ประชาไท | Prachatai3.info |
- "สรรเสริญ" ชี้วางดอกไม้แดงหน้าเรือนจำหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วง - ก้าวล่วงอำนาจศาล
- เมื่อละอ่อนร่องอกงาม .. ด่าพระไพศาล
- ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอลดหย่อนโทษประหาร
- ศาลอนุญาตฝากขังผลัด4 ผู้ต้องหาคดี SMS หมิ่นเบื้องสูง
- กสม.พิจารณารับเรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตาพุด
- ซาอุฯ ออกแถลงการณ์ลดสัมพันธ์ไทย หลังมีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม
- มทภ.2 เปิดงานปกป้องสถาบัน ระดมนักเรียนนักศึกษาอีสานร่วมหมื่น
- "ธาริต" พบ "สุเทพ" รายงานคดี 89 ศพ ระบุประสานกองทัพขอข้อมูล "กำลังพล-อาวุธ" ปราบแดง
- นักข่าวพลเมือง: สื่อเด็กอีสานระดมสมองหาเกณฑ์ความสำเร็จก่อนลงลุย 9 พื้นที่
- ชาวบ้านมาบตาพุดร้อง กสม. ตรวจผลกระทบสิทธิ์ชุมชนตาม ม.67
"สรรเสริญ" ชี้วางดอกไม้แดงหน้าเรือนจำหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วง - ก้าวล่วงอำนาจศาล Posted: 08 Sep 2010 11:45 AM PDT "พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด" แถลงมีคนบิดเบือนว่าเจ้าหน้าที่สั่งฆ่าประชาชน ยันมีกลุ่มติดอาวุธแฝงตัวกับผู้ชุมนุมจริงๆ เพื่อฆ่าเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ยัน ศอฉ. ไม่ใช้กระสุนจริงยิงประชาชน มีแต่ยิงขึ้นฟ้าข่มขวัญ ยิงเพื่อคุ้มกันเจ้าหน้าที่และคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ ลั่นคง พรก.ฉุกเฉินเพราะมีการจาบจ้วงสถาบัน และรักษาความสงบ เตือนวางดอกไม้แดงหน้าเรือนจำหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงและก้าวล่วงอำนาจศาล วันนี้ (8 ก.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ผอ.ศอฉ.) เป็นประธานในการประชุมศอฉ. โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงษ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาในการหารือประมาณ 1.30 ชั่วโมง “ความจริงศอฉ.ไม่อยากลงไปชี้แจงในเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เพราะทุกเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติกรรมไปหมดแล้ว แต่มีความจำเป็นในการชี้แจงในภาพรวมไม่เช่นนั้นสังคมจะได้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง จะสังเกตได้ว่า ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเจ้าหน้าที่ไม่ได้อาวุธสงครามหรืออาวุธกระสุนจริงยิงเข้าใส่ประชาชน เพราะทุกกรณีมีการกำหนดขอบเขตการใข้อาวุธไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่กระสุนยาง กระสุนจริงของปืนลูกซอง กระสุนปืนเอ็ม 16 โดยเราจะยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ และยิงเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือคุ้มครองผู้บริสุทธิ์เท่านั้น” โฆษกศอฉ.กล่าว ชี้มีกลุ่มติดอาวุธแฝงตัวกับผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่-ประชาชนจนเสียชีวิต สาเหตุที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉินเพราะมีการจาบจ้วงสถาบัน และเพื่อรักษาความสงบ ย้อนถามขนาดประกาศ พ.ร.ก.ยังเกิดเหตุ ถ้าไม่ประกาศจะมากขนาดไหน เตือนวางดอกไม้แดงหน้าเรือนจำหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงและก้าวล่วงอำนาจศาล “การวางดอกไม้แดงหน้าที่คุมขังดูหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้าง และหมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงในอำนาจของศาล บางคนพยายามเสนอข้อมูลว่า หากต้องการความปรองดองอย่างที่พรรคหนึ่งพยายามนำเสนอ ทำไมศอฉ.และรัฐบาลไม่ปล่อยตัวนักโทษที่ถูกควบคุมตัวอยุ่ ต้องเรียนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ศอฉ.หรือรัฐบาลไม่มีอำนาจไปสั่งให้จับใครหรือสั่งให้ปล่อยใคร ดังนั้นการที่ท่านจะวางดอกไม้แดง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่าน แต่อยากให้ท่านคิดให้รอบคอบว่า หมิ่นเหม่ต่อการไปก้าวล่วงอำนาจของศาลหรือไม่”พ.อ.สรรเสริญ กล่าว พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนในวันที่ 19 กันยายนนี้ที่จะครบ 4 ปีรัฐประหาร ทางหน่วยข่าวได้ติดตามความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองว่า อยู่ในกรอบกฎกติกาหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้การเคลื่อนไหวสามารถทำได้ถ้าไม่ผิดกฎหมาย แต่อยากให้คำนึงภาพลักษณ์ความมั่นใจของผู้ประกอบการ ส่วนในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ทาง ศอฉ.ยังได้ฝากให้ พล.ต.ท.วรพงษ์ ดูแลในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ฝ่ายยุทธการของ ศอฉ.ได้บรรยายสรุป โดยให้ประสานการปฎิบัติงานให้ชัดเจน แต่ในที่ประชุมไม่ได้มีการประเมินถึงกระแสข่าวการก่อวินาศกรรมแต่อย่างใด แต่ทุกอย่างต้องไม่ประมาท ย้ำส่งทหารไปอยู่รถบีทีเอสรถไฟฟ้าประชาชนอุ่นใจ มีมากเกินดีกว่าขาด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เมื่อละอ่อนร่องอกงาม .. ด่าพระไพศาล Posted: 08 Sep 2010 09:45 AM PDT พลันที่ได้อ่าน “ไม่เถียงแต่ด่า” ของ คุณคำ ผกา ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุด (3-9 ก.ย.53) มีเนื้อหาวิวาทะที่เธอมีต่อวิสัชนาของพระไพศาล วิสาโล ที่ตอบข้อวิพากษ์ของคุณภัควดีที่มีต่อบทสัมภาษณ์ของพระไพศาล (http://www.visalo.org/article/letterToPakawadee.htm) บทความ “ไม่เถียงแต่ด่า” กระตุกความสนใจตั้งแต่กองบรรณาธิการ คิดคำประกอบพาดปกหนังสือ “ไม่เถียง แต่ “ด่า” อุบาสิกี คำ ผกา ขึ้น”ธรรมาสน์” เทศน์ พระไพศาล วิสาโล” อยู่ใต้ภาพหวือหวาเป็นเปลือยครึ่งตัวอลังการด้วยเสดสี อวดเต้าปทุมถันคู่งามที่เจ้าของโพสท่าถ่ายเชิงศิลปะอย่างหน้าระรื่น พระพิศาล วิสาโล สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีบทบาทร่วมในแนวทางอหิงสาต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนเป็นเหตุให้ถูกล้อมปราบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ปัจจุบันเป็นพระนักเผยแผ่ นักคิดนักเขียนพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานปรากฏในรูปสื่อโทรทัศน์ หนังสือ และบทความออกมาอย่างสม่ำเสมอ บทบาทพระสงฆ์ในสังคมไทยนอกจากเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ และเป็นตัวแทนในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แล้ว ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการเมืองการปกครองของไทยมักเป็นภาพสะท้อนของแต่ละบริบทของสังคมในแต่ละช่วง หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เจ้าพระฝาง มหาเถราจารย์ชาวเหนือ เป็นก๊กใหญ่ก๊ก 1 ใน 5 มีเจตนาดีที่จะรวมประเทศให้เป็นหนึ่ง แต่สุดท้ายทุกก๊กถูกปราบโดยก๊กสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าพระฝาง มีสถานภาพเป็นพระภิกษุแต่ก็มีส่วนในการช่วยบ้านเมืองดังทราบกันดีในประวัติศาสตร์ชาติไทย สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย อันจะเป็นแบบอย่างของการเกี่ยวข้องกับการเมืองของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ เมื่อครา พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือกรุงหงสาวดี ภายหลังชัยชนะในครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้โปรดให้ลูกขุนปรึกษาโทษข้าราชการชั้นแม่ทัพนายกองที่ทิ้งให้สองพระองค์พลัดหลงอยู่ในวงล้อมข้าศึก มีโทษถึงประหารชีวิตหลายคน สมเด็จพระนพรัตน เป็นผู้มีปรีชาสามารถ แตกฉานในพระพุทธวจนะ ได้พาพระราชาคณะ ๒๕ รูป เข้าไปเฝ้าถวายพระพรถามข่าวสงคราม และด้วยวาทะหลักแหลมของท่าน ได้ช่วยให้บรรดาข้าราชบริพารซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว ให้รอดพ้นจากพระราชอาญาโทษได้ ต้นปีระกา พ.ศ.2308 กษัตริย์พม่าประสงค์จะตีกรุงศรีอยุธยา จึงให้กองทัพเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ ลงมาตีกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียเอกราชเป็นครั้งที่ ๒ นั้น ได้เกิดวีรกรรมขึ้น ชาวบ้านเมืองสิงห์ เมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสรรค์ได้รวมตัวกันที่บ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าอย่างเต็มกำลังความสามารถไม่ให้กรุงศรีอยุธยาแตกได้ถึง ๕ เดือน โดยมีพระอาจารย์ธรรมโชติ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นได้มาเป็นที่พึ่งทางใจบำรุงขวัญและกำลังใจของชาวบ้านด้วยการลงผ้าประเจียดและตะกรุด พิศมร แจกจ่ายแก่ชาวบ้านและผู้นำชาวบ้านที่ค่ายบางระจัน หรือแม้แต่ต้นกรุงรัตนโกสิทร์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรังสี) มีความเป็นห่วงว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) จะทรงหมกมุ่นในเรื่องกามคุณเพราะ สมัยนั้นมีข้าราชบริพารนิยมเอาบุตรหลานทั้งชายหญิงเข้ามาถวายตัวรับใช้ในพระราชวังมาก ผู้ชายเข้าไปเป็นมหาดเล็ก แต่สำหรับผู้หญิงก็ต้องไปเป็นพระสนม เมื่อพระสนมมีมาก พระเจ้าอยู่หัวก็ต้องทรงดูแลใส่พระทัยมากไปด้วยเหมือนกัน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เกรงว่า พระเจ้าอยู่หัวจะทรงหมกมุ่นในเรื่องมาตุคามมาก จนหลงลืมราชการบ้านเมืองไป เวลากลางวันแสก ๆ จึงได้จุดไต้เข้าไปในพระราชวัง ในระหว่างที่เดินไปนั้น พร่ำพูดว่า “ในวังนี้ไม่มืดมนนักหรอก !” พวกข้าราชบริพารพบท่านเข้า จึงได้นำความขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ พระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จออกมาที่พระลานหน้าพระราชวังแล้วก็ตรัสกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า “ รู้แล้วล่ะ เออ กลับไปเถอะ” กล่าวเช่นนี้ ใช่ว่าจะยกให้พระไพศาล มีกฤษฎาบารมีเยี่ยงอดีตมหาเถราจารย์ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองก็มีบ้างตามยุคตามสมัย อยู่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนาน กรณีพระไพศาลผมก็หาได้เห็นด้วยกับบทสัมภาษณ์และงานเขียนของพระไพศาลทั้งหมด เพียงแต่อยากให้ปุถุชนทึบหนาเช่นเราฉุดคิดว่าเราควรกำหนดท่าทีต่อบทบาทของพระสงฆ์อย่างไร จึงจะพองาม และพระสงฆ์เองก็ควรตระหนักในบทความร่วมสมัยของท่านด้วย กรณีบทความ “ไม่เถียงแต่ด่า” ที่คุณคำ ผกา มีต่อพระไพศาล นั้น เมื่อผมบรรจงอ่านไล่เลียงไปจนจบ โดยระหว่างบรรทัดนั้น ค่อนจะตะขวิดตะขวางต่อวลีไม่สุภาพคล้ายผรุสวาจาที่เธอประดิษฐ์ประดอยออกมาเป็นระยะๆ บางคำถึงขั้นเพื่อนฝูงหรือแม้แต่น้องๆ ในสำนักงาน ยิงคำถามใส่ผมว่า “คิดอย่างไร ” เพราะรู้ว่าผมเคยอยู่ในแวดวงดงขมิ้นมาก่อน เป็นมากกว่าขะโยม (เด็กวัด) เสียด้วยซ้ำ ผมเป็นชาวเหนือค่อนจะภูมิใจและติดตามงานของคุณคำ ผกาที่มีพื้นเพอยู่ไม่ไกลกันนัก ผมเองเห็นด้วยและคล้อยตามหลายประเด็นที่ คุณคำ ผกา ได้วิจารณ์แนวการสัมภาษณ์และบทความของพระไพพล อย่างเรียกได้ว่าแทบจะพูดแทนได้ดียิ่งกว่าที่ใจคิด เพราะจากการติดตามงานของพระไพศาล พักหลังๆ ก็ดูจะค่อนไปอย่างที่คุณคำ ผกา วิจารณ์อยู่บ้าง แต่บางทีคำบางคำที่จะใช้สำหรับบางสถานะบุคคลต้องคำนึงถึงมารยาททางสังคมด้วย น่าจะเหมาะ เอาหละ..ครับ..ในที่นี้ขอนำบางช่วงที่คุณคำ ผกา นำเสนอไว้ “ ได้อ่านบทสัมภาษณ์และบทความของพระไพศาล วิสาโล อยู่เนือง ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงสาม-สี่เดือนที่ผ่านมาด้วยความอดทน เพราะยิ่งอ่านยิ่งสัมผัสถึงความดัดจริตของท่านชัดเจน” ...ยิ่งวรรคทองที่เธอขมวดว่า “อ่านแล้ว แหวะ แหวะ จะอ๊วก! (และนั่น คืออารมณ์ที่แท้ของฉันเมื่ออ่านบทความพระไพศาล” เป็นไงครับ..สะอึกไหม ถ้าเป็นคนจำพวกฮาร์ดคอร์ดุเดือดเลือดพล่านก็คงสะใจ แต่หากลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนจะว่ากระไร ท่านผู้อ่านลองทบทวนประโยคนี้ของ คุณคำ ผกา “ท่านพูดออกมาได้อย่างไรว่า ตราบใดที่ผลการสอบสวนยังไม่ออกมาว่า “ใครฆ่า” อภิสิทธิ์ยังมีความชอบธรรมที่จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรี! นี่เป็นสิ่งที่พระอย่างท่านต้องทบทวนให้จงหนัก ต้องล้วงลึกตรวจสอบสภาวะจิตใจของท่านให้จงหนักว่า แท้จริงแล้ว ท่านคงความเป็นกลางอย่างที่ชอบอ้างหรือไม่ เพราะนี่หากไม่เป็นการตบตาประชาชน ท่านก็ตบตาตนเองจนบอดสนิท” ดูเหมือนว่าคุณคำ ผกา กำลังสอน(ผมไม่ใช้คำว่าขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เพราะไม่ควรยิ่ง) พระไพศาล และได้ตัดสินอะไรบางอย่างในตัวพระไพศาลไปเรียบร้อยแล้ว ทัศนะที่คุณคำ ผกา มีต่อพระไพศาล หากดูจากคนข้างนอกดูเหมือนว่าจะเป็นการแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสมยิ่ง ตรงบทสรุปของคุณคำ ผกา ที่ขมวดตบท้ายว่า“บอกตามตรงว่ามันน่าขยะแขยงในสายตาโลกียชนอย่างเราๆ” อันที่จริงคุณคำ ผกาควรจะใช้คำว่า “ฉัน” แทนคำว่า “เราๆ” เพราะเชื่อว่ามีปุถุชนในโลกนี้อีกจำนวนไม่น้อย ที่อาจมีความเห็นแย้งกับพระไพศาล แต่จะยังไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินท่าน เพียงเพราะมีทัศนะที่ไม่ตรงกันในบางเหตุการณ์ และจะไม่เลือกใช้คำที่ไม่น่าเชื่อว่ากลั่นมาจากผู้ชื่อว่าได้รับการศึกษาถึงปริญญาเอกเช่นนี้ แม้ในบทวิสัชนาของพระไพศาล ท่านเองจะระบุว่า “ใครก็ตามย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อาตมาได้อยู่ดี เพราะพระภิกษุนั้นไม่ควรอยู่เหนือคำวิจารณ์ และสมควรถูกวิจารณ์ด้วยหากคิด พูด หรือทำไม่ถูกต้อง (ในสังคมไทยสมัยก่อน เป็นเรื่องธรรมดามากที่พระจะตกเป็นหัวข้อของการนินทาและวิจารณ์ประชดประชันอย่างเผ็ดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ นิทานตาเถรยายชี โดยชาวบ้านที่นับถือพระศาสนา ) ดังนั้นอาตมาจึงเห็นด้วยกับคุณภัควดีว่า “หากจะมีผู้อ่านท่านใดมาวิพากษ์วิจารณ์ด่าว่าผู้เขียน โดยยกเอาบาปกรรมนรกมายัดเยียดให้ ย่อมเป็นเรื่องไร้สาระ” ถึงกระนั้นท่าทีที่เราควรทำกับพระในฐานะผู้นำด้านจิตวิญญาณหรือจะในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกก็ตาม ความมุ่งดีต่อกัน ความเป็นกัลยาณมิตรก็ควรหลงเหลืออยู่บ้าง หาใช่คำกล่าวคำหยาบ คำด่า หรือมีเจตนาที่อยู่ในโทสะมูลจิต พูดด้วยอาการกระแทกกระทั้น กดให้ท่านต่ำลง คุณคำ ผกา “ไม่เถียงแต่ด่า” พระ บาปไม่บาปผมไม่รับรู้ ขึ้นอยู่กับจิตของคุณคำ ผกา แต่หากมองจากมุมมารยาททางสังคมก็ดูจะสุ่มเสี่ยงยิ่งนัก มีคำฝากเตือนถึงคุณคำ ผกา ด่าพระ ระวัง...ขี้กลากจะขึ้นหัว นรกจะกินกระบาล ใครจะว่าไร้สาระ ก็ช่างเถอะ..... …….. อ้างอิง http://www.src.ac.th/web/index.php?option=content&task=view&id=427 http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=543&Itemid=148 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอลดหย่อนโทษประหาร Posted: 08 Sep 2010 09:26 AM PDT เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 53 ที่ผ่านมา ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอตัดสินใจลดหย่อนโทษประหารชีวิตต่อนายเควิน คีธ (Kevin Keith) ให้เหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ให้มีการลดหย่อนโทษเพิ่มเติม เดิมมีกำหนดจะประหารชีวิตนายคีธในวันที่ 15 กันยายน เควิน คีธได้ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเหยื่อได้แก่แมรีเชล แชทแมน (Marichell Chatman) มาร์แช แชทแมน (Marchae Chatman) ซึ่งเป็นลูกสาว และลินดา แชทแมน (Linda Chatman) ซึ่งเป็นป้า โดยเป็นการยิงสังหารในแฟลตของแมรีเชลที่เมืองบูไซรัส ตอนกลางรัฐโอไฮโอ ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นวัยรุ่นสองคนและเพื่อนชายของแมรีเชลคือนายริชาร์ด วอร์เรน (Richard Warren) ก็ถูกยิงแต่ไม่เสียชีวิต ที่ผ่านมาเควิน เมื่อวันที่ 2 กันยายน ผู้ว่าการรัฐเท็ด สตริกแลนด์ (Ted Strickland) ได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะที่เป็นมติอย่างเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการพิจารณาการลดหย่อนโทษแห่งรัฐโอไฮโอเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่เสนอไม่ให้เขาลดหย่อนโทษแก่เควิน คีธ ในแถลงการณ์ ผู้ว่าการรัฐสตริกแลนด์กล่าวว่า แม้จะมีพยานแวดล้อมที่เชื่อมโยงเควิน คีธกับความผิดที่เกิดขึ้น “แต่ก็มีคำถามที่ชอบธรรมหลายประการเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่ใช้เพื่อสนับสนุนคำสั่งลงโทษและการสอบสวนก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งลงโทษนายคีธเป็นผลมาจากการเชื่อมโยงปากคำของพยานบอกเล่าบางส่วนกับพยานหลักฐานทางนิติเวช อันเป็นเหตุให้มีการตั้งคำถามที่สำคัญ ข้าพเจ้ายังเห็นว่าการที่ไม่มีการสอบสวนตัวผู้ต้องสงสัยคนอื่น ๆ อย่างเต็มที่เป็นปมปัญหาอย่างหนึ่ง” ผู้ว่าการรัฐสตริกแลนด์กล่าวต่อไปว่า “ ในขณะเดียวกันนายคีธอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คดี และโดยหลักการแล้วมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการกลับคำตัดสินลงโทษทั้งหมด แต่ตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่จะไม่ส่งผลให้มีการสอบสวนคดีนี้ใหม่อย่างเต็มที่ รวมทั้งการสอบสวนผู้ต้องสงสัยคนอื่น ๆ โดยเจ้าพนักงานผู้รักษากฎหมายและ/หรือศาล ซึ่งเป็นเรื่องโชคร้าย ทั้ง ๆ ที่คดีนี้ควรเป็นคดีที่ศาลพิจารณาถึงคำถามที่ยังไม่ได้รับการตอบและมีการวิเคราะห์คดีอย่างเป็นธรรมและอย่างเต็มที่ ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจปล่อยให้มีการประหารชีวิตนายคีธได้ และได้ตัดสินใจที่จะลดหย่อนโทษนายคีธให้เหลือการจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่เปิดโอกาสให้มีการขอลดหย่อนโทษได้อีก” ทนายความของเควิน คีธซึ่งอยู่ระหว่างการขออภัยโทษให้ลูกความ แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของผู้ว่าการรัฐ ในแถลงการณ์ทางคณะทนายความบอกว่าภารกิจยังไม่สิ้นสุด “นายคีธต้องถูกจองจำสำหรับความผิดที่เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ และยังไม่มีการคลี่คลายปมความผิดนั้นอย่างชัดเจน เหตุผลสำคัญซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ว่าการรัฐสตริกแลนด์ตัดสินใจเช่นนี้ น่าจะเป็นเงื่อนไขให้มีการไต่สวนคดีของนายคีธใหม่อย่างเป็นธรรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพยานหลักฐานที่พบใหม่ การเปิดเผยพยานหลักฐานซึ่งอยู่ในการครอบครองของรัฐ และการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เพื่อประโยชน์ในการจำแนกบุคคลของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ข้อมูลทั้งหมดชี้ว่านายคีธเป็นผู้บริสุทธิ์... การลดหย่อนให้เหลือเพียงโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ได้ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องสงเสริมความยุติธรรมน้อยลงเลย” ทางคณะทนายความขอขอบคุณประชาชนหลายพันคนซึ่งเรียกร้องให้มีการลดหย่อนโทษ พวกเขากล่าวว่ามีประชาชนกว่า 25,000 คนซึ่งได้ลงนามทางอินเตอร์เน็ตเพื่อสนับสนุนข้อเสนอนี้ และ “เฉพาะในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 7,000 คนส่งจดหมายถึงผู้ว่าการรัฐสตริกแลนด์ขอให้เขาลดหย่อนโทษ” ยังไม่มีปฏิบัติการใดเพิ่มเติมที่จำเป็นจากทางเครือข่าย UA NETWORK ขอขอบคุณทุกท่านที่ส่งจดหมายอุทธรณ์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาลอนุญาตฝากขังผลัด4 ผู้ต้องหาคดี SMS หมิ่นเบื้องสูง Posted: 08 Sep 2010 09:25 AM PDT 8 ก.ย.53 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา ทนายความของนายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 60 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงด้วยการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ ระบุว่า วันนี้ (8 ก.ย.) เป็นวันครบกำหนดฝากขัง และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอศาลฝากขังผลัดที่4 ทางทนายจึงได้ยื่นคำร้องขอไต่สวน ซึ่งศาลได้ยกคำร้องและอนุญาตให้ฝากขังตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นขอ ทั้งนี้ สื่อมวลชนรายงานว่า นายอำพลถูกตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. หลังจากที่ช่วงเช้าวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศรัตรู ผบช.ก. พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน สว.กก.1 บก.ป. นำกำลังจับกุม นายอำพล ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญารัชดา ที่ 1659 /2553 ลงวันที่ 29 ก.ค.53 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี โดยจับกุมได้ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ระหว่างซอยวัดด่านสำโรง 17/1 และซอยวัดด่านสำโรง 19 หมู่ที่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า 2 เครื่อง และยี่ห้อเทเลวิช อีก 1 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.ไถง ได้รับแจ้งว่า มีบุคคลลึกลับส่งข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันไปยังบุคคลสำคัญระดับประเทศหลายคน โดยมีการส่งข้อความดูหมิ่นสถาบันไปให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นากยกรัฐมนตรี ถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 9 -12 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้ง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีอีกด้วย จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท.ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ร่วมกันสืบสวนหาตัวคนร้าย จากการตรวจสอบบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายบริษัทพบว่า มีการใช้ซิมการ์ดแบบเติมเงิน เมื่อส่งข้อความเสร็จแล้วก็จะหักซิมการ์ดทิ้ง จึงติดตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์จนทราบว่านายอำพล เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าวจึงเข้าจับกุมมาสอบสวน เชื่อว่าผู้ต้องหารายนี้น่าจะมีผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลัง นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่า นายอำพล เป็นฮาร์ดคอร์กลุ่มคนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ที่ กอ.รมน. ขึ้นบัญชีดำไว้ด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กสม.พิจารณารับเรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตาพุด Posted: 08 Sep 2010 09:19 AM PDT 8 ก.ย. 53 - นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันพุธที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๓ พิจารณาวาระเร่งด่วน กรณีเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบความถูกต้องในการออกประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา ๖๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยอง ผลการพิจารณาของ กสม. มีดังนี้ ๑. กสม. เห็นว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสิทธิบุคคล ชุมชน และสังคมไทยโดยรวม จึงพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมกันแบบบูรณาการ มีประเด็นที่เชื่อมโยงกันหลายประเด็น ไม่ว่าเรื่องธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม กระบวนการยุติธรรม ผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่อ่อนแอ เช่น เด็กทารก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ใช้แรงงาน ผลกระทบต่อสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ๒. กสม.เห็นว่าโจทย์ในการพิจารณาเบื้องต้น คือ การพิจารณาหาความจริงว่ามีเหตุผลใดที่ข้อเสนอของคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุดที่ให้มี ๑๘ โครงการกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เหตุใดทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาตัดเหลือเพียง ๑๑ โครงการกิจการ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประสานงานติดต่อไปยังคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด ในขั้นต้น นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด ได้ตอบรับแล้วที่ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะไปพบปะหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลในสัปดาห์หน้า อนึ่ง นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อขอข้อมูลทั้งหมด ในกระบวนการพิจารณา ตลอดจนมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการได้มาซึ่ง ๑๑ โครงการ กิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ว่ามีเหตุผลหลักฐานทางวิชาการรองรับแค่ไหนเพียงใด เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ซาอุฯ ออกแถลงการณ์ลดสัมพันธ์ไทย หลังมีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม Posted: 08 Sep 2010 03:16 AM PDT ซาอุออกแถลงการณ์ลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย พร้อมสั่งห้ามพลเมืองเดินทางมายังไทย หลังไทยมีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 53 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเทพฯ ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อตอกย้ำถึงความไม่พอใจต่อกรณีที่ รัฐบาลไทยมีมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน พิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่ตกเป็นจำเลยในคดีอุ้มฆ่า นาย โมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2533 และคดีกำลังอยู่ในระหว่างชั้นศาล ซึ่งจะเริ่มต้นนัดสืบพยานในวันที่ 25 พ.ย. 2553 แถลงการณ์ ระบุว่า เนื่องจากกระบวนการสอบสวนในคดีความดังกล่าวที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และขาดกระบวนการที่เหมาะสมนั้น ส่งผลให้ทางการซาอุดิอาระเบีย ตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย พร้อมนำข้อกำหนดที่เข็มงวดมาบังคับใช้กับแรงงานไทย นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งห้ามพลเมืองซาอุฯ เดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังลดระดับความร่วมมือทวิภาคีในระดับสูงทุกสาขากับไทยให้อยู่ในระดับต่ำสุด ไทยและซาอุดิอาระเบีย ได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2508 ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศขึ้นสู่ระดับ "เอกอัตรราชทูต" ในปี 2509 นอกจากนี้ แถลงการณ์ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนการตัดสินใจแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีการหายตัวของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากคดีความทั้ง 3 คดี มีอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งทั้งสองประเทศพยายามที่จะให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างโปร่งใส และคดีความดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
ที่มาข่าว: ซาอุฯออกแถลงการณ์ลดสัมพันธ์ไทย (โพสต์ทูเดย์, 8-9-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มทภ.2 เปิดงานปกป้องสถาบัน ระดมนักเรียนนักศึกษาอีสานร่วมหมื่น Posted: 08 Sep 2010 02:29 AM PDT แม่ทัพภาค 2 เปิดกิจกรรมรวมพลังปกป้องสถาบัน และสร้างความเข้มแข็งในชุมนุม เพื่อปกป้องเยาวชนจากยาเสพติด ที่ จ.อุบลราชธานี นักเรียนนักศึกษาร่วม 10,000 คน สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 53 ที่วัดท่าโต บ้านปากแซง ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในภาค 2 เป็นประธานการจัดกิจกรรมรวมพลังมวลชน ปกป้อง สถาบันให้ราษฎรอาสาปกป้องภัยยาเสพติด ประจำปี 2553 โดยมีกลุ่มพลังมวลชน นักเรียนนักศึกษาจาก จ.อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์และบุรีรัมย์ จำนวน 10,000 คน ร่วมกิจกรรมและยังได้กำหนดจัดกิจกรรมทอดผ้าป่า มหากุศลสมทบทุนปกป้องสถาบัน ปกป้องยาเสพติดของชุมชุนเข้มแข็งและ บำรุงศาสนา จุดประสงค์การจัดกิจกรรมมีดังนี้ 1. เพื่อปกป้องความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ มทภ.2เปิดกิจกรรมรวมพลังปกป้องสถาบัน (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8-9-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"ธาริต" พบ "สุเทพ" รายงานคดี 89 ศพ ระบุประสานกองทัพขอข้อมูล "กำลังพล-อาวุธ" ปราบแดง Posted: 08 Sep 2010 02:17 AM PDT "ธาริต" เผยหลังเข้าพบ "สุเทพ" ระบุการตรวจสอบสาเหตุผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 89 ศพ มีความคืบหน้า ทำหนังสือถึงเหล่าทัพขอข้อมูลกำลังพล-อาวุธ สางปมเหยื่อกระชับพื้นที่ 89 ศพ ยันจะสอบสวนทุกเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง 8 ก.ย. 53 - นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยภายหลังเข้าพบ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ระบุการตรวจสอบสาเหตุผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 89 ศพ มีความคืบหน้า โดยดีเอสไอพยายามทำงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด พร้อมแจ้งผ่านสื่อทุกฝ่ายที่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย นปช.และญาติของผู้เสียชีวิต ให้นำมามอบให้ที่ศูนย์รับข้อมูลดีเอสไอ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ส่วนคดีการเสียชีวิตของ เสธ.แดง หรือ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณุวุฒิกองทัพบก ได้แยกออกมาพิจารณา ยืนยันจะทำทุกคดีให้ดีที่สุด และจะแถลงข่าวถึงข้อสรุป นอกจากนี้ดีเอสไอยังระบุว่าจะทำหนังสือประสานไปยังทุกเหล่าทัพ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสอบปากคำนายทหารที่มีส่วนร่วมวางแผนปฏิบัติการกระชับพื้นที่ในเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดง ทั้งที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสี่แยกราชประสงค์ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่ามีการจัดวางกำลังและใช้กำลังพลเท่าไหร่ในการปฏิบัติการกระชับพื้นที่ ตลอดจนการนำอาวุธออกไปใช้งานอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ และจำนวนอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการได้ใช้จริงไปเท่าไหร่ ที่มาข่าว: ดีเอสไอประสานเหล่าทัพสางปม 89 ศพ (โพสต์ทูเดย์, 8-9-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: สื่อเด็กอีสานระดมสมองหาเกณฑ์ความสำเร็จก่อนลงลุย 9 พื้นที่ Posted: 08 Sep 2010 01:50 AM PDT เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 53 ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) ร่วมกับ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดประชุมกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานของโครงการย่อยทั้ง 9 ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานของ ศสอ. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 35 คน เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตการทำงานของแต่ละโครงการให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการปรับเป้าการทำงานของ ศสอ.ใหม่ เพื่อให้การทำงานร่วมกับโครงการย่อยเป็นไปด้วยความสะดวกและไหลลื่น การประชุมครั้งนี้ใช้เวลา 3 วัน ที่ธารจินดารีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างพื้นที่โครงการ จึงมีความสะดวกต่อทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญ 3 ประเด็นคือ 1. กำหนดตัวชี้วัดของแต่ละโครงการรวมทั้งของ ศสอ.เองให้แล้วเสร็จเพื่อที่จะดำเนินงานต่อได้อย่างสะดวกและมีทิศทาง 2.จัดทำแผนการดำเนินงานที่จะนำไปสู่ผลลัพท์ที่ตั้งไว้ และ 3.สรรหาทีมประเมินภายในที่จะมาทำหน้าที่ดูภาพรวมของโครงการร่วมกับทีมประเมินจากภายนอก และทีมวิชาการ เพื่อตรวจสอบดูว่า งานที่ทำและผลของงานที่ออกมานั้น ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ถึงแม้ว่าการประชุมจะใช้ระยะเวลาถึง 3 วัน แต่นับว่ายังน้อยเพราะเป็นการระดมแบบมีส่วนร่วม ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่จึงค่อนข้างเครียดและวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถทำได้เสร็จทันตามกำหนดเวลา แต่สุดท้ายทุกคนก็อาศัยความอดทน ช่วยกันเติมเต็มประเด็นการทำงานที่ยังไม่เชื่อมโยงกันในช่วงแรกจนลดช่องว่างลงไปได้มาก ถือว่าเป็นการทะลุทะลวงอุปสรรคไปได้อีกเปราะหนึ่ง ทำให้ในขณะนี้ทุกโครงการพร้อมที่จะเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนได้แล้ว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ชาวบ้านมาบตาพุดร้อง กสม. ตรวจผลกระทบสิทธิ์ชุมชนตาม ม.67 Posted: 08 Sep 2010 01:40 AM PDT ชาวบ้านมาบตาพุดร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบผลกระทบต่อสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 53 ที่ผ่านมา ชาวบ้านมาบตาพุด ในนามเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกนำโดย นายน้อย ใจตั้งและนายสุทธิ อัชฌาศัย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.และนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน เพื่อร้องเรียนเพิ่มเติมจากการที่รัฐบาลได้ออกประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ โดยกำหนดให้มีโครงการหรือกิจการที่เข้าข่ายก่อผลกระทบรุนแรงจำนวน ๑๑ รายการ จากเดิมที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา ๖๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญมีมติที่ผ่านกระบวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้วหลายครั้ง เป็นรายการประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ทั้งหมด ๑๘ โครงการ แต่รัฐบาลกลับพิจารณาเพียง ๑๑ โครงการอย่างรีบเร่ง โดยมิได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง แต่อย่างใด เพียงแค่หวังให้เกิดการกำหนดโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และส่งศาลปกครองกลาง เพื่อหวังให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกจำกัดการดำเนินการตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางได้หลุดพ้นจากคำสั่งดังกล่าว จึงถือได้ว่ารัฐบาลมีเจตนาที่มิได้มุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักธรรมภิบาลในการปกครองประเทศ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนขยายวงกว้างออกไปในทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายฯได้กล่าวว่า หลังการประกาศให้เหลือ ๑๑ โครงการ และมีการเพิ่มขนาดของโครงการ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้กลับมาเลือกใช้กลไกราชการปกติจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)แบบเดิม ทำให้ประชาชนไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าได้นำข้อมูลผลการศึกษาที่มีมาตรฐานถูกต้องหรือไม่ การที่ไม่มีข้อมูลที่เป็นจริงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทำให้บริษัทที่ปรึกษาไปหยิบเอาผลการศึกษาที่ใดที่หนึ่งมาใช้อ้างอิง เช่น การเอาพื้นที่มาบตาพุดไปเปรียบเทียบกับทุ่งหญ้าสะวันนา หรือกรณีของโรงงานที่ปล่อยสารพิษบางตัว ที่อาจก่อปฏิกิริยากับสารตัวอื่นในเกิดเป็นสารพิษที่ก่อมะเร็งได้ จึงมีนัยยะสำคัญที่แอบแฝง อาจกระทบต่อสิทธิชุมชน ทั้งในประเด็นที่ไม่มีการกำหนดเชิงพื้นที่ที่ชัดเจน ไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ทั้งหมดจะเป็นผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งตัดความเห็นของประชาชนออกไป ถือได้ว่า เป็นการกระทำที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง นายสุทธิฯยังกล่าวอีกว่า โครงการที่หลุดออกไปเกือบทั้งหมดนั้น ในแง่ความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้มีการพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเลย นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ซึ่งได้เคยมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๒ โดยสาระสำคัญไม่เห็นด้วยต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความให้รัฐบาลออกใบอนุญาต ประกอบกิจการให้กับนักลงทุนอุตสาหกรรม ๗๖ โครงการ โดยที่ไม่มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ และมีส่วนทำลายมาตรการในการป้องกันสิทธิชุมชนต่อโครงการต่างๆ บริเวณมาบตาพุด ทั้งได้มีความเห็นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ ในการจัดตั้งองค์การอิสระทางด้านสิ่งแวดล้อมชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการให้ความเห็นต่อการวิเคราะห์รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านชีวิตและสุขภาพของประชาชน อีกทั้ง รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการนำร่าง พระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐได้ถือปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ จนส่งผลกระทบให้เกิดความแตกแยก และทำลายชีวิตชุมชน นายนิรันดร์ฯได้กล่าวแก่กลุ่มผู้ร้องเรียนว่า ปัญหาเร่งด่วนที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนต้องดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐในการทำงานป้องกันและลดมลพิษมลภาวะโครงการมาบตาพุด เพราะชาวบ้านทุกวันนี้ ยังประสบปัญหาในการทำมาหากินภาคเกษตร ประมง การท่องเที่ยวและเกี่ยวข้องต่อความปลอดภัยในชีวิต คณะอนุกรรมการจึงต้องตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ฟื้นฟูสภาวะสิ่งแวดล้อม มิให้เกิดมลพิษที่ทำลายความมั่นคงในชีวิตและชุมชน ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน เห็นด้วยกับ ๑๘ โครงการที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างรุนแรง แต่ทำไมจึงลดลงเหลือเพียง ๑๑ โครงการ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการผันน้ำ เหตุผลที่แท้จริงในการลดชนิด/ประเภท คืออะไรกันแน่? รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจนต่อสังคม ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯจะทำหนังสือขอข้อมูลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในคราวการประชุมที่ลดจำนวนโครงการจาก ๑๘ เหลือ ๑๑ โครงการ และจะประสานการทำงานกับองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการ ๔ ฝ่าย และคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทยเพื่อการแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่ต่อไป ส่วนศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม.ซึ่งมีประสบการณ์ในฐานะผู้จัดทำรายงานEIA มาก่อน ได้กล่าวสั้นๆว่า การตรวจสอบโครงการเหล่านนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเอาโครงการทั้งหมดมาดูในรายละเอียดเป็นโครงการๆไป เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ให้ได้ อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคย มีข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายในกรณีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้ ๑ . รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลของ ๗๖ โครงการต่อสาธารณะ รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รายงานการประชุมผลวิเคราะห์ของผู้ชำนาญการ และรายงานการประเมินความเสี่ยง ๒. รัฐบาลต้องเปิดเผยความคืบหน้าในการจัดกลุ่มของ ๗๖ โครงการ ตามพื้นที่ที่ตั้งโครงการ เพื่อดำเนินการตามที่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินการตามเงื่อนไของค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ๓. รัฐบาลต้องดำเนินการตามแนวทางการประเมินผลกระทบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนทั้งสามกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำการประเมิน และกลุ่มโครงการอื่นๆ ที่ต้องจัดให้มีกระบวนการทบทวนรายงานประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยสาธารณะ ๔. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับกรณีนี้รัฐบาลต้องจัดตั้งคณะกรรมการอิสระจากสถาบันการศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในลักษณะชั่วคราว เพื่อให้ความเห็นในการวิเคราะห์รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน ๕. การรองรับมลพิษของพื้นที่เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในเรื่องนี้รัฐบาลต้องดำเนินการให้มีการประเมินศักยภาพในการรองรับมลพิษของพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติใน ๗๖ โครงการ ๖. พื้นที่กันชนเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องกำหนดให้มีเขตปลอดมลพิษที่ชัดเจนและถูกต้องสอดคล้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งต้องกำหนดให้มีพื้นที่กันชนที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชนสำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมทุกส่วนและมีมาตรการในการกำจัดกากพิษอุตสาหกรรมและขยะที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ๗. กำหนดแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ โดยรัฐบาลต้องมีการจัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการสำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัย และเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของสารเคมีต่างๆ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหภาพแรงงาน องค์การของพนักงาน องค์การสาธารณกุศล และประชาชนกลุ่มต่างๆในชุมชนให้ครบถ้วน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น