โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จับตาภาคประชาชน: อธิป วิชชุชัยอนันต์ และชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี NGO ในมุมมองคนทำสื่อ

Posted: 02 Sep 2010 01:04 PM PDT

อธิป วิชชุชัยอนันต์ และชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 31 อธิป วิชชุชัยอนันต์ Producer รายการทีวีกระต่ายตื่นตัว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

 
“สังคมเรามันไม่ยุติธรรม องค์กรนี้... เรารู้ว่าองค์กรนี้เค้าจะช่วยสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น”
 
บทบาทของเอ็นจีโอ “ผมว่าก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่เหมือนเมื่อก่อนจะมีผลมาก อย่างสมัยก่อนเด็กๆ เราจะได้ยินว่าเอ็นจีโอทำตรงโน้น ตรงนี้ แต่สมัยนี้เหมือนกับว่ามันเริ่มหายไปหรือเปล่า”
 
“อย่างที่บอก คือมันน้อยลง ภาคประชาชนมัน... เหมือนมันเริ่มหายไป ยิ่งสังคมสมัยนี้มัน... อย่างผมที่เป็นวัยรุ่น เราจะเห็นว่าคนเรามันเริ่มอยู่กับตัวเองมากไปแล้ว ที่นี้ ทุกคนก็จะไม่สนใจปัญหาเลย เรื่องบ้านเมือง ก็รู้ว่ามันมาแล้วก็มันไป”
 
“ภาคประชาชนควรจะปลูกฝังไม่ว่าวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ว่าเปลี่ยนรูปแบบ ไม่ใช่แบบอย่างสมัยเดิมที่ทำแบบต้องมาประท้วงอะไรอย่างนี้ แต่มันมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วอยากให้เยาวชนรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันดี และไม่ได้ทำเพราะว่าเป็นผลประโยชน์ของใครบางคน” อธิป วิชชุชัยอนันต์ Producer รายการทีวีกระต่ายตื่นตัว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
    
 
00000
 
 
ตอนที่ 32 ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
 
 
“ผมคิดว่า คำว่าภาคประชาชนนั่นก็คือการที่ ประชาชนคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ดี หรือว่าสนใจในเรื่องเดียวกันก็ดีได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาของพื้นที่ ของชุมชน หรือแก้ไปปัญหาที่กลุ่มประชาชนกลุ่มนั้นได้รับ ประสบร่วมกัน โดยดำเนินการโดยกลุ่มประชาชนด้วยกันเอง”
 
“เอ็นจีโอก็คือองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทบาทในการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการรวมตัวกันของภาคประชาชน ในการที่จะสร้างเวที หรือช่วยกระตุ้นก็ดี หรือช่วยทำให้ภาคประชาชนสามารถรวมตัวกัน สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เอ็นจีโอก็จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานโดยมีความเข้าใจภาคประชาชน แล้วก็ต้องประสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว... ก็อาจจะ... มันมีเส้นแบ่งที่เปาะบางมากระหว่างภาคประชาชนกับเอ็นจีโอ ถ้าทำงานไม่เป็นเนื้อเดียวกัน มันอาจมีความเคลือบแคลง มีความสงสัย ในขณะเดียวกันเมื่อมีการเคลื่อนไหวในประเด็นที่ล่อแหลมหรือแหลมคม อย่างไปกระทบกับภาคการเมือง หรือภาคราชการ ถ้าไม่เป็นเนื้อเดียวจะถูกตั้งคำถาม หรือใช้เป็นจุดอ่อนในการที่จะทำให้การเคลื่อนไหว การเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาของภาคประชาชนไม่เกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น”
 
“ภาคประชาชนมีความสำคัญอย่างมากในการที่จะมีส่วนร่วม ที่นี้ปัญหาสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรให้ภาคประชาชนรวมตัวกันนำเสนอปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งในเชิงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และประชาชนที่ประสบปัญหาในเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้นอกจากจะรวมกลุ่มสะท้อนปัญหาแล้วก็คือนำเสนอการแก้ปัญหา แล้วก็ติดตามการแก้ปัญหา”
 
“การแก้ปัญหาผมคิดว่ามีทั้ง 2 ส่วนก็คือ ในส่วนของภาคประชาชนเองนั้นส่วนไหนที่แก้ปัญหาเองได้ ถ้าทำได้ก็ทำไปเลย ส่วนไหนที่ต้องการการสนับสนุน หนุนช่วยจากภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ อันนั้นก็ต้องทำร่วมกันไป แต่ส่วนใดที่ไม่สามารถทำเองได้ อันนี้ก็ต้องทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ เพื่อให้ภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา อันนี้ต้องทำให้ครบวงจร” ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
 
....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อสังเกตบางประการจากละครอิงประวัติศาสตร์เกาหลี 'ซอนต๊อก'

Posted: 02 Sep 2010 12:44 PM PDT

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางโทรทัศน์ช่อง 3 ได้นำเอาละครอิงประวัติศาสตร์จากประเทศเกาหลีหลายต่อหลายเรื่องมาให้เราได้รับชม ละครเหล่านี้มีเรื่องราวที่แตกต่างหลากหลายกันไปเช่น เรื่องของการทำอาหารและหมอผู้หญิงในละครเรื่อง 'แดจังกึม' ที่นับว่าเป็นการเปิดศักราชให้กับละครที่มาจากประเทศนี้ ตามติดมาด้วยอีกหลายเรื่องที่สามารถยึดครองเวลาช่วงหัวค่ำของหลายๆ ครอบครัวไปได้ ละครอิงประวัติศาสตร์เหล่านี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับการเมืองในราชวงศ์เกาหลีในหลายยุคหลายสมัยที่แก่งแย่งชิงดีและเล่ห์เหลี่ยมที่สลับซับซ้อนและละครที่กำลังฉายในขณะนี้ก็เช่นกัน เรื่องของ 'ซอนต๊อก' มหาราชินีที่ทำให้แคว้นชิลลาสามารถรวมเอาแคว้นอื่นๆ เข้ามาไว้ในอำนาจได้ แต่กว่าที่จะสำเร็จลงก็ต้องผ่านอุปสรรคและเกมการเมืองต่างๆ มาอย่างมากมาย บทความชิ้นนี้เป็นเพียงข้อสังเกตบางส่วนระหว่างที่ได้รับชมละครเรื่องนี้และนำมาโยงเข้ากับความรู้ทางประวัติศาสตร์และสังคมที่ผู้เขียนพอจะมีอยู่บ้างเท่านั้น


ปฏิทิน ความรู้ และอำนาจ

ช่วงประวัติศาสตร์ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะปรากฏขึ้นทำให้ผู้คนเริ่มตั้งข้อสงสัยกับสิ่งแวดล้อมรายรอบตัวหรือแม้แต่กับตัวมนุษย์เอง เราคงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าอำนาจที่มาจากการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติเป็นอำนาจสำคัญที่ทำให้การสถาปนาอำนาจของผู้นำในสังคมเกิดขึ้นได้ และยิ่งการสามารถติดต่อสื่อสารกับสิ่งที่มองไม่เห็นเหล่านี้แสดงอิทธิฤทธิ์ขึ้นมาก็ยิ่งทำให้ผู้นำคนนั้นมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเกมการเมืองในอดีตจึงมักจะพุ่งเป้าไปที่การทำตัวเป็นผู้มีความสามารถพิเศษเหนือผู้อื่น ผู้ปกครองจำเป็นต้องแสดงตัวให้ประชาชนใต้อาณัติของตนเห็นว่าตนเองนั้นได้รับอำนาจจากสวรรค์หรืออะไรก็ตามที่จะปกครองพวกเขาเหล่านั้นได้

สนามแรกของการต่อสู้ระหว่างซอนต๊อกกับอดีตพระสนมมีซิลจึงเกิดขึ้นจากความคิดดังกล่าวเช่นกัน มีซิลไม่เพียงแต่กุมอำนาจในทางการเมืองเอาไว้เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นธิดาเทพผู้ทำหน้าที่ติดต่อกับสวรรค์และทำนายโชคชะตาของบ้านเมืองได้อีกด้วย การมีอยู่ของอำนาจที่มองไม่เห็นเหนือมวลชนที่ศรัทธาต่อสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับมีซิลเสมอมาโดยที่ทุกคนก็ยังคงเชื่อว่าอำนาจของนางมาจากการติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติจริงๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้วนางก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ค้นพบประโยชน์ของปฏิทินร้อยปีในการพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ล่วงหน้าและนำมันมาใช้ประโยชน์เท่านั้นเอง จนเมื่อต๊อกมานค้นพบความลับดังกล่าวจึงได้นำมันมาใช้บ้างโดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้ที่สวรรค์ส่งมาให้กับแคว้นชิลลาแทนพระขนิษฏาที่ถูกมีซิลลอบสังหารไป ต๊อกมานได้นำก้อนหินไปฝังเอาไว้กลางเมืองและใส่เมล็ดถั่วที่ชุ่มน้ำรองเอาไว้ข้างใต้ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นเมล็ดถั่วก็เริ่มงอกและดันให้ก้อนหินที่สลักคำพยากรณ์เกี่ยวกับต๊อกมานโผล่ขึ้นมาปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ประชาชนทุกคนยกเว้นมีซิลที่รู้เท่าทันแผนการดังกล่าว ในเวลาประจวบเหมาะกับที่ปฏิทินกล่าวว่าจะมีสุริคลาสต๊อกมานก็ได้ปรากฏกายขึ้นเพื่ออ้างถึงความชอบธรรมที่สวรรค์บันดาลให้นาง นั่นนับเป็นการเปิดตัวต๊อกมานครั้งแรกเพื่อลงสู่สนามการเมืองกับมีซิลอย่างสง่างาม

การครอบงำในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัยได้นำมาใช้และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็ยังคงมีพลังอย่างยิ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการและปรับปรุงบางอย่างเพื่อให้เข้ากับสังคมที่มีกรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น การอ้างเพียงแค่ความเป็น "ผู้รู้" ที่มีมากกว่าบุคคลอื่นๆอาจเป็นไปไม่ได้ในโลกที่เต็มไปด้วยความรู้หลากหลายแบบ ไม่มีใครที่จะสามารถประกาศตัวเองได้อีกแล้วว่าเป็นผู้ที่สามารถหยั่งรู้และติดต่อกับเทพเจ้าได้ แต่ทุกสิ่งย่อมจะมีการพัฒนา เราจึงมักจะเห็นความคิดที่เคารพผู้อาวุโส ความคิดที่ว่าคนดีย่อมจะเป็นคนที่เหมาะสมต่อสังคม ความคิดที่คนกลุ่มหนึ่งแสดงตัวว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เหนือกว่าคนกลุ่มอื่นๆ และสมควรจะได้รับอำนาจในการปกครอง สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาครอบงำเราอยู่เสมอและทำให้เราข้ามไปไม่พ้นความเชื่อดังกล่าว จนในที่สุดมันได้ขยายตัวกลายมาเป็นจารีตหรือกฎเกณฑ์หรืออะไรก็ตามที่ส่งผลต่อการจัดระเบียบทางสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่คนที่เอ่ยอ้างตนเองเหล่านี้ต้องการ

นอกจากการใช้ความรู้มาสถาปนาตนเองให้มีอำนาจในสังคมแล้ว สงครามข่าวลือก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่หลายต่อหลายครั้งในละครเรื่องนี้ ข่าวลือเป็นอาวุธที่ทรงพลังและพื้นฐานที่สุดในการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของอีกฝ่ายไปได้ ใบปลิว ข้อความที่ปิดอยู่ทั่วเมืองหรือแม้แต่การกระซิบปากต่อปากสามารถทำให้เหตุการณ์เป็นไปตามที่ผู้สร้างสถานการณ์ได้คาดเดาเอาไว้ การใช้ใบปลิวของต๊อกมานหลังจากที่มีซิลก่อการกบฏได้ทำให้ชาวบ้านเริ่มตั้งคำถามต่อการกระทำของรัฐบาลที่ใช้อำนาจทหารในการควบคุมเสรีภาพในการพูดหรือแม้แต่การชุมนุม หรือการใช้สงครามข่าวลือว่าองค์หญิงต๊อกมานจะวางยาพิษในแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองที่มีซิลตั้งมั่นต่อสู้ในฐานกบฏก่อได้ทำให้กำลังของนางลดดน้อยลงไปและต้องพ่ายแพ้ในที่สุดโดยที่ไม่ต้องมีการสู้รบเลยแม้แต่นิดเดียว

แต่ในขณะเดียวกันคุณความดีที่มีของข่าวลือก็ยังทำให้บัลลังก์ของราชินีซอนต๊อกต้องสั่นคลอนอีกครั้งหลังจากที่ฝ่ายศัตรูต้องการจะโค่นล้มพระนางโดยการใช้ข้อความที่ลอยมากับเรือศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่าจะมีพระราชาองค์ใหม่ เราจึงอาจจะกล่าวได้ว่ากลการเมืองประเภทนี้มีทั้งข้อดีและข้อด้อยสำหรับผู้กุมอำนาจในมือ มันอาจเป็นทั้งสิ่งที่จะทำให้อิทธิพลของเขาเหล่านี้มั่นคงยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกันมันก็อาจเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนได้หากมันอยู่ในมือของฝ่ายศัตรู

ในโลกปัจจุบันที่ข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในวงกว้างจึงไม่เพียงแต่ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถใช้มันเป็นช่องทางในการทำให้ประชาชนเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ แต่เขาเหล่านี้ก็ต้องพยายามอย่างหนักเช่นกันที่จะควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ การใช้ข่าวลือจึงเป็นอีกเกมหนึ่งที่ผู้มีอำนาจมักใช้ต่อประชาชนเพื่อให้เป้าหมายของตนเองไปตามที่ปรารถนา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามที่จะจำกัดไม่ให้มีคนกลุ่มอื่นเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐเผด็จการจำนวนมากมีท่าทีที่แข็งกร้าวอย่างยิ่งต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อสารมวลชนในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตน ขณะที่การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐก็ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้นเพื่อให้สังคมได้ตระหนักแบบผิดๆ ว่าพวกเขากำลังอยู่ในโลกแห่งความสุขและจงเชื่อมั่นศรัทธาต่อรัฐบาลต่อไป

เผ่าคายา : คนชายขอบกับสังคม

ชนเผ่าคายาเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแคว้นชิลลามาก่อนแต่กลับถูกทำให้มีสถานภาพเหมือนกับพลเมืองชั้นสองของแคว้นชิลลาที่ถูกผลักออกจากสังคมตลอดมา ตอนที่มีซิลยังเรืองอำนาจในฐานะของพระสนมและธิดาเทพ นางได้ใช้อำนาจที่สามารถติดต่อกับสวรรค์ในการบอกคำพยากรณ์ที่ว่าจะต้องขับไล่ชนเผ่านี้ออกไปอยู่นอกเขตเมืองหลวง ชนเผ่าคายาจึงเป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่เสมอมาและต้องมีชีวิตอย่างยากลำบากหลายสิบปี จนทำให้ต้องมีการตั้งกลุ่มกู้ชาติขึ้นมา หัวหน้ากลุ่มที่นำโดยแวยาที่เป็นเจ้าชายของชนเผ่าได้พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยองค์หญิงต๊อกมานและผลักดันให้คิมยูซินที่เป็นคนเชื้อสายคายาเหมือนกันและยังเป็นทหารคนสนิทขององค์หญิงได้ขึ้นเป็นพระราชาเพื่อทำให้เผ่าคายาได้มีอำนาจ ในท้ายที่สุดเขาไม่ประสบผลสำเร็จแต่ได้รับการเจรจาจากองค์หญิงต๊อกมานซึ่งในขณะนั้นได้มีสถานะเป็นพระราชินีซอนต๊อกแล้ว เนื้อหาการเจรจามีอยู่ว่าเขาจะต้องสลายตัวกลุ่มกู้ชาติคายานี้และเข้าร่วมในกองทัพของพระนาง โดยข้อแลกเปลี่ยนคือพระราชินีซอนต๊อกจะช่วยให้ชาวคายาได้มีสถานภาพที่ดีขึ้น ในที่สุดแวยายอมตกลงและมอบรายชื่อของกลุ่มกู้ชาติทั้งหมดให้กับทางการ แต่พระราชินีซอนต๊อกได้เผารายชื่อนั้นจนหมดและกล่าวว่าต่อแต่นี้ไปจะไม่มีเผ่าคายา เพราะทุกคนจะเป็นลูกหลานชิลลาของพระองค์ทั้งหมด

บางคนอาจจะมองว่านี่เป็นการทำให้เผ่าคายาต้องสูญหายไปอย่างสิ้นเชิง แต่ตัวผู้เขียนกลับคิดว่านี่เป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง ท่ามกลางปัญหาของการแบ่งแยกระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่มีสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน ความพยายามที่จะแบ่งแยกของรัฐจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายขึ้นไปอีก การจะระบุสัญชาติหรือเชื้อสายของแต่ละคนว่าใครเป็นกลุ่มไหนไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถจัดการได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการยักย้ายถ่ายเทและผสมปนเปกันระหว่างเชื้อชาติไปหมด ทางออกที่เราจะทำให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันโดยที่ไม่มีปัญหาดังกล่าวคือการก้าวข้ามไปให้พ้นกับอคติของเชื้อชาติและตระหนักว่าเรากำลังอยู่บนผืนดินเดียวกัน

ภายใต้ความเป็นไทยที่เรากำลังชื่นชมนั้น มีหลายต่อหลายคนที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่าความเป็นไทยแท้จริงแล้วคืออะไร มันคือเรื่องของเชื้อชาติ อัตลักษณ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่หรือแม้แต่อาหารประจำชาติหรือไม่ เราไม่อาจจะระบุลงไปได้แน่ชัดว่าอะไรคือไทย แต่ตอนนี้เรากลับกำลังใช้คำนี้ในการแบ่งแยกคนแต่ละกลุ่มออกไปจากสังคม เรากำลังเบียดขับและผลักดันให้คนที่ไม่ใช่คนไทยหรือไม่มีความเป็นไทยไปอยู่ในที่อื่น คำถามคือถ้าเช่นนั้นใครควรจะเป็นคนไทยบ้าง? ชาวกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บนดอยสูงในเขตภาคเหนือ โสเภณีชาวอีสานที่กำลังขายบริการแลกเงินจากนักท่องเที่ยว หรือแม้แต่เด็กสาวที่สังคมประณามว่าเป็นเด็กใจแตกที่กำลังตั้งครรภ์ ทั้งหมดนี้เราเรียกว่าเป็นคนไทยและเรียกว่าเป็นความภูมิใจของไทยได้หรือไม่ ความเป็นไทยไม่เพียงแต่เป็นการเสนอด้านที่ดีให้กับคนอื่นได้รับรู้ แต่มันหมายถึงการที่เราตระหนักว่าเรากำลังอยู่ร่วมกับใครและเพื่ออะไร หน้าที่ของเราจึงไม่ใช่แค่การกล่าวประณามด่าทอคนที่ไม่ใช่คนไทยและไม่ทำตัวเป็นไทย แต่หน้าที่ของเราคือการที่ยอมรับและช่วยกันหาทางออก

ปัญหาของการที่คนกลุ่มหนึ่งถูกทำให้เป็นคนชายขอบจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่เรื่องของเชื้อชาติเท่านั้น แต่มันยังขยายไปสู่กลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนาจากสังคมอีกด้วย ขณะนี้ที่กลุ่มคนเสื้อแดงถูกอีกฝ่ายปักป้ายเป็นความไม่เป็นไทยที่ควรจะถูกขับไล่ออกไปนอกประเทศ ทำให้เกิดคำถามขึ้นอย่างมากมายว่าความเป็นไทยคืออะไร มันคือห้างสรรพสินค้าที่ถูกเผา? คือความสงบเรียบร้อยที่ถูกโบกทับอยู่บนความขัดแย้ง? หรือการที่เขาเหล่านั้นชูป้ายของอดีตนายกที่ถูกประณามว่าโกงกินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ?

เราไม่อาจจะหลีกเลี่ยงและทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับปัญหาดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้นเพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกคัดสรรเอาแต่กลุ่มบุคคลที่น่าพอใจมาร่วมความเป็นสังคมไทย แต่เราควรจะตระหนักเสียทีถึงแก่นแท้ความเป็นไทยว่าจริงๆแล้วมันคืออะไรและมันมีอยู่หรือไม่ บางสิ่งอาจจะถูกสร้างขึ้นมาได้ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นจริงและสามารถจับต้องได้คือสังคมที่เรากำลังอยู่ร่วมกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิพากษาคดีอาญาอิหม่ามยะผา ศาลยุติธรรมชี้ต้องฟ้องศาลทหาร

Posted: 02 Sep 2010 12:12 PM PDT

ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา ในคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ระบุศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจ ต้องฟ้องที่ศาลทหาร เมียยื่นอุทธรณ์ ชี้ชาวบ้านฟ้องศาลทหารเองไม่ได้ ป.ป.ช.อืดยังไม่ส่งสำนวนให้อัยการศาลทหาร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 กันยายน  2552 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดอ่านคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ระหว่าง นางนิม๊ะ กาเซ็ง เป็นโจทก์     ฟ้องพันตรีวิชา  ภู่ทอง จำเลยที่ 1 ร้อยตรีสิริเขตต์  วาณิชบำรุง จำเลยที่ 2 จ่าสิบเอกเริงณรงค์  บัวงาม  จำเลยที่ 3 สิบเอกณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช จำเลยที่ 4 สิบเอกบัณฑิต  ถิ่นสุข  จำเลยที่ 5 และพันตำรวจเอกทนงศักดิ์ วังสุภา จำเลยที่ 6 ข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด  กักขังหน่วงเหนี่ยว เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

ศาลมีคำพิพากษาสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกข้อกล่าวหา สำหรับข้อหาที่โจทก์กล่าวหาว่า การนำตัวนายยะผา กาเซ็งกับพวก มาแถลงข่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ศาลให้เหตุผลว่า ระเบียบดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญไม่มีบทลงโทษ จึงไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลยที่ 6 ได้  ส่วนการที่จำเลยที่ 6 นำรถยนต์บรรทุกผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้เป็นที่คุมขัง ควบคุมตัวนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตายกับพวก ภายในหน่วยเฉพาะกิจที่ 39  ก็เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  

ส่วนที่สองศาลพิพากษาไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดโดยเหตุผลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและระบุว่า หากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ให้นำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจ โดยในคำฟ้องให้แจ้งต่อศาลทหารด้วยว่าเคยฟ้องต่อศาลนี้แล้ว และศาลมีคำสั่งไม่รับ พร้อมกับให้แนบสำเนาคำพิพากษาและรายงานกระบวนพิจารณาคดีนี้ในท้ายคำฟ้องด้วย

โจทก์เคารพในคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาสแต่ไม่อาจเห็นพ้องด้วยจึงจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม แจ้งว่า คดีนี้เป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนใต้ที่ผู้เสียหายที่เป็นประชาชนได้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาเนื่องจากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว เพื่อให้ได้ซึ่งคำรับสารภาพหรือข้อสนเทศจากผู้ถูกควบคุมตัว จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต อันเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา และเป็นความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และไม่อาจยอมรับได้

จากคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส พิพากษาว่าหากโจทก์มีความประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 โจทก์จะต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจนั้น  โจทก์เห็นว่า การที่ราษฎรจะนำคดีไปฟ้องต่อศาลทหารนั้นไม่สามารถกระทำเองได้ แต่จะต้องให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำสำนวนคดีส่งให้อัยการศาลทหารเป็นผู้ยื่นฟ้องเท่านั้น

ซึ่งขณะนี้สำนวนการสอบสวนในคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่า ป.ป.ช. จะดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จและส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการศาลทหารเพื่อฟ้องคดีต่อศาลทหารได้เมื่อใด และใช้เวลาดำเนินการมานานแล้ว จึงถือว่าคดีนี้มีความล่าช้าเป็นอย่างมาก ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า กระบวนการยุติธรรมที่ล้าช้าก็คือความอยุติธรรม

กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่า การนำตัวนายยะผา กาเซ็งกับพวก  มาแถลงข่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ศาลให้เหตุผลว่าระเบียบดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายอีกทั้งรัฐธรรมนูญไม่มีบทลงโทษ จึงไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลยที่ 6 ได้นั้น โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ในคดีอาญาต้องสันนิฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

อีกทั้งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าผูกพันศาลและหน่วยงานของรัฐโดยตรง ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 6 ว่าการนำตัวนายยะผา กาเซ็งกับพวกที่เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยไปแถลงข่าวนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด จึงถือว่าจำเลยที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีบทลงโทษไว้อย่างชัดแจ้งที่สามารถลงโทษจำเลยที่ 6 ได้

ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของนายยะผา กาเซ็งจะใช้สิทธิในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุดต่อไป

เนื่องจากเหตุคดีนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อช.9/2551 และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ว่า ผู้ตายคือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551

เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งนางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ในฐานะผู้เสียหายได้เคยร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนทำหน้าที่ล่าช้า นางนิม๊ะ กาเซ็ง จึงนำคดีมาฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1611/2552

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครอง สั่งเพิกถอน 2 ใน 76 โครงการมาบตาพุด เข้าข่ายโครงการกระทบชุมชนรุนแรง

Posted: 02 Sep 2010 11:59 AM PDT

 กรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีมาบตาพุด เพิกถอนเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบชุมชนอย่างรุนแรงเท่านั้น มีแค่ 2 ใน 76 โครงการ เข้าข่ายถอนใบอนุญาต นอกนั้นเดินเครื่องได้ต่อ

 

2 ก.ย. 2553 - ศาลปกครองเผยแพร่คำพิพากษาคดีมาบตาพุด ซึ่งเป็นคดีที่สมาคมต่อต้านโลกร้อนและชาวมาบตาพุดรวม 43 ราย ฟ้องคดีกับหน่วยงานรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

"เนื่องจากไม่ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ไม่จัดให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเสียก่อน และละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมาย ออกกฎหรือระเบียบเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการเสนอความเห็นขององค์กรอิสระ ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว"

โดยผู้ฟ้องร้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการปรับปรุงกฎหมาย

ศาลได้วินิจฉัยว่ามีคำสั่งให้ยกคำร้อง 74 โครงการสามารถเดินหน้าต่อได้ตามปกติ รวมถึงโครงการโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ของ บมจ.ปตท.(PTT)ด้วยโดยศาลให้เหตุผลว่า โครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้มาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จึงถือว่าภาครัฐดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอน โดยไม่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหามลพิษแต่อย่างใด

 ส่วนอีก 2 โครงการที่ไม่ผ่านและศาลมีคำสั่งยกเลิกใบอนุญาตเนื่องจากเข้าข่ายใน 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมคือ โครงการโรงงานผลิตเอทีลีออกไซด์และเอทีลีนไกลคอน(ส่วนขยาย)ของบริษัททีโอ ไกลคอน จำกัดในเครือ บมจ.ปตท.เคมิคอล(PTTCH) และโครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของบมจ.ไทยพาสติกและเคมี ภัณฑ์ (TPC) ซึ่งจะต้องนำกลับไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สวล.) ไปพิจารณาว่าเข้าข่ายโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง หรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่พอใจคำตัดสินเนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพิ่งคลอดประกาศ 11 กิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพออกมาเมื่อ วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ดังนั้นคงต้องเดินหน้าสู้อุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุดต่อไปรวมทั้งจะยื่นฟ้อง เพื่อขอให้เพิกถอน 11 กิจการรุนแรงด้วยเพราะถือว่ากระทรวงทรัพยากรฯออกกฎเกณฑ์ประเภทโครงการรุนแรง ไม่ครอบคลุมเพื่อให้เจ้าของโครงการหลุดคดีถือว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ

ขณะที่นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า พอใจเพียงกรณีที่ที่ศาลยอมรับสิทธิชุมชนตามมาตรา 67 วรรคสองเท่านั้น แต่ยังไม่พอใจผลทางคดี เนื่องจากเป็นการตัดสินคดี ที่กำกวม และให้เหตุผลแบบแปลกๆ มีการใช้คำอธิบายที่เยิ่นเย้อเกินไป และสุดท้ายก็ทำให้โครงการจำนวนมากหลุดจากการต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 ดังนั้นจะเร่งประเมินรายละเอียดว่าโครงการไหนที่ยังติดล็อกอยู่และโครงการ ไหนที่หลุดไป

 

 

ที่มาบางส่วนจาก : แนวหน้า

 

AttachmentSize
คำสั่งพิพากษาศาลปกครองกลางคดีมาบตาพุด108 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

บล็อกเกอร์อ้างสำนักงานเนลสันบอก 'ทักษิณ' เข้าพบส่วนตัว แต่ไม่ได้ถ่ายภาพเป็นทางการ

Posted: 02 Sep 2010 03:49 AM PDT

2 ก.ย. 2553 - เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า หลังจากที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาโชว์รูปภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าพบอดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดล่า แห่งแอฟริกาใต้ เพื่อไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องความปรองดอง จนเกิดคำถามในวงกว้างว่า เป็นภาพจริงหรือภาพตัดต่อ นั้น

บล็อกเกอร์ชื่อ "Saksith Saiyasombut" ซึ่งระบุว่า ตัวเองเป็นนักข่าวพาร์ทไทม์ และเขียนบล็อกเกี่ยวกับข่าวในประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ ได้อ้างว่า ได้สอบถามไปยังสำนักงานของเนลสัน แมนเดล่า ซึ่งระบุที่อยู่ไว้บนเว็บไซต์ของประเทศแอฟริกาใต้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าพบนายแมนเดล่าจริงหรือไม่และได้รับคำยืนยันว่า เป็นความจริง แต่เป็นการพบปะแบบส่วนตัว  ทั้งไม่ได้มีภาพถ่ายอย่างเป็นทางการจากทางสำนักงานแต่อย่างใด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: นักโทษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ความผิด? ความจน? และการถูกลืม?

Posted: 02 Sep 2010 02:11 AM PDT

เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้วหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นอกเหนือจากผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ยังมีผู้ถูกจับกุมอีกจำนวนมาก บางส่วนถูกปล่อยตัวแล้ว บางส่วนได้รับการประกันตัว แต่มีคนอีกไม่น้อยที่ยังอยู่ในเรือนจำจนทุกวันนี้

แม้หลายหน่วยงานจะพยายามเรียกร้องให้มีการเปิดเผยจำนวนและรายชื่อของผู้ถูกคุมขังทั้งหมด แต่ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่มีตอนนี้คงเป็นดังที่ พ.อ.เฟื่องวิชชุ์  อนิรุทธเทวา เลขานุการ รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า ปัจจุบันยังมีผู้ที่อยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 209 คน

โดยกรมราชทัณฑ์แบ่งผู้ถูกคุมขังเป็น 4 ประเภท คือ 1)อยู่ระหว่าง

สอบสวน ศาลยังไม่ตัดสินในเรือนจำทั่วประเทศ 169 คน 2)คดีตัดสินเด็ดขาด 12 คน 3) กักขังแทนค่าปรับ 2 คน 4)อยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา 26 คน

สำหรับสถานที่กักขังนั้น

แยกเป็น เรือนจำพิเศษธนบุรี 1 คน เรือนจำกลางคลองเปรม 17 คน เรือนจำพิเศษพัทยา 1 คน เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่ควบ คุมแกนนำ นปช.รวม 53 คน ทัณฑสถานหญิงกลาง 4 คน เรือนจำกลางเชียงราย 6 คน เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 6 คน เรือนจำกลางขอนแก่น 9 คน เรือนจำจังหวัดมุกดาหาร 22 คน เรือนจำอำเภอธัญบุรี 2 คน เรือนจำกลางนครปฐม 2 คน เรือนจำกลางเชียงใหม่ 7 คน เรือนจำกลางสมุทรปราการ 2 คน เรือนจำกลางอุดรธานี 25 คน เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม 11 คน เรือนจำกลางอุบลราชธานี 35 คน

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกแจ้งข้อหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีก นอกเหนือจากข้อหาพื้นๆ อย่างการชุมนุมเกิน

5 คน ทั้งข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ การมีอาวุธสงครามในครอบครอง ฯลฯ ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจตามเรือนจำต่างๆ จะพบว่ามีคนจำนวนมากทั้งที่ยอมรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธยังคงไม่มีทนายเพื่อต่อสู้คดี แม้พรรคเพื่อไทยได้ให้การช่วยเหลือด้านทนายความให้บางส่วนแล้วก็ตาม


                    

วิภาณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง 10 คน ที่เรือนจำคลองเปรม เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าทั้งหมดรับสารภาพในชั้นศาลและถูกพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ในจำนวนนี้มีส่วนที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ 3 คน โดยในจำนวนนั้น 2 คน เป็นนักศึกษาในกลุ่มเสรีปัญญาชน ถูกจับวันที่ 16 และ 17 พ.ค. ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี

ที่เหลือเป็นคนต่างจังหวัดและไม่มีทนายความสู้คดี คาดว่าคดีคงถึงที่สุดแล้วเนื่องจากพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์มานาน พวกเขาได้รับโทษตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี เช่น กรณีของนายแสวง คนโคราช ถูกจับวันที่ 18 พ.ค. บริเวณแยกมักกะสัน เดินทางมาจากแยกราชประสงค์กำลังจะข้ามไปสามเหลี่ยมดินแดง เขาเข้ามาทำงานก่อสร้างที่ กทม.นานแล้ว ไปร่วมชุมนุมคนเดียว เมื่อถูกจับก็ถูกส่งตัวมาที่ สน.พญาไท ต่อมาวันที่ 19 พ.ค.53 ไปขึ้นศาลแต่ให้การปฏิเสธ ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย.53 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาล ไม่มีทนายความสู้คดี ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากเพิ่งพ้นโทษจากคดีเก่าไม่เกิน 5 ปี ศาลจึงเพิ่มโทษอีก 6 เดือน เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน ส่วนญาติพี่น้องนั้นอยู่ที่ต่างจังหวัด พ่อก็แก่มากแล้ว ทางบ้านทราบว่าถูกขังแต่ไม่สะดวกมาเยี่ยม เขาพยายามเขียนจดหมายไปที่บ้าน แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครตอบ

กรณีของนายอภิวัฒน์ เป็นคนขอนแก่น ถูกจับเมื่อวันที่ 18 พ.ค.53 รับสารภาพและศาลตัดสินในวันรุ่งขึ้น พิพากษาจำคุก 1 ปี เคยมีส.ส.จากเพื่อไทยมาเยี่ยมคนหนึ่งและให้ความช่วยเหลือแต่งทนายให้ แต่ไม่เคยได้พบทนาย เขาเดินทางเข้ามากทม.กับเพื่อน 3-4 คน และยอมรับตรงไปตรงมาว่าถูกจับบริเวณซอยรางน้ำ ขณะกำลังจะเข้าไปที่ชุมนุมที่ราชประสงค์

ปัจจุบันคณะทนายความหนุ่มสาวอาสากลุ่มหนึ่งกำลังหาทางช่วยเหลือด้านคดีกับคนเหล่านี้ซึ่งมีฐานะยากจน ด้วยเหตุผลว่า อย่างน้อยที่สุด เขาก็ควรได้รับสิทธิพื้นฐานในการต่อสู้คดี


นอกจากนี้ยังมีอีกบางกรณีที่ไม่มีญาติเยี่ยม ไม่มีทนาย ไม่รู้ว่าคดีของตัวเองไปถึงไหน ไม่รู้ชะตากรรมใดๆ ข้างหน้า  อย่างกรณีของสมพล อายุ
43 ปี ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มา 3 เดือนกว่า โดนจับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.บริเวณด่านทหารแถวจุฬาฯ การสอบถามข้อมูลเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะยังมีความกลัว หวาดระแวงค่อนข้างสูง เขาเล่าเพียงว่าชีวิตในเรือนจำค่อนข้างขัดสน เพราะไม่มีญาติมาเยี่ยม ไม่มีเงินในบัญชีในการใช้จ่ายส่วนตัว เคยได้รับแจกสบู่ 3 ก้อนตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ปัจจุบันต้องเก็บเศษสบู่ของคนอื่นใช้ นอกจากนี้เขายังเรียกร้องขอผงซักฟอกเป็นสิ่งจำเป็นมากในเรือนจำ

“เคยมีมาเยี่ยม พวกนี้เอาแต่ฟ้อน เบื่อมาก (หัวเราะ) ถ่ายรูปแล้วก็กลับ บอกเขาแล้วว่าไม่มีสบู่ ยาสีฟัน แฟ้บก็กำลังจะหมด เขารับปากแต่ไม่เห็นได้” สมพลกล่าวถึงข้อเรียกร้องอันไร้ผลที่มีต่อหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินในเรือนจำแล้วครั้งหนี่ง

เขากล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาเดินทางไปศาลแขวงปทุมวันหลายครั้ง และเคยเซ็นกระดาษเปล่าครั้งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าทางพรรคเพื่อไทยจะตั้งทนายให้ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยได้พบทนาย ปัจจุบันสมพลทำงานในเรือนจำในหน่วยผลิตแก้วกระดาษ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เขาได้เงินปันผลไปแล้ว 78 บาท

อีกกรณีหนึ่งคือ ประสงค์ ซึ่งทนายของพรรคเพื่อไทยได้เข้าไปสอบคำให้การแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ประสงค์เป็นเด็กหนุ่มอายุ 26 ปี ใส่ตาปลอมข้างซ้ายเนื่องจากตาเสียจากอุบัติเหตุตอนวัยรุ่น เขาบอกว่ามีอาชีพเก็บของเก่าอยู่ย่านดินแดง ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อาศัยใต้ทางด่วนเป็นที่หลับนอนมาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านี้เขาทำงานอยู่โครงการศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ในแผนกช่างปั้น แต่ด้วยความเกเรจึงถูกส่งตัวกลับบ้านที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วก็หนีมาอยู่กทม.อีก  

ประสงค์เล่าให้ฟังว่า เขาถูกทหารจับบริเวณใต้ทางด่วนดินแดงเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ซึ่งยังคงเป็นช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิว และทหารกำลังเคลียร์พื้นที่บริเวณนั้น เวลาประมาณบ่ายสองเขารู้สึกหิวจึงเดินออกมาหาข้าวกินแถววัดสะพานแล้วจึงถูกทหารจับ พร้อมกับคนอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันอีก 5 คน จากนั้นถูกมัดมือไขว้หลัง แล้วให้คุกเข่าตรงกองอาวุธไม่ว่าจะเป็นระเบิด ปืน ขวดน้ำมัน เพื่อให้นักข่าวถ่ายภาพ เขายืนยันว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอาวุธเหล่านั้น ก่อนหน้านั้นเขาไปร่วมชุมนุมบ้างเหมือนกันโดยไปช่วยแจกน้ำตามเต๊นท์และได้ข้าวกินฟรี

ประสงค์บอกด้วยว่า ขณะถูกทหารควบคุมตัวนั้นเขาพยายามดิ้นและถูกซ้อม ก่อนจะถูกจับส่งตำรวจในพื้นที่ เขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน และมีอาวุธไว้ในครอบครอง เขาให้การปฏิเสธทุกข้อหาและจะขึ้นศาลนัด แรกในวันที่ 27 ก.ย.นี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยรัฐสัมภาษณ์ทักษิณ เผยถ่ายรูปกับแมนเดลาเมื่อศุกร์ที่แล้ว

Posted: 02 Sep 2010 12:21 AM PDT

ไทยรัฐออนไลน์ นำเสนอบทสัมภาษณ์ทักษิณ ชินวัตร ภายหลังถูกวิจารณ์เรื่องความสมจริงของรูปถ่ายกับเนลสัน แมนเดลา เผยทำเหมืองเพชรอยู่แอฟริกา มีคนสร้างเรื่องโกหกกรณีป่วย รำคาญถูกกล่าวหาเรื่องเป็นที่ปรึกษาฮุนเซน บอกตนไม่มีอนาคตทางการเมือง-ไม่กลับไทยก็ได้ขอให้บ้านเมืองปรองดองเลิกกลั่นแกล้งกัน

2 ก.ย. 2553 - เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ นำเสนอบทสัมภาษณ์ทักษิณ ชินวัตร ภายหลังจากนายนพดล ปัทมะที่ปรึกษากฎหมายตระกูลชินวัตร นำรูปถ่ายล่าสุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถ่ายรูปคู่กับ นายเนลสัน แมนเดลามาเปิดเผยกับสื่อมวลชนแต่กลับโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจจะเป็นรูปถ่ายที่ถูกปรับแต่งหรือไม่นั้น รวมทั้งกระแสข่าวเรื่องปัญหาสุขภาพ ซึ่งบทสัมภาษณ์ฉบับตัวอักษรมีดังนี้

อยากขอเรียนถามถึงความคืบหน้า ว่า ขณะนี้ท่านอาศัยอยู่ในประเทศอะไร

ผม ... เดินทางตลอดเวลา ครับ  ขณะนี้อยู่ที่ทวีปแอฟริกา มาทำเหมืองเพชร อยู่

ด้านกระแสข่าวเรื่องสุขภาพ ที่มีการพูดถึงในวงกว้างว่าอาจจะกำลังป่วยหนักอยู่

คน ที่สร้างเรื่องก็โกหกมาตลอดอยู่แล้วนี่ครับ หากคนยังเชื่อการโกหกอยู่ คน ๆ นั้น ก็ควรพิจารณาตัวเองว่า ทำไมจึงยังเชื่อคนที่โกหกเราตลอดทั้ง ๆ ที่พิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริงก็ยังเชื่ออยู่ ก็ต้องถามตัวเองแล้วว่า ตัวเองผิดปกติหรือเปล่า หรือชอบฟังนิยายโกหก คนเราใครจะพูดอะไรก็ได้ มันอยู่ที่คนฟัง พูดได้หมดครับ จะพูดไง จะโกหกยังไงก็ได้ แต่อยู่ที่คนฟัง คุณฟังเสียงผมแล้วคิดว่าผมป่วยไหม

ส่วนเรื่องที่หยุดการสนทนาผ่านทวิตเตอร์ ในระยะนี้ มีปัญหาติดขัดในเรื่องอะไรนั้น

ผม ก็อยากให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง ทุกคนก็ยังจะ .... จริง ๆ แล้ว หากไม่ใช่ไทยรัฐ ผมก็คงไม่พูดนะ

ด้านเหตุผลที่ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฮุนเซน

คือ ผม... รำคาญ  ครับ เพราะมักจะมีการกล่าวหาผม อย่างโน้นอย่างนี้ อยู่บ่อย ๆ ผมก็เลยปรึกษาท่านฮุนเซน ว่า ผมออกดีกว่าไหม มันจะได้ขี้เกียจรำคาญ ผมจะได้สบาย ๆ อีกทั้งผมเอง ก็ไม่มีเวลาให้เค้าจริง ๆ ผมไม่มีเวลาเลย เหมือนไปเอาชื่อเป็นตำแหน่งเค้า แต่ว่าไม่มีเวลา เพราะว่าผมไม่ค่อยได้ไปกัมพูชา เพราะผมเดินทางมาทำเหมือง ทำอะไรเลยไม่มีเวลา ก็เลยลาออกดีกว่า

หากนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เชิญให้กลับมาเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจอีกครั้งจะกลับมารับตำแหน่งหรือไม่

ไม่ ครับ ... อย่าเลย ขอทำเรื่องของตัวเองมั่ง อายุก็เยอะแล้วไม่ค่อยมีเวลา ทำงานให้ตัวเองดีกว่า ทรัพย์สินหามา ก็ถูกปล้นไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ก็ต้องหาใหม่เพื่อสร้างหลักสร้างฐานให้ลูกต่อไป

ด้านการที่ นายกษิต ภิรมย์ เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลมอนเตเนโกร ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความพยายามเจรจาเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนและยกเลิก สัญชาติมอนเตเนโกร

ผมว่าคนคนนี้ เดินทางไปที่ไหนเค้าก็คงต้อนรับแต่เพียงในนาม เพราะพอคุยได้เพียงสองคำคนเค้าก็วิ่งหนีหมด และผมเองก็ไม่เคยคิดที่จะให้ความสำคัญกับคน ๆ นี้เลย

ด้านอนาคตทางการเมือง ยังปรารถนาที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่

ผมเป็นคนไม่มีอนาคตทางการเมือง อนาคตทางการเมืองของผม ผมขอเป็นคนของประชาชนต่อไปแค่นั้น ก็พอไม่มีอย่างอื่น

หากสามารถเดินทางกลับประเทศไทย ได้ จะเดินทางกลับมาเมื่อใด

ผม อยากกลับบ้านเกิด ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว แต่จริง ๆ แล้ว เฉย ๆ ครับ จะกลับก็ได้  ไม่กลับก็ได้ ขอให้บ้านเมืองมีความปรองดอง เลิกกลั่นแกล้งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลั่นแกล้งกับคนที่ไม่มีกำลัง มันไม่ดีเลย เพราะมันจะสร้างความโกรธแค้นในใจให้เข้าไปลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผมอยากขอให้เลิกเห็นคนที่เค้าไม่มีกำลังเหมือนไม่ใช่คนไทยได้แล้ว อันนี้มันเป็นนิสัยเก่า ที่เคยไปใช้สมัยโบราณแล้ว มันไม่ดี ซึ่งเมื่อยามใดที่เผด็จการครอบงำประเทศก็มักจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นทุก ครั้ง ซึ่งมันอันตรายต่อประเทศโดยรวม

ด้านเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตว่ารูปภาพล่าสุด ที่ถ่ายร่วมกับอดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา อาจเป็นภาพที่ถูกปรับแต่งขึ้น

ผม ขอยืนยันว่า รูปดังกล่าวเป็นการถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ส.ค.2553 เวลาประมาณ 14.00 น. ของทวีปแอฟาริกา โดย ผมถ่ายกับนายเนลสัน แมนเดลา ที่มูลนิธิของอดีตผู้นำแอฟริกาใต้ จากนั้น ในเวลาประมาณ 16.00 น. ไปถ่ายรูปกับ วินนี่ แมนเดลา ที่บ้านพักที่ใช้ในการต้อนรับนายเนลสัน หลังติดคุกอยู่นานถึง 27 ปี

โดยทางเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ เปิดเผยว่าจะมีบทสัมภาษณ์ตอนที่ 2 เรื่องเกี่ยวกับ "ความในใจของอดีตนายกรัฐมนตรี ต่อเบื้องหลังเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 ก.ย." มานำเสนอต่อต่อในวันพรุ่งนี้

สามารถฟังเสียงบทสัมภาษณ์ได้ที่ต้นฉบับใน เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งจำคุก 'สนธิ-สโรชา' คดีหมิ่นประมาท 'ทักษิณ' ให้รอลงอาญา 2 ปี

Posted: 01 Sep 2010 10:09 PM PDT

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา คดีทักษิณ ฟ้อง "สนธิ ลิ้มทองกุล" ในข้อหาหมิ่นประมาท พิเคราะห์แล้วมีความผิดจริง จำคุก 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท แต่จำเลยไม่เคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับการกระทำเป็นการเคารพต่อสถาบันให้รอลงอาญา 2 ปี

2 ก.ย. 2553 - เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษา คดีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล, นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการทางสถานีเอเอสทีวี (ASTV) และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดียร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ศาลยกฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ) เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

โดยฟ้องว่า วันที่ 24 ส.ค. 2550 จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันจัดรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และ นสพ. ผู้จัดการรายวันของจำเลยที่ 3 ตีพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 1-2 กล่าวปราศรัยให้กลุ่มพันธมิตรฯ ที่สหรัฐฯ มาเผยแพร่ ทำนองว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ระบุว่า สาเหตุที่ต้องออกจากรัฐบาล เนื่องจากทนไม่ได้ที่หลังการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ประมาณ 8 ชั่วโมง พ.ต.ท. ทักษิณ ได้พูดจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 2 ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าการกระทำของโจทก์ เป็นการจาบจ้วงสถาบัน อีกทั้งโจทก์ยังไม่เคยถูกดำเนินคดี ในข้อหาอาฆาต มาดร้ายมหากษัตริย์ ข้อความที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ถือเป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 2 คนละ 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับการกระทำเป็นการเคารพต่อสถาบัน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี และให้เผยแพร่คำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์จำนวน 6 ฉบับ เป็นเวลา 3 วัน

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (23-27 ส.ค. 53)

Posted: 01 Sep 2010 09:38 PM PDT

27 สิงหาคม 53

 

พรรครัฐบาลสร้างภาพจัดงานใหญ่ แจกรางวัลเด็กเก่ง

สมาชิก พรรคสหภาพและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party - USDP) ร่วมกับสภาสันติภาพและการพัฒนาอำเภอ สภาสันติภาพและการพัฒนาระดับเขต และองค์กรพัฒนาท้องถิ่น ร่วมกันสร้างภาพจัดงานมอบรางวัลให้กับนักเรียนที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย จากการประกาศผลสอบเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในเมืองมงดอร์ รัฐอาระกัน

ทั้ง นี้ มีนักเรียน 18 คน จากจำนวนทั้งหมด 223 คน ที่สามารถสอบผ่านและได้รับรางวัลคะแนนดีเด่น ในจำนวนนี้ั้มีนักเรียน 3 คน ได้รับคะแนนสูงสุดใน 4 สาขาวิชา ซึ่งมี 2 คน เป็นชาวอาระกันเชื้อสายโรฮิงญาและชาวยะไข่ เด็กนักเรียนคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “ผมและพ่อแม่ดีใจมากที่ได้รับรางวัล และมันจะช่วยสนับสนุนให้ผมมีการศึกษาที่ดีในอนาคต” ทั้งนี้ มีผู้ร่วมงานดังกล่าวหลายพันคน

มีรายงานอีกว่า ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาอำเภอยังได้มอบเงินรางวัลให้กับนักเรียนที่มีผลคะแนนยอดเยี่ยมอีกด้วย (Kaladan Press)

 

 

นายพลพม่าตบเท้าลาออกจากกองทัพ เตรียมสู้ศึกรับเลือกตั้ง

มีกระแสข่าวออกมาว่าเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจำนวนกว่า 27 คน ตบเท้าลาออกจากตำแหน่งในกองทัพเพื่อลงชิงชัยเลือกตั้ง ขณะที่มีกระแสข่าวออกมาเช่นเดียวกันว่า นายพลอาวุโสตานฉ่วยและนายพลอาวุโสหม่องเอ ผู้นำสูงสุดหมายเลข 1และ 2 ก็เตรียมลาออกจากตำแหน่งด้วยเช่นกันเพื่อปูทางดำรงตำแหน่งเป็นประธานธิบดี หลังเลือกตั้ง แต่ภายหลังรัฐบาลพม่าออกมาปฏิเสธข่าวผู้นำทั้งสองเตรียมลาออกไม่เป็นความ จริงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามพบมีการโยกย้านหลายตำแหน่งสำคัญใน กองทัพพม่า ทั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขณะที่หัวพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเชื่อว่า นายพลอาวุโสตานฉ่วยจะไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนในเร็ววันนี้ แต่คาดว่าจะกุมอำนาจและปกครองประเทศต่อไปตายรอยนายพลเนวิน ผู้นำเผด็จการคนก่อน (Irrawaddy)

 

 

 

26 สิงหาคม 53

บริษัทนายเตซา ให้บริการบรอดแบนในย่างกุ้ง

นาย เตซา นักธุรกิจชาวพม่าเจ้าของสายการบิน แอร์บะกัน ผู้มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่า ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการเครือข่ายบรอดแบนระบบเชื่อมโยง OPTICAL FIBER หรือเครือข่ายใยแก้วนำแสงทางไกลที่เรียกว่า FTTx ซึ่งจะให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงช่องทีวีและสายโทรศัพท์ ภายใต้ชื่อบริษัทว่า อีไลท์

ทั้ง นี้บริษัทของนายเตซากำลังทำการขยายการขาย เพื่อให้บริการ FTTx ในกรุงย่างกุ้ง ที่เปิดตัวในงานเทคโนโลยีและงานแสดงรถยนต์ที่มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมกว่า 40 บริษัท โดยได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจากนายเต็งซอ รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร

ขณะที่สัมปทานในเมืองมัณฑะเลย์ ได้จากบริษัทด้านการสื่อสารอย่างบริษัทเรดลิงค์และบริษัทฟอร์ทูนสากล(Red Link and Fortune International companies)  ด้านพนักงานบริษัทอีไลท์เปิดเผยว่า ผู้ที่สมัครขอใช้บริการจะได้รับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและสามารถรับชมทีวี ได้หลายช่องทั้งภาพยนตร์ กีฬา เพลงและข่าว และยังให้บริการใช้โทรศัพท์ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์เป็นต้น

หนังสือ พิมพ์ The Voice Weekly รายงานเมื่อวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า บริษัทเรดลิงค์และบริษัทฟอร์ทูนสากล จะคิดค่าธรรมเนียมในการติดตั้งถึง 900,000 จั๊ต หรือประมาณ 27,000 บาท  โดยมีค่าบริการรายเดือนประมาณ 30,000 ถึง 100,000 จั๊ต หรือประมาณ 900-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับการเลือกรับบริการ ทั้งนี้เรดลิงค์ได้คาดการว่าจะสามารถทำยอดขายได้ 6,000 เครือข่ายในมัณฑะเลย์

อย่างไรก็ตามนักเทคนิคในย่างกุ้งระบุว่า บริการออนไลน์ในพม่ายังล้าหลังหากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน เพราะรัฐบาลพยายามที่จะตัดการเชื่อมต่อ ภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคง เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการให้บริการในประเทศ (Irrawaddy)

 

 

25 สิงหาคม 53
 

พม่าตัดท่อน้ำเลี้ยงพรรคคู่แข่งในรัฐคะเรนนี

พรรค เอกภาพและการพัฒนา หรือ USDP ของรัฐบาลพม่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมืองลอยก่อและเมืองดีมอโซ รัฐคะเรนนีทำการตัดท่อน้ำเลี้ยงโดยการปิดธุรกิจของผู้อำนวยการพรรค National Unity and Development Party ---NUDP รวมถึงธุรกิจของครอบครัวผู้อำนวยการของพรรคดังกล่าว ซึ่งเป็นแผนกีดกันของทางการพม่าเพื่อไม่ให้พรรค NUDP ลงสนามเลือกตั้ง

ทั้ง นี้พรรค NUDP เพิ่งได้รับอนุญาตในการจัดตั้งพรรคจากคณะกรรมการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นพรรคที่จัดตั้งมาเพื่อเป็นตัวแทนของชาวคะเรนนี จากรัฐคะเรนนี อย่างไรก็ตาม พรรคUSDP ของรัฐบาลพยายามก่อกวนหลังจากที่พรรคดังกล่าวจัดตั้งขึ้น เพราะไม่ต้องการให้มีพรรคอื่นลงสนามเลือกตั้งในรัฐคะเรนนี โดยคาดว่า พรรค NUDP อาจต้องเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามจากฝั่งรัฐบาลพม่าและเผชิญกับความยากลำบาก ต่อไป หากตัดสินใจลงสนามเลือกตั้ง

ขณะที่มีรายงานว่า สมาชิกพรรค USDP ในรัฐชิน ละเมิดกฎหมายเลือกตั้งหลังใช้โรงเรียนเป็นสถานที่หาเสียง ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งระบุชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองใช้สถานที่ราชการในการรณรงค์หาเสียง  (Kantarawaddy Times / Khonumthung News)

 

 

24 สิงหาคม 53
 

แรงงานพม่าส่วนใหญ่ เมินเลือกตั้ง
 
มี รายงานว่า แรงงานชาวพม่าในประเทศไทยส่วนใหญ่เมินที่จะกลับไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งใน ประเทศครั้งแรกในรอบ 20 ปี ของพม่า เนื่องจากปัญหาหลายประการ

สมาคม แรงงานยองชีอู องค์กรแรงงานที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานชาวพม่า ประเมินว่ามีแรงงานกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทย และอย่างน้อย 750,000 คน ขาดคุณสมบัติตามสถานะทางกฎหมายในพม่า

นางดอว์ ชู ทำงานในโรงงานและรับภาระเลี้ยงดูลูกอีก 4 คนระบุว่า เธอก็เหมือนกับเพื่อนแรงงานอีกหลายคนที่สามารถลงคะแนนได้ แต่เธอก็ไม่ใช้สิทธิ์ “การเลือกตั้งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เมื่อครั้งที่แล้ว นางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะแต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ อำนาจการบริหารต่างๆ ยังอยู่ในมือของทหาร ฉันไม่ได้หวังอะไรกับการเลือกตั้งแล้ว”

สอดคล้องกับที่สมาคมแรง งานยองชีอูออกมาเปิดเผยว่า แรงงานส่วนใหญ่ยังหวาดกลัวหากจะกลับไปใช้สิทธ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่บางส่วนหวั่นวิตกว่าอาจต้องตกงานและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเดิน ทางกลับประเทศเพื่อไปใช้สิทธ์ (KIC)

 

.....................................

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

iLaw : สภาฯ ไม่ผ่านร่าง กม. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในที่ทำงาน

Posted: 01 Sep 2010 09:28 PM PDT

ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ค้างเติ่งกลางสภา หลังอภิปรายยาวเรื่องรูปแบบองค์กร ท้ายสุดที่ประชุมส.ส.ตัดสินใจไม่โหวตในวาระ 2-3 ให้กมธ.ถอนร่างกลับไปทบทวนใหม่

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 53 เวลา 13.00 น. ณ อาคารรัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ....ที่คณะกรรมการวิสามัญฯได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวผ่านวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 52 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบรับหลักการ ทั้ง "ร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...." (ร่างรัฐบาล) และ "ร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...." (ร่างภาคประชาชน) และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนี้ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 52 จนถึงวันที่ 11 พ.ย. 53 รวม 5 เดือน มีการประชุม 21 ครั้ง จนได้ร่างฯ ที่พร้อมเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2-3

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ. รวม 72 มาตรา มีมติแก้ไขจำนวน 18 มาตรา โดยมีบทบัญญัติที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่อีก 2 มาตรา ซึ่งเป็นเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีรายละเอียดการอภิปรายในสภาฯที่น่าสนใจในแต่ละมาตรา (ที่คณะกรรมาธิการขอแปรญัตติ) ดังนี้

มาตรา 3 ความตอนหนึ่งระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่บังคับใช้กับหน่วยราชการ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ยืนยันว่าแสดงถึงความไม่เสมอภาคในการคุ้มครองแรงงานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวในหน่วยราชการที่ไร้การคุ้มครองใดๆ ทั้งที่ตามจริงแล้วหน่วยราชการควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องนี้

นายอาทิตย์ อิสโม กรรมการธิการและตัวแทนจากกระทรวงแรงงานแย้งว่า ในร่างพ.ร.บ.ได้ระบุชัดในบทเฉพาะกาลแล้ว การนำมาระบุในมาตรา 3 จะต้องแก้ไขในอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการคุ้มครองลูกจ้างในหน่วยราชการต่างๆ ทางกระทรวงแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะนำเสนอเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแทน ทั้งนี้ที่ประชุมยืนยันตามนายอาทิตย์เสนอ

มาตรา 16 ให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยก่อนเข้าทำงาน ที่ประชุมย้ำเพิ่มเติมว่า เมื่อลูกจ้างเปลี่ยนงาน และ/หรือสถานประกอบการเปลี่ยนเครื่องจักร นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมจนเกิดความเข้าใจในเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการเข้าทำงานใหม่ทุกครั้ง ที่ประชุมเห็นด้วยกับประเด็นนี้

มาตรา 24 คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ควรคำนึงถึงสัดส่วนคณะกรรมการที่มีทั้งหญิงและชายที่สมดุล เพราะเดิมระบุแค่ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของหญิง-ชาย ควรจะระบุอย่างชัดเจนในกฎหมายน่าจะดีกว่า เพราะเวลาแรงงานหญิงได้รับผลกระทบจากความไม่ปลอดภัยจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในด้านสรีระร่างกาย ซึ่งคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงจะสามารถมอง/ตัดสินใจผ่านแง่มุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมุมของผู้ชายได้ด้วย ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยในเรื่องนี้

มาตรา 39 นางสมบุญ ศรีคำดอกแค กรรมาธิการและตัวแทนจากเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน เสนอในที่ประชุมว่า เมื่อลูกจ้างต้องหยุดการทำงานซึ่งเป็นผลมาจากระบบการผลิตของสถานประกอบการที่ไม่ปลอดภัย หรือถูกพนักงานตรวจความปลอดภัยสั่งให้หยุดการผลิตชั่วคราว ลูกจ้างควรได้รับค่าจ้างเหมือนวันทำงาน เนื่องจากสถานประกอบการเป็นผู้หยุดการผลิตเอง หรือมีความจำเป็นต้องปิดเครื่องจักรเพื่อหยุดความไม่ปลอดภัย

นายอภิมุข สุขประสิทธิ์ กรรมาธิการและตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา มองว่า กรณีที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่ ควรพิจารณาจากความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย เพราะบางกรณีจะมีเหตุจากที่ลูกจ้างเป็นผู้นัดหยุดงานหรือเป็นผู้หยุดระบบการผลิตเอง ไม่ใช่มาจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว ในประเด็นนี้ที่ประชุมลงมติว่า ไม่เห็นด้วยกับที่นางสมบุญเสนอมา ให้คงยืนยันตามเดิม    

มาตรา 44 นายชลน่าน ศรีแก้ว กรรมาธิการและส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอในที่ประชุมว่า ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่งในสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแทน ไม่ควรตั้งในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอย่างที่ระบุไว้ในรายงาน เพื่อให้เกิดความอิสระในการบริหารงาน สามารถเข้าไปดูแลแรงงานได้ครบทุกด้าน ในประเด็นนี้ ที่ประชุมให้ยืนยันตามเดิมในรายงาน

มาตรา 46 นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อหนึ่ง มีการระบุเรื่องการนำเงินกองทุนไปใช้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเป็นรายปี ส่วนนี้ควรระบุให้ชัดเจนมากกว่านี้

มาตรา 51/1 นายสุทัศน์ เงินหมื่น จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอในที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการเสนอให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นรูปแบบองค์การมหาชน  ซึ่งสงสัยว่ามีเหตุผลใดที่จะต้องจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน และจะใช้เงินจากแหล่งใด เรื่องนี้เป็นประเด็นเดียวกับที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ จากพรรคเพื่อไทย เสนอเช่นเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยว่าควรเป็นองค์การมหาชน เพราะภายใน 3 ปี ต้องออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะช้ามาก และโอกาสที่จะดูแลแรงงานก็จะล่าช้าตามไปด้วย

นอกจากนั้น นายวัชระ เพชรทอง กรรมาธิการ ยังเสนอในทิศทางเดียวกันว่า ภารกิจสถาบันเดิมมีใครดำเนินการอยู่แล้วหรือไม่ อย่างไร การตั้งองค์กรใหม่ในรูปแบบองค์การมหาชนจะซ้ำซ้อนหรือไม่ จำเป็นเพียงใด ผู้บริหารองค์การมหาชนเงินเดือนเท่าใด สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศมากเพียงใด เป็นภาระประเทศหรือไม่ เป็นต้น

ในเรื่องนี้นายสถาพร มณีรัตน์ กรรมาธิการและส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ถือว่าเป็นหัวใจของความปลอดภัย และเป็นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานรวมถึงหน่วยงานวิจัยแบบ สสส. มาโดยตลอด ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยแรงงานโดยตรง แต่ต้องชัดเจนในเรื่องระยะเวลาการจัดตั้ง และผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมควรเป็นผู้มีประสบการณ์ตรง เช่น ตัวแทนผู้ป่วย ที่ควรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสถาบันฯ ด้วย ฉะนั้นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาควรเป็นหน่วยงานอิสระ อาจอยู่ในกำกับของกระทรวงหรือรัฐบาลก็ได้ แต่ไม่ควรสังกัดหน่วยราชการโดยตรง เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการและดำเนินการ เขากล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเป็นองค์การมหาชน ควรเป็นองค์การอิสระมากกว่า เพื่อนำไปสู่การลดความไม่ปลอดภัยในการทำงานได้อย่างแท้จริง

ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมาธิการและส.ส.ประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าที่ต้องเป็นสถาบันในรูปแบบองค์การมหาชน คือ ทำหน้าที่เป็นเพียงน้ำมันหล่อลื่นเหมือน สสส. และการเป็นองค์การมหาชนรวดเร็วในการจัดตั้งมากกว่าการเป็นองค์การอิสระ

นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ กรรมาธิการและส.ส.ประชาธิปัตย์ เห็นว่า หน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ควรเพิ่มเรื่องการจัดบริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้กับผู้ใช้แรงงานเข้ามาเพิ่มด้วย เช่น การรักษาโรค การป้องกัน หรืองานวิชาการ เหมือนกับสถาบันสุขภาพเด็กราชินี เป็นต้น

มาตรา 51/2  นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ เสนอว่า ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯควรจะเปิดกว้างให้ใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการประจำเท่านั้น และควรได้รับการแต่งตั้งจาก คณะกรรมการบริหารสถาบันฯ เรื่องนี้ นายบุญยอดอภิปรายเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาแวดล้อมในการทำงาน ฯ ตามมาตรา 24-25 กับคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามมาตรานี้ อำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ อย่างไร และสถาบันแห่งนี้ทำหน้าที่อะไรมากมายที่จำเป็นต้องจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะคณะกรรมการตามมาตรา 24-25 ก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มประเด็นด้านวิชาการเข้าไปเท่านั้น จึงเสนอให้ตัดมาตรานี้ออกไป

มาตรา 51/3 นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ เสนอว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้เป็นองค์การมหาชน เห็นว่าควรเป็นองค์การอิสระภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เพราะงานด้านนี้ไม่ควรที่จะนำไปแสวงหากำไรในรูปแบบองค์การมหาชน เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดบริการให้ผู้ใช้แรงงาน และเสนอให้ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนี้ นอกจากนั้นแล้วพบว่ารัฐบาลสนับสนุนเงินทุนอยู่แล้ว ถ้าจัดตั้งองค์การมหาชนก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณมากยิ่งขึ้น

โดยสรุป ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอถอนเฉพาะหมวดนี้เพื่อนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง แล้วค่อยนำมาพิจารณาในสภาฯ ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

มาตรา 72 นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เสนอว่า ในมาตรา 72 ควรเขียนใหม่ว่าการออกกฎกระทรวงควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี แต่ถ้ายังไม่มีกฎกระทรวงให้อนุโลมให้ใช้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แทน นอกจากนั้นแล้วที่ประชุมยังเห็นว่าการออกกฎกระทรวงสามารถดำเนินการได้ภายใน 180 วันก็น่าจะเพียงพอแล้ว ระยะเวลา 3 ปีถือว่ายาวนานเกินไป

โดยสรุปมติของสภา วันนี้ยังไม่มีการลงมติในวาระ 2-3 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอถอนร่างพรบ.ฉบับนี้ออกจากสภาฯ เพื่อไปพิจารณาในหมวด 6/1 เรื่องความเป็นองค์กร ว่าจะตั้งเป็นองค์การมหาชน องค์กรอิสระ หรือในรูปแบบอื่นๆ แล้วค่อยกลับมาเสนอต่อสภาฯ เพื่อลงมติในวาระ 2-3 ต่อไป

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://ilaw.or.th/node/546
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น