โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สิงห์ดำยุคหน้า ก้าวแรกสู่คณะรัฐศาสตร์ ก้าวต่อไปสู่อะไรดี?

Posted: 23 Jul 2017 08:12 AM PDT



สืบเนื่องจาก บทความ "ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ"[1] บทความ "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)"[2] และบทความ "ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นปัญหาความใจกว้างทางการเมืองในแง่วิธีการ"[3] ซึ่งขณะนี้ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นสารัตถะ (แก่นสาร) ของคณะรัฐศาสตร์ อุดมการณ์ทางการเมือง และวิธีการแสดงออกในสิ่งที่ผู้นั้นเชื่อมั่น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางความคิดต่อทั้งสังคมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสังคมภายนอกอีกด้วย โดยประเด็นข้อถกเถียงและข้อสังเกตทั้งหลายนั้นผู้อ่านสามารถตามไปอ่านเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบแนวคิดด้วยตนเองในบทความที่ยกมาทั้งสามบทความ

แต่ในบทความนี้ ข้าพเจ้ามุ่งนำเสนอถึงการขยายคำอธิบายเกี่ยวกับประเด็นในบทความทั้งสามอย่างรวบยอด และจะเขียนอย่างเรียบง่าย โดยขอเสนอเป็น 3 ประเด็น

1.อุดมการณ์ทางการเมือง และวิธีการแก้ปัญหาต่างทรรศนะ

2.การเมืองภาคประชาชนในฐานะนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เรื่องของอุดมคติ และความเป็นจริง

3.บทสรุป รวมถึงเจตนาในการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ

 

1.อุดมการณ์ทางการเมือง และวิธีการแก้ปัญหาต่างทรรศนะ

จากกระแสสังคมที่มีต่อเหล่าบทความดังกล่าว ทำให้เกิดการกเถียงและความคิดเห็นต่อจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยเฉพาะเมื่อเรามีประโยคยอดนิยมซึ่งข้าพเจ้าขอยกมา 2 ประโยค ว่า

1."ก้าวแรกสู่คณะรัฐศาสตร์ ก้าวต่อไป สู่การเสียสละเพื่อส่วนรวม"

2."Black is Devotion" ซึ่งเป็นประโยคที่อาจพบได้ทั่วไปตามด้านหลังเสื้อยืดสิงห์ดำ

ซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่าข้อความนี้ยังคงเป็นจริงอยู่ โดยหากพิจาณาถึงการเลือกเชื่ออุดมการณ์ทางการเมืองและการแสดงออกเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมแล้ว ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจะต้องขออธิบายถึง 2 อุดมการณ์ดังกล่าวให้เห็นภาพมากขึ้น มีแนวคิดหลักในคณะ (ในที่นี้ขอยกมา 2 แนวคิด ต้องขออภัยหากในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดอนุรักษ์นิยมเท่าใดนัก) คือ


2 อุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยบนเส้นขนาน

1.แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) อันถูกมองว่าเป็นทางสายกลางของแนวคิดฝ่ายขวา ซึ่งเปิดโอกาสการแข่งขันทางการค้าเสรี ลดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ โดยลัทธิเสรีนิยมใหม่นี้มองว่าผู้ขับเคลื่อนสังคมหลักมิใช่อำนาจรัฐอีกต่อไป[4] แต่เป็นกลุ่มนายทุนเอกชนข้ามชาติ ซึ่งสามารถกำหนดแนวทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยอาจมีแนวคิดที่ว่าเสรีภาพทางการตลาด คือ เครื่องยืนยันเสรีภาพของปัจเจก (แม้นักวิชาการบางท่าน เช่น Chomsky ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อระเบียบสังคมตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนแล้ว นโยบายด้านสวัสดิการสังคมจะถูกละเลย เพราะกลุ่มทุนจะสนใจผลประโยชน์ทางการตลาดของบริษัทมากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจก) โดยเกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจควบคุมสังคมจากรัฐบาลไปสู่ภาคธุรกิจเอกชน บนแนวคิดที่ว่ากลไกทางธุรกิจและระบบตลาดเสรีจะสามารถสร้างการคุ้มครองทางสังคมแทนระบบราชการ (คิดภาพตามอย่างเรียบง่ายและพื้นฐาน คือ รัฐบาลจะสามารถควบคุมประชาชนได้ลดลง เพราะประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น จากการเข้ามาของระบบตลาดเสรีซึ่งบีบบังคับรัฐบาลให้ผ่อนคลายการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถยังผลมาส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตยอีกทีหนึ่ง) มีการเปิดกว้างของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านโลกาภิวัตน์ โดยกระแสสังคมโลกปัจจุบันได้ซึมซับแนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นแบบแผนชีวิต เช่น การบริโภคหรือจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการซึ่งปรารถนาที่จะสร้างชีวิตที่อยู่ดีมีสุข (well-being) เกิดมิติสังคมซึ่งให้ความสำคัญกับปัจเจกในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินการต่างๆในชีวิตประจำวัน เป็นการแทรกซึมตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศ โดยในมิติทางวัฒนธรรม อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเสรีนิยมใหม่มีสองรูปแบบที่แสดงออกอันได้แก่ แบบแรกที่เชื่อมั่นในสติปัญญาและความก้าวหน้าของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกผ่านระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย และแบบที่สองคือการอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรม (การอยู่ร่วมกันของความแตกต่างทางวัฒนธรรม) ซึ่งเสรีนิยมใหม่เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างครองพื้นที่ทางความคิดหลักในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

2.แนวคิดซ้ายใหม่ (New Left) อันถูกมองเป็นแนวคิดฝ่ายซ้ายกระแสรอง และอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยแก่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เท่าใดนัก เนื่องจากมีแนวคิดที่ค่อนข้างไม่ยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิต (ชีวิตซึ่งถูกครอบงำโดยทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) โดยแนวคิดนี้เข้าสู่ประเทศไทยราวช่วงปี 2513 โดยปัญญาชนเสรีนิยม-สังคมนิยม พวกเขาเป็นฝ่ายซ้ายซึ่งไม่ได้เชื่อมั่นยึดติดในแนวคิดและการปฏิบัติของลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่ยึดถือแนวทางของโจเซฟ สตาลิน (ผู้นำการปฏิวัติประเทศรัสเซียให้กลายมาเป็นสหภาพโซเวียต) หรือแนวทางของเหมา เจ๋อตุง (ผู้นำการปฏิวัติประเทศจีนให้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน) หรือลัทธิมาร์กซ์อย่างเข้มข้น แต่มองในวิธีการดำเนินการเรื่องพลังนักศึกษา (student power) อันเป็นเรื่องของการขบถและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาวเป็นประการสำคัญ[5]  โดยศัพท์แสงคำว่าซ้ายใหม่นี้ คาดว่าแนวคิดนี้เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยโดยปัญญาชนเสรีนิยม-สังคมนิยมไทยในช่วงเวลาราวปี 2513 สืบเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสงครามเวียดนาม ยกตัวอย่าง

"…บทความชิ้นหนึ่งของ บุญชนะ อัตถากร เอกอัครราชฑูตไทยประจำอเมริกา ระหว่าง พ.ศ.2510-2513 ที่เขียนให้นิสิตจุฬาฯ ในปี 2513 (ตีพิมพ์ใน มหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาคม 2513) ก็ได้แสดงทัศนะว่านักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังมีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้น แต่มักจะเป็นไปด้วยความรุนแรง เขายังให้รายละเอียดว่าความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงนี้เริ่มขึ้นที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2507 และแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา เขานิยามสิ่งที่เขาเรียกว่าวิธีการรุนแรงว่า "ข้าพเจ้าหมายถึงการเดินขบวน การทำลายทรัพย์สิน สิ่งของ หรือการเข้ายึดสถานที่โดยพลการ เพื่อเรียกร้องสิทธิบางประการ หรือเพื่อให้รัฐบาลและสาธารณชนให้ความสนใจต่อความคิดเห็นของตนมากขึ้น" เขากล่าวถึงอันตรายของการเดินขบวนโดยยกเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกาและในฝรั่งเศสว่าการเดินขบวนได้เกิดผลร้ายกระทบกระเทือนเสถียรภาพในสังคม ฉะนั้นแม้เขาจะเห็นด้วยในหลักการที่นักศึกษาควรเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังต้องพินิจพิจารณาว่าควรเป็นไปในรูปแบบใด ซึ่งเขาแสดงทัศนะว่าควรจะใช้วิธีการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเพื่อแก้ไขปรับปรุงระบบเดิมที่มีอยู่ โดยผ่านมาตรการออกกฎหมายหรือการเลือกตั้ง..."

ดังที่เราจะเห็นได้ว่าทัศนะนี้ค่อนข้างตรงกับสิ่งที่สิงห์ดำท่านหนึ่งได้นำเสนอในบทความ "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)" ต่อข้าพเจ้า นอกจากนี้ ศัพท์แสงคำว่าซ้ายใหม่ยังถูกบิดเบือนให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยปัญญาชนอนุรักษ์นิยมบางท่าน จนทำให้คำว่าซ้ายใหม่ถูกตีความว่าเป็นปีศาจของสังคมไทย แต่อย่างไรก็ดี ในปลายปี 2513 วารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จัดทำฉบับ "คนหนุ่ม" ได้มีบทความของปัญญาชนรุ่นใหม่เขียนเกี่ยวกับแนวคิดซ้ายใหม่ เช่น บทความ "ซ้ายใหม่" ที่เขียนโดย อากร ฮุนตระกูล เพื่อโต้แย้งบทความและจดหมายของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางท่าน โดยอากรชี้ให้เห็นว่าซ้ายใหม่เกิดจากจิตสำนึกของนักศึกษาที่ว่าจุดมุ่งหมายมิใช่เพียงเพื่อปริญญาแต่ต้องเป็นพลเมืองของชาติด้วย เขาชี้แจงว่าซ้ายใหม่นั้นมีการใช้กำลังบ้างแต่ก็ไม่นับว่ามีอันตรายอย่างใดเลย อากรยังชี้ให้เห็นว่าแนวคิดซ้ายใหม่เกิดในยุโรปตะวันตกและสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเขาหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยคงเป็นประชาธิปไตยแท้จริง และเปิดให้แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้เจรจาต่อรองกันโดยสันติวิธี ซึ่งแนวคิดซ้ายใหม่นี้สามารถจัดได้ว่าเป็นแนวคิดกระแสรองในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


วิธีการเลือกใช้แก้ปัญหาสังคมอันน่าลำบากใจ

จากทั้งสองอุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าว เราพึงวิเคราะห์ได้ว่าแต่ละแนวคิดก็ล้วนมีการแก้ปัญหาการกดขี่โดยอำนาจรัฐในแบบของตนเอง ซึ่งก็ย่อมมีข้อด้อยและข้อดีแตกต่างกันไป โดยจะขอชี้ให้เห็นภาพอย่างง่ายและรวบรัด ดังนี้

เสรีนิยมใหม่

ข้อดี – มีการแข่งขันในตลาดเสรี เปิดกว้างการเข้าถึงทรัพยากร ปัจเจกมีสิทธิเสรีภาพ อำนาจรัฐถูกลดลงไปจากการเข้ามาของกลุ่มลัทธิทุนนิยมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เป็นการปลดปล่อยประชาชนในรูปแบบหนึ่ง มีการยอมรับทางพหุวัฒนธรรม ระบบตลาดเสรีจะเข้ามาลดอิทธิพลของระบบราชการลง และมีการเปิดรับโลกาภิวัตน์อย่างเต็มที่

ข้อด้อย – การพัฒนาของลัทธิทุนนิยมย่อมเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างยิ่งยวดขึ้นไปอีก ในทำนองรวยกระจุก จนกระจาย

ซ้ายใหม่

ข้อดี – เป็นการรวมพลังโดยนักศึกษาเสรีนิยม-สังคมนิยม มีทัศนะคติแบบฝ่ายซ้ายในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อสู่สิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าดีกว่าอย่างไม่ตายตัว แต่มักเห็นชัดในแนวคิดต่อต้านการกดขี่โดยรัฐเพื่อสังคมที่ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมการเมืองภาคประชาชน มองว่าสิ่งต่างๆในสังคมต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยอาจเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่แทนที่วัฒนธรรมเดิมในปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นพลเมืองของชาติ มักอาศัยแนวคิดศัพท์แสงซึ่งก็คือคือแนวคิดโรแมนติก (Romantic) ที่มีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น ร่วมกันสร้างสรรค์โลกที่ดีขึ้น ซึ่งทุกคนมีความรักกันอย่างจริงใจ

ข้อเสีย – เป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมสูง ปฏิบัติจริงได้ยาก ผู้เชื่อมั่นแนวคิดนี้มักตกอยู่ในสภาวะครึ่งๆกลางๆหากต้องมีการปฏิบัติ และนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้นิยมแนวคิดนี้ในประเทศไทยก็เคยพ่ายแพ้ต่ออำนาจรัฐมาแล้วอย่างเช่น ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

แล้วอะไรคือแนวคิดที่ดีที่สุดในตัวเลือกข้างต้นนี้ ข้าพเจ้าคงไม่กล้าชี้ชัดลงไปว่าแนวคิดใดคือแนวคิดที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมนี้ เพราะอย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าแต่ละแนวคิดย่อมมีข้อดีและข้อด้อยที่ต่างกันไป แต่โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเลือกที่จะอยู่ฝั่งซ้ายใหม่เสียมากกว่า เนื่องจากข้าพเจ้าคิดว่าตนเองเป็นคนที่โรแมนติกในระดับหนึ่ง และเชื่อว่าต่อให้แนวคิดซ้ายใหม่เป็นนามธรรมสูง แต่ก็ควรค่าแก่การลองปฏิบัติเพื่อสังคมที่เราเชื่อว่าสามารถทำให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าอาจจะมีแรงต้านมหาศาลที่อาจทำให้การปฏิบัติตามแนวคิดล้มเหลว หากมีแรงต้านแบบใด ก็คงต้องฝ่าแรงต้านกันไป หากเรายังมีความเชื่อมั่น โดยข้าพเจ้าขอยกคำพูดของ Herbert Marcuse ผู้เขียนหนังสือเรื่อง One Dimensional Man ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยซึ่งปรากฏอยู่ช่วงก่อนบทนำ ในหนังสือ "จากการปฏิวัติสู่โลกาภิวัตน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์"[6] ที่เขียนโดยรศ.ดร.สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"...สาเหตุที่ทำให้บรรดาข้อเสนอและทางเลือกต่างๆกลายเป็นสิ่งที่เพ้อฝันและห่างไกลความเป็นจริง สำหรับพวกเรานั้น ไม่ใช่เพราะความเป็นอุดมคติ อันเป็นคุณลักษณะของข้อเสนอเหล่านั้นเอง ทว่าเป็นเพราะพลังต้านทานมหาศาลที่คอยสกัดกั้นมิให้ข้อเสนอเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาต่างหาก..."


2.การเมืองภาคประชาชนในฐานะนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เรื่องของอุดมคติ และความเป็นจริง

ผู้ซึ่งสนใจและถูกคาดหวังให้เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างนิสิตคณะรัฐศาสตร์  ย่อมสามารถยกข้อความของนักมานุษยวิทยาชื่อดังอย่าง Margaret Mead ได้ว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยที่พลเมืองกลุ่มเล็กๆ ช่างคิด และมุ่งมั่น สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ความจริงมีแต่เรื่องแบบนี้เท่านั้นที่เกิดขึ้น" แต่เราอาจเห็นว่าครึ่งหลังของประโยคนี้เห็นได้ชัดเจนว่าไม่จริง[7] การเปลี่ยนแปลงสังคมบางอย่างจำเป็นต้องอาศัยอำนาจศูนย์กลางที่มีผู้คนรวมตัวกันมากถึงจะบรรลุผลได้ แต่ในส่วนครึ่งแรกของประโยคนั้นก็ยังเป็นจริงอยู่ เราสามารถเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศไทยอย่าง เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ก็เริ่มขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนเพียงหยิบมือซึ่งประชุมกันที่ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านกลวิธีทางการเมืองโดยอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์หลายๆ เช่น รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการสอนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองภาคประชาชน ในวิชาการเมืองและการปกครองของไทย ย่อมทำให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์สามารถเข้าใจถึงรูปแบบและวิธีการในการมีส่วนร่วมในการเมืองภาคประชาชน อันจะนำให้พวกเรามีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นความคิดแบบอุดมคติ(หรืออย่างน้อยก็ปฏิบัติได้ยากยิ่ง) โดยอาจมองผ่านสิ่งที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอแนะไว้ 4 ประการ[8] เกี่ยวกับอุปสรรคในเส้นทางการเมืองภาคประชาชนซึ่งข้าพเจ้าจะชี้แจงเพิ่มเติมประกอบ ดังต่อไปนี้

1.แนวนโยบายของรัฐและรัฐบาล – โดยหากรัฐบาลวางระบบซึ่งมีสภาพแบบเสรีนิยมใหม่ที่สนับสนุนทุนนิยมให้แผ่ขยายตัวออกไปได้กว้างขวางเรื่อยๆ ย่อมเกิดการกระทบต่อประชาชนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งทำให้ชนชั้นล่างย่อมประสบปัญหาความขัดแย้งในหลายๆด้าน แม้กระทั่งอาจมีการเสียเปรียบด้านกฎหมาย ยกตัวอย่าง หากมีการลงทุนโดยบริษัทกลุ่มทุนในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อดำเนินการสร้างโรงงานที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและมีกลุ่มการเมืองภาคประชาชนมาคัดค้านต่อต้าน ฝั่งกลุ่มทุนก็ย่อมมีความได้เปรียบทางกฎหมายเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายและกฎหมายที่รองรับการดำเนินการทางธุรกิจให้พวกกลุ่มทุนมากมาย แต่มีกฎหมายรองรับฐานะของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ยังไม่นับท่าทีของรัฐซึ่งยึดถือพันธกิจต่อภาคธุรกิจมากกว่า ทำให้ประชาชนรู้สึกเสียเปรียบและเกิดความท้อแท้ในการจะมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน อันรวมไปถึงนิสิตที่จะเข้ามามีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชน

2.แนวโน้มใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐและทุน - ข้อนี้นับเป็นอุปสรรคอันร้ายแรงที่สุดอีกอย่างหนึ่ง การเมืองภาคประชาชนมักต้องถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากทั้งภาครัฐและสังคมบางส่วน โดยเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและมีปัญหามาเป็นเวลานาน ยกตัวอย่างสถิติที่รวบรวมโดยสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.) พบว่าในระหว่างปี 2517-2522 มีผู้นำชาวนาชาวไร่จากทั่วประเทศถูกลอบยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 48 ราย และในระหว่างปี 2532 ถึงต้นปี 2546 มีผู้นำชุมชนที่ต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตทั้งหมด 21 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร (สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ 2546 น. 38-44) การที่มีการคุกคามทำร้ายร่างกาย จนถึงการฆ่าผู้อื่นเช่นนี้ ย่อมสร้างความหวาดกลัวแก่นิสิตที่ทราบเรื่องดังกล่าวซึ่งอาจคิดจะเข้ามามีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชน

3.ความไม่เข้าใจและการวางเฉยของสังคมที่ไม่เดือดร้อน – การเข้ามาของเสรีนิยมใหม่พร้อมกับโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างประชาชนที่เสียเปรียบซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท และประชาชนที่ได้เปรียบซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรในเมืองหรือชนชั้นกลาง ซึ่งสภาพการแตกต่างนี้มิใช่มีเพียงเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงสำนึกทางการเมืองและรสนิยมทางวัฒนธรรมที่ต่างกันมากด้วย โดยจากการวิจัยของสมพงศ์ จิตระดับ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเยาวชนคนชั้นกลางในปัจจุบันให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าส่วนรวม "และดำเนินชีวิตไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่ขยายตัวมากขึ้นในทุกมิติของกิจกรรม" พลังนักศึกษาที่เคยสั่งคลอนอำนาจรัฐในช่วงพ.ศ.2516-2519 กลับหายไปกับการเข้ามาของโลกาภิวัตน์ ส่วนคนชั้นกลางโดยทั่วไปแม้จะมีลักษณะหลากหลายกว่าคนรุ่นใหม่ แต่ส่วนใหญ่ก็มักวางเฉยกับการเคลื่อนไหวของประชาชนชั้นล่าง ซึ่งงานวิจัยนี้ก็อาจหมายรวมถึงนิสิตและนักศึกษาด้วย

4.ปัญหาจิตสำนึกทางการเมือง การขาดแคลนทุน และภาวะผู้นำ - ปัญหานี้เลี่ยงไม่พ้นและแก้ไขได้ยากในประชาชนผู้เสียเปรียบในสังคม เพราะตนมีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองก็ทำให้ต้องสละเวลาทำงาน ทำให้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก และการคาดหวังจากประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหนือกว่าตนนั้นก็หวังได้ยากยิ่ง และผู้นำในการเมืองภาคประชาชนนั้นหาผู้ที่มีความสามารถและมีบารมีพอที่จะเป็นแกนนำกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองได้ยากยิ่ง ในกรณีของนิสิตนั้น มักเป็นผู้ไม่มีรายได้เป็นของตนเอง จึงทำให้การมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนเป็นเรื่องยาก และประเด็นการหาผู้นำนิสิตในการพาไปมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนก็ยากเช่นกัน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ย่อมสะท้อนถึงความยากลำบากในการมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเหล่านิสิตคณะรัฐศาสตร์ที่กล่าวว่าตนเองต้องการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ไม่ว่าผู้นั้นจะมีอุดมการณ์และวิธีการอย่างไร ก็คงต้องหาทางร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวกันต่อไป


บทสรุป รวมถึงเจตนาในการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ

หากผู้อ่านสามารถอ่านได้มาจนถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ตั้งใจอ่านบทความที่ข้าพเจ้าเขียน โดยท่านทั้งหลายน่าจะรอดจากวังวนของความ "ยาวไปไม่อ่าน" เมื่อมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้ามีเรื่องที่จะต้องสารภาพถึงเจตนาข้าพเจ้าในการเขียนบทความที่เป็นประเด็นเริ่มต้นในลำดับถัดไป สืบเนื่องจากประเด็นบทความแรกเริ่มในกรณีนี้ ซึ่งก็คือ บทความ "ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ" ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ประชาไทไปนั้น ข้าพเจ้ามีความมุ่งหวังอย่างยิ่งยวดว่าประเด็นนี้จะเป็นข้อถกเถียงอย่างมากในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถึงขั้นที่ข้าพเจ้าตั้งใจคัดสรรชื่อบทความเรียกความสนใจนิสิตในคณะรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ (หากตั้งชื่อบทความเป็นชื่อในเชิงวิชาการแบบไร้อารมณ์เกินไป บทความจะดูน่าเบื่อและอาจไม่ได้รับความสนใจในการเข้าไปอ่าน) โดยคาดหวังอย่างสูงให้พวกเขามีการตอบโต้โดยการเขียนบทความทางวิชาการกลับมา ทั้งนี้เมื่อเวลาได้ผ่านไปเป็นเวลาน่าจะประมาณหนึ่งวัน กลับมีแต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่พบเห็นได้ตามสื่อออนไลน์อย่าง Facebook เท่านั้น ถึงแม้จะมีการ "อินมาก" ของคนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่กลับไม่มีการเขียนบทความโต้กลับบทความนั้นของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าตอนแรกเกิดความละเหี่ยใจว่าการวางแผนกระตุ้นให้นิสิตในคณะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาดังกล่าวของข้าพเจ้าผ่านการเขียนบทความโต้กลับ คงจะล้มเหลวเสียกระมัง แต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีการเผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ประชาไทโต้กลับบทความนั้นของข้าพเจ้า ชื่อบทความว่า "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)" ซึ่งบทความชิ้นนี้เปรียบเสมือนหยดน้ำที่เข้ามาต่อชีวิตของมนุษย์ผู้หิวกระหายสายน้ำแห่งวิชาการของข้าพเจ้า หรือประหนึ่งการเติมเชื้อฟืนแก่กองไฟแห่งวิชาการที่กำลังจะมอดดับลงของข้าพเจ้าเลยทีเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกมีพลังใจในการดำเนินแผนการต่ออีกครั้ง ข้าพได้เตรียมเขียนบทความเพื่อชี้แจงประเด็นที่ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ได้มีบทความของนิสิตคณะรัฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งแทรกเข้ามา โดยเขียนบรรยายมุมมองของเขาต่อทั้งสองบทความที่ได้กล่าวถึงนี้ ในนามบทความที่ว่า "ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นปัญหาความใจกว้างทางการเมืองในแง่วิธีการ" ที่เขียนโดยชยางกูร ธรรมอัน ซึ่งเป็นบทความที่ข้าพเจ้าค่อนข้างทึ่งกับระดับภาษาที่เขาใช้มากเลยทีเดียว แสดงให้เห็นถึงการอธิบายบทความทั้งสองที่เขามีต่อบทความทั้งสองของข้าพเจ้าและสิงห์ดำท่านหนึ่งในเชิงปรัชญาที่เหนือความคาดหมาย แม้แต่สำหรับข้าพเจ้าที่ก็ได้ศึกษาปรัชญาด้วยตนเองมาเป็นเบื้องต้น และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเขาเองก็ตาม ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการ "อินมาก" ของเหล่านิสิตคณะรัฐศาสตร์ครั้งนี้ (ข้าพเจ้ามิทราบว่าสิงห์ดำท่านหนึ่งเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบัน หรือเป็นศิษย์เก่า แต่ในที่นี้ขอตั้งสมมติฐานว่าเป็นนิสิตปัจจุบัน) ก็เป็นผลผลิตที่น่าชื่นใจอย่างยิ่งของแผนการข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเรื่องนี้เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ชาวสิงห์ดำทั้งผอง และประชาชนทั่วไปอีกด้วย ทำให้เกิดการขบคิดถกเถียงถึงแนวทางของคณะรัฐศาสตร์ในประเด็นต่างๆ ที่ห่างหายจากแวดวงวิชาการของเหล่าสิงห์ดำไประยะหนึ่งแล้ว

ในประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น สิงห์ดำท่านหนึ่งได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจไว้ในการหาแนวร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม ว่าการเขียนบทความแบบข้างต้นย่อมสามารถสร้างความไม่พึงพอใจแก่นิสิตในคณะบางส่วนเป็นแน่แท้ ซึ่งข้าพเจ้าก็ทราบดี และมีเจตนาเร้าอารมณ์ดังกล่าวอยู่แล้ว (ซึ่งหากขัดเคืองก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้) โดยข้าพเจ้าทราบโดยทั่วไปว่าการสร้างแนวร่วมทางการเมืองที่มีจิตสำนึกคัดค้านเผด็จการก็เป็นอย่างที่สิงห์ดำท่านหนึ่งแนะนำ ยกตัวอย่างแนวคิดการจัดตั้งพันธมิตร[9] ของปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวถึงบุคคลจำพวกที่ 1 ซึ่งควรรับไว้เป็นแนวร่วมในระดับหนึ่ง โดยฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องยับยั้งไม่ทะนงตนว่าก้าวหน้าเป็นที่สุดกว่าคนอื่นแล้ว หรือเสียสละสูงสุดกว่าคนอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลจำพวกที่หนึ่ง นี้เกิดหมั่นไส้แล้วไม่ยอมร่วมในขบวนการที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการตั้งขึ้น แต่การเชิญชวนกันในลักษณะธรรมเนียมนิยมในการต่อต้านเผด็จการอาจไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังได้ เพราะการต่อต้านเผด็จการผ่านการแสดงออกแบบการเมืองภาคประชาชนยังขาดความสนใจจากนิสิตในคณะค่อนข้างชัดเจน แทนที่จะเน้นย้ำการเชิญชวนให้มาสนใจแบบปกติ จึงต้องลองการเรียกความสนใจแบบใหม่บ้าง ประหนึ่งการหวังดีปลุกคนที่กำลังหลับด้วยการสะกิดเอว และการหวังดีปลุกคนที่กำลังหลับด้วยการเอานาฬิกาปลุกไปจ่อไว้ข้างๆหู ซึ่งก็พบว่าการทำแบบหลังได้ความสนใจอย่างล้นหลามในสื่อออนไลน์อย่าง Facebook และมีผู้แสดงความคิดเห็นว่าตนก็มีความตื่นตัวและการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบของตนแตกต่างกันมากมาย จนเกิดเป็นลูกโซ่บทความโต้ตอบกันมาในที่สุด

ในส่วนท้ายสุดนี้ ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมกับแผนการดังกล่าวไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ทำให้เกิดการฉุกคิดถกเถียงถึงประเด็นต่างๆในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของพวกเรา ขอขอบคุณสิงห์ดำท่านหนึ่งและชยางกูร ธรรมอัน ที่ร่วมกันต่อยอดให้แผนการกระตุ้นการฉุกคิดถึงประเด็นเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้อย่างลื่นไหลและได้รับความสนใจอยู่ในกระแสวิจารณ์ของชาวสิงห์ดำ ซึ่งในส่วนของการพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้นนั้น ข้าพเจ้าคงไม่มีความเก่งกล้าสามารถพอที่จะชี้ว่าอุดมการณ์ใดคือการแก้ไขปัญหาสังคมไทยที่ถูกต้องที่สุด หรือการเลือกก้าวเดินไปในอุดมการณ์ของตนด้วยวิธีใดจะเหมาะสมที่สุดเช่นกัน ในเมื่อทุกคนก็มีอุดมการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาสังคมที่แตกต่างกัน แต่ข้าพเจ้าก็คงต้องขอทำตัว "อวดดี" ยืนกรานว่าการก้าวเข้ามาเป็นสิงห์ดำนั้น คือ "ก้าวแรกสู่คณะรัฐศาสตร์ ก้าวต่อไป สู่การเสียสละเพื่อส่วนรวม" อันจะไปสอดคล้องกับคำขวัญเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่กล่าวว่า "เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน" อีกด้วย โดยเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าขอยกคำของปรีดี พนมยงค์ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจว่าจะก้าวไปสู่อุดมการณ์หรือจุดหมายปลายทางใด[10] ในการบรรลุผลของการต่อต้านเผด็จการ

"…ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันต่อไป เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้น ก็น่าจะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้…"

นอกจากนี้ ชาวสิงห์ดำทุกท่านที่กระหายจะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมทางการเมือง ก็สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆของชมรมในคณะ เช่น ชมรมวิพากษ์วรรณกรรม[11] ,ชมรม Singhdemic[12] ,หรือชมรมวิชาการ[13] เป็นต้น (ข้าพเจ้าได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกับสิงห์ดำรุ่น 70 หลายๆท่าน และพบว่าบางท่านมีความรู้และความตื่นตัวทางการเมืองที่สูงกว่าข้าพเจ้ามาก หรือบางท่านก็อาจมีความเข้าใจทางปรัชญาซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าอาจมีสูงกว่าชยางกูร ธรรมอัน ที่ได้เขียนบทความเชิงปรัชญาตั้งข้อสังเกตดังกล่าว ที่ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาตีความบทความเขาพอสมควรในการอ่านเสียอีก โดยสิงห์ดำรุ่น 70 ท่านนั้นได้กล่าวถึงงานเขียนเชิงปรัชญาการเมืองคลาสสิคที่เขาอ่านให้ข้าพเจ้าฟัง ข้าพเจ้าจึงคิดว่าชมรมเหล่านี้จึงน่าจะสามารถตอบโจทย์สิงห์ดำรุ่น 70 เหล่านี้บางส่วนได้เป็นแน่แท้ – นิสิตคณะรัฐศาสตร์ปัจจุบันสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครสมาชิกชมรมได้ในรายละเอียดลิงค์เพจจากส่วนเชิงอรรถ) หรือผู้อ่านทุกท่านแม้แต่บุคคลภายนอกที่สนใจสนับสนุนกิจกรรมที่มีแนวคิดมาจากซ้ายใหม่ในแง่คิดของพลังนิสิตในการพัฒนาสังคม ก็สามารถร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายพัฒนาสังคมผ่านการสั่งซื้อเสื้อยืดสิงห์ดำที่จำหน่ายโดยสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ[14] โดยสามารถติดต่อสั่งซื้อทางเพจได้โดยตรง ข้าพเจ้าจึงขอปิดท้ายบทสรุปบทความนี้ไว้ด้วยแนวคิดเห็นต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุดมการณ์ หรือเรื่องวิธีการแก้ไขปัญหาสังคมที่ต่างคนเลือกแตกต่างกัน และช่องทางการแสวงหาความรู้และการสนับสนุนสังคมที่ดีขึ้นของชาวคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไว้เพียงเท่านี้




เชิงอรรถ
[1] ที่มาบทความ https://prachatai.com/journal/2017/07/72418
[2] ที่มาบทตวาม https://prachatai.com/journal/2017/07/72451
[3] ที่มาบทความ https://prachatai.com/journal/2017/07/72471
[4] อ้างอิงแนวคิดจากบทความอำนาจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ขียนโดย นฤพันธ์ ด้วงวิเศษ ในแนวคิดเรื่องพัฒนาการจากเสรีนิยม มาสู่เสรีนิยมใหม่ และลัทธิเสรีนิยมใหม่ในแง่สังคมวัฒนธรรม – หนังสือ ชาติพันธุ์กับเสรีนิยมใหม่ (2557) นฤพันธ์ ด้วงวิเศษ บรรณาธิกาน, หน้า 59-71
[5] อ้างอิงแนวความคิดเรื่อง "ซ้ายใหม่" : การต่อต้านสงคราม สังคมนิยม - ประชาธิปไตย และพลังนักศึกษา - หนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (2556)  ประจักษ์ ก้องกีรติ, หน้า 240-247
[6] อ้างอิงข้อความคำพูดที่แปลเป็นภาษาไทยของ Herbert Marcuse จากหนังสือ "One Dimensional Man" – หนังสือ จาการปฏิวัติถึงโลกภาภิวัฒน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์ (2555) สรวิศ ชัยนาม, หน้า 9
[7] อ้างอิงข้อความของ Margaret Mead ในแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคม - หนังสือ หัวใจอุดมศึกษา เสียงเรียกร้องเพื่อปรับเปลี่ยนสถานศึกษาโดยการสนทนาในสภาบัน (2557) ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์, หน้า 157-158
[8] อ้างอิงแนวคิดของเสกสรร ประเสริฐกุล ในเรื่องอุปสรรคของการเมืองภาคประชาชน – หนังสือ การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (2557) เสกสรร ประเสริฐกุล, หน้า 176-195
[9] อ้างอิงแนวคิดการจัดตั้งพันธมิตร ตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ – หนังสือ เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (2559) ปรีดี พนมยงค์, หน้า 73
[10] อ้างอิงแนวคิดการร่วมกันต่อต้านเผด็จการที่มีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ตามแนวคิดปรีดี พนมยงค์ - หนังสือ เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (2559) ปรีดี พนมยงค์, หน้า 83-84
[11] ที่มา https://www.facebook.com/ชมรมวิพากษ์วรรณกรรม-คณะรัฐศาสตร์-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-177333906140057/
[12] ที่มา https://www.facebook.com/singhdemic/
[13] ที่มา https://www.facebook.com/SinghdamAcademicClub/
[14] ที่มา https://www.facebook.com/smopolscichula/

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจห้ามเครือข่ายประชาชนฯ ชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

Posted: 23 Jul 2017 07:05 AM PDT

สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ แจ้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ห้ามชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุขัด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ให้ตัวแทนยื่นหนังสือแทน แต่ผู้จัดยังยืนยันจัดการชุมนุม

 
23 ก.ค. 2560 หลังจากที่เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แจ้งข่าวว่าตามที่ปรากฎความขัดแย้งกรณีการทำรายงานอีไอเอ หลายพื้นที่ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น เนื่องจากกระบวนการจัดทำอีไอเอ ไม่ดำเนินการไปด้วยความถูกต้อง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายกรณี
 
เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีกำหนดจะไปเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ มีการจัดเวทีวิเคราะห์และรับฟังความเห็นของประชาชน ในภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรวบรวมข้อบกพร่อง ข้อเสนอแนะ สำหรับการแก้กฎหมายอีไอเอ โดยได้จัดทำเอกสารดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงทรัพย์ฯ ในวาระนี้ด้วย
 
และวันที่ 24 ก.ค. 2560 เวลา 9.30 น. จะมีการแถลงการณ์และแสดงสัญลักษณ์ กรณีการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของประกาศกระทรวงว่าด้วยการจัดทำรายงานอีไอเอ หลังจากนั้นจะมีการเจรจากับกระทรวงทรัพย์ฯ หากกระทรวงไม่เจรจาจะปักหลักที่หน้ากระทรวงต่อไป หากมีการเจรจาเครือข่ายจะแถลงการณ์ อีกครั้งหนึ่งหลังจากเสร็จการเจรจาเวลาประมาณ 12.30 น.
 
จากนั้นสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ได้ทำหนังสือถึงตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่าตามหนังสือที่อ้างถึง ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .. ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ความละเอียดตามที่แจ้งแล้วนั้น
 
ผู้รับแจ้งจึงได้สรุปสาระสาคัญตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ดังนี้
 
ด้วยได้รับแจ้งจากตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ในวันที่ 24 ก.ค. 2560 เวลา 08.00-16.00 น. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะจัดการชุมนุมสาธารณะภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านนอกอาคาร) และบริเวณฟุตบาทหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ โดยจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน และมีการใช้เครื่องขยายเสียง ขนาดกำลังไฟฟ้า 100 วัตต์ จำนวน 1 ตัว ลำโพงขนาด 25 วัตต์ จำนวน 3 ตัว พร้อมป้ายผ้ารณรงค์, ป้ายไวนิลรณรงค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .. ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น
 
ทั้งนี้ ผู้รับแจ้งพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 8 บัญญัติว่า "การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ดังต่อไปนี้ (1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น การชุมนุมสาธารณะบริเวณภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริเวณฟุตบาทหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ทำการหน่วยงานของรัฐ แม้จะอยู่ภายนอกอาคาร แต่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากและมีการใช้เครื่องขยายเสียงพร้อมป้ายผ้ารณรงค์, ป้ายไวนิลรณรงค์ ที่ใช้ประกอบในการชุมนุม อาจเป็นการกีดขวางทางเข้าออก มีการล่วงล้ำไปบนพื้นผิวการจราจร หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้สถานที่ดังกล่าว อีกทั้งเครื่องขยายเสียงจะส่งเสียงดังรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทางานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานราชการที่อยู่ใกล้เคียง เช่น กรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย และผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะถือเป็นผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมมีหน้าที่ตามมาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 
 
เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว อาจเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการ ปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้สถานที่ดังกล่าว และอาจมีลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร ส่งเสียงดังรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานของรัฐที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอาจขัดต่อมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เห็นควรให้ ท่านจัดตัวแทนเพื่อยื่นหนังสือ เรื่อง ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .. ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นสถานที่ที่สานักงานปลัดสานักนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งขึ้นเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ และเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาของประชาชน หรือหากท่านยืนยันจะมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในการดำเนินการดังกล่าว ให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม นำรถไปจอดที่ลานจอดรถสถาบันการประชาสัมพันธ์ แล้วเดินเข้าไปรวมกันที่ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดตัวแทนเพื่อยื่นหนังสือ และให้งดใช้เครื่องขยายเสียง , งดป้ายผ้ารณรงค์หรือป้ายไวนิลรณรงค์ , ห้ามรวมกลุ่มชุมนุมหรือทากิจกรรมกีดขวางทางเข้าออก ห้ามมีการล่วงล้ำไปบนพื้นผิวการจราจรหรือกีดขวางทางเท้า เนื่องจากจะทาให้เกิดผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้สัญจรไปมา และจะเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ หรือการให้บริการประชาชนของหน่วยงานของรัฐดังกล่าว รวมถึงเห็นควรงดการจัดกิจกรรมที่อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 "ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย" ตามที่สิ่งมาด้วยแล้ว
 
อนึ่งการจัดการชุมนุมดังกล่าว จะเป็นการชุมนุมทางการเมือง หรือขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติหรือไม่ จะได้ประสานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เพื่อพิจารณาแล้วแจ้งผลให้ทราบภายหลังต่อไป
 
ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระบุว่าจะยังคงจัดการชุมนุมในวันที่ 24 ก.ค. 2560 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #167 เพศวิถียุคก่อนสมัยใหม่

Posted: 23 Jul 2017 05:55 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และคำ ผกา เล่าเรื่องเพศวิถีและความหลากหลายทางเพศในยุคก่อนสมัยใหม่ กรณีของจีนที่มีความสัมพันธ์ของชายกับชาย แต่อย่างไรก็ตามยังคงสะท้อนความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า หรือกรณีอินเดียที่มีกวีแบบ Rekhti ที่ผู้ประพันธ์เป็นชายแต่ใช้น้ำเสียงแบบผู้หญิงเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงกับหญิง รวมทั้งคนข้ามเพศหรือ "ฮิจรา" ในวัฒนธรรมเอเชียใต้ ซึ่งในปัจจุบันยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศของกลุ่มตน รวมทั้งอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์มาต่อสู้เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นกลุ่มชายขอบ

ทั้งนี้แม้แนวคิดเรื่องเพศแบบอาณานิคมตะวันตกที่ยึดคุณค่าทวิลักษณ์ของเพศชาย-หญิง ได้ลดทอนความหลากหลายทางเพศวิถีเหล่านี้ แต่ในยุคสมัยใหม่ต่อมาก็เกิดสำนึกใหม่เรื่องสิทธิทางเพศและความหลากหลายทางเพศที่คำนึงถึงมิติด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โฆษกกลาโหม' คาดทหารแค่ไปขอความร่วมมือ ไม่ใช่ขู่ 'เลขาฯ การศึกษาเพื่อความเป็นไท'

Posted: 23 Jul 2017 03:02 AM PDT

พล.ต.คงชีพ โฆษกกระทรวงกลาโหม แจงยังไม่รับทราบเรื่อง 'เลขาฯ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท' ถูกทหารขู่ถึง ร.ร. แต่คาดว่าทหารคงจะเป็นการขอความร่วมมือถึงความเหมาะสมในการเขียนแถลงการณ์ถึงผู้บริหารประเทศ 

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)

23 ก.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา สัณหณัฐ ศรัทธาพร เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Sanhanutta Sartthaporn' ในลักษณะสาธารณะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบมาพบเขาที่โรงเรียน สอบถามถึง 'แถลงการณ์กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ฉบับที่ 02/60' กรณีการแทรกแซงของนายกฯ ต่อระบบการศึกษา โดย สัณหณัฐ เล่าด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ให้เขาดูข้อความที่ข่มขู่เขา พร้อมขู่อีกว่า "ถ้าน้องยังไม่หยุดวิจารณ์นายพี่ พี่จะส่งชื่อน้องให้โดนอะไรพี่ก็ไม่รู้นะ" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวานนี้ (22 ก.ค.60) Voice TV รายงานว่า พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่ายังไม่รับทราบเรื่องดังกล่าว แต่เบื้องต้นคาดว่าทหารไม่น่าจะเข้าไปข่มขู่  แต่คงจะเป็นการขอความร่วมมือถึงความเหมาะสมในการเขียนแถลงการณ์ถึงผู้บริหารประเทศ ส่วนที่ระบุว่าเป็น พ.อ.บุรินทร์ ทองพระไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. นั้น เชื่อว่า ไม่น่าเป็นไปได้ แต่จะตรวจสอบเพิ่มเติม 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงผลกระทบ 3 ปี (หลังรัฐประหาร) ของประชาชนเหนือจรดใต้

Posted: 23 Jul 2017 02:49 AM PDT

22 ก.ค.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีเสวนา อีสานกลางกรุง ครั้งที่ 2 "แถลงผลกระทบ 3 ปี ของประชาชน" จัดโดยขบวนการอีสานใหม่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ในช่วงแรกเป็นการสะท้อนประเด็นปัญหาของตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ต่อสู้ในประเด็นสิทธิในที่ดิน สิทธิชุมชน แต่คัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในช่วงเวลา 3 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557

สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตกรภาคใต้ (สกต.)

  • สกต.เป็นขบวนการของแรงงานไร้ที่ดิน ที่ดินจำนวนมากในภาคใต้อยู่ในมือของบริษัทน้ำมันปาล์ม ในจังหวัดกระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พบว่ามีอยู่จังหวัดละแสนกว่าไร่ หลายส่วนเป็นที่ดินที่หมดสัญญาเช่าแล้ว แต่กลับไม่มีการจัดสรรให้เกษตรกรตามที่ระบุในกฎหมาย
  • ปัจจุบันรัฐบาลเตรียมแจกที่ดินให้คนจนประมาณ 6 ไร่ต่อครอบครัว รวมแล้ว 300,000 ไร่ ขณะที่เตรียมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นกินพื้นที่ 3.7 ล้านไร่ บ่งบอกถึงช่องว่าง ความไม่เท่าเทียมทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประชาชนที่ทำการผลิตกับนายทุนนักธุรกิจ
  • สถานการณ์ปัญหาในจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลังรัฐประหาร 2557 สะท้อนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนไป ดังตัวอย่างเช่น เดือนกันยายน 2557 ทหาร 50 นายพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าชุมชนคลองไทรพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกร้องดูเอกสารสิทธิในที่ดินของชาวบ้านประมาณ 70 หลังคาเรือน ทั้งที่ชาวบ้านเรียกร้องกับ สปก.มาตั้งแต่ปี 2546 ให้ขับไล่นายทุนออกจากพื้นที่หลังหมดสัญญาสัมปทานแต่คดียังยืดเยื้อ จนปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติผ่อนผันให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ชั่วคราว

"ทหารไปพร้อมกลุ่มผู้มีอิทธิพล รัฐร่วมมือใกล้ชิดกับทุนท้องถิ่นที่มีลักษณะเป็นอิทธิพลมืด จากนั้นอาทิตย์ถัดมาก็มีการเชิญตัวแทน สกต.ไปชี้แจงกับ กอ.รมน. มีทหารมาติดตามความเคลื่อนไหวของชาวบ้านอีกราว 10 ครั้ง เดือนตุลากคมทหารเข้ามาตั้งที่พักเพื่อเฝ้าดูตรวจสอบชุมชนอยู่ประมาณ  1 เดือนเต็ม"

  • ชุมชนเพิ่มทรัพย์ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน บริษัทหมดสัญญาไปแล้วประมาณ 15 ปี มีเกษตรกรหลายกลุ่มเข้าไปอยู่ รวมถึงสมาชิก สกต. 37 ครัวเรือน มีการเรียกร้องรัฐให้ปฏิรูปจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรแต่ก็ไม่คืบหน้า จากนั้นทหารในจังหวัดได้เรียกแกนนำคนหนึ่งไปปรับทัศนคติเป็นเวลา 2 วันโดยระบุว่าเป็นแกนนำที่ระดมมวลชนได้ จึงต้องการให้มีการสลายการชุมนุมยึดพื้นที่ป่าสงวนดังกล่าว แต่แกนนำคนดังกล่าวระบุว่าไม่สามารถที่จะสั่งการชาวบ้านได้ เพราะเป็นเจตจำนงของชาวบ้านเอง
  • สกต.เคยทำหนังสือไปยังหน่วยงานสนับสนุนด้านธนาคารชุมชนของรัฐ แต่รัฐตอบกลับว่าไม่มีงบประมาณ และสามารถสนับสนุนได้เพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้นซึ่งเต็มโควตาแล้ว

"รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งที่เราเรียกร้องเรื่องนี้มานานเพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาที่ดิน เพื่อให้ชาวบ้านซื้อที่ดินได้ในราคาที่เป็นธรรม"

  • ปัจจุบันแรงงานไร้ที่ดินทั้งหมดตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งมีเกณฑ์ในการแจกที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้คนจนครอบครัวละประมาณ 6 ไร่ รวมแล้วประมาณสามแสนไร่ สิ่งที่พบ คือ 1. จัดที่ดินทำกิน 5 ไร่และที่อยู่อาศัยให้เพียง 150 ตารางวา 2.คนจนที่จะได้สิทธินั้นต้องเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน  "แม้แต่ขอทานยังมีรายได้มากกว่านี้ ถ้าตั้งเกณฑ์แบบนี้คนจนอดตายหมด"
  • สปก.บอกการปฏิรูปที่ดินต้องทำให้ที่ดินเป็นศูนย์ใครมีสิ่งปลูกสร้างอะไรต้องรื้อถอน และต้องปรับแผนผังการจัดสรรในส่วนที่ประชาชนอยู่กันอยู่แล้วซึ่งเป็นการทำร้ายชาวบ้าน

"แนวคิดนี้เหมาะกับที่ที่เกษตรไม่ได้อาศัยอยู่ก่อน รัฐบาลและสปก.ต้องออกแรงไปขับไล่นายทุนเอาเอง ไม่ใช่ชาวบ้านเขาสู้มาแทบตายแล้วมาสั่งแบบนี้ สมาชิกสกต.ตายไปแล้ว 4 คน สู้มาขนาดนี้แล้ว สปก.จะเอาคืน นี่เท่ากับหลอกใช้ชาวบ้าน เอาเป็นหนังหน้าไฟ ถึงเวลาเจ้าหน้าที่รัฐเอาความดีความชอบ"

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย

  • รัฐบาลคสช.แก้ปัญหาไม่ตรงจุด การที่ราคายาง ราคาข้าว ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนทั่วไปในพื้นที่มาก ชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องเหมืองก็เดือดร้อนเช่นกันเพราะต้องใช้ทุนในการต่อสู้
  • ปัญหาสำคัญหลังการรัฐประหาร 2557 คือ การออกคำสั่งไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และให้ชุดเดิมรักษาการไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด ชาวบ้านอยากเลือกตั้ง อบต. และอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องเหมืองแร่ในพื้นที่ ปัจจุบันไม่สามารถพูดเรื่องนี้กันได้ และท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไร รอแต่คำสั่งจากส่วนกลาง

"นโยบายส่วนกลางว่ายังไง ส่วนล่างอย่าง อบต.ไม่มีสิทธิออกเสียง เราเกรงว่าจะมีการอนุมัติเรื่องเหมืองตามพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อีไอเอก็ไม่ต้องทำ การมีส่วนร่วมก็สั้นลงมาก สิ่งที่เราต่อสู้กันมาถูกตัดออกหมด"

  • กฎหมายใหม่ๆ ที่ออกหลังการรัฐประหาร เช่น พ.ร.บ.ชุมนุม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้ชาวบ้านถูกฟ้องมากขึ้นจากการพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านเหมือง

"ก่อนรัฐประหารนี่บริษัทจะเป็นคนฟ้องชาวบ้าน แต่หลังรัฐประหาร รัฐฟ้องเอง เหมือนเรากลายเป็นศัตรูกับรัฐ"

  • คำสั่ง 72/2559 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกเมื่อปลายปี 2559 การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่กำหนดให้ยุติการทำเหมืองทองทั่วประเทศ ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง บริษัทไม่ปฏิบัติตามและรัฐก็ทำอะไรไม่ได้ แต่กับชาวบ้านรัฐกลับไล่บี้ติดคุกติดตะราง

"บริษัทยังต้องการขยายเขตพื้นที่เหมืองแร่อีกเยอะ ที่เราต่อสู้กันมานั้นแค่ 6 แปลงแรก และมันยังเหลืออีก  90% ที่ต้องขยาย"

  • คดีที่ชาวบ้านถูกบริษัทฟ้องร้องทั้งหมดมีราว 22 คดี ปัจจุบันเหลืออยู่ 5 คดีเพราะบางส่วนชนะคดี บางส่วนยกฟ้อง บางส่วนจบที่การทำ MOU อย่างไรก็ตาม วันที่ 25 ก.ค.นี้น่าจะมีชาวบ้านถูกฟ้องจากพ.ร.บ.ชุมนุมด้วย

ยุทธ แพงดี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูน-ดูนสาด

  • ปัญหาใหญ่คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ากดดันชาวบ้านไม่ให้แสดงออกหรือชุมนุม โดยข่มขู่ว่าจะมีการจับกุมดำเนินคดี
  • อยากให้ยกเลิกมาตรา 44 ที่ทำให้เจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังใครก็ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง

"คำสั่งของตัวเองอยู่เหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วอย่างนี้จะยังนับเป็นคำสั่งที่ชอบธรรมได้อย่างไร"

ดิเรก กองเงิน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

  • ชาวบ้านใช้มาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดินในการยึดคืนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ยาวนาน แต่ศาลกลับมองว่าชาวบ้านทำผิดกฎหมาย

"บุคคลมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1)  สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิบปีติดต่อกัน

(2)   สำหรับที่ดินที่มีหนังสือสรับรองการทำประโยชน์เกินห้าปีติดต่อกัน

ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องขอศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป"

  • สกน.พยายามผลักดันการกระจุกตัวของที่ดินของนายทุน โดยผ่านกฎหมายภาคประชาชน 4 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า โฉนดชุมชน ธนาคารชุมชน และร่วมผลักดันการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)

"ไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง รัฐบาลจากการยึดอำนาจซึ่งก็ผ่านมา 2 ชุดแล้ว ไม่มีผลสำเร็จเรื่องการผลักดันกฎหมายประชาชนเลย ปัญหาขัดขวางสำคัญคือ ข้าราชการ แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือหัวหน้ารัฐบาลไม่เคยรับฟังปัญหาประชาชนจริงๆ"

  • ปัญหาที่เจอคือ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาตแกนนำในพื้นที่เคลื่อนไหว จัดประชุม แม้แต่การออกไปร่วมประชุมกับราชการในกรุงเทพฯ ก็ยังเป็นไปอย่างยากลำบาก
  • คำสั่ง 64, 66 เรื่องทวงคืนผืนป่า สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก แม้จะมีการกำหนดว่าหากเป็นคนยากจนจะได้รับการยกเว้น แต่หากดูผลงานที่รัฐบาลยึดคืนมาได้ 200,000 กว่าไร่นั้นล้วนแต่เป็นของคนจนทั้งนั้น

ระเบียง แข็งขัน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว

  • รัฐบาลต้องดูแลเศรษฐกิจด้านการเกษตร เพราะราคาพืชผลตกต่ำมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถมีเงินไปใช้หนี้ ธกส.ได้
  • พื้นที่น้ำพองเต็มไปด้ยอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ โรงงานสุรา โรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งสร้างผลกระทบที่เห็นได้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย และมลภาวะทางอากาศของกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้าน ที่ผ่านมาคัดค้านโรงงานแป้งมันในปี 2554-2555 มีการฟ้องศาลปกครองโดยมีกลุ่มนักศึกษาดาวดินช่วยเหลือในทางกฎหมาย  แม้โรงงานสร้างไปแล้วราว 50% แต่เราก็สู้กันจนชนะคดี นอกจากนี้ยังมีโรงงานเชือดไก่ของ CP ที่จะเข้ามาตั้งและต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชาวบ้านเช่นกัน
  • หลังรัฐประหาร 2557 ชาวบ้านอยากเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให่ ไผ่ ดาวดิน ที่ถูกจับกุมคุมขังในคดี 112 จากการแชร์บทความจากเว็บบีบีซีไทย

"เราอยากเคลื่อนไหวช่วยไผ่ เรียกร้องเรื่องความไม่ยุติธรรมทั้งหลาย แต่เรารวมตัวกันไม่ได้ พอรวมกันตำรวจก็มาบอกไม่ให้เคลื่อนไหวขู่จะดำเนินคดี เขาจับตาทุกเรื่อง แม้แต่เรื่อง 30 บาทที่เราอยากจะไปเรียกร้องกับนายกฯ ตอนมาประชุมที่ขอนแก่น ก็ไปไม่ได้ ชาวบ้านกลัวจะโดนคดี"

เสมอ เถินมงคล กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์  จ.ชัยภูมิ

  • สถานการณ์ของเหมืองแร่โปแตชนั้นดูเหมือนจะยุติลงชั่วคราว นอกเหนือจากโครงการเหมืองแร่ยังมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินด้วย ตอนนี้ทางเหมืองเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล

"ชาวบ้านเรียกร้องให้ถอนอีไอเอฉบับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ที่ สผ.ออกให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยว่ากันเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ตอนนี้จะมาประชาคมอีกวันที่  24 ก.ค.นี้ ชาวบ้านตั้งรับไม่ทัน ไม่รู้ข้อมูล มีแต่ทางเหมืองที่บอกว่าดี"

สมัย มังทะ กลุ่มคนรักษ์น้ำอูน จังหวัดสกลนคร

  • ในพื้นที่กำลังต่อต้านโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นมา 2-3 ครั้งแล้ว ทั้งนี้ในปี 2532 มีมติครม.อนุญาตให้บริษัทแห่งหนึ่งย้ายโรงงานและพื้นที่ปลูกอ้อยมาที่จังหวัดสกลนคร มีการยื่นอีไอเอระบุว่าจะใช้อ้อย 40,000 ตันต่อวัน แต่ไม่ผ่านอีไอเอจึงปรับลดเหลือ  12,000 ตันต่อวัน
  • จุดตั้งโรงงานขนาดใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอใกล้ลำน้ำอูน และมี  17 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่โรงงาน โดยหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดคือ 200 เมตร
  • ความกังวลของชาวบ้านคือ ผลกระทบด้านมลภาวะที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสียที่จะถูกปล่อยลงลำน้ำอูน หรือการต้องมีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่มาก จะมีการเผาไร่อ้อย การแย่งชิงน้ำดิบ หรือแม้กระทั่งการขนส่งที่ระบุว่าจะมีรถวิ่ง 695-2,223 เที่ยวต่อวัน หรือชั่วโมงละ 18 คัน ในขณะที่อาชีพหลักของชาวบ้านคือ การทำข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีสายพันธ์ท้องถิ่นกว่าร้อยชนิด
  • ปัจจุบันแม้อีไอเอของโรงงานยังไม่ผ่าน แต่มีการกว้านซื้อที่ดินและแผ้วถางป่าไปแล้วกว่า  1,400 ไร่

"ตอนนี้ลำรางสาธารณะก็ถูกปิดกั้น ถนนที่ชาวบ้านเคยใช้ก็ใช้ไม่ได้ เขาถมคลอง ชาวบ้านไปร้องเรียน เขาก็ขุดคืน แล้วก็ฟ้องชาวบ้านข้อหาหมิ่นประมาท ตอนนี้มีชาวบ้าน 20 คนที่โดนฟ้อง เคยมีการไกล่เกลี่ยแต่ชาวบ้านไม่ยอม ศาลจะนัดไต่สวนวันที่ 3-4 ตุลาคมนี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใส่หน้ากาก 'ไผ่ ดาวดิน' อ่านคำประกาศอีสานใหม่

Posted: 23 Jul 2017 12:51 AM PDT

22 ก.ค.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนา "อีสานกลางกรุง แถลงผลกระทบ 3 ปีของประชาชน" ภายหลังสิ้นสุดการเสวนาประชาชนที่ร่วมงานร่วมกิจกรรมใส่หน้ากากรูปไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ที่ขอนแก่นจากข้อหาความผิดตามมาตรา 112 กรณีที่เขาแชร์พระราชประวัติร.10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทย

"พลเมืองไทยยังไม่สิ้นหวัง เราคืออีสานใหม่ เราผุดขึ้นมาจากความแห้งแล้งของผู้ปล้นชิง เติบโตจากหยาดน้ำของความเคารพกันและกันของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย...เราจะยืนอยู่ที่เดิมเพื่อต่อสู้กับความยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการ" แถงการณ์ระบุ

คำประกาศอีสานใหม่ 22 กรกฎาคม 2560

855 วันมาแล้ว เมื่อนับจากวันที่ 20 มีนาคม 2558 ที่เราเดินทางมาประกาศถึงอีสานใหม่ ณ ใจกลางเมืองหลวง

สถานการณ์ดูจะแย่ลงทุกที ไม่เพียงการใช้งบประมาณของกองทัพที่เพิ่มขึ้นมหาศาลจากการซื้ออาวุธ กระบวนการยุติธรรมที่ฉีกทึ้งทำลายหลักการอยู่ร่วมกันในสังคม กระบวนการล้มหลักประกันสุขภาพที่เหมือนการกระชากเอาถุงยาไปจากมือผู้ป่วย ในขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างน่าใจหาย วันคืนที่ผ่านมาดูจะกลืนกินความอยู่ดีมีสุขของประชาชนจนแห้งเหือด
สถานการณ์การรุกรานชุมชนปล้นชิงทรัพยากรก็แย่ไม่แพ้กัน การรุกคืบเข้ายึดครองทรัพยากรชุมชนในนามของโครงการพัฒนาดูจะหนักหน่วงขึ้นทุกวัน

การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปรุกรานท่ีอยู่อาศัย ที่ดินทำกินและที่สาธารณประโยชน์ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

การยกเว้นโครงการพัฒนาหลายประเภทที่จัดหาผู้ประมูลได้เลยในขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่ได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบ 
การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทับที่อยู่อาศัย ทีดินทำกินและที่สาธารณประโยชน์ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

การขับไล่คนยากคนจน คนไร้ที่อยู่อาศัยและท่ีดินทำกินออกจากป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่าเพื่อหวงแหนพื้นที่ป่าไม้เอาไว้ให้สำหรับการสัมปทานในกิจการต่าง ๆ อาทิเช่น สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมสัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

การอนุญาตให้กิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการสัมปทานต่าง ๆ ในพื้นที่ ส.ป.ก. ได้ ทั้ง ๆ ที่ควรสงวนหวงห้ามหรือกันแนวเขตพื้นที่ไว้สำหรับเกษตรกรรายย่อยและคนยากคนจนที่ไร้ที่ดินทำกิน เพื่อรักษาพื้นที่่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมและแหล่งผลิตอาหารเอาไว้ให้ยั่งยืนยาวนาน

การให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชและเกลือหินใต้ดินจำนวนหลายแหล่ง ที่ในอนาคตจะทำให้ผืนดินอีสานเปรอะเปื้อนไปด้วยความเค็มจนไม่อาจนำมาใช้ทำการผลิตในภาคเกษตรกรรมได้อีกต่อไป รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเกลือหินจะผุดขึ้นราวดอกเห็ดเต็มไปหมดจนเกิดการแย่งยึดท่ี่ดินและแย่งชิงน้ำอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็รุนแรงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งการใช้ที่ดินในภาคใต้ การทวงคืนผืนป่าทางภาคเหนือ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินทำกินกับกระจุกตัวในหมู่กลุ่มทุนใหญ่ การผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา 
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกจังหวัดสงขลาเชื่อมสองฟากฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยให้เป็นสะพานเศรษฐกิจเพื่อหวังที่จะย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางทะเล

การยอมจำนนทางอธิปไตยต่ออำนาจและอิทธิพลของจีนด้วยการยอมให้จีนเข้ามาสำรวจเกาะแก่งแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงแสนและเชียงของ จังหวัดเชียงรายเพื่อเตรียมระเบิดทิ้ง เป็นการเปิดโอกาสให้เรือจากจีนขนาด 500 ตัน สามารถเดินเรือในร่องน้ำลึกได้นั้นจะทำให้จีนสามารถขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจควบคุมภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งหมดได้อย่างเบ็ดเสร็จ

การใช้อำนาจรัฐจัดการควบคุมคุกคามการเคลื่อนไหวเรียกร้องของพี่น้องแรงงานที่ต้องการสร้างสวัสดิการที่สากลและเป็นธรรม  การปล่อยให้เกิดการวิสามัญฆาตรกรรมสามัญชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไร้ความรับผิดชอบในการปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งกรณี ชัยภูมิ ป่าแส ในภาคเหนือ และสามัญชนอีกมากมายในปาตานี

ต่างจากช่วงเวลาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตรงที่เราไม่สามารถเปล่งเสียงได้อย่างเสรี ซ้ำยังมีทหารเข้ามาควบคุมดูแลสอดส่อง และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นด้วยการออกกฎหมายห้ามชุมนุมขึ้นมาบังคับใช้ ด้วยพฤติกรรมรัฐเยี่ยงนี้จึงเสมือนเป็นการยุยงส่งเสริมนายทุนให้ลำพองด้วยการฟ้องคดีกลั่นแกล้งเป็นจำนวนมากเพื่อให้ชาวบ้านหวาดกลัวซ้ำร้ายหลายพื้นที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นจนทำให้ชาวบ้านถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส เลือดตกยางออกและถูกข่มขู่เพื่อหมายปองเอาชีวิต ดังเช่นกรณีการลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลยของชาวบ้านในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน ด้วยพฤติกรรมรัฐเยี่ยงนี้จึงทำให้เสียงพร่ำร้องของชุมชนที่ถูกรุกรานแผ่วเบาจนไม่อาจเป็นที่รับรู้ของสังคมที่จะร่วมกันถกเถียงเพื่อสร้างสังคมที่ใฝ่ฝันร่วมกันได้

เราต่างตกอยู่ท่ามกลางระบอบทุนนิยมถือปืน ที่อุดปากมัดมือขืนใจไร้ปรานี โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ภายใต้ข้ออ้างถึงความสงบ ความสามัคคี และคุณธรรมหลายประการ

เราคืออีสานใหม่

เราคือประชาชนตีนดำๆ ที่ไม่อาจก้มหน้าทน จนลุกขึ้นมาขัดขืนต่ออำนาจที่เข้ามารุกราน นี่คือการต่อสู้ระหว่างผู้รุกรานกับผู้รักษามาตุภูมิ นี่คือการต่อสู้ระหว่างผู้ปล้นชิงกับคนไร้อาวุธ

เรามองเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพจากที่นั่นที่นี่ เป็นสัญญาณบอกกล่าวต่อกันว่าพลเมืองไทยยังไม่สิ้นหวัง เราขอส่งข่าวถึงเพื่อนทั้งหลาย ดังเช่นเมือ 855 วันก่อนว่า

"เราคืออีสานใหม่ เราผุดขึ้นมาจากความแห้งแล้งในหัวใจของผู้ปล้นชิง เติบโตจากหยาดน้ำของความเคารพกันและกันของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย"

และเราขอประกาศว่า

นี่ไม่ใช่การร้องขอ เรามีสิทธิที่จะมีที่ดินทำกิน งานที่ยุติธรรม ที่อยู่อาศัยที่พึงมี อาหารที่เพียงพอ หลักประกันสุขภาพ สุขอนามัย การศึกษา สภาพแวดล้อมที่ดี การจัดการตนเองและชุมชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ

เราจะยืนยันสิทธิและเสรีภาพของเราด้วยความจริงเพื่อสู้กับคำลวงและการบิดเบือน
เราจะยืนหยัดอยู่ที่เดิมเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.

ขอสันติจงมีแด่ทุกท่าน
ขบวนการอีสานใหม่
วันที่ 22 กรกฎาคม 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีต สปท. ชี้ 2 ปี สปท.คาดหวังไม่ได้ เพราะโครงสรัางเป็นราชการ

Posted: 23 Jul 2017 12:44 AM PDT

อดีต สปท. ชี้ 2 ปี สปท.คาดหวังไม่ได้ เพราะโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นราชการ ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองและนักวิชาการชี้ประเทศอยู่ในวังวนรัฐราชการ 

 
23 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา ในหัวข้อ "2 ปี สปท.สังคมได้อะไรจากการปฏิรูป" ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายนิกร จำนง อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า โครงสร้างของ สปท.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และผลงานส่วนใหญ่จะเป็นรายงานทั้งหมด ไม่มีอำนาจดำเนินการในรูปแบบอื่นได้ สปท.ถูกแต่งตั้งเป็นเพียงที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่นับเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น จึงคาดหวัง สปท.ไม่ได้ ส่วนการทำงานของ สปท.นั้น ได้แบ่งคณะกรรมาธิการเป็นด้านต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปท.หรือ วิป สปท. และคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูประบบการปลอดภัยทางถนน และคณะกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา  
 
นายนิกร กล่าวว่า สปท.มีเวลาทำงานอย่างจำกัดตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งงานของ สปท.เป็นงานในเชิงปฏิรูปน้อยมาก ขณะที่นักการเมือง 9 คนที่เป็น สปท.ถูกใช้เป็นข้ออ้างว่า การปฏิรูปครั้งนี้มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมด้วย ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตนมักทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเพื่อยืนยันในวิธีคิดของฝ่ายการเมือง ส่วนกรณีการตั้งคำถามประชามติ ขณะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของ สปท. แต่เมื่อ สปท.เสนอคำถามแล้วได้รับความเห็นชอบ หากมีอะไร ก็จะถูกโยนมาที่ สปท. ดังนั้น สปท.จึงกลายเป็นสภาหนังหน้าไฟ ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ตั้งคำถามตั้งแต่แรก และกลายเป็นหมากทางการเมืองที่สำคัญซึ่งมีประโยชน์ต่อรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายโยนหินถามทางให้รัฐบาล อย่างแนวทางการปฏิรูปสื่อที่ล้วนมาจาก สปท.
 
นายนิกร กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองปฏิรูปตัวเองเพื่อเป็นความหวังของประชาชนในอนาคต ที่ผ่านมา ตนได้คัดค้านเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในตอนแรก และเสนอว่า ให้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ ไม่ต้องออกมาเป็นแผน ซึ่งล่าสุดก็มีการแก้ไขใหม่ว่า สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้ทุก 5 ปี ซึ่งตนก็เบาใจที่ยืดหยุ่นได้ อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้มีปฏิรูป 11 ด้าน คนที่จะขับเคลื่อนต่อก็น่าจะเป็น สปท. ส่วนเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย ตนได้เสนอให้เริ่มปฏิรูปเรื่องนี้จากโรงเรียน และได้มีการยกร่างกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแล้ว
 
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาขาดการจัดลำดับความสำคัญ หากรัฐบาลตั้งใจทำงานเรื่องใดเป็นพิเศษ ควรจัดลำดับความสำคัญและมอบหมายให้สปท.ไปศึกษาโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูป อีกทั้งไม่ได้ค้นหาหัวใจของปัญหาของบ้านเมืองในปัจจุบัน ซึ่งหัวใจของปัญหาคือ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่า หลังจากการเกิดปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งจะเกิดรัฐราชการครอบคลุมทุกอย่าง ทำให้ระบบย้อนหลัง 40-50 ปี เช่น คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐวิสาหกิจ และสปท. มีแต่ข้าราชการ แล้วจะเอาสิ่งใดไปต่อสู้กับเวทีโลก 
 
นายชวลิต กล่าวว่า ตนไม่ได้รังเกียจราชการ แต่ขณะนี้ราชการลงทุนขาเดียว เพราะภาคเอกชนจะเอาเงินมาลงทุนก็ต่อเมื่อจะคุ้มทุนแล้วมีกำไรเท่านั้น และตนมองว่า ระบบราชการขับเคลื่อนไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งตามปกติแล้ว ภาคเอกชนจะเป็นหัวขบวนรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ส่วนภาคราชการเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเดินไปได้ แต่ขณะนี้เป็นระบบที่ผิดปกติ กลับหัวกลับหาง วิธีแก้ปัญหาคือ เมื่อระบบไม่ปกติ ต้องทำให้เป็นปกติ โดยคนไทยต้องมีสำนึกร่วมกันว่าจะทำบ้านเมืองให้เป็นปกติอย่างไร
 
นายชวลิต กล่าวว่า ปัญหาปากท้องของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก่อนหน้านี้ ตนได้เข้าร่วมเวทีปรองดองที่กองทัพภาคที่ 1 แต่ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เพราะไม่ต้องการแสดงความเห็นแล้วเกิดการกระทบกระทั่ง โดยบรรยากาศในวันดังกล่าว มีการเสนอที่จะให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อเพราะเห็นว่าบ้านเมืองสงบ ให้ปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง และมีคนปรบมือเป็นระยะ แต่ในโลกของความเป็นจริง ศักยภาพของประเทศไทยกลับเติบโตต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน ปัญหาปากท้องของประชาชนก็ยังแก้ไม่ได้ เป็นเพราะระบบหรือไม่ ดังนั้น ทุกคนควรร่วมมือกัน 
 
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท. มีมาเพื่อเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับอำนาจไว้ เนื่องจากตอนรัฐประหารไม่ได้มีการเตรียมแผนในระยะยาว แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้ว หน้าที่สำคัญของ สปท. คือการวางรูปแบบของรัฐในอนาคต ที่ควรจะเป็นแนวทางให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ตนเชื่อว่า ในอนาคตชีวิตทางการเมืองของตน จะไม่เห็นประชาธิปไตยเต็มใบอีกแล้ว ประชาธิปไตยเหมือนกับต้นไม้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นไม่ได้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นได้แต่ไม่งอกงาม ประเทศไทยอาจจะไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตยก็ได้ ตนคิดว่า ประเทศไทยอาจจะเหมาะกับรัฐกึ่งประชาธิปไตยมากกว่ารัฐประชาธิปไตย 
 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ถามว่า สิ่งที่ สปท.ทำมาจะได้ผลเท่ากับที่คาดหวังหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ สปท.ไม่ได้ทำคือ การปฏิรูปวัฒนธรรมประชาธิปไตย มนุษย์ทั่วไป เวลาพูดถึงคนอื่นไม่ดีแต่ก็ไม่ได้มองตัวเองว่าดีหรือไม่ ในอนาคตข้างหน้า จะไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็น แต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องยอมรับกติกานั้น รัฐไทยต้องเดินไปในรูปแบบรัฐกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งของคนยังมีอยู่ แต่ไม่ได้เอาออกมาแก้ปัญหา 
 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะขับเคลื่อนด้วยนักการเมือง ไม่ใช่ระบบราชการ แต่หากจะมองว่า นักการเมืองไม่ดี นักการเมืองก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมืองเป็นเช่นนั้น คนจะดีหรือไม่ดีให้ดูที่การใช้อำนาจ การบริหารพรรคการเมืองยากกว่าการบริหารบริษัทใหญ่ เพราะพรรคการเมืองหลากหลายและเป็นอิสระ ต้องบริหารคนที่จะไปบริหารประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้แก้ไขได้ใน 5 ปี ส่วนตัวมองว่า แก้ไขได้ยาก ดังนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคตคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ทันการ ปัญหาจะถูกกดทับ และประชาชนก็จะตั้งคำถามกลับมาอีกว่า ทำไมเลือกตั้งมาแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้ การปกครองทุกระบบของโลกมีมุมมืดทุกระบบ แม้ประชาธิปไตยจะมีมุมมืด แต่อย่ารังเกียจประชาธิปไตยจนไปหาระบบอื่น ทุกคนต้องช่วยกัน 
 
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากจะปฏิรูปในตอนนี้ เริ่มที่ คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) น่าจะสำเร็จมากที่สุด และหากจะเริ่มปฏิรูปเรื่องแรก ควรเริ่มที่ระบบราชการ ทั้งนี้ แผนปฏิรูป 36 วาระของ สปท.ดีทุกเรื่อง แต่เมื่อส่งไปยังรัฐบาล กลับถูกตีตกเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากจะประเมิน 2 ปี สปท.บอกได้แค่ว่า อำนาจการปฏิรูปอยู่ที่รัฐราชการเป็นหลัก จึงฝากว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องสร้างแรงส่งของการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมและมีพลัง พรรคการเมืองจะช่วยกันสร้างแรงส่งได้อย่างไร ขณะนี้ระบบราชการพยายามที่จะปรับตัวต่อการปฏิรูป แต่พรรคการเมืองก็ควรผลักดันกระแสการปฏิรูปเข้าสู่กระแสสังคมหรือผลักดันให้แก่ภาคประชาชน ซึ่งตนเห็นว่า เรื่องปรองดองที่ดีที่สุดคือการปฏิรูปให้เป็นจริงที่สุดและเร็วที่สุด 
 
นายสุริยะใส กล่าวว่า คำถามใหญ่ที่นักการเมืองต้องตอบคือ  ทำไมยุครัฐประหารถึงมาพูดเรื่องปฏิรูป ทำไมปล่อยให้ความคาดหวังเรื่องการปฏิรูปอยู่ในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  แล้วทำไมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่พูดเรื่องปฏิรูป คำถามคือ พรรคการเมืองพร้อมที่จะต่อยอดโจทย์เรื่องการปฏิรูปหรือไม่ เพราะประชาชนพร้อมและตื่นตัวอยู่แล้ว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: สำรวจ 'เกษตรแปลงใหญ่' ภายใต้วิกฤตพืชผลราคาตก

Posted: 23 Jul 2017 12:32 AM PDT

<--break- />ภายใต้วิกฤตราคาพืชผลตกต่ำ ทำความรู้จักโครงการ 'เกษตรแปลงใหญ่' ที่รัฐหนุนเกษตรกร'รวมกลุ่ม-แยกกันผลิต-รวมกันขาย' ตั้งเป้าปี 2579 จะมี 90 ล้านไร่  สำรวจข้อเท็จจริงเกษตรกรปลูกพืชชนิดไหน? รวมกลุ่มกันได้เท่าไหร่? ยังพบปัญหา 'ที่ดินอยู่ในมือนายทุน-ผู้จัดการแปลงเก่งรอบด้านหายาก-การเข้าถึงแหล่งทุน-กลุ่มเกษตรกรไม่มีความเป็นมืออาชีพ' นักวิชาการหวั่นนโยบายหลงทิศ ไม่ใช่แค่รวมตัวผลิตรวมตัวขายแต่ต้องเพิ่มมูลค่า ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

วิกฤตราคาพืชผลทางการเกษตร

ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ วิเคราะห์และรายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรเดือน พ.ค. 2560 เปรียบเทียบเดือน พ.ค. 2559 พบว่าดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.84  เมื่อแบ่งตามกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 7.78 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มผลไม้ เมื่อเปรียบเทียบเดือน พ.ค. 2559 พบว่าดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 12.94 สินค้าสำคัญ ที่ราคาลดลง ได้แก่ ทุเรียน สับปะรด เงาะ มังคุด และส้มเขียวหวาน

กลุ่มพืชน้ำมัน เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 10.93 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน กลุ่มพืชไม้ดอก เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 38.18  กลุ่มปศุสัตว์ เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 5.41 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ สุกร และไข่ไก่ กลุ่มประมง เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 2.23

'สับปะรด-มังคุด' ราคาทรุดหนัก

 

ช่วงวันที่ 10-16 ก.ค. 2560 พบว่าราคาสับปะรดในปีนี้ประสบภาวะดิ่งเหว โดยราคารับซื้อลดลงถึง 65.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559

 สับปะรด วิกฤตราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรากฏเห็นได้ชัดขึ้นในปลายเดือน มิ.ย. 2560 บริษัทประชารัฐ รักสามัคคี วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำคณะเข้ารับซื้อผลผลิตสับปะรดจากเกษตรกรชาวสวนสับปะรดพื้นที่ ต.นางแล จ.เชียงราย ที่ศาลาเอนกประสงค์ หมู่บ้านป่ารวก ม.8 ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ที่มีราคาตกต่ำเฉลี่ยกิโลกรัมละเพียงประมาณ 2 บาท ขณะที่เกษตรกรต้องการให้ได้ราคาตั้งแต่ 3-5 บาทขึ้นไป โดยเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในเชียงรายต่างระบุว่านับตั้งแต่ตนปลูกสับปะรดในพื้นที่มานานกว่า 30-40 ปี ยังไม่เคยเจอปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำเหมือนปีนี้มาก่อน ส่วนที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็เกิดปัญหาสับปะรดล้นตลาด-ราคาตกต่ำเช่นกัน จนทำให้กองทัพภาคที่ 3 ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดด้วยการช่วยกระจายผลผลิตสัปปะรดไปจำหน่ายใน 17 จังหวัดภาคเหนือสถานการณ์ล่าสุดในช่วงวันที่ 10-16 ก.ค. 2560 เมื่อเทียบราคากับปี 2559 พบว่าราคาสับปะรดในปีนี้ยังไม่กระเตื้องขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่าการรับซื้อสับปะรดโรงงานอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.38 บาท ซึ่งลดลงจากกิโลกรัมละ 12.67 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2559 ถึงร้อยละ 65.43 ส่วนสับปะรดบริโภครับซื้อกิโลกรัมละ 7.22 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 13.17 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 45.17

มังคุด ข้อมูลจากชาวสวนมังคุด จ.ตราด จ.ชุมพร พบว่า ณ เดือน ก.ค. 2560 ราคารับซื้อมังคุดหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบหลายปี ส่วนข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าราคามังคุดที่ชาวสวนขายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค. 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 15.90 บาท ลดลงจากราคาขายเดือน มิ.ย. 2560 ที่กิโลกรมละ 29.64 บาท ทั้งนี้เมื่อปี 2559 มังคุดเคยมีราคาขาย ณ ท้องตลาดสูงถึงกิโลกรัมละ 100-180 บาทมาแล้ว

 

รู้จักนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ 'รวมกลุ่ม แยกกันผลิต รวมกันขาย'

Agrimap หรือ Zoning by Agri-map ของโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูลเมื่อ 21 ก.ค.2560)

นโยบายนี้ไม่ใช่การสนับสนุนปลูกพืชในแปลงขนาดใหญ่หรือการรวมแปลงติด ๆ กันให้เป็นแปลงเดียว แต่เป็นลักษณะการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยหลาย ๆ ราย ในลักษณะ 'แยกกันผลิต รวมกันขาย' โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่สำคัญคือเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเองเหมือนเดิม การกำหนดพื้นที่เป้าหมายของเกษตรแปลงใหญ่ ดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ในเขตสหกรณ์นิคม และพื้นที่เกษตรทั่วไป โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอนจนถึงการตลาด โดยรัฐบาลระบุว่าการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานนี้ จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มและมีการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนด้านการตลาด ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 14,500 แปลง และจำนวนพื้นที่ 90 ล้านไร่ ในปี 2579 (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่และหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการได้ที่: [1] [2])

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2559 (ณ เดือน ธ.ค. 2559) โครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 9 ประเภทสินค้า 32 ชนิดสินค้า จำนวน 600 แปลง ในพื้นที่กว่า 1,538,398 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 96,554 ราย แยกเป็นรายชนิดสินค้า ดังนี้ ข้าว 381 แปลง ในพื้นที่กว่า 9 แสนไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 63,741 ราย กลุ่มพืชไร่ มีจำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ถั่วลิสง อ้อย และหญ้าเนเปียร์ มีพื้นที่ทั้งหมด 169,362 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 9,384 ราย กลุ่มไม้ยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ รวมพื้นที่ 283,964 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 7,751 ราย กลุ่มผัก/สมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย ผัก/สมุนไพร แตงโมอินทรีย์ หอมแดง มะเขือเทศโรงงาน ในพื้นที่กว่า 11,800 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2,592 ราย กลุ่มไม้ผล มี 8 ชนิดสินค้า ได้แก่ เงาะโรงเรียน ทุเรียน ฝรั่ง มะนาว มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง มังคุด ลำไย ส้มโอ รวม 51 แปลง พื้นที่กว่า 62,000 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 6,600 ราย กลุ่มหม่อนไหม จำนวน 3 แปลง พื้นที่ 834 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 382 ราย กล้วยไม้ จำนวน 1 แปลง 607 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 33 ราย กลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ กระบือ โคนม โคเนื้อ ไก่พื้นเมือง และแพะ รวมทั้งหมด 23 แปลง พื้นที่กว่า 25,000 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 3,638 ราย และ กลุ่มประมง ได้แก่ กุ้งขาว ปลาน้ำจืด และหอยแครง รวมทั้งหมด 18 แปลงใหญ่ พื้นที่ 28,700 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2,070 ราย

อนึ่ง ข้อมูลล่าสุดจากกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2560 (ณ เดือน มิ.ย. 2560) พบว่าว่ามีจำนวนเกษตรกรทั่วประเทศเข้าโครงการเกษตรแปลง ใหญ่เพิ่มเป็น 110,745 ราย แบ่งออกเป็น 10 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ข้าว 69,685 ราย, พืชไร่ 13,596 ราย, ผลไม้ 10,196 ราย, ไม้ยืนต้น 6,806 ราย, ผัก/สมุนไพร 3,458 ราย, ปศุสัตว์ 3,138 ราย, ประมง 2,399 ราย, ไม้ดอกไม้ประดับ 651 ราย, แมลงเศรษฐกิจ 597 ราย และหม่อนไหม 219  ราย (อ่านเพิ่มเติม: จับตา: จำนวนเกษตรกรเข้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ณ มิ.ย. 2560)

พบหลากหลายปัญหา 'พื้นที่-เงินกู้-ผู้จัดการแปลง-ส่งเสริมผิด'

แรกเริ่มโครงการเมื่อปี 2558 อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) ได้ลงสุ่มตรวจพื้นที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่ จ.อยุธยา และ จ.ชัยนาท พบปัญหาคือจะมีพื้นที่ที่เกษตรกรไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการทำให้เกิดช่องว่างของพื้นที่ ซึ่งเกษตรแปลงใหญ่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาการ ผลิต โดยกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเกษตรกร ซึ่งการรวมเขตพื้นที่อาจจะมีจำนวนพื้นที่ตั้งแต่ 1,000-100,000 ไร่ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น จ.อยุธยา ส่วนใหญ่จะเน้นเจ้าของที่ดิน แต่พบว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นของนายทุนทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะเข้าร่วม โครงการได้ นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่โครงการฯ ทางอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่าควรจะมีเสริมบ่อน้ำให้กับเกษตรกรด้วย เพราะหลายแห่งมีแหล่งน้ำไม่เหมาะสมและเพียงพอ  รวมทั้งในประเด็น 'ผู้จัดการแปลง' ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ (เกษตรอำเภอ) ซึ่งอนุกรรมาธิการฯ เป็นห่วงว่า หากการบริหารประเทศโดยรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สิ้นสุดลงและมีรัฐบาลใหม่ เกรงว่าโครงการนี้จะยกเลิก จึงเสนอให้ผลักดันปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือผู้นำเกษตรกรมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแทน และแม้แต่อธิบดีกรมส่งเสริม การเกษตรยังเคยออกมายอมรับว่า ผู้จัดการแปลงซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญที่จะทำให้โครงการเกษตรแปลงใหญ่แห่งนั้น ๆ ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องเป็นคนที่รู้จักพื้นที่ รู้จักเกษตรกร เข้าใจปัญหาการผลิตและความต้องการของเกษตรกร มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการผลิตและเชื่อมโยงตลาดได้ ซึ่งหาคนที่ทำได้อย่างนี้ยากมาก (อ่านเพิ่มเติม [3] [4])

ในด้านการกู้ยืมเงินทุน ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่าในช่วงปี 2558/2559 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นโครงการเกษตรแปลงใหญ่ทำให้ยังไม่เห็นจุดอ่อนของแปลงใหญ่ แต่หลังจากมีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ย 0.01% จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ได้ยื่นขอกู้จำนวน 381 กลุ่ม แต่ผ่านการอนุมัติแค่เพียง 53 กลุ่ม สาเหตุเพราะกลุ่มเกษตรกรไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ไม่มีการจัดรูปแบบโครงสร้างการบริหาร ทั้งเรื่องการแต่งตั้งประธานกลุ่ม สมาชิกไม่ยอมค้ำประกันซึ่งกันและกัน ที่สำคัญไม่มีแผนการผลิตที่ชัดเจน จนกลายเป็นต้นเหตุทำให้ ธ.ก.ส.อนุมัติเงินกู้ให้ไม่ได้ [5]

รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมให้เพาะปลูกผิดทาง ตัวอย่างล่าสุดในเดือน ก.ค. 2560 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดพันธุ์เอ็มดี ทู ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังได้รับความเดือดร้อน หลังจากหน่วยงานราชการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อทดแทนผลผลิตสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาด ที่ผ่านมามีการสนับสนุนหน่อพันธุ์จัดซื้อหน่อละ 30 บาท เพื่อปลูกในแปลงสาธิตตามโครงการเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากนั้น ในอนาคตมีโครงการจะใช้งบประมาณในปี 2561 จัดซื้อหน่ออีก 13 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด แต่ปรากฏว่าเมื่อผลผลิตสับปะรด เอ็มดี ทู ออกสู่ท้องตลาดเกษตรกรไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เนื่องจากไม่มีการจัดหาตลาดรับซื้อไว้ล่วงหน้า ประกอบกับรสชาติไม่ได้เป็นไปตามสรรพคุณที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง ทำให้ไม่ได้ความสนใจจากผู้บริโภค [6]

นักวิชาการติง เกษตรแปลงใหญ่ยังหลงทิศ

รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ให้ความเห็นถึงโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในงานประชุม วิชาการและนวัตกรรมประจำปี 2560 ขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ยุค 4.0 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่าไม่มีความชัดเจน ไม่มีการส่งเสริมให้เกิดมูลค่า มุ่งลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต การรวมตัวจะให้ใครเป็นผู้นำบริหารยังไม่ชัดเจน รัฐเน้นแต่การอุ้ม ผู้จัดการแปลงที่เข้ามาดูแลหลายแห่งเอาพนักงานส่งเสริมมาเป็นผู้จัดการแปลง บางรายไม่มีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของแปลง จึงไม่รู้ลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การตัดสินใจแก้ปัญหาจึงไม่ค่อยได้ผล

"โครงการทำนาแปลงใหญ่ ควรเน้นไปที่การยกระดับคุณค่าและมูลค่าข้าว อย่างปลูกข้าวอินทรีย์ ปลูกข้าวพันธุ์เฉพาะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก เน้นสร้างผลผลิตมีคุณค่า มีมูลค่าสูงขึ้น วิธีแบบนี้ถึงจะช่วยให้เกษตรกรมีพลังเกิดความเข้มแข็งในการผลิต และต่อไปจะมีกลุ่มมืออาชีพเข้ามาต่อยอดนำนวัตกรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อส่งออก ถ้าทำแบบนี้ได้ เราถึงจะเข้าสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริง" ดร.สมพร กล่าว

นอกจากนี้ ดร.สมพร ยังระบุว่าการบริหารจัดการของภาครัฐ ยังคงเป็นไปแบบหลงทิศหลงทาง อย่างการลงทุนซื้อรถเกี่ยวราคาหลักล้านบาท เป็นการสิ้นเปลือง เพราะแนวโน้มที่ทำกัน มีแต่มุ่งให้นำไปใช้งาน ไม่มีเรื่องซ่อมบำรุงดูแลรักษา หากเครื่องจักรเสียขึ้นมา กว่าจะตั้งเรื่องซ่อม-เบิก ใช้เวลานาน สุดท้ายต้องปล่อยทิ้ง ไม่เหมือนว่าจ้างรถมาช่วยรวดเดียว กลุ่มนี้เป็นมืออาชีพ เครื่องมือเสียส่วนใหญ่ซ่อมเองในราคาไม่แพงเกินเหตุ [7]

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญร้อง ป.ป.ช. ร้องตรวจสอบผู้ว่า กทม.

Posted: 23 Jul 2017 12:16 AM PDT

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบผู้ว่า กทม. กรณีผู้เข้าอบรมหลักสูตรฝึกอบรม "ผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง" มี "ภรรยาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" และผู้ที่ขาดคุณสมบัติเป็นจำนวนมากได้รับการคัดเลือก

 
23 ก.ค. 2560 ตามที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม "ผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง" (มหานคร) ขึ้นมาโดยมอบหมายให้วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชสังกัดกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบดำเนินการโดยเปิดรับผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะมาเข้ารับการฝึกอบรม คือข้าราชการระดับอำนวยการสูงขึ้นไป นักวิชาระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไปผู้บริหารระดับสูงในรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน หรือองค์กรอิสระผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน เป็นต้น โดยมีอายุระหว่าง 35 ถึง 58 ปีเท่านั้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการ
 
แต่ปรากฏว่าตามประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เรื่องรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการอบรมหลักสูตรฯ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ปรากฏว่ามี "ภรรยาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" และผู้ที่ขาดคุณสมบัติเป็นจำนวนมากได้รับการคัดเลือกเข้ามา เช่น ผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วด้วย เช่น นายศิวะ แสงมณี เป็นต้น
 
การดำเนินการดังกล่าวจึงอาจถือได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลบางคน บางกลุ่มอันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสําหรับตนเองหรือผู้อื่นและส่อว่ากระทําผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ประกอบมาตรา 100 และเข้าข่ายความผิดตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552 ข้อ 5(3) ข้อ 12 และข้อ 14
 
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จำต้องนำความไปร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2560 เวลา 11.00 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กอดเพื่อนร่วมโลกในความเงียบ

Posted: 22 Jul 2017 08:31 PM PDT

 

เหนื่อยนาน นิ่งเนิบ จนเนือย
เฉื่อยๆ เฉยๆ บางทีเฉา
เราดิ่งร่วงล้มในสีเทา
ใครเขามองเช่นไรไม่โต้แย้ง

เปลืองคำบอกกล่าวไปไยเล่า
ทุกข์เราทุกข์เขาเบื่อจะแบ่ง
เหนื่อย นิ่ง เนิบ เฉื่อย ไร้เรี่ยวแรง
แสร้ง แย่ง แกร่ง ทำไม เหนื่อยนักแล้ว

มองกันเห็นกันเท่านี้พอ
ไม่ได้ขอ ไม่มีให้ อย่าเจื้อยแจ้ว
ชีวิตยามที่มันหมองแวว
ขุ่นขึ้ง คลาดแคล้ว ในล้าเนือย

ไม่มีแรงลุกขึ้นขณะนี้
ผ่านนาที ชั่วโมง ไปเรื่อยๆ
ปกปิดซ่อนเร้นหรือเปิดเปลือย
เมื่อยหน้ากากแต่ไร้แรงจะถอดวาง

กอดเพื่อนร่วมโลกในความเงียบ
ไม่เทียบไม่เปรียบไม่ขัดขวาง
รู้ว่าชีวิตมันอ้างว้าง
รู้ว่าทางมันไกลรู้ว่าล้า

ไม่เรียกร้องไม่ปลุกปลอบไม่รุกเร้า
อ้อมกอดว่างเปล่าแค่เปิดอ้า
ไม่ใช่เวลาแสดงภูมิถกปรัชญา
อยากให้เธอรู้ว่ารู้ว่าทุกข์


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น