกันอยู่พักใหญ่ก่อนยอมยื่นหนังสือกับรองอธิบดีกรมการจัดหางาน และรองอธิบดีฯ ได้ชี้แจงว่าขณะนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ธนาคารแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้กองตรวจคนหางานได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ วินิจฉัยชี้ขาดมีคำสั่งให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายให้คนงานเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งส่งเรื่องไปยังอธิบดีเพื่ออนุมัติและส่งเรื่องไปยังธนาคารแล้วเพื่อนำเงินออกมาจ่ายคนงาน แต่บริษัทจัดหางานมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่อธิบดีอนุมัติ (27 ส.ค.) และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานต้องวินิจฉัยภายใน 30 วันนับจากวันอุทธรณ์ จึงจะนำเงินออกมาจ่ายคนงานได้ อย่างไรก็ตาม คนงานทั้งหมดได้หารือกันนานกว่า 4 ชั่วโมง จึงเรียกร้องขอดูคำสั่งหักหลักประกัน พร้อมทั้งทำบันทึกการตอบรับข้อเสนอตามที่รองธิบดีได้ให้คำตอบกับคนงาน โดยขู่ว่าหากไม่มีการทำบันทึกไว้เป็นหลักประกันก็จะนอนค้างคืนที่ใต้ถุนกระทรวง จากนั้นจึงได้รับการประสานงานจาก นายพงศักษ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้ากองตรวจคนหางานได้นำหนังสือหักหลักประกันมาให้คนงาน และชี้แจงการดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งคนงานพอใจและยอมสลายตัวในที่สุด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เมื่อ “สถาบันนิยม” สะท้อน “ชาตินิยม”: กรณี “หัวโจก” กับ “รัฐมาเฟีย” Posted: 07 Sep 2010 12:27 PM PDT บทความโดย "วันรัก สุวรรณรัตนา" ตั้งคำถามต่อสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า "มาตราการเชิงรุก" หลังกรณีนักเรียนตีกัน " โดยชี้ว่า รูปแบบการเมืองของ “หัวโจก” ที่ทั้งรัฐบาลและสังคมยอมรับไม่ได้ เป็นเพียงโมเดลขนาดเล็กของการเมืองแบบ “รัฐมาเฟีย” ผิดกันที่สังคมยอมรับอำนาจนิยมรูปแบบนี้ได้ ในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องเยาวชนตีกันกลับเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในหน้าหนึ่งของสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ไทยแทบทุกสำนัก การเสียชีวิตของเด็กชายวัย 9 ขวบซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทะเลาะวิวาทเพียงแต่เผอิญไปอยู่ผิดที่ในเวลาที่ผิดพลาดนำมาซึ่งความรู้สึกสลดโศกเศร้าของผู้คนในสังคมที่เห็นพ้องต้องกันว่าเด็กเหลือขอเหล่านี้ควรต้องถูกจัดการโดยมาตรการที่เด็ดขาด ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและออกมาตรการต่างๆใน “เชิงรุก” เพื่อสนองตอบอารมณ์สาธารณะที่ต้องการให้มีการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จนถึงกับมีการเสนอให้ “เด็กหัวโจกทั้งระดับมัธยมศึกษาและอาชีวะไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่ที่ท้าทาย เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” และยังเรียกร้องให้ “ครม.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาขานรับกับการมาตรการแก้ปัญหาเชิง ”บูรณาการ” นี้ ด้วยข้อเสนอเรื่องการพัฒนาและเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว ควบคู่กับการพัฒนาเรื่องไอคิว (ดูเพิ่มเติมที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1283776766) ท่ามกลางความพยายามที่ดูจริงใจและจริงจังเพื่อร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอต่างๆที่ทยอยกันออกมากลับไม่ต่างไปจากข้อเสนอที่รัฐบาลและสังคมไทยได้เคย “คลอด” ออกมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา หนำซ้ำกลับจะทวีความรุนแรงทั้งในเชิงการจัดการและในเชิงมาตรการทางกฎหมาย เสมือนว่ากำลังพยายามก้าวกระโดดตามให้ทันความรุนแรงของปัญหาที่เพิ่มขึ้น ด้วยการลอกเลียนแบบความรุนแรงนั้น คำถามก็คือ มาตราการเชิงรุกต่างๆ เหล่านี้ แท้จริงแล้วจะแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่ "เยาวชน” ที่รมว.ศธ.และ “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายในสังคมไทยแปะป้ายชื่อให้พวกเขาไปแล้วว่าเป็น “หัวโจก” ได้จริงหรือ? ดังนั้น เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมานี้แล้วนั้น จะเห็นได้ว่ามีสองประเด็นที่สังคมไทยจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นแรกคือ เรื่องกรอบคิดของการมองปัญหา ซึ่งนำไปสู่การให้คำนิยามกับปัญหาและวิธีในการจะเข้าไปจัดการกับปัญหา จากคำสัมภาษณ์และแถลงการณ์ต่างๆของ “ทุกภาคส่วน” ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะของรมว.ศธ. เราจะเห็นได้ว่ากรอบวิธีคิดคือ การมองว่านี่คือปัญหาในระดับปัจเจก หมายถึงว่าเยาวชนทุกคนไม่ได้เป็นอย่างนี้ มีเพียงเยาวชนในบางสถาบัน เยาวชนบางกลุ่มและเยาวชนบางคนเท่านั้น ปัจเจกในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงตัวบุคคลเพียงคนเดียว (ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องของกรณียกเว้นไป) แต่หมายถึง “บางกลุ่มบางบุคคล” (ซึ่งเป็นเรื่องของกรณีพิเศษที่กินพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางมนุษยวิทยาจำกัดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นปัญหาของพื้นที่โดยรวมทั้งหมดของสังคม) การมองปัญหาแบบนี้ไม่ได้มีอะไรผิดในตัวเอง เพราะในความเป็นจริง เมื่อเราพิจารณาสถานะทางการเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของเยาวชนกลุ่มนี้ เราจะเห็นได้ว่าพวกเขามีพื้นเพบางอย่างร่วมกัน คือพวกเขามาจากครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มคน “รากหญ้า” หรือฐานล่างที่ต้องรองรับน้ำหนักของยอดด้านบนที่กดทับลงมา หากแต่ผลที่เกิดขึ้นจากการมองปัญหาแบบนี้ในสังคมไทยต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะนำไปสู่ข้อสรุปที่เต็มไปด้วยอคติของการสร้างความเป็นอื่นและการแบ่งแยก ดังจะเห็นจากการนิยามว่าเยาวชนเหล่านี้เป็น “หัวโจก” และเป็นภัยคุกคามสังคม ดังนั้น เราต้องเข้าไป “จัดการ” หรือถ้าจะให้สุภาพเข้ากับ “จริต” ทางการเมืองของคนไทยหัวใจรักกัน เรามักจะใช้คำว่า “ช่วยเหลือ ขัดเกลาและเยียวยา” แต่ก็ด้วยวิธีการที่ฉาบไปด้วยอคติของการมองปัญหาแบบปัจเจก นั่นก็คือ “สอดส่อง ควบคุมและเซ็นเซอร์” ดังจะเห็นได้จากมาตรการควบคุมทั้งหลายที่ออกมาจากการประชุมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีลักษณะสำคัญคือการ “เฝ้าระวัง” โดยมีองค์กรทางอำนาจ (ตำรวจ สารวัตรนักเรียนและตัวสถานศึกษาเอง) เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย “ล้มหัวโจก” ในขณะเดียวกัน “มาตรการระยะยาว” นั้นก็เน้นไปที่การตั้ง “คณะกรรมการ” ต่างๆขึ้นมาในรูปแบบของ “ภาคีเครือข่าย” ซึ่งในทางหลักการก็ดูเข้าที แต่ในกระบวนการและขั้นตอนของการได้มาซึ่งข้อสรุปนี้ เราจะเห็นว่า “ทุกภาคส่วน” นั้นมิได้มี “ส่วนของเยาวชนหัวโจก” ร่วมด้วยแต่อย่างใด มาตรการเชิงรุกและระยะยาวนี้ล้วนกลั่นคั้นออกมาจากความคิดและความเห็นของ “ผู้ใหญ่ผู้หวังดี” แต่เพียงถ่ายเดียว โดยกีดกันผู้ที่เป็น “ตัวปัญหา” ออกไปจากการมีส่วนร่วม เพราะตัวปัญหาจะไม่สามารถคิด ทำและตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ได้แน่ๆ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามเสนออย่างกว้างขวางว่า ปัญหาเยาวชนตีกันนั้นเป็นปัญหาสังคม แต่วาทกรรมนี้ดูจะเป็นวาทกรรมที่มีแต่รูปแบบ ไร้เนื้อหาใดๆ มีไว้ใช้เพียงเพื่อประดับคำให้สัมภาษณ์ของผู้พูดเท่านั้นและเพื่อสร้างความอุ่นใจชั่วคราวให้กับสังคมเพราะตอบสนองกับสิ่งที่ความเห็นสาธารณะต้องการได้ยิน เข้าข่ายสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า political correctness (ความถูกต้องดีงามทางการเมือง) หากในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้มีความพยายามใดๆที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของวิธีการจัดการกับปัญหาให้สมกับที่อ้างว่าเป็นปัญหาสังคม เพราะเรายังคงมองเยาวชนเหล่านี้ว่าเป็นตัวก่อกวน มองว่าเป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่พวกเรา ที่อยู่นอกเหนือไปจากพวกเรา และมองว่าเป็น “เชื้อร้าย” ของสังคม เราไม่ได้เอาตัวเราเองหรือสังคมทั้งหมดเข้าไป engage หรือมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ได้ตั้งตนว่า เรา ในฐานะคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ก็ย่อมต้อง “มีส่วนต่อการเกิดขึ้น” ของปัญหาและ ดังนั้น จึงต้อง “มีส่วนรับผิดดชอบ” ต่อปัญหานี้เท่าๆกับเยาวชนผู้ก่อปัญหาโดยตรง ในงานวิจัยของกรมสุขภาพจิตที่รมว.สธ.อ้างถึงนั้น สรุปไว้ว่า “กลไกก่อให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น 30 คน จาก 3 สถาบัน พบว่ามีปัจจัยหลักจากทัศนคติ ความคิด ค่านิยมความรุนแรง และศักดิ์ศรี ร้อยละ 60-80” ดังนั้นจึง “ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรมเรื่องการใช้ความรุนแรง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ของเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่จะหยุดแช่แข็งปัญญาของความคิดเห็นสาธารณะไว้เพียงแค่ข้อสรุปง่ายๆตื้นเขินว่า ต้องเปลี่ยนทัศนคติของเยาวชนเหล่านี้? ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่ เราทุกคนต้องตั้งโจทย์ใหม่ ต้องพลิกกลับกระบวนทัศน์ใหม่ ว่าอาจไม่ใช่ทัศนคติของเยาวชนที่มีปัญหา แต่เป็นทัศนคติที่ผู้มีอำนาจในการปกครองและสังคมไทยมีต่อเยาวชนต่างหากที่เป็นปัญหา? แท้จริงแล้ว ปัญหาเยาวขนตีกันนั้นจึงไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาของปัจเจก และก็ไม่ได้เป็นปัญหาทางสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม ดังนั้น จึงเป็นปัญหาทางการเมืองด้วยในเวลาเดียวกัน ข้อสรุปชั่วคราวนี้จึงนำเรามาสู่ประเด็นที่สองคือ ประเด็นเรื่อง ภาพของสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ (ดังนั้นก็คือภาพของสังคมที่เราต้องการให้เป็นในอนาคตด้วยในเวลาเดียวกัน) ซี่งจะไปเกี่ยวเนื่องกับนโยบายปรองดองและปฏิรูปแห่งชาติที่รัฐบาลกำลังพยายามทำผ่านกลไกทางอำนาจทั้งหลายที่รัฐมีอยู่ในมือ หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่จบลงด้วยการตาย 91 ศพ รัฐบาลต้องการให้สังคมไทยก้าวกระโดดไปข้างหน้าด้วยการเสนอ “มาตรการระยะยาว” ภายใต้กรอบคิดเรื่อง “การปรองดอง” และ “การปฏิรูป” โดยมีวีธีการหลักๆคือ การสร้างเสริมจิตสำนึกของการรักชาติ ควบคู่ไปกับการดึงเอา “คนดี” มาเป็นธงชัยนำกองทัพปฎิรูป “สถาบัน” ต่างๆ ทั้งทางการเมืองและทางสังคมถูกยกให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่แตะต้องไม่ได้ “ความดี” (และชุดคำที่มีนัยเดียวกัน “จริยธรรม” “ศีลธรรม” ฯลฯ) ถูกสถาปนาให้เป็นคุณค่าสูงสุดที่ต้องยึดมั่นถือมั่น ในนามของ “ชาติไทย” และการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว คนไทย “ที่ดี” นั้นจะต้องประพฤกติตัวบนเส้นทางนี้ที่รัฐบาลพยายามปูไว้ให้เท่านั้น หากเราเผลอก้าวออกนอกพรมแดงนี้เมื่อใด เราจะกลายเป็น คนไม่รักชาติ ผู้ก่อกวน ผู้ก่อการร้าย หัวโจก ฯลฯ ไปในทันที ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่ายุคสมัยที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่นี้คือยุคของการกลับไปสู่การสร้างลัทธิ “ชาตินิยม” ในนามของการพัฒนาประเทศ และรัฐก็ใช้ความรุนแรงในหลากหลายวิธีเพื่อที่การสถาปนาลัทธินี้ เพราะในขณะที่รัฐบอกเราว่าเราควรจะรักกัน (ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวและเชิงบูรณาการ) รัฐก็ใช้ “มาตรการเชิงรุก” ภายใต้กรอบคิด “ควบคุม สอดส่องและเซ็นเซอร์” (รวมไปถึงปราบปราม) กลุ่มคนที่คิดเห็นต่าง ทั้งทางการเมืองและทางสังคม ด้วยการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว “สถาบันนิยม” ของเหล่าเยาวชนผู้รักการตีกัน จึงอาจเป็นผลผลิต (ในเชิงย้อนกลับ) ของลัทธิ “ชาตินิยม” ของบรรดาคนไทยหัวใจ (รักชาติ) เดียวกัน เพราะท้ายที่สุด ทั้งสองกลุ่มก็รักและเทิดทูน “คุณค่าสูงสุด” ในแบบเดียวกัน กลุ่มหนึ่งเทิดทูนสถาบันการศึกษา ส่วนอีกกลุ่มเทิดทูนแนวคิดเรื่องรัฐชาติหนึ่งดียว และทั้งสองกลุ่มตัดสินใจหรือกระทำการใดๆ ภายใต้ “ความเชื่อ” เรื่องคุณค่าสูงสุด รูปแบบการเมืองของ “หัวโจก” จึงเป็นโมเดลขนาดเล็กของรูปแบบการเมืองของ “รัฐมาเฟีย” ! แต่ในขณะที่สังคมยอมรับ “อำนาจนิยม” แห่งรัฐได้ (สังคมยอมให้รัฐใช้ความรุนแรงได้ โดยมีข้ออ้างคือ “ความชอบธรรม”) เหล่านักศึกษาอาชีว “หัวโจก” กลับไม่สามารถอ้างความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้นที่จะใช้ความรุนแรงได้เลย นอกเสียจาก ความชอบธรรมหนึ่งเดียวที่บุคคลอื่นๆ ในสังคมยัดเยียดให้กับพวกเขาด้วยสายตาที่สังเวชระคนความโกรธเกรี้ยว นั่นก็คือการมองว่าพวกเขาเป็นผู้ด้วยโอกาสทางสังคมอันเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่บูดเบี้ยว หากแต่เรามักจะลืมว่าโครงสร้างที่บูดเบี้ยวนี้ แท้จริงแล้ว ตั้งอยู่บนฐานของโครงสร้างทางอำนาจและทางคุณค่าที่เห็นแก่ตัว ใจแคบและเบ็ดเสร็จ ! กระบวนทัศน์ที่รัฐและสังคมใช้มองและจัดการกับปัญหาเรื่องเยาวชนก่อความรุนแรงจึงต้องได้รับการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้ติดอยู่ในกับดักเรื่อง “การสร้างคนดี” แต่เพียงถ่ายเดียว เพราะปัญหาของเยาวขนตีกันนั้นสะท้อนปัญหาที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าเรื่องของทัศนคติและค่านิยมของเยาวชน และยิ่งใหญ่ไปกว่าวาทกรรมกว้างๆ ว่าด้วยปัญหาสังคม เพราะมันคือปัญหาของระบบการให้คุณค่าและระบบการใช้อำนาจของสังคมไทยทั้งระบบ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 07 Sep 2010 12:16 PM PDT เพื่อนเพื่อเพื่อน คือ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนงานที่ถูกบริษัทเลิกจ้างเพราะ วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นกลุ่ม เพื่อนที่เก็บหอมรอมริบ และได้รับค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง รวบรวมเงินทุนซื้อเครื่องจักรด้วยกันและ ตั้งโรงงานผลิตสินค้าในราคาที่เป็นธรรม ที่นี่ไม่มีนายจ้างคอยกดขี่ ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกเลิกจ้างอีก ทุกคนทำงานเท่ากัน ได้ค่าแรงเท่าๆ กัน สินค้าที่ผลิต มีทั้ง เสื้อยึด สินค้าการเมนท์ ส่งออก กระเป๋าจากฝ้ายธรรมชาติ ฯลฯ http://www.friendsforfriends.info สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 07 Sep 2010 12:13 PM PDT
อนุสนธิคนเก็บขยะนำแผ่นซีดีเก่าออกมาวางขายแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แล้วถูกพนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลจนมีคำพิพากษาปรับเป็นเงินหลักแสน โดยโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จ่ายเงินค่าปรับแทนซึ่งก็ไม่รู้ว่าใช้เงินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือเงินส่วนตัว (ถ้าใช้จาก สนง.ตำรวจฯก็ไม่รู้ว่าเบิกจากงบประมาณหมวดไหน และหากใช้จากเงินส่วนตัวก็เข้าใจว่าคงรวยมาก) อย่างไรก็ตามคงมิใช่ประเด็นว่าใช้เงินจากที่ไหน ประเด็นก็คือความพิกลพิการของการบังคับใช้กฎหมายกับเจตนารมณ์ของ พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มุ่งจัดการกับผู้ประกอบกิจการเป็นหลัก ซึ่งงานนี้ผู้ที่ถูกด่ามากที่สุดคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนพนักงานอัยการก็โดนหางเลขบ้างประปรายพอเป็นกระสาย แต่ไม่มีกล้าใครวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลในทางสาธารณะเลย การไม่มีคำวิจารณ์ศาลออกทางสาธารณะเลยนั้นมิได้หมายความว่าไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์เลย แต่ในวงการสนทนาตามสภากาแฟและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการนักกฎหมายด้วยกันแล้วมีกันพูดจากันอย่างมากมายและกว้างขวาง แต่ไม่ปรากฏต่อสาธารณะเพราะเหตุด้วยความเกรงกลัวว่าจะเข้าข่ายหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาลนั่นเอง อันที่จริงแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ศาลในอดีตนั้นมีมาอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นจากกรณีที่ยกตัวอย่างในตอนต้นของบทความที่มีที่มาจากหนังสือมูลบทบรรพกิจซึ่งเป็นตำราเรียนของกุลบุตรกุลธิดาในอดีต หรือแม้กระทั่งในห้องเรียนวิชากฎหมายเองก็มีการเล่านิทานให้เห็นถึงการวิพากษ์วิจารณ์ศาลในอดีต ซึ่งก็คือเรื่องที่คนไทยกับกับคนจีนพิพาทกันแล้วมีคดีขึ้นสู่ศาล โดยเรื่องมีว่าคนไทยที่ปลูกบ้านใกล้กับคนจีนเกิดความอิจฉาว่าคนจีนนั้นรวยกว่าตนจึงเอาก้อนอิฐไปปาบ้านคนจีน คนจีนจึงไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนแล้วก็ส่งเรื่องให้ขุนประเคนคดีพนักงานอัยการฟ้องศาล ซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษา หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาว่า
ด้วยความแค้นเคืองคนจีนก็เอาก้อนอิฐไปปาบ้านคนไทยบ้าง คนไทยก็ไปแจ้งความ และขุนประเคนคดีพนักงานอัยการก็นำคดีไปฟ้องศาลซึ่งมีหลวงสันทัดกรณีเป็นผู้พิพากษาอีก หลวงสันทัดกรณีสืบพยานฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาว่า
ซึ่งก็เป็นนิทานที่เล่าต่อๆ กันมาในชั้นเรียนวิชากฎหมายที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐานในการพิพากษาในอดีต จากความยุ่งเหยิงและไม่มีมาตรฐานในการพิจารณาคดีในอดีตจึงเป็นเหตุให้เซอร์ จอห์น บาวริง ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมรับอำนาจกฎหมายและศาลไทยจนต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และเป็น จุดกำเนิดของการปรับปรุงระบบกฎหมายและศาลไทยในเวลาต่อมา แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดเมื่อปรับปรุงแล้วกลับทำให้ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลต่อสาธารณะได้ ล่าสุดในคืนวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2553 ที่ผ่านมารายการ “คุยกับแพะ” ของทีวีไทยยิ่งตอกย้ำให้เห็นจุดบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทยในกรณีของนายวิหาร เต็งมิ่ง หนุ่มชาวชัยนาทที่มาเป็นเขยเมืองโคราชที่ถูกคำพิพากษาฎีกาให้จำคุกถึง 18 ปี ในความผิดที่ตนองไม่ได้กระทำเพราะเหตุแห่งความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทย นายวิหาร เต็งมิ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนยาน 2540 ด้วยข้อหาพรากผู้เยาว์ กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเจ้าหน้าที่และญาติของเด็กสมรู้ร่วมคิดกันสร้างเหตุเพื่อเรียกรับเงินจาก นายวิหาร แต่นายวิหารไม่มีเงินให้จึงต้องติดคุก แต่ด้วยความที่เป็นนักโทษชั้นดีจึงถูกจำคุกด้วยระยะเวลาเพียง 9 ปี เมื่อออกจากคุกแล้วจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุและตามหาความจริงจนได้ความจากผู้ที่ก่อเหตุนั่นเองว่าญาติของโจทก์สร้างเหตุปรักปรำเขาและสื่อมวลชนก็พิพากษาเขาตั้งแต่เริ่มแรกว่าเป็นไอ้หื่นกามจนเขาต้องสูญเสียภรรยาและลูกไป เพราะภรรยาและลูกไม่สามารถทนรับความอับอายนี้ได้จนต้องหย่าขาดจากกัน แม้แต่เมื่อนายวิหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็มีแต่ผู้ที่ทั้งแนะนำและบังคับข่มขู่ให้เขารับสารภาพ โดยเขาได้ต่อสู้ในชั้นศาลว่าเขาถูกบังคับให้รับสารภาพแต่ก็ไม่เป็นผล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทยตั้งเริ่มต้นธารของกระบวนการยุติธรรมจนถึงปลายธารของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกติดตาราง เราต้องยอมรับความจริงกันได้แล้วว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยเรามีปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข และหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหานั้นก็คือการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ในทุกกระบวนการขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจตุลาการนั้นเป็นหนึ่งในการใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน ปวงชนย่อมที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้ โดยไม่มีการตั้งกำแพงด้วยข้อหาหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล และการวิพากษ์วิจารณ์นั้นย่อมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ในทุกหมู่เหล่าแม้ว่าจะมิใช่เชิงวิชาการก็ตาม เพราะชาวบ้านที่ไหนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์เชิงวิชาการได้ คงมีแต่ความบริสุทธิ์ใจและความคิดเห็นล้วนๆ เท่านั้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มาร์คชี้รัฐบาลปรองดองมาตั้งแต่พฤษภาคมแล้ว ปลอดประสบ-ไกรศักดิ์ รับมีทูต ตปท. ทาบให้คุยกัน Posted: 07 Sep 2010 12:03 PM PDT มาร์คแนะเพื่อไทยแยกจากเสื้อแดง ชี้ปัญหาของประเทศเกิดจากคนไม่ยอมรับกติกาและใช้ความรุนแรง “ปลอดประสำ” เล็งให้ทุกฝ่ายปรองดอง สื่อเป็นคนกลาง ยกเว้นเหลือง-แดง เนื่องจากสุดขั้วเกิน รับถก "สุขุมพันธุ์ – ทูตต่างประเทศ – ทหาร - ยูเอ็น" ก่อนคลอดแผนปรองดอง ด้าน “ไกรศักดิ์” แจงเป็นการหารือโดยมีทูตต่างประเทศจับคุยเพื่อลดความรุนแรง ส่วนสุขุมพันธุ์บอกเป็นการกินมื้อค่ำ การเจรจาปรองดองล่าสุดคือตั้งแต่สมัยคุยกับณัฐวุฒิช่วงชุมนุม สุเทพย้ำถ้าแดงชุมนุมแล้วทำผิด จนท.ดำเนินตาม กม. ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วานนี้ (7 ก.ย.) เวลา 08.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่จะมีการนัดชุมนุมกันในวันที่ 19 กันยายนนี้ โดยระบุจะมีการจัดกิจกรรมเขียนจดหมายถึงฟ้า จะทำให้ประชาชนเกิดความกังขาอะไรหรือไม่ ว่า ตนก็ต้องเรียนยืนยันว่าถ้ามีการกระทำใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ จะมีการเสนอให้พิจารณายกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพิ่มเติมอีกหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวสั้น ๆ ว่า ไม่มี
เพื่อไทยลงมติเรื่องปรองดอง เรียกร้องรัฐบาลไปตกผลึกมาให้เรียบร้อย ต่อมาเวลา 14.00 น. มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมส.ส.พรรคร่วมกับกรรมการบริหารพรรค โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเป็นประธาน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอปรองดองของพรรคเพื่อไทย โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ รวมทั้งพิจารณาถึงผลสำรวจของประชาชนที่เห็นด้วยกับการปรองดองถึงร้อยละ 59 อย่างไรก็ตามยังเห็นว่าต้องรอความชัดเจนในการเริ่มต้นปรองดองของรัฐบาล และจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เพราะถือเป็นผู้นำในฝ่ายบริหาร แต่ยังเห็นภาพความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ที่เป็นผู้จัดการรัฐบาลอยู่ จนมองเห็นภาพความไม่ตกผลึกกัน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลตกผลึกทางความคิด และดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ส่วนเรื่องตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทย ที่จะไปเจรจานั้น พรรคเห็นว่าเรื่องตัวบุคคลไม่สำคัญเท่าหลักการในการเจรจา อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคทั้งกรรมการบริหารและ ส.ส.ก็พร้อมที่จะเจรจาได้อยู่แล้ว หรือแม้แต่ทางรัฐบาลเห็นถึงความไม่สบายใจในการหารือก็แจ้งมาได้ เช่นเดียวกันกับทางเพื่อไทยหากไม่สบายใจในการพูดจากกับใครก็ต้องบอกกัน
สมชายยอมรับเพื่อไทยเสียงแตก นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ ว่า ในหลักการตนเห็นด้วย การได้มาทำความเข้าใจกันจะทำให้ประเทศชาติสงบสุขซึ่งเป็นยอดปรารถนาของทุกคน ที่ต้องการเห็นทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ส่วนวิธีการจะทำอย่างไรนั้นให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปดำเนินการเอง ทั้งนี้เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แผนปรองดองนี้ประสบความสำเร็จคือความ จริงใจของทุกฝ่าย ขาดไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้จะเอาเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มาคุย กันเพียง 2 ฝ่ายก็ไม่ได้ มางุบงิบคุยกัน 2 พรรคมันก็ไม่สมบูรณ์ เพราะบ้านเมืองมีด้วยกันหลายฝ่าย ซึ่งแล้วแต่ว่าฝ่ายไหนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับเป็นธรรมหรืออยู่ในมุมมืด ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ “ให้อภัยกันได้ก็ต้องให้อภัยกัน แต่ต้องไปดูกฎหมายด้วยว่าอย่างไร เพราะกฎหมายบ้านเมืองก็ต้องมีอยู่ ซึ่งต้องดูตามความเหมาะสม”นายสมชายกล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวถามตัวบุคคลที่พรรคเพื่อไทยจะส่งไปเจรจา นายสมชาย กล่าวว่า ตนไม่ทราบเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย แต่ตนเห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งใครก็ได้เป็นเรื่องของแต่ละฝ่าย ซึ่งต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันจะไปตำหนิว่ากล่าวกันไม่ได้ เมื่อถามถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีการดึงให้องค์กรต่างประเทศมามีส่วน ร่วมในแผนปรองดองทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของประเทศ นายสมชาย กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวตนไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งต้องดูว่าเป็นเรื่องภายในประเทศไทยหรือไม่ซึ่งหากเป็นเรื่องภายในประเทศ การมาแทรกแซงก็ไม่เหมาะสม แต่หากเป็นเรื่องที่เขาช่วยเสนอแนะความคิดเห็นในแนวทางที่ปรารถนาดีไม่ได้มา แทรกแซงอะไรก็น่าจะไม่เป็นอะไร ก็ควรที่จะลองฟังเขาดู เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ส.เพื่อไทยเสียงแตกในการสนับสนุนแผนปรองดอง นายสมชาย กล่าวว่า เป็นธรรมดาเพราะพรรคเพื่อไทยมีส.ส.มากเกือบ 200 คนแต่ตอนนี้เป็นเรื่องของมติพรรคไปแล้วซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนของพรรค
“สุชาติ ลายน้ำเงิน” โวย “ปลอดประสพ” เร่งเกมปรองดอง นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์วันที่ 7 กันยายน ก่อนการประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย วาระสำคัญจะเป็นการหารือถึงกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ ว่า เป็นการตัดสินใจที่เร็วไป อีกทั้งส.ส.ในพรรคเองก็ไม่รับทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงคาดว่าจะมีส.ส.อภิปรายประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวางและคาดว่าส.ส.ส่วน ใหญ่จะคัดค้านแผนดังกล่าวรวมถึงตนด้วย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าตนและส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการสร้างความปรองดองในชาติ เราทุกคนอยากเห็นประเทศมีความปรองดอง สมานฉันท์ แต่เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความจริงใจจะปรองดอง กระบวนการสร้างความปรองดอง รัฐบาลในฐานะผู้มีอำนาจต้องเป็นฝ่ายเริ่มหรือยื่นมือออกมาก่อน ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงที่อยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ การที่มีคนเสื้อแดงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ย่อมเป็นไปได้ยากที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายเริ่มต้นยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลมา ปรองดองด้วย ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของเรายังเหมือนเดิมคือจะเริ่มต้นปรองดองได้รัฐบาลต้อง ยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น “สิ่งสำคัญ ต้องถามว่าที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้ดำเนินการเรื่องใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการสร้างความปรองดอง ตรงกันข้ามยังมีการไล่ล่าคนเสื้อแดง เช่น ที่ จ.ลพบุรี มีการขึ้นบัญชีรายชื่อคนเสื้อแดง กว่า 2,000 คนเพื่อติดตามไล่ล่า ผมจึงคิดว่าการที่นายปลอดประสพเร่งออกมายื่นข้อเสนอปรองดอง โดยที่ไม่ถามความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องที่ผิดพลาด”
"ปลอดประสพ" ยอมรับถก "สุขุมพันธุ์-ทูต ต่างประเทศ-ทหาร-ยูเอ็น" คลอดแผนปรองดอง มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่านายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุ 97.0 เมกกะเฮิร์ตซ์ วันที่ 7 กันยายนยอมรับว่า แผนการปรองดอง 5 ข้อที่ได้ออกแถลงการณ์มีการหารือกันจริงระหว่างตนกับเอกอัครราชทูตต่าง ประเทศ, ม.ร.ว.สุขุพันธุ์ บริบัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นักวิชาการต่างชาติของสหประชาชาติรวมทั้งนายทหาร ทั้งหมดทั้งปวงและทุกคนที่เข้าร่วมมีความหวังดีและรักต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตามถึงปัจจุบันคาดว่าเกิดยาก ส่วนของตนไม่หวั่นว่าจะโดนพรรคเพื่อไทยตำหนิถึงการกระทำดังกล่าว "ขณะนี้ผมหวังว่าประชาชนจะออกมากดดันให้เกิดการปรองดองโดยมีสื่อมวลชนเป็นตัวกลางและในการหารือดังกล่าวก็มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ยกเว้นกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เนื่องจากสุดขั้วเกินไป"
โต้งรับเจอเพื่อไทยจริงเป็นการแลกเปลี่ยนหารือ หลังทูตจับคุยเพื่อลดความรุนแรง มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นาย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยอมรับว่า ตนได้เข้าร่วมการหารือตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุจริง แต่เป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจุดเริ่มต้นมาจากเอกอัคราชทูตต่างประเทศที่ประจำประเทศไทยและหลายๆ องค์กรได้ประสานมายังพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้มาพูดคุยกัน เพื่อหาจุดที่จะลดความรุนแรง โดยภายหลังจากที่นายปลอดประสพได้แถลงข่าวเรื่องแผนปรองดอง 5 ข้อ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย.นายปลอดประสพก็ได้นำแผนดังกล่าวมาให้ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกันที่ โรงแรมแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม รูปแบบการหารือจะมี ตน, มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. และ ยังมี นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมาเป็นบางครั้ง ส่วนพรรคเพื่อไทยก็จะมีนายปลอดประสพ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และยังมีทูตของตางประเทศที่จะเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง โดยทางฝั่งเราได้ยืนยันว่าจัดการทุกอย่างตามกฎหมาย ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็เสนอให้มีการดำเนินการเรื่องแผนการปรองดองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
สุขุมพันธุ์ยันเจรจาครั้งสุดท้ายกับณัฐวุฒิ ส่วนเจอ "ปลอดฯ-อ๋อย" ทูตสวิสเชิญกินมื้อค่ำ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 7 กันยายนกรณีที่มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หารือถึงกระบวนการสร้างความปรองดอง ร่วมกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค พท. และทูตต่างประเทศ ว่า ขอยืนยันว่าครั้งสุดท้ายที่เป็นตัวแทนเจรจาปรองดองนั้นเป็นการเจรจากับนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีบัญชา แต่เมื่อครั้งนั้นนายกฯ ให้เลิกเจรจา ก็ไม่ได้ไปเจรจาอีก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยอมรับว่าเมื่อวันที่ 2 กันยายน ได้รับเชิญจากเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมรับประทานอาหารอาหารค่ำในฐานะคนรู้จัก แขกในวันนั้นก็มีทูต มีชาวต่างชาติบ้าง แต่ไม่มี นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรค ปชป. และไม่มีเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ร่วมด้วยตามที่เป็นข่าว ในส่วนของพรรค ปชป.มี นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรค ปชป. และจากพรรค พท. คือนายปลอดประสพ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย(ทรท.) และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 "ในวันนั้นขณะรับประทานอาหารไม่ได้มีการหารือกันเรื่องแผนปรองดอง เมื่อรับประทานอาหารค่ำเสร็จสิ้นแล้ว ช่วงที่จะลุกจากโต๊ะเพื่อเดินทางกลับนายปลอดประสพ ได้ยื่นแผนปรองดองให้ก็รับมา แต่ไม่ได้มีการหารือกันเลย อาจจะเข้าใจผิดว่ามาจากการรับประทานอาหารค่ำคืนนั้น ผมไม่ร่วมหารือด้วยหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากท่านนายกฯ และท่านนายกฯก็ไม่ทราบ ถ้ามีการหารือโดยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน ก็ต้องกราบเรียนนายกฯ แต่ไม่ได้กราบเรียนนายกฯ เพราะไม่ได้หารืออะไรกัน อาจจะมีการเข้าใจผิดว่ามีการยกร่างแผนปรองดองกันที่นั่น ซึ่งไม่ใช่ บนโต๊ะอาหารไม่ได้พูดเรื่องการเมืองอะไรกันเลย อาจจะพูดเรื่องการเมืองท้องถิ่นบ้าง ตอนนั้นการเลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ข. เพิ่งเสร็จสิ้นก็เท่านั้น ” ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่มีนัยยะแอบแฝงอะไรในการรับประทานอาหารมื้อนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ไปในฐานะคนรู้จัก ที่ทูตเชิญมา ทูตก็เป็นผู้ใหญ่ไม่กล้าไปถามว่ามีใครมาบ้าง ส่วนนัยยะทางการเมืองนั้นไม่ทราบ คงต้องไปถามทางพรรค พท.เอง แต่เรื่องที่เกิดขึ้นอาจเป็นการเข้าใจผิดของสื่อก็ได้ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องดีที่จะมีแผนปรองดอง เพราะการแก้ปัญหาบ้านเมืองควรเริ่มจากการเจรจา
มาร์คลั่นปรองดองมาตั้งแต่พฤษภาคมและเดินตามแผนดังกล่าว ขณะที่เมื่อเวลา 17.00 น. ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ที่หอประชุมกองทัพเรือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสร้างแผนความปรองดอง ซึ่งล่าสุดพรรคเพื่อไทยออกมาตำหนิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่าออกมาพูดเรื่องนี้เร็วเกินไปว่า อยากย้ำว่าตนและรัฐบาลเสนอแผนปรองดองมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และเราเดินตามแผนดังกล่าว ซึ่งภายในแผนก็มีการยืนยันมาโดยตลอดว่าเราอยากเชิญชวนประชาชนคนไทยและทุกภาคส่วนมาร่วม ถ้าวันนี้ทางพรรคฝ่ายค้านอยากที่จะมาร่วมกับการขับเคลื่อนให้เกิดแผนการปรองดองเราก็ยินดี แต่เราก็เข้าใจว่ายังมีปัญหามีข้อจำกัด ก็ให้เวลาอยู่แล้วในการที่พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องไปพูดคุยกันภายใน “ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องมายื่นคำขาดหรือคาดคั้นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมคิดว่าประชาชนคนไทยมีความคาดหวังอยากจะเห็นว่าอย่างน้อยพรรคการเมืองทุกพรรคมาสนับสนุนให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และให้การเมืองมันทำงานได้ตามปกติ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
แนะเพื่อไทยแยกจากเสื้อแดง ชี้ปัญหาของประเทศเกิดจากคนไม่ยอมรับกติกา ผู้สื่อข่าวถามว่าด้านหนึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมเสนอแผนการสร้างความปรองดอง ขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตรงนี้นี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด คือการจะมาสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นก็จะต้องมีการแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าจะเดินไปตามแนวทางดังกล่าว แต่เราก็ไม่ทราบว่าในคนที่มีการเคลื่อนไหวซึ่งอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ ความสัมพันธ์เขาเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากพรรคเพื่อไทยต้องการที่จะมาแลกเปลี่ยนหารือและเข้ามาทำงานในด้านนี้คงต้องมีความชัดเจนต่อไปในอนาคต ว่าความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในด้านอื่น ๆ นั้นเป็นอย่างไร และจะให้ความสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไรต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะช่วยให้เกิดความปรองดองดีที่สุดคืออะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าปัญหาของประเทศที่ผ่านมาที่ก้าวไปสู่ความรุนแรงและความวิกฤตนั้นก็คือการที่มีคนไม่ยอมรับกติกาและใช้ความรุนแรง ซึ่งตนเชื่อว่าถ้าเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ทำโดยลำพังจะไม่ลุกลามใหญ่โต แต่มันมาเกาะเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง ดังนั้นถ้าเราแยกกระบวนการทางการเมืองออกมาได้ ตนคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวังคือถ้าพรรคเพื่อไทยอยากจะทำให้กระบวนการทางการเมืองมันแยกออกมาได้โดยไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี
วอนสื่ออย่าใช้คำว่าเพื่อไทยสลัดตัวจากแดง แต่ไม่ให้กระบวนการนอกกฎหมายใช้ความรุนแรง ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหมายความว่าพรรคเพื่อไทยควรสลัดตัวออกจากการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่าไปใช้คำพูดในลักษณะนั้น เอาว่าให้เห็นชัดเจนว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะเข้ามาสู่กระบวนการให้บ้านเมืองมีความปกติ และจะไม่ให้กระบวนการใด ๆ ที่มันนอกกฎหมาย ใช้ความรุนแรง ขัดกับหลักประชาธิปไตยเข้ามาเกาะเกี่ยวอยู่กับกระบวนการทางการเมือง และแม้ขณะนี้จะมีเครือข่ายของคนเสื้อแดงบางคนออกมาวิจารณ์ว่าการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นปาหี่ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยก็ตาม เพราะเรื่องนี้ไม่มีเรื่องระหว่างพรรค แต่เป็นเป้าหมายและความต้องการของประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม ซึ่งทุกคนก็เฝ้าดูบทบาทของแต่ละฝ่าย แต่ละพรรคและทุกภาคส่วน คงไม่มีประเด็นอะไรที่จะมาตกลงกันในเชิงผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด เป็นประเด็นการตกลงที่เราจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายความปรองดองด้วยกันหรือไม่ ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าวันนี้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถตกผลึกและขับเคลื่อนแผนปรองดองตามข้อเสนอของนายปลอดประสพได้ก็เท่ากับประเทศต้องหยุดชะงักเรื่องความปรองดองด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่เป็นเช่นนั้นงานเรื่องการสร้างความปรองดองรัฐบาลและคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมาก็เดินหน้าต่อไป เพียงแต่ถ้าเราสามารถดึงเอาคนเข้ามาได้เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ งานก็ง่ายและเร็วขึ้น แต่ถ้าวันนี้ยังไม่มาคนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ก็ต้องเดินหน้าทำต่อไปและทำให้ดีที่สุด
ที่มา: เรียบเรียงจาก รองนายกฯ สุเทพย้ำกลุ่มเสื้อแดงชุมนุม 19 ก.ย.นี้ถ้าทำผิดเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 7 ก.ย. 53 นายกรัฐมนตรีพร้อมเชิญชวนประชาชนคนไทยและทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนให้เกิดแผนปรองดองชาติ, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 7 ก.ย. 53 ส.ส.พท.เห็นด้วยแผนปรองดองเรียกร้องรบ.ตกผลึกความคิด-ดำเนินการเป็นรูปธรรม, มติชนออนไลน์, 7 ก.ย. 53 "ไกรศักดิ์-สุขุมพันธุ์" ยอมรับพบ"ปลอดประสพ" แต่ไม่ได้หารือปรองดอง เผย "จาตุรนต์-พงศ์เทพ" ก็ไปด้วย, มติชนออนไลน์, 7 ก.ย. 53 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทุกข์เวียนโถมใส่ชาวพม่าในประเทศไทย Posted: 07 Sep 2010 11:06 AM PDT ทุกข์เวียนโถมใส่ชาวพม่าในประเทศไทย ชุติมา สีดาเสถียร เเละ อแลน มอริสัน ชาวพม่าเปิดใจ ถูกแสวงประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรปราบปรามการลักลอบนำพาคนเข้าเมือง กลับทำเสียเอง เมื่อ "โม" ผู้ค้าบริการทางเพศวัยรุ่น พบตำรวจในประเทศไทย คาดการณ์ได้ว่าเธอควรถูกจับเเละผลักดันออกนอกประเทศ เธออ้างว่าเธอกลับถูกพาตัวไปทำงานในบาร์โสมม ที่นายตำรวจท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เธอค้าบริการในบาร์ตั้งแต่อายุ 14 ที่เมืองชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง รับเเขกแต่ละครั้งจะได้เงิน 350 บาท (86 เหรียญฮ่องกง) ตำรวจเจ้าของซ่อง ได้ 125 เเละส่งเจ้าหน้าที่ต.ม. ที่ทุจริต อีก 100 บาท ขณะนี้ โม (อายุ 17) เเละเอ (อายุ 17) เพื่อนหญิงชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่ไทยที่ระนองเเสวงประโยชน์เเละค้ากำไรกับการลักลอบขนคนเข้าเมือง เเทนที่จะปราบปรามการกระทำดังกล่าว ท้งคู่เล่าว่ากระบวนการผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมายชาวพม่าในระนองเป็นการจัดฉากตบตา เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ใช้การผลักดันส่งกลับเป็นโอกาสในการขายผู้อพยพทั้งลำเรือให้ผู้ลักลอบนำพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แทนที่ผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกส่งกลับพม่า ทางเรือที่นำพวกเขาไป “ผลักดัน” ออกนอกประเทศไทย โดยการส่งข้ามแม่น้ำกระบุรี ชาวพม่าถูกขนถ่ายกลางน้ำไปยังเรือของแก๊งค้ามนุษย์ที่พาผู้อพยพลงเรือกลับประเทศไทย ขั้นตอนการลักลอบขนคนเข้าเมืองของทั้งสองได้รับการรับรองความน่าเชื่อถือเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่เเละเเหล่งข้อมูลของรัฐ ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัว เเละได้รับการยืนยันจากนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อผู้อพยพพม่า แหล่งข้อมูลหลายที่ในระนองยืนยันตรงกันว่า แต่ละปี มีชาวพม่าถูกจับและค้ามนุษย์หลายพันคน ผู้พันที่รับผิดชอบด่านตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ที่ระนองชี้แจงว่า คำถามทั้งหมดที่ถามเขาต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้บังคับบัญชาที่กรุงเทพฯ ก่อน ทั้งนี้เขาปฏิเสธการความคิดเห็นเเละการสัมภาษณ์ โมเเละเอ เป็นชื่อสมมติแทนตัวบุคคลเพื่อการเขียนข่าวนี้ทั้งคู่ติดต่อมาที่หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ในระนองผ่านผู้ติดต่อในชุมชนพม่า เรื่องของพวกเธอมาทันเวลาการประชุมนานาชาติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีตัวแทนราว 1,500 คน จากทั่วโลก ร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ อนึ่ง ฯพณฯ สีหศักด์พวงเกตุแก้ว เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติ โมเเละเอเล่าเรื่องชีวิตของทั้งคู่ ที่ต้องหลบหนีตำรวจเเละเจ้าหน้าที่ ต.ม. ทุกครั้งที่เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ไทย ก็จะเจอเเต่เจ้าหน้าที่ทุจริต หรือคอยตามล้างตามล่า หรือทั้งสองแบบ “คืนหนึ่งฉันโดนตำรวจลาดตระเวนที่ระนองเรียก ฉันบอกว่า ไม่มีบัตร [ประจำตัว] ตำรวจเรียกเงิน 5,000 บาท ฉันบอกว่ามีไม่ถึง เขาบอกว่า ‘ถ้านอนกับฉัน จะไม่จับเธอไปโรงพัก’ สุดท้ายตำรวจยอมรับเงิน 1,500 บาท” นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่วิจัยประจำองค์กร International Rescue Committee องค์กรเอกชน กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในประเทศไทยเฟ่ืองฟูเพราะรัฐบาลไม่แทรกแซง "มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่ ต.ม. จะทำเงินได้ตามสบาย ตราบใดที่เจ้าหน้าที่พม่ายังไม่ส่งตัวเเทนดูเเลการผลักดันคนพม่าออกนอกไทย" อดิศรกล่าว "เราทราบว่ามีการทุจริตในกระบวนการนี้ ทำให้ผู้อพยพพม่ากลับเข้าไทยได้อีก เเละเข้ามาครั้งละมากๆ" โม เล่าว่า เธอกำพร้า เเละจำพ่อเเม่ไม่ได้เลย มีผู้หญิงพม่าที่วิคตอเรีย พอยท์ เมืองหนึ่งในพม่าใกล้ระนอง ตรงข้ามเเม่น้ำกระบุรี เป็นคนหนึ่งเลี้ยงดูมา ตั้งเเต่จำความได้ โมเห็นการค้าชาวพม่าผิดกฎหมายมาโดยตลอด "เมื่อฉันอายุได้ 6 ขวบ ผู้หญิงที่เลี้ยงฉันมาต้ังเเต่พ่อเเม่เสียพาฉันเข้ามาประเทศไทย เธอพาฉันไปที่ชุมพร ซึ่งเธอทำงานในโรงงานปลา” โมเล่า แต่พอฉันอายุ 13 เธอก็ขายฉันให้เจ้าของร้านคาราโอเกะในราคา 70,000 บาท ฉันได้ค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท แต่นายจ้างจ่ายให้ผู้หญิงที่ขายฉันมา ฉันเสิร์ฟเบียร์ ทำความสะอาดเเละนั่งดื่มกับเเขกที่ร้าน ถ้าแขกให้ทิป ฉันเก็บทิปไว้ได้ ฉันบอกเจ้าของร้านว่าอยากออกจากงาน แต่เขาบอกว่า เขาซื้อฉันมา ฉันออกไม่ได้ ฉันเลยหนี ฉันพบผู้ชายพม่าคนหนึ่งที่เมตตาเเละหางานให้ทำในโรงงานปลา“ โม เล่าว่าเหตุการณ์เป็นไปด้วยดี จากนั้นเอก็ผูกมิตรกับเธอ ทั้งคู่ตัดสินใจไประนอง ก่อนหน้าจะออกเดินทางจากชุมพร ทั้งคู่โดนตำรวจเรียกตรงถนน เเละเรียกเงิน 7,000 บาท ต่อคน จากเรา ตำรวจบอกว่า ถ้าจ่ายเงินก็จะปล่อยตัวไป เอบอกว่าไม่มีเงิน ฉันเก็บเงินได้บ้าง เราเจรจาขอจ่ายเเค่ 3,000 บาท ตำรวจปล่อยฉันไป ตำรวจปล่อยโม เเต่เอต้องถูกขังอยู่เดือนหนึ่งจนกว่าตำรวจจับเธอขึ้นรถพร้อมผู้อพยพพม่าคนอื่นๆ ส่งไประนอง เอเล่าว่า ต.ม.ที่ระนองเรียกเงินเธอ หากเธอต้องการอยู่ในประเทศไทยต่อ แต่เธอมีเงินไม่พอ ก็เลยถูกส่งไปที่วิคตอเรีย พอยท์ “พอฉันมีเงินบ้าง ฉันเดินทางกลับไปประเทศไทย โดยใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวที่มีอายุหนึ่งสัปดาห์ ตั้งเเต่นั้น ฉันก็ยังไม่กลับพม่าเลย” โมเดินทางไประนอง "ตอนนั้น ฉันไม่มีเงิน ไม่มีงาน ก็เลยตัดสินใจไปที่ซ. 3 [ย่านค้าบริการทางเพศในระนอง] ฉันทำงานกับตำรวจ ที่เก็บบัตรประจำตัวพม่าของคนงานไว้ รับแขกครั้งหนึ่งจะได้เงิน 350 บาท เจ้าของหัก 125 บาท เเละส่งส่วยให้ ต.ม. 100 บาท ฉันต้องทำงานทุกวัน บางวันต้องรับเเขก 4-5 คน” จากนั้นโมคิดว่าจะหนีพ้น เธอไม่สบายเเละเข้าโรงพยาบาลที่ระนอง พออกจากโรงพยาบาล เอพาโมหลบไปอยู่กับเพื่อนอีกคน จากนั้นเรื่องเดิมๆ ก็เกิดขึ้นอีก โมเจอตำรวจที่ตั้งใจจะหากำไรจากเธอ “เมื่อไหรเจอตำรวจ ก็จะโดนไถเงินเมื่อนั้น” เอ บอก “ผู้หญิงคนหนึ่งมาหาฉันเเล้วถามว่า “มีใครมาจ่ายเงินหรือยัง” ฉันบอกว่า “ยัง” เธอเลยจ่ายเงิน 1,500 บาทให้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เเละพาฉันกับผู้หญิง 20 คน ผู้ชาย ประมาณ 30 คนขึ้นรถบรรทุก พาเราเเยกขึ้นเรือ ผู้หญิงลำหนึ่ง ผู้ชายอีกลำ โดยมีเครื่องหมายมัดข้อมือเราไว้” ถึง ตอนนี้กระบวนการผลักดันปลอมๆ ก็เกิดขึ้น พอเรือใกล้วิคตอเรีย พอยท์ ฝั่งพม่า “พอจะถึงวิคตอเรีย พอยท์ มีเรือหางยาวมารับเรา” โมเล่า “ผู้ชายบนเรือมีรายชื่อคนที่เขาต้องการ ผู้หญิงสี่คน เเละฉันขึ้นเรือลำนั้นกลับฝั่งไทย คนอื่นๆ บนเรือใหญ่ถูกส่งไปเรือเล็กลำอื่นๆ เหมือนๆ กัน” เราไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่พม่าเลย สุดท้ายฉันรู้ว่าเรากลับมาฝั่งไทย เเต่ไม่ทราบว่าที่ไหน ผู้หญิงที่จ่าย 1,500 บาทให้ฉันรออยู่ที่ท่าเรือ ต่อมาเราถูกจับใส่รถตู้ไปทำงานที่กระบุรีในสวนยาง หลังจากทำงานได้หกสัปดาห์ ผู้หญิงคนนั้นบอกว่าจะหาสามีให้ฉัน ฉันทำตัวเป็นมิตรกับชายคนหนึ่งที่พาฉันออกไปจ่ายตลาดที่ตลาดในท้องถิ่น แต่พบสบโอกาส ฉันก็หนีพร้อมกับเงินที่ใช้ซื้อของ 1,000 บาท ฉันขึ้นรถมาระนองเเละพบเออีกครั้ง สิ่งที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง คือกระบวนการโสมมนี้เป็นไปโดยความยินยอมโดยนัยจากเหยื่อชาวพม่า เช่น เอเเละโม พวกเขาคิดว่าการถูกขายไปเป็นโสเภณี หรือถูกบังคับให้เป็นแรงงานในโรงงานกุ้งยังดีเสียกว่าการถูกผลักดันข้ามชายแดนไปสู่เจ้าหน้าที่พม่าโดยตรง ที่จับคนเหล่านี้จำคุกเป็นเวลานาน บางครั้งก็จะลงโทษอย่างโหดร้ายทารุณ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่โหดร้าย เอ เล่าว่า “ฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่งมีผู้ชายสามคนมาหาโมที่บ้านฉัน” “เเต่หาไม่เจอ เพราะโมอยู่กับเพื่อนฉันอีกคน เเบบนี้ปลอดภัยกว่า พวกผู้ชายซ้อมฉันเเละพาฉันไปบนเนินเขา ฉันคิดว่าจะโดนฆ่าเสียเเล้ว เพราะฉันไม่ยอมบอกว่าโมอยู่ไหน เเล้วเขาพาฉันไปที่บาร์ในซ. 3 เเล้วเอากุญแจมือล็อคฉันไว้กับโต๊ะ กุญเเจมือไม่เเน่นหนานัก ฉันก็เลยหนีออกมาได้” นัสเซอร์ อาจวาริน ทนายความสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยกล่าวว่า ชาวพม่าเช่นเอเเละโม เป็นเหยื่อการทุจริตคอร์รัปชัน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและ ต.ม. ที่จุดผ่านแดนเสมอๆ “เป็นการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นต่อเนื่องที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการป้องกันได้” นัสเซอร์กล่าว "ถึงเวลาเเล้วที่รัฐบาลจะต้องรับรู้ปัญหาเเละก้าวเข้ามาทำอะไรสักอย่าง" เอเห็นด้วย " ตอนกลางวันฉันไม่กลัวถ้าใครจะเห็น แต่ตกกลางคืนไม่ใช่อย่างนั้น เพราะกลางคืนน่ากลัวกว่า ตำรวจที่นี่หาเงินกับตนพม่าทุกเวลา ตลอดเวลา คนที่มีเอกสารถูกต้องบางคนถูกขู่ว่าจะโดนจัดฉาก ยัดยาเสพติด ถ้าไม่จ่ายตำรวจ.” อดิศร เจ้าหน้าที่ International Rescue Committee กล่าวเพิ่มเติมว่า: "การค้ามนุษย์ที่ระนองมีอำนาจมากกว่ากฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นมีเสรีภาพมากเกินไปจนสามารถทำอะไรก็ได้" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ชำแหละ 20 ปีประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร? Posted: 07 Sep 2010 09:14 AM PDT วาระครบ 20 ปี สำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงานฯ จัดเวทีอภิปรายแจงปัญหาประกันสังคม พร้อมเสนอร่างกฎหมายปรับโครงสร้างให้เป็นองค์กรอิสระ ด้านเลขาประกันสังคมเผยเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์อีกหลายกรณี ระยะสั้นแก้สิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน คุณภาพของยาที่ด้อยกว่าปกติ ปัญหาด้านบริการทางการแพทย์ ต้องรอคิวรักษาเป็นชั่วโมง กระบวนการในการขอรับสิทธิประโยชน์ล่าช้า ... และอีกนา นา ปัญหา รวมทั้งความไม่เข้าใจต่อสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม คือความจริงที่จังเป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมคำถามสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ เงินทุกบาทของผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน ที่ส่งเข้ากองทุนฯ ทุกเดือน ณ วันนี้ เป็นเงินรวมกว่า 707,730 ล้านบาทนั้น ถูกนำไปใช้ด้านใดบ้าง และเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน มากน้อยแค่ไหน ในวาระครบ 20 ปี ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งมีหมุดหมายหลักในการทำให้ผู้ใช้แรงงานได้มีหลักประกันด้านสวัสดิการตั้งแต่เด็กจนตาย แต่ในมุมมองขององค์กรแรงงานยังคงพบปัญหามากมายที่ทำให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน ซึ่งกระทบต่อความครอบคลุมในการดูแลแรงงาน วานนี้ (6 ก.ย.53) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ "ชำแหละ20 ปีประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร?” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดกลไกในการตรวจสอบสำนักงานประกันสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อรักษาสิทธิของผู้ประกันตน อีกทั้งขับเคลื่อนให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการใช้งบประมาณที่ผ่านมาของ สปส.ที่ค่อนขางเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส ยกตัวอย่างงบในการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานประกันสังคมกว่า 2,800 ล้านบาท ในปี 2550 งบประมาณในการให้บุคคลากรไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศปีละ 118 ล้านบาท โครงการจัดซื้อที่ดินและอาคารวัฏจักร ซึ่งผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมได้เสนอการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการในวงเงิน 500 ล้านบาท หรืองบการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประกันสังคมปีละ 195 ล้านบาท ซึ่งหากลดเรื่องเหล่านี้ได้จะสามารถนำงบไปดูแลลูกจ้างสร้างความมั่นคงให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ดีกว่า น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า การใช้งบของ สปส.ต้องทบทวนด้วยว่าสมควรไม่สมควรทำ เช่น การไปดูงานต่างประเทศ หรืองบที่เอาไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ซึ่งเห็นได้ว่าฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทในการอนุมันติงบเหล่านี้ ดังนั้น สปส.จึงควรมีความเป็นอิสระ โปร่งใส ไม่ถูกครอบงำ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนในอนาคต ส่วนกรณีปัญหา คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ที่เป็นคนหน้าเดิมๆ เข้ามาอยู่ในตำแหน่ง น.ส.วิไลวรรณ เสนอว่า ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง สปส.ให้เป็นองค์การอิสระ มีคณะกรรมการฯ มาจากการเลือกตั้ง และผู้บริหารต้องมาจากการสรรหา อีกทั้งให้ขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบทุกระบบ ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 รัฐควรต้องร่วมกับผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบด้วย น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า อยากเห็นส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะมาจากเงินของคนยากคนจน หากต้องเสียเงินแต่ไม่ได้สร้างความมั่นใจ ไม่สร้างความมั่นคง แรงงานคงต้องเสียกำลังใจ กับเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนน่าจะเข้ามาร่วมกันทำในสิ่งที่จะส่งผลดีถึงอนาคต ด้านนางสริวัณ ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมีความคาดหวังคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกจ้างในโครงข่ายประกันสังคม และอยากเห็นการปรับปรุงคุณภาพบริหารของ สปส. โดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งจะเห็นว่าหลายครั้งเงินสบทบ 5% ที่ถูกหักเข้าสู่ส่วนการรักษาพยาบาล แต่ผู้ประกันตนกลับต้องพบกับความล่าช้าในการบริการ พบปัญหาในเชิงคุณภาพ ทั้งคุณภาพยา และคุณภาพการบริการของบุคคลกรทางการแพทย์ และโดยส่วนตัวมั่นใจว่าในส่วนนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมหลายคนไม่เคยเบิกค่ารักษากับประกันสังคมที่ได้จ่ายมา นางสริวัณ กล่าวต่อมาถึงการเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลรายหัว สำหรับคน 9 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมว่า จะทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยสมควรกับการเจ็บป่วย และให้ได้สิทธิพึงมีพึงได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจะมีการประเมินผล ตรวจสอบอย่างไร ให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิเหล่านั้น ยกตัวอย่าง บริการโทร 1506 ซึ่งเป็นบริการพื้นฐานที่ควรทำให้มีประสิทธิภาพ มีการทำสถิติผู้ใช้บริการ ส่วนการดูงานน่าจะถูกนำมาใช้อย่างน้อยเป็นการศึกษาเปรียบเทียบ หรือนำสิ่งที่ได้มาสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้เห็นถึงประโยชน์ ขณะที่ นายสถาพร มณีรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า ส่วนตัวอยากเห็นการใช้เงิน ของ สปส.โปร่งใส ทั้งนี้ ตามระเบียบของ สปส.สามารถดึงเงิน 10% ของเงินสมทบในแต่ละปีมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ ซึ่งเงินส่วนนี้ถูกจับตามองว่าไม่มีการตรวจสอบการนำไปใช้ ซึ่งแม้แต่กรรมาธิการการแรงงานก็ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นายสถาพร กล่าวด้วยว่าทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลักดันกฎหมายสำคัญ แต่ในส่วนร่างกฎหมายประกันสังคมที่กลุ่มแรงงานนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการเป็นองค์กรอิสระ เกรงว่าถ้าเป็นองค์กรอิสระจะทะเลาะกันมากกว่านี้ ดังตัวอย่างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตอนนี้ยังมีปัญหากันอยู่ อย่างไรก็ตามคงต้องอยู่ที่การออกแบบ ส่วนนายนคร มาฉิม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่กล่าวว่าในฐานะที่ร่วมอยู่ในรัฐบาล ทราบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานอย่างยิ่ง และก็มีกังวลใจแผนรับมือของกองทุนชราภาพ ในส่วนของรายรับกับรายจ่ายในอนาคตที่ไม่สมดุลกัน ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วต่อการทำงานของ สปส.รู้สึกพอใจระดับหนึ่งแต่ยังมีเรื่องที่ต้องสะสาง คือความไม่เหมาะสมในการใช้งบประมาณ ซึ่งอยากให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้จริง โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้สามารถเอาผิดกับฝ่ายการเมืองได้ด้วย ในส่วนของ สปส. นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ก็ได้กล่าวชี้แจงถึงการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ พร้อมเผยเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์อีกหลายกรณี นายปั้น กล่าวว่า 20 ปีของ สปส.เหมือนคนที่กำลังจบปริญญาตรีจากนี้ไปคือออกไปหางานทำและดูแลตัวเองให้ดี ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะผลักดันสปส.ไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ ในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจึงต้องนำเงินไปลงทุน โดยปี 2546 เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งครั้งนั้นได้ผลกำไรกว่า 900 ล้านบาท พอปี 2552 เพิ่มเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท และในปีนี้หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงอาจได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้าน จากเงินลงทุนทั้งสิ้น 7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกองทุนชราภาพกว่า 5 แสนล้านบาทซึ่งต้องหาดอกผลเตรียมจ่ายบำนาญปี 2557 เลขาธิการ สปส.กล่าวด้วยว่า อนาคต สปส.นั้น ระยะยาวต้องมีการปรับปรุงสภาพองค์กร และเห็นด้วยที่ผู้ใช้แรงงานเสนอให้เป็นองค์กรอิสระ แต่ระยะสั้นจะปรับปรุงกองทุนเงินทดแทน ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขอยู่ในสภาผู้แทนฯ โดยเพิ่มเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่หยุดพักรักษาตัวภายหลังบาดเจ็บจากการทำงานจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง และเพิ่มค่าทดแทนทุพพลภาพให้มากกว่า 15 ปี และเพิ่มค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตจาก 8 ปี เป็น 12 ปี นอกจากนี้การคืนสภาพผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเอง คือต้องจ่ายในส่วนของนายจ้างด้วยหลังจากตกงานขาดส่งเงินสมทบ โดยให้ต่ออายุ ดังนั้นเงินบำเหน็จชราภาพที่เคยสะสมเอาไว้ก็สามารถสะสมต่อได้ คาดว่าจะมีคนกลุ่มนี้ราว 6 แสนคน อย่างไรก็ตามอีก 30 ปีข้างหน้า สปส.มีปัญหากรณีจ่ายชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนจ่ายร้อยละ 3 และนายจ้างจ่ายร้อยละ 3 โดยเงินก้อนนี้ไม่ได้เอามาใช้อะไรเลย แต่เวลารับคืนร้อยละ 20 ทำให้สปส.หัวโต เพราะต้องหาส่วนต่างร้อยละ14 เปอร์เซ็นต์มาโปะ ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการเสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมของกลุ่มแรงงาน นายปั้นกล่าวว่า หากร่างได้เร็วเกี่ยวกับการเปลี่ยนเป็นองค์กรอิสระก็อาจขยับเข้าไปในสภาพร้อมๆ กัน ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ 7 กรณีนั้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเยียวยา แต่ไม่มีเรื่องการป้องกัน ดังนั้นจึงอยากทำในเรื่องของการตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตนด้วย ... ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ ได้มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งก็เป็นที่จับตามมองของเครือข่ายแรงงานว่ากฎหมายใหม่ที่ออกมาจะยังประโยชน์ให้พวกเขาได้อย่างไร ที่ผ่านมา องค์กรแรงงานมีการออกมาเคลื่อนไหวติดตามการทำงานของ สปส.อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสรุปบทเรียน สำหรับการเปลี่ยนแปลงสำนักงานประกันสังคม ไปสู่ทางที่ดีขึ้นจะเกิดขึ้นในอนาคต และการขับเคลื่อนครั้งใหม่คือ ความพยายามให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ โดยระบุ ไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ฉบับบูรณาการแรงงาน บทสรุปในการสัมมนาครั้งนี้ ในส่วนฝากฝ่ายการเมืองได้รับลูกที่จะผลักดันต่อร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับแรงงาน โดย ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการปิดการสัมมนาระบุว่า จะทำการรวมรวม ส.ส.อีก 19 คน เพื่อร่วมเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่มีการเสนอโดยกลุ่มแรงงาน โดยขอเวลา 30 วัน และจะเร่งทำงานให้สมกับที่ตั้งใจมาหารือร่วมกัน ๖ กันยายน ๒๕๕๓ เรื่อง เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน) เรียน ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่ส่งมาด้วย ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ปรับปรุงใหม่ ณ วันครบรอบ ๒๐ ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ หากเราย้อนกลับไปยังปี ๒๕๓๓ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ พฤษภาคม ที่หน้ารัฐสภา คนงานทั้งจากภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ นักศึกษา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ กว่า ๕,๐๐๐ คน รวมตัวกันเรียกร้องต่อรัฐบาล พรรคการเมือง และรัฐสภา ให้ผ่านกฎหมายประกันสังคม ที่คาดหวังว่าจะเป็นสวัสดิการที่ดูแลคนจน ซึ่งในครั้งนั้นได้มีผู้แทนของคนงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ นักศึกษา ๑๘ คน ได้ร่วมกันอดข้าวประท้วงกดดันรัฐบาล เพื่อให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้มีหลักประกันด้านสวัสดิการตั้งแต่เด็กจนตาย จนถึงปัจจุบันเป็นวาระ ๒๐ ปี ของสำนักงานประกันสังคม กองทุนประกันสังคมมีเงินรวมถึง ๗๐๗,๗๓๐ ล้านบาท แต่ตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี ที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคม จะเห็นว่าการบริหารสำนักงานประกันสังคมประสบสภาพปัญหามากมาย เช่น ๑. ข้อจำกัดของการเข้าถึงสิทธิ รวมไปถึงคุณภาพของการรักษาพยาบาล และมีการยกเว้นการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อีกหลายโรคด้วยกัน ๒. การบริหารงานกองทุนประกันสังคม ที่ไม่มีประสิทธิภาพ กรรมการประกันสังคมถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถูกควบคุม แทรกแซงจากฝ่ายราชการและการเมือง กรรมการประกันสังคมเป็นบุคคลหน้าเดิมๆหมุนเวียนกันเข้ามา โดยเกาะติดเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม โดยในช่วงระยะเวลาอันสั้นในระอบ ๕ ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการอนุมัติเงินประกันสังคมตอบสนองต่อนโยบายของฝ่ายการเมืองหลายต่อหลายโครงการด้วยกันไม่ว่าจะเป็น · การตั้งงบประมาณดูงานต่างประเทศ ปีละ ๑๑๘ ล้านบาท · โครงการจัดซื้อที่ดินและอาคารวัฏจักร ซึ่งผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมได้เสนอการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการในวงเงิน ๕๐๐ ล้านบาท เพื่อจัดซื้อและสร้างสำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ ๖ และอาคารศูนย์อบรมของ สปส. · โครงการจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานของสำนักงานประกันสังคม ๒,๘๐๐ ล้านบาท · โครงการประชาสัมพันธ์ ๑,๐๐๐ ล้านบาท · การใช้งบประมาณในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประกันสังคม ปีละ ๑๙๕ ล้านบาท · งบประมาณในการสนับสนุนสภาองค์การลูกจ้างและนายจ้าง ปีละ ๒๔ ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดอบรมแก่ผู้ประกันตน อีกทั้งมีการตั้งงบประมาณอีก ๒.๒ ล้านบาท เป็นค่าใช้สอยในการดำเนินงาน · การลงทุนในกิจการประเภทต่างๆ ของประกันสังคม ที่มีการขาดทุน เช่น กรณีลงทุนหุ้นไทยธนาคารที่ขาดทุน , การลงทุนในบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ หรือแม้แต่การลงทุนทียูโดม เรสซิเดนท์เชียลคอมเพล็กซ์ ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนระดับสูง เป็นต้น · โครงการล่าสุด เตรียมนำเงิน ๒๐๐ ล้านบาท จัดทำหนังสือประวัติของกรรมการประกันสังคม ๒๐ ปี สำนักงานประกันสังคม จะเห็นได้ว่าสภาพปัญหาที่เกิดล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทั้งสิ้น ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เงินที่ออมจากหยาดเหงื่อ หยดเลือด หยดน้ำตา ของคนทำงานที่ฝากอนาคตไว้กับกองทุนประกันสังคม ดังนั้นการบริหารกองทุนโดยการนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์จึงเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพชีวิต และอนาคตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตน ที่เจียดเนื้อของตนเองส่งเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของการทำงาน ซึ่งอาจนับได้ว่ากว่าค่อนชีวิต ด้วยความตระหนักต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ที่ไม่มีความโปร่งใสและขาดความมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานศูนย์กลางระดับชาติ อันประกอบด้วยองค์กรสมาชิกในระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ๒๘ องค์กร จึงขอนำเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ปรับปรุงใหม่ ณ วันครบรอบ ๒๐ ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ต่อท่านและคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ท่านและคณะกรรมาธิการฯ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยการรวบรวมรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒๐ ท่าน เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อรัฐสภา เพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑. ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เพื่อการจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ๒. เพื่อให้คณะกรรมการบริหารประกันสังคมมาจากการเลือกตั้ง จากผู้ประกันตน ๙ ล้านคน โดยต้องให้สิทธิกับผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้ง ๑ คน ต่อ ๑ เสียง ในการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ๓. เพื่อให้การบริหารกองทุนประกันสังคมของคณะกรรมการบริหารประกันสังคม ปรับปรุงจากระบบ “ไตรภาคี” เป็น “พหุพาคี” โดยต้องมีสัดส่วนของนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการลงทุนและความเสี่ยง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการด้านแรงงาน ๔. เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ และป้องกันการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้จากปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น ๕. เพื่อให้มีการขยายการคุ้มครองไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ ๖. เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ๗ กรณี เช่น ค่าทำฟัน ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร พร้อมทั้งการเพิ่มคุณภาพการบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกโรค ๒๐ ปี สำนักงานประกันสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนของผู้ใช้แรงงาน ขบวนการแรงงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาสรุปบทเรียนร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปสู่ทางที่ดีขึ้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ระยะเวลาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการปล่อยให้สำนักงานประกันสังคมยังคงอยู่ภายใต้การบริหารดูแลของกระทรวงแรงงาน ทำให้การบริหารงานไม่มีความคล่องตัว การตรวจสอบการบริหารจัดการเป็นไปอย่างล่าช้า สร้างความไม่โปร่งใส หรือการที่ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิ หรือสร้างหลักประกันชีวิตแก่ผู้ใช้แรงงานได้อย่างแท้จริง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้ “สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ” โดยตราพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ปรับปรุงใหม่ ณ วันครบรอบ ๒๐ ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ขอแสดงความนับถือ (นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย) ประธาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: จากเฟซบุ๊คถึง ‘ลุงปลาทู’ ประชาชน3.0 กับการเยียวยา ‘เหยื่อ’ (และประชาธิปไตย) Posted: 07 Sep 2010 04:25 AM PDT วันนี้ใครไม่มีเฟซบุ๊ค (facebook) อาจได้รับผลกระทบถึงขั้นเครียด กดดันอย่างรุนแรง เพราะคนรอบตัวต่างไถ่ถามขอ add หรือไม่คนรอบข้างก็มักเอาแต่พูดกันเรื่องเกมในเฟซบุ๊ค แลกหมู เห็ด เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ โต๊ะ เก้าอี้ รถแทรคเตอร์ ฯลฯ กันตลอดเวลา เครือข่ายทางสังคมประเภทนี้กำลังมีบทบาทอย่างยิ่งในการเชื่อมประสานผู้คน แม้แต่มิติของทางการเมืองก็ฟูเฟื่องในพื้นที่เหล่านี้ ทำให้เกิดกิจกรรม การเคลื่อนไหวต่างๆ มากมายในโลกจริง รวดเร็วทั้งการระดมและกระจายข่าวสาร ไม่ว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือต่อต้าน และไม่ว่าจะเป็นแง่มุมที่รัฐ(บาล)ชอบหรือไม่ก็ตาม แม้เหตุการณ์ทุกอย่างจะดูสงบราบเรียบ และแทบไม่มีการพูดถึงความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมกันแล้ว แต่ในโลกไซเบอร์ สิ่งเหล่านี้กลับแพร่สะพัดอย่างต่อเนื่อง ยังคงมีการนำเสนอข้อมูลความเดือดร้อนของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต คลิปงานสัมมนา การให้สัมภาษณ์ที่น่าสนใจจากบุคคลต่างๆ รวมทั้งการรวมตัวกันจัดกิจกรรมสารพัดของเครือข่ายคนเสื้อแดงที่ยังรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในเฟซบุ๊ค โดยไม่ต้องง้อพื้นที่ของสื่อมวลชนกระแสหลัก เช่น กรณีกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงของ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ก็เผยแพร่ประสานงานกันผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก หรือเมื่อ 1-2 สัปดาห์ก่อนก็มีกิจกรรมนัดหมายซื้อปลาทู จาก “ลุงปลาทู” กันอย่างคึกคัก ทำโปสเตอร์ประกาศเชิญชวนและแชร์กันอย่างแพร่หลาย เป็นเหตุให้ต่อมาได้รับการติดตามทำสกู๊ปจากสื่อมวลชนบางส่วนที่ยังคงติดตามเรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวของลุงปลาทู เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอันหนึ่ง เพราะมันเริ่มต้นจากการที่คนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ สืบเสาะค้นหา บอกเล่ารายงานข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วนำคลิป นำเรื่องเล่าส่งต่อให้สื่อมวลชนที่สนใจ บางส่วนก็เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คและเว็บบอร์ด หลังเรื่องราวแพร่ขยายออกไปในโลกไซเบอร์ก็มีการแตกแขนงไอเดียในการสร้างกิจกรรมเพิ่มเติม โดยมีการนัดรวมพลกันเพื่อไปอุดหนุนปลาทูทอดของคุณลุง ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ที่ตลาดยงเจริญ อ่อนนุช 46 รูปโปสเตอร์ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค
เรื่องราวทำนองนี้ถูกนำเสนอให้โลก(ออนไลน์) ได้รับรู้มาแล้วจำนวนไม่น้อย ทั้ง ‘เหยื่อ’ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรงและที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเลยแต่อยู่ในพื้นที่ ‘สู้รบ’ ก็โดนลูกหลงเป็นกระสุนปืนด้วยไม่ต่างกัน หลายครอบครัวสูญเสียเสาหลักอย่างกระทันหัน ทั้งแบบจากเป็น (พิการ เป็นอัมพาต หรือถูกจับ) และจากตาย การระดมทุนเกิดขึ้นผ่านการกระจายข้อมูลทางเฟซบุ๊ค ซึ่งมักแนบท้ายเบอร์บัญชีของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย “ที่ผ่านมาพวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายที่รู้ข่าว เงินบริจาคที่เข้าบัญชีมีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน” กาญจน์ชนิษฐากล่าว กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงสี เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งที่นำข้อมูลคนเจ็บ คนตาย จากการสลายการชุมนุมมาโพสต์อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นศูนย์ข้อมูลแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกออนไลน์ เธอทำงานรับราชการในกระทรวงมหาดไทยวันจันทร์ถึงศุกร์ และใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ตระเวณร่วมกิจกรรมคนเสื้อแดง และเยี่ยมเยียนคนเจ็บ/ญาติคนตายไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งมักถูก hint จากปากต่อปากให้เธอและอาสาสมัครอีก 2-3 คนไปค้นหา ถ่ายคลิปวิดีโอจากกล้องดิจิตอลป๊อกแป๊ก พูดคุยข้อมูลสำคัญๆ แล้วนำมาเรียบเรียงแบบง่ายๆ โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊คส่วนตัว “เราพอได้ยินเรื่องของบางราย เราก็ไปตามหา ไปนำข้อมูลออกมา บางทีก็มีการบอกต่อจากคนรู้จัก แต่ช่วงหลังข้อมูลถูกส่งมาทางเฟซบุ๊คเกินครึ่ง บางคนเขารู้แต่เขาไม่กล้าโพสต์ ไม่กล้าแสดงตัวเพราะกลัว” เธอกล่าว “เฟซบุ๊คเป็นเหมือนพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เราได้แสดงออกเพราะมันไม่มีช่องทางอื่นสำหรับประชาชนธรรมดาที่อยากจะแชร์ข้อมูลภาพและเสียง...ความจริงใช้เฟซบุ๊คมานานแล้วแต่เพิ่งได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็ช่วงหลัง 10 เมษานี้เอง” กาญจน์ชนิษฐากล่าว จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเธอเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่เดินทางไปเยี่ยมประชาชนจากจังหวัดที่เธอเคยไปประจำการอยู่ ทำให้มีโอกาสร่วมเหตุการณ์ 10 เมษาแบบเต็มๆ จาก ‘ไม่แดง’ จึงเริ่ม ‘แดง’ และเริ่มรวมตัวกับอาสาสมัครไร้สังกัดเพื่อช่วยเหลือคนบาดเจ็บ คนเจ็บป่วยในที่ชุมนุมเรื่อยมา กระทั่งช่วงเดือนพฤษภาคมที่เหตุการณ์แหลมคม มีคนตายมากขึ้น เธออยู่ตรงนั้นและมีโอกาสถ่ายรูปศพคนตายซึ่งไม่มีญาติ และพยายามช่วยตามหาญาติให้เขา “เราเอารูปเข้าไปฝากนักข่าวที่หลังเวที ให้นักข่าวช่วยลงข่าวหน่อยเผื่อจะเจอญาติเขา พี่ๆ น้องๆ นักข่าวเขาก็บอกว่าไม่ได้หรอก ภาพแบบนี้ลงไม่ได้ ให้เอาไปเผยแพร่เองในฐานะประชาชนดีกว่า เราเลยเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว” ภารกิจนี้ดูเหมือนจะติดพันเธอมาจนถึงปัจจุบัน และกำลังแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ท่ามกลางช่องทางการสื่อสารเดิมๆ ที่ตีบตันและบรรยากาศแห่งเสรีภาพที่แสนอึมครึม ... หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุค 'ประชาชน 3.0' ดังที่มีคนนิยามไว้... ใครไม่มีเฟซบุ๊คท่าจะต้องเครียดหนักจริงๆ ล่ะทีนี้ ;P
หมายเหตุ : บก.ลายจุด เป็นผู้นิยาม “ประชาชน 3.0” ซึ่งเป็นการนิยามโดยล้อไปกับพัฒนาการของเว็บไซต์ โดยระบุว่า "ประชาชน 3.0" คือ คนที่ต้องการปกครองตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การโค่นรัฐบาลอภิสิทธิ์ลงแล้วเอาคนของตัวเองมาเป็นเจ้านายแทน แต่หมายถึงชัยชนะในครั้งนี้ ผู้เป็นนายคือประชาชน ประชาชนเป็นผู้ควบคุมอำนาจ ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนเป็นผู้แทนที่ประชาชนควบคุมได้ และต้องไม่มีใครใหญ่ไปกว่าประชาชน อ่านเพิ่มเติมได้ใน รายงานเสวนา: “การเมืองบนท้องถนนของคนธรรมดา” มองผ่านแว่นหลายสี http://prachatai3.info/journal/2010/09/30968 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 07 Sep 2010 03:56 AM PDT ข้อถกเถียงในเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐมักจะประกอบด้วย 2 เรื่องใหญ่คือ หนึ่ง จะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (จนหรือรวยได้รับสวัสดิการเหมือนกัน) หรือเป็นแบบให้เฉพาะคนจน (ต้องพิสูจน์ว่าจนถึงจะได้) และ สองคือ รัฐจะหาเงินมาจากไหนเพื่อมาใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการสังคม จะมาจากรายได้ภาษีอากร หรือมาจากการสมทบเงินของผู้ได้ประโยชน์ (เช่นระบบประกันสังคมของไทยในปัจจุบัน) ข้อถกเถียงนี้ถือว่าเป็นข้อถกเถียงพื้นฐานที่จะต้องเกิดกับทุกประเทศที่รัฐต้องการจัดระบบสวัสดิการสังคม ข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่สามารถจบในเวลารวดเร็ว เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 6 ปีก็ยังอาจจะเร็วไปในบางสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดน เริ่มต้นมีสวัสดิการสังคมประเภทช่วยเหลือเฉพาะคนยากจน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1847 กระแสสังคมนิยมกับการเกิดพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคสังคมประชาธิปไตย ในปี ค.ศ. 1889 ทำให้ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 1930 มีการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมครั้งใหญ่ในประเทศสวีเดน ได้มีการถกเถียงกันเป็นเวลานานถึง 10 ปีว่าจะปฏิรูปไปเป็นแบบใด ซึ่งประเด็นที่ถกเถียงก็หนีไม่พ้นสองประเด็นที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น ในที่สุดปี ค.ศ. 1945 ก็ได้มีการสำรวจประชามติจากประชาชน ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่ต้องการสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า และปี ค.ศ. 1946 เป็นจุดเปลี่ยนประเทศเข้าสู่รัฐสวัสดิการ แบบที่คนได้รับสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า อย่างดี เท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องสมทบเงิน เพราะรัฐใช้รายได้จากภาษีอากร (เก็บในอัตราที่สูง) พรรคสังคมประชาธิปไตยได้ครองความเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 ถึง 1976 โดยไม่มีพรรคอื่นมาขั้นกลาง ตัวอย่าง กรณีประเทศอังกฤษ นโยบายด้านสวัสดิการสังคมของอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กระดอนไป กระดอนมาระหว่าง แบบถ้วนหน้าไม่สมทบเงิน กับแบบสมทบเงิน (ตามแบบเยอรมัน) แต่นโยบายมานิ่งหลังจากมีรายงานของเบบเวอริดจ์ (Beveridge Report) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การปฏิรูปนโยบายสังคมในอังกฤษใช้เวลาเพียง 10 เดือนในการถกเถียงกัน และได้ข้อสรุปว่า รัฐและประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบสวัสดิการสังคม โดยรัฐช่วยจัดการให้มีสวัสดิการขั้นต่ำอัตราเดียว ประชาชนร่วมกันลงขันแบบอัตราเดียว ถ้าใครต้องการมีกินมีใช้มากกว่าขั้นต่ำก็ต้องช่วยตัวเอง อย่ามาหวังเอาจากรัฐ แต่ถ้าเป็นคนจน รัฐก็ช่วยเหลือเพิ่มเติมแบบให้เปล่า ปรากฏว่ารัฐบาลซึ่งมาจากพรรคอนุรักษ์นิยมลังเลกับการเสนอรายงานนี้แก่ประชาชน มีการถกเถียงกันมากมายในคณะรัฐมนตรี แต่ในที่สุดก็ตกลงเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ แต่รัฐก็ประกาศว่าจะยังไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของรายงาน การสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ร้อยละ 47 ไม่พอใจกับท่าทีลังเลของรัฐบาล ร้อยละ 29 เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาล และอีกร้อยละ 24 ตอบว่าไม่ทราบ และอีกไม่กี่เดือนถัดมานายกรัฐมนตรีก็ประกาศว่าเมื่อสงครามจบลง รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปและรัฐบาลใหม่จะเริ่มต้นดำเนินการสวัสดิการสังคมตามรายงาน เบบเวอริดจ์ พรรคอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน และพรรคเสรีนิยมแต่ก็แข่งกันออกนโยบายสวัสดิการสังคม ผลปรากฎว่าการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1945 พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งและได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมทั้งหมด 8 ฉบับ มีการให้สวัสดิการแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย และนำประเทศเข้าสู่รัฐสวัสดิการตามแบบฉบับของอังกฤษเอง แนวคิดสวัสดิการสังคมของคนไทยจะไปทางไหน ยังไม่ชัดเจน ความเห็นแตกต่างกันในระหว่างกลุ่มต่างๆ ในกลุ่มประชาชนทั่วไป จากการสำรวจความเห็นของประชาชนในเดือน เมษายน ปีนี้ได้ผลค่อนข้างมีความชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและผู้ดำเนินการจัดสวัสดิการสังคมให้ประชาชน ไม่ใช่ให้ชุมชนทำ โดยบทบาทของท้องถิ่นในเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ดูแลคนพิการ เด็กเร่ร่อน และผู้สูงอายุ ควรมีมากกว่าสวัสดิการอื่น ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ต้องการความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ในกลุ่มประชาชนผู้มีอันจะกิน มักจะไม่ชอบแบบถ้วนหน้า เพราะตนคือผู้เสียภาษี และมองเห็นอนาคตว่าถ้าถ้วนหน้าแล้วภาษีก็จะสูงขึ้น ส่วนประโยชน์ที่จะตกแก่ตนนั้นน้อยหรือไม่มีเลย คนกลุ่มนี้มองข้ามไปว่า ถ้าประชาชนไทยมีกินมีใช้ การลักเล็กขโมยน้อย งัดบ้าน ปล้นชิงทรัพย์ก็น่าจะลดลง ความปลอดภัยในท้องถนนก็น่าจะมากขึ้น เด็กก็จะถูกบังคับขายแรงงานลดลง ปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากการไม่พอกินก็น่าจะลดลง ครอบครัวผู้มีอันจะกินก็น่าจะอยู่เย็นเป็นสุขขึ้น ในกลุ่มนักวิชาการและข้าราชการ มีความเห็น 2 ขั้วค่อนข้างชัดเจน ขั้วแรก ออกแนวซ้าย ต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า โดยใช้เหตุความเท่าเทียมกันมาสนับสนุน และคิดว่าเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ และขั้วที่สอง ออกแนวขวา ต้องการให้เฉพาะคนจน โดยใช้เรื่องค่าใช้จ่ายสูงเป็นเหตุต่อต้านความถ้วนหน้า และสนับสนุนการมีภาษีต่ำๆ ประชาชนควรพยายามดูแลตัวเอง สิ่งที่เมืองไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ คือ ประชาชนกลุ่มเล็กๆ นักวิชาการ และข้าราชการ มีทางเลือกที่ 3 ซึ่งก็คือ ให้ชุมชมจัดสวัสดิการสังคม จะว่าไปต้องเรียกว่า เป็นทางเลือกที่ไม่ต้องการพึ่งรัฐ (เพราะประสบการณ์สอนว่าพึ่งไม่ได้) แต่ให้พึ่งตนเอง รัฐบาลเล่าคิดอย่างไร นายกรัฐมนตรีมีแนวนโยบายว่าต้องการเป็นสังคมสวัสดิการในปี พ.ศ. 2560 คล้ายกับบอกประชาชนว่า ถ้าอยากได้ก็กรุณาเลือกเรากลับมาเป็นรัฐบาลอีก เราจะเชื่อดีหรือไม่ ต้องลองดูการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ว่าเป็นอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ได้เริ่มดำเนินการโครงการสวัสดิการสังคมที่เป็นรากฐานของสวัสดิการในปัจจุบัน 3 โครงการ ในปี พ.ศ. 2536 ดังนี้ คือ 1. โครงการแก้ปัญหาความยากจน (กข. คจ.) เป็นโครงการที่ให้เงินหมู่บ้านยากจน 280,000 บาทและให้คนจนขอกู้ไปประกอบอาชีพแบบไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ 2. โครงการสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่ให้เงิน 200 บาทต่อเดือนแก่ผู้สูงอายุที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง หมู่บ้านละ 3-5 คน 3. โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) ซึ่งเดิมเป็นโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้านการรักษาพยาบาล (สปน.) ที่ริเริ่มโดยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2518 ทั้ง 3 โครงการมีความชัดเจนว่าต้องการช่วยกลุ่มเป้าหมายคือ คนจน ทุกโครงการมีปัญหามากมายในทางปฏิบัติเพราะคนจนไม่ได้มีคำว่า “จน” อยู่ที่หน้าผาก ในทางปฏิบัติการให้กู้เงินของโครงการ กข. คจ. กลับไม่ใช่คนจน ด้วยกรรมการที่จัดสรรเงินมักเห็นว่าคนจนได้เงินไปก็ไม่มีปัญญาคืน ทุกวันนี้เงินที่คนมีอันจะกินได้กู้ไปก็ยังไม่คืนอีกมากมาย ผู้ใหญ่บ้านโกงไปใช้เองก็มี ยังเป็นคดีอยู่ในศาลก็มาก พอปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลไทยรักไทยเข้ามา ก็ฉีกแนวเป็นกองทุนแบบถ้วนหน้า ทุกหมู่บ้านได้ 1 ล้านบาท ทุกคนมีสิทธิกู้ ถึงกระนั้นปัญหาเงินล่องหนก็ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม โครงการ สปร. เป็นลักษณะสงเคราะห์ คนไม่จนได้บัตร สปร. ก็มีมากมาย พอรัฐบาลไทยรักไทยเข้ามา โครงการนี้ก็ถูกแปลงโฉมเป็นแบบถ้วนหน้า เรียกเก๋ๆ ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็เป็นการสงเคราะห์คนแก่ยากจน ถูกทอดทิ้ง แต่ก็มีคนไม่จน (อาจจะมากกว่าคนจนด้วยซ้ำ) ที่ได้รับเบี้ยยังชีพ จนมาถึงยุคไทยรักไทยเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิทั่วประเทศจาก 4 แสนคนเป็น 1 ล้านคน แต่พรรคไทยรักไทยก็สิ้นสภาพไปเสียก่อนที่จะขยายโครงการนี้เป็นถ้วนหน้า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์กลับเข้ามาในปี พ.ศ. 2552 จึงรีบฉวยโอกาสขยายสิทธิให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน เราคงไม่ปฏิเสธว่าพรรคประชาธิปัตย์ใส่ใจเรื่องสวัสดิการสังคม แต่ที่ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจ คือ ณ ปัจจุบัน ประชาธิปัตย์เลือกที่จะทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือสวัสดิการคนจน กันแน่ ความคลุมเครือเกิดขึ้นจากหลายคำพูด เช่น “ให้สังคมสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ” “ไม่เคยบอกว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ” หรือ “ระบบสวัสดิการของไทยจะเป็นไประบบสวัสดิการที่มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเงินสมทบ” คำพูดเหล่านี้ประเมินได้ว่า รัฐบาลแทงกั๊ก อยากได้แบบถ้วนหน้า แต่ก็กลัวว่าจะเป็นภาระกับงบประมาณ เลยบอกว่าประชาชนต้องสมทบ ครั้นจะไปแนวเดิมแบบอดีตที่ให้เฉพาะคนจน ก็กลัวจะมีพรรคอื่นโผล่ออกมาขายนโยบายถ้วนหน้า หรือหนักหน่อยก็ประชานิยมแจกแหลก จุดตัดสินใจสุดท้ายของรัฐบาลมันเป็นเรื่องการเมืองชัดๆ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทหารพรานนราธิวาสพบค่ายฝึกของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน Posted: 07 Sep 2010 03:48 AM PDT ทหารพรานจัดชุดลาดตระเวนที่นราธิวาสพบค่ายฝึกของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล พบปืน 2 กระบอกอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร ตำราฝึกพลซุ่มยิง เจ้าหน้าที่คาดฝึกได้ทีละ 20 คน วันนี้ (7 ก.ย.) พ.อ. บรรพต พูลเพียร โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 เวลา 15.00 น. หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 38 จัดกำลังลาดตระเวน และติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ บริเวณเทือกเขาตะเว บ้านบือแจง (บ้านย่อยบ้านบองอ) ต.บองอ อ.ระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยผลการปฏิบัติ ตรวจพบค่ายฝึกของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกและใช้เป็นที่ประกอบวัตถุระเบิดของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และตรวจพบอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ ได้หลายรายการ ดังนี้ 1. เต็นท์บุคคล ผ้าใบ, ผ้ายาง จำนวน 8 หลัง 2. ปืนลูกซองตัดสั้น ชนิด 5 นัด จำนวน 2 กระบอก 3. เวชภัณฑ์ เช่น น้ำเกลือ, เข็มฉีดยา, ยารักษาโรคจำนวนมาก 4. เอกสารการฝึกพลซุ่มยิงภาษาไทย, ภาษายาวีจำนวนหนึ่ง 5. อุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิด เช่น ปุ๋ยยูเรียผสมน้ำมัน, เชื้อประทุจำนวนหนึ่ง 6. อุปกรณ์ยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง เตาแก๊ส เครื่องครัวจำนวนมาก 7. แผงโซล่าเซล พร้อมวิทยุสื่อสาร ยี่ห้อ ไอค่อม จากการตรวจสอบคาดว่าค่ายฝึกแห่งนี้สามารถรองรับบุคคลได้ประมาณ 20 คน สำหรับของกลางที่ตรวจยึดได้นั้น หน่วยจะได้ดำเนินการตรวจสอบ และขยายผลต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
การปรองดอง: แก้วิกฤต - ขัดแย้ง Posted: 07 Sep 2010 03:37 AM PDT หมายเหตุ: วันนี้ (7 ก.ย. 53) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ได้เขียนบทความลงในเว็บบล็อกของเขาเองเรื่อง "การปรองดอง: แก้วิกฤต - ขัดแย้ง" โดยมีรายละเอียดดังนี้ 000 การปรองดอง: แก้วิกฤต - ขัดแย้ง การปรองดองเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถ้าทำได้ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้ถลำลึกสู่ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ได้ และถ้าเราหาทางออกจากวิกฤตด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นตอของวิกฤตไปพร้อมกับการมีกระบวนการปรองดอง บ้านเมืองก็ยังสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ ต้นตอของวิกฤตคือ การไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิดด้วยวิธีการในระบบ แต่ใช้การเคลื่อนไหวนอกระบบที่นำไปสู่การรัฐประหาร ทำให้ประเทศเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบ แยบยลและซับซ้อนกว่าครั้งใดๆที่ผ่านมา ทางออกคือ ต้องทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรม และทำให้มีวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันได้ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิดได้โดยสันติวิธี ภายใต้ระบบ กติกา ที่เป็นธรรม แต่ไม่ว่าคนในประเทศหนึ่งๆ จะขัดแย้งกันด้วยเรื่องอะไร เช่น เรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา หรือการเมืองก็ตาม เมื่อขัดแย้งกันมากๆ กระบวนการปรองดองก็สามารถมีประโยชน์ได้ ทำให้คนยุติการรบราฆ่าฟันกัน หันมาเจรจาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในต่างประเทศมีบทเรียน ประสบการณ์ในเรื่องนี้มากกว่าประเทศไทยอย่างมาก สังคมไทยเราจึงควรเรียนรู้จากประเทศต่างๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาของประเทศไทยเราอย่างเหมาะสม ความจริงในประเทศไทยเราก็มีการพูดเรื่องปรองดอง สมานฉันท์ กันนานพอสมควร สำหรับในเรื่องวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน ขณะนี้น่ายินดีที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านต่างก็พูดถึงเรื่องนี้ ไปในทิศทางที่คล้ายกัน และยังมีเสียงประสานจากหลายฝ่ายที่เห็นว่าการปรองดองควรคืบหน้าต่อไป ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองคือ ความไม่เป็นเอกภาพในแต่ละฝ่าย คือต่างก็มีคนเห็นไม่ตรงกันและแสดงความเห็นที่ต่างกันในฝ่ายของตนเอง ในเรื่องนี้ถ้าจะแก้กันจริงๆ ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก หากผู้นำของแต่ละฝ่าย หารือทำความเข้าใจภายในฝ่ายของตนเองให้มากขึ้น และกำหนดคนที่เหมาะสมให้มีหน้าที่ในการร่วมเจรจาหารือ รวมทั้งทำหน้าที่ชี้แจงแถลงข่าวที่เข้าใจประเด็น ก็จะทำให้การปรองดองคืบหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ที่เป็นปัญหาอย่างมากคือ การตั้งเงื่อนไขมากเกินไปหรือนำเอาข้อสรุปหรือผลของการเจรจาที่ฝ่ายตนอยากได้ มาเป็นเงื่อนไขของการเจรจา ท่าทีอย่างนี้เสนออกมาเหมือนไม่เข้าใจกระบวนการปรองดอง หรือก็ไม่อยากให้มีการปรองดองนั่นเอง ถ้าต่างฝ่ายต่างตั้งเงื่อนไขว่า อีกฝ่ายต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจตนเองเสียก่อนค่อยเจรจา การปรองดองคงไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเริ่มจากความตั้งใจที่จะมีการเจรจาหารือ แล้วค่อยหยิบยกปัญหา หรือข้อเสนอมาพูดจากัน การเจรจาก็จะเริ่มขึ้นได้และอาจประสบความสำเร็จได้ หรือแม้ไม่สำเร็จมากนักในขั้นต้น ก็ยังพยายามกันต่อไปได้ ดีกว่าไม่มีการเจรจากันเลย ประเทศไทยเสียโอกาสไปมากแล้ว หากปล่อยให้ความขัดแย้งบานปลายต่อไปจะยิ่งเป็นผลเสียต่อทุกฝ่าย ความพยายามที่จะให้มีการปรองดองจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด สำหรับข้อเสนอที่ให้มีการ “นิรโทษ”ทุกฝ่ายนั้น ผมขอเสนอว่าในการเจรจาหารือถ้าหากจะมีขึ้น ไม่ควรนำเรื่องการคืนสิทธิ์แก่นักการเมือง 111 มาเป็นประเด็น เพราะจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองเสียเปล่าๆ ส่วนการนิรโทษกรรมคดีที่มีจุดเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่ผ่านมาประเทศไทยมักใช้วิธีนิรโทษทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง ทุกฝ่ายเจ๊ากันไป ซึ่งก็มีข้อดีคือไม่ต้องจองล้างจองผลาญ หรือเอาแพ้เอาชนะกันต่อไป แต่ก็มีข้อเสียคือ ไม่เกิดความยุติธรรมขึ้นและทำให้มีการทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งการรัฐประหาร และการเข่นฆ่าประชาชน สำหรับในปัจจุบันนี้ ผมยังเห็นว่าสังคมไทยควรเดินหน้าให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียก่อน เมื่อได้ข้อยุติว่าใครผิดใครถูกอย่างไร แล้วจะคิดเรื่องนิรโทษก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ไม่ควรนิรโทษไปก่อนเลย เพราะจะทำให้มีการทำผิดซ้ำๆเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากคนก็จะเห็นว่าทำอะไรก็ได้ เมื่อทำผิดกันมากๆจนลงโทษกันไม่ไหวแล้วก็จะได้นิรโทษเองในที่สุด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
‘คอร์เนอร์’ ฝรั่งขึ้นเวทีนปช.เพิ่งได้กลับบ้าน คุมตัวต่อ 3 สัปดาห์ เหตุไม่มีค่าตั๋วเครื่องบิน Posted: 07 Sep 2010 12:53 AM PDT 7 ก.ย.53 รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับ นายคอร์เนอร์ เดวิด เพอร์เซลล์ สัญชาติออสเตรเลีย ผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งยอมรับสารภาพและถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่20 ส.ค.53 หลังจากถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.เนื่องจากขึ้นร่วมชุมนุมฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินและยังขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. (อ่านรายละเอียดได้ใน ปล่อยแล้ว ‘เพอร์เซลล์’ ฝรั่งขึ้นเวที นปช. หลังให้การรับสารภาพ’ ) ล่าสุด คอร์เนอร์มีกำหนดจะเดินทางกลับออสเตรเลียในวันนี้ เวลา 17.00 น. โดยเกือบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว เขายังคงถูกกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพูล เนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการจองตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทางสถานทูตคำนวณแล้วเป็นเงินราว 50,000 บาท และสถานทูตปฏิเสธที่จะให้การช่วยเหลือ ขณะที่มีการแจ้งญาติในประเทศออสเตรเลียแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แหล่งข่าวซึ่งเป็นเพื่อนของคอร์เนอร์แจ้งว่าพวกเขาพยายามเรี่ยไรเงินสำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ นั้นได้พยายามต่อรองให้เขาทำสัญญาชำระกับสถานทูตในภายหลัง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น