ประชาไท | Prachatai3.info |
- 19 กันยายน คือรัฐประหารที่รุนแรงและนองเลือด
- เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: กำเนิด“คนเสื้อแดง” และลักษณะถึงรากเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
- สันติประชาธรรมจี้‘อนุพงษ์’เผยปฏิบัติการทหาร แทนปัดไม่เคยสั่งฆ่า
- Blognone ออกแถลงการณ์ผิดหวังประมูล3G ล่าช้า ประชาชนเสียประโยชน์
- จาตุรนต์ ฉายแสง: กฎหมายกับการยุบพรรคการเมือง
- วางกุหลาบแดงหน้าคุก17 จังหวัด เรียกร้องปล่อยนักโทษการเมือง
- ใบตองแห้งออนไลน์: สิบเก้าเดือนเก้า
- เสวนาโต๊ะกลม: ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย
19 กันยายน คือรัฐประหารที่รุนแรงและนองเลือด Posted: 18 Sep 2010 11:07 AM PDT ถ้าจำกันได้ เหตุผลหนึ่งในการรองรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือรัฐประหารครั้งนั้นไม่นองเลือด (bloodless coup) แถมยังช่วยระงับ หยุดยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 20 กันยายน 2549 หรือแม้แต่ข้ออ้างว่าเป็นการช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนั้นระหว่างรัฐบาลทักษิณกับพันธมิตรฯ แต่ 4 ปีผ่านไป พิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐประหารนอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งความขัดแย้งในสังคม ไม่สามารถปฏิรูปอะไรได้แล้ว กลับนำพาสังคมไทยเข้าสู่ความขัดแย้งที่ลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และแม้จะไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงทันทีทันใด แต่การนองเลือดก็เกิดขึ้นและค่อยๆ มากขึ้นเป็นลำดับเมื่อเวลาผ่านไป บทความนี้เสนอให้มองการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในระยะยาวกว่าวันที่ 19 กันยายน 2549 ยาวกว่าเวลาอยู่ในอำนาจของคมช. หรือยาวกว่าเวลาการมีอำนาจของรัฐบาลพลเอกสรยุทธ์ จุลานนท์ แต่หลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงทุกวันนี้ สังคมไทยยังคงอยู่ใน "กระบวนการรัฐประหาร" ที่ไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังได้ตกลงไปในหลุมลึกของความขัดแย้งใหม่ ซึ่งแหลมคมจนแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงมาหลายต่อหลายครั้ง เราจึงควรมองการรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะรัฐประหารที่นำไปสู่การนองเลือดอย่างต่อเนื่อง (bloodshed coup) ทั้งของฝ่ายที่พิทักษ์กระบวนการรัฐประหาร และฝ่ายที่ต่อต้านกระบวนการรัฐประหาร การจดจำเนื้อหา หรือความหมายที่ถูกให้กับเหตุการณ์นี้ใหม่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งในแง่ของการมองผลของการรัฐประหารต่อความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และในแง่ของการปฏิเสธความชอบธรรมใดๆ ของรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เนื้อหาและรูปแบบของการรัฐประหาร มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 3-9 กันยายน 2553 ได้ลงบทสัมภาษณ์พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหาร 19 กันยายน ในโอกาสที่ใกล้ครบรอบ 4 ปีของเหตุการณ์นั้น ความตอนหนึ่งว่า “มีสักแว่บหนึ่งของความคิดบ้างไหม ที่พอเห็นเหตุการณ์รุนแรงทางหน้าจอทีวี แล้วเกิดความรู้สึกว่า เป็นเพราะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือเปล่า บ้านเมืองถึงเดินมาถึงจุดนี้ได้ - ทางกองทัพมีหน้าที่ในเรื่องการรักษาความมั่นคง รักษาความปลอดภัย และที่สำคัญรักษาระบอบประชาธิปไตย กองทัพมีหน้าที่พวกนี้ ท่านไม่คิดว่าเป็นเพราะการรัฐประหารหรอกหรือ - มันอาจจะเกิดจากที่ผ่านมา เกิดจากว่าเราประเมินสถานการณ์ข้างหน้าดูดีมากไปหน่อย หมายความว่า ไม่ได้ประเมินว่ามันจะเลวร้าย - ใช่ ไม่คิดว่ามันจะเลวร้ายไปถึงขนาดนี้ ไม่มีใครคาดคิด ไม่คิดว่าเป็นเพราะการรัฐประหารแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณเขาสู้ ทำให้เกิดปัญหามาจนถึงวันนี้ - ผมทำตรงนี้ก็เพื่อว่ารักษาระบอบประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของกองทัพ บ้านเราต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในเมื่อมันกำลังสับสนในระบอบประชาธิปไตย เราก็เข้ามาจัดระบบให้มันเป็นประชาธิปไตย” นอกจากจะน่าสนใจที่จะตั้งคำถามว่าเมื่อไรกันที่กองทัพมีหน้าที่สำคัญในการรักษา “ระบอบประชาธิปไตย” แล้ว ยังน่าสนใจในความขัดแย้งของตรรกะวิธีคิดของนายทหารผู้นี้ เพราะหากกองทัพทำไปเพราะต้องการรักษา “ระบอบประชาธิปไตย” แล้ว เหตุใดกระบวนการตัดสินใจ ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าหลังจากการรัฐประหาร กลับกระทำโดยคณะรัฐประหาร หรือคนกลุ่มน้อยไม่กี่คน แต่มองในอีกมุมหนึ่ง “ระบอบประชาธิปไตย” ที่พล.อ.สนธิกล่าวถึงนั้น กลับไม่ได้หมายความถึงการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อย ผู้คอยถ่วงดุลตรวจสอบเสียงส่วนใหญ่ และเสนอทางเลือกให้หากเสียงส่วนใหญ่พาไปในทางที่ผิดแล้ว แต่หมายถึงการปกครองของคนส่วนน้อย ที่ในสภาวะซึ่งเกิด "ความสับสน" ขึ้นในสังคม จะ “รู้ดีกว่า” คนส่วนใหญ่ว่าอะไร “มั่นคง” อะไรคือ “ประชาธิปไตย” และอะไรคือทางแก้ปัญหา จึงไม่ใช่เรื่องขัดแย้งหรือน่าแปลกใจ ที่เหล่าคณะรัฐประหารจะประเมินสถานการณ์ข้างหน้ากันเอาเอง แล้วจึง “เข้ามาจัดระบบให้มันเป็นประชาธิปไตย” อาจกล่าวได้ว่า เนื้อหาของการรัฐประหารครั้งนี้คือการที่คนกลุ่มน้อยซึ่ง “รู้ดีกว่า” เข้ามาจัด “ระบบประชาธิปไตย” ใหม่ที่ถูกทำให้ “สับสน” ไปในสมัยของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้คืนสู่ “สภาพเดิม” เกษียร เตชะพีระ เคยประเมินเนื้อหาหรือแก่นแท้ของการรัฐประหาร 19 กันยายน ว่าเป็น "รัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์...กล่าวอีกนัยหนึ่งคือก่อรัฐประหารขึ้นก็เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยไทยไปในลักษณะวิถีทางที่จะทำให้มันปลอดภัยสำหรับสถาบันกษัตริย์จากการท้าทายด้วยอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ หรือที่พลเอกสนธิ เรียกในเวลาต่อมาว่า ‘เผด็จการทุนนิยม’ ” นั่นเอง (เน้นโดยเกษียรเอง ใน "รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 กับการเมืองไทย" รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2551 หน้า 52-53) สำหรับรูปแบบของการรัฐประหาร เกษียรก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นการรัฐประหารเชิงตั้งรับ คือทหารเข้ามาแทรกแซง ยึดอำนาจรัฐแบบเฉพาะกิจเฉพาะการณ์ ช่วงเวลาค่อนข้างสั้น จากนั้นก็ฟื้นฟูการปกครองโดยพลเรือนคืนมาพร้อมกับทหารพากันยกพลกลับสู่กรมกองบางส่วน (หน้า 54) นอกจากนั้น รูปแบบอีกอย่างหนึ่งของการรัฐประหารในครั้งนี้คือ การดึงสถาบัน และองค์กรหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเข้ามารองรับความชอบธรรมของการยึดอำนาจโดยทหาร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตุลาการ สถาบันกษัตริย์ สถาบันวิชาการ องคมนตรี องค์กรอิสระ นักการเมือง เอ็นจีโอ รวมทั้ง “ภาคประชาชน” บางส่วน นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ในช่วงแรกของการรัฐประหารไม่มีความรุนแรง หรือการนองเลือดเกิดขึ้น เพราะมีฐานค้ำยันจำนวนมากอยู่ อีกทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐประหารยังไม่สามารถก่อตัว รวมตัวต่อสู้ ต่อต้านได้ แต่ก็เต็มไปด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยจากกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยหลายกลุ่มโดยตลอดตั้งแต่หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา ก่อนที่จะแปรกลายไปเป็นกลุ่มที่เรียกว่าเสื้อแดงหรือนปช.หลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ในที่สุด กระบวนการรัฐประหารและต้านรัฐประหารยังไม่สิ้นสุด การยึดอำนาจโดยตัวของมันเอง ไม่ได้ทำให้เกิดการจัด “ระบบประชาธิปไตย” ใหม่ได้แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการขับไล่ผู้ครองอำนาจอยู่เดิมออกไปเท่านั้น กระบวนการต่างๆ ที่ตามมาหลังจากนั้นจึงเป็น แถมวิธีการที่ใช้ก็เช่นเดียวกับช่วงรัฐประหาร คือการดึงสถาบันหรือองค์กรทุกๆ ภาคส่วนดังกล่าวข้างต้น เข้ามาพัวพัน แทรกแซง วุ่นวายกับการรื้อถอนระบบการเมืองเก่าที่ "สับสน" และจัดระบบการเมืองใหม่ที่จะทำให้สังคมไทยกลับสู่ "สภาพเดิม" อย่างปกติสุข ดังนั้นแม้คณะรัฐประหารจะหมดอำนาจไปแล้ว แต่กระบวนการจัดระบบใหม่ก็ยังถูกส่งไม้ไปยังตัวละครทางการเมืองอื่นๆ ต่อไป และแม้จะเกิดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ขึ้น แต่กระบวนการหลังจากนั้นก็ยังดำเนินไปภายใต้เนื้อหาของการรัฐประหารเช่นเดิม เพียงแต่ผลที่ "ไม่มีใครคาดคิด" ก็เกิดขึ้นตามมา เมื่อวิธีการดึงสถาบันและองค์กรจำนวนมากเข้ามาช่วยกันกำจัดระบบเก่า สร้างระบบใหม่ กลับกลายเป็นการกัดกร่อน ทำลาย บ่อนเซาะตัวสถาบัน องค์กรต่างๆ เหล่านั้นเสียเอง กระบวนการจัดการทักษิณและการ "ปฏิรูปประชาธิปไตยไทย" ดำเนินไปตลอด 4 ปีโดยสะสมปัญหาและผลิตความขัดแย้งมากขึ้นทุกวัน ยิ่งเดินหน้าไปความรุนแรงก็มากขึ้นเรื่อยๆ ความพยายามพิทักษ์เนื้อหาของการรัฐประหารจึงใช้ต้นทุนทางสังคมไทยสูงมากในทุกๆ ด้าน ซึ่งนอกจากจะไม่ได้กำไรแล้ว ยังไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรจึงจะได้ทุนคืนมา ระบบยุติธรรมที่พอจะมีอยู่บ้างในสังคม พังทลายลงจนคนจำนวนมากไม่เชื่อถืออีกเลยไม่ว่าจะตัดสินเรื่องใดก็ตาม ความน่าเชื่อถือต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนมลายหายสูญไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สถาบันกษัตริย์ถูกดึงและลงมาพัวพันกับความขัดแย้ง ซึ่งยิ่งสร้างความสุ่มเสี่ยงของโอกาสเกิดความรุนแรง สถาบันวิชาการถูกท้าทาย ตั้งคำถาม และถูกมองอย่างหมดความหวัง สถานะความเป็นเอ็นจีโอถูกสงสัย เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ของรัฐเป็นจำนวนมาก และต้องเผชิญกับความแตกร้าวภายในอย่างรุนแรง เงื่อนไขเหล่านี้เอง ที่ทำให้ขบวนการต้านรัฐประหารค่อยๆ เติบโตขึ้น การรวมตัวขยายใหญ่ขึ้น แน่นอนว่าคนบางส่วนก็สนับสนุนทักษิณ หากแม้รัฐบาลทักษิณจะมีปัญหาในหลายๆ ด้าน และตัวระบบการเมืองในสมัยทักษิณก็มีปัญหาเช่นกัน แต่ "การปฏิรูปประชาธิปไตย" โดยเริ่มต้นจากการทำรัฐประหารกลับกลายเป็นการเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้ง แทนที่จะลดความรุนแรงลงไปดังที่ถูกอ้าง ประเด็นความไม่เป็นธรรมจากการพยายามรื้อระบบเก่า เป็นไปอย่างโจ่งแจ้งและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนหลอมรวมกลายเป็น "สภาวะสองมาตรฐาน" ประเด็นความไม่พอใจต่อ "คนกลุ่มน้อยที่รู้ดีกว่า" ผนวกรวมกับปัญหาการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยที่คาราคาซังมาตั้งแต่ 2475 กลายมาเป็นถ้อยคำที่ถูกเรียกว่า "อำมาตย์กับไพร่" คนจำนวนมากที่ในตอนแรกไม่ได้สนใจเข้าร่วมต้านรัฐประหาร แต่สะสมความไม่พอใจไว้ และเมื่อกระบวนการพิทักษ์รัฐประหารยิ่งแสดงความไม่เป็นธรรมมากขึ้น คนเหล่านี้ก็ทยอยกระโดดลงมาร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเมื่อสงกรานต์เลือดปีที่แล้ว ต้นปีที่ผ่านมา และในขณะนี้ สิ่งสำคัญอีกประการ ที่เป็นผลพวงใหญ่ของการรัฐประหารครั้งนี้ คือการรื้อฟื้นอำนาจของกองทัพต่อการเมือง และทำให้วิธีการทางทหารในการจัดการปัญหาความขัดแย้งต่างๆ กลับคืนมาสู่สังคมไทย ไล่ตั้งแต่งบประมาณทางทหารที่หลายคนชี้ให้เห็นแล้วว่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี หรือการเข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างการตั้ง "รัฐบาลในค่ายทหาร" หรือการที่กฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งให้อำนาจกับทหารและฝ่ายความมั่นคงอย่างมาก ได้แก่ กฎอัยการศึก, พรก.ฉุกเฉิน และพรบ.ความมั่นคง ถูกประกาศใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ในสมัยนายกฯ สมัคร และสมชาย ก็มีการใช้กฎหมายเหล่านี้เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าใครจะเข้ามายึดกุมอำนาจ แต่รัฐและสังคมไทยได้เปิดโอกาสให้มีการใช้กระบวนการทางทหารเข้ามาจัดการปัญหาอย่างเข้มข้น รวมถึงการใช้อาวุธสงครามไม่รู้กี่ประเภทที่มีให้เห็นอยู่แทบตลอดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะใช้ยิงกันโต้งๆ กลางเมือง หรือแอบยิงในที่ต่างๆ ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนทำ มันกลับสะท้อนเช่นเดียวกันว่า "เครื่องมือแบบทหาร" กำลังถูกใช้ในความขัดแย้งครั้งนี้ จนอาจกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งไปเสียแล้ว หากก็ไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านี้อำนาจของกองทัพ หรือวิธีการทางทหารไม่ได้มีอยู่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ (เห็นได้ชัดเจนในกรณีปัญหาชายแดนใต้) เพียงแต่ความเข้มข้นและปริมาณในระดับประเทศกลับมากขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การดึงวิธีการและเครื่องมือแบบทหาร (Militarization) กลับเข้ามาในการเมืองไทยอย่างเข้มข้นดังกล่าว กลายเป็นผลผลิตหนึ่งของการรัฐประหาร ที่ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนใช้ มันกลับยิ่งค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความรุนแรงในความหมายกว้าง ที่ไม่จำเป็นต้องมีการบาดเจ็บล้มตาย อย่างการปิดกั้นสื่อ การคุกคามสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในรูปแบบต่างๆ และความรุนแรงในความหมายแคบ นั่นคือการบาดเจ็บ ล้มตายของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สีใด ถ้าสังคมไทยไม่หาวิธีการลดความเข้มข้นของการใช้เครื่องมือแบบทหารเหล่านี้ลง อาจเป็นไปได้ว่า ความรุนแรงอาจขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พึงตระหนักว่าการใช้วิธีการแบบทหารจัดการกับวิธีการแบบทหารเหมือนกัน กลับจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงเสียอีกด้วยซ้ำ พรก.ฉุกเฉินที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ จึงส่งเสริมความรุนแรงในตัวของมันเอง กลับไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง กระบวนการรัฐประหารได้พาสังคมไทยตกลงไปในหลุมลึกที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน บานปลายเรื่อยมา แถมการพยายามถอยขึ้นมาจากหลุมก็ดูจะไม่ง่าย จะไปต่อข้างหน้าก็ดูจะมืดๆ มัวๆ อีกเช่นกัน คณะรัฐประหารดูเหมือนจะรู้ว่าทางเลือกที่นำสังคมไทยมานั้นผิด พ.ล.เอกสนธิ บุญยรัตกลิน ตอบบทสัมภาษณ์ของมติชนสุดสัปดาห์ว่าถ้าเลือกใหม่ได้ อาจจะไม่ทำรัฐประหาร และ “ไม่คิดว่ามันจะเลวร้ายขนาดนี้” แม้คำตอบจะเป็นไปแบบอ้ำๆ อึ้งๆ อ้อมค้อมไปหน่อยก็ตาม แต่ปัญหาคือสังคมกลับไปก่อนหน้าการรัฐประหารไม่ได้เสียแล้ว พวกเขาทำการเลือกใหม่ไม่ได้ ขณะที่เหล่าผู้พิทักษ์การรัฐประหารพยายามเดินหน้าต่อไป โดยไม่สนใจความผิดพลาดในอดีต อ้างซ้ำๆ ว่ามันเกิดขึ้นแล้วจะให้ทำอย่างไร แต่ก็กลับพบว่ากระบวนทั้งหมดที่ผ่านมาก็เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรมเสียแล้ว “ความผิดเก่าๆ” ยังไม่เคยถูกแก้ไข “ความผิดใหม่ๆ” ก็สะสมเพิ่มขึ้นมา แถมคนจำนวนมากเลือกไม่สังฆกรรมกับกระบวนการใดๆ ทั้งหมดตลอดหลายปีที่ผ่านมา หากยังต่อสู้ เหนี่ยวรั้ง ตั้งคำถาม และท้าทายให้จัดการกับมันใหม่ ความตึงเครียดดังกล่าวจึงยังอยู่ในสังคมไทยมาตลอดและพร้อมแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการรัฐประหาร เป็นทั้งความรุนแรงโดยตัวมันเอง และเป็นโครงสร้างที่ผลิตความขัดแย้ง ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ 10 เมษายน จนถึง 19 พฤษภาคม จึงถือได้ว่าเป็นผลพวงที่มาช้าไปเกือบ 4 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน แต่แทนที่พลเมืองจะออกมาต่อสู้กับทหารที่รัฐประหาร ทหารกลับออกมา “กระชับพื้นที่” ของพลเมืองแทน แต่หากมองในทางกลับกัน สังคมไทยมีเวลาถึงเกือบ 4 ปีในการแก้ไข “ความผิดพลาด” หรือหยุดยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เราจึงอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองร่วมกันว่าเหตุใดเราจึงมากันถึงวันนี้? และต่อจากนี้ไปเราจะจัดการกับโครงสร้างแบบนี้อย่างไร? สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: กำเนิด“คนเสื้อแดง” และลักษณะถึงรากเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ Posted: 18 Sep 2010 09:48 AM PDT ชื่อบทความเดิม: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: การเกิดขึ้นของขบวนการ “คนเสื้อแดง” และลักษณะถึงรากเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หมายเหตุ: บทความนี้นำเสนอครั้งแรกในการสัมมนาถอดบทเรียน 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 หัวข้อ “สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? คำถามสำคัญในการเสวนานี้ คงสามารถที่จะตอบได้หลายระดับ เชื่อมโยงกับประเด็นที่สำคัญว่า “เรา” ในที่นี้คือใคร และหลายแนวทางขึ้นอยู่กับจุดเน้นและกรอบทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังในการอธิบาย แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นศูนย์กลางหรือเกี่ยวข้องกับการอภิปราย-ตอบคำถามเรื่องนี้ล้วนเกี่ยวโยงกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการเกิดขึ้นของขบวนการมวลชน (Mass Movement) ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนเสื้อแดง” ที่ทำให้พวกเราในที่นี้ คือ นักกิจกรรมบางส่วน ที่เป็นกองเชียร์ ผู้สนับสนุน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในบางระดับ รู้สึกตื่นเต้น กระชุ่มกระชวยอย่างมากเมื่อพิจารณาสำนึกบางด้านของพวกเขาที่ปรากฎให้เห็นสัมผัสได้อย่างชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นในการเสวนานี้ จึงขอเน้นไปที่การเกิดขึ้นของขบวนการ “คนเสื้อแดง” และย้อนกลับไปสู่การอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองโดยภาพรวมที่ทำให้ “เรา” มาถึงจุดนี้ แนวคำอธิบายหลักที่สำคัญของนักวิชาการ ทั้งสนับสนุนเสื้อแดงและที่อยู่ในอ้อมกอดอำมหิตในเรื่องการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดง มักเน้นไปที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท ซึ่งเป็นฐานมวลชนสำคัญ และนำมาสู่ปัญหาความคับข้องใจของคนเสื้อแดง และดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปประเทศไทย พวกเขาจึงกล่าวกันเฉพาะเรื่อง “โครงสร้าง” ทางเศรษฐกิจ-สังคม ความยากจน ฯลฯ และไม่มีคำว่า กองทัพ ศาล องคมนตรี หรือพระราชอำนาจของกษัตริย์ภายใต้ระบบประชาธิปไตย ในพจนานุกรมการปฏิรูป การอธิบายที่เน้นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเหล่านี้ กล่าวให้ถึงที่สุด ไม่สามารถที่จะอธิบายการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวได้จริงๆ เพราะแม้ขบวนการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นในบริบทมหภาคในระดับกว้าง แต่พัฒนาการของมันจริงๆ แล้ว อยู่บนชุดของพลวัตที่มีลักษณะเฉพาะที่ทำงานในระดับจุลภาคมากกว่า ส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหว ดังนั้น จึงควรพิจารณากระบวนการ-พัฒนาการในด้านต่างๆ ของมันอย่างละเอียด เป็นการเฉพาะมากกว่า จากการเก็บข้อมูลของผู้เขียน โดยการเข้าร่วมสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและทำแบบสอบถามผู้เข้าร่วมชุมนุมเมื่อกลางปี 2552 จำนวน 253 คน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ คือ แม้ว่าคนเสื้อแดงจะมีความหลากหลายในแง่มิติทางเศรษฐกิจหรือสังคม แต่สิ่งหนึ่งมีลักษณะร่วมกันค่อนข้างชัดเจนและมีส่วนในการกำหนดลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ มิติทางด้านการเมือง และความสัมพันธ์กับทักษิณ-พรรคไทยรักไทย นักวิชาการไทย ผู้ที่สนับสนุน เห็นอกเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต่อต้านเสื้อแดง พยายามที่จะอธิบายว่า “คนเสื้อแดง” มีความหลากหลายในมิติต่างๆ รวมทั้งตั้งใจที่จะไม่พูดถึงหรือลดความสำคัญของทักษิณลง โดยทั้งนี้สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้วิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การอธิบายโดยการไม่ใส่ปัจจัยด้านทักษิณลงไปในการอธิบายการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงนั้นเพราะจะทำให้มีความสะดวกสบาย (comfortable) ในการอธิบายกับตัวเอง ที่ก่อนหน้านี้ มีลักษณะ “เกลียดทักษิณ” แต่ในอีกทางหนึ่งผู้เขียนกับพบว่า คำอธิบายในลักษณะนี้ นอกจากในหมู่นักวิชาการแล้ว เกิดขึ้นในหมู่เสื้อแดงเองบางส่วนด้วย โดยสิ่งที่ทั้งสองกลุ่มนี้มีร่วมกันคือ มาจากความคิดที่ว่าการมีลักษณะที่หลากหลาย มีความชอบธรรม หรือชอบธรรมมากกว่าปัจจัยที่มาจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษิณเพียงอย่างเดียว โดยเมื่อพิจารณาการลงคะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งทั่วไป 6 กุมภาพันธ์ 2548 พบว่ามีถึง 87.6 เปอร์เซ็นต์ที่เลือก “พรรคไทยรักไทย” ดังนั้น ในแง่ทางมิติทางการเมือง กล่าวได้ว่า คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไร เกือบทั้งหมด เป็นผู้สนับสนุน “พรรคไทยรักไทย” (และดังนั้นในความหมายแคบ คือ อดีตนายกรัฐมนตรี) ในการเลือกตั้งก่อนการรัฐประหาร ขณะที่อีกส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก มีท่าที่ต่อพรรคไทยรักไทย-ทักษิณ ในลักษณะค่อนข้างที่จะเป็นกลางมากกว่าต่อต้านทักษิณ ตารางพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหว “เสื้อแดง” จากตารางพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหว จะเห็นว่าการปรากฏตัวครั้งแรกของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ คือ ช่วงที่ 1 คือ การออกมาเคลื่อนไหวในนามของคาราวานคนจนและสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับแท็กซี่ เพื่อสนับสนุนรัฐบาล ต่อต้านพันธมิตรฯ ที่สวนจตุจักร ซึ่งขณะนั้นระดมผู้เข้าร่วมในระดับหลายพันคน ขณะที่ในช่วงที่ 2 หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในช่วงแรก (2.1) ที่เป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระนั้น ระดมคนเข้าร่วมได้ไม่มากนัก กิจกรรมระดมใหญ่ก็เพียงไม่กี่พันคน ขณะที่ช่วงที่สอง (2.2) หลังจากการยุบพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ PTV เพื่อโค่นล้ม คมช. นั้น สามารถระดมคนเข้าร่วมสูงสุดได้ราว 20,000 คน ช่วงที่ 3 เมื่อพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนั้น ช่วงแรก (3.1) การออกมาต่อต้านเริ่มต้นด้วยกลุ่มอิสระและนปช. (ไม่นับร่วมกลุ่ม PTV เก่าที่เข้าไปอยู่ในส่วนรัฐบาล) ที่สนามหลวง ก็ยังไม่สามารถที่จะระดมคนได้มากนัก แต่ช่วงที่สอง (3.2) หลังจากที่พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาล การเคลื่อนไหวภายใต้การนำของความจริงวันนี้ สามารถที่จะระดมคนเข้าร่วมได้นับหมื่นคน โดยครั้งแรก 11 ตุลาคม 2551 ที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เป็นการจัดชุมนุมครั้งแรกที่มีการประกาศใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันอย่างเป็นทางการ และครั้งต่อมา 1 พฤศจิกายน 2551 ที่ราชมังคลากีฬาสถาน มีผู้ร่วมงานใส่เสื้อสีแดงเต็มสนามกีฬา อย่างน้อยน่าจะถึง 60,000 คน และช่วงที่ 4 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งช่วงมีนาคม-เมษายน 2552 และมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ภายใต้การนำของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน มีผู้เข้าร่วมสูงสุด ในแต่ละครั้งอาจจะถึง 1 แสนคน ข้อสังเกตที่สำคัญที่ได้จากตารางข้างต้น มีดังต่อไปนี้ 1.ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวมีจำนวนเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนเพียงหลักพันถึงแสนคนในครั้งล่าสุด และการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มย่อยหรืออิสระนั้นสามารถที่จะระดมคนเข้าร่วมได้น้อยกว่าการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของเครือข่ายทักษิณ-ไทยรักไทย (คือ PTV-นปก., ความจริงวันนี้สัญจร-นปช. แดงทั้งแผ่นดิน, สามเกลอ-นปช. แดงทั้งแผ่นดิน) ซึ่งแน่นอนด้านหนึ่งมีจากความต่างๆ ในด้านทรัพยากร แต่ด้านหลักมาจากฐานมวลที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวที่มาจากเครือข่ายผู้สนับสนุนทักษิณ-ไทยรักไทย (และที่น่าสนใจคือ แม้การเคลื่อนไหวจะนำโดยกลุ่มอิสระ แต่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สนับสนุนทักษิณ) 2. การเปลี่ยนแปลงในด้านปริมาณของผู้เข้าร่วมอย่างก้าวกระโดด คือ ในช่วงที่ 2 ที่พันธมิตรฯ ออกมาขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนและเปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดยระหว่างนั้น การชุมนุมใหญ่หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2552 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเต็มสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน 3. การปรากฏตัวของขบวนการเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนทักษิณ-ไทยรักไทย เกิดขึ้นหลังจากหรือต่อต้าน (1) การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ (2) การรัฐประหาร-ยุบพรรคไทยรักไทย, (3) การออกมาต่อต้านรัฐบาลใหม่ของพันธมิตรฯ และ (4) ล้มรัฐบาลพลังประชาชน หากถือว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการล้มทักษิณ-ไทยรักไทย-พลังประชาชน การเคลื่อนไหวของพวกเขาก็คือ การปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุน มาจากการเลือกตั้งของพวกเขา หรือ “ทักษิณ-ไทยรักไทย-พลังประชาชน” นั่นเอง ในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า คนเสื้อแดงจึงเป็นขบวนการโต้กลับ (Counter-movement) ของขบวนการเสื้อเหลืองและพวก และการประสบความสำเร็จของคนเสื้อเหลืองก็กระตุ้นทำให้พวกเขาอดรนทนไม่ได้ต้องออกมาเคลื่อนไหว โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นอกจากการรัฐประหารที่ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้ไม่พอใจแต่ยังไม่ออกมาเคลื่อนไหว คือ การออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลสมัคร และความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลสมัคร-สมชาย กล่าวเฉพาะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ แน่นอนที่สุด ปัจจัยภายในองค์กรมีความสำคัญ แต่อย่างที่รู้กันว่า แค่การชุมนุมไม่สามารถที่จะล้มรัฐบาลได้ ไม่นับรวมความเป็นไปได้ในการถูกปราบปรามเมื่อหันไปใช้ยุทธิวิธีการขัดขวางระบบการเมืองปกติ เช่น ยึดทำเนียบรัฐบาล-สนามบิน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่สามารถที่จะปราบปราม-สลายได้แม้ว่าจะมีความต้องการก็ตาม นั่นคือ โครงสร้างโอกาสทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ชนชั้นนำอื่นๆ ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและ/หรือเป็นพันธมิตร กับพันธมิตรฯ จึงเป็นที่มาของคำอธิบายของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการตอบกระทู้ถามสด ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ว่า ”ทุกคนทราบดีว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 6 เดือน และใช้เสรีภาพอย่างผิดกฎหมาย ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น เพราะหากเป็นม็อบธรรมดาเรื่องจบไปนานแล้ว” ดังนั้น คนเสื้อแดงจึงต่อต้าน “เส้น” ของพันธมิตรฯ และทุกส่วนที่พวกเขาเชื่อว่ามีส่วนในการโค่นล้มทักษิณและรัฐบาลที่ตนเองเลือกมา โดยกระบวนการเหล่านี้ พอที่จะสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ติดตามข้อมูลข่าวสารและปะติดปะต่อปรากฎการณ์เหล่านั้นเข้าด้วยกัน แม้พวกเขาจะไม่สามารถที่จะอธิบายอย่างละเอียดอย่างเป็นวิชาการว่าเป็นปัญหาความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐได้ก็ตาม กลุ่มนักเคลื่อนไหวบางส่วน ได้นิยามวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าเป็นวัน “ตาสว่างแห่งชาติ” และจะจัดกิจกรรม “19 กันยา วันตาสว่างแห่งชาติ” ในวันพรุ่งนี้ หากวันตาสว่าง หมายถึง วัน realization สำหรับคนเสื้อแดงจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย หรือมีด้านที่มีวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์นั้น การนิยามนี้ค่อนข้างที่จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์ของการก่อเกิดคำ และพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวนัก เพราะหลังรัฐประหาร ประเด็นเหล่านี้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจำกัดในหมู่ปัญญาชนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คนทั่วไปที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารยังใส่เสื้อเหลือง และอย่างมากก็พุ่งเป้าเฉพาะองคมนตรี และแยกออกกันโดยไม่ได้เสแสร้ง อย่างที่สมศักดิ์อธิบายว่า “ความคิดหรือการแสดงออกที่ภายหลังถูกศัตรูทางการเมืองของพวกเขากล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” หรือ “ล้มเจ้า” นั้น หาใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด” แน่นอนที่สุดในกระบวนการเคลื่อนไหว ผู้เข้าร่วมย่อมผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับรู้ปัญหาดังกล่าวบ้าง แต่ 19 กันยา ก็ยังไม่ได้อยู่ในฐานะของหลักหมายของความเข้าใจดังกล่าว แต่กระบวนการเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงการยึดทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรฯ ที่มีการขยายตัวของผู้เข้าร่วมอย่างมาก และทำให้ปรากฏด้านที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจน โดยการอภิปรายถกเถียงในเรื่องนี้ที่สำคัญซึ่งแม้แต่ฝ่ายตรงกันข้ามก็ยากจะโต้แย้งหรือเกิดอาการตาสว่างไปพร้อมกันด้วย และนำไปสู่การประดิษฐ์คำนี้เกิดขึ้นในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง และในอีก 1 ปีต่อมา ก็มีการประกาศ “วันตาสว่างแห่งชาติ” ขึ้นอย่างเป็นทางการ และสำนึกบางอย่างที่มีลักษณะวิพากษ์-ถึงรากเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น ถ้าด้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สิ่งที่พอจะตอบได้คือ มาจากการปะทะต่อสู้กันของปัจจัย-ผู้กระทำการจำนวนมาก มากกว่าจะเป็นการวางแผนของใคร หรือกล่าวได้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งการคำนวณผิดของคนสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการรัฐประหารและพยายามโค่นล้มทักษิณ (ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน) ไม่เพียงแต่เฉพาะพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ออกมาสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่าประเมินสถานการณ์ผิด หากมองย้อนกลับไปที่การเมืองโดยภาพรวม โดยใช้ 19 กันยา เป็นหลักหมายสำคัญแล้ว พยายามตอบคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ความคิดหนึ่งที่น่าจะประยุกต์ใช้เพื่อช่วยอธิบายได้ดีคือ ปัญหาเขาควายด้านความมั่นคง (a security dilemma) แม้ว่าบริบทที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ใช่ภาวะ anarchy และสงคราม แต่ด้วยความกลัวที่เกิดจากความรับรู้หรือความเชื่อว่ากำลังถูกคุกคาม พวกเขาตัดสินใจที่จะโจมตีก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงจากตกเป็นผู้ถูกโจมตี กล่าวคือ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยมากมายก่อนหน้านี้ แน่นอนอย่างที่นักวิชาการพยายามอธิบายกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง แต่มีความเปลี่ยนแปลงบางด้านที่สำคัญ นั่นคือการที่รัฐสภาหรืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งได้กลายเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง รูปธรรมคือ การปรากฏตัวขึ้นของรัฐบาลทักษิณ และประชาชนที่สนับสนุนเขาจำนวนมหาศาล ในขณะที่สถานการณ์ของกลุ่มที่เคยมีอำนาจ ควบควบคุมกำกับการเมืองก่อนหน้า กำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน ทำให้ส่วนหลังรู้สึกว่าอยู่ในภาวะไม่มั่นคง ถูกท้าทาย หรืออาจจะเป็นผู้ถูกโจมตี-ล้มล้าง ด้วยความกลัวนี้ เพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้เหมือนเดิม พวกเขาจึงเลือกโจมตีก่อนเพื่อป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการถูกโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง นี่เป็นที่มาของการรัฐประหารและอื่นๆ เพื่อกำจัดทักษิณ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นที่มาของการกำจัดเสื้อแดงในช่วงที่ผ่านมา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สันติประชาธรรมจี้‘อนุพงษ์’เผยปฏิบัติการทหาร แทนปัดไม่เคยสั่งฆ่า Posted: 18 Sep 2010 09:07 AM PDT 18 ก.ย.53 สืบเนื่องจากข่าวที่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกระบุว่ามีการกล่าวหาว่าทหารฆ่าประชาชนhttp://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20100909/352224/news.html เครือข่ายสันติประชาธรรมในฐานะที่กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลในนาม "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมย.-พค. 53 (ศปช.)" ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเพื่อตอบโต้คำกล่าวของพลเอกอนุพงษ์ว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเรียกร้องให้พลเอกอนุพงษ์รับผิดชอบต่อคำกล่าวดังกล่าว โดยเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพและ ศอฉ. ต่อสาธารณชน อนุญาตให้องค์กรอิสระและสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศเข้าไปตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งสัมภาษณ์นายทหารระดับล่างที่ร่วมในปฏิบัติการณ์ได้อย่างอิสระ ปราศจากการคุกคาม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Blognone ออกแถลงการณ์ผิดหวังประมูล3G ล่าช้า ประชาชนเสียประโยชน์ Posted: 18 Sep 2010 09:00 AM PDT 17 ก.ย.53 เว็บไซต์ Blognone ซึ่งเป็นเว็บไซต์ด้านไอทีที่ได้รับความนิยม ออกแถลงการณ์ ลงนามโดยนายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ และวสันต์ ลิ่วลมไพศาล เว็บมาสเตอร์ กรณีความล่าช้าและอุปสรรคในการออกใบอนุญาต 3G ทั้งนี้ได้ระบุถึงเหตุผลในการออกแถลงการณ์ฉบับนี้ว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมเล็งเห็นว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจาก "โครงสร้าง" ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน (มิใช่เกิดจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงลำพัง) โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้ 0 0 0 แถลงการณ์เว็บไซต์ Blognone เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 3G เริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001 และประเทศอื่นๆ ได้ทยอยเริ่มให้บริการในเวลาต่อมา สำหรับประเทศไทยถือว่าล่าช้ามาโดยตลอด และปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศท้ายๆ ในเอเชียที่ยังไม่มีบริการ 3G เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ จากความพยายามครั้งล่าสุดของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G ด้วยวิธีการประมูล แต่กลับถูกยื่นฟ้องจากบริษัท กสท. โทรคมนาคม และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ให้หยุดการประมูลไปก่อนจนกว่าจะมีการก่อตั้ง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก่อน ทางเว็บไซต์ Blognone ขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้
เว็บไซต์ Blognone หวังจะเห็นการปฏิรูปโครงสร้างในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่บิดเบี้ยวมานานจากปัจจัยต่างๆ จนส่งผลให้ประเทศไทยมีความล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
จาตุรนต์ ฉายแสง: กฎหมายกับการยุบพรรคการเมือง Posted: 18 Sep 2010 08:26 AM PDT เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2553 มีการสัมมนาเรื่องพรรคการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตย จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ การสัมมนาในช่วงเช้าเป็นเรื่องกฎหมายกับการยุบพรรคการเมือง ผู้อภิปรายเป็นผู้ที่เคยอยู่ในพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้แล้ว มีผมเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย การสัมมนาในครั้งนี้ ทั้งหมดจะมีการสรุปสาระสำคัญเผยแพร่ต่อไป แต่ผมขอสรุปสาระบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังเสียก่อน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้ติดตามปัญหาพรรคการเมืองน่าจะสนใจ ในทางหลักการ ดูจะมีความเห็นตรงกันว่า พรรคการเมืองเป็นกลไกที่สำคัญมากในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เรียกว่าเป็นของคู่กัน ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับพรรคการเมือง ในหลายประเทศไม่ต้องมีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองก็ดำรงอยู่ได้และมีบทบาทอย่างสำคัญในระบบการเมืองการปกครอง ไม่มีประเทศใดยุบพรรคการเมืองกันง่ายๆ อย่างประเทศไทย และถ้าจะยุบก็จะต้องเป็นเพราะการที่พรรคการเมืองมีนโยบายเป็นมติพรรคอย่างชัดเจนไปในทางที่ขัดแย้งหรือเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อระบบการปกครองประเทศนั้น ผู้อภิปรายทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า การยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาขัดต่อหลักนิติธรรมและทำลายระบอบประชาธิปไตยให้อ่อนแอลง การที่คนๆ หนึ่งทำผิดแล้วยุบทั้งพรรค ลงโทษกรรมการบริหารทั้งคณะ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เห็นด้วย เป็นความไม่ยุติธรรมต่อคนเหล่านั้น นอกจากนั้นผลกระทบที่สำคัญมากคือ ผลที่เกิดขึ้นกับสมาชิกพรรคนับล้านๆ คน ที่ตั้งใจจะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อใช้พรรคเป็นเครื่องมือในการที่จะร่วมกันกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ต้องสูญเสียโอกาสไปด้วย เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว ผู้อภิปรายเห็นตรงกันว่า มาตรการยุบพรรคอย่างที่ทำอยู่ ไม่มีผลดีอะไรต่อการป้องกันการซื้อเสียง และยังมีกรณีตัวอย่างด้วยว่า บางพรรคที่ถูกยุบไป ภายหลังพิสูจน์ได้ว่ากรณีที่เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค ไม่มีการซื้อเสียงเกิดขึ้นจริง เท่ากับว่าผู้ที่ถูกลงโทษทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากการซื้อเสียงแต่อย่างใดเลย ผู้อภิปรายท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า กรณีของพรรคตนเองนั้น เรื่องที่เกิดกรณีทุจริตในการเลือกตั้งนั้น เกิดในระหว่างมีความแตกแยกอย่างรุนแรงในพรรค จนพรรคอยู่ในสภาพไม่มีใครฟังใคร ไม่สามารถพูดจาอะไรกันได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คนส่วนใหญ่จะไปรับรู้หรือห้ามปรามผู้อื่นไม่ให้กระทำผิดได้ ข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นว่า ที่มักมีการกล่าวกันว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องดูแลคนของตนให้ดีนั้น บางสถานการณ์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งทำให้เห็นว่า การทำผิดคนเดียวแล้วลงโทษทั้งหมู่คณะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ผู้อภิปรายที่มาจากพรรคเล็กๆ ที่เคยถูกยุบด้วยเหตุที่ใช้เงินสนับสนุนจาก กกต.ผิดวัตถุประสงค์อธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า มีพรรคเล็กๆ ถูกยุบไปมากมายจากกรณีทำนองเดียวกันนี้ บางพรรคทำผิดจากการใช้เงินสนับสนุนผิดวัตถุประสงค์เพียง 4 บาท ก็ถูกยุบพรรคมาแล้ว กรณีนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังมีการพิจารณาคดีอยู่ ทำให้เห็นว่ากรณีของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่กรณีแปลกใหม่หรือพิเศษอะไรจากพรรคหลายพรรคที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้แล้ว จะต่างก็เพียงแต่ว่ากรณีของพรรคประชาธิปัตย์มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์เป็นจำนวนมากกว่าพรรคเหล่านั้นมากเท่านั้นเอง แต่เมื่อผมถามว่า หากเห็นว่าควรแก้กติกาว่าด้วยการยุบพรรคเสียให้ถูกต้องแล้ว ควรจะแก้เมื่อไร จะแก้ตอนนี้ก็อาจถูกมองว่าจะเป็นการช่วยพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าไม่แก้ก็เท่ากับปล่อยให้มีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำลายพรรคการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้อภิปรายบางท่านก็ยืนยันว่า หลักการต้องเป็นหลักการ คือไม่ควรปล่อยให้ระบบกฎหมายที่ผิดทำลายพรรคการเมืองต่อไป ฟังดูก็คล้ายกับว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าดูรายละเอียด ขั้นตอนการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็จะเห็นว่าคดีนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นกว่าจะมีการแก้กฎหมายยุบพรรคการเมือง คดีพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะเป็นที่ยุติไปทางใดทางหนึ่งไปแล้ว เรื่องที่ห่วงว่าการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคจะเท่ากับเป็นการช่วยพรรคประชาธิปัตย์ให้พ้นจากการยุบพรรคจึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก ต่อจากนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการสัมมนา แต่เผอิญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน จึงขอให้ความเห็นต่อเนื่องกันไป จากการที่ได้ติดตามข่าวการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาจนถึงการให้การพยานปากสุดท้าย คือพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ทำให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะอยู่ในสภาพอาการหนักมากทีเดียว เนื่องจากคำให้การของพยานและหลักฐานที่ใช้แสดงต่อศาลมีความแน่นหนามาก เห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำผิดอย่างเป็นระบบ และการซักค้านของทนายพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถหักล้างเนื้อหาสาระของพยานหลักฐานต่างๆ ได้ ทนายของพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการทำลายความน่าเชื่อถือของพยานเพียงอย่างเดียว ซึ่งในกรณีหลังสุด การทำลายความน่าเชื่อถือก็ถูกตอบโต้กลับในทุกประเด็นด้วยความทันเกมของพยาน ซึ่งได้ทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนมาก่อน จึงรู้ข้อมูลของคดีอย่างละเอียด และยังจับทางทนายของพรรคประชาธิปัตย์ได้ถูกด้วย หลังจากนั้น นอกจากพรรคประชาธิปัตย์จะได้ส่งคนหลายคนออกมาตอบโต้พยานสำคัญรายนี้อย่างดุเดือดผ่านสื่อมวลชนแบบที่มักทำเป็นประจำฝ่ายเดียวเสมอมา และยังมีประเด็นใหม่ว่าจะมีการสอบสวนเอาผิดพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย ในข้อหาปกปิดเทปลับนั้นไว้ ไม่ยอมส่งให้พนักงานสอบสวนหรือศาลก่อนหน้านี้ การสอบสวนนี้จะมีขึ้นจริงหรือไม่ และจะมีผลอย่างไร คงเป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป ที่แน่ๆ จะหวังให้การสอบสวนนี้เป็นไปโดยยุติธรรมคงจะยากเต็มที เพราะดูแล้วกระบวนการยุติธรรมและดีเอสไอได้ทยอยเล่นงานผู้ที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนคดียุบพรรคหลายคนอย่างต่อเนื่องกัน สำหรับกรณี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย นอกจากจะถูกย้ายไปอยู่กระทรวงอื่นแล้ว ยังเคยถูกผู้มีอำนาจในกระทรวงยุติธรรมเรียกตัวมาทั้งปรามทั้งขู่ให้หยุดทำอะไรที่จะเป็นผลเสียต่อพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว แต่จากการให้การในศาลครั้งล่าสุดก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การกลั่นแกล้ง ปราม หรือข่มขู่ที่เกิดขึ้น ไม่มีผลต่อพยานปากสำคัญรายนี้เลยแม้แต่น้อย คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ยังเหลือการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องอีกหลายปาก คงเป็นที่สนใจของสังคมเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจติดตามยิ่งกว่านั้นคือ ผลการพิจารณาจะออกมาในรูปใด บอกตามตรงว่า ผมไม่กล้าฟันธงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะถูกยุบหรือไม่ ดูจากพยานหลักฐานพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะรอดได้ แต่การที่ทนายของพรรคประชาธิปัตย์เน้นการทำลายความน่าเชื่อถือของพยาน ช่องออกที่จะช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์หลุดพ้นจากการยุบพรรค ก็อาจเป็นการตัดสินโดยอ้างว่าความไม่น่าเชื่อถือของพยานก็เป็นได้ ที่ผมอยากจะนำเสนอต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับพยานหลักฐานหรือการพิจารณาคดีเลย แต่อยากจะขอเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นหากมีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประกอบการวิเคราะห์สถานะบ้านเมืองกันต่อไปดังนี้ ข้อเสียของการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือเป็นการทำลายพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งลงไป ที่สำคัญคือ เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด และมีสมาชิกพรรคมากที่สุดในปัจจุบันเสียด้วย ระบบพรรคการเมืองโดยรวมจะยิ่งอ่อนแอลง เป็นการตอกย้ำซ้ำเติมปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมจากระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทย การยุบพรรคประชาธิปัตย์ย่อมจะส่งผลให้รัฐบาลปัจจุบันต้องล้มลง ต้องตั้งรัฐบาลกันใหม่ พร้อมกับการสูญเสียบุคลากรทางการเมืองที่มีความรู้ความสามารถไปอีกหลายคน รวมทั้งนายกฯอภิสิทธิ์ด้วย ข้อดีของการยุบพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การแสดงให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของประเทศยังพอมีมาตรฐานอยู่บ้าง คือ ไม่เลือกปฏิบัติหรือเป็น 2 มาตรฐานจนเกินไป ระบบยุติธรรมซึ่งกำลังเสื่อมและไม่เป็นที่น่าเชื่อถือก็อาจจะชะลอความเสื่อมเสียจากความเป็น 2 มาตรฐานลงได้บ้าง การยุบพรรคประชาธิปัตย์จะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ อยู่ในสภาพถูกยุบ ถูกทำลายจนเกือบถ้วนหน้า ซึ่งก็อาจทำให้ทั้งพรรคการเมืองเองและผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจ อาจหันมาคิดกันอย่างจริงจังว่า จะแก้ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคให้ถูกต้อง เป็นประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักนิติธรรมได้อย่างไร นอกจากนี้สังคมไทยก็อาจได้คิดกันมากขึ้นว่า การรัฐประหารและกระบวนการที่ทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยที่ยาวนานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปีนี้ ได้ทำลายระบบพรรคการเมืองจนยับเยิน ถึงขั้นที่ทุกฝ่ายควรหันมาคิดกันได้แล้วว่า ควรจะทำให้พรรคการเมือง กลับมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร และสังคมไทยจะหยุดยั้งกระบวนการที่ทำลายประชาธิปไตยจนเสียหายย่อยยับอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วางกุหลาบแดงหน้าคุก17 จังหวัด เรียกร้องปล่อยนักโทษการเมือง Posted: 18 Sep 2010 04:58 AM PDT 17 ก.ย.53 เวลาประมาณ 10.00 น. หน้าประตูเรือนจำคลองเปรม คนเสื้อแดงกว่า 1 พันคนทยอยมาวางดอกกุหลาบสีแดงเพื่อให้กำลังใจและเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษการเมือง โดยเฉพาะแกนนำ นปช. ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำนี้ ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.พ.เหวง โตจิราการ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายเจ๋ง ดอกจิก นายสมชาย ไพบูลย์ นายนิสิต สินธุไพร และนายขวัญชัย ไพรพนา จากนั้นมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และนายนที สรวารี นายกสมาคมกิจกรรมสร้างสรรค์อิสรชน เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งด้านนอกและด้านในเรือนจำซึ่งมีตำรวจนครบาล 5 กองร้อยประจำการโดยรอบ และไม่อนุญาตให้คนเสื้อแดงบางส่วนเข้าไปด้านใน ส่วนการจราจรถนนงามวงศ์วานค่อนข้างติดขัดเนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนมากและล้นไปกีดขวางช่องทางจราจรบางส่วน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคนเสื้อแดงได้ทำกิจกรรมนำดอกไม้วางหน้าประตูและติดไว้ตามรั้วของเรือนจำ รวมถึงกระดาษเขียนข้อความต่างๆ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกรณี 91 ศพ และข้อเรียกร้องขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการนำศาลพระภูมิมาตั้งด้านหน้าคุก แล้วให้ผู้ชุมนุมวางดอกกุหลาบเพื่อล้อเลียนกระบวนการยุติธรรมลักษณะศาลเตี้ย จากนั้นสมาชิกแต่งหน้าเป็นผี บางรายนำโซ่ตรวนคล้องขาทั้งสองข้าง บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวกว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในกิจกรรมใหญ่รำลึก 19 ก.ย.ที่ราชประสงค์ โดยวัตถุประสงค์นั้นเป็นไปเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ข้างใน เช่นเดียวกับที่สมัยแกนนำ นปก.ถูกคุมขังครั้งแรก ตนก็ได้ทำกิจกรรมวางดอกไม้แดงแบบนี้เช่นกัน นายจตุพรกล่าวว่า การมาพบปะของพี่น้องเสื้อแดงวันนี้ เพราะรู้สึกห่วงใยพี่น้องที่ถูกคุมขังโดยมิชอบ เพราะการสั่งฟ้องไม่ว่าขั้นตอนดีเอสไอ อัยการที่ฟ้องศาลนั้นไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการตาย และหาคนร้าย ฆาตกรที่ฆ่า 91 ศพ พยายามฆ่าอีก 2,000 ชีวิต ฉะนั้นพวกเราที่ถูกคุมขังข้างใน ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำที่นี่ นายณัฐวุฒิ น.พ.เหวง นายวิภูแถลง นายก่อแก้ว นายเจ๋ง นายสมชาย นายนิสิต และนายขวัญชัย ต่างก็ถูกคุมขังอย่าง อยุติธรรม แม้จะคุมขังโดยอำนาจศาล แต่ขั้นตอนนำไปสู่ศาลกระทำโดยมิชอบ ทั้งดีเอสไอ และอัยการ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์โดยตรง และเป็นหนึ่งใน ศอฉ.ร่วมเข่นฆ่าประชาชน นายจตุพรกล่าวว่า ฉะนั้นพวกเราไม่ได้มาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย จะนัดหมายกันทุกสัปดาห์ จะมาจนกว่าเพื่อนเราจะได้รับปล่อยตัว และจะทำอย่างนี้ทุกเรือนจำที่มีพี่น้องเราถูกคุมขังทั้งประเทศ พวกเรามาโดยสงบไม่มีอะไร เป็นบรรยากาศความรู้สึกที่ห่วงหา เสร็จแล้วแยกย้ายกันกลับ สิ่งที่รัฐบาลประเมินว่าจะสร้างความรุนแรงนั้นไม่มี แม้กระทั่งการอ้างชายชุดดำไปซุ่มอยู่คอนโดฯ บริเวณใกล้ๆ บ้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ นั้น อยากให้นายอภิสิทธิ์ และฝ่ายความมั่นคงไปตรวจสอบตำรวจในพื้นที่ว่าข้อเท็จจริงชายชุดดำที่ว่าไปเช่าคอนโดฯ อยู่นั้นเป็นชุด รปภ.ที่ตามไปเฝ้าอารักขานายอภิสิทธิ์ ตำรวจรู้กันดี แต่ว่าช่วงนี้หลงเงาตัวเอง จิตหลอน ท้ายที่สุดก็กรุข่าวลอบสังหาร คอนโดฯ ในซอยสวัสดี ซอยบ้านนายกฯ ทุกคอนโดฯ มีทีวีวงจรปิดหมด แต่พยายามให้ข่าวทำลายบรรยา กาศการขับเคลื่อนครบ 4 ปีปฏิวัติรัฐประหาร ทำได้ทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนประเด็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น นายจตุพรกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายเนวิน ชิดชอบ เพราะพวกเราไม่ได้ทำผิดอะไรเพียงแต่มาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ คนที่ทำผิดคือคนที่ลั่นกระสุนใส่ประชาชน คนที่ฆ่า 91 ชีวิต พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นประโยชน์กับฆาตกร พวกเราต้องการสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม อยากให้กระบวนการยุติธรรมอย่างน้อยที่สุดก็ควรมีความเมตตาบ้าง วันหนึ่งไม่เจอกับตัวเองไม่รู้สึก วันหน้าเจอกับตัวเองบ้างจะรู้สึกอย่างไร ทำไมคดีของกลุ่มพันธมิตรฯ โทษอัตราเดียวกัน ออกหมายเรียก ทั้งที่ต้องออกหมายจับอย่างเดียว ขณะที่นายนที สรวารี นายกสมาคมกิจกรรมสร้างสรรค์อิสรชน กล่าวว่า การรวมตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ ออกมาพบกันก่อนถึง 19 ก.ย.ที่จะมีงาน "4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนราชประสงค์" นัดพบเพื่อแสดงความห่วงใยคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังทั่วประเทศว่าเราไม่ทิ้งกัน ส่วนข้อหานั้นเราไม่ยอมรับเพราะคนถูกจับเป็นเพียงนักโทษการเมืองธรรมดา ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพราะมันเป็นความคิดเห็นขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องก่อการร้าย นายนทีกล่าวต่อว่า กิจกรรมของตนในวันที่ 19 ก.ย. จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.โดยช่วงบ่ายจะฉายภาพยนตร์เกาหลี เรื่อง "18 พฤษภา" เป็นเรื่องสงครามการเมืองที่กวางจู เหตุการณ์คล้ายประเทศไทย วันที่ 19 ก.ย.จะจัดร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยมีเซอร์ไพรส์กับคนเสื้อแดงเอง และฝ่ายรัฐบาล คอยดูดีๆ ส่วนที่มีข่าวสร้างความวุ่นวายวันที่ 19 ก.ย.นั้น เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งที่มากกว่าลูกโป่งแดง ผ้าแดง เทียนแดง ป้ายสีแดง อะไรที่เป็นอาวุธสงครามขอให้รัฐบาลจัดการเลย ยืนยันว่าไม่ใช่ของคนเสื้อแดงแน่นอน เพราะคนเสื้อแดงมาโดยสันติ นายนทีกล่าวอีกว่า ส่วนที่รัฐบาลพยายามทำเรื่องปรองดองนั้น หากรัฐบาลเปิดตา เปิดใจ มองเห็นก่อนว่า วันนี้มีคนตายจริงๆ 92 ศพแล้ว ล่าสุดศพที่ 92 คือน้องเจน แต่รัฐบาลไม่เคยพูดถึงการตายของคนเลย แล้วจะมาพูดถึงการปรองดอง ตนว่ามันข้ามขั้นตอนไป หากรัฐบาลออกมารับผิดชอบ นายอภิสิทธิ์ออกมากล่าวขอโทษประชาชนว่าบริหารงานผิดพลาดจนทำให้เกิดการปะทะกันแล้วมีคนตาย ออกมาขอโทษอย่างจริงจังมันอาจจะเริ่มต้นกันได้ แต่ 4 เดือนที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ไม่เคยกล่าวขอโทษว่าเป็นการตัดสินใจผิดของรัฐบาลที่อนุญาตให้ปะทะกัน ไม่ว่าจะใช้คำอะไรก็ตามแล้วเกิดการตายของคน เป็นความผิดพลาดของการตัดสินใจ หากยังไม่กล่าวขอโทษเรื่องนี้คุยกันยาก ตจว.เสื้อแดงทำกิจกรรมคึกคัก สำหรับบรรยากาศตามจังหวัดต่างๆ นั้น ที่จ.ปทุมธานี เมื่อเวลา 13.30 น. กลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 20 คนตระเวนวางดอกกุหลาบสีแดงหน้าสถานกักขังหญิง ถนนเลียบคลองห้า หน้าสถานกักขังชาย และหน้าเรือนจำธัญบุรี ขณะที่จังหวัดมุกดาหาร นปช.มุกดาหารร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแกนนำและคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุม เคลื่อนขบวนวางดอกกุหลาบแดงหน้าเรือนจำมุกดาหาร ด้านเรือนจำและจังหวัดมุกดาหารเตรียมกำลังพลเพื่อรักษาความปลอดภัยกว่าร้อยนาย โดยนปช.มุกดาหารได้นัดหมายกันรวมตัวที่สถานีวิทยุชุมชน ต่อจากนั้นในเวลา 10.30 น.ประชาชนประมาณ 100 คนก็ได้เคลื่อนขบวนออกจากสถานีวิทยุชุมชนเพื่อเดินทางไปยังเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร ในระหว่างทางซึ่งผ่านย่านชุมชนก็ได้มีการกล่าวปราศรัยเรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม มีประชาชนสองข้างทางให้ความสนใจและโบกมือให้กำลังใจ 11.00 น. ขบวนเคลื่อนถึงหน้าเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร ทางเรือนจำได้จัดสถานที่สำหรับวางดอกไม้ไว้ที่บริเวณป้ายหน้าเรือนจำ เมื่อขบวนเคลื่อนถึงทางเรือนจำได้กล่าวต้อนรับ นปช.มุกดาหารกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการมา จากนั้นจึงได้เชิญชวนพี่น้องประชาชนวางดอกกุหลาบแดงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้และให้กำลังใจแก่ผู้ที่ถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำมุกดาหารฯ และเรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะวางดอกไม้ประชาชนที่เข้าร่วมได้ตะโกนถ้อยคำต่างๆ เช่น “ขอให้รัฐบาลนี้จงพินาศ” “ขอให้พี่น้องเราข้างในมีกำลังใจสู้ต่อไป” “ขอให้มีการเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชน” จากนั้น ได้มีการกล่าวปราศรัยโดยประธานสถานีวิทยุชุมชนโดยเนื้อหาในการปราศรัยเป็นการกล่าวถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม โดยที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งปิดสนามบินทุกวันนี้ยังได้อยู่กับครอบครัวไม่ถูกจับกุม ขณะที่คนเสื้อแดงซึ่งมาเรียกร้องประชาธิปไตยถูกจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัว หลังการปราศรัยประมาณ 30 นาที ประธานสถานีวิทยุชุมชนก็ประกาศให้ทุกคนแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเคลื่อนขบวนมายังเรือนจำของกลุ่ม นปช.มุกดาหาร ญาติที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางในเรือนจำเปิดเผยว่า ผู้ต้องหาได้เล่าให้ฟังว่าในวันนี้ถูกผู้คุมในเรือนจำกล่าวต่อว่าผู้ต้องหาด้วยความไม่พอใจ และปฏิบัติต่อผู้ต้องหาอย่างไม่ค่อยดีนัก ส่วนที่ที่หน้าเรือนจำกลางขอนแก่น กลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 50 คนนำผ้าแดงมาผูกประตูหน้าเรือนจำ และผูกต้นไม้ตั้งแต่ทางเข้าจนถึงอาคารเรือนจำ รวมทั้งเสาธงชาติและปักดอกกุหลาบสีแดงไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนคนเสื้อแดง 2 คนเข้าไปเยี่ยมคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยทำกิจกรรมนานประมาณ 1 ช.ม. ก่อนสลายตัว และนัดรวมตัวกันอีกครั้งวันที่ 19 ก.ย. เพื่อรำลึก 4 ปีรัฐประหาร สำหรับจังหวัดยโสธร กลุ่มคนเสื้อแดง จ.ยโสธรกว่า 100 คน เดินทางมาพร้อมดอกกุหลาบแดงเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกให้ผู้บัญชาการเรือนจำก่อนสลายตัวท่ามกลางสายฝนตกหนัก ส่วนที่หน้าบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด กลุ่มคนเสื้อแดงกว่า400 คน ไปวางดอกกุหลาบสีแดงที่เรือนจำจังหวัด พร้อมกับกล่าวโจมตีรัฐบาลด้วยข้อความ"นี่หรือความยุติธรรม คนเจ็บถูกใส่ร้าย คนตายถูกกล่าวหา คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวล"ต่อเนื่อง 10 จบ ก่อนเดินทางกลับ ขณะที่เสื้อแดง จ.มหาสารคามจำนวน 15 คน รวมตัวกันที่ลานหน้าเสาธงเรือนจำจังหวัด ร้องตะโกนเรียกร้องขอประชาธิปไตยกลับคืน ให้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่และปล่อยตัวกลุ่มเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง ก่อนแยกย้ายกันกลับโดยสงบ เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผวจ.ศรีสะเกษ ประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับมือการจัดกิจกรรมรำลึก 4 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. เชียงรายปราศรัยใหญ่ 20 ก.ย. กลุ่มคนเสื้อแดง จ.เชียงรายประมาณ 50 คน เดินทางไปหน้าเรือนจำจังหวัดซึ่งทางเรือนจำจัดโต๊ะไว้ให้วางดอกกุหลาบ ซึ่งแกนนำนำดอกกุหลาบไปวางเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองที่ต้องโทษคดีการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมา แกนนำเสื้อแดงเชียงรายกล่าวว่า เดิมกำหนดจัดเวทีปราศรัยใหญ่วันที่ 20 ก.ย.ที่ลานติดถนนบรรพปราการหน้าโรงแรมแสนภูเพลส แต่ย้ายไปจัดภายในสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนธนาลัยเรือนจำ กลางเก่า เพื่อไม่ให้กีดขวางจราจรและมีพื้นที่กว้างขวางมากกว่า โดยวันดังกล่าวจะมีบุคคลสำคัญขึ้นปราศรัย เช่น จาตุรนต์ ฉายแสงสุนัย จุลพงศธร สมยศ พฤกษาเกษมสุข สมบัติบุญงามอนงค์ เป็นต้น คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เพราะเป็นเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเป็นต้นมา ด้าน นปช.พะเยาประมาณ 30 คน ไปวางดอกไม้สีแดง เช่น ดอกเข็ม ดอกกุหลาบ บริเวณทางเข้าเรือนจำจังหวัดพร้อมทั้งอ่านจดหมายเปิดผนึกเพื่อสดุดีกลุ่มคนเสื้อแดงที่เสียชีวิต และให้กำลังใจคนที่ถูกจำคุกก่อนแยกย้ายกันกลับไป เมื่อเวลา 10.30 น.กลุ่มเสื้อแดงอุตรดิตถ์ เกือบ 100 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าเรือนจำจังหวัด อ่านแถลงการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 ก.ย. และครบ 4 เดือนการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ จนมีคนตายกว่า 90 ศพ เจ็บกว่า 2 พันคน จากนั้นนำผ้าแดงจำนวนหนึ่งไปผูกรั้วและป้ายของเรือนจำ ก่อนแยกย้ายกันกลับ ตร.สรุปวางกุหลาบ 17 เรือนจำ วันเดียวกันที่ตร. พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริโฆษกตร. กล่าวถึงการประเมินการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปก.ตร.) เพื่อสรุปสถานการณ์รอบวันที่ผ่านมาวันนี้มีกิจกรรมวางดอกไม้หน้าเรือนจำ 17 แห่งที่ผู้ชุมนุม นปช.ถูกควบคุมตัวอยู่ การจัดกิจกรรมใน กทม.เสร็จสิ้นแล้ว ผู้ชุมนุมเดินทางกลับหมดแล้ว ขณะที่ต่างจังหวัดจัดกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ผู้ชุมนุมเดินทางกลับแล้วทั้งหมดสถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่มาบางส่วนจาก เว็บไซต์ข่าวสด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ใบตองแห้งออนไลน์: สิบเก้าเดือนเก้า Posted: 18 Sep 2010 12:32 AM PDT สิบเก้าเดือนเก้าปีสี่เก้า ปัญหาเชาว์เข้าเนื้อแบ่งเสื้อสี ไม่น่าเชื่อเมื่อผ่านไปได้สี่ปี มิคสัญญียังไม่หยุดจุดฆ่าฟัน เมื่ออำนาจนิยมล้มอำนาจ เพิ่มพิพาทอ้างศรัทธามาห้ำหั่น จึงปั่นป่วนทุกองค์กรสถาบัน เข้าทางตันเกิดวิกฤติติดหลุมดำ อำนาจปืนและกฎหมายแม้ใช้ปราบ ไม่ราบคาบยิ่งเคียดแค้นแน่นกระหน่ำ เพราะตราบใดแผ่นดินไร้ยุติธรรม อย่าเอ่ยคำสามัคคีไม่มีทาง เมื่อเกิดสองมาตรฐานประจานโลก เมื่อสาเหตุวิปโยคยังคั่งค้าง เมื่อประชาธิปไตยถูกอำพราง จงอย่าอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์คิดกดดัน คิดให้ดีสี่ปีแสนประหลาด ทักษิณเสื่อมจากอำนาจไม่คาดฝัน ถึงวันนี้เหมือนสลับกลับขั้วกัน ความเสื่อมนั้นไม่เลือกข้างอ้างชั่วดี อันปรัชญาแห่งอำนาจปราชญ์ว่าไว้ ทักษิณใช้พร่ำเพรื่อหมดเร็วจี๋ อำนาจหากไม่ใช้ได้บารมี ถ้าใช้เอง ใช้ถี่ มีแต่จม โปรดคืนสมดุลแห่งอำนาจ ประชาธิปไตยไม่คิดคาดจะโค่นล้ม เพียงหวังอยู่ร่วมในสังคม อย่างเหมาะสมมีเสียงสิทธิไม่ปิดกั้น แต่หากขืนฝืนหวนทวนกระแส ไม่มีใครรู้แน่ความพลิกผัน ที่ไหนมีแรงกดเกิดแรงดัน ระเบิดลั่นอีกครั้งยังหวั่นกลัว ใบตองแห้ง 18 ก.ย.53 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เสวนาโต๊ะกลม: ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย Posted: 17 Sep 2010 03:42 PM PDT (17 ก.ย.2553) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท จัดการเสวนาเรื่อง "ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยในช่วงเช้า มีการเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อเดียวกัน มีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ ดร. เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทั้งหมดเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ และต่างเคยทำงานหรือร่วมงานกับเอ็นจีโอและภาคประชาชนมาก่อน
อัจฉรา กล่าวต่อว่าถึงประเด็นหลักที่ทำให้ต้องวิพากษ์เอ็นจีโอ คือสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเห็นได้ว่าเอ็นจีโอได้อาสาช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาความขัดแย้งมากมาย แต่คำถามคือเอ็นจีโอจะมาช่วยแก้ปัญหาหรือมาสร้างปัญหาใหม่ เข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหา หรือจริงๆ แล้วจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คิดว่าเรื่องนี้เอ็นจีโอหลายคนไม่ค่อยได้ทบทวนกันจึงมาช่วยทบทวนตรงนี้ให้ จากนั้น อัจฉราได้ยกตัวอย่างบทกวีที่เพื่อนเอ็นจีโอที่อยู่ในรุ่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ไปร่วมกับพันธมิตรฯ แล้ว ทั้งนี้เธอได้เห็นบทกวีชิ้นนี้หลังเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.53 แต่บทความนี้เขียนขึ้น 3 วันก่อนที่จะมีเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 รบเถิด ! อภิสิทธิ์ แต่ตอนนี้ ไม่ไหวแล้ว พระเจ้า !!! ข้า คนชั่วช้าก่อการร้ายเพื่อนายใหญ่ รบเถิด ! อภิสิทธิ์ ก่อนมวลมิตรอิดหนาไม่มาหนุน ภารดร-ภาพ อัจฉราขยายความว่า คำที่ถูกเน้นเหล่านี้เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกคนเสื้อแดงโดยเพื่อนเอ็นจีโอ ซึ่งขณะนี้ก็ยังเป็นเอ็นจีโออยู่ อีกทั้งยังได้ยกตัวอย่างเอ็นจีโอหลายคนที่พยายามออกมาบอกว่า “ไม่เลือกข้าง” ซึ่งส่วนตัวก็ได้พยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่เลือกข้าง แต่ว่าการที่คนเหล่านี้ไม่เลือกข้าง แต่กลับเลือกการปฏิรูปประเทศไทย ทำให้เกิดความสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อัจฉรากล่าวต่อมาถึงเนื้อหาในรายงานซึ่งตั้งคำถามว่า เอ็นจีโอมองประชาชนอย่างไร โดยยกตัวอย่างการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คของเอ็นจีโอบางคนที่แสดงมุมมองต่อคนเสื้อแดง อาทิ “ความตายของประชาชนจึงเป็นเพียงเบี้ย ในเกมของผู้มีอำนาจที่จะใช้ต่อรองทางการเมือง” นี่คือมุมมองที่มีกับประชาชนว่าเขาเหล่านั้นเป็นเพียงเบี้ย หรือ “การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง VS การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม” ซึ่งเอ็นจีโอชื่อดังทางภาคเหนือ สื่อสารว่าประชาชนที่มาชุมนุมกับพวกเขาคือประชาชนที่มาเรียกร้องความเป็นธรรม แต่คนเสื้อแดงเป็นประชาชนที่เรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้ต้องตั้งคำถามกับถึงชาวบ้าน-ประชาชนที่มีภูมิปัญญา กับเบี้ยทางการเมืองว่ามีความต่างกันอย่างไร “ตกลงประชาชนเสื้อแดงที่มาจากชนบทเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้มีภูมิปัญญาเหมือนกับที่เอ็นจีโอคิด เป็นประชาชนนอกอุดมคติ เป็นประชาชนที่เป็นคนไม่จน เพราะว่าพี่น้องชาวบ้านของเอ็นจีโอเป็นคนจน และเป็นคนไม่พอเพียง เพราะว่าพี่น้องชาวบ้านของเอ็นจีโอทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรยั่งยืน เป็นประชาชนนอกสังกัด” อัจฉรากล่าว อัจฉรากล่าวต่อมาว่า เอ็นจีโอมองว่าการเมืองภาคประชาชนจะต้องไม่แนบแน่นกับการเมืองในระบบ โดยบอกว่าการแนบแน่นคือหนทางนำไปสู่หายนะ ในขณะเดียวกันเอ็นจีโอก็มองว่าตัวเองคือผู้เสียสละ มีน้ำใจ เป็นพลังบริสุทธิ์ที่ไม่มีการเมืองแทรกแซง ต้องอยู่เหนือการเมือง ส่วนการเมืองคือเรื่องสกปรก กลุ่มผลประโยชน์ ฉ้อฉล การแก้ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยระบบนอกการเมือง ด้วยการล็อบบี้ การสถาปนาคนดีมาช่วยแก้ปัญหา แล้วก็ต้องสร้างตัวแบบทางเลือกซึ่งจะมีทางเลือกใหม่ๆ ออกมาในสถานการณ์ฉุกเฉินในวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติต่างๆ ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดที่เอ็นจีโอหล่อหลอมกันมา ว่าจะต้องเป็นผู้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่สังคม แล้วก็ลดทอนความเป็นการเมือง หมายความว่าอะไรก็ได้ แก้ปัญหาโดยกลไกอะไรบางอย่างขึ้นมา อัจฉรากล่าวสรุปแนวคิดของงานเขียนว่า บทความนี้ไม่ได้ต้องการที่จะเรียกร้องให้เอ็นจีโอเลือกสีเลือกข้างที่ชัดเจน แต่พยายามทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังวิธีคิดชุดหนึ่งของเอ็นจีโอ และสิ่งที่น่าพิจารณามากกว่าการไม่เลือกสีคือการเลือกที่จะนิ่งเฉยไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ใช้กองกำลังเข้ากระชับพื้นที่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่กลับพบว่าเอ็นจีโอเหล่านั้นเลือกเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งโดยการร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ และโดยการผลักดันข้อเสนอให้เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนปฏิรูปฯ ด้วยเชื่อว่าเป็นการดำเนินงานอันเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของตัวแทนประชาชนภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การนำของบรรดาผู้อาวุโสที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “คนดี” และเป็น “ปัญญาชน” ของสังคมว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง และแก้ปัญหาสังคมได้ดีกว่าการเข้าไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองที่สับสนอลหม่าน บทความฉบับนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงว่าเอ็นจีโอนั้นดีหรือไม่ แต่มุ่งพิจารณาถึงความอันตรายที่เอ็นจีโอกำลังใช้อำนาจผ่านการอ้างความเป็นคนดีของตนเองเพื่อผลิตซ้ำลำดับชนชั้นทางสังคม ที่กดให้ประชาชนบางกลุ่มจำต้องสยบยอมอยู่ภายใต้การเป็นตัวแทนของตนเอง และเบียดขับประชาชนอีกบางกลุ่มที่ไม่สยบยอมให้หลุดออกไปจากขอบเขตการเป็นพลเมืองดี หรือแม้แต่ถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานของการเป็นพลเมืองสามัญ การผลิตซ้ำลำดับชนชั้นทางสังคม ทำให้เอ็นจีโอไม่แตกต่างไปจากกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่พยายามทำเช่นนั้นมาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนเป็นพลเมืองเชื่องๆ ที่ไม่กระด้างกระเดื่องต่อผู้ปกครองและชนชั้นนำ การกระทำดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่เท่ากับความเสมอภาคและเท่าเทียมของประชาชนได้อย่างแท้จริง อัจฉรากล่าวด้วยว่า บทความชิ้นนี้เสนอว่า ทางเลือกของเอ็นจีโอผู้นิ่งเฉยต่อการบาดเจ็บล้มตายของคนเสื้อแดง ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกใหม่เพื่อข้ามพ้นความขัดแย้งทางสังคมในปัจจุบันนั้น ทำให้เอ็นจีโอกลายเป็นจักรกลต่อต้านการเมือง ที่ทำหน้าที่ช่วยรัฐลดทอนความเป็นการเมืองของความขัดแย้งในสังคม ให้กลายเป็นเพียงเรื่องทางเทคนิค ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีในการจัดการแก้ไขและเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งก็สวมบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการความขัดแย้งนั้นเสียเอง โดยการอ้างความดีงาม และความตั้งใจดีของตนเอง แต่มองข้ามว่าการกระทำของตนเองแท้ที่จริงก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วยเช่นกัน บทความยังเสนออีกว่าจินตนาการว่าด้วยทางเลือกที่ 3 นี้ไม่ใช่ทางเลือกใหม่ แต่มันคือมรดกทางความคิดในการทำงานของเอ็นจีโอไทยซึ่งตกทอดมานานกว่า 3 ทศวรรษ ยิ่งไปกว่านั้นจินตนาการดังกล่าวนี้ไม่อาจช่วยให้เราไปพ้นจากปัญหาความขัดแย้ง หากมันเป็นเพียงการเดินคร่อมวิกฤติปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งในที่สุดมันก็กลายเป็นกับดักที่ทั้งตอกย้ำปัญหาเดิมๆ และสร้างปัญหาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย “เขาบอกว่าพวกเราจะกลายเป็นอิฐก้อนแรกที่ใช้ปาหัวอดีตเพื่อนๆ แล้วเราวิจารณ์ว่าการวิจารณ์เหล่านี้มีปัญหา ซึ่งการวิจารณ์นี้ดิฉันไม่ได้มีความแค้นส่วนตัวแต่อย่างใด” อัจฉรากล่าว อัจฉรากล่าวต่อว่า ผู้ปฏิบัติงานเอ็นจีโอจำนวนมากอธิบายว่าตนเองเป็นนักปฏิบัติซึ่งคลุกคลีอยู่กับปัญหาและสถานการณ์จริง และบ่อยครั้งที่แสดงความไม่พอใจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้วิจารณ์เป็นหรือเคยเป็น ผู้ร่วมขบวนการเดียวกัน ด้วยเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือที่สังคมมีต่อสถานภาพและขบวนการเอ็นจีโอ ขณะที่มีผู้ปฏิบัติงานเอ็นจีโออีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ปรามาสข้อวิพากษ์วิจารณ์ และนักวิจารณ์ว่าเป็นพวกที่ดีแต่พูด แต่ไม่รู้จักทำอะไร ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีคิดที่เปรียบเทียบและให้คุณค่าให้กับสิ่งที่ตนทำว่าดีกว่า สำคัญกว่า หรืออยู่เหนือกว่า เพื่อลดทอนคุณค่าของการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ ว่าเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่าด้วยเช่นกัน “ผู้เขียนไม่มีข้อโต้แย้งต่อข้อกล่าวหานั้น ทั้งยังไม่อาจกล่าวอ้างว่าบทความฉบับนี้เป็นสิ่งมีคุณค่า และยิ่งไม่อาจหวังว่าบทความนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดในแวดวงเอ็นจีโอ นอกเสียจากว่ามันอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนถกเถียงในบรรดานักกิจกรรมทางสังคม” อัจฉรากล่าว “‘ภาคประชาชน’ กับก้าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนไปของสังคมชนบท” ทั้งนี้ พฤกษ์นิยาม "ภาคประชาชน" ว่าคือ มวลชนที่เกิดขึ้นภายใต้การส่งเสริมของเอ็นจีโอ หรือเป็นกลุ่มที่เอ็นจีโอได้เข้าไปทำงานส่งเสริมให้เกิดขึ้นมา ซึ่งเมื่อถึงทศวรรษ 2540 ก็เกิดปรากฎการณ์ที่เข้าร่วมกับภาครัฐด้วยตัวเชื่อมคือองค์กรกึ่งรัฐอย่าง SIF และ พอช. ในปัจจุบัน ผลคือเราได้เห็นเครือข่ายของปัญญาชนและชนชั้นกลาง ที่เรียกว่าตัวเองว่า ภาคประชาชน โดยมีจุดยืนและความคิดการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันถ้าจะมองหาให้ชัด ก็คือผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูป พฤกษ์ระบุว่า สาเหตุที่ภาคประชาชนก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทนั้น หนึ่ง เกิดจากวิธีคิดหรือการทำงานที่ลดทอนความเป็นการเมืองจากการพัฒนา หรือ depoliticsize การพัฒนา คือการที่มองชนบทอย่างหยุดนิ่ง เรียบง่าย สมานฉันท์ ตรงกับที่ คำ ผกา เคยพูดว่าเป็นการ Romanticize ชนบท อีกด้านหนึ่งก็เป็นการมองปัญหาที่ลดทอนความซับซ้อน และคิดแบบขั้วตรงข้าม โยนความผิดให้ทุนนิยมไปหมด ขณะที่ชุมชนที่อยู่อีกด้านก็ดีงามไปหมด หรือที่ คำ ผกา เรียกว่า Dramatize ทุนนิยม ขณะเดียวกันก็คือการที่นักพัฒนาติดกับดักการมองการเมืองแบบชั้นกลาง ชั้นสูง มองว่า นักการเมือง การเลือกตั้งเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ซึ่งการลดทอนการเมืองจากการพัฒนานี้คือหล่มที่ทำให้ภาคประชาชนติดแหงกและก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง และสาเหตุที่สอง คือวาทกรรมการพัฒนาภาคประชาชน ซึ่งพบว่ามีขบวนการผลิตความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างคึกคัก โดยมีตัวจักรที่สำคัญคือมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลักสูตรในการพัฒนาต่างๆ จนเกือบเป็นอุตสาหกรรมของการผลิตความรู้ว่าด้วยการพัฒนาภาคประชาชน พฤกษ์เล่าถึงประสบการณ์ร่วมในเวทีสัมมนาทางวิชาการที่ จ.ขอนแก่น โดยที่หน้างานจะพบหนังสือที่ตีพิมพ์จากงานวิจัย ดูหน้าปกจะพบเรื่องศักยภาพชุมชน การจัดการทรัพยากร เวทีเริ่มด้วยผู้ปาฐกถา นักพัฒนาอาวุโส ปัญญาชน อาจารย์ดอกเตอร์ที่มีชื่อเสียงที่สอนเรื่องการพัฒนา และมีการคุยประชุมกลุ่มย่อยในประเด็นสิทธิชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ธรรมาภิบาลกันทั้งวัน ขณะที่ถัดจากตรงนั้นไม่ถึง 4 กม. คือศาลากลางที่ถูกเผา จังหวัดนั้นอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งในเรือนจำ ทั้งนี้ เขาอยากชี้ให้เห็นถึงสภาวะเกือบจะเป็นอุตสาหกรรมของแวดวงนี้ และความ absurd ของวงวิชาการที่พูดเรื่องการพัฒนาในขณะนั้น ซึ่งตัวเองก็เป็นหนึ่งในวิทยากรเหล่านั้นด้วย ด้านเนื้อหาความรู้ พบว่างานเหล่านี้พูดถึงศักยภาพของชุมชนซึ่งเคยมีมาก่อนหรืออาจจะสร้างขึ้นใหม่ อาจกล่าวถึงความขัดแย้งที่มาจากรัฐและทุนอยู่บ้าง แต่จะจบลงที่สิทธิชุมชน ธรรมาภิบาล ฯลฯ เขาย้ำว่า ไม่ได้กำลังพูดแบบเหมารวมและลดทอนความซับซ้อน ทั้งตระหนักว่ามีงานแบบนี้ไม่น้อยที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ ริเริ่ม สร้างสรรค์และมีคุณภาพสูง แต่เขาต้องการพูดถึงงานสำเร็จรูปที่ว่าตามๆ กันในลักษณะสัจธรรมที่ไม่ต้องการพิสูจน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำจำนวนมากในเวที สิ่งพิมพ์และวงการพัฒนา ในส่วนของผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ มีลักษณะเป็นแวดวงของชนชั้นนำในวงการพัฒนา โดยรวมศูนย์ที่นายแพทย์ท่านหนึ่ง ล้อมรอบด้วยลูกศิษย์มิตรสหาย มีอันดับลงมา ชนชั้นนำเหล่านี้มีหน้าที่ออกมาชี้นำทางสว่างเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตหรือมีการปฏิรูปสังคม โดยหากพิจารณาเนื้อสารหรือคำแนะนำของพวกเขาจะพบว่า ถ้าตั้งใจฟังดีๆ จะงง เพราะเต็มไปด้วยโวหารที่เอามาต่อๆ กันเข้าแล้วเสริมความขรึมขลังด้วยธรรมะ ผสมด้วยอุดมการณ์หลักของประเทศ ซึ่งนี่ไม่เป็นปัญหาเพราะมีคนคอยเชื่อและพร้อมนำไปเผยแพร่ต่อเป็นลำดับ พฤกษ์ เน้นถึงนัยสำคัญของชนชั้นนำกลุ่มนี้ว่า มีลักษณะระบบพวกพ้องอย่างมาก ด้านหนึ่งอุ้มชูพวกเดียวกัน และมีธรรมเนียมไม่วิพากษ์วิจารณ์กันเอง โดยในระยะหลัง มีจัดการพวกที่วิจารณ์รุ่นใหญ่ บอยคอตพวกที่เป็นกบฎ และล่าแม่มดในวงการ ซึ่งผลคือ วงการพัฒนาเป็นวงการที่ไม่ค่อยเติบโตทางปัญญา และนับวันยิ่งทำงานตามประเพณีหนักเข้าอีก ไม่ต่างจากราชการ หากแต่ราชการไม่เคยประกาศว่าตัวเองเป็นกลุ่มก้าวหน้า ขณะที่เอ็นจีโอคิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มก้าวหน้าและเสียสละมากกว่าคนอื่นเสมอ ทั้งนี้ องค์กรเหล่านี้แสดงตัวผ่านสถาบันให้เงินทุนหรือทุนวิจัย แหล่งที่สำคัญได้แก่ พอช. แหล่งทุนตระกูล ส. และ สกว. บางฝ่าย ในแต่ละปี องค์กรเหล่านี้มีงบประมาณมหาศาล และมีผลต่อการทำกิจกรรมขององค์กรหรือบุคคลอย่างมาก อย่างไรก็ตาม พฤกษ์ระบุว่า เขาไม่ได้จะเสนอถึงขั้นว่าชนชั้นนำเหล่านี้มีอำนาจชี้นำเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่มองว่ามีลักษณะอิทธิพลกำกับทิศทางการให้ทุนอยู่ ซึ่งอาจกระทำผ่านระบบที่ไม่เป็นทางการ นอกจากนั้นการใช้อำนาจยังอาจมีศิลปะแบบอื่นๆ เช่น การใช้ภาษาในแวดวง การคัดกรองโครงการ การกำกับการตั้งโจทย์วิจัย การตั้งเป้าหมายองค์กร และประเมินโครงการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าบางอย่างกำกับเสมอ สุดท้าย ในภาคปฎิบัติของวาทกรรม คือ การเกิดสภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชน โดยสำหรับสภาองค์กรชุมชนมีการตั้ง 1900 แห่งจากตำบล 7400 แห่ง สภานี้จะเป็นที่รวมของแกนนำชาวบ้าน ภาคราชการ และข้าราชการการเมืองท้องถิ่น โดยมีแนวตรวจสอบและกำกับการมีส่วนร่วม นี่คือภาคปฏิบัติที่ยืนยันถึงความมีอำนาจของวาทกรรมการพัฒนาดังกล่าว ข้อสรุป ที่กล่าวมาทั้งหมดขอย้ำว่าไม่ได้ต้องการสรุปอะไรอย่างสุดโต่ง หรือโจมตีการพัฒนาภาคประชาชนว่าไม่มีคุณูปการใดๆ ทั้งนี้ ยอมรับว่าสร้างพื้นที่ทางสังคมและสร้างอำนาจให้ภาคประชาชนอย่างสำคัญ แต่ที่จะวิจารณ์คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มาจะคุ้มกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ เพราะทำให้เกิดปัญหาจำนวนหนึ่งขึ้นด้วย โดยการลดทอนความเป็นการเมืองจากการพัฒนาทำให้มองไม่เห็นความขัดแย้งที่กำกับความเป็นไปของสังคมและการเมืองไทย มองไม่เห็นคู่ขัดแย้ง การหายไปของการเมืองทำให้การพัฒนากลายเป็นการดึงทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจและผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกันแต่อย่างใด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น เรื่องการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งกฎหมาย สิทธิชุมชน สิทธิแรงงาน ซึ่งเคยมีความแหลมคม ท้าทาย กล้าปะทะอำนาจรัฐได้กลายเป็นกระบวนการรอมชอม หรือกระบวนการล็อบบี้ของนักพัฒนารุ่นใหญ่ที่ได้หลุดเข้าไปอยู่ในแวดวงอำนาจรัฐ "วาทกรรมพัฒนาภาคประชาชน ซึ่งควรจะต่อรองต่อสู้กับวาทกรรมภาครัฐ กลับถูกฝ่ายหลังปรับเปลี่ยนดัดแปลงสอดไส้ให้รับใช้อำนาจของชนชั้นปกครอง เราจึงได้ฟังเรื่องสิทธิชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ธรรมาภิบาลแบบสำเร็จรูป ซึ่งไปกันได้ดีกับความคิดจารีตแบบไทยๆ เช่น รู้รักสามัคคี ร่มเย็นเป็นสุข เศรษฐกิจพอเพียง เราจึงได้เห็นแนวคิดสิทธิชุมชนแบบพอเพียง ธรรมภิบาลแบบสนับสนุนรัฐประหาร ร่มเย็นเป็นสุขแบบเชียร์ให้อีกฝ่ายยิงหัวอีกฝ่าย และสิ่งที่ฝังอีกอย่างคือ ทำให้ผู้คนในภาคประชาชนรังเกียจการเมืองในระบบ แต่ก็ละเว้นการวิจารณ์การเล่นการเมืองและความน่ารังเกียจของชนชั้นสูงที่ไม่เคยลงเลือกตั้ง" สุดท้าย การปฏิรูปประเทศไทยในเวลานี้คือพัฒนาการขั้นสูงสุดของวาทกรรมภาคประชาชนที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การปฏิรูปการเมืองอย่างนี้จะเกิดขึ้น โดยไม่ตะขิดตะขวงกับการตายของ 91 ศพ เพราะพวกเขาคิดมานานแล้วว่าคนเหล่านี้ฝักใฝ่การเมืองแบบสกปรก เขาเล่าว่าอาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวติดตลกว่า นี่คือยุคทอง เป็นสถานการณ์ในฝันของนักปฏิรูป ที่ดึงคนกลุ่มต่างๆ มานั่งคุยกันได้ เป็นสิ่งที่รอคอยมานานแล้ว สำหรับเขา พฤกษ์มองว่า ทั้งหมดนี้คงต้องเรียกว่าเป็นภาคประชาชนเอียงขวา หรือภาคประชาชนอนุรักษ์นิยม เพราะฉะนั้น ตอนนี้ภาคประชาชนไม่ใช่ก้าวไม่ทันภาคชนบท แต่เป็นปฎิกิริยาที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของภาคชนบทเสียเอง เขาจบด้วยเรื่องเล่าที่อาจฟังดูเลือดเย็น โดยเล่าว่า ในการสนทนากับนักพัฒนาอาวุโสท่านหนึ่งในการประชุมที่ขอนแก่น ได้ถามว่า รัฐบาลเกี่ยวข้องกับการตายของคน 91 คน ยังคิดว่าจะร่วมปฏิรูปอีกหรือ และได้คำตอบว่า "ไม่เป็นไรไอ้น้อง รัฐบาลไหนก็เลวพอกัน แต่รัฐบาลนี้ให้อะไรกับชาวบ้านมากพอสมควร ตอนนี้เป็นโอกาสของเรา" ซึ่งเมื่อเขาได้ฟังอย่างนี้แล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าใครเลวกว่ากัน ‘ภาคประชาชน’ กับท่าทีต่อการเมืองในระบบรัฐสภา เก่งกิจ กล่าวต่อมาว่าหากมองจากงานเขียนหรือการโต้เถียงในแวดวงฝ่ายซ้าย (เรียกว่าภาคประชาชนหลังปี 2530) ในยุค 2520 สิ่งที่ฝ่ายซ้ายถกเถียงกัน คือ สังคมไทยมีลักษณะอย่างไร วิถีการผลิต (mode of production) ของสังคมไทยเป็นอย่างไร อยู่ในยุคทุนนิยม หรือศักดินา หรือกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา หรือทุนนิยมด้อยพัฒนา มีการถกเถียงกันว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหนของความสัมพันธ์ทางการผลิตชุดนี้ ตกลงกองทัพขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ขบวนการแรงงานอยู่ตรงไหน ทุนมีกี่กลุ่ม เหล่านี้คือข้อถกเถียงในยุคทศวรรษ 20 (2520) ซึ่งอยู่ภายใต้ความคิดแบบมาร์กซิสม์อันเป็นแนวคิดที่ต้องการการปฏิวัติ “การวิเคราะห์สังคมในยุคนั้นมีเป้าหมายเพื่อหาจุดเปราะบางของโครงสร้างทางการเมืองและธุรกิจ เพื่อที่จะปฏิบัติการทางการเมืองไปที่จุดนั้น เพื่อการปฏิวัติทางสังคมไปสู่สังคมนิยมหรือความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ นี้คือลักษณะสำคัญที่สุดของฝ่ายซ้ายในยุคทศวรรษ 2520” เก่งกิจกล่าว เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนความเข้าใจเรื่องรัฐในช่วงทศวรรษ 2520 มาจากงานของ 2 กลุ่ม คือมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และมาจากแวดวงปัญญาชนซึ่งมีทั้งส่วนที่เคยอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและไม่เคยอยู่ แต่โตมาภายใต้แนวคิดแบบมาร์กซิสม์ และได้รับอิทธิพลจากมาร์กซิสม์ตะวันตก ในปี 2528 มีข้อถกเถียงระหว่างเกษียร เตชะพีระ กับพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ว่ารัฐมีหน้าตาอย่างไร สถาบันกษัตริย์ สถาบันอนุรักษ์นิยมอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจรัฐ อุดมการณ์หลักของสังคมไทยคืออะไร ตอนนี้เราเป็นทุนนิยมที่มีความขัดแย้งเรื่องอะไร ชนชั้นปกครองเป็นอย่างไร กองทัพเป็นอย่างไร ขบวนการปฏิวัติมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่หลังจากนั้นแทบไม่เห็นงานที่มีการถกเถียงกันในลักษณะนี้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่างานชิ้นท้ายๆ ที่ถกเถียงกันเรื่องลักษณะของสังคมไทยเรื่องรัฐเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิวัติน่าจะจบลงที่งานถกเถียงชิ้นนี้ เก่งกิจกล่าวด้วยว่าหากดูข้อเสนอของพิชิต ในปี 2534 หลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พิชิตมีงานเขียนชื่อว่า “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” ชิ้นที่ 3 แต่งานชิ้นนั้นไม่ได้รับความสนใจ หรือนำมาถกเถียงเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิวัติของขบวนการ คือไม่มีที่ทางของการโต้แย้งหรือนำมาวิเคราะห์สังคมไทย สำหรับการถกเถียงเรื่องวิถีการผลิตนั้นสิ้นสุดในปี 2520 โดยมีงานของคน 3 กลุ่มที่พยายามจะโต้แย้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่วิเคราะห์ว่าประเทศไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา งานชิ้นแรก คือของทรงชัย ณ ยะลา ปี 2524 ซึ่งเสนอว่าประเทศไทยไม่ใช่กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา แต่เป็นทุนนิยมล้าหลัง ด้อยพัฒนา กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มขบวนการนักศึกษา หรือกลุ่มนักศึกษาที่เข้าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเริ่มทยอยออกจากพรรคฯ ในช่วงที่พรรคฯ กำลังจะล่มสลาย ในงานของธิกานต์ ศรีนารา กลุ่มที่ 3 คือภายในพรรคคอมมิวนิสต์เอง คือบทบาทของระดับนำในพรรคฯ คือวิรัช อังคถาวร ซึ่งเขียนงานชิ้นนี้ในปี 2525 โดยเสนอว่าสังคมไทยไม่น่าจะใช่กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าสังคมไทยเป็นวิถีการผลิตแบบไหน หากดูบรรยากาศของการคุยกันว่าลักษณะของสังคมไทยเป็นอย่างไร เจ้าอยู่ตรงไหน กองทัพอยู่ตรงไหน ทุนอยู่ตรงไหน ทุนมีกี่กลุ่ม สังคมชนบทเป็นอย่างไร สังคมในเมืองเป็นออย่างไร ความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นอย่างไร พลังทางการผลิตเป็นอย่างไร ซึ่งคิดว่าการถกเถียงเรื่องนี้สิ้นสุดลงไปในปี 2525 “ผมคิดว่านี่คือหัวใจของยุคสมัย เพราะว่าการศึกษาทั้งหมดเป็นไปเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิวัติ และหลังจากปี 2525-2528 เป็นต้นมา เราไม่เคยพูดถึงเรื่องการปฏิวัติ จนกระทั้งมีขบวนการเสื้อแดงในปัจจุบัน ซึ่งหลายๆ คนก็กำลังจะบอกว่าเรากำลังจะปฏิวัติสังคม โค่นล้มศักดินา ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องรอการศึกษา” เก่งกิจกล่าว เก่งกิจกล่าวต่อมาว่า ยุคหลังจากนั้นในช่วง 2530-2540 การศึกษาเรื่องรัฐแทบจะไม่มีที่ทางในการเมืองภาคประชาชนและวงการของปัญญาชนภาคประชาชน แนวคิดในเรื่องนี้การศึกษาเรื่องรัฐอยู่ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง คือนักวิชาการ เช่น ชัยอนันต์ สมุทรวานิช เขียนตำราเรื่องรัฐ (2530) และหนังสือ 100 ปีปฏิรูประบบราชการ (2538) ไชยรัตน์ เจริญศิลป์โอฬาร เขียนวิจารณ์ชัยอนันต์ สมุทรวานิช (2531) ทั้งหมดไม่ได้อยู่ในแวดวงของนักเคลื่อนไหว ภาคประชาชน ทั้งนี้ งานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ การวิเคราะห์รัฐ ของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งถือเป็นรากฐานของการเมืองภาคประชาชนในยุคที่ผ่านมา โดยอเนก เหล่าธรรมทัศน์ มีอิทธิพลทางความคิดหลังปี 2535 ได้เสนอ “ทฤษฏีประชาสังคม” ว่า ประชาสังคมเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกภาครัฐ แต่ไม่เคยบอกว่ารัฐคืออะไร และไม่บอกว่าสถาบันกษัตริย์ กองทัพอยู่ตรงไหนในรัฐ บอกเพียงแต่ว่าประชาสังคมคือองค์กรนอกภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลตนเอง ไม่พึ่งพารัฐ อยู่ภายใต้การเมืองแบบปกติ ซึ่งการพัฒนาประชาธิปไตยภายใต้แนวความคิดเช่นนี้คือการเพิ่มอำนาจหรือเพิ่มพื้นที่ ที่เรียกว่าประชาสังคม ชุมชน ชาวบ้าน การเมืองบนท้องถนน ซึ่งคิดว่ามีรากเหง้าทางความคิดอันเดียวกันคือไม่รู้ว่ารัฐคืออะไร ไม่มีทฤษฏีรัฐ และพูดเสมือนว่าประชาสังคม ชุมชน หรือการเมืองบนท้องถนนเป็นสิ่งดีงาม สวยงาม เท่ากับประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้ก็รู้แล้วว่ามันไม่เท่ากับประชาธิปไตย ที่สำคัญ มีเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเสนอว่า ประชาสังคม ผู้นำของประชาสังคมควรจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น นพ.ประเวศ วะสี, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ที่เสนอว่าพระมหากษัตริย์คือศูนย์กลาง สุดยอดของพลังประชาสังคมไทยที่จะต่อกรกับพลังอำนาจรัฐ ตรรกะนี้ทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐและมาอยู่ฝ่ายเดียวกับภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะเห็นอิทธิพลความคิดอย่างนี้เรื่อยมา อยู่จนมาถึงการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 “เมื่อดูการปฏิรูปการเมืองในปี 2535 ถึงรัฐธรรมนูญ 2540 วาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การเมืองแบบรากหญ้า กลายเป็นอุดมการณ์สำคัญของการเมืองภาคประชาชนซึ่งล้วนแล้วแต่รังเกียจการเมืองในระบบ การเมืองแบบรัฐสภา และไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพ” เก่งกิจกล่าว เขายกตัวอย่าง ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งกล่าวในช่วงเช้า โดยระบุว่าไม่มีช่วงไหนเลยที่พูดถึงบทบาทของกองทัพและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่พูดถึงประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นี่คือจิตสำนึกของยุคสมัยที่ไม่มีทฤษฏีเรื่องรัฐ และไม่เข้าใจว่ามีความขัดแย้งอะไรจริงๆ ในสังคมไทยเพิ่งจะมีการพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์เมื่อหลังปี 2549 และทุกคนก็ตื่นตัวที่จะพูดเรื่องนี้ แต่ในเหตุการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2524 (กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย), 2534 (รัฐประหาร รสช.), 2535 (พฤษภาทมิฬ) ไม่มีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเลยโดยนักวิชาการฝ่ายภาคประชาชนและฝ่ายก้าวหน้าในประเทศไทย เก่งกิจกล่าววิจารณ์ต่อมาถึง ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกทฤษฏี Social Movement คนสำคัญในประเทศไทย โดยระบุว่างานศึกษาของประภาส รวมถึงงานของผาสุก และลูกศิษย์ที่ทำเรื่องทฤษฏี Social Movement ในประเทศไทย ไม่มีส่วนไหนเลยที่วิเคราะห์ว่ารัฐคืออะไร ไม่มีระบุว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน สิ่งที่งานแนวนี้โจมตีมากที่สุดคือ 1.ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือการเมืองแบบตัวแทน 2.แนวทางการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม และต้องการจะกลับไปสู่การปกป้องวิถีชุมชน ซึ่งคิดว่าอยู่ในรากเหง้าอันเดียวกับวิธีคิดแบบชุมชนนิยม ย้อนกลับไปดูยุคสมัย 2520 ฝ่ายซ้ายกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ลักษณะสังคม ดุลอำนาจทางชนชั้น รัฐ วิถีการผลิต แล้วค่อยกำหนดว่าจะสู้อย่างไร ฝ่ายภาคประชาชนในทศวรรษ 2530-2540 ไม่เริ่มต้นที่การวิเคราะห์สังคมไทยเพราะไม่มีทฤษฏีที่จะวิเคราะห์สังคมไทย หันมาวิเคราะห์ที่ตัวขบวนการหรือ Social Movement ด้วยตัวของมันเอง กำหนดว่าขบวนการแต่ละขบวนการต้องการอะไร แล้วจึงกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการต่อสู้ “เอาเข้าจริงแนวคิด Social Movement ทั้งหลายของอาจารย์ประภาสไม่มีที่ทางแก่การนำเสนอในทางยุทธศาสตร์ แต่เน้นในเชิงยุทธวิธี การล็อบบี้ การทำแนวร่วมกับชนชั้นกลางซึ่งความจริงแล้วไม่รู้ว่าควรต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นกลางหรือเปล่าเมื่อชนชั้นล่างมีกว่า 40 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้เราทำแนวร่วมกับสังคมอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม และกองทัพ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าภาคประชาชนเอาทฤษฏีอะไรมาวิเคราะห์ว่าต้องทำแนวร่วมกับกลุ่มเหล่านี้” เก่งกิจกล่าว เก่งกิจกล่าวในตอนท้ายว่า โดยสรุป ปัญหาใหญ่ของขบวนการภาคประชาชนคือไม่มีทฤษฎีรัฐและการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทย แต่เป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ภายใต้ลักษณะแบบปฏิบัตินิยมคือทำรายวัน สู้รายวัน พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้เราไม่มีองค์ความรู้อะไรเลยว่าสังคมไทยตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีความรู้เหล่านี้ก็เคลื่อนไหวตามพวกอำมาตย์ไม่ทัน ดังนั้นจึงอยากชักชวนสังคมไทย โดยเฉพาะแวดวงของเรากลับมาสู่การถกเถียงกันว่าสังคมไทยหน้าตาเป็นอย่างไร สถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน กองทัพอยู่ตรงไหน ทุนอยู่ตรงไหน มีกี่กลุ่ม วิถีการผลิตเป็นอย่างไร
หมายเหตุ: ติดตามความเห็นต่อบทความทั้งสามโดย อ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรีและ อ.ดร. นฤมล ทับจุมพล เร็วๆ นี้
ดาวโหลดบทความเสนอในงานเสวนาทางวิชาการ “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” “‘ภาคประชาสังคม’ ‘ภาคประชาชน’ กับกับดักจินตนาการ ‘ไม่เลือกเพื่อสร้างทางเลือก’” “‘ภาคประชาชน’ กับก้าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนไปของสังคมชนบท” “‘ภาคประชาชน’ กับท่าทีต่อการเมืองในระบบรัฐสภา” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น